ในบทความ "ชานพระศรี" ได้เล่าถึงเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)มาแล้ว คงจะเห็นว่าฝีมือทางด้านการกวีของท่านมีไม่น้อยเลย เพียงแต่ท่านอาจจะไม่ได้จับงานด้านนี้เป็นล่ำเป็นสันเท่านั้น
ใจรักทางศิลปะของท่านไปออกทางด้านศิลปะการแสดง โรงละครของเจ้าพระยามหินทรฯในสมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงต้นรัชกาลที่ ๕ ขึ้นชื่อลือชาว่า " เครื่องแต่งตัวสวย และแต่งตัวสมจริง" เพราะท่านลงทุนมาก ถ้าเล่นเรื่องมอญตัวละครก็แต่งมอญ เล่นจีนก็แต่งจีน เล่นเรื่องลาวก็แต่งลาว สิ้นเปลืองเท่าไรก็ไม่ว่า เป็นที่นิยมของคนดูมาก นอกจากนี้ท่านยังมีวงมโหรีปี่พาทย์ส่วนตัวอีกด้วย
เช่นเดียวกับขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยนั้นที่นิยมนำบุตรีขึ้นถวายตัวรับราชการฝ่ายใน ธิดาของเจ้าพระยามหินทรฯ ต่อมาคือเจ้าจอมมารดามรกฏในรัชกาลที่ ๕ มีพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์ คือพระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี และพระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ ทรงกรมเป็นกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม
พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์เสด็จไปศึกษาที่อังกฤษ เช่นเดียวกับพระเจ้าลูกยาเธออีกหลายพระองค์ เมื่อกลับมาสยาม ก็ทรงรับราชการได้เป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ
กรมหมื่นพิไชมหินทโรดมน่าจะทรงได้รับสายเลือดศิลปินจากเจ้าพระยามหินทรฯ ขรัวตาของท่านอยู่ไม่มากก็น้อย จึงได้นิพนธ์เพลงขึ้นมาเพลงหนึ่ง ชื่อ ลาวดำเนินเกวียนระหว่างเสด็จไปราชการตามหัวเมือง สมัยนั้นก็ค่อนข้างลำบาก เพราะทางรถไฟยังไปไม่ทั่วถึง มีแต่ทางเกวียนเป็นส่วนใหญ่
เพลงนี้ เนื้อร้องเดิมของแท้มีอยู่ว่า โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย
ข้อยพี่มาเว้า รักเจ้าสาวคำดวง
โอ้ดึกแล้วหนอ ข้อยขอลาล่วง
โอ๊ะพี่เป็นห่วง รักเจ้าดวงเดือนเอย
ขอลาแล้ว เจ้าแก้วโกสุม
ข้อยนี้รักเจ้าหนอ ขวัญตาเรียม
จะหาไหนมาเทียม เจ้าดวงเดือนเอย
หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้
หอมกลิ่นคล้าย คล้ายเจ้าสูเรียมเอย
หอมกลิ่นกรุ่นครัน หอมนั้นยังบ่เลย
เนื้อหอมทรามเชย เราละเหนอ
โอ้ละหนอ นวลตาเอย
ข้อยนี้รัก แสนรักดังดวงใจ
โอ้เป็นกรรม ต้องจำจากไป
โอ๊ะพี่อาลัย เจ้าดวงเดือนเอย
เห็นเดือนแรม เริศร้างเวหา
ข้อยเบิ่งดูฟ้า(ละหนอ) เห็นมืดมน
พี่จะทนทุกข์ทน เจ้าดวงเดือนเอย
เสียงไก่ขันขาน มันหวานเจื้อยแจ้ว
ช่างหวานสุดแล้ว หวานแจ้วเจื้อยเอย
ถึงจะหวานเสนาะ หวานเพราะกระไรเลย
บ่เหมือนทรามเชย เราจะเหนอ
เนื่องจากบทร้องพระนิพนธ์ขึ้นต้นว่า " โอ้ละหนอดวงเดือนเอย" และตอนที่จบท่อนก็มักจะมีคำว่า "ดวงเดือน" ก็เลยเป็นที่จดจำกันถึงคำนี้มากกว่าชื่อแท้จริงของเพลง และยังฟังไพเราะเหมาะสมกับทำนองและเนื้อร้องมากกว่า ก็เลยกลายเป็น ลาวดวงเดือน อย่างที่รู้จักกันทุกวันนี้
มีเบื้องหลังเล่าว่ากรมหมื่นพิไชยฯนิพนธ์เพลงนี้ด้วยพระทัยผูกพันในตัวเจ้าหญิงองค์หนึ่ง ในราชสำนักเชียงใหม่ที่เคยเสด็จไปเยือน ในฐานะพระราชอาคันตุกะจากเมืองหลวง ถึงขั้นใคร่จะขออภิเษกด้วย แต่ก็ทรงไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงผิดหวังกับความรักครั้งนี้มาก แต่ต่อมาก็ได้อภิเษกไปกับกุลสตรีอื่น ทรงเป็นต้นราชสกุล " เพ็ญพัฒน์"
กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุเพียง ๒๘ พรรษา มีพระนิพนธ์เพลง ลาวดวงเดือน ทิ้งไว้เป็นสมบัติยั่งยืนของวัฒนธรรมไทย
แหล่งที่มา : vcharkarn.com