ทิพยอำนาจพระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ปธ. 6)วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่นเรียบเรียงบทที่ ๓
บุพพประโยคแห่งฌานท่านที่ได้อ่านบทที่ ๑-๒ มาแล้ว ย่อมทราบว่าภูมิจิตของผู้ได้ฌานสูงยิ่งเพียงไร และห่างไกลจากลักษณะจิตใจของมนุษย์สามัญปานฟ้ากับดิน การที่จะก้าวพรวดพราดจากลักษณะจิตใจของคนสามัญขึ้นไปสู่ลักษณะจิตใจของผู้ได้ฌานนั้น ไม่มีทางจะสำเร็จได้ จำจะต้องปรับปรุงลักษณะจิตใจจากความเป็นมนุษย์ผู้ไร้ศีลขึ้นไปสู่ความเป็นผู้มีศีลเสียก่อน เพราะท่านว่า ศีลเป็นที่ตั้งของสมาธิและฌาน ผู้มีศีลสมบูรณ์ดีจึงจะมีสมาธิและฌานได้ ศีลนั้นเมื่อว่าโดยต้นเค้าได้แก่ความเป็นปกติของจิต คือเป็นจิตที่ปราศจากความคิดร้าย ความคิดเบียดเบียน ความคุมแค้นคิดหาช่องทางทำร้ายคนที่ตนเกลียด เป็นจิตที่ปราศจากความคิดโลภเพ่งเล็งหาช่องย่องเบาเอาทรัพย์สินของผู้อื่น และล่วงกรรมสิทธิ์ในสิ่งที่เขาหวงแหน และเป็นจิตที่ปราศจากความเห็นผิดไปจากคลองของมนุษยธรรม มีความเห็นชอบอย่างมนุษย์ที่ดีเขาเห็นกันอยู่ คือเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โลกนี้มี โลกอื่นมี บิดามารดาผู้ให้กำเนิดมี ผู้เกิดผุดขึ้นเอง (เช่น เทวดา) มี ฯลฯ
การรักษาปกติภาพของจิต เป็นการรักษาต้นศีล ส่วนการรักษาศีลตามสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้นั้น เป็นการรักษาปลายศีล เพราะต้นเหตุของความดี-ความชั่วอยู่ที่จิต ถ้าจิตชั่วคือมีกิเลสและทุจริตแล้ว ย่อมบังคับกายวาจาทำชั่ว ถ้าจิตดีคือเป็นปกติ กิเลสและทุจริตไม่ครองอำนาจเหนือจิต จิตย่อมไม่บังคับกายวาจาให้ทำชั่ว การรักษาจิตจึงเป็นการรักษาต้นเหตุ การรักษากายวาจาเป็นการรักษาปลายเหตุ แต่ก็เป็นความจำเป็นอยู่เหมือนกัน ที่จะต้องรักษาตามสิกขาบทพุทธบัญญัติ เพื่อปิดกั้นอกุศลบาปธรรม มิให้มันหลั่งไหลออกไปทางกายวาจา และป้องกันอกุศลบาปธรรม มิให้มันได้ช่องเข้ามาครอบงำย่ำยีจิตใจ หากแต่ว่าการรักษาศีลตามข้อห้ามนั้นไกลต่อความเป็นสมาธิ ไม่พอจะเป็นบาทฐานของสมาธิและฌานได้ ต้องรักษาศีลที่จิตใจ คือรักษาความเป็นปกติของจิตใจให้มั่นคงแข็งแรง เมื่อจิตใจดำรงอยู่ในความเป็นปกตินานๆ เข้า ก็ย่อมมีลักษณะผ่องแผ้ว ชื่นบาน เยือกเย็นและมั่นคง ควรแก่ความเป็นพื้นฐานที่ตั้งของสมาธิต่อไปการรักษาศีลอย่างนี้แลเป็นศีลในองค์อริยมรรค ซึ่งเป็นศีลเสมอภาค ผู้เป็นพระอริยบุคคลไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ย่อมมีศีลชนิดนี้เสมอกัน ส่วนศีลที่รักษาตามสิกขาบทพุทธบัญญัตินั้นย่อมไม่สม่ำเสมอกัน เป็นการรักษาศีลให้เหมาะสมกับภาวะที่เป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์เท่านั้น เมื่อรักษาได้ดีก็เป็นทางเจริญปีติปราโมทย์ ทำให้จิตใจผ่องแผ้วขึ้นได้ รักษาศีลตามสิกขาบทมีวิธีอย่างไร ไม่ประสงค์จะกล่าวในที่นี้ ผู้ประสงค์จะทราบโปรดศึกษาจากหนังสืออื่นๆ ซึ่งมีผู้เขียนไว้มากแล้ว.
