[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
13 พฤษภาคม 2567 01:02:41 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: หุ่นวังหน้า : มรดกศิลป์ แห่งฝีมือบรรพชนช่างไทยในอดีต  (อ่าน 16805 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 04 กรกฎาคม 2556 14:35:36 »

.

หุ่นวังหน้า
มรดกศิลป์ แห่งฝีมือบรรพชนช่างไทยในอดีต

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระมหาอุปราชหรือวังหน้าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบัณฑูรให้สร้างหุ่นขึ้น ๒ สำรับ คือ หุ่นจีนและหุ่นไทยเรื่องรามเกียรติ์ และด้วยเหตุที่พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า คนทั่วไปจึงมักขานนามหุ่นของพระองค์ว่า “หุ่นวังหน้า”

หุ่นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญประดิษฐ์ขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตยิ่ง มีความงามบรรเจิดบรรจงกอปรด้วยฝีมือช่างชั้นสูง นับเป็นงานประณีตศิลป์ไทยชั้นเยี่ยมยอด

เนื่องจาก หุ่นของกรมพระราชวังบวรมีขนาดเล็กกว่าหุ่นหลวงที่เคยมีแต่ดั้งเดิม โรงที่แสดงก็มีลักษณะแปลกไปจากหุ่นหลวง จึงถือว่าเป็นของ “คิดทำขึ้นใหม่” ที่แสดงถึงพระปรีชาในเชิงสร้างสรรค์ศิลปะของสมเด็จพระบวรราชเจ้าพระองค์นั้น  หุ่นทั้ง ๒ สำรับเป็นเครื่องบันเทิงอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคล และนำออกแสดงภายนอกในงานสมโภชต่างๆ เป็นครั้งคราว

สันนิษฐานว่าหุ่นดังกล่าวคงเลิกเล่นตั้งแต่กรมพระราชวังบวรวิไชชาญเสด็จทิวงคต เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๘ หลังจากนั้น ตัวหุ่นทั้งหมดคงเก็บรักษาไว้อยู่ในวังหน้า  ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  หุ่นบางตัวได้รับการนำมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชื่นชมความงาม บางตัวยังคงเก็บอยู่ในคลัง

ระยะเวลาล่วงเลยไปกว่าร้อยปี ทำให้หุ่นทั้งหมดอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม กระทั่งเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ กรมศิลปากรและมูลนิธิซีเมนต์ไทยได้ขอให้อาจารย์จักรพันธุ์  โปษยกฤต เป็นผู้ซ่อมแซม  หุ่นวังหน้าจึงมีสภาพสมบูรณ์งดงาม ดังที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครปัจจุบัน

แม้ว่าหุ่นดังกล่าวจะมิได้มีการนำมาเล่นให้เห็นลีลาท่าทางอันอ่อนหวานชดช้อยดังเมื่อแรกสร้าง แต่ก็ทำให้ได้เห็นความเจนจัดฝีมือช่างชั้นครูที่เปี่ยมด้วยพลังของเส้นสายและสีสัน  หุ่นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจึงเป็นมรดกศิลป์ที่ประกาศความเกรียงไกรแห่งฝีมือบรรพชนช่างไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ



วายุพักตร์ เสนายักษ์กรุงลงกา

หุ่นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
ชาติที่มีอารยธรรมเป็นปึกแผ่นมั่นคง ย่อมมีมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดต่อเนื่องกันมาช้านาน  การระบำรำเต้นที่ประกอบขึ้นเป็นมหรสพต่างๆ นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยเวลาในการสร้างสรรค์ปรับปรุงเพิ่มเติมมาโดยลำดับ แม้บางชนิดจะได้รับอิทธิพลมาจากชาติอื่น แต่มีการนำมาดัดแปลงแก้ไขให้สอดคล้องกับบุคลิกของคนในชาติ กระทั่งมีการยอมรับสืบทอดจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งจนถือเป็นจารีตประเพณี

มรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวที่ชนชาติไทยเรามีอยู่ย่อมแสดงถึงชีวิตจิตวิญญาณของความเป็นไทยอย่างบริบูรณ์  ดังนั้น ผู้ที่ได้สัมผัสสุนทรีภาพนอกจากจะได้รับความบันเทิงใจแล้ว ยังได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตและจารีตประเพณีอันดีงามที่แฝงอยู่ในการแสดงนั้นๆ ด้วย

“หุ่น” เป็นมหรสพไทยอย่างหนึ่งที่เกิดจากการจำลองนาฏลักษณ์ของโขน ละคร ฟ้อนรำ มาปรับเปลี่ยนให้เป็นการแสดงที่แตกต่างออกไปอีกชนิดหนึ่ง

“หุ่นไทย” น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากปรากฏหลักฐานใน “พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง” อันเป็นกฎหมายเก่าซึ่งตราขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๑๙ กล่าวถึง “ช่างหุ่น” อันเป็นช่างหมู่หนึ่งใน “ช่างสิบหมู่” ว่า “ช่างหุ่น หลวงทิพยนต์  ช่างหุ่น นา ๔๐๐  ช่างเลว  นาคล ๔๐๐”

นามบรรดาศักดิ์ “หลวงทิพยนต์” ข้าราชการตำแหน่งช่างหุ่นนั้น มีคำว่า “ยนต์” ซึ่งแปลว่า “กลไก” ส่อให้เห็นเค้าว่า หุ่นที่ทำขึ้นในครั้งนั้น น่าจะประกอบด้วย “สายยนต์กลไก” สำหรับชักให้ตัวหุ่นเคลื่อนไหวได้  ดังนั้น “ช่างหุ่น” ที่กล่าวถึงกฎหมายเก่าฉบับดังกล่าวคงมิได้หมายถึง ช่างปั้นหุ่น ขึ้นรูปที่เกี่ยวกับการหล่อโลหะซึ่งในกฎหมายฉบับนี้กล่าวถึงช่าง ๑๑ ชนิดคือ ๑ ช่างทำลุ (น่าจะหมายถึงช่างฉลุ)  ๒ ช่างแกะ  ๓ ช่างสลัก  ๔ ช่างกลึง  ๕ ช่างเขียน  ๖ ช่างหล่อ  ๗ ช่างปั้น  ๘ ช่างหุ่น  ๙ ช่างรัก  ๑๐ ช่างบุ  และ ๑๑ ช่างปูน






หุ่นจีน ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
ในภาพ : หุ่นตัวนางผู้สูงศักดิ์ ศีรษะประดับศิราภรณ์งดงาม

อย่างไรก็ตาม แม้ในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองจะระบุว่ามี “ช่างหุ่น” มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น แต่ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานอื่นกล่าวถึงมหรสพชนิดนี้เลย กระทั่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อคณะราชทูตฝรั่งเศสเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา จึงปรากฏหลักฐานว่า “หุ่น” เป็นมหรสพอย่างหนึ่งที่มีในพระราชอาณาจักรสยาม

