[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 09 มกราคม 2563 12:06:31



หัวข้อ: การเสื่อมสภาพของพระพุทธรูปอันเนื่องมาจากเกลือ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 มกราคม 2563 12:06:31
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/27918622891108_10999427_567919789978451_66793.jpg)
ภาพประกอบจาก Facebook วัดอินทารามวรวิหาร Watintaram แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร

การเสื่อมสภาพของพระพุทธรูปอันเนื่องมาจากเกลือ
บทความโดย นวลลักษณ์ วัสสันตชาติ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

บทความนี้เป็นผลการศึกษาวิจัยเกลือบนพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหลังเดิมของวัดอินทารามวรวิหาร แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร จากการศึกษาและวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของปูนปั้นและปูนฉาบขององค์พระและปูนฉาบฐานชุกชีด้วยเครื่อง X-ray Diffractometer (XRD) พบว่าทำมาจากปูนหมักปูนตำ ซึ่งเมื่อแข็งตัวแล้วจะมีองค์ประกอบหลักคือแคลเซียมคาร์บอเนตและแร่ควอทซ์ โดยที่ไม่มีเกลือซัลเฟตซึ่งเป็นส่วนประกอบของปูนซีเมนต์ปะปนอยู่เลย และผลการวิเคราะห์ผลึกเกลือที่เกิดขึ้นบนองค์พระด้วยเครื่อง XRD พบว่าเป็นเกลือโซเดียมไนเตรทและเกลือโซเดียมคลอไรด์ซึ่งไม่ได้มาจากดิน เพราะจากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของดินพบว่าไม่มีเกลือไนเตรทหรือคลอไรด์ปะปนอยู่ เกลือไนเตรทที่พบสันนิษฐานว่า อาจละลายมากับน้ำฝนที่ชะล้างมูลของนกและค้างคาวซึ่งอยู่บนหลังคาของพระอุโบสถซึ่งรั่วแล้วหยดลงบนองค์พระ หรือมาจากน้ำที่ชะล้างเกลือไนเตรทที่เกิดจากการย่อยสลายเศษอาหารชองชุมชนในบริเวณใกล้เคียงแล้วซึมเข้าสู่องค์พระ ส่วนเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่พบอาจปนเปื้อนมาในวัสดุที่ใช้ก่อสร้างองค์พระตั้งแต่แรกเริ่ม หรือปนมากับเนื้อองค์พระพุทธรูปด้านในหรือวัสดุโครงสร้างของฐานชุกชีซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ หรืออาจปนมากับนํ้าใต้ดินในรูปเกลือคลอไรด์ หรือมาจากนํ้าทิ้งที่ชะล้างเศษอาหารที่มีเกลือแกงที่ใช้ปรุงอาหารของคนในชุมชนปะปนอยู่แล้วซึมเข้าสู่องค์พระ ซึ่งวัดในชุมชนส่วนใหญ่จะพบเกลือไนเตรทและเกลือคลอไรด์ปะปนมาด้วยเสมอ และผลการศึกษาสรุปได้ว่าเกลือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พระพุทธรูปองค์นี้เสื่อมสภาพ เนื่องจากรูปแบบของการเสื่อมสภาพขององค์พระเป็นรูปแบบเดียวกับการเสื่อมสภาพของวัสดุอันเนื่องมาจากเกลือ รวมไปถึงการที่พบผลึกเกลือบนผิวของทั้งปูนฉาบและปูนปั้นองค์พระและพบเม็ดเกลือปะปนอยู่ในปูนปั้นองค์พระในฤดูแล้งหายไปในฤดูฝนแล้วกลับมาใหม่ในฤดูแล้งต่อมา เป็นหลักฐานแสดงการเสื่อมสภาพของพระพุทธรูปองค์นี้อันเนื่องมาจากการตกผลึกซํ้าๆ ของเกลืออย่างชัดเจน