พระเครื่อง

<< < (38/38)

ใบบุญ:

เหรียญหลวงพ่อหรุ่น

เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2460 หลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก พระเกจิดัง สมุทรสงคราม

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 สิงหาคม 2566
เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2566

กาลสมัยผ่านมาลุ่มน้ำแม่กลองถือเป็นแหล่งสรรพวิชา มากด้วยพระเกจิอาจารย์ นับเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ไม่เคยขาดหาย

แต่ถ้าให้กล่าวถึงพระเกจิอาจารย์ที่เป็นจุดหมายปลายทางของพระธุดงค์สมัยก่อน วัดช้างเผือก ถือเป็นแหล่งรวมพระธุดงค์มากมายหลายรูป

เนื่องจากมีพระเกจิอาจารย์ผู้มากวิชาโดดเด่น ด้านการทำน้ำมนต์ และวิชามหาอุตม์ นั่นก็คือ พระอธิการรุฬ หรือหลวงพ่อหรุ่นนั่นเอง

“หลวงพ่อหรุ่น พุทธสโร” วัดช้างเผือก อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ช่วงบั้นปลายชีวิต จัดสร้างวัตถุมงคลที่ระลึกและแจกให้ผู้ที่มาร่วมบุญ ทุกรุ่นล้วนแต่ได้รับความนิยม

“เหรียญรุ่นแรก” ได้รับความนิยมอย่างสูงไปด้วย

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2460 เพื่อแจกในงานศพของท่านเอง มีพระเกจิชื่อดังสมัยนั้นปลุกเสกเป็นจำนวนมาก อาทิ หลวงพ่อคง ธัมมโชโต วัดบางกระพ้อม, หลวงพ่อบ่าย ธัมมโชโต วัดช่องลม, หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร วัดพวงมาลัย, หลวงพ่อช่วง อินทโชติ วัดปากน้ำ, หลวงพ่อใจ อินทสุวัณโณ วัดเสด็จ และลูกศิษย์อีกเป็นจำนวนมาก

มีเนื้อเงินและเนื้อทองแดง สร้างน้อยมาก

ด้านหน้า ขอบเหรียญมีลายกนก ตรงกลางมีรูปเหมือนนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดสังฆาฎิ มีอาสนะรองรับ ระบุปี “พ.ศ.๒๔๖๐”

ด้านหลัง ด้านบนสุด เขียนคำว่า “วัดช้าง” ถัดลงมาเป็นยันต์ ความว่า “อะระหัง อะสัง วิสุโล ปุสะพุภะ”

แม้จะเป็นเหรียญตาย แต่ก็หายาก




หลวงพ่อหรุ่น พุทธสโร

อัตโนประวัติ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2372 ที่บ้านไผ่ขวาง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี บิดาชื่อ นายรุ่ง มารดาชื่อ นางล้อม มีอาชีพทำนาและค้าขาย

ครอบครัวฝ่ายมารดาเป็นชาวบางช้าง จ.สมุทรสงคราม บ้านใกล้กับวัดบางจาก เป็นญาติกับหลวงพ่ออ้น วัดบางจาก ศิษย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม

ต่อมาบิดาได้นำไปฝากเรียนหนังสือไทยและขอม ที่สำนักวัดประตูสาร มีพระอาจารย์ภู่เป็นครู เรียนจนจบอ่านออกเขียนได้

พ.ศ.2492 อายุครบบวช จึงเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดประตูสาร มีพระอาจารย์ภู่ วัดประตูสาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ดี กับพระอาจารย์อ่วม วัดไทร เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า พุทธสโร

ศึกษาพระปริยัติธรรม ท่องบทสวดมนต์จนจบ จำพระปาฏิโมกข์แม่นยำ ซึ่งถือว่าหาอาจารย์ที่แคล่วคล่องในระดับนี้ได้ยากมากสมัยนั้น

นอกจากนี้ ยังสนใจเรื่องธุดงควัตร จึงไปศึกษากับพระอาจารย์แสวง วัดบางปลาม้า ออกธุดงค์ไปหลายแห่งฝึกพลังจิตจนแก่กล้า

พรรษาที่ 6 เดินทางมาในงานศพนางแจ่ม ซึ่งเป็นยายที่บ้านใกล้วัดบางจาก จึงได้รู้จักกับพระอุปัชฌาย์เอี่ยม วัดบางจาก

หลวงพ่อเอี่ยม จึงชวนให้มาอยู่ด้วยกัน ต่อมาบิดาเสียชีวิตลง มารดาจึงชวนกันอพยพกลับมาอยู่ที่บางจาก ก็เลยมาจำพรรษาที่วัดบางจาก

ชอบออกธุดงค์แบกกลดเข้าป่าเป็นประจำ ได้ศึกษาพุทธาคม สมุนไพร แพทย์แผนโบราณ จากพระอาจารย์ในป่าลึก ได้รับความรู้ต่างๆ มากมายจนเป็นที่พึ่งของภิกษุ สามเณร และชาวบ้านในแถบนั้น

ต่อมาวัดช้างเผือกว่างเจ้าอาวาสลง ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ไปเป็นเจ้าอาวาส ด้วยวัดช้างเผือกในขณะนั้นกำลังชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก พอมาอยู่ที่วัดช้างเผือก ก็เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์พัฒนาวัดเรื่อยมา มีพระและชาวบ้านมาขอเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยเป็นจำนวนมาก

เกิดความนิยมในหมู่พระสงฆ์ที่ออกธุดงค์ทั้งหลายว่า ต้องมาปักกลดที่วัดช้างเผือกเพื่อศึกษาวิชาด้วย จนทำให้พื้นที่ของวัดแน่นขนัดไปด้วยกลดจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านมาให้รักษาโรคแทบทุกวัน คนถูกผีเข้าเจ้าสิงก็มาให้รดน้ำมนต์กันจนแน่นวัด จนเป็นที่รู้จักกันทั้งลุ่มน้ำแม่กลอง

ได้รับการถ่ายทอดวิชาทำผงวิเศษ 108 จากหลวงพ่ออ้น วัดบางจาก

หลวงพ่อหรุ่นเป็นพระที่มีเมตตาไม่ปิดบังวิชา ใครมาขอเรียนด้วยก็ยินดีสอนให้ จึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เช่น หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่อหรีด วัดเพลง, หลวงพ่อห่วง วัดท่าใน และหลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี เป็นต้น

มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ.2458 สิริอายุ 86 ปี พรรษา 66 •



เหรียญหล่อพิมพ์เศียรโล้น หลวงพ่อบ่าย


เหรียญหล่อพิมพ์เศียรแหลม หลวงพ่อบ่าย

เหรียญหล่อโบราณ หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ยอดพระเกจิลุ่มแม่กลอง

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 สิงหาคม 2566
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2566

พระเกจิอาจารย์สายลุ่มน้ำแม่กลอง อาวุโสรองจากหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย คือ “หลวงพ่อบ่าย ธัมมโชโต” วัดช่องลม ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม วัตถุมงคลได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

เป็นทั้งน้องและศิษย์ของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย และเป็นสหธรรมิกที่สนิทสนมกันมากกับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พระเกจิชื่อดังในยุคเดียวกัน

สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด ล้วนเป็นที่นิยมและเสาะแสวงหาอย่างสูง อาทิ เหรียญรูปเหมือน และเครื่องรางของขลังต่างๆ

แต่ที่ได้รับความนิยมได้แก่เหรียญหล่อ สร้างปี พ.ศ.2460 คือ “เหรียญหล่อโบราณพิมพ์เศียรโล้น”

เหรียญหล่อพิมพ์เศียรโล้น หลวงพ่อบ่าย 
ลักษณะเป็นรูปใบสาเก หล่อแบบเป้าประกบหน้า-หลัง มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ห่มจีวรเฉียงพาดสังฆาฏิ มีอาสนะรอง องค์พระมีตัวอุ แทนเกศเปลวเพลิง จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ มีรูปพญานาคอยู่ทางด้านซ้าย-ขวา องค์พระ ใต้พญานาค มีอักขระขอม ส่วนด้านล่างใต้อาสนะเป็นตัวอักษร อ่านว่า “วัจชังลม”

ด้านหลัง บนสุดมีอักขระขอมตัวอุ ใต้ตัวอุมีการผูกยันต์หัวใจพญาเสือโคร่ง “ภูภิภุภะ” และอักขระยันต์อื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีอีกเหรียญหล่อโบราณที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ “เหรียญหล่อโบราณพิมพ์เศียรแหลม”

เหรียญดังกล่าว สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2460 เช่นเดียวกัน มีลักษณะเป็นรูปใบสาเก หล่อแบบเป้าประกบหน้า-หลัง มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง

ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ ห่มจีวรเฉียงพาดสังฆาฏิ มีอาสนะรอง มีรูปพญานาคอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวาขององค์พระ ใต้พญานาค มีอักขระขอม ส่วนด้านล่างใต้อาสนะเป็นตัวอักษรอ่านว่า “วจชง”

ด้านหลัง บนสุดมีอักขระขอมตัวนะ ใต้ตัวนะมีพระคาถา 4 แถวเรียงลงมา อ่านว่า “กิ ริ มิ ทิ” “กุ รุ มุ ทุ” “เก เร เม เท” “กึ รึ มึ ทึ” ส่วนด้านล่วงสุดเป็นตัวอักษร “อ”

