[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
10 พฤษภาคม 2567 10:47:27 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: หมอเคาวัน : พระอาจารย์ภาษาอังกฤษของสมเด็จพระมหาสมณะ  (อ่าน 222 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5477


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 26 เมษายน 2566 13:50:45 »



ภาพ: งานฌาปนกิจศพนายแพทย์ปีเตอร์ เคาวัน ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๕

หมอเคาวัน : พระอาจารย์ภาษาอังกฤษของสมเด็จพระมหาสมณะ

นายแพทย์ปีเตอร์ เคาวัน (Peter Gowan) ชาวสก็อต ได้เดินทางเข้ามารับราชการเป็นแพทย์หลวงในราชสำนักสยาม ในราวต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  นอกจากในฐานะแพทย์หลวงแล้ว หมอเคาวันยังรับหน้าที่เป็นพระอาจารย์สอนภาษาอังกฤษให้แก่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวัง
นับแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจ้างแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens) สอนภาษาอังกฤษให้แก่พระราชโอรสธิดา ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๐๕ – ๒๔๑๐

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษ ณ บริเวณตึกแถวริมประตูพิมานไชยศรี มีนายฟรานซิส จอร์ช แปตเตอร์สัน (Francis George Patterson) เข้ามารับราชการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ โดยในภาคเช้าสอนพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งพระอนุชาในรัชกาลที่ ๕ และหม่อมเจ้า  ในภาคบ่ายสอนข้าราชการที่เป็นทหารมหาดเล็ก

ครั้งนั้นมีพระอนุชาที่ทรงเข้ารับการศึกษาที่สำคัญได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ และพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงสนพระทัยในการศึกษาภาษาอังกฤษกับครูแปตเตอร์สัน ถึงแม้จักทรงบรรพชาเป็นสามเณรตลอดพรรษกาลในปี พ.ศ.๒๔๑๖ จนทรงลาสิกขาแล้วก็ยังกลับมาทรงศึกษาภาษาอังกฤษต่อกับครูแปตเตอร์สันเป็นการส่วนพระองค์ ณ ที่ประทับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ระยะหนึ่ง ก็ทรงสนพระทัยในการดนตรีแทน

นายแพทย์ปีเตอร์ เคาวัน : แพทย์หลวงประจำราชสำนักสยาม
ในปี พ.ศ.๒๔๒๐  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งยังดำรงพระยศที่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ ได้ทรงพบกับนายแพทย์ปีเตอร์ เคาวัน ชาวสก็อตที่เดินทางเข้ามารับราชการเป็นแพทย์หลวงในราชสำนักสยาม และเป็นแพทย์ในกรมทหารมหาดเล็ก ได้ทรงคุ้นเคยกับหมอเคาวันและเรียนรู้อัธยาศัยใจคอ ทั้งยังเป็นผู้กล่อมเกลาชักนำให้พระองค์ที่ห่างเหินจากวัด ภายหลังทรงลาสิกขาจากสามเณรราว ๔ ปี ได้กลับไปทรงคุ้นเคยวัดบวรนิเศวิหาร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) พระอุปัชฌายะอีกครั้ง  ดังความในพระนิพนธ์ พระประวัติตรัสเล่า ที่ว่า

“แต่เปนบุญของเรากลับตัวได้เร็ว ตั้งแต่อายุได้ ๑๗ ปี ฯ ทางที่กลับตัวได้ ก็เปนอย่างภาษิตว่า “หนามยอก เอาหนามบ่ง” นั้นเอง ฯ เราเข้าเฝ้าในวังทุกวัน ได้รู้จักกับหมอปิเตอร์เคาวัน ชาวสกอตช์เปนแพทย์หลวง เวลานั้นอายุแกพ้นยี่สิบห้าแล้ว แต่ยังใม่ถึงสามสิบ แกเปนฝรั่งสันโดษ อย่างที่คนหนุ่มเรียกว่าฤษี ใม่รักสนุกในทางเปนนักเลง เรานิยมแกว่าเปนฝรั่ง เราก็ผูกความคุ้นเคยกับแก ได้เหนอัธยาศัยแลจรรยาของแก แลได้รับคำตักเตือนของแกเข้าด้วย เกิดนิยมตาม เหนความลเลิงที่หมอเคาวันใม่ชอบเปนพล่านไป น้อมใจมาเพื่อเอาอย่างหมอเคาวัน จึงหายลเลิงลงทุกที จนกลายเปนฤษีไปตามหมอเคาวัน ที่สุดแกว่ายังเด็กแลห้ามใม่ให้สูบบุหรี่ แกเองใม่สูบเหมือนกัน เราก็สมัคทำตาม แลใม่ได้สูบบุหรี่จนทุกวันนี้ เราก็เหนอานิสงฆ์ เราเปนผู้มีกายใม่แข็งแรง เปนผลแห่งความเจ็บใหญ่เมื่อยังเล็ก ถ้าสูบบุหรี่ แม้มีอายุยืนมาถึงบัดนี้ ก็คงมีโรคภายในประจำตัว หมอเคาวันเปนทางกลับตัวของเราเช่นนี้ เมื่อภายหลังเราจึงนับถือแกฉันอาจารย์ ในครั้งนั้นแลต่อมา แกก็ได้แนะเราในภาษาอังกฤษบ้าง ในวิชาแพทย์บ้างเหมือนกัน ฯ...

....หมอเคาวันกล่อมเกลาเรา ให้เรียบเข้าได้อย่างนี้แล้ว ถ้ามีปัจจัยชักนำ เราก็คงเข้าวัดโดยง่าย ฯ ปัจจัยนั้นได้มีจริงด้วย ฯ ตั้งแต่เราสึกจากเณรแล้ว ใม่ใช่เทศกาลเช่นเข้าพรรษาหรือมีงาร เราหาได้ไปเฝ้าเสดจพระอุปัชฌายะใม่ ยิ่งกำลังลำพองยิ่งหันหลังให้วัดทีเดียว เหตุนั้นเราจึงห่างจากท่าน แม้ในเวลานั้นก็ยังใม่ได้คิดจะเข้าวัด ฯ”

นอกจากที่นายแพทย์ปีเตอร์ เคาวัน จักรับราชการเป็นแพทย์หลวงในราชสำนักแล้ว  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๙  ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดสร้างโรงศิริราชพยาบาล และโรงเรียนแพทยากร เพื่อจัดการเรียนการสอนวิชาแพทย์แผนตะวันตก  ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกงานผดุงครรภ์และพยาบาลแผนตะวันตก  ดังปรากฏมีมูลเหตุจากเมื่อครั้งที่หม่อมเปี่ยมในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ (ภายหลังดำรงพระยศที่ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์) ถูกบังคับให้อยู่ไฟ จนถึงแก่อนิจกรรม  พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์จึงทรงปฏิญาณว่าถ้ามีลูกอีก จะไม่ให้หม่อมอยู่ไฟเป็นอันขาด  ต่อมาเมื่อพระองค์ท่านมีพระโอรส ประจวบกับในเวลานั้นนายแพทย์เคาวันเข้ามารับราชการเป็นแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้นายแพทย์เคาวันเป็นผู้ผดุงครรภ์และพยาบาลตามแบบตะวันตกก็ล้วนอยู่เย็นไปสุขและไม่มีใครเป็นอันตราย  จนเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (ภายหลังดำรงพระยศที่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)  ทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒  ทรงมีพระอาการเป็นไข้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ จึงกราบทูลชี้แจงแสดงคุณของวิธีพยาบาลอย่างฝรั่ง จนสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเลิกผทมเพลิง แต่นั้นก็เริ่มเลิกวิธีอยู่ไฟในพระบรมมหาราชวัง

บั้นปลายชีวิตของนายแพทย์ปีเตอร์ เคาวัน
ภายหลังเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว ก็ยังคงคุ้นเคยกับหมอเคาวันสืบมา ในคราวจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยได้โปรดให้หมอเคาวันเข้ามาเป็นอาจารย์ที่วัดบวรนิเวศวิหาร นับแต่เดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๔๒ มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
๑. เป็นครูสอนความรู้ในภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์แด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
๒. เป็นผู้ช่วยสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ แต่งตำราเรียนที่เนื้อหาสาระเกี่ยวกับตะวันตก
๓. เป็นครูสอนภาษาอังกฤษและวิทยาศาสตร์แก่นักเรียนที่จะหัดไว้เป็นครูในโรงเรียน
๔. เป็นผู้กำกับดูแลการสอนภาษาอังกฤษที่จะจัดขึ้นใหม่ตามลำพังของวัด
๕. เป็นแพทย์รักษาโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดขึ้นในวัด

โดยในระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๓ ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๔ หมอเคาวันได้ทูลลากลับประเทศอังกฤษ เพื่อพักรักษาตัวจากอาการไข้มาเลเรียที่ป่วยมาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๔๒ และจัดการเรื่องครอบครัว ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ขอให้ช่วยจัดหาหนังสือภาษาอังกฤษ จัดหากระดาษฝรั่งเพื่อนำมาทำฉายาบัตรให้แก่พระนวกะที่เข้ามาบวชในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร และจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ในการสอนวิชาเคมี และฟิสิกส์ ดังปรากฏลายพระหัตถ์เลขที่ ๙/๓๕ แจ้งความมายังพระยาวุฒิการบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) ในเรื่องที่ขอให้นำค่านิตยภัตของพระองค์ไปชำระค่าเครื่องมือเครื่องใช้ในการสอนวิชาเคมี และฟิสิกส์แก่นางสาวแมรี เคาวัน (Miss Mary Gowan) บุตรสาวที่พำนักอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ที่ว่า “...ด้วยเมื่อหมอเคาวันยังมีชีพอยู่ ฉันได้วานให้สั่งเครื่องมือสำหรับสอนวิชาเคมเมสตรี คือวิชาแปรธาตุแลวิชาฟิสิคคือวิชาสอนให้รู้จักธรรมดาของสิ่งของนั้นๆ เพื่อเอามาใช้ในการเล่าเรียน เมื่อหมอเคาวันถึงอนิจกรรมแล้ว ฉันได้ขอให้กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ใช้ค่าเครื่องมือเหล่านี้แก่มิสเมรีเคาวันบุตรีของหมอเคาวัน...”

จนในเบื้องปลายชีวิต เมื่อหมอเคาวันกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๔ ก็ได้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลบางรัก  ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ โปรดให้รับหมอเคาวันมาอภิบาลรักษาดูแลที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๐ จนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์

พ.ศ.๒๔๔๔ (ร.ศ.๑๒๐) เวลา ๑๐.๔๑ น. ดังความในหนังสือแม่สมบุญแจ้งความมายังแม่อะลิมะ (Mrs. Alimah Gowan) ภรรยาของหมอเคาวัน เมื่อเดือนมีนาคม ศก ๑๒๐ ความตอนหนึ่งว่า

“หนังสือแม่สมบุญแจ้งความมายังแม่อะลิมะทราบ

บัดนี้ท่านด๊อกเต้อกาวรรณเข้าไปอยู่ในเมืองไทย ท่านก็ได้ไปพักอยู่กับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณ ซึ่งท่านได้ทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศ ท่านทรงเป็นพระธุระในการป่วยของท่านด๊อกเต้อกาวรรณป่วยครั้งนี้ และตลอดจนถึงวันอนิจกรรม ทั้งท่านเป็นธุระในการศพของท่านด๊อกเต้อกาวรรณ เพราะจะต้องเผาเป็นธรรมเนียมไทย ตามที่ด๊อกเต้อกราบทูลไว้ ...”

ตลอดเวลาที่นายแพทย์ปีเตอร์ เคาวันพำนักรักษาตัวอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหารนั้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงติดตามอาการป่วยอยู่เสมอ พร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์ ๘๐๐ บาท เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล หากแต่หมอเคาวันถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดส่งพระราชทรัพย์ส่วนนี้ไปพระราชทานแก่นางอะลิมะ เคาวัน ผู้เป็นภรรยาที่ประเทศอังกฤษ

นายแพทย์ปีเตอร์ เคาวัน : ชาวตะวันตกที่ฌาปนกิจตามขนบสยามคนแรก
ครั้งนั้น หมอเคาวันได้แสดงความประสงค์ที่จะให้จัดการปลงศพตามธรรมเนียมไทยไว้กับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ดังความในลายพระหัตถ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงมีถึงพระยาบำเรอภักดิ์ เลขที่ ๒๔๗ ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๒๐ ความตอนหนึ่งว่า “...การศพนั้น แกได้ทำพินัยกรรมไว้แต่เดิมว่า ให้ฉันเผา ฉันได้ให้หม่อมราชวงศ์สุวพรรณ์ไปแจ้งความแก่กงสุลอังกฤษๆ ยอมให้ฉันเผาตามความประสงค์ของผู้มรณภาพ แลได้ส่งใบแสดงความตาย ที่เรียกว่า เซอติฟิเคต ออฟ เดธ ของหมออาคาซันให้กงสุลดู ว่าใช้ได้แล้ว แลใบแสดงความตายเช่นนั้น ของหมอเฮล์แลหมอไรเตอร์ ซึ่งมาทำเมื่อภายหลังอิก ก็ได้ไว้ แต่เห็นว่าใบก่อนใช้ได้แล้ว ก็เปนแล้วไป

ฉันเตรียมไว้ว่า จะอาบน้ำเข้าหีบอย่างไทย แต่หมออาคาซันแนะนำขึ้นแลหมออิกหลายคนรับรองให้ฉีดยาไว้สำหรับจะได้อยู่นอกหีบ ได้นานวัน เพื่อเพื่อนฝูงจะได้มาเยี่ยมเยือน มีกลิ่นเมื่อใดจึงเอาเข้าหีบ ตกลงว่าแต่งศพไว้รับแขก ใครจะมารดน้ำเมื่อใดก็ได้ ในการจะเข้าหีบ เกรงพวกสนมจะรังเกียจว่าเปนคนต่างประเทศ ขอโปรดสั่งให้มาช่วยด้วย หีบเตรียมไว้แล้ว

(ลงพระนาม) กรมหมื่นวชิรญาณ”

ทั้งยัง โปรดให้หม่อมเจ้าจรัสโฉม เกษมสันต์ พระนัดดาในสมเด็จพระมหาสมณะฯ ทรงเป็นธุระในการจัดทำพวงหรีดมาตั้งหน้าหีบศพ โดยทรงมีรับสั่งให้ช่วยจัดทำพวงหรีดที่ทำจากดอกไม้แห้ง โดยทรงกำหนดให้ใบไม้ทำด้วยสีเขียว และดอกไม้สีขาว เพื่อจะได้อยู่ได้เป็นเวลานาน และจักได้ถ่ายรูปส่งออกไปให้บุตรและภรรยาของหมอเคาวันได้เห็นที่เมืองนอก

ในการฌาปนกิจศพ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงมีพระประสงค์ที่จะจัดการฌาปนกิจศพหมอเคาวัน ณ สุสานวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อแรกจักให้มีการเผาศพในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๕  แล้วเลื่อนเป็นวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๕  โดยทรงตกลงกับพระภัทรศีลสังวรว่าจักจัดขึ้นภายหลังงานฌาปนกิจศพพระอริยมุนี (เผื่อน) ในวันที่ ๑๖ เมษายน ร.ศ.๑๒๑ ด้วยเป็นพระภิกษุ แล้วจึงฌาปนกิจศพหมอเคาวันที่เมรุเดียวกันเป็นงานถัดมา  โดยรับสั่งให้มีรถม้ามารับศพจากที่วัดบวรนิเวศวิหาร เคลื่อนไปยังเมรุวัดเทพศิรินทร์ เมื่อศพไปถึงแล้วก็ขึ้นยังตารางเชิงตะกอน พอมีพิธีมฤตกวัตรแล้วจึงฌาปนกิจศพ  โดยการศพในครั้งนี้ทำขึ้นตามจารีตในพระพุทธศาสนา มีการพระราชทานเงิน ๑๐๐ เฟื้องกับผ้าขาว ๒๐ พับจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นของบังสุกุลเช่นเดียวกับงานศพข้าราชการที่เป็นคนไทย

ในงานออกเมรุคราวนั้น โปรดให้ศาลาในการบำเพ็ญกุศลในพิธี โดยเป็นศาลาด้านทิศใต้ ๒ หลัง เพราะต้องการให้อยู่เหนือลม ศาลาบำเพ็ญทาน จัดเป็นที่มีเทศน์ แต่กั้นฉากปันส่วนสำหรับผู้หญิงนั่งห้องหนึ่งด้วยมูลี่ขึงผ้า ศาลาอีกหลังหนึ่งจัดเป็นที่รับแขก ตั้งโต๊ะเก้าอี้ของวัด สร้างสองหลังเป็นที่พักพระหนึ่งหลัง พักกลอง แลสำหรับผู้หญิงจะล้นจากศาลาบำเพ็ญทานออกมาอีกหลังหนึ่ง

โปรดให้พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา (ภายหลังดำรงพระยศที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐ) กรองตารางดอกไม้แต่งหีบศพและตารางเชิงตะกอน

โปรดให้หลวงสารศาสน์พลขันธ์ (Gerolamo Emilio Gerini) แปลเทศนาในงานมฤตกวัตร (คือ พิธีทำบุญปิดศพ) เป็นภาษาอังกฤษ และตีพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ

งานฌาปนกิจศพนายแพทย์ปีเตอร์ เคาวันนี้ จึงนับเป็นงานฌาปนกิจศพชาวตะวันตกคนแรกที่จัดขึ้นในสยาม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งยังดำรงพระยศที่กรมหมื่น ทรงเป็นแม่งานสำคัญ  ทั้งยังโปรดให้ถ่ายรูปงานเพื่อให้หนังสือพิมพ์ในต่างประเทศได้ทำการตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไปด้วย

ในการนี้ หม่อมราชวงศ์สุวพันธ์ สนิทวงศ์ ผู้เป็นลูกศิษย์คนสำคัญอีกคนหนึ่งของหมอเคาวัน ด้วยความที่เคารพและรักหมอเคาวันเป็นอย่างมาก ด้วยมีความประสงค์จะนุ่งขาวในการศพหมอเคาวัน จึงทูลปรึกษาสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ  พระองค์ท่านจึงทรงมีพระดำริในลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๕ เมษายน ร.ศ.๑๒๑ ความตอนหนึ่งว่า “ฉันคิดดูเรื่องเธอแลผู้อื่น จะนุ่งขาวในการศพท่านอาจารย์เคาวันนั้น ตามน้ำใจก็ย่อมแสดงเคารพต่อผู้ตาย แต่เห็นว่าจะมีผู้นุ่งขาวน้อย เรียกว่าหรอมแหรม ไม่เป็นสง่า ถ้านัดใช้ดำ จะได้เหมือนกันหมด ดูเป็นสง่ายิ่งนัก แลผู้ตายแกก็เป็นฝรั่ง ช่างแกเถิด แลธรรมเนียมไว้ทุกข์ในบัดนี้ ดูเหมือนก็จะหันหาดำโดยลำดับ ขอให้ใช้ดำกันเถิด”

นอกจากนี้ หม่อมราชวงศ์สุวพันธ์ ยังมีเคยมีประสงค์ที่จะมอบที่ดินให้หมอเคาวัน ๑,๐๐๐ ไร่ กอปรทั้งผลประโยชน์มูลค่า ๒,๐๐๐ บาท แก่หมอเคาวัน แต่เมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรมลง ก็ทูลปรึกษาสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ขอให้ช่วยจัดการทรัพย์สินเหล่านั้นแก่นางอะลิมะ เคาวัน ภรรยาและธิดาทั้ง ๒ ตามประสงค์เดิม



(ที่มา: ศรัณย์  มะกรูดอินทร์, “หมอเคาวัน : พระอาจารย์สอนภาษาอังกฤษของสมเด็จพระมหาสมณะ,” ๑๐๐ ปี ร้อยเรื่อง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๖๔), น. ๑๗๔-๑๘๕.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.452 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 16 เมษายน 2567 20:00:03