[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 13 พฤษภาคม 2565 16:48:32



หัวข้อ: พระเสพเมถุน จากกฎพระสงฆ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 พฤษภาคม 2565 16:48:32
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/31979219408498_279686947_5270157283029145_592.jpg)
ที่มาภาพ: กฎหมายตราสามดวงฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑

พระเสพเมถุน จากกฎพระสงฆ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการประกาศกฎพระสงฆ์ออกมาหลายฉบับ ในฉบับที่ ๘ ประกาศเมื่อวันพุธ เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ จ.ศ. ๑๑๕๑ (พ.ศ.๒๓๓๒) ปีระกาเอกศก

กฎหมายฉบับนี้กล่าวถึงพระสงฆ์ที่ต้องปราชิกเสพเมถุนธรรม เพื่อมิให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง

ในตอนต้นกล่าวถึงเหตุการณ์ที่มีพระสงฆ์ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ทำให้พระศาสนามัวหมองจนเป็นเหตุนำไปสู่การสังคายนาพระไตรปิฎก และยกตัวอย่างเรื่องเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระอินทร์ เสด็จลงมาบนโลกมนุษย์พร้อมกับพระมาตุลี พระอินทร์แปลงเป็นนายพราน พระมาตุลีแปลงเป็นสุนัข ร้องคำรามจะกัดกินซึ่งสมณะสามเณรอุบาสกอุบาสิกาที่ประพฤติบาปชั่วช้า

เนื้อความต่อจากนั้นจึงกล่าวถึงพฤติกรรมของฝ่ายพุทธจักรในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ “วางมือเสีย” ไม่ช่วยกันระวังจนเกิด “มหาโจรปล้นทำลายพระศาสนา” พระสงฆ์สามเณรเที่ยวตามร้านตลาดดูสีกา ดูมหรสพ เล่นการพนัน และใกล้ชิดสนิทสนมคุ้นเคยกับฆราวาสจนเกินพอดี

ความคุ้นเคยระหว่างพระสงฆ์กับบรรดาผู้ครองเรือนโดยเฉพาะสีกาทั้งหลายแล้ว ย่อมนำไปสู่การ “กระทำเมถุนธรรม” เป็นปราชิก กฎหมายสงฆ์ฉบับที่ ๘ นี้ กล่าวถึง กรณีปราชิกต่างๆ ไว้ดังนี้ (หมายเหตุ-ปรับอักขรวิธีตัวสะกดจากต้นฉบับให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น)

“...ฝ่ายภิกษุสามเณรบาปลามก ครั้นคุ้นเคยเข้ากับสีกาแล้ว ก็เข้าบ้านนอนบ้านผิดเพลาราตรี พูดจาสีการูปชีก็มีความเสน่หารักใคร่ทั้งสองฝ่าย สัมผัสกายกระทำเมถุนธรรมเป็นปราชิก แลลึงคไถยสังวาสเป็นครุโทษ ห้ามบรรพชาอุปสมบท จะบวชมิเป็นภิกษุสามเณรเลย อย่างไอ้ดีบวชอยู่วัดโพธิ์ เสพเมถุนธรรมด้วยอี่ทองมาก อี่เพียน อี่พิ่ม อี่บุนรอด อี่หนู อี่เขียว แลไอ้ทองอยู่เสพเมถุนธรรมกับอี่ทองอิน แลเณรปิ่นอยู่วัดโพธิ์ เสพเมถุนธรรมกับอี่คุ้มเมียพระแพทย์ และเณรทองเสพเมถุนธรรมกับอี่ชีนวนอยู่หลังวัดบางหว้าใหญ่เป็นปราชิก ไอ้เป้าบวชอยู่วัดพวาเสพเมถุนธรรมกับอี่จันลาวจนมีบุตร ไอ้ลุนบวชอยู่วัดบางขุนพรหมจ้างเขียนหนังสือ เอาเงินให้อี่ปิ่นโขลนเป็นปราชิก แลมหาสังกับชีแก้วอยู่วัดคงคาพิหาร แต่สองต่อสองเป็นที่สงสัยใกล้ปราชิก เณรนุ่มอยู่วัดเสาธงเข้าไปบ้านเป็นนิจกับประสกสีกา แลทิดอยู่วัดหงส์นอนกับอี่เป้าภรรยานายฤทบนเตียงในมุ้ง เป็นศีลวิบัติใกล้ฉายาปราชิก*

เถรษาสัปดนเป็นคนชั่วตัวเป็นเถรห่มคลุมใส่ผ้าพาด บางทีทำอย่างภิกษุเป็นไถยสังวาส** แลปลอมบวชเป็นภิกษุอยู่ในพระศาสนา แลเณรอยู่ศิษย์พระนิกรม นอนในมุ้งกับอี่ทองคำภรรยานายกรมช้าง แล้วคบเณรเล่นเบี้ย แลมหาอินมหาจันวัดนากพูดกับอี่มุยในที่ลับ เป็นที่สงสัยใกล้ฉายาปราชิก  จนถึงพระนิกรมเป็นราชาคณะ ไม่มีหิริโอตตัปปะเกรงสิกขาหยาบช้า พูดจาเกี้ยวพานกับสีกาเป็นบ้ากาม อวดรูปจับข้อมืออี่ฉิมๆ อบผ้าห่มส่งให้เอาผ้าไม้จูบกอดนอน แลนอนเอกเขนกให้สีกาพัดลอยหน้าหาความอายไม่ มหาขุนศิษย์พระนิกรมก็จับแก้มอี่ขาว แล้วพูดจาเกี้ยวพานอี่สีๆ รักยอมถอดแหวนให้

แลผู้มีชื่อทั้งนี้ กระทำทุจริตผิดหนักหนา เป็นมหาโจรปล้นพระศาสนาชุกชุมขึ้นทั้งนี้ เพราะพระราชาคณะธิบดีพระเถรานุเถรผู้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์หาความกตัญญูกตเวทีต่อพระศาสนาไม้ มิได้ประพฤติตามพระพุทธฎีกาสัตตาปริยหานิยธรรมเจ็ดประการ  มีประชุมนุมพร้อมกันตรวจตราว่ากล่าว ให้เห็นดีแลร้ายไม่มี

หากผู้ชื่อว่าฆราวาส เอาเนื้อความมาว่าจึ่งปรากฎขึ้นได้ เอามาชำระว่ากล่าวขับเฆี่ยน พันธนาการประจานโทษทเวนบกสามวัน เรือสามวัน เพื่อจะมิให้ดูเยี่ยงกันทำลายพระศาสนา

ทรงพระกรรุณาจะใคร่ยกโทษพระราชาคณะทั้งปวงด้วยอีก แต่ให้งดโทษไว้ครั้งหนึ่งก่อน แลพระราชาคณะเป็นอธิบดีสงฆ์ผู้พระไตรปิฎก ควรจะรู้คุณพระศรีรัตนไตร ว่าอาตมานี้เทพามนุษยทั้งปวงกระทำนมัสการคำรบนบบูชาทั้งนี้ เพราะอำนาจอาตมาหามิได้ เพราะคุณรัตนไตรสถิตอยู่เหนือเศียรเกล้าอาตมา ควรจะกตัญญูกตเวทีสนองพระคุณรักษาพระพุทธศาสนา อย่าให้เศร้าหมองจงได้

มาตรว่าจะขัดสนประการใดฝ่ายข้างพระราชอาณาจักรก็ได้ถวายปฏิญาณเป็นโยมขาดในพระศาสนาแล้ว ควรจะเอาเนื้อความข้อขัดข้องในพระศาสนานั้นมาแจ้งถวายพระพรอันนี้ก็หามิได้

แต่ฝ่ายข้างพระราชอาณาจักรนี้เร่งร้อนรนนักให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตสังกะรียธรรมการออกมาประเดียงแจกกฎหมายให้พระราชาคณะทั้งปวงเร่งกำชับตรวจตรากัน รักษาพระจัตุปารียสุทธิศีลปรนนิบัติตามคันถธุระวิปัสนาธุระแลพระราชกำหนดเก่าใหม่อยู่เนืองๆ ฉะนี้ ก็ยิ่งมีสมณะสามเณรเป็นมหาโจรปล้นพระศาสนาขึ้นมากมาย ดั่งนี้มิควรนักหนา

แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามมิให้สามเณรเถรรูปชีกระทำความชั่วทุจริตผิดด้วยพระวินัยบัญญัติบรรดาพรรณนาโทษมานั้น แลห้ามมิให้เอาเยี่ยงอ้ายอี่มีชื่ออันกระทำหยาบช้าทำลายพระศาสนา อันกล่าวมาในต้นพระราชกำหนดนั้นจงทุกประการ...”

ในท้ายกฎพระสงฆ์ ระบุถึงระเบียปฏิบัติของพระและฆราวาสไว้ เช่น หากเถรเณรจะออกจากพระอารามไปยังที่ไกลๆ ให้ห่มดองครองผ้าอย่างบิณฑบาต ให้แจ้งพระอุปัชฌาย์ก่อน พร้อมทั้งชวน “พรหมจาริย” ไปเป็นเพื่อนพยานอีกสองสามรูป และห้ามคบสีกาที่ไม่ใช่ญาติเข้าไปบ้านนอนบ้าน ส่วนฝ่ายสีกานั้น หากถวายของต่างๆ เพื่อหวังเสพเมถุนธรรม ให้ถือว่ามีโทษเช่นกัน และหากไปในพระอารามให้ไปช่วงเช้าถึงเที่ยง อย่านั่งในที่กำบัง ให้นั่งนอกกุฏิในที่แจ้ง และห้ามทั้งสองฝ่ายอย่าให้แก้วแหวนเงินทองต่อมือกันเป็นอันขาด  ทั้งนี้  “ถ้าภิกษุเถรเณรรูปใดอารามใด ต้องอธิกรถึงอันติมวัตถุ*** เป็นปราชิกแล้ว ให้พระราชาคณะสึกเสีย แล้วบอกแก่สังกะรียธรรมการให้แจ้งด้วย จะได้สักหน้าหมายไว้อย่าให้ปลอมอุปสมบทสืบไป”

อธิบายเพิ่มเติม
   * ฉายาปาราชิก “เงาแห่งปาราชิก” คือ ประพฤติตนในฐานะที่ล่อแหลมต่อปาราชิก อาจเป็นปาราชิกได้ แต่จับไม่ถนัด เรียกว่า ฉายาปาราชิก เป็นผู้ที่สงฆ์รังเกียจ
 ** ไถยสังวาส หรือเถยยสังวาส ลักเพศ มิใช่พระภิกษุ แต่ปลอมเพศเป็นภิกษุ
*** อันติมวัตถุ “วัตถุมีในที่สุด” หมายถึง อาบัติปาราชิก ซึ่งทำให้ภิกษุและภิกษุณีผู้ต้อง มีโทษถึงที่สุดคือ ขาดจากภาวะของตน


ขอขอบคุณที่มา เพจภาษาไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ที่มาข้อมูล:
- กฎหมายตราสามดวง ฉบับคุรุสภา เล่ม ๔
- พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์