[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 22 มิถุนายน 2555 19:48:39



หัวข้อ: คำสอนของฮวงโป พุทธทาสภิกขุ แปลเรียบเรียง
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 22 มิถุนายน 2555 19:48:39


(http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTvJcSybhh7wnI_vwxGpAJuj2BKUnKrmHrB5Idt59ifAf9p7rd06A)

   คำสอนของฮวงโป

   พุทธทาสภิกขุ แปลเรียบเรียง
   ธรรมสภาจัดพิมพ์

   คำสอนของฮวงโปนี้ เรียกในภาษาจีนว่า "ฮวงโป ฉวน สิ่น ฟา หยาว" มร. John Bolfeld แปลออกเป็นภาษาอังกฤษ เรียกว่า The Zen Teaching of Huang Po
   
   พวกเราเห็นว่าควรแปลออกสู่ภาษาไทย จึงทำให้เกิดหนังสือเล่มที่ท่านถืออยู่นี้
   ผู้ที่เคยอ่านหนังสือเว่ยหล่างมาก่อนแล้ว พึงทราบว่า ฮวงโป เป็นหลานศิษย์ของเว่ยหล่าง
   
   กล่าว คือ เมื่อเว่ยหล่าง สังฆปริณายกองค์ที่ ๖ แห่งนิกายเซ็น ได้รับการถ่ายทอดธรรมโดยตรง ชนิดที่เรียกว่า จากจิตถึงจิต จากพระสังฆปริณายกองค์ที่ ๕ แล้ว
   
   นิกายเซ็นก็แตกออกเป็น ๒ สาย สายเหนือนำโดย ชินเชา คู่แข่งของเว่ยหล่าง สอนวิธีปฏิบัติการตรัสรู้อย่างเชื่องช้าคือ ค่อยเป็นค่อยไป เจริญรุ่งเรืองอยู่พักหนึ่งโดยราชูปถัมภ์ของพระจักรพรรดิ ตั้งอยู่ไม่นานก็เงียบหายไป ส่วนสายใต้ คือสายของเว่ยหล่าง สอนวิธีการปฏิบัติที่เป็นการตรัสรู้ฉับพลัน (จนได้นามว่า Sudden School) ได้เจริญรุ่งเรืองและขยายตัวออกมาจนแตกเป็นนิกายย่อยๆลงไป
   
   ศิษย์คนที่สำคัญองค์หนึ่งของเว่ยหล่างมีนามว่า มา ตสุ (ตาย อาย) ถึงแก่มรณภาพเมื่อ ค.ศ.๗๘๘ สำหรับฮวงโปนี้ ถือกันว่าเป็นศิษย์ช่วงที่หนึ่งหรือช่วงที่สอง ต่อจากท่าน มา ตสุ เป็นสองอย่างอยู่ และกล่าวกันว่าถึงแก่มรณภาพในปี ค.ศ.๘๕๐ ท่านได้ถ่ายทอดคำสอนนิกายนี้ให้แก่ อาย สื่น ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งนิกายหลินฉิ หรือที่เรียกอย่างญี่ปุ่นว่า รินซาย อันเป็นนิกายที่ยังคงมีอยู่ในประเทศจีน และแพร่หลายที่สุดในประเทศญี่ปุ่น โดยเหตุนี้ ฮวงโป จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อกำเนิดพุทธศาสนานิกายนี้

   บางส่วนจากคำนำผู้เรียบเรียง
   http://witdaeng.tarad.com/product.detail_605658_th_2978024
   http://fws.cc/leavesofeden/index.php?topic=417.0


   (http://www.thammapedia.com/dhamonline/images/bdds.gif)

   บันทึกชึนเชา

   ๑. จิตหนึ่ง
   ๒. ไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร
   ๓. ความว่าง
   ๔. เนื้อแท้แห่งสิ่งสูงสุด
   ๕. ชื่ออันไร้ตำหนิ

   ๖. ปลดเปลื้อง
   ๗. หลักธรรม
   ๘. ความฝันอันไร้ตัวตน
   ๙. ขอบวงของพุทธะ
   ๑๐. การแสวงหา

   ๑๑. ตัวตน
   ๑๒. การแบ่งแยก
   ๑๓. วิธีชั้นสุดยอด
   ๑๔. ธรรมกาย
   ๑๕. พุทธภาวะ

   ๑๖. สัจจธรรม
   ๑๗. ว่างเปล่า
   ๑๘. การรู้แจ้งเห็นแจ้ง
   ๑๙. แดนแห่งสิ่งล้ำค่า
   ๒๐. จิตนั่นแหละคือธรรม

   ๒๑. การหลบหลีก
   ๒๒. การเพิกถอน
   ๒๓. การถ่ายทอก
   ๒๔. กาย ๓ กาย
   ๒๕. เอกสภาวะ

   ๒๖. สัจจยาน
   ๒๗. ความรู้สึก
   ๒๘. คำตอบ
   ๒๙. ทาง
   ๓๐. เด็กสวาปาม

   ๓๑. มายา
   ๓๒. ฉันจะปล่อยเสียทั้งสองมือ
   ๓๓. เงาสะท้อน
   ๓๔. กาฝาก
   ๓๕. ความพากเพียร

   ๓๖. หลักที่ว่าไม่มีธรรม


(http://t1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTUI14Rxhb476CqcHT1NWBr1zWI-y79T9aIS5nNdPnjlY4KqOCdEA)

   บันทึกวาน-ลิง

   ๑. การปลุกจิต / ๒. พุทธะ / ๓. ความคิด
   ๔. ยานเดียว / ๕. สภาพที่เป็นจริง
   ๖. ลักษณะ
   ๗. เดินผิดทาง / ๘. พุทธยาน
   ๙. ความพลาดอันน่าทุเรศ

   ๑๐. จิตถึงจิต / ๑๑. โพธิ / ๑๒. จิตนั้นแหละคือพุทธะ
   ๑๓. ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว
   ๑๔. บทบัญญัติของพระพุทธเจ้าทั้งปวง
   ๑๕. ความคิดกับสิ่งต่างๆ
   ๑๖. ความตระหนัก

   ๑๗. พุทธกิจ / ๑๘. โพธิมิใช่เป็นภาวะ
   ๑๙. โพธิมิได้เป็นสิ่งซึ่งต้องลุถึง
   ๒๐. ธาตุแท้
   ๒๑. การสั่งสอน
   ๒๒. ความขยันอย่างกระตือรือร้น

   ๒๓. การสร้างความมีอยู่
   ๒๔. การข้ามขึ้นพ้นจากโลกทั้งสาม
   ๒๕. ธรรมะแห่งจิตหนึ่ง
   ๒๖. ทางแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
   ๒๗. เพื่อนรัก
   ๒๘. การแก้เผ็ด

   ๒๙. การแสดงความเคารพ
   ๓๐. ผู้แก่อาวุโส
   ๓๑. ความนิ่งเงียบ
   ๓๒. จะใช้อะไรตัดผักเหล่านั้นเล่า ?
   ๓๓. ภิกษุผู้เป็นนักล่าเลียงผา
   ๓๔. เธออยู่ที่ไหน ?

(http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRpCF07QizfylhhyEwQDf4KEPd2qpUelRZFw_zipWHOXPQOvZnnsQ)

baby@home : http://agaligohome.fx.gs/index.php?topic=320.0



หัวข้อ: Re: คำสอนของฮวงโป ๑. ( จิตหนึ่ง )
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 22 มิถุนายน 2555 19:57:01


๑. ( จิตหนึ่ง )
   ท่านครูบาได้กล่าวกับข้าพเจ้าว่า :
   พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากเป็นเพียง จิตหนึ่ง (One mind) นอกจากจิตหนึ่ง นี้แล้ว มิได้ มีอะไรตั้งอยู่เลย

   จิต หนึ่ง ซึ่งเป็นที่ปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น และไม่อาจจะถูกทำลายได้เลย มันไม่ใช่ของมีสีเขียวหรือสีเหลือง และไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ มันไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งทั้งที่มีการตั้งอยู่ และไม่มีการตั้งอยู่ มันไม่อาจจะถูกลงความเห็นว่า เป็นของใหม่หรือของเก่า มันไม่ใช่ของยาว ของสั้น ของใหญ่ ของเล็ก ทั้งนี้เพราะมันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัด เหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยไว้ และเหนือการเปรียบเทียบทั้งหมดทั้งสิ้น

   จิต หนึ่ง นี้ เป็นสิ่งที่เธอเห็นว่าตำตาเธออยู่แท้ ๆ แต่จงลองไปใช้เหตุผล (ว่ามันเป็นอะไร เป็นต้น) กับมันเข้าดูซิ เธอจักหล่นลงไปสู่ความผิดพลาดทันที สิ่งนี้เป็นเหมือนกับความว่างอันปราศจากขอบทุก ๆ ด้าน ซึ่งไม่อาจหยั่งหรือวัดได้

   จิต หนึ่งนี้เท่านั้น เป็น พุทธะ ไม่มีความแตกต่างระหว่าง พุทธะ กับสัตว์โลกทั้งหลาย เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลาย ไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่าง ๆ เสีย และเพราะเหตุนั้น จึงได้แสงหา พุทธะภาวะจากภายนอก การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้น นั่นเอง ทำให้เขาพลาดจาก พุทธภาวะ การทำเช่นนั้นเท่ากับการใช้สิ่งซึ่งเป็น พุทธะ ให้เที่ยวแสวงหา พุทธะ และการใช้จิตให้เที่ยวจับฉวย จิต แม้เขาเหล่านั้นจะได้พยายามจนสุดความสามารถของเขาอยู่ตั้งกัปหนึ่งเต็ม ๆ เขาก็จะไม่สามารถลุถึงมันได้เลย เขาไม่รู้ว่า ถ้าเขาเองเพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวายเพราะการแสวงหาเสียเท่านั้น พุทธะก็จะปรากฏตรงหน้าเขา เพราะว่า จิต นี้ ก็คือ พุทธะ นั่นเอง และ พุทธะ ก็คือ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง นั่นเอง สิ่ง ๆ นี้เมื่อปรากฏอยู่ที่สามัญสัตว์ จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็หาไม่ และเมื่อปรากฏอยู่ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเป็นสิ่งใหญ่หลวง ก็หาไม่



หัวข้อ: Re: คำสอนของฮวงโป ๒. (ไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 22 มิถุนายน 2555 20:06:22


   ๒. (ไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร)

   สำหรับ การบำเพ็ญปารมิตาทั้งหกก็ดี การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติที่คล้าย ๆ กันอีกเป็นจำนวนมากก็ดี หรือการได้บุญมากมายนับไม่ถ้วนเหมือนจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาก็ดี เหล่านี้นั้นจงคิดดูเถิด ถ้าเมื่อเธอเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสัจจะพื้นฐานในทุก ๆ กรณีอยู่แล้ว (คือเป็น จิตหนึ่ง หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพุทธะทั้งหลายอยู่แล้ว) เธอก็ไม่ควรพยายามจะเพิ่มเติมอะไรให้แก่สิ่งซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้วนั้น ด้วยการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งไร้ความหมายเหล่านั้น มิใช่หรือ เมื่อไรโอกาสอำนวยให้ทำ ก็ทำมันไป และเมื่อโอกาสผ่านไปแล้ว อยู่เฉย ๆ ก็แล้วกัน

   ถ้า เธอยังไม่เห็นตระหนักอย่างเด็ดขาดลงไปว่า จิต นั้น คือ พุทธะ ก็ดี และถ้าเธอยังยึดมั่นถือมั่น ต่อรูปธรรมต่าง ๆ อยู่ก็ดี ต่อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ อยู่ก็ดี และต่อพิธีการบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ อยู่ก็ดี แนวความคิดของเธอก็ยังผิดพลาดอยู่ และไม่เข้าร่องเข้ารอยกับทาง ทางโน้นเสียเลย

   จิต หนึ่ง นั่นแหละ คือ พุทธะ ไม่มีพุทธะอื่นใดที่ไหนอีก ไม่มีจิตอื่นใดที่ไหนอีก มันแจ่มจ้าและไร้ตำหนิ เช่นเดียวกับความว่าง คือ มันไม่มีรูปร่างหรือปรากฏการณ์ใด ๆ เลย การใช้จิตจองเธอให้ปรุงความคิดฝันไปต่าง ๆ นั้น เท่ากับเธอละทิ้งเนื้อหาอันเป็นสาระเสีย แล้วไปผูกพันตัวเองกับรูปธรรม ซึ่งเป็นเหมือนกับเปลือก

   พุทธะ ซึ่งมีอยู่ตลอดกาลนั้นไม่ใช่พุทธะทางรูปธรรมหรือพุทธะของความยึดมั่นถือมั่น การปฏิบัติต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกันอีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ด้วยเจตนาที่จะได้เป็นพุทธะสักองค์หนึ่งนั้น เป็นการปฏิบัติชนิดคืบหน้าไปทีละขั้น ๆ แต่พุทธะ ซึ่งมีอยู่ตลอดกาลดังที่กล่าวแล้วนั้น หาใช่พุทธะที่ลุถึงได้ ด้วยการปฏิบัติเป็นขั้น ๆ เช่นนั้นไม่

   เรื่อง มันเพียงแต่ตื่น และลืมตาต่อ จิตหนึ่ง นี้เท่านั้น และไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร นี่แหละ คือ พุทธะ ที่แท้จริง พุทธะ และสัตว์โลกทั้งหลาย คือ จิตหนึ่ง นี้เท่านั้น ไม่มีอะไรอื่นนอกไปจากนี้อีกเลย



หัวข้อ: Re: ๓ คำสอนของฮวงโป (ความว่าง)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 05 กรกฎาคม 2555 10:51:30


  ๓ คำสอนของฮวงโป (ความว่าง)

   จิต เป็นเหมือนความว่าง ซึ่งภายในนั้น ย่อมไม่มีความสับสน และความไม่ดีต่าง ๆ ดังจะเห็นได้ในเมื่อดวงอาทิตย์ผ่านไปในที่ว่างนั้น ย่อมส่องแสงไปได้ทั้งสี่มุมโลก เพราะว่าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น และให้ความสว่างทั่วทั้งพื้นโลก ความว่างที่แท้จริงนั้น ก็ไม่ได้สว่างขึ้น และเมื่อพระอาทิตย์ตก ความว่างก็ไม่ได้มืดลง ปรากฏการณ์ของความสว่างและความมืด ย่อมสับเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่ธรรมชาติของความว่างยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่นั่นเอง

   จิต ของ พุทธะ และของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นเช่นนั้น ถ้าเธอมองดู พุทธะ ว่าเป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่บริสุทธิ์ผ่องใสและรู้แจ้ง ก็ดี หรือมองดูสัตว์โลกทั้งหลาย ว่าเป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่โง่เง่า มืดมน และมีอาการสลบไสลก็ดี ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น อันเป็นผลเกิดมาจากความยึดมั่นต่อรูปธรรมนั้น จะกันเธอไว้เสีย จากความรู้อันสูงสุด ถึงแม้ว่าเธอจะได้ปฏิบัติมาตลอดกี่กัปนับไม่ถ้วน ประดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาแล้วก็ตาม

   มีแต่ จิตหนึ่ง นี้เท่านั้น และไม่มีสิ่งอื่นใด แม้แต่อนุภาคเดียวที่จะอิงอาศัยได้ เพราะว่า จิต นั่นเอง คือ พุทธะ ถ้าพวกเธอซึ่งเป็นนักศึกษาเรื่องทาง ทาง ทางโน้น ยังไม่ลืมตาต่อสิ่งซึ่งเป็นสาระ กล่าวคือ จิต นี้ พวกเธอจะต้องปิดบัง จิต นั้นเสีย ด้วยความคิดปรุงแต่งของเธอเอง พวกเธอจะเที่ยวแสวงหาพุทธะนอกตัวเธอเอง และพวกเธอจะยังคงยึดมั่นต่อรูปธรรมทั้งหลาย ต่อการปฏิบัติเมาบุญต่าง ๆ และสิ่งอื่น ๆ ทำนองนั้น ทั้งหมดนี้ เป็นอันตราย และไม่ใช่หนทางอันนำไปสู่ความรู้อันสูงสุดที่กล่าวนั้น แต่อย่างใดเลย



หัวข้อ: Re: ๔ คำสอนของฮวงโป (เนื้อแท้แห่งสิ่งสูงสุด)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 05 กรกฎาคม 2555 10:52:45


   ๔ คำสอนของฮวงโป (เนื้อแท้แห่งสิ่งสูงสุด)

   การ ถวายทานใด ๆ ต่อพระพุทธเจ้าทั้งปวงในสากลโลก ไม่เท่ากับการถวายทานต่อผู้ที่ดำเนินการตาม ทาง ทางโน้น แม้เพียงคนเดียว ซึ่งเป็นผู้กำจัดความคิดปรุงแต่งเสียได้แล้ว เพราะเหตุใดเล่า ? เพราะบุคคลประเภทนั้น ย่อมไม่ก่อความคิดในรูปใด ๆ ทั้งสิ้น

   เนื้อ แท้แห่ง สิ่งสูงสุด สิ่งนั้น โดยภายในแล้ว ย่อมเหมือนกับไม้หรือหิน คือ ภายในนั้นปราศจากความเคลื่อนไหว และโดยภายนอกแล้วย่อมเหมือนความว่าง กล่าวคือปราศจากขอบเขตหรือสิ่งกีดขวางใด ๆ สิ่งนี้มิใช่เป็นฝ่ายนามธรรม (หรือฝ่ายกรรตุการก) หรือฝ่ายรูปธรรม (หรือฝ่ายกรรมการก) มันไม่มีที่ตั้งเฉพาะ ไม่มีรูปร่าง และไม่อาจจะหายไปได้

   ผู้ที่รีบจะไปให้ถึง ก็ไม่กล้าเข้าไป เพราะกลัวว่าจะพุ่งลงไปสู่ที่ว่าง โดยไม่มีสิ่งใดจะให้เกาะ หรือให้อาศัยไม่ให้ตก เมื่อเป็นอย่างนั้นเขาจึงดูอยู่แต่ที่ขอบ และถอยออกมา ข้อนี้ เล็งถึงพวกแสวงหาความหลุดพ้นโดยการเรียนรู้ เพราะฉะนั้น พวกที่แสวงหาความหลุดพ้นโดยการเรียนรู้จึงมีมากเหมือนขนสัตว์ และพวกที่ได้ประสบความรู้แห่งทาง ทางโน้นด้วยใจตนเอง มีน้อยเหมือนเขาสัตว์



หัวข้อ: Re: ๕ คำสอนของฮวงโป (ชื่ออันไร้ตำหนิ)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 05 กรกฎาคม 2555 10:54:03


   ๕ คำสอนของฮวงโป (ชื่ออันไร้ตำหนิ)

   พระ โพธิสัตว์มัญชุศรี เป็นตัวแทนกฎแห่งธรรมที่เป็นมูลฐานของสัตว์ และพระโพธิสัตว์สมันตภัทร เป็นตัวแทนกฎแห่งกรรม สิ่งแรกหมายถึงกฎแห่งความว่างอันแท้จริง และไม่ถูกจำกัดขอบเขต และสิ่งหลังหมายถึงการเคลื่อนไหวที่ไม่รู้จักหมดกำลัง ซึ่งอยู่ภายนอกวงเขตของรูปธรรม

   พระ โพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นตัวแทนของความเมตตากรุณาอันไม่มีสิ้นสุด พระโพธิสัตว์ มหาสถามะ เป็นตัวแทนของปัญญาอันยิ่งใหญ่ และวิมลกีรติ เป็นตัวแทนของชื่ออันไร้ตำหนิ คำว่าไร้ตำหนิ เล็งถึงธรรมชาติอันแท้จริงของสิ่งทั้งปวง ในเมื่อคำว่า ชื่อ เล็งถึงรูปร่าง ถึงกระนั้น รูปโดยแท้จริงก็ยังเป็นสิ่งเดียวกันกับธรรมชาติที่แท้จริง ดังนั้นจึงเกิดมีคำรวมว่า “ชื่ออันไร้ตำหนิ” ดังนี้

   คุณสมบัติ ทั้งหลายนี้ ซึ่งถูกทำเป็นบุคคลาธิษฐาน ว่าเป็นโพธิสัตว์ผู้ยิ่งใหญ่ ชื่อนั้นชื่อนี้ขึ้นมาเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งซึ่งมีประจำอยู่ในคนเรา และก็ไม่แยกออกไปต่างหากจาก จิตหนึ่ง ที่กล่าวแล้ว จงลืมตาดูมันเถิด มันอยู่ที่ตรงนั้นเอง พวกเธอซึ่งเป็นนักศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้น เมื่อไม่ลืมตาต่อสิ่ง ๆ นี้ ซึ่งมีอยู่ในใจของเธอเองแล้ว และยึดมั่นถือมั่นต่อปรากฏการณ์ต่าง ๆ หรือแสวงหาสิ่งบางสิ่งฝ่ายรูปธรรมจากภายนอกใจของเธอเอง อยู่ดังนี้แล้ว ย่อมเท่ากับหันหลังให้ต่อทาง ทางโน้นด้วยกันทุกคน

   เม็ดทรายแห่งแม่น้ำคงคานั้นน่ะหรือ ? พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงทรายเหล่านี้ว่า “ถ้า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย และพระโพธิสัตว์ทั้งปวงทุก ๆ พระองค์ รวมทั้งพระอินทร์และเทพเจ้าทั้งหมด พากันเดินไปบนทรายนั้น ทรายเหล่านั้นก็ไม่มีความยินดีปรีดาอะไร และถ้าโค แกะ สัตว์เลื้อยคลาน และแมลงต่าง ๆ ทั้งหลาย จะพากันเหยียบย่ำ เลื้อยคลานไปบนมัน ทรายนั้นก็ไม่รู้สึกโกรธ สำหรับเพชรนิลจินดาและเครื่องหอม ทรายนั้นก็ไม่มีความปรารถนา และสำหรับความปฏิกูลของคูถและมูตรอันมีกลิ่นเหม็น ทรายนั้นก็ไม่มีความรังเกียจ



หัวข้อ: Re: ๖ คำสอนของฮวงโป (ปลดเปลื้อง)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 05 กรกฎาคม 2555 10:55:02


  ๖ คำสอนของฮวงโป (ปลดเปลื้อง)

   จิตนี้ มิใช่จิตซึ่งเป็นความคิดปรุงแต่ง มันเป็นสิ่งซึ่งอยู่ต่างหาก ปราศจากการเกี่ยวข้องกับรูปธรรมโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และสัตว์โลกทั้งปวง จึงไม่แตกต่างกันเลย ถ้าพวกเธอเพียงแต่สามารถปลดเปลื้องตนเอง ออกมาเสียจากความคิดปรุงแต่งเท่านั้น พวกเธอจะประสบความสำเร็จทุกอย่าง

   แต่ถ้าพวกเธอซึ่งเป็นนักศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้นไม่ปลดเปลื้องตัวเองจากความคิดปรุงแต่งเสียให้ได้ฉับพลันแล้ว แม้จะเพียรพยายามอยู่กัปแล้วกัปเล่า เธอก็จะไม่ประสบความสำเร็จ นั้นเลย ถ้าพวกเธอถูกผูกพันอยู่กับการปฏิบัติเพื่อหวังบุญต่าง ๆ ตามแบบของยานทั้งสาม อยู่ดังนี้ เธอจะไม่สามารถลุถึงความรู้แจ้งเลย

   อย่างไรก็ดี การรู้แจ้งแทงตลอดต่อ จิตหนึ่ง นี้อาจจะมีได้ทั้งจากการปฏิบัติซึ่งกินเวลาน้อยหรือกินเวลานาน มีอยู่หลายคนที่เมื่อได้ฟังคำสอนนี้แล้ว สามารถปลดเปลื้องความคิดปรุงแต่งออกจากตนได้โดยแว็บเดียว แต่ก็ยังมีพวกอื่น ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างนี้โดยการปฏิบัติตามหลักแห่งศรัทธา ๑๐ ภูมิ ๑๐ กรรมบถ ๑๐ และบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ และยังมีพวกอื่นอีก ซึ่งประสบความสำเร็จหลังจากการปฏิบัติตามหลักแห่งภูมิ ๑๐ ในความก้าวหน้าของพระโพธิสัตว์ แต่ไม่ว่าเขาจะอยู่เหนือความคิดปรุงแต่งเหล่านั้นได้ด้วยทางที่ยาวหรือสั้น ก็ตาม ผลที่ลุถึงก็มีแต่สิ่งเดียว คือภาวะแห่ง สภาวะ อย่างหนึ่งเท่านั้น ที่แท้ไม่มีการบำเพ็ญบุญและการทำให้เห็นแจ้งอะไรที่ต้องทำ คำพูดที่ว่า ไม่มีอะไรที่ต้องลุถึงนั้น มันไม่ใช่คำพูดพล่อย ๆ แต่เป็นความจริง

   ยิ่งกว่านั้นไปอีก ไม่ว่าเธอจะประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายของเธอ ได้ด้วยเวลาชั่วความรู้สึกแว็บเดียว หรือตลอดเวลาอันยาวนานแห่งการบำเพ็ญตามหลักแห่งภูมิทั้งสิบของความก้าวหน้า ของพระโพธิสัตว์ก็ตาม ผลที่ได้รับก็จะเป็นอย่างเดียวกัน เพราะภาวะแห่ง สภาวะอันนี้ เป็นสิ่งซึ่งไม่มีอันดับลดหลั่น เพราะฉะนั้นวิธีอย่างหลัง จึงเป็นวิธีที่ทำให้เสียเวลาเป็นกัปป์ ๆ ด้วยต้องทนทุกข์และพากเพียรเปล่า ๆ โดยไม่จำเป็น



หัวข้อ: Re: คำสอนของฮวงโป พุทธทาสภิกขุ แปลเรียบเรียง
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 05 กรกฎาคม 2555 23:16:42
สาธุ อนุโมทามิ

ขอบคุณ อ.ป้าแป๋ม ครับผม

เห็นหายไปหลายวัน กลัวป้าแป๋มเป็นอะไรไป

ได้เจอค่อยโล่งใจหน่อย

 (:YE:) (:YE:) (:YE:)


หัวข้อ: Re: ๗.คำสอนของฮวงโป (หลักธรรม)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 04 สิงหาคม 2555 13:21:17


   ๗.คำสอนของฮวงโป (หลักธรรม)

   การสร้างสมความดีและความชั่ว ทั้งสองอย่างนี้ เนื่องมาจากความยึดมั่นถือมั่นต่อรูปธรรม. ผู้ที่ยึดมั่นในรูปธรรม ซึ่งทำความชั่วจะต้องทนรับการเกิดแล้วเกิดอีก ด้วยประการต่างๆ อย่างไม่จำเป็น. ส่วนผู้ที่ยึดมั่นในรูปธรรม ซึ่งทำความดี ก็ทำตัวเองให้ตกลงไปเป็นทาสของความพยายาม มันจะเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นผู้ขาดแคลนอยู่เสมอโดยเท่าเทียมกัน อย่างไม่มีที่มุ่งหมาย. ในทั้งสองกรณีนั้นมันจะเป็นการดีเสียกว่า ถ้าหากว่าเขาจะทำให้เกิดความเห็นแจ้งในตนเองอย่างฉับพลัน และในการที่จะยึด หลักธรรม อันเป็นหลักมูลฐานของสัตว์ทั้งหลาย ดังที่กล่าวแล้ว.

   หลักธรรม ที่กล่าวนี้ ก็คือ จิต ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้ว ก็ไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย, และ จิต นี่แหละ คือ หลักธรรม ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้ว มันก็ไม่มีจิต. จิต นั้น โดยตัวมันเอง ก็ไม่ใช่จิต, แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังมิใช่จิต. การที่กล่าวว่า จิต นั้นมิใช่จิตดังนี้นั่นแหละย่อมหมายถึงสิ่งบางสิ่ง ซึ่งมีอยู่จริง. ขอให้มีความเข้าใจอย่างนิ่งเงียบเถิด! ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น.

   จงละเลิกความคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น. เมื่อนั้นเราอาจจะกล่าวได้ว่า คลองแห่งคำพูดได้ถูกตัดขาดไปแล้ว และพฤติการณ์ของจิต ก็ถูกเพิกถอนขึ้นโดยสิ้นเชิงแล้ว.

   จิตนั้น คือ พุทธโยนิอันบริสุทธิ์ ที่มีประจำอยู่แล้วในคนทุกคน. สัตว์ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิดกระดุกกระดิกได้ทั้งหมดก็ดี, และพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี. ล้วนแต่เป็นของสิ่งหนึ่งแห่ง ธรรมชาติ อันหนึ่งนี้เท่านั้น และไม่แตกต่างกันเลย. ความแตกต่างทั้งหลายเกิดขึ้นจากความคิดผิดๆ เท่านั้น และย่อมนำไปสู่การก่อสร้างกรรมทั้งหลายทั้งปวงทุกชนิด ไม่มีหยุด.



หัวข้อ: Re: ๘.คำสอนของฮวงโป (ความฝันอันไร้ตัวตน)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 04 สิงหาคม 2555 13:23:00


   ๘.คำสอนของฮวงโป (ความฝันอันไร้ตัวตน)

   ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ดั้งเดิมของเรานั้น โดยความจริงอันสูงสุดแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตนแม้แต่สักปรมาณูเดียว. สิ่ง นี้ เป็น ความว่าง, เป็นสิ่งที่มีอยู่ในที่ทุกแห่ง สงบเงียบและไม่มีอะไรเจือปน, มันเป็นศานติสุขที่รุ่งเรืองและเร้นลับ, และก็หมดกันเพียงเท่านั้นเอง. จงเข้าไปสู่สิ่งนี้ให้ลึกซึ้งโดยการลืมตาต่อมันด้วยตัวเองเถิด.

   สิ่งซึ่งอยู่ตรงหน้าเธอนั่นแหละ คือ สิ่ง สิ่งนั้น ในอัตราที่เต็มที่ทั้งหมดทั้งสิ้นของมัน และสมบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว. ไม่มีอะไรนอกไปจากนี้อีกแล้ว. ถึงแม้เธอได้ก้าวไปจนถึง ความเป็นพุทธะ โดยผ่านทางภูมิทั้งสิบ แห่งความก้าวหน้าของพระโพธิสัตว์ ทีละขั้นๆ ไปตามลำดับ จนกระทั่งวาระสุดท้าย และเธอได้ลุถึงความรู้แจ้งเต็มที่โดยแว็บเดียวก็ตาม, เธอก็จะเพียงแต่ได้เห็นแจ้ง ซึ่ง ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ อันนั้น ซึ่งที่แท้ก็ได้มีอยู่ในตัวเธอเองแล้วตลอดเวลา. การปฏิบัติก้าวหน้าตามลำดับดังกล่าวแล้วทั้งหมด ของเธอนั้น ก็หาได้เป็นการเพิ่มอะไรให้แก่ สิ่ง สิ่งนี้ไม่เลย แม้แต่หน่อยเดียว.

   ในที่สุด เธอก็จะมองเห็นว่า การบำเพ็ญบุญและผลที่เธอจะได้รับมาตลอดเวลาเป็นกัปป์ๆ นั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่าการกระทำในความฝันอันไร้ตัวจริง. นั่นแหละ คือข้อที่ว่า ทำไมพระตถาคตจังตรัสว่า “โดยแท้จริงแล้ว เราตถาคตไม่ได้ลุถึงอะไรจากการตรัสรู้ที่สมบูรณ์และไม่มีอะไรยิ่งกว่า. ถ้ามีอะไรลุถึงแล้ว พระพุทธเจ้าทีปังกรก็จะไม่ทรงทำการพยากรณ์เกี่ยวกับเรา” ดังนี้.

   พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมสภาวะ นี้เป็นสิ่งซึ่งไม่มีทางที่จะถูกแยกเป็นฝักฝ่ายโดยเด็ดขาด เช่น ไม่เป็นของสูงหรือของต่ำและมันมีชื่อว่า โพธิ” สิ่ง นี้ คือจิตล้วนๆ ที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. มันเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดของทุกๆ สิ่ง. และไม่ว่าจะปรากฏออกมาเป็นแม่น้ำและภูเขาในโลก ซึ่งมีรูปร่าง หรือเป็นสิ่งอื่นที่ไม่มีรูปร่าง หรือเป็นสิ่งที่ซึมแทรกอยู่ทั่วสากลโลกก็ตาม มันก็ยังเป็นสิ่งซึ่งไม่มีทางที่จะถูกแยกเป็นฝักฝ่ายโดยเด็ดขาดอยู่นั้นเอง, ไม่มีทางที่จะเกิดสมญานามต่างๆ เช่น สมญาว่า “ตัวเอง” หรือ “ผู้อื่น” ขึ้นมาได้เลย



หัวข้อ: Re: คำสอนของฮวงโป พุทธทาสภิกขุ แปลเรียบเรียง
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 04 สิงหาคม 2555 13:32:13


   ๙.คำสอนของฮวงโป (ขอบวงของพุทธะ)

   จิตล้วนๆ นี้ ซึ่งเป็นที่กำเนิดของสิ่งทุกสิ่ง ย่อมส่องแสงอยู่ตลอดกาล และส่องความสว่างจ้าแห่งความสมบูรณ์ของมันเองลงบนสิ่งทั้งปวง, แต่ชาวโลกไม่ประสีประสาลืมตาต่อมัน ไปมัวเข้าใจเอาแต่สิ่งซึ่งทำหน้าที่ดู ทำหน้าที่ฟัง ทำหน้าที่รู้สึก และทำหน้าที่คิดนึก ว่าแหละคือ จิต. เขาเหล่านั้นถูกการดู การฟัง การรู้สึก และการคิดนึกของเขาเอง ทำเขาให้ตาบอด เขาจึงไม่รู้สึกต่อแสงอันสว่างจ้าของสิ่งซึ่งเป็นต้นกำเนิดทางฝ่ายจิต.

   ถ้าเขาเหล่านั้น จะเพียงแต่ได้ขจัด ความคิดปรุงแต่ง เสียชั่วแว็บเดียวเท่านั้น สิ่งซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสิ่งทั้งปวงดังที่ได้กล่าวนั้น จะแสดงตัวมันเองออกมาทันที เหมือนดวงอาทิตย์ที่โผล่ขึ้นมาท่ามกลางที่ว่างและส่องสว่างทั่วจักรวาล โดยปราศจากสิ่งบดบังและขอบเขต.

   เพราะ ฉะนั้น ถ้าพวกเธอซึ่งเป็นนักศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้นมุ่งทำความก้าวหน้าโดยการดู การฟัง การรู้สึก และการคิดนึกอยู่ เมื่อถูกหลอกโดยสัญญาต่างๆ ของเธอเองเสียแล้ว ทางที่เธอจะเดินตรงไปยัง จิต โน้น ก็จะถูกตัดขาดออก และเธอก็จะหาทางเข้าไม่พบ.

   พวกเธอจงเพียงแต่มองให้เห็นชัดว่า แม้ จิต จริงแท้นั้นจะเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวรวมอยู่กับสัญญาเหล่านี้ก็ตาม มันก็ไม่ได้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นส่วนประกอบของสัญญาเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้แยกออกไปต่างหากจากสัญญาเหล่านี้.

   เธอไม่ควรตั้งต้นการใช้เหตุผลไปจากสัญญาเหล่านี้ หรือยอมให้มันก่อความคิดปรุงแต่งขึ้นมา, แม้กระนั้น เธอก็ไม่ควรแสวงหา จิตหนึ่ง นั้น ในที่ต่างหากไปจากสัญญาเหล่านั้น หรือละทิ้งสัญญาเหล่านั้นเสีย ในการคิดค้น ธรรม นั้นของเธอ. พวกเธออย่าเก็บมันไว้และอย่าทิ้งมันเสีย หรือพวกเธออย่าอยู่ในมัน และอย่าแยกไปจากมัน. เบื้องบนก็ตาม เบื้องล่างก็ตาม และรอบๆ ตัวเธอก็ตาม สิ่งทุกสิ่งย่อมมีอยู่เองตามปรกติ เพราะว่าไม่มีที่ไหนที่อยู่ภายนอกขอบวงของ พุทธะ หรือ จิต นั้น.



หัวข้อ: Re: คำสอนของฮวงโป พุทธทาสภิกขุ แปลเรียบเรียง
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 04 สิงหาคม 2555 13:44:15


   ๑๐.คำสอนของฮวงโป (การแสวงหา)

   เมื่อ ชาวโลกได้ฟังคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงถ่ายทอด ธรรม คือ จิต, เขาก็พากันเหมาเอาว่า มีอะไรบางสิ่ง ซึ่งจะต้องลุถึงหรือเห็นแจ้งต่างหากไปจาก จิต และเพราะเหตุนั้น เขาจึงใช้ จิต เพื่อการแสวงหา ธรรม โดยไม่รู้เลยว่า จิต และ ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาพากันแสวงหานั้น เป็นสิ่งๆ เดียวกัน

   จิต ไม่ใช่สิ่งซึ่งอาจนำไปใช้แสดงหาสิ่งอื่น นอกจาก จิต เพราะ ถ้าทำดังนั้น แม้เวลาล่วงไปแล้ว เป็นล้าน ๆ กัป วันแห่งความสำเร็จก็ยังไม่โผล่มาให้เห็นอยู่นั่นเอง, การทำตามวิธีนั้นไม่สามารถจะนำมาเปรียบกันได้กับวิธีแห่งการขจัดความคิดปรุงแต่ง โดยฉับพลัน ซึ่งนั่นแหละคือตัว ธรรม อันเป็นหลักมูลฐาน.

   เหมือนอย่างว่านักรบคนหนึ่ง เขาลืมไปว่าได้ประดับไข่มุกของตนไว้ที่หน้าผากตัวเอง เรียบร้อยแล้ว กลับเที่ยวแสวงหามันไปในทุกแห่ง เขาอาจจะเที่ยวหาไปได้ทั่วทั้งโลก แต่ก็มิอาจจะพบมันได้, แต่ถ้าเผอิญมีใครสักคนหนึ่งซึ่งรู้ว่านักรบคนนั้นทำผิดอยู่อย่างไร แล้วไปชี้ไข่มุกที่หน้าผากของเขา ให้เขาเห็น นักรบคนนั้นก็จะเกิดความรู้แจ้งขึ้นในทันทีทันใดนั้น ว่าไข่มุกได้อยู่ที่นั่นแล้วตลอดเวลา.

   ข้อนี้ฉันใด เรื่องของพวกเธอก็เป็นฉันนั้น คือถ้าพวกเธอซึ่งเป็นนักศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้น กำลังสำคัญผิดเกี่ยวกับ จิต จริงแท้ของตัวเอง คือจับฉวยความจริงไม่ได้ว่า จิต นั่นแหละ คือ พุทธะ ดังนี้แล้ว พวกเธอก็จะต้องเที่ยวแสวงหาพุทธะนั้น ไปในที่ทุกหนทุกแห่ง เฝ้าสาละวนอยู่แต่กับการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติ และการเก็บเกี่ยวผลของการปฏิบัติ มีประการต่าง ๆ มัวหวังอยู่แต่การที่จะลุถึงซึ่งความรู้แจ้ง โดยการปฏิบัติที่ค่อยๆ คือ ค่อยๆ คลาน ไปด้วยอาการเช่นนี้เท่านั้น. แต่แม้ว่าจะได้แสวงหา ด้วยความขยันขันแข็งอยู่ตลอดเวลาเป็นกัปป์ ๆ พวกเธอก็ไม่สามารถลุถึงทาง ทางโน้นได้เลย.

   วิธีการอย่างนี้ ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้กับวิธีการชนิดฉับพลัน กล่าวคือการขจัดความคิดปรุงแต่ง โดยอาศัยความรู้อันเด็ดขาด ว่าไม่มีอะไรเลย ที่จะตั้งอยู่อย่างไม่ต้องแปรผัน ไม่มีอะไรเลยที่ควรจะเข้าไปอยู่อาศัย ไม่มีอะไรเลย ที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ.

   มันต้องทำโดยการป้องกัน ไม่ให้ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้นมาได้เท่านั้น ที่พวกเธอจะสามารถรู้แจ้งเห็นจริงต่อ โพธิ, และเมื่อเธอทำได้ ดังนั้น เธอก็จะเห็นแจ้งต่อ พุทธะ ซึ่งมีอยู่ใน จิต ของเธอเองตลอดเวลาได้จริง!

   ความดิ้นรนตลอดเวลาเป็นกัปป์ ๆ เหล่านั้น จะพิสูจน์ตัวมันเองให้เห็นว่า เป็นความพากเพียรที่เสียแรงเปล่า อย่างมหึมา, เปรียบเหมือนกับเมื่อนักรบผู้นั้นได้พลไข่มุกของเขาแล้ว เขาก็เพียงแต่ค้นพบสิ่งซึ่งแขวนอยู่ที่หน้าผากของเขาเองมาตลอดเวลาแล้วเท่า นั้น, และเหมือนกับการพบไข่มุกของเขานั่นเอง ที่แท้ก็ไม่มีอะรที่ต้องทำเกี่ยวกับความเพียรของเขา ที่ไปเที่ยวค้นหามันทุกหนทุกแห่ง. เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “โดยแท้จริงแล้ว เราตถาคต ไม่ได้ลุถึงผลอะไร จากการตรัสรู้ที่สมบูรณ์ และที่ไม่มีอะไรอื่นยิ่งกว่า.”

   โดยทรงเกรงว่าประชาชนจะไม่เชื่อคำตรัสข้อนี้ พระองค์จึงทรงดึงความสนใจมายังสิ่งซึ่งมนุษย์เห็นได้ โดยการเห็น ๕ วิธี และสิ่งซึ่งมนุษย์พูดกันอยู่แล้ว ด้วยการพูด ๕ วิธีดุจกัน. ดังนั้น คำกล่าวนี้จึงมิใช่คำพูดพล่อย ๆ แต่ประการใดเลย แต่ได้แสดงถึงสัจจะอันสูงสุดทีเดียว.



หัวข้อ: Re: ๑๑.คำสอนของฮวงโป (ตัวตน)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 04 สิงหาคม 2555 13:52:37


   ๑๑.คำสอนของฮวงโป (ตัวตน)

   นักศึกษา ทาง ทางโน้น ควรจะแน่แก่ใจว่า ธาตุทั้งสี่ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดมี “ตัวตน” ขึ้นมาได้และ “ตัวตน” ก็มิใช่เป็นความมีอยู่จริง และเพราะว่ามันว่างจากข้อเท็จจริงอันนี้เองทำให้ลงสันนิษฐานได้ว่า ร่างกายนั้น ไม่ใช่ทั้ง “ตัวตน” ไม่ใช่ทั้งความมีอยู่จริง

   ยิ่งไปกว่านั้นอีก ส่วนประกอบ ๕ ส่วน ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็น จิต (ตามที่รู้กันอยู่ทั่วไป) ก็ไม่ก่อให้เกิด “ตัวตน” หรือความมีอยู่จริงขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น จึงสันนิษฐานลงไปได้ว่า จิต (ซึ่งเรียกกันว่าตัวตน) นั้น ไม่ได้เป็นทั้ง “ตัวตน” หรือทั้งความมีอยู่จริง

   อวัยวะแห่งอายตนะทั้งหก (รวมสมองอยู่ด้วย) พร้อมทั้งสัญญา ๖ อย่าง และอารมณ์ ๖ ชนิด ของสัญญานั้น ซึ่งได้ก่อให้เกิดโลกทางอายตนะขึ้นมานี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการทำความ เข้าใจในทำนองเดียวกันกับที่กล่าวนั้น

   สิ่งทั้ง ๑๘ สิ่ง ซึ่งเนื่องด้วยอายตนะดังที่กล่าวแล้วนั้นจะโดยแยกกันหรือรวมกันก็ตาม ย่อมเป็นของว่าง มันมีอยู่แต่ จิต-ต้นกำเนิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกจำกัดในทุกทิศทุกทาง และประกอบด้วยความไม่มีอะไรเจือปนอย่างเด็ดขาด



หัวข้อ: Re: คำสอนของฮวงโป พุทธทาสภิกขุ แปลเรียบเรียง
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 08 สิงหาคม 2555 15:34:30


   ๑๒.คำสอนของฮวงโป (การแบ่งแยก)

   ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ย่อมมีการกินอย่างมีกิเลสตัณหา และการกินอย่างมีสติปัญญา เมื่อร่างกายซึ่งประกอบอยู่ด้วยธาตุทั้งสี่ กระวนกระวายอยู่เพราะการบีบคั้นของความหิว และเธอต้องให้อาหารแก่มัน ถ้าปราศจากการละโมบ ก็เรียกว่าเป็นการกินอย่างมีสติปัญญา

   ในทำนองที่ตรงกันข้าม ถ้าเธอมีความยินดีอย่างตะกละในอาหารที่มีความสะอาดและรสอร่อย ก็ชื่อว่าเธอยอมให้มีการแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายอันเป็นความรู้สึกที่เกิดจากความ เข้าใจผิดขึ้นมาแล้ว การที่เพียงแต่มุ่งจะปรนเปรออวัยวะทางรส โดยปราศจาการรู้แจ้งว่า เมื่อไรหรือเพียงไหน เป็นการบริโภคที่เพียงพอแล้วนั่นแหละ คือการบริโภคอย่างมีกิเลสตัณหา



หัวข้อ: Re: ๑๓.คำสอนของฮวงโป (วิธีชั้นสุดยอด)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 08 สิงหาคม 2555 15:45:07


   ๑๓.คำสอนของฮวงโป (วิธีชั้นสุดยอด)

   พวกสาวก(ยาน) ลุถึงการตรัสรู้ โดยการฟังธรรม ดังนั้น เขาจึงถูกเรียกว่า สาวก พวกสาวกเหล่านั้น ไม่มีความเข้าใจอย่างทั่วถึงต่อจิตของตนเอง แต่ก็ได้ยอมให้ความคิดต่าง ๆ เกิดขึ้นจากการฟังธรรมนั้น

   ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะได้ยินถึงความมีอยู่ของ โพธิ และ นิพพาน โดยทางกำลังจิตที่เหนือธรรมชาติมนุษย์ก็ตาม หรือบังเอิญมีโชคดีก็ตาม หรือจากการได้ยินได้ฟังคำสอนก็ตาม เขาจะลุถึง ความเป็นพุทธะ ได้ ก็ต้องหลังจากเวลาอันยืดยาว ทั้ง ๓ กัปป์ล่วงไปแล้วเท่านั้น วิธีทั้ง ๓ นี้ เป็นวิธีของพวกสาวก(ยาน) ดังนั้นเขาจึงถูกขนานนามว่า สาวกพุทธะ

   แต่การทำตัวเองให้ลืมตาโดยฉับพลันต่อความจริงที่ว่า จิต ของเธอนั่นแหละ คือ พุทธะ และว่า ไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุหรือไม่มีอะไรสักสิ่งเดียวที่จะต้องปฏิบัติ คือวิธีขั้นสุดยอด นี่คือวิธีที่จะทำให้เป็น พุทธะ ได้อย่างแท้จริง
   สิ่งที่ควรกลัวมีอยู่แต่ว่า พวกเธอซึ่งเป็นนักศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้นเมื่อความคิดเกิดขึ้นแม้แต่เพียงอย่างเดียว ก็จะกลายเป็นว่า เธอได้สร้างสิ่งกีดขวางขึ้น ระหว่างเธอเองกับ ทาง ทางโน้นเสียแล้ว
   จากขณะจิตหนึ่งถึงขณะจิตหนึ่ง ก็ไม่มี (การก่อ) รูป (ของความคิดปรุงแต่ง) จากขณะจิตหนึ่งถึงขณะจิตหนึ่ง ก็ไม่มีการกระทำ (กรรม) นั่นแหละ คือวิธีที่จะเป็น พุทธะ ละ

   ถ้าพวกเธอซึ่งเป็นนักศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้น ปรารถนาที่จะเป็น พุทธะ พวกเธอไม่ต้องศึกษาคำสอนใด ๆ หมด จงเรียนแต่เพียงว่าทำอย่างไร จึงจะเว้นขาดจากการแสวงหา หรือการผูกพันตัวเองต่อสิ่งทุกสิ่งเท่านั้น เมื่อไม่มีอะไรถูกแสวงหา ข้อนี้หมายความว่า จิต ไม่เกิดเมื่อไม่มีการยึดมั่นถือมั่นอยู่ ข้อนี้หมายความว่า จิต ไม่ถูกทำลาย สิ่งซึ่งไม่เกิดและไม่ถูกทำลาย นั่นแหละ คือ พุทธะ

   วิธีการตั้งแปดหมื่นสี่พันวิธี สำหรับต่อสู้กับสิ่งซึ่งเป็นมายาหลอกลวง จำนวดแปดหมื่นสี่พันอย่างนั้น เป็นเพียงคำพูดอย่างบุคคลาธิษฐาน เพื่อชวนคนให้มาสู่ ประตู นี้เท่านั้น
   ตามที่จริงแล้ว ไม่มีสักอย่างเดียว ที่มีอยู่จริง การสลัดสิ่งทุก ๆ สิ่งออกไปเสีย นั่นแหละ คือ ตัวธรรม ผู้ซึ่งเข้าใจความจริง ข้อนี้นั่นแหละ คือ พุทธะ แต่การสลัดสิ่งที่เป็นมายา ทุกสิ่ง ออกไปเสียนั้น ต้องไม่เหลือธรรมะอะไร ๆ ไว้ให้ยึดถือกันอีกจริง ๆ



หัวข้อ: Re: ๑๔.คำสอนของฮวงโป (ธรรมกาย)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 08 สิงหาคม 2555 15:57:12


    ๑๔.คำสอนของฮวงโป (ธรรมกาย)

   ถ้า พวกเธอผู้ซึ่งเป็นนักศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้น ประสงค์จะได้ความรู้นี้ เรื่องของสิ่งอันเร้นลับใหญ่หลวงนี้ พวกเธอก็เป็นเพียงแต่เว้นขาดจากการยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งทุกสิ่งเสีย เว้นแต่ จิต นั้นอย่างเดียว
   การ กล่าวว่า ธรรมกาย ที่แท้จริงของพุทธะ ย่อมเหมือนกับ ความว่าง นั้น เป็นวิธีกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ของการที่จะกล่าวว่า ธรรมกาย คือ ความว่าง หรือว่า ความว่าง คือ ธรรมกาย ก็ตาม

   คน ทั้งหลายมักจะอวดอ้างว่า ธรรมกาย มีอยู่ในความว่างและว่า ความว่าง บรรจุไว้ซึ่ง ธรรมกาย นี้เป็นเพราะเขาไม่รู้แจ้งเห็นจริงว่าสิ่งทั้งสองนั้นเป็นเพียงของสิ่งเดียว และเป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าพวกเธอให้คำจำกัดความลงไปว่า ความว่าง นั้น เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ ถ้าเป็นดังนั้น ความว่าง นั้นก็ไม่ใช่ ธรรมกาย และถ้าพวกเธอให้คำจำกัดความลงไปว่า ธรรมกาย นั้น เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ ถ้าเป็นดังนั้น ธรรมกาย นั้น ก็ไม่ใช่ ความว่าง

   พวก เธอจงเพียงแต่ละเว้นเสียจากความคิด ที่เป็นไปในทางความมีตัวมีตน อันเกี่ยวกับ ความว่าง นั้นเสียเท่านั้น เพราะเมื่อเป็นดังนั้น นั่นแหละ คือ ธรรมกาย และถ้าพวกเธอเพียงแต่ละเว้นเสียจากความคิดที่เป็นไปในทางความมีตัวมีตนใด ๆ อันเกี่ยวกับ ธรรมกาย นั้น เสียเท่านั้นก็พอแล้ว ทำไมเล่า เพราะถ้าเป็นดังนั้น นั่นแหละ คือ ความว่าง
   สิ่ง ทั้งสองนี้ ไม่แตกต่างจากกันและกันเลย หรือนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีความแตกต่างใด ๆ ในระหว่างสามัญสัตว์ทั้งปวง กับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือระหว่างสังสารวัฏ กับนิพพาน หรือระหว่างโมหะ กับ โพธิ เมื่อใดรูปบัญญัติเหล่านี้ ถูกเพิกถอนไปแล้วทั้งหมดทั้งสิ้น นั่นแหละ คือ พุทธะ

   คน ธรรมดาสามัญมองดูแต่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา พร้อมกันนั้นพวกผู้ปฏิบัติฝ่าย ทาง ทางนี้ ก็มองดูไปยัง จิต แต่ ธรรม ที่แท้จริงนั้น คือ ไม่ใส่ใจมันเลยทั้งสองอย่าง
   อย่าง แรก ง่ายพอใช้ แต่อย่างหลังนั้น ยากมาก คนทั้งหลายไม่กล้าที่จะทำความรู้สึกว่าตนไม่มีจิตของตน โดยกลัวว่าจะตกลงไปใน ความว่าง ซึ่งปราศจากที่เกาะที่ยึด ในการตกนั้น เพราะเขาเหล่านั้นไม่รู้ว่า ความว่าง นั้น ไม่ได้เป็นความว่างอย่างที่พวกเขารู้กันอยู่ตามธรรมดา แต่เป็น “เมือง” แห่ง ธรรม อันแท้จริง

   ธรรมชาติ ที่เป็นความรู้แจ้งทางฝ่ายจิตนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีการเริ่มต้น เป็นของเก่าเท่าความว่าง ไม่อยู่ใต้อำนาจของการเกิดหรือการทำลาย ไม่ตั้งอยู่ หรือไม่ได้ตั้งอยู่ ไม่ใช่ของมีมลทินหรือของบริสุทธิ์ ไม่อึกทึกครึกโครมหรือเงียบสงบ ไม่แก่ไม่หนุ่ม ไม่กินเนื้อที่ ไม่มีภายในไม่มีภายนอก ไม่ขนาด ไม่มีรูปร่าง ไม่มีทั้งสีหรือเสียง

   สิ่ง นี้ เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ หรือเป็นสิ่งที่ถูกแสวงหา ไม่อาจจะเข้าใจได้ด้วยปัญญา หรือความรู้ อธิบายไม่ได้ด้วยคำพูด สัมผัสไม่ได้อย่างวัตถุ หรือไม่อาจลุถึงได้ด้วยการประกอบบุญกุศลใด ๆ
   พระ พุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ รวมทั้งสิ่งซึ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวได้ทั้งหมด ย่อมมีส่วนใน ธรรมชาติของนิพพาน อันใหญ่หลวงนี้ทั้งนั้น ธรรมชาติที่กล่าวนี้ คือ จิต จิต ก็คือ พุทธะ และพุทธะ ก็คือ ธรรม

   ความ คิดใด ๆ ที่ออกไปนอกลู่นอกทาง ของความที่กล่าวนี้ ย่อมเป็นความคิดที่ผิดโดยสิ้นเชิง พวกเธอไม่อาจจะใช้ จิต ให้แสวงหา จิต ใช้พุทธะ ให้แสวงหา พุทธะ หรือใช้ ธรรม ให้แสวงหา ธรรม
   เพราะ ฉะนั้น พวกเธอซึ่งเป็นนักศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้นควร จะละเว้นขาดจากความคิดปรุงแต่งเสียทันที ขอให้เข้าใจอย่างเงียบเชียบอย่างเดียวก็เป็นพอ !

   พฤติกรรม ทางจิตไม่ว่าชนิดไหนหมด ย่อมนำเราไปสู่ความผิดพลาดทั้งนั้น มีสิ่งที่ต้องทำอยู่ก็แต่เพียงการถ่ายทอด จิต ด้วย จิต เท่านั้น นี้คือทัศนะอย่างเดียวที่ต้องถือไว้
   จง ระวังอย่าให้เพ่งเล็งไปทางภายนอก ไปยังสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทางวัตถุ การเข้าใจผิดว่าสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทางวัตถุ มีอยู่เพื่อ จิต นั้น ก็เท่ากับไปเข้าใจโจร ว่าเป็นลูกของเธอ



หัวข้อ: Re: ๑๕.คำสอนของฮวงโป (พุทธภาวะ)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 08 สิงหาคม 2555 16:30:47


   ๑๕.คำสอนของฮวงโป (พุทธภาวะ)

   มันต้องเป็นไปในทางที่จะขจัดเสียซึ่งความโลภ ความโกรธ และความไม่รู้เท่านั้น ด้วยความสำรวม ความสงบ และปัญญาตั้งอยู่ ถ้าไม่มีความหลงผิดแล้ว การตรัสรู้จะมีขึ้นได้อย่างไร ? ด้วยเหตุนั้นท่านโพธิธรรมจึงได้กล่าวว่า “พระพุทธเจ้าได้ประกาศธรรมทั้งปวง โดยมุ่งหวังที่จะขจัดเสียซึ่งลู่ทางทุก ๆ ชนิด แห่งความคิดปรุงแต่ง ถ้าฉันปราศจากคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเชิงแล้ว ธรรมทั้งปวง จะมีประโยชน์อะไรแก่ฉัน” ดังนี้

   พวกเธอจงอย่าผูกพันตัวเองกับสิ่งใด นอกจากกับ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสิ่งทั้งปวง สมมติว่าพวกเธอนำเพชรพลอยจำนวนนับไม่ถ้วน ไปประดับเข้าที่ความว่าง จงคิดดูเถิดว่า มันจะติดอยู่ที่นั่นได้อย่างไร ?
   ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ นั้น เป็นเหมือนกับความว่าง แม้เธอจะประดับมันด้วยบุญกุศลและปัญญา อันมากมายจนประมาณมิได้ ก็จงคิดดูเถิดว่า สิ่งเหล่านั้นจะติดอยู่ที่ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ นั้น ได้อย่างไร ? บุญและปัญญาชนิดนั้น ก็รังแต่จะปิดคลุมธรรมชาติดั้งเดิมของ พุทธภาวะ เสีย และทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ ไปเสียเท่านั้น

   ลัทธิที่มีชื่อว่า “ลัทธิแสดงมูลฐานของจิต” (อันปฏิบัติกันอยู่ในนิกายอื่นบางนิกาย) นั้น วางหลักคำสอนไว้ว่า สิ่งทุกสิ่งก่อตั้งขึ้นในจิตและว่าสิ่งเหล่านั้นแสดงตัวเองออกมาให้เห็นได้ ก็ต่อเมื่อได้สัมผัสกันกับอารมณ์ภายนอก และไม่แสดงอะไรเลย เมื่ออารมณ์ภายนอกไม่มี แต่นี่มันผิดอยู่ตรงที่ไปคิดว่าสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น เป็นอีกสิ่งหนึ่งต่างหาก นอกไปจากธรรมชาติอันบริสุทธิ์ และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ของสิ่งทั้งปวง

   ลัทธิที่มีชื่อว่า “ลัทธิแว่นส่องสมาธิและปัญญา” (หมายถึงมหายานซึ่งมิใช่เซ็นอีกนิกายหนึ่ง) นั้น ต้องการประโยชน์ของการเห็นการฟัง การสัมผัส และความรู้ที่เกิดจากการกระทำเปล่านั้น ซึ่งล้วนแต่นำไปสู่สภาวะแห่งความสงบ ซึ่งสลับกันอยู่กับความวุ่นวาย อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่สิ่งเหล่านี้เกี่ยวกันอยู่กับความคิดต่าง ๆ ซึ่งรากฐานอยู่ที่อารมณ์ต่าง ๆ ที่แวดล้อมมัน มันเป็นการกระทำอย่างขอไปที และเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรากเหง้าแห่งกุศลชั้นต่ำ ๆ รากเหง้าของกุศลชั้นนี้ สามารถเพียงแต่ทำให้คนเขาได้ยินได้ฟังเท่านั้น

   ถ้าเธอต้องการเข้าถึงตัวความตรัสรู้ด้วยตัวเธอเองจริง ๆ เธอต้องไม่ปล่อยตัวไปตามความคิดเช่นนั้น สิ่งเหล่านั้นทั้งหมด เป็นประเภทเครื่องแวดล้อม ซึ่งเนื่องกันอยู่บนความมีอยู่ และความไม่มีอยู่ ถ้าเธอจะเพียงแต่ทำจิตให้ว่างจากความคิด เรื่องความมีอยู่และความไม่มีอยู่เกี่ยวกับทุก ๆ สิ่ง จริง ๆ ได้เท่านั้น เธอก็จะลุถึงธรรมตัวจริงได้



หัวข้อ: Re: ๑๖.คำสอนของฮวงโป (สัจจธรรม)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 08 สิงหาคม 2555 16:41:24


   ๑๖.คำสอนของฮวงโป (สัจจธรรม)

   เมื่อวันหนึ่งค่ำเดือนเก้า ท่านครูบาได้กล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า ...
   นับตั้งแต่วันที่ท่านโพธิธรรมผู้ปรมาจารย์ ได้มาถึงประเทศจีนเป็นต้นมา ท่านได้พูดถึง จิตหนึ่ง นี้เท่านั้น และได้ถ่ายทอด ธรรมหนึ่ง นี้ แต่อย่างเดียวเท่านั้น ท่านได้ใช้ พุทธะ (คือ จิตหนึ่ง ที่กล่าวแล้วนั่นเอง) นี้ ถ่ายทอด พุทธะ นี้ ไม่เคยกล่าวถึงพุทธะอื่นใดเลย ท่านได้ใช้ ธรรมะ นี้ ถ่ายทอด ธรรมะ นี้เท่านั้น ไม่เคยกล่าวถึงธรรมะอื่นใดเลย

   ธรรมะ ที่กล่าวนั้นเป็น ธรรม ที่ไม่อาจจะบรรยายได้ด้วยคำพูด และ พุทธะ นั้น ก็เป็น พุทธะ ที่ไม่เห็นได้ด้วยตา หรือคลำได้ด้วยมือ เพราะว่าที่จริงนั้น สิ่งทั้งสองนั้นก็คือ จิตล้วน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสิ่งทั้งปวง นั่นเอง นี่แหละ คือสัจจะ ซึ่งมีอยู่เพียงอย่างเดียว ข้ออื่นนอกไปจากนี้ เป็นสัจจะเทียม
   ปรัชญา คือความรู้แจ้ง ความรู้แจ้ง คือ จิต-ต้นกำเนิด ดั้งเดิมซึ่งปราศจากรูป

   คนธรรมดาทั่วไป ไม่แสวงหา ทาง ทางโน้น เขาเหล่านั้นได้แต่ปล่อยตนไปตามอำนาจของอายตนะทั้งหก ซึ่งย่อมนำเขาวกกลับไปสู่การกำเนิดในคติทั้งหกไปตามเดิม นักศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้น ก็ยังพลัดตกไปสู่พวกมารร้ายได้ โดยการยอมให้ตนเองเกิดมีความคิดอย่างสังสารวัฏขึ้นมา แม้เพียงครั้งเดียว ถ้าเขายอมให้ความคิดชนิดที่นำไปสู่ความสำคัญมั่นหมายมีประการต่าง ๆ เกิดขึ้นแก่เขาเองเพียงครั้งเดียว เขาก็ตกไปสู่ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ

   การถือว่ามีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น และพยายามขจัดความเป็นอย่างนั้นเสียนั้นก็จะทำให้ตกลงไปอยู่ในระหว่างบรรดา พวกสาวก(ยาน) การถือว่าสิ่ง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้น แต่ก็อยู่ในวิสัยที่จะแตกทำลายไปนั้น ก็จะทำให้ตกลงไปอยู่ในระหว่างบรรดาพวกปัจเจกะ(ยาน)
   ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรทำลายไป จงเหวี่ยงคติทวินิยมไปเสียให้พ้น รวมทั้งความชอบและความไม่ชอบของเธอด้วย สิ่งที่มีอยู่จริง ๆ เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น คือ จิตหนึ่ง นี้เท่านั้น เมื่อเธอเข้าถึงสิ่ง ๆ นี้ด้วยใจแล้ว เธอก็จะได้ขึ้นสู่ราชรถแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย(พุทธยาน)



หัวข้อ: Re: คำสอนของฮวงโป พุทธทาสภิกขุ แปลเรียบเรียง
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 สิงหาคม 2555 17:47:00


   ๑๗. คำสอนของฮวงโป (ว่างเปล่า)

   คนธรรมดาทั่วไปทุกคน พากันปล่อยตัวไปตามความคิดปรุงแต่ง ซึ่งอาศัยปรากฏการณ์ทั้งหลายที่แวดล้อมอยู่ เพราะฉะนั้นเขาจึงเกิดความรู้สึกที่เป็นความรักและความชัง ถ้าจะขจัดปรากฏการณ์ ซึ่งเป็นเครื่องแวดล้อมเหล่านั้นเสีย เธอก็เพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่งของเธอเสีย เมื่อความคิดปรุงแต่งหยุด ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องแวดล้อมก็กลายเป็นของว่างเปล่า เมื่อปรากฏการณ์ต่าง ๆ กลายเป็นของว่างเปล่าความคิดก็สิ้นสุดลง

   แต่ถ้าเธอพยายามขจัดสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น โดยไม่ทำให้ความคิดปรุงแต่งหยุดไปเสียก่อน เธอจะไม่ประสบความสำเร็จ กลับมีแต่จะเพิ่มกำลังให้แก่สิ่งแวดล้อมเหล่านั้นให้รบกวนเธอหนักขึ้น

   เพราะฉะนั้น สิ่งทั้งปวงก็ไม่ได้เป็นอะไร นอกจาก จิต คือ จิต ซึ่งสัมผัสไม่ได้ทางอายตนะ เมื่อเป็นดังนี้แล้ว อะไรเล่า ที่เธอหวังว่าอาจจะบรรลุได้ ?
   พวกที่เป็นนักศึกษาด้านปรัชญา (ของเซ็น) ย่อมถือว่าไม่มีอะไรเลย ที่จะต้องสัมผัสได้ด้วยอายตนะ เมื่อเป็นดังนั้น เขาจึงหยุดคิดถึงยานทั้งสาม

   มีความจริงอยู่ก็แต่เพียง ความจริง อย่างเดียวนั้น ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่ต้องรู้ หรือต้องลุถึง การพูดว่า “ข้าพเจ้าสามารถ รู้ ถึงสิ่งบางสิ่ง” หรือ “ข้าพเจ้าสามารถ ลุ ถึงสิ่งบางสิ่ง” นั้น คือการจัดตัวเองไปไว้ในระหว่างบรรดาคนผู้เป็นนักอวดโอ้ เหมือนพวกคนที่สะบัดฝุ่นที่เครื่องนุ่งห่มของเขา แล้วลุกไปจากที่ประชุม ดังที่มีกล่าวอยู่ในสัทธรรมปุณฑริกสูตรนั่นแหละ คือคนพวกนั้นทีเดียว

   เพราะเหตุดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “โดยแท้จริงแล้วเราตถาคตไม่ได้บรรลุถึงผลอะไร จากการตรัสรู้ของเรา” ดังนี้ มีอยู่ก็แต่ความเข้าใจซึมซาบอย่างเงียบกริบ และเร้นลับที่สุดเท่านั้น ไม่มีอะไรอีกแล้ว



หัวข้อ: Re: ๑๘. คำสอนของฮวงโป (การรู้แจ้งเห็นแจ้ง)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 สิงหาคม 2555 10:39:57


   ๑๘. คำสอนของฮวงโป (การรู้แจ้งเห็นแจ้ง)

   ถ้าคนธรรมดาสามัญคนหนึ่ง เมื่อเขาร่อแร่จวนจะตาย หากว่าเขาสามารถเพียงแต่เห็นว่ามูลธาตุทั้งห้า ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นวิญญาณนั้น เป็นของว่างเปล่า และเห็นว่ามูลธาตุทางรูปกายนั้น ไม่ใช่สิ่งซึ่งประกอบขึ้นเป็นตัว “ ข้าพเจ้า ” และเห็นว่า จิต จริงแท้นั้น ไม่มีรูปร่างและไม่ใช่สิ่งที่มีการมาหรือการไป และเห็นว่าธรรมชาติเดิมแท้ของเขานั้น เป็นสิ่ง ๆ หนึ่ง ซึ่งมิได้มีการตั้งต้นขึ้นที่การเกิดหรือมิได้มีการสิ้นสุดลงที่การตายของ เขา แต่เป็นของสิ่งเดียวรวดและปราศจากการเคลื่อนไหวใด ๆ ในส่วนลึกจริง ๆ ของมันทั้งหมด และว่า จิต ของเขากับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งแวดล้อมเขาอยู่นั้น เป็นสิ่ง ๆ เดียวกัน ถ้าเขาสามารถทำได้ตามนี้จริง ๆ เขาจะลุถึงการรู้แจ้งเห็นแจ้งได้โดยแว็บเดียว ในขณะนั้น

   เขาจะเป็นผู้ที่ไม่ต้องข้องเกี่ยวกับโลกทั้ง ๓ อีกต่อไป เขาจะเป็นผู้อยู่เหนือโลกได้ เขาจะไม่มีการโน้มเอียงไปสู่การเกิดใหม่อีกแม้แต่นิดเดียว

   แม้หากว่าเขาจะได้มองเห็นภาพอันรุ่งโรจน์ ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์กำลังเสด็จมาต้อนรับเขา ห้อมล้อมไปด้วยสิ่งอันวิจิตรตระการตาทุกชนิด เขาก็ไม่เกิดความรู้สึกอยากเข้าไปใกล้สิ่งเหล่านั้น หรือถ้าเขาจะได้มองเห็นสิ่งอันหน้าหวาดเสียวทุก ๆ ชนิดมาแวดล้อมอยู่รอบตัวเขา เขาก็ไม่รู้สึกกลัวเลย

   เขาจะเป็นแต่ตัวของเขาเองเท่านั้นที่ปราศจากความคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง และเป็นสิ่ง ๆ เดียวกันกับ สิ่งสูงสุด สิ่งนั้น เขาจะได้ลุถึงภาวะแห่งความที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกต่อไป ฉะนั้นนี่แหละ คือ หลักธรรมะที่เป็นหลักมูลฐานในที่นี้



หัวข้อ: Re: ๑๙.คำสอนของฮวงโป (แดนแห่งสิ่งล้ำค่า)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 กันยายน 2555 19:40:20


   ๑๙.คำสอนของฮวงโป (แดนแห่งสิ่งล้ำค่า)

   ในวันแปดค่ำของเดือนที่สิบ ท่านครูบาได้กล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า ..

   ลัทธิที่มีชื่อว่า นครแห่งมายา นั้น ได้กล่าวถึงยานสองอย่าง ภูมิสิบแห่งการก้าวหน้าของโพธิสัตว์ และการตรัสรู้เต็มที่สองแบบ เรื่องทั้งหมดนี้ เป็นคำสอนที่มีอิทธิพลในการเร้าความสนใจของประชาชน แต่แล้วมันก็ยังคงเป็นเพียงสิ่งของในนครแห่งมายา สมชื่อของมันอยู่นั่นเอง
   
   ถิ่นที่เรียกว่า แดนแห่งสิ่งล้ำค่านั้น (ถ้ามีจริง) ก็คือ จิต จริงแท้ซึ่งเป็น เนื้อแท้ดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า และเป็นขุมทรัพย์แห่งสภาวะอันแท้จริงของพวกเราเอง เพชรพลอยเหล่านี้ วัดหรือตวงไม่ได้ สะสมให้มากขึ้นก็ไม่ได้

   เมื่อพระพุทธะหรือสามัญสัตว์ทั้งหลายเอง ก็ยังไม่มี และสิ่งซึ่งจะเป็นตัวตนผู้ทำหรือตัวตนผู้ถูกกระทำ ก็ยังไม่มีเสียเองแล้ว นครแห่งสิ่งล้ำค่าจะมีได้ที่ไหนอย่างไรเล่า ?

