[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
03 พฤษภาคม 2567 16:12:17 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นาทีวิกฤติของเหตุหิมะถล่มบนเมานต์เอเวอเรสต์  (อ่าน 9026 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2329


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 15 พฤศจิกายน 2557 12:03:37 »

.

น้ำตาอาบภูผา
นาทีวิกฤติของเหตุหิมะถล่มบนเมานต์เอเวอเรสต์

Story
เผยนาทีวิกฤติของเหตุหิมะถล่มบนเมานต์เอเวอเรสต์ที่คร่าชีวิตคนงานปีนเขาชาวเชอร์ปาไปถึง 16 คน

ในวันที่จะกลายเป็นวันวิปโยคที่สุดในประวัติศาสตร์ของภูเขาที่สูงที่สุดในโลก  นีมา ชีริง ชาวเชอร์ปาวัย 29 ปีจากหมู่บ้านคุมจุง ย่ำเท้าออกไปทำงานตอนตีสาม เขาแบกถังแก๊สหุงต้มหนัก 29 กิโลกรัมไว้บนหลัง เบื้องหลังเขาคือหมู่บ้านชั่วคราวของเบสแคมป์เอเวอเรสต์ (Everest Base Camp) ที่ซึ่งสมาชิกของคณะนักปีนเขานานาชาติราว 40 คณะกำลังหลับใหลอยู่ในเต็นท์ สูงจากเขาขึ้นไปคือแสงจากไฟฉายคาดศีรษะส่องเป็นทางวูบวาบท่ามกลางความมืด  ระหว่างที่ชาวเชอร์ปาและคนงานชาวเนปาลเผ่าอื่นๆ กว่า 200 ชีวิต เดินเรียงแถวไปตามทางโตนน้ำแข็งคุมบูซึ่งถือเป็นบริเวณที่อันตรายที่สุด มีลักษณะคล้ายเขาวงกตสูงชัน เคลื่อนขยับตลอดเวลา และเต็มไปด้วยเสาน้ำแข็งง่อนแง่น เหวน้ำแข็ง และน้ำแข็งผิดรูปผิดร่างที่ไหลย้อยเป็นระยะทาง 610 เมตรลงสู่โกรกธารที่อยู่ระหว่างไหล่เขาฝั่งตะวันตกของเมานต์เอเวอเรสต์และนุปเซ  ยอดเขาสูง 7,849 เมตรที่ตระหง่านง้ำอยู่เหนือเบสแคมป์ 

สหายชาวเชอร์ปาหลายคนของนีมา ชีริง ย้ำเท้ามุ่งหน้าสู่โตนน้ำแข็งดังกล่าวก่อนหน้าเขาในเช้าวันที่ 18 เมษายน ก่อนออกเดินทาง พวกเขารองท้องด้วยอาหารเช้าพื้นเมืองประกอบด้วยด้วยชาและโจ๊กทำจากแป้งข้าวบาร์เลย์เรียกว่า ซัมบา จากนั้นจึงยกข้าวของที่แพ็กไว้ตั้งแต่คืนก่อนขึ้นพาดบ่า บางคนลำเลียงเชือก พลั่วตักหิมะ สมอบก และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะใช้ขึงเชือกให้เป็นราวมืออยู่กับที่ขึ้นไปจนถึงยอดสูงสุดของเอเวอเรสต์ที่ระดับความสูง 8,850 เมตร ส่วนคนอื่นๆลากอุปกรณ์สารพัดที่จะใช้ตั้งแคมป์อีกสี่แคมป์ซึ่งอยู่สูงขึ้นไประหว่างทางสู่ยอดเขา

แม้จะต้องแบกหามข้าวของคนละอาจมากถึง 45 กิโลกรัม แต่ชาวเชอร์ปาส่วนใหญ่ก็แข็งแรงพอที่จะปีนระยะทาง 3.3 กิโลเมตรขึ้นไปยังแคมป์หนึ่งได้ภายในสามชั่วโมงครึ่งหรือน้อยกว่านั้น หลังปีนขึ้นมาจากเบสแคมป์ได้หนึ่งชั่วโมง นีมา ชีริง ซึ่งทำงานให้นักปีนเขาจากจีนคณะหนึ่ง ก็รุดมาถึงบริเวณที่เรียกกันว่า ป็อปคอร์นฟีลด์ (Popcorn Field) ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้นทางสูงชันขึ้น ต้องปีนผ่านก้อนน้ำแข็งแตกหักระเกะระกะ และมีบันไดพาดเชื่อมจำนวนมาก ถัดจากตรงนี้ขึ้นไปข้างหน้าเป็นพื้นที่ราบเรียกว่า ฟุตบอลฟีลด์ (Football Field) ซึ่งนักปีนเขามักหยุดแวะพักกัน และเป็นเรื่องปกติที่จะได้ยินน้ำแข็งส่งเสียงครืดคราด ขณะที่ธารน้ำแข็งคุมบูสั่นสะท้านขยับไหลไปข้างหน้าด้วยอัตราความเร็วราวหนึ่งเมตรต่อวัน เหนือฟุตบอลฟีลด์ขึ้นไปเป็นเขตอันตรายมากอีกเขตหนึ่ง เพราะเต็มไปด้วยก้อนน้ำแข็งขนาดเท่าคฤหาสน์และแท่งน้ำแข็งยอดแหลมง่อนแง่น หากผ่านช่วงนี้ไปได้ การปีนเขาของนีมา ชีริง จะง่ายขึ้น  เพราะธารน้ำแข็งคุมบูจะแผ่ราบเรียบเป็นทุ่งสีขาวกว้างใหญ่ไพศาลที่เรียกว่า เวสเทิร์นคูม (Western Cwm)

ราวหกโมงเช้า เหนือฟุตบอลฟีลด์ขึ้นไป นีมา ชีริง ปีนไปถึงฐานของผาน้ำแข็งสูงราว 12 เมตร จากตรงนั้น เขาเริ่มภารกิจการปีนป่ายอันงุ่มง่ามขึ้นทางบันไดอลูมิเนียมมัดเชื่อมต่อกันสามอัน พร้อมสัมภาระนักอึ้งบนหลัง  พอไต่ขึ้นถึงยอดผา เขารู้สึกเหนื่อยใจเมื่อเห็นคนงานปีนเขาหลายสิบคนยืนออกันอยู่บนหิ้งน้ำแข็งลาดเอียงขนาดประมาณเท่าห้องอาหาร บางคนเข้าไปเรียงแถวรอปีนลงไปในร่องลึกทางบันไดมัดต่อกันสองอัน ในเช้าวันนั้น น้ำแข็งขยับตัวอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ทำให้สมอบกช่วงปลายด้านล่างของบันไดที่ใช้ไต่ลงหลุดออกมา ส่งผลให้การจราจรบนเส้นทางนั้นติดขัด คนที่มาถึงพื้นที่ส่วนนี้ตอนตีห้าเล่าว่าเกิดการล่าช้าอยู่นาน แม้จะตอกสมอบกยึดบันไดเข้าที่แล้ว  ตอนที่นีมา ชีริง ไปถึงตรงนั้นอีกหนึ่งชั่วโมงให้หลัง เขาพบว่า สมอบกก็หลุดออกมาอีก

"ผมว่ามีคนไปอออยู่ตรงนั้นเกินร้อยคน หลายคนไต่ลงไปด้วยการเกาะเชือก ต้องใช้เวลาตั้งครึ่งชั่วโมงกว่าจะผ่านช่วงคอขวดนี้ไปได้ ตอนนั้นละครับที่ผมรู้สึกกลัวขึ้นมามากๆ" เขาบอก

ในเนปาล ลางสังหรณ์ถึงอันตราย บางครั้งจะรับรู้ได้ในรูปเสียงแหลมสูงอื้ออึง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า คานรูนู (kan runu) หรือหูร้อง (crying ear)  นีมา ชีริง ผู้พิชิตยอดเขาเมานต์เอเวอเรสต์มาแล้วสามครั้งเคยได้ยินหูเขาร้องมาก่อนแล้วและรู้ดีเกินกว่าจะเพิกเฉย  เขาสับสนลังเลมากว่า จะแบกสัมภาระมุ่งหน้าไปยังแคมป์หนึ่งต่อตามหน้าที่ หรือจะทิ้งถังแก๊สไว้ก่อนเท่าที่มาไกลได้ที่สุด แล้วกลับลงไปทันที  เขาพยายามวิทยุติดต่อเซอร์ดาร์ (หัวหน้าลูกหาบ) ที่เบสแคมป์ แต่เจ้านายเขาลงไปจัดหาเสบียงอยู่ที่หมู่บ้านนัมเชบาซาร์ นีมา ชีริงติดต่อกับพ่อครัวที่แคมป์ได้เพียงคนเดียว เขาบอกพ่อครัวว่า หูเขากำลังร้อง และเขาจะทิ้งสัมภาระยึดไว้กับเชือกก่อน แล้วจะกลับลงมา เชอร์ปาคนอื่นๆถามเขาว่า เขาทำแบบนั้นทำไม

"ผมบอกไปว่า 'หูผมร้อง จะต้องมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นแน่ๆ ผมจะลงเขา พวกนายเองควรไปเหมือนกัน’" เขาเท้าความหลังและคะเนว่า ตอนนั้นน่าจะเป็นเวลาประมาณ 6:15 น.

เบสแคมป์และโตนน้ำแข็งยังอยู่ในเงามืด แต่เหนือขึ้นไปไกลโพ้น ยอดเขาอันเป็นที่สถิตของทวยเทพเชอร์ปาตั้งตระหง่านในแสงเจิดจ้า  ตั้งแต่ยอดจรดฐานยังเป็นเช้าอันงดงามบนเมานต์เอเวอเรสต์   จนกระทั่งอีก 11 นาทีต่อมา

เวิ้งหุบรอบเบสแคมป์ของเอเวอเรสต์นั้นกว้างใหญ่ไพศาล จนนักปีนเขามักเห็นหิมะถล่มก่อนได้ยินเสียงเสียอีก เสียงจะตามมาเหมือนฟ้าร้องตามหลังอสุนีบาต เป็นเสียงซู่ซ่าเหมือนคลื่นทะเลซัดซาด ขณะกระแสเชี่ยวกรากของหิมะ น้ำแข็ง และก้อนหินถั่งโถมลงมาตามร่องธาร หรือทะลักลงมาจากปากหุบเขา แต่หิมะถล่มที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน มีเสียงต่างออกไป โดยเฉพาะต่อหูชาวเชอร์ปาที่ได้ยินเสียงนั้นขณะอยู่ในพื้นที่โตนน้ำแข็งพอดี เกือบทุกคนบรรยายตรงกันว่าเป็นเสียง ตุ๊งงงง หนักๆ เหมือนค้อนทุบระฆังใบหนาหนักเสียงทึบๆ

น้ำแข็งรูปทรงเหมือนเขี้ยวสุนัขก้อนมหึมาสูง 34 เมตร หนักราว 7,300 ถึง 13,600 ตัน แตกตัวออกมาจากชั้นน้ำแข็งบนไหล่เขาฝั่งตะวันตกของเอเวอเรสต์ แล้วถล่มลงมาเบื้องล่าง แตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และทำให้เกิดผนังลมขนาดใหญ่ขึ้นทางด้านหน้าของน้ำแข็ง ขณะพุ่งด้วยความเร็วสูงขึ้นและมีมวลใหญ่ขึ้น เชอร์ปาบางคนคิดว่าหิมะถล่มที่เห็นคงใช้เวลาหลายนาทีกว่าจะมาถึงพวกเขา แต่คนอื่นๆ บอกว่า มันพุ่งมาถึงตัวภายในเวลาไม่กี่วินาที นักปีนเขาราว 24 คนอยู่ในเส้นทางหิมะถล่มโดยตรง และอีกจำนวนมากกระจายอยู่ตามริมขอบทั้งด้านบนและด้านล่าง

ไม่กี่ชั่วโมงหลังหิมะถล่มและปฏิบัติการช่วยชีวิตยุติลง ตัวเลขทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 16 คน เป็นชาวเชอร์ปา หรือไม่ก็คนงานชาวเนปาลเผ่าอื่นๆ ในจำนวนนี้สามคนยังสูญหายและคาดว่าน่าจะเสียชีวิตแล้ว พวกเขาจบชีวิตพร้อมสายรัดนิรภัย ขณะทุ่มเทแรงกายรงกายเพื่อส่งลูกเรียนหนังสือ สร้างบ้านหลังใหม่ให้ครอบครัว หรือซื้อยาแก้หอบหืดให้พ่อแม่แก่ชรา เด็กๆ 28 คนสูญเสียพ่อ ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 11 คนพบจุดจบในที่เดียวกัน ซึ่งก็คือตรงสันน้ำแข็งลาดเอียงที่พวกเขารอไต่ลงบันได และบัดนี้อันตรธานไปแล้ว

ความสยดสยองของเหตุการณ์ในวันนั้นร้ายแรงกว่าอุบัติเหตุใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้บนเมานต์เอเวอเรสต์ รวมทั้งหายนะเมื่อปี 1922 1970 และ 1974 ที่มีชาวเชอร์ปาเสียชีวิตพร้อมกันเป็นกลุ่ม ทว่าผลกระทบจากโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดนี้เพิ่งจะเริ่มปรากฏ














































ภาพ : น้ำตาอาบมหาภูผา
คำบรรยายภาพ : เผยนาทีวิกฤติของเหตุหิมะถล่มบนเมานต์เอเวอเรสต์ที่คร่าชีวิตคนงานปีนเขาชาวเชอร์ปาไปถึง 16 คน


ที่มา - ngthai.com

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.387 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 22 มีนาคม 2567 19:56:20