[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
08 พฤษภาคม 2567 05:43:31 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: จริยธรรมขั้นพื้นฐานของผู้ปฏิบัติธรรมแบบสุขาวดี  (อ่าน 2359 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออนไลน์ ออนไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5081


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 15 มิถุนายน 2553 21:03:56 »


 
จริยธรรมขั้นพื้นฐานของผู้ปฏิบัติธรรมแบบสุขาวดี *

 
 
โดย ศิโรฒน์ รัตนาภรณ์

 
 

 
 
 
 
 
พุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้เผยแผ่ไปยังประเทศต่างๆ ได้รับการยอมรับ นับถือจากนานาอารยชน โดยเฉพาะคำสอนแนวสุขาวดี ได้รับการยอมรับและปฏิบัติในประชาชนหมู่มาก เราสามารถสังเกตได้จากการที่พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนามและไต้หวัน มักภาวนานามของพระอมิตาภพุทธเจ้าอยู่เสมอ ภาพการภาวนานามพระอมิตภพุทธเจ้าจึงกลายเป็นภาพรวมของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานโดยปริยาย

 
ที่คติการภาวนานามของพระอมิตาภพุทธเจ้าได้รับการยอมรับแพร่หลาย เพราะเป็นสิ่งที่ง่ายต่อการปฏิบัติ บางคนจึงมีความเข้าใจว่า ขอเพียงเราภาวนานามพระอมิตภพุทธเจ้าอย่างเดียวก็เกินพอแล้ว แม้คำกล่าวนี้จะมีความเป็นจริง แต่ถือเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะในพระธรรมสูตรฝ่ายมหายานที่กล่าวถึงการปฏิบัติตนเพื่อให้ไปบังเกิด ณ แดนสุขาวดี ยังมีข้อควรประพฤติซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าเป็น จริยธรรมขั้นพื้นฐานของการปฏิบัติธรรมแบบสุขาวดี ซึ่งนักการศึกษาพุทธศาสนามหายานสรุปไว้รวม 3 ประการ แต่เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ในที่นี้จะกล่าวขยายความออกเป็น 8 ประการในเบื้องต้น เพื่อให้ผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมตามพระพุทธศาสนามหายานแนวสุขาวดีได้นำไปพิจารณาและปฏิบัติ ดังนี้

 
 
1.ผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามแนวสุขาวดีต้องมีความกตัญญู

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางแม่แบบของคนดีไว้อย่างน่าฟังว่า จะดูว่าคนๆนั้นเป็นคนดีหรือไม่ ต้องดูที่ ความกตัญญูรู้คุณ ความกตัญญูจึงเป็นเครื่องหมายของคนดี เป็นคุณธรรมของบัณฑิต นักปราชญ์ เป็นคุณธรรมเบื้องต้นสำหรับมนุษย์ ถ้าผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมไม่มีความกตัญญูต่อบิดา มารดาและผู้มีพระคุณ แม้จะปฏิบัติธรรมมากศึกษามากก็ยังถือเป็นผู้บกพร่อง คุณธรรมด่างพร้อยเพราะเพียงมนุษยธรรมยังปฏิบัติไม่ได้ จะกล่าวไปใยถึงการปฏิบัติอรหันตธรรม โพธิสัตวธรรม อริยธรรม

เราต้องกตัญญูต่อใครบ้าง ก็มีบิดา มารดาผู้ให้กำเนิดเลี้ยงดู ครูอาจารย์ผู้สั่งสอนศิลปะวิทยา ถ้าในทางธรรมก็หลวงพ่อ หลวงพี่ หลวงแม่ หลวงน้า ผู้เป็นครูบาอาจารย์ทางธรรมทั้งปวง สูงขึ้นไปอีก คือพระพุทธเจ้า ผู้เป็นปฐมบรมครูแห่งพระพุทธศาสนา พระธรรมคำสอนที่สามารถยกระดับจิตใจของเราให้พ้นจากความทุกข์ และหมู่สงฆ์ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาผู้ประพฤติดีดี ปฏิบัติชอบ เป็นต้น

ในสมัยพุทธกาล พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากจะได้รับยกย่องจากพระผู้มีพระภาคว่าเป็นผู้เลิศด้วยปัญญาแล้ว ท่านยังมีคุณลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือ เป็นผู้ที่มีความกตัญญูอย่างสูงยิ่ง มีเรื่องเล่าว่า ตั้งแต่วันที่ท่านได้บรรลุโสดาบัน จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ก่อนท่านจะจำวัด ท่านจะสำรวจด้วยญาณทัศนะของท่านก่อนว่า พระอาจารย์ของท่านคือพระอัสสชิ เดินทางไปโปรดญาติโยมอยู่ที่ไหน เมื่อเห็นด้วยด้วยญาณแล้ว ท่านจะหันหน้าไปทางทิศนั้น แล้วก้มกราบด้วยความนอบน้อม รำลึกถึงพระคุณอาจารย์ จากนั้นท่านจึงค่อยจำวัด โดยหันศีรษะไปทางทิศที่อาจารย์พำนักอยู่

พระสารีบุตรจึงถือเป็นตัวอย่างของอริยปราชญ์ ที่เป็นแบบแผนของความกตัญญูรู้คุณซึ่งเราควรจะน้อมนำมาเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตนในสิ่งที่ดีงามต่อไป

 
 
2.ผู้ปฏิบัติธรรมตามแนวสุขาวดีต้องมีความเคารพอ่อนน้อม

ใน มงคลสูตร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า การที่เรามีความเคารพอ่อนน้อมถือเป็นมงคลอันสูงสุดประการหนึ่งของชีวิต ความเคารพคืออะไร? ความเคารพ คือการซาบซึ้ง ถึงคุณความดีที่มีอยู่จริงของบุคคลอื่น ยอมรับนับถือท่านเหล่านั้นด้วยความจริงใจ แล้วแสดงออกมาด้วยอาการอ่อนน้อม อ่อนโยน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ผู้ที่เราควรเคารพมีใครบ้าง 1.บิดา มารดา 2.ครูบาอาจารย์ 3.ผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโส ผู้ทรงคุณธรรม 4.พระมหากษัตริย์ ผู้ครองแผ่นดินโดยธรรม 5.พระรัตนตรัย

ความเคารพควรเริ่มออกมาจากใจเป็นประการแรก แล้วแสดงออกมาเป็นการกระทำ ในวัฒนธรรมไทย การแสดงความเคารพคือการไหว้อย่างอ่อนน้อม วัฒนธรรมชาวพุทธก็มีการหมอบกราบสัมผัสพื้นดินเพื่อแสดงความเคารพอย่างนอบน้อมจริงใจ วัฒนธรรมญี่ปุ่นก็อาจเป็นการโค้งคำนับอย่างสุดซึ้ง เป็นต้น

งมีความกรุณาด้วยงอริยชนาะเพียงบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่เป

3.ผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามแนวสุขาวดีต้องปฏิบัติตามหลัก กุศลกรรมบถ 10 ประการ

กุศลกรรมบถ เรียกง่ายๆก็คือ ทางแห่งความดี 10 ประการ ซึ่งเป็นหลักการฝึกฝนตนเอง เพื่อให้คุณธรรมตัวสูงขึ้น ประณีตขึ้น สามารถสรุปได้ 3 ทาง คือ

3.1 การทำความดีทางกาย 3

3.1.1 ละเว้นการฆ่าการเบียดเบียนบุคคลและสรรพชีวิตทั้งมวลมีเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

3.1.2 เคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นไม่มีนิสัยขี้โกง ขี้ขโมย

3.1.3 ละการประพฤติผิดในกาม ไม่ล่วงละเมิดประเพณีทางเพศ

3.2 การทำความดีทางวาจา 4

3.2.1 ไม่กล่าวคำเท็จ กล่าวคำที่เป็นความถูกต้องจริงใจ

3.2.2 ไม่กล่าวคำส่อเสียด ควรกล่าววาจาที่ชวนให้คนเกิดความสมานสามัคคี

3.2.3 ไม่กล่าวคำหยาบคาย ควรกล่าวคำที่ไพเราะอ่อนหวานจริงใจ

4.2.4 ไม่กล่าวคำไร้สาระ เพ้อเจ้อ ควรกล่าววาจาที่มีเหตุมีผล มีประโยชน์ มีสาระ ถูกกาลเทศะ

3.3 การทำความดีทางจิตใจ 3

3.3.1 ไม่มีจิตปรารถนามักมากอยากได้ของผู้อื่น

3.3.2 ไม่มีจิตปรารถนาคิดร้ายต่อผู้อื่น ปรารถนาให้ สรรพสัตว์ทั้งหลายมีความสุขปราศจากความทุกข์ ละการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

3.3.3 มีความเห็นที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม(สัมมาทิฐิ) คือ การให้ทานมีผล ผลแห่งการทำความดีและความชั่วมีผล เป็นต้น

คุณธรรมทั้ง 10 ประการนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมควรฝึกให้มีในตนอย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นการฝึกฝน กาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยดีไม่มีโทษ เป็นการจรรโลงสังคม ประเทศชาติ และโลกใบนี้ให้มีความสุข สงบ และสันติ อีกประการหนึ่งด้วย

 
 
4.ผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามแนวสุขาวดีต้องตั้งปณิธานถือเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะสูงสุด

พระรัตนตรัย แปลว่าสิ่งประเสริฐสูงสุดสามประการ มีพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์

พระพุทธ คือ ผู้รู้แจ้งกระจ่างใจ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ทรงมหาปัญญา มหากรุณาอย่างยิ่งใหญ่ต่อสรรพสัตว์ การเป็นพระพุทธได้ต้องตั้งปณิธานในการสั่งสมบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วนจนกระทั่งบารมีเต็มเปี่ยม สละทั้งทรัพย์ เลือดเนื้อ ชีวิต เพื่อเป้าหมายคือการฉุดช่วยเวไนย์ให้พ้นจากความทุกข์ พ้นจากการเกิดการตายเป็นนิรันดร์ พระพุทธนั้นหมายเอาพระศากยมุนีโคดมพุทธเจ้าเป็นเบื้องแรก และขยายไปยังพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้โดยชอบแล้วในอดีตนับพระองค์ไม่ถ้วน

พระธรรม คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นหลักปฏิบัติทั้งในเชิงศีลธรรม จริยธรรม อริยธรรม อันเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อเข้าสู่การบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเข้าสู่พระนิพพานอันเป็นบรมสุข พระธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเป็นสิ่งวิเศษ คือ สามารถนำเราออกจากความทุกข์ ทั้งทุกข์ประจำและทุกข์จร ทุกข์ประจำ คือทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด ทุกข์ในสังสารวัฏ ทุกข์จรก็คือ ทุกข์จากการพลัดพรากจากของอันเป็นที่รัก ทุกข์จากการได้สิ่งที่ไม่ชอบใจ เป็นต้น

พระสงฆ์ คือ หมู่ชนผู้เสียสละตนเองเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมตามพระธรรมคำสอนอย่างเต็มที่ มีทั้งชายและหญิง เป็นผู้ออกจากเรือน ออกจากกาม มารวมตัวเป็นหมู่คณะ คำว่าสงฆ์หรือสังฆะ หมายถึงการรวมหมู่ สงฆ์ ในความหมายที่แท้จึงไม่ได้จำเพาะเจาะจงเพียงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่หมายถึงการรวมกลุ่มของนักปฏิบัติธรรมตามรอยบาทพระบรมศาสดา พระสงฆ์มีคุณสมบัติพิเศษ คือการดำรงชีวิตเพื่อการสงเคราะห์สรรพสัตว์ให้เข้าถึงธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นหมู่ของอริยชน เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นธรรมทายาทของพระบรมศาสดา

ผู้ปฏิบัติธรรมจึงควรถือเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะสูงสุดเพราะเป็นทางมาแห่ง การหลุดพ้นจากการเกิด ตาย จะมีที่พึ่งใดที่จะฉุดช่วยเราให้หลุดพ้นจากการเกิดตาย ไม่มีอีกแล้ว ชาวพุทธจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญและถือเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะสูงสุดของชีวิต

 
 
5.ผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามแนวสุขาวดีต้องรักษาศีล

คำว่า ศีล แปลว่า ความปกติ คนไม่มีศีลก็คือคนที่ไม่ปกติ คนที่มีศีลกระพร่องกระแพร่งก็ถือเป็นคนไม่เต็มคน ฉะนั้น ศีลจึงเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ศีลโดยพื้นฐาน เรียกว่า เบญจศีล คือ ความประพฤติดีปฏิบัติชอบทางกายและวาจา การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อยดีไม่มีโทษ แบ่งออกเป็น 5 ประการ คือ

5.1 เว้นจากการปลงชีวิตบุคคลและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ควรเป็นผู้มีจิตเมตตา เว้นจากการฆ่า การประทุษร้ายกัน

5.2 เว้นจากการถือเอาของ ที่เขามิได้ให้หรืออนุญาต เว้นจากการลักขโมย โกงกิน ละเมิดกรรมสิทธิ์ ทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น

5.3 เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน

5.4 เว้นจากการพูดคำโกหก ใช้วาจาหลอกลวงผู้คนให้หลงผิดจากทำนองคลองธรรม

5.5 เว้นจากการดื่มน้ำเมา สิ่งเสพติดให้โทษอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ในปัจจุบันศีลข้อนี้ครอบคลุมถึงการใช้อินเตอร์เน็ต และบริโภคสื่อต่างๆโดยขาดวิจารณญาณ ซึ่งอาจนำมาซึ่งความมัวเมาทางจิตใจ

การมีศีล จะทำให้จิตใจของเราสว่าง สะอาด สงบ จิตใจที่สว่างเป็นจิตใจที่สามารถรองรับกุศลธรรมได้ง่ายกว่าจิตใจที่เศร้าหมองไม่ผ่องใส ศีลจึงเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมควรประพฤติอย่างต่อเนื่องและเอาใจใส่

นอกจากการรักษาศีลจะทำให้จิตใจของเรามีความสว่าง สะอาด สงบแล้ว การรักษาศีลยังถือเป็นสร้างมหาทาน เพราะว่า เป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น โดยไม่มีความเจาะจงแก่ผู้ใด จึงถือเป็นทานอันยิ่งใหญ่ ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ

บัณฑิตผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมจึงควรรักษาศีลให้บริสุทธิ์เพื่อเป็นบาทฐานในการพัฒนาตนเองตามพุทธวิธีต่อไป

6.ผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามแนวสุขาวดีต้องเป็นผู้มีความมุ่งมั่นต่อการบรรลุโพธิญาณ

ความมุ่งมั่น ถือเป็นคุณธรรมของปราชญ์ โดยเฉพาะการที่เราก้าวเดินเข้ามาสู่หนทางการสร้างบารมีอย่างพระโพธิสัตว์ เราต้องมีความมุ่งมั่นอดทนในการสร้างบารมี การที่เรามีเป้าหมายในการทำความดีทั้งมวลเพื่อความหลุดพ้นของสรรพสัตว์ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์เดียรัจฉาน เทวดา พรหม หรือแม้กระทั่งสัตว์ในนิรยภูมิ สิ่งนี้ถือเป็นมหาเมตตา มหากรุณาในจิตเรามิใช่หรือ? ฉะนั้น จงอย่าทอดทิ้งปณิธานเมื่อเราได้ตั้งใจไว้

เมื่อเราตั้งปณิธานว่าจะฉุดช่วยเวไนย์ เปรียบเสมือนเราต้องแบกภาระของเวไนย์ไว้บนบ่าทั้ง 2 ข้าง ถ้าเราเลิกล้มความตั้งใจขาดความมุ่งมั่นก็เหมือนกับเราทอดทิ้งสรรพสัตว์ผู้กำลังทุกข์ร้อนหลงทางอยู่ในวังวนแห่งความทุกข์ แล้วสะบัดก้นหนี มันต่างอะไรจากคนที่เห็นแก่ตัวแล้วโป้ปดมดเท็จเล่า? ผู้ปฏิบัติธรรมตามหนทางโพธิสัตว์จึงต้องมีความมุ่งมั่นในการบรรลุโพธิญาณและฉุดช่วยเวไนย์อย่างถึงที่สุด

 
 
7.ผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามแนวสุขาวดีต้องมีเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม

กฎแห่งกรรม ก็คือกฎที่ทำให้เราเห็นถึงเหตุและผลของการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าเราจะทำความดีหรือความชั่ว เราจะต้องเป็นผู้อยู่ในกระแสของกฎแห่งกรรม ความเข้าใจและเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมถือเป็นความเห็นถูกขั้นพื้นฐานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เรียกว่าสัมมาทิฐิ ซึ่งเป็นบาทฐานของการพัฒนาชีวิตและจิตวิญญาณตามพุทธมรรค การเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมจะทำให้การปฏิบัติตนในสังคมมีความสงบสุข

ลักษณะของกรรม มี 3 ประการ คือ 1.กรรมในอดีต 2.กรรมในปัจจุบันและ3.กรรมในอนาคต

กรรมในอดีต คือ ผลของการกระทำที่เราสร้างไว้ในครั้งก่อน มีทั้งดีและชั่ว อาจส่งผลสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันนี้ เช่น นาย ก. ในอดีตชาติเป็นผู้ใฝ่ดี มักนำดอกไม้ของหอมไปบูชาพระเจดีย์และรักษาศีลบริสุทธิ์ ด้วยผลแห่งบุญนี้จึงทำให้ในปัจจุบัน นาย ก. เป็นผู้มีรูปงาม มีผิวพรรณสวย เป็นต้น

กรรมในปัจจุบัน คือ การกระทำที่เราทำให้ปัจจุบันนี้มีทั้งดีและชั่ว อันจะส่งผลสืบเนื่องทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น เมื่อนาย ก. ได้รับผลแห่งความดีในอดีต เป็นผู้ที่มีหน้าตาดีมี ผิวพรรณงามแต่ในชาตินี้นาย ก. กลับเป็นคนเจ้าชู้ ใช้หน้าตาของตนไปหลอกหลวงหญิงสาว พรากพรหมจรรย์เด็ก นอกจากนี้ ยังดื่มสุราเสพยาเสพติดให้โทษ ฆ่าสัตว์แกล้มเหล้า มีนิสัยขี้ขโมย จากตัวอย่าง นาย ก. แสดงให้ว่าในปัจจุบันเขาได้สร้างกรรมที่ไม่ดีมากกว่ากรรมที่ดี เป็นต้น

กรรมในอนาคต คือ คือผลแของการกระทำที่เราได้ทำมา มีทั้งดีที่จะส่งผลในอนาคต เช่น เมื่อเราเห็นชีวิตของ นาย ก. ที่มักกระทำความชั่ว ผิดศีลเป็นนิจ ด้วยกรรมดั่งกล่าวจึงทำให้นาย ก. ต้องเกิดเป็นสัตว์นรก ทนทุกข์ทรมาน เพราะผลของการกระทำที่นาย ก. ได้สร้างไว้ในปัจจุบัน นั้นเอง

 
 
ตัวอย่างการอธิบายกฎแห่งกรรรมอีกลักษณ

เด็กชาย ข. ในอดีตเป็นเด็กไม่ตั้งใจเรียน จึงทำให้ผลการเรียนในปัจจุบัน ได้เกรด 0 ด้วยเหตุนี้เด็กชาย ข. จึงมีความมานะพยายามตั้งใจร่ำเรียนศึกษา จนในที่สุด ผลการเรียนของเด็กชาย ข. ในอนาคต ได้ 4 ทุกวิชา และเขาก็ตั้งใจเรียนยิ่งๆขึ้นไป

นี่เป็นการอธิบายกฎแห่งกรรมในเชิงประจักษ์นิยม ซึ่งในปัจจุบันมักมีผู้อธิบายไว้พอสมควร

 
 
