บทเรียนวาระสุดท้ายแม้หนังสือแสดงเจตนาในวาระสุดท้ายของชีวิตจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ความเข้าใจเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนนัก จึงมีเรื่องถกเถียงในหลายประเด็น หากลูกหลานไม่ปฏิบัติตามเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจได้...
แล้วใครจะเป็นผู้ตัดสินใจ? &หากมีหนังสือแสดงเจตนาชัดเจน แพทย์และพยาบาลสามารถกระทำตามเจตนาของผู้ป่วย โดยไม่ถูกฟ้องร้องทางกฎหมาย
“การจากไปอย่างเป็นธรรมชาติ สังคมน่าจะได้เรียนรู้กรณีของภิกษุสงฆ์ที่โรงพยาบาลสงฆ์” นพ.ชาตรี เจริญศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีศึกษาและในช่วงใกล้เที่ยงวันนั้น (4 สิงหาคม) มีภิกษุสงฆ์มรณภาพหนึ่งรูป
หลายคนเห็นกระบวนการตายที่อยู่เบื้องหน้า พยาบาลกำลังนำสวดเพื่อให้ร่างไร้วิญญาณของภิกษุสงฆ์ไปสู่สุคติ จากนั้นพนักงานใช้ผ้าสีเหลืองค่อยๆ ห่อหุ้มร่างกาย“เรามักคิดว่า ภิกษุสงฆ์มีความสมบูรณ์ทุกเรื่อง เราก็เลยใช้ท่านทำทุกเรื่อง ทั้งการประกอบพิธีกรรม เป็นบุรุษไปรษณีย์นำข้าวของที่เราใส่บาตรส่งไปให้ญาติที่เสียชีวิต แต่ความจริงแล้วแต่ละรูปก็มีความทุกข์ของท่าน มีความเจ็บป่วย ซึ่งบางคนก็ถวายความเจ็บป่วยให้ท่าน ทั้งบุหรี่ อาหารหวานมัน ทองหยิบ ฝอยทอง แล้วมาลงท้ายด้วยสุขภาพของท่าน” นพ.สถาพร ลีลานันทกิจ ที่ปรึกษาโรงพยาบาลสงฆ์และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เล่าหลังจากร่างไร้วิญญาณภิกษุสงฆ์ห้องข้างๆ ถูกเคลื่อนออกไป
พระบางรูปฝึกจิตมาอย่างดี ก็ผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้ แต่บางรูปบอกว่า ไม่อยากตาย ทำใจไม่ได้ คุณหมอเล่าต่อว่า บางรูปถ้าไม่บรรลุก็เหมือนคนธรรมดา เป็นกลุ่มที่น่าสงสาร ก็จะให้ทีมที่เข้าใจเรื่องพุทธศาสนาเข้าไปพูดคุย "คุณหมอแสง" จะช่วยดึงสติกลับมา ถ้ายังปล่อยวางไม่ลงก็จะใช้วิธีเตือน
“ท่านช่วยเรา ไม่ใช่เราช่วยท่าน
เพราะบทเรียนชีวิตของท่าน สอนให้เราไม่ประมาท” ทันตแพทย์แสง จตุรานนท์ นอกจากทำงานด้านการรักษาพยาบาล ยังมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศาสนพิธี โรงพยาบาลสงฆ์
แม้หอผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลสงฆ์จะมีเพียง 10 เตียง แต่ใช่ว่าจะเต็มทุกเตียง เนื่องจากภิกษุสงฆ์ที่มีโอกาสอยู่ที่นี่จะได้รับการประเมินว่า กำลังจะมรณภาพภายใน 3 เดือน จากนั้นจะได้รับการดูแลตามอาการเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างสงบ หากมีอาการปวดก็ให้ยาแก้ปวดหรือมอร์ฟีน โดยไม่ใช้เครื่องมือการแพทย์ยื้อชีวิต และดูแลเรื่องจิตใจ บางครั้งมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยอ่านหนังสือให้คนป่วยฟัง
“ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เราก็ให้ยาแก้ปวดธรรมดาหรือไม่ก็มอร์ฟีน ไม่ต้องกลัวติด ถึงติดก็มีความสุข เพราะเราประเมินเรื่องนี้แล้ว” แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ โรงพยาบาลสงฆ์ กล่าว