[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 07 ตุลาคม 2566 16:44:33



หัวข้อ: หมอแคสเวลล์ ครูสอนภาษาอังกฤษเจ้าฟ้ามงกุฎ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 ตุลาคม 2566 16:44:33
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/42567334324121_14_Copy_.jpg)
ภาพ : ครูเหม เวชกร

หมอแคสเวลล์ สอนภาษาอังกฤษเจ้าฟ้ามงกุฎ


ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกมิชชันนารีอเมริกันได้เริ่มเข้ามาเมืองไทยพวกแรก คือ หมอชาลส์กุสลัฟฟ์ (Gutzluff) กับ หมอยาคอบทอมลิน (Tomlin) เข้ามาเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๑ หมอกุสลัฟฟ์ ที่ไทยเรียก หมอกิศลับ เป็นหมอแพทย์ ได้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ คนไทยรู้จักมาก อยู่ ๓ ปีไปเมืองจีน จากนั้นก็มีพวกมิชชันนารีอเมริกันทยอยกันเข้ามาเรื่อยๆ จนถึง พ.ศ.๒๓๘๓ รวมเข้ามา ๑๗ คน เป็นหมอแพทย์บ้าง หมอศาสนาบ้าง กลับออกไปบ้าง โดยเฉพาะที่อยู่และมีชื่อเสียงคนไทยรู้จักมาก ก็มี หมอยอน (Jones) หมอศาสนา และหมอปลัดเล (Bradley) หมอแพทย์   ในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ มีมิชชันนารีเข้ามาอีกคนหนึ่ง ชื่อ เจสซี แคสเวลล์ (Jessi Caswell)

หมอแคสเวลล์ เกิดที่เมืองซินซินนาตี อเมริกา สำเร็จการศึกษาทางศาสนาจากวิทยาลัยเลน (Lane Theological Seminary) เป็นเรเวอเรนด์ (Reverend) ได้เป็นสมาชิกในคณะเปรสไบเตอรี (Presbytery of Cincinnati) แต่งงานแล้วออกเดินทางจากอเมริกามาเมืองไทยกับภรรยา มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๓๘๒ จากนั้นเริ่มสอนศาสนาแก่คนไทย เคยโต้ตอบกับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ครั้งยังเป็นจมื่นราชามาตย์ มีปรากฏอยู่ในหนังสือแสดงกิจจานุกิจที่ท่านแต่ง ซึ่งเรียกหมอแคสเวลล์ว่า หมอกัศแวน

ในสมัยมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาเมืองไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ยังเป็น "เจ้าฟ้ามงกุฎ" ทรงผนวชอยู่วัดสมอราย (ราชาธิวาส) ทรงศึกษาภาษามคธ สันสกฤต มีความรู้แตกฉาน และทรงสนพระทัยศึกษาภาษาฝรั่ง เช่น ทรงศึกษาภาษาละตินกับบาทหลวงปาลเลกัวซ์ (ฝรั่งเศส) ที่อยู่วัดคอนเซปชั่น (Immaculate Conception Church) ใกล้ๆ กันนั้น ในต้นปี พ.ศ.๒๓๗๙ ปรากฏว่าได้ทรงเชิญหมอปลัดเลไปตรวจพระโรค และให้หมอปลัดเลรักษา จึงทรงคุ้นเคยกับหมอปลัดเลมาตั้งแต่นั้น และคงจะได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษบ้างแล้วในตอนนี้ เพราะต้องการจะรักษาพระองค์แบบฝรั่ง แต่ในปลายปี พ.ศ. ๒๓๗๙ นั่นเอง ต้องเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศ และทรงเป็นพระธุระจัดการคณะสงฆ์ต่าง ๆ แต่ก็ทรงสนพระทัยเรื่องของมิชชันนารีอเมริกาอยู่ไม่ขาด เช่น เมื่อหมอกัศแวนเข้ามาแล้ว ได้ทรงสนพระทัยเครื่องไฟฟ้า (Electric Machine) และสนพระทัยตำราฝรั่งเกี่ยวกับดาราศาสตร์ (Astronomy) จากนั้นมาไม่ช้าก็โปรดให้หมอกัศแวนเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้พระองค์เป็นประจำ หมอกัศแวนได้ไปสอนที่วัดบวรนิเวศ

ในระหว่างทรงศึกษาภาษาอังกฤษได้ทรงเขียนจดหมายภาษาอังกฤษติดต่อกับชาวอเมริกันบางคนที่อยู่เมืองนิวยอร์ก เช่นฉบับหนึ่งมีข้อความว่า The names by which the common people of Siam call me are "Thun Kramon Fa Yai" and "Chau Fa Yai". By these two names I find I am generally known in Foreign countries". จดหมายที่ทรงเขียนเป็นภาษาอังกฤษมีมาก และทรงเขียนยาวๆ ทรงอธิบายอะไรๆ ละเอียดชัดเจนแจ่มแจ้ง ที่ยกมาพอเป็นตัวอย่างเล็กน้อย

หมอกัศแวนและภรรยาอยู่เมืองไทย ๘ ปี ป่วยถึงแก่กรรมเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๓๙๑ ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่ เสด็จไปในงานฝังศพ ประทานแพรขาวพับหนึ่งแก่แหม่มกัศแวน กับทำศิลาปักที่หลุมฝังศพให้ด้วย ต่อมายังได้ประทานเงินให้แหม่มกัศแวน ๑,๕๐๐ เหรียญ ซึ่งพวกฝรั่งพากันสรรเสริญในพระมหากรุณาธิคุณมาก



ขอขอบคุณ มูลนิธิ เหม เวชกร (ที่มาเรื่อง/ภาพประกอบ)