8.ผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามแนวสุขาวดีต้องศึกษา ปฏิบัติธรรม และกระทำตนเป็นกัลยาณมิตรแก่ผู้อื่น

การปฏิบัติตามแนวสุขาวดี พื้นฐานคือการเจริญภาวนาโดยเริ่มจากการเจริญพุทธานุสติ มีพระอมิตภพุทธเจ้าเป็นอารมณ์การภาวนาพระนามของพระอมิตภพุทธเจ้าอยู่เสมอคือการหมั่นเช็ดถูจิตใจของเรา ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส และควรหมั่นสาธยายพระธรรมสูตรเพื่อทบทวนพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเพิ่มพูนศรัทธาในพระรัตนตรัย เพื่อตอกย้ำปณิธานในการสร้างบารมี และเพื่อการพัฒนาปัญญาทางธรรมให้มีความเห็นถูกยิ่งๆขึ้นไป อีกทั้งต้องกระทำตนเป็นกัลยาณมิตร โดยชักชวนญาติสนิท มิตรสหายให้มาศึกษาปฏิบัติธรรม ทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ตามแนวทางโพธิสัตวมรรค ตามรอยบาทพระอมิตภพุทธเจ้า

ครั้งหนึ่งพระอานนท์ได้สนทนากับพระพุทธองค์เกี่ยวกับเรื่องของ กัลยาณมิตรว่า การมีกัลยาณมิตร ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งหนึ่งของการดำรงชีวิตที่ดีงามหรือไม่ พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบพระอานนท์อย่างสุขุมนุ่มนวล ว่าอานนท์ เธอไม่ควรกล่าวเช่นนั้น กัลยาณมิตรถือเป็นทั้งหมดของการดำรงชีวิตที่ดีงาม

แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสต่อไปอีกว่า เราไม่เห็นธรรมอย่างอื่นสักอย่างที่จะทำให้กุสลกรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือทำให้อกุศลกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมสูญไป เหมือนความที่มีกัลยาณมิตรเลย เมื่อบุคคลมีกัลยาณมิตร กุศลธรรมที่ไม่เกิดก็เกิดขึ้น อกุศลกรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป

เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ที่เป็นไปเพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่สิ้นไปของพระสัทธรรมเหมือนความมีกัลยาณมิตรเลย

จากบทสนทนาดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่าการที่เรามาพบสิ่งที่ดีงาม คือ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ควรเก็บงำไว้แต่เพียงผู้เดียว ถ้าเราเก็บรักษาหวงแหนแต่เพียงผู้เดียวมิได้ไปชักชวนเผยแผ่ ธรรมะที่เรารู้สักวันก็ต้องตายไปพร้อมกับร่างกายของเรา แล้วคนรุ่นหลังเล่าเขาจะได้รับรสแห่งอมตธรรมหรือไม่? จะเข้าถึงความเกษมสันติได้อย่างไร? การทำหน้าที่กัลยาณมิตรจึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้อยู่ไปชั่วกาลนาน ตกทอดไปชั่วลูกชั่วหลานอีกด้วย

 
 
หลักจริยธรรมพื้นฐานดังกล่าว ถือเป็นหลักการของนักปฏิบัติธรรมตามแนวสุขาวดีซึ่งดำเนินตามวิถีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสากลธรรม คือใครๆก็สามารถปฏิบัติได้ เป็นสิ่งที่ง่ายและได้ผลจริง อีกทั้งการปฏิบัติธรรมตามแนวสุขาวดียังไม่มีความต่างจากพุทธศาสนาดั่งเดิมในเชิงสาระธรรมขั้นพื้นฐานแม้แต่น้อย ซึ่งผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแนวทางนี้จงภูมิใจเถิดว่าเราเป็นผู้หนึ่งที่กำลังดำเนินชีวิตด้วยการอาศัยธรรมะเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจ

ผู้ที่มีธรรมะ ถือเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง อย่างน้อยธรรมะก็คุ้มครองตัวเราให้มีความสุข ปราศจากความทุกข์ จะกล่าวไปใยถึงเทพ พรหม ยม ยักษ์ ผู้เป็นสัมมาทิฐิ จะไม่ปกปักรักษาผู้ที่ทำความดีดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า?

