[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 27 กรกฎาคม 2560 16:59:20



หัวข้อ: พระสัมพุทธพรรณี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 กรกฎาคม 2560 16:59:20

(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/thumb/c/cb/PhrasamBuddhaPannii2.jpg/240px-PhrasamBuddhaPannii2.jpg)

พระสัมพุทธพรรณี


พระสัมพุทธพรรณี เป็นพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่งของประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

นอกจากนี้ ยังมีพระสัมพุทธพรรณีองค์จำลอง ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร จำลองจากพระสัมพุทธพรรณีองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระสัมพุทธพรรณีเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิราบ หล่อด้วยโลหะสำริดและกะไหล่ทองคำสุกปลั่ง มีขนาดหน้าตักกว้าง ๔๙ เซนติเมตร ความสูงถึงยอดพระรัศมี ๖๗.๕ เซนติเมตร ความสูงจากฐานถึงยอดพระรัศมี ๙๓ เซนติเมตร และความสูงจากฐานถึงยอดฉัตร ๒๐๖ เซนติเมตร

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงสมณเพศเป็นพระวชิรญาณภิกขุ โปรดให้หล่อขึ้นขณะประทับอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร) จากที่ทรงทุ่มเทพระอุตสาหวิริยะศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างแตกฉานลึกซึ้ง และได้ทรงศึกษาพุทธลักษณะของการสร้างพระพุทธรูป ทรงพบว่าพระพุทธรูปควรมีพุทธลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ทั่วไป การที่นายช่างในอดีตทั้งหลายพากันสร้างพระพุทธรูปให้มีโหนกนูนขึ้นเหนือพระเศียรคล้ายครึ่งวงกลม และเรียกว่าพระเกตุมาลานั้น ผิดไปจากความเป็นจริง แม้นายช่างในอดีตจะอธิบายว่า เพราะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้แจ้งด้วยพระองค์เอง ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ดังนั้น จึงต้องทรงมีพระสติปัญญาสูงส่งกว่ามนุษย์ธรรมดาทั่วไปเป็นอย่างมาก ดังนั้น มันสมองของพระพุทธองค์จึงดันเอากะโหลกพระเศียรให้ปูดนูนสูงขึ้น ข้อนี้เป็นที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในพุทธลักษณะ

ด้วยเหตุดังกล่าว ในปี พ.ศ.๒๓๗๓ พระวชิรญาณภิกขุ จึงได้ทรงพระกรุณาฯ ให้ ขุนอินทรพินิจ เจ้ากรมช่างหล่อปั้นหล่อพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะตามที่ทรงศึกษามา และให้มีพุทธลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ธรรมดามากที่สุด

โดยให้มีพระเศียรส่วนบนเรียบเกลี้ยง ไม่มีโหนกนูนหรือพระเกตุมาลาตั้งอยู่บนกลางพระเศียรอย่างที่เคยสร้างกันมา กับทั้งลักษณะการครองผ้าจีวรของพระพุทธรูป ก็ให้มีลักษณะตามแบบธรรมยุติกนิกายตามที่ได้ทรงบัญญัติไว้ และให้มีริ้วรอยกลีบของผ้าจีวรยับพับไปมาตามแบบธรรมชาติทุกประการ

พระพุทธรูปองค์ดังกล่าว สร้างตามอย่างพุทธลักษณะที่พระองค์ทรงสอบสวนได้ ด้วยพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะให้พระพุทธรูปนี้เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุแผ่นทองคำจารึกดวงพระพรรษาและแผ่นพระสุพรรณบัฏทองคำจารึกพระนามเต็มที่ได้รับพระราชทานจากพระราชบิดา คือรัชกาลที่ ๒ เมื่อแรกเสด็จพระราชสมภพ รวมทั้งพระบรมสารีริกธาตุที่ได้แสดงปาฏิหาริย์เฉพาะพระพักตร์ให้ได้ทรงประจักษ์ด้วยสายพระเนตรของพระองค์เองลงไว้ในองค์พระพุทธรูปองค์นี้ด้วย และถวายนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระสัมพุทธพรรณี”

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ หอสวดมนต์วัดราชาธิวาสวิหาร เพื่อทรงนมัสการ ครั้นเมื่อเสด็จฯ ไปประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสัมพุทธพรรณีไปยังวัดบวรนิเวศวิหารด้วย จนเมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยประดิษฐานอยู่ที่ฐานชุกชีด้านหน้าขององค์พระแก้วมรกต

การจัดสร้างพระสัมพุทธพรรณี ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทั้งบอกไว้ด้วยว่า พระพุทธรูปนี้มีองค์จำลองด้วย โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเช่นกัน

พระสัมพุทธพรรณี องค์จำลอง ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๐ นิ้ว วัสดุโลหะกะไหล่ทอง จำลองจากพระสัมพุทธพรรณีองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เหตุแห่งการหล่อพระสัมพุทธพรรณีองค์จำลอง ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภจะทรงสถาปนาวัดราชาธิวาสวิหารที่รกร้างชำรุดทรุดโทรมให้เป็นพระอารามที่งามยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน มีพระราชประสงค์ที่จะได้พระพุทธรูปมาประดิษฐานในพระอุโบสถ พระราชดำริว่า

พระอารามแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา เสด็จมาประทับเมื่อครั้งทรงผนวชและได้สถาปนาธรรมยุติกนิกายขึ้น เมื่อประทับจำพรรษาอยู่ในพระอาราม ได้ทรงหล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่ง โดยโปรดให้ช่างหล่อในพุทธลักษณะที่ทรงเห็นควรจะเป็น คือไม่มีพระเกตุมาลา แล้วทรงบรรจุดวงพระชะตา พระสุพรรณบัตรเดิม และพระบรมสารีริกธาตุไว้ในองค์พระ พระราชทานนามว่า “พระสัมพุทธพรรณี” ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ที่พระตำหนัก ภายหลังเมื่อทรงย้ายไปประทับยังวัดบวรนิเวศฯ ก็โปรดให้เชิญไปด้วย ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญไปประดิษฐานไว้บนฐานชุกชีด้านหน้า ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ดังนั้นเพื่อทรงนมัสการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลถวายแด่พระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริว่า “พระสัมพุทธพรรณีเปน พระซึ่งทูลกระหม่อมทรงสร้างขึ้นในวัดราชาธิวาส ประจุพระสุพรรณบัตร และดวงพระชันษา เปนพระที่สมควรจะอยู่ในวัดนี้ แต่องค์เดิมที่จะเชิญกลับออกมาไม่ได้เปนอันขาด จึงเห็นควรจะหล่อจำลองขึ้นใหม่” (พระราชหัตถเลขา ๒๕๑๔, ๑๙๖-๑๙๗)

ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ออกแบบปั้น โดยถ่ายแบบจากพระสัมพุทธพรรณีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อหล่อสำเร็จ ทรงประกอบพิธีกะไหล่ทองและให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระศกแล้วสมโภช แต่พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงอัญเชิญพระสัมพุทธพรรณีจำลองไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหารตามพระราชจำนง ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ พร้อมกับบรรจุพระราชสรีรางคารสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ใต้พุทธบัลลังก์ด้วย

ย้อนไปครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้ปั้น ทรงให้ช่างปั้นหุ่นถ่ายแบบอย่างพระสัมพุทธพรรณีองค์นี้ขึ้นใหม่ พระสัมพุทธพรรณีหล่อใหม่สำหรับวัดราชาธิวาสมีแบบอย่างพุทธลักษณะเช่นเดียวกับพระสัมพุทธพรรณีองค์เดิมที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสอบสวนได้ คือ ไม่มีพระเกตุมาลา พระจีวรเป็นริ้วเช่นเดียวกับการครองผ้าของพระภิกษุ พระเกตุมาลาซึ่งไม่ปรากฏนี้ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐวรการได้ทรงแก้ไขแบบให้มีพระรัศมีขึ้นเหนือยอดพระเศียร

และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระรัศมีถวายเป็นพุทธบูชา ๔ องค์ คือ พระรัศมีสำริดกะไหล่ทอง พระรัศมีนาก พระพระรัศมีแก้วขาว และพระรัศมีแก้วน้ำเงิน นอกจากนั้นยังได้ทรงกำหนดให้มีการเปลี่ยนพระรัศมีของพระสัมพุทธพรรณีตามฤดูกาลเช่นเดียวและพร้อมกันกับการเปลี่ยนเครื่องทรงของพระแก้วมรกตด้วย โดยทรงกำหนดให้พระรัศมีสำริดกะไหล่ทองใช้สำหรับฤดูร้อน พระรัศมีแก้วสีน้ำเงินสำหรับฤดูฝน และพระรัศมีนากหรือแก้วขาว สำหรับฤดูหนาว


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด