พระเครื่อง

(1/38) > >>

ใบบุญ:
Tweet

.

พระเครื่อง


พระหูยาน กรุวัดปืนพิมพ์เล็ก

พระหูยานเป็นพระเนื้อชินที่ได้รับความนิยมมาแต่ในสมัยโบราณจากประสบการณ์ในด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรี และพระหูยานที่พบนั้นก็มีอยู่หลายกรุหลายจังหวัด เช่น จังหวัดลพบุรี อันเป็นกรุต้นกำเนิดที่พบพระหูยานก่อนกรุอื่นๆ คือที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ นอกจากนี้ยังพบในกรุอื่นๆ อีก เช่น กรุวัดปืน กรุวัดอินทาราม เป็นต้น ในจังหวัดอื่นๆ ที่พบก็มีที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดชัยนาท จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

พระหูยานที่พบในจังหวัดลพบุรี พบที่กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นกรุแรก มีการพบอยู่หลายพิมพ์ เช่น พระหูยานบัวสองชั้น พระหูยานพิมพ์ใหญ่ พระหูยานพิมพ์กลาง พระหูยานพิมพ์เล็ก และพระหูยานพิมพ์รัศมีแฉก เป็นต้น พระหูยานกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุนั้นถูกค้นพบตั้งแต่ปี พ.ศ.2430 พร้อมพระอื่นๆ อีกมากมาย ศิลปะของพระหูยานที่พบในจังหวัดลพบุรีล้วนเป็นศิลปะแบบลพบุรี เทียบเคียงได้กับศิลปะแบบบายนของขอม พระหูยานได้มีประสบการณ์ต่างๆ มากมายจากผู้ที่ใช้พระหูยานห้อยคอ ส่วนมากก็จะเป็นประเภทอยู่ยงคงกระพันเป็นหลัก พระหูยานจึงเป็นที่นิยมเสาะหากันมาก กรุสุดท้ายเป็นกรุใหม่ที่ถูกพบในปี พ.ศ.2508 ซึ่งพระมีความสมบูรณ์มากมีผิวปรอทจับขาวทั่วทั้งองค์พระ ศิลปะแม่พิมพ์เป็นแม่พิมพ์เดียวกับพระกรุเก่าของวัดพระศรีฯ ที่พบในครั้งแรกๆ

พระหูยานอีกกรุหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากไม่แพ้กันก็คือ กรุวัดปืน วัดปืนอยู่ตรงไหน ในปัจจุบันอาจจะไม่มีใครทราบกันนัก เนื่องจากแปรสภาพกลายเป็นตลาดไปเสียแล้ว วัดปืนแต่เดิมเป็นโบราณสถานที่ทรุดโทรมปรักหักพังไปจนไม่เหลือสภาพ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับป้อมปืนโบราณ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าวัดปืน และต่อมามีผู้ไปขุดพบพระเครื่องที่มีชื่อเสียงหลายพิมพ์ ถ้าไม่มีใครไปพบพระเครื่องนานเข้าก็จะลืมเลือนกันไป และไม่มีใครทราบว่าบริเวณที่แห่งนั้นเคยเป็นโบราณสถานมาก่อน พระกรุวัดปืนที่พบนี้มีชื่อเสียงโด่งดังมากจากประสบการณ์ของผู้ที่เคยมีพระวัดปืนห้อยคอ พระวัดปืนนั้นพบพระเนื้อชินเงินอยู่หลายพิมพ์ ที่รู้จักกันมากก็คือพระนาคปรกกรุวัดปืน อันเป็นพระนาคปรกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของจังหวัดลพบุรี มีพบอยู่หลายพิมพ์ เช่น พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก และพิมพ์จิ๋ว นอกจากนี้ก็ยังพบพระหูยาน กับพระซุ้มเรือนแก้วอีกด้วย

พระหูยานกรุวัดปืนนั้นพบน้อยมาก พระส่วนใหญ่ที่ขึ้นจากกรุจะชำรุดผุระเบิดเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับพระอื่นๆ ที่พบในกรุวัดปืน พระหูยานกรุวัดปืนจะมีพุทธลักษณะคล้ายๆ กับพระหูยานกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แต่มีขนาดย่อมกว่า ผิวมักจะเป็นสีดำเทา พิมพ์ที่พบพระหูยานกรุวัดปืนมีพระพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก เนื่องจากพระหูยานกรุวัดปืนมีพบน้อยจึงค่อนข้างหายาก แทบไม่ได้พบเห็นกันเลย พระพิมพ์ใหญ่นั้นหารูปยังยากเลยครับ เท่าที่เห็นรูปถ่ายจะเป็นพิมพ์เล็ก แต่ก็พบน้อยมากหารูปยากจริงๆ ครับ

พุทธคุณพระหูยานกรุวัดปืนก็เช่นเดียวกับพระหูยานกรุวัดพระศรีฯ และ พระนาคปรกกรุวัดปืน เด่นทางด้านอยู่ยงคงกระพันและแคล้วคลาด พระหูยาน กรุวัดปืนเป็นพระหูยานกรุหนึ่งที่น่าสนใจมาก แต่ก็หายากนะครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระหูยาน กรุวัดปืนพิมพ์เล็กมาให้ชมกันครับ
ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์


พระหูยาน ชัยนาท พิมพ์บัว

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ผู้ที่ชื่นชอบพระเครื่องไม่ว่าจะอยู่วงนอกหรือวงในก็ตาม ต่างก็คงจะมีปัญหาเรื่องพระเครื่องบางชนิดที่เราไม่ทราบที่มาที่ไป คือไม่ทราบว่าเป็นพระกรุไหนในกรณีที่เป็นพระเก่าพระกรุ หรือเป็นพระที่เกจิอาจารย์สร้าง แต่ไม่ทราบว่าเป็นของวัดใดพระคณาจารย์รูปใดเป็นผู้สร้าง แต่พระเครื่องนั้นๆ เท่าที่พิจารณาดูแล้วว่าเป็นพระเก่า และเป็นพระที่น่าจะเป็นพระแท้ เพียงแต่ไม่มีประวัติข้อมูลเกี่ยวกับพระเครื่ององค์นั้น จนมีวลีในสังคมพระเครื่องที่ว่า "แท้ไม่รู้ที่ ดีไม่รู้วัด"

วลีนี้สำหรับท่านที่อยู่วงนอกได้ยินอาจจะนึกว่าเป็นคำเยาะเย้ย และไม่พอใจ แต่ความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้น เป็นแค่คำเปรียบเปรยเท่านั้นครับ ซึ่งโดยปกติก็จะพูดกันกับผู้ที่สนิทสนมกันเท่านั้น ความหมายก็คือพระนั้นๆ แท้ เพียงแต่ไม่ทราบประวัติข้อมูล จึงไม่ทราบที่หรือไม่ทราบวัดและประวัติของผู้สร้างเท่านั้นครับ

ในสังคมผู้นิยมพระเครื่อง หรือผู้เล่นหาในสนามพระนั้น ก็จะรู้แต่เพียงพระที่นิยมเล่นหาและมีผู้ที่ต้องการ หมายถึงมีผู้ที่รู้จักกันมากๆ มีการเผยแพร่ประวัติความเป็นมา จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีมูลค่าในความนิยมแลกเปลี่ยนได้ พระเครื่องที่รู้จักกันในสังคมผู้นิยมพระเครื่องถ้าจะเทียบกันเป็นสัดส่วนแล้ว

พระที่ในสังคมพระเครื่องรู้จักกันและ มีการเล่นหาน่าจะประมาณ 30-40% ของพระเครื่องที่มีทั้งหมด ทั้งพระกรุและพระเกจิอาจารย์ อีก 60-70% ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายนัก อาจจะรู้จักกันในท้องถิ่น หรือในหมู่ลูกศิษย์ลูกหาเท่านั้น

ดังนั้นจึงมีพระเครื่องที่คนส่วนใหญ่ที่ยังไม่รู้จักอีกมาก อาจจะมีปัจจัยหลายๆ อย่างเช่น ประวัติข้อมูลที่ยังไม่มีการเผยแพร่ไปยังสังคมนัก ความต้องการเสาะหาของคนในท้องถิ่นก็มีส่วนสำคัญ ถ้าคนในพื้นที่ยังไม่ค่อยนิยมเสาะหา ก็ไม่มีการเผยแพร่ประวัติ แต่ถ้าคนในท้องที่เสาะหาก็จะมีผู้สนใจตามและสอบถามประวัติข้อมูล ซึ่งก็จะทำให้มีผู้รู้จัก และก็จะทำให้มีมูลค่าตามมา

ครับทีนี้เรามาดูพระเครื่องที่มีคนรู้จักและนิยมกันในสังคมผู้นิยมพระเครื่อง ที่เป็นสัดส่วนประมาณ 30-40% นั้น ก็มีจำนวนชนิดของพระเครื่องมากมายมหาศาล ซึ่งในคนคนหนึ่งก็ไม่สามารถรู้จักหรือมีความรู้ความชำนาญได้ทั้งหมด ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญจริงๆ ก็จะมีความรู้ความชำนาญในแต่ละด้าน แต่ละประเภท หรือที่รู้จักมากหน่อยแต่ก็ไม่ครบทั้งหมด ในสังคมผู้นิยมพระเครื่องจึงมีการพึ่งพาอาศัยกัน การประกวดพระเครื่องจึงต้องมีคณะกรรมการที่มีความรู้ความชำนาญในแต่ละประเภทเข้ามาตัดสินพระเครื่องประเภทนั้นๆ

เรากลับมาคุยกันถึงเรื่องพระแท้ที่ไม่ทราบที่กัน ก็อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นว่า มีพระเครื่องอีกมากมายที่ในสังคม ยังไม่ทราบที่มาที่ไป แต่เท่าที่พิจารณาดูแล้วว่าน่าจะ เป็นพระแท้ จากเป็นพระเครื่องที่ไม่ได้มีเจตนาล้อเลียนหรือทำให้เข้าใจไขว้เขวให้เป็นของที่อื่น คือไม่ได้มีเจตนาปลอมแปลง มีเอกลักษณ์ของตนเองชัดเจน ก็น่าจะเป็นพระเครื่องที่น่าจะแท้ เพียงแต่ยังไม่ทราบประวัติความเป็นมาเท่านั้น และอีกอย่าง ก็คือ เป็นพระเครื่องที่ผู้พิจารณาเขาไม่ทราบหรือรู้จักเท่านั้น คำตอบก็จะเป็นว่า ไม่ทราบที่หรือแท้ไม่ทราบที่ประมาณนี้ครับ

ตัวผมเองก็มีพระเครื่องประเภทนี้อยู่ เช่นกันครับ ขนาดผมเข้าสนามพระตั้งแต่ยุคปลายของสนามพระเครื่องวัดมหาธาตุ ต่อมาจนถึงสนามวัดราชฯ สนามท่าพระจันทร์ จนถึงทุกวันนี้ ผมก็ไม่ได้เข้าไปทุกวัน แต่ก็เข้าไปทุกครั้งที่มีเวลาว่าง เนื่องจากไม่ได้มีอาชีพ ซื้อ-ขายแลกเปลี่ยน แต่เป็นคนที่ชื่นชอบและศึกษาสะสมเท่านั้น พระเครื่อง ที่ได้มาจากผู้ใหญ่บ้าง คนรู้จักบ้าง เช่าหา มาบ้าง บางครั้งก็ไม่ทราบว่าเป็นพระอะไร กรุไหน วัดใดเช่นกัน เอาเข้าไปสอบถามผู้ใหญ่ หรือคนคุ้นเคยในสนามก็ไม่มีใครทราบ บางอย่างกว่าจะทราบก็เป็นสิบปีก็มีกว่าจะเจอคนที่รู้จักพระนั้นๆ และก็มีอีกหลายอย่างที่จนปัจจุบันก็ยังไม่ทราบที่มา ที่ไป แต่พระเครื่องนั้นๆ ก็มีแต่คนพูดว่าเก่าแท้นะแต่ไม่ทราบที่จริงๆ ครับก็ต้องค่อยๆ ค้นหาศึกษากันต่อไป แต่ก็เป็นเรื่องสนุกไปอีกอย่างหนึ่งนะครับ เพราะเมื่อมีเวลาว่างเราก็จะมีเรื่องที่ต้องค้นหาและค้นคว้าต่อไป

ครับกับเรื่องพระที่ยังไม่รู้จักกันแพร่หลายนั้นยังมีอีกมาก แต่เมื่อมีผู้รู้ประวัติ นำมาเผยแพร่ก็จะมีผู้รู้จักในสังคมมากขึ้น เรื่องที่ผมนำมาคุยกันในวันนี้ก็เพื่อจะได้ทำความเข้าใจกันว่า อย่าไปมีอารมณ์หรือไม่พอใจในคำตอบ กับผู้ที่เราไปถามแล้วเขาไม่รู้ และตอบว่า "ไม่ทราบที่ครับ" มันเป็นเรื่องจริงที่เขาไม่ทราบไม่ใช่แกล้งไม่บอกนะครับ เหตุผลก็อย่างที่ผมได้กล่าวมาเสียยืดยาว แบบนี้ผมว่าดีกว่าพวกที่ไม่รู้แต่อวดรู้แล้วตอบผิดๆ มั่วๆ ไปนะครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระหูยานกรุวัดมหาธาตุ ชัยนาท ซึ่งไม่ค่อยได้พบเห็นกันนักมาให้ชมกันด้วยครับ
ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์





พระบ่ยั่น'พระสรรค์นั่ง'กรุวัดท้ายย่าน

พระบ่ยั่น 'พระสรรค์นั่ง' กรุวัดท้ายย่าน เนื้อชินเงิน จ.ชัยนาท : สาระสังเขปพระเนื้อชิน โดยชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ

จ.ชัยนาท ในทุกวันนี้ แม้ว่าจะเป็นจังหวัดที่ไม่ใหญ่โตอะไรมากนัก แต่ก็เป็นเมืองที่มีความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยเฉพาะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญในสมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา เป็นเมืองแห่งนักรบผู้ห้าวหาญ ที่ยังเป็นความทรงจำของคนไทยตราบเท่าทุกวันนี้

ด้วยเหตุนี้ เมืองชัยนาท จึงมีโบราณสถานโบราณวัตถุที่สำคัญมากมาย เป็นมรดกตกทอดมาให้ลูกหลานได้มีความภาคภูมิใจ ในความยิ่งใหญ่ครั้งอดีตกาล ที่ยากจะลืมเลือน

ในวงการพระเครื่องเมืองไทย จ.ชัยนาท มีพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมขลัง สืบสานตำนานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เจ้าของพระเครื่องยอดนิยมที่เช่าหากันแพง ถึงหลักแสนขึ้นไป

ในส่วนของพระกรุ จ.ชัยนาท เป็นแหล่งพระกรุที่ล้วนเป็นพระหลักยอดนิยมของวงการพระ เป็นที่ต้องการแสวงหาของนักสะสมพระเครื่องอย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะ สรรค์บุรี อำเภอเดียวของเมืองชัยนาท ที่ได้ชื่อว่า เมืองพระ มีวัดต่างๆ ไม่ต่ำกว่า ๑๘๐ วัด ที่มีการขุดพบพระเครื่องหลากหลายพิมพ์ รวมทั้งพระพุทธรูป อีกจำนวนหนึ่ง ที่มีพุทธศิลป์งดงามยิ่ง

จึงนับได้ว่า เมืองสรรค์ หรือ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เป็นศูนย์รวมของพระเครื่องอันยิ่งใหญ่ในอดีตกาล จนมีชื่อเสียงโด่งดังมานานปี สมกับที่เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญในสมัยโบราณ ที่ได้ก่อเกิดชายชาตินักรบผู้กล้าหาญ อย่างแท้จริง

พระกรุเมืองสรรค์ มีมากมายหลายพิมพ์ ที่โด่งดังรู้จักกันดี และหาชมในทุกวันนี้ได้ยากยิ่ง คือ พระหูยาน พิมพ์บัวชั้นเดียว ซึ่งขุดพบจากกรุต่างๆ อาทิ กรุวัดมหาธาตุ กรุวัดท้ายย่าน และกรุวัดส่องคบ พระหูยาน เมืองชัยนาท มีขนาดองค์พระใหญ่กว่า พระหูยาน เมืองลพบุรี และพระหูยาน กรุงศรีอยุธยา คือ มีความกว้างประมาณ ๒.๗ ซม. สูงประมาณ ๖ ซม.