ขอให้บทความนี้ เป็นกำลังใจแก่นักปฏิบัติธรรมให้เร่งทำความดีปฏิบัติธรรมตามพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะชีวิตนี้แสนสั้น วันเวลาผ่านไปบัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่? อย่าปล่อยเวลาในการเกิดมาบนโลกใบนี้ให้สูญเปล่าแต่จงขวนขวายในการปฏิบัติธรรมจรรโลงตนเองและสังคมให้มีความสงบสุข โดยเฉพาะผู้ดำเนินชีวิตตามแนวทางโพธิสัตว์ก็จงเร่งสร้างบารมีให้เต็มเปี่ยม สร้างความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป เพื่อเป้าหมายในการร่วมกันฉุดช่วยเวไนย์ให้พ้นจากทุกข์โดยเร็ว

 

 
 
*การอธิบายหลักจริยธรรมดังกล่าว ข้าพเจ้าเกิดแรงบันดาลใจจากหนังสือแดนสุขาวดี แดนสู่ความหลุดพ้น ซึ่งคุณสมศักดิ์ ศิริไพรวัน เป็นผู้พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน โดยหนังสือเล่มดังกล่าวได้คัดมาจากบทที่ 5 ของหนังสือ พุทธศาสนามหายาน (ฉบับปรับปรุง) ของอาจารย์มาลี มหณรงค์ชัย โดยข้าพเจ้าได้ขยายความจากข้อความในหน้าที่ 40 ย่อหน้าที่ 2 ความว่า ในอมิตายุธยานสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่มุ่งสอนวิธีการปฏิบัติเพื่อให้บุคคลไปเกิดในแดนสุขาวดี และมีโอกาสรับฟังธรรมจากพระอมิตาภะด้วยตนเอง ชี้ว่า บุคคลผู้ตั้งความปรารถนาไปอุบัติที่นั่นจะต้องปลูกฝังคุณธรรมในสามด้าน คือ

1) มีความกตัญญู เลี้ยงดูผู้มีพระคุณ เคารพครูบาอาจารย์ และผู้อาวุโส มีจิตกรุณาต่อชีวิตทั้งหลาย ไม่เบียดเบียนชีวิตอื่น ตั้งตนอยู่ในกุศลกรรมบถ 10 ประการ

2) จะต้องตั้งปณิธานขอถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ รักษาศีล ไม่ทำลายเกียรติของตน (ด้วยการละบุญก่อบาป)

3) จะต้องมุ่งจิตทั้งหมดเพื่อการบรรลุโพธิญาณ เชื่อในกฎแห่งกรรม ศึกษาและสวดท่องพระสูตรมหายาน รวมทั้ง แนะนำกระตุ้นให้ผู้อื่นศึกษา

โดยผู้เขียนเห็นว่าหลักการดังกล่าวควรจะอธิบายเป็นหลักปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธาในคำสอนแบบสุขาวดีได้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการปฏิบัติธรรมส่วนตัว โดยเฉพาะไม่ให้ผู้เริ่มปฏิบัติเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า พระพุทธศาสนามหายาน หรือการปฏิบัติธรรมแบบสุขาวดีเป็นเพียงแค่การภาวนานามพระอมิตภพุทธเจ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วยังมีหลักการอื่นๆที่ผู้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางนี้ควรจะต้องศึกษาและปฏิบัติอีกหลายประการ

 
 
 
 
อ้างอิง

มหาสุขาวตีวยูหสูตร ฉบับแปลพระอาจารย์วิศวภัทร

อมิตายุรฺ ธฺยาน สูตร ฉบับแปลของพระอาจารย์วิศวภัทรและฉบับอาจารย์สุภาพ ทัดภู่

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หนังสือแดนสุขาวดี แดนสู่ความหลุดพ้น จัดพิมพ์โดยคุณสมศักดิ์ ศิริไพรวัน

 
http://www.buddhayan.com/board.php?subject_id=281

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.84 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 29 เมษายน 2567 13:51:56