อนึ่ง การอบรมจิตให้เป็นสมาธิและฌานนั้น ย่อมต้องอาศัยอุบายอันแยบคายจึงจะสำเร็จง่าย อุบายอันแยบคายนั้นท่านเรียกว่า กรรมฐาน ท่านแยกไว้เป็น ๒ ประเภท คือ สมถกรรมฐานประเภทหนึ่ง, วิปัสสนากรรมฐานประเภทหนึ่ง จะกล่าวในบทนี้เฉพาะแต่สมถกรรมฐาน ซึ่งเป็นประเภทอบรมจิตใจให้เป็นสมาธิและฌาน ส่วนวิปัสสนากรรมฐานอันเป็นประเภทอบรมจิตใจให้เกิดปัญญานั้น จะกล่าวในบทอื่น.
การอบรมจิตใจให้เป็นสมาธิและฌานตามหลักสมถกรรมฐาน จัดเป็นบุพพประโยคของฌาน จะข้ามเลยไปเสียมิได้ จำเป็นต้องใช้สมถกรรมฐานข้อหนึ่งหรือหลายข้อ เป็นเครื่องอบรมจิตใจเสมอไป จิตใจจึงจะเป็นสมาธิและฌานได้ดังประสงค์.
สมถกรรมฐานนั้น พระบรมศาสดาตรัสไว้ในที่ต่างๆ โดยปริยายหลากหลาย พระโบราณาจารย์ประมวลมาไว้ในที่เดียวกัน มีจำนวนถึง ๔๐ ประการ จัดเป็นหมวดได้ ๗ หมวด คือ
กสิณ ๑๐
อสุภะ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
จตุธาตุววัตถาน ๑
พรหมวิหาร ๔
อรูปกรรมฐาน ๔มีวิภาคดังจะกล่าวต่อไป การที่แสดงอุบายทำความสงบจิตใจไว้มากเช่นนี้ ก็เพื่อให้เหมาะแก่จริตอัธยาศัยของเวไนย ซึ่งมีจริตอัธยาศัยต่างๆ กัน มิได้หมายให้ทุกคนเจริญทั้ง ๔๐ ประการจนครบ.
กสิณ คือวงกลมทำด้วยวัตถุต่างๆ ขนาดวัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว สำหรับเป็นเครื่องเพ่งทำจิตใจให้สงบ มี ๑๐ ประการ คือ
๑. ปฐวีกสิณ วงกลมทำด้วยดินบริสุทธิ์สีอรุณ คือ สีเหลืองปนแดง เช่น สีหม้อใหม่ วิธีทำเอาดินบริสุทธิ์สีอรุณมาขยำให้เหนียวดีแล้ว ลาดลงบนแผ่นกระดานวงกลม ขนาดวัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว ขัดให้เกลี้ยงงาม ปราศจากมลทินเช่นเส้นหญ้า เป็นต้น ทำให้เกลี้ยงเกลา เป็นเงาได้ยิ่งดี.
๒. อาโปกสิณ วงกลมทำด้วยน้ำใสบริสุทธิ์ ปราศจากสีและตะกอน วิธีทำ เอาน้ำบริสุทธิ์ใส่ภาชนะที่มีขอบปากกว้างกลมมน วัดผ่าศูนย์กลางได้คืบ ๔ นิ้ว ใส่น้ำเต็มขอบปาก.
๓. เตโชกสิณ วงกลมทำด้วยไฟ วิธีทำ ก่อไฟด้วยฟืนไม้แก่น ให้ลุกโชนเป็นเปลวสีเหลืองเหลืองแก่ และเอาแผ่นหนังหรือเสื่อลำแพนมาเจาะรูเป็นวงกลม กว้างขนาดวัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔นิ้ว ตั้งบังกองไฟให้มองเห็นได้โดยช่องวงกลมเท่านั้น.
๔. วาโยกสิณ เพ่งลมที่พัดสัมผัสอวัยวะ หรือพัดยอดไม้ยอดหญ้าให้หวั่นไหว กสิณนี้ทำเป็นวงกลมหรือดวงกลมไม่ได้ ท่านจึงแนะให้เพ่งลมที่พัดอยู่โดยธรรมชาติของมันนั้นเป็นอารมณ์จนมองเห็นกลุ่มลมหรือสายลมที่พัดไปมานั้นติดตา หลับตามองเห็น ท่านห้ามเพ่งลมที่พัดปั่นป่วนเช่น ลมหัวด้วน เป็นต้น.
๕. นีลกสิณ วงกลมทำด้วยสีเขียว วิธีทำ เอาสิ่งที่มีสีเขียวบริสุทธิ์ เช่น ดอกบัวเขียว หรือผ้าเขียว ฯลฯ มาทำ ถ้าเป็นดอกไม้พึงบรรจุลงในภาชนะที่มีขอบปากกลม วัดผ่าศูนย์กลางได้คืบ๔ นิ้ว ให้เต็มขอบปาก อย่าให้ก้านหรือเกสรปรากฏ ให้แลเห็นแต่กลีบสีเขียว ถ้าเป็นผ้าพึงขึงกับไม้วงกลมขนาดนั้นให้ตึงดี อย่าให้ยู่ยี่ ถ้าได้ผ้าเนื้อละเอียดเป็นเหมาะดี สีเขียวนี้หมายเขียวคราม ที่เรียกว่านิลนั่นเอง.
๖. ปีตกสิณ วงกลมทำด้วยสีเหลือง วิธีทำ เอาสิ่งที่มีสีเหลืองบริสุทธิ์ เช่น ดอกกรรณิการ์เหลือง หรือผ้าสีเหลืองเป็นต้น มาทำโดยทำนองเดียวกับนีลกสิณ สีเหลืองนี้ หมายถึงสีเหลืองอ่อนหรือเหลืองนวลสีเขียวใบไม้หรือมรกต เป็นสีที่ใกล้กับสีเหลืองอ่อน ท่านว่าอนุโลมเข้ากับกสิณนี้ได้.
๗. โลหิตกสิณ วงกลมทำด้วยสีแดง วิธีทำ เอาสิ่งที่มีสีแดง เช่น ดอกบัวแดง ผ้าแดง ฯลฯมาทำ โดยทำนองเดียวกันกับนีลกสิณ.
๘. โอทาตกสิณ วงกลมทำด้วยสีขาว วิธีทำ เอาสิ่งที่ขาวสะอาด เช่น ดอกบัวขาว ผ้าขาวฯลฯ มาทำ โดยทำนองเดียวกันกับนีลกสิณ.
๙. อากาสกสิณ วงกลมอากาศ วิธีทำ เจาะฝาเป็นรูปกลม วัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว หรือเจาะเสื่อลำแพนขนาดเดียวกันนั้นก็ได้ เพ่งดูอากาศภายในช่องวงกลมนั้น หรือจะขดไม้เป็นวงกลมขนาดนั้นตั้งไว้บนปลายหลักในที่แจ้ง แล้วเพ่งดูอากาศภายในวงกลมนั้นก็ได้.
๑๐. อาโลกกสิณ วงกลมแสงสว่าง วิธีทำ เจาะก้นหม้อเป็นรูกลม วัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔นิ้ว ตามตะเกียงหรือเทียนไขไว้ภายในหม้อ ให้แสงสว่างส่องออกมาตามรูที่เจาะไว้ และหันทางแสงสว่างนั้นให้ไปปรากฏที่ฝาหรือกำแพง แล้วเพ่งดูแสงสว่างที่ส่องเป็นลำออกไปจากรูที่ไปปรากฏที่ฝาหรือกำแพงนั้น.
อาโลกกสิณนี้ ปรากฏในสมถกรรมฐาน ตามที่พระโบราณาจารย์ประมวลไว้ แต่ที่ปรากฏในพระบาลี ในพระไตรปิฎกหลายแห่งแทนที่ ข้อนี้เป็น วิญญาณกสิณ คือ เพ่งวิญญาณ ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะกสิณ ๑-๘ เป็นรูปกสิณ ส่วนกสิณ ๙-๑๐ เป็นอรูปกสิณ ซึ่งใช้เป็นอารมณ์ของอรูปฌานคือ อากาสานัญจายตนะ และ วิญญาณัญจายตนะ ตามลำดับกัน แสงสว่างน่าจะใกล้ต่อเตโช หรือมิฉะนั้นก็ใกล้ต่อวิญญาณ ซึ่งมีลักษณะสว่างเช่นเดียวกัน เมื่อเพ่งลักษณะสว่างแล้วน่าจะใกล้ต่อวิญญาณมากกว่า ถ้าเป็นวิญญาณกสิณจะทำวงกลมด้วยวัตถุไม่ได้ ต้องกำหนดดวงขึ้นในใจที่เดียวให้เป็นดวงกลมขนาดวัดผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว อาโลกะและวิญญาณมีลักษณะใกล้กันมาก และอำนวยผลแก่ผู้เพ่งทำนองเดียวกัน คือ นำทางแห่งทิพยจักษุอย่างดีวิเศษ ผิดกันแต่ลักษณะการเพ่งเท่านั้น คือ วิญญาณกสิณต้องเพ่งข้างในไม่ใช่เพ่งข้างนอกเหมือนอาโลกกสิณ และอำนวยตาทิพย์ดีกว่า วิเศษกว่าอาโลกกสิณ.
วิธีปฏิบัติ พึงชำระตนให้สะอาด นุ่งห่มผ้าสะอาด ไปสู่ที่เงียบสงัด ปัดกวาดบริเวณให้สะอาด ตั้งตั่งสูงคืบ ๔ นิ้ว สำหรับนั่งอันหนึ่ง สำหรับวางวงกสิณอันหนึ่ง นั่งห่างจากวงกสิณประมาณ ๕ ศอก นั่งในท่าที่สบาย วางหน้าให้ตรง ทอดตาลงแลดูดวงกสิณพอสมควรแล้วหลับตานึกดู ถ้ายังจำไม่ได้พึงลืมตาขึ้นดูใหม่ แล้วหลับตานึกดู โดยทำนองนี้ จนกว่าจะเห็นวงกสิณในเวลาหลับตาได้ เมื่อได้แล้วพึงไปนั่งเพ่งดวงกสิณในที่อยู่ให้ชำนาญ จนสามารถทำการขยายดวงกสิณให้ใหญ่ และย่นให้เล็กได้ตามต้องการ เพียงเท่านี้ชื่อว่าสำเร็จกสิณแล้ว จิตใจจะสงบเป็นสมาธิตามลำดับ คือ ชั่วขณะ เฉียดฌาน และเป็นฌาน ๑-๒-๓-๔ ตามลำดับไป ในการเลื่อนชั้นของฌานนั้นต้องค่อยๆ เลื่อนไป อย่าด่วนก้าวหน้าในเมื่อฌานที่ได้แล้วตนยังไม่ชำนาญในการเข้าออกการยั้งอยู่ การนึกอารมณ์ของฌาน และการพิจารณาองค์ของฌาน จะพลาดพลั้งแล้วจะเสียผลทั้งข้างหน้าข้างหลัง.
ส่วนวาโยกสิณ เป็นกสิณที่ทำวงกลมไม่ได้ และยกไปมาไม่ได้ ท่านแนะว่าพึงแลดูลมที่พัดไปมาโดยปกตินั้น แล้วจดจำลักษณะอาการเอาไว้ แล้วไปสู่ที่สงัด ปฏิบัติตนโดยนัยที่กล่าวมาแล้วนั่งนึกถึงอาการลมพัด จนอาการนั้นปรากฏชัดแก่ใจ ชื่อว่าได้กสิณข้อนี้แล้ว ต่อไปก็พึงปฏิบัติตามนัยที่กล่าวมาแล้ว.
อสุภะ คือ สิ่งที่ไม่สวยงาม น่าพึงเกลียดพึงหน่าย เมื่อนึกเปรียบเทียบกับอัตภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะทำให้เกิดความสังเวช คือ ซาบซึ้งถึงความจริง อันเป็นลักษณะประจำของสังขารร่างกายเป็นอย่างดี ท่านแนะให้นำมาพิจารณาเป็นอารมณ์ เพื่อเกิดสังเวชและเบื่อหน่าย บรรเทาราคะ คือความกำหนัดในอัตภาพ และบรรเทาอัสมิมานะ คือความสำคัญผิดคิดว่าเป็นตัวตนของตนจริงจัง อสุภะในที่นี้หมายเฉพาะที่เป็นซากศพ หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของคนตายแล้วตลอดถึงของสัตว์ด้วย พระโบราณาจารย์ท่านประมวลมาไว้ ๑๐ ชนิด คือ
๑. อุทธุมาตกะ ศพขึ้นอืด
๒. วินีลกะ ศพขึ้นพองเขียว
๓. วิปุพพกะ ศพเน่าเฟะ น้ำหนองไหล
๔. วิฉินทกะ ศพขาดเป็นท่อนๆ
๕. วิขายิตกะ ศพที่ถูกสัตว์กัดกิน
๖. วิขิตตกะ ศพที่กระจัดกระจาย
๗. หตวิขิตตกะ ศพที่ถูกสับฟันแทง
๘. โลหิตกะ ศพที่มีเลือดแดงๆ ไหล
๙. ปุฬุวกะ ศพที่หนอนไชคลาคล่ำ
๑๐. อัฏฐิกะ กระดูกชนิดต่างๆ
ในมหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย ทรงแสดงไว้ ๙ ลักษณะ คือ
๑. ศพที่ตายแล้วขึ้นอืด พองเขียว-เน่าเฟะ
๒. ศพที่สัตว์มีสุนัขเป็นต้น กำลังกัดกินอยู่
๓. โครงกระดูกสัตว์มีเอ็นรัดยึดไว้ ยังมีเนื้อเลือด
๔. โครงกระดูกสัตว์มีเอ็นรัดยึดไว้ เปื้อนเนื้อเลือด
๕. โครงกระดูกสัตว์มีเอ็นรัดยึดไว้ ปราศจากเนื้อเลือด
๖. กระดูกที่กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง
๗. กระดูกที่เป็นสีขาวๆ
๘. กระดูกที่เป็นสีเหลืองๆ
๙. กระดูกที่ผุยุ่ยเป็นผงละเอียดแล้ว
ส่วนทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย ทรงแสดงไว้โดยเป็นสัญญา มี ๕ ลักษณะ คือ
๑. อัฏฐิกสัญญา กำหนดหมายกระดูก
๒. ปุฬุวสัญญา กำหนดหมายหมู่หนอนไชศพ
๓. วินีลกสัญญา กำหนดหมายศพขึ้นพองเขียว
๔. วิฉินทกสัญญา กำหนดหมายศพที่เป็นท่อนๆ
๕. อุทธุมาตกสัญญา กำหนดหมายศพขึ้นอืด
พระโบราณาจารย์คงประมวลเอาลักษณะที่ใกล้กัน รวมเป็นลักษณะเดียว และเพิ่มลักษณะบางอย่างซึ่งน่าจะมี จึงรวมเป็น ๑๐ ลักษณะ อย่างไรก็ตามจุดหมายของการพิจารณาอสุภะอยู่ที่ให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งในความจริงของอัตภาพ โดยมีอสุภะเป็นประจักษ์พยานเท่านั้น จะใช้อสุภะในลักษณะใดก็ได้ แม้ที่สุดแต่แผลในตัวของตัว ซึ่งเกิดจากเหตุต่างๆ ก็นำมาพิจารณาเป็นอสุภะได้.
วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ ท่านแนะนำไว้หลายปริยาย ตามสมควรแก่อสุภะนั้นๆ ประมวลแล้วเป็นดังนี้
๑. ไปพิจารณาอสุภะในป่าช้า หรือในที่ใดที่หนึ่งซึ่งมีอสุภะ ถ้าศพนั้นยังบริบูรณ์ต้องเป็นเพศเดียวกันจึงจะไม่เกิดโทษ เมื่อได้นิมิตแล้วพึงกลับมานั่งนึกถึงภาพอสุภะนั้นในที่อยู่ให้แจ่มชัดในห้วงนึกยิ่งขึ้น.
๒. ไปนำเอาอสุภะที่พอนำมาได้ ประดิษฐานไว้ในที่อันสมควรแล้ว เพ่งพิจารณาให้เกิดภาพติดตา นึกเห็นได้โดยนัยข้อ ๑.
๓. นึกหมายภาพอสุภะขึ้นในใจ ให้ปรากฏเป็นภาพที่น่าเบื่อหน่ายในห้วงนึกของตัวเองโดยที่ไม่ต้องไปดูอสุภะก็ได้.
เมื่อจะเจริญกรรมฐาน พึงปฏิบัติตนโดยนัยที่กล่าวไว้ในเรื่องกสิณ.
อนุสสติ คือ การนึกถึงบุคคลและธรรม หรือความจริงอันจะก่อให้เกิดความเลื่อมใส ความซาบซึ้งเหตุผล หรือความสงบใจอันใดอันหนึ่ง เป็นอุบายวิธีที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงวางไว้ให้สาธุชนทั่วไปทั้งบรรพชิตทั้งคฤหัสถ์ ก็ปฏิบัติได้สะดวก แม้จะมีภารกิจในการครองชีพ หรือธุรกิจของหมู่คณะ ของพระศาสนาล้นมือก็อาจปฏิบัติได้ เพราะเป็นอารมณ์ที่หาได้ง่ายสะดวกสบายและทำได้ในที่แทบทุกแห่ง ทั้งในบ้าน ทั้งในป่า ทั้งในที่ชุมชน เว้นอานาปานสติข้อเดียวที่จำต้องทำในที่สงัดเงียบ ปลอดโปร่ง จึงจะสำเร็จผล อนุสสติ มี ๑๐ ประการ คือ
๑. พุทธานุสสติ นึกถึงพระพุทธเจ้า คือบุคคลผู้หนึ่งซึ่งเป็นอัจฉริยมนุษย์ เป็นผู้มีคุณธรรมสูงสุดน่าอัศจรรย์ และน่าเคารพบูชา เป็นพระบรมศาสดาผู้ชี้มรรคาแห่งความพ้นทุกข์แก่เวไนยนิกร เป็นผู้ส่องโลกให้สว่าง ฯลฯ ให้นึกด้วยความเลื่อมใสไปในพระพุทธคุณต่างๆ ตามที่ตนได้สดับมา โดยเฉพาะที่ขึ้นใจก็คือพุทธคุณ ๙ บท มี อรหํ เป็นต้น บทใดบทหนึ่งหรือทั้งหมด.
๒. ธัมมานุสสติ นึกถึงพระธรรม คือสภาวะที่จริงแท้ อันพระบรมศาสดาทรงค้นพบ แล้วนำมาบัญญัติสั่งสอน เป็นภาวะละเอียดประณีต ดำรงความจริงของตนยั่งยืน ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นสภาวะที่เที่ยงธรรมไม่เข้าใครออกใคร ใครปฏิบัติผิดธรรม ก็ได้รับโทษเป็นทุกข์ ใครปฏิบัติถูกธรรมก็ได้รับอานิสงส์เป็นสุข เป็นเช่นนี้ทุกกาลสมัย ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างความจริงอันนี้ได้ฯลฯ โดยเฉพาะแล้วพึงนึกไปตามพระธรรมคุณ อันเป็นที่ขึ้นใจ ๖ บท มี สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโมเป็นต้น บทใดบทหนึ่งหรือทั้งหมด.
๓. สังฆานุสสติ นึกถึงพระสงฆ์ คือชนหมู่หนึ่งซึ่งเป็นพระสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามแบบแผนสิกขาสาชีพของสมณะที่พระบรมศาสดาทรงบัญญัติไว้เป็นอย่างดี ถึงความเป็นสักขีพยานของพระบรมศาสดาจารย์ในธรรมที่ทรงบัญญัติไว้ คือเป็นผู้ปฏิบัติตามได้ และประจักษ์ผลสมจริงตามที่ทรงบัญญัติไว้นั้น มีอยู่ ๔ จำพวก คือ (๑.) พระโสดาบัน (๒.) พระสกิทาคามี (๓.) พระอนาคามี (๔.) พระอรหันต์ เป็นบุคคลที่น่ากราบไหว้เคารพสักการบูชา เป็นนาบุญของชาวโลก ฯลฯ โดยเฉพาะพึงนึกไปตามคุณบทของพระสงฆ์ ๙ บท มี สุปฏิปนฺโน ภควโตสาวกสงฺโฆ เป็นต้น บทใดบทหนึ่งหรือทั้งหมดก็ได้.