เป็นอีกวัตถุมงคลที่ได้รับความศรัทธาและเชื่อมั่นในพุทธาคม




หลวงพ่อบ่าย ธัมมโชโต

ชีวประวัติ หลวงพ่อบ่าย ได้รับการบันทึกเป็นหลักฐานน้อยมาก แต่เท่าที่สืบค้นมาได้ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 8 ปีระกา ตรงกับพุทธศักราช 2404 ที่บ้านครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

เป็นเด็กกำพร้าซึ่งพระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ จ.เพชรบุรี พี่ชายหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ได้นำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

เมื่ออายุ 10 ปี ศึกษาภาษาไทยและภาษาบาลีจากพระอาจารย์คล้ำ วัดสวนทุ่ง ก่อนบรรพชาเป็นสามเณร

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อุปสมบทที่วัดทองนพคุณ มีหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์พุก วัดสวนทุ่ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ เป็นอนุสาวนาจารย์

อยู่จำพรรษาที่วัดทองนพคุณ จ.เพชรบุรี

ด้านการศึกษาวิทยาคมนั้นเรียนกับหลวงพ่อพุก วัดสวนทุ่ง และพระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ อีกทั้งยังได้เรียนเพิ่มเติมจากหลวงพ่อแก้ว วัดช่องลม พร้อมกับเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานและพุทธาคมควบคู่กันไปด้วย ท่านจึงมีความใกล้ชิดกับหลวงพ่อแก้วเป็นอย่างยิ่ง

ปี พ.ศ.2437 ไปธุดงค์ที่จังหวัดสระบุรี เพื่อไปนมัสการพระพุทธบาทและพระพุทธฉาย โดยมีพระภิกษุติดตามไปด้วย 4 รูป คือ อาจารย์ไปล่ พระยา พระพลอย และโยมอุปัฏฐากหนึ่งคน ออกเดินทางในราวเดือน 12

เมื่อไปถึงและนมัสการพระพุทธบาทและพระพุทธฉายแล้ว พักแรมอยู่ประมาณเดือนเศษ ก่อนเดินทางต่อไปที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อไปนมัสการพระแท่นดงรัง ในราวเดือน 4 กลางเดือน พักแรมอยู่ที่พระแท่นดงรัง 7 วัน

ครั้นเสร็จภารกิจแล้ว ก็เดินกลับวัดช่องลม การไปธุดงค์ในครั้งนี้เป็นเวลา 4 เดือนเศษ

ขณะนั้นได้เป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลม แทนหลวงปู่แก้ว ซึ่งย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัย ในปี พ.ศ.2445

พ.ศ.2470 จึงย้ายที่ตั้งวัดใหม่ เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งวัดช่องลม เดิมติดโค้งน้ำของแม่น้ำแม่กลอง ทำให้เกิดน้ำกัดเซาะตลิ่งพังไปทุกปี จนท้ายที่สุดน้ำกัดเซาะพังจวนจะถึงกุฏิ จึงย้ายมาตั้งในพื้นที่ปัจจุบัน

การก่อสร้างหรือการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ นั้นไม่เคยบอกใคร ไม่เคยเรี่ยไรนอกวัด เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวว่าจะทำอะไร ก็จะมีผู้คนจำนวนมากมายมาร่วมทำบุญ บางรายถวายอิฐบ้าง บางรายถวายไม้บ้าง บางรายถวายกระเบื้องบ้าง บางรายไม่มีทรัพย์ก็เอาแรง บางรายถวายปัจจัยบ้าง สุดแต่ว่าใครมีอะไรก็นำมาตามกำลังศรัทธา

มีความประสงค์จะสร้างพระพุทธฉาย (ถ้ำไห) ซึ่งรับเป็นประธานฝ่ายสงฆ์

ด้วยการบอกบุญกับชาวบ้านขอไหต่างๆ และก่อสร้างโดยพระสงฆ์ ขอร้องให้จางวางสอน (หลวงประดิษฐ์ไพเราะ) เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง และสร้างแพะไว้หน้าถ้ำ 1 ตัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหลวงพ่อบ่าย

ต่อมาในปี พ.ศ.2484 เกิดสงครามโลก พวกโจรมิจฉาชีพตัดหัวแพะ และถอดเอาตรีที่ปักยอดเจดีย์ไปเกือบหมด เพื่อหวังทรัพย์ จึงเหลืออยู่แต่ยอดบนๆ ซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ถือเป็นพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังที่มีวิทยาคมเข้มขลังในยุคนั้น ได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล ในงานหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ เมื่อปี พ.ศ.2481 และงานพุทธาภิเษกใหญ่แทบทุกงาน

วัตถุมงคลที่จัดสร้างล้วนแต่มีพุทธคุณโดดเด่น เป็นที่ปรารถนา ทั้งประเภทเครื่องรางของขลัง เหรียญหล่อโบราณ พระพิมพ์ พระผง ฯลฯ

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันอาทิตย์ แรม 3 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 4 มกราคม 2485

สิริอายุ 81 ปี พรรษา 60 •

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว