[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ตลาดสด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 20 กันยายน 2559 17:16:20



หัวข้อ: การผูกเสี่ยว ตามจารีตประเพณีของคนอีสาน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 กันยายน 2559 17:16:20

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/54847639550765__3648_3626_3637_3656_3618_3623.gif)

การผูกเสี่ยว
ตามจารีตประเพณีของคนอีสาน

คนทั่วๆ ไป ยังเข้าใจความหมายของคำว่า “เสี่ยว” ซึ่งเป็นคำที่แพร่หลายที่สุดของ “คนอิสาน” คลาดเคลื่อน, บิดเบือนไปจากความหมายของเขาแทบทั้งสิ้น...

เสี่ยว” ในความรู้สึกของ ‘คนกรุงเทพฯ’ สมัยหนึ่งนั้น คือการดูถูกเหยียดหยามกันอย่างชัดๆ ที่เบาลงมาหน่อยก็เป็นไปในทำนอง ‘เชย’, ‘เปิ่น’, บ้านนอก ฯลฯ ถ้าเอ่ยคำว่า ‘เสี่ยว’ คนกรุงเทพฯ หมายถึงชาวอิสานโดยเฉพาะ รวมไปถึงคำพ่วงอีกคำหนึ่งนำหน้าหรือตามหลังเช่น ‘บักหนาน’ – ‘บักเสี่ยว’ ซึ่งอยู่ในนัยเดียวกัน

คนอิสานเกลียด, โกรธ, ขมขื่นใจ, ที่คนต่างถิ่น ขนานนามเขาว่า ‘เสี่ยว’ โดยไม่เลือกกาลเทศะ ในขณะที่ไม่มีเหตุผลหรือเหตุการณ์อะไรที่ใกล้เคียงเกี่ยวข้องกับ คำว่า ‘เสี่ยว’ แต่คำนี้กลับถูกเรียกออกมาลอยๆ โดดๆ ความรู้สึกของเขาจึงดูประหนึ่งถูกหมิ่นถูกหยามอย่างชนิดเลือดฉ่าไปทั้งตัวทีเดียว แต่ก็อย่างว่าเขาเหล่านั้นมาจากดินแดนที่มีแต่ความทรหดอดทน การข่มขันติ และการรักสันติ เป็นสัญลักษณ์ของพวกเขา จนพวกเขาได้รับสมญานามว่า “ถิ่นไทยดี” ดังนั้นเขาจึงทนได้ กลั้นได้, แม้ว่าเลือดเขาจะพล่านสักปานใดก็ตาม การข่ม, การเงียบ, การยอมจำนน, คนกรุงเทพฯ ยุคนั้นเลยนึกว่าหมู ว่าได้ว่าเอา ว่าให้แสบใจเล่นๆ งั้นแหละ ทั้งๆ ที่นักมวยมือดีๆ, นักการเมือง, นักการทหาร, รวมไปถึงผู้มีอำนาจในแผ่นดินยุคหนึ่งคือ ‘เสี่ยว’ ของคนกรุงเทพฯ นั่นเอง

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ขึ้นเถลิงอำนาจ สามล้อเกือบหมื่นคันพากันไปชุมนุมที่สนามหลวง พากันแห่ขบวนไปรอบๆ ตะโกนกึกก้องไปสู่ท้องฟ้า... “ข้าวเหนียวขึ้นโต๊ะ...ข้าวเหนียวขึ้นโต๊ะ...แล้วเว๊ย...” จากนั้นเป็นต้นมาคำว่า “เสี่ยว” ก็ค่อยๆ จางหายไป คนกรุงเทพฯ เริ่มรู้จักคนอิสานและรักใคร่คบหาสนิทใจขึ้นกว่าเดิม

ที่สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คนหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศแวะผ่านไปมาร่วมสังสรรค์ เมื่อใครพบกลุ่มใครซึ่งเป็นคนท้องถิ่นเดียวกัน ก็ล่อภาษาพื้นเมืองกันอย่างครื้นเครงและเต็มไปด้วยความภาคภูมิ คนใต้ออกจะเลือดร้อนกว่าเพื่อน คนที่คิดว่าตนเองคือ “คนกรุงเทพฯ” เรียกคนใต้ว่า “ไอ้พวกต้ำปรื้อ” เพียงคำเดียว ปากก็กินน้ำพริกไม่ได้ไปหลายวัน ต่างกับคนอิสานเรียก ‘เสี่ยว’ เรียก ‘หนาน’ เรียกได้เรียกไปข้อยบ่ถือ เพราะแกไม่ได้ศึกษาถึงที่มาของคำนี้ หากแกรู้และซึ้งถึงความหมายของคำนี้แล้ว...วันนั้นแกจะละอายใจต่อความพล่อยของลิ้นลมปากตนเอง...

คนอิสานยกย่องเทิดทูนเคารพคำว่า ‘เสี่ยว’ นี้อย่างซาบซึ้ง มันเป็นคำที่ละเอียดอ่อน ยากนักที่จะปฏิบัติตนให้เป็นไปตามคำขาน, คำเรียกของคำๆ นี้ได้ง่ายๆ

‘เสี่ยว’ มิได้หมายความถึง เพื่อนรัก-เพื่อนใคร่ หรือเพื่อนเกลอ ดั่งที่ความเข้าใจสามัญๆ เข้าใจเช่นนั้น ความหมายของมันสูงส่งยิ่งกว่านั้นมากนัก

เสี่ยว คำนี้มีความหมายยิ่งยง เหมือนพงศาวดารสามก๊ก ตอน เล่าปี่, กวนอู เตียวหุย, กรีดเลือดดื่มน้ำสาบาน ร่วมเป็นพี่เป็นน้อง ร่วมเป็นร่วมตาย อย่างไรก็อย่างนั้น แต่ ‘เสี่ยว’ ของคนอิสาน ไม่ถึงขั้นที่ต้องกรีดเลือดกรีดเนื้ออย่างสามก๊ก เขามีพิธีการที่ละมุนละมัยอ่อนโยน ผูกพันจิตใจ กระหวัดรัดรึงกันยิ่งกว่านั้น

เสี่ยว เท่าที่เห็นๆ มีอยู่ ๒ ประเภท ประเภทแรกได้แก่การ “ผูกเสี่ยว” แบบธรรมดาพื้นๆ ประเภทหลัง ได้แก่การ “ผูกเสี่ยวเหยเพยแพง

เสี่ยวเหยเพยแพง จะเกิดขึ้นแต่ละครั้งจะต้องมีพิธีรีตองกันอึงคะนึง ราวกับจะจัดงานบุญ หรือประกอบนักขัตฤกษ์อะไรๆ ทำนองนั้น มีการตีฆ้องร้องป่าว มีสักขีพยานที่จะต้องรับรู้ในพิธีกรรมอันนี้ คู่ที่จะเป็น เสี่ยวเหยเพยแพง จักต้องดื่มน้ำพุทธมนต์แทนน้ำสาบานร่วมบาตรหรือขันเดียวกัน ต่อหน้าสักขีพยาน ท่ามกลางการอ่านโองการของปูมปุโรหิต สาปแช่งและให้พรชัยไปพร้อมกัน คนคู่นั้นถึงจะเป็น เสี่ยวเหยเพยแพง กันได้โดยสมบูรณ์แบบ

‘เสี่ยว’ แบบธรรมดาๆ หรือพื้นๆ มีพิธีรีตองเช่นกัน แต่ย่นย่อลงหลายอย่างจนเกือบจะไม่เป็นพิธี แต่ก็นับเนื่องเข้าเป็น เสี่ยว ได้โดยนัย และส่วนใหญ่ของคนอิสานก็มีเสี่ยวระดับนี้เป็นสโลแกนของสังคมอยู่ทั่วไป ประเภทแรกจึงสูงกว่า หนักแน่นกว่า และเป็นหลักยึดเหนี่ยวให้ประเภท ๒ ดำเนินรอยตามไปสู่จุดหมายปลายทางอันเดียวกัน

การผูกเสี่ยวของคนอิสาน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นชายกับชาย หญิงกับหญิง แม้แต่ชายกับหญิง หรือหญิงกับชาย ก็เป็นเสี่ยวเหยเพยแพงกันได้ ไม่เลือกเพศเลือกวัย เลือกวรรณะ ฐานะ หากมีจิตใจมีแก่นแท้ของการผูกพันรักใคร่ซึ่งกันและกันเป็นสรณะแล้ว การประกอบพิธีการผูกเสี่ยวก็เกิดขึ้นได้