๔. สีลานุสสติ นึกถึงศีล คือคุณชาติอันหนึ่งซึ่งมีลักษณะทำใจให้เป็นปกติ-ให้เย็น-ให้ไม่เดือดร้อนกินแหนงใจ และควบคุมความประพฤติทางกาย ทางวาจาให้ปราศจากโทษ แผ่ความสงบสุข-ความร่มเย็นไปยังผู้อื่น-สัตว์อื่นๆ ทั่วไป แล้วนึกถึงศีลของตนที่ตนได้ปฏิบัติรักษาอยู่นั้นว่าปฏิบัติรักษาได้ดีเพียงไร.
๕. จาคานุสสติ นึกถึงทานบริจาค คือคุณชาติอันหนึ่งซึ่งมีลักษณะทำใจให้กว้างขวาง-ให้เกิดเมตตากรุณา-ให้กล้าสละของรักของหวงแหนเพื่อประโยชน์ เป็นคุณชาติที่ค้ำชูโลกให้ดำรงอยู่ในสันติภาพ-สันติสุข โลกดำรงความเป็นโลกที่มีสุขพอสมควร ด้วยอำนาจความเสียสละของบุคคลแต่ละบุคคลพอสมควร หากโลกขาดทานบริจาคค้ำจุน โลกจะถึงความปั่นป่วนและล่มจม ชีวิตของมนุษย์แต่ละชีวิตที่เป็นมาได้ ก็ด้วยอำนาจทานบริจาคของบิดามารดาหรือผู้อุปถัมภ์ ไม่มีชีวิตใดที่ปราศจากการอุปถัมภ์อุ้มชูของผู้มีเมตตาแล้วดำรงอยู่ได้ แล้วพึงนึกถึงทานบริจาคของตนเองว่า ตนได้สำนึกในคุณทานบริจาคและได้ทำทานบริจาคมาแล้วอย่างไรบ้าง.
๖. เทวตานุสสติ นึกถึงเทวดา หรือบุคคลผู้ทำความดีด้วยกาย-วาจา-ใจ แล้วอุบัติขึ้นในสวรรค์ ถึงความเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์ เลิศกว่า ประณีตกว่ากามคุณอันเป็นของมนุษย์ แล้วนึกถึงคุณธรรมที่อำนวยผลให้ไปเกิดในสวรรค์ มีศรัทธาความเชื่อกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น แล้วนึกเปรียบเทียบตนกับเทวดาว่ามีคุณธรรมเหมือนกันหรือไม่.
๗. อุปสมานุสสติ นึกถึงพระนิพพาน คือธรรมชาติอันสงบประณีตอันหนึ่ง ซึ่งเมื่อถึงเข้าแล้ว ย่อมหมดทุกข์-หมดโศก-หมดโรค-หมดภัย มีใจปลอดโปร่งเย็นสบาย หมดความวุ่นวาย-กระเสือกกระสนทุรนทุราย ตัดกระแสวงกลมได้ขาดสะบั้น ไม่ต้องหมุนไปในคติกำเนิดเกิดแก่ตายอีกเลย. ธรรมชาตินั้น พระบรมศาสดาทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง แล้วนำมาบัญญัติเปิดเผยให้ปรากฏขึ้น และบอกแนวทางปฏิบัติไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้เข้าถึงธรรมชาตินั้น.
ธรรมชาตินั้นเป็น อมตะ-มีสุข-สิ้นสุด ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับโลก โลกมีลักษณะที่เรียกว่า“ตาย” คือความแตก-ขาด-ทำลาย เป็นลักษณะประจำตัว โลกมีลักษณะที่เรียกว่า “ทุกข์” คือความลำบาก-คับแค้นบีบคั้น เป็นลักษณะประจำตัว โลกมีลักษณะที่เรียกว่า “ไม่แน่” คือมีความเปลี่ยนแปลง ไม่สิ้นสุด-ไม่หยุดยั้ง เป็นลักษณะประจำตัว โลกเป็นด้านนอก พระนิพพานเป็นด้านใน คนสามัญมองเห็นแต่ด้านนอกไม่มองด้านใน จึงไม่ได้ความเย็นใจ เมื่อใดบุคคลมามองด้านในศึกษาสำเหนียกด้วยดี พินิจด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์แล้ว เมื่อนั้นเขาจะพบเห็นธรรมชาติอันปราศจากทุกข์ คือ พระนิพพาน.
ในที่ใดมีทุกข์ ความสิ้นทุกข์ก็จะต้องมีในที่นั้น ก็ในที่ใดมีความรุ่มร้อน ความสิ้นแห่งความรุ่มร้อนจะต้องมีในที่นั้น ความย่อคือเมื่อมีร้อนก็ย่อมมีเย็นแก้ มีมืดก็ย่อมมีสว่างแก้ เมื่อมีทุกข์ก็จะต้องมีสุขแก้เป็นแท้.
การนึกถึงพระนิพพานโดยบัดนี้ก็ดี โดยนัยที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากตำราแบบแผนก็ดีจักเป็นอุบายทำใจให้สงบเย็นลงได้.
๘. มรณานุสสติ นึกถึงความตาย คือสภาวะที่จริงแท้อันหนึ่ง ซึ่งเมื่อมาสู่ชีวิตแล้วทำให้ชีวิตขาดสะบั้นลง แต่ก่อนเคยไปมาได้ ดื่มกินได้ นั่งนอนได้ ทำกิจต่างๆ ได้ หัวเราะและร้องไห้ได้ครั้นมรณะมาถึงแล้ว กิริยาอาการเหล่านั้นย่อมอันตรธานไปทันที มรณะนี้มีอำนาจใหญ่ยิ่งที่สุด ไม่มีมนุษย์คนใดเอาชนะมันได้ นักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดก็ยังไม่สามารถเอาชนะมันได้ พระบรมครูของเราได้รับยกย่องว่า เป็นยอดปราชญ์มีอำนาจใหญ่ยิ่งกว่าเทวาและมนุษย์หลายเท่าพันส่วน ทรงยืนยันพระองค์ว่า “บรรลุถึงธรรมอันไม่ตาย” ก็ยังทรงต้องทอดทิ้งพระสรีรกายไว้ในโลก ให้เป็นภาระแก่พุทธบริษัทจัดการถวายพระเพลิง มีพระบรมธาตุเป็นสักขีพยานอยู่ในปัจจุบันนี้. ใครเล่าที่ไม่ต้องตาย? ตลอดกาลอันยืดยาวนานของโลกนี้ มีคนเกิดคนตายสืบเนื่องกันมาจนนับประมาณไม่ถ้วนแล้ว มีใครบ้างซึ่งเกิดแต่แรกมีมนุษย์ในโลกยั่งยืนมาจนถึงบัดนี้.
อนึ่ง ความตายนี้ จะมาสู่ชีวิตของบุคคลโดยไม่มีนิมิตบอกเหตุล่วงหน้าด้วย ไม่มีใครกำหนดรู้วันเวลาตายของตนได้ล่วงหน้านานๆ ที่จะได้มีเวลาเตรียมตัว และกะการงานให้ทันกำหนดฉะนั้นจึงไม่ควรวางใจในชีวิต กิจใดที่ควรทำ ควรรีบทำกิจนั้นเสีย อย่าผัดวันประกันพรุ่ง.
การนึกถึงความตายแล้วเกิดใจฝ่อ หมดเยื่อใยในชีวิต ไม่อยากจะทำกิจอะไร งอมืองอเท้ารอคอยความตายเช่นนี้ ไม่สำเร็จประโยชน์ เป็นการคิดผิด พึงกลับความคิดเสียใหม่ พึงนึกถึงความตายแล้วเตือนสติตนให้ตื่นตัวขึ้น ไม่ประมาทหลับใหลอยู่ รีบทำกรณีย์ที่ควรทำให้ทันเวลา รีบพากเพียรชำระล้างจิตใจของตนให้สะอาด ปราศจากกิเลส ก่อนความตายมาถึง ดังนี้จึงจะสำเร็จประโยชน์ตามความประสงค์ของกรรมฐานบทนี้.
๙. กายคตาสติ นึกถึงสิ่งเป็นกาย คือส่วนหนึ่งๆ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นอัตภาพร่างกาย ที่เรียกว่า อาการ ๓๒ ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับพังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตามันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร สมอง
๑ นึกถึงสิ่งเหล่านี้แต่ละส่วนๆ โดย วณฺโณ-สี คนฺโธ-กลิ่น รโส-รส โอโช-โอชะ สณฺฐาโน-สัณฐาน ให้ปรากฏชัดเจนแก่ใจ.
๑. บางอาจารย์ว่า เยื่อในสมอง.ขั้นแรกพึงท่องจำอาการ ๓๒ นี้ให้แม่นยำ ว่าได้ทั้งตามลำดับ ทั้งทวนลำดับ ขั้นสองสำเหนียกลักษณะของอาการ ๓๒ นั้นแต่ละสิ่ง โดยสี กลิ่น รส โอชะ สัณฐาน ขั้นสามพึงดูของจริงให้เห็นด้วยตาแม้สักอย่างหนึ่งพอให้เป็นภาพติดตาไว้บ้าง ขั้นสี่ทำการนึกถึงอาการ ๓๒ นี้ทั้งหมดไปตามลำดับ แล้วทวนกลับหลายๆ เที่ยว ขั้นห้าเมื่ออาการใดใน ๓๒ นั้นปรากฏชัดเจนแก่ใจ ที่สุดพึงถือเอาอาการนั้นทำการนึกเห็นให้มากติดต่อเรื่อยๆ จนเกิดเป็นภาพชัดเจนที่สุด ขยายให้ใหญ่ให้มากได้ตามต้องการ ชื่อว่าสำเร็จกายคตาสติแล้ว.
กายคตาสตินี้ พระผู้มีพระภาคทรงพรรณนาอานิสงส์ไว้มากมาย มีอำนวยผลให้สำเร็จอภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ เป็นต้น.
๑๐. อานาปานสติ นึกถึงลมหายใจเข้าออก คือสภาพปรุงแต่งกายให้ดำรงสืบต่อไปได้เมื่อใดสภาพนี้หยุดชะงักไป ไม่ทำการสืบต่อ เมื่อนั้นชีวิตก็ขาด ที่เรียกว่าตาย วิญญาณธาตุอันอาศัยอยู่ในร่างกายก็ออกจากร่างไป นี้ว่าโดยลักษณะสามัญ ส่วนลักษณะพิเศษนั้นอาการไม่หายใจย่อมมีได้แก่บุคคล (๑.) ผู้อยู่ในครรภ์มารดา (๒.) ผู้ดำน้ำ (๓.) ผู้สลบชนิดหนึ่ง และ (๔.) ผู้เข้าจตุตถฌาน ในเวลาปกติย่อมต้องมีอาการหายใจ คือ สูดลมเข้าสู่ร่างกาย ผายลมออกจากร่างกายเสมอ แม้ในเวลาหลับ สภาพปรุงแต่งกายนี้ก็ทำหน้าที่อยู่เรื่อยๆ ไป.
วิธีปฏิบัติในกรรมฐานบทนี้ พึงอยู่ในป่าในร่มไม้ หรือในที่ว่าง ซึ่งเป็นที่สงัด อากาศโปร่งเย็นสบาย อาบน้ำชำระกายให้สะอาด นุ่งห่มผ้าสะอาด ปราศจากกลิ่นเหม็นสาบ นั่งในท่าที่เรียกว่าบัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดลมหายใจเข้า-ออก อันเป็นไปอยู่โดยปกตินั้นให้รู้ทันทั้งเวลาลมเข้า เวลาลมออก แล้วกำหนดระยะเวลาลมเข้าออกสั้นยาวให้รู้ทัน ต่อนั้นกำหนดที่ที่ลมสัมผัส คือต้นลมสัมผัสที่ปลายจมูก กลางลมสัมผัสที่ทรวงอก ปลายลมสัมผัสที่ตรงสะดือ ในเวลาลมออกตรงกันข้ามกับที่กล่าวมานี้ คือทวนลำดับออกไป ในระยะแรกๆ สติจะปรากฏประหนึ่งว่าแล่นไปตามอาการของลมเข้าลมออก แต่เมื่อทำไปนานๆ ในระยะต่อๆ ไปสติจะใหญ่โตครอบคลุมร่างกายแม้ทั้งหมดไว้ จะไม่มีอาการแล่นตามอาการอีกต่อไป และลมหายใจก็จะปรากฏละเอียดเข้าทุกที จนปรากฏว่าไม่มีในที่สุด จะเห็นว่าลมปรุงกายซ่านอยู่ทั่วทุกส่วน แม้กระทั่งปลายเส้นขนเมื่อมาถึงขั้นนี้ชื่อว่าได้ผลในการเจริญอานาปานสติกรรมฐานขั้นต้นแล้ว พึงเจริญให้แคล่วคล่องเชี่ยวชาญต่อไป.
อานาปานสติกรรมฐานนี้ สามารถตัดกระแสวิตกได้ดี เหมาะสำหรับคนวิตกจริต คือคนชอบคิดชอบนึก เป็นกรรมฐานสุขุม ประณีต เหมาะสำหรับมหาบุรุษ พระบรมศาสดาทรงบำเพ็ญกรรมฐานข้อนี้มาก เวลาทรงพักผ่อน ที่เรียก “ปฏิสัลลีนวิหาร” ก็ทรงอยู่ด้วยอานาปานสติสมาธิวิหารเสมอ ทรงแสดงอานิสงส์ของกรรมฐานบทนี้ไว้มากมายว่า กายก็ไม่ลำบาก จักษุก็ไม่ลำบากจิตก็พ้นจากอาสวะ ละความคิดเกี่ยวกับเสียงที่เคยชินได้ กำหนดน่าเกลียดในสิ่งไม่น่าเกลียดได้กำหนดไม่น่าเกลียดในสิ่งน่าเกลียดได้ กำหนดน่าเกลียดได้ทั้งในสิ่งไม่น่าเกลียด ทั้งในสิ่งไม่น่าเกลียด กำหนดไม่น่าเกลียดได้ทั้งในสิ่งน่าเกลียด ทั้งในสิ่งไม่น่าเกลียด ได้ฌานสมบัติโดยไม่ยากตั้งแต่ฌานที่ ๑ ถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ กำหนดรู้เวทนาได้ดี ได้บรรลุอรหัตตผล หรืออนาคามีในปัจจุบัน ฯลฯ.
ลงสำรองไว้อีกที่
http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11753.0.html