[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
11 พฤษภาคม 2567 11:55:05 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ทิพยอำนาจ : บทที่ ๖ วิธีสร้างทิพยอำนาจ มโนมัยฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ  (อ่าน 1305 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5081


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 18 สิงหาคม 2559 03:11:16 »



ทิพยอำนาจ

พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ปธ. 6)

วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

เรียบเรียง



บทที่ ๖

วิธีสร้างทิพยอำนาจ มโนมัยฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ


ฤทธิ์ประเภทนี้ ปรากฏในคำอธิบายเรื่องฤทธิ์ในปฏิสัมภิทามรรค จัดไว้ในประเภทอิทธิวิธิแต่ในอิทธินิเทศที่ทรงแสดงไว้ในพระบาลี มิได้มีปรากฏฤทธิ์ประเภทนี้ ในญาณทัสสนะ ๘ หรือที่เรียกว่าวิชชา ๘ ประการ ทรงยกขึ้นเป็นข้อหนึ่งต่างหาก เรียกว่า มโนมยาภินิมมนะ แปลว่าการเนรมิตรูปสำเร็จด้วยใจ มีลักษณะคล้ายคลึงกับวิกุพพนาฤทธิ์ คือ ฤทธิ์ผาดแผลง ดังแสดงแล้วในบทที่ ๕ แปลกกันแต่ว่าฤทธิ์ประเภทนี้ไม่มีลักษณะผาดแผลง เพียงแปลงรูปกายขึ้นอีกกายหนึ่งจากกายเดิมนี้แล้วไปปรากฏกายในที่อื่นอีกที การจัดไว้ในประเภทอิทธิวิธิก็ชอบแก่เหตุ แต่ข้าพเจ้าประสงค์จะจัดไว้เป็นทิพยอำนาจประการหนึ่งต่างหาก ดังที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในวิชชาหรือญาณทัสสนะ ๘ ประการ.

คำว่ามโนมัยฤทธิ์ หมายถึงฤทธิ์ทางใจที่ต้องเนรมิตกายหรือรูปร่างอันสมบูรณ์ มีอินทรีย์ครบเหมือนรูปร่างตัวจริงขึ้น แล้วส่งกายหรือรูปร่างนั้นไปทำกิจแทนตนยังที่ไกล หรือให้ปรากฏขึ้นในที่เฉพาะหน้าก็ได้ ท่านเรียกรูปกายที่เนรมิตขึ้นนั้นว่า มโนมัยกาย หรือนิรมานกาย พระบรมศาสดาและพระสาวกชอบใช้ เพราะสะดวกในการบำเพ็ญประโยชน์โปรดเวไนยในที่ไกล ไม่เป็นฤทธิ์ที่ทำให้มหาชนเกิดตื่นเต้นตูมตาม เป็นฤทธิ์เงียบๆ จะเห็นก็เฉพาะผู้ที่มุ่งไปโปรด หรือผู้ที่มีทิพยจักษุเท่านั้น ถึงคนอื่นๆ จะเห็นบ้างก็เลือนราง เพราะไปมาโดยวิสัยใจ ย่อมรวดเร็วมากประมาณเพียงชั่วลัดนิ้วมือ หรือชั่วพริบตาเดียวเท่านั้น ยากที่คนธรรมดาสามัญจะทันสังเกตเห็นเว้นแต่ท่านผู้ทำฤทธิ์จะแสดงช้าๆ เพื่อให้สามัญชนเห็นได้ ดังในกายวสิกภาพปาฏิหาริย์ ที่ได้อธิบายมาแล้วในข้อว่าด้วยอิทธิวิธิ.

พระบรมศาสดาเสด็จไปโปรดเวไนยซึ่งอยู่ห่างไกลกัน จะเสด็จไปโดยธรรมดาก็ได้ประโยชน์ไม่คุ้มหรือไม่ทันกับเวลา โดยมากทรงเสด็จด้วยพระมโนมัยกาย เช่นคราวเสด็จไปโปรดพระมหาโมคคัลลานเถระ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม เพื่อทรงแสดงวิธีแก้ถีนมิทธะแก่พระเถระ ซึ่งกำลังถูกถีนมิทธะครอบงำ ดังได้เล่าเรื่องนี้ไว้ในบทนำแล้ว ตามเรื่องปรากฏว่าทรงเปล่งพระรัศมีโอภาสไปปรากฏพระองค์อยู่ตรงหน้า ทรงแสดงธรรมให้ฟัง ผู้ได้รับโปรดแลเห็นพระองค์ชัดเจน เหมือนพระองค์เสด็จไปด้วยพระกายธรรมดา ถึงกับปูลาดอาสนะถวาย และกราบถวายบังคมคอยฟังพระธรรมเทศนา ดังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับที่สวนกวาง ชื่อ เภสกลาวัน ใกล้นครสุงสุมารคิระ ในภัคคะชนบท สมัยนั้นท่านพระอนุรุทธเถระพักอยู่ ณ สวนกวาง ชื่อปาจีนวังสะ ในเจดีย์ชนบท คนละประเทศกับพระบรมศาสดา ครั้งนั้นท่านพระอนุรุทธเถระ กำลังดำริถึงมหาปุริสวิตก ๗ ข้อ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบดำรินั้นแล้ว จึงเสด็จหายพระองค์ไปจากที่ประทับเสด็จไปสู่ที่พักของท่านพระอนุรุทธเถระเพียงชั่วเวลาคู้แขนเหยียดแขนเท่านั้นก็ถึง ไปปรากฏพระองค์เฉพาะพักตร์ท่านพระอนุรุทธเถระ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดถวาย ส่วนท่านพระอนุรุทธเถระได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่อันสมควร.

ครั้นแล้วพระบรมศาสดา จึงทรงรับรองดำริ ๗ ข้อของท่านพระอนุรุทธเถระว่า เป็นมหาปุริสวิตก คือ เป็นความคิดของมหาบุรุษ แล้วทรงแสดงเพิ่มให้อีก ๑ ข้อ รวมเป็น ๘ ข้อ เรียกว่ามหาปุริสวิตก ๘ ประการ และทรงแสดงอานิสงส์ต่อไปว่า เมื่อตรึกตรองตามมหาปุริสวิตก ๘ประการนั้นแล้วจะเข้าฌานที่ ๑ – ๒ – ๓ – ๔ ได้โดยง่าย ไม่ยากลำบาก และเมื่อได้ฌาน ๔ประการนั้นแล้ว เปรียบเทียบดูกับความสุขของคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดี ผู้ที่มีปัจจัยเลี้ยงชีพอย่างสมบูรณ์ดีที่สุด ก็จะเห็นทันทีว่าปัจจัย ๔ ของสมณะ คือ ปิณฑิยาโลปโภชนะ อาหารที่ไปรับมาจากชาวบ้าน ผู้มีศรัทธาคนละเล็กละน้อยคลุกเคล้าปนเปกันก็ดี, ปังสุกุลจีวร ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไปเก็บมาทำผ้านุ่งห่มก็ดี, รุกขมูลเสนาสนะที่อยู่ตามธรรมชาติภายใต้ร่มไม้ก็ดี, ปูติมุตตเภสัช ยาดองด้วยน้ำปัสสาวะเน่าก็ดี เป็นสิ่งดีกว่า สะดวกสบายกว่า ทั้งเป็นไปเพื่อบรรลุพระนิพพานด้วยดังนี้ ครั้นแล้วจึงตรัสสั่งให้ท่านพระอนุรุทธเถระจำพรรษา ณ ที่นั้นต่อไป ส่วนพระองค์ได้เสด็จกลับไปสวนกวางเภสกลาวัน ชั่วครู่เดียวก็ถึง แล้วทรงแสดงมหาปุริสวิตก ๘ ประการนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ณ ที่ประทับนั้นอีกครั้งหนึ่ง.

ส่วนท่านพระอนุรุทธเถระ จำพรรษา ณ สวนกวางปาจีนวังสะ ในเจดีย์ชนบทต่อไป ในภายในพรรษารีบเร่งความเพียรไม่นานนักก็บรรลุถึงภูมิพระอรหัตตผล ได้เป็นพระอรหันต์พระองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนาได้ภาษิตคาถานี้ในเวลานั้นว่า

“พระศาสดาผู้เยี่ยมยิ่งในโลก ทรงทราบความคิดของเรา จึงเสด็จมาหาเราด้วยพระฤทธิ์มโนมัยกาย ทรงแสดงธรรมตามที่เราคิดเห็น เพิ่มเติมให้ยิ่งขึ้นไป พระพุทธเจ้าผู้ทรงยินดีในธรรมไม่เนิ่นช้า ได้ทรงแสดงธรรมที่ไม่เนิ่นช้าแก่เรา เรารู้แจ้งธรรมของพระองค์แล้ว บรรลุวิชชา ๓ เสร็จกิจพระพุทธศาสนาแล้ว จึงยินดีอยู่ในพระพุทธศาสนาของพระศาสดาพระองค์นั้น” ดังนี้.

ภายหลังมาท่านพระอนุรุทธเถระ ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า ยอดเยี่ยมกว่าภิกษุผู้มีทิพยจักษุทั้งหลาย.

อีกเรื่องหนึ่ง มีกุลบุตรคนหนึ่งชื่อวักกลิ ได้เห็นพระบรมศาสดามีพระรูปโฉมสง่างาม พระฉวีวรรณผุดผ่อง ก็เกิดความเลื่อมใสออกบวชในพระธรรมวินัยของพระบรมศาสดา ติดตามดูพระผู้-มีพระภาคเจ้าอยู่เนืองๆ ต่อมาเมื่อทรงเห็นว่ามีอินทรีย์พอสมควรแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเนื่องด้วยอสุภะให้ฟัง ท่านเกิดความคิดและไปเร่งความเพียรในที่วิเวกใกล้ภูเขาแห่งหนึ่ง ครั้นต่อมาเกิดอาพาธหนัก โยมอุปัฏฐากนำไปทำการรักษาพยาบาลอยู่ในบ้าน อาพาธยิ่งกำเริบหนัก อยากเห็นพระผู้มีพระภาคเป็นขวัญตาครั้งสุดท้ายก่อนตาย หากทรงพระกรุณาโปรดเสด็จมาเพราะกำลังอาพาธหนัก จะไปเฝ้าด้วยตนเองมิได้ พระบรมศาสดาได้ตรัสสั่งไปกับคนผู้ไปเฝ้าว่าเธออยากจะเห็นทำไม ซึ่งร่างกายอันเป็นของเปื่อยเน่านี้ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม จงเร่งทำความเพียรทางจิต เมื่อถึงเวลาอันควรเราจะไปเอง ดังนี้

พอท่านพระวักกลิได้รับทราบพระพุทธดำรัสแล้ว สั่งให้โยมอุปัฏฐากหามเอาท่านไปไว้ ณ ข้างภูเขา ซึ่งเป็นที่เงียบที่ท่านเคยไปอาศัยทำความเพียรอยู่ก่อนอาพาธ ท่านได้เร่งทำความเพียรทางใจตลอดวันและคืนโดยไม่ประมาท อาพาธทวีหนักขึ้น ท่านก็เร่งทำความเพียรหนักขึ้นเป็นทวีคูณ พระบรมศาสดาทรงรอเวลาอยู่ พอได้โอกาสจึงเปล่งพระรัศมีโอภาสไปปรากฏพระกายในที่เฉพาะหน้าของท่านวักกลิทันที เมื่อท่านแลเห็นก็เกิดปีติปราโมทย์ พยายามจะลุกขึ้นกราบถวายบังคม แต่พระบรมศาสดาผู้มีพระมหากรุณาได้ตรัสห้าม และตรัสถามถึงอาการป่วยพอสมควรแล้ว ทรงแสดงธรรมเพียงสั้นๆ ว่าภิกษุผู้มากไปด้วยปราโมทย์ เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา สามารถบรรลุสันติบทคือพระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ระงับสังขาร มีสุขจริงแท้ ดังนี้ แล้วเสด็จกลับ พอพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ท่านทำการเจริญปีติปราโมทย์ เกิดสุขกายสบายจิต จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิโดยง่ายแล้วเจริญวิปัสสนาต่อ ในคืนวันนั้นเองท่านก็ลุถึงยอดแห่งสาวกบารมีญาณ ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา ทันใดนั้นเทวดาได้ไปเฝ้ากราบทูลพฤติการณ์ของพระวักกลิเถระให้ทรงทราบพระผู้มีพระภาคตรัสว่า แม้เราเองก็ทราบแล้ว

ในคืนวันนั้นเองตอนใกล้รุ่ง ท่านก็ปรินิพพานไปเพราะทนทานต่ออาพาธไม่ไหว มารใจบาปได้ไปพยายามค้นหาดวงวิญญาณของพระวักกลิเถระว่าไปไหนก็หาไม่พบ เกิดเป็นควันกลุ้มรอบบริเวณ รุ่งเช้าพระบรมศาสดาจึงพาพระสงฆ์จำนวนหนึ่งไปทำฌาปนกิจศพพระวักกลิเถระ แล้วเก็บอัฐิไปก่อสถูปบรรจุไว้เพื่อเป็นที่กราบไหว้ของคนและเทวดาต่อไป ครั้นในสมัยที่ทรงประกาศเอตทัคคฐานแก่พระสาวก-สาวิกา ว่าใครเยี่ยมยอดในคุณข้อไหนบ้าง ก็ทรงยกย่องพระวักกลิเถระว่า เยี่ยมยอดกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ศรัทธาวิมุตติ คือผู้พ้นจากกิเลสด้วยอำนาจความเชื่อมั่นในพระบรมศาสดา เชื่อฟังคำสั่งสอน ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเด็ดเดี่ยว ดังเรื่องที่เล่ามา ก็แสดงว่าท่านพระวักกลิเถระเชื่อฟังพระบรมศาสดาอย่างดีเยี่ยม จึงทรงยกย่องไว้ในคุณข้อนี้ให้เป็นที่ปรากฏ เป็นตัวอย่างแก่ปัจฉิมชนตาชน คือคนผู้เกิดมาในภายหลัง เมื่อได้ฟังเรื่องราวนี้แล้ว ก็จะได้ถือเอาเป็นคติประพฤติตาม ให้สามารถเป็นพยานในพระพุทธดำรัสที่ว่า“ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม” ซึ่งมีความหมายว่า พระผู้มีพระภาคผู้พระบรมศาสดาที่แท้จริงนั้น มิใช่รูปกายอันเปื่อยเน่าผุพังไปเช่นนั้นเลย หากแต่เป็นพระธรรมอันไม่รู้จักตายนั้นต่างหาก ผู้หยั่งลงสู่กระแสพระอมตธรรมนั้นแล้ว ย่อมได้เห็นเฝ้าแหนพระผู้มีพระภาค ผู้พระบรมศาสดาของตนสมดังประสงค์แท้จริง กลายเป็นรัตนะดวงหนึ่ง ซึ่งมีคติเสมอกันกับพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ รัตนะทั้ง ๓ นี้เป็นแก่นสารไม่รู้จักสูญสลาย เป็นสิ่งไม่รู้จักตายมีอยู่ทุกกาลสมัย ผู้สนใจในเรื่องนี้โปรดดูในหนังสือพรหมจรรย์คืออะไร? ตอนว่าด้วยพุทธปรัชญาก็จะทราบได้ว่า จิตที่บรรลุถึงอมตธรรมแล้ว เป็นวิมุตติสาร ซึ่งตายไม่เป็น คนและเทวดาสามัญไม่เห็น เว้นแต่พรหมบางพวกผู้บรรลุวิสุทธิธรรมเท่านั้นสามารถเห็นได้.

พระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า ยอดเยี่ยมกว่าบรรดาพระสาวกผู้มีฤทธิ์ และเป็นอัคคสาวกเบื้องซ้ายของพระบรมศาสดา เป็นกำลังใหญ่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประชาชนทั่วไปได้ดี ท่านมักใช้มโนมัยฤทธิ์นี้ไปปรากฏในสวรรค์บ้าง ในนรกบ้าง แล้วนำข่าวหรือเรื่องราวในสวรรค์และนรกนั้นมาบอกเล่าแก่ชาวมนุษย์ให้ทราบ เพื่อให้ชาวมนุษย์บังเกิดความเชื่อมั่นในกรรมดี-กรรมชั่ว ว่าสามารถอำนวยผลในโลกได้จริง จะได้มั่นอยู่ในกรรมดีมีศีลธรรมงามยิ่งขึ้น ดังนี้ เรื่องปรากฏที่ท่านรวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก หมวดเปตวัตถุและวิมานวัตถุเป็นส่วนมาก จะนำมาเล่าไว้สัก ๒ เรื่อง ดังต่อไปนี้

ครั้งหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ เข้าสมาธิถอดมโนมัยกายไปชมสวรรค์ ได้พบเทพธิดาองค์หนึ่งซึ่งมีวรรณะสดใสสว่างรุ่งเรืองทั่วทิศ เหมือนดาวประกายพรึก จึงไต่ถามว่าทำความดีอะไรไว้ จึงได้สมบัติเห็นปานนี้ เทพธิดานั้นเมื่อถูกพระมหาโมคคัลลานเถระถามถึงผลกรรมก็ดีใจ กราบเรียนท่านว่า ดิฉันเป็นอุบาสิกาอยู่เมืองสาเกต สมบูรณ์ด้วยทานและศีล ยินดีในการจำแนกแจกทานทุกเมื่อ ได้ถวายเครื่องนุ่งห่ม ภัตตาหาร เสนาสนะ เครื่องตามประทีป โดยมีใจผ่องใสยิ่ง ในท่านผู้มีจิตใจตรงแล้ว วันดิถี ๑๔-๑๕ ค่ำ และดิถี ๘ ค่ำ กึ่งปักษ์ ดิฉันได้รักษาอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ ๘ ประการตลอดปักษ์อย่างน่าอัศจรรย์ สำรวมดีในศีลทุกเมื่อ คือ เว้นการฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติล่วงใจสามี, มุสาวาท, และการดื่มของมึนเมา ยินดีในสิกขาบท ๕ ประการ ฉลาดในอริยสัจ เป็นอุบาสิกาของพระผู้มีพระเนตรดี มีพระยศ ซึ่งทรงพระนามว่า โคตมะจึงได้สมบัติเห็นปานนี้ ดิฉันได้ฟังเรื่องราวสวนอุทยานในสวรรค์ชื่อนันทวันเนืองๆ จึงเกิดพอใจตั้งจิตไว้ในที่นั้น แล้วได้เกิด ณ นันทวันสมประสงค์ ดิฉันไม่เชื่อฟังพระพุทธดำรัสของพระศาสดาผู้อาทิตยพันธุ์ ตั้งจิตไว้ในที่ต่ำ จึงเกิดเดือดร้อนภายหลัง ดิฉันจะอยู่รักษาอุโบสถศีลในวิมานนี้ไม่นานเท่าไหร่ เมื่อถูกถามถึงกำหนดอายุในสวรรค์ของนาง นางบอกว่าดิฉันจะอยู่ที่นี้เพียง ๖ หมื่นปีเท่านั้นท่านมหามุนี! แล้วก็จะจุติจากนี้ไปเกิดร่วมหมู่มนุษย์ ดังนี้ พระมหาเถระจึงกล่าวเตือนว่าท่านอย่ากลัวอุโบสถศีล ท่านได้รับพุทธพยากรณ์แล้วว่าเป็นพระโสดาบัน เป็นผู้วิเศษแล้ว ท่านละทุคติได้แล้ว ดังนี้ ส่วนเรื่องเกี่ยวกับเปรตที่ท่านได้ไปพบเห็นในแดนนรก ดังต่อไปนี้

ครั้งหนึ่ง ท่านเข้าสมาธิแล้วไปสู่แดนเปรต ซึ่งใกล้กับแดนนรก ได้เห็นเหตุการณ์แปลกประหลาด จึงถามเขาว่า ข้างหน้าไปโดยช้างเผือก ท่ามกลางไปโดยรถเทียมด้วยม้าอัศดร เบื้องหลังหญิงสาวไปในวอ ย่อมสว่างรุ่งเรืองทั่วทั้ง ๑๐ ทิศ ส่วนท่านทั้งหลายมีมือถือสาก หน้าร้องไห้ ตัวแตกแตน ครั้งเป็นมนุษย์ทำบาปอะไรไว้ จึงต้องดื่มเลือดของกันและกันดังนี้ ได้รับคำตอบว่าข้างหน้าผู้ไปโดยช้างเผือกตัวประเสริฐซึ่งก้าวไปด้วยเท้าทั้ง ๔ นั้น เป็นบุตรคนโตของข้าพเจ้าทั้งหลาย เขาให้ทานแล้วมีสุขร่าเริง ผู้ไปโดยรถเทียมม้าอัศดร ๔ ตัว ซึ่งผูกเทียมกันเป็นหมวดดีนั้นเป็นบุตรคนกลางของข้าพเจ้าทั้งหลาย เขาไม่ตระหนี่ เป็นทานบดี ย่อมรุ่งเรือง ส่วนหญิงผู้ไปในวอข้างหลังนั้นเป็นลูกสาวคนเล็กของข้าพเจ้าทั้งหลาย นางมีปัญญา ตาใสเหมือนตาเนื้อ มีสุขร่าเริงด้วยการจำแนกแจกทาน เขาเหล่านี้มีจิตเลื่อมใสได้ถวายทานแก่สมณพราหมณ์ในกาลก่อน ส่วนข้าพเจ้าทั้งหลายได้เป็นคนตระหนี่ ด่าทอสมณพราหมณ์ที่เขาเหล่านั้นถวายทานบำรุงบำเรออยู่ จึงซูบผอม เหมือนไม้อ้อถูกไฟเผาฉะนั้น พระมหาเถระจึงถามต่อไปว่า ท่านทั้งหลายกินอะไร? นอนอะไร? อยู่อย่างไร? ซึ่งเมื่อโภคะทั้งหลายเพียงพอมิใช่น้อย จึงคลาดความสุขถึงทุกข์ในบัดนี้? ได้รับคำตอบว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายฆ่ากันและกัน แล้วดื่มกินหนองและเลือด ครั้นดื่มมากแล้วก็ไม่ให้ทานทั้งไม่บริโภคเอง อย่างนี้นั่นเอง สัตว์ผู้ต้องตายซึ่งมีโภคะมากมาย ไม่บริโภคเอง ทั้งไม่ทำบุญ ตายแล้วจึงไปคร่ำครวญอยู่ยมโลก เกิดเป็นเปรตหิวกระหายเหลือประมาณในปรโลก ภายหลังต้องถูกเผาไหม้อยู่นาน เพราะทำกรรมซึ่งมีทุกข์เป็นกำไรไว้ จึงต้องเสวยทุกข์แสนเผ็ดร้อน ทรัพย์กับข้าวเปลือกก็ส่วนหนึ่ง ชีวิตก็ส่วนหนึ่ง ผู้ฉลาดรู้ว่าเป็นคนละส่วนกันแล้วควรทำที่พึ่ง นรชนเหล่าใดฉลาดในธรรม รู้อย่างนี้ นรชนเหล่านั้นย่อมไม่ประมาทในทาน เพราะเชื่อฟังคำพระอรหันต์ ดังนี้.

ส่วนพระสารีบุตรเถระอัคคสาวกเบื้องขวา ซึ่งได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เลิศกว่าภิกษุสาวกผู้มีปัญญายิ่งนั้น เป็นกำลังยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าในการเผยแผ่พระธรรมวินัย ทรงยกย่องว่า สามารถประกาศอนุตตรธรรมจักรได้เท่าเทียมกับพระองค์ ทรงแนะนำภิกษุทั้งหลายให้คบหาสมาคม เคารพนับถือเชื่อฟัง ท่านก็เชี่ยวชาญทางจิต มีฤทธานุภาพไม่น้อย ได้เคยไปเห็นเปรตซึ่งเป็นแดนเปรต หญิงเปลือยกาย ผิวพรรณทราม ผอมกะหร่อง สะพรั่งด้วยเส้นเอ็นท่านจึงถามว่าเป็นอะไรอยู่ที่นี่ ได้รับตอบว่า ดิฉันเป็นนางเปรต ท่านผู้เจริญ! ตกทุกข์ได้ยากอยู่ยมโลก เพราะทำบาปกรรมไว้ จึงจากยมโลกไปสู่เปตโลก ท่านถามต่อไปว่า ทำกรรมชั่วไว้ด้วยกายวาจา ใจ อย่างไรหรือ? จากโลกนี้ไปสู่โลกเปรตด้วยผลกรรมอะไร? ได้รับตอบว่า บิดามารดาหรือแม้ญาติซึ่งเป็นผู้มีจิตใจเลื่อมใสต่อสมณพราหมณ์ไม่อนุเคราะห์ดิฉัน ไม่ชักชวนดิฉันว่า จงให้ทานบ้างเลย ดิฉันจากมาเปล่าเปลือยอยู่อย่างนี้ถึง ๕๐๐ ปี ต้องถูกความหิวกระหายขบกัด นี้เป็นผลบาปกรรมของดิฉัน ท่านเจ้าคะ! ดิฉันขอไหว้ท่าน ท่านผู้กล้าหาญ! ท่านผู้มีอานุภาพมาก! โปรดอนุเคราะห์ดิฉัน โปรดให้ทานอะไรๆ แล้วอุทิศแก่ดิฉันด้วยเถิด โปรดปลดเปลื้องดิฉันจากทุคติบ้างเถิดเจ้าข้า! พระเถระรับคำแล้วให้คำข้าวคำหนึ่ง ผ้าเท่าฝ่ามือ น้ำดื่มถาดน้อยๆ ถาดหนึ่งแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วอุทิศทักษิณาแก่นางเปรตนั้น ผลก็เกิดในลำดับนั้นทันที โภชนะผ้านุ่งห่มน้ำดื่มนี้เป็นผลของทักษิณา ลำดับนั้นนางก็เป็นผู้สะอาด นุ่งห่มผ้าสะอาด ทรงผ้าผืนดีมาแต่แคว้นกาสี มีผ้าอาภรณ์งดงาม เข้าไปหาพระสารีบุตร พระเถระเห็นแล้วจึงถามว่า ท่านมีวรรณะสดใส สว่างรุ่งเรืองทั่วทุกทิศ เหมือนดาวประจำรุ่ง วรรณะเช่นนี้สำเร็จแก่ท่านเพราะกรรมอะไร? เมื่อเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้? จึงมีอานุภาพรุ่งเรือง มีวรรณะส่องสว่างทั่วทุกทิศ ได้รับคำตอบว่า ท่านมุนีผู้กรุณาสัตวโลกได้เห็นดิฉันผู้ผอมเหลืองอดอยาก เปล่าเปลือยผิว ถึงทุกข์ ครั้นแล้วได้ให้คำข้าวผ้าเท่าฝ่ามือ น้ำดื่มถาดน้อยๆ แก่ภิกษุทั้งหลายแล้วอุทิศแก่ดิฉัน ท่านจงดีผลแห่งคำข้าวคำเดียวกลายเป็นภัตรที่จะต้องกินถึงหมื่นปี ดิฉันเป็นผู้ได้กามสมบัติตามต้องการ บริโภคโภชนะมีกับข้าวรสต่างๆ มากอย่าง ท่านจงดูผลแห่งแผ่นผ้าเท่าฝ่ามือซึ่งกลายเป็นผ้านุ่งห่มมากกว่าของพระเจ้านันทราช ที่ห่มในประเทศ เป็นผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน และผ้าฝ้ายไพบูลย์ มีค่ามากห้อยย้อยอยู่เต็มอากาศ ดิฉันจะนุ่งห่มผ้านั้นๆ อันเป็นที่รักแห่งใจ ท่านจงดูผลแห่งน้ำดื่มถาดน้อยๆ ซึ่งกลายเป็นสระโบกขรณีสี่เหลี่ยมลึก ตบแต่งดี มีน้ำใส ท่าราบรื่นเย็นดี อบอวลด้วยกลิ่น ดาดาษด้วยดอกปทุม บริบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำ ดิฉันย่อมรื่นรมย์ ย่อมเล่น ย่อมบันเทิง ไม่มีภัยแต่อย่างใด จึงมาเพื่อไหว้ท่านมุนี ผู้มีความกรุณาต่อสัตวโลกเจ้าข้า ดังนี้!

อีกเรื่องหนึ่ง ท่านได้พบหญิงเปรตตนหนึ่ง ซึ่งมีพรรณะเศร้าหมองซูบซีดเช่นตนก่อนสอบถามได้ความว่าเคยเป็นมารดาของท่านมาในชาติอื่นๆ มาเกิดในแดนเปรต หิวกระหายเหลือเกิน ต้องกินน้ำลายน้ำมูกและโลหิต ไม่มีที่พึ่งพิงอาศัย ขอให้ท่านบริจาคทานอุทิศผลให้ เพื่อจะได้พ้นจากการกินน้ำเลือดน้ำหนองบ้าง ท่านได้ฟังคำมารดาแล้วมีใจสงสาร จึงปรึกษาพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอนุรุทธะ และพระกัปปินะ พากันสร้างกุฎี ๔ หลังถวายในสงฆ์จาตุรทิศแล้วอุทิศกุฎี ข้าว น้ำเป็นทักษิณาแก่มารดา ทันใดนั้นบังเกิดผลเห็นประจักษ์ มีวิมาน ข้าว น้ำผ้าผ่อน เป็นผลของทักษิณา นางมีกายสะอาด นุ่งห่มผ้าสะอาด ทรงผ้าผืนดีมาแต่แคว้นกาสี มีผ้าอาภรณ์งดงาม เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะ เล่าความจริงให้ทราบว่าเป็นมารดาเดิมที่พระสารีบุตรทำบุญอุทิศให้ ได้รับผลพ้นทุกข์ร้อนแล้ว มุ่งมาเพื่อไหว้ท่านมุนี ผู้มีความสงสารสัตวโลกนั้น เจ้าข้า! ดังนี้.

พระมหาเถระทั้งสอง เป็นผู้มีอำนาจทางจิตด้วยกัน ย่อมสามารถถอดใจออกจากร่างเนรมิตกายหนึ่งขึ้นแล้วไปบำเพ็ญประโยชน์ในที่ไกลได้ เรื่องที่เล่ามาก็เป็นเรื่องในที่ไกล ไม่ใช่ในที่อยู่ของท่าน จึงสันนิษฐานว่าจะต้องใช้มโนมัยกายไปพบเห็น กิตติศัพท์ที่ท่านพระมหาเถระทั้งสองบำเพ็ญประโยชน์ เป็นกำลังใหญ่ของพระบรมศาสดา ดุจพระกรขวาซ้ายนี้ ได้แพร่กระจายไปจนเป็นที่ปองร้ายของเดียรถีย์นิครนถ์ พระมหาเถระทั้งสองเคยถูกประทุษร้ายในกรุงราชคฤห์ ครั้งสุดท้าย พระมหาโมคคัลลานเถระก็ถูกประทุษร้ายถึงต้องนิพพาน ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับมโนมัยฤทธิ์เหลิงเจิ้งไปไกลแล้ว จะขอวกเข้าหาเรื่องต่อไป.

การสามารถถอดดวงจิตออกจากร่าง และเนรมิตรูปกายขึ้นอีกรูปกายหนึ่ง ซึ่งมีรูปลักษณะเหมือนรูปกายจริงของตน แล้วส่งไปทำกิจหรือปรากฏในที่ไกลได้นั้น ย่อมต้องอาศัยกำลังใจและมโนภาพดังได้กล่าวไว้แล้วในข้อว่าด้วยอิทธิวิธิ จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวในที่นี้อีก.

วิธีถอดจิตนั้น คล้ายแบ่งภาพจิตออกไปทำการ ความรู้สึกแห่งจิตในกายเดิมก็ยังมีอยู่ แต่มีสายโยงถึงกันตลอดเวลา อีกอย่างหนึ่ง ถอดออกไปทั้งหมดโดยไม่มีความรู้สึกเหลืออยู่ในร่างกายเดิมเลย คล้ายไปหมดทั้งตัวก็ได้ วิธีแรกทำได้ง่ายโดยที่ไม่ต้องเข้าฌานอย่างสูงชนิดที่หมดความรู้สึกในกายเดิม คือเพียงแต่ทำมโนภาพขึ้น เนรมิตรูปร่างของตนไปปรากฏ ณ เฉพาะผู้ที่เราต้องการช่วยเหลือหรือพบปะนั้น แล้วทำกิจตามประสงค์แล้วก็กลับ ในขณะที่ส่งจิตไปนั้นร่างกายเดิมจะอยู่ในท่าหรืออิริยาบถใดๆ ก็ตาม ส่วนมโนมัยรูปต้องให้อยู่ในท่าหรืออิริยาบถปกติตามธรรมเนียมการพูดจา การแสดงธรรมก็ออกไปจากจิตในร่างกายเดิมนี้ มโนมัยรูปเป็นแต่เพียงภาพปรากฏ และถ่ายทอดเสียงอีกทีหนึ่ง ส่วนวิธีหลังต้องเข้าสมาธิ แล้วส่งจิตทั้งหมดออกไปจากร่าง แล้วเนรมิตกายขึ้นตามรูปลักษณะกายเดิมให้ครบถ้วน แล้วไปทำกิจหรือไปปรากฏกายในที่ใดๆ โดยมีความรู้สึกเต็มตัวในมโนมัยกายนั้นทีเดียว ส่วนกายเดิมที่อยู่เบื้องหลังนั้นไม่มีความรู้สึก ดำรงความเป็นปกติอยู่ด้วยอำนาจฌานรักษาเท่านั้น วิธีนี้ไปได้นานๆ และรู้สึกสนุกสนานด้วย พวกเข้าฌานแบบไปดูนรก สวรรค์หรือโลกด้านอื่นๆ ใช้วิธีนี้ทั้งนั้น มีข่าวว่าโยคีสามารถถอดใจออกจากร่างไปเที่ยวในโลกอื่นนับเป็นเวลาตั้งเดือนๆ ก็ได้ โดยที่กายเดิมไม่เป็นอันตรายประการใด วิธีถอดจิตออกจากร่างตามวิธีหลังนี้เป็นดังนี้

(๑.) ทำอาโลกกสิณ จนได้ดวงสว่าง-ใสดีแล้ว.

(๒.) ย่อดวงกสิณนั้นให้เล็กลงประมาณเท่าลูกมะขามป้อมแล้ว.

(๓.) รวมกำลังใจส่งดวงนั้นออกทางกระหม่อมไปสู่ที่ที่ประสงค์จะไป.

(๔.) เมื่อรู้สึกกายเบาวูบ และไปปรากฏตัวอยู่ในที่ซึ่งกำหนดจะไปนั้นแล้ว ชื่อว่าถอดจิตไปได้แล้ว.

(๕.) พึงขยายดวงกสิณให้โตตามเดิมอีก พร้อมกับเนรมิตกายให้ปรากฏชัดขึ้น แล้วทำกิจมีสนทนาเป็นต้น กับเทวดาหรือผู้ใดผู้หนึ่งที่ได้พบในคราวนั้น.

 (๖.) เมื่อจะกลับ พึงย่นดวงกสิณให้เล็กลงเท่าลูกมะขามป้อมแล้วจึงกลับ.

(๗.) ถ้ามีมารมากั้นกางในระหว่างทาง เช่นถูกอมเป็นต้น พึงรวมกำลังใจขยายดวงกสิณให้ใหญ่กว้าง หรือแผ่จิตออกให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ มารก็จะกระจายไปหรือเปิดทางให้ไป.

(๘.) จุดเพ่งทำดวงกสิณนั้น คือเพดานปากกับจมูกต่อกัน เมื่อได้ดวงแล้วจึงรวมกำลังส่งออกไปทางกระหม่อม.

(๙.) ภูมิจิตในขณะนั้น ถ้าจะไปสวรรค์ ต้องให้เป็นปีติสุขภูมิ ถ้าจะไปพรหมโลกต้องให้เป็นอุเบกขาสุขภูมิ ถ้าจะไปมนุษยโลกและอบายโลก เข้าฌานเพียงวิเวกชาภูมิเท่านั้นก็ไปได้.

วิธีถอดจิตตามแบบนี้ ใช้กันอยู่ในหมู่พุทธบริษัทในสมัยปัจจุบัน.



จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/ ทิพยอำนาจ-08.htm

ลงสำรองไว้อีกที่ http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11756.0.html

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๗ วิธีสร้างทิพยอำนาจ เจโตปริยญาณ รู้จักใจผู้อื่น
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 1 1827 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 03:14:03
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๘ วิธีสร้างทิพยอำนาจ ทิพพโสต หูทิพย์
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 0 1157 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 03:15:33
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๙ วิธีสร้างทิพยอำนาจ บุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติก่อนได้
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 1 1653 กระทู้ล่าสุด 18 สิงหาคม 2559 03:19:11
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๑๐ วิธีสร้างทิพยอำนาจ ทิพพจักขุ ตาทิพย์
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 1 1700 กระทู้ล่าสุด 20 สิงหาคม 2559 21:25:46
โดย มดเอ๊ก
ทิพยอำนาจ : บทที่ ๑๒ วิธีสร้างทิพยอำนาจ อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 2 1872 กระทู้ล่าสุด 20 สิงหาคม 2559 23:18:45
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.716 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 13 เมษายน 2567 21:51:01