[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 26 ธันวาคม 2556 11:55:10



หัวข้อ: ลวดลายประดับอาคารแบบขนมปังขิงในประเทศไทย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 ธันวาคม 2556 11:55:10
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/69915782743030_k1.gif)

ลวดลายประดับอาคารแบบขนมปังขิงในประเทศไทย

เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๒ ผู้เขียน (คุณภูชัย กวมทรัพย์ : นายช่างศิลปกรรมปฏิบัติงาน สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร) และคณะสำรวจกลุ่มทะเบียนโบราณสถานและสารสนเทศ สำนักโบราณคดี ได้ดำเนินการสำรวจแหล่งโบราณคดีเพื่อประกาศขึ้นทะเบี่ยนฯ บริเวณพื้นที่ ถนนเจริญกรุง ๓๖ (ตรอกโรงภาษี) เขตบางนรัก ซึ่งเป้าหมายก็คือ บ้านพักตำรวจน้ำ เลขที่ ๑๑๖,๑๑๘ และ ๑๒๐  

หลักฐานประวัติการก่อสร้างอาคารกลุ่มนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นเจ้าของอาคาร กลุ่มช่างใดเป็นคนก่อสร้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงโดดเด่นและปรากฏชัดเจนให้เห็นประจักษ์แก่สายตาอยู่จนทุกวันนี้คือ ความงดงามของอาคารสถาปัตยกรรมและลวดลายประดับอาคารแบบขนมปังขิง ที่ประดับตกแต่งอยู่แทบจะทุกส่วนของอาคารและมีสภาพเกือบสมบูรณ์

ลวดลายขนมปังขิง เป็นคำที่แปลมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Gingerbread” หมายถึงลวดลายชนิดหนึ่งมีลักษณะปรุโปร่ง ตัวลายจะขมวด คดโค้ง หงิกงอ เป็นแง่งคล้ายขิง ทำด้วยวัสดุไม้นำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมประเภทตกแต่งบ้านเรือน อาคารต่างๆ ประดับตามส่วนต่างๆ ของสถาปัตยกรรมยุโรป เช่น หน้าจั่ว ยอดจั่ว เชิงชาย ลูกกรง เป็นต้น

น. ณ ปากน้ำ ได้อธิบายความหมายไว้ว่า “ลักษณะเรือนขนมปังขิงนี้เป็นชื่อทับศัพท์ว่า จินเจอร์เบรด อันมีที่มาจากขนมปังขิงสมัยโบราณของชาวตะวันตก ซึ่งตกแต่งหรูหรา ฟู่ฟ่า มีครีบระบายแพรวพราว

ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ อดีตภัณฑารักษ์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ลำพูน กรมศิลปากร อธิบายไว้ว่า “ขนมปังขิง” แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า “Gingerbread” เป็นคำที่ใช้เรียกลวดลายตกแต่งสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะหงิกงอ เป็นแง่งคล้ายขิง ตั้งแต่สมัยพระนางเจ้าวิกตอเรียที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักรเป็นต้นมา


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/79892175810204_k1.gif)
บน ด้านหน้าบ้านพักตำรวจน้ำ (ทิศใต้)
ล่าง ลวดลายฉลุ หน้าจั่ว (ทิศใต้)

ชาวตะวันตกสมัยโบราณนิยมเอาคุกกี้ขนมปังขิง (ซึ่งมีขิงเป็นส่วนผสมและมีรสชาติของขิงโดดเด่นกว่ารสอื่นๆ) มาสร้างเป็นบ้านตุ๊กตาเล็กๆ ประดับตกแต่งด้วยขนมอมยิ้ม ขนมขบเคี้ยวหลากหลายชนิดในวันคริสต์มาส เมื่อกาลเวลาผ่านล่วงเลยไปลวดลายนี้มีการพัฒนาและดัดแปลงเป็นลายธรรมชาติพันธุ์พฤกษาและลายประดิษฐ์แบบต่างๆ

ลวดลายขนมปังขิงนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสมัยสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียที่ ๒ (อเล็กซานดรินา วิกตอเรีย) แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑

สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ ทรงครองราชย์สมบัติระหว่าง พุทธศักราช ๒๓๘๐-๑๙๐๑) รวมระยะเวลายาวนานถึง ๖๔ ปี เป็นช่วงเวลาที่ประเทศอังกฤษยิ่งใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ยุคของพระองค์นับว่าเป็นยุคที่มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองเกือบทุกด้านเช่นงานมัณฑนศิลป์ งานตกแต่ง งานออกแบบเครื่องเรือน เสื้อผ้า การแต่งกาย และเครื่องประดับ จนได้รับการยกย่องศิลปะในยุคของพระองค์ให้เป็นศิลปะแบบวิตอเรียน (Victorian Style) หรือยุควิกตอเรีย แต่ไม่ใช่สมัยของศิลปะหรือยุคสมัยของประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นแค่ชื่อของลวดลายชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรียน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/99679685094290_k1.gif)
บนซ้าย สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ
บนขวา ลักษณะขนมปังขิง  ล่าง บ้านตุ๊กตาที่ทำด้วยขนมปังขิง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/52901706099510_k2.gif)
บน บ้านสไตล์วิกตอเรียนที่รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา  
ล่างซ้าย บ้านสไตล์วิกตอเรียน  ล่างขวา บ้านสไตล์วิกตอเรียน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/47283069209919_k1.gif)
ภาพ ๑-๒ พระที่นั่งวิมานเมฆ  ภาพ ๓ กุฏิสงฆ์วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร
ภาพ ๔ บ้านวงศ์บุรี จังหวัดแพร่

ได้กล่าวกันว่าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงโปรดการเสด็จประทับแรมในป่าเขตชนบท สถาปนิกจึงได้มีการออกแบบพระราชวังฤดูร้อนแบบไม้ให้กลมกลืนกับบรรยากาศของป่า เพื่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกแบบผ่อนคลาย ร่าเริงอ่อนหวาน เน้นการประดับตกแต่งในแบบผู้หญิง และการตกแต่งประดับอาคารด้วยลวดลายแบบขนมปังขิงนี้ คือ การออกแบบลวดลายที่ได้รับอิทธิพลมาจากการตกแต่งลวดลายในศิลปะกอทิก (Gothic) ที่ใช้ตกแต่งตามมหาวิหารต่างๆ โดยเฉพาะลายดอกจิก ลายกากบาท ลายเปลวไฟ เป็นต้น  แต่ทั้งนี้ ลวดลายแบบขนมปังขิงที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปะแบบกอทิก ก็ได้มีการพัฒนาออกไปมากมายจากต้นแบบ ที่สำคัญลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของลวดลายแบบขนมปังขิงคือ ลายดอกทิวลิป ลายก้านขด ลายเรขาคณิต และลายลูกน้ำ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/27881715322534_k2.gif)
ภาพลายเส้นลายฉลุไม้หน้าจั่วอาคาร (ด้านทิศใต้) บ้านพักตำรวจน้ำเลขที่ ๑๑๖
ซอยเจริญกรุง ๓๖ (ตรอกโรงภาษี) ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/32053991738292_k1.gif)
ภาพ ๑ ภาพลายเส้นฉลุไม้ช่องลมเหนือหน้าต่าง (บริเวณคอสอง) ชั้น ๒ (ด้านทิศใต้) แบบที่ ๑
ภาพ ๒ ภาพลายเส้นฉลุไม้ช่องลมเหนือหน้าต่าง (บริเวณคอสอง) ชั้น ๒ (ด้านทิศใต้) แบบที่ ๒
ภาพ ๓ ภาพลายเส้นฉลุไม้ช่องลมเหนือหน้าต่าง (บริเวณคอสอง) ชั้น ๒ (ด้านทิศใต้) แบบที่ ๓

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/46734337384502_k2.gif)
ภาพ ๑ ภาพลายเส้นฉลุไม้ช่องลมเหนือหน้าต่าง (บริเวณคอสอง) ชั้น ๒ (ด้านทิศตะวันตก)
ภาพ ๒ ภาพลายเส้นฉลุไม้ช่องลมเหนือหน้าต่าง (บริเวณคอสอง) ชั้น ๒ (ด้านทิศตะวันออก)
ภาพ ๓ ภาพลายเส้นฉลุไม้ช่องลมเหนือหน้าต่าง (บริเวณคอสอง) ชั้น ๒ (ด้านทิศเหนือ)
ภาพ ๔ ภาพลายเส้นฉลุไม้ช่องลมเหนือประตูชั้นล่าง (ด้านทิศตะวันออก)
ภาพ ๕ ภาพลายเส้นฉลุไม้ช่องลมเหนือประตูชั้้นล่าง (ด้านทิศใต้)

อาคารบ้านเรือนแบบขนมปังขิงได้แพร่หลายไปทั่วยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ โดยเฉพาะแถบยุโรปตะวันตกที่มีเทือกเขาแอลป์พาดผ่าน ซึ่งมีอังกฤษที่ถือเป็นประเทศต้นกำเนิดและได้แพร่หลายไปยังอิตาลี ฝรั่งเศส ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ และเยอรมนี  ซึ่งประเทศเหล่านี้ยังเป็นแหล่งที่มีไม้เนื้อแข็งอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งการฉลุลายที่อ่อนหวาน นุ่มนวล จะช่วยลดความแข็งทะมึนของขุนเขาที่โอบล้อมโดยรอบได้เป็นอย่างดี เมื่อนักล่าอาณานิคมชาวอังกฤษและฝรั่งเศสได้เดินทางมายังประเทศแถบเอเชีย จึงได้นำรูปแบบของลวดลายการตกแต่งนี้เข้ามาด้วย โดยเฉพาะการตกแต่งด้วยลายขนมปังขิงยังสัมพันธ์กับไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่เหมาะสมและหาได้ง่ายในประเทศภูมิภาคแถบนี้

ลวดลายแบบขนมปังขิงที่มีขึ้นในประเทศไทย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากการเสด็จประพาสยุโรปและประเทศใกล้เคียงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และมีทั้งส่วนที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกโดยตรง โดยชาวอังกฤษและฝรั่งเศสที่เดินทางมาค้าขาย หรือทำงานในสยาม บางส่วนรับอิทธิพลตะวันตกผสมอิสลามจากปีนังหรือมาเลเซีย แถบหัวเมืองภาคตะวันออกเช่นเมืองจันทบุรีก็ถูกฝรั่งเศสเข้าครอบครองเป็นตัวประกัน เพื่อให้สยามปฏิบัติตามสนธิสัญญาถึง ๑๑ ปี ส่วนภาคเหนือก็อาจได้รับอิทธิพลจากทางพม่า เพราะพม่าถูกอังกฤษเข้าครอบครองเป็นเวลายาวนาน

ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ทรงดำเนินพระบรมราโชบายด้านการปรับปรุงประเทศเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระบรมชนกนาถ โดยทรงเห็นความจำเป็นในการติดต่อกับประเทศตะวันตก ทรงปรับปรุงบ้านเมืองอย่างขนานใหญ่ และขยายขอบเขตครอบคลุมชีวิตชาวสยามในทุกๆ ด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อหลีกเลี่ยงให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ต้องประสบปัญหาการคุกคามจากประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกอย่างหนัก ขณะที่สยามต้องใช้นโยบายถ่วงดุลมหาอำนาจของนักล่าอาณานิคมระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ท้ายที่สุด ต้องจำยอมใช้นโยบายเสียดินแดนส่วนน้อย เพื่อรักษาดินแดนส่วนใหญ่ไว้ โดยเป็นการผ่อนปรนในเชิงการทูต เพื่อความอยู่รอดของประเทศ