อย่างไรก็ตาม องค์พระขนาดนี้ ไม่ถือว่าใหญ่โตอะไรมากนัก เป็นขนาดที่เหมาะสมสำหรับชายชาตรีไทย ที่นิยมพระนักรบ มีอานุภาพทางอยู่ยงคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ปลอดภัย เป็นหลัก ซึ่งสามารถนิมนต์ขึ้นคอได้อย่างมั่นใจในพุทธคุณที่มีอยู่อย่างครอบจักรวาล

ชาวเมืองสรรค์แต่เดิมมานิยมใช้ พระหูยาน เมืองชัยนาท บูชาติดตัวเพื่อคุ้มครองป้องกันภัย อีกทั้งเชื่อถือกันมานานแล้วว่า ใช้ดีด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรี คมหอกคมดาบไม่ระคายผิว

แต่เนื่องจากพระพิมพ์นี้มีขึ้นจากกรุน้อย ชายชาตรีเมืองสรรค์หามาบูชาประจำกายได้ยาก จึงพยายามหาพระพิมพ์อื่นมาใช้บูชาแทน

พระต่างพิมพ์ที่ชาวเมืองสรรค์ สืบเสาะหามาใช้ที่ว่ามีประสบการณ์เทียบชั้นได้เท่า พระหูยาน เมืองชัยนาท ซึ่งมีพุทธคุณด้านคงกระพัน สุดเหนียว ชนิดลุยแบบถึงไหนถึงกัน จนได้รับการเรียกขานว่า พระบ่ยั่น คือ พระสรรค์นั่ง อันเป็นพระพิมพ์นั่งของเมืองสรรค์ ที่มีการขุดพบใน จ.ชัยนาท เหมือนกันทั้งสองพิมพ์

พระสรรค์นั่ง ที่ใช้บูชาแทน พระหูยาน ที่กล่าวถึงนี้ สามารถแยกพิมพ์ได้ดังนี้
 ๑.พิมพ์ยกไหล่ ถือว่าเป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด
 ๒.พิมพ์ไหล่ตรง, ไหล่ตรงข้างเม็ด
 ๓.พิมพ์แขนอ่อน

 ในส่วนของ เนื้อพระสรรค์นั่ง สามารถแบ่งออกเป็น ๓ เนื้อ คือ เนื้อดิน, เนื้อชินเงิน และ เนื้อชินสนิมแดง (มีน้อยมาก) กรุ พระสรรค์นั่งทุกพิมพ์ ขึ้นจากกรุต่างๆ หลายกรุในเขตเมืองสรรค์ พร้อมๆ กัน

 กรุที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ กรุท้ายย่าน ส่วนกรุอื่นๆ เช่น กรุวัดบรมธาตุ, กรุวัดส่องคบ, กรุวัดมหาธาตุ, กรุสรรพยา, กรุเขื่อนชลประทาน ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน เพราะกรุต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้ ที่เป็นพระแท้ๆ มีความหายากเช่นกัน

พระสรรค์นั่ง ถือเป็นพระเครื่องที่อยู่ในความนิยมของนักสะสมมาช้านาน พระที่ขุดได้ที่ กรุวัดท้ายย่าน พระทั้งหมดที่พบมีพระเนื้อชินเงินจำนวนน้อยกว่าพระเนื้อดิน ขนาดองค์พระเล็กกว่าพระหูยานเพียงเล็กน้อย คือ กว้าง ๒.๓ ซม. สูง ๓.๘ ซม.

พุทธลักษณะ เป็นพระรูปทรงแบบกรอบสามเหลี่ยมทรงสูง องค์พระนั่งปางมารวิชัยประทับอยู่บนฐานตรงแบบสองชั้น และพิมพ์ที่ประทับบนฐานตรงแบบชั้นเดียว

พระทั้ง ๒ พิมพ์ เทหล่อออกมามีพิมพ์พระที่ติดลึกนูนสูง แบบมีมิติ รูปทรงของแบบพระ เป็นแบบพิมพ์ที่เรียบง่าย พื้นด้านข้างองค์พระไม่มีลวดลายใดๆ

แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า พิมพ์พระมีความลงตัวที่สวยงามแบบเข้มขลังน่าศรัทธาเกรงขาม

พระสรรค์นั่ง ราคาเช่าหา พระสภาพทั่วไปอยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ ส่วนพระสภาพสวยราคาจะสูงขึ้น เลยหลักหมื่นกลางขึ้นไป
คมชัดลึก

ใบบุญ:
.

พระร่วงหลังรางปืน

พระร่วงหลังรางปืน พิจารณาจากรูปที่คุณส่งมานั้น ผิดพิมพ์มากครับ และเนื้อก็ไม่น่าจะใช่นะครับ สรุปคือไม่น่าจะแท้ ลองดูเปรียบเทียบกับพระแท้ที่ผมนำมาให้ชมนะครับ

พระร่วงหลังรางปืนเป็นพระเครื่องที่พบในองค์พระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ศรีสัชนาลัย ถูกขุดพบเมื่อประมาณปี พ.ศ.2493 ศิลปะเป็นแบบขอม พุทธลักษณะคล้ายกับพระร่วงหลังผ้าของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี สาเหตุที่ เรียกว่าพระร่วงหลังรางปืนก็เนื่องจากมีการพบพระแบบเดียวกันที่ลพบุรีก่อนแต่ของเมืองลพบุรีด้านหลังจะเป็นลายผ้าหยาบๆ ส่วนพระร่วงที่พบที่สุโขทัยนั้น มีพุทธลักษณะด้านหน้าคล้ายคลึงกัน แต่ที่ด้านหลังเป็นแอ่งร่องราง จึงเรียกกันว่าพระร่วงหลังรางปืน ในครั้งที่พบพระนั้นกล่าวกันว่า พบประมาณ 200 องค์เท่านั้น และในจำนวนนี้ก็ยังมีพระที่ชำรุดอยู่อีกด้วย ดังนั้นจำนวนของพระจึงน้อยมาก และหายากจึงทำให้เกิดการทำปลอมกันมาก และทำกันมานานมากแล้วครับ

พระร่วงหลังรางปืนที่พบในครั้งนั้นจะเป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงเป็นส่วนใหญ่ ที่พบเป็นเนื้อชินบ้างแต่ก็น้อยมาก ผิวสนิมของพระร่วงหลังรางปืนจะเป็นสีแดงเข้มและแบบสีลูกหว้า มีสนิม ไขขาวปกคลุม ปัจจุบันหายาก สนนราคาสูงมากในองค์ที่สมบูรณ์อยู่ที่หลักล้านครับ

และผมได้นำรูปพระร่วงหลังรางปืนแท้ มาให้ชมด้วยทั้งด้านหน้าและด้านหลังครับ

ด้วยความจริงใจ
คำตอบในคอลัมน์นี้ไม่ควรถือเป็นข้อยุติและไม่ควรถือเป็นมาตรฐานในการซื้อ-ขาย



พระพิจิตรใบตำแย ของเมืองพิจิตร

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ถ้าจะกล่าวถึงพระเครื่องที่เป็นพระกรุที่มีขนาดเล็กมากๆ และมีชื่อเสียงมากๆ ก็คงไม่พ้นพระเครื่องเมืองพิจิตร เช่น ถ้าเป็นพระเนื้อชินก็พระพิจิตรเม็ดข้าวเม่า และถ้าเป็นเนื้อดินเผาก็พระพิจิตรเม็ดน้อยหน่า พระพิจิตรเขี้ยวงู ซึ่งโด่งดังมากมาตั้งแต่อดีตเป็นร้อยปีมาเลยทีเดียว

เมืองพิจิตรในสมัยโบราณก็เป็นเมืองนักรบ และเป็นเมืองหน้าด่านมาโดยตลอด อาจเป็นด้วยสาเหตุนี้กระมังพระกรุที่สร้าง ในสมัยนั้นจึงเน้นไปทางด้านคงกระพันชาตรีไว้เป็นหลัก พระเครื่องเมืองพิจิตรที่เป็นพระกรุมีชื่อเสียงโด่งดังมากในด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรี เป็นที่กล่าวขวัญกันมายาวนานว่าอยู่คงกันมีดหอกดาบ ปืนผาหน้าไม้ได้ชะงัดนัก ประมาณว่าแมลงวันไม่ได้กินเลือดว่างั้นเถอะ ผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยก่อนหวงแหนกันมาก และที่รู้จักกันมากก็ประเภทพระองค์เล็กๆ

แต่ความจริงแล้วพระกรุพิจิตรเองก็มีพระองค์ขนาดที่โตกว่านั้นอีกหลายอย่าง เช่น พระพิจิตรหัวดง พระพิจิตรใบตำแย เป็นต้น พระของเมืองนี้ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อชินเงิน และมีเนื้อเป็นเอกลักษณ์ เนื้อจะออกเป็นแบบชินแข็ง และมักจะมีผิวออกสีดำ เรื่องโลหะที่มีคุณวิเศษของเมืองนี้ก็มีเหล็กน้ำพี้ อาจจะเป็นได้ว่าพระเครื่องที่เป็นพระกรุของเมืองนี้อาจมีส่วนผสมของเนื้อเหล็กน้ำพี้บ้างหรือเปล่า

ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนก็ยังกล่าวถึงเมื่อตอนที่ขุนแผนจะตีดาบฟ้าฟื้น ก็ยังต้องไปเอาเหล็กน้ำพี้จากเมืองพิจิตรมาเป็นส่วนผสม เหล็กน้ำพี้มีชื่อเสียงมาแต่โบราณคือเหล็กน้ำพี้บ่อพระแสง เป็นได้ว่าคณาจารย์แต่โบราณเวลาจะผสมเนื้อพระอาจนำเอาเหล็กน้ำพี้มาเป็นส่วนผสมก็เป็นได้ จึงมีอานุภาพทางด้านอยู่ยงคงกระพันโดดเด่น และเป็นที่กล่าวขวัญมาจนทุกวันนี้

นอกจากพระเครื่องขนาดเล็กที่มีชื่อเสียงแล้ว พระกรุที่มีขนาดเขื่องหน่อยที่มีชื่อเสียงมากก็มีเช่นกันคือ พระพิจิตรหัวดง และพระพิจิตรใบตำแย พระพิจิตรหัวดง เป็นพระประทับนั่งปางมารวิชัย ตัดขอบเป็นทรงสามเหลี่ยม คล้ายๆ กับพระท่ากระดาน ส่วนพระพิจิตรใบตำแย เป็นพระประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว คล้ายๆ กับพระซุ้มอรัญญิกของพิษณุโลก หรือพระซุ้มเสมาทิศของอยุธยา พระพิจิตรใบตำแยนี้ในสมัยโบราณเป็นพระอีกพิมพ์หนึ่งที่ชาวพิจิตรหวงแหนกันมากเช่นกัน มักจะนำมาถักลวดห้อยคอติดตัว มีประสบการณ์ทางด้านคงกระพันมากเช่นกันครับ

พระพิจิตรใบตำแย คนที่ไม่ใช่คนพิจิตรอาจจะไม่ค่อยรู้จัก เนื่องจากมีพระที่มีลักษณะคล้ายๆ กันอยู่หลายจังหวัดหลายกรุ แต่ความจริงเป็นคนละพิมพ์กัน มีส่วนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แตกต่างกันและแยกแยะได้ อย่างเช่นฐานของพระ ถ้าเป็นของเมืองพิจิตร ตัวฐานใต้องค์พระจะเป็นแบบฐานสำเภา ซึ่งมีลักษณะโค้งงอนขึ้น คล้ายๆ กับเรือสำเภา ผิดกับของกรุอื่นๆ พระพิจิตรใบตำแยแท้ๆ ปัจจุบันก็หาชมยากเช่นกัน ส่วนมากเจอแต่ของกรุอื่นมากกว่าครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระพิจิตรใบตำแย ของเมืองพิจิตร มาให้ชมกัน สังเกตที่ฐานพระจะเห็นว่าเป็นฐานแบบฐาน สำเภาครับ

ด้วยความจริงใจ


พระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน
พิมพ์สังฆาฏิยาว

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึง พระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน ซึ่งเป็นพระเครื่องที่มีพุทธคุณสูง และเริ่มมีการดำริที่จะจัดสร้าง โดย พลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เนื่องจากตอนนั้นมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส เรื่องสิทธิเหนือดินแดนของอินโดจีน ในราวปี พ.ศ.2483-2484 วัตถุประสงค์เพื่อแจกจ่ายให้แก่ทหารที่ไปราชการสงครามและให้ประชาชนโดยทั่วไปได้มีโอกาสเช่าบูชา

ต่อมาในปี พ.ศ.2485 สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็กำลังก่อตัวขึ้นในภูมิภาคนี้ จึงได้มีการจัดสร้างพระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีนขึ้น ในตอนแรกมีกำหนดการให้ทำพิธีเททองหล่อพระพุทธชินราชที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก แต่มีเหตุต้องเปลี่ยนสถานที่การเททอง ให้มาทำพิธีที่วัดสุทัศน์แทน เนื่องจากในขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงสงครามโลก ไม่สะดวกในการเดินทางและทำพิธี จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่มายังวัดสุทัศน์แทน

กำหนดการทำพิธีตรงกับวันเสาร์ขึ้น 5 ค่ำ คือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2485 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชแพ ทรงเป็นประธาน และท่านเจ้าคุณศรี สนธิ์ เป็นผู้ดำเนินงาน ทำพิธี ณ มณฑลพิธีหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศน์ เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย และได้มอบหมายให้ช่างอีกหลายโรงงานรับช่วงไปดำเนินการต่อจนเสร็จ ชนวนมวลสารที่ใช้หล่อนั้นประกอบด้วย ชนวนโลหะของวัดสุทัศน์ แผ่นจารจากพระคณาจารย์ทั่วประเทศ รวมทั้งโลหะทองเหลืองที่ประชาชนนำมาบริจาคให้

หลังจากนั้นเมื่อหล่อพระเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงนำพระทั้งหมดมามอบให้กับทางพุทธสมาคมฯ เพื่อตอกโค้ด เป็นรูปธรรมจักรและรูปอกเลา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก พระส่วนใหญ่ได้ตอกโค้ดจนครบ แต่ได้มีพระอีกเพียงบางส่วนที่ยังไม่ได้ตอกโค้ด เนื่องจากโค้ดชำรุดเสียก่อน และได้นำพระทั้งหมดเข้าทำพิธีมหาพุทธาภิเษก ที่วัดสุทัศน์

พิธีมหาพุทธาภิเษกพระพุทธชินราช อินโดจีน เป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่มาก เนื่องจากในครั้งนั้นมีพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาเข้าร่วมพิธีอย่างคับคั่ง จำนวนถึง 108 รูป พระคณาจารย์ที่เข้าร่วมในพิธีจะขอยกตัวอย่างเพียงคร่าวๆ คือ สมเด็จพระสังฆราช แพ วัดสุทัศน์ ท่านเจ้าคุณศรี สนธิ์ วัดสุทัศน์ หลวงปู่นาค วัดอรุณฯ กทม. หลวงพ่อนวม วัดอนงค์ กทม. หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาฯ กทม. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพฯ กทม. หลวงพ่ออ๋อย วัดไทร กทม. หลวงพ่อโชติ วัดตะโน กทม. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ติสโส อ้วน วัดบรมฯ กทม. หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ชลบุรี หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว ฉะเชิงเทรา หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ปราจีนบุรี หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว สมุทรปราการ หลวงพ่อภักตร์ วัดบึงทองหลาง กทม. หลวงพ่อเหมือน วัดโรงหีบ หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ หลวงพ่อดี วัดเหนือ หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง หลวงปู่จันทน์ วัดบ้านยาง หลวงพ่อช่วง วัดบางแพรกใต้ หลวงพ่อกลิ่น วัดสะพานสูง หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่ออั๋น วัดพระญาติ หลวงปู่กลีบ วัดตลิ่งชัน หลวงปู่จันทร์ วัดนางหนู หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง หลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก หลวงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก เป็นต้น

หลังจากเสร็จพิธีแล้วจึงนำออกมาแจกจ่ายให้แก่ทหารหาญที่ไปราชการสงครามและประชาชนที่ได้สั่งจองไว้ พร้อมทั้งนำเอาไปถวายไว้ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก อีกจำนวนหนึ่ง ในส่วนที่แจกจ่ายไปนี้ทั้งหมดเป็นพระที่ตอกโค้ดแล้วทั้งสิ้น พระส่วนที่เหลือทั้งที่ตอกโค้ดและไม่ได้ตอกโค้ดทางพุทธสมาคมฯ ได้เก็บรักษาไว้ จนในปีพ.ศ.2516 จึงเปิดให้ประชาชนได้มีโอกาสได้เช่าบูชาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในครั้งนี้มีทั้งพระที่ตอกโค้ดและพระที่ยังไม่ได้ตอกโค้ด

พระพุทธชินราชอินโดจีนสามารถแบ่งออกมาเป็นหมวดพิมพ์ใหญ่ๆ ได้ 3 หมวดพิมพ์ คือ พิมพ์สังฆาฏิยาว พิมพ์สังฆาฏิสั้น และพิมพ์ต้อ แต่ละหมวดพิมพ์นั้นก็ยังแยกออกได้อีกหลายแม่พิมพ์ครับ

พระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน เป็นพระที่มีประสบการณ์มากมาย ปัจจุบันก็ยังพอหาได้ไม่ยากนักครับ และในวันนี้ผมได้นำรูปพระพิมพ์สังฆาฏิยาว พร้อมทั้งโค้ดมาให้ชมกันด้วยครับ

ด้วยความจริงใจ



พระกรุ วัดส่องคบ จ.ชัยนาท

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน จังหวัดชัยนาทเป็นเมืองเก่า และเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีกรุพระเครื่องอยู่หลายกรุเช่นกัน แต่เราๆ ท่านๆ มักจะคุ้นเคยอยู่กับกรุวัดท้ายย่านเท่านั้น เนื่องจากมีพระเครื่องดังๆ อยู่หลายอย่าง เช่น พระลีลาสรรค์ยืน พระสรรค์นั่ง และพระปิดตาเนื้อแร่ของกรุนี้ ความจริงจังหวัดชัยนาททั้งฝั่งจังหวัดและที่เมืองสรรคบุรีนั้นมีวัดเก่าแก่และกรุพระมากมายหลายกรุ เช่น กรุวัดส่องคบ กรุวิหารพระ กรุวัดมหาธาตุ กรุทางพระ กรุท่าฉนวน เป็นต้น

ในวันนี้เราจะมาคุยกันถึง พระกรุ วัดส่องคบ ซึ่งเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พ.ศ.1916) การพบพระเครื่องนั้นมีการพบด้วยกันหลายครั้ง ตั้งแต่ปีพ.ศ.2460 เป็นต้นมา และในปีพ.ศ.2494 ได้มีการขุดค้นองค์พระเจดีย์ และพบหลักฐานสำคัญคือ พบลานเงินจารึกประมาณ 10 แผ่น และได้มอบให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2495

จารึกที่แปลออกมาแล้วมีข้อความตอนหนึ่งความว่า "แต่พระเสด็จเจ้านิพานได้ 1916 ปี เจ้าสัทธรรมมหาเถระศาสนาว่า มหาอุบาสก อุบาสิกา เพ่าใจ พ่อยี่ตัดผะ และแม่สร้อยมีใจศรัทธาก่อพระเจดีย์ อันตนหนึ่งได้ 5 วา 2 ศอก และแผ่ประเพณีมิให้หมองในครองธรรมนี้แล แต่เครื่องประจุพระทอง 20 พระเงิน 1 ตน พระดีบุก 161 เงินทองผ้าผ่อนมีค่ากว่าไว้ได้ 3 แสน 5 หมื่น 5 พันแล แต่กระทำบุญ กุฏิ วิหา ศาลา เสาธง ปรากฏเช่าหนังสือแต่เครื่องทั้งหลายนี้คิดเป็นมูลค่าได้ 5 แสน 5 พัน"

จารึกอีกแผ่นหนึ่งที่พบ เป็นจารึกปี 1956 แสดงว่ามีการบูรณปฏิสังขรณ์ในเวลาต่อมาอีก มีข้อความในจารึกแผ่นนี้ว่า "จึงเจ้าเถรศรี เทพศิริมานนท์เจ้าเมือง แม่นางสร้อยทอง ย่าออกศรีแม่อามและแม่น้อยผู้เป็นลูก พ่อวัวลูกเขย จึงมาประจุพระธาตุ 2 องค์ พระทอง 2 พระเงิน 2 แท่ง เงิน 1 พระพิมพ์ 117 แหวนอันหนึ่ง ผ้าสนอบลายหนึ่ง 1 เสื้อ 1 สไบ 1 เช็ดหน้าอันหนึ่ง ผสมค่าทั้งหลาย 210,000 คนครอกหนึ่ง" จารึกปี 1956 อีกแผ่นหนึ่งมีความว่า "จึงเจ้าศรีเทพศิริมานนท์ ปู่สิงหล เจ้าเมือง แม่นางสร้อย ย่าออกศรี ย่าพระ ย่าแม้น แม่เอาว์ แม่สาขา พ่อสาน้อยผู้เป็นลูกแม่วัง ปู่ยี่ พ่อไส แม่เพ็ง จึงชาวเจ้าทั้งหลายสโมธา มาก่อพระบรรจุธาตุ 2 พระทอง 2 พระเงิน 12 พระดีบุก 220 แต่พระ 262 แล"

แสดงให้เห็นได้ว่า พระเครื่องของกรุนี้มีการสร้างบรรจุไว้หลายวาระด้วยกัน ในการขุดพบนั้นมีการพบพระเครื่องด้วยกันหลายพิมพ์ และหลายเนื้อ นอกจากนี้ยังพบพระแผงแบบสมัยลพบุรีก็มีขึ้นมาจากกรุนี้ด้วย แต่การขุดค้นนั้นมีการขุดด้วยกันหลายครั้ง จึงไม่สามารถทราบว่ามีพระพิมพ์ใดๆ ได้ครบทุกพิมพ์ แต่เท่าที่ได้พบเห็นกันนั้นก็พอจะรวบรวมได้ดังนี้ พระลีลาลายดอกไม้ไหว มีทั้งพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ พระหูยาน พระซุ้มหน้าบรรณ (มีทั้งเนื้อชินและเนื้อดิน) พระสรรค์นั่ง เนื้อชินเงิน พระสรรค์นั่งแขนอ่อนซุ้มไข่ปลา พระซุ้มโพธิ์ เป็นต้น

ครับพระกรุวัดส่องคบนี้เป็นพระกรุที่น่าสนใจอีกกรุหนึ่งของจังหวัดชัยนาท แต่พระเครื่องของกรุนี้อาจจะไม่ได้ค่อยพบเห็นกันบ่อยนัก และไม่ค่อยมีใครได้เขียนถึง จึงทำให้ข้อมูลมีน้อย และในวันนี้ผมได้นำรูปพระหูยานกรุวัดส่องคบ ซึ่งหายากพบน้อยมาก มาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ


เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อสาย
วัดรวก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีพระเกจิอาจารย์ที่ชาวอำเภอพระประแดงเคารพเลื่อมใสมากรูปหนึ่ง คือหลวงพ่อสาย วัดรวก ท่านมีเมตตาธรรมสูงช่วยเหลือและรักษาโรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะวิชาต่อกระดูกมีชื่อเสียงมาก

หลวงพ่อสาย เกิดปีพ.ศ.2422 ที่บ้านตำบลบางผึ้ง สมุทรปราการ โยมบิดาชื่อแสง โยมมารดาชื่อวาย บิดามารดาเป็นชาวสวน มีฐานะดี พอท่านอายุพอสมควรบิดามารดาได้พาไปฝากเรียนหนังสือที่วัดรวก ซึ่งอยู่ใกล้ๆ บ้าน พออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทที่วัดรวก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2446 โดยมีพระปลัดน้อย วัดโปรดเกษเชษฐาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์อ้น วัดโปรดเกษฯ กับพระอธิการบุญ วัดแจงร้อน เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า "จนฺทสุวณฺโณ" เมื่อบวชแล้วท่านก็ศึกษาพระธรรมวินัย บาลี และยังสนใจวิปัสสนาธุระ โดยได้ตำราของเจ้าคุณพระญาณสังวร (ช้าง) พระอาจารย์วิปัสสนาชื่อดังของวัดโปรดเกษฯ เมื่อเรียนแล้วท่านก็ฝึกฝนมาตลอด

พอถึงปี พ.ศ.2455 วัดรวกว่างเจ้าอาวาสลง คณะสงฆ์และชาวบ้านจึงได้อาราธนาท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2455 ท่านได้เอาใจใส่พัฒนาวัดปฏิสังขรณ์ของเก่าแก่ที่ชำรุดให้สมบูรณ์และก่อสร้างขึ้นใหม่หลายอย่าง เช่น ศาลาการเปรียญ กุฏิ โรงเรียนประชาบาล และโบสถ์ นอกจากนี้ยังได้อบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ชาวบ้าน หลวงพ่อสายช่วยเหลือชาวบ้านทุกคนที่ทุกข์ร้อนและมาขอให้ช่วยรักษาโรคภัยต่างๆ เนื่องจากท่านยังเชี่ยวชาญในเรื่องแพทย์แผนโบราณได้ประกาศนียบัตรแผนโบราณด้วย นอกจากนี้ท่านยังมีวิทยาคมสูงอีกด้วย มีผู้คนเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อให้ช่วยรักษามากมาย เรื่องผสานกระดูกท่านก็มีชื่อเสียงมาก เรื่องวิชาประสานกระดูกท่านได้ศึกษามาจากหลวงพ่อตึ๋ง วัดสร้อยทอง

หลวงพ่อสายสนิทสนมกับหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก และหลวงพ่อโม้ วัดสน ท่านได้รับการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนวิชากัน จนได้รับคำชมจากพระอาจารย์ทั้งสอง มีชาวบ้านมาขอเครื่องรางของขลังจากหลวงพ่อสายเป็นประจำ เช่น ตะกรุดโทน เด่นทางด้านมหาอุด และไหมเจ็ดสีถักเป็นตะกรุด 7 ดอก เป็นต้น

ในปี พ.ศ.2491 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน และได้สร้างพระเนื้อดินเผาประมาณ 500 องค์ มีประสบการณ์ทางด้านเมตตามหานิยมและแคล้วคลาด ปัจจุบันหายากครับ พอถึงปี พ.ศ.2494 ท่านอายุได้ 72 ปี คณะศิษย์และชาวบ้านได้พร้อมใจจัดงานทำบุญฉลองอายุ และจัดสร้างเหรียญรุ่นแรกของท่านประมาณ 1,000 เหรียญ เป็นเหรียญเนื้อทองแดง หลวงพ่อสายท่านปลุกเสกเดี่ยว 1 พรรษา เมื่อปลุกเสกเสร็จก็ออกแจกจนหมด เหรียญนี้มีประสบการณ์ทางด้านเมตตามหานิยม และแคล้วคลาด ชาวพระประแดงหวงแหนกันมาก จัดเป็นเหรียญยอดนิยมเหรียญหนึ่งของพระประแดงครับ

หลวงพ่อสายทำวัตรสวดมนต์ไม่เคยขาด และเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยท่านไม่สะสมทรัพย์ มีผู้มาถวายปัจจัยเท่าไรก็นำมาพัฒนาวัดหมดเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เมื่อถึงปี พ.ศ.2495 หลวงพ่อสายก็มรณภาพด้วยอาการสงบ สิริอายุได้ 73 ปี 49 พรรษา

ในวันนี้ผมได้นำรูปเหรียญรุ่นแรกของท่านมาให้ชมกันด้วยครับ

ด้วยความจริงใจ




แทน ท่าพระจันทร์

ใบบุญ:

หลวงพ่อเงิน รุ่น เงิน เพิ่ม พูน

"จากภูมิปัญญาไทย สมัยโบราณ สู่ หลวงพ่อเงิน รุ่น เงิน เพิ่ม พูน"

"พระหลวงพ่อเงินบางคลาน" นับเป็นหนึ่งในอมตะพระยอดนิยมตลอดกาล นับเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก็ยังคงมีผู้เคารพศรัทธาจัดสร้างเพื่อการบุญการกุศลกันอยู่เป็นประจำ และเป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ทุกรุ่นทุกแบบล้วนทรงพุทธาคมเฉกเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับค่านิยมนั้นก็ขึ้นกับรุ่นกับแบบซึ่งแตกต่างกันไป

จุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ของพระหลวงพ่อเงินก็คือ "กรรมวิธีการหล่อแบบโบราณ" ที่เรียกว่า "หล่อดินไทย" ซึ่งคือการหล่อหุ่นเทียนจากแม่พิมพ์ ต้องนำหุ่นเทียนมาติดก้านฉนวนเป็นช่อ แล้วใช้ "ดินขี้วัว" พอกหุ่นเทียน เมื่อดินแห้งสนิทจึงนำหุ่นเทียนไปเผาไล่เทียนออกจากแม่พิมพ์ดินขี้วัว

จากนั้นจึงเททองเหลืองที่หลอมแล้วลงในเบ้า พอองค์พระเย็นก็แกะเบ้าดินขี้วัวออก ดังนั้น ขนาด พุทธศิลปะ และพุทธลักษณะขององค์พระทุกองค์จึงใกล้เคียงกันแต่ไม่เหมือนกันทุกองค์เหมือนการปั๊ม ซึ่งในปัจจุบันจะหาดูการใช้กรรมวิธีแบบนี้ได้ยากยิ่งนัก

วัดราษฎร์ศรัทธาราม (เนินกุ่มเหนือ) ต.เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ปัจจุบันมี หลวงพ่อบุญส่ง ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองดูแล ท่านคอยเอาใจใส่ดูแลศาสนสถานและเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด พระลูกวัด รวมถึงสาธุชนที่เข้าวัดทำบุญทำทานทุกคนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

เมื่อท่านพิจารณาสิ่งใดเริ่มชำรุด เสียหาย ทรุดโทรมลง ท่านจะดูแลซ่อมแซมและปรับปรุงเรื่อยมา เพื่อให้วัดเป็นที่เจริญหูเจริญตาแก่สาธุชนที่มาร่วมบุญ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านและท้องที่ใกล้เคียง

ปัจจุบันหลวงพ่อบุญส่งเห็นว่าศาลาการเปรียญหลังเก่าเริ่มชำรุดทรุดโทรมลงมากตามกาลเวลา ไม่สามารถใช้ในการประกอบกิจสงฆ์ได้ จึงดำริให้มีการจัดสร้างวัตถุมงคล หลวงพ่อเงิน บางคลาน ในลักษณะ "รูปหล่อโบราณ" เพื่อหาปัจจัยในการบูรณะศาลาการเปรียญให้ใช้ประกอบกิจสงฆ์ได้ดังเดิม ในชื่อ "หลวงพ่อเงิน รุ่น เงิน เพิ่ม พูน" ประการสำคัญคือ ท่านยังคงเอกลักษณ์ความเป็นหลวงพ่อเงินบางคลาน โดยใช้กรรมวิธีการสร้างแบบ "หล่อโบราณ"

ในการนี้ พระเกจิคณาจารย์ชื่อดังหลายสำนัก ตระหนักถึงเจตนารมณ์ที่จะทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาอย่างแท้จริง จึงร่วมแรงร่วมใจทั้งด้านชนวนมวลสาร และร่วมพิธีปลุกเสกอธิษฐานจิตกันอย่างพร้อมเพรียง

เนื้อชนวนมวลสารที่ได้มา จึงเป็นการรวบรวมจากหลายพระเกจิคณาจารย์ จากหลายสำนัก ทำให้เชื่อถือได้ว่าความเข้มขลังมีในองค์พระเต็มเปี่ยมอย่างแน่นอน และยังสร้างให้สีสันวรรณะขององค์พระมีความหลากหลายตามสภาพผิวโลหะ โดยจัดสร้างเป็นพิมพ์เศียรบาตร พิมพ์นิยมเศียรโต และพิมพ์แจกแม่ครัว ทุกองค์มีโค้ดและหมายเลขกำกับ

นอกจากนี้ ยังปรากฏเหตุอัศจรรย์ในช่วงหล่อองค์พระ ทั้งพระอาทิตย์ทรงกลด และมีฝนตกโปรยปรายลงมาเพียง 5 นาที เสมือนหลวงพ่อเงินท่านมาพรมน้ำมนต์ให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พระเนื้อหล่อนำฤกษ์โรงงาน" ยังได้รับความเมตตาอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว โดยหลวงพ่อหวั่น วัดคลองคูณ จ.พิจิตร อีกด้วย

กำหนดพิธีพุทธาภิเษกยิ่งใหญ่ ณ อุโบสถ วัดราษฎร์ศรัทธาราม จ.พิษณุโลก ในวันที่ 24 พ.ย. 2558 โดยมีพระเกจิคณาจารย์ผู้ทรงพุทธาคมมากมายร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก อาทิ หลวงพ่อหวั่น วัดคลองคูณ จ.พิจิตร, หลวงพ่อนงค์ วัดทุ่งน้อย จ.พิจิตร, หลวงพ่อมานิต วัดราชคีรีหิรัญญาราม จ.พิษณุโลก, หลวงพ่อสม วัดสามเรือน จ.พิษณุโลก, หลวงปู่แขก วัดสุนทรประดิษฐ์ จ.พิษณุโลก, หลวงพ่อบุญส่ง วัดราษฎร์ศรัทธาราม จ.พิษณุโลก, หลวงพ่อทุเรียน วัดศรีคีรีสุวรรณาราม จ.สุโขทัย, หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว จ.พระนครศรีอยุธยา และหลวงพ่อพูน วัดบ้านแพน จ.พระนคร ศรีอยุธยา เป็นต้น

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พระสุวรรณภูมิ ภัททธัมโม วัดราษฎร์ศรัทธาราม โทร.08-7314-4097 ครับผม
ราม วัชรประดิษฐ์


 
หลวงปู่แย้ม ปิยวณฺโณ

หลวงปู่แย้ม กับตะกรุดคอหมา

พระครูปิยนนทคุณ หรือที่รู้จักกันในนาม หลวงปู่แย้ม ปิยวณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดตะเคียน ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

พระเกจิชื่อดังยุคปัจจุบัน ที่เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะบรรดาทหารตำรวจทั้งหลาย ด้วยวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังที่เน้นพุทธคุณในด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรีเข้มขลังยิ่งนัก ขนาดต้องไปชิงจากคอของสุนัขกันเลยทีเดียว

ท่านเพิ่งมรณภาพไปเมื่อปี พ.ศ.2557 โดยสรีระไม่เน่าเปื่อย ณ ปัจจุบัน ยังคงบรรจุในโลงแก้ว เพื่อให้พุทธศาสนิกชนไปกราบสักการะขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล

เดิมชื่อ แย้ม เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2459 ที่ ต.เจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ในครอบครัวชาวนา บิดา-มารดา ชื่อ นายเพิ่ม-นางเจิม ปราณี

อายุครบบวชได้อุปสมบท ณ วัดหลักสองบำรุงราษฎร์ โดยมี พระครูคณาสุนทรนุรักษ์ เจ้าคณะอำเภอบ้านแพ้ว เป็นพระอุปัชฌาย์, เจ้าอธิการเหลือ เป็นพระกรรม วาจาจารย์ และ พระอาจารย์ชื่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "ปิยวณฺโณ"

เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติและตั้งใจใฝ่ศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง สามารถสอบได้นักธรรมตรีเพียงแค่ในพรรษาแรก พอเข้าพรรษาที่ 2 ท่านเกิดอาพาธหนักจนต้องกลับไปรักษาตัวที่บ้าน โดยใช้ยาต้มแผนโบราณ พอหายดีจึงกลับไปจำพรรษาที่วัดดังเดิม

จากนั้นมา ท่านก็เริ่มศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ ค้นคว้าตัวยาสมุนไพรและคาถาอาคมที่ใช้กำกับยาจนแตกฉาน และเริ่มรักษาชาวบ้านเรื่อยมา จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ท่านยังใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมสร้างเสริมวิทยาอาคมให้เข้มขลังยิ่งขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากที่มาขอความช่วยเหลือเยียวยาให้มากที่สุด


ตะกรุดคอหมา หลวงปู่แย้ม ยุคหลัง.

