[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 04 มิถุนายน 2559 20:11:15



หัวข้อ: มหาสงครามแห่งทวยเทพแดนไอยคุปต์
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 04 มิถุนายน 2559 20:11:15
.

มหาสงครามแห่งทวยเทพแดนไอยคุปต์

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/80713513245185_1.jpg)
การต่อสู้ระหว่างเทพฮอรัสและเทพเซธ.

ย้อนกลับไปราวห้าพันปีก่อนในดินแดนแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ เชื่อว่าหลายๆท่านอาจจะจินตนาการเห็นภาพของชาวอียิปต์โบราณกำลังชักลากหินเพื่อนำมาสร้างมหาพีระมิดแด่องค์ฟาโรห์ บ้างก็อาจจะกำลังล่องเรือไปกลางแม่น้ำเพื่อจับปลาหรือกำลังเดินเท้าไปยังวิหารเพื่อบูชาเทพเจ้าและขอพร ดูแล้วช่างเป็นอาณาจักรที่สงบสุข แต่ก็ต้องบอกว่าจริงๆแล้วเบื้องหลังความสงบสุขของอารยธรรมอียิปต์โบราณนั้นก็มีสิ่งที่เรียกว่า “สงคราม” แทรกอยู่ด้วยเช่นกันครับ

สงครามที่โดดเด่นในหน้าประวัติศาสตร์ไอยคุปต์คงหนีไม่พ้นสงครามคาเดช (Qadesh) ที่ฟาโรห์รามเสสที่ 2 (Ramses II) ออกรบเพื่อแย่งชิงดินแดนกับชนเผ่าฮิตไทต์ (Hittite) ก่อนที่จะยุติความขัดแย้งในครั้งนั้นด้วยสนธิสัญญาสงบศึกฉบับแรกของโลก แต่นั่นไม่ใช่สงครามครั้งแรกของชาวอียิปต์โบราณหรอกครับ เพราะถ้าว่ากันตามพงศาวดารไอยคุปต์แล้วในยุคที่ทวยเทพยังคงปกครองดินแดนแห่งนี้อยู่ก็ได้มี “มหาสงคราม” ในหมู่ทวยเทพเกิดขึ้นมาแล้วด้วยเช่นกัน!!



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/36488871110810_2.jpg)
อสรพิษยักษ์ะอโปฟิสที่คอยขัดขวางการเดินทางของสุริยเทพรา.

ชาวไอยคุปต์เชื่อว่าก่อนที่เหล่าฟาโรห์หลายร้อยพระองค์จะปกครองโลกมนุษย์นั้น กษัตริย์แห่งทวยเทพที่ปกครองอียิปต์โบราณในยุคแรกเริ่มก็คือสุริยเทพ “รา” (Ra) ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่และเป็นผู้สรรค์สร้างสรรพสิ่งทั้งมวล

เทพเจ้าราและเทพีนูต (Nut) ให้กำเนิดโอรสและธิดา 5 พระองค์ ประกอบไปด้วยเทพเจ้าโอซิริส (Osiris) เทพเจ้าฮอรัสผู้ชรา (Horus the Elder) เทพเจ้าเซธ (Seth) เทพีไอซิส (Isis) และเทพีเนปทิส (Nephthys) ในขณะนั้นเทพเจ้าราชราภาพมากแล้ว จึงได้สละบัลลังก์ให้โอซิริสได้เป็นกษัตริย์ปกครองดินแดนอียิปต์โบราณสืบต่อไป โดยมีเทพีไอซิสเป็นมเหสี ส่วนตัวของพระองค์เองก็ขึ้นไปประทับบนสรวงสวรรค์ เดินทางด้วยเรือสุริยะข้ามท้องฟ้าทุกวัน โดยพระองค์ต้องเดินทางไปยังดินแดนของผู้วายชนม์อันมีชื่อว่าดูอัท (Duat) และในยามค่ำคืนก็จะต้องต่อสู้กับอสรพิษยักษ์อันมีนามว่าอโปฟิส (Apophis) ที่จะคอยขัดขวางการเดินทางของพระองค์ด้วย แต่ราก็สามารถเอาชนะอโปฟิสได้เกือบทุกครั้ง ทว่าก็จะมีบางครั้งเช่นกันครับที่เทพเจ้าราพ่ายแพ้ และชาวไอยคุปต์ก็เชื่อกันว่าวันที่เกิดสุริยคราสก็คือวันที่พระองค์พ่ายแพ้ให้แก่งูยักษ์อโปฟิสนั่นเอง

