[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 17 เมษายน 2566 17:07:14



หัวข้อ: กบฏพระยาสรรค์ (พ.ศ.๒๓๒๔-๒๓๒๕) - กบฏที่เกิดขึ้นในกรุงธนบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 17 เมษายน 2566 17:07:14
(https://siwakon19.files.wordpress.com/2013/08/pano_07.jpg)

กบฏพระยาสรรค์ (พ.ศ.๒๓๒๔-๒๓๒๕)

กบฏพระยาสรรค์  เป็นกบฏที่เกิดขึ้นในกรุงธนบุรี เมื่อปลาย พ.ศ.๒๓๒๕ หัวหน้ากบฏชื่อ พระยาสรรค์ ได้คิดตั้งตนเป็นใหญ่ คุมกำลังไพร่พลเข้าล้อมกรุงธนบุรีและควบคุมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ได้ ครั้งแรกคิดจะมอบแผ่นดินให้กับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งขณะนั้นไปราชการทัพอยู่ที่กรุงกัมพูชา ภายหลังพระยาสรรค์กลับเปลี่ยนใจ คิดเป็นใหญ่เอง แต่ทำการไม่สำเร็จ ในที่สุดก็ถูกพิพากษาโทษให้ประหารชีวิตพร้อมกับพรรคพวกผู้ร่วมก่อการกบฏคนอื่นๆ

ก่อนหน้าที่พระยาสรรค์จะคิดกบฏนั้น ทางแขวงเมืองกรุงเก่าได้เกิดเหตุร้ายขึ้น เนื่องด้วยนายบุนนาก บ้านแม่ลา แขวงกรุงเก่า กับขุนสุระได้ชักชวนกันซ่องสุมผู้คนเตรียมกระทำการร้าย ด้วยการวางแผนคิดจะจับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสำเร็จโทษ โดยอ้างเหตุผลว่า แผ่นดินกำลังจะเดือดร้อน เพราะพระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงตั้งมั่นอยู่ในความสุจริตและยุติธรรม มีผู้คนหลงเชื่อมาเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก นายบุนนากกับขุนสุระเห็นเป็นโอกาส จึงยกกำลังเข้าปล้นจวนพระพิชิตณรงค์ผู้รักษากรุงเก่า และจับพระพิชิตณรงค์กับคณะกรมการเมืองฆ่าตายเกือบหมด กรมการเมืองบางคนที่รอดตายได้หลบหนีไป และนำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้ทรงทราบ

ขณะนั้น พระยาสรรค์ได้มาราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้พระยาสรรค์คุมกำลังยกขึ้นไปกรุงเก่า เพื่อจับกุมนายบุนนาก ขุนสุระกับพวกมาลงโทษให้ได้ ครั้นมาถึงกรุงเก่า พระยาสรรค์กลับได้รับการเกลี้ยกล่อมให้มาร่วมมือกับพวกนายบุนนากและขุนสุระ จนเปลี่ยนใจยอมรับเป็นหัวหน้ายกกำลังมาล้อมกรุงธนบุรี กำลังของพระยาสรรค์ได้ต่อสู้กับกองทหารรักษาพระราชวัง จนกระทั่งในที่สุด สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเห็นว่า ไม่มีทางเอาชนะพระยาสรรค์ได้ จึงโปรดให้คณะสงฆ์ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระวันรัต และพระรัตนมุนีออกไปเจรจากับพระยาสรรค์ขอยอมแพ้ แล้วพระองค์จะทรงออกผนวช พระยาสรรค์ก็ยอมตกลง  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระผนวช ณ พระอุโบสถวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) พระยาสรรค์จึงจัดกำลังไปล้อมพระอุโบสถเอาไว้เพื่อป้องกันมิให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จหนีไปได้  นอกจากนั้น พระยาสรรค์ยังมีคำสั่งให้จับกรมขุนอนุรักษ์สงคราม ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอและบรรดาพระราชวงศ์มาจำไว้ในพระราชวังอีกด้วย

ภายหลังที่พระยาสรรค์ได้จัดการคุมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระราชวงศ์ไว้แล้ว ก็ได้ออกว่าราชการ ณ ท้องพระโรง ด้วยการออกคำสั่งปล่อยนักโทษทั้งที่เป็นข้าราชการฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และราษฎรให้เป็นอิสระทั้งหมด เมื่อบรรดานักโทษเหล่านี้ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ก็หวนกลับไปล้างแค้นฆ่าฟันผู้ที่เป็นโจทก์ฟ้องร้อง ทำให้พวกตนต้องได้รับโทษทัณฑ์ จึงทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

ก่อนหน้าที่พระยาสรรค์จะเข้ายึดกรุงธนบุรีได้ในตอนต้น พ.ศ.๒๓๒๕ นั้น พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) เจ้าเมืองนครราชสีมา ได้ทราบข่าวการจลาจลที่กรุงธนบุรี จึงรีบไปรายงานเหตุการณ์ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งไปราชการทัพอยู่ที่กรุงกัมพูชาได้รับทราบ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้สั่งให้พระยาสุริยอภัยยกทัพล่วงหน้ามารอดูสถานการณ์ที่กรุงธนบุรี ก่อนที่กองทัพหลวงจะกลับมาจากกัมพูชา  พระยาสุริยอภัยจึงยกกองทัพจากเมืองนครราชสีมาเข้ามายังกรุงธนบุรี แต่เมื่อมาถึงกรุงธนบุรีก็ทราบว่า พระยาสรรค์ได้เข้ายึดกรุงธนบุรีเอาไว้ได้แล้ว

เมื่อพระยาสรรค์ได้ทราบว่า พระยาสุริยอภัยยกทัพมาถึงกรุงธนบุรีแล้ว จึงให้คนไปเชิญพระยาสุริยอภัยมาปรึกษาราชการในพระราชวัง พร้อมทั้งเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง และว่าจะรักษาบ้านเมืองเอาไว้ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พระยาสุริยอภัยกับพระยาสรรค์จึงจัดการให้สึกพระภิกษุสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้วคุมตัวไว้  หลังจากนั้น พระยาสุริยอภัยก็กลับไปตั้งมั่นอยู่ที่บ้านเดิมของตนที่บ้านปูน เหนือสวนมังคุด

ต่อมา พระยาสรรค์คิดเปลี่ยนใจจะครองราชสมบัติเสียเอง จึงคบคิดกับเจ้าพระยามหาเสนาและพระยารามัญวงศ์ เอาเงินในท้องพระคลังออกมาแจกจ่ายบรรดาขุนนาง ข้าราชการฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดจนไพร่ทั้งปวง เพื่อชักชวนให้เข้าเป็นพวกด้วย  ขณะนั้น บรรดาขุนนางข้าราชทั้งหลายแตกออกเป็น ๒ พวก พวกที่เข้ากับพระยาสรรค์ก็ยอมรับบำเหน็จรางวัล ส่วนพวกที่เคารพนับถือเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ไม่ยอมรับบำเหน็จจากพระยาสรรค์ พากันหลบหนีมาเข้าด้วยกับพระยาสุริยอภัย

เมื่อเหตุการณ์ผันแปรไปเช่นนี้ พระยาสรรค์กับเจ้าพระยามหาเสนาและพระยารามัญวงศ์จึงคบคิดกันให้ถอดกรมขุนอนุรักษ์สงครามออกจากการจองจำ แล้วแต่งตั้งให้เป็นนายทัพคุมขุนนางและไพร่พลออกไปโจมตีบ้านพระยาสุริยอภัย  พระยาสุริยอภัยให้ทหารไปจับกุมตัวกรมขุนอนุรักษ์สงครามไว้ได้พร้อมกับบรรดาพรรคพวก นำตัวไปคุมขังไว้ทั้งหมด ฝ่ายพระยาสรรค์เมื่อทราบข่าวว่ากรมขุนอนุรักษ์สงครามพ่ายแพ้และถูกควบคุมตัวไว้ ก็ตั้งมั่นอยู่ในพระราชวัง

ภายหลังที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับมาถึงพระนคร และได้แก้ไขสถานการณ์ในกรุงธนบุรีให้กลับคืนเป็นปรกติ จนกระทั่งได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นองค์ปฐมบรมราชวงศ์จักรีแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้นำตัวกรมขุนอนุรักษ์สงครามกับบรรดาขุนนาง ซึ่งเป็นสมัครพรรคพวกอีกจำนวน ๓๙ คนมาสอบสวน กรมขุนอนุรักษ์สงครามให้การซัดทอดถึงพระยาสรรค์และหลวงเทพผู้น้องกับเจ้าพระยามหาเสนาพร้อมทั้งขุนนางอื่นๆ อีก ๓ คนว่าเป็นผู้ยุยงตนให้ไปรบกับพระยาสุริยอภัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำตัวไปประหารชีวิตทั้งหมด.



ที่มา - กบฏพระยาสรรค์ (พ.ศ.๒๓๒๔-๒๓๒๕) สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์เผยแพร่