นายธีรนันท์ ช่วงพิชิต นักวิชาการแห่งศูนย์ประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี ได้เล่าเกี่ยวกับเกร็ดความเป็นมาของลายแบบขนมปังขิงที่ปรากฏในประเทศไทยไว้ว่า “...ลายขนมปังขิงมีที่มาจากกลุ่มประเทศที่อยู่ริมเทือกเขาแอลป์ในยุโรป แถบนั้นอากาศรุนแรงมาก บ้านที่มีหลังคาก็ต้องนำหินก้อนใหญ่ๆ มาทับไว้เพื่อป้องกันกระเบื้องปลิว ทีนี้บ้านก็เลยดูแข็งๆ ทึบๆ ผู้อยู่อาศัยรู้สึกอึดอัด เขาจึงใช้วิธีแกะลายไม้ระบายติดอยู่ตามชายคาหน้าต่าง ตามช่องลม เพื่อลดความแข็งกระด้างของบ้าน ครั้นพอพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ทรงเห็นลวดลายเหล่านี้จึงทรงนำกลับเข้ามาเผยแพร่ในบ้านเมืองเรา  ทำให้การแกะสลักลวดลายบ้านเรือนแบบขนมปังขิงแพร่หลายมากในประเทศไทย พอถึงช่วงรัชกาลที่ ๖ ช่างสถาปัตยกรรมจากอิตาลี เยอรมนี เข้ามา  ก็ต่อยอดจากของเดิมที่มีอยู่ให้ดูฟู่ฟ่าขึ้น แต่ในรัชกาลที่ ๗ เศรษฐกิจตกต่ำ การแกะสลักลวดลายเหล่านี้ทำให้สิ้นเปลืองมาก จึงลดความหรูหราลง...”

อาคารที่ตกแต่งด้วยลวดลายขนมปังขิงในสยามนั้น มีปรากฏให้เห็นเป็นจำนวนมาก ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๖ โดยนิยมนำลวดลายแบบขนมปังขิงมาใช้ในการตกแต่งอาคารที่เป็นลักษณะเรือนพักอาศัย ซึ่งเป็นทั้งในส่วนของอาคารแบบเรือนไม้ แบบชั้นเดียวและแบบสองชั้น อาคารก่ออิฐถือปูนที่เป็นอาคารเดี่ยวและเป็นอาคารแบบเรือนแถว ทั้งแบบเรือนแถวไม้และตึกแถว

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และ ๖ ได้มีการว่าจ้างชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการในสยามเป็นจำนวนมากหลากหลายเชื้อชาติโดยเฉพาะสายงานทางศิลปวัฒนธรรมที่รับเข้ามาทำงานเป็นสถาปนิก วิศวกร จิตรกร มัณฑนากร  ซึ่งในด้านสถาปัตยกรรมนั้น ชาวตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ โดยเริ่มจากการออกแบบก่อสร้างอาคารของทางราชการ พระราชวัง วังเจ้านาย ต่อมาบรรดาขุนนางข้าราชการ เสนาบดี คหบดี วัดวาอาราม จึงเริ่มนิยมปลูกที่พักอาศัยแบบขนมปังขิง และได้เป็นที่นิยมในกลุ่มอาคารร้านค้าที่เป็นตึกแถวริมถนนสายหลักทางเศรษฐกิจ  ตำแหน่งของลวดลายขนมปังขิงที่พบมักจะปรากฏให้เห็นตามส่วนต่างๆ ของอาคาร ดังนี้
     ๑.  ลายฉลุยอดจั่ว และปลายจั่วจรดเชิงชาย
     ๒. ติดครีบห้อยจากเชิงชาย
     ๓. ใต้หลังคาหน้าจั่ว นิยมทำเป็นแผงตรงบ้าง โค้งบ้าง
     ๔. บริเวณคอสอง (คือส่วนที่เชื่อมระหว่างเพดานกับฝาผนัง เป็นแผ่นไม้ยาวหน้ากว้าง)
     ๕. ลูกกรงระเบียง
     ๖. ช่องลมเหนือประตู หน้าต่าง
     ๗. ค้ำยันหรือเท้าแขน
     ๘. ซุ้มประตูทางเข้าบ้าน
     ๙. กันสาดหน้าต่าง

สำหรับประเทศไทย ลวดลายแบบขนมปังขิงมีความสนิทสนมกลมกลืนจนดูราวกับว่าเป็นแบบบ้านเรือนของเราเอง และรูปแบบของลวดลายมีการตกแต่งโดยที่ไม่มีรูปแบบตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน พื้นที่การตกแต่ง ความต้องการของเจ้าของอาคาร การออกแบบของช่างและสถาปนิกเป็นหลัก เมื่อนำเอาความงดงามของลวดลายไม้ฉลุมาประดับตกแต่งบ้านเรือน ซึ่งดูเหมือนจะผสมผสาน กลมกลืนเข้ากันเป้นอย่างดีกับบ้านไม้แบบไทยๆ ที่มีหน้าบัน ชายคา ช่องลม ราวระเบียง หรือแม้แต่ค้ำยัน พอใส่ลวดลายเข้าไป ก็ทำให้เรือนไทยที่งดงามเป็นสง่าอยู่แต่เดิม ให้ดูอ่อนช้อย อ่อนหวาน อบอุ่น และเย็นสบายยิ่งขึ้น ซึ่งบางแห่งได้มีการประยุกต์ ดัดแปลงลวดลายฉลุเป็นลายไทยก็มี


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/89878540858626_k1.gif)
ภาพ ๑ บ้านเลขที่ ๑๑๘  ภาพ ๒ บ้านเลขที่ ๑๒๐
ภาพ ๓ ภาพลายเส้นลายฉลุไม้ช่องลมเหนือหน้าต่างชั้น ๒ (ทิศตะวันออก)
ภาพ ๔ ภาพลายเส้นลายฉลุไม้ช่องลม (บริเวณคอสอง) ชั้น ๒ ตอนบนผนังระหว่างช่วงเสา (ด้านทิศตะวันตก)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/77657323040895_k2.gif)
ภาพ ๑ ภาพลายเส้นฉลุไม้ช่องลม เหนือหน้าต่าง  ภาพ ๒ ภาพลายเส้นลายฉลุไม้ประดับประตูทางเข้า
ภาพ ๓ ภาพลายเส้นลายฉลุไม้ลูกกรงระเบียงใต้หน้าต่าง (ทิศใต้)
ภาพ ๔ ภาพลายเส้นลายฉลุไม้ช่องลมเหนือหน้าต่าง (ทิศตะวันออก)
ภาพ ๕ ภาพลายเส้นลายฉลุไม้ ฝ้าเพดานชั้นบน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมบ้านพักตำรวจน้ำเลขที่ ๑๑๖ อายุสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๖  ที่ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง ๓๖ (ตรอกโรงภาษี) ถนนเจริญกรุง แขวางบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ เป็นเรือนไม้ ๒ ชั้น ขนาดประมาณ ๑๓ x ๑๗.๑๐ เมตร  ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่งมีเสาตอม่อก่ออิฐยกพื้นสูง ชั้นบนเป็นเสาไม้ หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ มีลายฉลุไม้ โดยรอบตรงบริเวณช่องลมเหนือหน้าต่าง แผนผังของอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวอาคารตามแนวแกนทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศใต้  มีมุขหน้ายื่นออกมาตามรูปแบบนิยมของอาคารลักษณะนี้ ที่มุขหน้านี้มีจั่วหลังคารูปสามเหลี่ยม ยอดหน้าจั่วมีเสากลึงปลายแหลมตกแต่งลายครีบขนาบสองข้างเสาและทอดลงมาตามส่วนบนของปั้นลม ลายฉลุบรรจุอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมมุมฉาก และล้อไปตามแนวเส้นครึ่งวงกลม รูปแบบลวดลายมีลักษณะเป็นลายเครือเถา พันธุ์พฤกษา ลวดลายปรุโปร่ง ละเอียด บางจังหวะของลวดลายยังบางคอดกิ่ว แสดงให้เห็นถึงทักษะของคนฉลุลายได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ลวดลายดูไม่แข็งกระด้าง อีกทั้งยังอ่อนหวาน นุ่มนวล ลวดลายทั้งสองข้างคล้ายคลึงกัน ฝาบ้านเป็นไม้กระดานตีเข้าลิ้นบังใบทางแนวนอน โดยใช้คร่าวตั้ง ตรงมุมมีไม้ทางตั้งหุ้มทับ หน้าต่างชั้นบนเป็นหน้าต่างไม่บานเกล็ดแบบกระทุ้ง เหนือหน้าต่างขึ้นไปบริเวณช่องลมมีลายฉลุติดตั้งอยู่โดยรอบระหว่างช่วงเสา ภายในอาคารใช้คานตง พื้นไม้สักขัดมัน ผนังกั้นห้องทั้งหมดก่ออิฐถือปูน โครงสร้างอาคารใช้ผนังรับน้ำหนักชั้นบนมีระเบียงเดินได้โดยรอบ ผนังห้องชั้นล่างจะมีความหนามากกว่าชั้นบน ประกอบด้วยสองห้องใหญ่เหมือนชั้นบน แต่ชั้นล่างเดินได้เพียงสามด้าน อาจเป็นเพราะมีการปรับปรุงห้องข้างล่างใหม่ แผนผังของห้องตรงกันทั้งชั้นบนชั้นล่าง  บานประตูเป็นบานไม้เปิดคู่ลูกฟักกระดานดุนทึบ เหนือบานประตูมีช่องระบายอากาศฉลุเป็นลวดลายเครือเถาพันธุ์พฤกษา

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม บ้านเลขที่ ๑๑๘ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านพักตำรวจน้ำเลขที่ ๑๑๖  เป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ขนาดประมาณ ๑๑.๖๕ x ๑๗.๑๙ เมตร  หลังคามุงกระเบื้องว่าว มีลายฉลุไม้ประดับอยู่โดยรอบอาคารในตำแหน่งช่องลม แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านข้างของอาคารชั้นบนมีมุขห้าเหลี่ยมยื่นออกมารองรับด้วยเสาสี่เหลี่ยมเซาะร่องโดยรอบ พื้นไม้กระดานห้องนี้จะวางเรียงต่อกันเป็นรูปห้าเหลี่ยม

ตัวอาคารวางตามแนวแกนทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก หันหน้าอาคารไปทางทิศใต้ ชั้นล่างยกพื้นสูง ฝาบ้านชั้นล่างเป็นไม้กระดานตรีลิ้นเข้าบังใบทางแนวนอนโดยใช้คร่าวตั้ง ตรงมุมมีไม้ทางตั้งหุ้มทับ แต่ชั้นบนทางด้านหลังตีไม้กระดานเข้าลิ้น ตามแนวตั้งทั้งชั้นบนและชั้นล่าง โดยด้านหน้าจะมีหน้าต่างบานเกล็ดไม้ตลอดทั้งช่วงเป็นผนังด้านหน้าและด้านข้างทั้งสองด้านที่ใช้เป็นผนังเกล็ด ยกเว้นตรงมุมที่ตีไม่กระดานเข้าลิ้นตามแนวตั้ง ส่วนล่างของผนังเกล็ดไม้ภายนอกด้านหน้าตีแผ่นซีเมนต์เรียบปิดโดยตลอด ซึ่งเป็นผลมาจากการซ่อมแซมอาคารที่มีมาก่อนหน้านี้