แต่แน่นอนว่าพงศาวดารไม่ได้จบลงเพียงแค่นี้ เพราะในเมื่อมีพระเอกกับนางเอกอย่างโอซิริสและไอซิสแล้วจะไม่ให้มีตัวร้ายปรากฏออกมาก็คงทำให้ตำนานดูจืดชืดเกินไป โดยตัวร้ายที่ว่านั้นก็คือเทพเจ้า “เซธ” นี่ล่ะครับ ตามตำนานเสนอเอาไว้ว่า เทพเจ้าเซธเกิดในฤกษ์ร้าย อีกทั้งยังฉีกครรภ์ของเทพีนูตออกมาด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าเซธมีคาแรกเตอร์ของตัวร้ายครบถ้วนเลยทีเดียวครับ



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/89926598262455_3.jpg)
เทพเจ้ารา-ฮอรัคตี หนึ่งในร่างของสุริยเทพรา.

ตำนานเล่าต่อไปว่า ในขณะที่เทพเจ้าโอซิริสปกครองอียิปต์โบราณอย่างสงบสุขนั้น เทพเจ้าเซธก็วางแผนอันชั่วร้ายเพื่อที่จะได้ครอบครองดินแดนไอยคุปต์แทนพี่ชายของตัวเอง พระองค์ออกอุบายสร้างหีบไม้ประดับงาช้างและทองคำให้มีขนาดพอดีกับร่างกายของโอซิริส แล้วจึงจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นเพื่อใช้อุบายนี้ “ฆ่า” พี่ชายตนเอง เซธหลอกให้เทพเจ้าโอซิริสลงไปนอนในหีบ จัดแจงปิดหีบแล้วใช้เชือกมัดอย่างแน่นหนาก่อนนำออกไปโยนทิ้งในแม่น้ำไนล์ เท่านั้นยังไม่พอ เซธยังตามไปหั่นศพโอซิริสออกเป็น 14 ชิ้นแล้วโยนทิ้งให้กระจัดกระจายไปทั่วอียิปต์อีกด้วย

ในช่วงที่เทพีไอซิสออกตามหาชิ้นส่วนของสวามีนั้น ว่ากันว่านางได้ตั้งครรภ์โอรสของนางก็คือเทพเจ้าฮอรัส (Horus) เรียบร้อยแล้ว เมื่อคลอดฮอรัส เทพีไอซิสก็นำฮอรัสไปซ่อนเอาไว้ในดงปาปิรัสแถบเกาะเชมมิส (Chemmis) แต่เทพเจ้าเซธก็ล่วงรู้เข้า พระองค์แปลงกายเป็นแมงป่องใช้โอกาสช่วงที่เทพีไอซิสไม่อยู่เข้าไปต่อยทารกฮอรัสซึ่งกำลังนอนอยู่ในเปลก่อนที่จะหลบหนีหายไปในความมืด เมื่อเทพีไอซิสกลับมาก็พบว่าฮอรัสของนางหมดลมหายใจไปเสียแล้ว

แต่เมื่อไอซิสไปปรึกษาเทพธอธก็ได้ความว่าไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะอีกไม่นานเทพเจ้าฮอรัสก็จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีกคราในร่างของนกเบนนู (Bennu) ที่แม้จะมอดไหม้จากแสงแห่งเทพเจ้าราแต่ก็สามารถฟื้นคืนชีพได้จากเถ้าถ่านของตัวมันเอง ตอนนี้ให้เทพีไอซิสไปเข้าร่วมการประชุมทวยเทพจะดีกว่า เพราะว่าเทพเจ้าธอธได้เสนอให้มีการจัดประชุมเพื่อลงมติว่าใครควรที่จะได้รับเลือกให้เป็นฟาโรห์ปกครองอียิปต์โบราณ โดยธอธได้ออกอุบายให้เทพีไอซิสเข้าร่วมประชุมโดยแปลงกายเป็นเทพีเนปทิสซึ่งเป็นมเหสีของเซธเสียก่อน



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/79555661521024_4.jpg)
เรือสุริยะของเทพเจ้าราเดินทางข้ามฟ้าทั้งยามทิวาและราตรี.

และเมื่อการประชุมเริ่มขึ้น เทพีไอซิสในร่างของเนปทิสก็ร้องขอให้เซธกล่าวคำสัตย์ว่าโอรสของนางจะได้ครองอียิปต์โบราณ แน่นอนครับว่าด้วยเวทมนตร์ในการแปลงกายที่แก่กล้าของเทพีไอซิส เทพเจ้าเซธไม่ทราบเลยว่ากำลังถูกหลอกและเชื่อสนิทใจเลยว่าคำว่า “โอรส” ที่เนปทิสตัวปลอมกำลังพูดถึงนั้นคือเทพเจ้าอนูบิส (Anubis) ในร่างของหมาในซึ่งเป็นโอรสของเนปทิสตัวจริง เซธ จึงรับปากว่าจะให้โอรสของนางได้ครองบัลลังก์สืบต่อไป เมื่อได้ยินดังนั้นเทพีไอซิสก็คืนร่างเดิม และด้วยอุบายนี้จึงทำให้เทพเจ้าฮอรัสซึ่งเป็นโอรสของไอซิสได้สิทธิในการครองบัลลังก์อย่างถูกต้องคำสัตย์ของเซธเอง และไม่ต้องสงสัยเลยครับว่าเทพเจ้าเซธโดนหักหน้าเสียขนาดนี้จะเดือดดาลเพียงใด และนี่ล่ะครับคือปฐมบทแห่ง “มหาสงคราม” ระหว่างเทพเจ้าฮอรัสกับเทพเจ้าเซธอันถือเป็นพงศาวดารที่โด่งดังที่สุดเรื่องหนึ่งของอียิปต์โบราณเลยก็ว่าได้

หลังจากที่เทพเจ้าฮอรัสฟื้นคืนชีพในร่างของนกเบนนูและได้ครองอียิปต์ตามมติที่ประชุมแล้วพระองค์ก็ได้นำทัพออกตามหาเทพเจ้าเซธซึ่งกำลังหลบซ่อนตัวอยู่ และด้วยดวงเนตรของเทพเจ้าฮอรัสที่สุกสว่างดั่งดวงสุริยาจึงได้มองเห็นหมูป่า สีดำตัวใหญ่กำลังซ่อนตัวอยู่ไม่ไกล ใช่แล้วครับ หมูดำตัวนั้นก็คือเซธนั่นเอง เมื่อเซธในร่างหมูดำเห็นเทพเจ้าฮอรัสก็จัดการเป่าเวทมนตร์เป็นเปลวเพลิงดั่งสายฟ้าฟาดฉีกดวงเนตรข้างขวาของฮอรัสจนบอดสนิทแล้วจึงช่วงชิงจังหวะหนีไป เทพเจ้าธอธได้ใช้เวทมนตร์ฟื้นคืนดวงตาให้กับฮอรัส ซึ่งก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “ดวงตาฮอรัส” (Eye of Horus) อันเป็นเครื่องรางที่ชาวไอยคุปต์เชื่อว่ามีพลังในการปกป้องคุ้มครองด้วยนั่นเองครับ หลังจากดวงตากลับมาสมบูรณ์ดังเดิม ฮอรัสก็ได้พาไพร่พลติดตามเทพเจ้าเซธไปทางต้นน้ำซึ่งก็ได้พบกับบริวารของเทพเจ้าเซธซุ่มโจมตีอยู่เป็นระยะๆ แต่ฮอรัสก็กำชัยชนะได้ทุกครั้งไป

ครั้งหนึ่งบริวารของเทพเจ้าเซธแปลงร่างมาในรูปของจระเข้และฮิปโปโปเตมัส แต่ฮอรัสก็จับสัตว์ทั้งสองชนิดมาล่ามไว้ก่อนสาปให้พวกมันกลายร่างเป็นเหยี่ยวขนาดยักษ์คอยจิกกัดและทำลายพวกเดียวกันเอง ศึกครั้งนี้ฮอรัสกำชัยเอาไว้ได้อย่างง่ายดาย เมื่อเทพเจ้าเซธสูญเสียลูกสมุนไปจนหมดพระองค์ก็ออกมาเผชิญหน้ากับฮอรัสและต่อสู้กันเป็นครั้งแรก แต่สุดท้ายเซธก็พ่ายแพ้ พระองค์ถูกจับเข้าที่ประชุมให้เหล่าทวยเทพตัดสินโทษ และผลที่ออกมาก็คือให้แยกร่างเทพเจ้าเซธออกเป็น 14 ชิ้นดังเช่นที่เขาเคยกระทำไว้กับโอซิริส ทว่าสุดท้ายแล้วเซธก็ยังไม่ตาย ตำนานเล่าว่าวิญญาณของเทพเจ้าเซธหลบหนีออกไปในร่างของอสรพิษสีดำ เลื้อยหนีลงแม่น้ำไนล์ไปก่อนแล้ว แต่เทพเจ้าธอธผู้ชาญฉลาดก็ล่วงรู้แผนการนี้ จึงได้บอกกับฮอรัสว่าสงครามยังไม่ยุติ เทพเจ้าเซธในร่างอสรพิษเลื้อยหลบหนีไปยังทะเลทรายทางใต้เพื่อรวบรวมไพร่พลอีกครั้ง และศึกสงครามครั้งสุดท้ายจะเกิดขึ้นที่เมืองเอ็ดฟู (Edfu) ขอให้ฮอรัสจงเตรียมตัวให้พร้อม



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/47339940195282_5.jpg)
สัญลักษณ์ดวงตาแห่งฮอรัส.

ตามตำนานเล่าว่า ก่อนที่เทพเจ้าฮอรัสจะเข้าสู่มหาสงครามครั้งสุดท้ายกับเทพเจ้าเซธ หนึ่งในทวยเทพฝ่ายเทพเจ้าฮอรัสอย่างเทพเจ้าฮาร์มาคิส (Harmakis) ในร่างของสฟิงซ์ (Sphinx) ซึ่งเป็นสิงโตตัวยักษ์ดังเช่นที่หมอบเฝ้ามหาพีระมิดแห่งกิซ่า (Giza) อยู่นั้น ได้ท่องไปทั่วดินแดนไอยคุปต์เพื่อใช้กรงเล็บสิงโตอันน่าเกรงขามของพระองค์สังหารบริวารของเทพเจ้าเซธไปเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นการร่วมมือกันของกลุ่มทวยเทพที่สมบูรณ์แบบมากทีเดียว

ในที่สุดมหาสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างฮอรัสกับเซธก็เริ่มต้นขึ้นที่เกาะเอเลเฟนทีน (Elephantine) เทพเจ้าเซธในครานี้มาอย่างเต็มยศในร่างของฮิปโปโปเตมัสสีแดงตัวมหึมาขนาดเกือบเท่าความกว้างของแม่น้ำไนล์ พระองค์ร่ายเวทให้เกิดพายุใหญ่ หมายจะพัดเรือของเทพเจ้าฮอรัสให้จมน้ำลงไป ทว่าเรือของฮอรัสไม่สะทกสะท้าน มันเพียงแค่ไหลตามคลื่นน้ำมาจนถึงเมืองเอ็ดฟูอันเป็นเมืองที่เทพเจ้าธอธทำนายเอาไว้ว่าจะเป็นฉากสุดท้ายของมหาสงครามในครั้งนี้เท่านั้น

เรื่องราวการสู้รบครั้งสุดท้ายระหว่างเทพเจ้าฮอรัสกับเซธตามพงศาวดารไอยคุปต์จึงได้รับการบันทึกเอาไว้บนผนังวิหารของเทพเจ้าฮอรัสที่เมืองเอ็ดฟู โดยมีฉากสำคัญแสดงให้เห็นชัยชนะของเทพเจ้าฮอรัสเหนือร่างฮิปโปโปเตมัสขนาดยักษ์ซึ่งเป็นตัวแทนของเทพเจ้าเซธ และเมื่อศึกครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลงดินแดนอียิปต์โบราณก็กลับคืนสู่ความสงบสุขได้อีกครั้ง



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/38650675035185_6.jpg)
เทพเจ้าเซธสังหารอสรพิษอโปฟิส.

เทพเจ้าฮอรัสขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองไอยคุปต์โดยมีชายาคือเทพีฮาเธอร์ (Hathor) ธิดาของสุริยเทพรา นางเป็นเทพีแห่งความรักและความงาม โดยพระนามของนางเขียนด้วยอักษรภาพอียิปต์โบราณรูปนกเหยี่ยวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าฮอรัสในกำแพงล้อมอันมีความหมายว่า “บ้านแห่งฮอรัส” พระนามนี้แสดงให้เห็นว่านางเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองเทพเจ้าฮอรัส อีกทั้งยังเปรียบเสมือนท้องฟ้าให้นกเหยี่ยวได้กางปีกโผบินอีกด้วย จะเห็นได้ว่าพระนามของเทพีฮาเธอร์สื่อถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างเทพเจ้าทั้งสองพระองค์นี้อย่างชัดเจนเลยทีเดียวครับ

นอกจากนั้นแล้วชาวอียิปต์โบราณยังจัดพระราชพิธีที่เรียกว่าพิธีกรรมการพบปะที่งดงาม (Festival of Beautiful Reunion) ขึ้นมาเพื่อเทพเจ้าฮอรัสและเทพีฮาเธอร์โดยเฉพาะอีกด้วย โดยในพระราชพิธีนี้รูปปั้นของเทพีฮาเธอร์จะล่องเรือจากวิหารเดนเดรา (Dendera) ลงมาร่วมอภิเษกสมรสกับรูปปั้นของฮอรัสในวิหารเอ็ดฟู โดยรูปปั้นของเทพเจ้าทั้งสองจะตั้งเคียงกันเป็นระยะเวลานาน 2 เดือน หลังจากนั้นพระนางจะตั้งครรภ์และล่องเรือกลับวิหารเดนเดราของพระนางตามเดิม

ตำนานมหาสงครามระหว่างเทพเจ้าฮอรัสกับเซธนี้ยังถูกนำเสนอในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่กำลังจะเข้าฉายเร็วๆนี้อย่าง “สงครามเทวดา (Gods of Egypt)” กับการต่อสู้ครั้งสะเทือนโลกของทวยเทพแห่งอียิปต์ เมื่อเทพเจ้าเซธ เจ้าแห่งทะเลทรายและความมืดมิด ทำศึกชิงอำนาจปกครองแผ่นดินมนุษย์ กับฮอรัส เทพแห่งแสงสว่าง จนทำให้ฮอรัสสูญเสียดวงตาศักดิ์สิทธิ์ ดินแดนอียิปต์ต้องตกอยู่ในกลียุค หัวขโมยหนุ่มนามว่าเบคจึงต้องลุกขึ้นสู้กับอำนาจชั่วร้าย ด้วยการขโมยดวงตากลับมาให้ฮอรัสเพื่อแลกกับอิสรภาพของหญิงสาวที่ตนตกหลุมรัก และร่วมกันหาทางปราบเซธให้ได้ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/80049648591213_7.jpg)
เทพเจ้าฮาร์มาคิส ในร่างของสฟิงซ์.

แฟนานุแฟนที่สนใจก็ลองติดตามกันดูครับกับการเนรมิตโลกแห่งตำนานอียิปต์ขึ้นมาใหม่ในภาพยนตร์แอ็กชั่น-แฟนตาซีสุดอลังการในแบบที่ไม่มีใครเคยได้เห็นมาก่อน

บทบาทของเทพเจ้าเซธในตำนานมหาสงครามครั้งนี้อยู่ในบทของผู้ร้ายเต็มตัวที่คอยจ้องทำร้ายฮอรัสเพื่อขึ้นครองราชย์เสียเอง แต่ด้วยว่าพงศาวดารของแต่ละเมืองก็ไม่สอดคล้องตรงกันเสียเลยทีเดียว ในบางพงศาวดาร เทพเจ้าเซธก็ได้รับการเคารพนับถือในฐานะของเทพเจ้าฝ่ายดีด้วยเช่นกัน ซึ่งบทบาทที่โดดเด่นที่สุดของพระองค์ก็คือการช่วยเหลือสุริยเทพราปราบอสรพิษอโปฟิสในการเดินทางในเรือสุริยะทุกค่ำคืนนั่นเองครับ.


โดย : ณัฐพล เดชขจร
ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน