[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 12 มีนาคม 2566 15:35:57



หัวข้อ: เพราะอะไร? สมบัติของ “มารี อังตัวเน็ตต์” ถึง “ขายดี” ราคาแทบไม่มีตก
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 12 มีนาคม 2566 15:35:57
(https://www.museumsiam.org/upload/content_4648/2021_08/1627880633_314.jpg)
ภาพวาด พระนางมารี อ็องตัวแน็ตต์ โดย Jean-Baptiste Gautier Dagoty เมื่อ ค.ศ.1775

เพราะอะไร? สมบัติของ “มารี อังตัวเน็ตต์” ถึง “ขายดี” ราคาแทบไม่มีตก


ผู้เขียน - ศราวิน ปานชัย
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2566


ประวัติศาสตร์ไม่เคยขาดแคลนราชินีหรือสตรีผู้มีชื่อเสียง แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะมีชื่อเสียงโด่งดังข้ามกาลเวลายาวนานเหมือน พระนางมารี อังตัวเน็ตต์ (Marie Antoinette) ราชินีแห่งฝรั่งเศสที่สิ้นพระชนม์เมื่อ ค.ศ.1793 แม้จะผ่านมา 230 ปีแล้ว แต่เรื่องราวและสมบัติของพระองค์ยังคง “ขายได้” และ “ขายดี” เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี 2018 โซเทบีส์ (Sotheby’s) บริษัทประมูลชื่อดังของโลก จัดการประมูลขึ้นที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ชุดเครื่องประดับของพระนางมารี อังตัวเน็ตต์ ประกอบด้วย จี้ไข่มุกประดับเพชร สร้อยเพชร ฯลฯ ถูกประมูลได้ในราคา 36 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นการประมูลเครื่องประดับไข่มุกที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ทำลายสถิติสร้อยไข่มุก “La Peregrina” ของเอลิซาเบธ เทย์เลอร์ (Elizabeth Taylor) นักแสดงชื่อดัง ซึ่งในปี 2011 มีผู้ประมูลไปในราคา 11 ล้านเหรียญสหรัฐ

ต่อมาในปี 2020 ในงาน Christie’s Magnificent Jewels จัดโดยสถาบันประมูลคริสตี้ส์ (Christie’s) ที่กรุงเจนีวาอีกเช่นกัน สร้อยข้อมือสามเส้นคู่หนึ่งประกอบด้วยเพชร 112 ชิ้น ของมารี อังตัวเน็ตต์ มีผู้ประมูลไปในราคา 8.2 ล้านเหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นว่านอกจากอัญมณีที่มีความงาม ชื่อเสียงของเจ้าของเดิมก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เครื่องประดับมีมูลค่าสูงขนาดนี้

ส่วนเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 คริสตี้ส์จัดการประมูลขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นำเฟอร์นิเจอร์ 2 ชิ้นที่เป็นของใช้ส่วนพระองค์ของอดีตราชินีฝรั่งเศสมาประมูล ทำรายได้ไปชิ้นละเกือบ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

ชิ้นแรกเป็นลิ้นชักผลงานของปิแอร์ มาเครต์ (Pierre Macret) ช่างทำตู้ผู้มีชื่อเสียงที่สุดในปารีสยุคนั้น ซึ่งเคยตั้งอยู่ใน ชาโต เดอ คอมเปญ พระราชวังหลังหนึ่งซึ่งเป็นที่ประทับของราชวงศ์ฝรั่งเศส ส่วนอีกชิ้นคือ เก้าอี้ที่ประทับ ผลงานของจอร์จส์ เจค็อบ (Georges Jacob) ช่างทำเก้าอี้ชื่อดังในทศวรรษ 1780 ตั้งอยู่ในพระราชวังแวร์ซายส์

เหตุผลที่ทำให้เรื่องของมารี อังตัวเน็ตต์ และสิ่งของที่ทรงใช้ยังคง “ขายได้” เป็นเพราะชีวิตของอดีตราชินีผู้นี้ผูกโยงกับเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของยุโรป ประกอบกับชีวิตและจริยวัตรของพระนางสะท้อนภาพลักษณ์ของเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ เลอโฉม และภาพความหรูหราของราชสำนักฝรั่งเศสยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงได้รับการยกให้เป็น “แฟชั่นไอคอน” คนสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฝรั่งเศส ฉลองพระองค์ที่ทรงสวมใส่มักอลังการ หรูหรา ตัดเย็บด้วยผ้าชั้นดี ออกแบบโดยดีไซเนอร์และช่างฝีมือชื่อดังที่มีความประณีตละเอียดขั้นสุด ส่วนทรงผม Pouf ของพระองค์ก็โดดเด่นสะดุดตา เพราะมีความสูงถึง 3 ฟุต กลายเป็นเทรนด์ในยุคนั้นที่หญิงสาวชั้นสูงจำนวนมากนิยมทำตาม รสนิยมของพระนางยังสะท้อนออกมาผ่านเครื่องเรือนและเครื่องประดับ ที่ล้วนแต่ออกแบบอย่างวิจิตรงดงามอีกด้วย

แม้จะมีชีวิตที่หรูหราในราชสำนักฝรั่งเศส ทว่าวาระสุดท้าย มารี อังตัวเน็ตต์ กลับต้องพบจุดจบอันน่าเศร้าด้วยคมมีดกิโยตีนแห่งการปฏิวัติ เรื่องราวของพระนางจึงมีมนต์ขลัง แม้เวลาจะผ่านมากว่า 2 ศตวรรษแล้วก็ตาม ดังที่ มาริโอ ทาเวลลา (Mario Tavella) ประธานบริษัท โซเทบีส์ ที่จัดประมูลทรัพย์สมบัติของมารี อังตัวเน็ตต์ กล่าวไว้ว่า “มารี อังตัวเน็ตต์ จะเป็นอมตะและคงอยู่ตลอดไป”