พิธีกรรมของการผูกเสี่ยวเหยเพยแพงจะเริ่มขึ้นด้วยการนัดวันหาฤกษ์ยามที่เหมาะสมกับสมพงษ์ของคนทั้งสอง เมื่อได้โฉลกฤกษ์ยามวันดี การล้มวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ ก็ลงมือทันที  การล้มหมู วัว ควาย นี้อยู่ที่ฐานะของบุคคลทั้งสองจะกำหนดเอาเอง ฐานะดีก็เล่นวัวควายให้เอิกเกริก ถ้าหย่อนลงมาก็แค่หมูหรือเป็ดไก่ก็ใช้ได้เช่นกัน

ทั้งสองคนที่จะเป็น “เสี่ยวเหยเพยแพง” ไม่จำเป็นที่จะต้องมีฐานะทัดเทียมกัน ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีฐานะเหนือกว่าอีกฝ่ายก็เป็นผู้ออกเงินไป ถ้าฐานะทัดเทียมกันก็ช่วยกันออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง พิธีการก็เริ่มขึ้นโดยทางศาสนาและพิธีของพราหมณ์ผสมกัน

ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงของคนทั้งสองฝ่าย จะถูกป่าวร้องชวนเชิญให้มาในงาน “เอาเสี่ยว” หรือ “ผูกเสี่ยว” ล่วงหน้า ๑ วัน ไม่ว่าจะเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันหรือคนละถิ่นละแห่ง ก็จักต้องป่าวร้องให้มาเป็นสักขีพยานในการ ‘ผูกเสี่ยว’ ในครั้งนี้โดยทั่วถึง รวมความแล้วทั้งสองฝ่ายมีพ่อแม่ญาติโกโหติกาเท่าไหร่ก็ขนกันมา เพื่อที่จะเป็นวงศาคณาญาติสืบเนื่องกันไปเบื้องหน้า โดยคนทั้งสองเป็นหลักประกันในการผูกสัมพันธ์ของวงศาคณาญาติ

พิธีทางศาสนาเริ่มด้วยการนิมนต์พระมาฉันอาหารเพล เพื่อจะขอน้ำมนต์แทนน้ำสาบาน ต่อจากพิธีทางศาสนาจึงเป็นพิธีของพื้นบ้านซึ่งมีลัทธิของของพราหมณ์เข้ามาผสม มีการตั้งขันโตกบายศรี เรียกว่า ‘ขันแปด’ เมื่อพระเสร็จพิธีของสงฆ์และท่านลงเรือนไปแล้ว พิธีสูตรขวัญก็เริ่มขึ้นด้วยการโอมอ่านโองการเชิญเทวดามาชุมนุมจนสิ้นขบวนความ จึงประกาศการเป็นเสี่ยวเหยเพยแพง ของบุคคลทั้งสอง ต่อญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นั้น ให้รับรู้เป็นสักขีพยาน แล้วจึงโอมอ่านคำอวยชัยให้พรและสาปแช่งการตระบัดสัตย์ซึ่งกันและกันควบคู่ไปในเนื้อหาเป็นครั้งสุดท้าย แล้วจึงให้ญาติพี่น้องมิตรสหายของคนทั้งสองเข้ามาผูกข้อมือด้วยสายสิญจน์ รับเอาความผูกพันเหล่านั้นกระชับเกลียวเข้าไปด้วยก็เป็นอันเสร็จพิธี ต่อจากนั้นก็เปิดรายการกินกันสำราญบานใจ ไปจนกระทั่งตกค่ำย่ำเย็น หรือจนกว่าจะตะบันเข้าไปไม่ไหวโน่นแหละจึงจะเลิกรากัน

บัญญัติของ ‘เสี่ยว’ ที่ได้ตราไว้เป็นกฎเกณฑ์นั้น ตามโอมอ่านของพราหมณ์ปุโรหิตสรุปรวมความแล้วได้ความว่า “สูเจ้าทั้งสอง ได้ประกาศต่อหน้าเทวดาฟ้าดินและสักขีพยานรอบๆ นี้แล้วว่า จะรักซื่อตรงต่อกัน แม้ชีวิตก็จักพลีให้แก่กัน จะไม่ยอมทอดทิ้งกันและกันไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใด เจ้าทั้งสองได้ประกาศแล้วว่าชีวิตของเจ้าทั้งสองจะเหมือนเป็นชีวิตเดียวกัน พ่อแม่ญาติพี่น้องของเจ้าทั้งสองจะเป็นเสมือนคนครัวเรือนเดียวกัน ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยามตกทุกข์ได้ยากหรือยามมั่งมีศรีสุข เจ้าทั้งสองจักต้องดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกัน จนกว่าชีวิตของเจ้าทั้งสองจะดับสูญ ฯลฯ”

นี่แหละครับการเป็น เสี่ยวเหยเพยแพง ต้องอยู่ในสูตรเหล่านี้และจะต้องอยู่อย่างเคร่งครัดจริงๆ

คนเหมืองหลวงหรือทั่วๆ ไปก็มีคำนี้เช่นกัน เช่น เพื่อนน้ำมิตร เพื่อนตาย เพื่อนยาก เพื่อนเกลอ ฯลฯ แต่ผู้เขียนรู้สึกว่าไม่หนักแน่นจริงจังเหมือนคำว่า เสี่ยว ของคนอิสานเองเลย

ความหมายอันยิ่งใหญ่ของคำว่า เสี่ยว นี้ มีเรื่องเล่าเป็นคติไว้โลนๆ หลายเรื่อง เป็นการลองใจหรือล้อกันเล่นระหว่าง ‘เสี่ยว’ คือมี ‘เสี่ยว’ คู่หนึ่งภายหลังจากการผูกเสี่ยวกันแล้วก็แยกย้ายกันไปมีเมีย ความห่างเหินในการไปมาหาสู่ก็เป็นไปโดยธรรมชาติ จนกระทั่งวันดีคืนดี ‘เสี่ยว’ ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ลงทุนไปเยี่ยมอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งคู่โผเข้ากอดรัดตบหัวหูซึ่งกันและกันแสดงออกถึงน้ำใจยังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอยู่เช่นเดิม แล้วฝ่ายที่ถูกเยี่ยมก็เรียกเมียสาวออกมารู้จักกัน พอเห็นหน้าเมียของเสี่ยว ผู้ไปเยี่ยมก็ออกปากเอาตรงๆ เลยว่า “เฮ้ย เสี่ยว เมียมึงสวยจริงๆ ขอกูได้ไหมวะ!...”  เสี่ยวที่ถูกเยี่ยมสะอึก  ยังไงๆ โอมอ่านบัญญัติของพราหมณ์ปุโรหิตในวันผูกเสี่ยวก็ยังกึกก้องอยู่เสมอ หมอก็ตอบเสียงดังฟังชัดไปทันทีว่า “ตกลงๆ ๆ” เสี่ยวฝ่ายที่ลองใจก็ถอนหายใจเฮือกกอดเพื่อนแน่นกว่าเก่า ซึ้งในน้ำใจที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

และทำนองเดียวกัน ฝ่ายถูกเยี่ยมไปเยี่ยมตอบแทนบ้าง พอเจอหน้า ‘แม่เสี่ยว’ (เมียของเสี่ยว) ก็ออกปากเอาดื้อๆ เหมือนกัน ฝ่ายนั้นก็หัวเราะก๊ากๆ ‘เอาเลย เอาเลยเพื่อน’

เป็นแต่เพียงการเปรียบเปรยให้เห็นความล้ำลึกของจิตใจของคำว่า “เสี่ยว” ว่าล้ำลึกเพียงใด โดยนัยแล้วเขาผนึกชีวิตเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สำมะหาอะไรกับทรัพย์หรือสิ่งประกอบอื่นใดที่เป็นของภายนอก เขาจะปรารมภ์แม้แต่เมีย

คนกรุงเทพฯ เพื่อนรุ่นพี่ของผู้เขียนคนหนึ่ง ชอบล้อเลียนผู้เขียนอยู่ทุกบ่อยๆ จนดูๆ คล้ายกับเป็นการเหยียดหยามกันไปในเชิง โดยพบหน้าผู้เขียนคราวใดจะต้องทักทายออกมาลอยๆ ด้วยเสียงอันดังอยู่เสมอว่า ‘เฮ้ยเสี่ยว’ ‘ว่ายังไงบักเสี่ยว’ ฯลฯ บ้าง  วันหนึ่งผู้เขียนทนไม่ไหวก็เลยตอบโต้ไปด้วยเสียงอันดังพอๆ กันว่า “พี่รู้บ้างไหมที่เรียกผมว่าเสี่ยว, บักเสี่ยวหน่ะ เสี่ยวนี้มันหมายถึงเพื่อนเป็นเพื่อนตาย แม้แต่เมียก็ยังเปลี่ยนกันนอนได้ พี่พร้อมแล้วหรือที่จะเป็นเสี่ยวกับผม...”

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เพื่อนรุ่นพี่คนนั้นก็เลิกคำว่า เสี่ยว กับผู้เขียนชนิดเงียบกริบไปเลย เพราะผู้เขียนว่าไปยังงั้นแล้วก็อธิบายให้แกรู้ที่มาของคำว่าเสี่ยวและจารีตประเพณีเกี่ยวกับการเป็นเสี่ยวอย่างยืดยาว รู้สึกว่าแกนิ่งฟังด้วยความสนใจและเข้าใจ ผู้เขียนจึงทราบว่าที่แท้นั้นแกรู้เท่าไม่ถึงการณ์มากกว่าที่จะจงใจล้อเลียน เราก็ยังรักใคร่นับถือกันเรื่อยมาจนบัดนี้

คนอิสานวางกฎเกณฑ์ของการเป็น เสี่ยว ไว้ละเอียดและรัดกุมมาก หากเสี่ยวทั้งสองฝ่ายมีลูกเต้าเป็นหญิงชายคนละคน หากเด็กมันเกิดรักกันขึ้น “พ่อเสี่ยว-แม่เสี่ยว” จักต้องโอเค จัดการให้เกิดการผนึก “เสี่ยวกำลังสอง” กำลังสามเพิ่มขึ้นไปให้เป็นปึกแผ่นแผ่ขยายออกไปไม่มีขัดข้อง

แต่หากในกรณี เสี่ยวผู้ชายฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดเป็นพ่อหม้ายหรือพ่อร้าง ดันเสือกไปชอบพอลูกหลานหรือน้องสาวของเสี่ยวอีกฝ่ายหนึ่งเข้าให้ อันนี้จารีตไม่อนุมัติอย่างเด็ดขาด ถือว่าเป็นเสนียดและทรยศต่อน้ำสาบาน และเสี่ยวผู้นั้นจะถูกคนถุยสาปแช่งทั่วไป  หรือว่า ผู้หญิงกับผู้ชาย หรือผู้ชายกับผู้หญิงคู่หนึ่งคูใด ได้เข้าพิธี “ผูกเสี่ยว” ตามคำโอมอ่านโองการของพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ต่อมาเสี่ยวหญิงชายทั้งคู่นี้เกิดรักกันฉันท์หนุ่มสาวขึ้น...เสียใจจริงๆ ที่คนคู่นี้จะแต่งงานกันไม่ได้ เพราะบัญญัติของเสี่ยวได้เป็นกำแพงกั้นไว้ เขาจะหาทางออกกันยังไง ผู้เขียนเองก็งุนงงอยู่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เท่าที่ได้ฟังและได้เห็นมา เห็นเสี่ยวทั้งคู่นี้ทำพิธีลบล้างหรือถอนคำว่า ‘เสี่ยว’ ออกโดยกรรมวิธีของพราหมณ์เสียก่อน แล้วเขาจึงจัดทำพิธีแต่งงานกัน...ยังงี้ก็มีด้วย...

ความจริงหญิงกับชายหรือชายกับหญิงคู่ใดจะผูกเสี่ยวกันขึ้นนั้น ชายที่เป็นเสี่ยวกันอย่างตรงไปตรงมาตามแบบฉบับ ส่วนมากมักจะหนีธรรมชาติไปไม่พ้น การผูกเสี่ยวจึงเห็นการอำพรางทดสอบจิตใจกันในระยะต้น ต่อเมื่อความรักและธรรมชาติเรียกร้องจนสุกหง่อมแล้ว เขาก็ทำพิธีถอนเสี่ยวออกแล้วแต่งงาน ดูๆ ไปก็ไม่น่าจะแปลกอะไรที่เสี่ยวแต่งงานกับเสี่ยว แต่ถ้าจารีตหรือบทบัญญัติไม่วางไว้เช่นนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของคำว่า เสี่ยว ในภาคอิสานก็ไม่มีเป็นสัญลักษณ์มาจนถึงปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน

หากว่าท่านหนึ่งท่านใดได้ถูกคนอิสานขอ “ผูกเสี่ยว” ด้วย มันหมายถึงเขาให้เกียรติท่านอย่างสูงส่งที่สุดแล้ว และท่านจงเชื่อเถิดว่า ท่านกำลังมีมหามิตรเพื่อนร่วมตายที่แสนซื่อและเซ่อจนน่าสงสาร จนท่านไม่ควรจะลืมความสูงส่งของคำว่า “เสี่ยว” ที่เขามอบให้เป็นอันขาด