จนได้พบ หลวงพ่อสาย วัดทุ่งสองห้อง ผู้สืบวิทยาคมสาย หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งท่านได้เมตตาสอนสั่ง พร้อมแนะนำเกี่ยวกับเรื่องยันต์และเวทมนต์พระคาถาต่างๆ กอปรกับความมานะพากเพียรของพระภิกษุแย้ม จึงสำเร็จและได้เคล็ดวิชามาโดยไม่ขาดตกบกพร่อง โดยเฉพาะเรื่อง "ตะกรุด" จากนั้นมาชื่อเสียงของท่านก็เป็นที่เลื่องลือกระฉ่อน จนพรรษาที่ 10 โยมลุงได้มานิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่วัดตะเคียน

วัดตะเคียนในสมัยก่อน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสวนส้มเขียวหวาน การเดินทางยังไม่สะดวก พระภิกษุที่จำพรรษาก็มีอยู่เพียงรูปเดียว คือ หลวงพ่อแดง เจ้าอาวาสวัด แต่หลังจากที่โยมลุงนิมนต์ท่านได้เพียง 7 วัน หลวงพ่อแดงก็มรณภาพ หลังจากงานศพท่านเจ้าอาวาสผ่านพ้นไป หลวงปู่แย้มได้มาจำพรรษาที่วัดตะเคียน ไม่นานเจ้าคณะอำเภอจึงให้ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาส และต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่นั้นมา

หลวงปู่แย้ม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตะเคียน มาร่วม 60 ปี ท่านใช้เวลาในการพัฒนาวัดมาโดยตลอด จากวัดร้างกลับกลายเป็นวัดที่สมบูรณ์เพียบพร้อม ความที่ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาของบรรดาลูกศิษย์ลูกหามากมายที่มักแวะเวียนมาเยี่ยมมาหาเป็นประจำ อีกทั้งถนนหนทางก็มีการพัฒนาปรับปรุงตัดถนนสายใหม่ผ่านทางเข้าวัด ทำให้สาธุชนเดินทางสะดวกขึ้นในการเข้ามาทำบุญทำทานที่วัด
 

วัตถุมงคลของหลวงปู่แย้ม มีหลายแบบหลายประเภท ทั้งพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง อาทิ พระขุนแผนยอดขุนพล, พระนางพญา, เสือปืนแตก, ตะกรุด ฯลฯ เอกลักษณ์ของวัตถุมงคลทุกชนิด คือ ท่านจะลง "ยันต์มหาเบา" ยันต์ครูซึ่งท่านศึกษามาจาก หลวงพ่อสาย และจารด้วยยันต์ "คาถาพระเจ้า 5 พระองค์" อันมีพุทธคุณสูงส่งเหนือยันต์ทั้งปวง มีความเชื่อกันว่า ผู้ที่ท่องหรือบริกรรมพระคาถาบทนี้ด้วยจิตอันสงบและมั่นคง จะมีพุทธคุณคุ้มครองครอบจักรวาล ทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ป้องกันภัย มหาเสน่ห์ มหาอุด ไล่ภูตผี และกันเสนียดจัญไร

นอกจากนี้ ก่อนที่ท่านจะมอบให้แก่ลูกศิษย์ ท่านจะกำชับว่า "ใครจะยิงให้มันยิงไปเถอะ เดี๋ยวปืนมันก็แตก เอ้า เพี้ยง" ซึ่งเล่นเอาผู้รับขนลุกซู่ไปทั้งตัวทีเดียว

วัตถุมงคลที่สร้างชื่อและโด่งดังสุดๆ ก็คือ "ตะกรุดคอหมา" ซึ่งส่งผลให้วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังของหลวงปู่แย้มทุกรุ่นทุกแบบเป็นที่แสวงหา และสนนราคาพุ่งขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่ สืบสาวราวเรื่องมาแล้วได้ความดังนี้ ...

มูลเหตุของเรื่องนั้น เริ่มจากที่หลวงปู่แย้มท่านเลี้ยงสุนัขไว้หลายตัว ซึ่งก็เกรงว่าบางครั้งสุนัขที่เลี้ยงอาจไปสร้างความเดือดร้อนจนเป็นที่ไม่พอใจหรืออาจถูกทำร้าย ท่านจึงคิดสร้าง "ตะกรุด" ก็เพื่อคล้องคอสุนัขทุกตัวของท่านเพื่อป้องกันภัย ท่านจารตะกรุดในน้ำด้วยสมาธิจิตอันแน่วแน่ แล้วนำไปผูกคอสุนัขทุกตัวของท่าน

จากนั้นมา สุนัขเหล่านั้นก็ไม่เคยได้รับความรุนแรงใดๆ จนชาวบ้านต่างสงสัย และเมื่อสอบถามกันไปมาก็ได้ความว่า หลวงปู่แย้มได้ผูก "ตะกรุดวิเศษ" ไว้ที่คอสุนัข บรรดานักเลงที่ชอบลองของ ก็นำปืนมาลองยิงสุนัขของหลวงปู่ ปรากฏว่าปืนแตก จนเกิดเป็นข่าวฮือฮาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว บรรดาผู้คนที่ต้องการตะกรุดแบบเร็วๆ ก็แย่งเอาที่คอสุนัขของท่าน บางคนดีหน่อยไปบอกกล่าวขอกับท่าน จึงเป็นที่มาของการเรียกขาน "ตะกรุดคอหมา ปู่แย้ม" อันเป็นที่เลื่องชื่อลือชานั่นเอง

หลวงปู่แย้ม ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2557 สิริอายุ 98 ปี ยังความโศกเศร้าแก่ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายยิ่งนัก แต่คุณูปการและความเข้มขลังในวัตถุมงคลของท่านยังคงจารึกในความทรงจำและเป็นที่นิยมอยู่ไม่เสื่อมคลาย ...

ขอปิดท้ายกันด้วย "คาถายันต์ตะกรุดคอหมา" ครับผม อุด ธัง อัด โท เม กะ มุ อุ ... หากมีจิตเข้มแข็งและสงบนิ่ง จะสามารถแคล้วคลาดจากอาวุธของศัตรูทั้งปวง
ราม วัชรประดิษฐ์



ตะกรุดคู่ชีวิต หลวงพ่อพิธ
วัดฆะมัง จ.พิจิตร

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันเรื่องเครื่องรางของขลัง ประเภทตะกรุดกันบ้างดีกว่านะครับ ท่านอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวขวัญถึงตะกรุด ที่มีชื่อว่าตะกรุดคู่ชีวิต หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง มาบ้าง ซึ่งเป็นตะกรุดยอดนิยมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบเครื่องรางของขลัง ปัจจุบันหาชมของแท้ๆ ได้ยากมาก สนนราคาสูงมากเช่นกันครับ

ผมขอนำคำกลอนที่ คุณพยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ซึ่งท่านแต่งไว้เกี่ยวกับหลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง ในหนังสือ ตามรอยตำนาน เครื่องรางของขลัง ขมังเวท มาให้อ่าน ซึ่งกลอนนี้บอกเล่าเรื่องราวของตะกรุดหลวงพ่อพิธได้อย่างดีเยี่ยมครับ

   หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง ดังกังวาน
   ชื่อกล่าวขานสร้างตะกรุด ปราบภูตผี
   ทั้งอยู่ยงคงศาสตรา บารมี
   คู่ชีวีมีตะกรุด มหากัน
   ตามตำนานท่านเป็นศิษย์ หลวงพ่อเงิน
   ท่านเจริญรอยตาม หลวงพ่อท่าน
   เรียนวิชาขมังเวทย์ เจนจบพลัน
   วิชานั้นสืบทอด คงชาตรี
   ตะกรุดท่านมีเรื่องเล่า กล่าวขาน
   ประสบการณ์ลือลั่น ในพื้นที่
   โดนยิงนั้นไม่ออก ขอบอกที
   มีตะกรุดคู่ชีวี กำบังกาย

หลวงพ่อพิธ ท่านเกิดที่ตำบลฆะมัง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2418 โยมบิดาคือขุนหิรัญสมบัติ (ประดิษฐ์) โยมมารดาชื่อปุย หลวงพ่อพิธ อุปสมบทในปี พ.ศ.2440 ที่วัดบึงตะโกน อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โดยมีพระครูธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาวิจิตร วัดฆะมัง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์พลอย วัดราชช้างขวัญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังจากที่ท่านได้บวชแล้วท่านก็จำพรรษาอยู่หลายวัดด้วยกัน เพื่อศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมต่างๆ เช่น วัดหัวดง วัดบางคลาน ได้ศึกษาอยู่กับหลวงพ่อเงินจนแตกฉานในทุกด้าน วัดวังปราบ วัดบางไผ่ วัดดงป่าคำ วัดสามขา วัดใหญ่ (วัดพระศรีมหาธาตุ พิษณุโลก) จากนั้นท่านจึงกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดฆะมังจวบจนมรณภาพ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2488 สิริอายุได้ 70 ปี พรรษาที่ 48

หลวงพ่อพิธมีดวงตาที่ดูดุ จนในสมัยนั้นชาวบ้านเรียกท่านว่า หลวงพ่อพิธตาเสือ และในวันที่ฌาปนกิจศพท่านนั้น เจ้าหน้าที่วัดและลูกศิษย์กำลังเก็บอัฐิอยู่นั้น ทุกคนต่างตะลึงงันเมื่อได้พบดวงตาของหลวงพ่อพิธไม่ไหม้ไฟทั้งสองดวง ชาวบ้านจึงกล่าวขวัญกันว่า "หลวงพ่อพิธตาไฟ" ปัจจุบันยังเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่วัดฆะมัง

หลวงพ่อพิธได้ทำตะกรุดแจกให้แก่ศิษย์ ซึ่งเป็นยันต์เก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอุยธยา เป็นยันต์หนึ่งในตำราพิชัยสงคราม และยันต์นี้ได้สืบทอดต่อมาจากหลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า จนถึงหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน หลวงพ่อพิธเรียนมาจากหลวงพ่อเงินอีกต่อหนึ่ง ยันต์นี้เรียกกันว่า "ยันต์คู่ชีวิต" มีอานุภาพคุ้มครองป้องกันภัยให้แก่ผู้ที่บูชา ตะกรุดของหลวงพ่อพิธ โดยส่วนมากจะมีอั่วทองเหลืองเป็นแกนกลาง อั่วก็คือแกนกลางเป็นหลอดทองเหลือง ปกติจะมีบัดกรีเสริมหัวท้ายด้วยลวดทองเหลือง เนื้อโลหะที่พบมีทั้งที่เป็นเนื้อทองคำ เนื้อนาก เนื้อเงิน เนื้อฝาบาตร และที่พบส่วนใหญ่คือเนื้อตะกั่ว เข้าใจว่าเนื้อโลหะพิเศษคงจะมีผู้นำโลหะไปให้หลวงพ่อพิธทำเป็นพิเศษ ตะกรุดของหลวงพ่อพิธที่เราพบเห็นมากที่สุดก็คือครั้งที่ท่านทำให้ วัดสามขา เพื่อแจกให้แก่ผู้สมทบทุนสร้างพระอุโบสถ วัดสามขา ตะกรุดคู่ชีวิตนี้ จะมีทั้งลงรักถักเชือกและชนิดเปลือยๆ ลายถักก็มีอยู่หลายแบบครับ

พุทธคุณของตะกรุดคู่ชีวิต หลวงพ่อพิธมีประสบการณ์มากมาย เรื่องอยู่ยงคงกระพันนั้นชาวเมืองพิจิตรต่างทราบกันดี ปัจจุบันหาตะกรุดหลวงพ่อพิธแท้ๆ ยากครับ และมีของปลอมเลียนแบบมาก การเช่าหาควรจะหาจากผู้ที่มีความรู้ความชำนาญจริงเท่านั้นครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปตะกรุดคู่ชีวิตหลวงพ่อพิธ แบบมีลงรักถักเชือก จากหนังสือตามรอยตำนาน เครื่องรางของขลัง ขมังเวท ของ คุณพยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยมาให้ชมกันด้วยครับ



กุมารทองรุ่นแรก
หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม

สวัสดีครับ ผู้อ่านที่รักทุกท่าน ในวันนี้เราจะมาคุยกันถึงหลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ถ้าจะกล่าวถึงกุมารทอง ก็ต้องนึกถึงกุมารทองของหลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม ถือว่าอยู่ในอันดับหนึ่งครับ และหลวงพ่อเต๋ ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง ลูกศิษย์ลูกหาก็มากมาย

หลวงพ่อเต๋ คงทอง เกิดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2434 โยมบิดาชื่อจันทร์ โยมมารดาชื่อบู่ ตอนอายุได้ 7 ขวบ ก็ต้องไปอยู่กับหลวงลุงแดง ซึ่งเป็นลุงที่วัดกาหลง หลวงลุงแดงนั้นเป็นพระที่วิชาอาคมแก่กล้ามาก หลวงพ่อเต๋อยู่กับหลวงลุงแดงเพื่อเรียนหนังสือจนอ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี พออายุได้ 10 ขวบ หลวงลุงแดงพาเดินทางกลับมาเยี่ยมโยมบิดามารดา ต่อมาในปี พ.ศ.2449 จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่กับหลวงลุงแดง เรียนพระปริยัติธรรมและคอยดูแลหลวงลุงแดง

เมื่อหลวงพ่อเต๋อายุครบ 21 ปี ในปี พ.ศ.2454 จึงได้อุปสมบท โดยมีพระครูอุตรการบดี (หลวงพ่อทา) วัดพะเนียงแตก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสมุห์ทศ วัดทุ่งผักกูด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการจอม วัดลำเหย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "คงคสุวัณโณ" หลังจากที่บวชได้ไม่นานหลวงลุงแดงก็มรณภาพที่วัดกาหลง หลวงพ่อเต๋จึงต้องเดินทางไปจัดการงานศพของหลวงลุงแดง ก่อนที่หลวงลุงแดงจะมรณภาพนั้นท่านได้เคยฝากวัดสามง่ามไว้กับหลวงพ่อเต๋ให้ช่วยพัฒนาต่อให้เสร็จ หลวงพ่อเต๋ก็ได้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดสามง่ามและได้พัฒนาจนเจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้

ทางด้านการศึกษาพุทธาคมนั้น หลวงพ่อเต๋ได้ศึกษากับ หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จนเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน ต่อมาก็ได้ไปศึกษากับหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง ทั้งทางด้านวิปัสสนาธุระและวิทยาคมต่างๆ และได้ติดตามหลวงพ่อแช่มออกธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ มากมาย หลวงพ่อเต๋เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป ได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ตกทุกข์ได้ยาก ตลอดจนรักษาผู้ที่ป่วยไข้ให้หายได้ทุกราย จนชื่อเสียงของหลวงพ่อเต๋โด่งดังมาก มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศมาให้หลวงพ่อช่วยรดน้ำมนต์ปัดเป่าโรคภัยต่างๆ นานามากมายแทบทุกวันมิได้ขาด

หลวงพ่อเต๋ได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง เช่น ในยุคแรกๆ นั้นจะสร้างตะกรุดโทนแจกแก่ลูกศิษย์ ในด้านพระเครื่องก็สร้างไว้หลายรุ่นเช่นกัน ทั้งเหรียญ พระเนื้อผง รูปเหมือนหล่อ ทั้งขนาดห้อยคอและบูชา ทุกรุ่นล้วนนิยมกันทั้งสิ้น ที่โด่งดังมากและมีผู้รู้จักมากในปัจจุบันก็คือกุมารทอง

หลวงพ่อเต๋มีอายุยืนมาก ท่านมรณภาพในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2524 สิริอายุได้ 90 ปี พรรษาที่ 69 ส่วนร่างของท่านนั้นลูกศิษย์ให้เก็บรักษาไว้ในโลงแก้ว ทุกวันนี้จะมีคนเดินทางไปกราบไหว้เสมอ

ในวันนี้ผมได้นำรูปกุมารทอง รุ่นแรก พิมพ์หูยาว ซึ่งหายากมากในปัจจุบัน (จากหนังสือตามรอยตำนาน เครื่องรางของขลัง ขมังเวทย์) มาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์

ใบบุญ:

พระสมเด็จหลวงปู่ภู พิมพ์แซยิด
วัดอินทรวิหาร

หลวงปู่ภู ศิษย์เอกของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้สร้างพระรูปทรงสี่เหลี่ยมแบบพระสมเด็จไว้ที่วัดอินทรวิหาร และได้รับความนิยมสูง เชื่อกันว่าหลวงปู่ภู ได้เก็บผงวิเศษ 5 ประการของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไว้ และนำมาเป็นส่วนผสมในการสร้างพระของท่านด้วย

พระครูธรรมานุกูล (ภู จันทสโร) เกิดที่ตำบลวังหิน อำเภอเมือง จังหวัดตาก ในปี พ.ศ.2373 เมื่ออายุได้ 9 ขวบ บิดามารดาได้นำไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดท่าคอย และได้เรียนหนังสือที่สำนักวัดท่าแค จนอายุได้ 21 ปี พ.ศ.2394 จึงได้อุปสมบทที่วัดท่าคอย ได้รับฉายาว่า "จันทสโร" หลังจากนั้นท่านก็ได้ออกธุดงค์กับพระพี่ชายเพื่อบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน และอยู่จำพรรษาตามสถานที่ต่างๆ โดยลำดับ ต่อมาได้ธุดงค์มาจนถึงกรุงเทพฯ เข้ามาจำพรรษาที่วัดสระเกศ วัดสามปลื้ม วัดม่วงแค วัดท้ายตลาด ตามลำดับ ท้ายที่สุดหลวงปู่ภูได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดอินทรวิหาร (วัดบางขุนพรหมนอก ในขณะนั้น)

ระหว่างที่หลวงปู่ภูมาจำพรรษาอยู่กรุงเทพฯ นั้น ท่านก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ และได้ศึกษาวิปัสสนาธุระกับเจ้าประคุณสมเด็จฯ และถือว่าเป็นศิษย์ใกล้ชิดกับ เจ้าประคุณสมเด็จฯ มากรูปหนึ่ง และเคยได้ออกธุดงค์ร่วมกับ เจ้าประคุณสมเด็จฯ หลายแห่ง ในการสร้างองค์หลวงพ่อโต วัดอินทร์ (พระศรีอริยเมตไตรย) ท่านก็มีส่วนช่วยสร้าง หลังจากที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ มรณภาพแล้ว หลวงปู่ภูก็ได้เป็นธุระในการสร้างต่อจวบจนกระทั่งหลวงปู่ภูมรณภาพ

หลวงปู่ภูดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอินทร์ ในปีพ.ศ.2432 และในปีพ.ศ.2435 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูธรรมานุกูล" เป็นเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร จนถึงปี พ.ศ.2476 สิริอายุได้ 103 ปี พรรษาที่ 82

หลวงปู่ภูได้สร้างพระเนื้อผงแบบพระสมเด็จ ในปีพ.ศ.2463 เพื่อแจกแก่ผู้ที่ได้สมทบทุนในการสร้างองค์พระหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ต่อให้เสร็จ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างไว้ ได้เพียงครึ่งองค์ ในขณะนั้นหลวงปู่ภู มีอายุ 90 ปี พระที่หลวงปู่ภู สร้างไว้มีอยู่หลายพิมพ์ เช่น พิมพ์แซยิด พิมพ์แปดชั้น พิมพ์สามชั้น เป็นต้น

พระสมเด็จของหลวงปู่ภู ที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีมูลค่าสูง ก็คือ พิมพ์แซยิด แขนหักศอก และพิมพ์แซยิด แขนกลม สภาพสวยๆ สมบูรณ์ ราคาหลักแสนครับ ส่วนพิมพ์อื่นๆ ก็ลดหลั่นกันลงมา

หลวงปู่ภูเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดกับเจ้าประคุณสมเด็จฯ รูปหนึ่ง และเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็มาจำพรรษาอยู่ที่วัดอินทร์บ่อยๆ โดยเฉพาะครั้งที่มาสร้างพระสมเด็จบางขุนพรหม ดังนั้นจึงเชื่อว่าหลวงปู่ภูมีผงวิเศษ 5 ประการของเจ้าประคุณสมเด็จฯ เก็บรักษาไว้ และนำมาเป็นส่วนผสมในการสร้างพระของท่านด้วยครับ

วันนี้ผมได้นำรูปพระสมเด็จหลวงปู่ภู พิมพ์แซยิด แขนหักศอก วัดอินทรวิหาร มาให้ชมกันด้วยครับ
ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์



พระกรุวัดราชบูรณะ         พระขุนแผน กรุโรงเหล้า

จังหวัดพระนครศรีอยุธยานับเป็นศูนย์กลางทางด้าน "งานศิลปะ" นับเนื่องเป็นเวลาหลายร้อยปีปรากฏงานประเภทหัตถศิลป์ เช่น เบญจรงค์ ลายรดน้ำ งานหัตถกรรม และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งงานประเภทหนึ่งที่น่าค้นคว้าศึกษาเป็นยิ่งได้แก่ "งานปฏิมากรรม" เนื่องจากมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง หากเป็นอยุธยาบริสุทธิ์ จะว่างามแท้ก็ไม่งามมากทีเดียว ซึ่งอาจดูเค้าโครงจากยุคแรกๆ จนถึง ยุคหลังได้ว่า ...

ในยุคแรกนั้น งานปฏิมากรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาจะทำจากสัมฤทธิ์บ้าง มีการพอกศิลาก่ออิฐถือปูน ซึ่งก่อนหน้านั้นจะมีลักษณะงดงาม เคร่งครึม ที่เราเรียกว่า "ยุคอู่ทอง" ในราวปี พ.ศ.1893 พระพักตร์เคร่งขรึม มีศิราภรณ์ประดับ เช่น เศียรพระธรรมมิกราช ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากเขมร โดยเฉพาะพระพักตร์

นอกจากนี้ยังนิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ อย่างเช่นที่วัดพนัญเชิง ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับ "หลวงประเสริฐอักษรนิต" ว่า สร้างก่อนพระนครศรีอยุธยา 26 ปี และแพร่หลายมาจนถึงสมัยพระบรมไตรโลกนาถ เช่น พระที่วัดมหาธาตุ เนื่องจากอยุธยาเข้าไปมีอำนาจเหนือสุโขทัย ทำให้ได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย ส่งผลให้พระพุทธรูปอ่อนช้อยงดงามกว่าเดิม

ต่อมาศิลปะพระพุทธรูปเริ่มแสดงความเป็นตัวตนของอยุธยาชัดเจนขึ้น ทั้ง "พระพุทธรูปและพระเครื่อง" คือ เริ่มคลี่คลายจากความงามลง ดูเร่งรีบเพื่อรับศึกสงคราม มีไรพระศกใหญ่ เส้นสังฆาฏิหนา แลดูขาดจิตวิญญาณ เหมือนเช่นพระพุทธรูปสุโขทัยและอู่ทอง ส่วนฐานเพิ่มลวดลาย เช่น ดอกบัว นักษัตร กระจัง สัตว์ในวรรณคดี หรือเรื่องราวทางพุทธประวัติ ทำให้ฐานโค้งมากกว่า ปกติ เช่น พระพุทธโลกนาถ วัดพระเชตุพนฯ ที่อัญเชิญจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ จ.พระนครศรีอยุธยา หรือพระมงคลบพิตร เป็นต้น

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยหินทราย เพราะมีอิทธิพลเหนือเขมร แต่ช่างปูนยังสู้เขมรไม่ได้ ดังพระที่วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรี อยุธยา ผิดกับงานทาง จ.ลพบุรี ที่มีพระพุทธรูปหินทรายเช่นกัน (โดยเฉพาะ "ปางนาคปรก" งดงามมาก แล้วยังเริ่มลักษณะความเป็นสยามลงใน พระพักตร์ พบมากที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี) ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านี้ส่งอิทธิพลโดยตรงต่องานสร้างพระเครื่องในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีลักษณะไม่สู้จะงดงามนัก แต่เข้มขลังด้วยพุทธาคมแบบเขมร เช่น พระกรุวัดราชบูรณะ พระกรุวัดตะไกรหน้าต่างๆ พระยอดธง

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งแรก สยามก็รับอิทธิพลทางศิลปะของเมียนมาและมอญมาผสมผสานในงานปฏิมากรรมอยู่ยุคหนึ่ง เช่น วัดมอญจะมี "เสาหงส์" หันไปทางทิศที่เมืองมอญเก่าเคยตั้ง การสร้างเจดีย์ที่มีร่องรอยของเมียนมา เช่น เจดีย์ภูเขาทอง โดยเฉพาะที่ล้านนานั้นเมียนมาเข้าครอบครองเกือบ 200 ปี จึงรับอิทธิพลของเมียนมาไปอย่างมากมาย

จึงอาจสรุปลักษณะของ "พระเครื่องสมัยกรุงศรีอยุธยา" ได้ว่า ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปโดยตรง และสร้างเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในศึกสงคราม เช่น พระขุนแผน ในการสร้างนั้นมีทั้งเนื้อโลหะ เนื้อดิน สภาพไม่สู้งดงามนัก จนสิ้นอยุธยามาเริ่มสมัยรัตนโกสินทร์

งานปฏิมากรรมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีอิทธิพลจากตะวันตกเข้าผสมผสานครับผม
ราม วัชรประดิษฐ์


พระสมเด็จอรหัง พิมพ์เล็ก มีประภามณฑล

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กทม. มีพระสมเด็จที่สังคมผู้นิยมพระเครื่องให้ความนิยม คือพระสมเด็จอรหัง และเชื่อกันว่าเป็นพระที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นผู้สร้างไว้ มูลค่าสูงและก็หายากในปัจจุบันครับ

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหารเป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา ชื่อ วัดสลัก ต่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานี

สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสลักในปีพ.ศ.2326 จากนั้นทรงเปลี่ยนชื่อวัดจากวัดสลักเป็น "วัดนิพพานาราม" ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้วัดนิพพานารามเป็นสถานที่ทำสังคายนา

ในปีพ.ศ.2331 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดพระศรีสรรเพชญ" และในปีพ.ศ.2346 ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ" ตามชื่อวัดในกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบูรณะวัดมหาธาตุฯ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์" ในปีพ.ศ.2439

อย่างไรก็ตามชาวบ้านทั่วไปก็มักจะเรียกกันติดปากว่า "วัดมหาธาตุ" ที่วัดนี้อย่างที่ทราบกันว่าเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) ก็เคยย้ายจากวัดราชสิทธิ์ (วัดพลับ) มาประทับอยู่ที่วัดแห่งนี้ ครั้งเมื่อได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า สมเด็จฯ ได้สร้างพระเครื่องเนื้อผงไว้เป็นที่แจกจ่ายและบรรจุไว้

พระสมเด็จที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) สร้างไว้ เป็นพระรูปทรงสี่เหลี่ยม เนื้อผงพุทธคุณ ด้านหลังมักจะพบว่ามีจารอักขระเป็นอักษรขอมคำว่า "อรหัง" มีอีกแบบเป็นลักษณะตราประทับ คำว่า อรหังเช่นกัน จึงเป็นที่มาของคำเรียกพระชนิดนี้ว่า "พระสมเด็จอรหัง" พระที่พบมีอยู่หลายพิมพ์ เช่น พระสมเด็จอรหัง พิมพ์ 3 ชั้น หรือพิมพ์สังฆาฏิ พระสมเด็จอรหังพิมพ์เกตุอุ หรือเกตุเปลวเพลิง พระพิมพ์ฐานคู่ พระพิมพ์เล็ก แบบมีประภามณฑล และพระพิมพ์เล็กไม่มีประภามณฑล พระที่พบที่วัดมหาธาตุจะเป็นพระเนื้อผงออกสีขาว ขาวอมเหลือง และขาวอมเขียวก้านมะลิ

พระแบบพระสมเด็จอรหังยังพบอีกครั้งที่กรุเจดีย์วัดสร้อยทอง แต่พระที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อแดง มีเนื้อสีขาวบ้างแต่น้อย และเนื้อพระที่พบก็จะเป็นประเภทเนื้อหยาบทั้งเนื้อแดงและเนื้อขาว ส่วนพิมพ์ของพระจะเหมือนกัน ยกเว้นพระพิมพ์เล็กไม่พบในกรุวัดสร้อยทอง

พระสมเด็จอรหังพิมพ์เล็กจะพบแต่เนื้อขาวเท่านั้น ด้านหลังจะมีจารอรหัง ทั้งพิมพ์มีประภามณฑลและไม่มีประภามณฑล พิมพ์เล็กนี้จะมีจำนวนน้อยกว่าพระทุกพิมพ์ จึงหายากกว่า และมีการปลอมแปลงกันมานานแล้วครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระสมเด็จอรหัง พิมพ์เล็ก มีประภามณฑล มาให้ชมกันครับ
ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์

 

เหรียญหลวงปู่พวง ฐานวโร

"พระอธิการพวง ฐานวโร" หรือที่ ชาวบ้านทั่วไปรู้จักดีในนาม "หลวงปู่พวง ฐานวโร" เจ้าอาวาสวัดน้ำพุสามัคคี ต.พุทธบาท อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ เป็นพระเกจิอาจารย์ศิษย์เอกสืบสายวิทยาคมจากพระครูวิชิตพัชราจารย์ หรือหลวงพ่อทบ วัดช้างเผือก อ.เมืองเพชรบูรณ์ อดีตพระเกจิชื่อดังแห่งเพชรบูรณ์ เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังระดับแนวหน้ารูปหนึ่งของเมืองมะขามหวาน ที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธา

ปัจจุบัน สิริอายุ 90 ปี พรรษา 69

หลวงปู่พวง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2467 ที่เมืองดอกบัว จังหวัดปทุมธานี เชื้อสายมอญ ได้ย้ายตามบิดามารดามาอยู่เพชรบูรณ์ ทำอาชีพเกษตรกรรม บิดามารดาได้ให้บวชตั้งแต่เป็นสามเณร สามเณรพวงได้ปรนนิบัติหลวงพ่อทบมิได้ขาด ไม่ว่าจะล้างบาตร เทกระโถนน้ำหมาก หลวงพ่อทบเห็นในความเพียรตั้งใจจริงจึงได้ถ่ายทอดสรรพต่างๆ และวิปัสนากัมมัฏฐานการกำหนดจิต การฝึกกสินแต่ละกอง จนถึงการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในวัย ๒๑ ปีได้ฉายา“ ฐานวโร ”แปลว่า ผู้มีฐานะอันประเสริฐ ตลอดระยะเวลาที่อยู่กับหลวงพ่อทบ หลวงพ่อทบให้ช่วยจารตะกรุดมั่ง ม้วนมั่ง ถักมั่ง  หลวงพ่อทบรักมากสอนให้จนหมด

หลวงพ่อทบไปมาหาสู่กับหลวงพ่อเขียน ที่สำนักขุนเณร หลวงพ่อทบจึงได้ฝากฝังศิษย์รักให้หลวงพ่อเขียนให้ช่วยประสาทวิชาเพิ่มเติม ทั้งด้านกรรมฐานและวิปัสนากรรมฐาน ฝึกกสิน ๑o วิชาทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ เมื่อเรียนจนหมดจากหลวงพ่อเขียนจึงได้กราบลากลับมาเพชรบูรณ์

ได้พบหลวงพ่ออ้วน วัดดงขุย หลังจากทดสอบกำลังใจแล้วท่านจึงรับเข้าสำนักถ่ายทอดวิทยาคมให้หมดสิ้น หลังจากที่ได้ร่ำเรียนจนสำเร็จแล้วจึงได้กราบลาหลวงพ่ออ้วนเพื่อออกธุดงค์ ปลีกวิเวกตามป่าเขา ตามถ้ำต่างๆ ได้ธุดงค์เข้าป่ารกชัชขึ้นเขา ลงเขา จนมาถึงเทือกเขารัง ณ บ้านน้ำพุ จ. เพชรบูรณ์ พ.ศ. ๒๕oo ได้ปักกลดจำวัด ณ ที่แห่งนี้  ชาวบ้านศรัทธาในบารมีนิมนต์ให้สร้างวัดเป็นเจ้าอาวาสจนถึงปัจจุบัน

หลวงปู่พวง ฐานววโร ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีวัตรปฏิบัติงดงามยิ่ง มีปฏิปทาที่มั่นคง สมถะเรียบง่าย จิตใจโอบอ้อมอารี ให้ความเมตตาทุกคนไม่แบ่งชนชั้น

ในวาระปีใหม่ 2557 หลวงปู่พวง ได้มอบหมายให้ทางคณะกรรมการวัดได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาเพื่อเป็นที่ระลึกแก่ศิษยานุศิษย์ทั้งประเทศและต่างประเทศ รุ่นฉลองศาลา เพื่อนำรายได้มาบูรณะวัดและซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล ซึ่งวัตถุมงคลที่จัดสร้างเป็นเหรียญหล่อโบราณ รุ่นแรก และ ปิดตาอรหัง  จัดสร้างเนื้อเงิน 99 เหรียญ เนื้อนวะ 999 เหรียญ เนื้อสำฤทธิ์ 1999 เหรียญ เนื้อรวมมวลสาร 1999 เหรียญ ปิดตาอรหัง จัดสร้าง เนื้อแก้วนพเก้า เนื้อเมฆสิทธิ์ เนื้อแร่โคตรเศรษฐี เนื้อเชียงรุ่ง อย่างละ 500 องค์ เท่านั้น ปลุกเสกเดือนธันวาคม 2556 หลวงปู่พวง ปลุกเสกเดี่ยว 10 วัน 10 คืนเต็ม

ลักษณะของวัตถุมงคล เป็นเหรียญหล่อรูปใข่ หลังยันต์เพชรกลับ กลับร้ายกลายดี ผู้เสกต้องมีวิชาอาคมขึ้นสูงจึงจะทำออกมาได้ศักสิทธิ์ ได้ผล ซึ่งปัจจุบันหาผู้สืบทอดวิชานี้ไม่มีอีกแล้ว ส่วนพระปิดตาอรหังนั่งค่อมหลังยันต์สามใบพัดอานุภาพบรรยายไม่สิ้นด้วยใช้ได้ครอบจักรวาล

สำหรับวัตถุมงคลของหลวงปู่พวงล้วนเป็นที่นิยมของบรรดานักสะสมพระเครื่องและ ผู้สนใจอย่างแพร่หลายทั้งในจังหวัดและทั่วประเทศ เนื่องจากมีพุทธคุณสูงทั้งด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม


เหรียญหลวงพ่อสมยาอุไร

"พระครูศรีคณานุรักษ์" หรือ "หลวงพ่อสม" (สม ยาอุไร) อดีตเจ้าคณะอำเภอศรีประจันต์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดดอนบุบผาราม ต.บ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี

เป็นศิษย์พระครูธรรมสารรักษา หรือหลวงปู่อ้น อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนบุบผาราม นอกจากนี้ยังเป็นศิษย์เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ ด้วย

มรณภาพเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2532 สิริอายุ 91 พรรษา 71

เหรียญเสมาหลวงพ่อสม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2528 เนื่องในโอกาสที่หลวงพ่อสม อายุครบ 88 ปี สร้างจากเนื้อกะไหล่รมดำ และเหรียญรุ่นนี้ยังเป็นเหรียญที่หลวงพ่อสม ประกอบพิธีพุทธาภิเษกอธิษฐานจิตเสกเดี่ยวถึง 4 ครั้ง ที่อุโบสถ วัดดอนบุบผาราม ตั้งแต่ปี 2528 จนกระทั่งถึงปี 2532

ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อสมหน้าตรง ด้านล่างเขียนว่า "หลวงพ่อสมยาอุไร" เขียนติดกัน ซึ่งคำว่า "ยาอุไร" เป็นนามสกุลเดิมของหลวงพ่อสม

ด้านหลังเป็นยันต์ "มะอะอุ" ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัวหลวงพ่อสม ใต้ยันต์เขียนว่า "พ.ศ.๒๕๒๘" รอบเหรียญด้านล่างเขียนว่า "วัดดอนบุบผาราม รุ่นอายุครบ ๘๘ ปี" ส่วนที่ชาวบ้านเรียกกันว่ารุ่นคานหัก เนื่องจากเหรียญรุ่นนี้ไม่เคยนำออกมาแจกญาติโยมเลย หลังจากสร้างขึ้น จนกระทั่งหลวงพ่อสมมรณภาพ

วัดดอนบุบผาราม ได้เตรียมนำเหรียญรุ่นนี้ออกมาเพื่อแจกแต่ปรากฏว่าจะแบกจะดึงกล่องบรรจุเหรียญรุ่นนี้อย่างไร ก็ไม่ขยับออกมาแม้แต่น้อย จนกระทั่งชาวบ้านร่วมใจกันไปหาไม้คาน กระทู้ไม้ไผ่มาหาบหาม ก็หักทุกครั้ง

สุดท้ายต้องจุดธูปอธิษฐานขออนุญาตหลวงพ่อสม จึงสามารถเคลื่อนย้ายเหรียญรุ่นนี้ออกมาแจกชาวบ้านได้

ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า "เหรียญรุ่นคานหัก"

กล่าวกันว่า มีอดีตส.ส.พรรคชาติไทยคนหนึ่ง ประสบอุบัติเหตุ แต่รอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ ชาวบ้านร่ำลือกันว่ามาจากพุทธคุณแห่งเหรียญหลวงพ่อสม

ทำให้ชาวบ้านที่ทราบข่าว ต่างเสาะหาบูชาเหรียญรุ่นคานหักเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบัน เหรียญหลวงพ่อสม รุ่นคานหัก ยังพอมีเหลือเพียงไม่มากเท่านั้น หาเช่าบูชาได้ที่วัดดอนบุบผาราม ต.บ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี





เหรียญรุ่นแรกหลวงปู่บัว วัดศรีบูรพาราม จ.ตราด

วัดศรีบูรพาราม เดิมเป็นสำนักสงฆ์เล็กๆ มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เพียงไม่กี่รูป จนเมื่อปี พ.ศ.2500 ญาติโยมและชาวบ้านที่ศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์ก่อสร้างเป็นวัดขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า "วัดเกาะตะเคียน" ฝังลูกนิมิตเมื่อปี พ.ศ.2524 และมีการพัฒนาเรื่อยมาจนเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดศรีบูรพาราม"

เป็นศาสนสถานที่เป็นที่รู้จักและเคารพเลื่อมใสของชาวจังหวัดตราดและเพื่อนบ้านใกล้เคียง ด้วยความเข้มขลังและศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุมงคลที่จัดสร้างโดยเจ้าอาวาสรูปแรกและรูปปัจจุบัน คือ พระครูสังฆกิจบูรพา หรือ หลวงปู่บัว ถามโก ที่ชาวบ้านมักเรียกกันติดปากว่า "พระอาจารย์บัว"

เดิมชื่อบัว เป็นบุตรนายเชี๋ย-นางเตี่ยน มารศวารี เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน 5 ปีขาล ตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ ปีพ.ศ.2469 ณ บ้านเลขที่ 3 หมู่ 3 ต.วังกระแจะ อ.เมือง จ.ตราด

ในวัยหนุ่มชอบศึกษาหาความรู้ด้านยาสมุนไพรและมีความชำนาญด้านงานช่าง จนอายุ 23 ปี ได้อุปสมบท ณ วัดบุบผาราม ต.วังกระแจะ โดยมี พระครูคุณวุฒิพิเศษ วัดบุบผาราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวัตรรัตนวงษ์สิทธิ์ วัดหนองบัว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ศึกษาพระปริยัติธรรมเรื่อยมา จนปี พ.ศ.2505 ย้ายมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเกาะตะเคียน ปีพ.ศ.2508 สอบได้ชั้นนักธรรมเอก

ปี พ.ศ.2513 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสังฆกิจบูรพา ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลวังกระแจะ

หลวงปู่บัวท่านเล่าว่า ในสมัยก่อนการศึกษาภาษาบาลียังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ท่านจึงไปศึกษาวิทยาคมและพระคาถาต่างๆ จากพระครูคุณวุฒิพิเศษ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ โดยเฉพาะ "วิชาหัวใจ 108" ทำให้รู้ถึงขั้นตอนและกรรมวิธีการทำ "น้ำมันงา" ที่มีพุทธคุณทั้งด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด และอยู่ยงคงกระพัน

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษากับนายเสียง ชาวบ้านหมู่บ้านหนองโพง ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องหนังเหนียวนัก โดยนายเสียงได้พาลูกชายมาฝากเรียนวิชา แต่ลูกไม่สนใจ นายเสียงกลัววิชาจะสูญหาย จึงได้ถ่ายทอดให้หลวงปู่จนหมด โดยแรกๆ ท่านไม่คิดว่าจะได้นำมาใช้ จนมาสร้างพระเครื่องเพื่อแจกให้ญาติโยมพกติดตัว ป้องกันพวกนักเลงที่สมัยก่อนมีเยอะมาก ปรากฏว่าเห็นผลเป็นที่ร่ำลือ จากที่ไม่มีผู้ใดสนใจก็พากันมาขอจนหมดไม่มีเหลือ

เป็นพระเกจิที่รักสันโดษ สมถะ มีวัตรปฏิบัติงดงาม เมตตาธรรมสูงส่ง ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวจังหวัดตราดและใกล้เคียง

เป็นหนึ่งในเกจิดังของภาคตะวันออกที่ไม่ว่าจะออกวัตถุมงคลมากี่รุ่นต่อกี่รุ่น ก็ล้วนทรงพุทธคุณแก่ผู้สักการะเป็นที่กล่าวขวัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เหรียญรุ่นแรก" ที่เป็นที่นิยมและแสวงหาอย่างกว้างขวาง ผู้มีไว้ครอบครองก็ต่างหวงแหน

การจัดสร้างเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่บัว รุ่นแรกนั้น นับเนื่องไปเมื่อปี พ.ศ.2524 ซึ่งเป็นปีที่วัดจะจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิต บรรดาลูกศิษย์ลูกหาจึงได้ขออนุญาตหลวงปู่จัดสร้าง "เหรียญรูปเหมือน" ขึ้นล่วงหน้าในปี พ.ศ.2523 ประกอบด้วย เนื้อทองคำกับเนื้อเงิน จำนวนไม่มากนัก นอกนั้นเป็นเนื้อทองแดงในราว 20,000 กว่าเหรียญ โดยหลวงปู่ได้ปลุกเสกเดี่ยวมาตลอด

จนก่อนงานปิดทองฝังลูกนิมิต ทางวัดได้นิมนต์พระเกจิ 9 รูปมาปลุกเสกอธิษฐานจิตอีกครั้ง เมื่อถึงวันงานผู้มีจิตศรัทธาที่ร่วมทำบุญตามแต่ศรัทธาจะได้รับมอบเหรียญทองแดง 1 เหรียญ หรือจะขอเพิ่มฝากลูกหลานก็ไม่ว่ากัน หลวงปู่เมตตาแจกให้หมด เรียกว่าได้รับแจกกันแบบไม่จำกัดจำนวน

เหรียญนี้เองนับเป็น "เหรียญรุ่นแรก" เมื่อจบงานปิดทองฝังลูกนิมิต ปรากฏว่ามีเหรียญเหลืออยู่อีกจำนวนมาก หลวงปู่บัวได้ปลุกเสกอีกหลายครั้ง หลายวาระ และทางคณะกรรมการวัดได้นำออกมาให้เช่าบูชาในราคาเหรียญละ 10 บาท ซึ่งกว่าจะหมดใช้เวลาอยู่หลายปี

เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาแว่วว่าสูงขึ้นถึงหลักหมื่น ซึ่งนับวันจะหายากขึ้น และมีการทำเทียมออกมาเป็นจำนวนมากครับผม
ราม วัชรประดิษฐ์



พระกริ่งคลองตะเคียน

พระกริ่งคลองตะเคียน เป็นที่เชื่อกันว่า น่าจะเป็นพระที่พระเกจิอาจารย์เป็นผู้สร้างขึ้นมากกว่าจะเป็นพระกรุ

ลักษณะพิเศษมีหลายอย่าง เช่น องค์พระคล้ายพระคงทางเหนือ ภายในกลวงอุดผงเม็ดใบลาน เวลาเขย่าจะมีเสียง เลยกลายเป็น "พระกริ่งเนื้อดินองค์แรกและชนิดเดียวของสยาม" องค์พระได้มีการขุดค้นพบที่ จ.พระนครศรีอยุธยา บริเวณที่เรียกว่า "ดงตะเคียน" มีลำคลองเล็กๆ ไหลผ่าน ยามแล้งน้ำจะแห้งขอด อันเป็นที่มาของชื่อ

พระกริ่งคลองตะเคียน แตกกรุในราวสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และภายหลังการขุดค้นของกรมศิลปากรแล้ว สำนักโบราณคดีพบว่าบริเวณนี้เป็นที่ตั้ง ของกลุ่มวัดเก่าถึง 3 วัด ได้แก่ วัดโคกจินดา ซึ่งพบพระกริ่งคลองตะเคียนอยู่ในกลุ่มนิยม ประกอบด้วย พระกริ่งพิมพ์หน้าใหญ่ หน้าเล็ก พระหน้ามงคล และหน้าฤๅษี

นอกจากนี้ ยังพบพระพิมพ์ปิดตาอีกหลากหลายพิมพ์ ซึ่งกำหนดตามศิลปะเฉพาะของวัดที่สำคัญคือ ลายมือจารหวัดๆ ที่สวยงามลงตัว อันถือเป็นหนึ่งเอกลักษณ์ วัดที่สองคือ วัดสำเภาล่ม (วัดทำใหม่) พบพระปิดตามหาอุตม์ และพระพิมพ์สมาธิ ซึ่งมีลายมือจารเป็นตัวบรรจงสวยงามเช่นกัน แต่แตกต่างจากวัดโคกจินดาที่ลายมือจะเป็นเส้นหยาบไม่ประณีตเท่า วัดที่สามได้แก่ วัดช้าง ศิลปะจะด้อยกว่าสองวัดข้างต้น ลายมือจารค่อนข้างหวัด เส้นจารหนา ดูหยาบ ไม่สวยงามนัก แต่ก็ดูดุดันเข้มขลังไปอีกแบบ ประการสำคัญก็คือ เป็นพระยุคเดียวกับ "พระกริ่งคลองตะเคียน" สองวัดข้างต้น

พุทธลักษณะองค์พระ พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ใต้ซุ้มใบโพธิ์เป็นเม็ดๆ ไม่สู้ประณีตนัก พบทั้งหน้าเดียวและสองหน้า ด้านบนส่วนใหญ่เป็นรอยจีบแหลมขึ้นไป จะมีลักษณะกลมมนบ้างแต่มีน้อย ครูบาอาจารย์ เคยท่องให้ฟังถึงสรรพคุณว่า "หน้าใหญ่ ไหล่ยก อกต่ำ ผิวดำสนิท กันเขี้ยวขออสรพิษ ต้องคลองตะเคียน" เป็นการพิจารณาพระได้ส่วนหนึ่งก็คือ พระพักตร์จะกลมใหญ่, หัวไหล่ข้างขวาจะยกสูงกว่าหัวไหล่ข้างซ้าย แต่จะมีบ้างที่หัวไหล่บางองค์ไม่ยกขึ้น หากแต่ราบเรียบเท่ากันทั้งสองข้าง จะเรียก "พิมพ์ไหล่ลู่", ส่วนคำว่า "อกต่ำ" นั้น แบ่งเป็น 2 กระแสคือ อกไม่ชิดกับลำพระศอ ทำให้มองดูอกอยู่ต่ำกว่าพระชนิดอื่น

แต่บางคนเรียก "อกตั้ง" เพราะหน้าอก จะนูนใหญ่ตั้งขึ้นมา และผิวดำสนิท คือองค์พระส่วนใหญ่จะเป็นสีดำสนิทและละเอียดทั้งองค์ ผิวขององค์พระเป็นมันขลับ สืบเนื่องจากดินและใบลานที่นำมาจัดสร้าง อีกทั้งมีผู้สันนิษฐานว่าอาจนำไม้ตะเคียนที่มีเนื้อละเอียดมาเป็นส่วนผสมด้วย หากถามว่าสีอื่นมีไหม? ต้องตอบว่ามีครับ เพราะเป็นพระผ่านการเผา มีสีน้ำตาลปนอยู่บ้าง บางที พบเป็นสีเนื้อผ่าน (คือมีทั้งสองสีในองค์เดียวกัน) แบบนี้ปลอมยาก

พระกริ่งคลองตะเคียน พิมพ์นิยม จะมีอยู่ 2 พิมพ์คือ พิมพ์หน้าใหญ่ กับ พิมพ์หน้าเล็ก แล้วยังมีพิมพ์เศียรแหลม กับ พิมพ์เศียรมน และพิมพ์ปิดตา ซึ่งพบน้อยมาก นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าอาจจะสร้างในหลายยุคหลายสมัย

พระกริ่งคลองตะเคียน ยังเป็นพระที่ลือลั่นในเรื่องพุทธคุณ สมัยก่อนนิยมอาราธนาอมไว้ในปากเวลาสู้รบ เขาว่า "เหนียวจริงๆ" และน่าแปลกที่ยิ่งอาราธนาใช้หรือโดนเหงื่อไคลยิ่งมันขึ้นดำเป็นประกายแวววาวทีเดียว

ส่วนการสันนิษฐานว่าเป็นเกจิอาจารย์ขมังเวทย์สร้างขึ้น ไม่ใช่เป็นพระกรุนั้น เนื่องจากจะพบรอยจารอักขระจารเป็นพระคาถาด้วยเหล็กจาร ให้สังเกตดูรอยกดของเหล็กจารจะต้องเก่าลึกและเป็นลายมือเดียวกัน พบว่าลากยาวไม่ปรากฏลอยขาดของเส้น ดูเผินๆ คล้ายเป็นตัวเลขไทยสมัยโบราณ ในพระกริ่งคลองตะเคียน มักจะพบตัวเลข "๓ และ ๔" อยู่เสมอ มีผู้สันนิษฐานว่า เป็นตัวย่อของคาถา "๓" คือ มะ อะ อุ ส่วนเลข "๔" คือ นะ มะ พะ ธะ พระคาถาหัวใจพระพุทธเจ้า อันนับเป็นเอกลักษณ์อีกประการหนึ่ง

พระกริ่งคลองตะเคียน ได้รับความนิยมจากเกจิอาจารย์ผู้เรืองเวทย์สร้างสืบต่อกันเรื่อยมา ขนาดและรูปแบบบางครั้งก็แตกต่างกันไป "ของแท้รุ่นแรก" ราคาจับไม่ลงเลยครับ

ใบบุญ:
.

เหรียญหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ รุ่นแรก

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของสุพรรณฯ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ที่ประชาชนและชาวสุพรรณฯ เคารพและศรัทธามาก มีประชาชนมาสักการะเป็นจำนวนมากประจำทุกวัน

วัดป่าเลไลยก์และพระพุทธรูปหลวงพ่อโต ผู้ใดเป็นผู้สร้างไว้แต่แรกเริ่มนั้นไม่มีประวัติบันทึกไว้ในเชิงประวัติ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงสันนิษฐานไว้อย่างน่าฟังว่า "เดิมน่าจะเป็นวัดพุทธาวาสไม่มีพระสงฆ์ประจำ คงมีแต่พระพุทธรูปประจำอยู่ในคฤหะอย่างมณฑป มีหลังคาคลุมเฉพาะองค์พระนับเป็นมหาเจดีย์สถานสำคัญเป็นสักการบูชาของพุทธบริษัท เช่นเดียวกับเจดีย์ทั้งหลายในสมัยโบราณ พระพุทธรูปเดิมที่ประดิษฐานไว้ในคฤหะ นี้ เป็นปางปฐมเทศนา มีฝาผนังล้อมองค์พระพุทธรูป 3 ด้าน ต่อมาภายหลังได้ก่อสร้างขึ้นด้วยอิฐปูนให้โตใหญ่กว่าองค์เดิม ครั้นพระกรเบื้องขวา ที่ยกแสดงปางปฐมเทศนา ชำรุดหักพัง นายช่างผู้บูรณะเลือนความจำได้แปลงเป็นปางป่าเลไลยก์ ประทับนั่งห้อยพระบาท ต่อมามีพุทธบริษัทไปนมัสการมากยิ่งขึ้นจึงมีพระสงฆ์เข้าอยู่จำพรรษา เป็นวัดสังฆารามในบริเวณวัดป่าฯ นี้ เดิมไม่มีอุโบสถ พัทธสีมา"

สรุปตามคำสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า หลวงพ่อวัดป่าฯ เดิมเป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ละม้ายเหมือนองค์หลังพระปฐมเจดีย์ และอีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ตลอดยุคสมัย เช่น สมัยขุนหลวงพ่องั่วครองเมืองสุพรรณ สมัยอยุธยา พระยาสีหราชเดโชไชยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารวัดป่าฯ สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงผนวชเสด็จธุดงค์ประพาสจังหวัดสุพรรณบุรี ทรงพบพระป่าเลไลยก์รกร้างไม่มีพระสงฆ์ปกครอง นมัสการหลวงพ่อโตทรงเลื่อมใสมาก ได้อธิษฐานไว้ว่า ถ้าได้ขึ้นครองราชย์แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานิกรบดินทร์ สร้างหลังคาและฝาโดยรอบถวาย ที่หน้าบันยังมีตรามงกุฎประทับอยู่ สมัยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จไปนมัสการหลวงพ่อโตและทรงแจกเหรียญเสมาที่หน้าวิหารใหญ่ สมัยรัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสจังหวัดสุพรรณฯ ได้ทรงนมัสการหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นผลให้วัดป่าฯ เจริญขึ้นอีก โดยได้โปรดเกล้าฯ ยกฐานะวัดป่าฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2462

ในปีพ.ศ.2462 นี้เองวาระที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงยกฐานะวัดป่าเลไลยก์เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ในการนี้ได้จัดให้ มีพิธีเฉลิมฉลองหลวงพ่อโตเป็นการมโหฬารและได้ออกเหรียญรูปหลวงพ่อโต โดยหลวงพ่อสอนอดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ครองวัดป่าเลไลยก์เป็นผู้ปลุกเสกเหรียญนี้ หลวงพ่อสอนเป็นพระสงฆ์ที่ชาวจังหวัดสุพรรณฯ เคารพนับถือมากรูปหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี

ในวันนี้ผมได้นำรูปเหรียญหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ รุ่นแรกมาให้ชมกัน ด้วยครับ
ด้วยความจริงใจ...แทน ท่าพระจันทร์


 
พระขุนแผน กรุหลังโรงเหล้า

ช่วงหลังๆ นี่มีข่าวคราวเรื่อง "พระขุนแผนแสนสนิท" ออกมาบ่อยๆ

วันนี้เลยขอนำเสนอพระขุนแผนกรุหนึ่งที่เรียกกันในวงการว่า "กรุหลังโรงเหล้า" หรือบางทีก็เรียก "กรุโรงเหล้า" ซึ่งชื่อกรุก็ดูแปลกๆ แล้ว เขามีแต่กรุวัดนั้น วัดนี้ นี่เป็นกรุโรงเหล้า

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาและพิมพ์ทรงเดียวกันกับ "พระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา" และมีทั้งพิมพ์อกใหญ่และพิมพ์อกเล็ก เช่นเดียวกัน จะแตกต่างกันตรงที่เป็นพระที่ยังไม่ได้เคลือบด้วยน้ำยาเท่านั้น พระพิมพ์นี้ยังไปตรงกับ "พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี" อีกด้วย แต่แตกต่างกันตรงเนื้อหาที่สร้างด้วยดินขาว ดินเหลือง และดินดำ เป็นหลัก เมื่อเผาแล้วองค์พระจะออกเป็นสีขาวแบบเนื้อกระเบื้อง ทำให้เนื้อพระมีความแกร่งมากกว่า

นับเนื่องไปเมื่อปี พ.ศ.2485 โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะเมือง ด้านหน้าติดถนนอู่ทอง ฝั่งตรงข้ามเป็นโรงงานสุราพระนครศรีอยุธยา ซึ่งหันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา หันหลังให้โรงเรียนฝึกหัดครูสตรี (อันเป็นที่มาของการเรียกชื่อกรุ) ได้ขยายและก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่ม โดยมีผู้ควบคุมการตกแต่งสถานที่ ชื่อ ท่านอาจารย์หลุย ชมชื่น มีคนงานทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยอิสลาม โดยส่วนใหญ่เกลี่ยดินได้วันละ 50 สตางค์

ในสมัยนั้นปรากฏว่าคนงานขุดแต่งโคกโบสถ์ร้างแห่งหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยซากอิฐซากปูน ชาวบ้านเรียกกันว่า "วัดสิงห์หลาย" หรือ "วัดสิงห์ทลาย" ลึกลงไปประมาณหนึ่งเมตร คนงานพบพระเนื้อผงสีขาวและสีขาวปนชมพู กระจัดกระจายเกลื่อนเป็นร้อยๆ องค์ และพบหุ่นสิงโตทองคำปะปนอยู่ด้วยตัวหนึ่ง เนื่องจากองค์พระมีพุทธลักษณะเหมือน "พระขุนแผน" ที่ขึ้นอยู่ก่อนหน้านี้ จึงเรียกพระที่พบว่า "พระขุนแผน กรุหลังโรงเหล้า" หรือ "พระขุนแผน กรุโรงเหล้า" เมื่อนำพระมารวมกันมีทั้งสมบูรณ์และชำรุดจำนวนเกือบพันองค์ ก็เช่าซื้อกันองค์ละไม่เกินสิบบาท

ต่อมาได้มีการสร้างและขยายโรงงานต่างๆ เพิ่มเติมในแถบ ต.หัวแหลม บริเวณนี้ชาวบ้านเรียกว่า "วัดสามจีน" เพราะเดิมเป็นเขตวัดพระจีน แต่ต่อมาก็กลายเป็นวัดร้าง ซึ่งก็ยังติดต่อกับเขตโรงเรียนฝึกหัดครูฯ และทางเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยาได้จัดสร้างเป็นโรงเก็บน้ำประปา ในขณะก่อสร้างใช้รถไถปรับพื้นดิน ปรากฏพระขุนแผนเนื้อผงพิมพ์เดียวกันกับวัดสิงห์ทลาย บางองค์ก็เป็นเนื้อกระเบื้องเคลือบคล้ายของวัดใหญ่ชัยมงคล


พุทธลักษณะของ "พระขุนแผน กรุโรงหลังเหล้า (กรุโรงเหล้า)" และที่พบบริเวณวัดสามจีน จะคล้ายคลึงกับพระที่เรียกว่า "ขุนแผน" ซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ องค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ภายใต้ซุ้มเรือนแก้ว อันแสดงออกถึงศิลปะสมัยอยุธยา แต่ไม่เคลือบเช่นเดียวกับพระขุนแผนกรุบ้านกร่าง และไม่พบพระเคลือบเหมือนกรุวัดใหญ่ชัยมงคล โดยสามารถแยกออกได้เป็น 2 พิมพ์ คือ "พิมพ์อกใหญ่" เนื้อขาวใบลาน และ "พิมพ์อกเล็ก" หรือ "พิมพ์แขนอ่อน" เนื้อขาวปนชมพู โดยพิมพ์อกใหญ่จะมีความแข็งแกร่งมากกว่าพิมพ์อกเล็ก

พระที่เรียกว่า "พระขุนแผน" นั้น เป็นที่ยอมรับกันทุกผู้ทุกนามในเรื่องพุทธคุณเข้มขลังที่ครบเครื่องครบครัน โดยเฉพาะด้านเมตตามหานิยมสูงส่ง มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ของพระขุนแผน ที่เรียกว่าเป็นการประชันกรุกันทีเดียว เรื่องมีอยู่ว่า ...

...ครั้งหนึ่ง มีเซียนพระ 3 คน แย่งกันจีบผู้หญิงคนเดียวกัน และแต่ละคนต่างก็จะมีของดีประจำตัวอยู่ โดย คนที่ 1 ห้อยพระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล คนที่ 2 ห้อยพระขุนแผน กรุโรงเหล้า และคนที่ 3 ห้อยพระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี ผลปรากฏว่า คนที่ห้อยพระขุนแผน กรุโรงเหล้า สามารถชนะใจสาวเจ้าได้ ...


ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อาจจะเป็นด้วยสาเหตุอื่นใดก็ตามแต่ เรื่องราวนี้ก็กลับกลายเป็นตำนานเล่าขานของพระขุนแผน 3 กรุที่มาประชันพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม ในแวดวงพระเครื่องเมืองกรุงเก่าสืบต่อมา

ขึ้นชื่อว่า "พระขุนแผน" แล้ว ไม่ว่ากรุไหน พิมพ์ไหน ก็เป็นที่นิยมและเสาะแสวงหากันในวงการนักนิยมสะสมพระเครื่องอย่างกว้างขวางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว "พระขุนแผน กรุหลังโรงเหล้า (กรุโรงเหล้า)" ก็เช่นกัน แต่สนนราคาจะแตกต่างกันไป ดังนั้นผู้ที่สามารถแยกพิมพ์ออกว่าขึ้นจากกรุไหนก็จะได้เปรียบมากกว่าครับผม
ราม วัชรประดิษฐ์



พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่

วันนี้ขออนุญาตพูดเรื่อง "พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่" ที่สร้างโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งมีเอกลักษณ์ง่ายๆ รู้กันทั่วไปคือ ไม่บรรจุกรุ เพราะท่านสร้างตามกำลังฤกษ์กำลังวัน แล้วแจกผู้คนที่มาตักบาตรไปเรื่อยๆ บางคนไปดักรอ อาจจะบุญน้อยหน่อยไม่เคยได้เจอท่าน อันนี้เองนำมาสู่การกดพิมพ์จากของจริงเพื่อทำเทียมไว้บูชา ไม่มีเจตนาจะซื้อขายแต่อย่างไร

ดังนั้น พระสมเด็จวัดระฆังฯ จึงถูกทำเทียมเลียนแบบมานานแล้ว อายุก็ถึง พิมพ์ก็เหมือน ขาดแต่เนื้อหามวลสารเท่านั้น เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้จงหนัก

แล้วการดูพระนี่ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถบอกกล่าวกันได้ตายตัว ต้องอาศัยประสบการณ์ โดยเฉพาะการได้เห็นและสัมผัสองค์พระแท้ๆ มาเป็นจำนวนมาก ไม่มีกฎเกณฑ์เป็นตำรา นอกเสียจากความเพียรพยายามที่จะศึกษาหาความรู้อย่างจริงจังและเป็นเหตุเป็นผล

หลักเกณฑ์ทั่วไปในการพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ คือ
เนื้อมวลสาร มวลสารที่ปรากฏบนพระสมเด็จวัดระฆังฯ แท้ทุกองค์ทั้งด้านหน้าด้านหลัง จะมีมากน้อยบ้างแล้วแต่ส่วนผสม ก็คือ เม็ดดำ เม็ดแดง จากผงพระซุ้มกอบด, มีก้อนสีขาวใส สีขาวขุ่น หรือสีเทาอ่อน แต่แข็งแกร่งฝังอยู่ในเนื้อพระที่เรียกว่า "แร่หิน" และมีผงขาวขุ่นก้อนเล็กๆ ที่เรียกว่า "ผงพุทธคุณ" และเม็ดสีขาวอมเหลือง เรียกว่า "เม็ดพระธาตุ" ซึ่งจะฝังอยู่ในรอยแยกของเนื้อพระ

บางทีเม็ดมวลสารเหล่านี้หลุดร่อนออกไป จะเกิดเป็นหลุมบ่อบนพื้นผิวพระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ถือเป็นจุดพิจารณาความเก่าแก่ของพระได้เช่นกัน

เนื้องอก เป็นจุดสำคัญที่สุดที่บ่งบอกความเป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯ ทุกองค์ที่เก่าถึงยุค ลักษณะเนื้องอกเป็นเม็ดเล็กๆ ผุดขึ้นจากเนื้อพระตามพื้นผิว เส้นซุ้มองค์พระ ฐานพระ ซึ่งจะมีน้อยบ้างมากบ้างทั้งด้านหน้าด้านหลัง เป็นเพราะมีส่วนผสมมวลสารเช่นเดียวกับ "พระวัดพลับ" ที่สมเด็จพระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน) สร้างเอาไว้ คือ "ผงธาตุสีวลี หรือผงวิเศษ" ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ ได้นำมาคลุกผสมกับส่วนผสมอื่นๆ ประกอบเป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯ เช่นกัน เมื่อผ่านกาลเวลายาวนานกว่าร้อยปี จะมีเนื้องอกผุดออกจากเนื้อพระเป็นเม็ดเล็กกลมใส สีชมพูอ่อน สีน้ำตาล สีขาว ตามสีของเนื้อพระ

ทีนี้มาดูหลักการสำคัญที่บรรดา "เซียนใหญ่" เขามักใช้ในการตรวจสอบพระสมเด็จวัดระฆังฯ ในเบื้องต้น ซึ่งก็คือ
- ตรวจดูด้านข้าง...จะพบรอยลากของ "ตอก" เป็นขยักๆ
- ตรวจดูด้านหลัง...จะพบลักษณะสำคัญของพระสมเด็จวัดระฆังฯ คือ หลังกาบหมาก หลังกระดาน หลังสังขยา และหลังเป็นแผ่นเรียบ โดยเฉพาะ "ขอบริมทั้ง 4 ด้าน" จะพบรอยประเล็กๆ เรียกว่า "รอยปูไต่" อันเกิดจาก "การตัดตอก" จากด้านหลังมาด้านหน้า
- พระแท้...จะมีน้ำหนักถ่วงมือเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากน้ำมันตั้งอิ้ว
- ของเทียม น้ำหนักเบา "พระแท้ครึ่งองค์ หนักกว่าพระเก๊ 1 องค์"
- ให้ดูการหดตัวของเส้น ที่ประกอบบนองค์พระให้เป็น วิธีนี้ต้องใช้กล้องขยาย 10 เท่า ตรวจสอบเส้นต่างๆ ของแม่พิมพ์

สำหรับ "พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่" ที่นำมาให้ชมองค์นี้ เป็นของ "คุณธนทัศน์ ทองเนียม" เป็นพระที่เป็นที่แน่ใจได้ว่าไม่ได้ลงกรุ และเอกลักษณ์เส้นสายก็ตรงตามแม่พิมพ์ที่เล่นกันมาแต่โบราณ

ที่สำคัญจะสังเกตเห็นว่า องค์พระเป็นคราบขาวทั่วทั้งองค์ คราบนี้ไม่ใช่คราบกรุ แต่เป็นคราบอันเกิดจากปูนขาวที่เป็นส่วนผสมหลักอย่างหนึ่งในองค์พระ หากถอดออกจากคอแล้วจะแห้ง หากใส่สัมผัสผิวและโดนเหงื่อแล้ว ก็จะเกิดเป็นรอยน้ำมันจับทั่วองค์

ดูจากลักษณะขององค์พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่องค์นี้ น่าจะเข้าในเกณฑ์ "พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ เอ" คือ เกศทะลุซุ้ม เนื้อเหลือง แกร่ง มีคราบฝ้าขาวปกคลุม

ขอขอบคุณท่านเจ้าของพระมา ณ ที่นี้ ที่กรุณาอนุเคราะห์ภาพมาให้ได้ทัศนากันครับผม



หลวงพ่อสัมฤทธิ์ รุ่นแรกปี พ.ศ.2460

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลวงพ่อสัมฤทธิ์ เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรของวัดนาโคก จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีประชาชนมากราบไหว้และปิดทอง หรือบนบานศาลกล่าวกันทุกวัน และในทุกๆ ปี จะมีการจัดงานประจำปี ซึ่งมีผู้คนทั่วสารทิศมาร่วมงานด้วยความเลื่อมใสศรัทธาน้ำมนต์ของวัดนี้ถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก มีผู้คนมาขอพรและขอน้ำมนต์กันทุกวัน

ประวัติของหลวงพ่อสัมฤทธิ์นี้ มีตำนานกล่าวไว้ว่า ในสมัยกรุงธนบุรีนั้น ชาวบ้านแถบนาโคกมีอาชีพทำนาเกลือกันเป็นส่วนใหญ่ และมีการนำเกลือไปแลกกับสินค้าอื่นๆ โดยการล่องเรือไปขายในจังหวัดต่างๆ ที่ขึ้นมาทางเหนือก็มี ต่อมาได้มีชายสองคนได้นำเกลือจากนาโคกขึ้นขายที่ทางเหนือและซื้อข้าวกลับมาขายที่นาโคก ตอนที่กำลังล่องเรือกลับ ระหว่างทางได้จอดเรือแวะพักที่พระนครศรีอยุธยา แล้วเดินเข้าไปในป่าเพื่อหาฟืนมาหุงหาอาหาร เมื่อเดินลึกเข้าไปก็พบวัดร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์อยู่สององค์ขนาดไม่ใหญ่นัก องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย อีกองค์เป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร ทรงเทริดสมัยอยุธยา

เมื่อเห็นดังนั้นทั้งสองคนจึงเข้าไปกราบพระพุทธรูปทั้งสององค์ จากนั้นก็พากันหาฟืนต่อแล้วก็เดินกลับเรือ แต่เดินเท่าไรก็วนเวียนอยู่อย่างนั้นหาทางกลับไม่ได้ ยังวนเวียนอยู่ในวัดร้างแห่งนั้น ทั้งสองคนจึงปรึกษากันว่าอาจจะเป็นเพราะพระพุทธรูปทั้งสององค์ก็เป็นได้ จึงเดินไปกราบที่พระพุทธรูปแล้วก็คิดว่าถ้าหากนำพระพุทธรูปทั้งสององค์กลับมาด้วยอาจจะกลับเรือได้ หลังจากนั้นทั้งสองคนจึงได้ขอพรจากพระพุทธรูปทั้งสององค์แล้วต่างคนก็อุ้มพระพุทธรูปทั้งสององค์กลับมาที่เรือด้วย และได้นำพระพุทธรูปทั้งสององค์มาประดิษฐานที่วัดนาโคก โดยท่านเจ้าอาวาสในสมัยนั้นได้นำพระพุทธรูปทั้งสององค์ไปประดิษฐานที่หอไตร จนเวลาผ่านไปหลายปี จนลืมไปว่ามีพระพุทธรูปสององค์อยู่ที่หอไตร

อยู่วันหนึ่งทางหมู่บ้านนาโคก ได้มีการแก้บนศาลเจ้าแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กับวัดนาโคก และมีการจัดมหรสพทั้งลิเก ละคร ซึ่งจัดใหญ่กว่าทุกครั้ง ทำให้สถานที่ไม่เพียงพอ เจ้าภาพจึงได้ไปขออนุญาตเข้าไปใช้พื้นที่จัดในวัดนาโคก ครั้นถึงเวลาการแสดงลิเกและละคร ได้เกิดปาฏิหาริย์คือพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ซึ่งประดิษฐานบนหอไตรได้เสด็จลงมาอยู่ข้างล่างโดยมิได้มีใครนำลงมา ต่างก็ตกตะลึงกัน และคณะลิเกและคณะละครต่างก็เกิดอาการจุกเสียดจนไม่สามารถแสดงได้ คนเฒ่าคนแก่ที่เห็นเหตุการณ์ต่างก็คิดได้ว่าพระพุทธรูปที่เสด็จลงมาคงเป็นเพราะปาฏิหาริย์ของพระพุทธรูป จึงได้บอกให้นำธูปเทียนมาบูชากล่าวขอขมาลาโทษเสีย จากนั้นคณะลิเกและละครต่างก็หายจุกเสียดเป็นอัศจรรย์

หลังจากวันนั้นชาวบ้านนาโคกและใกล้เคียงต่างก็มากราบไหว้บูชาพระพุทธรูปองค์นี้ บ้างก็มาขอพร บ้างก็มาบนบานศาลกล่าว และต่างก็สมประสงค์ทุกรายไป เป็นที่โจษจันกันต่อมาในความศักดิ์สิทธิ์ และชาวบ้านก็ขนานนามท่านว่า "หลวงพ่อสัมฤทธิ์" เนื่องจากว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์และเมื่อมาขอพรแล้วจะสัมฤทธิผลทุกประการครับ

ในปี พ.ศ.2460 ได้มีการจำลองรูปพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรองค์นี้ขึ้น ด้วยการทำเป็นแบบเหรียญหล่อ ปัจจุบันหาชมได้ยากพอสมควร ชาวบ้านในแถบนั้นหากมีก็จะหวงแหนกันมากครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปเหรียญหล่อหลวงพ่อสัมฤทธิ์รุ่นแรกปี พ.ศ.2460 มาให้ชมกันครับ
ด้วยความจริงใจ....แทน ท่าพระจันทร์



พระพิมพ์ขุดสระใหญ่ พระขุดสระเล็ก และพระพุทธชินราช
ของหลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เมื่อเอ่ยถึงหลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว สมุทรปราการ และพระเครื่องของท่านล้วนแต่เป็นที่นิยมและรู้จักกันดี ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายรุ่น เช่น พระผงขุดสระใหญ่และเล็ก เหรียญพระกริ่งพุทธชินราช รูปหล่อ พระผงสมเด็จฯ เป็นต้น

หลวงปู่เผือกเกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2412 ที่บ้านคลองสำโรง ต.บางพลี โยมบิดาชื่อทองสุข โยมมารดาชื่อไข่ พออายุได้ 13 ปี บิดามารดาพาไปฝากกับพระอาจารย์อิ่ม อินทสโร วัดกิ่งแก้ว เพื่อศึกษาเล่าเรียน พออายุได้ 21 ปีก็ได้อุปสมบทที่วัดกิ่งแก้ว โดยมีพระอาจารย์ทอง อุทยญาโณ วัดราชโยธา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อิ่ม วัดกิ่งแก้วเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ปุญฺญธโร" เมื่ออุปสมบทแล้วก็ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และปฏิบัติโดยเคร่งครัด เมื่อพระอาจารย์อิ่มมรณภาพ หลวงปู่เผือกก็ได้รับเลือกจากคณะสงฆ์และชาวบ้านให้เป็นผู้ดูแลวัดแทนพระอาจารย์อิ่ม

ต่อมาเมื่อปีพ.ศ.2442 ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดกิ่งแก้ว ปีพ.ศ.2443 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลราชาเทวะ พ.ศ.2446 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ฐานานุกรมของพระครูสุนทรสมุทร (จ้อย) เจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการ วัดกลางวรวิหาร และในปีนี้เองท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ปีพ.ศ.2480 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูกรุณาวิหารี ปีพ.ศ.2487 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสงฆ์องค์การสาธารณูปการ ใน อ.บาง พลี ปีพ.ศ.2496 หลวงปู่เริ่มอาพาธ และหลวงปู่เผือกก็ได้มรณภาพ ในปีพ.ศ.2501 สิริอายุได้ 89 ปี พรรษาที่ 69

หลวงปู่เผือกเป็นศิษย์ของหลวงปู่ทอง วัดราชโยธา และก็เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ พิธีพุทธาภิเษกครั้งใหญ่ๆ หลวงปู่เผือกจะได้รับการนิมนต์ด้วยทุกครั้ง โดยเฉพาะที่วัดสุทัศนเทพวรารามก็ได้รับนิมนต์ทุกครั้ง หลวงปู่เผือกได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่างเช่น พระผงรุ่นขุดสระ ซึ่งในครั้งนั้นหลวงปู่ได้บูรณะวัดกิ่งแก้ว โดยถมที่ให้สูงขึ้นเนื่องจากพื้นที่วัดเป็นที่ลุ่ม หน้าน้ำน้ำจะท่วมทุกปี หลวงปู่จึงได้ขอแรงชาวบ้านให้มาขุดดินภายในวัดมาถมที่ให้สูงขึ้นเพื่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ บริเวณที่ขุดดินมาถมจึงกลายเป็นสระน้ำสามารถใช้ประโยชน์ได้ในหน้าแล้ง และหลวงปู่ก็ได้ทำพระเครื่องเนื้อผงแจกให้แก่ผู้ที่มาร่วมขุดดินและช่วยสร้างโบสถ์

พระรุ่นนี้จึงเรียกกันว่า พระรุ่นขุดสระ พระรุ่นนี้มีสองแบบคือ แบบองค์ใหญ่ก็เรียกว่าพระขุดสระใหญ่ แบบพิมพ์เล็กเรียกว่าพระขุดสระเล็ก ปัจจุบันเป็นที่นิยมมากหายากและราคาสูง พระเนื้อผงของหลวงปู่ก็ยังมีพิมพ์อื่นๆ ที่สร้างในคราวต่อมาอีกหลายพิมพ์ นอกจากนี้ก็ยังมีพระพุทธชินราชหล่อด้วยโลหะ โดยสร้างแบบพระพุทธชินราชของวัดสุทัศน์ แต่ตราอกเลานั้นจะทำไว้ที่ฐานด้านหน้า วัตถุมงคลของหลวงปู่ก็ยังมีอีกหลายอย่างเช่น เหรียญรูปหลวงปู่ รูปถ่ายตะกรุด ฯลฯ ล้วนเป็นที่นิยมเสาะหาทั้งสิ้นในปัจจุบัน

ในวันนี้ผมได้นำพระพิมพ์ขุดสระใหญ่ พระขุดสระเล็ก และพระพุทธชินราชของหลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้วมาให้ชมกันด้วยครับ
ด้วยความจริงใจ...แทน ท่าพระจันทร์



พระปิดตามหาลาภ เนื้อทองคำ

พระปิดตามหาลาภ หลวงพ่อชุบ
วัดวังกระแจะ จ.กาญจนบุรี

"พระปิดตา" เป็นชื่อเรียกขานพระเครื่องอีกประเภทหนึ่ง ที่มีพุทธศิลปะแปลกแตกต่างอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งแสดงถึงนัยทางธรรมะ และกลายเป็นความโดดเด่นจนได้รับความนิยมอย่างสูง ในแวดวงพระเครื่อง และพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะที่จัดสร้างโดยอดีตพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าผู้มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ

พุทธลักษณะโดยทั่วไปของ "พระปิดตา" องค์พระจะค่อนข้างอวบอ้วน ยกพระหัตถ์ ขึ้นปิดพระพักตร์ บางสำนักก็จะทำเป็นรูปมือเพิ่มอีก 2 ข้าง เอื้อมไปปิดทวารด้านล่าง ซึ่งในวงการเรียก "โยงก้น"

คติการสร้างพระปิดตาหรือปิดทวาร ที่มีการจำลองเป็นพระอ้วนพุงพลุ้ยนั้น ได้ต้นเค้าจากเรื่องราวของ "พระมหาสังกัจจายนะ" หรือ "พระภควัมบดี" หนึ่งในพระอัครสาวกองค์สำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งแม้จะอธิษฐานเปลี่ยนสรีระจากรูปร่างและผิวกายงดงาม ให้กลายเป็นร่างต่ำเตี้ย พระอุทรพลุ้ย ศีรษะใหญ่ ขาสั้น อันเป็นลักษณะของ "พระสังกัจจายน์" ที่เห็นในปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นที่รักใคร่นิยมยินดี มีแต่ผู้ให้ลาภสักการะสรรเสริญ ด้วยผลแห่งกุศลในอดีตชาติ

ประเทศไทยเราได้มีการสร้าง "พระปิดตา" มาตั้งแต่ในช่วงอยุธยาตอนปลาย จากหลักฐานที่พบพระปิดตายุคแรกเป็นเนื้อโลหะ ได้แก่ พระปิดตากรุวัดท้ายย่าน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ต่อมาจึงมีการสร้างพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักและพระปิดตาอื่นๆ และเริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายตั้งแต่ตอนต้นยุครัตนโกสินทร์เรื่อยมา

 
พระปิดตามหาลาภ เนื้อเงิน


พระปิดตามหาลาภ เนื้อนวะโลหะ

มีพระเกจิอาจารย์หลายสำนักพากันจัดสร้างพระปิดตาขึ้นและได้รับความนิยมไปทั่วจวบจนปัจจุบัน ที่โดดเด่นมี อาทิ พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี, พระปิดตาวัดพลับ (วัดราชสิทธาราม), พระปิดตาวัดหนัง, พระปิดตาวัดทอง, พระปิดตาหลวงปู่ศุข, พระปิดตาแร่บางไผ่วัดโมลี และพระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม เป็นต้น ซึ่งสนนราคาเช่าหา ณ ปัจจุบัน ค่อนข้างสูง และหาได้ยากยิ่ง

สำหรับปีนี้มีพระปิดตารุ่นหนึ่งที่สร้างโดยพระเกจิผู้ทรงวิทยาคมเป็นที่เคารพศรัทธามาแนะนำ นั่นคือพระปิดตามหาลาภ หลวงพ่อชุบ วัดวังกระแจะ จ.กาญจนบุรี หนึ่งในวัตถุมงคล "รุ่นเมตตา" เพื่อหารายได้จัดสร้างศาลาอเนกประสงค์หลังใหม่ของวัด


หลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธ

หลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธ หรือพระครูอดุลพิริยานุวัตร เจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ เป็นศิษย์สายหลวงพ่อศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และสายหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม สองพระเกจิชื่อดังของไทย

เกิดที่ จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2469 หลังจากอุปสมบทก็ออกธุดงควัตรเพื่อปลีกวิเวกและแสวงหาความรู้จนมาถึง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างและพัฒนาพื้นที่จนกลายเป็น "วัดวังกระแจะ" อย่างสมบูรณ์ ด้วยบารมีของหลวงพ่อและการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านและบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพศรัทธาในตัวท่าน

ปี พ.ศ.2519 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในพระราชทินนาม พระครูอดุลพิริยานุวัตร ปัจจุบันท่านมีสิริอายุ 89 ปี ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ และที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอไทรโยค

สำหรับพระปิดตามหาลาภนั้น เป็นหนึ่งในชุดวัตถุมงคล รุ่นเมตตา อันประกอบด้วย เหรียญเมตตา, พระปิดตามหาลาภ และพระปรกใบมะขาม โดยจัดสร้างเป็นหลายเนื้อ และได้ประกอบพิธีบวงสรวงเททองนำฤกษ์ไปเมื่อวันเสาร์ที่ 26 กันยายน

สำหรับพิธีมหาพุทธาภิเษกจะจัดปลายปีนี้ ในวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม ณ มณฑลพิธีวัดวังกระแจะ โดยมีหลวงพ่อชุบ เป็นประธานจัดสร้างฝ่ายสงฆ์, นายวันชัย โอสุคนธ์ทิพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานอุปถัมภ์ และนายธนน เวชกรกานนท์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ประธานจัดสร้างฝ่ายฆราวาส
ราม วัชรประดิษฐ์


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป