[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 18:21:35



หัวข้อ: พลายจำเริญ : เรื่องราวของช้างแสนรู้
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 18:21:35
(https://www.nakhononline.com/wp-content/uploads/2023/06/3-2.jpg)
อนุสรณ์สถานพลายจำเริญ  ซึ่งเป็นรูปปั้นพลายจำเริญ ถนนพลายจำเริญ ถนนสายใหม่เลียบทะเล
จากบ้านเขาพลายดำ อำเภอสิชลถึงอ่าวท้องหยี อำเภอขนอม จุดชมวิวเขาพลายดํา หรือจุดชมวิว
พลายจำเริญ ตั้งอยู่บนเส้นถนนขนอม-สิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช

(https://www.nakhononline.com/wp-content/uploads/2023/06/1-1.jpg)
รูปปั้นพลายจำเริญ ตั้งอยู่บนฐาน “คชานุสรณ์” หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

(https://www.nakhononline.com/wp-content/uploads/2023/06/2-2.jpg)
รูปปั้นพลายจำเริญ ตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครศรีธรรมราช

(https://www.nakhononline.com/wp-content/uploads/2023/06/3-3.jpg)
พลายจำเริญ (ช้างเนียม) เป็นช้างสำคัญ มีลักษณะเป็นมงคลตามตำราคชลักษณ์ คือ มีกายดำ
นิลเล็บดำ ขนทวน และมีหางเป็นพวงยาวกวาดดิน  ปัจจุบัน งาของพลายจำเริญ เก็บรักษาไว้ที่
ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช


องค์ความรู้ เรื่อง  พลายจำเริญ


พลายจำเริญ (คชานุสรณ์) เป็นเรื่องราวของช้างแสนรู้ที่มีความฉลาดและรู้ภาษามนุษย์ เป็นช้างที่มีลักษณะต้องตามตำราคชลักษณ์ “ช้างเนียม” ซึ่งเป็นช้างสงคราม มีลักษณะเป็นมงคล คือ มีกายดำ นิล เล็บดำ ขนทวน และมีหางเป็นพวงยาวกวาดดิน

เป็นช้างของตระกูล ณ นคร ถือกำเนิดในใบบุญของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พร้อม หรือ หนูพร้อม) เกิดเมื่อปีขาล วันอังคาร เดือนห้า ในฐานโบสถ์ร้างวัดท่าช้าง  เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้นกลัวว่าพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จะทรงโปรด จึงให้ถอนขนหางของลูกช้างให้เป็นหางช้างธรรมดา เพื่อจะได้ไม่ต้องส่งลูกช้างที่มีลักษณะดีไปยังกรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็ได้มอบให้ ขุนทิพย์พิมล นำไปเลี้ยงที่บ้านฉลอง ขุนทิพย์พิมล ได้มอบให้นายจันทร์เป็นผู้ฝึกหัด ครั้นลูกช้างโตขึ้นก็ให้ทำพิธีทำขวัญและตั้งชื่อว่า “พลายจำเริญ” ต่อมาเมื่อขุนทิพย์พิมลมีลูกสาวก็ให้ชื่อว่าจำรัส เพื่อให้คล้องจองกับชื่อ พลายจำเริญ วันหนึ่งขณะที่ขุนทิพย์พิมลนำพลายจำเริญไปเล่นน้ำที่คลอง ขุนทิพย์พิมล ว่ายน้ำจนเหนื่อยอ่อนจึงจมน้ำลงไป เมื่อพลายจำเริญเห็นได้ช่วยชีวิตไว้ โดยใช้งาช้อนร่างของขุนทิพย์ตั้งเหนืองานำกลับไปบ้าน ทุกคนต่างสรรเสริญความสามารถของพลายจำเริญ


(https://www.nakhononline.com/wp-content/uploads/2023/06/2-1.jpg)

ต่อมาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้มีหนังสือมาถึงขุนทิพย์พิมลให้นำพลายจำเริญไปให้ท่านดู ขุนทิพย์พิมลพร้อมด้วยจำรัสบุตรีและนายจันทร์ควาญช้างก็นำพลายจำเริญเดินทางไปยังเมืองนครศรีธรรมราช ระหว่างทางพลายจำเริญได้พบช้างป่าดุร้ายจึงได้นำทั้งสามไปไว้ที่ศาลา ส่วนตัวเองได้เข้าต่อสู้กับช้างป่า จนช้างป่าตัวนั้นถึงแก่ความตาย ต่อจากนั้นก็เดินทางเข้าเฝ้าเจ้าเมืองนครฯ


(https://www.nakhononline.com/wp-content/uploads/2023/06/1.jpg)

เมื่อถึงวันตรุษไทย (เดือนห้า) เมืองนครศรีธรรมราชได้จัดให้มีการแห่พระขึ้น ขุนทิพย์พิมลได้นำสุราที่ตัวเองดื่ม กรอกให้พลายจำเริญด้วย ทำให้พลายจำเริญเมา ครั้นขุนทิพย์พิมลเกิดทะเลาะกันและสู้ไม่ได้ จึงเรียกให้พลายจำเริญช่วย พลายจำเริญไล่แทงจนหนีไปสิ้น หลังจากนั้นขุนทิพย์พิมลได้ประกาศว่าจะเล่นกีฬากับพลายจำเริญให้ประชาชนดู แต่พลายจำเริญไม่ยอมทำตาม ขุนทิพย์พิมลอับอาย จึงใช้ขอสับพลายจำเริญและด่าด้วยคำหยาบคาย พลายจำเริญโกรธจึงลงงาแทงขุนทิพย์พิมลถึงแก่ความตาย เมื่อพลายจำเริญได้สติก็ล้มตัวลงกลิ้งเกลือกทรายร้องให้ และยกศพใส่งานำกลับไปบ้านของขุนทิพย์พิมล จากนั้นก็ไม่ยอมกินน้ำกินหญ้า อยู่หลายวันจนผอมลง


(https://www.nakhononline.com/wp-content/uploads/2023/06/3-1.jpg)

หลังจากขุนทิพย์พิมลเสียชีวิต เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ได้หาควาญคนใหม่ชื่อนายสมบุญ ชาวบ้านท่าศาลาให้เลี้ยงพลายจำเริญ มีอยู่คราวหนึ่งพลายจำเริญตกมัน นายสมบุญตามจับไม่ได้ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ได้ประกาศจ้างมาทำพิธีจับพลายจำเริญ พลายจำเริญได้แทงหมอช้างและช้างล่อตาย แต่ในที่สุดเมื่อนำช้างพังหงส์แม่ของพลายจำเริญมาล่อ ก็สามารถจับพลายจำเริญได้ นายสมบุญเลี้ยงพลายจำเริญได้ ๑๕ ปี ก็สิ้นชีวิต เจ้าพระยานครศรีธรรมราชได้จัดหาควาญและคนเลี้ยงมาดูแลแทน แต่ถูกพลายจำเริญแทงตาย เนื่องจากให้พลายจำเริญทำงานหนักและพูดจาหยาบคาย เจ้าพระยานครศรีธรรมราช จึงจัดหาควาญคนใหม่มาดูแลแทนนานถึง ๑๐ ปี จนกระทั่งเกิดน้ำท่วมตลาดทุ่งสงควาญฉีดนำพลายจำเริญไปรับจ้างขนผ้า โดยสัญญาว่าเมื่อกลับไปบ้านจะให้กินเหล้า แต่ควาญฉีดผิดสัญญาจึงถูกพลายจำเริญแทงตาย

เมื่อเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ถึงแก่อนิจกรรม พลายจำเริญก็ตกเป็นมรดกของพระเสน่หามนตรี บุตรเจ้าเมืองนครฯ  พระเสน่หามนตรีได้สั่งให้นายจ่างไปจับพลายจำเริญ แต่ถูกพลายจำเริญแทงตาย ครั้นต่อมาจับได้ มอบให้ควาญช่วยชาวลานสกาดูแล เมื่อควาญช่วยตายก็ได้เปลี่ยนควาญอีกหลายคน จนในที่สุดเจ้าพระยานครศรีธรรมราชได้ให้ควาญปาน ชาวบ้านโพรงหมี ตำบลท้ายสำเภา นำไปเลี้ยง ควาญผู้นี้ชอบเล่นการพนันจึงมักใส่ปลอกเท้าหน้าพลายจำเริญไว้ และปล่อยให้เที่ยวไปในป่า ในที่สุดพลายจำเริญก็ถูกช้างป่า ๒ เชือกรุมแทงล้มลงทับตอไม้ถึงแก่ความตาย



ขอขอบคุณที่มา :
       - (เรื่อง) หอสมุดแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
       - (ภาพประกอบ) www.nakhononline.com