[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 09 เมษายน 2557 13:52:10



หัวข้อ: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 เมษายน 2557 13:52:10
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/89267172995540_a1.png)
โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์  วรรณปก
เปรียญธรรม ๙ ประโยค -  ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์
 

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTrntIZr3k_lFyormQ16OkUlrSyNtkqHErQ4vE2Hg5kqTfHbGbi8w)  (http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)  "สติมากยิ่งดี"

สติ  แปลกันโดยทั่วไปว่า ความระลึกได้ นึกได้ ความจริงการระลึกได้เป็นเพียงหน้าที่หนึ่งและหน้าที่แรกของสติเท่านั้น

สติในความหมายที่เต็ม หมายถึง ความระมัดระวัง ความตื่นตัวเต็มที่ (หมายถึงจิตตื่นตัวนะครับ อย่าคิดมาก) ภาวะที่พร้อมเสมอในการคอยรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

ในแง่จริยธรรม สติเปรียบได้กับนายยามที่คอยดูคนเดินเข้า เดินออก คอยห้ามคนที่ไม่ควรเข้าไม่ให้เข้า คนที่ไม่ควรออกไม่ให้ออก นึกถึงบทบาทของอาบังที่เฝ้าบริษัทห้างร้าน หรือธนาคาร สำนักงานใหญ่ๆ สักแห่งจะเข้าใจดี

สติ จึงเป็นความไม่ประมาท ความยับยั้งชั่งใจตนเองมิให้เผลอทำความผิด ความชั่ว

พูดอีกนัยหนึ่ง สตินอกจากจะทำหน้าที่ระลึกนึกได้ หรือจำเรื่องที่ล่วงมาแล้วได้ ยังทำหน้าที่คอยยับยั้งใจมิให้ทำชั่ว และเตือนคนให้กระทำความดีด้วย

ปัจฉิมพุทธโอวาทที่ตรัสว่า "อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด" นั้น ถ้าแปลง่ายๆ ให้ฟังรู้ทันทีก็คือ "พวกเธอจงอย่าประมาท" หรือ "พวกเธอจงมีสติอยู่เสมอ" นั้นเอง

คนมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ นับว่าเป็น "ผู้ตื่น" คนที่ตื่นอยู่ด้วยการมีสติอยู่กับตัวทั่วพร้อมทุก อิริยาบถ กิเลส (โลภ โกรธ หลง) ยากจะมีอิทธิพลเหนือจิตใจได้

เจ้าของบ้านที่ตื่นอยู่ โอกาสที่ขโมยจะขึ้นบ้านไปขโมยสิ่งของในบ้าน ย่อมยากจะเกิดขึ้น ทั้งหลายแหล่มีแต่ประเภทนอนกรนคร็อกฟี้ๆ นั่นแหละที่เป็นที่ "หวานคอแร้ง" ของบรรดานักย่องเบา ฉันใดก็ฉันนั้นแหละครับ

พระท่านว่า ธรรมะข้ออื่นๆ ต้องมีพอเหมาะพอดี จึงจะอำนวยประโยชน์ ถ้ามีมากเกินพอดี อาจให้โทษได้เช่น ศรัทธามากไป ทำให้เชื่องมงายไม่ลืมหูลืมตา โดนต้ม โดนตุ๋นได้ง่าย ปัญญามากเกินไปทำให้หัวแข็ง ยึดมั่นในตัวเองสูง ไม่ยอมเชื่อใคร สมาธิมากเกินไป ทำให้ติดสุข เพราะเวลาจิตมีสมาธิ ร่างกายจะขับสารชื่อ "เอ็นดอร์ฟีน" ออกมาทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า "เสพติดทางใจ" กลายเป็นคนเกียจคร้านเฉื่อยชาได้

แต่สติยิ่งมีมากเท่าไรยิ่งดี มีแต่คุณ ไม่มีโทษ ฉะนั้นเรามา สร้างสติกำกับทุกขณะจิตเถิด จะได้สมกับที่เป็นชาว "พุทธ" ผู้ตื่นเสมอ

มีสติตื่นตัวตลอดเวลา กษณะประชาหลับใหล

ชีวิตเราที่เกิดมา ไม่ไร้ค่าแต่อย่างใด



(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTrntIZr3k_lFyormQ16OkUlrSyNtkqHErQ4vE2Hg5kqTfHbGbi8w)  (http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)  "คาถากับผี"

ครั้งหนึ่งพระสงฆ์จำนวนหนึ่งกราบทูลลาพระพุทธเจ้าเข้าป่าจำพรรษาเหล่าเทวดาที่สิงสถิตอยู่บนต้นไม้เห็นพระคุณเจ้าเดินมาพากันลงจาก "วิมาน" มานั่งไหว้อยู่บนพื้นดิน

แรกๆ ก็นึกว่าท่านจะอยู่ชั่วคราว แต่ตอนนี้ท่านทำท่าจะอยู่หลายเดือน พวกตนคงไม่มีโอกาสสลักต้นไม้ เอ๊ย! ไม่มีโอกาสขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ตามเดิมอีกนาน

เพราะพระสงฆ์องค์เจ้าท่านอยู่บนพื้นดิน จะอยู่สูงกว่าผู้ทรงศีลกระไรอยู่ ครั้นจะทนอยู่บนพื้นดินก็ลำบาก จึงคิดหาทาง "ไล่" พระท่านไป

แหม! ยังกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประเทศสนธยาเปี๊ยบเลยนะ

ในที่สุดก็ตกลงกันใช้แผนจู่โจม ไม่ถึงกับยิงเจาะหัวทิ้งดอกครับ แต่ก็น่ากลัวไม่ใช่เล่น

บ้างก็แปลงเป็นผีหัวขาด บ้างก็เนรมิตเป็นเปรตตัวสูงเท่าต้นตาล แลบลิ้นปลิ้นตาหลอก บ้างก็แสดงภาพน่าเกลียดน่ากลัวต่างๆ นานา

พระก็พระเถอะครับ ลงได้เจอแบบนี้ก็ต้องแจว ขืนอยู่ต่อไปหัวโกร๋นแน่ และพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องพิลึกกึกกือที่พบเห็นมาให้ทรงทราบ

พระองค์ตรัสว่า พวกเธอไม่เอา "อาวุธ" ไปด้วยนี่จึงถูกผีหลอก ว่าแล้วก็ประทาน "กรณียเมตตาปริตร" หรือ "กรณียเมตตสูตร" ให้พวกเธอท่องจนขึ้นใจ แล้วส่งกลับไปที่เดิมใหม่

ได้ "ปริตร" หรือ "ตำนาณ" (มนต์ป้องกันภัย) แล้วพระคุณเจ้าก็มีกำลังใจ พอย่างเข้าเขตป่าก็สวดสังวัธยายเสียงก้องกังวานไปทั่วไพรสณฑ์

ตั้งแต่นั้นมา ไม่ปรากฏผีสางคางแดงที่ไหนมาหลอกหลอนอีก เหล่าเทวดาได้ยินเสียงสวดมนต์ทุกคืนเกิดความรักใคร่เห็นใจพระคุณเจ้า จนไม่กล้าหลอกหลอนอีก เพราะใจความของมนต์บทนี้ได้พูดถึงวิธีแผ่เมตตาส่งความรักความปรารถนาดีไปยังสรรพสัตว์รวมถึงผีสางคางแดง เทวดาทั้งที่เกิดแล้วและกำลังเร่ร่อน หาภพถาวรเกิดอยู่ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

ถ้าจะถามว่า "ปริตร" หรือ "ตำนาณ" ที่ปัจจุบันเขียนว่า "ตำนาน" นั้น มันขลังตรงไหน คำตอบก็คือขลังที่พลังเมตตา คนเราลงได้แผ่เมตตาทุกวันๆ สภาพจิตจะเป็นสมาธิ จิตที่เป็นสมาธิจะบริสุทธิ์ สะอาด มีพลัง มีความเรืองแสง สามารถฉายไปสัมผัสจิตใจคนอื่นสัตว์อื่นให้เกิดความรักตอบได้

ท่านเจ้าคุณพระราชสุธี (เสรี ธมฺมเวที) เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เคยเขียนเรื่อง เมตตาตั้งชื่อเรื่องว่า "คนดีแม้แต่ผียังรัก" เป็นความจริงครับ คนมีเมตตาประจำใจ อย่าว่าแต่คนด้วยกันเลย ภูตผีเทวดาก็รัก

ใครกลัวผีเวลาไปพักค้างแรมที่ไหนแปลกถิ่น ก่อนนอนแผ่เมตตารับรองนอนหลับสบาย



(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTrntIZr3k_lFyormQ16OkUlrSyNtkqHErQ4vE2Hg5kqTfHbGbi8w)  (http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)  "โอวาทปาติโมกข์"

ไม่ทำความชั่วทั้งปวง  ทำความดีให้พร้อม  ทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

พุทธวจนะข้างต้นเรียกว่า "โอวาทปาติโมกข์" (หลักคำสอนสำคัญ) อันเป็น "หัวใจพระพุทธศาสนา" พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ที่มาประชุมกันที่พระเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย ในวันเพ็ญเดือนสาม เหตุการณ์ครั้งนั้นได้กลายมาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ชื่อ "มาฆบูชา" ชาวพุทธได้เฉลิมฉลองสืบต่อมาจนบัดนี้

พระพุทธองค์ได้ประทานหลักการปลูกฝังและพัฒนาตนให้เป็นคนดีไว้ ๓ หลัก ซึ่งจะต้องกระทำต่อเนื่องกันไปเป็นขั้นเป็นตอน คือ

ขั้นแรก ต้องละเว้นความชั่วทั้งปวง คือ เว้นจากการกระทำที่ทำตัวเราให้ชั่ว ให้เลวทรามลงทั้งหมด เปรียบได้กับการปราบพื้นที่ให้เรียบ เช่น ไถ พรวนดิน กำจัดวัชพืช ทำพื้นที่ให้เหมาะที่จะเพาะปลูกพันธุ์พืช

ขั้นที่สอง ต้องกระทำความดีเสริม คือสร้างพฤติกรรมที่จะทำให้จิตใจเราสูงขึ้น ประเสริฐขึ้น เปรียบได้กับนำเอาพันธุ์พืชที่ต้องการเพาะหรือปลูกลงยังพื้นที่ซึ่งได้เตรียมไว้แล้ว

ขั้นที่สาม ต้องทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หมายถึง ทำใจให้สะอาดหมดจดจากสิ่งมัวหมอง เบื้องต้นต้องถอนจิตจากเรื่องร้ายเสียก่อน เช่น คิดจะโกง คิดจะเอารัดเอาเปรียบเขา คิดจะล้างผลาญเขา ก็ถอนใจออกมาเสีย แล้วน้อมใจไปในเรื่องที่ดีงาม ที่ทำให้จิตบริสุทธิ์สะอาดขึ้น สูงขึ้น เปรียบได้กับการเอาใจใส่ดูแล รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ให้แก่พันธุ์พืชที่เพาะปลูกแล้วให้เจริญเติบโต

เพาะปลูกพืชจะให้ได้ผลผลิตสมบูรณ์ดี ก็ต้องทำเป็นขั้น เป็นตอน  การปลูกฝังความดีงามในตัวคน ก็จะต้องทำเป็นขั้นเป็นตอนเช่นกัน และต้องทำให้ครบ สมบูรณ์เต็มที่ไม่ขาดตกบกพร่องด้วย

เพียงงดเว้นจากความชั่วเท่านั้น ผู้รู้ท่านเรียกว่า "คนไม่ทำชั่ว"  งดเว้นจากความชั่วแล้วทำความดีเสริมเต็มความสามารถ อาจเรียกเขาว่า "คนดี"

งดเว้นจากความชั่ว ทำความดีให้พร้อม และทำจิตให้สะอาดผ่องใส จึงควรได้สมญาว่า "คนดีแท้จริง"



(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTrntIZr3k_lFyormQ16OkUlrSyNtkqHErQ4vE2Hg5kqTfHbGbi8w)   (http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)  "สำคัญที่ผู้นำ"

ไม่ว่าคนหรือสัตว์ เวลาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม จะแบ่งออกเป็นสองฝ่ายโดยอัตโนมัติ คือ ฝ่ายผู้นำ กับฝ่ายผู้ตาม

ในกรณีสัตว์ที่อยากเป็นผู้นำหลายตัว ก็มักจะแย่งชิงความเป็นใหญ่ด้วยการประลองกำลังกัน ตัวไหนแข็งแรงกว่าก็ได้รับการยอมรับ โดยดุษณีว่าเป็นผู้นำ หรือ "จ่าฝูง"

จ่าฝูง จะมีอิทธิพลต่อสัตว์บริวารมาก ถ้าจ่าฝูงฉลาด รอบรู้ และสามารถ ก็นำพาฝูงสัตว์บริวารอยู่รอดปลอดภัย จากการตามล่าของสัตว์ร้ายที่แข็งแรงกว่า จากน้ำมือของมนุษย์ ผู้โหดร้ายและจากภัยธรรมชาติ ถ้าจ่าฝูงไร้ความสามารถก็อาจนำพาฝูงบริวารประสบหายนะได้

ในหมู่มนุษย์เล่า ความเป็นผู้นำและผู้ตาม จะปรากฏเห็นตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ แม้กระทั่งพวกเด็กๆ ที่วิ่งเล่นตามลานบ้าน พวกเขาจะยอมรับใครคนใดคนหนึ่งเป็นหัวหน้าและพร้อมจะเชื่อฟัง เขาโตมาเป็นหนุ่มเป็นสาวก็จะมีหัวหน้าหรือผู้นำกลุ่มเพื่อนๆ

ไม่ว่าหัวหน้าจะพูด จะทำอะไร ก็มักจะมีอิทธิพลต่อพวกเขาไปเสียหมด ยิ่งถ้าพวกเขายึดถือใครเป็น "ฮีโร่" หรือนิยมชมชอบใครเป็นพิเศษ ก็มักจะเอาอย่างในด้านความประพฤติ

ถ้าถูกผู้นำชักจูงไปในทางดีก็ดีไป แต่ถ้าถูกชักจูงไปทางเสียหาย เช่น พาเสพสิ่งเสพติด เล่นการพนัน ดื่มสุรายาเมา ลักเล็กขโมยน้อย ก่อเรื่องทะเลาะวิวาท ก็จะพลอยเป็นเช่นนั้นไปด้วย

ใหม่ๆ อาจขัดความรู้สึก แต่พอนานเข้าก็เคยชินเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า "คบคนเช่นใดย่อมกลายเป็นคนเช่นนั้นไปด้วย"

มองในมุมกว้าง ผู้นำประเทศชาติคือรัฐบาล ถ้ารัฐบาลเป็นผู้นำแท้จริง คือตั้งใจสร้างสุขบำบัดทุกข์แก่ประชาชนจริงๆ มิใช่อยู่เพียง "ตัวอักษร" ที่เขียนแถลงนโยบาย

นั่นคือ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ เป็นตัวอย่างของผู้ "สัตย์ซื่อมือสะอาด" และควบคุมองค์กรของรัฐให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ประชาชนก็จะอยู่ร่มเย็นเป็นสุข เอารัดเอาเปรียบกันน้อยลง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมากขึ้น

ผู้นำมีคดโกงคอร์รัปชั่น และเข้มงวดกวดขันเสียอย่างเดียว ข้าราชการน้อยใหญ่ที่ไหนจะกล้าคดโกง? เมื่อไม่มีใครต้องการ "ส่วย" ประเพณี "ส่งส่วย" จะมีได้อย่างไร?



(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTrntIZr3k_lFyormQ16OkUlrSyNtkqHErQ4vE2Hg5kqTfHbGbi8w)  (http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)  "ทุกข์ของคนเกษียณ"

มีผู้เชิญให้ไปบรรยายเรื่องเกี่ยวกับผู้จะเกษียณอายุราชการบ่อยเป็นที่น่าสังเกต หัวข้อบรรยาย เช่นการ เตรียมใจของผู้จะเกษียณบ้าง ธรรมะสำหรับผู้เกษียณบ้าง ทุกข์ของผู้เกษียณบ้าง ฯลฯ ฟังแล้วแปลก

แสดงว่าผู้จัด (ซึ่งยังไม่เกษียณ) คิดเอาว่า คนเกษียณไปแล้ว มีปัญหา มีความทุกข์หนักถึงกับต้องเตรียมใจไว้รับ หรือเอาธรรมะเข้าข่ม เพื่อให้ทุกข์มันบรรเทาเบาบาง

การเหมาเอาว่า คนเกษียณอายุราชการแล้วทุกข์มากกว่าคนที่กำลังรับราชการอยู่ เห็นจะผิดแล้วนะครับ ลงคนมันจะทุกข์แล้ว ไม่ว่ากำลังทำงานอยู่ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน หรือเกษียณอายุไปแล้วก็ทุกข์พอๆ กัน

ผมเองก็เป็นข้าราชการเกษียณ ถึงจะเกษียณก่อนกำหนดสิบปี ก็เรียกว่าเกษียณเหมือนกัน ผมกลับรู้สึกว่า ทันทีที่พ้นหน้าที่ "เช้าชามเย็นชาม" ผมมีความสุขอย่างบอกไม่ถูกที่จะได้ทำงานที่อยากทำ ซึ่งในขณะที่รับราชการอยู่ไม่มีเวลา ขณะนี้ได้ทำงานที่ตนรัก เป็นอิสระ ไม่เป็นลูกจ้างหรือลูกน้องใคร (ยกเว้นภรรยา) มันช่างสุขสบายเสียนี่กระไร

รู้อย่างนี้ลาออกเสียนานแล้วคนเกษียณอายุราชการที่จะทุกข์มีอยู่ประเภทเดียวคือ คนที่ไม่รู้จักโลกธรรมแปด คือ ลาภ-เสื่อมลาภ, ยศ-เสื่อมยศ, สรรเสริญ-นินทา, สุข-ทุกข์ ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็น "ความจริง" ของชีวิตที่ต้องประสบพบพานกันทุกคน มันมาแล้วไปไปแล้วก็มา เหมือนแขกมาเยี่ยมบ้านเรา ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวก็อำลาจากไป

คนเคยเป็นใหญ่เป็นโต ไปไหนมาไหนมีคนล้อมหน้าล้อมหลัง พูดอะไรถึงเชยเขาก็ว่าเฉียบแหลมยังกับขงเบ้ง ทำอะไรไม่เข้าท่าเขาก็ว่าท่านเก่ง ใครพูดขัดหูยังไม่ทันพยักหน้าเลย ลูกน้อง "จัดการ" แทนแล้ว ไล่เตะได้ก็เตะ เตะไม่ได้ก็เอาแค่พังรั้วบ้าน "นายข้าใครอย่าแตะ" ว่างั้นเถอะ

"ภาพ" เหล่านี้จะเห็นในขณะที่ยังมียศศักดิ์อยู่เท่านั้น พอเกษียณไปแล้วก็จะหายวับไปทันทีไม่ต่างอะไรกับความฝัน

หมดอำนาจวาสนา ไม่อยู่ในฐานะให้คุณให้โทษแก่เขาอีกต่อไปแล้ว

อย่าหวังจะได้ความเคารพนับถือเหมือนเดิมเขายังจำได้ว่าเคยเป็นนายก็บุญแล้วนี่คือโลกธรรม ที่จะต้องเข้าใจ "ปลง" เสียให้ตก แล้วจะไม่มีทุกข์

ได้เครื่องบินปีกทองฝังเพชรวันนี้ วันต่อไปถึงจะไม่ได้อะไรอีก เดินผ่านหน้า ความจำเขาเสื่อม จำเราไม่ได้ ก็ไม่เป็นทุกข์  เพราะเราปลงได้แล้วนี่ครับ



(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTrntIZr3k_lFyormQ16OkUlrSyNtkqHErQ4vE2Hg5kqTfHbGbi8w)   (http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)  "จงหยุดเสียบ้างเถิด"

คนส่วนมากคิดว่า รถนั้นดีที่วิ่งเร็ว เร่ง สปีดได้ตามปรารถนา "ความเร็ว" เป็นความดีของรถที่พูดนี้ก็ถูก แต่ถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะยังมีความดีอย่างอื่นอีก และจำเป็นด้วย คือ "ความหยุด"

รถที่วิ่งเร็ว ก็ต้องมีห้ามล้อที่ดีด้วย อยากเร่งสปีดเมื่อใดเร่งได้ อยากหยุดเมื่อใดก็หยุดได้ทันที อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าดีครบเครื่อง

ถ้าดีแต่วิ่งเร็ว หยุดไม่ได้ ก็พาคนขับลง คูคลอง หรือชนรถชนคนบาดเจ็บเสียหาย อย่างร้ายแรงที่สุดก็ถึงตาย

ดูรถแล้วหันมาดูคน คนเราก็เหมือนกัน มีความรู้ความสามารถในการทำงาน รู้สารพัด เก่งสารพัด ใครๆ ก็ชื่นชมสรรเสริญ แต่เพียงความรู้ความสามารถเท่านั้นไม่พอ ต้องรู้จัก "ห้ามล้อ" หรือ "หยุด" ตัวเองได้ในคราวที่ควรหยุดด้วย จึงจะนับว่า เป็นคนดีจริง

ความรู้นั้นไม่ยาก ถ้าหากขยันศึกษาเล่าเรียน ยึดหลัก สุ. จิ. ปุ. ลิ. คือ ฟังให้มาก ค้นคว้าให้มาก ฟังแล้วอ่านแล้ว นำมาคิดไตร่ตรองทบทวน ทำความเข้าใจ เรื่องใดยังไม่แจ่มชัดก็ซักถามครูบาอาจารย์ ถามได้ความรู้แน่ชัดแล้ว จดบันทึกไว้กันลืม

ปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ก็สามารถเรียนรู้เป็น "พหูสูต" หรือ ผู้คงแก่เรียนได้ "ความรู้อาจเรียนทันกันหมด" ขอแต่ให้มุ่งมั่นอย่างจริงจังเท่านั้น ใครๆ ก็ทำได้

แต่รู้แล้ว จะ "หยุด" ได้มากน้อยเพียงใดนี่สิ เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนกันมาก

คนที่รู้อะไรสารพัด แต่ไม่รู้จักหยุดเมื่อถึงคราวควรหยุด มีให้เห็นมากมาย

การพนันเป็นสิ่งไม่ดี ใครเล่นแล้วไม่มีทางร่ำรวยถาวรได้มาแล้วก็หมดไป ขืนหมกมุ่นกับการพนันมากๆ ไม่ช้าก็หมดตัว รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ก็อดเล่นไม่ได้

บุหรี่เหล้าเป็นโทษต่อสุขภาพร่างกาย เป็นอบายมุขทางแห่งความเสื่อม รู้ แต่ก็อด สูบอดดื่มไม่ได้

การทะเลาะเบาะแว้งกันไม่ดี ใครทะเลาะกัน ไม่ว่าฝ่ายผิดฝ่ายถูก ต่างก็เหมือนสาดโคลนใส่กัน ไม่มีใครไม่เปรอะเปื้อน ในที่สุดอาจรุนแรงถึงขั้นประหัตประหารกัน นี่ก็รู้แต่ก็อดทะเลาะไม่ได้

รู้มาก แต่หยุดไม่ได้ หาความสงบร่มเย็นในชีวิตได้ยาก

ความชั่วร้ายที่รุมเร้าจิตใจเรานั้นเรียกรวมๆ ว่า "กิเลส" มีมากมายจาระไนไม่หมด แต่สรุปแล้วก็มีเพียง ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ

โลภ อยากแต่จะได้ใคร่จะเอา ไม่คำนึงถึงถูกผิด ขอแต่ให้ได้มาก็แล้วกัน คนอื่นจะเดือดร้อนช่างมัน ความชั่วชนิดนี้ใครมีมากก็ทำให้เป็นคนเกียจคร้าน และเป็นคนทุจริต

โกรธ อยากฆ่า อยากทำลาย ให้ฝ่ายที่ตนไม่ชอบ ตายหรือพินาศย่อยยับ ใครมีความชั่วชนิดนี้มากเป็นคนดุร้ายทารุณ หยาบกระด้าง น่ากลัว

หลง หมกมุ่นงมงายในเรื่องไร้สาระเชื่อถือผิดๆ ไม่มีเหตุผล เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด

สิ่งเหล่านี้เกิดกับใจ เมื่อมันเกิดแล้ว มันจะเพิ่มอัตราเข้มขึ้นหรือจางลงจนดับไป ก็อยู่ที่ใจเรา เช่นกัน ถ้าเรา "หยุด" มันเสียแต่ตอนต้น หรือตอนที่มันเริ่มเกิด โอกาสที่มันจะขยายตัวก็ยากขึ้น

การห้ามมิให้โลภ โกรธ หลง เกิดกับใจเรานั้นห้ามยาก เหมือนห้ามน้ำมิให้ไหลลงสู่ที่ต่ำ แต่การ "หยุด" หรือ "ลดความแรง" ลงนั้น สามารถทำได้ ด้วยการใช้สติระงับ ยับยั้งใจ

วิธีฝึกหยุดความชั่วร้ายมี ๓ วิธีคือ

(๑) เปลี่ยนอิริยาบถ ถ้าถูกอารมณ์ร้ายรบกวน เช่น อารมณ์โกรธ ก็ให้เปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ลุกเดินไปมา เปลี่ยนเรื่องดู เรื่องฟัง ถ้าอยู่ว่างๆ ก็หยิบหนังสืออ่าน หรือทำงานอะไรสักอย่าง เพื่อเบี่ยงเบนอารมณ์โกรธออกไป

(๒) เปลี่ยนสภาพแวดล้อม ถ้ากำลังตกอยู่ในห้วงแห่งความคิดชั่วที่แรงมาก ทำตามวิธีที่หนึ่งแล้วไม่หาย ก็ให้เปลี่ยนสภาพแวดล้อม เช่น อาบน้ำ ผลัดเครื่องแต่งตัวเสียใหม่ ถ้าคนที่ทำให้เกิดเรื่องยังอยู่ต่อหน้าเรา ก็หนีไปเสียหรือให้เขาไปที่อื่นเสีย อย่างนี้ห้วงคิดชั่วร้ายก็จะสลายตัวลง

(๓) เลื่อนเวลา ถ้าจะทำอะไรลงในขณะนั้น อาจรุนแรงยิ่งกว่าเดิม เช่น ลูกเราทำผิด เราเดือดดาลมาก ถ้าจะทำโทษขณะนั้นอาจลงโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ เพราะอารมณ์โกรธ ก็ให้เลื่อนไปพูดกันวันหน้า มีใครมาฟ้องว่า "คนนั้นนินทาว่าร้ายท่าน" แทนที่จะบอกว่า "ไปเรียกมันมานี่" ก็เลื่อนเวลาไปเสีย ด้วยพูดว่า "แล้วผมจะจัดการภายหลัง" ดังนี้เป็นต้น

รถเมล์จากต้นทางไปถึงปลายทาง จอดป้ายรายทางเพื่อให้ผู้โดยสารลงเป็นระยะๆ ฉันใด การครองชีวิตที่ดีก็ควรจะ "จอดป้าย" ให้ความชั่วลงจากใจเป็นระยะๆ ฉันนั้น.



(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTrntIZr3k_lFyormQ16OkUlrSyNtkqHErQ4vE2Hg5kqTfHbGbi8w)   (http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)  "ยอดกัณฑ์พระไตรปิฎก"

ผมเคยเขียนไว้ว่า มีผู้ขอให้แปลคาถายอดกัณฑ์พระไตรปิฎก ผมไม่แปล เพราะภาษาบาลีที่มีผู้รวบรวมมาที่ตั้งชื่อว่า "คาถายอดกัณฑ์พระไตรปิฎก" นั้น ถึงจะพอเดาได้ว่า หมายถึงอะไร ก็ไม่ใช่ภาษาที่ดี ไม่ถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์ของภาษา

ต่างจากคาถาชินบัญชร ซึ่งแต่งถูกต้องตามหลักภาษาเป็นคำฉันท์ (ปัฐยาวัตร) ที่สละสลวยเป็นฝีมือของปราชญ์ (ถึงจะคัดเลือกมาผิดเพี้ยนกันไปบ้างบางวลี บางประโยค ก็แปลได้ความ)

ถ้าจะเปรียบภาษาในคาถายอดกัณฑ์พระไตรปิฎก ก็เปรียบได้กับภาษาฝรั่งของชาวบ้านที่พูดว่า "แบงค็อก เมนี่คาร์ โตเกียวเมนี่คาร์ เซม เซม" (กรุงเทพฯ รถมาก โตเกียวก็รถมากเหมือนๆ กัน) แปลได้ความ แต่ไม่เป็นภาษา

ในคาถายอดกัณฑ์พระไตรปิฎกนั้น แปลได้ความครับ กล่าวถึงพระพุทธคุณ กล่าวถึงชื่อย่อของพระไตรปิฎก ชื่อย่อพระโพธิสัตว์และบารมีต่างๆ เป็นต้น เป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสติ ล้วนแต่เรื่องดีๆ ทั้งนั้น

ใครเคยสวดแล้วก็สวดต่อไป ที่ยังไม่เคยสวด อยากสวดก็สวดเถิด ผมไม่ได้ว่าอะไร เพียงแต่บอกว่าผมไม่แปลเท่านั้นเอง

พูดถึงการสวดมนต์ มีแฟนๆ ถามกันมามาก ควรจะสวดบทไหนบ้าง สวดมากสวดน้อยแค่ไหน สวดโดยไม่ทราบความหมายจะได้บุญเหมือนผู้ที่ทราบความหมายหรือไม่ ฯลฯ

บทสวดมนต์ทางพุทธคุณ ส่วนมากท่านคัดเอาพระสูตรที่เป็นพุทธวจนะ หรือบทประพันธ์ที่ปราชญ์รุ่นหลังแต่งขึ้น เป็นหลักธรรมคำสอนโดยตรง หรือไม่ก็เป็นบทสรรเสริญพระคุณพระรัตนตรัย จุดประสงค์มุ่งให้ผู้สวดยึดถือหรือคุณความดีของพระรัตนตรัยเป็นแนวทางดำเนินชีวิต

มิใช่สวดอ้อนวอนขอนั่นขอนี่ ซึ่งขัดกับหลักการของพระพุทธศาสนา การสวดมนต์ไหว้พระจึงตรงกับคำว่า Chanting มากกว่า pray อย่างของฝรั่ง

สวดมากสวดน้อยไม่มีปัญหาดอกครับ ใครท่องจำได้มากก็สวดมาก ท่องได้น้อยก็สวดน้อยขอให้สวดก็แล้วกัน

เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ มักไม่ค่อยสวดกัน จึงนอนไม่ค่อยหลับ เป็นโรคประสาทกันทั่วบ้านทั่วเมือง



(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTrntIZr3k_lFyormQ16OkUlrSyNtkqHErQ4vE2Hg5kqTfHbGbi8w)   (http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)  "ตั้งตนให้ดีไม่มีทางล้ม"

ตั้งตนให้ดีไม่มีทางล้ม : หลายคนอาจนึกไปไกลว่า การตั้งตน หรือ ตั้งตัว หมายถึงทำสิ่งนอกตัวเรา เช่น การสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ หรือ หน้าที่การงาน ดังคำพูดที่ได้ยินเสมอว่า
“ขอตั้งเนื้อตั้งตัวให้ได้ก่อนจึงจะแต่งงาน” อะไรทำนองนี้

แต่การตั้งตนที่ถูกต้องนั้น ท่านหมายถึงการ “ตั้งจิต” ของตนไว้ในทางที่ชอบ

ถ้าถามว่า การตั้งจิตไว้ชอบนั้นตั้งอย่างไร คำตอบก็คือ ตั้งให้ดี ตั้งให้ถูก ตั้งให้เหมาะนั่นแหละ แค่ไหนถึงจะเรียกว่า ดี ถูก เหมาะ อันนี้วัดจากพฤติกรรมที่แสดงออกทางกาย วาจา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากใจอีกทีหนึ่ง

ถ้าพฤติกรรมทางกาย วาจา ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตัวเองและคนอื่น ถือว่า ดี ถูก เหมาะ แล้วเช่น

แต่ก่อนเคยเป็นคนโหดร้าย ชอบฆ่าชอบรังแกสัตว์ แต่บัดนี้กลายเป็นคนมีเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจตนอื่น สัตว์อื่น พร้อมจะช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก

แต่ก่อนเป็นคนงกเห็นแก่ได้ ทนไม่ได้ที่จะเห็นคนอื่นมีมากกว่าตัว กอบโกย ฉ้อโกง หรือทำสารพัดวิธีที่จะได้มาก แต่ตอนนี้กลายเป็นคนไม่คิดเอาของของคนอื่นที่ตนไม่มีสิทธิ์จะได้ และไม่คิดเอามาโดยไม่ถูกต้องชอบธรรม ถ้าอยากได้ให้หามาเองด้วยสัมมาอาชีพ

แต่ก่อนเป็นคนไม่รู้จักพอในการแสวงหาความสุขทางเนื้อหนัง ลูกเขาเมียใครไม่คำนึง ประพฤติตนเป็นคนมากชู้หลายเมีย (หรือหลายสามี) มาบัดนี้รู้จักเคารพสิทธิทางความรักของคนอื่น ยินดีเฉพาะยอดชู้คู่ชื่นของตน

แต่ก่อนไม่รู้จักสำรวมวาจา พูดเท็จ คำหยาบ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ มาบัดนี้เป็นคนมีวาจาสัตย์ไม่พูดคำหยาบไม่พูดส่อเสียดยุแยงตะแคงรั่ว ไม่พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล

แต่ก่อนเป็นคนสำมะเลเทเมา ติดสุรายาเมา ชนิดหัวราน้ำ บัดนี้กลายเป็นคนมีสติยับยั้งชั่งใจ หากจะดื่มบ้างก็พอประมาณ ไม่ถึงกับปีศาจสุรา

คนที่มีพฤติกรรมไม่เบียดเบียนตนและคนอื่นให้เดือดร้อนอย่างนี้เรียกว่า คนตั้งตนไว้ดี ตั้งตนไว้ถูก ตั้งตนไว้เหมาะสม นับเป็นคนที่มี “ฐานมั่นคง”

คนตั้งตนไว้ดีไม่มีทางตกต่ำ หรือล้มเหลวในชีวิต มีแต่ทางจะเจริญรุ่งเรืองในภายหน้า ดุจดังพระปฐมเจดีย์ที่สูงเท่านกเขาเหิน ตั้งตระหง่านอยู่เนิ่นนาน เพราะรากฐานมั่นคงฉะนั้น...•



(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTrntIZr3k_lFyormQ16OkUlrSyNtkqHErQ4vE2Hg5kqTfHbGbi8w)   (http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)  "ปริศนาธรรม"

ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง มีผู้คนอยู่อาศัยประมาณสองร้อยครอบครัว บ้านแต่ละหลังปลูกอยู่บนพื้นที่ประมาณ ๕๐-๖๐ ตารางวา มีรั้วรอบขอบชิดก่อด้วยอิฐบล็อกสูงเสมอไหล่สามารถมองเห็นบริเวณของอีกบ้านหนึ่งได้สะดวก

ประชากรของหมู่บ้านแห่งนี้เป็นคนชั้นกลาง ส่วนมากเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทเอกชน หรือ เจ้าหน้าที่ธนาคารที่มีรายได้ประจำพอที่จะเช่าซื้อบ้านอยู่อาศัย ต่างคนต่างก็มีภูมิหลังและพื้นฐานการศึกษาอบรมที่แตกต่างกัน ไม่เคยรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อนและไม่พยายามจะรู้จักกัน ทั้งๆ ที่ บัดนี้ได้มาอาศัยอยู่รวมกันแล้ว ซ้ำร้ายบ้านที่รั้วติดกันก็ทะเลาะ เบาะแว้งกันเสียอีก หลายคนมีรถยนต์ส่วนตัวขับไปทำงาน ผู้ที่ไม่มีรถยนต์ประจำตัว เวลาไปทำงาน หรือออกไปทำธุระข้างนอกก็ต้องเดินออกมาปากซอย ซึ่งห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑ กิโลเมตร เพื่อรอรถสองแถว ซึ่งนานๆ จะผ่านมาสักครั้งหนึ่ง

เวลาเดินสวนทางกัน พวกเขาจะไม่ค่อยทักทายปราศรัยกัน

อย่างดีก็มองหน้ากันและยิ้มให้กันเล็กน้อย บรรยากาศอย่างนี้นานทีจะมีให้เห็น ส่วนมากจะมองกันด้วยสายตาอันว่างเปล่า ราวกับไม่เคยพบเห็นมาก่อน จนใครบางคนตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "หมู่บ้านแปลกหน้าประชาบึ้งตึง" เพียงการโอภาปราศรัยกันฉันมิตรยังหายาก

โจรผู้ร้ายชุกชุม แทบไม่มีบ้านหลังใดที่โจรผู้ร้ายไม่เคยมาเยี่ยมเยียน ส่วนมากโจรกรรมมักเกิดขึ้นตอนกลางวันเวลาเจ้าของบ้านไปทำงาน มีน้อยหลังที่มีคนเฝ้าแต่ก็เฝ้าเฉพาะบ้านของตน ถึงจะเห็นโจรกำลังขนของออกจากบ้านหลังอื่น ก็ถือว่า "ธุระไม่ใช่ ไม่ควรยุ่งเกี่ยว ดีไม่ดีอาจเจ็บตัวเอาได้"

มีสมาชิกบางคนพยายามชักชวนให้ร่วมกันตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือดูแลกันและกันเสนอให้ออกเงินครอบครัวละ ๑,๐๐๐ บาทต่อเดือน เพื่อจ้างยามมารักษาความปลอดภัยแต่ก็มิได้รับความสนใจ

เพราะต่างก็คิดว่าบ้านใครใครก็ดูแลเอง เรื่องอะไรจะต้องเสียเงินแพงๆ เพื่อคุ้มครองทรัพย์ของคนอื่นด้วย

นี่คือสภาพความเป็นอยู่ของ "หมู่บ้านแปลกหน้าประชาบึ้งตึง"

สภาพอย่างนี้คงหาได้ทั่วไปในยุคสมัยสังคมไทยปัจจุบัน อยากถามเด็กๆ ว่า คนหมู่บ้านนี้ขาดหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาข้อใดบ้าง

จ้างก็ตอบไม่ได้ เพราะเขาให้คุณเรียนพระพุทธศาสนากะพร่องกะแพร่ง ขนาดผู้ใหญ่ในระดับกระทรวงบางคนยังหันมาถามลูกน้องเลยว่า หัวใจพระพุทธศาสนา คืออะไร!!...•


ที่มา  คอลัมน์ ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด



หัวข้อ: Re: ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 กรกฎาคม 2557 19:33:20
.
 
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)   "พระสูตรน่าสนใจ" (๑) ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

พระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ตรัสสอนปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระสูตรนี้แปลตามตัวอักษรว่า "พระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อ คือ พระธรรม"

เนื้อหาของพระสูตรตอนแรกว่าด้วยแนวทางที่ไม่ควรปฏิบัติ หรือทางที่ไม่ควรดำเนินสองทาง คือ
(๑) การหมกมุ่นอยู่กับกามารมณ์ หรือการเสพสุขในเนื้อหนังมังสา ติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งเรียกว่า "กามสุขัลลิกานุโยค" และ
(๒) การทรมานตนด้วยการบำเพ็ญตบะต่างๆ ซึ่งเรียกว่า "อัตตกิลมถานุโยค"

ทั้งสองทางนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า "อันตา" (ทางตัน) ไม่สามารถนำผู้ปฏิบัติตามให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้

ตอนที่สองว่าด้วย "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือ "ทางสายกลาง" ที่ผู้ปฏิบัติควรดำเนิน อันได้แก่ สัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การกระทำชอบ) สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ) สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ (ตั้งใจมั่นชอบ)

ตอนที่สามว่าด้วยอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทรงแสดงอริยสัจสี่ครบวงจร และตรัสว่า เมื่อก่อนยังไม่รู้แจ้งอริยสัจสี่ครบวงจร พระองค์ไม่กล้าประกาศยืนยันว่าพระองค์ได้ตรัสรู้ แต่บัดนี้พระองค์ได้รู้แจ่มแจ้งแล้ว จึงกล้าประกาศยืนยัน

เมื่อพระองค์แสดงธรรมจบ โกณฑัญญะ หัวหน้าปัญจวัคคีย์ก็ได้ "ดวงตาเห็นธรรม" คือรู้กระจ่างว่า "สรรพสิ่งมีการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา" พระองค์ตรัสว่า "โกณฑัญญะรู้แล้วๆ" โกณฑัญญะทูลขอบวชเป็นพระสาวกองค์แรก

ก็ได้สั้นๆ เพียงนี้ เพราะหมดเนื้อที่พอดี!!...•



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)    "พระสูตรน่าสนใจ" (๒)  กาลามสูตร

คงเคยได้ยินชื่อ กาลามสูตร กันมาบ้างไม่มากก็น้อย พระสูตรนี้ชาวตะวันตกที่หันมาสนใจพระพุทธศาสนารู้จักกันดี เพราะมีเนื้อหา "ท้าทาย" และบ่งบอกเอกลักษณ์ของความเป็นพุทธ อันแตกต่างจากศาสนาดั้งเดิมที่พวกเขานับถือ

นั่นคือ เน้นบทบาทของปัญญา ก่อนจะเชื่อถือปฏิบัติอะไร ให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน

เนื้อหาความของพระสูตรมีว่า ชาวกาลามะแห่งเกสปุตตนิคม เมื่อพบพระพุทธเจ้าพากันกราบทูลว่า สมณพราหมณ์หลายพวกหลายลัทธิผ่านมายังหมู่บ้านนี้ ต่างฝ่ายต่างก็ยกย่องลัทธิของตนว่าถูก ตำหนิว่าลัทธิของฝ่ายอื่นว่าผิด พวกตนงงไปหมดไม่รู้จะเชื่อฝ่ายไหน

พระองค์ตรัสว่า ก็น่าที่พวกเธอจะสงสัยอยู่ดอก เพราะแต่ละฝ่ายก็ยกย่องแต่ลัทธิความเชื่อของตน เราตถาคตขอบอกว่าดังนี้
 ๑. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะฟังตามกันมา
 ๒. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะนับถือสืบๆ กันมา
 ๓. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ
 ๔. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีอ้างไว้ในตำรา
 ๕. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะตรรกะ (โบราณแปลว่า "เดา" แต่หมายถึงเหตุผลทางตรรกะ)
 ๖. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะอนุมาน (คือ สรุปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ)
 ๗. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคิดตรองตามอาการที่ปรากฏ
 ๘. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเข้ากับความเห็นของตน
 ๙. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะรูปลักษณะน่าเชื่อถือ
๑๐. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าผู้พูดเป็นครูของตน

พุทธวจนะนี้มิได้หมายความว่าสอนให้เป็นคนไม่เชื่อถืออะไรเลย แต่ให้ใช้ปัญญาไตร่ตรองก่อนจึงค่อยเชื่อ "ต่อเมื่อใด รู้ด้วยใจว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล เป็นกุศลมีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้น แล้วจึงควรละหรือถือปฏิบัติตาม"

ความจริงพระสูตรนี้ชื่อ "เกสปุตติยสูตร" แต่เพราะแสดงแก่ชนเผ่ากาละมะ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "กาลามสูตร"



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๓)  อักโกสกสูตร

ในชีวิตประจำวันของเรามักถูกคนด่าว่า หรือนินทาให้เสียหาย ทั้งๆ ที่บางทีเราก็ไม่ได้ทำอะไรผิด บางท่านทนไม่ได้ก็อาจ "ด่าตอบ" หรือนินทาตอบเพื่อให้หายแค้น บางท่านก็ "ทำใจ" ได้ไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วย ก็ดีไปอย่าง

มีพระสูตรหนึ่งชื่อ อักโกสกสูตร น่าจะนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันเราไม่น้อย

เรื่องมีว่า ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์คนหนึ่ง ไม่รู้ว่าโกรธแค้นพระพุทธเจ้ามาแต่ปางไหน พบพระพุทธองค์ก็เข้าไปด่าเลย แบบไม่ได้ทันตั้งเนื้อตั้งตัว ด่าว่าอย่างไรไม่ได้ให้รายละเอียดไว้ บอกแต่ว่า อสพฺภาหิ ผรุสาหิ วาจาหิ อกฺโกสติ ปริภาสติ ด่าและบริภาษด้วยวาจาหยาบคาย ไม่ใช่ของสุภาพบุรุษ  เมื่อเขาด่าจนพอแล้ว พระพุทธองค์ตรัสถามว่า พราหมณ์ที่บ้านท่านมีญาติมิตรมาเยี่ยมบ้างไหม พราหมณ์บอกว่ามีสิ ข้าพเจ้ามิใช่คนสิ้นญาติขาดมิตรนี่ (หว่า) พระองค์ตรัสถามว่า เวลาเขามา ท่านเอาอะไรต้อนรับเขา พราหมณ์บอกว่าก็เอาน้ำดื่ม ของเคี้ยวของกินต้อนรับสิ

"ถ้าแขกที่มาบ้านท่าน ไม่กินไม่ดื่มของต้อนรับเหล่านั้น ของเหล่านั้นจะเป็นของใคร" พระพุทธองค์ตรัสถาม

"ก็ตกเป็นของข้าพเจ้าตามเดิมสิ" พราหมณ์ตอบ

พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า "เช่นเดียวกันนั่นแหละพราหมณ์ ท่านด่าเรา เราไม่รับคำด่านั้น คำด่านั้นก็ตกเป็นของท่านสินะ"

โดนเข้าไม้นี้ อีตาพราหมณ์นิ่งอึ้งเลย พระพุทธองค์ตรัสสอนต่อไปว่า

"ผู้โกรธตอบคนที่ด่า เลวกว่าคนด่าเสียอีก คนที่ไม่โกรธตอบคนที่ด่านับว่าชนะสงครามที่ชนะได้แสนยาก คนที่มีสติยับยั้งชั่งใจ ไม่โกรธเวลาเขาด่า นับว่าทำประโยชน์ทั้งแก่ตนและคนอื่น แต่คนเช่นนี้ คนที่ไม่เข้าถึงธรรมมักจะหาว่าเป็นคนโง่"

พราหมณ์สำนึกผิดว่า ตนได้ด่าผู้ที่ไม่สมควรด่าอย่างยิ่ง จึงปฏิญาณตนนับถือพระรัตนตรัย ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา หลังจากบวชไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๔)  อาสีวิสสูตร

พระสูตรที่จะกล่าวถึงนี้ชื่อ อาสีวิสสูตร (สูตรว่าด้วยงูพิษ) ความว่า มีคนมาบอกชายคนหนึ่งว่ามีอสรพิษ ๔ ตัว จะต้องดูแลให้ดี ปลุกตามเวลา ให้อาบน้ำตามเวลา ให้กินตามเวลา ให้เข้าที่อยู่ตามเวลา ถ้าตัวใดโกรธขึ้นมามันอาจกัดเอาถึงตายได้ ชายคนนั้นกลัวอสรพิษ ๔ ตัว นั้น จึงหนีไปที่อื่น

ณ ที่นั้นมีคนบอกว่า มีเพชฌฆาต ๕ คน ไล่ตามหลังมาพบท่านที่ใดจะฆ่าท่านทันที เขาวิ่งหนีด้วยความกลัว มีคนมาบอกเขาอีกว่า มีพวกโจรเหาะเหินเดินอากาศได้เงื้อดาบไล่ตามหลังท่านมา พบที่ใดจะตัดศีรษะท่านทันที ณ ที่นั้น

เขากลัวอสรพิษ กลัวเพชฌฆาต กลัวโจร วิ่งหนีไปยังบ้านร้างแห่งหนึ่ง มีคนมาบอกว่ามีโจรคอยดักฆ่าคนที่เข้ามาบ้านร้างนี้เสมอ เขากลัว รีบวิ่งหนีไป พบห้วงน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ฝั่งนี้เต็มไปด้วยอันตราย ฝั่งโน้นปลอดภัย เขาจึงเอาไม้มาผูกเป็นแพ พยายามแจวหรือพายจนข้ามถึงฝั่งโน้นโดยสวัสดี

พระพุทธองค์ตรัสดังนี้แล้ว ทรงไขความว่า
อสรพิษ ๔ ตัว หมายถึง มหาภูตรูป ๔ อัน ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม
เพชฌฆาต ๕ คน หมายถึง ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
พวกโจร หมายถึง ความกำหนัดยินดีในกามคุณ
บ้านร้าง หมายถึง อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ห้วงน้ำใหญ่ หมายถึง กาม ภพ (ความมีความเป็น) ความ เห็นผิด ความโง่เขลา
ฝั่งนี้ หมายถึง ร่างกายของเรา
ฝั่งโน้น หมายถึง พระนิพพาน
แพ หมายถึง อริยมรรคมีองค์ ๘
การพยายามแจวหรือพายเรือด้วยมือและเท้า หมายถึง การทำความเพียรฝึกฝนอบรมตน
การถึงฝั่งโดยสวัสดี หมายถึง การบรรลุ อรหัตผล เป็นพระอรหันต์ถึงจุดหมายปลายทางแห่งชีวิต

พระสูตรนี้ตรัสเป็นปริศนาธรรมให้ขบคิดหาคำตอบคล้าย "โกอาน" หรือ "กงอั้น" ที่นิกายเซนนำไปใช้อย่างแพร่หลาย สูตรทำนองนี้มีไม่น้อยในพระไตรปิฎก จะได้นำมาเล่าสู่กันฟังตามลำดับ



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)    "พระสูตรน่าสนใจ" (๕)  ปิณโฑลยสูตร

พวกภิกษุบวชใหม่มาจากต่างเมือง เพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า ส่งเสียงเอะอะอื้ออึงไม่สงบสำรวม

พระพุทธองค์ไม่ประทานอนุญาตให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าเฝ้า ตรัสบอกให้กลับไปขณะนั้นท้าวสหัมบดีพรหมเข้ามาเฝ้า กราบทูลว่า

"ภิกษุเหล่านี้เพิ่งบวชใหม่ เหมือนลูกโคน้อยๆ ไม่เห็นแม่จะรวนเร เหมือนพืชที่ยังอ่อน ไม่ได้น้ำรดจะเฉาตาย ขอพระองค์ทรงอนุเคราะห์พวกเธอเถิด"

พระพุทธองค์จึงรับสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าเฝ้า ตรัสสอนว่า "พวกเธอเข้ามาบวชในธรรมวินัยนี้ จุดประสงค์เพื่อทำที่สุดทุกข์" ถ้าบวชมาแล้วมากด้วยอภิชฌา (โลภจ้องอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน) มีความกำหนัดยินดี, มีจิตพยาบาท (ต้องการให้ผู้อื่นมีความพินาศ), หลงลืมสติ, ไร้สัมปชัญญะ ใจไม่เป็นสมาธิ, จิตหมุนไปผิดทาง, ไม่สำรวมการแสดงออก จะทำที่สุดทุกข์ได้อย่างไร คนเช่นนี้ เสื่อมจากโภคทรัพย์แห่งคฤหัสถ์ ไม่ทำสมณภาวะให้บริบูรณ์ นับว่าเสื่อมทั้งสองทาง ดุจดุ้นฟืนที่เผาศพ ติดไฟทั้งสองด้านตรงกลางเปื้อนคูถ จะใช้เป็นฟืนในบ้านก็ไม่ได้ ในป่าก็ไม่ได้"

พระสูตรนี้สั้นๆ ชื่อ ปิณโฑลยสูตร เนื้อหาน่าสนใจ และมีข้อคิดน่าพิจารณาดังนี้
๑. ที่ตรัสขับไล่ ไม่ต้องการให้พระใหม่จากต่างเมืองเข้าเฝ้าในตอนแรก มิใช่เพราะทรงปราศจากพระกรุณา แต่ต้องการเตือนสติให้พวกเธอรู้จัก "กาลเทศะ" ว่าขณะนี้อยู่ที่ไหน กำลังจะมาทำอะไร มิใช่อยู่ในป่าที่ส่งเสียงดังได้ตามชอบใจ
๒. การที่สหัมบดีพรหมมาทูลเชิญให้ทรงสงเคราะห์พวกเธอนั้นจะตีความเป็นพรหมจริงๆ ก็ได้ แต่ถ้าตีเป็นสัญลักษณ์ก็คือ ทรงมีพระมหากรุณานั่นเอง จึงทรงเปิดโอกาสให้พวกเธอเฝ้าหลังจากพวกเธอสำนึกแล้ว
๓. พระโอวาทน่าสนใจ คนที่บวชมาถ้าไม่บวชเพื่อดับทุกข์ นับว่าเสื่อมทั้งสองทาง คือ ล้มเหลวทางชีวิตคฤหัสถ์ และล้มเหลวทางชีวิตพระ ไม่ต่างกับดุ้นฟืนเผาศพ ติดไฟสองด้านตรงกลางเปื้อนขี้อีกต่างหาก ใช้ทำอะไรก็ไม่ได้



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๖)  ฆฏสูตร

วันหนึ่งพระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวา เห็นพระโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้ายมีใบหน้าผ่องใสเป็นพิเศษ จึงถามว่า ท่านอยู่ด้วยวิหารธรรมอันละเอียดใดหรือ วันนี้จึงมีหน้าตาผ่องใสยิ่งนัก

พระโมคคัลลานะตอบว่า ผมอยู่ด้วยวิหารธรรมอย่างหยาบ แต่ได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าจึงมีปีติในธรรมอย่างยิ่ง

ครั้นพระสารีบุตรซักว่า พระพุทธองค์ประทับอยู่ไกลจากที่นี้มาก ท่านเหาะไปเข้าเฝ้าพระองค์หรือ พระโมคคัลลานะตอบว่า ไม่ได้เหาะไป แต่ฟังด้วยทิพโสต

พระโมคคัลลานะเล่าให้พระสารีบุตรฟังต่อไปว่า ท่านได้กราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า แค่ไหนเพียงใด จึงจะเรียกว่ามีความพากเพียร พระพุทธองค์ตรัสว่า ต้องตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า "แม้นเลือดในร่างกายของเรา จะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่บรรลุผลที่พึงบรรลุถึงได้ ด้วยความพากเพียรของบุรุษด้วยความบากบั่นของบุรุษ จะไม่ยอมหยุดความพยายามอย่างเด็ดขาด ต้องมั่นคงถึงขนาดนี้จึงจะเรียกว่ามีความพากเพียรจริง

พระสารีบุตรกล่าวชมเชยว่า "ท่านโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์มากจริงๆ เมื่อเปรียบกันแล้ว ผมเป็นเสมือนก้อนหินเล็กๆ วางอยู่ต่อหน้าภูเขาใหญ่ คนมีฤทธิ์มากอย่างท่านแม้ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป ก็สามารถทำได้"

พระโมคคัลลานะตอบว่า "ท่านสารีบุตรต่างหากเป็นสาวกรูปเดียวที่พระพุทธองค์ตรัสยกย่องว่ามีปัญญามาก มีศีล และอุปสมะ (ความสงบ) ถ้าจะเปรียบไปแล้วผมก็เหมือนก้อนเกลือเล็กๆ วางอยู่ข้างหม้อเกลือใหญ่"

พระสูตรนี้ชื่อ ฆฏสูตร เนื้อหาว่าด้วยพระอัครสาวกสองรูปสนทนากัน ต่างก็ยกย่องชมเชยด้วยใจจริง ถึงความสามารถของอีกฝ่ายหนึ่ง

ข้อคิดที่ได้จากพระสูตรนี้ก็คือ พระเถระทั้งสองต่างก็ได้รับยกย่องว่าเป็น "เอตทัคคะ" (ผู้เลิศกว่าคนอื่น) ท่านกลับไม่ (ขอใช้ภาษาธรรมดา) ไม่ถือตน กลับมีความถ่อมตนเป็นอย่างยิ่ง ยกย่องชมเชยความดี ความสามารถของผู้อื่น ตรงนี้แหละที่ควรนำมาเป็นแบบอย่างได้

อย่าเอาอย่างนักวิชาการแสนรู้ เรียนมาแขนงเดียว นึกว่าตนรู้หมดทุกอย่าง ดูถูกคนอื่นว่าโง่ไปหมด



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๗)  

พระสารีบุตรเข้าไปบิณฑบาตที่เมืองราชคฤห์ในเช้าวันหนึ่ง ได้อาหารพอฉันแล้วก็นั่งฉัน ณ ที่อันสมควรแห่งหนึ่ง ปริพาชิกาชื่อ สุจิมุขี เข้าไปหา ท่านถามว่า
“สมณะ ท่านก้มหน้าฉันหรือ”
“เรามิได้ก้มหน้าฉัน” พระเถระตอบ
“ถ้าอย่างนั้น ท่านก็แหงนหน้าฉัน” ปริพาชิกากล่าว
“เรามิได้แหงนหน้าฉัน”
“ถ้าอย่างนั้น ท่านก็มองดูทิศใหญ่ฉัน”
“เรามิได้มองทิศใหญ่ฉัน”
“ถ้าอย่างนั้น ท่านก็มองทิศน้อยฉัน”
“เรามิได้มองดูทิศน้อยฉัน”

เมื่อพระเถระปฏิเสธทุกอย่าง ปริพาชิกาจึงถามว่า “แล้วท่านฉันด้วยอาการไหนเล่า” พระสารีบุตรอัครสาวกกล่าวว่า
“สมณพราหมณ์เหล่าใด เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ ด้วยดิรัจฉานวิชชา คือ วิชาดูพื้นที่ สมณพราหมณ์เหล่านั้น เรียกว่า “ก้มหน้าฉัน”
สมณพราหมณ์พวกที่เลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชชาคือ รับทำนายอวัยวะน้อยใหญ่ (ดูโหงวเฮ้ง) เรียกว่า “มองดูทิศน้อยฉัน”

แต่เรา สารีบุตร มิได้เลี้ยงชีพด้วยวิชชาเหล่านี้ แสวงหาภักษาหารด้วยการบิณฑบาตโดยชอบธรรม จึงไม่ได้ฉันด้วยอาการดังกล่าวข้างต้น”

เรียกภาษาพระว่าท่านมี “อาชีวปริสุทธิศีล” (ศีลว่าด้วยการเลี้ยงชีพบริสุทธิ์) ไม่บำเพ็ญตนเป็น “เกจิอาจารย์ขลัง” ต่างๆ

พระสูตรนี้บันทึกการโต้ตอบอย่างคมคาย เป็นปริศนาธรรม โต้ตอบด้วยปฏิภาณอาจเป็นด้วยปริพาชิกาเป็นนักบวชประเภทชอบโต้วาทะทำนองพวก โซฟิสต์ (Sophist) พระสารีบุตรจึงเล่นปริศนาธรรมด้วย...ใครอ่านแล้วจะพิจารณาตนว่ากำลังกินแบบไหนก็ดีไม่น้อย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)    "พระสูตรน่าสนใจ" (๘)  อินทกสูตร

อินทกยักษ์ทูลถามปัญหา รูปหาชีวะมิได้ สัตว์นี้ได้ร่างกายมาแต่ไหน กระดูกและก้อนเนื้อมาจากไหน สัตว์อยู่ในครรภ์อย่างไร

พระพุทธองค์ตรัสว่า เบื้องแรกเกิดมี "กลละ" ก่อน จากนั้นก็เป็น "อัพพุทะ"
จากอัพพุทะเป็น "เปสิ" จากเปสิ เป็น "ฆนะ"
จากฆนะเป็น "ปุ่มห้าปุ่ม" จากปุ่มห้าปุ่มเป็นผม ขน เล็บ

มารดาดื่มกินอะไร สัตว์ในครรภ์ยังชีพด้วยสิ่งนั้น

พระสูตรนี้ชื่อ อินทกสูตร ตรัสไว้สั้นๆ แต่ทรงขยายความในอีกสูตรหนึ่งชื่อ มหาตัณหาสังขยสูตร ว่า คนเราจะเกิดขึ้นมาได้ต้องมีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ
๑. บิดามารดาร่วมกัน
๒. มารดามีไข่สุกพร้อมจะผสม และ
๓. คันธัพพะ ปรากฏ

"คันธัพพะ" มีปัจจัยหรือองค์ประกอบ๓ คือ กรรมที่สัตว์ทำไว้เปรียบเหมือนที่นา วิญญาณ เปรียบเหมือนเมล็ดพืช และตัณหา เปรียบเหมือนยางเหนียวในเมล็ดพืช

สรุปแล้วคนจะเกิดเป็นคนขึ้นมาได้ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งรูปธรรมและนามธรรม ในขณะที่นักวิชาการสมัยใหม่พูดถึงแต่ในแง่รูปธรรมอย่างเดียว

พัฒนาการของชีวิตในครรภ์ที่ตรัสไว้ข้างบนนั้น ท่านอธิบายรายละเอียดดังนี้
กลละ มีลักษณะใสสะอาดเหมือนหยาดน้ำมันงา มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพราะเล็กมาก ท่านเปรียบเหมือนเอาขนจามรีจุ่มน้ำมันใสแล้วสลัด ๗ ครั้ง ที่เหลืออยู่บนปลายขนจามรีนั่นแหละเท่าขนาดของกลละ

เมื่อผ่านไป ๗ วัน จะมีการเปลี่ยนแปลง คือ สีจะข้นขึ้น (อัพพุทะ)
ผ่านไปอีก ๗ วัน สีจะแดงเรื่อ เหมือนน้ำล้างเนื้อ (เปสิ)
ผ่านไปอีก ๗ วันจะจับเป็นก้อน (ฆนะ)
ผ่านไปอีก ๗ วัน จะมีปุ่ม ๕ ปุ่มคือศีรษะ แขนสอง ขาสอง ต่อจากนั้นก็เกิด ผม ขน เล็บ ในระยะนี้ก็อาศัยอาหารผ่านรกมารดาเจริญเติบโตตามลำดับถ้วนทศมาสก็คลอดออกมา

คนรุ่นใหม่อ่านพบข้อความพระสูตรนี้ต่างก็ทึ่งว่าช่างตรงกับวิทยาการที่ปราชญ์สมัยนี้ค้นพบจริงๆ จะพูดให้ถูกต้องว่าพวกเขาเก่งที่ค้นพบความจริงตรงตามที่พระองค์ตรัสไว้



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)    "พระสูตรน่าสนใจ" (๙)  ทารขันธสูตร

อีกสูตรหนึ่งเนื้อหาคล้าย อาสีวิสสูตร ชื่อ ทารขันธสูตร ความว่า พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นขอนไม้ลอยมา จึงตรัสว่าถ้าขอนไม้นั้นไม่เข้าฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น จักไม่จบในระหว่าง ไม่เกยบก ไม่ถูกใครจับเอาไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนพัด ไม่เน่าเสียภายใน มันจักลอยเรื่อยไปสู่มหาสมุทร

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่แวะฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น ก็จักไม่เกยบก ไม่จมในระหว่าง ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนพัด ไม่เน่าเสียภายในเช่นเดียวกัน

ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลถามพระองค์ว่า ข้อความที่ตรัสนั้นหมายความว่าอย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า
ฝั่งนี้ คือ อายตนะภายใน ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
ฝั่งโน้น คือ อายตนะภายนอก ๖ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์)
การจมในระหว่าง คือ นันทิราคะ (ความเพลิดเพลินยินดี)
เกยบก คือ อัสมิมานะ (การถือว่ามีตัวกู)
ถูกมนุษย์จับไว้ หมายถึง พระภิกษุที่คลุกคลีกับคฤหัสถ์ ร่วมสุขร่วมทุกข์กับเขา ช่วยเหลือทำกิจการให้เขา
ถูกอมนุษย์จับไว้ หมายถึงพระภิกษุที่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อหวังไปเกิดในเทพนิกาย (หมู่เทวดา) หมู่ใดหมู่หนึ่ง
เกลียวน้ำวน หมายถึง กามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ)
เน่าเสียภายใน หมายถึง พระภิกษุทุศีล มีความประพฤติน่ารังเกียจ ไม่บริสุทธิ์ มีการกระทำซ่อนเร้น ไม่เป็นสมณะอ้างว่าเป็นสมณะ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์อ้างว่าประพฤติ มีกิเลสหนา เน่าเสียภายใน ดุจขยะเน่าเหม็น

พระสูตรนี้ตรัสทำนองปริศนาธรรมให้คิด บังเอิญผู้ฟัง คิดไม่ออก จึงกราบทูลถาม พระพุทธองค์จึงไขปริศนาให้ทราบเสียเลย ไม่ต้องคิดให้เปลืองสมอง และเสี่ยงต่อการ ตีความผิดๆ ด้วย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)   "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๐)  สกุณัคฆีสูตร

นกมูลไถ ไปหากินในที่ที่มิใช่โคจร (คือหากินในถิ่นที่ตนเองไม่เคยไป) ถูกเหยี่ยวตัวหนึ่งจับไปรำพันว่า "สมควรแล้วที่เราถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป เพราะไม่รู้จักหากินในถิ่นปิตุภูมิของตน"

เหยี่ยวถามว่า "ที่ไหนล่ะเป็นถิ่นปิตุภูมิของเจ้า"

นกมูลไถบอกว่า "ที่ที่เขาไถนานั่นแหละคือถิ่นที่เป็นปิตุภูมิของข้า"

เหยี่ยวนึกลำพองว่าตนเองมีกำลังแข็งแรง โฉบเฉี่ยวได้เร็ว จึงปล่อยนกมูลไถไปยังที่นาที่เขาไถไว้ นกมูลไถยืนบนรอยไถท้าเหยี่ยวว่า แน่จริงโฉบลงมาจับข้าสิ

เหยี่ยวถลาลงมาด้วยความเร็ว กระแทกกับก้อนดิน ดิ้นตายตรงนั้นพอดี

พระพุทธเจ้าทรงยกอุปมาเรื่องนี้แล้วตรัสสอนภิกษุสงฆ์ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเที่ยวไปในที่มิใช่โคจรของตน มารจักได้ช่องทำลายพวกเธอ

มารนั้นคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส) ธัมมารมณ์ (ความคิดคำนึง) อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ชวนให้กำหนัดยินดี

พวกเธอจงเที่ยวไปในถิ่นปิตุภูมิของตนเถิด

ถิ่นปิตุภูมิ คือสติปัฏฐาน ๔ แล้วมารจะไม่สามารถทำลายพวกเธอได้ สติปัฏฐาน ๔ คือ ตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็น ตามเป็นจริง, ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา, ตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนาว่าเป็นเพียงความรู้ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา, ตั้งสติกำหนดพิจารณาจิตของตนว่ามีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นหรือไม่ ตามที่เป็นอยู่ขณะนั้น, ตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรมให้รู้ตามเป็นจริงว่าเป็นเพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

พระสูตรนี้ชื่อ "สกุณัคฆีสูตร" อุปมาอุปไมย ฟังง่าย ชัดเจนดี



ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/40770580412612_a2.png)


หัวข้อ: Re: ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 17 สิงหาคม 2557 18:57:31
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)    "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๑)  โรหณสูตร
"ภิกษุทั้งหลาย การขับร้องคือการร้องไห้ในวินัยของอริยเจ้า การฟ้อนรำคือ ความเป็นบ้าในวินัยของอริยเจ้า การหัวเราะจนเห็นฟันเต็มปากคือความเป็นเด็กในวินัยของอริยเจ้า

เพราะฉะนั้น จึงควรเลิกเด็ดขาดซึ่งการขับร้อง ฟ้อนรำ เมื่อมีความเบิกบานใจในธรรม เพียงแต่ยิ้มแย้มก็พอ"

ข้อความสั้นๆ นี้ตรัสไว้ใน "โรหณสูตร" ถึงจะตรัสสอนเฉพาะภิกษุก็จริงแต่น่าจะเป็นคติเตือนใจคนทั้ง ๒ ระดับคือ
ระดับชาวบ้านทั่วไป ก็เตือนสติว่าอย่าได้หลงระเริง สนุกสนานในการฟ้อนรำขับร้องจนเกินไป "รำที่ไหนไปที่นั่น ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น ดีดสีตีเป่าที่ไหนไปที่นั่น เสภาที่ไหนไปที่นั่น เพลงที่ไหนไปที่นั่น เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น" สิ่งเหล่านี้ถ้าหมกมุ่นมากๆ ท่านว่าเป็นอบายมุข (ปากทางแห่งความเสื่อม)

สิ่งที่ชาวโลกเรียกว่าความสุขนั้น ในสายตาพระอริยะแล้วก็คือ กิริยาอาการเยี่ยงทารกผู้ไร้เดียงสานั่นเอง เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ หรือไม่ก็คือกิริยาอาการของคนบ้า

สำหรับพระภิกษุผู้ปฏิญาณตนงดเว้นอากัปกิริยาของชาวบ้านแล้ว ถ้ายังประพฤติเช่นชาวบ้านอยู่ก็ไม่สมควรอย่างยิ่ง พระสูตรนี้เตือนบรรพชิตให้รู้จักสำรวจ ปฏิบัติตนให้เป็นที่เจริญศรัทธาปสาทะของประชาชนอย่าได้ทำให้พระศาสนาเต็มไปด้วย "การร้องไห้หรือหัวเราะบ้าคลั่ง" เป็นที่สลดสังเวชแก่วิญญูชน

พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้ามีความเบิกบานใจในธรรม เพียงแต่ยิ้มแย้มก็พอ อย่าได้เอิ๊กอ๊ากๆ อย่างสุดๆ

"ยิ้ม" เห็นแก้ม "แย้ม" เห็นไรฟัน แต่ "หัวเราะ" ขบขันเห็นฟันเต็มปาก นี่คือคำจำกัดความที่ฟังชัดเจนที่สุด เอาแค่ให้เห็นแก้มกับไรฟันก็พอครับ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๒)  วันมิกสูตร
มีจอมปลวกหนึ่ง กลางคืนพ่นควัน กลางวันลุกเป็นไฟ พราหมณ์ บอกศิษย์ ชื่อสุเมธให้เอาจอบขุด

สุเมธขุดลงไปพบลิ่มสลัก พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกให้เอาทิ้งไป ขุดต่อไปพบอึ่งอ่าง ทางสองแพร่ง หม้อกรองน้ำด่าง เต่า เขียงหั่นเนื้อ และชิ้นเนื้อ ตามลำดับ

สุดท้ายขุดพบพญานาคหรืองูใหญ่ อาจารย์บอกว่า อย่าไปทำอะไรมัน ให้ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้องเหมาะสม

ข้อความทำนองปริศนาธรรม หรือ "โกอาน" นี้มีผู้ฝากให้พระกุมารกัสสปะไปทูลถามพระพุทธเจ้า ปรากฏอยู่ในพระสูตรชื่อ วันมิกสูตร พระกุมารกัสสปะไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงไขปริศนาดังนี้

จอมปลวก หมายถึง ร่างกาย

กลางคืนพ่นควัน หมายถึง เวลากลางคืน คนเราก็นอนคิดวางแผนว่าจะทำอะไรในวันรุ่งขึ้น

กลางวันลุกเป็นไฟ หมายถึง พอถึงกลางวันก็ต้องทำงานตามที่วางแผนไว้อาบเหงื่อต่างน้ำ ดุจร่างกายจะลุกเป็นไฟ

พราหมณ์ หมายถึง พระศาสดา หรือพระสาวก อรหันตสาวกทั้งหลาย

สุเมธ หมายถึง ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อความรู้แจ้ง

จอบ หมายถึง ปัญญา

การขุด หมายถึง ความเพียรหรือการใช้ปัญญา

ลิ่มสลัก หมายถึง อวิชชา (ความไม่รู้ตามเป็นจริง)

อึ่งอ่าง หมายถึง ความโกรธ ความเคียดแค้น

ทางสองแพร่ง หมายถึง ความลังเลสงสัย ตัดสินใจไม่ได้ หม้อน้ำด่าง หมายถึง นิวรณ์ ๕ (ความใคร่, พยาบาท, ความหดหู่, เซื่องซึม, ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ และความลังเลสงสัย) เขียงหั่นเนื้อ หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดคำนึง ชิ้นเนื้อ หมายถึง ความเพลิดเพลินยินดีในรูปเสียง เป็นต้น พญานาค หมายถึง พระอรหันต์ หรือผู้บรรลุจุดหมายปลายทางแห่งชีวิตแล้ว ฟังพระพุทธ องค์ทรงไขให้ทราบแล้ว ถ้ายังไม่กระจ่างก็ลองค่อยๆ พิจารณาอีกทีครับ, แล้วทุกอย่างจะชัดเจนขึ้น •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๓)  โทณปากสูตร
เล่ากันว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์ ผู้ครองเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เสวยจุ ทรงรู้สึกอึดอัด อุ้ยอ้าย ไม่กระปรี้กระเปร่า

ทุกครั้งที่เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงสังเกตเห็นพระอาการนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า มนุษย์มีสติทุกเมื่อ  รู้ประมาณในการกิน  เวทนาย่อมเบาบาง  อายุย่อมแก่ช้า

พระเจ้าปเสนทิโกศล รับสั่งให้มหาดเล็กชื่อสุทัศนะ ผู้อยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ให้เรียนคาถานั้นแล้วให้ท่องให้พระองค์ฟังทุกครั้งที่เสวยพระกระยาหาร เพื่อเตือนพระสติให้เสวยน้อยลง

สุทัศนะเรียนคาถานั้นจนจำได้แม่นยำ ท่องดังๆ ให้พระเจ้าปเสนทิโกศลฟังทุกครั้ง ขณะเสวยพระกระยาหาร

ไม่นาน พระเจ้าปเสนทิโกศลกลับมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่า ทรงลูบพระวรกายด้วยฝ่าพระหัตถ์ ทรงเปล่งอุทานด้วยความดีพระทัยว่า "พระพุทธเจ้า ทรงอนุเคราะห์เราด้วยประโยชน์ทั้งสอง คือประโยชน์เฉพาะหน้า และประโยชน์ในระยะยาวจริงๆ หนอ"

พระสูตรสั้นๆ นี้ชื่อ โทณปากสูตร ว่ากันว่าเป็น "เคล็ดลับชะลอความแก่อย่างดีทีเดียว ใครอยากแก่ช้าก็ลองท่องคาถานี้เตือนสติทุกครั้งที่รับประทานอาหาร รับรองได้ผลเกินคาด



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๔)  สัตตวัสสสูตร
พระสูตรชื่อ "สัตตวัสสสูตร" กล่าวว่า พญามารชื่อ วสวัตตี ติดตามพระพุทธ เจ้าเป็นเวลา ๗ ปี คอยจ้องหาโอกาสดึงพระองค์กลับไปสู่โลกียวิสัยให้ได้ แต่ก็ไม่ได้ช่อง วันหนึ่งจึงเข้าไปหาพระพุทธองค์ กล่าวว่า "ท่านทุกข์อะไรหรือจึงมาอยู่ตัวคนเดียว เสื่อมจากทรัพย์แล้วหรือ หรือว่าหาช่องทำชั่วไม่ให้ใครรู้เห็น ทำไมไม่ไปสมาคมกับหมู่คนเล่า"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "เราขุดรากถอนโคนความโศกหมดแล้ว ไม่มีความชั่วที่ต้องแอบทำ เราไม่เกาะเกี่ยวในเรื่อง "ความมี-ความเป็น" หมดกิเลสแล้ว นั่งเข้าฌานอยู่คนเดียว"

มารแย้งว่า "ถ้าท่านยังคิดอยู่ว่า "ตัวฉัน" "ของฉัน" สมณะเอย ท่านไม่มีทางพ้นเงื้อมมือเรา"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "สิ่งที่ผู้คนเขาถือมั่น ไม่ถือมั่น สิ่งที่ผู้คนเขาว่าเป็นฉัน เป็นของฉัน เราไม่ยึดถืออย่างนั้น มารเอย จงรู้เถิด ท่านไม่มีทางตามเราทัน"

มารตัดพ้อว่า "เมื่อท่านรู้ทางพระนิพพานแล้ว ทำไมไม่ปลีกตัวไปคนเดียวเล่า ชวนคนอื่นไปด้วยทำไม"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "คนที่ถึงฝั่งแล้ว (คือบรรลุพระนิพพานแล้ว) ย่อมพ้นเงื้อมมือมาร เป็นหน้าที่ของคนเช่นนี้จะต้องแสดงสัจธรรมให้คนอื่นรู้ช่วยให้เขาข้ามถึงฝั่งด้วย"

มารกล่าวด้วยความเสียใจว่า ตนได้ถูกพระพุทธเจ้าทำลายแล้ว ไม่ต่างอะไรกับปูถูกหักก้าม ไม่ต่างอะไรกับกาเห็นหินสีเหมือนมันข้นนึกว่าเป็นอาหาร บินถลาลงไปจิกชนก้อนหินบาดเจ็บ ท้ายพระสูตรเล่าถึงธิดามารทั้งสามอาสาพ่อไปยั่วยวนพระพุทธองค์ แต่ก็ผิดหวัง พระองค์ไม่สนพระทัย จึงพ่ายแพ้หนีไป

พระสูตรนี้ให้แง่คิดอะไรบ้าง คิดเอาเองนะครับ



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๕)  อิณสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสว่าความจนเป็นทุกข์ในโลก ทรงแสดงว่า "ความจนทางโลก" กับ "ความจนทางธรรม" นั้นต่างกัน

ทุกข์ของชาวบ้าน "ผู้บริโภคกาม" มี ๖ อย่างคือ
๑. ความจน เป็นทุกข์ในโลก
๒. การกู้หนี้ยืมสิน เป็นทุกข์ในโลก
๓. การเสียดอกเบี้ย เป็นทุกข์ในโลก
๔. การถูกทวงหนี้ เป็นทุกข์ในโลก
๕. การถูกตามตัว เป็นทุกข์ในโลก
๖. การถูกจองจำ เป็นทุกข์ในโลก

ทุกข์ในทางธรรมมี ๖ ประการคือ
๑. ผู้ไม่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา คือ คนจน
๒. ผู้นั้นทำชั่วทางกาย วาจา ใจ คือ การกู้หนี้
๓. ทำชั่วแล้วนึกภาวนาไม่อยากให้ใครรู้ คือ การเสียดอกเบี้ย
๔. ผู้มีศีลธรรมอื่นๆ ตำหนิการกระทำของเขาคือ การถูกทวงหนี้
๕. ความเดือดร้อนใจติดตามเขาไปทุกแห่ง คือ การถูกตามตัว
๖. สิ้นชีวิตแล้วเกิดในกำเนิดเดรัจฉานบ้าง ถูกทรมานในนรกบ้าง คือ การถูกจองจำ

พระสูตรนี้ชื่อ อิณสูตร ข้อความสั้นๆ แต่น่าคิด ชาวไร่ชาวนาที่ยากจนเงินทอง เพียง "จนภายนอก" ถ้ามีคุณธรรมดังกล่าวข้างต้น ไม่ทำความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ เป็นคนดีพอสมควรก็นับว่าเป็น "คนมี" ได้เหมือนกัน ถ้ามีความดีมากๆ ก็เข้าขั้น "มหาเศรษฐี" คือ มหาเศรษฐีในทางธรรม ส่วนคนที่ร่ำรวยมหาศาลนั่งรถคันละ ๕๐ ล้าน (เขาว่ากันอย่างนั้น) ถ้าไม่มีคุณธรรมแม้แต่นิด ก็คือ "คนจน" ที่น่าสงสารคนหนึ่งเท่านั้นเอง ...เท่านั้นจริงๆ



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๖)  กสิสูตร
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านไปยังที่นาของพราหมณ์ชื่อ ภารัทวาชะ ในเวลาเช้า ขณะแกกำลังไถนาอยู่ พราหมณ์ต่อว่าพระพุทธองค์ว่าคนอื่นเขาไถนาปลูกข้าวเลี้ยงชีพ พระองค์กลับไม่ทำอะไร มัวแต่เที่ยวสัญจรไปทั่ว

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ก็เป็นชาวนาเหมือนกัน พราหมณ์ย้อนถามว่า "แอก ไถ โค เป็นต้นของท่านอยู่ที่ไหน"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ศรัทธา เป็นพืช ความเพียร เป็นฝน   ปัญญา เป็นแอกและไถ หิริ เป็นงอนไถ  ใจ เป็นเชือก  สติ เป็นผาลและปะฏัก  เราสำรวมกาย วาจา รู้ประมาณในการกิน มีสัจจะ มีโสรัจจะ (ความสงบเสงี่ยม) บากบั่นไม่ท้อถอย  เราทำนาอย่างนี้ นาที่เราทำมีผลเป็นอมตะ  ทำให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง"

พราหมณ์ฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้งใจ กราบทูลว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดสิ่งที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง และเหมือนส่องประทีปนำทางให้ผู้มีตาได้มองเห็นฉะนั้น

พระสูตรนี้ชื่อ "กสิสูตร" (สูตรว่าด้วยการไถนา) ใครที่ทำไร่ไถนาแล้วได้ข้าวไม่พอยังชีพ จะหันมา "ทำนาใจ" อย่างนี้ดูบ้าง คงจะดีไม่น้อยนะครับ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)      "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๗)  ปาปณิกสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ไม่สามารถได้โภค ทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือไม่ทำโภคทรัพย์ที่ได้มาแล้วให้เพิ่มพูนขึ้น องค์ ๓ ประการนั้นคือ ไม่ตั้งใจทำงานอย่างดีในเวลาเช้า ไม่ตั้งใจทำงานอย่างดีในเวลาเที่ยง ไม่ตั้งใจทำงานอย่างดีในเวลาเย็น"

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้มีคุณสมบัติ ๓ ประการ ย่อมมีโภคทรัพย์มากมายมหาศาลชั่วเวลาไม่นานเลยคือ มีตาดี จัดเจนในธุรกิจ และมีแหล่งทุนที่พึ่งพาได้

พระสูตรนี้ชื่อ ปาปณิกสูตร ตรัสถึงพ่อค้านักธุรกิจที่ทำการค้าไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งทำยิ่งเจ๊ง กับพ่อค้านักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะคุณสมบัติอย่างหลังนี้น่าสนใจและน่านำไปปฏิบัติคือ พ่อค้านักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต้อง
๑. มีตาดี (จกฺขุมา) คือ สายตากว้างขวาง ยาวไกล รู้จักสินค้า ดูของเป็น สามารถคำนวณราคา กะทุนเก็งกำไรแม่นยำ
๒. จัดเจนธุรกิจ (วิธุโร) คือ มีหัวการค้า รู้แหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวต้องการของตลาด สามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย รู้ใจและเอาใจลูกค้า
๓. มีแหล่งทุนพร้อมที่พึ่งพาได้ (นิสฺสยสมฺปนฺโน) คือ รู้จักคนมาก เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจในหมู่แหล่งทุนใหญ่ๆ หาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการได้ง่าย

ใครเคยเข้าใจผิดว่าพระพุทธองค์ได้แต่สอนคนให้ไปนิพพาน ก็เปลี่ยนใจมาอ่านพระไตรปิฎกเสีย จะได้รู้ว่า "การดับทุกข์แบบโลกๆ" พระองค์ก็ทรงสอนไว้มากมาย ดังเรื่องนี้เป็นต้น



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๘)  สีสปาสูตร
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าสีสปาวัน (แปลกันว่าป่าสีเสียดบ้าง ป่าประดู่ลายบ้าง) แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมาก

พระองค์ทรงหยิบใบไม้ขึ้นแล้วตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย ใบไม้ในมือของเรา กับใบไม้บนต้นไม้อย่างไหนจะมากกว่ากัน

พระสงฆ์กราบทูลว่า "ใบไม้ที่ทรงถืออยู่จำนวนเล็กน้อย ใบไม้บนต้นไม้มีจำนวนมากกว่า พระเจ้าข้า"

"อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วมิได้บอกพวกเธอมีมากมาย ดุจใบไม้บนต้นไม้ในป่า แต่สิ่งที่เรารู้แล้วนำมาบอกมาสอนพวกเธอมีนิดเดียว ดุจใบไม้ในกำมือเรานี้

เพราะเหตุใดเราจึงไม่บอก เพราะสิ่งนั้นไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่หลักการใหญ่เพื่อชีวิตอันประเสริฐ ไม่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อดับกิเลสและกองทุกข์ได้สิ้นเชิง

สิ่งที่เรารู้แล้วนำมาบอกมาสอนก็คือ ทุกข์ สาเหตุของทุกข์ ความดับทุกข์ และทางดับทุกข์ ที่นำมาบอกมาสอนก็เพราะสิ่งนี้เป็นประโยชน์ เป็นหลักการใหญ่เพื่อชีวิตอันประเสริฐ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อดับกิเลสและกองทุนได้สิ้นเชิง"

พระสูตรนี้ชื่อ สีสปาสูตร สั้นๆ ลึกซึ้ง กินใจ แสดงถึง "พุทธทรรศนะ" ว่า ความรู้อื่นใดมากมาย ถ้าไม่ใช่รู้เพื่อทำชีวิตให้ดีขึ้น เพื่อลด ละ เลิก โลภ โกรธ หลง ก็หาใช่ความรู้แท้จริงไม่

รู้มาก ก็ "อวิชา" มาก แบกทุกข์ไว้มาก



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๙)  เกสีสูตร
นายเกสีคนฝึกม้า เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถามว่า เกสีใครๆ ก็ว่าเธอฝึกม้าเก่ง เธอมีวิธีฝึกอย่างไร

นายเกสีกราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าใช้วิธีละมุนละม่อมบ้าง วิธีรุนแรงบ้าง ทั้งสองวิธีรวมกันบ้าง พระเจ้าข้า"
เขากราบทูลอธิบายว่า ม้าตัวใดฝึกด้วยวิธีละมุนละม่อมไม่สำเร็จ ก็จะใช้วิธีเข้มงวดรุนแรง ถ้าใช้วิธีเข้มงวดรุนแรงไม่สำเร็จ ก็จะใช้ทั้งวิธีละมุนละม่อมและรุนแรง ถ้าอย่างนี้แล้วก็ยังฝึกไม่ได้ ก็จะฆ่ามันทิ้งเสีย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์เวลาสอนคนก็ใช้ทั้งสามวิธีเช่นเดียวกัน ถ้าใครฝึกไม่ได้ พระองค์ก็ทรงฆ่าทิ้งเหมือนกัน

นายเกสีกราบทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) ไม่สมควรแก่พระผู้มีพระภาคมิใช่หรือ ทำไมพระองค์ตรัสว่าพระองค์ทรงฆ่าทิ้งเสีย"

พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายว่า การฝึกอย่างละมุนละม่อมหมายถึงชี้ให้เห็นสุจริตและผลแห่งสุจริต การฝึกอย่างรุนแรงหมายถึงการชี้ให้เห็นทุจริตและผลแห่งทุจริต การฆ่าในอริยวินัยของพระองค์คือ การไม่ว่ากล่าวตักเตือนอีกต่อไป

พระสูตรนี้ชื่อ เกสีสูตร อ่านแล้วได้แนวคิดหลากหลาย ที่เด่นชัดอย่างหนึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าทรงมีเทคนิควิธีสอนคนได้เหมาะสมตามอัธยาศัยแนวโน้มและความถนัดของแต่ละคนจริงๆ เพราะอย่างนี้เองพระองค์ทรงสอนใคร ผู้นั้นจึงได้เข้าถึงธรรม ทุกคนไป สมกับพระนามว่า "พระบรมครู" แท้จริง



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)    "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๐)  วิสาขาสูตร
นางวิสาขา มหาอุบาสิกา เป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก นางได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว บรรลุเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ

คราวหนึ่งหลานสาวที่รักยิ่งได้ถึงแก่กรรมลง นางเศร้าโศกเสียใจมาก ร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ตรัสสอนเธอว่า
"วิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๙๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘๐ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๘๐ ...ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็ทุกข์ ๑ ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีความโศก ไม่มีความคับ แค้นใจ"

นางวิสาขาได้หายเศร้าโศก เพราะพระธรรมเทศนานั้น

พระพุทธเจ้าได้เปล่งอุทานว่า

"โศก ปริเทวนา และทุกข์มากหลาย ย่อมมีในโลกนี้ เพราะอาศัยสิ่งที่รัก เมื่อไม่มีสิ่งที่รัก โศกเป็นต้นนั้นก็ไม่มี ผู้ไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก เพราะฉะนั้น ผู้ไม่ต้องการโศกเศร้า ก็ไม่ควรรักสิ่งใด"

พระสูตรนี้ชื่อ วิสาขาสูตร ฝากไว้สำหรับคนที่มีความรัก และมีทุกข์เพราะความรัก บางทีอาจตาสว่างขึ้นบ้าง



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๑)  เอฬกสูตร
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัส เอฬกสูตร แก่ภิกษุสงฆ์ในวันหนึ่งว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะชื่อเสียง เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอย่างยิ่ง ภิกษุทั้งหลาย แมลง "เอฬกะ" (หนอนรันขี้) กินขี้เต็มท้อง มีขี้วัวขี้ควายกองใหญ่ข้างหน้า มันคุยอวดหนอนรันขี้ตัวอื่นว่า เรากินขี้เต็มท้องแล้ว ยังมีขี้กองใหญ่อยู่ข้างหน้าเราอีกเห็นไหม

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปก็เหมือนกัน ตกอยู่ใต้อิทธิพลของลาภสักการะและชื่อเสียง ไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ได้อาหารฉันเต็มบาตรแล้วกลับวัด คุยอวดภิกษุรูปอื่นว่า ผมได้อาหารพอแก่ความต้องการแล้ว วันนี้ทายกยังนิมนต์ผมเพื่อไปฉันในวันรุ่งขึ้นอีกด้วย และยังจะได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรคอีกเป็นอันมาก

ภิกษุนั้นตกอยู่ใต้อิทธิพลของลาภสักการะและชื่อเสียง ย่อมดูหมิ่นภิกษุผู้ทรงศีลอื่นๆ ว่ามีบุญน้อย มีศักดิ์น้อย ไม่ร่ำรวยปัจจัยสี่เท่ากับตน ข้อนี้จะเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และเพื่อความทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน"

โบราณว่า "พระงามที่จน คนงามที่รวย" พระภิกษุใดอวดร่ำอวดรวย ดูถูกดูหมิ่นพระภิกษุรูปอื่นที่ไม่ร่ำรวยเหมือนตน ไม่ต่างกับหนอนรันขี้กินขี้เต็มท้องแล้วร้องอวดหนอนรันขี้ตัวอื่นว่า เห็นไหมๆ ข้ามีขี้กินเยอะเลย

หนอนรันขี้ ภาคอีสานเรียกว่า "กุดจี่ขี้" มันปั้นขี้เป็นก้อนๆ แล้วก็ไสไป พระที่อวดร่ำรวยปัจจัยสี่ก็เห็นจะเรียกว่า "พระกุดจี่ขี้" นั่นแหละครับ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๒)  ฉัปปาณสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายในวันหนึ่งว่า "ภิกษุทั้งหลาย สังวร (คือการระมัดระวังในการแสดงออก) ไม่ต่างอะไรกับการจับสัตว์ ๖ ชนิด มัดรวมกันไว้ที่เดียวกัน ย่อมเป็นการยากลำบากอย่างยิ่ง

สัตว์ ๖ ชนิด ที่มีวิสัยต่างกัน มีที่หากินต่างกัน ถูกขับมาผูกติดกันไว้ คือ งู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก และลิง

สัตว์เหล่านี้ ต่างก็ดึงไปยังที่อยู่ที่ตนเคยชิน งูก็จะดึงไปสู่จอมปลวก จระเข้ก็จะลงน้ำ นกก็จะบินขึ้นฟ้า สุนัขบ้านก็จะเข้าไปยังหมู่บ้าน สุนัขจิ้งจอกก็จะเข้าป่า ลิงก็จะปีนขึ้นต้นไม้ ตัวใดที่กำลังมาก ตัวนั้นก็จะลากสัตว์อื่นไปตามกำลังตน ส่วนตัวที่มีกำลังน้อยก็จะถูกลากถูไปแม้ไม่เต็มใจก็ตาม

ภิกษุบางรูปก็ตกอยู่ในสภาพไม่ต่างไปจากสัตว์ ๖ ชนิดนี้ ไม่ฝึกฝนอบรม กายคตาสติ (สติกำหนดพิจารณาความเป็นจริงของกาย) ย่อมจะถูกตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดึงไปสู่ทางที่มันเคยชิน ตกเป็นทาส รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความคิดคำนึง ย่อมจะลำบากไม่น้อยเลย"

พระสูตรนี้ชื่อ ฉัปปาณสูตร สอนพระสงฆ์ก็จริง ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ด้วย คนเราที่ทุกข์หนักกันทุกวันนี้ก็เพราะยอมตกเป็นทาสของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันบัญชาให้แสวงหา รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดคำนึงที่ต้องการมาสนองความต้องการของมันไม่รู้จบสิ้น

มีเงินก็พอไหว ในยุคสมัยนี้หุ้นตกฮวบฮาบ ค่ารถเมล์ขึ้นมหาโหดอย่างนี้ ใครยังสุขอยู่ได้ก็เห็นจะต้องใช้สำนวน น.นพรัตน์ ว่า "นับถือๆ" พร้อมประสานมือค้อมคารวะ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)    "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๓)  พรหมชาลสูตร
พระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จดำเนินทางไกลระหว่างเมืองราช คฤห์กับเมืองนาลันทา สุปปิยมาณพพร้อมศิษย์ชื่อ พรหมทัตตะ เดินตามหลังพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์บนทางสายเดียวกัน

สุปปิยมาณพกล่าวตำหนิติเตียนพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ต่างๆ นานา ขณะที่พรหมทัตตะผู้ศิษย์ไม่เห็นด้วย กลับกล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัยเป็นอันมาก

พระสงฆ์ทราบเรื่องนั้น กราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระองค์ตรัสสอนว่า "ภิกษุทั้งหลาย คนอื่นเขาติฉินนินทาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ พวกเธออย่าได้อาฆาตแค้นโทมนัสน้อยใจ เพราะถ้าหากเธอทำเช่นนั้นจะไม่เกิดผลดีอะไรเลย

เขาตำหนิติเตียน พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ถ้าคำตำหนินั้นเป็นจริงก็ควรแก้ไข ถ้าไม่จริงก็ให้รับรู้ว่า ไม่จริง

เขาสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ พวกเธอก็อย่าได้ดีใจ เพราะนั้นจะเกิดผลเสียแก่พวกเธอ

ถ้าคำกล่าวชมนั้นๆ เป็นจริงก็รับรู้ว่า เป็นจริงตามนั้นก็พอ"

พระสูตรนี้ชื่อ พรหมชาลสูตร เนื้อหาพระสูตรว่าด้วยลัทธิความเชื่อถือของคนอินเดียสมัยโน้นว่ามีมากมายถึง ๖๐ ลัทธิ ล้วนเป็นเรื่อง "อภิปรัชญา" ลึกซึ้งทั้งนั้น เฉพาะคำสอนข้างต้นนี้มีอยู่ตอนต้นๆ ของพระสูตร

เวลาถูกใครนินทาว่าร้าย ให้ปฏิบัติตามพระพุทโธวาทข้างต้น ทุกอย่างก็จะเป็นไปด้วยดี อย่าเอาอย่างนักการเมือง (บางคนเท่านั้นนะ) แผลเต็มตัว พอใครเขาตำหนิหน่อยเดียวก็สลัดน้ำหนองกระเซ็นใส่เขาทันทีทันควัน อย่างนี้ก็เหม็นตายสิครับ



 (http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)    "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๔)  กิรสูตร
ภิกษุทั้งหลายในอดีตกาลนานมาแล้ว ในเมืองสาวัตถีนี้เอง พระราชารับสั่งให้คนตาบอดทั้งหมดเข้าเฝ้าให้คนนำช้างมาให้ดู คนตาบอดเหล่านั้น บางคนก็คลำศีรษะช้าง บางคนก็คลำหูช้าง...ต่างก็เข้าใจรูปลักษณะของช้างแตกต่างกันไป

เมื่อถูกถาม คนที่คลำศีรษะช้างกราบทูลว่า ช้างเหมือนหม้อน้ำ คนที่คลำหูกราบทูลว่า ช้างเหมือนกระด้ง คนที่คลำงากราบทูลว่า ช้างเหมือนผาล คนที่คลำงวงกราบทูลว่า ช้างเหมือนงอนไถ คนที่คลำตัวช้าง กราบทูลว่า ช้างเหมือนฉางข้าว คนที่คลำเท้ากราบทูลว่า ช้างเหมือนเสาเรือน คนที่คลำหลังกราบทูลว่า ช้างเหมือนครก ตำข้าว คนที่คลำโคนหางกราบทูลว่า ช้างเหมือนสาก คนที่คลำปลายหางกราบทูลว่า ช้างเหมือนไม้กวาด

คนตาบอดเหล่านี้ทุ่มเถียงกัน ช้างเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้นโว้ย ต่อหน้าพระที่นั่ง พระราชาทรงพระสรวลด้วยความขบขันเป็นอย่างยิ่ง ข้อนี้ฉันใด

พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นดุจคนตาบอด ไม่มีจักษุ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม และมิใช่ธรรมต่างทะเลาะกัน ทิ่มแทงกัน "ด้วยหอกคือปาก"

พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานในเวลาต่อมาว่า
"เหล่าสมณพราหมณ์ที่ยึดมั่นในทิฐิ (ความเห็นผิด) อันหาสาระมิได้  มองอะไรในแง่มุมเดียว ย่อมทะเลาะวิวาทกัน"

พระสูตรนี้ชื่อ "กิรสูตร" คนตาบอดดูช้าง ดูยังไงๆ ก็ไม่เห็นช้างทั้งตัว อาศัยมือคลำดู คลำถูกส่วนไหนก็คิดว่าช้างเป็นอย่างนั้น แล้วไม่วายทุ่มเถียงกับคนตาบอด อื่นๆ เป็นที่ขบขันของคนตาดี ในสังคมปัจจุบันนี้ก็มี "คนตาบอด" ที่นึกว่าตัวรู้เห็นอะไรกว่าคนอื่นอยู่ไม่น้อย ยังไงๆ มันก็คนตาบอดอยู่นั่นแหละ (วะ)



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)    "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๕)  จุฬมาลุงกยสูตร
พระมาลุงกยบุตร กราบทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับ "ปัญหาโลกแตก" เช่น โลกนิรันดรหรือไม่ โลกมีที่สิ้นสุดหรือไม่ ชีวะ (วิญญาณ) กับสรีระ เป็นอย่างเดียวกันหรือคนละอย่าง สัตว์หลังจากตายแล้วยังคงอยู่หรือไม่ คงอยู่ก็มิใช่ ไม่คงอยู่ก็มิใช่หรือ

พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ ตรัสกับมา ลุงกยบุตรว่า สมมติว่าใครคนใดคนหนึ่ง ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ญาติพี่น้องหามเข้าไปหาหมอผู้เชี่ยวชาญให้รักษา หมอกำลังจะผ่าตัดเอาลูกศรออก คนคนนั้น ร้องห้ามว่า ข้ายังไม่ยอมให้ถอนลูกศรออกจนกว่าข้าจะรู้ว่า ใครยิงข้า เกิดในตระกูลอะไร วรรณะอะไร สูงต่ำดำขาวอย่างไร ลูกศรที่ยิงข้าทำด้วยไม้อะไร ขนนกที่ปลายลูกศรทำด้วยขนนกอะไร สายธนูทำด้วย ปอป่านเยื่อไม้หรือเอ็นชนิดไหน เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาคงจะตายก่อนที่จะรู้ว่าใครยิงเขาเป็นแน่แท้ ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าใครมาคาดคั้นให้เราตอบคำถามเหล่านี้ เขาผู้นั้นก็คงจะตายก่อนเป็นแน่แท้เพราะปัญหาเหล่านี้เราไม่ตอบ

ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้โลกนิรันดรหรือไม่เป็นต้น คนเราก็ไม่มีทางพ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจอยู่นั่นเอง ปัญหาเหล่านี้เราไม่ตอบเพราะไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นหลักการสำคัญของวิถีชีวิตอันประเสริฐ ไม่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อตรัสรูป เพื่อดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล

เราจะตอบและสอนเกี่ยวกับทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์เท่านั้น

ข้อความนี้คัดจาก จุฬมาลุงกยสูตร สุภาษิตที่ว่า "รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม" นั้นใช้ไม่ได้สำหรับชาวพุทธที่แท้ เพราะความรู้บางอย่างยิ่งรู้มากก็ยิ่งทุกข์มาก ควรจะรู้เรื่องทุกข์และวิธีแก้ทุกข์ของตนเองจะดีกว่า ยิ่งรู้ก็ยิ่งเบา ไม่ต้องเป็นไอ้บ้าหอบฟาง! •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๖)  (สรุปจากหลายสูตร) เช่น สตาปารัทธสูตร อัสสัทธมูลกสูตร ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค
"ภิกษุทั้งหลาย มูตรกับมูตร น้ำลายกับน้ำลาย โลหิตกับโลหิต นมสดกับนมสด น้ำมันกับน้ำมัน เนยใสกับเนยใส น้ำผึ้งกับน้ำผึ้ง น้ำอ้อยกับน้ำอ้อย ย่อมเข้ากันได้ รวมกันได้ฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมคบหาสมาคมกันตามธาตุ (อัธยาศัยและแนวโน้มของจิตใจ) ไม่ว่าอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ย่อมเป็นอย่างนี้เสมอ

พวกที่ไม่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ มี สุตะน้อย เกียจคร้าน หลงลืมสติ มีปัญญาทราม ชอบผิดศีล ๕ ก็ย่อมคบหาสมาคมกับพวกที่ไม่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ เกียจคร้าน หลงลืมสติ มีปัญญาทราม ชอบผิดศีล ๕"

ข้อความนี้สรุปจากหลายสูตร เช่น สตาปารัทธสูตร อัสสัทธมูลกสูตร ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค สรุปใจความให้สั้นที่สุดคือ "สิ่งที่เหมือนกันย่อมดึงดูดกัน"

คนเราธาตุแท้เป็นเช่นใดก็มักคบหาสมาคมกับคนที่มีธาตุแท้เหมือนตน พวกนิยม อรหันต์ตั้ง (คือตั้งกันเองว่าใครเป็นอรหันต์) ก็จัดทัวร์ชมบุญอรหันต์ด้วยกัน พวกชอบรำพัดก็ตั้งวงกวดวิชาคำนวณ (นับแต้ม) กับพวกที่ชอบเหมือนๆ กัน เป็นของธรรมดา •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97190831063522__3615_3.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๗)  …..ใครมีศีลหรือทุศีลแค่ไหน มองผาดๆ ไม่รู้ดอกครับ ต้องดูกันนานๆ
ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า มีชฎิล ๗ คน นิครนถ์ (นักบวชไม่นุ่งผ้า) ๗ คน นิครนถ์นุ่งผ้า ๗ คน ปริพาชก ๗ คน เดินผ่าน ไป พระเจ้าปเสนทิโกศลลุกขึ้นประคองอัญชลี (ยกมือไหว้) ไปทางนักพรตเหล่านั้น กราบทูลว่า "นักพรตเหล่านั้น เป็นอรหันต์ หรือไม่ก็บรรลุธรรมขั้นใด ขั้นหนึ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า มหาบพิตร เป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม มีโอรส มีมเหสีเป็นปุถุชน รู้ได้อย่างไรคนพวกนั้นเป็นอรหันต์

พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพระสติว่า
"จะรู้ว่าใครมีศีลหรือไม่ ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ
จะรู้ว่าใครมีความสะอาดหรือไม่ ต้องดูที่การทำงาน
จะรู้ว่าใครมีปัญญาหรือไม่ ต้องดูที่การสนทนา
จะรู้ว่าใครมีกำลังใจเข้มแข็งหรือไม่ ต้องดูเมื่อตกอยู่ในอันตราย"

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงรับสารภาพว่า แท้ที่จริง นักพรตเหล่านั้นเป็นจารบุรุษที่พระองค์ทรงส่งไปสอดแนมความเคลื่อนไหวตามชายแดน

ใครมีศีลหรือทุศีลแค่ไหน มองผาดๆ ไม่รู้ดอกครับ ต้องดูกันนานๆ บางคนอ้างว่าตนถือศีลมากกว่าชาวบ้านทั่วไป แต่โกหกไฟแลบ อย่างนี้ก็ต้องดูกันนานๆ จะอาศัยแค่ฉากที่เขาจัดให้ดูหาได้ไม่

บางคนแสดงว่าข้าเก่ง ฉลาด "อมภูมิ" อยู่ตั้งนาน พอเปิดปากพูดเท่านั้น เขาก็รู้ว่าหัวขี้เลื่อยธรรมดาๆ นี่เอง อย่างนี้ต้องดูกันนานๆ ครับ



ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/40770580412612_a2.png)


หัวข้อ: Re: ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 สิงหาคม 2557 10:45:32
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70609313787685_a4.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๘)  สิคาลสูตร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นสุนัขจิ้งจอกแก่ในเช้าตรู่วันนี้ไหม สุนัขจิ้งจอกแก่ตัวนี้เป็นโรคเรื้อนนอนบนบกก็ไม่สบาย อยู่ใต้ต้นไม้ก็ไม่สบาย อยู่ที่แจ้งก็ไม่สบาย จะเดิน ยืน นั่ง หรือนอน ในที่ใดๆ ก็เป็นทุกข์ในที่นั้นๆ

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็เช่นเดียวกับสุนัขจิ้งจอกขี้เรื้อนตัวนั้น มีลาภสักการะ มีชื่อเสียง ถูกลาภสักการะและชื่อเสียงครอบงำย่ำยีจิตแล้ว อยู่ในเรือนว่างก็ไม่สบาย อยู่โคนต้นไม้ก็ไม่สบาย อยู่กลางแจ้งก็ไม่สบาย จะเดิน ยืน นั่ง หรือนอน ในที่ใดๆ ก็เป็นทุกข์ในที่นั้นๆ

ลาภสักการะและชื่อเสียง มันร้ายกาจเช่นนี้แหละ พวกเธอพึงตระหนักอย่างนี้

พระสูตรนี้เรียกว่า สิคาลสูตร ข้อความสั้นๆ กินใจดี พูดถึงพระภิกษุที่บวชมาแล้ว บางรูปร่ำรวยปัจจัยสี่มีญาติโยมนับหน้าถือตา ก็อวดความร่ำรวยนั้นและเกิดความทิฐิมานะเพราะความมีชื่อเสียง เป็น "พระดัง"

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พวกนี้เป็น "พระขี้เรื้อน"

หมาขี้เรื้อนไปไหนๆ มันก็คัน เวลามันคัน มันไม่คิดว่าเพราะพิษขี้เรื้อนของมัน แต่มันจะโทษสถานที่นั้นๆ ว่าทำให้มันคัน

พระสูตรนี้ตรัสสอนพระก็จริง แต่ประยุกต์ใช้ได้กับคนทั่วไป ใครก็ตามไม่ว่านักการเมือง (นักการเมืองอีกแล้ว) ครูอาจารย์ ข้าราชการ หรืออาชีพอื่นใด ถ้าฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริตคิดมิชอบ ก่ออกุศลกรรม ก็ไม่ต่างกับหมาขี้เรื้อน

ยิ่งถ้าทำตัวผิดทำชั่วแล้ว ไม่ยอมรับมัวแต่โทษคนอื่น ยิ่งเป็นขี้เรื้อนกำลังสอง •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70609313787685_a4.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๒๙)  สุภาสิต ชยสูตร
ครั้งหนึ่งพระ พุทธเจ้าตรัสเล่าให้พระสงฆ์ฟังว่า ท้าวเวปจิตติอสุรกับพระอนิทร์แข่งกล่าว คำสุภาษิตกันว่า คำของใครไพเราะและมีเหตุผลกว่ากัน เวปจิตติ กล่าวว่า

คนพาลนั้นถ้าไม่รีบปราบเสียแต่ต้น จะยิ่งกำเริบใหญ่

เพราะฉะนั้น ปราชญ์ควรปราบคนพาลด้วยการลงทัณฑ์

พระอินทร์กล่าวว่า  ผู้ที่เห็นคนอื่นโกรธแล้ว มีสติยับยั้งไม่โกรธตอบ เราเห็นว่านี่แหละคือวิธีกำราบคนพาล

เวปจิตติกล่าวต่อไปว่า เราเห็นข้อเสียของการอดกลั้นมาแล้ว เมื่อคนพาลเห็นเรานิ่ง ยิ่งจะข่มขู่ เหมือนโคที่แพ้วิ่งหนี ตัวที่ชนะยิ่งวิ่งไล่ขวิด

พระอินทร์กล่าวว่า ผู้แข็งแรงอดกลั้นคำล่วงเกินของผู้อ่อนแอนับว่าเป็นยอดความอดทน เพราะผู้อ่อนแอจำต้องทนเป็นประจำอยู่แล้ว ความอดทนของคนอ่อนแอ ไม่นับว่าเป็นพลัง ผู้โกรธคนอื่นนับว่าเลวแล้ว แต่ผู้ที่โกรธตอบคนนี่ ยิ่งเลวกว่า ผู้ไม่โกรธตอบ นับว่าชนะสงครามที่ชนะได้แสนยาก

ที่ประชุมเทวดาและอสูรตัดสินว่า คำกล่าวของเวปจิตติเป็นการชวนทะเลาะ ไม่เป็นสุภาษิต คำของพระอินทร์เป็นสุภาษิต จึงให้พระอินทร์เป็นผู้ชนะ

พระสูตรนี้ชื่อ สุภาสิต ชยสูตร ถอดใจความโดยไม่อ้างอสูรและพระอินทร์ก็ได้ความว่า คนพาลคิดแต่เอาชนะแบบ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" บัณฑิตเอาชนะด้วยความดี  •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70609313787685_a4.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๐)  ภิกษุผู้มีคุณสมบัติ ๑๑ ประการก็ย่อมเจริญงอกงามในพระธรรมวินัย
พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระภิกษุสงฆ์ครั้งหนึ่งว่า นายโคบาลที่มีคุณสมบัติ ๑๑ ประการ สามารถเลี้ยงโคและทำกิจการเกี่ยวกับโคให้เจริญได้ ภิกษุผู้มีคุณสมบัติ ๑๑ ประการก็ย่อมเจริญงอกงามในพระธรรมวินัย

เช่นเดียวกับ คุณสมบัติ ๑๑ ประการ มีดังนี้
๑. นายโคบาลที่ดีต้องรู้จักรูปพรรณโค เปรียบกับพระรู้ธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) และคุณสมบัติของธาตุ ๔
๒. รู้จักลักษณะโค เปรียบกับพระรู้จักลักษณะของคนพาลและบัณฑิต
๓. รู้จักเขี่ยไข่ขาง (ขี้แมลงวันที่แผลโค) เปรียบกับพระที่รู้จักกำจัดความคิดฝ่ายชั่วออกจากใจ
๔. รู้จักปิดแผลโค เปรียบกับพระรู้จักสำรวมการแสดงออกทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ
๕. รู้จักสุมควัน เปรียบกับพระที่รู้จักแสดงธรรมให้คนฟังได้โดยพิสดาร
๖. รู้จักหาท่าน้ำ เปรียบกับพระรู้จักเข้าไปรักษาหารือขอคำแนะนำของผู้รู้ธรรม
๗. รู้จักน้ำดื่ม เปรียบกับพระที่ฟังธรรมแล้วดื่มด่ำในรสพระธรรม
๘. รู้จักทาง เปรียบกับพระรู้จักอริยมรรคมีองค์ ๘ และปฏิบัติดำเนินตามนั้น
๙. รู้จักที่หากินของโค เปรียบกับพระที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นประจำ
๑๐. รู้จักรีดนมโค เปรียบกับพระที่รู้ประมาณในการรับปัจจัย ๔
๑๑. รู้จักทะนุถนอมพ่อโคที่เป็นจ่าฝูง เปรียบกับพระที่เคารพนับถือพระผู้ใหญ่ที่เป็นสังฆบิดร

ชมพูทวีปมีโคมาก พระพุทธเจ้านำเอาโคมาเป็น "สื่อการสอน" พระที่เป็นนักปฏิบัติฝึกฝนอบรมตนก็ควรจะมีลักษณะเช่นเดียวกับคนเลี้ยงโคที่ฉลาดจึงจะประสบความสำเร็จในทางธรรม

คนอื่นๆ ก็ควรเอา "เยี่ยง" นายโคบาลเหมือนกันนะครับ เพียงข้อเดียวคือ "รู้จักเขี่ยไข่ขาง" (ไม่คิดอกุศล) ก็ทำให้ชีวิตมีความสุขไม่น้อย ในโลกใบเบี้ยวๆ นี้ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70609313787685_a4.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๑)  เข้าใจปฏิจจสมุทบาท ละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง
พระสุสิมะเห็นพระสาวกหลายรูปพยากรณ์อรหัตผลในสำนักพระพุทธเจ้า (คือไปกราบทูลว่า ตนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์หลังจากได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระองค์) มีความสงสัย จึงไปถามพระเหล่านั้นว่า ที่ท่านว่าท่านได้เป็นพระอรหันต์ พวกท่านมีฤทธิ์ต่างๆ เช่น เนรมิตร่างเป็นหลายคน เดินทะลุฝา ทะลุกำแพงภูเขาหรือดำดิน เหาะได้เป็นต้นไหม พระเหล่านั้นตอบว่า เราไม่ได้คุณวิเศษอย่างนั้น เราบรรลุธรรมด้วยปัญญารู้แจ้ง

พระสุสิมะไม่เข้าใจ จึงไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงซักถามเธอว่า ถ้าพิจารณาขันธ์ ๕ ทีละอย่างๆ จนเห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตาไร้ตัวตนที่ควร ยึดมั่นถือมั่น เข้าใจปฏิจจสมุทบาท (การเกิดขึ้นและดับไปแห่งสรรพสิ่งตามเหตุปัจจัย ว่าทุกอย่างมันเป็นไปเช่นนั้นเอง ไม่ขึ้นอยู่กับการดลบันดาลของใคร และไม่เป็นไปตามความต้องการ หรืออ้อนวอนของใคร) คนผู้นี้จะแสดงฤทธิ์ต่างๆ เช่น คนเดียวเนรมิตเป็นหลายคน หลายคนเนรมิตเป็นคนเดียว ปรากฏตัวแล้วหายไปได้ ทะลุฝากำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด ดำดินเดินบนผิวน้ำ เหาะเหินเดินอากาศเป็นต้นอย่างนั้นหรือ

พระสุสิมะจึงเข้าใจว่า พระอรหันต์นั้นคือ ผู้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง คนที่หมดกิเลสไม่จำเป็นต้องได้อิทธิฤทธิ์ต่างๆ ดังกล่าวมา

อิทธิปาฏิหาริย์มิใช่มาตรวัดว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่เป็น การหมดกิเลสโดยสิ้นเชิงต่างหากเป็นตัวกำหนด •


 
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70609313787685_a4.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๒)  กุมารกสูตร
ขณะประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังเมืองสาวัตถี ระหว่างทางทอดพระเนตรเห็นเด็กหนุ่มจำนวนหนึ่งจับปลาอยู่

พระพุทธองค์ตรัสถามพวกเขาว่า พ่อหนุ่มทั้งหลาย พวกเธอกลัวความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่ปรารถนาของพวกเธอมิใช่หรือ

เด็กหนุ่มกราบทูลว่า เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

พระพุทธองค์ตรัสสอนพวกเขาว่า  ถ้าพวกเธอกลัวต่อความทุกข์ ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่รักของพวกเธอ พวกเธออย่าได้ทำบาปกรรมทั้งในที่ลับและที่แจ้งเลย ถ้าพวกเธอจะทำหรือกำลังทำบาปกรรม กรรมที่ทำนี้จะตามสนองพวกเธอ ถึงจะเหาะหนีไปไหนก็ไม่มีทางหลีกพ้นจากความทุกข์เลย

พระสูตรนี้ชื่อว่า กุมารกสูตร การเบียดเบียนรังแกสัตว์ หรือการทำลายชีวิตสัตว์ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดเป็นบาปทั้งสิ้น

วิธีสอนของพระพุทธองค์ง่ายๆ และได้ผลดี คือ ทรงสอนให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อนึกว่าเราเองไม่ชอบให้ใครเบียดเบียนรังแก คนอื่น สัตว์อื่น ก็คงไม่ชอบเช่นกัน คิดได้ดังนี้แล้วก็จะมีเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์เหมือนๆ กัน •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70609313787685_a4.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๓)  จูฬสาโรปมสูตร
บุรุษบางคนต้องการแก่นไม้ แต่แทนที่จะเอาแก่นก็เอากิ่งและใบบ้างสะเก็ดบ้าง เปลือกบ้าง กระพี้บ้าง ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น กุลบุตรบางคนก็เช่นเดียวกัน ออกบวชตั้งใจจะพ้นทุกข์ แต่การปฏิบัติของเขาไม่ต่างกับบุรุษผู้ไม่รู้จักแก่นไม้

บางคนบวชแล้วมีลาภสักการะ มีชื่อเสียงก็อิ่มใจพอใจนึกว่าตนเป็นพระรวย พระดัง ดูถูกพระรูปอื่น คนชนิดนี้บวชมาได้เพียง "กิ่งและใบศาสนา"

บางคนไม่พอใจแค่ลาภสักการะชื่อเสียง พยายามรักษาศีลให้บริบูรณ์กระหยิ่มยิ้มย่องว่าตนเป็นพระเคร่ง ดูถูกพระอื่นว่าไม่เคร่งเหมือนตน เขาก็ได้เพียง "สะเก็ดศาสนา"

บางคนพยายามปฏิบัติจนได้การรู้เห็นตามเป็นจริง หรือได้ปัญญา พอใจเพียงแค่นั้น ยกตนข่มคนอื่น คนเช่นนี้ก็ได้เพียง "กระพี้ศาสนา"

บางคนไม่พอใจแค่นั้น พยายามปฏิบัติจนได้บรรลุถึงวิมุติหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง คนนี้เรียกว่า บวชมาแล้วได้ "แก่นศาสนา"

ข้อความข้างต้น จากพระสูตรชื่อ จูฬสาโรปมสูตร ตรัสถึงจุดมุ่งหมายของการบวชว่า ต้องปฏิบัติตนเพื่อให้บรรลุการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง อันเป็น "แก่น" ของพระพุทธศาสนา

ใครบวชมาแล้วมัวแสวงหาแต่ลาภสักการะสะสมทรัพย์สินเงินทองไว้อวดกัน ท่านตรัสว่าได้อย่างมากแค่กิ่งและใบของพระศาสนาเท่านั้น

ถึงจะถอยรถเบนซ์ใหม่เอี่ยมออกมานั่งให้สมตำแหน่งพระราชาคณะ ก็ได้แค่ใบเหี่ยวๆ แห้งๆ ของพระศาสนาเท่านั้น แก่นแท้พระศาสนามิได้อยู่ที่ตรงนี้ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70609313787685_a4.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๔)  มัลลิกสูตร
พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถี มีพระมเหสีอันเป็นที่รักยิ่ง พระนามว่าพระนางมัลลิกา พระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องการได้ยินจากพระโอษฐ์ของพระนางว่า พระนางทรงมีความรักในพระองค์ยิ่งกว่าชีวิต (ตามประสาที่คนรักกันชอบพูด) จึงตรัสถามพระนางว่า

"มัลลิกาที่รัก มีใครที่น้องนางรักมากที่สุด"

พระนางมัลลิกากราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราช ไม่มีใครที่หม่อมฉันจะรักเท่าตัวหม่อมฉันเอง"

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงน้อยพระทัยที่พระมเหสีไม่รักพระองค์ (ยิ่งกว่าชีวิตของพระนาง) เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องที่โต้ตอบสนทนากันให้ทรงทราบ

พระพุทธเจ้าตรัสรับรองคำพูดของพระนางมัลลิกาว่า

"ไม่มีใครรักคนอื่นเท่ากับตนเองดอก ตนเองเป็นที่รักยิ่งของคนทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่รักตนเอง จึงไม่ควรเบียดเบียนคนอื่น"

พระสูตรนี้ชื่อ มัลลิกสูตร ตรัสเตือนให้นึกถึงความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วไม่อะไรจะเป็นที่รักของตนเท่ากับตัวตนของผู้นั้น ใครที่พูดว่า "ใครมันฆ่าน้องของข้ามันก็เหมือนฆ่าข้าเช่นกัน" ก็พูดให้เว่อร์ไปยังงั้นเอง ถ้าเขาจะฆ่า "ข้า" จริงๆ "ข้า" ก็คงเปิดแน่บไปก่อนน้องแน่นอน

เชื่อข้าเถอะ!  •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70609313787685_a4.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๕)  อลคัททูปมสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษเปล่าบางพวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเรียนธรรม เรียนธรรมแล้วไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นย่อม ไม่ควร ซึ่งการเพ่งแก่บุรุษเปล่าเหล่านั้น ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญา บุรุษเปล่าเหล่านั้นเป็นผู้มีความข่มผู้อื่น และมีการเปลื้องความนินทาเป็นอานิสงส์ ย่อมไม่ได้รับประโยชน์แห่งการเรียนธรรมนั้น..."

คำแปลข้างบน จากพระสูตรชื่อ อลคัททูปมสูตร แปลแล้วก็คงยังไม่เป็นที่เข้าใจสำหรับชาวบ้าน ขอถอดความอีกชั้นหนึ่งดังนี้ครับ

คนไม่เอาไหนบางจำพวกเรียนธรรม สักแต่ว่าเรียน ไม่ได้ไตร่ตรองพินิจพิจารณาให้เข้าใจถ่องแท้ เรียนธรรมก็เพื่อจะโก้ อวด หรือข่มคนอื่นว่าตนรู้มาก เพื่อให้เขาสรรเสริญ คนไม่เอาไหนพวกนี้เรียนธรรมไปก็ไร้บอย เอ๊ย ไร้ประโยชน์

พระพุทธองค์ตรัสเปรียบเทียบไว้ว่า คนโง่บางคนจับงูพิษที่ขนดหรือที่หาง ย่อมถูกงูพิษนั้นแว้งกัดเอาถึงตาย หรือบาดเจ็บปางตายฉันใด คนไม่เอาไหนที่เรียนธรรมไม่ดี เรียนธรรมผิดจุดประสงค์ของธรรม ย่อมได้รับอันตรายเพราะการเรียนโง่ๆ แบบนั้นฉันนั้น

คัดลอกพุทธวจนะมาฝากไว้ให้คิด ปริยัตินั้นต้องคู่กับปฏิบัติจึงจะเกิดผลคือปฏิเวธที่แท้ ถ้าสักแต่ท่องหลักธรรม หรือนั่งนับจิตเจตสิกกี่ดวงๆ แล้วก็ถูกคนอื่นว่าโง่ไม่รู้ธรรมลึกซึ้งเท่าตน ก็ไม่พ้นข่าย "โมฆบุรุษ" (คนไม่เอาไหน) ดอกครับ

อย่าคุยนักเลย เหม็นขี้ฟัน  •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70609313787685_a4.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๖)  คนไร้สมบัตินั่นแหละไม่เศร้าโศก
เทวดาตนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตวันกล่าวโศลกพรรณนา "แนวคิด" ของตนให้พระพุทธองค์ฟัง ทำนองขอความเห็นชอบ ดังนี้

คนมีบุตร เพลิดเพลินเพราะบุตร คนมีโค เพลิดเพลินเพราะโค

คนมีสมบัติ เพลิดเพลินเพราะสมบัติ คนไร้สมบัติ หาความเพลิดเพลินมิได้

พระพุทธเจ้าตรัสโศลกแก้ว่า
คนมีบุตร เศร้าโศกเพราะบุตร คนมีโค เศร้าโศกเพราะโค

คนมีสมบัติ เศร้าโศกเพราะสมบัติ คนไร้สมบัตินั่นแหละไม่เศร้าโศก

ทรรศนะของเทวดาส่วนมากจะเป็น "โลกิยะ" มีความคิดความเห็นเหมือนปุถุชนคนมีกิเลสทั่วไปว่า เมื่อมีมากๆ นั่นแหละจะมีความสุข แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า ยิ่งมีมากก็ยิ่งทุกข์มาก เพราะสมบัติพัสถานเป็นเหตุให้คนยึดมั่น เมื่อยึดมั่นมากก็ทุกข์มาก

เก้าอี้เดียวก็ทุกข์อยู่แล้ว ขยายก้นนั่งทับถึง ๒ เก้าอี้ ไม่รู้จะทุกข์ขนาดไหน แบ่งให้คนอื่นเขานั่งบ้างก็ได้นะ เดี๋ยวจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกกระทรวง แล้วจะร้องว่า "อโห ทุกขัง = โอ้นี่ทุกข์จริงๆ" •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70609313787685_a4.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๗)  หลักธรรมเพื่อการสร้างเนื้อสร้างตัว
วันหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนนาถบิณฑิกเศรษฐี เกี่ยวกับเรื่องความสุขของผู้ครองเรือนว่า

ดูก่อนคหบดี คฤหัสถ์ผู้ "บริโภคกาม" พึงแสวงหาความสุข ๔ ประการคือ
๑. สุขเกิดจากการมีทรัพย์ คือหมั่นขยันทำงานหาเงินทองมาเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว เมื่อได้มาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายก็มีความสุข
๒. สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ เมื่อมีทรัพย์ที่ได้มาด้วยความสุจริตก็รู้จักใช้จ่ายทรัพย์นั้นทำบุญกุศลต่างๆ ก็มีความสุข
๓. สุขเกิดจากการไม่มีหนี้ คือ มีทรัพย์พอใช้จ่าย ไม่เป็นหนี้เป็นสินใคร ก็มีความสุข
๔. สุขเกิดจากการทำงานที่สุจริตไร้โทษ คือ ทรัพย์สินทั้งหมดหามาได้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้คดโกงใครมา เป็นทรัพย์สินที่บริสุทธิ์ ย่อมมีความสุข

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า พระต้องจน คือ มักน้อยในปัจจัยสี่ แต่คนคือผู้ครองเรือนต้องร่ำรวย จึงทรงสอนหลักธรรมเพื่อการสร้างเนื้อสร้างตัว เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ผู้ครองเรือนไว้มากมาย

พระพุทธศาสนามิได้รังเกียจความร่ำรวย แต่รังเกียจวิธีแสวงผู้ร่ำรวยในทางทุจริตและรังเกียจพวกร่ำรวยแล้วไม่จุนเจือสังคม

อยู่ปอนๆ มีหม้อห้อมเพียงชุดสองชุดไม่พอจุนเจือสังคมดอกครับ นอกจากจะเอาภาพความจนเป็น "จุดขาย" เพื่อจะสะสมทรัพย์สินเป็นเศรษฐีเงียบๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70609313787685_a4.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๘)  อัจจายิกสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุสงฆ์วันหนึ่งว่า ชาวนามีกิจเร่งด่วนจะต้องทำ ๓ ประการ คือ เร่งปรับพื้นที่ไถ คราดให้เรียบร้อย แล้วเร่งหว่านพืชลง เสร็จแล้วเอาใจใส่ไขน้ำเข้าบ้าง ระบายน้ำออกบ้าง ชาวนาไม่มีฤทธิ์บันดาลข้าวกล้างอกงามในวันนี้ พรุ่งนี้ ทุกอย่างจะเป็นไปตามกาลเวลาเอง

ภิกษุก็เหมือนชาวนา มีกิจเร่งด่วนที่ต้องทำอยู่ ๓ ประการ คือ
- การสมาทานอธิศีลสิกขา (ตั้งใจฝึกฝนอบรมศีล คือควบคุมกาย วาจาให้เรียบร้อย
- การสมาทานอธิจิต (ตั้งใจฝึกฝนอบรมจิตให้มีคุณภาพสมรรถภาพและสุขภาพ) และ
- การสมาทานอธิปัญญา (ตั้งใจพัฒนาปัญญารู้เท่าทัน ปรากฏการณ์ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต)

การฝึกฝนอบรมศีล เปรียบกับการปรับพื้นที่ให้เรียบร้อย การฝึกฝนอบรมจิต เปรียบกับการหว่านพืชลง และการฝึกฝนอบรมปัญญา เปรียบกับการไขน้ำเข้าเมื่อน้ำน้อยเกินไป ระบายน้ำออกเมื่อน้ำมากเกินไป

หน้าที่ชาวนาคือทำกิจทั้ง ๓ ประการให้ดี หน้าที่ของภิกษุ (รวมชาวบ้านด้วย) ก็เช่นกัน ต้องทำศีลสมาธิ และปัญญาให้บริบูรณ์ แล้วผลจากการปฏิบัติจะเกิดขึ้นเอง มิต้องนั่งหวังหรืออ้อนวอน

พระสูตรนี้ชื่อ อัจจายิกสูตร ตรัสสอนวิธีการทำนาภายนอกและทำนาภายในไว้ชัด เเจ้งดี นำมาฝากไว้ให้พิจารณาครับ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70609313787685_a4.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๓๙)  ทูตสูตร
"ภิกษุทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ สมควรเป็นทูตได้ คือ ฟังเป็น ให้ผู้อื่นฟังเป็น คงแก่เรียน จำแม่น รู้แจ่มแจ้ง ให้ผู้อื่นรู้แจ่มแจ้ง ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่ชวนทะเลาะ ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยธรรม ๘ ประการดังกล่าว จึงควรเป็นทูต"

ข้อความนี้จาก ทูตสูตร ตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรว่า มีคุณสมบัติเป็นนักการทูต คงจะสืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งพระเทวทัต ยื่นเงื่อนไข ๕ ประการว่า ให้พระสงฆ์อยู่โคนต้นไม้เท่านั้น ไม่ให้ฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต....เป็นต้น พระองค์ตรัสปฏิเสธ เพราะชีวิตพระสงฆ์ต้องอาศัยชาวบ้านเลี้ยงชีพ เขาให้อย่างใดก็ยังชีพอยู่ด้วยสิ่งนั้น จะไปตั้งเงื่อนไขว่าต้องเอาอย่างนั้น ไม่เอาอย่างนั้นไม่ได้ พระเทวทัตอ้างว่า ตนเสนอข้อปฏิบัติเพื่อ "ขัดเกลา" พระศาสดากลับไม่ยอมรับ ใครเห็นว่าเราเทวทัตเป็นพระแท้ให้ตามมา แล้วก็เดินออกที่ประชุม พระบวชใหม่ ๕๐๐ รูป ไม่รู้ธรรมวินัยหลงผิดตามพระเทวทัตไป ภายหลังพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะตามไปชี้แจงให้พวกเขาเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร พวกเธอจึงกลับมา เพราะความสามารถนี้พระสารีบุตรจึงได้รับคำสรรเสริญจากพระพุทธองค์ว่า "เป็นนักการทูตที่ดี"

นักการทูตสมัยนี้ควรพิจารณาตัวเองด้วยว่า มีคุณสมบัติ ๘ ประการนั้นหรือไม่ โดยเฉพาะสองข้อท้ายอะไรเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองให้รู้จักเลือกเอา และไม่ชวนเขาทะเลาะหรือทะเลาะกันเองให้ต่างชาติเขาเห็น

ประเภทที่ไปประจานรัฐบาลว่าบริหารประเทศล้มเหลว มีคอร์รัปชั่นมากมายโดยที่ตนก็ร่วมเป็นรัฐบาลกับเขาด้วยนั้น มันก็ประจานตนเองนั่นเอง ไม่มีนักการทูตที่ไหนเขาทำกันดอกครับ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70609313787685_a4.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๐)  สังฆาฏิสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่มีความละโมบ ยินดีในกาม มีจิตพยาบาท มีความคิดชั่วร้าย ไร้สติสัมปชัญญะ มีจิตไม่มั่นคง คิดผิด ไม่สำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ คนเช่นนี้ถึงจะเกาะชายสังฆาฏิเดินตามหลังเราต้อยๆ ก็นับว่าอยู่ไกลเราโดยแท้ เพราะเธอไม่เห็นธรรม ผู้ไม่เห็นธรรมย่อมไม่เห็นเรา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถึงจะอยู่ห่างไกลจากเราตั้งร้อยโยชน์ แต่ถ้าใครไม่มีความละโมบ ไม่ยินดีในกาม ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความคิดชั่วร้าย มีสติสัมปชัญญะ มีจิตมั่นคง มีสมาธิแน่วแน่ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจเธอผู้นี้นับว่าอยู่ใกล้เราโดยแท้ เพราะเธอเห็นธรรม ผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นเรา"

ข้อความนี้ตรัสไว้ใน สังฆาฏิสูตร "สาระ" เช่นเดียวกับที่ตรัสแก่พระวักกลิ ผู้ออกบวชเพราะติดใจใน "ความหล่อ" ของพระพุทธเจ้า บวชมาแล้วก็นั่งจ้องพระสิริโฉมของพระองค์ ไม่สนใจฟังธรรม จนในที่สุดพระองค์ตรัส "กระทุ้ง" แรงๆ ว่า "วักกลิ ประโยชน์อันใดที่มาจ้องดูร่างกายอันเปื่อยเน่านี้ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม"

คัดลอกมาฝากไว้เป็น "อนุสติ" ครับ ใครก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ไม่มีโอกาสได้ "เข้าเฝ้า" พระพุทธองค์ แม้ว่าจะปั้นรูปหล่อเหรียญพระพุทธองค์จำหน่ายจ่ายแจกวันละหลายๆ องค์ก็ตาม

อย่างนี้เขาเรียก "ขายพ่อกิน" มากกว่า (ว่ะ)!  •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70609313787685_a4.png)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๑)  
พระพุทธองค์ตรัสสอนเกี่ยวกับ คนไข้ และพยาบาล ไว้วันหนึ่ง มีความว่า

"คนไข้ที่รักษาพยาบาลยาก คือ คนไข้ที่มีลักษณะ ๕ อย่าง คือ ๑. มักทำให้สิ่งที่ไม่สบาย (หมายถึงชอบขัดคำสั่งหมอและพยาบาล เช่น ไม่ให้กินของแสลงก็กิน เป็นต้น) ๒. ไม่รู้ประมาณในสิ่งสบาย ๓. ไม่กินยา ๔. ไม่บอกอาการ ป่วยตามจริง ๕. ไม่อดทนต่อเวทนา (เป็นอะไรนิดหน่อยก็ร้องโอดโอย ยังกับจะตายเดี๋ยวนั้น)

คนไข้ที่รักษาพยาบาลง่าย คือ คนไข้ที่มีคุณสมบัติตรงกันข้ามจากข้างต้น

หมอหรือพยาบาลที่ไม่ควรรักษาคนไข้ คือ หมอ-พยาบาล ที่มีลักษณะ ๕ อย่าง คือ ๑. ไม่สามารถที่จะจัดยา (สั่งยาผิดๆ ถูกๆ แบบหมอตี๋) ๒. ไม่รู้ของแสลงของไม่แสลง นำของแสลงไปให้ นำของไม่แสลงออก ๓. ไม่มีเมตตาจิต เห็นแก่อามิส ๔. รังเกียจอุจจาระ ปัสสาวะ อาเจียน และเขฬะ(น้ำลาย) คนไข้ ๕. ไม่รู้จักพูดปลุกปลอบใจคนไข้เป็นครั้งคราว

หมอหรือพยาบาลที่มีลักษณะตรงกันข้ามจากข้างต้น เป็นผู้ควรรักษาคนไข้"

พระพุทธเจ้าทรงมีพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า เภสัชชครุ (ไภษัชคุรุ) "ครูในทางยา" หรือปรมาจารย์ทางการแพทย์ เพราะทรงรอบรู้ทั้งโรคทางกายและโรคทางจิตวิญญาณ พระองค์ตรัสไว้ในที่หนึ่งว่า "โรคทางกายบางคนอาจไม่เป็นเลยตลอดเวลา เป็นสิบๆ ปี แต่คนที่มิได้ป่วยด้วยโรคทางจิตแม้ชั่วขณะเดียวหามีไม่" โรคทางจิตก็คือกิเลสนั่นเองครับ

แม้พระพุทธองค์จะทรงสอนธรรมเพื่อเยียวยาโรคทางจิตแก่สัตว์โลก ก็ไม่ทรงละเลยเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยธรรมดาๆ พุทธวจนะข้างต้นอาจเป็นประโยชน์ทั้งแก่คนไข้ และคนมีหน้าที่รักษาคนไข้จึงนำมาฝากครับ •


ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/40770580412612_a2.png)


หัวข้อ: Re: ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 พฤศจิกายน 2557 13:05:31
(http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTxTkCdNEya_LXWQtgL90Q7cVEyBKp_NPPu3jLhXYvBfbOYHF8Y)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๒)  วัตถูปมสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษหนึ่งเดินทางไกลมาถึงแม่น้ำแห่งหนึ่งประสงค์จะข้ามน้ำ จึงรวบรวมหญ้า ไม้ และกิ่งไม้มาผูกเป็นแพ แล้วพยายามพายหรือแจวไปจนข้ามถึงฝั่งโน้นได้โดยสวัสดี พวกเธอคิดอย่างไร ถ้าบุรุษนั้นคิดว่า แพนี้มีประโยชน์แก่เขามาก พาเขาข้ามฝั่งได้โดยปลอดภัย แล้วก็แบกแพนั้นไปด้วย บุรุษนั้นทำหน้าที่ถูกต้องหรือไม่"

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ไม่ถูกต้องพระเจ้าค่ะ ทางที่ถูก บุรุษนั้นควรจะผูกแพนั้นไว้ริมฝั่ง หรือยกขึ้นมาเกยบกแล้วเดินทางต่อไป เพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องอาศัยแพอีกแล้ว"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "เช่นเดียวกัน ภิกษุทั้งหลาย เราแสดงธรรมเพื่อเป็นอุปกรณ์ให้ปฏิบัติเพื่อออกไปจากทุกข์ดุจแพนำไปสู่ฝั่ง ไม่ใช่เพื่อให้ยึดมั่นถือมั่นธรรมะ (สิ่งที่ดีๆ) ยังจะต้องละ ไม่จำต้องพูดถึงอธรรมะ (สิ่งที่ไม่ดี) ดอก"

พระสูตรนี้ชื่อ วัตถูปมสูตร คำสอนน่าคิด ธรรมะที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนั้นเป็นดุจแพพาข้ามฝั่ง คือ เป็นอุปกรณ์ให้นำมาปฏิบัติฝึกฝนตนเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ นิพพาน มิใช่เพื่อยึดมั่นถือมั่น การยึดมั่น ถือมั่นไม่ว่าในเรื่องใดไม่ดีทั้งนั้น

เก้าอี้ก็คือเก้าอี้ ไปยึดมันมากก็ทุกข์มาก กลัวคนอื่นจะแย่งนั่ง ยศศักดิ์ก็คือยศศักดิ์ ยึดมาก็อยากได้มาก อยากมากก็ต้องจ่ายมาก มีบัญชีหนึ่งแล้วก็มีบัญชีสองบัญชีสามตามมา

ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี้วุ่นวายหนอ! •



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTxTkCdNEya_LXWQtgL90Q7cVEyBKp_NPPu3jLhXYvBfbOYHF8Y)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๓)  วัตถูปมาสูตร
"ดูก่อนพราหมณ์ คนพาลมีบาป ไปยังแม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสวัสดี ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดีเป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ แม่น้ำเหล่านั้นจะช่วยอะไรได้ จะชำระคนผู้มีเวรมีกรรมหยาบช้าทำบาปกรรมมามากให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย ฤกษ์ดี อุโบสถ และวัตรย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจด มีการงานสะอาด

พราหมณ์เอย ถ้าท่านจะอาบน้ำชำระบาป จงอาบน้ำในธรรมวินัยของเราเถิด คือให้ความปลอดภัยแก่สัตว์ทั้งปวง ไม่พูดเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ลักขโมยของของคนอื่น มีความเชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ถ้าท่านอาบน้ำโดยวิธีนี้ไม่จำต้องไปอาบไปดื่มน้ำที่ท่าน้ำคยาเป็นต้น"

ข้อความนี้ตรัสไว้ใน วัตถูปมาสูตร พราหมณ์ชื่อสุนทริกะ ไปชวนพระพุทธเจ้าไปอาบน้ำล้างบาปอ้างว่า อาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์แล้วบาปจะหายไป กลายเป็นผู้หมดจด พระพุทธองค์ตรัสว่า บาปไม่หมดไปด้วยการอาบน้ำ ถ้าอยากจะหมดบาปก็ต้องไม่ทำบาป เช่น ไม่ฆ่าหรือเบียดเบียนสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่พูดเท็จ เป็นต้น

ธรรมเนียมพุทธมีการประพรมน้ำพุทธมนต์ก็เพียงเอา "น้ำ" มาเป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรมที่พรมใจให้ชุ่มเย็นเท่านั้น มิใช่ในความหมายว่าจะล้างความชั่วให้หมดไป หรือบันดาลลาภยศอะไรไม่

เจ้ากูรูปใดพรมน้ำไปปากพร่ำไปว่า ขอให้ถูกรางวัลที่หนึ่งนะโยมก็ดี ประสกสีกาใดถูกจับเพราะทำผิดกฎหมายและศีลธรรม วิ่งไปอาบน้ำมนต์เจ็ดวัดแปดวัดเพื่อล้างซวย ล้วนปฏิบัติผิดคำสอนพระพุทธองค์ทั้งสิ้น •





(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTxTkCdNEya_LXWQtgL90Q7cVEyBKp_NPPu3jLhXYvBfbOYHF8Y)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๔)  นาถสูตร
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นคนมีที่พึ่งเถิด อย่าเป็นคนไม่มีที่พึ่งเลย เพราะคนไม่มีที่พึ่งย่อมอยู่เป็นทุกข์ ธรรมะที่ทำให้มีที่พึ่งมี ๑๐ ประการคือ
๑. ความประพฤติดี รักษาระเบียบวินัย มีอาชีพบริสุทธิ์ (ศีล)
๒. ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีความรู้กว้างขวาง (พาหุสัจจะ)
๓. การคบเพื่อนที่ดี ได้ผู้ปรึกษาและแนะนำสั่งสอนที่ดี (กัลยาณมิตตตา)
๔. ความเป็นคนรับฟังเหตุผล ใจกว้างรับฟังความเห็นและคำแนะนำของคนอื่น (โสวจัสสตา)
๕. ความมีน้ำใจช่วยเหลือกิจการน้อยใหญ่ของหมู่คณะ และขยันกิจการงานของตนเอง (ทักขตา)
๖. ความเป็นผู้รักธรรม คือ ใฝ่ความดีงาม (ธัมมกามตา)
๗. ความมีความเพียรระวังชั่ว เพียรละชั่ว เพียงทำดี และเพียรรักษาความดีที่มีอยู่ (วิริยารัมภะ)
๘. ความภาคภูมิใจในสิ่งที่ได้มาด้วยความพากเพียรของตน และได้มาด้วยความสุจริตชอบธรรม (สันตุฏฐี)
๙. ความมีสติสัมปชัญญะ (สติสัมปชัญญะ)
๑๐. ความมีปัญญาหยั่งรู้เหตุผล รู้คิดพิจารณา เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง (ปัญญา)

ทุกวันนี้เรามักสอนให้รู้จัก "พึ่งตนเอง" แต่ไม่ได้บอกชัดเจนว่า การพึ่งตนเองต้องทำอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัส "นาถสูตร" สูตรแห่งการพึ่งตนเองไว้ว่า คนจะพึ่งตนเองได้ดี จะต้องมีคุณสมบัติ ๑๐ ประการนี้ •



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTxTkCdNEya_LXWQtgL90Q7cVEyBKp_NPPu3jLhXYvBfbOYHF8Y)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๕)  พหุธิติสูตร
โค ๑๔ ตัว ของพราหมณ์คนหนึ่งหายไป แกตามหาโคเข้าไปในป่า พบพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิอยู่ในป่า เห็นพระพักตร์อิ่มเอิบด้วยความสุข จึงรำพึงว่า สมณะผู้นี้ท่าทางมีความสุขจริงหนอ พระพุทธเจ้าตรัสแก่เขาว่า

พราหมณ์เอย โค ๑๔ ตัว ของเราไม่มีเลย แต่ของท่านหายไปได้ ๖๐ วันนี่แล้ว ด้วยเหตุนี้เราจึงมีความสุข งาที่มีใบเลวใบหนึ่งหรือสองใบในไร่เราก็ไม่มี เราจึงมีความสุข หนูก็ไม่มีมาวิ่งกระโดดโลดเต้นในฉางของเรา เราจึงมีความสุข เครื่องปูลาดที่ใช้มาตั้งเจ็ดเดือนที่มีสัตว์อาศัยอยู่ของเราก็ไม่มี เราจึงมีความสุข

พราหมณ์เอย ภรรยาผู้มีบุตรคนหรือสองคน ของเราก็ไม่มี เราจึงมีความสุข แมลงวันลายที่มาไต่ตอมคนนอนหลับก็ไม่ไต่ตอมเราเลย เราจึงมีความสุข

พราหมณ์เอย ในเวลาเช้า เจ้าหนี้ทั้งหลายก็ไม่มาทวงหนี้เราเลย ด้วยเหตุนี้เราจึงมีความสุข

พระสูตรนี้ชื่อ พหุธิติสูตร แสดงภาพตรงกันข้ามระหว่างพระพุทธเจ้ากับพราหมณ์ พราหมณ์มีโคและโคหาย ปลูกงางาก็ไม่ค่อยงาม ข้าวในฉางก็มีหนูเต็ม เครื่องปูลาดก็มีมดมีไรสิงอาศัย มีบุตรภรรยาจะต้องเลี้ยงดูเวลานอนก็มีแมลงวันไต่ตอม จึงเต็มไปด้วยความทุกข์และกังวล แต่พระพุทธองค์ไม่มีสิ่งเหล่านี้ จึงทรงมีความสุข

"การมีมากๆ อยากได้มากๆ ก่อให้เกิดทุกข์ ไม่มี ไม่อยากได้ จึงจะเป็นความสุขที่แท้" ทั้งๆ ที่รู้อยู่อย่างนี้ก็อดงกอดแสวงหามาปรนเปรอตนตามประสาปุถุชนไม่ได้ มันเป็นเสียอย่างนี้แหละครับ •



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTxTkCdNEya_LXWQtgL90Q7cVEyBKp_NPPu3jLhXYvBfbOYHF8Y)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๖)  อาณีสูตร
"เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ตะโพนชื่ออานกะ ของกษัตริย์พระนามว่า ทสารหะแตก เขาได้ตอกลิ่มลงไป สมัยต่อมา โครงเก่าของตะโพนอานกะหายไป ยังเหลือแต่โครงลิ่ม ฉันใด ภิกษุในอนาคตก็ฉันนั้น เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตแสดงไว้ ที่ลึกซึ้ง มีอรรถลึกเป็นโลกุตระ ประกอบด้วย สุญญตา จักไม่ปรารถนาจะฟัง ไม่ตั้งใจเรียน

ต่อเมื่อเขากล่าวสูตรภายนอก กาพย์ กลอนที่แต่งกวี มีอักษรอันวิจิตร มีพยัญชนะวิจิตร เป็นสาวกภาษิต กลับสนใจฟัง สนใจเรียนรู้ เห็นว่าเป็นเรื่องควรศึกษา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสูตรเหล่านั้นที่ตถาคตแสดงไว้ อันลึก มีอรรถลึกเป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญญตา จักอันตรธานไปเช่นเดียวกับตะโพนอานกะนั้นแล เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงสำเหนียกศึกษาว่า เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ลึกซึ้ง มีอรรถลึก เป็นโลกุตระ ประกอบด้วยสุญญตา เราจักตั้งใจฟัง ตั้งใจเรียนรู้ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง

พระสูตรนี้ชื่อ อาณีสูตร ตรัสเตือนสติพระภิกษุทั้งหลายว่า ให้ใส่ใจศึกษาพุทธวจนะที่สอนแนวทางปฏิบัติให้ดับทุกข์ อย่าได้สนใจเรียนเรื่องภายนอก หาไม่แล้วพระธรรมคำสอนก็จะอันตรธานไปในที่สุด ดุจดังตะโพนอานกะ ถูกเสริมถูกแต่งซ่อมแซมเรื่อยๆ นานไปไม่เหลือเนื้อเดิมไว้เลย

ความจริงบัดนี้ปรากฏแล้ว สาวกของพระพุทธองค์ไม่สนใจศึกษาพระธรรมวินัย หันไปให้ความสำคัญแก่ดิรัจฉานวิชชา จนลืมไปว่าพระพุทธศาสนาสอนอย่างไร บ้างก็ปั้นปลัดขิกแจกดารา นักการเมือง........(ดีว่าตายไปแล้ว) บ้างก็ปั๊มเหรียญปั๊มพระอิฐพระปูนจำหน่ายเป็นล่ำเป็นสัน

ต่อให้ประชุมสัมมนาจะสังคายนาร้อยครั้งพันครั้งก็แก้ไม่ได้ดอกครับ ในเมื่อหัวส่ายแล้ว หางมันก็กระดิกเป็นธรรมดา มันก็แปะเอี่ย



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTxTkCdNEya_LXWQtgL90Q7cVEyBKp_NPPu3jLhXYvBfbOYHF8Y)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๗)  สปุพพัณหสูตร
"ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกาย วาจา ใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วย กาย วาจา ใจ ในเวลาเที่ยง เวลาเที่ยงก็เป็นเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วย กาย วาจา ใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น"

"สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดีและบูชาดี..."

พระสูตรนี้ชื่อ สปุพพัณหสูตร พระพุทธเจ้าตรัสให้ยึดถือการกระทำที่สุจริตทางไตรทวารเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทำดีแล้ว ไม่ว่าเวลาใด เวลานั้นถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดี ไม่จำต้องไปพึ่งหมอดูให้ฤกษ์ให้ยามก็ดี

ฤกษ์ยามที่หมอดูเขาให้นั้น ก็เพื่อให้มีกำลังใจ เมื่อมีกำลังใจดี ไม่วิตกกังวลแล้ว การกระทำกิจการต่างๆ ก็มีความมั่นใจ และสำเร็จเอง สำเร็จเพราะการกระทำของเราเองต่างหาก

ผู้รู้บางท่านเวลาให้ฤกษ์แก่คนมาขอ ท่านให้ "ฤกษ์สะดวก" คือ ถามว่าสะดวกวันไหน แล้วท่านก็กำหนดเวลาของวันนั้นให้ อย่างนี้ก็เป็นวิธีที่ดีอย่างหนึ่ง

พระเถระรูปหนึ่ง (พระธรรมปิฎก ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เมื่อมีผู้ถามว่า ควรจะเชื่อเรื่องเหล่านี้ไหม ท่านตอบว่า ถ้าเชื่อเรื่องนี้แล้วไม่เสียหลักกรรมก็ใช้ได้

"ไม่เสียหลักกรรม" ของท่านหมายถึง อย่าไปโยนทุกอย่างให้ ดวง ให้ฤกษ์ยามไปหมด โดยไม่ได้ทำอะไร เราต้องทำด้วยตัวเราเอง ทำดีนั่นแหละเป็นยอดฤกษ์ ทำเมื่อใด ฤกษ์ดีเมื่อนั้น •



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTxTkCdNEya_LXWQtgL90Q7cVEyBKp_NPPu3jLhXYvBfbOYHF8Y)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๘)  อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
ภิกษุทั้งหลาย กายอยู่ร่วมกัน ๔ ประเภท มีอยู่ในโลกนี้ คือ
๑. ศพอยู่ร่วมกับศพ
๒. ศพอยู่ร่วมกับเทพ
๓. เทพอยู่ร่วมกับศพ
๔. เทพอยู่ร่วมกับเทพ

๑. ศพอยู่ร่วมกับศพ หมายถึง สามีเป็นคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดในกาม พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ ละโมบอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท ชอบด่าบริภาษสมณชีพราหมณ์ ภรรยาประพฤติเช่นเดียวกัน
๒. ศพอยู่ร่วมกับเทพ หมายถึง สามีมีพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นแต่ภรรยาเป็นคนมีศีลธรรม เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดในกาม เป็นต้น
๓. เทพอยู่ร่วมกับศพ หมายถึง สามีเป็นคนดีมีศีลธรรม ส่วนภรรยามีพฤติกรรมผิดศีลธรรม
๕. เทพอยู่ร่วมกับเทพ หมายถึง ทั้ง สามีและภรรยาต่างก็เป็นคนมีศีลมีธรรมเสมอกัน

ข้อความนี้มีอยู่ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต พระพุทธเจ้า "ทรงรู้แจ้งโลก" อันหมายทั้งรู้เรื่องโลกๆ และรู้เรื่องทุกข์และแนวทางดับทุกข์ ตรัสสอนผู้ครองเรือนว่า การครองเรือนนั้นต้องมี "คู่" ที่สมกันทุกด้านจึงจะมีความสุข

คู่แรกกับคู่สุดท้ายเท่านั้นที่จะอยู่ด้วยกันยืด ตลอดรอดฝั่ง คู่แรกร้ายด้วยกันทั้งคู่เรียกว่า "คู่เวรคู่กรรม" ส่วนคู่สุดท้ายดีด้วยกันทั้งคู่ เรียกว่า "คู่สร้างคู่สม" •



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTxTkCdNEya_LXWQtgL90Q7cVEyBKp_NPPu3jLhXYvBfbOYHF8Y)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๔๙)  อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
"ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้เราประพฤติ มิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนเขาบ่นเพ้อถึง มิใช่เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะและชื่อเสียง มิใช้เพื่อเป็นเจ้าลัทธิ มิใช้เพื่อ ให้คนรู้จักเรา แต่แท้จริงแล้ว เราประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความระวัง เพื่อละกิเลส เพื่อคลายกำหนัดยินดี เพื่อดับกิเลสโดยสิ้นเชิง"

พุทธวจนะบทนี้ตรัสใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ทรงเน้นเป้าหมายของพรหม จรรย์เพื่อสำรวมระวังละกิเลส คลายกำหนัดยินดี และดับกิเลสโดยสิ้นเชิง (พระนิพพาน) บวชมาเพื่อสิ่งนี้เท่านั้น จึงจะเรียกว่าบวชเพื่อพ้นทุกข์

แต่ถ้าบวชมาเป็นหัวหน้าทัวร์ จัดสรรที่ดินสร้างคอนโดฯ เอาเงินดาวน์เขาไปหมุน เมื่อเขาทวงเงินคืนเพราะไม่สร้างสักที ก็ตอกหน้าเขาไปว่า โยมบริจาคเข้ามูลนิธิแล้ว ใบอนุโมทนาก็ได้ไปแล้วจะมาทวงอะไร อาตมาไม่เคยเห็นคนทำบุญแล้วทวงเงินคืน!

บวชมาแล้วจัดฉากแสดงว่าตนรู้ธรรม ลึกซึ้งสงบสำรวมยิ่งกว่าใครในโลก มีวิธีโฆษณาตัวเองให้คนคลั่งไคล้ใหลหลง

บวชมาแล้วเรียนบ้างไม่เรียนบ้าง ปฏิบัติบ้างไม่ปฏิบัติบ้าง แล้วก็โอ้อวดว่าตนรู้แจ้งเห็นจริงสอนนอกวินัย ให้คนเข้าใจวิปริติ ผิดเพี้ยน ตั้งตนเป็นศาสดาลืมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

บวชมาแล้วตั้งโรงงานอุตสาหกรรมย่อย ผลิตพระเครื่องปั๊มเหรียญ "ขาย" ร่ำรวย เป็นร้อยล้านพันล้านลาภสักการะมหาศาล เป็นเหตุให้เกิดค่านิยมใหม่ในหมู่เพื่อนพรหมจรรย์ว่า "ภิกษุใดจน ภิกษุนั้นต้องปาจิตตีย์" หรือพฤติกรรมอื่นใดคล้ายกันนี้ ล้วนมิใช่เป้าหมายของพรหมจรรย์ทั้งนั้น

เชื่อพระพุทธองค์เถิด พระนั้นต้องจน คน (ชาวบ้าน) ต้องมั่งมี จึงจะถูกครรลอง อย่าให้ถึงขั้นนั่งเบนซ์ออกบิณฑบาตเลยขอรับ •



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTxTkCdNEya_LXWQtgL90Q7cVEyBKp_NPPu3jLhXYvBfbOYHF8Y)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๐)  โกฏฐิกสูตร
พระโกฏฐิกะ สนทนากับพระสารีบุตร พระอัครสาวกวันหนึ่ง พระโกฏฐิกะถามพระอัครสาวกว่า ตาเกาะเกี่ยวรูป (แสงสี) หรือ หูเกาะเกี่ยวเสียง หรือจมูกเกาะเกี่ยวกลิ่น หรือ ลิ้นเกาะเกี่ยวรส หรือกายเกาะเกี่ยวสัมผัส หรือ ใจเกาะเกี่ยวมโนภาพหรือ

พระสารีบุตรย้อนถามว่า โคขาวกับโคดำที่เขาเอาเชือกผูกติดกันไว้ อยากทราบว่า โคขาวติดกับโคดำหรือโคดำติดกับโคขาวหรือไม่

พระโกฏฐิกะตอบว่า หามิได้ เชือกเท่านั้นที่ทำให้โคขาวกับโคดำเนื่องกัน

พระสารีบุตรกล่าวว่า เช่นเดียวกัน ตามิได้เกาะเกี่ยวรูป หูมิได้เกาะเกี่ยวเสียง จมูกมิได้เกาะเกี่ยวกลิ่น ลิ้นมิได้เกาะเกี่ยวรส กายมิได้เกาะเกี่ยวสัมผัส ใจมิได้เกาะเกี่ยวมโนภาพ ความรักใคร่พอใจ (ฉันทราคะ) ในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส มโนภาพ ต่างหากที่เป็นตัวผูกให้สิ่งเหล่านั้นเนื่องกัน

ข้อความนี้จาก โกฏฐิกสูตร ต้องการสอนว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส กาย มโนภาพ เป็นเพียงอายตนะ (สื่อ) ภายนอกและภายในเท่านั้น มันไม่ดีไม่ชั่วในตัวเอง ไม่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ในตัวเอง ถ้าตาดูรูป หูฟังเสียง ลิ้นลิ้มรส จมูกดมกลิ่น กายต้องสัมผัส ใจคิดคำนึง ด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าตาดูรูป เป็นต้น ด้วยความกำหนัดยินดี ย่อมจะติดในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสมโนภาพ นั้นๆ แล้วทุกข์ก็ย่อมเกิด

พระสูตรบางสูตร (ขณะสูตร) กล่าวเสริมว่า ตาหูจมูกลิ้นกายใจ รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสมโนภาพ เป็นได้ทั้ง "นรก" และ "สวรรค์" ในปัจจุบันขึ้นอยู่กับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันด้วยความกำหนัดรักใคร่ หรือด้วยความปล่อยวาง •



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTxTkCdNEya_LXWQtgL90Q7cVEyBKp_NPPu3jLhXYvBfbOYHF8Y)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๑)  กูฏทันตสูตร
กูฏทันตพราหมณ์ เตรียมบูชายัญใหญ่สั่งให้เอาโคผู้ โคเมีย ลูกโค แพะ และแกะ อย่างละ ๗๐๐ ตัว ผูกติดเสาไว้เพื่อฆ่าบูชายัญ พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดตรัสสอนว่า ในอดีตกาลนานโพ้น มีมหาราช พระองค์หนึ่งคิดทำเช่นเดียวกับพราหมณ์นี้แหละ ปุโรหิตกราบทูลให้ทำการบูชายัญชนิดที่ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์ คือ

ให้ปราบโจรผู้ร้ายชนิดถอนรากถอนโคน มิใช่ด้วยการฆ่าหรือจองจำ เพราะยิ่งฆ่าก็ยิ่งเพิ่มแบบตัวตายตัวแทน แต่ให้จัดระบบเศรษฐกิจให้ดีคือ
- แจกพืชแก่เกษตรกรในชนบทที่อุตสาหะประกอบอาชีพ
- ให้ทุนแก่พ่อค้าที่อุตสาหะในการค้า
-ให้อาหารและค่าจ้างแก่ราชการ
- สนับสนุนให้ทุกคนมีอาชีพที่ชอบธรรมและมีรายได้

ทำได้เช่นนี้จะขจัดความยากจน ประเทศปราศจากผู้ร้าย "ชนบทก็ไร้เสี้ยนหนาม มนุษย์ทั้งหลายจะมีความรื่นเริงอุ้มบุตรให้ฟ้อนอยู่ที่อก ไม่ต้องปิดประตูเรือนนอน"

กูฏทันตพราหมณ์กราบทูลถามว่า ยังมีวิธีบูชายัญอื่นที่ทำง่ายและได้อานิสงส์มากกว่ากล่าวมาไหม พระพุทธเจ้าตรัสว่ามี คือให้ทานเป็นนิตย์อุทิศแก่ผู้มีศีล, สร้างที่อยู่อุทิศแก่สงฆ์ที่มาจาก ๔ ทิศ, ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก, สมาทานศีล ๕ เป็นนิตย์, ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์จนได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัติตามลำดับ

ข้อความนี้จาก กูฏทันตสูตร คัดมาฝากครับ ท่อนแรกฝากผู้บริหารประเทศ ให้คิดว่าการปกครองบ้านปกครองเมืองให้สงบสุข ปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องนอนสะดุ้งทุกคืนนั้นทำอย่างไร ท่อนหลังคัดมาฝากผู้ที่มักบ่นว่าไม่มีเงินจะทำบุญให้ทราบว่า "บุญ" นั้นไม่จำเป็นเอาทรัพย์แลกเสมอไป ความมั่นคงในพระรัตนตรัย และรักษาศีล ๕ เคร่งครัดก็เป็นบุญอย่างยิ่งแล้ว

ยศศักดิ์ต่างหากเล่าบางทีต้องเอาเงินแลก มีบัญชีหนึ่งแล้วต้องบัญชีสามตามมา •



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTxTkCdNEya_LXWQtgL90Q7cVEyBKp_NPPu3jLhXYvBfbOYHF8Y)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๒)  ยมกสูตร
พระยมกะอวดอ้างว่าตนรู้ทั่วถึงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า มีทรรศนะว่า "พระอรหันต์" ตายแล้วดับสูญไม่เกิดอีก ภิกษุทั้งหลายห้ามพูดเช่นนั้นก็ไม่ฟัง พวกเธอจึงไปขอร้องให้พระสารีบุตรอัครสาวกตักเตือน

พระสารีบุตรไปสนทนาด้วย โดยซักถามขันธ์ทีละอย่างๆ ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่ เป็นสัตว์บุคคลมีในขันธ์ ๕ แต่ละอย่างหรือไม่ สัตว์บุคคลอื่นจากขันธ์ ๕ แต่ละอย่างหรือไม่ สัตว์บุคคลไม่มีในขันธ์ ๕ แต่ละอย่างใช่หรือไม่

เมื่อซักไปๆ ก็ค้นหา "สัตว์บุคคล" ในขันธ์ทั้ง ๕ นั้นไม่พบ

พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า ท่านยมกะ โดยแท้จริงแล้ว ทาสจะค้นหาสัตว์บุคคลในขันธ์ 5 นี้ไม่ได้เลย ควรหรือที่ท่านจะยืนยันว่า "พระอรหันต์" ตายไปแล้วย่อมขาดสูญพินาศไป ไม่เกิดอีก

พระสูตรนี้ชื่อว่า ยมกสูตร ในพระสูตรนี้ใช้คำว่า "ตถาคโต" ปราชญ์โดยมากแปลว่า พระอรหันต์ แต่ในคัมภีร์อรรถกถาแปลว่า สัตว์โดยทั่วไป

อ่านความเห็นของพระยมกะ และการซักค้านของพระสารีบุตรแล้ว ไม่น่าจะรับกัน แต่ที่จริงแล้วถ้าใครเห็นว่า "คน" ตายแล้วสูญไปเลย ก็เท่ากับยอมรับว่า คนที่เห็นเป็นตัวเป็นตนนี้เกิดมาแล้วก็แตกดับไปเลย จะไม่มีอีกชั่วนิรันดร ความเห็นเช่นนี้ก็เป็น "อุจเฉททิฐิ" (เห็นว่าตายแล้วสูญไปเลย) อันเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง

แม้พระอรหันต์หมดกิเลสแล้วตายไปจะ "ดับ" ไปเลย พูดภาษาสามัญก็ว่าไม่เกิดอีกก็ตาม แต่ถ้าใครพูดว่า "พระอรหันต์" ที่เห็นๆ อยู่นี้ตายแล้วสูญ ก็ไม่พ้นข่าย อุจเฉททิฐิ เพราะเท่ากับว่าผู้พูดถือว่าพระอรหันต์เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์บุคคล ซึ่งมีอยู่ หลังจากตายแล้วก็สูญไปเลย

คำซักค้านของพระสารีบุตรต้องการบอกว่า "แท้ที่จริงแล้ว สัตว์บุคคลไม่มี มันเป็นเพียงขันธ์ ๕ เท่านั้น เมื่อ "คน" ไม่มีตั้งแต่ต้น ก็ไม่มีอะไรตายไม่มีอะไรสูญ"

วันนี้ขอนำธรรมะลึกซึ้งมาฝากหน่อยครับ กรุณาปีนกระไดขึ้นไปอ่านบนปราสาทชั้น ๗ ก็แล้วกัน •




(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTxTkCdNEya_LXWQtgL90Q7cVEyBKp_NPPu3jLhXYvBfbOYHF8Y)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๓)  นิวาปสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายเกี่ยวกับสมณพราหมณ์ ๔ จำพวก โดยเปรียบกับเนื้อ ๔ จำพวก ดังนี้

๑. สมณพราหมณ์พวกที่หนึ่ง ติดอยู่ในกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ไม่พ้นเงื้อมมือมาร เปรียบดุจเนื้อพวกแรกที่เห็นแก่เหยื่อล่อของนายพราน ถูกนายพรานยิงตาย
๒. สมณพราหมณ์พวกที่สอง ไม่ติดในกามคุณ ๕ ในตอนแรก แต่ทนต่อความเย้ายวนไม่ไหวจึงตกอยู่ในอำนาจของมันในภายหลัง เปรียบเหมือนเนื้อพวกที่สองที่หนีเหยื่อล่อตอนแรก แต่ทนความอยากไม่ไหวต้องมาหาเหยื่อในภายหลัง
๓. สมณพราหมณ์พวกที่สาม ไม่ติดในกามคุณ ๕ แต่ติดในความเห็นผิดเปรียบเหมือน เนื้อพวกที่สามไม่ติดเหยื่อล่อ แต่ถูกนายพรานล้อมจับได้
๔. สมณพราหมณ์พวกที่สี่ ไม่ติดในกามคุณ ๕ ไม่ติดอยู่ในความเห็นผิด ไม่ประมาท จึงพ้นเงื้อมมือมาร เปรียบเหมือนเนื้อพวกที่สี่ ไม่ติดเหยื่อล่อ และไม่ถูกล้อมจับได้

จากนั้นทรงแสดงข้อปฏิบัติที่มารไม่สามารถจะตามไปถึงและไม่สามารถมองเห็นได้ คือ บำเพ็ญสมาธิจนได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ (ฌานสมาบัติที่ดับความจำ และความรู้สึก)

พระสูตรนี้ชื่อ นิวาปสูตร (สูตรว่าด้วยเหยื่อล่อ) เหยื่อล่อของเนื้อก็คือหญ้า เหยื่อล่อของนักบวชก็คือ กามคุณ ๕

ครับ ไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่าคน ไม่ว่าชาวบ้าน ไม่ว่าพระ ลงได้เห็นแก่เหยื่อล่อ เสพสุขอย่างตะกรุมตะกราม ในที่สุดก็ไม่พ้นหายนะ มีตัวอย่างมานักต่อนักแล้ว •


ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 ธันวาคม 2557 11:43:03
(http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๔)  ชีวกสูตร
หมอชีวกโกมารภัจจ์ นอกจากเป็นแพทย์หลวงประจำราชสำนักพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์ผู้ครองเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ยังเป็นแพทย์ประจำพระพุทธเจ้าด้วย เขามีความเลื่อมใสในพระพุทธองค์มาก ว่างจากการดูแลคนไข้เมื่อใด เป็นถือโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อกราบทูลถามข้อข้องใจในธรรมเสมอ ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างบางเรื่องที่เขากราบทูลถามพระองค์ เมื่อคราวเสด็จประทับอยู่สวนมะม่วงของเขา

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนปฏิบัติตนได้แค่ไหน จึงจะเรียกว่าเป็นอุบาสก"
"ผู้ที่นับถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ เรียกว่าอุบาสก"
"อุบาสกชนิดไหน เรียกว่า อุบาสกมีศีล"
"อุบาสกที่งดเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มสุราเมรัย เรียกว่า อุบาสกมีศีล"
"อุบาสกชนิดไหนเรียกว่าอุบาสกผู้เอาตัวรอดคนเดียว"
"อุบาสกที่มีศรัทธา มีศีล มีจาคะ มีความเห็นถูกต้อง ใคร่เห็นพระสงฆ์ ใคร่สดับธรรม ฟังธรรมแล้วจดจำไว้ จดจำได้แล้วพิจารณาไตร่ตรอง รู้ข้อธรรมแล้ว ปฏิบัติตามถูกต้อง อุบาสก ชนิดนี้เรียกว่าอุบาสกผู้เอาตัวรอดคนเดียว"
"แล้วอย่างไหนชื่อว่าเอาตัวรอดด้วย ช่วยคนอื่นด้วย"
"คนที่ประกอบด้วยคุณธรรมดังกล่าวข้างต้น แล้วชักชวนให้คนอื่นทำตาม ชื่อว่าอุบาสกผู้ช่วยตัวเองด้วยช่วยคนอื่นด้วย"

ข้อความนี้อยู่ใน ชีวกสูตร การได้รู้เห็นสิ่งที่ดีงามสำหรับชีวิตและปฏิบัติตนได้แล้ว ไม่บอกคนอื่นไม่ชักชวนคนอื่นให้ได้รับสิ่งที่ดีงามนั้นด้วย เรียกว่า ขาด "ธรรมทาน" และเป็น "ธรรมมัจฉริยะ" (หวงธรรม, หวงสิ่งที่ดีงาม) เพราะฉะนั้น ใครพบสิ่งที่ดีงามก็จงเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นด้วยเถอะครับ

แต่ถ้า "หางด้วน" แล้วกรุณาอย่าชวนคนอื่น เชิญ "ด้วน" ไปคนเดียวแล้วกัน! •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๕)  ชีวกสูตร
คราวหนึ่ง หมอชีวกโกมารภัจจ์ กราบทูลถามพระพุทธเจ้า ขณะประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของเขาว่า "ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินคนตำหนิพระองค์ว่า พระองค์สอนให้คนอื่นเว้นจากการฆ่าสัตว์ แต่เสวยอาหารที่เขาฆ่าถวายเป็นความจริงเพียงไร"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ถ้าได้เห็น ได้ยิน และสงสัยว่าเขาฆ่าถวาย ตถาคตไม่ฉันเนื้อนั้น แต่ถ้าไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเจาะจงถวาย ตถาคตฉันเนื้อนั้น"

ตรัสอธิบายต่อไปว่า "ภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา มีจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และแผ่คุณธรรมเหล่านี้ไปยังสรรพสัตว์ทั่วโลก อยู่ด้วยจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทต่อใคร เลี้ยงชีพด้วยอาหารบิณฑบาตที่ชาวบ้านถวาย เมื่อมีผู้นิมนต์ไปฉันอาหาร ก็ไป เขาถวายอาหารชนิดใด จะเลว หรือประณีต ก็ฉันพอดำรงอัตภาพไม่ติดหรือยึดมั่นในอาหารที่ฉันนั้น"

เสร็จแล้วพระองค์ก็ตรัสถามหมอชีวกว่า "ภิกษุปฏิบัติเช่นนี้ จะเรียกว่าเบียดเบียนคนอื่นหรือไม่"
หมอชีวกกราบทูลว่า "ไม่ พระเจ้าข้า"
"อาหารอย่างนี้ไม่มีโทษ (คือกินได้ ไม่เรียกว่าสนับสนุนให้ฆ่าสัตว์) มิใช่หรือ
"เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า"

พระองค์ตรัสต่อไปว่า ผู้ที่ฆ่าสัตว์เจาะจงถวายพระองค์และพระสงฆ์สาวก ย่อมก่อบาปกรรมทั้งแก่ตนและคนอื่น เพราะเหตุ ๕ ประการคือ สั่งให้นำสัตว์มาฆ่า (เท่ากับชักนำให้คนอื่นทำบาปด้วย), ออกคำสั่งให้ฆ่า (ตัวเองก็บาปคนฆ่าก็บาป) สัตว์นั้นถูกนำไปฆ่า ได้รับความเจ็บปวด, กำลังถูกฆ่ายิ่งเจ็บปวดยิ่งขึ้นจนสิ้นชีวิต, ทำให้คนอื่นหาช่องว่าพระองค์และพระสงฆ์สาวก (จริงอยู่ถ้าพระไม่รู้ไม่เห็น ไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเจาะจงตน ไม่ต้องอาบัติ แต่คนภายนอกอาจหาว่า พระแกล้งไม่รู้ ทำนองปากว่าตาขยิบก็ได้)

หมอชีวกได้รับวิสัชนาจากพระพุทธองค์จนแจ่มแจ้งหายสงสัยแล้ว กราบทูลขึ้นว่า ตนเคยได้ยินว่าพระพรหมนั้นมีวิหาร ๔ แต่ไม่เคยเห็นพระพรหม บัดนี้ตนได้เห็น พระพรหม" ตัวจริงคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เอง (จากชีวกสูตร) •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๖)  คณกโมคคัลลานสูตร
พราหมณ์ชื่อ คณกโมคคัลลานะ กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ในการศึกษาศิลปวิทยาต่างๆ เช่น วิชาคำนวณ เขาให้ศิษย์เรียนตามลำดับ เริ่มตั้งแต่หัดให้นับหนึ่ง สอง สาม ก่อน ในพระศาสนาของพระองค์มีการสอนตามลำดับเช่นนี้หรือไม่

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในพระศาสนาของพระองค์เน้นการศึกษาตามลำดับ ตามขั้นตอน ผู้ที่บวชเข้ามาแล้ว เริ่มต้นพระองค์จะทรงสอนให้รักษาศีลให้เคร่งครัด จากนั้นก็ให้รู้จักสำรวมอินทรีย์ (คือระวังการแสดงออกทางตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส และความคิดคำนึง) จากนั้นให้รู้จักประมาณในการบริโภค ให้กินเพื่อยังชีพมีกำลังประพฤติพรหมจรรย์ จากนั้นสอนให้มีความเพียรตื่นตลอดเวลา จากนั้นให้มีสติสัมปชัญญะ รู้เท่าและรู้ทันการเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ จากนั้นก็ทรงแนะให้หาที่สงบสงัด เช่น ป่า ภูเขา ถ้ำ ฝึกสมาธิ วิปัสสนาให้จิตสงบ ระงับนิวรณ์ ได้บรรลุฌานขั้นต่างๆ จนกระทั่งทำให้แจ้งพระนิพพาน (หมายถึงหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์)

พราหมณ์กราบทูลว่า เมื่อพระองค์พร่ำสอนอย่างนี้ สาวกของพระองค์บรรลุนิพพานหมดทุกคนหรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่าบางพวกที่บรรลุ บางพวกก็ไม่บรรลุ พราหมณ์กราบทูลถามต่อว่า ในเมื่อพระนิพพานก็มีอยู่ ทางไปพระนิพพานก็มีอยู่ พระองค์ผู้ทรงชี้ทางก็มีอยู่ ทำไมจึงมีบางพวกไม่บรรลุพระนิพพาน

พระพุทธองค์ตรัสว่า เวลาท่านบอกทางคนสองคนที่เดินทางไปเมืองราชคฤห์ คนหนึ่งไปถึง อีกคนหนึ่งไปไม่ถึง ทำไมเป็นเช่นนั้น ในเมื่อเมืองราชคฤห์ก็มีอยู่ ทางก็มีอยู่ ท่านผู้บอกทางก็มีอยู่ ทำไมเขาไปไม่ถึงเล่า

พราหมณ์กราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าจะทำอะไรได้ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น"

พระองค์ตรัสต่อไปว่า "เช่นเดียวกันนั่นแหละ พระนิพพานก็มีอยู่ ทางไปพระนิพพานก็มีอยู่ เราตถาคตผู้บอกทางก็มีอยู่ แต่บางพวกก็ไม่บรรลุพระนิพพาน เราตถาคตจะทำอะไรได้ เราตถาคตเป็นผู้ชี้บอกทางเท่านั้น"

พระสูตรนี้ชื่อ คณกโมคคัลลานสูตร ให้แง่คิดว่า ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อยฝึกฝนไปตามขั้นตอนย่อมจะบรรลุผลสูงขึ้นตามลำดับ

แต่ถ้าเพียงพูดว่า "ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน" ไม่กล้าตัดสินใจทำเสียที ได้แต่เต้นฟุตเวิร์กอยู่ยากจะบรรลุผลเหมือนกันนะครับ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๗)  โลกวิปัตติสูตร  
"ภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการ ย่อมหมุนไปตามโลก และสัตว์โลกก็หมุนเวียนตามมันไป โลกธรรม ๘ ประการคือ ได้ลาภ, เสื่อมลาภ, ได้ยศ, เสื่อมยศ, สรรเสริญ, นินทา, สุข, ทุกข์

โลกธรรมทั้ง ๘ ประการนี้เกิดขึ้นทั้งแก่ปุถุชนคนผู้มิได้เรียนรู้และแก่อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ต่างกันแต่ว่าฝ่ายแรกไม่รู้เห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา แล้วก็ลุ่มหลง ยินดียินร้าย ปล่อยให้มันเข้ามาย่ำยีจิต ปล่อยให้จิตขึ้นลงไปตามกระแสของมัน ย่อมไม่พ้นจากทุกข์มีความโศกและความพิไรรำพันเป็นต้น ส่วนอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ พิจารณาเห็นตามเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรเปลี่ยนไปตามธรรมดา ไม่ลุ่มหลงมัวเมา อยู่อย่างมีสติ ย่อมปราศจากทุกข์มีความโศกและความพิไรรำพันเป็นต้น"

พระสูตรนี้ชื่อ โลกวิปัตติสูตร ทรงสอนให้รู้ธรรมดาของชีวิตว่า ทุกคนไม่ว่าปุถุชนหรือพระอริยเจ้าย่อมพบพาน "โลกธรรม" ๘ ประการด้วยกัน แต่การรับรู้แตกต่างกัน ปุถุชนคนมีกิเลส ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ย่อมฟูและยุบไปตามกระแสโลกธรรม ลุ่มหลง ไม่รู้ตามเป็นจริง ผลที่สุดก็ไม่พ้นทุกข์ ส่วนพระอริยเจ้า ไม่ฟู ไม่ยุบ ไปตามกระแสโลกธรรม รับรู้ตามเป็นจริงว่า มันก็แค่นั้น ไม่ติดสมมติบัญญัติ ย่อมอยู่เหนือโลกธรรม จึงหาความทุกข์มิได้ อาวุธสำคัญที่จะต่อกรกับโลกธรรมได้คือ "สติ" พระอริยเจ้าท่านมีสติตลอดเวลา จึงรู้เท่ารู้ทัน ปุถุชนถ้าหากหมั่นปลูกสร้างสติเสมอ ก็จะสามารถรู้เท่าทันยับยั้งใจได้บางครั้งบางคราว แทนที่จะทุกข์มากก็ทุกข์น้อยลง

ส่วนคนที่ตั้งตนเป็นผู้วิเศษ ปลื้มอกปลื้มใจกับการแห่แหนแวดล้อมชื่นชมของผู้คน ยินดีกับการยกยอสรรเสริญอันจอมปลอม ก็ปล่อยเขาไปเถอะ ไม่ช้าไม่นานเมื่อน้ำลด ตอมันจะผุดขึ้นมาเอง แล้วจะคร่ำครวญว่า โอ้ นี่ทุกข์จริงๆ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๘)  สีหสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สีหมฤคราชออกจากที่อยู่อาศัยในเวลาเย็น ย่อมเยื้องกรายเหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ บันลือสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วออกไปเที่ยวหากิน สีหมฤคราชนั้น ถ้าจะจับช้าง ย่อมจับโดยแม่นยำไม่พลาด ถ้าจะจับกระบือ ย่อมจับโดยแม่นยำไม่พลาด ถ้าจะจับโค ย่อมจับโดยแม่นยำไม่พลาด ถ้าจะจับสัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่น กระต่าย แมว ย่อมจับโดยแม่นยำไม่พลาด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า "สีหะ" นี้เป็นชื่อของตถาคต ตถาคตแสดงธรรมแก่บริษัทนี้แหละเป็นการบันลือสีหนาท ตถาคตย่อมแสดงธรรมโดยเคารพ ไม่ใช่แสดงโดยไม่เคารพ ถ้าจะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย...แก่ปุถุชนทั่วไปทั้งหลาย โดยที่สุดแม้แต่คนขอทานและพรานนก ย่อมแสดงโดยเคารพ มิใช่แสดงโดยไม่เคารพ

ข้อนั้นเพราะเหตุใด? เพราะตถาคตเป็นผู้หนักในธรรม เคารพในธรรม

พระสูตรนี้ชื่อ "สีหสูตร" มีอยู่ใน อังคุตตร นิกาย ฉักกนิบาต ให้ข้อคิดว่า พระบรมศาสดาทรงให้ความสำคัญแก่พุทธบริษัท ไม่ว่ายากดีมีจน เมื่อเข้ามาฟังธรรม พระองค์จะให้ความสำคัญเท่ากันหมด ทรงแสดงธรรมแก่เขาโดยเคารพ หวังผลคือความสว่างในทางธรรมเหมือนๆ กัน

สาวกพระพุทธองค์สมัยนี้ บางรูปไม่สนใจแสดงธรรม หมกมุ่นแต่แจกพระแจกเหรียญ บางรูปคนยากคนจนเข้าหาไม่ถึง แต่ถ้านั่งรถเบนซ์ไปหาก็ต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี ขอฝากพระสูตรนี้ให้อ่านและทบทวนดู ว่าตนกำลังดำเนินตามเบื้องยุคลบาทพระศาสดาหรือว่ากำลังเดินออกนอกทาง

ข้อคิดประการที่สองก็คือ ราชสีห์ลงว่าตั้งใจจับเหยื่อแล้วไม่มีทางพลาด คือผู้ฟังได้บรรลุมรรคผลทุกคน เพราะทรงรู้อุปนิสัย ความถนัด แนวโน้มแห่งจิตใจของแต่ละคนเป็นอย่างดี และเลือกธรรมที่เหมาะแก่คนๆ ไป เรียกว่าพระองค์เป็น "สิงห์จับเหยื่อไม่เคยพลาด"

ต่างจากสิงห์สมัยนี้จับเหยื่อไม่เคยได้กลายเป็นสิงห์เดี้ยงไปหมด •




(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๕๙)  ปหาราทสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสความอัศจรรย์ของพระธรรมวินัย (พระศาสนา) ของพระองค์เปรียบกับมหาสมุทร ๘ ประการ คือ
๑. ในพระธรรมวินัยนี้มีการศึกษา การปฏิบัติและการตรัสรู้ตามลำดับ เปรียบเหมือนมหาสมุทรค่อยๆ ลาดลุ่มลึกลงตามลำดับ
๒. เหล่าสาวกไม่ละเมิดข้อบัญญัติที่ตราไว้ เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีลักษณะคงตัว ไม่ล้นฝั่ง
๓. พระธรรมวินัยนี้ไม่เก็บคนทุศีลไว้ เปรียบเหมือนมหาสมุทรไม่เก็บซากศพไว้ มีแต่ซัดเข้าหาฝั่ง
๔. พระธรรมวินัยนี้เป็นที่รวมของวรรณะทั้ง ๔ บุคคลไม่ว่าจะมาจากวรรณะไหน ย่อมทิ้งชื่อและโคตรเดิมหมด เหลือแต่เชื้อ "สมณศากยบุตร" เปรียบเหมือนมหาสมุทรเป็นที่รวมของแม่น้ำทั้งหลาย เมื่อไหลมาถึงมหาสมุทรก็ทิ้งชื่อเดิมหมด
๕. แม้ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้จะล่วงลับไปมากต่อมาก ก็ไม่ปรากฏว่า พระธรรมวินัยบกพร่องหรือล้น เปรียบเหมือนมหาสมุทรไม่ปรากฏพร่องหรือล้น
๖. พระธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ "วิมุติรส" (รสแห่งความหลุดพ้นทุกข์) เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม
๗. พระธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมาย เช่น สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรัตนะมากมาย เช่น มุกดา ไพฑูรย์
๘. พระธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่ของบุคคลสำคัญๆ เช่น พระโสดาบัน พระสกทาคามี เปรียบเหมือนมหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใหญ่ๆ เช่น ปลาติมิ ปลาติมิงคละ

พระสูตรนี้ชื่อ ปหาราทสูตร ตรัสแก่ปหาราทะจอมอสูร ให้ข้อคิดว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งบริสุทธิ์ "ศักดิ์สิทธิ์" คนไม่บริสุทธิ์อยู่ในพระศาสนาไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ที่บวชเข้ามาประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าบำเพ็ญตนเป็นอลัชชี ไม่ว่าจะมีอิทธิพล มีสานุศิษย์ ล้อมหน้าล้อมหลังเพียงใด ก็อย่าได้เหิมเกริมไป

"ซากศพ" เช่นนี้ พระธรรมวินัยไม่เอาไว้ดอกครับ •




(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๐)  สุขุมสูตร (หรือ กุมโมปมสูตร)
พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายวันหนึ่งว่า "เคยมีเรื่องเล่าว่า เต่าตัวหนึ่งเที่ยวหากินอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเล็กๆ สายหนึ่ง ในเวลาเย็น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเดินผ่านมาพอดี เต่าเห็นสุนัขจิ้งจอกก็รีบหดอวัยวะ ๕ ส่วนคือ ขา ทั้ง ๔ และคอ ๑ เข้าในกระดอง นิ่งอยู่

สุนัขจิ้งจอกก็หยุดนิ่ง คอยจ้องอยู่ว่า เมื่อใดเต่าเหยียดคอหรือขาข้างใดข้างหนึ่งออกมานอกกระดอง เราจะงับมันฟาดให้กระดองแตกแล้วกินเนื้อมันทันที

เต่าเหมือนรู้ความคิดของสุนัขจิ้งจอก ไม่ยอมยื่นขาหรือคอออกนอกกระดอง นิ่งอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน

สุนัขจิ้งจอกสุดจะทนรอได้ จึงหนีไปด้วยความเสียใจ

ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่เธอทั้งหลาย "คุ้มครองอินทรีย์ (คือระวังการแสดงออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เห็นรูป (คือมองเห็นสิ่งต่างๆ) แล้วไม่มองรวม (คือไม่มองภาพรวมแล้วเห็นว่าสวยงามจริงเป็นต้น)

ไม่มองแยก (คือไม่มองอวัยวะทีละส่วนแล้วเห็นว่าแขนสวย ขาสวย เป็นต้น) ระมัดระวังการแสดงออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ "มาร" คือ ความโลภจ้องอยากได้ของคนอื่น (อภิชฌา) และความเสียใจทุกข์ใจ (โทมนัส) จะไม่มีโอกาสทำให้พวกเธอตกเป็นเหยื่อได้"

ข้อความนี้อยู่ใน สุขุมสูตร (หรือ กุมโมปมสูตร) ให้ข้อคิดว่า ถ้าเราระวังทุกด้าน มารก็หมดโอกาสทำลาย ดุจเต่าหดหัวและขาอยู่ในกระดอง ปลอดภัยจากสุนัขจิ้งจอกงับ

แต่ถ้าเป็น "เต่ากระดองแตก" ถึงจะหดขาดีอย่างไร ก็ไม่มีทางพ้นมือสุนัขจิ้งจอกได้ดอกครับ •



ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 มกราคม 2558 15:36:33
(http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๑)  สังยุตตนิกาย มหาวรรค, อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต และขุททกนิกาย อิติวุตตกะ
"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มอุทัย ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อนฉันใด ความมีกัลยาณมิตร (คือมีเพื่อนดี) ย่อมเป็นนิมิตหมายเบื้องต้นแห่งความเจริญของมรรคมีองค์แปด ฉันนั้น

ความมีกัลยาณมิตรเท่ากับเป็นครองชีวิตประเสริฐทั้งหมดทีเดียว เพราะผู้มีกัลยาณมิตรจักทำให้มรรคมีองค์แปด เจริญได้

อาศัยเราตถาคตเป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ย่อมพ้นจาก เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ

เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอย่างอื่นแม้แต่อย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับผู้ยังศึกษาอยู่เหมือนกับความมีกัลยาณมิตร ผู้มีกัลยาณมิตรย่อมขจัดอกุศล และยังกุศลให้เกิดขึ้นได้

ความมีกัลยาณมิตรย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม (พระพุทธศาสนา)"

ข้อความนี้จาก สังยุตตนิกาย มหาวรรค, อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต และขุททกนิกาย อิติวุตตกะ รวมแปลเข้าด้วยกัน ชี้ให้เห็นว่า การมีมิตรดี มิตรแท้ หรือผู้คอยแนะนำสั่งสอนคอยให้คำปรึกษาที่มีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้า ทั้งทางโลกและทางธรรม

มิตรดีอย่างสูงหมายถึงเอาพระพุทธเจ้า อย่างต่ำหมายถึงผู้มีประสบการณ์ผู้ปรารถนาดี คอยแนะนำตักเตือน ตลอดถึงสิ่งแวดล้อมทาง สังคม ที่เอื้อต่อการพัฒนาตน

สำหรับนักการเมืองก็คงหมายถึง ที่ปรึกษานั่นแหละครับ ถ้าที่ปรึกษาตั้งเอาไว้มากๆ อาศัย "อิทธิพล" ของนักการเมือง แสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้อง เบียดเบียนรังแกคนอื่นอย่างนี้เขาเรียกว่า "ผู้แวดล้อมเป็นพิษ" ครับ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๒)  โมคคัลลานสูตร
พระโมคคัลลานะ หลังจากบวชแล้ว ได้บำเพ็ญเพียรทางจิตอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ รู้สึกง่วงเหงาหาวนอนอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงวิธีแก้ง่วงให้ท่านโมคคัลลานะ ดังนี้
๑. มีสัญญาอย่างไรอยู่ เกิดความง่วง ก็ให้ทำในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก หมายถึงว่าถ้าเรากำหนดหมาย
    หรือนึกคิดเรื่องใดแล้วรู้สึกง่วง ก็ให้นึกคิดเรื่องนั้นให้มากกว่าเดิมแล้วความง่วงจะหาย
๒.ถ้าไม่หายให้ตรึกตรองพิจารณาข้อความหรือเรื่องราวที่ได้ฟังมา หรือเล่าเรียนมาแล้วจะหาย
๓. ถ้ายังไม่หายให้ท่องข้อความ เช่น ตำราที่กำลังอ่านอยู่นั้นออกมาดังๆ การเปล่งเสียงดังๆ จะทำให้หายง่วงได้
๔. ถ้ายังไม่หายให้ยอนหูทั้งสองข้าง หมายถึง เอาอะไรแยงหูให้ความง่วงหายไป
๕. ถ้ายังไม่หายให้เอาฝ่ามือลูบตามตัว จะทำให้ตื่นตัวหายง่วงได้
๖. ถ้ายังไม่หายให้คำนึงถึง "เอาโลกสัญญา" หมายถึง นึกถึงแสงสว่าง ถึงจะนั่งอยู่ในที่มืดในยามราตรี
    ก็นึกว่ากำลังนั่งอยู่ตอนกลางวันพระอาทิตย์กำลังแผดแสงจ้า ความง่วงจะหายไป
๗. ถ้ายังไม่หาย ก็ให้เดินจงกรม คือลุกขึ้นเดินกลับไปกลับมา สักพัก ความง่วงจะหายไป
๘. แต่ถ้าลุกเดินแล้วยังง่วงอยู่ แสดงว่าง่วงเต็มทีแล้ว ก็ให้เข้า นอนเสีย

พระสูตรนี้ชื่อ โมคคัลลานสูตร ให้ข้อคิดดี นักเรียน นักศึกษา เวลาดูหนังสือแล้วง่วง ลองนำเอาไปปฏิบัติดูครับ ทำตามคำแนะนำเป็นข้อๆ บางคนทำมาถึงข้อ ๓-๔ ก็คงหายง่วง บางคนอาจจะทำถึงข้อ ๗ ก็หายง่วง

ส่วนคนไหนทำจนครบแล้วยังไม่หายแสดงว่าง่วงเต็มแก่ นอนซะ รับรองแก้ง่วงได้ชะงัดแล •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๓)  อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต

"ภิกษุทั้งหลาย ถึงบุตรจะยก บิดา มารดา ไว้บนบ่าทั้งสองของตน ปรนนิบัติท่านทั้งสอง ด้วยการอบกลิ่น นวด อาบน้ำให้ ให้ท่านทั้งสองถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะรดตลอดร้อยปี แม้อย่างนี้ก็ยังไม่ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณของบิดา มารดา เลย

อีกประการหนึ่ง บุตรจะพึงสถาปนา บิดา มารดา ในราชสมบัติในแผ่นดินใหญ่อันมีแก้ว ๗ ประการ

แม้อย่างนี้ก็ยังไม่ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณ บิดา มารดาเลย เพราะบิดา มารดา มีบุญคุณมาก เป็นผู้เลี้ยงดูบุตร และเป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย

ส่วนบุตรคนใดช่วยให้ บิดา มารดา ผู้ไม่มีศรัทธา กลับมีศรัทธา ไม่มีศีล กลับเป็นผู้มีศีล, ผู้ตระหนี่ กลับเป็นผู้ไม่ตระหนี่ บริจาคทานเป็นนิตย์, ไม่มีปัญญา กลับเป็นผู้มีปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุ ๔ ประการนี้แหละ บุตรได้ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณบิดา มารดา"

ข้อความนี้จาก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต แสดงถึงคุณของพ่อแม่ที่มีต่อลูกมากมาย สุดจะยกมากล่าว ตัวอย่างที่ทรงยกมาว่า ถึงบุตรจะให้พ่อแม่อยู่บนบ่า ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะรดถึงร้อยปีก็ทดแทนคุณไม่ได้นั้น ในความเป็นจริงคงไม่มีใครทำได้ แต่ทรงต้องการบอกว่า ถึงไม่มีใครทำอย่างนี้จริงๆ ก็ไม่สามารถตอบแทนคุณพ่อแม่ได้

ทางเดียวที่จะทดแทนได้ก็คือ ลูกที่ สามารถกลับใจพ่อแม่ให้เป็นคนดีมีศีลธรรม คือให้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย มีศีล มีความยินดีในการบริจาคทานและมีปัญญา ดังกรณีพระสารีบุตรเทศน์สอนมารดาผู้เป็นมิจฉาทิฐิ ให้หันมาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะได้ในนาทีสุดท้ายก่อนท่านจะดับขันธ์

มีบางคนพยายามจะบอกว่า พ่อแม่ที่สักแต่ให้กำเนิดมาไม่ได้เลี้ยงดูลูก ไม่มีบุญคุณ หรือถึงมีก็ไม่มากนั้น ขอให้รำลึกว่า ทั้งเนื้อทั้งตัวทั้งชีวิตจิตใจที่มีมาและยืนหยัดอยู่ได้ในโลกนี้ ล้วนสิ่งที่พ่อแม่ให้มาทั้งนั้น เพียงแค่นี้ก็บุญคุณเหลือจะพรรณนาแล้ว

ถ้าเขาเอาขี้เถ้ายัดปากทันทีที่เกิดมาจะมีโอกาสมาลอยหน้าลอยตาอย่างนี้หรือ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๔)  มิคาลสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุรูปหนึ่งนามว่ามิคชาละ ขณะเข้าเฝ้าพระเชตวัน พระมิคชาละกราบทูลถามว่า อย่างไรภิกษุเรียกว่าอยู่คนเดียว อย่างไรเรียกว่ามีเพื่อน

พระพุทธองค์ตรัสว่า "มิคชาละ" รูปที่เห็นด้วยตา น่ารัก น่าใคร่ ชวนให้กำหนัด ถ้าภิกษุยินดีก็มีความเกี่ยวข้อง ภิกษุมีความเพลิดเพลินและเกี่ยวข้อง ชื่อว่า "มีเพื่อน"

มิคชาละ ภิกษุผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน ไม่มีความกำหนัด ไม่เกี่ยวข้องในรูปที่เห็นด้วยตาอันน่ารัก น่าใคร่ ชวนให้กำหนัดดังกล่าว เรียกเรียกว่า "ชอบอยู่คนเดียว"

ภิกษุผู้ชอบอยู่คนเดียวอย่างนี้ ถึงจะอยู่ท่ามกลางภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ก็ยังเรียกว่า "ชอบอยู่คนเดียว" เพราะเธอไม่มีตัณหาเป็นเพื่อน

ข้อความนี้คัดจาก มิคาลสูตร จะเรียกว่าเป็น "ปริศนาธรรม" หรือ "โกอาน" ก็ได้ เพราะมิได้ตรัสตรงๆ ชนิดที่ฟังแล้วเข้าใจทันที ต้องพินิจพิจารณาจึงจะเข้าใจความหมายที่ทรงประสงค์ในแนวคิดทั่วไป พระภิกษุผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา พึงปลีกตัวเข้าป่าหาความวิเวกบำเพ็ญเพียรภาวนา ไม่พึงคลุกคลีด้วยหมู่คณะ อันจักทำให้ฟุ้งซ่านเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจิต ในพระสูตรหลายแห่งตรัสสรรเสริญภิกษุผู้มีบริขารน้อย ใช้ชีวิตอย่างเบาสบาย ไม่ติดถิ่น ไปไหนไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง "ดุจดังนกบินจากคอน" หรือ "ดุจนอแรด" (คืออยู่คนเดียว ดุจนอแรดมีนอเดียว)

การอยู่คนเดียวในด้านกายภาพ ยังนับว่าดี แต่ถ้าสามารถอยู่คนเดียวในทางจิตก็วิเศษ คือ ไม่ได้อยู่ด้วยกิเลสตัณหา

ผู้ที่ไม่ตกเป็นทาสกามคุณ ถึงจะอยู่ท่ามกลางคนหมู่มากก็ยังเรียกว่า "อยู่คนเดียว" เพราะไม่มีเพื่อนคือ กิเลสตัณหาคอยชักจูงไปในทางชั่วเสียหาย •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๕)  พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์
"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชั่วบางรูป รวบรวมสมัครพรรคพวกได้จำนวนมากแล้วล้อมหน้าล้อมหลังด้วยผู้คนเหล่านั้น จาริกไปยังคามนิคมราชธานี มีคฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา อ่อนน้อม ได้จีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เป็นจำนวนมาก นี้คือมหาโจรประเภทหนึ่ง

ภิกษุชั่วบางรูป เรียนพระธรรมวินัยที่พระศาสดาประกาศสั่งสอนแล้ว โกหกคนอื่นว่าตนไม่ได้เรียนมาจากใคร นี้เป็นมหาโจรประเภทที่สอง

ภิกษุชั่วบางรูป ใส่ความเพื่อนพรหมจารี (เพื่อนภิกษุด้วยกัน) ผู้บริสุทธิ์ด้วยข้อหาประพฤติผิดพรหมจรรย์อันไม่มีมูล นี้เป็นมหาโจรประเภทที่สาม ภิกษุชั่วบางรูป ถือเอาของสงฆ์ที่เป็นครุภัณฑ์ เช่น อาราม ที่ตั้งอาราม วิหาร ที่ตั้งวิหาร เตียง ตั่ง เป็นต้น ไปสงเคราะห์ คฤหัสถ์ เพื่อประจบเขา (เพราะเห็นลาภ) นี้เป็นมหาโจรประเภทที่สี่

ภิกษุชั่วบางรูป อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน (เช่น อวดว่าบรรลุผลขั้นนั้นขั้นนี้) นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ห้า นับว่าเป็นยอดมหาโจร เพราะบริโภคข้าวชาวบ้านด้วยอาการแห่งขโมย"

พุทธวจนะนี้ตรัสไว้ใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เนื่องจากภิกษุจำนวนหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ใกล้แม่น้ำวัด คุมุทา บังเอิญเกิดข้าวยากหมากแพง บิณฑบาตไม่พอฉัน จึงออกอุบายหลอกลวงชาวบ้าน เช่น พูดบอกเขาว่าพระรูปนี้เป็นพระโสดาบัน รูปนั้นเป็นสกทาคามี... ชาวบ้านหลงเชื่อก็นำข้าวปลาอาหารมาถวาย อยู่ดีสบายกันถ้วนหน้า พระพุทธองค์ทรงทราบทรงตำหนิว่า พวกเธอประพฤติตนเป็นยอดมหาโจรหลอกลวงกินข้าวชาวบ้าน จึงทรงบัญญัติ ปาราชิก ข้อที่สี่ ห้ามอวดอุตริมนุสธรรม

มหาโจรธรรมดาเวลาเข้าปล้น ใครเห็นก็รู้ทันที เพราะพกอาวุธ แต่มหาโจรมาในคราบผู้ทรงศีล ดูยังไงก็ไม่ออก กว่าจะรู้ว่าเป็นมหาโจร ก็ถูกปล้นเสียจนหมดใจ แหละครับ เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกว่า "ยอดมหาโจร"

จะไปโทษมหาโจรแกก็ไม่ได้ ก็โง่ให้เขาปล้นเอง •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๖)  อัคคิขันโชปมสูตร
"ภิกษุยอมตาย หรือรับทุกข์เจียนตาย เพราะนอนกอดกองไฟ ยังดีกว่าเป็นคนทุศีล, ยอมให้เขาเอาเชือกขนสัตว์พันแข้งชักไปมา ให้มันบาดจนถึงเยื่อในกระดูก ดีกว่าเป็นคนทุศีลแล้วยินดีการกราบไหว้ของปวงชน, ยอมให้เขาเอาแผ่นเหล็กแดงลุกโชนนาบตัว ยังดีกว่าเป็นคนทุศีล, ยอมให้เขาเอาหอกแทงที่หว่างอก ยังดีกว่าเป็นคนทุศีลห่มจีวรที่ปวงชนถวายด้วยศรัทธา

ภิกษุยอมกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ลุกโชน ยังดีกว่าเป็นคนทุศีลกลืนกินข้าวของชาวบ้านชาวเมืองที่เขาถวายด้วยศรัทธา, ยอมนั่งนอนบนเตียงตั่งเหล็กแดงที่ลุกโชน ดีกว่าเป็นคนทุศีลใช้สอยเตียงตั่งที่ปวงชนเขาถวายด้วยศรัทธา

ภิกษุยอมให้เขาจับหัวห้อยลงต้มในหม้อโลหะอันร้อน ยังดีกว่าเป็นคนทุศีลอยู่ในวิหารที่ผู้มีจิตศรัทธาสร้างถวาย"

พระดำรัสของพระพุทธองค์ตอนนี้อยู่ใน อัคคิขันโชปมสูตร ตรัสสอนภิกษุจำนวนหนึ่ง หลังจากฟังจบบางรูปก็กระอักเลือดอุ่นๆ ออกมา เพราะตนทุศีล อีกจำนวนหนึ่งลาสิกขาอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีศีลบริสุทธิ์จิตหลุดพ้นจากกิเลส

ศาสนาของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งบริสุทธิ์พระองค์จึงทรงตำหนิคนทุศีลอย่างแรงว่า "เป็นคนสกปรก นึกกินแหนงตัวเอง รกชัฏภายใน เน่าใน ห่อหุ้มด้วยเครื่องหมายสมณะก็ไม่เป็นสมณะขจัดรากเหง้าของตนเอง"

ขณะเดียวกัน ก็ทรงสรรเสริญผู้มีศีลไว้มากมาย จะมาเสนอคราวหน้าครับ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๗)  ขุททกนิกาย ธรรมบท ท่อนสุดท้ายคัดจาก วิสุทธิมรรค ภาค ๑
(๑) "กลิ่นบุปผชาติหอมทวนลมไม่ได้ กลิ่นจันทร์ กฤษณา หรือดอกมะลิ ก็หอมทวนลมไม่ได้ แต่กลิ่นสัตบุรุษหอมฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศ จันทร์ กฤษณา ดอกอุบล กะลำพัก ที่ว่าหอมแล้วยังสู้กลิ่นหอมของศีลมิได้ กฤษณา หรือจันทร์ มีกลิ่นหอมน้อยนัก แต่กลิ่นหอมของท่านผู้ทรงศีลประเสริฐนัก หอมฟุ้งกระทั่งถึงทวยเทพยดา"

(๒) "ศีลของภิกษุใดหมดจดดีแล้ว การบวชของเธอนั้นจัดว่ามีผล การทรงบาตรของเธอย่อมนำมาซึ่งความเลื่อมใส ภัยเช่นการติเตียนตนเป็นต้นไม่เกิดกระทบใจเธอผู้บริสุทธิ์ ดุจความมืดไม่อาจกระทบแสงอาทิตย์

ภิกษุงดงามในพรหมจรรย์เพราะมีศีล เหมือนพระจันทร์งามกลางหาว เพราะรัศมียองใย เพียงกลิ่นกายของผู้มีศีลยังทำความปราโมทย์แก่เหล่าเทวดา ไม่จำต้องพูดถึงกลิ่นศีล กลิ่นศีลย่อมครอบงำกลิ่นคันธชาติทั้งปวงหอมตลบไปทั่วสารทิศ

สักการะน้อยๆ ที่ทายกถวายผู้มีศีลย่อมมีผลมาก เพราะท่านเป็นภาชนะควรรับสักการะอาสวกิเลส ครอบงำผู้มีศีลไม่ได้ ผู้มีศีลย่อมขุดรากเหง้าของทุกข์อันจะเกิดข้างหน้าได้

สมบัติใดในหมู่มนุษย์และทวยเทพ สมบัตินั้นถ้าผู้มีศีลปรารถนาก็ไม่เป็นของยาก ใจของผู้มีศีลย่อมเล่นไปสู่พระนิพพาน คือความดับกิเลสได้สนิท เป็นความเยือกเย็นใจอย่างยิ่ง"

ข้อความท่อนแรกคัดจาก ขุททกนิกาย ธรรมบท ท่อนสุดท้ายคัดจาก วิสุทธิมรรค ภาค ๑ ฝากไว้ให้คิดว่า ผู้ทรงศีลนั้นแม้กลิ่นกายก็ยังหอม เป็นที่ชื่นชมของเทพยดาทั้งหลาย แล้วกลิ่นศีลจะหอมแค่ไหน ผู้ทรงศีลย่อมหอมไกลและหอมทน ตายไปแล้วกี่ปีๆ ก็ยังหอมอยู่ในใจของผู้หวนระลึกถึง

ต่างจากคนทุศีล เน่าตั้งแต่ยังไม่ตาย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๘)  จูฬตัณหาสังขยสูตร
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ากล่าวโดยย่อ ภิกษุปฏิบัติได้แค่ไหน จึงเชื่อว่าหลุดพ้นจากตัณหา มีความสำเร็จอย่างยิ่ง ปลอดโปร่งจากกิเลสรึงรัดใจเป็นผู้ประเสริฐยิ่งบรรลุจุดหมายปลายทางแห่งชีวิต ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย"

"ดูก่อนจอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ภิกษุนั้นรู้สิ่งทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นรู้ด้วยปัญญายิ่งแล้ว ก็กำหนดรู้สิ่งทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้สิ่งทั้งปวงแล้วไม่ว่าเธอจะเสวยเวทนาใดๆ จะเป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ เธอย่อมพิจารณาเห็นว่ามันไม่เที่ยงแท้ พิจารณาเห็นความจางคลาย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาทั้งหลาย

เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งใดในโลก เมื่อไม่ยึดมั่นก็ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่นก็ดับเย็นได้เฉพาะตัว เพราะรู้ชัดว่า ไม่ต้องเกิดอีกต่อไปแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุดแล้ว ได้ทำกิจควรทำแล้ว ไม่มีอะไรที่จะทำต่อไปอีกแล้ว"

ข้อความนี้มีใน จูฬตัณหาสังขยสูตร พระอินทร์เข้าไปกราบทูลถามว่า ถ้าจะว่าโดยย่อที่สุดพระปฏิบัติได้แค่ไหนจึงจะหมดกิเลสตัณหา พระพุทธองค์ตรัสว่า ต้องไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เมื่อเห็นสรรพสิ่งเป็นอนิจจัง ก็จะหน่าย คลายจาง ไม่ยึดติดและดับกิเลสได้สนิท สงบเย็นในที่สุด

อาจารย์เซ็นท่านหนึ่ง ไปเยี่ยมศพอาจารย์เพื่อนกันที่ถึงแก่มรณภาพใหม่ๆ เห็นบรรดาศิษย์ร้องไห้คร่ำครวญต่อหน้าศพอาจารย์ของตน ท่านจึงเดินเอาไม้เท้าเคาะโลง พูดดังๆ ว่า "คุณนี่ใช้ไม่ได้จริงๆ สอนลูกศิษย์อย่างไรจึงทำให้เขายึดติดถึงขนาดนี้ คุณตายแล้ว พวกเขายังไม่วางคุณเลย" ว่าแล้วก็เดินจากไป

ยกมาเป็นอุทาหรณ์สำหรับชาวพุทธครับ การยึดติดไม่ว่ายึดติดสิ่งใด สวนทางนิพพานทั้งนั้น อย่าว่าแต่ยึดติดในอาจารย์เลย แม้กระทั่งยึดติดในความดี ก็เป็นการยึดอย่างหนึ่ง และแกะออกยากกว่าสิ่งใดเสียอีก •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๖๙)  อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
"ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตทั้งหลาย (หมายถึงพระพุทธเจ้า) จะอุบัติขึ้นมาหรือไม่ก็ตาม หลักนั้นยังคงมีอยู่เป็นหลักธรรมดา เป็นกฎธรรมดา

หลักที่ว่านี้คือ สังขาร (สิ่งปรุงแต่ง, สิ่งผสม) ทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา

ตถาคตเข้าถึงหลักนั้น จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผยแจกแจง ทำให้เข้าใจง่ายว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกข์ สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา"

พุทธวจนะนี้มีอยู่ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ตรัสสอนว่า สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมาตามเหตุปัจจัย ตกอยู่ในกฎธรรมดา คือ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกันหมด พูดให้ฟังง่ายก็คือ สรรพสิ่งมีการแปรเปลี่ยน ดับสลายไปตามธรรมดา ไม่มีตัวตนและไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวตน

หลักธรรมดานี้เป็นสากล ไม่ขึ้นอยู่กับใคร แม้พระพุทธเจ้าเองท่านก็บอกว่า พระองค์เป็นเพียงผู้รู้หลักนั้นแจ่มแจ้งแล้ว เปิดเผยแสดงให้คนทั้งหลายเข้าใจ

"พระพุทธเจ้ามาช่วยให้เราเข้าถึงความจริงนั้นเสร็จแล้วเราก็อยู่กับความจริงนั้น พระพุทธเจ้าทรงทำหน้าที่ของพระองค์นั้น พระองค์ก็ผ่านไป ครูอาจารย์รุ่นหลังก็เช่นเดียวกัน มาช่วยแนะนำให้เรารู้หลักธรรมของพระพุทธเจ้า พาเราเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ก็หมดหน้าที่ของท่าน เราก็ไปฟังพระพุทธเจ้าต่อ เราก็เข้าถึงหลักและอยู่กับหลักความจริงนั้นแล้วก็จบ

ตัวหลักความจริงเป็นมาตรฐาน เป็นของแท้แน่นอน เราจับหลักนี้ได้แล้ว ไม่มีปัญหา ไม่แกว่งมาแกว่งไป เวลานี้คนเราไม่มีหลัก แกว่งไปแกว่งมาตามกระแส แกว่งไปตามบุคคล คนนั้นมา คนนี้มา ฮือฮา อย่างไรก็ฮือฮากันไป เสร็จแล้วพอมีอะไรเกิดขึ้นก็เอาศาสนาไปแขวนไว้กับบุคคล

บุคคลนั้นเสียได้ บุคคลนั้นเป็นอย่างไรไป เราก็พลอยเป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่าไม่มีหลัก"

สามย่อหน้าท้ายนี้เป็นวาทะของพระธรรมปิฎก (ประยุทธ ปยุตฺโต) ครับ เห็นว่าให้ข้อคิดดี และบังเอิญเข้ากับเนื้อหาพระสูตรข้างต้นด้วย จึงนำมาฝากเป็นอนุสติครับ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๐)  จูฬกัมมวิภังคสูตร
พระพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาของ สุภัททะโตไทยบุตร ที่ถามว่าทำไมคนเกิดมาไม่เหมือนกัน ดังนี้

คนที่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการฆ่าสัตว์อื่น ไว้เมตตากรุณาตายไปตกนรก ถ้ามาเกิดอีกก็จะเป็นคนที่อายุสั้น คนที่ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีเมตตากรุณาในหมู่สัตว์จะเกิดมามีอายุยืน

คนที่ชอบเบียดเบียนสัตว์ให้ลำบากด้วยวิธีการต่างๆ ตายแล้วตกนรก ถ้ามาเกิดอีกก็จะเป็นคนขี้โรค ส่วนคนที่ไม่เบียดเบียนสัตว์ เกิดมาก็จะเป็นคนมีโรคน้อย ไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย

คนที่มักโกรธ ขัดเคืองง่าย พยาบาทปองร้ายคนอื่นเสมอ เกิดมาก็จะมีผิวพรรณทราม ส่วนคนที่ไม่มักโกรธ ไม่ขัดเคืองง่าย ไม่พยาบาทปองร้ายคนอื่น เกิดมามีผิวพรรณงดงาม

คนที่มักอิจฉาริษยาคนอื่น ขาดความเคารพนับถือผู้อื่น เกิดมาก็จะมีอำนาจน้อย ส่วนคนที่ไม่ชอบอิจฉาริษยาคนอื่น เคารพนับถือคนอื่น เกิดมาก็จะมีอำนาจมาก

คนที่ขี้เหนียว ไม่ชอบให้ทาน เกิดมาก็จะเป็นคนยากจน ส่วนคนที่ไม่ตระหนี่ ชอบให้ทานอยู่เสมอ เกิดมาก็จะเป็นคนร่ำรวย

คนที่กระด้าง ถือตัว ไม่รู้จักเคารพอ่อนน้อมหรือกราบไหว้คนที่ควรเคารพอ่อนน้อมกราบไหว้ จะเกิดมาในตระกูลต่ำ ส่วนคนที่เคารพอ่อนน้อมกราบไหว้ คนที่ควรเคารพอ่อนน้อมกราบไหว้จะเกิดมาในตระกูลสูง

คนที่ไม่ชอบเสวนากับผู้รู้ ไม่สนใจไต่ถามเรื่องบาปบุญคุณโทษ จะเกิดมาเป็นคนโง่เขลา ส่วนคนที่ชอบเสวนากับบัณฑิต สนใจศึกษาเรื่องบุญกุศล ก็จะเกิดมาเป็นคนฉลาด

ข้อความนี้จาก จูฬกัมมวิภังคสูตร ชี้ให้เห็นว่าคนเราจะเป็นอย่างไรเพราะผลของกรรมที่ทำไว้ เช่น คนอายุสั้นเพราะชาติก่อนชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นคนขี้โรคเพราะชอบเบียดเบียนสัตว์ เป็นต้น ทำอย่างใดย่อมได้อย่างนั้น หรือผลที่คล้ายกันนั้น เพราะฉะนั้น เมื่ออยากได้ผลในทางดีๆ เป็นพอใจ ท่านจึงสอนให้สร้างเหตุปัจจัยที่ดีๆ อันจะอำนวยผลเช่นนั้น

ใครทำใครได้ ทำแทนกันไม่ได้ ความบริสุทธิ์ หรือสกปรกเศร้าหมองเป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำให้คนอื่นบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองไม่ได้ •


(http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๑)  จูฬราหุโลวาทสูตร
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเทน้ำล้างพระบาทแล้วตรัสถามพระราหุล (สามเณรราหุล) ว่า "ดูก่อนราหุล เธอเห็นน้ำที่เราเหลือไว้ในภาชนะหน่อยหนึ่งไหม

พระราหุลกราบทูลว่า "เห็น พระเจ้าข้า"
"ดูก่อนราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ก็มีคุณความดีเหลืออยู่น้อยนิด เหมือนน้ำในภาชนะนี้แหละ" พระพุทธเจ้าตรัสแล้วจึงเทน้ำที่เหลือน้อยหนึ่งนั้นทิ้ง แล้วตรัสถามพระราหุลว่า
"ราหุล เธอเห็นน้ำหน่อยหนึ่งที่เราเททิ้งไหม"
"เห็น พระเจ้าข้า" พระราหุลกราบทูล
"เช่นเดียวกันนั่นแหละ ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมเทคุณความดีที่มีอยู่ทิ้งไปหมดเหมือนเทน้ำจากภาชนะจนหมด"

เสร็จแล้วพระองค์ทรงคว่ำภาชนะลง ตรัสถามพระราหุลว่า "ราหุล เธอเห็นภาชนะที่คว่ำนี้หรือไม่"
"เห็น พระเจ้าข้า" พระราหุลกราบทูล
"เช่นเดียวกันนั่นแหละ ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้คุณความดีของเขาย่อม "คว่ำ" หมด"

ต่อจากนั้นพระองค์ทรงหงายภาชนะเปล่าขึ้น แล้วตรัสถามว่า "ราหุล เธอเห็นภาชนะเปล่านี้ไหม"
"เห็น พระเจ้าข้า" ราหุลกราบทูล
"เช่นเดียวกันนั่นแหละ ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ก็มีแต่ความว่างเปล่า ไม่เหลือคุณความดีอะไรในตัวเลย"

ข้อความนี้จาก จูฬราหุโลวาทสูตร ให้ข้อคิดว่า คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ว่ามันไม่ดี นับว่าทำลายคุณงามความดีเสียหมดสิ้น สมกับพระพุทธภาษิตแห่งหนึ่งว่า "คนพูดเท็จจะไม่ทำความชั่วเป็นไม่มี"

พูดเท็จเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวนับว่าเลวแล้ว พูดเท็จเพื่อทำลายผู้อื่นจะเลวขนาดไหน•



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๒)  อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต - สังยุตต นิกาย ธันธวารวรรค
"ดูก่อนคหบดี ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นสิ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นของได้มายากในโลก คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ ธรรม ๕ ประการนี้ ถ้าจะมีได้เพราะการอ้อนวอนหรือตั้งความปรารถนาแล้วไซร้ ใครเล่าในโลกนี้จะพึงเสื่อมจากอะไร

ดูก่อนคหบดี อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุยืน ไม่พึงอ้อนวอนหรือมัวเพลินเพราะการอยากอายุยืนนั้นเลย อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุยืน พึงปฏิบัติข้อปฏิบัติที่จะเป็นไปเพื่ออายุยืน เพราะข้อปฏิบัติอันเป็นไปเพื่ออายุยืนที่ปฏิบัติแล้วนั่นแหละอริยสาวกนั้นย่อมได้อายุยืน ไม่ว่าจะเป็นของทิพย์ หรือของมนุษย์

ผู้ปรารถนาวรรณะ...สุข...ยศ...สวรรค์ ก็พึงปฏิบัติข้อปฏิบัติ ที่จะเป็นไปเพื่อวรรณะ....สุข...ยศ...สวรรค์

"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่หมั่นประกอบความเพียงในการฝึกจิต ถึงจะปรารถนาว่า "ขอให้จิตของเราหลุดพ้นจากอาสวะเถิด" จิตของเธอก็หาหลุดพ้นไม่เหมือนไข่ไก่ ๘ ฟอง หรือ ๑๐ ฟอง ที่แม่ไก่ไม่นอนทับ ไม่กก ไม่ฟัก ถึงแม่ไก่จะปรารถนาว่า ขอให้ลูกไก่จงเอาจะงอยปาก หรือปลายเล็บจิกหรือทำลายเปลือกไข่ออกมาเถิด ลูกไก่ก็หาออกมาได้ไม่"

พุทธวจนะท่อนแรกมาจาก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ท่อนสุดท้ายมาจาก สังยุตต นิกาย ธันธวารวรรค คัดมารวมกันไว้เพื่อชี้ประเด็นว่า ไม่ควรฝากชีวิตไว้กับความหวังลมๆ แล้งๆ หรือการอ้อนวอน ถ้าทุกอย่างมีได้เป็นได้ด้วยการอ้อนวอน หรือหวังแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ใครเล่าจะพึงเสื่อมจากอะไร" หมายความว่าทุกคนก็คงได้สมหวังหมด หวังจากอยากมีรูปงาม มีแฟนสาวๆ ล้อมหน้าล้อมหลังก็คงได้เหมือนกันหมด หวังอยากฉลาดปราดเปรื่องกว่าขงเบ้งผู้หยั่งรู้ดินฟ้าก็ได้เป็นหมด หวังอยากรวยล้นฟ้าก็รวยเหมือนกันหมด แล้วใครมันจะอยากขี้เหร่ อยากโง่ อยากยากจนเล่าครับ

เพียงหวัง เพียงอ้อนวอน ไม่สามารถทำให้คนบรรลุสิ่งต้องการได้ จะต้องลง มือทำ ลงมือปฏิบัติ สร้างเหตุปัจจัยที่อำนวยผลในทางนั้นๆ จึงจะบรรลุถึงได้นี้แล คือ "หลักธรรม" ของพระพุทธองค์ อยากได้อะไร อยากเป็นอะไร ลงมือทำเอาเองเถิด •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66318003791901_11.JPG)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๓)  อังคุตตนิกาย นวกนิบาต
พราหมณ์ผู้ถือลัทธิโลกายัด (ลัทธิวัตถุนิยม) ๒ คน ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า เจ้าลัทธิชื่อ นิครนถ์ นาฏบุตร และเจ้าลัทธิชื่อว่า ปูรณะกัสสปะ ต่างก็อ้างว่าตนเป็น "สัพพัญญู" (ผู้รู้สิ่งทั้งปวง) และเป็น "สัพพหัสสาวี" (ผู้เห็นสิ่งทั้งปวง) รู้เห็นโลกไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยญาณไม่มีที่สิ้นสุด ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองขอกราบทูลถามพระองค์ว่า ทั้งสองท่านนี้ใครพูดเท็จ ใครพูดจริง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ใครจะพูดเท็จ ใครจะพูดจริง ช่างเขาเถอะ เราจะแสดงธรรมให้ท่านทั้งสองฟังดีกว่า" แล้วพระองค์ตรัสต่อไปว่า
"บุรุษ ๔ คน มีฝีเท้าเร็วอย่างยิ่ง ออกวิ่งหาที่สุดโลกโดยไม่พักเลย แม้มีอายุถึง ๑๐๐ ปี ก็จะตายเสียก่อนถึงที่สุดโลก ใน "อริยวินัย" นี้ คำว่า "โลก" หมายถึง กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎิฐัพพะ (สัมผัส) ธรรมารมณ์ (ความคิดคำนึง) อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวนชวนให้กำหนัด ภิกษุผู้สงัดจากกาม (คือ ปลีกกลายปลีกใจออกจากกาม) สงัดจากอกุศลธรรม ได้บรรลุรูปฌาน ๔ (ฌานที่ได้จากการเพ่งรูปธรรม) อรูปฌาน ๔ (ฌานที่ได้จากการเพ่งอรูปธรรม) และสัญญาเวทยิตนิโรธ เข้าฌานสมาบัติถึงขั้นดับสัญญา หรือความจำ และเวทนา หรือความเสวยอารมณ์ได้) บรรลุเป็นพระอรหันต์หมดสิ้นอาสวะ ภิกษุเช่นนี้แหละ จึงจะเรียกว่า ได้ไปถึงที่สุดแล้ว"

พุทธวจนะนี้มาจากอังคุตตนิกาย นวกนิบาต ให้ข้อคิดว่า ถึงใครคิดพิสดารว่าจะแสวงหาที่สิ้นสุดของโลก โดยวิธีใดก็ตาม ไม่สามารถค้นพบได้ (หรือถึงจะค้นพบได้ ก็เป็นโลกภายนอก ไม่นับว่าถึงที่สุดจริงๆ) โลกจริงๆ คือ "โลกภายใน" ถ้าใครละกามคุณได้ บำเพ็ญสมาธิภาวนาจนได้ฌานขั้นต่างๆ แล้วบรรลุอรหัต หมดกิเลสตัณหาโดยสิ้นเชิง จึงจะนับว่าได้ค้นพบที่สุดโลกจริงๆ

ในพระสูตรอีกสูตรหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า "โลกก็คือทุกข์ ที่สุดโลกก็คือความสิ้นทุกข์" เพราะฉะนั้นที่สิ้นสุดโลกจึงไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการไป แต่จะเข้าถึงได้ด้วยการ "ไม่ไป" คือ หยุด หรือลด ละ เลิก กิเลส ตัณหา•



หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 10:56:32
(http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95976198671592_imagesCA9JTCPF.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๔)  อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
"ภิกษุทั้งหลาย มีคนอยู่ ๓ ประเภท คือ ๑. ผู้หมดหวัง ๒. ผู้มีหวัง และ ๓. ผู้ไม่มีหวัง มีอธิบายอย่างไร

บางคนเกิดในตระกูลต่ำ เช่น ตระกูลจัณฑาล...มีข้าวน้ำและโภชนาน้อย เป็นอยู่อย่างลำบาก มีผิวพรรณไม่ดี มีโรคมาก เป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา...เมื่อสดับข่าวว่าบุคคลชื่อนั้นชื่อนี้ได้รับมุรธาภิเษกเป็นกษัตริย์ เขามิได้คิดหวังเลยว่า สักวันหนึ่งตนคงได้รับมุรธาภิเษกเช่นนั้นบ้าง คนเช่นนี้เรียกว่า "ผู้หมดหวัง" (ในทางโลก)

ภิกษุบางรูป เป็นคนทุศีล มีธรรมทราม ไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการกระทำที่ต้องปกปิดไม่ใช่สมณะ ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ปฏิญาณตนว่าประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน มีกิเลสมาก รุงรังดุจหยากเยื่อ ที่สางได้ยาก เธอได้ฟังข่าวว่า ภิกษุชื่อนั้นชื่อนี้ได้บรรลุธรรม หาอาสวะมิได้มิได้คิดเลยว่า สักวันหนึ่งตนจะต้องเป็นเช่นนั้นบ้าง ภิกษุเช่นนี้ เรียกว่า "ผู้หมดหวัง" (ในทางธรรม)

บางคนเกิดในตระกูลกษัตริย์ ได้รับทราบข่าวว่า เจ้าชายชื่อนั้นชื่อนี้ได้รับมุรธาภิเษกเป็นกษัตริย์แล้วย่อมมีความหวังว่า สักวันหนึ่งตนคงเป็นเช่นนั้นบ้าง บุคคลเช่นนี้เรียกว่า "ผู้มีหวัง" (ในทางโลก)

ภิกษุบางรูป เป็นผู้มีศีล มีธรรมดีงาม ได้ฟังข่าวว่า ภิกษุชื่อนั้นชื่อนี้ได้บรรลุธรรม หาอาสวะมิได้แล้วย่อมมีความหวังว่า สักวันหนึ่งตนก็คงได้บรรลุธรรมเช่นนั้นบ้าง ภิกษุเช่นนี้เรียกว่า "ผู้มีหวัง" (ในทางธรรม)

พระราชาผู้ได้รับมุรธาภิเษกเป็นกษัตริย์แล้ว ได้ยินว่าเจ้าชายชื่อนั้นชื่อนี้ได้เป็นกษัตริย์แล้ว ย่อมได้คิดอยากเป็นพระราชา เพราะตนได้เป็นก่อนแล้ว พระองค์ไม่จำเป็นต้องหวังอีกต่อไป อย่างนี้เรียกว่า "ผู้ไม่หวัง" (ในทางโลก)

ภิกษุผู้เป็นอรหันต์แล้ว แม้จะได้ยินว่า มีภิกษุชื่อโน้นชื่อนี้ได้เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่หวังอยากเป็นเช่นนั้น เพราะตนได้เป็นเรียบร้อยแล้ว อย่างนี้เรียกว่า "ผู้ไม่หวัง" (ในทางธรรม)

ข้อความนี้จาก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สรุปสั้นๆ ว่า ภิกษุทุศีลเป็นคน "หมดหวัง" ภิกษุมีศีลเป็นคน "มีหวัง" พระอรหันต์เป็นคน "ไม่หวัง" ใครอยากเป็นคนประเภทไหนก็เลือกเอาเทอญ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95976198671592_imagesCA9JTCPF.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๕)  อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายวันหนึ่งว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีบุคคลอยู่ ๓ ประเภท คือ คนตาบอดสนิท คนตาบอดข้างเดียว และคนตาดีทั้ง สองข้าง"

พระองค์ทรงอธิบายต่อไปว่า "คนตาบอดสนิท" หมายถึงคนที่ไม่สามารถตั้งเนื้อตั้งตัวทางทรัพย์สิน ไม่สามารถทำทรัพย์สมบัติของตระกูลให้เจริญไพศาลได้ และไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ (นี้เป็นคนตาบอดสนิททั้งทางโลกและทางธรรม)

"คนตาบอดข้างเดียว" หมายถึงคนที่ประสบความสำเร็จในทางแสวงหาทรัพย์สิน และทำความเจริญงอกงามแก่ทรัพย์สินที่หามาได้นั้น แต่ล้มเหลวทางศีลธรรม ไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ (นี้เรียกว่าไม่บอดทางโลกแต่บอดทางธรรม)

"คนตาดีทั้งสองข้าง" หมายถึงคนที่ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ทางทรัพย์สิน และประสบความสำเร็จในทางธรรม คือ รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ (นี้เรียกว่าทางโลกก็ไม่บอด ทางธรรมก็ ไม่บอด)

ข้อความนี้จาก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต คัดมาจากเครื่องเตือนใจ ควรแยกว่าคฤหัสถ์กับบรรพชิตไม่เหมือนกัน ชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์นั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้แสวงหาทรัพย์สินในทางทุจริต เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวและเพื่อเจือจานสังคม ไม่เคยสอนให้คฤหัสถ์ทำตนเป็นคนยากจน แต่ทรงเน้นว่า เมื่อร่ำรวยแล้วให้สละทรัพย์สินที่มีช่วยเหลือสังคม เมื่อประสบความสำเร็จทางทรัพย์สินแล้วก็ให้ก้าวไปสู่ความเจริญทางคุณธรรมด้วย อย่างนี้จึงจะชื่อว่า "คนตาดีทั้งสองข้าง" ส่วนภิกษุนั้นทรงสอนให้มักน้อยในปัจจัยสี่ แต่พัฒนาทางจิตใจ ลด ละ กิเลสตามลำดับจนหมดสิ้นไปในที่สุด

คฤหัสถ์ชาวพุทธเป็นอาเสี่ยน่ะดี แต่พระภิกษุจะทำตนเป็น "หลวงเสี่ย" มีแต่ทางเสียครับ•



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95976198671592_imagesCA9JTCPF.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๖)  ธนัญชานิสูตร
พระสารีบุตรอัครสาวก ได้ทราบว่า ธนัญชานิพราหมณ์ อยู่ด้วยความประมาทจึงไปเยี่ยมถามว่า "ท่านอยู่ด้วยความไม่ประมาทหรือไม่" พราหมณ์ตอบว่า "จะไม่ประมาทได้อย่างไร ข้าพเจ้ามีบุตร ภรรยา บิดา มารดา ข้าทาส และคนรับใช้ต้องเลี้ยงดู ต้องรับใช้มิตรและอำมาตย์ ทำหน้าที่สงเคราะห์ญาติ ต้อนรับแขก ต้องทำบุญบวงสรวงเทพยดา อุทิศส่วนกุศล แก่บรรพชน และต้องบำรุงบำเรอร่างกายตนเองให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดี"

พระสารีบุตรถามว่า "คนที่ประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะอ้างว่าทำเพื่อบิดา มารดา บุตร ภรรยา เป็นต้น ตายไปแล้ว นายนิรยบาลจะโยนลงนรก จะอ้างได้ไหม ถึงจะอ้างว่าอย่างไร นายนิรยบาลก็คงไม่ฟัง คงไล่เขาลงสู่นรกอยู่นั้นเอง"

พระสารีบุตรถามว่า "คนประพฤติชอบธรรม เพื่อบิดา มารดา บุตร ภรรยา เป็นต้น กับคนประพฤติไม่ชอบธรรม เพื่อบิดา มารดา บุตร ภรรยา เป็นต้น คนไหนจะประเสริฐกว่ากัน" พราหมณ์รับว่า "คนแรกประเสริฐกว่า"

พระสารีบุตรกล่าวสอนว่า "ยังมีการงานอย่างอื่นอีกมากมายที่บุคคลจะพึงทำเพื่อเลี้ยงตนเอง และบิดา มารดา บุตร ภรรยา เป็นต้นให้มีความสุข โดยไม่ต้องทำบาปกรรม"

พระสูตรนี้ชื่อ ธนัญชานิสูตร ให้ข้อคิดว่า คนทั่วไปก็ไม่ต่างจากพราหมณ์คนนี้ คือ คิดว่า ตนยังมีภาระจะต้องเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว บางครั้งจึงจำต้องทำบาปทำกรรม หรือทุจริตในหน้าที่เพื่อหาเงินมายังชีพ ถ้าไม่ทำอย่างนั้น ก็ไม่รู้จะเอาอะไรกิน แต่ความจริง จะมาอ้างความจำเป็นในการยังชีพมาทำความชั่วหาได้ไม่ เพราะยังมีหน้าที่การงานอย่างอื่นอีกมากมายที่ทำเงินได้ โดยไม่ต้องทุจริตคิดมิชอบ

ในพระสูตรนี้บอกด้วยว่า ภรรยาเก่าที่ตายไปของพราหมณ์เป็นคนมีศีลธรรม ภรรยาใหม่เป็นคนไม่มีศีลธรรม คงจะยุให้พราหมณ์ใช้อำนาจหน้าที่ผิดๆ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวอะไรทำนองนั้น

มีฝากไว้ด้วยว่า คนที่ พ.พ.ม. (พังเพราะเมีย) มีมาก่อนแล้วและยังคงมีต่อไป



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95976198671592_imagesCA9JTCPF.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๗)  อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
"ภิกษุทั้งหลาย มีลัทธินอกพระพุทธศาสนา ๓ ลัทธิ คือ
(๑) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่งที่คนเราได้รับในปัจจุบัน ทั้งหมดล้วนเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน

(๒) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี ที่คนเราได้รับในปัจจุบันทั้งหมดล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระเจ้าผู้เป็นใหญ่

(๓) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี ที่คนเราได้รับในปัจจุบัน ทั้งหมดล้วนหาเหตุปัจจัยมิได้

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลยึดแต่กรรมเก่าเป็นสาระ....ยึดแต่การบันดาลของพระเจ้า ผู้เป็นใหญ่เป็นสาระ...ยึดแต่ความไม่มีเหตุปัจจัยเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ย่อมไม่มี"

พุทธวจนะนี้มาจาก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ฟังคำแปลค่อนข้างเข้าใจยาก ขอถอดความง่ายๆ ว่า มีคนอยู่ 3 จำพวก จำพวกหนึ่งชื่อว่า คนเราจะสุขจะทุกข์ เพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนอย่างเดียว อย่างอื่นไม่เกี่ยว อีกพวกหนึ่งเชื่อว่า เพราะพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลอย่างเดียว อีกพวกหนึ่งว่า มันเป็นไปเองโดยบังเอิญ

ทั้ง ๓ จำพวกนี้ยังเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง "กรรม" ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าเชื่ออย่างนั้นจะไม่มีความคิดที่จะกระทำ หรือปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีกว่าเดิม จะปล่อยไปตามเรื่องตามราวที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นความเชื่อที่ผิด มันผิดตรงนี้แหละครับ

นักเรียนที่เรียนไม่เอาไหน สอบตกแทบทุกวิชามิใช่เพราะกรรมเก่า หรือเพราะเทพเจ้าบันดาลหรือเพราะความบังเอิญดอกครับ เพราะการกระทำของตนเองในปัจจุบันนี้เอง

เรียนก็ไม่สนใจเรียน เอาแต่ชวน กันไป "ซิ่ง" ไปเที่ยว ไปเล่นเกมออนไลน์บ้างจนตาเหล่ ตาเจ็บบ้าง แล้วจะไปโทษสิ่งโน้นสิ่งนี้ได้อย่างไรเล่า ลูกหลานเอ๋ย  •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95976198671592_imagesCA9JTCPF.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๘)  มาคัณฑิยสูตร
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่โรงบูชาไฟของภารทวาชพราหมณ์ ใกล้นิคาของชากุรุ ในกุรุรัฐ ได้ทรงสนทนากับมาคัณฑิยปริพาชก เกี่ยวกับเรื่อง "โทษของกาม" เป็นอเนกประการ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

"มาคัณฑิยะ เปรียบเหมือนบุรุษเป็นโรคผิวหนังร้ายแรง มีตัวเป็นแผลมีตัวสุก มีหมู่กิมิชาติชอนไช เกาปากแผลด้วยเล็บ ย่างกายให้ร้อนด้วยไฟ ปากแผลของเขาสกปรกขึ้น มีกลิ่นและ เน่าขึ้น เขาพึงมีความเอร็ดอร่อย ความพอใจสักหน่อยหนึ่ง เพราะการเกาปากแผลนั้นเป็นเหตุ ฉันใด

สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม ถูกกาม ตัณหาเคี้ยวกินอยู่ ถูกความเร่าร้อนเพราะความ ปรารถนากามแผดเผาอยู่ ยังเสพกามอยู่ สัตว์เหล่านั้นจะพึงมีความเอร็ดอร่อย ความพอใจอยู่บ้างสักหน่อยหนึ่งเพราะอาศัยกามคุณทั้งห้าประการนั้น"

ข้อความนี้มาจาก มาคัณฑิยสูตร คำแปลของท่านอาจฟังยาก ใจความก็คือ คนเป็นโรคผิวหนัง(ในพระสูตรท่านว่าเป็นโรคเรื้อน) เอาแค่โรคหิด โรคกลากก็ได้ มักจะคันยิบๆ ไปทั้งตัว อดที่จะเกาไม่ได้ ขณะเกาก็รู้สึกสบายดี ยิ่งเกาก็ ยิ่งมัน

ความสุขของคนเป็นหิดเป็นกลาก ก็คือสุขจากการเกา ไม่ต่างกับปุถุชนคนมีกิเลส ยังเห็นว่ากามคุณห้า(รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) เป็นของน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ต่างก็แสวงหามาบำรุงบำเรอตน ยิ่งเสพยิ่งบริโภคก็ยิ่งมีความรู้สึกว่ามันหวานมันเสียนี่กระไร ครั้นพระท่านบอกว่ากามคุณทั้งหลายมีสัมผัสร้อน มีทุกข์มาก มีความพอใจน้อย ก็นึกเถียงอยู่ในใจ ยิ่งท่านว่าความสุขจากกามไม่ต่างอะไรกับความสุขจากการเกาหิดเกากลากก็นึกถึงอีก "ถึงยังไงมันก็มันดี"

ต่อเมื่อเกาจนมันเป็นแผลนั่นแหละ จึงจะรู้ว่ามันปวดแสบปวดร้อนอย่างไร



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95976198671592_imagesCA9JTCPF.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๗๙)  นาวาสูตร
"ภิกษุทั้งหลาย รอยนิ้วมือหรือรอยนิ้วหัวแม่มือ ย่อมปรากฏที่ด้ามมีดของนายช่างไม้ แต่นายช่างไม้หารู้ไม่ว่า วันนี้ด้ามมีดของเขาสึกไปประมาณเท่านี้ เมื่อวานนี้สึกไปประมาณเท่านี้ วันก่อนๆ สึกไปประมาณเท่านี้ นายช่างไม้มีความรู้สึกแต่เพียงว่า สึกไปแล้ว สึกไปแล้ว โดยแท้ ข้อนี้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุปฏิบัติธรรมอยู่ ก็หารู้ไม่ว่า วันนี้กิเลสและอาสวะทั้งหลายของเราหมดไปแล้วประมาณเท่านี้ เมื่อวานนี้หมดไปแล้วเท่านี้ วันก่อนๆ หมดไปแล้วเท่านี้

แต่เมื่อกิเลสและอาสวะสิ้นไปหรือหมดไปแล้วนั่นแหละ เธอย่อมรู้ว่า หมดไปแล้ว สิ้นไปแล้ว ฉันนั้นแล"

ข้อความนี้จาก นาวาสูตร ให้ข้อคิดว่า เมื่อเราฝึกฝนอบรมจิต หรือปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติถูกทาง "สิ่งที่ควรลดก็ย่อมลด สิ่งที่ควรเพิ่มก็ย่อมเพิ่ม" สิ่งที่ควรลดก็คือ กิเลสทั้งหลายนั่นแหละ มักจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ ขณะเดียวกัน ปัญญา เมตตา กรุณา และความบริสุทธิ์ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

ไม่รู้หรอกว่ากิเลสมันลดลงวันละเท่าไร แต่เมื่อมันลดลงแล้วนั่นแหละจะรู้เอง เหมือนด้ามมีดที่กำอยู่ทุกวันมันสึกกร่อนลงทีละนิดๆ ไม่รู้หรอก จะรู้ก็ต่อเมื่อมันสึกกร่อนให้เห็นชัดเจนแล้วนั่นแหละ เปรียบอย่างนี้ชาวไร่ ชาวนาที่กำ มีดกำเคียวอยู่เสมอย่อมเข้าใจดี ถ้าจะเปรียบให้ชาวเมืองฟังก็น่าจะเปรียบเหมือนยางล้อรถสึกนั่นแหละครับ

ที่น่าคิดก็คือ กิเลสลดหรือไม่ ตัวเราเท่านั้นที่รู้ดี คนอื่นหารู้ไม่ เพราะฉะนั้นที่ไปชี้ว่าใครเป็นอริยะอรหันต์นั่นนะ ล้วนพวกเบลอๆ ทั้งนั้นแหละ โยมเอ๋ย  •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95976198671592_imagesCA9JTCPF.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๘๐)  สมุททสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมกล่าวว่า "มหาสมุทร" มหาสมุทรที่เขาเรียกนั้น มิใช่มหาสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า มหา สมุทรนั้นเป็นเพียงแอ่งน้ำใหญ่ เป็นเพียงห้วงน้ำใหญ่

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นับเป็น "มหาสมุทร" ของคน กำลังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความคิดคำนึง

บุคคลใดย่อมอดกลั้นกำลัง อันเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความคิดคำนึงนั้นได้ บุคคลนี้เรียกว่าเป็น "พราหมณ์" ในความหมายของพระพุทธศาสนา (พราหมณ์ในความหมายของพระพุทธเจ้าคือ ผู้หมดบาป ผู้ลอยบาปทิ้งแล้ว)

บุคคลนี้สามารถข้ามมหาสมุทรคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นไปยืนอยู่บนบกได้ อยู่จบพรหมจรรย์ถึงที่สุดแห่งโลก ข้ามถึงฝั่งแล้ว"

ข้อความนี้จาก สมุททสูตร ตรัสให้ข้อคิดว่า มหาสมุทรหรือทะเลหลวงที่ว่ากว้างใหญ่มีคลื่นน้ำวนและมีสัตว์ร้ายนานาชนิดตามที่ชาวโลกเขาเรียกกันนั้น ความจริงเป็นเรื่องเล็กใครต่อใครสามารถข้ามได้มานักต่อนักแล้ว แต่ "มหาสมุทร" คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดคำนึงนี่สิ ยากที่จะข้ามได้ง่ายๆ เพราะปุถุชนส่วนมากมักจะหลงติดอยู่ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน เป็นต้น เท่ากับว่าจมอยู่วังน้ำวน ถูกกระแสคลื่นคือ กิเลสพัดพาไปตามยถากรรม

ที่น่าสงสารก็คือ กำลังจะ "จมดิ่งลงสู่ก้นสมุทร" ยังไม่รู้ตัวนี่สิครับ



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95976198671592_imagesCA9JTCPF.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๘๑)  นครวินเทยยสูตร
นักบวชเหล่าใด ยังมีความกำหนัด ความขัดเคือง ความลุ่มหลงในรูปที่เห็นด้วยตา มีความลุ่มหลงในเสียงที่ได้ยินด้วยหู มีความลุ่มหลงในกลิ่นที่ได้ดมด้วยจมูก มีความลุ่มหลงในรสที่ได้ลิ้มด้วยลิ้น มีความลุ่มหลงในสัมผัสที่ได้ถูกต้องด้วยกาย มีความลุ่มหลงในความคิดคำนึงที่เกิดทางใจ มีจิตไม่สงบภายใน ยังประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา และทางใจอยู่

นักบวชเหล่านี้ไม่ควรที่ใครจะสักการะ ไม่ควรเคารพนับถือ และบูชา เพราะเหตุใด? เพราะว่า แม้พวกชาวบ้านยังมีความกำหนัด มีความขัดเคือง มีความลุ่มๆ ดอนๆ ทางกาย ทางวาจา และทางใจอยู่ เมื่อพวกเขาเห็นนักบวช มีความประพฤติไม่ยิ่งไปกว่าเขา เช่นนี้ พวกเขาไม่ควรสักการะ เคารพ นับถือ และบูชา

ถ้านักบวชเหล่าใดประพฤติตนตรงข้ามจากนี้ นักบวชเหล่านั้นจึงควรแก่การสักการะเคารพ นับถือ และบูชา ของชาวบ้านโดยแท้"

ข้อความข้างต้นจาก นครวินเทยยสูตร ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ หมู่บ้านนคร วินเทยยะ ในรัฐโกศล ชาวบ้านมากราบทูลถามว่า นักบวชพวกไหนควรที่พวกเขาจะเคารพนับถือบูชา พระองค์ให้หลักว่า การควรเคารพนับถือบูชานักบวชที่ "บวช" ทั้งกาย และใจ คือออกจากกามารมณ์โดยสิ้นเชิง ถ้านักบวชใดยังมีความกำหนัด ขัดเคืองและหลงอยู่ในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสความคิดคำนึง ก็ไม่ต่างอะไรกับชาวบ้าน

แล้วอย่างนี้จะมีคุณความดีอะไรให้เขากราบไหว้นับถือเล่า •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95976198671592_imagesCA9JTCPF.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๘๒)  พาลสิกสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรานเบ็ดหย่อนเบ็ดที่มีเหยื่อลงในห้วงน้ำลึก ปลาที่เห็นแก่เหยื่อตัวใดตัวหนึ่งกลืนกินเบ็ดนั้น ชื่อว่า กลืนเบ็ดของนายพรานเบ็ด ย่อมถึงความวิบัติ พรานเบ็ดย่อมกระทำเอาตามใจชอบฉันใด

ในโลกนี้มี "เบ็ด" อยู่ 6 อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดคำนึง ที่พึงรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ

ภิกษุใดเพลิดเพลิน สรรเสริญ และหมกมุ่นอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดคำนึงนั้นๆ ภิกษุนั้นเรียกว่า "กลืนเบ็ดของมาร" ย่อมถึงความวิบัติ มารย่อมกระทำเอาตามใจชอบฉันนั้น

ถ้าภิกษุใด ไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ และไม่หมกมุ่นอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดคำนึง ที่พึงรู้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นๆ ภิกษุนั้นเรียกว่า ไม่ได้กลืนเบ็ดของมาร ตรงกันข้ามกับทำลาย ย่ำยีเบ็ดของมารได้ ไม่ถึงความวิบัติ มารใจบาปย่อมทำอะไรตามใจชอบไม่ได้

ข้อความข้างต้นจาก พาลสิกสูตร น่าคิดนะครับ คนเรามักจะกลัว "มาร" คิดภาพเอาว่ามารก็คือปีศาจร้ายที่คอยล้างผลาญคน แต่น้อยคนจะคิดว่า อันที่จริงมารก็อยู่ในตัวเรานี่เอง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความนึกคิด คำนึงของเรานี้เอง ถ้าเราปล่อยให้มันชักจูงไปต่างๆ นานาก็เท่ากับว่า สิ่งเหล่านี้เป็นมารล้างผลาญเรา แต่ถ้าเราสำรวมระวัง ไม่ตกเป็นทาสของมันก็เท่ากับเราทำลายกำจัดอิทธิพลร้ายของมารได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระพุทธองค์ทรงสอนเน้นพระภิกษุว่า อย่าหลง "กลืนเบ็ดมาร" เจ้ากูรูปใดหลงกลืนเข้าไปแล้วก็นับเป็นเวรกรรมของเจ้ากูรูปนั้น ยิ่งดิ้นก็ยิ่งเจ็บปวดทรมาน •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95976198671592_imagesCA9JTCPF.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๘๓)  บิณฑปาตปาริสุทธิสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสชมพระสารีบุตรว่า มีผิวพรรณผ่องใส เธออยู่ด้วยธรรมอะไร พระสารีบุตรกราบทูลว่าอยู่ด้วยความว่าง ทรงอนุโมทนาแล้วตรัสแนะนำให้ทำบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ใจความย่อว่า

ถ้าภิกษุต้องการอยู่ด้วยความว่าง เวลาเข้าไปบิณฑบาตให้สังเกตจิตของตนว่า มีความพอใจ มีความกำหนัด มีความขัดเคือง มีความหลง มีความชอบ มีความชัง ในสิ่งที่มองเห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ได้สูดดม รสที่ได้ลิ้ม สัมผัสที่ได้ถูกต้อง และเรื่องที่คิดคำนึงหรือไม่

หลังจากกลับจากบิณฑบาตแล้ว มีความชอบ ความชัง ความหลง หรือได้กระทบอารมณ์ทางใจที่เป็นอกุศล ก็จงพยายามละเสีย ถ้าเป็นฝ่ายกุศลก็ให้รักษาไว้ด้วยความยินดี

พระพุทธองค์ทรงแนะนำต่อไปว่า ให้ละกามคุณ ๕ นิวรณ์ ๕ กำหนดรู้อุปมาทานขันธ์ ๕ เจริญสติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามลำดับ

ข้อความนี้จาก บิณฑปาตปาริสุทธิสูตร ให้ข้อคิดว่า การบิณฑบาตมิใช่เพียงไปขอข้าวชาวบ้านฉันอย่างเดียว หากเป็นอุบายฝึกฝนอบรมจิตด้วย ขณะเข้าไปรับอาหาร ให้กำหนดจิตของตนว่า ในขณะที่เห็นรูป ได้ยินเสียง เป็นต้น มีความชอบ ความชัง มีความกำหนัดขัดเคือง เป็นต้น หรือไม่อย่างไรกลับมาแล้วมีความรู้สึกเหล่านั้นหรือไม่อย่างไร ถ้ามีก็ให้พยายามละ ฝึกนึกคิดสิ่งที่ดีงาม อันจะเกื้อกูลการปฏิบัติขั้นสูงๆ ต่อไป เช่น การละกามคุณ ละนิวรณ์ เป็นต้น

เสียดายว่าเดี๋ยวนี้พระภิกษุจำนวนมากไม่ออกบิณฑบาตกันแล้ว ด้วยคิดเพียงว่า มีอาหารฉันเป็นประจำแล้ว กิจวัตรที่ควรทำก็เลยงดวันไป ที่โบราณเรียกการบิณฑบาตว่า "โปรดสัตว์" นั่นท่านหมายความเอา "โปรดตัวเอง" (คือ เป็นวิธีฝึกตนเอง) ด้วย นอกเหนือจากการไปโปรดชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาใส่บาตร  •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95976198671592_imagesCA9JTCPF.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๘๔)  สคารวสูตร
"ดูก่อนพราหมณ์ ภาชนะใส่น้ำ ซึ่งผสมด้วยสีครั่ง สีเหลือง สีเขียว สีแดง คนตาดีเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำที่ผสมด้วยสีนั้นๆ ย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ผู้มีจิตฟุ้งซ่านด้วยราคะ ย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งราคะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ฉันนั้น

ดูก่อนพราหมณ์ ภาชนะใส่น้ำร้อนที่เดือดพล่าน มีไอพุ่งขึ้น คนตาดีเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้นย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ผู้มีจิตฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท (คิดปองร้ายเขา) ย่อมไม่รู้ ไม่เห็น อุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งพยาบาทซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง ฉันนั้น

ดูก่อนพราหมณ์ ภาชนะใส่น้ำซึ่งถูกลมพัดให้กระเพื่อม คนตาดีเมื่อมองดูใบหน้าของตนในน้ำนั้นย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ผู้มีจิตฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจ กุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) ย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอุทธัจจะ กุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง ฉันนั้น

ดูก่อนพราหมณ์ ภาชนะใส่น้ำซึ่งขุ่นมัวเป็นตมคนตาดีเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ผู้ที่มีจิตฟุ้งซ่านด้วย วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ย่อมไม่รู้ ไม่เห็น อุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง ฉันนั้น"

ข้อความนี้จาก สคารวสูตร เปรียบเทียบไว้น่าฟังในน้ำเจือสี น้ำเดือด น้ำมีจอกเแหนปกคลุมและน้ำขุ่นเป็นตม คนเรามองดูเงาตัวเองไม่เห็น, คนที่จิตใจถูกนิวรณ์ครอบงำก็เช่นกัน ถึงมีตาดีก็เหมือนคนตาบอด มองหาทางออกไม่เจอ จึงแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ได้แต่ซัดกันไปซัดกันมา ตามประสา "คนตามืดมิดจิตมืดมน" เช่นนี้แหละโยมเอ๋ย •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95976198671592_imagesCA9JTCPF.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๘๕)  อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต (ไม่มีชื่อพระสูตร)
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวก ที่ยังละบาปกรรม ๓ อย่างไม่ได้จะต้องไปอบาย ไปนรก บุคคล ๓ จำพวก คือ
๑. ผู้มิใช่พรหมจารี แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารี
๒. ผู้กำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้บริสุทธิ์ ด้วยการ กล่าวหาไม่มีมูล
๓. ผู้มีความเห็นว่า กามไม่มีโทษ"

๑. ผู้มิใช่พรหมจารี หมายถึง ผู้มิใช่สมณะ ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ คือ เป็นพระต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ยังดื้อด้านไม่ยอมสละเพศ คนประเภทนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า ถึงจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ และบอกใครต่อใครว่าฉันเป็นพระ ก็หาเป็นพระไม่ ดุจลาเดินตามฝูงโค แม้จะร้อง "มอๆ" ก็หาใช่โคไม่ คนประเภทนี้ตายไปแล้วไม่แคล้วลงนรก หรือลงนรกตั้งแต่ยังไม่ตายเลยก็ว่าได้

๒. คนประเภทที่ ๒ คือ ผู้ที่กล่าวหาฟ้องร้องภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์ ด้วยข้อหาไม่มีมูลทางพระวินัยปรับอาบัติสังฆาทิเสส แก่ภิกษุผู้โจทก์ภิกษุอื่นด้วยข้อหาปาราชิกไม่มีมูล การกล่าวหาไม่มีมูล เพื่อทำลายผู้บริสุทธิ์แสดงถึงจิตใจต่ำทรามของผู้โจทก์เป็นคนพูดเท็จทั้งๆ ที่รู้

๓. คนประเภทที่ ๓ คือ ผู้ที่ไม่เห็นโทษในกาม หมกมุ่นอยู่ในกาม ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็พอทำเนา แต่ถ้าถือเพศบรรพชิตยังสรรเสริญกามหรือบริโภคกามอยู่ก็เท่ากับไม่ได้บวชนั่นเอง คำว่า "บริโภคกาม" มิได้หมายเพียงประกอบกามกิจอย่างชาวบ้าน หากหมายถึงยังยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าใคร่น่าพอใจด้วย

พุทธวจนะข้างต้นนั้น จาก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ไม่มีชื่อพระสูตร จึงมิได้บอกไว้ ฝากไว้พิจารณาเพื่อประดับสติปัญญาและเป็นคติเตือนใจด้วย ฝากทุกคนนั่นแหละขอรับ •


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95976198671592_imagesCA9JTCPF.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๘๘)  อุปกิเลสสูตร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เครื่องมัวหมองของพระจันทร์และพระอาทิตย์ อันเป็นเหตุให้พระจันทร์และพระอาทิตย์ไม่ส่องแสงไพโรจน์มี ๔ ประการ คือ เมฆ ๑ หมอก ๑ ควันและละออง ๑ ราหูจอมอสูร ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลส (เครื่องมัวหมอง) ของสมณพราหมณ์ทั้งหลายอันเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์ไม่สง่างาม ไม่รุ่งเรืองไพโรจน์มี ๔ ประการคือ ดื่มสุรา และเมรัย ๑ เสพเมถุนธรรม ๑ ยินดีทองและเงิน ๑ เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ๑

สมณพราหมณ์บางพวก ถูกราคะและโทสะครอบงำแล้ว อวิชชาหุ้มห่อแล้ว ย่อมดื่มสุราเมรัย เสพเมถุนธรรม เป็นผู้ไม่รู้แจ้ง ยินดีทองและเงิน สมณพราหมณ์บางพวก เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ สมณพราหมณ์พวกนี้ย่อมไม่สง่างาม ไม่รุ่งเรืองไพโรจน์ เป็นที่รู้กันว่าไม่บริสุทธิ์ มีธุลี คือ กิเลส อันความมืดปกคลุมแล้วเป็นทาส ตัณหา ถูกตัณหาชักจูงไป ย่อมเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏไม่สิ้นสุด

ข้อความนี้จาก อุปกิเลสสูตร ตรัสสอนสมณพราหมณ์ หรือพวกนักบวชโดยเฉพาะ แต่ชาวบ้านก็ควรรู้ด้วย จะได้ตัดสินถูกว่านักบวชประเภทใดควรแก่การเคารพนับถือ หรือควรแก่การตำหนิหรือขจัดออกจากพระศาสนา

สุราเมรัยนั้น ทางพระวินัยถ้าพระดื่มปรับอาบัติเบาแค่ "ปาจิตตีย์" แต่เนื่องจากเป็นโลกวัชชะ (ชาวบ้านติเตียน) เป็นความเศร้าหมองของพระ ใครละเมิด ถูกสึกได้ เงินทองถ้าจับต้องและมีไว้ครอบครอง (มีครอบครองโดยไม่จับก็ผิดเหมือนกัน ไม่ต้องตีความเข้าข้างตัว) ปรับอาบัติ "นิสสัคคียปาจิตตีย์" ไม่ถึงกับขาดจากความเป็นพระ แต่ถ้าทุจริตเรื่องเงินทอง เช่น ลัก ยักยอก ราคาเกิน ๕ มาสก (๑ บาท) ขึ้นไปขาดจากความเป็นพระ

เมถุนธรรม ชาวบ้านทำได้ในกรอบของ ศีล (ไม่ผิดศีลข้อ ๓) แต่พระทำไม่ได้ ย่อมขาดจากภิกษุภาวะทันที เสพเมถุนธรรม ไม่จำต้องให้ใครมาฟ้องร้องกล่าวหา พระวินัยของพระพุทธองค์ศักดิ์สิทธิ์ในตัวอยู่แล้ว •



ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
15-...


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 มีนาคม 2558 15:33:20
(http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/27747776359319_2_1_.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๙๐)  กุมภสูตร
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หม้อน้ำ ๔ ชนิด คือ หม้อน้ำเปล่าปิดชนิด ๑ หม้อน้ำเต็มเปิดชนิด ๑ หม้อน้ำเปล่าเปิดชนิด ๑ หม้อน้ำเต็มปิดชนิด ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลกลางคนมีอากัปกิริยาดูน่าเลื่อมใส มารยาทเรียบร้อย แต่ไม่รู้อริยสัจ บุคคลนี้เปรียบเหมือนหม้อน้ำเปล่าที่ปิดฝาไว้
บุคคลอากัปกิริยาดูไม่น่าเลื่อมใส ไม่ค่อยเรียบร้อย แต่รู้อริยสัจ บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนหม้อน้ำเต็มเปิด
บุคคลบางคนดูน่าเลื่อมใส มารยาทเรียบร้อย และไม่รู้อริยสัจด้วย บุคคลนี้เปรียบเหมือนหม้อน้ำเปล่าเปิด
บุคคลบางคนอากัปกิริยาดูน่าเลื่อมใส มารยาทเรียบร้อย และรู้อริยสัจด้วย บุคคลนี้เปรียบเหมือนหม้อน้ำเต็มปิด"

ข้อความนี้จาก กุมภสูตร เปรียบคนเหมือนหม้อน้ำ ในเมืองอินเดียไปไหนๆ ก็จะเห็นหม้อน้ำ การยกเอาสิ่งที่พบเห็นอยู่ประจำมาสอนเปรียบเทียบ ทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายและเข้าใจได้เร็ว การสอนด้วยอุปมาอุปไมยเป็นวิธีการหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงใช้มากที่สุด

คนที่ไม่มีอะไรแล้วเปิดเผยให้คนเห็นว่าไม่มีอะไร ก็น่ารักไปอีกอย่างหนึ่ง ถึงจะเปรียบเหมือนหม้อน้ำเปล่าเปิดฝาก็ตาม แต่คนที่น่าเกลียดคือคนที่ไม่มีอะไรดีในตัว แถมยังปิดบังซ่อนเร้นนี้สิ เขาเปรียบเหมือนหม้อเปล่าปิดฝาไว้ ในหม้อเปล่านั้นซ่อนอสรพิษอยู่ด้วยหรือเปล่านี่ยากที่จะรู้

นี่เป็นการ "ตีความ" นัยหนึ่งเท่านั้นนะครับ อาจตีความอีกอย่างอื่นก็ได้ ฝากไว้ให้คิด •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/27747776359319_2_1_.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๙๒)  คัทรสูตร
"ภิกษุทั้งหลาย ลาที่เดินตามฝูงโค แม้มันจะร้องว่า "ข้าเป็นโค ข้าเป็นโค" ก็ตาม แต่สีของมันหาเป็นสีโคไม่ เสียงของมันหาเป็นเสียงโคไม่ เท้าของมันก็หาเป็นเท้าโคไม่ มันได้แต่เดินตามฝูงโคไปข้างหลังแล้วร้องว่า "ข้าเป็นโค ข้าเป็นโค" ดังนี้เท่านั้น ข้อนี้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปก็ฉันนั้น แม้เดินตามภิกษุทั้งหลายไปข้างหลัง จะร้องประกาศว่า "ฉันเป็นภิกษุ ฉันเป็นภิกษุ" ก็ตาม ความปรารถนาในการประพฤติศีลสิกขาของเธอ ไม่เหมือนภิกษุแท้ทั้งหลาย ความปรารถนาในการประพฤติจิตตสิกขาของเธอ ไม่เหมือนภิกษุแท้ทั้งหลาย ความปรารถนาในการประพฤติปัญญาสิกขาของเธอไม่เหมือนภิกษุแท้ทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นเดินตามหมู่ภิกษุ ประกาศเอาเองว่า "ฉันเป็นภิกษุ ฉันเป็นภิกษุ" ดังนี้เท่านั้น

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงสำเหนียกศึกษาอย่างนี้ว่า "ความปรารถนาในการประพฤติศีลสิกขาของเราต้องเข้มงวดเสมอ ความปรารถนาเห็นการประพฤติจิตตสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ ความปรารถนาในการประพฤติปัญญาสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ พวกเธอพึงสำเหนียกศึกษาอย่างนี้แล้ว"

ข้อความนี้จาก คัทรสูตร ให้ข้อคิดว่า ในพระพุทธศาสนาก็อาจมีผู้แอบแฝง เข้ามาอาศัยพระศาสนาหากิน ปลอมเป็นพระ คนพวกนี้ส่วนมากก็บวชถูกต้อง มีอุปัชฌาย์ อาจารย์ แต่อุปัชฌาย์อาจารย์ปล่อยปละละเลย ไม่อบรมสั่งสอน ถูกความอยากใหญ่ครอบงำตั้งตนเป็นอาจารย์ จัดฉาก โฆษณาตัวเองเพื่อสร้างความเด่นความดัง ไม่สนศึกษาปฏิบัติ บ้างก็สอนธรรมะผิดๆ ถูกๆ บ้างก็ละเมิดพระวินัยอย่างร้ายแรง คนพวกนี้ถึงจะบอกใครต่อใครว่า "อาตมาเป็นพระ" ก็หาใช่พระไม่ พระพุทธองค์ทรงเปรียบเห็นภาพดีคือเปรียบดุจลาในฝูงโค ยังไงๆ มันก็เป็นลาวันยังค่ำ

พระปลอมอาศัยพระศาสนาหากิน นับว่าบาปอยู่แล้ว ญาติโยมที่อุปถัมภ์บำรุงหรือสนับสนุนพระปลอมนั้น บาปกว่าหลายร้อยเท่าเพราะให้กำลังอลัชชีทำลายพระพุทธศาสนาเรื่องมันเป็นอย่างนี้แหละครับ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/27747776359319_2_1_.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๙๕)  มหานิทานสูตร
"ดูก่อนอานนท์ เพราะอาศัยอวิชชา (ความไม่รู้) จึงเกิดสังขาร (ความคิดปรุงแต่ง) เพราะอาศัยสังขาร จึงเกิดวิญญาณ (ความรับรู้) เพราะอาศัยวิญญาณ จึงเกิดนามรูป (กระบวนแห่งนามธรรมและรูปธรรม) เพราะอาศัยนามรูป จึงเกิดสฬายตนะ (สื่อสำหรับติดต่อโลกภายนอก 6 อย่าง) เพราะอาศัยสฬายตนะ จึงเกิดผัสสะ (การสัมผัส) เพราะอาศัยผัสสะ จึงเกิดเวทนา (ความรู้สึกต่างๆ) เพราะอาศัยเวทนาจึงเกิดตัณหา (ความทะยานอยาก)

เพราะอาศัยตัณหา จึงเกิดการแสวงหา เพราะอาศัยแสวงหา จึงมีการได้มา เพราะอาศัยการได้มา จึงเกิดการตกลงใจ เพราะอาศัยการตกลงใจ จึงเกิดความรักใคร่ เพราะอาศัยความรักใคร่ จึงเกิดความฝังใจ เพราะอาศัยความฝังใจ จึงเกิดความหวง เพราะอาศัยความหวง จึงเกิดความตระหนี่ เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงเกิดการปกป้อง เพราะอาศัยการปกป้องจึงเกิดการถือไม้, ถือมีด, ทะเลาะ, แก่งแย่งขึ้นมึงขึ้นกู, ส่อเสียด, มุสาวาท

อกุศลธรรม (ความชั่วร้าย) ทั้งปวงย่อมเกิดมีด้วยประการฉะนี้"

ข้อความนี้จาก มหานิทานสูตร ตรัสถึง "ปฏฺจจสมุปมาท" (วงจรแห่งความทุกข์) ทางสังคม" ส่วนมากแล้ว พระพุทธองค์ตรัสปฏิจจสมุปบาท หรือวงจรแห่งทุกข์สำหรับปัจเจกบุคคล คือ ทรงชี้ว่า เพราะความไม่รู้ในอริยสัจ หรือในกฎแห่งเหตุปัจจัย จึงเกิดมีความคิดปรุงแต่งต่างๆ อันเป็นเหตุให้ทำกรรมดีหรือชั่ว...จนกระทั่งมีชาติ (การเกิด) เมื่อมีชาติก็มีชราและมรณะ กองทุกข์ทั้งมวลก็ย่อมมีไม่หมดสิ้น ถ้าจะให้หมดทุกข์ก็ต้องตัดวงจรนี้ ให้ได้

แต่ในพระสูตรนี้ พระองค์ตรัสปฏิจจสมุปบาท ทางสังคมว่า ต้นเหตุที่เด่นชัดแห่งความทุกข์หรือความชั่วร้ายในสังคมมาจากความอยาก เมื่ออยากก็แสวงหา เมื่อแสวงหาก็ได้มา ได้มาแล้วก็ตกลงใจ เมื่อตกลงใจก็เกิดความรักใคร่ รักมากก็ฝังใจ ฝังใจมากก็หวง หวงมากๆ ก็ตระหนี่เห็นแก่ตัว ตระหนี่มากก็พยายามปกป้องรักษากลัวสูญหาย เมื่อพยายามปกป้องก็เป็นเหตุให้ถือศาสตราอาวุธ ทะเลาะเบาะแว้ง ด่าทอ ส่อเสียด หรือโกหก ตอแหลต่างๆ ความทุกข์ความเลวร้ายจึงเกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ด้วยประการฉะนี้ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/27747776359319_2_1_.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๙๘)  พุทธวจนะ - คัดมาจากพระวินัยปิฎก  
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราพ้นจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ทั้งที่เป็นของมนุษย์ พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์

พวกเธอจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีในดวงตาน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมจะเสื่อม ผู้ที่สามารถรู้ทั่วถึงธรรมมีอยู่ ส่วนเราก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม"

พุทธวจนะนี้คัดมาจากพระวินัยปิฎก ตรัสตอนส่งพระอรหันตสาวก ๖๐ องค์ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผู้รู้กล่าวว่านี้คือ "อุดมการณ์" ของพระพุทธศาสนาทีเดียว เพราะชี้ถึงประเด็นสำคัญอย่างน้อย ๓ ประการคือ
๑. พุทธศาสนาเน้นให้ผู้บวชมาแล้วศึกษาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ จนได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัติ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ต้องทำตนให้พร้อม
๒. เมื่อพร้อมแล้วก็ออกไปช่วยสังคม จาริกไปสั่งสอนแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีงามแก่ประชาชน มิใช่ว่าบวชมาแล้วให้ปลีกตัวออกจากสังคมไปเสพความสงบสุขทางจิตใจเพียงผู้เดียว ดังที่บางคนเข้าใจ
๓. การแสดงธรรมนั้นก็พึงแสดงให้แจ่มกระจ่างให้ได้ทั้ง "ความ" (อรรถ) และ "คำ" (พยัญชนะ) อันนี้คงหมายถึงการรู้จักปรับประยุกต์วิธีการแสดงเพื่อให้สอดคล้องกับอุปนิสัยและ "อธิมุติ" (แนวโน้ม หรือความถนัด) ของผู้ฟัง เพื่อให้สำเร็จผลด้วย •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/27747776359319_2_1_.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๐๐)  สันตุฏฐสูตร
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร เมือง สาวัตถี ตรัสยกย่องพระมหากัสสปเถระว่า เป็นยอดของผู้ที่สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัสสปะเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชตามมีตามได้ เป็นผู้กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษ ไม่แสวงหาด้วยวิธีอันไม่สมควร เมื่อไม่ได้ก็ ไม่เดือดร้อน เมื่อได้บิณฑบาตก็ไม่ดีใจ ไม่ติดใจ ไม่พัวพัน บริโภคปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ จักแสวงหาด้วยวิธีอันไม่สมควร

ภิกษุทั้งหลาย เราจะสอนพวกเธอ พวกเธอจงตามอย่างกัสสปะ หรือผู้ใดทำตัวได้อย่างกัสสปะ พวกเธอจงปฏิบัติตนเหมือนผู้นั้น

ข้อความนี้จาก สันตุฏฐสูตร ทรงสอนให้ภิกษุอื่นเอาอย่างพระมหากัสสปะ หรือเอาตามอย่างผู้ที่มีปฏิปทาเหมือนพระมหากัสสปะ ในเรื่องความเป็นผู้มักน้อยในปัจจัย ๔ ได้มาอย่างใดก็ยินดีตามนั้น ไม่เป็นผู้โลภมาก ไม่สะสมบริขารจนมากมายเกินจำเป็น

โบราณว่า "พระงามที่จน คน (ชาวบ้าน) งามที่มี" พระกับคฤหัสถ์งามไม่เหมือนกัน พระยิ่งจนยิ่งงาม ส่วนคฤหัสถ์จนไม่งาม มีแต่คนเขาดูถูก

อย่าให้กลับตาลปัตรเป็นอันขาดนะขอรับ •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/27747776359319_2_1_.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๐๑)  มหาปรินิพพานสูตร
"ดูกรคหบดีทั้งหลาย อานิสงส์แห่งศีล สมบัติ (ความถึงพร้อมด้วยศีล) มี ๕ ประการ คือ
(๑) คนมีศีลย่อมถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์อันยิ่งใหญ่ เพราะความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑ ของการมีศีล
(๒) เกียรติศัพท์อันงามของคนมีศีลย่อมฟุ้งขจรไป นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ ของการมีศีล
(๓) คนมีศีลจะเข้าไปสู่บริษัท (ชุมชนใด) ไม่ว่าจะเป็นขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท ย่อมองอาจ ไม่เก้อเขิน นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ ของการมีศีล
(๔) คนมีศีลย่อมไม่หลงทำกาละ (ตาย) นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ถ ของการมีศีล
(๕) คนมีศีล ตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ ของการมีศีล"

ข้อความนี้จาก มหาปรินิพพานสูตร ตรัสผลดีของการมีศีลบริสุทธิ์ไว้ ๕ ประการ ลองไตร่ตรองดูตามพระดำรัส จะเห็นว่าเป็นความจริง คนมีศีลนั้น รวยแน่นอน และเป็นความรวยที่ร่มเย็น ไม่มีเวร ไม่มีภัยด้วย ไม่เหมือนคนทุศีลคอร์รัปชั่นเขามา รวยจริง แต่ไปไหนมาไหนต้องมี "มือปืน" คอยคุ้มกันเป็นขบวน

คนมีศีล มีแต่คนสรรเสริญ ชื่นชม ตายไปกี่ร้อยกี่ปีชื่อเสียงก็ยังอยู่ ส่วนคนทุศีลเน่าแต่ยังไม่ตาย แม้จะเกณฑ์ให้บริษัทบริวารรับรองในความบริสุทธิ์ให้ก็ตาม

คนมีศีลเข้าสู่สมาคมใด ก็ไม่หวาดหวั่น ส่วนคนทุศีล ไม่องอาจเพราะมีแผลอยู่ในใจ กลัวใครเขายกเอาความประพฤติอันชั่วทรามของตนขึ้นมาพูดในที่ชุมนุม ดังภาษิตโบราณว่า วัวสันหลังหวะ อีกาบินผ่านก็เสียวแล้ว

คนมีศีลเวลาตายจะตายอย่างสงบเหมือนหลับ ส่วนคนทุศีล จะเพ้อคุมสติไม่อยู่ ดังคนบางคนสั่งฆ่าคนมามากเพ้อว่า "ฆ่ามันสิวะๆ" อย่างนี้พระท่านว่า "หลงตาย"

มีคนศีลตายแล้วขึ้นสวรรค์ ส่วนคนทุศีลตายแล้วต้องลงนรก ยมบาลรอรับ เลี้ยงฉลองอยู่ ใครทุศีลก็รีบๆ ไปเสีย เดี๋ยวยมบาลฉุนขึ้นมาจะลำบาก •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/27747776359319_2_1_.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๐๒)  มหาปรินิพพานสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์พึงปฏิบัติในมาตุคาม (สตรี) อย่างไร”
“ดูก่อนอานนท์ การไม่เห็นได้เป็นการดี”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจำเป็นต้องเห็น (เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้) จะพึงปฏิบัติอย่างไร”
“ไม่ต้องพูดด้วยสิ อานนท์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าจำเป็นต้องพูดด้วยจะพึงปฏิบัติอย่างไร”
“พึงพูดด้วยสติสิ อานนท์”

ข้อความนี้จาก มหาปรินิพพานสูตร ขณะพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินารา เพื่อปรินิพพาน ณ คราวหนึ่งพระอานนท์ พุทธอนุชา ได้กราบทูลถามวิธีปฏิบัติต่อมาตุคาม (คือสตรี) ว่าพึงปฏิบัติอย่างไร พระองค์ตรัสดังข้อความข้างต้น

นักสิทธิสตรีบางคนกล่าวว่า พระพุทธเจ้ามิให้เกียรติสตรี หาว่าทรงรังเกียจสตรี จึงแนะให้พระสาวกไม่มอง ไม่เห็น ถ้าจำเป็นต้องมอง ต้องเห็นก็ไม่ให้พูดด้วย และถ้าจำเป็นต้องพูดด้วยก็ให้พูดด้วยสติ    ความจริงสตรีในสังคมสมัยพุทธกาล ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียงในสังคมใดๆ  พระพุทธศาสนาต่างหากเปิดโอกาสให้มีสิทธิมีเสียงในสังคม เช่น เปิดโอกาสให้สตรีออกบวช เพราะพระองค์ทรงเห็นว่าสตรีก็สามารถบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับบุรุษ

แต่เนื่องจากผู้ประพฤติพรหมจรรย์ มักจะเศร้าหมองเพราะเกี่ยวข้องกับกาม จึงทรงเตือนให้ห่างๆ กันไว้ ขนาดทรงเตือนทรงย้ำอย่างนี้ เจ้ากูประเภท “ทุมมังกุ” (ผู้เก้อยาก) ยังฝ่าฝืนและสร้างความมัวหมองแก่วงการผ้าเหลืองครั้งแล้วครั้งเล่า

ลูกที่ไม่เคารพคำสั่งของพ่อ ยังจะมีหน้ามาอ้างว่าเป็นลูกพ่อได้หรือครับ



ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
15-...


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 มีนาคม 2558 09:18:49
(http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/27747776359319_2_1_.jpg)     "พระสูตรน่าสนใจ" (๑๐๒)  มหาปรินิพพานสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์พึงปฏิบัติในมาตุคาม (สตรี) อย่างไร”
“ดูก่อนอานนท์ การไม่เห็นได้เป็นการดี”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจำเป็นต้องเห็น (เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้) จะพึงปฏิบัติอย่างไร”
“ไม่ต้องพูดด้วยสิ อานนท์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าจำเป็นต้องพูดด้วยจะพึงปฏิบัติอย่างไร”
“พึงพูดด้วยสติสิ อานนท์”

ข้อความนี้จาก มหาปรินิพพานสูตร ขณะพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินารา เพื่อปรินิพพาน ณ คราวหนึ่งพระอานนท์ พุทธอนุชา ได้กราบทูลถามวิธีปฏิบัติต่อมาตุคาม (คือสตรี) ว่าพึงปฏิบัติอย่างไร พระองค์ตรัสดังข้อความข้างต้น

นักสิทธิสตรีบางคนกล่าวว่า พระพุทธเจ้ามิให้เกียรติสตรี หาว่าทรงรังเกียจสตรี จึงแนะให้พระสาวกไม่มอง ไม่เห็น ถ้าจำเป็นต้องมอง ต้องเห็นก็ไม่ให้พูดด้วย และถ้าจำเป็นต้องพูดด้วยก็ให้พูดด้วยสติ    ความจริงสตรีในสังคมสมัยพุทธกาล ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียงในสังคมใดๆ  พระพุทธศาสนาต่างหากเปิดโอกาสให้มีสิทธิมีเสียงในสังคม เช่น เปิดโอกาสให้สตรีออกบวช เพราะพระองค์ทรงเห็นว่าสตรีก็สามารถบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับบุรุษ

แต่เนื่องจากผู้ประพฤติพรหมจรรย์ มักจะเศร้าหมองเพราะเกี่ยวข้องกับกาม จึงทรงเตือนให้ห่างๆ กันไว้ ขนาดทรงเตือนทรงย้ำอย่างนี้ เจ้ากูประเภท “ทุมมังกุ” (ผู้เก้อยาก) ยังฝ่าฝืนและสร้างความมัวหมองแก่วงการผ้าเหลืองครั้งแล้วครั้งเล่า

ลูกที่ไม่เคารพคำสั่งของพ่อ ยังจะมีหน้ามาอ้างว่าเป็นลูกพ่อได้หรือครับ



ที่มา "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ - พระสูตรน่าสนใจ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
15-...


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 เมษายน 2558 11:31:52
(http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)
(http://www.chakrabhand.org/portfolio_data/product_images/10110102.jpg)
ภาพเขียน อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต
"พระบรมโพธิคุณ"  
ตอนเรือก อัญเชิญจุติ

ดูเหมือนท่าน ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยพูดหรือเขียนไว้ในที่ไหน จำไม่ได้แล้ว (แก่แล้วความจำเสื่อม) ว่า พุทธประวัตินี้แปลก ผู้เขียนจงใจเขียนให้เป็น “ธรรมประวัติ”  คือแทนที่จะทำให้ผู้อ่าน อ่านแล้วมีความรู้สึกว่าได้อ่านชีวประวัติบุคคลในประวัติศาสตร์ กลับมีความรู้สึกว่า อ่านประวัติแห่งพระธรรม อะไรทำนองนั้น

แรกๆ ผมก็ไม่เข้าใจที่ท่านศาสตราจารย์พูด (หรือเขียน) พอพิจารณาไปก็เห็นจริง ด้วยประวัติพระพุทธเจ้าในอดีตทุกพระองค์ รวมถึงในอนาคตอีกหลายสิบหลายร้อยองค์ (ดังในหนังสือ อนาคตวงศ์) มีข้อเท็จจริงคล้ายกัน เป็นกษัตริย์ออกบวช สาเหตุออกบวชก็เช่นเดียวกัน ตรัสรู้เรื่องเดียวกัน ประกาศศาสนาในทำนองเดียวกัน ทุกอย่างมีโครงสร้างอยู่แล้ว เพียงเปลี่ยนบุคคลที่เป็นพระพุทธเจ้ามาสวมเท่านั้น

นี้แลที่ท่านว่าธรรมประวัติ

กล่าวเฉพาะพระพุทธเจ้าของเรา ท่านก็ดำเนินเรื่องมาตั้งแต่กาลก่อน ยาวไกลทีเดียว เริ่มด้วยแนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์คือบุคคลผู้ตั้งปณิธานเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านผู้นี้ได้ตั้งรับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าในอดีตทรงพระนามว่า ทีปังกร แล้วก็บำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ มาชาติละข้อๆ

บารมี นั้นตามศัพท์แปลว่า “คุณธรรมที่ให้ถึงฝั่ง” อันหมายถึงคุณธรรมที่ทำให้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ บารมี ในความหมายนี้ มิใช่ “ที่สุด” แต่เป็น “เครื่องมือให้ถึงที่สุด” ที่แปลบารมีว่า “ความเต็มเปี่ยม” นั้นหมายความว่าเมื่อคุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการนั้นสมบูรณ์แล้วพร้อมที่จะทำให้ผู้บำเพ็ญนั้นบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ

พูดให้สั้น เมื่อบารมีได้รับการบำเพ็ญจนสมบูรณ์ทุกข้อแล้ว จึงเป็น ความเต็มเปี่ยม หรือความพร้อมที่จะได้บรรลุ

บารมี ๑๐ ประการนั้นคือ เนกขัมมะ (ออกจากกาม)  เมตตา (ความรักใคร่ปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์)  วิริยะ (ความพยายาม)  อธิษฐาน (การตั้งจิตมั่น)  ปัญญา (ความรอบรู้)  ศีล (การรักษาศีล)  ขันติ (ความอดทน)   อุเบกขา (ความวางเฉย)  สัจจะ (ความสัตย์)  ทาน (การให้)

บุคคลคนเดียวอันเรียกว่าพระโพธิสัตว์นี้ จะบำเพ็ญบารมีแต่ละข้อตามลำดับ พระเตมีย์ใบ้ บำเพ็ญเนกขัมมบารมี พระสุวรรณสาม บำเพ็ญวิริยบารมี  พระมหาชนก บำเพ็ญวิริยบารมี  พระเนมิราช บำเพ็ญอธิษฐานบารมี  พระมโหสถ บำเพ็ญปัญญาบารมี  พระภูริทัต บำเพ็ญศีลบารมี  พระจันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี  พระนารทะ บำเพ็ญอุเบกขาบารมี  พระวิธุรบัณฑิต บำเพ็ญสัจจบารมี  พระเวสสันดร บำเพ็ญทานบารมี •


"พระบรมโพธิคุณ"  
ตอนเรือก อัญเชิญจุติ (จบ)

โบราณาจารย์ย่อให้ท่องจำง่ายดังนี้
พระ เต. ช. สุ. เน. ม. ภู. จ. นา. วิ. เว.
โพธิสัตว์
นามบารมี เน. วิ. เม. อ. ปัญ สี. ขัน. อุ. สัจ. ทา.

เวลาท่อง จะท่องไปทางขวางก็ได้ (เต-ช-สุ-เน-ม-ภู-จ-นา-วิ-เว) หรือจะท่องนามพระโพธิสัตว์คู่กับบารมีก็ได้ (เต-เน-ช-วิ-สุ-เม-เน-อ-ม-ปัญ-ภู-สี-จ-ขัน-นา-อุ-วิ-สัจ-เว-ทา)

เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ทั้ง ๓ ขั้น จึงจะพร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

บารมี ๓ ขั้นคือ)
(๑) บารมี (บารมีระดับธรรมดาๆ ไม่เข้มเท่าใดนัก)  
(๒) อุปบารมี (บารมีระดับเกือบจะอุกฤษฏ์)  และ
(๓) ปรมัตถบารมี (บารมีระดับอุกฤษฏ์)

ตำราท่านยกตัวอย่างทานนั้น ๓ ขั้นว่า
- การบริจาคสิ่งของนอกกายให้เป็นทานเรียกว่า บารมีธรรมดา
- การบริจาคอวัยวะร่างกายบางส่วนให้เป็นทานเรียกว่าอุปบารมี
- การบริจาคชีวิตให้เป็นทาน เรียกว่า ปรมัตถบารมี

เมื่อบารมีครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว พระโพธิสัตว์ก็ไปเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ชั้นดุสิต มีนามคล้ายนามของชั้นนี้ว่า สันดุสิตเทพบุตร เสวยสุขอันเป็นทิพย์อยู่บนสรวงสวรรค์ รอวันเวลาจะมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้า

เมื่อได้เวลาอันเหมาะสม ท้าวมหาพรหมและเทพบนสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น มาชุมนุมต่อหน้าสันดุสิตเทพบุตร ทูลอัญเชิญให้จุติลงมาบังเกิดในมนุษย์โลก

สันดุสิตเทพบุตรพิจารณาดู “ปัญจมหาวิโลกนะ” (การตรวจตราดูอันยิ่งใหญ่ถึงเงื่อนไข ๕ ประการ) คือ
(๑) ตรวจดูกาล ว่าได้เวลาอันเหมาะสมจริงหรือไม่
(๒) ตรวจดูประเทศ ประเทศหรือถิ่นที่จะไปบังเกิดเป็นมัธยมประเทศ หรือ “จุงกั๋ว” หรือไม่ (แน่ะ เดาะภาษาจีนเสียด้วย)(๓) ตรวจดูตระกูล ว่าตระกูลที่จะไปบังเกิดเป็นตระกูลสูงเช่นกษัตริย์ หรือไม่ และกษัตริย์เมืองใด
(๔) ตรวจดูมารดา พระมารดาที่จะอุ้มพระอุทรจนมีพระประสูติกาลคือใคร เหมาะสมหรือไม่
(๕) ตรวจดูอายุ อายุขัยที่จะอยู่ในมนุษย์โลกเท่าใด

เมื่อเห็นว่าเงื่อนไขทั้ง ๕ ประการพร้อมแล้ว สันดุสิตเทพบุตรก็รับอัญเชิญท้าวมหาพรหมและเหล่าเทพยดา เพื่อมาอุบัติในมนุษย์โลก พระโพธิสัตว์จึงลงมาปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา พระอัครมเหสีแห่งพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ ณ วันเพ็ญเดือน ๘ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี (โหรเขาคำนวณว่าอย่างนั้น)

พุทธประวัติปางนี้เรียกว่า ปางอัญเชิญพระบรมโพธิสัตว์จุติ นับเป็นปางแรกสุดแล



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๘
15-...


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 เมษายน 2558 13:20:07
(http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)
(http://saisampan.net/pic/images/arx1405321666m.jpg)
ก่อนจากเจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จเข้าไปเยี่ยมพระชายาและพระโอรส
ซึ่งนอนหลับอยู่ เป็นการอำลาเป็นครั้งสุดท้าย
 
ปางเสด็จมหาภิเนษกรมณ์

มหาภิเนษกรมณ์ เขียนเป็นบาลี ว่า มหาภินิกฺขมน (มหา-อภินิกฺขมน=การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่)  แปลอย่างชาวบ้านธรรมดาๆ ว่าออกบวช พุทธรูปปางออกบวชนี้เขียนกันสองแบบ หรือสองช่วง บางครั้งเขียนตอนทรงม้ากัณฐกะออกจากประตูเมือง มีนายฉันนะเกาะหางม้า ท่าทางราวกับม้าพาเหาะออกจากเมืองกลางดึก บางครั้งก็เขียนตอนเสด็จออกนอกวังทอดพระเนตรเห็น “เทวทูต” ทั้ง ๔

เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อเจริญวัยแล้วก็ได้รับการศึกษาศาสตร์ต่างๆ อาจารย์ที่ถวายวิชาความรู้คงมีหลายท่าน แต่ระบุไว้เพียงท่านเดียวคือ วิศวามิตร ได้อภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงยโสธรา หรือ พิมพา พระราชธิดาแห่งพระเจ้าสุปปพุทธะ และ พระนางอมิตา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา

พระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ก็ได้พระโอรสพระนามว่า ราหุล มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ พระนามว่า ราหุล แปลว่า “บ่วง” หมายถึงบ่วงที่ผูกมัดมิให้มีอิสระ สาเหตุที่ราชกุมารน้อยได้พระนามนี้ ก็คือ หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะได้ทอดพระเนตรเห็น คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ตามลำดับแล้ว ก็มาครุ่นคิดว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ มนุษย์ทั้งหลายถูกความทุกข์คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ครอบงำ จึงเวียนเกิดเวียนตายในสังสารวัฏไม่รู้จบสิ้น

ทรงคิดหาทางว่าจะมีทางหลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้อย่างไรหรือไม่ ก็ทรงได้ข้อเปรียบเทียบว่า สรรพสิ่งย่อมเป็นของคู่กัน เช่น มีมืดก็มีสว่าง มีร้อนก็ต้องมีเย็น เมื่อมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ย่อมมีการไม่เกิด ไม่เจ็บ ไม่แก่ ไม่ตายด้วย  ครั้นได้เห็นภาพของสมณะผู้สงบก็ได้ข้อสรุปว่า การจะพ้นจากทุกข์คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้ คงต้องดำเนินวิถีชีวิตแบบท่านผู้สงบนี้ จึงตัดสินพระทัยจะออกผนวช

ทันใดก็ได้รับรายงานว่า พระโอรสน้อยประสูติแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะทรงรู้สึกปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ความรักบุตรเกิดขึ้นท่วมท้นพระหฤทัย ทรงรู้สึกว่าถ้าออกบวชช้าจะไม่มีโอกาสแน่นอน เพราะความรักความผูกพันจะเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนยากจะตัดได้ จึงเปล่งพระอุทานว่า ราหุลํ ชาตํ พนฺธนํ ชาตํ บ่วงเกิดขึ้น เครื่องผูกพันเกิดขึ้นแล้ว

ว่ากันว่า เพราะเหตุนี้พระกุมารน้อยจึงได้พระนามว่า ราหุล

คืนวันนั้นพระองค์ทรงบรรทมไม่หลับ กระสับกระส่าย ไม่ทรงยินดียินร้ายกับเสียงขับประโคมของประดานางสนมนางบำเรอที่จัดถวายแต่ประการใด  ภาพของพวกนางที่นอนหลับใหลปรากฏต่อสายพระเนตรเจ้าชายผู้ลุกขึ้นมาตอนดึก ก่อนจากได้เสด็จเข้าไปเยี่ยมพระชายาและพระโอรสซึ่งนอนหลับอยู่ เป็นการอำลาเป็นครั้งสุดท้ายเสมือนป่าช้าผีดิบ ด้วยบางนางก็อ้าปาก กัดฟัน น้ำลายไหล บางนางก็ผ้านุ่งหลุด บางนางนอนกอดพิณละเมองึมงำๆ กลิ้งเกลือกไปมา ทำให้เกิดความสลดสังเวชอย่างยิ่ง

จึงทรงเรียกนายฉันนะ มหาดเล็กคนสนิท เตรียมม้ากัณฐกะ เพื่อเสด็จออกจากพระนคร  ประทับกัณฐกะอัศวราชหนีออกจากพระนครทันที

หลักฐานจากพระไตรปิฎกบอกว่า เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช ขณะที่พระราชบิดาและพระราชมารดาทรงเห็นๆ อยู่ แต่ไม่อยู่ในภาวะจะห้ามปรามได้ ขณะทั้งสองพระองค์ทรงกันแสงพิลาปรำพันอยู่ เจ้าชายสิทธัตถะได้ปลงพระเกศาและพระมัสสุ นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ถือเพศบรรพชิต

หลักฐานบางแห่งฉายภาพของวสวัตตีมารปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าชายสิทธัตถะ ยกมือห้ามออกนอกเมือง พลางพูดว่า รออีก ๗ วันเท่านั้น เจ้าชายก็จะได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์และจะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ์ผู้ยิ่งใหญ่ในไม่ช้า เจ้าชายสิทธัตถะไม่ทรงเชื่อ จึงตวาดไล่พญามารหนีไป

เหล่าเทพยดาได้บันดาลให้ประตูเมืองเปิดออกเอง มิพักต้องเสียแรงผลักแต่ประการใด เจ้าชายสิทธัตถะ ติดตามด้วยนายฉันนะ มหาดเล็กคนสนิท ทั้งสองได้ควบม้าห้อตะบึงจากพระนครกบิลพัสดุ์ จนบรรลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ตอนรุ่งสาง

เจ้าชายเปลื้องเครื่องทรงออก มอบพัสตราภรณ์และเครื่องประดับทั้งหลายแก่นายฉันนะ รับสั่งให้นำไปมอบให้พระราชบิดาและพระราชมารดา ทรงกระซิบข้างหูม้าคู่พระทัยให้กลับไปยังพระราชวังพร้อมกับนายฉันนะ  กัณฐกะอัศวราช มีน้ำตาไหลจากเบ้าตาทั้งสองด้วยความอาลัยอาวรณ์ในเจ้านายของตน ล้มลงหัวใจแหลกสลาย สิ้นชีวิต ณ ตรงนั้นเอง
พระองค์ได้ถือเพศบรรพชิต เดินดุ่มไปเดียวดาย เพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏด้วยประการฉะนี้แล


(http://saisampan.net/pic/images/arx1405321875b.jpg)
เจ้าชายสิทธัตถะได้ปลงพระเกศาและพระมัสสุ
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ถือเพศบรรพชิต ณ ริมฝั่งน้ำอโนมานที


ปางเสด็จมหาภิเนษกรมณ์ (ต่อ)

เจ้าชายสิทธัตถะทรงถือเพศบรรพชิตนั้น หลายท่านสงสัยว่า ใครเป็นอุปัชฌาย์บวชให้ ทรงได้จีวรมาจากไหน โกนผมปลงหนวดหรือเปล่า ต้องเข้าใจว่าสมัยโน้นมีนักบวชกันมากมายหลายลัทธิ คำว่า บรรพชิต ก็ดี สมณะ ก็ดี เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลาย มีเกณฑ์กำหนดว่า ผู้สละชีวิตครองเรือน มาถือวัตร ถือศีล แบบผู้สละเรือน ก็เรียกว่า "บวช" กันทั้งนั้น ปลงผม ก็มี ไม่ปลงผมมุ่นผมเป็นชฎา ก็มี ผ้าที่นุ่งห่มก็เป็นผ้าแพรยาวๆ ผืนเดียวหรือสองผืนส่วนมาก ดูแขกในปัจจุบันนี้ก็จะเข้าใจว่า เขานุ่งห่มกันอย่างไร

ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เล่าว่าพระมหาสัตว์ (เป็นคำเรียกเจ้าชายสิทธัตถะ คำเดียวกับ "พระโพธิสัตว์") ทรงตัดพระเกศาให้สั้น ด้วยพระขรรค์ เปลื้องเครื่องทรงของขัตติยราชกุมาร นุ่งห่มผ้าธรรมดา (ซึ่งเข้าใจว่าคงเตรียมมาด้วย) ตั้งพระทัยว่าจะออกแสวงหาโมกษธรรม (คือพระนิพพาน ที่สิ้นทุกข์) เท่านี้ก็ถือได้ว่า "บวช" แล้ว

ยังไม่มีพิธีกรรมอะไร พิธีกรรมมาตั้งขึ้นภายหลังครับ

ก่อนจะเล่าต่อไป ขอย้อนไปถึงสาเหตุแห่งการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ก่อน มีคำถามแทรกเข้ามาว่า เป็นไปได้หรือที่เจ้าชายสิทธัตถะ พระชนมายุถึง ๒๙ พรรษาแล้ว ไม่เคยเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายเลย เพิ่งจะมาเห็นเอาตอนนี้ คำถามนี้ผมเคยถามลูกศิษย์ระดับมหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ บางคนยืนยันว่าเป็นไปได้ เมื่อถามว่าเพราะเหตุไร

เธอตอบว่า พระเจ้าสุทโธทนะ หลังจากได้ฟังคำพยากรณ์จากพราหมณ์ทั้ง ๘ ตอนเจ้าชายน้อยประสูติแล้ว ทรงกลัวว่าเจ้าชายจะเสด็จออกผนวช กลัวจะไม่มีใครสืบทอดราชบัลลังก์ จึงทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ให้เจ้าชายทอดพระเนตรเห็นสิ่งที่ทำให้ทรงเบื่อหน่ายโลกียวิสัย เวลาจะทรงอนุญาตให้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จไปนอกเมือง ก็ทรงรับสั่งให้ "เคลียร์พื้นที่" ก่อนทุกครั้ง เจ้าชายจึงไม่มีโอกาสได้เห็นภาพที่ชวนให้สลดพระทัย จึงเป็นไปได้ที่เพิ่งจะมาเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย ตอนพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ศิษย์ของผมว่าอย่างนั้น

แต่อีกหลายคนก็ไม่เห็นด้วย ทำไมตำราจึงว่าไว้อย่างนี้ ข้อความตรงนี้น่าจะมิได้แปลตามตัวอักษรเสียแล้ว น่าจะมีความหมายระหว่างบรรทัดกระมังครับ คือ เจ้าชายสิทธัตถะ เห็นภาพคนแก่ คนเจ็บ คนตาย แน่นอน อาจจะเห็นทุกวันด้วย แต่การเห็นอย่างนั้นเป็นการเห็นด้วย "ตาเนื้อ" จึงเท่ากับไม่เห็น เพราะเห็นแล้วก็ผ่านเลยไป ไม่นำเอามาคิดให้เข้าใจสภาวธรรมทั้งหลายตามเป็นจริง แต่พอพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา เห็นสิ่งเหล่านี้แล้วนำมาขบคิดพินิจพิจารณา จนรู้สภาวะอันเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย เข้าใจในเรื่องความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีเกิดมีดับ ไม่มีอะไรแน่นอน

การเห็นในช่วงหลังนี้จึงเป็นการเห็นด้วย "ตาใน" คือปัญญา หลังจากมืดบอดมานาน เพิ่งจะตาสว่างกันคราวนี้เอง ว่าอย่างนั้นเถอะ เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า อยู่มาจนถึงพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา เพิ่งจะเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย กันคราวนี้เอง

เมื่อพระมหาสัตว์ตั้งปณิธานว่าจะแสวงหาทางพ้นทุกข์ ก็ทรงพิจารณาว่า จะหาจากสำนักไหนดี เนื่องจากสมัยนั้นมีสำนักปฏิบัติมากมาย แต่ละสำนักก็อ้างว่าตนปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ในสังสารวัฏทั้งนั้น ก็ทรงทราบว่า สำนักดาบสนามว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร มีชื่อเสียงเป็นที่ทราบกันทั่วไป จึงไปขอฝึกปฏิบัติด้วย

พูดธรรมดาก็ว่าไปสมัครเป็นศิษย์ฝึกด้วย ระบบที่ฝึกก็คือระบบโยคะ ฝึกสมาธิเพื่อให้จิตมีพลังกล้าแข็งขึ้นตามลำดับ พระองค์ทรงฝึกอยู่กับอาฬารดาบส จนได้ผลสัมฤทธิ์ขั้นสูงสุดของอาจารย์ คือขั้นที่เรียกตามศัพท์วิชาการว่า อากิญจัญญายตนะ (The State Nothingness) ทรงรู้สึกว่ายังไม่ใช่ที่สุด จึงลาอาจารย์ไปฝึกปฏิบัติอยู่กับอาจารย์อีกคนหนึ่ง ชื่อ อุทกดาบส รามบุตร ทรงฝึกระบบเดียวกัน จนได้ผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งอันเรียกว่า "เนวสัญญนาสัญญายตนะ" (The State of neither perception or Non-perception) ก็ทรงเห็นว่ายังมิใช่ที่สุดแห่งทุกข์ จึงทรงดำริที่จะแสวงหาด้วยพระองค์เอง

ความจริง อาจารย์ทั้งสองท่าน ชวนพระมหาสัตว์ให้อยู่เป็นอาจารย์สอนศิษย์อื่นๆ ต่อไป แต่พระองค์ไม่รับ ทรงอำลาอาจารย์ทั้งสองไปแสวงหาลำพังพระองค์ ทรงหันมาบำเพ็ญตบะ คือ การทรมานตนในรูปแบบต่างๆ เท่าที่คนสมัยนั้นคิดว่าเป็นทางบรรลุโมกษธรรม

พุทธประวัติช่วงนี้รวบรัดไปหน่อย ไม่พูดถึงเลยว่าพระองค์ทรงทำอะไรบ้าง แต่รายละเอียดมีอยู่ในพระสูตรต่างๆ ที่พระองค์ตรัสเล่าให้พระสาวกทั้งหลายฟัง อยากทราบรายละเอียดมีอยู่ โปรดตามไปค้นดูเถิด ไม่มีเนื้อที่จะเล่าโดยละเอียด

ที่น่าตั้งข้อสังเกตก็คือ ช่วงเวลา ๖ ปีก่อนตรัสรู้ พระองค์ทรงทำอะไรบ้าง ทรงอยู่กับดาบสทั้งสองกี่ปี บำเพ็ญตบะอยู่กี่ปี ผมคิดว่าพระองค์ทรงอยู่ในสำนักของดาบสทั้งสองไม่เกินสองปี อีกสี่ปีหลังทรงทรมานพระองค์เองด้วยระบบตบะวิธีต่างๆ ลงท้ายด้วยการอดพระกระยาหารอันเรียกว่า ทุกรกิริยา

บางท่านว่าทรงอดพระกระยาหาร ๖ ปี คงเป็นไปไม่ได้ดอกครับ ขืนอดนานปานนั้นก็ไม่เหลืออะไรแล้ว ความที่น่าเป็นไปได้ก็คือ ทรงใช้เวลาประมาณสองปี ศึกษาและปฏิบัติอยู่กับอาจารย์ทั้งสองสำนัก ที่เหลืออีกสี่ปีก็หมดไปกับการบำเพ็ญตบะ ทรมานตัวเองด้วยวิธีอันเคร่งครัดนานาประการ ท้ายที่สุดก็ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาสามขั้นตอน ขั้นตอนสุดท้าย ทรงอดพระกระยาหารดังที่ทราบกันดีแล้ว



(http://files.palungjit.org/attachment.php?attachmentid=2613201&stc=1&thumb=1&d=1365501954)
ปางประสูติ

ตำนานเล่าว่า เมื่อพระโพธิสัตว์ก้าวลงสู่พระครรภ์พระนางสิริมหามายา พระนางทรงมีพระสุบินนิมิต ว่า ได้เสด็จไปชมป่าหิมพานต์ มีช้างเผือกเชือกหนึ่งลงมาจากยอดเขาสูง “ชูงวงอันจับบุณฑริกปทุมชาติสีขาว เพิ่งบานใหม่ ร้องโกญจนาท เข้ามาในกนกวิมาน แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบรรทม ถ้วนสามรอบ แล้วเสมือนดุจเข้าไปในอุทรประเทศ ฝ่ายทักษิณปรัศว์แห่งพระราชเทวี”

โหราจารย์ทำนายว่า ราชสำนักพระเจ้าสุทโธทนะ จะมีพระราชโอรสผู้มีบุญญาธิการมาอุบัติ พระราชโอรสพระองค์นี้มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนเด็กทารกทั่วไป

กล่าวไว้ด้วยว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จลงในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายานั้น เกิดปรากฏการณ์ประหลาดหลายอย่างเช่น พระมารดาไม่มีความยินดีในกามโดยอัตโนมัติ มีพระวรกายไม่ลำบาก มองเห็นพระโพธิสัตว์นั่งขัดสมาธิ ผินพระพักตร์ออกมาข้างพื้นพระอุทรแห่งพระมารดา ขณะประทับในพระครรภ์ก็ไม่แปดเปื้อนมลทิน ไม่คุดคู้ดุจทารกทั่วไป

เมื่อถ้วนทศมาส พระโอรสก็ประสูติ ณ วนอุทยาน ลุมพินี ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ ตำนานเล่าว่า เป็นธรรมเนียมแต่โบราณ เมื่อสตรีจะคลอดบุตร จะเดินทางกลับไปคลอดยังตระกูลเดิมของตน พระนางสิริมหามายาก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อประสูติพระราชโอรสที่กรุงเทวทหะ

ขบวนเสด็จไปถึงสวนลุมพินี กึ่งกลางระหว่างเมืองทั้งสอง พระนางก็ทรงประชวรพระครรภ์ ได้เสด็จเข้าไปพักใต้ต้นสาละ ทรงยืนเหนี่ยวกิ่งสาละ ประสูติพระราชกุมาร ในอิริยาบถยืน

พระกุมาร ทันทีที่เสด็จออกจากพระครรภ์ ก็เสด็จดำเนินไปได้ ๗ ก้าว ทรงยกพระหัตถ์ขวาขึ้นชี้พระดรรชนีบนท้องฟ้า บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุดร เปล่ง “อาสภิวาจา” ว่า
    อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส   เชฏฺโฐ เสฏฺโฐหมสฺมิ
     อยมนฺติมา ชาติ  นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว
     เราเป็นผู้เลิศของโลก  เป็นใหญ่ที่สุดและประเสริฐสุด
     นี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา  ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป


พระพุทธรูปปางนี้ ส่วนมากวาดหรือปั้นเป็นพระกุมารน้อยเสด็จดำเนินด้วยพระบาท มีดอกบัวผุดขึ้นรองรับพระบาท พระหัตถ์ขวาชี้ขึ้นบนฟ้า บางภาพทำพระโอษฐ์ดุจกำลังเปล่งพระวาจา ขณะที่พระราชชนนีทรงยืนเหนี่ยวกิ่งสาละอยู่ถัดไป

ภาพปั้นที่ลุมพินี ประเทศเนปาล ก็อยู่ในอิริยาบถนี้ พระลักษณะพระกุมารน้อย ดูแล้วสบายตาสบายใจมาก บ่งบอกว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการจริงๆ ข้อนี้ต้องชมคนปั้น

ที่เมืองไทยเรา ไม่นิยมปั้นพระพุทธรูปบางอื่น นอกจากปางสมาธิ หรือปางมารวิชัย  นอกนั้นมักเป็นภาพวาดมากกว่า โดยเฉพาะเหตุการณ์ก่อนตรัสรู้ มักไม่นิยม คงเห็นว่ายังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า จึงไม่ควรเรียกพระพุทธรูปกระมัง

ที่อินเดียจะเห็นพระรูปเจ้าชายน้อยแกะสลักด้วยไม้จันทน์อย่างสวยงาม เสียแต่ว่าเกณฑ์ให้เจ้าชายน้อยมีพระภูษาทรงเสียนี่ เด็กเกิดใหม่ไม่น่าจะนุ่งผ้า

ในขณะที่พระราชกุมารประสูตินั้น ได้มีมนุษย์ สัตว์ และสิ่งของเกิดขึ้นพร้อมพระราชกุมารเป็น “สหชาติ” ๗ คือ พระนางยโสธราพิมพา, พระอานนท์, นายฉันนะ, กาฬุทายีอำมาตย์, ต้นพระศรีมหาโพธิ์, ม้ากัณฐกะ และขุมทรัพย์ ๔ ขุม

ครั้งนั้น มีดาบสองค์หนึ่งนาม กาฬเทวิล เป็นที่รู้กันทั่วไปในนาม “อติสะ” ทราบข่าวพระราชกุมารประสูติ จึงเดินทางไปยังเมืองกบิลพัสดุ์ เพื่อเยี่ยมชมพระราชกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทรงปีติปราโมทย์ยิ่ง รับสั่งให้เชิญพระราชกุมารมาเพื่อนมัสการพระดาบส

อสิตดาบสเห็นพระราชกุมารสมบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ ก็ก้มถวายบังคมพระราชกุมารโดยอัตโนมัติ พลางพินิจพิจารณาดูพระลักษณะอย่างละเอียดแล้ว ก็หัวเราะออกมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

ทันใดนั้นหน้าตาที่ยิ้มแย้มก็กลับสลดลง ดาบสเกิดโทมนัส ร้องไห้ออกมา จนพระราชาทรงแปลกพระทัย ตรัสถามถึงเหตุแห่งการหัวเราะและร้องไห้

อสิตดาบสถวายพระพรว่า พระราชกุมารนี้สมบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะ จะได้เสด็จออกผนวช ตรัสรู้เป็นพระศาสดาเอกในโลกโดยมิต้องสงสัย อาตมภาพมองเห็นเหตุการณ์นี้จักเกิดขึ้นจริง จึงยินดีปรีดากับชาวโลกที่จะได้มีโอกาสสดับพระธรรมเทศนาอันไพจิตร จึงหัวเราะออกมาด้วยปีติยินดี แต่ครั้นคำนวณระยะเวลาดูก็รู้ว่าอาตมภาพจะไม่มีอายุยืนยาวจนได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระองค์ จึงสลดใจร้องไห้ออกมา สงสารในความอาภัพของตน

ครั้นถึงวันที่ ๕ นับแต่พระราชกุมารประสูติ พระเจ้าสุทโธทนะ โปรดให้อัญเชิญพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในพระเวทจำนวน ๑๐๘ ท่าน มารับพระราชทานฉันในพระบรมมหาราชวัง ได้เลือกเอาพราหมณ์ ๘ ท่านจากจำนวนนั้น ให้ตรวจดูพระลักษณะและขนานพระนามพระราชกุมาร

พราหมณ์ทั้ง ๘ ได้พร้อมใจกันถวายพระนามว่า สิทธัตถะ (แปลว่าผู้มีความประสงค์อันสำเร็จแล้ว) พิจารณาดูพระลักษณะของพระราชกุมารอย่างละเอียดแล้วทั้ง ๗ ท่าน  ยกเว้นพราหมณ์หนุ่มนามโกณฑัญญะ ได้พยากรณ์ เป็น ๒ คติว่า ถ้าพระราชกุมารจะอยู่ครองเพศฆราวาส จักได้เป็นพระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าเสด็จออกผนวชจะได้เป็น ศาสดาเอกในโลก

โกณฑัญญะคนเดียวยืนยันว่า พระราชกุมารจะสละโลกียวิสัยแน่นอน และจะได้เป็นพระบรมศาสดาผู้ประเสริฐของชาวโลก

พราหมณ์ทั้ง ๘ นั้นมีนามตามลำดับคือ รามพราหมณ์, ลักษณพราหมณ์, ยัญญพราหมณ์, ธุชพราหมณ์, โภชพราหมณ์, สุทัตตพราหมณ์, สุยามพราหมณ์, และโกณฑัญญพราหมณ์

เรื่องเล่ามหัศจรรย์เกี่ยวกับการประสูติพระราชกุมาร มีทั้งในคัมภีร์ชั้นต้นคือพระไตรปิฎก และคัมภีร์ชั้นรอง คือ อรรถกถา ฎีกา และพุทธประวัติที่แต่งภายหลัง เช่น ปฐมสมโพธิกถา มีการอธิบาย ๓ แนวทางคือ
๑. แปลตามตัวอักษร บอกว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริงๆ พูดได้ เดินได้จริงๆ
๒. อธิบายในแง่สัญลักษณ์ (เดิมใช้คำว่า บุพนิมิต) คือไม่แปลตามตัวอักษร เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอะไร เช่น เดินได้แสดงถึงจะสร้างความก้าวหน้าแก่ชาวโลก พูดได้แสดงว่าพระราชกุมารต่อไปจะได้ประกาศสัจธรรมที่ไม่เคยมีใครประกาศมาก่อน จำนวนย่างพระบาท ๗ ก้าว แสดงว่าพระราชกุมารจะเผยแพร่คำสอนแพร่หลายในแคว้นทั้ง ๗ (หรือพระกุมารจะได้ตรัสรู้เพราะโพชฌงค์ ๗ ประการ)  ดอกบัวที่ผุดขึ้นรองรับ แสดงถึงพระราชกุมารถึงจะอยู่ในโลก ก็ไม่ติดข้องอยู่ในโลกียวิสัย เป็นผู้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งมวล ฯลฯ (ดูการตีความในแง่สัญลักษณ์ใน ปฐมสมโพธิกถา, พุทธประวัติ เป็นต้น)

ในประเด็นที่ ๒ นั้น เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ในประเด็นที่ ๑ นั้น พระอรรถกถาจารย์ท่านเน้นย้ำทำนองให้เชื่อว่าเป็นความจริง เป็นไปได้ และเป็นไปแล้วจริง เหตุผลของท่านสั้นๆ ว่า ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ต่างๆ เกี่ยวกับพระโพธิสัตว์นั้น “เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์” (อยํ โพธิสตฺตสฺส ธมฺมตา=นี้เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์)

คำกล่าวนี้น่าคิด ท่านอธิบายว่า พระโพธิสัตว์มีสองระดับคือ (๑) อนิยตโพธิสัตว์=พระโพธิสัตว์ยังไม่แน่นอนว่าจะตรัสรู้ ต้องบำเพ็ญบารมีอีกนาน  กับ (๒) นิยตโพธิสัตว์=พระโพธิสัตว์ทีบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว ต้องตรัสรู้แน่นอน

พระสิทธัตถราชกุมารนั้นเป็นพระโพธิสัตว์ประเภทที่ ๒ พระโพธิสัตว์ระดับที่จะต้องตรัสรู้แน่นอน เอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่ ย่อมมีเรื่องราวมหัศจรรย์เกี่ยวข้องกับท่านมากมาย ถือว่าเป็น “ธรรมดา” ของท่าน

มิใช่เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์นะครับ เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดาที่ไม่ทั่วไปแก่มนุษย์สามัญอื่นๆ

เอาอย่างนี้แล้วกัน ธรรมดาของนก ย่อมบินได้ ธรรมดาของปลา อยู่ในน้ำได้ทั้งวันโดยไม่โผล่ขึ้นมาหายใจเลย แต่ไม่ตาย เราอัศจรรย์ไหม

ตอบทันทีว่า ไม่อัศจรรย์แม้แต่น้อย เพราะอะไร เพราะเรารู้ว่าการบินได้เป็นธรรมดาของนก การอยู่ในน้ำทั้งวันโดยไม่โผล่ขึ้นมาหายใจ เป็นธรรมดาของปลา

เช่นเดียวกัน พระนิตยโพธิสัตว์ เมื่ออยู่ในครรภ์ก็ไม่คุดคู้ ไม่เปรอะเปื้อนมลทินครรภ์ เหมือนสัตว์ในครรภ์อื่นๆ ก็เป็นธรรมดาของท่าน เกิดมาแล้วเดินได้ พูดได้ทันที ก็เป็นธรรมดาของท่าน

ไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องธรรมดาครับ

ถ้าขี้สงสัยมาก ถามว่า มันจะเป็นไปได้หรือ เกิดมาแล้ว พูดได้ เดินได้ทันที เอาแค่คนธรรมดาๆ นี่แหละ ในกินเนสส์บุ๊ก เขาเคยบันทึกสถิติคนเกิดมาแล้วสองชั่วโมงพูดได้ อายุ ๔ ขวบพูดได้ ๗ ภาษา และแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับปรัชญาชั้นสูงในมหาสมาคมของนักปราชญ์ทั้งหลายเป็นที่อัศจรรย์ไปตามๆ กัน ท่านผู้นี้นามจำง่าย เพราะคล้ายยี่ห้อเบียร์ คือ นาม คริสเตียน ไฮเนเก้น

ฝรั่งคงไม่หลอกเรากระมังครับ เพราะสถิติแปลกๆ ที่เขาบันทึกไว้ ก็บันทึกจากเรื่องจริง

นี้ขนาดคนธรรมดา มิใช่นิยตโพธิสัตว์ เกิดมาแล้วไม่นานยังพูดได้ ทำไมพระสิทธัตถราชกุมารซึ่งเป็นนิยตโพธิสัตว์จะพูดไม่ได้ละครับ ฝากไว้ให้คิด ไม่จำต้องเชื่อ

เชื่อง่ายนักเดี๋ยวถูกหลอกชีช้ำเปล่าๆ ชาวพุทธเอ๋ย •



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/74127220114072_1236431252_1_.jpg)
 
ปางทุกรกิริยา (๑)

คงจะเคยเห็นผ่านตามาบ้าง คือพระพุทธรูปผอมแห้ง เหลือแต่กระดูก มองเห็นเส้นเอ็นทั่วร่าง พระพุทรูปปางนี้เรียกว่า ปางทุกรกิริยา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ปางทรมานกาย

เห็นการณ์เกิดขึ้นในถ้ำที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่า ดงคศิริ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นภาษาอะไร แปลว่าอย่างไร ท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา (ทองยอด ภูริปญฺโญ) ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงขนามนามให้ว่า "ยอดบรรยาย" อธิบายให้ฟังว่า น่าจะมาจาก มาตังเคศวรี (มาตังค-อิศวรี = เขามาตังคอันยิ่งใหญ่) แล้วท่านก็หันมาถามผมว่า รู้ไหม "มาตังคะ" หมายถึงอะไร ผมเรียนท่านไปตามที่นึกได้ว่า มาตังคะ เป็นชื่อช้างตระกูลสูงตระกูลหนึ่ง ถ้าจะแปลก็แปลว่า "เขาพญาช้าง" หรือ "ภูพญาช้าง" อะไรทำนองนั้น มาตังค กร่อนลงเหลือแต่ ตังค แล้วเป็น "ดงค" ในที่สุด อิศวรี กร่อนเหลือแต่ ศิริ จึงเป็น ดงคศิริ ด้วยประการฉะนี้

ถ้ำดงคศิริ อยู่ฝั่งตะวันออกของตำบลพุทธคยา ปัจจุบันนี้มีพระทิเบตไปสร้างวัด คอยเฝ้าอยู่ ชาวพุทธน้อยคนจะเดินทางไปถึง เพราะไปค่อนข้างลำบาก ภายในเป็นถ้ำกว้างจุได้ประมาณ ๘-๑๐ คน มีพระพุทธรูปปางทุกรกิริยาตั้งอยู่ด้วย ณ ถ้ำแห่งนี้เองที่พระมหาสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา โดยมีพราหมณ์ห้าคนคือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ คอยเฝ้าปรนนิบัติอยู่

พราหมณ์ทั้งห้าคนนี้ เฉพาะโกณฑัญญะ เป็นพราหมณ์ที่หนุ่มที่สุดในแปดคน ที่ทำนายพระลักษณะและขนานพระนามให้เจ้าชายสิทธัตถะ และเป็นคนเดียวที่ยืนยันว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะออกผนวชและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นทราบภายหลังว่าเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชจึงชวนพราหมณ์อีกสี่คนออกบวชตามด้วย

พระมหาสัตว์ได้ทำทุกรกิริยาเป็นขั้นตอนตามลำดับดังนี้
๑. ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุด้วยพระชิวหาไว้ให้แน่น จนพระเสโทไหลออกจากพระกัจฉะ ทรงได้รับทุกขเวทนาอันกล้า เหมือนมีใครมาบีบคอไว้แน่น แต่ในที่สุดก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทาง จึงเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

๒. ทรงผ่อนกลั้นอัสสาสะ ปัสสาสะ เมื่อลมเดินทางช่องพระนาสิกและช่องพระโอษฐ์ไม่ได้สะดวก ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระ กรรณทั้งสองข้าง ทำให้เสียดพระอุทร ร้อนพระวรกายเป็นกำลัง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จึงทรงเปลี่ยนเป็นวิธีอื่น

๓. ทรงอดพระกระยาหาร โดยเสวยวันละเล็กละน้อย จนไม่เสวยอะไรเลย จนพระวรกายเหี่ยวแห้ง พระฉวีวรรณเศร้าหมอง พระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย เมื่อลูบพระวรกาย เส้นพระโลมาร่วงติดมือมา มีพระกำลังถดถอย จะเสด็จไปไหนก็ซวนเซล้ม แต่ก็ยังไม่สำเร็จอีก

ทรงทำถึงขั้นนี้นับว่าถึงที่สุดแล้ว ก็ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณที่ทรงมุ่งหวัง พอดีทรงได้คิดขึ้นมา แล้วทรงค้นทางสายกลาง จึงทรงเลิกทุกรกิริยา

ว่ากันว่า พระอินทร์มาเทียบเสียงพิณสามสายให้ฟัง พระมหาสัตว์ได้ยินก็เลยนำเอามาเปรียบเทียบกับการกระทำของพระองค์ ถ้าสายพิณตึงเกินไป เสียงก็ไม่ไพเราะ พานจะขาดเอาได้ ถ้าสายพิณหย่อนเกินไป เสียงก็ไม่ไพเราะเช่นเดียวกัน แต่เมื่อขึงสายให้พอเหมาะพอดี เสียงพิณก็ไพเราะชวนฟัง ดุจเดียวกับการปฏิบัติ เคร่งครัดทรมานเกินไป หรือย่อหย่อนเกินไป ไม่มีทางสำเร็จได้ ต้องพอเหมาะพอดี จึงจะสำเร็จประโยชน์ ทรงคิดได้ดังนี้จึงทรงเลิกทุกรกิริยาอย่างเด็ดขาด

ปางทุกรกิริยา (จบ)

ในช่วงนั้น พระมหาสัตว์ทรงคิดเปรียบเทียบการปฏิบัติของพระองค์ กับท่อนไม้ลอยน้ำ ๓ ข้อคือ
๑. ท่อนไม้สด ชุ่มด้วยยาง แช่น้ำ นำไปก่อไฟไม่ติด เปรียบเหมือนสมณพราหมณ์ทั้งกายและใจหมกมุ่นอยู่ในกาม ถึงจะปฏิบัติเคร่งครัดทรมานตนอย่างไร ก็ไม่มีทางพ้นทุกข์
๒. ท่อนไม้สด ชุ่มด้วยยาง อยู่บนบก นำไปก่อไฟไม่ติดเช่นกัน เปรียบเสมือนสมณพราหมณ์ที่กายออกจากกาม (ในรูปแบบนักบวช) แล้ว แต่ใจยังติดอยู่ในกาม ก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ได้
๓. ท่อนไม้แห้ง อยู่บนบก นำไปก่อไฟติด ดุจเดียวกับสมณพราหมณ์ที่ปลีกออกจากกามทั้งกายและใจ ย่อมบรรลุความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวลได้

เมื่อทรงค้นพบ "ทางสายกลาง" จึงหันมาเสวยพระกระยาหารให้มีพระกำลังแข็งแรงต่อไป เป็นเหตุให้ปัญจวัคคีย์ผิดหวัง เข้าใจผิดว่า พระมหาสัตว์คลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมาก เห็นแก่กินแล้ว ไม่มีทางบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแน่ จึงชวนกันหนีไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

การที่ทรงเลิกทุกรกิริยา และค้นพบทางสายกลางนี้ มิใช่อยู่ๆ ก็เลิกเฉยๆ ประสบการณ์ที่ทรงผ่านพบมาตั้งแต่ต้นนั้นแหละ เป็นข้อมูลให้พระองค์ทรงนำมาพินิจพิจารณา จนกระทั่งแน่พระทัยว่าเป็นแนวทางไม่ถูกต้อง เพราะถ้าถูกต้อง พระองค์ก็น่าจะบรรลุเป้าหมายแล้ว เนื่องจากทรงกระทำมาจนถึงที่สุดแล้ว ครั้นแว่วเสียงใครบางคนเทียบพิณสามสายให้ฟัง ก็ยิ่งแน่ชัดว่าทางนั้น (การทรมานตน) ไม่ถูก ทางสายกลางต่างหากเป็นทางที่ถูกต้อง

ขอตั้งข้อสังเกตตรงนี้สักนิด ผู้มาเทียบเสียงพิณให้พระมหาสัตว์ฟังนั้น ตำนานว่าพระอินทร์ พระอินทร์ก็พระอินทร์ ไม่ว่ากระไร เพราะพระอินทร์ช่วงหลังนี้ ถูกเขา "ปลด" จากทำเนียบหัวหน้าเทพทั้งหลายแล้ว ยกพระพรหมขึ้นแทนมานานแล้ว จึงได้มา "อาศัย" อยู่ในร่มเงาพระพุทธศาสนา (และวรรณคดี โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ในวรรณคดีไทย) จะเชื่อว่าพระอินทร์จริงๆ ก็ย่อมได้

หรืออาจหมายถึงหนุ่มภารตะคนใดคนหนึ่ง มานั่งดีดพิณอยู่ใกล้ๆ "ถ้ำเขาพญาช้าง" (มาตังเคศวรี) นั้นก็ได้ ด้วยว่า วีณา หรือพิณนั้นเป็นเครื่องดนตรีที่ชาวภารตะถือไปไหนมาไหนประจำดุจดังหนุ่มอีสานถือแคน หนุ่มเหนือถือซึง และหนุ่มภาคกลางถือกีตาร์ อะไรทำนองนั้น

หรืออาจไม่มีใครมาดีดพิณ แต่ขณะนั้นพระมหาสัตว์ทรงเทียบการกระทำของพระองค์ดุจพิณสามสาย ทุกรกิริยานี้ดุจขึงสายพิณเสียตึงเปรี๊ยะ กามสุขัลลิกานุโยค ก็หย่อนเสียเหลือเกินดุจสายพิณที่หย่อนยาน ทั้งสองแนวทางนี้คงมิใช่ทางบรรลุโมกษธรรม ทางสายกลางดุจสายพิณที่ขึงพอดี น่าจะเป็นทางที่ถูกต้องกว่า

ทรงฉุกคิดได้ดังนี้ จึงทรงเลิกอดพระกระยาหาร มุ่งปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป ด้วยประการฉะนี้แล


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 พฤษภาคม 2558 14:21:39
(http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)
(https://dhammaweekly.files.wordpress.com/2010/04/e0b8a1e0b8b2e0b8a3.jpg)

ปางผจญมาร (๑)

หลังจากทรงเลิกทุกรกิริยา และหลังจากศิษย์ทั้งห้าละทิ้งไปแล้ว ทุกอย่างดูเหมือนจะเอื้อให้พระปณิธานของพระองค์บรรลุผลสัมฤทธิ์เร็วขึ้น เพราะพระพลานามัยก็ได้สมบูรณ์ขึ้น และพระองค์ได้อยู่เพียงลำพัง ไม่มีเสียงผู้คนรบกวน เช้าวันนั้น (วันที่จะตรัสรู้) พระมหาสัตว์ประทับอยู่ใต้ต้นไทรใหญ่ สาวใช้ของนายหญิงธิดาของนายบ้านอุรุเวลา เสนานิคม มาเห็นพระองค์แล้วรีบกลับไปรายงานนายหญิงว่า เทพารักษ์ ท่านนั่งรอนายหญิงอยู่

นายหญิงที่ว่านี้ ชื่อ สุชาดา เคยบนเทพที่ต้นไทรไว้ว่า ถ้าได้แต่งงานกับคนมีตระกูลเสมอกัน และมีบุตรชายคนแรก ก็จะแก้บนด้วยข้าวมธุปายาสอย่างดี ครั้นได้แต่งงานกับบุตรเศรษฐี (ว่ากันว่าบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี) ได้ย้ายไปอยู่กับตระกูลสามีแล้วก็ลืมเสีย จนกระทั่งบุตรชายเป็นหนุ่มแล้ว จึงนึกได้ จึงได้กลับมาทำพิธีแก้บนที่บ้านเกิด สั่งให้สาวใช้ไปปัดกวาดโคนต้นไทรให้สะอาด

ได้ยินสาวใช้ รายงานดังนั้น นางก็ดีใจเอาข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองปิดอย่างดีแล้วก็รีบนำไปยังต้นไทร ไปถึงก็ไม่กล้ามองตรงๆ ยื่นถาดข้าวมธุปายาสให้แล้วก็รีบกลับบ้าน

พระมหาสัตว์เสวยข้าวมธุปายาสนั้นแล้ว ก็ลงไปล้างพระโอษฐ์ที่ลำธารอันมีนามว่า เนรัญชรา ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่าถ้าจะได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณดังปรารถนา ก็ให้ปรากฏนิมิตล่วงหน้าด้วยเถิด แล้วทรงลอยถาดทอง ทันใดนั้นถาดทองก็ไหลทวนกระแสน้ำไปสักระยะหนึ่งแล้วก็จม

ตำนานแต่งเพิ่มไปอีกไกลว่า ถาดนั้นจมลงไปยังนาคพิภพ ไปซ้อนกับถาดอีกสามใบเสียงถาดกระทบกันดังกริ๊ง ทำให้พญานาคซึ่งหลับอยู่ตื่นขึ้นมา แล้วก็ร้องว่า "อ้อ มาตรัสรู้อีกหนึ่งองค์แล้วหรือ" แล้วก็หลับต่อไป

พญานาคอะไรขี้เซาเหลือประมาณ นอนหลับเป็นกัปเป็นกัลป์เชียวหรือ

ข้อความที่กล่าวมา คงเป็นเพียงภาษาสัญลักษณ์ ต้องการบอกว่า การที่ถาดลอยน้ำ แสดงว่า พระมหาสัตว์จะได้ตรัสรู้ธรรมอันสูงสุด และได้สั่งสอนประชาชนให้รับรู้ตามอย่างกว้างขวาง และธรรมนั้นก็ดี วิถีดำเนินชีวิตที่พระองค์ทรงวางไว้ให้หมู่ชนผู้ปฏิบัติตามพระองค์ในกาลต่อมาก็ดี เป็นสิ่งที่ "ทวนกระแสโลก" โดยทั่วไป

พญานาคขี้เซาที่หลับทั้งกัลป์นั้นเป็นตัวแทนของหมู่สัตว์ผู้หลับใหลอยู่ด้วยอำนาจกิเลสนิทรา การตื่นมาเพียงชั่วครู่แล้วหลับต่อไป เท่ากับบอกว่า แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมอย่างไม่เห็นแก่เหนื่อยยากพระวรกายตลอดพระชนมชีพ ก็มีเพียงคนจำนวนน้อยที่ได้ปฏิบัติและได้รู้ตามพระองค์ ยังคงมีอีกจำนวนมากมายมหาศาล ที่ยัง "หลับใหล" อยู่ด้วยอำนาจกิเลสนิทรา อะไรทำนองนั้น

ทั้งหมดนี้ก็เดาเอาแหละครับ ผิดถูกอย่างไร ก็ขออภัยด้วย



ปางผจญมาร (จบ)
ตกบ่ายพระมหาสัตว์ก็ข้ามน้ำไปยังฝั่งตะวันตก (น้ำในแม่น้ำเนรัญชรา ในช่วงนั้นคงไม่ลึกพอลุยข้ามไปได้) ทรงพบคนตัดหญ้าคนหนึ่งนามโสตถิยะ เขาได้ถวายหญ้ากุศะแปดกำ หญ้ากุศะ แปลกันว่าหญ้าคา แต่ดูจริงๆ แล้วไม่ใช่หญ้าคา พระองค์เอาหญ้ากุศะแปดกำนั้นลาดเป็นที่นั่ง ณ โคนต้นอัสสัตถะ (ต่อมาเรียกว่า ต้นโพธิ์) ประทับผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระปฤษฎางค์พิงต้นอัสสัตถะ ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า "ตราบใดที่ยังไม่บรรลุสิ่งที่พึงบรรลุได้ความพยายามของบุรุษ ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ แม้เลือดและเนื้อจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังและกระดูกก็ตามที เราจะไม่ลุกขึ้นจากอาสนะนี้"

ทรงนั่งสมาธิเข้าฌาน ใช้ฌานเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาแนวดิ่งต่อไป ว่ากันว่าพญามารนามว่า วสวัตตี ผู้ตามผจญพระมหาสัตว์มาตลอด ตั้งแต่วันเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) มาแล้ว คอยหาช่องโอกาสอยู่เสมอ แม้ขณะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา พญามารเธอก็ไปกระซิบบอกให้ปรินิพพานเสียเถอะ พระมหาสัตว์ตรัสว่า ตราบใดที่ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ยังจะไม่ปรินิพพาน มาวันนี้เห็นพระมหาสัตว์ทำท่าว่าจะก้าวล่วงวิสัยของตน จึงเดือดร้อนใจมาก ยกทัพมหึมามาผจญพระองค์

ฉากนี้ ตำราเขียนไว้น่ากลัวพิลึก วสวัตตีชี้นิ้วสั่งพระมหาสัตว์เลยว่า "นี่มันอาสนะของข้าท่านจงลุกขึ้นเดี๋ยวนี้"

พระมหาสัตว์บอกว่า "หาใช่ของท่านไม่ ของเรา เราเอาหญ้ากุศะที่นายโสตถิยะถวายมาปูเป็นอาสนะนี้"
"ท่านว่าอาสนะของท่าน ท่านมีพยานไหม" พญามารรุก "แต่ข้ามีพยานนะ ลูกน้องทั้งหมดของข้านี้เป็นพยานได้" แล้วหันไปถามลูกน้องว่า "ใช่ไหมวะ"
"ใช่ครับ เจ้านาย" เสียงลิ่วล้อพญามารร้องตอบ
"เห็นไหม ทั้งหมดเขายืนยันว่าอาสนะนี้เป็นของข้า แล้วท่านเล่า มีพยานไหม" มารรุกฆาต พระมหาสัตว์ทรงชี้พระดรรชนีลงที่พื้นดิน ตรัสว่า "ขอให้วสุนธรา จงเป็นพยาน"

วสุนธรา เป็นนามหนึ่งของแผ่นดิน ทันใดนั้น พระแม่ธรณีก็โผล่ขึ้นจากพื้นดิน บีบมวยผมบันดาลให้กระแสน้ำไหลบ่ามาอย่างแรง ท่วมกองทัพพญามารพัดพาหายไป ณ บัดดล เป็นอันว่ากองทัพพญามารได้พ่ายแพ้อย่างหมดท่า



(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a7/BuddhaShakyamuni.jpg)

แถมท้ายตรงนี้หน่อยว่า พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นปางนั่งสมาธิ พระหัตถ์ขวาวางที่พระเพลา ชี้พระดรรชนี (ความจริงทั้งห้านิ้ว) ลงพื้นดิน พระพุทธรูปปางนี้เรียกว่าปางมารวิชัย  (อ่าน "มา-ระ-วิ-ไช") หรือ "ปางผจญมาร" ชาวบ้านเรียก ปางสะดุ้งมาร เพราะความเข้าใจผิด

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่งพระพักตร์ไม่ค่อยสวย ตรัสล้อว่า "องค์นี้ท่าจะสะดุ้งมาร" หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ตอนนั้นเป็นผู้รับผิดชอบดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จำเอาไปเขียนบรรยายพระปางมารวิชัยว่า "ปางสะดุ้งมาร" คนเลยเข้าใจตามนั้น แม้ภายหลังจะแก้ไขแล้ว ก็ยังมีคนเรียกอย่างนั้นต่อมา

เหตุการณ์ข้างต้น เป็นภาษาสัญลักษณ์มากกว่าจะตีความตามตัวอักษร

พญามาร เป็นสัญลักษณ์แทนกิเลสที่เป็นหัวหน้า ๓ ตัวอันเรียกว่า อกุศลมูลคือ โลภะ โทสะ โมหะ ส่วนเสนามารก็ได้แก่กิเลสเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นบริวารของโลภะ โทสะ โมหะนั้น

การที่พระมหาสัตว์ผจญมาร ก็คือทรงกำลังต่อสู้กับอำนาจของกิเลสเหล่านี้นั้นเอง

พระแม่ธรณี เป็นสัญลักษณ์บารมีทั้ง๑๐ ที่ทรงบำเพ็ญมา การอ้างพระแม่ธรณี ก็คือทรงอ้างถึงคุณงามความดีที่ทรงบำเพ็ญมาเป็นกำลังใจในการต่อสู้กับอำนาจของกิเลสนั้นเอง เพราะทรงมีบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาเต็มเปี่ยม พระองค์จึงสามารถเอาชนะอำนาจของกิเลสทั้งปวง บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด ดังนี้แล



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/58026732918288__3614_3619_3632_3650_3614_3608.jpg)
ปางตรัสรู้ (๑)

พระพุทธรูปปางตรัสรู้ถือว่าเป็นปางหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดเริ่มของพระพุทธศาสนา จากการตรัสรู้ของพระมหาสัตว์ ประชาชนชาวโลกทั้งหลายจึงได้รับพระธรรมคำสั่งสอนอันเป็นแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีงามในกาลต่อมา

ถามว่าพระมหาสัตว์ได้ตรัสรู้อะไร หรือแม้กระทั่งคำว่า ตรัสรู้ หมายถึงอะไร ตอบว่า คำว่าตรัสรู้เป็นคำไทยผสมกับ (คิดว่า) คำเขมร แปลว่า รู้แจ้ง (ตรัส=แจ้ง, รู้ คือรู้) บาลีของคำนี้คือ สมฺมมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธ = รู้ยิ่งแล้ว ซึ่งความรู้พร้อมโดยชอบ ความรู้พร้อมโดยชอบ คือรู้อริยสัจ (ความจริงอันประเสริฐ) ๔ ประการคือ  ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ได้ และแนวทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์

ณ คืนนั้น (คืนวันเพ็ญเดือนหก) หลังจากทรงอธิษฐานจิตว่าจะไม่ยอมลุกจากที่นั่งจนกว่าจะบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเข้าสมาธิผ่านฌานทั้งสี่แล้ว ทำฌานให้เป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา ล่วงปฐมยามก็ทรงบรรลุญาณอันเรียกว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ อันหมายถึงทรงรู้ชาติหนหลังของพระองค์ ได้ ว่าทรงเกิดอะไร ในชาติไหนบ้าง พอถึงมัชฌิมยาม ก็บรรลุจุตูปปาตญาณ (หรือ ทิพพจักขุญาณ) หยั่งรู้ว่าการเกิดการตายของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยอำนาจแห่งกรรมที่แต่ละคนทำมา พอถึงปัจฉิมยาม ก็ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ คือความรู้แจ้งถึงความสิ้นไปแห่งกิเลสจากจิตสันดานของพระองค์

ทรงเป็นสัมมาสัมพุทธะ ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง คือตรัสรู้อริยสัจสี่นั้นแล

ชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูปปางตรัสรู้ขึ้นมา เพื่อเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ พระพุทธรูปท่านั่งสมาธิ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระพุทธรูปปางนี้ต่างจากปางมารวิชัย นิดหนึ่ง ตรงที่ปางมารวิชัยพระหัตถ์ขวายื่นลงยังพื้น ตำนานว่าอ้างพระนางธรณีเป็นพยาน ดังเล่ามาแล้วในตอนก่อน

ถ้าคิดแบบสามัญชน การผจญพญามาร ก็คือการหวนรำลึกถึงความสุขเก่าๆ เมื่อครั้งก่อนเสด็จออกผนวช ทรงรำพึงว่า พระองค์ได้ตรากตรำแสวงหาทางพ้นทุกข์ โดยการทดลองสารพัดวิธี จนล่วงเข้าหกขวบปีแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะถึงฝั่ง จะเลิกแสวงหาดีไหม หรือว่าจะสู้ต่อไป การลังเลว่าจะเลิกหรือไม่เลิก เท่ากับกำลังผจญกับพญามารและเสนามาร ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงอธิบายว่า คือการผจญกับกิเลส นั้นแล

แต่ท้ายสุด พระองค์ตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ ต้องไปให้ถึงที่สุด เท่ากับอ้างพระแม่ธรณี แล้วต่อสู้ต่อไป โดยการดำเนินตามทางสายกลางที่ค้นพบใหม่ จนประสบความสำเร็จในที่สุด ได้เป็น พระสัมมาสัมพุทธ (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานโดยชอบด้วยพระองค์เอง) หรือพระพิชิตมาร (พระผู้ทรงชนะมาร)



ปางตรัสรู้ (จบ)
เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ พรรณนาฉากตรัสรู้ไว้ไพเราะมาก บังเอิญผมหา The Light of Asia ไม่เจอ จึงขออนุญาตนำเอาบทกวีที่ คุณกรองแก้ว บูรณะกิจ ประพันธ์ไว้ ในหนังสือเล่มหนาชื่อ พุทธบูชา มาลงดังนี้

พระองค์ทรงพยายามสู้ความคิด บำเพ็ญกิจพิมลให้พ้นเข็ญ
ลังเลถูกขจัดตัดประเด็น ทรงรู้เห็นกิเลสก่อเหตุนี้
แต่ภาพหลอนทั้งหลายไม่คลายคลาด ยังผุดผาดเจิดจรัสรัศมี
รำลึกถึงพิมพามหาเทวี เคยร่วมศรีสวาสดิ์เคียงร่วมเวียงวัง
ทรงคิดถึงราหุล ว้าวุ่นใหญ่ ด้วยสลัดทิ้งไว้ในเบื้องหลัง
ล้วนเป็นภาพหวนกลับมายับยั้ง และฉุดรั้งมุ่งหมายทำลายกัน
จึงบังคับพระทัยให้กลับที่ คืนไปสู่วิถีที่เฉิดฉัน
แสวงจุดอุบัติสัจธรรม เพื่อพบวันตรัสรู้พ้นหมู่กรรม
ในที่สุดพระองค์ทรงประจักษ์ ได้พบหลักสำคัญอันก่องก่ำ
เป็นยอดแห่งสัจจะนาม พระธรรม ซึ่งจักนำสัตว์ทั้งหลายคลายทุกข์ตรม
ตรัสรู้เห็นจริงในสิ่งสรรพ อันเกี่ยวกับทุกข์เศร้าเข้าทับถม
คือเกิดแก่เจ็บตายคลายระทม ภายใต้ร่มธรรมะแห่งพระองค์
ทรงเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ชนเฝ้าบูชิตสิ้นพิศวง
นำมวลชนพ้นทุกข์สุขจำนง พระนามบ่ง โคตมะ พุทธะ
เพ็ญเดือนหกปีระกาสิบห้าค่ำ โลกได้ธรรมอุบัติยอดสัจจะ
หกปีที่บั่นบุกทำชำระ ทรงชนะหมู่มารผลาญโศกปวง

ครับทรงหักห้ามพระทัยอันหวนหาอาลัยที่ทำให้พะว้าพะวังได้แล้ว ก็มุ่งแน่วสู่ทางวิปัสสนา บรรลุญาณขั้นต่างๆ ตามลำดับ จนถึงอาสวักขยญาณ อันสามารถขจัดตัดกิเลสที่หมักดองในจิตสันดานมานานแสนนาน ลุถึงวิชชาวิมุตติหลุดพ้นโดยประการทั้งปวง ณ รุ่งอรุณแห่งคืนวันพระจันทร์เสวยฤกษ์วิสาขะแล้วแล  


(http://www.bloggang.com/data/p/poungchompoo/picture/1425819223.jpg)
ปางถวายเนตร (๑)

พระพุทธรูปปางนี้ ไม่ค่อยเห็นบ่อยนัก แต่ผู้ที่สนใจในเรื่องพระพุทธรูปประจำวันคงจะทราบ และบางท่านก็คงจะนำไปเป็นพระบูชาประจำวันเกิด เพราะถือกันว่าเป็นพระประจำวันอาทิตย์

พระพุทธรูปปางถวายเนตร ท่าทรงยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเต็มที่ ทอดพระเนตรต้นโพธิ์ พระหัตถ์ทั้งสองข้างห้อยลงมา ประสานกันหน้าพระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ในอิริยาบถสำรวม

ถามว่า พระพุทธองค์ทรงทำอะไร ตอบแบบสามัญก็ว่า ทรงยืนจ้องต้นโพธิ์ ถามต่อไปว่า ทรงจ้องทำไม นั่นสิครับ น่าจะมีเหตุผลอธิบาย เหตุว่าอย่างไร ผมยังไม่เคยอ่านที่ไหน จึงจำต้องเดา ก่อนจะเดาก็ขอเวลานอกสักเล็กน้อย

เวลานอกที่ขอมา ก็เพื่อตั้งข้อสังเกตว่า ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลา ๔ สัปดาห์ หลังจากตรัสรู้ ในการเสวยวิมุติสุขใต้ต้นโพธิ์ และต้นไม้อื่นๆ ในปริมณฑล ๔ สัปดาห์ก็ ๒๘ วัน แต่ในคัมภีร์รุ่นหลัง ท่านเติมเข้ามาอีก ๓ สัปดาห์ รวมเป็น ๗ สัปดาห์ (๔๙ วัน)

สัปดาห์ที่เพิ่มมาก็คือ สัปดาห์ที่ ๒ ทรงจ้องต้นโพธิ์ สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จเดินจงกรม สัปดาห์ที่ ๔ ทรงประทับเรือนแก้ว พิจารณาอภิธรรม

ตั้งข้อสังเกตไว้แค่นี้ก่อน แล้วค่อยหาเหตุผลมาอธิบายกันต่อไป หาไม่ได้ ก็ใช้วิธีสันนิษฐาน หรือเดาเอาแหละครับ ไม่มีวิธีอื่น

ตำนานท่านเล่าเรื่องปางถวายเนตรว่า หลังจากตรัสรู้แล้ว ในสัปดาห์ที่ ๒ พระพุทธองค์เสด็จออกจากบริเวณใต้ต้นโพธิ์ ไปประทับยืน (หรือเรียกให้ถูก "ทรงยืน" เพราะ "ประทับ" แปลว่า นั่ง ประทับยืน ก็ต้องแปลว่า นั่งยืน นั่งยืนทำอย่างไรไม่เคยเห็น) ณ ทางทิศอีสานของต้นโพธิ์จ้องพระเนตรดูต้นโพธิ์ โดยไม่กะพริบ ตลอดเวลา ๗ วัน

๗ วันเต็มๆ เชียวนะครับ สถานที่ทรงยืนจ้องต้นโพธิ์ตลอด ๗ วันนี้ เรียกชื่อว่า อนิมิสสเจดีย์ แปลว่าเจดีย์ที่สร้าง ณ สถานที่พระพุทธเจ้าไม่กะพริบพระเนตร

ผู้แต่งพุทธประวัติก็ดี แต่งหนังสือตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆ ก็ดี มิได้บอกเหตุผลว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงจ้องต้นโพธิ์ตลอด ๗ วัน

ถ้าจะเดาก็ต้องเดาว่า พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง

ดังที่ทราบอยู่แล้วว่า พระจริยาวัตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของชาวโลกทั้งมวล การกระทำใดๆ ย่อมเป็นไปเพื่อการนี้ทั้งนั้น นี่คือหลักการใหญ่

ต้นโพธิ์ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธองค์ทรงอาศัยนั่งใต้โคนต้น บำเพ็ญวิปัสสนาตลอดทั้งคืนจนได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ความปรารถนาที่ทรงตั้งไว้ตลอดกาลเวลาอันยาวนาน ได้บรรลุผลสำเร็จ ณ รุ่งเช้าของวันเพ็ญเดือนหก และ ณ โคนต้นโพธิ์ต้นนี้



(http://www.creditonhand.com/images/spell/20145121145361.jpg)

ปางถวายเนตร (จบ)
ต้นโพธิ์ต้นนี้ จึงมีบุญคุณต่อพระพุทธองค์ (นี่พูดโดยภาษาสามัญชนนะครับ) พระพุทธองค์ทรงต้องการจะแสดงความขอบคุณต่อต้นโพธิ์ จึงทรงจ้องต้นโพธิ์ด้วยความซาบซึ้งและขอบคุณ

การรู้บุญคุณของผู้ที่มีบุญคุณ เป็นคุณธรรมที่ดีงามอย่างหนึ่ง เรียกว่า กตัญญู (เรียกให้ถูกว่า กตัญญุตา) และเมื่อรู้ในบุญคุณนั้นแล้ว ก็ตอบแทน เรียกว่า กตเวที (หรือ กตเวทิตา)

ขอบเขตของกตัญญูกตเวที มิใช่อยู่เพียงบุคคล หากรวมถึงสัตว์ สิ่งของด้วย รู้คุณบุคคลที่มีคุณ ก็เป็นกตัญญู รู้คุณต่อสัตว์ที่มีคุณ มีประโยชน์ ก็เป็นกตัญญู รู้คุณ หรือรู้ค่าของสภาพแวดล้อม เช่น ต้นไม้ ภูเขา ลำธาร ฯลฯ ก็เป็นกตัญญู ในเรื่องกตเวทีก็เช่นเดียวกัน

การที่พระพุทธเจ้าทรงจ้องต้นโพธิ์นี้จะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ (หรือได้ แต่ตอนนี้ผมยังตีความไม่ออก) นอกจากเพื่อขอบคุณหรือแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อต้นไม้ที่มีบุญคุณต่อพระองค์นั้นแล

มองให้ลึก พระพุทธองค์ไม่ได้ทำอย่างนี้เพื่อพระองค์เอง หากทรงทำให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนในภายหลัง อนุชนในภายหลังจะได้มีจิตสำนึกในเรื่องนี้ ใครหรืออะไรที่มีบุญคุณต่อตนเองอย่าได้ละเลยให้รู้สำนึกในบุญคุณนั้นและตอบแทนเท่าที่จะทำได้

คุณธรรมสองข้อนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็น "พื้นฐาน" ของคนดี คนดีจะต้องเริ่มจากพื้นฐานนี้ (ภูมิ เว สปฺปุริสานํ กตญฺญูกตเวทิตา = ความรู้คุณ และตอบแทนคุณ เป็นพื้นฐานของคนดี)

พระพุทธจริยาวัตรนี้เอง ทำให้ชาวพุทธไทยถือเอาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต จนกล่าวได้ว่าคนไทยเป็นคนมีคุณธรรมข้อกตัญญูกตเวทีสูงมาก ตั้งแต่โบราณกาล ผู้เฒ่าผู้แก่พร่ำสอนลูกหลานว่า ให้รู้จักบุญคุณคน ใครให้ข้าวให้น้ำกินแม้ครั้งเดียวก็อย่าลืม หรือแม้ไปนั่งหลบร้อนใต้ต้นไม้ใดแม้เพียงชั่วครู่ ก็ให้รู้บุญคุณ อย่าได้เด็ดกิ่งใบ หรือทำลายต้นไม้เป็นอันขาด  หาไม่จะถูกตราหน้าว่า เนรคุณ

พูดถึงการไม่รู้บุญคุณนึกถึงการกระทำอย่างหนึ่ง ในสังคมไทยคือโรงเรียนที่อาศัยวัดอยู่และได้รับการอนุเคราะห์จากวัดนั้นๆ ด้วย แต่ก่อนตั้งชื่อโรงเรียนมี คำว่า "วัด" อยู่ด้วย เช่น โรงเรียนวัดโคกขี้แร้ง (สมมติ) ต่อมาได้เอาคำว่าวัดออก เหลือแต่ "โรงเรียนโคกขี้แร้ง"

นี่คือตัวอย่างของการไม่รู้บุญคุณ ใครเป็นต้นเหตุให้เกิดการกระทำที่ไม่รู้บุญคุณนี้สืบเอาก็แล้วกัน

เพื่อนผมคนหนึ่งพูดทีตลกว่า ถึงจะเอาคำว่าวัดออกก็ดูดี แต่มีอยู่โรงเรียนหนึ่งห้ามเอาออกเด็ดขาด เอาออกแล้วจะเสียหายใหญ่โตทีเดียว

เมื่อถามว่า โรงเรียนอะไรหรือ "โรงเรียนวัดสังเวช"  


(http://www.bloggang.com/data/g/grizzlybear/picture/1408500988.jpg)
ปางจงกรมแก้ว

ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก เห็นภาพวาดลายเส้น เป็นพระพุทธรูปทรงยืน พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานอยู่หน้าพระเพลา แสดงอาการก้าวเดินจงกรม พระเนตรทอดต่ำลงมา อยู่ในอาการสำรวม เห็นปั๊บก็รู้ว่า "กำลังเดิน"

ความเป็นมา ดังที่กล่าวไว้ในตอนก่อน (ตอนว่าด้วย ปางถวายเนตร) พระอรรถกถาจารย์เพิ่มเข้ามาภายหลัง เพราะในพระไตรปิฎก กล่าวว่า หลังตรัสรู้ พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุติสุขใต้ต้นโพธิ์ และต้นไม้อื่น ในปริมณฑลเพียง ๔ สัปดาห์ แต่อรรถกถาเพิ่มเข้ามาอีก ๓ สัปดาห์รวมเป็น ๗ สัปดาห์

เหตุที่เพิ่ม เราไม่ทราบ แต่พอจะเดาได้บางเรื่องบางประเด็น (จะกล่าวถึงภายหลัง) ก่อนอื่นขอเล่าตามที่ท่านรจนาไว้ก่อน

ในสัปดาห์ที่ ๓ หลังตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงถอยจากจุดที่ทรงยืนจ้องต้นพระศรีมหาโพธิ์ เข้ามาอยู่ตรงกึ่งกลาง ระหว่างต้นพระศรีมหาโพธิ์ กับ อนิมิสสเจดีย์ เสด็จจงกรมไปมา อยู่ตลอดเจ็ดวัน

จงกรม แปลตามศัพท์ว่า เดินธรรมดานี่แหละครับ แต่นำมาใช้เรียกการเดินช้าๆ และเดินกลับไปกลับมาด้วย ถามว่าทำไมต้องเดินกลับไปกลับมา ตอบง่าย เพราะในการฝึกสมาธิ พระท่านจะทำสถานที่สำหรับเดินจงกรมเป็นพิเศษ บางแห่งสร้างเป็นแท่น หรือแพลตฟอร์มเตี้ยๆ จึงต้องกำหนดพื้นที่ ที่กว้างยาวพอเหมาะแก่การนี้ การเดินจะต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ จึงต้องเดินกลับไปกลับมาหลายเที่ยว

จุดประสงค์ของการเดินจงกรม ในกรณีของพระพุทธองค์นั้น เข้าใจว่าเพื่อทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถเท่านั้นเอง สังเกตดู พระพุทธองค์ประทับเสียส่วนมาก ไม่ได้เสด็จดำเนินเลย ใต้ต้นโพธิ์ก็นั่ง ใต้ต้นไทรก็นั่ง ใต้ต้นเกดก็นั่ง ใต้ต้นจิกก็นั่ง แต่ละแห่งก็นั่ง "มาราธอน" ถึง ๗ วัน พูดด้วยภาษาสามัญก็ว่าคงต้องเมื่อยขบแหละครับ

เพิ่งจะมียืน และเดินก็ตอนนี้เอง และถ้าจะคิดลึกไปกว่านี้ การที่พระพุทธองค์ทรงทำอย่างนี้ ก็เท่ากับบอกนัยสำคัญดังนี้
๑. เน้นย้ำเรื่อง "สายกลาง" จริงอยู่สายกลางที่ว่าคือข้อปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด เพื่อพ้นทุกข์ แต่ในความหมายที่ประยุกต์มาเพื่อใช้กับกรณีอื่นคือ "ความพอดี" ถ้าหากเกณฑ์ให้พระพุทธองค์ประทับอย่างเดียว ไม่มีการพักผ่อนพระอิริยาบถ หรือเปลี่ยนพระอิริยาบถเลย ก็เท่ากับไม่เน้น "ความพอดี" กลายเป็นสนับสนุนการกระทำที่ "ตึง" เกินไป ไม่รู้จัก "พักผ่อน" เสียบ้าง

๒.การพักผ่อน ที่ว่านี้คือการเปลี่ยนอิริยาบถ มิใช่การนอนหลับ นั่งนานๆ เกิดความเมื่อยขบ ลุกมาเดินเสียบ้าง แต่ในการเดินนั้นก็เดินอย่างสำรวม มีสติกำกับทุกย่างก้าว การทำเช่นนี้เป็นการ "พักผ่อนที่มิได้พักผ่อน" หรือการ "ไม่พักผ่อนที่เป็นการพักผ่อน"

ผมว่านี้คือ รหัสนัย ที่พึงไขให้แจ้งชัด พระพุทธศาสนาสอนให้เห็นความสำคัญของกาลเวลา ไม่พึงปล่อยกาลเวลาให้ล่วงไปเปล่า โดยมิได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ หายใจเข้าออกทุกวินาทีให้ถือเอาประโยชน์จากการหายใจให้ได้ ทุกการเคลื่อนไหว ทุกอิริยาบถควรจะเป็นเครื่องมือ หรือสื่อแห่งการปฏิบัติธรรม

พระพุทธองค์ทรงเดินจงกรมไปมา หลังจากยืนจ้องต้นโพธิ์อยู่เจ็ดวัน บางท่านอาจคิดว่าทรงทรมานพระองค์เอง ทั้งๆ ที่ทรงเลิกละวิธีอย่างนั้นมาแล้ว แต่แท้ที่จริง พระองค์ทรง "พักผ่อน" แต่พักผ่อนด้วยการ "ทำงาน" อย่างอื่น คือ เปลี่ยนพระอิริยาบถ

เคยถามนักปราชญ์ท่านหนึ่ง ผู้ซึ่งตลอดชีวิตของท่านทำแต่งาน ว่าท่านไม่พักผ่อนบ้างเลยหรือ ท่านบอกว่าพักผ่อนไม่พักก็แย่สิ ท่านเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนงานทำเป็นระยะ เช่น เขียนหนังสือวิชาการหนักสมองไปสักระยะหนึ่ง สมองล้าเข้า ก็หันมาเขียนเรื่องเบาสมอง ท่านว่านี้คือการพักผ่อน "พักโดยไม่พัก" ท่านว่าอย่างนั้น

ผมว่าท่านคงได้ "เคล็ดลับ" จากพุทธจริยาวัตรตอนนี้นี่เอง ทั้งหมดนี้ ผมเดาเอาทั้งนั้นครับไม่เชื่อก็อย่าดูหมิ่น

เพราะฉะนั้นในการฝึกสมาธิวิปัสสนา นอกจากจะให้นั่งแล้ว ยังให้เดินจงกรมด้วย ถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งการฝึกปฏิบัติ (หลวงพ่อเทียน วัดสนามใน ท่านให้ศิษย์ "วิ่งจงกรม" แทนเดินช้าๆ ก็ถือว่าเป็นการ "จงกรม" เหมือนกัน)

นั่งจนเมื่อยแล้ว ลุกเดินบ้าง อย่างน้อยก็เป็นการพักผ่อนยืดเส้นยืดสาย แต่ในการพักผ่อนนั้นได้ทำงานไปในตัวอย่างต่อเนื่องด้วย จึงไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมบางท่านทำสมาธิกันได้ทนตลอดทั้งวันก็ไม่เหนื่อย ก็จะเหนื่อยอะไรเล่าได้พักผ่อนอยู่ในตัวนี่ครับ


[(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRTfY6dCEfL32KMZkNQmd92aZlOLMUpYV1ciZs69KDD34J3oBSK6g)
ปางเรือนแก้ว (๑)

ปางนี้ก็เช่นกัน เพิ่มเข้ามาใหม่เพื่อเหตุผลอะไรบางอย่าง ดังจะสันนิษฐานต่อไป ก่อนอื่นขอเล่าประวัติความเป็นมาก่อน

ในสัปดาห์ที่ ๔ พระพุทธองค์เสด็จออกจากรัตนจงกรมเจดีย์ไปยังทิศพายัพของต้นโพธิ์ ประทับ ณ เรือนแก้ว (รัตนฆระ) ว่ากันว่าเทวดาเนรมิตถวาย พระองค์ประทับ ณ เรือนแก้วนี้เป็นเวลา ๗ วัน ทรงพิจารณาพระอภิธรรม

พระอภิธรรมที่ว่านี้คือ พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ที่โบราณาจารย์ย่อให้สั้นเพื่อจำง่ายว่า สัง-วิ-ธา-ปุ-ก-ย-ป

สัง คือ สังคณี (ประมวลธรรมเป็นหมวดๆ)
วิ คือ วิภังค์ (จำแนกธรรมที่ประมวลไว้นั้นโดยพิสดาร)
ธา คือ ธาตุกถา (แจงขันธ์, ธาตุ, อายตนะ ว่าแต่ละอย่างเข้ากันได้หรือไม่อย่างไร)
ปุ คือ ปุคคลบัญญัติ (บัญญัติเรียกคนตามคุณธรรม เช่น เรียกว่าโสดาบัน เพราะคุณธรรมอะไร)
คือ กถาวัตถุ (แถลงทฤษฎีว่าอย่างไหนถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท)
คือ ยมก (ยกธรรมขึ้นถามตอบโดยตั้งคำถามเป็นคู่ๆ)
คือ ปัฏฐาน (แจงปัจจัยหรือเงื่อนไขทางธรรมว่ามีอะไรบ้าง)

ปัญหาเรื่องพระอภิธรรมนี้มีมานานแล้ว คือมี ผู้ปฏิเสธว่าพระอภิธรรมนี้ เกิดขึ้นภายหลังพุทธปรินิพพาน สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงแสดงเฉพาะธรรมกับวินัย หลังพุทธปรินิพพานแล้วประมาณสองร้อยกว่าปี ธรรม กับ วินัย จึงได้แตกแขนงออกเป็น ๓ หมวด อันเรียกว่า พระไตรปิฎก โดย ธรรม ได้แตกออกเป็น พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก วินัย ยังคงเป็นพระวินัยปิฎก

พูดง่ายๆ พระอภิธรรม มาจาก "ธรรม" หรือเป็นส่วนหนึ่งของ "ธรรม" นั่นเอง

เพราะฉะนั้น พระอภิธรรม จึงนับว่าเป็นพัฒนาการยุคหลัง  



ปางเรือนแก้ว (จบ)

แต่ฝ่ายที่ยกย่องพระอภิธรรมปิฎกไม่ยอมรับในเรื่องนี้ จึงพยายามชี้ให้เห็นว่าพระอภิธรรมมีมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ตรัสรู้โน่นแน่ะ เพราะมีหลักฐานว่าหลังตรัสรู้แล้วเพียง ๓ สัปดาห์เท่านั้น พระองค์ยังประทับพิจารณาพระอภิธรรมในเรือนแก้วเลย

และหลังจากประกาศพระพุทธศาสนาแล้วประมาณ ๗ ปี พระพุทธองค์ยังได้เสด็จขึ้นไปแสดงพระอภิธรรมแก่อดีตพุทธมารดาซึ่งไปเกิดเป็นเทพบุตร ณ สวรรค์ชั้นดุสิต พระพุทธองค์เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อดีตพุทธมารดาได้ลงมาฟังพระอภิธรรมร่วมกับเหล่าเทพทั้งหลาย ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ใครช่างกล่าวหาว่าพระอภิธรรมเป็นพัฒนาการในยุคหลัง เป็นไปไม่ได้เป็นอันขาด ว่าอย่างนั้นเถอะ

ครับ ถ้าจะเอาหลักฐาน ก็มีดังที่กล่าวมานี้แหละ แต่หลักฐานนี้ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่งขึ้นภายหลังโดยปราชญ์สำนักอภิธรรมนั้นแล

พระอรรถกถาจารย์คือพระพุทธโฆสาจารย์ ผู้แต่งอรรถกถามากมาย เป็นพระสำนักอภิธรรม จึงจำเป็นอยู่เองที่ท่านต้องการยืนยันความเก่าของพระอภิธรรม เก่าแก่มาแต่สมัยพุทธกาล

ไม่ผิดดอกครับ ที่ท่านเสริมเพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง เพราะไม่มีใครปฏิเสธว่าพระอภิธรรมมิใช่พุทธวจนะ หรือมิใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแน่นอน

เพียงแต่ต้องการให้นักศึกษาสำเหนียกในแง่ประวัติศาสตร์ว่า ธรรมะส่วนไหนของพระพุทธเจ้าเกิดก่อนเกิดหลัง ปิฎกไหนของพระไตรปิฎกเกิดก่อนเกิดหลังเท่านั้นเอง

ใครไปนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ที่อินเดีย ก็จะเห็นสถานที่ต่างๆ ที่พระพุทธองค์เคยประทับรัตนจงกรมเจดีย์เขาก็สร้างไว้ข้างวิหารพุทธคยามีดอกบัวสำหรับรองรับพระบาท (กี่ดอกไม่ได้นับ) รัตนฆรเจดีย์ ก็สร้างเป็นเรือนถัดจากรัตนจงกรมเจดีย์ให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 กรกฎาคม 2558 19:08:02
(http://www.sookjaipic.com/images/8278038207__3635_.gif)
(http://img.tarad.com/shop/t/thaiartcollection/img-lib/spd_20111217161042_b.jpg)
ปางห้ามมาร (๑)

ทางด้านทิศบูรพาแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีต้นไทรย้อยที่ร่มรื่นอยู่ต้นหนึ่ง พวกเด็กเลี้ยงแพะชอบมาอยู่กัน จึงเรียกว่า "อชปาลนิโครธ" พระพุทธองค์ได้เสด็จออกจากรัตนฆรเจดีย์ มาประทับใต้ต้น อชปาลนิโครธนี้ เพื่อเสวยวิมุติสุขต่อในสัปดาห์ ๕ (ตามหลักฐานพระไตรปิฎก เป็นสัปดาห์ที่ ๒ ดังกล่าวมาแล้ว)

วสวัตตีมาร เมื่อพ่ายแพ้พระพุทธองค์แล้วก็นั่งเสียอกเสียใจที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนีพ้นวิสัยแห่งตนไปเสียแล้ว ขณะนั้นธิดาพญามาร ๓ ตน มีนามว่า ตัณหา ราคา และอรดี ตามลำดับ พากันมาปลอบโยนบิดามิให้เศร้าโศกเสียใจ พวกตนอาสาจะไปยั่วยวนพระสมณโคดม นำกลับมาสู่วิสัยแห่งมารให้ได้

นางทั้งสามไปปรากฏกายต่อพระพักตร์พระพุทธองค์ขณะประทับอยู่ใต้ต้นอชปาลนิโครธ ร่ายรำแสดงอาการยั่วยวนด้วยประการต่างๆ เพื่อให้พระพุทธองค์ทรงมีความยินดี

พระพุทธองค์ประทับนิ่ง ยกพระหัตถ์ทำนองห้ามปราม ตรัสด้วยพระอาการสงบว่า
พุทธะใด เอาชนะกิเลสได้เด็ดขาดแล้ว
ปราศจากตัณหา ดุจตาข่ายดักสัตว์อันร้ายกาจแล้ว
พุทธะนั้น มีสัพพัญญุตญาณหาที่สุดมิได้
ไม่เดินตามทางของสรรพกิเลสแล้ว
พวกเธอจะนำพุทธะนั้นไปตามทางไหนเล่า


ธิดามารทั้งสามยังไม่ยอมละความพยายาม จำแลงกายเป็นหญิงวัยต่างๆ ตั้งแต่วัยกัลยาณีแรกรุ่นเพื่อให้พระพุทธองค์ทรงยินดี แต่พระพุทธองค์ยังคงประทับนิ่งในสมาธิ มิได้สนพระทัยไยดีแม้แต่น้อย เมื่อเห็นพวกนางยังดื้อดึงอยู่ จึงทรงบันดาลให้ร่างกายสาวงามทั้งสามนั้นกลายเป็นหญิงชรา ร่างกายเหี่ยวย่นน่าเกลียดขึ้นมาทันที นางทั้งสามพากันตกใจหายวับไปในทันใด

พระพุทธรูปปางนี้ สร้างเป็นท่านั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวายกขึ้นป้องเสมอพระอุระ แสดงอาการห้าม เรียกกันว่า "ปางห้าม (ธิดา) มาร"

เมื่อมารหมายถึงกิเลสตัวเบิ้มทั้ง ๓ คือโลภ โกรธ หลง ธิดามารก็คือกิเลสนั้นเอง ฟังแต่ชื่อก็รู้ว่ากิเลสตัวใด ราคา ก็คือราคะ (ความกำหนัดยินดีในกามารมณ์) ตัณหา ก็คือความทะยานอยาก อรดี ก็คือความขัดเคืองใจ หรือความพยาบาท


ปางห้ามมาร (จบ)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อทรงนิพนธ์พุทธประวัติ ทรงสันนิษฐานว่าพญามารที่มาผจญพระพุทธเจ้าคือกิเลส การที่ทรงเอาชนะพญามารได้ก็คือ คือทรงชนะกิเลสทั้งหมดได้เด็ดขาดแล้ว เมื่อมีฉากธิดามารมาผจญอีกหลังตรัสรู้แล้ว ไม่ทรงแน่พระทัยว่าเหตุการณ์นี้ทำไมจึงเกิดขึ้นหลังตรัสรู้กิเลสที่ทรงละได้หมดแล้ว จะกลับมายั่วยวนพระพุทธองค์ย่อมไม่สมเหตุสมผล "ข้อนี้ขอฝากผู้รู้พิจารณาด้วย" พระองค์ว่าอย่างนั้น

แต่ก็ไม่เห็นมีใครรับฝาก คือไม่มีใครหาเหตุมาอธิบายให้สมเหตุสมผล ก็มีหลวงพ่อพุทธทาสนี่แหละครับ ที่ได้ให้คำวินิจฉัยไว้ ซึ่งผมว่าเข้าท่าดี

ท่านว่า ธิดามารมาผจญหลังตรัสรู้แล้วนั่นแหละถูกต้องแล้ว ธิดามารในที่นี้ มิใช่กิเลสเพราะกิเลสทรงละได้หมดตอนตรัสรู้ แต่เป็นเพียงทรงรำลึกถึงความร้ายกาจของกิเลสที่เพิ่งเอาชนะได้หยกๆ ว่ามันช่างร้ายกาจจริงๆ ต้องต่อสู้เป็นกัปเป็นกัลป์กว่าจะละมันได้

การทรงหวนรำลึกถึงความร้ายกาจของกิเลสนี้ เพียงชั่วครู่เดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นในหนังสือจึงว่าธิดามารทั้งสามมาร่ายรำยั่วยวนพระพุทธเจ้าเพียงชั่วครู่ เมื่อเห็นว่าพระองค์ไม่สนใจไยดีจึงพากันหนีไปในทันที

ฉากธิดามารยั่วยวน จึงไม่นานมาราธอนเหมือนตอนพญามารและกองทัพมาผจญ

คำอธิบายนี้ผมเห็นว่าสมเหตุสมผล น่ารับฟังเป็นอย่างยิ่ง

อนึ่งในขณะที่พระพุทธองค์ประทับ ณ โคนต้นอชปาลนิโครธนี้ มีพราหมณ์คนหนึ่ง มีอัสมิมานะ (ความถือตัว) สูง ชอบตวาดคนอื่น เข้ามาถามพระพุทธองค์ว่า ท่านเป็นพราหมณ์หรือไม่ ทำนองว่าถ้าไม่ใช่พราหมณ์ก็ไม่คุยด้วย เพราะเป็นคนชั้นต่ำ

พระพุทธองค์ได้ตรัสให้ "นิยาม" คำว่าพราหมณ์ เป็นคาถา (โศลก) ว่า
ผู้ใดลอยบาป (คือละบาป) ได้แล้ว ไม่ขู่ตวาดคนอื่นด้วย คำหยาบ
หมดกิเลสเครื่องย้อมใจ สำรวม ถึงที่สุดแห่งพระเวท
ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์แล้ว ผู้ที่ไม่มีกิเลสเหิมเกริมใดๆ จึงควรเรียกว่า พราหมณ์


คนทั่วไป มักนึกว่าการเกิดในวรรณะพราหมณ์ การเรียนจบไตรเพท เป็นคุณสมบัติของพราหมณ์ พระพุทธองค์ตรัสว่าเพียงแค่นั้นยังไม่ใช่ พราหมณ์ที่แท้จริงต้องละบาปได้ ละกิเลสได้ ไม่มีอัสมิมานะ สงบสำรวม อยู่จบพรหมจรรย์ (คือประพฤติพรหมจรรย์จนบรรลุมรรคผลนิพพาน)



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/31658166357212_1.png)
ปางถวายสัตตุก้อนสัตตุผง (๑)

"สัตตุก้อน สัตตุผง" ที่พาณิชสองพี่น้องถวายคืออะไร สงสัยนานมาก ไม่ได้ถามผู้รู้และไม่ได้เปิดตำรา จนถูกลูกศิษย์ถามนั่นแหละจึงได้ไปเปิดพระไตรปิฎกดู ได้ความดังนี้ครับ

สิ่งที่สองพี่น้องถวายพระพุทธเจ้าคือ มนฺถญฺจ มธุปิณฺฑิกญฺจ (มันถะ และมธุบิณฑิกะ) มันถะ คือข้าวตากที่ตำละเอียด น่าจะเป็น "สัตตุผง" มธุบิณฑิกะ คือข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นก้อนๆ นี่น่าจะเป็น "สัตตุก้อน" เพราะฉะนั้นข้อความตรงนี้ต้องแปลตามลำดับว่า "สัตตุผง และสัตตุก้อน"

ในสัปดาห์ที่ ๗ (ที่ ๓ ตามลำดับในพระไตรปิฎก) พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) เข้าใจว่าพวกราชาหรือมหาราชาคงมาพักที่นี่บ่อย จึงเรียกว่า "ราชายตนะ" (ที่พักของพวกราชา) ขณะนั้นพ่อค้าสองพี่น้องมาจากอุกกลชนบทเพื่อค้าขาย เห็นพระพุทธองค์ก็เกิดความเลื่อมใสได้น้อมนำเอาข้าวสัตตุผงและสัตตุก้อนไปถวาย

ขณะนั้นพระพุทธองค์ยังไม่มีบาตร ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ จึงน้อมนำบาตรองค์ละใบ พระพุทธองค์ดำริว่า บาตรใบเดียวย่อมเพียงพอแก่เรา จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง ๔ ใบ ประสานเข้ากันเป็นใบเดียว ทรงรับข้าวสัตตุผงและสัตตุก้อนจากพาณิชทั้งสอง เสวยเสร็จก็ประทานอนุโมทนา

ทั้งสองได้กล่าววาจาถึงพระรัตนะทั้งสอง (คือพระพุทธ พระธรรม) เป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต ทั้งสองจึงได้ชื่อว่าเป็น "เทฺววาจิกอุบาสก" (อุบาสกผู้ถึงรัตนะสอง) เป็นคู่แรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

พาณิชสองพี่น้องได้กราบทูลลาพระพุทธองค์กลับไปยังบ้านเมืองของตน

ในพระไตรปิฎกเขียนไว้เท่านี้ แต่ในอรรถกถาเขียนเพิ่มว่า ทั้งสองคนกราบทูลว่า เมื่อพวกตนกลับมายังมาตุภูมิแล้ว คิดถึงพระพุทธองค์ขึ้นมาจะทำประการใด พระพุทธองค์ทรงลูบพระเศียร พระเกศาแปดเส้นก็หลุดติดพระหัตถ์มา พระองค์ประทานให้สองพี่น้องนำไปบูชา ว่าอย่างนั้น

ถึงตรงนี้ปราชญ์พม่าก็สวมรอยทันที บอกด้วยว่า พาณิชสองพี่น้องนั้นเป็นชาวพม่า คือ เป็นชาวหงสาวดี เดินทางจากหงสาวดีไปค้าขายยังชมพูทวีป พบพระพุทธองค์ ถวายภัตตาหารแก่พระองค์ และได้รับประทานพระเกศธาตุแปดองค์กลับมายังบ้านเมืองของตน

เมื่อไปถึงก็ได้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระเกศธาตุนั้นไว้บูชาตราบมาจนทุกวันนี้ และพระเจดีย์นั้นก็คือ พระธาตุชเวดากองนั้นเอง ว่าอย่างนั้น อะไรจะปานนั้น



ปางถวายสัตตุก้อนสัตตุผง (จบ)

นี้เป็นเรื่องต่อเติมเข้ามาภายหลัง ไม่ว่าพม่า ไทย หรือแขก ต่างก็ชอบเติมชอบแทรกกันทั้งนั้น ไม่ควรว่ากัน ไทยเราก็แต่งแทรกเรื่องนาคถวายชื่อไว้เรียกขานผู้จะบวช (ดังกล่าวแล้วในตอนก่อน) พม่าเขาจะอ้างบ้าง ก็ปล่อยเขาไป ขอให้รู้ว่าตรงนี้เขาแต่งเติม ของเก่ามีเท่านี้ แค่นี้ก็พอครับ

พูดถึงตรงนี้ นึกขึ้นมาได้ว่า ครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยศิลปากร มีสัมมนาเรื่อง "ลัทธิความเชื่อของพม่า" เขาเชิญผมไปพูดเรื่องพระพุทธศาสนาในพม่า จำได้ว่าได้ยกเอาเรื่องพ่อค้าสองพี่น้อง ที่ชาวพม่าอ้างว่าเป็นชาวหงสาวดีมาพูดด้วย

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งพยายามจะเอาคำตอบจากผมว่า ผมเชื่ออย่างนั้นหรือไม่ ถ้าไม่เชื่ออย่างไร ผมไม่สามารถตอบได้ พูดเลี่ยงไปว่า พิจารณาตามคำศัพท์ของอาหารที่สองพี่น้องถวายน่าจะเป็นคนจีนนะ
"เหตุผล" ท่านผู้นั้นถาม
"ก็ท่านใช้คำว่า มนฺถํ มันใกล้เคียง หมั่นโถ น่ะ" ผมว่า เรียกเสียงฮาทั่วห้องประชุม
"แต่พิจารณาตามชื่อ น่าจะเป็นคนไทย" ผมลูกเล่นต่อ

คราวนี้ไม่รอให้ถาม ผมกล่าวต่อเลยว่า "ท่านลองฟังดูสิ คนพี่ชื่อ ตปุสสะ คนน้องชื่อ ภัลลิกะ มันก็ ตาบุตร กับ ตาพัน เราดีๆ นี่เอง"

อย่าซีเรียสนะครับ เล่าให้ฟังเฉยๆ จนบัดนี้เราก็ไม่ทราบว่าสองพี่น้องเป็นใครกันแน่ รู้แต่ว่าเป็นชาวอุกกลชนบท ซึ่งอรรถกถาบอกเพียงเลาๆ ว่า อยู่ทางเหนือของอินเดีย แถวๆ ตักกสิลาเก่า กลับบ้านเมืองของตนแล้วเป็นอยู่อย่างไร ก็หายจ้อย ไม่มีที่ไหนกล่าวถึง

ถึงอย่างไรสองพี่น้องก็มีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ให้กล่าวขวัญถึงตลอดไปว่า ผู้ถึงพระรัตนะสอง (คือพระพุทธ และพระธรรม) คู่แรกคือ ตปุสสะ กับภัลลิกะ แห่งอุกกลชนบท ผู้ถึงพระรัตนตรัยคู่แรกคือ บิดาและมารดาของพระยสะ

มารดาของพระยสะ ว่ากันว่าคือนางสุชาดา ธิดาแห่งนายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม ผู้ถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธองค์ก่อนตรัสรู้นั้นแหละครับ ตำราบอกไว้อย่างนั้น

มีข้อสงสัยนิดเดียว นางสุชาดาอยู่ตำบลพุทธคยา มารดาพระยสะอยู่เมืองพาราณสี ห่างกันหลายร้อยกิโล ไม่น่าจะเป็นคนเดียวกัน

แต่ก็มีผู้เฉลยว่า เมื่อก่อนน่ะใช่ สุชาดาอยู่ตำบลพุทธคยา เมื่อแต่งงานแล้วได้ตามไปอยู่กับตระกูลสามีที่เมืองพาราณสี เคยบนเทพที่ต้นไทรไว้ก่อนแต่งงานแล้วก็ลืม พอได้บุตรจนบุตรโตแล้วนึกขึ้นมาได้ จึงกลับไปแก้บนที่บ้านเกิด ว่าอย่างนั้น

เมื่อไม่มีคำอธิบายเป็นอย่างอื่น ก็ต้องรับฟังตามนี้ไปก่อน



(http://www.dhammathai.org/imagebuddha/57.gif)
ปางมหาพรหมอัญเชิญ แสดงธรรม (๑)

มีธรรมเนียมในหมู่ชาวพุทธ เวลาพระจะเทศน์ พิธีกรจะกล่าวอาราธนาธรรม คือ อาราธนาให้พระธรรมกถึกแสดงธรรม ขึ้นต้นด้วยคำว่า พฺรหฺมา จะ โลกาธิปตี สะหัมปะติ...ธรรมเนียมนี้มีที่มาดังนี้

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากโคนต้นราชยตนะในสัปดาห์ที่ ๗ หลังตรัสรู้ (พระไตรปิฎกว่าสัปดาห์ที่ ๔) ก็เสด็จไปยังต้นอชปาลินโครธอีกครั้ง

คราวนั้นพระองค์ทรงพิจารณาธรรมะที่ตรัสรู้แล้วว่า เป็นสภาวะที่ละเอียด ประณีตลึกซึ้ง แม้เหตุผลทางตรรกะก็หยั่งไม่ถึง รู้ตามได้ยาก ทรงมีพระหฤทัยน้อมไปในความเป็นผู้ขวนขวายน้อย (นี้เป็นสำนวนพระ ความหมายก็คือ ไม่คิดแสดงธรรม คิดจะอยู่เฉยๆ)

ขณะนั้นท้าวสหัมบดีพรหม ทราบพระปริวิตกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเข้ามานมัสการ กราบทูลอัญเชิญให้พระองค์เสด็จไปประกาศพระธรรม โดยกล่าวว่า สัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อยยังมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมจากประโยชน์ที่พึงได้ เพราะมิได้ฟังธรรมจากพระองค์

ความหมายในที่นี้ก็คือ "ผู้ที่มีพื้นความรู้พอจะเข้าใจยังมีอยู่ ขอให้พระองค์เสด็จไปแสดงธรรมเถิด"

พระพุทธเจ้าหลังจากทรงพิจารณาสัตว์โลกเปรียบเทียบกับดอกบัวเหล่าที่เจริญงอกงามในสระแล้ว ก็ทรงรับคำอาราธนาของสหัมบดีพรหม  ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่อเราจะอาราธนาใหัภิกษุแสดงธรรมเราจึงกล่าวคำอาราธนา อ้างชื่อสหัมบดีพรหมว่า "พฺรหฺมา จะ โลกาธิปะติ สะหัมปะติ..." ดังที่ทราบกันดีแล้ว

พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลกดุจดอกบัว ๓ เหล่า (คือดอกอุบล, ดอกปทุม, ดอกบุณฑริกา) อันเกิดและเจริญในสระ ๓ ระดับ คือ
ระดับที่หนึ่ง ดอกบัวพ้นน้ำ เปรียบเสมือนผู้ฉลาดมากสามารถเข้าใจธรรมทันทีที่ได้ฟังโดยสังเขป
ระดับที่สอง ดอกบัวเสมอผิวน้ำ เปรียบเหมือนคนที่ฉลาด พอฟังโดยพิสดารก็เข้าใจ
ระดับที่สาม ดอกบัวอยู่กลางท้องน้ำ เปรียบเหมือนคนผู้พอฝึกฝนอบรมได้ ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจึงจะเข้าใจ

คำว่า "เข้าใจ" หมายถึงตรัสรู้ธรรม ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ ข้อที่ ๙ หน้า ๑๑  กล่าวถึงดอกบัว ๓ ระดับเท่านั้น ไม่มีระดับที่ ๔  ซึ่งเติมมาภายหลัง เพื่อให้เข้าคู่กับบุคคล ๔ จำพวก

ถ้าไม่พูดเสียตรงนี้ก็จะไม่เข้าใจกันแจ่มแจ้ง ขอขยายเลยนะคัรบ
๑.พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์เปรียบเทียบกับดอกบัว ๓ เหล่า ๓ ระดับ ไม่เกี่ยวกับบุคคล ๔ ประเภท



ปางมหาพรหมอัญเชิญ แสดงธรรม (จบ)

๒.ส่วนการแบ่งบุคคลออกเป็นหลายประเภทนั้น ตรัสไว้ในที่อื่น เช่น สองประเภท สามประเภท สี่ประเภท ห้าประเภท ฯลฯ ไม่เกี่ยวกับการตรวจตราดูสัตว์โลก

๓.เฉพาะบุคคล ๔ ประเภท ก็มีหลายหมวด หนึ่งในหลายหมวดนั้น ทรงแบ่งดังนี้
     (๑) อุคฆติตัญญู ผู้ตรัสรู้ฉับพลัน เพียงฟังหัวข้อธรรมก็ตรัสรู้
     (๒) วิปัญจิตัญญู ผู้ตรัสรู้เร็ว เพียงฟังธรรมโดยพิสดารก็ตรัสรู้ (ต้นฉบับเดิมเขียน วิปัญจิตญญู มิใช่วิปัจจิตัญญู)
     (๓) เนยยะ ผู้พึงฝึกฝนอบรมได้ ต้องใกล้ชิดสัตบุรุษ ฟังธรรมจากท่านเหล่านั้น ฝึกฝนอบรมสักระยะหนึ่ง จึงตรัสรู้
     (๔) ปทปรมะ ผู้เป็นพหูสูต จำได้มาก กล่าวได้มาก แต่ไม่สามารถตรัสรู้ในชาตินี้

นี้คือคำจำกัดความของบุคคล ๔ ประเภท หรือ ๔ ระดับ เฉพาะประเภทท้าย (ปทปรมะ) มิได้หมายถึงคนโง่ หากหมายถึงผู้รู้ทฤษฎีมาก เป็นพหูสูต คนพวกนี้เป็น ผู้"มากบท มากเรื่อง" ยากจะตรัสรู้ได้ในชาตินี้

พระอรรถกถาจารย์ คงเห็นว่าเข้าท่าดี จึงนำเอาบุคคล ๔ ประเภทมาจับคู่กับดอกบัว ๓ ระดับ

พอมาถึงประเภทที่ ๔ จึงเติมดอกบัวระดับที่ ๔ เข้ามาเพื่อเข้าคู่กัน แล้วให้คำนิยามใหม่ว่า "บัวจมโคลนเลน มีแต่จะเป็นภักษาของปลาและเต่า เปรียบเสมือนคนประเภท ปทปรมะ คือคนโง่เขลา ไม่มีทางตรัสรู้ได้"

เรื่องราวมันเป็นมาอย่างนี้แล
จึงมี "ดอกบัว ๔ เหล่า" ดังที่เราเรียนกันในโรงเรียน บังเอิญผมมีโอกาสเป็นกรรมการร่างหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาด้วยผู้หนึ่ง และได้เขียนตำราเรียน จึงได้แก้ไขตรงนี้ จากดอกบัว ๔ เหล่า เป็นดอกบัว ๓ เหล่า ๓ ระดับ ให้ตรงกับพระบาลีพระไตรปิฎก ก็ไม่เห็นมีใครทักท้วงนี่ครับ ถ้าทักมาจะได้ยกหลักฐานมายืนยัน

เมื่อรู้ว่าผิดมาแล้ว ก็น่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง

มีข้อสังเกตที่อยากฝากไว้ตรงนี้สักเล็กน้อย ถ้าพินิจตามความในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงมองว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพทัดเทียมกัน ทุกคนโปรดได้ ไม่มีใครที่โปรดไม่ขึ้น หรือพูดให้ชัดว่า ไม่มีประเภทปทปรมะ ในความหมายว่าโง่เง่าเต่าตุ่น โปรดไม่ขึ้น ดุจดอกบัวจมโคลนเลน

ข้อสังเกตที่สองก็คือ พระพรหมที่มาอัญเชิญไม่จำต้องแปลตามตัวอักษรว่าเป็นพรหมจริงๆ ก็ได้ อาจเป็นสัญลักษณ์ หมายถึงพรหมวิหารธรรม อันมีกรุณาเป็นตัวจักรสำคัญ พูดง่ายๆ พรหมก็คือ พระมหากรุณาของพระพุทธองค์นั้นเอง พระองค์ทรงสงสารสัตว์โลกที่ตกอยู่ในความทุกข์ในสังสารวัฏ จึงทรงอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องเคลื่อนไหวออกไปเทศน์โปรด การที่ทรงเคลื่อนไหวออกไปเทศน์โปรดสัตว์โลกนี้เป็นการเคลื่อนไหวอันยิ่งใหญ่ พอๆ กับพระพรหม (ที่คนสมัยนั้นนับถือมาก) มาอัญเชิญทีเดียว



(http://www.bloggang.com/data/travelaround/picture/1239347482.jpg)
ปางโปรดอุปกาชีวก (๑)

เมื่อตัดสินพระทัยจะทรงประกาศธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาดูว่าจะโปรดใครก่อน ภาพของอาจารย์ทั้งสอง (อาฬารดาบส กับ อุทกดาบส) ก็ปรากฏในข่ายคือพระญาณ แต่ก็ทรงทราบในทันทีว่าท่านทั้งสองได้สิ้นชีพไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน จึงทรงรำลึกถึงปัญจวัคคีย์ผู้เคยเฝ้ารับใช้เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และทั้ง ๕ ท่านก็หนีไปด้วยความเข้าใจผิด จึงสมควรไปเทศน์โปรดเพื่อให้พวกเธอได้เกิดสัมมาทิฐิ

จากนั้นก็เสด็จดำเนินด้วยพระบาทจากตำบลพุทธคยามุ่งตรงไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณสองร้อยกว่ากิโลเมตร ระหว่างทางทรงพบกับอุปกาชีวกนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา อุปกาชีวกพบพระพุทธองค์ทรงสง่างาม มีฉัพพรรณรังสีฉายออกจากพระวรกาย สงบสำรวม เสด็จดำเนินมาตามทาง ก็เกิดความเลื่อมใสในพระบุคลิกภาพ

ขอแทรกตรงนี้สักหน่อย ได้ยินคำว่า "ฉัพพรรณรังสี" กันบ่อย แต่สีอะไรบ้าง ไม่ค่อยทราบกัน ฉัพพรรณรังสี คือรัศมี หรือความเรืองแสง ๖ ชนิด ได้แก่
- สีเขียวดุจดอกอัญชัน (นีละ)
- สีเหลืองดุจหรดาลทอง (ปีตะ)
- สีแดงดุจแสงตะวันอ่อน (โลหิตะ)
- สีขาวดุจแผ่นเงิน (โอทาตะ)
- สีแสดดุจดอกหงอนไก่ (มัญเชฏฐะ)
- สีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก (ปภัสสระ)

ความเรืองแสงทั้ง ๖ นี้ ฉายออกจากพระวรกาย ปัจจุบันนี้เวลาเราสร้างพระพุทธรูปจะทำเป็นรัศมีทั้ง ๖ เป็นวงกลมเหนือพระเศียร อันเรียกว่า "ประภามณฑล"

อุปกาชีวกจึงเข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ความว่า ใครเป็นศาสดาของพระองค์ พระองค์ทรงชอบใจคำสอนของใคร พระพุทธองค์ตรัสตอบเป็นคาถา (โศลก) ว่า
"เราชนะสรรพสิ่ง ตรัสรู้สรรพสิ่ง ไม่ติดอยู่ในสรรพสิ่ง
หลุดพ้นเพราะทำลายตัณหา เราตรัสรู้ด้วยตนเอง จะพึงอ้างใครว่าเป็นครูเราเล่า
เราไม่มีใครสอน คนเช่นเราไม่มีในโลกพร้อมเทวโลก เราเป็นอรหันต์
เป็นศาสดามหาศาสดาอื่นยิ่งกว่าไม่มี เราผู้เดียวเป็นสัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้ดับเย็นแล้ว บรรลุนิพพานแล้ว
เรากำลังเดินทางไปยังแคว้นกาสี เพื่อหมุนกงล้อคือธรรม และเพื่อลั่นอมตเภรีในโลกที่มืดมนอนธการนี้"


ปางโปรดอุปกาชีวก (จบ)

อุปกะได้ยินดังนั้นถามอีกว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านก็เป็น "อนันตชินะ" ซินะ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า

"ผู้บรรลุความสิ้นอาสวะเช่นเรา นับเป็นพระชินะทั้งนั้นแหละ ธรรมชั่วร้าย (บาปอกุศล) ทั้งหลายเราเอาชนะได้แล้ว เพราะฉะนั้น อุปกะเอย เราจึงเป็นพระชินะ"

อุปกาชีวกฟังคำอื่นไม่เข้าใจ แกคงคุ้นอยู่เฉพาะกับคำว่า "อนันตชินะ" (ซึ่งพวกศาสนาเชนเขาใช้กันอยู่ก่อนแล้ว) จึงถามไปว่า ถ้าเช่นนั้นพระองค์ก็เป็น อนันตชินะ นะสิ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสว่า ทรงเป็นเพราะทรงละความชั่วได้หมดแล้ว อุปกาชีวกจึงกล่าวว่า "อาวุโส ที่ท่านพูดนั้นพึงเป็นไปได้" (หุเวยฺยาวุโสติ) แล้วก็สั่นศีรษะ หลีกทางไป

ตรงนี้ผมมีข้อสังเกต ๒ ประการคือ
๑.อุปกาชีวกเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่ ตามพุทธประวัติที่เขียนกันภายหลัง แทบทุกฉบับกล่าวตรงกันว่า อุปกาชีวกไม่เชื่อพระพุทธเจ้า จึงสั่นศีรษะหลีกไป บางฉบับต้องการให้ชัดเจนขึ้นเติม แลบลิ้นปลิ้นตาหลอกด้วย แต่ถ้าพิจารณาตามวัฒนธรรมชาวภารตะ การสั่นศีรษะหมายถึงการยอมรับ เพราะฉะนั้นอุปกาชีวกน่าจะเชื่อพระพุทธเจ้า เพราะ (๑) สั่นศีรษะ (๒) คำพูดของแกนั่นแหละเป็นข้อบ่งชี้ แกพูดว่า หุเวยฺยาวุโส - ผู้มีอายุ ที่ท่านพูดนั้นพึงเป็นไปได้" ตรงนี้สำนวนแปลฝรั่งว่า I see สำแดงว่ามีเปอร์เซ็นต์ความเชื่อเกิน ๗๐ แล้วนะครับ

เพื่อหาเหตุผลสนับสนุนว่า อุปกาชีวกแกเชื่อพระพุทธองค์จริงๆ เอาไว้คราวหน้าครับ จะหาทางสันนิษฐาน (คือเดา) ให้สนุกเชียว

๒.ข้อสังเกตประการที่สอง พุทธวจนะที่ตรัสตอบอุปกาชีวก ได้ถูกนำมาแปรเป็นรูปธรรม กลายเป็นสัญลักษณ์พระพุทธศาสนาทั้ง ๒ นิกาย คือ ฝ่ายเถรวาทนำเอาพระพุทธวจนะว่า "เพื่อหมุนกงล้อธรรม" มาสร้างเป็นธงธรรมจักร ฝ่ายมหายานนำเอาพระพุทธวจนะว่า "เพื่อลั่นอมตเภรี" มาทำเป็นกลองสำหรับทำพิธีทางศาสนา ดังพระจีน พระทิเบตสวดมนต์ไปด้วยตีกลองไปด้วย ฉะนี้แล

ชาวพุทธเถรวาท เห็นพระฝ่ายมหายานสวดมนต์ไปพลางตีกลองไปพลาง ก็หัวเราะขบขันว่าเอาธรรมเนียมที่ไหนมา ความจริงก็มาจากแหล่งเดียวกันนั่นเอง แต่จับเอาไปคนละอย่าง มิควรตำหนิติติงกัน

อนึ่ง ฉัพพรรณรังสี ก็ได้มีผู้นำเอาไปประดิษฐ์ธงฉัพพรรณรังสีแล้ว โดยพันเอกออลคอตต์ เป็นผู้ริเริ่ม ปัจจุบันนี้จะเห็นธงนี้ทั่วไปในประเทศศรีลังกา และทางองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ได้นำมาเป็นธงประจำองค์การ มาจนปัจจุบันนี้


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 กรกฎาคม 2558 15:52:34
.

(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/f/ff/Buddha_in_Sarnath_Museum_(Dhammajak_Mutra).jpg/250px-Buddha_in_Sarnath_Museum_(Dhammajak_Mutra).jpg)
ปางแสดงปฐมเทศนา (๑)  

จากพุทธคยาถึงสารนาถ ซึ่งในอดีตเรียกว่า ป่าอิสิปตน มฤคทายวัน อยู่ในเขตเมืองพาราณสี สิ้นระยะทางประมาณสองร้อยกว่ากิโลเมตร พระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินโดยพระบาทไปเพื่อโปรดศิษย์เก่าทั้งห้าของพระองค์

คำว่า สารนาถ ย่อมาจากคำเต็มว่า สารังคนาค(สารังค = กวาง - นาถ = ที่พึ่ง) แปลว่าป่าอันเป็นที่พึ่งแห่งกวาง หรือป่าสวนกวาง อะไรทำนองนั้น มิใช่แปลว่า ป่าที่เป็นที่พึ่งอันเป็นแก่นสาร ดังบางคนอธิบายไม่

ปัญจวัคคีย์ศิษย์ผู้ปฏิเสธอาจารย์ เห็นแต่ไกลว่า พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จดำเนินมา ก็ชี้ให้กันดูว่า "โน่นไง บุคคลผู้คลายความเพียร เวียนมาเป็น ผู้มักมากมาแล้ว คงไม่มีใครดูแลสิท่า จึงมาหาเรา เราอย่าลุกรับ อย่านมัสการ ปูแต่อาสนะไว้ให้ อยากนั่งก็นั่ง ไม่อยากนั่งก็ตามใจ"

แต่พอพระพุทธองค์เสด็จดำเนินมาใกล้ ปัญจวัคคีย์ลืมข้อตกลงกันโดยสิ้นเชิง เพราะพระบารมีพระพุทธองค์ จึงต่างลุกขึ้นต้อนรับ อัญเชิญเสด็จไปประทับบนอาสนะ แต่ปากยังแข็งอยู่เรียกพระพุทธองค์ว่า "อาวุโส โคตม" (คุณโคตม)

พระพุทธองค์ตรัสว่า อย่าพูดกับเราอย่างนั้น บัดนี้เราได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว นั่งลง เราจะแสดงธรรมให้ฟัง

ปัญจวัคคีย์พูดว่า ไม่เชื่อ ท่านอดอาหารแทบตายยังไม่บรรลุเลย เมื่อกลับมาบริโภคอาหารจนอ้วนพีอย่างนี้ จะบรรลุได้อย่างไร

พระพุทธองค์ตรัสว่า พวกเธอจงรำลึกความหลังดูซิ พวกเธออยู่กับเรามาเป็นเวลานาน เคยได้ยินเราพูดว่าได้ตรัสรู้หรือไม่

เมื่อโดนไม้นี้ ปัญจวัคคีย์นิ่งอึ้งไปอยู่พักใหญ่ ยอมรับว่าพระพุทธองค์ไม่เคยตรัสว่าได้บรรลุเลย ขนาดทรมานพระองค์จนเกือบจะสิ้นพระชนม์ ก็ไม่เคยตรัสว่าใกล้บรรลุ หรือได้บรรลุแล้ว วันนี้ตรัสว่าได้บรรลุ น่าจะบรรลุจริง (แฮะ)

คิดได้ดังนี้ จึงพร้อมใจกันนั่งลงสดับพระธรรม พระพุทธองค์จึงทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (พระสูตรว่าด้วย การหมุนล้อธรรม) เนื้อหาว่าด้วย อริยสัจสี่ประการ และขั้นตอนของการตรัสรู้ของพระองค์

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาอริยสัจสี่ พระพุทธองค์ตรัสถึงทางที่ไม่ควรดำเนินสองทางก่อน แล้วชี้ถึงทางสายกลาง ถามว่าเพราะเหตุใด

เราน่าจะมาหาคำตอบดูนะครับ ก่อนจะตอบคำถามนี้ ก็ถามเพิ่มว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงไม่ทรงแสดง อนุบุพพิกถา (แถลงธรรมที่ลึกลงตามลำดับ) เพื่อปูพื้นฐาน หรือเตรียมความพร้อมก่อน (ดังที่ทรงปฏิเสธเสมอ ในเวลาต่อมา) ทำไมทรงแสดงอริยสัจทันทีเลย

คำตอบสำหรับข้อแรก (ทำไมตรัสถึงทางที่ไม่ควรดำเนินก่อน) ก็คือ พระพุทธองค์ต้องการชำระข้อ "คาใจ" ของปัญจวัคคีย์ก่อน ปัญจวัคคีย์นั้นมีความเชื่อฝังใจอยู่ว่า การทรมานตนอย่างอุกฤษฏ์เท่านั้น ทำให้บรรลุความสิ้นกิเลสได้ เมื่อเห็นพระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา จึงเลื่อมใส คอยมาปรนนิบัติ เพราะเชื่อแน่ว่า พระองค์จะต้องบรรลุสัจธรรมสูงสุดแน่ แต่เมื่อพระองค์เลิกทุกรกิริยา หันมาเสวยพระกระยาหาร ปัญจวัคคีย์จึงผิดหวัง เชื่อแน่ว่าพระองค์ไม่มีทางบรรลุธรรมแน่นอน

เพราะเหตุนี้ ทันทีที่ปัญจวัคคีย์ยอมนั่งลงฟังธรรม พระพุทธองค์จึงแก้ข้อสงสัย หรือเรียกให้ถูก "ล้างความเชื่อเดิม" ของปัญจวัคคีย์ให้หมดไป ด้วยการตรัสยืนยันว่า การทรมานตัวเองด้วยการอดอาหารนั้นไม่ใช่ทางบรรลุ เป็น "ทางตัน" สายหนึ่งในจำนวนทางตันสองสายคือ (๑) อัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตน) ที่กำลังกล่าวถึงนี้ (๒) กามสุขัล ลิกานุโยค (การหมกมุ่นในกาม) ดังลัทธิวัตถุนิยมประพฤติกันอยู่



ปางแสดงปฐมเทศนา (จบ)

เมื่อปฏิเสธทางตันทั้งสองนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงชี้ทางที่ไม่ตัน ทางที่นำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงคือ "ทางสายกลาง" อันได้แก่ อริยมรรคมีองค์แปด มีสัมมาทิฐิ เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ เป็นปริโยสาน (ปริโยสาน เท่ากับคำ อวสาน แปลว่าที่สุดครับ)

เมื่อชำระข้อค้างคาใจของปัญจวัคคีย์แล้ว พระองค์จึงทรงแสดงอริยสัจสี่ประการ โดยไม่เสียเวลาแสดงอนุบุพพีกถา เป็นการปูทางก่อน

ถึงตรงนี้มีคำถามว่า อนุบุพพีกถา คืออะไร คำตอบคือ เรื่องที่พึงเข้าใจ และปฏิบัติตามลำดับ ๕ เรื่องด้วยกันคือ (๑) ทาน (๒) ศีล (๓) สวรรค์ (๔) กามาทีนวะ (โทษของกาม) และ (๕) เนกขัมมะ (การออกจากกามหรือออกบวช)

ต้องไม่ลืมว่า ปัญจวัคคีย์เป็นนักพรต สละโลกีย์วิสัยมาถือเพศเป็นนักบวชแล้ว เห็นโทษของกาม และกำลังฝึกตนเพื่อละกิเลสทั้งหลายแล้ว มีความพร้อม มีพื้นพอที่จะเข้าใจสัจธรรมสูงสุดโดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งที่ ทาน ศีล พระพุทธองค์จึงไม่ทรง เสียเวลา แสดงอนุบุพพีกถา ทรงเริ่มแสดงอริยสัจสี่เลยทีเดียว

ไม่เหมือนผู้ครองเรือนอย่างเช่น ยสกุมาร บิดามารดาของยสกุมาร หรือคนอื่นๆ ที่ทรงแสดงธรรมโปรดในภายหลัง

เนื้อหาของอริยสัจสี่เอาไว้พูดในคราวหน้า ขอพูดถึงเหตุการณ์หลังแสดงธรรมจบก่อน หลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงอริยสัจสี่ จบลง หัวหน้าปัญจวัคคีย์คือ โกณฑัญญะ ได้ "ดวงตาเห็นธรรม" ภาษาบาลีว่า ได้ ธัมมจักขุ คือได้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เข้าใจว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้น เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับเป็นธรรมดา" (ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ)

ท่านว่าการรู้เห็นอย่างนี้ เป็นยถาภูตญาณ (การหยั่งรู้ตามเป็นจริง) เป็นความเข้าใจของพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน อันเป็นระดับต้นในจำนวนพระอริยบุคคลทั้งสี่ (โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์) พระโสดาบันนั้น เป็นผู้มั่นคงในพระรัตนตรัยแล้ว ไม่มีทางหวนกลับ หรือกลับกลายเป็นอื่น มีแต่จะเดินหน้าสู่ความหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง

พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระสัพพัญญุญาณว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงแก่ท่านโกณฑัญญะแล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺทัญฺโญ (โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ) ซ้ำถึงสองครั้ง

จากนั้น โกณฑัญญะทูลขอบวช พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เอหิ ภิกขุ สวากฺขาโต ธมฺโม จร พรหมฺจริยํ สมฺมา ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยายะ (จงมาเป็นภิกษุเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์เถิด) เพียงแค่นี้การบวชของท่านก็สำเร็จ ไม่มีพิธีรีตองอะไร

ต่อมาการบวชแบบนี้มีชื่อเรียกว่า บวชแบบเอหิภิกขุ (เอหิภิกขุอุปสัมปทา) ท่านโกณฑัญญะ จึงได้เป็นพระสาวกรูปแรก และเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรก พระรัตนตรัยได้ครบจำนวนก็เมื่อคราวนี้ ก่อนหน้านี้มีแต่พระพุทธ และพระธรรม คราวนี้มีพระสงฆ์เพิ่มขึ้นเป็นพระรัตนตรัย

ชาวพุทธไทย (เน้นพุทธไทย) จึงบัญญัติวันนี้ วันที่ท่านโกณฑัญญะบวชนี้ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง เรียกว่า วันอาสาฬหบูชา (อ่านว่า อา-สาน-หะ-บู-ชา)

อ้อ จากพระพุทธอุทานว่า อญฺญาสิ...นั้นแล คำว่า "อัญญา" จึงมาเป็นคำต้นชื่อท่านว่า อัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่บัดนั้นมา



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/34352326517303_6355278713057200001_1_.jpg)
ปางโปรดปัญจวัคคีย์ (๑)  

ปัญจวัคคีย์ คือนักพรตห้ารูป มีโกณฑัญญะ อดีตโหราจารย์ชื่อดังเป็นหัวหน้า ทั้งห้าท่านนี้มาบวชรับใช้พระพุทธเจ้า เมื่อครั้งทรงทำทุกรกิริยา (คำนี้ แม้มหาเปรียญหลายประโยคก็เผลอเรียกทุกขกิริยา เสมอแฮะ ระวังไว้หน่อย) พอพระองค์ทรงเลิกอดพระกระยาหาร หันมาเสวยข้าวจนมีพระพลานามัยสมบูรณ์ เพราะทรงได้คิดว่า ต้องดำเนินทางสายกลาง ทั้งห้าท่านก็เสียใจ และเสื่อมศรัทธา พากันหนีมาอยู่ที่ป่าอันมีนามว่า "อิสิปตนะ มฤคทายวัน"

ชื่อยาวดีจัง อิสิปตนะ แปลว่าเป็นที่ประชุมของฤๅษี ส่วน มฤคทายวัน แปลว่าป่าแห่งเนื้อ เนื้อ ในที่นี้เน้นไปที่กวาง จึงมีคนแปลชัดๆ ว่า "ป่าสวนกวาง"

เฉพาะคำ ปตนะ นั้น ตามศัพท์จริงๆ แปลว่า "ที่ตกลงไป" ความหมายรองจึงหมายถึง "ที่ประชุม" หรือ "ที่อยู่" ความจริง ผู้แต่งคัมภีร์อรรถกถา ท่านหมายเอาตามตัวอักษรจริงๆ ท่านเล่าว่า บรรดาฤๅษี ที่ได้ฌานเหาะเหินเดินหาวได้ เวลาเหาะผ่านมาตรงนี้ มักจะตกลงมาที่นี่ทันที ดังหนึ่งต้องอาถรรพ์ เมื่อฤๅษี ก. ก็ตกลงมา ฤๅษี ข. ก็ตกลงมา ฤๅษี ค. ฯลฯ ก็ตกลงมา นานเข้าก็เลยเต็มไปด้วยฤๅษี ว่าไปโน่น สนุกดีเหมือนกัน

ยังไง ป่านี้ก็คงเป็นที่มีฤๅษีชีไพรชุกชุมตลอดเวลายาวนาน รวมทั้งบรรดาเนื้อทั้งหลายด้วย เพราะใครๆ จะมาล่าสัตว์ ก็ย่อมยำเกรงพระคุณเจ้าผู้มีอิทธิฤทธิ์เป็นธรรมดา

ป่านี้ต่อมาจึงเรียกชื่อว่า สารนาถ (ย่อมาจากคำเต็มว่า สารังคนาถ แปลว่า ป่าอันเป็น ที่พึ่ง หรือเป็นสถานที่ปลอดภัยของกวาง ทั้งหลาย) ระยะทางจากพุทธคยาถึงสารนาถ ประมาณสองร้อยกว่ากิโลเมตร พระพุทธองค์เสด็จดำเนินด้วยพระบาทมุ่งหน้ามา เพื่อโปรดศิษย์เก่า ดูจากข้อความแวดล้อม เป็นความมุ่งมั่นของพระพุทธองค์มาก อยากจะมาโปรดห้าท่านนี้จริงๆ คล้ายกับทรงมีเรื่อง "ค้างคาใจ" กันอยู่ ไม่สนพระทัยจะเทศน์สอนคนอื่นก่อน ทรงต้องการโปรดเอาทั้งห้าท่านนี้เป็นสาวกรุ่นแรกจริงๆ

ผมตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ ใครจะว่าอะไร ก็ว่ามา ยินดีน้อมรับฟัง เพราะความคิดเห็นจากท่านผู้รู้เป็นประดุจน้ำทิพย์ชโลมใจให้ชื่นบาน ปานนั้นเชียวนะ

ทั้งห้าท่านนี้มีความเชื่อฝังหัวมาแต่แรกแล้วว่า การจะบรรลุมรรคผลได้ ต้องทรมานตัวเองให้ถึงที่สุด เพราะเชื่อเช่นนี้ เมื่อเห็นพระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทุกรกริยา จึงพากันมาเฝ้าปรนนิบัติดูแล เรียกง่ายๆ ว่า มาเฝ้าดูเลยทีเดียว ดูไปก็ยิ้มด้วยความหวังไป ยิ่งเห็นพระองค์เป็นลมเป็นแล้งสลบลง ยิ่งยิ้มด้วยความดีใจว่า ใกล้แล้วๆ ใกล้จะบรรลุแล้ว ตาเป็นประกายด้วยความหวังว่า ตนเองจะได้รับอานิสงส์ (ผล) จากการบรรลุธรรมของพระองค์บ้าง

ครั้นเห็นพระองค์ทรงเลิกอดพระกระยาหาร จึงเสียใจ ผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโกณฑัญญะผู้หัวหน้า เคยทายไว้ไม่มีเงื่อนไขว่าเจ้าชายจะออกบวช จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พอมาถึงตอนนี้ จำต้อง "เผาตำรา" ทิ้ง เจ็บปวดขนาดไหน คิดเอาก็แล้วกัน



ปางโปรดปัญจวัคคีย์ (จบ)

บอกไว้ว่าจะนำคำแปล ธัมมจักกัปปวัตนสูตร มาให้อ่าน จึงขอนำมาลงไว้ ณ ที่นี้ เป็นพระสูตรสั้นๆ แต่ครอบคลุมคำสอนของพระพุทธองค์ทั้งหมด ว่าไปทำไมมี คำสั่งสอนทั้งหลายที่พรั่งพรูออกจากพระโอษฐ์ ในเวลาต่อมา ดังที่บันทึกไว้เป็นพระไตรปิฎก ๔๕ เล่มสมุด หนาถึง ๒๒,๓๙๐ หน้า ก็ขยายจากพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกนี้แล

คำแปลธัมมจักกัปปวัตนสูตร
"ข้าพเจ้า (พระอานนท์) สดับมาดังนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนะ มฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์ตรัสแก่ปัญจวัคคีย์ว่า มีทางตัน ๒ ทาง ที่บรรพชิตไม่พึงดำเนินคือ
(๑) การหมกมุ่นในกามารมณ์ อันเป็นสิ่งเลวทราม เป็นเรื่องของชาวบ้าน ของปุถุชน (คนมีกิเลสหนา) ไม่ประเสริฐ และไม่มีประโยชน์
(๒) การทรมานตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐ และไม่มีประโยชน์

ตถาคต (คือพระพุทธเจ้า) ค้นพบทางสายกลาง ที่ไม่ข้องแวะเกาะเกี่ยวทางตัน ๒ อย่างนั้นเป็นทางที่ทำให้มองเห็น และรู้ความจริงอันสูงสุด เป็นที่เพื่อความสงบ ความรู้ยิ่งและความดับกิเลสได้สนิท ทางสายกลางนั้นคือ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบ

ทุกข์คือความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความน้อยใจ ความคับแค้นใจ การประสบสิ่งไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก การไม่ได้ดังปรารถนา โดยสรุปขันธ์ ๕ อันเป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นนี้แหละเป็นทุกข์

เหตุเกิดทุกข์คือ ตัณหา ๓ ชนิด ที่เป็นตัวสร้างภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดยินดีเป็นตัวทำให้ติดเพลินในเรื่องต่างๆ คือ กามตัณหา (อยากได้ อยากมี อยากเป็น) ภวตัณหา (อยากให้สิ่งที่ได้ ที่มี ที่เป็นคงอยู่นานๆ) วิภวตัณหา (อยากหนีหรือสลัดภาวะที่ไม่ชอบใจ)

ความดับทุกข์คือ ความดับตัณหา ๓ ชนิดโดยไม่เหลือ ความสลัดทิ้งไป ความสละคืน ความหลุดพ้น ความไม่มีเยื่อใยใดๆ

ทางดับทุกข์คือ อริยมรรคมีองค์แปด ได้แก่ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ

เราเกิดการหยั่งรู้ ความรู้ทั่วถึง ความรู้แจ้ง ความสว่าง ในสิ่งที่เราไม่เคยได้สดับมาก่อนว่านี้ทุกข์ ทุกข์นี้ควรกำหนดรู้ตามความเป็นจริง และทุกข์นี้เราได้รู้แล้ว

นี้เหตุเกิดทุกข์ เหตุเกิดทุกข์นี้ควรละ และเหตุเกิดทุกข์นี้เราละได้แล้ว

นี้ความดับทุกข์ ความดับทุกข์นี้ควรทำให้แจ้ง และความดับทุกข์นี้ เราทำให้แจ้งแล้ว

นี้ทางดับทุกข์ ทางดับทุกข์นี้ควรทำให้เจริญ ทางดับทุกข์นี้เราทำให้เจริญแล้ว

ตราบใดการรู้เห็นตามเป็นจริง ในอริยสัจ ๔ อันมี ๓ รอบ ๑๒ อาการนี้ ยังไม่ชัดแจ้ง ตราบนั้น เรายังไม่ประกาศยืนยันว่า เราได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐ

ต่อเมื่อการรู้เห็นนั้นชัดแจ้ง เราจึงกล้าประกาศยืนยัน ท่ามกลางหมู่สัตว์ อันประกอบด้วย สมณะ พราหมณ์ มนุษย์ เทวดา มาร และพรหม การรู้เห็นนั้น เกิดขึ้นแก่เราจริง การหลุดพ้นนั้นเป็นของแท้จริง ชาตินี้เป็นหนสุดท้าย ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป"

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสจบ พระปัญจวัคคีย์ชื่นชมภาษิตของพระองค์ โกณฑัญญะได้ "ดวงตาเห็นธรรม" เป็นการรู้เห็นแจ่มกระจ่างว่า

"สรรพสิ่งมีการเกิดขึ้น และดับไปเป็นธรรมดา"

เมื่อพระพุทธองค์ทรงหมุนกงล้อธรรมแล้ว เหล่าภุมมเทวดาร้องบอกต่อกันว่า พระพุทธเจ้าทรงหมุนกงล้อธรรม ที่ป่าอิสิปตนะ มฤคทายวันแล้ว ไม่มีใครหมุนกลับได้ ไม่ว่าสมณะ พราหมณ์ มารหรือพรหม แล้วก็บอกต่อๆ กันไปจนถึงพรหมโลก หมื่นโลกธาตุ สะเทือนสะท้านหวั่นไหว ปรากฏแสงสว่างไปทั่วโลก หาประมาณมิได้ ยิ่งกว่าอานุภาพเทวดาบันดาลเสียอีก

พระพุทธองค์ทรงเปล่งพุทธอุทานว่า "โกณฑัญญะ รู้แล้วหนอๆ"

ดังนั้น โกณฑัญญะจึงได้นามต่อมาว่า อัญญาโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้แล



.

(http://4.bp.blogspot.com/_FHEJLZM-60E/S8kXe4FBlqI/AAAAAAAAAHA/AIgQfx9woV0/s200/DSC05847.jpg)
ปางโปรดยสะ (๑) 

ความจริงพระพุทธรูปปางโปรดยสะ ไม่มีเรียกดอก ส่วนมากจะเรียกว่า ปางภัตตกิจ คือ ปางเสวยพระกระยาหาร คือเสวยภัตตาหารที่บ้านบิดามารดาของยสะกุลบุตร การบวชของยสะกุลบุตรนั้น ทำให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายรวดเร็ว เพราะหลังจากยสะมาบวช สหายของท่านและบริวารตามมาบวชด้วย จนเกิดมีพระอรหันตสาวกขึ้นจำนวนทั้งหมด ๖๐ รูป ชั่วระยะเวลาไม่นาน

ยสะ เป็นบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี ชื่อเสียงเรียงไร ไม่บอกไว้ มารดาของท่านนั้น คัมภีร์อรรถกถาได้แก่นางสุชาดา สุชาดาบุตรีแห่งนายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม ที่พุทธคยาโน่นแหละครับ ไปยังไงมายังไงสุชาดาสาวสวยแห่งอุรุเวลาเสนานิคม ซึ่งอยู่คนละเมืองกับพาราณสี ได้มาอยู่ที่พาราณสี ดูเหมือนผมได้สันนิษฐาน (คอเดา) ไว้แล้วในที่อื่น จะไม่เขียนไว้ในที่นี้

เอาเป็นว่า นางเคยบนเทพที่ต้นไทรไว้ว่าถ้าได้บุตรชายจะมาแก้บน บนตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน ต่อมาได้แต่งงาน (เดาเอาว่า) กับเศรษฐีเมืองพาราณสี แล้วได้มาอยู่กับตระกูลสามี มีลูกโตเป็นหนุ่มแล้ว เพิ่งนึกได้ว่าบนไว้ จึงกลับมาแก้บน (ตอนที่เอาข้าวมธุปายาสไปถวายพระโพธิสัตว์นั้นแหละครับ) แก้บนแล้วก็คงกลับเมืองพาราณสี

คืนวันหนึ่งลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเศรษฐีและคุณนายสุชาดา ตื่นขึ้นมากลางดึก เห็นภาพเหล่าสตรีที่มาประโคมดนตรี ฟ้อนรำ สร้างความสุขสนุกสนานให้ ตามที่เคยปฏิบัติมา นอนหลับมีอาการแปลกๆ เช่น บางนางก็นอนกรนเสียงดัง น้ำลายไหล บางนางก็กัดฟันกรอดๆ ละเมอไม่เป็นส่ำ บางนางผ้านุ่งห่มหลุดลุ่ย ปรากฏแก่ยสะ ดุจ "ซากศพในป่าช้า" ว่ากันอย่างนั้น

ยสะเห็นแล้วก็สลดสังเวชใจ เบื่อหน่ายเต็มที่ ถึงกับเปล่งอุทานว่า อุปัททูตัง วะตะ โภ อุปสัฏฐัง

วะตะ โภ ท่านแปลได้ความกระชับว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" ทนดูต่อไปไม่ไหว จึงเดินลงจากคฤหาสน์กลางดึก

ไม่มีจุดหมายครับ แล้วแต่เท้าจะพาไป เข้าไปยังป่าอิสิปตนะมฤคทายวันโดยไม่รู้ตัว ขณะนั้นก็จวนสว่างแล้ว ประมาณตีสี่ พระพุทธองค์ตื่นบรรทม เสด็จจงกรมอยู่ ยสะผู้เบื่อโลกก็อุทานมาตลอดทางว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "อิทัง อะนุปัททูตัง อิทัง อะนุปะสัฏฐัง = ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง

หนุ่มยสะผู้เบื่อโลก พลันสะดุ้งตื่นจากภวังค์ จึงถอดรองเท้า เข้าไปกราบถวายบังคมแล้วนั่งเจี๋ยมเจี้ยม ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

พระพุทธองค์ตรัสเทศนา อนุปุพพิกถา เป็นการปูพื้นให้ยสะก่อนแล้ว ตามด้วยอริยสัจสี่ประการโดยพิสดาร เมื่อจบพระธรรมเทศนา ยสะดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาปัตติผล


ปางโปรดยสะ (จบ)

ขอแวะตรงนี้นิดหน่อย อนุบุพพิกถา คือการแสดงธรรมที่ลึกลงไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่เรื่องง่ายๆ แล้วก็ลึกลงไปเรื่อยๆ ง่ายๆ ที่ว่านี้คือง่ายที่คนทั่วไปจะทำได้ คือเริ่มด้วย ทาน (การให้) ศีล (ความประพฤติที่ดีงาม) สักกะ (เรื่องสวรรค์ ความสุขที่พึงได้ด้วยการให้ทานรักษาศีล) กามาทีนวะ (โทษของกามคุณ) และเนกขัมมะ (การไม่หมกมุ่นในกามารมณ์)

เมื่อปูพื้นดังนี้แล้ว ก็ทรงแสดงอริยสัจครบวงจรเป็นอย่างไร ดูเหมือนได้เล่าไว้แล้วในตอนโปรดปัญจวัคคีย์

กล่าวถึงมารดาบิดาของยสะ เมื่อลูกหายไป จึงตามมาจนถึงป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน พบพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมจากพระองค์ ขณะที่ยสะเอง ก็นั่งฟังอยู่ด้วย แต่พ่อแม่ลูกมองไม่เห็นกัน เพราะอิทธาภิสังขาร (การบันดาลฤทธิ์ของพระพุทธองค์ไม่ต้องการให้เห็นกัน) ขณะพ่อแม่ฟังธรรมอยู่ ยสะก็ส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนานั้นด้วย เมื่อจบพระธรรมเทศนา พ่อแม่ของยสะได้ดวงตาเห็นธรรม ถวายตนเป็นอุบาสก อุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ยสะได้บรรลุพระอรหัตผล

หลังจากนั้นพระองค์ทรงคลายฤทธิ์ สามพ่อแม่ลูกพบหน้ากัน ท่านเศรษฐีกล่าวกับยสะว่า ลูกรักตอนลูกหายไปมารดาเจ้าร้องไห้รำพันถึงเจ้าอยู่ จงกลับบ้านเถอะ พระพุทธองค์ตรัสว่า บัดนี้ยสะบรรลุอรหัตผลแล้ว ไม่สมควรครองเรือนอีก มีแต่จะบวชครองสมณเพศต่อไป

เศรษฐีกราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นก็เป็นลาภอันประเสริฐของข้าพระองค์ทั้งสอง แล้วทูลอัญเชิญพระพุทธองค์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านตนในวันรุ่งขึ้น

นี้คือที่มาของปางภัตกิจ ทำไมต้องเน้นช่วงนี้ ก่อนหน้านี้พระองค์มิได้เสวยภัตตาหารหรือ เสวยครับ หลังตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสวยสัตตุผง สัตตุก้อน จากพ่อค้าสองพี่น้อง และจากที่อื่นด้วย  แต่การเสวยภัตตาหารที่คฤหาสน์เศรษฐีนี้ เป็นกิจนิมนต์เป็นกิจจะลักษณะ เป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จออกประกาศพระพุทธศาสนา

ครูบาอาจารย์กล่าวว่า ประเพณีนิมนต์พระสงฆ์และพระบวชใหม่ไปฉันที่บ้าน อันเรียกว่าทำบุญฉลองพระใหม่ ที่ชาวพุทธไทยนิยมกระทำกันมานั้น มาจากพุทธประวัติตอนนี้เอง ว่ากันอย่างนั้น

อ้อ ลืมไป สองสามีภรรยา บิดามารดาท่านยสะเป็นอุบาสกอุบาสิกาคู่แรก ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะนะครับ ก่อนนั้นพ่อค้าสองพี่น้อง ถึงพระพุทธกับพระธรรมเป็นสรณะเท่านั้น


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 สิงหาคม 2558 12:47:02
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/73180063731140__3594_3598_3636_3621_.png)
ปางโปรด ภาติกชฎิล (๑)  

ภาติกชฎิล แปลว่าชฎิลที่เป็นพี่น้องกัน ๓ คน คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ ทั้งสามนี้ตั้งสำนักอยู่ตามคุ้งน้ำ แห่งแม่น้ำเนรัญชรา ถัดกันตามลำดับ

ชฎิลผู้พี่ใหญ่ ตั้งสำนักอยู่คุ้งน้ำ ตำบลอุรุเวลา พร้อมบริวาร ๕๐๐ คน คนพี่รอง ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำ ตำบลนที พร้อมบริวาร ๓๐๐ คน ส่วนน้องเล็ก ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำตำบลคยา พร้อมบริวาร ๒๐๐ คน

รวมเป็นจำนวน (ไม่นับเจ้าสำนักทั้งสาม) ๑,๐๐๐ คนพอดี

ท่านเหล่านี้เป็นใคร ทำอะไรอยู่ ณ ริมน้ำแห่งนี้ ท่านเหล่านี้เป็นนักบวชเกล้าผม ไม่ยอมตัดผม จะใช้วิธีมุ่นผมเป็นชฎา จึงเรียกว่า "ชฎิล" (แปลตามศัพท์ว่าไว้ผมดุจชฎา) ท่านเหล่านี้ถือลัทธิบูชาไฟ

พูดแค่นี้คนไทยก็คงงง คงคิดว่าวันๆ ไม่ต้องทำอะไร นั่งยกมือไหว้ไฟตลอดหรืออย่างไร เพราะคำว่า "บูชา" ก็น่าจะส่อความในทำนองนั้น

แท้ที่จริงแล้ว การบูชาไฟ ของพวกพราหมณ์นั้นเป็นพิธีกรรมที่ถือศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะพวกเขาเชื่อกันว่า การนำเครื่องบูชา หรือเครื่องสังเวยมาถวายเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ โดยผ่านตัวแทนพวกเขาจะได้รับความโปรดปราน และรางวัลจากเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่นั้น

พวกเขาจะเอาเครื่องสังเวยมาเผาไฟ (ทำนองเดียวกับชาวจีนเผากงเต๊กกระมังครับ) เชื่อกันว่ามีเทพองค์หนึ่งคือ "อัคนีเทพ" จะกลืนกินเครื่องสังเวยนั้น แล้วก็จะลอยลิ่วขึ้นไปบนสวรรค์ไปป้อนเครื่องสังเวยนั้นเข้าปากพระปชาบดี (เป็นชื่อหนึ่งของพระพรหม) และเทพองค์อื่นๆ บนสรวงสวรรค์

ดุจดังแม่นกป้อนอาหาร ลูกนกนั้นแล

เมื่อพระปชาบดี และเทพทั้งหลายได้รับการ "ป้อนอาหาร" ผ่านอัคนีเทพบ่อยๆ เทพเหล่านั้นก็จะเมตตาปรานีมนุษย์ทั้งหลายผู้ทำการเซ่นสรวง ก็จะประทานรางวัลให้ตามความเชื่อของพวกเขา

เรื่องความเชื่อครับ เราไม่เชื่ออย่าดูหมิ่น ชฎิลเหล่านี้ถือปฏิบัติอย่างนี้อย่างเคร่งครัดบำเพ็ญพรตอย่างเข้มงวดเสมอมา เข้าใจว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ สั่งสอนประชาชนชาวมคธรัฐอันมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระมหากษัตริย์มานานปี ทุกกึ่งเดือน พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองจะไปฟังธรรมจากชฎิลเหล่านี้เป็นประจำ

ในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้ พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่ามีพระอรหันตสาวกถึง ๖๐ รูป มากพอที่จะส่งไปประกาศพระศาสนาแล้ว จึงทรงส่งท่านเหล่านี้แยกย้ายกันไปยังแว่นแคว้นต่างๆ พระพุทธดำรัสที่ตรัสตอนส่งพระสาวกเหล่านี้ไปน่าสนใจมาก มีดังนี้ครับ

"ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งเป็นของทิพย์ ทั้งเป็นของมนุษย์ พวกเธอก็พ้นแล้วเช่นเดียวกัน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่คนจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พวกเธออย่าไปทางเดียวกันสองรูป พวกเธอจงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ท่าม กลางและที่สุดจงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง พร้อมอรรถะ (ความ) และพยัญชนะ (คำ) เหล่าสัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อย (คือมีอุปนิสัยพอจะเข้าใจได้) ถ้าไม่ได้ฟังธรรม จะเสื่อมจากประโยชน์ที่พึงได้ เราตถาคตเอง ก็จะไปยังตำบลอุรุเวลา เสนานิคม"

ขอตั้งข้อสังเกตไว้สั้นๆ ก่อนกล่าวอะไรต่อไป พุทธโอวาทตอนนี้ ถือว่าเป็น "อุดม การณ์" ของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว พระองค์ทรงประกาศว่า
(๑) ก่อนจะไปสอนใครตนเองต้องพัฒนาตนเองให้พร้อมก่อน ในกรณีนี้ พระพุทธองค์และสาวกทั้งหลาย ได้บรรลุอรหัตผล ถึงจุดหมายสูงสุดแล้ว
(๒) พระพุทธศาสนาเน้นว่า เมื่อตนเองพร้อมแล้ว ก็ให้ออกไปทำประโยชน์แก่สังคม มิได้สอนปลีกตัวเสวยวิเวกเพียงลำพัง

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว จะได้ไม่กล่าวหาผิดๆ ว่าพระพุทธศาสนาสอนคนให้ "เอาตัวรอด" เฉพาะตน ไม่สนใจสังคมดังที่บางคนมักเข้าใจผิดกัน

เมื่อพระสงฆ์สาวกต่างแยกย้ายกันไปตามชนบทคาม นิคมต่างๆ พระพุทธองค์เสด็จดำเนินไปพระองค์เดียว จุดมุ่งหมายคือชฎิลสามพี่น้องดังกล่าวข้างต้น



ปางโปรด ภาติกชฎิล (๒)

ระหว่างทางพระพุทธเจ้าพบภัททวัคคีย์ เด็กหนุ่มเจ้าสำราญ ๓๐ คน ชาวแคว้นโกศลกำลังตามล่าโสเภณีนางหนึ่ง ที่ "เชิด" ทรัพย์สมบัติของพวกเขาไปหมด

ไม่เล่าเดี๋ยวความไม่ต่อเนื่อง ขอเล่า นิดหน่อย ภัททวัคคีย์ (ตามศัพท์แปลว่า พวกที่เจริญ แต่ตามบริบทน่าจะหมายถึง พวกหนุ่มเจ้าสำราญมากกว่า) ๓๐ คน เป็นเพื่อนกิน เพื่อนเที่ยวกัน วันหนึ่งนัดกันไป "ปิกนิก" นอกเมือง ต่างก็พา "แฟน" ของตนไปด้วย หนึ่งในจำนวนนั้นยังไม่มีคู่หมั้น คู่หมาย จึงไปจ้างนางโสเภณี สมัยนี้เรียกว่า escort มานางหนึ่ง

เมื่อทั้งหมดเปลื้องพัสตราภรณ์ลงเล่นน้ำกันอยู่ นางเอสคอร์ตก็ขโมยทรัพย์สินของพวกเขาหนีไป เมื่อรู้ตัวก็ตามล่าเป็น การใหญ่ พวกเขาสวนทางกับพระพุทธองค์ จึงถามว่า "สมณะ เห็นสตรีนางหนึ่งผ่านมาทางนี้ไหม"

พระพุทธเจ้าตรัสประโยคสั้นๆ ทำให้พวกเขาถึงกับชะงัก ตรัสว่า "ประโยชน์อะไรที่มาตามหาสตรี ทำไมไม่ตามหาตนให้พบเล่า"

"ตัวตนเราก็เห็นๆ อยู่ ทำไม สมณะท่านบอกให้ตามหาให้พบ" พวกเขาฉุกคิด จึงทูลถามไป พระองค์จึงทรงแสดงธรรมให้ฟัง ทรงแสดงอนุบุพพิกถา ตามด้วยอริยสัจให้ฟัง ภัททวัคคีย์บรรลุโสดาปัตติผล ทูลขอบวชเป็นสาวกของพระองค์ พระ พุทธองค์ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้แล้วทรงส่งไปประกาศพระศาสนา

ในตำนานไม่พูดถึงภรรยาของพวกเขา ๒๙ คน ว่าไปไหน หลังจากสามีบวชพระแล้วเข้าใจว่าคงกลับภูมิลำเนาของตน

จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จไปถึงตำบลอุรุเวลาตามลำดับ เสด็จไปยังอาศรมของชฎิลผู้พี่นาม อุรุเวลกัสสปะ เวลาค่ำพอดี ขอพักอาศัยค้างคืนด้วย อุรุเวลกัสสปะทำท่าอิดเอื้อน ไม่เต็มใจให้พัก อ้างไม่มีที่พัก พระพุทธองค์ทรงชี้ไปที่โรงไฟว่า ขอพัก ณ โรงไฟก็ได้ ถ้าไม่รังเกียจ

อุรุเวลกัสสปะกล่าวว่า อย่าพักที่นั่นเลย มีนาคราช (งูใหญ่) อยู่ จะเป็นอันตรายเปล่าๆ พระพุทธองค์ทรงยืนยันจะพักที่นั่น อุรุเวลกัสสปะจึงอนุญาต นึกว่าเดี๋ยวก็รู้สึก

พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปประทับข้างใน ดำรงพระสติมั่นต่อกรรมฐานภาวนา ฝ่ายพญานาคเห็นมีคนเข้ามาก็โกรธ พ่นพิษตลบไป พระพุทธองค์ทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ให้เกิดควันฟุ้งตลบ ไปสัมผัสผิวกายพญา นาค พญานาคยิ่งโกรธมากขึ้น พ่นพิษเป็นเพลิงพุ่งขึ้น พระพุทธองค์ทรงเข้าเตโชกสิณสมาบัติ บันดาลเพลิงลุกโชติช่วง ดังหนึ่งจะเผาผลาญโรงไฟให้เป็นจุณวิจุณในบัดดล

เหล่าชฎิลเห็นควันและเปลวเพลิงพุ่งขึ้น โชตนาการเช่นนั้น ก็พากันมายืนมุงดู ต่างก็กล่าวด้วยความสลดใจว่า "สมณะหนุ่ม รูปงามนั้น คงถูกพญานาคกำจัดเสียแล้ว น่าเสียดายที่มาสิ้นชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น"

ครั้นรุ่งเช้า พวกชฎิลก็เข้าไปในโรงไฟ มองไม่เห็นพญานาค เห็นแต่ "สมณะหนุ่มรูปงาม" ของพวกเขานั่งสงบอยู่ สายตาก็มองหาว่าพญานาคอยู่ที่ไหน พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพวกเขาคิดอะไร จึงทรงเปิดฝาบาตร แสดงพญานาคที่พระองค์ทรงใช้อิทธิฤทธิ์ย่อขนาดเล็กนิดใส่ในบาตรให้พวกเขาดู

เมื่อเห็นพญานาคตัวใหญ่ กลายเป็นงูเล็ก ขด "มะก้องด้อง" อยู่ในบาตรสมณะหนุ่มรูปงาม ก็อัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง ต่างก็เปล่งอุทานว่า สมณะท่านมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งใหญ่แท้ ข้าแต่สมณะ นิมนต์ท่านอยู่ที่อาศรมของข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด ข้าพเจ้าทั้งหลายจะถวายภัตตาหารเป็นนิตย์

น่าสังเกตว่า ถึงจะยอมรับว่าพระพุทธเจ้ามีอิทธิฤทธิ์มากกว่าตน แต่ก็ยังไม่ยอมรับว่าพระองค์เป็นอรหันต์เหมือนพวกตน มีทิฐิมานะถือตนว่าพวกเขาเท่านั้นเป็นพระอรหันต์

พระพุทธองค์จึงเสด็จไปประทับ ณ พนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ใกล้อาศรมของอุรุเวล กัสสปะ ครั้นถึงรัตติกาล ท้าวจาตุมมหาราชทั้ง ๔ ก็ลงมาถวายบังคมพระพุทธองค์ ส่องแสงสว่างไปทั่วสี่ทิศ รุ่งเช้าอุรุเวลกัสสปะเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ถามว่า เมื่อคืนมีแสงสว่างทั่วสี่ทิศ เกิดอะไรขึ้น พระพุทธองค์ตรัสว่า ท้าวจาตุมมหาราชทั้งสี่มาไหว้พระองค์

คืนวันต่อๆ มา ท้าวสักกเทวราช สหัมบดีพรหม ก็มาเฝ้าตามลำดับ อุรุเวลกัสสปะ เมื่อทราบเช่นนั้น ก็นึกอัศจรรย์ใจว่า สมณะหนุ่มรูปนี้มีอานุภาพยิ่งใหญ่กว่าพระอินทร์ และพรหมเชียวหนอ แต่ช่างเถอะ สมณะหนุ่มนี้มิได้เป็นอรหันต์เช่นเดียวกับเรา



ปางโปรด ภาติกชฎิล (๓)

อีกไม่กี่วันข้างหน้า เป็นกำหนดวันมหายัญญลาภของพวกชฎิล ถึงวันนี้พวกชาวเมืองราชคฤห์จะนำลาภสักการะเป็นจำนวนมากมาถวายและฟังธรรมจากหัวหน้าชฎิล อุรุเวลกัสสปะ นึกว่าถ้าสมณะหนุ่มอยู่กับเรา เธอก็จะได้ส่วนแบ่งจากลาภสักการะด้วย ไฉนหนอ จะให้เธอจากไปเสียก่อนวันงานจะมาถึง

พระพุทธองค์ทรงทราบวาระจิตของอุรุเวลกัสสปะ พอถึงวันมหายัญญลาภ พระองค์เสด็จออกไปยังอุตตรกุรุทวีป ทรงยับยั้งอยู่จนล่วงเลยวันที่กำหนดแล้ว จึงเสด็จกลับมา อุรุเวลชฎิลถามว่าพระองค์หายไปไหน จึงตรัสบอกตามความจริง อุรุเวลกัสสปะนึกอัศจรรย์ใจว่า สมณะหนุ่มนี้มีฤทธิ์มากจริงๆ แต่ถึงอย่างไรก็มิได้เป็นพระอรหันต์เช่นเรา

เรียกว่าทิฐิมานะยังไม่ลด ว่าอย่างนั้นเถอะ พระพุทธองค์ต้องทรมานให้หายพยศให้ได้ จึงจะทรงแสดงธรรมให้ฟัง

วันหนึ่งเหล่าชฎิลจะผ่าฟืน ก่อไฟทำพิธีบูชาไฟ พระพุทธองค์ทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ให้พวกเขาไม่อาจผ่าฟืนได้ พยายามอย่างไรๆ ก็ผ่าไม่ได้ อุรุเวลกัสสปะจึงกล่าวกับพระพุทธองค์ว่า ไม่ทราบว่าเพราะอะไรวันนี้พวกตนจึงผ่าฟืนไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลองพยายามอีกครั้งซิ ครั้นพวกเขาผ่าอีกครั้ง ก็สำเร็จ

ครั้งที่สอง พวกเขาจะก่อไฟ ก็ก่อไม่สำเร็จ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสขึ้นเท่านั้นไฟก็ลุกโชนขึ้นทันที โดยมิทันจุด ครั้นทำยัญพิธีเสร็จแล้ว จะดับก็ไม่สามารถดับได้ จนกว่าพระพุทธองค์จะรับสั่งให้ไฟดับ

ครั้งที่สาม พวกชฎิลลงไปดำผุดดำว่ายในน้ำ (คงทำพิธีกรรมตามความเชื่อของตน) รู้สึกหนาวมาก ขึ้นมาแล้วประสงค์จะผิงไฟ ทันใดก็ปรากฏกองไฟลุกโชน ณ ทุกจุดที่พวกเขาขึ้นจากน้ำ พวกเขาจึงนึกว่า นี้คงเป็นสมณะหนุ่มบันดาลแน่นอน เธอช่างมีอิทธิฤทธิ์มากจริงๆ แต่ถึงจะมีฤทธิ์มาก ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา ว่าเข้านั่น

ครั้งที่สี่ วันหนึ่งเกิดฝนตกอย่างหนัก กระแสน้ำหลากมาท่วมบริเวณโดยรอบ รวมถึงตำบลที่พระพุทธองค์ประทับด้วย พวกชฎิลพากันหนีไปอยู่บนที่ดอน รุ่งเช้าขึ้นมา นึกถึง "สมณะหนุ่ม" ขึ้นมาได้ พากันลงเรือมายังตำบลนั้น เพื่อดู และแล้วพวกเขาก็อัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเห็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงยืนจงกรมไปมาอยู่นั้น เป็นโพลงมีน้ำล้อมรอบดุจดังมีกำแพงกั้นไว้ พระพุทธองค์จึงเสด็จเหาะขึ้นจากภูมิภาคขึ้นไปนภากาศ ลอยไปลงสู่เรือของชฎิล สร้างความประหลาดมหัศจรรย์แก่พวกเขาเป็นทวีตรีคูณ



(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Bod.jpg)
ปางโปรดอัครสาวก (๑)
พระพุทธเจ้าประทับยืน ปางประทานอภัย ขนาบด้วยพระอัครสาวก
คือ พระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร ขนาด ๑.๐๓ x ๒.๙๒ เมตร
ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจาก : เว็บไซท์ dhammajak.net  

เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ จนมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็ได้สร้างวัดพระเวฬุวันถวายไว้ในพระพุทธ ศาสนา วัดพระเวฬุวันนับเป็นวัดแห่งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เมืองราชคฤห์ พระนครหลวงแห่งแคว้นมคธ จึงเป็นศูนย์พระพุทธศาสนาแห่งแรกเช่นเดียวกัน

ความจริงพระเจ้าพิมพิสารเคยพบพระพุทธองค์แล้ว เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จออกผนวชใหม่ๆ เสด็จมาถึงเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทูลอัญเชิญสละเพศนักพรตไปครองราชสมบัติร่วมกับพระองค์ ทรงสัญญาว่าจะแบ่งอาณาจักรให้ครอบครองครึ่งหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ออกบวชนี้ประสงค์สัมมาสัมโพธิญาณ มิได้หวังความยิ่งใหญ่ทางโลก พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงขอว่า ถ้าเช่นนั้น หลังจากที่ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะแล้ว ให้เสด็จมาโปรดเป็นคนแรกเถิด พระพุทธองค์ทรงรับด้วยดุษณีภาพ การเสด็จมาเมืองราชคฤห์นี้ จะว่าเพื่อเปลื้องสัญญานั้นก็ได้ และบัดนี้ก็ได้ทรงทำภารกิจนี้เสร็จสิ้นแล้ว

ในช่วงเวลาดังกล่าว พระอัสสชิ น้องสุดท้องของปัญจวัคคีย์ ได้ทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จมาประทับที่เมืองราชคฤห์ ตั้งใจจะไปเฝ้าเพื่อรายงานผลการไปปฏิบัติงานยังต่างเมืองให้ทรงทราบ เช้าวันหนึ่งท่านออกบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์

ขอตัดภาพไปยังสองสหายนามว่า อุปติสสะ กับ โกลิตะ ก่อน อุปติสสะเป็นบุตรของนายบ้านอุปติสสคาม บิดาไม่ปรากฏชื่อ มารดานามว่านางสารี ส่วนโกลิตะเป็นบุตรของนางโมคคัลลีภรรยาของนายบ้านโกลิตคาม เนื่องจากหมู่บ้านทั้งสองอยู่ไม่ห่างไกลกัน และตระกูลทั้งสองก็ทัดเทียมกัน ทั้งมีความสนิทคุ้นเคย กันดี บุตรของทั้งสองตระกูลจึงเป็นเพื่อนรักใคร่กัน ไปมาหาสู่กันอย่างสนิทสนม

วันหนึ่ง สองสหายขึ้นไปดูมหรสพบนเขา แทนที่จะมีความสนุกสนานเพลิดเพลินดังแต่ก่อน กลับมีความสลดสังเวชใจ มองเห็นความไร้แก่นสารของการมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน พอรู้ว่าต่างคนต่างก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน จึงตกลงกัน ว่าจะไปแสวงหา "โมกษธรรม" (ทางพ้นทุกข์)

สองสหายไปฝากตนศึกษาและปฏิบัติอยู่กับอาจารย์ สัญชัย เวลัฏฐบุตร สำนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงโด่งดังสำนักหนึ่งในจำนวน 6 สำนักในขณะนั้น อันเป็นที่รู้จักกันในนาม "ครูทั้งหก" (สำนักครูทั้งหกคือ ปูรณะ กัสสปะ, มักขลิ โคสาละ, ปกุธะ กัจจายนะ, อชิตะ เกสกัมพล, นิครนถ์ นาฏบุตร และสัญชัย เวลัฏฐบุตร)

พรหมชาลสูตร ทีฆนิกาย กล่าวว่า สัญชัย เวลัฏฐบุตร สอนลัทธิ "อมราวิกเขปิกา" แปลว่าความเห็นไม่แน่นอน (จับไม่อยู่) ดุจปลาไหล คือ มีทรรศนะไม่แน่นอน ไม่ยืนยันแง่ใดแง่หนึ่งอย่างแน่ชัด เพราะกลัวจะผูกมัดกับความคิดเห็นนั้นๆ บางท่านกล่าวว่า อมราวิกเขปิกา ก็คือ ลัทธิปรัชญาที่สมัยนี้เรียกว่า สเก็ปติกส์ (skepticism) นั้นเอง ผมไม่ได้เรียนปรัชญา จึงขอเดาเอาตามประสาผมว่า คือลัทธิที่สงสัยมันเรื่อยไป ไม่ยอมรับแม้กระทั่งทฤษฎีที่ตกลงกันแล้ว เช่น (สมมติ) สองบวกสองทำไมต้องเป็นสี่ เป็นห้าเป็นหกไม่ได้หรือ อะไรทำนองนี้

พวกนี้คิดในอีกมุมหนึ่ง น่าจะเป็นพวกเหลวไหล เอาแน่อะไรไม่ได้ แต่มองอีกด้านหนึ่งพวกนี้น่าจะเป็นนักคิดที่มีเหตุผล และวิธีคิดที่หลากหลายทีเดียว มิได้คับแคบ ผูกติดหรือเชื่อฝังหัวในทรรศนะหนึ่งทรรศนะใดอย่างงมงาย ไม่รู้สิครับ ก็บอกแล้วว่าผมมิใช่นักปรัชญา

ทั้งสองหนุ่มไปศึกษาอยู่ที่สำนักนี้จนจบความรู้ของครู ก็เห็นว่ามิใช่ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง พูดสำนวนอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ก็เป็นการสอนวิธีตีฝีปาก เสียมากกว่าวิธีดับทุกข์ ว่าอย่างนั้นเถอะ จึงตกลงกันเงียบๆ สองคนว่า จะไปหาแนวทางใหม่ ที่ดีกว่า ใครพบก่อนกันก็ให้บอกอีกฝ่ายหนึ่งด้วย


ปางโปรดอัครสาวก (๒)

อุปติสสะกำลังเดินอยู่ในเมือง สายตาก็ไปสัมผัสกับอากัปกิริยาอันสงบของสมณะรูปหนึ่ง รู้สึกประทับใจ ขณะนั้นท่านเดินบิณฑบาตอยู่ อยากจะเข้าไปสนทนาธรรมกับท่าน เกรงว่าจะไม่เหมาะสม จึงเดินตามไปห่างๆ เมื่อท่านได้ภัตตาหารเพียงพอแก่อัตภาพแล้ว หลีกไปยังสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อฉันภัตตาหาร อุปติสสะจึงรีบเข้าไปหาท่าน จัดตั้งอาสนะถวาย นั่งปรนนิบัติถวายน้ำใช้น้ำฉัน ครั้นเสร็จภัตกิจแล้ว อุปติสสะจึงกล่าวกับท่านว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ใบหน้าท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณท่านก็บริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบรรพชาอยู่ในสำนักท่านผู้ใด ใครเป็นครูอาจารย์ของท่าน ท่านเล่าเรียนธรรม จากผู้ใด"

พระอัสสชิกล่าวตอบว่า "ดูก่อนปริพาชก พระสมณะศากยบุตร ผู้ออกบวชจากศากยวงศ์ พระองค์นั้น เป็นศาสดาของเรา เราเป็นสาวกของพระองค์"

อุปติสสะ กล่าวว่า "ข้าแต่ผู้เจริญ ขอท่านโปรดแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กระผมฟังด้วยเถิด"

พระเถระแสดงธรรมข้อใดให้อุปติสสะฟัง ต่อคราวหน้าครับ

เมื่ออุปติสสะ ขอให้แสดงธรรมให้ฟัง พระอัสสชิกล่าวถ่อมตนว่า ท่านเพิ่งอุปสมบทไม่นาน ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารได้ ครั้นอุปติสสะบอกว่าขอให้แสดงโดยย่อก็ได้

พระเถระจึงกล่าวคาถา อันแสดงถึง "หัวใจ" แห่งอริยสัจสี่มี ใจความว่า
     เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต (อาห)
     เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ
     ธรรม (สิ่ง) เหล่าใด เกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
     และความดับเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะ อย่างนี้

คาถานี้ แสดงหลักอริยสัจโดยย่อนั่นเอง อริยสัจพูดถึงทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ การจะดับทุกข์ได้ ก็ต้องดับที่ต้นเหตุ อริยสัจเน้นถึงวิธีดับทุกข์ หรือวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแห่งปัญหา

น่าสังเกตว่า เมื่อพระสมณทูตเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างแดน ท่านจะเทศนาเน้นไปที่ "แก่น" แห่งอริยสัจนี้เสมอ

เมื่อครั้งพระโสณะและพระอุตตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิ (อันเข้าใจกันว่า ศูนย์กลางก็คือจังหวัดนครปฐมในปัจจุบันนี้) ท่านก็คงเทศนาสั่งสอนในเรื่องนี้เป็นหลัก ดังปรากฏว่ามีผู้ค้นพบคาถาพระอัสสชิ จารึกเป็นหลักฐาน รวมกับโบราณวัตถุอื่นๆ เช่น ธรรมจักร กวางหมอบ ด้วย

คาถาพระอัสสชินี้ ขึ้นต้นด้วยคำว่า "เยธัมมา" คนจึงเรียกว่า "คาถาเยธัมมา"

นอกจากที่นครปฐมแล้ว ยังค้นพบในที่อื่นอีก แสดงว่าคนสมัยก่อนถือว่าคาถานี้เป็นคาถาแสดง "หัวใจ" ของพระพุทธศาสนา ในสมัยต่อมาเท่านั้นที่เปลี่ยนมาใช้คาถาโอวาทปาติโมกข์แทน (โอวาทปาติโมกข์คือ การไม่ทำชั่ว การทำความดีให้พร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว)

อุปติสสะได้ฟังเท่านี้ก็พลันเกิด "ดวงตาเห็นธรรม" (ธรรมจักษุ) ทันที จึงเรียนถามท่านว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เวลานี้พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่ไหน"

พระเถระตอบว่า "เวลานี้พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร"

อุปติสสะจึงกราบลาพระอัสสชิ อาจารย์ผู้ให้แสงสว่างในทางธรรมของตน รีบไปหาโกลิตะผู้สหาย กล่าวคาถานั้นให้โกลิตะฟัง โกลิตะก็เกิดดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกัน

ทั้งสองจึงชวนกัน ไปชวนอาจารย์สัญชัย เพื่อไปเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ชวนผิดคนเสียแล้วครับ สัญชัยเป็นถึงอาจารย์ใหญ่ เจ้าของลัทธิที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น มีหรือจะยอมไปเป็นลูกศิษย์คนอื่นอีก ศิษย์ทั้งสองหวังดี แต่เป็นความหวังดีที่ยากจะรับได้ ลองฟังบทสนทนาของศิษย์อาจารย์ดูก็แล้วกันครับ

ศิษย์ "อาจารย์ครับ บัดนี้พระสัมมา สัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกแล้ว เราทั้งสามไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เพื่อฟังธรรมกันเถิด"



ปางโปรด อัครสาวก (๓)

อาจารย์ "ไยเธอทั้งสองมาดเช่นนี้กับเรา เราเป็นอาจารย์ใหญ่ เจ้าสำนักที่มีชื่อเสียง ยังจะต้องไปเป็นศิษย์ใครอีกหรือ"

ศิษย์ "ท่านอาจารย์ครับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ธรรมะที่ทรงแสดงก็เป็นนิยยานิกธรรม (สามารถนำคนออกจากทุกข์) จริงๆ เรามาไปกันเถิด"

อาจารย์ "เราไม่ไป เธอทั้งสองอยากไป ก็ตามใจเถิด"

ศิษย์ "ท่านอาจารย์ครับ ใครๆ ได้ทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว ก็พากันไปฟังธรรม ไปบวชเป็นสาวกของพระองค์กันมากแล้ว ท่านอาจารย์จะอยู่อย่างไร"

อาจารย์ "เราขอถามอะไรสักอย่าง"
ศิษย์ "อะไรครับ อาจารย์"
อาจารย์ "ในโลกนี้ คนโง่กับคนฉลาดอย่างไหนมากกว่ากัน"
ศิษย์ "คนโง่ครับ ท่านอาจารย์ คนฉลาดมีจำนวนน้อย"

อาจารย์ "คนโง่จำนวนมากนั้นเขาจะมาสู่สำนักเราเอง ส่วนคนฉลาดๆ อย่างเธอทั้งสองก็จะไปยังสำนักพระสมณโคดม เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าเราจะไม่มีศิษย์ เธอทั้งสองอยากไปเป็นศิษย์พระสมณโคดมก็ไปเถิด ไม่ต้องห่วงเรา"

อย่ามาชวนเสียให้ยาก เอาช้างมาฉุดข้าก็ไม่ไป ว่าอย่างนั้นเถอะ ชะชะ เป็นอาจารย์อยู่ดีๆ จะมาชวนให้ไปเป็นศิษย์คนอื่น ไม่เตะเอาก็บุญแล้ว สัญชัยอาจคิดอย่างนี้ก็ได้

เมื่ออาจารย์ไม่ไปด้วย ศิษย์ทั้งสองจึงอำลาอาจารย์เดินทางไปยังพระเวฬุวันวิหาร ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับท่ามกลางภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ทอดพระเนตรเห็นทั้งสองเดินมาแต่ไกล จึงทรงชี้พระดรรชนี ตรัสกับภิกษุสงฆ์ว่า "ภิกษุทั้งหลาย สองคนนั้นจะเป็นคู่แห่งอัครสาวกของเรา"

น่าสังเกตว่า ทั้งสองยังไม่ได้บวชเลย พระพุทธองค์จะตั้งให้เป็นอัครสาวกแล้ว ด้วยเหตุดังฤๅ ได้คิดหาคำตอบกันคราวหน้าครับ

เมื่อทั้งสองท่านได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าแล้ว อุปติสสมาณพ ได้นามเรียกขานกันในหมู่เพื่อนพรหมจรรย์ว่า สารีบุตร โกลิตมาณพ ได้ชื่อว่า โมคคัลลานะ

บวชได้ ๗ วันพระโมคคัลลานะ บำเพ็ญเพียรอยู่ที่ตำบลกัลลวาลมุตตคาม ถูกความง่วงครอบงำไม่สามารถขจัดให้หายไปได้ พระพุทธองค์เสด็จไปตรัสบอกวิธีแก้ง่วง ๘ ประการให้ท่านปฏิบัติ (มีอะไรบ้าง เคยเขียนไว้ในที่อื่นแล้ว จะไม่ขอพูดในที่นี้) ท่านโมคคัลลานะปฏิบัติตามที่ทรงแนะนำ สามารถขจัดความง่วงได้ และได้บรรลุพระอรหัต

อีก ๗ วันต่อมา พระสารีบุตรกำลังถวายงานพัดพระพุทธองค์ ขณะประทับแสดงธรรมแก่ปริพาชกเล็บยาว หลานชายท่าน ถวายงานพัดไป ส่งใจพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนาไปด้วย เมื่อทรงแสดงธรรมจบลงก็ได้บรรลุพระอรหัต ในขณะที่ผู้ฟังพระธรรมเทศนาโดยตรงคือปริพาชกเล็บยาวไม่ได้บรรลุ



ปางโปรด อัครสาวก (จบ)

สถานที่ท่านบรรลุพระอรหัตคือ ถ้ำสุกรขาตา (ถ้ำหมูขุด หรือที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่าถ้ำคางหมู) อยู่เชิงเขาคิชฌกูฏ ปัจจุบันนี้ใครไปนมัสการพระมูลคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏ ก็จะผ่านถ้ำคางหมูก่อน และมักจะแวะนนัสการเสมอ เพราะเป็นปูชนียสถานที่สำคัญเช่นเดียวกัน

ที่ไม่ควรลืมก็คือ วันที่ท่านพระสารีบุตรบรรลุพระอรหัต เป็นเช้าวันเพ็ญเดือน ๓ เป็นวันที่พระพุทธองค์ประทานโอวาทปาติโมกข์แก่ที่ประชุมสงฆ์ "จาตุรงคสันนิบาต" พอดี ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้เป็นวันมาฆบูชา ดังที่ทราบกันดีแล้ว

จากนั้นพระพุทธองค์ก็ประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา และเบื้องซ้าย พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เลิศกว่าผู้อื่นในทางมีปัญญามาก พระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเลิศกว่าผู้อื่นในทางมีฤทธิ์มาก

ปริศนาที่ตั้งไว้ในสัปดาห์ก่อนโน้นว่า เพราะเหตุไรพระพุทธองค์จึงทรงแต่งตั้งท่านทั้งสองเป็นอัครสาวก ทั้งๆ ที่อายุพรรษาน้อยกว่าพระเถระรูปอื่นๆ จะว่าไปแล้วทรง "ทำท่า" จะตั้งตั้งแต่วินาทีแรกที่ทอดพระเนตรเห็นสองท่านเดินเข้าวัดมาด้วยซ้ำ มิเป็น "มุโขโลกนะ" (เห็นแก่หน้า) ดอกหรือ

คำตอบที่พระอรรถกถาจารย์ให้ไว้ ก็คือ พระองค์ทรงแต่งตั้งให้ทั้งสองท่านเป็นอัครสาวก เพราะทั้งสองท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้แล้วในพุทธกาลก่อนๆ นานมาแล้ว พูดง่ายๆ ว่าตั้งตามความปรารถนาของทั้งสองท่าน ถึงจะฟังทะแม่งๆ ก็รับฟังไว้ก็แล้วกันครับ

ถ้าจะให้ผมเดา (พูดให้โก้ว่าสันนิษฐาน) ผมก็เดาว่าพระพุทธองค์กำลังจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหมู่พราหมณ์ พระองค์ต้องการ "มือ" มาช่วยทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งสองท่านนี้เหมาะกับงานนี้พอดี จึงทรงแต่งตั้ง ให้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ทั้งสองท่านมีคุณสมบัติดังนี้ครับ
๑.เกิดในวรรณะพราหมณ์ มีความเชี่ยวชาญในไตรเพทของพวกพราหมณ์เป็นอย่างดี เมื่อมาเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมจะสามารถโต้ตอบหักล้างแนวความคิดความเชื่อของพวกพราหมณ์ได้อย่างดี
๒.เป็นบัณฑิตทางปรัชญา จบปรัชญาสาขา "อมราวิกเขปิกา" จากสำนักอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปรัชญาสำนักนี้เน้นวาทะ การโต้ตอบด้วยปฏิภาณ จึงเป็น "เครื่องมือ" อย่างดี ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พระพุทธองค์ทรงมองเห็นแล้วว่า ทั้งสองท่านมีความสามารถที่สาวกรูปอื่นๆ ไม่มี จึงทรงสถาปนาทั้งสองท่านในตำแหน่งอัครสาวกดังกล่าว

ทั้งหมดนี้เดาเอาครับ ย่อมมีสิทธิ์ผิดได้ (และดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นด้วย)



(http://www.bloggang.com/data/t/travelaround/picture/1289925383.jpg)
ภาพจาก : เว็บไซต์ bloggang.com
ปางประทานโอวาทปาติโมกข์ (๑)

เดิมเขียนว่า "ปาฏิโมกข์" ปัจจุบัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้เขียน "ปาติโมกข์" ตัว ฏ เป็น ต นี้ถือเป็นธรรมดา เป็น ด ก็ธรรมดา อย่าง ถนน "ปฏิพัทธ์" เป็นถนน "ประดิพัทธ์" นั้นแล

ได้บอกไว้ว่า พระสารีบุตรบรรลุพระอรหัตในเช้าวันเพ็ญที่พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะพอดี (ต่อมากำหนดให้เป็นวัน วันมาฆบูชา) การบรรลุธรรมของพระสารีบุตร สัมพันธ์กับเหตุการณ์วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้ทำให้จดจำได้ง่ายดี

วันนั้น พระสาวกทั้งหลายคงเดินทางมุ่งหน้ามายังพระเวฬุวันเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าหลังจากเดินทางไปเผยแพร่พระศาสนายังต่างเมือง ท่านเหล่านั้นคงมิได้นัดหมายกันจริงตามที่มีผู้สันนิษฐานกัน เมื่อองค์ประกอบทั้ง ๔ ประการมาบรรจบกันเข้า ทำให้เห็นเป็นอัศจรรย์คือ
๑. พระสาวกของพระพุทธเจ้ามาประชุมกันที่พระเวฬุวันจำนวน ๑,๒๕๐ รูป โดยมิได้นัดหมายกันมาก่อน
๒. ท่านเหล่านั้นล้วนเป็น เอหิภิกขุ (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง)
๓. ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา
๔. วันนั้นเป็นวันพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะพอดี

การประชุมใหญ่ของพระสาวก อันประกอบด้วยเหตุการณ์สำคัญทั้ง ๔ นี้ เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเป็นนิมิตหมายอันดี จึงประทานโอวาทปาติโมกข์ (คำสอนที่เป็นหลักสำคัญ) ให้พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น

มีคำถามว่า จำนวน ๑,๒๕๐ มาจากไหน บางท่านบอกว่า ความจริงมิได้มาจากไหนดอก เอาแค่ภาติกชฎิลกับบริวาร ก็พันกับสามรูปแล้ว รวมกับพระอัครสาวกและบริวาร๕๐๐ ก็เกินแล้ว ทั้งนี้ไม่รวมถึงพระอรหันต์ ๖๐ รูป ที่ทรงส่งไปก่อนหน้านี้แล้ว ท่านเหล่านี้แหละ เมื่อปฏิบัติภารกิจลุล่วงแล้ว บางส่วนได้กลับมาเพื่อกราบทูลถวายรายงานหรือเพื่อขอประทานพระโอวาทเพิ่มเติม

ถามว่า ทำไมท่านเหล่านี้จึงจำเพาะเจาะจงมาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันเวลาดังกล่าวนี้ นักสันนิษฐานบางท่านกล่าวว่า เพราะความเคยชิน ว่าอย่างนั้น ถามว่าเคยชินอะไร ท่านบอกว่าพระสาวกเหล่านี้เป็นพราหมณ์มาก่อน และวันที่พระจันทร์เต็มดวงในเดือนนี้เป็นวันที่เขาทำพิธีที่เรียกว่า ศิวาราตรี ครั้นท่านเหล่านี้ได้มาบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีโอกาสทำพิธีอะไรของพวกพราหมณ์เหมือนเมื่อครั้งก่อนแล้ว จึงพากันมาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน ว่าอย่างนั้น



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 สิงหาคม 2558 15:08:14
.

(http://www.bloggang.com/data/t/travelaround/picture/1289925383.jpg)
ภาพจาก : เว็บไซต์ bloggang.com
ปางประทานโอวาทปาติโมกข์ (จบ)

ผมเองไม่มีความรู้เรื่องศิวาราตรี ว่าพวกพราหมณ์ทำอะไรกัน แต่การจะเกณฑ์ให้พระอรหันต์ซึ่งหมดกิเลส ทรงอภิญญาแล้ว ยังต้องทำอะไรตามความเคยชินอยู่ ออกจะไม่สมเหตุสมผล น่าจะเรียกว่า "เดา" หรือ "เดาสุ่ม" มากกว่า เพราะพระอรหันต์เหล่านี้ใช่ว่าจะเป็นพราหมณ์หมดทุกรูปก็หาไม่

เมื่ออ้างนักสันนิษฐานคนที่หนึ่งแล้ว ไม่อ้างคนที่สองก็ดูกระไรอยู่ คนที่สองเขาสันนิษฐานดังนี้ครับ การประทานพระโอวาทครั้งนี้ นับเป็น "ปัจฉิมนิเทศ" พระธรรมทูตชุดแรก และ "ปฐมนิเทศ"พระธรรมทูตชุดที่สอง ท่านว่าอย่างนั้น

ชุดแรกคือจำนวน ๖๐ รูปที่ทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาก่อนหน้านั้น ท่านเหล่านั้นได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าบางส่วน เพื่อกราบทูลรายงานผล พระองค์ทรงถือโอกาสสรุปและประทานคำแนะนำเพิ่มเติมในคราวนี้

ชุดที่สองคือชุดที่จะส่งไปในคราวนี้ ประทานพุทธโอวาทอันเป็นหลักการสำคัญในการเผยแผ่พระศาสนา สมบูรณ์แบบทีเดียว ขอให้ดูเนื้อหาพระ "โอวาทปาติโมกข์" จะเห็นว่าสมบูรณ์แบบอย่างไร

เนื้อหาโอวาทปาติโมกข์มีดังนี้
(๑) "ความอดทนคือความอดกลั้น เป็นธรรมเผากิเลสอย่างยิ่ง
(๒) นิพพาน ท่านผู้รู้กล่าวว่าเป็นธรรมสูงสุด
(๓) ผู้ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ไม่นับเป็นบรรพชิต
(๔) ผู้ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่นับเป็นสมณะ
(๕) การไม่ทำบาปทั้งปวง
(๖) การทำความดีให้พร้อม
(๗) การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
(๘) การไม่ว่าร้ายเขา
(๙) การไม่ทำร้ายเขา
(๑๐) การระมัดระวังในระเบียบข้อบังคับ
(๑๑) การรู้ประมาณในการบริโภค
(๑๒) การนั่งนอนในสถานที่สงัด
(๑๓) การฝึกสมาธิจิตอย่างสูงยิ่ง นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ทั้งหมดมี ๑๓ หัวข้อใหญ่ๆ แต่เมื่อสรุปแล้ว จะครอบคลุมทั้งด้านเป้าหมาย หลักการและวิธีการ ตลอดจนคุณสมบัติของผู้เผยแผ่พระศาสนา ขอให้ดูดังนี้
(๑) เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ทรงเน้นไปที่พระนิพพาน ความดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล
(๒) หลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา ทรงชี้ว่าต้องไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นหลักการใหญ่ จะว่าไปแล้วก็คือหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ และปัญญา) นั้นเอง
(๓) วิธีการเผยแผ่พระศาสนา ทรงเน้นไปที่การใช้สันติวิธี ไม่เบียดเบียนเขา ไม่ว่าร้ายเขา ให้ใช้ขันติธรรม และวิธีประสานประโยชน์
(๔) คุณสมบัติของผู้เผยแผ่ ทรงเน้นว่าพระภิกษุผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา พึงอยู่ง่าย กินง่าย ไม่เห็นแก่กิน เคร่งครัดในพระปาติโมกข์ (ศีลสำคัญ) ฝึกฝนตนเองในสมาธิชั้นสูงเสมอ

ข้อสันนิษฐานนี้ค่อยฟังเข้าทีหน่อย ฝากผู้รู้พิจารณาเอาก็แล้วกัน



(http://www.laksanathai.com/book1/LargeImages/385.jpg)
ภาพจาก : เว็บไซต์ laksanathai.com
ปางห้ามพยาธิ หรือห้ามพระญาตินัยที่ ๑

มีเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ ๒ เหตุการณ์ ที่ทำให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางหนึ่ง อ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่เขียนไม่เหมือนกัน คือ ปางห้ามพยาธิ (อ่าน"ห้ามพะยาด") กับ ปางห้ามพระญาติ (อ่าน"ห้ามพระยาด") เอาเหตุการณ์ที่หนึ่งก่อน ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวันเมืองราชคฤห์ ที่เมืองไพศาลี ได้เกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนล้มตายเพราะความอดอยากจำนวนมาก มิหนำซ้ำโรคห่า (อหิวาตกโรค) ก็เข้าคุกคาม ศพทิ้งเกลื่อนกลาด เมื่อภูมิภาคปฏิกูลด้วยศพมากมาย ภูตผีปีศาจก็เข้าเมืองมากินซากศพ และมนุษย์ที่ป่วยไข้ตายกันมากมาย

ว่ากันว่าเมืองไพศาลีต้องผจญกับภัยพิบัติ ๓ ประการพร้อมกันคือ ภัยเกิดจากความอดอยาก ภัยเกิดจากอหิวาตกโรค และภัยจากภูตผีปีศาจเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ผู้ครองนครไพศาลี จึงส่งเจ้าชายมหาลิไปกราบทูลอัญเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชาวเมืองไพศาลี เพื่อให้พ้นจากภัยพิบัติทั้งสามประการนั้น พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา เสด็จออกจากเมืองราชคฤห์ พร้อมพระสาวกจำนวน ๕๐๐ รูป ไปยังเมืองไพศาลีทางเรือ

เสด็จถึงท่าเมืองไพศาลี ทันทีที่ทรงเหยียบพื้นปฐพีแห่งพระนครไพศาลี จ้องพระเนตรจับท้องฟ้า ทรงรำลึกถึงพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาแต่ปางก่อน ทันใดนั้นมหาเมฆก็ตั้งเค้าดังแผ่นผ้าสีครามผืนยาวเหยียดในด้านปัจฉิมทิศ แล้วเคลื่อนมาปกคลุมพระนครไพศาลี ส่งเสียงคำรามกระหึ่ม สายฟ้าแลบแปลบปลาบ แล้วห่าฝนก็กระหน่ำลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา เสมือนจะล้างพื้นดินที่สกปรกโสโครก ด้วยสิ่งปฏิกูลให้สะอาดหมดจด ต้อนรับพระพุทธองค์

จริงตามนั้น พอฝนซัดลงมามากมายเช่นนั้น ไม่ช้าน้ำฝนก็ไหลบ่านองพื้น พัดพาเอาซากศพมนุษย์และสัตว์ซึ่งนอนทับถมพื้นดินอยู่ไหลลงสู่ทะเลใหญ่โดยสิ้นเชิง พอฝนขาดเม็ด พื้นปฐพีก็สะอาดปราศจากสิ่งปฏิกูล ความอบอ้าวเร่าร้อนของอากาศก็สงบ บรรเทาโรคได้ถึงครึ่งด้วยพุทธานุภาพ

พระพุทธองค์รับสั่งให้พระอานนท์ สวดรัตนสูตร พระเถระเจ้ารับพระพุทธบัญชา อุ้มบาตรบรรจุน้ำมนต์จาริกรอบกำแพงเมืองไพศาลี พลางประพรมน้ำพุทธมนต์ไปด้วย ติดตามด้วยเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีและประชาชนจำนวนมาก ว่ากันว่าบรรดาภูตผีปีศาจทั้งหลายพอร่างกายถูกหยาดน้ำพุทธมนต์ต้องตัว ก็รู้สึกปวดแสบปวดร้อน วิ่งหนีกันจ้าละหวั่น

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดกษัตริย์ลิจฉวีและชาวเมือง เมื่อความร่มเย็นผาสุกลับมาสู่พระนครไพศาลีดังเดิมแล้วก็เสด็จนิวัติยังพระนครราชคฤห์ดังเดิม

พระพุทธรูปปางห้ามพยาธิ จึงสร้างขึ้นเพื่อจารึกเหตุการณ์ครั้งนี้ นี้ว่าตามข้อมูลกระแสหนึ่ง แต่อีกกระแสหนึ่งไม่ว่าอย่างนี้ ว่าอย่างไร ไว้คราวหน้าก็แล้วกันครับ

สำหรับคราวนี้ ขอตั้งข้อสังเกตสักเล็กน้อย ว่ากันว่าพระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระอานนท์สวดรัตนสูตร และพรมน้ำพุทธมนต์รอบเมืองไพศาลี ข้อมูลนี้น่าสนใจ น่าสนใจก็เพราะโยงเอาพระพุทธเจ้าไปเกี่ยวกับการทำน้ำมนต์ และประพรมน้ำมนต์

รัตนสูตรนั้นมีบันทึกอยู่ในขุททกนิกาย (นิกายสุดท้ายของพระไตรปิฎก) เนื้อหาพูดถึงพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ว่าประเสริฐกว่ารัตนะอื่นใดในโลก ข้อนี้ไม่แปลกประหลาดอันใด

ที่น่าประหลาดก็คือเกณฑ์ให้พระพุทธเจ้าทรงสั่งให้ทำน้ำมนต์และพรมน้ำมนต์ เมื่อเป็นเช่นนี้บอกได้เลยว่าพระสูตรนี้เพิ่มเข้ามาภายหลัง เพิ่มมาในยุคที่ชาวพุทธนิยมการสวดมนต์ป้องกันภัยหลังพุทธปรินิพพาน น่าจะเป็นประเทศศรีลังกาครับ

ที่แน่ๆ สมัยพุทธกาลไม่มีการทำน้ำพุทธมนต์ และการประพรมพุทธมนต์ แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งครับ



ปางห้ามพยาธิ หรือห้ามพระญาตินัยที่ ๒
ทีนี้มาว่าถึงนัยที่ ๒ ห้ามพระญาติ หมายถึงห้ามญาติพี่น้อง ญาติพี่น้องหรือพระประยุรญาติของพระพุทธเจ้ากำลังจะฆ่าฟันกัน พระพุทธองค์จึงเสด็จไปห้าม

เรื่องมีอยู่ว่า ศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ตั้งเมืองอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี กษัตริย์ทั้งสองวงศ์มีอาชีพหลักคือการเกษตร จึงต้องเอาน้ำในแม่น้ำโรหิณีมาทำนา บางปีน้ำมีน้อยไม่เพียงพอ จึงต้องแย่งน้ำกัน ว่ากันว่าความกระทบกระทั่งเพราะเรื่องนี้มีเสมอมา แต่ไม่มีครั้งไหนใหญ่โตเหมือนครั้งที่กล่าวถึงนี้

คัมภีร์อรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) เล่าอย่างมีอารมณ์ว่า ทั้งสองฝ่ายเมื่อความโกรธครอบงำ ก็ด่าทอกัน ขุดโคตรบรรพบุรุษมาด่ากัน ฝ่ายศากยวงศ์ก็ด่าฝ่ายโกลิยวงศ์ว่า พวกลูกหลานขี้เรื้อน สมสู่กันในป่า ฝ่ายโกลิยวงศ์ก็ด่าตอบว่า ขี้เรื้อนสมสู่กันในป่ายังดีกว่าพวกสมสู่กันเองระหว่างพี่กับน้อง ยิ่งกว่าสุนัข

ครับว่ากันแรงขนาดนี้ จึงปะทุอารมณ์ขึ้นมาถึงกับต้องออกมาสู้รบกัน

ก่อนอื่นขอเล่าเรื่องเบื้องหลังสักเล็กน้อย ว่ากันว่าพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าโอกกากราช บรรพบุรุษแห่งศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ ถูกสั่งให้ไปสร้างบ้านเมืองใหม่ เพราะได้ออกปากยกราชสมบัติให้พระราชโอรสที่ประสูติกับพระมเหสีองค์รองแล้ว

ทั้งหมดได้สร้างเมืองขึ้นใหม่ ตามคำแนะนำของกบิลฤๅษี แล้วก็อภิเษกสมรสกันเองระหว่างพี่น้อง ยกเว้นพระพี่นางซึ่งได้แยกตัวออกไปอยู่ที่อื่น เมื่อสร้างเมืองเสร็จก็กลับมา กราบทูลพระเจ้าโอกกากราชทรงทราบ พระองค์ทรงเปล่งอุทานว่า สกฺกา วต เม ปุตฺตา = บุตรของเราองอาจจริงหนอ ตั้งแต่นั้นเมืองนี้จึงมีชื่อว่า "กบิลพัสดุ์" (แปลว่าเมืองที่สร้างบนพื้นที่ที่กบิลฤๅษีแนะนำ) กษัตริย์เหล่านี้จึงมีชื่อเรียกว่า "ศากยะ" (แปลว่าผู้กล้าหาญ)

กล่าวถึงพระพี่นางผู้แยกตัวออกไป ต่อมาได้ป่วยเป็นโรคเรื้อน ได้พบอดีตพระราชาเมืองหนึ่งซึ่งเคยเป็นโรคเรื้อนและได้หายแล้ว อดีตพระราชาพระองค์นั้นทรงแนะนำให้เสวยผลกระเบา โรคได้หายขาด ทั้งสองได้อภิเษกสมรสกัน "สร้างบ้านแปงเมือง" ต่อมา ได้ตั้ง "โกลิยวงศ์" (แปลว่าวงศ์ต้นกระเบา) สืบมา

คำด่าที่ทั้งสองฝ่ายขุดมาด่ากัน เป็นภูมิหลังของทั้งสองฝ่ายดังกล่าวมา ด้วยประการฉะนี้แล

พระพุทธองค์ทรงทราบว่าญาติพี่น้องกำลังจะประหัตประหารกันเพราะเรื่องน้ำ จึงเสด็จไปห้าม พระพุทธดำรัสที่ทำให้พวกเขายินยอม อรรถกถาบันทึกไว้ดังนี้ครับ
พุทธ "มหาบพิตรทั้งหลาย พวกท่านจะสู้รบกันเพราะเหตุใด"
กษัตริย์ "เพราะเหตุนี้ (เรื่องน้ำ) พระเจ้าข้า"
พุทธ "มหาบพิตรทั้งหลาย พวกท่านเห็นอย่างไร ระหว่างน้ำกับโลหิตที่จะไหลหลั่งออกมาเพราะการรบพุ่งกันนี้ อย่างไหนมีค่ามากกว่ากัน"
กษัตริย์ "โลหิตมีค่ามากกว่า น้ำมีค่าเล็กน้อย พระเจ้าข้า"
พุทธ "ถ้าเช่นนั้นพวกท่านจะเอาสิ่งที่มีค่ามหาศาลไปแลกกับสิ่งมีค่าเล็กน้อยทำไมเล่า"

รายละเอียดคงจะเจรจากันยาวและใช้เวลานาน แต่สาระคงมีตามที่ท่านสรุปมาให้ฟังนี้

กษัตริย์ทั้งสองวงศ์เมื่อได้รับประทานพระโอวาทจากพระพุทธองค์ก็ยินยอมสงบศึก ตกลงแบ่งน้ำกันคนละครึ่ง ยกทัพกลับเข้าเมือง

ว่ากันว่าพระพุทธรูปปาง "ห้ามพระญาติ" สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ เขียน "ห้ามพระญาติ" อันหมายถึง พระประยุรญาติทั้งสองฝ่าย มิใช่พยาธิ (โรคร้าย) แต่อย่างใด



(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=933553)
ภาพจาก : เว็บไซต์ manager.co.th
ปางโปรดพุทธบิดา (๑)

ทราบกันแล้วว่าพระพุทธบิดาทรงพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระองค์ไม่มีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสออกผนวชแม้แต่น้อย จึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะ "ดึง" พระราชโอรสไว้ได้ เช่น สร้างปราสาทสามฤดูที่ "หะรูหะรา" ให้อยู่ ปรนเปรอด้วยรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสธัมมารมณ์สารพัด แต่ยิ่งทำก็ยิ่งเร่งให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นความจริงของสรรพสิ่งมากยิ่งขึ้น

ในที่สุดก็เสด็จออกผนวช สละเสียสิ้นซึ่งกามวิสัยทั้งปวง แสวงหาโมกษธรรม (ทางหลุดพ้น) เพื่อช่วยพระองค์เองให้พ้นทุกข์ แล้วจะได้ช่วยสรรพสัตว์อื่นให้พ้นทุกข์ด้วย

พระเจ้าสุทโธทนะนั้นแทบพระทัยจะสลาย เมื่อทราบว่าพระราชโอรสทิ้งพระนครไปโดยไม่มีวี่แววว่าจะหวนกลับมา ในพุทธประวัติที่เราเรียนไม่พูดถึงว่าหลังจากพระราชกุมารเสด็จออกผนวชแล้วพระราชบิดาทรงทำอะไรบ้าง แต่ในฉบับอื่น (หมายถึงของฝ่ายมหายาน) เล่าไว้ว่าพระองค์ทรงส่งคนไปสืบดูว่าพระราชกุมารอยู่ที่ไหน ทำอะไรบ้าง เรียกว่าทรงรับทราบความเป็นไปของพระราชโอรสทุกระยะ ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระเจ้าสุทโธทนะแม้จะไม่ยินดีที่พระราชโอรสออกผนวช แต่เมื่อทรงทราบว่าพระมหาสัตว์ได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดที่ทรงปรารถนาแล้ว และเสด็จไปประทับ ณ พระเวฬุวันเมืองราชคฤห์ก็อดดีพระทัยไม่ได้ จัดคณะทูตคณะหนึ่งไปทูลอันเชิญเสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระองค์และพระประยุรญาติ

คณะทูตอันประกอบด้วยมหาอำมาตย์และบริวาร ๘ นาย ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรมแล้วต่างก็เลื่อมใส ทูลขอบวชเป็นสาวกพระพุทธองค์ เลยลืมสัญญาที่ให้ไว้กับพระเจ้าสุทโธทนะ

เมื่อคณะทูตคณะที่หนึ่งหายจ้อย พระองค์ก็ส่งคณะที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ที่หก ที่เจ็ด ที่แปด มาตามลำดับ จะเห็นว่าทรงอยากพบ "พระลูกชาย" ปานใด แต่ก็ช่างกระไร ทูตทุกคณะที่ไปไม่มีใครกลับมาเลยสักคน บวชเป็นพระแล้วก็ลืมสัญญาหมด มัน "เจ๊กอั่ก" น้อยไปหรือ

คราวนี้ทรงส่งมหาอำมาตย์ซึ่งเป็นสหชาต (เกิดพร้อมกัน) กับเจ้าชายสิทธัตถะ นามว่า กาฬุทายี กำชับกำชาให้นำ "พระลูกชาย" มาให้ได้ กาฬุทายีทูลขอลาอุปสมบทด้วย แต่จะไม่ลืมอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าเป็นอันขาด

เมื่อรับเป็นมั่นเหมาะแล้ว กาฬุทายีก็เดินทางไปยังเมืองราชคฤห์ เข้าเฝ้า ณ พระเวฬุวัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตแล้วทูลขออุปสมบท หลังจากบวชแล้วเมื่อสิ้นเหมันตฤดูย่างเข้าคิมหันตฤดู พระกาฬุทายีคำนึงว่าฤดูนี้ประชาชนเพิ่งเสร็จงานเก็บเกี่ยว มรรคาไปสู่พระนครกบิลพัสดุ์สะดวกสบาย สองข้างทางมีพฤกษาเรียงรายอยู่น่ารื่นรมย์ สมควรที่อัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสู่เมืองกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระพุทธบิดาและบรรดาพระประยุรญาติทั้งปวง

จึงเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลอาราธนาให้เสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์ ว่ากันว่าพระกาฬุทายีได้ประพันธ์คาถา (โศลก) บรรยายสภาพของมรรคาจากราชคฤห์สู่กบิลพัสดุ์ ซึ่งมีความยาว ๖๐ โยชน์ รวม ๖๐ คาถาด้วยกัน

พระพุทธองค์ทรงรับคำอาราธนา ตรัสบอกกาฬุทายีว่า ให้แจ้งแก่พระสงฆ์ทั้งปวงว่าพระบรมศาสดาจะเสด็จไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายก็ตระเตรียมอัฐบริขารของตนเพื่อโดยเสด็จพระบรมครูไปยังเมืองมาตุภูมิของพระองค์

เสด็จถึงเมืองกบิลพัสดุ์ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม (ป่าไทรย้อย) นอกเมือง บรรดาพระญาติวงศ์ทั้งหลาย ทั้งหนุ่มและแก่ ต่างก็มาเฝ้า บางพวกที่มีทิฐิว่าตนอาวุโสกว่าก็กระด้างกระเดื่องไม่ประณมหัตถ์นมัสการ บางพวกก็นมัสการด้วยความเคารพ และทำในใจว่าตนกำลังไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเพียบพร้อมไปด้วยพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ไม่ได้ถือตนว่าเป็นผู้อาวุโสกว่าแต่อย่างใด

พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นอหังการมมังการของพระประยุรญาติบางเหล่า จึงทรงสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์เหาะลอยขึ้นในนภากาศ ปรากฏประหนึ่งให้ละอองธุลีพระบาทหล่นลงยังเศียรเกล้าของพระประยุรญาติทั้งหลาย ด้วยพุทธานุภาพเป็นมหัศจรรย์



ปางโปรดพุทธบิดา (๒)
พระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดา ประณมหัตถ์เหนือพระเศียรกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ประสูติใหม่ได้ ๑ วัน หม่อมฉันให้พี่เลี้ยงนำมาเพื่อไหว้อสิตดาบส (กาลเทวิลดาบส) พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏ ขึ้นไปบนชฎาของดาบส ครั้งนั้นหม่อมฉันถวายบังคมพระองค์เป็นครั้งปฐม

ต่อมาเมื่องานพระราชพิธีวัปปมงคล (แรกนาขวัญ) พระพี่เลี้ยงนำพระองค์ไปประทับใต้ต้นหว้า เมื่อพระอาทิตย์บ่ายคล้อยไปแล้ว เงาไม้ก็มิคล้อยไปตามตะวัน หม่อมฉันเห็นเป็นอัศจรรย์ ได้ถวายบังคมเป็นครั้งที่สอง คราครั้งนี้หม่อมฉันขอถวายบังคมเป็นครั้งที่สาม

บรรดาพระประยุรญาติที่กระด้างกระเดื่องในเบื้องต้นต่างก็พากันลดทิฐิมานะ ก้มกราบถวายบังคมทั่วหน้ากัน พระสุคตเจ้าเสด็จลงจากนภากาศประทับบนพระพุทธอาสน์ท่ามกลางเหล่าศากยวงศ์ทั้งปวง

ขณะนั้นเมฆได้ตั้งเค้า บันดาลหยาดฝนเม็ดหยาบสีแดงเรื่อตกลงมา ประหลาดว่าเม็ดสีแดงเรื่ออันเรียกว่าฝนโบกขรพรรษนั้น ใครไม่ประสงค์จะให้ร่างกายเปียก ก็ไม่เปียก ใครประสงค์จะให้เปียก จึงเปียก

เป็นที่มหัศจรรย์อย่างยิ่งแล

ภิกษุทั้งหลายเห็นเหตุการณ์มหัศจรรย์นั้นแล้ว ก็ประชุมสนทนากันด้วยความสงสัยว่าทำไมหนอฝนประหลาดนี้จึงเกิดขึ้นได้ ไม่เคยพบเคยเห็นเลย

พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง จึงเสด็จมาตรัสแก้ข้อกังขาของพวกเธอว่า "ภิกษุทั้งหลาย ใช่ว่าฝนโบกขรพรรษนี้จะตกเฉพาะครั้งนี้เท่านั้น ในอดีตกาล เมื่อตถาคตยังเป็นพระโพธิสัตว์ ฝนนี้ก็เคยตกมาแล้วเช่นกัน" แล้วทรงเล่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ให้ภิกษุสงฆ์ฟัง

พระสงฆ์ไทยได้นำเอามหาเวสสันดรชาดกมาเทศน์ให้ญาติโยมฟังในเทศกาลวันออกพรรษาเป็นประเพณีสืบมาจนบัดนี้ (ปัจจุบันนี้อาจเลือนหายไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีอยู่) เป็นการปลูกฝังจริยธรรม โดยเฉพาะด้านการให้ทาน สอนให้คนไทยเป็นผู้ใจบุญสุนทาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดำเนินตามรอยพระเวสสันดรโพธิสัตว์

แต่ไหนแต่ไรมาก็ไม่มีใครคิดสงสัยเหมือนคนสมัยนี้ เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป นิสัยสันดานคนเปลี่ยนไปด้วย แต่ก่อนเห็นว่าการให้ทาน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว ทำอะไรมุ่งประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด ให้เพื่อให้ มิใช่ให้เพื่อจะเอา เป็นการดี แต่ปัจจุบันคนที่ให้เพื่อหวังผล ให้เพื่อจะได้จะเอามีมากขึ้น เลยไม่เชื่อว่าคนประเภทที่คิดจะให้ ให้...ให้...อย่างเดียว แบบพระเวชสันดรนั้นมีจริง

ถึงจะยอมรับว่ามี ก็กลับเห็นว่าคนอย่างพระเวชสันดรนั้นใช้ไม่ได้ เป็นคนใจจืดใจดำให้ได้กระทั่งลูกเมียเป็นทาน บางรายไปไกลกว่านั้น กล่าวว่าไม่ควรนำเอาเรื่องพระเวสสันดรมาสอนเด็ก จะทำให้เด็กเห็นแก่ตัวเปล่าๆ

เออแน่ะ คนที่เห็นแก่ตัวกลับไปหาว่าคนไม่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ตัวไปได้ ประหลาดแท้ ผมใคร่ขอนำเรื่องนี้มาถกแถลงกับท่านผู้อ่าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ผิดถูกอย่างไรขอน้อมรับไว้เพียงผู้เดียว เพราะเป็นทรรศนะส่วนตัว

ก่อนอื่นขอให้ย้อนรำลึกสักนิดว่า
๑.เราอย่าเอาความรู้สึกของปุถุชนอย่างเราๆ ไปตัดสินการกระทำของพระโพธิสัตว์ (พระเวสสันดร)
๒.อย่าลืมว่าเหตุการณ์ในคัมภีร์มิได้เกิดขึ้นในยุคสังคมบริโภค ยุคที่ผู้คน "คลั่งวัตถุ" เป็นบ้าเป็นหลังอย่างปัจจุบัน "บริบท" ทางสังคมย่อมแตกต่างจากปัจจุบันนี้มาก
๓.อย่าลืมว่าการกระทำทั้งหมดเป็นการกระทำของ "พระโพธิสัตว์" ผู้มีจุดมุ่งหมายแตกต่างไปจากปุถุชนทั่วไป



ปางโปรดพุทธบิดา (๓)
พระเวสสันดร ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ตั้งปณิธานเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าถามว่า ตรัสรู้ไปทำไม ตอบว่า เพื่อจะได้ช่วยสรรพสัตว์ผู้ตกอยู่ห้วงแห่งความทุกข์ในสังสารวัฏ

พูดให้สั้นก็คือ เพื่อช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากเกิดแก่เจ็บตายอันเป็นสุดยอดแห่งความทุกข์

จากจุดนี้เป็นจุดแรก จะเห็นได้ว่า พระเวสสันดรไม่เห็นแก่ตัว ตรงกันข้ามกลับเป็นคนมีจิตใจกว้างขวาง เห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นอย่างยิ่ง

เพราะท่านต้องการช่วยคนทั้งโลกให้พ้นทุกข์

และการจะช่วยได้สำเร็จก็ต้องได้บรรลุโพธิญาณคือตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก่อน การบำเพ็ญบารมีเป็นขั้นตอนของการเตรียมพร้อมเพื่อบรรลุทานอันอุกฤษฏ์ เป็นหนึ่งในธรรมที่ต้องบำเพ็ญเพื่อให้ได้โพธิญาณนั้น

ถ้าไม่บริจาคลูกเมีย บารมีก็ไม่สมบูรณ์ ไม่มีทางได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นพระโพธิสัตว์จึงบริจาคลูกเมียให้เป็นทาน

เมื่อบริจาคลูกเมียเป็นทานแล้ว ได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็สามารถช่วยได้ มิใช่เฉพาะลูกเมียของท่าน หากได้ช่วยเหลือคนทั้งโลก

การกระทำอย่างนี้แทนที่จะเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ตน กลับเป็นการเห็นแก่โลกทั้งโลก เพราะหลังจากนั้นพระเวสสันดรได้เป็นพระพุทธเจ้าได้ประกาศสัจธรรม ช่วยปลดเปลื้องสัตว์โลกจากทุกข์มากต่อมาก และได้ฝากคำสั่งสอนเป็นประทีปส่องทางชีวิตของชาวโลกทั้งปวงมาตราบเท่าทุกวันนี้

ได้นำข้อกล่าวหาว่าพระเวสสันดรเห็นแก่ตัวถึงขนาดบริจาคลูกเมียเป็นทาน เป็นคนไม่เข้าท่า ไม่เอาไหน มากล่าวในคราวก่อน พร้อมได้อธิบายว่าเป็นความเข้าใจผิด

ผิดตั้งแต่เอาเหตุผลของปุถุชนไปตัดสินการกระทำของพระโพธิสัตว์ ถึงจะเป็นปุถุชนก็มิใช่ปุถุชนธรรมดา หากเป็นปุถุชนผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อเป้าหมายอันสูงส่ง

ผิดเพราะบริบททางสังคมมันเปลี่ยนแปลงไป ค่านิยมคนเปลี่ยนไปด้วย เห็นง่ายๆ แม้กระทั่งความคิดว่า ใครเห็นแก่ตัว ใครไม่เห็นแก่ตัว เกณฑ์ตัดสินก็แตกต่างกันแล้ว

การบริจาคลูกเมียเป็นทานเพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้แล้วจะได้ช่วยสั่งสอนสัตว์ให้ปลดเปลื้องอวิชชา ได้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอันเป็นยอดแห่งความทุกข์ เป็นจุดหมายของพระโพธิสัตว์

การกระทำอย่างนี้วิญญูชนเห็นว่าเป็นความเสียสละอันยิ่งใหญ่ เป็นการกระทำที่หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งมวลพาลชน (คนตรงข้ามกับวิญญูชน) กลับมองว่านี่คือความเห็นแก่ตัวร้ายกาจ

เพราะฉะนั้น ความไม่เห็นแก่ตัว (ในสายตาของอริยะ) ก็คือความเห็นแก่ตัว (ในสายตาปุถุชน) ได้แล



ปางโปรดพุทธบิดา (จบ)
ในเรื่องพระเวสสันดรนี้ ถ้าพระเวสสันดรไม่บริจาคช้างปัจจัยนาคเป็นทานก็ไม่ต้องถูกผลักดันออกจากเมือง ปกครองบ้านเมืองเป็นสุขตามอัตภาพ ไม่มีโอกาสได้บริจาคลูกเมียเป็นทาน ท่านก็ช่วยเหลือได้เฉพาะลูกเมียของท่านและประชาชนของท่าน สิ้นพระชนม์แล้วก็จมหายไปตามกาลเวลา

อย่างนี้จะเรียกว่า พระเวสสันดรเห็นแก่ตน เห็นแก่ลูกเมียของตนและบ้านเมืองของตนก็สมควรอยู่

แต่นี่มิได้เป็นเช่นนั้นเลย จะหาว่าท่านเป็นคนเห็นแก่ตนได้อย่างไร

อนึ่ง ทุกขั้นตอนของการกระทำ พระโพธิสัตว์ทำด้วยปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบและเปี่ยมด้วยความรักต่อลูกเมียทั้งสิ้น เช่น
๑.ทรงชี้แจงให้ลูกทั้งสองเข้าใจว่า การกระทำของพ่อมิใช่เพราะไม่รักลูก หากทำด้วยความรักลูกสุดชีวิต เพราะมุ่งหวังโพธิญาณ ต้องการช่วยโลกทั้งมวล จึงต้องบริจาคลูกเป็นทานและท้ายสุดลูกทั้งสองก็เข้าใจเจตนาของพ่อ จึงยินยอมเป็น "สำเภาทอง" เพื่อนำส่งพ่อให้ "ข้ามฟาก" ในที่สุด

การบริจาคทานของพระเวสสันดรเป็นการบริจาคที่บริสุทธิ์ ทั้งผู้ให้ (พ่อ) และผู้ถูกให้ (ลูกทั้งสอง) ศรัทธาในจุดมุ่งหมายอันสูงสุดนั้นและยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย

๒.นอกจากนี้ พระเวสสันดรได้วางแผนให้ลูกทั้งสองกลับไปหา "ปู่" อย่างผู้มีปัญญาเห็นการณ์ไกลที่ท่านตั้งค่าไถ่ตัวลูกทั้งสองไว้สูงลิ่ว (ชาลีค่าตัวทองพันลิ่ม กัณหาทองร้อยลิ่ม ทาสทาสีและของมีค่าอื่นๆ อย่างละร้อย) ก็เพราะเล็งเห็นว่าคนที่มีทรัพย์มากมายจะไถ่ลูกได้ก็มีแต่พระเจ้ากรุงสีพี พระราชบิดาของตนเท่านั้น

ชูชกก็เป็นคนโลภ อยากได้เงินมากๆ ก็ต้องพาสองกุมารไปกรุงสีพีแน่นอน ซึ่งก็เป็นจริงตามคาด

๓.พอให้ลูกเป็นทาน ปุบปับก็ปรากฏพราหมณ์เฒ่าแต่งตัวดี ท่าทางภูมิฐาน โผล่มาจากไหนไม่ทันสังเกต ออกปากขอพระชายา พระโพธิสัตว์นึกในใจอยู่แล้วคงมิใช่คนธรรมดา จึงออกปากยกให้โดยไม่ลังเล ทันทีที่หลั่งน้ำบนหัตถ์พราหมณ์เฒ่า พราหมณ์เฒ่าก็กลายร่างเป็นพระอินทร์ กล่าวอนุโมทนาในทานอันอุกฤษฏ์ครั้งนี้และขอให้บรรลุโพธิญาณสมความมุ่งหมาย

จริงดังสังหรณ์ใจ ในที่สุดพระอินทร์ก็มาช่วยเป็น "สำเภาทอง" ส่งพระโพธิสัตว์ข้ามฝั่งอีกคน ดุจสองกุมารกุมารี

ถ้าถาม ทำไมคนสมัยนี้มองไม่เห็นความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ความกรุณาอันยิ่งใหญ่ ของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ที่มีต่อชาวโลก กลับมองเป็นการเห็นแก่ตัว เอาตัวรอดคนเดียวอะไรไปโน่น

คำตอบก็คงจะเป็นว่า เพราะใช้มาตรฐานคนละอย่าง มีวิธีคิดคนละอย่างก็ได้ อาจมที่เหม็นร้ายกาจนั้น ถึงจะมีเทวดามาบอกว่ามันเหม็น หนอนอ้วนที่ดำผุดดำว่ายอยู่นั้น มันคงไม่เห็นด้วย

เพราะมันหอมหวานจะตายไป หนอนว่าอย่างนั้น



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 ตุลาคม 2558 15:26:24
(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSo4prL08yajfccJOx2FRElPkofKTp-qrNH57wBcQSvoGC1fgnmdQ)
ปางโปรดพระราหุล (๑)

ตอนว่าด้วยโปรดพระพุทธบิดาก็ได้พูดถึงราหุลกุมารมาบ้างแล้ว ขอต่อตรงที่เจ้าชายราหุลเดินตามพระพุทธเจ้า ปากก็พร่ำขอขุมทรัพย์ (หรือความเป็นรัชทายาท) จากพระพุทธองค์ ตามคำแนะนำของพระนางยโสธราพิมพา พระมารดา พระพุทธองค์ไม่ตรัสตอบ ยังคงเสด็จดำเนินไปเรื่อยๆ จนเสด็จกลับจากบิณฑบาต ไปยังป่าไทร (นิโครธราม) อันเป็นที่ประทับชั่วคราว นอกเมืองกบิลพัสดุ์

พระพุทธองค์ทรงดำริว่า อันธรรมดาทรัพย์ภายนอกทั้งหลายย่อมไม่ปลอดภัย อาจวิบัติฉิบหายไปเพราะโจรภัย อัคคีภัย ราชภัย เป็นต้น แต่ทรัพย์ภายในอันเป็นทรัพย์อันประเสริฐ (อริยทรัพย์) ไม่มีวันสูญหายไป จึงรับสั่งให้พระสารีบุตร อัครสาวกบวชให้ราหุลกุมาร เพราะมีทางนี้เท่านั้นที่จะประทาน "อริยทรัพย์" ให้ได้

พระสารีบุตรก็งงเหมือนกัน เนื่องจากไม่เคยมีเด็กอายุน้อยปานนี้บวชมาก่อน จึงกราบทูลถามว่า "จะให้บวชแบบไหน"

"ให้ราหุลรับไตรสรณคมน์ก็พอ" พระพุทธองค์ตรัสตอบ

ตรงนี้ทรงหมายถึง การกล่าววาจาถึงพระรัตนตรัยสามครั้งว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ พุทธัง...ธัมมัง...สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ตติยัมปิ พุทธัง...ธัมมัง...สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

เปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์แล้ว กล่าวสมาทานศีล ๑๐ ก็เป็นสามเณรโดยสมบูรณ์

สมัยก่อนโน้น ยังไม่มีการแบ่งว่าบวชแบบไหนเรียกว่า บรรพชา แบบไหนเรียกว่า อุปสมบท คงใช้คำว่า บรรพชา เหมือนกัน พระบวชก็บรรพชา เณรบวชก็บรรพชา เรียกผู้บรรพชาว่า บรรพชิต

และคำว่า บรรพชิต (ปพฺพชิต) นี้ก็มีความหมายสองนัยคือ
(๑) "ผู้เว้นหมดทุกอย่าง" คือทุกอย่างที่เคยทำ เคยประพฤติในสมัยยังครองเรือน แม้กระทั่งการกิน ก็ปรับเปลี่ยน การแต่งกายก็เปลี่ยน ตลอดจนการเรียกขาน เปลี่ยนหมด เว้นหมด ท่านจึงเรียก บรรพชิต

(๒) ความหมายที่สอง "ผู้ก้าวเดินไปข้างหน้า" หมายความว่าละเพศผู้ครองเรือนแล้ว ก็มุ่งการลดละกิเลส บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด ก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น ไม่ยอมหวนกลับมาสู่โลกียวิสัยเป็นอันขาด

เมื่อมีเด็กอายุน้อยมาบวชดังกรณีราหุลกุมารนี้ การใช้คำจึงต้องเปลี่ยน เรียกการบวชเณรว่า บรรพชา เรียกการบวชพระว่า อุปสมบท นี้คือความเป็นมาของถ้อยคำ



ปางโปรดพระราหุล (๒)

ที่บางครั้ง เรียกการบวชว่า บรรพชาอุปสมบท ทั้งสองคำนั้น ก็เพราะผู้บวชเป็นพระต้องผ่านการบวชเณรก่อนอยู่ดี ท่านจึงเรียกพร้อมกันสองคำว่า บรรพชาอุปสมบท แต่จะเรียกว่าอุปสมบทคำเดียวโดดๆ ก็ย่อมได้

เมื่อ "พระลูกชาย" เสด็จออกผนวช พระเจ้าสุทโธทนะ ก็ทรงเสียพระทัยมากแล้ว ทรงตั้งความหวังไว้ว่า ราหุล กุมารนี้แลจะเป็นตัวแทนพระบิดา แต่เมื่อราหุลกุมารถูกพระบิดานำไปบวชอีก พระองค์ย่อมทรงเศร้าโศกเสียพระทัยอย่างสุดซึ้ง ถึงต้องเสด็จไปต่อว่าต่อขานพระพุทธองค์ขนานใหญ่ ในที่สุดได้ทูลขอพรว่า ต่อไปจะให้ใครบวช ขอให้เขาผู้นั้นได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน พระพุทธองค์ก็ทรงประทานอนุญาตตามนั้น

ในพิธีอุปสมบทในเวลาต่อมา จึงมีการซักถามจากพระคู่สวดว่า อนุญฺญาโตสิ มาตาปิตูหิ = เธอได้รับอนุญาตจากบิดา มารดาแล้วหรือ นาค หรือผู้ขอบวชจะต้องตอบว่า อามะ ภันเต = ขออนุญาตแล้ว ขอรับ

ปัจจุบันนี้ เพิ่มภรรยาเข้าด้วย ภรรยาต้องอนุญาตด้วย ไม่อย่างนั้นเกิดเรื่องใหญ่แน่นอน เผลอๆ โบสถ์จะพังเอาไม่รู้ด้วย ยิ่งถ้ามีหลายบ้าน ก็ต้องจัดการให้เรียบร้อยทุกบ้าน

ราหุลสามเณรหลังจากบวชแล้ว ก็ตามเสด็จพระพุทธเจ้าและพระอุปัชฌาย์ไปยังเมืองอื่น เช่น ไพศาลี และสาวัตถี

ท่านเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย และเป็นผู้ใฝ่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง คุณสมบัติข้อนี้เองที่ท่านได้รับการยกย่องในเอตทัคคะ (ความเป็น ผู้เลิศกว่าผู้อื่น)

ว่ากันว่าทุกเช้า ท่านจะลงจากกุฏิ เอามือกอบทรายแล้วอธิษฐานดังๆ ว่า "วันนี้ ขอให้พระศาสดาและพระอุปัชฌาย์ประทานโอวาทแก่เรา มากมายดุจเมล็ดทรายในกำมือของเรานี้เถิด"

ความว่านอนสอนง่าย ไม่ถือตัวว่าเป็น "ลูก" ของพระศาสดานั้นเป็นที่รู้กันไปทั่ว ครั้งหนึ่งพระจากต่างจังหวัดจำนวนมาก มาพักที่พระเชตวัน เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อที่พักไม่พอ จึงไล่สามเณรราหุลออกไปนอนข้างนอก เพราะมีสิกขาบทบัญญัติไว้ว่า "ห้ามภิกษุนอนในที่มุงที่บังเดียวกับอนุปสัมบันเกินหนึ่งคืน"

ราหุลไม่ทราบว่าจะไปอยู่ที่ไหน จึงไปอยู่ในวัจกุฎี (ส้วม) ของพระพุทธเจ้า นั่งตัวสั่นงันงกอยู่ท่ามกลางความมืด ตกดึก พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปยังวัจกุฎี ทรงกระแอมกระไอให้สัญญาณ ราหุลน้อยก็กระแอมตอบ พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องเข้า จึงพาราหุลน้อยกลับไปพำนักที่พระคันธกุฎีของพระพุทธองค์

รุ่งเช้าขึ้นมา พระองค์ตรัสถามพระสารีบุตรว่า สารีบุตร เธอรู้ไหมเมื่อคืนนี้ราหุลพักอยู่ที่ไหน พระสารีบุตรกราบทูลว่า ไม่ทราบพระพุทธเจ้าข้า พระพุทธองค์จึงทรงเล่าเรื่องให้ฟัง เนื่องด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงลดหย่อนสิกขาบท ข้อห้ามภิกษุพักในที่มุงที่บังเดียวกันกับอนุปสัมบันเกินครึ่งคืน ให้เป็นเวลาไม่เกินสามคืน เพื่อให้มีเวลาหาที่พักได้ทัน

เรื่องราวที่เล่านี้ ชี้ว่าราหุลสามเณรเป็นผู้ว่าง่าย เคารพพระสงฆ์ พระจากบ้านนอก ย่อมไม่รู้ว่าสามเณรน้อยรูปนี้เป็นใคร ถ้าราหุลท่านถือตัว ท่านบอกว่า ท่านคือราหุล พระโอรสของพระบรมศาสดา พระเหล่านั้นคงไม่กล้าออกปากไล่ท่านแน่นอน แต่เพราะความเป็นผู้เคารพในสงฆ์ และเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ราหุลจึงไม่ปริปากแต่อย่างใด ปฏิบัติตามคำสั่งของพระภิกษุเหล่านั้นอย่างว่าง่าย

สามเณรราหุลได้รับคำแนะนำในด้านการปฏิบัติธรรมจากพระพุทธเจ้าเป็นพิเศษ เนื่องจากท่านเป็นเด็กธรรมะที่สอนและวิธีการถ่ายทอดแก่ราหุลจึงมีลักษณะและจุดเน้นแตกต่างจากที่ทรงสอนแก่บุคคลทั่วไป ในพระไตรปิฎกมีบันทึกพระสูตรที่ตรัสสอนแก่ราหุลสามเณร สองหรือสามสูตร เนื้อหาน่าสนใจ ขอนำมาเสนอในคราวต่อไปก็แล้วกัน

วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อน  



ปางโปรดพระราหุล (๓)

ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า พระสูตรที่ทรงแสดงแก่พุทธบริษัทนั้น ส่วนมากเป็นการแสดงแก่ผู้ใหญ่ทั้งนั้น น้อยนักจะเป็นการเทศน์โปรดเด็กๆ โดยเฉพาะเมื่ออยากรู้ว่าทรงแสดงอะไร อย่างไร แก่เด็กๆ ก็นึกถึงสามเณรราหุลขึ้นมาทันที สามเณรราหุลบวชเมื่ออายุเพียง ๗ ขวบ ธรรมะที่ทรงแสดงแก่ราหุลสามเณร ย่อมพิเศษกว่าที่ทรงแสดงแก่ผู้อื่นแน่นอน จึงตามไปเปิดตู้พระไตรปิฎกดู ปรากฏมี จูฬราหุโลวาทสูตร มหาราหุโลวาทสูตร ได้การละ ผมคิด จึงตะลุยอ่าน อ่านแล้วก็ได้ความกระจ่างขึ้นมามากมาย ขอขยายภายหลังก็แล้วกัน

ตอนนี้ขอเล่าพระโอวาทที่ทรงสอนเด็กจากคัมภีร์รุ่นหลัง คืออรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) ก่อน มีอยู่เรื่องหนึ่ง พระพุทธองค์กำลังเสด็จพุทธดำเนินเข้าไปยังเมืองสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ในระหว่างทางทอดพระเนตรเห็นเด็กเล็กๆ จำนวนหนึ่งกำลังไล่ตีงูอยู่ จึงตรัสถามว่า เด็กน้อยทั้งหลายพวกเธอกำลังทำอะไร

"ไล่ตีงู พระเจ้าข้า" เด็กพวกนี้คงรู้จักพระพุทธเจ้าเป็นใคร จึงวางไม้และก้อนดิน ยืนเจี๋ยมเจี้ยมด้วยความเขินอาย
"ตีมันทำไม" พระสุรเสียงกังวานตามมาอีก
"กลัวมันกัด พระเจ้าข้า"เด็กๆ ตอบ

พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า "สมมติว่ามีใครตีพวกเธอ พวกเธอเจ็บไหม"
"เจ็บ พระเจ้าข้า"
"พวกเธออยากให้เขาตีไหม"
"ไม่อยาก พระเจ้าข้า" พวกเด็กๆ ตอบ

พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า "งูมันก็เจ็บเหมือนกัน ไม่อยากให้ใครตีมันเหมือนกัน ถ้าเธอไม่อยากให้ใครตีพวกเธอ พวกเธอก็อย่าตีงูมันสิจ๊ะ"

เด็กๆ พวกนั้นเข้าใจที่พระพุทธองค์สอน ไม่ตีงูอีกต่อไป

อ่านเรื่องนี้แล้ว เห็นได้ว่า วิธีทรงสอนเด็กนั้น ทรงยกตัวอย่างง่ายๆ ใช้คำพูดที่ตรงไปตรงมา เด็กเข้าใจในการสอน สามเณรราหุลก็เช่นกัน พระองค์ทรงสอนง่ายๆ โดยการใช้สื่อช่วย และสื่อที่ว่านี้ก็หาเอาใกล้ตัวนั่นเอง

ครั้งหนึ่ง ขณะที่ราหุลสามเณรตักน้ำล้างพระบาท พระพุทธองค์ทรงเอาขันน้ำนั้นตักน้ำเต็มขัน ทรงเทน้ำออกหน่อยหนึ่งแล้วตรัสถามว่า
"ราหุล เห็นน้ำที่เราเทออกหน่อยหนึ่งไหม"
"เห็น พระเจ้าข้า" ราหุลตอบ
"เช่นเดียวกัน ราหุล ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมเทคุณความดีของตนออกทีละนิด ดุจเทน้ำออกจากขันนี้"

ทรงเทน้ำออกหมดแล้วตรัสถามว่า "เห็นน้ำที่เราเทออกหมดไหม"



ปางโปรดพระราหุล (จบ)

"เห็น พระเจ้าข้า"
"เช่นเดียวกันราหุล ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมเทคุณความดีออกหมด ดุจน้ำที่เทออกจากขันหมดนี้" แล้วทรงคว่ำขันลง ตรัสถามว่า

"ราหุล เห็นขันน้ำที่เราคว่ำลงนี้ไหม"
"เห็น พระเจ้าข้า"
"เช่นเดียวกันราหุล ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมคว่ำคุณความดีหมดเกลี้ยง ดุจขันน้ำที่คว่ำนี้" แล้วทรงหงายขันเปล่าขึ้น ตรัสถามว่า
"ราหุล เห็นขันเปล่าที่หงายขึ้นนี้ไหม ไม่มีน้ำแม้หยดเดียว"
"เห็น พระเจ้าข้า"
"เช่นเดียวกันราหุล ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมไม่มีคุณความดีอะไรเหลืออยู่ ดุจขันเปล่าไร้น้ำนี้"

เห็นไหมครับ ทรงใช้สื่อช่วยสอน เป็นขั้นเป็นตอน เข้าใจแจ่มแจ้งแดงแจ๋จริงๆ ความจริงเพียงหนึ่งหรือสองขั้นตอน ก็เชื่อว่าราหุลท่านเข้าใจแล้ว แต่เพื่อให้กระจ่างชัด พระองค์จึงทรงแสดงถึงสี่ขั้นตอน เทน้ำลงหน่อยหนึ่ง - เทออกหมด - คว่ำขันลง - หงายขันเปล่าขึ้น แต่ละขั้นตอนก็สรุปเปรียบเทียบให้เห็น อย่างนี้เรียกว่า ทรงใช้เทคนิคการสอน ๔ ส. อันเป็นพุทธวิธีการสอนเฉพาะพระองค์

๔ ส. คืออะไร
๑. ส. = สันทัสสนา (แจ่มชัด)
๒. ส. = สมาทปนา (ชักชวนให้ปฏิบัติ)
๓. ส. = สมุตเตชนา (เร้าให้กล้า)
๔. ส. = สัมปหังสนา (ปลุกให้ร่าเริง)

พระธรรมเทศนาอีกกัณฑ์หนึ่งที่ประทานสามเณรราหุล คือ ให้ตรวจสอบว่ามีความบกพร่องแห่งการแสดงออกทางกาย วาจา ใจ อย่างไรบ้าง จะได้ปรับปรุงแก้ไข ทรงยกแว่นส่องหน้าขึ้นมาเปรียบเทียบ ดังนี้

"ราหุล แว่นมีไว้สำหรับทำอะไร"
"มีไว้สำหรับส่องดูหน้าตัวเอง พระเจ้าข้า"
"เช่นเดียวกัน ราหุล เธอพึงส่องดูกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ดุจส่องหน้าตัวเอง" ข้อเปรียบเทียบนี้ชัดเจน ฟังแล้วเข้าใจทันที

เมื่อราหุลเป็นหนุ่ม อายุประมาณ ๑๘ ปี พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนให้พิจารณาขันธ์ ๕ โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ราหุลสดับพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุพระอรหัต


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 พฤศจิกายน 2558 19:50:00

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSce45BE4bMSPo3FFlskgQEhW4aJrd41YSagi4UkB29Qq9Och_k)
ภาพจาก : เว็บไซต์ bangkrod.blogspot.com
ปางโปรดพระนันทะ (๑)

นันทกุมาร เป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของพระพุทธเจ้า คือท่านเป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระแม่น้าของพระพุทธองค์ นันทกุมารมีกนิษฐานามว่า รูปนันทา ต่อมา รูปนันทาก็ไปบวชเป็นภิกษุณี

ในวันที่ ๕ หลังจากเสด็จนิวัตพระนครกบิลพัสดุ์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปในงานอาวาหมงคลของเจ้าชาย นันทะกับพระนางชนบทกัลยาณี เสวยภัตตาหาร ประทานอนุโมทนาแล้ว ขณะจะเสด็จกลับนิโครธาราม ก็ประทานบาตรให้นันทกุมารถือตามเสด็จ

ขณะนันทกุมารอุ้มบาตรตามเสด็จ พระนางชนบทกัลยาณีร้องสั่งว่า "เสด็จพี่รีบกลับมานะ" ตั้งใจว่าส่งเสด็จพระพุทธองค์แล้วก็จะรีบกลับ แต่พอไปถึงนิโครธาราม พระพุทธองค์หันมาตรัสถามว่า "นันทะ เธออยากบวชใช่ไหม"

เล่นตรัสถามแบบไม่มีทางปฏิเสธอย่างนี้ นันทกุมารก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร นอกจาก Yes Sir ด้วยความเกรงพระทัย ว่าแล้วพระองค์ก็ประทานการอุปสมบทให้นันทกุมารพระอนุชาทันที เป็นเจ้าบ่าวหมาดๆ ยังไม่ทันได้ส่งตัว บัดนี้กลายเป็นพระภิกษุหนุ่มเสียแล้ว

ตำราอรรถกถาเล่าว่า หลังจากพระนันทะบวชแล้ว จิตใจว้าวุ่น ไม่เป็นอันปฏิบัติธรรม หูก็แว่วเสียงสั่งของชายาว่า เสด็จพี่ให้รีบกลับมานะ ตลอดเวลา ก็น่าเห็นใจคนกำลังแต่งงานใหม่ๆ ถูกจับบวชเสียนี่ พระพุทธองค์ก็ทรงทราบความเป็นไปดี แต่ก็ปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปสักเล็กน้อย วันหนึ่งเสด็จไปหาพระนันทะ ตรัสถามว่า "นันทะ เธอยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่หรือ"

พระนันทะก็กราบทูลตามตรงว่า ไม่มีกะจิตกะใจปฏิบัติธรรมเลย เพราะคิดถึงแต่พระชายาที่เพิ่งเข้าพิธีอภิเษกสมรส พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า "ชนบทกัลยาณี ชายาของเธอ สวยมากนักหรือ จึงคิดถึงเหลือเกิน"

"สวยมาก พระเจ้าข้า ไม่มีนางใดสวยเท่าอีกแล้ว" เป็นใครก็ต้องตอบอย่างนี้ (ยกเว้นแต่งงานไปนานๆ นั่นแหละ คำตอบอาจจะเปลี่ยนไป)

ขณะนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงบันดาลฤทธิ์ จับแขนพระนันทะแล้วพาเหาะลิ่วๆ ขึ้นท้องนภากาศ ไปยังดาวดึงส์สวรรค์ ระหว่างทางทรงชี้ให้ดูกาดำจับอยู่ที่ตอไม้ซึ่งถูกไฟไหม้ เมื่อถึงสวรรค์ก็ปรากฏมีนางเทพอัปสรจำนวนมาก ล้วนรูปร่างสวยงาม สุดจะพรรณนาได้ ทำให้ภิกษุหนุ่มแลตะลึงลานด้วยความอัศจรรย์ใจ

พระพุทธองค์ทรงทราบความในใจของพระภิกษุหนุ่มดี จึงตรัสถามว่า "นางอัปสรเหล่านี้สวยไหม นันทะ"
"สวยมากพระเจ้าข้า" กราบทูลไปตาก็ชำเลืองแลนางฟ้าเหล่านั้นไป



ปางโปรดพระนันทะ (จบ)

"เทียบกับชายาของเธอ เป็นอย่างไร ใครสวยกว่ากัน" ตรัสถาม

"เทียบกันไม่ได้เลย พระเจ้าข้า นางอัปสรเหล่านี้สวยกว่าชนบทกัลยาณีมาก ถ้านางมาอยู่ต่อหน้านางอัปสรเหล่านี้ นางคงเหมือนกาดำตัวที่จับอยู่ตอไม้ที่ผ่านมาเท่านั้นเอง" (ไหมล่ะ พอเห็นคนใหม่สวยกว่า ทำเป็นลืมคนเก่าเสียแล้ว)

"เธออยากได้นางเหล่านี้ไหม" พระสุรเสียงรับสั่งถาม
"อยากได้ พระเจ้าข้า" พระหนุ่มกระซิบตอบ
"ถ้าอย่างนั้น กลับวัด เราตถาคตจะบอกวิธีที่จะให้ได้นางเหล่านี้"

ว่าแล้วก็จับแขนพระอนุชา เหาะลิ่วๆ กลับมายังพระวิหารที่ประทับ

พระพุทธองค์ประทานกรรมฐานให้พระภิกษุหนุ่มปฏิบัติ แต่มิได้ตรัสบอกตรงๆ พระหนุ่มก็นึกว่าปฏิบัติอย่างนี้คือวิธีที่จะได้นางฟ้ามาครอง จึงขะมักเขม้นฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง ลืมนึกถึงพระชายาคนงามเสียแล้วละครับ

ข่าวพระนันทะปฏิบัติธรรมเพื่อแลกนางฟ้าก็แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยต่างก็วิพากษ์วิจารณ์กัน เห็นพระนันทะเดินผ่านไป ก็จะกระซิบกระซาบ "นั่นไง พระนันทะปฏิบัติธรรมแลกนางฟ้า จวนจะได้สักนางหรือยัง"

ภิกษุหนุ่มไม่สนใจใครจะว่าอย่างไร ยังคงตั้งใจปฏิบัติธรรมตามคำแนะนำของพระพุทธองค์ ในไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ (คำหลังนี้มาจาก ขีณาสโว = ผู้มีอาสวะอันสิ้นแล้ว คือหมดอาสวะ อาสวะคืออะไร อาสวะคือกิเลส กิเลสคืออะไร แล้วกัน ถามอะไรละเอียดนัก ไม่รู้อะไรสักอย่างเลยหรือ ฮิฮิ)

วันหนึ่ง ภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยทั้งหลายพบท่านนันทะ จึงกระเซ้า (เหมือนเดิม) ว่า "ว่าไงท่านนันทะ ใกล้จะได้นางฟ้าหรือยัง"

ภิกษุหนุ่มตอบอย่างสงบว่า "เดี๋ยวนี้ ผมไม่ปรารถนาอะไรแล้ว ไม่ว่านางฟ้าหรือนางอะไร ผมหมดความยินดีอยากได้นั่นอยากได้นี่แล้ว"

คำพูดอย่างนี้มิใช่มีความหมายธรรมดาเสียแล้ว แสดงว่าผู้พูดจะต้องบรรลุคุณวิเศษสูงสุด (คือพระอรหัตผล) แน่นอน เหล่าภิกษุทั้งหลายได้ยินเข้า ก็เข้าใจว่าพระนันทะอวดอุตริมนุสธรรม อวดว่าตนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน จึงพากันไปกราบทูลพระพุทธเจ้า (เรียกว่าไปฟ้องจึงจะถูก พระสมัยโน้นก็ฟ้องเก่งเหมือนกัน) ว่า พระนันทะอวดอ้างตนได้บรรลุพระอรหัตผล

พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าพระนันทะได้ปฏิบัติก้าวหน้าไปถึงไหน จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย นันทะมิได้อวดอ้าง สิ่งที่นันทะพูดนั้นเป็นความจริงทุกประการ

พระพุทธองค์ได้ใช้เทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสมแก่อุปนิสัยของพระนันทะ สอนเธอจนได้บรรลุจุดหมายสูงสุดแห่งชีวิตแล้วด้วยประการฉะนี้ เทคนิคนี้อาจเรียกว่า กุศโลบาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คงไม่มีใครพิเรนทร์คิดว่าพระพุทธเจ้าทรงหลอกพระนันทะแน่นอน



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/55833117332723_a2.gif)

ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ (๑)
ว่ากันว่าหลังประกาศพระพุทธศาสนาได้ ๖-๗ ปี พระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลาย ประชาชนทุกชั้นวรรณะเลื่อมใสและเข้ามาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้ามากขึ้นตามลำดับ สถาบันพระพุทธศาสนาอันประกอบด้วยพุทธบริษัทสี่ เกิดขึ้นและเป็นไปด้วยความมั่นคง

ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาย้ายจากเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มาอยู่ที่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล อันมีพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเป็นพระประมุข พระเจ้าปเสนทิโกศลเองก็ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ถวายความอุปถัมภ์แก่พระพุทธศาสนาอย่างแข็งแรง

ในสังคมชมพูทวีปสมัยนั้น มิใช่มีเพียงพระพุทธศาสนาเท่านั้น ศาสนาอื่นที่มีอยู่ก่อนและมีผู้นับถือจำนวนมากก็มีศาสนาพราหมณ์ (ต่อมาเรียกศาสนาฮินดู) และศาสนาเชน (ศาสนาของมหาวีระ หรือ นิครนถ์ นาฏบุตร) เมื่อพระพุทธศาสนาได้รับความเอาใจใส่จากพระราชามหากษัตริย์เป็นพิเศษ พวกเขาก็ย่อมจะอิจฉาตาร้อนเป็นธรรมดา นี้คือเรื่องธรรมดาของมนุษย์

บังเอิญในช่วงนี้ เศรษฐีชาวเมืองสาวัตถีท่านหนึ่งได้บาตรไม้จันทน์มาลูกหนึ่ง เศรษฐีแกคิดอยากพิสูจน์อะไรสักอย่าง คงจะเป็นด้วยว่าเรื่องที่ว่านี้กำลังเป็นฮอตอิสชุ (hot issue) ในสมัยนั้นก็ได้ นั่นก็คือ ข่าวลือเรื่องพระอรหันต์ทรงอภิญญา บ้างก็ว่าพระคุณเจ้ารูปนั้นเป็นพระอรหันต์มีอิทธิฤทธิ์ บ้างก็ว่าพระคุณเจ้าวัดโน้นเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา ไม่ต่างอะไรกับที่ลือกันในเมืองไทยปัจจุบันนี้แหละครับ

เศรษฐีจึงเอาบาตรไม้จันทน์ไปแขวนไว้กลางอากาศ วิธีของแกก็คือเอาบาตรครอบไว้บนปลายไม้ ยกขึ้นตั้งไว้สูงเท่าลำตาล แล้วประกาศทั่วเมืองว่า "ได้ยินว่ามีผู้อ้างว่าเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญามากมาย ถ้ามีจริงก็ขอให้เหาะมาเอาบาตรของข้าพเจ้าภายในเจ็ดวัน ถ้าเลยเจ็ดวันแล้วไม่มีใครเหาะมาเอาได้ข้าพเจ้าจะถือว่าไม่มีพระอรหันต์ทรงอภิญญา"

ตำราอรรถกถาเล่าเรื่องออกจะไม่ให้เกียรติศาสนาอื่นนิดหน่อยว่า พวกเดียรถีย์ (ลัทธิศาสนาอื่นจากพระพุทธศาสนา เน้นพวกนิครนถ์) อยากได้บาตรไม้จันทน์ก็พากันมายังนิเวศสถานของเศรษฐี ขอให้ถวายบาตรแก่พวกเขา เศรษฐีกล่าวว่า

"ถ้าท่านมีฤทธิ์เหาะไปเอาได้ กระผมถวายแน่นอน นิมนต์เหาะไปเอาเถิด"

"ท่านเศรษฐี ธรรมดาว่าอิทธิปาฏิหาริย์ เขาไม่สำแดงเพราะเรื่องเล็กน้อยอย่างนี้ จะสำแดงก็ต่อเมื่อเรื่องใหญ่ๆ บาตรลูกนี้เหมาะแก่อาตมภาพ ขอให้แก่อาตมภาพเถิด" หัวหน้าเดียรถีย์อ้อน พอๆ กับอ้อนให้เขาเซ็นเช็กเงินล้านสร้างพระประดับเจดีย์ ทำนองนั้น

"กระผมประกาศแล้วว่าจะถวายแก่ท่านผู้ใดก็ได้ที่สามารถเหาะไปเอา ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไขนี้ก็ถวายไม่ได้" เศรษฐียืนยัน


ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ (๒)
หัวหน้าเดียรถีย์ จึงขยับขากางแขนทั้งสองออก ร้องว่า "ถ้าเช่นนั้นอาตมภาพก็จะเหาะไปเอาละ เอาละนะ..."

ทันใดนั้นบรรดาลูกศิษย์อยู่ข้างๆ ก็เข้ามากอดแข้งกอดขา พลางร้องห้ามว่า "ท่านอาจารย์ แค่บาตรลูกเดียว ไม่จำต้องสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์อะไรก็ได้ เอาไว้สำแดงเฉพาะกรณีสำคัญๆ ดีกว่า"

เมื่อเห็นบรรดาลูกศิษย์กอดแข้งกอดขาแน่นหนา หัวหน้าเดียรถีย์จึงกล่าวกับเศรษฐีว่า "ท่านเศรษฐี ลูกศิษย์ไม่ยอมให้อาตมภาพสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ ท่านจงเอาบาตรมาให้อาตมภาพเถิด"

เศรษฐีกล่าวว่า "ให้ไม่ได้ เมื่อท่านไม่สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์เหาะไปเอา ก็ไม่มีสิทธิ์ได้"

เป็นอันว่าบาตรที่แขวนอยู่บนอากาศก็ยังคงแขวนอยู่ ล่วงเข้าวันที่ ๗ แล้ว ยังไม่มีอรหันต์รูปใดเหาะไปเอาเลย ประชาชนก็โจษจันกันไปทั่วว่า มีแต่ราคาคุย เอาจริงๆ แล้ว ไม่ปรากฏมีพระอรหันต์ทรงอภิญญาสักองค์เลย

เช้าวันนั้นพระโมคคัลลานะ กับพระปิณโฑละ ภารทวาชะ ออกไปบิณฑบาตในเมือง ได้ยินประชาชนพูดในทำนองดูหมิ่นว่าไม่มีผู้ทรงอภิญญาจริง ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงบอกท่านปิณโฑละว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ประชาชนกำลังดูหมิ่นว่าไม่มีพระอรหันต์ทรงอภิญญา ขอนิมนต์ท่านสำแดงให้เขาหายสงสัยทีเถิด"

พระปิณโฑละ ภารทวาชะ จึงเข้าฌานสมาบัติ เหาะไปเอาบาตรไม้จันทน์นั้นลงมา เศรษฐีเห็นดังนั้นก็มีความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง นิมนต์ท่านขึ้นไปฉันภัตตาหารบนคฤหาสน์ เสร็จแล้วก็อุ้มบาตรตามไปส่งท่านที่พระเชตวัน ท่ามกลางเสียงอื้ออึงของ "แขกมุง" จำนวนมาก

พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระคันธกุฎี ทรงสดับเสียงอื้ออึง จึงตรัสถามพระอานนท์ ทรงทราบความแล้ว แทนที่จะทรงสรรเสริญ กลับทรงตำหนิการกระทำของท่านปิณโฑละ พระองค์ตรัสเรียกท่านเข้าไปยังประชุมสงฆ์ ตรัสตำหนิว่า การสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์เพียงเพราะบาตรลูกเดียวเป็นการสำแดงเพื่อลาภสักการะ ไม่เหมาะไม่ควรที่สมณศากยบุตรจะพึงกระทำ ไม่ต่างอะไรกับหญิงโสเภณีเปิดอวัยวะของตนเองเพื่อแลกเงินและทองฉะนั้น

คำเปรียบเทียบนี้แรงเอาการทีเดียว จากเหตุการณ์ครั้งนี้เอง พระพุทธองค์ทรงห้ามสาวกของพระองค์แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ในเวลาต่อมา

พวกเดียรถีย์ทราบข่าว ก็เรียกประชุมกันวางแผนเล่นงานพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายทันที

"ได้ทราบว่า พระสมณโคดม ห้ามสาวกแสดงปาฏิหาริย์ ก็เท่ากับห้ามตัวเองด้วย เป็นโอกาสของพวกเราจะปฏิบัติการเชิงรุก (ฮั่นแน่ ใช้คำทันสมัยเสียด้วย) พวกเราต้องประกาศไปเลยว่า จะท้าพระสมณโคดมแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แข่งกัน ที่ไหน เมื่อไร อย่างไรก็ได้ ไม่เกี่ยง เมื่อพวกเราประกาศออกไป พระสมณโคดมก็ไม่สามารถสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ พวกเราก็ได้ทีประกาศชัยชนะแบบไร้คู่แข่ง ทีนี้พระศาสนาของเราก็จะปรากฏเกียรติคุณขจรขจายไปทั่วโลก

ครับเมื่อวางแผนอะไร ก็มักจะฟังดูหรูหราเป็นธรรมดา แต่ผลจะเป็นดังคาดหวังหรือไม่ต้องรอดูกันตอนหน้าเสียแล้วละครับ



ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ (๓)
เมื่อข่าวพระพุทธเจ้าทรงห้ามพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์แพร่ไปถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ทรงร้อนพระทัย เสด็จเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ทรงปรารภว่า จะอย่างไรละทีนี้

"ทำอะไรดี หมายถึงอะไร มหาบพิตร" พระพุทธองค์มีกระแสรับสั่งถาม
"พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงห้ามพระสาวกแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แล้ว พวกเดียรถีย์ประกาศท้าทายพระองค์แสดงแข่งกับพวกเขา พระองค์จะทรงทำอย่างไร"
"ตถาคตก็แสดงเองสิ มหาบพิตร" พระพุทธองค์รับสั่ง
"ก็พระผู้มีพระภาค ทรงห้ามพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์แล้ว พระผู้มีพระภาคก็แสดงไม่ได้มิใช่หรือ"

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า
"มหาบพิตร สมมติว่า มีคนมาเอาผลมะม่วงจากพระราชอุทยานของพระองค์ไปกิน มหาบพิตรจะทำอย่างไร"
"ข้าพระองค์ก็จะทำโทษเขา ฐานขโมยมะม่วงของข้าพระองค์"
"ถ้ามหาบพิตรเอามาเสวยเอง มหาบพิตรจะทำโทษพระองค์เองไหม"
"ไม่ พระเจ้าข้า เพราะข้าพระองค์เป็นเจ้าของสวนมะม่วง ย่อมมีสิทธิ์กินมะม่วงตามปรารถนา"
"ฉันใดก็ฉันนั้นแล มหาบพิตร ตถาคตห้ามสาวกแสดงปาฏิหาริย์ มิได้หมายความว่าตถาคตห้ามตนเอง เพราะตถาคตเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา ดุจเดียวกับเจ้าของสวนมะม่วงเก็บผลมะม่วงกินตามปรารถนา ฉะนั้น"

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบดังนั้น ก็เบาพระทัย ทูลถามอีกว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงปาฏิหาริย์ ณ ที่ไหน"
"ณ ต้นมะม่วงใหญ่ ในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ มหาบพิตร"

เหล่าเดียรถีย์ ได้ทราบว่าพระพุทธองค์จะทรงแสดงปาฏิหาริย์ ใต้ต้นมะม่วงใหญ่ต้นหนึ่งนอกเมือง พากันไปโค่นต้นมะม่วงจนหมด (ไม่ถูกจับ ฐานโค่นต้นไม้ทำลายป่าหรืออย่างไร ไม่ทราบ) คิดตื้นๆ ว่า เมื่อไม่มีต้นมะม่วง แล้วพระสมณโคดมจะแสดงปาฏิหาริย์ได้อย่างไร

คิดผิดครับ ปาฏิหาริย์คือปาฏิหาริย์ เมื่อพระองค์ตรัสว่าจะทรงแสดงปาฏิหาริย์ ณ บริเวณต้นมะม่วง ก็ย่อมจะมีต้นมะม่วงขึ้นมา ด้วยปาฏิหาริย์จนได้

เช้าวันที่กำหนด พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมือง เสด็จออกมาสวนทางกับนายคัณฑะ คนเฝ้าอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล นายคัณฑะได้มะม่วงผลใหญ่พิเศษผลหนึ่ง ตั้งใจจะนำไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อพบพระพุทธเจ้าก็เปลี่ยนใจนำเอาไปถวายพระองค์



ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ (จบ)
พระพุทธองค์เสวยมะม่วงผลนั้นแล้ว ทรงเอาเมล็ดเพาะลงในดิน เอาน้ำล้างพระหัตถ์รด ทันใดนั้น เมล็ดมะม่วงนั้นก็ค่อยงอกขึ้นๆ เป็นลำต้นโตขึ้นตามลำดับ แผ่กิ่งก้านสาขา มีดอกมีผลภายในไม่กี่นาที เป็นที่มหัศจรรย์

เมื่อได้เวลา พระพุทธเจ้าก็เสด็จมายังบริเวณต้นมะม่วงใหญ่ ทรงเนรมิตที่จงกรมแก้วเหนือต้นมะม่วง เสด็จขึ้นประทับนั่งยังจงกรมแก้ว ทรงบันดาลปาฏิหาริย์ให้บังเกิดท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง และท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง และท่อไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระกรรณข้างขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระกรรณข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากพระกรรณ ข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระกรรณข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากช่องพระนาสิกข้างขวา สายน้ำ พุ่งออกจากช่องพระนาสิกข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออก จากช่องพระนาสิกข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระนาสิกข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากจะงอยพระอังสะข้างขวา สายน้ำพุ่งออกจากจะงอยพระอังสะข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากจะงอยพระอังสะข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากจะงอยพระอังสะข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระหัตถ์ข้างขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระหัตถ์ข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากพระหัตถ์ข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระหัตถ์ข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากพระปรัศว์ (สีข้าง) เบื้องขวา สายน้ำพุ่งออกจากพระปรัศว์เบื้องซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากพระปรัศว์เบื้องซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากพระปรัศว์เบื้องขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากนิ้วพระหัตถ์ข้างขวา สายน้ำพุ่งออกจากนิ้วพระหัตถ์ข้างซ้าย และท่อไฟพุ่งออกจากนิ้วพระหัตถ์ข้างซ้าย สายน้ำพุ่งออกจากนิ้วพระหัตถ์ข้างขวา เป็นคู่หนึ่ง

ท่อไฟพุ่งออกจากเส้นพระโลมาเส้นหนึ่ง สายน้ำพุ่งออกจากเส้นพระโลมาเส้นหนึ่ง เป็นคู่ๆ สลับกันทั่วพระวรกาย มีสีสันต่างๆ สลับกัน ๖ สี คือ สีเขียว เหลือง แดง ขาว หงสบาท และประภัสสร

เมื่อสีออกจากแสงไฟ ซึ่งพุ่งมากระทบน้ำ ก็ทำสายน้ำให้มีสีต่างๆ ไปตามสีไฟ สลับกันไปมาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ทั้งท่อไฟสายน้ำที่พุ่งออกมาก็ไปไกล ทำให้ท้องนภากาศสว่างไสวเห็นกันทั่วทุกทิศ

จากนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิตขึ้นอีกพระองค์หนึ่ง มีพระรูปโฉมโนมพรรณคล้ายองค์จริงทุกประการ ทรงกระทำพระอาการสลับกันโดยตลอดคือ

พระพุทธเจ้าเสด็จจงกรม พระพุทธนิรมิตทรงยืน พระพุทธนิรมิตเสด็จจงกรม พระพุทธเจ้าทรงยืน เป็นคู่หนึ่ง

พระพุทธเจ้าประทับ (นั่ง) พระพุทธนิรมิตทรงสำเร็จสีหไสยา (นอนตะแคงขวา) พระพุทธนิรมิตประทับ พระพุทธเจ้าทรงสำเร็จสีหไสยา เป็นคู่หนึ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสถาม พระพุทธนิรมิตตรัสตอบ พระพุทธนิรมิตตรัสถาม พระพุทธเจ้าตรัสตอบ เป็นคู่หนึ่ง

นี้แลเรียกยมกปาฏิหาริย์ เป็นที่ชื่นชมมหัศจรรย์ของประชาชนผู้เฝ้าดูเป็นอย่างยิ่ง เหล่าเดียรถีย์เห็นพุทธานุภาพเช่นนั้น ต่างก็พากันหลบลี้หนีไป ไม่กล้าอยู่ให้ขายหน้าประชาชนต่อไป ด้วยประการฉะนี้แล




หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 พฤศจิกายน 2558 12:51:17
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/87931789375013_a1.gif)

ปางโปรดพุทธมารดา (๑)
พุทธมารดา ที่ถูกต้องเรียกว่า อดีตพุทธมารดา เพราะพระนางสิริมหามายาได้สวรรคตไปอุบัติเป็นเทพแล้ว เมื่อพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปโปรดเหล่าเทพยดาบนดาวดึงส์ อันมีท้าวสักกเทวราชเป็นประมุขนั้น สันดุสิตเทพบุตรซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นสูงขึ้นไป ได้ลงมาสดับพระธรรมเทศนา ณ ดาวดึงส์สวรรค์ด้วย

คนชอบสงสัยมักจะถามว่า พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงส์สวรรค์และทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาจริงหรือ คำถามนี้ ท่านผู้รู้ยืนยันว่าจริง ถ้าถามต่อว่ารู้ได้อย่างไร คำตอบก็คือ ก็ท่านรู้ และผู้ที่รู้ด้วยกันก็ย่อมรู้ว่ารู้ได้อย่างไร

ตอบอย่างนี้มิใช่ยวน (ไทยแท้ๆ เลย ไม่ใช่ญวน) สมมติง่ายๆ อย่างนี้ คนตาบอดสองข้างสงสัยว่าสีแดง สีขาว พระอาทิตย์ พระจันทร์ มีหรือไม่ คนดีตอบว่ามี คนตาบอดซึ่งมองไม่เห็นซักว่า คุณรู้ได้อย่างไรว่ามี คนตาดีตอบว่า รู้แล้วกัน และคนอื่นๆ ที่ตาดีเหมือนเขาก็รู้ว่ามี ฉันใด ฉันนั้นแล โยม

แม้ว่าจะมีการตีความการเสด็จไปโปรดพุทธมารดา เป็นภาษาสัญลักษณ์ และเป็นการตีความที่มีเหตุผลน่ารับฟังก็ตาม มิได้หมายความว่าการแปลความตามตัวอักษรจะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

ความต่างแห่งเงื่อนเวลาระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์เป็นเรื่องน่าสังเกต พระพุทธเจ้าทรงหายไปสามเดือนไปแสดงธรรมโปรดเทวดา แต่เวลาบนสวรรค์นั้นแค่เพียงไม่กี่นาทีเอง พูดอีกนัยหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จแวบไปเทศน์บนสวรรค์เดี๋ยวเดียว ไม่รบกวนเวลาของเทวดาสักเท่าไร แต่นับตามเวลาของมนุษย์ตั้งสามเดือนแน่ะ

คัมภีร์อรรถกถาเล่าว่า หลังจากทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์เสร็จแล้ว พระพุทธองค์ทรงรำพึงว่า บัดนี้ได้เวลาจะไปโปรดพุทธมารดา ซึ่งเคยอยู่บนดุสิตสวรรค์แล้ว จึงทรงยกพระบาทขวาขึ้นจากจงกรมแก้ว ก้าวขึ้นเหยียบยอดเขายุคันธร แล้วยกพระบาทซ้ายก้าวขึ้นเหยียบยอดเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ) แล้วเสด็จขึ้นประทับยังแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ร่มไม้ปาริชาตบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ตำราท่านพูดอย่างนี้ ก็ทำให้เราวาดภาพว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ขณะพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไป ก็ปรากฏแก่สายตาประชาชนทั้งหลาย จะพูดอย่างนั้นก็ได้ แต่ความเป็นจริง สวรรค์จะอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่บนยอดเขา ซ้อนๆ อยู่ในโลกเรานี้แหละ หากแต่เพียงอยู่คนละมิติ มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถมองเห็นได้

พระพุทธองค์ไปสวรรค์ก็อาจแวบไปชั่ววินาทีเดียว ดุจเราหมุนคลื่นวิทยุหรือโทรทัศน์ จากคลื่น ก. ไปหาคลื่น ข. เดี๋ยวเดียวเท่านั้น เดี๋ยวเดียวแค่มือกดจริงๆ และเสียงหรือภาพก็เปลี่ยนไป



ปางโปรดพุทธมารดา (จบ)
ทันที ที่คัมภีร์บรรยายให้เห็นภาพพระพุทธองค์เสด็จก้าวพระบาทเหยียบยอดเขาขึ้นไปสวรรค์ เพียงแต่บรรยายให้เห็นในแง่รูปธรรมเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเช่นนั้นจริงๆ ผมว่าของผมอย่างนี้แหละ คุณจะว่าอย่างไร ยินดีรับฟังครับ

ท้าวสักกเทวราช ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธองค์ขึ้นมาประทับบนพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ก็มีความยินดี ป่าวประกาศให้บรรดาเทพยดาบนสรวงสวรรค์ทราบ เหล่าเทพยดาก็พากันมาเฝ้า พุทธมารดาซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตก็ทราบข่าวการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าด้วย จึงมาเฝ้าพระพุทธองค์เช่นกัน

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระอภิธรรม กล่าวกันว่าอย่างนั้น แก่ประชุมเทพยดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันมีท้าวสักกเทวราชเป็นประมุข

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้ประชุมเทพยดาทั้งหลายฟัง ว่ากันว่าทรงแสดงพระอภิธรรม ว่ากันอย่างนั้น คำกล่าวนี้กล่าวตามคัมภีร์อรรถกถา เช่น ธัมมปทัฏฐกถา และอัตถสาลินี แต่ไม่มีหลักฐานใดในพระไตรปิฎก จึงเชื่อกันว่าเป็นความคิดยุคหลัง

เพราะถ้าเชื่อตามอรรถกถา ก็แสดงว่า พระไตรปิฎกมีมาตั้งแต่พุทธกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอภิธรรมปิฎกมีมาตั้งแต่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าโน่นแน่ะ เพราะมีพูดถึงพระพุทธองค์ทรงพิจารณาพระอภิธรรม ในเรือนแก้วในสัปดาห์ที่สี่หลังตรัสรู้ ความเชื่อเช่นนี้ไม่เป็นที่รับรองกันนักในวงวิชาการพระพุทธศาสนา ฝากไว้ให้พิจารณาด้วย

เล่ากันอีกแหละว่า ได้เวลาเช้าพระพุทธองค์ก็เสด็จลงมาให้พระสารีบุตรเฝ้า ใกล้สระอโนดาต ป่าหิมพานต์ พระพุทธองค์ทรงแสดงพระอภิธรรมให้พระสารีบุตรฟังอีกทอดหนึ่ง ในขณะที่เสด็จลงมายังมนุษย์โลก พระพุทธองค์ทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิตแสดงธรรมแทนพระองค์ โดยที่เหล่าเทพยดาไม่รู้ว่าพระองค์ไม่อยู่ นึกว่าพุทธนิรมิตเป็นพระองค์จริง

พระสารีบุตรเมื่อได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์แล้ว ก็ได้นำไปถ่ายทอดให้ภิกษุสงฆ์และประชาชนฟังในเวลาต่อมา

ตรงนี้คือที่มาของระบบความเชื่อของชาวพุทธนิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายอภิธรรม นิกายอภิธรรมนี้ ระบุว่า พระอภิธรรมปิฎกเป็นเถรภาษิต คือเป็นเทศนาของพระสารีบุตร และพระมหากัจจายนะ หาใช่พระพุทธองค์โดยตรงไม่

เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่บนดาวดึงส์สวรรค์ครบสามเดือนแล้ว ก็เสด็จลงยังมนุษย์โลกตามเดิมต่อไป



(http://www.dhammathai.org/imagebuddha/41.gif)
ปางปาฏิหาริย์เปิดโลก (๑)

พระพุทธรูปปางนี้ มักจะอธิบายรวมกันกับปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ส่วนมากอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวา-ซ้ายเหยียดลงตามปกติ เหมือนปางทรงยืน (ไม่อยากใช้คำว่าประทับยืน) แต่แบพระหัตถ์ทั้งสองไปข้างหน้า ทำท่าเปิดโลก

แต่ท่านเหม เวชกร ศิลปินใหญ่ผู้ล่วงลับวาดเป็นภาพประทับท่าสมาธิ แต่เบื้องหน้าวาดภาพสัตว์ทั้งสามโลกปรากฏอยู่ในมิติเดียวกัน มองเห็นกันและกัน ชัดแจ๋วแหววเหมือนนั่งอยู่ข้างๆ กัน

โลกทั้งสามที่ว่านี้คือ เทวโลก มนุษย์โลก และยมโลก เทวโลกคือโลกเทวดา ตั้งแต่พรหมโลกลงมา จนถึงสวรรค์ทุกชั้น มนุษย์โลกก็คือโลกมนุษย์เดินดินทั้งหลายนี้แล ส่วนยมโลกก็คือนรกทั้งหลาย กี่ขุมๆ ปรากฏให้เห็นหมด

พระพุทธองค์ ขณะเสด็จลงจากดาวดึงส์ ทอดพระเนตรดูเบื้องบน โลกทั้งมวลตั้งแต่มนุษย์ก็สว่างโล่งไปหมด เมื่อทรงเหลียวดูไปรอบทิศก็สว่างไปทั่ว เมื่อทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ ความสว่างก็ปรากฏไปทั่วนรกทุกขุม

สัตว์ทั้งหลายต่างก็แลเห็นกันและกัน มนุษย์เห็นเทวดา เทวดาเห็นมนุษย์ มนุษย์และเทวดาเห็นสัตว์นรก สัตว์นรกเห็นมนุษย์และเทวดา เป็นที่น่าอัศจรรย์

คัมภีร์ปฐมสมโพธิบรรยายว่า "ครั้งนั้นเทพยดา มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉาน กำหนดที่สุดมดดำมดแดง ซึ่งเห็นพระชินสีห์ แลสัตว์คนใดคนหนึ่งซึ่งจะมิได้ปรารถนาพุทธภูมินั้น มิได้มีเป็นอันขาด"

แปลไทยเป็นไทยว่า ทุกคนปรารถนาอยากเป็นพระพุทธเจ้า อยากทำได้เหมือนพระพุทธเจ้า อย่าว่าแต่คนเลย กระทั่งมดดำมดแดงก็อยากเป็นเลย สำนวนบรรยายท่านอาจจะ "เว่อร์" ไปบ้าง แต่สรุปแล้วก็คือ ไม่ว่าใครเมื่อเห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้แล้ว ต่างก็อัศจรรย์ใจและเลื่อมใสในพุทธานุภาพ

ฉากนี้จะ "ถอดความ" หรือแปลภาษาสัญลักษณ์ก็น่าจะได้ความว่า มาถึงตอนนี้ (ประมาณ ๗ ปีหลังตรัสรู้) พระพุทธองค์ทรงประกาศพระพุทธศาสนาได้ผล ประชาชนทุกชาติชั้นวรรณะ ตั้งแต่สูงลงมาหาต่ำ ต่างก็เลื่อมใส และเข้ามาบวชเป็นสาวกของพระองค์มากขึ้น พรมแดนระหว่างวรรณะสูงกับวรรณะต่ำไม่มีอีกต่อไป ไม่ว่ามาจากวรรณะไหน เมื่อมาบวชแล้วก็ถูกหลอมลงเป็น "สมณะศากยบุตร" เหมือนกัน ถือศีลวินัย มีข้อวัตรปฏิบัติเหมือนๆ กัน

นี้เท่ากับพระพุทธองค์ทรงเปิดโลกทุกโลกให้มาอยู่ในมิติเดียวกันนั้นแล อย่างนี้ไม่เรียกว่าปาฏิหาริย์จะเรียกว่าอะไรเล่าครับ



ปางปาฏิหาริย์เปิดโลก (๒)
บังเอิญ ขณะเขียนต้นฉบับนี้ พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ ส่งพุทธประวัติภาคหลากบทกวี มาให้อ่าน จึงเปิดผ่านๆ ไปถึง "ทรงเปิดโลก" ท่านแต่งได้ไพเราะดี ขออนุญาตคัดลอกบางตอนมาลงไว้ดังนี้

ทรงทำโลกวิวรณ์ปาฏิหาริย์
โอ้..ตระการน่าตระหนกไม่ผกผัน
โลกาเกิดเปิดกระจ่างสว่างพลัน
ทุกแห่งนั้นเตียนโล่งแลโปร่งทาง
ทั่วทุกทิศทั้งทุกหนจนทุกที่
หาได้มีสิ่งสรรพ์มากั้นขวาง
นรกเปิดสวรรค์เผยไม่เลยราง
แลสว่างอย่างไสวให้เห็นมอง
มนุษย์มองจ้องตาเทวาจ้อง
สบตามองต้องตากันนั่นสนอง
นรกเห็นสวรรค์อ้าช่างน่าปอง
ทั่วทั้งผองต้องตะลึงอึ้งตะไล
พุทธองค์ทรงย่างเยื้องยุรยาตร
ค่อยลีลาศลงมางามตามวิสัย
โดยบันไดแก้วพราวแวววาวไว
เพื่อลงไปให้ชโยแก่โลกัน
มีท้าวเทพอมรินทร์องค์ปิ่นฟ้า
อยู่เบื้องขวาบันไดทองประคองขวัญ
ท้าวสหัมบดีพรหมอุดมวรรณ
ค่อยผายผันลงมาจากฟ้าคราม
อยู่บันไดเงินเบื้องซ้ายพราวพรายพร่าง
แลสว่างอย่างสง่าน่าเกรงขาม
ปัญจสิขรคนธรรพ์เทวัญงาม
ไม่ครั่นคร้ามอยู่หน้าเริงร่าสราญ
ดีดพิณเหลืองเสียงใสฟังไพเราะ
โสตเสนาะเพราะเสมอเสนอหวาน
มธุรถ้อยร้อยเรียงเสียงกังวาน
ขับผสานขานผสมกลมกลืนไป...

แค่นี้คงพอครับ คัดมาให้อ่านมาก เดี๋ยวมดจะขึ้นเต็มห้อง แต่งได้หวานจริงครับ


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 ธันวาคม 2558 11:24:08
.

(http://www.kanlayano.org/images/hotnews/2009/hotnews_2009_09_07_01.jpg)

ปางเทโวโรหนะ (๑)

มีผู้ถามว่าเขียนอย่างไร เทโวโรหนะ หรือ เทโวโรหณะ ตอบว่าเขียนได้ทั้งสอง คำนี้มาจาก เทว (เทวดา, เทวโลก) - โอโรหนะ (การก้าวลง) รวมเป็น เทโวโรหนะ เมื่อเขียนเป็นรูปสันสกฤตจะต้องเขียน เทโวโรหณะ ถามว่าทำไมล่ะ ตอบว่า เพราะคำข้างหน้ามี ร อยู่ด้วย น จึงต้องเป็น ณ ตอบอย่างนี้ง่ายดี ไม่ต้องอ้างศัพท์เทคนิคทางไวยากรณ์ให้ยุ่งยาก

สังเกตดูคำเหล่านี้ อานาปานะ เป็น อานาปราณะ ปรายนะ เป็น ปรายณะ อภินิกขมนะ เป็น อภิเนษกรมณะ

นี้เป็นเรื่องของภาษา ต่อไปเป็นเรื่องของตำนาน

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาตลอดสามเดือน บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ทรงออกพรรษาแล้ว เสด็จลงยังมนุษย์โลก ณ เมืองสังกัสสะ แคว้น ภัคคะ ในวันมหาปวารณา

ก่อนหน้านั้นประชาชนสงสัยว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จในวันไหน ที่ใด ถามท่านมหาโมคคัลลานะ พระมหาโมคคัลลานะจึงขึ้นไปกราบทูลถามพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสถามพระมหาโมคคัลลานะว่า สารีบุตร พี่ชายของเธอ จำพรรษา ณ ที่ใด เมื่อพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า ที่เมืองสังกัสสะ แคว้นภัคคะ พระเจ้าข้า พระองค์จึงตรัสว่า ตถาคตก็จะลงยังมนุษย์โลก ณ เมืองสังกัสสะ แคว้นภัคคะ

พระมหาโมคคัลลานะจึงกลับมาบอกประชาชนทั้งหลายตามนั้น ประชาชนต่างก็พากันมาชุมนุมกัน ณ สถานที่ดังกล่าว เพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ สถานที่นี้เรียกว่า เทโวโรหนะ อยู่ที่ อุตตรประเทศ ตามที่พระเจ้าอโศกมหาราชบันทึกไว้ให้ปรากฏเป็นหลักฐาน มาจนปัจจุบันนี้

เมื่อถึงเวลา พระพุทธองค์ก็เสด็จลงมาทางบันไดแก้ว แวดล้อมไปด้วยเหล่าเทวดาอันมีท้าวสักกมหาราชเป็นประธาน ตามเสด็จทางบันไดทองด้านขวา และท้าวสหัมบดีพรหมกับหมู่พรหมทั้งหลายตามเสด็จลงมาทางบันไดเงิน ด้านซ้าย ว่ากันอีกว่า สันดุสิตเทพ กับ สุยามเทพ ทรงทิพย์จามรถวาย ท้าวมหาพรหม ทรงทิพย์เศวตถวาย ท้าวโกสีย์อมรินทราธิราช อุ้มบาตรศิลา เป็นมัคคุเทศก์นำพระบรมศาสดาลงมา ท่ามกลางทวยเทพยดาทั้งมวล มีเสียงพิณทิพย์คลอด้วยเสียงขับของปัญจสิขะเทพบุตรคลอด้วย



ปางเทโวโรหนะ (จบ)
มหาชนได้เห็นการเสด็จลีลาลงมาจากสวรรค์ ท่ามกลางหมู่เทพและพรหมทั้งปวง งามจับใจ อย่างไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน ก็พากันเปล่งเสียงสาธุการด้วยความปีติปราโมทย์ เสียงแซ่ซ้องสาธุการกระหึ่มปฐพี แม้แต่พระสารีบุตรเสนาบดี ยังได้กล่าวคาถาแสดงความอัศจรรย์ใจว่า
     น เม ทิฏฺโฐ อิโต ปุพฺเพ น สุโตอุท กสฺสจิ
     เอวํ วคฺคุคโท สตฺถา ตุสิตา คณิมาคโต
     เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ไม่เคยได้ยินจากใครมาก่อนเลยว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีพระสิริโฉมโสภาคย์ยิ่งกว่าทวยเทพทั้งมวล มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้ ได้เสด็จลงจากสวรรค์แล้ว  พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดประชาชนที่มาเฝ้าโดยทั่วหน้ากัน ทรงทำปาฏิหาริย์เปิดโลก (โลกวิวรณปาฏิหาริย์) คือทรงบันดาลให้พรหม เทวดา มนุษย์ สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน มองเห็นกันไม่มีอะไรปิดบัง เรื่องราวตรงนี้ เกิดพระพุทธรูปสามปางด้วยกันคือ
๑.ปางลีลามักจะเป็นพระพุทธรูปทรงยืน ยกส้นพระบาทขวาขึ้นจากพื้น ปลายพระบาทยังจดอยู่กับพื้น อยู่ในท่าจะก้าวย่างดำเนิน พระหัตถ์ขวาห้อยอยู่ในท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ป้องไปข้างหน้าเป็นกิริยาเดิน (บางรูปยกพระหัตถ์ ขวาก็มี) ดูพระพุทธรูปที่พุทธมณฑลเป็นตัวอย่าง

๒.ปางเปิดโลก อยู่ในพระอิริยาบถยืน ห้อยพระหัตถ์ซ้าย-ขวา ปกติเหมือนปางทรงยืนแต่แบฝ่าพระหัตถ์หันออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาเปิด (ที่ทำแบบยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นก็มี)

๓.ปางเทโวโรหนะ หรือปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ดังที่กล่าวถึงข้างต้น พระพุทธรูปปางนี้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวพุทธมาก ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่ศิลปินทุกยุคทุกสมัย จะวาดเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้แทบทั้งนั้น และสวยงามวิจิตรตระการตาเป็นอย่างยิ่ง



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/41464548971917_a2.gif)
ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (๑)

ความจริงพระพุทธรูปปางนั้นปางนี้ ท่านกำหนดหมายถึงลักษณะของพระพุทธรูปในอิริยาบถต่างๆ เช่น ปางลีลา ปางตรัสรู้ แต่ที่ผมเขียนมานี้ดูเหมือนจะหมายเพียง "ตอน" หรือ "เวลา" ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ก็หมายถึง พระพุทธเจ้าตอนทรงประทับรอยพระพุทธบาท หรือเมื่อครั้งประทับรอยพระพุทธบาทนั้นเอง

พูดถึงพระพุทธบาท ขอนอกเรื่องก่อนก็แล้วกัน ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม แห่งอยุธยา พระเถระจากเมืองไทยไปนมัสการพระพุทธบาทที่เกาะลังกา ถูกพระสิงหลถามว่า พวกท่านถ่อสังขารมาไหว้พระพุทธบาททำไมถึงเกาะลังกา ที่บ้านเมืองของท่านก็มีพระพุทธบาท เมื่อพระไทยทำหน้างง พระสิงหลท่านจึงร่ายโศลกบาลีให้ฟัง ความว่า

(พระพุทธบาทมีอยู่ ๕ แห่ง) คือ ที่สุวรรณมาลิก ที่สุวรรณบรรพต ที่สุมนกูฏ และที่ริมฝั่งน้ำนัมมทา

สุวรรณบรรพต อยู่ที่ประเทศสยามของท่าน พระลังกาว่าอย่างนั้น

เมื่อท่านเหล่านี้กลับมา จึงเข้าถวายพระพรในหลวงให้ทรงทราบ ในหลวงรับสั่งให้ค้นหาพระพุทธบาท จึงมีการค้นพบพระพุทธบาทที่สระบุรีขึ้น ดังที่ทราบกันดีแล้ว

พระพุทธบาทนั้น เชื่อกันว่าประดิษฐานอยู่ตามที่ต่างๆ อีกมากมาย สงสัยกันมากว่าเป็นของจริงหรือไม่ พูดให้ชัดก็ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้จริงๆ หรือ ถ้าจริงแล้วก็แสดงว่าพระพุทธองค์คงมีพระวรกายใหญ่มาก เพราะเห็นรอยพระบาทแล้ว โอ้โฮ ใหญ่มหึมาจริงๆ

คำตอบก็คือ พระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระบาทไว้จริงครับ มีหลักฐานยืนยันการที่พระองค์ประทับรอยพระบาทไว้ ด้วยจุดมุ่งหมายแน่ชัด ประทับไว้หลายครั้งด้วย ในสมัยพุทธกาลโน่นแหละครับ

ส่วนที่เห็นในสถานที่ต่างๆ ในปัจจุบันนี้ เป็นของจำลองมาครับ เรียกว่า พระพุทธบาทจำลอง แม้ที่สระบุรีก็เถอะ จำลองมาโดยคนสมัยก่อน แน่นอนเมื่อทำเอง จะเอาขนาดเล็กใหญ่อย่างไรก็ย่อมได้ทั้งนั้น

พระพุทธบาทจริงๆ ทรงประทับไว้ที่พื้นดิน เพื่อต้องการสอนธรรมแก่พราหมณ์ผัวเมียคู่หนึ่ง เรื่องมีดังนี้ครับ (เรื่องค่อนข้างยาว จึงขออนุญาตเล่ายืดหลายตอนหน่อย)

มีพราหมณ์ผู้มั่งคั่งคนหนึ่งอยู่ในแคว้นกุรุ แกมีลูกสาวสวยมากคนหนึ่ง นามว่ามาคันทิยา ตัวแกเอง ก็ชื่อคล้ายลูกสาว คือชื่อมาคันทิยะ แกพิถีพิถันการเลือกผู้ที่จะมาเป็นบุตรเขยมาก คือไม่ปล่อยให้ลูกสาวเลือกคนเดียว พ่อขอมีเอี่ยวด้วย ว่าอย่างนั้นเถอะ เมื่อลูกสาวบอกว่าชอบชายหนุ่มคนไหน แกก็จะปรามว่า อย่าเลย อีหนู คนนี้ไม่ดี ไม่เหมาะกับลูก หาคนที่ดีๆ มีสถานะทัดเทียมกันดีกว่า

เมื่อลูกสาวเลือกคนไหน พ่อก็ไม่เห็นดีเห็นงามด้วย ตกลงลูกสาวก็เลยไม่ได้แต่งงานเสียที ร่ำๆ จะขึ้นไปอยู่ในหมู่บ้าน "คานทอง" แล้ว วันหนึ่งพราหมณ์เฒ่าออกไปนอกเมือง ไปพบพระพุทธเจ้าเข้าพอดี ความจริงพระพุทธองค์เสด็จมาเพื่อให้พราหมณ์เห็นเอง เพราะทรงเล็งญาณดูแล้ว พราหมณ์ปรากฏในข่ายคือพระญาณว่าจะได้บรรลุธรรม พระองค์จึงเสด็จมาเพื่อโปรด



ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (๒)
พราหมณ์เห็นพระพุทธองค์ต้องด้วยมหา ปุริสลักษณะ (ลักษณะของมหาบุรุษ) ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ (รายละเอียดปลีกย่อย) อีก ๘๐ ประการ ก็ดีใจว่าท่านผู้นี้แหละเหมาะจะเป็นสามีของลูกสาวตน จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า สมณะ ท่านสง่างาม สมควรเป็นลูกเขยข้าพเจ้า ขอให้ท่านรออยู่ตรงนี้ อย่าเพิ่งไปไหน ข้ามีลูกสาวสวยคนหนึ่ง จะยกให้ท่าน

ว่าแล้วก็รีบเข้าเมืองไปบอกให้บุตรสาวรีบแต่งเนื้อแต่งตัว แล้วรีบจูงมือลูกสาวออกจากเมือง จะพาไปหาคนที่เหมาะสมเป็นสามี ประชาชนเห็นพราหมณ์บอกว่าพบคนที่เหมาะสมกับบุตรสาวตนแล้ว ต่างก็อยากดูตัวว่าจะสง่างามปานใด จึงตามไปดู

พระพุทธเจ้ามิได้ประทับอยู่ ณ จุดที่พราหมณ์บอก ทรงประทับรอยพระบาทไว้ให้ปรากฏ แล้วเสด็จไปประทับใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง ใกล้กับที่นั้น พราหมณ์จูงมือลูกสาวไป พลางบ่นว่าเขาอยู่ที่ไหนนะ ฉันบอกให้เขารออยู่ตรงนี้นี่นา

มองไปมองมาเห็นรอยพระพุทธบาท จึงร้องเสียงดังว่า "นี่ไง รอยเท้าเขา แสดงว่าเขาคงยังอยู่แถวนี้แหละ"

นางพราหมณี (ภรรยาพราหมณ์คนดังกล่าว) ที่ตามมาด้วย เหลือบไปเห็นพระพุทธบาทเท่านั้น ก็ร้องเสียงดังปานกันว่า "ไม่มีหวังดอกตาแก่ นี่มันรอยเท้าคนไม่ไยดีต่อโลกียวิสัยแล้ว ตาแก่ดูนี่สิ..." ว่าแล้วก็ชี้ให้ดูลักษณะของรอยพระบาท

นางพราหมณีแกเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูรอยเท้าคน เรียกว่าเป็นหมอดูลายตีน ว่าอย่างนั้นเถอะ มองปร๊าดเดียวก็รู้แล้วว่าเจ้าของรอยเท้านี้เป็นอย่างไร เก่งปานนั้นนะครับ

แกจึงร่ายโศลกให้สามีฟัง แปลเป็นไทยว่า
     "คนเจ้าราคะ รอยเท้าเว้ากลาง
     คนเจ้าโทสะ รอยเท้าหนักส้น
     คนเจ้าโมหะ รอยเท้าจิกปลาย
     สำหรับคนที่ละกิเลสได้หมดแล้ว รอยเท้าเป็นเช่นที่เห็นนี้"

พราหมณ์เฒ่าผู้สามีไม่พอใจภรรยา จึงดุเอาว่า เจ้าเก็บตำราของเจ้าไว้ในตุ่มเถอะ อย่ามาเป็นจระเข้ขวางคลองเลย พูดด้วยสำนวนปัจจุบันก็คือ เอ็งอย่ามาขัดคอเลย ข้ากำลังจะได้ลูกเขยอยู่นะจ๊ะ

เมื่อเขาสอดส่ายสายตามองไปรอบๆ ก็เห็นพระพุทธองค์ประทับนิ่งสงบอยู่ใต้ต้นไม้ ไม่ไกลจากที่นั้น จึงร้องบอกภรรยาและคนที่ตามมาว่า โน่นไง เขาอยู่ใต้ร่มไม้นั่น ว่าแล้วก็จูงมือลูกสาวไปหา พอไปถึงก็บอกว่า "สมณะ นี่ไง ลูกสาวข้าพเจ้า ขอมอบให้เป็นภรรยาของสมณะ"

พระพุทธองค์แทนที่จะรับ กลับตรัสตอบพราหมณ์ว่า "พราหมณ์เอย สมัยเราเป็นเจ้าชายอยู่ในเมืองกบิลพัสดุ์ ได้รับการปรนเปรอด้วยโลกียสุขนานัปการ มีนางสนมกำนัลสวยงามคอยปรนนิบัติมากมาย ล้วนสวยสดงดงามดังนางอัปสร เรายังไม่ไยดีเลย สละทิ้งหมด ออกบวชถือเพศสมณะ แสวงหาทางพ้นทุกข์จนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไฉนเราจักยินดีในร่างกายของบุตรสาวท่าน อันเต็มไปด้วยของปฏิกูล อย่าว่าแต่ยินดีเลย แม้เท้าเรายังไม่อยากให้แตะ"

ตรัสแรงปานนั้นจริงๆ ครับ เพราะทรงมุ่งหวังจะได้พระพุทธดำรัส "กระทบ" ใจพราหมณ์และพราหมณี ผู้ถือตนว่าลูกสาวของตนสวยหาใครทัดเทียมมิได้ ได้ผลสองทางครับ

ทางหนึ่ง สองตายายได้ฟังแล้วยอมรับว่าจริงตามที่พระพุทธองค์ตรัส จึงเกิดความเลื่อมใส นั่งฟังพระธรรมเทศนาอย่างใจจดใจจ่อ ฟังจบก็ได้บรรลุธรรม ปฏิญาณตนถึงไตรสรณคมน์

อีกทางหนึ่ง พระดำรัสที่เชือดเฉือนใจนางมาคันทิยานั้น ทำให้นางโกรธจนตัวสั่น หาว่าสมณะรูปนี้ถือดียังไงมาว่าเราเต็มไปด้วยของปฏิกูล ชะชะใครๆ ก็ชมว่าเราสวยงาม พูดแบบนี้มันดูถูกกันนี่หว่า ฝากไว้ก่อนเถอะ ต่อไปภายหน้าเราได้เป็นใหญ่ขึ้นมาจะชำระความแค้นนี้ให้ได้

เรียกว่าแค้นนี้ยี่สิบปีก็ไม่สาย ตามสำนวนหนังกำลังภายในว่า และโอกาสก็อำนวยให้เสียด้วย ภายหลังนางมาคันทิยาได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งเมืองโกสัมพี และก็บังเอิญอีกนั่นแหละ พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดสัตว์ที่เมืองนั้นในคราครั้งหนึ่ง ปฏิบัติการจองเวรอันสุนทรก็เกิดขึ้น

เรื่องราวเป็นฉันใด ก็ต้องติดตามตอนสอง สิครับ



ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (๓)
พระเจ้าอุเทนมีพระมเหสีอยู่หลายองค์ เช่น นางวาสุลทัตตา นางสามาวดี นางมาคันทิยา เฉพาะพระนางสามาวดีนั้นเป็นพุทธสาวิกา ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้วบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว จึงมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง บังเอิญได้มาเป็นพระมเหสีของพระราชา ผู้มิได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จึงไม่มีโอกาสได้เข้าวัดฟังธรรมตามต้องการ

เมื่อได้ข่าวว่าพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์เสด็จมาโปรดชาวเมืองโกสัมพี นางก็หาโอกาสเพื่อไปเฝ้าพระพุทธองค์ แต่ก็ไม่ได้โอกาส เพียงแต่เฝ้ามองพระพุทธองค์เสด็จออกโปรดสัตว์ในเมือง ผ่านช่องหน้าต่างพระตำหนักที่ประทับ เมื่อพระ พุทธองค์เสด็จผ่านไป ก็ประณมหัตถ์เปล่งเสียงนมัสการ บรรดาสตรีบริวารต่างก็ทำตาม และเมื่ออยากยลพระสิริโฉมของพระพุทธองค์ชัดขึ้นจึงพากันเจาะช่องเล็กๆ ที่ผนังเพื่อส่องดูด้วย

ข้างฝ่ายนางมาคันทิยา พอรู้ว่าศัตรูสำคัญของตนเสด็จมายังเมืองโกสัมพีก็เนื้อเต้น เต้นด้วยความโกรธ ด้วยความอาฆาตพยาบาทครับ ว่าจ้างให้พวกอันธพาลจำนวนหนึ่งไปลงคะแนนผี เอ๊ยไปด่าพระพุทธองค์ ค่าจ้างคงแพงน่าดู

พวกนักเลงก็ติดตามไปด่าพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ด้วยคำด่าเป็นชุดเลย เช่น ไอ้โค ไอ้ลา ไอ้อูฐ ไอ้สัตว์เดรัจฉาน คนอย่างเจ้าไม่มีทางเกิดในสุคติ คนอย่างเจ้ามีแต่จะไปเกิดในทุคติ พูดง่ายๆ ก็ว่า อย่างเจ้าต้องลงนรกแหงๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระอานนท์ได้ฟังพวกนักเลงตามด่าสองสามวัน เหลือบมองพระพุทธองค์ ยังเสด็จดำเนินไปข้างหน้าอย่างสงบ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น อดรนทนไม่ได้จึงกราบทูลขึ้นในวันหนึ่งว่า

     "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ อันธพาลเมืองนี้ตามด่าเรามาสองสามวันแล้วพระเจ้าข้า"
     "ตถาคตรู้ อานนท์" พระดำรัสตอบอย่างสงบ
     "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรามาหนีไปอยู่ที่อื่นเถอะ"
     "จะหนีไปไหน อานนท์"
     "ไปในที่ที่ไม่มีคนด่า"
     "อานนท์ ถ้าไปที่นั่นแล้วคนที่นั่นด่า อีกล่ะ"
     "ก็หนีไปเมืองอื่นอีกพระเจ้าข้า"
     "ถ้าที่นั้นยังมีคนด่าอีกล่ะ จะหนีไปไหน"
     "ก็ไปเมืองอื่นอีกพระเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "อานนท์ ทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง เหตุเกิดที่ไหนต้องระงับที่นั่น พวกอันธพาลเหล่านี้ด่าเราไม่เกิน ๗ วันดอก ก็จะเลิกด่าไปเอง"

แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสโศลกบทหนึ่งว่า "เราจะอดทนต่อคำด่าว่าเสียดสีของคนทั้งหลาย ดุจช้างศึกทนต่อลูกศรที่หลุดจากคันธนู ในยามสู่ศึกสงครามเพราะคนส่วนมากทุศีล"



ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (๔)
นางมาคันทิยาเมื่อเห็นว่าแผนการล้มเหลว จึงวางแผนแก้แค้นใหม่ คราวนี้สั่งลุงกับพรรคพวกเข้าเมือง ฉวยโอกาสวันที่พระเจ้าอุเทนเสด็จไปล่าสัตว์ ให้ลุงกับพรรคพวกไปจับพระนางสามาวดี พร้อมบริวารมัดกับเสา ปิดประตูหน้าต่างพระตำหนัก เอาน้ำมันราดให้ทั่ว แล้วจุดไฟเผา

เปลวเพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็ว พระนางสามาวดีให้โอวาทแก่สตรีบริวารว่า จงให้อภัยแก่ผู้ที่ก่อเหตุครั้งนี้ ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นใคร อย่าผูกพยาบาท ให้แผ่เมตตาจิตให้พวกเขา อย่ากระวนกระวาย ให้รำลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย ยึดเอาเป็นที่พึ่งที่ระลึก ถือเสียว่ากรรมแต่ปางหลังตามมา หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงจะตายก็ให้ตายอย่างมีสติ สมกับเป็นสาวิกาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระเจ้าอุเทนเสด็จมาพบเห็นเหตุการณ์เข้า ไฟได้ลุกโชติโชนาการสุดที่จะช่วยเหลืออะไรได้แล้ว ทรงโทมนัสในพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็สู้หักห้ามไว้ แสร้งทำเป็นดีพระทัย มิให้พระนางมาคันทิยาสังเกตได้

วันรุ่งขึ้น พระภิกษุสงฆ์จำนวนมากไปบิณฑบาตในเมืองโกสัมพี ทราบข่าวสลดใจ จึงนำความกราบบังคมทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า สามาวดี บุตรสาวเรา ถึงจะตายไปก็ตายด้วยความไม่ประมาท สมเป็นอริยสาวิกา

พระองค์ตรัสโศลกบทหนึ่งมีความว่า ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ประมาทแล้ว ถึงมีชีวิตอยู่ ก็เสมือนคนตายแล้ว

ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา กล่าวว่า ภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามว่า นางสามาวดีเป็นถึงพระโสดาบัน ตลอดชีวิตทำแต่บุญกุศล ทำไมจึงพบจุดจบอย่างน่าอนาถเช่นนี้ พระพุทธองค์ทรงเล่าบุพกรรมของนางและบริวารว่า ในชาติปางก่อนอันยาวนานโพ้น สามาวดีพร้อมกับสหายจุดไฟเผาป่า บังเอิญเมื่อไฟมอดลงเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ จีวรถูกเผาหมด

พวกนางตกใจ กลัวว่าท่านจะไปบอกคนอื่น ตัวเองจะตกที่นั่งลำบาก จึงพากันเอาหญ้ามาสุมท่านแล้วจุดไฟเผาใหม่ แล้วก็จากไป ด้วยความเชื่อว่าไม่มีพยานหลักฐานจะเอาผิดพวกตนแต่อย่างใด

ด้วยผลแห่งบาปที่กระทำนั้น พวกนางจึงตกนรกหมกไหม้หลายร้อยชาติ มาชาตินี้เศษกรรมยังเหลืออยู่ จึงตามมาทัน พวกนางจึงได้รับผลกรรมดังที่ทราบกัน

ข้างฝ่ายพระเจ้าอุเทน วันหนึ่งขณะ อยู่ท่ามกลางคนใกล้ชิด ทรงเปรยขึ้นว่า ตั้งแต่สามาวดีตายไปทำให้พระองค์ทรงมีความสุข ใครก็ตามที่กำจัดนางให้แสดงว่าต้องมีความรักในพระองค์มาก อยากรู้จังว่าใครกันหนอ



ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (จบ)
    "จะใครเสียอีกเล่า นอกจากมาคันทิยา คนนี้" มาคันทิยาตกหลุมพราง กล่าวขึ้นทันที
     "พี่นึกแล้วว่าต้องเป็นเธอแน่ ขอบใจที่เธอช่วยกำจัดหนามแทงใจให้ ใครมีส่วนในการทำให้พี่มีความสุขให้มารับบำเหน็จรางวัลได้"

นางมาคันทิยาส่งข่าวไปยังลุงและพรรคพวก บอกให้เข้าเมืองเพื่อรับบำเหน็จรางวัลจากพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพวกเขามาพร้อมหน้า พระราชารับสั่งให้จับทั้งหมด ให้ขุดหลุมฝังเหลือแค่สะเอว เอาฟางกลบแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น ให้สาสมกับที่กระทำต่อพระมเหสีอันเป็นที่รักของพระองค์

อ่านเรื่องนี้แล้วเกิดความคิดว่า เพราะความอาฆาตพยาบาทแท้ทีเดียว ที่ทำให้นางมาคันทิยาพยายามจะแก้แค้นให้ได้ ในเรื่องมิได้บอกว่านางได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนได้อย่างไร คงมิใช่อยู่ๆ บุญหล่นทับได้เป็นมเหสี

คงเพราะแรงอาฆาตนี้เอง ทำให้นางต้องพยายามหาทางเป็นใหญ่ เพื่อจะได้มีโอกาสแก้แค้นได้ง่ายขึ้น ในที่สุดนางก็ประสบความสำเร็จ ได้เป็นมเหสีพระเจ้าอุเทนสมความตั้งใจ เมื่อได้ข่าวว่าพระพุทธองค์เสด็จมาเมืองโกสัมพี ไฟพยาบาทก็ลุกโชนในใจของนาง วางแผนหลากหลายเพื่อทำลายพระพุทธองค์ แผนที่หนึ่งล้มเหลว เริ่มแผนที่สอง แผนที่สองใช้ไม่ได้ ก็ดำเนินแผนที่สาม ที่สี่

เมื่อเล่นงานพระพุทธเจ้าโดยตรงไม่ได้ ก็หาทางกำจัดสาวิกาของพระพุทธองค์ ทำนองโกรธพ่อแล้วมาลงที่ลูกอะไรอย่างนั้น และในที่สุดพระนางสามาวดีผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยก็พลอยรับเคราะห์กรรมไป

และคนที่ทำลายเขาตัวเองก็ถึงจุดจบเฉกเช่นเดียวกัน

การที่พระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้ปรากฏ จุดประสงค์เบื้องแรก (ถ้าดูตามเรื่องนี้) เพื่อให้พราหมณ์และพราหมณีเห็นว่าพระองค์มิได้ไปไหนไกล หากอยู่แถวๆ นั้นเอง เพื่อให้เขาตามพบและได้ฟังธรรมจากพระองค์

พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ เพื่อใช้เป็น "สื่อ" หรืออุปกรณ์สอนธรรมนั่นเอง และในที่สุดก็บรรลุผลตามที่ทรงประสงค์

ต่อมามีความนิยมสร้างรอยพระพุทธบาทขึ้นในที่ต่างๆ เพื่อเป็น "พุทธานุสสติ" สร้างขึ้นแล้วก็แต่งตำนานเล่าทำนองว่าเป็นพระบาทจริง พระพุทธเจ้าเสด็จไปประดิษฐานไว้จริงๆ ดังทราบกัน

จะเป็นรอยพระพุทธบาทจริงหรือไม่มิใช่ประเด็น ประเด็นก็คือ พระพุทธบาทไม่ว่าที่ไหนนับว่าเป็นปูชนียวัตถุ สิ่งที่ควรเคารพสักการะ ของพุทธศาสนิกชน ช่วยเตือนให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้าได้ทั้งนั้น
ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (จบ)
    "จะใครเสียอีกเล่า นอกจากมาคันทิยา คนนี้" มาคันทิยาตกหลุมพราง กล่าวขึ้นทันที
     "พี่นึกแล้วว่าต้องเป็นเธอแน่ ขอบใจที่เธอช่วยกำจัดหนามแทงใจให้ ใครมีส่วนในการทำให้พี่มีความสุขให้มารับบำเหน็จรางวัลได้"

นางมาคันทิยาส่งข่าวไปยังลุงและพรรคพวก บอกให้เข้าเมืองเพื่อรับบำเหน็จรางวัลจากพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพวกเขามาพร้อมหน้า พระราชารับสั่งให้จับทั้งหมด ให้ขุดหลุมฝังเหลือแค่สะเอว เอาฟางกลบแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น ให้สาสมกับที่กระทำต่อพระมเหสีอันเป็นที่รักของพระองค์

อ่านเรื่องนี้แล้วเกิดความคิดว่า เพราะความอาฆาตพยาบาทแท้ทีเดียว ที่ทำให้นางมาคันทิยาพยายามจะแก้แค้นให้ได้ ในเรื่องมิได้บอกว่านางได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนได้อย่างไร คงมิใช่อยู่ๆ บุญหล่นทับได้เป็นมเหสี

คงเพราะแรงอาฆาตนี้เอง ทำให้นางต้องพยายามหาทางเป็นใหญ่ เพื่อจะได้มีโอกาสแก้แค้นได้ง่ายขึ้น ในที่สุดนางก็ประสบความสำเร็จ ได้เป็นมเหสีพระเจ้าอุเทนสมความตั้งใจ เมื่อได้ข่าวว่าพระพุทธองค์เสด็จมาเมืองโกสัมพี ไฟพยาบาทก็ลุกโชนในใจของนาง วางแผนหลากหลายเพื่อทำลายพระพุทธองค์ แผนที่หนึ่งล้มเหลว เริ่มแผนที่สอง แผนที่สองใช้ไม่ได้ ก็ดำเนินแผนที่สาม ที่สี่

เมื่อเล่นงานพระพุทธเจ้าโดยตรงไม่ได้ ก็หาทางกำจัดสาวิกาของพระพุทธองค์ ทำนองโกรธพ่อแล้วมาลงที่ลูกอะไรอย่างนั้น และในที่สุดพระนางสามาวดีผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยก็พลอยรับเคราะห์กรรมไป

และคนที่ทำลายเขาตัวเองก็ถึงจุดจบเฉกเช่นเดียวกัน

การที่พระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้ปรากฏ จุดประสงค์เบื้องแรก (ถ้าดูตามเรื่องนี้) เพื่อให้พราหมณ์และพราหมณีเห็นว่าพระองค์มิได้ไปไหนไกล หากอยู่แถวๆ นั้นเอง เพื่อให้เขาตามพบและได้ฟังธรรมจากพระองค์

พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ เพื่อใช้เป็น "สื่อ" หรืออุปกรณ์สอนธรรมนั่นเอง และในที่สุดก็บรรลุผลตามที่ทรงประสงค์

ต่อมามีความนิยมสร้างรอยพระพุทธบาทขึ้นในที่ต่างๆ เพื่อเป็น "พุทธานุสสติ" สร้างขึ้นแล้วก็แต่งตำนานเล่าทำนองว่าเป็นพระบาทจริง พระพุทธเจ้าเสด็จไปประดิษฐานไว้จริงๆ ดังทราบกัน

จะเป็นรอยพระพุทธบาทจริงหรือไม่มิใช่ประเด็น ประเด็นก็คือ พระพุทธบาทไม่ว่าที่ไหนนับว่าเป็นปูชนียวัตถุ สิ่งที่ควรเคารพสักการะ ของพุทธศาสนิกชน ช่วยเตือนให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้าได้ทั้งนั้น


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด



หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 13:28:31
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/58030931113494_a2.gif)

ปางปฐมบัญญัติ (๑)

หลังจากตรัสรู้ได้ประมาณ ๑๕ ปี พระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงสถาปนาขึ้น ก็เจริญรุ่งเรือง มีประชาชนจากทุกชั้นวรรณะเลื่อมใสมาบวชในพระพุทธศาสนา พระราชามหากษัตริย์ผู้ครองนครสำคัญ อาทิ พระเจ้าพิมพิสารแห่งมคธรัฐ กระทั่งกลุ่มขัตติยราชผู้ปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม อย่างเช่นพวกกษัตริย์ลิจฉวี แห่งมหานครไพศาลี ก็มีความเลื่อมใสถวายความอุปถัมภ์แด่พระพุทธองค์และพระพุทธศาสนาอย่างดี

ขณะที่ทรงประกาศพระพุทธศาสนาใหม่ ได้มีหนุ่มสองสหายอดีตศิษย์สำนักครู สัญชัยเวลัฏฐบุตร แห่งเมืองราชคฤห์คือ อุปติสสะ กับ โกลิตะ มาบวชเป็นศิษย์พระพุทธองค์ และได้นามเรียกขานในหมู่เพื่อนพรหมจรรย์ว่า สารีบุตร กับ โมคคัลลานะ ตามลำดับ ทั้งสองรูปนี้ต่อมาได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งพระอัครสาวก เป็น "มือขวา" และ "มือซ้าย" ของพระพุทธองค์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

วันหนึ่งพระสารีบุตรอัครสาวก ออกจากสมาธิแล้วเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลว่าขณะที่ท่านอยู่สงบคนเดียว นึกสงสัยว่าอะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พรหมจรรย์ (พระพุทธศาสนา) สถิตสถาพรตลอดไป จึงขอกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "สารีบุตร การบัญญัติสิกขาบท เป็นเหตุปัจจัยให้พรหมจรรย์ดำรงมั่น"

"ถ้าเช่นนั้น ข้าพระองค์ใคร่ขอกราบทูลพระมหากรุณาได้ทรงบัญญัติสิกขาบท เพื่อความดำรงมั่นแห่งพรหมจรรย์เถิด พระเจ้าข้า" พระสารีบุตรรีบเสนอ

"สารีบุตรยังไม่ถึงเวลา และยังไม่มีเงื่อนไขให้ทำเช่นนั้น"
"อะไรคือเงื่อนไขให้บัญญัติสิกขาบท พระเจ้าข้า"
"สารีบุตร เมื่อใดสงฆ์เติบโตใหญ่ขึ้น มีภิกษุจำนวนมากขึ้น ลาภสักการะเป็นอันมากก็เกิดขึ้น ลาภสักการะเกิดขึ้น อาสวัฏฐานียธรรม (ความเสื่อมเสีย มัวหมอง) ก็จะเกิดตามมา เมื่อนั้นแหละจะถึงเวลาบัญญัติสิกขาบท"

เป็นดังกระแสพุทธดำรัส ตอนแรกๆ ภิกษุสงฆ์มีจำนวนน้อย และผู้มาบวชก็ล้วนแต่เป็นผู้ "เบื่อโลกแล้ว" ไม่ค่อยสนใจไยดีในลาภสักการะ หรือความมั่งมีศรีสุขแล้ว สิ่งเหล่านี้เขามีกันมาก่อน บางคนมีมากจนเอียน รู้สึกเบื่อหน่าย จึงหนีมาบวชเพื่อมรรคผลนิพพาน

เมื่อบวชมาแล้ว ก็เต็มใจประพฤติพรหมจรรย์ จนได้บรรลุมรรคผลกันสูงต่ำตามความสามารถของแต่ละท่าน การเคลื่อนไหวทุกอย่างถูกต้องโดยอัตโนมัติ ไม่จำต้องบอกว่าอย่าทำอย่างนั้นให้ทำอย่างนี้ เพราะท่านจะรู้เองว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ

พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า สิกขาบทวินัยไม่จำเป็นต้องมี ศีลไม่ต้องบัญญัติ เพราะท่าน "มีศีลเอง" โดยอัตโนมัติแล้ว

ต่อเมื่อจำนวนผู้มาบวชมีมากขึ้น คนที่มาบวชมาด้วยเจตนาและเหตุผลแตกต่างกัน บางคนไม่พร้อมแต่มาบวชก็มี เมื่อบวชมาแล้ว ได้ลาภสักการะที่ประชาชนผู้เลื่อมใสถวายให้ ก็อาจถูกลาภสักการะครอบงำ ทำให้หลงใหล เคลิบเคลิ้มตกอยู่ในอิทธิพลของรูปรสกลิ่นเสียง อันนี้แหละเรียกว่า อาสวัฏฐานียธรรม อันจักนำไปสู่การกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรแก่สมณะต่อไป

บางท่านบวชด้วยกุศลเจตนา แต่ไม่ทราบชัดว่าบวชมาแล้วต้องทำอย่างไร อาจหลงทำการที่ไม่เหมาะสมแก่สมณสารูปจนเป็นเหตุให้ถูกตำหนิจากพระพุทธองค์ก็มี ดังเรื่องที่เป็นสาเหตุแห่งปฐมบัญญัตินี้

เกริ่นมายาวนาน ขอเข้าเรื่องเสียที ในเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เกิดความประทับใจ อยากบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อเขากลับมาบ้าน แจ้งความประสงค์ของตนให้บิดามารดาทราบ ก็มีอันขัดข้องทางเทคนิคทันที

พ่อแม่ไม่เห็นด้วย เพราะชายหนุ่มซึ่งมีนาม (ลืมบอก) ว่า สุทิน นั้นเป็นบุตรชายโทนของตระกูลที่มั่งคั่ง พ่อแม่ก็ต้องหวังสิครับ หวังให้สืบวงศ์สกุล มีลูกมีหลานสืบทอดกันต่อไป เรื่องอะไรจะให้บวช เท่ากับเป็นการ "ตัด" วงศ์ตระกูล ใครเขาจะยอม

เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ สุทินก็ประท้วง มิได้รวบรวมพรรคพวกมาก่อม็อบประท้วงดอกครับ เธอเล่นประท้วงเงียบ คือเข้าห้องปิดประตูเงียบ ไม่ยอมกินข้าวปลา อดอาหารอยู่ถึงสามวัน มิไยพ่อแม่จะวิงวอนอย่างไรก็ไม่ยอมกิน จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้บวชว่าอย่างนั้นเถอะ

พ่อแม่สุทินจึงไปตามเพื่อนซี้ของเธอมา ขอให้ช่วยเกลี้ยกล่อมให้สุทินลูกรักเลิกคิดบวชเสียเถอะ เพื่อนๆ ก็อาสาช่วยพูดกับสุทินให้เลิกล้มความตั้งใจ แต่ก็ล้มเหลว ไม่สามารถให้สุทินเปลี่ยนใจได้



ปางปฐมบัญญัติ (๒)
เพื่อนซี้คนหนึ่งจึงพูดกับพ่อแม่ของสุทินว่า "ผมว่าให้ ไอ้ทิน (เพื่อนรักกันย่อมใช้สรรพนามอย่างนี้แน่นอน) มันบวชไปเถอะ คุณพ่อคุณแม่"

"บวชไม่ได้นะลูก แล้วใครจะสืบวงศ์ตระกูล พ่อแม่มีลูกชายคนเดียวเท่านั้น" สองตายายบอก

"ให้มันบวชเถอะ คุณพ่อคุณแม่ สุทินมันเป็นคนรักสนุก และเปราะบางออกอย่างนี้ รับรองว่าบวชไม่ถึงสัปดาห์ดอก ต้องสึกแน่ เพราะชีวิตสมถะนั้นต้องนอนกลางดินกินกลางทรายอยู่ได้ด้วยภิกษาจาร สุทินมันทนความลำบากไม่ไหวแน่ๆ"

พ่อแม่ของสุทินเห็นด้วย จึงออกปากอนุญาตให้ลูกชายบวชตามปรารถนา พอได้ยินคำว่า "ลูกอยากบวชก็บวชเถอะลูก พ่อแม่ไม่ห้าม" เท่านั้นแหละครับ สุทินเธอก็ลุกขึ้น ยิ้มแย้มแจ่มใส

เมื่อไปบวชแล้ว พระสุทินก็เรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์ เดินทางไปยังที่อื่น เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ไม่กลับบ้านเดิมเลย เป็นเวลาหลายปี ปล่อยให้พ่อแม่รอแล้วรออีกว่าเมื่อไรพระลูกชายจะสึกมาอยู่บ้านตามเดิม

"ไหน เพื่อนลูกชายว่า ลูกของเราเปราะออกอย่างนี้ บวชไม่นานดอก ทำไมจนป่านนี้แล้วยังไม่สึกเลย" พ่อแม่พระใหม่รำพึง นั่งรอวันแล้ววันเล่า จนเกือบจะหมดหวังอยู่แล้ว ก็พอดีได้ยินเสียงสาวใช้ร้องขึ้นวันหนึ่ง
"นายๆ คุณผู้ชายกลับมาแล้วๆ"
"ไหน อยู่ไหน" พ่อแม่พระสุทินร้องถามด้วยความลิงโลดใจ
"ดิฉันเห็นท่านเดินผ่านหน้าบ้านเราไปโน่นแล้ว" สาวใช้เล่ารายละเอียดว่า นางเปิดประตูบ้าน กำลังจะเอาขนมที่เริ่มบูดไปเททิ้ง ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งพูดว่า ถ้าจะทิ้งให้เอาใส่บาตรอาตมาเถอะ นางจึงเอาไปใส่บาตรท่าน เห็นหน้าท่านแล้วจำได้ว่าต้องเป็นคุณผู้ชายแน่

เศรษฐีให้คนตามไปนิมนต์ภิกษุหนุ่มมาที่คฤหาสน์ ปรากฏว่าใช่สุทิน บุตรชายโทนของตนจริงๆ

เรื่องราวเป็นอย่างไร เห็นจะต้องอ่านตอนต่อไปแล้วละครับ

เมื่อพระลูกชายมาบ้าน สองตายายก็ร้องไห้รำพัน ผู้เป็นพ่ออาการหนักกว่าเพื่อน หาว่าลูกชายทำให้เสียเกียรติ ลูกหนอลูก เป็นถึงลูกชายเศรษฐีผู้มั่งคั่ง มีหน้ามีตาของบ้านนี้เมืองนี้ทำไมมาทำให้พ่อแม่เสียหน้า

พระลูกชายถามว่า "เสียหน้าอย่างไร โยม"

"ก็ลูกเที่ยวขอทานเขากินนะสิ พ่อแม่จะเอาหน้าไปไว้ไหน ใครเขาไม่รู้ความจริงเขาจะหาว่าเราหมดเนื้อหมดตัวแล้ว ลูกจึงต้องขอทาน"

"โยม อาตมามิได้ขอทาน อาตมาเที่ยวภิกขาจาร อันเป็นจารีตที่พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งปวงพึงทำ" พระลูกชายอธิบาย ผู้เป็นพ่อจึงกล่าวต่อไปว่า

"ช่างเถอะๆ ว่าแต่ว่าลูกจะลาสิกขามาครองเรือนตามเดิมไหม"

"อาตมามีศรัทธามั่นคงในพระศาสนา ไม่ยินดีหวนกลับมาอีกแล้ว ดุจคนที่หนีจากเรือนที่ถูกไฟไหม้ ไฉนจะหวนกลับมาอีก ดุจคนที่ตกหลุมคูถสกปรก อาบน้ำชำระกายให้สะอาด ทาด้วยแป้งกระแจะจันทน์หอม ไม่ยินดีลงไปสู่หลุมคูถเน่าเหม็นนั้นอีก ฉะนั้น"

"เมื่อลูกไม่สึก แล้วใครจะดูแลทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ ลูกเป็นลูกชายคนเดียวของตระกูลนะหาไม่จะไม่มีใครสืบสกุล นะลูก" พ่ออ้อนวอน เพื่อโน้มน้าวจิตใจพระลูกชายให้กลับมา จึงสั่งให้เขาขนเงินทั้งหมดมากองไว้ต่อหน้า กองกหาปณะสูงท่วมหัวเลย แล้วกล่าวต่อไปว่า

"ลูกดูสิ ทรัพย์มากมายอย่างนี้ ใครจะดูแล ถ้าขาดคนดูแล พ่อแม่คงนอนตายตาไม่หลับแน่"
"ถ้าโยมมีความวิตกกังวลถึงทรัพย์มากมายขนาดนั้น อาตมาขอแนะวิธีให้หายกังวล" พระลูกชายกล่าวอย่างสงบ
"อะไรหรือลูก" แววตา พ่อแม่เป็นประกายด้วยความหวัง
"ก็ให้เขาขนไปทิ้งทะเลเสียให้หมด จะได้ไม่ต้องทุกข์เพราะมีทรัพย์" เสียงของพระลูกชายยังคงเย็น สงบ เหมือนเดิม

ถ้าเราอยู่ในบรรยากาศนั้น คงได้ยินเสียงจ๊ากแน่นอน โดยเฉพาะผู้เป็นมารดาก็คงจะกรี๊ดๆ ด้วยความเสียใจ นึกไม่ถึงว่าพระลูกชายจะพูดคำนี้ออกมา

เมื่ออ้อนวอนอย่างไร ไม่มีท่าทีว่าพระลูกชายจะหวนกลับมาสู่โลกียวิสัยอีกต่อไปแล้ว เพราะมีศรัทธามั่นคงต่อพระศาสนาเหลือเกิน ผู้เป็นแม่จึงคิดอุบายได้ แล้วกล่าวเบาๆ ว่า

"ถ้าลูกไม่สึกก็ไม่เป็นไร แม่ขอหน่อ ไว้สักหน่อได้ไหม" โยมมารดาท่านใช้ศัพท์ว่า พีช แปลว่าพืช หรือหน่อ
"ได้" พระลูกชายตอบ หลังจากหยุดพิจารณาชั่วครู่



ปางปฐมบัญญัติ (๓)
สองตายายจึงให้เรียกลูกสะใภ้ (อดีตภรรยาของพระสุทิน) มา แล้วบอกว่า พ่อแม่ขอหน่อจากพระลูกชายไว้แล้ว จะได้มีผู้สืบสกุล พระสุทินหันมาพูดกับอดีตภรรยาของตนว่า "น้องหญิงพร้อมเมื่อไร บอกอาตมาก็แล้วกัน" ว่าแล้วก็ลุกขึ้น กลับไปยังที่พำนักของตน

คำว่า "พร้อม" ในความหมายของพระก็คือ ภรรยาถึงกำหนดไข่สุกพร้อมที่จะผสมพันธุ์ให้กำเนิดแก่บุตร เมื่อถึงเวลาเหมาะสมแล้ว นางก็กระซิบบอกพระสุทิน

ตำนานเล่าตอนนี้ว่า พระสุทินก็จูงมืออดีตภรรยาเข้าละเมาะแห่งหนึ่ง (ทำไมไม่ทำที่คฤหาสน์ของพ่อแม่ของตนก็ไม่ทราบสิครับ) แล้วก็เสพเมถุนธรรมกับนาง

อารมณ์ขันของผู้รวบรวมคัมภีร์ก็โผล่ออกมาให้เห็นว่า พระสุทิน เพื่อให้แน่ใจว่า ติดแน่ จึงทำซ้ำถึงสามหน ในเวลาไล่เลี่ยกัน

แล้วทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี หลังจากนั้นอดีตภรรยาของพระสุทินก็ตั้งครรภ์ เมื่อถ้วนทศมาสแล้วก็คลอดบุตรชาย น่าเกลียดน่าชังมาคนหนึ่ง ปู่ย่าตั้งชื่อให้ว่า พีชะ (แปลว่าเด็กชายพืชหรือหน่อ)

เด็กชายพืชเจริญเติบโตมา ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างอันไม่เป็นมงคลกระหึ่มเชียว "สะใภ้ม่ายบ้านโน้น อยู่ๆ ก็ท้องขึ้นมาได้ลูกชายมาคนหนึ่ง"

"ท้องกับใคร เขาว่าสามีหนีไปบวชแล้วมิใช่หรือ"
"ก็ท้องกับสามีนั่นแหละ บวชแล้ว แต่เล่นทั้งผ้าเหลืองเลย"
"อะไรกัน สมณะศากยบุตร ไหนว่าเคร่งครัดในพรหมจรรย์ไง ทำไมยังมาเสพเมถุนธรรมดุจดังชาวบ้านทั่วไป" ฯลฯ

เสียงลือ เสียงตำหนิติเตียนคงแพร่ไปกว้างขวางมาก จนพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงรับสั่งให้เรียกพระสุทินมาสอบสวนท่ามกลางสงฆ์ ตรัสถามว่า

"ภิกษุ เขาว่าเธอเสพเมถุนกับอดีตภรรยาเป็นความจริงหรือ"
"เป็นความจริง พระเจ้าข้า" พระสุทินยอมรับ
"โมฆบุรุษ เธอมาบวชในธรรมวินัยของตถาคต ผู้สรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์ ไฉนเธอยังเสพเมถุนกับมาตุคาม อันขัดต่อชีวิตพรหมจรรย์เล่า"

พระสุทินแย้งว่า ท่านทำด้วยจิตเป็นกุศล เพื่อตัดปัญหาถูกรบเร้าให้สึก คิดว่าเมื่อให้บุตรสืบสกุลไว้แล้ว โยมพ่อและโยมแม่ก็จะไม่มาขอให้ลาสิกขา ตนก็จะได้มีเวลาประพฤติธรรม ไม่น่าจะผิด

พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่ว่าจะเสพเมถุนธรรมด้วยจุดประสงค์ใด ถือว่าผิดทั้งนั้น และเป็นความผิดอันฉกรรจ์ด้วย เพราะขัดต่อชีวิตผู้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง ใครขืนทำลงไป ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพานในชีวิตพรหมจรรย์ ยกเว้นจะลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ รักษาศีลอย่างเคร่งครัด ย่อมมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า (คือมีทางขึ้นสวรรค์ได้)

พระองค์ทรงตำหนิพระสุทินต่างๆ นานา ทรงอธิบายว่าถ้าบัญญัติสิกขาบทแล้ว จะเกิดประโยชน์อย่างไรต่อภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาโดยส่วนรวมบ้าง (มีทั้งหมด ๑๐ ข้อด้วยกัน) แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

"ภิกษุใดเสพเมถุนธรรมกับมาตุคาม ภิกษุนั้นต้องปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที"

นี้เป็นปฐมบัญญัติ นัยว่าเป็นสิกขาแรกที่ทรงบัญญัติ โดยพระสุทินเป็นผู้ก่อเรื่อง ไม่ทรงเอาผิดพระสุทิน ทรงยกไว้ในฐานะ "ต้นบัญญัติ" (อาทิกัมมิกะ) แต่ถ้าใครทำต่อไปจะต้องถูกปรับอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที



ปางปฐมบัญญัติ (จบ)
พระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ ไม่แพร่หลาย จึงไม่ค่อยมีใครเห็น เป็นท่าสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองตะแคงยื่นตรงออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาบัญญัติพระวินัย เพื่อรักษาพระศาสนาไว้ให้มั่นคง

การจะทรงบัญญัติพระวินัยนั้น พระพุทธองค์ทรงเห็นประโยชน์ หรืออานิสงส์ของการบัญญัติ ๑๐ ประการ พูดด้วยภาษาสามัญก็ว่า ที่ทรงบัญญัติ ด้วยเหตุผล ๑๐ ประการ คือ
๑.เพื่อความดีงามแห่งสงฆ์ (บัญญัติขึ้นมาแล้วจะช่วยรักษาสงฆ์ให้มีความดีงาม น่าเลื่อมใสศรัทธา)
๒.เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ (พระสงฆ์มีศีลมีวินัยด้วยกันหมด ย่อมอยู่ผาสุก ไม่มีแกะดำแทรกทำให้วุ่นวาย)
๓.เพื่อกำราบทุมมังกุ (คนหน้าด้าน)
๔.เพื่อความผาสุกของภิกษุผู้ทรงศีล
๕.เพื่อกำจัดอาสวะในปัจจุบัน (ขจัดความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน)
๖.เพื่อป้องกันอาสวะที่จะเกิดในอนาคต (ป้องกันมิให้มีความเสื่อมเสียเกิดขึ้นในภายหน้า)
๗.เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
๘.เพื่อให้ผู้เลื่อมใสแล้ว เลื่อมใสยิ่งขึ้น
๙.เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม (เพื่อให้พระศาสนาดำรงมั่น)
๑๐.เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย (เพื่อสนับสนุนหลักการ คือความเป็นระบบระเบียบ)

พระวินัยที่ทรงบัญญัติแล้ว พระสงฆ์ต้องรักษาอย่างเคร่งครัด ไม่ละเมิดเป็นอันขาด ความผิดมีตั้งแต่ขั้นอุกฤษฏ์ จนถึงขั้นเบา ขั้นหนักที่สุดก็ขาดจากภิกษุภาวะทันที ไม่ว่าใครจะโจทก์หรือไม่ก็ตาม ถ้ารู้ตัวแล้วก็ต้องสึกออกมา ถ้าขืนอยู่ในเพศสมณะต่อไป ท่านว่าเป็น "มหาโจร" เพราะหลอกลวงให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นพระภิกษุ บาปสองเท่าอีกครับ

ดูตามนี้ เมื่อพระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว ทุกอย่างก็น่าจะราบรื่นดี ไม่น่าจะมีอะไร แต่อย่างว่าแหละครับ ช่วงหลังๆ นี้คนที่ยังไม่พร้อม คนที่ยังไม่เบื่อหน่ายโลกียวิสัยมาบวชกันมากขึ้น บ้างก็มาด้วยจิตเป็นกุศล บ้างก็อาจจะแฝงมาด้วยเจตนาอย่างอื่น จึงมีความจำเป็นต้องบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติม อันเรียกด้วยภาษาเทคนิคว่า "อนุบัญญัติข้อบัญญัติภายหลัง ข้อบัญญัติเพิ่มเติม"

ในเรื่องปฐมปาราชิกนี้ก็เป็นอย่างนั้น หลังจากพระพุทธองค์ทรงบัญญัติปฐมปาราชิกแล้วก็มีภิกษุรูปหนึ่ง อยู่ที่กุฏิในวัดป่าแห่งหนึ่ง ภิกษุรูปนี้เลี้ยงลิงไว้จำนวนมาก แค่เลี้ยงลิงนี่ก็ไม่ผิดอะไร แต่ท่านรูปนี้ไปมีอะไรกับนางลิงด้วย

และก็คงจะปฏิบัติเป็นประจำ จึงเกิดเรื่องขึ้น คือมีพระจากต่างถิ่นมายังอารามนั้น ขณะนั้นพระเจ้าของกุฏิไม่อยู่ ฝูงลิงทั้งหลายก็ร้องเจี๊ยวจ๊าวๆ นางลิงตัวหนึ่งวิ่งมากอดขาภิกษุรูปหนึ่ง แล้วก็ทำท่าดุจกำลังต้องการเมถุนธรรม มันก็คงนึกว่าเป็น "คู่ขา" ของมันกระมัง

ภิกษุอาคันตุกะสงสัย จึงบอกกันต่อๆ ไป แล้วคอยแอบดู เมื่อพระเจ้าของกุฏิกลับมา นางลิงคู่ขาก็วิ่งมาหา ทั้งพระทั้งลิงก็พากันเข้าไปในกุฏิ ปิดประตูเงียบ

บรรดานักสืบเป็น ก็ค่อยๆ ย่องๆ ไปแอบดู ผ่านช่องฝา เห็นการกระทำอัน "ไม่เหมาะแก่สมณะ" เข้า ก็กรูกันเข้าไปจับได้คาหนังคาเขา แล้วนำไปหาพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ทรงสอบสวนภิกษุรูปนั้น ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ว่า "ได้ยินว่าเธอเสพเมถุนกับนางลิงหรือ"

"จริง พระเจ้าข้า" เธอรับ
"โมฆบุรุษ เธอไม่รู้หรือว่า เราตถาคตได้บัญญัติสิกขาบทห้ามพระเสพเมถุน" พระพุทธองค์ทรงซัก

"ห้ามกับมนุษย์เท่านั้น ไม่ครอบคลุมสัตว์เดรัจฉานด้วย มิใช่หรือ พระเจ้าข้า" เธอเถียง (เธออาจเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ หรือ "หัวหมอ" ก็ได้)

พระพุทธองค์จึงทรงเห็นว่าสิกขาบทวินัยยังไม่รัดกุมพอ จึงทรงบัญญัติเพิ่มเติม (อนุบัญญัติ) ว่า "ห้ามภิกษุเสพเมถุนธรรมกับมาตุคาม ในที่สุดแม้กระทั่งกับสัตว์เดรัจฉานก็ไม่ได้"

นี้คือความเป็นมาของพระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ นำเอา อนุบัญญัติมาเล่าพ่วงท้ายเพื่อให้เห็นว่า สิกขาบทวินัยของพระพุทธองค์ทรงปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อความเรียบร้อยแห่งภิกษุสงฆ์ และเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด



หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 19:00:35
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/99617558138238_a1.gif)

ปางประทานอภัย (๑)

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในท่ายืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองเสมอพระอุระ ยื่นออกไปข้างหน้า แบฝ่าพระหัตถ์ ดุจดังท่าห้ามสมุทร อีกท่าหนึ่งประทับ ยกพระหัตถ์ทั้งสองเสมอพระอุระ หันฝ่าพระบาทเข้าหากัน ไม่เป็นที่รู้จักกันนัก (เพราะส่วนมากปางประทานอภัย คนมักจะเข้าใจว่าเป็นท่าเดียวกับปางแสดงธรรมธรรมจักร)

ถามว่าประทานอภัยให้ใคร ตอบว่าประทานให้พระเจ้าอชาตศัตรู ผู้ทรงทำผิดมหันต์คือทรงทำปิตุฆาต ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร พระราชบิดา

มีเรื่องเล่าว่า พระเทวทัตออกบวชพร้อมกับพระราชกุมารแห่งศากยวงศ์ อันมี เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เป็นต้น ทั้งหมด ๗ องค์ รวมทั้งนายภูษามาลานามว่า อุบาลี หลังบวชแล้วก็ตั้งตาปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุฌานโลกีย์ มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ เรื่องก็น่าจะเป็นไปด้วยดี แต่ก็สะดุดจนได้

เมื่อชาวบ้านเข้ามาวัด ต่างก็ถามว่าพระอานนท์อยู่ที่ไหน พระอนุรุทธะอยู่ที่ไหน พระอัครสาวกอยู่ที่ไหน...ไม่มีใครค่อยถามถึงพระเทวทัตบ้างเลย ท่านก็เกิดความน้อยใจว่า พระเหล่านี้บ้างก็บวชจากตระกูลชาวไร่ชาวนา บ้างก็บวชจากราชตระกูล มีดีอะไรหนักหนา จึงมีญาติโยม "ขึ้น" กันมาก เราเองก็เป็นถึงราชกุมาร มีอะไรด้อยไปกว่าพวกนี้หรือ ญาติโยมจึงไม่ให้ความสนใจเลย

คนเราลงได้คิดอย่างนี้แล้ว ไม่ว่าพระหรือโยมละครับ ยากที่จะเดินไปตามร่องรอยที่ควรเดิน มันย่อม "ซิกแซ็ก" จนได้ในที่สุด เทวทัตเองก็ไม่พ้นกฎนี้ ท่านมานั่งนึกวางแผนว่าทำอย่างไร จึงจะมีคนเคารพนับถือ มีลาภสักการะมาก

เสียดายท่านเทวทัตไม่เกิดสมัยนี้ ถ้าเกิดสมัยนี้ คงได้ที่ปรึกษาวางแผนดูดเงินจากทายกทายิกาจนหมดตูดดังเจ้ากูบางสำนักแน่นอน ท่านเทวทัตเห็นว่า เจ้าชายอชาตศัตรูยังเยาว์วัย และมีอนาคตอันสดใสจะได้เป็นพระราชามหากษัตริย์ครองเมืองราชคฤห์ ในเวลาไม่นานเราควรจะ "จับ" อชาตศัตรูกุมารให้อยู่หมัด

ว่าแล้วก็ดำเนินแผนการล้างสมอง อชาตศัตรู โดยแสดงอิทธิฤทธิ์ที่ตนมีให้เจ้าชายทึ่ง (ดีกว่าเจ้ากูบางคน แสดงเองไม่ได้ ต้องอาศัยเทคนิคทันสมัยเข้าช่วย ฉายแสงเลเซอร์ให้เห็นตะวันแก้วอะไรนั่น เละเทะไปเลยจ้ะ)

เมื่อได้อชาตศัตรูเป็นศิษย์ ก็ค่อยๆ เป่าหูให้เจ้าชายเชื่อถือจนกระทั่งให้สั่งจับพระราชบิดาขังคุก ให้อดพระกระยาหาร และทรมานจนสิ้นพระชนม์ ยึดราชบัลลังก์เมืองราชคฤห์ (ซึ่งไม่ยึดก็จะได้อยู่แล้ว) สำเร็จ เป็นเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่สืบแทนพระราชบิดา

ฝ่ายเทวทัตเอง ยืดอกได้อย่างผึ่งผายตั้งแต่ได้เป็นพระอาจารย์ของมกุฎราชกุมารแล้ว ยิ่งตอนนี้ได้เป็นพระอาจารย์ของพระราชายิ่งกร่างได้มากขึ้น ความอยากที่ค่อยๆ ฟักตัวมาตามลำดับ ใหญ่เติบกล้าขึ้น ขนาดอยากปกครองสังฆมณฑลแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า



ปางประทานอภัย (๒)
จึงวางแผนกำจัดพระพุทธองค์ โดยส่งนายขมังธนูไปดักยิงพระองค์ ขณะประทับเข้าสมาบัติอยู่ที่ถ้ำมัททกุจฉิ เชิงเขาคิชฌกูฏ แต่ก็ล้มเหลว นายขมังธนูถูกพระพุทธองค์แสดงพระธรรมเทศนาให้ฟังจึงเปลี่ยนใจไม่ทำตามแผนของเทวทัต

ครั้งที่สองเทวทัตลงมือเอง ปีนเขากลิ้งก้อนหินลงมา หมายให้ทับพระพุทธองค์ ด้วยพุทธานุภาพ ก้อนหินกระเด็นไปกระทบชะง่อนผา กลิ้งไปทางอื่น แต่สะเก็ดหินกระเด็นไปต้องพระบาท ทำให้พระโลหิตห้อ

ครั้งที่สาม สั่งปล่อยช้างนาฬาคิรี ช้างทรงที่กำลังตกมัน หมายจะให้ไปสังหารพระพุทธองค์ ขณะเสด็จออกบิณฑบาต ในเมืองราชคฤห์ เช้าวันหนึ่ง ด้วยพุทธานุภาพอีกเช่นกัน ช้างตกมันเมื่อไปใกล้พระพุทธองค์ ต้องกระแสจิตอันประกอบด้วยพระเมตตา ถึงกับหยุดชะงัก หมอบลงถวายบังคมแทบยุคลบาท พระพุทธองค์ทรงลูบกระพองมันเบาๆ พลางมีพระพุทธกระแสรับสั่งสองสามประโยค พญาคชสารลุกขึ้น เดินกลับไปยังโรงช้างอย่างสงบ

เหตุการณ์ทั้งสามครั้งนี้ ไม่ระบุว่าพระเจ้าอชาตศัตรูรู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ เข้าใจว่าคงไม่ เพราะบังอาจคิดร้ายต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเสียงบอกต่อๆ กันว่า ใครจะเสียอีก ก็พระเทวทัตนั่นแหละเป็นตัวการ

นายขมังธนู ก็พระเทวทัตส่งไป ผู้ที่กลิ้งหินหมายทับพระพุทธองค์ ก็พระเทวทัต คราวนี้ชั่วร้ายถึงกับสั่งปล่อยช้างตกมันไปสังหารพระพุทธองค์ คน เอ๊ย พระอะไรช่างใจโหดใจเหี้ยมปานนี้

พระเจ้าอชาตศัตรูทรงตกพระทัยมากที่เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ทรงรู้สึกพระองค์ทันทีว่า เพราะคบพระเทวทัตแท้ๆ ที่ทำให้พระองค์ถลำลึกสู่ห้วงบาป ยากจะถอนได้ จนได้ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่า "พ่อบังเกิดเกล้า" ของพระองค์เอง ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์มา ไม่เคยมีความสงบ โปร่ง โล่งพระราชหฤทัยเลย บรรทมไม่หลับสนิท มีอันต้องผวากลางคืนทุกที คราวนี้เกิดเรื่องใหญ่ถึงขั้นปองร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าเกิดสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์จริง บาปอันใหญ่หลวงนั้น ก็ต้องตกมาถึงพระองค์แน่นอน แม้ว่าจะไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย แต่พระองค์ก็เป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องนี้ เพราะช้างทรงเป็นของพระองค์ ยากจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ ดีว่าพระพุทธองค์ไม่ทรงเป็นอะไร

ทรงนึกมาถึงตรงนี้แล้วก็เสียววูบในพระราชหฤทัย จึงทรงคิดตัดไฟแต่ต้นลม คือเลิกคบพระเทวทัต ประกาศถอนความอุปถัมภ์ทุกอย่างที่เคยพระราชทานให้พระเทวทัตและบริษัทบริวาร

พระเทวทัตถูกตัดขาดจากพระเจ้าอชาตศัตรู เสมือนนักมวยถูกต้อนเข้ามุม หนีไม่ได้แล้ว มีทางเดียวหลับหูหลับตาปล่อยหมัดออกไป ถูกคู่ต่อสู้หรือไม่ก็ต้องเสี่ยง ฉันใดฉันนั้น จะให้ถอยหรือ คงยากเสียแล้วเพราะมาไกลสุดกู่แล้ว จึงวางแผนการสุดท้าย เข้าไปยื่น "เงื่อนไข" ๕ ประการแด่พระพุทธองค์ เช่น ขอให้ห้ามพระฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต ให้อยู่โคนไม้ อยู่ป่า ถือผ้าบังสุกุลเป็นนิตย์ เป็นต้นถูกพระพุทธองค์ปฏิเสธ

พระองค์ตรัสว่า อย่าออกเป็นกฎเกณฑ์เลย ใครอยากอยู่โคนไม้ อยู่ป่า เป็นต้นก็ขอให้เป็นความต้องการส่วนตัวเถอะ ชีวิตพระสงฆ์เนื่องด้วยชาวบ้าน จะไปกำหนดฉันสิ่งนั้น ไม่ฉันสิ่งนี้ จะสร้างความลำบากให้ชาวบ้าน กลายเป็นคนมากเงื่อนไข เลี้ยงยากไป

พระเทวทัตประกาศก้องว่า ท่านทั้งหลาย พระพุทธเจ้าตรัสเสมอว่าทรงสรรเสริญการปฏิบัติขัดเกลา ครั้นเราเสมอแนวทางขัดเกลายิ่งขึ้นกลับปฏิเสธ แสดงว่าพูดแต่ปาก ใครเห็นด้วยกับเรา ตามเรามา ว่าแล้วก็เดินออกจากที่ประชุม มิไยพระพุทธองค์จะทรงตักเตือนว่าอย่าทำกรรมหนักก็ไม่ยอม พระบวชใหม่จำนวนห้าร้อยรูป ยังไม่รู้พระธรรมวินัยดี เห็นว่าเทวทัตพูดเข้าทีจึงเดินตามออกไป

เทวทัตได้ประกาศแยกตัวออกจากสังฆมณฑล แยกทำอุโบสถสังฆกรรม ได้ทำ "สังฆเภท" (ทำสงฆ์ให้แตกกัน) ตั้งแต่บัดนั้นแล



ปางประทานอภัย (๓)
เมื่อมีพระบวชใหม่จำนวนห้าร้อยรูปตามไปอยู่ด้วย ทำให้เทวทัตเหิมเกริม กระหยิ่มยิ้มย่องว่าตนมีบารมี มีสมัครพรรคพวกไม่น้อย อย่างนี้จะวางโปรเจ็กต์อะไรก็คงสำเร็จ อย่าว่าแต่สร้างเจดีย์มหึมามีพระพุทธรูปล้อมรอยเป็นหมื่นๆ องค์เลย อะไรทำนองนั้น

แต่เทวทัตก็ดีใจได้ไม่นาน พระทั้งห้าร้อยรูปนั้นถูกพระสารีบุตรอัครสาวกมาชี้แจงว่าอะไรถูก อะไรผิด เกิดความเข้าใจภายหลังว่าพวกตนหลงผิดไปแล้ว จึงกลับไปสู่ "อ้อมอก" พระบรมศาสดาตามเดิม

เหลืออยู่กับเทวทัตก็แต่ โกกาลิกะ กับอีกสองสามรูป โกกาลิกะนั้นว่ากันว่าเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาไปในตัว เห็นอาจารย์ของตนประมาท ปล่อยให้ลูกน้องกลับไปหาพระพุทธเจ้าอีก ก็โกรธ เกิดการต่อว่าต่อขานกันขึ้น โกกาลิกะบันดาลโทสะ เอาเข่ากระทุ้งยอดอกอาจารย์ จนกระอักโลหิต ตำราเขียนถึงขนาดนั้นนะครับ

ว่ากันว่าที่เทวทัตป่วยในเวลาต่อมาก็เพราะสาเหตุนี้ด้วย คงตรอมใจด้วย ท้ายสุดเมื่อสำนึกผิด ให้ศิษย์หามไปยังพระเชตวัน เพื่อขอขมาพระพุทธองค์ แต่ไม่ทันถึง ก็ถูกแผ่นดินสูบที่หน้าพระเชตวัน ดังที่ทราบกันดีแล้ว

กล่าวถึงพระเจ้าอชาตศัตรู ตั้งแต่ปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้ว บรรทมไม่หลับสนิทตลอดมา มีอันต้องผวาตื่นกลางดึกทุกครั้ง บาปมหันต์เป็นดุจตะปูตรึงใจ คิดขึ้นมาทีไรก็เสียวแปลบทุกครั้ง ณ ราตรีหนึ่ง พระจันทร์เพ็ญเต็มดวง ส่องแสงนวลใย น่ารื่นรมย์ยิ่ง พระเจ้าอชาตศัตรู ประทับท่ามกลางเหล่าเสนามาตย์ ทรงเปรยขึ้นว่า ราตรีอันมีพระจันทร์เพ็ญส่องแสงสว่างนวลใยเช่นนี้ เราควรจะไปสนทนาธรรมกับสมณพราหมณ์ท่านใด ให้จิตใจสงบดีหนอ"

มหาอำมาตย์คนที่หนึ่งกราบทูลว่า "ขอเดชะ ปูรณะ กัสสปะ เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิที่รู้แจ้ง เห็นจริง ข้าพระพุทธเจ้า คิดด้วยเกล้าฯ ว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ควรไปสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ปูรณะ กัสสปะ พ่ะย่ะค่ะ"

มหาอำมาตย์คนที่สอง คนที่สาม คนที่สี่ คนที่ห้า คนที่หก ต่างก็กราบทูลเอ่ยนาม คณาจารย์อื่นอีก ห้าท่าน คือ มักขลิ โคสาละ, อชิตะ เกสกัมพล, ปกุธ กัจจายนะ, นิครนถ์ นาฏบุตร และสัญชัย เวลัฏฐบุตร ตามลำดับ ว่าแต่ละท่านล้วนเป็นสัพพัญญู รู้แจ้งเห็นจริงจะสามารถดับความร้อนพระทัยของพระเจ้าอยู่หัวได้


แต่พระเจ้าอชาตศัตรูประทับนิ่ง ไม่มีพระราชกระแสรับสั่งต่อแต่ประการใด ทรงหันมายังหมอชีวกโกมารภัจจ์ ผู้นั่งสงบอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ ตรัสถามว่า "ชีวก เธอไม่เสนออะไรหรือ"

หมอชีวกโกมารภัจจ์ กราบทูลว่า "ขอเดชะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ขณะนี้ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของข้าพระพุทธเจ้า พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนห้าร้อยรูป พระเจ้าข้า"  



ปางประทานอภัย (จบ)
พอได้ยินพระนามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงนึกขึ้นมาได้ว่า พระองค์อยากเข้าเฝ้านานแล้ว แต่พระเทวทัต อาจารย์ของพระองค์ทรงกีดกันไม่ให้เฝ้า จนกระทั่งพระองค์ถลำสู่ห้วงบาปลึกปานฉะนี้ บัดนี้ถึงเวลาที่จะไปเฝ้าฟังธรรมจากพระองค์

จึงทรงมีพระราชบัญชาให้หมอชีวกโกมารภัจจ์นำเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ ราตรีนั้นทีเดียว หมอชีวกนำเสด็จเข้าไปยังสวนมะม่วงของตน ผ่านต้นมะม่วงซึ่งเรียงรายกันเต็มสวน มีเพียงแสงสลัวๆ ของดวงจันทร์ ลอดผ่านระหว่างต้นมะม่วงแต่ละต้น พระเจ้าอชาตศัตรูทรงระแวงว่าหมอชีวกจะหลอกมาปลงพระชนม์ จึงกระโดดจับแขนหมอชีวก ตวาดเสียงดังว่า "ชีวก แกลวงเรามาฆ่าหรือ"

หมอชีวกโกมารภัจจ์ ปรามเบาๆ ว่า "อย่าเอ็ดไป พระเจ้าข้า จะรบกวนพระสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข ขอให้พระองค์ทอดพระเนตรไปข้างหน้าให้ดีๆ เถิด พระเจ้าข้า"

เมื่อสายพระเนตรพระเจ้าอชาตศัตรูชินกับความมืดแล้ว ทอดพระเนตรไปยังข้างหน้า ภาพแห่งพระสงฆ์จำนวนร้อยๆ นั่งห้อมล้อมพระพุทธองค์ ปรากฏให้เห็นเป็นที่มหัศจรรย์ มหัศจรรย์ที่ที่คนเป็นร้อย ไม่มีแม้แต่เสียงเคลื่อนไหว ไม่มีเสียงกระแอมกะไอเลย

พระเจ้าอชาตศัตรู สาวพระบาทไปใกล้ๆ เมื่อจวนถึงที่ประทับก็ทรงคลานเข้าไป กราบถวายบังคมแทบพระยุคลบาท ทรงเปล่งอุทานด้วยความตื้นตันในพระราชหฤทัยว่า

"ขอให้อุภัยภัททะ ของหม่อมฉันมีความสงบอย่างนี้เถิด"

อุภัยภัททะ เป็นพระนามของพระราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูครับ

ตรงนี้มีข้อน่าสังเกตคือ คนเราเวลาได้ประสบพบเห็นอะไรดีๆ ก็มักจะนึกถึงคนที่ตัวรักที่สุด คือบุตร และภรรยา ไม่ต้องสงสัยว่า พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรักพระราชโอรสมาก เมื่อได้สัมผัสกับความสงบที่ไม่เคยได้รับมาก่อนในชีวิต จึงอยากให้ "ลูกรัก" ของพระองค์เอง ได้เป็นอย่างนี้บ้าง

แต่อุภัยภัททะ ก็หามีความสงบไม่ ได้ทำปิตุฆาต ยึดราชบัลลังก์ของเสด็จพ่อ ดำเนินตามรอยเสด็จพ่อไม่ผิดเพี้ยน ว่ากันว่าราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์อัปมงคล ลูกฆ่าพ่อติดต่อกันถึง ๗ รัชกาล จนประชาชนทนต่อไปไม่ไหว ลุกฮือขึ้นล้มราชวงศ์ สถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นแทน ว่ากันอย่างนั้น

พระเจ้าอชาตศัตรูได้กราบขอขมาพระพุทธเจ้า ในความผิดมหันต์ที่พระองค์ได้ทรงกระทำว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หม่อมฉันได้กระทำอันหนัก ด้วยการปลงพระชนม์พระราชบิดา เพราะได้บาปมิตร มิตรชั่วเช่นพระเทวทัต ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นขึ้น หม่อมฉันนอนหลับไม่สนิทตลอดมา มีความทุกข์โทมนัสเป็นอย่างยิ่ง หม่อมฉันได้ผิดต่อพระผู้บังเกิดเกล้า ผิดต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ไม่ได้มีโอกาสสดับตรับฟังพระพุทธโอวาท จนก้าวถลำพลาดในชีวิตอย่างใหญ่หลวง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หม่อมฉันใคร่ขอกราบประทานอภัยในความผิดที่หม่อมฉันได้กระทำครั้งนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ตรัสว่า มหาบพิตร ตถาคตอภัยให้ในความผิดพลาดที่แล้วมา ต่อไปในกาลข้างหน้า มหาบพิตรพึงสำรวมระวังอย่าได้กระทำความผิดเช่นนั้นอีก

เมื่อพระพุทธเจ้าประทานอภัยให้แล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูก็แช่มชื่นพระราชหฤทัย ทรงสดับพระธรรมเทศนาอันบันทึกในภายหลังว่า "สามัญญผลสูตร" (พระสูตรว่าด้วยผลของการบวชประพฤติพรหมจรรย์) จบแล้วได้ปฏิญาณถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึกตลอดพระชนม์ชีพ

พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงทำประทักษิณ พระพุทธองค์เสด็จดำเนินถอยหลังออกไป จนล่วงทัศนวิสัยแล้วจึงผินพระปฤษฎางค์ให้พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ เป็นการแสดงความเคารพสูงสุดต่อพระรัตนตรัย ด้วยประการฉะนี้



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/83774296277099_7.png)

ปางชี้อสุภะ (๑)

เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงมา พระหัตถ์ขวาทรงชี้พระดรรชนีไปข้างหน้า ว่ากันว่าทรงชี้ไปที่ศพอดีตสาวงามนางหนึ่ง นางนั้นชื่อเรียงเสียงใด ติดตามผมมา ณ บัดนี้

เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์นั้น ในพระนครราชคฤห์มีนางนครโสเภณีนางหนึ่ง ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งสูงส่ง เพื่อเป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่เมือง นามว่า สาลวดี

ช้าก่อนครับ บางท่านอาจจะแย้งขึ้นมาว่า ตำแหน่งนครโสเภณี ไฉนไยจึงเป็นตำแหน่งมีเกียรติเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมือง สงสัยเช่นนั้นใช่ไหมครับ เป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ สมัยนั้นเมืองไพศาลี แห่งแคว้นวัชชี ของพวกกษัตริย์ลิจฉวี เป็นแห่งแรกที่สถาปนาตำแหน่งนครโสเภณีขึ้นมา

ปรากฏว่ากษัตริย์ผู้ครองนครน้อยใหญ่ ตลอดจนพ่อค้าวาณิชผู้มั่งคั่ง ต่างก็เดินทางไปแสวงหาความสุขสำราญ จากสำนักโสเภณีเมืองไพศาลีไม่ขาดสาย เงินตราสะพัด ทำให้เมืองไพศาลีมั่งคั่งทันตาเห็น นางนครโสเภณีกลายเป็นตำแหน่งที่ดึงดูดเงินตราเข้าประเทศอย่างคาดไม่ถึง ไพศาลีกลายเป็น amazing Vaisali ด้วยประการฉะนี้

พระเจ้าพิมพิสารก็คงเป็นหนึ่งในจำนวนผู้นำเงินเข้าประเทศนี้ ด้วยปรากฏว่ามีบุตรอันเกิดจากนางนครโสเภณีเมืองนี้หนึ่งคน ผู้เป็นแม่ส่งไปยังราชสำนักเมืองราชคฤห์ พร้อมมอบธำมรงค์ที่ได้ประทานจากพระเจ้าพิมพิสารเป็นประจักษ์พยาน พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงรับเด็กน้อยนั้นไว้ในราชสำนัก เมื่อเติบโตแล้วเด็กน้อยคนนั้นได้ไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

พระเจ้าพิมพิสารทรงคิดเอาอย่างเมืองไพศาลี จึงทรงคัดเลือกสาวงามผู้มีความรู้และความสามารถนางหนึ่ง นามว่าสาลวดี สถาปนาในตำแหน่งนครโสเภณี (ตามศัพท์แปลว่า ผู้ยังเมืองให้งาม หรือนางงามเมือง) เป็นศักดิ์เป็นศรีและเป็นเครื่องดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศ

พระเจ้าพิมพิสารเองก็คงเป็น "ขาประจำ" ของนางนครโสเภณีคนนี้เหมือนกัน ตำราอรรถกถา "กระซิบ" ว่า นางมีบุตรชายที่เกิดด้วยความเผอเรอคนหนึ่ง แล้วนำไปทิ้งไว้ใกล้ประตูพระราชวัง เจ้าชายอภัยเสด็จมาพบเข้า นำไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม เด็กน้อยคนนี้ต่อมาเป็นนายแพทย์ที่มีชื่อเสียง นามว่า ชีวกโกมารภัจจ์ ว่ากันว่าเป็นโอรสลับๆ ของพระเจ้าพิมพิสาร

หมอชีวกมีน้องสาวคนหนึ่งชื่อ สิริมา ไม่บอกว่าเกิดจากใคร เพราะเมื่อเกิดมาแล้วแม่ไม่นำไปทิ้ง เลี้ยงดูอย่างดี หวังจะให้สืบทอดตำแหน่งนครโสเภณีแทนตน และต่อมานางสิริมาก็ได้ตำแหน่งนี้จริงๆ

ตอนหลังนางสิริมาได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ บรรลุโสดาปัตติผล ถวายตนเป็นพุทธสาวิกา ผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย นางทำบุญตักบาตรทุกวัน วันละหลายรูป พระภิกษุหนุ่มเณรน้อยไปรับบิณฑบาตที่บ้านนางเป็นประจำ ต่างก็กล่าวสรรเสริญในความงาม และความใจบุญสุนทานของนาง

ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งได้ยินกิตติศัพท์ของนาง อยากยลโฉมขึ้นมาทันที เพื่อนพระด้วยกันต่างก็ชมว่านางสิริมาสวย อยากเห็นจังเลยว่างามขนาดไหน

ขอพักฉากนี้ไว้ก่อน ขอย้อนเล่าถึงเจ๊หวี เอ๊ย ภริยาของเศรษฐีนางหนึ่งนามว่า อุตตรา นางเป็นอุบาสิกาผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย แต่สามีของนางไม่นับถือพระพุทธศาสนา ศัพท์ทางพระเรียกว่าเป็น "มิจฉาทิฐิกบุคคล" (แปลว่าบุคคลผู้มีมิจฉาทิฐิ) ตั้งแต่แต่งงานมาอยู่กับตระกูลสามีไม่มีโอกาสได้ทำบุญตักบาตรเลย จึงส่งข่าวไปบอกปุณณกะเศรษฐี ผู้เป็นบิดา พร้อมขอเงินจำนวนหนึ่งเพื่อมาดำเนินการตามแผนของตน

แผนของนางก็คือ จะจ้างนางนครโสเภณีมาบำรุงบำเรอสามีแทนตน ตนเองจะได้มีโอกาสเข้าวัดฟังธรรม เมื่อได้เงินจากบิดามาแล้วก็ไปว่าจ้างนางสิริมาให้มาอยู่คอยปรนนิบัติสามี โดยความเห็นชอบของสามี นางขอเวลาเข้าวัดฟังธรรมกึ่งเดือน

สามีก็ดีใจสิครับ ที่มีสตรีสาวสวยรวยเสน่ห์มาคอยปรนนิบัติเอาใจ ข้างฝ่ายนางสิริมาแรกๆ ก็ทำตัวในฐานะ "ภรรยาชั่วคราว" ตามสัญญาว่าจ้าง แต่พออยู่ไปๆ ชักชอบ อยากอยู่บ้านนี้นานๆ เสียแล้ว

พอดีวันนั้น (ก็วันที่เกิดเหตุนั่นแหละครับ) เป็นวันที่ ๑๕ วันสุดท้ายแห่งสัญญาว่าจ้าง นางอุตตราเข้าครัวตระเตรียมอาหารเพื่อถวายแก่พระสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น เนื้อตัวขะมุกขะมอมด้วยเหงื่อและเถ้าถ่าน สามีของนางมองลงมาจากคฤหาสน์เห็นนางอุตตราตัวมอมแมมเช่นนั้น ก็นึกสมเพชในใจว่า "อุตตราเธอช่างโง่จริงๆ อยู่เป็นคุณนายของอาเสี่ยอย่างเราดีๆ ไม่ชอบ ชอบทำตนเป็นแม่ครัวตัวขะมุกขะมอมเชียว"

นึกแล้วก็ยิ้ม นางอุตตราหันไปเห็นสามียิ้มก็ยิ้มด้วย แล้วก็หันมาสาละวนอยู่กับการหุงต้ม ตระเตรียมอาหารเพื่อถวายพระพรุ่งนี้



ปางชี้อสุภะ (๒)
นางสิริมาหันมาเห็นสามีชั่วคราวของตน ยิ้มให้นางอุตตราก็โกรธ ตอนนี้เธอลืมตัวนึกว่าเป็นภรรยาจริงๆ ของเศรษฐีหนุ่ม ด้วยอารมณ์โกรธ อารมณ์หึง จึงแล่นเข้าไปในครัว เอาทัพพีตักน้ำมันที่กำลังเดือด ปรี่เข้ามาจะเทราดนางอุตตรา

นางอุตตรา ตั้งสติทัน แผ่เมตตาจิตไปยังนางสิริมาว่า นางมีบุญคุณใหญ่หลวงต่อเรา ที่มาช่วยรับภาระดูแลสามีแทนเราชั่วคราว หาไม่เราคงไม่มีโอกาสทำบุญทำทานอย่างนี้ เราไม่โกรธนาง ขอให้นางจงเป็นสุขๆ เถิด อย่ามีเวรมีภัยแก่กันและกันเลย

นางสิริมาเทน้ำมันที่เดือดพล่านนั้นรดนางตั้งแต่ศีรษะลงไปจนทั่วตัว น่าประหลาดน้ำมันที่ร้อนแสนร้อนนั้น กลับกลายเป็นดังหนึ่งน้ำหอมที่ชโลมร่างกายนาง บรรดาคนครัวทั้งหญิงและชายเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น ต่างก็ฮือกันเข้ามาจะทำร้ายนางสิริมา นางอุตตราได้ห้ามปรามไว้ "อย่าทำร้ายเพื่อนรักของเราเลย ปล่อยนางเถอะ"

นางสิริมาได้สำนึกรู้สึกชื่นชมน้ำใจนางอุตตรา ทั้งๆ ที่ตนร้ายต่อนางปานนี้ นางยังบอกว่าเราเป็นสหายรัก แถมยังห้ามปรามมิให้คนของตนทำร้ายเราอีกด้วย จึงหมอบลงแทบเท้าขออภัยโทษ

นางอุตตราบอกว่า ถ้านางรู้สึกผิดจริงๆ อย่าขอโทษฉันเลย ให้ไปขอโทษเสด็จพ่อของฉัน คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด

เมื่อนางสิริมาบอกว่าไม่รู้จักพระพุทธองค์ ไม่กล้าไปเฝ้า นางอุตตราจึงว่า "พรุ่งนี้พระพุทธองค์ก็จะเสด็จมาเสวยภัตตาหารที่บ้านฉันอยู่แล้ว พรุ่งนี้นางได้มีโอกาสเข้าเฝ้าแน่นอน"

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาเสวยภัตตาหารพร้อมภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น นางอุตตราจึงนำนางสิริมาเข้าเฝ้า พร้อมกราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทรงพระกรุณาประทานอภัยโทษให้นางสิริมา พระพุทธองค์ทรงยกโทษให้ แล้วแสดงธรรมเรื่องโทษของความโกรธให้นางฟังย่อๆ ความว่า

"บุคคลพึงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
พึงเอาชนะความไม่ดี ด้วยความดี
พึงเอาชนะความตระหนี่ด้วยการให้
พึงเอาชนะคนพูดพล่อยๆ ด้วยการพูดความจริง"

ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา นางสิริมาได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล สำนวนนี้แปลว่า ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน มั่นคงในพระรัตนตรัยอย่างไม่คลอนแคลนอีกต่อไป

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้น นางสิริมาได้เปลี่ยนเป็นคนละคนกับแต่ก่อน เปลี่ยนจากคนฉุนเฉียว ก้าวร้าว เย่อหยิ่งในความสวยความงามของตน กลายเป็นผู้สงบเสงี่ยม มั่นคงในพระรัตนตรัย ใจบุญสุนทาน ทำบุญใส่บาตรทุกวัน วันละหลายรูป ดังกล่าวมาข้างต้น

จนกระทั่งเกิดเหตุ มีภิกษุหนุ่มหลงรักเธอหัวปักหัวปำ เรื่องราวโดยพิสดารควรจะเป็นตอนสองนะ ขอรับ

เมื่อภิกษุหนุ่มทราบว่านางสิริมาสวยงามมาก จึงอยากเห็นด้วยตาตนว่างามจริงดังคำเล่าลือหรือไม่ รุ่งเช้าวันหนึ่ง จึงห่มจีวร อุ้มบาตร มุ่งตรงไปยังนิเวศสถานของนางสิริมา เพื่อรับบาตร (ความรับข้าวนั้นเป็นจุดหมายรอง จุดหมายหลักคือ อยากจะเห็นจะจะกับตาว่าจะเลิศสะแมนแตนแค่ไหน)

บังเอิญวันก่อนนั้น หลังจากนางใส่บาตรพระรูปสุดท้ายเสร็จ ก็รู้สึกไม่สบาย จึงนอนพักตลอดทั้งวัน รุ่งเช้าวันใหม่ก็ยังไม่หาย แต่ก็ยังให้คนใช้พยุงมาใส่บาตรจนเสร็จ

พระหนุ่มมองเห็นนางสิริมา อยู่ในสภาพอิดโรย มิได้ผัดหน้าทาแป้งอะไร เพราะกำลังป่วย แค่นี้ก็ตะลึงแลแล้ว "โอ แม้ป่วยไข้นางยังสวยงามปานนี้ ในยามไม่ป่วยไข้จะงามปานใด"

พูดแบบภาษาวรรณคดีก็ว่า พระภิกษุหนุ่มถูกศรรักแห่งกามเทพปักฉึกเข้าที่กลางดวงใจเสียแล้วละครับ เธอรับอาหารบิณฑบาตแล้ว เดินซึมกลับวัดไปถึงกุฏิก็วางบาตรไว้ข้างตัว นอนคลุมโปง ครางฮือๆ อยู่คนเดียว

เพื่อนภิกษุด้วยกันเห็นอาการแปลกประหลาดเช่นนั้น ก็พากันมาถามไถ่ เธอมิได้ปริปากพูดอะไร นอกจากส่งเสียงครางลอดจีวรออกมา

เพื่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สันนิษฐานเอาว่า พระหนุ่มคงหลงรักนางสิริมาเข้าเต็มเปาแล้ว จึงช่วยกันปลอบโยน ปลอบอย่างไรก็ไม่เป็นผล จึงต่างก็ผละไป



ปางชี้อสุภะ (จบ)
ว่ากันว่าพระหนุ่มเป็นอยู่อย่างนี้หนึ่งวันหนึ่งคืน ไม่พูดไม่จากับใคร ไม่ฉันอาหาร พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระคันธกุฎี ทรงทราบด้วยพระญาณว่าเกิดอะไรขึ้นกับภิกษุหนุ่ม แต่ก็ไม่ตรัสอะไร

ทรงทราบว่านางสิริมาสิ้นชีวิตในคืนวันที่เธอออกมาใส่บาตรนั้นแล พระพุทธองค์จึงมีพุทธบัญชาไปยังพระเจ้าพิมพิสารว่า อย่าเพิ่งเผาศพนางสิริมา ให้นำศพไปไว้ที่ "อามกสุสาน"

อามกสุสาน อ่านว่า "อา-มะ-กะ-สุ-สาน" แปลว่าป่าช้าผีดิบ อธิบายว่า ป่าช้าที่เขาเอาศพมาทิ้งไว้ ไม่เผา ปล่อยให้เป็นอาหารของแร้งกา บางท่านกล่าวว่า เป็นการให้ทานแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยแน่ะ

พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงให้จัดการตามพุทธบัญชา พระพุทธองค์ให้ประกาศป่าวร้องไปทั่วว่าวันนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จไปชมนางสิริมา ใครอยากไปขอให้เตรียมตัวโดยเสด็จ

เพื่อนภิกษุรูปหนึ่งไปบอกภิกษุหนุ่มที่นอนซมเพราะไข้รักรูปนั้น พอได้ยินคำว่า "สิริมา" เท่านั้น ก็โดดผึงออกจากที่นอน เทข้าวบูดในบาตรทิ้ง ล้างบาตรและเช็ดจนแห้งแล้ว ก็นุ่งสบงทรงจีวร ผลุนผลันลงจากกุฏิไป เดินตามขบวนเสด็จไปห่างๆ

พระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินไปยังป่าช้าผีดิบ ทรงยืนใกล้ๆ ศพนางสิริมา แล้วมีพุทธบัญชาให้ประกาศว่า "ใครอยากได้ร่างนางสิริมาไปเชยชม ให้จ่ายหนึ่งพันกหาปณะ"

ทั้งหมดเงียบ ไม่มีใครรับ ทรงให้ประกาศอีกว่า "ใครให้ห้าร้อยกหาปณะ เอาร่างนาง สิริมาไปครองได้เลย"

เงียบอีก
     "สองร้อยห้าสิบกหาปณะ"
     "สองร้อยกหาปณะ"
     "หนึ่งร้อยกหาปณะ"
     "ห้าสิบกหาปณะ"
     "ยี่สิบกหาปณะ"
     "สิบกหาปณะ"
     "ห้ากหาปณะ"
     "หนึ่งกหาปณะ"

ไม่มีเสียงตอบแม้แต่ครั้งเดียว จนกระทั่งลดราคาลงตามลำดับ จากกหาปณะเป็นบาท มาสก กากณิกเทียบกับเงินไทยก็ว่า จากบาทลงเป็นสลึง จากสลึงลงเป็นเฟื้อง เป็นไพ อะไรทำนองนั้น ก็ยังไม่มีใครแสดงความจำนงจะรับนางสิริมาไปเลย

ในที่สุดให้ประกาศว่า "ใครอยากได้เปล่าๆ เอาไปเลย"

เงียบเหมือนเดิม เรียกว่าเงียบฉี่ หรือเงียบเป็นเป่าสาก ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระพุทธองค์ทรงผินพระพักตร์มาทอดพระเนตรภิกษุหนุ่มชั่วขณะ แล้วทรงชี้ไปที่ศพนางสิริมาแล้วตรัสเปรยๆ ขึ้นในที่ประชุมนั้นว่า "ดูเอาเถิด ภิกษุทั้งหลาย จงดูมาตุคามที่เป็นที่รักที่ปรารถนาของปวงชนนามว่าสิริมานี้ แต่ก่อนเมื่อสมัยเธอยังมีชีวิตอยู่ ชาวพระนครนี้ให้ทรัพย์พันกหาปณะ เพียงเพื่ออภิรมย์กับเธอเพียงคืนเดียว บัดนี้แม้ให้เปล่าๆ ก็ไม่มีใครปรารถนา รูปร่างที่งามเห็นปานนี้ถึงความสิ้นและความเสื่อมไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงดูร่างกายนี้ อันเป็นของปฏิกูลเน่าเหม็น ดูให้เห็นสัจจะความจริงแห่งสังขาร"

พระองค์ได้ตรัสคาถา (โศลก) บรรยายธรรมสั้นๆ ว่า
     "จงดูอัตภาพร่างกายที่ว่าสวยงามนี้เถิด
     เต็มไปด้วยแผล สร้างด้วยกระดูก
     มากด้วยโรค มากด้วยความครุ่นคิดปรารถนา
     หาความยั่งยืนถาวรมิได้แม้แต่น้อยนิด"

กิริยาอาการที่ทรงชี้พระดรรชนีไปยังศพของนางสิริมา เพื่อตรัสสอนภิกษุหนุ่มนี้แลเรียกว่าทรงชี้อสุภะ คือชี้ให้เห็นความไม่งามของร่างกาย ชาวพุทธจึงได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งเหตุการณ์นี้ เรียกว่า ปางชี้อสุภะ

ภิกษุหนุ่มได้ตื่นจากภวังค์ พิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด



หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 19:02:29
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/58554882804552_a1.gif)

ปางทรงเครื่อง (๑)

พระพุทธรูปทรงเครื่องนี้ส่วนมากได้อิทธิพลมาจากฝ่ายมหายาน ผมไปประเทศที่นับถือมหายานมาหลายประเทศ อาทิ ทิเบต ภูฏาน มองโกเลีย จีน ได้เห็นพระพุทธรูปทรงเครื่องมามากมาย ในสายเถรวาทเราไม่ค่อยนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง เห็นมีแต่ "ปางทรงเครื่อง" ปางนี้ปางเดียวที่เป็นที่รับรู้กันในหมู่ชาวพุทธรุ่นก่อนๆ

เรียกกันว่า พระพุทธรูปปางโปรดพระยาชมพูบดี ต้นเหตุเกิดพระพุทธรูปปางนี้ ก็เล่าเป็นตำนานที่หาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ เรื่องราวก็พิลึกพิลั่นน่าดู ลองฟังดูสิครับ

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์นั้น ไกลออกไปจากเมืองราชคฤห์ ๖๐ โยชน์ มีเมืองหนึ่งมีนามปัญจานคร อันมีพระเจ้าชมพูบดีครอบครอง พระราชาพระองค์นี้เป็นกษัตริย์ที่มีศักดานุภาพมาก ทรงมีของวิเศษ ๓ ประการ คือ ศรวิเศษ นามว่า "วิษสร" ๑ ฉลองพระบาทแก้ว ๑ จักรแก้ว ๑ ทั้งสามอย่างนี้เป็นของวิเศษ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ทำตามคำสั่งของเจ้าของได้ทุกประการ

วันหนึ่งพระเจ้าชมพูบดี (ตำนานไทยเรียกว่า "พระยาชมพูบดี" เพราะฉะนั้นต่อไปขอเรียกตามนี้) ทรงฉลองพระบาทแก้วเหาะผ่านมายังเมืองราชคฤห์ ทอดพระเนตรเห็นปราสาทราชมณเทียร ของพระเจ้าพิมพิสารสวยสดงดงามมาก จึงทรงอิจฉาในบุญญาธิการของพระเจ้าพิมพิสาร

"ปราสาทราชวังกษัตริย์องค์ใดหนอ ช่างสวยงามปานนี้ มันสวยกว่าของข้า อย่าเอาไว้เลย แสลงตาเปล่าๆ ว่าแล้วก็เหาะต่ำลงมา เหยียบยอดปราสาท กระทืบเต็มแรง ด้วยพุทธานุภาพที่รักษาพระราชวังในฐานะที่เจ้าของปราสาทคือพระเจ้าพิมพิสารเป็นอริยสาวกของพระพุทธองค์ ปราสาทจึงไม่กระเทือนแต่อย่างใด ตรงข้ามพระบาทของพระยาชมพูบดีกลับมีพระโลหิตไหลโซม

พระยาชมพูบดีเจ็บพระบาทยิ่ง ทรงพิโรธ ชักพระแสงขรรค์ออกฟันยอดปราสาทเต็มพระกำลัง ก็หาทำให้ยอดปราสาทหักทำลายไม่ พระแสงขรรค์กลับบิดงอใช้การไม่ได้ พระยาชมพูบดีจึงรีบเสด็จกลับ แผลงวิษสรออกไปเพื่อให้วิษสรไปร้อยพระกรรณเจ้าของปราสาทมาหมอบแทบพระบาทให้ได้

วิษสรแล่นออกไปอย่างรวดเร็ว ค้นหาเจ้าของปราสาท พร้อมส่งเสียงก้องกัมปนาทน่าสะพรึงกลัว พระเจ้าพิมพิสารได้ยินเสียงก้องกัมปนาท ก็ตกพระทัยรีบเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ายังพระเวฬุวันเพื่อขอประทานความคุ้มครอง

วิษสรติดตามพระเจ้าพิมพิสารไปยังพระเวฬุวัน พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพุทธจักรแล้วส่งออกไปขับไล่ พุทธจักรมีอานุภาพยิ่งกว่า แล่นออกไปไล่ทุบวิษสรจนสิ้นฤทธิ์ วิษสรสู้ไม่ได้ก็กลับไปยังเมืองปัญจาละ พระยาชมพูบดีทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงพิโรธเป็นสองเท่า จึงถอดฉลองพระบาททั้งคู่ขว้างออกไป สั่งให้ไปจับเจ้าของปราสาทมัดนำมาหาพระองค์ให้ได้

ฉลองพระบาทแก้วทั้งคู่กลายเป็นพญาวาสุกรีนาคราช แล่นเลื้อยไปในนภากาศ ค้นหาพระเจ้าพิมพิสารไปจนถึงวัดพระ เวฬุวันก็จะจู่โจมเข้าจับ พระพุทธองค์ทรงเนรมิตเป็นพญาครุฑให้บินโฉบไปจิกตีพญานาคราชจนพ่ายแพ้ นาคราชกลับคืนสู่พระนครปัญจาละ ตกลงต่อพักตร์พระยาชมพูบดีกลายเป็นฉลองพระบาทตามเดิม



ปางทรงเครื่อง (จบ)
พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยของพระยาชมพูบดีว่าจะบรรลุมรรคผลได้ จึงมีพุทธบัญชาให้ท้าวสักกะเทวราชไปเชิญเสด็จพระยาชมพูบดีมาเฝ้าพระพุทธองค์ ท้าวเธอก็จำแลงกายเป็นราชทูตผู้งามสง่า เสด็จไปยังเมืองปัญจาละในทันใด เข้าไปร้องสั่งให้พระยาชมพูบดีติดตามตนมาเสียแต่โดยดี เพราะ "เจ้านาย" ของตนต้องการให้พระยาชมพูบดีไปเฝ้า

พระยาชมพูบดีทรงพิโรธ เห็นว่าราชทูตเจรจาไม่เคารพนบนอบตน จึงทรงขว้างจักรแก้วไปสังหารทันที ท้าวสักกะเทวราชในร่างราชทูตก็ขว้างจักรของพระองค์ออกไปกำจัด กระชากพระยาชมพูบดีลงจากบัลลังก์ บันดาลให้เปลวไฟลุกไหม้ปราสาททันที สร้างความแตกตื่นแก่พระยาชมพูบดีและข้าราชบริพารทั้งปวง

เมื่อพระยาชมพูบดีรับปากว่าจะไป ไฟที่กำลังลุกไหม้อยู่ก็สงบลง โดยไม่ทำอันตรายแก่ตึกรามต่างๆ แต่อย่างใด พระยาชมพูบดียังมากด้วยทิฐิมานะ ขอผัดผ่อนสักสามเดือนค่อยไปแต่ราชทูตบอกว่า ผัดผ่อนได้อย่างมากเพียงสามวัน หากถึงกำหนดแล้วไม่ไป ก็จักทำลายบ้านเมืองทั้งเมืองให้เป็นจุณวิจุณ

พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระเวฬุวัน เป็นพระราชวังอันโอ่อ่าตระการตามาก มีปราสาทสวยงาม ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วเจ็ดชั้น มีตลาดน้ำ ตลาดบก โดยพญากาฬนาคราชและนางวิมาลามเหสีมาช่วยจัดตลาดน้ำ ท้าวสักกะเทวราชพร้อมนางสุธัมมา นางสุจิตรา นางสุนันทา และนางสุชาดา มเหสีมาช่วยกันจัดตลาดบก พญาครุฑมาจัดตลาดเพชรนิลจินดา ตลาดทอง ตลาดเงิน ตลาดเสื้อผ้าอาภรณ์ ตลอดจนตลาดผักผลไม้ ดอกไม้นานาพรรณ เป็นที่เจริญหูเจริญตามาก

พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระองค์เป็น พระมหาจักรพรรดิราชาธิราช ทรงเครื่องครบครัน เสด็จประทับ ณ รัตนบัลลังก์

พระอัครสาวกทั้งจำแลงกายเป็นเสนาบดี ผู้ใหญ่ พระสงฆ์สาวก และภิกษุหนุ่ม สามเณรน้อย ตลอดจนภิกษุณี สามเณรี ทั้งปวง ได้กลายสภาพเป็นข้าราชบริพารระดับต่างๆ อยู่กันพร้อมหน้า

เมื่อครบเวลานัดหมาย พระยาชมพูบดี ก็เสด็จมาถึง ทรงตะลึงแลความสง่าและโอฬารของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ และพระราชวังเป็นอย่างยิ่ง ก็ครั่นคร้ามใน พระราชหฤทัย แต่ด้วยทิฐิมานะจะให้ยอมง่ายๆ กระไรได้ จึงต่อสู้เป็นครั้งสุดท้าย "เป็นไงเป็นกันวะ" อะไรทำนองนั้น

ทรงขว้างจักรแก้วออกไป หมายสังหารพระมหาจักรพรรดิที่ประทับ ณ รัตน บัลลังก์ข้างหน้า เมื่อไม่ได้ผล ก็แผลงวิษสร ออกไป ไม่ได้ผลอีก จึงขว้างฉลองพระบาทออกไป ฉลองพระบาทก็ไม่สามารถทำอะไรพระพุทธองค์ได้ พระยาชมพูบดีจึงจำต้องยอมแพ้โดยดี

พระพุทธองค์ทรงคลายอิทธาภิสังขารคืนร่างเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปราสาทราชวังกลายเป็นพระเวฬุวันวิหาร เสนาบดี และข้าราชบริพารน้อยใหญ่ ก็คืนร่างเป็นพระเถระ พระเถรี สามเณร สามเณรี กันหมด ต่างก็นั่งเฝ้าพระพุทธองค์อยู่พร้อมหน้า

เหล่าเทพทั้งหลายตลอดจนครุฑนาคา ก็กลับไปยังทิพยสถานวิมานของตน พระพุทธองค์ตรัสเทศนาสั่งสอนพระยาชมพูบดี จนเกิดความเลื่อมใสและขอบวชเป็นสาวกของพระองค์ในที่สุด

ตำนานพระพุทธรูปปางทรงเครื่องก็จบลงเพียงเท่านี้ สงสัยจะเป็น "ตำนาน" จริงๆ ใส่ไข่ (หลายใบ) ด้วย ไม่ปรากฏวี่แววว่ามีบันทึกไว้ที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/75838581762380_a1.gif)

ปางโปรดอาฬวกยักษ์ (๑)

เล่าเหมือนมีตัวตนจริง ว่ายักษ์รูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว ส่วนมากก็มักจะจับคนกิน จะเป็นยักษ์จริงๆ หรือคนเผ่ายักษ์ที่กินคนก็แล้วแต่จะพิจารณาเอาเถอะครับ ขอเล่าพระพุทธรูปปางโปรดยักษ์นามว่า อาฬวกะ ก่อนก็แล้วกัน

ที่ป่าทึบแห่งหนึ่ง ใกล้เมืองอาฬวี มียักษ์กินคนอาศัยอยู่ วันหนึ่งพระเจ้ากรุงอาฬวี ไปล่าสัตว์ พลัดหลงกับข้าราชบริพาร เข้าป่าทึบไปพระองค์เดียว ถูกยักษ์นามว่าอาฬวกะจับไว้ นัยว่ายักษ์ตัวนี้ได้พรจากพระอิศวรเจ้า ให้จับใครก็ได้ที่พลัดหลงเข้ามานั่งใต้ต้นไทรใหญ่อันเป็นเขตหวงห้าม

พระเจ้ากรุงอาฬวีถูกยักษ์จับ กำลังจะเป็นอาหารมื้ออร่อยของยักษ์อยู่พอดี พระเจ้ากรุงอาฬวีจึงขอร้องใหยักษ์ปล่อยไปเถอะ ถ้าปล่อยไปจะหาคนมาให้ยักษ์กินวันละคน ยักษ์ขอคำมั่นจากพระเจ้ากรุงอาฬวี เห็นรับปากแข็งขันจึงปล่อยตัวไป


พระเจ้ากรุงอาฬวีก็รักษาสัญญา ส่งนักโทษเด็ดขาดไปวันละคนจนกระทั่งหมดคุก เมื่อหมดนักโทษก็สั่งให้อำมาตย์ดักจับลูกเล็กเด็กแดงใครก็ได้ส่งไปให้ยักษ์ ประชาชนทั้งหลายเกรงว่าบุตรหลานของตนรวมทั้งตัวเองด้วยจะถูกจับส่งไปให้ยักษ์ ก็พากันอพยพหนีจ้าละหวั่น

เคราะห์ยามร้าย เจ้าชายแห่งเมืองอาฬวี พระราชโอรสของพระเจ้ากรุงอาฬวีก็ถูกจับเพื่อส่งไปให้ยักษ์ (คงไม่รู้ว่าเป็นพระราชโอรสหรืออย่างไร) ณ ราตรีวันนั้นเอง พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยพระญาณ จึงเสด็จไปยังที่อยู่ ของอาฬวกยักษ์ ยักษ์ไม่อยู่ พระองค์จึงขึ้นไปประทับบนอาสนะของอาฬวกยักษ์

อาฬวกยักษ์กลับมาเห็นพระพุทธองค์ประทับสงบเหนือที่นั่งของตนก็โกรธ จึงซัดอาวุธสารพัดที่มีใส่พระองค์ ด้วยพุทธานุภาพอาวุธเหล่านั้นมิได้ระคายเคืองพระองค์แม้แต่น้อย ยักษ์โมโหจัดตวาดว่า อุเหม่ๆ สมณะท่านถืออย่างไรจึงมานั่งบนอาสนะของข้า (แหม ยักกะพากย์โขนแน่ะ)

"ลุกขึ้นเดี๋ยวนี้" ยักษ์ตะโกน

พระพุทธองค์เสด็จลุกขึ้นทันใด ยังความประหลาดใจแก่อาฬวกยักษ์เป็นกำลัง ทำไมว่าง่ายปานนั้น ว่าแล้วก็สั่งอีกว่า
"สมณะ ออกไปข้างนอก"

พระพุทธองค์เสด็จออกไปข้างนอกอย่างว่าง่าย
"กลับเข้ามา" ยักษ์อีก

พระองค์ก็เสด็จเข้ามา


ปางโปรดอาฬวกยักษ์ (จบ)
คราวนี้อาฬวกยักษ์ นึกสนุก จึงสั่งให้พระพุทธองค์เสด็จลุกขึ้นบ้าง เสด็จดำเนินบ้าง เสด็จเข้าบ้าง เสด็จออกบ้าง ตามแต่ยักษ์ชอบใจ พระพุทธองค์ก็ทรงสนองอย่างว่าง่าย อาฬวกยักษ์หัวร่อก๊ากๆ ด้วยความพอใจ

"พระสมณโคดม เป็นศาสดาของมวลมนุษย์ ไหนว่าเก่งกาจนักไง ไม่เห็นมีน้ำยาเลย เราสั่งทำอะไรก็ทำ ใครมันจะใหญ่กว่าข้า ฮ่าๆๆ"

พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ยักษ์มีจิตใจอ่อนโยนลงแล้ว พอจะรับฟังเหตุผลได้ จึงทรงค่อยๆ สอนทีละนิดๆ ให้ยักษ์สะกิดใจคิด ยักษ์พิจารณาตามพระพุทธดำรัส เห็นจริงตามนั้นด้วย จึงยอมขอขมาพระพุทธองค์ที่ได้ล่วงเกิน แล้วเปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

พอรุ่งสางพวกราชบุรุษได้นำเจ้าชายเมืองอาฬวีมาเพื่อมอบเป็นอาหารแก่ยักษ์ ยังษ์ซึ่งบัดนี้ได้ถือศีล (เจไม่ได้กิน) แล้ว จึงมอบคืนแด่พระพุทธองค์ กราบทูลว่า บัดนี้ข้าพระองค์ไม่ทำปาณาติบาต งดเว้นจากการกระทำที่ก่อเวรแล้ว

พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนาแก่อาฬวกยักษ์ พร้อมประทานพระราชกุมารคืนแก่เหล่าราชบุรุษ กิตติศัพท์ก็ฟุ้งขจรขจายไปทั่วว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาระงับภัยพิบัติอันเกิดแก่ชาวเมืองอาฬวี ทรงบันดาลให้ชาวเมืองกลับสู่ความร่มเย็นเป็นสุขเหมือนเดิมแล้ว เพราะพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นจะพรรณนา

ก่อนเสด็จกลับ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระเจ้ากรุงอาฬวีและประชาชนให้เห็นโทษของการล่วงละเมิดศีลห้าอันเป็นเหตุก่อภัยเวรแก่ตน ให้ดำรงอยู่ในกัลยาณธรรมตามสมควรแก่วิสัยของแต่ละคน แล้วก็เสด็จนิวัติยังพระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ด้วยประการฉะนี้แล

ดังที่กล่าวข้างต้น "ยักษ์" ในเรื่องนี้ ใครจะตีความอย่างไรก็ได้ แต่ใจผมผู้เขียนนึกเห็นภาพมนุษย์เผ่าหนึ่งคือ มนุษย์กินคน อันมีอยู่ทั่วไปในชมพูทวีปสมัยโน้น มนุษย์กินคนที่ชื่อว่าอาฬวกะ (เพราะมีนิเวศสถานอยู่เมืองอาฬวี) คงสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนชาวเมืองมาก พระพุทธองค์มีพระมหากรุณาจึงเสด็จไปโปรด โปรดทั้งยักษ์โปรดทั้งประชาชนชาวเมือง

พระพุทธรูปปางนี้ คงไม่แพร่หลายนัก แต่เรื่องค่อนข้างแพร่หลาย เพราะเป็นตอนหนึ่งของพุทธชัยมงคล ๘ ประการของพระพุทธเจ้า (โปรดอ่าน คาถาพาหุง ของ เสฐียรพงษ์ วรรณปก แน่ะได้ที โฆษณาหนังสือให้พี่ชายเสียเลย) พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนั่งสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางที่พระชานุ พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ จีบนิ้วพระหัตถ์เป็นท่าแสดงธรรม



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/93222937732934_a2.gif)

ปางป่าเลไลยก์ (๑)

พระพุทธรูปปางนี้ คุ้นหูคุ้นตาชาวพุทธดีพอสมควร เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับ (แปลว่านั่ง) ห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายคว่ำวางบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาหงายวางบนพระชานุ ในท่าทรงรับ ทรงรับอะไร ทรงรับรังผึ้ง ที่ลิงยื่นถวาย ข้างๆ มีช้างเชือกหนึ่งหมอบชูงวง เฝ้าอยู่ด้วย

ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปปางนี้ว่า "ปางป่าเลไลย" หรือ "ป่าเลไลยก์" มาจากคำเดิมว่าปาลิเลยยกะ

อันเป็นชื่อของพญาช้าง

ในพระไตรปิฎกไม่มีลิงอยู่ด้วย มีแต่พญาช้าง แต่ในอรรถกถาได้เพิ่มลิงเข้ามาอีกตัวหนึ่ง ไม่ทราบด้วยเหตุผลใด เรื่องมีอยู่ว่า ในวัดแห่งหนึ่งในเมืองโกสัมพี มีพระเถระ ๒ รูป คือพระวินัยธร ผู้เชี่ยวชาญในพระวินัยบัญญัติ และพระธรรมกถึก ผู้เชี่ยวชาญในการแสดงธรรม ทั้งสองรูปมีศิษย์รูปละจำนวนมาก อยู่ด้วยกันด้วยความสมัครสมานสามัคคีมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งวันหนึ่งก็เกิดเรื่องขึ้น

พระวินัยธรเข้าไปในวัจกุฎี (ห้องส้วม) ในเช้าวันหนึ่ง ออกมาถามว่าใครเข้าห้องน้ำก่อนผม

"ผมเอง มีอะไรหรือ" พระธรรมกถึกถาม
"ท่านเหลือน้ำไว้ในขันครึ่งหนึ่ง ทราบไหมว่าผิดพระวินัย"
"ผมไม่ทราบเลยครับ ถ้าผิดวินัย ผมขอแสดงอาบัติ" พระธรรมกถึกไม่ทราบจริงๆ เมื่อรู้ว่าต้องอาบัติก็ยินดีแสดงอาบัติ

พระวินัยธรกล่าวว่า "ถ้าท่านไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นไร ไม่ผิด" เรื่องก็น่าจะแล้วกันไป แต่ไม่อย่างนั้น หลังจากนั้นพระวินัยธรไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า พระธรรมกถึกดีแต่เทศน์สอนคนอื่นตัวเองต้องอาบัติยังไม่รู้เลย

ศิษย์พระวินัยจึงไปพูดกับศิษย์ของพระธรรมกถึก เมื่อรู้ไปถึงหูพระธรรมกถึก ท่านถึงกับ "หูร้อน" กล่าวด้วยความโกรธว่า "พระวินัยธรสับปลับ ทีแรกว่าไม่ต้องอาบัติ คราวนี้บอกว่าต้องอาบัติ พระวินัยธรก็พูดเท็จสิ ถ้าอย่างนั้นพระวินัยธรก็ต้องอาบัติฐานพูดเท็จ"

ไม่ต้องบอกก็ได้ครับ ความวิวาทบาดถลุงกันก็ลุกลามเหมือนไฟไหม้ฟาง พระสงฆ์ในวัดก็แตกออกเป็นสองฝ่าย มิใช่เฉพาะในหมู่พระสงฆ์เท่านั้น ญาติโยมก็แตกออกเป็นสองฝ่ายเช่นเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างก็ว่าตัวเองถูกอีกฝ่ายผิด

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องจึงเสด็จไปห้ามปราม มาถึงตอนนี้ พวกท่านเหล่านั้นไม่ใส่ใจในคำห้ามปรามของพระพุทธองค์เสียแล้ว ไม่ให้ความสำคัญแก่พระโอวาทที่ทรงตรัสเตือนด้วยพระมหากรุณา ตั้งหน้าตั้งตาทะเลาะกันไป ยังกับจะให้พินาศฉิบหายกันไปข้าง


ปางป่าเลไลยก์ (จบ)
พระพุทธองค์ทรงระอาพระทัย จึงเสด็จหลีกไปอยู่โดยลำพังพระองค์ ในป่าแห่งหนึ่งนามว่า ป่ารักขิตวัน พญาช้างเชือกหนึ่ง ละโขลงมาอยู่โดยลำพัง เห็นพระบรมศาสดาเสด็จมาประทับอยู่พระองค์เดียว จึงเข้าไปถวายบังคม ถวายการอุปัฏฐากดูแลพระองค์อย่างดี

พระคัมภีร์เล่าว่า พญาช้างหักกิ่งไม้มาทำเป็นไม้กวาด กวาดบริเวณที่ประทับให้สะอาด ทึ้งถอนต้นหญ้าไม้เล็กไม้น้อยให้เตียน ไปตักน้ำฉันน้ำใช้ถวายพระพุทธองค์ ถึงตอนเย็นก็ต้มน้ำถวายให้ทรงสรงสนาน ถามว่าช้างต้มน้ำอย่างไร ตอบว่าก็ต้มตามธรรมชาติของช้างนั่นแหละครับ คือตอนกลางวันแดดร้อนจัด เมื่อตกเย็นพญาช้างก็จะไปกลิ้งก้อนหินขนาดย่อมๆ ที่อมความร้อนไว้ ลงไปยังแอ่งน้ำเล็กๆ เมื่อก้อนหินลงไปแช่ในแอ่งน้ำ น้ำก็จะอุ่นขึ้น พอเหมาะที่พระพุทธองค์จะทรงสรงสนานได้ พญาช้างก็ไปหมอบแทบพระบาท ทำกิริยาอาการเชิญเสด็จไปสรงสนาน พระพุทธองค์ก็เสด็จไปสรงสนาน ตามคำอาราธนาของพญาช้าง

พญาช้างได้ถวายการปรนนิบัติดูแลพระพุทธองค์อย่างดีด้วยประการฉะนี้

ลิงตัวหนึ่ง เห็นช้างอุปัฏฐากพระพุทธองค์ ตนเองก็อยากจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์บ้าง ขณะคิดอยู่ว่าตนจะทำอะไรดีหนอ ก็เหลือบไปเห็นรังผึ้งเข้า จึงไปเอารังผึ้งนั้นไปถวายพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงรับไว้แล้วก็ทรงวางไว้ข้างๆ

ลิงสงสัยว่าทำไมหนอ พระพุทธองค์จึงไม่เสวย จึงจับรังผึ้งนั้นมาพินิจดู เห็นตัวอ่อนมากมาย จึงหยิบเอาตัวอ่อนออกหมด แล้วถวายใหม่ คราวนี้พระพุทธองค์เสวย เจ้าจ๋อดีใจมากกระโดดโลดเต้นด้วยปีติปราโมทย์ ปล่อยกิ่งนี้ จับกิ่งนั้น ปล่อยกิ่งนั้น จับกิ่งโน้น ถึงคราวเคราะห์หามยามร้าย มันเกาะกิ่งไม้ผุ เลยหล่นตุ๊บลง บังเอิญอีกนั่นแหละมันหล่นลงไปยังตอไม้แห่งหนึ่งถูกตอไม้เสียบก้นตาย ตำราเล่าว่ามันตายไปเกิดเป็นเทพบุตรนามว่า มักฎเทพบุตร ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายรังผึ้งแก่พระพุทธเจ้า ว่ากันอย่างนั้น

กล่าวถึงชาวเมืองโกสัมพี เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จหลีกไปแล้ว ประชาชนไม่พบพระพุทธเจ้า จึงกล่าวว่า เพราะพระสงฆ์เหล่านี้เป็นต้นเหตุ พวกเราจึงไม่มีโอกาสพบและฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ แล้วทั้งหมดจึงตกลงกันไปถวายภัตตาหารให้พระสงฆ์เหล่านั้น

เมื่อพระทั้งหลายไม่ได้อาหารบิณฑบาตจึงพากันไปขอขมาชาวบ้าน พวกเขากล่าวว่า พระคุณเจ้าต้องไปขอขมาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้รับอภัยโทษจากพระพุทธองค์แล้วนั่นแหละ พวกข้าพเจ้าจึงจะถวายอาหารบิณฑบาตให้ฉันตามเดิม

ภิกษุสงฆ์เหล่านั้นจึงพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ในป่ารักขิตวัน โดยขอร้องให้พระอานนท์นำเข้าเฝ้าพระอานนท์ให้ท่านเหล่านั้นรออยู่ข้างนอก ตนเองเดินเข้าป่าไปเพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ พญาช้างปาลิไลยก์เห็นพระภิกษุเดินมาแต่ไกล จึงเตรียมเพื่อจะไล่ให้หนีไป พระพุทธองค์ตรัสห้ามว่า "ปาลิเลยยกะ ปล่อยเธอเข้ามาเถิด นั่นคือภิกษุอุปัฏฐากของเรา"

พระอานนท์เข้าไปถวายบังคมแทบพระยุคลบาท เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ พร้อมขอประทานโอกาสนำพระภิกษุสงฆ์ชาวเมืองโกสัมพีเข้าเฝ้าเพื่อขอขมา เมื่อได้รับพุทธานุญาตแล้ว พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นจึงเข้าไปกราบถวายบังคม แล้วกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ยกโทษให้พวกตน

พระพุทธองค์ทรงยกโทษให้ ทรงแสดงถึงโทษของความแตกสามัคคีและอานิสงส์ของความสมัครสมานสามัคคี โดยตรัสทีฆาวุชาดก ให้พวกเธอฟัง แล้วส่งพวกเธอกลับไปยังเมืองโกสัมพี

จากนั้นมาญาติโยมทั้งหลาย เมื่อรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงยกโทษให้พระสงฆ์เหล่านั้นแล้ว ก็พากันถวายอาหารบิณฑบาตแก่พวกเธอตามเดิม บรรยากาศแห่งความสมัครสมานสามัคคีก็กลับคืนมาตามเดิม ด้วยประการฉะนี้



(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRtv0OkZog0Ur9CFrJLg13f4Hwsf0-Yx6pEkb6QdfJw9Lr9Dszpeg)

ปางสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ (๑)

พระพุทธรูปปางนี้ จะมีคนตั้งชื่อและเขียนภาพออกมาแล้วหรือยังไม่ทราบ ถ้ายังไม่มีผมขอตั้งเองตั้งแต่วันนี้ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

สืบเนื่องมาแต่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาและพระประยุรญาติแห่งศากยวงศ์ นครกบิลพัสดุ์ เหล่าศากยกุมาร อาทิ เจ้าชายอนุรุทธ เจ้าชายอานนท์ และเจ้าชายเทวทัต แห่งโกลิยวงศ์ ได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระแม่น้าของพระพุทธองค์ มีพระประสงค์อยากบวชด้วยตั้งแต่บัดนั้น แต่ยังทรงห่วงพระราชสวามี คือพระเจ้าสุทโธทนะที่ทรงพระชราภาพแล้ว จึงยังรีรออยู่

ต่อมาเมื่อพระพุทธบิดาทรงประชวรหนัก พระพุทธเจ้าเสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระพุทธบิดา และเมื่อพระพุทธบิดาสวรรคตพระพุทธองค์ได้ถวายพระเพลิงพระพุทธบิดาเสร็จแล้วจะเสด็จกลับ พระนางมหาปชาบดีโคตมีจึงเข้าไปทูลขออุปสมบท แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต เสด็จไปประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี

พระนางไม่ละความพยายาม จึงพร้อมด้วยขัตติยานีแห่งศากยวงศ์จำนวนหนึ่งปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ตามไปทูลอ้อนวอนขอบวชอีก

พระพุทธองค์ไม่ทรงประทานอนุญาตเช่นเดิม พระนางรู้สึกเสียใจถึงกับร้องไห้ออกมา พระอานนท์ทราบเรื่องเข้าจึงรับอาสากราบทูลพระพุทธองค์ให้ ท่านได้เข้าไปกราบทูลขอพุทธานุญาตอีกครั้ง และก็ได้รับการปฏิเสธเช่นเดียวกัน

พระอานนท์กราบทูลถามว่า "สตรีไม่มีความสามารถจะบรรลุมรรคผลหรืออย่างไร"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "เพศภาวะมิใช่ข้อกีดกั้น ไม่ว่าบุรุษหรือสตรีย่อมมีศักยภาพที่จะบรรลุมรรคผลได้เหมือนกัน"

"ถ้าเช่นนั้น เพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีอุปสมบทเล่า ในเมื่อพระนางก็มีศักยภาพที่จะตรัสรู้ธรรมเช่นเดียวกัน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าขอพระองค์โปรดให้นางอุปสมบทด้วยเถิด"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "อานนท์ ถ้านางมหาปชาบดีโคตมี จะรับครุธรรม ๘ ประการ ไปปฏิบัติได้บริบูรณ์ ตถาคตก็อนุญาต"

ครุธรรม ๘ ประการ คือ
๑.ภิกษุณีแม้จะมีพรรษาตั้งร้อย ก็พึงทำอัญชลีนมัสการภิกษุ แม้จะบวชในวันนั้น
๒.ภิกษุณี ต้องไม่อยู่ในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
๓.ภิกษุณี จะต้องทำอุโบสถกรรม และรับโอวาทจากสำนักภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
๔.ภิกษุณีจำพรรษาแล้ว พึงปวารณาใน "สงฆ์สองฝ่าย" (คือปวารณาในหมู่ภิกษุณีแล้วมาปวารณาในหมู่ภิกษุสงฆ์อีก)
๕.ภิกษุณีต้องอยู่ปริวาสกรรม (อยู่กรรม) ในสำนักสงฆ์ทั้งสองฝ่าย
๖.ภิกษุณีต้องอุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่าย
๗.ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษ ภิกษุสงฆ์ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง
๘.ภิกษุณี นับแต่วันอุปสมบทไป พึงสดับโอวาทจากภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว ห้ามให้โอวาทภิกษุ


ปางสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ (จบ)
พระอานนท์นำครุธรรม ๘ ประการออกมาแจ้งแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางยินดีปฏิบัติทุกประการโดยไม่มีเงื่อนไข พระอานนท์กลับไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคจึงได้ประทานอุปสมบทแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีและสตรีบริวารด้วยประการฉะนี้ เป็นอันว่าภิกษุณีสงฆ์ได้เกิดขึ้น

ถามว่าทำไมในเบื้องต้น พระพุทธองค์ไม่ทรงเต็มพระทัยให้สตรีบวช ถึงกับตรัสว่าถ้าสตรีบวช พรหมจรรย์ (พระศาสนา) จะดำรงอยู่ไม่ได้นาน แต่เมื่อพระอานนท์ทูลขอ ก็ทรงอนุญาตให้บวชในที่สุด

คำตอบคงไม่ออกมาในแง่ลบ ดังที่นักสิทธิสตรีทั้งหลายคิดกันกระมังครับ ที่พระองค์ตรัสว่าถ้าให้สตรีบวชพรหมจรรย์จะดำรงอยู่ไม่ได้นาน พรหมจรรย์อาจหมายถึงวิถีชีวิตการงดเว้นจากกามารมณ์หรือพระศาสนาโดยรวมก็ได้ ไม่ว่าจะตีความอย่างไรก็ได้ความเท่ากัน ลองอธิบายในแง่มุม "ตื้นๆ"ก็จะเห็นได้ชัดคือ

พระผู้ชายที่บวชมานั้นต้องสำรวม ต้องงดเว้นจากกาม เพื่อก้าวไปสู่ภาวะหมดราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดให้ได้ ระบบการฝึกฝนอบรมจึงต้องเข้มงวด กันให้ห่างออกไปจากการเกี่ยวข้องกับสตรี เพราะคนที่ยัง "ไม่พร้อม" และไม่แข็งแรงพอในด้านจิตใจก็จะวอกแวกได้ เมื่อควบคุมไม่อยู่พรหมจรรย์ก็อาจล่มสลายไปได้

ก็เอาคนมาทำพระนี่ครับ ไม่ใช่พระอิฐพระปูนนี่ครับ ขืนให้คลุกคลีตีโมงกันบ่อยๆ ไฟฟ้าก็ย่อมชอร์ตได้ พระพุทธองค์ทรงทราบความเป็นจริงข้อนี้ดี จึงปรามไว้ตั้งแต่แรก โดยไม่อนุญาตให้สตรีมาเกี่ยวข้องกับเหล่าภิกษุ

แต่คิดให้ลึกจะเห็นว่าพระองค์คงต้องทรงอนุญาตในที่สุด เพราะพระอานนท์คงต้องทูลอ้อนวอนแน่ เมื่อนำเอาประเด็น "มนุษย์ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายย่อมสามารถบรรลุมรรคผลได้" มาพูด ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จะห้ามไม่ให้สตรีบวช เพราะถ้าห้ามจริงๆ ก็เท่ากับอคติ ลำเอียง หรือปิดกั้นโอกาสของสตรีทั้งโลก

แต่เพราะทรงเล็งเห็นว่าเมื่อบุรุษกับสตรีอยู่ใกล้ชิดกัน พรหมจรรย์ย่อมเป็นอันตรายแน่นอน เพื่อต้องการความเข้มงวดอันเกิดจากความต้องการของสตรีเอง พระองค์จึงวางเงื่อนไขให้เข้มงวดเข้าไว้ ทรงขอคำมั่นว่า ถ้าอยากบวชจริงๆ ก็ได้แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง ๘ ประการนี้ให้ได้ ถ้าได้ก็ตกลง

เงื่อนไข ๘ ประการนี้แล คือมาตรการควบคุมภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ให้ระมัดระวังในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัน ให้เป็นไปด้วยความพอเหมาะพอดี เมื่อทำได้ตามนี้อย่างเคร่งครัด พรหมจรรย์มั่นคง ยืนยาว ไม่ว่าพรหมจรรย์ในความหมายว่าการงดเว้นจากกามหรือพรหมจรรย์ในความหมายว่าพระศาสนาก็ตาม

ผมมองแบบผมว่า นี้คือพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ พระองค์ทรงมีพระประสงค์จะบวชสตรีให้เป็นภิกษุณีบริษัทตั้งแต่ตรัสรู้ใหม่ๆ อยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นไม่ทรงตอบพระยามารดอกว่า "บริษัททั้งสี่ของตถาคต ยังไม่มีคุณภาพเมื่อใด ตถาคตจะไม่ปรินิพพาน" ถ้าไม่บวชให้สตรี ะมีบริษัทครบสี่หรือ ใช่ไหมครับ แต่ถ้าให้บวชง่ายๆ อาจเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ จึงวางเงื่อนไขให้เคร่งครัดขึ้นเพื่อป้องกันความเสื่อมไว้ล่วงหน้า

ผมมอง (อีกแล้ว) ไปไกลกว่านั้นอีก การที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้สตรีบวช เป็นการให้โอกาสแก่สตรีชนิดที่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์โลกมาก่อน สตรีเคยถูกกดขี่ ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพมาตลอดในชมพูทวีปตลอดกาลยาวนาน พระพุทธองค์ได้เปิดโอกาสให้ และให้เสรีภาพอันยิ่งใหญ่แก่สตรีแล้ว โอกาสและเสรีภาพอะไร โอกาสทางการศึกษา และเสรีภาพในการบรรลุมรรคผลนิพพานนั่นยังไงครับ การอนุญาตให้สตรีมาบวช ทำให้สตรีได้รับการศึกษาได้พัฒนาตนให้เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชา (ความรู้) และจรณะ (ความประพฤติ) มีศักดิ์มีศรีในสังคม เป็นผู้นำสังคมได้ในทางความรู้และความประพฤติ มีความทัดเทียมกับบุรุษโดยอัตโนมัติ มีเสรีภาพโดยอัตโนมัติ โดยมิพักต้องร้องขอแต่อย่างใดท่านผู้อ่านว่าไหมครับ


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 มีนาคม 2559 18:06:45

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/34448904254370_a1.gif)

ปางห้ามแก่นจันทน์ (๑)

วันนี้ขอเล่าตำนานพระพุทธรูปประหลาดดุจปางทรงเครื่องอีกสักวันเถอะครับ ที่ว่า "ประหลาด" มิใช่พระพุทธรูป หากแต่เรื่องเล่านั้นต่าง หากที่ประหลาดเข้าใจว่าแต่งเติมจากตำนานเดิม

ตำนานเดิมนั้นเล่าว่าพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงธรรมโปรดเหล่าเทพอันมี ท้าวสักกะเทวราช เป็นประมุข อดีตพุทธมารดา ซึ่งสวรรคตไปเกิดเป็นสันดุสิตเทพบุตร ณ ชั้นดุสิต ก็ได้ลงมาฟังธรรมจากพระองค์ด้วย พระพุทธเจ้าทรงแสดงอภิธรรมโปรดตลอดเวลา ๓ เดือน (๓ เดือนของมนุษย์โลก ก็คงไม่กี่นาทีของสวรรค์ดอกครับ)

ถามว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาตลอดสามเดือน ไม่ได้พักได้ผ่อนเลยหรือ ตอบว่าหามิได้ พระพุทธองค์ก็ทรง พักผ่อนตามพระพุทธประสงค์เมื่อถึงคราวพัก เวลาพระองค์มีพุทธประสงค์จะพักก็ทรงเนรมิต "พระพุทธเนรมิต" ขึ้นพระองค์หนึ่ง เหมือนพระพุทธองค์ไม่ผิดเพี้ยน ให้เทศน์แทน เหล่าเทพยดาไม่รู้ดอกว่าเป็นพุทธเนรมิต เข้าใจว่าเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว

บางครั้งพระพุทธองค์ก็เสด็จลงมายังมนุษย์โลก ให้พระสารีบุตรอัครสาวกเฝ้าโดยลำพัง พระพุทธองค์ก็จะทรงแสดงอภิธรรมที่แสดงให้เหล่าเทพยดาให้พระสารีบุตรอีกทอดหนึ่ง พระสารีบุตรก็ทรงจำเอาไว้

ด้วยเหตุนี้เอง พุทธศาสนิกฝ่ายอื่น โดยเฉพาะนิกายสรวาสติวาทิน (ความจริงก็สายหินยาน แต่ใช้ภาษาสันสกฤตแทนบาลี) จึงถือว่าพระสารีบุตร เป็นปฐมาจารย์ของอภิธรรมปิฎก

พุทธนิกายเสาตรันติกะ (สุตตันติกะ) อ้างว่า พระอภิธรรมปิฎกนั้นมิใช่พุทธพจน์ เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชัดว่า อภิธรรมเป็นพัฒนาการในยุคหลัง พูดให้เข้าใจง่ายก็ว่าแต่งขึ้นในภายหลัง เดิมทีมีเพียงพระธรรมกับพระวินัยเท่านั้น

ความเชื่อของฝ่ายสุตตันติกะ ที่จริงก็สอดคล้องกับสรวาสติวาทิน ซึ่งเป็นนิกายนับถือพระอภิธรรมมาก สรวาสติวาทินยืนยันว่า พระอภิธรรมของเขาเป็นเถรภาษิต (เป็นคำกล่าวของพระเถระ) และพระเถระที่ว่านี้ก็หาใช่ใครอื่น คือ พระสารีบุตร อัครสาวกนั้นเอง

สอดรับกับตำนานเรื่องพระพุทธเจ้าลงจากสวรรค์มาแสดงอภิธรรมให้พระสารีบุตรฟังเปี๊ยบเลย คือสอดคล้องกันจริงๆ


ปางห้ามแก่นจันทร์ (จบ)
ขอผ่านเรื่องนี้ไป ขอเล่าถึงเหตุการณ์หลังจากพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปสวรรค์ไม่นาน พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงว้าเหว่ เพราะมิได้พบพระพุทธเจ้าหลายวัน จึงรับสั่งให้ช่างฝีมือดีเอาแก่นจันทน์มาแกะเป็นรูปพระพุทธองค์ แกะให้ละม้ายคล้ายคลึงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วโปรดให้อัญเชิญพระไม้แก่นจันทน์ไปประดิษฐานยังพระราชมนเทียรเพื่อกราบไหว้บูชา พอบรรเทาความอาลัยอาวรณ์ในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บ้าง

ว่ากันอีกนั่นแหละ พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นต้นคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้นจนกระทั่งต่อมามีคนทำตามมากขึ้น ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน นี้ก็ฟังหูไว้หู เพราะเป็นตำนาน "เขาเล่าว่า" (เอาห้าหาร จึงจะเหมาะ)

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จลงจากสวรรค์ มีเหล่าเทพอันมีสหัมบดีพรหม ท้าวสักกะเทวราช และเทวดาน้อยใหญ่ตามเสด็จ เหตุการณ์วันเสด็จลงจากสวรรค์เรียกว่า เทโวโรหนะ ศิลปินทั้งหลายถือกันว่าเป็นฉากสำคัญ และนิยมเขียนกันมากปางหนึ่ง

พระเจ้าปเสนทิโกศล ทูลอัญเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จไปเสวยพระกระยาหาร ณ พระราชมนเทียร ขณะพระพุทธองค์เสด็จเข้าไป ปรากฏเหตุการณ์ประหลาด คือพระไม้แก่นจันทน์ที่ประดิษฐานอยู่พระแท่นที่ก็ลุกจากที่ประทับจะลงมาถวายความเคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังกับมีจิตวิญญาณ

พระพุทธองค์ทรงยกพระหัตถ์ขึ้นปราม ตรัสว่า "เอวัง นิสีทมถ" แปลว่า ท่านจงประทับอยู่อย่างนั้นแหละ แปลไทยเป็นไทยก็ว่า ไม่ต้องลุกๆ นั่งอยู่นั่นเถอะ

สิ้นกระแสพระพุทธดำรัส พระไม้แก่นจันทน์ลีลาศขึ้นไปประทับยังพระแท่นตามเดิม

พระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตรเห็นความประหลาดมหัศจรรย์เช่นนั้นก็ทรงโสมนัสยินดีอย่างยิ่ง ถวายพระกระยาหารแด่พระพุทธอง และภิกษุสงฆ์

ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว พระพุทธองค์ก็ประทานอนุโมทนา ถวายพระพรลา เสด็จกลับยังพระเชตวันมหาวิหาร ด้วยประการฉะนี้แล

เล่าขานตำนานพระพุทธเจ้าทรงห้ามแก่นจันทน์ ก็เป็นอันยุติลงเพียงเท่านี้



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81066435658269_5.JPG)

ปางโปรดนางปฏาจารา (๑)

พระพุทธรูปนั้น สร้างเพื่อจำลองเหตุการณ์สำคัญๆ ที่พระพุทธองค์ทรงโปรดเวไนยสัตว์ด้วยพระมหากรุณา เท่าที่สร้างกันมา ก็มีหลายปางเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย บางปางก็รู้จักกันน้อย เท่าที่นำมาเขียนเล่าให้ฟังก็คงเป็นข้อมูลแก่ผู้การศึกษาพอสมควร วันนี้ขอนำปางโปรดนางปฏาจารามาเล่าให้ฟัง คงยังไม่มีใครสร้างปางนี้ แต่ถ้าศิลปินคิดจะสร้างก็น่าอนุโมทนา เพราะเป็นฉากหนึ่งที่ฉายให้เห็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงของพระพุทธองค์

คนที่ประสบวิกฤตแห่งชีวิตมาหนักๆ จนกลายเป็นคนเสียสติ พระพุทธองค์ทรงแผ่พระมหากรุณาช่วยเหลือให้เธอพ้นจากทุกข์ ในขณะที่ใครๆ ไม่ใส่ใจ แถมเรียก "หญิงบ้า" อีกต่างหาก นับว่าทรง "ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมสานต์" อย่างแท้จริง

ปฏาจารา เป็นลูกสาวเศรษฐีเมืองสาวัตถี พ่อแม่รักมาก หวงมาก ไม่ยอมให้คบเพื่อนชาย ให้อยู่บนปราสาท ๗ ชั้น สอดส่องการเคลื่อนไหวทุกระยะ ไม่ให้คลาดสายตา เหมือนนกอยู่ในกรงทอง สะดวกสบาย แต่ใจไม่มีความสุข จึงดิ้นรนเพื่ออิสรภาพ พ่อแม่ได้จัดแจงหาชายหนุ่มที่ฐานะเสมอกันให้เป็นสามี แต่นางไม่ต้องการ เนื่องจากนางได้แอบรักกับบุรุษหนุ่มคนใช้ในคฤหาสน์นี้มานานแล้ว ตำนานดอกฟ้ากับยาจกเกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างระทึก

ทั้งสองได้มอบกายมอบใจแก่กัน เกรงว่าเมื่อความลับอาจเปิดเผย วิมานของทั้งสองคงพังครืน จึงพากันหนีออกจากคฤหาสน์ ไปครองรักกันตามประสายาก ณ หมู่บ้านในชนบทแห่งหนึ่ง ต่อมาเธอตั้งท้อง คิดถึงพ่อแม่ขึ้นมา จึงชวนสามีกลับเข้ากรุงเพื่อขอขมาพ่อแม่ แต่สามีเกรงนายทั้งสองจะลงโทษหนัก จึงไม่เห็นดีเห็นงามด้วย

วันหนึ่งสามีไม่อยู่บ้าน ปฏาจาราจึงรีบหนีไป เดินมุ่งหน้าไปยังพระนคร สามีรีบตามมาทันระหว่างทางจึงพากลับ บังเอิญว่านางครรภ์แก่แล้ว จึงคลอดลูกระหว่างทางนั่นเอง

พอตั้งท้องคนที่สอง นางก็พาลูกน้อยหนีพ่อไปยังพระนคร สามีตามมาทันและพากลับบ้านเช่นเดิม คราวนี้ทั้งสองสามีภรรยาประสบเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ปฏาจาราปวดท้องจะคลอดท่ามกลางฝนที่เทลงมาราวกับฟ้ารั่ว น้ำเจิ่งนองไปทั่วบริเวณ สามีเข้าป่าไปตัดกิ่งไม้จะมากันฝนให้ภรรยาและบุตร ถูกงูเห่าดำกัดสิ้นชีวิตทันที

ฝ่ายภรรยารอสามีที่หายไปทั้งคืน ได้คลอดบุตรคนเล็กท่ามกลางสายฝน คุกเข่าเอากายกั้นลมและฝนให้บุตรน้อยเพิ่งเกิด พอสว่างขึ้นมาก็ไปตามทางที่สามีหายเข้าไป เห็นสามีนอนตายร่างแข็งทื่ออยู่ ก็เป็นลมสลบ ฟื้นขึ้นมาก็อุ้มบุตรคนเล็กที่เพิ่งคลอด มือหนึ่งจูงบุตรคนโตเดินลุยน้ำมุ่งหน้าสู่เมือง เพื่อกลับไปหาอ้อมอกของพ่อแม่

เดินมาพบสายน้ำ มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก ขวางอยู่ข้างหน้า นางบอกลูกคนโตให้ยืนรออยู่ฝั่งนี้ก่อน จะอุ้มน้องไปไว้ฝั่งโน้นแล้วจะกลับมารับ ว่าแล้วก็อุ้มบุตรน้อยลุยน้ำไป วางไว้บนฝั่งโน้น แล้วย้อนกลับมาเพื่อรับลูกคนโต


ปางโปรดนางปฏาจารา (จบ)
ทันใดนั้นเหยี่ยวตัวใหญ่ มองเห็นเด็กแดงๆ นึกว่าเป็นชิ้นเนื้อ โฉบลงมาทันที นางเห็นดังนั้น ก็ยกมือโบกไปมาร้องไล่มันด้วยเสียงดัง

ลูกชายคนโต นึกว่าแม่โบกมือเรียก ก็กระโจนลงน้ำ ถูกกระแสน้ำพลัดหายต๋อมไปต่อหน้าต่อตา หัวใจแหลกสลายในบัดดล นางร้องไห้จนสลบ ฟื้นขึ้นมาก็เดินโซซัดโซเซมุ่งหน้าไปยังเมืองหลวง

พบบุรุษหนึ่งเดินสวนทางมา จึงถามถึงพ่อแม่ของตน บุรุษนั้นบอกนางว่า "แม่นางเอ๋ย นางไปอยู่เสียที่ไหน จึงไม่รู้ว่าท่านเศรษฐีตายแล้วเมื่อคืนนี้ ฟ้าผ่าบ้านเศรษฐี เกิดไฟลุกไหม้คลอกคนตายหมดทั้งครอบครัว น่าสงสารจริงๆ"

เท่านั้นแหละครับ สติสตังที่พอมีอยู่บ้างก็ขาดผึง กลายเป็นคนเสียจริต ก็บ้านั่นแหละครับ เดินร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร

"บุตรสองคนก็ตายแล้ว สามีของเราก็ถูกงูกัดตาย พ่อแม่และพี่ชายก็จากเราไปหมดแล้ว"

ผ้านุ่งผ้าห่มหลุดจากกายเมื่อใดไม่รู้เนื้อรู้ตัว นางได้พาร่างอันเปลือยเปล่าเข้าไปยังพระเชตวัน ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ ท่ามกลางพุทธบริษัทเป็นจำนวนมาก เสียงคนข้างหลังเอะอะ "หญิงบ้า ไปไป๊ ใครปล่อยให้หญิงบ้าเข้ามานะ" เสียงใครร้อง

พระพุทธองค์ตรัสบอกประชาชนว่า ปล่อยให้เธอเข้ามาเถอะ เมื่อนางเดินเข้ามาใกล้ พระพุทธองค์ตรัสว่า น้องหญิง เธอจงได้สติเถิด

เท่านั้นแหละครับ นางกลับคืนสู่สภาพปกติ หันไปรอบข้าง เห็นประชาชนมากมายมองอยู่ จึงนั่งลงด้วยความละอาย บุรุษคนหนึ่งโยนผ้าให้เธอคลุมกาย นางเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท ร้องได้ด้วยความเสียใจ

พระพุทธองค์ทรงปลอบโยนให้เธอคลายความโศก แล้วตรัสพระคาถา (โศลก) ว่า "บุตรทั้งหลายก็ป้องกันไม่ได้ บิดามารดา ญาติพี่น้องก็ป้องกันไม่ได้ เมื่อเวลาจะตาย ญาติพี่น้องก็ช่วยไม่ได้ เมื่อรู้ความจริงนี้แล้ว ควรจะรักษาศีล หาทางไปพระนิพพานโดยเร็ว"

สตรีนางนี้ได้บวชเป็นสาวิกาของพระพุทธองค์ ปรากฏนามในพระศาสนาว่า ปฏาจาราเถรี ภายหลังท่านได้เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่บรรดาสตรีที่ประสบวิกฤตแห่งชีวิตเป็นอย่างดี




(http://www.sookjaipic.com/images_upload/76833632091681_a2.gif)

ปางโปรดองคุลิมาล (๑)

ปางนี้โด่งดังมาก พระพุทธรูปปางนี้จะเป็นพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลง พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ตั้งนิ้วพระหัตถ์ตรง หันฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย ตั้งไว้ตรงพระอุระ

โจรองคุลิมาล ก็โด่งดังมาก พระพุทธวจนะที่ตรัส "ตรึง" มหาโจรอยู่กับที่ก็ดังมาก จดจำกันได้ทั่วไป แต่ที่ไม่ค่อยมีใครทราบนักก็คือ บิดามารดาของท่านนามใด น่าจะสนใจรายละเอียดปานนั้นนะครับ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว

องคุลิมาล นามเดิม อหิงสกะ แปลว่าไม่เบียดเบียน ชื่อนี้มีที่มาครับ ก่อนอื่นขอแจ้งชื่อบิดามารดาก่อน บิดานามว่า ภควพราหมณ์ มารดานามว่า มันตานี บิดาเป็นปุโรหิตประจำราชสำนักพระเจ้ากรุงสาวัตถี (พระเจ้าปเสนทิโกศล)

วันที่ท่านเกิด บิดาเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ ศัสตราอาวุธในพระคลังแสงเกิดรุ่งโรจน์โชตนาการ ราวกับเปลวไฟลุกไหม้สักพักหนึ่งก็ดับเป็นที่มหัศจรรย์ พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า นิมิตนี้แสดงว่าเด็กที่เกิดในเวลานี้ภายหน้าจะกลายเป็นมหาโจรชื่อดัง

พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า โจรธรรมดาหรือโจรราชบัลลังก์ ได้รับคำตอบว่าเป็นโจรธรรมดา พระองค์จึงมิได้สนพระทัย ปุโรหิตกราบทูลลากลับบ้าน ทันทีที่ก้าวเท้าขึ้นเรือน ผู้คนในบ้านก็รายงานว่าบุตรชายท่านเกิดแล้ว

เมื่อซักถามเวลาเกิดก็ทราบว่าตรงกับเวลาที่หอกดาบแหลนหลาวลุกโชติช่วงนั้นเอง จึงกลับไปกราบทูลให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ พร้อมกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตให้กำจัดเสียแต่ต้นลม พระราชาตรัสห้ามไว้ ด้วยเห็นว่ามิได้เป็นภัยแก่ราชบัลลังก์ ทั้งเด็กก็ไร้เดียงสา ถ้าเลี้ยงดูอบรมบ่มนิสัยให้ดีเด็กก็อาจจะไม่เป็นโจรดังคำทำนายก็ได้

บิดาจึงขนานนามว่า "อหิงสกะ" เพื่อแก้เคล็ด ก็ทำท่าว่าจะแก้ได้ เพราะเด็กชายอหิงสกะเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ขยันหมั่นเพียร มีปฏิภาณไหวพริบดี โตมาพ่อจึงส่งไปเรียนศิลปวิทยาที่ตักษิลา (ตักสิลา) เรียนอยู่กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ก็เป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ เพราะอหิงสกะเป็นเด็กเชื่อฟังโอวาทของอาจารย์ ตั้งใจศึกษาศิลปวิทยาไม่ประพฤติตัวเหลวไหล ได้รับคำชมเชยจากอาจารย์เสมอ

"อันที่จริงเขาอยากให้เราดี แต่เด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้ จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน"

หลวงวิจิตรวาทการว่าไว้อย่างนั้น ตรงเป๊ะเลยครับ บรรดาศิษย์ร่วมสำนักต่างก็หมั่นไส้อหิงสกะเป็นแถวหาว่าอยากเด่นอยากดัง พวกเขาจึงเป่าหูอาจารย์ว่าศิษย์คนโปรดของท่านนั้นดีเฉพาะต่อหน้าลับหลังอาจารย์มันเผาอาจารย์ยับเลย

ได้ฟังอาจารย์ก็ตะเพิดคนที่พูดว่าร้ายศิษย์คนโปรดของท่าน แต่ก็ประหลาด คนนั้นก็พูดคนนี้ก็พูดคนโน้นก็พูด พูดเหมือนกัน หรือว่ามันจะจริง อาจารย์ชักลังเลแล้ว อย่างว่าแหละครับ ปุถุชนคนเราจิตใจไม่หนักแน่นพอ ถูกเป่าหูบ่อยก็เลยเชื่อสนิทว่า ศิษย์คนนี้คิดล้างครู ก่อนมันล้างกู กูล้างมันก่อนเถอะวะ อาจารย์คำราม

แล้วแผนกำจัดก็เกิดขึ้น ตกดึกวันหนึ่ง อาจารย์เรียกศิษย์ไปพบลับๆ กระซิบกระซาบว่ามีวิชาพิเศษซึ่งไม่เคยถ่ายทอดให้ใคร จะถ่ายทอดให้อหิงสกะ เพราะ อหิงสกะเป็นศิษย์คนโปรด แต่วิชานี้จะต้องเอานิ้วมือคนมาพันนิ้วทำพิธีประสิทธิ์ประสาทให้ได้



ปางโปรดองคุลิมาล (๒)
อหิงสกะปฏิเสธในเบื้องแรก แต่เมื่อถูกอาจารย์เกลี้ยกล่อมหนักเข้า ก็ยินยอมรับปากจะไปหานิ้วมือคนมาให้ได้

จะหามาจากไหนเล่าครับ จากการฆ่าคนแล้วตัดเอานิ้วมาสิครับ

ถัดจากวันที่ครูกับศิษย์พบกันประมาณไม่กี่เดือน ก็มีข่าวลือกันหนาหูว่ามีโจรประหลาดพิเรนทร์ ฆ่าคนแล้วตัดเอานิ้วร้อยเป็นพวงมาลัยสวมคอ โหดเหี้ยมทารุณเหลือประมาณ ได้ยินไปถึงไหน ความกลัวก็แผ่เข้าสู่ขั้วหัวใจคนถึงนั่น

นาม "องคุลิมาลโจร" (โจรผู้มีนิ้วมือเป็นพวงมาลัย) ก็ขจรขจายไปทั่ว ด้วยประการฉะนี้แล เห็นทีจะต้องมีตอนสองครับ

แต่ก่อนจะถึงตอนสอง ก็ต่อนิดหน่อย เมื่อชื่อเสียง (น่าจะเรียกชื่อเสียมากกว่า) แพร่กระจายไปอย่างนี้ ความหวาดผวาก็เกิดแก่ประชาชนทั่วไป ได้ข่าวว่ามหาโจรองคุลิมาล อยู่ ณ ที่ใด ก็ไม่มีใครกล้าเดินผ่านไปยังสถานที่นั้น

เสียงเล่าลือนี้ดังไปไกลถึงพระกรรณของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ถึงกับประชุมเหล่าเสนามาตย์ทั้งหลายว่า จะต้องหา ทางกำจัดมหาโจรคนนี้โดยเร็วที่สุดหาไม่ประชาชนจะไม่มีกะจิตกะใจประกอบสัมมาอาชีพ เพราะมัวแต่หวาดผวาภัยจากมหาโจร

คิดเอาก็แล้วกันครับ มหาโจรองคุลิ มาลนั้นเด่นและดังขนาดไหน

แล้วมหาโจรเด่นดังอย่างนี้ จะรอดพ้นจากการไล่ล่าจากราชอาณาจักรหรือไม่ คราวหน้าคงรู้กันครับ

พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งเรียกประชุมเหล่าเสนามาตย์เป็นการด่วน เพื่อหาทางกำจัดมหาโจรองคุลิมาล ในที่สุดพระองค์ตกลงพระทัยจะนำกองทัพย่อยๆ ออกไปปราบเอง

นางพราหมณีมารดาขององคุลิมาล เกรงว่าลูกของตนจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต เพราะความรักลูก แม้ว่าลูกจะกลายเป็นมหาโจรแล้ว นางก็ยังตัดความรักไม่ได้ ได้ลอบออกจากเมืองเดินมุ่งหน้าไปยังดงที่คาดว่าองคุลิมาลอาศัยอยู่

ณ ปัจจูสสมัยใกล้รุ่งวันนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกเพื่อเสด็จไปโปรด โจรองคุลิมาลปรากฏในข่ายคือพระญาณพอดี พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า องคุลิมาลมีอุปนิสัยที่จะโปรดให้ได้บรรลุมรรคผลได้ จึงเสด็จไปดักหน้าจรองคุลิมาลในเช้าวันนั้น

องคุลิมาลถือดาบคอยเหยื่อที่จะเดินทางผ่านมาอย่างใจจดใจจ่อ เพราะนิ้วมือเหลืออยู่เพียงนิ้วสองนิ้วเท่านั้นจะครบพัน พอที่จะกลับไปหาอาจารย์เพื่อให้อาจารย์ประสิทธิ์ประสาทวิชาพิเศษให้ พอเห็นพระพุทธองค์เสด็จดำเนินมา ก็ดีใจปานได้แก้ว ถือดาบชูเหนือศีรษะวิ่งตามไปทันที

พระพุทธองค์คงเสด็จดำเนินด้วยพระบาท แต่น่าประหลาด มหาโจรองคุลิมาลวิ่งเร็วอย่างไรก็ไม่สามารถทันได้ วิ่งจนเหนื่อย จึงร้องตะโกนว่า "หยุด สมณะ หยุด"

"เราหยุดแล้ว แต่เธอสิยังไม่หยุด" เสียงแว่วตอบมาแต่ไกล

"สมณะรูปนี้พูดเท็จ" องคุลิมาลคิด จึงร้องสวนไปว่า "ท่านเดินไปอยู่ ทำไมจึงพูดว่าหยุดแล้ว"

"เราหยุดทำบาป แต่เธอยังไม่หยุด" สมณะรูปนั้นกล่าวชัดถ้อยชัดคำ


ปางโปรดองคุลิมาล (จบ)
คําพูดนั้นกระทบใจมหาโจรอย่างแรง เธอฉุกใจคิด "เออ จริงสินะ เรายังไม่หยุดทำบาป กำลังจะฆ่าแม้กระทั่งสมณะ"

คิดดังนี้แล้ว ก็วางดาบ เข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท พระพุทธองค์ได้แสดงธรรมให้ฟัง จบพระธรรมเทศนากัณฑ์สั้นๆ องคุลิมาลก็บรรลุพระอรหัต เพราะวาสนาบารมีที่สร้างไว้แต่ชาติปางก่อนเป็นปัจจัยเกื้อหนุน กราบทูลขอบวช พระองค์ก็ประทานอุปสมบทให้ แล้วพากลับไปยังพระเชตวันมหาวิหาร

กล่าวถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล ยกทัพออกจากเมืองมุ่งหน้าไปยังที่อยู่องคุลิมาลผ่านพระเชตวัน จึงแวะเข้าไปอภิวาทพระพุทธองค์ เพื่อขอพรในการไปปราบโจร พระพุทธองค์ตรัสถามว่า "มหาบพิตรจะเสด็จไปไหน ดูดังกับจะไปรบกับข้าศึก"

"จะว่ารบกับข้าศึกก็ได้ พระเจ้าข้า เพราะมหาโจรองคุลิมาลเป็นที่หวาดผวาของประชาชนชาวเมืองมาก หม่อมฉันจึงต้องออกไปปราบ" พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูล

"มหาบพิตร ถ้ามหาโจรองคุลิมาลกลับเนื้อกลับตัวมาบวชเป็นสาวกของตถาคตแล้ว มหาบพิตรยังจะเอาเขามาลงอาญาอยู่หรือไม่" พระพุทธองค์ตรัสถาม

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า "ถ้าเขามาอาศัยร่มกาสาวพัสตร์แล้ว ถือว่าไม่เป็นพิษเป็นภัยแล้ว หม่อมฉันอโหสิให้ พระเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ทรงชี้พระดรรชนีไปยังภิกษุบวชใหม่รูปหนึ่ง เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า "นั่นไง องคุลิมาล บัดนี้เธอเป็นสาวกของตถาคตแล้ว"

ทันทีที่ได้ยินคำว่า "องคุลิมาล" พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับพระพักตร์ซีดเผือด ผุดลุกขึ้นทันที พระพุทธองค์ทรงปลอบโยนว่า "มหาบพิตร ไม่ต้องกลัว องคุลิมาลเธอละทิ้งศัสตราอาวุธเว้นขาดจากการเบียดเบียนชีวิตใดๆ แล้ว" นั่นแหละพระเจ้ากรุงสาวัตถีจึงค่อยเบาพระทัย แต่ก็ยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่

คิดเอาก็แล้วกันครับ องคุลิมาลท่านน่าเกรงขามขนาดไหน หลังจากรวบรวมความกล้าแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงเข้าไปนมัสการภิกษุบวชใหม่ ทรงปวารณาว่า "พระคุณเจ้าเคยเป็นที่หวาดกลัวของประชาชน แม้มาบวชแล้วคงไม่ค่อยมีใครกล้าเข้าใกล้ พระคุณเจ้าคงประสบความลำบากในเรื่องอาหารบิณฑบาต ขอพระคุณเจ้าจงไปบิณฑบาตในวังเถิด โยมจะจัดการให้ถวายภัตตาหารเอง" แล้วก็กราบทูลพระพุทธองค์เสด็จนิวัติยังพระนคร 



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด



หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 มีนาคม 2559 12:45:12

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ_uE25RlqC2mkSW7MhISgte09BrqdlgCawcTw76EnngqZFIZiP_Q)

ปางโปรดนางกีสาโคตมี (๑)

พระมหากรุณาแผ่ไปยังเวไนยสัตว์หาประมาณมิได้ ตลอดเวลา ๔๕ พรรษาหลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปสั่งสอนประชาชนให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามขีดความสามารถของแต่ละคน ผู้ที่ไม่ได้บรรลุมรรคผลใดๆ ก็ได้รับประโยชน์ อย่างน้อยก็ละมิจฉาทิฐิที่เคยยึดมั่น หันมารับเอาไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต

พระพุทธรูปปางที่จะกล่าวถึงนี้ ถ้าเป็นหนังก็เป็นหนังชีวิตที่เศร้าสลด ดูไปน้ำตาไหลไป พอถึงตอนจบก็จะเช็ดน้ำตายิ้มด้วยความสุขกับตัวละครด้วย เพราะเป็นหนังแฮปปี้เอนดิ้งตามฟอร์มขอรับ เรื่องนั้นคือเรื่องนางกีสาโคตมี หรือ "กีสาเดอะสเลนเดอร์" ปานนั้นเชียว

นางเป็นกุลธิดาที่มีฐานะค่อนข้างยากจนแห่งเมืองสาวัตถี รูปร่างผอมบาง จึงได้นามว่า กีสาโคตมี (โคตมีผู้ผอมบาง) วันหนึ่งนางไปเดินเที่ยวในตลาด คล้ายตลาดนัดอะไรทำนองนั้น เห็นชายวัยกลางคนคนหนึ่งแต่งตัวภูมิฐานแต่ใบหน้าหม่นหมอง นั่งเฝ้ากองถ่านไฟกองใหญ่อยู่ในตลาดที่มีคนพลุกพล่าน

นางจึงเอ่ยถามว่า "คุณพ่อ คนอื่นเขาขายเสื้อผ้าบ้าง ผลไม้บ้าง ขนมบ้าง แต่คุณพ่อนั่งเฝ้ากองทองคำกองใหญ่ ทำท่ายังกับจะขายทองหรืออย่างไร"

ชายวัยกลางคนร้องขึ้นด้วยความดีใจว่า "หนูว่าอะไรนะ" เมื่อหญิงสาวทบทวนคำเดิม จึงร้องถามว่า "ทองอยู่ไหน หนู"

"อ้าว ก็ที่คุณพ่อนั่งเฝ้าอยู่นั่นไง" หญิงสาวร้องขึ้นบ้าง ด้วยความสงสัยเป็นกำลัง เกิดอะไรขึ้น อีตาคนนี้นั่งเฝ้าทองอยู่แท้ๆ ยังถามว่าทองอยู่ไหน นางจึงเข้าไปจับก้อนถ่านที่นางมองเห็นเป็นทองยกขึ้นให้ชายวัยกลางคนดู

ทันใดนั้น กองถ่านทั้งหมดได้กลับกลายเป็นทองดังเดิม ที่เรียกว่า "ดังเดิม" ก็เพราะแต่เดิมเป็นทองอยู่แล้ว ต่อมากลายเป็นถ่านดำมิดหมี

เรื่องราวมันมีอยู่ว่า เกิดเหตุการณ์ประหลาดกับเศรษฐีเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ทองคำทั้งหมดที่แกมีกลายเป็นถ่านหมด ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่เศรษฐีเป็นอย่างมาก ไม่รู้ว่าเป็นกรรมเป็นเวรอะไรแต่ชาติปางก่อน เพื่อนๆ ได้ปลอบใจว่า อย่าได้เศร้าโศกเสียใจเลย นึกเสียว่าเป็นคราวเคราะห์ของเรา ขอให้ทำใจและอดทนไว้ บางทีเมื่อสิ้นเวรสิ้นกรรมแล้ว ทุกอย่างอาจกลับเหมือนเดิมก็ได้

เพื่อนคนหนึ่งเสนอว่า ลองเอาถ่านทั้งหมดนี้ไปกองไว้ที่ตลาด ทำท่าขายเหมือนขายของอื่น คอยดูซิว่าจะมีใครสักคนทักเป็นอย่างอื่นไหม ถ้าใครทักว่าเป็นทอง ก็ให้คนคนนั้นจับขึ้นมาดู เผื่อว่าถ่านเหล่านี้จะกลับกลายเป็นทองดังเดิม

เศรษฐีผู้ตกยากก็ทำตาม เพราะไม่มีทางเลือกอื่นดีกว่านี้แล้ว เขาขนถ่านไปกองไว้ที่ตลาด นั่งทำท่าเป็นพ่อค้าขายถ่านอยู่ดังได้กล่าวแล้ว เมื่อได้ยินหญิงสาวรูปร่างผอมบางเดินเข้ามาทักและเอามือหยิบถ่านขึ้นมา ถ่านนั้นได้กลับกลายเป็นทองเหมือนเดิมก็ดีใจปานได้แก้ว

เศรษฐีจึงถามไถ่ว่านางชื่อเสียงเรียงไร ลูกเต้าเหล่าใคร ครั้นแล้วก็ออกปากรับนางไปอยู่ด้วย ให้แต่งงานกับบุตรชายของตน ยกทรัพย์นั้นให้ทั้งหมด



ปางโปรดนางกีสาโคตมี (จบ)
เป็นอันว่านางกีสาโคตมี ได้กลายเป็นเถ้าแก่เนี้ยในที่สุด อยู่กับครอบครัวเศรษฐีอย่างผาสุก จนได้บุตรชายมาคนหนึ่ง น่าเกลียดน่าชัง ยังความปลาบปลื้มแก่นางและสามี แต่ความปลาบปลื้มก็อยู่ไม่ได้นาน บุตรชายผู้น่ารักของนางก็ป่วยและสิ้นชีวิตกะทันหัน

นางเศร้าโศกเสียใจอย่างมาก มิไยเหล่าญาติมิตรจะปลอบโยนอย่างไรก็ไม่หาย ไม่กินไม่นอน นั่งซึมทั้งวัน ปากก็พร่ำว่า ลูกแม่เจ้าต้องไม่ตาย เจ้าหลับใช่ไหม เมื่อไหร่ลูกแม่จะตื่นไปแล้วครับ สติสตังไปแล้ว ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ยอมให้เขาเอาศพไปฝังหรือเผาตามประเพณี ยังคงอุ้มลูกน้อยเดินไปบ้านโน้นบ้านนี้ ถามว่าใครมียารักษาให้ลูกของนางฟื้นบ้างไหม

เมื่อคนเขาบอกว่าลูกของนางตายแล้วไม่มีทางฟื้นดอก นางจงเอาไปเผาหรือฝังตามประเพณีเถิด นางก็ตวาดเอา หาว่าสาปแช่งลูกของนาง ลูกของนางยังไม่ตาย เพียงสลบไปเท่านั้น ใครๆ ก็หาว่านางเป็นบ้าไปแล้ว จึงไม่ใส่ใจอีกต่อไป

วันหนึ่งอุบาสกคนหนึ่งเห็นนางอุ้มลูกพลางเอ่ยปากขอยารักษาพลาง ก็เกิดความสงสารกล่าวกับนางว่า "แม่หนู ไปที่พระ เชตวันสิจ๊ะ มีหมอยาที่เก่งอยู่ท่านหนึ่ง บางทีท่านอาจรักษาลูกแม่นางได้" แล้วก็บอกนามท่านไป

นางกีสาโคตมีดีใจ รีบอุ้มศพลูกชายตรงไปยังพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ แล้ววางศพลูกชายแทบพระยุคลบาท กราบทูลว่า "ได้ข่าวว่า พระองค์ทรงรู้ยารักษาลูกชายของหม่อมฉัน ได้โปรดบอกด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "เราตถาคตรู้จัก เธอจงไปเอาเมล็ดพรรณผักกาดมาสักกำมือหนึ่ง เราตถาคตจะทำยาให้" นางดีใจ รีบอุ้มศพลูกจะไปหาเมล็ดพรรณผักกาด พระพุทธองค์ตรัสว่า "เมล็ดพันธุ์ผักกาดนี้ จะต้องเอาจากเรือนที่ไม่มีคนตายเท่านั้น จึงจะทำยาได้"

นางเข้าไปยังหมู่บ้าน ถามหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่เรือนแรก คนในเรือนก็หยิบมาให้ นางถามว่า "ที่บ้านนี้ เคยมีคนตายไหม ป้า"

คุณป้าทำหน้างง "ถามอะไรบ้าๆ ที่ไหนบ้าง ที่ไม่มีคนตาย สามีของป้าเพิ่งตายไปเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง" "ถ้าอย่างนั้นไม่เอา" นางกล่าวแล้วก็อุ้มลูกไปขอยังเรือนที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า...จนกระทั่งหมดทั้งหมู่บ้าน

ปรากฏว่านางไม่ได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแม้แต่เมล็ดเดียว เพราะทุกหลังคาเรือนที่นางไปขอมีคนตายมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีหลังไหนที่ไม่เคยมีคนตายเลย นางจึง "ได้คิด" และ "คิดได้"

ได้คิดและคิดได้ว่า สรรพสัตว์ที่เกิดมาแล้ว ล้วนต้องตาย อย่าว่าแต่ลูกชายของนางเลย นางเองก็ต้องตาย สรรพสัตว์ทั้งหลายก็ต้องตาย ไม่มีใครอยูู่ค้ำฟ้า

ครับ หูตาสว่างขึ้นแล้ว เมื่อเกิดความรู้แจ้งด้วยตัวเองอย่างนี้ ทุกข์หนักอึ้งที่แบกอยู่ก็เบาอย่างน่าประหลาด นางฝังศพลูกชายแล้วเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยใบหน้าของผู้ปลงตก

"ได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดไหม" พระสุรเสียง ตรัสถามด้วยพระมหากรุณา

"ไม่ได้พระเจ้าข้า บัดนี้หม่อมฉันทราบแล้ว สรรพสัตว์ล้วนต้องตาย ไม่มีใครล่วงพ้นความตายไปได้"

พระพุทธเจ้าประทานสาธุุการ แล้วตรัสพระธรรมเทศนาย่อๆ ให้เธอสดับ จบพระธรรมเทศนา กีสาโคตมี ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วขอบวชเป็นภิกษุณีในสำนักภิกษุณีสงฆ์




(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRK4OsuZNB8YVfBgqXcwlvOVaYaoEy7cHNoKLMXh4Ec4d4VNJqz)

ปางทรมานอุบาลีอุบาสก (๑)

บอกไว้ก่อน "ทรมาน" มาจาก ทมน=การข่ม, การฝึก "ทรมาน อุบาลีอุบาสก" ก็คือ ข่มให้อุบาลีรู้สำนึกและฝึกจิตใจอุบาลี หรือกลับใจอุบาลีนั้นเอง เห็นจะตรงกับคำ "ปะกิต" ว่า convert กระมัง อย่าได้เข้าใจไปว่า พระพุทธเจ้าทรงทรมานทรกรรมใครเป็นอันขาด

อุบาลี เป็นคหบดีผู้มั่งคั่ง เทียบสมัยนี้ก็เศรษฐีพันล้าน มีคฤหาสน์สามหลัง สามฤดูเชียวแหละครับ (อาจมากกว่านั้นก็ได้) อุบาลีเป็นสาวกคนสำคัญของศาสดามหาวีระ หรือที่ชาวพุทธเรียก "นิครนถ์ นาฏบุตร" ท่านมหาวีระ ถือเคร่งครัดไม่นุ่งห่มจีวร นุ่งลมห่มฟ้า ตามคติ "อัตตกิลมถานุโยค" (ประกอบเนืองๆ ซึ่งการทรมานกาย) เป็นศาสดาศาสนาเชน (หรือ ไชนะ)

แปลกแต่จริงก็คือ พวกเศรษฐีเงินหนามักจะ "ขึ้น" วัดพระเชน พระคุณเจ้าท่านไม่เอาเสื้อผ้าก็จริง แต่วัดท่านเอา ญาติโยมสร้างวัดให้อย่างหรูหราสวยงามมาก พวกเศรษฐีก็คงสบายใจที่ขึ้นวัดเชน เพราะไม่ต้องหาอะไรมาถวายพระ ลงทุนสร้างวัดงามๆ สักครั้งเดียวก็พอ (ไม่ต้องสะดุ้งว่าจะมีโทรศัพท์มาทวง "งวดบุญ" เมื่อใด ฮิฮิ)

แปลกแต่จริงอีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าของเรากับพระมหาวีระไม่ค่อยมีข่าวว่าได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหรือโต้แย้งกันตรงๆ มีแต่ศิษย์ชั้นเอกของมหาวีระ หาญมาเชิญกับพระพุทธองค์ มากี่รายๆ ก็ถูกพระพุทธองค์ "ปราบ" เรียบ ดังกรณีอุบาลีนี้ก็เช่นกัน

อุบาลี หมายมั่นปั้นมือจะหักล้างพระพุทธองค์ ซึ่งก็ได้รับอนุมัติจากมหาวีระ แต่มีสาวกผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งนามว่า ทีฆตปัสสี ห้ามไว้ เตือนว่า "พระสมณะโคดมนั้นมี "อาวัฏฏนีมนต์" (มนต์กลับใจ) ใครได้พูดคุยด้วย ถูกสมณะโคดมครอบหมด ท่านอย่าไปเลย เดี๋ยวก็ถูก "ดูด" เป็นสาวกเขา"

แต่อุบาลีก็ไม่ฟัง ทั้งมหาวีระก็สนับสนุน อุบาลีไปหาพระพุทธเจ้า โต้วาทะกันนานพอสมควร เรื่องโต้กันเกี่ยวกับ "หลักกรรม" (ซึ่งทางเชนใช้ศัพท์ว่า ทัณฑ์) อุบาลียืนยันว่า กายทัณฑ์ (กรรมทางกาย) สำคัญกว่า มโนทัณฑ์ (กรรมทางใจ) พระพุทธองค์ตรัสว่า มโนกรรมสำคัญกว่า

ในที่สุดอุบาลียอมจำนนด้วยเหตุผล จึงประกาศละทิ้งศาสนาเดิม ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ พระพุทธเจ้าตรัสปรามว่า "คหบดี คนที่มีชื่อเสียงอย่างท่าน จะทำอะไรขอให้คิดให้ดีก่อน"

"คิดดีแล้วพระเจ้าข้า ข้าพระองค์ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ" อุบาลียืนยัน มิไยพระพุทธองค์จะตรัสถึงสามครั้ง ให้เขาคิดให้ดีก่อน เขาก็ยืนยันเจตนาเดิม

พระพุทธองค์จึงทรงรับเขาเป็นสาวก แล้วตรัสต่อไปว่า "อุบาลี บ้านเธอเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพวกนิครนถ์ ถึงเธอจะเป็นสาวกของเราแล้ว เธอก็จงสำคัญข้าวน้ำที่เคยถวายแก่พวกนิครนถ์เหมือนเดิมเถิด"

ความหมายของประโยคหลังนี้ก็คือ เคยถวายข้าวน้ำแก่พวกเขาอย่างไร ก็จงถวายเหมือนเดิมเถิด แต่อุบาลีไม่ทำ รู้สึกจะเป็นธรรมดาของคนที่เปลี่ยนศาสนาใหม่นะครับ มักจะเคร่งครัดกว่าศาสนาเดิม อุบาลีนี้ก็เช่นกัน กลับถึงบ้าน สั่งคนเฝ้าคฤหาสน์เลยว่า "ห้ามพวกนิครนถ์ ไม่ว่าใครทั้งนั้น เข้ามาเป็นอันขาด"



ปางทรมานอุบาลีอุบาสก (จบ)
ทีฆตปัสสี ได้ข่าวว่าอุบาลีถูกพระพุทธเจ้าล้างสมองแล้ว ก็ตรงดิ่งไปหาศาสดามหาวีระต่อว่าต่อขาน "ข้าพเจ้าบอกแล้วว่า สมณโคดมมีมนต์กลับใจ ไม่ให้ส่งอุบาลีไปท่านก็ดื้อส่งไป ตอนนี้เป็นไง เขากลายเป็นสาวกของสมณโคดมไปแล้ว"

มหาวีระกล่าวว่า "เป็นไปไม่ได้"
"เป็นไปไม่ได้ ก็ไปดูให้เห็นกะตาสิ" ทีฆตปัสสีกล่าว

มหาวีระจึงนุ่งสบงทรงจีวร เอ๊ย ประทานโทษ แก้ผ้าอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเวลานุ่งห่มผ้า รีบไปคฤหาสน์ของอุบาลี นายทวารไม่ยอมให้เข้า จึงร้องบอกว่า "นี่ข้ามหาวีระ อาจารย์ของอุบาลีเจ้านายเอ็ง ไปบอกว่าอาจารย์มาหา"

นายทวารหายไปพักหนึ่ง กลับมาเชิญมหาวีระเข้าไป พาไปนั่งที่ศาลากลางลานบ้าน ไม่พาขึ้นไปคฤหาสน์เหมือนทุกครั้ง มหาวีระรออยู่ด้วยความกระวนกระวายใจ สักครู่อุบาลีก็เดินลงมาขึ้นไปบนศาลา ไม่ยกมือไหว้ดังเคย ขึ้นไปนั่งบนอาสนะสูงกว่า แล้วกล่าวขึ้นดุจคนไม่คุ้นเคยว่า "พระคุณเจ้า มีความประสงค์สิ่งใด"

"อุบาลี อย่าพูดอย่างนั้น นี่ศาสดาเจ้านะ"

"ท่านไม่ใช่ศาสดาของข้าพเจ้า ศาสดาของข้าพระเจ้าคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" อุบาลีพูดเสียงดังฟังชัด

ทำเอามหาวีระแทบกระอัก ร้องขึ้นเสียงดังว่า "เราน่าจะเชื่อ ทีฆตปัสสี ที่ไม่ให้ส่งเจ้าไปแต่แรก เจ้าถูกมนต์กลับใจของสมณโคดมจนได้"

"หามิได้ ท่านนิครนถ์ ข้าพเจ้ามิได้ถูกมนต์อะไรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รู้แจ้งจริงด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงแนวทางดับทุกข์ได้จริง ต่างจากนักบวชอื่นๆ ที่มีแต่ราคาคุย"

"อุบาลี สมณโคดมมันมีดีอะไร เจ้าจึงไปหลงใหลปานนี้" อาจารย์ตัดพ้อ

"ฟังนะ ข้าพเจ้าจะกล่าวพระคุณของพระพุทธองค์ให้ท่านฟัง" อุบาลีกล่าว แล้วก็สวดสรรเสริญพระพุทธคุณ ๑๐๐ บท ทีละบท ทีละบท ด้วยเสียงก้องกังวาน

สวดไปได้ไม่ถึงครึ่ง มหาวีระก็ยกมือห้าม พอแล้วๆ แล้วก็กระอักโลหิตอุ่นๆ ออกจากปาก สานุศิษย์ต้องหามกลับวัด ว่ากันว่ามหาวีระได้ป่วยกระเสาะกระแสะตั้งแต่นั้น จนสิ้นชีวิตในเวลาต่อมาไม่นาน

อุบาลีอุบาสก เป็นคนมีความรู้ เมื่อมาเป็นพุทธศาสนิกแล้ว ก็ได้นำความรู้ของตนมารับใช้งานพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดีตลอดอายุของท่าน

ข้อที่พึงสังเกตก็คือ พระพุทธเจ้ามิได้เป็น "ศาสดากระหายสาวก" คนมีชื่อเสียงขนาดอุบาลีมานับถือ ถ้าเป็นอาจารย์อื่นก็รีบรับแล้ว แต่พระองค์ตรัสเตือนให้คิดให้ดีก่อนจะทำอะไร นี้คือสปิริตที่น่าภูมิใจของพระพุทธศาสนา

ข้อสังเกตประการที่สอง พระพุทธคุณเท่าที่เราสวดกันมีอยู่ ๙ ประการ พระพุทธคุณ ๑๐๐ บท มีในที่นี้แห่งเดียว (เคยเขียนถึงในที่อื่นแล้ว ผู้สนใจพึงหาอ่านเอาเองเทอญ)  



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTosmHJoCafv_By-RgCgVA-W8nGZgyHh0ZJ5_xpMtoBR-_Ol13W)

ปางปราบจิญจมาณวิกา (๑)

เรื่องราวของพระพุทธรูปปางนี้ มีใน ชยมังคลอัฏฐกคาถา (คาถาว่าด้วยชัยมงคล ๘ ประการ ของพระพุทธเจ้า) ที่ท่านรวมไว้เป็นหนึ่งใน ๘ เหตุการณ์ คงเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ ก่อผลกระเทือนแก่วงการพระศาสนา มิใช่เฉพาะพระพุทธศาสนา หากรวมถึงศาสนาเดียรถีย์ที่เป็นตัวการวางแผนทำลายอันชั่วร้ายนี้ด้วย

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาแพร่หลายในชมพูทวีป ประชาชนจากทุกชั้นวรรณะได้หลั่งไหลเข้ามาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์มากขึ้นตามลำดับ พระราชามหากษัตริย์ อาทิ พระเจ้าพิมพิสารแห่งมคธรัฐ พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งโกศลรัฐ ต่างก็ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน

เหล่าเดียรถีย์ คือนักบวชนอกพระพุทธศาสนาซึ่งมีจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาเชนก็ชักหวั่นไหว ศาสนาเชนที่ว่านี้คือพวกที่ถือเคร่งครัดถึงขนาดเปลือยกายเลยแหละ ขอรับ อ้างว่าเสื้อผ้าเป็นเครื่องหมายแห่งการยึดมั่นถือมั่น ผู้ไม่มีกิเลสต้องไม่นุ่งห่มผ้า (ถ้าถืออย่างนี้ พวกนู้ด พวกสายเดี่ยว ก็เฉียดๆ อรหันต์แล้วสิ ขอรับ) ศาสนาพิลึกๆ อย่างนี้ก็มีผู้เคารพนับถือนะครับ มีมากเสียด้วย

พวกเขาประชุมลับกันว่า จะทำอย่างไรดีศาสนาพระสมณะโคดมกำลังรุ่งเรืองได้รับอุปถัมภ์อย่างดีจากพระเจ้าปเสนทิโกศล ลาภ สักการะของพวกเรากำลังเสื่อมถอย รายได้เดือนละหลายหมื่นก็หดหายไปทุกที สาวกที่เข้าวัดเป็นแสนๆ ก็ลดน้อยลงทุกที ในที่สุดก็วางแผนลับกัน ให้สาวิกานามว่าจิญจมาณวิกา เป็นผู้ดำเนินการทำลายพระพุทธเจ้าของชาวพุทธ

จิญจมาณวิกา หรือเรียกสั้นๆ ว่า จิญจา เธอเป็นหญิงฉลาด รับแผนจากพระคุณเจ้าที่ตนเคารพมา ก็เริ่มสร้างความแคลงใจในหมู่สาวกของพระพุทธเจ้าทันที เวลาคนเขาออกนอกเมืองตอนเเช้า อีก็เดินเข้าเมือง เวลาคนเขาเข้าเมืองตอนเย็น อีก็เดินออกนอกเมือง

เมื่อคนเขาถามว่า เจ้าไปไหน ก็จะตอบว่า "เรื่องของข้า" เมื่อถูกถามบ่อยเข้า ก็ค่อยแย้มทีละนิดว่า "ข้าก็มาจากบ้านข้าน่ะสิ"
"บ้านเจ้าอยู่ที่ไหน ทำไมเดินออกนอกเมือง"
"ก็บ้านข้าอยู่นอกเมืองนี่จ๊ะ"
"นอกเมืองน่ะ อยู่ที่ไหน"
"พระศาสดาของท่านอยู่ที่ไหนล่ะ" นางจิญจาย้อนถาม
"อยู่พระเชตวัน นอกเมือง เกี่ยวอะไรกับเจ้าด้วย"

"ไม่เกี่ยวดอก เห็นพวกท่านถามว่าข้าอยู่ที่ไหน ก็เลยถามพวกท่านว่าพระศาสดาของพวกท่านอยู่ที่ไหน" จิญจาตอบกวนๆ พลาง หัวร่อกิ๊กๆ

"หรือว่า เจ้าอยู่ที่พระเชตวัน" ใครคนหนึ่งโพล่งขึ้น



ปางปราบจิญจมาณวิกา (จบ)

"แม่นแล้ว ข้าอยู่กับศาสดาของพวกเจ้า" จิญจารับสมอ้าง สร้างความมึนงงสงสัยแก่ประชาชน เป็นจำนวนมาก

กาลเวลาผ่านไปตามลำดับ นางใจบาปก็เอาท่อนไม้มาผูกท้องเอาผ้าพันทำทีว่าตั้งครรภ์ ท้องก็ค่อยโตขึ้นตามกาลเวลา ถึงตอนนี้เสียงลือในทางอกุศลก็แพร่ไปไกล พวกที่เป็นพาลโง่เขลาก็พากันเชื่อ ยกเว้นเหล่าบัณฑิตผู้ตั้งอยู่ในธรรมเท่านั้นที่ไม่เชื่อและไม่หวั่นไหวไปตามกระแส

วันหนึ่ง ขณะพระพุทธองค์ประทับแสดงพระธรรมเทศนาท่ามกลางพุทธบริษัทหมู่ใหญ่ที่พระเชตวันมหาวิหาร นางจิญจาอุ้มท้องเดินอุ้ยอ้ายเข้าไป กล่าวเสียงดังฟังชัดว่า "เสด็จพี่ มัวแต่แสดงธรรมอยู่นั่นแหละ ภริยาท้องแก่จวนคลอดแล้ว ไม่ฝากให้ลูกศิษย์ดูแลบ้าง จะฝากนางวิสาขาหรืออนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็รีบๆ จัดการเสียเถอะค่ะ"

ประชาชนส่งเสียงฮือยังกับผึ้งแตกรัง พระพุทธองค์ประทับนิ่งเฉย หันไปตรัสกับนางได้ยินไปทั่วว่า

"น้องหญิง คำที่เจ้าพูด จริงหรือเท็จ เรากับเจ้าเท่านั้นที่รู้"
"ก็ใช่สิเจ้าคะ เรื่องในมุ้ง ใครเขาจะมารู้ด้วยเล่า" นางรับสมอ้างทันที

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาต่อ ไม่สนพระทัยนางอีกต่อไป ทำให้นางโกรธหนักขึ้น เต้นดุจเจ้าเข้า ส่งเสียงโหวกเหวกๆ ทำลายสมาธิของผู้ฟัง จะเต้นแรงไปหรือเปล่าไม่ทราบ ท่อนไม้ที่ผูกกับพุงหลุดลงมา (ในตำราว่า พระอินทร์ทนเห็นนางทำชั่วต่อไปไม่ไหว จึงแปลงเป็นหนูไต่ขึ้นไปกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้หลุดลงมา ว่าอย่างนั้น) แผนการเลยแตก ประชาชนจึงฮือไล่

นางวิ่งหนีตายออกจากพระเชตวัน พอออกมานอกประตูวัด แผ่นดินก็แยกเป็นช่องใหญ่สูบนางหายไปต่อหน้าต่อตาประชาชนเป็นที่สยดสยอง จิญจมาณวิกาผู้ใจบาปหยาบช้าก็จบชีวิตลงด้วยประการฉะนี้

พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งให้สืบหาต้นตอผู้วางแผนทำลายอันชั่วร้ายนี้ ผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าตัวการก็คือนักบวชแห่งศาสนาแก้ผ้าจำนวนหนึ่ง จึงสั่งจับมาลงโทษตามกระบิลเมืองในที่สุด



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSDPyzR_hVLtwJcMF2gDmT0E5ZjK-ekPawB_zyMTS8jOGOIcSP98A)

ปางปราบเดียรถีย์ (๑)

เดียรถีย์สำนักเดิมครับ หลังจากเหตุการณ์นางจิญจมาณวิกาถูกส่งไปทำลายชื่อเสียงพระพุทธองค์แพ้ภัยตนเอง ถูกแผ่นดินสูบตายอย่างอนาถผ่านไปนานพอสมควรจนคนเกือบลืมกันหมดแล้ว เหล่าเดียรถีย์ก็ยังไม่เข็ด วางแผนทำลายอีก คราวนี้คิดว่าเป็นแผนเด็ด

พวกเขาได้ฆ่าสาวิกานางหนึ่งนามว่า สุนทรี แล้วลากศพไปทิ้งไว้ข้างพระเชตวันมหาวิหาร จากการตรวจสอบในเบื้องต้น ผู้ร้ายมิได้ทิ้งร่องรอยอะไรไว้เลย คดีทำท่าจะมืดมนจับฆาตกรไม่ได้

เหล่าเดียรถีย์ตัวการก็ตายใจ ยิ้มย่องผ่องใส เพราะมีเสียงลือว่าสมณะศากยบุตรลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งฆ่านางสุนทรี จึงพากันไปร้องทุกข์ต่อพระเจ้าปเสนทิโกศล ว่า สาวิกาของพวกตนถูกฆ่าหน้าพระเชตวันของสมณะศากยบุตรหลายวันแล้ว ขอได้โปรดรีบเร่งดำเนินการเอาตัวฆาตกรมาลงโทษให้ทีเถอะ

"ที่ล่าช้าอยู่ เพราะเกรงใจพระสมณโคดมหรืออย่างไร" เสียงเดียรถีย์ดังออกมาอย่างนี้

ประชาชนที่โง่เขลาขาดวิจารณญาณจำนวนมากเชื่อว่าการตายของนางสุนทรีเกี่ยวพันกับพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแน่นอน อาจมาจากความแค้นครั้งก่อนก็ได้ แค้นที่พระศาสดาของพวกตนถูกนางจิญจมาณวิกาใส่ร้าย คราวนี้จึงเล่นงานสาวิกาของศาสดามหาวีระ (นริครน์ นาฏบุตร)

"พวกสมณะศากยบุตรนี่อาฆาตมาดร้ายเหลือเกิน คราวก่อนโน้น จิญจาเธอมีความแค้นส่วนตัวกับพระสมณะโคดม พวกเราไม่เกี่ยวเลย บ้านเมืองก็มิได้สอบสวนอย่างยุติธรรม จับพระเราไปฆ่าตั้งหลายองค์ เรายังไม่โกรธเลย แต่สมณะศากยบุตร ลูกศิษย์พระสมณะโคดมกลับไม่หายแค้น คราวนี้เล่นงานสีกาของพวกเราถึงตายเลย ช่างทารุณแท้" เหล่าเดียรถีย์ปล่อยข่าวเช่นนี้ล่องลอยไปไกล

พระสาวกทั้งหลายได้ยินข่าวลือนั้น จึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลให้ทรงทราบพระองค์ตรัสพระคาถาว่า

"คนพูดเท็จเสมอ หนึ่ง คนที่ทำแล้วพูดว่า "ฉันไม่ได้ทำ" หนึ่ง
สองคนนี้ ตกนรกเหมือนกัน
สองคนนี้ ชั่วพอๆ กัน
มีคติเสมอกัน ในโลกหน้า"

สรุปก็คือ คนพูดเท็จประจำ คนที่ทำแล้วพูดหน้าตาเฉยว่าฉันเปล่า ชั่วพอกัน ตายไปแล้วตกนรกเหมือนกัน



ปางปราบเดียรถีย์ (จบ)

พระพุทธองค์ตรัสเป็นนัยว่า พวกเดียรถีย์นั้นสั่งฆ่าสาวิกาตนเองแล้ว พูดว่าตนมิได้ทำแต่ป้ายความผิดให้คนอื่นที่ไม่รู้เห็นด้วย แถมยังพูดเท็จ เที่ยวใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นอีก ตกนรกแน่นอน

เรื่องใหญ่ถึงปานนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้ปล่อยปละละเลยเป็นอันขาด ทรงถือเอาเป็นพระราชภารกิจสำคัญที่จะสร้าง ความกระจ่างโปร่งใสให้เกิดแก่พสกนิกรของพระองค์ มิปล่อยให้ลัทธิศาสนาใดในพระราชอาณาจักรของพระองค์ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม ไม่เฉพาะกับพระพุทธศาสนา กับศาสนาอื่นพระองค์ก็ทรงให้ความเป็นธรรมเหมือนกัน แม้ว่าพระองค์จะเป็นพุทธศาสนิกก็ตาม นี้คือแบบอย่างของผู้ปกครองที่ดีครับ

พระองค์รับสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปสืบหาความจริงให้ได้ เจ้าหน้าที่ใช้เวลาอยู่พักใหญ่ก็จับนักเลงสุราจำนวนหนึ่งได้ นักเลงสุราเหล่านี้รับค่าจ้างหลังจากทำงานเสร็จก็ไปเลี้ยงฉลองกันอย่างสนุกสนาน สนุกเกินไปหรืออย่างไรไม่ทราบเกิดทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นลงมือตบต่อยทุบตีกันต้องห้ามกันพัลวัน

"เอ็งรู้ไหม อีนางสุนทรีถูกกูทุบทีเดียวม่อยกระรอกเลย" คนหนึ่งคุยโม้ ลิ้นไก่ เริ่มสั้น
"ใครว่า กูต่างหากที่ตีมันก่อน" อีกคนเถียง ลิ้นไก่พอๆ กัน
"ไอ้สองคนนี่ อย่างนี้ทุกที พองานเสร็จมักรับสมอ้างเป็นของตัว ข้าต่างหากเว้นที่ตีอีนังหนูนั่น ทีเดียวดับ"

เจ้าหน้าที่แอบฟังอยู่แล้ว ก็กรูกันออกมาจับนักเลงสุราสามสี่คนนั้นไปหาพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาทรงสอบปากคำด้วยพระองค์เอง พวกนั้นรับเป็นสัตย์ว่าพวกตนเป็นคนฆ่าสุนทรี (ใครลงมือก่อนหลัง ก็มีโทษพอกัน) แถมซัดผู้บงการอีกด้วย นักโทษเหล่านั้นถูกประหารชีวิตตามระเบียบ

ส่วนเหล่าเดียรถีย์ผู้บงการจำนวนหนึ่งถูกจับ มีพระบรมราชโองการให้แห่ประจานทัณฑ์รอบพระนคร ให้ประกาศว่า "พวกข้าพเจ้าเป็นคนสั่งฆ่านางสุนทรีเอง แล้วเอาศพไปโยนข้างพระเชตวัน ใส่ร้ายพระสมณะศากยบุตร"

ในตำรามิได้บอกว่า เดียรถีย์พวกนี้ถูกประหารชีวิต แต่วิธีสั่งให้เดินประจานตัวเองว่า "พวกข้าเลวๆ" ก็เป็นการทำโทษที่หนักหนาสาหัสทีเดียว ไม่ถูกฆ่า แต่ก็ตายทั้งเป็น ชื่อเน่าเหม็นเป็นที่ "ขี้เดียด" ของประชาชนตลอดไป ปานนั้นเชียว



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 กรกฎาคม 2559 11:59:05

(http://www.larnbuddhism.com/atatakka/tere/sirima.jpg)
โปรดภิกษุหนุ่มผู้ตกหลุมรัก (๑)

ใช้ชื่ออย่างนี้คงไม่ว่ากัน เพราะตรงกับเนื้อหาของเรื่อง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับภิกษุหนุ่มรูปนี้ มีบันทึกไว้ในอรรกถาแห่งธรรมบท (ธัมมปทัฎฐกถา) สาเหตุมาจากนางนครโสเภณี นามว่า สิริมา ผู้เป็นน้องสาวหมอชีวกโกมารภัจจ์

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งมคธรัฐ ได้สถาปนาตำแหน่ง "นครโสเภณี" เลียนแบบเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี แห่งแคว้นวัชชี นางนครโสเภณีคนแรกคือ นางสาลวดี ต่อจากนางสาลวดีก็นางสิริมา แรกเริ่มเดิมที สิริมา ก็มิได้เป็นสาวิกาของพระพุทธเจ้า แต่เพราะความกรุณาของนางอุตตรา ภริยาเศรษฐีคนหนึ่งนางจึงได้รู้จักพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนา

อุตตราเป็นสาวิกาของพระพุทธองค์ ปรารถนาจะได้เข้าวัดฟังธรรมบ่อยขึ้น จึงไปจ้างนางสิริมา มาทำหน้าที่ภรรยาชั่วคราว ซึ่งก็เป็นที่พอใจของสามี สิริมานั้น เมื่ออยู่กับสามีคนอื่นนานเข้าก็ลืมตัวนึกว่าเป็นภรรยาจริงๆ จึงรังแกนางอุตตรา ด้วยการเอาน้ำมันเดือดราดลงบนตัวของนางอุตตรา บังเอิญบรรดาคนใช้ของนางอุตตราเห็นเข้า จึงตรูกันเข้าไปทำร้ายสิริมา อุตตราได้ห้ามปรามพวกคนใช้ มิให้ทำอะไรสิริมา สิริมาจึงสำนึกผิด กล่าวคำขอขมา

อุตตราบอกว่า ให้ไปขอขมา "บิดา" ของนาง ถ้าบิดายอมยกโทษให้ ก็เป็นอันเลิกแล้วต่อกัน "บิดา" ที่ว่านี้นางหมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิริมามีโอกาสพบพระพุทธองค์ กราบขอขมาในความผิดที่ตนทำต่ออุตตรา พระพุทธองค์ทรงยกโทษให้ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาสั้นๆ ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนาสิริมาได้บรรลุโสดาปัตติผล ถวายตนเป็นสาวิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

วิถีชีวิตของสิริมา นางนครโสเภณี ได้เปลี่ยนแปลงตั้งแต่วินาทีนั้น นางกลายเป็นคนใจบุญสุนทาน ใส่บาตรพระวันละ ๘ รูปเป็นประจำ ภิกษุหนุ่มเณรน้อยที่ไปรับบาตร (หมายถึงรับอาหารบิณฑบาต) ที่บ้านสิริมา กลับมาก็พากันกล่าวสรรเสริญความเป็นคนมีศรัทธามั่นคง และแน่นอน กล่าวขวัญถึงความงามของเธอด้วย

ภิกษุหนุ่มนิรนาม ได้ยินกิตติศัพท์ว่าสิริมาเธองามเหลือเกิน อยากเห็นด้วยตาว่าจะงามปานใด รุ่งขึ้นวันหนึ่งจึงนุ่งสบงทรงจีวร ถือบาตร ตรงดิ่งไปยังคฤหาสน์ของสิริมา เธอไม่รู้ดอกว่าคืนนั้นสิริมาเธอป่วยกระทันหัน แต่พอรุ่งเช้านางก็ให้คนใช้พยุงลงมาใส่บาตรดังเช่นทุกวัน

ภิกษุหนุ่มเห็นเธอ ก็เกิดความรักขึ้นมาทันที แสดงว่ากามเทพแผลงศรดอกเบ้อเร่อปักอกเธอดังฉึกเลยทีเดียว อาการหน้ามืดก็เกิดครับ สมดังบทกวีพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ (จำถูกหรือเปล่าหนอ!) ว่า "ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยลอุปสรรค (ะ) ใดใด"



ปางโปรดภิกษุหนุ่ม ผู้ตกหลุมรัก (จบ)
เธอรับข้าวจากนางแล้วก็ตรงดิ่งกลับวัด ขึ้นกุฏิ วางบาตรไว้แล้วก็นอนคลุมโปงครางฮือๆ ข้าวปลาไม่สนใจ มิไยเพื่อนพรหมจรรย์ (เพื่อนพระภิกษุ) ด้วยกันจะอ้อนวอนอย่างไรก็ไม่สนใจ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคืนวันที่เธอใส่บาตรนั้นแล สิริมาได้เสียชีวิต

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง จึงมีพุทธบัญชาไปยังพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งเมืองราชคฤห์ว่า อย่าเพิ่งเผาศพนางสิริมา ให้นำศพไปทิ้งไว้ที่ "อามกสุสาน" (ป่าช้าผีดิบ) ก่อน พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงจัดการตามพุทธประสงค์

ในวันที่สี่ พระพุทธองค์รับสั่งให้ป่าวประกาศทั่วพระอารามว่า พระองค์จะเสด็จไปทอดพระเนตรนางสิริมา ใครมีความประสงค์จะโดยเสด็จก็ให้เตรียมตัว เพื่อนพระภิกษุไปบอกภิกษุหนุ่มผู้เป็นไข้รัก นอนครางฮือๆ อยู่นั้นว่า "มัวแต่ครางอยู่ นั่นแหละ พระพุทธองค์จะเสด็จไปทอดพระเนตรนางสิริมา คุณไม่อยากไปบ้างหรือ" พอได้ยินคำว่า "สิริมา" ภิกษุหนุ่มก็กระโดดผึงจากที่นอน ล้างบาตรเช็ดให้แห้งแล้ว ก็ห่มจีวร รีบลงจากกุฏิตามเหล่าพุทธบริษัทไป

เสียงราชบุรุษประกาศก้องต่อที่ชุมนุมนั้นว่า "ท่านผู้เจริญ ใครอยากได้นางสิริมา นางนครโสเภณีผู้เลอโฉมแห่งเมืองราชคฤห์ ไปอภิรมย์ด้วย ขอให้จ่ายเงินมาหนึ่งพันกหาปณะ" ไม่มีเสียงตอบ ราชบุรุษคนเดิมประกาศอีกว่า "ห้าร้อยกหาปณะ"

เงียบ

"สองร้อยกหาปณะ"

เงียบอีกเช่นกัน คราวนี้เสียงประกาศราคาลดลงตามลำดับ ร้อยห้าสิบ...หนึ่งร้อย...ห้าสิบ...ยี่สิบ...สิบ...มาสกหนึ่ง...กากณิกหนึ่ง ก็ไม่มีผู้แสดงความจำนงจะรับนางไป

"ถ้าเช่นนั้น ให้เปล่าๆ ใครจะเอาไปเชิญเลย" เสียงประกาศดังกังวาน

เงียบเช่นเคยครับ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชำเลืองไปยังภิกษุหนุ่ม ซึ่งยืนอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ ตรัสกับพุทธบริษัททั้งหลายว่า

"ดูเอาเถิด ท่านทั้งหลาย เมื่อก่อนนี้คนเขายินดีจ่ายหนึ่งพันกหาปณะ เพื่ออภิรมย์กับนางสิริมาแม้เพียงคืนเดียว แต่บัดนี้ให้เปล่าๆ ก็ไม่มีใครปรารถนาจะรับร่างกายที่ว่างามแสนงาม ในที่สุดก็หาราคาค่างวดอะไรมิได้" แล้วได้ตรัสพระคาถา (โศลก) สอนธรรมบทหนึ่งว่า

     จงดูร่างกายที่ว่างามนี้ ที่เต็มไปด้วยแผล สร้างด้วยโครงกระดูก
     มากด้วยโรค มากด้วยความครุ่นคิดปรารถนา หาความยั่งยืนมิได้

ภิกษุหนุ่ม ตื่นจากภวังค์ สลัดความลุ่มหลงด้วยอำนาจราคะออกหมดสิ้น บรรลุโสดาปัตติผล เพราะฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ จากนั้นก็ตั้งหน้าปฏิบัติธรรมเพื่อทำความสิ้นสุดทุกข์ต่อไป.



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/73317919671535_a2.gif)

ปางทรงสุบินนิมิต

ความฝันท่านว่าเกิดจากหลายสาเหตุ คือ
๑.กินมากธาตุกำเริบ
๒.บุพนิมิต คือ จิตรับรู้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราในอนาคต
๓.จิตอาวรณ์ คือจิตคิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่ผ่านมา
๔.เทพสังหรณ์ คือเทวดาหรือมารมาดลใจให้ฝัน

และยังกล่าวต่อไปว่า ประการที่ ๑ และ ๓ ไม่จริง ประการที่ ๒ จริงโดยถ่ายเดียว ประการที่ ๔ จริงบ้าง เท็จบ้าง

ว่ากันว่า นโปเลียน โบนาปาร์ต ฝันเห็นเกาะแห่งหนึ่งบ่อยครั้งมาก จนจำได้ติดตา ต่อมาเมื่อบั้นปลายแห่งชีวิต ถูกเนรเทศไปอยู่เกาะ เกาะที่ฝันเห็นนั้นเอง ทุกอย่างเหมือนในฝันเปี๊ยบเลย

เพื่อนศิลปินของผมคนหนึ่ง ฝันเห็นยอดเขาสวยงามมากจำได้ติดตา จึงวาดภาพเหมือนไว้ ต่อมาเขาได้ไปต่างจังหวัดทางภาคเหนือ ได้ขึ้นเขาแห่งนี้ พอไปนั่ง ณ มุมหนึ่ง เขาก็ตาเหลือกตรงนั้นเหมือนกับที่เขาฝันเห็นหลายครั้ง และได้วาดภาพไว้แล้ว

ฝันของใครเป็นเพราะสาเหตุอย่างไหน คิดเอาก็แล้วกัน ตัวท่านผู้อ่านเองก็คงมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องฝันมากันทุกคน

หลวงวิจิตรวาทการกล่าวว่า จิตมักมีหน้าที่จำเอาเหตุการณ์มาบรรยาย จิตเปรียบเหมือนคน "ขี้โม้" ยกตัวอย่างเวลาเรานอนหลับกลางวัน ถ้ามีคนมาตอกตะปูโป๊กๆ ข้างๆ เรา จิตจะรับเอาเสียงนั้นมาบรรยายเป็นความฝัน ฝันว่ากำลังต่อสู้กับข้าศึก ยิงกันตูมตามๆ พอตื่นขึ้นมาจึงรู้ว่า ที่แท้ก็คือเสียงคนตอกตะปูนั้นเอง

ถามว่าฝันนี้มีส่วนจริงไหม ตอบว่ามีส่วนจริงเล็กน้อย แต่ส่วนมากก็คือจิตมันโม้สะบั้นหั่นแหลก

ว่ากันอีกแหละว่า ปุถุชนเท่านั้นที่ฝัน พระอรหันต์ไม่ฝัน เพราะฉะนั้นความฝัน หรือสุบินนิมิต ที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นที่จะกล่าวถึงนี้ เห็นตอนยังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ตำราเล่าไว้ และให้พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์เองเสร็จ ขอนำมาเล่าให้ฟัง (ความจริงควรจะเขียนถึงปางนี้นานแล้ว แต่เพิ่งนึกได้ จึงนำมาเล่าแทรกไว้ตอนนี้)

พระมหาบุรุษหลังจากทรงเลิกทำทุกรกิริยาแล้ว ทรงหันมาบำเพ็ญเพียรทางจิต โดยทรงเปรียบเทียบอุปมา ๓ ข้อ คือ ๑.สมณพราหมณ์ที่กายและใจไม่ปลีกออกจากกาม เปรียบดุจไม้สดแช่น้ำ คนเอามาก่อไฟไม่ติด ๒.สมณพราหมณ์ที่ออกจากกามแต่กายใจไม่ออก เปรียบดุจไม้สดอยู่บนบก เอามาก่อไฟไม่ติด และ ๓.สมณพราหมณ์ที่ออกจากกามทั้งกายและใจ เปรียบดุจไม้แห้งบนบก จุดไฟติด

อุปมาทั้ง ๓ นี้เป็นกำลังสนับสนุนให้พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป เพื่อบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ จนถึงราตรีขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ขณะบรรทมหลับ ก็ทรงพระสุบินเป็นบุพนิมิต ๕ประการคือ
    ๑.ทรงพระสุบินว่า พระองค์บรรทมหงายเหนือปฐพี พระเศียรหนุนภูเขาหิมพานต์ พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรทางทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาและพระบาททั้งสองหยั่งลงในมหาสมุทรทางทิศใต้
     ๒.หญ้าแพรกงอกขึ้นจากพระนาภี พุ่งสูงจรดท้องฟ้า
     ๓.หมู่หนอนทั้งหลาย สีดำบ้าง ขาวบ้าง ไต่ยั้วเยี้ยขึ้นมาจากพื้นพระบาททั้งคู่ จนถึงชาณุมณฑล (เข้า)
     ๔.ฝูงนก ๔ จำพวก มีสีต่างๆ กันคือสีเหลือง เขียว แดง ดำ บินมาจากสี่ทิศ ลงมาจับแทบพระบาทแล้วกลับกลายเป็นสีขาวหมดสิ้น
     ๕.เสด็จขึ้นเดินจงกรมบนยอดเขาอันเต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมนั้นไม่เปรอะเปื้อนพระยุคลบาท

พระสุบินนิมิตนั้น มีการไขความว่า
     ๑.พระมหาบุรุษจะได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศสูงส่งกว่าใครๆ ในโลกทั้งสาม
     ๒.จะได้ประกาศสัจธรรมเผยมรรคผลนิพพานแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งปวง
     ๓.คฤหัสถ์ สมณพราหมณ์จะมาเลื่อมใสในพระพุทธองค์จำนวนมาก
     ๔.ชาวโลกทั้งมวล ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์แล้ว จะเป็นผู้เข้าถึงธรรมเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น
     ๕.ถึงพระองค์จะมากด้วยอามิสที่ชาวโลกน้อมนำถวาย พระองค์ก็ไม่ติดอยู่ในอามิสเหล่านั้นแม้แต่น้อย

เมื่อพระพุทธองค์ทรงตื่นบรรทม ทรงดำริถึงข้อพระสุบินนิมิตนั้นแล้วก็ทรงแน่พระทัยว่าจักได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นแน่แท้




(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ4KBcLAxFGvj112GDwS1hAMAJQxVTnQtfTfBn6ztr3GA_XD672)

ปางโปรดพราหมณ์เฒ่า (๑)

พราหมณ์เฒ่านิรนาม แห่งเมืองสาวัตถี อดีตเป็นคหบดีมั่งมีทรัพย์แปดร้อยล้านกหาปณะ มอบให้ลูกๆ ไปหมด เลยตกระกำลำบาก เพราะลูกๆ (ลูกสะใภ้) ไล่ออกจากบ้าน ท้ายที่สุดต้องมาขอพึ่งพระมหากรุณาของพระพุทธองค์ เรื่องราวน่าระทึกใจครับ โปรดติดตามสดับ ณ บัดนี้

พราหมณ์คนนี้มีบุตรชายสี่คน แต่งงานแต่งการเรียบร้อยทุกคน ตามธรรมเนียมของชาวชมพูทวีป ผู้หญิงก็มาอยู่ตระกูลสามี ตระกูลใหญ่ อยู่รวมกันในบริเวณใหญ่ บรรดาภรรยาของสามีก็กระซิบถามสามีของพวกตนว่า "เมื่อไหร่ปะป๊าจะแบ่งทรัพย์สมบัติสักที"

ประดาสามีซึ่งเป็นลูกที่ดีของพ่อก็ตาเขียวใส่ว่า พูดอะไรอย่างนั้น ทรัพย์ของพ่อก็เหมือนของพวกเรานั่นแหละ ถึงเวลาอันสมควรพ่อก็จะแบ่งให้เอง นั่นเป็นช่วงแรกๆ แต่พอภรรยารบเร้าหนักเข้าก็ชักเห็นด้วยว่า "เออ จริงนะ พ่อก็แก่แล้ว ไม่น่าหวงทรัพย์ไว้คนเดียว แบ่งให้ลูกๆ แล้ว ลูกๆ ก็จะดูแลเองแหละ"

ในที่สุดลูกชายทั้งสี่ (แน่นอนรวมภรรยาอีกสี่ด้วย) ก็ไปอยู่ต่อหน้าพราหมณ์เฒ่าผู้เป็นพ่อ ขอร้องให้แบ่งสมบัติเท่าๆ กัน พราหมณ์เห็นว่าลูกชายและลูกสะใภ้ล้วนเป็นลูกกตัญญู เชื่อฟัง จึงแบ่งสมบัติให้เท่าๆ กัน ไม่เหลือไว้สำหรับตนเลย โดยบรรดาลูกๆ รับปากว่าจะผลัดเวรกันปรนนิบัติบิดาอย่างดี

แรกทีเดียวก็ไปอยู่ที่เรือนของบุตรชายคนโต ไม่ทันไรลูกสะใภ้ก็บ่นว่า "พ่อก็แบ่งสมบัติให้ทุกคนเท่ากันแล้วทำไมมาอยู่กินเฉพาะที่บ้านลูกชายคนโต ถ้าอยากอยู่บ้านนี้เลย ทำไม ม่แบ่งให้อีกส่วนหนึ่งสำหรับเลี้ยงดูพ่อ"

พราหมณ์เฒ่าได้ยินลูกสะใภ้พูดเช่นนั้นหููร้อน หน็อยแน่ ก่อนนี้มันพูดว่าจะดูแลข้าอย่างดี พอได้สมบัติแล้วเห็นข้าเป็นอะไร ไม่อยากให้อยู่ก็ไม่อยู่วะ ว่าแล้วก็ลงเรือนไปอยู่กับบ้านลูกชายคนที่สอง โดยที่ลูกชายคนแรกเพียงยืนดูพ่อลงจากเรือนมิได้ทัดทานอะไร

อยู่กับลูกชายคนที่สองไม่นาน ก็เข้า "อีหรอบเดิม" อีก ถูกสองสามีภรรยาพูดทำนองไม่พอใจ พราหมณ์ผู้มากด้วยทิฐิมานะ จึงออกจากเรือนลูกชายคนที่สองไปยังเรือนของลูกชายคนที่สามแล้วก็ที่สี่ตามลำดับ

เมื่อถูกลูกชายคนเล็กและลูกสะใภ้ไล่ออกจากบ้าน พราหมณ์เฒ่ามืดแปดด้าน ทิฐิมานะหายไปหมด ไม่รู้จะไปไหน จะยังชีพอย่างไร ท้ายที่สุดเมื่อคิดว่าหมายังไม่อดตาย ก็ถืออาชีพขอทาน เที่ยวขออาหารจากผู้ใจบุญประทังชีวิตไปวันๆ ค่ำไหนนอนนั่น น่าสมเพชเวทนานัก

เรื่องราวของพราหมณ์เฒ่า คงมีคนรู้บ้าง วันหนึ่งผู้มีใจกรุณาคนหนึ่ง แนะนำให้ไปขอความช่วยเหลือจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาจึงเดินเข้าไปในพระเชตวัน



ปางโปรดพราหมณ์เฒ่า (จบ)

พระพุทธองค์คล้ายประทับรอการมาของพราหมณ์เฒ่าอยู่แล้ว จึงทรงทักทายด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี พราหมณ์ได้ยินเท่านั้นก็ปลาบปลื้ม ร้องอุทานด้วยความยินดีว่า "พระสมณโคดมนั้นพระขนงไม่ขมวด พระพักตร์เบิกบาน ทรงทักทายก่อน ตรัสคำไพเราะ ฟังแล้วชื่นใจ ทรงฉลาดในปฏิสันถาร"

เขาคลานเข้าไปใกล้ กราบทูลเรื่องราวอันรันทดใจให้ทรงทราบ พลางขอพระมหากรุณาเป็นที่พึ่ง พระพุทธองค์ทรงปลอบใจให้เขาคลายทุกข์โศกแล้ว ตรัสว่า "พราหมณ์ ท่านจงท่องคาถาที่ตถาคตให้นี้ให้ขึ้นใจ เมื่อได้โอกาสเหมาะให้ไปท่องให้ที่ประชุมสภาฟัง แล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย"

คาถาที่ประทานให้พราหมณ์ท่องนั้นมีความว่า
     ข้าเลี้ยงลูกชายเหล่าใดมา หวังความเจริญเพลิดเพลินใจ
     ลูกชายเหล่านั้นพอถูกเมียยุยง ไล่พ่อมันดุจหมาไล่สุกร
     ไอ้ลูกชั่ว สารเลว มันเรียกกูว่า "พ่อ พ่อ" แต่มันก็คือรากษส
     ในร่างบุตร พวกมันทิ้งพ่อที่แก่เฒ่า
     พวกมันปล่อยให้พ่อของพวกมันสิ้นไร้ไม้ตอก ดุจม้าแก่น่าสงสารตัวหนึ่ง
     พ่อแก่เฒ่าของไอ้พวกเลวทรามเหล่านั้น ต้องเที่ยวขอทานเขายังชีพ
     ไม้เท้าของข้า ประเสริฐกว่า ไอ้ลูกอกตัญญูทั้งหลาย
     มันไล่วัวดุได้ ไล่สุนัขดุได้ ช่วยคลำทางในที่มืดได้ หยั่งน้ำลึก
     เวลาข้ามน้ำได้ เมื่อพลาดล้ม ก็อาศัยไม้เท้ายันลุกขึ้นได้

พราหมณ์เฒ่าท่องคาถานั้นจนขึ้นใจ เมื่อสบโอกาสเหมาะ ขณะที่พวกลูกๆ ของแกเข้าประชุมสภาของพวกพราหมณ์ แกก็เดินยักแย่ยักยันเข้าไปในสภา ขอโอกาสร่ายโศลกให้ที่ประชุมฟัง ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยพราหมณ์ผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ได้ฟังดังนั้นก็ส่งเสียงอื้ออึง ทำนองว่า "มีเรื่องอย่างนี้ด้วยหรือ"

บุตรชายทั้งสี่ของพราหมณ์ อดรนทนไม่ได้ จึงก้มลงกราบแทบเท้าบิดา กล่าวขอขมาพร้อมรับปากกับที่ประชุมว่า จะนำบิดากลับไปดูแลอย่างดี ขอที่ประชุมได้อภัยในความผิดของพวกตนด้วย พราหมณ์ได้กลับไปสู่อ้อมอกของลูกๆ บรรยากาศแห่งความสุขก็กลับคืนมาดังเดิม พราหมณ์เฒ่ารู้สำนึกในพระมหากรุณาของพระบรมศาสดาได้ประกาศตนนับถือพระรัตนตรัยถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์เป็นประจำจนตลอดชีวิต



(http://daily.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2015/09/you02160958p1.jpg&width=360&height=360)

ปางโปรด นางอัมพปาลี (๑)

นางอัมพปาลี เป็นนางคณิกา หรือ นครโสเภณี เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี คงทราบกันทั่วไปว่า นางนครโสเภณีเป็นตำแหน่งที่พระราชาหรือคณะพระราชาผู้ครองนครแต่งตั้ง คัดเลือกสาวงามผู้เพียบพร้อมไปด้วยรูปสมบัติและความสามารถพิเศษในด้านฟ้อนรำ ขับร้อง เป็นต้น เรียกว่าเก่งในด้านเอนเตอร์เทน ว่าอย่างนั้นเถอะ

เมืองที่เป็นต้นตำรับแห่งนครโสเภณีก็คือเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีนี้แล จนพระมหาราชแห่งแคว้นมคธมาพบเห็นเข้า ประทับพระทัย เอาแบบอย่างไปทำบ้าง ดังได้แต่งตั้งนางสาลวดีเป็นนางนครโสเภณีแห่งแคว้นมคธ (ถ้าจำผิดอย่าว่ากัน เพราะเวลาเขียนต้นฉบับ ขี้เกียจเปิดตำรา)


นางอัมพปาลี ไม่รู้เป็นลูกใคร นายอุทยานบาล (ผู้เฝ้าสวน) พบเห็นนั่งอยู่ใต้ต้นมะม่วงในอุทยานแห่งหนึ่ง นำไปเลี้ยงไว้ โตมาก็มีความสวยงามหยาดฟ้ามาดิน ใครเห็นก็หลงใหลใฝ่ฝันชื่อว่า "อัมพปาลี" แปลว่า รักษาต้นมะม่วง หรือ มะม่วงรักษาไว้ ทำนองจะบอกว่า เทพที่สิงอยู่ในต้นมะม่วงรักษาไว้ เป็นสัญลักษณ์บอกว่านางมีที่ไปที่มาอย่างไร

ว่ากันว่ากษัตริย์ลิจฉวีหนุ่มๆ ทั้งรุ่นกระทงและรุ่นแก่ ต่างหลงใหลนาง ถึงขั้นยื้อแย่งกันเพื่อเป็นเจ้าของครอบครอง เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีเห็นว่าจะเป็นเหตุให้แตกสามัคคีกัน จึงแต่งตั้งนางให้เป็น "สมบัติกลาง" เสีย โดยให้ดำรงตำแหน่ง "นางนครโสเภณี" ทีนี้ใครใคร่อภิรมย์กับนางก็เชิญ มีเงินทองมีความประสงค์ก็ไปหานางได้ตามสบาย

เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นนางนครโสเภณีแล้ว นางก็รับใช้ประเทศชาติเป็นอย่างดีเสมอมา (รับรองแขกเมือง นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาปีละไม่น้อย) พระราชามหากษัตริย์ต่างเมือง อาทิ พระเจ้าพิมพิสาร เป็น "ขาประจำ" ตั้งหลายองค์ พระเจ้าพิมพิสารนั้น ว่ากันว่า เที่ยวไล้เทียวขื่อเป็นประจำ จนมีพยานรัก (ซึ่งเกิดจากความพลั้งเผลอ) หนึ่งคนชื่อ วิมละ (ต่อมามีชื่อว่า วิมลโกณฑัญญะ) วิมละ นี้แล ภายหลังได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ข้อมูลกระแสหนึ่งบอกว่าตอนยังเด็ก แม่ส่งไปยังพระราชสำนักเมืองราชคฤห์ พระบิดาเห็นธำมรงค์ที่หัตถ์ของเด็กก็ระลึกได้จึงยอมรับเป็นโอรสแล้วเลี้ยงไว้ในพระราชสำนัก

เมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองไพศาลี ในช่วงสุดท้ายแห่งพระชนมายุ นางอัมพปาลีไปเฝ้าพระพุทธองค์ อาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่คฤหาสน์ของตน ขณะนั่งรถกลับ สวนทางกับเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีจำนวนหนึ่ง ได้ทักทายปราศรัยกันตามประสาคนคุ้นเคย (คงคุ้นเคยกันทุกคน เพราะต่างก็เป็น "ขาประจำ" ของนาง)



ปางโปรดนางอัมพปาลี (จบ)
เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีทราบว่านางเพิ่งกลับมาจากไปกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ไปเสวยพระกระยาหาร จึงขอให้นางสละสิทธิ์นั้นให้กับพวกตน นางไม่ยินยอม เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีกล่าวว่านางจะเอาอะไร ไม่ว่ารถที่สวยงามเหล่านี้และข้าวของเงินทองเท่าไรก็ยินดีมอบให้ ขอให้มอบพระพุทธองค์ให้พวกตน (คือขอให้พวกเขาได้ถวายภัตตาหารแก่พระพุทธองค์ในวันรุ่งขึ้น)

อัมพปาลีไม่ยินยอม บอกว่าพระพุทธองค์ทรงรับคำอาราธนาของนางแล้ว แต่ถ้าพระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธประสงค์จะไปเสวยที่วังของพวกท่านก็แล้วแต่พระองค์ เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลอาราธนาให้เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่วังของพวกตน พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ได้รับคำอาราธนาของนางอัมพปาลีแล้ว เหล่ากษัตริย์ลิจฉีก็ได้แต่ผิดหวังกลับไป

มีเรื่องแทรกตรงนี้เล็กน้อย ขณะที่เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีขี่รถเข้าไปยังพระวิหารที่ประทับนั้น พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้ภิกษุสงฆ์ดูว่า "ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธออยากรู้ว่าเทวดาบนดาวดึงส์สวรรค์เป็นอย่างไร พวกเธอจงดูกษัตริย์ลิจฉวีเหล่านี้เถิด" เท่ากับบอกว่า กษัตริย์ลิจฉวีเหล่านี้แต่งตัวหรููหราฟุ่มเฟือย นั่งรถใหญ่โตวิจิตรตระการตาดุจเหล่าเทพยดาไม่ผิดเพี้ยน พูดอีกนัยหนึ่งพวกนี้ก็คือเทวดาบนดินนั้นแล

ในวันรุ่งขึ้น พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ เสด็จไปยังคฤหาสน์นางอัมพปาลี เสวยภัตตาหารแล้วทรงแสดงธรรมให้นางฟัง นางได้ถวายสวนมะม่วงของนางให้เป็นที่ประทับของพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ เรียกว่า "อัมพปาลีวัน" ทำนองเดียวกับ เวฬุุวันที่พระเจ้าพิมพิสารถวายนั้นแล

จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จไปยังเวฬุวคาม ทรงจำพรรษาสุดท้ายที่นั่น จากนั้นก็เสด็จต่อไปยังที่อื่นๆ จนไปปรินิพพานที่เมืองกุสินาราดังที่ทราบกันแล้ว

พิเคราะห์ตามนี้ แสดงว่าการถวายอัมพปาลีวันนี้เกิดขึ้นในช่วงท้ายพุทธกาล คืนก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเล็กน้อย แต่ข้อเท็จจริงนางคงได้พบพระพุทธองค์และได้เป็นสาวกของพระองค์มาก่อนหน้านั้น หาไม่นางคงไม่ไปกราบทูลอาราธนาให้ไปเสวยภัตตาหาร และแน่วแน่มั่นคงในพระพุทธองค์จนกระทั่งไม่ยอม "ขายกิจนิมนต์" แก่เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีเป็นแน่

นางอัมพปาลี ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตได้ฟังธรรมจากพระลูกชาย (พระวิมลโกณฑัญญะ) ได้ออกบวชเป็นภิกษุณี พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้แห่งสรีระร่างกายของตน เห็นประจักษ์ถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้บรรลุพระอรหัตในที่สุด



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/61536116815275_a1.gif)

ปางชี้มาร (๑)

ในพุทธประวัติ หรือพูดให้ชัดในพระไตรปิฎก มีพูดถึงมารบ่อยครั้งมาก บ่อยเสียจนไม่คิดว่าเป็นการกล่าวถึงโดยบังเอิญ แต่มารคือใคร หรือคืออะไร เป็นเรื่องที่เราพึงพินิจพิจารณาด้วยความรอบคอบ

คำว่า มาร ตามรูปศัพท์แปลว่า "ผู้หรือสิ่งให้ตาย" ให้ใครตาย ก็ให้มนุษย์เราทุกคนนี้แหละตาย ตายจากอะไร อาจตายจากความดี หรือตายจากชีวิตก็ย่อมได้ ท่านให้คำจำกัดความอย่างนี้แล้ว ก็แบ่งประเภทมารออกเป็น ๕ คือ
     ๑.กิเลสมาร มารคือกิเลส กิเลสคือโลภ โกรธ หลง ก็ให้ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจมันตายทั้งเป็น ดังเช่นรัฐมนตรี พระสงฆ์องค์เจ้า ประชาชนที่มีชื่อเสียงดังๆ และไม่ดัง "ตายทั้งเป็น" มานักต่อนัก
     ๒.อภิสังขารมาร มารคือบุญบาป บาปเป็นมาร พอเข้าใจได้ แต่บุญเป็นมารอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนเราเวียนว่ายตายเกิดในสุคติภพบ้าง ทุคติภพบ้าง เพราะอำนาจบุญและบาป ตราบใดที่ยังตกอยู่ในวงจรของบุญ-บาป ก็ขึ้นสวรรค์ลงนรกอยู่ร่ำไป ไม่มีทางบรรลุพระอรหัตผลได้ การจะตัดวงจรแห่งการเวียนเกิดเวียนตายได้ ต้องบรรลุพระอรหัตผล เหนือบุญเหนือบาป เพราะฉะนั้นบาปเป็นมารได้ บุญก็เป็นมารได้เช่นเดียวกัน
     ๓.มัจจุมาร มารคือความตาย บางคนกำลังรุ่งเรือง เขาจะแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระราชาคณะอยู่แล้ว เกิดตายเสียนี่ อย่างนี้เรียกว่าความตายเป็นมาร ตัดรอนมิให้ได้รับตำแหน่ง
     ๔.เทวปุตตมาร เทวดาเป็นมาร เทพที่อันธพาลคอยแกล้งคนก็มีไม่น้อย เทพอันธพาลระดับเจ้าพ่อก็คือ วสวัตตีมาร อยู่บนสวรรค์ชั้นหกโน่นแน่ครับ วสวัตตีมารเป็นมารคอยกลั่นแกล้งพระพุทธเจ้ามาตลอด ท้ายที่สุดพ่ายแพ้โดยราบคาบ เมื่อครั้งพระพุทธองค์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
     ๕.ขันธมาร มารคือขันธ์ร่างกาย ร่างกายคนเราก็เป็นมาร ขัดขวางมิให้เจริญก้าวหน้า เช่น คนเกิดมาพิการ จะเข้าทำงานอะไรเขาก็ไม่รับ หาว่าอวัยวะไม่สมประกอบ คนร่างกายอ่อนแอจะไปสมัครแบกกระสอบ เขาก็ปฏิเสธกลัวกระสอบทับตาย คนแก่หง่อมจะมาเข้าพรรคการเมืองดัง เขาก็ไม่รับ กลัวจะเป็นลมตายตอนหาเสียง คนรูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่ ไปสมัครเป็นเทพี เขาเห็นหน้าก็ไล่แล้ว ร่างกายเป็นมารด้วยประการฉะนี้

มารมีหลายประเภท แล้วมารที่ขับเคี่ยวกับพระพุทธเจ้าคือมารประเภทใด

ผู้รู้ตอบว่า อาจหมายถึง ๓ ประเภท ประเภทใดประเภทหนึ่งคือ
     (๑) กิเลสมาร ใต้ต้นโพธินั้น คงจะเป็นกิเลสคือโลภโกรธหลง ที่ผุดขึ้นในพระทัยของพระโพธิสัตว์ พระองค์ทรงเอาชนะมันได้ราบคาบ ก็มีผู้อธิบายว่า มารในที่นี้คือกิเลส หรือไม่ก็อาจเป็นประเภทที่สอง
     (๒) มารคือเทพ ได้แก่ วสวัตตีมาร เจ้าตัวนี้ เป็น being ชนิดหนึ่ง มีตัวตนจริง คอยเล่นงานพระพุทธองค์ตั้งแต่เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) ถ้าไม่หมายถึงกิเลส ก็คงจะเป็นมารตัวนี้ก็ได้ และ/หรือ
     (๓) ขันธมาร มารคือร่างกาย มารที่มาอัญเชิญปรินิพพาน ว่าถึงเวลาจะปรินิพพานละโลกนี้ไปแล้ว กิจที่พึงทำในฐานะเป็นพระพุทธเจ้าก็ทำหมดแล้ว ปรินิพพานเสียเถอะ ก็อาจหมายถึงขันธ์ร่างกายก็ได้ คือพระพุทธองค์ทรงแก่หง่อมแล้ว ร่างกายไปไม่ไหวแล้ว มันบอกสัญญาณว่า ควรจะ "ตาย" ได้แล้ว อาจเป็นอย่างนี้ก็ได้

เพราะฉะนั้น "มารผจญพระพุทธองค์" อาจหมายถึงอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้ แล้วแต่เรื่องแล้วแต่กรณี



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 สิงหาคม 2559 15:49:24

(http://www.mahamodo.com/modo/dhama_bud/bud_history/images/pic_page/68.jpg)

ปางประทานบาตรและจีวร (๑)

ไม่มีปางนี้มาก่อน ผม "ตั้งขึ้นมา" เอง โบราณาจารย์ท่านตั้งไว้หลายปาง แต่ก็ยังไม่หมด น่าจะคิดขึ้นอีกหลายๆ ปาง โดยเอาเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพระพุทธองค์เป็นหลัก เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ ของพระบรมศาสดา

เรื่องที่พระพุทธเจ้าประทานบาตรและจีวรแก่พระมหากัสสปะนี้ มีกล่าวถึงจริงในตำรา และมีนัยสำคัญในกาลต่อมา คือเป็นพันธะทางใจที่พระมหากัสสปะพึงสนองพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่นี้ในภายหลัง และพุทธศาสนิกฝ่ายเซน ถือเป็นที่มาของนิกายเซนด้วย จะเล่าให้ฟัง ตามผมมา (ไม่ตามจะรู้หรือ ปานนั้นเชียว)

พระมหากัสสปะ เป็นพระที่เคร่งครัดมาตั้งแต่บวชใหม่ๆ (ความจริงแล้วเคร่งมาก่อนบวชอีก เมื่อพ่อแม่จับแต่งงาน ก็มิได้อยู่กับภรรยา ดังคู่อื่นเขา เป็นสามีภรรยาแต่ในนาม ทั้งสองตกลงใจออกบวช เพราะมีความประสงค์ตรงกัน) เมื่อบวชแล้ว ท่านก็ถือธุดงควัตร ๓ ข้ออย่างเคร่งครัดคือ ถือบิณฑบาตเป็นวัตร (คือเป็นนิตย์) ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร อยู่ป่าเป็นวัตร

เฉพาะอย่างที่สองนั้น ทำให้พระท่านลำบากมิใช่น้อย ผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งไว้คลุกฝุ่น ส่วนมากก็เป็นเศษผ้าที่เขาไม่ใช้ หรือใช้ไม่ได้ อย่างดีก็เป็นผ้าที่เขาห่อศพเอาไปทิ้ง พระท่านก็จะเอาผ้าเหล่านั้นมาเย็บเป็นจีวร ย้อมด้วยน้ำฝาด คิดดูก็แล้วกัน มันจะปุปะขนาดไหน ที่แน่ๆ คือคงหนักน่าดู ยิ่งเวลาเปียกฝน ก็แทบจะ "ลาก" ไปไม่ไหว

พระมหากัสสปะ ท่านเป็นพระผู้เฒ่าด้วย คงลำบากมาก พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาคุณแก่พระมหากัสสปะ ถึงกับตรัสว่า ไม่ต้องถือธุดงควัตรก็ได้ เพราะท่านก็เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ หมดกิเลสแล้ว กิจด้วยการถือปฏิบัติขัดเกลาไม่จำเป็นแล้ว แต่ท่านก็กราบทูลพระบรมศาสดาว่าจำเป็นต้องถือ

คำกราบทูลของท่านนั้น น่าจะจดจำเอาเป็นแบบอย่างในภายหลังกันให้มาก

ท่านกราบทูลว่า "ข้าพระองค์มิได้ถือธุดงควัตร เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หากเพื่ออนุเคราะห์อนุชนภายหลัง" (ปัจฉิมาชนตาย อ่านว่า "ปัด-ฉิม-มา-ชะ-นะ-ตา-ยะ" ขอรับ) นี้คือพระอรหันตสาวกของพระพุทธองค์ ท่านมิได้ทำอะไรเพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านอย่างเดียว หากจะทำอะไรต้องคำนึงถึงอนุชนภายหลังด้วย คือพยายามวางแบบอย่างที่ดีงามให้คนภายหลังได้ประพฤติปฏิบัติตาม เป็นความกรุณาอันยิ่งใหญ่นัก

พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า พระมหากัสสปะลำบากในการครองจีวรอันหนาเตอะนั้น จึงประทานจีวรของพระองค์ให้พระมหา กัสสปะ ทรงรับเอาจีวรของพระมหากัสสปะมาห่มเสียเอง นัยว่าประทานบาตรให้ท่านด้วย

พระมหากัสสปะจึงสำนึกในพระมหากรุณาครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ได้สนองงานพระศาสนาตามความถนัดของตนตลอดมา เมื่อครั้งพาเหล่าศิษย์เดินทางไปยังเมืองกุสินารา เพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ที่ทรงประชวรหนัก ไปไม่ทัน พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานก่อน ได้ถามข่าวคราวจากปริพาชกคนหนึ่ง ที่ถือดอกมณฑารพเดินสวนทางมา

ได้ทราบจากปริพาชกนั้นว่า พระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานก่อนหน้านั้น ๗ วันแล้ว เหล่าภิกษุสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ก็นั่งนิ่งปลง "ธรรมสังเวช" ฝ่ายที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ก็ร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ในพระพุทธองค์



ปางประทานบาตรและจีวร (จบ)
ภิกษุแก่รูปหนึ่งนามว่า สุภัททะ ได้ปลอบโยนภิกษุเหล่านั้นว่า อย่าได้ร้องไห้เสียใจเลย ควรจะดีใจเสียอีก เพราะขณะทรงพระชนม์อยู่ พระศาสดาทรงจู้จี้สารพัด ห้ามนั่นห้ามนี่ จะเหยียดแขนเหยียดขาก็ยาก ดูเหมือนจะผิดไปหมด บัดนี้พวกเราเป็นอิสระแล้ว อยากทำอะไรก็ได้ตามปรารถนา

วาทะอันเป็นดุจหนามแทงใจนี้ ได้ยินไปถึงหูของพระมหากัสสปะ ท่านเกิดความสลดใจว่า พระบรมศาสดาปรินิพพานยังไม่ทันไรเลย สาวกยังพูดจ้วงจาบพระธรรมวินัยปานนี้ ถ้ากาลล่วงเลยไปนานเข้า จะเกิดภัยอันยิ่งใหญ่แก่พระศาสนาแน่นอน

เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จแล้ว ท่านมหากัสสปะจึงดำเนินการเพื่อร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นระบบระเบียบ ก่อนลงมือทำงาน ท่านก็มานั่งรำพึงอยู่คนเดียว

รำพึงอะไร รำพึงถึงพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ที่มีต่อตัวท่าน

ขอคัดเอาคำรำพึงของท่านมาลงเลยดีไหม ไม่ต้องฟังจาก version ของผม เอาของจริงเลย

"ฐานํ โข ปเนตํ วิชฺชติ ยํ ปาปภิกฺขู อีตสตฺถุ ปาวจนนฺติ มญฺญานา ปกฺขํ ลภิตฺวา นจิรสเสว สทฺธมฺมํ อนฺตรธาเปยฺยุ อุตฺริมนุสฺสธมฺเม อตฺตนา สมสมฏฺฐาเน จ อนุคฺคหิโต ตสฺส เม กิมญฺญํ อาณณฺยํ ภวิสฺสติ...อิมินา อสาธารเณน อนุคฺคเหน อนุคฺคเหสิ จินฺตยนฺโต ธมฺมวินยสงฺ คายนตถํ ภิกฺขูนํ อุสฺสาหํ ชเนสิ"

 แปลเป็นไทยว่า เป็นไปได้ ที่ภิกษุบาปทั้งหลายจะคิดว่า พระศาสนาไม่มีศาสดาแล้ว ได้สมัครพรรคพวกแล้วก็จะทำให้พระสัทธรรมอันตรธาน เราเองพระพุทธองค์ให้เกียรติยกไว้ในฐานะเสมอกับพระองค์ ในด้านอุตริมนุสสธรรม ทางอื่นจะปลดเปลื้องหนี้ไม่มี พระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์เราด้วยการสงเคราะห์นี้ ที่ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น คิดดังนี้ พระมหากัสสปะจึงชักชวนให้ภิกษุทั้งหลายคิดสังคายนาพระธรรมวินัย

คำว่า "ทรงสงเคราะห์ด้วยการสงเคราะห์ที่ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น" ท่านมหากัสสปะหมายเอาการที่พระองค์ประทานบาตรและ จีวรให้ท่าน

นับเป็นกรณีพิเศษจริงๆ เพราะไม่ปรากฏว่าประทานให้สาวกรูปใด นอกจากท่านมหากัสสปะ

ชาวพุทธนิกายเซน จึงยกเอาเหตุการณ์ครั้งนี้ไปสร้างเป็น "นิทาน" (ในที่นี้แปลว่าต้นเหตุ) แห่งการเกิดขึ้นของนิกายเซน

โดยเล่าว่า พระพุทธเจ้าประทาน "เซน" แก่พระมหากัสสปะ พร้อมมอบบาตรและจีวรให้ด้วย พระมหากัสสปะก็ถ่ายทอดแก่พระอานนท์ พระอานนท์ก็ถ่ายทอดต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงพระโพธิธรรม (หรือ ตั๊กม้อโจวซือ) ตั๊กม้อ จีน ก็ไปถ่ายทอดต่อๆ กันไป จนถึงเว่ยหล่าง หรือ ฮุยเน้ง

ฮุยเน้ง ยกเลิกประเพณีการมอบบาตรและจีวร เพราะท่านเองกว่าจะมีโอกาสเผยแพร่พระศาสนา ก็ต้องหนีหัวซุกหัวซุน หนีการตามไล่ล่าแย่งเอาบาตรและจีวรสิครับ รายละเอียดเคยเขียนไว้ใน ธรรมะของท่านพุทธทาส แล้ว โปรดหาอ่านเอาเทอญ



(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSsHep1WpjNJwT5ZxsdOOvlVeVPg3quh3VHNHZR9-9T9OWnJTzR)

ปางโปรดสุภมาณพ (๑)

มาณพหนุ่มคนนี้เป็นบุตรเศรษฐีมีสมบัติสี่สิบห้าโกฏิ (คำนวณเอาก็แล้วกันว่ามากขนาดไหน) พ่อสุภมาณพเป็นคนขี้เหนียว ฝังทรัพย์ไว้ในดิน ไม่บอกให้ใครรู้จำนวนหนึ่ง เมื่อถึงแก่กรรมลงไป สุภมาณพเป็นผู้สืบทอดมรดก ไม่รู้ว่าสมบัติมหาศาลส่วนหนึ่งพ่อฝังไว้ในดิน แต่ที่เหลืออยู่ก็มหาศาล กินใช้ชั่วชีวิตไม่หมด

โตเทยยพราหมณ์ไม่ได้ทำบุญทำทานแม้แต่ครั้งเดียว เพราะกลัวทรัพย์จะหมดเปลืองด้วยการให้ทาน แถมยังสอนลูกๆ มิให้ประมาทในการใช้จ่ายทรัพย์ ทรัพย์ที่มีถึงจะมากก็มีวันหมดไปได้ดุจเดียวกับยาหยอดตา หยอดบ่อยๆ ก็หมดขวด หมั่นสะสมทรัพย์ที่เล็กๆ ดุจปลวกก่อจอมปลวก แมลงผึ้งสะสมน้ำหวาน

ตายไป เกิดเป็นสุนัขในบ้านของตนเพราะห่วงขุมทรัพย์ที่ซ่อนไว้ สุภมาณพผู้บุตรก็เลี้ยงลูกสุนัขตัวนั้นด้วยความรัก ให้กินอาหารอย่างดี ให้นอนบนที่นอนอย่างดี สุนัขมันก็รักสุภมาณพมากเช่นกัน เพราะความผูกพันที่มีแต่ปางก่อน

เช้าวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตในเมือง เสด็จผ่านไปยังคฤหาสน์ของสุภมาณพ สุนัขตัวโปรดของมาณพเห่าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสเรียกมันว่า "โตเทยยะ เมื่่อก่อนแกไม่เห็นความสำคัญของเรา มาบัดนี้ยังจะมาเห่าเราอีก แกจะไปเกิดในอเวจีแล้ว"

สุนัขเลิกเห่า วิ่งหางจุกตูดไปนอนคลุกขี้เถ้าข้างเตาไฟ ไม่ยอมขึ้นนอนบนที่นอนหรูหราเหมือนเช่นเคย

สุภมาณพกลับจากทำธุระนอกบ้านเห็นอาการของหมาตัวโปรดผิดปกติไป จึงซักถามคนในบ้านว่าเกิดอะไรขึ้นกับสุนัขตัวโปรดของเขา ใครทำอะไรมัน ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มีใครทำอะไร มีแต่พระพุทธเจ้าดุมันเมื่อมันเห่าพระองค์ โดยตรัสเรียกว่า "โตเทยยะ"

สุภมาณพได้ยินก็หูร้อนทันที คิดว่าพระพุทธองค์หมิ่นประมาทพ่อเขาและเขาอย่างแรง "ใครๆ ก็เข้าใจว่า พ่อเราไปเกิดในพรหมโลก ทำไมพระสมณะโคดมมาดูหมิ่นกันปานนี้" ไม่รอให้พระพุทธองค์เสด็จมาในวันรุ่งขึ้น เพราะไม่ทันใจ จึงรีบไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระเชตวันเลยทีเดียว


ปางโปรดสุภมาณพ (จบ)
ไปถึงก็ต่อว่าพระพุทธองค์ หาว่าดูหมิ่น กล่าวหาว่าพ่อตนเป็นหมา พระพุทธองค์ตรัสว่า มิได้ดูหมิ่นเขาแต่ประการใด ที่ตรัสนั้นเป็นความจริง บิดาเขาเกิดเป็นสุนัขตัวนั้นจริงๆ แล้วตรัสถามเขาว่า
“มาณพ ทรัพย์สมบัติที่บิดาเธอมิได้บอกมีไหม”
“มีมาลาทองราคาแสนหนึ่ง รองเท้าทองราคาแสนหนึ่ง ถาดทองราคาแสนหนึ่ง และกหาปณะอีกแสนหนึ่ง หายไป” มาณพกราบทูล
“มาณพ วันนี้เธอกลับไปบ้านให้อาหารอย่างดีแก่สุนัขของท่าน ให้มันนอนบนที่นอนหรูหรา เมื่อมันใกล้จะหลับ ให้กระซิบถามมันว่า พ่อ พ่อซ่อนสมบัติที่เหลือไว้ไหน สุนัขจะพาท่านไปยังที่ฝังทรัพย์”

สุภมาณพกลับไปคฤหาสน์ของตนด้วยความคิดสองประการคือ (๑) ถ้าไม่พบขุมทรัพย์ตามที่บอกจริง คอยดูเถอะเราจะเล่นงานพระสมณะโคดมให้เข็ด  (๒) ถ้าพบจริง เราก็จะยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูจริงๆ จัดการตามที่ตรัสบอกทุกอย่าง

เมื่อสุนัขตัวโปรดใกล้จะหลับ ก็กระซิบถามว่า “พ่อ พ่อเอาสมบัติไว้ที่ไหน”  

ทันใดนั้นสุนัขตัวโปรดก็ลุกขึ้น ร้องและกระดิกหางด้วยความดีใจว่า ลูกชายจำตนได้แล้ว จึงวิ่งลงไปหลังคฤหาสน์ เห่าพลางเอาเท้าคุ้ยดิน

สุภมาณพสั่งให้ขุดตรงนี้ พบสมบัติที่หายไปตามที่พระพุทธองค์ตรัสบอกจริงๆ เขาจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลถามข้อข้องใจ ๑๔ ข้อ ได้รับวิสัชนาจนหายสงสัย จึงประกาศตนถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต แต่บัดนั้นมา



(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQrx9xAVeRHOKcCgsJEZJyWOVuHGx36Aip9JDN5FzCO2-SVJQuBlA)
ปางโปรดสุภัททะ ปัจฉิมสาวก
สุภัททะ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในเมืองกุสินารา ตั้งใจว่าถ้ามีเวลาจะเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจของตนที่มีมานาน ที่ยังรีรออยู่ก็เพราะคิดว่ายังมีเวลา แต่พอทราบว่าพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว จึงรีบไปยังสาลวโนทยาน สถานที่พระพุทธองค์ประทับก่อนปรินิพพาน

พระอานนท์ พุทธอนุชา ปรนนิบัติพระพุทธองค์อยู่ รู้ว่าพระอาการประชวรหนักหนาสาหัสมาก ไม่ควรอนุญาตให้ใครเข้าเฝ้า เป็นการรบกวนพระยุคลบาท สุภัททะมาถึงก็ขอเข้าเฝ้าพระอานนท์ไม่ยินยอมให้เข้าเฝ้า เขาก็ยังยืนกรานขอเข้าเฝ้าให้ได้ หาไม่เขาจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว

เสียงโต้เถียงกันแว่วไปถึงพระกรรณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถามผ่านพระวิสูตรว่า เสียงใคร พระอานนท์กราบทูลว่ามีมาณพคนหนึ่งยืนกรานจะเข้าเฝ้าให้ได้ ข้าพระพุทธองค์เห็นว่ามิบังควรเข้าเฝ้าเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท พระเจ้าข้า

พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณา รับสั่งให้เขาเข้าเฝ้า สุภัททะเข้าไปถวายบังคม แล้วกราบทูลถามว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมณะพราหมณ์ที่เป็นเจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นเจ้าลัทธิ มีชื่อเสียง ชนเป็นอันมากยอมรับว่าเป็นคนดี คือ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาละ อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถ์นาฏบุตร ได้ตรัสรู้ตามปฏิญญาของตนๆ ทั้งหมด หรือว่าไม่ได้ตรัสรู้ หรือว่าบางพวกได้ตรัสรู้ บางพวกไม่ได้ตรัสรู้"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "สุภัททะ ข้อนั้นยกไว้ก่อนเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟัง จงตั้งใจฟังธรรมนั้นให้ดี สุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคมีองค์แปด ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ในธรรมวินัยใดมีอริยมรรคมีองค์แปด ในธรรมวินัยนั้นมีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ดูก่อนสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้นมีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง

ดูก่อนสุภัททะ หากภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์"

มีเรื่องขอแทรกตรงนี้นิดหนึ่ง ๒ ประเด็นคือ
(๑) พระพุทธองค์จะไม่ทรงเสียเวลาสนทนาเรื่องที่นอกประเด็น หรือไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ยิ่งเป็นการทับถมลัทธิศาสนาอื่น แม้ว่าจะมีผู้ถามนำก็ตาม พระองค์จะไม่ต่อประเด็น ดังสุภัททะทูลถามว่า ครูทั้งหก อันมีปูรณกัสสปะ เป็นต้น ตรัสรู้จริงหรือเปล่า พระองค์ก็ตัดบทว่า เรื่องนั้นยกไว้ก่อนเถิดเราจะแสดงธรรมให้ฟัง จงตั้งใจฟังธรรม

เมื่อครั้งพระเจ้าอชาตศัตรูเข้าเฝ้า ก็ถามในทำนองเดียวกันว่าปูรณกัสสปะ เป็นต้น ใครสอนธรรมมีเหตุมีผลมากกว่ากัน พระองค์ก็ตัดบทว่าอย่าไปสนใจเลยว่าใครจะสอนมีเหตุมีผลมากกว่าใคร เราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง

(๒) สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ หมายถึง พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ลัทธิศาสนาใดไม่สอนอริยมรรคมีองค์แปด ลัทธิศาสนานั้นไม่มีพระอริยบุคคลทั้ง ๔ ระดับนี้

พระพุทธวจนะที่ตรัสว่า "ถ้าภิกษุทั้งหลายพึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์" คำว่า "อยู่โดยชอบ" คือปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด สรุปลงเป็นศีล สมาธิ ปัญญา หรือสรุปให้สั้นกว่านั้นคือ สมถะ กับ วิปัสสนา

ปัจจุบันนี้คนชอบถามว่า มีพระอรหันต์หรือเปล่า ถ้าถูกถามอย่างนั้น เราควรย้อนถามว่าเดี๋ยวนี้มีผู้ปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์แปดหรือเปล่าล่ะ ถ้ามี พระอรหันต์ก็มี ถ้าไม่มีผู้ปฏิบัติถูกต้องตาม อริยมรรคมีองค์แปด พระอรหันต์ก็ไม่มี

สุภัททะ ฟังพระธรรมเทศนาโดยย่อแล้ว ประกาศตนเป็นผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ทูลขอบวช เนื่องจากสุภัททะเป็นเดียรถีย์คือนับถือศาสนาอื่นมาก่อน การจะบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ต้องผ่านการอยู่ "ปริวาส" (คืออยู่ปฏิบัติทดสอบศรัทธา) เป็นเวลา ๔ เดือนก่อน จึงจะบวชได้ แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าไม่มีเวลาแล้ว จึงทรงอนุญาตให้เธอบวชเป็นกรณีพิเศษ โดยประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ด้วยพระองค์เอง

เป็นอันว่า พระสุภัททะ ได้เป็นพระสาวกรูปสุดท้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คำว่า "สาวกสุดท้าย" หมายถึงสาวกที่พระพุทธเจ้าประทานการอุปสมบทให้เอง มิใช่หมายความว่า หลังจากพระสุภัททะแล้ว ไม่มีใครบวชในพระพุทธศาสนาเลย หามิได้



(http://www.bloggang.com/data/t/travelaround/picture/1290009758.jpg)
พระพุทธรูป ปางประทานธรรม

ปางประทาน มรดกธรรม (๑)

ปางนี้ เป็นเรื่องที่ประทานมรดกธรรม หรือพระพุทธวจนะตอนเกือบสุดท้าย ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ประทานคำสอน อันเป็นประดุจมรดกธรรม ให้เหล่าสาวกสืบทอดต่อๆ กันไป ไว้หลายเรื่องด้วยกัน อาทิ

๑.เกี่ยวกับอนาคตพระพุทธศาสนา พระองค์ตรัสประทานหลักการกว้างๆ ไว้ว่า "อานนท์ต่อไปภายหน้า ถ้าสงฆ์ประสงค์จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยบ้างก็ได้"

ทรงมองเห็นการณ์ไกลว่า ในอนาคตเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป พระสงฆ์อาจประสบความลำบากในการรักษาสิกขาบทวินัยบางข้อ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พระองค์จึงมีพุทธานุญาตให้ยกเลิกสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ บ้างก็ได้ แต่ต้องเป็นความเห็นร่วมกันของสงฆ์ มิใช่ผู้ใดผู้หนึ่งจะยกเลิกเอาเองโดยพลการ  เนื่องจากพระอานนท์มิได้ทูลถามว่าสิกขาบทเล็กน้อยคือข้อใดบ้าง พระสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูป ที่ประชุมสังคายนาพระธรรมวินัย หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน จึงไม่ยอมยกเลิก มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า จะคงไว้ตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มติที่ว่านี้เรียกว่า "เถรวาท" (แปลว่าข้อตกลงของพระเถระทั้งหลาย) ต่อมาเมื่อเกิดมีนิกายขึ้น คำว่าเถรวาท กลายเป็นชื่อนิกายดั้งเดิม และดำรงอยู่มาจนปัจจุบัน

๒.เรื่องมหาปเทส (ข้ออ้างใหญ่) ๔ ประการ ทรงมองเห็นการณ์ไกลอีกเช่นกันว่า ต่อไปในอนาคตอันยาวไกล คงจะต้องมีข้อสงสัยเกิดขึ้นว่า บางเรื่องไม่ปรากฏว่ามีห้ามไว้ หรืออนุญาตไว้จะยึดถืออย่างไร จึงจะรู้ว่าถูกหรือผิด พระพุทธองค์จึงประทานหลักสำหรับตรวจสอบเทียบเคียงอันเรียกว่า "มหาปเทส" มี ๔ ประการ คือ
   (๑) หากภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้สดับฟังมาเฉพาะพระพักตร์ ของพระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์
   (๒) หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีสงฆ์อยู่ พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาติโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับตรับฟังมาเฉพาะหน้าสงฆ์ ว่านี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์
   (๓) หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นเถระจำนวนมาก เป็นพหูสูต ถึงอาคม (หมายถึงเชี่ยวชาญในพุทธวจนะ) ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา (แม่บท) ข้าพเจ้าสดับตรับฟังมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้น
   (๔) หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นเถระรูปหนึ่ง เป็นพหูสูต ถึงอาคม ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าสดับตรับฟังมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์



ปางประทาน มรดกธรรม (จบ)

เธอทั้งหลาย ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในพระสูตร เทียบดูในพระวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้นสอบลงในพระสูตร เทียบเข้าในพระวินัยไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาค ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้น, พระเถระเหล่านั้น, พระเถระรูปนั้น) ถือไว้ผิด พึงทิ้งเสีย

ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในพระสูตรได้ เทียบเข้าในพระวินัยได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้เป็นดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแน่แท้ ภิกษุนั้น (สงฆ์นั้น, พระเถระเหล่านั้น, พระเถระรูปนั้น) รับมาด้วยดี

กล่าวโดยสรุปก็คือ การยกข้ออ้างเพื่อพิสูจน์ว่า ใช่ธรรม ใช่วินัย ใช่สัตถุสาสน์ของพระผู้มีพระภาคหรือไม่ มีหลักอยู่ ๔ ข้อ
(๑) พุทธาปเทส = ยกพระพุทธเจ้าขึ้นอ้าง
(๒) สังฆาปเทส = ยกพระสงฆ์ขึ้นอ้าง
(๓) สัมพหุลเถราปเทส = ยกพระเถระหลายรูปขึ้นอ้าง
(๔) เอกเถราปเทส = ยกพระเถระรูปเดียวขึ้นอ้าง

ถ้าเขายกพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ทั้งปวง พระเถระหลายรูป พระเถระรูปเดียวขึ้นมาอ้าง ก็ให้ตรวจสอบกับพระสูตร พระวินัย ว่าเข้ากันได้ ลงกันได้ไหม ถ้าเข้ากันไม่ได้ ลงกันไม่ได้ ก็ไม่ควรเชื่อถือ ถ้าเข้ากันได้ ลงกันได้ ก็ควรถือปฏิบัติ

นอกจากนี้ยังมี มหาปเทส ทางพระวินัยอีก ๔ ข้อที่ตรัสไว้ในที่อื่น โดยสรุปคือ (๑) สิ่งใดที่ไม่ทรงห้ามไว้ แต่ขัดกับสิ่งที่ควรทำ นับว่าไม่ควร (๒) ไม่ได้ห้ามไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ นับว่าควร (๓) สิ่งใดที่ไม่อนุญาตไว้ แต่ขัดกับสิ่งที่ควร นับว่าไม่ควร (๔) ไม่ได้อนุญาตไว้ แต่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ นับว่าควรหลักมหาปเทส หรือข้ออ้างใหญ่ ทั้งด้านธรรม และด้านวินัย เมื่อพระศาสดาไม่อยู่แล้ว ถ้าเกิดข้อถกเถียงกัน หรือไม่แน่ใจ ว่าอย่างไหนควรทำ อย่างไหนไม่ควรทำ ก็จะได้อาศัยตรวจสอบเทียบเคียง ถ้าลงรอย เข้ากันได้ ก็พึงเชื่อถือ ถ้าลงรอยกันไม่ได้ก็ไม่พึงเชื่อถือ

นี้เป็นมรดกธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ทรงฝากไว้ให้เหล่าสาวกในภายหลังของพระพุทธองค์ นอกจากพระธรรมวินัยอันเป็นมรดกใหญ่แล้ว ยังมีมหาปเทส อันเป็นเสมือนหลักสำหรับดูแลรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ควบคู่กันไปด้วย

นับว่าชาวพุทธมีโชคดี เป็นพุทธโอรสที่ได้รับมรดกอันมหาศาล


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 กันยายน 2559 11:05:31
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95488118463092_a2.gif)
ปางทรงพิจารณาชราธรรม (๑)

พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่ที่ไม่ธรรมดาเหมือนมนุษย์ทั่วไปก็คือ ทรงบำเพ็ญบารมีมาจนเต็มเปี่ยมพร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อสมัยยังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) แล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลา ( ปี ก็ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ เป็น "พระสัมมาสัมพุทธ" = ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

พอมาถึงตรงนี้ พระพุทธองค์มิใช่เพียงมนุษย์ธรรมดาแล้วครับ หากเป็นมนุษย์พิเศษ ความเป็นมนุษย์พิเศษย่อมมีสัมฤทธิผลที่คนทั่วไปไม่มี ทางพระท่านเรียกว่า มี "ธรรมดา" แตกต่างจากคนทั่วไป เอาแค่ตอนเป็นพระราชกุมารก็จะเห็นชัด เวลาประสูติออกมาแล้ว เสด็จดำเนินได้ ๗ ก้าว ทรงเปล่ง อาสภิวาจาว่า "เราเป็นผู้เลิศของโลก ประเสริฐสุดของโลก เป็นใหญ่สุดของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไปแล้ว"

ถามว่าเป็นไปได้อย่างไร ตอบว่าเป็นไปได้ มิใช่เรื่องมหัศจรรย์ หากเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ที่มีบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว คำว่า "ธรรมดา" นี่แหละช่วยไขข้อข้องใจของคนขี้สงสัยได้

ธรรมดาของนกย่อมบินได้ ธรรมดาของปลาย่อมอยู่ใต้น้ำนานๆ ไม่ขาดใจตาย ถามว่าเราอัศจรรย์ไหมที่เห็นนกบินได้ เห็นปลาดำน้ำอึดเหลือหลาย ตอบแทนก็ได้ ไม่อัศจรรย์ มันเป็นธรรมดาของนก ของปลามัน ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์พูดได้ เดินได้ หลังจากเกิดใหม่ๆ เราจะไปอัศจรรย์อะไรเล่า มันเป็น "ธรรมดา" ของพระโพธิสัตว์ท่าน

เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงมีธรรมดาอีกหลายประการที่คนทั่วไปไม่มี (พระอรหันต์มีเหมือนกัน แต่ไม่เท่าพระพุทธเจ้า) เช่น พระพุทธเจ้าไม่มีใครสามารถฆ่าให้ตายได้ นอกจากจะทรงดับสนิทไปเองตามกฎธรรมชาติ เป็นต้น (ยกมาเพียงข้อเดียว ข้ออื่นยังนึกไม่ออก)

แต่เมื่อทรงเป็นมนุษย์ ถึงจะมีธรรมดาไม่เหมือนมนุษย์ทั่วไป พระพุทธเจ้าก็ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ เช่น มีอายุขัยตามกำหนดของมนุษย์ในยุคนั้นๆ มีเจ็บป่วยทางร่างกาย มีชราไปตามกาลเวลา อิทธิฤทธิ์ถึงจะทรงทำได้มากมาย ก็มิได้ใช้พร่ำเพรื่อ มิได้ใช้เพื่อฝืนกฎธรรมชาติ

ประโยคหลังนี้ เพื่อดักคอคนที่ชอบถามว่า ในเมื่อพระพุทธเจ้าของผมทรงมีสัมฤทธิผลมากมายเหนือคนอื่นๆ ทำไมไม่ใช้อิทธิฤทธิ์ต่อพระชนมายุให้อยู่เป็นอมตะ ไม่ตายเลยเล่า ก็บอกแล้วอย่างไรว่า ไม่ฝืนกฎธรรมชาติ


ปางทรงพิจารณาชราธรรม (จบ)
ในช่วงท้ายพระชนมายุ พระพุทธองค์ทรงมีพระกำลังถดถอย แถมทรงประชวรด้วยโรคปักขันทิกาพาธ (ถ่ายเป็นเลือด) ซึ่งเป็นโรคประจำพระวรกาย ผมเข้าใจเอาว่าเป็นผลจากการทรงบำเพ็ญตบะเคร่งครัดต่างๆ ตลอดถึงการทรงอดพระกระยาหาร (ทุกรกิริยา) ทำให้ระบบลำไส้รวนเร ไม่คงคืนปกติเหมือนเดิม (เดานะครับ เมื่อเดาก็ไม่จำเป็นต้องถูก)

พระอานนท์เห็นพระวรกายของพระพุทธองค์อ่อนแอก็ใจหาย แต่ก็ชื้นใจอยู่นิดว่าพระผู้มีพระภาคคงจักไม่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานจนกว่าจะได้ตรัสสั่งความสำคัญอะไรบางอย่างแก่พระสงฆ์ก่อน จึงเข้าไปกราบทูลพระพุุทธองค์ตามนั้น

พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์ พระสงฆ์จะมาหวังอะไรจากเราตถาคต ตถาคตก็ได้สอนธรรมทุกอย่างอย่างไม่ปิดบัง ไม่มี "กำมือ" ของอาจารย์ (ไม่มีความลับ ไม่มีไม้ตาย) เราตถาคตเองก็ไม่เคยคิดจะปกครองสงฆ์ ร่างกายตถาคตก็แก่หง่อม ล่วงกาลมายาวนานอายุตถาคตก็ ๘๐ ปีแล้ว จะอยู่ต่อไปอีกไม่นาน

"อานนท์ เกวียนเก่า ที่เขาซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ จะไปได้ไม่นาน ฉันใด ร่างกายของตถาคตก็ฉันนั้น ยังพอเป็นได้ คล้ายกับเกวียนเก่า ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่..."

ทรงเตือนให้ภิกษุสงฆ์พึ่งตนเอง โดยยึดธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง แล้วเสด็จมุ่งตรงไปยังกุสินาราเพื่อปรินิพพาน ผ่านหมู่บ้านตำบลต่างๆ ในเขตแคว้นวัชชี ของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์ แล้วเสด็จไปยังกูฏาคารป่ามหาวัน รับสั่งให้เรียกภิกษุทุกรูปที่อยู่ในบริเวณใกล้ๆ มาเฝ้า ทรงแสดง อภิญญาเทสิตธรรม - ธรรมที่ทรงแสดงเพื่อความรู้ยิ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ เพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติของภิกษุสงฆ์



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/16662626465161_a1.gif)

ปางปลงอายุสังขาร (๑)

ตามความในพระไตรปิฎกและอรรถกถา พระพุทธทรงเข้าจำพรรษาสุดท้ายแล้วก็เสด็จนิวัติไปยังพระนครสาวัตถีอีกครั้ง เพื่อรอรับพระสารีบุตรอัครสาวกไปทูลลา นิพพาน จากนั้นก็เสด็จไปยังพระนครราชคฤห์อีก พระเกิดเหตุการณ์พระโมคคัลลานะนิพพานพอดี จากนั้นจึงเสด็จกลับมายังเมืองไพศาลีอีกครั้ง

เช้าวันนั้น ทรงถือบาตรเสด็จโคจรบิณฑบาตในเมืองไพศาลี ตามเสด็จโดยพระอานนท์พุทธอนุชา เสด็จกลับจากเมืองไพศาลีแล้วไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถในเวลากลางวัน มีพระอานนท์เฝ้าอยู่ใกล้ๆ

พระองค์ทรงมีพุทธประสงค์จะให้พระอานนท์รู้ความนัยและทูลอัญเชิญให้เสด็จอยู่ชั่วอายุกัปหนึ่งหรือเกินกว่า ทรงแสดงนิมิตโอภาสให้ปรากฏโดยตรัสว่า "ผู้ใดเจริญอิทธิบาทสี่สมบูรณ์ ผู้นั้นผิประสงค์จะยืดอายุออกไปถึงกัปหนึ่งหรือเกินกว่าย่อมสามารถทำได้" แต่พระอานนท์ไม่ทราบความหมายจึงมิได้กราบทูลอัญเชิญ

จากนั้นมารได้โอกาส จึงเข้าเฝ้าทวง "สัญญา" ว่าบัดนี้ถึงเวลาปรินิพพานแล้ว เพราะบริษัทสี่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ทรงประสงค์แล้ว พระพุทธองค์จึงรับคำอาราธนาของมาร ทรง "ปลงอายุสังขาร" ทันที วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะพอดี

การ "ปลงอายุสังขาร" ก็คือตัดสินพระทัยว่าจะปรินิพพานในอีก ๓ เดือนข้างหน้า ขณะนั้นเกิดแผ่นดินสะเทือนสะท้านหวั่นไหว พระอานนท์อยู่ในที่ไม่ไกล เห็นปรากฏการณ์นั้นแล้วตกใจเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ทำนองทูลถามว่าเกิดอะไรขึ้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า เกิดแผ่นดินไหว แผ่นดินจะไหวด้วยเหตุ ๘ ประการคือ ไหวด้วยลม ไหวด้วยผู้มีฤทธิบันดาล ไหวเพราะพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์มารดา ประสูติ ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก พระพุทธเจ้าปลงอายุสังขาร และพระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ


ปางปลงอายุสังขาร (จบ)
พระอานนท์ทูลอาราธนาว่า ขอพระผู้มีพระภาคทรงยืดพระชนมายุไปอีกเถิด พระพุทธองค์ตรัสว่า สายเสียแล้วอานนท์ เราได้กระทำ "นิมิตโอภาส" ทำนองบอกใบ้ให้เธอตั้ง ๑๖ ครั้ง คือที่เมืองราชคฤห์ ๑๐ ครั้ง ที่เมืองไพศาลี ๖ ครั้ง ครั้งที่ ๑๖ ก็เพิ่งทำเมื่อตะกี๊นี้เอง เธอก็มิได้รับรู้และเชิญ เราอยู่ต่อ บัดนี้เราตถาคตรับคำเชิญของมารแล้ว

มารที่ว่านี้คือ วสวัตตีมาร เคยทูลขอให้พระองค์ปรินิพพานตอนตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ตรัสว่า จะยังไม่ปรินิพพานจนกว่าบริษัททุกหมู่เหล่าของพระองค์จะมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง ๓ ด้าน คือ
   ๑.รู้พระธรรมจนเชี่ยวชาญและปฏิบัติตามจนได้สัมผัสผล
   ๒.มีความสามารถในการถ่ายทอด
   ๓.และปกป้องพระพุทธศาสนาเมื่อถูกย่ำยี

บัดนี้บริษัททั้งสี่มีคุณสมบัตินั้นครบถ้วน มารได้มาเชิญเราปรินิพพาน เราได้รับคำเชิญของมารแล้ว ต่อจากนี้ไปอีก ๓ เดือนข้างหน้า เราตถาคตจะปรินิพพาน

พระพุทธวจนะที่ตรัสบอกพระอานนท์ว่า "อานนท์ ผู้ใดเจริญอิทธิบาทสี่จนสมบูรณ์แล้ว ผิว่าผู้นั้นพึงประสงค์จะยืดอายุออกไป ดำรงชีวิตอยู่ชั่วกัปหนึ่งหรือเกินกว่านั้นย่อมสามารถทำได้" นั่น มิได้หมายถึงพระพุทธองค์ หากหมายรวมถึงคนอื่นที่เจริญอิทธิบาทจนสมบูรณ์ด้วย

ที่ว่ายืดอายุไปได้กัปหนึ่งนั้น หมายเอา "อายุกัป" หรืออายุขัยของมนุษย์ (อายุขัยของมนุษย์ในยุคนี้ ๑๐๐ ปี หรือเกินกว่านั้นหน่อยหนึ่งก็ประมาณ ๑๒๐ ปีเป็นอย่างมาก

ในกรณีพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ถ้าจะยืดออกไปอีกเป็น ๑๐๐ ปี หรือ ๑๒๐ ปี ก็ย่อมจะทำได้ ถ้าพระอานนท์เฉลียวใจและกราบทูลอาราธนา แต่บังเอิญว่าทรงรับคำอาราธนาของมารก่อนแล้วดังกล่าวข้างต้น


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/41542188947399_1312691438_1_.jpg)

ปางเสวยสูกรมัททวะ ของนายจุนทะ (๑)

หลังจากทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์แล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จไปตามลำดับจุดหมายปลายทางคือเมืองกุสินารา ทรงรับภัตตาหารที่นางอัมพปาลีถวาย แล้วเสด็จต่อไปตามลำดับ เข้าเขตเมืองปาวา ทรงรับนิมนต์เพื่อเสวยพระกระยาหารที่บ้านนายจุนทะ กัมมารบุตร ในวันรุ่งขึ้น

เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับนิมนต์แล้ว นายจุนทะจึงไปตระเตรียม ขาทนียะอย่างพอเพียง โภชนียะอย่างพอเพียง และ "สูกรมัททวะ" อย่างพอเพียง โดยได้ใช้เวลาทั้งคืนในการเตรียมการดังกล่าว

เมื่อรุ่งเช้าขึ้นมา พระพุทธองค์เสด็จไปยังบ้านของนายจุนทะ พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก นายจุนทะน้อมถวายขาทนียะ และโภชนียะแก่ภิกษุสงฆ์ ส่วน "สูกรมัททวะ" นาย จุนทะได้น้อมถวายแด่พระพุทธองค์เท่านั้น

เมื่อเสวยเสร็จ พระพุทธองค์ตรัสว่า ไฟธาตุของพระองค์เท่านั้นที่จะย่อยสูกรมัททวะนี้ได้ แล้วรับสั่งให้นำส่วนที่เหลือไปฝังดินเสีย

หลังจากเสวย "สูกรมัททวะ" แล้วไม่นาน พระอาการประชวรด้วยโรคปักขันทิกาพาธก็กำเริบ แต่พระองค์ก็ทรงระงับทุกขเวทนาไว้ด้วยพลังสมาธิ ทรงเป็นห่วงว่านายจุนทะเองจะเดือดร้อนใจ หรือประชาชนอาจเข้าใจนายจุนทะผิด ว่าถวายอาหารอันเป็นพิษแด่พระพุทธองค์ จนเป็นเหตุให้ปรินิพพานในเวลาต่อมา พระพุทธองค์จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า

"อานนท์ อาจเป็นไปได้ว่าใครคนใดคนหนึ่งจะพึงทำความร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทะกัมมารบุตร ว่า นี่แน่ะ จุนทะ ไม่เป็นลาภผลของท่านเสียแล้ว พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านแล้ว เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน อานนท์ พวกเธอพึงดับความร้อนใจของนายจุนทะเสีย โดยชี้แจงว่า นี่แน่ะ จุนทะ เป็นลาภผลของท่านนักหนา พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ดับขันธ์ปรินิพพาน บิณฑบาตสองครั้งมีวิบากเสมอกัน มีอานิสงค์มากกว่าอย่างอื่น คือตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณครั้งหนึ่ง เสวยแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุครั้งหนึ่ง กรรมที่ให้อายุ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ และความเป็นใหญ่ ชื่อว่านายจุนทะได้สร้างสมไว้แล้ว"


ปางเสวยสูกรมัททวะ ของนายจุนทะ (จบ)
เป็นการตรัสป้องกันความเข้าใจผิด และตรัสความจริงว่า พระพุทธองค์มิได้ปรินิพพานด้วยการเสวย สูกรมัททวะที่นายจุนทะถวาย มิได้ปรินิพพานด้วยโรคปักขันทิกาพาธที่ทรงประชวร หากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ตามวันเวลาที่ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว

พึงสังเกตพุทธวจนะที่ตรัสสรรเสริญบิณฑบาตสองครั้ง มีผลมากเท่ากันคือ บิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายก่อนตรัสรู้ กับบิณฑบาตที่นายจุนทะถวายก่อนปรินิพพาน

บิณฑบาตทั้งสองนี้ เสวยแล้วก็ "ปรินิพพาน" ทั้งสองครั้ง คือ
ครั้งแรก (ที่นางสุชาดาถวาย) พระองค์เสวยแล้ว ปรินิพพานแล้ว ด้วยสอุปาทิเสสนิพพาน หรือ "กิเลสนิพพาน" พูดให้เข้าใจง่าย เสวยแล้วดับกิเลส

ครั้งสุดท้าย (ที่นายจุนทะถวาย) พระองค์เสวยแล้ว ปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน หรือ "ขันธนิพพาน" พูดง่ายๆ ว่า เสวยแล้วดับขันธ์

สูกรมัททวะ คืออะไร อธิบายกันไว้ ๓ นับคือ
   ๑.ข้าวหุงด้วยนมโคอย่างดี
   ๒.เนื้อสุกรอ่อน   
   ๓.สมุนไพรชนิดหนึ่ง (บางมติว่าได้แก่เห็ด)

พุทธศาสนิกฝ่ายเถรวาท นิยมแปลกันว่าเนื้อสุกรอ่อน แต่ฝ่ายมหายานค่อนข้างจะเชื่อว่า ได้แก่สมุนไพร ชาวพุทธจีนเชื่อว่าเป็นเห็ดที่เกิดจากไม้จันทน์ เรียกว่า "จันทัน ฉิ่วยื้อ"

แต่จะเป็นอะไรก็ตาม มิใช่สาเหตุแห่งการปรินิพพานดังที่ตรัสไว้ข้างต้นแล้ว และนายจุนทะผู้ถวายก็ได้บุญกุศลมากด้วย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/50743098556995_a2.gif)

ปางปรินิพพาน (๑)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรทมเหนือปรินิพพานปัญจถรณ์ (พระแท่นเป็นที่ปรินิพพาน) ใต้ต้นสาละทั้งคู่ ท่ามกลางภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัท (แม้พระบาลีจะพูดถึงเฉพาะบริษัทแรก แต่ข้อเท็จจริงต้องมีบริษัททุกหมู่เหล่าแน่นอน)

ตรัสถามว่าใครๆ มีข้อสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือหลักปฏิบัติใดๆ ให้ถามเสีย จะได้ไม่ร้อนใจภายหลังว่าเมื่อเราตถาคตยังอยู่ไม่ได้ถาม พุทธบริษัททั้งปวงนั่งเงียบ ไม่มีใครทูลถามอะไร จึงตรัสว่า พระองค์ก็ทรงคาดอย่างนั้นไว้ก่อนแล้ว เพราะบริษัทของพระองค์เป็นผู้รู้แจ้งธรรมหมดอย่างต่ำที่สุดก็เป็นพระโสดาบัน

จากนั้นก็ตรัสปัจฉิมโอวาทว่า "หันทะทานิ ภิกขะเว อามัน ตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ = ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

ความหมายก็คือ พวกเธอจงอย่าประมาท ให้รีบเร่งทำประโยชน์ตนให้สมบูรณ์ และประโยชน์สังคมให้สมบูรณ์ อย่าทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าดำเนินชีวิตแบบชาวโลก ก็ขยันทำมาหาเลี้ยงชีพในทางสุจริตชอบธรรม ได้ทรัพย์สินเงินทองมาแล้วก็เลี้ยงตนเอง ครอบครัว และคนพึงเลี้ยง ที่เหลือก็จุนเจือสังคม ทำบุญทำกุศลตามสมควร ถ้าดำเนินชีวิตเป็นนักบวช ก็ศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลที่ตนปรารถนา เมื่อทำตนให้พร้อมแล้ว ก็มีกรุณาช่วยเหลือคนอื่นด้วยการชี้แจงแสดงธรรม แนะนำแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีแก่ชาวบ้าน

หลังจากนั้น ก็ไม่ตรัสอะไรอีก ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ทรงเข้านิโรธสมาบัติ

จากนั้นทรงออกจากนิโรธสมาบัติ เข้าฌานถอยหลังลงมายังเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าปฐมฌาน



ปางปรินิพพาน (จบ)

จากนั้นทรงถอยกลับเข้าไปใหม่คือ ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้วทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงดับสนิทในระหว่างนั้นเอง

เป็นการดับสนิทระหว่างรูปฌานกับอรูปฌาน

ทั้งหมดนี้ไม่มีใครรู้เรื่อง ถ้าไม่มีพระอนุรุทธะ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในมหาสันนิบาตนั้น เข้าฌานตามพระพุทธองค์ไป จึงรู้ว่าพระองค์ทรงดับสนิท ณ จุดใด

พระธัมมสังคาหกาจารย์ (พระอาจารย์ผู้ร้อยกรองพระธรรมวินัย) ได้บันทึกวาทะแสดงธรรมสังเวช ในการปรินิพพานของพระพุทธองค์ได้ดังนี้

ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวโศลกว่า "สัตว์ทั้งปวง ทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก แม้แต่พระตถาคตศาสดาผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนเปรียบปาน ทรงสมบูรณ์ด้วยทศพลญาณ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ยังดับสนิทแล้ว"

ท้าวสักกเทวราชกล่าวว่า "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปเป็นธรรมดา การดับสังขารทั้งหลายได้ เป็นความสุข"

พระอนุรุทธเถระกล่าวว่า "พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระทัยมั่นคง คงที่ ไม่หวั่นไหว ทรงหมดลมหายใจแล้ว พระมุนีเจ้าทรงทำกาละอย่างสงบแล้ว พระองค์มีพระทัยไม่หดหู่ ทรงระงับทุกขเวทนาได้ ทรงดับสนิทดุจเปลวประทีป"

พระอานนท์พุทธอนุชากล่าวว่า "เมื่อพระพุทธเจ้า ผู้ทรงสมบูรณ์พร้อมทุกประการ เสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้เกิดความสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าแล้ว"

พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่นำมาเล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบนี้ ส่วนมากดำเนินตามแนวที่โบราณาจารย์ได้กำหนดไว้ มีเพียงบางปางเท่านั้น ที่ผู้เขียนได้เพิ่มเติมเข้ามา โดยกำหนดเอง ตั้งชื่อเอง ด้วยพิจารณาเห็นว่า พระจริยาวัตรตอนนั้นๆ น่าจะยกมาเพื่อเป็นแบบอย่าง และเพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระมหากรุณาคุณของพระพุทธองค์


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 กันยายน 2559 11:51:14

(http://www.larnbuddhism.com/buddha/images/img27.jpg)

แก้ปัญหาด้วยปัญญา

สมัยเป็นเณรน้อยเรียนนักธรรมบาลี อ่านคัมภีร์ชาดกเรื่อง "มโหสถชาดก" รู้สึกประทับใจในความเฉลียวฉลาดของเด็กน้อยโพธิสัตว์ นามว่า "มโหสถ" จนบัดนี้ก็ยังจำได้ไม่ลืม

มาถึงยุคลูกชายยังเล็กอยู่ มีการ์ตูนเณรน้อย "อิกคิวซัง" ของญี่ปุ่นออกมา เด็กๆ ติดเป็นแถว ต่างยกนิ้วให้ว่าเณรน้อยอิกคิวซังฉลาดเหลือเกิน

แต่ความฉลาดของมโหสถ เป็นการให้เหตุผลพิจารณาเรื่องราวตามเป็นจริง และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ตามควรแก่เหตุการณ์นั้นๆ วิธีการแก้ปัญหามีหลากหลายไม่ซ้ำกัน แล้วแต่ลักษณะของปัญหา ทำให้เราได้ความรู้มากขึ้น

เรื่องมโหสถนั้น ชี้ไปที่การรู้จักพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้าน เกิดอะไรขึ้นให้มองตามเป็นจริง สืบสาวหาต้นตอและพยายามหาทางแก้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นการฝึกปัญญาอย่างดียิ่ง

ยกตัวอย่าง เช่น ครั้งหนึ่งมีหญิงชาวบ้านอุ้มลูกเล็กเดินไปพบนางยักษิณีปลอมมาในร่างมนุษย์ ขออุ้มเด็กบ้าง พอได้เด็กจากมือแม่แล้วก็วิ่งหนี

แม่เด็กร้องโวยวาย ชาวบ้านช่วยกันรุมล้อมนางยักษิณีนั้นไว้ ทั้งสองคนต่างเถียงกันว่าเด็กน้อยเป็นลูกของตน

ชาวบ้านไม่มีใครตัดสินได้ มโหสถน้อยผ่านมาพบเข้า จึงอาสาช่วยตัดสิน มโหสถถามว่า ท่านทั้งสองต่างก็อ้างว่าเป็นแม่เด็ก ท่านทั้งสองจะพิสูจน์ความจริงไหม หญิงทั้งสองตกลงให้มโหสถตัดสิน

มโหสถบอกให้หญิงทั้งสองแย่งเด็กเอาเอง คนหนึ่งจับหัว อีกคนหนึ่งจับแขนแล้วให้ดึง ถ้าใครดึงชนะก็แสดงว่าคนนั้นเป็นแม่เด็ก

ทั้งสองดึงเด็กน้อยไปมาคนละทางอยู่พักหนึ่ง เด็กน้อยร้องไห้จ้าด้วยความเจ็บปวด หญิงชาวบ้านผู้เป็นแม่เด็กปล่อยมือ ยืนร้องไห้สะอึกสะอื้นอย่างน่าสงสาร

นางยักษิณีในร่างมนุษย์แย่งได้เด็ก ยิ้มกริ่มด้วยความดีใจ ร้องบอกฝูงชนว่า เห็นไหมๆ ข้าบอกว่าเด็กน้อยคนนี้เป็นลูกของข้าก็ไม่มีใครเชื่อ

มโหสถน้อยกล่าวว่า "ข้านี่แหละ ไม่เชื่อเจ้า"

"อ้าว ท่านบอกแต่แรกแล้วมิใช่หรือว่า ใครแย่งเด็กได้คนนั้นคือแม่เด็ก ก็ข้าแย่งได้แล้วนี่ พิสูจน์เห็นแล้ว" นางยักษิณีกล่าว

มโหสถกล่าวว่า "นั่นเป็นกุศโลบายของข้า เพื่อลวงให้ "ธาตุแท้" ของแต่ละคนปรากฏออกมา บัดนี้ความจริงก็ได้ปรากฏแล้ว ผู้หญิงคนที่ปล่อยมือแล้วยืนร้องไห้อย่างน่าสงสารนั้น คือแม่ที่แท้จริงของเด็ก

มโหสถอธิบายว่า แม่ย่อมรักและสงสารลูก เมื่อเห็นลูกร้องไห้จ้าด้วยความเจ็บปวดทรมาน เพราะถูกแย่งดึงไปมา แม่อดสงสารลูกไม่ได้จึงปล่อยมือ ร้องไห้

ส่วนคนที่มิใช่แม่ไม่มีความผูกพันลึกซึ้งเช่นนั้น จึงมิได้มีแม้ความสงสาร อาจเป็นยักษ์มารที่ไหนปลอมมาก็ได้

ได้ยินดังนั้น นางยักษ์จำแลงก็สำแดงร่างจริงให้ปรากฏ จริงดังมโหสถทำนายไม่ผิดเพี้ยน

ยกเรื่องมโหสถขึ้นมากล่าวนี้เพื่อจะบอกว่า การดำเนินชีวิตนั้นต้องใช้ปัญญามิใช่น้อยจึงประสบความสำเร็จ เพียงความขยันหมั่นเพียรทำมาหากิน สร้างเนื้่อสร้างตัวอย่างเดียวหาเพียงพอไม่

ขาดปัญญาเสียแล้ว ถึงจะขยันอย่างไรก็ยากที่จะสำเร็จ หรือสำเร็จก็สำเร็จไม่เต็มที่

มีคนเห็นพระหนุ่มรูปหนึ่ง ขึ้นไปนั่งกรรมฐานบนต้นไม้ทุกวัน ด้วยความขยันหมั่นเพียรยิ่ง หวังจะได้บรรลุธรรม อาจารย์กรรม ฐานชื่อดังรูปหนึ่งผ่านมาพบเข้า

ร้องบอกว่า "ถึงคุณจะขยันนั่งบนต้นไม้จนกลายเป็นลิง ก็ไม่มีทางบรรลุดอก" พระหนุ่มก็ได้สติในความโง่เขลาของตน

ครับ ขยันอย่างเดียวไม่พอ ต้องฉลาดด้วย



(http://www.larnbuddhism.com/buddha/images/mahosot.jpg)

สู้ด้วยความพากเพียร

มีคนนิยามความหมายของชีวิตว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ผมขอแถมอีกนิดว่า สู้แล้วต้องให้ชนะด้วย

จริงอยู่ในสังเวียนแห่งการต่อสู้ ย่อมมีทั้งแพ้และชนะแต่นักสู้ต้องมุ่งเป้าไปที่ชัยชนะ แพ้น่ะได้ แพ้บ่อยๆ ก็ได้อีกเหมือนกัน แต่ในที่สุดเราต้องเอาชัยชนะให้ได้!

ทุกคนมีสิทธิ์สะดุดล้ม แต่ล้มแล้วนอนเป็นเรื่องน่าตำหนิ ล้มแล้วรีบลุกขึ้นเดินต่อไปสิ คนเขายกย่องสรรเสริญ

ในประเทศญี่ปุ่น เขามีธรรมเนียมอยู่อย่างหนึ่ง คือเขาจะนำ "ตุ๊กตาล้มลุก" ไปมอบให้แก่กัน ในโอกาสสำคัญๆ เช่นวันเกิด หรือปีใหม่อะไรนี่ผมก็จำไม่ถนัด แต่จำได้ว่า เขามอบตุ๊กตาล้มลุกให้กัน

ตุ๊กตานั้นเดินไปได้หน่อยแล้วก็ล้ม แล้วก็ลุกเดินต่อไป ล้มลุก ล้มลุก อยู่อย่างนี้ ดูกันเล่นสนุกๆ ก็ได้ ดูให้ดีให้เกิดปรัชญาชีวิตก็ได้

คือเป็นเครื่องเตือนใจว่า อย่ายอมหยุดหรือเลิกรา ล้มแล้วให้ลุกเดินต่อไป อย่านอนแผ่หลาอย่างคนหมดท่าในชีวิต เพราะญี่ปุ่นเขามี "ปรัชญาชีวิต" อย่างนี้ เขาจึงพัฒนาก้าวไกลไปสุดกู่ เมื่อคราวแพ้สงคราม ญี่ปุ่นย่อยยับไม่มีดี แต่ไม่กี่ปีให้หลังก็ฟื้นตัวและพัฒนาล้ำหน้าประเทศอื่นๆ เดี๋ยวนี้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่น่ากลัวที่สุดในโลกไปแล้ว

เพราะพี่ยุ่นแกถือปรัชญา ล้มแล้วลุก ดังเช่นตุ๊กตาล้มลุกนั่นแหละครับ

การล้มแล้วลุกแล้วๆ เล่าๆ ถ้าถอดเป็นธรรมะก็ได้แก่ความพากเพียรนั่นเอง พระท่านเรียกว่า "วิริยะ" บ้าง "วิริยา-รัมภะ" บ้าง

ความพากเพียร ไม่ได้หมายถึงทำอะไรหามรุ่งหามค่ำ ไม่รู้จักพักผ่อน อย่างคนเรียนหนังสือ นั่งอ่านนั่งท่องอยู่นั่นแล้วตั้งแต่เช้ายันดึก ไม่กิน ไม่นอน อย่างนี้เขาเรียกว่า "หัก-โหม" มิใช่ความพากเพียร ขืนทำอย่างนี้ ไม่เกินสี่ห้าวันโรคประสาทกินตาย

ความพากเพียรไม่ต้องทำมาก ไม่ต้องหักโหม ทำทีละน้อยๆ แต่ทำบ่อยๆ อย่าง ต่อเนื่อง

ท่านเคยเห็นแมงมุมไหม แน่นอนทุกคนคงรู้จักมันดี แต่น้อยคนที่จะสังเกตดูมันอย่างถี่ถ้วน ลองสังเกตดูมันสิครับเวลามันถักใย มันจะไต่จากมุมนี้ไปยังมุมนั้น มันมักจะตกสู่พื้นอยู่บ่อยๆ ไต่แล้วตก ไต่แล้วตก แต่มันก็ไม่ย่อท้อ ยังคงก้มหน้าก้มตาถักใยต่อไป ผลที่สุดมันก็ได้ใยแมงมุมที่สวยงามไว้ดักเหยื่อกินตามประสงค์

คนที่พากเพียรไม่ต่างจากแมงมุมถักใย ไม่ว่าจะทำกิจการอะไร จะพากเพียรทำด้วยจิตใจแน่วแน่มั่นคง ไม่เลิกล้ม ไม่ย่อท้อจนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ

"คนจะล่วงพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร" พระท่านพูดไว้ไม่ผิดดอกครับ ทำอะไรล้มเหลวเพียงครั้งสองครั้ง อย่าได้ท้อแท้ ผิดหวังเลย ทำต่อไป สู้ต่อไป ถ้าหากการกระทำการต่อสู้นั้นเป็นเรื่องถูกต้อง สุจริต ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรม

ส่วนเรื่องผิดเรื่องชั่ว ไม่ต้องพากเพียรทำมัน เพียงหลงทำครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว



(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQmHI1MC1OHdl_lfivcuAr00fWciIomgC-9GS-R82V_ouJ57KIk)

โง่อย่าขยัน

ตอนที่แล้วผมได้พูดว่า ถ้าเรามีความพากเพียรเสียอย่าง ต่อให้เทวดาก็หยุดเราไม่ได้ ขอให้พากเพียรจริงๆ เถอะ งานหนักงานใหญ่แค่ไหนก็สำเร็จ ทุกข์ยากลำบากแค่ไหนก็เอาชนะได้

เป็นความจริงครับ แต่บางครั้งเพียรอย่างเดียวยังไม่พอจะต้องมีปัญญาประกอบด้วย เรียกว่า ต้องขยันอย่างฉลาดด้วย ความเพียรนั้นจึงจะไม่สูญเปล่า

ความขยันที่ไม่ใช้ปัญญากำกับอาจขยันผิดทาง ยิ่งขยันก็ยิ่งสร้างเรื่องยุ่ง แทนที่จะแก้ปัญหา กลับกลายเป็นสร้างปัญหาก็ได้

ดูตัวอย่างต่อไปนี้ก็จะเห็นชัด นานมาแล้ว (นานแค่ไหนช่างเถอะ) มีชายคนหนึ่ง (ชื่ออะไรก็ช่างเถอะ ไม่ชื่อชวนก็แล้วกัน) มีอาชีพปลูกสมุนไพรขายอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง กระทาชายที่ไม่ได้ชื่อชวนคนนี้ แกเลี้ยงลิงไว้หลายตัว ตามประสาคนรักสัตว์ แกพยายามฝึกลิงจนสามารถสื่อสารกับมันรู้เรื่อง จะพูดว่าสามารถพูดภาษาลิงได้ก็จะ "เว่อร์" ไป เอาแค่สื่อสารด้วยภาษาใจรู้เรื่องก็แล้วกัน

วันหนึ่ง แกมีธุระจะต้องไปทำในเมืองสักสี่ห้าวัน จึงฝากให้หัวหน้าลิงช่วยรดน้ำต้นไม้ที่เพิ่ง "ลง" ใหม่ๆ ให้ด้วย เจ้าจ๋อ ทหารเอกพระรามก็ร้องเจี๊ยกๆ รับปากรับคำอย่างดี

เมื่อเจ้านายไปแล้ว เจ้าจ๋อก็พาลูกน้องรดน้ำต้นไม้อย่างขยันขันแข็ง พวกมันเอากระป๋องไปตักน้ำมารดกันพรึ่บพรั่บๆ

เจ้าจ๋อผู้เป็นหัวหน้าตะโกนว่า "เฮ้ยๆ พวกเอ็งดูหรือเปล่าว่ารากไม้มันชุ่มน้ำ หรือยัง"

"จะรู้ได้ยังไงว่ารากมันชุ่มน้ำหรือไม่ชุ่ม" บริวารลิงตัวหนึ่งย้อนถาม

"ไอ้โง่ เอ็งก็ถอนขึ้นมาดูรากมันซิวะ ถ้ามันยังไม่เปียกน้ำก็ราดลงไปเยอะๆ ถอนขึ้นมาดู เมื่อเปียกน้ำแล้วก็ยัดลงดินใหม่" เจ้าหัวหน้าอธิบายยกตีนเกาขี้กลากไปพลาง

และแล้วสมุนพระรามทั้งหลายก็พากันถอนต้นไม้ขึ้นมาดู รู้ว่าชุ่มน้ำแล้วก็ยัดลงดินใหม่ ถอน-ยัด-ถอน-ยัด อย่างนี้ทุกวันอย่างพร้อมเพรียง โดยการควบคุมอย่างเข้มงวดของหัวหน้าจ๋อ

สี่ห้าวันให้หลังเจ้าของสวนกลับมาแทบลมจับ เมื่อเห็นสมุนไพรทั้งสวนเฉาตายหมดเกลี้ยง

นี่เพราะโง่ขยัน หรือขยันอย่างโง่ๆ ของพวกลิงแท้ๆ

รถดีมีประสิทธิภาพนั้นต้องวิ่งเร็ว แต่วิ่งเร็วอย่างเดียวไม่พอดอกครับ ห้ามล้อหรือเบรกต้องดีด้วย ไม่เช่นนั้นไม่ปลอดภัยดีไม่ดีพาวิ่งลงเหว ในชีวิตเราก็เช่นเดียวกัน มีความเพียรอันเป็นพลังสร้างสรรค์ แล้วจะต้องใช้ปัญญากำกับ พูดง่ายๆ ขยันแล้วต้องฉลาดด้วย จึงจะประสบชัยชนะในการต่อสู้ชีวิต




ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน

ผมมีเรื่องจะเล่าให้ฟังหนึ่งเรื่อง เกี่ยวกับคนทำมาหากิน อ่านแล้วลองนำไปพินิจพิจารณาดูเอาเองครับ

สมชาย (ชื่อสมมติ) กับ สมเกียรติ (ชื่อสมมติ) เป็นเด็กต่างจังหวัด เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ด้วยกัน เรียนวิชาเดียวกันด้วย คือวิชาเครื่องยนต์ ที่โรงเรียนสารพัดช่างแห่งหนึ่ง พอจบออกไปทั้งสองก็ไปสมัครเป็นลูกจ้างอู่ซ่อมรถเหมือนกัน แต่คนละอู่

สมชายอยู่ทำงานที่อู่ดังกล่าว จนมีประสบการณ์พอสมควรแล้วก็ออกไป ตั้งอู่ของตนเอง ร่วมกับเพื่อนที่มีนิสัยเหมือนกันสองสามคน ทั้งสามทำงานไม่ถึงสามปีก็ร่ำรวยผิดหูผิดตา ขยายกิจการใหญ่โต

ฝ่ายสมเกียรตินึกสงสัยว่า ทำไมสมชายเพื่อนเก่าของตนจึงรวยเร็วขนาดนั้น กิจการอู่ซ่อมรถก็ทำรายได้ไม่กี่มากน้อยรู้ๆ กันอยู่ สมชายไปได้เงินได้ทองมาจากไหน

ในที่สุดก็ทราบว่า สมชายและพวกตั้งอู่หลอกต้มประชาชน ที่ทราบก็เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ทั้งสามก็ถูกตำรวจจับฐานตั้งแก๊งขโมยรถยนต์ ถูกจำคุกคนละหลายปี

ทั้งสามต้มตุ๋นลูกค้าที่เอารถมาซ่อม โดยบอกว่าชิ้นส่วนชิ้นนั้นชิ้นนี้เสีย ต้องเปลี่ยนใหม่ ทั้งๆ ที่มันดีอยู่ แต่เจ้าของไม่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ก็เชื่อ ยอมให้เปลี่ยน สามสหายจะถอดเอาเครื่องเครารถที่ดีๆ แล้วเอาของเก่าที่เสื่อมคุณภาพใส่แทน โดยวิธีนี้ทั้งสามมีรายได้เดือนละจำนวนมากๆ

แค่นั้นยังไม่พอ คบคิดกันขโมยรถยนต์ที่จอดอยู่ตามศูนย์การค้าบ้าง ตามที่จอดรถต่างๆ บ้าง เอามาถอดชิ้นส่วนแปลงโฉมแล้วก็ขายต่อ ทำอย่างนี้ไม่นานเงินทองก็ไหลมา แต่ในที่สุดทั้งสามคนก็ถูกจับได้

ส่วนสมเกียรติ ทำงานเป็นลูกจ้างเขาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตกินแค่ค่าจ้างประจำเดือน อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบ ได้เงินจำนวนหนึ่ง แล้วออกมาทำอู่เป็นของตนเองกับเพื่อนคนหนึ่ง สมเกียรติเป็นคนซื่อสัตย์ต่อลูกค้ามาก เมื่อลูกค้าขับรถเป็นอย่างเดียวไม่รู้เรื่องเครื่องยนต์เอารถมาซ่อม แกจะบอกว่าเครื่องเคราอย่างไหนควรเปลี่ยน อย่างไหนยังดีอยู่ไม่ควรเปลี่ยน ค่าแรงก็คิดไม่แพง ทำให้ลูกค้าไว้ใจ

ปัจจุบันนี้ สมเกียรติยังคงบริการซ่อมรถให้ลูกค้าอยู่อย่างมีความสุขกับอาชีพของตน ลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้ที่เคยเอารถมาซ่อมแล้วประทับใจในผลงาน และอัธยาศัยไมตรีของสมเกียรติแนะนำกันมา ฐานะของเขาถึงจะไม่ร่ำรวยนัก ก็คงไม่มีวันตกต่ำแน่นอน

คำพังเพยโบราณว่า ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน นั้นยังใช้ได้ คนทำมาค้าขายมักจะคิดกันว่า ถ้าไม่โกหกแล้วจะค้าขายไม่เจริญ ไม่จริงดอกครับ คุณอาจขายของได้ กำไรมากๆ ในตอนแรกเพราะโกหกให้เขาเชื่อ แต่ในระยะยาวจะไม่มีใครเข้าร้านคุณเมื่อเขารู้ความจริงว่าเขาถูกคุณหลอก แต่ถ้าคุณซื่อตรงไม่เอาเปรียบลูกค้า ตรงไปตรงมา มีความจริงใจ ไม่ต้องหา "นางกวัก" มาตั้งหน้าร้านดอกครับ ความดีของคุณจะ "กวัก" เงินกวักทองไหลมาเทมาเอง

ใครคิดจะทำมาค้าขาย ขอให้จำคติบทนี้ไว้เตือนใจว่า "คุณหลอกลูกค้าเพียงคนเดียว เท่ากับคุณหลอกคนทั้งโลก"


ความเป็นมาของพระอภิธรรมปิฎก [/center]

มีท่านผู้อ่านท่านหนึ่ง ขอให้เล่าความเป็นมาของพระอภิธรรมปิฎกในเชิงวิชาการ (หน่อยๆ) "โดยไม่ต้องเอ่ยถึงสำนักนั้นสำนักนี้" อยากทราบว่าที่มีผู้พูดกันว่า พระอภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธวจนะ จริงหรือไม่

สิ่งที่ท่านอยากทราบนี้แหละครับ ทำให้หลีกเลี่ยงไม่พูดถึงประเด็นขัดแย้งทางความคิดเห็นไม่ได้ จำเป็นอยู่เองต้องเอ่ยถึง "สำนัก" หรือ "ฝ่าย" ทั้งสองที่เห็นไม่ตรงกัน ไม่อย่างนั้นก็จะได้ความรู้แง่เดียว

ก่อนอื่นขอเท้าความถึงความเชื่อดั้งเดิมของชาวพุทธว่า พระไตรปิฎกนั้นเป็นคัมภีร์บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า (และของสาวกสำคัญบางท่าน รวมถึงคำสุภาษิตที่กล่าวโดยเทวดาเป็นต้น) สมัยพระพุทธเจ้าไม่มี "พระไตรปิฎก" พระพุทธเจ้าทรงสอนสิ่งที่เรียกว่า "ธรรม และวินัย" เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว (นานเท่าใดยังถกเถียงกันอยู่ มติส่วนมากกำหนดเอาราวพุทธศตวรรษที่ ๓) "ธรรมและวินัย" นั้น ได้แบ่งออกเป็น ๓ หมวด เรียกว่า "ปิฎก" คำว่า "พระไตรปิฎก" จึงเกิดขึ้นมาแต่บัดนั้น

พระไตรปิฎกประกอบด้วย พระวินัยปิฎก ว่าด้วยศีลของภิกษุและภิกษุณีรวมถึงสังฆกรรม พิธีกรรม ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ ตลอดถึงวัตรปฏิบัติ มารยาท เพื่อความงามของพระสงฆ์ พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในที่ต่างๆ รวมถึงคำสอนของสาวก และเทวตาภาษิตบางส่วน พระอภิธรรมไตรปิฎก ว่าด้วยการอธิบายหลักธรรมต่างๆ ในแง่วิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับบุคคลและเหตุการณ์ หลักธรรมที่นำมาอธิบายนี้ ก็เอามาจากพระสุตตันตปิฎก นั้นเอง

พูดอีกทีเพื่อเข้าใจชัด ธรรมวินัยนั้นแหละต่อมากลายเป็น พระไตรปิฎก โดย "วินัย" กลายมาเป็นพระวินัยปิฎก "ธรรม" กลายมาเป็นพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

เฉพาะส่วนที่เป็นอภิธรรมปิฎก มี ๗ คัมภีร์ คัมภีร์ที่ ๕ เรียกว่า "กถาวัตถุ" มีหลักฐานชี้ชัดว่า แต่งขึ้นสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ พุทธศตวรรษที่ ๓ พระโมคคัลลี บุตรติสสเถระ เป็นผู้แต่ง นอกนั้นเป็น ของเก่า

นักปราชญ์ส่วนมากเชื่อตรงกันว่า เฉพาะส่วนที่เป็น "มาติกา" หรือแม่บทสั้นๆ (ที่พระนำมาสวดในงานศพนั้นแหละ) มีมาแต่เดิม ส่วนรายละเอียดมากมายที่มีปรากฏดังในปัจจุบันนี้ แต่งเติมเอาภายหลัง ว่ากันอย่างนั้น

ปัญหาที่ว่าพระอภิธรรมไตรปิฎกเป็นพุทธวจนะหรือไม่ เถียงกันมานานแล้วครับ สมัยที่โต้แย้งรุนแรงที่สุดถึงขนาดแช่งชักหักกระดูกให้อีกฝ่ายที่ไม่เชื่อ ตกนรกหมกไหม้ ก็ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ผมขอยกเหตุผลทั้งสองฝ่ายมาให้ดูพอเป็น "แซมเปิล" (ใครอยากรู้ละเอียดให้ไปอ่านหนังสือ "เพลงรักจากพระไตรปิฎก" ของ เสถียรพงษ์ วรรณปก พี่ชายผม-โฆษณาให้แล้วนะพี่)

ฝ่ายที่ยืนยันว่า พระอภิธรรมไตรปิฎกเป็นพุทธวจนะแน่นอน อ้างเหตุผลน่าฟังดังนี้

๑.มีหลักฐานแสดงว่า พระพุทธองค์ขึ้นไปแสดงอภิธรรมโปรด (อดีต) พุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

๒.ในพระวินัยและพระสูตรหลายแห่งพูดถึง "อภิธรรม" เช่น เล่าถึงพระกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งประชุมกล่าวอภิธรรมกันที่โรงธรรม เล่าถึงภิกษุณีขอโอกาสพระถามพระวินัยพระสูตร แต่กลับถามอภิธรรมขอโอกาสถามอภิธรรมแต่กลับถามพระวินัย พระสูตร ในกรณีเช่นนี้ปรับอาบัติปาจิตตีย์ (คือมีความผิดทางวินัยระดับหนึ่ง)

ฝ่ายที่ปฏิเสธอภิธรรมก็ให้เหตุผล (น่าฟังอีกเหมือนกัน) ดังนี้

๑.หลักฐานที่อ้างพระพุทธองค์ทรงแสดงอภิธรรมบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โปรด (อดีต) พุทธมารดานั้น เขียนขึ้นภายหลังไม่มีในพระไตรปิฎก คนเขียนคือ พระพุทธโฆสาจารย์ อาจารย์สำนักอภิธรรม

๒.คำว่า "อภิธรรม" ที่ปรากฏอยู่ในพระสูตรและพระวินัยนั้น มิได้หมายถึงพระอภิธรรมไตรปิฎก แต่หมายถึง "โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ"

๓.ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสฝากไว้ว่า ธรรมและวินัยจะเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ หลังจากพระองค์ล่วงลับไปแล้ว มิได้ทรงเอ่ยถึง "พระอภิธรรม" เลย

๔.พิจารณาสำนวนภาษา ภาษาในพระอภิธรรมไตรปิฎกเป็นภาษา "เขียน" หรือ "ภาษาหนังสือ" ที่ผจงแต่งอธิบายหลักธรรมในแง่วิชาการ ต่างจากภาษาในพระสุตตันตปิฎก และพระวินัยปิฎก ซึ่งเป็นภาษาพูด

สำหรับตัวผมเองนั้น ค่อนข้างจะเชื่อว่าพระอภิธรรมไตรปิฎกที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเพิ่มเติมภายหลัง ส่วนที่เก่าแก่จริงๆ มีมาแต่สมัยพุทธกาลคือ บทมาติกา ภาษาพระอภิธรรมไตรปิฎกฟ้องอยู่แล้ว (ในฐานะนักภาษาบาลียืนยันจุดนี้ได้)

และโปรดเข้าใจด้วยว่า ที่ใครก็ตามพูดว่า พระอภิธรรมไตรปิฎกมิใช่พุทธวจนะทั้งหมดก็ดี "ไม่อยู่ในรูปเป็นพุทธวจนะ" ก็ดี มิได้ปฏิเสธว่าพระอภิธรรมมิใช่คำสอนของพระพุทธเจ้านะครับ เพียงแต่ต้องการบอกว่า พระอภิธรรมไตรปิฎก "แต่งเพิ่มเติมภายหลัง" เท่านั้น



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)






หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 มกราคม 2560 20:13:09
(http://f.ptcdn.info/155/029/000/1425873811-Y74033016-o.jpg)

อย่าใช้วิธีเดียว

คณะสงฆ์พะเยายกระดับหมู่บ้านศีล ๕

คุยกับเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันใหม่คนหนึ่ง เพื่อนเป็นนักธุรกิจขนาดย่อมที่ประสบความสำเร็จพอสมควรคนหนึ่ง ผมถามว่า มีเทคนิควิธีอะไรที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ เพื่อนบอกว่าไม่มีอะไรมาก ยึดถือคติ ๒ ข้อ คืออดทน และเปลี่ยนแปลง

การทำงานอะไรก็ตามถ้าขาดคุณสมบัติ คือความอดทนเสียแล้วยากจะประสบความสำเร็จ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ความอดทนที่ใช้ก็ไม่ต้องมาก แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ และยิ่งต้องใช้เวลายาวนาน ก็ต้องอดทนเพิ่มขึ้นมากมายหลายร้อยเท่า

ฟังเพื่อนพูดแล้วทำให้นึกถึงอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง นึกถึงสัตว์ตัวเล็กๆ ๒ ตัว คือ แมงมุม กับ กิ้งก่า

เคยเห็นแมงมุมมันถักใยไหมครับ สมัยผมเป็นเด็กชอบเฝ้าดูแมงมุมมันถักใย มันจะไต่ขึ้นไปจากมุมฝาด้านนี้ไปอีกด้าน มันจะตกลงมา แล้วมันก็จะพยายามไต่ขึ้นไปใหม่ ตกลงมา-ไต่ขึ้นไป ตกลงมา-ไต่ขึ้นไป เป็นอยู่อย่างนี้แล้วๆ เล่าๆ มันก็ไม่เลิกรา เพียรถักใยโดยวิธีนี้เป็นวันๆ ในที่สุดมันก็ได้ใยเป็นวงกลม มีลวดลายสวยงาม

การกระทำของแมงมุมบอกให้เรารู้ว่า นี่แหละคือสิ่งที่พระเรียกว่า วิริยะ หรือ วิริยารัมภะ (ความเพียร หรือ การปรารภความเพียร) "เพียร" ในความหมายของท่าน มิได้หมายความว่าต้องทำอย่างหักโหม ทำเต็มที่ ไม่หลับไม่นอนอะไรอย่างนั้น แต่หมายถึงการค่อยๆ ทำสม่ำเสมอ ทำเป็นกิจวัตร

เพราะฉะนั้น เวลาพระพุทธเจ้าตรัสอธิบายความเพียรพระองค์จะตรัสคำ "ไวพจน์" (Synonym) ไว้กำกับว่าสาคัจจกิริยา การกระทำต่อเนื่อง, ทำสม่ำเสมอไม่ขาดตอน

เด็กในกรุงอาจไม่เคยเห็นกิ้งก่า กิ้งก่าเป็นสัตว์ที่มีนิสัยประหลาดคือ วิ่งเร็ว และหยุดอยู่กับที่นาน เวลามันเห็นคนมันจะวิ่งจู๊ดหนีไปอย่างรวดเร็วมาก เสร็จแล้วมันจะเกาะกิ่งไม้นอนหลับตาปุ๋ยอยู่กับที่เป็นเวลานาน พอมีอะไรมาทำให้ตกใจทีก็วิ่งจู๊ดไปอีก แล้วก็นอนสงบนิ่งหลับตาเพลิน เป็นอยู่อย่างนี้

คนทำงานเหมือนกิ้งก่าก็คือ คนทำอะไรอย่างหักโหม ทำเอาๆ สักพักแล้วก็วางมือ นึกขึ้นมาได้ก็จับมาทำใหม่ ไม่ได้ทำต่อเนื่องเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอ กิริยาอาการอย่างกิ้งก่านี้ไม่ควรนำไปใช้เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะไม่ช่วยให้ทำอะไรได้ประสบความสำเร็จ

คติข้อที่ ๒ ที่เพื่อนยึดถือคือ รู้จักเปลี่ยนแปลง ทำให้นึกถึงนิทานจีนขึ้นมาเรื่องหนึ่งสั้นๆ แต่มีคติสอนใจดี

มีชาวนาคนหนึ่งไถนาเพลินอยู่ มีกระต่ายตัวหนึ่งวิ่งมาจากไหนไม่ทราบ ไปชนตอไม้ข้างๆ ดิ้นกระแด่วๆ ตายทันที

ชาวนาคนนี้ดีใจ ที่อยู่ๆ มีลาภลอยมาเข้าปาก เอากระต่ายกลับบ้านไปให้ภรรยาทำอาหารกินได้ตั้งหลายมื้อ

ชาวนาแกมานึกว่า การจะได้กระต่ายกินนี่ไม่ยากเลย ไม่ต้องไปดักยิงเหมือนคนอื่น เพียงแต่นั่งรอมันอยู่ตรงนี้แหละ เดี๋ยวก็จะมีกระต่ายตัวที่สอง ที่สาม วิ่งมาชนตอไม้ตายให้ได้กินอีก

คิดดังนี้แล้ว แกก็มานั่งเฝ้านอนเฝ้าอยู่ตรงนั้นทุกวัน กาลเวลาผ่านไปหลายวันไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น แกเลยเลิกมานั่งเฝ้าอีกต่อไป

ไม่มีกระต่ายตัวที่สองวิ่งมาชนตอไม้อีกเลย!

เพราะฉะนั้่น ถ้าหวังความก้าวหน้าและความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป ในหน้าที่การงานหรืออาชีพที่ทำอยู่ก็ต้องรู้จักเปลี่ยนแปลง แก้ไขวิธีทำงานให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ



พึ่งตัวเอง ด้วยการทำความดี

คําว่า "ทำความดี" หรือ "ทำดี" เราอาจตีความได้หลายชั้น ทำดีธรรมดาๆ ก็ได้ เช่น เด็กๆ ตั้งใจเรียนหนังสือ ทำการบ้านที่ครูให้มาทุกครั้งไม่บิดพลิ้ว ไปโรงเรียนทุกวัน ไม่ขาด อย่างนี้เรียกว่า นักเรียนทำดี หรือเป็นคนขี้ประจบ คอยเอาอกเอาใจผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะพูดอะไรก็ไม่ขัดคอ ผู้ใหญ่ก็อาจออกปากว่า ไอ้นี่มัน (ทำ) ดี

ในความหมายที่ลึกก็คือ ทำคุณงามความดีหรือทำกุศลกรรม เช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา หรือทำ "บุญกิริยา" อย่างอื่น เช่น ฟังธรรม หรือขวนขวายช่วยเหลือสาธารณ ประโยชน์อื่นๆ ก็เรียกว่าทำดีทั้งนั้น

ความดีอย่างหนึ่งที่มีคนทำกันมากก็คือการสวดมนต์ไหว้พระ บางคนก็สวดหลายๆ บท สวดเป็นชั่วโมงๆ สวดทุกวัน วันละสองเวลา คือเวลาเช้าและเวลาก่อนนอน บางคนก็สวดเพียงบทใดบทหนึ่ง แล้วแต่สะดวก

บทสวดมนต์ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือคาถาชินบัญชร คาถานี้เนื้อหาสาระกล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัยและพระปริตร (พุทธมนต์สำหรับป้องกันภัย) ต่างๆ อัญเชิญให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มาประดิษฐานอยู่ทั่วตัวเรา

ว่ากันว่าเป็น "คาถา" (บทกวี) ที่นักปราชญ์ไทยโบราณแต่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นำมาดัดแปลงให้กะทัดรัดเดิม ชื่อ "คาถารัตนบัญชร" ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "คาถาชินบัญชร"

เมื่อสามสี่วันที่ผ่านมา ผมได้ข่าวว่าเพื่อนผมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพาณิชย์แห่งหนึ่ง ถูกรถเมล์ปรับอากาศทับขานอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เห็นเพื่อนนอนคุยอยู่กับแขกที่มาเยี่ยมก่อนหน้าผม ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ขาทั้งสองคลุมด้วยผ้าห่มผืนหนา นึกชมในใจว่า ขาขาดยังยิ้มระรื่น ถ้าเป็นเราคงทำใจไม่ได้แน่

ผมแข็งอกแข็งใจเปิดผ้าห่มออก จะดูว่าขาเพื่อนขาดขาเดียวหรือสองขา ก็ต้องร้อง "อ้าว" ด้วยความประหลาดใจ ขาเพื่อนมิได้ขาด เพียงแต่บวมเป่งทั้งสองข้างเท่านั้น

"ไหนคนโทร.บอกผมเขาว่า รถปอ.ทับขาคุณไง" ผมถามด้วยความสงสัย

"ทับจริงๆ เพื่อน ล้อหลังทับเหนือหัวเข่าผมจริงๆ" เพื่อนบอก

"เฮ่ย ถ้ามันทับจริงๆ ก็แหลกทั้งสองขาแล้ว" ผมแย้ง

"นั่นสิใครๆ ก็ว่าอย่างนั้น ผมเองก็ยังงงอยู่เลย" เพื่อนกล่าวแล้วก็เล่ารายละเอียดให้ฟังว่า เช้าวันที่เกิดเหตุพาลูกสาวขึ้นรถเมล์ปรับอากาศจะไปส่งโรงเรียน รอให้เด็กๆ ขึ้นรถจนหมดก่อน แล้วตัวเองจึงขึ้นตาม ขณะที่เด็กคนหนึ่งก้าวขาที่สองยังไม่ทันพ้นพื้นดิน คนขับรถก็กระตุกเกียร์ พุ่งทะยานออกจากป้าย เด็กจะตกรถ เพื่อนผมจึงผลักเด็กน้อยให้เข้าไปในรถ ตัวเองเสียหลักจะหล่น พอดีมือคว้าราวเหนือประตูรถด้วยสัญชาตญาณ รถก็ไม่ยอมหยุด เพื่อนก็โหนต่องแต่งอยู่อย่างนั้น เป็นที่หวาดเสียวแก่ผู้พบเห็นอย่างยิ่ง

ไปได้สักระยะหนึ่งก็ร่วงลงสูู่พื้น เท้าทั้งสองเข้าไปใต้ท้องรถพอดี รถเมล์ก็ทับขาได้ยินเสียงดัง "อึ๊ด" คนขับรถรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็จอดรถลงมาดู ท่ามกลางไทยมุงมากมาย

เสียงคนร้องว่า "รถทับขาคน พาไปส่งโรงพยาบาลเร็ว"คนขับบอกว่า "เป็นไปไม่ได้รถผมหนัก ๗ ตันนะครับ ถ้ามันทับขาจริงๆ คุณเละแล้ว ไม่เป็นอย่างนี้หรอก" เพื่อนผมสติยังดีอยู่พูดว่า "คุณดูรอยล้อรถสิมันอยู่บนขาผม นี่ไง"

เออ...จริงเสียด้วย รอยล้อยังปรากฏเห็นเป็นทางบนกางเกงแต่มหัศจรรย์พันลึกอะไรเช่นนั้น ขาทั้งสองของเพื่อนผมยังเหลืออยู่ครบ ไม่ขาดหายไปแต่อย่างใด

เพื่อนผมบอกว่า ไม่แขวนพระอะไรเลย ตลอดชีวิตที่ผ่านมาก็ทำแต่คุณงามความดี ยึดมั่นในพระรัตนตรัย สวดมนต์ไหว้พระประจำ และคาถาที่ท่องเสมอก็คือ "คาถาชินบัญชร" มีเวลาว่างเมื่อใดก็ท่องทันทีวันละไม่รู้กี่เที่ยว วันที่เกิดอุบัติเหตุขณะห้อยโหนอยู่บนรถเมล์ก็ท่องคาถาชินบัญชรอย่างย่อ เสียงดังลั่นแข่งกับเสียงรถ

"มีเท่านี้จริงๆ ไม่ได้แขวนพระอะไรเลย แต่ใจผมอยู่กับพระตลอดเวลา" เพื่อนสรุป

ครับ คนที่มีพระอยูู่ในใจตลอดเวลา ทำแต่ความดีพระย่อมคุ้มครองให้รอดปลอดภัยแน่นอน



ธรรมะกำลังภายใน

นิทานจีนเรื่องหนึ่งเล่าว่า กระทาชายนายหนึ่งอยากเรียนวิชายิงธนู ไปหาอาจารย์สอนยิงธนูที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่ง มอบตนเป็นศิษย์ขอเรียนวิชาด้วย

อาจารย์บอกว่า "เอ็งยังไม่ต้องเรียนตอนนี้ ขอให้เอ็งกลับบ้านก่อน ไปหาเหามาตัวหนึ่งเอาเส้นไหมผูกมันแขวนไว้ แล้วเอ็งจงนั่งเพ่งดูให้มันใหญ่ขึ้นๆ จนกว่าเอ็งจะเห็นเหามันใหญ่เท่ากำปั้นเมื่อใด แล้วค่อยมาหาข้า"

ลูกศิษย์กลับบ้านไปทำตามอาจารย์บอก ฝึกเพ่งนานเกือบสามเดือน กว่าจะมองเห็นเหาโตเท่ากำปั้น ว่าจะได้บรรลุถึงขั้นนี้เหาก็ตายไปหลายตัว เขากลับไปรายงานอาจารย์

อาจารย์บอกเขาว่า "เอ็งกลับไปใหม่ คราวนี้ไปเพ่งเหาที่โตเท่ากำปั้นนั้นให้เล็กลงเท่าเดิม"

เขาพยายามอยู่เกือบสองเดือนเช่นกัน กว่าจะทำให้เหาเล็กลงเท่าตัวจริงของมัน แล้วเขาก็กลับไปหาอาจารย์รายงานผลให้ทราบ

อาจารย์กล่าวว่า เอ็งสามารถขยายสิ่งที่เล็กให้ใหญ่ และย่อสิ่งที่ใหญ่ให้เล็กได้ตามปรารถนา นับว่าเอ็งมี "พื้นฐาน" เพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องเรียนมาก เวลาเอ็งจะยิงธนูเอ็งก็เพียงแต่ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ ขยายสิ่งที่ต้องการยิงให้มันใหญ่ขึ้นๆ แล้วก็ปล่อยลููกศรไป แค่นี้เองก็ยิงไม่พลาดแล้ว

ดูหนังเรื่องกำลังภายในจะมีเรื่องคล้ายอย่างนี้ คือในบางครั้งศิษย์ไปฝากตัวเรียนวิทยายุทธ์จากอาจารย์ รับใช้อาจารย์อยู่เป็นเวลานาน อาจารย์ก็ไม่สอนวิทยายุทธ์ให้สักที ให้ตักน้ำบ้าง กวาดลานวัดบ้าง จนศิษย์นึกน้อยใจ

หารู้ไม่ว่าอาจารย์กำลัง "วางพื้นฐาน" ให้ศิษย์ วันดีคืนดีขณะลูกศิษย์กำลังผ่าฟืนอยู่ อาจารย์ก็ย่องๆ เข้ามาข้างหลัง เอาแส้หวดหลังดังเฟี้ยว ศิษย์ไม่ทันระวังตัวก็เจ็บตัวไป

วันหลังขณะศิษย์เผลอ ก็โดนอาจารย์หวดด้วยแส้อีก คราวนี้ทำให้ศิษย์ "ตื่นตัว" ทุกเวลา คอยระมัดระวัง ชำเลืองดูว่าอาจารย์จะย่องเข้ามาหวดหลังอีกเมื่อใด เมื่อเห็นอาจารย์ทำทีเป็นไม่เห็น พออาจารย์ฟาดแส้ลงอย่างแรง ศิษย์ก็กระโดดหลบได้ทัน

"เออ เอ็งเก่งมาก นับว่ามีพื้นฐานพอแล้ว" อาจารย์กล่าวชม แล้วก็สอนวิทยายุทธ์ให้

พื้นฐานนี้นับว่าจำเป็นมาก คนจะฝึกต่อยมวยต้องมีพื้นฐานสำหรับการเป็นนักมวย คนจะฝึกฟันดาบก็ต้องมีพื้นฐานสำหรับการเป็นนักฟันดาบ จนขั้นจะทำงานเล็กๆ ไม่ว่างานอะไรก็ต้องมีพื้นฐานมาก่อนทั้งนั้น จึงจะทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

พระพุทธศาสนาสอนหลักธรรมอย่างหนึ่ง เรียกว่า "พละ ๔" ผมแปลเพื่อเข้าใจง่ายว่า "กำลังภายใน" คนจะทำอะไรให้มันสำเร็จได้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมี "กำลังภายใน" ทั้ง ๔ ประการ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็น

กำลังภายใน ๔ ประการนั้นคือ
๑.กำลังคือปัญญา
๒.กำลังคือความเพียร
๓.กำลังคือความสุจริต
๔.กำลังคือน้ำใจ

สรุปแล้ว ผู้ต้องการความสำเร็จในหน้าที่การงาน ต้องการความสุขในชีวิต ควรปลูกสร้าง "กำลังภายในทั้ง ๔ ประการ" คือ มีความรู้ดี-ขยัน-มือสะอาด-ไม่ขาดมนุษยสัมพันธ์



รูรั่วแห่งชีวิต

ฝรั่งที่มองไทยมักจะเห็นขัดแย้งกันในหลายเรื่อง เช่นบางคนเห็นว่าคนไทยอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ถือตัว บางคนเห็นว่าคนไทยถือตัว อวดดี เย่อหยิ่ง จองหอง บางคนเห็นว่าคนไทยว่านอนสอนง่าย แต่นักสอนศาสนาบางคนค้านว่าคนไทยสอนยากที่สุด จะเห็นได้จากการไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาเดิมง่ายๆ เป็นต้น

สิ่งที่ฝรั่งเห็นตรงกันมีอยู่ประมาณสี่หรือห้าเรื่อง หนึ่งในหลายเรื่องนั้น คือ "คนไทยชอบการพนัน" อันนี้จะเรียกว่าเป็น "คุณวิบัติประจำชาติ" ก็คงได้ ลาลูแบร์ พูดถึงการเล่นการพนันของคนไทยไว้ดังนี้

"ชาวสยามชอบเล่นการพนันเสียเหลือเกิน จนกระทั่งฉิบหายขายตน หรือไม่ก็ขายบุตรธิดาของตน (เป็นทาส) ด้วยในประเทศนี้ถ้าลูกหนี้คนใดไม่มีเงินทอง หรือข้าวของตีราคาให้เจ้าหนี้แล้ว ก็ขายลูกเต้าของตนเพื่อชำระหนี้สินไป และยังไม่พอกับหนี้สินที่ตนทำเข้าไว้ตัวของตัวเองก็ตกเป็นทาสไปด้วยอีกคน"

การพนันมีทุกรูปแบบ ไพ่ ไฮโล โป ถั่ว ม้า มวย หวยเบอร์ ฯลฯ ผีพนันเข้าสิงในสายเลือดคนไทย เป็นมรดกตกทอดมาเป็นเวลานาน จนชั้นลูกหลานก็พยายามรักษามรดกนี้ไว้อย่างดี ไม่ขาดตกบกพร่อง แถมยังพัฒนารูปแบบและวิธีการเล่นให้วิจิตรพิสดารยิ่งกว่าบรรพบุรุษอีกด้วย มีคนพูดว่า ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เวลาใด คนไทยจะหาโอกาสเล่นการพนันเสมอ แม้กระทั่งเห็นคนกำลังจะตายอยู่แหม็บๆ ยังมีคนหันไปพูดกับเพื่อนว่า "พนันกันก็ได้หมอนี่ไม่รอดแน่ๆ"

อาจารย์แย้ม ประพัฒน์ทอง เคยพูดเสียดสีถึงลักษณะนิสัยชอบอบายมุขของคนไทย ในปาฐกถาครั้งหนึ่งหลายสิบปีมาแล้ว (ผมจำได้จนบัดนี้) ว่า

มโน มอบให้แม่ วารุณี (เหล้า)
แขน มอบให้นารี หนุ่มเหน้า
ดวงใจ มอบแด่ผี พนันเถื่อน
เกียรติศักดิ์ของข้า มอบไว้แก่เงิน

การพนัน นับเป็นอันดับหนึ่งในหกอันดับ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อบายมุข (ปากทางแห่งความฉิบหาย) ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ ทีฆนิกายปาฏิกวรรค สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรวบรวมมาไว้ในหนังสือที่ทรงแต่งขึ้นเพื่อใช้สอนพระนวกะบวชสามเดือนจัดไว้ตอน ท้ายๆ เรียกว่า "คิหิปฏิบัติ" (ข้อปฏิบัติของผู้ครองเรือน) เพื่อว่าพระใหม่พวกนี้สึกออกไปแล้ว จะได้ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี ไม่ตกเป็นทาสอบายมุข ให้สมกับที่ได้ผ่านการบวชเรียนมา

อบายมุข ๖ อย่าง คือ ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน เที่ยวดูการละเล่นต่างๆ เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้านทำการงาน ทั้ง ๖ อย่างนี้ หมายถึงปฏิบัติเป็นนิจศีลจนติดเป็นนิสัย เพียงทำเป็นครั้งเป็นคราวคงไม่ถึงกับฉิบหาย

ในอนาคต ประเทศไทยจะมีแต่ประชาชนพลเมืองที่ไร้คุณภาพ มีแต่ผีพนันที่หวังพึ่งโชควาสนาลมๆ แล้งๆ โดยไม่คิดสร้างฐานะด้วยความขยันหมั่นเพียร ยากจะหวังความเจริญก้าวหน้าได้ ทั้งในส่วนตัวและส่วนรวม



การทำใจ

รู้จักกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง อายุจะเข้า ๗๐ แล้ว แต่ดูท่านสาวกว่าอายุ ถ้าไม่บอกว่าเกิดเมื่อใดแล้ว รับรองไม่มีใครทายถูก

การแต่งเนื้อแต่งตัวก็สมวัย ยิ่งความคิดความอ่านแล้วเป็น "วัยรุ่น" เอามากๆ ทันสมัย ทันโลก ทันเหตุการณ์

ถามท่านว่า ทำไมท่านไม่แก่ไปตามวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดความอ่าน ซึ่งตามปกติคนวัยนี้แล้วมักจะอยู่กับ "อดีต" คุยกับคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว ท่านบอกว่า "ก็ฉันชอบคบคนหนุ่มคนสาวนี่จ๊ะ"

ท่านอธิบายว่า คนหนุ่มคนสาวมักจะ "แอ๊กทีฟ" กระฉับกระเฉง มีพลัง มองไปข้างหน้า ต่างจากคนแก่มองอะไรก็ดูหดหู่ เหี่ยวแห้ง "ปลง" ไปหมดแทบทุกเรื่อง คบกับคนหนุ่มสาวแล้วทำให้มีชีวิตชีวา ไม่แก่ไปตามวัย ท่านว่าอย่างนั้น

ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ใจ ถ้าใจผ่องใส ความผ่องใสก็จะฉายออกมาทางใบหน้า ท่าทาง อันนี้เป็นความจริงที่ผู้รู้ยอมรับ เพราะฉะนั้นในบรรดา "สูตรชะลอความแก่" ซึ่งอาจมีหลายๆ สูตร ไม่ว่าจะใช้สูตรของอาจารย์คนไหนจะมี "การทำใจ" รวมอยู่ด้วย ถ้าคิดว่าตัวแก่ ร่างกายก็จะแก่ตาม และแก่เร็วด้วย ถ้าคิดว่าตัวเอง ไม่แก่ ร่างกายก็ไม่แก่หรือแก่ช้า

สมัยพุทธกาล สาวกของพระองค์ที่สละบ้านเรือนเข้ามาบวชเป็นพระสงฆ์ หลายท่านเกิดในตระกูลดี มีความเป็นอยู่สะดวกสบายมาก่อน พอมาถือเพศบรรพชิตนุ่งห่มผ้าเพียงสามผืน บิณฑบาตเลี้ยงชีพ อยู่ตามป่าตามเขา นานๆ จะเข้าไปอยู่ตามหมู่บ้าน หรือชุมชน อาหารก็ฉันมื้อเดียว

ท่านเหล่านี้น่าจะคร่ำเคร่ง คร่ำเครียด แก่เฒ่าไปก่อนวัย แต่ตรงกันข้าม กลับมีน้ำมีนวลเปล่งปลั่ง ใบหน้าผ่องใส มีความสุข แม้อายุจะมากก็ดูเหมือนคนหนุ่ม จนพราหมณ์คนหนึ่งเอ่ยปากทูลถามพระพุทธเจ้าว่า สาวกของพระองค์อยู่ง่ายๆ กินง่ายๆ ฉันอาหารเพียงวันละมื้อ แต่ทำไมผิวพรรณ ใบหน้าผ่องใส มีความสุข ดูหนุ่มกว่าวัยมาก

พระพุทธองค์ตรัสว่า "สาวกของตถาคต ไม่หวนคะนึงถึงแต่ความหลัง สิ่งที่ยังมาไม่ถึง ก็ไม่วิตกกระวนกระวาย มีสติสัมปชัญญะอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น เพราะเหตุนี้แหละ พวกเธอจึงมีความสุข ไม่แก่ไป ตามวัย" ก็เขียนวกไปมาเสียยาวนี้ ต้องการจะบอกเพียงว่า "การทำใจ" เป็นสิ่งสำคัญ ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร บางทีขึ้นอยู่กับการ "ทำใจ" ของเรานี่แหละ คนทำใจไม่ถูก หรือทำใจไม่เป็น ประสบปัญหา หรือความทุกข์ในชีวิตมานักต่อนักแล้ว

การทำใจถูกหรือทำใจเป็น อาจแยกประเด็นพูดดังต่อไปนี้คือ
๑.หัดคิดอะไรในแง่บวกให้บ่อยและให้มาก
๒.หัดมองโลกในแง่ความเป็นจริง
๓.ลองหัดคิด หัดมองอย่างนี้ดูสิครับ โลกใบนี้จะน่ารักน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะทีเดียว



กตัญญูกตเวที คุณธรรมที่เป็นพื้นฐาน

สังคมไทย เป็นสังคมที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา เรียกได้ว่า วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนวิธีคิด อุปนิสัยใจคอของคนไทยได้รับการหล่อหลอมมาจากคุณธรรมทางพระพุทธศาสนาเกือบทั้งนั้น

ความกตัญญูกตเวที (รู้คุณและตอบแทนคุณ) ก็เป็นคุณธรรมทางศาสนาข้อหนึ่งในหลายข้อ ที่บรรพบุรุษเราได้ปลูกฝังอบรมลูกหลาน

คำพังเพยว่า "อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น" ชี้ถึงความสำคัญของกตัญญูกตเวทีในแง่มุมหนึ่ง คือเมื่อเราได้ไปอาศัยคนอื่นอยู่ จะด้วยเหตุใดก็ตาม ให้รู้บุญคุณของเขา มีอะไรจะตอบแทนเขาได้ก็ให้ทำ แม้กระทั่งงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น เอาดินเหนียวมา "ปั้นวัวปั้นควาย" ให้ลูกๆ หลานๆ เขาเล่นให้เพลิด เพลินก็ยังดี

คนที่ไม่รู้จักบุญคุณคนอื่น ท่านถือว่าเป็นคนเลว ยิ่งทำร้ายผู้มีบุญคุณยิ่งเลวกว่าอีกสองเท่า เราจะได้ยินคำพูดในทำนองด่าหรือตำหนิแรงๆ ว่า "คนเนรคุณ" "ไม่รู้คุณข้าวแดงแกงร้อน" สังคมไทยโบราณเราเข้มงวดเรื่องนี้มาก ใครที่ประพฤติตัวเป็นคน "ไม่รู้คุณคน" จะถูกสังคม "บอยคอต" ไม่ยอมรับเป็นสมาชิกของสังคมเลยทีเดียว

ไปถิ่นไหนถ้าเขารู้ก็มักไม่มีคนคบหาสมาคมด้วย

คนไม่รู้คุณคนท่านจะเน้นหนักหนาว่าเป็นคน "ทำกินไม่ขึ้น" คือไม่ว่าทำมาหากินอะไร ก็ไม่เจริญรุ่งเรือง แม้เบื้องแรกทำท่าเจริญรุ่งเรืองก็ตาม แต่ในระยะยาวมักจะเสื่อม หรือประสบหายนะให้เห็นทันตาเสมอ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าแปลก ผมเองก็เคยเห็นมาหลายราย

เด็กบ้านนอกคนหนึ่ง บวชเณรเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ อาศัยอยู่กับพระผู้ใหญ่ระดับเจ้าคุณซึ่งเป็นคนจังหวัดเดียวกัน เณรน้อยรูปนี้เรียนหนังสือเก่ง สอบได้เปรียญ ๖ ประโยคตั้งแต่เป็นเณร บวชพระแล้วก็สอบได้อีกถึง ๗ ประโยค มีความทะนงตัวว่าตัวเองรู้มากกว่าคนอื่น ไม่ค่อยจะเชื่อฟังใคร เมื่อทำอะไรไม่เหมาะไม่ควร ท่านเจ้าคุณตักเตือน ก็มักพูดใส่หน้าว่า "มีความรู้แค่ ๕ ประโยค ยังจะมีหน้ามาสอนคนได้ถึง ๗ ประโยค"

ท่านเจ้าคุณท่านได้เปรียญ ๕ ประโยค ลูกศิษย์คนนี้ จึงเอาความรู้ตามประกาศนียบัตรมาข่มท่าน เข้าทำนองเด็กสมัยใหม่ที่เรียนจบปริญญา แล้วดูถูกพ่อแม่ที่ส่งเสียให้เรียน ว่า "พ่อแม่อย่ามาสอนฉันเลย ฉันเป็นถึงบัณฑิตปริญญาตรี พ่อแม่แค่ประถม ๔ เท่านั้น!"