หน้าต่างเป็นหน้าต่างไม้บานเกล็ดแบบกระทุ้งและเปิดคู่ บางบานเป็นบานลูกฟัก เหนือบานหน้าต่างเจาะเป็นช่องระบายอากาศด้วยลายฉลุ มีการใช้ไม้ฉลุติดที่ขอบชายคาโดยรอบที่บริเวณขอบกันสาดของส่วนที่ยื่นออกมาเหนือประตูหน้าต่าง ส่วนกันแดดตอนบนของระเบียงที่ติดกับเพดานจะมีแผ่นไม้ฉลุติดระหว่างช่วงเสาและตอนบนของผนังภายในบ้าน โดยไม้ฉลุจุยาวตามช่วงเสาแต่ละด้านของตัวบ้านด้วย

ภายในอาคารใช้คานตง ผนังกั้นระหว่างห้องมีการปรับเปลี่ยนวัสดุใหม่ตามรูปแบบการใช้สอย พื้นทุกห้องเป็นไม้กระดานขัดมัน โดรงสร้างของอาคารใช้ระบบผนังรับน้ำหนัก โดยผนังของห้องข้างล่างจะมีความหนามากกว่า ทั้งชั้นบนและชั้นล่างประกอบด้วย ๒ ห้องใหญ่ ชั้นบนมีระเบียงเดินได้โดยรอบ


ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมบ้านเลขที่ ๑๒๐ ตั้งอยู่หน้าบ้านเลขที่ ๑๑๘ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒ ชั้น ก่อนเข้าตัวบ้านจะพบประตูไม้มีลายฉลุที่อยู่ในกรอบรูปทรงสามเหลี่ยมจำนวน ๔ ชิ้น ประดับอยู่ มีสภาพหักพังเสียส่วนใหญ่ แผนผังตัวบ้านเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ ๑๐ x ๑๕.๘๑ เมตร วางตัวตามแนวแกนทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศใต้ หลังคามุงกระเบื้อว่าว มีลายฉลุโดยรอบอาคาร มีชายคาทำยื่นออกมา

หน้าต่างเป็นหน้าต่างบานเกล็ดแบบกระทุ้งและเปิดคู่ โดยด้านหน้าจะมีหน้าต่างบานเกล็ดไม้ตลอดทั้งช่วงเป็นผนังด้านหน้าและด้านข้างทั้งสองด้านที่ใช้เป็นผนังเกล็ดตลอดทุกช่วงเสา ยกเว้นบริเวณมุมอาคารทั้งสองด้านทางด้านหลังที่ตีไม้กระดานเข้าลิ้นตามแนวตั้ง ส่วนกันแดดตอนบนของระเบียงส่วนที่ตัดกับเพดานจะมีแผ่นไม้ฉลุติดระหว่างช่วงเสา รวมถึงตามช่องระบายอากาศต่างๆ เหนือประตูหน้าต่างและตอนบนของผนังภายในบ้าน โดยไม้ฉลุจะยาวตามช่วงเสาแต่ละด้านของตัวบ้าน

ภายในอาคารใช้คานตง พื้นไม้สักขัดมัน ผนังกั้นห้องทั้งหมดก่ออิฐ โครงสร้างอาคารใช้ระบบผนังรับน้ำหนัก โดยผนังชั้นล่างจะมีความหนากว่าชั้นบนประกอบด้วย ๒ ห้องใหญ่ ระเบียงเดินได้โดยรอบ ชั้นล่างมีการปรับเปลี่ยนรื้อแนวผนังห้องใหม่ ฝ้าเพดานชั้นบนมีลวดลายฉลุไม้เพื่อเป็นช่องระบายอากาศอยู่ในรูปทรงวงกลม



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/46124190795752_k2.gif)
ลวดลายขนมปังขิง
บ้านวงศ์บุรี จังหวัดแพร่

ที่มา : ลวดลายแบบขนมปังขิง : บ้านพักตำรวจน้ำ (สำนักงาน ป.ป.ส.)
โดย ภูชัย กวมทรัพย์ นายช่างศิลปกรรมปฏิบัติงาน
สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร