[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 03 ตุลาคม 2563 18:19:38



หัวข้อ: จิตรกรรมฝาผนัง วัดม่วง ต.โพธิ์สามต้น อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 ตุลาคม 2563 18:19:38
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/48890333167380_1_640x480_.jpg)

วัดม่วง
ตำบลโพธิ์สามต้น อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยูยา

วัดม่วง เป็นวัดเล็กๆ ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ในเขตบ้านม่วง ตำบลโพธิ์สามต้น อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่าที่มีพระภิกษุจำพรรษามาโดยตลอด ศาสนสถานต่างๆ ภายในวัดจึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา

โบราณสถานภายในวัดก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงาม  มีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีความสำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรม และมีคุณค่าต่อการศึกษาในด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี

ประวัติการสร้างวัดม่วง ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน ทราบเป็นแต่เพียงคำบอกเล่าว่า วัดม่วงนี้ หม่อมเจ้าเกษร ได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับที่เจ้าพระยาภูธราภัย (บุตร บุญรัตน์) ที่สมุหนายก สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเขาดิน (วัดวรนายกรังสรรค์เจติยบรรพถาราม) แล้วจึงถวายเป็นพระอารามหลวง   ส่วนวัดม่วงนี้หม่อมเจ้าเกษรผู้ปฏิสังขรณ์ปรารถนาจะถวายเป็นพระอารามหลวงในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เช่นกัน แต่ภายหลังการปฏิสังขรณ์วัดม่วงแล้วเสร็จ หม่อมเจ้าเกษรถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏจึงไม่ได้ถวายเป็นพระอารามหลวง  ทั้งนี้ชื่อวัดม่วงน่าจะเรียกตามชื่อหมู่บ้านที่ตั้งวัดอยู่ ซึ่งเรียกว่าบ้านม่วงมาแต่เดิมก่อนจะมีการสร้างวัดขึ้น

จากเอกสารฝ่ายพุทธศาสนสถาน กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา ได้กล่าวประวัติวัดม่วงไว้ว่า  วัดม่วงเป็นวัดเก่าสร้างครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ.๒๓๕๕ สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.๒๓๕๗ ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางศิลปวัตถุที่พบภายในวัด ได้แก่ ธรรมาสน์ บุษบก และตู้พระธรรมลายรดน้ำ ที่กำหนดอายุได้ว่าเป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดม่วงเป็นโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๓๗ ง. วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑ โบราณสถานที่สำคัญคือวิหาร โบสถ์ และเจดีย์

จิตรกรรมฝาผนังวัดม่วง

ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังและที่ประตูหน้าต่าง ใช้เทคนิคการเขียนภาพด้วยสีฝุ่นบนผนังที่มีการรองพื้นและขัดเรียบเป็นมันที่งดงามมาก  ประกอบด้วยเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ ปฐมสมโพธิ์ และเรื่องสุภาษิต โดยผนังด้านทิศตะวันตกด้านหลังพระประธานเขียนภาพไตรภูมิ  ผนังด้านทิศตะวันออกเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย และผนังด้านข้างทั้งสองเขียนภาพพุทธประวัติ ลำดับเริ่มเรื่องจากผนังทิศเหนือด้านขวามือพระประธานวนตามเข็มนาฬิกาแล้วไปสิ้นสุดที่ผนังทางด้านทิศใต้ ส่วนตามช่องว่างระหว่างหน้าต่างเขียนภาพทศชาติชาดก บริเวณใต้ภาพแต่ละภาพมีอักษรกำกับตอนไว้  นอกจากนั้นยังมีภาพปริศนาธรรมประกอบคำพังเพยอยู่ ๗ ตอน เขียนไว้ที่มุมข้างทิศตะวันตกเฉียงใต้

จิตรกรรมภายในพระวิหาร เขียนขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๔๔  ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  โดยมีหลักฐานเป็นจารึกระบุปีที่เขียนภาพสกัดด้านหน้าว่า “พระพุทธศาสนาล่วงได้ ๒๔๔๔ วิหารนี้ของแม่แสงกับท่านทั้งหลายพร้อมใจกันศะระทรับออกเขียนวิหารไว้ในพระพุทธศาสนาขอให้สัมเร็ดแก่พระนิพพาน ณ ปัจโย โหตุฯ”  ระยะเวลาที่เขียนจิตรกรรมตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดม่วงครั้งใหญ่ในช่วงเวลานี้ พร้อมทั้งเขียนจิตรกรรมประดับฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/76763151875800__0048_640x480_.jpg)
พระประธานประจำพระวิหาร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/48144488988651_2_640x480_.jpg)
วิหารวัดม่วง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ทรงจั่ว ทำเป็นปีกนก มีเสาพาไลรองรับรองอาคาร
ไม่ประดับเครื่องลำยองพวกช่อฟ้าหางหงส์ หน้าบันทำผนังฉาบปูนเรียบ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97444205193056_4_640x480_.jpg)
ภาพพุทธประวัติ ตอนผจญมาร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/52842194586992__0018_640x480_.jpg)
ภาพชาดก พระเจ้าสิบชาติ ก่อนจะมาบังเกิดเป็นพระพุทธเจ้า บอกเล่าเรื่องการบำเพ็ญบารมีในชาติที่ ๓ (สุวรรณสามชาดก)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/98597644683387__0022_640x480_.jpg)
เต็มผืนผนังด้านหลังพระประธาน เป็นจิตรกรรมภาพไตรภูมิ คติเกี่ยวกับโลกทั้งสามตามความเชื่อในศาสนาพุทธ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28616709096564__0042_640x480_.jpg)
พระเทวทัตทำสังฆเภท

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/58174196630716__0044_640x480_.jpg)
สังฆเภท  หมายถึง การที่ภิกษุทำให้หมู่สงฆ์แตกแยกกัน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42051553270882__0033_640x480_.jpg)
ภาพสุภาษิต “วัวไม่กินหญ้าอย่าข่มเขา

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/78410852824648__0007_640x480_.jpg)
ภาพ “นรกภูมิ”

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/94890751524104__0046_640x480_.jpg)
บานประตู เขียนภาพเสี้ยวกาง ถือง้าว สวมพระบาท ยืนเหยียบสิงห์

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/47096660070949_3_640x480_.jpg)
เจดีย์ราย จัดอยู่ในรูปแบบเจดีย์ทรงเครื่อง ทรงระฆังย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานเขียง
และชุดฐานสิงห์ ฐานทำซุ้มจระนำทั้ง ๔ ทิศ ประดับหลังคาด้วยเจดีย์ทรงระฆัง ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม


อนึ่ง การตีความบอกเล่าเรื่องราวของภาพจิตรกรรมฝาผนัง
เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้โพสต์ ผิดพลาดประการใดขออภัยเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ค่ะ