การแสดงหุ่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา น่าจะมีทั้งหุ่นหลวงและหุ่นของราษฎร  หุ่นหลวงแสดงสมโภชในงานพระราชพิธีต่างๆ ส่วนหุ่นของชาวบ้านนั้นเป็นมหรสพที่แสดงในงานของชาวบ้านทั่วไป

หนังสือบุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย แต่งในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกล่าวถึงมหรสพต่างๆ ที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้มีขึ้นเพื่อสมโภชพระพุทธบาทในครั้งนั้นว่า

     ฝ่ายหุ่นก็ตั้งโห่         ศัพทส้าวกระโหมโครม
     ชูเชิดพระโคโดม       ทวิพราหมณรณรงค์
     เริ่มเรื่องพระไชยทัต   จรเสด็จพนาพง
     ลอบล้อมมฤคยง       อสุรท้าวกุเวรแปลง

หุ่นหลวงสมโภชพระพุทธบาทคราวนั้น มีการ “ชูเชิดพระโคโดม”  อันหมายถึงการเชิดหุ่นฤาษีไหว้ครู ก่อนที่จะดำเนินเรื่อง “ไชยทัต” จากหลักฐานทางวรรณคดีหลายเรื่องที่แต่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย  สมัยกรุงธนบุรีแลสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นกล่าวว่า หุ่นนิยมเล่นเรื่องไชยทัต ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีในบทละครนอกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์หุ่นหลวงยังเป็นมหรสพสำคัญที่แสดงในงานสมโภชต่างๆ มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะของหุ่นหลวงนั้น โครงหุ่นทำด้วยไม้เนื้ออ่อน มีน้ำหนักเบา สูงประมาณ ๑ เมตร มีสายยนต์กลไกสำหรับชักเชิดให้ตัวหุ่นเคลื่อนไหว เสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับจำลองจากโขนละคร





หุ่นวังหน้า
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงประดิษฐ์หุ่นขึ้นสองสำรับคือหุ่นไทยเรื่องรามเกียรติ์ สำรับหนึ่ง และหุ่นจีนอีกสำรับหนึ่ง “หุ่นไทย” เรื่องรามเกียรติ์นั้นถือเป็น “หุ่นอย่างใหม่” มีขนาดเล็กกว่าหุ่นหลวงซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม

หุ่นของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หรือที่เรียกกันว่า “หุ่นวังหน้า” นั้นเป็นประณีตศิลป์ที่มีความงดงามวิจิตรยิ่งนัก เดิมหุ่นบางส่วนกรมศิลปากรนำมาจัดแสดง ณ พระที่นั่งทักษิณาภิมุข พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และยังมีเก็บอยู่ในคลังอีกเป็นจำนวนมาก หุ่นทุกตัวอยู่ในสภาพชำรุด จนเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ มูลนิธิซีเมนต์ไทย ได้มอบทุนสำหรับซ่อมแซมหุ่นของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญให้แก่กรมศิลปากร โดยประสานขอความอนุเคราะห์จากอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ให้เป็นผู้ซ่อม ดำเนินการตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ ถึงปีพุทธศักราช ๒๕๔๐

กรมพระราชวังบวรวิไชชาญ ทรงมีพระอัจฉริยภาพในกระบวนช่างหลายสาขา ทรงสร้างสรรค์และทรงสนับสนุนศิลปกรรมแขนงต่างๆ เช่นเดียวกับสมเด็จพระอัยกาธิราช คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย




สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียบเรียงพระราชประวัติของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ไว้ดังนี้  “กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าคุณจอมมารดาเอมเป็นเจ้าจอมมารดา ประสูติในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ แรม ๒ ค่ำ ปีจอมสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๐๐ (พ.ศ. ๒๓๘๑) แต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวยังเสด็จดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เสด็จประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมที่ริมปากคลองบางกอกใหญ่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดทรงศึกษาวิชาการอย่างฝรั่ง เป็นเหตุให้ทรงชอบพอกับพวกมิชันนารีอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้มาสอนภาษาแลวิชาอย่างฝรั่งให้แก่ไทยในสมัยนั้น จึงประทานพระนามว่า “ยอชวอชิงตัน” ตามนามประธานาธิบดีคนแรกของสหปาลีรัฐอเมริกา  ข้างฝ่ายไทยจึงเรียกพระนามว่า “หม่อมเจ้ายอด” ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระราชทานนามว่า “พระองค์เจ้ายอดยิ่งประยุรยศบวรราโชรสรัตนราชกุมาร” ต่อมาพระราชทานสุพรรณบัฏ ทรงสถาปนาเป็น กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ได้ทรงศึกษาเป็นอย่างดีสำหรับราชสกุลในสมัยนั้น เหตุด้วยเป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เป็นนิตย์มาแต่รัชกาลที่ ๓  พระราชกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีอย่างใด เช่น การฝึกหัดทหารอย่างฝรั่ง การช่างจักรกลแลการต่อเรือรบซึ่งได้ทรงมีหน้าที่มาแต่รัชกาลที่ ๓  ได้ทรงใช้สอยฝึกหัดกรมหมื่นบวรวิไชยชาญมายิ่งกว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่น อักขรวิธีภาษาไทยได้ทรงศึกษาแตกฉานถึงสามารถแต่งกาพย์กลอนแลฉันท์ได้เป็นอย่างดีมีปรากฏอยู่หลายเรื่อง ภาษาอังกฤษก็ได้ทรงศึกษาแตกฉานถึงสามารถอ่านตำราภาษาอังกฤษเข้าพระหฤทัยได้ดี วิชาการขี่ช้างขี่ม้าแลมวยปล้ำตลอดจนนัฏกรรมบางอย่างก็ได้ทรงฝึกหัด นอกจากนี้ยังมีวิชาเบ็ดเตล็ดในกระบวนช่างอีก เป็นต้นว่า ช่างเคลือบแลช่างหุ่น  กล่าวกันว่าวิชาช่างที่ได้มาจากฝรั่งก็ทรงสันทัดอีกหลายอย่าง

เมื่อบวรราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญยังไม่ได้โสกันต์ ด้วยเมื่อเวลาพระชันษาถึงกำหนดโสกันต์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพระประชวรหนักจึงต้องงดงาน ต่อเสร็จการพระบรมศพแล้วจึงได้โสกันต์ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ มีการแห่โสกันต์ในพระบวรราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงจรดพระกรรไกรพระราชทาน ต่อมาอีกปีหนึ่งจึงทรงผนวชเป็นสามเณร มีการสมโภชที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย แล้วแห่มาทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงผนวชแล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายไว้ในสำนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ต่อมาเมื่อทรงผนวชเสด็จประทับอยู่วัดบวรนิเวศ

กรมหมื่นบวรวิไชชาญทรงรับใช้ใกล้ชิดติดพระองค์ แลรับราชการต่างพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทั่วไปทุกอย่าง เวลาเสด็จไปไหนก็ตามเสด็จด้วย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงซื้อบ้านของพวกข้าราชการวังหน้าแต่ก่อน ตอนริมคลองคูเมืองเดิมข้างฝั่งเหนือตั้งแต่ถนนพระอาทิตย์ไปจนต่อเขตวังเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ สร้างวังพระราชทาน แลพระราชทานตึกตรงหน้าพระที่นั่งศิวโมกขพิมานให้เป็นที่สำนักอีกแห่ง ๑

ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ทรงบังคับบัญชากรมทหารเรือ ฝ่ายพระบวรราชวังกรมหมื่นบวรวิไชยชาญได้เสด็จมารับราชการรวมกันกับเจ้านายวังหลวงชั่วเวลา ๓ ปี ก็สิ้นรัชกาลที่ ๔

เจ้านายผู้ใหญ่ท่านตรัสเล่าว่า กรมหมื่นบวรวิไชยชาญนั้นพระอัธยาศัยสุภาพ โดยปรกติมักถ่อมพระองค์ เมื่อมาสมทบกับเจ้านายวังหลวงก็พอพระหฤทัยที่จะสมาคมคบหาแต่เพียงชั้นหม่อมเจ้าที่เป็นพระราชโอรสผู้ใหญ่ในเจ้านายต่างกรม วางพระอัธยาศัยเป็นกันเองอย่างสนิทสนม กรมหมื่นบวรวิไชยชาญได้พระราชทานอุปราชาภิเษกเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ พระชันษาได้ ๓๑ ปี



หุ่นนักพรตจีน ถือแส้
อาจใช้เล่นเป็นหลวงจีนตามที่ปรากฏ ในบทหุ่นพระราชนิพนธ์เรื่องเบ็ดเตล็ด

เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ทรงรับอุปราชาภิเษกนั้น พระราชมณเฑียรแลสถานที่ต่างๆ ในวังหน้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงซ่อมแซมสร้างไว้ยังบริบูรณ์ดี มีสิ่งสำคัญซึ่งปรากฏว่าทรงสร้างใหม่แต่ที่วังซึ่งเสด็จอยู่แต่ก่อน รื้อสร้างใหม่ทั้งวังทำเป็นตึกอย่างฝรั่ง มีเขื่อนเพชรรอบวัง แลทางฉนวนมีสะพานข้ามคลองเข้ามาถึงพระราชวังบวรฯ แต่การค้างมาหาได้เสด็จไปประทับไม่ ส่วนที่ในพระราชบวรฯ เป็นแต่ทรงสร้างพระที่นั่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างค้างไว้ให้สำเร็จ เสด็จไปประทับอยู่ที่นั่น ทรงขนานนามว่า “พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส”

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญโปรดการช่างต่างๆ มาแต่เดิมทั้งทรงตั้งโรงงานการช่างขึ้นในวังหน้าหลายอย่าง ทั้งช่างหล่อ ช่างกลึง ช่างเคลือบ ของที่ทรงประดิษฐ์คิดทำขึ้นล้วนเป็นฝีมืออย่างประณีตจะหาเสมอได้โดยยาก  แต่โรงงานการช่างในครั้งนั้นก็แก้ไขสถานที่ซึ่งมีมาแล้วแต่เดิมโดยมาก ปลูกสร้างใหม่ก็แต่ของเล็กน้อย มาในตอนหลังทรงหัดงิ้วขึ้นโรงหนึ่งก็ใช้สถานที่ของเดิมให้เป็นที่พวกงิ้วอาศัย

ส่วนการภายนอกพระราชฐานมีการสำคัญที่ได้ทรงบัญชาซ่อมทำ ต่อของเก่าให้แล้วสำเร็จบริบูรณ์ก็มาก เช่นป้อมผีเสื้อสมุทรแลป้อมเสือซ่อนเล็บที่เมืองสมุทรปราการ นอกจากนั้นยังมีการซ่อมพระอารามที่ชำรุดแลค้างมาอีกหลายพระอาราม คือวัดส้มเกลี้ยง วัดดาวดึงส์ วัดชนะสงคราม แลวัดหงส์รัตนาราม

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๑๗ ปี  ประชวรพระโรควักกะพิการ เสด็จทิวงคตที่พระที่นั่งบวรวริวัตร เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ พระชนมายุ ๔๘ พรรษา"



ตัวพระ

ตัวพระ ได้แก่ตัวหน้ามนุษย์ผู้ชายที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์หรือตัวเอกของเรื่อง กษัตริย์เมืองต่างๆ รวมถึงเทพเจ้าทั้งหลายเช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม พระวิษณุกรรม ฯลฯ ตลอดจนบุรุษที่เป็นบุคคลชั้นสูง เช่น เสนาผู้ใหญ่ เทพบริวารต่างๆ ฯลฯ

ศิราภรณ์ที่ประดับศีรษะหุ่นตัวพระมีทั้งสวมชฎาเครื่องยอดและสวมกะบังหน้า ประกอบกรรเจียกจอน ลวดลายต่างๆ ที่ประกอบศิราภรณ์ใช้รักตีลายจากพิมพ์หินสบู่  เสื้อผ้าอาภรณ์ปักร้อยอย่างบรรเจิดบรรจง ประดับอินทรธนู สังวาล ตาบทิศทับทรวง สวมสนับเพลาทับด้วยผ้าโจง มีผ้าห้อยหน้า ผ้าห้อยข้าง ปักลวดลายระยับ การแต่งกายของหุ่นตัวพระเป็นลักษณะเดียวกับโขน แต่มีบางลักษณะที่แปลกไปคือ โขนตัวพระมักใช้เสื้อผ้าอาภรณ์สีเดียวกับสีกายตามพงศ์ เช่น พระรามกายสีเขียว ในการเล่นโขนพระรามก็จะสวมเสื้อสีเขียว แต่หุ่นพระรามหัวหนึ่ง สวมเสื้อสีม่วง หุ่นพระองค์หนึ่ง ศีรษะโล้นสวมกะบังหน้า สีเขียว แต่สวมเสื้อสีม่วง หุ่นตัวพระที่สำคัญ เช่น

     - พระใหญ่ หรือพระราม สีเขียวสวมชฎายอดบัด
     - พระน้อย  หรือพระลักษมณ์  สีจันทร์ (เหลืองอ่อน)  เสื้อสีเหลือง ชฎายอดบัด
     - พระพรต  สีแดง  เสื้อสีม่วง  ชฎายอดบัด
     - พระสัตรุด  สีม่วงอ่อน  เสื้อสีม่วง  ชฎายอดบัด
     - พระมงกุฎ  สีเขียว สวมกะบังหน้า รัดเกล้าจุกอย่างเด็กผู้ชาย
     - พระวิษณุกรรม  สีเขียว สวมกะบังหน้า เสื้อสีม่วง




หุ่นตัวพระในพงศ์รามเกียรติ์ส่วนมากมักมีลักษณะใกล้เคียงกัน
จะมีเพียงไม่กี่องค์เท่านั้นที่กำหนดสีกายต่างออกไป ได้แก่ เทพเจ้าต่างๆ พระราม พระลักษมณ์
พระพรต พระสัตรุด พระพระมงกุฎ พระลบ ฯลฯ หุ่นตัวพระสีกายขาวนี้ อาจใช้เล่นเป็นท้าวอัชบาล
กษัตริย์องค์ที่ ๒ ของกรุงอโยธยา เป็นพระอัยกาของพระราม ซึ่งตามที่ปรากฏในพงศ์รามเกียรติ์ว่า
สีกายขาวสวมชฎาหรือมงกุฎยอดแหลม (บางแห่งว่ายอดน้ำเต้า)



 
หุ่นตัวนี้อาจใช้เล่นเป็นท้าวทศรถ พระบิดาของพระราม สวมชฎายอดบัด
หรือยอดเดินหน เป็นกษัตริย์กรุงอโยธยาองค์ที่ ๓  ท้าวทศรถมีมเหสี ๓ องค์ คือ
นางเกาสุริยา มีโอรสคือ พระราม นางไกยเกษี มีโอรสคือ พระพรต และนางสมุทรชา
หรือสมุทรเทวี มีโอรสคือ พระลักษมณ์กับพระสัตรุด



   
หุ่นตัวนี้อาจใช้เล่นเป็นพระลักษมณ์ ตามพงศ์รามเกียรติ์ระบุว่าหน้าพระสีทอง
แต่ตัวหุ่นของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทำเป็นสีเหลืองนวล สวมชฎายอดบัด  
พระลักษณ์คือบัลลังก์นาคและสังข์ของพระนารายณ์อวตารลงมา เมื่อพระรามออกเดินดง
พระลักษมณ์ขอตามเสด็จด้วย และได้ร่วมทำสงครามขับเคี่ยวกับเหล่ามารเป็นเวลานานถึง ๑๔ ปี



             
หุ่นตัวนี้อาจใช้เล่นเป็นท้าวสุทรรศน์ กษัตริย์เมืองปัญจาล สวมชฎายอดบัดหรือยอดแหลม
ได้พบกับพระรามเมื่อคราวออกเดินดง ชักชวนให้พระรามบำเพ็ญตบะอยู่ด้วย แต่พระรามปฏิเสธ


 

พระพรต  อนุชาของพระราม สีกายแดงชาด สวมชฎายอดบัด
คือ จักรพระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเป็นโอรสท้าวทศรถกับนางไกยเกษี  เมื่อนางไกยเกษีขอพร
จากท้าวทศรถให้พระรามออกเดินดง เพื่อให้พระพรตได้ครองกรุงอโยธยา  พระพรตไม่ยอมรับ
ทูลอ้อนวอนให้พระรามกลับมาเป็นกษัตริย์แต่พระรามปฏิเสธ พระพรตจึงรับจะรักษากรุงไว้
จนกว่าพระรามจะกลับและทูลขอฉลองพระบาทไปประดิษฐานไว้บนบัลลังก์แทนองค์พระราม
ในพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์มีว่า
      น้องดั่งหิ่งห้อยน้อยแสง       ไม่ควรตำแหน่งพระสุริย์ฉาน
      จะขอฉลองบาทพระอวตาร   ไปไว้ในสถานศวรรยา
      ต่างองค์พระทรงจักรภุช       เป็นจอมเมืองมงกุฎแหล่งหล้า
      จึ่งจะรักษาภารา               ไว้ท่าสมเด็จพระจักรี  




พระมงกุฎหรือพระบุตร   โอรสของพระรามกับนางสีดา สีกายเขียวนวล
สวมกะบังหน้ารัดเกี้ยวจุก ประสูติในสำนักฤาษีวัชมฤค  ครั้งหนึ่งพระฤาษีคิดว่า
พระมงกุฎซึ่งนางสีดาฝากไว้หายไป จึงชุบกุมารขึ้นองค์หนึ่งลักษณะเหมือน
พระมงกุฎทุกประการ ให้นามว่าพระลบ  วันหนึ่งกุมารทั้งสองลองศิลปศร
เกิดเสียงดังสะเทือนเลือนลั่นไปทั่วพิภพ พระรามเข้าใจว่าผู้มีบุญมาเกิด
จึงทำพิธีปล่อยม้าอุปการ ให้หนุมานตามม้านั้นไป พระมงกุฎขึ้นขี่ม้า
เกิดต่อสู้กับหนุมาน จนถูกพระพรตกับพระสัตรุดจับได้ นำตัวไปยังกรุงอโยธยา




หุ่นตัวพระไม่มีมงกุฎ (พระโล้น) สวมกะบังหน้า น่าจะได้แก่จิตตุราช
อำมาตย์ของพระอิศวร ซึ่งตามพงศ์รามเกียรติ์ว่า สีทอง สวมกะบังหน้า
แต่หุ่นตัวพระนี้เป็นสีขาวนวล เช่นเดียวกับพระลักษมณ์ ซึ่งในพงศ์รามเกียรติ์
ว่าเป็นสีทอง แต่หุ่นกรมพระราชบวรฯ เป็นสีขาวนวล


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ตุลาคม 2558 19:35:16 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 04 กรกฎาคม 2556 15:53:31 »

.
 
             
หุ่นหลวง ตัวนาง
สวมรัดเกล้ายอด ใช้เล่นเป็นนางกษัตริย์หรือสตรีชั้นสูงศักดิ์ จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ตัวนาง
ตัวนาง ได้แก่นางฟ้า นางกษัตริย์ นางเอก นางกำนัล หรือมนุษย์ผู้หญิงมีศักดิ์  ศิราภรณ์ประดับศีรษะของหุ่นตัวนางหากเป็นนางมนุษย์หรือนางฟ้าสวมชฎา หรือกะบังหน้า แต่ถ้าเป็นนางยักษ์นิยมใช้รัดเกล้า รัดเกล้ามี ๒ แบบ คือ รัดเกล้ายอดใช้กับสตรีมีศักดิ์หรือนางกษัตริย์ และรัดเกล้าเปลวใช้กับนางพี่เลี้ยงหรือสตรีที่มีศักดิ์ต่ำลงมา

อนึ่ง เนื่องจากตัวนางในเรื่องรามเกียรติ์เมื่อแสดงโขนไม่กำหนดจำแนกสีกายเด่นชัดอย่างตัวพระตัวยักษ์และตัวลิง เมื่อจำลองตัวละครออกมารในรูปของหุ่นจึงไม่มีลักษณะเด่นที่จะสามารถเจาะจงลงไปได้ว่าหุ่นตัวนางนั้นคือใคร จะพิจารณาได้เพียงลักษณะรวมๆ จากการแต่งกายและศิราภรณ์ เช่น หุ่นตัวนางที่ไว้ผมปีก สวมชฎายอดแหลม มีกรรเจียกจอนอย่างนางกษัตริย์ ในการแสดงหุ่นตัวละครที่มีลักษณะดังว่านี้ อาจเป็นนางสีดา นางมณโฑ หรือนางฟ้าองค์ใดองค์หนึ่งก็ย่อมได้ หุ่นตัวนางที่หวีผมแสก สวมรัดเกล้าเปลว อาจเป็นนางเบญกาย หรือนางสำมนักขาแปลงก็ย่อมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะนำหุ่นตัวนางนั้นมาแสดงในตอนใด ส่วนหุ่นตัวนางที่สวมกะบังหน้าไม่มียอดนั้นได้แก่นางกำนัล

หุ่นตัวนางตัวหนึ่งสวมกะบังหน้าชฎายอดทำเป็นเศียรนาค แปลกไปกว่าตัวนางอื่นๆ หุ่นตัวนี้ได้แก่ นางกาลอัคคี ธิดาท้าวกาลนาค มเหสีองค์หนึ่งของทศกัณฐ์

หุ่นตัวนางทุกตัวห่มผ้าสะพัก ๒ ไหล่อย่างนางในโขนละคร ประดับกรองศอ ทับทรวง พาหุรัด ทองกร ผ้าห่มปักลวดลายประดับลูกปัดงามวิจิตร นุ่งผ้าจีบตาดเยียรบับคาดปั้นเหน่ง




หุ่นตัวนางทั้งหมดในเรื่องรามเกียรติ์ มีลักษณะใกล้เคียงกัน ไม่สามารถจำแนกได้เด็ดขาด
เช่น หุ่นนางในภาพนี้ อาจใช้เป็นนางสีดาหรือนางมณโฑ หรือนางฟ้าองค์ใดองค์หนึ่งก็ย่อมได้
นางสีดาสีกายนวลจันทร์ สวมชฎาอย่างนางกษัตริย์ คือพระลักษมีอวตารลงมาเกิดเป็นธิดา
ของท้าวทศกัณฐ์กับนางมณโฑ เมื่อกำเนิดโหรทำนายว่าเป็นกาลกิณี ให้เอานางใส่ผอบลอยน้ำไป
ฤาษีชนกได้พบจึงเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาได้อภิเษกกับพระราม เมื่อพระรามต้องเดินดง
นางสีดาขอตามไปด้วย และถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไป พระรามทำศึกขับเคี่ยวอยู่นานถึง ๑๔ ปี จึงได้นางกลับมา




หุ่นนางตัวนี้อาจใช้เล่นเป็นนางเกาสุริยา มเหสีที่ ๑ ของท้าวทศรถ
สีกายนวลผ่อง สวมชฎาอย่างนางกษัตริย์ เป็นพระมารดาของพระราม


 

หุ่นตัวนี้ อาจใช้เล่นเป็นนางไกยเกษี มเหสีที่ ๒ ของท้าวทศรถ
สีกายนวลจันทร์  สวมชฎาอย่างนางกษัตริย์ มีโอรสชื่อพระพรต  
นางไกยเกษีเป็นต้นเหตุให้พระรามต้องออกเดินดง เนื่องจากครั้งหนึ่ง
เมื่อท้าวทศรถรบกับปทูตทันต์  เพลารถของท้าวทศรถเกิดหักลง  นางไกยเกษี
ใช้แขนสอดแทนเพลา  ท้าวทศรถให้พรว่าถ้านางปรารถนาสิ่งใดจะให้ตามที่ขอ
นางไกยเกษี ขอให้พระรามออกเดินดงเป็นเวลา ๑๔ ปี เพื่อให้พระพรต
ได้ครองราชย์สมบัติกรุงอโยธยาก่อน
       ข้าจะขอสัตย์ปฏิญาณ          ผ่านเกล้าจงโปรดเกศา
       ซึ่งจะให้พระรามลูกยา          เป็นปิ่นโลกาประชากร
       พระองค์จงได้เงือดงด          ขอให้โอรสของข้าก่อน
       ให้พระรามไปจากพระนคร     สัญจรไพรสิบสี่ปี



หุ่นตัวนี้อาจใช้เล่นเป็นนางมณโฑ มเหสีของทศกัณฐ์ สีกายขาว
สวมชฎาอย่างนางกษัตริย์ กำเนิดเดิมเป็นนางกบ ฤาษี ๔ ตนชุบขึ้น
แล้วนำไปถวายพระอิศวร  เมื่อครั้งที่ทศกัณฐ์อาสายกเขาไกรลาสให้ตรงดังเดิม
พระอิศวรประทานนางมณโฑให้เป็นบำเหน็จ ทศกัณฐ์อุ้มนางเหาะข้ามเมืองขีดขิน  
พาลีชิงเอานางไปจนเกิดบุตรคือองคต  ภายหลังอาจารย์ของพาลีคือฤาษีอังคต
เจรจาให้ส่งนางคืนแก่ทศกัณฐ์




หุ่นนางตัวนี้อาจใช้เล่นเป็นนางสุวรรณมาลี นางฟ้า สีกายนวลผ่อง
สวมชฎาอย่างนางกษัตริย์  เป็นนางอัปสรซึ่งพระอิศวรมีเทวโองการให้ไปคอยบอกทางแก่หนุมานไปยังกรุงลงกา




หุ่นตัวนางสวมรัดเกล้าเปลว ใช้สำหรับนางรองที่มีศักดิ์ต่ำลงมา
อาจเป็นนางคันธมาลีสนมเอกของกุมภกรรณ  ซึ่งตามพงศ์รามเกียรติ์ว่าสีขาวนวล สวมรัดเกล้าเปลว


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ตุลาคม 2558 16:25:33 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 09 กรกฎาคม 2556 18:23:11 »

.

     ตัวยักษ์  
เนื่องจากตัวละครที่เป็นยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์มีมากมาย
ครูบาอาจารย์แต่โบราณจึงจำแนกลักษณะพิเศษของยักษ์แต่ละตนไว้ให้มีความชัดเจน
ไม่เกิดความสับสนเมื่อนำไปแสดงเป็นโขน หนัง ละคร และหุ่น
ทั้งการกำหนดชฎาเครื่องยอด สีกาย ปาก ตา และอาวุธคู่มือ


กำหนดด้วยชฎาเครื่องยอด เช่น
ชฎายอดกระหนก  – ไมยราพ พญาทูต
ชฎายอดหางไก่    – วิรุญจำบัง บรรลัยจักร
ชฎายอดสามกลีบ  – มารีศ สวาหุ ทัพนาสูร
               ฯลฯ

กำหนดด้วยสีกาย เช่น
สีเขียว      – ทศกัณฐ์ อินทรชิต กุมภกรรณ
สีขาว       – มารีศ สหัสสเดชะ ตรีเศียร
สีม่วงอ่อน  – ไมยราพ บรรลัยจักร กุเปรัน
สีหงดิน     – ทัพนาสูร ทศคีรีธร กุมภกาศ
               ฯลฯ

กำหนดด้วยปากและตา เช่น
ปากแสยะ ตาโพลง  – ทศกัณฐ์ กุมภกรรณ
ปากขบ ตาโพลง     – อินทรชิต รามสูร สุริยาภพ
ปากแสยะ ตาจระเข้  – พิเภก พิราพ
ปากขบ ตาจระเข้     – ไมยราพ มังกรกัณฐ์
               ฯลฯ

หัวหุ่นยักษ์ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ แกะโกลนด้วยไม้เนื้ออ่อน ปั้นเสริมรายละเอียดต่างๆ
ปิดกระดาษและเขียนสีเช่นเดียวกับหัวโขน ตามที่กล่าวในพงศ์รามเกียรติ์ หุ่นยักษ์ทุกตัวงามอย่างมีชีวิตชีวา เช่น
- ทศกัณฐ์ สีเขียว ตาโพลง ปากแสยะ มี ๑๐ หน้า ทำเป็น ๓ ชั้นอย่างหัวโขน
- อินทรชิต สีเขียว ปากขบ ตาโพลง จอนหูอย่างมนุษย์ สวมชฎายอดบัด
- กุมภกรรณ สีเขียว ตาโพลง ปากแสยะ ศีรษะโล้น
- ไมยราพ  สีม่วงอ่อน ปากขบ ตาจระเข้ สวมชฎายอดหางไก่ ถือหอก ขี่ม้านิลพาหุ
- วิรุญจำบัง สีมอหมึก ปากขบ ตาจระเข้ สวมชฎายอดหางไก่ ถือหอก ขี่ม้านิลพาหุ
- ผีเสื้อสมุทร สีหงดิน ปากแสยะ ตาจระเข้ สวมกะบังหน้า ไว้ผมปีก ห่มผ้าอย่างตัวนาง

นอกจากหุ่นยักษ์ตัวสำคัญๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีหุ่นเสนาและทหารยักษ์ชั้นต่างๆ อีกหลายตัว

 
 
ทศกัณฐ์  พญายักษ์เจ้ากรุงลงกา สีกายเขียว ปากแสยะ ตาโพลง มี ๑๐ หน้า ทำเป็น ๓ ชั้น  
ทศกัณฐ์เป็นโอรสองค์โตของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา มเหสีคือนางมณโฑกับนางกาลอัคคี  
เมื่อพระรามเดินดง ทศกัณฐ์ทำอุบายให้มารีศแปลงเป็นกวางทองลวงให้พระรามออกตาม
แล้วลักพานางสีดาไปไว้ยังกรุงลงกา ทำให้เกิดสงครามใหญ่สูญเสียญาติวงศ์พงศ์ยักษ์ไปเป็นอันมาก

โคลงประจำภาพเรื่องรามเกียรติ์มีว่า
     ทศกัณฐ์สิบพักตร์ชั้น  เศียรตรี
     ทรงมงกุฎเขียวสี       อาตม์ไท้
     กรยี่สิบพระศุลี         ประสาทฤทธิ์ ยิ่งนา
     ถอดจิตจากตนได้      ปิ่ด้าวลงกา



มารีศ รากษสกรุงลงกา สีกายขาว ปากขบ ตาโพลง สวมชฎายอดสามกลีบ  
เป็นบุตรนางกากนาสูร ทศกัณฐ์บังคับให้มารีศแปลงเป็นกวางทองไปลวงนางสีดา
เมื่อพระรามกับพระลักษมณ์ออกติดตามเป็นโอกาสให้ทศกัณฐ์ลักพานางสีดาไปได้

โคลงประจำภาพเรื่องรามเกียรติ์มีว่า
     มารีศบุตรยุพแก้ว   กากนา สูรฤา
     ขาวผ่องสีกายา     อย่างนี้
     มีมงกุฎโสภา        สามกลีบ  ซ้อนแฮ
     ชีพละบัดเมื่อลี้      ลาศเต้าตามกวาง




ทูษณ์ หรือ ทูต พญายักษ์ สีกายม่วงแก่ ปากขบ ตาจระเข้  สวมชฎายอดกระหนก
มีหอกเป็นอาวุธประจำกาย ครองเมืองจารึก เป็นน้องชายร่วมมารดากับทศกัณฐ์
เมื่อทราบข่าวว่าพญาขรผู้พี่ที่ต้องสิ้นชีพด้วยศรพระราม จึงยกทัพมารบหมายแก้แค้น
ในที่สุดตายด้วยศรพระราม




วิรุญจำบัง โอรสของพญาทูษณ์ สีกายมอหมึก บางแห่งว่าสีหงดินแก่ ปากขบ ตาจระเข้
สวมชฎาหางไก่ เป็นผู้ครองกรุงจารึกต่อจากบิดา มีพาหนะคู่ใจคือ ม้านิลพาหุ
หายตัวได้ทั้งตนเองและม้า ทศกัณฐ์ขอให้ยกไปสมทบทัพสัทธาสูร  
เพื่อตีกระหนาบทัพพระราม  ม้านิลพาหุตายด้วยศรพระราม  
วิรุญจำบังหนีไปซ่อนอยู่ในฟองน้ำเชิงเขาอัสกรรณ หนุมานตามไปสังหาร

โคลงประจำภาพเรื่องรามเกียรติ์มีว่า
     เอารสพญาทูษณ์รู้    เวทย์ฉมัง
     นามวิรุญจำบัง         แก่นกร้าว
     ครองชนบทมกุฏดัง   หางไก่
     กุมหอกหายตัวห้าว    มุขแม้นหมึกมอ




ทศคิรีธร  โอรสทศกัณฐ์กับนางช้าง สีกายหงดิน ปากขบ ตาโพลง  
บางตำราว่าตาจระเข้ ปลายจมูกเป็นงวงช้าง สวมชฎากาบไผ่ เป็นบุตรบุญธรรมของอัศกรรณมาราสูร
ขณะเกิดศึกติดพันกรุงลงกาอยู่นั้น ทศคิรีธรเดินทางมาเยี่ยมทศกัณฐ์ พร้อมด้วยทศคิรีวันผู้เป็นพี่
ยกไปทำสงครามกับกองทัพพระราม และตายด้วยศรพระลักษมณ์

โคลงประจำภาพเรื่องรามเกียรติ์มีว่า
     บุตรกรีเกิดแต่ท้าว     จอมลง กาเฮย
     นามทศคิริธรทรง       ฤทธิ์ร้าย
     หงดินผ่องผิวมง        กุฏกาบ ไผ่แฮ
     นาสิกเป็นงวงคล้าย    เงื่อนเค้าชนนี




ไมยราพ สีกายม่วง ปากขบ ตาจระเข้ มงกุฎกระหนก เจ้าเมืองบาดาล
รู้วิชาสรรพยาเป่ากล้องล่องหนเวทย์มนตร์สะกดทัพ ถอดดวงใจเป็นแมลงภู่ซ่อนไว้ที่ยอดเขาตรีกูฏ  
ทศกัณฐ์ขอให้มาช่วยรบกับพระราม  ไมยราพจึงใช้มนตร์สะกดทัพและลักพาพระรามไปยังเมืองบาดาล  
หนุมานออกติดตามและสังหารไมยราพในที่สุด

โคลงประจำภาพเรื่องรามเกียรติ์มีว่า
     วิรูปไมยราพเจ้า             กรุงบา ดาลแฮ
     สีม่วงอ่อนอสุรา             ฤทธิ์แกล้ว
     เป็นโอรสมหา               ยมยักษ์ นั้นนอ
     ทรงมงกุฎกระหนกแพร้ว    เผ่าพร้อมพรหมินทร์


 

อินทรชิต โอรสทศกัณฐ์กับนางมณโฑ สีกายเขียว
ปากขบ ตาจระเข้ จอนหูอย่างมนุษย์ มีฤทธิ์มากรบชนะพระอินทร์

โคลงประจำภาพเรื่องรามเกียรติ์ มีว่า
     อินทรชิตเดิมชื่ออ้าง     รณพักตร์
     เทพประสาทศรศักดิ์     สิทธิ์ให้
     ทรงมกุฎมนุษย์ลักษณ์   สีเท่ห์ เขียวนอ
     เขี้ยวงอกลับบุตรไท้      แทตย์ท้าวทศกัณฐ์




ผีเสื้อสมุทร นางยักขิณี ผู้รักษาด่านกรุงลงกา สีกายหงดิน ปากแสยะ
ตาจระเข้ สวมกะบังหน้า ไว้ผมปีก เมื่อหนุมานจะนำแหวนไปถวายนางสีดายังกรุงลงกา
นางผีเสื้อสมุทรเข้าขัดขวาง หนุมานเหาะเข้าทางปาก ใช้ตรีแหวะไส้พุงจนถึงแก่ความตาย

โคลงประจำภาพเรื่องรามเกียรติ์มีว่า
     อสุรีผีเสื้อสมุทร        มหึมา
     ผิวดุจหงดินทา         ทาบเนื้อ
     รักษาด่านชานมหา     สมุทรใหญ่
     แขวงเกาะลงกาเชื้อ    ชาติแท้ทมิฬมาร




ยักษ์กุมาร อาจใช้เล่นเป็นรณพักตร์เมื่อเยาว์วัย
ยามลิวันหรือกันยุเวกโอรสของอินทรชิต




วิรุญมุข โอรสวิรุญจำบัง กายสีเขียวมอ  บางตำราว่าสีเขียว ปากขบ ตาโพลง
รัดเกี้ยวจุก ถือหอกเป็นอาวุธประจำกาย ขี่ม้าขาวศีรษะดำ หลังจากวิรุญจำบังสิ้นชีพแล้ว
วิรุญมุขออกรบร่วมกับอินทรชิต  หนุมานจับตัวได้  พระลักษมณ์ให้สักหน้าผากแล้วปล่อยไป
คราวที่อินทรชิตจำแลงกายเป็นพระอินทร์ วิรุญมุขแปลงกายเป็นอินทรชิตยืนอยู่บนรถศึก

    


สหัสกุมาร  โอรสจำนวน ๑,๐๐๐ ตนของทศกัณฐ์กับนางสนม
สีกายต่างๆ กัน มี ๗ หน้า ศีรษะหุ่นทำเป็น ๒ ชั้น  สวมชฎาน้ำเต้า
เมื่อหนุมานถวายแหวนแก่นางสีดาแล้ว ทำลายสวนกรุงลงกา  
สหัสกุมารออกรบ ถูกหนุมานสังหารสิ้นทั้ง ๑,๐๐๐ คน


 
สหัสกุมาร

 
สหัสกุมาร  สีกายขาว ปากขบ ตาโพลง สวมชฎายอดน้ำเต้า

 
วายุภักษ์ เสนายักษ์กรุงลงกา สีกายครามแก่หรือสีเมฆ  ปากแสยะ
ตาโพลง ศีรษะโล้น สวมกะบังหน้า เป็นนายกองรักษาด่านริมสมุทร



เปาวนาสูร เสนายักษ์กรุงลงกา สีกายขาว ปากแสยะ ตาโพลง
สวมชฎาน้ำเต้า บางตำราว่าศีรษะโล้นสวมกะบังหน้า เป็นผู้รับบัญชาจากทศกัณฐ์
ให้เป็นผู้จัดการเรื่องต่างๆ เช่น รับแขกเมือง จัดทัพในบางครั้ง ทั้งเป็นที่ปรึกษาราชการ
 และเป็นผู้แนะให้ทศกัณฐ์เชิญไมยราพมาช่วยรบกับพระราม





     ตัวลิง
ในเรื่องรามเกียรติ์ประกอบด้วยตัวลิงจำนวนมากมายเช่นกัน จำแนกออกได้เป็น
     พญาวานร      เช่น พาลี สุครีพ ชามพูวราช
     สิบแปดมงกุฎ  เช่น เกสรทมาลา เกยูร มายูร
     เตียวเพชร      เช่น มากัญจวิก โชติมุข
พญาวานรยังจำแนกออกเป็น ลิงยอด คือศีรษะสวมชฎา เช่น พาลี สุครีพ สวมชฎายอดบัด ชามพูวราช
สวมชฎายอดแหลม องคต สวมชฎายอดสามกลีบ ลิงโล้น ไม่สวมเครื่องยอด
เช่น หนุมาน นิลพัท เป็นต้น ส่วนวานรสิบแปดมงกุฎจัดอยู่ในจำพวกลิงโล้น เช่นกัน

ทหารลิงอีกพวกหนึ่งเรียกว่า “เตียวเพชร” เป็นลิงโล้นเหมือนกันแต่ไม่สวมกรอบหน้า ศีรษะโพกผ้าบิดเป็นเกลียวพันรอบ

ตัวอย่างหุ่นตัวลิงของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เช่น
- สุครีพ สีแดงเสน สวมชฎายอดบัด ปากอ้า
- ชมพูพาน สีหงชาด สวมชฎายอดแหลม ปากอ้า
- หนุมาน สีขาว ศีรษะโล้น สวมกรอบหน้า ปากอ้า
- องคต สีเขียว ปากหุบ หุ่นองคตมีทั้งตอนที่อยู่ในวัยเยาว์ สวมกรอบหน้า รัดเกล้าจุก ส่วนหุ่นเมื่อเจริญวัยแล้วสวมชฎาสามกลีบ
- มัจฉานุ  บุตรหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา สีขาวปากอ้าเช่นเดียวกับหนุมาน แต่หางเป็นปลาอย่างแม่
- อสุรผัด  บุตรหนุมานกับนางเบญกาย สีขาวเหมือนหนุมานแต่ศีรษะเป็นยักษ์โล้น




หนุมาน  ทหารเอกของพระราม สีขาวผ่อง ปากอ้า ศีรษะโล้น
คาดเกี้ยวมาลัยทองรอบศีรษะ  เป็นโอรสของพระพายกับนางสวาหะ เกิดวันอังคาร เดือน ๓ ปีขาล
เมื่อเกิดเผ่นออกมาทางปากของมารดา โตเท่าอายุ ๑๖ ปี แผลงฤทธิ์เป็น ๔ หน้า ๘ กร หาวเป็นดาว เดือน ตะวัน

โคลงประจำภาพเรื่องรามเกียรติ์ มีว่า
     กบินทร์บุตรมารุตนี้       นามหนุ มานแฮ
     ผิวเผือกตรีเพชรอุ        กฤษฏ์เกล้า
     แสดงเดชสี่พักตร์ดุ       แปดหัตถ์ หาญแฮ
     โลมเพชรอีกเขี้ยก้ว      อีกทั้งกุณฑล  



มัจฉานุ บุตรของหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา ศีรษะสวมเกี้ยวมาลัยทอง
เหมือนหนุมาน หางเป็นปลาอย่างมารดา เป็นบุตรบุญธรรมของไมยราพ
มีหน้าที่เฝ้าด่านกรุงบาดาล เมื่อหนุมานลงไปตามพระรามจึงได้พบกัน

โคลงประจำภาพเรื่องรามเกียรติ์ มีว่า
     หลานลมหลานราพณ์ทั้ง   หลานปลา
     หลานมนุษย์บุตรมัจฉวา    นเรศพ้อง
     ยลหางอย่างมัตสยา        กายเศวต สวาแฮ
     นามมัจฉานุป้อง             กึ่งหล้าบาดาล  



มหัทวิกัน วานรเตียวเพชร ปากอ้า สีกายหงชาดหรือสีชมพู
โพกผ้าทองตะบิดเป็นเกลียวรอบศีรษะ พระประชาบดีเทวบุตรแบ่งภาคลงมาเกิด
เป็นวานรกรุงขีดขิน เพื่อช่วยพระรามปราบเหล่าอธรรม มหัทวิกันเป็นผู้คุมกองหลังของทัพกรุงขีดขิน

พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ มีว่า
     กองหลังมหัทวิกัน           พลขันธ์เจ็ดสมุทรชาญสมร
     กวัดแกว่งอาวุธสำหรับกร   ดั่งจะช้อนเอาพื้นแผ่นดิน    





เขนลิง ไพร่พลวานรในกองทัพของพระราม แต่งตัวอย่างทหาร
สวมเสื้อนุ่งกางเกงสีต่างๆ กัน ถืออาวุธ บางตัวสวมหมวก




     ฤาษี
ฤาษีที่กล่าวถึงในเรื่องรามเกียรติ์มีอยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับฤาษีที่มีหน้าเป็นมนุษย์
ลักษณะเด่นของแต่ละตนไม่ปรากฏชัดเจน  ไม่สามารถจำแนกเจาะจงลงไปได้เด็ดขาด
เช่น ฤาษีโคบุตร สวมชฎาลำโพงสีเหลืองเข้มหรือสีจำปา
เป็นอาจารย์ของทศกัณฐ์ พำนักอยู่ที่เชิงเขานิลกาลา เป็นผู้สอนวิชาและถอดดวงใจให้ทศกัณฐ์
ภายหลังถูกหนุมานลวงเอากล่องดวงใจไปได้ ทำให้ทศกัณฐ์สิ้นชีพในที่สุด



ฤาษีชนก กษัตริย์กรุงมิถิลา ออกบำเพ็ญพรตในป่าตามลำพัง
วันหนึ่งพบผอบใส่นางสีดาลอยน้ำมา จึงนำมาเลี้ยงเป็นธิดาบุญธรรม ภายหลังลาพรต
กลับมาครองบ้านเมืองตามเดิม และจัดการให้นางสีดาอภิเษกกับพระราม



ม้าอุปการ เป็นม้าที่มีลักษณะพิเศษกล่าวคือ ตัวขาว ศีรษะดำ
ปากและเท้าทั้ง ๔  แดง ตามคติลัทธิพราหมณ์ของอินเดียโบราณ  กษัตริย์ที่ต้องการ
แผ่พระบรมเดชานุภาพ จะทำพิธี “ปล่อยม้าอุปการ” ด้วยการนำม้าดังกล่าวมาแต่งครบเครื่อง
แล้วปล่อยให้ท่องเที่ยวไปอย่างอิสระ โดยมีกองทัพติดตามม้านั้นไปด้วย ผ่านบ้านเมืองใด
บ้านเมืองนั้นต้องนำเครื่องบูชามาแสดงความอ่อนน้อม เมืองใดไม่ปฏิบัติเช่นนั้น กองทัพ
ที่ตามไปก็จะยกเข้าโจมตี ครั้นครบกำหนดนำม้าอุปการมาทำพิธีอัศวเมธ คือฆ่าบูชายัญ
เมื่อพระมงกุฎประลองศรเกิดเสียงดังหวั่นไหวไปทั่วพิภพ พระรามจึงให้ปล่อยม้าอุปการ




หุ่นตัวกาก พนักงานถือแส้

หุ่นวังหน้า : มรดกศิลป์ แห่งฝีมือบรรพชนช่างไทยในอดีต
คัดและสแกนภาพจากหนังสือ หุ่นวังหน้า
จัดพิมพ์เผยแพร่โดยกรมศิลปากร เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๑

ความงดงาม วิจิตรบรรจง ลีลาท่าทางอันอ่อนหวานชดช้อยของหุ่นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  
เป็นมรดกศิลป์ที่ประกาศฝีมือช่างไทยในอดีต ให้ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ที่พวกเราชาวไทยควรภาคภูมิใจยิ่ง

จึงหวังว่าการเผยแพร่มรดกศิลป์นี้จะอำนวยประโยชน์ต่อผู้สนใจศิลปะและวัฒนธรรมไทยโดยทั่วกัน.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 ตุลาคม 2558 07:48:26 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
lapme
มือใหม่หัดโพสท์กระทู้
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 1


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 32.0.1700.102 Chrome 32.0.1700.102


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 31 มกราคม 2557 03:21:33 »

ขอบคุณเว๊บไซรนี้มากๆค่ะ
บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.705 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้