   ถ้าพวกเธอถามว่า “เอาละครับ นครแห่งมายา มีอยู่มากพอแล้ว ส่วนแดนแห่งสิ่งล้ำค่านั้นเล่า มันอยู่ที่ไหนกัน ?”ดัง นี้ ฉันขอตอบว่า มันเป็นถิ่นซึ่งไม่มีทิศทางที่ไม่อาจชี้ให้แก่เธอได้ เพราะว่าถ้ามันเป็น สิ่งที่อาจจะชี้ได้ มันก็ต้องเป็นถิ่นที่มีอยู่ในอวกาศมิใช่หรือ เมื่อเป็นดังนี้ มันก็ไม่อาจจะเป็นแดนแห่งสิ่งล้ำค่าที่จริงแท้อะไร ๆ ไปได้เลย อย่างมากที่สุดที่เราจะพูดได้ ก็คือว่ามันอยู่แค่จมูกนี่เอง มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะระบุตรง ๆ ลงไปได้ก็จริง แต่เมื่อใดพวกเธอมีความเข้าใจซึมซาบถึงเนื้อแท้ของมันอยู่อย่างหุบปากเงียบ พูดอะไรไม่ออกแล้ว มันก็อยู่ที่ตรงนั้นแหละ



หัวข้อ: Re: คำสอนของฮวงโป พุทธทาสภิกขุ แปลเรียบเรียง
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 กันยายน 2555 19:55:14


   ๒๐.คำสอนของฮวงโป (จิตนั่นแหละคือธรรม)

   พวกลัทธิอิจฉันติกา เป็นพวกที่มีหลักลัทธิอันไม่สมบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งมีอยู่ในคติภพทั้งหกนี้ ซึ่งมีทั้งพวกมหายานและหีนยานรวมอยู่ด้วยนั้น ถ้าเขาไม่มีความเชื่อต่อ พุทธภาวะ อันเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรยิ่งกว่า ซึ่งมีอยู่ในตัวเขาเองแล้ว ก็เป็นการสมควรแล้วที่จะถูกขนานนามว่าเป็นพวกอิจฉันติกา ที่มีรากเหง้าแห่งกุศลอันขาดด้วนเสียแล้ว

   พวกพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งมีความเชื่อใน พุทธธรรม อย่างลึกซึ้ง และไม่ยอมรับการแบ่งแยก เป็นมหายาน และหีนยานแล้วก็ตาม แต่ถ้ายังไม่เห็นแจ้งต่อ สภาวะหนึ่ง เดียว ของพุทธทั้งหลาย และสัตว์โลกทั้งปวงแล้ว ก็ควรถูกขนานนามว่าเป็นพวกอิจฉันติกาประเภทที่รากเหง้าแห่งกุศลยังดีอยู่

   พวกที่การรู้แจ้งของเขาส่วนใหญ่ มีมูลมาจากการได้ยินได้ฟังธรรมที่มีผู้แสดงนั้น ถูกขนานนามว่าพวกสาวก พวกที่รู้แจ้งเห็นจริงด้วยการซาบซึ้งต่อกฎแห่งกรรม ถูกขนานนามว่าพวกปัจเจกพุทธะ พวกที่เป็น พุทธะ โดยได้มาจากการรู้แจ้งเห็นแจ้งอันแท้จริง ซึ่งแสวงหาเอาได้จากใจของเขาเองนั้น ถูกขนานนามว่าพวกสุตพุทธะ

   นักศึกษาเรื่อง ทาง ทางนี้แทบทั้งหมด รู้แจ้งโดยทางธรรมะซึ่งสอนกันเป็นคำพูด ไม่ใช่โดยทางธรรมะที่เห็นได้ด้วยใจ แม้ว่าเขาจะได้ทำความพากเพียรมาแล้วเป็นกัปป์ ๆ ไม่ขาดสาย เขาก็จะไม่เป็นผู้ที่กลมกลืนกันได้กับ เนื้อแท้ดั้งเดิมของพุทธะ พวกที่ไม่รู้แจ้งเห็นแจ้งจากภายใน จิต ของเขาเอง ได้แต่ฟังธรรมซึ่งสอนกันด้วยคำพูดนั้น สร้างแสงสว่างให้แก่จิตเอาเอง และไปเห็นความสำคัญอยู่ที่คำสอน ดังนั้นเขาจึงมัวแต่ก้าวไปทีละขั้น ๆ โดยไม่ประสีประสาต่อ จิตเดิมแท้ ของตนเองเลย

   เมื่อเป็นดังนั้น ถ้าเธอเพียงแต่มีความเข้าใจซึมซาบต่อ จิต อย่างหุบปากเงียบ ไม่ต้องพูดอะไรเท่านั้น เธอก็ไม่จำเป็นต้องเที่ยวแสวงหาธรรมใด ๆ เลย เพราะเมื่อทำได้ดังนั้น จิต นั่นแหละ คือ ธรรม นั้น



หัวข้อ: Re: ๒๑.คำสอนของฮวงโป (การหลบหลีก)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 กันยายน 2555 21:41:14


   ๒๑.คำสอนของฮวงโป (การหลบหลีก)

   คนเป็นอันมากมักถูกปิดกั้นเสียจากการรู้แจ้งต่อ จิต โดยปรากฏการณ์ต่าง ๆ ซึ่งแวดล้อมอยู่รอบ ๆ ตัวเขา และถูกปิดกั้นเสียจากการรู้แจ้งต่อหลักธรรมที่สำคัญที่สุด โดยเหตุการณ์ต่าง ๆ เฉพาะตน ดังนั้น  เขา จึงพยายามหาทางหลีกเลี่ยงจากปรากฏการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นเสีย ด้วยหวังว่าจะทำจิตของเขาให้สงบ หรือพยายามที่จะระงับเหตุการณ์ต่าง ๆ เสีย ด้วยหวังจะยึดเหนี่ยวเอาธรรมะนั้นให้ได้ เขาไม่เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า การทำอย่างนี้ เป็นการกลบเกลื่อนปรากฏการณ์ต่าง ๆ ด้วยจิต กลบเกลื่อนเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยหลักธรรม

   จงเพียงแต่ทำจิตของเธอให้ว่างเท่านั้น ปรากฏการณ์ที่เป็นสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็จะเป็นของว่างไปในตัวมันเอง จงให้หลักการต่าง ๆ หยุดแกว่ง แล้วเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็หยุดวุ่นวายได้ด้วยตัวมันเอง จงอย่าใช้ จิต ไปในทางอุตริแผลง ๆ เช่นนั้นเลย

   คนส่วนมากขี้ขลาดต่อการทำจิตของตนให้ว่าง โดยเกรงไปว่าเขาจะพลัดตกลงไปในความว่าง เขาเหล่านั้น ไม่ทราบว่า จิต ของเขาเองเป็น ความว่าง คนโง่มัวแต่หลบหลีกปรากฏการณ์ต่าง ๆ ไม่หลบหลีกจากความคิดปรุงแต่ง ส่วนคนฉลาดย่อมหลบหลีกจากความคิดปรุงแต่งและไม่ต้องหลบหลีกปรากฏการณ์



หัวข้อ: Re: ๒๒.คำสอนของฮวงโป (การเพิกถอน)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 03 กันยายน 2555 11:25:01


๒๒.คำสอนของฮวงโป (การเพิกถอน)

   จิตของพระโพธิสัตว์นั้น เหมือนกับความว่าง เพราะท่านได้เพิกถอนสิ่งต่าง ๆ ออกเสียแล้ว และไม่ปรารถนา แม้แต่จะสร้างสมบุญกุศล
   การเพิกถอนนั้นมีวิธีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน

   เมื่อทุก ๆ สิ่งทั้งภายในและภายนอก ทั้งรูปธรรมและนามธรรมถูกเพิกถอนแล้ว เมื่อความยึดมั่นถือมั่นต่าง ๆ ไม่มีเหลืออยู่ เช่นเดียวกันกับใน ความว่าง เมื่อการกระทำทั้งหมด เป็นไปแต่ตามควรแก่สถานที่และสิ่งแวดล้อมล้วน ๆ (ไม่มีกิเลสเจือปน) และเมื่อความรู้สึกว่าตัวตนในฐานะเป็นผู้ถูกกระทำ นั้นถูกเลิกล้างไปหมดแล้ว นั้นคือวิธีแห่งการเพิกถอนชนิดสูงสุด

   เมื่อในขณะหนึ่ง หนทาง ทางนี้ มีการดำเนินโดยการประกอบกุศลธรรมมีประการต่าง ๆ และอีกในขณะหนึ่ง การเพิกถอนกุศลเหล่านั้นก็มีอยู่ และไม่ดำรงความหวังที่จะรับผลแห่งบุญกุศลเหล่านั้นไว้ นั้น คือวิธีแห่งการเพิกถอนชนิดกลาง ๆ

   เมื่อการประกอบบุญกุศลทุกชนิด ได้ทำไปเพื่อหวังที่จะได้รับผลตอบแทน ของบุคคลผู้ซึ่งแม้จะมีความรู้เรื่อง ความว่าง โดยได้ยินได้ฟัง ธรรมะ ข้อนี้ แล้วทำตนเป็น (ประหนึ่งว่า) ผู้ไม่ยึดถือ นั่นคือ วิธีแห่งการเพิกถอนชนิดต่ำที่สุด

   วิธีชนิดแรก เหมือนกับไต้ลุกโพลง ที่ถือส่องยื่นไปข้างหน้า อันไม่สามารถจะทำให้หลงทางไปได้ วิธีชนิดที่สอง เหมือนกับไต้ลุกโพลง ที่ถือย่นไปข้าง ๆ ซึ่งบางทีก็เห็นทาง บางทีก็มืด ส่วนวิธีที่สามนั้น เหมือนกับไต้ลุกโพลง ที่ถือไขว้ไว้ข้างหลัง จนกระทั่งหลุมมีอยู่ข้างหน้า ก็มองไม่เห็น



หัวข้อ: Re: คำสอนของฮวงโป พุทธทาสภิกขุ แปลเรียบเรียง
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 03 กันยายน 2555 12:51:49


   ๒๓.คำสอนของฮวงโป (การถ่ายทอด)

   ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เห็นได้ว่า จิตของพระโพธิสัตว์นั้น เหมือนกับความว่าง และสิ่งทุกสิ่งถูกเพิกถอนหมดสิ้น โดยจิตนั้น เมื่อความคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอดีตไม่ถูกยึดถือไว้ นั่นคือการเพิกถอนส่วนอดีต เมื่อความคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับปัจจุบันไม่ถูกยึดถือไว้ นั่นคือการเพิกถอนส่วนปัจจุบัน เมื่อความคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอนาคตไม่ถูกยึดถือไว้ นั่นคือการเพิกถอนส่วนอนาคต นี้เรียกว่าการเพิกถอนที่สุดทั้ง ๓ กาล

   จำเดิมแต่พระตถาคตได้ทรงมอบ ธรรมะ แก่พระมหากาศยปะ (กัสสปะ) มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ จิต ได้ถูกถ่ายทอดด้วย จิต ตลอดมา และ จิต เหล่านี้ ล้วนแต่เป็น จิต ๆ เดียวกัน

   การถ่ายทอด ความว่าง ให้กันและกันนั้น ไม่สามารถทำได้โดยทางคำพูด การถ่ายทอดตามความหมายทางฝ่ายวัตถุนั้น ไม่สามารถใช้กันได้กับ ธรรมะ เมื่อเป็นดังนั้น จิต เป็นสิ่งที่ถูกถ่ายทอดด้วย จิต และ จิตเหล่านี้ไม่แตกต่างกันเลย
   การถ่ายทอด และการรับการถ่ายทอด ทั้งสองอย่างนี้ เป็นความเข้าใจอันเร้นลับ ที่เข้าใจยากที่สุด จนถึงกับมีไม่กี่คนจริง ๆ ที่สามารถรับเอาได้

   ถึงอย่างไรก็ตาม ตามความเป็นจริงนั้น จิต นั้นก็ยังมิใช่ จิต และการถ่ายทอดนั้น ก็มิใช่การถ่ายทอด ที่เป็นจริงเป็นจังอะไรเลย



หัวข้อ: Re: ๒๔.คำสอนของฮวงโป (กาย ๓ กาย)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 03 กันยายน 2555 15:28:45


   ๒๔.คำสอนของฮวงโป (กาย ๓ กาย)

   พุทธะ องค์หนึ่ง มีกาย ๓ กาย โดยคำว่า ธรรมกาย ย่อมหมายถึง ธรรมะ (ธรรมดา) แห่ง ความว่าง อันมีอยู่ในที่ทุกแห่งของธรรมชาติอันแท้จริงที่เป็นอยู่เองของสิ่งทุกสิ่ง โดยคำวา สัมโภคกาย ย่อมหมายถึง ธรรมะ (สภาวะธรรมดา) แห่งความบริสุทธิ์สากลอันสำคัญยิ่งของสิ่งทั้งปวง โดยคำว่า นิรมานกาย ย่อมหมายถึง ธรรม ต่าง ๆ แห่งวัตรปฏิบัติ ๖ ประการ ซึ่งนำไปสู่นิพพาน และอุบายวิธีอื่น ๆ ทำนองนั้นทั้งหมดทั้งสิ้นด้วยกัน

   ธรรม (ธรรมดา) ของ ธรรมกาย นั้น ไม่อาจแสวงหาได้โดยทางการพูดจา หรือโดยทางการฟัง หรือโดยทางตัวหนังสือ ไม่มีอะไรที่อาจจะพูด หรือทำให้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาให้เห็นได้ มีอยู่ก็แต่ความว่างแห่งสภาวธรรมดาที่แท้จริง ของสิ่งทุกสิ่งซึ่งเป็นอยู่เอง อันมีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง และไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้น การบอกให้รู้ว่า ไม่มี ธรรมะ ที่ต้องอธิบายด้วยคำพูด นั่นแหละ เรียกว่าการเผยแผ่ธรรมละ

   สัมโภคกาย และ นิรมานกาย ทั้งสองอย่างนี้ ย่อมตอบสนองด้วยปรากฏการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเหมาะสมแก่สิ่งแวดล้อมเฉพาะอย่าง ธรรมะ ต่าง ๆ ที่มีผู้นำมากล่าว เพื่อสนองแก่เหตุการณ์ต่าง ๆ โดยความรู้สึกทางอายตนะ และในทุก ๆ ชนิดแห่งรูปและแบบนั้น ไม่มีอันไหนเลยที่เป็น ธรรมะ จริง ดังนั้น จึงมีคำกล่าวว่า สัมโภคกาย ก็ตาม นิรมานกาย ก็ตาม หาใช่พุทธะที่แท้จริงไม่ ทั้งไม่ใช่ผู้ประกาศธรรมะด้วย



หัวข้อ: Re: ๒๕.คำสอนของฮวงโป (เอกสภาวะ)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 03 กันยายน 2555 15:31:24


   ๒๕.คำสอนของฮวงโป (เอกสภาวะ)

   คำ ว่า เอกสภาวะ เล็งถึงสิ่งที่มีความรุ่งเรืองทางฝ่ายจิต ซึ่งมีเนื้อหาเป็นอันเดียวกันหมดสิ่งหนึ่ง ซึ่งแบ่งแยกออกเป็นมูลธาตุ ที่เจือกันอย่างสนิทสนมเป็นเนื้อเดียวกัน มีจำนวน ๖ ธาตุ สิ่งที่มีความรุ่งเรืองทางฝ่ายจิต ซึ่งมีเนื้อหาเป็นอันเดียวกันดังกล่าวนั้น ก็คือ จิตหนึ่ง นั่นเอง พร้อมกันนั้นมูลธาตุทั้งหกที่มีการเจือกันอย่างสนิทนั้น ก็คืออวัยวะแห่งอายตนะทั้งหกอีกนั่นเอง

   อวัยวะแห่งอายตนะทั้งหกเหล่านี้ ต่างก็เข้าคลุกคลีกันกับสิ่งที่จะทำให้มันเศร้าหมอง กล่าวคือ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ และใจกับธรรมารมณ์ ในขณะแห่งการสัมผัสระหว่างอวัยวะเหล่านี้ กับวัตถุที่มันสัมผัส ย่อมเกิดความรู้สึกทางอารมณ์ขึ้นอีก ๖ ชนิด (คือเวทนา) ดังนั้น จึงทำให้เกิดมีสิ่งซึ่งเนื่องกันอยู่กับอายตนะขึ้นเป็น ๑๘ อย่างด้วยกัน

   ถ้าพวกเธอเข้าใจได้ว่า สิ่งซึ่งเนื่องกันอยู่กับอายตนะทั้ง ๑๘ อย่างเหล่านี้ ไม่มีความมีอยู่ที่เป็นตัวเป็นตนอะไรเลย เธอก็ไม่อาจจะคุมมูลธาตุที่มีการเจอกันอย่างสนิททั้ง ๖ ธาตุนั้น เข้าเป็นสิ่งซึ่งมีความสว่างไสวทางฝ่ายจิตเพียงสิ่งเดียวได้ สิ่งซึ่งมีความสว่างไสวทางฝ่ายจิตเพียงสิ่งเดียวนั้น ซึ่งได้แก่ จิตหนึ่ง นั่นเอง

   นักศึกษาทุกคนแห่ง ทาง ทางนี้ ย่อมรู้ข้อนี้ดี แต่เขาไม่สามรถจะเว้นเสียจากการสร้างรูปความคิดต่าง ๆ อันเกี่ยวกับ “สิ่งซึ่งมีความรุ่งเรืองทางฝ่ายจิตสิ่งเดียว” และมูลเหตุต่าง ๆ ที่เจือกันสนิท ๖ อย่างนั้น เมื่อเป็นอย่างนั้น เขาก็กลายเป็นผู้ถูกจองจำอยู่กับความยึดถือในความมีอยู่ต่าง ๆ และพลาดจากการได้รับความเข้าใจ ชนิดที่หุบปากเงียบไม่ต้องพูดในเรื่อง จิตเดิมแท้



หัวข้อ: Re: ๒๖.คำสอนของฮวงโป (สัจจยาน)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 03 กันยายน 2555 15:36:17


   ๒๖.คำสอนของฮวงโป (สัจจยาน)

   เมื่อ ตถาคตได้ทรงแสดงพระองค์ให้ปรากฏในโลกนี้ พระองค์ทรงปรารถนาที่จะประกาศแต่ สัจจยาน เพียงอย่างเดียว แต่ประชาชนจะไม่เชื่อพระองค์ และจะพากันจมลงในทะเลแห่งสังสารวัฏ เพราะพากันหัวเราะเยาะพระองค์ ด้วยความไม่เชื่อ

   อีกประการหนึ่ง ถ้าหากว่าพระองค์จะไม่ตรัสอะไรเสียเลย ข้อนั้น ก็จะเป็นการเห็นแก่ตัว และพระองค์ก็จะไม่สามารถกระจายความรู้เรื่อง ทาง อันเร้นลับนั้น ให้เป็นคุณประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงได้ ดังนั้น พระองค์จึงทรงใช้วิธีที่เหมาะสม คือประกาศว่า มียานอยู่ ๓ ยาน
   
   อย่างไรก็ตาม เมื่อยานทั้งสามนี้ เป็นสิ่งที่ใหญ่เล็กกว่ากันและกันอยู่ มันจึงเกิดมีคำสอนตื้นและคำสอนลึกขึ้นมา อย่างที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ไม่มีอันไหนที่เป็น ธรรมะ เดิมแท้ ดังนั้น จึงมีคำกล่าวไว้ว่า มีแต่ ทางแห่งยาน ยานเดียว ถ้ามันเกิดมีมากกว่านั้น มันก็ไม่อาจเป็นของจริงไปได้

   นอกไปกว่านั้นอีก มันไม่มีวิถีทางใดเลย ที่จะบรรยายถึง ธรรม แห่ง จิตหนึ่ง นี้ ให้แก่กันและกันได้โดยเด็ดขาด เมื่อเป็นดังนั้น พระตถาคตจึงได้รับสั่งให้พระมหากาศยปะมาเฝ้า และนั่งกับพระองค์บนอาสนะแห่งการประกาศสัจจธรรม ทรงมอบ ธรรม แห่ง จิตหนึ่ง นี้ ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่เกี่ยวกับคำพูดแต่ประการใดเลยให้แก่ท่านเป็นพิเศษ ธรรม ที่ไม่อาจจะแตกแขนงข้อนี้เป็นธรรม ที่ต้องปฏิบัติเป็นพิเศษต่างหากจากธรรมเหล่าอื่น และผู้ที่จะรู้แจ้งเห็นแจ้งซึ่ง ธรรม นี้ โดยมิต้องมีการเอ่ยปากพูดกันนั่นแหละ จะได้ลุถึงภาวะแห่ง ความเป็นพุทธะ นั้น



หัวข้อ: Re: ๒๗.คำสอนของฮวงโป (ความรู้สึก)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 03 กันยายน 2555 15:39:43


   ๒๗.คำสอนของฮวงโป (ความรู้สึก)

   ถาม   ทาง นั้นเป็นอย่างไร และต้องเดินมันอย่างไร ?
   ตอบ   เธอจะสมมติให้ ทาง นั้นเป็นของคนชนิดไหนกันนะ! จนถึงกับเธออยากจะเดิน ?

   ถาม   อาจารย์มีคำแนะนำอะไรบ้าง ที่จะให้แก่ศิษย์ในที่ทั่ว ๆ ไป เพื่อปฏิบัติธฺยานะและศึกษาธรรม ?
   ตอบ   ถ้อยคำต่าง ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องดึงดูดความสนใจของพวกปัญญาทึบนั้น ใช้อาศัยอะไรไม่ได้หรอก
 
   ถาม   ถ้าคำสอนเหล่าโน้น มุ่งหมายสำหรับพวกปัญญาทึบแล้ว กระผมก็ยังต้องการจะฟังว่า ธรรมะอะไร ที่ใช้สอนพวกที่มีปัญญากว้างขวางจริง ๆ ?
   ตอบ   ถ้าเขาเหล่านั้นเป็นคนมีปัญญากว้างขวางจริง ๆ แล้ว เขาจะหาพบคนที่เขาควรเดินตาม ได้ที่ไหนเล่า ? ถ้าเขาแสวงหาจากภายในตัวเขา เขาจะพบว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว คิดดูเถิดว่าเขาจะพบธรรมะที่ควรแก่ความสนใจของเขา ในที่อื่น ๆ ภายนอกนั้นน้อยมากลงไปอีกเพียงไร ? อย่ามองมุ่งไปยังสิ่งซึ่งพวกนักเผยแผ่ทั้งหลายเรียกกันว่า ธรรมะ เลย เพราะ ธรรมะ ชนิดนั้นจะเป็นธรรมะอะไรที่ไหนได้ ?

   ถาม   ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เราไม่ควรแสวงหาสิ่งใด ๆ กันบ้างเลยเชียวหรือ ?
   ตอบ   ด้วยการทำอย่างนั้นแหละ พวกเธอจะประหยัดความเหน็ดเหนื่อยทางจิต ให้เธอเองได้มากที่สุด

   ถาม   แต่สิ่งทุก ๆ สิ่ง จะต้องถูกขจัดออกไปด้วยการปฏิบัติวิธีนี้แล้วจะว่าไม่อะไรเลย ได้อย่างไรกัน ?
   ตอบ   ใครเป็นคนเรียกสิ่ง ๆ สิ่งนั้นว่าไม่มีอะไร ? ใครเป็นคนเรียก ? มันมีแต่พวกเธอที่ต้องการจะแสวงหาอะไรสักอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

   ถาม   ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องแสวงหา ทำไมท่านอาจารย์จะต้องกล่าวว่าไม่ใช่ทุก ๆ สิ่งจะต้องถูกขจัดออกไป ดังนี้ด้วยเล่า ? (มันย่อมหมายความว่า มีสิ่งบางสิ่งเหลืออยู่ให้แสวงหามิใช่หรือ ?)
   ตอบ   การไม่แสวงหา คือการอยู่สงบ ใครได้บอกเธอ ว่าให้ขจัดมันเสียตะพึดเล่า ? ดูความว่างที่ตรงหน้าเธอนี่ซิ เธอจะสร้างมันขึ้นหรือขจัดมันออกไปได้อย่างไรกันหนอ ?

   ถาม   ถ้ากระผมสามารถเข้าถึง ธรรมะ นั้นได้เล่า มันจะเป็นเหมือนความว่างนี้ไหม ?
   ตอบ   อาตมาได้อธิบายให้แก่พวกเธอแล้ว ทั้งเช้าทั้งเย็น ว่า ความว่าง นั้นเป็นทั้ง หนึ่ง และเป็นทั้ง หลายซับหลายซ้อน อาตมากล่าวความข้อนี้ในฐานะที่มันเหมาะสมสำหรับระยะเริ่มแรก แต่พวกเธอก็กำลังสร้างรูปความคิดต่าง ๆ ขึ้นจากมันเรื่อยเปื่อยไป

   ถาม   ท่านอาจารย์หมายความว่า พวกเราไม่ควรมีการสร้างรูปความคิดต่าง ๆ เหมือนกับที่มนุษย์ธรรมดา เขาทำกันอยู่เป็นปกติดังนั้นหรือ ?
   ตอบ   อาตมาไม่ได้ห้ามพวกเธอดอก แต่รูปความคิดต่าง ๆ นั้นมันขึ้นอยู่กับอายตนะ เมื่อใดความรู้สึกทางอายตนะเกิดขึ้น ปัญญาก็ถูกปิดบังเสียทันที

   ถาม   ถ้าอย่างนั้นเราควรหลีกเลี่ยงจากความรู้สึกทุกชนิด แม้ที่เกี่ยวกับ ธรรมะ นั้น ดังนั้นหรือ ?
   ตอบ   ถ้าในที่ที่ไม่มีความรู้สึก เกิดขึ้นเล่า ใครคนไหน กล้ากล่าวว่า เธอพูดถูก ?

   ถาม   ทำไมท่านอาจารย์จึงกล่าวราวกับว่า ผมเป็นฝ่ายผิดไปเสียทั้งหมด ในทุกคำถาม ที่ผมได้ถามท่านอาจารย์ ?
   ตอบ   เธอเป็นบุคคลที่ไม่เข้าใจอะไร ๆ ที่เขาพูดให้ฟัง ไอ้ทั้งหมดที่เรียก ผิด-ผิด นั้น มันอะไรกันนะ ?



หัวข้อ: Re: ๒๘.คำสอนของฮวงโป (คำตอบ)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 15 กันยายน 2555 20:33:08


๒๘.คำสอนของฮวงโป (คำตอบ)

   ถาม   จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ท่านอาจารย์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ผิดไปเสียทุกสิ่งเท่าที่กระผมได้กล่าวไปแล้ว ท่านอาจารย์ไม่ได้ทำอะไรเลย ในการที่จะชี้ให้พวกเราเห็น ธรรมะ ที่แท้จริง
   ตอบ   ใน ธรรม ที่แท้จริงนั้น ไม่มีความสับสนเลย แต่พวกเธอเองได้สร้างความสับสนขึ้น ด้วยคำถามต่าง ๆ ทำนองนั้น ธรรมะ ที่แท้จริงอย่างไหนกันนะ ที่เธอจะเที่ยวแสวงหาเอาได้ ?

   ถาม   ถ้าความสับสนเกิดขึ้นจากคำถามต่าง ๆ ของผมแล้ว คำตอบของท่านอาจารย์เล่า มีอยู่อย่างไร ?
   ตอบ   จงสังเกตให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามที่มันเป็นอยู่จริง และอย่าไปสนใจกับคนอื่น มีคนบางพวกเหมือนกับสุนัขบ้าแท้ ๆ มันเห่าทุกสิ่งที่ เคลื่อนไหว เห่าจนกระทั่งใบหญ้าใบไม้ที่กระดุกกระดิกเมื่อถูกลมพัด



หัวข้อ: Re: ๒๙.คำสอนของฮวงโป (ทาง)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 15 กันยายน 2555 20:57:38


   ๒๙.คำสอนของฮวงโป (ทาง)

   เมื่อกล่าวถึง ธรรมะ อย่างเซ็น ของพวกเรา ขอให้จำไว้ว่า จำเดิม ตั้งแต่ได้ถ่ายทอดกันมาเป็นครั้งแรกนั้น ไม่เคยสอนกันเลยว่า คนเราจะต้องแสวงหาด้วยการศึกษา หรือต้องสร้างความคิดขึ้นในรูปต่าง ๆ คำที่พูดว่า “การศึกษาเรื่อง หนทาง ทางโน้น” นั้นเป็นแต่เพียงโวหารกล่าวทางบุคลาธิษฐานเท่านั้น นั่นมันเป็นเพียงวิธีการสำหรับเร้าความสนใจของบุคคลในขั้นเริ่มแรก ของการดำเนินตามทางธรรมดาของเขาเท่านั้น

   ตามความจริงแล้ว ทาง ทางนั้นไม่รวมอยู่ในสิ่งที่ต้องศึกษาเลย การศึกษา ย่อมนำไปสู่การหน่วงเอาความคิดในรูปต่าง ๆ ไว้โดยท่าเดียว เมื่อเป็นดังนั้น ทาง ทางโน้นก็มีแต่จะถูกเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง
   ยิ่งไปกว่านั้นอีก ทาง ทางโน้นไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่ตั้งอยู่เป็นพิเศษ มันถูกขนานนามว่ามหายาน จิตคือจิตซึ่งไม่อาจหาพบได้ข้างใน หรือข้างนอก หรือตรงกลาง โดยแท้จริงแล้วมันไม่ได้มีตำแหน่งแหล่งที่อยู่ ณ ที่ใดเลย

   ข้อปฏิบัติขั้นแรกที่สุดคือการเว้นเสียจากความคิดในรูปต่าง ๆ ซึ่งตั้งรากฐานอยู่บนความรู้ที่เคยเล่าเรียนมา ข้อนี้หมายความว่า แม้พวกเธอจะได้ดำเนินการปฏิบัติไปโดยวิธีที่เกี่ยวข้องกับความรู้ชนิดนั้น ตามที่เธอเคยเชี่ยวชาญมา จนหมดความรู้ ถึงขั้นนั้นแล้ว เธอก็จะยังไม่สามารถพบตำแหน่งแหล่งที่ของ จิต นั้นอยู่นั่นเอง
   ทาง ทางนี้ เป็น สัจจธรรม ฝ่ายนามธรรม และเป็นสิ่งที่ไม่มีชื่อ ไม่มีสมญามาแต่เดิม

   มันเป็นเพราะสัตว์โลก ได้พากันแสวงหาสัจจะนี้อย่างโง่เขลา และคว้าไปคว้ามา ในขั้นทดลองอยู่ร่ำไปเท่านั้นเอง พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงได้มาปรากฏในโลกนี้ และสอนสัตว์เหล่านั้น ให้เพิกถอนวิธีการปฏิบัติ เพื่อการเข้าถึงสัจจะวิธีการของพระองค์ พระองค์จึงได้ทรงเลือกเอา คำว่า “ทาง” มาใช้
   พวกเธอต้องไม่ปล่อยให้คำว่า “ทาง” คำนี้ จูงเธอไปสู่การก่อรูปแห่งความคิดขึ้นในจิต ว่าทางสำหรับเท้าเดิน (ถนน) ด้วยเหตุนี้แหละ จึงมีคำกล่าวไว้ว่า “เมื่อปลาตัวนั้นถูกจับได้แล้วเราก็ไม่สนใจกับ ลอบ อีกต่อไป” ดังนี้

   เมื่อใดกายและจิต มีการโพล่งออกไปเอง ถึงธรรมชาติเดิมของมันได้ ทาง ทางนั้นก็เป็นอันว่าเดินเสร็จแล้ว และ จิต ก็เป็นอันว่าได้ถูกเข้าใจอย่างซึมซาบแล้ว
   สมณะได้นามว่าสมณะ ก็เพราะรู้แจ้งแทงตลอดแหล่งกำเนิดเดิมของสิ่งทั้งปวง ผล คือความเป็นสมณะเช่นนั้น ลุถึงได้ด้วยการทำความสิ้นสุดให้แก่ความกระหายใคร่จะถึงทุกอย่างเสีย มันไม่ได้มาจากการศึกษาจากตำราเลย



หัวข้อ: Re: ๓๐.คำสอนของฮวงโป (เด็กสวาปาม)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 15 กันยายน 2555 21:17:32


   ๓๐.คำสอนของฮวงโป (เด็กสวาปาม)

   บัด นี้ถ้าเธอมัวแต่สาละวนในการใช้จิตของเธอเอง แสวงหา จิต มัวอยู่แต่จะฟังคำสอนจากผู้อื่น และหวังอยู่แต่จะลุถึงจุดหมายปลายทางด้วยการศึกษาล้วน ๆ แล้ว เมื่อไรเล่า เธอจึงจะประสบความสำเร็จสักที ?
   คนโบราณบางคน มีจิตใจแหลมคม เขารีบสลัดความรู้สึกทั้งหมดเสียได้ ในทันทีที่ได้รับฟังธรรมซึ่งประกาศออกมา ดังนั้นเขาจึงได้นามว่า “ปราชญ์ผู้ซึ่งสลัดการศึกษาเสียได้ แล้วมาอาศัยอยู่กับการโพล่งรวดเดียวถึงตัว ธรรมะ ได้ในตัวมันเอง”

   คนในทุกวันนี้ได้แต่แสวงหาเพื่อจะยัดไส้ตัวเอง  ด้วยความรู้และความสามารถในการใช้เหตุผลทางอนุมาน แสวงหาความรู้ทางพระคัมภีร์อยู่ทุกหนทุกแห่ง และเรียกการทำอย่างนั้น ว่าการปฏิบัติธรรม เขาเหล่านั้นไม่รู้ ว่าความรู้และสติปัญญาชนิดนั้น ยิ่งมีมากก็ยิ่งมีผลในทางตรงกันข้าม คือเป็นการสุมกองสิ่งกีดขวาง ให้สูงยิ่งขึ้นไปอีกนั่นเอง  ลำพังการรวบเอาความรู้ต่าง ๆ เข้าไว้อย่างท่วมหัวนั้น มันเหมือนกับเด็กที่ทำตนให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย เพราะสวาปามเต้าหู้เข้าไปมากเกินไป พวกที่ศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้นตามแบบของพวก ตรียาน นั้น เหมือนกับเด็กคนนี้ทุกอย่าง ทั้งหมดเท่าที่เธอจะเรียกคนพวกนี้ให้ดีที่สุดได้ ก็คือเรียกเขาว่า พวกคนที่เดือดร้อนเพราะท้องเสีย

   เมื่อสิ่งที่เรียกว่า ความรู้และสติปัญญาอันเฉลียวฉลาดชนิดนั้นเกิดย่อยไม่ได้ขึ้นมา มันก็กลายเป็นพิษขึ้น เพราะมันเป็นได้แต่เพียงของในเครือเดียวกันกับสังสารวัฏเท่านั้น ในฝ่าย ธรรมอันสูงสุด นั้น ไม่มีของชนิดนี้เลย ดังนั้นจึงมีคำกล่าวไว้ว่า “ในคลังแสงสรรพาวุธแห่งราชาธิปัตย์ของข้า หามี ดาบแห่งความเป็นเช่นนั้นไม่” ดังนี้

   ความคิดรูปต่าง ๆ ซึ่งเธอได้ก่อมันขึ้นในอดีต (เหลืออยู่ในรูปแห่งสัญญาต่าง ๆ) นั้นต้องสลัดทิ้งเสียให้หมด แล้วเข้าแทนที่ไว้ด้วยความว่าง เมื่อใดคติทวินิยม สิ้นสุดลง เมื่อนั้นก็มี ความว่างแห่งตถาคตครรภ์
   คำว่า “ตถาคตครรภ์” หมายถึงสิ่งที่ไม่มีเนื้อที่พอให้สิ่งใดซึ่งมีขนาดแม้เท่าเส้นขนที่เล็กที่ สุด ตั้งอยู่ได้ นั่นแหละ คือข้อที่ว่าเหตุใด พระธรรมราชา (พระพุทธเจ้า) ผู้ที่ได้ทำลายความยึดถือว่ามีตัวมีตนลงเสียได้ ได้ทรงแสดงพระองค์ให้ปรากฏออกมาในโลกนี้ และนั่นแหละคือข้อที่ทำไมพระองค์จึงตรัสว่า “เมื่อเราอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธทีปังกร เรารู้สึกว่าไม่มีอะไร แม้แต่อนุภาคเดียวสำหรับเราเพื่อจะบรรลุถึง” ดังนี้

   คำตรัสนี้ เป็นคำตรัสที่มุ่งหมายโดยตรง เพื่อทำให้ความรู้และสติปัญญาชนิดนั้น ของพวกเธอ ให้เป็นของว่างไปเสีย
   มีแต่พวกที่เว้นขาดจากร่องรอย ของการปฏิบัติอย่างคว้าไปคว้ามา เพราะติดแน่นในความรู้ของตน (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ทุกอย่างทุกชนิดเสียได้ และเว้นขาดจากการหวังพึ่งสิ่งใด ๆ ทั้งหมดแล้วเท่านั้นที่จะสามารถเป็นผู้สงบถึงที่สุดได้
   คำสอนตามพระคัมภีร์ ของยานทั้งสามนั้น ก็เป็นแต่เพียงยาบำบัดความเจ็บไข้ ในขั้นปฐมพยาบาลเท่านั้น คำสอนเหล่านั้นถูกสอนไปเพื่อสนองความต้องการในทำนองนั้น ดังนั้นมันจึงเป็นของมีคุณค่าเพียงชั่วคราว และขัดกันไปขัดกันมา อยู่ในตัวมันเอง ถ้าเพียงแต่ความจริงข้อนี้ เป็นที่กระจ่างกันแล้ว ก็จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ให้เห็นที่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกต่อไป

   ยิ่งไปกว่านั้นทั้งหมดก็คือ มันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะไม่ไปเลือกเอาคำสอนที่เหมาะเฉพาะบางโอกาส บางเรื่อง แล้วเอามาถือว่ามันเป็นความคิดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกต่อไป เพราะมันจับใจเขา โดยการที่มันปรากฏอยู่เป็นส่วนหนึ่งในพระคัมภีร์ ทำไมจึงเป็นดังนั้นเล่า ? เพราะว่าตามความจริงดังนั้น ไม่มีธรรม (สิ่ง) ใดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งความข้อนี้ พระตถาคตก็ได้ประกาศไว้แล้ว คนในนิกายเราจะไม่แย้งเลย ในข้อที่ว่า สิ่งทำนองนี้คงจะมีได้
   เรารู้จักทำให้การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทางจิต หยุดเสียทั้งหมดเท่านั้น และเพราะเหตุนั้น ย่อมได้รับความสงบอันแท้จริง โดยแน่นอนเราไม่ควรตั้งต้นด้วยการคิดสิ่งต่าง ๆ ออกมามากมาย แล้วจบลงแค่ความฉงนสนเท่ห์นานาชนิด



หัวข้อ: Re: ๓๑.คำสอนของฮวงโป (มายา)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 15 กันยายน 2555 21:54:12


   ๓๑.คำสอนของฮวงโป (มายา)

   ถาม   จากข้อความทั้งหมด เท่าที่อาจารย์ได้กล่าวไปแล้ว ได้ความว่า จิต คือ พุทธะ แต่มันไม่กระจ่างในข้อที่ว่า หมายถึงจิตชนิดไหนในประโยคที่ว่า “จิต” ซึ่งเป็น “พุทธะ” นั้น ?
   ตอบ   เธอมีจิตอยู่แล้วกี่มากน้อยเล่า ?

   ถาม   ก็แต่ว่า พุทธะนั้น เป็นจิตธรรมดา หรือจิตที่ตรัสรู้แล้วเล่า ?
   ตอบ  ก็ในโลกนี้ ที่ตรงไหนเล่า ที่เธอเก็บจิตธรรมดา และจิตที่ตรัสรู้แล้ว ของเธอไว้ ?

   ถาม   ในคำสอนของ ยานทั้งสาม มีกล่าวไว้ว่า มีจิตอยู่ทั้งสองอย่าง ทำไมท่านอาจารย์จึงปฏิเสธมันเสียเล่า ?
   ตอบ  ในคำสอนแห่ง ยานทั้งสาม นั้น มีการอธิบายอย่างกระจ่างอยู่แล้วว่าทั้งจิตธรรมดา และจิตที่ตรัสรู้แล้วนั้น ก็ล้วนแต่เป็นมายา เธอไม่เข้าใจเอง ความยึดมั่นต่อความคิดว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่ทั้งหมดนี้เป็นความสำคัญผิด ไปเอาของลวงเหล่านั้นมาเป็นสัจจะ ความคิดต่าง ๆ ชนิดนั้น จะไม่เป็นมายาได้อย่างไรกัน ? เมื่อเป็นมายา มันก็บังจิตนั้น เสียจากเธอ

   ถ้าเธอเพียงแต่ขจัดความคิดว่ามีจิตธรรมดา มีจิตตรัสรู้แล้วนั้นออกไปเสียจากเธอเท่านั้น เธอจะพบว่าไม่มีพุทธะอะไรที่ไหนอีกนอกจาก พุทธะ ในจิตของตนเอง
   เมื่อท่านอาจารย์โพธิธรรม จากตะวันตกมาถึง ท่านได้ชี้ออกไปว่า สิ่งซึ่งคนทุกคนมีส่วนประกอบร่วมอยู่ด้วยนั่นแหละคือ พุทธะ คนจำพวกเธอ พากันเตลิดไปด้วยความเข้าใจผิด คือไปจับฉวยเอาความคิดเช่นว่า “อย่างธรรมดา” หรือ “อย่างตรัสรู้แล้ว” ขึ้นมา พร้อมกันนั้นก็บังคับความคิดต่าง ๆ ของเธอให้เตลิดออกไปข้างนอก สู่ที่ซึ่งมันพากันควบห้อไปเหมือนกะม้า ! ดังนั้นฉันจึงขอบอกเธอ ว่า จิต คือ พุทธะ
   ในทันทีที่ความคิด หรือความรู้สึกทางอายตนะเกิดขึ้น พวกเธอก็พลัดตกลงสู่คติทวินิยม กาลเวลาทั้งหมด ซึ่งปราศจากการตั้งต้น และขณะซึ่งเป็นปัจจุบันขณะหนึ่งนั้นเป็นของอันเดียวกัน ไม่มีนี้ ไม่มีโน้น การเข้าใจซึมซาบในสัจจะข้อนี้ เรียกว่าการรู้แจ้งเห็นจริงที่สมบูรณ์และไม่มีอะไรเหนือกว่า

   ถาม   ถ้อยคำที่ท่านอาจารย์กล่าวมานี้ มีรากฐานอยู่บนหลักธรรมอะไร ?
   ตอบ   เอ้า ! หาหลักหาเหลิกกันทำไมอีกเล่า ? พอสักว่าเธอมีหลักเท่านั้นเธอก็พลัดผลุงลงไปสู่ความคิดแบบคติทวินิยมทันที

   ถาม   เมื่อตะกี้นี้เอง ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงอดีตซึ่งไม่มีใครรู้ว่าตั้งต้นเมื่อไร กับปัจจุบันนั้น เป็นของอันเดียวกัน ด้วยการกล่าวอย่างนั้น ท่านอาจารย์หมายถึงอะไร ?
   ตอบ   มันเป็นเพราะการแสวงหาด้วยความอยากของเธอแท้ ๆ นี้ ที่เธอไปทำมันให้มีความแตกต่างกันขึ้น ระหว่างของสองอย่าง ถ้าเธอจะหยุดการแสวงหาด้วยความอยากเสียได้ แล้วมันจะมีความแตกต่าง ๆ ในระหว่างของสองอย่างนี้ได้อย่างไร ?

   ถาม   ถ้ามันไม่แตกต่างกันแล้ว ทำไมท่านอาจารย์จึงใช้คำเรียกมันต่างกันเล่า ?
   ตอบ   ถ้าเธอไม่ไปเอ่ยถึง “อย่างธรรมดา” กับ “อย่างตรัสรู้แล้ว” ขึ้นมาแล้ว ใครเล่าจะอยากลำบาก ไปพูดกันถึงเรื่องชนิดนี้ ในเมื่อสิ่งซึ่งจัดเป็นอย่าง ๆ พวก ๆ เหล่านั้น ก็มิได้มีอยู่จริง แล้ว จิต ก็มิได้เป็น “จิต” จริง และเมื่อทั้ง จิต และทั้งสิ่งซึ่งถูกจัดเป็นอย่าง ๆ พวก ๆ เหล่านั้น โดยแท้จริงเป็นมายา แล้วเธอจะหวังหาสิ่งใด ๆ ได้ที่ไหนกันเล่า ?



หัวข้อ: Re: ๓๒.คำสอนของฮวงโป (ฉันจะปล่อยเสียทั้งสองมือ)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 15 กันยายน 2555 22:23:49


   ๓๒.คำสอนของฮวงโป (ฉันจะปล่อยเสียทั้งสองมือ)

   ถาม   มายา ได้บัง จิต ของเราเอง เสียจากเรา แต่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ท่านอาจารย์ก็ยังไม่ได้สอนพวกเรา ว่าทำอย่างไร จึงจะกำจัดมายานั้นเสียได้ ?
   ตอบ   การเกิดขึ้นของมายาก็ดี การถอนมายาออกเสียได้ก็ดี ล้วนแต่เป็นมายาด้วยกัน มายามิใช่สิ่งซึ่งมีรกรากอยู่ใน ความจริง มันตั้งอยู่ได้ ก็เพราะความคิดแบบทวินิยมของพวกเธอ ถ้าพวกเธอเพียงแต่หยุดปล่อยตนไปตามความคิดที่ทำให้เกิดของเป็นคู่ตรงกันข้าม เช่น “อย่างธรรมดา” กับ “อย่างตรัสรู้แล้ว” เสียเท่านั้น มายาก็จะสิ้นสุดลงไปได้เองทันที และแล้วถ้าเธอยังขืนอยากจะทำลายมัน ในที่ทุก ๆ แห่งที่มันอาจจะมีอยู่ เธอจะพบว่า ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เลย แม้แต่เท่าเส้นขนเดียว ให้เธอเกาะ นี่แหละ คือความหมายของคำที่ว่า “ฉันจะปล่อยเสียทั้งสองมือ” เพราะเมื่อเป็นดังนั้นแล้ว ฉันจะพบ พุทธะ ใน จิต ของฉันโดยแน่แท้ นั่นเอง

   ถาม   ถ้าไม่มีอะไรให้เกาะยึดเสียเลยแล้ว ธรรมะ จะถูกถ่ายทอดได้อย่างไรกัน ?
   ตอบ   มันเป็นการถ่ายทอด จิต ด้วย จิต

   ถาม   ถ้า จิต เป็นสิ่งที่ถูกใช้สำหรับการถ่ายทอด ทำไมท่านอาจารย์จึงกล่าวว่า จิต ก็ไม่ได้ตั้งอยู่เหมือนกัน ดังนี้เล่า ?
   ตอบ   การไม่ได้รับ ธรรมะ อะไรเลย นั่นแหละ เรียกว่าการถ่ายทอดจิต การเข้าใจซึมซาบ จิต ชนิดนี้ หมายความว่าไม่มี จิต และไม่มี ธรรมะ

   ถาม   ถ้าไม่มี จิต และไม่มี ธรรมะ แล้ว การถ่ายทอด หมายถึงอะไรกันเล่า ?
   ตอบ   พวกเธอได้ยินคนเขาพูดกันถึงการถ่ายทอด จิต แล้วพวกเธอก็พูดกันถึงอะไรบางอย่าง ที่พวกเธอเองหวังว่าจะได้รับ ดังนั้น ท่านอาจารย์โพธิธรรม จึงได้กล่าวว่า ...

   ธรรมชาติแท้ของ จิต นั้น ถ้าเข้าใจซึมซาบแล้ว
   คำพูดของมนุษย์ ไม่สามารถหว่านล้อม หรือเปิดเผยมันได้
   ความตรัสรู้ คือความไม่มีอะไรให้ต้องลุถึง
   และผู้ซึ่งได้ตรัสรู้แล้ว ก็ไม่พูด ว่าเขารู้อะไร

   ถ้าเผอิญอาตมาทำความกระจ่างในข้อนี้ให้แก่พวกเธอ อาตมาสงสัยว่าพวกเธอจะทนมันไหวหรือ ?



หัวข้อ: Re: ๓๓.คำสอนของฮวงโป (เงาสะท้อน)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 กันยายน 2555 14:18:30


   ๓๓.คำสอนของฮวงโป (เงาสะท้อน)

   ถาม   ความว่าง ซึ่งเห็นแผ่อยู่ตรงหน้าเรา ในสายตาของเรานั้นเป็นสิ่งที่เห็นได้ว่ามีอยู่จริง เมื่อเป็นดังนั้น มิเป็นว่า ท่านอาจารย์กำลังชี้ไปยังสิ่งบางสิ่ง ซึ่งเห็น ๆ อยู่ และกำลังเห็น จิต อยู่ อยู่ในมันไปหรือ ?
   ตอบ   จิตชนิดไหนกันนะ ! ที่ ฉันจะอาจบอกให้เธอดูได้ ในสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นวิสัยแห่งการดูด้วยตา ? สมมติว่าเธอดูเห็นได้ มันจะเป็นแต่เพียง จิต ส่วนที่เป็นแสงสะท้อนกลับ อยู่ตามสิ่งต่าง ๆ ที่เห็นได้ด้วยตาเท่านั้นเอง เธอจะเป็นเหมือนคนที่กำลังมองดูหน้าตัวเองในกระจกเงา แม้เธออาจจะเห็นมันได้กระจ่างเหมือนของจริงไปทุกอย่าง เธอก็ยังคงเป็นเพียงแต่ผู้มองอยู่ที่เงาสะท้อนล้วน ๆ เท่านั้นเอง นี่มันมีผลคุ้มค่าอะไรที่ไหนกัน ที่ทำให้พวกเธอต้องวิ่งมาหาอาตมา ?

   ถาม   ถ้าไม่ให้เราเห็นด้วยอำนาจของแสงสะท้อนแล้ว เมื่อไรเล่าเราจะเห็นกันได้สักที ?
   ตอบ   ตลอดเวลาที่พวกเธอยังฝากตัวเองไว้กับ “ด้วยอำนาจของ” อยู่ดังนี้ พวกเธอก็จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของสิ่งที่เป็นมายาบางสิ่งอยู่ร่ำไป เมื่อไรพวกเธอจะเข้าใจได้สำเร็จกันสักทีนะ ? แทนที่จะปฏิบัติตามผู้ที่บอกให้เธออ้ามือกว้างทั้งหมดทั้งสองมือ เหมือนคนที่ไม่มีอะไรจะปล่อยอีกแล้ว เธอก็มัวไปเสียแรงงานในการเที่ยวโอ้อวด ว่ามีอะไรสารพัดอย่าง

   ถาม   แม้ผู้ที่เข้าใจเรื่องแสงสะท้อนดี แสงสะท้อนก็ยังไม่มีอยู่อีกหรือ ?
   ตอบ   ถ้าของเป็นดุ้น ๆ ก็ยังไม่มีตัวตนที่ตั้งอยู่เสียแล้ว มันจะยิ่งไม่มีมากลงไปอีกสักเท่าไร ในการที่เราจะเอาอะไรกับสิ่งที่เป็นเพียงแสงสะท้อน อย่าเที่ยวได้พูดพร่ำเหมือนคนเดินฝันลืมตา (คนเดินละเมอ) ไปให้มากเลย
   เมื่อก้าวเข้าไปในศาลาธรรมประจำเมือง ท่านอาจารย์ได้ประกาศออกมาว่า “การ มีความรู้ต่าง ๆ มากมายหลายประเภทนั้น ไม่อาจจะเปรียบกับการที่สามารถเพิกถอนเสียได้ซึ่งการแสวงหาทุกสิ่ง ซึ่งการทำได้อย่างนั้น เป็นสิ่งเลิศสุดเหนือสิ่งทั้งปวง จิต มิได้เป็นสิ่งที่มีมากมายหลายชนิด ไม่มีหลักธรรมแท้จริงอะไร ที่อาจจะพูดกันได้โดยทางคำพูด”

   เมื่อไม่มีอะไรต้องพูดกันอีก ก็ต้องเลิกประชุม



หัวข้อ: Re: ๓๔.คำสอนของฮวงโป (กาฝาก)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 กันยายน 2555 18:37:59


   ๓๔.คำสอนของฮวงโป (กาฝาก)

   ถาม   สัจจะอย่างโลก หมายความว่าอะไร ?

   ตอบ   เธอจะไปทำอะไรกับไม้กาฝากชนิดนั้นนะ ? ความจริงคือความบริสุทธิ์ถึงที่สุด ทำไมจะต้องไปถกกันถึงคำที่ไม่บริสุทธิ์เหล่านั้นเล่า ? ความที่ปราศจากความคิดนึกต่าง ๆ อย่างเด็ดขาด เรียกว่า ปรีชาของความมีจิตปรกติ
   ทกวันไม่ว่าเดินอยู่ ยืนอยู่ นั่งอยู่ หรือนอนอยู่ก็ตาม หรือในการพูดจาทั้งหมดก็ตาม จงยังคงเป็นผู้มีจิตปราศจากการยึดถือทุก ๆ อย่างในสิ่งแวดล้อมทั้งปวง ไม่ว่าจะพูด หรือแม้เพียงแต่กระพริบตา ขอให้ทำมันไปด้วยความที่จิตปรกติถึงที่สุด

   เดี๋ยวนี้ เรากำลังอยู่ในตอนปลายของระยะห้าร้อยปีที่ ๓ นับแต่พุทธปรินิพพานมา นักศึกษาเซ็นแทบทั้งหมด ได้เอียงไปในทางยึดถือเสียงและรูปทุกชนิด
   ทำไมพวกเธอจึงไม่ลอกแบบเรา ด้วยการปลดเปลื้องความคิดทุกอย่างออกไปเสีย ราวกะว่ามันมิได้มีอยู่เลย หรือราวกะว่ามันเป็นไม้ผุ ๆ ชิ้นหนึ่ง หิน ก้อนหนึ่ง หรือขี้เถ้าที่ชดแล้วเท่านั้นเล่า ? หรือลอกแบบเรา ด้วยการตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างแผ่วเบาที่สุด เท่าที่ควรจะทำได้ ในแต่ละโอกาสเล่า ? ถ้าเธอไม่ทำอย่างนั้น และเผอิญตายลงเดี๋ยวนี้ เธอจะถูกทรมานโดยยมบาล

   พวก เธอต้องหลีกเลี่ยงจากคำสอนเรื่องความมีอยู่ และเรื่องความไม่มีอยู่เสียให้หมด เพราะ จิต นั้น เหมือนกับดวงอาทิตย์ในข้อที่มันอยู่ในความว่างตลอดนิรันดร ส่องแสงได้โดยธรรมชาติของมันเอง และส่องแสงโดยไม่ตั้งใจจะส่องแสง นี่ไม่ใช่สิ่งซึ่งพวกเธออาจจะทำให้สำเร็จได้ โดยปราศจากความพากเพียร แต่เมื่อเธอลุถึงขั้นที่ไม่มีความยึดถือต่อสิ่งใด ๆ หมดแล้ว เธอก็จะเป็นผู้ที่ทำอยู่เหมือนที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายท่านทำ
   การทำอย่างนี้ จะเป็นการกระทำที่เข้าร่องเข้ารอยกันได้จริง ๆ กับคำที่กล่าวว่า “จง ทำจิตให้เป็นจิตชนิดที่ไม่อิงอาศัยอยู่บนอะไรเลย เพราะว่านี่แหละ คือ ธรรมกายแท้ ของเธอ ซึ่งเรียกได้ว่า การตรัสรู้ที่สมบูรณ์ถึงที่สุด

   ถ้าเธอไม่สามารถเข้าใจซึมซาบในข้อนี้ แม้เธอจะมีความรู้อย่างลึกซึ้งจากการศึกษาของเธอ หรือแม้เธอจะมีความพากเพียรอย่างสาหัส และบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างตึงเครียดที่สุด เธอก็จะยังคงล้มเหลวต่อการรู้แจ้งถึงจิตของเธอเองอยู่นั่นเอง ความพยายามทั้งหมดของเธอจะเดินทางผิด และเธอก็จะเข้าไปสมทบในครอบครัวของมาร โดยแน่นอน อานิสงส์อะไรกัน ที่เธอจะได้รับจากวัตรปฏิบัติชนิดนี้ ?

   มันเหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง ท่านอาจารย์ ชิกุง ได้พูดไว้ว่า “พุทธะ นั้น คือสิ่งซึ่งจิตของเธอเองสร้างขึ้นแท้ ๆ เมื่อเป็นดังนั้น จะแสวงหา พุทธะ นั้น จากพระคัมภีร์ต่าง ๆ ได้อย่างไรกัน ?” ดังนี้
   แม้พวกเธอจะได้ศึกษาถึงเรื่อง ทำอย่างไรจึงจะบรรลุถึงความเป็นพระโพธิสัตว์สามประเภท ความเป็นพระอรหันต์สี่ประเภท และภูมิทั้งสิบแห่งความก้าวหน้า ต่อการตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์ จนกระทั่งใจของเธอเต็มไปด้วยความรู้เหล่านี้แล้วก็ตาม เธอก็จะยังคงทำตัวให้เคว้งคว้างอยู่ตรงกลางระหว่าง “อย่างธรรมดา” และ “อย่างตรัสรู้แล้ว อยู่นั่นเอง

   การที่ไม่ดูให้รู้ว่าวิธีการแห่งการปฏิบัติ เพื่อลุถึง ทาง ทางโน้นทุกวิธี ล้วนแต่กินเวลานิดเดียวทั้งนั้น นั่นเป็นสังสาริกธรรม (คือสิ่งที่ทำให้เวียนว่ายไปในวัฏสงสาร ไม่รู้สร่าง)

   แรงยิงของมัน เมื่อใช้ไปแล้วครั้งเดียว (ก็หมด) ลุกศรก็ตกดิน
   พวกเธอสร้างขึ้นแต่ชีวิตชนิดที่ไม่ทำให้ความหวังของเธอเต็มได้
   ช่างอยู่ต่ำกว่าประตู โคตรภู เสียนี่กระไร
   ซึ่งจากนั้น กระโดดแผล็บเดียว ก็ถึง พุทธเกษตร !

   มันเป็นเพราะว่า เธอไม่อยู่ในพวกที่กระโดดแผล็บเดียวถึง เธอจึงยังคงดันทุรังไปในทางที่จะเรียนให้ทั่วจบถึงวิธีการต่าง ๆ ที่พวกคนโบราณตั้งไว้ เพื่อการมีความรู้ที่ยังอยู่ในระดับของความคิดปรุงแต่ง
   ท่านอาจารย์ ชิกุง ยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า “ถ้าเธอไม่พบอาจารย์ชั้นยอด เธอก็กลืนยามหายานเข้าไป เป็นหมันเปล่า ?” ดังนี้



หัวข้อ: Re: ๓๕.คำสอนของฮวงโป (ความพากเพียร)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 กันยายน 2555 18:40:40

   ๓๕.คำสอนของฮวงโป (ความพากเพียร)

   ถ้าพวกเธอจะใช้เวลาของเธอทั้งหมด ไม่ว่าเดินอยู่ ยืนอยู่ นั่งอยู่ หรือนอนอยู่ก็ตาม ให้เป็นการฝึกฝนเพื่อจะหยุดเสีย ซึ่งการกระทำต่าง ๆ ของจิตของเธอเอง ในการที่จะก่อรูปความคิดต่าง ๆ ขึ้น เมื่อเป็นดังนั้น เธอก็จะเป็นผู้เที่ยงแท้ต่อการลุถึงจุดหมายปลายทางขั้นสุดท้าย เนื่องจากธรรมที่เป็นกำลังของเธอยังมีไม่พอ เธอจึงไม่สามรถที่จะข้ามสังสารวัฏได้ ด้วยการกระโดดทีเดียวถึง แต่เมื่อห้าหรือสิบปีผ่านไป เธอก็จะมีการตั้งต้นที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน แล้วก็สามารถก้าวหน้าต่อไปได้เอง เป็นธรรมดา

   แต่มันเป็นเพราะเธอไม่เป็นบุคคลประเภทนั้น เธอจึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องใช้จิตของเธอเอง ใน “การศึกษาธฺยานะ” และ “ศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้น” การกระทำอย่างนั้น มันมีอะไรเกี่ยวกับพุทธศาสนาด้วยเล่า ?
   ดังนั้น จึงมีคำกล่าวว่า ทั้งหมดเท่าที่พระตถาคตได้สอนนั้น มีอยู่เพียงเพื่อจะกลับใจมหาชน มันเหมือนกับแสร้งลวงไปว่าใบไม้เหลือง ๆ เป็นทองคำแท้ เพื่อให้น้ำตาของเด็กหยุดไหล เท่านั้น ฉะนั้นมันต้องไม่ถูกยึดถือว่า เป็นความจริงที่เด็ดขาด แต่ประการใด ถ้าเธอถือเอาเป็นความจริง เธอก็ไม่ใช่สมาชิกแห่งนิกายเรา แล้วมันจะมีผลอะไรกับธรรมชาติเดิมแท้ของเธอเล่า ?

   ดังนั้น ข้อความในสูตรจึงกล่าวว่า “สิ่งซึ่งเรียกว่าปัญญาอันสมบูรณ์ถึงที่สุดนั้น หมายความว่าไม่มีอะไรเลยจริง ๆ ที่ต้องลุถึง” ถ้าเธอสามารถเข้าใจความข้อนี้ได้ เธอก็จะเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าทั้ง พุทธวิถี และ มารวิถี ก็ล้วนแต่พลาดจากเป้าหมายนี้สิ้นเชิงโดยเท่ากัน

   จักรวาลเดิมที่รุ่งเรืองและบริสุทธิ์นั้น ไม่ใช่ของเหลี่ยมหรือของกลม ไม่ใช่ของใหญ่หรือของเล็ก มันปราศจากความแตกต่างว่ายาวหรือสั้นใด ๆ ทั้งหมด มันอยู่เหนือการเกี่ยวข้อง เหนือการกระทำ เหนือวิชชา และเหนือการตรัสรู้
   พวกเธอต้องการเห็นให้ชัดลงไปว่า โดยแท้จริงแล้ว ไม่มีอะไรเลย ไม่มีทั้งทั้งมนุษย์สามัญ ไม่มีทั้งพุทธะทั้งหลาย มหาโลกธาตุมีจำนวนนับไม่ถ้วนดุจเม็ดทรายในโลก ก็เป็นเพียงฟองน้ำเม็ดเล็ก ๆ ญาณทั้งหลายและอริยะภาวะทั้งปวง เป็นเพียงเส้นแฉก ๆ ของแสงฟ้าแลบ ในบรรดาสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีอะไรซึ่งเป็นตัวแท้ของ จิต

   ธรรมกาย ตั้งแต่โบราณกาลมา จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ รวมทั้งพระพุทธเจ้าทั้งปวง และพระสังฆปริณายกทั้งหลาย เป็น หนึ่ง แล้วมันจะขาดอะไรไปสักเส้นขนเดียว ได้อย่างไรกันเล่า ?
   ถ้าแม้เธอเข้าใจความข้อนี้ เธอก็ต้องทำความพากเพียรเข้มแข็งถึงที่สุด ตลอดทั้งชีวิตนี้ พวกเธอไม่อาจจะมีอะไรเป็นที่แน่นอนอยู่ทุกเวลา ว่าจะได้มีชีวิตอยู่ยาว จนกระทั่งได้หายใจอีกครั้งหนึ่งหรือไม่



หัวข้อ: Re: ๓๖.คำสอนของฮวงโป (หลักที่ว่าไม่มีธรรม)
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 กันยายน 2555 18:56:20


(http://www.christies.com/lotfinderimages/D53553/ansel_adams_tetons_and_the_snake_river_grand_teton_national_park_wyomi_d5355323h.jpg)

   ๓๖.คำสอนของฮวงโป (หลักที่ว่าไม่มีธรรม)

   ถาม   ท่านพระสังฆปริณายกองค์ที่หก เป็นคนไม่รู้หนังสือ ทำไมท่านจึงได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตรเครื่องหมายตำแหน่ง ซึ่งยกท่านสู่ตำแหน่งนั้น ? ท่านเชนสุ่ย เพื่อนนักศึกษาคู่แข่งขันคนหนึ่งอยู่ในฐานะสูงกว่าศิษย์อื่่น ๆ ตั้งห้าร้อยคน เพราะเป็นอาจารย์ช่วยสอน และสามารถอธิบายความหมายอันลึกซึ้งของพระสูตรต่าง ๆ ได้ถึง ๓๒ คัมภีร์ ทำไมท่านจึงไม่ได้รับผ้ากาสาวพัสตรนั้น ?

   ตอบ   เพราะว่าท่านเชนสุ่ย ยังคงปล่อยตนไปในความคิดปรุงแต่ง คือในธรรมที่นำไปสู่การกระทำ ประโยคที่ว่า “เมื่อเธอปฏิบัติเธอจึงจะบรรลุ” นั้น ท่านองค์นั้นก็ยังยึดถือว่าเป็นของจริงอยู่ ดังนั้น พระสังฆปริฯยกองค์ที่ห้า ท่านจึงทำการมอบหมายธรรมแก่ท่านฮุยเหน่ง (เว่ยหล่าง) ชั่วขณะนั้นเอง ท่านฮุยเหน่งได้บรรลุถึงความเข้าใจซึมซาบชนิดที่ไม่ต้องมีคำพูดและได้รับ ธรรมหฤทัยอันลึกซึ้งที่สุด ของพระตถาคตไปอย่างเงียบกริบ นั่นแหละ คือข้อที่ว่าทำไม ธรรม นั้น จึงถูกถ่ายทอดไปยังท่าน

   พวกเธอไม่เห็นว่า หลักคำสอน อันเป็นรากฐานของธรรมนั้น คือหลักที่ว่า ไม่มีธรรม ถึงกระนั้น หลักที่ว่าไม่มีธรรม นั่นแหละ เป็นธรรมอยู่ในตัวมันเอง และบัดนี้ หลักที่ว่า ธรรมไม่มีนั้น ก็ได้ถูกถ่ายทอดไปแล้ว หลักที่ว่า มีธรรม จะเป็นธรรมได้อย่างไรกัน ?
   ใครก็ตามเข้าใจซึมซาบความหมายของข้อความนี้ ย่อมควรที่จะได้นามว่า ภิกษุ คือผู้ซึ่งเชี่ยวชาญต่อ “ธรรมปฏิบัติ

   ถ้าเธอไม่เชื่อความข้อนี้ เธอลองอธิบายความหมายของเรื่องต่อไปนี้ดู ท่านเว่ยมิง ได้ปีนขึ้นไปยังยอดสุดแห่งภูเขาต่ายื่น เพื่อพบพระสังฆปริณายกองค์ที่หก ท่านสังฆปริณายกได้ถามว่า มาทำไม มาเพื่อจีวรหรือมาเพื่อ ธรรม ? ท่านเว่ยมิงได้ตอบว่า ไม่ได้มาเพื่อจีวรแต่มาเพื่อ ธรรม เมื่อเป็นดังนั้น พระสังฆปริณายกได้กล่าวว่า “ขอให้ท่านทำจิตของท่านให้เป็นสมาธิสักขณะหนึ่ง และเว้นการคิดในความหมายของคำว่า ดีและชั่ว เสียให้หมด” ท่านเว่ยมิงได้ทำตามสั่ง และพระสังฆปริณายกได้กล่าวต่อไปว่า “เมื่อ ท่านไม่คิดถึงความดี และไม่คิดถึงความชั่วอยู่ ตรงขณะนี้แหละเธอจะย้อนกลับไปสู่ภาวะที่เธอได้เป็นอยู่ ในขณะก่อนแต่ที่มารดาบิดาของเธอเองเกิดมา” พอพูดจบ ท่านเว่ยมิงก็ได้ลุถึงความเข้าใจซึมซาบชนิดที่ไม่ต้องมีเสียงพูด ได้โดยแว็บเดียว

   ต่อจากนั้นท่านได้หมอบลงบนพื้นดินและได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้า เหมือนกับคนที่ดื่มน้ำอยู่ ย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง ว่ามันเย็นอย่างไร ข้าพเจ้าได้อยู่กับท่านสังฆปริณายกองค์ที่ห้า และศิษย์ทั้งหลายของท่านมาเป็นเวลา ๓๐ ปี แต่เพิ่งวันนี้เอง ที่ข้าพเจ้าสามารถขจัดความผิดพลาดต่าง ๆ ในวิธีคิดอย่างเก่า ของข้าพเจ้าเสียได้” พระสังฆปริณายกองค์ที่หก ได้ตรัสว่า “ถูก แล้ว อย่างน้อยที่สุด บัดนี้ท่านย่อมเข้าใจว่า ทำไมเมื่อพระสังฆปริณายกองค์ที่หนึ่งจากอินเดียมาถึง ท่านจึงได้ชี้ตรงไป แต่ที่ จิต ของคน ซึ่งโดย จิต นั้นเอง เขาเหล่านั้นสามารถรู้แจ้งเห็นจริง ถึง ธรรมชาติเดิมแท้ของเขา และกลายเป็น พุทธะ ได้ และข้อที่ว่า “ทำไมพระสังฆปริณายกองค์นั้น จึงไม่เคยพูดถึงสิ่งอื่นนอกไปจากนี้เลย”

   เรายังไม่เห็นกันอีกหรือ ว่าทำไมเมื่อพระอานนท์ได้ถามพระมหากาศยปะว่า พระพุทธองค์ซึ่งโลกบูชา ได้ทรงมอบหมายอะไรให้อีก พร้อมกับจีวรทอง พระมหากาศยปะจึงร้องขึ้นว่า “อานนท์!” เมื่อพระอานนท์ขานตอบ ด้วยความเคารพว่า “อะไรครับ ?” ดังนั้น ท่านมหากาศยปะได้กล่าวต่อไปว่า “ทิ้งเสาธงลงเสียที่ประตูวัดเถิด” ดังนี้ นี่แหละ คือนิมิตซึ่งพระสังฆปริณายก (สายอินเดีย) องค์ที่หนึ่งท่านได้ให้แก่พระอานนท์

   ตลอดเวลา ๓๐ ปี ที่พระอานนท์คนฉลาด ปฏิบัติรับใช้ตามพระพุทธประสงค์ส่วนพระองค์มา แต่เนื่องจากท่านเป็นคนรักการได้ความรู้มากเกินไป พระพุทธองค์จึงได้ทรงตักเตือนท่าน โดยตรัสว่า “แม้ เธอเที่ยวหาความรู้อยู่ตั้ง ๑,๐๐๐ วัน มันก็ยังทำประโยชน์ให้แก่เธอได้น้อยกว่าการฝึกฝนเรื่อง ทาง ทางนี้โดยเฉพาะ แม้เพียงวันเดียว ถ้าเธอไม่ฝึกฝนมัน เธอจะไม่สามารถย่อยได้ แม้แต่น้ำหยดเดียว !”

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTd3da6bbUgK3S5o2y3ZLAmmcEW5hdsknbWlrOicyy3Cf66BDZg)

จบ บันทึกชึนเชา ต่อที่ บันทึกวาน-ลิง