[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 12 ตุลาคม 2557 05:36:49



หัวข้อ: ศาสนาเชน - วิถีแห่งอหิงสา
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 12 ตุลาคม 2557 05:36:49
.

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-1119-IMG-2275.jpg)
นักบวชเชนกำลังสักการะพระรูปพระโคมเฏศวร บุตรองค์ที่สองของพระอทินาถภควันต์ปฐมติรถังกร
ศาสดาองค์แรกของศาสนาเชน พระรูปนี้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองศรวณพลโคละ รัฐกรณาฏกะ


เชน  วิถีแห่งอหิงสา
เรื่องโดย ทรงวุฒิ อินทร์เอม และอธิวัฒน์ ศิลปเมธานนท์

Story

นักบวชเชนกำลังสักการะพระรูปพระโคมเฏศวร บุตรองค์ที่สองของพระอทินาถภควันต์ปฐมติรถังกร ศาสดาองค์แรกของศาสนาเชน พระรูปนี้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองศรวณพลโคละ รัฐกรณาฏกะ

“จัยจีเนนดระ” น้ำเสียงแผ่วเบาที่เปล่งออกมา พร้อมอากัปกิริยาการยกมือไหว้อย่างน้อบน้อม อาจเป็นคำทักทายที่ไม่คุ้นหูใครหลายคน เมื่อเทียบกับคำทักทายยอดฮิตอย่าง "นมัสเต" ของภารตชน แต่นี่เองคือจุดเริ่มต้นในการเดินทางเพื่อตามหาที่มาของความหมาย “ขอให้เชนจงมีชัย” ของผม

หลายพันปีก่อน ณ ดินแดนชมพูทวีปอันรุ่มรวยไปด้วยการแสวงหาคุณค่าความหมายทางจิตวิญญาณ สายธารความเชื่อเก่าแก่ที่หยั่งรากลึกมายาวนาน หล่อหลอมจนเกิดเป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการชี้นำทางสังคมในดินแดนแห่งนี้ ทว่าในช่วงเวลาที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูรุ่งเรืองอยู่นั้น ในดินแดนชมพูทวีปยังให้กำเนิดลัทธิความเชื่อทางจิตวิญญาณใหม่อีกสองศาสนา ได้แก่ ศาสนาเชน และศาสนาพุทธ ซึ่งเกิดจากการ  “ปฏิวัติ” ความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยที่ทั้งเชนและพุทธต่างเป็นศาสนาแบบอเทวนิยม (ต่างจาก “พหุเทวนิยม” ของพราหมณ์-ฮินดู) ในความหมายที่ว่า มนุษย์และธรรมชาติเป็นตัวกำหนดความจริงของชีวิต มิได้ขึ้นอยู่กับพระเจ้าหรือเทพเจ้า

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ศาสนาเชนถือกำเนิดก่อนคริสต์ศักราชราว 600 ปี จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดศาสนาหนึ่งของโลก และยังร่วมสมัยกับพุทธศาสนา ศาสดาหรือผู้ให้กำเนิดศาสนาเชนคือ พระมหาวีระ ผู้มีพระประวัติคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้าอย่างมาก จนบางครั้งหลายคนถึงกับหลงเข้าใจผิดคิดว่า ทั้งสองพระองค์เป็นบุคคลคนเดียวกัน

พระมหาวีระประสูติในวงศ์กษัตริย์ลิจฉวี ผู้ครองนครเวสาลี แคว้นวัชชี ดินแดนทางตอนเหนือของประเทศอินเดียเมื่อราว 635 ปีก่อนคริสต์ศักราช ขณะมีพระชนมายุ 30 พรรษา พระมหาวีระทรงละชีวิตทางโลกและเสด็จออกผนวช มุ่งแสวงหาโมกขธรรมอย่างจริงจัง พระองค์ทรงบำเพ็ญสมาธิและอัตตกิลมถานุโยค (การทรมานตน) โดยปราศจากเครื่องทรง ทั้งทรงถือสัจจวาจาไม่ยอมเอ่ยปากพูดคุยกับใครเป็นระยะเวลายาวนานถึง12 ปี จนบรรลุธรรมขั้นสูงสุด หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง จากนั้นจึงทรงละวางสัจจวาจาเพื่อออกประกาศศาสนา ซึ่งได้ชื่อในเวลาต่อมาว่า “เชน” แปลว่า “ชนะ”

ศาสนาเชนมีปรัชญาความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนา ทุกชีวิตมิอาจดับสูญ มนุษย์ สัตว์ พืช จุลินทรีย์ และไม่เว้นแม้กระทั้งธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีชีวิตที่ต้องพึ่งพาตัวเอง ไม่สามารถพึ่งพาชีวิตอื่นได้ ทุกชีวิตมีกรรมอันเป็นผลของการกระทำที่จะส่งผลในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดหรือสังสารวัฏ ศาสดาในศาสนาเชนมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ตีรถังกร” ชาวเชนเชื่อว่า ที่ผ่านมาตีรถังกรประสูติมาในโลกแล้ว 24 พระองค์ โดยพระมหาวีระคือตีรถังกรองค์ที่ 24 ด้วยเหตุนี้ ชาวเชนจึงเชื่อว่าศาสนาของพวกเขาเก่าแก่ที่สุดในโลก

ปัจจุบัน มีชาวอินเดียนับถือศาสนาเชนอยู่เพียงราว 5 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 1,200 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของประชากรทั้งประเทศ สาธุชนชาวเชนมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศอินเดีย แต่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐแถบตะวันตกและตอนใต้ เช่น ราชสถาน คุชราต มัธยประเทศ และกรณาฏกะ นอกจากนี้ ยังมีชาวเชนโพ้นทะเลอีกจำนวนหนึ่งที่ไปตั้งรกรากในต่างประเทศ เช่น ยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา สาธุชนชาวเชนมักประกอบอาชีพด้านค้าขาย ครูบาอาจารย์ นักธุรกิจ นักลงทุน เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม เพราะการปลูกพืชผลทางการเกษตรมีความเสี่ยงที่จะไปเบียดเบียนที่อยู่อาศัยและทำลายสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้พื้นดิน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดต่อหลักอหิงสธรรม หลักธรรมสำคัญที่สุดข้อหนึ่งของศาสนาเชน

ที่เมืองศรวณพลโคละ แหล่งจาริกแสวงบุญสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของผู้นับถือศาสนาเชน ผมใช้เวลาเดินทางกว่า 40 ชั่วโมงบนรถโดยสารประจำทาง เพื่อมาเยือนเมืองเงียบสงบแห่งนี้ เมืองศรวณพลโคละตั้งอยู่ในรัฐกรณาฏกะทางตอนใต้ของอินเดีย ห่างจากกรุงนิวเดลี 2,300 กิโลเมตร ที่นี่ผมพบกับวันทนา เชน อาจารย์วิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งหนึ่งจากกรุงนิวเดลี เธอใช้เวลาพักร้อนยาวนานกว่าสองสัปดาห์เพื่อจาริกแสวงบุญไปยังสถานที่สำคัญต่างๆในศาสนาเชน “นี่เป็นครั้งที่สามแล้วที่ฉันกลับมาที่นี่” เธอบอก และเล่าว่า เมืองศรวณพลโคละเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวเชน  เพราะเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่แกะสลักจากหินแกรนิตก้อนเดียว จารึกภาษากันนัฑที่ฐานบอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีต รูปเคารพนี้ มีความสูง 17.38 เมตร สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 9 มีชื่อเรียกว่า “พระโคมเฏศวร” หรือ “พระพหุพลี” (ผู้มีแขนที่มีพลัง) พระโคมเฏศวรใช้สถานที่แห่งนี้ฝึกบำเพ็ญตบะจนบรรลุเป็นพระอฤหันต์ หรือผู้สิ้นแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวงจนชีวาตมันหลุดพ้น พระอฤหันต์ในศาสนาเชนนั้นเทียบเท่ากับพระอรหันต์ในพุทธศาสนานั่นเอง

วันทนา เชน เป็นชาวเชนนิกายทิคัมพร (อีกนิกายหนึ่งคือเศวตัมพร) วันนี้เธอตั้งใจจะมาทำสมาธิและสวดมนต์ก่อนจะเดินทางต่อไปยังเมืองอื่นในวันรุ่งขึ้น หลังเธอขอตัวไปทำสมาธิ เราได้พบกันอีกครั้งที่ร้านอาหารใต้โรงแรม วันทนาเล่าถึงความเป็นไปในสังคมเชนยุคปัจจุบัน เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเคร่งศาสนา แต่ก็ยอมรับหลักธรรมปฏิบัติที่ถูกผ่อนปรนมาจาก “มหาพรต” หรือหลักธรรมสำหรับนักบวช มาสู่ “อนุพรต” ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์อย่างเธอ วันทนาบอกว่า ความเคร่งครัดของเธอควรมีผลกระทบต่อคนรอบข้างให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เธอยกกรณีเวลาเดินทางไปต่างประเทศและต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คนต่างวัฒนธรรม “ชาวเชนส่วนใหญ่ใช้เวลาหมดไปกับการศึกษาหาความรู้ สวดมนต์ และทำทาน หลักอหิงสาคือหลักการที่ดีมากในสังคมโลกปัจจุบันค่ะ ถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงและนำไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง หลายสิ่งหลายอย่างคงเข้ารูปเข้ารอยมากกว่านี้” เธอออกความเห็น “คุณรู้ไหม  มีพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งของอินเดียเอาสัญลักษณ์ฝ่ามือของศาสนาเชนไปเป็นสัญลักษณ์ของพรรค แล้วหลังจากนั้น พรรคการเมืองพรรคนั้นก็ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ที่น่าขันคือ พวกเราชาวเชนกลับไม่มีพรรคการเมืองของตนเอง แตกต่างจากศาสนาอื่นในอินเดีย”

แม้ศาสนิกชาวเชนจะมีจำนวนเพียงน้อยนิด แต่พวกเขาอาจเป็นกลุ่มคนที่ทรงอิทธิพลที่สุดกลุ่มหนึ่งในอินเดีย   บางคนถึงกับตั้งฉายาให้ว่า “ฟันเฟืองแพลทินัม” ชาวเชนไม่เพียงจ่ายภาษีรวมกันคิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 24 ของยอดรวมทั้งประเทศในปีที่ผ่านมา แต่ยังบริจาคเพื่อการกุศลต่างๆ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 อีกทั้งเป็นเจ้าของอาคารสถานที่ และโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ราวร้อยละ 28 ในอินเดีย หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ในอินเดียมีเจ้าของเป็นชาวเชน พวกเขาคือกลุ่มคนจำนวนน้อยไม่ถึงร้อยละหนึ่งของประชากร แต่กลับเป็นกลุ่มคนที่จัดว่าร่ำรวยที่สุดในอินเดีย ชาวเชนเกือบทั้งหมดเป็นผู้มีการศึกษา พวกเขาเป็นเจ้าของสถานศึกษามากมายในอินเดีย นักบวชเชนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีการศึกษาสูง จึงเป็นที่ยอมรับในหมู่   ผู้นับถือศาสนาเชนและคนต่างศาสนาที่เปิดใจยอมรับทุกหลักการความเชื่อ “แต่ละชีวิตเกื้อกูลซึ่งกันและกัน นี่แหละคือความหมายของชีวิตครับ ผมเชื่อในหลักอหิงสธรรมที่ท่านศาสดามหาวีระกล่าวไว้ก่อนนิพพาน พวกเราชาวเชนไม่ว่าจะนิกายทิคัมพรหรือเศวตัมพรต่างถือหลักธรรมนี้เป็นยอดคำสอนสูงสุด" จิรัน วี เด็กหนุ่มชาวเชนอีกคนที่ผมพบออกความเห็น

คำพูดของจิรันทำให้ผมหวนนึกถึงอมตวาจาของมหาตมาคานธี เอกบุรุษผู้นำเอกราชกลับสู่อินเดีย คานธีพูดถึงหลักอหิงสาไว้ว่า "ความหมายของคำว่า 'อหิงสา' ตามตัวอักษรนั้น อาจมีความหมายถึงการไม่ใช้ความรุนแรง แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว มันมีความหมายที่สูงส่งอย่างยิ่ง และเป็นความหมายที่สูงส่งอย่างไร้ขีดจำกัดเสียด้วย"


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-1119-IMG-2276.jpg)
ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : หลังศึกษาหลักธรรมคำสอนมาตลอดทั้งวัน ศิษยาดีปา ศิษยากัลปนา และศิษยาบะซันตีออกมายืดเส้นยืดสาย
                   และสูดอากาศภายนอก สตรีทั้งสามต่างอุทิศชีวิตให้ศาสนาเชนมาไม่ตํ่ากว่าคนละ 10 ปี


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-1119-IMG-2278.jpg)
ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : แม้จะต่างศาสนา ทว่าศรัทธาชนชาวฮินดูกลับให้ความเคารพนักบวชเชนนิกายทิคัมพร ซึ่งเป็นแบบอย่างของผู้สละแล้ว
                    ซึ่งทุกสิ่งในทางโลกเพื่อแสวงหาโมกขธรรม อันเป็นเป้าหมายสูงสุดทางจิตวิญญาณ


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-1119-IMG-2279.jpg)
ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : มุนี ศรุตนันที วัย 83 ปี นักบวชเชนนิกายทิคัมพร กำลังเดินช้าๆ ไปยังอีกอาคารหนึ่งเพื่อศึกษาหลักธรรม
                   เขาสละทางโลกเพื่อออกบวชตั้งแต่อายุ 66 ปี หลังเกษียณอายุจากตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของอินเดีย


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-1119-IMG-2280.jpg)
ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : ยามเช้าภายในห้องอาหารเล็กๆ ในเมืองศระวัณเพฬาโกฬา คลาคลํ่าไปด้วยนักแสวงบุญทั้งชาวเชนและชาวฮินดู
                   แม้ความเชื่อจะ ต่างกัน แต่อาหารทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นอาหารมังสวิรัติ


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-1119-IMG-2281.jpg)
ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : ศรัทธาชนชาวเชนนิกายเศวตัมพรใช้ผ้าปิดปากระหว่างทำพิธีบูชาทางศาสนา เพื่อป้องกันแมลง
                    หรือสิ่งมีชีวิตที่อาจเล็ดลอดเข้าปาก อันเป็นการทำลายชีวิตอย่างไม่เจตนาและขัดหลักอหิงสธรรม


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-1119-IMG-2282.jpg)
ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ :  -


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-1119-IMG-2283.jpg)
ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : วัดเชนเป็นแหล่งพักพิงทางจิตใจของศรัทธาชนที่แวะเวียนมาสนทนาธรรมและขอพรจากผู้ทรงศีล
                    นอกเหนือจากการสักการบูชารูปเคารพทางศาสนาโดยเฉพาะองค์ตีรถังกรอย่างพระมหาวีระ


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-1119-IMG-2284.jpg)
ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : นักบวชเชนกำลังสักการะพระรูปพระโคมเฏศวร บุตรองค์ที่สองของพระอทินาถภควันต์ปฐมติรถังกร
                    ศาสดาองค์แรกของศาสนาเชน พระรูปนี้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองศรวณพลโคละ รัฐกรณาฏกะ


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-1119-IMG-2285.jpg)
ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : อาจารยะ สัจจิทานันที นักบวชเชนนิกายทิคัมพร แม่ชีอารยิกา ฤทธิศรี และศาสตราจารย์ชีวันธรกุมาร เค. เหตเปเฏ
                    ยืนสนทนาธรรมระหว่างรอเข้าสักการะพระรูปพระโคมเฏศวรที่เมืองศรวณโคละ


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-1119-IMG-2286.jpg)
ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : ศรัทธาชนชาวเชนจำนวนมากกำลังร้องรำบทสวดตามจังหวะดนตรีอย่างสนุกสนานระหว่างการฟังธรรมเทศนา  
                    ณ ศาลาประชาคม หรือ ทาวน์ฮอลล์ “สุขาดิปัดรังคะมัญจ์” ในเมืองอุทัยปุระ