เจ้าศิษย์ไม่รู้คุณคนนี้ ต่อมาสึกออกไปทำงานในกรมไปรษณีย์โทรเลข (สมัยนั้น) หน้าที่การงานก็ทำท่าว่าจะไปดี แต่เนื่องจากความประพฤติไม่ดี ถูกไล่ออกจากงาน แล้วก็หางานใหม่ไม่ได้ อยู่อย่างอดอยากยากแค้น บั้นปลายชีวิตเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ได้ เพราะได้ข่าวว่าเพื่อนหลายคนที่เป็นห่วงเป็นใยตามหาตัว เพื่อจะช่วยเหลือ ก็ตามไม่พบ

ยกตัวอย่างให้ดูรายเดียวก็คงพอ นี่แหละครับที่โบราณว่า คนไม่รู้คุณคน ทำกินไม่ขึ้น

ท่านจึงสอนให้กตัญญู คือมีความสำนึกในบุญคุณที่คนอื่นมีต่อเรา แม้เพียงให้ข้าวน้ำกินมื้อเดียว ให้ร่มเงาชายคาอาศัยเพียงครู่เดียว จนกระทั่งคนที่หนีแดดร้อนมานั่งพักให้หายร้อนหายเหนื่อยใต้ต้นไม้ ท่านก็สอนให้รู้คุณของต้นไม้

มีสุภาพบุรุษวัยชราท่านหนึ่ง เวลาเดินผ่านตึกหลังหนึ่งท่านจะคำนับตึกแล้วเดินผ่านไป บุรุษหนุ่มคนหนึ่งจึงเข้าไปถามว่า คุณลุงคำนับตึกทำไมครับ คุณลุงบอกว่า

"ฉันไม่ได้คำนับตึกนะพ่อหนุ่ม ฉันคำนับสถาปนิกคนที่ออกแบบตึกนี้ เขาช่างเก่งเหลือเกิน" ว่าแล้วท่านผู้เฒ่าก็เดินจากไป

นี่คือตัวอย่างของคนรู้คุณคนอย่างหนึ่งครับ เขารู้ว่าคนที่ออกแบบตึกนี้เป็นคนเก่ง เป็นเหตุให้ได้สร้างตึกที่มีรูปทรงสวยงามอย่างนี้ขึ้นมาได้ จึงแสดงออกด้วยการคำนับให้คนอื่นเห็นและเอาอย่าง



จงรีบอย่างช้าๆ

คงเคยเห็นคำท้ายรถบรรทุกว่า "คนขับรถเร็วกว่าท่านมีแต่เขาตายไปแล้ว" จะเขียนเพื่อความขำขันเล่น หรือเพื่ออะไรก็ตาม ข้อความนี้น่าคิด เพราะมันส่อนิสัยใจคอของคนไทยส่วนใหญ่ได้ดีทีเดียว

นิสัยที่ว่านี้คือ ความใจร้อน

ว่ากันว่า เวลาแขกอินเดียทะเลาะกัน แกจะเถียงกันอยู่นั่นแล้ว ไม่มีใครลงไม้ลงมือ อย่างเก่งก็เอาไหล่ชนกันไปชนกันมา บางคู่ทะเลาะกันตั้งแต่เช้ายันเที่ยงไม่มีใครทำอะไร สำหรับพี่ไทยแล้วไม่ต้องพูดมากให้เปลืองน้ำลาย ชัดตูมก่อนแล้วพูดกันทีหลัง

เพื่อนผมที่เคยไปอยู่อินเดียเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งจิ๊กโก๋แขก (อย่างเก่งก็ได้แต่พูด) แซวแก แกรี่เข้าใส่ ไอ้แขกก็นึกว่าคงไม่กล้าลงมือเหมือนพวกแขกด้วยกัน ที่ไหนได้ แกเตะเปรี้ยงเดียว เจ้าหมอนั่นลงไปงอก่องอขิงทันที

ตั้งแต่นั้นมา ไม่มีใครกล้าตอแยด้วย

นิสัยไทยมักใจร้อนครับ ไม่มัวเถียงให้เมื่อยกรามเหมือนแขกอินเดียดอก ไม่ว่าจะทำอะไรก็มักจะทำด้วยใจร้อน และอยากได้ผลเร็วๆ

บางคนพอจับพวงมาลัยได้ ก็เร่งเครื่องทะยานออกไป ยังกับอยู่สนามแข่งรถ แซงซ้าย แซงขวา ปาดหน้า ปาดหลัง น่าหวาดเสียว เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็มี

บางคนเป็นนักเรียนนักศึกษา ใจร้อนอยากรู้มากๆ ท่องหนังสือหามรุ่งหามค่ำ ในไม่ช้าก็เจ็บป่วยหรือกลายเป็นโรคประสาท

บางคนอยากรวยเร็ว เล่นม้า หวย มวย ไฮโล ทุ่มเงินลงไปมากๆ เพื่อให้ได้เงินมากๆ ได้ผลชั่วพริบตาเหมือนกัน คือเงินอันตรธานหายไปในวงพนันนั้นเอง

บางคนต้องการความรักจากหญิงสาว ใจเร็วด่วนได้แสดงความเป็น เจ้าชู้ยักษ์ ทำเอาหญิงสาวตกใจปฏิเสธความรักอกหักไปเลยก็มี

แม้ในเรื่องพื้นๆ เช่น รับประทานอาหาร บางคนแทนที่จะค่อยๆ เคี้ยว ค่อยๆ กลืน ก็ตะกละตะกลามมูมมาม ถูกน้ำแกงลวกปากหรือก้างติดคอ หรือไม่ก็อาจ "ท้องแตกตาย" ดุจดังชูชกในวรรณคดี

หลายเรื่องหลายราวในชีวิต พินิจให้ถ้วนถี่ แม้จะเป็นเรื่องดีก็ไม่ควรด่วนได้ ควรใช้ปัญญาตรวจสอบให้รอบคอบก่อนแล้วลงมือทำสม่ำเสมอด้วยความขยันต่อเนื่องไม่ขาดสาย แล้วจะบรรลุเป้าหมายได้โดยไม่ยากเย็น

เคยยกตัวอย่างคนจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบ ข้ามน้ำข้ามทะเลมาสร้างเนื้อสร้างตัวที่เมืองไทย ขอยกอีกครั้ง ว่ากันว่าขณะที่ยังยากจนอยู่ เขาจะกระเหม็ดกระแหม่มาก อยากกินหมู เป็ด ไก่ ก็ไม่กิน เอาภาพหมู ภาพเป็ด ภาพไก่ มาแขวนไว้แล้วก็พุ้ยข้าวต้มไปมองภาพนั้นๆ ไป พลางคิดไปด้วยว่ากำลังกินข้าวกับ หมู เป็ด ไก่ ทำอย่างนี้จนกระทั่งสร้างฐานะร่ำรวย แล้วจึงกินหมู เป็ด ไก่ จริงๆ

คนที่ต้องการสร้างความสำเร็จแก่ชีวิต ต้องทำให้ได้ขนาดนี้ครับ ต้องรอได้ ทนได้ สักวันหนึ่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่จะเป็นของท่าน



รู้จักเอาประโยชน์

มีหลักนักการทูตอยู่ข้อหนึ่งใน ๑๑ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้คือ การรู้จักเก็บเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ หมายถึงว่าในการติดต่อเจรจากัน หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอะไรกันนั้น คำพูดของฝ่ายตรงข้าม อาจมีทั้งที่เป็นที่สบใจและไม่สบใจเรา ผู้เป็นนักการทูตที่ดีจะต้องพยายามหาเอาประโยชน์ให้ได้ แม้จากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เลย

บางทีเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ จำต้องอดทนต่อท่าทีอันเหยียดหยาม หรือวาจาที่ทิ่มแทง อันเป็นความไม่พอใจส่วนตัว แต่ถ้าการอดทนนั้นจะให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แก่ประเทศชาติส่วนรวมก็ต้องยอม

ไม่เช่นนั้นจะเป็นนักการทูตที่ดีไม่ได้ พ่อค้าที่ดีก็ไม่แตกต่างจากนักการทูตนัก

ผมเคยเห็นอาแปะเจ้าของร้านขายไตรจีวรที่ร้านแถวๆ เสาชิงช้า วัดสุทัศน์ ลูกค้าหรือผู้ไปซื้อผ้าไตรจีวรและบริขารสำหรับพระภิกษุ มีทั้งญาติโยมที่จะบวชพระและพระสงฆ์องค์เจ้า วันๆ อาแปะต้องต่อสู้กับความไม่พอใจส่วนตัวไม่น้อย

ลูกค้าที่จู้จี้ขี้บ่น ชอบติโน่นตินี่ รื้อกองผ้าไตรแล้วก็ไม่ซื้อ ถามราคาแล้วก็ร้องว่าแพง อะไรเหล่านี้ ไม่มีเฉพาะชาวบ้าน พระภิกษุบางรูปก็เอากะเขาเช่นกัน

วันหนึ่งผมมีธุระไปซื้อผ้าไตร จะมาบวชลูกชายตอนปิดเทอม หลังจากเกลี้ยกล่อมให้ลูกชายยินยอมบวชสักสองอาทิตย์ ก็รีบไปที่ร้านแถวเสาชิงช้าดังกล่าว เจรจาซื้อผ้าไตรและบริขารเครื่องใช้สำหรับสามเณร ในร้านมีพระสองสามรูปอยู่ก่อนแล้ว

พระที่อายุมากกว่าองค์อื่นรูปร่างใหญ่ เสียงดังพูดไปบ่นไป ใช้คำแรงๆ กับอาแปะเจ้าของร้าน ขนาดผมไม่ใช่คนขายฟังแล้วยังรู้สึกถ้าเป็นเจ้าของร้านผมนิมนต์ท่านออกจากร้านไปแล้ว อาแปะหายเข้าไปในร้านสักพักหนึ่ง เดินออกมาพร้อมกาน้ำชาและถ้วยชา

"ใจเย็งๆ หลวงพ่อ เจี๊ยะเต๊ก่อง" ว่าแล้วก็รินน้ำชาใส่ถ้วยยื่นให้ หลังจากฉันชาไปสองถ้วย เห็นอาแปะนั่งฟังคำดุด่าของตนอย่างใจเย็น พระคุณเจ้าผู้มีปากคมดุจมีดโกนรูปนี้ก็เสียงอ่อนลง พูดคุยกับอาแปะด้วยอารมณ์ดีขึ้น

ตกลงวันนั้นอาแปะแกขายผ้าไตรให้แก่พระคุณเจ้านั้น หลายชุด

ผมเห็นแล้วก็มาได้คิดว่าอาแปะแกหวังผลประโยชน์ คือ การขายผ้าไตร ขอให้ขายได้ ไม่ว่าจะผ่านอุปสรรคนานาประการเพียงใดก็ตาม ผู้ซื้อจะต่อแหลกต่อไปด่าไป หรือจะรื้อจะค้น จนสินค้ายับเยินก็ปล่อยให้ทำไปด้วยใจเย็น

ขณะเดียวกันก็หาวิธีดับความร้อนของลูกค้าไปด้วย เช่นใช้คำพูดที่รื่นหู หาน้ำหาท่ามาให้ดื่ม ในที่สุดก็ผูกมัดจิตใจลูกค้าไว้ได้ ก้าวเข้าร้านมาแล้วไม่มีกลับออกไปมือเปล่า ว่างั้นเถอะ

ริจะทำมาค้าขายก็ต้องฝึก "ยุทธวิธี" นี้ให้ได้ คือยอมอดยอมทนต่อกิริยาอาการ หรือวาจาของลูกค้าให้ได้ และรู้จักวิธีประโลมให้จิตใจลูกค้าเย็นลง หรือใจอ่อนลงให้ได้

อย่าเอาอย่างแม่ค้าแถว...(ไม่เอ่ยละขอรับ) พอเราจับสินค้าดูเท่านั้นก็แว้ดเอา "จับแล้วต้องซื้อนะ ไม่อย่างนั้นละก็น่าดู"
 




หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 มกราคม 2560 20:15:23
(http://f.ptcdn.info/155/029/000/1425873811-Y74033016-o.jpg)

คาถากันขโมย

เพื่อนเก่าเพื่อนแก่ (อายุแกมากแล้วจริงๆ) คนหนึ่งแวะมาหาขณะผมกำลังต่อเติมบ้านเพื่อขยายพื้นที่ไว้รอรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว ซึ่งอาจจะมีมาในอนาคตอันใกล้ เห็นช่างติดเหล็กแหลมบนกำแพงรอบบ้าน เพื่อนถามว่าทำไว้ทำไมไม่เห็นสวยงามตรงไหน

ผมบอกว่า มิได้ทำไว้ให้ดูสวยงามทำไว้กันขโมยต่างหาก เพื่อนฟังแล้วหัวร่อจนฟันปลอมเกือบร่วง "เดี๋ยวนี้ขโมยมันไม่ ปืนกำแพงให้เมื่อยขาหรอก โจรกรรมมันพัฒนาถึงขั้นเกือบเป็นนิกส์แล้วโว้ย"

เมื่อเห็นผมทำหน้างง เพื่อนก็อธิบายว่า แต่ก่อนโจรมันรอขโมยของเวลาเจ้าของบ้านหลับสนิทในยามค่ำคืนดึกดื่น แต่เดี๋ยวนี้มันเอากลางวันแสกๆ บางครั้งเอารถบรรทุกมาขนของต่อหน้าต่อตาคนจำนวนมากเลยทีเดียว

วิธีก็ง่ายๆ ตอนเช้าเวลาเจ้าของบ้านออกไปทำงานกันหมด เจ้าขโมยจะเอาป้าย "บ้านนี้ขาย" มาปักไว้หน้าบ้าน ตอนเย็นก่อนเจ้าของบ้านกลับก็เอาป้ายออก ทำอย่างนี้ติดต่อกันสักสัปดาห์ คนเดินผ่านไปมานึกว่าเจ้าของบ้านประกาศขายบ้าน โดยที่เจ้าของบ้านไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย

วันดีคืนดีเจ้าขโมยหัวใสก็เอารถบรรทุกมาขนของซะเกลี้ยงบ้าน กว่าจะรู้อะไรเป็นอะไรเจ้าของบ้านก็ลมจับแล้วจับอีก

"วิธีกันขโมยที่ได้ผลที่สุด คือสวดคาถา" เพื่อนผมสรุปทำหน้าขึงขังยังกับหลวงพ่อซ่วนตอนแจกปลัดขิก

"พูดเป็นเล่น" ผมไม่เชื่อ

"ผมรู้ว่าคุณไม่ค่อยเชื่อเรื่องคาถาอาคม แต่เรื่องนี้มีจริงนะ ผมประจักษ์มากับตาแล้ว" เพื่อนยืนยัน แล้วสาธยายความเป็นมาของคาถาขลังที่ว่านี้ให้ผมฟัง

นานมาแล้ว มีมาณพหัวขี้เลื่อยคนหนึ่งไปเรียนศิลปวิทยาจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์เป็นเวลาเจ็ดแปดปี จดจำอะไรไม่ได้สักอย่าง ในขณะที่เพื่อนๆ เรียนจบกลับบ้านกันไปทำงานรับใช้ชาติจนเจริญรุ่งเรืองไม่รู้กี่รุ่นต่อ กี่รุ่นแล้ว (ทั้งรุ่นห้าและรุ่นเจ็ดว่างั้นเถอะ) แต่เจ้าหัวขี้เลื่อยไม่มีทีท่าจะเรียนจบ อาจารย์สงสารกลัวแกจะเอาตัวไม่รอด จึงจดคาถาให้หนึ่งบท กำชับให้ท่องดังๆ ทุกเวลาที่นึกได้

เมื่อแกอำลาอาจารย์กลับมาตุภูมิแล้ว แกก็ท่องคาถาบทนั้นดังๆ ทุกครั้งที่นึกขึ้นมาได้ วันหนึ่งแกลุกขึ้นมาท่องคาถากลางดึก เสียงสวดมนต์ทำให้ขโมยที่กำลังปีนบ้านจะเข้าไปขโมยของต้องเผ่นหนี

เหตุการณ์ครั้งนี้อยู่ในสายตาของพระราชาซึ่งปลอมตัวไปดูแลทุกข์สุขของประชาชนเข้าพอดี วันต่อมาพระราชารับสั่งให้ตามตัวแกเข้าเฝ้า ขอเรียนคาถาวิเศษจากแก แกก็จดคาถาให้พร้อมกราบทูลให้พระองค์ทรงสาธยายดังๆ ทุกเวลาที่ทรงระลึกได้

ในช่วงเวลาดังกล่าวเสนาบดีกำลังวางแผน ปฏิวัติ ได้ติดสินบนช่างกัลบกตัดพระศอพระราชาขณะที่พระองค์ทรงเครื่องใหญ่ (ตัดผม) ขณะรอช่างกัลบกลับมีดโกนอยู่พระองค์ทรงรำลึกถึงคาถาขึ้นมาได้ จึงทรงท่องออกมาดังๆ

ช่างกัลบกสั่นพั่บๆ ยังกะเจ้าเข้า ก้มลงกราบแทบพระยุคลบาท สารภาพถึงแผนชั่วร้ายของเสนาบดีและพวกจนหมดสิ้น

พระราชารับสั่งให้จับพวกกบฏมาลงโทษ สำหรับเสนาบดีนั้น อาศัยที่เคยมีความดีความชอบมาแต่เก่าก่อน จึงถูกลงโทษสถานเบาคือ เนรเทศออกจากเมือง อาจารย์หัวขี้เลื่อยได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีสืบแทน

เรียกว่าไม่เก่งแต่เฮง หรือได้ดีเพราะโง่แท้ๆ คนอย่างนี้ย่อมหาได้ทุกสมัยแหละครับ

เพื่อนผมเล่าว่า ตั้งแต่ได้คาถาบทนี้มาจากอาจารย์ท่านหนึ่งแล้วรู้สึกว่าชีวิตและทรัพย์สินปลอดภัยขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก่อนนี้ขโมยขึ้นบ้านเดือนละไม่รู้กี่หน แต่หลังจากสวดคาถาบทนี้ประจำไม่ปรากฏขโมยขึ้นบ้านเลย!

ก่อนจากกัน เพื่อนไม่ลืมจดคาถาทิ้งไว้ให้ผมด้วย ผมได้รับแล้วก็ "ทิ้ง" จริงๆ คือหยิบไปทิ้งไว้บนหิ้งพระ มิได้นำมาท่องมาบ่นแต่อย่างใด วันนี้ทำความสะอาดห้องพระเจอเข้าพอดีจึงนำมาขยายให้ท่าน ผู้อ่านทราบ

คาถามีว่า "ฆเฏสิ ฆเฏสิ กิงกรณา ฆเฏสิ อหัม ปิตัง ชานามิ ชานามิ"

ลองเอาไปใช้ดู ถ้าหากขลังศักดิ์สิทธิ์กันขโมยขะโจรได้จริงก็บอกกันด้วยนะครับ ผมจะได้เอาลูกกรง เหล็กดัด และรั้วบ้านออกให้หมด

ให้หมดความรู้สึกเหมือนอยู่ในคุกเสียที



พ่อแม่คืออรหันต์ของบุตร

อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้แล้ว ทั้งปลื้มใจและสะท้อนใจ บางครั้งได้ทราบข่าวว่าหนุ่มต่างชาติบางคน พลัดจากพ่อตั้งแต่เกิดโตมาแล้วก็ตามหาพ่อที่เมืองไทย ถึงกับลงทุนประกาศหาทางหน้าหนังสือพิมพ์ แล้วในที่สุดพ่อลูกก็ได้พบกันลงภาพกำลังกอดกันด้วยน้ำตา เห็นแล้วก็ปลื้มใจ ข่าวอย่างนี้นานๆ มีให้อ่านให้ฟัง

แต่บางครั้ง (รู้สึกจะถี่ขึ้นทุกที) อ่านข่าวลูกชายเตะแม่ชักดิ้นชักงอ เพื่อนบ้านใกล้เคียงต้องหามส่งโรงพยาบาล เพราะลูกสารเลวมันเปิดหนีไปแล้ว ข่าวบอกว่าลูกมันติดยาขอเงินแม่ไปซื้อยามาเสพ (ไม่ได้บอกว่าชนิดไหน ก็คงไม่พ้นเฮโรอีนอะไรพวกนั้น) แม่ไม่ให้เพราะมาไถบ่อยๆ จนกระทั่งไม่มีเงินซื้อข้าวกินแล้ว ลูกเลยโมโหจึงเตะแม่ล้มกลิ้ง แถมยังหยิบเงินจากชายพกผ้านุ่งไปหมดเกลี้ยง

อ่านแล้วก็สะท้อน

พ่อแม่นั้นเป็นผู้ให้กำเนิดเรามา มีบุญคุณแก่เรามหาศาล พระพุทธศาสนาสอนนักสอนหนาว่า บรรดาผู้ที่มีบุญคุณต่อมนุษย์ทุกผู้ทุกนามนั้น บิดามารดาเป็นอันดับหนึ่ง บุญคุณท่านมีมากมายไพศาล ไม่มีวันจะทดแทนได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สมมติว่าลูกคนใดคิดจะทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ เอาพ่อแม่นั่งบนบ่าขวาและบ่าซ้าย ให้พ่อแม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะรดตนเองตลอดเวลาถึงร้อยปีก็ไม่ชื่อว่าทดแทนบุญคุณ

ทางเดียวที่พอจะทดแทนได้ คือชักจูงพ่อแม่ผู้เป็น "มิจฉาทิฏฐิ" (เห็นผิด) ให้หันเข้าหาพระธรรม เช่น เทศน์โปรดให้พ่อแม่บรรลุธรรมนั่นแหละ จึงจะเรียกว่าทดแทนได้ แต่การทำอย่างนี้ได้ลูกจะต้องเป็นพระอริยบุคคล ลูกทั่วๆ ไปที่ยังเวียนว่ายอยู่ไม่อาจทำได้อย่างนั้น

พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า บุตรธิดาพึงเลี้ยงดูท่านยามท่านชรา เชื่อฟังท่าน ช่วยทำกิจการงานของท่าน ประพฤติตนให้ดี รักษาเกียรติคุณของวงศ์ตระกูล เวลาท่านตายไปก็ทำบุญอุทิศกุศลไปให้ทำเท่านี้ก็พอ จะทดแทนคุณท่านได้บ้าง ถึงไม่หมดก็ยังดี

เคยอ่านเรื่องจีนที่มีผู้แปลไว้นานมาแล้ว จำรายละเอียดไม่ได้แต่จำสาระได้ใจความว่า เด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินทางไกลเพื่อไปพบผู้ที่เขาเล่าลือว่าเป็นเซียนหรืออรหันต์ อยากเห็นอยากสนทนาด้วยว่าเซียนเป็นคนอย่างไร ระหว่างทางเขาพบคนแก่ท่าทางแข็งแรงคนหนึ่ง ท่านอาวุโสถามว่าจะไปไหน เขาเรียนท่านว่า "จะไปพบเซียน (อรหันต์) ท่านรู้จักไหมว่าเขาอยู่ที่ไหน"

ผู้อาวุโสบอกว่า "รู้จัก เธอมาผิดทางเสียแล้ว จงกลับไปที่หมู่บ้านของเธอเองนั่นแหละ มีสตรีแก่คนหนึ่งนุ่งห่มผ้าหนาๆ เดินเหินไม่ค่อยคล่อง เวลาเห็นเธอแล้วจะยิ้มแย้ม พูดด้วยถ้อยคำอันไพเราะเป็นห่วงเป็นใย ไปเถอะพระอรหันต์อยู่ที่นั่นแหละ"

เขางง ไม่เคยได้ยินใครเขาพูดมาก่อนเลยว่าพระอรหันต์มีที่หมู่บ้านตน จึงรีบกลับบ้านตั้งใจจะไปถามแม่ว่าแม่เคยได้ยินไหม พอเปิดประตูเข้าไป แม่ยิ้มให้ลูกพูดด้วยความเป็นห่วงว่า "ลูกไปไหนมาจ๊ะ อากาศหนาวออกอย่างนี้เดี๋ยวก็ไม่สบาย กินข้าวมาหรือยังลูก" เท่านั้นแหละเขาก็ได้คิด

"ใช่แล้ว สตรีแก่ในชุดหนาเตอะคนนี้เองคือพระอรหันต์ พระอรหันต์ของลูก" แล้วก็ก้มลงกราบทั้งน้ำตา

ขอฝากไว้ว่า ท่านจะก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นใหญ่เป็นโตขนาดไหนก็ตาม ท่านก็ยังคงเป็นลูกของพ่อแม่อยู่นั่นเอง


ลักษณะมหาบุรุษเป็นฉันใด

คราวที่แล้วเล่าถึงหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอมทำอุบายสอดไม้เท้าใต้ชายสบงแพลมปลายออกมาให้เข้าใจว่าเป็น "ปลัดขิก" ของท่าน ให้เด็กสาว (ผู้บนสัปดี้สัปดนคนนั้น) เอาทองปิดแก้บน

ผู้อ่านท่านหนึ่งถามมาว่า เรื่องมีมูลความจริงหรือเปล่าหรือว่าผมสัปดนเขียนเอง เห็นจะต้องเรียนชี้แจงให้ทราบทั่วกันว่า เรื่องที่เขียนนั้นมี "มูล" ครับ แต่จะจริงหรือไม่อย่างไรไม่ทราบ ผมจำท่านมาอีกที

"ท่าน" ที่ว่านี้คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย พระองค์ทรงเล่าไว้ในหนังสือชื่อ "นิทานโบราณคดี"

หลวงพ่อแช่มที่กล่าวถึงมีตัวจริง เป็นชาวบ้านฉลอมอยู่ห่างเมืองภูเก็ตสักสามสี่ร้อยเส้น บวชตั้งแต่เด็กจนได้เป็นสมภารวัดฉลอม มีสมณศักดิ์เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจารย์

เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ เกิดกบฏเหมืองแร่เมืองภูเก็ต พวกจีนกรรมกรเหมืองแร่เที่ยวปล้นฆ่าชาวบ้านตายเป็นเบือ เกิดจลาจลทั่วเมืองภูเก็ต ชาวบ้านพากันหนีกันจ้าละหวั่น วันหนึ่งข่าวว่าพวกจีนกบฏจะมาปล้นบ้านฉลอม ชาวบ้านฉลอมไปชวนหลวงพ่อแช่มหนี หลวงพ่อไม่ยอมหนี บอกว่าข้าอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็กจนแก่ ถ้าจะตายก็ขอตายที่นี่แหละ

เมื่อหลวงพ่อที่เคารพนับถือของพวกเขาไม่ไป ชาวบ้านจึงขออยู่กับท่าน หลวงพ่อเอาผ้าขาวม้ามาลงยันต์เป็นผ้าประเจียดแจกให้ชาวบ้านคนละผืน เมื่อได้เครื่องรางของขลังต่างก็มีกำลังใจ รวมพวกกันต่อสู้โจรจีนแตกพ่ายไปในที่สุด

ตั้งแต่นั้นมาเสียงเล่าลือว่าหลวงพ่อแช่มขลังก็ขจรขจายไปทั่ว เมื่อรัฐบาลปราบพวกจีนกบฏราบคาบแล้ว หลวงพ่อแช่ม ผู้มีส่วนในการช่วยชาวบ้านปราบกบฏ (ทางอ้อม) มีความดีความชอบ ประจวบกับตำแหน่งพระครูสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ห้า จึงทั้งตั้งให้เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ ตำแหน่งสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตแต่นั้นมา

ตอนแรกๆ ก็ลือว่าขลังเฉพาะผ้ายันต์หรือเครื่องรางที่ท่านทำ ต่อมาภายหลังลือว่าหลวงพ่อขลังทั้งตัว จนกระทั่งญาติโยมขอปิดทองเหลืองอร่ามไปทั้งตัว

สาเหตุที่เขาปิดทองมาจากชาวประมงเมืองภูเก็ตพวกหนึ่ง ลงเรือไปหาปลาถูกพายุใหญ่เรือจะอับปาง หลายคนบนบานศาลกล่าวเทวดาอารักษ์ทั้งหลายเท่าที่นึกได้ ขอให้ลมสงบ แต่ยิ่งบนพายุยิ่งพัดกระหน่ำหนักขึ้น

นายคนหนึ่งออกปากบนว่า ถ้ารอดชีวิตคราวนี้จะปิดทองหลวงพ่อวัดฉลอม พอบนเสร็จพายุก็สงบทันที เป็นที่อัศจรรย์

พวกเขารอดชีวิตมาได้ จึงพากันไปขอปิดทองแก้บน หลวงพ่อปรามว่า "ข้าไม่ใช่พระพุทธรูป มาทำนอกรีตนอกรอยปิดทองคนเป็นๆ ข้าไม่ยอม"

แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยอมเพราะทนการอ้อนวอนพวกเขาไม่ได้ เมื่อคนหนึ่งปิดได้ คนที่สอง ที่สาม ที่สี่...ก็ปิดได้ หนักเข้าก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่รู้จะห้ามปรามยังไงไหว

เดินไปไหนชาวบ้านวิ่งตามขอปิดทองแก้บนยังกะพระพุทธรูปเดินได้ เหลืองอร่ามไปทั้งตัว

เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสด็จไปภูเก็ต หลวงพ่อแช่มได้ข่าวเดินทางมาต้อนรับ ชาวบ้านดักรอปิดทองระหว่างทาง ด้วยความรีบร้อน ยังไม่ทันล้างทองออก ท่านเดินทางมาต้อนรับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทั้งๆ ที่ยังระยิบระยับทั่วแข้งทั้งสอง

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงทรงทราบเรื่องราวของท่าน ทรงเห็นว่าแปลกดี จึงนำมาเล่าไว้ใน "นิทานโบราณคดี" ดังกล่าวแล้ว ส่วนเรื่องที่เด็กสาวขอปิดทองที่ปลัดขิกของท่านเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า เมื่อถูกถาม หลวงพ่อไม่ตอบ เพียงแต่ยิ้มๆ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงว่า สงสัยที่เขาเล่าลือคงเป็นเรื่องจริง

สมัยพุทธกาล มีคนไปขอดูปลัดขิกพระพุทธองค์เหมือนกัน แต่มิได้ไปขอปิดทองอย่างเด็กสาวเมืองภูเก็ตคนนั้น ไปขอดูว่าต้องตามตำราหรือไม่

อีตาพราหมณ์คนหนึ่งแกเชี่ยวชาญในตำรานรลักษณ์ หรือดูโหงวเฮ้งคน ใครมีลักษณะอย่างไร จะเจริญหรือตกอับอย่างไรแกรู้หมด อย่างจมูกโตๆ เหมือนชมพู่ผ่าซีก หรือหัวเกรียนๆ ปากแบะๆ เนี่ย จะได้เป็นใหญ่เป็นโตขนาดไหน อะไรทำนองนี้ อีตาพราหมณ์คนนี้แกเห็นปั๊บทายได้ทันที

แกได้ยินว่าพระพุทธเจ้าทรงมีมหาปุริสลักษณะ (ลักษณะของมหาบุรุษ) ๓๒ ประการ อยากพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ จึงสั่งลูกศิษย์ไปดู ลูกศิษย์เป็นคนประเภทแมงป่องยกหางตัวเอง แทนที่จะไปดูตามที่อาจารย์สั่ง กลับไปโต้เถียงกับพระพุทธองค์ ถูกพระพุทธองค์ต้อนเข้ามุมจนอายเพื่อนจึงถอยออกมา ไม่ทันได้โหงวเฮ้ง

เมื่อศิษย์ไปไม่ได้เรื่อง อาจารย์จึงต้องไปเอง นั่งพินิจพิจารณาโหงวเฮ้งพระพุทธองค์ทุกส่วนต้องตามตำราหมด เหลืออย่างเดียวไม่ได้ดู ไม่รู้จะตรงตามตำราหรือไม่

พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของพราหมณ์ จึงทรงแสดงให้แกดู ไม่ได้เปิดให้แกดูหรอกครับ พระองค์ทรงใช้อิทธิฤทธิ์บันดาลให้แกเห็นทั้งๆ ที่ปิดไว้มิดชิดนั่นแหละ

แกเห็นว่าต้องตามตำราโหงวเฮ้งที่เรียนมา ก็เลื่อมใสก้มลงกราบแทบพระบาทของพระมหาบุรุษผู้ประเสริฐทันที

สิ่งที่ว่าคือ ปลัดขิกครับ ค่านิยมของอินเดียโบราณถือว่ามหาบุรุษจะต้องมีปลัดขิกอยู่ในฝักมิดชิดดุจของโค ถ้าอย่างอื่นถือว่าไม่ต้องตามตำรา



ตัวอัปปรีจัญไรเป็นฉันใด

ความอัปรีย์จัญไร ไม่ว่ามากหรือน้อย ไม่มีใครเขาต้องการพบพาน หลีกได้ไกลเท่าไหร่ยิ่งดี

วิธีหลีกเสนียดจัญไร หรืออัญเชิญสิริมงคลมาใส่ตัว จึงต้องทำแปลกๆ หลากหลายตามความเชื่อของแต่ละคน บางคนเวลาจะออกจากบ้านไปทำงานหรือไปธุระจะต้องเอานิ้วอุดรูจมูกทีละข้างแล้วสั่งขี้มูกดูก่อน ถ้าข้างไหนลมออกสะดวกไม่ติดขัด ก็จะถือเอาข้างนั้น-ซ้าย หรือขวา - เป็นเคล็ดแล้วก้าวเท้าข้างนั้นออกนอกธรณีประตูก่อน อย่างนี้เขาเชื่อว่า สรรพเสนียดจัญไรจะไม่แผ้วพาน

บางคน (หรือหลายคน) ถือว่า ถ้าชื่อตัวเองมีตัวอักษรที่เป็นกาลกิณีอยู่ด้วยจะไม่เป็นสิริมงคล (โดยมีวิธีนับตามแบบทักษาโบราณ ซึ่งต้องศึกษากันต่างหากในแวดวง ผู้สนใจวิชาโหราศาสตร์) เสฐียรพงษ์ วรรณปก พี่ชายผมแกมีอาชีพทางตั้งชื่อให้ลูกหลานชาวบ้าน แกเคยเล่าให้ฟังว่าเรื่องอักษรกาลกิณีในชื่อนี้เป็นเรื่องแปลก คุณแม่คนหนึ่งเขียนมาว่า ลูกชายเธอตอนแรกก็มีสุขภาพสมบูรณ์แต่พอโตขึ้นหน่อย ป่วยออดๆ แอดๆ ต้องไปหาหมอแทบทุกสัปดาห์ อาจเป็นเพราะชื่อก็ได้ ให้ช่วยดูด้วย พี่ชายผมดูแล้ว เห็นชื่อเป็นกาลกิณีทั้งชื่อจริงและชื่อเล่นจึงเปลี่ยนให้ใหม่ หลังจากนั้นสามเดือนคุณแม่คนนั้นเธอเขียนจดหมายมาว่า ตั้งแต่ได้ชื่อใหม่ไป ลูกมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่เจ็บป่วยอีกเลย กรณีอย่างนี้มีมากจนน่าประหลาด จะไม่เชื่อก็ยังไง หรือจะเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ยังไงอยู่

พันเอกปิ่่น มุทุกันต์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา คนที่เป็นอาจารย์ของอธิบดีคนปัจจุบัน (ร.อ.อดุลย์ รัตตานนท์) เคยพูดว่า มีพระผู้ใหญ่ทักว่า ชื่อท่านตัวท้ายเป็นกาลกิณีให้เปลี่ยนซะ หาไม่จะ "ล่มบัดจอด" คือเสียชื่อเสียงตอนปลายอายุ ท่านอธิบดีเล่าแล้วก็หัวเราะ "ผมไม่เชื่อเรื่องเหลวไหลพรรค์นั้นหรอก" แล้วก็ไม่เปลี่ยนชื่อ

ตอนปลายอายุ ท่านผู้นี้มีเรื่องยุ่งๆ ทางราชการ จนต้องชิงลาออกก่อนเกษียณและตายด้วยโรคร้ายทรมาน ไม่รู้ว่าเป็นเพราะชื่อที่พระท่านทักหรือเปล่า

ชื่อนั้นใครว่าไม่สำคัญ บางทีก็สำคัญใช่ย่อย ผู้รู้เรื่องดีคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า (เรื่องนี้ถ้าไม่ตรงข้อเท็จจริง ก็ขออภัยเจ้าของชื่อด้วยนะครับ) สมัยอาจารย์อภัย จันทวิมล เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ มีหน่วยงานต่างประเทศแห่งหนึ่งเชิญข้าราชการกระทรวงศึกษาฯ ไปดูงานอะไรสักอย่าง ผมก็จำไม่ได้แล้ว มีผู้อยู่ในข่ายจะไปสองคน คนหนึ่งชื่อ ระงับ วัฒนสิงห์ เลขาฯ เสนอขึ้นไปว่า ทั้งสองคนนี้ท่านรัฐมนตรีจะให้ใครไป ท่านรัฐมนตรีแทงบันทึกสั้นๆ ว่า "เรื่องนี้ให้ระงับไป" ท่านเลขาฯ จึงเก็บเรื่องเข้าลิ้นชัก

ต่อมาอีกสัปดาห์ ท่านรัฐมนตรีเจอคุณระงับ ท่านทักว่า "อ้าว คุณระงับ ผมให้คุณไปต่างประเทศทำไมมาเดินอยู่ แถวนี้"

เรื่องของเรื่องก็คือ ท่านรัฐมนตรีสั่งว่าให้ (นาย) ระงับไป แต่เลขาฯ นึกว่า ให้ระงับการไป คือไม่ให้ใครไป เห็นไหมครับ ใครว่าชื่อไม่สำคัญ สำคัญจนทำให้อาจารย์ระงับอดไปต่างประเทศแน่ะ

น่าประหลาดก็คือ ทุกคนต่างเกลียดกลัวความอัปรีย์จัญไร ไม่อยากพบพาน ครั้นถามว่า ไอ้ตัวอัปรีย์จัญไรที่ท่านกลัวนักหนานั้น หน้าตามันเป็นยังไง ก็ไม่มีใครตอบได้ สักคน อย่างนี้ไอ้ตัวอัปรีย์จัญไรมันมาอยู่กับเราเมื่อไหร่ไม่มีโอกาสรู้

สมัยหนึ่งมีพระราชาองค์หนึ่ง อยากรู้ว่าตัวอัปรีย์จัญไรมันหน้าตาเป็นยังไง ถามฤๅษีผู้เคร่งฌานองค์หนึ่ง ฤๅษีสั่งให้เตรียมกระบอกไม้ไผ่แล้ว ฤๅษีก็หายไปสามวัน กลับมาพร้อมกระบอกท่อนนั้น อุดปากกระบอกไว้มิดชิดนำเข้าถวายพระเจ้าแผ่นดิน ท่ามกลางหมู่เสนาอำมาตย์ ณ ท้องพระโรง

พระราชาค่อยๆ เปิดกระบอกทอดพระเนตรตัวอัปรีย์จัญไร ซึ่งนอนแอ้งแม้งอยู่ก้นกระบอก เห็นรางๆ ไม่ชัด เพราะมันมืด ทรงรำพึงว่า "อืม ไอ้ตัวอัปรีย์จัญไรนี่มันเหมือนเขียดนะ" ทรงยื่นกระบอกให้เสนาบดี

เสนาบดีตะแคงซ้าย ตะแคงขวาดู กราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าว่ามันเหมือนกบพ่ะย่ะค่ะ"

และแล้วกระบอกท่อนนั้นถูกยื่นส่งต่อเป็นทอดๆ เหล่าเสนาอำมาตย์ต่างคนต่างเห็น ต่างคนต่างเข้าใจ ถกเถียงกัน ไม่มีใครลงใคร เสียงชักดังขึ้นทุกทีๆๆ

พระราชาเห็นท่าไม่ดี ตัวอัปรีย์จัญไรมันแผลงฤทธิ์แล้ว ทรงเรียกกระบอกคืนมา อยากดูให้ถนัดว่า เจ้าตัวร้ายนี่หน้าตามันเป็นยังไงกันแน่ จึงทรงเทมันออกมา

แล้วสายตาทุกคู่ก็จ้องเขม็ง เงียบงัน

มันก็คือชานหมากของอีตาฤๅษีธรรมดาๆ นั่นเอง

ครับ อัปรีย์จัญไรตัวจริงมันมิใช่ชานหมากในกระบอกไม้ไผ่นั้น แต่มันคือความอวดดื้อถือดีไม่ยอมลงให้ใครนั่นเอง





หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 มกราคม 2560 18:42:42

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSbzq4F_UuFHwa8lX0Kvc_EmIe7PtOrFj4zFX2fXQw_MSwEQn_s)

กุศโลบายเพื่อความสำเร็จ
มีคนพูดว่า กุศโลบาย ก็คือการโกหกนั่นเอง แต่คำจำกัดความนี้คงจะ "แรง" ไป สำหรับคำว่า "กุศโลบาย" เพราะตามศัพท์จริงๆ แปลว่า อุบายหรือวิธีที่ฉลาด วิธีที่ฉลาดไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีที่โกหกคดโกงเสมอไป

จริงอยู่วิธีการอาจมองเผินๆ ว่า เป็น การพูด หรือทำ "ไม่ตรง" ตามนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องดูที่เจตนาและผลที่ออกมา ว่าพูดหรือทำด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์หรือไม่ ผลที่ออกมานั้นเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือไม่

ยกตัวอย่างที่ผมชอบยกอยู่เสมอคือ มีแม่ทัพท่านหนึ่งนำกองทัพเข้าสู้รบกับข้าศึก กองทัพของตนมีกำลังน้อยกว่ากองทัพของข้าศึก เหล่าทหารหาญทั้งหลายเห็นดังนั้น ก็ขวัญไม่ค่อยจะดี แม่ทัพก็ทราบเรื่องนี้

วันหนึ่ง แม่ทัพก็พานายทหารเข้าไปไหว้พระในโบสถ์แห่งหนึ่งล้วงเหรียญขึ้นมา กล่าวอธิษฐานดังๆ ว่า ถ้ากองทัพของข้าพเจ้าจะรบชนะข้าศึก ขอให้เหรียญนี้ออกหัว ว่าแล้วก็เขย่าเหรียญในมือ โยนลงบนพื้น

เหรียญออกหัว

ท่านแม่ทัพหยิบเหรียญขึ้นมาเขย่า พลางอธิษฐานอีกเป็นครั้งที่สองแล้วโยนลง เหรียญออกหัวเช่นเดิม

ท่านทำอย่างนี้ถึงสามครั้ง เหรียญก็ออกหัวทุกครั้ง เหล่านายทหารทั้งหลายต่างก็ขวัญมาเป็นกอง ที่รู้ว่ากองทัพของตนจะชนะ เพียง ไม่กี่นาทีข่าวว่ากองทัพของตนจะรบชนะข้าศึก ก็แพร่กระจายไปทั่วกองทัพ ทหารหาญทั้งหลายต่างฮึกเหิม มีกำลังใจ ถึงคราวรบก็รบกันอย่างอุทิศ จนสามารถเอาชนะข้าศึกได้

นายทหารคนสนิทพูดกับท่านแม่ทัพในวันหนึ่งว่า พระเจ้าอวยพรให้เราชนะก็ชนะจริงๆ แม่ทัพล้วงเหรียญขึ้นมาแบให้นายทหารคนสนิทดู พร้อมกล่าวว่า

"ไม่ใช่ดอกคุณ เหรียญนี้ต่างหากที่ช่วยให้พวกเราชนะ"

ปรากฏว่าเหรียญนั้นมีแต่ "หัว" ทั้งสองด้าน ซึ่งแม่ทัพท่านทำขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อนำมาใช้ในคราวคับขัน

อย่างนี้ก็เรียกว่า "กุศโลบาย" ของแม่ทัพ จะว่าแม่ทัพท่านโกหกหรือไม่ก็แล้วแต่จะคิด แต่เจตนาของแม่ทัพเป็นกุศลต้องการให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวม

ในการดำเนินชีวิตของคนเรานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ปัญญา อย่างน้อยก็ให้รู้จักวิธีแก้ไขปัญหาและวิธีการทำงานให้ประสบความสำเร็จ และก้าวหน้าไปด้วยดี

คนทำงานอย่างโง่ๆ ไม่ศึกษาหาความก้าวหน้าในทางความรู้และประสบการณ์ ก็คงไม่ต่างกับตาแก่กับลูกชายจูงลา

ตาแก่คนหนึ่งกับลูกชายอายุประมาณไม่เกิน ๑๐ ขวบ จูงลาผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่งชาวบ้านพูดว่า "ดูตาแก่กับลูกชายสิ มีลาอยู่ทั้งตัวจูงตั้งสองคน ทำไมไม่ขี่คนหนึ่ง อีกคนหนึ่งจูง"

ตาแก่ได้ยินดังนั้น จึงให้ลูกชายขึ้นขี่ลา ตัวเองจูงไปได้หน่อยหนึ่งมีคนพูดว่า "ดูเด็กน้อยคนนั้นสิ นั่งลาสบาย ปล่อยให้พ่ออายุมากแล้วจูง ทรมานคนแก่เปล่าๆ"

คราวนี้ตาแก่ไล่ลูกชายลงตัวเองขึ้นนั่งหลังลาให้ลูกชายจูง ผ่านอีกหมู่บ้านหนึ่ง ชาวบ้านพูดว่า "ดูอีตาแก่คนนั้นสิให้เด็กตัวเล็กๆ จูงลา ตัวเองขี่สบายใจเฉิบ เอาเปรียบเด็กเหลือเกิน"

ตาแก่รีบลงจากหลังลา คิดหนักจะทำอย่างไร จูงทั้งสองคนก็ถูกว่า ให้ลูกขี่ตนจูงก็ถูกว่า ตนขี่ให้ลูกจูงก็ถูกว่า อย่ากระนั้นเลยขึ้นขี่มันทั้งสองคนดีกว่า ว่าแล้วก็บอกให้ลูกขึ้นขี่ลาพร้อมกับตน ลาเดินหลังแอ่นด้วยความหนัก

ชาวบ้านเห็นเข้าก็ชี้ให้กันดูว่า "ดูไอ้แก่กับเด็กคนนั้นสิ ขึ้นขี่ลาจนมันหลังแอ่น ทารุณสัตว์เหลือเกินนะ"

นิทานก็เป็นเพียงนิทานอาจมิใช่เรื่องจริงก็ได้ แต่ "สาระ" ของนิทานก็มีอยู่ เรื่องนี้ต้องการชี้ว่า ปัญญาความรู้เท่านั้นจะเป็นตัวบอกว่าตาแก่ควรจะทำอย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสม จะขี่ให้ลูกจูง หรือจะให้ลูกขี่ตัวเองจูง หรือผลัดกันขี่ ความเหมาะสมอยู่ที่ไหน อย่างไร คนมีปัญญาจะรู้เอง

เพราะฉะนั้นในการดำเนินชีวิตจึงต้องการปัญญา คอยชี้แนะแนวทาง นักสู้ชีวิตควรแสวงหาปัญญาและประสบการณ์ไว้ให้มาก อุบายที่จะนำออกใช้จะได้เป็น "กุศโลบาย" (อุบายอย่างฉลาด) มิใช่อุบายโง่ๆ แบบตาแก่



แก้ปัญหา ด้วยปัญญา
สมัยเป็นเณรน้อยเรียนนักธรรมบาลี อ่านคัมภีร์ชาดกเรื่อง "มโหสถชาดก" รู้สึกประทับใจในความเฉลียวฉลาดของเด็กน้อยโพธิสัตว์ นามว่า "มโหสถ" จนบัดนี้ก็ยังจำได้ไม่ลืม

มาถึงยุคลูกชายยังเล็กอยู่ มีการ์ตูนเณรน้อย "อิกคิวซัง" ของญี่ปุ่นออกมา เด็กๆ ติดเป็นแถว ต่างยกนิ้วให้ว่าเณรน้อยอิกคิวซังฉลาดเหลือเกิน

แต่ความฉลาดของมโหสถ เป็นการให้เหตุผลพิจารณาเรื่องราวตามเป็นจริง และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ตามควรแก่เหตุการณ์นั้นๆ วิธีการแก้ปัญหามีหลากหลายไม่ซ้ำกัน แล้วแต่ลักษณะของปัญหา ทำให้เราได้ความรู้มากขึ้น

เรื่องมโหสถนั้น ชี้ไปที่การรู้จักพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้าน เกิดอะไรขึ้นให้มองตามเป็นจริง สืบสาวหาต้นตอและพยายามหาทางแก้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นการฝึกปัญญาอย่างดียิ่ง  ยกตัวอย่าง เช่น ครั้งหนึ่งมีหญิงชาวบ้านอุ้มลูกเล็กเดินไปพบนางยักษิณีปลอมมาในร่างมนุษย์ ขออุ้มเด็กบ้าง พอได้เด็กจากมือแม่แล้วก็วิ่งหนี แม่เด็กร้องโวยวาย ชาวบ้านช่วยกันรุมล้อมนางยักษิณีนั้นไว้ ทั้งสองคนต่างเถียงกันว่าเด็กน้อยเป็นลูกของตน

ชาวบ้านไม่มีใครตัดสินได้ มโหสถน้อยผ่านมาพบเข้าจึงอาสาช่วยตัดสิน มโหสถถามว่า ท่านทั้งสองต่างก็อ้างว่าเป็นแม่เด็ก ท่านทั้งสองจะพิสูจน์ความจริงไหม หญิงทั้งสองตกลงให้มโหสถตัดสิน

มโหสถบอกให้หญิงทั้งสองแย่งเด็กเอาเอง คนหนึ่งจับหัวอีกคนหนึ่งจับแขนแล้วให้ดึง ถ้าใครดึงชนะก็แสดงว่าคนนั้นเป็นแม่เด็ก

ทั้งสองดึงเด็กน้อยไปมาคนละทางอยู่พักหนึ่ง เด็กน้อยร้องไห้จ้าด้วยความเจ็บปวด หญิงชาวบ้านผู้เป็นแม่เด็กปล่อยมือ ยืนร้องไห้สะอึกสะอื้นอย่างน่าสงสาร

นางยักษิณีในร่างมนุษย์แย่งได้เด็ก ยิ้มกริ่มด้วยความดีใจ ร้องบอกฝูงชนว่า เห็นไหมๆ ข้าบอกว่าเด็กน้อยคนนี้เป็นลูกของข้าก็ไม่มีใครเชื่อ

มโหสถน้อยกล่าวว่า "ข้านี่แหละ ไม่เชื่อเจ้า"

"อ้าว ท่านบอกแต่แรกแล้วมิใช่หรือว่า ใครแย่งเด็กได้คนนั้นคือแม่เด็ก ก็ข้าแย่งได้แล้วนี่ พิสูจน์เห็นแล้ว" นางยักษิณีกล่าว

มโหสถกล่าวว่า "นั่นเป็นกุศโลบายของข้า เพื่อลวงให้ "ธาตุแท้" ของแต่ละคนปรากฏออกมา บัดนี้ความจริงก็ได้ปรากฏแล้ว ผู้หญิงคนที่ปล่อยมือแล้วยืนร้องไห้อย่างน่าสงสารนั้น คือแม่ที่แท้จริงของเด็ก

มโหสถอธิบายว่า แม่ย่อมรักและสงสารลูก เมื่อเห็นลูกร้องไห้จ้าด้วยความเจ็บปวดทรมาน เพราะถูกแย่งดึงไปมา แม่อดสงสารลูกไม่ได้จึงปล่อยมือ ร้องไห้ ส่วนคนที่มิใช่แม่ไม่มีความผูกพันลึกซึ้งเช่นนั้นจึงมิได้มีแม้ความสงสาร อาจเป็นยักษ์มารที่ไหนปลอมมาก็ได้

ได้ยินดังนั้น นางยักษ์จำแลงก็สำแดงร่างจริงให้ปรากฏ จริงดังมโหสถทำนายไม่ผิดเพี้ยน

ยกเรื่องมโหสถขึ้นมากล่าวนี้เพื่อจะบอกว่า การดำเนินชีวิตนั้นต้องใช้ปัญญามิใช่น้อยจึงประสบความสำเร็จ เพียงความขยันหมั่นเพียรทำมาหากิน สร้างเนื้่อสร้างตัวอย่างเดียวหาเพียงพอไม่

ขาดปัญญาเสียแล้ว ถึงจะขยันอย่างไรก็ยากที่จะสำเร็จ หรือสำเร็จก็สำเร็จไม่เต็มที่

มีคนเห็นพระหนุ่มรูปหนึ่ง ขึ้นไปนั่งกรรม ฐานบนต้นไม้ทุกวัน ด้วยความขยันหมั่นเพียรยิ่ง หวังจะได้บรรลุธรรม อาจารย์กรรม ฐานชื่อดังรูปหนึ่งผ่านมาพบเข้า ร้องบอกว่า "ถึงคุณจะขยันนั่งบนต้นไม้จนกลายเป็นลิง ก็ไม่มีทางบรรลุดอก" พระหนุ่มก็ได้สติในความโง่เขลาของตน

ครับ ขยันอย่างเดียวไม่พอ ต้องฉลาดด้วย


ยิ้มได้เมื่อภัยมา
พระพุทธศาสนาสอนให้คนเรานึกถึงความตายอยู่เสมอ วิธีนี้เรียกว่า มรณัสสติ (สติระลึกถึงความตาย) ท่านว่าถ้าฝึกประจำจนชำนาญ ถึงขั้นมีสติระลึกรู้เรื่องความตายทุกลมหายใจเมื่อใด จิตใจจะสงบปราศจากความหวาดกลัวและมีความสุขอย่างยิ่ง

ที่คนเรามีความทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ สาเหตุใหญ่มาจากความกลัว กลัวจน กลัวจะลำบาก กลัวไม่มีใครรัก กลัวล้มเหลวในการทำงาน กลัวสามีทิ้ง กลัวภรรยานอกใจ กลัวสอบไม่ได้ กลัวโดนพ่อแม่ด่า ฯลฯ สารพัดกลัว จนกระทั่งกลัวแก่ กลัวเจ็บ และกลัวตาย

ด้วยความคิดอย่างนี้แหละ ทางพระพุทธศาสนาพูดให้ชัดว่าพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ "เผชิญหน้า" กับความตาย แทนที่จะทำเป็นลืม ไม่ยอมรับรู้รับฟัง ก็กลับมา "ทำความรู้จัก" กับความตาย หันมานึกถึงมันอยู่ทุกลมหายใจ เช่น

เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นความตายไปได้

ชีวิตเราไม่แน่นอน แต่ความตายเป็นของแน่นอน

เราต้องตายแน่ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ความตายยุติธรรมที่สุดมาถึงทุกคน ไม่ว่ามั่งมี ยากจน ฉลาดหรือโง่เขลา เด็กหรือผู้ใหญ่ แก่หรือหนุ่ม ทุกชีวิตเกิดมาแล้วล้วนสิ้นสุดลงที่ความตาย

ความตายจะมาถึงเราวันไหน เวลาไหนก็ได้ ทุกลมหายใจเข้าออก ความตายอาจมาเยือนได้ทุกเวลา

การสอนให้ระลึกถึงความตายมีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่ มิใช่ให้ระลึกถึงแบบสะเปะสะปะ นั่นก็คือ

๑) ให้ระลึกถึงเพื่อให้หายกลัว การระลึกถึงความตายแล้วจะหายกลัวตายได้ จะต้องระลึกด้วยความรู้ มิใช่ระลึกด้วยความโง่ ต้องรู้ตัวเสมอว่า ความจริงเราก็ตายอยู่แล้วทุกวันขณะที่นอนหลับ นั่นแหละเราก็ตายในลักษณะหนึ่ง แล้วทำไมเวลาเรานอนจึงไม่กลัว เราเต็มใจที่จะเข้านอนทุกครั้งที่เรารู้สึกง่วง

ที่เราไม่กลัวก็เพราะเราคิดว่า การนอนคือการพักผ่อน  เช่นเดียวกัน ถ้าเราคิดว่าความตายคือการพักผ่อน ชีวิตเราร่างกายเราได้มาอยู่ในโลกจนป่านนี้ ต่อสู้กับชีวิตมาจนถึงวันนี้ก็นานพอสมควรแล้ว ถ้ามันจะถึงเวลา "พักผ่อน" ก็ให้มันเป็นไปตามธรรมดาของมัน

ระลึกถึงความตายอย่างนี้จะไม่กลัวตาย พร้อมที่จะรับความตายทุกเวลาเมื่อถึงเวลา คนเช่นนี้จะตายอย่างสงบ ไม่ทุรนทุราย ไม่หวาดกลัว

๒) ให้ระลึกถึงเพื่อเกิดความไม่ประมาท คนที่ไม่ยอมรับรู้ความจริงว่าตนจะตายในวันใดวันหนึ่ง มักจะหนีโลกแห่งความจริง พยายามหลอกตัวเองว่า เรายังไม่ตาย เราจะต้องอยู่อีกนาน บางคนก็อยู่เพื่อเงิน "กิน-กาม-เกียรติ" ทุจริตกอบโกยเอามาเพื่อสนอง ปรนเปรอตนเอง ยังกับจะอยู่ค้ำฟ้า คนอย่างนี้เรียกว่าคนประมาท

ส่วนคนที่ระลึกถึงความตายว่า ชีวิตเราไม่แน่นอน จะตายวันตายพรุ่งไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้น ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ ก็ควรทำประโยชน์แก่ตนเองและคนอื่นให้เต็มที่ เวลาอยู่ในโลกนี้ก็อยู่อย่างมีคุณค่าและคุณประโยชน์ ไม่ "หนักโลก" เวลาตายไปก็ฝาก คุณงามความดีไว้ให้คนเขาคิดถึง คิดถึงความตายแบบนี้ทำให้ไม่ประมาท

คนที่คิดถึงความตายอย่างนี้ไม่กลัวตาย และพร้อมที่จะตายทุกเวลา เพราะเขาได้สร้างคุณงามความดีแก่ตน และแก่เพื่อนมนุษย์เพียงพอแล้ว ถ้าเปรียบเสมือนการเดินทาง คนเช่นนี้นับว่าได้เตรียม "เสบียง" สำหรับเดินทางไว้พร้อม แพ็กกระเป๋าพร้อมแล้ว ได้เวลาก็พร้อมจะออกเดินทางได้ทันที

วันนี้เขียนคล้ายกับจะชวนผู้อ่านตายอย่างนั้นแหละ ไม่ดอกครับ ถึงผมจะชวนหรือไม่ชวนคุณ (และผม) ก็ต้องตายอยู่แล้ว ผมเพียงบอกวิธี deal กับความตายที่ถูกต้องเท่านั้น ฮั่นแน่ เดาะคำฝรั่ง เสียด้วย!


นักสู้ชีวิต ควรรู้จักวิธีแก้เซ็ง
"เซ็ง"คำนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย สถานให้คำจำกัดความว่า "จืด, จืดชืด, หมดรส, หมดความตื่นเต้น แถมวงเล็บไว้ด้วยว่า ใช้เรียกสิ่งที่ควรจะบริโภค หรือจัดทำในเวลาหนึ่ง แต่ทิ้งไว้นานเกินควร ความหมายทั้งหลายแหล่ที่ราชบัณฑิตฯ ท่านทิ้งไว้ไม่ตรงกับที่คนสมัยนี้ใช้สื่อสารกัน

"เซ็ง" ในความหมายของคนทั่วไปก็คือ ความเบื่อ ทำงานในตำแหน่งขี้ข้าเขามานาน ไม่มีอะไรดีขึ้น ก็พูดว่า "เซ็ง" ถ้าเซ็งมากๆ ก็เติมคำ "ฉิบหาย" ต่อท้ายเป็น "เซ็งฉิบหาย"

บวชมาหลายพรรษา เป็นพระหลวงตาอยู่นั่นแล้ว ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูหรือเจ้าคุณกับเขาสักที "อาตมารู้สึกเซ็ง" (เป็นยังงั้นไป)

หมอปัจจุบันนี้ จัดอาการเซ็งให้เป็นโรคชนิดหนึ่ง เรียกว่า "โรคเซ็ง" จะตรงกับภาษาฝรั่งว่าอย่างไรผมไม่ทราบ ท่านว่าเซ็งเป็นสภาพจิตที่ซบเซา หดหู่ เบื่อหน่าย

สมัยพุทธกาลมีผู้ที่ออกบวชในพระพุทธศาสนามากมาย บางท่านไม่ได้บวชเพราะความเบื่อโลก แต่บวชเพราะถููกญาติผูู้ใหญ่ ซึ่งเป็นพระเถระชักจูงให้บวช สภาพจิตจึงไม่พร้อมที่จะรับการฝึกอบรม บางรูปเกิดอาการที่ภาษาพระท่านว่า "อุกกัณฐิโต" ท่านแปลว่า เกิดความเบื่อหน่าย แปลตามศัพท์จริงๆ ว่า "เกิดอาการชูคอ" หมายถึง ชะเง้อชะแง้คอ มองอยู่ตลอดเวลา ว่าเราจะหลุดพ้นจากสภาพอย่างนี้เมื่อไรหนอ อะไรทำนองนี้

ก็เซ็งนั่นแหละครับ

พระรูปหนึ่งพี่ชายให้ท่องโศลกบทหนึ่ง ความยาวแค่สี่บรรทัด ท่องตั้งสามเดือนยังจำไม่ได้ ว่ากันว่าพระรูปนี้ถูกพี่ชายจับบวชไม่ค่อยเต็มใจบวชนักหรอก แถมยังสมองทึบอีกต่างหาก เมื่อท่องไม่ได้ก็ถูกพี่ชายดุด่าหาว่าโง่เง่า โศลกสั้นๆ แค่นี้ก็ยังท่องไม่ได้ เสียชื่อฉันผู้เป็นพี่ชายหมด

วันๆ ไม่ต้องทำอะไร ถูกบังคับให้ท่องข้อความซ้ำแล้วซ้ำอีก ถูกด่าซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็เลยเกิดอาการเซ็งชีวิต เซ็งหนักเข้าเลยคิดจะไปกระโดดเขาตาย

พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณจึงเสด็จไปโปรด ตรัสถามว่า ทำไมจะต้องฆ่าตัวตาย เธอกราบทูลว่า "เซ็งชีวิตพระพุทธเจ้าข้า"

"ทำไมจึงเซ็ง"ตรัสถามด้วยพระสุรเสียงปรานี

"ถูกบังคับให้ท่องโศลกที่ยากๆ ซ้ำซาก และถูกด่าซ้ำซากพระเจ้าข้า" เธอกราบทูล

พระพุทธองค์จึงตรัสบอกว่า "เธอรู้สึกเซ็งถึงขนาดจะฆ่าตัวตายเพราะเซ็งที่ถูกด่าซ้ำซาก และถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบ เธอลองเปลี่ยนมาทำอย่างอื่นดูซิ เธอจะชอบไหม"

"ทำอะไรพระเจ้าข้า"

"ทำอะไรที่มันง่ายๆ เช่น ลูบผ้าขาวเล่น" ว่าแล้วพระองค์ก็ทรงนำผ้าขาวผืนหนึ่งออกมา ทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์ลูบคลำไปมาให้เธอดูแล้วให้เธอทำตาม ปรากฏว่าพระหนุ่มรูปนั้นยิ้มละไม แววตามีประกายแห่งความสดใส ลูบผ้าขาวไปมาอย่างพึงพอใจ

ก็มันง่ายกว่าท่องโศลกมากมายก่ายกอง นี่ครับ

เธอนั่งลูบผ้าขาวอยู่พักใหญ่ จิตใจที่ฟุ้งซ่าน รำคาญ เบื่อเซ็งก็สงบ สมาธิเกิดขึ้น ไม่ช้าไม่นานเธอก็ได้บรรลุธรรมชั้นสูง

ดูวิธีการที่พระพุทธเจ้าประทานให้พระหนุ่มผู้หน่ายชีวิตรูปนี้ทำแล้ว ทำให้ได้แง่คิดว่า วิธีแก้เซ็งอย่างหนึ่งในหลายวิธีก็คือ ให้หาสิ่งที่ตนชอบทำ

พยายามสร้างความชอบในสิ่งนั้นขึ้นมาให้ได้ แรกๆ อาจต้องฝืนใจ ใช้พลังใจมากไม่ใช่น้อย แต่นานๆ เข้าความฝืนใจก็ลดน้อยลงๆ จนกลายเป็นชอบขึ้นมาจนได้

หลังจากนั้นจะทำอะไรก็สนุกสนาน เพลิดเพลิน ไม่เบื่อไม่เซ็ง และผลสัมฤทธิ์ก็เกิดขึ้นมากมายไพศาลด้วย



สู้ด้วยความพากเพียร
มีคนนิยามความหมายของชีวิตว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ผมขอแถมอีกนิดว่า สู้แล้วต้องให้ชนะด้วย

จริงอยู่ในสังเวียนแห่งการต่อสู้ ย่อมมีทั้งแพ้และชนะแต่นักสู้ต้องมุ่งเป้าไปที่ชัยชนะ แพ้น่ะได้ แพ้บ่อยๆ ก็ได้อีกเหมือนกัน แต่ในที่สุดเราต้องเอาชัยชนะให้ได้!

ทุกคนมีสิทธิ์สะดุดล้ม แต่ล้มแล้วนอนเป็นเรื่องน่าตำหนิ ล้มแล้วรีบลุกขึ้นเดินต่อไปสิ คนเขายกย่องสรรเสริญ

ในประเทศญี่ปุ่น เขามีธรรมเนียมอยู่อย่างหนึ่ง คือเขาจะนำ "ตุ๊กตาล้มลุก" ไปมอบให้แก่กัน ในโอกาสสำคัญๆ เช่นวันเกิด หรือปีใหม่อะไรนี่ผมก็จำไม่ถนัด แต่จำได้ว่า เขามอบตุ๊กตาล้มลุกให้กัน

ตุ๊กตานั้นเดินไปได้หน่อยแล้วก็ล้ม แล้วก็ลุกเดินต่อไป ล้มลุก ล้มลุก อยู่อย่างนี้ ดูกันเล่นสนุกๆ ก็ได้ ดูให้ดีให้เกิดปรัชญาชีวิตก็ได้

คือเป็นเครื่องเตือนใจว่า อย่ายอมหยุดหรือเลิกรา ล้มแล้วให้ลุกเดินต่อไป อย่านอนแผ่หลาอย่างคนหมดท่าในชีวิต เพราะญี่ปุ่นเขามี "ปรัชญาชีวิต" อย่างนี้ เขาจึงพัฒนาก้าวไกลไปสุดกู่ เมื่อคราวแพ้สงคราม ญี่ปุ่นย่อยยับไม่มีดี แต่ไม่กี่ปีให้หลังก็ฟื้นตัวและพัฒนาล้ำหน้าประเทศอื่นๆ เดี๋ยวนี้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่น่ากลัวที่สุดในโลกไปแล้ว

เพราะพี่ยุ่นแกถือปรัชญา ล้มแล้วลุก ดังเช่นตุ๊กตาล้มลุกนั่นแหละครับ

การล้มแล้วลุกแล้วๆ เล่าๆ ถ้าถอดเป็นธรรมะก็ได้แก่ความพากเพียรนั่นเอง พระท่านเรียกว่า "วิริยะ" บ้าง "วิริยา-รัมภะ" บ้าง

ความพากเพียร ไม่ได้หมายถึงทำอะไรหามรุ่งหามค่ำ ไม่รู้จักพักผ่อน อย่างคนเรียนหนังสือ นั่งอ่านนั่งท่องอยู่นั่นแล้วตั้งแต่เช้ายันดึก ไม่กิน ไม่นอน อย่างนี้เขาเรียกว่า "หัก-โหม" มิใช่ความพากเพียร ขืนทำอย่างนี้ ไม่เกินสี่ห้าวันโรคประสาทกินตาย

ความพากเพียรไม่ต้องทำมาก ไม่ต้องหักโหม ทำทีละน้อยๆ แต่ทำบ่อยๆ อย่าง ต่อเนื่อง

ท่านเคยเห็นแมงมุมไหม แน่นอนทุกคนคงรู้จักมันดี แต่น้อยคนที่จะสังเกตดูมันอย่างถี่ถ้วน ลองสังเกตดูมันสิครับเวลามันถักใย มันจะไต่จากมุมนี้ไปยังมุมนั้น มันมักจะตกสู่พื้นอยู่บ่อยๆ ไต่แล้วตก ไต่แล้วตก แต่มันก็ไม่ย่อท้อ ยังคงก้มหน้าก้มตาถักใยต่อไป ผลที่สุดมันก็ได้ใยแมงมุมที่สวยงามไว้ดักเหยื่อกินตามประสงค์

คนที่พากเพียรไม่ต่างจากแมงมุมถักใย ไม่ว่าจะทำกิจการอะไร จะพากเพียรทำด้วยจิตใจแน่วแน่มั่นคง ไม่เลิกล้ม ไม่ย่อท้อจนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ

"คนจะล่วงพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร" พระท่านพูดไว้ไม่ผิดดอกครับ ทำอะไรล้มเหลวเพียงครั้งสองครั้ง อย่าได้ท้อแท้ ผิดหวังเลย ทำต่อไป สู้ต่อไป ถ้าหากการกระทำการต่อสู้นั้นเป็นเรื่องถูกต้อง สุจริต ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรม

ส่วนเรื่องผิดเรื่องชั่ว ไม่ต้องพากเพียรทำมัน เพียงหลงทำครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว



ชีวิตต้องสู้
หนังสือเล่มที่ท่านอ่านเป็นประจำอยู่นี้ ตั้งชื่อได้เหมาะสม "ชีวิตต้องสู้" คือเกิดมามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ต้องสู้ เกิดมาแล้วไม่สู้แสดงว่าตายตั้งแต่เกิด ถึงแม้ว่าจะมีลมหายใจอยู่ก็ไม่ต่างอะไรกับคนตายแล้ว

เรามีคำพังเพยหรือสุภาษิต (แล้วแต่จะเรียก) ว่า "ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยา ชูกำลัง" ศัตรูในที่นี้หมายเอา "อุปสรรค" ที่ขัดขวางความก้าวหน้านั้นเอง คงไม่หมายไปไกลถึงคนที่เป็นอริ หรือข้าศึกที่คอยตามล้างตามผลาญอะไรขนาดนั้น

การสู้ชีวิตจะสามารถเอาชนะได้ หรือประสบความสำเร็จในการต่อสู้ อย่างน้อยต้องมีองค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ

๑) ความพากเพียรพยายาม องค์ประกอบนี้สำคัญมาก ความเพียรมาจากคำว่า วิริยะ วิริยะมาจากคำว่า วีระ (ซึ่งแปลว่ากล้าหาญ) เพราะฉะนั้นคนที่พากเพียรก็คือคนกล้า กล้าสู้กล้าบุกไม่ย่อท้อ ไม่ถอดใจง่ายๆ แม้ว่าอุปสรรคจะใหญ่โตมากมายเพียงใดก็ตาม

นึกถึงนิทานชาดกเรื่อง "มหาชนก" มหาชนกเป็นพ่อค้าเดินทางไปค้าขายทางเรือกับพ่อค้าและประชาชนอีกจำนวนมาก เรือล่มกลางมหาสมุทร ผู้คนตายกันหมด เหลือแต่มหาชนกคนเดียว เกาะแผ่นกระดานแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร เวลาผ่านไป ๗ วัน มหาชนกก็ยังพยายามว่ายน้ำอยู่ จนนางมณีเมขลาปรากฏกายขึ้นถามว่า "มหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาล มีแต่น้ำกับฟ้า ท่านว่ายก็ตาย ไม่ว่ายก็ตาย แล้วท่านจะพยายามว่ายอยู่ทำไม" พูดง่ายๆ ว่าไม่มีทางรอดดอก ปล่อยให้จมน้ำตายเสียดีกว่า

มหาชนกกล่าวตอบ (ซึ่งถือว่านี่แหละคือ "หัวใจของนักสู้ชีวิต") ว่า "เกิดเป็นคนต้องพยายามจนถึงที่สุด" รู้อยู่ว่ามหาสมุทรกว้างไพศาลรู้ว่ามีแต่น้ำกับฟ้า แต่หน้าที่ของเราต้องพยายามจนให้รู้ดำรู้แดง ถ้าพยายามจนถึงที่สุดแล้ว ไม่ถึงฝั่งก็ให้รู้ว่าไม่ถึง และจะไม่เสียใจ เพราะได้ทำถึงที่สุดแล้ว

คนสู้ชีวิตต้องคิดอย่างนี้ครับ ไม่ใช่ว่าเห็นอะไรขวางอยู่ข้างหน้าบางทีนิดเดียว ขอ "ถอดใจ" เสียแล้ว ทั้งๆ ที่ตัวเองมีศักยภาพ มีความพร้อมทุกอย่าง ถ้าหากกล้าทำ กล้าสู้เสียอย่าง งานนั้นสำเร็จแน่นอน

วันก่อน ได้อ่านเรื่องของเด็กแขนด้วนทั้งสองข้างคนหนึ่ง (ไม่ทราบว่าจาก "ชีวิตต้องสู้" หรือจากหนังสือพิมพ์เล่มไหนอ่านมากด้วยจนจำไม่ได้) เกิดมาแขนด้วนถึงไหล่ทั้งสองข้าง ไม่เคยท้อถอยพยายามสู้ชีวิต เข้าโรงเรียน มือไม่มีจะเขียนหนังสือก็ใช้เท้าเขียนฝึกหัดเขียนด้วยเท้า จนลายมือสวยเหมือนเขียนด้วยมือ ตอนแรกๆ เพื่อนๆ ก็รังเกียจ แต่เมื่อเห็นความเข้มแข็ง ความตั้งใจจริงของแก ก็เห็นใจ และช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างดี

เด็กคนนี้มีความฝันยาวไกลว่า จะศึกษาเล่าเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และอยากออกมาทำงานช่วยเหลือสังคม

นี่คือตัวอย่างของคนสู้ชีวิต คนที่มีมือมีเท้าบริบูรณ์ ควรจะได้คิด และหันมาสู้ชีวิตบ้าง ขนาดคนเขาอวัยวะร่างกายไม่สมบูรณ์ เขายังไม่ท้อแท้ แล้วเรามีครบทุกอย่าง ยังจะอ่อนแอยอมแพ้หรือ!

๒) องค์ประกอบอันที่สอง เนื่องมาแต่องค์ประกอบแรก คือ "กำลังใจ" คนสู้ชีวิตต้องมีกำลังใจ และสร้างกำลังใจให้เข้มแข็งอยู่เสมอ เพื่อเป็นทุนในการต่อสู้ คนที่ขาดกำลังใจแม้จะแกร่ง หรือแข็งแรงขนาดไหน ก็กลายเป็นคนอ่อนแอโดยฉับพลัน คนเช่นนี้เรียกว่า "ตัวเท่าช้างใจเท่ามด"

เคยเห็นนักมวยร่างยักษ์ หมัดหนัก ถ้าต่อยเข้าจังๆ สักหมัด คนถูกต่อยรับรองสลบเหมือด นักมวยร่างยักษ์ขึ้นชกกับแชมป์โลกร่างเล็กกว่า แต่ได้ชื่อว่าเป็นมวยอันตราย มวยร่างยักษ์มัวแต่กลัว "ศักดิ์ศรี" ของแชมป์โลก ได้แต่ระวังตัวแจไม่ปล่อยหมัดสักที ทั้งที่บางครั้งสบโอกาสก็ไม่ยอมทำ ผลที่สุดถูกเขาน็อกตามระเบียบ อย่างนี้เรียกว่า กำลังใจอ่อนแอ ใจไม่สู้ ชกกี่ครั้งๆ "ช้างใจเท่ามด" เช่นนี้ ก็ไม่มีทางเอาชนะเขาได้

จำไว้เถิดครับ คนที่พากเพียรจริง มีกำลังใจเข้มแข็งมั่นคงจริง ไม่มีอะไรจะมาขวางกั้นเขาไว้ได้ อย่าว่าแต่คนเลยต่อให้เทวดาก็กีดกันไม่ได้


ต้องทำเดี๋ยวนี้
พุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวเตือนใจไว้ดีมากควรที่ผู้คิด "สู้ชีวิต" จะพึงสนใจและนำเอาไปใช้ เพื่อความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าในการดำรงชีวิต

อ้อ! เกือบลืม พุทธภาษิตหมายถึง "คำพูด" ของพระพุทธเจ้าเอง ถ้าเป็นคำพูดออกจากปากคนอื่นเรียกว่า "ภาษิต" หรือ "สุภาษิต" เฉยๆ

พุทธภาษิตมีว่า (อ่านไม่ได้ก็ไม่ต้องอ่าน แต่ต้องเขียนไว้เพื่อ "ขลัง" ว่างั้นเถอะ)

อโมฆํ ทิวสํ กยิรา อปฺเปน พหุเกน วา

แปลว่า ไม่ควรปล่อยวันเวลาให้ล่วงไปเปล่า ไม่ว่ามากหรือน้อย ก็ควรให้ได้อะไรบ้าง

ท่านเคยเห็นคนประเภทนี้ไหม

พนักงานบริษัทบางคนมีงานต้องทำมากมายรออยู่บนโต๊ะ มัวแต่ไถลชวนเพื่อนคุยบ้าง อ่านหนังสือพิมพ์บ้าง โทรศัพท์คุยกับคนนั้นคนนี้บ้าง บ่นว่าไม่ค่อยมีเวลา กว่าจะลงมือทำงานก็หมดเวลาไปมาก

งานที่ควรทำได้มากก็ได้น้อย ที่ควรเสร็จเร็วก็เสร็จช้า หรือไม่เสร็จเลย

ข้าราชการบางคนอาศัยอยู่บ้านหลวง ควรจะเก็บเงินไว้ซื้อบ้านเป็นของตนเสียแต่ต้นมือ ก็คิดว่าเอาไว้ก่อนตอนนี้ยังมีเรื่องต้องใช้เงินมากเอาไว้เก็บเงินสร้างภายหลัง ผัดผ่อนเรื่อยมา กาลเวลาก็ล่วงไป

จวบจนเกษียณ ก็ยังไม่มีบ้านเป็นของตัว มาคิดตอนนี้ก็หมดโอกาสแล้ว เพราะค่าเงินถูกลง ที่ดินแพงขึ้น

คนสองประเภทนี้ เรียกว่าคน "ผัดวันประกันพรุ่ง" ได้แต่คิดว่าเอาไว้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยทำ มะรืนนี้ค่อยทำ

ผัดเรื่อยไปจนติดเป็นนิสัย ผลที่สุดก็พลาดจากประโยชน์ที่พึงได้ หรือพลาดโอกาสงามๆ ในชีวิต

ผู้รู้จึงสอนว่า ถ้าคิดจะทำสิ่งใดที่ท่านพอจะทำได้ และเห็นว่าดีมีประโยชน์แก่ตัวท่าน จงรีบทำเสียแต่เดี๋ยวนี้เลยทีเดียว มัวแต่รอเมื่อนั้นเมื่อนี้ เดี๋ยวก็จะไม่มีเวลาได้ลงมือทำ

บางคนคิดอยากจะได้บ้านไว้สักหลัง เที่ยวตระเวนไปดูตามที่ต่างๆ มาทั่วเมือง ไม่ตัดสินใจสักที รอไว้ก่อนเดือนหน้าค่อยเอา พอถึงเดือนหน้าเดือนโน้นค่อยเอา มัวแต่ตัดสินใจไม่ได้สักที ราคาบ้านและที่ดินขึ้นพรวดๆ เงินแสนที่ทำอยู่ในมือไร้ค่าในบัดดล

เดี๋ยวนี้บ้านกระจอกๆ พอซุกหัวนอน ก็ปาเข้าไปตั้งล้านบาทขึ้นไปแล้ว

ท่องไว้ในใจเสมอเถิดว่า "ต้องทำเดี๋ยวนี้" โอกาสดีๆ จะได้ไม่หลุดลอยไป


จิตมั่นคงเสียอย่าง
เคยดูทีวีเมื่อหลายปีมาแล้วนานจนจำรายละเอียดไม่ได้ แต่จำ "สาระ" ได้ เป็นข่าวเกี่ยวกับคนพิการคนหนึ่ง เขาได้รับความพิการทางร่างกายเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นอัมพาตร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องนอนแบ็บอยู่กับที่ อาศัยอยู่กับพี่สาวหรือพี่ชายผมก็จำไม่ได้

ครอบครัวพี่สาวหรือพี่ชายที่เขาอาศัยอยู่ด้วยนี้ มิได้มีฐานะมั่นคงอะไรนัก ทั้งสองสามีภรรยา เช้าขึ้นมาก็ต้องออกไปทำงานปล่อยให้เขานอนเฝ้าบ้านอยู่คนเดียว นอกจากเวลาปิดเทอม หลานๆ ซึ่งเป็นลูกของพี่จึงจะอยู่ด้วย

วันหนึ่งหลานคนเล็กอยากได้นกกระดาษมาเล่น แกนั่งพับรูปนกอย่างไรๆ ก็พับไม่เป็นนกสักที จึงวิ่งไปขอให้พ่อช่วยพับให้ พ่อบอกว่าพ่อกำลังยุ่งให้แม่ทำให้ พอไปหาแม่ แม่ก็ไล่ไปให้พี่ๆ ทำให้

พวกพี่ๆ ก็สนใจทำงานของตน ไม่สนใจน้องคนเล็ก ไม่มีใครทำให้ หนูน้อยจึงร้องไห้ขี้มูกโป่งถือกระดาษเข้ามาหาคุณอาซึ่งนอนแบ็บอยู่บนเตียง

เห็นน้ำตาหลานน้อย คุณอาผู้พิการก็เกิดสงสารจับใจ จึงบอกว่าอาจะช่วยพับให้ แล้วก็ยื่นมืออันเคลื่อนไหวไม่ค่อยจะถนัดนั้น รับกระดาษจากมือหลานมาพับรูปนก

ตามข่าวว่า มืออีกข้างหนึ่งไม่รู้สึก และเคลื่อนไหวไม่ได้แล้ว มีมือข้างเดียวเท่านั้นที่เคลื่อนไหวได้ เขาก็ใช้มือข้างนั้นพับกระดาษกับปาก คือใช้ปากคาบแล้วใช้มือข้างที่ยังใช้ได้อยู่ช่วย หลังจากปล้ำอยู่ตั้งนาน เขาก็สามารถพับกระดาษเป็นรูปนกให้หลานน้อยได้

หลานน้อยได้นกกระดาษแล้ว ก็หายงอแง วิ่งตื๋อออกไปปล่อยนกบินอยู่ข้างนอก ด้วยความร่าเริงประสาเด็ก

จากนั้นมาเขาก็ต้องพับรูปนกบ้าง เรือบินบ้างให้หลานเล่นตลอด เมื่อพับบ่อยๆ นานๆ เข้า ก็เกิด "ทักษะ" คือความชำนาญขึ้น เขาก็มานั่งคิดว่า ทุกอย่างอยู่ที่การฝึกฝนด้วยความพากเพียรอย่างต่อเนื่อง

พอดีเขาได้ทราบข่าวจากวิทยุเชิญชวนให้เขียนเรื่องสั้นประกวด เขาคิดว่า การนอนแบ็บอยู่กับที่ไม่คิดใช้สมองที่ยังใช้การได้อยู่ให้เกิดประโยชน์ มิใช่วิสัยของคนต่อสู้ชีวิต จึงตัดสินใจเขียนเรื่องสั้นส่งประกวด เขียนแล้วแก้ๆ อยู่หลายตลบกว่าจะตัดสินใจส่ง

ปรากฏว่าเรื่องสั้นเรื่องนั้น ชนะการประกวดรางวัลที่หนึ่งหรือสองอะไรนี่แหละ หลังจากนั้นเขาก็เขียนส่งไปตามนิตยสารต่างๆ ได้ค่าตอบแทนมากบ้างน้อยบ้าง จนเขาได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนคนหนึ่ง ผมก็ลืมไปแล้วว่าเขาคนนี้คือใคร และป่านนี้เขายังมีชีวิตอยู่หรือละโลกไปแล้วก็สุดจะรู้ได้ ที่นำเอาเรื่องนี้มาเขียนเล่าให้ผู้อ่านฟัง ก็เพื่อให้คติว่า ชีวิตเราเกิดมาแล้วต้องสู้จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ

คนที่เขามีวิญญาณแห่งนักต่อสู้ แม้ร่างกายจะไม่สมประกอบเขายังประสบความสำเร็จได้ เพราะความมีจิตใจมั่นคง ต่อสู้ไปจนถึงที่สุด

เราท่านที่มีอวัยวะครบ ๓๒ประการ จะท้อถอยทำไมเล่าครับ


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)

มีต่อ


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 มีนาคม 2560 16:56:01
(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/3e/Buddha-Vajrapani-Herakles.JPG/230px-Buddha-Vajrapani-Herakles.JPG)

รู้จักเอาประโยชน์

มีหลักนักการทูตอยู่ข้อหนึ่งใน ๑๑ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้คือ การรู้จักเก็บเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ หมายถึงว่าในการติดต่อเจรจากัน หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอะไรกันนั้น คำพูดของฝ่ายตรงข้าม อาจมีทั้งที่เป็นที่สบใจและไม่สบใจเรา ผู้เป็นนักการทูตที่ดีจะต้องพยายามหาเอาประโยชน์ให้ได้ แม้จากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เลย

บางทีเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ จำต้องอดทนต่อท่าทีอันเหยียดหยาม หรือวาจาที่ทิ่มแทง อันเป็นความไม่พอใจส่วนตัว แต่ถ้าการอดทนนั้นจะให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แก่ประเทศชาติส่วนรวมก็ต้องยอม

ไม่เช่นนั้นจะเป็นนักการทูตที่ดีไม่ได้ พ่อค้าที่ดีก็ไม่แตกต่างจากนักการทูตนัก

ผมเคยเห็นอาแปะเจ้าของร้านขายไตรจีวรที่ร้านแถวๆ เสาชิงช้า วัดสุทัศน์ ลูกค้าหรือผู้ไปซื้อผ้าไตรจีวรและบริขารสำหรับพระภิกษุ มีทั้งญาติโยมที่จะบวชพระและพระสงฆ์องค์เจ้า วันๆ อาแปะต้องต่อสู้กับความไม่พอใจส่วนตัวไม่น้อย

ลูกค้าที่จู้จี้ขี้บ่น ชอบติโน่นตินี่ รื้อกองผ้าไตรแล้วก็ไม่ซื้อ ถามราคาแล้วก็ร้องว่าแพง อะไรเหล่านี้ ไม่มีเฉพาะชาวบ้าน พระภิกษุบางรูปก็เอากะเขาเช่นกัน

วันหนึ่งผมมีธุระไปซื้อผ้าไตร จะมาบวชลูกชายตอนปิดเทอม หลังจากเกลี้ยกล่อมให้ลูกชายยินยอมบวชสักสองอาทิตย์ ก็รีบไปที่ร้านแถวเสาชิงช้าดังกล่าว เจรจาซื้อผ้าไตรและบริขารเครื่องใช้สำหรับสามเณร ในร้านมีพระสองสามรูปอยู่ก่อนแล้ว

พระที่อายุมากกว่าองค์อื่นรูปร่างใหญ่ เสียงดังพูดไปบ่นไป ใช้คำแรงๆ กับอาแปะเจ้าของร้าน ขนาดผมไม่ใช่คนขายฟังแล้วยังรู้สึกถ้าเป็นเจ้าของร้านผมนิมนต์ท่านออกจากร้านไปแล้ว อาแปะหายเข้าไปในร้านสักพักหนึ่ง เดินออกมาพร้อมกาน้ำชาและถ้วยชา

"ใจเย็งๆ หลวงพ่อ เจี๊ยะเต๊ก่อง" ว่าแล้วก็รินน้ำชาใส่ถ้วยยื่นให้ หลังจากฉันชาไปสองถ้วย เห็นอาแปะนั่งฟังคำดุด่าของตนอย่างใจเย็น พระคุณเจ้าผู้มีปากคมดุจมีดโกนรูปนี้ก็เสียงอ่อนลง พูดคุยกับอาแปะด้วยอารมณ์ดีขึ้น

ตกลงวันนั้นอาแปะแกขายผ้าไตรให้แก่พระคุณเจ้านั้น หลายชุด

ผมเห็นแล้วก็มาได้คิดว่าอาแปะแกหวังผลประโยชน์ คือ การขายผ้าไตร ขอให้ขายได้ ไม่ว่าจะผ่านอุปสรรคนานาประการเพียงใดก็ตาม ผู้ซื้อจะต่อแหลกต่อไปด่าไป หรือจะรื้อจะค้น จนสินค้ายับเยินก็ปล่อยให้ทำไปด้วยใจเย็น

ขณะเดียวกันก็หาวิธีดับความร้อนของลูกค้าไปด้วย เช่นใช้คำพูดที่รื่นหู หาน้ำหาท่ามาให้ดื่ม ในที่สุดก็ผูกมัดจิตใจลูกค้าไว้ได้ ก้าวเข้าร้านมาแล้วไม่มีกลับออกไปมือเปล่า ว่างั้นเถอะ

ริจะทำมาค้าขายก็ต้องฝึก "ยุทธวิธี" นี้ให้ได้ คือยอมอดยอมทนต่อกิริยาอาการ หรือวาจาของลูกค้าให้ได้ และรู้จักวิธีประโลมให้จิตใจลูกค้าเย็นลง หรือใจอ่อนลงให้ได้

อย่าเอาอย่างแม่ค้าแถว...(ไม่เอ่ยละขอรับ) พอเราจับสินค้าดูเท่านั้นก็แว้ดเอา "จับแล้วต้องซื้อนะ ไม่อย่างนั้นละก็น่าดู"



พระพุทธเจ้ากับเพลง
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)

คงจำได้ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์สันติอโศกนั้น อดีตพ่อท่าน อดีตสมณพราหมณ์ ปัจจุบัน "นาย" รัก รักพงษ์ ประกาศว่า ได้แต่งเพลงไว้เพลงหนึ่งชื่อ "คนหยามฟ้าไม่หยาม" และบอกว่า กำลังรับสมัครนักร้องมาร้องเพลงดังกล่าวอยู่

ขณะนั้นพระคุณเจ้ารูปหนึ่งคือ พระมหาสมุทร เลขานุการเจ้าคณะภาค 4 สังกัดวัดสุทัศนเทพวราราม ใกล้ๆ เสาชิงช้า ประกาศออกมาบ้างว่าท่านเองก็แต่งเพลงหนึ่งโต้ตอบเพลงของโพธิรักษ์ ดูเหมือนจะตั้งชื่อว่า คนดีฟ้าไม่หยาม หรืออะไรทำนองนั้นแหละ ต้องขออภัยหลวงพ่อสุนทร ผมมันคนความจำเสื่อม จำอะไรไม่ค่อยแม่น

มีคนถามผมว่า พระแต่งเพลงโต้ตอบกันได้หรือ ผมย้อนแกว่า อ้าว ทำไมล่ะ มีปัญหาอะไรหรือ มีสิ แกบอก มีศีลห้ามไว้มิใช่หรือว่า ห้ามพระเกี่ยวข้องกับเพลงดนตรีอะไรเหล่านี้ ครับเมื่ออ้างหลักฐานก็ต้องยกมาให้ดูกัน เพื่อหายสงสัย

ศีลข้อ 7 มีว่า "นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา เวระมณีสิกขาปะทังสะมาทิยามิ" (เราขอสมาทานสิกขาบทคือการงดเว้นจาก ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นต่างๆ)

ถ้าดูตามนี้ห้ามพระ (หรือคนที่ถือศีล 8) เกี่ยวข้องกับเพลงจริง แต่เกี่ยวข้องในฐานเป็นคนร้องเอง เพียงนึกสนุกจะแต่งเพลงธรรมะสักเพลงสองเพลงก็ไม่น่าจะผิดอะไร

เชื่อไหม พระพุทธเจ้าพระองค์ยังทรงเคยแต่งเพลงโต้ตอบกันมาแล้ว "ไม่เชื่อ" เสียงใครไม่รู้สวนทันที เอ้า ไม่เชื่อ ผมจะเล่าให้ฟัง

ณ ลุ่มแม่น้ำคงคา มีมนุษย์เผ่านาคาอาศัยอยู่ ราชาของพวกนาคาได้แต่งเพลงปริศนาให้ธิดาของตนขับร้อง ล่องเรือไปตามลำน้ำ ร้องท้าทายให้คนตอบดูเหมือนประกาศด้วยว่า ถ้าหนุ่มคนใดแต่งเพลงโต้ตอบที่ไพเราะพอๆ กันและไขปริศนานั้นได้ถูกต้อง ราชาพวกนาคจะยกธิดาให้เป็นคู่ครอง

เหตุการณ์ผ่านไปเป็นเดือนเป็นปี ไม่มีหนุ่มหน้าไหนแต่งเพลงแก้ได้ เพลงที่ธิดานาคราชขับร้องนั้นมีใจความสั้นๆ ว่า

กิงสุ อะธิปะติ ราชา  เป็นใหญ่ชนิดไหนจึงชื่อว่าพระราชา

กิงสุ ราชา ระชัสสิโร  พระราชาชนิดไหนที่พระเศียรเปื้อนฝุ่น

กะถังสุ วิระโช โหติ   พระราชาชนิดไหนไม่เปื้อนฝุ่น

กะถัง พาโลติ วุจจะติ   คนชนิดไหนเรียกว่าคนพาล

เกนัสสุ วุยหะติ พาโล   คนพาลถูกกระแสน้ำชนิดไหนพัดไป

กะถัง นุทะติ ปัณฑิโต   บัณฑิตจะบรรเทาเบาบาง

โยคักเขมี กะถัง โหติ   แก้ไขตนให้ปลอดภัยได้อย่างไร

ตัง เม อักขาหิ ปัณฑิโต   ใครที่คิดว่าเก่งช่วยตอบฉันที

นักเพลงฉ่อย เพลงบอก นักกลอนประตูหน้าต่างสารพัดประเภท ทั้งหนุ่มและแก่ เห็นธิดานาคราชสวยหยดย้อยหยาดเยิ้ม ก็อยากจะได้มาครอบครองบ้าง จึงแต่งเพลงแก้ไปตามสติปัญญาของตน แต่ก็ถูกเธอปฏิเสธหมดว่าใช้ไม่ได้

เสียดายว่าท่านพี่โพธิรักษ์เกิดไม่ทัน ไม่งั้นคงได้แต่งเพลงแก้ได้แน่ๆ "สีปาก" ระดับผู้แต่งเพลง "ผู้แพ้" อันฮิตติดอันดับและเพลง "โทน" อันลือลั่นมาแล้วคงรับประกันคุณภาพได้ (ส่วนธิดานาคราช ถ้าท่านพี่ไม่รับ จะเอามาให้น้องชายแทนก็ไม่ว่ากระไร ฮิฮิ)

ช่วงเวลานั้นพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านไปทางนั้น พอดี ทรงแต่งเพลงแก้มอบให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งไป ขับตอบ ปรากฏว่าเป็นที่พออกพอใจของราชาพวกนาคและธิดาของท้าวเธอเป็นอย่างมาก จนกลาย เป็น "ฮู๊เบ๊" (พระราชบุตรเขย) ในที่สุด โชคดีอะไรเช่นนั้น

เพลงพระพุทธเจ้านิพนธ์บทนั้นมีว่า

ฉัทวาราธิปะดี ราชา เป็นใหญ่เหนือทวารทั้งหกเรียกว่าพระราชา

ระชะมาโน ระชัสสิโร พระราชาที่มากราคะชื่อว่ามีพระเศียรเปื้อนฝุ่น

อะระชัง วิระโช โหติ พระราชาที่ไม่มากราคะชื่อว่าไม่เปื้อนฝุ่น

ระชัง พาโลติ วุจจะติ คนที่มากราคะเรียกว่า คนพาล

โอเฆนะ วุยหะตี พาโล คนพาลถูกกระแสกิเลสพัดไป

โยคา นุทะติ ปัณฑิโต บัณฑิตบรรเทากิเลสได้ด้วยความพากเพียร

สัพพะโยคะวิสังยุตโต แก้ไขตนให้พ้นกิเลส รึงรัดใจทุกชนิด

โยคักเขมีติ วุจจะติ จึงนับว่าทำตนให้ปลอดภัยได้จริง

หลักฐานพระไตรปิฎกหลายแห่งพูดถึงพระพุทธองค์ทรงแต่งกวีโต้ตอบบุคคลต่างๆ (ดังกวีโต้ตอบคนเลี้ยงโคชื่อธนิยะ เป็นต้น) จะว่าไปแล้วก็คือบทเพลงนั่นเอง เรื่องเหล่านี้พระพุทธองค์ทรงกระทำบ่อยๆ เพราะเป็นวิธีการชักจูงคนเข้าหาธรรมะที่ดีวิธีหนึ่ง ถ้าศิษย์ตถาคตบางรูปจะแต่งเพลงธรรมะขึ้นมาบ้างก็ไม่ควรไปว่าท่าน

เออ ถ้าอยู่ๆ หลวงพี่แกเกิดมันในอารมณ์ฮัมออกมาว่า "อ่อนซ้อมไปหน่อย น้องน้อยพี่จึงเปลี่ยนไป..." อะไรอย่างนี้แล้วค่อยว่ากัน



อันเนื่องมาแต่เรื่อง นครโสเภณี
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)

เขียนเรื่องโสเภณีไปเมื่ออาทิตย์ก่อน ไม่นึกว่าจะได้รับการขานรับจากท่านผู้อ่านมากมายขนาดนี้ ขอขอบคุณที่กรุณาให้ความรู้เป็นวิทยาทานครับ

คุณโอบ สมิต เล่าให้ฟังว่า "คุณได้เขียนถึงคำว่า กะหรี่ ไม่รู้ว่าคำนี้จะมาเกี่ยวพวกนี้อย่างไรนั้น ผมเองพอจะรู้เรื่องของคำคำนี้มา จึงขอเอาความรู้นี้มาบอกให้รู้อีกด้วย ดังนี้

คำคำนี้ เป็นคำที่ได้หดสั้นลงจาก คำว่า ช็อกการี นั่นเอง เมื่อสมัยก่อนๆ นั้น คุณเธอพวกนี้ได้ถูกเรียกขานว่า ช็อกการี กันโดยทั่วๆ ไป เมื่อสมัยนั้นยังไม่มีคำว่า โสเภณี คำนี้ใช้เลย เพิ่งมากำหนดขึ้นในภายหลังของ คำว่า ช็อกการี คำนี้นานทีเดียว จำไม่ได้ว่าได้กำหนดขึ้นมาเมื่อใด คำว่า ช็อกการี คำนี้ ได้รู้มาว่าเป็นคำในภาษาแขกพวกหนึ่ง ที่อยู่ในประเทศอินเดีย ที่มีความหมายว่า ผู้หญิงที่ไว้ผมยาว เท่านั้นเอง ไม่เกี่ยวกับคุณเธอพวกนี้แต่อย่างใดอีกด้วย แต่ทำไมจึงได้มาเป็นคำที่ใช้เรียก คุณเธอพวกนี้ก็ไม่รู้อีกด้วย สมัยนั้นๆ ก็ประมาณๆ ได้ว่าแถวๆ พ.ศ.๒๔๕๐-๒๔๖๐ เห็นจะได้ ต่อๆ มาจึงได้หดเหลือแต่คำว่า กาหรี่ หรือ กะหรี่ เท่านั้นเอง ตามที่ได้รู้กันในขณะนี้นั้น เพราะคนไทยเรานี้มักจะชอบหดคำต่างๆ ที่มีหลายพยางค์ลงให้สั้นเข้า เช่น คำว่า มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และคำอื่นๆ อีกมากมาย ก็ได้หดลงเป็น มหา-ลัย โรง-บาล และคำอื่นๆ อีกหลายคำนั้นด้วย"

อีกฉบับหนึ่งจาก "ภาวนา-วัตร" เล่าให้ฟังตามประสาผู้อาวุโสผู้มีประสบการณ์ว่า

"คุณจดคำศัพท์คำว่า กะหรี่ หรือ คุณเกิดไม่ทันจะไปรู้ได้อย่างไร สำนวนไทยก็ไม่มีใครเขียนเป็นตำราไทยด้วย วันนี้ขออนุญาตเป็นครู ป.ธ.๙ สักหน่อยฮิๆ หวังว่าคงไม่รังเกียจนะ เรานักศึกษาด้วยกัน

ศัพท์นี้ เขาใช้กันมานานแล้ว ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ โน่น เมื่อผมรุ่นหนุ่มราว พ.ศ.๒๔๗๐ (ขอเอาอายุข่มอีกหน่อย) เดี๋ยวนี้ผมอายุ ๗๕ ปี อวัยวะเพศของผู้หญิงเขาเรียกว่า หม้อ ถ้าจะไปเที่ยวสังวาสผู้หญิงโสเภณี เขาเรียกว่า ตีหม้อ ต่อมามีอีกศัพท์หนึ่งว่า ช็อกกะหรี่ หมายเอาตัวโสเภณี มิได้หมายเอาอวัยวะเพศอย่างคำว่า หม้อนางนี่เป็น ช็อกกะรี ก็หมายเอาว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นหญิงหากิน ศัพท์สองศัพท์นี้หายไปพร้อมสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วได้มีศัพท์คำว่า กะหรี่ เข้ามาแทนที่"

มีอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกนางนครโสเภณีคือ คณิกา มาจากคำว่า "คณะ" (ซึ่งแปลว่า คณะ, พวก) คณิกา ก็ต้องแปลว่า ผู้หากินเป็นคณะเป็นพวก แสดงว่ามาถึงระยะนี้คุณเธอเหล่านี้ได้ "ตั้งสำนัก" หากินอย่างเป็นล่ำเป็นสันอย่างที่สมัยนี้เรียกว่า "ซ่อง" นั่นแล

เมื่อมีสำนัก ก็คงต้องมีเจ้าสำนักหรือ ผู้คุมสำนักเป็นธรรมดา ร่วมมือกันหากินจนร่ำรวย คนที่รวยกว่าใครก็เห็นจะเป็น เจ้าสำนัก หรือคุณแม่นั่นเอง

คุณแม่บางคนแก่เฒ่ามา นึกถึงบาปบุญคุณโทษ เจียดเงินที่ได้จากการขายเนื้อสด มาสร้างวัดวาอารามก็มี อย่างกรณียายแฟง แกนำเงินจาก "มังสพาณิชย์" (ก็ขายเนื้อนั่นแหละ) มาสร้าง วัดคณิกาผล สวยสดงดงาม

แกนิมนต์สมเด็จโตมาเทศน์ฉลอง สมเด็จ ท่านบอกยายแฟงว่า ถึงแกจะสร้างวัดใหญ่โตแกก็ได้บุญไม่เท่าไหร่หรอก เพราะเงินที่นำมาสร้างมิใช่ได้จากหยาดเหงื่อแรงกายของแก คนที่ควรได้บุญมากกว่าใครก็คือคุณเธอลูกๆ ของยายต่างหาก ว่ากันว่ายายแฟงแกโกรธสมเด็จ เสียไม่มีดี ต่อมาเมื่อนั่งคิดนอนคิดถึงเหตุผลแล้วจึงเห็นด้วยกับสมเด็จ

เชื้อสายของยายแฟงปัจจุบันนี้ยังมีอยู่และเป็นใหญ่เป็นโตก็หลายคน เอ่ยชื่อขึ้นมาคงรู้จักกันทั่วเมือง

อีกชื่อหนึ่งที่รู้กันแพร่หลายไม่แพ้สองชื่อข้างต้นคือ เวสิยา ท่านอธิบายความหมายไว้ ๓ นัย คือ (๑) หญิงผู้สวยงาม (๒) หญิงผู้ซึ่งบุรุษจะพึงไปหา และ (๓) หญิงผู้อยู่ตามตรอก

สองความหมายแรกชัดเจนอยู่แล้ว แต่ความหมายหลังอาจตีความได้สองอย่าง คือ สำนักของพวกเธออยู่ตามตรอกหรือตามซอยอันเป็นทำเลที่เหมาะ (ดังเช่นแถวๆ บางขุนพรหม เป็นต้น) นี่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งอาจหมายถึงว่า คุณเธอเหล่านี้ได้ตกต่ำถึงขนาดแล้ว ไม่ได้หากินอยู่ตามตึกรามบ้านช่อง แต่เร่ดักเหยื่ออยู่ตามตรอกตามซอย ประเภท "ไก่หลง" อะไรทำนองนั้น

คำว่า "เวสิยา" คนไทยเรียกเพี้ยนเป็น แพศยา ดูจะเป็นชื่อเรียกด้วยความเหยียดหยามมากกว่ายกย่อง ยุคสมัยที่เกิดชื่อนี้ขึ้นมา พวกเธอคงไม่ได้รับการยกย่องหรือยอมรับจากสังคมอีกต่อไปแล้ว

ส่วนคำว่า กะหรี่ ที่เป็นชื่อผงแกงเผ็ด กลายมาเป็นชื่อหนึ่งของหญิงโสเภณีได้อย่างไร ผมมองไม่ออก และอ่านไม่พบที่ไปที่มา เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่า กะหรี่ คำนี้เป็นภาษามลายู แปลว่า หม้อ

ก็ยิ่งมองไม่เห็นทางว่าไอ้หม้อนี่มันมาเกี่ยวข้องกับคุณเธอพวกนี้อย่างไร



ขี้เหร่เสนห์แรง
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)

ชื่อเรื่องเหมือนกับละครโทรทัศน์แน่ะครับ

คุณกมล นันทกมล แฟนเก่า (แต่ไม่แก่) ที่เคยถามความเป็นมาของคำว่า "กะหรี่" คราวนี้ถามอีกว่า เคยได้อ่านหนังสืออะไรนานมาแล้วว่านางอะไรก็จำไม่ได้เป็นนางบริการได้ช่วยเหลือกษัตริย์อะไรก็จำไม่ได้อีก กษัตริย์ตรัสว่าจะนำเข้าวังเป็นมเหสี ในที่สุดก็ต้องทำตามสัญญา เพราะกษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ ช่วยไปค้นมาเล่าให้ฟังทีเถอะ ว่าอย่างนั้น ผมสอบตกอีกตามเคย นึกไม่ออกว่าเรื่องอะไร (แหม ยังกับผมอ่านมากนักนี่ เดี๋ยวนี้ไม่มีเวลาอ่านหนังสือเลย แค่มั่วต้นฉบับส่งโรงพิมพ์ก็จะบ้าตายอยู่แล้ว) ขณะนี้นึกได้เรื่องเดียว คล้ายกันนี้คือ เรื่อง "นางขี้เหร่เสน่ห์แรง" เล่าซะเลย

นานมาแล้ว (นานแค่ไหนข้อยก็บ่ฮู้ ข่อยบ่มี "ญาณ" เหมือนบางคนนี่ครับ) มีเด็กหญิงลูกคนจนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ นอกเมืองพาราณสี (นิทานทุกเรื่องเกิดที่เมืองนี้ทั้งนั้นแหละ) วันหนึ่งขณะที่นางขยำดินเหนียวเพื่อฉาบทาฝาเรือน พระปัจเจกพุทธองค์หนึ่งมายืนอุ้มบาตรสงบนิ่งอยู่หน้าบ้าน เพื่อบิณฑบาต เอาดินไปฉาบทาผนังถ้ำที่อยู่ของท่าน

นางเห็นเช่นนั้น ก็ตีหน้ายักษ์ใส่ พูดประชดว่า "อยากได้ดินเหรอ เอ้าเอาไป" โกยดินเหนียวก้อนใหญ่โยนตุ๊บลงในบาตร

นางตายจากชาตินั้นแล้วมาเกิดเป็นลูกสาวคนยากจนในเมืองพาราณสี จนไม่จนเปล่า แถมขี้ริ้วดูไม่ได้อีก มือ เท้า ปาก จมูก ตา พิกลพิการน่าเกลียดจนได้สมญาว่า

"ปัญจปาปา" (ขี้เหร่ห้าแห่งหรือมีปมด้อยห้าแห่ง) นี่เป็นผลของการทำหน้าเบี้ยวหน้าบูดใส่พระใส่เจ้า พระปัจเจกพุทธเสียด้วยสิ

แต่ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายดินเหนียวที่ขยำละเอียดแล้วแก่พระปัจเจกพุทธ อีนางขี้เหร่คนนี้มีสัมผัสอันเป็นทิพย์ ใครได้ถูกต้องตัวนางจะซาบซ่านไปถึงทรวง เกิดความลุ่มหลงในสัมผัสอันนุ่มนวลนั้นทุกคน

วันหนึ่งนางกำลังเล่นซ่อนหาอยู่กับพวกเด็กๆ ชาวบ้านวิ่งไปถูกตัวพระราชาเมืองพาราณสีที่ปลอมตัวออกมาดูสารทุกข์สุกดิบของชาวเมือง และบังเอิญมาถึงที่นั่นพอดี พระเจ้าพาราณสีถึงกับตะลึงงันดังต้องมนต์ ตามไปขอพ่อแม่เธอทันที

พ่อแม่นางนึกว่าชาตินี้ลูกสาวคงหาสามีไม่ได้แล้ว พอมีหนุ่มรูปหล่อมาสู่ขอก็ยินดียกให้ทันที ดีใจยังกับถูกลอตเตอรี่ของรัฐบาลน้าชาติก็มิปาน

ทุกคืนพระราชาก็จะปลีกพระองค์ออกมาอยู่กับนางที่กระท่อมนอกเมือง พอจวนสว่างก็เสด็จกลับเข้าวัง พ่อตาแม่ยายไม่รู้ว่าลูกเขยรูปหล่อเป็นลูกเต้าเหล่าใคร

ปัญจปาปาเองก็ไม่รู้ ถามก็ไม่ยอมบอก บอกแต่เพียงว่าบ้านอยู่ในเมือง สักวันหนึ่งเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วจะรับนางและพ่อแม่ไปอยู่ด้วยกัน ไม่ต้องเทียวไล้เทียวขื่ออย่างนี้อีกต่อไป

วันหนึ่งพ่อตาป่วยหนัก จะต้องกินข้าวมธุปายาสอย่างดี อาการป่วยจึงจะหาย ครอบครัวยากจนอย่างนั้นจะมีปัญญาที่ไหนซื้อข้าวมธุปายาส เมื่อพระราชาทรงรู้เรื่อง จึงรับอาสาไปเอาข้าวมธุปายาสมาสองหม้อ พ่อตากินข้าวมธุปายาสแล้วอาการป่วยก็หายขาด

หายป่วยไม่ทันไรก็โดนตำรวจจับทั้งครอบครัวในข้อหาว่าขโมยพระจุฑามณี (ปิ่น) ของพระราชา (ก็ลูกเขยที่ "มากับความมืด" เป็นคนแอบใส่จุฑามณีไว้ในหม้อข้าวมธุปายาสนี่เองครับ) นางปัญจปาปาให้การต่อเจ้าหน้าที่ว่า พ่อนางไม่ได้ขโมย ปิ่นนี้สามีนางเป็นคนเอามา

"สามีเธออยู่ที่ไหน" เจ้าหน้าที่ซัก

"ไม่รู้ เขามาอยู่กับฉันตอนกลางคืน เช้ามืดเขาก็ไป" นางบอก "แต่ถ้าฉันได้จับมือเขาแล้วฉันบอกได้"

และแล้วรายการ "จับมือหาขโมย" ก็เริ่มขึ้น พระราชารับสั่งให้เกณฑ์ชายหนุ่มชายแก่ทั่วทั้งเมืองมานั่งในม่าน เจาะรูพอสอดมือออกมาได้ ให้นางจับ นางจับมือคนแล้วคนเล่าปฏิเสธว่าไม่ใช่สามีนาง (คนที่ถูกสัมผัสมือแล้วต่างลุ่มหลงในสัมผัสนั้นไม่ยอมหนีไปไหน จนเจ้าหน้าที่ต้องไล่กันอลหม่าน)

พระราชารับสั่งว่า "อาจเป็นฉันก็ได้มั้ง" แล้วยื่นพระหัตถ์ออกมาที่ช่องนั้น นางจับพระหัตถ์ได้ก็ร้องเสียงดัง "จับได้แล้ว นี่ไงสามีฉันละ"

ครับ ท้ายที่สุดอีนางขี้เหร่เสน่ห์แรงก็ได้เข้ามาอยู่ในพระราชวังในตำแหน่งอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสี เรื่องยังกับนิยายแน่ะ (ก็มันนิยายจริงๆ นี่ครับ)

แต่ที่มิใช่นิยายก็คือ ถ้าใครอยากหล่ออยากสวย เวลาทำบุญ ทำทานจงทำด้วยจิตใจเลื่อมใสศรัทธา ยิ้มแย้มแจ่มใส ทั้งก่อน ให้ กำลังให้ และหลังจากให้แล้ว

นี่ไม่ได้พูดเล่น มีพุทธวจนะตรัสไว้จริงๆ



สูตรลดความอ้วนของพระพุทธเจ้า
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)

ความจริงเรื่องอย่างนี้ไม่อยู่ในความสนใจของผมผู้เขียน เพราะตัวเองไม่มีปัญหาเรื่องความอ้วน ถ้าจะมีคงเป็นปัญหาเรื่องความไม่อ้วนมากกว่า เพราะไม่ว่าจะพยายามอยู่ดีกินดีอย่างไร น้ำหนักก็ไม่เคยเกินห้าสิบสามกิโลกรัม

เห็นเพื่อนๆ เขาไว้พุงพลุ้ยแล้วอิจฉาชะมัด

แต่คนที่เขาอ้วน เขากลับไม่ชอบ หมอบอกว่าความอ้วนเป็นโรคอย่างหนึ่งเรียกว่า โรคอ้วน แล้วก็เป็นทางมาของโรคอื่นๆ ที่จะแทรกซ้อนมากับความอ้วนนั้นอีกมากมาย โรคอะไรบ้างจำไม่ได้ สรุปแล้วคนอ้วนไม่ชอบความอ้วนของตน จึงหาทางลดความอ้วนโดยวิธีการต่างๆ กินยาบ้าง ฉีดยาบ้าง ออกกำลังกายบ้าง แล้วแต่จะหาวิธีไหนได้ผล

บังเอิญคนไม่อ้วน (ก็ผอมนั่นแหละ) อย่างผม ไปอ่านเจอสูตรลดความอ้วนของพระพุทธ เจ้าเข้าเลย นึกถึงเพื่อนๆ ที่กำลังอยากรักษาโรคอ้วนจึงขอนำมาฝาก

สูตรนี้มีคนทดลองได้ผลชะงัดมาแล้ว ไม่เพียงทฤษฎีเฉยๆ คนอ้วนพุงพลุ้ยที่กลายมาเป็นคนหุ่นสเลนเดอร์คนนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน พระเจ้าปเสนทิโกศล พระญาติสนิททั้งทางธรรมและทางสายโลหิตของพระพุทธองค์นั่นเอง

เห็นจะต้องแวะพักข้างทาง เล่าตรงนี้สักหน่อย ตามสไตล์ของนาย ไต้ ตามทาง (ไม่งั้นจะชื่อ "ตามทาง" เรอะ)

ความจริงพระมหากษัตริย์พระองค์นี้เป็นมหาราชปกครองเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เป็นเจ้านายของพวกศากยะ (แคว้นศากยะอยู่ในฐานะเป็นคล้ายๆ ประเทศราชของแคว้นโกศล อะไรทำนองนั้นแหละครับ) เมื่อเจ้าชายแห่งศากยวงศ์ ชื่อ สิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ศัพท์เทคนิคทางศาสนาพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือออกบวช) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เป็นบุคคลสำคัญของโลกแล้วว่างั้นเถอะ ใครๆ ก็อยากมอบกายถวายตัวเป็นสาวก

กษัตริย์หนุ่มแห่งมครัฐ ชื่อ พิมพิสาร เป็นพระองค์แรกที่ถวายตัวเป็นสาวกของพระองค์ ทรงสร้างวัดถวาย (วัดพระเวฬุวัน) และถวายความอุปถัมภ์พระพุทธองค์ และพระพุทธศาสนาโดยส่วนรวมอย่างแข็งขัน จนเมืองราชคฤห์ได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในเวลาต่อมาไม่ช้าไม่นาน

พระเจ้าปเสนทิโกศลเองก็อยากจะเป็นเช่นนั้นบ้าง คอยหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา บังเอิญโชคช่วย สุทัตตเศรษฐี (ต่อมาเรียกว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี) ไปอาราธนาพระพุทธองค์มาโปรดเมืองสาวัตถี โดยได้สร้างวัดพระเชตวันถวาย พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เลยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฟังธรรมและถวายตนเป็นสาวกของพระองค์ในเวลาต่อมา

เมื่อได้ใกล้ชิดพระองค์ในทางธรรมอย่างนี้แล้ว นึกอยากจะ "เป็นญาติทางสายเลือด" กับพระองค์บ้าง จึงขอนางกษัตริย์จากศากยวงศ์มาอภิเษกเป็นอัครมเหสี (บังเอิญถูกพวกศากยะ "ย้อมแมวขาย" คือ ส่งลูกสาวเจ้าศากยะเกิดจากนางทาสีมาให้ พอรู้ความจริงปเสนทิโกศลร่ำๆ จะยกทัพไปขยี้พวกศากยะ พอดีพระพุทธองค์เสด็จมาเทศน์โปรดเลยรอดตัวไป พวกศากยะนะสิครับรอดตัวไป) นี่แหละครับที่ผมว่าปเสนทิโกศล ได้เป็นทั้งญาติทางธรรมและญาติทางสายโลหิตกับพระพุทธองค์

พระราชาพระองค์นี้ทรงมีพระวรกายตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ยแต่ทรงพระเยาว์แล้ว ยิ่งนานวันเข้าก็ยิ่งน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น สาเหตุแห่งความอ้วนก็มิใช่อะไร "อติพหุโภชน์" นั่นแหละครับ (แปลว่า การ เจี๊ยะมาก) วันหนึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินอุ้ยอ้ายๆ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงทักว่า

"มหาบพิตร ทรงมีอาการเหน็ดเหนื่อยเหมือนวิ่งมาจากทางไกล"

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า หามิได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะอ้วนมากเกินไปนั่นเอง ถึงเดินมาเฉยๆ ก็เหนื่อยใจแทบขาดยังกับวิ่งมาราธอนก็มิปาน

"อยากลดความอ้วนไหม มหาบพิตร" พระพุทธองค์ตรัสถาม

"อยาก พระเจ้าข้า"

"ถ้าอย่างนั้น ทุกครั้งที่พระองค์เสวยพระกระยาหาร ให้ใครสักคนสวดคาถานี้ให้ฟัง ความอ้วนจะค่อยลดลงอย่างน่าอัศจรรย์" แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสบอกคาถาให้ว่า

มะนุชัสสะ สะทา สะตีมะโต มัตตัง ชานะโต ลัทธะโภชะเน

ตะนุกัสสะ ภะวันติ เวทะนา สะณิกัง ชีระติ อายุ ปาละยัง

พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งให้อุตตรมาณพ นายทหารคนสนิท ท่องคาถานั้นทุกครั้งที่พระองค์เสวยพระกระยาหาร อุตตระก็ท่องคาถาออกมาดังๆ



ตาบอดคลำช้าง
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)

วันนี้อยากเล่านิทานชาดกสักเรื่อง ก็เรื่องเก่าๆ ที่เคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว แต่สาระของนิทานไม่รู้จักเก่า ไปด้วย

เรื่องนั้นชื่อเรื่อง "ตาบอดคลำช้าง" ครับ

เรื่องตาบอดคลำช้างนี้ มีอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๓๖ ภายใต้หัวเรื่องว่า "กิรสูตร ว่าด้วยความเห็นแย้งกัน"

สำนวนแปลภาษาไทยท่านใช้ภาษาเก่า ติดจะแก่วัดไปหน่อย แต่ก็พออ่านเข้าใจ ผมขอเรียบเรียงใหม่ให้ฟังง่ายขึ้นดังนี้ครับ

สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมือง สาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศล ได้รับ คำบอกเล่าจากเหล่าสาวกว่า ในเมืองสาวัตถีมีสมณพราหมณ์และปริพาชกมากมาย ต่างคนต่างเชื่อ ต่างความเห็น แต่ละฝ่ายก็ยึดทฤษฎีของตนว่าถูกต้อง ดูถูกเหยียดหยามกัน ทำให้ประชาชนลังเลสงสัยว่าจะเชื่อใครดี ใครผิดใครถูก

แทนที่จะชี้ว่าฝ่ายไหนผิด ฝ่ายไหนถูก พระพุทธองค์ได้ชักนิทานมาเล่าให้สาวกฟัง

นานมาแล้ว ในเมืองสาวัตถีนี่แหละมี พระราชาองค์หนึ่ง รับสั่งให้ประชุมคนตาบอดแต่กำเนิดทั่วประเทศ ท่านไม่ได้บอกว่าเกณฑ์คนตาบอดมาได้มากน้อยแค่ไหนแต่เชื่อว่าคงจำนวนมากพอดูแหละครับ

เมื่อคนตาบอดมากันพร้อมแล้ว พระราชาจึงให้แบ่งออกเป็น ๘ พวก ให้นำช้างมาให้พวกเขาคลำดูพวกละแห่ง คือ ศีรษะบ้าง งวงบ้าง ตลอดจนปลายหาง ตามลำดับ

เสร็จแล้วตรัสถามว่า ช้างมีลักษณะเป็นอย่างไร

พวกที่คลำศีรษะก็กราบทูลว่า "ช้างเหมือนหม้อน้ำพ่ะย่ะค่ะ"

พวกที่คลำหูกราบทูลว่า "เหมือนกระด้ง พ่ะย่ะค่ะ"

"สองพวกนั้นผิด พ่ะย่ะค่ะ ช้างไม่ได้เหมือนอย่างที่ว่าเลย มันเหมือนผาลไถต่างหาก" พวกที่คลำงากราบทูล

พวกที่คลำงวงกราบทูลว่า "เหมือนงอนไถ"

พวกที่คลำลำตัวกราบทูลว่า "เหมือนฉางข้าว"

"เหมือนเสาเรือน" อีกพวกที่คลำเท้าพญาคชสารตอบ

"ไม่จริง เหมือนครกตำข้าวต่างหาก" อีกฝ่ายที่คลำหลังแย้ง

"เหมือนสากต่างหาก" พวกที่คลำโคลนหางโต้

"ขอเดชะ พวกที่กราบทูลมาตั้งแต่ต้น ล้วนไม่รู้จักช้าง ข้าพระพุทธเจ้ารู้จักดี ช้างเหมือนไม้กวาดไม่ผิดเพี้ยน พ่ะย่ะค่ะ" พวกสุดท้ายที่คลำปลายหางกราบทูลด้วยความมั่นใจ

คลำช้างตัวเดียวกัน แต่เห็นไม่เหมือนกันเลย ต่างฝ่ายต่างเถียงกันว่าตนถูก จนเกิดวิวาทกันต่อหน้าพระที่นั่ง "ช้างเป็นเช่นนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น (โว้ย)"

พระราชาพระองค์นั้น ทรงพระสรวลกั๊กๆ ด้วยความสำราญพระราชหฤทัย

เล่านิทานเสร็จ พระพุทธองค์ก็ตรัส สรุปว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก (หมายถึง พวกนับถือลัทธิศาสนาอื่น) เหมือนคนตาบอด ไม่รู้ว่าอะไรคือประโยชน์ อะไรมิใช่ประโยชน์ อะไรคือธรรม อะไรมิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้ก็ทะเลาะวิวาทกัน ทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก"

"คนที่มองอะไรมุมเดียวแล้วยึดติดอยู่ ในแง่มุมที่ตนมองเห็นนั้น ไม่แคล้วต้องวิวาทกัน"

นิทานเรื่องนี้ไม่สรุป มันก็สรุปอยู่ในตัวแล้วมิใช่หรือครับ



หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 มีนาคม 2560 17:03:59
(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/3e/Buddha-Vajrapani-Herakles.JPG/230px-Buddha-Vajrapani-Herakles.JPG)

ค่านิยมเก่า

อ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน เจอข่าวสะเทือนใจทุกวัน (ไม่อ่านก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะก้าวไม่ทันโลก) วันนี้มีข่าวสาวโสดอายุสามสิบกว่า (สามสิบกับอีกเท่าไรก็จำไม่ได้) ฆ่าตัวตาย อ่านแล้วก็สะท้อน

สาเหตุมาจากพ่อของสาวดังกล่าวบอกให้พิจารณาตัว ที่อายุป่านนี้แล้วยังไม่ได้แต่งงาน หรือถ้าจะพูดภาษาตลาดก็ว่า "ยังหาผัวไม่ได้" สาวเจ้าเกิดน้อยใจ เลยพิจารณาตัวจริงๆ ผลการพิจารณาออกมาว่า ตายเสียดีกว่า "นี่คือทางออกที่ดีที่สุดแล้ว" เธอว่าอย่างนั้น

ผมไม่เข้าใจว่า คุณพ่อของสาวที่เป็นข่าว เขาถือเป็นความเสียหายอะไรนักหนากับการที่ลูกสาวอยู่มาจนอายุเลยเลขสามสิบแล้วไม่แต่งงาน หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า การที่ผู้หญิงอยู่เป็นโสดไม่ยอมแต่งงานเป็นความเสียหายอะไร หรือน่าอับอายอะไรนักหนา

ค่านิยมเก่าๆ ที่ว่า สามีเป็นศรีสง่าของภริยานั้น น่าจะเลิกได้แล้ว เดี๋ยวนี้ผู้หญิงหลายต่อหลายคนที่ชีวิตต้องหวานอมขมกลืน ก็เพราะได้ผู้ชายที่ไม่เอาไหนเป็นสามี ซึ่งถ้าเธอไม่เอาชีวิตมาจมปลักอยู่กับชีวิตครอบครัวที่ผู้นำครอบครัวไม่เอาไหน เธออาจมีชีวิตที่สุขสดใสและประสบความสำเร็จมากกว่านี้ก็ได้

ยอมรับกันไหมว่า ผู้ชายไทยยุคปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีคุณภาพเท่าที่ควร ความรับผิดชอบต่อครอบครัวมีน้อย ตกเป็นทาสอบายมุขเป็นส่วนมาก ที่ร้ายคือมักชอบผิดศีลข้อสาม คือชอบมีบ้านเล็กบ้านน้อยกันจนเกือบกลายเป็นประเพณี - ประเพณีที่อัปยศ!

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนเรานั้นมีความประสงค์ไม่เหมือนกันคือ โจรต้องการความมืด พ่อค้าหรือนักธุรกิจต้องการความสำเร็จในธุรกิจ พราหมณ์ต้องการเข้าถึงพระพรหม สมณะต้องการนิพพาน พระราชาหรือผู้ปกครองต้องการความเป็นใหญ่ สตรีต้องการความเป็นหนึ่งของสามี (หมายถึงไม่ต้องการให้สามีมีเมียน้อย)

พระพุทธวจนะบทนี้ ฟ้องความจริงว่า ยุคสมัยพระพุทธองค์ ผู้ชายคงนิยมมีเมียน้อย (คือมีเมียมาก) ดังเช่นสมัยนี้ ผู้หญิงจึงต้องตั้งความปรารถนาไว้ว่าถ้าจะแต่งงานแล้ว อย่าได้เคราะห์ร้ายมีสามีที่มีเมียหลายคนเลย เจ้าประคู้น อะไรทำนองนั้น

ใครจะคิดอย่างไรไม่รู้ สำหรับผม ถ้ามีลูกสาว (ป่านนี้ก็ยังไม่มี) จะสอนลูกว่าถ้าหาผู้ชายที่ดีไม่ได้ (มีแต่ประเภทไม่เอาไหน) สู้อยู่เป็นโสดเสียดีกว่า เพราะถ้าพลาดท่าไปร่วมหอลงโรงกับอสุรกุ๊ยที่ไม่มีความรับผิดชอบ จะชีช้ำกะหล่ำปลีเปล่าๆ ดังเรื่องของกุณฑลเกสี

กุณฑลเกสี เป็นธิดาเศรษฐี พ่อแม่กักขังไว้บนปราสาทเจ็ดชั้น ไม่ยอมให้ไปไหนเพราะหวงมากนั่นเอง วันหนึ่งเห็นเขาแห่มหาโจรนักโทษประหารประจานรอบเมืองก่อนจะนำไปสู่ตะแลงแกง เกิดความรักความสงสาร จึงให้สาวใช้เอาสินบนไปให้เจ้าพนักงาน นำตัวมหาโจรมาเป็นสามี

สันดานโจรยังเป็นโจรวันยังค่ำ ได้อยู่ดีกินดีขนาดนั้นยังไม่พอใจ อยากจะได้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดไว้ครอบครอง จึงบอกภรรยาว่า ที่รอดตายได้เพราะบนบานเจ้าป่าเจ้าเขาไว้ จนบัดนี้ยังไม่ได้แก้บนเลย จึงชวนภรรยาไปแก้บนด้วยกัน โดยให้ภรรยาแต่งตัวด้วยเพชรนิลจินดาแพงๆ นำทรัพย์สินติดตัวไปมากมาย พอขึ้นไปถึงยอดเขาลายเก่าก็ออก มันพูดยิ้มแสยะว่า อีนางหน้าโง่เอ๋ย ฉันมิได้บนบานอะไรไว้ดอก ฉันหลอกเธอมาฆ่าเอาทรัพย์สินต่างหาก

มีสามีที่ไร้คุณภาพก็อย่างนี้แหละครับ ดีไม่ดีอาจเข้า "มุมอับ" ดังกุณฑลเกสี ก็ได้ เคราะห์ดี (เรียกให้ถูกคือ "โชคดี") ที่นางยังตั้งสติได้ คิดแวบขึ้นมาว่า "ปัญญามิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน หากแต่มีไว้เพื่อพิจารณาเหตุผล เราต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อเอาตัวรอดปลอดภัย"

นางกล่าวกับสามีมหาโจรว่า "ไหนๆ ฉันก็จะต้องตายแล้ว ฉันขอรำอำลาท่านเป็นครั้งสุดท้ายเถิด"

มหาโจรยอมตาม ยืนตระหง่านอยู่บนยอดเขา กระหยิ


กุณฑลเกสี เป็นธิดาเศรษฐี พ่อแม่กักขังไว้บนปราสาทเจ็ดชั้น ไม่ยอมให้ไปไหนเพราะหวงมากนั่นเอง วันหนึ่งเห็นเขาแห่มหาโจรนักโทษประหารประจานรอบเมืองก่อนจะนำไปสู่ตะแลงแกง เกิดความรักความสงสาร จึงให้สาวใช้เอาสินบนไปให้เจ้าพนักงาน นำตัวมหาโจรมาเป็นสามี

สันดานโจรยังเป็นโจรวันยังค่ำ ได้อยู่ดีกินดีขนาดนั้นยังไม่พอใจ อยากจะได้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดไว้ครอบครอง จึงบอกภรรยาว่า ที่รอดตายได้เพราะบนบานเจ้าป่าเจ้าเขาไว้ จนบัดนี้ยังไม่ได้แก้บนเลย จึงชวนภรรยาไปแก้บนด้วยกัน โดยให้ภรรยาแต่งตัวด้วยเพชรนิลจินดาแพงๆ นำทรัพย์สินติดตัวไปมากมาย พอขึ้นไปถึงยอดเขาลายเก่าก็ออก มันพูดยิ้มแสยะว่า อีนางหน้าโง่เอ๋ย ฉันมิได้บนบานอะไรไว้ดอก ฉันหลอกเธอมาฆ่าเอาทรัพย์สินต่างหาก

มีสามีที่ไร้คุณภาพก็อย่างนี้แหละครับ ดีไม่ดีอาจเข้า "มุมอับ" ดังกุณฑลเกสี ก็ได้ เคราะห์ดี (เรียกให้ถูกคือ "โชคดี") ที่นางยังตั้งสติได้ คิดแวบขึ้นมาว่า "ปัญญามิได้มีไว้เพื่อต้มแกงกิน หากแต่มีไว้เพื่อพิจารณาเหตุผล เราต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อเอาตัวรอดปลอดภัย"

นางกล่าวกับสามีมหาโจรว่า "ไหนๆ ฉันก็จะต้องตายแล้ว ฉันขอรำอำลาท่านเป็นครั้งสุดท้ายเถิด"

มหาโจรยอมตาม ยืนตระหง่านอยู่บนยอดเขา กระหยิ่มยิ้มย่องว่าอีกไม่กี่วินาทีเราก็จะรวยแล้ว "ฮะๆ ฮ่าๆ" มันเผลอหัวเราะออกมาด้วยความสำราญใจ หาได้รู้สึกตัวไม่ว่ากำลังยืนหันหลังให้ภรรยาอยู่

พอได้จังหวะ กุณฑลเกสีก็ผลักสามีใจโหดลอยลิ่วลงก้นเหวแหลกละเอียดแล้วมันจะเหลืออะไร เทวดาที่สิงสถิตอยู่ ณ ยอดเขานั้นได้กล่าวโศลกสาธุการขึ้นว่า

"ใช่ว่าชายจะฉลาดทุกคนก็หาไม่ สตรีที่รู้จักใช้ปัญญาให้เป็นประโยชน์ก็ฉลาดได้เหมือนกัน"

เห็นหรือยังว่า การได้สามีเฮงซวยอย่างนายมหาโจรคนนี้ เกือบทำให้นางกุณฑลเกสีถึงชีวิตักษัย ดีว่าปฏิภาณแก้ปัญหาไว จึงรักษาชีวิตไว้ไปบวชเป็น พระเถรี (แน่ะ พูดคล้องจองยังกับกลอนนิ)

หาผู้ชายดีไม่ได้ ไม่มีสามีเสียดีกว่า เชื่อผมเถอะ

"แหม ฉันว่าจะได้อ่านประโยคสุดท้ายนี้มาก่อนนะ" เสียงใครไม่รู้บ่นอยู่ข้างๆ ฮิฮิ


คาถาเรียนหนังสือเก่งของพระพุทธเจ้า
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)

พระพุทธเจ้าของเรานั้นได้ชื่อว่าเป็น ผู้ฉลาดในการเทศนาสั่งสอนประชาชน ไม่มีใครพระองค์ตั้งพระทัยแสดงธรรมให้ฟังแล้วจะไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน แม้กระทั่งคนบาปหนาที่น่าจะหมดโอกาสโดยสิ้นเชิงแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงสามารถสร้างอุปนิสัยปัจจัยที่ดีงาม อันจักส่งเสริมเขาในชาติหน้า

ตัวอย่างเช่นพระเทวทัต และพระเจ้า อชาตศัตรู เป็นต้น รายแรกทำ "สังฆเภท" ก่อความแตกแยกในวงการสงฆ์ ประทุษร้ายพระพุทธเจ้าถึงขั้นทำให้พระโลหิตห้อ (ห้อเลือดนั่นแหละครับ) ถูกแผ่นดินสูบตาย ก่อนจะจมมิดดินสำนึกผิด กล่าววาจาถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ลองมาฟังวาจาของ "เสือสำนึกบาป" ดูสิครับ ว่า "ซึ้ง" ขนาดไหน

"ข้าฯ ขอถึงพระพุทธองค์ผู้เป็นบุคคลเลิศเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เป็นยอดนักฝึกฝนคน มีพระจักษุรอบด้าน มีพระลักษณะงดงามอันเกิดจากบุญมากมายเป็นที่พึ่ง พร้อมด้วยลมหายใจและกระดูกเหล่านี้"

สมัยเรียนแปลบาลี เราเรียกข้อความตอนนี้ว่า "เทวทัตถวายคาง" เพราะขณะที่แกกำลังถูกแผ่นดินสูบมาถึงคาง ไม่รอดแน่แล้ว สำนึกผิด จะกลับเนื้อกลับตัวทำดีอย่างอื่นไม่ได้แล้ว จึงกล่าววาจาถวายกระดูกคางเป็นพุทธบูชา นั่นคือ ความดีอย่างหนึ่งท่ามกลางความชั่วมากมายของเธอ

ผลจากการสำนึกผิดกล่าววาจาถวายกระดูกคาง เทวทัตเธอจักได้เป็นพระปัจเจกพุทธนามว่า "อัฏฐิสสระ" หลังจากใช้กรรมหมดแล้ว พระอรรถกถาจารย์ผู้แต่งอรรถกถากล่าวว่า พระพุทธองค์ตรัสพยากรณ์ไว้อย่างนั้น

ส่วนอชาตศัตรู คู่อุปถัมภ์เดิมของเทวทัต จับพ่อขังคุกตาย ทำอนันตริยกรรม (กรรมหนัก) นอนสะดุ้งผวาทุกคืน เพราะภาพกรรมชั่วคอยหลอกหลอน หมอชีวกโกมารภัจจ์แนะนำให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากพระองค์แล้วทูลขอขมาพระองค์และพระสงฆ์แล้วประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ถึงอชาตศัตรูไม่สามารถบรรลุมรรคผลอะไร เพราะพลาดทำอนันตริยกรรมเสียแล้ว อชาตศัตรูก็ได้กลับเนื้อกลับตัวเป็นสัมมาทิฐิบุคคล สร้างบุญกุศลอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาให้รุ่งเรืองต่อมา นี่แหละคือผลจากการได้ฟังธรรมะเทศนาของพระพุทธเจ้า

คนที่น่าจะหมดโอกาสโดยสิ้นเชิงขนาดนี้ พระพุทธองค์ยังสามารถช่วยเอาไว้ได้ ทั้งนี้เพราะพระพุทธองค์ทรงมี "เทคนิควิธี" ในการสั่งสอนคน ทรงรู้ว่าคนเช่นใดควรสอนอะไร แค่ไหน โดยใช้เทคนิควิธีอะไร

พระบาลีแห่งหนึ่งพูดเปรียบเทียบเทคนิคการเทศน์ของพระองค์เหมือนราชสีห์จับเหยื่อว่า พญาราชสีห์นั้นเวลาจะจับเหยื่อ ไม่ว่าสัตว์ใหญ่หรือสัตว์เล็กมันจะจับอย่างแม่นยำ ไม่พลาดฉันใด เวลาพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เพื่อมุ่งให้ใครเข้าถึงธรรมคนนั้นย่อมจะเข้าถึงได้โดยไม่พลาดฉันนั้น

แม้กระทั่งคนโง่ขนาดไหน ท่องหนังสือข้อความสั้นๆ แค่สี่บรรทัดสามเดือนไม่ได้ พระพุทธองค์ยังสามารถสอนให้เข้าใจได้เลยครับ คนโง่ทึบที่พูดถึงนี้ภายหลังได้บรรลุอรหัตแล้วกลายเป็นผู้แตกฉานในธรรมหาตัวจับยากคนหนึ่ง (พูดให้ถูกว่ารูปหนึ่งเพราะว่าท่านเป็นพระ)

ไม่เล่าเรื่องเดี๋ยวไม่รู้กัน เรื่องมีดังนี้ครับ ท่านสารวัตร มีพระพี่น้องชายสองรูปบวชอยู่วัดเดียวกัน พระพี่ชายเฉลียวฉลาดมาก เป็นอาจารย์สอนพระอื่นๆ ในวัด ส่วนผู้น้องนั่นโง่ทึบมาก พี่ชายให้ท่องคาถาสี่บรรทัด (ความยาวขนาดกลอนสุภาพบทหนึ่ง) สามเดือนก็ท่องไม่ได้ ถูกพี่ชายไล่ออกจากวัดเสียใจมาก ตั้งใจจะไปฆ่าตัวตายให้รู้แล้วรู้รอด

บังเอิญพระพุทธองค์เสด็จมาพบเข้า ถามไถ่ได้ความแล้ว ตรัสว่า เรามีวิธีให้เธอเข้าใจได้โดยไม่ต้องท่อง ว่าแล้วก็นำผ้าขาวม้าให้เธอผืนหนึ่ง รับสั่งว่า

"เธอจงนั่งลูบผ้าผืนนี้ พร้อมบริกรรม (ท่อง) คำว่า "รโชหรณ์ รโชหรณ์" (อ่าน "รโชหะระนัง") ไปด้วย ตั้งแต่เช้าจนเกือบเที่ยง จิตใจแน่วดิ่งเป็นสมาธิ เมื่อเห็นผ้าขาวเปรอะเปื้อนด้วยเหงื่อมือ ก็ได้ความคิดเปรียบเทียบว่า จิตใจคนก็คงเหมือนผ้าขาว เดิมทีก็บริสุทธิ์ต่อมาถูกกิเลสครอบงำทำให้เศร้าหมองได้ฉันใดฉันนั้น พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง ในที่สุดก็ได้บรรลุอรหัต

คนโง่ทึบที่สุดพระพุทธองค์ทรงมีวิธีสอนให้กลายเป็นคนฉลาดที่สุดได้ด้วยประการฉะนี้แหละครับ ผู้รู้ท่านหนึ่งบอกผมว่า คำที่พระพุทธเจ้าสั่งให้พระรูปนี้ท่องนั่นแหละคือ "คาถาเรียนหนังสือเก่ง" ถ้าใครอยากเรียนหนังสือเก่ง อ่านหรือท่องอะไร จำได้รวดเร็ว ก็ให้สวดคาถานี้ทุกครั้งก่อนอ่านหรือท่องหนังสือท่านว่าอย่างนั้น

นี่ก็จะเปิดเทอมแล้ว นักเรียนนักศึกษาลองเอาไปใช้ดูบ้างสิครับ

ข้อสำคัญท่องคาถาแล้วต้องท่องหนังสือด้วยนะ จึงจะเป็นคนฉลาดขึ้นมาได้ ไม่ใช่ท่องคาถาแล้วบังอรเอาแต่นอน อย่างนั้นยิ่งท่องคาถาก็ยิ่งโง่



(http://www.patrolnews.net/wp-content/uploads/2012/11/a63-300x226.jpg)

พระไตรปิฎกกับเพลงลูกทุ่ง


มีเพลงบทหนึ่งและบทเดียวในพระไตรปิฎก คือเพลงที่คนธรรพ์ชื่อ ปัญจสิขะ ขับร้องถวายพระพุทธเจ้า มีบันทึกไว้ใน "สักกปัญหสูตร" ผมเคยเขียนถึง (ในที่อื่น) มาแล้ว ใครอยากรู้เนื้อหาว่าอย่างไร ไปหาอ่านเอา

ที่จั่วหัวเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเพลงบทนั้น บังเอิญได้อ่านบทความของคุณสุกรี เจริญสุข ในมติชน ฉบับวันที่ ๑๕ ตุลาคม ที่ผ่านมา เกิดสะดุดใจกับคำพูดของคุณสุกรีว่า เพลงกับพระไตรปิฎกไม่ต่างกัน

หลังจากงาน "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย" ผ่านมาหลายทิวาและราตรีแล้ว ดูเหมือนจะมี "ควันหลง" ติดต่อกันมาในหน้าหนังสือพิมพ์หลายครั้งหลายครา ผมไม่ได้ติดตามโดยตลอด เพียงอ่านผ่านๆ พอจับความได้ว่า มีผู้ท้วงติง ท่านรัฐมนตรีกร ทัพพะรังสี และคุณศันสนีย์ นาคพงศ์ ร้องเพลงลูกทุ่งว่าเพี้ยนไปจากต้นฉบับเดิม ทำให้คุณค่าของเพลงลูกทุ่งเสียไปหรืออะไรทำนองนั้น

หลายคนไม่เห็นด้วยกับคำท้วงติงนั้น คุณสุกรี เจริญสุข คือหนึ่งในหลายคนนั้น ดังได้พูดไว้ตอนหนึ่งว่า

"การร้องเพลงไม่ได้อยู่ที่รูปแบบว่าจะเป็นของคนนั้นคนนี้เฉพาะ ถ้าไปยึดแบบเดียวเช่นนั้นแล้วเพลงจะตายหมด แม้แต่ดนตรีที่บรรเลงคืนนั้นก็ไม่ได้บรรเลงตามแบบเก่า เพราะเพลงจะอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องพัฒนาและเปลี่ยนแปลง

อ่านไปจนเกือบจบก็ยังไม่สะดุดหรอกครับ พอถึงย่อหน้าเกือบจะท้ายๆ ก็สะดุดกึกทันที คุณสุกรีสรุปว่า

"เพลงก็เหมือนพระไตรปิฎก ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ปฏิบัติเข้าใจอย่างไรก็ปฏิบัติอย่างนั้น ปฏิบัติไปจนกว่าจะเข้าใจเป็นอย่างอื่น จะบอกว่าอย่างนี้ถูกอย่างนี้ผิดเป็นไม่มี ไม่มีผิดและไม่มีถูก เพียงแต่ว่าใครจะเห็นคุณค่ามากกว่ากัน"

ผมขอพูดดังๆ ว่า ไม่เห็นด้วยกับคุณสุกรีครับ เพลงก็เพลง พระไตรปิฎกก็พระไตรปิฎก เหมือนกันไม่ได้

ไม่ว่าจะลักษณะ เนื้อหา หรือจุดมุ่งหมาย ไปด้วยกันไม่ได้เอาทีเดียว เพลงนั้นคนแต่งขึ้นมาเพื่อความบันเทิงเป็นจุดประสงค์หลัก อาจสอดแทรกคติธรรมหรือแง่คิดสอนใจบ้างก็เป็นผลพลอยได้ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ สมหวัง ผิดหวัง เคียดแค้น ชิงชัง ของคนที่เวียนว่ายอยู่ในโลกียวิสัย พูดง่ายๆ ว่าเพลงเป็นเรื่องของกิเลส

ส่วนเนื้อหาของพระไตรปิฎกเป็นหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา มุ่งสอนคนให้พัฒนาตนเองตามหลักอริยมรรค มีองค์แปด หรือศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อลด ละกิเลส ความบันเทิง จากการอ่านพระไตรปิฎก ถ้าจะมีก็เป็นผลพลอยได้

ยิ่งเรื่องการตีความด้วยแล้ว ยิ่งไม่เหมือนกันใหญ่ เพลงเพลงหนึ่งคนอาจตีความหรือวาดภาพเอาตามที่ตนเข้าใจ ไม่มีผิด ไม่มีถูก อาจจะใช่ แต่กับพระไตรปิฎกนี้ จะตีความหรือวาดภาพเอาตามชอบใจโก๋หาได้ไม่

หลายคนมีความเห็นว่า ทุกคนมีสิทธิตีความและแปลความพระไตรปิฎก หรือพระธรรมวินัยตามชอบใจและความเข้าใจของตน โดยอ้างสิทธิเสรีภาพในการตีความเหมือนที่อ้างกับกรณีอื่นๆ

เมื่อเห็นว่าทำได้ก็มีคนทำกันออกมาเป็นที่สนุกสนาน แล้วเป็นยังไง หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์และภาษาบาลีที่บันทึกคำสอนของพระพุทธองค์ เอามาแปลมาตีความกันป่นปี้ยับเยิน จนผู้รู้เขาตกอยู่ในภาวะที่หนังกำลังภายในเขาเรียกว่า "หัวเราะก็มิได้ ร้องไห้ก็มิออก" ไปตามๆ กัน

ครั้นผู้รู้ตำหนิติติงก็หาว่า ใจคับแคบบ้าง หวังจะผูกขาดพระศาสนาไว้คนเดียวบ้าง กระทั่งนักวิชาการหัวหงอกบางคนบอกว่า เมื่อพระอรรถาจารย์เช่น พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นต้น ตีความได้ พระ ก. พระ ข. ก็มีสิทธิ์ตีความได้ หัวหงอกอีก บางคนก็ว่า คนที่ท้วงติงการแปลบาลีผิดๆ เป็น "การทำร้ายกันทางภาษา" มากกว่าเป็นงั้นไป

คนจะตีความพระธรรมวินัยได้ก็ต้องเรียนรู้พระธรรมวินัยจนแจ่มแจ้ง รู้ภาษาบาลีอย่างดี ถึงจะตีความภาษาบาลีได้ ไม่ใช่นาย ก. นาย ข. ไม่เคยเรียน นึกสนุกขึ้นมาก็จับเอามาตีความเอาตามชอบใจ

คนจะตีความกฎหมายได้ ก็ต้องเรียนรู้กฎหมายอย่างดี ไม่ใช่ใครก็ได้ ขืนทำอย่างนั้นกฎหมายเขาจะยับเยินป่นปี้ขนาดไหน

นักกฎหมายที่ไหนเขาจะปล่อยให้ไอ้บ้าที่ไหนสักคนมาทำกับกฎหมายของเขา ฉันใดก็ฉันนั้น



วิธีจับเหี้ยของเณรน้อย
ถ้าจะให้คำจำกัดความอย่างพจนานุกรม สมัยก่อนก็ต้องพูดว่า เหี้ยที่กำลังพูดถึงนี้คือสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีลิ้นเป็นแฉกๆ คล้ายแลน แล้วก็ไปเปิดคำว่า "แลน" ได้ความว่า ได้แก่สัตว์สะเทินน้ำ สะเทินบก มีลิ้นเป็นแฉกๆ คล้าย "เหี้ย"

"เดี๋ยวนี้ไม่มีคำจำกัดความอย่างนั้นแล้ว ไม่เชื่อไปเปิดดูฉบับชำระล่าสุด ปี พ.ศ.๒๕๒๕ ก็ได้" ท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ บอกผมอย่างนี้ พร้อมทำตาเขียวใส่ "คุณละก็ชอบหาเรื่องค่อนแคะพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน แล้วมาทำงานที่สำนักราชบัณฑิตฯ ทำไมวะ" ผมได้แต่หัวเราะแหะๆ แล้วชวนท่านคุยเรื่องอื่น

อ่านพระคัมภีร์ (เณรคัมภีร์ยังไม่ได้อ่าน) มีเรื่องเณรน้อยอรหันต์อายุ ๗ ขวบหลายรูป ล้วนมีประวัติน่าสนใจทั้งนั้น อย่างเณรสังกิจจะ คลอดจากครรภ์ขณะศพแม่ถูกสัปเหร่อเอาขอเกี่ยวพลิกไปมาบนเชิงตะกอนเพื่อให้ไฟไหม้ให้ทั่ว รอดตายอย่างปาฏิหาริย์ อายุ ๗ ขวบ ออกบวชได้บรรลุอรหัต ขณะกำลังโกนผมบวชแล้วไม่นานถูกโจรห้าร้อยคนจับไปจะฆ่าบูชายัญ บังเอิญเหนียว ฟันแทงยังไงก็ไม่เข้า โจรห้าร้อยเลยพากันมอบตนเป็นศิษย์บวชเณรอยู่ด้วย

ก็เพิ่งเจอนี่แหละ เณรเป็นอุปัชฌาย์บวชเณรด้วยกันได้

อีกรูปหนึ่งก็น่าสนใจ เป็นลูกภิกษุณี อ๊ะๆ อย่างทิ้งขยะ เอ๊ย เธอตั้งครรภ์ก่อนมาบวชโดยไม่รู้ พอบวชแล้วครรภ์โตขึ้นๆ จนกระทั่งลูกน้อยโตมาอายุ ๗ ขวบ ไปบวชเณรลาแม่ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่อื่นไม่นานก็บรรลุอรหัต วันหนึ่งขณะเดินบิณฑบาตอยู่ ภิกษุณีผู้มารดาเห็นเข้า เดินรี่เข้าไปหา รำพึงรำพันว่า ลูกจ๋า เจ้าจากแม่ไปตั้งนาน แม่คิดถึงเหลือเกิน เณรน้อยเลยดุเอา "อะไร แค่ความรักระหว่างแม่กับลูกยังตัดไม่ขาด แล้วจะหวังตัดกิเลสอะไรที่ใหญ่กว่านี้"

แม่ฟังลูกพูดเสมือนหนึ่งไม่ไยดี เสียอกเสียใจมาก ในที่สุดก็หักห้ามใจได้ ตั้งหน้าบำเพ็ญเพียร ไม่นานก็บรรลุอรหัต นับว่าลูกช่วยโดยแท้ ลูกที่ดีย่อมช่วยพ่อแม่ให้ได้สิ่งที่ประเสริฐสุดอย่างนี้แหละ

เณรอีกรูปหนึ่ง สอนวิธีจับเหี้ยให้เจ้าสำนักชื่อดังจนบรรลุอรหัต เสียดายตำราไม่ได้บอกว่าเณรชื่ออะไร บอกแต่ว่าเจ้าสำนักชื่อ "โปฐิละ" (แปลว่าใบลานหรือคัมภีร์) ท่านใบลานรูปนี้เป็นพระนักเทศน์ฝีปากเอก รู้เจนจบพุทธวจนะ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

เมื่อรู้มากทิฐิมานะย่อมมากเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าขืนปล่อยไว้นานเธอจักลืมตัวหนักขึ้น แล้วโอกาสจะได้ลิ้มรสพระธรรมก็จะไม่มี วันหนึ่งขณะเธอเข้าไป เฝ้าพระองค์ตรัสปฏิสันถารว่า

"อ้อ ท่านใบลานเปล่าก็มาด้วย" ครั้นเธอกราบทูลลากลับ พระองค์ก็ตรัสว่า "กลับแล้วหรือ ท่านใบลานเปล่า"

กลับไปถึงวัด ท่านโปฐิละ มานั่งคิดนอนคิดตีลังกาคิดอยู่หลายวัน เราก็รู้พุทธวจนะจนแตกฉาน มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วเมือง ทำไมหนอ พระพุทธองค์จึงทรงเรียกเราว่า ใบลานเปล่า คิดมากจนหาทางออกไม่ได้ จึงเข้าไปหาพระเถระซึ่งเป็นศิษย์ของตน ยกมือไหว้อ้อนวอนว่า "ท่านขอรับ ช่วยสอนผมบ้างเถิด"

"โอ ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรอย่างนั้น ท่านเป็นเจ้าสำนัก เป็นอาจารย์คนอื่นมากมาย พูดอย่างนี้ได้อย่างไร เดี๋ยวขี้กลากกินหัวผมดอก" พระลูกศิษย์กล่าวขึ้นอย่างตกใจ

ไปหารูปไหนๆ ก็ได้รับคำตอบว่า "ผม มิบังอาจสอนท่านอาจารย์ได้" ในที่สุดท่านจึงไปหาสามเณรน้อยอรหันต์อายุ ๗ ขวบ ยกมือไหว้ปลกๆ ขอให้เณรช่วยสอนให้

"ท่านอาจารย์ก็รู้มากอยู่แล้ว จะให้ผมสอนอะไรเล่าครับ" เณรอรหันต์ตอบ

"พระพุทธองค์ตรัสว่าผมเป็นใบลานเปล่า แสดงว่าความรู้ของผมช่วยอะไรไม่ได้ สามเณร ได้โปรดช่วยผมเถิด" วิงวอนอย่างน่าสงสาร

"ถ้าเช่นนั้น ผมบอกอะไร ท่านอาจารย์ จะทำตามไหม" เณรอรหันต์ถาม

"โปรดสั่งมาเถิดครับ ผมยินดีทำตาม" มาถึงตอนนี้ทิฐิมานะไม่เหลือแล้ว โปฐิละพร้อมจะรับฟังเณรน้อยทุกอย่าง เณรน้อยจึงสั่งให้เดินลงน้ำ ท่านก็ลงไปอย่างว่าง่าย บอกให้หยุดก็หยุด บอกให้ขึ้นมาก็ขึ้น แล้วเณรน้อยก็บอกปริศนาว่า

"มีจอมปลวกหนึ่งมีรู ๖ รู เหี้ยตัวหนึ่งเดินหนีเด็กเลี้ยงโคเข้าไปในจอมปลวกนั้น เด็กๆ จึงอุดรูจอมปลวก ๕ รู เปิดไว้รูหนึ่งแล้วคอยดักจับเอาทางรูที่เปิดนั้น แล้วก็จับเหี้ยไปย่างกินอร่อยไปเลยครับ ท่านอาจารย์"

ท่านโปฐิละคิดใคร่ครวญตามสามเณรน้อยสอนก็เข้าใจว่าหมายถึงอะไร จึงเจริญวิปัสสนาพิจารณารูปนาม จนกระทั่งบรรลุอรหัตในที่สุด

ปริศนาที่เจ้าสำนักท่านไขได้ก็คือ ผู้ปฏิบัติต้องปิดรูทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วเปิดไว้รูเดียวคือ ใจ คอยควบคุมใจให้ดี

อุบายจับเหี้ยของเณรน้อยนี้ฉลาดจริงๆ อยากให้เณรมีชีวิตอยู่ในยุคนี้จัง จะได้จับเจ้าสำนักเถื่อนทั้งหลายมาฝึกจับเหี้ยบ้าง      





(http://p4.s1sf.com/gu/0/ui/0/4216/4053__27062007052556.jpg)

การแปลพระไตรปิฎก

เมื่อไม่นานมานี้ มีท่านผู้หนึ่งปรารภในที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า อ่านพระไตรปิฎกแปลแล้วต้องมานั่งแปลไทยเป็นไทยอีก บางครั้งแปลยังไงก็แปลไม่ออก อยากเห็นฉบับแปลที่อ่านเข้าใจง่ายๆ ทำอย่างไรดี

ท่านอาจารย์สวนิต ยมาภัย ได้นำสำนวนแปลของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวิชิรญาณวโรรส หรือสมเด็จพระสังฆราช (สา) ผมก็จำไม่แม่น มาอ่านให้ฟังเป็นตัวอย่าง ถึงท่านจะแปลไว้นานแล้ว ยังอ่านเข้าใจง่าย ความกระชับยิ่งกว่าฉบับแปลในยุคนี้เสียอีก

ผมจึงขออาสาว่า ว่างๆ ถ้าเขาไล่ออกจากงานเมื่อใด (ตอนนี้ก็ใกล้แล้ว เพราะถ้าเขาไม่ไล่ผม ผมก็จะไล่เขาอยู่เหมือนกัน) ผมจะจับงานแปลพระไตรปิฎกเพื่อให้คนอ่านเข้าใจเสียที พูดแล้วจะหาว่าคุย ก็คุยมันเสียเลย ผมเองได้ลูบๆ คลำๆ ภาษาบาลีที่บันทึกพระพุทธพจน์มาครึ่งค่อนชีวิต คิดว่าตนเองมีความสามารถทำได้ จึงได้เริ่ม "ฟอร์ม" คณะทำงานขึ้น ถ้าไม่มีอะไรขัดข้อง คงได้เริ่มงานกันภายในปีใหม่นี้

ที่คำแปลพระไตรปิฎกคนทั่วไปอ่านเข้าใจยาก เพราะ

(๑) ท่านมิได้แปล (ในความหมายจริงๆ) เพียงแต่ตัดวิบัติออกแล้วทับศัพท์หรือรักษารูปประโยคบาลีไว้เท่านั้นเอง เช่น ประโยคที่ควรจะแปลว่า "คนทำชั่วตายไปแล้วตกนรก" ท่านก็แปลว่า "บุคคลผู้ทำบาปเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกย่อมเข้าถึงนรก" ดังนี้ เป็นต้น

(๒) ธรรมะของพระพุทธองค์นั้นลึกซึ้ง ถ้าจะ "เก็บความ" พอให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจ ท่านกลัวว่าจะทำให้เสียความเดิม อันอาจทำให้คำสอนวิปริตผิดไปจากพุทธประสงค์สู้แปลแบบรักษาโครงสร้างไวยากรณ์ไว้ ดีกว่า

ผมถามตัวเองอยู่เสมอว่า ถ้าเราจะแปลโดยใช้ภาษาง่ายๆ ทันสมัย ที่คนทั่วไปอ่านเข้าใจทันที ขณะเดียวกันก็รักษาสาระสำคัญของหลักคำสอนอยู่ครบถ้วน จะทำได้ไหมเสียงกระซิบข้างหูผมว่า "ทำได้ เอ็งนั่นแหละจงทำ"

ครับ เง็กเซียนฮ่องเต้ สั่งมาแล้ว เห็นท่าจะต้องทำเสียแล้ว ฮิ ฮิ

ต่อไปนี้ผมขอยกตัวอย่างคำแปลในพระไตรปิฎกฉบับสังคายนาเสร็จใหม่ๆ มาสักตอน แล้วนำมาแปลเป็นไทยอีกสองชั้น ชั้นแรกแปลพออ่านง่ายขึ้นนิดหน่อย ชั้นที่สองแปลให้อ่านง่ายมากขึ้น ท่านผู้อ่านลองเทียบเคียงดูนะครับ

(สำนวนฉบับสังคายนา) "ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้งแล้วทรงดำริต่อไปว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร นี้แล เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในจักษุน้อยเป็นปกติมานาน ถ้ากระไรเราพึงแสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ทีนั้นเทวดาอันตรธาน (จากสวรรค์) มากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร สิ้นชีพได้ ๗ วันแล้ว พระพุทธเจ้า แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบว่าอาฬารดาบส กาลามโคตร สิ้นชีพได้ ๗ วันแล้ว จึงทรงดำริว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อมใหญ่ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้จะพึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลัน"

(คำแปลพอเข้าใจขึ้นนิดหน่อย) "ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า จะแสดงธรรมให้ใครฟังก่อนดี มีใครบ้างที่จะสามารถเข้าใจธรรมที่แสดงได้อย่างฉับพลัน ทันใดนั้นพระองค์ทรงรำลึกได้ว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา และมีกิเลสเบาบาง หากได้ฟังธรรมก็จักสามารถเข้าใจได้ฉับพลัน แต่แล้วพระองค์ก็ได้ทรงทราบจากเทวดาซึ่งตรงกับที่ทรงทราบด้วยพระญาณของพระองค์ว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร สิ้นชีพได้ ๗ วันแล้ว จึงทรงรำพึงในพระทัยว่า อาฬารดาบส พลาดโอกาสสำคัญไปเสียแล้ว"

(สำนวนที่คิดว่าน่าจะอ่านง่ายกว่า) "ในเวลานั้น พระพุทธองค์ทรงตรึกตรองพิจารณาว่า ควรจะเสด็จไปแสดงธรรมแก่ใครก่อน ที่มีสติปัญญาสามารถพอที่จะเข้าใจธรรมที่ทรงตรัสรู้ได้ ชั้นแรก ทรงระลึกได้ว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร นั้น เป็นผู้มีกิเลสน้อย และมีสติปัญญาลึกซึ้ง เฉลียวฉลาด หากทรงแสดงธรรมให้ฟัง ก็จะเข้าใจแจ่มแจ้งได้โดยทันที แต่แล้วก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่าอาฬารดาบสได้สิ้นชีวิตไปแล้ว เป็นอันว่าหมดโอกาสที่จะได้รับฟังธรรม"

เป็นไงครับ อ่านแล้วพอจะเข้าใจง่ายขึ้นไหม หรือว่ายังยากอยู่ ถ้าเช่นนั้นจะพยายามให้ง่ายขึ้นกว่านี้ ไอ้กระผมมันคนมีอัตตาหนาแน่น เพียงแค่กินอะไร ไม่กินอะไร หรืออยากทำอะไรก็มักประกาศให้รู้กันทั่ว

เพราะฉะนั้น พระไตรปิฎกแปลฉบับนี้จะตั้งชื่อว่า "ฉบับ ไต้ ตามทาง" เสียเลย รู้แล้วรู้รอด  



เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนเด็ก

มีเวลาว่างเมื่อใดก็มักจะหยิบพระสูตรขึ้นมาอ่าน อ่านทีไรได้ความคิดใหม่ๆ ให้เอามาเขียนขายกินเมื่อนั้น วันนี้ก็เหมือนกัน ถึงเวลาจะต้องส่งต้นฉบับ ไม่รู้จะเขียนอะไร เปิดพระสุตตันตปิฎก เจอเรื่องพระพุทธเจ้าทรงสอนเด็กเข้าพอดี ขอนำมาขยายต่อเสียเลย

น่าสังเกตว่า พระสูตรที่ทรงสอนนั้นส่วนมากจะทรงสอนผู้ใหญ่ ไม่ว่าบรรพชิตและคฤหัสถ์ ที่สอนเด็กๆ มีน้อย เท่าที่นึกออกและเปิดพบขณะนี้มีอยู่สองสูตร สูตรแรกชื่อ ทัณฑสูตรความย่อว่า ขณะพระพุทธองค์เสด็จออกบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ทอดพระเนตรเห็นเด็กกลุ่มหนึ่งเอาไม้ไล่ตีงู จึงตรัสถามว่า "พวกเธอตีงูทำไม"

"กลัวมันกัด พระเจ้าข้า" เด็กน้อยรายงาน

พระองค์ทรงเห็นว่าพวกเด็กเบียดเบียนสัตว์โดยไม่มีเหตุผล จึงตรัสถามว่า
"ถ้าเผื่อใครเขาตีพวกเธอ พวกเธอจะเจ็บไหม"
"เจ็บ พระเจ้าข้า"
"อยากให้เขาตีไหม"
"ไม่อยาก พระเจ้าข้า"

"งูก็เหมือนพวกเธอนั่นแหละ มันไม่อยากให้ใครตีมัน มันเจ็บเหมือนกัน ถ้าพวกเธอไม่อยากให้ใครรังแก ก็อย่ารังแกคนอื่นสิจ๊ะ" พระองค์ทรงถือโอกาสสั่งสอนพวกเขา พวกเขาต่างเห็นด้วย ทิ้งท่อนไม้เลิกไล่ตีงูทันที

หลายคนเวลาเห็นเด็กไล่ตีสัตว์อยู่อาจดุด่าหรือตะเพิดไล่ วิธีนี้ได้ผลเหมือนกัน คือเด็กเลิกรังแกสัตว์ แต่พอลับตาผู้ใหญ่เด็กอาจทำเช่นเดิมอีก เพราะไม่ได้ให้เหตุผลให้เด็กเข้าใจ หลายคนอาจใช้วิธีขู่ให้เด็กกลัว วิธีนี้นอกจากไม่ช่วยให้เด็กเติบโตด้วยสติปัญญาและเหตุผลแล้ว ยังจะเพาะเชื้อแห่งความเก็บกดก้าวร้าวในสันดานของพวกเขาอีกด้วย

พระสูตรนี้น่าจะเป็นตัวอย่างแก่พ่อแม่ ครู อาจารย์ ได้กระมังว่า ไม่ควรเลี้ยงดูปลูกฝังเด็กด้วยอารมณ์ แต่ควรเลี้ยงดูปลูกฝังด้วยเหตุผล  

สูตรที่สองชื่อ ราหุโลวาทสูตร คราวนี้ทรงเทศน์สอนพระโอรสของพระองค์ พระราหุลน้อย ยังไงเล่าครับ เย็นวันหนึ่ง ขณะทรงถือขันน้ำล้างพระบาท ทรงเหลือน้ำในขันไว้หน่อยหนึ่ง แล้วหันมาตรัสถามราหุลว่า "เห็นน้ำที่เหลือหน่อยหนึ่งในขันนี้ไหม ราหุล"

"เห็น พระเจ้าข้า" ราหุลกราบทูลตอบ
"จำไว้นะ ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้จะมีคุณธรรมเหลือในตัวนิดเดียว ดุจน้ำในขันนี้" แล้วทรงเทน้ำออกหมด ตรัสถามต่อไป "เธอเห็นน้ำที่เราเททิ้งทั้งหมดหรือไม่"

"เห็น พระเจ้าข้า"
"จำไว้นะ ราหุล คนที่ชอบพูดเท็จทั้งที่รู้ก็จะ "เทคุณธรรมทิ้งหมด" เหมือนอย่างนี้แหละ" จากนั้นทรงคว่ำขันลงแล้วตรัสถามว่า "เห็นขันที่คว่ำนี่ไหม" เมื่อเธอรับว่าเห็น พระองค์ตรัสถามต่อไปว่า "จำไว้นะ คนที่ชอบพูดเท็จทั้งที่รู้ จัดว่า "คว่ำคุณธรรมทิ้ง" เหมือนขันคว่ำนี้แหละ"

จากนั้นทรงหงายขันอันว่างเปล่าขึ้นตรัสถามว่า
"ราหุล เห็นขันอันว่างเปล่าไม่มีน้ำสักหยดนี้ไหม"
"เห็นพระเจ้าข้า"
"จำไว้นะ คนที่ชอบพูดเท็จทั้งที่รู้ จะไม่มีคุณงามความดีอะไรเหลืออยู่เลย ว่างเปล่าเหมือนขันน้ำใบนี้แหละ"

บทสนทนาระหว่าง "พ่อลูก" นี้น่าศึกษายิ่ง ทรงใช้อุปกรณ์หรือที่เรียกในภาษาสมัยใหม่ว่า

ทรงใช้ "สื่อการสอน" แสดงเป็นขั้น เป็นตอนให้เห็นภาพชัดเจน
- ทรงถือขันน้ำ
- เทน้ำจนเหลือนิดเดียว
- เทน้ำจนหมดขัน
- คว่ำขันลง
- หงายขันเปล่าขึ้น

แล้วทรงเปรียบเทียบให้เห็น ให้เกิดการเรียนรู้ทีละขั้น ทีละตอนว่า คนชอบพูดเท็จทั้งที่รู้ เทคุณงามความดีทิ้งตามลำดับจนไม่เหลืออย่างไรบ้าง

แสดงชัดแจ๋วแหววอย่างนี้ อย่าว่าแต่สามเณรราหุลเลย ต่อให้เด็กปัญญาทึบทั่วไปก็เข้าใจได้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 พฤษภาคม 2560 16:09:03

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRQqHHa_iGGvZIkxGRIKtONOyzjjHx1kKJOWgtsV9l9U7zzUV83)

พุทธภาษิต กับ พุทธศาสนสุภาษิต

พุทธภาษิต คือ พระวจนะของพระพุทธเจ้า หมายถึงเป็นถ้อยคำที่ (เราเชื่อกันว่า) พระพุทธองค์ตรัสจริงๆ ส่วนมากมักจะเป็น "คาถา" หรือเป็นบทกวีนิพนธ์ เช่น คาถาธรรมบท เป็นต้น

ส่วน "พุทธศาสนสุภาษิต" แปลว่า คำสุภาษิตของพุทธศาสนา หมายถึงถ้อยคำที่พูดดีมีเหตุผล ที่สอดคล้องกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เน้นตรงที่ "สอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า"

เพราะอะไร? เพราะคำพูดที่ไพเราะ มีเหตุมีผล ในเรื่องอื่นๆ มีมากมาย แต่ถ้าขัดแย้งกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่นับว่าเป็นพุทธศาสนสุภาษิต อย่างมากก็ได้ชื่อว่า "สุภาษิต" (พูดไว้ดี พูดไว้ถูก) เท่านั้น

พุทธศาสนสุภาษิตส่วนมาก เป็นบทประพันธ์ที่นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนารุ่นหลังๆ แต่งขึ้น บางบทไพเราะ งามทั้งอรรถ และพยัญชนะ เทียบเท่าหรือเทียบเท่าพุทธภาษิต (ในแง่ความไพเราะและความถูกต้องตามหลักไวยากรณ์) ก็มี

ในเมืองไทยเอง ยุคที่มีผู้แต่งพุทธศาสนสุภาษิตแพร่หลายที่สุด เห็นจะเป็นยุครัตนโกสินทร์ พูดให้ชัดลงไปสมัยรัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ เมื่อสมัยยังทรงผนวช ทรงพระราชนิพนธ์คาถาสุภาษิตมากมาย ไม่เฉพาะแต่บทสวดมนต์ หรือพระปริตต์ต่างๆ เท่านั้น ศิษย์เอกในพระองค์ เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงนิพนธ์งานชิ้นสำคัญเจริญรอยตามสมเด็จพระอุปัชฌายะแต่น่าเสียดายงานชิ้นนี้เป็นที่รู้กันในวงแคบ มหามกุฏฯเองพิมพ์หนังสืออื่นมากมาย ไม่เห็นพิมพ์พระนิพนธ์ชิ้นนี้ออกเผยแพร่เลย

หนังสือเล่มนี้ชื่อ สุคตวิทัตถิวิธาน (วิธีนับคืบพระสุคต) ครับ

คืบพระสุคต คือ มาตราวัดชนิดหนึ่ง บอกว่าคืบของพระพุทธเจ้ายาวกว่าคืบของคนทั่วไป สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ทรงตั้งคำถามว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนธรรมดาเหมือนอย่างเราๆ ใช่ไหม ถ้าเป็นคนธรรมดาเหมือนอย่างเราลักษณะทางกายภาพ พูดง่ายๆ ว่ารูปร่างก็ต้องมีสัดส่วนไม่ต่างจากคนอื่นๆ คืบของพระองค์ ศอกของพระองค์ ก็ไม่น่าจะยาวกว่าคนทั่วไป เสร็จแล้วก็ทรงยกหลักฐานจากพระไตรปิฎกมายืนยัน สมเหตุสมผลน่าฟังอย่างยิ่ง

ที่ผมทึ่งก็คือ เรื่องนี้ทรงนิพนธ์เป็นภาษาบาลีที่ Perfect ที่สุด (ขอดัดจริตใช้คำฝรั่งหน่อย) ยังไม่เห็นงานยุคหลังๆ เล่มใดแต่งดีขนาดนี้

อีกสองท่านคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราชสา ปราชญ์ทั้งสองนี้ได้ทรงนิพนธ์พุทธศาสนสุภาษิตไว้มากมาย สุภาษิตหลายบทเราจำกันได้ขึ้นใจ หลงนึกว่าเป็นพุทธสุภาษิต แท้ที่จริงหาใช่ไม่ จะขอยกมาเตือนความจำกันบางบท เช่น

นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตัญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของ คนดี บทนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแต่งเพื่อเลียนพุทธพจน์ว่า ภูมิ เว สปฺปุริสานํ กตญฺญกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทีเป็นพื้นฐานของคนดี

อีกบทที่จำกัดได้แม่น รกฺเขยฺย อตฺตโน สาธํ ลวณํ โลณตํ ยถา พึงรักษาความดีของตนไว้ ดั่งเกลือรักษาความเค็ม บทนี้สมเด็จพระสังฆราชสาทรงนิพนธ์ไว้

อีกบท (บาทสุดท้ายแล้ว) โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก สุภาษิตบทนี้ไพเราะกินใจมาก และเป็นความจริงที่สุด เป็นพระราชนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครับ

ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมพุทธศาสนสุภาษิต พิมพ์เป็นสามภาษา คือ ภาษาบาลี ไทย และอังกฤษ เพื่อให้นำไปวางไว้ตามโรงแรมชั้นหนึ่ง ตามห้องพักคนป่วยในโรงพยาบาล และเพื่อมอบให้ห้องสมุดสถาบันการศึกษา และส่วนราชการ ตามพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช เข้าใจว่าพิมพ์เป็นจำนวนมากพอจะแจกจ่ายโรงแรม โรงพยาบาล หรือสถาบันการศึกษาใดต้องการนำไปเผยแพร่ ติดต่อได้ที่ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา

มีข้อสังเกตอยู่นิดเดียว เวลาบอกที่มาของสุภาษิตนั้นๆ ให้อักษรย่อไว้ท้ายสุภาษิตและชื่อคัมภีร์เต็มไว้ครบ แต่ที่เป็นบทประพันธ์ของปราชญ์รุ่นหลัง เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ มิได้บอกไว้ด้วย บอกแต่อักษรย่อ เช่น ว.ว. ส.ส. ผมก็เดาเอาว่า ว.ว. ก็คือ "วชิรญาณวโรรส" ส.ส. ก็คือ "สังฆราชสา"

อีกข้อหนึ่ง คำแปลทั้งภาษาไทย และอังกฤษ บางแห่ง (ส่วนมาก) ยัง "โบราณ" อยู่ น่าจะขัดเกลาให้ทันสมัยกว่านี้ เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าจะถอดออกเป็นภาษาร่วมสมัยที่อ่านเข้าใจทันที โดยไม่กังวลถึงโครงสร้างภาษาบาลีมากนัก

มีประเพณีอย่างหนึ่งของไทยที่ประเทศนับถือพระพุทธศาสนาอื่นเขาไม่มีกัน คือประเพณีพระราชปุจฉา

พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปุจฉาถามไปยังพระสงฆ์ผู้ใหญ่เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่พระองค์ทรงสงสัย พระสงฆ์ได้รับพระราชปุจฉาแล้ว จะเรียบเรียงคำวิสัชนาถวาย โดยอาจมอบหมายให้พระเถระผู้ทรงภูมิความรู้รูปใดรูปหนึ่งรับหน้าที่ตอบ หรืออาจประชุมปรึกษาหารือกันเป็นคณะก็ได้

ว่ากันว่าประเพณีพระราชปุจฉานี้ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะมีสำเนาหนังสือพระราชปุจฉาหลงเหลือมาให้เห็นอยู่หลายเรื่อง ต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีมากที่สุด เท่าที่มีหลักฐานในหอสมุดถึง ๓๙ เรื่อง มากกว่ารัชกาลใดๆ

เหตุที่มีมากขนาดนั้นตอบได้ง่าย เพราะหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้วก็ตาม พระสงฆ์องค์เจ้าที่รอดตายมาครั้งกระโน้นก็คงหาผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกน้อยมาก พอถึงรัชกาลที่หนึ่ง พระองค์ก็ทรงทำสังคายนารวบรวมพระไตรปิฎกให้ครบสมบูรณ์ และหาอุบายให้พระสงฆ์ศึกษาพระไตรปิฎกให้แตกฉาน โดยทรงมีพระราชปุจฉาถามไปเนืองๆ ให้พระท่านช่วยกันวิสัชนา

บางปัญหาดูพื้นๆ เช่น มหาโจรฆ่าคนเป็นร้อยคน ทำไมฟังเทศน์ครั้งเดียวได้บรรลุอรหัต หรือพุทธศาสนาสอนว่า คนเราจะเป็นอย่างไรแล้วแต่กรรมที่ทำไว้ในปางก่อนบันดาล ถ้าเช่นนั้นเมื่อเดินไปเจอเสือก็ไม่ต้องหนีสิแล้วแต่กรรมจะบันดาลให้เป็นไป ปัญหาเหล่านี้เชื่อว่า พระมหากษัตริย์ก็ทรงทราบคำตอบอยู่แล้ว แต่ที่ทรงถามไปก็เพราะต้องการให้พระสงฆ์ท่านค้นคว้ามาตอบให้เป็นหลักเป็นฐาน

ตอบส่งเดชไม่ได้ ต้องอ้างพระบาลี อ้างอรรถกถา ฎีกา และการจะอ้างได้ขนาดนั้น ต้องศึกษาค้นคว้าไม่บันเบาทีเดียว นับว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีกุศโลบายให้พระศึกษาเล่าเรียนพระศาสนาอย่างแยบยลทีเดียว

ไม่เรียน ไม่ค้นคว้าไม่ได้ ในหลวงจะถามมาเมื่อไหร่ไม่รู้ เมื่อถามมาแล้วตอบไม่ได้จะอับอายขายหน้าเอา สำนวนสมัยนี้ว่า "หน้าแตก" ถ้าเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ขืนตอบไม่ได้ อาการหน้าแตกก็มากหน่อยถึงขั้น "หมอไม่รับเย็บ" เลยแหละครับ จะมามัวฉันแล้วเอน เพลแล้วนอน เย็นพักผ่อน ตอนค่ำจำวัดไม่ได้เป็นอันขาด ว่างั้นเถอะ

ถ้าถามว่า ธรรมเนียมพระราชปุจฉานี้พระมหากษัตริย์ไทยได้มาจากไทย ผมขอใช้เวิร์บทูเดาเอาว่า คงสืบเนื่องมาแต่สมัยพุทธกาลกระมังครับ เมื่อพระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ ประการ ตลอดพระชนม์ชีพ หนึ่งใน ๕ ประการ คือ "ทรงแก้ปัญหาเทวดา" เทวดา ที่ว่านี้นอกจากหมายถึงเทวดาจริงๆ แล้วยังหมายถึง พระราชามหากษัตริย์ด้วย เวลาว่างจากพระราชภารกิจ พระราชามหากษัตริย์ก็มักไปทูลถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ กับพระพุทธเจ้าเสมอ

กษัตริย์ที่เข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจบ่อยกว่าใครคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล จนกระทั่งในพระไตรปิฎกมีบันทึกเรื่องราวของพระองค์ไว้ต่างหากเรียกว่า "โกศลสังยุตต์"

กษัตริย์องค์นี้แหละครับที่เสวยมากจนอ้วนฉุ แล้วเสด็จไปขอคาถาลดความอ้วนจากพระพุทธเจ้า ไม่ช้าไม่นานก็ลดความอ้วนมีหุ่นสเลนเดอร์หล่อเฟี้ยวกว่าเดิม ดังที่ผมได้เขียนเล่าไว้แล้วในคอลัมน์นี้แหละ (เมื่อไรก็จำไม่ได้แล้ว)

คราวหนึ่งขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีชฏิลิ (นักบวชเกล้าผม) ๗ คน นิครนถ์ (นักบวชศาสนาเชน) ๗ คน อเจลก (พวกชีเปลือย) ๗ คน เอกสาฏิกนิครนถ์ (นิครนถ์ประเภทนุ่งผ้าผืนเดียว) จ คน เดินมาแต่ละคนหน้าตาพิลึกพิสดาร ขนรักแร้ดำปื้ด เล็บยาว ขนยาวน่าเกลียด พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงลุกขึ้นคุกพระชานุ (คุกเข่า) ทรงประคองอัญชลี ตรัสว่า "พระคุณเจ้าผู้ทรงศีล ข้าพเจ้า ปเสนทิโกศลขอนมัสการ" แล้วหันมา กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "สมณะเหล่านั้นเป็นอรหันต์"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "มหาบพิตรเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม มีลูกมีเมีย ทรงรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่" แล้วตรัสต่อไปว่า "จะรู้ว่าใครมีศีลจริงหรือไม่ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ จะรู้ใครมือสะอาดจริงหรือไม่ต้องดูจากการทำงาน จะรู้ว่าใครกล้าจริงต้องดูเมื่อถึงคราวมีอันตราย จะรู้ว่าใครมีปัญญาแค่ไหนต้องดูจากการสนทนา"

พระพุทธดำรัสนี้ทำให้พระเจ้า ปเสนทิโกศลถึงกับสะอึก ในที่สุดก็สารภาพออกมาว่า แท้ที่จริงพระพวกนั้นมิใช่อรหันต์ แต่เป็น "สปาย" ที่พระองค์ส่งไปสอดแนมตามชนบทต่างๆ

เดี๋ยวนี้มีข่าวว่ามีอรหันต์เกิดขึ้น เยอะแยะ ส่วนมากก็พวก "อรหันต์ตั้ง" คือตั้งกันเอง หรือตั้งตัวเอง เผลอๆ อาจมี "สปาย" หวังทำลายพระพุทธศาสนา ดังสปายพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ใครจะรู้  

ถ้าถามว่า ธรรมเนียมพระราชปุจฉานี้พระมหากษัตริย์ไทยได้มาจากไทย ผมขอใช้เวิร์บทูเดาเอาว่า คงสืบเนื่องมาแต่สมัยพุทธกาลกระมังครับ เมื่อพระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ ประการ ตลอดพระชนม์ชีพ หนึ่งใน ๕ ประการ คือ "ทรงแก้ปัญหาเทวดา" เทวดา ที่ว่านี้นอกจากหมายถึงเทวดาจริงๆ แล้วยังหมายถึง พระราชามหากษัตริย์ด้วย เวลาว่างจากพระราชภารกิจ พระราชามหากษัตริย์ก็มักไปทูลถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ กับพระพุทธเจ้าเสมอ

กษัตริย์ที่เข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจบ่อยกว่าใครคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล จนกระทั่งในพระไตรปิฎกมีบันทึกเรื่องราวของพระองค์ไว้ต่างหากเรียกว่า "โกศลสังยุตต์"

กษัตริย์องค์นี้แหละครับที่เสวยมากจนอ้วนฉุ แล้วเสด็จไปขอคาถาลดความอ้วนจากพระพุทธเจ้า ไม่ช้าไม่นานก็ลดความอ้วนมีหุ่นสเลนเดอร์หล่อเฟี้ยวกว่าเดิม ดังที่ผมได้เขียนเล่าไว้แล้วในคอลัมน์นี้แหละ (เมื่อไรก็จำไม่ได้แล้ว)

คราวหนึ่งขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีชฏิลิ (นักบวชเกล้าผม) ๗ คน นิครนถ์ (นักบวชศาสนาเชน) ๗ คน อเจลก (พวกชีเปลือย) ๗ คน เอกสาฏิกนิครนถ์ (นิครนถ์ประเภทนุ่งผ้าผืนเดียว) ๗ คน เดินมาแต่ละคนหน้าตาพิลึกพิสดาร ขนรักแร้ดำปื๊ด เล็บยาว ขนยาวน่าเกลียด พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงลุกขึ้นคุกพระชานุ (คุกเข่า) ทรงประคองอัญชลี ตรัสว่า "พระคุณเจ้าผู้ทรงศีล ข้าพเจ้าปเสนทิโกศลขอนมัสการ" แล้วหันมากราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "สมณะเหล่านั้นเป็นอรหันต์"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "มหาบพิตรเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม มีลูกมีเมีย ทรงรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่" แล้วตรัสต่อไปว่า "จะรู้ว่าใครมีศีลจริงหรือไม่ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ จะรู้ใครมือสะอาดจริงหรือไม่ต้องดูจากการทำงาน จะรู้ว่าใครกล้าจริงต้องดูเมื่อถึงคราวมีอันตราย จะรู้ว่าใครมีปัญญาแค่ไหนต้องดูจากการสนทนา"

พระพุทธดำรัสนี้ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับสะอึก ในที่สุดก็สารภาพออกมาว่า แท้ที่จริงพระพวกนั้นมิใช่อรหันต์ แต่เป็น "สปาย" ที่พระองค์ส่งไปสอดแนมตามชนบทต่างๆ

เดี๋ยวนี้มีข่าวว่ามีอรหันต์เกิดขึ้นเยอะแยะ ส่วนมากก็พวก "อรหันต์ตั้ง" คือตั้งกันเอง หรือตั้งตัวเอง เผลอๆ อาจมี "สปาย" หวังทำลายพระพุทธศาสนา ดังสปายพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ใครจะรู้




ล้มแล้วลุกหรือเปล่า?

วันปีใหม่ เพิ่งผ่านไปหยกๆ ขอถือโอกาสคุยอะไรเบาๆ สบายๆ เพื่อให้เหมาะแก่บรรยากาศสักวันเถอะครับ

แต่เดิมคนไทยเราเฉลิมฉลองปีใหม่กันเดือนเมษายน นับเดือน ๕ เป็นเดือนแรกของปี เรียกว่าวัน "สงกรานต์"

คำว่า สงกรานต์ เป็นคำไทยที่แผลงมาจากคำสันสกฤตว่า "สังกรานตะ" แปลว่า "ก้าวไปแล้ว" "ย่างเข้าไปแล้ว" อะไรก้าว อะไรย่าง ท่านก็คงสงสัยใช่ไหมครับ

ดาวอาทิตย์โคจร (แปลว่าเดิน) ผ่านราศีต่างๆ เดือนหนึ่งย้ายราศีครั้งหนึ่ง โคจรไปเรื่อยๆ ตามเรื่องของมัน พอมันย้ายจากราศีมีน ก้าวเข้าสู่ราศีเมษวันแรกเขาก็เรียกว่า ดาวอาทิตย์ "สงกรานต์" เข้าราศีเมษแล้ว

กำหนดเอาวันนั้นแหละเป็นวันแรกของปีใหม่ ซึ่งตามปกติจะ ตกราวๆ วันที่ ๑๓ ของเดือนเมษายน ปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ นี้ วันสงกรานต์ก็ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายนเช่นเดียวกัน

พอเริ่มวันใหม่ ก็เป็นธรรมดาของมนุษย์อุจจาระเหม็นจะต้องยินดีปรีดาเฉลิมฉลองกัน อันการจะฉลองกันวันเดียวนั้นไม่มีเสียละ ไหนๆ ก็จะสนุกสนานกันแล้ว ก็ขอว่ากันสักสองสามวันเป็นอย่างน้อย เพราะฉะนั้นวันสงกรานต์จึงต้องมี ๓ วัน เริ่มวันที่ ๑๓ สิ้นสุดวันที่ ๑๕

วันที่ ๑๓ เป็นวันสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก ถึงวันนี้ ชาวไทยต่างเฉลิมฉลองกันมโหฬาร มีการทำบุญตักบาตร บังสุกุลอัฐิอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ ให้ของขวัญกันและรื่นเริงตามประเพณีนิยม เดิมเรารดน้ำเพื่ออวยพรกัน ต่อมาได้ขยายออกไปจนกลายเป็นการสาดน้ำใส่กัน ปัจจุบันนี้ออกจะเลยขอบเขตไปไกลถึงขั้นเอาน้ำสกปรก หรือน้ำผสมน้ำแข็ง ก้อนโตๆ สาดใส่คนเดินผ่านไปมา จนเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าเขา หรือทำให้เขาบาดเจ็บไปก็มี ที่ก้าวหน้ากว่านั้น คือ เอาน้ำใส่กระบอกฉีด ฉีดเข้าตาคนอื่นด้วยความคึกคะนองก็มี

แม้ว่าเราจะเลิกนับเดือนเมษายน หรือเดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ หันมานับแบบสากลแล้ว เราก็ยังมีประเพณีวันสงกรานต์อยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เลิกแต่ไม่เลิกว่างั้นเถอะ ตกลงเลยได้โอกาสเฉลิมฉลองเพิ่มขึ้นอีกวัน วันสงกรานต์ก็ฉลอง วันปีใหม่แบบสากลก็ได้ฉลอง หนำใจประชาชนคนไทยผู้ชอบสนุกนักแล

บัตรอวยพรดูเหมือนจะขายดีในเทศกาลนี้ ร้านหนังสือทั่วไป ส่วนมากจะเก็บหนังสือเอาบัตรอวยพรมาวางขายแทน (คนพิมพ์หนังสือเขียนหนังสือขายอย่างผมจะรู้สึกเดือดร้อนเหมือนกัน เพราะหนังสือโดนเก็บหมด)

พูดถึงการอวยพร ผมอยากฝากข้อคิดเห็นส่วนตัวสักเล็กน้อย ธรรมเนียมไทยเราไม่นิยมให้ผู้น้อยอวยพรผู้ใหญ่นะครับ เรามีคำพูดติดปากว่า เราไปรดน้ำ "ขอพร" จากผู้ใหญ่ เพราะผู้น้อยด้อยอาวุโสไม่อยู่ในฐานะจะอวยพรให้ผู้ใหญ่ ผู้ใดทำถือว่า "บังอาจ" ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง ธรรมเนียมไทยเขาไม่ปฏิบัติกัน

แต่ปัจจุบันนี้เห็นเด็กๆ ไปอวยพรผู้ใหญ่กันหน้าตาเฉย คงถือว่าเป็นความปรารถนาดี ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ย่อมมีสิทธิ์แสดงต่อกันได้ ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ถือว่าถูกต้องโดยปริยาย ถึงไม่ถูกก็ทำอย่างไรได้ เพราะทำกันมาจนเลอะแล้ว ทั้งหัวหงอกและหัวดำ

บางอย่างเลอะจนไม่รู้ว่าจะเอายังไงกันแน่ เช่น เราสอนเด็กว่า เวลาผู้ใหญ่ให้ของเด็กต้องยกมือไหว้นะจ๊ะ เด็กมันก็จดจำเอาไปปฏิบัติ พอถึงเวลาสำคัญผู้ใหญ่มอบรางวัลให้เด็ก (เช่น รางวัลดีเด่นผู้ชนะประกวดมารยาทและวัฒนธรรมไทย) เด็กยกมือไหว้อย่างอ่อนน้อมสวยงาม เห็นแล้วชื่นใจ

แต่แล้วความชื่นใจชั่วครู่ก็กลายเป็นความ "ขัดใจ" เมื่อผู้ใหญ่ยื่นมือให้เด็กจับตามแบบฝรั่ง เด็กบางคนยืนงงไม่จับตอบ หน้าแตกไปเลยก็มี (สมน้ำหน้า)

ขอเรียนถามผู้ใหญ่ในบ้านเมืองตรงนี้เลยครับว่า ท่านจะเอาแบบไหนกันแน่

ผู้รู้ท่านหนึ่งท่านบอกว่า เวลาผู้ใหญ่อวยพรเด็ก อยากให้อะไรก็กล่าวไปเลย ไม่ต้องอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น "ขอให้เธอมีความสุขความเจริญ" อะไรก็ว่าไป แต่เวลาผู้น้อยอยากอวยพรผู้ใหญ่ควรอ้างอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นสักขีพยาน เช่น "ด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ขอให้คุณปู่จงอายุมั่นขวัญยืน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร (ให้นกน้อยๆ ได้เกาะรับประทานต่อไป)" อะไรอย่างนี้

อ้างพระศรีรัตนตรัย เพื่อเลี่ยงมิให้เด็กอวยพรผู้ใหญ่โดยตรง นับว่าเป็นทางออกที่ดี

ผมในฐานะผู้น้อยด้อยอาวุโส (ไม่อยากแก่ว่างั้นเถอะ) ขอให้คติธรรมสั้นๆ สำหรับต่อสู้กับชีวิตในกาลข้างหน้าสักบทเถอะครับ

"โคอาชาไนยตัวประเสริฐ
พลาดล้มแล้วลุกได้
สาวกของพระพุทธเจ้าเช่นเรา
จงถือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง"

ครับ จะล้มสักกี่ครั้งกี่หนไม่สำคัญ สำคัญที่ล้มแล้วเราลุกขึ้นก้าวต่อไปหรือไม่



พระราชปุจฉา

มีประเพณีอย่างหนึ่งของไทยที่ประเทศนับถือพระพุทธศาสนาอื่นเขาไม่มีกัน คือประเพณีพระราชปุจฉา

พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปุจฉาถามไปยังพระสงฆ์ผู้ใหญ่เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่พระองค์ทรงสงสัย พระสงฆ์ได้รับพระราชปุจฉาแล้ว จะเรียบเรียงคำวิสัชนาถวาย โดยอาจมอบหมายให้พระเถระผู้ทรงภูมิความรู้รูปใดรูปหนึ่งรับหน้าที่ตอบ หรืออาจประชุมปรึกษาหารือกันเป็นคณะก็ได้

ว่ากันว่าประเพณีพระราชปุจฉานี้ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะมีสำเนาหนังสือพระราชปุจฉาหลงเหลือมาให้เห็นอยู่หลายเรื่อง ต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีมากที่สุด เท่าที่มีหลักฐานในหอสมุดถึง ๓๙ เรื่อง มากกว่ารัชกาลใดๆ

เหตุที่มีมากขนาดนั้นตอบได้ง่าย เพราะหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้วก็ตาม พระสงฆ์องค์เจ้าที่รอดตายมาครั้งกระโน้นก็คงหาผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกน้อยมาก พอถึงรัชกาลที่หนึ่ง พระองค์ก็ทรงทำสังคายนารวบรวมพระไตรปิฎกให้ครบสมบูรณ์ และหาอุบายให้พระสงฆ์ศึกษาพระไตรปิฎกให้แตกฉาน โดยทรงมีพระราชปุจฉาถามไปเนืองๆ ให้พระท่านช่วยกันวิสัชนา

บางปัญหาดูพื้นๆ เช่น มหาโจรฆ่าคนเป็นร้อยคน ทำไมฟังเทศน์ครั้งเดียวได้บรรลุอรหัต หรือพุทธศาสนาสอนว่า คนเราจะเป็นอย่างไรแล้วแต่กรรมที่ทำไว้ในปางก่อนบันดาล ถ้าเช่นนั้นเมื่อเดินไปเจอเสือก็ไม่ต้องหนีสิแล้วแต่กรรมจะบันดาลให้เป็นไป ปัญหาเหล่านี้เชื่อว่า พระมหากษัตริย์ก็ทรงทราบคำตอบอยู่แล้ว แต่ที่ทรงถามไปก็เพราะต้องการให้พระสงฆ์ท่านค้นคว้ามาตอบให้เป็นหลักเป็นฐาน

ตอบส่งเดชไม่ได้ ต้องอ้างพระบาลี อ้างอรรถกถา ฎีกา และการจะอ้างได้ขนาดนั้น ต้องศึกษาค้นคว้าไม่บันเบาทีเดียว นับว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีกุศโลบายให้พระศึกษาเล่าเรียนพระศาสนาอย่างแยบยลทีเดียว

ไม่เรียน ไม่ค้นคว้าไม่ได้ ในหลวงจะถามมาเมื่อไหร่ไม่รู้ เมื่อถามมาแล้วตอบไม่ได้จะอับอายขายหน้าเอา สำนวนสมัยนี้ว่า "หน้าแตก" ถ้าเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ขืนตอบไม่ได้ อาการหน้าแตกก็มากหน่อยถึงขั้น "หมอไม่รับเย็บ" เลยแหละครับ จะมามัวฉันแล้วเอน เพลแล้วนอน เย็นพักผ่อน ตอนค่ำจำวัดไม่ได้เป็นอันขาด ว่างั้นเถอะ

ถ้าถามว่า ธรรมเนียมพระราชปุจฉานี้พระมหากษัตริย์ไทยได้มาจากไทย ผมขอใช้เวิร์บทูเดาเอาว่า คงสืบเนื่องมาแต่สมัยพุทธกาลกระมังครับ เมื่อพระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ ประการ ตลอดพระชนม์ชีพ หนึ่งใน ๕ ประการ คือ "ทรงแก้ปัญหาเทวดา" เทวดา ที่ว่านี้นอกจากหมายถึงเทวดาจริงๆ แล้วยังหมายถึง พระราชามหากษัตริย์ด้วย เวลาว่างจากพระราชภารกิจ พระราชามหากษัตริย์ก็มักไปทูลถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ กับพระพุทธเจ้าเสมอ

กษัตริย์ที่เข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจบ่อยกว่าใครคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล จนกระทั่งในพระไตรปิฎกมีบันทึกเรื่องราวของพระองค์ไว้ต่างหากเรียกว่า "โกศลสังยุตต์"

กษัตริย์องค์นี้แหละครับที่เสวยมากจนอ้วนฉุ แล้วเสด็จไปขอคาถาลดความอ้วนจากพระพุทธเจ้า ไม่ช้าไม่นานก็ลดความอ้วนมีหุ่นสเลนเดอร์หล่อเฟี้ยวกว่าเดิม ดังที่ผมได้เขียนเล่าไว้แล้วในคอลัมน์นี้แหละ (เมื่อไรก็จำไม่ได้แล้ว)

คราวหนึ่งขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีชฏิลิ (นักบวชเกล้าผม) ๗ คน นิครนถ์ (นักบวชศาสนาเชน) ๗ คน อเจลก (พวกชีเปลือย) ๗ คน เอกสาฏิกนิครนถ์ (นิครนถ์ประเภทนุ่งผ้าผืนเดียว) จ คน เดินมาแต่ละคนหน้าตาพิลึกพิสดาร ขนรักแร้ดำปื้ด เล็บยาว ขนยาวน่าเกลียด พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงลุกขึ้นคุกพระชานุ (คุกเข่า) ทรงประคองอัญชลี ตรัสว่า "พระคุณเจ้าผู้ทรงศีล ข้าพเจ้า ปเสนทิโกศลขอนมัสการ" แล้วหันมา กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "สมณะเหล่านั้นเป็นอรหันต์"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "มหาบพิตรเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม มีลูกมีเมีย ทรงรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่" แล้วตรัสต่อไปว่า "จะรู้ว่าใครมีศีลจริงหรือไม่ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ จะรู้ใครมือสะอาดจริงหรือไม่ต้องดูจากการทำงาน จะรู้ว่าใครกล้าจริงต้องดูเมื่อถึงคราวมีอันตราย จะรู้ว่าใครมีปัญญาแค่ไหนต้องดูจากการสนทนา"

พระพุทธดำรัสนี้ทำให้พระเจ้า ปเสนทิโกศลถึงกับสะอึก ในที่สุดก็สารภาพออกมาว่า แท้ที่จริงพระพวกนั้นมิใช่อรหันต์ แต่เป็น "สปาย" ที่พระองค์ส่งไปสอดแนมตามชนบทต่างๆ

เดี๋ยวนี้มีข่าวว่ามีอรหันต์เกิดขึ้น เยอะแยะ ส่วนมากก็พวก "อรหันต์ตั้ง" คือตั้งกันเอง หรือตั้งตัวเอง เผลอๆ อาจมี "สปาย" หวังทำลายพระพุทธศาสนา ดังสปายพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ใครจะรู้  

ถ้าถามว่า ธรรมเนียมพระราชปุจฉานี้พระมหากษัตริย์ไทยได้มาจากไทย ผมขอใช้เวิร์บทูเดาเอาว่า คงสืบเนื่องมาแต่สมัยพุทธกาลกระมังครับ เมื่อพระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ ประการ ตลอดพระชนม์ชีพ หนึ่งใน ๕ ประการ คือ "ทรงแก้ปัญหาเทวดา" เทวดา ที่ว่านี้นอกจากหมายถึงเทวดาจริงๆ แล้วยังหมายถึง พระราชามหากษัตริย์ด้วย เวลาว่างจากพระราชภารกิจ พระราชามหากษัตริย์ก็มักไปทูลถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ กับพระพุทธเจ้าเสมอ

กษัตริย์ที่เข้าเฝ้าทูลถามปัญหาข้อข้องใจบ่อยกว่าใครคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล จนกระทั่งในพระไตรปิฎกมีบันทึกเรื่องราวของพระองค์ไว้ต่างหากเรียกว่า "โกศลสังยุตต์"

กษัตริย์องค์นี้แหละครับที่เสวยมากจนอ้วนฉุ แล้วเสด็จไปขอคาถาลดความอ้วนจากพระพุทธเจ้า ไม่ช้าไม่นานก็ลดความอ้วนมีหุ่นสเลนเดอร์หล่อเฟี้ยวกว่าเดิม ดังที่ผมได้เขียนเล่าไว้แล้วในคอลัมน์นี้แหละ (เมื่อไรก็จำไม่ได้แล้ว)

คราวหนึ่งขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีชฏิลิ (นักบวชเกล้าผม) ๗ คน นิครนถ์ (นักบวชศาสนาเชน) ๗ คน อเจลก (พวกชีเปลือย) ๗ คน เอกสาฏิกนิครนถ์ (นิครนถ์ประเภทนุ่งผ้าผืนเดียว) ๗ คน เดินมาแต่ละคนหน้าตาพิลึกพิสดาร ขนรักแร้ดำปื๊ด เล็บยาว ขนยาวน่าเกลียด พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงลุกขึ้นคุกพระชานุ (คุกเข่า) ทรงประคองอัญชลี ตรัสว่า "พระคุณเจ้าผู้ทรงศีล ข้าพเจ้าปเสนทิโกศลขอนมัสการ" แล้วหันมากราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "สมณะเหล่านั้นเป็นอรหันต์"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "มหาบพิตรเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม มีลูกมีเมีย ทรงรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่" แล้วตรัสต่อไปว่า "จะรู้ว่าใครมีศีลจริงหรือไม่ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ จะรู้ใครมือสะอาดจริงหรือไม่ต้องดูจากการทำงาน จะรู้ว่าใครกล้าจริงต้องดูเมื่อถึงคราวมีอันตราย จะรู้ว่าใครมีปัญญาแค่ไหนต้องดูจากการสนทนา"

พระพุทธดำรัสนี้ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับสะอึก ในที่สุดก็สารภาพออกมาว่า แท้ที่จริงพระพวกนั้นมิใช่อรหันต์ แต่เป็น "สปาย" ที่พระองค์ส่งไปสอดแนมตามชนบทต่างๆ

เดี๋ยวนี้มีข่าวว่ามีอรหันต์เกิดขึ้นเยอะแยะ ส่วนมากก็พวก "อรหันต์ตั้ง" คือตั้งกันเอง หรือตั้งตัวเอง เผลอๆ อาจมี "สปาย" หวังทำลายพระพุทธศาสนา ดังสปายพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ใครจะรู้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 พฤษภาคม 2560 15:32:05

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQlAuplDDBKUIle9vRPsx-kG-6jTgvbvplWCKlFuuPtyobkFrjqnw)

เนื้อคู่กระดูกคู่

ผมได้รับจดหมายจากท่านผู้ใช้นามว่า "คนหมดหวังในชีวิต" ถามปัญหาซึ่งเกินวิสัยที่ผมจะตอบได้

ท่านผู้นี้เล่าเรื่องมายืดยาว พร้อมถามคำถามตอนท้ายว่า "ผมแต่งงานกับคนรักอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ช่วงแห่งความสุขช่างสั้นเหลือเกิน เพียงสามปีเธอก็ด่วนจากไปด้วยโรคมะเร็งร้าย ผมแทบหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ผมตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้พบเธอในชาติหน้าทุกๆ ชาติไป และชาตินี้จะไม่ขอแต่งงานใหม่ อยากเรียนถามคุณในฐานะผู้รอบรู้ศาสนาว่า คำอธิษฐานของผมจะเป็นไปได้ไหม"

ขอขอบพระคุณครับ ที่ให้เกียรติผมเป็นที่ปรึกษาปัญหาหัวใจ ไว้วางใจในความรู้ของผมขนาดถามปัญหาถึงชาติหน้าโน้นแน่ะครับ ผมเห็นจะต้องยืมสำนวนกำลังภายในมาตอบว่า "ผู้น้อยมิบังอาจ"

คุณน่ารักจังเลย แม้ภรรยาจะสิ้นชีวิตไปแล้ว คุณยังซื่อสัตย์มั่นในรักเดียวใจเดียวไม่ขอมีภรรยาใหม่ ผู้ชายอย่างคุณหาได้ยาก มีแต่ประเภทที่ภรรยายังไม่ตายก็แช่งชักหักกระดูก "เมื่อไหร่คุณเหี่ยวจะตายๆ สักที" อะไรอย่างนี้ หรือไม่ก็แอบไปมีบ้านเล็กๆ ไว้ไม่ให้บ้านใหญ่รู้ หยิบยื่นตำแหน่ง "ภรรยาหลวง" ให้ โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม สามี "กะหรั่ว" ประเภทนี้มีเยอะครับ

ว่าแต่คุณอย่า "ซีเครียด" นักครับ ต่อไปภายหน้าถ้าคุณพบสุภาพสตรีที่ดีและน่ารักเท่าภรรยาผู้ล่วงลับก็ตกลงปลงใจกับเธอเถอะครับ ผมเชื่อว่าอดีตภรรยาคุณคงไม่ว่ากระไรเพราะอยู่กันคนละโลกแล้ว

ผีอยู่ส่วนผี คนอยู่ส่วนคน ว่างั้นเถอะ

อย่าให้ความคิดมาหลอกหลอนตัวเองเหมือนไอ้หนุ่มในนิทาน (ที่จะเล่านี้) เลย จะทุกข์ใจเปล่าๆ เรื่องมีอยู่ว่า ชายหนุ่มคนหนึ่งรับปากกับภรรยาผู้ป่วยหนักกำลังจะล่วงลับไปว่า ถ้าเธอตายไป เขาต้องไม่มีภรรยาใหม่ ถ้ามีเมื่อใดเธอจะมาหลอกหลอนไม่สิ้นสุด

เขารักษาสัญญามาหลายปี จนกระทั่งวันหนึ่งได้พบหญิงสาวคนหนึ่งน่ารักไม่แพ้ภรรยาผู้จากไป จึงขอแต่งงานกับเธอ คืนนั้นผีภรรยามาปรากฏตัวชี้หน้าด่าว่าเขาผิดสัญญาที่ให้ไว้

เขาจึงไปหาอาจารย์เซ็นท่านหนึ่ง ขอคำแนะนำจากท่าน อาจารย์เซ็นบอกว่า ถ้าผีภรรยามาให้เห็นอีก ให้กำถั่วเขียวขึ้นมากำมือหนึ่ง แล้วถามเธอไปว่า ในมือเขานั้นมีถั่วเขียวกี่เม็ด ถ้าเธอตอบถูก แสดงว่าเป็นอดีตภรรยาเขาจริง แต่ถ้าเธอตอบผิด ก็มิใช่ผี หากแต่เป็นเพียงภาพหลอนเท่านั้น

กลับถึงบ้าน เขาตระเตรียมหาถั่วเขียวใส่ชามนำมาวางไว้ข้างเตียง คืนนั้นผีภรรยาเขาปรากฏตัวอีก ชี้หน้าด่าเขาทันที

"พี่ไปพบพระเซ็นมาใช่ไหม"
"น้องรู้ได้ยังไง" เขาสะดุ้ง นึกไม่ถึงว่าเธอจะรู้
"มีอะไรบ้างที่น้องไม่รู้ พระเซ็นบ้านั่นถือดียังไง มาแนะนำให้สามีเขาเบี้ยวสัญญาภรรยา" นางบ่นอุบ
ชายหนุ่มหลับหูหลับตาคว้าถั่วเขียวมาเต็มกำมือ ถามว่า "น้องรู้ไหม ในกำมือนี้มีถั่วกี่เม็ด"

นางอึ้ง สักพักก็หายวับไปในความมืด

ตั้งแต่นั้นมา ไม่มีผีอดีตภรรยามารบกวนเขาอีกเลย และชายหนุ่มก็ได้แต่งงานอยู่กินกับภรรยาคนใหม่อย่างสุโขสโมสร

เล่านิทานให้ฟัง เผื่อกาลข้างหน้าคุณไปพบเนื้อคู่กระดูกคู่คนใหม่จะได้ไม่รู้สึกผิดต่ออดีตภรรยาที่อยู่กันคนละโลก ทุกอย่างมันแน่นอนเสียเมื่อไหร่เล่าครับ

ที่คุณถามว่า คุณตั้งปรารถนาไว้ขอให้พบเธอทุกภพทุกชาติจะเป็นไปได้ไหม ผมขอเรียนสารภาพว่า ไม่รู้ เพราะผมเองก็จำไม่ได้ว่า ภรรยาเมียที่อยู่ด้วย กันสุขบ้างทุกข์บ้างทุกวันนี้ เป็นคนที่ผมตั้งความปรารถนาขอให้ไปพบในชาติก่อนหรือไม่ ผมไม่มีอตีตังสญาณ (การหยั่งรู้อดีตชาติ) จึงหาประจักษ์พยานมายืนยันกับคุณไม่ได้

ขอนำเอาพระพุทธพจน์มายืนยันก็แล้วกัน พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๗ ว่า "ดูก่อนพ่อบ้านและแม่บ้าน ถ้าภรรยาและสามีหวังจะพบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ทั้งสองจงมีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน และมีปัญญาเสมอกัน แล้วจะได้พบกันทุกชาติ"

หมายความว่า ทั้งคู่จะต้องครองชีวิตคู่ให้เป็น "คู่สร้างคู่สม" ให้สมกันทั้งในด้านศรัทธา (ความเชื่อ) ศีล (ความประพฤติ) จาคะ (น้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่) และปัญญา (ความรู้ความเข้าใจ) และอธิษฐานจิตขอให้พบกันในชาติหน้า อย่างนี้มีหวังได้พบแน่ๆ พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างนั้น

แต่ถ้าใครคนหนึ่งคนใดเข็ดเขี้ยวอีกฝ่ายหนึ่งแล้วไม่ขอพบด้วยก็เห็นจะลำบาก

เคยอ่านจารึกบนหลุมฝังศพบทหนึ่งว่า

ภรรยาของฉันนอนอยู่ที่นี่ My wife lies here,

ที่นี่ภรรยาของฉันนอนอยู่ Here lies my wife;

หล่อนได้พักผ่อนแล้ว She is at rest,

และฉันก็เช่นกัน And so am I.

ขณะยังมีชีวิตอยู่ เธอคงเอาแต่ฉอดๆ จนหูชา บัดนี้ หูทั้งสองข้างเขาได้พักแล้ว เชื่อว่านายคนนี้คงไม่ปรารถนาจะพบเธออีกแน่นอน ฮิฮิ



ล้มแล้วลุกหรือเปล่า?

