[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
10 พฤษภาคม 2567 06:36:32 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: มาฆบูชา - การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓  (อ่าน 162 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5477


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 04 มีนาคม 2566 15:12:53 »



"ภาพพระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระอรหันต์สงฆ์ในวันเพ็ญมาฆบูชา"
ภาพ : ครูเหม เวชกร

คำว่า มาฆบูชา เป็นชื่อของพิธีบูชาและการทำบุญในพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ซึ่งปรารภการประชุมใหญ่ของพระสาวก ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต

มาฆบูชา ย่อมาจาก มาฆปุณณมีบูชา หรือ มาฆบูรณมีบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓

วันเพ็ญเดือน ๓ นี้เป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระพุทธองค์ประทานโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมพระสาวก ซึ่งประกอบด้วยองค์สี่ ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต เพื่อให้พระสาวกเหล่านั้น มีหลักการร่วมกันในการประกาศพระศาสนา คือสั่งสอนธรรมแก่ประชาชนตามท้องถิ่น บ้านเมือง และประเทศต่างๆ ทั่วไป

คำว่า จาตุรงคสันนิบาต แปลว่า การประชุมพระสาวก ซึ่งประกอบด้วยองค์สี่ หรือการประชุมพร้อมด้วยองค์สี่ กล่าวคือ
๑. พระสาวกทั้งหลายที่มาประชุมวันนั้น ล้วนเป็นเอหิภิกขุ คือได้รับอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า
๒. พระสาวกเหล่านั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ ทั้งสิ้น
๓. พระสาวกที่ประชุมวันนั้น ซึ่งมีจำนวนถึง ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
๔. วันนั้นเป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ วันเพ็ญเดือนมาฆะ พระจันทร์เต็มดวงบริบูรณ์

การประชุมครั้งสำคัญที่สุดในสมัยพุทธกาล ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาตนี้ได้มีขึ้น ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ เริ่มแต่ตะวันบ่ายก่อนค่ำของวันเพ็ญเดือน ๓ ในปีแรก ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือหลังจากวันตรัสรู้ไป ๙ เดือน

การประชุมเช่นนี้มีครั้งเดียว ในศาสนานี้เป็นการประชุมครั้งสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์

คำว่า โอวาทปาติโมกข์ แปลว่า โอวาทที่เป็นประธานหรือคำสอนที่เป็นหลักใหญ่ หมายถึงธรรมที่เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา สาธุชนนิยมเรียกโอวาทปาติโมกข์นี้ว่าเป็น “หัวใจของพระพุทธศาสนา

ความในโอวาทปาติโมกข์แบ่งออกเป็น ๓ ตอน พระพุทธองค์ตรัสเรียงลำดับต่อกันเป็น ๓ คาถาครึ่ง

คาถาแรกว่า
        ความอดทน คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง
        พระพุทธะทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่ายอดเยี่ยม
        ทำร้ายผู้อื่น เป็นบรรพชิตไม่ได้ทีเดียว
        ผู้เบียดเบียนผู้อื่น เป็นสมณะไม่ได้

คาถาที่สองว่า
        การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑
        การยังกุศลให้ถึงพร้อม ๑
        การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑
        นี่คือคำสั่งสอนของพระพุทธะทั้งหลาย

คาถาที่สามว่า
        การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑
        ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑
        ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑
        ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑
        การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑

นี่คือคำสั่งสอนของพระพุทธะทั้งหลาย

ความในคาถาแรก พระพุทธเจ้าตรัสเพื่อแสดงหลักการและแนวทางที่เป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้สามารถแยกจากลัทธิศาสนาที่พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับตอนแรกที่ตรัสว่า ความอดทน คือทานไว้ ยืนหยัดอยู่ได้ เป็นตบะอย่างยิ่ง พระองค์ตรัสเพื่อแสดงให้เห็นว่า การบำเพ็ญตบะของนักบวชทั้งหลาย ที่นิยมทรมานตนเองด้วยวิธีการต่างๆ นั้น ไม่ใช่เป็นวิธีการเผาผลาญบาปชนิดที่พระพุทธศาสนายอมรับ

สาระสำคัญของตบะที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับหรือตบะที่ถูกต้อง ก็คือ ขันติธรรม ความอดทนที่จะดำเนินตามมรรคาที่ถูกต้องไปจนถึงที่สุด มีความเข้มแข็งทนทานอยู่ในใจ ดำรงอยู่ในหลักปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น ไม่ระย่อท้อถอย

สิ่งที่จะพึงอดทน ที่สำคัญ คือ
๑. ความเหนื่อยยากลำบากตรากตรำในการปฏิบัติกิจหน้าที่ การงาน รวมทั้งความหนาวร้อน หิวกระหาย และสิ่งรบกวนก่อความไม่สบายต่างๆ
๒. ทุกขเวทนา เช่น ความเจ็บปวดเมื่อยล้า ความเสียดยอก ระบมบาดเจ็บ ที่เกิดแก่ร่างกายในยามป่วยไข้เป็นต้น
๓. อาการกิริยาท่าทีวาจาของผู้อื่น ที่กระทบกระทั่ง หรือไม่น่าพอใจ เช่น ถ้อยคำที่เขาพูดไม่ดีเป็นต้น ความอดทน อดกลั้น หรืออดได้ทนได้ หมายถึงการยอมรับได้ต่อสิ่งกระทบกระทั่งหรือไม่สบายฝืนใจเหล่านั้น ไม่ขึ้งเคียดขัดเคือง ไม่แสดงอาการผิดปกติ สามารถดำรงไมตรีคงอยู่ในเมตตา หรือรักษาอาการอันสงบมั่นคงในการทำกิจ หรือบำเพ็ญกุศลธรรม ทำความดีงามสืบต่อไป

ในหลายถิ่นและหลายยุคสมัย มนุษย์ทั้งหลายอดไม่ได้ ทนไม่ได้ แม้ต่อการที่มนุษย์กลุ่มอื่นพวกอื่นมีความเชื่อถือ สั่งสอน และปฏิบัติกิจพิธีตามประเพณีนิยมและลัทธิศาสนา รวมทั้งอุดมการณ์ที่แตกต่างจากตน มนุษย์เหล่านั้นไม่สามารถสัมพันธ์กันด้วยวิธีการแห่งปัญญา เช่น พูดจากันด้วยเหตุผล จึงทำให้เกิดการขัดแย้งทะเลาะวิวาท ตลอดจนสงครามมากมาย การขาดขันติธรรมได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ

หากมนุษย์ปฏิบัติตามหลักโอวาทปาติโมกข์ข้อแรกนี้ ก็จะช่วยให้โลกดำรงอยู่ในสันติ และมนุษย์แต่ละพวกนั้นก็จะมีโอกาสพัฒนาชีวิตและสังคมของตนไปสู่ความดีงามที่สูงขึ้นไป

ตอนที่สอง ที่ตรัสว่า พระพุทธะทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่ายอดเยี่ยมนั้น ตรัสเพื่อชี้ชัดลงไปว่า จุดหมายของพระพุทธศาสนาคือนิพพาน อันได้แก่ความดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงได้ หรือความเป็นอิสระหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส คือ โลภะ โทสะ และโมหะ ไม่ใช่สวรรค์ ไม่ใช่การเข้ารวมกับพระพรหมผู้เป็นเจ้า เป็นต้น

ตอนที่สาม ที่ตรัสว่า ผู้ทำร้ายผู้อื่น เป็นบรรพชิตไม่ได้ทีเดียว ผู้เบียดเบียนผู้อื่นเป็นสมณะไม่ได้ นี้ตรัสเพื่อแสดงลักษณะของนักบวชในพระพุทธศาสนา คือชี้ให้เห็นว่า ความเป็นสมณะหรือนักบวช มิใช่อยู่ที่การประกอบพิธีกรรมเป็นเจ้าพิธี หรืออยู่ที่ความศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สามารถบันดาลผลให้แก่คนที่อ้อนวอนปรารถนา มิใช่อยู่ที่การบำเพ็ญตบะ ประพฤติเข้มงวด หรือการปลีกตัวออกไปอยู่ในป่าในเขา ตัดขาดจากผู้คน มิใช่อยู่ที่การทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง คอยบอกแจ้งข่าวสาร และความต้องการระหว่างสวรรค์กับหมู่มนุษย์ แต่อยู่ที่ความเป็นผู้ไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่ใครๆ มีแต่เมตตากรุณา บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งปวง

พูดสั้นๆ ว่า นักบวชหรือพระภิกษุสงฆ์ในความหมายของพระพุทธศาสนา คือเครื่องหมายของความไม่มีภัยเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่มเย็นปลอดภัย และการชี้นำมรรคาแห่งสันติสุข

ความใน คาถาที่สอง พระพุทธองค์ตรัสสรุปข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาทั้งหมดลง เป็นหลักการสำคัญ ๓ ประการ คือ
๑. ไม่ทำบาปทุกอย่าง ได้แก่ ละเว้นความชั่วทุกชนิด ทุกระดับ ตั้งต้นแต่ประพฤติตามหลักศีล ๕ เช่น ไม่ทำลายชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น
๒. ยังกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ บำเพ็ญความดีให้บริบูรณ์ เช่น มีศรัทธา มีเมตตากรุณา ฝึกจิตให้เข้มแข็ง มีสมาธิ มีความเพียร มีสติรอบคอบ ชื่อสัตย์สุจริต มีความเสียสละ เป็นต้น
๓. ทำจิตของตนให้ผ่องใส ได้แก่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์สะอาด ให้หลุดพ้นจากกิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ซึมเซา เป็นต้น ด้วยการฝึกอบรมเจริญปัญญาให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง จนกิเลสและความทุกข์ครอบงำจิตใจไม่ได้

จำง่ายๆ สั้นๆ ว่า เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์

หลักปฏิบัติที่ตรัสในคาถาที่สองนี้ เป็นทั้งแนวทางและขอบเขตในการที่พระสาวกทั้งหลายจะไปอบรมสั่งสอนประชาชน ให้ตรงตามหลักการของพระพุทธศาสนา และสอนได้เป็นแนวเดียวกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการเผยแผ่

ความใน คาถาที่สาม พระพุทธองค์ตรัสเพื่อเป็นหลักความประพฤติและการปฏิบัติตน หรือหลักปฏิบัติในการทำงาน สำหรับผู้ที่จะไปประกาศพระศาสนา

หมายความว่า ทรงวางระเบียบในการไปสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน ว่าผู้สอน ต้องเป็นผู้ไม่กล่าวร้าย ต้องเป็นผู้ไม่ทำร้าย คือ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ไม่ว่าด้วยกายหรือวาจา มีวจีกรรมและกายกรรมบริสุทธิ์สะอาด พูดและทําด้วยเมตตา กรุณา มีความสำรวมในพระปาติโมกข์ คือประพฤติเคร่งครัดในระเบียบแบบแผน รู้จักประมาณในภัตตาหาร ที่นอนที่นั่งก็ให้สงบสงัดเหมาะแก่สมณะ คือ ต้องไม่เห็นแก่กินแก่นอน และต้องมีใจแน่วแน่เข้มแข็ง ไม่ท้อถอย ฝึกอบรมจิตใจของตนอยู่เสมอ

รวมความว่า ไปทำงานก็ให้ไปทำงานจริงๆ ทำงานเพื่องาน มุ่งประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ใช่ไปหาความสุขสนุกสบาย

เนื้อความ ๓ คาถาของโอวาทปาติโมกข์นี้ แสดงให้เห็นวิธีสั่งงานของพระพุทธเจ้า การที่พระองค์ทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนานั้น ก็คือพระองค์ส่งพระสาวกให้ไปทำงาน

ความจริง พระองค์เคยส่งพระสาวกออกไปแล้ว ๒ รุ่น รุ่นแรก เป็นพระอรหันต์ล้วน มีจํานวน ๖๐ องค์ รุ่นที่สอง เป็นพระอริยบุคคลชั้นเสขภูมิ คือ ยังไม่เป็นพระอรหันต์ มีจำนวน ๓๐ องค์

ทั้งหมดนั้น พระองค์ทรงส่งไปอย่างธรรมดา คือ ตรัสสั่งเพียงว่า “จงจาริกไปประกาศพระศาสนา เพื่อประโยชน์และความสุขของพหูชน” และลงท้ายว่า “ด้วยเมตตาการุณย์แก่ชาวโลก” มิได้มีพิธีการพิเศษแต่อย่างใด

แต่ในการซักซ้อมงานคราวนี้ พระสาวกมีจำนวนมากถึง ๑๒๕๐ องค์ ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่และครั้งสําคัญ พระองค์จึงทรงสั่งงาน หรือนัดหมายงานอย่างชัดเจน และละเอียดถี่ถ้วน พระองค์ทรงสั่งงานอย่างนี้ ศาสนาของพระองค์จึงแพร่หลาย ไพศาลอย่างรวดเร็ว และยั่งยืนอยู่อย่างมั่นคงจนทุกวันนี้

โอวาทปาติโมกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการสั่งงาน เพราะในการสั่งงานนั้น ถ้าผู้สั่ง สั่งให้ชัดลงไปว่า ทำอะไร เพื่ออะไร ทำอย่างไร ดังนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติย่อมปฏิบัติสะดวก และงานก็จะสำเร็จเป็นผลดี ตามความมุ่งหมายเสมอ

โดยเหตุที่พระพุทธเจ้า ประทานโอวาทปาติโมกข์ในวันเพ็ญเดือน ๓ ฉะนั้น วันเพ็ญเดือน ๓ จึงเป็นวันสําคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจัดทำพิธีสักการบูชาเป็นพิเศษ ที่เรียกว่า มาฆบูชา

พิธีมาฆบูชานี้ แต่ก่อนก็มิได้ทำกัน เพิ่งมาทำในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งพระราชวงศ์จักรีนี่เอง

พิธีมาฆบูชานี้มีทั้งพระราชพิธีและพิธีของพุทธศาสนิกชนทั่วๆ ไป

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะพิธีของพุทธศาสนิกชนทั่วๆ ไป

เมื่อถึงวันมาฆบูชา ในตอนเช้า นอกจากจะมีการทำบุญตักบาตรตามปรกติแล้ว สาธุชนอาจรับอุโบสถศีล และฟังเทศน์ตามวัดที่ใกล้เคียงหรือคุ้นเคย

ในตอนค่ำ นำธูป เทียน ดอกไม้ ไปประชุมพร้อมกันที่โบสถ์หรือเจดีย์สถานแห่งใดแห่งหนึ่ง ที่ทางวัดจัดไว้

เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมแล้ว ยืนหันหน้าเข้าหาสิ่งที่เคารพ คือพระประธาน หรือสถูปเจดีย์อย่างใดอย่างหนึ่ง คฤหัสถ์ทั้งหลาย ยืนถือธูป เทียน ดอกไม้ ประนมมืออยู่ถัดพระสงฆ์ออกไป เมื่อพระภิกษุที่เป็นประธานกล่าวนำคำบูชา ที่ประชุมทั้งหมดว่าตามพร้อมๆ กัน

เมื่อกล่าวคำบูชาเสร็จแล้ว พระสงฆ์เดินนำหน้า เวียนขวารอบพระอุโบสถ หรือพระสถูปเจดีย์ ๓ รอบ ซึ่งเรียกว่า เวียนเทียน คฤหัสถ์เดินตามอย่างสงบ

ขณะเวียนรอบแรก ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ รอบที่ ๒ ระลึกถึงพระธรรมคุณ รอบที่ ๓ ระลึกถึงพระสังฆคุณ ไม่เดินคุยกัน ไม่หยอกล้อกัน หรือแสดงอาการไม่สุภาพอื่นๆ ในขณะเวียนทียน เพราะเป็นการขาดความเคารพพระรัตนตรัย

เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว เข้าในพระอุโบสถ สวดมนต์ฟังเทศน์ กัณฑ์แรกจะได้ฟังเรื่องจาตุรงคสันติบาต กัณฑ์ต่อๆ ไป อาจเป็นเรื่องโพธิปักขิยธรรมหรือเรื่องอื่นๆ ที่ทางวัดเห็นสมควร บางวัดมีเทศน์จนตลอดรุ่ง

ข้อที่ควรทำเป็นพิเศษในวันนั้น ก็คือ ควรพิจารณาความหมายของการเว้นชั่ว ทําดี ทําจิตใจให้บริสุทธิ์ ให้เข้าใจชัดเจนลึกซึ้ง แล้วตั้งใจปฏิบัติให้ได้ตามนั้น


--------------------

ที่มา... "วันสําคัญของชาวพุทธไทย" โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
ในชื่อเดิมว่า "ความรู้เกี่ยวกับวันสําคัญของไทย"
มูลนิธิ เหม เวชกร

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.42 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 13 เมษายน 2567 16:39:11