[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 14 เมษายน 2558 11:17:40



หัวข้อ: เทศกาลแห่งฤดูร้อน
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 14 เมษายน 2558 11:17:40
.

เทศกาลแห่งฤดูร้อน
โดย : นพ.กฤษดา ศิรามพุช
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/91770167276263_1.jpg)
เทศกาลดอกไม้ไฟในญี่ปุ่น

ความรู้สึกสนุกในหน้าร้อนนั้นเป็นของคนทุกเพศวัยครับ เด็กๆจะนึกถึงหาดทรายและสายน้ำที่เย็นชุ่มฉ่ำ ส่วนผู้ใหญ่ก็อาจหลับตาฝันถึงสายลมและสองเราเพิ่มขึ้นไปด้วย ความสนุกของผู้คนในช่วงแห่งลมร้อนส่วนหนึ่งคือการไปพักผ่อนริมทะเล กินอาหารทะเลสดอร่อยเคล้าเสียงคลื่น นอกจากนั้นในหน้าร้อนยังมีกิจกรรมอีกมากมาย

คนไทยสมัยก่อน อาจจะนึกถึงฤดูร้อนที่พิเศษอีกหลายแบบ ดังเช่นหากเป็นชาววังสมัยรัชกาลที่ 5 ก็จะนึกถึง “บางปะอิน” อันเป็นถิ่นที่ได้เคยตามเสด็จในยามแปรพระราชฐาน สำหรับปีใหม่ไทยเราตรงกับหน้าร้อนมาแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ จึงเข้ากันอย่างพอเหมาะกับความสนุกแบบไทยๆ ที่มาพร้อมกับสายน้ำที่ราดรดประพรมให้กันในวันสงกรานต์ ทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสและเด็กๆ ต่างร่วมกิจกรรมสุขนี้โดยพร้อม หน้ากัน

แทบจะในทุกที่ทั่วโลกย่อมมีฤดูร้อนที่มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ยกเว้นแต่ในแถบขั้วโลกที่ฤดูร้อนก็ยังคงหนาวเหน็บ ดูแล้วความสุขในหน้าร้อนมีความสนุกอยู่หลายอย่างด้วยกันดังจะขอพาแฟนานุแฟนคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน มาชื่นชมกับความสุขนานาชาติดังต่อไปนี้ครับ

งานฉลองหมู่หินเก่าแก่แห่งมาสิโดเนีย
ในซีกโลกด้านเหนือนั้นจะมีปรากฏการณ์ “ครีษมายัน” หรือซัมเมอร์ซอลสติซเป็นวันที่กลางวันยาวนานที่สุดเป็นดั่งจุดเริ่มแห่งฤดูร้อน โดยผู้คนในสมัยแรกเริ่มได้สังเกตปรากฏการณ์นี้มาโดยตลอด ดังมีหลักฐานหนึ่งเป็นมหาสถานสร้างจากศิลาขนาดโอฬาร (Megalithic) ที่เป็นดั่งหอดูดาวที่เก่าแก่ มีอายุถึง 3,800 ปี แม้จะมีอายุเก่าแก่ร่วมๆ ดินแดนไอยคุปต์หรือบาบิโลเนียยุคแรกแต่โบราณสถานแห่งนี้เพิ่งถูกค้นพบหมาดๆ เมื่อปี 2001 ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,013 เมตร ประกอบกับสัณฐานทางธรณีวิทยาของมันจึงทำให้เป็นสถานที่ที่เหมาะกับการสังเกตการณ์การโคจรของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ซึ่งบรรพชนคนยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นได้นำเอาศิลาที่เป็นรูปทรงลูกบาศก์ของมันมาใช้คำนวณปฏิทินทางจันทรคติ ในสมัยนั้นเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยวผู้คนยุคก่อนประวัติศาสตร์จะมารวมกันเพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนา โดยในจุดที่ศักดิ์สิทธิ์สุดของงานคือเมื่อผู้เป็นประมุขจะนั่งลงบนหินที่ตั้งอยู่เสมือนบัลลังก์ในฐานะตัวแทนแห่งมวลมนุษย์แล้วทำการสื่อกับ “สุริยเทพ” เพื่อขอพรให้การเก็บเกี่ยวของปีต่อไปได้ผลดี สถานที่แห่งนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “บรรพตศักดิ์สิทธิ์ (Holy mountain)” ครับ โดยมหาศิลาสถานแห่งนี้ได้รับการรับรองจากองค์การนาซ่าว่าเป็นหอสังเกตการณ์ดวงดาวที่เก่าแก่เป็นอันดับ 4 ของโลกนอกเหนือจากสโตนเฮนจ์ในอังกฤษ, มหาวิหารอาบูซิมเบลในอียิปต์ และนครวัดแห่งเขมร นับเป็นสถานที่ที่เป็นจุดนัดพบระหว่างมนุษย์ตั้งแต่ยุคสำริดกับองค์สุริยเทพที่มีผลต่อชีวิตทั้งมวล

เทศกาลดอกไม้ไฟในญี่ปุ่น  เป็นเทศกาลเก่าแก่ที่เริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 300 ปีก่อนโดยเรียกว่า “งานดอกไม้ไฟสุมิดากาวะ” มักจัดขึ้นช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่นซึ่งเป็นช่วงวันหยุดทุกปี โดยเริ่มในราวปี 1733 มี 2 ตระกูลใหญ่ที่มุ่งในการทำดอกไม้ไฟอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสุมิดะคนละฟาก ซึ่งทั้งคู่ก็ทำการแข่งขันกันในสิ่งที่ตนถนัดคือการสร้างสรรค์ดอกไม้ไฟที่งดงามน่าตื่นตา แล้วต่อมาก็มีผู้เข้าร่วม “ชม” และ “โชว์” ดอกไม้ไฟของตัวเองอีกมาก ดังในสมัยนี้ที่มีดอกไม้ไฟมากถึง 25,000 ชุดที่ทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองงานนี้ โดยเทศกาลนี้ดึงดูดผู้คนให้มาร่วมสนุกกันถึงกว่า 1 ล้านชีวิตทีเดียวครับ

ความสนุกอีกประการในงานนี้อยู่ที่การแข่งขันประชันดอกไม้ไฟหรือ “ฮานาบิ” จากนักทำดอกไม้เพลิงสำนักต่างๆ ทำให้ท้องฟ้าทางฟากตะวันออกของเมืองหลวงญี่ปุ่นสว่างไสวไปด้วยฮานาบินับไม่ถ้วน ห้วงเวลาของเทศกาลนี้จะมีเป็นช่วงๆไปในช่วงฤดูร้อนตั้งแต่ช่วงที่อากาศอุ่นขึ้นไปจนถึงเริ่มหนาวอีกครั้ง โดยถือว่าเป็นงานที่แทนความหมายของช่วงคิมหันตฤดูของญี่ปุ่น แม้จะเป็นประเพณีที่มีความเป็นมายาวนานแต่ก็มีช่วงที่เคยเงียบเหงาไปคือช่วงหลังสงครามโลกแล้วก็กลับมาสร้างสีสันบนฟากฟ้าใหม่เมื่อหลังทศวรรษที่ 70 มานี้เอง



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/50172697380185_2.jpg)
เทศกาลโฮลีที่เต็มไปด้วยสีสัน

เทศกาลโฮลี เทศกาลแห่งสีสันของชาวภารตะ ซึ่งเดิมทีชาวฮินดูจะเริ่มงานอันร่าเริงนี้เมื่อสิ้นสุดฤดูหนาวเป็นสัญญาณว่าความอบอุ่นจะเข้ามาในราวเดือนมีนาคมของทุกปีและดำเนินเช่นนี้มาแสนนานแต่ครั้งดึกดำบรรพ์แล้วต่อมาก็เป็นที่นิยมไปทั่วโลก ดังท่านที่เคยเห็นคนไทยเราสาดน้ำกันช่วงสงกรานต์ขอให้นึกถึงว่าเปลี่ยนจากน้ำเย็นเป็น “ผงสี (ผงโฮลี)” ที่สดใสมีชีวิตชีวา โดยพิธีการต้นตำรับจริงๆ นั้นจะเริ่มแบบฮินดูด้วยการก่อกองกูณฑ์ศักดิ์สิทธิ์ที่จะโหมลุกโชติช่วงในราตรีก่อนหน้า แล้ววันรุ่งขึ้นจึงจะเป็นไฮไลต์ของกิจกรรม “ป้ายสี” กันอย่างสนุกสนาน ผู้ร่วมงานจะเตรียมผงฝุ่นแป้งสีต่างๆ ไว้ประให้คนอื่น หรือในยุคใหม่นี้อาจมีอุปกรณ์เสริมเป็นลูกโป่งใส่น้ำสีเข้าไปหรือปีนฉีดน้ำที่ใช้น้ำสีต่างๆ แทนด้วย โดยในปัจจุบันนี้เทศกาลโฮลีเป็นที่นิยมอย่างยิ่งถึงกับมีการจัดงานใหญ่ในอีกทวีป คือที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในงานนี้เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมไม่ว่าจะมั่งมีหรือไม่มี หนุ่มสาวหรือสูงวัย รวมถึงใครๆ ก็ตามที่อยากทำความรู้จักเพื่อนมนุษย์ก็ไม่มีปิดกั้น เพราะต้องการให้ความเหลื่อมล้ำทั้งหลายในโลกหายไปและให้กลับมีความเสมอภาคแห่งโลกนี้เกิดขึ้นมาแทน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/12587270057863_3.jpg)
เทศกาลวิ่งวัวกระทิงในสเปน

เทศกาลวิ่งวัวกระทิงกลางจตุรัส งานนี้แน่นอนครับว่าต้นตำรับต้องเป็นชาติกระทิงดุ โดยชาวสเปนจะจัดงานนี้ขึ้นในช่วงเดือนที่อบอุ่นคือกรกฎาคม ซึ่งงานนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในงานเฉลิมฉลองในเกียรติของ “ซาน เฟอมิน (San Fermin)” นักบุญอุปถัมภ์แห่งแคว้นนาวาร์หรือนาบาร์รา โดยนักบุญพระองค์นี้เป็นมรณสักขีคือสละชีพของท่านโดยคงความยึดมั่นในศรัทธาตราบจนอาสัญ ซึ่งท่านถูกบั่นศีรษะในปี 303 ครับ ในเรื่องการสิ้นชีพของท่านนั้นยังมีความเชื่ออีกทางหนึ่งคือชาวเมืองแพมโพลนาในสเปนเล่าสืบต่อกันมาว่าท่านถูกลากร่างไปตามถนนโดยมีวัวดุร้ายวิ่งไล่หลัง จึงเป็นที่มาของประเพณีวิ่งวัวสัญชาติสเปน
ในงานสมโภชนี้จะมีส่วนประกอบหลักของประเพณีเก่าแก่สมัยกลางร่วมกันอยู่ 2 ส่วนโดยส่วนที่เป็นงานของพ่อค้าวาณิชจะเริ่มก่อนในช่วงต้นของซัมเมอร์ ซึ่งจะมีกิจกรรม “สู้วัว” และงานมหรสพบันเทิงอย่างเต้นรำ, ดนตรีสด และดอกไม้ไฟ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “การวิ่งวัว (Bullrunning)” ที่ทำเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่นักบุญผู้เสียสละได้เคยประสบมาเมื่อนับพันปีมาแล้ว



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/72227060008380_4.jpg)
การแข่งขันมวยปล้ำเคิร์กพินา

ทัวร์นาเมนต์มวยปล้ำเคิร์กพินา (Kirkpinar) ประเทศตุรกีที่ครั้งหนึ่งเป็นอาณาจักรออตโตมันที่ยิ่งใหญ่ ณ ละแวกเมืองเอดิเน เป็นแหล่งกำเนิดของการแข่งขันมวยปล้ำอันเป็นประเพณีโบราณมาจนถึงปัจจุบัน มวยปล้ำแบบตุรกีนี้ได้รับอิทธิพลมาจากการต่อสู้แบบมวยปล้ำยุคเก่าแก่ถึง 2,650 ปีก่อนคริสตกาล นักมวยปล้ำผู้สามารถนั้นจะชโลมกายด้วยน้ำมันมะกอก แล้วเข้าสู่สังเวียนแข่งมวยปล้ำกีฬาแห่งลูกผู้ชาย ต่อมาประเพณีนี้ก็ได้แพร่หลายไปยังอาณาจักรเปอร์เซียซึ่งคืออิหร่านในปัจจุบัน แล้วมาถึงยุคที่ชาวฮั่นบุกตีชนชาติอารยันไปจนถึงจักรวรรดิโรมันซึ่งจอมคนอย่าง “อัตติลา” ได้รุกคืบเอาชัยชนะเหนือทัพโรมันได้ท่ามกลางความตื่นตะลึงของฝรั่งที่ถือตัวว่าอารยะเหนือกว่าคนเถื่อน โดยกีฬาสำคัญที่ชาวฮั่นนิยมนอกจากกีฬาบนหลังม้าแล้วก็คือ “มวยปล้ำ (ยาฆ กูเรส)” นั่นเองครับ เคยมีการประลองฝีมือกันระหว่างนักมวยปล้ำของอัตติลาและมวยปล้ำเอกตัวแทนโรมันที่เมืองเทอโมพิเล ซึ่งผลก็คือนักมวย (ปล้ำ) เลือดฮั่นเอาชนะชาวโรมันได้ ทำให้พระจักรพรรดิต้องทรงควักทองในท้องพระคลังออกมาจ่ายถึง 2,100 ปอนด์ ทั้งยังเสียดินแดนใต้แม่น้ำดานู้บด้วย


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/64652471492687_5.jpg)
การแข่งขันมวยปล้ำเคิร์กพินา

สืบต่อมาจนถึงสมัยที่ศาสนาอิสลามเข้าสู่ดินแดนเอเชียไมเนอร์ซึ่งคือตุรกีในปัจจุบัน การแข่งมวยปล้ำยังคงเป็นเรื่องยอดฮิตโดยในปี 1360 ได้มีนายทหารออตโตมันระดับ “ปาชา” ซึ่งก็คือ นายพลได้จัดทัวร์นาเมนต์แข่งมวยปล้ำเคิร์กพินาขึ้นที่หมู่บ้านซาโมนาจึงถือว่านี่คือสถานที่จัดมวยปล้ำที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แล้วต่อมาก็ได้ย้ายไปที่ใกล้เมืองเอดิเน โดยการแข่งขันที่เก่าแก่ร่วม 700 ปีนี้ยังคงจัดเป็นงานใหญ่อยู่ทุกปีในช่วงหน้าร้อนอย่างนี้ครับ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/74572052848007_6.jpg)
ผู้คนมากมายรอชมอาทิตย์ขึ้นที่สโตนเฮจน์

งานบูชาพระอาทิตย์ที่สโตนเฮนจ์ ในวัน “ครีษมายัน” จะมีพระอาทิตย์ดวงโตขึ้นในตำแหน่งที่อยู่ตรงกับแท่งศิลาโบราณที่มองเห็นได้จากวงของสโตนเฮนจ์พอดิบพอดี ซึ่งวัฏจักรนี้มีมานานนมบรมกัปป์แต่ในปีหนึ่งจะมีอยู่ในครานี้เท่านั้น โดยวันสำคัญนี้จะมีพระอาทิตย์ขึ้นสูงสุดและเป็นวันที่กลางวันยาวนานที่สุด ซึ่งบรรพชนสมัยดึกดำบรรพ์ท่านถือเป็นวันเริ่มต้นแห่งช่วงทิวาวารอันยาวนานทางซีกโลกเหนือครับ โดยในเขตวิลต์เชียร์บนที่ราบซาลส์เบอรีของอังกฤษอันเป็นที่ตั้งแห่งสโตนเฮนจ์จะมีบรรดาผู้ศรัทธามารวมตัวกันในช่วงหน้าร้อนทุกปีเป็นจำนวนนับหมื่น ผู้คนเหล่านี้จะมาคอยดูแสงแรกแห่ง “อาทิตย์ขึ้น” ในปฐมวารแห่งฤดูร้อน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/24377361602253_7.jpg)
โซเมอร์คาร์นาวาลที่ร็อตเตอร์ดาม

คาร์นิวาลฤดูร้อน เทศกาลรื่นเริงที่จัดขึ้นปีละ 1 ครั้งตามเมืองใหญ่ของโลกอย่างร็อตเตอร์ดาม, เบนเตโล และอาร์นเฮ็ม เป็นการจัดเลียนแบบคาร์นิวาลที่เต็มไปด้วยสีสันในฝั่งอเมริกาใต้ ซึ่งงานฤดูร้อนที่จัดขึ้นเหมือนกันนี้ก็ใหญ่โตระดับโลกไม่แพ้กัน ซ้ำยังเต็มไปด้วยความสนุกหนีร้อนจากขบวนพาเหรดของผู้คนในชุดต่างๆที่ดูสนุก โดยงาน “โซเมอร์คาร์นาวาล (Zomercarnaval)” ในสไตล์ร็อตเตอร์ดาม (Rotterdam festival) เป็นดั่งแม่เหล็กที่ดึงดูดผู้คนจากต่างวัฒนธรรมให้เข้ามาสร้างสีสันและเติมความสนุกให้กัน งานจะมีหลายวัน ประกอบด้วยกิจกรรมสนุกริมชายหาด มีวงดนตรีพร้อมดีเจมาเล่นสดเพิ่มความมันส์ ในบางวันอย่างศุกร์ช่วงเย็นจะเป็นเวลาที่มือกลองมาดวลเพลงกันอย่างน่าตื่นตา แล้วเพิ่มดีกรีร้อนฉ่าด้วยพาเหรดตามท้องถนนที่มักจัดใหญ่ในวันเสาร์ มีไฮไลต์สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการเปิดตัว “เทพีคาร์นิวาล (Summer Carnival Queen)” ที่มีการเลือกกันไปราว 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น และยังมีแบทเทิลของวงดนตรียักษ์ใหญ่กับนักเต้นอีกหลายพันชีวิตมาประชันกันให้ความบันเทิง ซึ่งถือเป็นความน่าตื่นตาตื่นใจของงาน นับเป็นความสนุกสุดเหวี่ยงหนีร้อนที่น่าทึ่งในอีกมุมหนึ่งของโลกครับ.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/91737302434113_8.jpg)
โซเมอร์คาร์นาวาลที่ร็อตเตอร์ดาม