วันปีใหม่ เพิ่งผ่านไปหยกๆ ขอถือโอกาสคุยอะไรเบาๆ สบายๆ เพื่อให้เหมาะแก่บรรยากาศสักวันเถอะครับ

แต่เดิมคนไทยเราเฉลิมฉลองปีใหม่กันเดือนเมษายน นับเดือน ๕ เป็นเดือนแรกของปี เรียกว่าวัน "สงกรานต์"

คำว่า สงกรานต์ เป็นคำไทยที่แผลงมาจากคำสันสกฤตว่า "สังกรานตะ" แปลว่า "ก้าวไปแล้ว" "ย่างเข้าไปแล้ว" อะไรก้าว อะไรย่าง ท่านก็คงสงสัยใช่ไหมครับ

ดาวอาทิตย์โคจร (แปลว่าเดิน) ผ่านราศีต่างๆ เดือนหนึ่งย้ายราศีครั้งหนึ่ง โคจรไปเรื่อยๆ ตามเรื่องของมัน พอมันย้ายจากราศีมีน ก้าวเข้าสู่ราศีเมษวันแรกเขาก็เรียกว่า ดาวอาทิตย์ "สงกรานต์" เข้าราศีเมษแล้ว

กำหนดเอาวันนั้นแหละเป็นวันแรกของปีใหม่ ซึ่งตามปกติจะ ตกราวๆ วันที่ ๑๓ ของเดือนเมษายน ปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ นี้ วันสงกรานต์ก็ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายนเช่นเดียวกัน

พอเริ่มวันใหม่ ก็เป็นธรรมดาของมนุษย์อุจจาระเหม็นจะต้องยินดีปรีดาเฉลิมฉลองกัน อันการจะฉลองกันวันเดียวนั้นไม่มีเสียละ ไหนๆ ก็จะสนุกสนานกันแล้ว ก็ขอว่ากันสักสองสามวันเป็นอย่างน้อย เพราะฉะนั้นวันสงกรานต์จึงต้องมี ๓ วัน เริ่มวันที่ ๑๓ สิ้นสุดวันที่ ๑๕

วันที่ ๑๓ เป็นวันสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก ถึงวันนี้ ชาวไทยต่างเฉลิมฉลองกันมโหฬาร มีการทำบุญตักบาตร บังสุกุลอัฐิอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ ให้ของขวัญกันและรื่นเริงตามประเพณีนิยม เดิมเรารดน้ำเพื่ออวยพรกัน ต่อมาได้ขยายออกไปจนกลายเป็นการสาดน้ำใส่กัน ปัจจุบันนี้ออกจะเลยขอบเขตไปไกลถึงขั้นเอาน้ำสกปรก หรือน้ำผสมน้ำแข็ง ก้อนโตๆ สาดใส่คนเดินผ่านไปมา จนเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าเขา หรือทำให้เขาบาดเจ็บไปก็มี ที่ก้าวหน้ากว่านั้น คือ เอาน้ำใส่กระบอกฉีด ฉีดเข้าตาคนอื่นด้วยความคึกคะนองก็มี

แม้ว่าเราจะเลิกนับเดือนเมษายน หรือเดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ หันมานับแบบสากลแล้ว เราก็ยังมีประเพณีวันสงกรานต์อยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เลิกแต่ไม่เลิกว่างั้นเถอะ ตกลงเลยได้โอกาสเฉลิมฉลองเพิ่มขึ้นอีกวัน วันสงกรานต์ก็ฉลอง วันปีใหม่แบบสากลก็ได้ฉลอง หนำใจประชาชนคนไทย ผู้ชอบสนุกนักแล

บัตรอวยพรดูเหมือนจะขายดีในเทศกาลนี้ ร้านหนังสือทั่วไป ส่วนมากจะเก็บหนังสือเอาบัตรอวยพรมาวางขายแทน (คนพิมพ์หนังสือเขียนหนังสือขายอย่างผมจะรู้สึกเดือดร้อนเหมือนกัน เพราะหนังสือโดนเก็บหมด)

พูดถึงการอวยพร ผมอยากฝากข้อคิดเห็นส่วนตัวสักเล็กน้อย ธรรมเนียมไทยเราไม่นิยมให้ผู้น้อยอวยพรผู้ใหญ่นะครับ เรามีคำพูดติดปากว่า เราไปรดน้ำ "ขอพร" จากผู้ใหญ่ เพราะผู้น้อยด้อยอาวุโสไม่อยู่ในฐานะจะอวยพรให้ผู้ใหญ่ ผู้ใดทำถือว่า "บังอาจ" ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง ธรรมเนียมไทยเขาไม่ปฏิบัติกัน

แต่ปัจจุบันนี้เห็นเด็กๆ ไปอวยพรผู้ใหญ่กันหน้าตาเฉย คงถือว่าเป็นความปรารถนาดี ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ย่อมมีสิทธิ์แสดงต่อกันได้ ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ถือว่าถูกต้องโดยปริยาย ถึงไม่ถูกก็ทำอย่างไรได้ เพราะทำกันมาจนเลอะแล้ว ทั้งหัวหงอกและหัวดำ

บางอย่างเลอะจนไม่รู้ว่าจะเอายังไงกันแน่ เช่น เราสอนเด็กว่า เวลาผู้ใหญ่ให้ของ เด็กต้องยกมือไหว้นะจ๊ะ เด็กมันก็จดจำเอาไปปฏิบัติ พอถึงเวลาสำคัญผู้ใหญ่มอบรางวัลให้เด็ก (เช่น รางวัลดีเด่นผู้ชนะประกวดมารยาทและวัฒนธรรมไทย) เด็กยกมือไหว้อย่างอ่อนน้อมสวยงาม เห็นแล้วชื่นใจ

แต่แล้วความชื่นใจชั่วครู่ก็กลายเป็นความ "ขัดใจ" เมื่อผู้ใหญ่ยื่นมือให้เด็กจับตามแบบฝรั่ง เด็กบางคนยืนงงไม่จับตอบ หน้าแตกไปเลยก็มี (สมน้ำหน้า)

ขอเรียนถามผู้ใหญ่ในบ้านเมืองตรงนี้เลยครับว่า ท่านจะเอาแบบไหนกันแน่

ผู้รู้ท่านหนึ่งท่านบอกว่า เวลาผู้ใหญ่อวยพรเด็ก อยากให้อะไรก็กล่าวไปเลย ไม่ต้องอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น "ขอให้เธอมีความสุขความเจริญ" อะไรก็ว่าไป แต่เวลาผู้น้อยอยากอวยพรผู้ใหญ่ควรอ้างอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นสักขีพยาน เช่น "ด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ขอให้คุณปู่จงอายุมั่นขวัญยืน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร (ให้นกน้อยๆ ได้เกาะรับประทานต่อไป)" อะไรอย่างนี้

อ้างพระศรีรัตนตรัย เพื่อเลี่ยงมิให้เด็กอวยพรผู้ใหญ่โดยตรง นับว่าเป็นทางออก ที่ดี

ผมในฐานะผู้น้อยด้อยอาวุโส (ไม่อยากแก่ว่างั้นเถอะ) ขอให้คติธรรมสั้นๆ สำหรับต่อสู้กับชีวิตในกาลข้างหน้าสักบทเถอะครับ

"โคอาชาไนยตัวประเสริฐ

พลาดล้มแล้วลุกได้

สาวกของพระพุทธเจ้าเช่นเรา

จงถือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง"

ครับ จะล้มสักกี่ครั้งกี่หนไม่สำคัญ สำคัญที่ล้มแล้วเราลุกขึ้นก้าวต่อไปหรือไม่



กรณียเมตตสูตร

"คุณได้เขียนเรื่องพระได้อาวุธ คือ เมตตา จากพระพุทธเจ้าแล้วไปจำพรรษาอยู่ในป่า พวกเทวดาทั้งหลายปกปักรักษาให้ปลอดภัย คุณบอกว่าว่างจะนำพระสูตรที่พระพุทธเจ้าประทานแก่พระท่องมาแปลให้ฟัง ผมก็รอมาจนบัดนี้ก็ไม่เห็นคุณเขียนถึง จึงเขียนมาทวงครับ ผมยังรออ่านอยู่ และเชื่อว่าผู้อ่านอื่นๆ ก็คงอยากทราบด้วย"

ข้อความข้างต้นเป็นจดหมายจากท่านผู้ใช้นามว่า "ชาวพุทธแก่" ผมต้องขอโทษที่หมู่นี้ออกจะแก่เกินวัยไปหน่อย จำไม่ได้ว่าได้ให้สัญญาอะไรแก่ท่านผู้อ่านไว้บ้าง บางทีก็เป็นเพียง "สไตล์" การเขียนนะครับ เขียนถึงอะไรแล้วเห็นว่ายังมีข้อที่น่าสนใจก็มักจะพูดว่า "ว่างๆ จะเล่าให้ฟัง" บอกแล้วก็บอกเลยแสดงว่าไม่ว่าง ฮิฮิ

คราวนี้ขอใช้หนี้เรื่องนี้ก่อน (มีหนี้อะไรอีกที่ผมก่อไว้ ก็โปรดทวงมาอีกนะครับ) พระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "พุทธาวุธ" ชื่อเต็มว่า กรณียเมตตสูตร มีเนื้อความดังนี้ "สิ่งที่ผู้ฉลาดในประโยชน์ ผู้มุ่งหวังในนิพพานจะพึงกระทำคือ เป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย (ไม่วุ่นวายในกิจการต่างๆ) มีความเป็นอยู่เบา (คล่องตัว) สำรวมอินทรีย์ มีปัญญารักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุล ไม่ทำชั่วแม้เล็กน้อยที่ผู้รู้จะพึงตำหนิได้

พึงแผ่เมตตาจิตไปยังสัตว์ทั้งหลายว่า

ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข มีความเกษมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะอ่อนแอหรือแข็งแรง ไม่ว่าจะสูง (ยาว) หรือใหญ่ ปานกลางหรือต่ำ (สั้น) ผอมหรืออ้วนพี สัตว์ทั้งหลายที่เรา (เคย) เห็นหรือว่าไม่ (เคย) เห็น อยู่ใกล้หรืออยู่ไกล เกิดมาแล้วหรือกำลังแสวงหาที่เกิด ขอจงมีความสุขโดยทั่วกันเทอญ

ขออย่าได้ข่มขู่กัน อย่าได้ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่ว่าในกาลไหนๆ ขออย่าได้ปรารถนาทุกข์แก่กันเพราะความโกรธ เพราะความเคียดแค้นเลย

มารดาถนอมบุตรสุดที่รักคนเดียว ปกป้องบุตรน้อยคนเดียว แม้ด้วยชีวิตฉันใด ผู้ฉลาดในประโยชน์พึงแผ่ความรักอันหาประมาณมิได้ไปยังสัตว์ทั้งปวงดุจเดียวกัน

พึงเจริญเมตตาจิตอันหาประมาณมิได้ในสัตว์ทั้งหลายในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไร้ความเคียดแค้น ไร้เวร ไร้ศัตรู

ไม่ว่าจะยืนหรือเดิน นั่งหรือนอน พึงตั้งจิตประกอบด้วยเมตตานี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วงหลับไป

บัณฑิตเรียกความเป็นอยู่อย่างนี้ว่า "พรหมวิหาร" (ความเป็นอยู่อย่างประเสริฐ)

กุลบุตรผู้เจริญเมตตา เป็นผู้มีศีล ไม่เห็นผิด มีความเห็นถูกต้อง คลายความกำหนัดในกามทั้งหลายได้ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีกแน่นอน"

พระสูตรนี้มีอยู่สามส่วนคือ ส่วนแรกพูดถึงคุณสมบัติที่บุคคลพึงมีหรือพึงฝึกฝนตนให้ได้ เช่น ต้องเป็นคนอาจหาญ (ในความดี) ซื่อตรง อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง เป็นต้น

ส่วนที่สองบอกวิธีแผ่เมตตาจิต แผ่ความรัก อันหาประมาณมิได้ไปยังสรรพสัตว์ ไม่ยกเว้นแม้ศัตรู ทำใจให้เป็นกลางปราศจากอคติใดๆ ขอให้สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุขๆ อย่าได้มีเวรมีภัยแก่กันเลย

ส่วนที่สามสรุปว่า ถ้าทำได้อย่างนี้เป็นนิจ เขาจะมีศีลสมบูรณ์ มีความเป็นถูกตามคลองธรรม หรือมีสัมมาทิฐิ คลายกามราคะได้ และบรรลุนิพพานในที่สุด

ใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย บอกว่า ผู้เจริญเมตตาเป็นนิจได้รับอานิสงส์ (ผลดี) ๑๑ ประการ คือ หลับสบาย, ตื่นเป็นสุข, ไม่ฝันร้าย, เป็นที่รักของอมนุษย์,

เทวดาพิทักษ์รักษา, ไม่ต้องอัคคีภัย, ยาพิษ, หรือศัตราวุธ, จิตเป็นสมาธิเร็ว, ใบหน้าผ่องใส, ถึงคราวตายก็ตายด้วยอาการสงบ, ถ้าไม่บรรลุคุณธรรมชั้นสูงตายไปก็ไปเกิดในพรหมโลก

ครับ ไม่มีอะไรดีเท่าแผ่เมตตา "ขอให้มีความสุขโดยทั่วกันเทอญ ขออย่าได้ขุ่มขู่กัน อย่าได้ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่ว่าในกาลไหนๆ ขออย่าได้ปรารถนาทุกข์แก่กันเพราะความโกรธ เพราะความเคียดแค้นเลย"

ที่แผ่ให้กันลำบากหน่อย ก็เห็นจะเป็นพวกที่กำลังแย่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครอยู่ขณะนี้แหละครับ



(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQlAuplDDBKUIle9vRPsx-kG-6jTgvbvplWCKlFuuPtyobkFrjqnw)

วัสสการพราหมณ์ต้นตำรับแผนเจ็บตัว

ในเกมการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งมีมากมายหลายวิธีนั้น วิธีหนึ่งที่ดูเหมือนจะล้าสมัยแต่ยังใช้ได้ผลตลอดกาลคือ "แผนเจ็บตัว" แบบวัสสการพราหมณ์

วันนี้ขอพูดถึงคนดังคนนี้สักหน่อยเถอะครับ วัสสการพราหมณ์แกเป็นคนชั้นมันสมองของกรุงราชคฤห์ รู้ว่ากษัตริย์ลิจฉวี เขาปกครองเมืองไพศาลีอย่างสมัครสมานสามัคคีกัน โจมตีอย่างไรก็ไม่แตก จึงยอมตนให้พระเจ้าอชาตศัตรูเฆี่ยนจนหลังลายแล้วไปขออาศัยอยู่กับกษัตริย์ลิจฉวี บอกว่าตนได้พยายามทัดทานมิให้พระเจ้าอชาตศัตรูรุกรานเมืองไพศาลี แต่พระเจ้าอชาตศัตรูกลับพิโรธหาว่าตนเข้าข้างศัตรู จึงสั่งเฆี่ยนและเนรเทศตนออกจากเมือง

พวกลิจฉวีรู้ไม่ทันอุบายของวัสสการพราหมณ์ นึกว่าที่แกพูดเป็นความจริง จึงรับแกมาอยู่ด้วย มอบหน้าที่ให้เป็นครูสอนเจ้าชายลิจฉวีทั้งหลาย ปีศาจในคราบครูผู้ถือศีลยุยงเด็กพักเดียวได้เรื่อง ก็ทะเลาะกันวุ่นวายนั่นแหละจะอะไรเสียอีก ลามไปถึงพ่อแม่ของเด็ก ในที่สุดพวกกษัตริย์ลิจฉวีที่ว่าสามัคคีกันนักหนาก็แตกคอกัน

เพื่อทดสอบว่าเขาแตกสามัคคีกันจริงหรือไม่ จึงลองไปตีกลองเรียกประชุม (ดังที่พวกเขาทำอยู่ประจำ) ปรากฏว่าไม่มีใครมาสักคน วัสสการพราหมณ์จึงส่ง "ซิก" ให้พระเจ้าอชาตศัตรูทราบ พระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพมาล้อมเมือง พวกลิจฉวีได้แต่เกี่ยงกันว่า "มึงว่ามึงแน่ มึงก็ไปรบสิวะ" ไม่มีใครออกไปรบกับข้าศึกสักคน

เมืองไพศาลีที่มั่งคั่งมหาศาลก็ตกอยู่ใต้อำนาจพระเจ้าอชาตศัตรูอย่างง่ายดาย วัสสการพราหมณ์แกยอมเจ็บตัวนิดหน่อย แต่ก็ได้ผลตอบแทนมหาศาล

สมัยนี้จะมีใครถนัดใช้แผนเจ็บตัวอย่างวัสสการพราหมณ์ผมไม่ทราบ เคยอ่านแต่นิทานเก่าแก่ชื่อ "พาหิรชาดก" มีเรื่องคล้ายกันนี้ ขอเล่าย่อๆ ดังนี้

ณ หมู่บ้าน "อันธภูต" ในเมืองพาราณสี (นิทานเรื่องไหนก็เกิดที่เมืองนี้ทั้งนั้นแหละ) มีการคัดเลือกหัวหน้าหมู่บ้าน (คงคล้ายตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านของเรากระมัง) มีผู้มาสมัครหลายคน ต่างก็พรรณนาคุณภาพตัวเองว่าเหมาะเป็นหัวหน้าหมู่บ้านทั้งนั้น

อยู่ดีๆ ก็มีข่าวลือแพร่สะพัดทั่วหมู่บ้านว่า ผู้สมัครคนหนึ่งชื่อ "ภินนสัตยะ" เป็นผู้สัตย์ซื่อมือสะอาด ถูกผู้สมัครคนอื่นๆ รุมทำร้าย ชาวบ้านที่ทราบเรื่องต่างก็พูดด้วยความเห็นใจว่า น่าสงสารเขาจริงๆ เขาเป็นคนดีแท้ๆ ยังถูกรุมรังแกได้

ข่าวแรกไม่ทันจางหาย ข่าวลือใหม่ก็แพร่เข้ามาอีก คราวนี้ลือกันว่าท่าน "อิสิปาโมกข์" พระฤๅษีผู้อาวุโสในหมู่บ้านเรียกประชุมเหล่าฤๅษีทั้งหมดให้หาทางกีดกันมิให้ภันนสัตยะเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน นัยว่ารังเกียจที่ภินนสัตยะแกไปสนับสนุนฤๅษีนอกคอกอาจารย์ของแก ซึ่งไม่ยอมปฏิบัติตามอิสิวัตร (ข้อปฏิบัติของพวกฤๅษีทั้งหลาย) นึกจะพูดนึกจะทำอะไรก็พูดหรือทำตามชอบใจ สร้างความปั่นป่วนให้เกิดแก่วงการฤๅษีไม่น้อย

ข่าวที่ว่าท่านอิสิปาโมกข์จะเข้าฌานขั้นสูงใช้อำนาจสะกดจิตให้ชาวบ้านทั้งหมดเกลียดชังภินนสัตยะ

อีกสามวันต่อมาข่าวลือก็สะพัดมาอีกว่า ฤๅษีหนุ่มจำนวนพันประชุมกันคัดค้านนายภินนสัตยะ สอดรับกับท่านอิสิปาโมกข์ ทำให้ชาวบ้านงุนงงสงสัยว่าเพราะเหตุใดพวกฤๅษีซึ่งทรงศีลและทรงฌานสมาบัติจึงไม่สนับสนุนคนดี ฤๅษีถึงคราวที่หมู่บ้าน "อันธภูต" จะถึงการล่มสลาย แม้แต่ฤๅษียังมองเห็นคนดีเป็นคนชั่ว คนชั่วเป็นคนดีไปเสียแล้ว ชาวบ้านรำพึงระทดท้อ

หลากเสียงเรียกร้องให้ภินนสัตยะผู้น่าสงสารปรากฏตัว อยากรู้ว่าเขาถูกทำร้ายหนักหนาสาหัสอย่างใดบ้าง แต่ไม่ปรากฏแม้เงาของภินนสัตยะ มีเพียงผู้นำสารมาอ่านให้ชาวบ้านฟังว่า พ่อแม่พี่น้องไม่ต้องห่วง ขณะนี้ภินนสัตยะคนดีของพวกท่านอยู่ในที่ปลอดภัย ที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ระยะนี้ก็เพราะกำลังถูกตามล่าสังหาร โดยผู้สมัครหัวหน้าหมู่บ้านคนอื่นๆ

"พ่อจ๋าแม่จ๋า ช่วยภินนสัตยะด้วยเถิด เขาถูกรุมรังแกโดยไม่เป็นธรรม" เสียงอ่านสารสั่นเครือ

เขียนๆ ไป ชักจะเป็นนวนิยายไปทุกที เอาเป็นว่า พอถึงวันคัดเลือกจริงชาวบ้านต่างเห็นพ้องต้องกันเลือกนายภินนสัตยะเป็นหัวหน้าหมู่บ้านของพวกเขา และขับไล่ผู้สมัครคนอื่นๆ หนีกระเจิดกระเจิงออกนอกหมู่บ้าน

ขณะที่พวกเขาวิ่งหนีตายอยู่นั้น รุกขเทวดาปรากฏตัวกล่าวแก่พวกเขาว่า "นี่แหละคือผลของการรุมรังแกคนดี"

พวกเขาวิ่งต่อไปสุดชีวิตจนมาสิ้นแรงล้มสลบลง ณ ชายป่าแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะครางออกมาด้วยความสิ้นหวังว่า

"โอ แม้กระทั่งเทวดายังหลงเชื่อว่า พวกเรารังแกเขา"



คุณธรรมที่คนส่วนมากขาด

ไปร่วมอภิปรายในงานสำคัญงานหนึ่ง ผู้อภิปรายท่านหนึ่งกล่าวว่า คนไทยมักขาดความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ชอบแต่ให้คนอื่นฉิบหาย แล้วท่านก็ยกตัวอย่างว่า จะเห็นได้เลยเวลาไฟไหม้บ้านคนอื่นก็ดี เวลาคนอื่นประสบอุบัติเหตุ เช่น โดนรถชน เป็นต้น ก็ดี จะมี "ไทยมุง" มากมาย มายืนดูความฉิบหายของคนอื่น ท่านว่าอย่างนั้น

ความจริงแล้วจะเหมาเอาว่าคนที่มายืนมุงดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่ว่ามานั้น เป็นพวกชอบให้คนอื่นฉิบหายก็คงไม่ถูกนัก เพราะธรรมชาติของคนทั่วไป ไม่ว่าชาติไทยหรือชาติไหน เมื่อเห็นอะไรผิดปกติก็อดจะมาดูไม่ได้ การมามุงดูก็เพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จะไปเหมาเอาหมดว่ามาดูเพื่อให้สะใจ เพื่อสุขใจที่เห็นคนอื่นฉิบหายก็คงไม่ถูก

แต่ถ้าจะพูดว่า คนไทยมักไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการอนุโมทนา หรือยินดีด้วยกับความสำเร็จ หรือความสุขของคนอื่นล่ะก็พอฟังขึ้น ทั้งๆ ที่สมัยโบราณท่านปลูกฝังเรื่องนี้มาก แต่ปัจจุบันนี้ได้จางคลายลงไปมาก

ในพระพุทธศาสนามีวิธีทำบุญอยู่อย่างหนึ่ง (ในสิบวิธี) คือการพลอยยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นทำความดี เรียกว่า "อนุโมทนามัย" บุญกุศลสำเร็จด้วยการแสดงอาการ "พลอยยินดีด้วย"

ผู้ใหญ่จะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น เวลาผู้ใหญ่ท่านไปฟังธรรมมา หรือได้บริจาคเงินทำบุญอะไรมา ก็จะมาบอกลูกหลานว่า "พ่อแม่-ปู่ย่า ได้ทำบุญอย่างนั้นๆ มา ขอให้ลูกอนุโมทนาด้วยนะ" แล้วลูกหลานก็จะยกมือไหว้อนุโมทนาด้วย

ด้วยการทำอย่างนี้ ลูกหลานก็ได้บุญด้วย เป็นการแสดงออกซึ่งจิตใจที่บริสุทธิ์ พลอยยินดีกับการทำความดี ไม่อิจฉาริษยาที่เห็นคนอื่นทำดี

การทำเช่นนี้นับเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งชื่อ มุทิตา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลัก "พรหมวิหาร" (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) พระท่านว่าเป็นธรรมที่ทำให้คนเป็นผู้ประเสริฐ (พรหม แปลว่า ประเสริฐ) หรือเป็นธรรมสำหรับผู้ใหญ่ (พรหม แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ใหญ่)

สังคมใดถ้าผู้ใหญ่มีมุทิตา สังคมนั้นจะมีแต่ความสมัครสมานสามัคคี และมีความเจริญก้าวหน้า เพราะมุทิตานับเป็นคุณธรรมที่ "เสริมแรง" หรือกระตุ้นให้คนทำความดี

ว่ากันว่า ผู้ใหญ่ทำดีนั้นง่าย เพียงแค่พูดแสดงความชื่นชมยินดีกับลูกน้องประโยคเดียว ก็นับว่าได้ทำความดีแล้วเช่น "ดีใจด้วยนะ ขอแสดงความยินดีด้วย ที่ได้ทราบว่าคุณได้รับรางวัล" "งานนี้สำเร็จด้วยดี ก็เพราะคุณมีส่วนสำคัญมากขอขอบใจ ขอให้ช่วยกันนะ" ฯลฯ

ผู้ใหญ่ที่มีมุทิตาต่อผู้น้อยอย่างนี้ ย่อมเป็นที่รักและเคารพของผู้น้อยอย่างไม่ต้องสงสัย

ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องง่ายที่จะทำ แต่ก็ปรากฏว่าไม่ค่อยจะทำกัน ส่วนมากนอกจากจะไม่ชื่นชมยินดีกับความดีของลูกน้องแล้ว ยังแสดงความอิจฉาริษยาออกนอกหน้าเสียอีก

ผู้ใหญ่บางคนถือคติว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาจะต้องอยู่ใต้ตนทุกอย่าง จะปล่อยให้เกินหน้าเกินตาไม่ได้ เดี๋ยวเหลิงปกครองยาก ยิ่งเห็นหรือได้ยินคนอื่นชื่นชมลูกน้องของตนให้รู้สึกว่า ทนไม่ได้

เห็นผู้ใต้บังคับบัญชาคนใด ทำท่าจะแข่งรัศมีของตน ก็คอยกดขี่หรือกลั่นแกล้ง เพราะกลัวว่าตนเองจะด้อย จะหมดความสำคัญ

ผู้ใหญ่ที่คิดเช่นนี้ เป็นผู้ใหญ่ที่ขาดมุทิตาธรรม ถึงจะปกครองลูกน้องได้ก็ปกครองได้แต่กายของเขา หา "กำใจ" ของเขาได้ไม่

ถ้าอยากให้ลูกน้อง และเพื่อนร่วมงานรักท่านอย่างสุดชีวิตจิตใจ ก็หัดรู้จักพลอยยินดีกับความสุขความสำเร็จของคนอื่นบ้างเถิด

ทำความดีอย่างนี้ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย



รู้อย่างเดียวก็ได้ แต่ให้เชี่ยวชาญ

คงจำกลอนของสุนทรภู่กันได้ว่า "รู้อะไรให้กระจ่างเพียงอย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล"

สมัยผมเป็นเด็ก ตาเล่านิทานสนุกๆ ให้ฟังหลายเรื่อง จำได้แม่นเรื่องหนึ่งคือเรื่อง "คนตดเก่ง" เรื่องมีว่ากระทาชายนายหนึ่งได้ลาพ่อแม่ไปศึกษาศิลปวิทยาจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์ กับบรรดาเพื่อนๆ ทั้งหลาย

พวกเพื่อนๆ ต่างก็เลือกเรียนวิชาที่คนนิยมกันสมัยนั้น เช่น วิชาฟันดาบ ยิงธนู รัฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง ฯลฯ แต่กระทาชายนายนี้กลับเรียนไม่เหมือนเขา คือเรียนวิชาตด เรียนจนกระทั่งสามารถตดได้อย่างพิสดาร ตดเป็นเสียงดนตรีก็ได้ ร้องเพลงก็ได้ เป็นเสียงสัตว์ร้องนานาชนิดก็ได้

กลับมาถึงบ้านได้เล่าวิชาที่ตนจบมาให้พ่อแม่ฟัง พ่อโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ หาว่าลูกเฮงซวยอุตส่าห์เสียเงินเสียทอง เสียเวลาไปร่ำเรียนศิลปวิทยา หน็อยแน่เรียนอะไรไม่เรียน (เสือก) ไปเรียนวิชาอัปมงคล จึงตะเพิดออกจากบ้าน

เขาเร่ร่อนไปยังต่างแดน ไปถึงเมืองหนึ่ง พระราชธิดาของเจ้าเมืองป่วยเป็นโรคประหลาด ตาผมเรียกว่า "โรคกึก" คือไม่พูดไม่จากับใคร ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอะไรผิดปกติมาก่อน ไม่ยิ้มไม่หัวกับใครเศร้าซึมตลอดเวลา จนหมอหลวงทั้งหลายไม่มีปัญญารักษา เจ้าผู้ครองเมืองนั้นประกาศว่า ใครสามารถให้พระราชธิดาของพระองค์ยิ้ม หัวเราะ หรือพูดได้จะให้รางวัลอย่างงาม

เจ้าหนุ่มผู้สำเร็จวิทยายุทธ์กระบวนการตด เข้าไปอาสากับเจ้าผู้ครองเมืองว่าจะลองใช้วิชาของตนดู เผื่อได้ผล เขาแสดงเพลงตดสารพัดวิธีให้นางฟัง สาวน้อยผู้ไม่เคยพูดจา หรือแม้แต่ยิ้มหัวกับใครมาก่อนหัวร่อท้องคัดท้องแข็ง พูดว่าเขาช่างเก่งจัง ตดได้พิลึกกึกกือจริงๆ ว่าพลางก็สั่งให้เขาตดเป็นเสียงนั้นเสียงนี้อย่างสนุกสนาน

เจ้าผู้ครองเมืองดีพระทัยมากที่เจ้าหนุ่มสามารถรักษาให้ลูกสาวของตนหาย จึงปูนบำเหน็จให้อย่างงาม คือยกพระราชธิดาให้เป็นรางวัลเลย ตกลงเจ้าหมอนี่ไม่รู้อะไรเลย นอกจากวิชาตด ก็สามารถเป็นถึง "พระฮู่เบ๊" (ราชบุตรเขย) ของพระราชาได้

แล้วตาผมก็สรุปว่า "ขอให้รู้จริงๆ เถอะหลาน วิชาอะไรก็ได้ จะช่วยให้ทำมาหากินได้อย่างสบาย" ผมจำคำของตามาตลอด ออกจากโรงเรียนประถม แล้วก็ไปบวชเณรเรียนบาลีจนจบมีความรู้ภาษาบาลีจนแตกฉาน (ขอคุยสักหน่อย) รู้วิชาเดียวจริงๆ แล้วก็อาศัยหากินมาได้จนทุกวันนี้ คือเอาภาษามาประยุกต์ตั้งชื่อคนนั่นไง พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย "ลูกค้า" ผมมีมากมายทั่วประเทศ เสียแต่ผมไม่เอามาเป็นวิชาหากินเท่านั้น ทำเป็นวิทยาทาน

โปรดจำไว้เถอะครับ วิชาชีพอะไรก็ได้ ขอแต่ให้มีใจรักศึกษาและทำไปจนกระทั่งชำนิชำนาญ อำนวยประโยชน์ให้แก่เราแน่นอน ดังครูสุนทรภู่ว่า "ขอให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล" นั่นแหละครับ

ขอย้ำว่า ต้องเป็นวิชาชีพที่สุจริตชอบธรรมด้วยนะครับ ไอ้การหลอกลวงต้มตุ๋น หรือทุจริตมิจฉาชีพอื่นๆ ไม่นับนะครับ ถึงจะมีวิทยายุทธ์ล้ำเลิศเพียงใดก็ตาม



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 มิถุนายน 2560 14:37:13

(https://hemgan.files.wordpress.com/2015/11/vajrapani.jpg)

เดียร์ถีย์

ปะหน้าท่านอุปนายกราชบัณฑิตยสถาน ดร.บุญพฤกษ์ จาฏามระ เมื่อสองสามวันก่อนท่านบอกว่า มหาไต้น่าจะเขียนถึง "เดียรถีย์" บ้างนะ อยากรู้ว่าเดียรถีย์ คือคนประเภทไหน ครั้งผมจะบอกว่า อยากรู้ก็ไปเปิดพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานฉบับที่ท่านเป็นกรรมการจัดทำเอาสิครับ ก็ไม่กล้า กลัวท่านเตะเอา

เรื่องพจนานุกรมนี่มีอะไรพิลึกๆ อยู่ เช่น จะเปิดหาความหมายของคำว่า "แลน" พบคำอธิบายว่า "สัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งปากแหลม ลิ้นสองแฉกเหมือนเหี้ย" เปิดคำว่า "เหี้ย" เจอคำอธิบายว่า "สัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง ปากแหลม ลิ้นสองแฉก คล้ายแลน" เลยไม่รู้ว่าไอ้เหี้ยกับแลนมันหน้าตาเป็นยังไง

วิธีอธิบายอีกอย่างหนึ่งที่พบบ่อยคือ ท่านมักจะบอกเราไปดูที่โน่นที่นี่ แต่ไม่ยักมีให้ดูนี่่สิมันน่าโมโห เช่น "ตะกวด" ดู "แลน" ครั้งเปิดแลนก็เจอทำนองเดียวกันว่า "แลน" ดู "ตะกวด" อย่างนี้จะไปเห็นอะไรเล่าครับ ทั้งตะกวดทั้งแลนไม่มีให้ "ดู" สักตัว

ที่ว่านี้ผมมิได้หมายถึงพจนานุกรมฉบับใดฉบับหนึ่งดอกนะครับ (ก็ผมมิได้ระบุชื่อเลยสักเล่มนี่ใช่มั้ย)

ทีนี้มาว่าถึง "เดียรถีย์" ที่จั่วหัวไว้ข้างต้น พจนานุกรมให้คำจำกัดความว่า เดียรถีย์ หมายถึงนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนาในอินเดีย "สมัยพุทธกาล" ถ้าถือตามนี้ ไม่ว่าใครถ้าบวชในศาสนาอื่นจากศาสนาพุทธ เป็นเดียรถีย์ทั้งนั้น มีความหมายในแง่ดี มิใช่แง่ลบหรือดูถูกดูหมิ่นแต่ประการใด แต่ยุคหลังนี่ต่างหากที่กลายมาเป็นเป็นคำต่ำ ใครขืนอุตริใช้เรียกคนอื่นมีหวังโดนเตะ

ดุจเดียวกับคำว่า "สมี" เดิมเป็นคำสูง ย่อมาจากคำว่า "สามี" (ผู้เป็นใหญ่) ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่เราใช้ตามอย่างพระลังกาวงศ์ คนที่บวชเรียนเป็น "สามี" หรือ "สมี" สึกออกมาชาวบ้านยังเรียกสามี หรือสมี อยู่ด้วยความเคารพนับถือ แต่ปัจจุบันกลายเป็นคำต้องห้ามไปแล้ว ใครอย่าเผลอนำไปใช้เป็นอันขาด หยั่งผมนี่ใครบังอาจมาเรียกว่า "สมีไต้" เมื่อไหร่ พอฆ่าได้ฆ่าทันที ถึงผมจะจับปืนไม่เป็น ยิงไม่เก่ง เหมือนเดียรถีย์ เอ๊ย เจ้ากูบางรูปก็เถอะ

สมัยพุทธกาล เดียรถีย์ที่ถูกกล่าวขวัญบ่อยคือพวกนักบวชศาสนาเชน ศิษย์ศาสดามหาวีระ หรือนิครนถ์นาฏบุตร เมื่อพระพุทธเจ้าประกาศศาสนามีคนเลื่อมใสนับถือมากขึ้น ทำให้สถานภาพของศาสนาเชน ซึ่งครองความเป็นใหญ่เหนือจิตใจชาวอินเดียมานานกระทบกระเทือน หนำซ้ำศิษย์เอกคนหนึ่งชื่ออุบาลีละทิ้งศาสนาเดิมหันมานับถือพุทธด้วย พวกเชนจึงเป็นเดือดเป็นแค้น วางแผนจองเวรอันสุนทรต่อพระพุทธองค์อย่างต่อเนื่อง

แผนแรกให้สาวกสาวสวยหยดย้อยหยาดเยิ้ม ไม่แพ้หนูปุ๋ย หนูนุชของไทยนามว่าจิญจมานวิกา ใส่ร้ายพระพุทธองค์ นางเที่ยวอ้างกับใครต่อใครว่า พระสมณโคดมนั้นไซร้ใช่อื่นไกล พระสวามีของน้องหนูเอง

วันหนึ่งขณะพระองค์แสดงธรรมอยู่ น้องหนูจิญฯ เธอเอาท่อนไม้กลมๆ ผูกพุงเอาผ้าเคียนให้ป่องเหมือนคนมีครรภ์ ใส่ชุด "ทรงกุมาร" เข้าไปต่อว่าต่อขานท่านกลางพุทธบริษัทที่กำลังฟังธรรมอยู่ "เด็จพี่มัวเทศน์อยู่นั่นแหละ น้องจิญฯ ตั้งท้องตั้งสี่เดือนแล้วยังไม่พาไปฝากครรภ์เลย จะฝากรามา หรือศิริราชก็รีบจัดการซะ" เอาละซิครับ เล่นเอาประชาชีงงงันไปตามๆ กัน

พระพุทธเจ้าตรัสตอบด้วยพระอาการสงบว่า "น้องหญิง ที่เจ้าพูดนั้นเรากับเธอเท่านั้นที่รู้ว่าจริงหรือไม่"

"ใช่สิๆ ก็เป็นเรื่องของสองคนผัวเมียนี่คะ" ยายเม้าปากม้านึกว่าตัวได้ทีเลยขี่แพะไล่ แต่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมต่อไปเฉย ไม่สนใจไยดี เธอเต้นเร่าด้วยความโกรธจัด จะเป็นด้วยเต้นแรงไปหน่อยหรือไงไม่รู้ ท่อนไม้ที่ผูกไว้กับพุงหล่นลงมา แผนการเลยแตก ประชาชนลุกฮือขึ้นมาไสหัวออกไปจากพระเชตวันวิหาร

ตำรากล่าวว่า เธอถูกแผ่นดินสูบ อ้ายนี่คงมิได้หมายความตามตัวอักษรดอกนะครับ เธอคงวิ่งกะเล่อกะล่าหนีฝูงชนเลยตกท่อผู้ว่าจำลอง เอ๊ย ตกหลุมตายหรือไม่ก็คงประชาชนรุมกระทืบตายนั่นเอง

แผนครั้งแรกล้มเหลว แผนที่สองตามมา คราวนี้จ้างนักเลงฆ่าสาวกสาวของตัวเอง นำศพไปทิ้งข้างพระเชตวัน ไปแจ้งความว่าสาวกของตนเองหายตัวไป สงสัยถูกล่อลวงไปในทางไม่ดี เมื่อคนพบศพอยู่ข้างวัดพุทธ เดียรถีย์จึงใส่ไคล้ว่าพระสมณโคดมเป็นตัวการ แต่ผลการสอบสวนของพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตัวฆาตกร เจ้านั่นสารภาพว่ารับจ้างพวกเดียรถีย์ฆ่านางเอง เป็นอันว่าขว้างงูไม่พ้นคอเป็นครั้งที่สอง พวกเดียรถีย์ตัวการจึงเข้าซังเตไปตามระเบียบ

เรื่องของเดียรถีย์มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ (ซึ่งต่างจาก เณรคัมภีร์!) มากมาย ส่วนมากเป็นเรื่องไม่ดีไม่งามของพวกเขาทั้งนั้น ถ้าไม่ได้เขียนขึ้นด้วยอคติ ก็แสดงว่าพวกเดียรถีย์นี่คง "ถ่อย" น่าดูชม เพราะพฤติกรรมถ่อยๆ เยี่ยงนี้กระมัง เวลาอาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์เอ่ยถึงพวกเดียรถีย์จึงมักมี "น้ำเสียง" ดูหมิ่นอยู่ในที เหตุนี้กระมังที่ทำให้คำนี้ตกต่ำไป

จากเดิมซึ่งหมายถึงนักบวชนอกพุทธศาสนาทั่วไป กลายมาเป็นนักบวชทุกศาสนาที่ทุศีลอลัชชีมีพฤติกรรมน่ารังเกียจ พูดให้ชัดก็คือ เดิมคำว่าเดียรถีย์หมายเอาเฉพาะนักบวชนอกพุทธศาสนา ต่อมาหมายเอาเฉพาะพวกที่ไม่ดี ต่อมาอีกพระในพุทธศาสนาที่ไม่ดีก็เรียกว่าเดียรถีย์

ประเภทพกปืนก๋า ตบหน้าลูกวัดที่ขัดขืน ไม่ฆ่าไก่แกงให้ฉันดินเนอร์เป็นนั่นแหละเดียรถีย์ละ



โอวาทปาติโมกข์-อาณาปาติโมกข์  

คําว่า ปาติโมกข์ เดิมทีเขียนว่า ปาฏิโมกข์ แปลกันว่า เป็นประธาน หรือเป็นหลักสำคัญ โอวาทปาติโมกข์ ก็คือ โอวาทหรือคำสั่งสอนอันเป็นหลักสำคัญ อาณาปาติโมกข์ ก็แปลว่า อำนาจหรือระเบียบวินัยที่เป็นหลักสำคัญ

ในพระพุทธศาสนามีปาติโมกข์สองอย่าง และมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกัน วันมาฆบูชา วันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ "ปาติโมกข์" อย่างหนึ่งในสองปาติโมกข์เพิ่งผ่านไป จึงขอนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง ถ้าหนักไปก็โปรดหายาแก้ปวดกินหลังจากอ่านจบก็แล้วกัน

ตลอดระยะเวลา 20 ปีแรกหลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติพระวินัยหรือสิกขาบทเป็นข้อๆ ให้พระได้รักษา เพราะพระสงฆ์สาวกในยุคแรกล้วนแต่ผู้ที่เบื่อโลกแล้วมาบวช การประพฤติปฏิบัติจึงถูกต้องโดยอัตโนมัติ วินัยหรือสิกขาบทจึงไม่จำเป็น

พระพุทธองค์เพียงแต่แสดงโอวาทที่เป็นหลักสำคัญให้เหล่าสาวกฟังเพื่อเตือนสติทุกกึ่งเดือน เรียกว่า "โอวาทปาติโมกข์" วันแรกที่ทรงแสดงคือวันเพ็ญมาฆะ ๙ เดือนหลังจากตรัสรู้ ทรงแสดงท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันบาต" ณ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ดังที่ทราบกันดีแล้ว

โอวาทปาติโมกข์นี้ เป็นบทกวีบาลีที่ไพเราะเพราะพริ้ง (สำหรับคนอ่านบาลีออก) สามถาคากับอีกกึ่งคาถา มีหัวข้อธรรม ๑๓ หัวข้อ สรุปใจความได้ ๔ ประเด็นใหญ่ๆ คือ

-พูดถึงเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
-พูดถึงหลักการทั่วไปของพระพุทธศาสนา
-พูดถึงคุณสมบัติของพระสงฆ์ผู้มีหน้าที่เผยแพร่พระพุทธศาสนา
-พูดถึงวิธีการเผยแพร่พระพุทธศาสนา

สำหรับชาวพุทธไทย พอพูดถึงโอวาทปาติโมกข์ ก็นึกถึงเฉพาะหลักการทั่วไปของพระพุทธศาสนา ๓ ข้อ (คือการไม่ทำชั่วทั้งปวง การทำความดีให้พร้อมมูล และการทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายบัญญัติกันว่าเป็น "หัวใจพระพุทธศาสนา" ไม่เคยคิดว่าโอวาทปาติโมกข์มีมากกว่านั้น (เพราะมิได้สอนกัน) แต่ไม่เป็นไร จำได้แค่นี้ก็ดีถมไปแล้ว  

ระยะ ๒๐ ปีแรก พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกกึ่งเดือนติดต่อกันมา จนวันหนึ่งพระองค์ทรงงดแสดง เพราะทรงเห็นว่าบริษัทไม่บริสุทธิ์ (คือมีพระทุศีลเข้าร่วมฟังอยู่ด้วย จนพระโมคคัลลานะต้องจัดการดึงแขนท่านผู้นั้นออกจากที่ประชุม) กอปรกับเวลานั้นได้มีสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้วจำนวนหนึ่ง จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์สาวกสวดให้กันฟังเอง

ตั้งแต่นั้นมา พระสงฆ์จึงประชุมกันฟังสวดปาติโมกข์ที่ว่านี้กันเองทุกกึ่งเดือน เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "ลงโบสถ์" เพราะท่านสวดกันที่ "โบสถ์" (ย่อมาจาก "พระอุโบสถ")

ปาติโมกข์ที่พระสงฆ์สวดนี้เรียกว่า "อาณาปาติโมกข์" (หรือภิกขุปาติโมกข์) มีหลักฐานว่าในช่วงแรกๆ มี ๑๕๐ สิกขาบทเท่านั้น ต่อมาเพิ่มเป็น ๒๒๗ สิกขาบท และสวดสืบต่อกันมาจนบัดนี้

ต่อไปนี้ขอนำเอาโอวาทปาติโมกข์มาลงไว้ให้อ่านทั้งหมดพร้อมคำแปลเพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจใคร่ศึกษา ดังนี้ครับ

(๑) ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติขฺขา นิพฺพานํ ปรมฺ วทนฺติ พุทฺธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต

(๒) สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺทปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

(๓) อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมี ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อธิจตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

(๑) ขันติคือความอดทนเป็นตบะอย่างยอด นิพพานพระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า เป็นยอด ผู้ที่ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้ที่ยังเบียดเบียนคนอื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

(๒) ไม่ทำชั่วทุกชนิด ทำความดีให้พร้อม ทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

(๓) ไม่ว่าร้ายใคร ไม่กระทบกระทั่งใคร ระมัดระวังในปาติโมกข์ บริโภคพอประมาณ อยู่ในสถานสงัด ฝึกหัดจิตให้สงบ นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ข้อไหนเป็นเป้าหมายสูงสุด เป็นหลักการทั่วไป เป็นคุณสมบัติของนักเผยแพร่และเป็นวิธีการเผยแพร่ ขอเชิญขบคิดเอาเองเทอญ



เมื่อสาวถามเรื่องภิกษุณี

ผู้ใช้นามว่า "สาวชอบธรรม" ถามว่าจริงหรือไม่ที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่าผู้หญิงมีปัญญามากกว่าผู้ชาย คุณ "สาวชอบธรรม" บอกว่าเคยอ่านผ่านตาที่ไหนสักแห่งเกี่ยวกับพระเถรีชื่ออะไรก็จำไม่ได้ ที่ลูกตายแล้วมาบวช แล้วได้รับการยกย่องว่ามีปัญญามากกว่าพระอื่นๆ "เห็นว่า คุณไต้ ตามทาง เป็นพหูสูต คงทราบเรื่องนี้ดี ขอความรู้ด้วยค่ะ" เธอหยอดท้ายอย่างนี้

สงสัยว่าคุณ "สาวชอบธรรม" คงเป็นนักอ่านตัวยง อ่านมากเล่มเข้าความรู้เลยสับสนปนเปกันไปหมด ผมเคยมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งเป็นเช่นนี้ แกอ่านหนังสือสารพัด จำจากที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง คนละเรื่อง แต่เอามาปะติดปะต่อกันเป็น "คนละเรื่องเดียวกัน" อย่างน่าอัศจรรย์

เรื่องที่คุณถามมา หลังจากที่ผมนั่งงงอยู่หลายนาที ก็พอนึกได้ว่า คุณได้ปะติดปะต่อพระเถรีสองรูปเป็นเรื่องเดียว คือพระเถรีที่ลูกตาย แล้วเสียสติถึงกับแก้ผ้าเดินโทงๆ เข้าไปวัดขณะพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ ได้ฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมได้สติ แล้วขอบวชนั่นรูปหนึ่ง ส่วนพระเถรีที่อดีตเป็นเมียโจร ถูกโจรลวงขึ้นเขาหมายจะฆ่าเอาทรัพย์ แต่ใช้สติปัญญาเอาตัวรอดมาได้ แล้วไปบวชได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นผู้ตรัสรู้ฉับพลัน นี่อีกรูปหนึ่ง

ส่วนที่คุณจำมาว่า พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าผู้หญิงมีปัญญามากกว่าผู้ชายนั้น คงไม่มีที่ไหนตรัสไว้อย่างนี้ เท่าที่ผมทราบ ความจำคุณคงเลือนมาจากคาถาที่รุกขเทวดากล่าวชมภรรยาโจร หลังจากใช้สติปัญญาเอาตัวรอดว่า มิใช่ชายเท่านั้นที่ฉลาด สตรีที่รู้จักใช้ปัญญาก็นับว่าเป็นคนฉลาดเหมือนกัน

ขอเล่าประวัติพระเถรีทั้งสองโดยย่อๆ ดังนี้ครับ

เรื่องที่หนึ่ง ลูกสาวเศรษฐีเมืองราชคฤห์ เห็นเขาแห่นักโทษประหารประจานไปตามถนนก่อนนำไปสู่ตะแลงแกง เกิดปฏิพัทธ์รักใคร่ ให้คนนำเงินไปติดสินบนผู้คุมนักโทษ นำมหาโจรมาเป็นสามี อยู่ด้วยกันนานมา สามีโลภอยากครอบครองทรัพย์สมบัติเพียงผู้เดียวตามนิสัยโจร จึงออกอุบายพาภรรยาขึ้นไปแก้บนบนยอดเขา ให้ภรรยาแต่งตัวด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์เต็มที่ พอไปถึงยอดเขาจริง กลับบอกว่าตนหลอกเธอมาฆ่าเพื่อเอาทรัพย์สิน นางรู้ตัวว่าเสียรู้สามี จึงบอกสามีว่าไหนๆ จะตายแล้วขอให้เธอได้แสดงความจงรักภักดีต่อสามี ด้วยการอำลาเป็นครั้งสุดท้าย สามีอนุญาต เธอจึงฟ้อนรำรอบๆ สามี พอสามีเผลอจึงผลักเขาตกเหวตาย เอาชีวิตรอดมาได้ รุกขเทวดาเห็นเหตุการณ์นั้นได้กล่าวคาถาเชิงชมเชยดังกล่าวข้างต้น

จากนั้นนางก็ไปบวชเป็นปริพาชิกา ฝึกวาทศิลป์โต้ตอบปัญหาเอาชนะใครต่อใครมาทั่ว ได้พบพระสารีบุตรวาทะสู้พระสารีบุตรไม่ได้ จึงมาบวชเป็นภิกษุณี ไม่ช้าไม่นานก็ได้เป็นพระอรหันต์ ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยม) ในทางตรัสรู้ฉับพลัน ภิกษุณีรูปนี้ชื่อ กุณฑลเกสี ครับ

เรื่องที่สอง ลูกสาวเศรษฐีอีกเหมือนกันหนีตามผู้ชายจนๆ คนหนึ่ง อยู่ด้วยกันจนมีลูกสองคน แต่ละคนคลอดระหว่างทางทั้งนั้น (เวลาจะคลอดลูกทีไรนึกถึงบ้าน หนีสามีไป สามีตามทันระหว่างทางแล้วคลอดลูก) คืนที่คลอดลูกคนสุดท้ายฝนตกหนัก สามีถูกงูพิษกัดตาย เธออุ้มลูกที่เพิ่งคลอด อีกมือหนึ่งจูงลูกชายคนโตเดินมุ่งหน้าเข้าเมือง ถึงลำธารแห่งหนึ่งให้ลูกคนโตรออยู่ฝั่งนี้ อุ้มลูกคนเล็กลุยข้ามน้ำไปวางที่ฝั่งโน้น ลุยน้ำกลับมารับคนโต พอมาถึงกลางกระแสน้ำ เหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบลงมาจะจับเอาลูกคนเล็กนึกว่าเป็นชิ้นเนื้อ นางโบกไม้โบกมือไล่อยู่กลางน้ำ ลูกชายคนโตนึกว่าแม่กวักมือเรียกกระโดดลงน้ำ ถูกกระแสน้ำพัดหายไปต่อหน้าต่อตาแม่ น่าสงสาร พอไปถึงในเมือง รู้ข่าวว่าบ้านถูกพายุพัดพังพินาศ พ่อแม่เสียชีวิตหมด จึงเสียใจจนเสียสติ เดินเข้าไปวัดพระเชตวันโดยไม่รู้ตัว พระพุทธองค์ตรัสเตือนให้มีสติ เธอได้สติขึ้นมาแล้วทูลขอบวช บวชแล้วไม่นานก็บรรลุอรหัต

ภิกษุณีรูปนี้ชื่อ ปฏาจารา ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็น "เอตทัคคะ" (ผู้ยอดเยี่ยม) ในทางเป็นผู้ทรงพระวินัย

พอพูดถึงหญิงที่เสียสติเพราะลูกตาย พระพุทธองค์ทรงโปรดไว้ นึกขึ้นได้อีกคนหนึ่งคือ นางกีสาโคตมี ลูกตายไม่ยอมรับความจริง เที่ยวอุ้มลูกไปหายารักษาให้ฟื้น มีคนแนะนำให้ไปหาพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงบอกให้เธอไปหาเมล็ดผักกาดมากำมือหนึ่ง จากบ้านเรือนที่ไม่มีใครตายเลย ได้มาแล้วจะทรงประกอบยาให้ นางเที่ยวตระเวนถามทั่วหมู่บ้านไม่ได้เมล็ดผักกาดแม้แต่เมล็ดเดียว เพราะแต่ละหลังคาเรือนล้วนมีคนเคยตายมาแล้วทั้งนั้น

นางก็ได้คิดขึ้นมาว่า มิใช่แต่ลูกนางเท่านั้นที่ตาย คนอื่นก็ตาย และตายมามากแล้ว จึง "ปลงตก" ในที่สุด

ครับ คนที่เข้าใจความจริงแห่งชีวิต จนปลงตกได้เป็นคนที่มีความสุขอย่างน่าอิจฉาที่สุด 



ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิต

ผมเป็นคนมีกรรม (กรรม ในความหมายที่ชาวบ้านเข้าใจ) ไม่ว่าจะเป็นอะไร ทำอะไร ต้องเสียเวลาอธิบายซ้ำซากมากกว่าชาวบ้านเขาจะเข้าใจ อย่างเมื่อครั้งผมสึกใหม่ๆ คนมักถามว่า "สึกทำไม อยู่จวนจะเป็นเจ้าคุณอยู่แล้ว" ครั้นผมบอกเหตุผลไปก็ซักอยู่นั่นแล้วจนรำคาญ ในที่สุดจึงคิดคำตอบ "ทีเด็ด" ขึ้นมาได้คือ "ผมอยากมีเมียว่ะ"

ได้ผลครับ ไม่มีใครซักต่อ

ครั้นสึกมาทำงานก็มีปัญหา คือ คนเขาถามว่า คุณมหาทำงานอะไรตอนนี้ บอกเขาว่า อยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

"เล่นเป็นตัวอะไร" เอาเชียว แกนึกว่ากรมศิลปากร ผมรีบอธิบายว่าไม่ใช่กรมศิลป์นะครับ มหาวิทยาลัยครับ

"อ๋อ เข้าใจแล้ว มหาวิทยาลัยกรมศิลปากร"

เป็นงั้นไป ถ้าไม่ใช่กรมศิลป์ก็มหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ละครับ ที่อ่อนการประชาสัมพันธ์กันเหลือเกิน ตั้งมาเป็นสิบๆ ปี คนยังแยกกันไม่ออกว่า ที่ไหนเป็นที่ไหน ฤๅจะอ่อนปวกเปียกกันทั้งสองสถาบันก็ไม่รู้

เดี๋ยวนี้ผมพยายามศึกษาจนรู้เรื่องสายงานทั้งสองแห่งเป็นอย่างดี เผื่อคุยกับคนเขาได้ไม่เคอะเขิน วันหนึ่งคุณพี่คนหนึ่งได้ยินว่า ผมอยู่ "ศิลปากร" แกถามว่า "คุณเล่นเป็นตัวอะไร"

"ลิงครับ" ผมตอบทันที คุณพี่แกยิ้มชอบใจ คงนึกว่าหุ่นและหน้าตาอย่างผมแสดงบทลิงได้ไม่เลวเชียวแหละ วันหนึ่งหลังจากผมไปอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่สถาบันแห่งหนึ่ง จบเดินลงมา ท่านผู้นั้นเข้ามาทัก

"แหม นึกว่าเก่งแต่เล่นโขน พูดเรื่องพระพุทธศาสนาก็เก่งด้วย"

ผมก็ได้แต่ยิ้มแห้งๆ ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร

วันดีคืนดีผมก็ไปเกี่ยวข้องกับราชบัณฑิตยสถานในฐานะภาคีสมาชิก เมื่อบอกใครต่อใครถึงสถาบันแห่งนี้ เขาส่ายหัวดิก ไม่รู้จัก อย่างเก่งก็รู้เพียงว่า

"อ๋อ ทำพจนานุกรมฯ" แค่นั้นจริงๆ ครับ

นี่ก็อ่อนประชาสัมพันธ์ไม่แพ้ศิลปากรของผมเหมือนกัน

ความจริงสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ทำอะไรต่ออะไรให้แก่สังคมไทยมากมาย (มิใช่เฉพาะทำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) เช่น งานบัญญัติศัพท์สาขาวิชาการแขนงต่างๆ อาทิ ศัพท์ปรัชญา ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ศัพท์รัฐศาสตร์ ฯลฯ จัดทำสารานุกรมชุดต่างๆ เป็นต้น ว่างๆ จะนำมาเล่าให้ฟัง วันนี้ขอพูดถึงเรื่องที่ศัพท์บัญญัติสักเล็กน้อย

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีศัพท์บัญญัติใหม่ๆ แปลกๆ ออกมาเป็นระยะๆ บางคำก็ "สวย" ดี (คือเขียนแล้วดูสวยงาม) บางคำก็ "ขี้เหร่" (คือดูไม่สวย แถมยังฟังกระด้างๆ อีกด้วย) บางคำสังคมยอมรับมาใช้กันแพร่หลาย ติดปากคนทั่วไป บางคำก็อายุสั้น ประชาชนรับไม่ได้ปล่อยให้ตายไปก่อนเวลาอันสมควร หลายคำพวกราชบัณฑิตท่านไม่ได้บัญญัติแต่ได้รับความนิยมแพร่หลายจนท่านต้องจัดเข้า "ทำเนียบศัพท์บัญญัติ" ด้วย

ยกตัวอย่างเช่นคำฝรั่งว่า automatic ท่านบัญญัติว่า "อัตโนวัติ" แปลว่า เป็นไปด้วยตนเอง ชาวบ้านไม่ชอบ อ่านไม่คล่องปาก มีคนอ่านเพี้ยนเป็น "อัตโนมัติ" (ถ้าจะแปลตามศัพท์ก็แปลว่า มีความคิดเป็นของตนเอง) ซึ่งไม่ตรงกับความหมายของ automatic แต่เสียงใกล้เคียงกว่า คนอื่นเห็นเข้าทีดี จึงนิยมใช้กันแพร่หลาย จนกระทั่งราชบัณฑิตท่านยอมแพ้ ยอมรับคำ "อัตโนมัติ" ว่าใช้ได้ ถึงแม้จะเพี้ยนก็เป็นคำ "เพี้ยนที่ใช้ได้"

พูดถึงตอนนี้นึกเสียดายอยู่คำหนึ่งคือ "ทัศนคติ" ที่ชาวบ้านทั่วไปเขาใช้แทนคำฝรั่งว่า attitude จนติดแล้ว แต่ท่านไม่ต้องการให้ใช้ บัญญัติใช้คำเป็นทางการว่า "เจตคติ" แต่รู้สึกว่าจะไม่ค่อย "ติด" ยังมีคนติดใจใช้ "ทัศนคติ" กันอยู่ ก็เห็นจะต้องรอพิสูจน์กันว่าสองคำนี้คำไหนจะ "อยู่รอด" ต่อไปในกาลข้างหน้า

อีกคำคือ "มลภาวะ" (แต่เขาอ่าน "มน-พา-วะ" แทนที่จะอ่านให้ถูกต้องว่า "มน-ละ-พา-วะ") ต่อมาราชบัณฑิตท่านเห็นว่า คำนี้ยังไม่ตรงกับคำเดิมนัก จึงบัญญัติใหม่ว่า "มลพิษ" แต่คนก็ไม่นิยมใช้ ยังชอบใช้ "มลภาวะ" อยู่เป็นส่วนมาก

เดี๋ยวนี้เกิดคำใหม่ผสมกันระหว่าง "มลภาวะ" กับ "มลพิษ" เป็น "มลภาวะเป็นพิษ" (ได้ยินอ่านกันว่า "มน-พา-วะ-เป็น-พิด") ข้าราชการผู้ใหญ่ และนักวิชาการหาง (หมายถึงปริญญา) ยาวๆ หลายท่านอ่านอย่างนี้ สงสัยราชบัณฑิตท่านคงจะต้องยอมรับว่าเป็น "คำเพี้ยนที่ใช้ได้" เสียแล้วล่ะครับ

มีหนังสือเล่มหนึ่งเป็นผลงานของราชบัณฑิตยสถานคือ ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ควรที่ท่านผู้ใฝ่รู้จะหามาไว้เป็นคู่มือศึกษาหาความรู้ ราคาเท่าไรผมจำไม่ได้ ที่มีอยู่เล่มหนึ่งก็ได้รับแจกฟรี

ลืมเปิดดูว่า condom ท่านบัญญัติศัพท์ไว้หรือยัง ถ้ายัง ควรใช้ "มีชัย" เพื่อเป็นเกียรติแก่คุณมีชัย ผู้รณรงค์เรื่องการวางแผนครอบครัวและป้องกันโรคเอดส์ซึ่งกำลังระบาดอย่างน่ากลัวในปัจจุบัน

อ้อ ถ้าใครคิดจะบัญญัติศัพท์ genitals ล่ะก็ ขอเสนอคำว่า "ซ่วน" ไว้พิจารณาด้วย เพราะคนชื่อนี้ปั้นสิ่งนี้จนได้รับเกียรติเป็นถึงด๊อกเตอร์เชียวนะครับจะบอกให้



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 กรกฎาคม 2560 17:05:29

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQlAuplDDBKUIle9vRPsx-kG-6jTgvbvplWCKlFuuPtyobkFrjqnw)

เรื่องของศัพท์แสง

หลังจากเขียนถึงศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตเมื่อคราวก่อน มีจดหมายเข้ามาหลายฉบับบอกว่าน่าสนใจคุณ (หมายถึงผม) น่าจะนำมาเขียนให้อ่านเรื่อยๆ เพื่อประกันความรู้ บางท่านถามเกี่ยวกับศัพท์บางศัพท์ที่ถูกเป็นอย่างไร บางท่านก็เข้าใจผิดไปใหญ่โต

เข้าใจว่าผมเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต ผู้บัญญัติคำเหล่านี้เสียเอง (อะไรจะขนาดนั้น)

หามิได้ขอรับท่าน "นักปราชญ์" ผมก็ไม่ได้เป็น "ราชบัณฑิต" ก็ยังไม่ได้เป็นเรื่องศัพท์แสงก็เคยเป็นเพียงอนุกรรมการบัญญัติศัพท์อุดมศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัยมาระยะหนึ่ง (ตอนนี้โดนปลดแล้ว) กับเป็นกรรมการบัญญัติศัพท์ศาสนาสากล (ซึ่งเพิ่งจะเริ่มทำ งาน) แค่นั้นเอง

ศัพท์บัญญัติที่ผมนำมาเขียนให้ท่านอ่านนั้น เป็นผลงานของคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ชุดก่อนๆ ท่านทำมาและได้พิมพ์เผยแพร่แล้ว หากท่านสนใจ ลองไปหาซื้ออ่านได้ ชื่อหนังสือ "ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน" (โฆษณาให้เป็นครั้งที่สองแล้วนะเนี่ย)

คุณ ศ.ว. บ่นมาว่า ทำไมราชบัณฑิตท่านไม่บัญญัติคำไทยแทนภาษาอังกฤษว่า technology สักที เห็นใช้คำ "เทคโนโลยี" กันเกร่อ อ่านออกเสียงแตกต่างกันไป บ้างก็อ่านว่า "เทคโนโลยี่" บ้างก็อ่าน "เทคโนโลจี้" คุณ (คือผม) ช่วยบัญญัติคำไทยๆ ให้ทีเถอะ รำคาญเต็มทน ว่าอย่างนั้น

นี่ไง ผมจึงอยากให้ไปซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านกัน คำที่ว่านี้ท่านบัญญัติไว้แล้วครับ ท่านบัญญัติว่า "ประยุกตวิทยา" หรือ "วิชาการเทคโนโลยี"

ให้เขียนว่า "เทคโนโลยี" เวลาอ่านคุณจะเน้นเสียงว่า "เทคโนโลยี่" หรืออ่าน "เทคโนโลยี" ก็ตามแต่จะบริดวก เอ๊ยสะดวก

คุณธงชัย ช่อพฤกษา สงสัยว่าแต่ก่อนเราใช้คำว่า "สังสันทน์" จนแพร่หลาย แต่ทำไมพจนานุกรม

ราชบัณฑิตยสถานไม่เก็บคำนี้ มีแต่ "สังสรรค์" ผมเคยเห็นเหมือนกันครับ

บางครั้งได้รับเชิญให้ไปร่วม "สังสันทน์" แต่ระยะหลังๆ เห็นเขียน "สังสรรค์" (ตามที่พจนานุกรมต้องการให้เขียน)

ความจริงคำว่า สังสรรค์ ก็มาจากคำเดียวกันกับ สังสนทนา, สั่งสนทนา (ที่มีในพจนานุกรม) นั้นแหละครับ เพียงแต่ใส่การันต์ตัวท้ายเพื่อให้อ่านออกเสียงสองพยางค์เท่านั้น ถ้าดูรากศัพท์ สังสันทน์, สังสนทนา หรือ สั่งสนทนา มาจากคำว่า สํสนฺทน แปลตามศัพท์ว่าการเทียบเคียง, การพูดจากัน หรือสนทนากันฐานกันเอง สังสรรค์ มาจากคำเดิมว่า สํสรฺค (สันสกฤต) หรือ สํสคฺค (บาลี) แปลว่า การเกี่ยวข้องสัมพันธ์, ความสนิทสนม, การพบปะกันด้วยความสนิทสนม

คุณ "คนไทยไม่รู้ภาษาไทย" ถามว่า เครื่องวีดิทัศน์คืออะไร เคยเห็นหนังสืออะไรพูดถึงสิ่งนี้ก็จำไม่ได้ เป็นศัพท์บัญญัติหรือเปล่า ใช่แล้วครับ วีดิทัศน์เป็นศัพท์บัญญัติแทนคำว่า video ครั้งแรกที่ผมเห็นศัพท์นี้ ผมเดาเอาเองว่า ท่านคณะกรรมการคงบัญญัติขึ้นจากคำว่า วิ (วิเศษ, แจ้ง) + อติ (ยิ่ง) + ทัศน์ (การเห็น) รวมแล้วเป็น วีติทัศน์ แล้วเขียนแผลงเป็นคำไทยว่า วีดิทัศน์ แปลตามตัวว่า "มองเห็นยิ่งอย่างวิเศษ หรืออย่างแจ่มแจ้ง" ก็คือ video นั่นเอง เพราะ video ตามความหมายเดิมก็คือ "สิ่งที่มองเห็นเป็นรูปภาพได้"

เมื่อคิดดั่งนี้แล้ว ก็นึกชมท่านผู้บัญญัติศัพท์อยู่ในใจว่า คิดได้ไม่เลว นอกจากได้รับความหมายแล้ว ยังได้เสียงอ่านใกล้เคียงคำเดิมอีกด้วย

แต่พอมาอ่านคำอธิบายที่มาของการบัญญัติคำนี้ กลับไม่ใช่ ท่านศาสตราจารย์ คุณบรรจบ พันธุเมธา ผู้เป็นต้นคิดคำนี้ ท่านว่ามาจากคำสันสกฤตว่า วีติ + ทัศน์ แล้วแผลงเป็นคำไทยว่า วีดิทัศน์ วีติ แปลว่า "ความสนุกสนาน, ความเพลิดเพลิน" เพราะฉะนั้นวีดิทัศน์ จึงแปลได้ว่า "เครื่องที่แสดงภาพเพื่อความเพลิดเพลิน"

อย่างไรก็ตาม ผมยังเห็นว่าคำนี้ท่านบัญญัติเข้าท่าดี แต่ก็มีที่ฟังแล้วพิลึกๆ อีกหลายคำ ต้องถามผู้รู้ว่ามันแปลว่าอะไร พอท่านบอกว่ามาจากคำฝรั่งว่าอย่างนั้นๆ ไงเล่า ถึงได้ร้องอ๋อ

ที่ผมไม่เข้าใจจนบัดนี้ก็คือ ในขณะที่เราบ่นว่าพระเดี๋ยวนี้เทศน์ไม่รู้เรื่อง ชอบใช้แต่คำศัพท์บาลีสูงๆ แต่ทำไมเวลาจะบัญญัติศัพท์อะไรขึ้นใช้ใหม่ เรากลับไปเอาคำบาลียากๆ มาใช้เสียเอง



เรื่องของพระพุทธศาสนา บนจอทีวี

เคยดู คุณวิทวัส สุนทร วิเนตร์ เธอสัมภาษณ์นางสาวไทยและรองนางสาวไทย ผมกำลังคิดจะทำงานอย่างอื่นอยู่ก็ต้องงดไว้ชั่วคราว หันมานั่งจ้องทีวีดูความสวยความงามของบรรดานางงามทั้งหลาย และฟังเสียงสัมภาษณ์แบบ "หวัดเกมบรรจง" ของคุณวิทวัส พร้อมเน้นเสียงสูงต่ำอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร (เช่น "คุณตุ๊ก ตุ๊ง-คะมะนี" อะไรเงียะ น่ารักออก)

นางสาวไทย (ลืมชื่อเธอแล้ว เพราะเอาแต่จ้องดูความงาม) เธอเล่าว่าก่อนเข้าประกวดได้เสี่ยงเซียมซีวัดพระเจ้าทันใจ (ชื่อวัดอะไรก็จำไม่ได้อีก ที่มีพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเรียก "พระเจ้าทันใจ" อยู่) ได้เบอร์ ๑ ทายว่าจะได้เป็นหนึ่ง คือได้เป็นนางสาวไทยแน่ๆ เธอเล่าต่อไปว่า เคยเสี่ยงมาหลายครั้งก่อนเข้าประกวดครั้งก่อนๆ ได้เบอร์ ๑ และก็ชนะที่ 1๑ทุกครั้ง ตอนท้ายเธอออกตัวว่ามิใช่หญิง (ชื่อเล่นเธอ) งมงายนะคะ แต่เชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของพระท่าน คุณวิทวัสย้ำว่า "ไม่เป็นไร เราเป็นชาวพุทธ" แล้วเธอก็หันไปถามรองนางสาวไทย คนที่อิมพอร์ตมาจากอเมริกา ว่า What were you saying to the Buddha? คุณพูดอะไรกับพระพุทธเจ้าท่านบ้าง (ขณะสั่นติ้วเสี่ยงทาย)

คำพูดของคุณวิทวัส คล้ายกับจะบอกว่า การเสี่ยงโชค สั่นติ้วเสี่ยงเซียมซีอะไรเหล่านี้เป็นวิถีของชาวพุทธ ซึ่งที่จริงมันไม่ใช่ มันเป็นวิถีของคนไทยมากกว่า คนไทยที่สืบทอดความเชื่อลัทธิถือผีถือสางมาแต่บรรพบุรุษ มิใช่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

การไหว้พระสวดมนต์ของชาวพุทธมิใช่เพื่ออ้อนวอนขอนั่นขอนี่ แต่เราไหว้รำลึกถึงคุณความดีของท่าน เพื่อนำเอามาเป็นแบบอย่างดำเนินชีวิต นี่คือการไหว้พระที่ถูกต้อง ส่วนใครจะเข้าเจ้าทรงผี เสี่ยงเซียมซีขอหวย หรือปลัดขิดจากด๊อกเตอร์ซ่วนมาแขวนก็ทำไปตามอัธยาศัย แต่ต้องตระหนักว่านั่นมิใช่วิถีแห่งชาวพุทธ (แม้ว่าผู้ให้ปลัดขิกจะอยู่ในคราบของภิกษุก็ตาม) ไม่ควรเอามาปะปนกัน

ท่านผู้อ่านที่ใช้นามว่า "ชาวพุทธเชียงใหม่" เขียนมาให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์บางรายการว่า "รายการหนังจีนในแนวพระพุทธศาสนาทางทีวีช่องสาม รู้สึกคนพากย์จะสอดแทรกความหมายและยกย่องศาสดาศาสนาอื่นเข้ามาในเรื่องมิใช่น้อย ทำให้คนดูเข้าใจผิด เช่นตอนตั๊กม้อไหว้พระพุทธรูป ผู้พากย์พูดออกมาว่า "พระผู้เป็นเจ้าโปรดอภัยด้วยเถิด" เป็นต้น และมีอีกมากที่เพี้ยนๆ อย่างนี้ ถ้าปล่อยไว้ในรูปแบบนี้ก็จะทำให้เกิดความไขว้เขวเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา คุณไต้เคยดูหรือป่าว ลองติดตามดูบ้าง"

ระยะนี้ผมไม่ได้ดูหนังจีนครับ ถ้าดูก็คงหงุดหงิดเหมือนคุณนั่นแหละ ผมเคยดูละครเรื่องลูกทาสคุณพระเอก (ชื่ออะไรก็จำไม่ได้ ผมมันคนความจำเสื่อม) ไปบวชตลอดเวลาที่บวชอยู่ ผมก็เห็นวัดทั้งวัดมีพระอยู่รูปเดียว คือพระใหม่รูปนี้ อุปัชฌาย์อาจารย์ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน ปล่อยให้ลูกศิษย์ถูกสีกาสองคนรุมทึ้งไปมา ขัดนัยน์ตาพิลึก ไหนๆ ก็เกณฑ์ให้พระเอกบวชทั้งที ก็น่าจะแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาได้มีส่วนกล่อมเกลาพระบวชใหม่อย่างไรบ้าง และสอดแทรกหลักธรรมคำสอนเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ดูหนังละครบ้างก็ยังดี นี่อะไรก็ไม่รู้มีแต่บทสีกา "ชิงพระ"!

หยิบจดหมายฉบับที่สองขึ้นมา บ่นเรื่องที่กำลังพูดถึงอยู่พอดี (ช่างบังเอิญเสียจริงๆ) ผู้ใช้นาม "ชาวพุทธ" เล่าว่า ได้ดูรายการทีวีที่เอาสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาสร้างภาพยนตร์แล้วหงุดหงิด ฝากถามคำถามผ่านคอลัมน์นี้ ๔ ข้อ คือ ทำไมผู้สร้างหนังละครไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อจิตใจชาวพุทธ ทำเหมือนดูถูกพระศาสนา? ทำไมผู้แสดงบทพระไม่มีความรู้เรื่องจริยาวัตรและกิจของสมณะกิริยาของสงฆ์ควรวางตัว ควรพูดอย่างไร ทำไมไม่ศึกษาและทำตามให้ถูกต้อง? ทำไมเวลาจะสร้างหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาผู้สร้างจึงไม่ปรึกษาขอคำแนะนำจากผู้รู้เสียก่อน ภาพที่ขัดหูขัดตาจะได้ไม่ออกมาอย่างที่เห็น? และคำถามสุดท้าย ทางคณะสงฆ์หรือกรมการศาสนามีมาตรการอะไรที่เกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัดและพระศาสนาไหม หรือว่าใครใคร่สร้างหนังสร้างละครบิดเบือนย่ำยีพระศาสนาอย่างไรก็ทำได้

คุณ "ชาวพุทธ" มิได้บอกว่าหนังหรือละครที่ว่านี้คือเรื่องอะไร หรือพูดรวมๆ ไป ผมก็ฝากไว้เป็นที่สังเกตนะครับ ถ้าต่อไปใครจะเอาเรื่องพระเรื่องพระศาสนาไปเกี่ยวข้องกับหนัง ละคร ก็ขอให้พิถีพิถันระมัดระวังให้ออกมาถูกต้องหน่อยก็แล้วกัน อย่าให้ออกมาเป็นการละลาบละล้วงหรือบิดเบือนพระศาสนา ครับ ก็ขอกันแค่นี้

สื่อมวลชนนั้น ตามปกติก็ไม่ได้มีบทบาทช่วยเผยแผ่พระศาสนาสักเท่าไหร่อยู่แล้ว อย่านำมาใช้เป็นเครื่องมือทำลายพระศาสนาเลยครับ มือไม่พายแล้วเท้าอยู่เฉยๆ ไม่ควรเอามาราน้ำ ว่างั้นเถอะ

พูดมาถึงบรรทัดนี้ก็ขอชมเชยคุณศันสนีย์ นาคพงศ์ นักอ่านข่าวสาวคู่กับคุณจักรพันธุ์ ยมจินดา ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลเมื่อเร็วๆ นี้ ชมที่เธอนำเอาพุทธศาสนสุภาษิตมาอ่านตบท้ายข่าววันละบท และอ่านคำบาลีได้ถูกต้องเป็นส่วนมากด้วย (คนไม่มีโอกาสได้บวชเรียน อ่านได้แค่นี้ก็ดีถมไปแล้ว) แม้จะชั่วเวลาเล็กน้อยก็ยังดี นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง หากทีวีช่องอื่นจะสอดแทรกพุทธวจนะเช่นนี้บ้างวันละเล็กละน้อย ก็น่าอนุโมทนายิ่งนัก รายการมาตามนัดก็ทำเก๋ฉายตัวอักษรวิ่งบนจอขณะรายการดำเนินไปอยู่ แต่น่าเสียดายว่าเป็นการโฆษณาการไหว้ครูของหลวงพ่อ ก.หลวงพ่อ ข.เสีย แทนที่จะเป็นหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า!

ไหนๆ ก็มีไอเดียเก๋ๆ อย่างนี้แล้ว ทำไมไม่เอาพุทธวจนะมาฉายมาอ่านกันเล่าครับ ถ้าไม่รู้จะหาเอาที่ไหน ผมยินดีจัดส่งให้



ภิกษุณียังมีอยู่หรือ?

คุณผู้ใช้นามว่า "ชาวบ้าน" ตัดข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ มาให้ผมอ่านพร้อมตั้งคำถามดังนี้ครับ

"อ่านข้อความในหนังสือลงข้อความว่า แม่ของต๋องบวชเป็นภิกษุณี รู้สึกงงเอามากๆ ผมเคยอ่านหนังสือธรรมะมาบ้าง เห็นบอกว่าภิกษุณีนั้นหมดมาตั้งนานแล้ว ในภาพนั้นเห็นแม่ต๋องนุ่งผ้าขาวห่มขาว โกนหัว น่าจะใช้คำว่าบวชชีหรือคำอื่นมากกว่า ไม่ใช่คำว่าภิกษุณี ถ้าเป็นภิกษุณีก็น่าจะมีการนุ่งห่มแบบเดียวกับพระสงฆ์ เท่าที่อ่านมาภิกษุณีมีศีลมากกว่าภิกษุสงฆ์ใช่หรือไม่ ภาพในหนังสือพิมพ์นั้นแม่ชีใช้คำว่าภิกษุณี ผมอยากทราบว่าแม่ของต๋องตอนบวชนั้นทำพิธีเช่นเดียวกับบวชพระหรือเปล่า ถือศีลเท่าภิกษุณีหรือเปล่า ภิกษุณีกับแม่ชีต่างกันหรือเปล่า ผมเห็นว่าคุณไต้เป็นผู้มีความรู้ในทางศาสนา จึงอยากให้คุณเขียนอธิบายลงในหนังสือพิมพ์ เพราะผู้ไม่รู้ยังมีอีกมาก ที่เดลินิวส์ลงไปนั้นผิดหรือถูก ถ้าผิดก็ไม่น่าให้อภัยที่ทำให้ประชาชนสับสน บุคลากรของเขาคงไม่มีความรู้ทางด้านนี้"

ทั้งหมดนั้นคือ จดหมายพร้อมข้อข้องใจของคุณ "ชาวบ้าน" เรื่องเกี่ยวกับพระและพระพุทธศาสนานั้น เดี๋ยวนี้มีการพูดการเขียนผิดพลาดมากมายตามสื่อมวลชนต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องที่เป็นพื้นฐานง่ายๆ ซึ่งชาวพุทธทุกคนควรจะทราบ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ทราบ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมคนไทยสมัยนี้ไม่ประสีประสาต่อพระพุทธศาสนามากขึ้นทุกที ต่างจากปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา

คนทำหนังสือพิมพ์นั้น ไม่ว่าฉบับที่คุณ "ชาวบ้าน" อ้างถึงหรือฉบับไหนไม่ค่อยมีคนรู้เรื่องพระเรื่องเจ้าเท่าไหร่ดอกครับ คุณเชื่อไหมว่า เวลาเขาจะเปิดคอลัมน์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หาคนเขียนไม่ค่อยจะได้ จึงเอาใครก็ไม่รู้มาขีดมาเขียน เข้ารกเข้าพงไปนักต่อนัก บางคน รู้ก็ไม่รู้แล้วยัง "เสือกชี้" ก็มีถมไป อาศัยอิทธิพลปลายปากกาที่สะสมมานาน เขียนเผยแพร่มิจฉาทิฐิ และลัทธิเดียรถีย์ ก็มี ไม่น้อย

เมื่อครั้งพระสารีบุตร กับพระโมคคัลลานะ (สมัยยังเป็น อุปติสสะกับโกลิตะ) พากันไปชักชวนสัญชัย อาจารย์ของพวกท่านให้ไปบวชอยู่กับพระพุทธเจ้า สัญชัยไม่ยอมไป เพราะถือว่าตนก็เป็นเจ้าสำนักชื่อดัง ครั้นศิษย์รบเร้าหนักเข้าจึงถามว่า "ในโลกนี้คนโง่กับคนฉลาด พวกไหนมีมากกว่ากัน" ศิษย์ทั้งสองตอบว่า คนโง่มากกว่า คนฉลาดมีน้อย อาจารย์สัญชัยพูดตัดบทว่า "ถ้าเช่นนั้นคนฉลาดๆ อย่างเธอทั้งสองจะไปบวชอยู่กับสมณโคดมก็ตามใจ คนโง่ๆ ซึ่งมีอีกมากจะมาเป็นศิษย์เราเอง"

พูดง่ายๆ ว่ายังมีคนโง่เซ่อมาให้หลอกให้ต้มอีกเยอะ ไม่ต้องห่วง อลัชชีหรือเดียรถีย์บางคนก็เช่นกัน กล้าพูดกล้าทำอะไรเลอะๆ เทอะๆ ก็เพราะคิดว่าคนโง่ยังมีอีกมากมายที่จะมาหลงเชื่อ ซึ่งก็เป็นจริงดังนั้น คนบ้าบางคนได้รับยกย่องให้เป็นวิมุตหลุดพ้นไปก็มี

คนเรานั้นลงได้บ้าถึงที่สุดก็มีคนนับถือเอง!

ขนาดแจกปลัดขิก ยังมีคนโง่มาให้ปริญญาด๊อกเตอร์เลย เมื่อสองวันมานี้พระฝรั่ง (ฝรั่งที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา) บ่นกับผมว่า เมืองไทยนี้แปลกๆ ดูเผินๆ ก็รุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนา แต่ชาวพุทธไทยรู้สาระของพุทธน้อยเต็มทีและที่ปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนายิ่งน้อยลงไปอีก ผมบอกท่านไปว่า ไม่ต้องงงดอกครับพระคุณเจ้า นี่แหละเขาเรียกว่า พุทธแบบไทยๆ ล่ะ

แบบไทยๆ ไม่ซีเรียส โนพร็อบเบล็ม

วกมาพูดถึงเรื่องที่เป็นข่าว ผมดูภาพแม่ของ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย นุ่งขาวห่มขาว บอกได้ทันทีว่าเธอเป็นแม่ชีครับ ไม่ใช่ภิกษุณี ดังคำบรรยายใต้ภาพ แม่ชีก็คือ อุบาสิกา ธรรมดาๆ นี่แหละ เพียงแต่โกนหัว นุ่งขาวห่มขาว รับศีลจากพระ ๘ ข้อ เราเรียกหลวมๆ ว่า "บวช" ความจริงไม่ใช่ "บวช" ในความหมายที่เรียกว่าบรรพชิตดอกครับ แม่ชีมิใช่บรรพชิต มิใช่สมณะ มิใช่พระ มีสถานภาพเป็น "อุบาสิกา" ธรรมดานี่เอง

อุบาสิกาทั่วไปถือศีล ๕ ข้อ แม่ชีถือศีล ๘ ข้อ มากกว่าหน่อย

เมื่อไม่ใช่พระ ไม่ใช่บรรพชิต จึงไม่มีสิทธิ์ออกบิณฑบาตเหมือนพระทั่วไป ที่เห็นเดินมาดสำรวมขอข้าวชาวบ้าน และที่ชาวบ้านหลงใส่บาตรนั้น ถือว่าให้ทานคนขอทาน มิใช่ใส่บาตรพระ เรื่องอย่างนี้ถ้ากวดขันจริงๆ ก็ปล่อยให้ทำกันไม่ได้ แต่ก็อย่างว่า อะไรๆ มันก็หละหลวม หย่อนยานกันไปหมด มันถึงได้เลอะอยู่อย่างนี้

ภิกษุณีนั้นคนที่บวชคนแรกคือ นางมหาปชาบดีโคตมี พระแม่น้าของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงประทานอุปสมบทให้เองเป็นคนแรก แล้วบัญญัติมาตรการการบวชต่อไปอย่างเคร่งครัด คนจะบวชภิกษุณีได้ต้องบวชจากสงฆ์สองฝ่าย คือบวชจากภิกษุณีสงฆ์ก่อน แล้วมาทำพิธีบวชจากภิกษุสงฆ์อีกต่อหนึ่ง บวชแล้วถือสิกขาบท (ศีลเป็นข้อๆ) ๓๑๑ ข้อ ปวัตตินี (อุปัชฌาย์) รูปหนึ่งมีสิทธิ์บวชลูกศิษย์ได้ปีเว้นปี ครั้งละไม่เกิน ๑ รูป จำนวนภิกษุณีจึงมีไม่มาก เพราะพุทธองค์มิประสงค์จะให้มีปริมาณมาก (ยากแก่การควบคุม) หลังพุทธปรินิพพานแล้วประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ สมัยพระเจ้าอโศก ยังปรากฏว่ามีภิกษุณีสงฆ์อยู่ เพราะมีเอ่ยถึงนางสังฆมิตตา พระราชธิดาพระเจ้าอโศกบวชภิกษุณี และนำต้นพระศรีมหาโพธิมาลังกาทวีป หลังจากนั้นไม่นานภิกษุณีวงศ์ก็สูญสิ้นไป

เมื่อสูญวงศ์ไปแล้วใครจะมาฟื้นฟูขึ้นใหม่ก็ย่อมไม่ได้ เพราะจะบวชภิกษุณีต้องบวชจากสงฆ์สองฝ่าย ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ผู้จะบวชให้ไม่มีแล้วนี่ครับ ส่วนในสายมหายานมีอ้างว่าภิกษุณีวงศ์ยังไม่ขาดสูญ ยังสืบทอดกันมาอยู่ ก็เป็นเรื่องของเขา เพราะมหายานเขาถนัดแก้ไขอะไรๆ ดังที่รู้กันอยู่แล้ว

เดี๋ยวนี้ได้ทราบว่าพระสงฆ์ลังกาที่อยู่อเมริกา ท่านรัตนสาระ (หรือหลวงพี่อ้วนที่ผมเขียนถึงในสองทศวรรษในดงขมิ้น) ฟื้นฟูภิกษุณีขึ้นโดยทำตัวเป็นอุปัชฌาย์ ก็เพิ่งรู้ว่าหลวงพี่อ้วนของผมไปไกล วงการพุทธศาสนาจะยอมรับกันหรือไม่กับการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ คอยติดตามดูเอาก็แล้วกันครับ



ใครว่าพุทธศาสนาไม่สนับสนุนสิทธิสตรี?

คอลัมน์นี้ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นคอลัมน์ตอบปัญหาธรรมะ ก็เป็นไปแล้วโดยปริยาย เพราะท่านผู้อ่านถามข้อข้องใจมามากมาย ผมตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่แน่ ไปๆ ผมอาจจะเปลี่ยนเป็นคอลัมน์ตอบปัญหาธรรมะก็ได้ ไม่เป็นพิษเป็นภัยดี ที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์อะไรออกไป แม้ว่าจะ "สะใจ" หลายท่านที่เห็นในแนวเดียวกัน ก็เป็นที่หงุดหงิดของอีกบางคน

วันนี้ตอบปัญหาดีกว่า คุณสมชาย ชมเชย อยากทราบว่า พุทธสุภาษิตสองข้อคือ สักการะย่อมฆ่าคนชั่ว กับ สามีเป็นเครื่องปรากฏของสตรี บาลีว่าอย่างไร ความหมายเป็นอย่างไร บทแรกบาลีว่า สกฺกาโร กาปุริสํ หนฺติ = สักการะย่อมฆ่าคนถ่อย (กาปุริส คือคนถ่อย, คนชั่ว) ความหมายชัดเจนอยู่แล้วครับ คนที่ไม่ดี พอได้ลาภได้สักการะขึ้นมาก็หลงระเริงลืมตัว ผลที่สุดก็หายนะ เพราะลาภสักการะนั้น

ดูชาวบ้านอย่างเรา ใครได้เลื่อนยศศักดิ์ขึ้นสูงๆ แล้วเห็นแก่ได้ เห็นแก่กิน ไม่ว่าตามน้ำหรือไม่ตามน้ำ ในที่สุดความฉ้อฉลทุจริตก็ฆ่าเขาเอง

พูดถึงพระภิกษุสงฆ์ตอนแรกๆ บางรูปก็ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ พอมีคนนับหน้าถือตามากเข้าชักลืมตัว ญาติโยมจนๆ เข้าไม่ถึง คุณหญิงคุณนาย นายพลนั่งรถเบนซ์ เข้ามาล่ะก็ต้อนรับขับสู้อย่างดี เห็นแก่ลาภเห็นแก่สักการะอย่างนี้นานเข้าคุณธรรมที่ได้จากการปฏิบัติก็เสื่อม

ผมมีเพื่อนเป็นอาจารย์ดังรูปหนึ่ง (เอ่ยชื่อคงร้องอ๋อทันที) ท่านนั่งสมาธิมองเห็นนิมิต ใครจะมาขอให้ช่วยเหลือ

ท่านจะนั่งสงบพักเดียวมองเห็นเลยว่าจะช่วยได้หรือไม่ได้

ผลอย่างนี้เกิดจากการปฏิบัติทางจิต ต่อมาไม่นานกลายเป็นหลวงพ่อที่มีคนนับถือมาก (เป็นหลวงพ่อตั้งแต่อายุไม่ถึงสามสิบ) ญาติโยมขึ้นมากมายลาภสักการะหลั่งไหลมาไม่ขาด หนักเข้าหลวงพ่อลืมตัว ญาติโยมจนๆ ที่เคยอุปถัมภ์มาชักไม่รู้จักเขาเสียแล้ว เข้าไม่ถึง จะเข้าหาได้เฉพาะอาเสี่ยกระเป๋าหนักๆ

ขณะผมไปเรียนหนังสืออยู่ประเทศอังกฤษ (ผมก็นักเรียนนอกนะครับฮิฮิ) หลวงพ่อองค์นี้ไปเยี่ยมเยียนผม บ่นกับผมว่า เดี๋ยวนี้นั่งสมาธิไม่เห็นภาพอย่างที่เคยเป็นแล้ว ใครมาขอให้ช่วยอะไรให้ ก็ตอบส่งเดชไปตามเรื่อง ไม่กล้าบอกความจริงว่าทำไม่ได้เหมือนก่อน เพราะนั่งหลังเสือแล้วลงไม่ได้

ผมเอ่ยพุทธภาษิตว่า สกฺกาโร กาปุริสํ หนฺติ ท่านถามว่าแปลว่าอะไร (มัวแต่ตั้งตนเป็นเกจิอาจารย์ไม่รู้ดอกครับ) ผมหัวเราะหึๆ ไม่แปลให้ฟังกลัวท่านโกรธ

ต่อมาไม่นานหลวงพ่อองค์นี้ก็เสื่อมลงเรื่อยๆ กระทั่งวาระสุดท้ายถึงแก่มรณภาพ ศพไม่มีใครเต็มใจเผาให้ ร้อนถึงอุปัชฌาย์ของท่าน (ที่เคยเตือนบ่อยๆ แต่ศิษย์ไม่ยอมเชื่อฟัง เพราะถือว่าดังกว่า) ต้องลงมารับศพขึ้นไปเผาให้ที่เมืองเหนือโน่น อย่างนี้เป็นตัวอย่างของพุทธภาษิตว่า สกฺกาโร กาปุริสํ หนฺติ

ส่วนภาษิตที่สอง บาลีว่า ภตฺตา ปญฺญาณมิตฺถิยา = ภัสดา เป็นเครื่องปรากฏแห่งสตรี ความหมายก็ชัดอยู่แล้ว

ในสังคมที่ยกย่องบุรุษมากกว่าสตรี ได้ลูกชายมาดีใจกว่าได้ลูกสาวถึงกับพูดว่า ใครแต่งงานแล้วไม่ได้ลูกชายจะตกนรกขุมปุตตะ (ยังไม่ตายก็ตกนรกทั้งเป็นอยู่แล้ว เพราะกลุ้มใจที่ไม่ได้ลูกชาย) ลูกสะใภ้ที่มีลูกชายให้เขาไม่ได้ เขาส่งคืนพ่อแม่เลยทีเดียว ผู้หญิงโตมาต้องแต่งงาน แต่งงานก็คือส่งให้ไปรับใช้สามี สามี แปลว่า เจ้านายหรือผู้เป็นเจ้าของ ความหมายก็บอกอยู่แล้ว เขาจะสับจะโขกอย่างไรเป็นสิทธิ์ของเขา ภรรยาจึงอยู่ในฐานะเครื่องประดับของสามี สามีเป็นใหญ่เป็นโต มีหน้ามีตาในสังคม ภรรยาก็พลอยได้หน้าได้เกียรติด้วย

สตรีใดที่ไม่ได้แต่งงาน แสดงว่าไม่มีค่าพอที่จะมีบุรุษเหลียวแล ตกนรกทั้งเป็น ยิ่งใครถูกสามีทอดทิ้งส่งคืนพ่อแม่ เสียหายมากขนาดไม่มีใครคบค้าสมาคมเป็นเสนียดแก่บ้านเมือง ค่านิยมเหยียดหยามสตรีมันมากมายขนาดนี้นะครับ

ในสมัยโบราณ อย่าว่าแต่ "ช้างเท้าหลัง" เลย ขี้ช้างก็ไม่มีสิทธิ์ได้เป็น

ใครไม่รู้ความจริงมักจะกล่าวหาว่า พระพุทธศาสนาไม่สนับสนุนสิทธิสตรี หารู้ไม่ว่า แค่อนุญาตให้บวชได้นี้ถือว่าให้เกียรติและเห็นคุณค่าสตรีมากมายอยู่แล้ว ในสังคมที่ไม่เปิดโอกาสแก่สตรีเลย สังคมอินเดียยุคโน้นผู้หญิงไม่มีสิทธิ์

เล่าเรียนคัมภีร์พระเวท ไม่มีสิทธิ์บวชหรือทำกิจกรรมอื่นใดทัดเทียมชาย มีแต่พุทธศาสนาเท่านั้นที่เห็นความสำคัญของสตรี ยอมให้มาบวชบำเพ็ญสมณธรรมเช่นเดียวกับบุรุษ อย่างนี้จะหาว่าไม่ให้เกียรติสตรีกระไรได้

อีกคำถามหนึ่ง คุณจำเนียร ศิรินันท์ ถามว่าคำว่า พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ เกี่ยวกับพระพุทธองค์สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณอย่างไร คาถานี้เป็นคำอาราธนาธรรม หรือคำเชิญให้พระเทศน์ ว่าอย่างนั้นเถอะ มีประวัติดังนี้ครับ เมื่อตรัสรู้แล้วพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ธรรมะที่ตรัสรู้ลึกซึ้งเกินไป จึงไม่คิดจะสั่งสอนใคร พอดีท้าวสหัมบดีพรหม มากราบทูลอัญเชิญให้ทรงแสดงธรรม เพราะคนที่มีสติปัญญาพอฟังรู้เรื่องก็คงมี พระองค์ทรงพิจารณาเปรียบเทียบระดับปัญญาของคนดุจดอกบัวสามระดับ (บัวสามเหล่าครับ ไม่ใช่สี่เหล่าดังสอนกันมา เหล่าที่สี่เพิ่มเติมภายหลัง) พระพุทธองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกไปสอน ทีแรกว่าจะสอนอาฬารดาบสกับอุทกดาบส พระอาจารย์เก่า แต่ทั้งสองท่านสิ้นชีพไปก่อนหน้านั้นแล้วเจ็ดวัน จึงเสด็จไปสอนปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ข้อความตรงนี้มีผู้ถอดสัญลักษณ์ว่า พระพรหม ในที่นี้คือ พรหมวิหาร มีเมตตา กรุณา เป็นประธาน "พระพรหม" มาอัญเชิญให้แสดงธรรม ก็คือ "ความรู้สึกสงสาร สัตว์โลก" ที่ตกอยู่ในความมืดบอดนั่นเอง เป็นแรงกระตุ้นให้พระองค์ต้องตัดสินพระทัยออกไปสั่งสอนพูดอีกนัยหนึ่ง เพราะพระกรุณาอย่างใหญ่หลวงนี้เอง สัตว์โลกทั้งหลายจึงได้มีโอกาสได้ลิ้มรสพระธรรมจากพระองค์

จากเหตุการณ์ครั้งนี้จึงเกิดเป็นธรรมเนียมว่า ก่อนจะให้พระเทศน์สอนธรรมญาติโยม จึงกล่าวคาถาอาราธนา เรียกว่า "อาราธนาธรรม" ใจความของคำอาราธนามีดังนี้ครับ "สหัมบดีพรหมผู้เป็นใหญ่กว่าชาวโลก ได้ประคองอัญชลีกราบทูลอาราธนาว่า เหล่าสัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อยยังมีอยู่ (หมายถึงมีสติปัญญาพอจะเข้าใจธรรม) ขอพระพุทธองค์ทรงโปรดกรุณาแสดงธรรมแก่เหล่าสัตว์ด้วยเถิด"

ธรรมเนียมมีมาด้วยประการฉะนี้แหละครับ



หัวใจพระพุทธศาสนาแต่ละสมัย

เพื่อนคนหนึ่งบ่นว่า หมู่นี้ ไต้ ตามทาง เขียนหนังสืออ่านไม่รู้เรื่องเข้าไปทุกที ผมก็เลยเล่าเรื่อง มหาแสง มนวิทูร กับ เจ้าคุณอนุมานฯให้เพื่อนฟัง มันฟังจบแล้วแยกเขี้ยวฟันยังกะจะกินเลือดกินเนื้อผม

มหาแสงเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีและสันสกฤตคนหนึ่งของเมืองไทย ได้แปลคัมภีร์จากสองภาษานั้นสู่ภาษาไทยหลายเล่ม แต่ละเล่มล้วนเป็นเรื่องยากๆ ทั้งนั้น เช่น ลิลิตวิสตระ ชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น พระยาอนุมานราชธน ถามขึ้นในวันหนึ่งว่า ทำไมมหาจึงแปลแต่เรื่องยากๆ

มหาแสง ตอบท่านเจ้าคุณยังไงรู้ไหมครับ แกตอบว่า "ผมไม่ได้แปลให้คนโง่อ่านนี่ครับ" เท่านั้นแหละ ท่านเจ้าคุณฉุนมหาแสงเสียไม่มีดี ว่ากันว่าปราชญ์สองท่านนี้ตึงกันไปหลายปี กว่าจะกลับมาคืนดีกันอีก

ผมเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนที่ต่อว่าผมว่าเขียนหนังสือยากให้ฟัง ได้ผลแบบเดียวกับมหาแสง เจ้าเพื่อนมันตึงกับผมไปเลย ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เพื่อนมันจะกลับมา "หย่อน" กับผมอีก

ไหนๆ ก็ถูกหาว่าเขียนให้อ่านไม่รู้เรื่องแล้ว วันนี้ขอเขียนถึงเรื่องที่รู้กันเพียงสองคน คือ พระผู้เป็นเจ้า กับผมผู้เขียน (สำนวนนี้ยืมคำพูด นาย Wordsworth กวีอังกฤษมานะครับ) นั่น คือ คาถา เย ธัมมาฯ

อุปติสสมาณพ (ต่อมาเป็น พระสารีบุตร อัครสาวก) พบพระอิสสชิกำลังบิณฑบาตอยู่ในเมืองราชคฤห์ เข้าไปขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง พระอัสสชิกล่าวคาถาสองบรรทัดให้ฟัง ฟังจบอุปติสสะได้ "ดวงตาเห็นธรรม" (คือบรรลุเป็นพระโสดาบัน) คาถานั้นมีข้อความเต็มดังนี้ครับ

เย ธัมมา เหตุปปะภะวา เตสัง เหตุง ตะถาคะโต (อาหะ)  เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ เอวังวาที มะหาสะมะโณ แปลกันว่า ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และการดับเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้

คาถานี้ประพันธ์เป็นฉันทลักษณ์เรียกว่า ปัฐยาวัตรฉันท์ มีสี่บาท บาทละแปดคำ น่าสังเกตว่า บาทที่สองมีถึงสิบคำ คือเติม อาหะ ในวงเล็บเข้ามาด้วย ไม่ทราบว่าใครเติม เติมตั้งแต่เมื่อใด

ผู้เติมเข้ามาคงเข้าใจว่า ข้อความทั้งสองบรรทัดนี้ไม่มีคำกริยา หรือ Finite Verb จึงต้องเติม อาหะ (กล่าวแล้ว) เข้ามาเพื่อให้ได้ความ

ที่จริงไม่ต้องเติมก็ได้ความอยู่แล้ว คำกริยามีอยู่แล้ว ดูไม่ดีเองหรือดูดีแล้ว แต่ไม่เข้าใจเอง รหัสอยู่ที่คำ "ตถาคต" นั่นเองครับ

ตถาคโต คำนี้มิใช่คำเดียวที่แปลว่า "พระตถาคต" อันเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า แต่แยกออกเป็น ตถา (อย่างนั้น กับ คโต (กล่าวแล้ว)

คโต มาจา คทฺ ธาตุ แปลว่า กล่าว ลง ต ปัจจัยกริยากิตก์ สำเร็จรูปเป็น คโต แปลว่า กล่าวแล้ว (คนละคำกับ คโต ที่แปลว่าไปแล้วนะครับ)

ไม่ต้องเติม อาหะ เข้าหาให้ซ้ำซ้อนและให้เสียฉันทลักษณ์ก็แปลได้ความอยู่แล้ว

ถอดใจความง่ายๆ ว่า "พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า สรรพสิ่งเกิดจากเหตุถ้าจะดับสิ่งนั้นต้องดับที่ต้นเหตุ"

คาถานี้คือ สรุป "แก่น" ของอริยสัจสี่นั่นเอง ไม่ใช่อะไรอื่น คือ ทรงสอนว่า ชีวิตมนุษย์มีปัญหาสารพัด ปัญหาของชีวิตมิใช่เกิดขึ้นลอยๆ มันมีสาเหตุให้เกิด การจะแก้ปัญหาชีวิตได้ต้องแก้ที่ต้นตอของปัญหา มิใช่ไปมัวแก้ที่ปลายเหตุหรือที่อื่นที่ไม่ตรงจุด

เมื่อครั้งพระโสณะกับพระอุตตระมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิ (เชื่อกันว่าคือภูมิภาคแถบนี้ มีเมืองนครปฐมเป็นศูนย์กลาง) ได้จารึกคาถานี้ลงบนแผ่นศิลาด้วยอักษรคฤนถ์ ฝังไว้คู่กับธรรมจักรกวางหมอบที่สถูปทรงโอคว่ำแบบสาญจิสถูปของพระเจ้าอโศก ในภูมิภาคแถบอื่นๆ ที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปถึงก็มีผู้ค้นพบจารึกคาถานี้เช่นกัน จึงน่าเชื่อว่าชาวพุทธโบราณถือคาถา เย ธัมมาฯ เป็น "หัวใจ" พระพุทธศาสนา

ต่อมาเปลี่ยนเป็นคาถาธรรมกาย (คนละธรรมกายกับของบางสำนักนะครับ) ต่อมาถือโอวาทปาติโมกข์ (ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส) แทน ต่อมามีผู้สอนว่า ที่ถูกคาถาหัวใจพระพุทธศาสนา คือ สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ (สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น)

ทั้งสามข้อที่กล่าวมานั้น จะว่าถูกก็ถูกหมด จะว่าผิดก็ผิดหมด ไม่ควรเถียงกันมากความ บอกแล้วไงว่าวันนี้จะเขียนให้อ่านรู้เรื่องเพียงสองคนคือพระเจ้ากับคนเขียน!



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 31 ตุลาคม 2560 16:18:06
(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/33/Prajnaparamita_Java.jpg/210px-Prajnaparamita_Java.jpg)

พุทธธรรมกับฟุตบอล  
อดหลับอดนอนดูบอลจนตาโหล ดูๆ ไป ทำให้เกิดความสว่างในธรรมเข้าโดยบังเอิญ มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างฟุตบอลกับพุทธธรรม จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง ถึงจะไม่ถึงขั้นบรรลุ "โล่ง เบาหวิว" เหมือนอรหันต์ตั้ง (ตั้งตัวเอง) บางคนก็ดีใจที่ได้แง่คิดขึ้นมา

ว่ากันว่า (ว่ากันมานานแล้ว) คนไทยมีลักษณะเด่น (หรือด้อยก็ไม่รู้) อยู่อย่างหนึ่งคือ ทำงานเป็นหมู่คณะหรือทีมเวิร์กไม่ค่อยเป็น รวมกันทำงานเมื่อใดพังเมื่อนั้น แต่ถ้าจะให้เด่นดังคนเดียวละก็คนไทยถนัดนัก จริงหรือไม่ก็ลองคิดกันดู คิดเล่นๆ พอ อย่า "ซีเครียด"

เพื่อนนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะบรรพบุรุษเราปลูกฝังกันมาผิด (แน่ะ อะไรไม่ดีก็โยนให้บรรพบุรุษ) เพื่อนขยายว่า บรรพบุรุษเรามักสอนให้ยกย่องคนเด่นคนดังเพียงคนเดียว หรือยกย่อง "เอกชนวีรชน"

เวลาเรียนประวัติศาสตร์ครูก็สอนว่า ที่ชาติไทยเรารอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ครองความเป็นอิสรเสรีมาจนบัดนี้ ก็เพราะท่านนั้นผู้นี้เป็นสำคัญ อันที่จริงก็ถูกแต่ถูกไม่หมด เพราะชาติไทยทั้งชาติประกอบขึ้นด้วยประชาชนมากมาย คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมทำให้รักษาเอกราชคงอยู่ได้ ยิ่งเวลาออกศึกสงคราม ชัยชนะที่เกิดขึ้นมิใช่เพราะแม่ทัพนายกองคนเดียว หากเพราะทหารทั้งกองทัพเป็นปัจจัยสำคัญ

การเน้นแต่ "จุดเด่น" เพียงจุดเดียว ทำให้ละเลยความสำคัญขององค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นานเข้าก็หล่อหลอมเป็นลักษณะพิเศษของคนไทย เห็นได้จากการแสดงออกหลายด้าน โดยเฉพาะด้านกีฬา เพื่อนผมสรุปว่าอย่างนั้น

เมื่อผมถามว่า มันเป็นอย่างไร เพื่อนขยายต่อว่า คนไทยชอบดูกีฬาประเภทที่มีผู้แพ้ ผู้ชนะเด็ดขาดเพียงคนเดียว พูดง่ายๆ ประเภทที่มีคนเด่น หรือฮีโร่ เช่น มวย เป็นต้น กีฬาประเภทเล่นเป็นทีม ทุกคนมีบทบาททัดเทียมกันไม่ค่อยชอบดู แม้ระยะหลังนี้จะหันมาสนใจกีฬาฟุตบอลกันมากขึ้น ก็ยังให้ความสำคัญตรงที่ว่า ใครเด่นที่สุด ใครเป็นดาวซัลโวที่ฉกาจที่สุด ซึ่งเป็นการมองแบบ "เอกชน วีรชน" อยู่นั่นเอง

ฟังเพื่อนพูดแล้วทำให้นึกถึงหลักพุทธธรรมขึ้นมาหลักหนึ่ง ชื่อ ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา อันว่าด้วยปัจจัยสัมพันธ์ที่สอนให้มองว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มิใช่เกิดขึ้นลอยๆ โดยไร้สาเหตุ และมิใช่ เกิดขึ้นเพราะ "เหตุ" ใดเหตุหนึ่งโดยเฉพาะ หากเกิดขึ้นเพราะ "ปัจจัย" หรือเงื่อนไขหลายๆ อย่างมารวมกัน

ปฏิจจสมุปบาทมีรายละเอียดถึง ๑๒ องค์ประกอบ เพียงยกชื่อมาก็เวียนหัวแล้ว จะไม่ขอกล่าวในที่นี้ ขอยกหลักกว้างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้มาให้ดูก็พอ มีหลักกว้างๆ ว่า เมื่อสิ่งเหล่านี้มี สิ่งเหล่านี้ก็มี เพราะสิ่งเหล่านี้เกิด สิ่งเหล่านี้ก็เกิด เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่มี สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งเหล่านี้ดับ สิ่งเหล่านี้ก็ดับ"

ถอดความว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นมาจาก "เงื่อนไข" หลายๆ อย่างรวมกัน มิใช่จากเหตุใดเหตุหนึ่งโดยเฉพาะ เท่ากับสอนให้หัดมองอะไรกว้างและรอบคอบ ไม่ด่วนสรุปโดยไม่มีมูลเพียงพอ

เคล็ดลับของหลักธรรมนี้อยู่ที่คำว่า "ปัจจัย"  (เงื่อนไขหรือ condition) ท่านไม่ใช้คำว่า "เหตุ" (เหตุ หรือ cause)

ถ้าชี้ไปที่ต้นไม้ที่เจริญงอกงามกิ่งก้านสาขาสมบูรณ์ต้นหนึ่ง ถามว่า เพราะเหตุไรต้นไม้ต้นนี้จึงเจริญงอกงามดี "เพราะดินดี อย่าว่าแต่ต้นนี้เลย เอาพืชอย่างไหนปลูกก็งามทั้งนั้น" นาย ก. อาจตอบเช่นนี้ การตอบของ นาย ก. เป็นการมองแบบ "เหตุ" เด่นเหตุเดียว คือดินดีเป็นสาเหตุทำให้ต้นไม้เจริญงอกงามดี

นาย ข. อาจตอบว่า "เมล็ดพืชดี ดินดี การเอาใจใส่ดูแลดี ตลอดจนดินฟ้าอากาศทุกอย่างทำให้ต้นไม้นี้เจริญงอกงามขนาดนี้ได้" คำตอบของ นาย ข. เป็น การมองไปที่ "เงื่อนไข" หลายๆ อย่างรวมกัน ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม แต่ละเงื่อนไขนั้นมีความสำคัญทัดเทียมกัน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าคำตอบของ นาย ข. ถูกต้องมากกว่า การมองแบบนี้รอบคอบกว่า ถ้าฝึกหัดท่าทีการมองโลกมองชีวิตแบบนี้บ่อยๆ เขาจะกลายเป็นคนมองอะไรกว้าง จิตใจไม่คับแคบ ยอมรับความสำคัญของคนอื่นเท่าหรือมากกว่าตน เป็นหัวหน้าหน่วยงานก็จะเห็นความสำคัญ เห็นความสามารถของลูกน้อง ทุกคนเหมือนกัน งานอะไรสำเร็จออกมาก็ยกให้เป็น ผลของความร่วมมือร่วมใจของทุกคน มิใช่ "ยกหาง" ตัวเองว่า ข้าเก่งคนเดียว อะไรทำนองนั้น

หันมาพูดถึงฟุตบอล ทีม ก. ชนะทีม ข. มิใช่เพราะผู้เล่นหมายเลข ค. คนเดียวที่ชู้ตลูกเข้าโกลของฝ่าย ตรงข้าม มองให้ลึกซึ้งแล้วจะได้คำตอบว่า ผู้เล่นทุกคนนั่นแหละเป็น "ปัจจัย" (เงื่อนไข) ทำให้เกิดชัยชนะขึ้นมาได้ แม้กระทั่งผู้เล่นของทีม ข. ก็มีส่วนแห่งชัยชนะ โดยเฉพาะโกลของทีม ข. ก็สำคัญนะครับ ถ้าเตะไป ทุกครั้งแกรับได้หมดแล้วจะชนะหรือครับ เพราะโกล์ของทีม ข. แกรับพลาดนั่นเอง ชัยชนะของทีม ก. จึงมีได้

เห็นหรือยังครับ นั่งลุ้นบอลดึกๆ ดื่นๆ ก็อาจตรัสรู้สัจธรรมได้



ปาราชิกกถา กับหมาขี้เรื้อน  
ข่าวพระปาราชิกกำลังดัง ดังจนเอียนเมื่อไรจะ "จบ" กันเสียทีก็ไม่รู้ สงสารพระพุทธศาสนา สงสารศรัทธาของชาวพุทธ ที่ต้องกระทบกระเทือนเพราะอลัชชีทุมมังกุ (แปลว่า หน้าด้าน) เพียงคนสองคน

เพื่อความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไป วันนี้ขอ "เทศน์นอกธรรมาสน์" เรื่องพระเรื่องเจ้าสักเล็กน้อย (รับรองไม่พาไปทัวร์นรกสวรรค์อย่างอลัชชีลวงโลกดอกครับ) สมัยพุทธกาลว่ากันว่า ประมาณ ๒๐ ปีแรกหลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์ยังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบท (หรือศีล) สำหรับพระ เพราะผู้มาบวชส่วนมากเป็นผู้เบื่อโลกแล้วมุ่งมั่นประพฤติพรหมจรรย์เพื่อพ้นทุกข์ การประพฤติปฏิบัติจึงถูกต้องโดยอัตโนมัติ

ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรกราบทูลว่าทำอย่างไรพรหมจรรย์ (ศาสนา) จึงจะดำรงอยู่ได้ยาวนานที่สุด พระองค์ตรัสว่า การบัญญัติสิกขาบท วางระเบียบข้อบังคับให้พระประพฤติปฎิบัติ เป็นสาเหตุทำให้พระศาสนาอยู่ได้นาน พระสารีบุตรกราบทูลให้ทรงบัญญัติสิกขาบท พระองค์ตรัสว่า ยังไม่ถึงเวลา รอให้พระสงฆ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น ลาภสักการะมากขึ้น อาวัฏฐานียธรรม (เหตุแห่งความมัวหมองเสื่อมเสีย) จะมีมาแล้วความจำเป็นที่จำต้องบัญญัติสิกขาบทย่อมเกิดขึ้น

ไม่นานจากนั้นก็เกิดสาเหตุแห่งปฐมปาราชิกขึ้น ลูกเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อ สุทินมาบวชด้วยความไม่ค่อยจะยินยอมพร้อมใจของพ่อแม่นัก เพราะเป็นลูกโทน พ่อแม่อยากให้สืบสกุล แต่สุทินอดอาหารประท้วง ถ้าไม่ให้บวชจะยอมตาย พ่อแม่จึงอนุญาตให้บวช หลังจากบวชแล้ว พระสุทินเธอก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรม วันหนึ่งกลับมายังบ้านเดิมของตน พ่อแม่อ้อนวอนให้สึก ท่านก็ยืนกรานว่า ท่านซาบซึ้งในรสพระธรรมแล้ว ไม่หวนกลับมาสู่โลกียวิสัยเด็ดขาด

"ถ้าเช่นนั้นโยมพ่อ โยมแม่ขอ “หน่อ” (พีช) ไว้สักหน่อยเถอะลูก" โยมพ่อเสนอ หมายความว่าขอให้พระสุทินทำหลานให้สักคน (ทำโดยวิธีใดฟังต่อไปเดี๋ยวรู้เอง)

พระสุุทินเห็นว่าเป็นทางเดียวที่ตัดรำคาญ ไม่ให้โยมพ่อโยมแม่ตามตื๊ออีกต่อไปจึงตอบตกลง หันไปบอกอดีตภรรยา (ที่ยังสาว) ว่า เธอพร้อมเมื่อไหร่ให้บอก

เมื่ออดีตภรรยาพร้อม (พร้อมยังไงคงรู้กันนะครับ) ได้บอกพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าจึงเกี่ยวก้อยเธอเข้าไปในห้อง "จัดการ" ให้ตามที่ปรารถนา ตรงนี้ตำราท่านว่าเพื่อให้แน่ใจว่าไม่พลาด จึงกระทำซ้ำถึงสามหนในเวลาไล่เลี่ยกันแล้วก็สำเร็จจริงๆ จากนั้นไม่นานนางก็ตั้งครรภ์ คลอดลูกเป็นชายหน้าตาน่ารัก ปู่ย่าตั้งชื่อให้ว่า "พีช" (แปลว่าไอ้พืช หรือไอ้หน่อ)

ความจริงสุทินเธอบวชด้วยศรัทธา มิได้แอบแฝงมาบวชเพื่อเหตุผลอย่างอื่น ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อตัดปัญหามิให้โยมพ่อโยมแม่อ้อนวอนให้สึก แต่เมื่อทำไปแล้วนึกได้ภายหลังว่าการกระทำของตนน่าจะไม่ถูกต้อง จึงรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เมื่อเรื่องถูก เปิดเผยขึ้นจึงถูกตำหนิติเตียน ทั้งจากประชาชนและพระสงฆ์ทั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ให้ตามพระสุทินมาชำระสะสางคดี

สุทินเธอยอมรับผิด พระพุทธองค์ทรงตำหนิว่า เป็นการกระทำที่ก่อความเสียหายแก่พระศาสนามาก ต่อไปห้ามพระภิกษุรูปใดกระทำอย่างนี้เป็นอันขาด ถ้าทำถือว่าขาดจากความเป็นพระ ถูกขับออกจากหมู่ คณะทันที ทรงบัญญัติปาราชิกข้อที่หนึ่งว่า "ภิกษุรูปใดไม่บอกลาสิกขา เสพเมถุน ภิกษุนั้นต้องปาราชิก ขาดจากความเป็นพระ อยู่ร่วมกับคณะสงฆ์ไม่ได้"

เนื่องจากสุทินเธอเป็นคนทำผิดคนแรก พระพุทธองค์มิได้เอาผิด ให้ถือเป็น "อาทิกัมมิกะ" โบราณจารย์แปลว่าเป็นคน "ต้นบัญญัติ" คือเป็นคนทำผิดคนแรก

แปลไทยเป็นไทยอีกทีก็คือ เป็นตัวอย่างในทางชั่วให้อ้างอิงกันไม่รู้จบสิ้นนั้นแล โยมเอ๋ย ต่อไปภายหน้าใครมาบวช อุปัชฌาย์อาจารย์จะได้สั่งได้สอนว่าบวชมาแล้วให้ตั้งใจปฏิบัติตนอยู่ในศีลวินัยให้ดีหนา อย่าได้ทำชั่วถึงขนาด "เมกเลิฟ" กับผู้หญิงเหมือนอย่างพระสุทินเชียวนะ อะไรทำนองนั้น

จนกระทั่งบัดนี้ ความชั่วของพระสุทินยังถูกกล่าวขวัญถึงอยู่ และจะเป็นอยู่อย่างนี้ตราบเท่าที่ยังมีพระไตรปิฎกอยู่ เพราะพฤติกรรมนี้ได้บันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ก เอ๊ย พระไตรปิฎก

หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น สุทินเธอหาความสงบใจไม่ได้ มีแต่ความว้าวุ่นใจ มรรคผลนิพพานถูกตัดขาดแล้ว เป็นดุจ "ตาลยอดด้วน" ไม่มีทางงอกงามในพระศาสนา ในที่สุดก็เฉาตายไปเอง

ต่อมาไม่นานมีพระพิเรนรูปหนึ่งทำมิดีมิร้ายกับนางลิงเข้า รู้ถึงพระพุทธองค์ พระองค์ตรัสถามว่า ไม่รู้หรือว่าเราตถาคตห้ามมิให้เสพเมถุน เธอก็เถียงว่า "ก็พระองค์มิได้บอกว่าห้ามทำกับสัตว์นี่" เอากะพ่อสิ!

พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า อนฺตมโส ติรจฺฉานคตายปิ = (ห้ามเสพเมถุน) แม้กระทั่งกับสัตว์เดรัจฉานก็ไม่ได้ นั่นแหละครับ เรื่องจึงเรียบร้อย ต่อมาใครหน้ามืดหน้าด้าน เสพกับคนหรือกับสัตว์ก็ถูกขจัดออกจากพระศาสนาหมดสิ้น

พระศาสนาของพระพุทธองค์เป็นของบริสุทธิ์ อลัชชีไร้ยางอายที่ทำการย่ำยีพระธรรมวินัย ถึงจะมีอิทธิพล มีชื่อเสีย (ง) แค่ไหน ผลที่สุดก็วิบัติจากพระศาสนาแน่นอน เชื่อผมเถอะครับ

จริงอย่างที่คุณพี่จิ้งจกสีเขียว ว่า หมาขี้เรื้อนเพียงตัวเดียวตายขวางถนนซูเปอร์ไฮเวย์ มิได้ทำให้ถนนเสียหายอะไร เขี่ยมันทิ้งให้พ้นทางก็สิ้นเรื่อง แม้จะมี "ขี้เรื้อน" อีกตัว มาเห่าอยู่ข้างทาง ก็เพียงทำให้รำคาญหูเท่านั้น

ปล่อยมันไปเถอะ มันจะตายเพราะโรคเรื้อนอยู่ดี



ควรเรียนภาษาบาลี
คนไทยควรเรียนภาษาบาลี ด้วยเหตุผล ๔ ข้อ ดังนี้ครับ

๑.บรรพบุรุษของไทยนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ คำสอนของพระพุทธศาสนา (ฝ่ายเถรวาท) บันทึกไว้ด้วยภาษาบาลี

๒.ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ละม้ายคล้ายกับภาษาไทยมากกว่าภาษาอื่น (เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ภาษาจีน เป็นต้น) ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เรียนกันอยู่ขณะนี้

๓.เมื่อคนไทยมีความรู้ภาษาบาลีอย่างกว้างขวางและแตกฉานแล้ว ผลพลอยได้ก็คือ เยาวชนของชาติจะสนใจค้นคว้าหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเพิ่มเติมด้วยตนเองต่อไป เพราะหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามีเสน่ห์อยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อตั้งใจศึกษาแล้วจะแตกฉานและมีฉันทะในการปฎิบัติด้วยตนเองโดยอัตโนมัติ

๔. กระทรวงศึกษาธิการ ควรกำหนดวิชาภาษาบาลีในหลักสูตรภาคบังคับตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษา และต่อยอดไปจนถึงอุดมศึกษา โดยให้ค่อยๆ เรียนทีละเล็กละน้อยและลุ่มลึกขึ้นตามลำดับ

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณไพรัช และข้อเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมเล็กน้อยเกี่ยวกับภาษาบาลีดังนี้ครับ

ภาษาอินเดียโบราณมีอยู่ ๒ ตระกูล คือ ตระกูลพระเวท (ภาษาไวทิกะ ต่อมาเรียกว่า ภาษาสันตสกฤษ) กับตระกูลปรากฤต (ภาษาธรรมชาติ, ภาษาพื้นบ้าน หรือภาษาตลาด) ทั้งสองตระกูลนี้จัดอยู่ในสาย "อินโด ยุโรเปียน" หรือ "อินเดีย-ยุโรป"

พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธที่จะใช้ภาษาตระกูลพระเวทถ่ายทอดคำสอนของพระองค์ (เหตุผลนั้นไม่ชัดแจ้งว่าเพราะเหตุใด) ทรงอนุญาตให้ใช้ภาษาตระกูลปรากฤตถ่ายทอดแทน และเชื่อกันว่า แขนงของภาษาตระกูลปรากฤตที่ใช้บันทึกพุทธวจนะนั้นคือ มาคธี (ภาษาถิ่นแคว้นมคธ) และต่อมาเมื่อพุทธวจนะถูกบันทึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วได้เปลี่ยนชื่อเป็น บาลี หรือ ตันติภาษา

ปัจจุบันชาวพุทธเรียกภาษาที่บันทึกพระไตรปิฎกสามชื่อด้วยกัน คือ ภาษามคธ, ภาษาบาลี และ ตันติภาษา ซึ่งก็อันเดียวกันนั่นแหละครับ

ส่วนพระไตรปิฎกของฝ่ายมหายานใช้ภาษาสันสกฤตแทนภาษาบาลี (ยกเว้นนิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งเป็นแขนงของนิกายเถรวาท ที่ใช้ภาษาสันสกฤต แต่เดี๋ยวนี้นิกายนี้ ก็สูญไปแล้ว

ทั้งภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต เป็นภาษา "ฝรั่ง" เพราะฉะนั้น จะละม้ายคล้ายภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส...มากกว่าภาษาไทย แต่ก่อนผมไม่เชื่อ ต่อเมื่อไปเรียนบาลี-สันสกฤต เพิ่มเติมที่เมืองฝรั่ง เห็นเพื่อนๆ ฝรั่งมันเรียนรู้ได้รวดเร็วมาก จึงชักอยากจะเชื่อขึ้นมาบ้าง ว่างๆ ผมลองเอาคำภาษาบาลีกับภาษาอังกฤษมาเทียบๆ กันดู ในที่สุดผมเชื่อโดยไม่มีเงื่อนไขแล้ว

ลองดูมาเป็นแซมเปิ้ลสักสองสามคำซิครับ สิว (เย็บ) ภาษาฝรั่งเขียนเหมือนกัน (เพียงแต่อ่านออกเสียงแผกไป) ว่า sew พนฺธ (ความผูกพัน) ตรงกับฝรั่งว่า bond เอราวณ (ช้างเอราวัณ) นั้นก็คือภาษาฝรั่งว่า elephant นั่นเอง ลองออกเสียงดูสิครับ

คนไทยนับถือพระพุทธศาสนามานาน ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตได้มีอิทธิพลต่อภาษาไทยมาก โดยผ่านทางหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาและวรรณคดีพระพุทธศาสนา คำไทยที่ใช้สื่อสารอยู่ในชีวิตประจำวันกว่า ๘๐เปอร์เซ็นต์ มีรากฐานมาจากสองภาษานั้นทั้งนั้น

ไม่เชื่อลองเอ่ยชื่อและนามสกุลใครสักคนที่ท่านรู้จักสิครับ หาที่เป็นคำไทยแท้ๆ ยาก จนเราไม่คิดว่ามันเป็นภาษาอื่นแล้ว คิดว่ามันเป็นภาษาไทยทั้งนี้และทั้งนั้น เพราะเรามิได้นำมาใช้ทั้งดุ้น นำมาดัดแปลงให้เป็นแบบไทยๆ ถ้าคำเดิมมันยาวไป ออกเสียงยากนักก็ใส่การันต์ตัวท้ายให้มันสั้นเข้า (เช่น อภิวฑฺฒน เขียนใหม่ว่า อภิวัฒน์) หรือออกเสียงให้เข้ากับลิ้นไทยๆ (เช่น กมล อ่านว่า "กะมน" แทนจะอ่านว่า "กะ มะละ")

ภาษาบาลีเป็นภาษาที่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ไวยากรณ์ไม่ยาก มีข้อยกเว้นน้อยมาก ถ้าใส่ใจเรียนสักพักเดียวก็จะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เมื่อรู้บาลีกว้างขวางถึงขั้นแตกฉานแล้ว จะกลายเป็นคนรู้ภาษาไทยอย่างแตกฉานด้วย

ผมจึงเห็นด้วยที่จะวางเป็นหลักสูตรให้เด็กเรียนบาลีตั้งแต่ระดับประถมขึ้นไป โดยปูพื้นฐานจากง่าย ไปหายากตามลำดับ เด็กเรียนแล้วจะได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ดีด้วย ดีกว่าให้เด็กมันท่อง เดอะบอย = เด็กผู้ชาย เดอะเกิน = เด็กผู้หญิง เทเลวิชั่น = โทรทัศน์ โตจนเข้ามหาวิทยาลัยแล้วยัง "เทเลวิชั่น" อยู่ฝรั่งฟังแล้วสั่นหัวดิกว่า มันพูดภาษาอะไรกัน



จับบวช
ได้ยินเพื่อนฝูงนักภาษาไทยบางคนบ่นผู้ที่บัญญัติศัพท์ (ใครบ้างไม่ทราบ เพราะมีหลายคนหลายคณะกรรมการ) ว่า ชอบจับบวชจังเลย ไม่คิดจะหาคำไทยเพราะๆ มาใช้บ้าง ทั้งนี้ เพราะท่านผู้นั้นเห็นว่า ศัพท์ที่บัญญัติที่ออกมาแต่ละครั้งนั้นไม่บาลีก็สันสกฤตปนกัน

ผมเคยเกี่ยวข้องเป็นกรรมการบัญญัติศัพท์อุดมศึกษาอยู่ครั้งหนึ่ง เวลามีคำจะต้องบัญญัติ ท่านผู้หนึ่งจะเปิดพจนานุกรมบาลีหรือพจนานุกรมสันสกฤต ดูว่าคำคำนั้น สองภาษานั้นว่าอย่างไรแล้วก็เสนอว่า คำนี้น่าจะเหมาะสม อะไรทำนองนั้น

ถ้าคนเสนอนั้นเป็นที่ยอมรับในคณะกรรมการด้วย ก็มีแนวโน้มที่คำบาลีสันสกฤตจะได้รับการคัดเลือก นำมาใช้ตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิท่านนั้น

ภาพของการประชุม ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น และความรู้ความสามารถ มติจากที่ประชุมเป็นผลจากการกลั่นกรองจากมันสมองของสมาชิกทุกคนในที่ประชุม นั่นคือภาพภายนอก

ความเป็นจริงภายในอาจไม่ "เริ่ดหรู" ขนาดนั้น

ว่ากันว่าการประชุมองค์กรสูงสุดทางการปกครองทางพุทธศาสนา ท่านถือความเป็นอาวุโสมาก ไม่นิยมถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นคำพูดของพระเถระผู้ใหญ่เพียงผู้เดียวกลายเป็น "มติ" ที่ประชุมได้

ไม่ใช่เผด็จการดอกครับ เป็นการให้เกียรติเคารพในความ "สุกงอม" แห่งสติปัญญาและประสบการณ์ของสังฆวุฑฒาจารย์ ว่ากันอย่างนั้น

คำว่า บวช เองก็ถูกนักธรรมะ "จับบวช" มาแล้ว โดย อธิบายว่า คำนี้มาจาก ปวช (ปะวะชะ) เอาตัว ป เป็น บ แล้วอ่านออกเสียงแบบไทยว่า "บวด" แปลว่า "การเว้นทั่ว" หรือ "การเว้นทั้งหมด" หมายถึงเว้นสิ่งที่เคยประพฤติสมัยเป็นคฤหัสถ์ (กรุณาอย่าใช้ "ฆราวาส") ไม่ว่าจะเป็นการนุ่งห่ม กิริยาอาการ การพูดการจา การกระทำทุกอย่าง มารับเอารูปแบบแห่งการดำเนินชีวิตแบบใหม่ คือ ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เรียกว่า เว้นทุกอย่างที่เคยทำมา

การจับบวช นี้ความจริงโบราณาจารย์ท่านก็ทำมาก่อน ดังพระสิริมังคลาจารย์ผู้แต่ง ชินกาลมาลีปกรณ์ จับเอาชื่อสถานที่บ้าง ชื่อคนบ้าง ที่เป็นคำไทยแท้ มา "บวช" ให้เป็นภาษาบาลี เช่น "หนองขวาง" ก็จับบวชเป็น ติริยวาปี (ติริย=ขวาง+วาปี=หนอง) "เจ้าแสนเมืองมา" จับบวชเป็น ลักขปุราคโม (ลักข=แสน+ปุร=เมือง+มา=อาคโม) อะไรไม่ขำเท่าเกณฑ์ให้ขุนหลวงพะงั่ว เป็นพาลราชา (พาล=โง่เง่า-ราชา=ขุนหลวง)

ท่านคงเห็นว่า "งั่ว" กับ "ง่าว" มันใกล้เคียงกันกระมัง  



ตำราดูพระ  
เรื่องพระกับสีกากำลังดัง (ที่ถูกควรเรียกว่า เรื่องอลัชชีกับสีกามากกว่า) ดังระดับอินเตอร์เชียวแหละ ขนาดออกข่าวรอยเตอร์แพร่ไปทั่วโลก น่าอับอายขายหน้า แต่อลัชชีผู้สร้างเรื่องมัวหมองแก่พระศาสนาไม่อายดอกครับ คนพรรค์นี้พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "ทุมมังกุ" แปลตามตัวว่า "ผู้เก้อยาก" คนเก้อยากก็คนหน้าหนาหน้าทนนั่นแหละ ท่านผู้เจริญเอ๋ย คอนกรีตเสริมเหล็กยังไม่หนาไม่ทนเท่า คนพวกนี้มักมีพฤติกรรมสวนทางกับคำสอนของพระพุทธองค์เป็นส่วนมาก

พระพุทธองค์ตรัสว่า "พรหมจรรย์ (ศาสนา) ของพระองค์ มิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนบ่นเพ้อถึง มิใช่เพื่อตั้งตนเป็นเจ้าลัทธิ มิใช่เพื่อลาภสักการะเป็นอานิสงส์ มิใช่เพื่อชื่อเสียงให้คนเขารู้จัก แต่เพื่อสำรวมระวัง เพื่อละกิเลส เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส โดยสิ้นเชิง" พูดง่ายๆ ว่า มิใช่บวชมาเพื่อลวงโลก ตั้งตนเป็นเจ้าสำนักเถื่อน หรือบวชมาทำพระพุทธพาณิชย์ขายพระศาสนาหากินจนร่ำรวยเป็นอาเสี่ย แต่ให้บวชมาเพื่อลดละกิเลส

แล้วเป็นอย่างไร ปฏิบัติตามพุทธดำรัสกันบ้างไหม

อลัชชีบางคนบวชมายังไม่พ้นภาวะ "นิสัยมุตตกะ" เลย (นี่ภาษาพระหมายถึง ยังไม่พ้นการดูแลของอุปัชฌาย์อาจารย์ คือยังไม่ครบ ๕ พรรษาขึ้นไป) ไม่อยากเป็นลูกวัดเขา อยู่เป็นพระผู้น้อยมันอึดอัด จึงปลีกตัวไปตั้งสำนักสงฆ์เถื่อนอยู่องค์เดียว อาศัยที่ประเทศนี้ ระเบียบกฎเกณฑ์อะไรมันหละหลวมไปหมด หรือระเบียบมีแต่ปล่อยปละละเลยกันมานาน ใครคิดจะตั้งสำนักเถื่อนที่ไหนเมื่อใดก็ตั้งได้ อธิบดีกรมการศาสนาก็ไม่มีปัญญาอะไรมากไปกว่าบ่นว่า "เดี๋ยวนี้สำนักสงฆ์เถื่อนมากเหลือเกิน"

เจ้าสำนักเถื่อนเหล่านี้ ร้อยทั้งร้อย ไม่ประสีประสาพระธรรมวินัย อริยสัจสี่ ไตรสิกขาคืออะไร อย่าไปถาม ไม่รู้เรื่อง รู้อย่างเดียวคือปลุกเสกลงเลขยันต์ อมน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก บอกใบ้ให้หวย แจกเหรียญแจกพระเครื่อง หรือไม่ก็โอ้อวดคุณวิเศษที่ตัวเองทำไม่ได้ เรียกตามภาษาศาสนาว่า "อวดอุตริมนุสธรรม" นั่นแหละ วิธีอวดอ้างทำตื้นๆ เช่น อ้างนรกสวรรค์ อ้างวิมาน อ้างชาติก่อนชาติหน้าให้คนเขาหลงเชื่อ เช่น ถ้าใครบริจาคเงินจำนวนตั้งแต่เท่านั้นเท่านี้แสนขึ้นไป จะมีวิมานปรากฏรออยู่ที่สรวงสวรรค์ มีเทพธิดาคอยเฝ้าดูแลให้ โดยไม่ต้องเสียค่าจ้าง เจ้ากูก็นั่งหลับตาดูให้ว่าวิมานนั้นสวยยังไง วิลิศมาหราแค่ไหน ถ้าอยากวิมานงามเพริศแพร้วกว่าเดิม มีเฟอร์นิเจอร์ครบถ้วนจะต้องเพิ่มทุนอีกกี่ล้าน เมื่อเพิ่มแต่ละครั้งก็จะนั่งหลับตาดูให้ว่า สวยงามเพิ่มขึ้นเพียงใด

ประสกสีกา (โง่ส่วนมาก) ก็นั่งประนมมือปลื้มเสียไม่มี แต่คนที่ปลื้มกว่าคือเจ้ากูบัญชีเงินฝากส่วนตัวเพิ่มตัวเลขมากขึ้นตามลำดับ พฤติการณ์ลวงโลกมันช่างแนบเนียน คนถูกหลอกถูกลวงไม่รู้ตัวหาเงินมาถมให้ไม่รู้จักเต็ม

อีกวิธีหนึ่งก็อ้างชาติก่อนชาติหน้า โยมคนไหนรวยๆ เจ้ากูแกอ้างว่าเคยเป็นแม่แกมาก่อน และมักจะแถมว่า ชาติก่อนนั้นโยมแม่ร้ายไม่เบาเชียวนะ ไม่เลี้ยงดูลูกเลย ปล่อยให้ตกระกำลำบาก มาชาตินี้โยมแม่ต้องชดใช้กรรมเก่า ชดใช้ยังไง ก็เลี้ยงดูชาตินี้ให้เต็มอิ่มสิครับ มีเงินเท่าใดก็เอามาประเคนให้หมด จึงมักมีข่าวว่า มีโยมแม่คนนั้นคนนี้ยกมรดกให้เท่านั้นล้าน เท่านี้ล้าน เจ้ากูประเภทนี้มักจะมี "แม่" ในอดีตมากมาย ล้วนแต่รวยๆ ทั้งนั้น คนจนๆ ไม่มีวาสนาได้เป็นแม่ของแกดอกครับ

วิธีนี้นิกรแกนำมาใช้ได้ผลเกินคาด ยกฐานะจากพระอันดับธรรมดาเป็นเจ้าสัวร้อยล้านชั่วเวลาไม่นาน เมื่อเงินมา ผู้หญิงก็มา อย่างที่ท่านเจ้าคุณพระราชธรรมนิเทศว่านั่นแหละ จึงมีข่าวสิวนิกรพัวพันกับผู้หญิงมากหน้าหลายตา มีลูกด้วยกันแล้วส่งเสียอยู่ก็มี กำลังอยู่ในท้องเกิดเรื่องอื้อฉาวกันอยู่ก็มี

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไปฟังการอภิปรายที่วัดสามพระยา ท่านผู้อภิปรายท่านหนึ่งพูดว่า พระประเภทนี้มักไม่รู้พระธรรมวินัย ไม่ค่อยมียางอาย ทำความผิดฉกาจฉกรรจ์แล้วมักดื้อด้านอยู่ให้พระศาสนามัวหมอง แทนที่จะสึกหนีไปเสีย "ไอ้สมีเจี๊ยบถึงยังไงก็น่าชื่นชมที่ทำชั่วแล้วรีบสึกเลย แต่เจ้านี่ยังด้านอยู่ เพราะมีแบ๊กมีอิทธิพลหนุนหลัง" ท่านว่าอย่างนั้น ผมสงสัยมานานแล้วว่า ตำแหน่งพระครูใบฎีกาของคนคนนี้ เป็นฐานานุกรมของเจ้าคุณรูปใด (สำนวนชาววัด "ฐานานุกรม" คือตำแหน่งพระช่วยกิจการงานของพระราชาคณะหรือพระเจ้าคุณ เช่น ตำแหน่งพระครูปลัด พระครูสมุห์ พระครูใบฎีกา...") ยังไม่ทันได้ถาม ก็มีเจ้ากูระดับเจ้าคุณชั้นราชประกาศหราออกมาว่า "นิกรเป็นศิษย์อาตมาเอง อาตมาส่งไปเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่อายุ ๑๒" (ตรงนี้สงสัยพิมพ์ผิด เด็กอายุ ๑๒ ปี เป็นเจ้าอาวาสมันก็เกินไปละครับ)

พระเจ้าคุณรูปนั้นก็คือ กิตฺติวุฑฺโฒ นั่นเอง

ผมจึงร้องออกมาดังๆ ว่า "อ้อ แม่นแล้ว I see" จะไม่ให้ร้องออกมาหลายภาษาได้ยังไงครับ เมื่อได้ความแจ่มกระจ่างขนาดนี้  กิตฺติวุฑฺโฒ กระโดดออกมาปกป้องเต็มที่ ขณะเขียนต้นฉบับนี้ (วันที่ ๒๐ ก.ค.) เห็นหนังสือพิมพ์พาดหัวว่า หิ้วปีกลูกศิษย์ไปขอเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช แต่ไม่ได้เข้าเฝ้า ประกาศว่าสีกาอรสำนึกผิดแล้ว จะทำพิธีขอขมานิกร จนแล้วจนรอดสีกาก็ไม่โผล่ จัดฉากเสียดิบดี ฉากล้มเสียแล้ว

เห็นใจครับ อาจารย์ก็ปกป้องศิษย์เป็นธรรมดา และศิษย์คนนี้ก็ทำเงินเก่งเสียด้วย ถูกแล้วละครับ ถูกต้องตามพระพุทธดำรัสว่า ยํ เว เสวติ ตาทิโส = คบคนเช่นใดก็เป็นคนเช่นนั้น

ผมขอแปลให้ฟังง่ายว่า "อาจารย์เป็นเช่นใด ลูกศิษย์ก็เป็นเช่นนั้นแหละ"



พระพุทธเจ้าไม่มีจริง  
เขียนคอลัมน์ธรรมะธัมโม้ (มีไม้โท ด้วยนะ) ก็ดีไปอย่าง เมื่อไม่มีเรื่องอะไรจะเขียนก็หยิบจดหมายท่านผู้อ่านมาพลิกๆ ดู มีคำถามบ้าง คำแนะนำบ้าง ที่มีประโยชน์พอให้หยิบฉวยมาเขียนเล่าสู่กันฟัง จึงกราบขอบคุณแฟนๆ ที่อนุเคราะห์ผมในด้านนี้ แต่เนื่องจากคอลัมน์นี้มิใช่คอลัมน์ตอบปัญหาธรรมะ จดหมายที่ท่านเขียนมา จึงได้รับ ตอบบ้าง ไม่ได้ตอบบ้าง มิใช่เลือกที่รักมักที่ชังดอกครับ บางเรื่องตอบสั้นๆ คงไม่กระจ่าง ควรเขียนเป็นหนังสือสักเล่มหนึ่งต่างหากมากกว่า บางเรื่อง แฮ่ะๆ ผมก็ตอบไม่ได้ ก็เลยทำลืมๆ ไป ต้องขออภัยมณี

ท่านผู้ใช้นามว่า "มรรคทายก" แสดงข้อกังขามาหลายเรื่อง ขอยกมาให้ดูเรื่องเดียว (ซึ่งไม่น่าเป็นเรื่อง) คือ พระพุทธเจ้าเป็นเพียงนิยาย (อะไรจะขนาดนั้น) ท่านมรรคทายก (ไม่รู้วัดไหน สงสัยจะวัดสิ้นศรัทธาธรรม ฮิฮิ) คงหมายความว่าพระพุทธเจ้าของพวกเราชาวพุทธสงสัยจะไม่มีตัวตนจริง เป็นเทพนิยายที่แต่งขึ้นมาเหมือนเทพปกรณัม ทั้งหลาย

ความจริงปัญหานี้ "กล้วย"มาก เคยมีคนถามอย่างนี้มาแล้ว และมีคนตอบให้หายสงสัยมาแล้ว เป็นคำตอบที่ "แจ้งจางปาง" ชนิดไม่มีทางเถียงเลยแหละครับ บุคคลที่ว่านี้มีนามกรฉันใด

พระยามิลินท์ กับพระนาคเสนเถระ ยังไงเล่าครับ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๕ (ศักราชอะไรแน่ยังถกเถียงกันอยู่) มีกษัตริย์เชื้อสายกรีก องค์หนึ่งชื่อเมนันเดอร์ภาษาบาลีเขียนว่า มิลินฺท ไม่รบเก่งอย่างเดียว ยังเป็นนักปรัชญาและนักโต้วาทีชั้นยอดอีกด้วย มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องศาสนาผิดหลายเรื่อง แต่ไม่มีพระสงฆ์รูปใดสามารถชี้แจงให้ท้าวเธอเข้าใจถูกต้องได้ เพราะหาเหตุผลมาหักล้างไม่ได้เมนันเดอร์จึงได้ใจ ท้าโต้กับใครก็ได้ที่คิดว่าเก่งจริง

โต้กันเอาเป็นเอาตายเลยครับ มิใช่โต้กันเล่นๆ สนุกๆ อย่างเวทีวาทีของคุณแอ้ กรรณิกา

เหนือฟ้ายังมีฟ้า ใต้กะลายังมีกบ (แน่ะ พูดเป็นปรัชญาเสียด้วย) พระคุณเจ้ารูปหนึ่งชื่อ นาคเสน พุทธสาวกผู้ทรงความรู้และปฏิภาณ ตกลงไปสนทนากับเมนันเดอร์ แล้วการโต้วาทีระหว่างพระกับโยมก็ได้เริ่มขึ้น เรื่องราวหลากหลายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ถูกหยิบยกขึ้นมาปุจฉา-วิสัชนาอย่างน่าสนใจ หลังจากสนทนาจบลง กษัตริย์เมนันเดอร์ประกาศตนเป็นพุทธมามกะอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา

เรื่องทั้งหมดมีบันทึกไว้เป็นภาษาบาลีชื่อว่า มิลินทปัญหา (ปัญหาของพระยามิลินท์) ข้อเด่นพิเศษของหนังสือนี้คือ อ่านเข้าใจง่าย แม้จะพูดถึงเรื่องยากๆ เช่น กรรม สังสารวัฏ นิพพาน เพราะท่านยกอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ยังกับยกมาวางให้ดูตรงหน้ายังไงยังงั้น

ฉบับแปลภาษาไทยก็มีครับ หอสมุด แห่งชาติตีพิมพ์ หรือจะอ่านฉบับย่อที่ท่านอาจารย์อัศวศิน อินทสระ เก็บความมาก็ได้ ชื่อ "อธิบายมิลินทปัญหา"

พระยามิลินท์ หรือเมนันเดอร์ถามพระนาคเสนว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่จริงหรือป่าว พระนาคเสนตอบว่า มีจริง มหาบพิตร

"พระคุณเจ้าเคยเห็นหรือ"

"อาตมภาพเกิดไม่ทัน มหาบพิตร"

"อาจารย์ทั้งหลายของพระคุณเจ้าเคยเห็นหรือเปล่า"

"อาจารย์ทั้งหลายของอาตภาพก็ไม่เคยเห็น มหาบพิตร"

"อ้าว ในเมื่อพระคุณเจ้าก็ไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้า อาจารย์ทั้งหลายของพระคุณเจ้าก็ไม่เคยเห็น แล้วรู้ได้อย่างไรว่าพระพุทธเจ้ามีพระองค์จริง" พระยามิลินท์รุกฆาตทันที นึกในพระทัยว่าเสร็จแน่คราวนี้

พระนาคเสนท่านสงบนิ่งพักหนึ่ง แล้วถามว่า "มหาบพิตร กษัตริย์ที่เป็นต้นราชวงศ์ของพระองค์มีอยู่หรือไม่"

"มีสิ พระคุณเจ้า" มิลินท์ตรัสตอบ ยังงงๆ อยู่ว่าพระเถระถามทำไม

"พระองค์เคยเห็นไหม"

"ไม่เคย พระคุณเจ้า ก็มันนมนานกาเลแล้วนี่"

"พระราชบิดาของพระองค์ทรงเคยเห็นไหม"

"เสด็จพ่อของโยมก็ไม่เคยเห็น"

"พระอัยกาของพระองค์ทรงเคยเห็นไหม"

"เสด็จปู่ก็ไม่เคยเห็น"

"แล้วทรงรู้ได้อย่างไรว่า พระปฐมบรมกษัตริย์มีจริง" พระเถระซัก

"ก็รู้ได้จากมีตัวโยมเองซึ่งสืบทอดมาจากเสด็จพ่อ เสด็จปู่...ขึ้นไปเรื่อยๆ กับรู้ได้จากประจักษ์พยานคือ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สืบทอดต่อๆ กันมาสิ พระคุณเจ้า" พระยามิลินท์ทรงอธิบาย

พระนาคเสนตอบว่า "เช่นเดียวกันนั่นแหละ จากตัวอาตมภาพที่ถือเพศบรรพชิตที่ได้รับสืบทอดมาจากพระพุทธองค์โดยไม่ขาดสาย จากหลักธรรมคำสอนที่ทรงสั่งสอนไว้และให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติตามตลอดมาทุกวันนี้ คือ สติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด อริยมรรคมีองค์แปด ทำให้รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีพระองค์จริง"

เป็นยังไงครับ หายสงสัยหรือยัง ถ้ายังไม่หายจะให้ผมงัดหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาพิสูจน์อีกก็ยังได้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด



หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 31 ตุลาคม 2560 16:24:48
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQlAuplDDBKUIle9vRPsx-kG-6jTgvbvplWCKlFuuPtyobkFrjqnw)

นิพพานอยู่ที่ไหน  

ปุจฉา

นิพพานอยู่ที่ไหน

ณ ฟากฟ้า ไกลแสน

เลยแดนสรวงสวรรค์

ทุกสิ่งเป็นนิรันดร์

มิมีวัน กลับมาเถิด

นิพพานอยู่ที่ไหน

อยู่ที่จิต มิหวั่นไหว

กับอะไรทุกๆ สิ่ง

สงบและหยุดนิ่ง

ไม่เกิดอิง ต่อโลกปัจจัย

นิพพานอยู่ที่ไหน

ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร

เป็นเพียงเรื่องกล่าวขาน เพื่อน้อมนำ

ให้มีการปฏิบัติธรรม

เพื่อสันติ และ จริยา

นิพพานอยู่ที่ไหน

อยู่ที่ ใจ

อยู่ในสวรรค์

อยู่ที่ ถ้อยจำนรรจ์

จักยืนยันได้อย่างไร

อดิเรก สมิทธิ

 วิสัชนา

นิพพานอยู่ที่ไหน

ใกล้หรือไกลไยกังขา

นอกจักรวาล บนชั้นฟ้า

ฤๅว่าอยู่ที่ตัวเรา

ดับกิเลสสิ้นเมื่อใด

จิตใจหายโง่เขลา

สว่างใน ใจโปร่ง เบา

เมื่อนั้นเข้าถึงนิพพาน

หนทางนั้นมีอยู่

แต่หามีผู้เดินทางไม่

เป้าหมายอยู่โพ้นไกล

หาใช่ผลของหนทาง!

นิพพานนั้นมีอยู่

ตัวตนผู้ถึงไม่มี มีแต่ "ว่าง"

นิพพานคือจุดหมายปลายทาง

แต่ใช่ผลของอัษฎางค์มรรคา!

นิพพานอยู่ที่ไหน

ถามทำไมให้น่าขัน

กี่เล่มสมุดบรรยายบัน-ทึก "ภาวะ" นั้น ก็เปล่าเปลือง

นิพพานอยู่ที่ไหน

ใช่เรื่องใครมาคุยเขื่อง

อวดอ้างคนทั้งเมือง

แท้เป็นเรื่องปัจจัตตัง

นิพพานอยู่ที่ไหน

ผู้รู้รู้ ผู้ไม่รู้ชอบสั่งสอน

คัมภีร์ภาพอนันตัง

อรหันต์ยังยากบรรยาย

ผิว์นิพพานเป็นผลของเหตุ

ยังอยู่ในขอบเขตสังสาร์

ยังเป็นสัมพัทธสัจจา

นิพพานที่ว่าใช่ของจริง

นิพพานอยู่ที่ไหน

นิพพานคืออะไรช่างยุ่งขิง

ผู้รู้แจ้งแทงตลอดจริง

นั่งสงบ นิ่ง ไม่จำนรรจ์

ไต้ ตามทาง



นิพพาน-ปรินิพพาน  

มีจดหมายจากท่านผู้อ่าน ถามข้อข้องใจมาขอให้ผมตอบให้ได้ เพื่อให้หายสงสัย (ตอบไปแล้วยิ่งจะเพิ่มความสงสัยขึ้นก็ไม่รู้) มีดังนี้ครับ

๑.สงสัยคำว่า "นิพพาน" กับ "ปรินิพพาน" จะต่างกันหรือไม่อย่างไร"

๒.เมื่อพระพุทธองค์ตรัสว่า อีกสามเดือนข้างหน้าพระองค์จะปรินิพพาน คำนี้ถ้าแปลว่าตายก็แล้วไป แต่ทำไมไปขัดกับคำว่า "ทำนิพพานให้แจ้ง" สงสัยว่าทำไมต้องทำความตายให้แจ้ง

๓.คำว่า "ทำนิพพานให้แจ้ง" ดิฉันเชื่อว่าพระพุทธองค์คงทำให้แจ้งมาตั้งแต่ตอนประทับอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในพระชนมายุ ๓๕ พรรษาแล้ว ไม่ต้องมารอจนถึง ๘๐พรรษา หรือว่าคำว่า นิพพานนี่หมายถึงหลุดพ้นจากกิเลส ส่วนปรินิพพานนี่ตายทาง ร่างกายใช่ไหมคะ

คำถามข้างต้นมาจากท่านผู้ใช้นามว่า "อดีตครูเกษียณ" กรุณาถามมา ความจริงท่านถามมาหลายข้อ วันนี้ขอตอบเฉพาะเรื่องนิพพานก่อนก็แล้วกัน ก่อนอื่นก็โปรดอย่าลืมว่าคนตอบคือผมก็ยังเป็นปุถุชนอยู่ ยังไม่บรรลุนิพพาน ที่ตอบนี้ก็ตอบตามหลักวิชาการจากพระบาลีในพระไตรปิฎก ถ้ายังไม่เชื่อว่าผมยังมีกิเลส ลองด่าผมดูก็ได้ รับรองได้เห็นกิเลส (โทสะ) มันวิ่งออกจากผมเป็นแถว

คำว่า นิพพาน ที่ใช้ในพระพุทธศาสนา หมายถึง "ความดับกิเลสโดยสิ้นเชิง, ดับกิเลสไม่มีเหลือ" เป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

นิพพาน นั้นแบ่งเป็นสองประเภทในแง่วิชาการ คือ

๑.สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ดับกิเลสแล้วแต่ยังมีขันธ์(อุปาทิ) "เหลืออยู่" หมายถึงการดับกิเลสของพระอรหันต์และพระอรหันต์ยังไม่ตาย สำนวนอรรถกถาเรียกว่านิพพาน ประเภทนี้ไว้ชัดๆ ว่า "กิเลสนิพพาน" (การดับกิเลส)

๒.อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ดับกิเลสแล้วและขันธ์(อุปาทิ) "ก็ไม่เหลืออยู่" หมายถึงการที่พระอรหันต์ตาย อรรถกถาเรียกนิพพานประเภทหลังนี้ว่า "ขันธนิพพาน" (ดังดับขันธ์)

อุปาทิ ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ การแปลพระนิพพานอย่างนี้มีพระบาลีรับรองอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๒๒๒ หน้า ๓๕๘ เป็นพุทธพจน์ ไม่ใช่คำอธิบายของ อรรถกถาจารย์ หรือคนรุ่นหลังดังที่บางท่านชอบพูดกัน

จะเห็นว่า คำว่านิพพาน หมายถึงการดับกิเลสได้โดยสิ้นเชิงก็ได้ หมายถึงการตายหรือดับขันธ์ของพระอรหันต์ก็ได้ (การตายของพระอรหันต์เท่านั้น ปุถุชนไม่เกี่ยวอย่าเอาไปใช้กับการตายทั่วไป)เวลาบรรยายถึงการตายของพระอรหันต์และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านใช้คำอยู่สองคำ ความหมายเหมือนกันคือ นิพพานกับปรินิพพาน (เป็นคำกริยาว่า นิพฺพายิ, ปรินิพฺพายิ เป็นกิริยา กิตก์ หรือ Past Participle ว่า นิพฺพุโต ปรินิพฺพุโต) เปิดดูพระไตรปิฎกสิ เล่ม ๑๐หน้า ๑๘๑ เป็นต้น (มีหลายแห่ง) บรรยายการ "ตาย" ของพระพุทธองค์ว่า "...จตุตฺถา ฌานา วุฏฐหิตฺวา สมนนฺตรา ภควา ปรินิพฺพายิ = พระผู้มีพระภาคทรงออกจากจตุตถฌานแล้วปรินิพพานในระหว่าง ปรินิพฺพุเต ภควติ สห ปรินิพฺพานา มหาภูมิจาโล อโหสิ = เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว แผ่นดินใหญ่ได้หวั่นไหวพร้อมกับการปรินิพพาน"



รำลึกถึงพระพุทธองค์ ในวันวิสาขบูชา  

คําว่า "วิสาข" เป็นชื่อดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่งในจักรราศี หากเมื่อพระจันทร์โคจรผ่านดาวกลุ่มนี้ในวันเพ็ญเดือน ๖ จึงเรียกว่า "วันวิสาข" หรือวันวิสาขปุรณมี แปลว่า วันพระจันทร์เต็มดวงโคจรผ่านกลุ่มดาววิสาข

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่มีความสำคัญอีกวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพราะมีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๓ ประการด้วยกันคือ

๑. เป็นวันประสูติ เมื่อพระนางสิริมหามายา อัครมเหสีในพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงมีพระประสูติกาล คือเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ป่าลุมพินีวัน ซึ่งเป็นดินแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ปัจจุบันเรียกว่าตำบลรุมมินเด แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล ครั้งนั้น ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี

๒. เป็นวันตรัสรู้ หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงถือเพศฆราวาสมา ๒๙  พรรษา จนมีพระโอรสคือพระราหุล แล้วทรงเบื่อหน่ายทางโลก จึงเสด็จออกบรรพชา ทรงประจักษ์หลักธรรมขึ้นในพระปัญญา และได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ปัจจุบันอยู่ที่เมืองคยา แคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา

๓. วันปรินิพพาน หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงใช้เวลาทั้งหมดเผยแผ่พระศาสนา และสั่งสอนแก่ประชาชน จนพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน แขวงเมืองกุสินารา ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี

เนื่องจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกอบด้วยพระคุณธรรม ๓ ประการอย่างสมบูรณ์คือ

๑.พระองค์ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เองนี้จัดเป็นพระปัญญาคุณ
๒.พระองค์ทรงบริสุทธิ์อย่างสิ้นเชิง ทั้งกาย ทั้งใจ วาจา ใจ จัดเป็นพระบริสุทธิคุณ
๓.พระองค์ทรงสั่งสอนประชาชน โดยมิได้ทรงเลือกเพศ ชั้น วรรณะ จัดเป็นพระกรุณาคุณ

ฉะนั้น ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ในปีอธิกมาส จึงเป็นวันรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งชาวพุทธได้ถือเป็นประเพณีสืบต่อมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย หากถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่พบหลักฐานว่าได้ทำกันมาอย่างไร เพิ่งจะปรากฏ "พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา" สมัยรัชกาลที่ ๒ พ.ศ.๒๓๖๐ และให้ข้าราชการหยุด ๑ วันเพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญกุศลประกอบพิธีวิสาขบูชาได้สะดวก นับแต่ทำบุญถวายอาหาร บิณฑบาตในตอนเช้า ปล่อยนก ปล่อยปลา หรือไปทำบุญกุศล ถวายสังฆทานที่วัด รับศีลฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีลอุโบสถ ครั้นถึงเวลาเย็นหรือกลางคืนก็นำดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะมาชุมนุมกันรอบพระอุโบสถ หรือเจดีย์ที่ทางวัดกำหนด จัดพิธีไว้ ไหว้พระสวดมนต์คารวะพระรัตนตรัย แล้วทำประทักษิณ คือประนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนเดินเวียนรอบพุทธสัญลักษณ์พลางเปล่งวาจาสรรเสริญพระรัตนตรัยจนครบ ๓ รอบ จากนั้นก็ฟังพระธรรมเทศนา ส่วนมากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติ...

ข้อความข้างต้นผมคัดมาจากแผ่นปลิว "วันวิสาขบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา" ที่ธนาคารทหารไทย จัดพิมพ์แจกแก่ลูกค้าธนาคาร ในนั้นบอกว่าได้ตัดตอนมาจากหนังสือศิลปวัฒนธรรมไทย เล่ม ๓ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ.๒๕๒๕

ธนาคารทหารไทย ได้พิมพ์แผ่นปลิวเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแจกทุกครั้ง นับเป็นการเผยแผ่ความรู้เกี่ยวกับประเพณีพุทธศาสนาและสะกิดเตือนใจชาวพุทธให้รำลึกถึงพระพุทธคุณ อย่างน้อยปีละสามครั้ง ตามวันสำคัญทั้งสาม ก็ยังดี นับว่าได้ทำหน้าที่อุปถัมภ์พระศาสนาในฐานะชาวบ้านได้อย่างหนึ่ง มิใช่แต่จะเอาเงินชาวบ้านไปหมุนหากำไรถ่ายเดียว จึงขออนุโมทนาชมเชยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

พูดถึงเรื่องนี้ทำให้นึกถึงการสื่อสารแห่งประเทศไทย น่าจะพิมพ์แสตมป์เป็นที่ระลึกในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา ให้สมกับที่บ้านนี้เมืองนี้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติบ้าง นอกเหนือจากเรื่องอื่นๆ ที่พิมพ์ออกอยู่มากมาย ผมได้ทราบว่าได้มีผู้เสนอให้ทางการสื่อสารแห่งประเทศไทย ดำเนินการเรื่องนี้มาเป็นเวลานานแล้ว ได้รับคำตอบสั้นๆ จากท่านว่า การสื่อสารไม่มีนโยบายในเรื่องนี้

ฟังแล้วก็น่าน้อยใจ เรื่องของพระพุทธศาสนาของชาวไทยเกือบทั้งประเทศท่านไม่ยินดีทำให้ แต่เรื่องของศาสนาอื่นที่คนไทยส่วนน้อยนับถือ ท่านกลับเสนอสนองอำนวยความสะดวกให้ขนาดว่าใครจะฟังเสียงสันตะปาปาเพียงแค่หมุนโทรศัพท์เท่านั้นก็ฟังได้ทันที

ไม่ได้อิจฉาเพื่อนคริสต์ศาสนิกดอกครับ แต่สงสัยว่าเป็นเทศนี้เขาเป็นพุทธภาษาอะไรเท่านั้นเองแหละครับ



บทไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน  
"คอลัมน์ใต้ร่มใบบุญให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาดีมาก คุณไต้ ตามทาง เขียนง่ายๆ อ่านสบายดี ไม่สูงเกินไปสำหรับคนที่ความรู้น้อยเช่นผมจะเข้าใจ ผมอยากขอให้คุณไต้ช่วยบอกวิธีไหว้พระก่อนนอนที่ถูกต้องให้ด้วย ที่ผมสวดอยู่ทุกวันนี้ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่"

"คือ ผมสวดอิติปิโส...สวากขาโต...สุปะฏิปันโน...แค่นั้นเอง บางคนบอกว่า ต้องสวดคาถาชินบัญชรด้วย บางคนว่า ต้องแผ่เมตตาด้วย คาถาชินบัญชรกับบทแผ่เมตตา จะหาได้ที่ไหนครับ คุณไต้ช่วยกรุณาด้วยเถอะครับ..."

ข้างต้นนั้น เป็นจดหมายจากท่านผู้ใช้นามว่า "แฟนคอลัมน์ใต้ร่มใบบุญ" เขียนอะไรต่ออะไรมามาก วันนี้มาว่าเรื่องนี้ก็ดีเหมือนกัน ความจริงการไหว้พระสวดมนต์นั้น เป็นกิจวัตรที่ชาวพุทธควรกระทำกัน อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้งก่อนนอน สำหรับพระภิกษุสามเณรนั้นท่านสวดวันละสองเวลา เรียกว่า "ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น" ได้เวลาที่กำหนดก็ไปรวมสวดกันที่โบสถ์หรือหอสวดมนต์ ใช้เวลาเป็นชั่วโมง เพราะสวดพระสูตรต่างๆ ต่อท้ายด้วย

สมัยผมบวชเณรอยู่บ้านนอก จะต้องตื่นขึ้นมาทำวัตรสวดมนต์ตั้งแต่ตีสี่ สวดมนต์เสร็จก็ได้เวลาออกบิณฑบาตโปรดสัตว์พอดี ตอนเย็นประมาณหกโมงเย็นก็มาประชุมสวดอีกครั้งก่อนจะแยกย้ายกันไปท่องหนังสือ

ส่วนชาวบ้านทั่วไป ไม่ต้องสวดมากถึงขนาดนั้น เอาแค่บทสรรเสริญพระรัตนตรัยแล้วตามด้วยบทแผ่เมตตาก็พอ ส่วนใครจะมีอุตสาหะสวดบทอื่นด้วย เช่น คาถาชินบัญชร ชัยมงคลคาถา (คาถาพาหุง) ก็แล้วแต่ศรัทธาและโอกาส ลูกชายผมแกสวด นำโมไต้ซื้อ (คาถานมัสการเจ้าแม่กวนอิม) ด้วย นอกเหนือจากไหว้พระรัตนตรัย และคาถาชินบัญชร

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการไหว้พระสวดมนต์ประจำวัน

จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้วนั่งประนมมือ(นั่งคุกเข่า) สวดว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ) สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ) สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบ)

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่าสามหน)

อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโตโล กะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม สันทิฏ ฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุริสะ ปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

ลดมือลง ถ้ามีเวลาก็นั่งสมาธิสักพัก ประมาณ ๑๐-๒๐ นาที เสร็จแล้ว แผ่เมตตาดังนี้

สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย

จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น เทอญ

นั่งสงบใจ รำลึกถึงพระคุณของบิดา มารดา ครูบาอาจารย์และผู้มีพระคุณ แล้วคุกเข่าประนมมือกราบเบญจางคประดิษฐ์สามหน เป็นเสร็จพิธี

ถ้าจะสวดบทอื่นเพิ่มเติม ก็ให้แทรกหลังจากสวดบท สุปะฏิปันโน...จบแล้ว ส่วนจะสวดอะไรนั้น ก็แล้วแต่อัธยาศัย ดูเหมือนปัจจุบันนี้ คนชอบสวดคาถาชินบัญชรกันมาก คาถานี้ เสฐียรพงษ์ วรรณปก เคยนำลงพร้อมคำแปลในคอลัมน์ "ยุทธจักรดงขมิ้น" แล้ว ดูเหมือนแกรวมพิมพ์เป็นเล่มแล้วด้วย ลองถามแกดูเองผม ไม่เกี่ยว

ถ้าจะถามว่า คำพระคำเจ้าที่ว่ามายืดยาวนั้น มีความหมายว่าอย่างไร ก็ขอตอบสั้นๆ ว่า เป็นคำสรรเสริญคุณความดีของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ใจความย่อว่า "พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง และสอนให้คนอื่นรู้ตาม พระธรรมรักษา ผู้ปฏิบัติมิให้ตกไปในที่ชั่ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และสอนให้ผู้อื่นกระทำตาม"

สวดมนต์ไหว้พระ นึกถึงแต่สิ่งที่ดีงามไว้เถอะครับ "เพียงแค่คิดในเรื่องกุศลก็มีคุณมหาศาลแล้ว มิจำต้องพูดถึงการลงมือทำ พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างนั้น"



ศีลห้า ภาษาฝรั่ง

คุณสันติชัย เขียนมานานแล้ว ขอให้ผมแปลศีลห้ากับอริยสัจสี่ เป็นภาษาฝรั่งให้ด้วย กำลังจะไปเรียนต่อเมืองนอก กลัวฝรั่งถาม จะตอบไม่ได้ว่างั้น ป่านนี้คุณสันติชัยคงไปเมืองนอก (เมืองไหนไม่บอก) แล้ว ตอบไปก็คงไม่ได้อ่านแต่ไม่เป็นไร วันนี้ขอ "ดัดจริต" สอนพุทธศาสนาภาษาฝรั่งบ้างก็แล้วกัน

ศีล ของพระพุทธศาสนามิได้เป็นคำสั่งห้ามมิให้ทำ ในความหมายเดียวกับ commandments ของฝรั่ง แต่ค่อนไปทาง "กฎสำหรับฝึกฝนตัวเอง" (rules of training) ถ้าจะเป็นการห้าม ก็เป็นการ "ตั้งเจตนาห้ามมิให้ตนเองทำ" เพราะฉะนั้นคำแปลที่เหมาะที่สุด น่าจะเป็น The Five Precepts

ศีลห้าข้อมีดังนี้ครับ (ถ้าปรู๊ฟผิดก็โทษคนปรู๊ฟเอาแล้วกัน)

๑.ปาณาติปาตา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ - ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ (แปลให้ฟังง่ายๆ ก็คือ ข้าพเจ้าจะตั้งใจงดเว้นจากการฆ่าสัตว์)

   I undertake the rule of training to refrain from destroying life (killing).

๒.อทินฺนาทานา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ - ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเครื่องงดเว้นจากการลักทรัพย์
   I undertake the rule of training to refrain from taking what is not given (stealing).

๓.กาเมสุ มิจฺฉาจารา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ - ข้าพเจ้าขอสมาทานสิขาบท คือ เจตนาเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม (พูดง่ายๆ คือ การผิดลูกเมียเขา)
   I undertake the rule of training to refrain from sexual misconduct.

๔.มุสาวาทา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ - ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเครื่องงดเว้นจากการพูดเท็จ
   I undertake the rule of training to refrain from false speech.

๕.สุราเมรยมชฺชปมาทฏฐานา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ - ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเครื่องงดเว้นจากสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
   I undertake the rule of training to refrain from distilled and fermented intoxicants causing heedlessness.  

ศีลห้าข้อนี้เริ่มต้นด้วยคำว่า "ข้าพเจ้า ขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเครื่องงดเว้น..." แสดงว่าไม่มีใครมาบังคับให้ถือ ตัวเราเองตั้งเจตนาบังคับตัวเองให้งดเว้นจากความชั่วห้าประการคือ การฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ผิดในกาม, พูดเท็จและการดื่มสุราเมรัย ศีลห้านี้จะรับพร้อมกัน หรือแยกรับทีละข้อๆ ก็ได้

ว่ากันว่าถ้าแยกรักษาทีละข้อ ศีลข้อใดขาด ก็ขาดเฉพาะข้อนั้น ข้ออื่นยังอยู่ถ้าตั้งใจรักษาพร้อมกันทั้งหมด ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง อีกสี่ข้อที่เหลือก็ขาดไปด้วย

The Five Precepts which are the basic category for laymen are prefaced by the declaration, "I undertake the rule of training to refrain from..." The five immoral actions which a lay-Buddhist trains himself to avoid are : killing, stealing, sexual misconduct, false speech and intoxicants. They may be taken as a block of five together in which case if one is broken, all five are soiled; or they may be taken individually when the breaking of one does not mean that all the Precepts are cancelled.

อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐสี่ประการที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้คือ

๑.ทุกข์ ปัญหาของชีวิต ฝรั่งแปลกันมาว่า Suffering แต่คำที่น่าจะตรงมากกว่าคือ Unsatisfactoriness

๒.สมุทัย สาเหตุแห่งปัญหาชีวิต ได้แก่ตัณหา ๓ ชนิด คือ กามตัณหา (อยากได้ อยากมี อยากดี อยากเป็น) ภวตัณหา (ได้แล้ว มีแล้ว เป็นแล้ว ถ้าเป็นที่พอใจก็อยากให้คงอยู่ตลอดไป) วิภวตัณหา (อยากสลัดทิ้งไป อยากหนีจากสภาพที่เป็นอยู่)

๓.นิโรธ การหมดปัญหาชีวิต หรือ ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ได้แก่ นิพพาน

๔.มรรค ทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาชีวิต ได้แก่ อริยมรรคมีองค์แปดคือ เห็นชอบ, ดำริชอบ, เจรจาชอบ, กระทำชอบ, เลี้ยงชีพชอบ, พยายามชอบ, ระลึกชอบ, ตั้งใจมั่นชอบ

The Four Noble Truths are :

1.Suffering (Unsatisfactoriness)

2.the Origin (Cause) of Suffering which is the Threefold Craving (Craving for Sensual Pleasures, Craving for Existence and Craving for Non-existence);

3.the Cessation of Suffering (Nirvana) and

4.the Noble Eightfold Path leading to Cessation of Suffering (Right Understanding, Right Thought, Right Speech, Right Action, Right Livelihood, Right Effort, Right Mindfulness and Right Concentration)



กรวดน้ำกันทำไม  

แฟนคอลัมน์นี้ท่านหนึ่ง (ไม่ให้เอ่ยชื่อ) อยากทราบความมุ่งหมายและวิธีการที่ถูกต้องของการกรวดน้ำ เพื่อปฏิบัติอย่างสะดวกใจต่อไป ตอนนี้ไม่ค่อยสะดวกใจ เพราะภรรยากรวดน้ำไม่เหมือนกับที่ตนเคยรู้และปฏิบัติกันมา ว่าอย่างนั้น

ท่านผู้นี้เล่าว่า ภรรยาของท่าน ได้รับการแนะนำจากหลวงพ่ออายุเกือบร้อยแล้วว่า หลังจากใส่บาตรแล้วให้เอาถังพลาสติกใบเบ้อเร่อใส่น้ำให้เต็ม แล้วอ่านคำสวดอุทิศให้แก่ใครที่ตนต้องการอุทิศให้ยาวเป็นหน้าๆ (เพราะมีกันมากมายก่ายกอง) แล้วก็เอาขันน้ำไปราดกลางสนามหญ้า ราดเสร็จแต่ละขัน ก็เริ่มร่ายคาถาอุทิศยาวเป็นหน้าๆ อีก กว่าจะทำพิธีกรวดน้ำเสร็จก็กินเวลาครึ่งค่อนวัน

ครั้นท่านผู้นี้ไปเรียนถามหลวงพ่อเจ้าตำรับกรวดน้ำที่เปลืองน้ำรูปนี้ว่า เท่าที่ทราบมา การกรวดน้ำคือการตั้งจิตอุทิศบุญกุศล โดยใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์หรือเป็นสื่อเท่านั้น กรวดเสร็จก็เอาน้ำไปเทรดต้นไม้ก็เป็นเสร็จพิธี ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเป็นถังๆ และสวดอุทิศหลายรอบ เปลืองน้ำ เปลืองเวลาอย่างนี้มิใช่หรือ หลวงพ่อท่านว่า โยมไม่รู้อะไร รู้หรือเปล่า พวกผีเปรต สัตว์นรก เขามาคอยรับส่วนกุศลจากผู้ใจบุญอยู่ พวกนี้เขาไม่สามารถขึ้นมาจากใต้ดิน เขาขึ้นมาได้มากที่สุดประมาณ ๑ ศอกก่อนจะถึงผิวดิน โยมใช้น้ำราดเพียงเล็กน้อยน้ำจะซึมหายไปหมด ถ้าใช้น้ำมากๆ น้ำจะซึมลึกลงไปถึงตัวพวกผี พวกเปรต พวกสัตว์นรก เหล่านั้นได้ พวกนั้นจึงจะได้รับส่วนบุญ ท่านว่าอย่างนั้น

ผมไม่ถามละว่าหลวงพ่อวัดไหน ท่านว่าได้วิธีกรวดน้ำที่ว่านี้มาจากคัมภีร์เล่มไหน ขี้เกียจตามไปหาอ่าน อ่านเฉพาะคัมภีร์พระไตรปิฎกของพระพุทธเจ้าก็ยังไม่ค่อยจะจบดีเลย เพราะมีเรื่องมากมายที่จะต้องจดจำนำไปปฏิบัติ

ฟังเรื่องที่เล่านี้แล้ว นึกถึงเมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีนายพันเอก (หรือพันตำรวจเอก ผมก็ลืมไปแล้ว) ท่านหนึ่ง สลบไปฟื้นขึ้นมา ฝันไปว่าคนที่ใส่บาตรไม่ได้ใส่น้ำด้วย ตายไปแล้วจะได้กินแต่ข้าวและอาหารที่ใส่ น้ำไม่ได้กิน เพราะไม่ได้ "ทำเอาไว้" ท่านว่าท่านตายจริงๆ แล้วฟื้นขึ้นมา ประชาชนก็แตกตื่นเป็นการใหญ่ แตกตื่นเฉยๆ ไม่เท่าไรดอกครับ แต่ทำให้พระท่านลำบากไปด้วย

คุณป้าคุณลุง คุณตาคุณยายทั้งหลาย เวลาใส่บาตรก็เอาน้ำใส่ถุงพลาสติกใส่ไปด้วย บางคนเอาน้ำใส่ขวดแล้วใส่ลงในบาตรพระ บางคนชอบกินน้ำอัดลม (ไม่ขอเอ่ยชื่อเพราะไม่ได้ค่าโฆษณา) ก็เอาน้ำอัดลมชนิดนั้นใส่ด้วย หวังจักได้กินชาติหน้า พระท่านก็จำต้องอุ้มบาตรที่เต็มด้วยน้ำกลับวัด บางครั้งน้ำในถังพลาสติกแตก ข้าวในบาตรกลายเป็นข้าวแช่ไปเลยแหละเจ้าประคุณเอ๋ย

เจอหลวงพี่พยอม กัลยาโณ วันหนึ่ง ถามว่าหลวงพี่สบายดีอยู่หรือ ท่านบอกว่า หมู่นี้แย่หน่อย ฉันน้ำมาจนจุก ผมถามว่าน้ำอะไร "ก็เวลาโยมใส่บาตรใส่ข้าวเสร็จก็นิมนต์ให้ฉันน้ำก่อน วันหนึ่งใส่สี่ห้ารายก็พุงกางแล้ว" ท่านเล่าพร้อมหัวเราะหึหึ ผมเรียนท่านว่า ก็ดีนะครับ ตำราจีนเขาว่ากินน้ำตอนเช้ามากๆ รักษาโรคต่างๆ ได้

"ก็น่าจะดีอยู่ดอก แต่มันแย่อีตรงที่ทำให้ปวดฉี่ขณะบิณฑบาตน่ะสิ" หลวงพี่ท่านส่ายศีรษะ คงเอือมระอาในความ "บ้าจี้" ของชาวพุทธยุคนิกส์

หันมาว่าเรื่องกรวดน้ำครับ "กรวด" เป็นคำเขมรแปลว่าริน "กรวดน้ำ" ก็คือ รินน้ำ เวลาชาวพุทธทำบุญทำกุศลแล้ว ตั้งจิตอุทิศบุญกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับ (ญาติพี่น้อง บิดา มารดา เป็นต้น ตลอดถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย) ก็ใช้น้ำเป็นสื่อแทนน้ำใจรินลงในภาชนะสำหรับรองรับ เสร็จแล้วนำน้ำไปเท จะเทที่ไหนก็ได้ แต่โบราณาจารย์ท่านนิยมให้เทที่โคนต้นไม้ก็เพื่อเป็นการรดน้ำต้นไม้ไปด้วยนั่นแหละ

ถ้าเรานิมนต์พระฉันที่บ้าน หลังพระฉันเสร็จ พระท่านจะ "ยถาสัพพี" (นี่พูดภาษาชาววัด) หมายถึง พระท่านจะสวดอนุโมทนา หรืออวยพรเจ้าภาพ เวลาพระหัวแถวท่านสวดรูปเดียวว่า ยถา วาริวหา ปูรา... โยมก็เตรียมรินน้ำที่เตรียมไว้ก่อนแล้ว ลงในภาชนะสำหรับรองรับ พร้อมตั้งจิตอุทิศส่วนกุศลให้ใครๆ ตามที่ต้องการ พอท่านว่าจบลง พระทั้งหมดจะสวดขึ้นพร้อมกันว่า "สัพพีติโย วิวัชชันตุ..." รีบรินน้ำที่เหลือให้หมด แล้วประนมมือรับพร พอท่านให้พรเสร็จ เราก็นำน้ำไปเท เท่านั้นก็เสร็จพิธีกรวดน้ำ ทำกันง่ายๆ ไม่เปลืองน้ำเป็นถังๆ ไม่เปลืองเวลาค่อนวันครึ่งวัน

เวลารินที่เอานิ้วรอน้ำ ก็เพื่อให้น้ำมันค่อยๆ ไหล มิใช่เป็นกฎบังคับต้องทำและไม่จำเป็นต้องล้อมวงกันกรวดน้ำยังกับตั้งวงรัมมี่ รินคนเดียวพอ คนอื่นนั่งประนมมือเฉยๆ เท่าที่เห็นส่วนมาก นั่งล้อมวง บางคนหันก้นให้พระอีกด้วย ล้อมไม่ล้อมเปล่า ต่างก็แหย่นิ้วเข้าไปจิ้มถาดน้ำ คนที่แหย่นิ้วไม่ถึงก็จิ้มสีข้างหรือพุงคนที่อยู่ข้างหน้า ถ้าเกิดมีใครสักคนบ้าจี้คงทำให้วงแตกจนได้สักวัน ไม่ต้องถึงขนาดนั้นดอกครับ จ๋อเตี้ยมๆ ประนมมือฟังพระสวดไปเถอะ ปล่อยให้หัวหน้าหรือใครสักคนรินน้ำคนเดียวพอ

ถ้าถามว่า กรวดน้ำไปให้แล้ว เขาผู้ที่เราอุทิศให้นั้น จะได้รับหรือเปล่า ขออ้างพระพุทธพจน์ว่า ได้รับก็มี ไม่ได้รับก็มี ถ้าผู้ตายไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นเทวดา สัตว์นรก เขาก็มีอาหารการกินในภพนั้นๆ ของเขาแล้ว ไม่ได้รับ แต่ถ้าไปเกิดเป็น "ปรทัตตูปชีวีเปรต" (เปรตประเภทที่ยังชีพด้วยส่วนบุญที่คนอื่นอุทิศให้) เท่านั้น จึงจะได้ส่วนบุญที่ว่านี้ได้ พระพุทธพจน์มีดังนี้ครับ

เป็นอันว่า เราก็ทำ "เผื่อๆ ไว้" เท่านั้นเอง เพราะญาติโยมของเราไม่จำเป็นต้องไปเกิดเป็น "ปรทัตตูปชีวีเปรต" ทุกคนเสียเมื่อไหร่ ใช่ไหมครับ  


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 พฤศจิกายน 2560 14:53:04
(http://planblimited.com/wp-content/uploads/2014/01/buddha-244x300.jpg)
สังเวค-สังเวช

เมื่อพระมหากัสสปะ พระเถระผู้เฒ่าผู้เคร่งครัดธุดงค์ พร้อมภิกษุสงฆ์บริวารจำนวนหนึ่ง เดินมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินารา เพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ทรงพระประชวรหนักอยู่ที่สาลวโนทยาน ของเหล่ามัลลกษัตริย์เมืองกุสินารา เดินสวนทางกับปริพาชกคนหนึ่ง พระมหากัสสปะถามข่าวพระพุทธเจ้า

ปริพาชกนั้นตอบว่า ศาสดาของพวกท่านปรินิพพานได้ ๗ วันล่วงไปแล้ว ได้ยินดังนั้นเหล่าภิกษุที่ยังมิได้บรรลุพระอรหันต์ก็ร้องไห้อาลัยอาวรณ์ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฝ่ายผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็นั่งนิ่ง ปลงธรรมสังเวช

ก่อนหน้านั้นไม่นาน พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า หลังจากพระองค์ล่วงลับไปแล้วมีสถานที่ที่ควรไปชม (ทสฺสนียานิ) ควรแก่การสังเวช (สํเวชนียานิ) ๔ แห่งที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาพึงไปเที่ยวชมเพื่อให้เกิดสังเวช คือ
     ๑.สถานที่ประสูติ
     ๒.สถานที่ตรัสรู้
     ๓.สถานที่แสดงปฐมเทศนา
     ๔.สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน

คำว่า "สังเวช" เป็นคำนามเขียนว่า "สังเวค" เขียนให้เต็มยศว่า "ธรรมสังเวค" หมายถึงปลงใจให้ถูกต้องตามธรรมหรือตามหลักการที่ควรจะเป็น คือเกิดแรงกระตุ้นภายในใจของเรา ให้มองเห็นคติธรรมดาของสังขารทั้งหลายว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีเกิดแล้วมีดับสลาย

ผู้ที่ "ปลง" ได้อย่างนี้มิใช่คนเศร้าโศกสลดตรง กันข้ามกลับเป็นผู้ที่เบิกบาน ปลอดโปร่งอย่างยิ่ง เพราะมีปัญญาคอยบอกว่าอะไรเป็นอะไร และควรทำอะไรในสถานการณ์นั้นๆ พูดอีกนัยหนึ่ง ผู้ที่มีสังเวชหรือผู้ที่ปลงได้จะเป็นผู้ไม่ประมาทต่อชีวิต เพียรพยายามทำสิ่งที่ดีต่อไป มิใช่คนที่มีจิตใจห่อเหี่ยว เศร้าสร้อยปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม

ต่างจาก สังเวช หรือสมเพช ในภาษาไทย ซึ่งหมายถึงความเวทนา สงสาร หรือความสลดหดหู่ท้อแท้สิ้นหวัง ไม่คิดทำอะไร ดังเช่น นักการเมืองน้ำเน่าแต่ละคนล้วนน่าสังเวช (สมเพช) หมายถึงน่าสงสาร (เชิงเหยียดนิดๆ) หรือกูหนอกูบวชมาตั้งนาน มีคนนับหน้าถือตามากมาย ต้องมาติดคุกที่อเมริกาจนได้

น่าสังเวชตัวเองแท้ หมายถึงสงสารตัวเอง สลดหดหู่กับชะตาชีวิตคิดมาแล้วท้อ  



โยนิ – โยนี

เคยอ่านวรรณกรรมของพระองค์วรรณฯ (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) นานแล้ว มีเรื่องหนึ่งตั้งชื่อว่า โยนี แปลว่า ปัญญาได้หรือไม่ อ่านแล้วก็จำไม่ได้ว่ามันแปลว่าปัญญาได้หรือไม่ เพราะนานแล้ว ลืมไปหมดแล้ว

มีคำบาลีคำหนึ่งว่า โยนิโสมนสิการ ซึ่งประกอบขึ้นด้วยคำว่า โยนิโสคำหนึ่งกับมนสิการอีกคำหนึ่ง โบราณาจารย์ (แปลว่าอาจารย์เก่าและอาจารย์แก่ เก่าแล้วไม่แก่ได้หรือขนาดไม่แก่ยังเก่าเลย ใช่ไหมๆ) พากันแปลกันมาว่า "การทำในใจโดยอุบายอันแยบคาย" แปลไทยเป็นไทยอีกทีว่า คิดอย่างรอบคอบ

เฉพาะคำ โยนิโส มาจากคำเดิมว่า โยนิ+โส (โส เป็นเครื่องหมายแห่งตติยาวิภัติ แปลว่า โดย, ด้วย, ตาม) โยนิโสแปลว่า โดยโยนิ หรือโดยโยนี ซึ่งโบราณาจารย์แปลว่า "อุบายอันแยบคาย"  

ความจริง "อุบายอันแยบคาย"มิใช่คำแปล เป็นคำอธิบายหรือการตีความ เพราะโยนิโส แปลตามศัพท์ว่า "โดยโยนิ"หรือ "โดยโยนี"เพราะโบราณาจารย์ตีความโยนิโสว่า โดยอุบายอันแยบคายนี้กระมัง เสด็จในกรมฯ จึงทรงตั้งคำถามว่า โยนี แปลว่า ปัญญาได้หรือไม่

โยนิ กับ โยนี เป็นคำเดียวกัน เดิมใช้ โยนิ แต่ไทยใช้ว่า โยนี ภาษาไทยแปลอย่างเดียวคือแปลว่า อวัยวะเพศหญิง

โยนิ หรือ โยนี ยังแปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า แหล่งกำเนิด, ต้นตอ, การพิจารณาจนถึงแหล่งกำเนิด หรือพิจารณาถึงต้นตอ ก็คือการใช้ความคิดพินิจพิจารณาสืบสาวจนรอบคอบตลอดสาย คนที่ทำเช่นนี้แสดงว่าเป็นคนคิดรอบคอบ คนคิดรอบคอบก็คือคนใช้ปัญญาพิจารณาก่อนทำก่อนพูดก่อนคิด

วิธีคิดด้วยปัญญา หรือวิธีคิดอย่างรอบคอบ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๑๐ ประการ แต่พระอรรถกถาจารย์สรุปไว้เพียง ๔ ประการ คือ  
     ๑.คิดเป็นทาง หรือคิดเป็นระเบียบ (ปถมนสิการ)
     ๒.คิดถูกวิธี (อุปายมนสิการ)
     ๓.คิดมีเหตุผล (การณมนสิการ)
     ๔.คิดเร้ากุศล หรือคิดแล้วเกิดการกระทำที่เป็นกุศล (อุปปาทกมนสิการ)

พิจารณาตามนัยนี้ โยนิ หรือ โยนี แปลว่า ปัญญา ได้แล  



ศาสดา – สาวก

ในช่วงเวลาที่อสัชชีบางคนกำลังเป็นข่าวฉาวโฉ่ไปทั่วโลก ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับติดตามไปทำข่าวเพื่อนำเสนอประชาชนให้ทราบความเคลื่อนไหวต่างๆ ว่ากันว่าสร้างความไม่พอใจแก่สานุศิษย์ของอลัชชีมาก

เฉพาะผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชนและหนังสือพิมพ์ข่าวสด จะถูกลูกสมุนบริวารของอลัชชีจับตามองเป็นพิเศษ บางครั้งถึงกับถูกคุกคาม

ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งบอกว่า เขาเคยทำข่าวปฏิวัติรัฐประหาร ทำข่าวการก่อจลาจลมาแล้ว ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัว แต่เมื่อมาทำข่าวพระ กลับรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยกับชีวิตและทรัพย์สินเลย

ถูก "สาวก" ของพระผู้เป็นข่าวคุกคามตลอด

หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ เวลาพูดถึงศิษย์ของพระภิกษุบางรูป แม้กระทั่งลูกน้องของนักการเมือง มักจะใช้คำว่า "สาวก"

เช่น "สาวกยันดะซ่า ขู่ฆ่าผู้สื่อข่าว"

คำว่าสาวกแปลตามศัพท์ว่า ผู้ฟัง หมายถึงผู้ฟังคำสั่งสอนพระศาสดาและปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นฝรั่งจึงแปลว่า follower

ผู้ฟังคำสอนของคนอื่น เช่น นักเรียนนักศึกษาฟังเล็กเชอร์ของอาจารย์ หรือนายกรัฐมนตรีฟังคำปรึกษาของที่ปรึกษา ที่เป็นอาจารย์ทำวิทยานิพนธ์ด้วย ไม่เรียกว่า "สาวก" หรือ Follower เพราะอาจารย์หรือที่ปรึกษาคนนั้นไม่ใช่ "ศาสดา" ถ้าสถานการณ์บังคับ "ผู้ฟัง" นั้นสามารถปลดอาจารย์จากรัฐมนตรีได้ อย่าได้ซีเรียส

แต่ถ้าเป็นศาสดา สาวกไม่มีสิทธิปลดนะ จะบอกให้

เห็นหรือยังครับ คำว่าสาวกจะนำมาใช้ง่ายๆ ไม่ได้ คนธรรมดาไม่มีสิทธิเรียกศิษย์ตัวเองว่าสาวก และเราก็ไม่ควรไปเรียกศิษย์พระ ก. พระ ข. ใดๆ ว่าสาวก

ยิ่งอลัชชีด้วยแล้ว ไม่มีสิทธิมีแม้กระทั่งศิษย์ จะมีแต่สมุนเท่านั้น

มีผู้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ศาสดามีกี่จำพวก พระองค์ตรัสว่า ศาสดามี ๓ จำพวก คือ

ศาสดาที่ไม่บรรลุคุณธรรมสูงสุด ดีแต่สอนคนอื่น และสาวกไม่ค่อยเชื่อฟัง

ศาสดาไม่บรรลุคุณธรรมสูงสุด สอนคนอื่นเก่ง สาวกเชื่อฟัง

และศาสดาที่บรรลุคุณธรรมสูงสุด สอนคนอื่นเก่ง และสาวกเชื่อฟังอย่างดี


ศาสดาประเภทหลัง น่าสรรเสริญ

คำว่าสาวกควรสงวนใช้กับศาสดาเท่านั้นครับ กรุณาอย่าใช้พร่ำเพรื่อ ที่ถูกอยู่แล้วใช้พร่ำเพรื่อยังน่ารำคาญเลยครับ สิ่งที่ไม่ถูกยังมาพร่ำเพรื่ออยู่ มันจะน่า "ขี้เดียด" ขนาดไหน

คิดดูแล้วกัน



อริยะ อรหันต์

รําคาญมานานแล้ว ที่เห็นคำสองคำนี้ถูกใช้ในฐานะที่ไม่ควรใช้ ถ้าเป็นคนก็เรียกว่าไม่ได้รับเกียรติสมกับตำแหน่งหน้าที่ของเขา ใช้อธิบดีให้ทำหน้าที่เสมียน อะไรทำนองนั้นแหละครับ เมื่อท่านบรรณาธิการบริหารขอ (ความจริงบังคับ) ให้เขียนเรื่องคำศัพท์น่ารู้ลงในมติชนสุดสัปดาห์ จึงขอนำคำสองคำนี้มาพูดถึงก่อนคำอื่น

อริยะ แปลว่า ประเสริฐ อรหันต์ แปลว่า ผู้ควรบูชา คำแรกฝรั่งแปลว่า (หมายถึงที่นิยมใช้กันทั่วไป) The Noble One คำหลังแปลว่า The Worthy One  ยังแปลได้อีกหลายอย่าง เอาเฉพาะความหมายที่นิยมกันก่อน

สองคำนี้มีใช้ก่อนพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงนำสองคำนี้มาใช้ในความหมายใหม่ ซึ่งต่างจากความหมายเดิมโดยสิ้นเชิง พระองค์ทรงแบ่งบุคคลออกเป็น ๒ ระดับใหญ่ๆ คือ

๑.ปุถุชน
หมายถึงคนที่มีกิเลสหนา (ปุถุ แปลว่า หนา) คือคฤหัสถ์หัวดำอย่างเราๆ ท่านๆ นี้แหละ รวมถึงนักบวชผู้ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพานด้วย ปุถุชนนี้แบ่งย่อยออกเป็นกัลญาณปุถุชน (ปุถุชนที่ดีงาม) อีกด้วย อย่างหลังนี้ใช้เรียกปุถุชนที่มีศีลมีธรรมดีกว่าคนทั่วไป เช่น มีศีลห้าสมบูรณ์

๒.อริยะ หรืออริยบุคคล หมายถึงบุคคล ผู้บรรลุธรรมตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึง อรหัตผล อริยบุคคลจึงมี ๔ ระดับ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอานาคามี และพระอรหันต์

บุคคล ๔ ประเภทนี้เท่านั้น มีสิทธิถูกเรียกเป็นอริยะ และอริยะระดับสูงสุดเท่านั้น จึงจะเรียกว่าอรหันต์ (อ่านว่า "อะระหัน" ไม่ใช่ "อรหัน")

ความเป็นอริยะ หรือเป็นอรหันต์ ผู้ใดเป็นผู้ใด ถึงผู้นั้นรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาบอกว่าเป็นหรือไม่เป็น คนที่จะสามารถบอกว่าคนอื่นเป็นหรือไม่ ขั้นใด คนนั้นจะต้องเป็นต้องได้ขั้นนั้นหรือสูงกว่า

ปัจจุบันนี้ คฤหัสถ์หัวดำ ที่ดำผุดดำว่ายอยู่ในทะเลโลกีย์ อุตริแต่งตั้งพระ ก. พระ ข. ซึ่งบางทีความประพฤติก็ไม่ต่างอะไรกับชาวบ้านธรรมดาว่า เป็นพระอริยะนี้ คำถามก็คือ "คุณรู้ได้อย่างไรว่าท่านเป็นพระอริยะหรือพระอรหันต์"

คนที่เป็นจริง เขาไม่บอกดอกครับ คนที่เที่ยวบอกคนอื่นนั้นคือคนที่ไม่ได้เป็น

ดุจนักการเมืองที่อ้างศีลธรรมสามเวลาหลังอาหารนั่นแหละ ร้อยทั้งร้อยขาดแคลนศีลธรรมทั้งนั้น  



คฤหัสถ์ ฆราวาส

สองคำนี้มักใช้สับสนกันเสมอ ความจริงคำมันไม่สับสนดอก คนสับสนเองครับ อ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือหนังสือระดับตำรับตำรา ถ้าอ่านด้วยความคิดจะจับผิด ย่อมเจอผิดจนได้

ฆราวาส เป็นคำนาม แปลว่า การอยู่ครองเรือน ฝรั่งแปลว่า the household life มีหลักธรรมหมวดหนึ่งเรียกว่า ฆราวาสธรรม มักแปลกันว่า ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน แต่ที่จริงต้องแปลว่า ธรรมะสำหรับครองเรือน

คนไทยมักนำคำนี้มาใช้หมายถึงบุคคลผู้ครองเรือน คือใช้แทนคำว่า คฤหัสถ์ ไม่ทราบว่าใครเป็นคนพาใช้ กว่าจะรู้ตัวก็กู่แทบไม่กลับอยู่แล้ว จนกระทั่งผู้ทำพจนานุกรมศัพท์ศาสนาท่านใส่ไว้ว่า "ในภาษาไทย มักใช้ หมายถึงผู้ครองเรือน คือคฤหัสถ์" (พจนานุกรมพุทธศาสนา ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระราชวรมุนี)

ส่วนคำ คฤหัสถ์ บาลีเขียนว่า คหฏโฐ แปลตามศัพท์ว่าบุคคลผู้ตั้งอยู่ในเรือน หรือบุคคลผู้อยู่ในเรือน หมายถึงผู้ครองเรือน บุคคลผู้ครองเรือน คือผู้มีครอบครัว มีบุตรภรรยา อย่างเราๆ ท่านๆ นี้แหละ

ภาษาฝรั่งแปลว่า a householder

คฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกอีกคำหนึ่งว่า กามโภคี แปลว่า "ผู้บริโภคกาม" หมายถึง ผู้ยังเพลิดเพลินอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

สมัยหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ขณะเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ เห็นบรรดาอเจลก (นักบวชไม่นุ่งผ้า) และปริพาชก (นักบวชเร่ร่อนพวกหนึ่ง) เดินผ่านไป ประคองอัญชลีนมัสการด้วยความเคารพ ตรัสดังๆ ว่า "ข้าพเจ้า ปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งโกศลรัฐเจ้าข้า"

เมื่อนักบวชเหล่านั้นคล้อยหลังไป พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "นักบวชเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ พระเจ้าข้า"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า มหาบพิตรทรงทราบได้อย่างไรว่า นักบวชเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ ในเมื่อมหาบพิตรเป็น "กามโภคี"

แปลไทยเป็นไทยก็คือ ยังมีกิเลสเต็มอัตราศึก รู้ได้อย่างไรว่า เขาหมดกิเลส คนจะรู้ว่าคนอื่นหมดกิเลสหรือไม่ ตนเองจะต้องหมดกิเลสก่อน ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
     "จะรู้ว่าใครมีศีลหรือไม่ ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ
      จะรู้ว่าใครมือสะอาดหรือไม่ ต้องดูที่การทำงาน
      จะรู้ว่าใครมีปัญญาหรือไม่ ต้องดูที่การสนทนา
      จะรู้ว่าใครมีกำลังใจเข้มแข็งหรือไม่ ต้องดูเมื่อคราวคับขัน"

พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงยอมรับสารภาพว่า นักบวชเหล่านั้น แท้ที่จริงคือจารบุรุษที่พระองค์ทรง งไปสอดแนมความเคลื่อนไหวตามชายแดน (เป็นยังงั้นไป)

กามโภคีบุคคล มักมีอะไรลับลมคมในอย่างนี้แหละครับ



บันยะบันยัง อัญญะมัญญัง

ไอ้หนุ่มนิวัติ (นามสมมติ) แต่งงานใหม่ๆ กำลังอยู่ในภาวะ "ข้าวใหม่ปลามัน" หายหน้าไปครึ่งเดือน กลับมาท่าทางอิดโรย ตาโบ๋เชียว ผู้เฒ่าณรงค์ (นามสมมติ) พบหน้าวันหนึ่ง จึงร้องทักด้วยความเป็นห่วง

"ไอ้หนูเอ๋ย รู้จักบันยะบันยังเสียบ้างสิวะ"
"อะไรครับลุง" หนุ่มนิวัติทำท่าทางงง แล้วก็ยิ้ม พลางกล่าวเบาๆ ว่า
"อ๋อ ครับๆ" แล้วก็จากไปด้วยท่าทางเหนียมอาย

บันยะบันยัง ในความหมายของผู้เฒ่าณรงค์ หมายถึงความรู้จักพอเหมาะพอดี ไม่ทำอะไรเกินกำลัง รู้จักประมาณ หรือเพลาๆ เสียบ้าง อย่าหักโหม

หักโหมเรื่องอะไร ก็พอจะเดารู้ ไม่จำเป็นต้องนำมาลงอย่างแจ่มแจ้งดุจดังหนังสือพิมพ์ลงภาพดารา

บันยะบันยัง มักใช้ในแง่ลบ ทั้งๆ ที่ในความหมายของคำหมายเอาในแง่ดี เช่น เมื่อเห็นใครทำอะไรเกินขอบเขต เกินประมาณ ผู้ใหญ่หรือผู้หวังดีจะร้องบอกว่าให้รู้จักบันยะบันยังเสียบ้าง หรือเวลาตำหนิใครที่กระทำอย่างนั้นก็จะพูดว่ามันไม่บันยะบันยังเสียบ้างเลย

หลายคนบอกว่า คำนี้มักใช้กับเรื่องพรรค์อย่างนั้น แต่ความจริงจะใช้กับเรื่องอื่นก็ได้

ที่นำคำนี้มาสนทนากันวันนี้ ก็ด้วยมานึกว่ามันเป็นคำที่เพี้ยนไปจากคำเดิม คำเดิม คือ อัญญะมัญญัง (เขียนให้ถูกจริงๆ ว่า อญฺญมญฺญํ) แปลว่า ซึ่งกันและกัน

ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า คฤหัสถ์กับบรรพชิต พึงอาศัยซึ่งกันและกัน

ฝ่ายบรรพชิตหรือพระสงฆ์พึงอนุเคราะห์ชาวบ้าน ๖ สถาน คือ ๑.ห้ามปรามจากความชั่ว ๒.ให้ทำความดี ๓.อนุเคราะห์ด้วยใจดีงาม ๔.ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ๕.ชี้แจงสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และ ๖.บอกทางสวรรค์ให้ (หมายถึงแนะนำวิธีดำเนินชีวิตที่ดีงามให้)

ฝ่ายคฤหัสถ์หรือชาวบ้านพึงอนุเคราะห์พระสงฆ์ ๕ สถาน คือ ๑-๓ พูด ทำ คิด ด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา ๔.ต้อนรับด้วยความเต็มใจ และ ๕.อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔

ทั้งชาววัดและชาวบ้านพึงอาศัยซึ่งกันและกัน อย่างนี้แหละเรียกว่า "อัญญะมัญญัง"

เมื่อต่างฝ่ายต่างอัญญะมัญญัง การพระศาสนาก็เจริญรุ่งเรือง แม่นบ่ครับ



อยัมภะทันตา

นึกว่าจะมีแต่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นที่มี "ผู้หวังดี" มติชนสุดสัปดาห์ก็มี "ผู้หวังดี" กับเขาด้วย

"มีศัพท์-มีแสง" ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ ๘๓๒ วันอังคารที่ ๓๐ กรกฎาคม ผมเขียนว่า "เหล่าภิกษุที่ยังมิได้บรรลุ พระอรหัต ก็ร้องไห้อาลัยอาวรณ์ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"

ท่านก็แก้ให้ผมด้วยความหวังดีว่า "ยังมิได้บรรลุพระอรหันต์..."

พระอรหันต์เป็นคำนาม ยังมิได้บรรลุพระอรหัต หมายถึงมิได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์

ถ้าจะใช้คำพระอรหันต์ จะต้องเขียนว่า ยังมิได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แก้ตัวไว้ก่อนปรู๊พผิดมิใช่เขียนผิด

ท่านผู้อ่านสมัยนี้ล้วนแต่ผู้รอบรู้ ผิดอะไรนิดหน่อย บางท่านก็ "เล่นงาน" หนักๆ พูดจาเชือดเฉือนหัวใจชะมัด

ผมจำต้องตั้ง "การ์ด" ไว้สูงๆ หน่อย ฮิฮิ

คุณพี่บุญเสมอ แดงสังวาลย์ เจ้าของคอลัมน์กรรมกำหนด มักพูดเสมอว่า มันเห็นผล อยัมภะทันตา เลยนะครับ

ว่าแล้วก็เล่าเรื่องคนทำกรรมแล้วได้รับผลสนองให้ฟังบางเรื่องก็สยดสยองจนขนลุก

อยัมภะทันตา ของคุณพี่ก็หมายถึงว่า เห็นผลทันตา เห็นผลในชั่วชีวิตนี้ มีผู้ถามว่าสำนวนนี้ฟังดูเป็นภาษาบาลี มันกลายมาเป็นสำนวนไทยที่ใช้ทั่วไปแม้กระทั่งชาวบ้านได้อย่างไร

ก็ไม่รู้สิครับ แต่มันเป็นมาแล้ว ผมนึกถึงบท "อัญเชิญเทวดา" หรือคาถาชุมนุมเทวดา ที่พระสงฆ์ท่านสวดก่อนที่จะเจริญพระพุทธมนต์ คือก่อนสวดพุทธมนต์ บทสวดอัญเชิญเทวดานั้นแปลว่า

"เทวดาที่อยู่ในกามาวจรสวรรค์ และรูปาวจรสวรรค์ เทวดาที่สถิตอยู่บนยอดเขา ซอกเขา ในที่กลางแจ้ง และในวิมาน เทพที่อยู่ในทวีป ประเทศ หมู่บ้าน และในป่ารกชัฏ ภุมมเทวดาที่อยู่ตามเขตเรือน ไร่นา ยักษ์ คนธรรพ์และนาคที่อยู่ในน้ำ บนบก และพื้นอันขรุขระ เหล่าเทพเป็นต้นเหล่านั้น ผู้เป็นสาธุชน (คนดี) ขอจงมายืนอยู่ใกล้ๆ ฟังพระวจนะ ของพระมุนีผู้ประเสริฐ

ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอย เวลานี้เป็นเวลาฟังธรรมแล้ว

เมื่อพระรูปหนึ่ง (ส่วนมากจะเป็นรูปที่นั่งอยู่ในอันดับที่สามของแถว) สวดคาถาอัญเชิญเทวดานี้จบลง

พระสงฆ์ทั้งปวงก็จะเจริญ (คือสวด) พระพุทธมนต์ไปจนจบ สวดจบแล้วก็จะสวดคาถา "ส่งเทพกลับ"

ตอนท้ายของคาถาอัญเชิญเทวดามีว่า "ธมฺมสฺส กาโล อยมฺภทนฺตา" ทันทีที่จบ "อยมฺภทนฺตา" พระก็จะสวดมนต์กระหึ่มทันที ทันอกทันใจอะไรเช่นนั้น

อาจเป็นเพราะเหตุนี้ก็ได้ เมื่อเห็นใครได้รับ ผลกรรมทันควันเราจึงมักพูดว่า "อยัมภะทันตา"

คือเห็นผลทันตาเลย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 ธันวาคม 2560 13:02:55
(https://www.web-pra.com/upload/auction2/2010/08/105279-1.jpg)

ญาติธรรม

คํานี้มิใช่ศัพท์บัญญัติ แต่มีมานานแล้ว เป็นคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงใช้มาก่อน ในความหมายหนึ่ง แต่ในปัจจุบันมีชาวพุทธ (พุทธหรือเปล่าไม่รู้นะ) นำมาใช้ในอีกความหมายหนึ่ง

ในความหมายอะไร ค่อยว่ากัน อย่าใจร้อน มาฟังความหมายเดิมก่อน

ในพระสูตรนามว่า "ติโรกุฑฑสูตร" พระพุทธเจ้าตรัสคาถา (บทโศลก) ว่า "ทานนี้ท่านทั้งหลายได้ถวายแล้ว ได้ประดิษฐานไว้ดีแล้วในพระสงฆ์ ทานนี้ย่อมอำนวยผลตลอดกาล นามแก่ท่านทั้งหลาย ตามฐานะญาติธรรมนี้ท่านทั้งหลายได้แสดงให้ปรากฏแล้ว และการบูชาผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ทำอย่างโอฬาร และได้เพิ่มกำลังแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว นับว่าท่านทั้งหลายได้ประสบบุญมิใช่น้อยเลย"

"ญาติธรรม" ในที่นี้เป็นคำนาม แปลว่า ธรรมะเพื่อญาติ ธรรมะที่พึงปฏิบัติต่อญาติ

ธรรมะในที่นี้ไม่มีความหมายใดดีเท่า "หน้าที่"

เพราะฉะนั้นญาติธรรมจึงแปลไทยเป็นไทยว่า หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อญาติ

ตามคติทางพระพุทธศาสนา เมื่อญาติล่วงลับไปแล้ว ญาติพี่น้องที่อยู่เบื้องหลังจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ อันเรียกว่า "ทักษิณานุปทาน" (การทำบุญอุทิศผลให้แก่ผู้ล่วงลับ) เชื่อกันว่า ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ถ้าอยู่ในฐานะที่ควรได้รับก็จะได้ผลบุญที่ญาติอุทิศไปให้ ถ้าไม่อยู่ในฐานะที่ควรได้รับก็ไม่ได้รับ

ฐานะที่ว่านี้ก็คือ เขาไปเกิดเป็น "ปรทัตตูปชีวีเปรต" (เปรตที่คอยรับส่วนบุญที่เขาอุทิศให้) ถ้าไปเกิดเป็นอย่างอื่น เช่น มนุษย์ เทพ เดียรฉาน ก็ไม่ได้รับผลบุญนั้น การอุทิศผลบุญไปให้ชาวพุทธจึงทำ "เผื่อ" ไว้เท่านั้น คือ เผื่อว่าญาติของเราไปเป็นเปรตชนิดนั้นเข้าจะได้รับผลบุญ

การที่ญาติผู้มีชีวิตอยู่ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายจึงเรียกว่า ญาติธรรม ปัจจุบันนี้มีผู้นำคำนามนี้ไปใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึงบุคคล เช่น ญาติธรรมชื่อ "นามกาย" บริจาคหนังสือธรรมะให้วัด ๕๐ เล่ม คงต้องการให้แปลว่า "ผู้เป็นญาติในทางธรรม" กระมัง นับว่าเป็นการนำคำศัพท์ไปใช้ผิดจากความหมายเดิม

พูดอย่างนี้เดี๋ยวจะมีผู้รู้เถียงว่า ญาติธรรมตามรูปไวยากรณ์ หมายถึงคนก็ได้ (ดุจ "ฆราวาส" แปลว่าผู้ครองเรือนก็ได้)

แม่นอยู่บักหำ ข้อยบ่เถียงดอก เพียงแต่ติงว่ามันไม่ตรงกับความหมายเดิมเขาเท่านั้นเอง    



เนื่องมาแต่คำ "ฆราวาส"

เปิดคอลัมน์ "มีศัพท์-มีแสง" ในมติชน (ไม่) สุดสัปดาห์มาหลายสัปดาห์แล้ว หวั่นใจว่าจะมีคนอ่านหรือไม่ ก็พอดีได้รับจดหมายสองฉบับ

ฉบับหนึ่งจากผู้ใช้นามว่า จำรูญ ธรรมดา ทักท้วงว่าผมเขียนผิดพลาด และแนะว่าไม่ควรใช้นามปากกาเปรียญเก้าประโยค เพราะเปรียญเก้ามีหลายคน จะเสื่อมเสียถึงเปรียญเก้าคนอื่นด้วย ปานนั้นเชียว

ผมขอนำจดหมายมาลงทั้งหมดโดยไม่ตัดทอน แล้วจะชี้แจงในภายหลัง ดังต่อไปนี้ครับ

"ฆราวาส" กับความหมาย "การครองเรือน หรือผู้ครองเรือน"

เมื่อตอนกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสอ่านมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันอังคารที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๓๙ หน้า ๖๑ คอลัมน์ "มีศัพท์-มีแสง" โดยเปรียญเก้าประโยค เรื่องที่เขียนประจำวันนั้นคือ "คฤหัสถ์, ฆราวาส" ข้าพเจ้าขออนุญาตยกข้อความบางส่วนมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วย ข้อความดังกล่าวนั้นมีอยู่ว่า

..."ฆราวาส" เป็นคำนาม แปลว่า "การอยู่ครองเรือน" ฝรั่งแปลว่า "The household life"  มีหลักธรรมหมวดหนึ่งเรียกว่า ฆราวาสธรรม มักแปลกันว่า ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน แต่ที่จริงต้องแปลว่า ธรรมะสำหรับการครองเรือน คนไทยมักนำคำนี้มาใช้หมายถึงบุคคลผู้ครองเรือน คือใช้แทนคำว่า "คฤหัสถ์" ไม่ทราบว่าใครเป็นคนพาใช้ กว่าจะรู้ตัวก็กู่แทบไม่กลับอยู่แล้ว จนกระทั่งผู้ทำพจนานุกรมศัพท์ศาสนาท่านใส่ไว้ว่า "ในภาษาไทยมักใช้หมายถึงผู้ครองเรือน คือ คฤหัสถ์" (พจนานุกรม พุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระราชวรมุนี)"...

และฉบับประจำวันอังคารที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๙ ภายใต้หัวข้อเรื่องว่า "มหาบาเรียน-มหาเปรียญ" ซึ่งมีข้อความว่า

..."เมื่อ "มหาเปรียญ" เป็นสมณศักดิ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง พระมหาเปรียญที่ลาสิกขาออกไปเป็นคฤหัสถ์ (ไม่ใช่ฆราวาสนะครับ) ไม่มีสิทธิ์เรียกตัวเอง หรือถูกเรียกว่า มหา เด็ดขาด"...

ผู้ใคร่ในการศึกษาหลายท่านได้อ่านข้อความนี้แล้ว เกิดความสับสนและไม่แน่ใจว่าที่คนไทยเรามักใช้คำว่า "ฆราวาส" ในความหมายว่า "บุคคลผู้ครองเรือน" นั้นเป็นการใช้ที่ถูกต้องหรือไม่?

และการที่ท่านเหล่านั้นจะค้นหาคำตอบจากตำรับตำรานั้นก็ดูจะเป็นไปได้ยาก เพราะแค่ตำราดีๆ ที่เกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษาบาลีก็แทบจะหาไม่ได้ในเมืองไทยเรา หรือหาได้แต่ก็หาไม่เป็น คิดแล้วก็อดที่จะทุกข์ใจแทนนักบาลีรุ่นหลาน เหลน โหลน ในอนาคตไม่ได้

จะอย่างไรก็ขอฝากความหวังไว้กับพระภิกษุสามเณร ผู้ที่กำลังศึกษาภาษาบาลีอยู่ในภพปัจจุบันด้วยนะครับ

ข้าพเจ้าในฐานะนักบาลีไทยผู้หนึ่งมีความสลดใจเป็นอย่างยิ่งที่เห็นนักวิชาการบาลีไทยเราชอบอ้างคำแปลฝรั่ง นับถือคำแปลฝรั่งเป็นสรณะ แทนการอ้างอิงพระบาลี อรรถกถา ฎีกา

อันคำว่า "ฆราวาส" คำนี้ เป็นคำสมาส โดยการนำเอาบทนามตั้งแต่ ๒ บทขึ้นไป มารวมเป็นบทเดียว มาจากคำว่า "ฆร" กับ "อาวาส" ส่วนจะเป็นสมาสอะไรนั้นจะไม่ขอกล่าวถึง  

สําหรับคำว่า "ฆร" นี่หนา ก็แปลว่า "บ้าน" "เรือน" "โรง" อะไรทำนองนั้นแหละครับ ถ้าใครได้ศึกษาวิชากฎหมายของพระสงฆ์ (วินัยปิฎก) แล้วก็พอจะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคำว่า "บ้าน หมู่บ้าน นิคม นคร เมืองหลวง" ได้ คือในวินัยท่านได้ให้ความหมายของศัพท์เหล่านี้ไว้ดังนี้

ฆร "บ้าน" หมายถึง บ้าน เรือน เป็นหลังๆ

คาม "หมู่บ้าน" หมายถึง บ้านเรือนหลายๆ หลัง

นิคม "ตำบล", "อำเภอ" หมายถึง แหล่งชุมชนใหญ่ที่มีตลาดค้าขาย แต่ไม่มีกำแพงกั้น

นคร "เมือง, จังหวัด" หมายถึง แหล่งชุมชนที่ใหญ่กว่านิคม ซึ่งมีทั้งตลาดค้าขาย และมีกำแพงกั้น


ราชธานี "พระนครหลวง" หมายถึง เมืองหลวงที่มีพระราชาประทับอยู่ เช่น กรุงเทพฯ

คำว่า "ฆร" นั้นจะหมายถึงอะไร มิใช่ประเด็นหลัก ส่วนคำว่า "อาวาส" นั้น มาจาก อา อุปสรรค+วส ธาตุ+ณ (อ) ปัจจัยซึ่งโดยทั่วไป ใช้ในความหมายว่า

๑) สถานที่เป็นอยู่
       ก) บ้าน, อาคาร, โรง, วัดวาอาราม, บริเวณ, ห้อง
       ข) ภพ, ภูมิ, โลก
       ค) สถานที่อาศัยของนามธรรม
       ฆ) หมู่สัตว์ที่รวมกลุ่มกันอยู่

๒) การอยู่, การอาศัย, การเกิดในภพใหม่, การอยู่ในภพภูมิของสัตว์นั้นๆ

เกี่ยวกับการถอดความหมายของศัพท์นั้นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเรามิใช่เจ้าของภาษา และไม่มีความเชี่ยวชาญเหมือนกับโบราณาจารย์ เช่น ท่านอรรถกถาจารย์ หรือท่านฎีกาจารย์ เพราะฉะนั้น การที่เราจะแปลอะไรสักอย่างให้ดีมีมาตรฐานได้นั้น จึงมิใช่อยู่ที่การอ้างฝรั่งสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะอาจหลงทางได้

ในกรณีของ ฆร กับ อาวาส นี้ก็เหมือนกันดูเผินๆ ฆร ก็แปลว่า บ้าน ส่วน อาวาส ก็แปลว่า บ้านได้เช่นกัน (ในบางแห่งสองศัพท์ใช้ในความหมายเดียวกัน) ในกรณีเช่นนี้ การที่เราจะต้องวิเคราะห์ศัพท์ใดศัพท์หนึ่งได้อย่างถูกต้องนั้น จำเป็นต้องอาศัยพื้นฐานการศึกษาในหลักภาษาเป็นอย่างดี และการที่เราจะได้พื้นฐานที่ดีนั้นจำเป็นต้องอาศัยครูบาอาจารย์ผู้มีความรู้ดี และที่สำคัญเราต้องมี "Ambition" คือ ต้องมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า หรือที่ภาษามคธท่านเรียกว่า อาสา ปัตถนา หรือ ตัณหา อะไรทำนองนั้นแหละ โดยเราจะต้องวางจุดหมายหรือที่เรียกว่า Goal of Education ของเราให้แน่นอนว่า เราจะเรียนภาษาบาลี เพื่ออะไร

อนึ่ง ข้าพเจ้าขอแสดงหลักการวิเคราะห์ศัพท์ด้วยเหตุผล ๓ ประการ

เหตุผลที่ ๑ ขอให้เรามาพิจารณากันในแง่ของ อาคมยุตติ (เหตุผลด้วยการอ้างที่มาที่ไป) ก่อน ดังนี้

"ฆราวาส" นี้ใช้ในความหมาย ๒ นัย คือ

นัยที่ ๑ หมายถึง การอยู่ครองเรือน, การเป็นอยู่ในสังคม ซึ่งตรงกับภาษาฝรั่งว่า "Household life" มีปรากฏใน ทีฆนิกาย, มัชฌิมนิกาย, สังยุตตนิกาย และอังคุตตรนิกาย เป็นต้น

ผู้ใคร่ศึกษาพึงค้นดูได้จากบทพระบาลีว่า "สมฺพาโธ ฆราวาโส" "ชีวิตการครองเรือนนั้น ช่างคับแคบ"

นัยที่ ๒ หมายถึง บุคคลผู้อยู่ครองเรือน มาจากพระวินัยปิฎก เล่ม ๑ ตอนท้ายของเวรัญชภัณฑ์ ในประโยคที่ว่า "หหุกิจฺจา ฆราวาสา พหุกรณียา" ผู้ครองเรือนทั้งหลายมีกิจการที่ต้องทำมาก..."

แม้ในคำแปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ ที่แปล "ฆราวาส" ว่า "Householder" "ผู้ครองเรือน" ก็มี เช่น ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค สุภสูตร


ดังนั้น จะเห็นว่า ตามหลักเหตุผลทางอาคมยุตติแล้ว คำว่า "ฆราวาส" สามารถใช้ได้ทั้ง ๒ ความหมาย

เหตุผลที่ ๒ มาพิจารณากันในแง่ของ สัททยุตติ คือ เหตุผลทางไวยากรณ์

เหตุผลนี้ก็คล้ายๆ กับ อาคมยุตติ ด้วยว่ากฎไวยากรณ์ภาษาบาลีนั้น จะต้องมีมติอนุวัตรไปตามพุทธพจน์เป็นส่วนมาก

ดังนั้น คำว่า "ฆราวาส" นี้ก็เช่นเดียวกับคำทั่วไปคือ จะต้องไม่ขัดแย้งกับพุทธพจน์โดยประกอบรูปศัพท์มาจาก ฆร บทหน้า+อา อุปสรรค+วฺส ธาตุ+ณ ปัจจัย หรือ อ ปัจจัยก็อันว่า ณ ปัจจัยนี้ ย่อมลงได้ทั้งใน ภาวสาธนะ (ภาววาจก ที่แปลว่า การ...หรือความ...) และในกัตตุสาธนะ (กัตตุวาจกที่แปลกันว่า ผู้...) โดยมีกฎไวยากรณ์กล่าวไว้อย่างชัดเจนในตำรา (เพียงแต่เราไม่ยอมศึกษากันเท่านั้น จึงทำให้เป็นช้างไพรไร้ดวงตา เที่ยวเดินสะเปะสะปะไป ในป่าบาลีพระไตรปิฎก เป็นที่น่าละอายใจยิ่งนัก)

ซึ่งถ้าจะตั้งรูปวิเคราะห์ ก็สามารถตั้งได้ว่า ฆรํ อาวสตีติ ฆราวาโส "ผู้ใดอาศัยอยู่ในเรือน ผู้นั้นเรียกว่า ฆราวาส" ยิ่งถ้าเอาไปเทียบกับข้อความธัมมปทัฏฐกถา, อานันทเสฏฐิวัตถุที่ว่า "ปณฺฑิโต ฆรมาวเส" "บัณฑิตพึงอยู่ครองเรือน" ด้วยแล้วก็ยังมองเห็นได้ชัดว่า ฆราวาสเป็นกัตตุวาจกได้หรือไม่

เหตุผลที่ ๓ มาพิจารณาในแง่ของ "สภาวยุตติ" คือเหตุผลที่ควรเป็นไปได้ สำหรับเหตุผลนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีที่สุด เพราะเป็นเหตุผลที่ต้องอาศัยหลักความจริงเข้ามาตัดสิน

ก็เมื่อคำว่า ฆราวาส แปลว่า "การครองเรือน" ได้ แล้วไฉนจึงแปล "ผู้ครองเรือน" ไม่ได้และให้สังเกตด้วยว่า คำว่า ฆราวาส นี้ มิใช่เป็นการแสดงมุ่งถึงปรมัตถ์ แต่เป็นการมุ่งไปที่โวหารบัญญัติ ดังนั้น แม้คำที่เป็นปรมัตถ์ล้วนๆ เช่น "จิต" ยังสามารถแปลว่า "ผู้คิด" ได้ (จิต-แปลได้ ๓ นัย คือ ความคิด, ผู้คิด, ธรรมสำหรับใช้คิด) แล้วไฉนคำว่า ฆราวาส จึงมิบังอาจที่จะแปลว่า "ผู้ครองเรือน" ได้เล่า ขอให้นึกเทียบดูกับคำว่า "ฆรวาสี" ด้วยว่าเหมือนกัน หรือต่างกัน

สรุปแล้ว ไม่ว่าจะโดยเหตุผลประการใด คำว่า "ฆราวาส" นี้ ย่อมมีสิทธิใช้ได้ใน ๒ ความหมาย คือ การครองเรือน และบุคคลผู้ครองเรือน

ดังนั้น การที่โบราณาจารย์ของไทยเราใช้คำว่า ฆราวาส ในความหมายว่า "บุคคลผู้ครองเรือน" นั้น จึงไม่ผิดโดยประการทั้งปวง

และขอตั้งเป็นข้อสังเกตว่า พวกเราทั้งหลายอย่าได้ลบล้างความถูกต้องของโบราณาจารย์ให้เป็นความผิด โดยเอาคำแปลฝรั่งมาอ้างเลย เพราะจะเป็นการกล่าวตู่ท่านเปล่าๆ และหากเราจะอ้างฝรั่งสักทีก็ขอให้ค้นคว้ามากกว่านี้หน่อย เพราะมิฉะนั้นแล้ว วิญญาณของ I.B Horner (ผู้ที่แปล ฆราวาส ว่า Householder[ "ผู้ครองเรือน") อาจจะมาท้วงการกล่าวตู่ก็ได้นะครับ

สุดท้ายมีผู้ฝากมา คือมีเปรียญเก้าหลายท่านไม่เห็นด้วยในการที่ผู้เขียนคอลัมน์มีศัพท์-มีแสง ใช้นามปากกาว่า เปรียญเก้าประโยค เพราะว่าศัพท์นี้เป็นสาธารณนาม ในกรณีที่บทความเกิดผิดพลาดขึ้นมา ผลกระทบอาจเกิดขึ้นแก่เปรียญเก้าท่านอื่นๆ นะครับ สวัสดี




ตอบเนื่องมาแต่คำ "ฆราวาส"
ขอขอบคุณ คุณจำรูญ ธรรมดา ที่เสียสละเวลาอันมีค่ามาตรวจสอบข้อเขียนของผม เมื่อพบว่ามีที่เห็นว่าผิดพลาดก็กรุณาท้วงติงมา ยกเหตุผลมายืดยาวพร้อมวิเคราะห์ศัพท์ ฆราวาโส ตลอดถึงบอกธาตุ วิภัติ ปัจจัย มาเสร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่า "งึด" สำหรับคนนอกวัดว่าช่างลึกซึ้งอะไรปานนั้น แต่สำหรับชาววัดด้วยกันแล้วเป็นของธรรมดา รู้ๆ กันอยู่

ข้อเขียนของผมสรุปประเด็นสั้นๆ ว่า คำว่า ฆราวาส ใช้เป็นคำนาม หมายถึง "การครองเรือน" ถ้าเป็นผู้ครองเรือน จะใช้คำว่า คฤหัสถ์ (บาลี-คหฏฐ, สันสกฤต-คฺฤหสฺถ) แต่มักมีผู้นำมาใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึงผู้ครองเรือน จนกระทั่งพจนานุกรม (เช่น พจนานุกรมฉบับของพระธรรมปิฎก) บอกว่า ฆราวาส การอยู่ครองเรือน, ชีวิตชาวบ้าน ในภาษาไทยมักใช้หมายถึงผู้ครองเรือนคือคฤหัสถ์

นี้คือสาระของข้อเขียนเรื่องนี้ แต่คุณจำรูญ ธรรมดา ท้วงว่า ฆราวาส แปลว่า ผู้ครองเรือนก็ได้ แล้วก็เลยเถิดไปถึงว่า เห็นอ้างฝรั่ง ไหนจะอ้างก็อ้างให้หมดเพราะฝรั่งผู้แปลพระไตรปิฎก เช่น I.B. Horner ยังแปลคำ ฆราวาส ว่า householder การที่ผมเขียนอย่างนี้ไม่กลัววิญญาณของ I.B. Horner ช้ำใจหรืออย่างไร แล้วยังหยอดท้ายว่า ไม่ควรใช้นามปากกาว่า เปรียญเก้าประโยค เพราะเปรียญเก้าประโยคมีหลายคน ถ้าข้อเขียนของผมผิด (เช่นเรื่องนี้) จะทำให้เปรียญเก้าประโยคคนอื่นเสียหายด้วย

คราวนี้ผมขอเรียนชี้แจงอย่างนี้ครับ

๑. คำว่า ฆราวาส ความหมายที่ใช้จริงๆ ในพระไตรปิฎกเป็นคำนาม หมายถึง การครองเรือน เท่านั้น พระพุทธเจ้ามักทรงใช้คู่กับคำว่า บรรพชา (บาลี-ปพฺพชฺชา) ลองเปิดพจนานุกรมดูสิครับ (เดี๋ยวนี้เขามี CD Rom กดเดี๋ยวเดียวก็ได้ list ออกมายาวเหยียด) เช่น

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ ข้อ ๑๐๒,๓๑๘ เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๓๓๓,๓๔๓ เล่มที่ ๑๓ ข้อ ๑๑, ๖๓๗,๗๑๑,๗๑๓,๗๓๘ เล่มที่๑๔ ข้อ ๑๖, ๑๗๒, ๓๙๖ เล่มที่ ๑๖ ข้อ ๒๕๓ เล่มที่ ๑๙ ข้อ ๑๑๔๗ ๑๔๑๕ เล่มที่ ๒๑ ข้อ ๑๙๘ เล่มที่ ๒๔ ข้อ ๙๙ และเล่มที่ ๓๖ ข้อ ๖๕๑

มีข้อความทำนองเดียวกันคือ สมฺพาโธ ฆราวาโส รชาปโถ อพฺโภกาโส ปพฺพชฺชา = การครองเรือนคับแค้นเป็นทางแห่งธุลี (ความมัวหมอง) การบรรพชาสว่างโล่ง

ไม่มีที่ไหนในพระไตรปิฎกที่คำว่าฆราวาส ใช้ในความหมายว่า "ผู้ครองเรือน" แม้บางแห่งความน่าจะชวนให้แปลทำนองนั้น แต่จริงๆ ท่านให้แปลว่า "การครองเรือน" ข้อความที่ว่านี้คืออะไร สัปดาห์หน้าค่อยว่าต่อครับ    

ประโยคที่คุณจำรูญ ธรรมดา ยกมาก็คือ พหุกิจฺจา ฆราวาสา พหุกรณียา แล้วแปลว่า ผู้ครองเรือนทั้งหลายมีกิจมาก มีเรื่องพึงทำมาก ถ้าดูเผินๆ น่าจะแปลอย่างนั้น แต่ในที่นี้ท่านต้องการให้แปลว่า "การครองเรือนทั้งหลาย" รู้ได้อย่างไรว่าต้องการให้แปลอย่างนั้น ข้อความทำนองนี้อีกแห่งที่คุณจำรูญว่า นางสาวไอ.บี. ฮอนเนอร์ แปลว่า householder  นั่นแหละ มันฟ้องว่าต้องแปลว่าการครองเรือน

ในหลักฐานที่อ้างถึง (มัชฌิมนิกาย สุภสูตร) มีข้อความว่า ฆราวาสกมฺมฏฐานํ...ปพฺพชฺชากมฺมฏฐานํ ในที่นี้ท่านใช้ ฆราวาส คู่กับ ปพฺพชฺชา เมื่อ ปพฺพชฺชา แปลว่า "การบวช" (คงไม่มีใครแปลว่าผู้บวช) ฆราวาส ก็ต้องแปลว่า "การครองเรือน" ถ้าจะแปลว่าผู้ครองเรือน (เพราะคำ ฆราวาสจะตะแบงแปลก็แปลได้ไม่ผิดไวยากรณ์) คำหลังต้องเป็น ปพฺพชิตกมฺมฏฐานํ สิครับ แล้วทำไมท่านไม่ใช้อย่างนั้นเล่า

สรุปประเด็นนี้ก็คือ คำว่า ฆราวาส พระไตรปิฎกใช้หมายถึงการครองเรือนเท่านั้น (ไม่มีหลักฐานที่ไหนใช้แปลว่าผู้ครองเรือน) แต่ต่อมามีการนำเอามาใช้หมายถึงผู้ครองเรือน คู่กับบรรพชิต ดังมักพูดกันว่า ฝ่ายบรรพชิต ฝ่ายฆราวาส หรือบรรพชิตและฆราวาส

นั่นเป็นการ "งอก" ของภาษาในภายหลัง พระธรรมปิฎกท่านบอกว่า งอกในภาษาไทยเท่านั้น ใครจะใช้ก็เชิญ ผมไม่ว่า แต่ไม่เอาด้วยเพราะถือว่าผิดความหมายเดิมของเขา

มิใช่หมายความว่า ฆราวาส แปลว่า ผู้ครองเรือนไม่ได้ แปลได้ถ้าจะ "ตะแบง" แปล ดุจคำบาลีว่า สุนขาภริยา มม=ภรรยาของข้าพเจ้าที่เล็บงาม ใครจะแปลว่า หมาเป็นภรรยาของข้าพเจ้า ก็เชิญสิ เพราะ "สุนขา" แปลว่ามีเล็บงามก็ได้ หมาก็ได้

๒. บาลีเดิมนั้นเมื่อพูดถึงผู้ครองเรือนท่านใช้คำว่า คิหิ กับ คหฏฐ และคู่กับ ปพฺพชิต เสมอ เช่น คิหิ-ปพฺพชิต คหฏฐ-ปพฺพชิต (มีเพียง ๔ ครั้งเท่านั้นที่ใช้ คหฏฐ คู่กับ อนาคาร) ยกตัวอย่างเช่น

๑) คิหิ-ปพฺพชิต นี้ใช้ในเล่มที่ ๑, ๒, ๑๓, ๑๙, ๒๐, ๒๒, ๒๔, ๒๗, ๒๙, ๓๐, ๓๑, ๓๕ เฉพาะเล่มที่ ๑๑ มีใช้ถึง ๙ ครั้ง

๒) คหฏฐ-ปพฺพชิต มีใช้ในเล่มที่ ๑, ๑๒, ๒๒, ๒๕, ๒๗, ๒๙, ๓๐, ๓๒ เฉพาะเล่มที่ ๓๐ มีใช้ถึง ๑๐ ครั้ง

สรุปตรงนี้ก็คือ คำว่า "ผู้ครองเรือน" บาลีใช้ คิหิ หรือ คหฏฐ คู่กับคำว่า ปพฺพชิต (ผู้บวช) ในหลักฐานชั้นต้นคือพระไตรปิฎก ไม่มีที่ไหนอนุญาตให้ใช้คำ ฆราวาส ว่าหมายถึงผู้ครองเรือน

ไม่มีการใช้คำ ฆราวาส คู่กับ ปพฺพชิต มีแต่ ฆราวาส คู่กับ ปพฺพชฺชา

๓. ประเด็นที่สาม เมื่อตรวจดูพจนานุกรม ไม่ว่าฉบับไหน คำว่าฆราวาส ไม่มีที่ใช้ในความหมายว่า ผู้ครองเรือน ยกเว้นพจนานุกรมไทย ขอยกตัวอย่างเช่น

๑. Pali-English Dictionry by T.W.Rhys Davids and William Stede, ๑๙๗๒ แปลว่า the household life (as contrasted with the of a mendicant)

๒. Concise Pali-English Dictionary by Buddhadatta Mahathera, ๑๙๗๕ แปลว่า the household life

๓. ปทานุกรมไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พ.ศ.๒๕๑๒ (ฉบับเดิมที่ดำเนินตาม Dictionary of the Pali Language ของ Robert Caesar Chiders) แปลว่า living in a house or at home, life in the world,the householder's life. As opposed to the life an ascetic.

ยกมากี่เล่มก็ไม่มีเล่มไหนแปล ฆราวาส ว่าผู้ครองเรือน แม้พจนานุกรมพุทธศาสนาฉบับประมวลธรรม ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก พ.ศ.๒๕๓๐ ท่านจะให้ความหมายว่า ฆราวาสหมายถึงผู้ครองเรือนได้ แต่ท่านก็บอกไว้ว่าใช้ในความหมายของ คนไทย ดังนี้

Gharavasa ๑.Household life ๒.(T.) a householder; layman; the liaty

ถ้าถามว่า ฆราวาส แปลว่าผู้ครองเรือน ได้ไหม ผิดไวยากรณ์ไหม ตอบว่าแปลได้ ไม่ผิด จะ "ตะแบง" แปลก็แปลได้ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น จะนำมาใช้ในความหมายใหม่ว่าหมายถึงผู้ครองเรือนดังในภาษาไทยก็ใช้ไป แต่ควรตระหนักว่าของเดิมของเขามิได้ใช้อย่างนั้น

๔. ประเด็นสุดท้าย เกี่ยวกับนามปากกา ความจริงผมใส่อัญประกาศด้วยว่า "เปรียญเก้าประโยค" แต่เวลาพิมพ์เขาใส่บ้าง เอาออกบ้าง อย่างไรก็ตาม คำนี้ (ในกรณีนี้) เป็นอาสาธารณนามครับ มิได้หมายถึงเปรียญเก้าประโยคอื่น หมายถึง เปรียญเก้าประโยคคนที่เขียนคอลัมน์นี้เท่านั้น

อย่าวิตกเลยครับว่า ถ้าผมเขียนผิดแล้วจะเสื่อมเสียถึงเปรียญเก้าประโยคคนอื่น คนอ่านเขารู้จักแยกแยะ

ทีเปรียญเก้าประโยคบางคน นั่งชำระอรรถกาฎีกาผิดบ้างถูกบ้าง ผมไม่เห็นโวยว่าอาจทำให้เสื่อมเสียถึงผมเลยครับ
 




(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 ธันวาคม 2560 15:19:35
(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/c/c7/Guimet_5887_Avalokiteshvara.jpg/180px-Guimet_5887_Avalokiteshvara.jpg)

ความคิดเห็นเรื่องศัพท์ฆราวาส

หลังจากผมนำเรื่อง คฤหัสถ์-ฆราวาส ลงในมติชนสุดสัปดาห์ กล่าวว่า คำว่าฆราวาส แปลว่า "ผู้ครองเรือน" ผิด ที่ถูกควรแปลว่า "การครองเรือน" เพราะในพระไตรปิฎก ไม่มีที่ไหนอนุญาตให้แปล ฆราวาสว่าผู้ครองเรือน ก็มีผู้ท้วงติง (ด้วยถ้อยคำยังกับโกรธผมมาเป็นพันปี) ว่า ไม่รู้หรือว่า ฆราวาส แปลว่าผู้ครองเรือนได้ ทำไมโง่ปานนั้น (ตรงนี้ท่านไม่ได้ว่า) ผมแปลเองจาก "บริบท" แห่งข้อเขียนของท่านเพราะท่านลงท้ายจดหมายด้วยความเป็นห่วงว่าไม่ควรใช้นาม "เปรียญเก้าประโยค" เพราะเปรียญเก้าประโยคมีหลายคน เดี๋ยวจะเสื่อมเสียถึงเปรียญเก้าประโยคอื่นที่เขารู้ดีด้วย

ผมก็ได้เรียนยืนยัน (นั่งยัน) ว่า ฆราวาส ความหมายเดิมในพระไตรปิฎกนั้นท่านให้แปลเป็นคำนามอันหมายถึง "การครองเรือน" อย่างเดียวแน่นอน แล้วผมก็นำหลักฐานจากพระไตรปิฎกมาแสดงด้วย ไม่มีที่ไหนสักแห่งที่ใช้ฆราวาสในความหมาย "ผู้ครองเรือน" (แม้ว่าในบางแห่งอาจพาให้แปลอย่างนั้นได้) ดังที่ได้นำมาลงให้ทราบกันแล้ว

ผมก็ได้บอกไว้ด้วยว่า ถ้าจะแปลว่า "ผู้ครองเรือน" ก็แปลได้ เพราะรูปไวยากรณ์อนุญาตให้แปลได้ แต่ในพระไตรปิฎกท่านไม่อนุญาตให้แปล เรื่องก็มีดังว่ามานี้

บัดนี้ผมได้รับลิขิตจากพระเดชพระคุณพระคันธสาราภิวงศ์ แห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง ท่านได้เขียนแสดงทรรศนะอย่าง "ถ่อมตน" เป็นอย่างยิ่ง ถ้อยคำสำนวนเต็มไปด้วยไมตรีจิต เรียกตัวเองว่า "นักศึกษาไวยากรณ์คนหนึ่ง" น่ารักจริงๆ ครับ ผมขออนุญาตนำลิขิตของท่านมาลงให้ท่าน และขออนุญาตเสริมความตอนท้ายสักเล็กน้อย ข้อความมีดังนี้ครับ

อาตมภาพอ่านบทความที่โยมวิจารณ์คำแปลบทว่า ฆราวาสา ในปาฐะว่า พหุกิจฺจา ฆราวาสา พหุกรณียา มีความเห็นว่าเป็นข้อวิจารณ์ที่แปลกมาก ขอชมเชยความคิดเห็นที่เป็นอิสระและพร้อมที่จะแก้ไขสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้อง อาตมภาพในฐานะนักศึกษาภาษาบาลีผู้หนึ่งประสงค์จะแสดงความคิดเห็นส่วนตัวบ้าง หวังว่าคงจะได้รับการพิจารณาจากนักวิชาการบาลีในเรื่องนี้

ภาษาบาลีเป็นภาษาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้รับการยกย่องว่าเป็นตันติภาษาที่มีแบบแผนเฉพาะตัว จึงมีความลึกซึ้งยิ่งนัก แม้พระอัคควังสาจารย์ผู้รจนาสัททนีติปกรณ์ ซึ่งเป็นไวยากรณ์บาลีที่กว้างขวางที่สุด ก็พูดออกตัวว่าท่านยังไม่บรรลุถึงฝั่งแห่งภาษาบาลี และกล่าวว่า "พระขีณาสพผู้บรรลุนิรุตติปฎิสัมภิทาญาณเท่านั้น จึงจะนับว่าบรรลุถึงฝั่งแห่งภาษานี้ (สัททนีติ ปทมาลา หน้า ๒๕๗, สุตตมาลา หน้า ๓๒๐, ธาตุมาลา หน้า ๕๑๘)

ในปาฐะว่า "สมฺพาโธ ฆราวาโส รโชปโถ, อพฺโภกาโส ปพฺพชฺชา (ที.สี.๙/๑๒๒/๘๒) "การครองเรือนดุจที่คับแคบ เป็นทางมาแห่งกิเลสธุลี การออกบวชดุจที่โล่ง" บทว่า ฆราวาโส ที่โยมแปลว่า การครองเรือน จัดว่าถูกต้อง

เพราะ ฆราวาส ศัพท์ในที่นี้ระบุถึงกิริยาอาการครองเรือนด้วยเหตุผลเหล่านี้คือ

๑.มีข้อความเหมาะสมกับฐานะ เพราะกิริยาการคับแคบไม่เกี่ยวกับบุคคล แต่เกี่ยวกับอาการ ถ้าแปลว่า ผู้ครองเรือนดุจที่แคบ จะไม่มีความหมายใดๆ จึงต้องแปลว่า การครองเรือนดุจที่คับแคบ

๒.ปริบท (บทข้างเคียง) เพราะในประโยคต่อมามีบทว่า ปพฺพชฺชา ที่ระบุถึงกิริยาอาการออกบวช จึงทำให้อนุมานรู้ว่าบทนี้ระบุถึงกิริยาการครองเรือนของคฤหัสถ์ไม่ใช่ระบุถึงบุคคลหรือคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน

๓.การใช้พจน์ เพราะประกอบใช้เป็นรูปเอกพจน์ว่า ฆราวาโส จึงหมายถึงอาการครองเรือนไม่ใช่ผู้ครองเรือน เนื่องด้วยศัพท์ที่ระบุถึงกิริยาอาการ ซึ่งเป็นภาวตัทธิตหรือภาวสาธนศัพท์ก็ตาม มักใช้เป็นรูปเอกพจน์ ทั้งนี้เพราะนักไวยากรณ์ทั้งหลาย (เช่น สัททัตถเภทจินตา คาถาที่ ๒๙๑, นิรุตติทีปนี หน้า ๓๔๙) มีมติตรงกันว่า ศัพท์ที่แสดงกิริยาอาการจัดว่าเป็นสามัญญชาติ (มีสภาพเหมือนกัน) คือแม้จะมีบุคคลที่อาศัยของกิริยาแตกต่างกัน แต่ก็จัดว่ามีสภาพเหมือนกัน เช่น ปริวิตฺกโก ความดำริ (วิ. มหาวิ. ๑/๗/๑๒), กรณ์ การกระทำ (วิ. มหาวิ.๑/๖๒๑/๔๒๓) ในตัวอย่างเหล่านี้ อาการดำริ อาการกระทำ แม้จะดำรงอยู่ในบุคคลหลายคนที่แตกต่างกัน แต่ก็มีสภาพเหมือนกัน คือสภาพที่ดำริและกระทำ จึงไม่มีรูปพหูพจน์ว่า ปรวิตฺกกา หรือ กรณานิ ที่แสดงกิริยาอาการในพระไตรปิฎกเลย ฉะนั้น ในพระไตรปิฎกจึงมีปรากฏเพียงรูปเอกพจน์ว่า สมฺพาโธ ฆราวาโส ไม่มีปรากฏรูปพหูพจน์ว่า สมฺพาธา ฆราวาสา

๔.ในมหานิ. อฎ. หน้า ๒๔๘ แสดงว่า "สพฺพํ ฆราวาสปลิโพธนฺติ สกลํ คิหิภาวชฎํ", "ปาฐะว่า สพฺพํ ฆราวาสปลิโพธํ มีความว่า ความวุ่นวายในความเป็นคฤหัสถ์ทั้งหมด" ในที่นี้ คิหิภาว ศัพท์ไข ฆราวาส ศัพท์ว่า เป็นศัพท์ที่ระบุถึงอาการ เพราะภาวศัพท์หรือภาวตัทธิตปัจจัยระบุถึงกิริยาอาการเหมือนภาวสธนศัพท์ ฆราวาสศัพท์ในปาฐะว่า ฆราวาสปลิโพธ จึงแปลว่า การครองเรือน ถ้าท่านมุ่งจะไขให้แปลว่า ผู้ครองเรือน ก็ต้องไขว่าคหฎฐชฎํ หรือ คิหิชฎํ แต่ท่านไม่ไขเช่นนั้น

ด้วยเหตุดังกล่าว บทนี้จึงมาจากรูปวิเคราะห์ภาวสาธนะว่า "อาวสนํ อาวาโส" (อา+วสุ+ณ) และวิเคราะห์เป็นตัปปุริสมาสว่า "ฆเร อาวาโส ฆราวาโส" ฉะนั้น ใน Pali-English Dictionary by T.W. Rhys Davids and William Stede. 1989, p.257 จึงแปลว่า Household Life

แม้ในพระไตรปิฎกแปลฉบับพม่า (ทีฆนิกายแปล หน้า ๖๖) และฉบับอังกฤษ (GIALOGUES OR THE BUDDHA, PERT 1, p.78) ก็แปลไว้เป็นนัยเดียวกันนี้

ปาฐะว่า "พหุกิจฺจา ฆราวาสา พหุกรณียา" ที่โยมแปลว่า "การครองเรือนทั้งหลาย มีกิจมาก มีเรื่องพึงทำมาก" ก็ถือว่าไม่ผิดกฎไวยากรณ์ แต่ตามความเห็นของอาตมภาพควรแปลว่า "ผู้ครองเรือนทั้งหลาย มีกิจมาก มีเรื่องพึงทำมาก" เพราะฆราวาส ศัพท์ในปาฐะนี้หมายถึงบุคคลคือผู้ครองเรือน ด้วยเหตุเหล่านี้คือ

๑.มีข้อความเหมาะสมกับฐานะ เพราะผู้ครองเรือนเป็นผู้ที่มีกิจธุระมาก

๒.ปริบท คือ พหุกิจฺจา พหุกรณียา ปรากฏใช้ในฐานะที่ระบุถึงบุคคลเท่านั้นเหมือนไปปาฐะว่า "พหุกิจฺจา มยํ พหุกรณียา" (วิ. มหาวิ. ๒/๒๕๓๗/๓๕๔ ปาฐะนี้มี ๑๘ แห่งในพระไตรปิฎก) "ข้าพระองค์ทั้งหลายมีกิจมาก มีเรื่องพึงทำมาก" ในที่นี้บทว่า มยํ ระบุถึงบุคคล มิใช่ระบุถึงอาการ ถ้าผู้กล่าวต้องการจะระบุถึงอาการที่การครองเรือน มีกิจธุระมาก ก็ควรจะใช้ว่า "พหุกิจฺโจ อมฺหากํ ฆราวาโส พหุกรณีโย" แต่ประโยคเช่นนี้ไม่มีปรากฎในพระไตรปิฎก

๓.การใช้พจน์ เพราะประกอบใช้เป็นรูปพหูพจน์ว่า "พหุกิจฺจา ฆราวาโส" ไม่ใช่เป็นรูปเอกพจน์ "พหุกิจฺโจ ฆราวาโสพหฺกรณีโย" เหมือนรูปว่า "สมฺพาโธ ฆราวาโส" จึงเป็นการระบุคำแปลว่า ผู้ครองเรือนทั้งหลาย ไม่ใช่แปลว่าการครองเรือนทั้งหลาย เนื่องด้วยศัพท์ที่ระบุถึงบุคคลจะใช้เป็นพหูพจน์ได้ ในเมื่อต้องการจะแสดงจำนวนมาก ส่วนศัพท์ที่ระบุถึงกิริยาอาการมักใช้เป็นเอกพจน์ตามกฎไวยากรณ์ที่แสดงมาแล้ว

๔.ในอรรถกถาชาดก ๑๐/๒๒๖ แสดงว่า "วัตฺตสมฺปนฺโนติ ฆราวาสวตฺเตน วา ราชวตฺเตน วา สมนฺนาคโต" "ปาฐะว่า วตฺตสมฺปนฺโน ได้แก่ ผู้เพียบพร้อมด้วยวัตรของผู้ครองเรือนหรือวัตรของพระราชา" ปริบทคือ ราชวตฺเตน แสดงว่า ฆราวาส ศัพท์ ระบุถึงผู้ครองเรือน เพราะท่านใช้ ฆราวาส คู่กับราช เมื่อ ราช ศัพท์แปลว่า พระราชา ไม่ใช่แปลว่า ความเป็นพระราชา ฆราวาส ศัพท์ก็ต้องแปลว่า ผู้ครองเรือน ถ้าจะแปลว่าการครองเรือน ศัพท์หลังต้องใช้เป็น ราชตฺตวตฺเตน แต่ท่านไม่ใช้เช่นนั้น

๕.มีบทสมาสที่แปลได้สองอย่าง ฆราวาส ศัพท์จึงแปลได้สองอย่างคือ แปลว่าการครองเรือน โดยวิเคราะห์เป็นอัสสัตถิตัทธิตต่อ อีกว่า "ฆราวาโส เยสํ อตฺถีติ ฆราวาสา"

อีกนัยหนึ่ง วิเคราะห์เป็นพหุพพิหิสมาสเพียงครั้งเดียวว่า "ฆเร อาวาโส เยสนฺติ ฆราวาสา"
 

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 เมษายน 2561 15:34:24
(http://www.dhammajak.net/board/files/buddhaface_271.jpg)
ขอขอบคุณทีมาภาพ : ลานธรรมจักรดอทเน็ต

ปริตร-ตาณ-ตำนาณ-ตำนาน (๑)

คําข้างต้นนี้แปลอย่างเดียวกัน ใช้เป็นไวพจน์กันได้ แต่ต่อมาภายหลังคำหลัง (ตำนาน) มีความหมายเพี้ยนไป จนไม่สามารถโยงถึงกันได้ เพี้ยนอย่างไร ตามผมมาจะเล่าให้ฟัง

ปริตร (บาลี ปริตฺต) แปลว่าป้องกัน ตาณ ก็แปลว่าป้องกัน ตาณ แผลงเป็น ตำนาณ (เขียน ณ เณร สะกดนะครับ) แปลว่าป้องกันเช่นเดียวกัน

ต่อมานานเข้าตำนาณเขียนเพี้ยนเป็นตำนาน ความหมายเลยเปลี่ยนไป คือแปลว่า เรื่องราวหรือเรื่องเล่าอันสืบมาแต่ปางหลัง

พอได้ยินสวดมนต์ "เจ็ดตำนาน" "สิบสองตำนาน" ก็เลยพากันแปลว่า เรื่องราวของบทสวดมนต์นั้นๆ เรื่องมันอย่างนี้แหละท่านสารวัตร

แนวความคิดที่นำพระสูตรหรือพุทธวจนะบางสูตร บางบท มาสวดเพื่อป้องกันภัยไม่ทราบเกิดขึ้นแต่เมื่อใด ถ้าเชื่อว่าที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกเป็นจริงทั้งหมด ก็ต้องเชื่อว่าแนวคิดนี้มีมาแต่สมัยพุทธกาล ดังเช่น ยักษ์บอก "รักขา" (มนต์ป้องกันภัย) อันชื่อว่า อาฏานาฏิยาแก่พระพุทธเจ้า ให้ช่วยบอกให้พระสวดประจำ หาไม่พวกยักษ์อันธพาลที่ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยจะทำอันตรายแก่พระสงฆ์ที่นั่งบำเพ็ญสมาธิในป่าในถ้ำ

พระพุทธองค์ก็ทรงรับมนต์นั้นมา สั่งให้พระสวดประจำ

หรือเมื่อคราวเกิดโรคห่าลงที่เมืองไพศาลี พระพุทธองค์ก็รับสั่งให้พระอานนท์สวดรัตนปริตร พร้อมเอาบาตรบรรจุน้ำมนต์ไปพรมพื้นที่เพื่อขับไล่โรคร้าย เรื่องอย่างนี้ถึงมีในพระไตรปิฎกก็อยู่ในส่วนที่น่าจะเพิ่มมาภายหลัง อ้างเหตุการณ์ว่าเกิดขึ้นสมัยพุทธกาล คือโยงใยย้อนหลังจนถึงยุคพุทธกาลจนได้

ท่านพุทธทาสภิกขุท่านว่าเรื่องที่ "งอก" ออกมาทำนองจะขัดแย้งต่อหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างนี้ ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเพิ่มเติมมาภายหลัง ดังเช่นเรื่องราหูไล่อมพระจันทร์และพระอาทิตย์ (จันทิมสูตร สุริยสูตร) เป็นต้น

ก็ฝากไว้ให้คิด ไม่จำเป็นต้องด่าผู้ตั้งข้อสังเกตและไม่จำเป็นต้องหลับหูหลับตาเชื่อดายไปตามที่พูด

ส่วนตัวของผมคิดว่าแนวคิดเรื่องการนำเอาพุทธพจน์หรือพระสูตรบางสูตรมาสวดเพื่อป้องกันภัย เกิดขึ้นหลังพุทธกาล แต่คงไม่หลังมาก ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒ ที่ ๓ ก่อนที่พระไตรปิฎกจะได้รับการรวบรวมครบสมบูรณ์ ที่พูดเช่นนี้มีเบาะแสบางอย่าง เช่น

๑.ในขุททกนิกาย (คัมภีร์เล่มล่าสุดของพระสุตตันตปิฎก) มีส่วนหนึ่งเรียกว่า "ขุททกปาฐะ" เป็นประมวลบทสวดมนต์เล็กน้อยหรือสั้นๆ ที่ใช้สำหรับสวดในงานต่างๆ อายุของพระธรรมวินัยที่รวมเป็นพระไตรปิฎกคงราวๆ หลังพุทธศตวรรษที่ ๒ และไม่หลังพุทธศตวรรษที่ ๓ เข้าใจว่าการสวดพระปริตรหรือตาณ (หรือตำนาน) เริ่มที่ประเทศศรีลังกา แล้วก็แพร่มาที่ประเทศไทยและประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่นๆ

๒.มีหนังสือสวดมนต์สองฉบับเรียกว่า เจ็ดตำนาน และสิบสองตำนาน เข้าใจว่ารวบรวมที่ประเทศศรีลังกา มาถึงเมืองไทยแล้ว มีบางบทที่แต่งขึ้นใช้สวดแทนของเก่า ดังเช่น มโนการอัฏฐกคาถา (นโมแปด) พระวชิรญาณภิกษุ (พระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔) ทรงแต่งขึ้นใช้สวดแทนบท "สัมพุทธ" ของเก่า

เจ็ดตำนาน แปลว่าบทสวดป้องกันภัยเจ็ดบท สิบสองตำนาน แปลว่าบทสวดป้องกันภัยสิบสองบท มีอะไรบ้างค่อยว่ากันภายหลัง



ปริตร-ตาณ-ตำนาณ-ตำนาน (๒)

พูดถึงเจ็ดตำนาน หรือมนต์ป้องกันภัย ๗ บท บทแรกชื่อ มงคลสูตร พระสูตรว่าด้วยสิ่งที่เป็นมงคล ๓๘ ประการ

มีเรื่องราวเล่ากันว่า สมัยนั้นเกิดมีคำถามว่า อะไรเป็นมงคล ก็มีผู้เสนอคำตอบกันไปต่างๆ พวกที่ถือสิ่งจำเริญตาเป็นมงคล ก็บอกว่ารูปที่สวย งาม นั่นแหละเป็นมงคล พวกที่ถือสิ่งจำเริญหูเป็นสำคัญก็บอกว่า เสียงเป็นมงคล เป็นต้น

ถกเถียงกันเป็นเวลา ๑๒ ปี จนหมู่เทพก็นำเอาเรื่องนี้ไปถกเถียงกันด้วย วันหนึ่งท้าวสักกเทวราชได้มีบัญชาให้เทวบุตรองค์หนึ่งเข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้า ว่าอะไรเป็นมงคล

พระพุทธเจ้าตรัสว่า มงคล (สิ่งที่เป็นเหตุให้ประสบความเจริญในชีวิต) ตามที่พูดๆ กันนั้นเป็นมงคลของ "นักคิด" คือคิดเอาว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มงคลจริงๆ ต้องเกิดจากการกระทำ อันเรียกว่ามงคลของ "นักทำ"

มงคลมีอยู่ ๓๘ ประการ คือ การไม่คบคนพาล, การคบบัณฑิต, การยกย่องคนควรยกย่อง, การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม, ความมีความดีเป็นทุนเดิม, การตั้งตนไว้ชอบ, ความเป็นคนคงแก่เรียน, ความมีศิลปวิทยา, ความมีวินัย, วาจาสุภาษิต, การเลี้ยงดูบิดามารดา, การสงเคราะห์บุตร, การสงเคราะห์ภรรยา, การทำงานไม่คั่งค้าง, การให้ทาน, การประพฤติธรรม, การสงเคราะห์ญาติ, การทำงานที่สุจริต, การงดเว้นจากความชั่ว, การไม่ดื่มน้ำเมา, ความไม่ประมาทในธรรม, ความเคารพ, การเจียมตัว, ความสันโดษ, ความกตัญญู, การฟังธรรมตามกาลอันเหมาะสม, ความอดทน, ความว่าง่าย, การได้เห็นสมณะ, การสนทนาธรรมตามกาลอันเหมาะสม, ความเพียร, การประพฤติพรหมจรรย์, การเห็นอริยสัจ, การทำพระนิพพานให้แจ้ง, จิตไม่หวั่นไหวเพราะโลกธรรม, จิตไม่เศร้าโศก, จิตปราศจากกิเลส, จิตเกษมปลอดภัย

เหตุให้ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้ง ๓๘ ประการนี้ เป็นเรื่องต้องทำเอาเอง จึงจะประสบความเจริญ เพียงนึกคิดเอาไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า มงคลในทรรศนะของพระพุทธเจ้าจะต้องเป็นมงคลที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติ ศาสนาของพระองค์จึงเรียกว่า กรรมวาทะ (สอนให้ลงมือทำเอง) และวิริยวาทะ (สอนให้ทำด้วยความขยันหมั่นเพียร)

ในตำนานนี้ ยกให้เทวบุตรเป็นตัวแทนมาทูลถามพระพุทธเจ้า จะตีความเป็นเทวดาจริงๆ หรือสมมติเทพองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ มิใช่ประเด็นหลัก ประเด็นหลักอยู่ที่ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ประทานไว้นี้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า ถ้าปฏิบัติตามนั้นจริง ได้รับความเจริญในชีวิตแน่นอน

ใครไม่เชื่อก็อย่าพูดเฉยๆ ว่าไม่เชื่อ เชิญลงมือพิสูจน์ได้  



ปริตร-ตาณ-ตำนาณ-ตำนาน (๓)

เรื่องราวของปริตร หรือตาณ (ตำนาณ-ตำนาน) ที่สองคือ รัตนสูตร มีเรื่องเล่าว่า

เมื่อครั้งเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีเกิดโรคระบาด (โรคห่า หรืออหิวาตกโรค) ผู้คนล้มตายจำนวนมาก กษัตริย์ลิจฉวีนิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชาวเมืองไพศาลี

พระพุทธองค์เสด็จไปพร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก มีพุทธบัญชาให้พระอานนท์ พุทธอนุชาสวดรัตนสูตรเพื่อปัดเป่าโรคร้ายและอำนวยสวัสดีมงคลแก่ชาวลิจฉวี พระอานนท์ เดินสวดรัตนสูตร พร้อมประพรมน้ำมนต์รอบเมืองไพศาลี (คงเหนื่อยน่าดู)

ว่ากันว่าภูตผีร้ายได้ปลาสนาการไปหมดสิ้นชาวเมืองก็มีกำลังใจ เริ่มหายป่วยกันมากขึ้น ดูเหมือนก่อนหน้าพระอานนท์จะเดินสวดพระปริตรและประพรมน้ำมนต์นั้น

ฝนได้ตกลงมาห่าใหญ่ ชะล้างพื้นที่ให้สะอาดด้วย

พระพุทธเจ้าประทับท่ามกลางพุทธบริษัทอันประกอบด้วยกษัตริย์ลิจฉวีและชาวเมือง และภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ทรงสวดรัตนปริตรอีกครั้งหนึ่ง

อ้อ ในที่ประชุมนั้นมีเหล่าเทวาทั้งหลายอันมีท้าวสักกเทวราชเป็นประมุขมาชุมนุมฟังพระปริตรด้วย

พระพุทธโฆษาจารย์ผู้แต่งอรรถกถาทีฆนิกาย (ท่านแต่งหนังสืออธิบายพระไตรปิฎกเกือบทุกปิฎก) กล่าวว่า พระพุทธองค์ทรงสวดเฉพาะ ๕ คาถาแรก ส่วนคาถาที่เหลือพระอานนท์สวดก่อนแล้ว

รัตนปริตร หรือรัตนสูตร นี้มี ๑๗ คาถา

เนื้อหาเป็นการกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ เช่น ทรัพย์เครื่องปลื้มใจชนิดหนึ่ง ไม่ว่าในโลกไหน หรือรัตนะอันประณีตสวยงาม ไม่ว่าในสวรรค์ชั้นใด จะเปรียบปานพุทธรัตนะนั้นหามีไม่

ท้ายแต่ละคาถามีถ้อยคำขอความ สวัสดีจงมีแก่สัตว์ทั้งหลายที่มาประชุมกัน นมัสการพระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์

เรื่องราวจะเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลจริงหรือท่านแต่งในภายหลังเพื่อโยงให้ถึง สมัยพุทธกาลไม่อาจทราบได้ เพราะไม่มีกล่าวถึงพระอานนท์เดินสวดพระปริตร และประพรมน้ำพุทธมนต์ มีแต่เนื้อหา พระสูตร "ฝอยประกอบ" นั้นพระอรรถกถาจารย์แต่งเติม

เมื่อครั้งลังกาทวีปเกิดภัยจากกาฬโรคครั้งใหญ่ในรัชสมัยของพระเจ้าอุปติสสะที่สอง (พ.ศ.เท่าไร ไม่มีเวลาตรวจสอบ ที่รู้ก็เพราะ ดร.มาลา เสเกร่า ปราชญ์ลังกาท่านบอก) พระเจ้าแผ่นดินนิมนต์พระสงฆ์เดินสวดปริตรนี้รอบเมือง

ว่ากันว่าโรคภัยได้หายไปในที่สุด จึงถือเป็นธรรมเนียมสวดพระปริตรนี้กำจัดภัยพิบัติของบ้านเมืองในเวลาต่อมา  



ปริตร-ตาณ-ตำนาณ-ตำนาน (๔)

คราวนี้มาถึงตำนาน (บทสวดเพื่อป้องกันภัย) บทที่ ๓ คือ กรณียเมตตปริตรพระไตรปิฎกเรียกว่า กรณียเมตตสูตร หรือเมตตสูตร เป็นเรื่องราวของการสวดแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์

เรื่องมีว่า สมัยหนึ่งจวนเข้าพรรษา ภิกษุจำนวนหนึ่งกราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อไปอยู่จำพรรษาในป่า ถึงป่าแห่งหนึ่งก็ตกลงใจกันจะอยู่จำพรรษาที่นั่น

เหล่ารุกขเทวดาคิดว่าพระคุณเจ้าคงพักชั่วคราว ไม่กี่วันก็จะไป จึงได้พากันลงมาอยู่บนพื้นดินเพื่อถวายความเคารพแก่พระสงฆ์

แต่เมื่อรู้ว่าพระคุณเจ้าจะอยู่ที่ป่านี้ตลอดพรรษา จึงปรึกษากันว่า พวกเราเห็นจะต้อง "ไล่" พระท่านไป ไม่เช่นนั้นจะลำบากมาก ที่ต้องมาอยู่บนพื้นดินอย่างนี้

จึงพร้อมใจกันหลอกหลอนภิกษุที่ไปนั่งกรรมฐานอยู่ใต้ต้นไม้ ในถ้ำบ้าง จนท่านอยู่ไม่เป็นสุข พระก็กลัวผี ว่าอย่างนั้นเถอะ

จึงตกลงกันกลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ (สมัยนั้นไม่มีรายการ "ชมรมขนหัวลุก" ไม่เช่นนั้นคงนำมาออกทีวี ให้ขนพองสยองเกล้า) พระพุทธองค์ตรัสว่า "พวกเธอมิได้เอาอาวุธติดตัวไปด้วย จึงถูกผีหลอกหลอน"

เมื่อกราบทูลถามว่า อาวุธชนิดไหน พระองค์ก็ตรัสว่า อาวุธคือเมตตา ว่าแล้วก็ทรงสวดกรณียเมตตสูตรให้พวกเธอฟัง มีพุทธบัญชาให้กลับไปยังป่านั้นอีก และให้สวดสังวัธยาย (ก็แปลว่า "สวด" นั่นแหละ") พระสูตร ทันทีที่เดินเข้าป่าช้าและให้สวดประจำทุกวัน

ภิกษุเหล่านั้นก็ทำตามพุทธโอวาท บรรดาผีสางคางแดงทั้งหลายได้ยินบทสวดก็มีจิตอ่อนโยน รักใคร่ในพระสงฆ์จึงไม่หลอกหลอนพวกเธออีกต่อไป ภิกษุเหล่านั้นอยู่จำพรรษาในป่าอย่างผาสุก

เรื่องราวก็มีเช่นนี้แหละ ท่านสารวัตร

ถ้าถามว่าทำไมผีจึงไม่เกลียดภิกษุเหล่านั้นหลังฟังสวดกรณียเมตตสูตร  คำตอบง่ายๆ ก็คือ เพราะเนื้อหาของบทสวดเป็นการแผ่ความรักความปรารถนาดีแก่เหล่าเทวดาในป่า และแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็เมื่อรู้ว่าท่านมาดี ไม่เป็นพิษเป็นภัย เหล่าเทวดาจึงไม่ทำอันตราย กลับมีไมตรีจิตตอบ และถวายอารักขาพวกท่านให้อยู่จำพรรษาอย่างผาสุก

โบราณาจารย์สอนกันว่า ก่อนนอนให้แผ่เมตตาแล้วจะไม่ฝันร้าย ภูตผีเทวดาจะพิทักษ์ ใครกลัวผีไม่ต้องกลัวอีกต่อไป ไปพักค้างคืนที่ไหนก็แผ่เมตตาแล้วจะหลับสบาย

ไม่เชื่อก็ลองดูครับ ไม่ลองไม่รู้  



ปริตร-ตาณ-ตำนาณ-ตำนาน (๕)

ตํานานต่อไปคือ ขันธปริตร เรียกอีกอย่างหนึ่ง อหิสูตร หรือ อหิราชปริตร (บทสวดป้องกันพญางู) ที่ตั้งชื่อว่า "ขันธปริตร" แปลให้เข้าความได้ยาก อาจหมายถึงมนต์ป้องกัน "ขันธ์" ขันธ์ในที่นี้ต้องแปลว่า ตัว หรือ กายตัว ขันธปริตร จึงหมายถึง "ป้องกันตัว" ป้องกันตัวจากอะไร อยากรู้คำตอบก็ต้องอ่านเรื่องราวที่มา

ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดตาย นัยว่าภิกษุรูปนี้กำลังฝ่าฟืนใกล้ประตูเรือนไฟ ในบริเวณพระเชตวันวิหาร งูเลื้อยออกมาจากระหว่างต้นไม้ผุ กัดภิกษุนั้นที่นิ้วเท้า พิษแล่นเข้าสู่หัวใจสิ้นชีวิตทันที ภิกษุทั้งหลายพูดถึงภิกษุถูกงูพิษกัดตายกันแพร่หลาย ความรู้ไปถึงพระพุทธองค์ พระองค์ตรัสว่า ถ้าภิกษุแผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางูทั้ง ๔ งู จะไม่กัดภิกษุตายเป็นแน่

ทรงเล่าเรื่องอดีตให้ฟังว่า เมื่อครั้งพระองค์เสวยชาติเป็นดาบส เป็นหัวหน้าฤๅษีทั้งหลาย ตั้งอาศรมอยู่คุ้งน้ำใกล้ป่าหิมพานต์ ก็ได้สอนให้ศิษย์แผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางูเหมือนกัน ในครั้งนั้น เหล่าทีฆชาติทั้งหลายก็พากันหลีกหนีหมดไม่มีใครถูกสัตว์เลื้อยคลานกัดเลย

ที่ทรงนำอดีตชาติมาเล่านี้ก็คงต้องการให้พระภิกษุทั้งหลายมั่นใจว่า การแผ่เมตตาจิตไปยังพญางูทั้ง ๔ ตระกูลนั้นได้ผลจริง ดังเคยใช้ได้ผลชะงัดมาแล้วในอดีต

ตระกูลพญางูทั้ง ๔ คือ ตระกูลพญางูวิรูปักข์ ตระกูลพญางูเอราปัถ ตระกูลพญางูฉัพยาบุตร และตระกูลพญางูกัณหาโคตมกะ

เฉพาะพญางูวิรูปักข์นั้น เรามักได้พบว่าเป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาล เป็นผู้ครองทิศตะวันตก เป็นหัวหน้าบรรดานาคทั้งหลายคงจะเป็นตน (หรือตัว) เดียวกัน

อรรถกถากล่าวว่า สัตว์มีพิษทั้งหมด อยู่ใต้อำนาจพญางู ๔ ตระกูลนี้ เมื่อแผ่เมตตาจิตไปยังหัวหน้าใหญ่ทั้ง ๔ แล้ว ลูกน้องตัวเล็กตัวน้อยย่อมจะไม่ทำอันตรายใดๆ แก่ผู้สวดแผ่เมตตา ว่าอย่างนั้น

พระธุดงค์ท่านหนึ่งเล่าว่า ขณะทำความสะอาดผนังถ้ำที่อยู่ งูเห่าตัวมหึมาแผ่แม่เบี้ยกำลังจะฉกท่าน ท่านนึกถึง ขันธปริตร ขึ้นมาจึงยืนสงบสวดมนต์ ปรากฏว่าสักพักเดียวงูเห่านั้นก็เลื้อยหนีไป ท่านว่านี้ก็เพราะอานุภาพพระปริตรเป็นแน่แท้

อาจเป็นเช่นนั้นก็ได้ หรืออาจเป็นด้วยว่างูมันมองไม่เห็น เมื่อท่านยืนนิ่งไม่ไหวติงงูมันเลยเลื่อนหนี ผู้รู้เขาสอนว่า เจองูแล้วอย่าวิ่งให้ยืนนิ่งๆ แล้วมันจะหนีเอง

พูดอย่างนี้เหมือนไม่เชื่อในความขลังของพระปริตร หามิได้ เพียงแต่บอกว่า มีเหตุผลอื่นที่ทำให้พระธุดงค์รอดชีวิต นอกเหนือจากพระปริตรที่ท่านสวด



ปริตร-ตาณ-ตำนาณ-ตำนาน (๖)
คราวนี้มาถึงตำนาน (มนต์ป้องกันภัย) ลำดับที่ ๕ เรียกว่า โมรปริตร (มนต์ป้องกันภัยของนกยูง)

นกยูงตัวนี้มิได้อยู่ที่ "เรือนมยุรา" เหมือนในละครทีวี เป็นนกยูงโพธิสัตว์แถมยังมีสีทองงามอร่ามอีกต่างหาก ทุกเช้าก่อนจะออกไปหากิน ก็กล่าวนมัสการพระอาทิตย์กำลังอุทัย และกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลาย เสร็จแล้วก็ออกไปหากิน ตอนเย็นก่อนกลับรังก็กล่าวนมัสการพระอาทิตย์กำลังตกดิน และนมัสการพระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลายให้ปกปักรักษาให้ปลอดภัย ว่ากันว่าเพราะ "ปริตร" ที่นกยูงสวดเช้าเย็นทุกวัน นกยูงโพธิสัตว์จึงปลอดภัย

มเหสีพระเจ้ากรุงพาราณสี อยากได้นกยูงทองตัวนั้น อ้างว่าอยากจะฟังธรรมจากนกยูงทอง พระเจ้ากรุงพาราณสีให้นายพรานไปดักจับเป็นเวลานานก็จับไม่ได้ จนนายพรานตายในป่า พระมเหสีไม่ได้นกยูงก็ตรอมพระทัยสวรรคต พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงผูกพยาบาทนกยูงทอง จึงรับสั่งให้จารึกลงในแผ่นทองว่า "ในป่าหิมพานต์มียูงทองตัวหนึ่ง ใครได้กินเนื้อแล้วจะเป็น "อมตะ" ด้วยเหตุนี้นกยูงทองจึงถูกล่าครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็รอดมาได้อย่างอัศจรรย์ เพราะพระปริตรป้องกันภัย

ตกมาถึงรัชกาลของพระเจ้ากรุงพาราณสีองค์ที่เกิดเรื่องนี้ ยูงทองถูกนายพรานจับได้ นายพรานแกรู้ว่ายูงทองรอดเพราะปริตรป้องกันภัย จึงนำนกยูงตัวเมียมาฝึกให้ร่ายรำและร้องเสียงไพเราะนำไปล่อ ขณะนางยูงแสนสวยร่ายรำและร้องอยู่นั้น พญายูงทองก็เกิดจิตปฏิพัทธ์ ลืมร่ายปริตรดังเคย วิ่งแจ้นเข้าไปหาสาวสวย ซึ่งเป็นของธรรมดา ไม่ว่าคนไม่ว่าสัตว์ "ฤดูฤดีแดสัตว์สู้กันนา" ดังศรีปราชญ์ว่านั่นแหละ

พญายูงทองก็เลยติดบ่วง ถูกจับไปถวายพระเจ้ากรุงพาราณสี พญายูงทองสอนพระเจ้ากรุงพาราณสีว่า พระองค์ถูกหลอกแล้ว ในเมื่อตัวเขา (คือพญายูงทอง) ยังต้องตาย คนที่กินเนื้อเขาจะเป็นอมตะได้อย่างไร

ทุกอย่างเป็น "สังขาร" (สิ่งผสม) ย่อมมีเกิด มีแปรเปลี่ยน มีดับสลาย ไม่ยั่งยืนชั่วนิรันดร ยกเว้นพระนิพพานเท่านั้น

พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงเชื่อพญายูงทอง จึงปล่อยให้พญายูงทองบินขึ้นฟ้ากลับไปยังนิเวศสถานของตน คงเข็ดไปจนตาย ที่เกือบสิ้นชื่อเพราะ "มาตุคาม" (นางนกยูง) แสนสวย



ปริตร-ตาณ-ตำนาณ-ตำนาน (๗)
ตํานานหรือปริตรที่ ๖ คือ ธชัคคปริตร (มนต์ป้องกันภัยด้วยการมองดูยอดธง) ถามว่ายอดธงอะไร ตอบว่ายอดธงรบ ธงรบของใคร ตอบว่า ธงรบของรถศึกพระอินทร์ พระอินทร์มาเกี่ยวข้องอย่างไร บ๊ะ ยิ่งถามมากยิ่งเรื่องมาก เล่าเลยดีกว่า

สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ภิกษุสงฆ์รำลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เวลาเกิดความหวาดกลัว หรือขนพองสยองเกล้า ขณะนั่งสมาธิอยู่ตามป่าเขา ความหวาดกลัวจะได้หมดไป ดุจดังพระอินทร์ขณะออกรบกับพวกอสูร สั่งให้เหล่าเทพนักรบบริวารของพระองค์มองยอดธงรถศึกของพระองค์ฉะนั้น

ทรงเล่าว่า (ตรงนี้เป็นตำนาน หรือประวัติศาสตร์ แล้วแต่จะเรียก) บนสรวงสวรรค์นั้นเดิมทีมีเทพเจ้าถิ่นอยู่ มฆมาณพและพรรคพวก ๓๒ คนทำบุญกุศลในโลกมนุษย์มากมาย ตายไป ไปเกิดเป็นเทพ ณ สวรรค์นั้น เหล่าเทพเจ้าถิ่นดีใจจัดงานต้อนรับ "น้องใหม่" ด้วยสุราอาหาร มฆมาณพให้อาณัติสัญญาณแก่บริวารมิให้ดื่มสุรานั่น พอเหล่าเทพเจ้าถิ่นเมามายกันหมด ก็สั่งให้จับโยนเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ = ไม่บอกก็รู้ใช่ไหมว่าสวรรค์ชั้นนี้อยู่ยอดเขาพระสุเมรุ) เทพเจ้าถิ่นตกไปอยู่ใต้เขา หายเมาก็สำนึกได้ว่าพวกตนเสียท่าผู้มาใหม่เพราะดื่มสุรา จึงตกลงกันว่าต่อไปจะไม่ดื่มสุราอีก แต่นั้นมาจึงได้ชื่อ "อสูร" (แปลว่าผู้ไม่ดื่มสุรา) สร้างพิภพอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ วันดีคืนดีก็ยกทัพขึ้นมารบกับศัตรูเก่าแก่บนเขาทีหนึ่ง

เทพบนเขานี้มี ๓๒ องค์รวมกับหัวหน้าเป็น ๓๓ จึงมีชื่อว่า ตาวติงส = ดาวดึงส์ (แปลว่า ๓๓) ซึ่งกลายมาเป็นชื่อสวรรค์หรือพิภพที่อยู่ หัวหน้าเทพ ๓๒ องค์นี้ได้เป็นท้าวสักกะ หรือพระอินทร์ หัวหน้าแห่งเทพทั้งปวง เพราะอานิสงส์แห่งการบำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ ขณะเป็นมนุษย์ (วัตตบท ๗ ประการมีอะไรบ้างไปหาอ่านเอาแล้วกัน)

พวกอสูรซึ่งมีท้าวเวปจิตติอสูรเป็นหัวหน้าใช่ว่าขี้ไก่ เป็นนักรบผู้กล้าเช่นกัน เทวาสุรสงคราม (สงครามระหว่างเทพกับอสูร) จึง ยืดเยื้อ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ เหล่าทหารหาญของพระอินทร์ บางครั้งก็หวาดหวั่น เสียขวัญ พระอินทร์จึงสั่งว่า ขณะใดเกิด ความกลัวให้มองที่ยอดธงของรถศึกของพระองค์ และของเทพ นายทัพองค์รองลงมา เช่น เทพปชาบดี เทพวรุณ และเทพอีสาน ความกลัวจะหายไป

พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องนี้แล้ว ทรงหันมาตรัสกับเหล่าสาวกว่า เวลาพวกเธอบำเพ็ญเพียรในป่าลึก ถ้าเกิดความหวาดกลัวมา ก็ให้มอง "ยอดธง" เหมือนกัน ยอดธงที่ว่านี้คือ พระรัตนตรัย ให้รำลึกพระคุณของพระรัตนตรัยแล้วจะหายหวาดกลัว

ธชัคคปริตร มีเรื่องราวความเป็นมาด้วยประการฉะนี้แล



ปริตร-ตาณ-ตำนาณ-ตำนาน (๘)
คราวนี้มาถึงตำนานที่ ๗ ชื่อ อาฏานาฏิยปริตร อันเป็นที่มาของการสวดภาณยักษ์ที่มีมาจนถึงปัจจุบันนี้

ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ เล่าไว้ว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ ตกกลางคืนท้าวมหาราชทั้ง ๔ คือ ธตรัฐ หัวหน้าคนธรรพ์ ผู้ครองทิศบูรพา วิรุฬหก หัวหน้ากุมภัณฑ์ ผู้ครองทิศทักษิณ วิรูปักข์ หัวหน้านาค ผู้ครองทิศปัจจิม และกุเวร หรือเวสสุวัณ หัวหน้ายักษ์ ผู้ครองทิศอุดร เข้าเฝ้า

ท้าวกุเวร หรือเวสสุวัณ กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า พวกยักษ์ที่เป็นบริวารของตน มีบางตนไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย อาจทำอันตรายแก่พระภิกษุที่นั่งบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ตามป่าตามถ้ำ ขอให้พระพุทธองค์ทรงเรียนมนต์อันชื่อว่า อาฏานาฏิยรักขา (มนต์สำหรับป้องกันชื่ออาฏานาฏิยะ) แล้วทรงให้ภิกษุสงฆ์สาวกของพระองค์สวดประจำเพื่อคุ้มครองรักษา เพื่อความสวัสดีของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย มิให้ถูกพวกยักษ์ที่ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเบียดเบียน

พระพุทธองค์ทรงรับดุษณีภาพ ท้าวกุเวรจึงกล่าวอาฏานาฏิยรักขาถวายเนื้อหาของมนต์นี้ กล่าวนมัสการอดีตพุทธะทั้งหลาย มีพระวิปัสสีพุทธเจ้า เป็นต้น จนถึงพระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน จากนั้นก็บรรยายถึงท้าวมหาราชทั้งสี่ มีใครบ้าง องค์ไหนปกครองใคร อารักขาประจำทิศใด และท้ายสุดก็สรุปพระคุณของพระรัตนตรัยว่า หารัตนะใดเสมอเหมือนมิได้ และเป็นโอสถรักษาโรค (ใจ) ได้อย่างวิเศษ

ส่วนที่หัวหน้ายักษ์สวดถวายนี้เรียกว่า "ภาณยักษ์" พระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าและทรงสวดให้ภิกษุสงฆ์ฟังภายหลัง ส่วนนี้เรียกว่า "ภาณพระ"

ว่ากันว่า ถ้าใครสวดอาฏานาฏิยรักขานี้แล้วบรรดายักษ์และภูตผีปีศาจทั้งหลายจะไม่ทำอันตราย ตรงข้ามกลับจะให้การอารักขา หรือคุ้มครองให้ปลอดภัยเสียอีก

ดูแล้วก็น่าเป็นไปได้ เพราะในมนต์บทนี้อ้างพระนามพระพุทธเจ้าทั้งหลายรวมถึงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ซึ่งท้าวกุเวร หัวหน้าพวกยักษ์นับถือมาก อ้างยักษ์ผู้ใหญ่ระดับแนวหน้าต่างก็นับถือพระพุทธเจ้า เป็นการ "ขู่" กลายๆ แล้วอย่างนี้ยักษ์ระดับกระจอกจะกล้าไปทำอะไรแก่พระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า ที่เจ้านายของตนนับถือหรือ ขืนไม่เชื่อฟังเดี๋ยวก็โดนดีเท่านั้น

ต่อมามีการสวดอาฏานาฏิยปริตรขับไล่ยักษ์ เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งในหมู่ชาวพุทธ มีการยิงปืนใหญ่ จุดประทัดเปรี้ยงปร้างๆ ให้ยักษ์กลัวด้วย ว่ากันอีกนั่นแหละว่า คนที่ถูกไสยถูกคุณมาฟังสวดปริตรนี้แล้วจะหาย บางคนมาทุกครั้งที่พระท่านสวด ถามว่าหายไหม ตอบว่าหาย แต่พอถึงเทศกาลสวดภาณยักษ์ก็กลับมาอีก

อย่างนี้เห็นทีต้องสวดคาถาไล่ "ผีภายหลัง" เสียละกระมัง จึงจะหายขาด



ปริตร-ตาณ-ตำนาณ-ตำนาน (๙)

เคยบอกว่า ตำนานนั้นเพี้ยนมาจาก ตาณ-ตำนาณ คนรุ่นหลังเข้าใจว่า ตำนาน คือเรื่องราว แต่ที่จริงตำนานแปลว่าป้องกัน ความหมายเดียวกับ ปริตต (ปริตร) ได้อ่านหนังสือ "อานุภาพพระปริตต์" เขียน โดย ท่านอาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ ท่านใช้คำว่า "ตำนาณ" (ณ เณร สะกด) ตลอด ซึ่งถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง

มนต์ป้องกันภัย ๗ บท หรือที่ปัจจุบันเรียกและเขียนเพี้ยนว่า "๗ ตำนาน" นั้น มีมงคลสูตร, รัตนปริตร, กรณียเมตตปริตร, ขันธปริตร (ควบ ฉัททันตปริตร), โมรปริตร, ธชัคคปริตร และอาฏานาฏิยปริตร ซึ่งบางครั้งก็ใช้ อังคุลิมาลปริตร แทน

วันนี้ขอตบท้ายด้วย อังคุลิมาลปริตร เรื่องพระองคุลิมาล อดีตจอมโจรชื่อดังเป็นที่รับรู้กันทั่วไปในหมู่ชาวพุทธ คำโต้ตอบระหว่างพระพุทธองค์กับองคุลิมาล "หยุดสมณะหยุด" "เราหยุดแล้ว แต่เธอยังไม่หยุด" ยังจำกันได้ขึ้นใจ

องคุลิมาลเดิมนามว่า อหิงสกะ เกิดภายใต้ดาวฤกษ์โจร บิดาซึ่งเป็นปุโรหิตในราชสำนักพระเจ้าปเสนธิโกศล กราบทูลว่าลูกชายจะเป็นโจรลือชื่อ เมื่อทรงทราบว่ามิใช่โจรแย่งชิงราชสมบัติก็มิได้ทรงให้กำจัดเสีย ตามคำกราบบังคมทูลของผู้เป็นบิดา

ตอนเด็กๆ อหิงสกะก็เป็นเด็กดี เรียนหนังสือเก่ง เมื่อไปเป็นศิษย์อาจารย์ทิศาปาโมกข์ก็เป็นที่รักของอาจารย์ จนกระทั่งศิษย์ร่วมสำนักอิจฉาพากันยุยงให้อาจารย์เข้าใจศิษย์รักผิด อาจารย์จึงคิดกำจัดโดยให้ไปฆ่าคน เอานิ้วมือจำนวนหนึ่งพันเพื่อประกอบพิธีประสิทธิ์ประสาทวิชาการชั้นสูงให้

อหิงสกะจึงกลายเป็นโจร เพราะได้อาจารย์เป็นบาปมิตร (มิตรชั่ว) เด่นดังมากจนพระราชายกกองทัพย่อยๆ ไปปราบ มารดา อหิงสกะเกรงลูกจะถูกฆ่า จึงเดินทางไปกะจะบอกให้ลูกรู้ตัว พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ เกรงว่าลูกจะฆ่าแม่จึงเสด็จไปดัก แล้วได้กลับใจมหาโจร จนเธอทูลขอบวชเป็นสาวก

บวชมาแล้วก็เป็นที่หวาดกลัวของผู้คน ใครเห็นก็วิ่งหนี เวลาออกบิณฑบาตท่านจึงไม่ได้ข้าวแม้ทัพพีเดียวมาหลายวัน

วันหนึ่งท่านเห็นสตรีมีครรภ์แก่ท่าทางจะคลอดยาก จึงไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสบอกให้ท่านทำสัตยาธิษฐานช่วยนาง ท่านจึงเข้าไปสถานที่อยู่ของสตรีนางนั้น นั่งบนตั่งนอกบ้าน ตั้งสัตยาธิษฐานว่า "ตั้งแต่เราเกิดมาในชาติเป็นอริยะ (คือบวชเป็นพระ) ไม่เคยคิดฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแม้แต่น้อย ด้วยสัจวาจานี้ขอเธอและลูกในท้องจงสวัสดี" ทันใดนั้นนางก็คลอดลูกอย่างปลอดภัยทั้งแม่และลูก ท่านองคุลิมาลเลยกลายเป็น "พระดัง" มาแต่บัดนี้

เวลาสตรีจะคลอดลูก ชาวบ้านจึงเอาน้ำมาราดตั่งที่ท่านนั่ง เอาน้ำนั้นรดศีรษะหญิงมีครรภ์ ก็ปรากฏว่าคลอดลูกโดยง่าย ตั่งรองนั่งท่านพลอย "ขลัง" ไปด้วย

และความเชื่อถือเช่นนี้ดำรงอยู่มาจนตราบทุกวันนี้



ปริตร-ตาณ-ตำนาน (๑๐)

การนับตำนานทั้ง ๗ ท่านนับดังนี้ ๑.มงคลสูตร ๒.รัตนปริตร ๓.กรณียเมตตปริตร ๔.ขันธปริตร (ควบกับฉันทันตปริตร) ๕.โมรปริตร ๖.อาฏานาฏิยปริตร (ควบกับอังคุลิมาลปริตร) นับอย่างนี้จึงได้ ๗ ตำนาน หาไม่เกิน ๗

ฉันทันตปริตร "ติ่ง" ออกมาจากขันธปริตร ควรลงถัดจากขันธปริตรแต่ข้ามไป ขอนำมาลงตบท้ายเพื่อให้ครบสมบูรณ์ ฉันทันตปริตร เป็นเรื่องพญาช้างฉันทันต์ ช้างตัวนี้เป็นช้างโพธิสัตว์ อยู่ในป่าหิมพานต์ มีช้างพังเป็นคู่ชีวิตสองตัว (ช้างป่า ลักษณนามว่า "ตัว" ทั้งนั้นแหละครับ) นัยว่าพญาช้างเอาใจเมียหลวงมากกว่าเมียน้อย เมียน้อยจึงผูกพยาบาทว่า ถ้าตายไปขอให้เกิดเป็นมนุษย์ได้เป็นมเหสีของกษัตริย์จะได้แก้แค้น จากนั้นก็ไม่กินอาหารจนตาย ไปเกิดตามที่ตั้งจิตอธิษฐานไว้ไม่ผิด

เมื่อนางได้เป็นมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสี ก็รำลึกชาติหนหลังได้ กราบทูลพระเจ้ากรุงพาราณสีว่ามีช้างใหญ่มีงา ๖ สี อยู่ในป่าหิมพานต์ นางอยากได้งา ถ้าไม่ได้อาจไม่มีชีวิตอยู่เป็นแน่

พระราชาจึงสั่งประชุมพรานป่า เลือกให้นายพรานนามโสณุตตระ โสณุตตระออกเดินทางไปยังป่าหิมพานต์คนเดียว ถึงที่อยู่ของพญาช้างและบริวารจึงวางแผนฆ่าพญาช้าง โดยขุดหลุมซ่อนตัวอยู่ ณ บริเวณที่พญาช้างมักจะมายืนหลังจากลงเล่นในสระ เมื่อได้โอกาสจึงยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ พญาช้างร้องสุดเสียงด้วยความเจ็บปวด ควานงวงเข้าไปยังหลุมที่นายพรานหลบซ่อนอยู่หมายถึงจะขยี้ให้แหลกลาญ

สายตาเหลือบไปเห็นผ้ากาสาวพัสตร์ที่นายพรานห่มอยู่จึงชะงัก เมื่อรู้ว่านายพรานต้องการงาของตนไปถวายพระมเหสี จึงยอมให้เขาเลื่อย เอางาไป พร้อมบอกมนต์ป้องกันตัวจากสัตว์ร้ายอันเรียกว่า ฉันทันตปริตร แล้วพญาช้างก็สิ้นใจ

นายพรานนำงาไปถวายพระมเหสี กราบทูลว่า พญาช้างฉันทันต์ก็สิ้นชีวิตแล้ว นางเอางาทั้งคู่วางบนพระเพลา รำพึงว่า โธ่เอ๋ย พญาช้างถูกนายพรานยิงตายเสียแล้ว ทรงกันแสงโศกาดูร เสียพระทัยที่ตนเองเป็นผู้ทำลายชีวิตพญาช้าง เพราะความพยาบาทสืบเนื่องแต่ปางก่อน พระทัยนางก็แตกสลายสิ้นพระชนม์ลงในวันนั้นเอง

เข้าใจว่า ทำไมพิษรักแรงหึง มันร้ายกาจข้ามภพข้ามชาติอะไรปานนั้น

ปริตรที่พญาช้างบอกนายพรานมีความว่า

พญาช้างฉันทันต์คิดจะฆ่านายพรานที่ยิงตน แต่เมื่อเห็น "ธงชัยแห่งพระอรหันต์" (จีวร) ก็เกิดความคิดว่าสัตบุรุษ มิบังควรฆ่าคนที่มีธงชัยแห่งพระอรหันต์

พญาช้างถูกนายพรานยิงด้วยธนูอาบยาพิษ จนดำรงกายไม่อยู่ ยังสงบใจได้ ไม่คิดฆ่าผู้มีกาสาวพัสตร์ ถ้าคำกล่าวของพญาช้างนี้เป็นจริง ขอให้สัตว์ร้ายทั้งหลายในป่า อย่าได้กล้ำกรายข้าพเจ้าเลย [/size


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)



หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 เมษายน 2561 15:40:41
(http://inspireyourlife.gr/wp-content/uploads/2016/01/shaolin-monk-cuisine-red-theatre-beijing.jpg)
ขอขอบคุณที่มาภาพ : inspireyourlife.gr

เสพติด-เสพย์ติด

มีคนผู้เป็นห่วงเรื่องการใช้ภาษาว่า ยาที่กินแล้วทำให้ติดเรียกว่า "เสพย์ติด" (มี ย การันต์) ไม่ใช่ "เสพติด" (ไม่มี ย การันต์) ที่ถูกเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่บังเอิญปล่อยให้คนเขียนว่า "เสพติด" มานาน ไม่มีใครทักก็เลยไม่มีใครรู้ว่า มันผิดและใช้ตามๆ กันมาจนร่ำๆ ราชบัณฑิตยสถานจะยอมรับว่า "เป็นคำเพี้ยนที่ใช้ได้"

(ระวัง นี่คือ "มนต์ขลัง" ของราชบัณฑิตฯ)

บังเอิญว่าระยะนี้เขากำลังรณรงค์เพื่อ ต่อต้านยาที่กินเข้าไป (รวมถึงสูดดม ฉีด ฯลฯ ด้วย) แล้วทำให้คนติด ก็ร่วมมือกันดีตั้งแต่รัฐบาลจนถึงองค์กรเอกชน และประชาชนทั้งหลาย สื่อต่างๆ ก็ร่วมมือ ในการรณรงค์เพื่อปราบยาม้า ยาบ้า จนจะ "บ้า" กันทั้งเมือง

ขับรถผ่านไปตามถนนใหญ่ เห็นป้ายโฆษณาต่อต้านยาบ้าตัวโตเบ้อเร่อว่า "ยาบ้า คนเสพย์ตาย คนขายติดคุก" นี่แสดงว่า ภาครัฐบาลท่านมีความประสงค์ดีอยากจะให้ช่วยกันเขียนภาษาไทยให้ถูกต้อง นับเป็นความปรารถนาดี

แต่ปรารถนาดีผิดพลาด เหมือนความปรารถนาดีของเณรน้อยต่อขรัวตานั่นแล

เณรน้อยเห็นแมลงวันตัวโตเกาะจมูกขรัวตา ด้วยความปรารถนาดี เอาสากทุบจมูกขรัวตาเต็มเหนี่ยว

ผลเป็นยังไงคงคาดเดากันได้

คำว่า เสพ เป็นคำกริยา แปลว่ากิน ดื่ม บริโภค เช่น นายจำลองเสพสุรา (แปลว่านายจำลองดื่มสุรา) นายวินัยเสพเมถุน (แปลว่านายวินัยบริโภคกาม) ถ้าเป็นคำนาม (อาการนาม) ใช้ว่า "การเสพ" เช่น "การเสพสุราเมรัยไม่ดี"

คำว่า เสพย์ (เสพฺย) แปลว่า พึงเสพ ส่วนมากใช้เป็นคำวิเศษณ์ หรือ adjective เช่น นายนิกรเสพยาเสพย์ติด (แปลว่านายนิกรเสพยาที่พึงเสพแล้วทำให้ติด)

เพราะฉะนั้น การใช้ว่า "ยาบ้า คนเสพย์ตาย" นั้นผิด ที่ถูกคือ "ยาบ้า คนเสพตาย" และคนขายติดคุก ที่ติดคุกเพราะเป็นยา "เสพย์ติด" ผิดกฎหมาย ถ้า ฯพณฯ มท.๖ จู่โจมจับมาได้มีหวังติดคุกแน่

เสียดายว่า จับใหญ่คราวนั้น (เมื่อไม่นานมานี้) ได้ขี้ยามาเพียงคนเดียว และยาบ้าไม่กี่เม็ด

ป.ล.เดี๋ยวนี้ใช้เสพติดอย่างเดียวแล้ว




อังคาสด้วยมือ

อ่านคัมภีร์พระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎกหรืออรรถกถา จะปรากฏข้อความว่า ทายกผู้นิมนต์พระสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตน จะ "อังคาสพระสงฆ์ด้วยมือของตน"

อังคาส คืออะไร พจนานุกรมบอกว่าเป็นภาษาเขมร แปลว่าเลี้ยงพระ, ถวาย, เขียนว่า อังคาด ก็มี เป็นอันว่า อังคาส ก็คือเลี้ยงพระนั่นเอง

"เลี้ยงพระด้วยมือ" เดิมผมเข้าใจว่า การจะถวายทานที่ให้ได้บุญมาก ทายกต้องลงมือตระเตรียมอาหารเอง เรียกว่าเข้าครัวทำกับข้าวเองทีเดียว จึงจะได้บุญมาก เพราะมิได้ "ลงทุน" ซื้อหาของมาทำอาหารอย่างเดียว หากได้ "ลงแรง" ด้วย คุณหญิงคุณนายที่สั่งให้สาวใช้หุงหาอาหารใส่บาตรทุกวัน

ถึงจะ "ลงทุน" ก็คงไม่ได้บุญเท่าสาวใช้ ผู้ทำทุกอย่างด้วยมือของตน

ผมเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ รู้ตัวว่าเข้าใจผิดมาตั้งนาน มาเกิด "สัมมาทิฐิ" ก็ต่อเมื่อไปเห็นชาวพุทธลังกาถวายภัตตาหารพระ

เขาจะถวายจานเปล่าให้พระใบเดียว และต่างคนต่างก็ถือโถข้าว แกง กับ คนละอย่างคอยเฝ้าอยู่ใกล้ๆ พระ ตักข้าวใส่จาน แล้วก็ตักแกง กับ ใส่ลงไปรวมในจานเดียว พระท่านก็ฉันด้วยมือ หรือ "กินมือ" (คนไทยสมัยโบราณก็ "กินมือ" กันทั้งนั้น) เมื่ออาหารพร่อง ก็ตักใส่ใหม่

ถ้าพระท่านอิ่มแล้วจะยกมือให้สัญญาณว่าพอแล้ว

จากนั้นทายกก็จะยกขันน้ำพร้อมสบู่มาให้พระท่านล้างมือ แล้วถวายผ้าเช็ดมือเป็นอันเสร็จพิธีถวายภัตตาหาร

ทุกอย่างทำด้วยมือเองหมด อย่างนี้นี่เองที่พระคัมภีร์ท่านว่า "อังคาสพระสงฆ์ด้วยมือของตน"




(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)



หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 พฤษภาคม 2561 13:55:32


(https://img.kaidee.com/prd/20170719/134372792/b/749cd6c0-3637-4dfc-a0e6-70bd9b4ce0d0.jpg)
มหานิกายแปลง
มีผู้ถามว่า มหานิกายแปลง ได้แก่นิกายไหน

ได้อ่านหนังสือประวัติ พระราชพรหมยานเถร (วีระ ถาวโร) ว่าท่านบวชในคณะมหานิกายแปลง เกิดความสงสัยใคร่ทราบว่า มหานิกายแปลงได้แก่นิกายอะไร มีวัดไหนบ้าง

ต่างจากมหานิกายทั่วไปอย่างไร

ขอเรียนว่า เท่าที่ทราบ มหานิกายแปลง ก็คือ มหานิกาย นั่นแหละครับ แต่ "แปลง" ให้เหมือนธรรมยุตในบางเรื่อง

ธรรมยุต กับมหานิกาย ว่าที่จริงแล้วไม่นับเป็น "นิกาย" (school of Thougth) เป็นเพียง "กลุ่มย่อย" หรือ "แขนง" ของนิกายเถรวาทเท่านั้น

พูดอีกนัยหนึ่ง ทั้งธรรมยุตและมหานิกายต่างก็เป็นนิกายเถรวาทเหมือนกัน มีพระปาติโมกข์เท่าเทียมกัน มีความเชื่อพื้นฐานเหมือนกัน

จะต่างกันเพียงการตีความสิกขาบทบางข้อเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

จึงไม่ถือเป็นคนละนิกาย ดังกรณีมหายาน กับเถรวาท

คณะสงฆ์ไทยดั้งเดิมเป็นเถรวาทแบบลังกาวงศ์ สืบทอดมาแต่สมัยสุโขทัย

มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทววงศ์ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔) ได้ก่อตั้งพระธรรมยุติกา (เรียกสั้นๆ ว่า ธรรมยุต) ขึ้น

โดยห่มแหวกแบบพระรามัญ (มอญ) และปรับปรุงทำนองสวดมนต์จากแบบเดิม (สวดสังโยค) เป็นสวดแบบมคธ และวิธีปฏิบัติบางอย่าง

คณะสงฆ์เดินห่ม "คลุม" ธรรมยุตห่ม "แหวก" เมื่อเกิดคณะธรรมยุต คณะสงฆ์เดิมหรือเรียกภายหลังว่า มหานิกาย บางวัดก็ห่มแหวกตามพระธรรมยุต

มหานิกายดังกล่าวนี้แหละเรียกว่า "มหานิกายแปลง"

พระในกรุงเทพฯ ส่วนมากเป็นมหานิกายแปลงทั้งนั้น ยกเว้นบางวัด เช่น วัดพระเชตุพนฯ วัดระฆังโฆสิตาราม

ในอีสานดูเห็นจะไม่มีมหานิกายเดิมเหลืออยู่ เพราะสมัยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็นใหญ่ "ช้างเผือกอีสาน" เชือกนี้ไปเกณฑ์ให้พระอีสานห่มแหวกเหมือนกันหมด

เมื่อ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเรียกประชุมพระเถระฝ่ายมหานิกาย เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๕๗ รับสั่งว่าพระสงฆ์ควรห่มแบบเดียวกันหมด คือห่มแบบธรรมยุต พระเถระมหานิกายหลายรูปยอม เพราะเกรงสมเด็จฯ

มีบางรูป เช่น พระพิมลธรรม วัดระฆังโฆสิตาราม ยืนยันห่มแบบเดิม สมเด็จฯ รับสั่งให้ไปห่มผ้าใหม่ ท่านถอยออกไปข้างนอก ห่มผ้าใหม่แล้ว กลับเข้าไปอีก

คือเอาผ้าใหม่เอี่ยมห่มแบบเดิม

วัดระฆังฯ จึงมิได้เป็นมหานิกายแปลง ด้วยประการฉะนี้  



ทรมาน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ให้คำจำกัดความของคำว่า ทรมานไว้ว่า "ก.ทำให้ลำบาก ทารุณ เช่น ทรมานตัว ทรมานสัตว์, ทำให้ละพยศหรือลดทิฐิมานะลง น.ชื่อปางพระพุทธรูปที่ขึ้นต้นด้วยคำนี้ เช่น ปางทรมานช้างนาฬาคิรี ปางทรมานพญานาค"

คนส่วนมาก ได้ยินคำว่า "ทรมาน" ก็ต้องนึกถึงความทารุณโหดร้าย ยิ่งถ้าใช้ คำว่า ทรมาทรกรรมด้วยแล้ว ยิ่งต้องนึกถึงความทุกข์แสนสาหัสไม่รู้จบสิ้น

แต่เมื่อได้ยินพระคุณเจ้าท่านแสดงพระธรรมเทศนา ใช้คำว่า "ทรมาน" ในความหมายธรรมดาๆ เช่น เล่าถึงเศรษฐีขี้เหนียวคนหนึ่งขึ้นไปทอดขนมเบื้องบนปราสาท ๗ ชั้น กลัวคนอื่นมาเห็นและขอกิน พระพุทธเจ้าทรงส่งพระโมคคัลลานะไป "ทรมาน" ให้เศรษฐีเห็นโทษของความตระหนี่ และเห็นอานิสงส์ของการให้ทาน

ฟังแล้ววาดภาพเห็นพระเถระใช้ฤทธิ์เดชจับเศรษฐีมาเฆี่ยนตีหรือทำให้เจ็บปวดอะไรสักอย่างแต่ความจริงไม่ใช่ ท่านเพียงแต่ไปปรากฏตัวบนปราสาท ๗ ชั้น เศรษฐีตกใจ รำพึงเบาๆ ว่า กูหนีมาทอดขนมชั้นบนสุด ก็กลัวสมณะพวกนี้แหละ ท่านรูปนี้มาได้อย่างไร

เพื่อไล่ให้หนีไปจึงเอาตะหลิวตัดขนมออกเป็นชิ้นเล็กนิดถวายท่าน แต่ตัดอย่างไรก็ไม่ขาด เอามือดึงก็ไม่ขาด สองคนกับภรรยาดึงคนละข้างก็ไม่ขาด จนเหนื่อย ท้ายสุดจึงตัดสินใจถวายหมดเลย

พระเถระรับแล้วก็ยังไม่ไป เทศน์สอนให้เห็นโทษของความตระหนี่และให้เห็นอานิสงส์ของการมีความใจกว้างและการเสียสละ จนเศรษฐีเห็นด้วย แล้วประกาศนับถือพระรัตนตรัย ไม่เห็นมีการทรมาทรกรรมกันแต่อย่างใด ทำไมพระท่านว่า พระโมคคัลลานะไปทรมานเศรษฐีขี้เหนียว

คำตอบก็คือ คำว่า ทรมาน ในที่นี้หมายถึง การฝึก การข่ม การทำให้เลิกละความยึดถือผิดๆ (ตามนัย ๒ ของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ) นั้นเอง

คำนี้มาจากคำเดิมว่า ทมน (การฝึก การข่ม) จาก ทมน คงจะเพี้ยนเป็น ทรมน แล้วเพี้ยนต่อเป็นทรมาน

อ่านตามลิ้นไทยว่า "ทอรมาน" ด้วยประการฉะนี้แล  



โปรดสัตว์
โปรดสัตว์ เป็นคำเรียกการเทศนาสั่งสอนประชาชนของพระพุทธเจ้า ในคัมภีร์กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ "พุทธกิจ ๕ ประการ" ทุกวันมิได้ขาด ยกเว้นคราวทรงพระประชวรเท่านั้น

พุทธกิจ ๕ ประการ ท่านร้อยกรองเป็น "คาถาประพันธ์" ดังนี้

ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ = เช้า เสด็จออกบิณฑบาต

สายณฺเหะ ธมฺมเทสนํ = เย็น ทรงพระธรรมเทศนา

ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ = พลบค่ำ ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย

อฺฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ = เที่ยงคืน ทรงตอบปัญหาเทวดา

ปจฺจูเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ = เวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูสัตว์โลกที่ควรโปรดและไม่ควรโปรด

การกระทำพุทธกิจทั้ง ๕ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งเรียกว่า "การโปรดสัตว์" และ คำว่า "สัตว์" ในที่นี้หมายถึงบุคคลผู้พึงแนะนำสั่งสอนได้ ที่พระท่านเรียกว่าเวไนยสัตว์นั่นเอง

การเสด็จออกบิณฑบาตของพระพุทธเจ้านอกจากจะไป "ขอ" ข้าวชาวบ้าน จุดประสงค์หลัก ต้องการสั่งสอนธรรมแก่ผู้ควรสอนด้วย การเสด็จบิณฑบาตของพระพุทธองค์จึงได้ชื่อว่าเป็นการ "โปรดสัตว์" ต่อมาแม้สาวกไปบิณฑบาตก็เรียกว่าไป "โปรดสัตว์" เช่นเดียวกัน

อนึ่ง การบิณฑบาตนั้น สมัยก่อน พระท่านไปยืนรอที่หน้าบ้านของผู้ที่ต้องการโปรดเลยทีเดียว ถ้าเขาไม่มีศรัทธา หรือมีศรัทธาแต่ไม่มีของถวาย เขาก็จะมาบอกว่า "อติจฺฉถภนฺเต" (นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด)

และมิใช่เฉพาะขอข้าวอย่างเดียว ขออย่างอื่นที่สมควรแก่สมณบริโภคก็ได้ พระท่านก็จะอุ้มบาตรมายืนหน้าบ้านเช่นกัน และสามารถมาในเวลาวิกาลได้ด้วย

แต่ในเมืองไทย พระบิณฑบาตเอาข้าวอย่างเดียว และต้องมาตอนเช้าด้วย (มาสายๆ ถือว่าผิด) ยิ่งถ้าอุ้มบาตรมายืน เวลาเลยเที่ยงวัน (เพื่อขอสมณบริขารอย่างอื่น) ยิ่งถือเป็นความผิดอย่างมหันต์ เผลอๆ อาจถูกจับสึกได้

ธรรมเนียมการออกบิณฑบาตคือการแสดงธรรมแก่ผู้ถวายทานด้วย ได้เลือนหายไป เพราะฉะนั้น พระสงฆ์สมัยนี้จึงมิใคร่จะบิณฑบาต หรือ "โปรดสัตว์" กัน

บางท่านพูดติดตลกว่า ที่ไม่ค่อยอยากไปโปรดสัตว์ เพราะไม่มีสัตว์จะโปรด  



อัตโนมัติ อัตโนวัติ
คนขี้โม้คนหนึ่งกล่าวว่า ตัวเขาเองเขียนหนังสือเป็นธรรมชาติ เลยไม่ต้องนึกก่อนว่าจะเขียนอะไร อย่างไร เพียงจับปากกาเขียนมันก็ลื่นไหลไปเองโดยธรรมชาติ บางทีความคิดมันพรั่งพรูออกมา มือเขียนไม่ทันก็มี

"ทุกอย่างมันเป็นไปโดยอัตโนมัติ"

ฟังแล้วอดคลื่นไส้มิได้ จนต้องเรียกหากระโถน

อัตโนมัติ มีศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน นัยว่าบัญญัติแทนคำอังกฤษว่า automatic ซึ่งแปลว่าเป็นไปเอง เป็นไปด้วยตนเอง ไม่มีอะไรบังคับ

อัตโนมัติ เขียนตามคำเดิมจริงๆ ว่า อัตตโนมติ มาจาก อัตตโน (ของตน)+มติ (ความคิดเห็น) เขียนแบบไทยๆ ตามหลักการเขียนในพจนานุกรมว่า อัตโนมัติ (เอา ต ที่อัตต ออกตัวหนึ่ง แล้วใส่ไม้หันอากาศที่ มติ)

แทนที่จะแปลว่า เป็นไปเอง เป็นไปด้วยตนเอง กลับต้องแปลว่า ความคิดเห็นของตน หรือความคิดเห็นส่วนตน

ไม่เห็นตรงกับความหมายของ automatic ตรงไหนเลย

อาจารย์สอนธรรมท่านหนึ่ง อธิบายคำว่า saint กับ เซียน, สันต, เป็นคำเดียวกัน อัลเลาะห์ กับ อรห (อรหันต์) เป็นคำเดียวกัน God กับ เคาตมะ (โคตมะ) เป็นคำเดียวกัน เพียงแต่ออกเสียงเพี้ยนกันไปเท่านั้น

ศิษย์ชาวอีสานกล่าวว่า ภาษาฝรั่งกับภาษาอีสานเป็นภาษาเดียวกัน อย่างคำว่า eel กับ เอี่ยน (ปลาไหล) ออกเสียงเหมือนกันเปี๊ยบเลยและยิ่งไปกว่านั้น พระพุทธเจ้าเป็นชาวอีสาน

เพราะในสิกขาบทว่าด้วยเสขิยวัตร พระพุทธองค์ตรัสบอกพระให้ "ปั้นคำข้าวให้กลมกล่อม" แสดงว่า พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สมัยนั้นฉันข้าวเหนียว

เมื่อครูดุว่า พูดส่งเดช อย่างนี้อธิบายโดย "อัตโนมัติ" หรือเปล่า

อาจารย์หมายถึงศิษย์อธิบายตามความเห็นของตน

แล้วทำไม อัตโนมัติ จึงเป็นคำแปลของคำว่า automatic มิอาจทราบได้

มีอยู่คำหนึ่งคือ อัตตโนวัตติ ซึ่งมาจาก อัตตโน (ของตน, ตนเอง)+วัตติ (เป็นไป) เมื่อเขียนตามหลักการเขียนในพจนานุกรมก็เป็น อัตโนวัติ แปลว่า เป็นไปด้วยตนเอง หรือเป็นไปเอง

ทำให้นึกว่า automatic น่าจะตรงกับ คำว่า อัตโนวัติ มากกว่า  



ปัญญา-ปรัชญา-Philosophy
คําว่า ปัญญา กับ ปรัชญา แปลเหมือนกัน คำแรกเป็นภาษาบาลี คำหลังเป็นภาษาสันสกฤต

ตามรูปศัพท์ ปัญญา มาจาก ป (ทั่ว, ทั่วถึง, ยิ่ง) -ญา (รู้) รวมแล้วเป็น ปัญญา แปลว่า ความรู้ทั่ว ความรู้ทั่วถึง ความรู้ยิ่ง

ปรัชญา (ปฺรชฺญา) มาจาก ปฺร (ประเสริฐ) -ชฺญา (ความรู้) รวมเป็น ปรัชญา แปลว่า ความรู้ประเสริฐ หรือความรู้ยิ่ง

ปัญญา ในทางพระพุทธศาสนามีหลายระดับเช่น

แบ่งเป็น ๒ ระดับคือ

(๑) โลกียปัญญา = ปัญญาระดับโลก ปัญญาของชาวโลก ได้แก่ ความรู้สรรพวิชาทั้งหลายที่ศึกษาเล่าเรียนเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ

(๒) โลกุตตรปัญญา = ปัญญาเหนือโลก ปัญญาชั้นสูง คือความรู้ที่สามารถละโลภ โกรธ หลง ได้

แบ่งเป็น ๒ ระดับ (อีกทรรศนะหนึ่ง) คือ

(๑) สุตะ = ปัญญาเกิดจากการเรียนรู้ หรือสะสมข้อมูลต่างๆ ใครรู้มากๆ เรียก พหูสูต ปัญญาระดับนี้ก็คือ โลกียปัญญา

(๒) ปัญญา = ปัญญาที่สามารถลดละกิเลสได้ซึ่งก็คือ โลกุตตรปัญญา

แบ่งเป็น ๓ ระดับ (ตามทางที่เกิด) คือ

(๑) สุตมยปัญญา = ปัญญาเกิดจากการสดับการเล่าเรียน

(๒) จินตมยปัญญา = ปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณาหาเหตุผล

(๓) ภาวนามยปัญญา = ปัญญาเกิดจากการฝึกอบรมลงมือปฏิบัติ

ภาษาไทยใช้คำว่า "ความรู้" เหมือนกันหมดในทางพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นความรู้พื้นฐานความรู้ระดับธรรมดา เช่น ความรู้จากการศึกษาเล่าเรียน จบด๊อกเตอร์ด๊อกต๋อย เอมเอ เอมอ้อย ฯลฯ ไม่เรียกว่า "ปัญญา" เรียกว่า "สุตะ" แต่ถ้าเป็นความรู้ที่สว่างโพลงภายใน ทำให้ลดละกิเลสได้เป็นลำดับ จนละได้หมดโดยสิ้นเชิง จึงจะเรียกว่า ปัญญา

ความรู้อย่างที่ว่านี้เรียกอีกอย่างว่า ญาณ ญาณอย่างต่ำก็คือความรู้ของคนระดับโสดาบัน อย่างสูงก็คือ ความรู้ของพระอรหันต์ หรือพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า

ส่วน philosophy นั้น ผู้รู้ท่านว่า มาจากคำกรีกว่า philos-sophia philos คือ ความรัก (loving of) sophia คือปัญญา (wisdom) philosophia หรือ philosophy ก็คือ ความรัก ความรู้ ยังมิใช่ตัวความรู้หรือปัญญา

ผู้รู้อีกนั่นแหละท่านกล่าวว่า philos ก็คือ พิลาส (ความรัก) นั่นเอง sophy ก็คือ สฺวโพธิ (ความรู้อันเป็นของตน) เพราะฉะนั้น พิลาสสฺวโพธิ จึงเท่ากับ ฟิลอสโซฟี ฉะนี้แล



(http://www.sri.cmu.ac.th/~elanna/elanna51/beli/picture/beli08-2.png)

บังสุกุล
คําที่ถูกเขียน "บังสุกุล" แม้แต่เรียกโดยทั่วไปว่า "บังสุกุล" นี่เป็นการเรียกเพี้ยนโดยแท้

บังสุกุล (บาลี ปํสุกูล) แปลว่า "คลุกฝุ่น" ใช้เรียกผ้านุ่งห่มของพระสงฆ์ ที่เรียกว่า ผ้าคลุกฝุ่น ก็เพราะเดิมที พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับจีวรสำเร็จรูปจากชาวบ้าน ท่านต้องเที่ยวแสวงหาเศษผ้ามาเย็บจีวรเอง เช่นไปเอาเศษผ้าที่เขาทิ้งไว้ในที่ต่างๆ ตลอดถึงผ้าห่อศพในป่าช้า จีวรที่ทำด้วยผ้าชนิดนี้จึงเรียกว่า บังสุกุลจีวร (ผ้าคลุกฝุ่น)

ญาติโยมเห็นพระท่านลำบากในการแสวงหาผ้า อยากจะนำเอาผ้าสำเร็จรูปไปถวายก็ไม่กล้า เพราะยังไม่มีพุทธานุญาต จึงนำเอาผ้าไปแขวนไว้ตามกิ่งไม้บ้าง ตามพุ่มไม้บ้าง เผื่อว่าพระท่านเดินผ่านมาจะได้เห็นและนำเอาไปตัดเย็บจีวร

พระท่านผ่านมาเห็นเข้า ก็จะเหลียวซ้ายแลขวา แล้วถามดังๆ ว่า ผ้านี้มีเจ้าของหรือไม่ เมื่อแน่ใจว่าไม่มีเจ้าของ ท่านก็จะทำ "บังสุกูลสัญญา" (สำคัญมั่นหมายว่าเป็นผ้าคลุกฝุ่น) แล้วก็ชัดหรือดึงเอาผ้านั้นไปทำจีวร

ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ทายกทายิกานำผ้าสำเร็จรูปไปถวายพระสงฆ์ได้ ก็ไม่จำเป็นที่พระจะต้องเดินแสวงหาผ้าบังสุกุลอีกต่อไป แต่ก็ยังมีธรรมเนียมการถวายผ้าบังสุกุลมาตราบเท่าทุกวันนี้เป็นพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง

การถวายผ้าบังสุกุล มันเรียกกันว่า "ทอดผ้าบังสุกุล" หรือ "ทอดผ้าป่า" คำว่า "ทอด" ก็สืบเนื่องมาจากการที่ชาวบ้านเอาผ้าไป "วางไว้" เพื่อให้พระท่านเห็นและนำเอาไปใช้ และเรียกการที่พระท่านถือเอาผ้านั้นไป "ชัก" ผ้าบังสุกุล

สมัยก่อนโน้น เขาเอาผ้าแขวนไว้บนกิ่งไม้บ้าง วางหรือทอดไว้ตามพุ่มไม้บ้าง ในบัดนี้แม้ไม่จำต้องทำอย่างนั้นแล้ว เขาก็ยังหาต้นไม้หรือกิ่งไม้มาตั้ง แล้วเอาไตรจีวร และสมณบริขารอย่างอื่นแขวนไว้ตามกิ่งนั้นๆ ทั้งนี้ คงเพื่อรำลึกถึงความเป็นมาแต่หนหลังนั่นเอง

คำสวดพิจารณาเวลาชักผ้าบังสุกุลมีดังนี้ อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข = สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เกิดแล้วเสื่อมไปเป็นธรรมดา การสงบระงับสังขารเหล่านั้นเป็นสุข

ฝ่ายพระธรรมยุตเพิ่มอีกคาถาหนึ่ง คือ สพฺเพ สตฺต มรนฺติ จ มรึสุ จ มริสฺสเร ตเถวาหํ มริสฺสามิ นตฺถิ เมเอตฺถ สํสโย = สัตว์ทั้งปวงจะตาย ตายแล้วและ จักตาย เราก็จักตายเช่นกันไม่มีความสงสัยในข้อนี้เลย

ผู้ที่เป็นต้นเหตุให้มีพระพุทธานุญาตให้พระงับ "คหบดีจีวร" (ผ้าสำเร็จรูปจากชาวบ้าน) ได้ คือ ชีวก โกมารภัจจ์ ท่านผู้นี้เป็นโอรสบุญธรรมของเจ้าฟ้าชายอภัย พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์ผู้ครองเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ชีวิตตอนเป็นเด็กถูกกดดันมากเพราะเป็น "ลูกไม่มีพ่อ" (ตามคำด่าว่าของเด็กๆ วัยเดียวกัน) จึงหนีไปศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณที่ตักสิลา

เรียนอยู่กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ๗ ปี อยากกลับบ้าน เรียนถามอาจารย์ว่าตนเรียนจบหรือยัง อาจารย์บอกว่า ไม่รู้เหมือนกัน เพราะเรียนไม่ต้องเสียค่าหน่วยกิต ไม่มีคาบการเรียนแน่นอน ทำงานรับใช้อาจารย์ไปด้วยศึกษาไปด้วย เรียกว่าเป็น "อันเตวาสิก" (ศิษย์ผู้อยู่ในสำนัก) จริงๆ

อาจารย์จึงออกข้อสอบอัตนัยข้อหนึ่งเพื่อทดสอบ ความรู้ของศิษย์ คือ "จงไปหารากไม้ ใบไม้ หรือเปลือกไม้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ที่ไม่สามารถทำเป็นยาได้ภายในรัศมี ๑ โยชน์รอบๆ สำนักนี้"

ชีวก โกมารภัจจ์ เดินดูไปจนทั่ว ไม่มีต้นไม้หรือสมุนไพรใดๆ ที่ใช้ทำยาไม่ได้เลย คือทำยาได้หมด จึงกลับมาหาอาจารย์ด้วยมือเปล่า อาจารย์บอกศิษย์ว่า ถ้าเช่นนั้น เธอเรียนจบแล้ว เขาจึงลาอาจารย์กลับบ้านเกิด อาจารย์ให้เงินมานิดหน่อยเพื่อเป็นค่าอาหารระหว่างทางไปได้ครึ่งทางเงินหมด จึงใช้วิชาความรู้ที่ตนเรียนมารักษาโรคคนไข้หายหลายราย ได้ค่า "บูชาครู" เป็นจำนวนมาก นำไปถวายพระบิดาเลี้ยง

บังเอิญช่วงนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรด้วยพระโรค "ภคันทรา" (แปลกันว่าโรคริดสีดวงทวาร) มีโลหิตไหลเปื้อนพระภูษาทรงทำให้รำคาญ ด๊อกเตอร์หนุ่ม ถวายการรักษาจนหาย ได้รับพระมหากรุณา แต่งตั้งเป็นแพทย์ประจำพระราชสำนัก และได้รับพระราชทานสวนมะม่วงเป็นบำเหน็จความดีความชอบ ชีวก โกมารภัจจ์ ได้ถวายสวนนั้นให้เป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา

พระเจ้าจันฑปัชโชตแห่งเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี ได้ส่งคนมาขอหมอชีวกไปถวายการรักษาพระโรคประหลาดที่ทรมานพระองค์มาเป็นเวลา ๗ ปี เมื่อหายประชวรแล้วทรงรำลึกถึงคุณหมอชีวก จึงทรงส่งผ้ากัมพลเนื้อละเอียดผืนใหญ่มาพระราชทานแก่หมอชีวก หมอชีวกเห็นว่าผ้านั้นไม่สมควรที่ตนจะใช้จึงนำไปถวายพระพุทธเจ้า

พระองค์ไม่ทรงรับตรัสว่า "เราตถาคตไม่อนุญาตให้พระรับคหบดีจีวรให้ใช้เฉพาะ "บังสุกุลจีวร" หมอชีวกจึงกราบทูลขอพระพรพุทธองค์ให้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับคหบดีจีวรด้วย เพื่อทายกทายิกาจะได้มีโอกาสทำบุญกุศล ก็ทรงอนุญาต โดยพระองค์ทรงรับผ้าจากหมอชีวกเป็นปฐม แม้จะรับคหบดีจีวรได้แล้ว พระเถระบางรูปก็ยังถือแต่ผ้าบังสุกุล ไม่รับคหบดีจีวร ดังเช่นพระมหากัสสปเถระ เป็นต้น

สมัยผมเป็นสามเณรน้อย ได้รับนิมนต์ไปสวด "บังสุกุลเป็น" โยมตาซึ่งป่วยหนักพร้อมกับพระภิกษุอีกหลายรูป จำได้ว่าเคยสวดบังสุกุลชนิดนี้เพี้ยนไม่กี่ครั้ง หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฎว่ามีคนมานิมนต์ไปสวดอีก เดี๋ยวนี้ยังมีสวดอีกหรือเปล่า ไม่ทราบ

ผู้หลักผู้ใหญ่เล่าว่า เวลาญาติพี่น้องป่วยหนัก เขามักจะไปนิมนต์พระมาสวดบังสุกุลเป็น ด้วยความเชื่อว่าหลังจากทำบังสุกุลเป็นแล้ว อาการเจ็บป่วยอาจทุเลาหรือหายขาดได้

บทสวดบังสุกุลเป็นมีสั้นๆ ว่า  อจิรํ วตยัง กายา ปฐวี อธิเสสฺติ     ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ  ไม่นานหนอ ร่างกายนี้ก็จะไร้วิญญาณ ถูกทิ้งไว้ ทับถมแผ่นดิน ดุจท่อนไม้ที่หาประโยชน์มิได้

ที่มาของพิธีกรรมสวดบังสุกุลตามนี้มาจากเรื่องพระปูติคัตตะ เล่ากันมาว่าพระภิกษุรูปหนึ่งป่วยเป็นโรคผิวหนังร้ายแรง เกิดตุ่มพุพองทั่วทั้งตัว มีหนองไหลเยิ้มส่งกลิ่นเน่าเหม็น จนพระเณรเรียกท่านว่า ปูติคัตตะ (พระร่างกายเน่า) ไม่มีใครใส่ใจดูแลรักษา

ท่านนอนแซ่วไร้ญาติขาดมิตร รอความตายอยู่บนแคร่ พระพุทธองค์ทรงทราบ จึงเสด็จพุทธดำเนินตรงไปยังสถานที่อยู่ของเธอมีพระอานนท์พุทธอุปฐากโดยเสด็จ เสด็จไปถึงก็รับสั่งให้พระอานนท์ต้มน้ำร้อนมาผสมทำน้ำอุ่น แล้วทรงเอาผ้าชุบน้ำอุ่น เช็ดร่างกายพระภิกษุรูปนั้น

เหล่าภิกษุสงฆ์เห็นพระพุทธองค์ทรงทำอย่างนั้น ก็ให้เกิดความร้อนใจ เข้ามารับอาสามาขอทำเอง แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ทรงเช็ดร่างกายของภิกษุไข้ โดยมิได้ทรงรังเกียจแม้แต่น้อยจนเธอมีร่างกายเบาสบายขึ้น

ภิกษุหนุ่มเต็มไปด้วยปีติปราโมทย์ที่ได้รับพระมหากรุณาอย่างใหญ่หลวงจากพระพุทธบิดา จิตของเธอสงบ แน่วแน่ พร้อมรับฟังพระพุทธโอวาท พระพุทธองค์ตรัสคาถา (โศลก) ข้างต้นให้เธอฟัง เธอพิจารณาตามกระแสพระพุทธดำรัสแล้วก็ "ดับจิต" ละโลกนี้ไปด้วยอาการสงบ

ชาวพุทธจึงนำเอาพุทธวจนะบทนี้มาใช้เป็นคาถาบังสุกุลเป็น สวดให้คนไข้หนักฟัง เผื่อว่าคนไข้จะมีอาการดีขึ้นจนหายสนิท หรือถ้าไม่หาย ดับจิตไปก็จะไปดีมีสุคติเป็นที่หวังในภพหน้า

ควันหลงจากเหตุการณ์ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์ตรัสสอนว่า พวกเธอออกมาบวชอยู่ในพระธรรมวินัยนี้ ต่างก็ทิ้งครอบครัว ญาติพี่น้องมาไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ เมื่อพวกเธอไม่ดูแลกันเองยามเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วใครจะดูแลเล่า

แล้วตรัสต่อว่า ผู้ใดถ้าอยากปรนนิบัติพระพุทธองค์ก็คงปรนนิบัติภิกษุไข้เถิด

บอกเป็นนัยว่า พยาบาลภิกษุไข้ได้บุญเท่ากับพยาบาลพระพุทธองค์ อะไรทำนองนั้น



ถวายอดิเรก
ผู้ที่ฟังรายการถ่ายทอดงานพระราชพิธีต่างๆ คงจะเคยได้ยินหรือโฆษกี (คำหลังนี้เป็น "คำล้อ" นะครับ จริงๆ เขาไม่ใช้ดอก) รายงานว่า พระราชาคณะถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก

อดิเรก มาจากบาลีว่า อติเรํก (นักบาลีไวยากรณ์ไทยว่ามาจาก อติ+เอก=อติเรก)

แต่นักบาลีไวยากรณ์ฝรั่งบอกว่า มาจาก อติ+ริจฺ=อติเรก) คนไทยมักไม่ค่อยคุ้น แต่ถ้าได้ยินคำว่า ดิเรกละก็พอรู้ เพราะคำนี้นำมาตั้งชื่อบุคคลกันบ่อย อดิเรก กับ ดิเรก ก็คำเดียวกันนั่นแหละ

เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว ก็จะถวายอนุโมทนาและถวายอดิเรก พระราชาคณะต้นแถวจะเป็นผู้กล่าวคำบาลีถวายพระพรให้ในหลวงทรงเจริญพระชนมพรรษา เกิน ๑๐๐ พรรษา

บาลีขึ้นต้นด้วยคำว่า อติเรกวสฺสสตํ จึงเรียกคำถวายพระพรนี้ว่า "ถวายอดิเรก"

มีผู้เล่าประวัติว่า พระมหาสอน สอบเปรียญธรรมได้ ๙ ประโยค ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระอุดมปิฎก ในสมัยรัชกาลที่ ๓

ภายหลังท่านได้ย้ายกลับไปอยู่ที่จังหวัดพัทลุงบ้านเดิมของท่าน ได้รับนิมนต์ให้เข้าร่วมในพระราชพิธีในวังหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ จึงตรัสขอพร

ท่านจึงกล่าวคำถวายพระพรสดๆ ว่า อติเรกวสฺสสตํ ชีว ด้วยเหตุที่ท่านกล่าวสดๆ ทันทีทันใดจึงต้องว่าซ้ำๆ กันในตอนแรก

พระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัยมาก จึงทรงให้ถือเป็นพระราชประเพณีว่า พระที่ถวายอดิเรกต้องเป็นพระราชาคณะเท่านั้น และได้ถือเป็นแบบอย่างมาจนบัดนี้

ตกถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงเปลี่ยนชีว เป็นชีวตุ นอกนั้นคงไว้เหมือนเดิม

นี้คือที่มาของคำถวายอดิเรก แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน เป็นเพียงคำบอกเล่าต่อๆ กันมา

ถ้าตามนี้ แสดงว่าการถวายอดิเรก เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ท่านอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ บอกว่า มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ไม่เชื่อให้ไปอ่าน "สาส์นสมเด็จ" ท่านว่าอย่างนั้นเผอิญผมยังค้นไม่พบ ท่านผู้ใดพบหลักฐานแน่ชัดจะแผ่เมตตากรุณามาถึงคอลัมน์นี้ก็ยินดีขอรับ

คำถวายอดิเรกมีดังนี้ครับ (ขอเขียนแบบไทยเพื่อให้อ่านง่าย)

อะติเรกะวัสสะสะตัง ชีวะตุ, อะติเรกะวัสสะสะตัง ชีวะตุ, ทีฆายุโก โหตุ อะโรโค โหตุ, ทีฆายุโก โหตุ อะโรโค โหตุ, สุขิโต โหตุ ปะระมินทะมหาราชา, สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง สิทธิลาโภ ชะโย นิจจัง, ปะระมินทะมหาราชะวะ รัสสะ ภะวะตุ สัพพะทา,

ขอถวายพระพร



อินทรีย์-อินทรียสังวร
ชาวบ้านเคยได้ยินแต่ "อินทรี" อันเป็นชื่อนกยักษ์ชนิดหนึ่ง แต่อินทรีย์ (ย ยักษ์การันต์) คงไม่ค่อยได้ยิน คำนี้เป็นภาษาพระ ใช้ในวงการพระศาสนาจนชิน เช่น สำรวมอินทรีย์

อินทรีย์ ตามศัพท์แปลว่า ความเป็นใหญ่ สภาพที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ท่านพูดถึงอายตนะภายใน (สื่อสำหรับติดต่อภายในตัวคนเรา ๖ ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าเป็น "อินทรีย์ (๖")

อธิบายว่า ตาเป็นใหญ่ในเรื่องการดู หูเป็นใหญ่ในเรื่องการฟัง จมูกเป็นใหญ่ในเรื่องการสูดกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในเรื่องการลิ้มรส กายเป็นใหญ่ในเรื่องการสัมผัส ใจเป็นใหญ่ในเรื่องการคิดคำนึง เพราะฉะนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ละอย่างจึงเป็น "อินทรีย์" คือ ใหญ่ในหน้าที่ของตน จะไปใหญ่ในเรื่องที่มิใช่หน้าที่มิได้

การสำรวมอินทรีย์ ก็คือ สำรวม ระมัดระวังในเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้ตกเป็นทาสของสิ่งที่เห็น ได้ยิน เป็นต้น

ท่านพูดถึง ธรรมะ๕ ประการว่า เป็น "อินทรีย์ 5" คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา โดยอธิบายว่า

ศรัทธา ความเชื่อมั่น เป็นใหญ่ในด้านความเชื่อที่มีเหตุผล ครอบงำเสียซึ่งความไร้เหตุผลหรือมงคลตื่นข่าว

วิริยะ ความพากเพียร เป็นใหญ่ในเรื่องความพยายาม ความกล้าหาญที่จะเอาชนะอุปสรรค ครอบงำเสียซึ่งความเกียจคร้าน

สติ ความระลึกได้ เป็นใหญ่ในเรื่องความระลึกได้ ความยับยั้งใจ ครอบงำเสียซึ่งความประมาทเผอเรอ

สมาธิ ความตั้งมั่นแห่งจิต เป็นใหญ่ในด้านความแน่วแน่แห่งจิต ครอบงำเสียซึ่งความฟุ้งซ่าน

ปัญญา ความรู้ตามสภาพเป็นจริง เป็นใหญ่ในการวินิจฉัยด้วยเหตุด้วยผล ครอบงำเสียซึ่งความหลงงมงาย ยึดติดในเรื่องผิดๆ

แต่ละอย่างต่างก็เป็น "อินทรีย์" คือใหญ่ในหน้าที่หรือภารกิจของตนเอง

ในด้านการปฏิบัติ ท่านให้ "ทำอินทรีย์ให้สมดุล" คือปรับให้ธรรมะทั้ง ๕ ข้อนี้ได้ดุลกัน ศรัทธาต้องได้ดุลกับปัญญา จึงจะดี ถ้าศรัทธามากปัญญาน้อยจะงมงาย ปัญญามากศรัทธาน้อยจะ "ตะแบง" ไม่ฟังใคร วิริยะกับสมาธิต้องได้ดุลกัน ถ้าวิริยะมากสมาธิน้อยจะฟุ้งซ่าน สมาธิมากวิริยะน้อยจะเกียจคร้าน (ติดสุข) จึงควรปรับให้สมดุลกันจึงจะดี

สติอย่างเดียว ไม่ต้องปรับเข้ากับธรรมะข้อใด ยิ่งมีมากเท่าไร ยิ่งดีแล



เสพติด-เสพย์ติด
มีคนผู้เป็นห่วงเรื่องการใช้ภาษาว่า ยาที่กินแล้วทำให้ติดเรียกว่า "เสพย์ติด" (มี ย การันต์) ไม่ใช่ "เสพติด" (ไม่มี ย การันต์) ที่ถูกเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่บังเอิญปล่อยให้คนเขียนว่า "เสพติด" มานาน ไม่มีใครทักก็เลยไม่มีใครรู้ว่า มันผิดและใช้ตามๆ กันมาจนร่ำๆ ราชบัณฑิตยสถานจะยอมรับว่า "เป็นคำเพี้ยนที่ใช้ได้"

(ระวัง นี่คือ "มนต์ขลัง" ของราชบัณฑิตฯ)

บังเอิญว่าระยะนี้เขากำลังรณรงค์เพื่อต่อต้านยาที่กินเข้าไป (รวมถึงสูดดม ฉีด ฯลฯ ด้วย) แล้วทำให้คนติด ก็ร่วมมือกันดีตั้งแต่รัฐบาลจนถึงองค์กรเอกชน และประชาชนทั้งหลายสื่อต่างๆ ก็ร่วมมือ ในการรณรงค์เพื่อปราบยาม้า ยาบ้า จนจะ "บ้า" กันทั้งเมือง

ขับรถผ่านไปตามถนนใหญ่ เห็นป้ายโฆษณาต่อต้านยาบ้าตัวโตเบ้อเร่อว่า "ยาบ้า คนเสพย์ตาย คนขายติดคุก" นี่แสดงว่าภาครัฐบาลท่านมีความประสงค์ดีอยากจะให้ช่วยกันเขียนภาษาไทยให้ถูกต้อง นับเป็นความปรารถนาดี

แต่ปรารถนาดีผิดพลาด เหมือนความปรารถนาดีของเณรน้อยต่อขรัวตานั่นแล

เณรน้อยเห็นแมลงวันตัวโตเกาะจมูกขรัวตา ด้วยความปรารถนาดี เอาสากทุบจมูกขรัวตาเต็มเหนี่ยว

ผลเป็นยังไงคงคาดเดากันได้

คำว่า เสพ เป็นคำกริยา แปลว่ากิน ดื่ม บริโภค เช่น นายจำลองเสพสุรา (แปลว่านายจำลองดื่มสุรา) นายวินัยเสพเมถุน (แปลว่านายวินัยบริโภคกาม) ถ้าเป็นคำนาม (อาการนาม) ใช้ว่า "การเสพ" เช่น "การเสพสุราเมรัยไม่ดี"

คำว่า เสพย์ (เสพฺย) แปลว่า พึงเสพ ส่วนมากใช้เป็นคำวิเศษณ์ หรือ adjective เช่น นายนิกรเสพยาเสพย์ติด (แปลว่านายนิกรเสพยาที่พึงเสพแล้วทำให้ติด)

เพราะฉะนั้น การใช้ว่า "ยาบ้า คนเสพย์ตาย" นั้นผิด ที่ถูกคือ "ยาบ้า คนเสพตาย" และคนขายติดคุก ที่ติดคุกเพราะเป็นยา "เสพย์ติด" ผิดกฎหมาย ถ้า ฯพณฯ มท.๖ จู่โจมจับมาได้มีหวังติดคุกแน่

เสียดายว่า จับใหญ่คราวนั้น (เมื่อไม่นานมานี้) ได้ขี้ยามาเพียงคนเดียว และยาบ้าไม่กี่เม็ด

ป.ล.เดี๋ยวนี้ใช้เสพติดอย่างเดียวแล้ว  


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)



หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 พฤษภาคม 2561 14:04:20

(https://pbs.twimg.com/media/CUkOYLtUkAA4yGh.jpg)
เผด็จ
เผด็จ พจนานุกรมแปลว่า ก. ตัด, ขจัด, ขาด, กำราบ, ปราบ

เผด็จการ ก. ใช้อำนาจบริหารงานเด็ดขาด; น. เรียกประมุขของประเทศที่ใช้อำนาจบริหารเด็ดขาดว่า เผด็จการ

เผด็จศึก ก. ทำให้การรบหรือต่อสู้สิ้นสุดลง, กำราบหรือปราบให้ราบลง

เผด็จสวาท หักโหมหรือปลุกปล้ำเอาเป็นเมีย, ข่มขืนชำเรา

พจนานุกรมที่ว่านี้คือ พจนานุกรมไทย ของมานิต มานิตเจริญ และหาฉบับราชบัณฑิตยสถานก็คว้าหาไม่พบ แต่ก็เชื่อว่าคำนิยามคงไม่ต่างกัน

ผมหาความหมายที่ผมเคยรับทราบ แต่ไม่ยักมีในพจนานุกรมฉบับใด สมัยบวชเป็นเณรน้อยเรียนแปลบาลี (ธัมมปทัฏฐกถา หรืออรรถกถาธรรมบท) อาจารย์ท่านมักจะบอกว่า ให้ดูเผด็จมาก่อน ไม่ดูมาก่อนมักจะแปลผิดๆ ถูกๆ อย่างนี้แหละ

"เผด็จ" ของท่านคือ หนังสือแปลเป็นไทย ที่เขาพิมพ์ควบคู่กันกับฉบับภาษาบาลี

เมื่อผมเข้าสอบแปลบาลีประโยคสามครั้งแรก สอบที่สนามสอบวัดธาตุพนม ในบริเวณวิหารคดรอบพระธาตุพนม ข้อสอบให้แปลบาลีโดยพยัญชนะ (แปลตามตัวอักษร) และแปลโดยอรรถ (แปลเอาความ)

พอออกจากสนามสอบอาจารย์ผมก็ดักถามว่าเป็นยังไง ข้อสอบออกตรงตามที่ "เก็ง" ไว้พอดีประโยคว่า มนํ นฏฺโฐ แปลว่า ฉิบหายแล้วหน่อยหนึ่ง "มนํ" แปลว่าหน่อยหนึ่งนะ ถ้าเธอแปลว่าใจละก็เสร็จแน่

เมื่อผมเรียนอาจารย์ว่า ผมไม่ได้แปลอย่างที่ท่านบอก ท่านร้อง ฮ้า ด้วยความตกใจ (กลัวลูกศิษย์สอบตก) "แล้วแปลยังไง" ผมเรียนท่านว่า ผมแปลว่า "พระสุนทรสมุทรเกือบเสียตัว"

ผมยืนยันว่าผมอ่านเผด็จมาก่อน เผด็จเขาแปลอย่างนี้ กลับถึงที่พักที่เขาจัดไว้สำหรับพระมาสอบ อาจารย์ผมถามหาว่าใครนำเอาเผด็จภาค ๘ มาบ้าง เมื่อได้แล้วก็นั่งเปิดๆ ดูแล้วก็ร้องว่า "เออ จริงของเณรมัน เผด็จแปลอย่างนั้นจริงๆ" เป็นอันว่าปีนั้นผมสอบได้เป็นมหาเณร

เผด็จ ที่อาจารย์และผมพูดนี้ หมายถึงหนังสือแปลเป็นภาษาไทยครับ สงสัยว่าจะใช้เฉพาะในวงการพระ ไม่เคยได้ยินชาวบ้านพูดถึงกัน วันหนึ่งผมแวะไปที่โต๊ะ "เกจินู้ด" ถามแกว่า "หนังเรื่องเอวิต้า มีเผด็จไหม" เพื่อนตอบทันทีว่า "มี มีหลายฉาก" ผมหมายถึงว่าบทหนังเรื่องนี้มีฉบับแปลไทยไหม แต่เพื่อนเข้าใจว่าหมายถึง "บทเผด็จสวาท"

พูดคนละเรื่องเดียวกันแท้ๆ



อันติมวัตถุ
ภาษาบาลีกับภาษาฝรั่งเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน คือเป็นภาษา "อินโดยุโรป" เวลาฝรั่งหันมาสนใจภาษาบาลี หรือสันสกฤต จึงเรียนได้เร็วและกลายเป็น ผู้เชี่ยวชาญในภาษานี้ง่ายขึ้น

ริส เดวิดส์ ฝรั่งอังกฤษไปเห็นคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ลังกา อยากรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไรบ้าง ลงทุนเรียนบาลีอยู่ ๗ ปี กลับลอนดอนหอบคัมภีร์พระไตรปิฎกบางส่วนไปด้วย ถอดจากอักขระสิงหลเป็นอักขระโรมัน พิมพ์เป็นเล่มสมุดทีละเล่มสองเล่ม เขาและ "แฟน" (ต่อมาแต่งงานกัน) ร่วมกันก่อตั้ง "สมาคมบาลีปกรณ์" (The Pali Text Society) เดี๋ยวนี้สมาคมนี้เป็นที่ชุมนุมนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนามากมาย ผลงานที่ลือชื่อก็คือ พระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ เป็นที่อ้างอิงของผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาทั่วโลก

ที่เกริ่นยาวนี้ก็เพียงเพื่อจะบอกว่า คำศัพท์ที่ผมจะพูดถึงวันนี้ ถ้านึกถึงคำฝรั่งแล้วจะเข้าใจทันทีว่าแปลอย่างไร อันติม ก็คือ ultimate นั่นเอง วัตถุ ก็คือเรื่อง, เรื่องราว, อันติมวัตถุ ก็คือเรื่องที่ถึงที่สุด เรื่องที่ทำให้ถึงจุดสุดท้าย ในที่นี้พระพุทธเจ้าทรงหมายเอา อาบัติ (ความผิด) ของพระขั้นอุกฤษฏ์ คือขั้นที่ล่วงละเมิดแล้วภิกษุภาวะถึงที่สุดทันที ขาดจากความเป็นพระทันที

เมื่อครั้งอดีตพระดังนาม วินัย อมโร สร้างความอื้อฉาวถูกร้องเรียนว่าต้องปฐมปาราชิก ในขณะที่พระกรรมการชั้นต้น สอบสวนกันอย่างเอ้อระเหยลอยลม และแบบอนุเคราะห์สงเคราะห์กัน มหาเถรสมาคมนำเรื่อง "สลิปรักทะเลใต้" ไปพิจารณาแล้วตัดสินว่า วินัย อมโร ต้อง "อันติมวัตถุ" แล้ว ความหมายของท่านก็คือต้องอาบัติปาราชิกแล้ว จึงมีคำสั่งให้สละเพศ

ผู้ไม่รู้ หรือรู้แต่แกล้งไม่รู้ จึงตะแบงว่า มหาเถรสมาคมมิได้บอกว่าต้องปาราชิก จึงไม่ต้องสึก ทั้งนี้ ก็เพราะท่านใช้ศัพท์สูงไปหน่อย คนหัวหมอจึงได้ช่อง แต่ผู้รู้เรื่องนี้มีมาก จึงตะแบงไม่ขึ้น

อันติมวัตถุในพระวินัยมี ๔ ประเด็น หรือ ๔ เรื่อง คือ ภิกษุเสพเมถุน ภิกษุลักทรัพย์มูลค่า ๕ มาสกขึ้นไป ภิกษุฆ่ามนุษย์ (ฆ่าสัตว์ผิดเหมือนกัน แต่ไม่ถึง "อันติมะ") ภิกษุอวดอุตริมนุสธรรม (อวดว่าตนเองบรรลุคุณธรรมชั้นเยี่ยม เช่น ได้ญาณหยั่งรู้ เป็นพระอริยบุคคลชั้นนั้นชั้นนี้)

ถ้าละเมิดข้อใดข้อหนึ่งในจำนวน ๔ ข้อนี้ ภิกษุภาวะขาดทันที ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาโจทก์ฟ้องร้อง ถ้ายังขืนครองจีวรต่อไป ก็เท่ากับเป็นมหาโจรลวงหลอกโลกหลอกให้เขาเชื่อว่าเป็นพระ

เป็นบาปมหันต์  



สมุทัย-สมุฏฐาน
เคยได้ยินบางคนที่ไม่ค่อยสันทัดในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เขียนอริยสัจข้อที่สองว่า สมุหทัย และอ่านว่า "สะหมุหะไทย" ก็นึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะผู้เขียนผู้พูดอาจไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไร แต่วันหนึ่งขณะเดินชมป้ายนิทรรศการของวัดแห่งหนึ่งเกี่ยวกับอริยสัจ ๔ ประการที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เห็นป้ายเขียนว่า ทุกข์ สมุหทัย นิโรธ มรรค

เป็นนิทรรศการที่ท้องสนามหลวง ในสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชาครับ ป้ายนั้นจัดทำโดยพระภิกษุสามเณรในวัดนั้นด้วย จึงมิใช่เรื่องเล็กเสียแล้วละครับ พระสงฆ์องค์เจ้าที่ผู้คนคิดว่ารู้เรื่องดีที่สุด ท่านยังพลาดได้ มิจำต้องพูดถึงคนทั่วไปก็ได้

อริยสัจข้อที่สอง เขียนว่า สมุทัย อ่านว่า "สะมุไท" หรือ "สะหมุไท" แปลตามตัวอักษรว่า การเกิดขึ้นพร้อมแห่งทุกข์ มาจาก สํ (พร้อม) - อุทัย (การเกิดขึ้น) = สมุทัย แปลโดยอรรถ (คือแปลเอาความหมาย) ว่าสาเหตุแห่งทุกข์

สาเหตุแห่งทุกข์คือ ตัณหา (ความทะยานอยาก) สามประการ คือ กามตัณหา (อยากในกาม, อยากได้อยากมีอยากเป็น) ภวตัณหา (อยากในภพ, ได้แล้วมีแล้วเป็นแล้ว ถ้าเป็นที่น่าพอใจ ก็อยากให้มันคงอยู่นานๆ) และวิภวตัณหา (อยากไม่มีอยากไม่เป็น, ในกรณีที่เกิดความเบื่อหน่ายสภาวะนั้นก็อยากสลัดทิ้งไป)

เขียนว่า สมุทัย อ่านว่า "สะมุไท" หรือ "สะหมุไท" ครับ

คำที่สองพบในหน้าหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันอังคารที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๐ นี้เอง คนกันเองแท้เทียว คอลัมน์เบื้องหลังข่าวคือคน พาดหัวเรื่องตัวเป้งว่า ท้วงนักเลง "เหนาะ" ด้วยรัก รักจะแก้ปัญหา "แรงงาน" ต้องเข้าใจสมุหฐานแห่ง "โรค" มิฉะนั้นก็อาจจะให้ยาผิดได้

ผู้เขียนคงต้องการเขียนคำว่า สมุฏฐาน คำนี้มาจาก สํ (พร้อม) -อุฏฐาน (การตั้งขึ้น, การเกิดขึ้น) = สมุฏฐาน แปลตามศัพท์ว่า การตั้งขึ้นพร้อม แปลโดยอรรถว่า สาเหตุ หรือต้นเหตุ

ทั้งสองคำนี้พจนานุกรมไทยให้อ่านว่า "สหมุไท" และ "สะหมุดถาน" แต่ผมชอบที่จะอ่านว่า "สะมุไท" และ "สมุดถาน"



ภูติ-สัมภเวสี
คนทั่วไปเข้าใจว่า ภูต หมายถึงผี บางทีเรียกรวมกันว่า ภูตผี สัมภเวสี หมายถึง ผีที่ร่อนเร่หาที่เกิด โดยคำหลังนี้เชื่อกันว่า เวลาคนตาย "วิญญาณ" ล่องลอยออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่ ขณะยังหาที่เกิดไม่ได้เรียก สัมภเวสี

ลองมาดูความหมายทางพระพุทธศาสนาดูว่าเหมือนกับที่ชาวบ้านเข้าใจไหม

ภูต แปลว่า สัตว์ที่เกิดแล้ว เป็นตัวเป็นตนเต็มที่แล้ว

สัมภเวสี แปลว่า สัตว์แสวงหาที่เกิด

ภูต กับ สัมภเวสี ต่างกันโดย


ก.กำหนดเอาสภาวะหรือสภาพจิตเป็นตัวแบ่งแยกความแตกต่าง คือ สภาพจิตของปุถุชนและพระเสขะที่ละกิเลสไม่ได้หมด (ในที่นี้หมายเอาเฉพาะพระโสดาบันและพระสกทาคามี) เป็นสัมภเวสี สภาพจิตของพระอรหันต์ เรียกว่า ภูต

ข.กำหนดเอาระยะเวลา เป็นตัวแบ่งแยกความแตกต่าง คือ ขณะสัตว์อยู่ในครรภ์หรือไข่เป็นสัมภเวสี คลอดออกมาจากครรภ์หรือไข่แล้วเป็นภูต

หรือในจำพวกสัตว์ผุดเกิด (เช่น เทวดา สัตว์นรก) ขณะจิตแรกหรืออิริยาบถแรกที่เกิดขึ้นเรียกสัมภเวสี หลังจากขณะจิตแรก หรือหลังจากเปลี่ยนอิริยาบถเป็นภูต

ในบทแผ่เมตตาตอนหนึ่งว่า ภูตา วา สัมภเวสี วา สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา แปลว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นภูต หรือสัมภเวสี ขอให้จงมีตนประสบความสุขเถิด

มิได้หมายความว่าแผ่เมตตาให้ภูตผี หรือวิญญาณเร่ร่อน ตามความเข้าใจของคนทั่วไป หากหมายถึงแผ่ให้ทั้งคนทั้งสัตว์ดังตามความหมายในข้อ ก และข้อ ข ข้างต้น

เฉพาะสัมภเวสีที่แปลว่า "เร่ร่อนหาที่เกิด" มิได้หมายเอา "วิญญาณเร่ร่อน" เพราะแนวคิดเรื่องวิญญาณเร่ร่อนไม่มีในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเชื่อว่าพอตายลงจิตหรือวิญญาณก็ดับ (ขันธ์ ๕ = รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณดับหมด) แต่ดับปุ๊บก็เกิดปั๊บในภพใหม่ทันที จะเกิดเป็นอะไรแล้วแต่กรรมที่ทำจะจัดสรรให้เป็นไปเอง

ไม่มีช่องให้วิญญาณเร่ร่อนไปที่ไหน ส่วน "ผี" ที่คนพบเห็นบางครั้งบางคราวนั้น เป็นสัตว์ (being) ชนิดหนึ่ง

ทางพระเรียกว่า อสุรกาย



ปานะ-อัฐบาน
ปานะ แปลว่าน้ำดื่ม แขกปัจจุบันนี้เรียกว่า "ปานี" (มาจากคำว่าปานียะ = น้ำควรดื่ม) เวลาบ๋อยจะเสิร์ฟน้ำ จะถามก่อนว่า "กะลัมปานี" (น้ำร้อนไหม) หรือ "ฑัณฐาปรนี" (น้ำเย็นไหม) เราจะเอา กะลัม หรือฑัณฐา ก็บอกเขาไป

สมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุฉันน้ำที่คั้นจากผลไม้บางชนิดได้ เรียกว่า "ปานะ" มีอยู่ ๘ อย่าง เรียกว่า "อัฐปานะ" (หรือ "อัฐบาน") คือ

๑.อัมพปานะ = น้ำคั้นผลมะม่วง
๒.ชัมพุปานะ = น้ำคั้นผลชมพู่หรือผลหว้า
๓.โจจปานะ = น้ำคั้นผลกล้วยมีเมล็ด สงสัยจะเป็นกล้วยตานีอะไรพวกนั้น
๔.โมจปานะ = น้ำคั้นผลกล้วยไม่มีเมล็ด
๕.มธุกปานะ = น้ำคั้นผลมะปราง
๖.มุททิกปานะ = น้ำคั้นลูกจันทร์ หรือองุ่น
๗.สาลุกปานะ = น้ำคั้นเหง้าอุบล
๘.ผารุสกปานะ = น้ำคั้นผลมะปรางหรือลิ้นจี่

เข้าใจว่า ต้องเติมน้ำด้วยจึงจะดื่มเป็นน้ำได้ ถ้าไม่เติมน้ำ (เพราะไม่เห็นบอกไว้นี่ว่าต้องเติมน้ำ) ก็คงไม่ผิดอะไร แต่จะข้นไป แทนที่จะเป็นการ "ดื่ม" น้ำ จะกลายเป็นการ "กิน" น้ำไป

ถ้าจะมีใครสักคนคิดมาก พูดว่า ไม่ว่าจะคั้นแล้วกินน้ำหรือ "จู๊ส" มัน หรือเคี้ยวมันก็ไม่น่าจะต่างอะไรกัน เพราะต่างก็เป็นอาหารเหมือนกันที่เคี้ยวๆ กินนั้น ในที่สุดมันก็กลายเป็นน้ำเหมือนกัน

พูดอีกนัยหนึ่งเคี้ยวกินกล้วย กับเอากล้วยมาคั้นกินน้ำ มันก็เท่ากัน แล้วเพราะเหตุอันใด เวลาพระเคี้ยวกล้วยกินจึงผิด (ต้องอาบัติ) แต่เวลาคั้นกินน้ำมันกลับบอกว่าไม่ผิด ไม่ต้องอาบัติ

คำตอบก็คือ ถึงจะมีคุณค่าอาหารเท่ากัน การเคี้ยวกินดูไม่เหมาะและขัดกับข้อบัญญัติว่า ห้ามฉันอาหารมื้อเย็น (ฉันเวลาเลยเพลนะครับ ไม่เกี่ยวอาหารร้อน หรืออาหารเย็น) แต่การดื่มผลไม้ที่คั้นเป็นน้ำแล้วดูดีกว่า

ว่ากันจริงๆ แล้ว การกินข้าวเย็น ไม่ใช่บาปจริงๆ เป็นเพียงบัญญัติให้เป็นบาป หรือเป็นความผิดของคนกลุ่มหนึ่งที่ถือบวชเท่านั้น เพราะคนกลุ่มนี้ต้องอาศัยคนอื่นเลี้ยงชีพ กินน้อยมื้อจะดี จะได้ไม่เป็นการรบกวนคนอื่น

ถ้าการกินอาหารในเวลาเย็นบาปจริง ชาวบ้านอย่างคุณอย่างผมก็ต้องบาปด้วย และบางวันบาปหลายมื้อด้วย ใช่หรือเปล่า



เถร-เถร
คํานี้แปลว่า "ผู้มั่นคง" แปลตามศัพท์นะครับ มาจากคำเดิมว่า ถิร สันสกฤตว่า สฺถิร เมื่อแผลงเป็นคำไทยจึงเป็น เสถียร เช่น เสถียร จันทิมาธร (จันทิมาธร ผู้มั่นคง หรือ ผู้มั่นคงแห่งตระกูลจันทิมาธร)

ถ้าเป็นคำตั้ง ซึ่งจะต้องมีคำอื่นมาต่อท้าย (อันเรียกตามศัพท์ไวยากรณ์ว่า "สมาส") ท่านจะเขียนว่า เถร- ให้อ่านว่า "เถ-ระ" เมื่อต่อท้ายแล้วเครื่องหมาย - จะหายไป เช่น

เถรภาษิต, (มหา) เถรสมาคม, เถรคาถา, เถรภูมิ, เถรวาท

คำเหล่านี้อ่านว่า "เถ-ระ-พา-สิด", "เถ-ระ-สะ-มา-คม", "เถ-ระ-คา-ถา", "เถ-ระ-พูมิ", "เถ-ระ-วาด" ตามลำดับ

ผู้ที่ได้รับเกียรติว่าเป็นเถระ ตามพระวินัยจะต้องเป็นภิกษุมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป ดังเช่นผู้จะได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌายะจะต้องเป็นภิกษุระดับเถระ (คือมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป)

ส่วนในทางธรรม อายุพรรษาไม่สำคัญ ถ้ามีคุณครบแม้สามเณรก็นับเป็นพระเถระได้ดังสามเณรอรหันต์หลายรูปในสมัยพุทธกาล ได้รับการเรียกขานว่าเป็น "เถระ" มีพุทธภาษิตรับรองไว้ว่า

บุคคลไม่เรียกว่าเป็นเถระ เพียงเพราะศีรษะหงอก
เขาแก่แต่วัยเท่านั้น เรียกได้ว่า "แก่เปล่า"
ส่วนผู้ที่มีสัจจะ มีธรรม ไม่เบียดเบียนใคร สำรวม
มีความข่มใจเป็นผู้บริสุทธิ์ และฉลาด เรียกว่า "เถระ"

(ธรรมบท คาถาที่ ๒๐๖-๑)

ถ้าคำ เถร อยู่ท้ายสมาส ให้อ่านออกเสียงว่า "เถน" ความหมายเหมือนข้างต้น เช่น เถรส่องบาตร ออกเสียงว่า "เถน-ส่อง-บาด" สมณศักดิ์พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระจะลงท้ายด้วยคำว่า เถรเป็นส่วนมาก เช่น พระอุดมวิชาญาณเถร พระวิสุทธิสารเถร พระโพธิญาณเถร อ่านออกเสียงว่า "เถน" ทั้งนั้น

เมื่อคราวพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา) ผมและคุณรวงทอง ยศธำรง เป็นพิธีกรถ่ายทอดสดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ คุณรวงทอง ถามผมว่า สมณศักดิ์หลวงปู่อ่านอย่างไร ผมบอกว่าอ่านลงท้ายว่า "เถน"

เมื่อเธออ่านออกอากาศ หลายคนทักภายหลังว่าไม่ถูกต้อง ควรอ่านว่า "เถระ" จึงจะถูก พิธีกรน่าจะศึกษาให้ดีก่อน จะได้ไม่ "ปล่อยไก่" กลางอากาศ

ขอเรียนว่า ผู้ทักท้วงนั่นแหละเป็นคนปล่อยไก่ ไก่ตัวโตเสียด้วย ทราบแล้วเปลี่ยน



เถน-เถน
สองคำนี้เขียนต่างกัน บางกรณีอ่านเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน เช่น มหาเถร (ร สะกด) อ่านว่า "มะ-หา-เถน" มหาเถน (น สะกด) อ่าน "มะ-หา-เถน" เหมือนกัน คำแรกแปลว่า พระเถระผู้ใหญ่ คำหลังแปลว่า โจรผู้ใหญ่

มีสมณศักดิ์ของพระภิกษุบางตำแหน่งลงท้ายด้วยคำว่า เถร (ไม่ประวิสรรชนีย์) เช่น พระโพธิญาณเถร พระวิสุทธิสารเถร อ่านว่า "พระ-โพ-ธิ-ยาน-เถน" และ "พระ- วิ-สุด-ทิ-สา-ระ-เถน" ตามลำดับ

หรือสำนวน (หรืออะไรก็แล้วแต่) ว่า "เถรส่องบาตร" ก็อ่านว่า "เถน-ส่อง-บาด" นี้คือคำอ่านที่ถูกต้อง (ที่สุดในโลก)

คำว่า เถร ถ้าเป็นคำตั้ง ที่จะต้องสมาสกับคำอื่น แน่นอนต้องอ่านลงท้ายว่า "เถ-ระ" เช่น มหาเถรสมาคม ต้องอ่านว่า "มะ-หา-เถ-ระ-สะ-มา-คม" ไม่อ่าน "มะ-หา-เถน-สะ-มา-คม" เป็นอันขาด

ความหมายที่แท้จริงของ เถร แปลว่า ผู้มั่นคง เพราะคำนี้มาจาก ถิร หมายถึงผู้มั่นคงในคุณธรรม พูดถึงคุณธรรมหรือธรรมะก็ออกจะกว้าง แต่ถ้าดูตามพุทธวจนะที่ตรัสไว้ จะทราบชัดว่าคุณสมบัติของ เถระ มีอะไรบ้าง

พุทธวจนะในคาถาพระธรรมบทให้คำจำกัดความของ เถระ ว่า

"เพียงมีผมหงอก ยังไม่นับเป็นเถระ เขาแก่แต่วัยเท่านั้น

คนเช่นนี้เรียกว่า "คนแก่เปล่า"

ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม มีอหิงสา สำรวม มีทมะ ฉลาด ปราศจากมลทิน ผู้นี้แลเรียกว่า เถระ"

สัจจะในที่นี้มิใช่การพูดเท็จ แต่เป็นอริยสัจ ๔ ธรรมะ คือ นวโลกุตรธรรม อหิงสาหมายถึงมีพรหมวิหารธรรมหาประมาณมิได้ สำรวมหมายถึงมีศีล และทมะหมายถึงระมัดระวังการแสดงออกทางตาหูจมูก เป็นต้น ฉลาดหมายถึงมีญาณตรัสรู้ หมดมลทินหมายถึงหมดกิเลส

สรุปแล้ว คนที่จะเรียกว่าเถระ มิใช่ธรรมดาต้องเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจ ๔ มีโลกุตรธรรม ๙ มีพรหมวิหาร มีศีลและสำรวมอินทรีย์ หมดกิเลส พูดให้สั้นก็คือ พระอรหันต์เท่านั้นจึงจะเป็น เถระ ในความหมายที่แท้ พระอรหันต์ถึงจะมีอายุน้อย เช่น สามเณรอรหันต์ก็เป็นเถระได้ ปุถุชนไร้คุณธรรม หรือมีคุณธรรมไม่ถึงขั้น ถึงจะอายุมากก็ไม่มีสิทธิเป็น เถระ อย่างมากก็เรียกว่า คนแก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นานนั้นแล

ที่เราเรียกผู้เฒ่าว่า เถระนั้นเถระนี้เราอนุโลมเอาครับ ถ้าเถระอนุโลม เลอะมากๆ อาจกลายเป็น เถน (ขโมย) ได้โดยไม่ยากแล


โดย-แต่งโดย
สมัยเป็นสามเณรน้อยอยู่วัดภาคอีสาน มีหลวงปู่คู่วัดคู่บ้านอายุ ๙๐ กว่า อยู่รูปหนึ่ง ชื่อหลวงปู่นนท์ อายุปูนนั้นแล้ว หูตายังใช้การได้เหมือนคนหนุ่ม เดินเหินคล่อง เวลาพระเณรพูดกับท่าน จะใช้คำโบราณอยู่หลายคำ ผมจำไม่ได้ จำได้คำเดียว เวลารับ (ว่าครับ ขอรับ) จะพูดว่า "โดย" เช่น (หลวงปู่) มหาสมพร กลับมาจากกรุงเทพฯ แล้วหรือ (พระมหาสมพร รับว่า) "โดย"

โดย ในที่นี้หมายความว่าอย่างไร ลองเปิดพจนานุกรมดู ท่านว่าไว้ดังนี้ครับ

โดย ๑ (โดย หรือ โด-ยะ) ป., ส., น.น้ำ โดยกณ หยดน้ำ, โดยจร ผู้ไปในน้ำ, สัตว์น้ำ

โดย ๒ (โดย) ข.,ก. ตาม โดยสาร ก. อาศัยไปด้วย โดยเสด็จ ก.ตามเสด็จ

โดย ๓ (โดย) ว. (คำพายัพ) จ้ะ, ขอรับ

อ้อ เจอแล้ว ความหมายที่ ๓ นี้เอง โดยแปลว่า ครับ ขอรับ เป็นคำรับ ไม่ทราบว่าเป็นคำที่ผู้น้อยรับเวลาพูดกับผู้ใหญ่ หรือใช้ได้กับทุกวัย

แต่เท่าที่ผมเห็นเขาใช้สมัยเป็นสามเณรน้อย ใช้เฉพาะเวลาพระเณรผู้น้อยหรือญาติโยมรับคำหลวงปู่

คำว่า โดย ที่เห็นใช้กันแพร่หลายอีกอย่างหนึ่งคือ ใช้บอกชื่อผู้เขียนหรือผู้แต่งหนังสือ เช่น พระไตรปิฎกวิเคราะห์ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก ชานหมากนอกกระโถน โดย ขรรค์ชัย บุนปาน

ในที่นี้หมายความว่า หนังสือพระไตรปิฎกวิเคราะห์ ผู้แต่งคือ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ชานหมากนอกกระโถน ผู้แต่งคือ ขรรค์ชัย บุนปาน บางทีก็ใช้เต็มว่า "แต่งโดย"

แว่วมาว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงใช้เป็นพระองค์แรก เลียนแบบ written by, translated by ของฝรั่ง แว่วมาอีกแหละว่า คำนี้สมเด็จฯ ทรงบอกภายหลังว่า พระองค์ทรงใช้ผิด ครั้นจะแก้ไข คนก็ใช้กันจนแพร่หลายแล้ว เกินจะแก้ไขได้ ว่าอย่างนั้น

ที่ว่าผิด ก็เพราะ โดย แปลว่า ตาม

ถ้าพูดว่า ชานหมากนอกกระโถน แต่งโดย ขรรค์ชัย บุนปาน แสดงว่าคนแต่งมิใช่ ขรรค์ชัย บุนปาน มีคนอื่นแต่งตาม ขรรค์ชัย บุนปาน (ขรรค์ชัย บุนปาน อาจพูดถึงเรื่องดังกล่าว นายคนนั้นเลยจับเอาประเด็นนั้นมาเขียน แต่เนื่องจากแกมีมารยาทดี จึงให้เกียรติ ขรรค์ชัย บุนปาน

ไม่ทราบว่าอย่างนี้ กฎหมายลิขสิทธิ์จะเอื้อมถึงไหม



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48764018673035__3604_3629_3585_3652_3617_3657.gif)
ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)



หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 มิถุนายน 2561 16:23:21

(https://i.pinimg.com/originals/b5/2a/75/b52a756de26dbdb3bb59e9d1c93fa05e.jpg)

]แปลสามชั้น

เวลาแปลบาลี ท่านจะให้แปลโดยพยัญชนะ คือแปลรักษาศัพท์ รักษาโครงสร้างของภาษาอย่างเคร่งครัด

เช่นประโยคว่า สถิโร วิธายกคนฺถโสธโก สาธุกํ หตฺถเลขนํ โสเธติ แปลโดยพยัญชนะก็ต้องแปลว่า "อันว่าผู้ชำระซึ่งคัมภีร์ ผู้จัดแจงทั้งหมดชื่อเสถียร ย่อมชำระ ซึ่ง สิ่งที่เขียนด้วยมืออย่างดี"

แปลแล้วฟังยังไม่รู้เรื่อง แต่สำหรับผู้เรียนภาษาบาลีแปลอย่างนี้ได้ประโยชน์ คือทำให้มองเห็นว่าคำนั้นๆ ทำหน้าที่อะไรในประโยค มาจากธาตุ วิภัติ ปัจจัยอะไร เมื่อแปลตามตัวอักษรเช่นนี้แล้ว ท่านจะให้แปลเอาความ (แปลโดยอรรถ) อีกที ให้เป็นภาษาที่คนอื่นฟังเข้าใจ

อย่างประโยคนี้ ถ้าแปลโดยอรรถ หรือแปลเอาความก็จะได้ดังนี้ "ท่านบรรณาธิการบริหาร ชื่อเสถียร ตรวจตราต้นฉบับลายมือ อย่างพินิจพิเคราะห์" คราวนี้ผู้ไม่ได้เรียนบาลีก็ฟังเข้าใจ

ที่ว่ามานี้เป็นการแปลสองชั้น คือ ชั้นที่หนึ่งแปลโดยพยัญชนะหรือแปลตามตัวอักษร ชั้นที่สองแปลโดยอรรถ หรือแปลเอาความ

แต่ถ้าจะให้ "ลึก" กว่านั้น ต้องแปลถึงสามชั้น จึงจะเรียกว่าผู้แตกฉานแท้จริง นั่นก็คือ คำที่เป็นนามที่ทับศัพท์จนกลายเป็นคำธรรมสามัญเผลอๆ คิดว่าเป็นคำไทยแท้เสียอีกนั่นแหละ เอามาแยกแยะดูว่ามันน่าจะมาจากธาตุ (root) อะไร แล้วหาทางแปลให้ฟังเข้าท่า

ยกตัวอย่างเช่น กุกฺกุฏ ที่แปลว่าไก่จนเป็นคำธรรมดานั้น แปลตามรากของคำจริงๆ ว่า "สัตว์ผู้เขี่ยแผ่นดิน" มาจาก กุ (แผ่นดิน) + กุฏ (เขี่ย) รวมเป็นกุกฺกุฏ ด้วยประการฉะนี้

สุนัข ที่แปลกันจนชินว่าหมานั้น ตามรากศัพท์แปลว่า "สัตว์ผู้ขุดดี ขุดเก่ง" (ก็ขุดดินนั่นแหละ) มาจาก สุ (ดี, เก่ง) + ขน (ขุด) รวมเป็น สุขน แล้วเขียนกลับกันว่า สุนข (เขียนเป็นไทยว่า สุนัข)

บุคคล ที่แปลว่าคนทั่วไป ตามรากศัพท์แปลได้สองนัย คือ

(๑) สัตว์ผู้กลืนกินของเน่าเหม็น (ก็กินศพหมูเห็ดเป็ดไก่ทุกวันนั่นแหละครับ) มาจาก ปุ (=ปูติ ของเน่าเหม็น) + คล (เคลื่อนไป) รวมเป็น ปุคฺคล (เขียนเป็นไทยว่า บุคคล)

(๒) สัตว์ผู้มักเคลื่อนไปสู่นรก (แนวโน้มคนส่วนใหญ่ตกนรกมากกว่าขึ้นสวรรค์) มาจาก ปุ (นิริย นรก) + คล (เคลื่อนไป) รวมเป็น ปุคฺคล (เขียนเป็นไทยว่า บุคคล)

เมื่อเจาะลึกลงไปถึงขั้นนี้ ช่วยให้เข้าใจคำลึกขึ้น และนำไปอธิบายได้ละเอียดแจ่มแจ้งขึ้น

เคยได้ยินพระเถระท่านหนึ่งเทศน์ว่า ทำไมคนเรานี้ภาษาพระเรียกว่า "บุคคล" รู้ไหม บุคคล แปลว่า ผู้กินศพ แล้วท่านก็สาธยายว่าวันๆ กินศพปูปลาเป็ดไก่ลงในกระเพาะน่ะกี่สิบศพ ปีหนึ่งกี่พันกี่หมื่นศพ อีกนัยหนึ่งบุคคลแปลว่าผู้ชอบลงนรก ขึ้นชื่อว่าคนมักไม่ชอบทำบุญกุศล ส่วนมากล้วนแต่ผิดศีลผิดธรรมกันทั้งนั้น พวกนี้ตายแล้วไม่ไปไหนดอก โน่น แออัดกันอยู่ในขุมนรกโน่น

ผู้ฟังก็นั่งตาปริบๆ เห็นด้วยว่าพระคุณเจ้าเทศน์แจ่มแจ้งดี

การจะสามารถแจกแจงละเอียดถึงรากถึงโคนอย่างนี้ ต้องเป็นผู้บรรลุวิทยายุทธ์แห่งการแปลถึงขั้นที่สามดังกล่าวข้างต้นขอรับ



"โดย" พระองค์วรรณฯ ว่าถูกต้อง
ในคอลัมน์เล็กๆ นี้ผมเคยนำคำว่า "โดย" มาเขียน โดยเล่าว่า (เล่าจากความจำ) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงทักว่าผิด พระองค์ทรงเคยเข้าใจผิดมาแล้ว ภายหลังจึงรู้ว่าผิด แต่ก็สายเกินแก้แล้ว ปัจจุบันนี้จึงยังใช้โดย (เช่น แต่งโดย...) อยู่

นึกอยู่นานว่า ผมไปจำข้อความนี้มาจากไหน เพิ่งนึกออกว่า เคยอ่านในหนังสือรวมวิทยาการท่านวรรณ เอามาเปิดดู แม่นอีหลีครับ มีในนั้นจริงๆ

เพื่อให้ได้ความโดยสมบูรณ์ (และเพื่อประหยัดเวลาเขียนต้นฉบับ-แค่ยี่สิบสามสิบบรรทัดก็ขี้เกียจแล้วครับ) จึงขออนุญาตคัดลอกมาลงจนจบ ดังนี้ขอรับ

ในหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติ" มีจ่าหน้าซองอยู่ตอนหนึ่งว่า "วิเทโศบายของสยาม โดยหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ" มีบัณฑิตผู้คงแก่เรียนผู้หนึ่งแจ้งมาให้เราทราบว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เคยทรงท้วงว่า คำว่า "โดย" นี้ผิดหลักภาษาไทย การที่จะถือว่า "โดย" มาจาก "บาย" ของอังกฤษนั้นผิด เพราะว่า "บาย" ที่แท้ควรแปลว่า "ของ" ทรงอ้างว่า เคยเข้าใจผิดมาเมื่อ ๑๕ ปีก่อนโน้น

ภายหลังจึงทรงทราบความจริงว่า "บาย" นั้นจะนำมาใช้นำนามผู้แต่งว่า "โดย" เป็นผิดจากภาษาไทย เพราะคำว่า "โดย" ใช้ได้ในที่ใดแล้ว คำว่า "ตาม" ย่อมใช้ได้ใน ที่นั้น ทรงชักตัวอย่างเช่น "โดยเสด็จพระราชดำเนิน" มีค่าเท่ากับ "ตามเสด็จพระราชดำเนิน" ท่านบัณฑิตผู้กรุณาแจ้งความมาให้เราทราบนั้นได้ทูลเสนอไปว่า ความข้อนี้มีใช้กันแพร่หลายในภาษาไทย ทรงเห็นจริงด้วยแต่ก็ทรงยืนยันว่าผิดจากหลักของภาษาดังนี้

ความเช่นว่านี้เราก็เคยได้ยิน ทั้งเคยได้ยินท่านนักรู้ท่านเถียงกันด้วย แต่ความรู้สึกของเราออกจะเหมือนกับโอมาร์ คายาม ในเมื่อได้ยินปราชญ์ท่านเถียงกัน ดูท่านวนแล้วก็เวียน เวียนแล้วก็วน ในที่สุดเข้าประตูไหนแล้วก็ออกประตูเดียวกันนั้นเอง แต่เราพยายามจะขบปัญหา จะขบแตกหรือไม่ ขอท่านผู้อ่านได้มีขันติคุณพิจารณา

คำว่า "ของ" ในจ่าหน้าว่า "วิเทโศบาย ของสยาม" นั้น เป็นของหม่อมเจ้า วรรณไวทยากร ซึ่งทรงใช้จะให้รู้สึกว่าเป็นของสยาม, ของประชาชาติสยาม จริงๆ มิใช่ของรัฐบาลสยามในเฉพาะกาลเฉพาะสมัย ไม่ทรงใช้วิเทโศบาย เพราะ "สยาม" จะเป็นคุณศัพท์ไป ไม่ทรงใช้ว่า "แห่ง" เพราะว่า "แห่ง" ทำให้คิดถึง "ที่" แต่ถ้าใช้ว่า "ของสยาม" แล้ว สยามได้รับแต่งตั้งเป็นบุคคลขึ้น และบุคคลนั้นแลเป็นผู้ดำเนินวิเทโศบาย อันที่จริงก็ได้ทรงตั้งข่ายโครงไว้กว้าง เพื่อจะได้รวมทั้งประเทศสยาม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือประชาชาติสยาม

ตามที่กล่าวมานี้ เราจะเห็นได้ว่า ในภาษาไทยเราถ้าใช้คำว่า "ของ" แล้ว ผู้สำเนียก ภาษาโดยละเอียดแล้วพึงเข้าใจว่าเป็นของ ในที่นี้วิเทโศบายก็เป็นของสยามและสยามเป็นเจ้าของวิเทโศบาย

ส่วนคำว่า "โดย" นั้น มิใช่ของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร เป็นคำซึ่งบรรณา ธิการเติมลงไปโดยหน้าที่บรรณาธิการเป็นนักประพันธ์ซึ่งท่านทั้งหลายย่อมรู้จักแล้วจะเขียนว่าวิเทโศบายของสยามของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรหาได้ไม่ เพราะคงจะรักโศตบรรณาธิการ

และขอให้ท่านสังเกตดูอีกทีหนึ่งท่านจะเห็นว่า อาจตีความไปได้ว่าสยามของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรซึ่งเป็นการสมควรแหละหรือ?

หรือชักตัวอย่างความฝันของหลวงวิจิตรวาทการ จะมิแปลว่า ความซึ่งหลวงวิจิตรฯ ฝันหรือ?

แต่ถ้าใช้ว่าความฝันโดยหลวงวิจิตรฯ แล้วเราเห็นว่าได้ความที่ถูกต้อง กล่าวคือ ความฝันตาม (ฉบับ) หลวงวิจิตรฯ และมิใช่หลวงวิจิตรฯ ฝัน

เมื่อการใช้คำว่า "โดย" ได้ทำความถูกต้องและการใช้คำว่า "ของ" อาจมีความผิดไปฉะนี้ ท่านว่าไหนผิดไหนถูกก็แล้วแต่ วิจารณปัญญาของท่านเถิด

และบัดนี้เรามีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์แล้วเราจะไม่ควรลืมเสีย ท่านนักรู้เคยท้วงเราว่าต้องเข้าใจว่า "เรื่อง" เติมหน้าสิ เราก็เออ ด้วย แต่เมื่อเติมคำว่า "เรื่อง" เข้าแล้วก็หนีความจริงไม่พ้น เรื่องความฝันของหลวงวิจิตรฯ ก็แปลว่าเรื่อง...ของหลวงวิจิตรฯ หรืออีกนัยหนึ่งหลวงวิจิตรฯ เป็นเจ้าของเรื่อง แต่ไม่จำเป็นจะแปลว่า หลวงวิจิตรแต่ง

อีกประการหนึ่งหลวงวิจิตรฯ อาจขายเรื่องนั้นเป็นสิทธิแก่นักประกาศนาการ (ปับลิเชอร์) กล่าวคือ ขายลิขสิทธิ์ให้แก่นักประกาศนาการ ถ้าเช่นนั้นแล้วท่านนึกหรือว่า หลวงวิจิตรฯ เป็นเจ้าของเรื่องนั้น? ถ้าเป็นเจ้า ของต้องมีกรรมสิทธิ์ คือมีสิทธิ์ใช้ประโยชน์สิ่งของนั้นได้ แต่ถ้าขายลิขสิทธิ์แล้วท่านใช้ประโยชน์เรื่องที่ท่านเองแต่งหาได้ไม่

พระยาอินทรมนตรีแต่งเรื่องคล้องช้างลงหนังสือนิพนธ์ของสยามสมาคม ยังต้องถือว่าเป็นการของสมาคมหาใช่เป็นของตัวท่านเองไม่ หรือพระยานิติศาสตร์ไพศาลได้ให้ลิขสิทธิ์คำอธิบายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินของท่านแก่สมาคมคณะราษฎร ถ้ามาบัดนี้ท่านจะใช้ประโยชน์ในเรื่องที่ท่านแต่งนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสมาคมนั้นแล้ว สมาคมอาจฟ้องเอาค่าเสียหายจากท่านได้ ท่านจะเป็นเจ้าของอย่างไรได้?

นางแอเลค ทวีดี นักประพันธ์อังกฤษ ส่งหนังสือที่เขาแต่งมาให้เราอ่าน ยังกล่าวขวัญถึงความโอละพ่อของอารยโลกว่า ต้องซื้อหนังสือนั้นมาให้

หนังสือของนางแอเลค ทวีดี ซึ่งนาง แอเลค ทวีดี ต้องซื้อ ท่านฟังไม่ขัดหูบ้างหรือ? ถ้าท่านเปลี่ยนเป็น "โดย" ลองดูบ้างจะเป็นอย่างไร? หนังสือโดยนางแอเลค ทวีดี ซึ่งนางแอเลค ทวีดี ต้องซื้อหนังสือตาม (ฉบับ) ของนางแอเลค ทวีดี ซึ่งนางแอเลค ทวีดี ต้องซื้อ ดังนี้

ความจะไม่สนิทกว่ากันหรือ

บัดนี้เราวิจารณ์ตามหลักภาษาให้เห็นว่า "โดย" เป็นบุรพบทใช้นำหน้าชื่อ ผู้แต่งได้

พระคารมของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ตามที่ท่านบัณฑิตแจ้งมาให้เราทราบนั้นมีอยู่ว่า (๑) ผิดหลักภาษาไทย, ถ้าทรงหมายความว่าผิดสำนวนไทยแต่ก่อนแล้วเราเห็นพ้องด้วยพระกระแส เพราะว่าไทยไม่ชอบกรรมวาจก (passive voice) เหมือนกับภาษาฝรั่งเศสเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาแปลบทกรรมวาจกในภาษาบาลีมาเป็นไทยจึงใช้ "อัน" แล้วแปลเป็นกรรตุวาจก (active voice) ไป

ถ้าจะให้เป็นสำนวนไทยแล้วควรให้จ่าหน้าเรื่องแล้วว่า คนนั้นคนนี้แต่ง หรือเรียบเรียงหรือแปล ฯลฯ อย่างเช่น "มัทนะพาธา หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ ละครพูดคำฉันท์ ๕ องก์ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ ทรงพระราชนิพนธ์"

แต่ถ้าจะใช้กรรมวาจก หรือจำเป็นจะใช้กรรมวาจกแล้ว จะต้องใช้บุรพบทว่า "โดย" (par)

ในภาษาไทยเราก็เช่นเดียวกัน เราขอสาธกตัวอย่าง ซึ่งเรานำมาจากพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ เพราะทรงรอบรู้หลายภาษา

"ผิดวินัย" ละครพูด ๓ องก์แปลงจากเรื่องภาษาอังกฤษชื่อ "เฟรนช์ลีฟว์" ของ เรจินัลด์บาร์กลีย์ โดยศรีอยุธยา คือ แปลง...โดย

หรืออีกอย่างหนึ่ง "โรเมโอและจูเลียต" เรื่องละครสลดใจของวิลเลียม เช็กสเปียร์ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้า เจ้าแผ่นดินสยาม ทรงแปลและประพันธ์เป็นภาษาไทย ดังนี้ เป็นอันตรงกับหลักที่เราแสดงมาแล้ว ทีเดียว

(๒) ตามคำที่เราได้รับนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ รับสั่งว่า การที่จะถือว่า คำ "โดย" มาจากคำ "by" ในภาษาอังกฤษนั้นเป็นผิด ทำไม? รับสั่งว่า "by" นั้นที่แท้ควรแปลว่า "ของ" ใครบอก? ใครว่า? เราเรียนอังกฤษมานานนักแล้วไม่เคยได้ยินได้ฟังเช่นนี้เลย และอันที่จริงตามที่เราหัดแปลแต่ชั้นประถมว่า "by" แปลว่า "โดย" นั้นก็เป็นอันถูกต้องแล้ว ถ้าแปลไปเป็นอย่างอื่นความก็ไม่ตรงกันเท่านั้นเอง ทำไมจึงควรแปลว่า "ของ" ไม่เห็นมีปรากฏเลย ตรงกันข้ามตามเหตุผลที่เราแสดงมาแล้วเราก็เห็นสมควรอย่างยิ่งที่จะแปลว่า "โดย" หรือถ้าเลี่ยงบุรพบทเสียได้ แล้วใช้กรรตุวาจกก็ยิ่งดี เพราะจะได้เป็นสำนวนไทยยิ่งขึ้น ถ้าใช้ "โดย" สะดวก ก็ควรใช้ "โดย" ไม่เห็นมีหลักอะไรที่จะแสดงว่าผิด

เราเคยได้ยินว่า ในพระบรมโกศทรงชี้แจงว่าผิด แต่ตามตัวอย่างพระราชนิพนธ์ ซึ่งเราได้กล่าวมาแล้วเราเห็นว่าในพระบรมโกศทรงดำเนินตามหลักอย่างเดียวกับเรา หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ เราเดินตามหลักเดียวกับพระองค์ท่าน

หรืออีกนัยหนึ่ง เราโดยเสด็จพระบรมครู

(๓) ตามข่าวที่เราได้รับ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงอ้างว่าเคยเข้าใจผิดมาเมื่อ ๕๐ ปีก่อนโน้น ภายหลังจึงทรงทราบความจริงว่า "โดย" นั้นจะใช้นำหน้า ผู้แต่งว่า "โดย" เป็นผิดจากภาษาไทย เพราะคำว่า "โดย" ใช้ในที่ใดแล้วคำว่า "ตาม" ย่อมใช้ได้ในที่นั้น ทรงชักตัวอย่างเช่น "โดยเสด็จพระราชดำเนิน" มีค่าเท่ากับ "ตามเสด็จพระราชดำเนิน"

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ย่อมทรงสันทัดในโบราณคดี ฉะนั้นที่ทรงเข้าพระทัย ๕๐ ปีก่อนโน้นเป็นอันถูกต้องแล้ว และความจริงซึ่งรับสั่งว่าเพิ่งทรงทราบนั้น ตามความเห็นของเรากลับตรงกันข้ามกับความเป็นจริงที่ถูกต้อง เพราะตามความเป็นจริง "by" ก็ยังคงเป็น "โดย" อยู่นั่นเอง

ซึ่งทรงเข้าพระทัยว่า "โดย" กับ "ตาม" ใช้แทนที่กันได้เสมอไปนั้น ยังหาตรงกับความเป็นจริงไม่ ท่านลองใช้ "ตามสาร" แทน "โดยสาร" ดูซิ จะได้ค่าได้ความเท่ากันไหม?

ตามหลักภาษาซึ่งข้าพเจ้าแสดงมาแล้ว คำ ๒ คำถ้าเสียงต่างกันแล้วย่อมมีความหมายต่างกัน อาจต่างกันอย่างละเอียด ผิดแผกกันแต่นิดหน่อยเท่านั้นก็ได้ แต่ก็ยังมีความหมายต่างกันอยู่ดี ในที่นี้ทั้ง "โดย" ทั้ง "ตาม" เป็นคำเขมร "ตาม" เป็นกริยา "โดย" เป็นบุรพบท เพราะฉะนั้นเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยความหมายย่อมจำแนกออกไปจากกัน เช่น "ตามที่..." ใช้แสดงความเป็นจริง และ "โดยที่..." ใช้แสดงเหตุ เป็นต้น เพราะฉะนั้นจะว่า "โดย" กับ "ตาม" แทนที่กันได้นั้นหาได้ไม่ ถึงแม้ว่า "โดยเสด็จ" กับ "ตามเสด็จ" ก็มีความหมายต่างกัน

เมื่อเราได้ทราบข่าวว่าเจ้านายจะเสด็จไหน ถ้าเราขอโดยเสด็จเราอาจหมายแต่เพียงว่าเราขอติดขบวนไปด้วย แต่ไม่ได้อยู่ในขบวน ส่วนผู้ที่อยู่ในขบวนนั้นตามเสด็จ หรือผู้โดยเสด็จอาจเป็นสักแต่ว่าไปด้วย แต่ไม่ได้ตามติดอยู่ก็เป็นได้

เช่น ผู้โดยเสด็จในพระบรมโกศไปสิงคโปร์บางคน เป็นแต่โดยเสด็จไม่ได้ ตามเสด็จ จึงได้เกิดเหตุลำบากขึ้นดังนี้ เป็นอัน พูดได้ และได้ความละเอียดด้วยสำหรับผู้ที่รู้กรณี

(๔) ท่านผู้ที่มาเขียนถึงเราได้ทูลเสนอว่า ความข้อนี้มีใช้กันแพร่หลายทรงเห็นจริงด้วย แต่ก็ทรงยืนยันว่าผิดจากหลักของภาษา

การที่ใช้กันแพร่หลายก็เป็นปัจจัยอันหนึ่งแห่งหลักของภาษา แต่ถ้าได้แสดงว่าการที่ใช้นั้นไม่ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ก็ควรแก้เสียใหม่ให้ถูกต้องด้วยเหตุผล

ในที่นี้เราเห็นว่า "โดย" เป็นบุรพบทที่ถูกต้องแล้วสำหรับใช้กับกรรมวาจก เราเคยได้ยินว่า หมอแบรดเลย์เป็นคนคิดขึ้น จะเท็จจริงอย่างไรไม่ทราบ แต่บัดนี้เราใช้กันเช่นนั้น และเป็นการชอบด้วยเหตุผลด้วย ตรงกับคำอังกฤษว่า "by" หรือฝรั่งเศสว่า "par" เพราะทั้ง ๒ คำนั้นแสดงหนทางที่เดิน เหมือนกับคำว่า "โดย" เหมือนกัน แล้วก็ขยายออกใช้แสดงเหตุแล้วจึงใช้สำหรับการกผู้บันดาลให้เกิดการกระทำในกรณีกรรมวาจก

เฉพาะเท่าที่ใช้นำหน้านามผู้แต่งเราเห็นว่าเหมาะแก่ความหมายด้วย คือ โดย (ตาม) (ที่)...(แต่งหรือแปล ฯลฯ) หรือตามที่เราใช้ในวันก่อนว่า "ตาม (ฉบับ)..."



มรรคนายก-มรรคทายก
สองสามวันก่อนเขียนต้นฉบับนี้ พบรองศาสตราจารย์ด๊อกเตอร์ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ท่านบ่นว่าเบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้กี่เบอร์ติดต่อไม่ได้ จ.ส.๑๐๐ ตามตัวอยู่

ผมถามว่าตามตัวผมเรื่องอะไร มรรคนายก หรือมรรคทายก ถูกกันแน่ เขาต้องการคำยืนยัน ว่าอย่างนั้น ผมไม่ค่อยได้เปิด จ.ส.๑๐๐ ฟังเหมือนเมื่อก่อน จึงไม่รู้ว่าเขาถกเถียงเรื่องอะไรกันบ้าง

มรรคนายก แปลตามศัพท์ว่า "ผู้นำทาง" พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ให้คำจำกัดความและคำอธิบายไว้ว่า

"ผู้นำทาง" ผู้แนะนำจัดแจงในเรื่องทางบุญทางกุศล และเป็นหัวหน้านำชุมชนฝ่ายคฤหัสถ์ในศาสนพิธีตามปกติทำหน้าที่อยู่ประจำกับวัดใดวันหนึ่ง เรียกว่าเป็นมรรคนายกวัดนั้นๆ ผู้นำทางบุญของเหล่าสัตบุรุษ

คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม เพราะที่ท่านอธิบายไว้ก็ชัดเจนแล้ว มรรคนายกส่วนมากประจำอยู่วัดใดวัดหนึ่ง เรียกว่า มรรคนายกวัด เช่น ขรรค์ชัย บุนปาน มรรคนายกวัดหนัง บางขุนเทียน เสฐียรพงษ์ วรรณปก มรรคนายกวัดทองนพคุณ

ตำแหน่งนี้ไม่มีเงินเดือนกินครับ

ส่วน "มรรคทายก" แปลตามศัพท์ว่า ผู้ให้ทาง, ผู้ชี้ทาง ส่วนมากใช้เรียกสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ชี้แนะทางพ้นทุกข์ให้เหล่าเวไนยนิกรทั้งหลาย ดังพุทธวจนะตรัสไว้ว่า (ขอเขียนแบบไทย) "อัชเชวะ กิจจะมาตัปปัง อักขาตาโร ตะถาคะตา = พึงรีบเร่งทำความเพียรเสียแต่วันนี้ พระตถาคต ทั้งหลายเป็นเพียงผู้ชี้บอกหนทางเท่านั้น"

สรุป คนที่ทำหน้าที่แนะนำคนให้ทำบุญทำกุศล จัดแจงทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้เรียกว่า "มรรคนายก" ไม่ใช่ "มรรคทายก"

ที่คนส่วนมากเรียกติดปากว่า มรรคทายก เพราะไปสับสนกับคำว่า "ทายก" (ผู้ให้, ผู้ถวายทาน) คำนี้ใช้คู่กันกับ "ปฏิคาหก" (ผู้รับทาน คือภิกษุสงฆ์)

สรุป (อีกที) ผู้ถวายทานแก่พระสงฆ์เรียกว่า "ทายก" ผู้เป็นผู้นำในการทำบุญทำกุศลเรียกว่า "มรรคนายก" ไม่ใช่มรรคทายก



ธนาคารอารมณ์
คําว่า ธนาคาร มาจาก ธน (ทรัพย์) - อาคาร (ตึก, บ้าน, เรือน, โรง, สถานที่)

รวมกันแล้วธนาคารก็แปลว่า อาคารที่เก็บทรัพย์ ธน ในที่นี้เดิมก็หมายถึงเงินตราเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อแปลธนว่าทรัพย์ ความหมายก็ขยายออกไป เพราะทรัพย์ (สันสกฤต = ทรพฺย) หมายถึง สมบัติ หรือสิ่งของที่มีค่าอื่นๆ ด้วย มิใช่เพียงเงินตราอย่างเดียว

เพราะฉะนั้นธนาคารจึงควรแปลว่า สถานที่เก็บเงินตรานี้เป็นความหมายเดิม

แต่คำศัพท์บางคำบางครั้งก็ขยายขอบเขตและความหมายให้กว้างออกไปตามความนิยมของผู้ใช้ บางคำซ้ำร้ายความหมายเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือก็มี เช่นคำว่า สงสาร (เดิมแปลว่าท่องเที่ยว, เวียนเกิดเวียนตายในภพชาติต่างๆ) อาวุโส (เดิมแปลว่า ผู้มีอายุ (น้อย) เป็นคำผู้ใหญ่เรียกผู้อายุน้อยกว่า) ความหมายที่เราใช้กันในปัจจุบันเป็นคนละเรื่องกับความหมายเดิม

ปัจจุบันนี้อะไรก็ตามที่เก็บรวมกันไว้มากๆ เพื่อใช้ประโยชน์ (แก่ตนและสังคม) ก็อนุโลมให้เรียกธนาคารได้ เมื่อใช้อย่างนี้คำว่าธนาคารไม่ได้แปลว่า "สถานที่เก็บเงินตรา" หากแปลว่า "สถานที่เก็บ" เฉยๆ เช่น

ธนาคารควาย ไม่ได้แปลว่าสถานที่เก็บเงินตราของควาย แต่แปลว่าสถานที่เก็บควาย

ธนาคารข้าว ไม่ได้แปลว่าสถานที่เก็บเงินตราของข้าว แต่แปลว่าสถานที่เก็บข้าว

ที่แล้วมาเท่าที่ทราบก็มีอยู่สองคำนี้เท่านั้น

เพิ่งจะได้ยินอีกธนาคารหนึ่งคือ ธนาคารอารมณ์ เป็นศัพท์บัญญัติของมาม่าซังอ้อย บีเอ็ม หรือนางจินตนา บุนนาค

เหตุเกิดเมื่อมีส.ส.ผู้ทรงเกียรติท่านหนึ่งระบุว่า ถ้าใครอยากรู้จักนายชิงชัย มงคลธรรม ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ต่อจากนายสุชวิช รังสิตพล ให้ไปถามอ้อย บีเอ็ม จึงให้สัมภาษณ์ว่า เธอรู้จักนักการเมืองในทำเนียบหลายคน เพราะหลายท่านก็เคยมาใช้ "ธนาคารอารมณ์" ของเธอบ่อยครั้ง แล้วก็ระบุนักการเมืองดังๆ จนสะดุ้งไปตามๆ กัน แต่นั่นก็ช่างเถิด มาว่าถึงความหมายของศัพท์นี้ดีกว่า

ตามบริบทที่มาม่าซังกล่าวถึงนั้น คำนี้น่าจะหมายถึง "สถานที่เก็บอารมณ์" หรือจะให้ตรงก็น่าจะเป็น "สถานที่ระบายอารมณ์" หรือจะให้ตรงก็น่าจะเป็น "สถานที่ระบายอารมณ์ใคร่" มากกว่า

ไม่น่าจะแปลเป็นอย่างอื่นได้


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 กรกฎาคม 2561 15:49:57

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/72777788506613_046044327afcfa3d4f196492cabd6e.jpg)
ทำบุญทำทาน

คําบาลีมากมายหลายคำที่นำมาใช้เป็นคำไทยแล้ว มากมักจะ "เพี้ยน" ไปจากเดิมมากบ้างน้อยบ้าง น้อยคำนักที่ยังคงมีความหมายเหมือนเดิม

บุญ กับ ทาน เป็นหนึ่งในหลายคำที่พูดถึง

บุญ ในความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไปหมายถึง การทำในสิ่งที่ดีในพระพุทธศาสนา หรือแก่บุคคลในพระพุทธศาสนา และสิ่งที่ดีนั้นหมายเอา ทาน หรือการให้เท่านั้น เพราะฉะนั้น การให้ (ทาน) คือการทำบุญ

พูดอีกนัยหนึ่ง การทำบุญในความหมายของชาวบ้านทั่วไป หมายเอาการให้ (ทาน) เท่านั้น มักจะไม่หมายถึงอย่างอื่น

เราจึงมักได้ยินคำพูดติดปากว่า "ทำบุญทำทาน"

ความจริง ทาน (การให้) เป็นเพียงวิธีหนึ่งของการทำบุญ พระพุทธเจ้าตรัสวิธีการทำบุญไว้ ๑๐ วิธี แต่สรุปลงเป็น ๓ คือ

๑. ทาน (การให้) เช่น ให้ข้าวให้น้ำหรือ ให้วัตถุสิ่งของอย่างอื่น เรียกว่า "อามิสทาน" (ให้สิ่งของ) ให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น แนะนำให้รู้ผิดชอบชั่วดี เรียก "ธรรมทาน" (ให้ธรรม, ให้สิ่งที่ถูกต้องดีงาม) ตลอดถึงให้ชีวิต ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย เรียก "อภัยทาน"

๒. ศีล (รักษากายวาให้เรียบร้อย) งดเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทางกาย ทางวาจา (ทางใจไม่รวมด้วย) เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ อย่างนี้ก็เป็นวิธีทำบุญอย่างหนึ่ง

๓. ภาวนา (การพัฒนาจิต) ฝึกฝนจิตให้สงบและให้รู้ให้เข้าใจโลกและชีวิต ถ้าพูดเต็มรูปก็หมายถึงการฝึกสมาธิและวิปัสสนา (สมาธิ= ความสงบ, วิปัสสนา= ความเข้าใจแจ่มแจ้ง) ชาวบ้านทั่วไปเพียงแค่ได้สวดมนต์ไหว้พระ แผ่เมตตา ทำจิตให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน มีสุขภาพจิตที่ดีพอสมควร ก็เรียกได้ว่าทำภาวนาแล้ว

การทำภาวนาอย่างนี้ก็นับเป็นวิธีทำบุญอีกอย่างหนึ่ง

คนโบราณเวลาจะถวายทาน ท่านมักจะพากันรับศีล และทำวัตรสวดมนต์ไปพร้อมๆ กัน ท่านอธิบายว่าทำครั้งเดียวได้ทำบุญครบทั้ง ๓ วิธี (หรือทำบุญครบวงจร) คือได้ทำทั้งงาน ทั้งศีล และภาวนา ท่านว่าอย่างนั้น

สรุป การทำบุญมิใช่แค่ทาน หากรวมถึงรักษาศีลและเจริญภาวนาด้วย



ราหู

ราหู ตัวดำๆ มีประวัติความเป็นมามัวๆ ซัวๆ ดุจดังสีของแกไม่ผิด ตำราไสยศาสตร์ บอกว่า ราหูเป็นลูกแทตย์นามว่า เวปจิตติ กับ นางสิงหิกา เกิดมามีหางเป็นนาค (งูใหญ่) อยู่ในอากาศมีวิมานสีนิล มีครุฑเป็นพาหนะ

ตามตำรานพเคราะห์กล่าวว่า ราหูนั้นพระอิศวรเอาหัวผีโขมด ๑๒ หัวสร้าง สร้างเสร็จก็เอาน้ำอมฤตพรมนับเป็นลำดับที่ ๘ ของดาวนพเคราะห์ และสมมติว่าราหู เงาของโลก บ้างก็ว่าเป็นตัวแทนของโลก เลยทีเดียว พูดกันง่ายๆ ว่าโลกเรานี้แหละคือราหู (มิน่าล่ะ ถึงได้ลุ่มหลงมัวเมานักหนา)

ราหูเชื่อกันว่ามีครึ่งท่อน สาเหตุที่มีครึ่งตัว มีเล่าไว้สองตำราขัดแย้งกัน

ตำราหนึ่งเล่าว่า เมื่อเหล่าเทพยดาทำพิธีกวนเกษียรสมุทรอยู่นั้น ราหูแกก็อยากกินน้ำอมฤตบ้าง จึงแปลงเป็นเทวดาแฝงกายมาใน หมู่เทพแอบกินน้ำอมฤตหลายกั๊ก พระอาทิตย์กับพระจันทร์เห็นเข้า จึงเข้าไปกระซิบพระวิษณุ (นารายณ์) พระวิษณุก็โกรธเอาจักรขว้างราหูเป็นสองท่อน เนื่องจากแกกินน้ำอมฤตเข้าไป จึงไม่ตาย ท่อนหัวลอยอยู่ในอากาศเป็นราหู ท่อนหางเป็นดาวเกตุ

ดาวเกตุนี้แหละเป็นดาวจุติหรือ "ผีพุ่งไต้"

ราหูแกเลยจองเวรจองกรรมกับพระอาทิตย์และพระจันทร์ วันดีคืนดีมันจึงไล่อมไล่งับพระจันทร์และพระอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์ "กบกินเดือนกินตะวัน" หรือจันทรุปราคา สุริยุปราคา ดังที่ทราบกัน

ทำไมทางโหรเขาถึงว่าดาวราหูเป็นศัตรู กับดาวอาทิตย์ และดาวจันทร์ ก็ด้วยเหตุนี้แล ท่านผู้เจริญ

อีกตำราหนึ่งกล่าวว่า สมัยหนึ่งพระเสาร์เกิดเป็นพญานาค อาทิตย์เกิดเป็นพญาครุฑ พระพฤหัสบดีเป็นพระอินทร์ พญาครุฑอยากกินพญานาค จึงไล่ล่าพญานาค พญานาคกลัว หนีไปพึ่งพระราหู พระราหูช่วยขับไล่พญาครุฑ หนีไปยังสำนักพระอินทร์ พระราหูตามไปติดๆ ไม่ทันเพราะครุฑแกเข้าไปในที่ปลอดภัยแล้ว บังเอิญราหูแกหิวน้ำจึงแอบไปกินน้ำอมฤต พระอินทร์เห็นเข้าก็พิโรธเอาจักรเพชร ขว้างราหูขาดสองท่อน

ราหูแกกินน้ำอมฤตเข้าไปแล้ว จึงไม่ตาย ที่ว่าราหูกับเสาร์เป็นคู่มิตรกัน พฤหัสกับอาทิตย์ เป็นศัตรูกับพระราหูด้วยประการฉะนี้

ราหูนั้นมักจะเขียนเป็นสองแบบ เป็นแทตย์ (หน้าดุคล้ายยักษ์) มีหางเป็นนาค (งูใหญ่) อยู่ในอากาศ สีกายเป็นสีทองสัมฤทธิ์ (ดำหลัว) มีสุวรรณเป็นอาภรณ์ มีสองมือ อีกอย่างหนึ่งเขียนเป็นรูปแทตย์ มีท่อนหัวท่อนเดียวสีทองสัมฤทธิ์ มักทำเป็นรูปอมพระจันทร์

สมัยก่อนเวลาเกิดราหูอมจันทร์และอาทิตย์ เขามักตีเกราะเคาะกะลา จุดประทัดไล่ ราหูตามประสาคนโบราณผู้ไม่รู้ปรากฏการณ์ ธรรมชาติ สมัยนี้เอาของดำ (ซื้อหาแพงๆ เช่น ไก่ดำ) ไปไหว้ราหู ว่าคนโบราณโง่แล้วคนสมัยนี้โง่กว่า เพราะเพียงเกราะกะลาอะไรนั้นไม่ต้องเสียเงินเสียทองซื้อหา แต่ของดำตั้ง ๘ อย่าง ต้องจ่ายเงินเป็นร้อยเป็นพัน

ฉลาดอยู่คนเดียวคือคนที่บัญญัติพิธีบูชา ราหูนั่นแหละ เกิดราหูอมจันทร์อมอาทิตย์ ทีแกฟาดไปหลายหมื่นหลายแสน

ความเชื่อเรื่องราหูอมพระอาทิตย์และพระจันทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "กบกินตะวัน กบกินเดือน" มีแพร่หลายสมัยโบราณ จนผู้รวบรวมพระไตรปิฎกเอามาใส่ไว้ในพระไตรปิฎก ทำนองจะให้เชื่อว่าเป็นคำพูดคำตรัสของพระพุทธเจ้า

ท่านพุทธทาสบอกว่าเป็นเรื่องแปลกปลอมมาภายหลัง และยังว่าต่อไปอีกว่าพระไตรปิฎกนั้นตัดส่วนเกินออกสัก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เหลือไว้เพียง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ก็เพียงพอที่น่าไปปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ได้

ครั้นถามว่าตัดส่วนไหนล่ะ ท่านก็ว่า เช่น สุริยสูตร จันทิมสูตร ที่ว่าด้วยราหู ไล่อมพระอาทิตย์และพระจันทร์นี้เป็นต้น

นั่นเป็นความเห็นของนักปราชญ์ เราไม่ทราบว่าจริงๆ แล้ว พระสูตรทั้งสองนี้มีคนเพิ่มเข้ามาภายหลัง หรือว่ามีมาแล้วตั้งแต่ต้น ถ้าเพิ่มเข้ามาภายหลังจริงท่านมีเหตุผลอย่างไร

เรื่องอย่างนี้ ฟังๆ ไว้ก็แล้วกัน

เรื่องราวมีว่า ราหูวิ่งไล่งับพระอาทิตย์และพระจันทร์ (เรื่องราวเกิดขึ้นต่างวาระกัน) พระอาทิตย์และพระจันทร์กลัว เปล่งวาจาขอความช่วยเหลือจากพระพุทธเจ้า ว่าตนตกอยู่ในภาวะคับขัน ขออาศัยพระพุทธคุณเป็นที่พึ่ง ราหูได้ยินดังนั้นก็กลัวปล่อยพระจันทร์และพระอาทิตย์วิ่งไปสั่นงั่กๆ ต่อหน้าเวปจิตติอสุรินทร์ ผู้เป็นหัวหน้าอสูร ครั้นถูกถามว่า กลัวอะไรนักหนาจึงตัวสั่นงันงกอย่างนี้ ราหูก็เล่าความให้ฟัง

ผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวว่า พระสูตรทั้งสองนี้ ถ้าใครแปลตามตัวอักษรก็แสดงว่าเข้าไม่ถึง "แก่น" ท่านเอาความเชื่อของคนสมัยก่อนมาผูกเรื่องเพื่อ "สื่อ" แก่นพระธรรม มิได้ต้องการให้เชื่อตามเรื่องราวที่เล่าสืบกันมา

ท่านที่ว่านี้คือ พระธัมมสังคาหกาจารย์ (อาจารย์ผู้รวบรวมพระไตรปิฎก) ท่านต้องการแสดงพุทธานุภาพ ว่ามีพลังศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะจริง ราหู ในที่นี้หมายถึงโมหะอวิชชา ความไม่รู้ถึงอริยสัจ (ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้วิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์)

ตราบใดที่สัตว์โลกยังถูกโมหะอวิชชา "อม" อยู่ โลกก็จะมีแต่ความมืดมนไม่ต่างอะไรกับปรากฏการณ์ "กบกินตะวัน กบกินเดือน" มนุษย์พึง "ไล่" ความมืดออกจากใจตนให้ได้ นั่นคือยึดเอาพระคุณของพระเป็นที่พึ่ง สวดพุทธานุสติ รำลึกถึงพระคุณของพระผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง แล้วความมืดมิดด้วยอำนาจโมหะอวิชชาก็จะหายไป ดุจดังปรากฏการณ์ราหูปล่อยพระอาทิตย์และพระจันทร์ แสงสว่างก็เกิดขึ้นฉะนั้น

พระสูตรทั้งสองสูตรนี้เน้น "พุทธานุภาพ" เน้นว่าผู้ที่ถึงพระพุทธเป็นสรณะย่อมพ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง ถ้ามองในแง่นี้ เรื่องกบกินตะวัน กบกินเดือน ที่ใส่ไว้ในพระไตรปิฎก ก็มิใช่เรื่องเหลวไหล

เหลวไหลที่คนอ่านเจาะไม่ทะลุถึงแก่นเองต่างหาก



เสือไบ-ทฺวิลิงคิก

ผมไม่ได้ฟังอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีที่ผ่านไปเมื่อไม่นานนี้ ที่ไม่ได้ฟัง ไม่ใช่เพราะไม่มีเวลา แต่ไม่อยากฟัง คอยอ่านรายงานจากหนังสือพิมพ์ก็ได้ทราบข่าวเหมือนกันว่าใครพูดอย่างไร

ข่าวออกมาว่า ฝ่ายรัฐบาลวางแผนดัดหลังฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ว่า ถ้าฝ่ายค้านเล่นเรื่องส่วนตัวของฝ่ายรัฐบาล ให้เอา "เสือไบ" ออกมาสู้ แล้วก็ปรากฏว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเดินแจกเอกสารเรื่อง "เสือไบ"

ทีแรกนึกว่า "เสือไบ" ซึ่งเป็นชื่อของโจรผู้ดีพระเอกในหนังสือ ป.อินทรปาลิต ที่ผมเคยอ่านเมื่อสมัยเป็นเด็ก แต่เห็นสะกดคำนี้ว่า "ไบ" จึงสงสัยว่าเอกสารเรื่อง "เสือไบ" คืออะไร เสือไบ คือใคร

เพื่อนที่นั่งข้างๆ บอกว่าก็ Bisexual ไงถึงได้ถึง "บางอ้อ"

ไบเซ็กชวล เป็นคำเรียกคนที่มีความสามารถกระทำ "เมถุนธรรม" ได้กับทั้งสองเพศ คือ เป็นชายก็ได้ เป็นหญิงก็ได้ คำนี้กลายมาเป็นสแลงในภาษาไทยเสียแล้ว และทำท่าจะอยู่นานเสียด้วย เพราะเท่าที่ทราบก็เกิดมานานแล้ว มติชนกำลังรวบรวมผู้เชี่ยวชาญทำพจนานุกรมไทยฉบับมติชนอยู่พอดี เห็นว่าจะเก็บคำที่สื่อสารกันอยู่ในปัจจุบันให้มากที่สุด คำ "เสือไบ" คงจะได้รับเกียรติบรรจุในพจนานุกรมเล่มนี้ด้วย แต่ก็คงต้องให้คำนิยามให้ชัดเจน อย่างที่ผมอธิบายข้างต้นไม่ทราบว่าพอใช้ได้หรือไม่

เห็น (ความจริงไม่เห็น อ่านจากข่าว) คุณเสนาะ เทียนทอง ท่านว่าตัวท่านเป็นลูกผู้ชายพอ เอาความจริงมาพูดกัน ท่าน "ไม่ได้ลักปิดลักเปิดเข้าประตูหน้า ประตูหลัง" บางทีคำจำกัดความของคำ "เสือไบ" คงต้องมี "คือคนที่เข้าใจทั้งประตูหน้าและประตูหลัง" ด้วยหรือเปล่า กรรมการจัดทำพจนานุกรมฯ คงจักต้องพิจารณา

มีผู้ถามว่า "เสือไบ" น่าจะตรงกับคำอะไรในบาลี และถ้าจะนำมาแปลงให้เป็นคำไทยควรจะเป็นอย่างไร ผมคว้า "ดิกชันนาเร" (ภาษาของหมอบรัดเล) อังกฤษ-บาลี ของ พุทธทัตตะมหาเถระ ท่านให้ไว้ ๒ คำคือ ทฺวิลิงคิก กับ อุภโตพยัญชนก

ทฺวิลิงคิก แปลว่าคนสองเพศ อุภโตพยัญชนก หมายถึง คนที่มี ๒ เพศปรากฏ (หมายเอาทั้งคนที่มีอวัยวะเพศทั้งสอง หรือคนที่ทำหน้าที่ได้ทั้งสองเพศ คือเป็นผู้ให้ก็ได้ เป็นผู้รับก็ได้) คำหลังมีอยู่พระไตรปิฎก พระ พุทธเจ้าห้ามคนประเภทนี้บวช

ผมมีความรู้ทั่วไปน้อย ไม่เข้าใจว่า ทำไม ส.ส.ฝ่ายค้านจึงกลัวคำว่า "เสือไบ" จนต้องเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายรัฐบาลยกเอามาขู่

คำนี้ถ้าจะหาคำไทยที่เหมาะสมน่าจะเป็น "ทฺวลิงคิก" แล้วแผลงเสียหน่อยให้เข้าลิ้นไทยเป็น ทฺวลิงคิก



กเฬวร-กเฬวราก

คํานี้เดิมเป็นภาษาบาลี เขียนว่า กเฬวร เขียนอีกอย่างว่า กลเวร, กเลพร สันสกฤตเขียน กลเวร ความจริงแปลว่า อัตภาพ, ร่างกาย ธรรมดาๆ นี้เอง

ถ้าจะพูดถึงซากศพ บาลีมักใช้คำว่า ฉว, กุณป, มตกสรีร ถ้าพูดถึงซากศพที่เน่าเหม็นมักจะใช้ อสุภ(สิ่งที่ไม่งาม)

ส่วนคำ กเฬวร นั้น หมายถึงร่างกาย หรือ อัตภาพ แต่ต่อมาความหมายแคบเข้า หมายถึงร่างกายของคนตาย หรือซากศพ

ซากศพเป็นสิ่งที่พึงขจัดทิ้ง เก็บไว้นานก็เน่าเหม็นน่ารังเกียจ แม้ว่าก่อนสิ้นลม ร่างนี้แหละใครๆ ก็หลงใหลได้ปลื้ม แย่งกันหวังชื่นชมแต่พอกลายเป็นซากศพแล้วให้เปล่าก็ไม่มีใครเอา ดังกรณีนางสิริมา

นางสิริมาเป็นน้องสาวหมอชีวก เป็น "นครโสเภณี" (สมัยพุทธกาล นครโสเภณี เป็นตำแหน่งพระราชาทรงตั้ง ดูเหมือนจะมีเงินเดือนกินด้วย) เล่าลือกันว่านางสวยมากทำเงินเข้าประเทศได้เดือนละไม่น้อย พระหนุ่มรูปหนึ่งอยากเห็นว่างามขนาดไหนถึงไปบิณฑบาตที่บ้านนาง บังเอิญเช้านั้นนางป่วย ให้สาวใช้มาพยุงใส่บาตร พระหนุ่มรำพึงว่า นี่ขนาดป่วยหนักยังงามปานนี้ ถ้าไม่ป่วยเธอจะงามเพียงใด กลับไปถึงวัดข้าวปลาไม่ฉัน นอนคลุมโปงครางฮือๆ เพราะโดนศรกามเทพเข้าให้แล้ว

นางสิริมาตายในวันนั้นเอง

พระพุทธเจ้ารับสั่งไม่ให้เผานางสิริมา ให้นำศพไปไว้ที่ป่าช้าผีดิบ ประกาศว่าพระองค์จะไปดูนางสิริมา ใครจะไปบ้าง พระหนุ่มได้ยินก็รีบตามไปยืนอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์พระพุทธองค์ พระพุทธองค์ให้ประกาศว่าใครอยากได้นางสิริมาให้จ่ายพันกหาปณะ เงียบ ไม่มีใครเอา "ถ้าเช่นนั้น ให้เปล่า" เงียบเช่นเดิม

พระพุทธองค์ทรงหันไปทางภิกษุหนุ่มตรัสว่า เห็นหรือยังว่าร่างกายนี้ สมัยยังมีชีวิตอยู่ ใครอยากได้อภิรมย์เพียงครู่เดียว ต้องจ่ายถึงพันกหาปณะ บัดนี้ให้เปล่าๆ ก็ไม่มีใครเอา

ภิกษุหนุ่มได้คิด พากเพียรบำเพ็ญภาวนาไม่นานก็บรรลุธรรมชั้นสูง

กเฬวร คนไทยออกเสียงเป็น กเฬวรากบ้าง กะเลวกะราดบ้าง กะเลวกระลาดบ้าง มักหมายถึงคนเลว คนไม่เอาไหน ไม่มีค่าควรนับถือ คนที่ถูกเรียกว่า กเฬวราก หรือ กะเลวกะราด มักจะเป็นนักการเมือง(บางคน...ก็หลายคนพอสมควร)

ไม่รู้เหมือนกันว่านักการเมืองมีเวรมีกรรมอะไรนักหนา จึงถูกจัดเป็นซากศพเน่าเหม็นที่ควรขจัดทิ้ง



ตักกสิลา-ตักสิลา-ตักศิลา

มีคนตั้งสมญานามให้จังหวัดมหาสาร คามว่า "ตัก-กะ-สิ-ลา-นะ-คอน" ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะมีอะไรเด่นนักหนา แต่ช่างเถอะ ผมเห็นว่าคำนี้เขียนกันไปต่างๆ นานา ตักศิลา บ้าง ตักกสิลา บ้าง หาความเป็นเอกภาพไม่ได้ ผมเคยเห็นหนังสือ นักศึกษามหาวิทยาลัย ตักกสิลา ของอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ก็มีแนวโน้มเอียงว่า น่าจะเขียนตามท่าน แต่ก็ไม่แน่ใจ จึงเรียนขอปรึกษาอาจารย์ว่า ที่ถูกควรเขียนอย่างไร คนในมหาสารคามจะได้เขียนเหมือนกันเสียที

"ธีรชัย บุญมาธรรม"

คำถามข้างต้นมาจาก อาจารย์ธีรชัย บุญมาธรรม ปรึกษาว่าจะเขียนอย่างไรถูก คนในมหาสารคามจะได้เขียนเหมือนกันเสียที บังเอิญคนมหาสารคามที่ตอบจดหมายนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

คำนี้เดิมบาลีเขียนว่า ตักกสิลา ตัว ก สองตัว ส เสือ อ่านว่า "ตัก-กะ-สิ-ลา" สันสกฤตเขียน ตักกศิลา อ่านว่า "ตัก-กะ-ฉิ-ลา" ถ้าไม่สะกดแบบสันสกฤตก็จะเขียนกันอยู่สองอย่างคือตักกสิลา กับ ตักสิลา ถ้าเพิ่มแบบสันสกฤตก็จะมีถึงสี่อย่าง(คือเพิ่ม ตักกศิลา กับ ตักศิลา)

รูปบาลีหรือสันสกฤต แล้วแต่ใครจะเลือกใช้ อย่างเมืองหลวงของแคว้นวัชชี ก็มีคนใช้ทั้ง ไพศาลี(สันสกฤต) และ เวสาลี(บาลี)

ถ้าเขียนเต็มรูปก็เป็น ตักกสิลา, ตักกศิลา เมื่อก่อนนี้ก็เห็นโบราณท่านเขียนสองคำนี้ คำใดคำหนึ่ง

แต่ปัจจุบันนี้ พจนานุกรมฉบับราช บัณฑิตยสถาน ท่านวางกฎไว้ว่า ถ้ามีพยัญชนะซ้อนกันสองตัวให้ตัดออกตัวหนึ่ง เช่น อัตตภาพ ตัดเหลือ อัตภาพ จิตตวิทยา ตัดเหลือ จิตวิทยา เขตต์ ตัดเหลือ เขต(คงต้องการประหยัดเนื้อที่) บางทีก็ตัดเพลิน จากเดิม สัญญาลักษณ์ ตัดเป็น สัญญลักษณ์ ก็น่าจะพอยังให้หั่นเหลือแค่ สัญลักษณ์ นี่ก็มากไป เพราะทำให้ความหมายเปลี่ยนไป คือแทนที่จะมาจาก สัญญา-ลักษณ์ ก็กลายเป็นมาจาก สํ-ลักษณ์ ไป

ถ้าถือ(ถ้าไม่ถือก็อีกเรื่องหนึ่ง) ตามพจนานุกรมก็ต้องเขียนว่า ตักสิลา หรือ ตักศิลา ส่วนใครจะเอา ส หรือ ศ ก็ตามสะดวก ไม่ต้องทะเลาะกัน

ถ้าถามความชอบส่วนตัวผม ผมเอนเอียงจะเขียนว่า ตักสิลา มากกว่า เพราะรักรูปบาลีมากกว่าสันสกฤต

ผมเป็นลูกมหาสารคาม แต่ไม่เคยคิดว่า มหาสารคามจะยิ่งใหญ่ถึงขั้นเป็นตักสิลา เพียงแค่มีวิทยาลัยครูเก่าแก่กว่าที่อื่น จะเอาใหญ่ขนาดนั้นหรือขอรับ



สัตว์-มนุษย์ หรือเดียรฉาน

ในความเข้าใจโดยทั่วไป คำว่า สัตว์ หมายเอาสัตว์เดียรฉานเท่านั้น ไม่นับมนุษย์ด้วย เวลาเราด่าใครว่า "...สัตว์" ทั้งคนด่าและคนถูกด่ามักจะนึกถึงเดียรฉานขึ้นมาทันที แล้วคนถูกด่าก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง เพราะคิดว่าเดียรฉานนั้นต่ำช้ากว่ามนุษย์

ที่จริงแล้ว เดิมคำว่า "สัตว์" (บาลี=สัตต์) แปลว่า "ผู้ข้องหรือติดอยู่" ผู้ข้องหรือติดอยู่นี้แบ่งออกเป็น ๓ พวกคือ

๑.ผู้ข้องอยู่ในกามคุณ (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิดคำนึง) ได้แก่ มนุษย์, เดียรฉาน (รวมเปรต อสุรกาย สัตว์นรกด้วย) และเทวดาทั้งหลาย พวกนี้เรียกว่า "กามาพจร" (พวกที่ท่องอยู่กามภพ)

๒.ผู้ข้องอยู่ในรูป ได้แก่ รูปพรหม พวกนี้เรียก "รูปาวจร" (ท่องเที่ยวอยู่ในรูปภพ)

๓.ผู้ข้องอยู่ในอรูป ได้แก่ อรูปพรหม พวกนี้เรียกว่า "อรูปาวจร" (ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปภพ)

สรุปว่า "สัตว์" กินความถึงมนุษย์ สัตว์เดียรฉาน (ตลอดถึงเปรต สัตว์นรก อสุรกาย) เทวดา และพรหม เพราะทั้งหมดนี้คือผู้ "ข้องอยู่" ด้วยกันทั้งนั้น ต่างก็ตกอยู่ในวงจรแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย ด้วยอำนาจผลกรรมที่ตนทำ อันเรียกว่า "สังสารวัฏ"

ส่วนคำว่า "เดียรฉาน" (บาลี=ดิรัจฉาน, ดิรัจฉานคต) แปลตามศัพท์ว่า "ผู้ไปทางขวาง" คือไปตามแนวนอน ต่างจากมนุษย์เวลาเคลื่อนไหวจะไป "แนวตั้ง" จำพวกที่ไปแนวนอนทั้งหมด เช่น หมู หมา กา ไก่ โค ควาย ฯลฯ เรียก เดียรฉานหมด

เมื่อคัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จออกไปโปรด "สัตว์" ก็ดี เมื่อทรงแสดงธรรมจบ "สัตว์จำนวนมาก" ได้บรรลุธรรมก็ดี มิได้หมายความเพียงว่า พระพุทธองค์ไปโปรดเดียรฉาน หรือเหล่าเดียรฉานได้บรรลุธรรม เท่านั้น หากหมายถึงทรงไปโปรดทั้งมนุษย์ ทั้งสัตว์ ทั้งเทวดาและพรหม และมนุษย์ เป็นต้นนั้น ได้บรรลุธรรม

คนไทยเรียกเดียรฉานว่า "สัตว์เดียรฉาน" ซึ่งก็ถูก (คือ สัตว์จำพวกไปแนวนอน) ถึงแม้จะเรียกมนุษย์ว่า "สัตวมนุษย์" ก็ถูกเช่นเดียวกัน หมายถึง "สัตว์" จำพวกที่ไปแนวตั้ง

ถ้ารู้ตัวว่า เป็น "สัตว์" จำพวกหนึ่ง เมื่อใครเขามาด่า "...สัตว์" ก็ไม่น่าโกรธนะครับ

หรืออย่างไร



ครู=เขาว่าเป็นเรือจ้าง

คําว่า ครู มาจาก บาลี ครุ สันสกฤต คุรุ คนไทยออกเสียง "คะรุ" หรือ "คุรุ" ไม่ถนัดหรืออย่างไร จึงรวบกันเป็นคำเดียวว่า "ครู" และก็น่าสนใจที่คนไทยให้ความหมายของคำนี้

ครู แปลกันว่า ผู้หนัก แล้วก็ลากเข้าหาความหมายที่เข้าใจกันได้ว่า ผู้ทำงานหนัก, ผู้ทำหน้าที่ที่ต้องหนักใจเพราะรับผิดชอบเกี่ยวกับการขัดเกลานิสัยใจคอเด็ก รวมทั้งการให้ความรู้แก่เด็กยิ่งหนัก...แล้วแต่จะตีความกันไป

ยังดีที่ไม่ตีความว่า "ครู คือผู้หนัก หมายถึงผู้ที่มีน้ำหนักมากๆ ไม่ต่ำกว่า ๖๐ กิโลกรัมขึ้นไป" อะไรทำนองนั้น ถ้าถือความอย่างนี้คนผอมก็ไม่มีสิทธิ์เป็นครู

ตามรากศัพท์ ครุ (ครู) แปลได้หลายนัย คือ

๑.แปลว่า "ปรากฏเด่น" คือเด่นทั้งด้านความรู้ความสามารถในการสอน และความประพฤติดีงามเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์ พูดสั้นๆ ว่า "เป็นคนเก่ง และคนดี"

๒.แปลว่า "รด" มีความหมายรองว่า "เย็น" และ "งอกงาม" นี้เป็นนัยเปรียบเทียบ คือเปรียบกับการเอาน้ำรดต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้ชุ่มชื้นร่มเย็นและขณะเดียวกันก็ทำให้ต้นไม้นั้นเจริญงอกงามด้วย ครูก็เช่นกัน ย่อมรดใจศิษย์ด้วยน้ำใจอันดีงามของครูให้ศิษย์มี ความร่มเย็น และช่วยให้ศิษย์เจริญงอกงามด้วยความรู้และความประพฤติ

๓.แปลว่า "คาย" หรือ "สำแดงออกให้ปรากฏ" หมายถึงคายความรักให้ปรากฏ รักใคร? ก็รักศิษย์ ปรารถนาดีต่อศิษย์ อยากให้ศิษย์เจริญก้าวหน้านั่นแล ดังสุภาษิตบาลีบทหนึ่งว่า อาจริโย มํ นิจฺจเมว อนุสาสติ โสหิ มยฺหํ วุฑฺฒึ อาสึสติ= อาจารย์พร่ำสอนเราเป็นนิจ เพราะท่านหวังความเจริญก้าวหน้าของเรา

ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าท่านตรัสคุณสมบัติ (ที่พึงประสงค์) ของครู ๗ ประการ เรียกครูว่า "กัลยาณมิตร" (มิตรแท้) ของศิษย์ คุณสมบัติ ๗ ประการคือ

๑. เป็นที่รักของศิษย์ ทำตนให้ศิษย์รักอยากเข้าใกล้ เข้าไปปรึกษาไต่ถาม
๒. เป็นที่เคารพ มีความประพฤติดีเป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย
๓. เป็นที่น่าเจริญใจ คือเป็นที่ภาคภูมิใจของศิษย์ ว่าตนเป็นศิษย์มีครูและมีครูดี
๔. รู้จักพูดให้ได้ผล สอนวิชาการแจ่มแจ้ง และพร่ำสอนให้ศิษย์เป็นคนดีได้ผล
๕.ทนต่อถ้อยคำ คืออดทนในการพร่ำสอนศิษย์ อดทนที่จะคอยรับฟังปัญหาของศิษย์
๖.เรื่องยากให้ง่าย วิชาการยากๆ มีวิธีสอนให้เข้าใจง่าย รวมถึงเรื่องง่ายๆ ที่คนมองข้าม ก็ชี้ให้เห็นความสำคัญและคุณค่าได้
๗.ไม่ชักจูงศิษย์ในทางต่ำ คือไม่ชักนำศิษย์ทำในสิ่งที่ไม่ดี หรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร

สรุป ครู คือผู้ที่ น่ารัก-น่าเคารพ-น่าเจริญใจ-รู้จักพูดได้ผล-ทนต่อถ้อยคำ-แถลงเรื่องลึกล้ำ-ไม่นำไปทางเสื่อมเสีย หน้าที่กว้างใหญ่อย่างนี้ จะแปลว่าครูคือผู้หนักก็คงไม่ขัดข้อง

วลีว่า "ครูคือเรือจ้าง" ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ครูท่านหนึ่งไม่พอใจคำพูดนี้ หาว่าดูถูกครู "ครูทำหน้าที่ยิ่งใหญ่ปั้นคนให้เป็นคนดีของชาติ ไม่น่าจะมาว่าเหมือนเรือจ้าง"

อีกคนแย้งว่า เปรียบครูเหมือนเรือจ้างน่ะไม่เสียหายดอก เรือจ้างมีหน้าที่รับคนข้ามฝั่ง ครูทำหน้าที่ส่งคนข้ามฝั่งเหมือนกัน หน้าที่นี้ เป็นหน้าที่ยิ่งใหญ่ เพราะถ้าไม่มีเรือ คนก็ข้ามฝั่งไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าเปรียบครูเหมือนคนแจวเรือจ้างละก็ ค่อยน่าตำหนิหน่อย"

"ไม่เหมือนกันหรือ" คนเดิมซัก

"ไม่เหมือน คนแจวเรือจ้างต้องรับเงินค่าจ้าง ไม่มีเงินให้ไม่รับข้ามฟาก ถ้าครูทำตนเพียงแค่คนแจวเรือจ้าง คือ "รับจ้างสอน" ไปวันๆ อย่างนี้น่าตำหนิ"

คิดว่าเป็นเพียงโวหารเท่านั้น จะพูดว่า "ครูเหมือนเรือจ้าง" หรือ "ครูเหมือนคนแจวเรือจ้าง" ก็หมายอย่างเดียวกัน คือเน้นไปที่ "คนแจวเรือ" ด้วยว่า มีแต่เรือเฉยๆ ไม่มีคนแจวก็ไร้ประโยชน์ เรือจะดีอย่างไร ถ้าขาดคนแจว ก็พาคนข้ามฟากไม่ได้อยู่ดี

น่าประหลาดว่า พระพุทธเจ้าท่านก็เปรียบครูเหมือน (คนแจว) เรือจ้างเหมือนกัน ขอโทษ พูดอย่างนี้ ไม่ถูก ต้องพูดว่า พระองค์ทรงเปรียบครูเหมือน (คนแจว) เรือจ้างมาก่อนแล้ว มีหลักฐานใน นาวาสูตร (พระไตรปิฎกสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย) ความว่า

คนที่เป็นครูสอนคนอื่น ต้องมีคุณธรรม คือ พหูสูต เป็นที่รักเคารพของศิษย์ มีวิจารณญาณ และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (หมายถึงปฏิบัติธรรมถูกหลักการและเป้าหมาย) ฉลาด รู้แจ้ง

เปรียบเหมือนคนที่พายเรือพาคนข้ามกระแสน้ำไหลเชี่ยวได้ต้องมีความสามารถพร้อมในการพาย การถ่อ และรู้วิธีการนำเรือฝ่ากระแสน้ำนำคนข้าม ถึงฝั่งได้ ฉันใดฉันนั้น

จะสังเกตว่า คุณสมบัติของครู สรุปลงได้ ๒ ข้อคือ ความรู้ดีและความประพฤติที่เป็นแบบอย่างที่ดี "ความดี" และ "ความเก่ง" สองข้อนี้เป็นหลัก ข้ออื่นเป็นเพียงส่วนประกอบ ดังคำประพันธ์ว่า

ครูต้องเป็นทั้ง "คนดี" และ "คนเก่ง"

ครูต้องเคร่งจริยะมาตรฐาน

ดุจประทีปเจิดจรัสชัชวาล

ส่องนำจิตวิญญาณของปวงชน


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 สิงหาคม 2561 19:44:58

(https://sites.google.com/site/wannisa0445/_/rsrc/1354036534741/hhhh/01.jpg)
ลอยกระทง

ดังได้ทราบแล้ว จุดประสงค์ของการลอยกระทงลงน้ำ ก็เพื่อขอขมาพระแม่คงคา ที่มนุษย์ทั้งหลายได้ล่วงเกินด้วยการสร้างมลภาวะแก่น้ำ

ต่อมาได้นำแนวคิดทางพระพุทธศาสนามาเกี่ยวข้องด้วย จุดประสงค์ก็เลยเพิ่มขึ้นข้อหนึ่งคือ เพื่อนมัสการรอยพระบาทขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เชื่อกันว่าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยัมมุทา หรือยมนา

คัมภีร์ (รุ่นหลังมาก) บันทึกไว้ว่า พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงพระชนม์อยู่ ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้ประชาชนในภายหลังได้สักการบูชา ๕ แห่งด้วยกันคือ ๑. สุวรรณมาลิก  ๒. สุวรรณบรรพต  ๓. สุมนกูฏ  ๔. โยนกประเทศ  ๕. ริมฝั่งน้ำยัมมุทา หรือยมนา

ประชาชนที่ปล่อยกระทงลงน้ำก็จะอธิษฐาน (นอกเหนือจากขอขมาพระแม่คงคา) ขอให้กระทงลอยไปเกยหาดโน่นแหละครับ ริมฝั่งยัมมุทา หรือยมนาโน่น เพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาท

รู้อยู่ครับว่า กระทงมันลอยไปไม่ไกล ก็จมแม่น้ำลำคลอง แต่ก็คิดเอาว่าแม่น้ำนี้ก็คือแม่น้ำยัมมุทาหรือยมนา ซึ่งที่ชายหาดมีรอยพระพุทธบาทประทับอยู่ นึกแค่นี้ก็ได้บุญกุศลมากแล้วครับ เพราะจิตใจนั้นจดจ่ออยู่ที่พระพุทธคุณ

น่าสังเกตว่าประเพณีหลายอย่าง แต่เดิมไม่มีพระพุทธศาสนาไปเกี่ยวข้อง ต่อมาชาวไทยได้นำเอาพระพุทธศาสนาหรือแนวคิดทางพระพุทธศาสนามาผสมผสานเข้าด้วยจนกลายเป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาไป

ดังเช่นประเพณีลอยกระทงที่กล่าวถึงนี้เป็นต้น

ถึงตรงนี้จะเห็นว่า พระพุทธศาสนานั้นได้ซึมซับเข้าไปในจิตวิญญาณของคนไทยมานานและลึกซึ้งเพียงใด ธรรมะคำสอนของพระพุทธองค์ได้หล่อหลอมเป็นอุปนิสัยใจคอของคนไทยอย่างลึกซึ้ง วัฒนธรรมไทยก็คือ วัฒนธรรมพุทธ หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ไทยคือพุทธ พุทธคือไทย ผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวแกะไม่ออก ใครที่คิดแกะพระพุทธศาสนาออกจากวัฒนธรรมไทย จากวิถีชีวิตไทย คงจะต้องคิดหนักหน่อยแหละครับ

ผมเชื่อของผมอย่างนั้น

สุวรรณบรรพต ที่ว่าเป็นสถานที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทแห่งหนึ่งในจำนวน ๕ แห่ง ว่ากันว่าอยู่ที่เมืองไทย แต่ก่อนคนไทยก็ไม่รู้ดอกว่ามีพุทธบาทอยู่ เมื่อครั้งพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งเดินทางไปลังกา ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ถูกพระลังกาถามว่ามาด้วยจุดประสงค์อะไร บอกว่ามานมัสการพระพุทธบาท พระลังกาบอกว่าที่เมืองไทยของท่านก็มี ว่าแล้วก็ร่ายบทโศลกให้ฟังว่า

สุวัณณะมาลิเก สุวัณณะปัพพเต สุมนกูเฏ โยนกปุเร ยัมมุทาย นทิยา
พระพุทธบาทมีอยู่ ๕ แห่ง คือที่สุวรรณมาลิก สุวรรณบรรพต
สุมนกุฏ และริมฝั่งยัมมุทา


"สุวรรณบรรพต ก็อยู่ที่ประเทศพระคุณท่านมิใช่หรือ" พระลังกาว่าอย่างนั้น เมื่อท่านเหล่านั้นกลับมาเมืองไทย เข้าถวายพระพรพระเจ้าทรงธรรมทรงทราบ พระราชาจึงรับสั่งให้หาว่าอยู่ที่ไหน

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีพรานป่าชื่อบุญ (หรือบูรพ์) ไปล่าสัตว์ ยิงกวางตัวหนึ่ง กวางน้อยถูกยิงวิ่งเข้าไปดื่มน้ำที่แอ่งแห่งหนึ่งในป่านั้น ปรากฏว่าแผลที่ถูกยิงหายดุจปาฏิหาริย์ พรานบุญซึ่งติดตามมาเห็นเข้าก็เกิดอัศจรรย์ ก้มลงเอาน้ำในแอ่งน้ำลูบตามแขนขา ทันใดนั้นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เขาเป็นมานานก็หายราวปาฏิหาริย์ เมื่อพินิจดูแอ่งน้ำเล็กๆ นั้นมีสัณฐานคล้ายรอยเท้าคนขนาดใหญ่ จึงเล่าเรื่องราวให้คนอื่นทราบ

คงเล่าลือกันไปนานและไกล แม้พระเจ้าแผ่นดินยังทรงทราบ พระเจ้าทรงธรรมเสด็จมาทอดพระเนตร ปรากฏว่าเป็นพระพุทธบาทจำลองจริงจึงรับสั่งให้สร้างมณฑปครอบประกาศให้ประชาชนมานมัสการทุกปี เทศกาลนมัสการพระพุทธบาทจึงเกิดขึ้นมาแต่บัดนั้น

สุวรรณบรรพตที่ว่านี้อยู่ที่จังหวัดสระบุรี

ประวัติศาสตร์กระซิบว่า พระเจ้าทรงธรรมในอดีตทรงเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่นาม พระพิมลธรรม์ อนันตปรีชา สึกออกมายึดราชสมบัติจับพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนสำเร็จโทษ

ขณะที่ยึดราชสมบัติก็ห่มจีวรไปบิณฑบาตในวัง

พระองค์เปิดเผยภายหลังว่าทรงลาสิกขาแล้ว ที่ต้องห่มจีวรไปบิณฑบาตตอนเช้าก็เพื่ออำพรางให้ตายใจ แผนการยึดอำนาจจะได้สะดวก แต่ประชาชนยังเชื่อว่ายึดอำนาจทั้งผ้าเหลือง เป็น "ปาราชิก" คนบาป จึงเล่าลือในแง่อกุศลต่างๆ นานา

พอค้นพบพระพุทธบาทที่สุวรรณบรรพตเท่านั้น เสียงลืออกุศลก็หายไป เพราะในรัชสมัยของพระราชาผู้มีบุญญาธิการเท่านั้น จึงจะมีสิ่งดี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น รอยพระพุทธบาท พระเจ้าทรงธรรมก็เลยได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน ว่าอย่างนั้น

อย่ามาเอาหลักฐานจากผมแล้วกัน ก็บอกแล้วว่าเป็นประวัติศาสตร์กระซิบ

คนกระซิบก็ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหนแล้ว

การอ้างพระพุทธเจ้าเสด็จมายังถิ่นของตน ของชุมชนต่างๆ เป็นการสร้างความ "ศักดิ์สิทธิ์" ให้แก่ถิ่นฐานของตน รู้สึกว่าการอ้างเช่นนี้จะทำกันทั่วไป ไม่ถือว่าผิดอะไร และไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์ว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ชาวพุทธลังกาเองก็อ้างว่าพระพุทธเจ้าเสด็จลงไปเกาะลังกาหลายเที่ยว ชาวพุทธไทยก็อ้างเช่นนั้น พระสาวกที่ตามเสด็จก็คือพระอานนท์พุทธอุปฐาก ในตำนานเมืองหริภุญชัย กล่าวว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมายังป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ณ ภูมิภาคแถบนี้ ตามเสด็จด้วยพระอานนท์ พระพุทธเจ้าเสวยผลมะขามป้อมแก้กระหาย เสร็จแล้วทรงเพาะเมล็ดมะขามป้อมลงที่พื้น เอาน้ำล้างพระหัตถ์รดเมล็ดมะขามป้อมนั้น รับสั่งกับพระอานนท์ว่า

"อานนท์ สถานที่นี้ต่อไปจะเป็นเมืองใหญ่ ที่มีพระพุทธศาสนารุ่งเรือง"

ตำนานไม่ได้บอกว่าพระพุทธองค์เสด็จมาโปรดใคร ระบุเพียงว่ามาเสวยมะขามป้อมที่นี้แล้วเสด็จกลับ

ต่อมาเมื่อมีการสร้างเมืองขึ้น จึงได้ขนานเมืองตามเหตุการณ์ที่ เกิดขึ้นว่า "หริภุญชัย" แปลว่าเมืองที่พระพุทธเจ้าเสวยมะขามป้อม

คนแปลก็พยายาม "ลากเข้าวัด" จนได้ครับ

ท่านแยกศัพท์แสง พร้อมทั้งวิเคราะห์ (คือกระจายคำตามหลักไวยากรณ์) เสร็จว่า หริภุญชัย มาจาก หริ-ภุญชัย คำ หริ นั้น กร่อนมาจากคำเต็มว่า หรีตกี (มะขามป้อม) คำว่า ภุญชัย นั้นมาจากธาตุ (รากคำ) ว่า ภุชฺ (กริยาว่า ภุญฺชติ แปลว่ากิน) กลัวคนจะไม่เชื่อ ท่านจึง "วิเคราะห์" ว่า หรีตกี ภุญฺชติ เอตฺถาติ หริภุญชยํ = พระพุทธเจ้าเสวยมะขามป้อม ณ สถานที่นี้ เพราะฉะนั้น สถานที่นี้จึงชื่อว่า หริภุญชัย ด้วยประการฉะนี้แล

นับว่า "ลากเข้าวัด" ได้สำเร็จ

ได้ยินผู้ใหญ่เล่าว่า การจัดทำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นไปด้วยความล่าช้ามาก เพราะกรรมการแต่ละท่านชำนาญมาคนละสาขา ต่างไม่ยอมกัน เถียงกันอยู่นั่นแล้วฝ่ายที่เป็น "เปรียญลาพรต" เช่น พระสารประเสริฐ ก็มักอ้างบาลีสันสกฤตจนบางท่านค่อนแคะเอาว่า "จะลากเข้าวัด" อยู่เรื่อย

สมัยนี้ก็มีการอธิบายแบบ "ลากเข้าวัด" หรือ "จับบวช" กันมาก เช่น บวช ก็ว่ามาจาก ปวช (การเว้นทั่ว, เว้นสิ้นเชิง) วัด ก็มาจาก "วัตร" (ความประพฤติ, การปฏิบัติ) หากใครจะอธิบายคำแบบลากเข้าวัดหรือจับบวชก็อย่าไปว่าเขาเลยครับ โบราณท่านก็ทำมาแล้ว

เมื่อลากเข้าวัดได้ ก็ลากออกนอกวัดได้เช่นกัน เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่า คนอีสานมีเชื้อมาจากพวกอารยัน (ฝรั่ง)

"ดั้งหักๆ นี่นะเรอะ" ผมย้อนถาม

เพื่อนบอกว่าใช่ สังเกตภาษาสิ มีคำคล้ายกันหลายคำเช่น eel ตรงกับคำ "เอี่ยน" hug ที่แปลว่ากอด ก็ตรงกับ "ฮัก"

เมื่อแย้งว่า กอดกับฮักไม่เห็นตรงกัน กอดก็กอด ฮัก (รัก) ก็ฮัก คนละเรื่อง

"คนไม่ฮักกันจะให้กอดหรือวะ" เพื่อนยังยืนยันความเห็น ของตน

ผมว่าถ้าขืนใช้วิธีอธิบายแบบนี้ ภาษาไทยคงเพี้ยนพิลึก



พงส์-พงศ์-พงษ์

คนที่นั่งโต๊ะข้างๆ ผมแกชื่อ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ผมหันไปถามว่าทำไมชื่อคุณจึงเขียนไม่เหมือนชาวบ้าน แกหันมาตาเขียวใส่ "ก็ชื่อผมมันไม่เหมือนชาวบ้าน จะให้เขียนเหมือนได้ยังไง" ผมถามใหม่สุภาพกว่าเดิมว่า "ทำไมเขียน พงษ์ ไม่ พงศ์ ขอรับ" แกจึงบอกว่า เขียน พงศ์ พงส์ หรือ พงษ์ ก็ได้แปลเหมือนกัน

ว่าแล้วแกก็งัดเอาหนังสือตำราภาษาไทยชื่อ "ปกีรณําพจนาดถ์" ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เปิดคำนำ โดย "น.ม.ส." ให้ผมอ่าน

"น.ม.ส." เป็นนามปากกาของพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (ไม่มีการันต์ครับ) ซึ่งนักเลงหนังสือรู้จักกันดี พระองค์ทรงเป็นต้นราชสกุล "รัชนี" และเป็นปราชญ์พระองค์หนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

คำนำ มีดังนี้ครับ

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ผู้แต่งหนังสือ ปกีรณําพจนาดถ์ นี้เป็นใหญ่ในพวกอาจารย์หนังสือภาษาไทยในต้นรัชกาลที่ ๕ ตลอดมา ราวครึ่งรัชกาลเป็นศาลฎีกาในเรื่องหนังสือไทย เมื่อตัดสินว่ากระไรเป็นคำพิพากษาสุดท้าย ใครจะมาเถียงว่ากระไรอีกก็ฟังไม่ขึ้นในสมัยนั้น

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนรุ่นใหญ่แล้ว เคยได้ยินผู้คัดค้านตัวสะกดบางคำ ที่พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ใช้ เป็นต้นว่า คำที่เคยเขียนกันว่า วงษ์ นั้นมีคำคัดค้านว่า คำนี้ภาษาบาลี เป็น วํโส สํสกฤตเป็น วํศ ใช้ ษ การันต์โดยหลักอะไร ควรต้องเขียน วงส์ หรือ วงศ์ จึงจะถูก

ตำหนินี้พระยาศรีสุนทรฯ (น้อย) จะตอบว่ากระไร หรือไม่ตอบว่ากระไรเลย ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ข้าพเจ้านึกว่า ถ้าพระยาศรีสุนทรฯ (น้อย) ตอบ ก็คงจะตอบเป็นใจความว่า คำในภาษาบาลีว่า วํโส ก็ทราบแล้ว เพราะเป็นเปรียญถึง ๗ ประโยค และ คำสํสกฤตว่า วํศ ก็ทราบแล้วเหมือนกัน

การเขียน วงษ์ ใช้ ษ การันต์นั้นเพราะอักขรวิธีเดิมของไทยใช้ ษ ตัวเดียวเป็นตัวการันต์ ตัว ส กับ ศ อยู่ท้าย ก็ต้องเปลี่ยนเป็น ษ อันเป็นตัวเดียวในสามสอที่ใช้เป็นตัวการันต์"

ขอบคุณคุณเสฐียรพงษ์ วรรณปก ที่ได้ให้ความกระจ่างแก่ผม ต่อไปจะไม่ถามอะไรให้ตาเขียวอีก แล้วครับ

วาสนา

คําพังเพยว่า "แข่งเรือแข่งพายพอแข่งได้ แข่งบุญวาสนานั้นไซร้อย่าแข่งขัน" ก็ดี คำพูดว่า "บุญมาวาสนาส่ง" ก็ดี หรืออีกหลายคำในทำนองนี้ ผู้พูดและผู้ฟัง เข้าใจในแนวเดียวกันว่า บุญ ก็ดี วาสนา ก็ดี เป็นสิ่งที่ดีที่สั่งสมมานาน โดยเฉพาะ "วาสนา" ใครมีมากก็เป็นบุคคลพิเศษไม่มีใครสามารถแข่งได้ เพราะเป็นทุนเดิมที่สั่งสมมาแต่ปางก่อน วาสนาจึงเป็นสิ่งที่ดี ที่พึงประสงค์

นี้คือความเข้าใจของชาวบ้าน

แต่สำหรับชาววัด "วาสนา" มิใช่สิ่งดี วาสนา หมายถึงสิ่งที่ฝังลึกในจิตสันดาน ลึกมากจนละไม่ได้ ไม่ว่าในแง่ดีหรือแง่ไม่ดี (ส่วนมากมักเน้นแง่ไม่ดี) คัมภีร์ศาสนาพุทธกล่าวว่า โพธิญาณเท่านั้นที่ตัดวาสนาได้เด็ดขาด ว่ากันว่ากิเลสตัณหาพร้อมทั้งวาสนา พระพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาด พระอรหันต์นั้นละกิเลสตัณหาได้ แต่ละวาสนาไม่ได้

แล้วท่านก็ยกตัวอย่างให้ฟัง ๒ เรื่องคือ

พระสารีบุตรอัครสาวก เวลาเดินทางไปพบรมณียสถาน เช่น มีน้ำใสไหลเย็นท่านจะดีใจ กระโดดโลดเต้น ดังกับเด็กได้พบของถูกใจ ถูกพระทั้งหลายตำหนิว่าพระอัครสาวกน่าจะสำรวมมากกว่านี้

เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า นั่นเป็น "วาสนา" ของสารีบุตร ชาติก่อนติดต่อกันหลายร้อยชาติ สารีบุตรเคยเกิดเป็นลิง มาชาตินี้วาสนาเดิมยังแกะไม่ออก (เป็นยังงั้นไป)

พระปิลินทวัจฉะ พูดคำ "ไอ้ถ่อย" เสมอ จนเกิดเรื่อง ถามพ่อค้าดีปลีว่า ขนอะไรมาไอ้ถ่อย พ่อค้าดีปลีร้องตอบฉุนๆ ว่า "ขี้หนูเว้ย ไอ้ถ่อย" ทำให้ดีปลีเขากลายเป็นขี้หนูทันที ต้องกราบขอขมากันยกใหญ่ ดีปลีจึงกลับคืนสภาพ

พระพุทธเจ้าท่านว่า เป็น "วาสนา" ของปิลินทวัจฉะ ชาติก่อนเกิดในตระกูลพราหมณ์ติดต่อกันยาวนาน ชอบตวาดคนอื่นเสมอ มาชาตินี้จริงมี "วาสนา" นั้นติดตัวละไม่ได้

สมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในอดีต เวลาประทับ ณ ที่ไหน เผลอไม่ได้ท่านจะกระดิกพระบาท ดูไม่สำรวมเลย อธิบดีกรมการศาสนาสมัยนั้น จะคอยมาดูแลการจัดสถานที่ จะนำโต๊ะมาตั้งบังไม่ให้เห็นพระบาท เมื่อมีคนถามว่า ทำไมสมเด็จฯ ชอบกระดิกพระบาทเสมอ

อธิบดีตอบสั้นๆ ว่า "เป็นวาสนาแก้ไม่ได้"

หลวงพ่อคูณชอบพูดคำแทนตัวท่านว่า "กู" เรียกคนอื่นโดยสรรพนามว่า "มึง" เหมือนกันหมด ไม่ว่ายศศักดิ์จะสูงขนาดไหนก็ตาม ถ้าเป็นสมัยพ่อขุนฯ ก็ไม่แปลกอันใด แต่มาสมัยนี้คนหาว่าหยาบ ความจริงท่านไม่มีเจตนาให้หยาบ

นี้ก็เข้าข่าย "วาสนา" นั้นเอง คือเป็นวาสนาของหลวงพ่อคูณ ไม่มีใครถือท่าน และไม่เห็นเป็นเรื่องเสียหาย

ถ้าเมื่อใดหลวงพ่อคูณพูด "อาตมา" หรือ "เจริญพร" คงตกใจไปตามๆ กัน

นึกว่าหลวงพ่อไม่สบาย



อธิฏฐาน-อธิษฐาน โมกษมูลาจารย์ โมกขพลาราม

ศัพท์เดิมเขียน อธิฏฐาน อ่าน "อะทิดถาน" ต่อมานิยมใช้ อธิษฐาน ซึ่งเป็นรูปเพี้ยนอิงสันสกฤต (สันสกฤตจริงๆ ไม่เขียน อธิษฐาน) มีเพี้ยนไปถึงขั้น "พิษฐาน" ก็มีดังเพลงว่า พิษฐานเอย...อะไรทำนองนั้นแหละ (ไม่แน่ใจ)

อธิฏฐาน หรือ อธิษฐาน ความหมายเดิม คือ

(๑) ความตั้งใจ ตั้งใจธรรมดาๆ เช่น พระภิกษุตั้งใจจะใช้ผ้าผืนหนึ่งเป็นผ้าห่ม หรือเป็นผ้าห่มซ้อนก็เรียกว่า อธิษฐานจีวร อธิษฐานสังฆาฏิ เรียกจีวรนั้นว่า จีวรอธิษฐาน เรียกสังฆาฏินั้นว่า สังฆาฏิอธิษฐาน

(๒) ความตั้งใจมั่น ตั้งใจแน่วแน่ ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวว่าจะต้องทำให้สำเร็จจนได้ ดังพระโพธิสัตว์ท่านต้องการสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าท่าน "อธิษฐาน" คือตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าจะบรรลุถึงเป้าหมายนี้ให้ได้

การตั้งใจเด็ดเดี่ยวนี้เรียก "อธิษฐาน" เป็นการบำเพ็ญบารมีอย่างหนึ่งในบารมี ๑๐

ต่ำลงมากว่านั้น มีกระทาชายนายหนึ่ง ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ แม้จะเดินทางหมื่นไมล์ก็ตาม ถูกเยาะเย้ยถากถางจากปากคนว่า ต่อให้เดินอีกสักสองแสนไมล์ก็ไม่มีทางได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งละก็พอมีทาง แต่ในที่สุดกระทาชายนายนั้นก็บรรลุถึงเป้าหมายเพราะการ "อธิษฐาน" (ความตั้งใจแน่วแน่มั่นคง) ของเขา

แต่เมื่อมาถึงแล้ว คงรู้ว่าตนคาดผิดก็อาจเป็นได้ เพราะแทนที่จะสุขสบาย กลับถูกด่าวันละสามเวลาหลังอาหาร ว่าเป็นผู้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศชาติตกต่ำ

ต่อมา อธิษฐาน มีความหมายในทำนอง "การขอ, การอ้อนวอน" ซึ่งไม่อยู่บนพื้นฐานของการกระทำประกอบ จุดธูปเทียนยกมือร้องขออยากได้นั่นอยากได้นี่ บางทีก็ให้คำมั่นสัญญาเสร็จว่า ถ้าได้ตามที่ขอก็จะมาตอบแทนบุญคุณ โดยนำสิ่งของไปให้ การขออย่างนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บน" และการนำของไปให้เมื่อคิดว่าตนได้ตามที่ขอแล้วเรียกว่า "แก้บน"

วันดีคืนดีเราจึงเห็น "หลังบ้าน" กระทาชายคนที่เดินทางหลายหมื่นไมล์ จนลุถึงเป้าหมายนั้น นำช้างสีชมพูไปเซ่นเจ้า เพราะคิดว่าสามีของตนได้ตำแหน่งใหญ่โตนั้น เจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้ตามที่ขอ

อธิษฐานในความหมายสุดท้าย (การร้องขอ อ้อนวอน) ไม่มีและไม่เป็นที่ยอมรับในพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาสอนว่าอยากได้อยากเป็นอะไร ให้กระทำหรือสร้างสรรค์เอาเอง ด้วยวิริยะ อุตสาหะอย่ามัวแต่อ้อนวอนร้องขอผีสางเทวดาด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ
โมกษมูลาจารย์
โมกขพลาราม


พระสารประเสริฐ หรือ "นาคะประทีป" ได้แปลงนามของนักปราชญ์เยอรมันท่านหนึ่งคือ Max Muller ว่า "โมกษมูละ" เรียกเต็มว่า "โมกษมูลาจารย์" แปลเอาความว่า อาจารย์ผู้บุกเบิกทางแห่งโมกษะ (ในประเทศตะวันตก) นับว่าคมขำอย่างยิ่ง

คมขำที่ท่านนาคะประทีปได้คิดคำซึ่งมีความหมายสอดคล้องกับ "การงาน" ของท่าน แม็กซ์ มูลเลอร์ เป็นอย่างยิ่ง ท่านแม็กซ์ มูลเลอร์ เป็นนักปราชญ์ในด้านพุทธศาสตร์ ท่านเชี่ยวชาญภาษาบาลี สันสกฤต ได้เป็นผู้ริเริ่มการแปรคัมภีร์พระพุทธศาสนา ได้เฉพาะพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษ และเยอรมัน

ผลงานแปลพุทธวจนะอันลือเลื่องของท่าน คือ Sacred Book of the East หรือคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งตะวันออก เป็นสักขีพยานแห่งความพยายามในการบุกเบิกการศึกษาแนวทางแห่งความพ้นทุกข์ตามหลักของพระพุทธศาสนา

Max แปลงเป็น โมกษ Muller แปลงเป็น มูละ ช่างสอดคล้อง เหมาะเจาะดีแท้

อีกท่านหนึ่งที่คิดคำได้คมมากคือ ท่านพุทธทาสภิกขุ เมื่อครั้งท่านมองหาทำเลสร้างที่พำนัก ท่านเห็นป่าแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสวนโมกข์ในปัจจุบันสงบ สงัด ร่มรื่น เป็น "สัปปายะ" สำหรับผู้พัฒนาจิตอย่างยิ่ง จึงตัดสินใจพำนักอยู่ ณ ที่นี้ เห็นว่าป่าแห่งนี้ต้นไม้ "โมก" และต้นไม้ "พลา" อยู่จำนวนมาก จึงเอาชื่อต้นไม้ทั้งสองมาบวกกัน "จับบวช" นิดหน่อย เติมคำ "อาราม" ข้างท้าย

แล้วก็ได้ชื่อเหมาะเจาะว่า "โมกขพลาราม" โมก (= โมกข) + พลา+อาราม = โมกขพลาราม แปลว่า อารามหรือสถานที่รื่นรมย์อันเป็นพลังแห่งโมกษะ

อารามแห่งนี้ได้กลายเป็นพลังแห่งการพ้นทุกข์ได้จริงๆ เพราะท่านผู้ตั้งชื่อได้พยายามสอนแนวทางแห่งปัญญา ให้คนได้รู้อะไรควรละ อะไรควรพัฒนา ปลุกคนที่ลุ่มหลงงมงายมามากต่อมาก ดังกรณีคุณยายบ้าหวยคนหนึ่ง

คุณยายบ้าหวยคนนี้ เห็นคนไป สวนโมกข์จำนวนมาก นึกว่าหลวงพ่อวัดนี้คงบอกหวยแม่น จึงเข้าไปกราบท่านพุทธทาส เมื่อถูกถามว่ามาธุระอะไร ก็บอกว่ามาขอหวยจากหลวงพ่อ หลวงพ่อตอบว่า "อาตมาไม่รู้ดอก ให้ไปถามสมภาร" แล้วก็ชี้ให้คุณยายเดินไปอีกทางหนึ่ง คุณยายเดินไปเห็นสามเณรผ่านมาจึงถามหาสมภาร สามเณรชี้ไปที่สุนัขตัวหนึ่งซึ่งนอนอยู่ใต้โต๊ะ

"นั่นไงโยม สมภาร"

สุนัขตัวนั้นหลวงพ่อตั้งชื่อให้ว่า "สมภาร" ใครมาขอหวย หลวงพ่อให้ไปขอที่หมาชื่อสมภารเท่ากับบอกว่า เรื่องหวยเป็นเรื่องอบายมุข เรื่องหมาๆ อย่างนี้ก็ไปเอาที่หมาเถอะอะไรทำนองนั้น

ใครเจอวิธี "ปลุกโพธิ" แบบนี้ ไม่ตื่นจากงมงาย ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)



หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 พฤศจิกายน 2561 14:42:03

(https://orawanpechtiem.files.wordpress.com/2015/08/14_1243257493.jpg)

บวชทดแทนคุณพ่อแม่

การบวชในพระพุทธศาสนา จุดประสงค์เดิมคือเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ (วิถีดำเนินชีวิตอันประเสริฐ) เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ เพราะฉะนั้นเวลามีคนมาขอบวช พระพุทธเจ้าจะตรัสว่า จงเป็นภิกษุเถิด เพื่อทำที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ (ในกรณีที่ผู้ขอบวชยังไม่บรรลุอริยมรรคอริยผล) และ "จงมาเป็นภิกษุเถิด (ในกรณีที่ผู้นั้นบังเอิญได้ฟังธรรมแล้วบรรลุธรรมแล้วจึงขอบวช)

ต่อมาเมื่อมีผู้มาขอบวชมากขึ้น และจุดประสงค์ของการมาก็มิใช่ผู้เบื่อโลกแล้วต้องการทางพ้นทุกข์ แต่อาจมีจุดประสงค์อย่างอื่นพ่วงมาด้วย พระพุทธเจ้าจึงทรงมอบอำนาจหน้าที่ในการพิจารณารับคนมาบวชให้อยู่ในดุลพินิจของพระสงฆ์ ทรงวางมาตรการ หรือวิธีกรองคนที่จะเข้ามาบวชไว้ให้ด้วย ว่าจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ๆ ถ้าคุณสมบัติไม่ครบบวชไม่ได้ เช่น คนต้องคดีอาญา คนมีหนี้สิน คนเป็นโรคติดต่อร้ายแรง คนมีเพศไม่ปกติเป็นกะเทย คนพิกลพิการ เป็นต้น บวชไม่ได้

ถ้าใครซึ่งมีลักษณะดังกล่าวมาขอบวช พระสงฆ์ให้บวช คนขอบวชเป็น "องค์พระ" คือบวชขึ้น แต่อุปัชฌาย์ผู้ทำหน้าที่บวชให้มีความผิดเรียกว่า "ต้องอาบัติ" เพราะฉะนั้น กะเทยบวชก็เป็นพระ (แม้ว่าจะเป็นพระกะเทยก็ตาม) แต่อุปัชฌาย์มีความผิด

แต่ก่อนบวชพระบวชเณรก็เรียกว่า บรรพชา เหมือนกัน ต่อมาการบวชพระเรียก อุปสมบท การบวชเณรเรียกว่า บรรพชา

ผู้บวชแล้วต้องฝึกฝนอบรมตนตามหลักไตรสิกขา คืออบรมศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งก็คือ "องค์รวม" ของอริยมรรคมีองค์แปด อันเรียกว่า "พรหมจรรย์" นั้นเอง

เมื่อฝึกฝนตนจนมีคุณสมบัติระดับใดระดับหนึ่งแล้ว พระภิกษุต้องปฏิบัติหน้าที่สั่งสอนประชาชน ชี้แนะวิถีดำเนินชีวิตให้แก่ชาวบ้านด้วย ตัวท่านเองก็อยู่ในศีลาจารวัตรดีงามเป็น "นาบุญ" ของทายกทายิกาผู้ประสงค์บุญด้วย

นาบุญนี้เป็นคำแปลของคำบาลีว่า "บุญเขต" เป็นภาษาเปรียบเทียบว่า นาที่ไม่ดีหว่านข้าวกล้าลงไป ก็ไม่ได้ผลผลิตสมบูรณ์ แต่นาที่อุดมสมบูรณ์ ผู้ทำนาย่อมได้ผลผลิตสมบูรณ์พระสงฆ์ก็เปรียบเสมือนที่นาดังกล่าว พระทุศีลเปรียบเหมือนนาที่ไม่อุดมสมบูรณ์ พระมีศีลเปรียบเสมือนนาที่อุดมสมบูรณ์

ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนามาถึงเมืองไทยได้ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เกิดประเพณีการบวชสามเดือน เพื่อเอากุลบุตรมาบวชเรียนก่อนจะทำงานรับใช้ราชการและมีครอบครัวในภายหน้า การบวชอย่างนี้จึงมีคำเรียกติดปากว่า "บวชเรียน" คือบวชแล้วศึกษาเล่าเรียนฝึกฝนตนเองไปด้วย และถือกันเคร่งครัดว่าเป็นชายมีอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ต้องบวชเรียน ใครไม่บวชเรียนถือว่าเป็น "คนดิบ" ไม่เป็นที่ปรารถนาของผู้คน พ่อแม่หญิงสาวไม่ยินยอมยกให้ชายที่ยังไม่ผ่านการบวชเรียนมาก่อน เพราะถือว่าเป็นคนดิบดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า การบวชเป็นการทดแทนคุณพ่อแม่ พ่อแม่ได้ "เกาะชายผ้าเหลืองลูกชายขึ้นสวรรค์" จริงเท็จอย่างไร น่าจะลองพิจารณาดู

ถามว่า พอลูกชายบวชปั๊บ พ่อแม่ได้เกาะชายจีวรลูกขึ้นสวรรค์จริงหรือเปล่า โบราณสอนกันมาอย่างนี้จนเป็นระบบความเชื่อที่ฝังลึกในจิตใจชาวไทยมาช้านาน

ค้นในคัมภีร์พระพุทธศาสนาก็ไม่เห็นมีที่ไหนกล่าวไว้ ถ้าจะหาทางอธิบายก็คงจะเป็นว่า คำว่า "เกาะชายจีวรขึ้นสวรรค์" คงมิได้แปลตามตัวอักษร คงหมายถึงว่า ถ้าพ่อแม่ที่ได้บวชลูกชายแล้ว ย่อมจะมีโอกาสดีกว่าไม่มีลูกบวช เพราะพ่อแม่บางคนไม่เคยเข้าวัดฟังธรรมเลย แต่พอลูกชายตัวเองมาบวช ก็ได้มีโอกาสเข้าวัด ได้ฟังธรรม รักษาศีล ถวายทาน อย่างนี้เรียกว่า พ่อแม่ได้ "เกาะชายจีวร" ของลูกขึ้นสวรรค์ในระดับหนึ่ง

ยิ่งถ้าพระลูกชายได้เทศน์สอนพ่อแม่ที่ไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาให้มีศรัทธา พ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีศีลให้รักษาศีล พ่อแม่ที่ไม่ค่อยให้ทานให้เป็นคนใจบุญสุนทาน พ่อแม่ที่หลงงมงายมีความเชื่อความคิดเห็นผิดทำนองคลองธรรม ให้มีความเห็นถูกตามทำนองคลองธรรม ก็นับว่าพระลูกชายได้ยื่นชายจีวรให้พ่อแม่เกาะขึ้นสวรรค์สูงขึ้นไปอีก

ถ้า (สมมติ) พระลูกชายสอนพ่อแม่ให้บรรลุมรรคผล ก็นับว่าพระลูกชายได้ทดแทนคุณของพ่อแม่ได้หมดสิ้น


ดังกรณีพระสารีบุตรเถระเป็นตัวอย่าง

มารดาของพระสารีบุตรเป็นมิจฉาทิฐิ ต่อต้านพระพุทธศาสนา เพราะลูกชาย (คือพระสารีบุตร) หนีไปบวช บวชแล้วก็ยังมาชวนน้องชายและหลานชายไปบวชอีก นางสารีจึงตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา ประพฤติขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกทาง เพราะความแค้นส่วนตัว

ต่อมาเมื่อวันที่พระสารีบุตรจะนิพพาน ท่านกลับมายังบ้านเกิดของท่าน แม่เห็นว่าพระลูกชายกลับมาบ้าน และแจ้งความจำนงจะขออยู่ในห้องที่ท่านเกิด จึงมีจิตใจอ่อนโยนขึ้น นึกว่าพระลูกชายคงจะกลับมาอยู่บ้านตามเดิม จึงตั้งใจฟังคำพูดของลูกชายทุกเรื่องที่ท่านพูด จนในที่สุดได้บรรลุโสดาปัตติผล

พระสารีบุตรเมื่อได้โปรดมารดาเป็นสัมมาทิฐิแล้ว นับว่าได้ตอบแทนบุญคุณของมารดาบังเกิดเกล้าได้หมดสิ้นแล้วก็นิพพาน ณ ห้องเกิดของท่านเอง

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอังคุตรนิกายทุกนิบาต (ผมจำไม่ได้ทุกถ้อยคำ แต่จำสาระได้ดังนี้)

"ถึงลูกจะยกพ่อแม่ไว้บนบ่า ให้ท่านถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดตลอดเวลา ๑๐๐ ปี ก็ไม่นับว่าตอบแทนคุณพ่อแม่ ถึงลูกจะสถาปนาพ่อแม่ไว้ในความเป็นใหญ่เหนือปฐพี ก็ไม่นับว่าตอบแทนคุณพ่อแม่ แต่ถ้าลูกสอนพ่อแม่ผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีศีล ไม่ทำบุญสุนทาน และมีความเห็นผิดทำนองคลองธรรม ให้มีศรัทธา มีศีล มีใจบุญสุนทาน และมีความเห็นถูกทำนองคลองธรรม นั่นแหละจึงจะชื่อว่าได้ตอบแทนคุณของพ่อแม่"

ตามนัยนี้จะเห็นว่า เพียงแต่โกนผมนุ่งเหลือง ห่มเหลือง ไม่นับว่าได้ทดแทนคุณพ่อแม่ อย่างมาก ก็ทำให้พ่อแม่ปลื้มใจที่ได้บวชลูกชายเท่านั้น พระลูกชายต้องประพฤติตนอยู่ในศีลาจารวัตรที่ดีงาม ศึกษาและปฏิบัติธรรมแล้วสั่งสอนพ่อแม่ในทางดีงาม จึงจะพอนับว่าได้ตอบแทนคุณของพ่อแม่



เถรส่องบาตร

คําว่า เถร อ่าน "เถ-ระ" เมื่อเป็นศัพท์สมาส อ่าน "เถน" เมื่อลงท้ายคำ ดังพระราชทินนามพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ เช่น พระวิสุทธิสารเถร พระอุดมวิชาญาณเถร อ่านว่า "พระ-วิ-สุด-ทิ-สา-ระ-เถน" "พระ-อุ-ดม-วิ-ชา-ยาน-เถน"

เมื่อคราวพระราชทานเพลิงศพ พระโพธิญาณเถร หรือ หลวงพ่อชา คุณรวงทอง ยศธำรง ซึ่งทำหน้าที่พิธีกรถ่ายทอดสดร่วมกับผมหันมาถามว่าอ่านอย่างไร ผมบอกว่าให้อ่าน "...เถน" ท่านผู้รู้ด่ากันขรมว่า มหาเปรียญนั่งอยู่ด้วยทำไมปล่อยให้อ่านผิด "เถน" ก็แปลว่าขโมยสิ ไปกล่าวหาพระอาจารย์วิปัสสนาเป็นขโมยขะโจรเวรกรรมแท้

ผมได้เขียนชี้แจงภายหลังว่า ถูกต้องแล้ว เถน ถ้าเป็นคำศัพท์แปลว่าขโมย ถูกต้องแล้ว แต่นี้เป็นเสียงอ่านของคำว่า "เถร" คนละอย่างกัน คำนี้ถ้าลงท้ายศัพท์ อ่าน "เถน" ถูกแล้ว ถ้ามีหมื่นเปอร์เซ็นต์ก็ถูกหมื่นเปอร์เซ็นต์ โชคดีที่ได้ "ลุงประสก" ทางสยามรัฐช่วย ท่านร้องผ่าน "ช้างวัด" ว่า อ่าน "เถน" ถูกต้องที่สุดในโลก ท่านว่าอย่างนั้น

เถรส่องบาตร จึงอ่านว่า "เถน-ส่อง-บาด" ความหมายคือทำอะไรตามๆ กันมาโดยไม่พิจารณาถึงเหตุผลหรือจุดประสงค์ สิ่งที่ประพฤติตามๆ กันมาอาจผิดก็ได้ ถูกก็ได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้ใช้ปัญญาพิจารณาอย่าเพิ่งด่วนเชื่อ ตรงนี้ก็มิได้หมายความว่าไม่ให้เชื่อเลย เชื่อได้ แต่หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว

แค่ไหนจึงจะเรียกว่ารอบคอบ พระองค์ทรงวางเกณฑ์ไว้ว่า
๑. สิ่งนั้นเป็นกุศลหรือไม่ คือดีหรือไม่ ทำใจให้สูงให้สะอาดขึ้นหรือไม่ หรือว่ายิ่งทำจิตยิ่งตกต่ำลง
๒. สิ่งนั้นวิญญูชนตำหนิหรือไม่ฟังเสียงสะท้อนจากวิญญูชนเป็นหลัก ไม่เอาเสียงจากพาลชน (คนโง่)
๓. ตนเองติเตียนตนเองได้ไหม มโนธรรมสำนึกบอกว่าควรหรือไม่ควร
๔. ทำลงไปแล้วเบียดเบียนตนเอง ผู้อื่นและสังคมส่วนรวมไหม

คำ "เถรส่องบาตร" เกิดจากพระสงฆ์ฉัน สมภารล้างบาตรและข้าว พอฉันเสร็จ สมภารล้างบาตรและเช็ดบาตรเอง เพื่อดูว่าแห้งหรือยัง ถ้ายังไม่แห้งก็เช็ดอีกแล้วยกขึ้นส่องอีก พระลูกวัดไม่ทราบความหมาย เมื่อสมภารทำก็ทำตามบ้าง เมื่อกาลเวลาผ่านไปนานเข้า การยกบาตรขึ้นส่องจึงกลายเป็น "รูปแบบ" ประเพณีที่ทำกันเคร่งครัดยิ่งขึ้น โดยไม่มีใครรู้ความหมาย

โบราณท่านผูกนิทานเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อสอนว่า จะทำอะไรอย่ายึดถือเพียงรูปแบบ ควรคำนึงถึงสาระด้วยว่าทำไปทำไม ทำแล้วตนและสังคมจะได้ประโยชน์อะไร การนับถือพระศาสนา (ทุกศาสนานั่นแหละ) ถ้าสักแต่ว่านับถือเพียงรูปแบบ ไม่รู้สาระที่แท้จริง ก็ไม่ได้ประโยชน์ที่พึงได้จากพระศาสนา

คณิตกรณ์
มีศัพท์บัญญัติเกิดขึ้นมากมาย บ้างก็คิดขึ้นโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นเป็นทางการ อย่างเช่น คณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์ ของราชบัณฑิตยสถาน บ้างก็เป็นนักวิชาการบัญญัติขึ้นเป็นส่วนตัว ศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมาบางคำก็ "ติด" (คือประชาชนนิยมใช้ทั่วไป) บางทีก็ไม่ติด หายต๋อมไปเลยก็มี

เล่ากันว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบัญญัติคำว่า football ว่า "หมากตีน" ซึ่งก็ฟังเข้าท่าดีและมองเห็นภาพชัดเจน แต่ก็ไม่ "ติด" จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครบัญญัติคำมาใช้แทน football ได้ต้องทับศัพท์ว่า "ฟุตบอล" ซึ่งก็น่าจะอ่าน "ฟุต-บอน" ตามเสียงไทย

แต่ก็ได้ยินนักพากย์กีฬาเดาะเอ๊กเซนซ์ฝรั่งว่า "ฟุต-บอล์"

อีกคำหนึ่งที่คนไทยยุคโลกาภิวัตน์รู้จักกันแพร่หลายคือ computer ได้มีความพยายามบัญญัติศัพท์ขึ้นหลายครั้ง สืบเนื่องมาจาก ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น อยากให้มีคำไทยใช้แทนคำนี้ ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอคำว่า "เครื่องคณิตกล"

ฯพณฯ ท่านนายกฯ มีความพอใจ แต่ต้องการให้ราชบัณฑิตยสถานพิจารณาด้วย ราชบัณฑิตยสถาน โดยคณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์ พิจารณาว่า คำ "คณิตกล" ไม่สู้จะตรง เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่มีส่วนใดที่เป็นเรื่องการทำงานของเครื่องกลเลย จึงไม่ควรมีคำว่า "กล" อยู่ด้วย  และถ้าพิจารณาในแง่วิวัฒนาการของเครื่อง การใช้คำ "คณิต" ก็ตรงกับหน้าที่เบื้องต้น ของคอมพิวเตอร์เท่านั้น ปัจจุบันเครื่องคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาก้าวไกลกว่าการคำนวณตัวเลขเพียงอย่างเดียว

แต่ในที่สุดคณะอนุกรรมการเห็นว่า แม้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์จะวิวัฒนาการไกลไปกว่าเครื่องคิดเลขหรือเครื่องคำนวณแล้วก็ตาม แต่คำภาษาอังกฤษ computer ก็ยังแปลว่าคำนวณ, นับ, ประมาณ, อย่างเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนไปใช้คำใหม่ตามความหมายของเครื่อง จึงเห็นสมควรให้คงคำ "คณิต" ไว้เพื่อให้ตรงกับภาษาอังกฤษ computer และให้ใช้คำ "กร" แทน "กล" เป็น "คณิตกร"

เมื่อเสนอให้คณะกรรมการบัญญัติศัพท์วิทยาศาสตร์อีกชั้นหนึ่ง คณะกรรมการเห็นด้วยแต่ขอแก้ไขเป็น "คณิตกรณ์" เพราะคำ "กร" มักจะหมายถึงคนมากกว่าเครื่องมือ

ตกลงเราก็เลยมีศัพท์บัญญัติว่า คณิตกรณ์ ด้วยประการฉะนี้แล

แต่มีใครสักกี่คนที่ทราบว่าราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติคำว่า คณิตกรณ์ ขึ้นใช้แทนคำว่า computer ดูเหมือนว่าคำนี้ คงไม่ถูกใจคนทั้งหลาย เพราะไม่เห็นมีใครใช้สักเท่าไรเลย แม้กระทั่งกรรมการบัญญัติศัพท์บางท่านก็ยังคงใช้ทับศัพท์ว่า "คอมพิวเตอร์" อยู่เหมือนเดิม

สงสัยจะไม่ "ติด" ดุจเดียวกับ "หมากตีน" เสียแล้วละครับ

ผมได้ทราบว่าล้นเกล้าฯ รัชกาลปัจจุบัน ทรงบัญญัติคำ computer ว่า สัณจินตกร แปลว่าเครื่องช่วยคิดเครื่องช่วยจำ ฟังไพเราะเข้ากับหูไทยๆ ดีกว่า คณิตกรณ์ ซึ่งฟังแล้วนึกถึงวิชาเลขคณิต (ที่ผมไม่ค่อยได้คะแนน) มากกว่าจะนึกไปถึงเครื่องคอมพิวเตอร์  



กินนร/ทัศนวิหค


กินนร

เพิ่งพบเพื่อนพ้องผู้เชี่ยวชาญในภาษาไทยคนหนึ่ง ทันทีที่เจอหน้า เธอก็ถามเราว่า "อาจารย์ได้ดูรายการทีวี...หรือเปล่า เมื่อไม่นานมานี้ เรา (หมายถึงเธอคนนั้น) กำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่ ได้ยินเสียงจากทีวีว่า (เสียงอ่าน) กินนอน มาจาก กึ บวก นอน รวมเป็น กินนอน"

ผมบอกว่า ไม่ได้ดู ถึงดูก็คงไม่ดูรายการที่ว่านั้น เธอบ่นว่า ไม่น่าเชื่อว่าอาจารย์...ผู้เขียนสคริปต์ จะผิดพลาดถึงขนาดนั้น ผมแย้งว่าถ้าเป็นอาจารย์คนที่ว่าจริง ท่านคงไม่พลาดดอกครับ ท่านคงเขียนถูกแต่คนอ่านอ่านผิดไปเอง

ภาษาบาลีนั้น ไม่มีสระอึ ถ้าเห็นคำที่มีสิ่งคล้ายสระอึ นั่นหมายความว่าเป็น สระอึ กับ นิคหิต (นฤคหิต) แต่ถ้าสังเกตดีๆ สระอิ กับ นิคหิต จะอยู่ห่างกันพอสมควร นิคหิตจะลอยอยู่เหนือสระอิ เล็กน้อย ต่างจากสระอึ ซึ่งจุดกลมๆ ติดกับสระอิเลยทีเดียว

มีเรื่องเล่าตลกๆ ว่า พระบวชใหม่ท่องบทสวดมนต์ที่ว่า "ถูเป ฆเร โพธิฆเร ตหึ ตหึ" (อ่านว่า ถูเป คะเร โพทิคะเร ตะหิง ตะหิง) ท่านออกเสียงว่า "ถูเป คะเร โพธิคะเร ตะหึ ตะหึ" นี้ก็เพราะไม่รู้ว่า ในภาษาบาลี ไม่มีสระอึ

กินนร ก็เช่นเดียวกัน ถ้าผู้อ่าน รู้ว่าในภาษาบาลีไม่มีสระอึ มีแต่สระอิ ก็จะไม่อ่านว่า "มาจาก กึบวกนอน" ที่ถูกต้องอ่านว่า "มาจาก กิงบวกนอน"

กินนร อ่านว่า "กินนอน" หมายถึงนกในวรรณคดี รูปร่างครึ่งสัตว์ครึ่งคน จะว่านกก็ไม่ใช่ เพราะส่วนบนเป็นคน จะว่าคนก็ไม่ใช่ เพราะว่าส่วนล่างเป็นนก

เมื่อฤๅษีชีไพร หรือนักสิทธิ์ วิทยาธร มาเห็นเข้าก็ร้องด้วยความฉงนว่า กินนโร "คนหรือเปล่า" หรือ "มันคนอะไรกันวะนี่ ไม่เห็นเหมือนคนทั่วไปเลย"

คำว่า "กินนโร" (ไทยถอดเป็นกินนร อ่าน "กินนอน") มาจาก กึ (อ่าน "กิง" แปลว่าอะไร) บวก นโร (คน) ถอดเป็นไทยว่า กินนร

ที่รวมกันแล้วเป็น กินนร มิใช่ กึนร ก็เพราะตามหลักภาษา นิคหิตต้องเปลี่ยนตามพยัญชนะที่ตามหลัง ถ้าพยัญชนะตามหลังเป็นอักษรวรรคใด ก็ต้องเปลี่ยนนิคหิตเป็นอักษรวรรคนั้น ในที่นี้พยัญชนะ น ที่ตามหลัง เป็นพยัญชนะวรรค ต (ต ถ ท ธ น) นิคหิตจึงเป็น น, กึ+นร จึงเป็น กินนร ด้วยประการฉะนี้

เปิดดู อภิธานัปปทีปิกาสูจิ (พูดหลวมๆ คือ พจนานุกรมภาษาบาลี) ท่านนิยามคำนี้ไว้น่าสนใจดังนี้ครับ กินฺนโร หมายถึง (๑) คนที่น่าเกลียด ในทำนองว่าคนอะไรก็ไม่รู้ไม่น่าดูเลยอะไรๆ ทำนองนั้น (กุจฺฉิโต นโร) (๒) สัตว์คล้ายคน (นรสทิสตฺตา วา. กิ สทิโส นเร นาติ นโร นิคฺคหิตาคโม)

ในที่นี้ท่านไม่ให้คำนิยามเหมือนที่เราเข้าใจกันทั่วไปว่า กินนร มาจาก กึ (อะไร) + นร (คน) แต่ท่านว่ามาจาก กิ (คล้าย) + นร (คน) แล้วลงนิคหิต จึงมีรูปเป็น กินนร ด้วยประการฉะนี้

ที่อยากฝากอีกเรื่องก็คือ พยัญชนะโดดๆ ในภาษาบาลี มีเสียง "อะ" อยู่ในตัว เมื่อเห็นรูปอย่างนี้ให้อ่านมีเสียง "อะ" ทุกแห่ง รับรองว่าไม่ผิด ยกตัวอย่าง "พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย" สามพยางค์หลังให้อ่าน "หิ-ตา-ยะ-สุ-ขา-ยะ" อย่าอ่าน "หิ-ตาย-สุ-ขาย" เป็นอันขาด เดี๋ยวใครไม่รู้จะถามว่า

ใครตาย ใครขายอะไร


ทัศนวิหค
ภาษาไทยนั้นเป็นภาษาคำโดด ส่วนมากมีพยางค์เดียวเช่น มี ดี สี แสง เมื่อต้องการให้เป็นประโยคก็นำคำเหล่านั้นมาต่อกันยาวๆ ก็ได้ความเป็นเรื่องเป็นราว การเอาคำสองคำมาต่อกัน ขึ้นอยู่ว่าจะต่อข้างหน้าหรือต่อข้างหลัง ต่อข้างหน้ามีความหมายอย่างหนึ่ง ต่อข้างหลังมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง เช่น ชมเชย-เชยชม นอนหลับ-หลับนอน เป็นต้น (ความจริงเมื่อ "เช่น" ก็ไม่ต้อง "เป็นต้น" แต่ผมชอบอย่างนี้นี่หว่า)

ครูอาจารย์สอนผมว่า ภาษาไทยไม่มีเครื่องหมายวรรคตอน แต่ปัจจุบันนี้ต้องเขียนวรรคตอนให้ถูกต้องจึงจะอ่านเข้าใจ เขาว่าอย่างนั้น นี้ก็ไม่จริงเสมอไป ไม่เชื่อท่านลองอ่านหนังสือที่นักเขียนทั้งหลายท่านเขียนอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ได้เครื่องหมายวรรคตอนไม่เอาไหนเลย แต่เราก็ยังอ่านรู้เรื่อง เพราะในใจเรากำหนดวรรคตอนเอาเอง และอ่านไปก็ด่าในใจว่า "มันพิมพ์อะไรของมันวะ" (ท้าย "วะ" ไม่มี? เหมือนภาษาฝรั่ง)

ไม่ได้ด่าว่า "มันเขียนอะไรของมันวะ" ส่วนมากรู้กันว่า เป็นฝีมือของคนพิมพ์และคนตรวจปรู๊ฟ ซึ่งบัญญัติศัพท์โก้หรูว่า "เจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษร"

ภาษาไทยที่มีใช้อยู่ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ มีคำบาลีสันสกฤตมากมายเหลือเกิน มากจนเกินจำเป็น จนคำไทยเดิมๆ หายไป แม้ไม่หายก็ถูกลดชั้นลงเป็นภาษาชั้นต่ำ หรือภาษาไม่สุภาพไป

ยกตัวอย่างคำว่า กิน, ตีน เวลาชาวบ้านธรรมดาอย่างคุณ อย่างผม (ถ้าคุณเต็มใจจะอยู่ในระดับเดียวกับผม) พูดว่า "กินข้าว" ได้สบายมาก

เมื่อวานนี้สุภาพสตรีท่านหนึ่งโทรศัพท์มาว่าจะมาหาเวลาบ่ายโมง ผมตอบไปว่า ผมไม่ว่างเพราะนัด "กินข้าวกลางวัน" กับเพื่อน ให้มาบ่ายแก่ๆ ก็แล้วกัน เธอถามว่า "ท่านมีนัดทานอาหารกลางวันหรือคะ ไม่เป็นไรค่ะ ดิฉันจะไปประมาณบ่ายสามโมงก็ได้ค่ะ"

ผม "กินข้าว" สุภาพสตรีท่านนั้นเห็นว่าไม่สุภาพ จึงเลื่อนชั้นขึ้นเป็น "ทานข้าว" ซึ่งที่ถูกคือ "รับประทานข้าว" ไม่รู้เพราะเหตุใดจึงกร่อนเหลือแต่ "ทาน" ซึ่งมีความหมายว่า "ให้" มิใช่ "กิน" นี้ก็เป็นคำเพี้ยนในยุคโลกาภิวัตน์คำหนึ่ง

คำว่า "ตีน" นี้ดูเหมือนจะต่ำเอามากๆ ใครพูดคำนี้จะถูกมองว่าเป็นคนไม่มีการศึกษา เผลอๆ จะหาว่า "พ่อแม่ตายแต่ยังเด็ก" (คือไม่มีเวลาอบรมสั่งสอน) ทั้งๆ ที่ "ตีน" เป็นคำไทยแท้ ความหมายธรรมดาๆ คำหนึ่ง "ตีนเขา" พูดได้ "ตีนของผม" พูดไม่ได้ (ไม่สุภาพ) "ผู้ดีตีนแดง" พูดได้ (เพราะเป็นคำพังเพย) "ส้นตีน" นี้ไม่ได้เป็นอันขาด เดี๋ยวเกิดเรื่อง ดังกรณีเจ้าคุณโชดกฯ (สมณศักดิ์สุดท้าย คือ พระธรรมธีรราชมหามุนี)

หลวงพ่อสอนกรรมฐานให้แก่พระบวชใหม่ สั่งให้เดินจงกรม ตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวอิริยาบถ "ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ..." ลูกศิษย์รูปหนึ่งถามว่า "สติกำหนดที่ไหนครับ"

"ที่ส้นตีน" หลวงพ่อพูดเรียบๆ ทันใดนั้นเองเสียง "พัวะ" หลวงพ่อล้มลงนั่งกับพื้นทันที

ไอ้ลูกศิษย์อันธพาลมันนึกว่าหลวงพ่อยวน จึงเตะขาท่านด้วยความโมโห บาปกรรมแท้ๆ

เห็นหรือยัง คำไทยดีๆ แท้ๆ มาแบ่งแยกชั้นวรรณะให้มัน บางคำเป็นคำต้องห้าม ห้ามนำมาใช้ในที่รโหฐาน (คำนี้ก็อีกแหละความหมายของมันคือ "ที่ลับ" กลายมาใช้ในความหมายว่า "โอ่โถง โอ่อ่า" นี่ก็คำเพี้ยนอีกคำหนึ่งในยุคโลกาภิวัตน์)

ภาษาไทยปัจจุบันมีคำบาลีสันสกฤตปนมากมายจนเกือบจะถึงขั้นถามกันแล้วครับ คุณหมายความอย่างไร เพราะที่พูดๆ กันนั้นไม่มีคำไทยแท้พอจะให้เข้าใจได้เลย (สงสัยต่อไปคนไทยต้องถือพจนานุกรมติดตัวคนละเล่ม ไว้คอยเปิดเวลาสนทนากัน) ราชบัณฑิตและนักวิชาการต่างก็บัญญัติศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมาใช้กันมากมาย ที่มีมาแล้วก็มากจนจำไม่ไหว ยังจะมีมาอีกมากมายไม่รู้เท่าไร

นักบัญญัติศัพท์ก็เหลือเกิน แทนที่จะหาคำไทยๆ มาบัญญัติบ้าง ก็เปิดแต่พจนานุกรมบาลีสันสกฤตหยิบเอาศัพท์มาบัญญัติ บัญญัติออกมาแล้ว ก็ต้องถามว่าแปลอย่างไร ผู้ถูกถามก็มักจะแปลไม่ได้ มีทางเดียวคือหันกลับไปหาคำเดิมว่าศัพท์นี้บัญญัติจากคำฝรั่งว่า อย่างนี้ๆ จึงจะร้องอ๋อ แล้วอย่างนี้จะบัญญัติไปทำไมไม่รู้สิ

พวกที่ไม่มี "ภูมิ" ทางภาษาหลายคน มักชอบบัญญัติศัพท์ให้เป็นที่เฮฮา เช่น ละมุนภัณฑ์ (soft ware) กระด้างภัณฑ์ (hard ware) คำหลังนี้บางท่านอุตส่าห์เปิดดิกชันนารี งัดเอาคำบาลีมาใช้ว่า "กักขฬภัณฑ์" มหาบาเรียนฟังแล้วหัวร่อจนฟันปลอมจะหลุด

สัปดาห์ก่อนได้ยินเสียงแว่วมาจากทีวี (ที่ผมมักเปิดให้ผีดู) ว่า "ทัศนวิหค" จนสะดุ้งหันไปดูว่าเสียงใครพูด ภาพก็หายไปแล้ว ผมเล่าให้เพื่อนฟังพร้อมถามว่า มันคืออะไร เพื่อนบอกว่า ก็คงมาจาก (bird’s-eye view กระมัง

อ้อ แล้วทำไมไม่บัญญัติว่า ทัศนปักษี ทัศนสกุณา ทัศนสกุนตา ทัศนอัณฑชะ ทัศนปตังคะ ทัศนทวิช ทัศนปัตตยาน ทัศนปตันตะ ทัศนวักกังคะ ให้รู้แล้วรู้รอดไป

ขอได้ไหมครับ ท่านนักบัญญัติศัพท์สมัครเล่นทั้งหลาย ที่มีอยู่แล้วก็จะปวดหัวตายอยู่แล้ว ขอความกรุณาพูดหรือเขียนโดยใช้คำไทยๆ ได้บ่ครับ




ศาสตราภิชานศาสตราจารย์/ปราชญ์บัญญัติศัพท์

ด๊อกเตอร์สันสกฤตชาวอินเดียท่านหนึ่งชมว่า คนไทยดัดแปลงภาษาบาลีสันสกฤตมาใช้ได้เก่งกว่าเจ้าของภาษาเดิมเขา

ท่านพุทธทัตตมหาเถระ ชาวลังกา เก่งในการบัญญัติศัพท์บาลีขึ้นใช้ใหม่ ท่านผลิตพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ออกมาสองเล่ม ท่านยังออกปากว่าบางครั้งก็รู้สึกว่าคำบัญญัตินั้นๆ ไม่ค่อยจะถูกใจท่านนัก

ยกตัวอย่างเช่น papaya ท่านบัญญัติว่า นาวาผลํ แปลตามศัพท์ว่า "ผลไม้เรือ" เมื่อมีผู้ถามว่า ทำไม "บักหุ่ง" ของชาวอีสานจึงเป็น "นาวาผลํ" ไปได้ ท่านบอกว่า มันเหมือนเรือน่ะ ครั้นซักว่า เหมือนยังไง ดูยังไงก็ไม่เหมือนเลย ท่านกล่าวต่อว่า

"ลองเอามีดผ่าออกเป็นสองชิ้นดูสิ เหมือนเรือยังกับแกะ"

แหม ต้องมองให้ลึกถึงสองชั้นจึงจะรู้ว่ามันเหมือนกัน อะไรจะปานนั้น

เรามีศัพท์บัญญัติเรียกผู้เชี่ยวชาญในสาขา (ของตน) ว่า ศาสตราจารย์ คำนี้เป็นศัพท์บัญญัติแทนคำฝรั่งว่า professor ใช้กันมาจนรับรู้และยอมรับโดยทั่วหน้ากัน

ถ้าถามว่า ศาสตราจารย์ เป็นมาอย่างไร ก็ต้องแยกศัพท์ดู ศาสตร (บาลีว่า สัตถ) ที่แปลว่าศาสตร์ หรือวิชาการแขนงนั้นๆ บวก อาจารย์ ที่แปลว่าครู, ผู้สอน รวมกันเป็น ศาสตราจารย์ หมายถึงครูผู้สอนซึ่งสาขาวิชาการ (ของตน) และครูผู้สอนนี้ก็จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นด้วย จึงจะเรียกว่า ศาสตราจารย์ ครูที่พอสอนได้ก็ไม่เรียกศาสตราจารย์

เมื่อเปิดดูพจนานุกรมฯ ของท่านพุทธทัตตะท่านกลับไม่ใช้คำว่า สัตถาจาริย (สันสกฤตเป็นศาสตราจารย์) ท่านใช้คำว่า ปัณฑิตาจาริย (ปัณฑิตาจารย์) หรือ มหัชฌาปก ไพเราะสู้ "ศาสตราจารย์" ของเราไม่ได้

ส่วนคำ ศาสตราภิชาน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บัญญัติขึ้น และมอบให้เป็นเกียรติแก่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลังนั้น แปลว่าอย่างไร ถ้าจะใช้ภาษาฝรั่งควรจะเป็นอย่างไร

ข้อนี้ผมไม่ทราบ แต่มีความรู้สึกว่า ผู้บัญญัติศัพท์เก่งมาก เข้าใจเลือกคำมาใช้ ใช้ปั๊บก็ "ติด" เลย คือคนยอมรับว่า เข้าทีดี

ถ้าให้ผมแยกศัพท์ก็จะได้ดังนี้ ศาสตร-อภิชาน ศาสตร รู้กันแล้ว ส่วน อภิชาน มาจาก อภิ-ชาน แปลว่า "รู้ยิ่ง" คำนี้จะแปลเป็นกรรตุว่า "ผู้รู้ยิ่ง" หรือแปลเป็นกรรมว่า "ผู้ที่คนอื่นพึงรู้ยิ่ง (หมายถึงมีชื่อเสียง)" ก็ได้ ดุจคำว่า สุวิชาโน ในพุทธสุภาษิตว่า สุวิชาโน ภวํ โหติ จะแปลว่า "ผู้รู้ดี" หรือ "ผู้อันบุคคลอื่นพึงรู้ง่าย" ฉะนั้นแล

สรุปแล้ว ศาสตราภิชาน ก็คงหมายถึง "ผู้ที่รู้ยิ่งในศาสตร์ของตน" (ในกรณีของ "หม่อมเต่า" ก็หมายถึง การเงิน การคลัง) หรือ ผู้ที่บุคคลอื่นพึงรู้ยิ่งในศาสตร์ของตน (หมายถึงเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่าท่านผู้นี้เก่งในศาสตร์นั้น)

ผมมิใช่คนบัญญัติศัพท์จึงไม่รู้ว่าที่แท้จริงเป็นอย่างไร ถ้าจะกรุณาแจ้งให้ทราบก็จะเป็นพระคุณยิ่ง


ปราชญ์บัญญัติศัพท์
เคยพูดถึงปราชญ์ไทยบางท่านบัญญัติฝรั่งเป็นคำไทยได้เข้าท่าเช่น ชื่อคน ศาสตราจารย์แมกซ์ มุลเลอร์ นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา ปราชญ์ ท่านบัญญัติว่า โมกษมูลาจารย์ แปลว่า อาจารย์ผู้บุกเบิกทางแห่งโมกษะ (ในประเทศตะวันตก) ที่เน้นในประเทศตะวันตก ก็เพราะท่านนี้เป็นหนึ่งในจำนวนผู้บุกเบิกการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศตะวันตก ดังได้แปลพระไตรปิฎกชุด "คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งตะวันออก" มาแล้ว

ปราชญ์ที่คิดคำนี้ขึ้นคือ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ครับ

อีกคำหนึ่งคือ สวนโมกขพลาราม นับเป็นการบัญญัติศัพท์ที่เก๋ มาก เอาคำว่า โมก (ชื่อต้นไม้) มาแผลงเป็นบาลีว่า โมกข กับคำว่า พลา (ชื่อต้นไม้) มารวมกันเป็น โมกขพลา แล้วต่อด้วยคำ อาราม เป็น โมกขพลาราม แปลว่าเป็นสวนอันเป็นพลังแห่งโมกษะ

ท่านพุทธทาสภิกษุ เป็นผู้คิดคำนี้

นักปราชญ์ไทยอีกท่านหนึ่งที่ควรทราบไว้คือ พระสิริมังคลาจารย์ แห่งล้านนา ผู้มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ผู้แต่งหนังสือ มังคลัตถทีปนี ชินกาลมาลีปกรณ์ และอื่นๆ อีก โดยเฉพาะใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ท่านสิริมังคลาจารย์ได้แปลชื่อบุคคลและสิ่งของ เป็นภาษาบาลีหมด ซึ่งตามปกติ อสาธารณนาม (วิสามานยนาม) เขาไม่แปลกัน การที่ท่านแปลชื่อเฉพาะเป็นภาษาบาลี จึงมีความริเริ่มใหม่ที่น่าสนใจและทำได้คมคายมาก

"พระเจ้าแสนเมืองมา" ท่านใช้ว่า ลกฺขปุราคโม ลกฺข (แสน)-ปุร (เมือง) อาคโม (มา) = ลกฺขปุราคโม

"หนองขวาง" ท่านใช้ว่า ติริยวาปี ติริย (ขวาง)-วาปี (หนอง) = ติริยวาปี

ที่ขำก็คือท่านแปลคำ "พะงั่ว" เป็น พาลราชา ซึ่งแปลว่าพระราชาโง่ คงจะนึกอยู่นานว่าจะแปลเป็นบาลีว่าอย่างไร บังเอิญคำว่า งั่ว ฟังคล้าย ง่าว ในภาษาชาวเหนือ

ก็เลยเกณฑ์ให้ขุนหลวงพะงั่วเป็น พระราชาโง่ ไปเลย

ปราชญ์อีกท่านหนึ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ทรงคิดพระนามของพระราชโอรสและพระราชธิดาเป็นคำไทยแล้วทรงแปลเป็นบาลีได้อย่างคมคายยิ่ง มีโอกาสไว้เล่าภายหลัง วันนี้ขอพูดถึงศัพท์ ตรีทศเทพ ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติไว้ในรัชกาลที่ ๔ ก่อน

พอเห็นศัพท์ นักบาลีก็คงร้องอ๋อ มาจาก ติทสเทว อันเป็นชื่อของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หามิได้ครับ เมื่อเป็นศัพท์บัญญัติ ย่อมมีความหมายเฉพาะ

พระราชโอรสองค์โตในรัชกาลที่ ๔ อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย พระนามทรงกลมว่า กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ทรงสร้างวัดถวายพระมารดา สร้างยังไม่ทันเสร็จก็สิ้นพระชนม์ไปก่อน พระราชโอรสองค์รองพระนามว่า กรมหมื่นวิษณุราถริภาธร ทรงสร้างต่อ แต่ยังไม่ทันเสร็จก็สิ้นพระชนม์อีก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงสร้างต่อจนสำเร็จแล้วพระราชทานนามว่า วัดตรีทศเทพ แปลว่า วัดที่เจ้าฟ้าชายสามพระองค์ทรงสร้าง

ทรงแยกศัพท์ดังนี้ครับ ตรี(สาม)-ทศ (มาจากทสา ที่แปลว่าชาย)- เทพ(เจ้า) รวมเป็น ตรีทศเทพ แปลว่า เจ้าฟ้าชายสามพระองค์หมายถึงวัดนี้เจ้าฟ้าชายสามพระองค์จึงสำเร็จ

นี้แหละครับ ศัพท์บัญญัติ ผู้ไม่รู้ที่ไปที่มา แปลได้ตามรูปศัพท์ แต่อาจไม่ตรงความหมายที่ผู้บัญญัติต้องการ




หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 พฤศจิกายน 2561 15:14:20

(https://orawanpechtiem.files.wordpress.com/2015/08/14_1243257493.jpg)

ภิกษุ

มีคำศัพท์คำหนึ่ง ที่ผู้บวชเรียนในพรรษากาลจะพบบ่อยที่สุด เพราะมีในหนังสือ นวโกวาท ที่พระบวชใหม่จะต้องท่อง เช่น "ภิกษุพูดปด ต้องปาจิตตีย์ ภิกษุแกล้งภิกษุต้องปาจิตตีย์ ภิกษุ..."

ถามอุปัชฌาย์อาจารย์ว่า ภิกษุคืออะไร ก็จะได้รับคำตอบว่า หมายถึง พระนั้นเอง บางทีเรียกรวมกันว่าพระภิกษุ เพื่อให้ต่างจากภิกษุสงฆ์ (ภิกษุจำนวนตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป)

ถ้าถามให้ลึกลงไปอีก คำว่าภิกษุมาจากคำอะไร (มีรากคำมาอย่างไร ประกอบวิภัติปัจจัยอะไร จึงเป็นภิกษุ) ก็ต้องว่าโดยละเอียดเป็นเรื่องของความรู้ทางอักษรศาสตร์

ภิกษุ เป็นรูปสันสกฤต ถ้าเป็นบาลีเขียนว่า ภิกขุ มาจาก ภิกฺขฺธาตุ แปลว่า ขอ รูปัจจัย ประกอบกัน แล้วสำเร็จรูป ตามหลักไวยากรณ์เป็น ภิกฺขุ แปลว่า ผู้ขอ

พูดให้สั้นก็ว่า คำว่า ภิกษุ (หรือบาลีว่า ภิกขุ) แปลว่าผู้ขอ ขออะไร ก็ขอข้าวจากชาวบ้านนั้นแล กิริยาอาการที่ท่านไปขอเรียกว่า ภิกขาจาร (เที่ยวไปเพื่อภิกษา) หรือไปเพื่อ (บิณฑบาต)

ตามจารีตทางพระพุทธศาสนา ผู้สละบ้านเรือนไปบวชจะต้องสมาทานหรือถือ นิสัย ๔ อกรณียกิจ ๔

นิสัย ๔ ก็คือสิ่งที่ต้องอาศัยดำรงชีวิต ได้แก่ จีวร (เครื่องนุ่งห่ม ครองผ้าบังสุกุล คือผ้าที่ทำจากเศษผ้าที่หามาเย็บทำจีวร ต่อมาอนุญาตให้รับผ้าสำเร็จรูปจากชาวบ้านได้) บิณฑบาต (ขอข้าวจากชาวบ้านฉัน) เสนาสนะ (อยู่ตามโคนไม้ต่อมาอนุญาตให้อยู่ในสิ่งปลูกสร้างได้) คิลานเภสัช (ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า คือยาดองปัสสาวะต่อมาอนุญาตให้ใช้เภสัชอย่างอื่นได้)

อกรณียกิจ ๔ คือสิ่งที่ผู้บวชไม่พึงทำ คือ เสพเมถุน ลักทรัพย์ ฆ่ามนุษย์ อวดอุตริมนุสธรรม ต่อมาสิ่งไม่พึงทำ ๔ ประการนี้บัญญัติเป็นปาราชิก ๔ บรรพชิตต้องไม่ทำเด็ดขาด ใครขืนทำต้องขาดจากความเป็นภิกษุทันที

การขออาหารของภิกษุ มิใช่ขอดังขอทาน แต่เป็นการขอเพื่อได้อาหารมายังชีพและมีกำลังประพฤติพรหมจรรย์สืบพระศาสนา ผู้ขอเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ เป็น "เนื้อนาบุญ" ของชาวบ้าน ชาวบ้านถวายของแก่ภิกษุผู้บริสุทธิ์ เป็นการทำบุญ ได้บุญได้กุศลด้วยตัวเขาเอง

เพียงแต่อาศัยรูปแบบของผู้สละโลก แต่ไม่สละจริง ขอเขากินเป็นอาชีพ ไม่นับว่าเป็น "ภิกษุ" ในความหมายแท้จริง

อีกความหมายหนึ่งของคำ ภิกษุ (ภิกขุ) คือ "ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ" มีที่มาต่างจากที่กล่าวข้างต้น คือมาจาก ภย (ภัย) - อิกฺขฺ (ธาตุหรือรากคำ แปลว่า เห็น) กระจายคำตามหลักไวยากรณ์บาลีว่า สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติภิกฺขุ = ผู้ใดเห็นภัยในสังสารวัฏ ผู้นั้นเรียกว่า ภิกษุ

แปลไทยเป็นไทยก็คือ ผู้เห็นว่าการเวียนว่ายตายเกิดด้วยอำนาจกรรมดีกรรมชั่วเป็นสิ่งน่ากลัว จึงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อ "ตัดวงจร" แห่งสังสารวัฏ บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ แล้วจะได้ไม่เวียนเกิดเวียนตายอีกต่อไป

ดูความหมายที่แท้แล้ว ผู้ที่จะได้ชื่อว่า ภิกษุ มิใช่เป็นได้ง่ายๆ ภิกษุในอุดมคติ จะต้องเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ และเห็นภัยในสังสารวัฏ ประพฤติเพื่อหลุดพ้นอื่น จากนี้เป็นได้เพียง "ผู้ขอข้าวเขากิน"


ปริวาสกรรม อยู่กรรม
มี "แฟชั่น" อย่างหนึ่งในวงการพระพุทธศาสนาในปัจจุบันคือ ปริวาสกรรม หรือ การอยู่กรรม ทำกันเป็นล่ำเป็นสันในหมู่พระภิกษุทั้งหลาย ดูเหมือนมีฤดูกาลเฉพาะด้วย พอถึงฤดูกาลนั้นพระสงฆ์จะอยู่กรรมกันเป็นจำนวนมาก ถึงขั้นมี "ทัวร์ปริวาสกรรม" ไปตามจังหวัดต่างๆ อีกด้วย พระบางรูป เขาจัดพิธีอยู่กรรมกันที่ไหนท่านก็ไปร่วมกับเขาทุกครั้ง

ผมยังนึกไม่ออกว่า แนวความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับปริวาสกรรม หรือการอยู่กรรมของพระพุทธเจ้ามันเปลี่ยนแปลง หรือพูดให้ถูกมันผิดเพี้ยนไปจากเดิมตั้งแต่เมื่อใด

ปริวาส แปลว่าการอยู่ชดใช้ ชาวบ้านเรียกว่า "การอยู่กรรม" เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อออกจากอาบัติหนักอย่างหนึ่ง ซึ่งภิกษุผู้ต้องอาบัติหนักระดับ "สังฆาทิเสส" แล้วปกปิดไว้จะต้องประพฤติเป็นการลงโทษตนเองชดใช้ให้ครบเท่าจำนวนวันที่ปิดอาบัติไว้

ขยายความอีกนิดก็คือ พระภิกษุที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส อันเป็นความผิดอย่างหนักรองลงมาจากปาราชิกข้อใดข้อหนึ่ง เช่น "จงใจปล่อยสุกกะ" (masturbation) สมมติว่าปกปิดไว้ ๗ วันแล้วจึงบอกเพื่อนภิกษุด้วยกัน

พระคุณเจ้ารูปนี้จะต้องอยู่ปริวาส ลงโทษตัวเอง ๗ วันเท่าจำนวนที่ปกปิดไว้ ระหว่างอยู่ปริวาส พระภิกษุรูปนั้นจะต้องงดใช้สิทธิทุกอย่างที่ตนเคยมี เช่น ห้ามบวชให้คนอื่น ห้ามให้นิสสัย ห้ามให้โอวาทแก่ภิกษุรูปอื่น ห้ามใช้สิทธินับอายุพรรษา ต้องกราบไหว้แม้กระทั่งภิกษุบวชใหม่เรียกว่า "ถูกถอด" ออกจากความเป็นพระปกติ เป็นพระที่อยู่ในระหว่างรับโทษทัณฑ์ ว่าอย่างนั้นเถอะ

ให้นึกถึงภาพทหารที่ทำผิดแล้วถูก "กัก" บริเวณ หรือไม่ก็ตัวอย่างเร็วๆ นี้ก็ได้ นายตำรวจที่พัวพันส่วยถูกสั่งพักราชการชั่วคราวในระหว่างสอบสวน อะไรทำนองนั้น

การอยู่ปริวาสมีอยู่ ๓ ประเภทคือ
- อยู่ปริวาสตามจำนวนวันที่ปกปิดอาบัติไว้เรียกว่า "ปฏิจฉันนปริวาส"
- ต้องอาบัติหลายตัวปกปิดไว้ไม่เท่ากัน เอาจำนวนวันที่ปกปิดไว้รวมกันแล้วอยู่ปริวาสตามจำนวนวันนั้น เรียกว่า "สโมธานปริวาส"
- ต้องอาบัติมั่วไปหมด จำไม่ได้ว่าเท่าไรและปิดไว้นานเท่าใด ให้อยู่ปริวาสจนกว่าจะแน่ใจว่าบริสุทธิ์ เรียกว่า "สุทธันตปริวาส"

ใครจะอยู่ปริวาสแบบไหนแล้วแต่ชนิดของความผิดที่กระทำ เมื่ออยู่ครบจำนวนวันแล้ว ต้องประพฤติ "มานัต" อีก ๖ วัน พูดง่ายๆ คือให้อยู่กรรมแถมอีก ๖ วัน เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ เป็นการปลอดภัยไว้ก่อน

สมมติว่าพระภิกษุชวน ภยาตีโต (แปลว่าพ้นภัย) จงใจปล่อยสุกกะ (อธิบายแล้วว่าคืออะไร) ปกปิดเพื่อนไว้ ๗ วัน พระภิกษุชวน พ้นภัย ต้องอยู่ปริวาส ๗ วัน เมื่อครบ ๗ วันแล้ว พระภิกษุชวนต้องอยู่ "มานัต" เพิ่มอีก ๖ วัน รวมเป็น ๑๓ วัน เมื่อครบ ๑๓ วันแล้ว พระสงฆ์ไม่ต่ำกว่า ๒๐ รูป จะต้องประชุมกันรับรองความบริสุทธิ์ รับให้อยู่ร่วมกับภิกษุทั่วไปได้

เรียกพิธีนี้ว่า "อัพภาน" (คือเรียกเข้าหมู่)

ปริวาสกรรมจึงเป็นวิธีการทำโทษพระที่ผิดพระวินัยอย่างแรงให้ชดใช้ความผิดเป็นกิจกรรมลับภายในสงฆ์ เปิดเผยให้คนภายนอกทราบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องน่าอาย

แต่ปัจจุบันนี้กลายเป็นว่าเป็นเรื่องดีเรื่องที่เปิดเผย เป็นเรื่องบุญเรื่องกุศล และเป็นบุญกุศลอย่างยิ่งใหญ่กว่าบุญกุศลอย่างอื่นอีกด้วย จึงมีการชักชวนให้ชาวบ้านมาร่วมทำบุญถวายทานแด่พระสงฆ์ที่อยู่ปริวาสกรรม โฆษณาประชาสัมพันธ์กันเปิดเผยว่า การถวายทานแด่พระที่อยู่ปริวาสกรรม ได้อานิสงส์มากกว่าถวายทานแด่พระทั่วไปอีกด้วย

พระสงฆ์องค์เจ้าก็เข้าใจ (ผิดๆ) ว่า การอยู่ปริวาส บ่อยๆ จะทำให้ตนมีศีลบริสุทธิ์ จึงแห่ไปร่วมอยู่ปริวาสกันปีละหลายครั้ง

ตกลงพากัน "เข้ารกเข้าพง" ทั้งพระทั้งโยม และก็ไม่มีใครให้ความสนใจมาให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง คงปล่อยให้กระแสแห่งความผิดเพี้ยนนี้ไหลต่อไป

กลายเป็นการทำพระธรรมวินัยให้วิปริตอีกเรื่องหนึ่งในหลายเรื่อง



อัญจารี-วิปริตจารี

ตามปกติผมก็จะเปิดโทรทัศน์ไว้ แล้วก็นั่งพิมพ์หนังสือ หรืออ่านหนังสือไปด้วยขณะพักจากอ่านหรือพิมพ์หนังสือก็เหลือบไปดูทีวี เป็นการ "พักสมอง" หรือพักอะไรก็แล้วแต่ ทำจนเคยชิน

วันหนึ่งขณะพิมพ์หนังสืออยู่ หูแว่วเสียงห้าวของสุภาพสตรีนางหนึ่ง จนหันไปดู เป็นรายการผู้หญิงรายการหนึ่ง ผู้สัมภาษณ์ดูเหมือนจะเป็นคุณอรุณโรจน์ เลี่ยมทอง ผู้ให้สัมภาษณ์เป็นสุภาพสตรีเสียงห้าวท่านหนึ่ง เรียกตัวเองว่าเป็นผู้แทนสตรี "กลุ่มอัญจารี"

ที่ผมสะดุด ถึงกับหยุดพิมพ์หนังสือก็เพราะได้ยินคำว่า "อัญสตรี" เป็นคำใหม่ ไม่เคยได้ยินมาก่อน และเมื่อนั่งดูนั่งฟังข้อความที่สนทนาก็ยิ่งสะดุด

อัญจารี แปลอย่างไรไม่ทราบ แต่ฟังตามที่ให้สัมภาษณ์เป็นชื่อกลุ่มบุคคลผู้ประพฤติแตกต่างไปจากสามัญชนทั่วไป เธอเรียกว่า "กลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง" อ้อ กลุ่มพวกรักร่วมเพศ หรือพวกไม้ป่าเดียวกันนั้นเอง คนพวกนี้ฝรั่งเขาเรียกว่าพวกโฮโมเซ็กช่วล (ชาย) และเลสเบี้ยน (หญิง)

เธอกล่าวว่า พฤติกรรมอย่างพวกเธอไม่เห็นเสียหายอะไร น้ำเสียงทำนองตำหนิว่าคนไทยล้าหลัง ไม่ทันสมัยเหมือนฝรั่งเขา อะไรทำนองนั้น ผมจับได้ดังนี้ครับ ถ้าผิดก็ขออภัยด้วย เธอกล่าวว่า "ความจริงที่เมืองนอกเขาไม่เห็นเป็นเรื่องผิดปกติ อเมริกาก็อยู่ห่างจากเมืองไทยไม่กี่ชั่วโมงบิน แต่ทำไมคนไทยถึงไม่ค่อยรับรู้เรื่องนี้กัน"

ต้องยอมรับว่ามีบุคคลประเภทนี้ในสังคมไทยมานมนานแล้ว แต่เนื่องจากวัฒนธรรมไทยเราไม่ยอมรับพฤติกรรมประเภทนี้ ใครมีพฤติกรรมอย่างนี้จึงเป็นที่รังเกียจในสังคม ถือเป็นพวกวิปริตผิดเพศ พวกไม่อายฟ้าดิน คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้จึงพยายามปิดตัวเองเรียกว่าเป็นพวก "แอบจิต"

มายุคหลังๆ นี้มีบางคนกล้าเปิดเผยตัวเอง ก็พลอยให้คนอื่นที่แอบจิตอยู่กลายเป็น "สว่างจิต" ขึ้นมาบ้าง กอปรกับกระแสทางตะวันตก (ซึ่งแต่เดิมก็ถูกต่อต้านจากคนในสังคมเขา แต่ต่อมาก็จำต้องยอมรับมากขึ้น) ไหลบ่ามาแรง มีคนประพฤติผิดเพศเช่นนี้มากขึ้น ดูเหมือนว่าความรังเกียจเดียดฉันท์ที่เคยมีค่อยผ่อนคลายดีกรีลง คนประเภทนี้ก็กล้าเปิดเผยตัวเองมากขึ้น ดาราสาวบางคนก็ควงคู่ออกประกาศทางทีวีว่าเป็น "ผัวเมีย" กัน สังคมก็ไม่ว่ากระไร ถ้าเป็นอย่างสมัยก่อนถูกจับทำโทษเอาทีเดียว

หม่อมไกรสร ผู้รับผิดชอบกรมการสังฆการีร่วมกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็น "คู่อริ" ของพระเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ตอนหลังจับได้ว่าเป็นประเภทชอบไม้ป่าเดียวกัน ถึงกับถูกจับประหารชีวิต เมื่อสิ้นชีพแล้วพระเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ถึงกับสร้างพระไพรีพินาศเลยทีเดียว

มีความพยายามที่จะบอกสังคมว่า คนเราเลือกเกิดไม่ได้ เมื่อเกิดมาแล้วเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ไม่น่าจะถือว่าเป็นความผิดปกติ เมื่อชายรักหญิง หญิงรักชายได้ แล้วทำไมชายจะรักชาย หญิงจะรักหญิงไม่ได้ คนเราจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ตราบใดที่ไม่ทำความเดือดร้อนแก่สังคมก็น่าเพียงพอแล้ว

อัญจารี ถ้าจะให้ผมแปล ผมแปลว่า "ผู้มีปกติประพฤติเป็นอย่างอื่น" คืออย่างอื่นจากที่มนุษย์ธรรมดาทั่วไปเขาประพฤติ รู้สึกว่าผู้คิดคำเก่งไม่น้อย ออกมาเก๋ แต่เขามีศัพท์เรียกอยู่ก่อนแล้ว คือ บัณเฑาะก์ กับอุภโต พยัญชนก

บัณเฑาะก์ (ปณฺฑโก) คือกะเทย อุภโต พยัญชนก (อุภโตพฺยญฺชนโก) คือคนมีสองเพศ มีความหมายสองนัย คือ (๑) คนมีอวัยวะเพศปรากฏทั้งสองเลย กับ (๒) คนที่ทำหน้าที่ได้ทั้งบุรุษและสตรี อย่างสมัยนี้เรียกว่า "เสือไบ" (สระไอไม้มลายครับ) หรือ bisexual นั้นเอง

คนสองประเภทนี้ทางพระพุทธศาสนาถือเป็นคนต้องห้าม ห้ามบวชเป็นภิกษุเด็ดขาดสังคมไม่ว่ายุคไหนก็ยังไม่ยอมรับว่าเป็นคนปกติ แม้ใจจะกว้างอย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ยอมรับอยู่นั้นเอง ไม่ว่ากฎหมายประเทศใด

คนที่เป็นกะเทย สมมติมีใจเป็นหญิงชื่อ นายสมยศ ขวนขวายไปผ่าตัดแปลงเพศเป็นผู้หญิงเต็มตัวแล้ว กฎหมายก็ยังไม่ยอมให้เปลี่ยนนายสมยศเป็นนางสาวสมยศ ถึงเวลาเกณฑ์ทหาร สมยศในร่างของสาวแปลงเพศก็ยังต้องเดินสะบัดสะบิ้งไปเกณฑ์ทหารอยู่ดี เพราะในทะเบียนบ้านยังเป็นนายสมยศอยู่

ผมคิดว่าน่าจะเอาคำศัพท์ที่มีอยู่แล้วมาบัญญัติ เช่น กลุ่มบัณเฑาะก์ กลุ่มอุภโตพยัญชนก หรือถ้าจะให้ทันสมัยและไพเราะก็น่าจะเป็นกลุ่มวิปริตจารี รับรองว่าถูกต้องที่สุด

อุภโตสุชาต
เขียน อุภโตสุชาต (ไม่มีสระอิ) เพราะเป็นคุณศัพท์ แปลว่า "ผู้เกิดดีทั้งสองฝ่าย" หมายถึงบริสุทธิ์ทั้งสองฝ่าย หรือสองข้าง คือข้างบิดาและข้างมารดา ถ้าข้างใดข้างหนึ่งไม่บริสุทธิ์ไม่นับว่าเป็น อุภโตสุชาต คำว่า "บริสุทธิ์" หมายถึงสายเลือด เช่น เลือดกษัตริย์ เลือดพราหมณ์ มาตรฐานอย่างนี้มีอยู่ในหมู่ชนที่ถือวรรณะถือชั้น

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาใหม่ๆ พวกพราหมณ์ที่ถือว่าตนเกิดจาก "โอษฐ์" ของพรหมัน (พระพรหม) วรรณะอื่นเกิดจากส่วนอื่นของพรหม ถือว่าต่ำกว่าวรรณะตน พากันดูหมิ่นเหยียดหยามพวก "สมณะศากยบุตร" (คือพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า)

แม้พระพุทธเจ้าเองก็เคยถูกคนในวรรณะพราหมณ์ดูหมิ่นเช่นกัน หาว่าวรรณะกษัตริย์โดยเฉพาะกษัตริย์แคว้นเล็กๆ เช่นศากยะนั้นต่ำต้อย เมื่อพระสมณโคดม (คนนอกศาสนามักเรียกพระพุทธองค์ด้วยคำนี้) เกิดจากวรรณะต่ำต้อย คำสอนก็คงต่ำต้อยไร้คุณค่าไปด้วย

ตรรกะแบบนี้ความจริงใช้ไม่ได้ แต่เมื่อคนจะหาเหตุแล้วย่อมหาจนได้แหละ

คราวหนึ่งมีการสนทนาระหว่างพราหมณ์ผู้ถือตนว่ามีวรรณะสูงกับพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสถามไปทีละประเด็นๆ ดังนี้

พุทธ "พราหมณ์ คนที่จะนับว่าเป็นพราหมณ์แท้จริง มีคุณสมบัติอย่างไร"

พราหมณ์ "มี ๕ ประการ สมณโคดม คือ
๑.ต้องเกิดในวรรณะพราหมณ์ เป็น อุภโตสุชาต
๒.ต้องท่องจำพระเวทได้
๓.ต้องมีรูปงาม
๔.ต้องมีศีล
๕.ต้องมีปัญญา"

พุทธ "ถ้าจะลดเหลือลง ๔ ข้อจะได้ไหม"

พราหมณ์ "ได้ สมณโคดม ลดโดยตัดข้อรูปงามออก"

พุทธ "ถ้าจะตัดออกอีกเหลือ ๓ ข้อจะได้ไหม"

พราหมณ์ "ได้ ตัดข้อว่าด้วยท่องจำพระเวทออก"

พุทธ "ถ้าตัดออกเหลือเพียง ๒ ข้อได้ไหม"

พราหมณ์ "ได้ ตัดข้อว่าด้วยเกิดในวรรณะพราหมณ์ออก"

พุทธ "ถ้าจะตัดออกอีกให้เหลือเพียงข้อเดียวจะได้ไหม"

พราหมณ์กล่าวว่า ที่ตัด "วรรณะพราหมณ์" ออกนี้ก็กัดฟันตัดแล้ว ความจริงพราหมณ์ทั้งหลายเขาถือว่าการเกิดในวรรณะพราหมณ์ที่เป็นอุภโตสุชาตนั้นเป็นที่สุดแล้ว แต่เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว ศีลกับปัญญาสำคัญกว่า เพราะฉะนั้นคุณสมบัติสองข้อนี้ตัดออกอีกไม่ได้แล้ว

นับว่าพราหมณ์คนนี้มีความยุติธรรม ถือความถูกต้องเป็นหลัก พระพุทธเจ้าจึงสรุปว่าที่พราหมณ์นั้นพูดถูกต้องแล้ว คนที่จะเรียกว่า "พราหมณ์" ที่ถูกต้อง ไม่ควรกำหนดเอาที่วรรณะ ควรจะกำหนดเอาที่ศีล (ความประพฤติดี) กับปัญญา (ความรู้) ผู้มีศีลและปัญญานับว่าเป็น "พราหมณ์ในความหมายใหม่"

คงเพราะพุทธวจนะนี้กระมังครับที่คนไทยเราในปัจจุบันนี้ มีคำพูดติดปากเสมอว่า "ความรู้คู่กับคุณธรรม"

ถ้าจะถืออุภโตสุชาต ในความหมายใหม่ก็น่าจะถือเอาความรู้เป็นฝ่ายหนึ่ง คุณธรรมเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า คนจะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยคุณธรรมสองประการนี้แล



พ่อแม่

วัฒนธรรมไทย พ่อมาก่อนแม่ ดังในการเรียกขาน "พ่อ-แม่" หรือ "บิดา-มารดา" แต่ส่วนลึก แม่ อาจมีความหมายและสำคัญมากกว่าพ่อก็ได้ ดังใครจะว่าจะด่าก็พออนุโลมไม่ถือสา แต่อย่าด่า "แม่" ก็แล้วกัน ด่าแม่เดี๋ยวได้เรื่องแน่

ในวัฒนธรรมแขก พ่อน่าจะสำคัญกว่าแม่ เพราะเพศชายถือว่าเป็นเพศประเสริฐ แต่งงานแล้วต้องได้ลูกชายเพื่อสืบสกุล ถ้าไม่สามารถมีลูกชายสืบสกุล ถือว่าเป็นความผิดความชั่ว เผลอๆ ความผิดนั้นมาตกที่ฝ่ายผู้หญิง ที่ไม่สามารถมีลูกชายให้เขาสืบสกุล เป็นถึงขนาดนั้น

ตระกูลที่ไม่มีบุตรชาย เดือดร้อนขนาดหนักดุจตกนรกฉะนั้น (ดังพูดว่า ไม่มีบุตรชายจะตกนรกขุมปุตตะ)

แต่ในทางพระพุทธศาสนาดูจะกลับกัน ให้เกียรติสตรีมากกว่าบุรุษ ดังมีคำเรียกว่า มาตาปิตา (มารดา-บิดา) ในมงคลสูตร พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้บุตรธิดาดูแล รับใช้พ่อแม่ โดยตรัสว่า มาตาปิตุอุปฏฐานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ = การอุปฐากมารดาบิดาเป็นมงคลสูงสุด แสดงว่าให้ความสำคัญแก่แม่มากกว่าพ่อ

ที่ว่ามานี้ ตีความตามคำที่ใช้ ว่าคำไหนมาก่อนคำไหนมาหลัง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องถูก หรือจริงตามนี้เสมอไป ความจริงอาจตรงกันข้ามก็ได้เพียงแต่เป็นข้อสังเกตเท่านั้น

บิดา (บาลี= ปิตา) แปลว่ารักษา (คุ้มครอง) โลก "ผู้ใดย่อมรักษาโลกทั้งมวลไว้ ผู้นั้นชื่อ ปิตา" (สพฺพโลกํ ปาตี รกฺขตีติ ปิตา) ความหมายก็คงหมายถึงว่า บิดาเป็นผู้ให้กำเนิด เมื่อไม่มีผู้ให้กำเนิด คนก็เกิดมาไม่ได้ โลกทั้งปวงจะเป็นโลกไม่ได้ เพราะไม่มีประชากรสืบพันธุ์ต่อมา

พูดอย่างนี้มีช่องเถียงได้ ถึงมีผู้จะให้กำเนิดแต่ไม่มีสตรีผู้อุ้มท้องผู้คลอดลูก คนก็เกิดมาไม่ได้เช่นกัน แล้วแต่ใครจะเป็นคนให้นิยาม บุรุษให้นิยาม บุรุษก็ต้องว่า บิดา เป็นผู้ให้กำเนิด เรื่องมันก็เป็นเช่นนี้แหละท่านสารวัตร

อีกความหมายหนึ่ง บิดา แปลว่าผู้รักลูก "ผู้ใดย่อมรักลูก ผู้นั้นชื่อ "ปิตา (ปุตฺตํ ปิยายตีติ ปิตา)

มารดา แปลกันว่า ผู้นับถือ (หรือให้เกียรติ) ลูก "ผู้ใดย่อมนับถือบุตร ผู้นั้นชื่อ "มารดา" (ปุตตํมาเนตีติ มาตา)

อีกความหมายหนึ่ง มารดา แปลว่าผู้ปกป้องลูก "ผู้ใดย่อมปกป้องลูก ผู้นั้นชื่อ มาตา" (ปุตตํ ปาตีติ มาตา)

อีกความหมายหนึ่ง มารดา แปลว่าผู้ให้ลูกดื่มนม (หรือผู้เลี้ยงลูก) "ผู้ใดย่อมยังบุตรให้ดื่มนมผู้นั้นชื่อ มาตา" (ปาเยตีติ มาตา)

นี้คือคำแปลว่า คำ มาตา ตามรูปศัพท์ แต่เมื่อว่าโดยอรรถะ (ความหมาย) แล้ว ก็คือสิ่งเดียวกัน คือผู้ที่ปกป้องลูก ผู้เลี้ยงดูลูก ผู้รักลูกสุดชีวิตจิตใจก็คือแม่ ว่ากันว่า ความรักของแม่ค่อนข้างบริสุทธิ์กว่าความรักของพ่อ พ่อส่วนมากรักลูกเพราะมีเงื่อนไข เช่น อยากให้ลูกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ถ้าลูกไม่เรียน ไพล่ไปชอบวาดรูป เป็นต้น พ่อก็ชักไม่รักลูกแล้ว พ่อเป็นทหาร อยากให้ลูกเป็นทหารด้วย แต่ลูกเกลียดอาชีพทหาร พ่อก็ชักไม่รักลูกแล้ว เพราะลูกไม่เป็นตามที่พ่อต้องการ

ส่วนความรักของแม่นั้นไม่มีเงื่อนไข รักลูกเพราะรัก ลูกจะเป็นคนดีคนเลว ก็ลูกของแม่ ดูแม่องคุลิมาลเป็นตัวอย่าง เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลจะยกกองทัพย่อยๆ ไปปราบ ปุโรหิตผู้เป็นพ่อ ตัดใจได้ว่าลูกของตนเป็นโจร มีความผิดต่อแผ่นดิน สมควรได้รับโทษทัณฑ์ แม้ถึงตายก็ควร

แต่แม่ พอทราบข่าว ก็กลัวลูกจะตาย จึงตัดสินใจเดินทางล่วงหน้า เพื่อจะบอกให้ลูกชายทราบ ทั้งหมดนี้เพราะความรักที่แม่มีต่อลูกเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสสอนเหล่าสาวก ให้แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ ท่านให้ทำใจให้เปี่ยมด้วยความรักที่บริสุทธิ์ต่อสรรพสัตว์ ดุจเดียวกับมารดารักบุตรสุดที่รักคนเดียว ฉันใดก็ฉันนั้นแล



ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ
(๑) พุทธ-สัมพุทธ-สัมมาสัมพุทธ/ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ
(๒) กิเลส-เกลศ

ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ (๑) พุทธ-สัมพุทธ-สัมมาสัมพุทธ

บทสวดมนต์ไหว้พระที่ไพเราะมาก ครูบาอาจารย์ให้เราสวดทุกสัปดาห์ ในโรงเรียนคือบทนมัสการพระรัตนตรัยคำประพันธ์ ขึ้นต้นด้วย "องค์ใดพระสัมพุทธ" ปัจจุบันนี้ยังมีอยู่บ้างในบางโรงเรียน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อเสด็จฯ แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นประธานประกอบพระราชพิธีเวียนเทียน ณ พุทธมณฑล ทรงนำสวดบท "องค์ใดพระสัมพุทธ" เสมอ พระสุรเสียงไพเราะกังวาน นำมาซึ่งศรัทธาปสาทะต่อพระรัตนตรัยอย่างยิ่ง

มีผู้ถามผมว่า บทประพันธ์นี้ใครเป็นผู้แต่ง ก็ตอบไม่ได้ในเบื้องต้น ต่อเมื่อกราบเรียนถาม ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ท่านบอกว่าเป็นบทประพันธ์ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ท่านอาจารย์ได้เมตตาบอกต่อไปว่า พระยาศรีสุนทรโวหาร "น้อย" เป็นเปรียญ ๗ ประโยค บวชอยู่ที่วัดสระเกศ (วัดสระเกศ ภูเขาทองนั่นแหละครับ) กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุชีพ เป็นอย่างยิ่ง ว่างๆ ผมจะไปหาประวัติของท่านมหาน้อย วัดสระเกศมาให้รับทราบกัน

เริ่มด้วยศัพท์ สัมพุทธ ก่อนก็แล้วกัน คำว่า พุทธ สัมพุทธ สัมมาสัมพุทธ มาจากแหล่งเดียวกัน จะเรียกว่าเป็นคำเดียวกันก็ไม่ผิด

พุทธ แปลว่า ผู้รู้ ส่วนที่แปลต่อไปว่า ผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้เบิกบาน เป็นความหมายรอง ความหมายดั้งเดิม คือ ผู้รู้แล้ว ผู้ตรัสรู้แล้ว (คำว่า ตรัส เป็นคำเขมร แปลว่า แจ้ง ตรัส-รู้ = ตรัสรู้ แปลว่า ผู้รู้แจ้ง) ในที่นี้ท่านหมายถึง รู้อริยสัจ (ความจริงอันประเสริฐ) ๔ ประการคือ

รู้ทุกข์ (ปัญหาของชีวิต) ว่าคืออะไร รู้ว่าทุกข์พึงกำหนดรู้

รู้เหตุแห่งทุกข์ ว่ามีอะไรบ้าง รู้ว่าเหตุแห่งทุกข์พึงละ

รู้ภาวะดับทุกข์ รู้ว่าภาวะดับพึงทำให้กระจ่างแจ้ง

รู้ทางดับทุกข์ รู้ว่าทางดับทุกข์พึงทำให้เจริญหรือพึงลงมือทำอย่างจริงจัง

ถ้าถามว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร คำตอบก็คือตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการ หรือจะตอบว่าตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท (อิทัปปัจจยตา) ก็ตอบได้เหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงเน้นคนละแง่เท่านั้น ในที่นี้จะไม่พูดถึงให้สับสน เพราะมิใช่เขียนตำราเรียนวิชาพระพุทธศาสนา

สัมพุทธ (สัม-พุทธ) แปลว่า ผู้รู้พร้อมหรือรู้เอง รู้พร้อม หมายถึงรู้อย่างสมบูรณ์ รู้เอง หมายถึงไม่มีใครสอน รู้ด้วยตนเอง

สัมมาสัมพุทธ (สัมมา-สัม-พุทธ) แปลว่า ผู้รู้ชอบและรู้เอง หรือรู้ชอบด้วยพระองค์เอง รู้ชอบ คือรู้ไม่ผิด อันหมายถึงรู้อริยสัจ รู้เอง หมายถึงไม่มีใครสอน

ทั้ง พุทธ สัมพุทธ สัมมาสัมพุทธ เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า ส่วนพระอรหันต์สาวกเรียกว่า พุทธ เฉยๆ ได้ แต่ไม่เรียก สัมพุทธ หรือ สัมมาสัมพุทธ

ในพระพุทธศาสนาจึงแบ่ง พุทธออกเป็น ๓ ประเภท ต่อมาเพิ่มอีกหนึ่ง รวมเป็น ๔ คือ

๑. สัมมาสัมพุทธ (ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง)

๒. ปัจเจกพุทธ (ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แต่ไม่ประกาศพุทธศาสนา)

๓. อนุพุทธ (ผู้รู้เพราะได้ฟังหรือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า)

๔. สุตพุทธ (ผู้รู้ที่มีสุตะมาก)

สุตพุทธ นี้ไม่ได้ตรัสรู้ธรรม ไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล หากเป็นนักปราชญ์ผู้คงแก่เรียน อนุโลมให้เป็นพุทธคนหนึ่ง สุตพุทธ เพิ่งเติมมาภายหลัง


ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ (๒) กิเลส-เกลศ
บทสวดมนต์ว่า "ตัดมูลเกลศมาร" ความหมายก็คือ ตัดรากแห่งกิเลสมาร

กิเลสมาร ได้แก่มารคือกิเลส ภาษาบาลีเขียน กิเลส ภาษาสันสกฤตเขียน เกลศ ส่วนคำไทย บางทีก็เขียนแบบบาลี บางทีก็เขียนแบบสันสกฤต แล้วแต่ว่าแบบไหนจะถนัดลิ้นคนไทย ในกรณีนี้ส่วนมากมักเขียนว่า กิเลส

กิเลส คืออะไร กิเลส ตามศัพท์แปลว่า เศร้าหมอง สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมองเรียกว่ากิเลส "กิเลส" จึงเป็นคำรวมๆ ความชั่วทุกชนิดที่มาทำให้จิตสกปรกเศร้าหมอง เรียกรวมว่า "กิเลส" ทั้งนั้น ต่อเมื่อต้องการบอกว่า มันตัวไหนบ้างล่ะ นั่นแหละจึงจะ (จิกหัว) เรียกชื่อออกมา

น่าสังเกตว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ทรงใช้คำว่า "กิเลส" (มีใช้เพียงบางครั้งว่า อุปกิเลส) เพราะฉะนั้น คำนี้ (กิเลส) เป็นศัพท์บัญญัติภายหลังพุทธกาล

พระพุทธองค์ เวลาตรัสถึงสิ่งเหล่านี้ พระองค์ตรัสระบุชื่อมันตรงๆ เลย เช่น ราคะ โทสะ มานะ ตัณหา...นี้เป็นข้อสังเกตของผมครับ ผิดหรือถูกฝากไว้พิจารณา ถ้าพิจารณาได้ก็บอกมาด้วย อย่าอุบไว้คนเดียว

กิเลส หรือสิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมองมีมากมาย โบราณาจารย์ท่านบอกจำนวนว่า กิเลสมีพันห้า ตัณหามีร้อยแปด มิใช่พูดเล่นๆ จำแนกได้จำนวนนั้นพอดี อย่าอยากทราบเลยครับว่ามีอะไรบ้างจะปวดศีรษะเปล่าๆ

เอาแค่ย่อๆ ก็แล้วกัน กิเลสที่เป็น "หัวหน้า" ของกิเลสทั้งปวงมี ๓ ประเภท ศัพท์ทางศาสนาเรียกกิเลส ๓ ตัวนี้ว่า อกุศลมูล แปลว่ารากเหง้าแห่งความไม่ดีไม่งามทั้งปวง นี้แหละคือ "โคตรแห่งกิเลส" ละ ได้แก่

๑.โลภะ (บางครั้งเรียก ราคะ) คือกิเลสประเภทคิดแต่จะได้คิดแต่จะเอามาเป็น ของตน ได้ล้านแล้วไม่พอจะเอาห้าล้าน หกล้าน ร้อยล้าน พันล้าน อะไรทำนองนั้น

๒.โทสะ คือกิเลสประเภทคิดแต่จะทำลายทำความพินาศฉิบหายให้กับคนอื่น เห็นใครดีไม่ได้อยากจะฟาดฟันให้มันบรรลัยไปเลย (บางทีคิดแต่จะฟาดฟันให้เขาบรรลัย ตัวเองบรรลัยเสียเองก็มี)

๓.โมหะ คือกิเลสประเภทหลง ไม่ใช่หลงลืมอย่างที่ส่วนมากเข้าใจ หมายถึงลุ่มหลง หลงใหล ยึดติดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนงมงาย

สามตัวนี้คือ "หัวหน้าใหญ่" ของบรรดากิเลสทั้งหลาย ตัวไหนอยู่สายไหน ก็ต้องมีลักษณะสอดคล้องกันแบ่งกันเองโดยธรรมชาติ ไม่มีเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา  




หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 พฤศจิกายน 2561 15:29:05

(https://orawanpechtiem.files.wordpress.com/2015/08/14_1243257493.jpg)

ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ (๓)
โอฆกันดาร ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ (๔)เบญจพิธจักษุ

ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ (๓)
โอฆกันดาร

"โปรดหมู่ประชากร มะละโอฆกันดาร" มะละ ในที่นี้คือ "มาละ" รัสสะเสียงที่ "มา" ลงเป็น "มะ" เพื่อเข้าฉันทลักษณ์ คือ โปรดประชากรให้มาละ พาให้มาละเว้น โอฆกันดาร

โอฆกันดาร แปลว่า ที่กันดารคือโอฆะ คำว่า "กันดาร" ย่อมเป็นที่ทราบกันดี หมายถึงที่ที่ลำบากอย่างยิ่ง เช่น ทางกันดาร ทางที่ไปมาลำบากอย่างยิ่ง ป่าดงกันดาร คือป่าดงที่ข้ามไปยากยิ่ง "โอฆะ" แปลตามศัพท์ว่าห้วงน้ำใหญ่ รวมสองคำเข้าด้วยกัน "โอฆกันดาร" หมายถึง ห้วงน้ำที่ข้ามได้ยากอย่างยิ่ง

พระพุทธเจ้านั้นเปรียบเสมือนนายเรือ ที่พายหรือแจวเรือ พาผู้โดยสารข้ามห้วงน้ำกระแสเชี่ยวกรากย่อมต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและมีพละกำลัง นำพา ผู้โดยสารให้ข้ามไปยังฝั่งโน้นได้อย่างปลอดภัย

มีพระสูตรสูตรหนึ่งชื่อ นาวาสูตร เปรียบครูอาจารย์มีหน้าที่คล้ายนายเรือพาผู้คนข้ามฟากโดยปลอดภัย เพราะฉะนั้นคำพูดที่ว่า "ครูคือเรือจ้าง" จึงเป็นคำให้เกียรติ มิใช่คำในแง่ลบดังที่เข้าใจกัน เพราะพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายท่านอยู่ในฐานะ "ผู้แจวเรือ" เช่นเดียวกัน

เพียงแต่ไม่ได้ "รับจ้างแจวเรือ" เท่านั้นเอง

ห้วงน้ำที่ข้ามได้แสนยาก เป็นคำเปรียบเทียบ มิได้หมายถึงห้วงน้ำจริง หากหมายถึงกิเลส (กิเลสคืออะไร ได้พูดไว้ในตอนที่ ๒ แล้ว) ๔ ตัวใหญ่ๆ คือ

๑.กาโมฆะ (ห้วงน้ำคือกาม) กามนี้หมายรวมทั้งกิเลสกาม (ตัวกิเลส ความกำหนัดยินดี) และวัตถุกาม (วัตถุ หรือเรื่องที่ให้เกิดความกำหนัดยินดี) ห้วงน้ำที่ข้ามได้ยากยิ่ง ผู้ปฏิบัติธรรมไปไม่ถึงไหนก็เพราะกามตัวนี้ตัวเดียว ขนาดฝึกสมาธิจนได้ฌานเหาะได้ยังแพ้แก่กาม (ดูในหาลิทฺทชาดก) พระอนาคามีขึ้นไปจึงจะละกามได้

๒.ภโวฆะ (ห้วงน้ำคือภพ) ภาวะความมีความเป็น ยึดติดอยู่ในความเป็นนั่นเป็นนี่ ยึดติดในความมี ความเป็น ห้วงน้ำนี้ก็ข้ามได้ยากยิ่ง

๓.ทิฏโฐฆะ (ห้วงน้ำคือทิฐิ) ยึดติดในความเห็น หรือทฤษฎีต่างๆ ชนิดฝังหัว "ความเห็นนี้เท่านั้นถูก อย่างอื่นผิดหมด" อะไรทำนองนี้ แม้เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ถ้ายึดมั่นถือมั่นพระท่านก็ว่าไม่ดีเลย ไม่จำต้องพูดถึงทิฐิผิดๆ ห้วงน้ำนี้ก็ข้ามได้ยากยิ่ง

๔.อวิชโชฆะ (ห้วงน้ำคืออวิชชา) ความโง่งมงาย ไม่รู้ความเป็นจริงแห่งสิ่งทั้งหลาย ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้อริยสัจ (ไม่รู้เหตุปัจจัย) ไม่รู้อิทัปปัจจยตา (ความที่เหตุปัจจัยอิงอาศัยกัน) ห้วงน้ำนี้ก็ข้ามได้ยากยิ่ง

พระพุทธองค์ทรงโปรดเวไนยสัตว์พาข้ามห้วงน้ำใหญ่ที่ข้ามได้ยากยิ่งถึง "ฝั่งโน้น" คือพระนิพพาน เป็นจำนวนมากแล้ว


ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ (๔) เบญจพิธจักษุ

"พร้อมเบญจพิธจักษุจรัสวิมลใส" พระพุทธเจ้าทรงมีจักษุที่ใสสะอาดสว่างปราศจากมลทิน ๕ ประการ คือ "มี ๕ ตา" ว่าอย่างนั้นเถอะครับ

"มีตาอะไรบ้าง ไม่เคยได้ยิน เคยได้ยินแต่มีสามตา" เพื่อนคนหนึ่งเอ่ยขึ้นด้วยความสงสัย

ครับ เราอ่านวรรณคดีทราบว่า พระอิศวร หรือพระศิวะ มีสามตา ตาที่สามมักจะปิดไว้เสมอ ไม่ลืม เมื่อลืมตาที่สามขึ้นเมื่อใดเป็นต้องไหม้สิ่งที่อยู่ข้างหน้าทันที

ดังเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระศิวะกำลังเข้าสมาธิอยู่ กามเทพแสนซนแผลงศรไปต้องพระศิวะ พระศิวะลืมตาที่สามขึ้น ไหม้กามเทพแหลกเป็นจุณเหลือแต่เถ้าถ่าน

เดือดร้อนพระศิวะต้องชุบชีวิตกามเทพขึ้นมาใหม่ ว่าอย่างนั้น ตั้งแต่นั้นมา กามเทพแสนซนแกจึงได้นามอีกนามหนึ่งว่า "อนงค์" แปลตามตัวอักษรว่า ไม่มีองค์ คือ ไม่มีรูปร่าง

(ถูกไฟไหม้หมดไงครับ)

พระศิวะมีสามตา แต่พระพุทธเจ้ามีห้าตาคือ

๑. มังสจักษุ (ตาเนื้อ) ตาสองข้างที่มีหน่วยตา มีจักษุประสาท สามารถมองเห็นได้นี้แหละครับ

๒. ทิพยจักษุ (ตาทิพย์) ทรงได้อภิญญาสามารถมีตาทิพย์มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ไม่มีกำหนดสามารถนึกย้อนหลังดูอดีตชาติหาที่สิ้นสุดมิได้เวลาเราเรียนพุทธประวัติ อ่านถึงตอนที่ตรัสรู้ในยามที่สองพระองค์ได้ จุตูปปาตญาณ (ญาณหยั่งรู้การเกิดตายของสรรพสัตว์) จุตูปปาตญาณนี้แหละคือ ตาทิพย์

๓. ปัญญาจักษุ (ตาคือปัญญา) หมายถึงทรงมีปัญญาเฉียบคม สามารถหยั่งรู้อริยสัจ ๔ ประการ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๔. พุทธจักษุ (ตาของพระพุทธเจ้า) คือทรงมีตาพิเศษสามารถดูออกว่าใครมีอินทรีย์แก่กล้าพอจะตรัสรู้ธรรมหรือไม่ ใครมีอัธยาศัยและอุปนิสัยอย่างไร ควรจะไปโปรดโดยวิธีใดจึงจะบรรลุธรรม

๕. สมันตจักษุ (ตารอบด้าน) หมายถึงทรงมี พระสัพพัญญุตญาณ หยั่งรู้สรรพสิ่ง รู้ธรรมทุกประการ

เพราะทรงมีตาครบถ้วนทั้งห้าประการนี้ จึงได้รับสรรเสริญว่า ทรง "พร้อมเบญจพิธจักษุจรัสวิมลใส" ด้วยประการฉะนี้

แถมท้ายนิดเดียว มีผู้สงสัยว่า เมื่อพระพุทธเจ้า (และพระอรหันต์บางองค์) มีทิพยจักษุ ตาทิพย์ ย่อมทรงเห็นหมดอะไรเป็นอะไร แต่ทำไมบางครั้งพระพุทธองค์ไม่เห็น ไม่ทราบ ต้องถามคนอื่นจึงทราบ เช่น เรื่องพระปิณโฑละ แสดงอิทธิปาฏิหาริย์เหาะไปเอาบาตรที่เศรษฐีคนหนึ่งแขวนไว้ ต้องการทดลองว่ามีพระอรหันต์ทรงอภิญญาจริงหรือไม่ เมื่อท่านปิณโฑละเหาะไปเอาบาตรเศรษฐีและประชาชนก็เลื่อมใสเป็นจำนวนมาก เมื่อท่านกลับพระเชตวัน ก็แห่ตามไปด้วย ส่งเสียงอื้ออึง พระพุทธเจ้าตรัสถามพระอานนท์ว่าเสียงอะไร ทำไมพระพุทธองค์ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงทราบ ในเมื่อทรงมีตาทิพย์ ทรงมีพุทธจักษุญาณ

คำตอบก็คือ พระองค์ทรงมีตาทิพย์ก็จริงแต่ถ้าไม่กำหนดใจจะดูก็ไม่เห็น มิใช่ว่า ใครเดินผ่านไปผ่านมาจะเห็นหมดว่าใครนุ่งกางเกงในสีอะไร ต้องกำหนดใจดูจึงจะเห็น และจะต้องเป็นเรื่องควรกำหนดดูด้วย ไม่ใช่ดูพร่ำเพรื่อ

ผมว่าอย่างนี้แหละครับ คนอื่นจะว่าอย่างไรก็เชิญว่าเถิดครับ

จะให้รู้บ้างก็ดีเหมือนกันนะครับแบ่งๆ กันรู้บ้าง



ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ (๗) ธรรมะคือคุณากร/ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ (๘)
ดุจดวงประทีปชัชวาล/ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ (๙) มรรคผลและนิพพาน

ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ (๗) ธรรมะคือคุณากร

มีโจ๊กเล่าขานกันมาเสมอว่า นักเรียนที่เรียนวิชาศีลธรรมจบออกไปแล้วจำได้อยู่อย่างเดียวคือความหมายของธรรมะ "ธรรมะคือคุณากร" นอกนั้นจำไม่ได้

และที่จำได้นี้ก็ใช่ว่าถูกต้อง จำเอาตามบทสวดมนต์เท่านั้นเอง มีเรื่องเล่าอีกเช่นกันว่า เด็กน้อยนาม โชติ แพร่พันธุ์ หลับขณะครูศีลธรรมสอน ครูจึงถามว่า เด็กชายโชติธรรมะคืออะไร เด็กชายโชติงัวเงียขึ้นมาตอบว่า "ธรรมะคือคุณากรครับ"

"ไอ้เด็กอัปรีย์" ครูด่าด้วยความโกรธจัด เด็กชายโชติเดินออกจากห้องเรียนทันที มิไย ครูผู้สำนึกผิดที่ตนรุนแรงไปจะตามไปขอร้องให้กลับเข้าห้องเรียน โดยแก้เกี้ยวว่า "ครูมิได้ด่าเธอนะ อัปรีย์ ที่ว่านี้คือ อับ-ปรีชา (มีปัญญาน้อย) เพราะเธอตอบไม่ถูก ครูจึงพูดว่า "อัปรีย์"

แต่เด็กชายโชติไม่เชื่อ จึงไม่ไปโรงเรียนแต่วันนั้น ไปขลุกอยู่ที่โรงพิมพ์ เป็นเด็กส่งโอเลี้ยงบ้าง ส่งต้นฉบับบ้าง ต่อมากลายเป็นนักเขียนยิ่งใหญ่นาม "ยาขอบ" ด้วยประการฉะนี้แล

ธรรมะ อ่าน "ทำมะ" (บาลีเขียน ธัมมะ) แปลได้หลายอย่าง อาทิ

๑. สิ่งที่ทรงสภาพเดิมไว้ นี้แปลตามศัพท์ (มีรากมาจาก ธฺร=ทรงไว้) หมายถึงความดีก็ทรงเป็นความดีไว้ ความชั่วก็ทรงเป็นความชั่วไว้ ไม่เปลี่ยนแปลง ใช้เป็นกลางๆ หมายถึงความดีก็ได้ (เรียกว่า กุศลธรรม) ความชั่วก็ได้ (เรียก อกุศลธรรม) กลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วก็ได้ (เรียกว่า อัพยากตธรรม)

๒. ความยุติธรรม เช่น ปกครองประเทศชาติโดยธรรม ในที่นี้หมายถึงยุติธรรม

๓. คำสั่งสอนของพระศาสดา เช่น ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วบรรลุโสดาปัตติผลธรรม ในที่นี้หมายเอาคำสั่งสอน

๔. สิ่ง หรือปรากฏการณ์ทั้งหลาย เช่น ธรรมทั้งหลายไม่พึงยึดมั่นถือมั่น ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ธรรมในที่นี้หมายเอา "สิ่ง"

ธรรม แปลได้มากกว่านี้ ยกมาพอเป็นตัวอย่าง ธรรม หรือ ธรรมะ ในคำว่า "ธรรมะคือคุณากร" หมายเอาตามข้อที่ ๓ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และหมายเอาธรรมะระดับสูงที่สอนให้คนพ้นทุกข์

คุณากร แปลว่า บ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย หรือแหล่งแห่งความดีงามทั้งหลาย ธรรมะระดับโลกๆ ที่ทรงสอนก็เป็นบ่อเกิดแห่งความดีงามอย่างโลกๆ แต่ดีงามอย่างสูงสุดนั้นต้องเป็นธรรมะเหนือโลก

ขอรับ ดีงามอย่างไร เห็นจะต้องพูดถึงในตอนต่อไป

ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ (๘)
ดุจดวงประทีปชัชวาล

ในการสรรเสริญพระคุณแห่งพระธรรมตอนหนึ่งว่า "ดุจดวงประทีปชัชวาลสว่างกระจ่างใจกมน (มล)" ไม่แน่ใจว่า "ใจมน" (คือสว่างใจ-ใจ คำไทย มน คำบาลีรวมกันแล้วมีความหมายเดียวคือ "ใจ" มิใช่ "ใจ-ใจ" คำประเภทนี้ภาษาไทยมิใช่เยอะ) หรือ "ใจมล" (คือทำใจที่มีมลทินให้สว่าง) เชื่อว่าเป็นอย่างแรกมากกว่า

ปราชญ์ไทยโบราณเมื่อบัญญัติสัญลักษณ์แทนพระรัตนตรัย เอา "เทียน" แทนพระธรรม เทียน ๒ เล่มแทนพระธรรม สองระดับคือ โลกียธรรม กับโลกุตตรธรรม (บางอาจารย์อธิบายว่า หมายถึงธรรม กับวินัย ก็ได้ไม่ว่ากัน)

บัญญัติ ธูป ๓ ดอก แทนพระพุทธ ให้ความหมายว่า ๓ เป็นจำนวนพระพุทธคุณโดยสรุป ๓ ประการ คือ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ (มิใช่ มหากรุณาธิคุณ) ด้วยเหตุนี้ ธูปจึงจัดมา ไว้เพียง ๓ ดอกเท่านั้น มิใช่ว่าขาดแคลนธูป แต่จัดเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการ

ดอกไม้บัญญัติเป็นสัญลักษณ์ แทนพระสงฆ์โดยให้อรรถาธิบายว่า ดอกไม้ต่างสีต่างพรรณ ถ้าวางไม่เป็นระเบียบก็ไม่สวยงาม ต่อเมื่อจัดเป็นระเบียบ เช่น ใส่พาน หรือแจกัน ก็ดูสวยงามฉันใด พระสงฆ์ที่ออกบวชต่างตระกูล ต่างพื้นฐานความรู้ และต่างนิสัยใจคอ เมื่อมาอยู่ในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ถือเพศเดียวกัน ศีลเท่ากัน มีระบบดำเนินชีวิตเดียวกัน ย่อมงดงามด้วยศีลฉันนั้น

พระสงฆ์ในพระรัตนตรัย โดยอุกฤษฏ์ หมายเอาเฉพาะพระอริยสงฆ์ (ผู้บรรลุธรรมตั้งแต่โสดาปัตติมรรคขึ้นไป จนอรหัตผล)

การเปรียบพระธรรมดุจดวงประทีปหรือตะเกียง มีกล่าวถึงทั่วไปในคัมภีร์พระศาสนา เช่น เมื่อใครมาฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้าจนเข้าใจแจ่มแจ้ง ละความเห็นผิดโดยสิ้นเชิง เขาผู้นั้นจะกล่าวว่า เขาได้รู้แจ่มแจ้งหายสงสัย ดุจพระพุทธองค์ได้หงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด และชูตะเกียงส่องทางในความมืดมิดเพื่อให้คนตาดี มองเห็นทางฉะนั้น

ธรรมที่ส่องสว่างกระจ่างใจมนนี้ โดยอุกฤษฏ์ คือ นวโลกุตตรธรรม (ธรรมเหนือโลก ๙ ประการ) คือ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ มรรค ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามีมรรค อนาคามีมรรค อรหัตมรรค ผล ๔ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล รวมเป็น ๘

กับนิพพานอีก ๑ เป็น ๙ ด้วยประการฉะนี้แล

ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ (๙)
มรรคผลและนิพพาน

"ธรรมใดนับโดยมรรคผลเป็นแปดพึงยล และเก้ากับทั้งนฤพาน" ข้อความในบรรทัดนี้หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ ประการ โดยแบ่งเป็น มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพานอีก ๑ รวมเป็น ๙ ด้วยประการฉะนี้

พระธรรม ในรัตนตรัยนี้หมายเอา โลกุตตรธรรม (ธรรมเหนือโลก) ส่วนโลกิยธรรม (ธรรมระดับโลก, ธรรมะพื้นฐานที่สอนชาวโลกทั่วไป) ไม่นับเข้าใน "พระธรรมรัตนะ"

นี้ว่าโดยอุกฤษฏ์ หรือโดยนัยสูงสุด แต่ถ้าจะ "ลดเพดาน" ให้ต่ำลงมา ธรรมะระดับโลกๆ ก็อนุโลมเข้าด้วยได้ เพราะธรรมระดับโลกๆ ก็สอนให้คนพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นตามลำดับ ไม่มีธรรมะข้อใดของพระพุทธเจ้าที่สอนคนให้ทำชั่ว สอนคนให้ไม่เอาไหน

โลกุตตรธรรม ๙ นี้แล ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็น สวากขาโต (ตรัสไว้ดีตรัสไว้ถูกแล้ว) สันทิฏฐิโก (ผู้ปฏิบัติพึงรู้เห็นด้วยตนเอง=เน้น "ผู้ปฏิบัติ" ด้วยครับ ผู้ไม่ปฏิบัติไม่มีทางเห็น) อกาลิโก (ไม่ขึ้นกับกาลเวลาล่วงไปกี่ปีกี่ชาติก็ยังดีเหมือนเดิม, หรือใครปฏิบัติเมื่อใดก็ได้ผลเมื่อนั้น, หรือไม่ล้าสมัย ทันสมัยอยู่ทุกเวลา) เอหิปัสสิโก (ท้าให้พิสูจน์ได้ เพราะเป็นของจริง ของแท้) โอปนยิโก (เป็นสิ่งดีที่ควรน้อมนำมาปฏิบัติ) ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ (อันวิญญชน คนรู้แจ้งพึงรู้เฉพาะตน=เน้น "วิญญูชน" ด้วย คนโง่ก็ไม่มีทางรู้)

โลกุตตรธรรม แยกเป็น มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

มรรค ในที่นี้มิได้แปลว่าทาง แปลว่าญาณความรู้ที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด มี ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตมรรค

ผล หมายถึงผลสำเร็จหลังจากญาณได้ตัดสังโยชน์ขาดสิ้นแล้ว มี ๔ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตผล

ส่วน นิพพาน หมายถึงการดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล มีอย่างเดียวเท่านั้น ที่บางแห่งแบ่งเป็นสองคือดับกิเลสมีขันธ์เหลือ (การดับกิเลสของพระอรหันต์) กับดับกิเลสไม่มีขันธ์เหลือ (การสิ้นชีวิตของพระอรหันต์) ก็หมายเอา สภาวะเดียวคือ การดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวลนั้นเอง ไม่ต้องแบ่งไม่ต้องแยกก็ได้

ในบทสวดมนต์นี้ ผู้แต่งคือ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร เปรียญ ๗ สำนักวัดสระเกศ) ได้ "ลดเพดาน" ลงมายัง โลกียธรรมด้วย คือนับธรรมที่เป็นหลักทฤษฎีและหลักปฏิบัติ อันเรียกว่า ปริยัติ กับ ปฏิบัติ เข้าด้วย เพราะทั้งสองนี้เป็นแนวทางและการฝึกฝนตามแนวทาง เรียกอีกนัยหนึ่งว่า เป็นแผนที่และการเดินทางตามแผนที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด (มรรคผลนิพพาน)

"อีกธรรมต้นทางครรไล นามขนานขานไขปฏิบัติปริยัติเป็นสอง คือทางดำเนินดุจคลองให้ล่วงลุปอง ยังโลกอุดรโดยตรง"

ฉะนี้แล



ศัพท์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ (๑๐) องค์สมเด็จภควันต์

"สงฆ์ใดสาวกศาสดา รับปฏิบัติมาแต่องค์สมเด็จภควันต์" ข้อความนี้มีความหมายง่ายๆ ว่า พระสงฆ์ใดที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ภควันต์ เป็น "เนมิตตกนาม" หนึ่งในหลายพระนามของพระพุทธเจ้า

ท้ายบทสรรเสริญพระพุทธคุณว่า "ภควา" นั้นแหละครับ เป็นคำเดียวกันกับ ภควันต์ คำเดียวกันกับ ภวัต คำเดียวกันกับ พระผู้มีพระภาค พูดให้ชัดก็คือ คำว่า ภควา ภควัต พระผู้มีพระภาค เป็นคำเดียวกันสำหรับเรียกพระพุทธเจ้า

เปิดตำราระดับอรรถกถาชื่อ สมันตปาสาทิกา เพื่อหาคำจำกัดความของคำว่า ภควา ท่านให้ความหมายไว้หลายประการดังนี้

ภควา แปลว่า มีกุศลมีทานศีลเป็นต้นอันเป็นเหตุให้ทรงมีความสุขทั้งโลกิยะและโลกุตตระตรงนี้ตรงกับทางไทยแปลว่า "ทรงมีโชค"

ภควา แปลว่า ทรงหักหรือทำลายกิเลสเครื่องเร่าร้อนทั้งหลาย คือ โลภ โกรธ หลง ความหมายง่ายๆ คือ ทรงทำลายกิเลสได้

ภควา แปลว่า ผู้ที่คนทั้งหลาย (ทั้งโลกิยชนและอริยบุคคล) นับถือเป็นอันมาก

ภควา แปลว่า ผู้คบ คือ ทรงทำให้มากซึ่งทิพยวิหาร พรหมวิหาร อริยวิหาร ทำให้มากซึ่งกายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก แปลเอาความง่ายๆ ก็คือ ผู้ทรงบำเพ็ญพรหมวิหาร และความสงบเป็นต้นบ่อยๆ

ภควา แปลว่า ผู้มีภคธรรม (ธรรมที่เป็นโชคดี) คือ มีความเป็นอิสระ โลกุตตรธรรม ความมียศ ความสง่า ความสมปรารถนา และความพากเพียร

ภควา แปลว่า ทรงละการไปในภพทั้งหลายได้ แปลไทยเป็นไทยว่า ทรงหมดการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

ภควา แปลว่า ทรงจำแนกธรรมหรือแสดงธรรมได้โดยพิสดาร

มีอีกหลายความหมาย ยกมาให้ดูพอเป็นตัวอย่าง แต่ดูเหมือนว่าความหมายที่รู้โดยทั่วไปมีอยู่ ๒ ประการ คือ (๑) ผู้มีโชค และ (๒) ทรงจำแนกธรรม

เพราะเหตุนี้ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกเมื่อทรงรวบรวม พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ ท่านให้ความหมายของคำว่า ภควา ดังนี้

"ภควา พระผู้มีพระภาค พระนามพระพุทธเจ้า แปลว่า ทรงเป็นผู้มีโชค คือหวังพระโพธิญาณก็ได้สมหวัง ประกาศพระศาสนาก็ชักจูงคนให้ได้บรรลุธรรมสมปรารถนา มีผู้คิดร้ายก็ไม่อาจทำร้ายได้ อีกนัยหนึ่งว่าทรงเป็นผู้จำแนกแจกธรรม"

ศัพท์ว่า องค์สมเด็จภควันต์ (ภควา, พระผู้มีพระภาค, ภควัต) มีความหมายโดยสรุปสองประการดังกล่าวมาแล้ว ฉะนี้แล

คำแปลบทสวดมนต์ไหว้พระ (จบ)
ได้นำคำศัพท์ควรทราบในบทสวดมนต์ไหว้พระมาลงตามลำดับ มีเพื่อนคนหนึ่งทักขึ้นว่า ทำไมไม่แปลให้ฟังบ้าง ผมบอกว่า บทสวดมนต์ก็เข้าใจง่ายอยู่แล้วมิใช่หรือ เพื่อนบอกว่าง่ายสำหรับผู้รู้ภาษาไทยดีแต่คนทั่วไปเขายังฟังไม่รู้ หรือรู้ก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกหรือไม่ ช่วยสงเคราะห์ทีเถิด ผมจะได้ไปให้ลูกสาวอ่าน ว่าอย่างนั้น

วันนี้จึงขอนำคำแปล (ลวกๆ) มาให้อ่าน

เริ่มจาก บทสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ตามลำดับดังนี้ครับ

บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงมีพระทัยบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส ตัดรากเหง้าแห่งกิเลสได้หมดสิ้น พระทัยปราศจากราคี เบิกบาน ดุจดอกบัวบานที่มีกลิ่นหอมขจร

พระองค์ทรงประกอบด้วยพระกรุณายิ่งใหญ่ดุจมหาสมุทร ทรงชี้ทางดับทุกข์ ชี้ทางนำไปสู่สุขแท้จริง คือพระนิพพาน โปรดเหล่าเวไนยสัตว์ให้ข้ามพ้นห้วงทุกข์ในสังสารวัฏ

พระองค์ทรงมีพระจักษุ (ตา) ๕ ประการคือ ตาเนื้อ (มังสจักษุ) ตาทิพย์ (ทิพพจักษุ) ตาปัญญา (ปัญญาจักษุ) ตาพุทธะ (พุทธจักษุ) และตารอบด้าน (สมันตจักษุ)

พระองค์ทรงสอนให้ชายและหญิงละบาปอันชั่วช้า หันมาบำเพ็ญบุญ ทรงเป็นที่พึ่งพิงของสัตว์โลกทั้งหลาย

ข้าพระองค์ทั้งหลายขอน้อมเศียรเกล้านมัสการพระมหากรุณาธิคุณนั้นชั่วนิรันดร

บทสรรเสริญพระธรรมคุณ
ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นบ่อเกิดแห่งความดีงามทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ดีดุจดวงประทีปที่เจิดจรัสชัชวาล ส่องจิตใจคนให้สว่างไสว พระธรรมนั้นคือ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ รวมเป็น ๙ ประการ อันเรียกว่า นวโลกุตตรธรรม

พระธรรมนี้รวมเอาธรรมะที่เป็นต้นทางปฏิบัติ ๒ ประการ อันเรียกว่า ปริยัติธรรมกับปฏิบัติธรรมด้วย เพราะทั้งสองประการนี้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุโลกุตตรธรรมนั้นโดยตรง

ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมเศียรเกล้านมัสการพระธรรมนั้นด้วยทั้งกาย วาจา และใจ

บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้รับปฏิบัติสืบต่อจากพระศาสดา ได้บรรลุอริยสัจ 4 อันเป็นทางดับทุกข์ได้แล้ว มีปัญญาบริสุทธิ์สะอาดปราศจากมัวหมอง ท่านได้ปราศจากกิเลสอันเป็นข้าศึก มีกายวาจาใจสงบ ระงับ เป็นเนื้อนาบุญที่ก่อเกิดประโยชน์แก่ชาวโลก ได้นามว่าเป็น "โอรสของพระพุทธเจ้า" มีคุณมากมายเหลือคณนา

ข้าพเจ้าทั้งหลายขอนมัสการเหล่าสาวกของพระพุทธองค์ ผู้มีพระคุณสุดจะพรรณนานั้น ด้วยอานุภาพแห่งการกราบไหว้พระรัตนตรัยอันมีพระคุณสูงสุดนี้ ขอให้ข้าพเจ้าทั้งหลายปราศจากภยันตรายทั้งปวง ด้วยเทอญ


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 15:31:55
(https://orawanpechtiem.files.wordpress.com/2015/08/14_1243257493.jpg)

นวกะ

ดูเหมือนว่าได้เขียนถึงคำว่า เถระ ไว้แล้ว วันนี้ขอพูดถึง นวกะ บ้าง

นวกะ แปลว่า "ผู้ใหม่" เป็นคุณศัพท์มาจากคำว่า นว (ใหม่ หรือ เก้า แต่ในที่นี้หมายเอาความหมายแรก) ภาษาฝรั่งว่า nov, new หรือแม้แต่คำว่า now ก็น่าจะมาจาก นว นี้เหมือนกัน

โดยความหมายทั่วๆ นวกะ ก็หมายถึงอะไรก็ได้ที่ใหม่ เช่น ผลไม้ใหม่ ก็ว่า นวกํ ผลํ แขกผู้มาใหม่ ก็ว่า นวโก อาคนฺตุโก นโยบายใหม่ ก็ว่า นวโก อุปาโย

นวกะ ที่เป็นศัพท์เฉพาะทาง ใช้เรียกพระภิกษุที่บวชใหม่ และ "ใหม่" ที่ว่านี้มีระยะเวลาถึง ๕ ปี บวช วันนี้เรียกว่า นวกภิกษุ (ศัพท์สมาสไม่ต้องประวิสรรชนีย์) บวชนานกว่านั้นก็เรียก นวกภิกษุ จนกระทั่งย่างเข้าพรรษาที่ ๖ จึงจะพ้นภาวะนวกภิกษุ

ทำไม คำว่า "พระบวชใหม่" จึงกินระยะเวลายาวปานนั้น คำตอบก็คือ ในช่วงพรรษาที่ ๑ ถึงพรรษาที่ ๕ นี้ ผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา จะต้องอยู่ในความดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดของอุปัชฌาย์และอาจารย์ อุปัชฌาย์ ผู้บวชให้เป็นเสมือน "บิดาบังเกิดเกล้า" ผู้ให้กำเนิดทางธรรม พ่อก็ต้องอบรมสั่งสอนว่าอะไรควรละ อะไรควรบำเพ็ญ ตลอดจนอากัปกิริยาต่างๆ ที่ควรแก่สมณสารูป

อาจารย์ หมายถึง กรรมวาจาจารย์ และอนุสาวนาจารย์ (ไม่ใช่อนุศาสนาจารย์ นะขอรับ) ก็เปรียบเสมือน "พี่" ผู้คอยเป็นพี่เลี้ยงให้ การฝึกฝนอบรมกว่าจะรู้ว่าอะไรควรละ ควรเว้น ครบสมบูรณ์จริงๆ ก็ต้องใช้เวลา ๕ ปี เพราะฉะนั้นในช่วง ๕ ปีนี้จึงเป็นนวกภิกษุ (ภิกษุใหม่)

และต้องถือ "นิสสัย" อันได้แก่ มอบตนอยู่อาศัยพระอุปัชฌาย์ ขอให้อุปัชฌาย์เป็นที่พึ่ง พูดง่ายๆ ว่า ขอให้เป็นที่พึ่งในทางการศึกษาอบรมนั้นเอง (เรื่องนี้จะเขียนถึงภายหลัง)

พระอุปัชฌาย์ จึงเป็น "ทุกอย่าง" ของพระบวชใหม่ ไม่เฉพาะอบรมบ่มนิสัยและให้ความรู้ทางพระศาสนาเท่านั้น ต้องเป็นกำลังใจสนับสนุนให้ศิษย์มีฉันทะในการประพฤติพรหมจรรย์อยู่นานๆ ด้วย เมื่อศิษย์ "กระสัน" (ภาษาพระแปลว่าอยากสึก) ก็จะคอยให้สติว่าอย่ากลับไปสู่เพศภาวะที่ยุ่งยากเลย บวชอยู่ต่อไปเถิด เพศบรรพชิตนี้สงบดี ถ้าเอาไว้ไม่อยู่ บางครั้งก็ต้องขอแรงพระพุทธองค์ทรงช่วย

ดังกรณีพระภาคิไนย สังฆรักขิต

สังฆรักขิต บวชใหม่ ได้ผ้าเนื้อดีมาสองผืน นำไปถวายสังฆรักขิต ผู้เป็นหลวงลุง ท่านไม่รับนึกน้อยใจสึกดีกว่า ขายผ้าสองผืนนี้ได้เงินมาซื้อแพะแม่พันธุ์มาเลี้ยง เมื่อตกลูกมาหลายตัวก็ขายเอาเงินมาซื้อนา ตั้งเนื้อตั้งตัวได้พอสมควรแล้วก็แต่งงานกับสตรีงามสักคนหนึ่ง ได้ลูกชายน่ารักน่าชังมาหนึ่งคน วันดีคืนดีก็นั่งยานพาลูกเมียมาไหว้หลวงลุง ขณะขับยานมาเมียอุ้มลูกเหนื่อย วางลูกไว้บนพื้นเกวียน ลูกร้องไห้ เราโกรธเมียที่ไม่ดูแลลูกให้ดี เอาปฏักฟาดหัวเธอเป็นการสั่งสอน

ขณะคิดฟุ้งซ่านอยู่นั้น เธอกำลังพัดวีหลวงลุงอยู่เผลอเอาพัดตีหัวหลวงลุงโป๊ก หลวงลุงเป็นพระอรหันต์รู้ความคิดของพระหลานชายจึงพูดว่า สังฆรักขิตเธอโกรธมาตุคาม (สตรี) ทำไมมาตีหัวพระแก่อย่างเราด้วย

พระบวชใหม่รู้อะไรเป็นอะไร จึงวิ่งหนีด้วยความอายจะสึกให้ได้ พระทั้งหลายต้องจับไปหาพระพุทธองค์ พระองค์ตรัสถามว่าทำไมอยากสึก เธอบอกว่า บวชเป็นพระอึดอัด มีศีลวินัยจะต้องรักษามากเกินไป จนแทบกระดิกไม่ได้ สึกเป็นฆราวาสดีกว่า มีอิสรเสรีดี พระพุทธองค์ตรัสว่า

"ถ้าตถาคตจะลดศีลวินัยเหลือเพียงข้อเดียว เธอจะยินดีบวชอยู่ต่อไปไหม"

"สบาย พระพุทธเจ้าข้า ถ้ารักษาศีลเพียงข้อเดียว ข้าพระพุทธเจ้ายินดีอยู่จนตลอดชีวิตเลย" สังฆรักขิตกราบทูล

"แน่นะ" ทรงย้ำ

"แน่นอน พระพุทธเจ้าข้า" พระหนุ่มยืนยัน

"ถ้าเช่นนั้น ตั้งแต่นี้ต่อไป ขอให้เธอจงรักษาจิตของเธออย่างเดียวให้ดี" พระพุทธองค์ตรัส

โอ้โฮ ข้อเดียวก็จริง แต่ถ้ารักษาจิตของตนได้ศีลข้ออื่นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องพูดถึง เพราะทุกอย่างมันมาจากใจเราทั้งนั้น

เป็นอันว่า ภิกษุหนุ่มที่คิดสึก จำต้องบวชอยู่ต่อไป เพราะได้สัญญากับพระพุทธองค์แล้วว่าจะรักษาศีลข้อเดียว เรื่องราวต่อไปเล่าว่า หลังจากนั้นเธอก็มีฉันทะบวชอยู่ต่อไปจนบรรลุมรรคผล

ภารกิจดังว่ามานี้เป็นภารกิจของอุปัชฌาย์ถ้าเหลือบ่ากว่าแรง ก็ต้องขอแรงพระพุทธองค์ และพระสาวกผู้เป็นใหญ่อื่นๆ ช่วย นี้เป็นบรรยากาศสมัยพุทธกาล

ในสมัยนี้ ไม่มีพระพุทธองค์ ไม่มีพระสาวก ผู้ใหญ่ทั้งหลาย เราก็ยังมีพระเถรานุเถระอื่นๆ ที่เป็นหลักให้พึ่งพาได้อยู่

ถ้าอุปัชฌาย์บำเพ็ญตนเป็น "อุปัชฌาย์ไก่" ไข่แล้วฟักเป็นตัว คือบวชให้แล้วดูแลอย่างเข้มงวด ไม่ใช่ "อุปัชฌาย์เป็ด" ไข่แล้วร้องก๊าบๆ หนีไป ไม่หันมาดูเลยว่าไข่ของตนจะเป็นตัวเป็นตนหรือไม่ ก็ลำบากหน่อยละครับ



นิสสัย

เขียน นิสสัย (ส สองตัว) ที่ใช้ในภาษาพระ มีความหมาย ๒ นัย

ที่เน้น "ภาษาพระ" เพราะไม่รวมความหมายทั่วไปอีกอย่างหนึ่งคือ ความเคยชิน เช่น "พูดเท็จเป็นนิสัย"

ความหมาย ๒ นัยของ นิสสัย คือ

๑.แปลว่า ปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต อันได้แก่ปัจจัยพื้นฐาน ๔ ประการ คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (สถานที่อยู่อาศัย) และคิลานเภสัช (ยารักษาโรค) พระคุณเจ้ารูปหนึ่งแปลด้วยภาษาไทยง่ายๆ ว่า "ข้าว ผ้า ยา บ้าน" ก็เข้าทีดี

๒. แปลว่า ที่พึ่ง, ที่อาศัย ดังคำว่า ขอนิสสัย ก็คือ ขอให้พระอุปัชฌาย์ให้เป็นที่พึ่งที่อาศัยในที่นี้ขอพูดถึงความหมายหลัง

เวลาบวชนาค นาคจะกล่าวคำขอนิสสัย คือขอมอบตนอยู่ในปกครองของอุปัชฌาย์ ขอให้อุปัชฌาย์เป็นที่พึ่งของตน ในการประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา ดังนี้

อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ ทุติยมฺปิ อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ ตติยมฺปิ อหํ ภนฺเต นิสฺสยํ ยาจามิ อุปชฺฌาโย เม ภนฺเต โหหิ (ว่าสามหน)

ความว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอนิสสัยแม้ครั้งที่สอง ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอนิสสัยแม้ครั้งที่สาม ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอนิสสัย"

"ขอท่านจงเป็นอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้าเถิด (สามครั้ง)"

อุปัชฌาย์ก็จะต่อว่า "โอปายิก" (เป็นการชอบแล้ว) ปฏิรูปํ (เป็นการเหมาะสมแล้ว) ปาสาทิเกน สมฺ ปาเทหิ (จงยังการให้ถึงพร้อมด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสเถิด) อุปัชฌาย์กล่าวจบแต่ละคำ ผู้ขอบวชจะต้องรับว่า "สาธุ ภนฺเต" (ขอรับ กระผม) ทุกครั้งไป

เท่านี้ก็เป็นอันว่าได้มอบตัวอยู่ภายใต้การดูแลของอุปัชฌาย์แล้ว จากนั้นผู้ขอบวชก็จะกล่าวยืนยันอีกว่า

"อชฺชตคฺเคทานิ เถโร มยฺหํ ภาโร อหมฺปิ เถรสฺส ภาโร" (ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้าเป็นภาระของอุปัชฌาย์ แม้อุปัชฌาย์ก็เป็นภาระของข้าพเจ้า) อันหมายความว่า ตนจะต้องเป็นภาระอยู่ในความดูแลของอุปัชฌาย์อย่างเคร่งครัด อุปัชฌาย์จะต้องเอาเป็นภารธุระตักเตือนพร่ำสอน และตนเองในฐานะเป็นศิษย์ก็ต้องเอาภารธุระในการอุปฐากรับใช้อุปัชฌาย์ และเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่าน ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน อยู่กันฉันพ่อลูก

คำว่า ภาโร ต้องออกเสียง ร เรือ ให้ชัดเจน อย่าออกเสียงว่า พาโล เป็นอันขาด เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า "ขอให้อุปัชฌาย์จงเป็นคนพาลของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็จะเป็นคนพาลของอุปัชฌาย์" ไป เดี๋ยวก็เกิดเรื่อง แทนที่จะให้โอวาทกันจะกลายเป็นให้กำปั้นให้บาทากัน จะยุ่งใหญ่

ภิกษุบวชใหม่ (รวมระยะเวลา ๕ ปี) ถ้าไม่ได้อยู่ในปกครองของอุปัชฌาย์ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งทำให้นิสสัยระงับ

เช่น อุปัชฌาย์ไปอยู่เสียที่อื่น ต้องถือนิสสัยในอาจารย์ คือขอให้ภิกษุผู้เป็นเถระรูปใดรูปหนึ่งเป็นที่พึ่งอาศัยของตน จะอยู่โดยลำพัง ไม่มีใครดูแลไม่ได้ วิธีถือนิสสัยในอาจารย์ ก็คล้ายกับอุปัชฌาย์ เปลี่ยนแต่คำขอว่า

"อาจาริโย เม ภนฺเต โหหิ อายสฺมโต นิสฺสาย วจฺฉามิ" (ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจักอาศัยท่านอยู่)

เมื่ออาศัยศึกษาอบรมอยู่กับอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์จนครบ ๕ ปีแล้ว ภิกษุนวกะรูปนั้นเป็น "พ้นนิสสัย" เรียกว่าเป็น "นิสสัยมุตตกะ" (ผู้พ้นแล้วจากนิสสัย) ถือว่าท่านเป็นผู้มีความรู้พระธรรมวินัยเพียงพอที่จะรักษาตนเอง หรือสามารถปกป้องตนเองได้แล้ว ปีกกล้าขาแข็งแล้ว

ปล่อยให้อยู่ตามลำพังได้



(https://www.bloggang.com/data/rattanakosin225/picture/1177665577.jpg)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

นาคปรก

นาคปรก น่าจะเพี้ยนมาจาก นาคปก แปลว่า นาคปกป้อง นาคกำบัง นาคปิดบัง ซึ่งก็ตรงกับเรื่อง เรื่องมีอยู่ว่า หลังตรัสรู้ได้สองสัปดาห์เข้าสัปดาห์ที่สาม พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับเสวยวิมุตติสุข ใต้ต้น "มุจลินท์" แปลกันว่าต้นจิก เป็นเวลา ๗ วัน

เสวยวิมุตติสุข หมายถึงเสวยสุขอันเกิดจากการหลุดพ้นจากกิเลส ผมเคยเปรียบง่ายๆ ว่าเหมือนเราเรียนคร่ำเคร่งมาอย่างหนัก สามสี่ปี สอบเสร็จ ปรากฏว่าสอบได้แล้ว เราก็พักผ่อนอย่างมีความสุขสักกี่วันก็ว่ากันไป ก่อนที่จะเริ่มทำงานหนักต่อไป ช่วงที่พักผ่อนนี้แล เทียบได้ (เทียบเฉยๆ ไม่เหมือนดอก) กับการเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้า

การเสวยวิมุตติสุข จึงแปลง่ายๆ ว่า พักผ่อน ภาคภูมิใจในผลสำเร็จที่เกิดจากความพากเพียรพยายาม

ขณะนั้นมีฝนตกพรำๆ ตลอด ๗ วัน พัดพาเอาไอหนาวมา ต้นจิกที่ว่านี้ใบก็ไม่ดกหนาพอที่จะป้องกันลมฝนให้พระพุทธองค์ พญานาคตนหนึ่งชื่อเหมือนต้นไม้ว่า "มุจลินท์" จึงขึ้นมาจากนาคภพ มาขดรอบเป็นบัลลังก์ให้พระพุทธองค์ประทับนั่งแล้วแผ่พังพานบังลมและฝนให้

ตามนัยนี้นาคขดเป็นหลายรอบ พระพุทธองค์ประทับบนขนดนั้น ไม่ใช่ขดเป็นโพรงหรือถ้ำ แล้วให้พระพุทธองค์ประทับในโพรงนั้น

เมื่อฝนหายแล้ว พญานาคนั้นก็จำแลงกายเป็นมาณพน้อย ยืนประคองอัญชลีอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธองค์

เรื่องราวมีแค่นี้ ไม่ปรากฏพระพุทธองค์ตรัสอะไรกับมาณพน้อย เพียงแต่ทรงเปล่งพระพุทธอุทานว่า

ความสงบวิเวกของคนที่รู้จักยินดีในสิ่งที่มี เห็นแจ้งธรรม เป็นความสุข

การไม่เบียดเบียนกัน เป็นสุขในโลก

การกำจัดกามราคะเสียได้เป็นสุข

และยอดแห่งความสุขคือการละ "อัสมิมานะ" (ความถือว่ามีตัวตน)

มีพระพุทธรูปที่ชาวพุทธสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับบนขนดพญานาค ในท่าสมาธิ เบื้องบนมีเศียรพญานาค (ส่วนมาก ๗ เศียร) แผ่พังพานเต็มที่คลุมอยู่ ดุจร่มใหญ่กั้นลมและฝนให้พระพุทธองค์

เราเรียกว่า พระพุทธรูปปางนาคปรก (ร เรือ มาจากไหนไม่ทราบ)

มีเกร็ดเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ เมื่อเจ้าจอมองค์หนึ่งในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ จะมีพระประสูติกาล ก่อนนั้นเล็กน้อยท้องฟ้าแจ่มใส พอพระราชโอรสประสูติเท่านั้น ไม่รู้ว่าลมฝนมาจากไหน กระหน่ำอย่างแรงจนน้ำนองชาลาพระตำหนัก รัชกาลที่ ๔ ทรงหวนรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพญานาคมาบังลมและฝนให้พระพุทธเจ้าขึ้นมาทันที จึงทรงถือเอาศุภนิมิตนั้นขนานพระนามพระราชโอรสพระองค์นั้นว่า พระองค์เจ้ามนุษยนาคมาณพ แปลว่า นาคจำแลงเป็นคนหนุ่ม หรือคนหนุ่มผู้ที่นาคจำแลงมา อะไรทำนองนั้น ทรงดำริว่า ลูกคนนี้เห็นทีที่เจริญรุ่งเรืองในพระศาสนา

ซึ่งเป็นไปตามนั้น เมื่อพระองค์เจ้ามนุษยนาคมาณพทรงผนวช ก็เสด็จอยู่ในพระพุทธศาสนาจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ เจ้านายพระองค์นี้คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระผู้ประสาธน์การ (แปลว่าสร้างความสำเร็จ) แก่วงการพระสงฆ์ โดยทรงนิพนธ์ตำราทางพระพุทธศาสนามากมาย ดังที่ทราบกันดี

เรื่องแปลกแต่จริงทำนองนี้มีมาก ในแวดวงยุทธจักรดงขมิ้น ไว้เล่าสู่กันให้ฟังเมื่อมีโอกาส



เทฺววาจิกาอุบาสก

คําแปลของคำข้างต้นคือ อุบาสกผู้เปล่งวาจาถึงรัตนะสองเป็นสรณะ อุบาสกที่ว่านี้มีสองคน เป็นพ่อค้าเดินทางมาจากชนบทนามว่า อุกกละ ไม่ทราบว่าที่ไหน ไปยังพุทธคยา สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อรรถกถา (คัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก) ว่าสองคนนี้เป็นพี่น้องกัน คนพี่ชื่อตปุสสะ คนน้องชื่อ ภัลลิกะ

ในช่วงเวลานั้นพระพุทธเจ้าเพิ่งตรัสรู้ใหม่ๆ ล่วงได้เพียง ๔ สัปดาห์ พระองค์ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) สองพี่น้องพบพระพุทธองค์แล้ว มีจิตเลื่อมใสศรัทธา คิดว่าพระองค์ไม่มีพระกระยาหารเสวย จึงน้อมนำเอาเสบียงกรังที่นำติดตัวมาด้วย คือ สัตตุผง และสัตตุก้อน (ก็คงเป็นข้าวตากที่บด กับข้าวตากที่ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นก้อนๆ) ไปถวาย

พระพุทธองค์เสวยข้าวสัตตุผงและสัตตุก้อนนั้นแล้ว พ่อค้าสองพี่น้องก็กล่าววาจาแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะ เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีพระสงฆ์ พ่อค้าสองพี่น้องจึงเป็นอุบาสกประเภท "เทฺววาจิกา" (ผู้กล่าววาจาถึงพระรัตนะทั้งสองเป็นสรณะ) นับเป็นอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา

คัมภีร์พระไตรปิฎกพูดไว้แค่นี้ แต่อรรถกถา (คัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก) แต่งต่อว่า พ่อค้าสองพี่น้องนั้นกราบทูลว่า พวกตนมาจากต่างเมือง เมื่ออยู่ห่างไกลพระพุทธองค์ เวลารำลึกถึงอยากจะกราบไหว้บูชาจะทำอย่างไร จะมีสิ่งใดเป็นที่อนุสรณ์ถึง (คล้ายสมัยนี้ก่อนจากก็ขอพระไปบูชาไม่มีผิดแฮะ)

พระพุทธเจ้าจึงเอาพระหัตถ์ลูบพระเศียร เส้นพระเกศาก็หลุดติดพระหัตถ์มา ๘ เส้น พระองค์จึงประทานให้พ่อค้าสองพี่น้องนั้นไปบูชา

อรรถกถาแต่งเพียงเท่านี้ มีชาวพุทธพม่าแต่งต่อ อ้างว่าพ่อค้าสองพี่น้องนั้นเป็นชาวพม่าไปจากหงสาวดี ไปค้าขายที่ชมพูทวีป พบพระพุทธองค์ ถวายสัตตุผงสัตตุก้อนแล้วกราบทูลขอพระเกศธาตุจากพระพุทธองค์ พอมาถึงบ้านเกิดเมืองนอนจึงก่อพระเจดีย์บรรจุพระเกศธาตุนั้นไว้บูชาตราบเท่าทุกวันนี้พระเจดีย์นี้คือ พระธาตุชเวดากองนั้นแล ว่ากันอย่างนั้น จริงเท็จอย่างไรก็ฝากท่านผู้รู้พิจารณาก็แล้วกัน

สังเกตว่ามีการแต่งเติมเป็นทอดๆ จนในที่สุดชาวพุทธพม่าเหมาเอาว่าตปุสสะกับภัลลิกะ "เป็นหม่อง" นุ่งโสร่งไปเสียฉิบ

ผมเคยพูดตลกๆ ว่า ไทยเราก็มีสิทธิ์อ้างตปุสสะกับภัลลิกะเป็นชาวไทยบ้างเหมือนกัน สังเกตได้จากชื่อของทั้งสอง ฟังเป็นไทยๆ จังเลย ตปุสสะก็ "ตาบุตร" ภัลลิกะ ก็ "ตาพัน" ตาบุตรกับตาพันไปจากลุ่มเจ้าพระยาไปพบพระพุทธองค์บ้างจะไม่ได้เชียวหรือ

ผู้รู้อีกท่านหนึ่งแย้งว่า ถ้าอย่างนั้นก็มีสิทธิ์อ้างว่าสองพี่น้องเป็นคนจีนไปจากผืนแผ่นดินใหญ่ สังเกตจากของถวาย มีคำว่า "มันถัง" อยู่ด้วย น่าจะเป็น "หมั่นโถว" กระมังหวา

ขืนสันนิษฐานกันอย่างไม่มีหลักการและหลักเกณฑ์เช่นนี้เรื่องคงจะไปกันใหญ่ เอาเป็นว่าฟังเท่าที่พระไตรปิฎกและอรรถกถาว่าไว้ก็พอ ใครจะต่อจะเติมอะไรอย่างไรผ่านๆ ไปก่อนจะดีกว่าครับ



นาคาวโลก

นาคาวโลก มาจาก นาค (นาค, พญาช้าง) - อวโลก (มองดู, เหลียวมอง) รวมเป็น นาคาวโลก แปลว่า มองอย่างนาค หรือมองอย่างพญาช้าง

นาค แปลได้หลายนัยคือ แปลว่า งูใหญ่ ดังเรื่องเล่าว่า หลังตรัสรู้ ขณะประทับนั่งใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) มีฝนตกพรำๆ ๘ วัน นาค ขึ้นมาขดเป็นบัลลังก์ให้พระพุทธองค์ประทับ แผ่พังพานบังลมและฝนให้ นาคในที่นี้แปลกันว่างูใหญ่ หรือ นาค ที่จำแลงกายเป็นมนุษย์มาบวชในพระพุทธศาสนา ก็ว่าเป็น งูใหญ่ชนิดหนึ่ง

นาค แปลว่า ผู้อยู่บนภูเขา หรือ ชาวเขา โดยอธิบายว่า นาค มาจาก นค (ภูเขา) นาค เป็นคุณศัพท์ แปลว่า "ผู้อยู่บนภูเขา" หมายถึงชาวเขา

นาค แปลว่าพญาช้าง ดังพุทธวจนะตรัสว่า อหํ นาโคว สงฺคาเม จาปาโต ปติตํ สรํ อติวากฺยํ ติติกฺขิสฺสํ=เราจักอดกลั้นคำล่วงเกินของคน ดุจดังนาคอดทนต่อลูกศรที่ยิงใส่ในยามสงคราม

นาค ในที่นี้หมายเอาพญาช้าง

นาค แปลว่า ผู้ประเสริฐ ปราศจากกิเลส อันหมายถึงพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย

นาคาวโลก ในที่นี้หมายเอาความหมายหลัง คือ พญาช้าง การเหลียวมองอย่างช้าง เป็นอาการที่พระพุทธองค์ทรงทำครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เมื่อตอนเสด็จออกจากเมืองไพศาลี คือทรงเอี้ยวพระศอหันไปทอดพระเนตร ดุจดังการที่ช้างเหลียวหลัง

เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับคำเชิญของมารเพื่อเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงปลง "อายุสังขาร" คือตัดสินพระทัยปรินิพพาน เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองไพศาลี โดยมีพระอานนท์ตามเสด็จ ขณะเสด็จออกจากเมืองไพศาลี ทรงยืนแล้วเอี้ยวพระศอกลับไปทอดพระเนตรพระนครไพศาลีชั่วขณะหนึ่ง

พระกิริยาอาการทรงเหลียวดูนั้นดุจดังพญาช้างเหลียวหลัง จึงเรียกว่า "นาคาวโลก"

พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า การเห็นเมืองไพศาลีครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว คิดแบบปุถุชนคนสามัญอย่างผมก็ว่า พระพุทธองค์ทรงคุ้นเคยและมีความผูกพันกับเมืองไพศาลีมาก เพราะนอกเมืองไพศาลีนี้มีป่าใหญ่อันเป็นรมณียสถาน พระพุทธองค์เสด็จมาพำนักเสมอ

เมืองไพศาลีเองเป็นเมืองหลวง ของแคว้น วัชชี อาณาจักรที่ปกครองด้วยระบอบ "สามัคคี ธรรม" (ปกครองผ่านรัฐสภา อันเป็นประชาธิปไตยระดับหนึ่ง) เป็นศูนย์กลางศาสนาสำคัญถึงสองศาสนา คือ ศาสนาเชน และศาสนาพุทธ เหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ทรงนับถือทั้งสองศาสนา ดูเหมือนจำนวนผู้นับถือพระพุทธศาสนามีมากขึ้นในช่วงหลังๆ คนสำคัญของศาสนาเชน อาทิ สัจจกนิครนถ์ อุบาลีอุบาสก ได้ละทิ้งความเชื่อดั้งเดิม หันมาเป็นพุทธมามกะและเป็นกำลังเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่หลายมากขึ้น

นอกจากเมืองราชคฤห์ ก็มีเมืองไพศาลี แห่งนี้ และในช่วงปลายพุทธกาลก็เมืองสาวัตถี ที่พระพุทธองค์ประทับอยู่บ่อยและนาน จึงเป็นของธรรมดาเมื่อจากไปก็ย่อมจะมีความผูกพันอาลัย

แต่นี่เป็นการคิดแบบปุถุชนอย่างผมนะครับ สำหรับพระพุทธองค์อาจไม่เป็นดังนี้ก็ได้ ที่ทรงทำ "นาคาวโลก" จะด้วยวัตถุประสงค์ใด เป็นเรื่องที่เราจะพึงหาคำตอบเอาเอง

อาจจะทรงเตือนอนุชนรุ่นหลังให้ยึดมั่นในคุณธรรมบางอย่างก็เป็นได้

นึกถึงเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้ ในยุค "มาลานำไทย" ในสยามประเทศนี้แล ท่านผู้เฒ่าท่านหนึ่ง เปิดหมวกคำนับตึกหลังหนึ่ง ทุกครั้งที่เดินผ่าน เด็กหนุ่มคนหนึ่งสังเกตเห็นมานาน อดรน ทนไม่ได้จึงเข้าไปถามในวันหนึ่งว่า ลุงคำนับตึกทำไม

ลุงตอบว่า "ลุงไม่ได้คำนับตึก ลุงคำนับคนที่ออกแบบตึกนี้ เขาช่างเก่งกาจจริงๆ ออกแบบได้สมบูรณ์แบบแท้ๆ"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า (แน่ะ ยังกะนิทานอีสป) คนเราควรตระหนักและซาบซึ้งในความดีและความสามารถของผู้อื่น ดังลุงคนนี้แสดงให้เป็นแบบอย่าง

อาการที่พระพุทธองค์ทรงทำ "นาคาวโลก" ก็อาจเป็นการเตือนให้อนุชนรุ่นหลังให้ความสำคัญแก่กตัญญูกตเวทิตาธรรมก็ได้นะครับ ใครมีบุญคุณต่อประเทศชาติ ต่อโลก แม้ไม่เกี่ยว กับเรา เราก็ควร "อภิเชต" (appreciate)

มีพระพุทธรูปปางหนึ่ง (ไม่ค่อยเห็นบ่อยนัก) เป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ เรียกว่า พระพุทธรูปปางนาคาวโลก ครับ



อ.อุ.ม. = โอม

คําว่า โอม ว่ากันว่าเป็นคำย่ออันหมายถึงเทพเจ้าสามองค์ อันเรียกว่า ตรีมูรติ (รูปสาม) คือ พระนารายณ์ พระอิศวร พระพรหม อ หมายถึงพระวิษณุหรือพระนารายณ์ อุ หมายถึงพระศิวะหรือพระอิศวร ม หมายถึงพระพรหม ใช้กล่าวนำบทมนตร์ต่างๆ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์

เทพของชาวชมพูทวีปนั้นผสมผสานกับเทพของชาวอารยัน (ฝรั่ง) ที่อพยพมาครองชมพูทวีป เดิมนับถือเทพหลายองค์ ต่อมาในบรรดาเทพเจ้าหลายองค์นั้นก็ยกเทพองค์ใดองค์หนึ่งขึ้นเป็นใหญ่ เป็นประธานเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณีไป เช่น ยกให้พระพฤหัสบดีเป็นใหญ่ในทางวิชาการ ต่อมาก็ยกความเป็นใหญ่ให้เทพองค์เดียวเลย เช่น ยุคแรกยกตำแหน่งหัวหน้าเทพทั้งปวงให้พระอินทร์ พระอินทร์จึงถือว่าเป็นเทวราชา หรือเทวานิมนทะ ต่อมาพระอินทร์ที่เป็นหัวหน้าเทพทั้งหลายมัวเมาในกาม ผิดศีลผิดธรรมบ่อย แถมยังดื่มน้ำโสมเมามายเป็นนิตย์ ก็เกิดมีความเบื่อหน่ายขึ้นในหมู่มนุษย์ (ที่สร้างเทพขึ้นมา) จึงยกความเป็นใหญ่ให้เทพองค์ใหม่นามว่า พรหม

เทพองค์ใหม่นี้มีบุคลิกและคุณสมบัติแตกต่างจากพระอินทร์แบบหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว

พระอินทร์ยุ่งเกี่ยวกับกามารมณ์ พระพรหมไม่ยุ่งเกี่ยวกับกามารมณ์

พระอินทร์ชอบสนุกสนาน ดื่มน้ำโสม เมามาย พระพรหมไม่ชอบสนุกสนาน อยู่องค์เดียวเงียบๆ ถือความบริสุทธิ์ อันเรียกว่า "พรหมจรรย์"

พระอินทร์เป็นเทพไม่อมตะ ตายได้ พระพรหมมีภาวะเป็น "อมตะ" ไม่รู้จักตาย เป็นนิรันดร์

แถมพระพรหมยังมีหน้าที่ในการสร้างโลกสร้างมนุษย์อีกด้วย ซึ่งแต่เดิมไม่มีหน้าที่นี้

เปิดหน้าประวัติศาสตร์ดู ยุคที่พระอินทร์ "โดนปลด" ยกพระพรหมขึ้นแทนนั้น พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นและเจริญรุ่งเรืองพอดี เพราะฉะนั้นในคัมภีร์พระไตรปิฎกจึงมักพูดถึงพระพรหม และวิธีเข้าถึงพระพรหม พระพุทธเจ้าทรงถกเถียงเรื่องการเข้าถึงพระพรหม หรือเรื่องการเป็นพระพรหมกับพวกพราหมณ์บ่อย บางครั้งพระองค์ชี้ว่า พรหมที่คิดเอาว่ามีนั้นอยู่ไกลตัวเรา มีจริงหรือไม่ไม่รู้ ได้แต่คาดเดาเอา แต่พรหมที่สัมผัสได้เห็นๆ อยู่ในโลกนี้มี คือคนที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขานั้นเอง ใครมีคุณธรรมทั้ง ๔ นี้เรียกว่า "เข้าถึงพรหม" หรือเป็นพรหมด้วยตัวเอง

ต่อมาเทพอีกสององค์ที่เคยมีชื่อมาก่อนหน้านั้นแต่ภายหลังตกอันดับไปได้โผล่ขึ้นมาใหม่ คราวนี้ได้รับความนิยมจากชาวชมพูทวีปมากขึ้นๆ จนเทียบรัศมีพระพรหมได้ เทพสององค์นั้นคือ พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ กับพระศิวะ หรือพระอิศวร โดยองค์แรกเป็นเทพของคนใต้ องค์ที่สองเป็นเทพของคนเหนือ

จึงเกิดคติเทพสามองค์ (ตรีมูรติ = สามรูป) ขึ้น แล้วก็แบ่งอำนาจหน้าที่กัน (มนุษย์อีกนั่นแหละเป็นคนแบ่งให้) คือ

พระพรหม มีหน้าที่ในการสร้างโลก

พระศิวะหรือพระอิศวร มีหน้าที่ในการทำลาย

พระวิษณุหรือพระนารายณ์ มีหน้าที่ในการรักษา

ถ้าไปอินเดียตอนนี้จะเห็นว่า พระนารายณ์ กับพระศิวะ มีผู้นับถือมาก มีโบสถ์หรือเทวาลัยสำหรับพระนารายณ์ พระศิวะมากมาย แต่พระพรหมดูจะเงียบๆ มีผู้นับถือน้อยลง

คำว่าโอม เป็นคำย่อ หมายถึงเทพเจ้าทั้งสามพระองค์ดังว่ามา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ทรงดัดแปลงคติเรื่องโอม จากของฮินดูมาเป็นพุทธ โดยทรงอธิบายว่า โอม มาจาก อ.อุ.ม. โดย อ. มาจาก อรหํ (พระอรหันต์) หมายถึงพระพุทธเจ้า อุ. มาจาก อุตฺตมธมฺม (ธรรมสูงสุด) หมายถึงพระธรรม ม. มาจาก มหาสงฺฆ (สงฆ์หมู่ใหญ่) หมายถึงพระสงฆ์

สรุป โอมก็คือพระรัตนตรัยนั้นแล เพราะฉะนั้นถ้าชาวพุทธจะเปล่งคำว่าโอม ก็ไม่ต้องตะขิดตะขวงใจว่าเปล่งสรรเสริญเทพของศาสนาอื่น เพราะแท้ที่จริงแล้วกำลังกล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัย  



คาถาพาหุง

สมัยเป็นเณรน้อยได้ยินพระผู้ใหญ่ที่ไปอยู่กรุงเทพฯ กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดคุยกับสมภาร ท่านถามไถ่กันว่าที่กรุงเทพฯ เป็นอย่างไร การขบฉันลำบากไหม พระผู้ใหญ่รูปนั้นตอบว่า "ก็ต้องพาเณรสวดพาหุงแทบทุกวัน" ทั้งสองก็เข้าใจกันดี แต่เณรน้อยอย่างผมสงสัยว่า ถามเรื่องอาหารบิณฑบาต แต่ไหงตอบเรื่องสวดคาถา มันคนละเรื่องแท้ๆ

ต่อมาจึงทราบว่า "สวดพาหุง" หมายถึงบิณฑบาตไม่พอฉัน

"อ้าว สวดพาหุงแล้วจะมีฉันทันทีหรือ"

"มีทันที สวดเสร็จก็ได้ฉันเลย"

"มันเป็นยังไง"

"อ้าว หุงข้าวเสร็จก็ตักใส่จานเลยสิ"

อ้อ สวดพาหุง ก็คือ พาเณรหุงข้าวนั้นเอง ฮิฮิ

ที่เรียกกันว่าคาถาพาหุง เพราะบทแรกขึ้นต้นด้วยคำว่า "พาหุง" กล่าวถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้าแปดเหตุการณ์ เหตุการณ์แรกทรงเอาชนะพญามารชื่อ วสวัตตี จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

มีการแปลตามตัวอักษรว่า มีการรบกับมาร กองทัพมารพร้อมด้วยเสนามารมากมายล้วนหน้าตาน่าสะพรึงกลัวมารบกับพระโพธิสัตว์ ตัวพญามารเองขี่ช้างนามว่า ครีเมขละ พันมือถืออาวุธครบครัน หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว มาไล่พระโพธิสัตว์ผู้ประทับนั่งเข้าวิปัสสนาอยู่ใต้ต้น "อัสสัตถะ" (ต้นไทรตระกูลหนึ่ง ภายหลังรู้จักในนามว่า "โพธิ" เพราะพระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้โพธิญาณใต้ ต้นไม้นี้)

พญามารไล่ให้พระโพธิสัตว์ลุกขึ้น อ้างว่าที่นั่งนี้เป็นของเขา เมื่อพระองค์ตรัสว่าเป็นที่นั่งของพระองค์เอง พราหมณ์ชื่อโสตถิยะได้ถวายหญ้ากุศะ ๘ กำ พระองค์จึงเอามาปูลาดเป็นอาสนะ พญามารถามว่าท่านมีพยานไหม พระองค์ทรงชี้พระดรรชนีลงยังแผ่นดิน ขอให้พระแม่ธรณีเป็นพยาน ทันใดนั้นพระแม่ธรณีก็โผล่ขึ้นมาบีบมวยผม บันดาลให้กระแสน้ำไหลบ่ามาท่วมกองทัพพญามาร จนพ่ายไปในที่สุด

มีพระพุทธรูปสองปางเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ปางแรกประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย เรียกว่า "ปางสมาธิ" อีกปางหนึ่งพระหัตถ์ขวาพาดที่พระเพลาชี้พระดรรชนี (ส่วนมากชี้ลงทั้งห้านิ้ว) ลง เราเรียกว่า "ปางมารวิชัย" (อ่าน "มา-ระ-วิ-ไช) เป็นปางที่พระพุทธองค์ทรงอ้างสักขีพยานแล้วเอาชนะมารในที่สุด

ข้อความตรงนี้ถ้าแปลตามตัวอักษรก็อ้างนางธรณีให้ออกมาช่วยจริงๆ ดังกล่าวข้างต้น แต่จริงๆ แล้วคงมิได้หมายความอย่างนั้น คงเป็นภาษาสัญลักษณ์ รบกับพญามารก็คือรบกับความคิดกลับไปกลับมาในพระทัยของพระองค์ คือแสวงหามานาน ไม่บรรลุผลสักที ก็อาจคิดว่าจะเดินต่อหรือจะกลับหลังดี ความคิดลังเลอันอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ก็ดุจมีมารมาขัดขวาง ทันทีที่ตัดพระทัยเด็ดขาดว่าเป็นไงเป็นกัน จะต้องบรรลุให้ได้นั้นแหละ สัญลักษณ์จึงออกมาเป็นการชี้พระดรรชนีลงพื้นดิน และจากนั้นพญามารก็พ่าย

มารวิชัย = ชนะมาร ก็คือการเอาชนะกิเลสในจิตใจได้โดยเด็ดขาดนั้นเอง คาถาพาหุงนี้เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า บทถวายพรพระ เวลานิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีทำบุญ พระท่านสวดมนต์จบแล้วจะต่อด้วยคาถาพาหุงหรือบทถวายพรพระ เป็นการอำนวยอวยพรทายกทายิกาทั้งหลาย

ผู้รู้ธรรมเนียมพอพระเริ่มสวด "พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง..." เขาจะยกสำรับที่เตรียมไว้เข้าไปตั้งหน้าโต๊ะหมู่บูชา ที่จัดไว้เป็นพิเศษ กล่าว "ถวายข้าวพระ" เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วทายกก็จะไปยกสำรับนั้นออก กล่าวคำ "ลาข้าวพระ" ด้วย

ถามว่า พิธีนี้มีความเป็นมาอย่างไร คงจะเนื่องมาจากสมัยพุทธกาล ชาวบ้านมักจะอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหาร แม้ไม่มีพระพุทธองค์เสด็จไปด้วย เขาก็ลาดอาสนะไว้สำหรับพระพุทธองค์ ทำเสมือนหนึ่งว่ามีพระพุทธเจ้าประทับเป็นประธานอยู่ด้วย

เมื่อกาลผ่านมานานเข้าชาวพุทธที่ทำบุญนิมนต์พระมาสวดมนต์ฉันเพลที่บ้านตน ก็มักจัดอาสนะไว้ถวายพระพุทธองค์ด้วย หรือเมื่อมีโต๊ะหมู่บูชาแล้วก็ไม่ต้องจัดอาสนะไว้เพื่อพระพุทธองค์อีกต่างหาก ไปๆ มาๆ เลยยกสำรับกับข้าวไปถวายพระพุทธรูปด้วย จะได้มีความรู้สึกว่าตนกำลังถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าประทับเป็นประธาน (จริงๆ)

ถวายข้าวเปล่าๆ ไม่มีกล่าวอะไรเลยก็ ดูจะ "ลุ่นๆ" จึงแต่งคำถวายสวดกันต่อๆ มา ว่า อิมัง สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โอทะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมิ" = ข้าพเจ้าขอน้อมนำบูชาข้าวสุกแห่งข้าวสาลีอันพร้อมด้วยแกงและกับนี้ และน้ำอันประเสริฐ แด่พระพุทธเจ้า ขณะลาข้าวพระก็กล่าวสั้นๆ ว่า "เสสัง มังคะลัง ยาจามิ" = ข้าพเจ้าขออาหารที่เหลือที่เป็นมงคล

พระพุทธศาสนาในไทยเป็นพระพุทธศาสนาในรูปสถาบัน มิใช่อยู่ในสภาพสัจธรรมล้วนๆ หากนำสัจธรรมมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับวิธีชีวิตไทยๆ สัจธรรมของพระศาสนาจึงกลายมาเป็นวัฒนธรรมให้ยึดถือปฏิบัติสืบกันมาจนทุกวันนี้ การถวายข้าวพระพุทธเป็นหนึ่งในหลายตัวอย่างของการปรับสัจธรรมมาเป็นวัฒนธรรมดังกล่าวแล  


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ9PMto-SPlIYSwbTqEXLFRsk1NoQRg_dhYghypXmHu-uSPGO6Z9A)


หัวข้อ: Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 15:35:49
(https://orawanpechtiem.files.wordpress.com/2015/08/14_1243257493.jpg)

ปุถุชน

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า "ปุถุชน" หลายท่านอาจรู้จักดี เพราะคนเราทุกคนได้นามว่าปุถุชนกันทั้งนั้น ปุถุชน มาจากคำว่า ปุถุ (หนา)-ชน (คน) รวมแล้ว ปุถุชนคือคนหนา หนาด้วยอะไร ตอบว่าหนาด้วยกิเลสคือ โลภ โกรธ หลงปุถุชนแบ่งเป็นสองระดับคือ ปุถุชนที่มีกิเลสหนาจริงๆ ไม่เบาบางบ้างเลย มีความรู้สึกรัก โกรธ หลง อย่างไรก็แสดงออกเต็มที่ เรียกว่า อันธพาลปุถุชน ส่วนปุถุชนที่มีศีลมีธรรมพอสมควรจนกระทั่งมีศีล ๕ บริบูรณ์ เรียกว่า กัลยาณปุถุชน

สูงกว่าระดับกัลยาณปุถุชนก็กลายเป็นพระอริยะ ซึ่งแบ่งย่อยออกได้ถึง ๔ ขั้น หรือ ๔ ระดับ

เปิดหนังสือ อรรถกถา มโนรถปูรณี พบความหมายของปุถุชนมากกว่าที่เคยรู้มา น่าสนใจดี จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ครับ

๑. ความหมายแรก แปลว่า ผู้มีกิเลสหนาดังกล่าวแล้ว

๒. ปุถุชน หมายถึงผู้มี "สักกายทิฐิ" สักกายทิฐิ แปลว่าความเห็นว่ามีตัวตน ความเห็นแก่ตน ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ปุถุชนทั่วไปมักจะมีความถือตัวสูงว่า ข้าคือข้า ข้านี้หนึ่งในตองอู ยิ่งได้เรียนมาสูงๆ ความเห็นว่าตัวตนสำคัญยิ่งมีมาก "ข้าด๊อกเตอร์นะเว้ย เอ็งอย่ามาเถียงข้า" อะไรทำนองนี้ ทั้งๆ ที่ความคิดความอ่านก็ขี้เท่อเต็มทีก็มีเหมือนกัน คนทั่วไปนั้นไม่มีใครที่เห็นตัวตนไม่ใช่ตัวตนดอกครับ พระท่านสอนว่า ตัวตนไม่มี มีแต่ประชุมกันแห่งธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้นเอง แต่ก็มักไม่เชื่อท่าน จำพวกที่ไม่เชื่อพระเหล่านี้แหละเรียกว่า พวกมี "สักกายทิฐิ" ละครับ

๓. ปุถุชนหมายถึงผู้ไม่ออกไปจากคติทั้งหลาย คติ คือที่ไปหลังจากตายแล้ว เช่น ภูมิสัตว์เดียรัจฉานบ้าง ภูมิมนุษย์บ้าง ภูมิสวรรค์บ้าง ปุถุชนต่างก็ทำกรรมทั้งดีและชั่ว ตายไปแล้วก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในคติทั้งหลายเหล่านี้ ไม่มีปัญญาพ้นจากคติเหล่านี้ไปได้ อย่างที่สำนวนว่า "เวียนว่ายตายเกิด" จนกว่าจะบรรลุอรหัตผลโน่นแหละจึงจะตัดวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดนี้ได้

๔. ปุถุชนหมายถึงผู้ถูกปรุงแต่งด้วยเครื่องปรุงแต่ง ข้อนี้ความหมายคล้ายข้อ ๑ และข้อ ๓ นั้นแล เครื่องปรุงแต่งจิตก็คือกิเลสต่างๆ อันเป็นเหตุให้ทำบุญบ้าง บาปบ้าง นักการเมืองก็คิดแต่เรื่องทำอย่างไรจึงจะเล่นงานคู่แข่งให้มันม่อยกระรอก หรือทำอย่างไรจึงจะได้อะไรๆ มันไหลมาตามน้ำบ้าง ทำอย่างไรจึงจะชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล น้อยนักจะคิดว่าทำอย่างไรประเทศชาติจึงจะพ้นวิกฤต ล้วนเป็นความปรุงแต่งด้านไม่ดีทั้งนั้น นานๆ จะแว้บมาด้านดีเสียที นักการเมืองแกเป็นปุถุชนนี่ครับ ก็ต้องถูกปรุงแต่งอย่างนี้เป็นธรรมดา คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่นักการเมืองก็เช่นกัน

๕. ปุถุชน หมายถึง ผู้ถูกกระแสน้ำพัดพาไป ผู้ที่ไปตามกระแสดุจสวะลอยน้ำเรียกว่าปุถุชน กระแสที่ว่านี้คือ กาม (ความสนุกเพลิดเพลินในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส) ภวะ (ความมีความเป็น อยากได้อยากดีอยากมีอยากเป็น อยากสลัดทิ้งสิ่งที่ได้ที่มีที่เป็นที่ไม่พึงพอใจ) ทิฐิ (ยึดมั่นในทฤษฎีผิดๆ ความหลงยึดติดในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) อวิชชา (ความโง่งมงาย ลุ่มหลงต่างๆ) กระแสเหล่านี้แหละที่พัดพาเอาปุถุชนให้ไหลไปตาม จนไม่เป็นตัวของตัว ถ้าเป็นห้วงน้ำจริงๆ ปุถุชนก็กำลังจะจมน้ำอยู่รอมร่อแล้วครับ

๖. ปุถุชน หมายถึงผู้เร่าร้อนกระวนกระวายด้วยกิเลส โลภ โกรธ หลง ดังกล่าวข้างต้น จิตใจไม่มีความสงบเย็น เพราะไฟกิเลสมันเผาลนจิตใจ ร้อนกายที่ว่าร้อน ยังร้อนน้อย ร้อนดอกเบี้ย ร้อนตกงานเพราะพิษไอเอ็มเอฟ ก็ว่ามากแล้ว จนบางคนฆ่าตัวตาย แต่เทียบกับร้อนพิษกิเลสไม่ได้ เพราะคนที่ถูกกิเลสครอบงำอาจถลำทำบาปกรรมมากมายเป็นเหตุให้ตกนรกหมกไหม้สิ้นกาลนาน เรียกว่าร้อนอมต นิรันดร์กาล เชียวแหละ

๗. ปุถุชน หมายถึง ผู้ยินดีพอใจในกามคุณ ๕ กามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันน่าใคร่ น่าพอใจ พระท่านว่า ถ้าเอาสัตว์ ๖ ตัว คือ ลิง จระเข้ นก งู สุนัขจิ้งจอก สุนัขบ้าน ผูกติดกันไว้ มันก็พยายามดึงดันจะไปสู่ที่อยู่ที่มันเคยชิน ลิงจะขึ้นต้นไม้ จระเข้จะลงน้ำ นกจะบินขึ้นฟ้า งูจะเลื้อยเข้าจอมปลวก สุนัขจิ้งจอกจะเข้าป่า สุนัขบ้านจะเข้าบ้าน ปุถุชนก็มักดิ้นรนไปสู่กามคุณ ๕ ฉันนั้นแล อุปมาอุปไมยชัดไหมครับ

๙. ปุถุชน หมายถึงผู้ถูกนิวรณ์ ๕ ครอบงำ นิวรณ์หมายถึงกิเลสที่ปิดกั้นมิให้ก้าวหน้าด้วยคุณธรรม ความใคร่ในกาม ความพยาบาทมุ่งร้ายเขา ความหดหู่เซื่องซึม ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความลังเลสงสัย ผู้ตกอยู่อิทธิพลของนิวรณ์ ๕ ประการนี้แลเรียกว่าปุถุชน

ข้อสังเกต ถึงท่านจะพยายามอธิบายว่าปุถุชนแปลได้หลายนัย แต่ก็อยู่ในขอบเขตของนัยที่หนึ่งนั้นเอง คือ "ผู้หนาด้วยกิเลส" จะกิเลสชนิดไหนบ้าง โลภโกรธหลง หรือนิวรณ์ หรือ กามคุณ นั่นเป็นเพียงรายละเอียด

แต่จำไว้ประดับความรู้ก็ดีเหมือนกัน



ธรรมสหาย-ธรรมสวัสดี/สวรรค์บนดิน

ธรรมสหาย-ธรรมสวัสดี

ได้ดูรายการที่แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ออกทีวีวันหนึ่ง รายการอะไรก็จำไม่ได้ เพราะท่านออกทีวีบ่อยบรรยายธรรมได้ไพเราะจับใจอย่างยิ่ง ได้ยินท่านกล่าวสวัสดีผู้ชมผู้ฟังว่า "ธรรมสวัสดี" (ทำมะสะหวัดดี) ก็สะดุดใจ ดูเหมือนอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง ก็ใช้ เลยมานั่งลำดับความเป็นว่า ธรรมสวัสดี มีใช้มาตั้งแต่เมื่อใด

คงจะไม่นานนัก แต่ก่อนก็เห็นพูด "สวัสดี" เฉยๆ มีพระเท่านั้นที่ไม่ใช้ ท่านจะใช้ว่า "เจริญพร คุณโยมทั้งหลาย..." สวัสดี เป็นคำที่ (ถ้าจำไม่ผิด) มหานิ่ม กาญจนาชีวะ หรือ พระยาอุปกิตศิลปสาร บัญญัติขึ้นใช้และก็ติดปากชาวไทยมาจนบัดนี้

ไปอินเดียจะได้ยิน "สฺวาคตัม" "นมัสการ" หรือ "นมัสเต" ไปลังกาจะได้ยิน "อายุภวัน" หรือหูไทยได้ยินว่า "อายุบวร" ไปภูฏาน ก็จะได้ยินคำทักทายด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า "กุสุซัมโป" หรือ "ตะชิดีเรก"

สมัยผมอยู่อังกฤษประมาณ พ.ศ.๒๕๐๘-๒๕๑๔ วัดไทยในลอนดอนเพิ่งจะก่อตั้ง แต่พระลังกามาอยู่ลอนดอนนานแล้ว พระสงฆ์ลังกาสมัยนั้นมีท่านสัทธาติสสะ มหาเถระ เป็นประมุข ท่านรูปนี้เป็นพระนักปราชญ์ ทำงานแปลพระไตรปิฎกและชำระคัมภีร์บาลีให้สมาคมบาลีปกรณ์ (Pali TextSociety) ธรรมเนียมของชาวพุทธในอังกฤษสมัยนั้นคือ เวลาจะบรรยาย หรืออภิปราย จะต้องพูดว่า "Friends in Dhamma" ทุกครั้ง ไม่มี "Ladies and Gentlemen" เป็นอันขาด ใครไม่ใช้ "Friends in Dhamma" ถือว่าเชย และมิได้อยู่ในแวดวงพระศาสนาด้วยกัน

คำนี้ถอดเป็นไทยก็คือ ธรรมสหาย (สหายในธรรม) นั้นแล

ธรรมสวัสดี (สวัสดีในธรรม) ก็คงได้อิทธิพลมาจากนี้ แต่ว่ามาอย่างไร ใครเป็นคนนำมาใช้ ไม่รู้สิครับ หรือคิดตรงกันโดยบังเอิญ แต่ก็ดูดี แม้จะเชยนิดๆ ก็ตาม

การบัญญัติคำใหม่บางทีก็ง่าย บางทีก็ยาก คิดคำมาแทบตายแต่ไม่เป็นที่ยอมรับ ใครใช้คำนั้นก็ตายไปตั้งแต่แรกเกิด บางคำนักปราชญ์ราชบัณฑิตไม่ได้คิด แต่เป็นที่ยอมรับแพร่หลาย น.ม.ส. ทรงบัญญัติคำ "หมากตีน" แทน ฟุตบอล (ซ็อกเกอร์) แต่ไม่ติด จนแล้วจนรอดคำนี้ก็ยังต้องทับศัพท์มาจนบัดนี้ ส่วนคำว่า "จักรยาน" นักปราชญ์มิได้บัญญัติ ใครก็จำไม่ได้คิดขึ้นมา ติดปากประชาชนทันที

พระลังกาท่านเรียกเจ้าอาวาสว่า Incumbent ต่อมาเห็นว่า ไม่ใหญ่พอ เติม Senior เข้าไปอีกเป็น Senior Incumbent ยังไม่หนำใจเติมใหม่อีกเป็น Seniormost Incumbent จนพวกเราเรียกล้อว่า "ซีเนียร์ คิวคัมเบอร์"

ธรรมเนียมอย่างนี้เมืองไทยมีมานานเหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากเรียกพระราชาคณะทั้งหลายว่า พระเดช พระคุณ...เจ้าพระคุณ...เจ้าประคุณ...จนไม่รู้ว่าอย่างไหนสูงกว่าอย่างไหน

เพราะที่มีใช้อยู่แล้วมันไม่ใหญ่พอ จึงต้องเพิ่มต้องเติมให้มันใหญ่สมใจ ด้วยเหตุนี้ บังสุกุล เฉยๆ จึงกลายเป็น "มหาบังสุกุล" กุศล กลายเป็น "มหากุศล" เผลอๆ อาจเป็น "อภิอมตมหากุศล" ไปในไม่ช้า

สวรรค์บนดิน  สวรรค์บนฟ้านั้นรู้กันโดยทั่วไป จากวรรณคดีพระพุทธศาสนา ที่วาดภาพไว้ว่า สวรรค์-นรก เป็นภพภูมิที่ตรงข้ามกัน สวรรค์ เป็นภพที่เต็มไปด้วยความสุข สนุกสนาน ดังที่บรรยายว่า มีวิมานทิพย์ มีอาหารทิพย์ เสพสุขบนทิพยวิมาน แวดล้อมด้วยนางฟ้าห้าร้อยคอยปรนนิบัติ (ทำไมต้องห้าร้อย ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน จำนวนช่างลงตัวเป๊ะๆ อีกความหมายถึงอาจหมายถึง "มาก" ก็ได้ มิได้หมายถึงจำนวนเท่านั้นจริง)

สรรค์นี้ ฟังเสียงผู้เขียนตำราแล้วคล้ายกับว่า อยู่โน้น บนฟากฟ้าแสนไกล ไม่ทราบว่าอยู่บนจริงหรือจินตนาการเอา

ภาพของนรก เป็นภพภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์สาหัสสากรรจ์นานัปการ สัตว์นรกต้องตกนรกหมกไหม้ บ้างก็ปีนต้นงิ้วหนามแหลมคม มีกาปากเหล็กคอยจิกกินเนื้อ มีสุนัขดุร้ายคอยไล่กัด ถูกยมบาลจับโยนลงกระทะทองแดง เอาน้ำร้อนๆ กรอกปาก รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ร้องโอดโอยครวญครางอย่างน่าเวทนา

นรกนี้ท่านก็ว่ามีเป็นขุมๆ หลายขุม และอยู่ใต้พื้นดิน ลึกขนาดไหนไม่ทราบ

ในความรับรู้ของคนทั่วไป สวรรค์ นั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขสบายทุกอย่าง ซึ่งเป็นผลของการทำทานรักษาศีล บำเพ็ญคุณงามความดีในชาตินี้ ตายไปแล้วชีวิตก็จะได้สุขสบายอย่างที่ว่านี้ จึงมักเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไป

ส่วนนรก เป็นสัญลักษณ์แห่งความทุกข์ยากลำบากนานา ไม่เป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไป การตกนรกเป็นผลของการทำชั่ว ผิดศีลธรรม ตายไปแล้วจึงต้องไปรับใช้กรรมที่ก่อไว้แต่ชาตินี้

สวรรค์ และนรก ไม่สามารถเข้าถึงได้ในชีวิตนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อบางครั้งชีวิตประสบความสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ มีความสุขสบายมาก เราจึงมักพูดว่า เหมือนอยู่บนสรวงสวรรค์ หรือเราได้มี "สวรรค์บนดิน" ในขณะเดียวกัน ถ้าชีวิตได้รับความลำบาก เช่นถูกจับ ถูกไล่ออกจากงาน เงินทองไม่มีใช้ มีปัญหาครอบครัว เราก็มักจะพูดว่า เหมือนตกนรกทั้งเป็น หรือมี "นรกบนดิน"

สวรรค์บนดิน เข้าใจว่าเป็นสำนวนที่มีมานาน ที่เป็นรูปธรรมที่สุด น่าจะเป็นสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งชมพูทวีป ผู้หลังจากมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ประยุกต์คำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ในการปกครองประเทศ อันเรียกว่าระบบ "ธรรมวิชัย" หรือ "ธรรมราชา"

พระเจ้าอโศกจารึกไว้ในศิลาจารึกหลักหนึ่ง เพราะนโยบายธรรมวิชัยของพระองค์นี้เอง ประชาชนทั่วทั้งประเทศจึงมีแต่ความสงบสันติสุขโดยทั่วหน้ากัน บรรดาเหล่าเทพยดาทั้งหลายได้ลงมาปะปนกับมนุษย์บนดินจนมองไม่แตกต่างกันระหว่างมนุษย์กับเทวดา เพราะต่างก็มีความสุขสบายเหมือนๆ กัน เรียกว่าพระองค์ได้สร้าง "สวรรค์บนดิน" แล้วในพระราชอาณาจักรของพระองค์

ความหมายของพระองค์ก็คือมนุษย์ทุกผู้ทุกนามตั้งแต่มนุษย์ชั้นสูงจนกระทั่งชั้นต่ำ ต่างก็มีความสุขกันทั่วหน้า เพราะพระองค์ได้ "ปิดช่องว่าง" ระหว่างชนชั้นหมดแล้ว สร้างความเสมอภาคโดยสมบูรณ์ นั่นคือความเสมอภาคแห่งธรรมะ มีธรรมะเป็นหลักยึดแห่งชีวิตโดยทั่วหน้ากัน

การสร้างสวรรค์บนดิน จึงเป็นอุดมคติของเหล่ากษัตราธิราชในยุคต่อๆ โดยพยายามเอาเยี่ยงอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชให้ได้ เรียกว่าอยากเป็นอโศกที่สอง กันทุกพระองค์ว่าอย่างนั้นเถอะ  



KARMA ON LINE

ตามหลักของกรรม ๑๒ ประการ (จะเขียนภายหลังเมื่อมีโอกาส) ท่านเปรียบกรรมที่คนเราทำไปแล้วเหมือนหมาไล่เนื้อ ทันทีที่ทำกรรม ไม่ว่าดีหรือร้าย กรรมนั้นก็พร้อมจะอำนวยผลให้แก่ผู้กระทำ

โอกาสหรือเวลาที่กรรมจะให้ผล ท่านว่ามีอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. กรรมบางอย่างทำแล้วให้ผลทันที กรรมชนิดนี้ต้องเป็นกรรมหนักหนาสาหัสมาก ชนิดที่แผ่นดินไม่สามารถจะธารไว้ได้ (ต้องการเขียน ธาร นะครับ) เรียกว่า อนันตริยกรรม มี ๕ ประการคือ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ใส่ร้ายพระอริยะเจ้า และทำร้ายพระพุทธเจ้าจนพระโลหิต (ห้อเลือด) หรือกรรมบางอย่างไม่ร้ายแรงขนาดนั้น แต่ก็ใกล้เคียงกัน คนทำกรรมชนิดนี้แล้ว จะได้รับผลทันตาเห็น ยังไม่ทันตายเราก็ได้เห็นผลกรรมแล้ว อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า "อยัมภทันตา"นั่นแล

๒. กรรมบางอย่างจะให้ผลในชาติหน้า ชาตินี้อาจไม่ทันให้ผล เพราะกรรมดีๆ อย่างอื่นที่เขาทำไว้อาจมีอยู่ ก็ต้องรอโอกาส เมื่อได้โอกาสในชาติหน้าก็จะให้ผล

๓. กรรมบางอย่างชาติหน้าก็ยังไม่มีโอกาส ก็ต้องรอไปจนถึงชาติต่อไป จึงจะสามารถให้ผลได้

๔. กรรมบางอย่างรอแล้วก็รอหาย เพราะคนคนนั้นก็ทำกรรมดีๆ ไว้มาก มากเกินกว่ากรรมที่ทำไว้จะบันดาลผลได้ ดังกรณีองคุลิมาลโจร ที่เห็นๆ ในชาตินี้ ท่านก็ฆ่าคนมาจำนวนมากเป็นร้อยๆ แต่บังเอิญว่ามีเงื่อนไขใหม่เข้ามาขัดจังหวะคือ พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด ทรงแสดงธรรมให้ฟัง ท่านเกิดบรรลุพระอรหัตกรรมชั่วที่ทำไว้ตั้งท่าไว้เรียบร้อยว่าจะตามสนอง แต่ถูกขัดจังหวะ หรือจะเรียกให้ถูกก็ว่า ถูกตัดรอนโดยอรหัตมรรคอรหัตผลที่ท่านองคุลิมาลได้บรรลุ จึงกลายสภาพเป็น "อโหสิกรรม"(หมดโอกาสให้ผล) ไป

การให้ผลของกรรมตามกาลเวลาทั้ง ๔ ประการนี้ ท่านจึงเปรียบให้เห็นภาพพจน์ว่าเหมือนเนื้อสมันที่วิ่งหนีหมาซึ่งตามไล่ หมาก็จะไล่เนื้อไปเรื่อยๆ ทันเมื่อใดก็กัดเมื่อนั้น ถ้าไม่ทันจริงๆ เนื้อก็รอดชีวิต

กรรมก็เช่นเดียวกัน ถ้ามันตามสนองคนทำกรรมไม่ทัน เพราะมีเงื่อนไขอื่นคอยเข้ามาขัดจังหวะ หรือตัดรอน ก็อาจไม่มีโอกาสให้ผลเลย ถือว่า เจ๊ากันไป กรรมชนิดนี้ ทางพระท่านเรียกว่า อโหสิกรรม ดังกล่าวแล้วข้างต้น

อโหสิกรรม มีความหมายสองอย่างคือ (๑) หมายถึงกรรมที่ให้ผลเสร็จแล้ว (อโหสิ แปลว่าได้มีแล้วคือได้ให้ผลแล้ว) และ (๒) กรรมที่ไม่มีโอกาสให้ผลเลย ดังกล่าวข้างต้น (อโหสิ ในกรณีนี้แปลว่า มีไม่ได้แล้วคือไม่มีโอกาสให้ผลแล้ว)

แต่กรรมที่ไม่มีโอกาสให้ผล มันก็ไม่ว่าอะไร ไม่น้อยใจ ไม่โวยวายเหมือนนักการเมืองที่ไม่มีโอกาสได้เป็นรัฐมนตรี

กรรมเขามีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว และยุติธรรมที่สุด แต่บางครั้งก็มักจะไม่ทันใจมนุษย์ เห็นคนอื่นทำกรรมชั่วช้าสารเลว ทำร้ายสังคมอย่างหนัก เช่นเป็นนักปกครองคอร์รัปชั่นโกงเงินภาษีอากรของประชาชน ประชาชนก็เฝ้ารอว่าเมื่อไรมันจะได้รับผลกรรมตามสนองสักที ครั้นไม่ทันใจก็มักจะบ่น ในกรณีที่กรรมมันให้ผลบ้างบางส่วน เช่น พระอลัชชีสร้างมลทินแก่พระศาสนา พระศาสนากระเทือนหนัก ถูกสั่งสึก ชาวพุทธหลายท่านก็สะใจ บอกว่า เห็นไหม กรรมมันติดจรวด ให้ผลทันตา ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า

กรรมติดจรวด เป็นคำใหม่ดูเหมือนจะเป็นพระพยอม กัลยาโณ หรือเจ้าคุณพระพิศาลธรรมพาที เป็นผู้เอ่ยคำนี้เป็นท่านแรก ฟังเข้าทีดี เมื่อเห็นใครบางคนทำความชั่วเสียหาย ก็มักจะเตือนกันว่า อย่าทำเป็นเล่นไปนาเดี๋ยวนี้กรรมติดจรวดนะเว้ย อะไรทำนองนั้น

คำว่า กรรมออนไลน์ ก็คงหมายถึงกรรมมันทันทีทันใดมาก ดุจโอนเงินเข้าธนาคารออนไลน์เลย ได้เดี๋ยวนั้น ไม่ต้องรอนาน กรรมที่ให้ผลทันตาเห็น ให้ผลอย่างรวดเร็ว เรียกว่า กรรมออนไลน์ ก็เป็นศัพท์ทันสมัยดี ถ้าคำนี้ติด ก็จะได้ศัพท์ธรรมะเพิ่มขึ้นอีกศัพท์หนึ่งคือ KARMA ON LINE : karma to be experienced here and now ; immediately effective karma.


สแลงอายุยืน

ภาษาเป็นสิ่งมีชีวิต ใครไม่รู้กล่าวคำนี้ ผมเห็นด้วย เพราะภาษาที่ใช้สื่อสารกันอยู่มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ นั่นแสดงถึงความมีชีวิต ต่อเมื่อหยุดการเปลี่ยนแปลงนั่นแหละ จึงจะเรียกว่า ตายแล้ว

ตายแล้ว เป็นภาษาไหม ตอบว่า เป็นเหมือนกัน แต่เป็นภาษา "ที่ตายแล้ว" เพราะฉะนั้น ภาษาจึงแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือภาษาที่ตายแล้ว กับภาษาที่มีชีวิต ที่เราพูดภาษาเป็นสิ่งที่มีชีวิต เราหมายเอาภาษาที่เราใช้สื่อสารกันจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ส่วนที่ตายแล้วคนไม่ค่อยใช้ก็ปล่อยมันไว้ที่ "ป่าช้า" โน่นแหละ

คำหรือวลีที่เกิดใหม่ จะมีเป็นระยะๆ บางคำเกิดมาแล้วชั่วประเดี๋ยวประด๋าวก็หายไป บางคำอยู่นานพอสมควร แต่ในที่สุดก็หายไปจากความทรงจำของคน แต่บางคำเกิดมาแล้วเกิดเลย คืออยู่นานมาก นานจนได้รับการบันทึกในพจนานุกรมฯ

คำที่เกิดมาแล้วอยู่ชั่วคราวเราเรียกว่า สแลง ภาษาฝรั่งเขียน salang คงหมายถึงคำที่ใช้เฉพาะกลุ่มย่อยๆ หรือคำตลาด ที่คิดขึ้นมาใช้กันเล่นๆ ในกลุ่มย่อยๆ หรืออย่างเก่งก็ในประเทศหนึ่ง ถ้าบังเอิญประเทศนั้นค่อนข้างใหญ่เช่น สหรัฐอเมริกา หรือจักรภพอังกฤษ ที่ภาษาของเขาใช้กันทั่วโลก คำคำนั้น ก็อาจรู้กันแพร่หลาย เรียกว่า สแลงระดับนานาชาติ

เฉพาะภาษาไทย สื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ มักเป็นผู้ให้กำเนิดมากกว่าแหล่งอื่น หนังสือพิมพ์จะบัญญัติคำนั้นขึ้นใช้ก่อน หนังสือพิมพ์ ก. ใช้คำนั้นก่อน หนังสือพิมพ์ ข. เห็นด้วยก็เอาไปใช้ ประชาชนอ่านแล้ว รู้สึกว่าเข้าท่าดี ก็นำไปใช้สื่อสารในไม่ช้าไม่นาน คำนั้นก็ติดปากคนทั่วไป ถ้าใครไม่รู้จัก กลัวจะถูกหาว่า "เชย" คนก็เลยรับรู้และใช้กันไปทั่ว

อย่างคำว่า ตุ๋ย เป็นชื่อคน คนคนนี้ มีพฤติกรรมชอบ "เข้าประตูหลัง" ของเพศเดียวกัน ชื่อของเขาก็เลยกลายเป็นคำกริยา ถ้าขอให้นักภาษาท่านให้คำนิยามคำนี้ ท่านก็คงเขียนดังนี้ ตุ๋ย (สแลง) ก. เสพกาม ทางวัจมรรคของเพศชาย, "เข้าประตูหลังของเพศชาย"

ที่ไม่ให้นิยามว่า รักร่วมเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ก็เพราะ "ตุ๋ย" ใช้กับการร่วมเพศโดยทางอื่นไม่ได้แม้จะเป็นชายกับชายก็ตาม หรือใช้กับการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับหญิงก็ไม่ได้

สมัยผมยังหนุ่ม มีคำว่า วันชัย แปลว่าข่มขืนผู้เยาว์ คำนี้เกิดขึ้นเพราะคนชื่อนี้ถูกหาว่าข่มขืนเด็กหญิง เป็นคดีในศาล ประชาชนนำไปสื่อสารกันโดยทั่วไป เวลาเห็นหญิงสาวแก่นนัก หนุ่มๆ ก็จะร้องว่า ทำอวดเก่ง เดี๋ยวก็ "วันชัย" ซะหรอก อะไรทำนองนี้

ไม่นาน "วันชัย" ก็หายไปจากความทรงจำของคน คำว่า "ตุ๋ย" นี้ก็คงเช่นเดียวกัน ไม่ช้าไม่นานก็คงหายไป

รวมถึงคำอื่นๆ ที่ถือกำเนิดที่ข่าวสด มติชนด้วย เช่น ท้วยส์ เชลียร์

ถ้าสแลงอยู่นาน คนยังนิยมใช้กันอยู่ สแลงนั้นก็อาจได้รับเกียรติบันทึกในพจนานุกรมฯ ก็ได้ คำว่า "เชย" (ทำอะไรเปิ่นๆ เหมือนลุงเชย) ได้เลื่อนขั้นไปแล้ว คำว่า "ไอ้เณร" (ทหารเกณฑ์ ทหารใหม่ที่เซ่อๆ ซ่าๆ เลียนมาจากคำ "สามเณร") ไม่มีทีท่าว่าจะหายไป แต่พจนานุกรมฯ บันทึกไว้หรือยังไม่ทราบ

สแลงที่มี แหล่งที่มาจากศาสนา ไม่ว่าจะเป็นหลักธรรม หรือบุคคลของศาสนา มักไม่เป็นที่ปรารถนาของผู้ที่เคร่งพระศาสนา อย่างคำ "ไอ้เณร" ก็ถูกต่อว่า ว่าไม่น่าบัญญัติขึ้นมาใช้ เป็นการดูหมิ่นศาสนา  



(https://kanlayamilk5556.files.wordpress.com/2014/02/page_70.jpg)

เคารพ-การแสดงความเคารพ

เคารพ เป็นคำนาม ภาษาบาลีว่า คารว (อ่าน "คา-ระ-วะ" แปลตามศัพท์ว่า "การทำให้หนัก" หมายถึง การให้ความสำคัญแก่สิ่งนั้นๆ

เคารพมี ๖ ประการ คือ

๑. เคารพในพระพุทธ

๒. เคารพในพระธรรม

๓. เคารพในพระสงฆ์

๔. เคารพในการศึกษา คือให้ความสำคัญแก่การฝึกฝนอบรม

๕. เคารพในปฏิสันถาร คือให้ความสำคัญแก่การต้อนรับ, มีมนุษยสัมพันธ์

๖. เคารพในความไม่ประมาท คือให้ความสำคัญแก่ความไม่ประมาท มีสติอยู่เสมอ

การแสดงความเคารพ คือแสดงออกทางกาย วาจา ให้รู้ว่าเรามีความเคารพ ทางใจ ในวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนา จัดลำดับหรือขั้นตอนของการแสดงความเคารพไว้ดังนี้

๑. อัญชลี ประคองอัญชลี คือยกมือไว้ตรงอก คือยกมือไหว้

๒. วันทา (หรือ นมัสการ) ยกมือที่ไหว้นั้นขึ้นจรดศีรษะ

๓. อภิวาท คุกเข่ากราบโดยให้อวัยวะ ๕ ส่วน (ข้อศอก, เข่าสอง, ศีรษะหนึ่ง) เรียก กราบ "เบญจางคประดิษฐ์"

๔. ปัจจุฏฐาน ยืนขึ้นรับ

เฉพาะ อภิวาท นั้น ถ้าตามวัฒนธรรมแขก หรือทิเบต เขาจะกราบแบบ "อัษฎางคประดิษฐ์" คือให้อวัยวะ ๘ ส่วนจรดพื้น แปดส่วนคือส่วนไหนบ้าง ผมไม่แน่ใจ เพราะไม่เคยมีใครบอก คงจะเป็น เข่าสอง ปลายเท้าสอง แขนสอง ท้องหนึ่ง หน้าผากหนึ่ง ใครทราบบอกด้วยก็แล้วกัน

การแสดงความเคารพนี้ โดยปกติคนผู้อายุน้อยกว่าแสดงต่อผู้มีอายุมากกว่า เช่น พระนวกะ แสดงความเคารพต่อพระมัชฌิมะ และพระเถระ ในบางกรณีคนสูงอายุพรรษา จะแสดงความเคารพต่อผู้อายุน้อยที่เจริญด้วยคุณวุฒิ (ความรู้สูงกว่าตน) แล ชาติวุฒิ (มีชาติสกุลสูง) ก็ได้ แต่ผู้มีอายุน้อยกว่านั้น (แม้จะมีคุณวุฒิ และชาติวุฒิสูงกว่า) ที่เป็นบัณฑิต มักจะไม่เปิดโอกาสให้คนแก่กว่าแสดงความเคารพ จะรีบเคารพเขาก่อนเสมอ

ในสังคมพระสงฆ์ ท่านมักถือเคร่งครัด เวลาพระผู้เฒ่าที่พรรษามากกว่าแต่มีสมณศักดิ์หรือตำแหน่งทางบริหารต่ำกว่ามาหา พระผู้อายุพรรษาน้อยกว่าแม้จะมีตำแหน่งหรือสมณศักดิ์สูงกว่า จะเป็นผู้กราบเสียเอง ไม่ยอมให้พระผู้เฒ่ากราบ ทั้งนี้เพราะท่านถือ "พรรษา" ตามบัญญัติของพระพุทธองค์เป็นสำคัญ

เพศภาวะก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถือสำคัญ เพศฆราวาสถือว่าด้อยกว่าเพศบรรพชิต เพราะบรรพชิตถือพรหมจรรย์ ในขณะที่เพศฆราวาสเป็น "กามโภคี" (ยุ่งเกี่ยวในกาม) คฤหัสถ์ไม่ว่าจะอายุมากกว่า หรือชาติสกุลสูงเพียงใด ก็ย่อมกราบไหว้ภิกษุแม้บวชในวันนั้น นี้ถือเพศภาวะเป็นสำคัญ

เพราะเพศภาวะเป็นตัวกำหนดนี้เอง แม้บางครั้งคฤหัสถ์ที่บรรลุอริยผล (เช่นเป็นพระโสดาบัน) ยังต้องแสดงความเคารพต่อพระภิกษุแม้เป็นปุถุชน

แต่ในส่วนจิตใจแล้ว ภิกษุที่เป็นปุถุชน ย่อมมีความเคารพต่อคฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคลอยู่ เพียงแต่ไม่แสดงออกทางกาย วาจาเท่านั้น

ดุจเดียวกับภิกษุลูกชาวนา เวลาพระมหากษัตริย์ทรงไหว้ แม้จะไม่ไหว้ตอบ แต่จิตใจก็นอบน้อมสำนึกในพระคุณของพระมหากษัตริย์ในใจฉันนั้นแล

ถึงตรงนี้ ขอสรุปว่า ความเคารพ กับการแสดงความเคารพ พึงแยกกันด้วยประการฉะนี้แล  



แม่พิมพ์-พ่อพิมพ์

ตามปกติ ผมกลับจากที่ทำงาน ถึงบ้านก็อาบน้ำอาบท่า กินข้าว เสร็จแล้วก็เอกเขนกดูและฟังทีวี ซึ่งมักจะตกเวลาประมาณทุ่ม หรือทุ่มกว่าๆ ฟังข่าวไปด้วย ดูกีฬาไปด้วย เป็นการผ่อนคลาย ก่อนจะเข้านอน

วันหนึ่งก็สะดุ้ง เมื่อหูแว่วผู้สื่อข่าวรายงานเกี่ยวกับวงการครูบาอาจารย์ เธอหลุดคำพูดออกมาว่า "พ่อพิมพ์ของชาติ" ก็เลยเงยหน้าดูผู้รายงานให้ชัดๆ หน่อยหน้าตาเป็นอย่างไร ทำไมจึงเรียกครูว่า "พ่อพิมพ์" อ้อ เธอคงหมายถึง "ครูผู้ชาย" ถ้าเป็นครูผู้หญิง เธอคงจะเรียกว่า "แม่พิมพ์" ซีนะ

คำว่า "แม่พิมพ์" นี้มีบอกเพศด้วยแฮะ

เท่าที่ทราบ ไม่เคยมีใครบอกว่า "แม่พิมพ์" ใช้หมายถึงครูเพศหญิง ถ้าเป็นครูเพศชายให้เรียก "พ่อพิมพ์" ครูบาอาจารย์สอนผมมาว่า "แม่พิมพ์" เป็นคำที่ใช้เรียกครู ครูหญิงก็ "แม่พิมพ์" ครูชายก็ "แม่พิมพ์" กระทั่งครูกะเทย ก็ "แม่พิมพ์"

ไม่มี "พ่อพิมพ์" เป็นอันขาด

ผมก็จำมาอย่างนี้ตั้งแต่เด็กแล้ว และก็สอนลูกศิษย์ลูกหามาอย่างนี้เหมือนกัน อยู่ๆ ก็มีผู้มาสอนประชาชน (ออกอากาศทั่วบ้านทั่วเมือง ผ่านสื่อโทรทัศน์ ไม่เรียกว่า "สอน" ก็ไม่รู้จะเรียกอะไร) ว่า ครูผู้ชายเรียกว่า "พ่อพิมพ์"

อยากทราบว่า เธอ (ผู้สื่อข่าว) คนนี้ได้ความรู้ใหม่นี้มาจากไหน ความรู้ที่ว่า ครูผู้ชายเรียก "พ่อพิมพ์" ครูผู้หญิงเรียก "แม่พิมพ์" น่ะ มันต้องมีที่มาสิน่า วันนี้เปิดพจนานุกรมเพื่อดูสะกดการันต์คำอื่นดอก แต่บังเอิญไปพบ "พ่อพิมพ์" เข้าเต็มตา

บอกไว้เสียเลยเพื่อเป็นเกียรติยศ พจนานุกรมฉบับนี้คือ พจนานุกรมไทย ฉบับที่บอกว่า "สมบูรณ์ที่สุด ทันสมัยที่สุด" ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๒๖ ของสำนักพิมพ์รวมสาส์น ผู้จัดทำคือ มานิต มานิตเจริญ หน้า ๗๔๔ คอลัมน์ขวามือ มีดังนี้ครับ

แม่พิมพ์ . บล็อก, สิ่งที่เป็นต้นแบบ, คนที่เป็นแบบอย่าง, ครูหญิง

แม่พิมพ์ของชาติ . ครูหญิง

นึกเสียวๆ ว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คงว่าเหมือนกัน เพราะพจนานุกรมที่เอกชนจัดทำขึ้น ส่วนมากมักจะ "ลอก" คำนิยามจากฉบับราชบัณฑิตยสถาน ต่อเติมบ้างเล็กน้อย เพื่อมิให้เห็นว่าเป็นการลอกทั้งดุ้น มีบ้างบางฉบับลอกมาทั้งหมดเลย กระทั่งปรู๊ฟผิดก็ผิดตามไปด้วย ดังได้มีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันมาแล้ว จึงกลั้นใจเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานดู พบดังนี้ครับ

แม่พิมพ์ น. สิ่งที่เป็นต้นแบบ, โดยปริยายหมายถึงคนที่เป็นแบบอย่าง

ค่อยหายใจโล่งอกหน่อย

คำว่า แม่พิมพ์ หมายถึงแม่แบบ โดยปริยายหมายถึงคนที่เป็นต้นแบบ หรือคนที่เป็นแบบอย่างในทางดี อาชีพครู ถือว่าเป็น แม่พิมพ์ จึงมีคำพูดว่า "แม่พิมพ์ของชาติ" คำคำนี้ไม่มีเพศครับ ใครก็ตามที่เป็นครู เรียกว่า "แม่พิมพ์" ทุกคน เพราะต่างก็เป็นแม่แบบที่ดีให้เด็กๆ

ของเดิมเขาดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนของเขาดอกครับ หาไม่ก็คงต้องเปลี่ยน แม่ทัพ เป็น "พ่อทัพ" สิครับ เพราะผู้นำกองทัพล้วนเป็นเพศชายทั้งนั้น  



อมิตตพุทธ

ชอบอ่านหนังสือกำลังภายใน ชอบหลวงจีนเส้าหลิน หรือคุนลุ้น เวลาประจันกับศัตรูผู้มุ่งร้าย ท่านจะไม่ทำร้ายตอบ ถ้าถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้อง "ลงมือ" ก็จะเอ่ยคำ "อมิตตพุทธ" ก่อนจะลงมือ ถ้าเมื่อใดหลวงจีนท่านร้อง "อมิตตพุทธ" ละก็ ให้ระวังให้จงหนัก ชั่วพริบตาเดียวอาจจะลงไปกองอยู่กับพื้นโดยไม่ทันรู้ตัวก็ได้ รวดเร็วปานนั้นแหละขอรับ

อมิตตพุทธ คงจะเป็นคำเพี้ยนมาจาก อมิตาภพุทธ ซึ่งเป็นคำยาวเกินไป ออกเสียงเร็วๆ มันจึงหดสั้นเข้าเหลือแต่ "อมิตตพุทธ" ดุจดัง ผู้พิพากษา เหลือเพียง "พูกษา" มหาวิทยาลัย เหลือเพียง "มหาลัย" (หรือถ้าออกเสียงเร็วกว่านั้น จะได้ยินว่า "หมาลัย" เลยทีเดียว ไม่เชื่อผม ลองสังเกตดีๆ เถอะครับ)

อมิตาภพุทธ เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ซึ่งเกิดจากพระพุทธเจ้าผู้เป็น "ต้นเดิม" (อาทิพุทธ) พูดอย่างนี้ชาวพุทธเถรวาทไม่เข้าใจดอก ต้องอธิบาย

ตามความเชื่อของชาวพุทธฝ่ายมหายาน เขาเชื่อกันว่า มีพระพุทธเจ้าผู้เป็นองค์เดิมแท้อยู่องค์เดียว เรียกว่า อาทิพุทธ เรียกว่า ธรรมกาย เรียกว่า วัชรสัตว์ พระพุทธเจ้าผู้เป็นองค์เดิมแท้นี้เป็น อมตะ ไม่มีเกิด ไม่มีตาย ประทับอยู่โน่น "พุทธเกษตร" (แดนแห่งพระพุทธะ) หรือชาวจีนเรียกว่า "สุขาวดี"

จากพระพุทธเจ้าผู้เป็นต้นเดิมแท้นี้ จึงเกิดพระพุทธเจ้าอื่นๆ อีกหลายองค์ เรียกว่าเกิดจากฌานของพระอาทิพุทธ พระพุทธเจ้าเหล่านี้มีมากมายยิ่งกว่าเมล็ดทราย นับไม่ถ้วนว่ามีเท่าไร แต่ที่แน่ๆ คือมีมากมายไพศาล

ที่ปรากฏพระนามดังๆ เป็นที่รู้กันทั่วไปก็มี ๕ องค์ คือ

๑. พระไวโรจนพุทธ

๒. พระอักโษภยพุทธ

๓. พระรัตนสัมภวพุทธ

๔. พระอมิตาภพุทธ

๕. พระอโมฆสิทธิพุทธ

อมิตาภพุทธ บังเอิญดังกว่าองค์อื่น ทั้งชาวจีน ชาวญี่ปุ่นก็รู้จักกันดี จึงถูกกล่าวขวัญถึงบ่อยๆ ในหนังกำลังภายในก็จะถูกเอ่ยถึงบ่อย จนกลายเป็นคำอุทาน "อมิตตพุทธ" ดังกล่าวข้างต้น

พระอมิตาภพุทธ เป็นที่เคารพนับถือมาก ถึงกับเชื่อกันว่า ถ้าสวดมนต์เอ่ยพระนามพระอมิตาภพุทธบ่อยๆ จะได้รับเข้าไปอยู่ในแดนสุขาวดีของพระองค์ ทำให้เกิดการ "ยึดติด" ในพิธีกรรม คือสวดมนต์อ้อนวอน โดยไม่อยู่บนพื้นฐานของการฝึกฝนอบรมตน

อาจารย์เซ็นท่านหนึ่ง หวังจะเตือนชาวพุทธที่ติดอยู่กับพิธีกรรมอันเป็นเปลือกกระพี้ มากกว่าจะใส่ใจใน "แก่น" ท่านจึงลงทุนปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง โดยทิ้งวัดไปอยู่กับพวกขอทานใต้สะพาน ยังชีพด้วยข้าวคลุก "มิโสะ" เอาชีวิตรอดไปวันๆ

ท่านเอารูปพระอมิตาภพุทธออกมาตั้งไว้บนหัวนอน เขียนข้อความว่า นาย อมิตาภพุทธ เอ๋ย ที่อยู่ไม่สมเกียรติเจ้าเท่าใดนัก อย่าถือสา และอย่าคิดว่าข้าจะสวดอ้อนวอนให้เจ้าช่วยให้ข้าไปเกิดในแดนสุขาวดีของเจ้าเป็นอันขาด"

นัยว่าท่านลงทุน "เล่น" กับพระพุทธรูปขนาดนี้ ก็เพื่อสะกิดให้ชาวพุทธได้คิดว่า เพียงสวดอ้อนวอนพระพุทธเจ้ามิได้ช่วยให้หลุดพ้นดอก ต้องลงมือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงจะบรรจุถึงเป้าหมายของชีวิต

พูดถึงวิธีเตือนสติคนที่ยึดติดในตัวบุคคล นึกถึงอีกเรื่องหนึ่ง อาจารย์เซ็นท่านหนึ่งไปงานศพเพื่อนอาจารย์ด้วยกันที่เพิ่งมรณภาพ เห็นบรรดาศิษย์ร้องห่มร้องไห้หน้าศพอาจารย์ จึงเดินอาจๆ เข้าไป เอาไม้เท้าเคาะโลง ร้องว่า

"เฮ้ย เพื่อนรัก เพื่อนสอนศาสนาประสาอะไร จึงทำให้เหล่าลูกศิษย์ ยึดติดในตัวเพื่อนปานฉะนี้วะ"

ว่าแล้วก็เดินลงศาลาไป

อมิตตพุทธ


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์