[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 21 มกราคม 2557 16:21:07



หัวข้อ: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 มกราคม 2557 16:21:07
.

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)

พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก

ปาราชิก สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑)
ภิกษุเสพเมถุนต้องปาราชิก


ปาราชิกนี้ เป็นกฎหมายอันเด็ดขาดของศาสนาพุทธ ถ้าเป็นกฎหมายทางฝ่ายโลก ก็ตัดสินประหารชีวิต
ถ้าต้องปาราชิกเข้าแล้วข้อใดข้อหนึ่ง ก็ขาดจากความเป็นภิกษุ หาสังวาสไม่ได้

ถ้าต้องปาราชิกแล้วยังไปร่วมอุโบสถสังฆกรรม ทำให้สังฆกรรมเศร้าหมอง
แปลว่า ทำลายศาสนา ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ทั้งภพนี้และภพหน้า เป็นมนุสสสุญญตะ
หมดภพชาติที่จะได้มาเป็นมนุษย์ ขาดใจเมื่อไหร่ลงมหาโลกันตนรกเมื่อนั้น

พระสุทินน์ : ต้นบัญญัติ สิกขาบทที่ ๑

ณ สถานที่ไม่ห่างจากพระนครเวสาลี มีบ้านตำบลหนึ่งชื่อกลันทะ ในบ้านนั้นมีบุตรเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อ สุทินน์ เป็นบุตรของกลันทเศรษฐี จึงเรียกกันว่าสุทินกลันทบุตร  สุทินกลันทบุตรได้ทำธุระบางอย่างในพระนครเวสาลีกับสหายหลายคน ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ เขาได้เห็น เกิดความคิดว่า “เราจะฟังธรรมบ้าง” แล้วเดินเข้าไปนั่ง ณ ที่นั้น คิดว่า “ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่ทรงแสดงแล้ว เพราะบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้วทำไม่ได้ง่าย ถ้าอย่างนั้นเราจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตดีกว่า

ครั้นฟังธรรมจบแล้ว เขาและคนอื่นๆ ก็ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมกลับไป หลังจากนั้นไม่นาน สุทินน์ได้ย้อนกลับมาเข้าเฝ้ากราบทูลถึงความปรารถนาบวช พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ก็มารดาบิดาอนุญาตให้เธอออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้วหรือ กราบทูลว่า ยังไม่ได้อนุญาต พระพุทธเจ้าข้า  ตรัสว่า ดูก่อนสุทินน์ พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่บวชบุตรที่มารดาบิดายังมิได้อนุญาต เขากราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจักกระทำให้มารดาบิดาอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระพุทธเจ้าข้า

หลังจากนั้น สุทินกลันทบุตรเสร็จธุระในพระนคร กลับถึงบ้านกล่าวขออนุญาตบวช แต่มารดาบิดากล่าวว่า “ลูกสุทินน์ เจ้าเป็นบุตรคนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของเรา เจริญมาด้วยความสุข อันพี่เลี้ยงนางนมประคบประหงมมาด้วยความสุข เจ้าไม่รู้จักทุกข์สักน้อย แม้เจ้าจะตาย เราก็ไม่ปรารถนาจะจาก เหตุไฉนเราจักอนุญาตให้เจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เล่า”

แม้ครั้งสอง...ครั้งที่สาม...เขาก็ยืนยันจะขอบวชให้ได้ แต่ก็ยังคงถูกมารดาบิดายืนยันไม่อนุญาตเหมือนเดิม เมื่อเห็นว่าบิดามารดาไม่อนุญาตให้บวช เขาจึงนอนลงบนพื้น ตัดสินใจว่าการตายหรือการบวชจักมีแก่เราในสถานที่นี้แหละ เขาไม่บริโภคอาหารแม้หนึ่งมื้อ สองมื้อ สามมือ...เจ็ดมื้อ แต่มารดาบิดาก็ยังยืนยันไม่อนุญาตและอ้อนวอนให้เขาอยู่ครองเรือนด้วยคำว่า “ลูกจงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง จงสมัครใจกิน ดื่ม รื่นเริง บริโภคกาม ทำบุญเถิด เราไม่อนุญาตให้เจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ต่อมา พวกสหายของสุทินกลันทบุตรได้เข้ามาช่วยบิดามารดาเจรจาอ้อนวอนให้เขาเห็นแก่รักของมารดาบิดา  แต่เขาก็ไม่พูดด้วย ได้นิ่งเสีย เมื่อไม่สำเร็จพวกสหายจึงไปหามารดาบิดาของสุทินน์ ขอให้อนุญาตให้สุทินน์บวชเถิด ไม่เช่นนั้นเขาจักต้องตายแน่แท้ เมื่อเขาบวชแล้วเกิดไม่ยินดีการบวช เขาก็จักกลับมาเองแหละ มารดาบิดาจึงได้อนุญาตให้บวช

พวกสหายได้นำข่าวการอนุญาตของมารดาบิดาไปบอกแก่สุทินน์ เขาก็รื่นเริงดีใจ ลุกขึ้นเยียวยาอยู่สองสามวัน จึงเข้าไปสู่พุทธสำนัก

...สุทินกลันทบุตรได้รับบรรพชาอุปสมบทในพุทธสำนัก เมื่อบวชแล้วไม่นานท่านประพฤติสมทานธุดงคคุณ คือการถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือการบิณฑบาตไปตามลำดับเรือน พำนักอยู่ใกล้หมู่บ้านชาววัชชีตำบลหนึ่ง

สมัยนั้น วัชชีชนบทเกิดอัตคัดอาหาร ชาวบ้านหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีการสลากซื้ออาหาร ภิกษุจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการถือบาตรแสวงหาก็ทำไม่ได้ง่าย ครั้งนั้น ท่านพระสุทินน์คิดว่า ญาติของเราในพระนครเวสาลีมีมาก ล้วนเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มีโภคะมาก เราจะไปพำนักอยู่ใกล้หมู่ญาติ แม้หมู่ญาติก็จักได้อาศัยเราให้ทานทำบุญ และภิกษุทั้งหลายก็จักได้ลาภ จักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต ท่านจึงเก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรหลีกไปสู่พระนครเวลาสีโดยลำดับ ถึงแล้วท่านพำนัก ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี

พวกญาติได้ทราบข่าวการมาของท่าน จึงนำภัตตาหารมีประมาณ ๖๐ หม้อ ไปถวาย ท่านพระสุทินน์ท่านสละภัตตาหารประมาณ ๖๐ หม้อนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว เช้าวันนั้นท่านเข้าไปบิณฑบาตยังกลันทคามใกล้จะถึงเรือนบิดาของตน ก็พอดีนางทาสีกำลังจะทิ้งขนมสดที่ค้างคืน ท่านพระสุทินน์จึงกล่าวว่า “น้องหญิง ถ้าของนั้นมีอันจะต้องทิ้ง ขอท่านจงเกลี่ยลงในบาตรของเราเถิด” นางทาสีกำลังเกลี่ยขนมสดลงในบาตร นางจำเค้ามือ เท้า และเสียงของท่านได้ จึงรีบเข้าไปหามารดาของท่านกล่าวว่า “คุณนายเจ้าขาโปรดทราบ พระสุทินน์บุตรคุณนายกลับมาแล้ว เจ้าค่ะ” มารดาพระสุทินน์ได้กล่าวว่า หากพูดไม่จริง เราจะปลดเจ้ามิให้เป็นทาสี

ขณะที่พระสุทินน์กำลังฉันขนมสดอยู่นั้น พอดีบิดาของท่านเดินกลับมาจากที่ทำงานได้แลเห็น จึงเข้าไปกล่าวว่า “พ่อควรไปเรือนของตนมิใช่หรือ” ท่านพระสุทินน์กล่าวว่า “ไปมาแล้ว ก็ขนมนี้ได้มาจากเรือนของคุณโยม” บิดาของท่านได้จับที่แขนกล่าวว่า “มาเถิด เราจักไปเรือนกัน” ท่านได้เดินตามเข้าไปสู่เรือน นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย บิดานิมนต์ให้ฉัน ท่านปฏิเสธว่า ภัตตาหารวันนี้เรียบร้อยแล้ว บิดาจึงนิมนต์ให้มาฉันในวันรุ่งขึ้น ท่านรับนิมนต์แล้วหลีกไป

ครั้งนั้น มารดาของท่านสั่งให้ไล้ทาพื้นแผ่นดินด้วยโคมัยสด ให้จัดทำกองทรัพย์ไว้ ๒ กอง คือ เงินกองหนึ่ง ทองกองหนึ่ง เป็นกองใหญ่ ไม่สามารถแลเห็นกันและกันได้ ให้ปิดกองทรัพย์ด้วยลำแพน จัดอาสนะไว้ตรงกลาง แวดล้อมด้วยม่าน แล้วสั่งให้อดีตภรรยาท่านพระสุทินน์ตกแต่งกายด้วยเครื่องประดับ อันจะเป็นเหตุให้ลูกสุทินน์เกิดความรักใคร่

เวลาเช้า ท่านพระสุทินน์เข้ามาสู่เรือน นั่งบนอาสนะ บิดาให้คนเปิดกองทรัพย์เหล่านั้นออก แล้วกล่าวว่า พ่อสุทินน์ ทรัพย์นี้ของมารดาพ่อ ซึ่งเป็นสินเดิมฝ่ายหญิงที่ได้มาทางฝ่ายมารดา ส่วนของบิดาต่างหาก ส่วนของปู่ต่างหาก พ่อจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์ใช้สอยบำเพ็ญบุญเถิด แต่ท่านได้ปฏิเสธว่ายังยินดีประพฤติพรหมจรรย์อยู่ แล้วขอโอกาสกล่าวอีกว่า คุณโยมจงให้เขาทำกระสอบป่านใหญ่ๆ บรรจุเงินและทองให้เต็ม บรรทุกเกวียนไป แล้วให้จมลงในกระแสน้ำท่ามกลางแม่น้ำคงคา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความกลัวก็ดี ความหวาดเสียวก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี การเฝ้ารักษาก็ดี อันมีทรัพย์เป็นเหตุให้จักเกิดแก่คุณโยม จักไม่มีแก่คุณโยมเลย

เมื่อท่านกล่าวเช่นนี้ บิดาของท่านได้มีความไม่พอใจ ได้เรียกอดีตภรรยาของท่านออกมา คิดว่าเป็นที่รักที่พอใจของท่านสุทินน์ บางทีลูกสุทินน์จะพึงทำตามคำของเจ้าบ้าง นางได้ออกมาจับเท้า กล่าวว่า “ข้าแต่ลูกนาย นางอัปสรผู้เป็นเหตุให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์นั้นชื่ออะไร” พระสุทินน์ตอบว่า “น้องหญิง ฉันไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุแห่งนางอัปสรเลย” นางน้อยใจที่ถูกเรียกว่าน้องหญิง ได้สลบล้มลงในที่นั้นเอง พระสุทินน์กล่าวว่า “ถ้าโภชนะที่จะพึงให้มี ก็จงให้เถิด อย่ารบกวนอาตมภาพเลย


•  พระสุทินน์เสพเมถุนกับภรรยาเก่า

บิดามารดาได้ถวายของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือของตน จนท่านเสร็จภัตกิจแล้ว มารดาของท่านได้อ้อนวอนให้ท่านสึก เพื่อเห็นแก่ทรัพย์สมบัติมากมายด้วยเถิด แต่ท่านก็ยังคงปฏิเสธ มารดาจึงกล่าวว่า “ทรัพย์สมบัติของเรามีมาก ดังนี้พ่อจงให้พืชพันธุ์ไว้บ้าง พวกเจ้าลิจฉวีจะได้ไม่ริบทรัพย์สมบัติของเรา เพราะหาบุตรผู้สืบสกุลมิได้” ท่านตอบว่า “คุณโยม เฉพาะเรื่องนี้อาจทำได้” มารดาถามว่า “ก็เวลานี้พ่อพำนักอยู่ที่ไหน?” “ที่ป่าหิมวัน” ท่านตอบแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป

หลังจากนั้น มารดาของท่านได้สั่งอดีตภรรยาว่า เมื่อใดที่เจ้ามีระดู ต่อมโลหิตเกิดมีแก่เจ้า เมื่อนั้นเจ้าจงบอกแก่แม่ นางรับคำ ต่อมาไม่ช้านัก นางได้มีระดู ต่อมโลหิตได้เกิดขึ้นแก่นาง จึงได้แจ้งให้มารดาพระสุทินน์ ทราบ มารดาสั่งให้แต่งตัวพร้อมด้วยเครื่องประดับ แล้วพานางไปหาพระสุทินน์ที่ป่ามหาวัน รำพันอ้อนวอนให้สึก ท่านตอบปฏิเสธ จึงกล่าวว่าขอพืชพันธุ์ไว้ ท่านตอบว่าอาจทำได้  แล้วจูงแขนอดีตภรรยาเข้าป่าหิมวันต์ ท่านคิดว่าไม่มีโทษ เพราะสิขาบทยังมิได้ทรงบัญญัติห้ามไว้ จึงเสพเมถุนในปุราณทุติยิกา  (ภรรยาเก่า) ๓ ครั้ง นางได้ตั้งครรภ์เพราะความประพฤตินี้

เหล่าภุมเทวดากระจายเสียงว่า ท่านผู้เจริญ โอ ภิกษุสงฆ์ ไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ พระสุทินกลันทบุตรก่อเสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว, เทพชั้นจาตุมหาราชิกาได้สดับเสียงเหล่าภุมเทวดาแล้วกระจายเสียงต่อไป, เทวดาชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหมได้สดับเสียงแล้วกระจายเสียงกันต่อๆ ไปอย่างนี้

(สมัยต่อมา อดีตภรรยาของท่านพระสุทินน์ได้คลอดบุตร พวกสหายของท่านตั้งชื่อทารกนั้นว่า พีชกะ ตั้งชื่ออดีตภรรยาว่า พีชกมารดา ตั้งชื่อพระสินทินน์ว่า พิชกปิตา ภายหลังทั้งอดีตภรรยาและบุตรต่างออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตแล้ว)

ครั้งนั้น ความรำคาญใจ ความเดือดร้อนใจ ได้เกิดแก่ท่านพระสุทินน์ว่า มิใช่ลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต เพราะความรำคาญและความเดือดร้อนใจนั้น ท่านได้ซูบผม เศร้าหมอง ผิวพรรณทราม มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น มีเรื่องในใจ มีใจหดหู่ มีทุกข์โทมนัส มีวิปฏิสารซบเซาแล้ว

บรรดาภิกษุสหายของท่านพระสุทินน์เห็นความผิดปกตินั้น ได้สอบถามท่านสุทินน์ว่า “คุณไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์หรือ?” พระสุทินน์ตอบว่า “มิใช่ว่าผมจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ แต่เพราะบาปกรรมที่ผมทำไว้มีอยู่ ผมได้เสพเมถุนในภรรยา ผมจึงได้มีความรำคาญ ความเดือดร้อนใจ เพราะผมบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว แต่ไม่อาจประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต”

ภิกษุสหายเหล่านั้นติเตียนท่านพระสุทินน์เป็นอันมาก ที่บวชแล้วไม่อาจจะคลายความกำหนัดและความยึดมั่นเป็นต้นได้ ได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า


• ทรงประชุมแล้วติเตียน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นมูลเค้านั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระสุทินน์ว่า “ดูก่อนสุทินน์ ข่าวว่าเธอเสพเมถุนธรรม ในปุราณทุติยิกา จริงหรือ?" พระสุทินน์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า “ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เธอบวชเรียนในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้แล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า

ดูก่อนโมฆบุรุษ (คำว่า โมฆบุรุษนี้ ทรงใช้กับภิกษุที่มิได้เป็นพระอริยะ) ธรรมอันเราแสดงแล้ว โดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อความถือมั่น มิใช่หรือ? เมื่อธรรมชื่อนั้นอันเราแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงความไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อความถือมั่น

ดูก่อน โมฆบุรุษ ธรรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สร่างความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความกระหาย เพื่อเป็นที่ถอนอาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดวัฏฏะ เพื่อเป็นที่ดับแห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาเครื่องร้อยรัด มิใช่หรือ

ดูก่อนโมฆบุรุษ การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราได้บอกไว้แล้วโดยอเนกปริยาย มิใช่หรือ

ดูก่อนโมฆบุรุษ องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าไปในปากงูเห่ายังดีกว่า องค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในหลุมถ่านที่ไฟติดลุกโชนยังดีกว่า...ข้อที่เราว่าดีนั้น เพราะเหตุไร?

เพราะบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าไปในปากอสรพิษเป็นต้นนั้น พึงถึงความตายหรือความทุกข์ เพียงแค่ตายซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป จักไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิดเข้าไปในองค์กำเนิดของมาตุคามนั้น เบื้องหน้าแตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการทำนี้เป็นเหตุ

ดูก่อนโมฆบุรุษ เมื่อการกระทำนั้นมีอยู่ เธอยังชื่อว่าได้ต้องอสัทธรรม อันเป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นมารยาทของคนชั้นต่ำอันชั่วหยาบมีน้ำเป็นที่สุด มีในที่ลับ เป็นของคนคู่ อันคนคู่พึงร่วมกันเป็นไป เธอเป็นคนแรกที่กระทำอกุศลกรรม เป็นหัวหน้าของคนเป็นอันมาก การกระทำของเธอนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั้นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนท่านพระสุทินน์เป็นอันมากดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร ทรงแสดงหลักธรรมที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า



• เหตุผลที่ทรงบัญญัติสิกขาบท ๑๐ ประการ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่อความอยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดขึ้นในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑


• ปฐมบัญญัติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่า “ภิกษุใด เสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้” นี้เป็นพระปฐมบัญญัติ


• อนุบัญญัติ ๑
สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเอาเหยื่อล่อลิงตัวเมียในป่ามหาวัน พระนครเวสาลี แล้วเสพเมถุนในลิงตัวเมียนั้นเสมอ ครั้งนั้นภิกษุหลายรูปสังเกตความผิดปกติของลิง ที่เห็นภิกษุเหล่านั้นแล้วยกสะเอวบ้าง โก่งหางบ้าง แอ่นตะโพกบ้าง  สันนิษฐานว่า ภิกษุเจ้าถิ่นนี้คงเสพเมถุนกับลิงตัวเมียอย่างไม่ต้องสงสัย จึงพากันคอยแอบดู ภิกษุนั้นได้เสพเมถุนอีก เมื่อภิกษุเหล่านั้นถามว่า ทำไมทำเช่นนั้น ทรงมีบัญญัติห้ามแล้วมิใช่หรือ? เธอนั้นตอบว่า พระบัญญัตินั้นห้ามเฉพาะหญิงมนุษย์ ไม่เกี่ยวถึงสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุเหล่านั้นต่างพากันติเตียน แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ตรัสถามภิกษุนั้น ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีอนุบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด เสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”


• ผู้ต้องปาราชิกแล้วปรารถนาการบวชอีก
สมัยต่อมา ภิกษุวัชชีบุตรชาวพระนครเวสาลีหลายรูปไม่ได้บอกลาสิกขาบท ได้เสพเมถุนธรรม สมัยถัดมา พวกเขาถูกความพินาศแห่งญาติกระทบแล้ว ถูกความวอดวายแห่งโภคะกระทบแล้ว ถูกโรคภัยเบียดเบียนแล้ว จึงเข้าไปหาพระอานนท์ กล่าววิงวอนให้ช่วยกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทอีกครั้ง โดยให้สัญญาว่าจะหมั่นประกอบความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรม

พระอานนท์รับคำของวัชชีบุตรเหล่านั้นแล้ว เข้าเฝ้ากราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ การที่ตถาคตจะพึงถอนปาราชิกสิกขาบทที่บัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งพวกวัชชีบุตรนั้น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส

ครั้งนั้น พระองค์รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแลเป็นภิกษุ ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรม ผู้นั้นมาแล้วสงฆ์ไม่พึงอุปสมบทให้ ส่วนผู้ใดแลเป็นภิกษุบอกคืนสิกขา ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง แล้วเสพเมถุนธรรม ผู้นั้นมาแล้วสงฆ์ก็พึงอุปสมบทให้ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทแสดงอย่างนี้ว่า :


• พระอนุบัญญัติ ๒
“อนึ่ง ภิกษุใดถึงพร้อมซึ่งสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลายแล้ว ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้”

     อรรถาธิบาย
- บทว่า ภิกษุที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยาวัตร, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกขุ, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้เจริญ, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมีสารธรรม, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ,  ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัติติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ   บรรดาภิกษุที่กล่าวมานี้ ภิกษุที่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันให้อุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะนี้ ชื่อว่า ภิกษุที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้
- บทว่า สิกขา ได้แก่ สิกขา ๓ ประการ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา บรรดาสิกขา ๓ ประการนี้ อธิศีลสิกขา ชื่อว่า สิกขาที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้ (ถึงพร้อมซึ่งสิกขา คือ ถึงพร้อมด้วยศีล)


• อาบัติ
๑. ภิกษุเสพเมถุนในมรรค ๓ คือ วัจจมรรค ปัสสาวมรรค และมุขมรรค (มรรคใดมรรคหนึ่ง หรือทั้งสาม) ของมนุษย์ผู้หญิง...อมนุษย์ผู้หญิง...สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ต้องปาราชิก
๒. ภิกษุเสพเมถุนในมรรค ๓ คือ วัจจมรรค ปัสสาวมรรค และมุขมรรค ของมนุษย์อุภโต พยัญชนก...อมนุษย์อุภโตพยัญชนก...สัตว์ดิรัจฉานอุภโตพยัญชนก ต้องปาราชิก
๓. ภิกษุเสพเมถุนในมรรค ๓ คือ ของมนุษย์บัณเฑาะก์...อมนุษย์บัณเฑาะก์...ดิรัจฉานบัณเฑาะก์ ต้องปาราชิก
๔. ภิกษุเสพเมถุนในมรรค ๒ คือ วัจจมรรค มุขมรรค ของมนุษย์ผู้ชาย...อมนุษย์ผู้ชาย...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ ต้องปาราชิก
๕. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงมาในสำนักภิกษุ แล้วให้ทับองค์กำเนิด (ของภิกษุ) ด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอยินดีการเข้าไป ยินดีการเข้าไปถึงที่แล้ว ยินดีการหยุดอยู่ ยินดีการชักออก ต้องปาราชิก
๖. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอไม่ยินดีการเข้าไป ไม่ยินดีการเข้าไปถึงที่แล้ว ไม่ยินดีการชักออก ไม่ต้องอาบัติ
๗. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอไม่ยินดีการเข้าไป ไม่ยินดีการเข้าไปถึงที่แล้ว ไม่ยินดีการหยุดอยู่ ไม่ยินดีการชักออก ต้องปาราชิก
๘. พวกภิกษุเป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงตายแล้วถูกสัตว์กัดมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอยินดี ต้องถุลลัจจัย หากเธอไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
๙. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงที่ตายแล้วยังไม่ถูกสัตว์กัดมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดของภิกษุด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค ถ้าเธอยินดี ต้องปาราชิก ถ้าไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
๑๐. พวกภิกษุผู้เป็นข้าศึก พามนุษย์ผู้หญิงมา แล้วให้ทับองค์กำเนิดด้วยวัจจมรรค...ปัสสาวมรรค...มุขมรรค คือ ของหญิงมีเครื่องลาด ของภิกษุไม่มีเครื่องลาด ๑ ของหญิงไม่มีเครื่องลาด ของภิกษุมีเครื่องลาด ๑ ของหญิงมีเครื่องลาด ของภิกษุมีเครื่องลาด ๑ ของหญิงไม่มีเครื่องลาด ของภิกษุไม่มีเครื่องลาด ๑ ถ้าเธอยินดีการเข้าไป ต้องปาราชิก ถ้าไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
๑๑. การเสพเมถุนธรรมในบุคคลที่เหลือ มีอมนุษย์ผู้หญิง สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย หรือมนุษย์อุภโตพยัญชนก เป็นต้น พึงทราบคำอธิบายตามทำนองที่กล่าวมา
๑๒. ภิกษุสอดองค์กำเนิดเข้ามรรคทางมรรค ต้องปาราชิก
๑๓. สอดองค์กำเนิดเข้าอมรรคทางมรรค ต้องปาราชิก (ยังองค์กำเนิดให้เข้าไปทางปัสสาวมรรค เป็นต้น แล้วชักออกในทางแผลใกล้ต่อมรรคนั้น)
๑๔. สอดองค์กำเนิดเข้ามรรคทางอมรรค ต้องปาราชิก (ยังองค์กำเนิดให้เข้าทางแผล ใกล้ต่อมรรค แล้วชักออกทางมรรค)
๑๕. สอดองค์กำเนิดเข้าอมรรคออกทางอมรรค ต้องถุลลัจจัย
๑๖. ภิกษุปฏิบัติผิดในภิกษุผู้หลับ เธอตื่นขึ้นแล้วยินดี พระวินัยธรพึงนาสนะเสียทั้งสองรูป เธอตื่นขึ้นแล้วไม่ยินดี พระวินัยธรพึงนาสนะภิกษุผู้ประทุษร้าย
๑๗. ภิกษุผู้ปฏิบัติผิดในสามเณรผู้หลับ เธอตื่นขึ้นแล้วยินดี พระวินัยธรพึงนาสนะเสียทั้งสองรูป เธอตื่นขึ้นแล้วไม่ยินดี พระวินัยธรพึงนาสนะภิกษุผู้ประทุษร้าย
๑๘. สามเณรปฏิบัติผิดในภิกษุผู้หลับ และสามเณรปฏิบัติผิดในสามเณรผู้หลับ ก็มีอธิบายนัยเดียวกับข้อ ๑๖,๑๗



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 มกราคม 2557 12:33:33
.
• อนาบัติ (ไม่เป็นอาบัติ)
ภิกษุไม่รู้สึกตัว ๑ ฝันว่าเสพเมถุน ๑ ไม่ยินดี ๑ วิกลจริต ๑ มีจิตฟุ้งซ่าน ๑ ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้า ๑ อาทิกัมมิกะ (ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ, ผู้กระทำคนแรก) ๑
       ตัวอย่าง
๑. ภิกษุรูปหนึ่งคิดว่า เราจักไม่อาบัติด้วยวิธีอย่างนี้ แล้วปลอมเป็นคฤหัสถ์เสพเมถุนธรรม เธอได้มีความรังเกียจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
๒. ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง เห็นเด็กหญิงนอนอยู่บนตั่ง เกิดความกำหนัด จึงสอดนิ้วมือเข้าไปในองค์กำเนิดของเด็กหญิง ๆ นั้นตาย เธอได้มีความรังเกียจ ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ต้องปาราชิก แต่ต้องสังฆาทิเสส
๓. สมัยนั้นแล เพศหญิงปรากฏแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอุปัชฌาย์เดิมนั่นแหละ อุปสมบทเดิมนั่นแหละ พรรษาก็เหล่านั้น และให้อยู่ร่วมกับภิกษุณีทั้งหลาย อาบัติเหล่าใดของภิกษุทั้งหลายที่ทั่วไปกับภิกษุณีทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปลงอาบัติเหล่านั้นในสำนักภิกษุณีทั้งหลาย อาบัติเหล่าใดของภิกษุทั้งหลายที่ไม่ทั่วไปกับภิกษุณีทั้งหลาย ไม่ต้องอาบัติเพราะอาบัติเหล่านั้น
๔. ภิกษุรูปหนึ่งมีหลังอ่อน เธอถูกความกระสันบีบคั้นแล้วได้อมองค์กำเนิดของตนด้วยปาก เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอต้องปาราชิกแล้ว
๕. ภิกษุรูปหนึ่งมีองค์กำเนิดยาว เธอถูกความกระสันบีบคั้นแล้วได้สอดองค์กำเนิดของตนเข้าสู่มัจจวรรคของตน เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอต้องปาราชิกแล้ว
๖. ภิกษุรูปหนึ่งได้พบศพ และที่ศพนั้นมีแผลอยู่ใกล้องค์กำเนิด ภิกษุนั้นคิดว่าเราจักไม่ต้องอาบัติด้วยวิธีนี้ จึงสอดองค์กำเนิดของตนเข้าในองค์กำเนิดของศพ แล้วชักออกทางแผล เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอต้องปาราชิกแล้ว
๗. ภิกษุรูปหนึ่งได้พบศพ และที่ศพนั้นมีแผลอยู่ใกล้องค์กำเนิด ภิกษุนั้นคิดว่าเราจักไม่ต้องอาบัติด้วยวิธีนี้ จึงสอดองค์กำเนิดของตนเข้าไปในแผล แล้วชักออกทางองค์กำเนิดของศพ เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอต้องปาราชิกแล้ว
๘. ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัด ได้ถูกต้องนิมิตแห่งรูปปั้นด้วยองค์กำเนิด เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ต้องปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ (ในตุ๊กตาก็มีนัยคือต้องอาบัติทุกกฏ)
๙. ภิกษุชื่อ สุนทระ เดินไปตามถนน สตรีผู้หนึ่งเห็นท่านแล้วกล่าวว่า นิมนต์หยุดประเดี๋ยวก่อน ดิฉันจักไหว้ นางนั่งไหว้พลางเลิกผ้าอันตราวาสกขึ้น แล้วได้อมองค์กำเนิดด้วยปาก เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสถามว่า เธอยินดีหรือ? ทูลตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยินดี พระพุทธเจ้าข้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ภิกษุไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
๑๐. ภิกษุเสพเมถุนในนาคตัวเมีย นางยักษิณี หญิงเปรต บัณเฑาะก์ เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอต้องปาราชิกแล้ว
๑๑. ภิกษุรูปหนึ่งมีจิตปฏิพัทธ์ในสตรีผู้หนึ่ง สตรีนั้นถึงแก่กรรมแล้ว เขาทิ้งไว้ในป่าช้า กระดูกเกลื่อนกลาด ภิกษุนั้นเข้าไปเก็บกระดูกมาเรียงต่อกัน แล้วจรดองค์กำเนิดลงที่นิมิต เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ต้องปาราชิก แต่ต้องทุกกฎ
๑๒. ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในที่พักกลางวันในป่าชาติยา แขวงเมืองภัททิยะ จำวัดหลับอยู่ อวัยวะใหญ่น้อยของภิกษุนั้นถูกลมรำเพยให้ตึงตัว สตรีผู้หนึ่งพบเข้าแล้วได้นั่งคร่อมองค์กำเนิด กระทำการพอแก่ความประสงค์แล้วหลีกไป ภิกษุนั้นตื่นขึ้นเห็นองค์กำเนิดเปรอะเปื้อน จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย องค์กำเนิดเป็นอวัยวะใช้การได้ด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ กำหนัด ๑ ปวดอุจจาระ ๑ ปวดปัสสาวะ ๑ ถูกลมรำเพย ๑ ถูกบุ้งขน ๑ ภิกษุทั้งหลาย องค์กำเนิดของภิกษุนั้นพึงเป็นอวัยวะใช้การได้ด้วยความกำหนัดใด ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส เพราะภิกษุนั้นเป็นอรหันต์ ภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติ
๑๓. ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในที่พักกลางวัน ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เปิดประตูจำวัดหลับอยู่ อวัยวะใหญ่น้อยของเธอถูกลมรำเพยให้ตึงตัว สตรีหลายคนเข้ามายังวิหารเห็นภิกษุนั้นแล้วได้นั่งคร่อมองค์กำเนิด กระทำการพอแก่ความประสงค์แล้วกลับไป ภิกษุนั้นตื่นขึ้นเห็นองค์กำเนิดเปรอะเปื้อน จึงกราบทูล ตรัสว่าภิกษุนั้นเป็นพระอรหันต์ไม่ต้องอาบัติ (เพราะไม่มีกิเลสแล้ว จึงปราศจากความยินดี ความกำหนัด) ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้จะพักผ่อนในกลางวัน ปิดประตูก่อนจึงจะพักผ่อนได้
๑๔. ภิกษุเฒ่ารูปหนึ่งได้ไปเยี่ยมภรรยาเก่า นางได้จับบังคับว่าท่านจงสึกเสียเถิด ภิกษุนั้นถอยหลังล้มหงาย นางจึงขึ้นคร่อมองค์กำเนิด เธอได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอยินดีหรือเปล่า? ทูลตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยินดี พระเจ้าข้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ผู้ไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
๑๕. ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในป่า ลูกเนื้อมาสู่ที่ถ่ายปัสสาวะของเธอ แล้วได้อมองค์กำเนิดพลางดื่มปัสสาวะ (ของภิกษุ) ภิกษุนั้นยินดี แล้วได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล ตรัสว่า เธอต้องปาราชิกแล้ว



• สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๑/๖๙๐-๘๖๒  อธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
๑. บ้านที่ได้ชื่อว่า กลันทคาม ก็เพราะมีกระแตทั้งกลายอาศัยอยู่ จึงเรียกว่ากลันทกะ
- บทว่า กลนฺทปุตฺโต ความว่า เป็นบุตรของกลันทเศรษฐีผู้มีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ ซึ่งได้ชื่อด้วยอำนาจแห่งบ้านที่พระราชทานสมมติให้ ก็เพราะมนุษย์แม้เหล่าอื่นที่มีชื่อว่ากลันทะมีอยู่ในบ้านตำบลนั้น  ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า  กลันทบุตร แล้วกล่าวย้ำไว้อีกว่า เศรษฐีบุตร
- สุทินน์ไปนครไพศาลี (เวสาลี) ด้วยกิจบางอย่าง เช่น ประกอบการซื้อขายสินค้า การให้กู้ยืมและการทวงหนี้ เป็นต้น  อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ด้วยกิจคือการเล่นกีฬาอันเป็นนักขัตฤกษ์ในเดือนกัตติกมาส (เดือน ๑๒) จริงอยู่ เพราะผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปถึงนครไพศาลีในชุณหปักข์ (ข้างขึ้น) แห่งเดือนกัตติกมาส  อนึ่ง ในนครไพศาลีนี้ มีการเล่นกีฬาอันเป็นนักขัตฤกษ์ประจำเดือนกัตติกมาสนอย่างโอฬาร สุทินกลันทบุตรนั้น พึงทราบว่าไปเพื่อเล่นกีฬานักขัตฤกษ์นั้น
- สุทินน์ฟังธรรมแล้ว เมื่อบริษัทยังไม่ลุกไปก็ยังไม่ได้ทูลขอบรรพชา เพราะเห็นว่าในบริษัทนั้น มีญาติมิตรสหายอยู่มาก หากพวกเขารู้ก็จักห้ามการบรรพชา จึงลุกขึ้นเดินไปพร้อมกับบริษัทแล้วหวนกลับมาอีก ด้วยการอ้างเลศแห่งสรีรกิจบางอย่าง เข้าไปเฝ้าแล้วทูลขอบรรพชา ก็เพราะจำเดิมแต่ราหุลกุมารบรรพชาแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงบวชให้กุลบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต เพราะฉะนั้นจึงตรัสถามการอนุญาตจากมารดาบิดา
- สุทินน์เป็นผู้มีฉันทะแรงกล้าในการบรรพชา หาได้น้อมไปในธุระ กิจทั้งหลายมีประการการซื้อขายสินค้า การให้กูยืมและทวงหนี้ เป็นต้น หรือในการเล่นกีฬานักขัตฤกษ์ไม่
- สหายของสุทินน์กล่าวขอให้มารดาบิดาของสุทินน์อนุญาตการบรรพชา ด้วยคำว่า หากสุทินน์ไม่ได้บวชจักตาย จักไม่มีคุณอะไร แต่หากเขาบวชก็จักได้เห็นเขาเป็นครั้งคราว พวกเราก็จักได้เห็นการบวชนั้นเป็นภาระที่หนัก ผู้บวชจะต้องถือบาตรเดินเที่ยวบิณฑบาตทุกวันๆ พรหมจรรย์มีการนอนหนเดียว ฉันหนเดียว เป็นกิจที่ทำได้ยากยิ่ง และสุทินน์นี้เป็นผู้ละเอียดอ่อน เป็นชาวเมือง เมื่อเขาไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์นั้นได้ ก็จักกลับมาที่เรือนนี้ทีเดียว มารดาบิดาจึงอนุญาตการบวช

๒. พระสุทินน์ออกบวชในพรรษาที่ ๑๒ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในพรรษาที่ ๒๐ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านเข้าไปบิณฑบาตยังตระกูลญาติตนเอง ขณะมีพรรษาได้ ๘ ตั้งแต่บวชมา เหตุนั้นนางทาสีจึงจำไม่ได้ แต่ถือเอาเค้า (นิมิต)
- บทว่า ปุราณทุติยิกํ ได้แก่ หญิงคนที่สองซึ่งเป็นคนดั้งเดิม คือ ภรรยาผู้เคยเป็นหญิงผู้ร่วมในการเสพสุขที่อาศัยเรือนมาแล้ว ภรรยาเก่าของท่านพระสุทินน์เชื่อตามที่คนพูดกันว่า พวกผู้ชายทั้งหลายพากันออกบวชเพราะต้องการนางเทพอัปสรทั้งหลาย นางจึงได้กล่าวถามท่านว่า “นางอัปสรเหล่านั้นชื่ออะไร?”
- ท่านสุทินน์คิดว่า เราเท่านั้นเป็นเจ้าของทรัพย์ มารดาบิดาจักเกิดความผูกพันเราเป็นนิตย์ เพื่อต้องการให้เรารักษาทรัพย์มรดก เพราะเหตุนั้น เราจักไม่ได้บำเพ็ญสมณธรรม หากเราให้พืชเชื้อไว้ พวกเขาจักงดเว้น ไม่ติดตามเรา เราก็จักได้บำเพ็ญสมณธรรมตามสบาย ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงรับปากว่า “รูปอาจทำได้”

๓. ได้ยินว่า ในปฐมโพธิกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุทั้งหลายได้กระทำให้พระหฤทัยยินดีแล้วตลอด ๒๐ ปี มิได้ประพฤติล่วงละเมิดเลย เหตุนั้นจึงมิได้ทรงบัญญัติปาราชิกหรือสังฆาทิเสส แต่ได้บัญญัติอาบัติเล็กน้อยที่เหลือไว้เพียง ๕ กอง มีปาจิตตีย์ เป็นต้น
     ท่านสุทินน์ เมื่อไม่เล็งเห็นสิกขาบทที่ทรงชี้โทษไว้ จึงเป็นผู้มีความสำคัญว่า การเสพเมถุนธรรม ไม่มีโทษ  จริงอยู่ ถ้าท่านรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ควรทำ หรือว่าสิ่งที่ทำนี้ย่อมเป็นไปเพื่อตัดขาดจากกุศล กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธาเช่นท่าน แม้จะถึงความสิ้นชีวิตไปก็จะไม่ทำ แต่เมื่อท่านไม่เล็งเห็นโทษของการเสพเมถุนธรรม จึงคิดว่าไม่มีโทษ...ปฐมปาราชิกบัญญัติจึงเกิดในพรรษาที่ ๒๐ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า

๔. เทพทั้งหลายประกาศความชั่วของท่านพระสุทินน์ คือ ชื่อว่าความลับของชนผู้ทำกรรมชั่วย่อมไม่มีในโลก เพราะคนผู้กระทำความชั่วนั้น ย่อมรู้ความชั่วที่ตนทำเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้นหมู่เทพเจ้าทั้งหลายย่อมรู้ ผู้อาศัยในไพรสณฑ์นั้น ซึ่งเป็นผู้รู้จิตของบุคคลอื่นด้วย พบเห็นความประพฤติชั่วนั้นของท่าน ก็ได้กระจายเสียงให้บันลือลั่นไป โดยอาการที่เทพเหล่าอื่นจะได้ยิน คือได้ยินว่า ท่านผู้เจริญ! โอ ภิกษุสงฆ์ไม่มีเสนียด หาโทษมิได้ แต่พระสุทินกลันทบุตรก่อเสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว เป็นต้น

๕. ได้ยินว่า ในเวลาที่พีชกะมีอายุได้ ๗-๘ ขวบ มารดาของเธอได้บวชในสำนักนางภิกษุณี และพีชกทารกนั้นก็ได้บวชในสำนักของภิกษุ ได้อาศัยเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นกัลยาณมิตรดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ส่วนพระสุทินน์ทำกรรมนั้นแล้ว ซบเซา ซูบผอม รำคาญใจอยู่

๖. ภิกษุสหายเหล่านั้นได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า, เพื่อปรารถนาจะให้ตนเป็นที่โปรดปรานก็หาไม่, หาได้ทูลเพื่อมุ่งจะทำความยุยงไม่, หาได้ทูลเพื่อต้องการจะประจานโทษก็หาไม่, หาได้ทูลเพื่อบอกโทษที่น่าตำหนิไม่, หมายใจอยู่ว่า เมื่อทรงสดับแล้ว จักไม่ให้พระสุทินน์นี้คงอยู่ในพระศาสนา จักให้ฉุดคร่าเธอออกไปเสียก็หาไม่, อันที่จริงกราบทูลด้วยความคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงทราบความเสียหายนี้ซึ่งเกิดขึ้นในพระศาสนาแล้ว จักทรงบัญญัติสิกขาบท จักทรงตั้งเขตแดน คืออาชญาไว้

๗. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติ คือ ทรงตำหนิพระสุทินน์นั้น เหมือนอย่างบุคคลผู้เลิศ เมื่อจะแสดงคุณและโทษของชนทั้งหลายผู้สมควรแก่คุณและโทษ ก็ติและชม ฉันนั้น
     จริงอยู่ เพราะทรงเห็นบุคคลผู้ทำการล่วงละเมิดศีล ความคิดย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่าผู้นี้เป็นคนมีชื่อเสียง มียศโดยชาติ หรือโดยโคตร หรือโดยความเป็นบุตรของผู้มีสกุล หรือโดยคัณฐะ (การร้อยกรอง) หรือโดยธุดงควัตร เราสมควรที่จะรักษาบุคคลเช่นนี้ไว้ เพราะทรงเห็นบุคคลผู้มีคุณมีศีลเป็นที่รัก จิตที่คิดจะปิดบังคุณของเขามิได้เกิดขึ้นแก่พระองค์เลย ทรงปราศจากอคติทั้งปวง อันที่จริงพระองค์ย่อมทรงติบุคคลซึ่งควรติ ย่อมชมบุคคลที่ควรชมเท่านั้น และพระสุทินน์นี้เป็นผู้สมควรติ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงดำรงอยู่ในลักษณะของท่านผู้คงที่ มีพระหฤทัยไม่ลำเอียง ได้ทรงติพระสุทินน์นั้น ดังนี้ว่า
ดูก่อนโมฆบุรุษ ผู้เป็นมนุษย์เปล่า (จากอริยคุณ) กรรมที่เธอทำแล้วไม่สมควรแก่ธรรมอันทำความเป็นสมณะ หรือแก่มรรค ผล นิพพาน และศาสนา คือ ไม่เป็นไปตาม ได้แก่ ไม่คล้อยตามผิว คือ เงา ได้แก่ ความเป็นธรรมดีแห่งธรรมเหล่านั้น โดยที่แท้เป็นธรรมเหินห่างจากธรรมเหล่านั้นทีเดียว ก็เพราะความเป็นของไม่สมควรนั่นเอง กรรมนั้นจึงชื่อว่าเป็นของไม่เหมาะเจาะ คือ ไม่อนุโลมแก่ธรรมเหล่านั้น โดยที่แท้เป็นของแย้งกัน คือ ตั้งอยู่ในความเป็นข้าศึกกัน เป็นกรรมไม่สมรูป คือ เป็นกรรมเข้ารูปคล้ายกัน ถูกส่วนกัน หามิได้ โดยที่แท้เป็นของไม่คล้ายกัน ไม่ถูกส่วนกันทีเดียว จึงจัดว่าไม่ใช่ของสำหรับสมณะ จึงจัดเป็นอกัปปิยะ จัดว่าไม่ควรทำ แต่กรรมนี้เธอทำแล้ว

๘. เมถุนธรรมนี้เป็นธรรมของอสัตบุรุษ คือ คนชั้นต่ำ มีจิตชุ่มด้วยราคะพึงเสพ (อสทฺธรรม), เป็นธรรมของพวกชนชาวบ้าน (คามธมฺมํ), เป็นมารยาทของเหล่าชนผู้เป็นคนชั้นต่ำ เพราะอรรถว่า หลั่งออก (วสลธมฺมํ) คือ ปล่อยออกของพวกบุรุษเลวทราม อีกอย่างหนึ่ง ธรรมเป็นเหตุไหลออกแห่งกิเลส ชื่อว่า วสลธรรม เป็นของชั่ว เป็นของหยาบ (ทุฏฺฐุลฺลํ) ไม่สุขุม ไม่ละเอียด เพราะถูกกิเลสประทุษร้าย
     เมถุนธรรมชื่อว่ามีน้ำเป็นที่สุด (โอทกนฺติกํ) เพราะอรรถว่า กิจเนื่องด้วยน้ำเป็นที่สุด คือ น้ำเป็นอวสานแห่งเมถุนธรรมนั้น, เป็นกรรมลับ (รหสฺสํ) คือ เกิดขึ้นในที่อันปิดบัง ใครๆ ไม่อาจจะทำโดยเปิดเผยเพราะเป็นกรรมน่าเกลียด
     พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมุ่งหมายเอาพระศาสนา ตรัสว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ เธอเป็นตัวอย่าง เป็นหัวหน้าแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายมาก แลอธิบายว่า เพราะทำก่อนบุคคลทั้งปวงนับว่าเป็นหัวหน้า คือ เป็นผู้ให้ประตู ได้แก่ ชี้อุบาย เพราะเป็นผู้ดำเนินหนทางนั้นก่อนบุคคลทั้งปวง บุคคลได้เลศสำเหนียกตามกิริยาของท่าน จักกระทำอกุศลธรรมมีประการต่างๆ มีเสพเมถุนธรรมกับนางลิง เป็นต้น พระสุทินน์จึงเป็นคนแรกในการเสพเมถุนธรรม ดังนี้
 
๙. ในบทว่า สิกฺขาปทํ มีวินิจฉัยดังนี้, ที่ชื่อ สิกขา เพราะอรรถว่า เป็นคุณชาติอันบุคคลพึงศึกษา, ที่ชื่อว่า บท เพราะอรรถว่า เป็นทางเป็นเครื่องอันบุคคลพึงถึง ทางเป็นเครื่องอันบุคคลพึงถึงแห่งสิกขา ชื่อว่า สิกขาบท คือ เป็นอุบายแห่งการได้สิกขา



• ๑๐. “อธิบายประโยชน์ของการบัญญัติสิกขาบท ๑๐ อย่าง”  
(๑) ที่ชื่อว่า ความเห็นชอบของสงฆ์ ได้แก่ สงฆ์ยอมรับว่าดี คือ สงฆ์รับพระดำรัสว่า “ดีละพระเจ้าข้า” ภิกษุใดยอมรับพระดำรัส การยอมรับของภิกษุนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน พระองค์ทรงแสดงโทษในการไม่ยอมรับและอานิสงส์ในการยอมรับ ไม่ทรงกดขี่โดยพลการเพื่อบัญญัติสิกขาบท
(๒) บทว่า สงฺฆผาสุตาย คือ เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่การอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข
(๓) หลายบทว่า ทุมฺมงฺกูนํ ปุคฺคลานํ นิคฺคหาย ความว่า บุคคลผู้ทุศีล ชื่อว่า บุคลผู้เก้อยาก ภิกษุเหล่าใด แม้อันภิกษุทั้งหลายจะให้ถึงความเป็นผู้เก้อ ย่อมถึงได้โดยยาก กำลังทำการละเมิด หรือกระทำแล้วย่อมไม่ละอาย, เพื่อประโยชน์แก่การข่มภิกษุเหล่านั้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบท เพราะหากไม่มีสิกขาบท ภิกษุเหล่านั้นจักเบียดเบียนสงฆ์ด้วยถ้อยคำว่า เรื่องอะไรที่ท่านเห็นมาแล้ว เรื่องอะไรที่พวกท่านได้ฟังมาแล้ว สิ่งอะไรที่พวกข้าพเจ้าทำแล้ว พวกท่านยกอาบัติไหน ในเพราะวัตถุอะไรขึ้นข่มพวกข้าพเจ้า ก็เมื่อสิกขาบทมีอยู่ สงฆ์จักอ้างสิกขาบทแล้วข่มภิกษุเหล่านั้น โดยธรรม โดยวิสัย โดยสัตถุศาสน์ (ความดำริชอบของพระศาสดา)
(๔) หลายบทว่า เปสลานํ ภิกฺขูนํ ผาสุวิหารย คือ เพื่อประโยชน์แก่ความผาสุกของภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก ไม่รู้สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ สิ่งที่มีโทษและไม่มีโทษ ขีดคั่นเขตแดน พยายามอยู่เพื่อความบริบูรณ์แห่งไตรสิกขา เมื่อมีความสงสัย ย่อมลำบาก ย่อมรำคาญ แต่ครั้นรู้สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ สิ่งที่มีโทษและไม่มีโทษ ย่อมไม่ลำบาก ย่อมไม่รำคาญ พยายามเพื่อความบริบูรณ์แห่งไตรสิกขาได้

อีกอย่างหนึ่ง ความข่มบุคคลผู้เก้อยากทั้งหลายนั่นแล เป็นความผาสุกแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ด้วยว่า อุโบสถ ปวารณา สังฆกรรมทั้งหลาย และความสามัคคี ย่อมมีไม่ได้ เพราะอาศัยเหล่าบุคคลผู้ทุศีล, ภิกษุทั้งหลายมีอารมณ์เป็นหนึ่งไม่ได้ ย่อมไม่สามารถประกอบตามซึ่งอุเทศ ปริปุจฉา และกรรมฐาน เป็นต้น ก็เมื่อเหล่าผู้ทุศีลถูกข่มเสียแล้ว อุปัทวะทั้งหมดนี้หามีไม่ เมื่อนั้นพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักย่อมอยู่เป็นผาสุก
(๕) คำว่า “เพื่อป้องกันอาสวะทั้งหลาย อันเป็นไปในปัจจุบัน” อธิบายว่า ทุกข์พิเศษ มีการทำร้ายด้วยฝ่ามือ ทำร้ายด้วยท่อนไม้ ตัดมือตัดเท้า ความเสียชื่อเสียง ความเสื่อมยศ และความเดือดร้อน เป็นต้น อันบุคคลผู้ตั้งอยู่ในความไม่สังวร จะพึงถึงในอัตภาพนี้นั่นเทียว ชื่อว่า อาสวะอันเป็นไปในปัจจุบัน เพื่อป้องกัน คือปิดกั้นทางมาแห่งอาสวะอันเป็นไปในปัจจุบันเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
(๖) คำว่า “เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลาย อันเป็นไปในสัมปรายภพ” มีความว่า ทุกข์พิเศษมีบาปกรรม ที่ผู้ไม่สังวรกระทำแล้ว จักเป็นปัจจัยให้ถึงนรก  เป็นต้น, เพื่อประโยชน์แก่การระงับ คือ การเข้าไปสงบอาสวะอันเป็นไปในสัมปรายภพเหล่านี้
(๗) ข้อว่า เพื่อความเลื่อมใสของบุคคลผู้ยังไม่เลื่อมใส ความว่า เมื่อมีสิกขาบทบัญญัติ มนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลาย แม้ไม่เลื่อมใส ได้ทราบสิกขาบทบัญญัติ หรือได้เห็นภิกษุทั้งหลายปฏิบัติสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติ ย่อมถึงความเลื่อมใสว่า ธรรมเหล่าใดหนอ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ความขัดเคือง และความลุ่มหลงของมหาชนในโลก สมณศากยบุตรเหล่านี้ ย่อมอยู่เหินห่างเว้นจากธรรมเหล่านั้น พวกเธอทำกรรมที่ทำได้ยาก ทำกิจที่หนักหนอ ดังนี้ เหมือนสมณพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิรู้ไตรเพทได้เห็นคัมภีร์พระวินัยปิฎกแล้วเลื่อมใส ฉะนั้น
(๘) ข้อว่า เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของบุคคลผู้เลื่อมใสอยู่แล้ว มีความว่า กุลบุตรทั้งหลายแม้เลื่อมใสในพระศาสนา ได้ทราบสิกขาบทหรือได้เห็นภิกษุทั้งหลายปฏิบัติสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ย่อมเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไปว่า โอ! พระผู้เป็นเจ้าเหล่าใด คอยเฝ้ารักษาวินัยสังวร ซึ่งมีอาหารครั้งเดียวตลอดชีวิต เป็นความประพฤติประเสริฐ พระผู้เป็นเจ้าเหล่านั้นเป็นผู้มีปกติทำกรรมที่ทำได้ยาก
(๙) ข้อว่า เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม อธิบายว่า สัทธรรมมี ๓ อย่าง คือ ปริยัติสัทธรรม ๑ ปฏิปัตติสัทธรรม ๑ อธิคมสัทธรรม ๑

บรรดาสัทธรรม ๓ อย่างนั้น ที่ชื่อว่า ปริยัติสัทธรรม ได้แก่ พุทธพจน์แม้ทั้งสิ้นรวมพระไตรปิฎก, ที่ชื่อว่า ปฏิปัตติสัทธรรม ได้แก่ ธรรมนี้คือ ธุดงคคุณ ๑๓ ขันธกวัตร ๑๔ มหาวัตร ๘๒ ศีลสมาธิและวิปัสสนา, ที่ชื่อว่า อธิคมสัทธรรม ได้แก่ ธรรมนี้คือ อริยมรรค ๔ สามัญญผล ๔ นิพพาน ๑

เมื่อมีสิกขาบทบัญญัติ ภิกษุทั้งหลายย่อมเรียนสิกขาบทและวิภังค์แห่งสิกขาบทนั้น และเมื่อปฏิบัติสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ย่อมบรรลุโลกุตตรธรรมที่ตนจะพึงบำเพ็ญข้อปฏิบัติแล้วบรรลุด้วยการปฏิบัติ เพราะเหตุนั้นสัทธรรมแม้ทั้งสิ้นนั้น จึงชื่อว่า เป็นสภาพมีความตั้งอยู่ ยั่งยืนด้วยสิกขาบทบัญญัติ
(๑๐) ข้อว่า เชื่อถือตามพระวินัย อธิบายว่า เมื่อมีสิกขาบทบัญญัติวินัยทั้ง ๔ อย่าง คือ สังวรวินัย ๑ ปหานวินัย ๑ บัญญัติวินัย ๑ ย่อมเป็นอันทรงอนุเคราะห์ คือ อุปถัมภ์สนับสนุนไว้เป็นอันดี


๑๑. วัชชีบุตรได้แก่ผู้เป็นบุตรของตระกูลในเมืองไพศาลี (เวสาลี) แคว้นวัชชี ภิกษุชาวแคว้นวัชชีเหล่านี้ ก่อเสนียดจัญไรให้เกิดในพระศาสนาหลายครั้ง ครั้งหนึ่งได้เข้าเป็นฝักฝ่ายกับพระเทวทัตทำลายสงฆ์ ครั้งหนึ่งภิกษุชาววัชชีบุตรนี้ ได้แสดงคำสอนนอกธรรมนอกวินัย ซึ่งครั้งนั้นเกิดเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพาน ๑๐๐ ปี, ครั้งนี้ภิกษุวัชชีบุตรได้เสพเมถุน ทั้งที่ยังมิได้กล่าวคำลาสิกขา ทั้งๆ ที่รู้ว่าทรงบัญญัติสิกขาบทแล้ว
- พวกเขาละจากเพศบรรพชิตแล้ว ภายหลังพวกญาติของพวกเขาถูกลงอาญาบ้าง ถูกโรคเบียดเบียนบ้าง ตายเสียบ้าง พลัดพรากจากกันบ้าง จึงปรารถนาการบวชอีกครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธจากพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะทรงทราบว่า หากพวกเขาได้รับอุปสมบทก็จักเป็นผู้ไม่มีความเคารพในศาสนา อีกทั้งพระองค์จักต้องถอนสิกขาบทที่บัญญัติแล้วด้วย ซึ่งมิใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส แต่ไม่ทรงห้ามการเป็นสามเณรของภิกษุวัชชีบุตรเหล่านั้น เพราะเห็นว่าพวกเธอจักเป็นผู้มีความเคารพ และจักทำประโยชน์ตนได้
- ส่วนภิกษุที่บอกลาสิกขาถูกต้อง ภายหลังต้องการอุปสมบทก็ควรให้อุปสมบท เพราะจักเป็นผู้มีความเคารพในศาสนา และเพราะเธอมีศีลยังไม่วิบัติ เธอเมื่อยังมีอุปนิสัยอยู่ จักบรรลุประโยชน์สูงสุด (พระนิพพาน) ต่อกาลไม่นานนักแล จึงทรงมีพระอนุบัญญัติ


๑๒. “อธิบายความหมายแห่งภิกษุ”
- ผู้ใดขอ เหตุนั้นผู้นั้นชื่อว่า ผู้ขอ จะได้ก็ตาม ไม่ได้ก็ตาม ย่อมขอด้วยวิธีขออย่างประเสริฐ, ชื่อว่า ผู้อาศัยการเที่ยวขอ เพราะเป็นผู้อาศัยการเที่ยวขอที่พระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงอาศัยแล้ว จริงอยู่ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งละกองโภคะน้อยหรือมาก ออกจากเรือนบวช ไม่มีเรือน บุคคลผู้นั้นชื่อว่าอาศัยการเที่ยวขอ เพราะละการเลี้ยงชีพด้วยกสิกรรมและโครักขกรรม (การเลี้ยงโค) เป็นต้น ยอมรับนับถือเพศนั้น เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ภิกษุ

แม้ฉันภัตในหาบอยู่ในท่ามกลางวิหาร ก็ชื่อว่า อาศัยการเที่ยวขอ เพราะมีความเป็นอยู่เนื่องด้วยผู้อื่น ชื่อว่า อาศัยการเที่ยวขอ เพราะเป็นผู้เกิดอุตสาหะในบรรพชาอาศัยโภชนะ คือ คำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง (เที่ยวบิณฑบาต) เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ภิกษุ

- ผู้ใดย่อมทรงผ้าที่ถูกทำลายแล้ว เพราะทำค่าผัสสะและสีให้เสียไป เหตุนั้นผ้านั้นชื่อว่าผู้ทรงผ้าที่ถูกทำลายแล้ว บรรดาการทำค่าให้เสียไปเป็นต้นนั้น พึงทราบการทำค่าให้เสียไป เพราะตัดด้วยคัสตรา (ทำให้ไม่มีค่าและราคา) จริงอยู่ ผ้ามีราคาตั้งพันที่เขาเอามีดตัดให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่แล้ว ย่อมมีราคาเสียไป คือ มีค่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งจากราคาเดิม พึงทราบการทำผัสสะให้เสียไป เพราะถูกเย็บด้วยด้าย ย่อมมีสัมผัสแข็งกระด้าง, ผ้าถึงความเสียสีไปเพราะสนิมจากเข็ม เพราะเหงื่อ เพราะการย้อมและเย็บในที่สุด ผ้าย่อมถูกทำลายไปโดยนัยนี้

อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดชื่อว่า ผู้ทรงผ้าที่ถูกทำลายแล้ว เพราะทรงผ้ากาสาวะทั้งหลาย ซึ่งไม่เหมือนกับผ้าของคฤหัสถ์ เหตุนั้นผู้นั้นชื่อว่า ภิกษุ

- เป็นภิกษุโดยบัญญัติ คือ โดยโวหาร (สมัญญา) คือ บุคคลบางคนปรากฏว่าเป็นภิกษุโดยสมัญญาเท่านั้น เช่นในกิจนิมนต์ เป็นต้น คนทั้งหลายเมื่อนับจำนวนภิกษุอยู่ นับเอากระทั่งพวกสามเณรเข้าด้วยแล้วพูดว่า ภิกษุจำนวนร้อยรูป ภิกษุจำนวนพันรูป
- เป็นภิกษุโดยปฏิญญาของตนเอง คือ บุคคลบางคนย่อมปรากฏว่าเป็นภิกษุ แม้โดยความปฏิญญา พึงทราบความปฏิญญาว่าเป็นภิกษุนั้นเกิดมีได้ดังในประโยคอย่างนี้ว่า ถามว่า เป็นใคร? ตอบว่า ข้าพเจ้าเองเป็นภิกษุ ก็ความปฏิญญานี้เป็นความปฏิญญาที่ชอบธรรม, พวกภิกษุผู้ทรงศีลเดินมาในราตรี ข้าพเจ้าเองเป็นภิกษุ ก็ความปฏิญญานี้เป็นความปฏิญญาที่ชอบธรรม, พวกภิกษุผู้ทรงศีลเดินมาในราตรี เมื่อถูกถามว่า ท่านเป็นใคร? ก็ตอบว่า พวกข้าพเจ้าเป็นภิกษุ ดังนี้เป็นปฏิญญาที่ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นความจริง
- บทว่า เอหิภิกขุ อธิบายว่าผู้ถึงความเป็นภิกษุ คือ ผู้อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุด้วยพระดำรัสว่า เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด ชื่อว่า ภิกษุ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย เพื่อเป็นเอหิภิกขุจึงทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาซึ่งมีสีดุจทอง ออกจากระหว่างบังสุกุลจีวรอันมีสีแดง เปล่งพระสุรเสียงกังวานดังเสียงพรหม ตรัสเรียกว่า เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด พร้อมกับพระดำรัสของพระพุทธเจ้านั่นเอง เพศคฤหัสถ์ของผู้เพ่งอุปสมบทนั้นย่อมอันตรธานไป บรรพชาและอุปสมบทก็สำเร็จ ผู้นั้นเป็นผู้ปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวะ คือ นุ่งผ้าอันตรวาสกผืนหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์ผืนหนึ่ง พาดผ้าสังฆาฏิไว้บนจะงอยบ่าผืนหนึ่ง มีบาตรดินอันมีสีเหลืองเหมือนดอกอุบลเขียวคล้องไว้ที่บ่าข้างซ้าย ภิกษุนั้นท่านกำหนดเฉพาะด้วยบริขาร ๘ ที่สวมสอดเข้าที่ร่างกาย อันพระโบราณจารย์ กล่าวไว้อย่างนี้ว่า

“บริขารเหล่านี้ คือ ไตร จีวร บาตร มีดน้อย เข็ม และผ้ารัดประคดเอว เป็น ๘ ทั้งผ้ากรองน้ำ ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ประกอบความเพียร”

เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถเหมือนพระเถระตั้งร้อยพรรษา มีพระพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ มีพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌาย์ ยืนถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ทีเดียว

จริงอยู่ ครั้งปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้กุลบุตรอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาชั่วระยะหนึ่ง (ก่อนจะให้สงฆ์อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา) และภิกษุผู้อุปสมบทด้วยวิธีอย่างนี้ มีจำนวน ๑,๓๔๑ รูป คือ พระปัญจวัคคีย์เถระ ๕ ยสกุลบุตร ๑ สหายผู้เป็นบริวารท่าน ๕๔ ภัททวัคคีย์ ๓๐ ปุราณชฎิล ๑,๐๐๐ ปริพาชก รวมกับพระอัครสาวกทั้งสอง ๒๕๐ พระอังคุลิมาลเถระ ๑=๑,๓๔๑ รูป

และภิกษุ ๑,๓๔๑ เหล่านั้น จะเป็นเอหิภิกขุพวกเดียวก็หามิได้ เพราะยังมีภิกษุที่บวชด้วยเอหิภิกขุอยู่อีก คือ เสลพราหมณ์พร้อมบริวารจำนวน ๓๐๐ พระมหากัปปินะพร้อมบริวารจำนวน ๑,๐๐๐ กุลบุตรชาวเมืองกบิลพัสดุ์มีจำนวน ๑๐,๐๐๐ พวกปารายนิกพราหมณ์ (พราหมณ์ผู้แสวงหาที่พึ่งในภพข้างหน้า) มีจำนวน ๑๖,๐๐๐ (รวม ๒๗,๓๐๐ รูป แต่ภิกษุเหล่านี้ พระอรรถกถาจารย์มิได้กล่าวไว้ เพราะท่านพระอุบาลีเถระมิได้แสดงไว้ในบาลีพระวินัยปิฎก ส่วนภิกษุ ๑,๓๔๑ ท่านพระอุบาลีกล่าวไว้ในบาลีพระวินัยปิฎกแล้ว


๑๓. "อธิบายสิกขาและสาชีพ"
สิกขาบททั้งปวงที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ในพระวินัย ที่เรียกว่า สาชีพ เพราะเหตุว่าเป็นที่อยู่ร่วมกัน คือ เป็นที่อยู่อย่างเดียวกัน เป็นอยู่ถูกส่วนกัน ประพฤติถูกส่วนกัน ของภิกษุทั้งหลายผู้ต่างกันโดยชาติและโคตร เป็นต้น ให้เป็นอยู่ร่วมกันได้โดยผาสุก  
- ภิกษุทำสิกขาบทนี้ให้เป็นที่พำนักแห่งจิตแล้ว สำเหนียกพิจารณาด้วยจิตว่า เราศึกษาสมควรแก่สิกขาบทหรือไม่หนอ? ก็ภิกษุนี้จะชื่อว่าศึกษาอยู่ในสิกขาบท กล่าวคือสาชีพนั้นอย่างเดียวก็หามิได้ แม้ในสิกขา (อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา) ก็ชื่อว่าเป็นอันศึกษาด้วย


๑๔. “ภิกษุเมื่อจะกล่าวถึงเมถุนธรรมควรระลึกถึงพระพุทธคุณ”  
เพราะเมถุนกถานี้เป็นกถาที่ชั่วหยาบ เป็นกถาของพวกอสัตบุรุษ เพราะฉะนั้น เมื่อภิกษุจะกล่าวก็ควรระลึกในปฏิกูลมนสิการ สมณสัญญา และหิริโอตตัปปะ ทำความเคารพให้เกิดในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วกล่าวเถิด โดยรำพึงถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์อย่างนี้ว่า พระองค์ทรงมีจิตพ้นแล้วจากกามทั้งหลาย แต่ทรงอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก ได้ตรัสกถาเช่นนี้ไว้เพื่อต้องการบัญญัติสิกขาบท พระศาสดามีพระกรุณาคุณจริงหนอ...

หรือระลึกว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงกถาเช่นนี้ ใครเล่าจะพึงรู้ได้ว่าในฐานะประมาณเช่นนี้เป็นปาราชิก ฐานะเท่านี้เป็นถุลลัจจัย ฐานะนี้เป็นทุกกฎ เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้กล่าวอยู่ก็ดีซึ่งเมถุนกถานั้น หาควรเปิดปากนั่งหัวเราะแยกฟันกันอยู่ ไม่ถึงใคร่ครวญว่า ถึงฐานะเช่นนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ตรัสแล้ว ดังนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะแล้วกล่าวเมถุนกถาเถิด


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 เมษายน 2557 16:00:08
.

๑๕. บทว่า ปาราชิก แปลว่า พ่ายแพ้แล้ว คือ ถึงความพ่ายแพ้, ปาราชิกศัพท์นี้ย่อมเป็นไปในทั้งสิกขาบท อาบัติ และบุคคล
ปาราชิกศัพท์ที่เป็นไปในสิกขาบท พึงทราบที่มาอย่างนี้ว่า “ดูก่อนอานนท์ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ที่ตถาคตจะพึงถอนปาราชิกสิกขาบทที่ได้บัญญัติไว้แล้ว...”

ที่เป็นไปในอาบัติพึงทราบที่มาอย่างนี้ว่า "ภิกษุ...เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว”, ที่เป็นไปในบุคคล พึงทราบที่มาอย่างนี้ว่า “พวกเรามิได้เป็นปาราชิก ผู้ใดลัก ผู้นั้นเป็นปาราชิก”

อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ยังเป็นไปในธรรมได้อีก เช่น ในที่มามีคำว่า (ภิกษุ) ตามกำจัด (ภิกษุ) ด้วยธรรม มีโทษถึงปาราชิก ดังนี้เป็นต้น (ดูสังฆาทิเสส)

แต่บางครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระประสงค์เรียกอาบัติว่า “ธรรม” บางแห่งเรียกว่า “สิกขาบท” เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรเข้าใจว่าเป็นคนละอย่างกัน

บรรดาสิกขาบท อาบัติ และบุคคลนั้น, สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ปาราชิก เพราะเหตุที่ยังบุคคลผู้ละเมิดให้พ่าย, ส่วนอาบัติ ตรัสว่า ปาราชิก เพราะเหตุที่ยังบุคคลผู้ต้องให้พ่าย, บุคคลตรัสว่า เป็นปาราชิก เพราะเหตุที่เป็นผู้พ่าย คือ ถึงความแพ้จากพระศาสนา ย่อมเป็นผู้ไม่ใช่สมณะ ไม่ใช่เหล่ากอแห่งศากยบุตร

- ภิกษุทั้งหลายย่อมอยู่ร่วมกันในธรรมนี้ (สิกขาบททั้งหลาย) เหตุนั้น ธรรมนี้จึงชื่อว่า สังวาส

อธิบายว่า สังฆกรรมทั้ง ๔ อย่าง มีอุโบสถกรรม เป็นต้น ชื่อว่า กรรมอันเดียวกัน เพราะความเป็นกรรมที่ภิกษุทั้งหลายผู้ปกตัตตะกำหนดด้วยสีมา จะพึงทำร่วมกัน  อนึ่ง ปาฏิโมกขุทเทสทั้ง ๕ ชื่อว่าอุเทศเดียวกัน เพราะความเป็นอุเทศที่จะพึงสวดด้วยกัน, ส่วนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแล้ว ชื่อว่าสมสิกขาตา เพราะความเป็นสิกขาที่ลัชชีบุคล (คนผู้มีความละอาย) แม้ทั้งปวงจะพึงศึกษาเท่ากัน ลัชชีบุคคลทั้งหลายย่อมอยู่ร่วมกันในกรรมเป็นต้นเหล่านี้ บุคคลแม้ผู้เดียวจะปรากฏในภายนอก จากกรรมเป็นต้นนั้นหามิได้ เพราะเหตุนั้นจึงทรงรวมเอาสิ่งเหล่านั้นแม้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน แล้วตรัสว่า นี้ชื่อว่าสังวาสในพระบาลีนี้, ก็แลสังวาสมีประการดังกล่าวนั้นไม่มีแก่บุคคลนั้น เพราะเหตุนั้นบุคคลผู้พ่ายพระองค์จึงตรัสว่า ผู้หาสังวาสมิได้ ดังนี้


๑๖. “สัตว์ดิรัจฉาน” ท่านกำหนดดังนี้
บรรดาพวกสัตว์ไม่มีเท้า ได้แก่ งู ปลา, บรรดาพวกสัตว์ มีสัตว์สองเท้า ได้แก่ นก ไก่, บรรดาพวกสัตว์สี่เท้า ได้แก่ แมว กระแต พังพอน เป็นต้น สัตว์ดิรัจฉานเหล่านี้เป็นวัตถุแห่งปาราชิก

บรรดางูทั้งหลาย ภิกษุอาจสอดองคชาติเข้าไปในมรรคทั้ง ๓ มรรคใดมรรคหนึ่งประมาณเท่าเมล็ดงา เป็นวัตถุแห่งปาราชิก ที่เหลือพึงทราบว่าเป็นวัตถุแห่งทุกกฎ ส่วนกบมีสัณฐานปากกว้าง แต่มีช่องปากแคบ จึงไม่เพียงพอจะสอดองคชาติเข้าไปได้ แต่สัณฐานปากย่อมถึงความนับว่าเป็นแผล พึงทราบว่าเป็นวัตถุแห่งถุลลัจจัย

นก กระแต พังพอน เป็นต้น เป็นวัตถุแห่งปาราชิก และแห่งทุกกฎ พึงทราบคำอธิบายเหมือนงู ดังที่กล่าวแล้ว


๑๗. “อธิบายเครื่องลาด”
มรรคใดมรรคหนึ่ง (ปาก ทวารหนัก ทวารเบา) ของหญิงที่ชื่อว่ามีเครื่องลาด ได้แก่ มรรคที่เขาเอาผ้าหรือใบไม้ เปลือกปอหรือหนัง หรือแผ่นดีบุกและสังกะสี เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง พันหรือสอดเข้าไปสวมไว้ภายใน

องชาติของชายที่มีเครื่องลาด ได้แก่ องคชาติที่เขาเอาบรรดาวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง มีผ้าเป็นต้นเหล่านั้น มาสวมไว้


๑๘. “อนาบัติ” (ไม่เป็นอาบัติ)
- ภิกษุรูปที่ชื่อว่า ผู้ไม่รู้สึกตัวนั้น ได้แก่ ผู้หยั่งลงสู่ความหลับอย่างมาก ย่อมไม่รู้สึกแม้ความพยายามที่คนอื่นทำแล้ว ภิกษุนี้ไม่เป็นอาบัติเหมือนภิกษุผู้ไปพักกลางวันในป่ามหาวันนั้น
- ภิกษุที่ชื่อว่าไม่ยินดี ได้แก่ ผู้ที่แม้รู้สึกตัวแล้วก็ไม่ยินดี ภิกษุนี้ไม่เป็นอาบัติ
- ภิกษุผู้เป็นบ้าเพราะดีกำเริบ ชื่อว่า เป็นบ้า, ดีมี ๒ อย่าง คือ ดีที่มีฝัก ๑ ดีที่ไม่มีฝัก ๑ ดีที่ไม่มีฝักย่อมซึมซาบไปทั่วสรรพางค์ดุจโลหิต เมื่อดีที่ไม่มีฝักกำเริบ พวกสัตว์ย่อมมีสรีระสั่นเทาไปเพราะหิดเผื่อยหิดติ เป็นต้น ซึ่งจะหายได้ด้วยการทายา, ส่วนดีที่มีฝัก ตั้งอยู่ในฝักของดี เมื่อดีฝักกำเริบ พวกสัตว์ย่อมเป็นบ้า ละทิ้งหิริโอตตัปปะเสีย ย่อมเที่ยวไปประพฤติกรรมที่ไม่สมควร ย่ำยีสิกขาบททั้งเบาและทั้งหนักอยู่ ก็ไม่รู้สึกตัว เป็นผู้แก้ไขไม่ได้แม้จะมีแพทย์เยียวยา ภิกษุผู้เป็นบ้าเช่นนี้ไม่เป็นอาบัติ
- ภิกษุชื่อว่า มีจิตฟุ้งซ่าน ได้แก่ ผู้ปล่อยจิตไปตามอารมณ์ ท่านเรียกว่าเป็นบ้าเพราะผีเข้าสิง ได้ยินว่า พวกยักษ์แสดงอารมณ์ทั้งหลายที่น่ากลัว หรือสอดมือเข้าทางปากแล้วบีบคั้นหทัยรูปของพวกสัตว์ให้มีความจำคลาดเคลื่อน ภิกษุผู้ฟุ้งซ่านนี้ไม่เป็นอาบัติ

ส่วนความแตกต่างกันแห่งภิกษุผู้เป็นบ้า ๒ พวก มีดังนี้ ภิกษุผู้เป็นบ้าเพราะดีกำเริบ จัดว่าเป็นบ้าตลอดทีเดียว ไม่มีความจำตามปกติ ผู้เป็นบ้าเพราะยักษ์เข้าสิง ยังกลับได้ความจำตามเดิมในบางคราว แต่ในปฐมปาราชิกนี้ ผู้เป็นบ้าเพราะดีกำเริบก็ดี ผู้เป็นบ้าเพราะยักษ์เข้าสิงก็ดี จงยกไว้ (ไม่เป็นอาบัติแน่นอน) ภิกษุรูปใดหลงลืมสติโดยประการทั้งปวง วัตถุอะไรๆ จะเป็นไฟก็ตาม ทองก็ตาม คูถก็ตาม ก็ไม่รู้จัก ย่อมเที่ยวย่ำเหยียบเป็นเช่นเดียวกันหมด ภิกษุบ้าเห็นเช่นนี้ไม่เป็นอาบัติ แต่เมื่อกลับได้ความจำขึ้นในบางครั้งบางคราวแล้วทำทั้งที่รู้ เป็นอาบัติทีเดียว
- ภิกษุชื่อว่า กระสับกระส่ายเพราะเวทนา นั้นได้แก่ ผู้ที่ทุรนทุรายเพราะทุกขเวทนาเกินประมาณ ย่อมไม่รู้สึกอะไรๆ ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนี้
- ภิกษุชื่อว่า อาทิกัมมิกะ ได้แก่ ผู้เป็นต้นเดิมในการกระทำ ในปฐมปาราชิกสิขาบทนี้พระสุทินน์เป็นอาทิกัมมิกะ ท่านไม่เป็นอาบัติ ภิกษุทั้งหลายที่เหลือมีผู้เสพเมถุนกับนางลิงเป็นต้น เป็นอาบัติแล้ว


๑๙. “ตัวอย่าง” (วินีตวัตถุ – เรื่องที่ทรงวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง)
- ตัวอย่างเหล่านี้ที่ยกมาแสดงเป็นเรื่องที่ทรงวินิจฉัยโดยพระองค์เอง เพื่อให้พระวินัยธรได้ใช้เป็นเรื่องสำหรับเทียบเทียง ดุจรูปที่เป็นหลักเทียบเคียงของพวกศิลปิน ฉะนั้น
- “ภิกษุเพศชายกลับเป็นหญิง” หมายความว่า เมื่อท่านหยั่งลงสู่ความหลับในเวลากลางคืน อวัยวะทั้งปวง มีหนวดเคราเป็นต้น หายไป ทรวดทรงของสตรีเกิดขึ้นแทนที่, ทรงอนุญาตว่าไม่ต้องถืออุปัชฌาย์ใหม่ ไม่ต้องให้อุปสมบทใหม่, ให้นับพรรษาเดิมจากความเป็นภิกษุได้เลย, ให้ไปอยู่รวมกับพวกภิกษุณี, หากอาบัติที่ต้องในตอนเป็นภิกษุมีอยู่ในสิกขาบทของภิกษุณี ก็ให้แสดงแก่ภิกษุณี ส่วนอาบัติที่ต้องขณะเป็นภิกษุแล้ว ไม่มีอยู่ในสิกขาบทของภิกษุณี เป็นอันไม่อาบัติ
- เพศชายท่านจัดว่าเป็นอุดมเพศ เพศหญิงเป็นหีนเพศ (เพศต่ำ) เพราะเหตุนั้นเพศชายอันตรธานไป เมื่ออกุศลมีกำลังรุนแรง เพศหญิงปรากฏขึ้นแทน เพราะมีกุศลอันเพลาลง, ส่วนเพศหญิงจะอันตรธานไป เพราะอกุศลมีกำลังเพลาลง เพศชายปรากฏขึ้นแทน เพราะกุศลมีกำลังรุนแรง, เพศทั้งสองอันตรธานไปเพราะอกุศล กลับได้คืนเพราะกุศล ดังนี้
- ภิกษุ ชื่อ สุนทระ ท่านเป็นพระอนาคามี จึงไม่ยินดี
- ภิกษุเฒ่าที่กลับไปเยี่ยมภรรยาเก่าเป็นพระอนาคามี จึงไม่ยินดี


๒๐. “เรื่องปิดประตูจำวัด”
- ในพระบาลี พระพุทธเจ้ามิได้ปรับอาบัติไว้ว่าเป็นอาบัติชื่อใดก็จริง แต่ถึงกระนั้นพระเถระทั้งหลาย ก็ปรับเป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไม่ปิดประตูเสียก่อนพักผ่อน เพราะเมื่อเรื่องเกิดขึ้น เพราะโทษที่เปิดประตูนอน จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้จะพักผ่อนในกลางวันปิดประตูเสียก่อนจึงพักผ่อนได้

พระเถระทั้งหลาย มีพระอุบาลีเป็นต้น ทราบพระประสงค์แล้ว จึงได้ตั้งอรรถกถาไว้ ก็คำที่ว่าเป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไม่ปิดประตูเสียก่อนพักผ่อนนี้ สำเร็จแล้วด้วยคำนี้ว่า “มีอาบัติที่ภิกษุต้องในกลางวันไม่ต้องในกลางคืน”
- ถ้าสถานที่นั้นเป็นที่ใช้ของคนหมู่มาก จะพูดกับภิกษุหรือสามเณรหรืออุบาสกว่า ท่านจงช่วยกันรักษาประตู แล้วจำวัดก็ควร ถ้าแม้จะทำความผูกใจไว้ว่า ภิกษุทั้งหลายผู้นั่งทำจีวรกรรม หรือกิจอย่างอื่นอยู่ เธอเหล่านั้นจักช่วยกันรักษาประตูนั่น แล้วจำวัด ก็ควร
- เมื่อภิกษุไม่ทำการบอกเล่าหรือความผูกใจไว้ แล้วพักจำวัดภายในห้องที่ไม่ได้ปิดประตูหรือภายนอกห้อง ย่อมเป็นอาบัติ
- ภิกษุเปิดประตูจำวัดตลอดคืน ลุกขึ้นแล้วในเวลารุ่งอรุณ ไม่เป็นอาบัติ, แต่ถ้าตื่นแล้วหลับซ้ำ เป็นอาบัติ
- ส่วนภิกษุใดรักษาพยาบาลภิกษุอาพาธ เป็นต้น หลายราตรีทีเดียว หรือเดินทางไกลมีร่างกายอิดโรยทั้งวัน นั่งบนเตียงแล้ว พอยกเท้ายังไม่พ้นจากพื้นเลยก็หลับ ภิกษุนี้ไม่เป็นอาบัติ ถ้ายกเท้าขึ้นเตียงแล้วหลับ ย่อมเป็นอาบัติ, เมื่อนั่งพิงหลับไม่เป็นอาบัติ


๒๑. ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ นี้ มีสมุฏฐานเดียว คือ เกิดจากกายกับจิต (จิตคิดเสพ กายเคลื่อนไหวเพื่อเสพ, ใช้ผู้อื่นเสพ ไม่เป็นอาบัติ) เป็นสจิตตกะ เพราะมีจิตคิดเสพเมถุน จึงเสพ หากไม่มีจิตคิดเสพก็ไม่มีการเสพ, เป็นโลกวัชชะ เพราะต้องอาบัติด้วยอำนาจราคะกล้า, เป็นกายกรรม เพราะเกิดทางกายทวารเท่านั้น, เป็นอกุศลจิต เพราะต้องด้วยโลภมูลจิต

๒๒. สิกขาบทใดต้องพร้อมด้วยจิตเท่านั้น (คือมีจิตคิดทำ, คิดละเมิด) สิกขาบทนั้นเป็นสจิตตกะ, สิกขาบทใดเว้นจากจิต (คือ แม้ไม่มีจิตคิดล่วงละเมิด) ก็ต้องอาบัติ สิกขาบทนั้นเป็นอจิตตกะ
- “การล่วงละเมิดสิกขาบทมีโทษ ๒ อย่าง” คือ โลกวัชชะ (มีโทษทางโลก) ปัณณัตติวัชชะ (มีโทษทางพระบัญญัติ) ๑

สิกขาบทใดในฝ่ายสจิตตกะ มีจิตเป็นอกุศลล้วนๆ สิกขาบทนั้นชื่อว่า โลกวัชชะ ที่เหลือเป็นปัณณัตติวัชชะ (คือ ในฝ่ายอจิตตกะมีจิตที่มิใช่อกุศล สิกขาบทนั้นชื่อว่า ปัณณัตติวัชชะ)
- บรรดาโทษ ๒ อย่างนั้น อนุบัญญัติในสิกขาบทที่เป็นโลกวัชชะ เมื่อเกิดขึ้นย่อมกั้น ปิดประตู ตัดกระแส ทำให้ตึงขึ้นกว่าเดิม, ส่วนอนุบัญญัตินี้ว่า เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ เว้นไว้แต่ฝัน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพราะไม่มีการล่วง
ละเมิด

ในสิกขาบทที่เป็นปัณณัตติวัชชะ เมื่อภิกษุยังไม่ได้ทำการล่วงละเมิด อนุบัญญัติที่เกิดขึ้นตามหลังพระบัญญัติ ย่อมทำให้สิกขาบทเพลาลง ปลดเปลื้องออก เปิดประตูให้ ทำไม่ให้เป็นอาบัติต่อๆ ไป เหมือนอนุบัญญัติในคณโภชนสิกขาบท และปรัมปราโภชนสิกขาบท ฉะนั้น (ดู ปาจิตตีย์โภชนวรรค)
- ส่วนอนุบัญญัติเห็นปานนี้ว่า “โดยที่สุด (บอก) แม้แก่หญิงแพศยาอันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะ” (ดูสังฆาทิเสส ข้อชักสื่อ) ชื่อว่า อนุบัญญัติที่เป็นเหมือนพระบัญญัติทีเดียว เพราะเกิดขึ้นในเมื่อภิกษุทำการล่วงละเมิดแล้ว
- ก็เพราะปฐมปาราชิกบทนี้ เป็นโลกวัชชะ ไม่ใช่ปัณณัตติวัชชะ เพราะฉะนั้น อนุบัญญัติที่เกิดขึ้น ย่อมกั้น ปิดประตู ตัดกระแส ได้แก่ ทำให้ตึงขึ้นกว่าเดิม


๒๓. “ลักษณะสิกขาที่ไม่เป็นอันบอกคืน”
- ภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระสันไม่ยินดี ใคร่จะเคลื่อนจากความเป็นสมณะ อึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังความเป็นภิกษุ ปรารถนาความเป็นอุบาสก ปรารถนาความเป็นอารามิก ปรารถนาความเป็นสามเณร ปรารถนาความเป็นเดียรถีย์ ปรารถนาความเป็นสาวกเดียรถีย์ ปรารถนาความเป็นผู้มิใช่สมณะ ความเป็นผู้มิใช่เชื้อสายศากยะบุตร ย่อมกล่าวให้ผู้อื่นทราบว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า (บอกคืน ด้วยคำรำพึงว่าไฉนหนอ) ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงเป็นคฤหัสถ์ (กล่าวกำหนดภาวะ ด้วยคำรำพึงว่า ไฉนหนอ)...ก็ถ้าว่าข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า (กล่าวบอกคืนด้วยคำปริกัปป์)...ก็ถ้าว่า ข้าพเจ้าพึงเป็นคฤหัสถ์ (กล่าวกำหนดภาวะ)...บอกว่า ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า (กล่าวบอกคืนด้วยคำปริกัปป์)...หากว่าข้าพเจ้าพึงเป็นคฤหัสถ์ (กล่าวกำหนดภาวะด้วยคำปริกัปป์)...ผิว่า ข้าพเจ้าพึงบอกคืนว่า ข้าพเจ้ามีความดำริว่า ข้าพเจ้าพึงบอกคืน...

ข้าพเจ้าระลึกถึงมารดา (อ้างวัตถุที่รำลึก)...มารดาของข้าพเจ้ามี ข้าพเจ้าต้องเลี้ยงดูท่าน (แสดงความห่วงใย)...มารดาของข้าพเจ้ามี ท่านจักต้องเลี้ยงดูข้าพเจ้า (อ้างที่อยู่อาศัย)...พรหมจรรย์ทำได้ยาก (อ้างว่าพรหมจรรย์ทำได้ยาก) เป็นต้น แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่า การทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง และสิกขาไม่เป็นอันบอกคืน (สักขาไม่เป็นอันบอกลา, ไม่เป็นอันสึก)

-คำว่า “ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง” ตรัสโดยความเป็นคำสละสลวย ด้วยพยัญชนะ, เป็นคำขยายบทว่า ไม่บอกคืนสิกขา


๒๔. “ลักษณะสิกขาบทที่เป็นอันบอกคืน”
ภิกษุในพระธรรมวินัย กระสัน ไม่ยินดี...ย่อมกล่าวให้ผู้อื่นทราบว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระพุทธเจ้า (กล่าวบอกคืนด้วยคำเป็นปัจจุบัน)...ขอท่านจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์ (กล่าวกำหนดภาวะด้วยคำปัจจุบัน)...ข้าพเจ้าไม่เกี่ยวข้องด้วยพระพุทธเจ้า...(บอกคืนด้วยคำปัจจุบัน)...ข้าพเจ้าจะต้องการอะไรด้วยพระพุทธเจ้า. ข้าพเจ้าไม่ต้องการด้วยพระพุทธเจ้า...ข้าพเจ้าพ้นดีแล้วจากพระพุทธเจ้า...ข้าพเจ้าบอกคืนพระธรรม...ข้าพเจ้าบอกคืนพระสงฆ์..ข้าพเจ้าบอกคืนสิกขา ข้าพเจ้าบอกคืนพระวินัย...ข้าพเจ้าบอกคืนพระอุปัชฌาย์...ขอท่านจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นอุบาสก...เป็นอารามิก...เป็นสามเณร...เป็นเดียรถีย์...เป็นสาวกเดียรถีย์...เป็นต้น

หรือบอกลาด้วยคำไวพจน์ เช่น ขอจงจำข้าพเจ้าไว้ว่า ไม่เป็นบุตรของพระอนันตพุทธเจ้า...ท่านจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นผู้ทุศีล เป็นต้น แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าการทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง และสิกขาก็เป็นอันบอกคืน


๒๕. “ผู้รับฟังการลาสิกขา”
ครั้นทรงแสดงลักษณะแห่งการบอกลาสิกขาแล้ว เพื่อความไม่เลอะเลือนในการไม่บอกลา และเพื่อแสดงความวิบัติแห่งลักษณะการบอกลาสิกขา จึงทรงแสดงถึงบุคคลผู้ฟังคำกล่าวลาสิกขาที่ไม่เป็นอันบอกคืน ดังนี้
- ภิกษุบอกคืนสิกขาในสำนักของภิกษุวิกลจริต สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน
- ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน บอกคืนสิกขา ย่อมไม่เป็นอันบอกคืน – ภิกษุบอกคืนสิกขาในสำนักของภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน – ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา บอกคืนสิกขา...- ภิกษุบอกคืนสิกขาในสำนักของภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา...บอกคืนสิกขาในสำนักเทวดา...- ในสำนักสัตว์ดิรัจฉาน. – ในสำนักของชนชาติมิลักขะ ด้วยภาษาชนชาติอริยกะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน – ในสำนักของชนชาติอริยกะ ด้วยภาษาชนชาติมิลักขะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน – ในสำนักของชนชาติอริยกะ ด้วยภาษาชนชาติอริยกะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ สิกขาไม่เป็นอันบอกคืน – ในสำนักของชนชาติมิลักขะ ด้วยภาษามิลักขะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน – ภิกษุบอกคืนสิกขา โดยกล่าวเล่น สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน – ภิกษุบอกคืนสิกขา โดยกล่าวพลาด สิกขาไม่เป็นอันบอกคืน – ภิกษุประสงค์จะประกาศ แต่ไม่เปล่งเสียงให้ได้ยิน สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน – ภิกษุไม่ประสงค์จะประกาศ แต่เปล่งเสียงให้ได้ยิน สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน, ภิกษุประกาศแก่ผู้ไม่เข้าใจความ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน – ก็หรือภิกษุไม่ประกาศโดยประการทั้งปวง สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน ดังนี้
- ภิกษุบ้าเพราะถูกยักษ์เข้าสิง หรือบ้าเพราะดีกำเริบ คือ ภิกษุผู้มีสัญญาวิปริตรูปใดรูปหนึ่ง ภิกษุบ้านั้นถ้าบอกลา สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกลา, ถ้าภิกษุผู้ปกติบอกลาในสำนักของภิกษุบ้า ภิกษุบ้าไม่เข้าใจ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกคืน
- ภิกษุบ้านั้น ท่านเรียกว่า ภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
- ภิกษุผู้ถูกทุกขเวทนาที่มีกำลังครอบงำ สิกขาที่ภิกษุผู้ถูกเวทนาเบียดเบียนบ่นเพ้ออยู่นั้น แม้บอกลาแล้วก็ย่อมไม่เป็นอันบอกลา, สิกขาแม้อันภิกษุผู้ปกติบอกลาแล้วในสำนักของภิกษุผู้ถูกเวทนาครอบงำแล้ว ภิกษุผู้ถูกเวทนาครอบงำไม่เข้าใจ ก็ไม่เป็นอันบอกคืน
- สิกขาที่ภิกษุบอกลาแล้วในสำนักของเทวดา เริ่มต้นแต่ภุมเทวดาไปจนถึงอกนิฏฐเทวดา ย่อมไม่เป็นอันบอกลา เพราะเทวดามีปัญญารู้เข้าใจเร็วเกินไป และจิตเป็นธรรมที่เกิดดับรวดเร็ว กลับกลอก ภิกษุอาจเปลี่ยนใจ แต่จะไม่ทันกาล เพราะเทวดารู้เร็วเกินไป
- สิกขาที่บอกลาแล้วในสำนักของนาคมาณพก็ดี สุบรรณมาณพก็ดี หรือในสำนักของเทวดา เหล่ากินนร ช้างและลิงเป็นต้น พวกใดพวกหนึ่งก็ดี ย่อมไม่เป็นอันบอกลาเลย
- โวหารของชาวอริยะ ชื่อ อริยกะ ได้แก่ ภาษาของชาวมคธ, โวหารที่ไม่ใช่ของชาวอริยะอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อ มิลักขะ ได้แก่ โวหารของชาวอันธทมิฬ (คนดำ) เป็นต้น
- ถ้าชาวมิลักขะนั้นไม่เข้าใจว่า ภิกษุนั้นพูดเนื้อความชื่อนี้ เพราะความที่ตนไม่รู้ในภาษาอื่น หรือเพราะความที่ตนไม่ฉลาดในสิกขาแห่งพุทธศาสนา ย่อมไม่เป็นอันบอกลา
- ภิกษุผู้มีความประสงค์จะพูดอย่างหนึ่งโดยเร็ว แต่พูดไปโดยเร็วว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระพุทธเจ้า ดังนี้ (ชื่อว่า ภิกษุบอกคืนสิกขา โดยกล่าวเล่นหรือกล่าวเร็ว)
- ภิกษุผู้พูดพลาด ตั้งใจว่าเราจักพูดอย่างหนึ่ง พลาดไปพูดอย่างหนึ่ง ก็เพราะความที่ตนเป็นคนทึบ เป็นคนหลงงมงาย
- ภิกษุบอก สอบถาม เล่าเรียน ทำการสาธยาย พรรณนาบาลีแห่งสิกขาบทนนี้ ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้ไม่ประสงค์จะประกาศ แต่ประกาศให้ได้ยิน
- ประกาศแก่ผู้ไม่เข้าใจ ได้แก่ ประกาศแก่คนชราผู้เป็นเช่นกับด้วยรูปปั้น หรือมีปัญญา


๒๖. ภิกษุมีความประสงค์จะกล่าวว่า พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ แต่กล่าวว่า ปจฺจกฺขามิ พุทฺธํ หรือกล่าวเนื้อความนั้นด้วยภาษาของชนชาวมิลักขะภาษาใดภาษาหนึ่ง หรือมีความประสงค์จะกล่าวว่า พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ  แต่กล่าวว่า ธมฺมํ ปจฺจกฺขามิ หรือว่า สพฺรหฺมจารึ  ปจฺจกฺขามิ ข้อนี้เปรียบเหมือนในวิภังค์แห่งอุตริมนุสธรรม (ปาราชิกข้อที่ ๔) คือ ภิกษุมีความประสงค์จะกล่าวอวดว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌาน” แต่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเข้าทุติยฌาน” (เป็นถุลลัจจัย หากเขาไม่เข้าใจ, หากเขาเข้าใจ เป็นปาราชิก) ดังนี้ แม้ฉันใดถ้าภิกษุผู้กระสันนั้นจะบอกแก่ผู้ใด ผู้นั้นรู้คำพูดว่า ภิกษุนี้มีความประสงค์จะละความเป็นภิกษุจึงกล่าวแบบนี้ ชื่อว่าการกล่าวพลาดย่อมไม่มี คำกล่าวนั้นหยั่งลงสู่เขตทีเดียว สิกขาเป็นอันบอกลาแล้วฉันนั้น ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้เคลื่อนจากศาสนาทีเดียว

- ถ้าภิกษุกล่าวด้วยคำกำหนดอดีตกาลและอนาคตกาลว่า พุทฺธํ ปจฺจกฺขึ หรือ พุทฺธํ ปจฺจกฺขิสฺามิ ก็ดี พุทฺธํ ปจฺจกฺเขยฺยํ ก็ดี ส่งทูตไปก็ดี ส่งข่าวสาสน์ไปก็ดี สลักเขียนอักษรไว้ก็ดี บอกใจความนั้นด้วยหัวแม่มือก็ดี สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกลา ส่วนการอวดอุตริมนุสธรรมย่อมถึงที่สุด แม้ด้วยการอวดด้วยหัวแม่มือ

- การบอกลาสิกขา ย่อมถึงที่สุดก็ต่อเมื่อภิกษุผู้ลั่นวาจา ซึ่งสัมปยุตด้วยจิตใจสำนักของสัตว์ผู้มีชาติเป็นมนุษย์เท่านั้น
สิกขาบทที่ภิกษุบอกลาในสำนักของคนใดคนหนึ่ง ผู้เป็นบุรุษก็ตาม มาตุคามก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ซึ่งเป็นผู้รู้เดียงสา หากเข้าใจย่อมเป็นอันบอกลา, หากไม่เข้าใจสิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกลา

ภิกษุลั่นวาจาประกาศให้คนอื่นรู้ ถ้าเจาะจงบอกเฉพาะบุคคลหนึ่งว่า บุคคลนี้เท่านั้นจงรู้ และบุคคลนั้นรู้ความประสงค์ของเธอ สิกขาย่อมเป็นอันบอกลา, ถ้าบุคคลนั้นไม่รู้ แต่คนอื่นที่ยืนอยู่ใกล้รู้ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกลา

ถ้าว่าภิกษุนั้นเจาะจงบอกเฉพาะแก่บุคคลสองคนว่า ข้าพเจ้าบอกแก่คนสองคนนี้ ดังนี้ บรรดาคนทั้งสองนั้นเมื่อคนหนึ่งรู้ก็ตาม รู้ทั้งสองคนก็ตาม สิกขาย่อมเป็นอันบอกลา

- ถ้าภิกษุผู้ถูกความไม่เพลินใจบีบคั้น ระแวงสงสัยภิกษุทั้งหลายผู้คุ้นเคยกัน จึงตะโกนเสียงดังว่า พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ หวังว่าใครๆ จงรู้ ถ้าว่ามีคนทำงานอยู่ในป่า หรือบุรุษคนอื่นผู้รู้ลัทธิศาสนายืนอยู่ในที่ไม่ไกล ได้ยินเสียงของภิกษุนั้น ก็เข้าใจว่า สมณะกระสันรูปนี้ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์ ดังนี้สิกขาย่อมเป็นอันบอกลาแล้ว หากเขาไม่เข้าใจทีแรก คิดนานๆ จึงเข้าใจ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกลา



(http://www.sookjai.com/Themes/default/images/post/xx.gif) ศัพท์ที่ควรทราบจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
๑. ปาราชิก – เป็นชื่ออาบัติหนักที่ภิกษุต้องเข้าแล้ว ขาดจากความเป็นภิกษุ, เป็นชื่อบุคคลผู้ที่พ่ายแพ้ คือต้องอาบัติปาราชิกที่ทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุ
๒. สังวาส – ธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกันของสงฆ์ ได้แก่ การทำสังฆกรรมร่วมกัน สวดปาติโมกข์ร่วมกัน มีสิกขาบทเสมอกัน เรียกง่ายๆ ว่า ทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน คือ เป็นพวกเดียวกัน อยู่ด้วยกันได้ มีฐานะและสิทธิเสมอกัน,  ในภาษาไทยใช้หมายถึงร่วมประเวณีด้วย
๓. อนุบัญญัติ – บัญญัติเพิ่มเติม บทแก้ไขเพิ่มเติมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเสริม หรือผ่อนพระบัญญัติที่วางไว้เดิม
๔. สิกขา – การศึกษา, การสำเหนียก, ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติสำหรับการฝึกอบรม มี ๓ อย่าง คือ ๑. อธิสีลสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องศีล  ๒. อธิจิตสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องจิต เรียกง่ายๆ ว่า สมาธิ  ๓. อธิปัญญาสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องปัญญา รวมเรียกว่า ไตรสิกขา
๕. สาชีพ – แบบแผนแห่งความประพฤติที่ทำให้มีชีวิตร่วมเป็นอันเดียวกัน ได้แก่ สิกขาบททั้งปวงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย อันทำให้ภิกษุทั้งหลายผู้มาจากถิ่นฐานชาติตระกูลต่างๆ กัน มามีความเป็นอยู่เสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
๖. บัณเฑาะก์ – กระเทย, คนไม่ปรากฏว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ได้แก่ กระเทยโดยกำเนิด ๑ ชายผู้ถูกตอน เรียกว่า ขันที ๑ ชายมีราคะกล้าประพฤตินอกจารีตในทางเสพกามและยั่วยวนชายอื่นให้เป็นเช่นนั้น ๑
๗. สจิตตกะ – มีเจตนา, เป็นไปโดยตั้งใจ เป็นชื่อของอาบัติพวกหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสมุฏฐาน มีเจตนา คือ ต้องจงใจทำจึงจะต้องอาบัตินั้น เช่น ภิกษุหลอนภิกษุให้กลัวผี ต้องปาจิตตีย์ ข้อนี้เป็นสจิตตกะ คือตั้งใจหลอกจึงต้องปาจิตตีย์ แต่ถ้าไม่ได้ตั้งใจจะหลอก ไม่เป็นอาบัติ
๘. อจิตตกะ – ไม่มีเจตนา, เป็นชื่อของอาบัติพวกหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสมุฏฐานที่แม้ไม่มีเจตนา คือ ถึงแม้ไม่จงใจทำก็ต้องอาบัติ เช่น ฉันอาหารในเวลาวิกาล หรือดื่มน้ำเมา เป็นต้น
๙. ปัณณัตติวัชชะ – อาบัติที่เป็นโทษทางพระบัญญัติ คือ คนสามัญทำเข้าไม่เป็นความผิด ความเสีย เป็นผิดเฉพาะแก่ภิกษุ โดยฐานละเมิดพระบัญญัติ เช่น ฉันอาหารในเวลาวิกาล ขุดดิน ใช้จีวรที่ไม่ได้พินทุ นั่งนอนบนเตียงตั่งไม่ได้ตรึงเท้าให้แน่น เป็นต้น
๑๐. โลกวัชชะ – อาบัติที่เป็นโทษทางโลก คนสามัญที่มิใช่ภิกษุทำเข้าก็เป็นความผิด ความเสียหาย เช่น โจรกรรม ฆ่ามนุษย์ ทุบตีกัน ด่ากัน เป็นต้น, บางทีว่า เป็นข้อเสียหายที่ชาวโลกเขาติเตียน ถือว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ เช่น ดื่มสุรา เป็นต้น
๑๑. ทุกกฎ – ทำไม่ดี ชื่ออาบัติเบาอย่างหนึ่ง เป็นความผิดรองจากปาฏิเทสนียะ, การเขียนที่ถูกต้อง คือ ทุกกฎ สะกดด้วย ฏ (ต ปฏัก)



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อกฺโกสํ วธพนฺธญฺจ  อทุฏฺโฐ โย ติติกฺขติ
ขนฺติพลํ พลานีกํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ ฯ ๓๙๙ฯ
     ผู้ใดไม่โกรธ ทนต่อการด่า และการลงโทษจองจำ
     มีขันติเป็นกำลังทัพ ผู้นั้นเราเรียกว่า พราหมณ์ ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก


(http://www.sookjaipic.com/images/4484291771__ko1.gif)


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 พฤษภาคม 2557 19:28:10
.

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)
ปาราชิก สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๒)
ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ได้ราคา ๕ มาสก ต้องปาราชิก

พระธนิยะ : ต้นบัญญัติปาราชิก สิกขาบทที่ ๒

พระธนิยะกุมภการบุตร และภิกษุหลายรูป อยู่จำพรรษาที่เชิงภูเขาอิสิคิลิ ทั้งหมดได้ทำกุฎีมุงด้วยหญ้าแล้วอยู่จำพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นรื้อกุฎีที่มุงบังด้วยใบหญ้า เก็บหญ้าและตัวไม้ไว้ แล้วหลีกไปสู่ชนบทอื่น ส่วนท่านพระธนิยะยังอยู่ ณ ที่นั้นเอง ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน

วันหนึ่ง พระธนิยะเข้าไปในบ้านเพื่อบิณฑบาต คนหาบหญ้า คนหาฟืน ได้พากันรื้อกุฎีที่มุงด้วยเศษหญ้า แล้วขนหญ้าและตัวไม้ไป แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม กุฎีที่ท่านมุงก็ถูกรื้อและขนไปทั้งหมด

ท่านธนิยะคิดว่า หากมุงบังด้วยหญ้าและไม้อีก ก็จะถูกรื้อไปอีก เราได้ศึกษามาดีแล้ว เป็นผู้สำเร็จศิลปะในการเป็นช่างหม้อเสมอด้วยอาจารย์ของเรา เราจะขยำโคลนทำกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วนเอง

ท่านธนิยะจึงได้ลงมือทำกุฎีด้วยตนเอง แล้วรวบรวมหญ้า ไม้ และโคมัย มาเผากุฎี กุฎีนั้นงดงาม น่าดูน่าชม มีสีแดงเหมือนแมลงค่อมทอง มีเสียงเหมือนเสียงกระดิ่ง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงจากภูเขาคิชกูฏ พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก ทอดพระเนตรเห็นกุฎีงดงามนั้น ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่าเป็นอะไร...ทรงทราบแล้ว ทรงติเตียนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษนั้นไม่เหมาะสม ไม่ควร มิใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไฉนโมฆบุรุษนั้นจึงได้ขยำโคลนทำกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วนด้วยตนเองเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ความไม่เบียดเบียนหมู่สัตว์ มิได้มีแก่โมฆบุรุษนั้นเลย พวกเธอจงไปทำลายกุฎีนั้น พวกเพื่อนพรหมจารีชั้นหลัง อย่าถึงความเบียดเบียนหมู่สัตว์โดยอาศัยตัวอย่างจากพระธนิยะเลย อันภิกษุไม่ควรทำกุฎีที่สำเร็จด้วยดินล้วน ภิกษุใดทำ ต้องอาบัติทุกกฎ

ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธดำรัส แล้วพากันทำลายกุฎีนั้น พระธนิยะกลับมาถามภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านทำเพื่ออะไร ขอรับ” ภิกษุทั้งหลายตอบว่า : “พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ทำลาย ขอรับ” พระธนิยะ : “ทำลายเถิด ขอรับ ถ้าพระพุทธเจ้ารับสั่งให้ทำลาย”

กาลต่อมา พระธนิยะดำริว่า เจ้าพนักงานรักษาไม้ที่ชอบพอกับเรามีอยู่ เราพึงไปขอไม้มาทำกุฎีไม้ ท่านจึงเข้าไปหาพูดว่า ขอท่านจงให้ไม้แก่อาตมาๆ ประสงค์จะทำกุฎีไม้

เจ้าหน้าที่ตอบว่า ไม้ที่จะถวายพระผู้เป็นเจ้าได้นั้นไม่มี ขอรับ มีแต่ไม้ของหลวงที่สงวนไว้สำหรับซ่อมแซมพระนคร ถ้าพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้พระราชทานไม้เหล่านั้น ขอท่านจงให้คนขนไปเถิด ขอรับ

พระธนิยะ : ขอเจริญพร ไม้เหล่านั้นพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแล้ว

เจ้าพนักงานรักษาไม้คิดว่า พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม แม้พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเลื่อมใสในพระสมณะเหล่านั้นยิ่งนัก ท่านพระธนิยะย่อมไม่บังอาจกล่าวถึงสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินยังไม่ได้พระราชทาน ว่าพระราชทานแล้ว จึงเรียนท่านว่า นิมนต์ให้คนขนไปเถิด ท่านพระธนิยะสั่งให้ตัดไม้เหล่านั้นเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่บรรทุกเกวียนไปทำกุฎีไม้แล้ว

ต่อมา วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ไปตรวจราชการ ได้เข้าไปหาเจ้าพนักงานรักษาไม้ ถามหาไม้ของหลวงที่สงวนไว้ซ่อมพระนครว่าอยู่ที่ไหน เมื่อทราบว่าพระธนิยะขนไปแล้ว จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลถามว่า พระองค์พระราชทานไม้ซ่อมพระนครแก่พระธนิยะไปแล้วจริงหรือ พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าพิมพิสาร : ใครพูดอย่างนั้น?

วัสสการพราหมณ์กราบทูลว่า : เจ้าพนักงานรักษาไม้พูด พระพุทธเจ้าข้า

รับสั่งให้นำตัวคนรักษาไม้มา พระธนิยะได้เห็นเจ้าพนักงานไม้ถูกจองจำไป จึงเข้าไปถามและขอไปด้วย ครั้นถึงที่แล้ว พระเจ้าพิมพิสารเสด็จเข้าไปหาท่านพระธนิยะ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง

ตรัสถามว่า : โยมได้ถวายแก่พระคุณเจ้า จริงหรือ?
พระธนิยะ : จริงอย่างนั้น ขอถวายพระพร
พระเจ้าพิมพิสาร : ข้าแต่พระคุณเจ้า โยมเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีกิจมาก มีกรณียะมาก แม้ถวายแล้วก็ระลึกไม่ได้ ขอพระคุณเจ้าโปรดเตือนให้โยมระลึกได้

พระธนิยะ : ขอถวายพระพร พระองค์ทรงระลึกได้ไหม ครั้งพระองค์เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติใหม่ๆ ได้ทรงเปล่งพระวาจาว่า หญ้า ไม้ และน้ำ ข้าพเจ้าถวายแล้วแก่สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ขอสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายโปรดใช้สอยเถิด

พระเจ้าพิมพิสาร : ข้าแต่พระคุณเจ้า โยมระลึกได้ สมณพราหมณ์ทั้งหลายที่เป็นผู้ละอาย มีความรังเกียจใคร่ต่อสิกขามีอยู่ ความรังเกียจแม้ในเหตุเล็กน้อยจะเกิดแก่สมณะและพราหมณ์เหล่านั้น คำที่กล่าวนั้น โยมหมายถึงการนำหญ้า ไม้ และน้ำ ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น แต่ว่าหญ้า ไม้ และน้ำนั้นแล อยู่ในป่า ไม่มีใครหวงแหน พระคุณเจ้าย่อมสำคัญเพื่อจะนำไม้ที่เขาไม่ได้ให้ไปด้วยเลศนั้น พระเจ้าแผ่นดินเช่นโยมจะพึงฆ่า จองจำ หรือเนรเทศ ซึงสมณะหรือพราหมณ์อย่างไรได้ นิมนต์กลับไปเถิด พระคุณเจ้ารอดตัวเพราะบรรพชาเพศแล้ว แต่อย่าได้ทำอย่างนั้นอีก

คนทั้งหลายพากันเพ่งโทษว่า พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ไม่ละอาย ทุศีล พูดเท็จ พระสมณะเหล่านี้ยังปฏิญาณว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังคนเหล่านั้นเพ่งโทษติเตียน โพนทะนา จึงเพ่งโทษติเตียนพระธนิยะ แล้วกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ตรัสถามพระธนิยะว่า เธอได้ถือเอาไม้ของหลวงที่เขาไม่ได้ให้ไปจริงหรือ?
พระธนิยะทูลรับว่า : จริง พระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียนเป็นอันมาก...แล้วตรัสถามภิกษุผู้เคยเป็นผู้พิพากษาเก่าว่า ดูก่อนภิกษุ พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช จับโจรได้แล้ว ประหารชีวิตเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง เพราะทรัพย์ประมาณเท่าไรหนอ?

ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า เพราะทรัพย์บาทหนึ่งบ้าง เพราะของควรค่าบาทหนึ่งบ้าง เกินบาทหนึ่งบ้าง พระพุทธเจ้าข้า
แท้จริงสมัยนั้น ทรัพย์ ๕ มาสก ในกรุงราชคฤห์ เป็นหนึ่งบาท
แล้วทรงมีพระบัญญัติ (ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ เป็นปาราชิก)

สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ชวนกันไปลักห่อผ้าของช่างย้อมที่ลานตากผ้าของช่างย้อมผ้า แล้วนำมาแบ่งปันกัน ภิกษุทั้งหลายพูดว่า พวกท่านเป็นผู้มีบุญมาก เพราะผ้าเกิดแก่พวกท่านมาก
พระฉัพพัคคีย์ตอบว่า : บุญของพวกผมจักมีแต่ไหน พวกผมเพิ่งไปสู่ลานตากผ้าของช่างย้อมผ้า แล้วได้ลักห่อผ้าของช่างย้อมมาเดี๋ยวนี้
ภิกษุทั้งหลาย : พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้วมิใช่หรือ เหตุไรพวกท่านจึงได้ลักห่อผ้ามา
ฉัพพัคคีย์ : จริงขอรับ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว แต่สิกขาบทนั้น พระองค์ทรงบัญญัติเฉพาะในเขตบ้าน มิได้ทรงบัญญัติไปถึงในป่า
ภิกษุทั้งหลาย : ท่านทั้งหลาย พระบัญญัตินั้นย่อมเป็นไปได้เหมือนกันทั้งนั้นมิใช่หรือ?

แล้วพากันเพ่งโทษติเตียน...กราบทูล...ทรงติเตียนแล้วมีพระอนุบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดถือเอาทรัพย์เจ้าของมิได้ให้ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้ว ประหารเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง ด้วยบริภาษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นขโมย ดังนี้ นัยเพราะถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้เห็นปานใด ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกษุนั้นก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”


อรรถาธิบาย
- ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ มีอธิบายว่า ทรัพย์ใดอันเจ้าของไม่ได้ให้ ไม่ได้ละวาง ยังรักษาปกครองอยู่ ยังถือกรรมสิทธิ์อยู่ว่าเป็นของเรา ยังหวงแหน ทรัพย์นั้นชื่อว่า ทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้
- บทว่า ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย ได้แก่ มีจิตคิดขโมย คือ มีจิตคิดลัก
- บทว่า ถือเอา คือ ยึดเอา เอาไป เอาลง ยังอิริยาบถให้กำเริบ ให้เคลื่อนจากฐาน ให้ล่วงเลยเขตหมาย
- ที่ชื่อว่า บ้าน มีอธิบายว่า บ้านมีกระท่อมหลังเดียวก็ดี ๒ หลัง ๓ หลัง ๔ หลังก็ดี มีคนอยู่ก็ดี ไม่มีคนอยู่ก็ดี แม้ที่เขาล้อมไว้ก็ดี ที่เขาไม่ล้อมไว้ก็ดี แม้ที่เขาสร้างดุจเป็นที่โคจ่อมเป็นต้นก็ดี แม้หมู่เกวียนหรือต่างที่อาศัยอยู่เกิน ๑ เดือนก็ดี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บ้าน
- ที่ชื่อว่า อุปจารบ้าน ได้แก่ กำหนดเอาที่ซึ่งบุรุษขนาดกลางคนยืนอยู่ ณ เสาเขื่อนแห่งบ้านที่ล้อม โยนก้อนดินไปตก หรือกำหนดเอาที่ซึ่งบุรุษขนาดกลางคนยืนอยู่ ณ อุปจารเรือนแห่งบ้านที่ไม่ได้ล้อม โดยก้อนดินไปตก
- ที่ชื่อว่า ป่า อธิบายว่า สถานที่ที่เว้นบ้านและอุปจารบ้าน นอกนั้นชื่อว่า ป่า
- ที่ชื่อว่า พระราชาทั้งหลาย ได้แก่ พระเจ้าแผ่นดิน เจ้าผู้ปกครองประเทศ ท่านผู้ปกครองมณฑล นายอำเภอ ผู้พิพากษา มหาอำมาตย์ หรือท่านผู้สั่งประหารและจองจำได้ ท่านเหล่านี้ชื่อว่าพระราชาทั้งหลาย
- ที่ชื่อว่า โจร อธิบายว่า ผู้ใดถือเอาสิ่งของอันเขาไม่ได้ให้ ได้ราคา ๕ มาสกก็ดี เกินกว่า ๕ มาสกก็ดี ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย ผู้นั้นชื่อว่าโจร
- บทว่า ประหารเสียบ้าง คือ ประหารด้วยมือหรือด้วยเท้า ด้วยแส้หรือด้วยหวาย ด้วยไม้ ค้อนสั้นหรือด้วยดาบ
- บทว่า จองจำไว้บ้าง คือ ผูกล่ามไว้ด้วยเครื่องมัดคือเชือก ด้วยเครื่องจองจำคือขื่อคา โซ่ตรวน หรือด้วยเขตจำกัด คือ เรือน จังหวัด หมู่บ้าน ตำบลบ้าน หรือให้บุรุษควบคุม
- บทว่า เนรเทศเสียบ้าง คือ ขับไล่ให้ไปเสียจากหมู่บ้าน ตำบลบ้าน จังหวัด มณฑล หรือประเทศ
- บทว่า ถือเอา คือ ตู่ วิ่งราว ฉ้อ ยังอิริยาบถให้กำเริบ ให้เคลื่อนจากฐาน ให้ล่วงเลยเขตหมาย
- ที่ชื่อว่า เห็นปานนั้น คือ หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี
- คำว่า แม้ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทียบเคียงภิกษุรูปก่อน (คือ พระสุทินน์ ในสิกขาบทที่ ๑)
- คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดขึ้นได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เมื่อถือเอาทรัพย์อันเขาไม่ได้ให้ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่าเป็นปาราชิก
- บทว่า หาสังวาสไม่ได้ ความว่า ที่ชื่อว่า สังวาส ได้แก่ กรรมที่พึงทำร่วมกัน อุเทศที่พึงสวดร่วมกัน ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน นั่นชื่อว่าสังวาส, สังวาสนี้ไม่มีร่วมกับภิกษุนั้น เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่าหาสังวาสไม่ได้ (คือ สงฆ์ไม่ให้ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ให้เรียนร่วมกัน ไม่ให้กินและไม่ให้นอนรวมกัน เป็นต้น)
- ที่ตั้งของทรัพย์นั้นมีอยู่มากประการ เช่น ทรัพย์อยู่ในแผ่นดิน; ทรัพย์ตั้งอยู่บนพื้น, ทรัพย์ลอยอยู่ในอากาศ (เช่นนก), ทรัพย์ตั้งอยู่ในน้ำ (เช่นดอกบัว), ทรัพย์อยู่ในเรือ, อยู่ในยาน, ทรัพย์ที่เขาฝากไว้ หรือทรัพย์ที่ด่านภาษี ได้แก่ สถานที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งไว้ที่ภูเขาขาดบ้าง ที่ท่าน้ำบ้าง ที่ประตูบ้านบ้าง ด้วยทรงกำหนดว่า จงเก็บภาษีแก่บุคคลผู้ผ่านเข้าไปในสถานที่นั้น

ภิกษุผ่านเข้าไปในด่านภาษีนั้น แล้วมีไถยจิตจับต้องทรัพย์ที่ควรเสียภาษี ซึ่งมีราคา ๕ มาสกก็ดี เกินกว่า ๕ มาสกก็ดี ต้องอาบัติทุกกฎ ทำให้ไหวต้องอาบัติถุลลัจจัย ย่างเท้าที่ ๑ ล่วงด่านภาษีไปต้องอาบัติถุลลัจจัย ย่างเท้าที่ ๒ ล่วงด่านภาษีไปต้องอาบัติปาราชิก หรือที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่ตนนำไป ได้แก่ ภาระบนศีรษะ ภาระที่คอ ภาระที่หิ้วไป ภิกษุมีไถยจิตจับต้องภาระบนศีรษะต้องอาบัติทุกกฎ ทำให้ไหวต้องอาบัติถุลลัจจัย ลดลงสู่คอต้องอาบัติปาราชิก


ภาระที่สะเอว ภาระที่หิ้วไป ภาระที่คอ ก็มีอธิบายเช่นเดียวกับภาระบนศีรษะ เป็นต้น


อาบัติ (สาหัตถิกะ – ลักด้วยมือตนเอง)
๑. ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าไม่ได้ให้ด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ ทรัพย์อันผู้อื่นหวงแหน ๑ รู้ว่าทรัพย์นั้นผู้อื่นหวงแหน ๑ ทรัพย์มีค่ามากได้ราคา ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก ๑ ไถยจิตปรากฏขึ้น (มีจิตคิดลัก) ๑ ลูบคลำต้องอาบัติทุกกฎ, ทำให้ไหวต้องอาบัติถุลลัจจัย, ให้เคลื่อนจากฐาน ต้องอาบัติปาราชิก ๑

๒. ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการ ๖ อย่าง คือ รู้ว่ามิใช่ของตน ๑ มิได้ถือเอาด้วยวิสาสะ ๑ มิได้ขอยืม ๑ ทรัพย์มีค่ามากได้ราคา ๕ มาสก หรือเกิน ๕ มาสก ๑ ไถยจิตปรากฏขึ้น ๑ ภิกษุลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องถุลลัจจัย ให้เคลื่อนจากฐานต้องปาราชิก ๑
 
๓. ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ ทรัพย์นั้นผู้อื่นหวงแหน ๑ รู้ว่าทรัพย์นั้นผู้อื่นหวงแหน ๑ ทรัพย์มีค่าน้อยได้ราคาเกินกว่า ๑ มาสก แต่หย่อนกว่า ๕ มาสก (๒-๔ มาสก) ๑ ไถยจิตเกิดขึ้น ๑ ภิกษุลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องทุกกฎ ให้เคลื่อนจากฐานต้องถุลลัจจัย ๑
      
๔. ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการ ๖ อย่าง คือ รู้ว่าของนั้นมิใช่ของตน ๑ มิได้ถือเอาด้วยวิสาสะ ๑ มิได้ขอยืม ๑ ทรัพย์มีค่าน้อยได้ราคาเกินกว่า ๑ มาสก แต่หย่อนกว่า ๕ มาสก ๑ ไถยจิตเกิดขึ้น ๑ ภิกษุลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องทุกกฎ ให้เคลื่อนจากฐานต้องถุลลัจจัย ๑
      
๕. ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ ทรัพย์นั้นผู้อื่นหวงแหน ๑ รู้ว่าทรัพย์นั้นผู้อื่นหวงแหน ๑ ทรัพย์มีค่าน้อยได้ราคา ๑ มาสก หรือหย่อนกว่า ๑ มาสก ๑ ไถยจิตเกิดขึ้น ๑ ภิกษุลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องทุกกฎ ให้เคลื่อนจากฐานต้องทุกกฎ ๑
      
๖. ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการ ๖ อย่าง คือ รู้ว่ามิใช่ของตน ๑ มิได้ถือเอาด้วยวิสาสะ ๑ มิได้ขอยืม ๑ ทรัพย์มีค่าน้อยได้ราคา ๑ มาสก หรือหย่อนกว่า ๑ มาสก ๑ ไถยจิตเกิดขึ้น ๑ ภิกษุลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องทุกกฎ ให้เคลื่อนจากฐานต้องทุกกฎ ๑
      
๗. ทรัพย์นั้นผู้อื่นมิได้หวงแหน ๑ มีความสำคัญว่าผู้อื่นหวงแหน ๑ ทรัพย์มีค่าได้ ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก ๑ ไถยจิตเกิดขึ้น ๑ ลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องทุกกฎ เคลื่อนจากฐานต้องทุกกฎ ๑
      
๘. ทรัพย์นั้นผู้อื่นมิได้หวงแหน ๑ มีความสำคัญว่าผู้อื่นหวงแหน ๑ ทรัพย์มีค่าเกิน ๑ มาสก แต่หย่อนกว่า ๕ มาสก ๑ ไถยจิตเกิดขึ้น ๑ ลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องทุกกฎ เคลื่อนจากฐานต้องทุกกฎ ๑
      
๙. ทรัพย์นั้นผู้อื่นมิได้หวงแหน ๑ มีความสำคัญว่าผู้อื่นหวงแหน ๑ ทรัพย์มีค่าได้ ๑ มาสก หรือหย่อนกว่า ๑ มาสก ๑ ไถยจิตเกิดขึ้น ๑ ลูบคลำต้องทุกกฎ ทำให้ไหวต้องทุกกฎ เคลื่อนจากฐานต้องทุกกฎ ๑


อาณัตติกประโยค (การสั่งให้คนอื่นทำ, การให้คนอื่นทำ)
๑๐. ภิกษุสั่งว่า ท่านจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ ผู้รับคำสั่งเข้าใจ ลักทรัพย์นั้นมา ต้องอาบัติปาราชิก
      
๑๑. ภิกษุสั่งว่า ท่านจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ต้องทุกกฎ ผู้รับคำสั่งเข้าใจ แต่ลักทรัพย์อย่างอื่นมา ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ (หากผู้รับสั่งเป็นภิกษุ ภิกษุผู้ลักนั้นเป็นปาราชิก)
      
๑๒. ภิกษุสั่งว่า ท่านจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ ผู้รับคำสั่งเข้าใจเป็นอย่างอื่น แต่ก็ลักทรัพย์นั้นมา ภิกษุผู้สั่งต้องอาบัติปาราชิก
      
๑๓. ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงบอกแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า ภิกษุชื่อนี้จงไปบอกแก่ภิกษุผู้มีชื่ออย่างนี้ว่า ภิกษุผู้มีชื่ออย่างนี้ จงไปลักทรัพย์ชื่อนี้มา ดังนี้ต้องบอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้รับคำสั่งบอกแก่ภิกษุนอกนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้ลักรับคำ ภิกษุผู้สั่งเดิมต้องอาบัติถุลลัจจัย, ภิกษุผู้ลัก ลักทรัพย์นั้นมาได้ต้องอาบัติปาราชิก
      
๑๔. ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงบอกแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า ภิกษุชื่อนี้จงไปบอกแก่ภิกษุผู้มีชื่ออย่างนี้ว่า ภิกษุผู้มีชื่ออย่างนี้จงไปลักทรัพย์ชื่อสิ่งนี้มา ดังนี้ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้รับสั่งๆ ภิกษุอื่น ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้ลักรับคำ ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้ลักๆ ทรัพย์นั้นมาได้ ภิกษุผู้สั่งเดิมไม่ต้องอาบัติ, ภิกษุผู้สั่งต่อและภิกษุผู้ลัก ต้องอาบัติปาราชิก
      
๑๕. ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้รับคำสั่งนั้นไปแล้ว กลับมาบอกว่า ผมไม่อาจลักทรัพย์นั้นได้ ภิกษุผู้สั่งนั้นสั่งใหม่ว่า ท่านสามารถเมื่อใดจงลักทรัพย์นั้นเมื่อนั้น ดังนี้ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้ลักๆ ทรัพย์นั้นมาได้ ต้องปาราชิกทั้ง ๒ รูป
      
๑๖ ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้สั่งนั้นสั่งแล้วเกิดความร้อนใจ แต่ไม่พูดให้ได้ยินว่า อย่าลักเลย ภิกษุผู้ลักๆ ทรัพย์นั้นมาได้ ต้องปาราชิกทั้ง ๒ รูป
      
๑๗. ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้สั่งนั้นสั่งแล้วเกิดความร้อนใจ จึงพูดให้ได้ยินว่า อย่าลักเลย ภิกษุผู้ลักนั้นตอบว่า ท่านสั่งผมแล้ว แล้วลักทรัพย์นั้นมาได้ ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ลักต้องอาบัติปาราชิก
      
๑๘. ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงลักทรัพย์ชื่อนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้สั่งนั้นสั่งแล้วเกิดความร้อนใจ จึงพูดให้ได้ยินว่า อย่าลักเลย ภิกษุผู้รับคำสั่งรับคำว่า ดีล่ะ แล้วงดเสีย ไม่ต้องอาบัติทั้ง ๒ รูป


อนาบัติ
ภิกษุมีความสำคัญว่าเป็นของของตน ๑ ถือเอาด้วยวิสาสะ ๑ ขอยืม ๑ ทรัพย์อันเปรตหวงแหน ๑ ดิรัจฉานหวงแหน ๑ ภิกษุมีความสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

ตัวอย่าง    
๑. ภิกษุรูปหนึ่ง ไปสู่ลานตากผ้าของช่างย้อม เห็นผ้าย้อมมีราคามาก เกิดไถยจิต เธอรังเกียจว่า เราต้องปาราชิกแล้ว จึงกราบทูลถาม... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติเพราะเพียงแค่คิด
    
๒.  ภิกษุรูปหนึ่งไปสู่ลานตากผ้าของช่างย้อม เห็นผ้ามีราคามาก มีไถยจิตจับต้องผ้านั้น เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องปาราชิกแล้ว จึงกราบทูลถาม... ตรัสว่า เธอไม่ต้องปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
    
 ๓. ภิกษุรูปหนึ่ง เห็นทรัพย์ในเวลากลางวันแล้วทำนิมิตไว้ หมายใจว่า จักลักในเวลากลางคืน เธอเข้าใจทรัพย์นั้นแน่ แต่ได้ลักทรัพย์ของตนเองมาแล้ว เธอรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
    
๔. ภิกษุรูปหนึ่งถือทรัพย์ของผู้อื่นไป มีไถยจิตวางทรัพย์นั้นลงบนพื้นแล้ว ได้มีความรังเกียจแล้วจึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
    
๕. ภิกษุรูปหนึ่งไปป่าช้าแล้วถือเอาผ้าบังสุกุลที่ศพสด และในร่างศพสดนั้นมีเปรตสิงอยู่ เปรตนั้นได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าได้ถือเอาผ้าสาฎกของข้าพเจ้าไป ภิกษุนั้นไม่เอื้อเฟื้อ ได้ถือเอาไป ทันใดนั้นศพลุกขึ้นเดินตามภิกษุไป ภิกษุนั้นเข้าไปสู่วิหาร ปิดประตู ร่างศพได้ล้มลง ณ ที่นั่น เธอรังเกียจว่า เราต้องปาราชิกแล้ว จึงทูลถาม... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันผ้าบังสุกุลที่ศพสด ภิกษุทั้งหลายไม่พึงถือเอา ภิกษุใดถือเอาต้องอาบัติทุกกฎ
    
๖. เมื่อภิกษุผู้ทำหน้าที่แจกจีวรของสงฆ์อยู่ ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตสับเปลี่ยนสลาก แล้วรับจีวรไป เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องปาราชิกแล้ว จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
    
๗. ท่านพระอานนท์เข้าใจว่า ของๆ ภิกษุรูปหนึ่งในเรือนไฟเป็นของตน จึงนุ่งแล้ว ภิกษุรูปนั้นตามหาจีวร พระอานนท์ตอบว่า ผมเข้าใจว่าของผม ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ตรัสว่า ภิกษุผู้มีความเข้าใจว่าเป็นของตน ไม่ต้องอาบัติ
    
๘. ภิกษุสองรูปเป็นเพื่อนกัน รูปหนึ่งเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน รูปที่สองได้รับเอาของเคี้ยวที่สงฆ์มองแก่เพื่อนแล้วถือวิสาสะฉันเสีย ครั้นภิกษุรูปที่หนึ่งทราบ ได้โจทว่า ท่านไม่เป็นสมณะ รูปที่สองคิดว่าเราต้องปาราชิกแล้ว จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร, ภิกษุรูปที่สอง : ข้าพระพุทธเจ้าถือวิสาสะพระพุทธเจ้าข้า, ตรัสว่า ไม่เป็นอาบัติเพราะถือวิสาสะ
    
๙. พวกขโมยลักมะม่วง ทิ้งห่อมะม่วงที่พวกเจ้าของติดตาม ภิกษุทั้งหลายสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล จึงพากันเก็บมะม่วงห่อนั้นไปฉัน พวกเจ้าของโจทว่า พวกท่านไม่เป็นสมณะ พวกเธอรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า พวกเธอคิดอย่างไร? ภิกษุทั้งหลาย : พวกข้าพระพุทธเจ้าคิดว่าเป็นของบังสุกุล, ตรัสว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้มีความสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล
    
๑๐. ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตลักมะม่วงของสงฆ์ แล้วได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
    
๑๑. ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตลักมะพลับของสงฆ์ แล้วได้มีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
    
๑๒. ภิกษุรูปหนึ่งมีความสงสาร ได้ปล่อยหมูที่ติดบ่วง แล้วมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้ว จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร? ภิกษุ : ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะช่วยเหลือพระพุทธเจ้าข้า, ตรัสว่า ภิกษุผู้มีความประสงค์จะช่วยเหลือไม่ต้องอาบัติ
    
๑๓. ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตได้ปล่อยหมูที่ติดบ่วงไปเสียก่อน ด้วยคิดว่า “พวกเจ้าของบ่วงจะเห็น” แล้วมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร? ภิกษุ : ข้าพระพุทธเจ้ามีไถยจิต พระพุทธเจ้าข้า, ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
    
๑๔. ภิกษุรูปหนึ่งไปสู่ดงหญ้า มีไถยจิตลักเกี่ยวหญ้า ได้ราคา ๕ มาสก เธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
    
๑๕. ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตเผาหญ้ามุงกระต่ายของสงฆ์ เธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร? กราบทูลว่า คิดลัก พระพุทธเจ้าข้า, ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ


อธิบายเพิ่มเติมจาก สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๒/๗๗-๒๕๓
๑. เมืองชื่อว่า ราชคฤห์ ก็เพราะเป็นเมืองที่พระราชาทั้งหลาย มีพระเจ้ามันธาตุและพระเจ้ามหาโควินทะ เป็นต้น ทรงปกครอง เมืองนี้เป็นเมืองในครั้งพุทธกาล (กาลที่มีพระพุทธเจ้า) และจักรพรรดิกาลที่มีพระเจ้าจักรพรรดิ กาลที่ไม่มีพระพุทธเจ้าหรือพระเจ้าจักรพรรดิ กาลนั้นเมืองนี้จะเป็นเมืองร้าง เป็นที่อยู่ของพวกยักษ์
    
๒. ตามพระวินัย ภิกษุ ๓ รูปเรียกว่า ภิกษุเป็นอันมาก, เกินกว่า ๓ รูปเรียกว่า สงฆ์, หากตามพระสูตร ภิกษุ ๓ รูป เรียกว่าภิกษุ ๓ รูป ตั้งแต่ ๓ รูปขึ้นไปจึงเรียกว่า ภิกษุเป็นอันมาก ภิกษุเป็นอันมากในสิกขาบทนี้ พึงทราบว่ามากตามนัยพระสูตร (คือ มากกว่า ๓ รูป)
    
๓. ภูเขาชื่ออิสิคิลิ ก็เพราะว่า ครั้งดึกดำบรรพ์ มีพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ เที่ยวไปบิณฑบาต ในชนบททั้งหลาย มีกาสีและโกสลเป็นต้น เวลาหลังภัตท่านประชุมกันที่ภูเขานั้น ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยการเข้าสมาบัติ มนุษย์ทั้งหลายเห็นพวกท่านเข้าไป แต่ไม่เห็นออกมา จึงพูดกันว่า ภูเขานี้กลืนพระฤษี เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า ภูเขากลืนฤษี (อิสิคิลิ)
    
๔. เมื่อมีพระพุทธดำรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่มีเสนาสนะไม่พึงอยู่จำพรรษา ภิกษุใดอยู่จำ ภิกษุนั้นต้องทุกกฎ” เหตุนั้นในฤดูฝน ถ้าได้เสนาสนะก็เป็นดี ถ้าไม่ได้ภิกษุควรทำเอาเอง ผู้ไม่มีเสนาสนะไม่ควรเข้าจำพรรษาเลย ข้อนี้เป็นธรรมอันสมควร เพราะเหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้นและพระธนิยะ จึงทำกุฎีหญ้าเพื่อพักกลางคืนและกลางวัน อยู่จำพรรษา
    
๕. ที่ชื่อว่า พระธนิยะกุมภการบุตร ก็เพราะเป็นบุตรช่างหม้อ ชื่อของท่านคือ ธนิยะ มีบิดาเป็นช่างปั้นหม้อ
    
๖. ภิกษุผู้ทำกุฎีออกพรรษาแล้ว หากกุฎีนั้นอยู่ที่สุดแดนวิหาร ถ้ามีภิกษุเจ้าถิ่นอยู่ก็ควรบอกลาเจ้าถิ่นเหล่านั้น พึงกล่าวว่า ถ้าภิกษุรูปใดสามารถจะดูแลกุฎีนี้ได้ เราขอมอบให้ ดังนี้ แล้วหลีกไป หากกุฎีอยู่ในป่า ไม่ได้รับการดูแลรักษา ภิกษุเจ้าของกุฎีควรเก็บงำเสีย โดยรวบรวมหญ้าและไม้เก็บไว้โดยที่ปลวกเป็นต้น จะกัดไม่ได้ ทั้งฝนก็รั่วรดไม่ได้ เก็บกวาดให้เรียบร้อย คิดว่าหญ้าและไม้นั้นจักเป็นอุปการะแก่เพื่อพรหมจรรย์ผู้มาถึงสถานที่นี้ แล้วประสงค์จะอยู่
    
๗. ท่านพระธนิยะทำเครื่องเรือนให้สำเร็จด้วยดินล้วน (ยกเว้นเพียงกรอบหน้าต่าง ประตู และบานหน้าต่าง) ใช้มือขัดถูดินทำให้แห้ง แล้วเอาดินแดงผสมด้วยน้ำมันโบกทาให้เกลี้ยงเกลา แล้วเอาหญ้าสุมล้อม จุดไฟเผา เพื่อให้ดินสุกเปล่งปลั่งด้วยดี มีสีแดงสวยงาม มีเสียงไพเราะ เพราะลมพัดเข้าไปกระทบผ่านทางช่องประตูหน้าต่าง เมื่อพระพุทธเจ้ารับสั่งให้ทำลาย พระธนิยะยอมรับด้วยดี เพราะท่านเป็นผู้ว่าง่าย
    
๘. วัสสการพราหมณ์ แม้โดยปกติก็เป็นผู้ไม่ชอบใจในเจ้าพนักงานผู้รักษาไม้อยู่แล้ว พอได้ฟังพระราชดำรัสว่า “จงให้คนเอาตัวมา” มิใช่ “จึงให้เรียกมันมา” จึงทำการจองจำเจ้าพนักงานผู้รักษาไม้ที่มือและเท้าทั้งสอง คิดว่าจักให้ลงโทษ
          
ท่านพระธนิยะคอยติดตามข่าวของเจ้าพนักงานอยู่เป็นนิตย์ คิดว่า เจ้าพนักงานนี้จักถูกฆ่าหรือจองจำ เพราะเหตุแห่งไม้ที่เราทำเลศได้มาแน่นอน เมื่อทราบว่าถูกจับ จึงคิดขึ้นได้ว่าเราคนเดียวเท่านั้นจักปลดเปลื้องเจ้าพนักงานนั้นได้
          
- ได้ยินว่าพระราชาทั้งหลายพอเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ก็รับสั่งให้เที่ยวตีกลองธรรมเภรีประกาศว่า หญ้า ไม้ และน้ำ ข้าพเจ้าถวายแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายแล้วแล ขอสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายโปรดใช้สอยเถิด
          
- พระราชาพิมพิสารตรัสมีใจความว่า โยมได้กล่าวคำอย่างนั้น หมายถึง การนำหญ้า ไม้ และน้ำ ไปของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ผู้มีความรังเกียจแม้ในเหตุเล็กน้อย ซึ่งเป็นผู้สงบและลอยบาปแล้ว หาได้หมายถึงการนำไปของบุคคลเช่นพระคุณเจ้าไม่ ที่โยมกล่าวอันนั้น โยมกล่าวหมายเอาหญ้า ไม้ และน้ำ อันใครๆ มิได้หวงแหน ซึ่งมีอยู่ในป่าต่างหาก
    
๙. เมื่อพระราชารับสั่งอยู่ในบริษัท มนุษย์ทั้งหลายก็อยู่ ณ ที่นั้น ครั้นได้ฟังพระราชดำรัส ทั้งต่อพระพักตร์และหลังพระพักตร์แล้ว ย่อมเพ่งโทษ คือ ดูหมิ่น เพ่งจ้องพระธนิยะ แล้วคิดไปในทางลามก ย่อมพูดประจานโทษให้กว้างขวางออกไป
    
มนุษย์ทั้งหลายเมื่อคิดถึงเรื่องราวเป็นต้นว่า พระสมณศากยบุตรเหล่านี้เป็นผู้ไม่มีความละอาย ดังนี้ชื่อว่า ย่อมเพ่งโทษ, เมื่อกล่าวคำเป็นต้นว่า พระสมณศากยบุตรเหล่านี้ ไม่มีคุณเครื่องเป็นสมณะ ดังนี้ชื่อว่า ย่อมติเตียน, เมื่อกระจายข่าวกว้างขวางออกไปในสถานที่นั้นๆ เป็นต้นว่า พระสมณะศากยบุตรเหล่านี้ ปราศจากความเป็นสมณะแล้ว ดังนี้ ชื่อว่า ย่อมโพนทะนาข่าว
    
๑๐. พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบแม้ซึ่งพระบัญญัติของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย แม้ในปางก่อน ย่อมทรงบัญญัติปาราชิกด้วยทรัพย์เหล่านี้ ถุลลัจจัยด้วยทรัพย์เหล่านี้ ทุกกฎด้วยทรัพย์เหล่านี้ แม้จะทรงรู้เช่นนั้น ถ้าพระองค์ไม่ทรงเทียบเคียงกับคนที่รู้บัญญัติแห่งโลกเหล่าอื่นแล้ว พึงบัญญัติปาราชิกด้วยทรัพย์เพียงบาทหนึ่ง ก็จะพึงมีผู้กล่าวตำหนิพระองค์เพราะเหตุนั้นว่า “ชื่อว่า ศีลสังวร แม้ของภิกษุรูปหนึ่ง (พระพุทธเจ้า) ก็ประมาณไม่ได้ นับไม่ได้ กว้างขวางดุจมหาปฐพี สมุทร และอากาศ พระองค์มาทำศีลสังวรของภิกษุให้พินาศด้วยทรัพย์เพียงบาทหนึ่ง”
    
แต่นั้น ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่รู้กำลังพระญาณของพระตถาคต จะพึงทำสิกขาบทให้กำเริบ สิกขาบทแม้ที่ทรงบัญญัติไว้แล้วก็จะไม่ตั้งอยู่ในที่อันควร แต่เมื่อทรงเทียบเคียงกับคนที่รู้บัญญัติของโลกแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบท การตำหนิติเตียนย่อมไม่มี ย่อมมีแต่ผู้กล่าวอย่างนี้โดยแท้ว่า “แม้คนครองเรือนเหล่านี้ ก็ยังฆ่าโจรเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง เพราะแม้ทรัพย์เพียงบาทหนึ่ง เหตุไฉนเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ทรงยังบรรพชิตให้ฉิบหายเสีย เพราะบรรพชิตไม่ควรลักทรัพย์ของผู้อื่น แม้เพียงหญ้าเส้นหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายก็จักรู้กำลังพระญาณของพระตถาคต และสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว ก็จักไม่กำเริบ จักตั้งอยู่ในที่อันควร” เพราะฉะนั้น ทรงมีพระประสงค์จะเทียบเคียงกับคนผู้รู้บัญญัติของโลกแล้ว จึงทรงบัญญัติ
    
- ครั้งนั้นในกรุงราชคฤห์ ๒๐ มาสก เป็น หนึ่งกหาปณะ เพราะฉะนั้น ห้ามาสกจึงเป็นหนึ่งบาท ด้วยลักษณะนั้น ส่วนที่สี่ของของกหาปณะพึงทราบว่าเป็นบาทหนึ่ง



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 พฤษภาคม 2557 19:30:20
.
๑๑. พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็จักทรงบัญญัติปาราชิกข้อที่ ๒ ด้วยคาถาบาทเดียว ปาราชิกมี ๔ ข้อเหมือนกัน แต่ละข้อก็มีเนื้อความเหมือนกัน

๑๒. “สิ่งที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์อยู่” ในทันตโปณสิกขาบท (ดูปาจิตตีย์) แสดงว่า แม้สิ่งของของตนที่ยังไม่รับประเคน ซึ่งเป็นกัปปิยะ แต่เป็นของที่ไม่ควรกลืนกิน เรียกว่าของที่เขายังไม่ได้ให้ (เพราะยังไม่ได้ประเคน) แต่ในสิกขาบทนี้ สิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผู้อื่นหวงแหน ซึ่งมีเจ้าของ เรียกว่า สิ่งของนั้นเจ้าของไม่ได้ให้
    
สิ่งของนั้นเจ้าของยังไม่ได้ให้ด้วยกายหรือวาจา เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า สิ่งของอันเจ้าของไม่ได้ให้ ชื่อว่า เขายังไม่ได้ละวาง เจ้าของที่ยังไม่ได้สละพ้นจากมือของตน หรือจากที่ๆ ตั้งอยู่เดิม เจ้าของยังไม่หมดความเสียดาย เจ้าของยังรักษาคุ้มครอง อันเขายังถือว่าเป็นของเรา โดยถือว่าของเราด้วยอำนาจตัณหาว่าทรัพย์นั้นของเรา เหล่านั้นชื่อว่าทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้

๑๓. “กิริยาแห่งการลัก” (เพิ่มเติม)
     - ภิกษุตู่เอาที่สวน ต้องทุกกฎ เมื่อยังละความสงสัยให้เกิดขึ้นแก่เจ้าของ ต้องถุลลัจจัย, เมื่อเจ้าของทอดธุระว่าสวนนี้จักไม่เป็นของเราละ ต้องอาบัติปาราชิก
     - ภิกษุรับของที่เขาฝากไว้ เมื่อเจ้าของทวงคืนว่า ทรัพย์ที่ข้าพเจ้าฝากไว้มีอยู่ ท่านจงคืนทรัพย์ให้แก่ข้าพเจ้า ภิกษุกล่าวปฏิเสธว่าฉันไม่ได้รับไว้
        ต้องทุกกฎ, ยังความสงสัยให้เกิดขึ้นแก่เจ้าของต้องถุลลัจจัย, เมื่อเจ้าของทอดธุระว่าภิกษุรูปนี้จักไม่คืนให้แก่เรา ต้องอาบัติปาราชิก
     - ภิกษุคิดว่า เราจักนำไปทั้งของ ทั้งคนขนของ ให้ย่างเท้าที่หนึ่งก้าวไปต้องถุลลัจจัย ให้ย่างเท้าที่สองไป ต้องอาบัติปาราชิก

๑๔. อรรถกถาแสดง อวหาร ๒๕ (อาการลัก ๒๕ อาการ) โดยแยกแสดงเป็น ๕ หมวด ดังนี้
     (๑) อวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยภัณฑะต่างกันเป็นข้อต้น เช่น ตู่เอง เป็นต้น
     (๒) อวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยภัณฑะชนิดเดียวกันเป็นข้อต้น เช่น ตู่เอา เป็นต้น
     (๓) อวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยอวหารที่เกิดแล้วด้วยมือของตนเป็นข้อต้น เช่น ลักด้วยมือของตนเอง เป็นต้น
     (๔) อวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยบุพประโยคเป็นข้อต้น เช่น การชักชวนไปลัก เป็นต้น
     (๕) อวหาร ๕ ที่กำหนดด้วยการลักด้วยอาการขโมยเป็นข้อต้น
          เช่น ลักด้วยความเป็นขโมย เป็นต้น

๑๕. พระวินัยธรต้องฉลาดในอวหาร ๒๕ นี้ ไม่พึงด่วนวินิจฉัยอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว พึงตรวจดูฐานะ ๕ ประการ ที่พระโบราณจารย์มุ่งหมายกล่าวไว้ คือ วัตถุ กาละ เทสะ ราคา และการใช้สอยเป็นที่ ๕ แล้วพึงทรงอรรถคดีไว้
    
- “วัตถุ” ได้แก่ ภัณฑะ (สิ่งของ) เมื่อภิกษุผู้ลัก แม้รับเป็นคำสัตย์ว่า ภัณฑะชื่อนี้ผมลักไปจริง พระวินัยธรอย่าพึงยกอาบัติปรับทันที พึงพิจารณาว่า ภัณฑะนั้นมีเจ้าของหรือไม่มีเจ้าของ แม้ภัณฑะที่มีเจ้าของก็พึงพิจารณาว่า เจ้าของยังคงมีอาลัยอยู่ หรือไม่มีอาลัยแล้ว ถ้าภิกษุลักในเวลาที่เจ้าของยังมีอาลัย พระวินัยธรพึงตีราคาปรับอาบัติ ถ้าลักในเวลาที่เจ้าของหาอาลัยไม่ได้ ไม่พึงปรับอาบัติปาราชิก แต่เมื่อเจ้าของภัณฑะให้นำภัณฑะมาคืน พึงให้ภัณฑะคืน อันนี้เป็นความชอบในเรื่องนี้
    
- “กาล” คือ กาลที่ลัก ด้วยว่าภัณฑะนั้นๆ บางคราวมีราคาพอสมควร บางคราวมีราคาแพง เพราะฉะนั้น ภัณฑะนั้นพระวินัยธรพึงปรับอาบัติตามราคาของในกาลที่ภิกษุลัก พึงสอดส่องถึงกาลอย่างนี้
    
- “ประเทศ” (หรือเทสะ หรือสถานที่) คือ ประเทศที่ลัก ภิกษุลักในประเทศใด พระวินัยธรพึงปรับอาบัติตามราคาของในประเทศนั้น ด้วยว่าในประเทศที่เกิดของภัณฑะย่อมมีราคาพอสมควร ในประเทศอื่นย่อมมีราคาแพง
    
- “ราคา” คือ ราคาของ ด้วยว่า ภัณฑะใหม่ย่อมมีราคา ภายหลังราคาย่อมลดลงได้เหมือนบาตรที่ระบมใหม่ ย่อมมีราคาถึง ๘ หรือ ๑๐ กหาปณะ ภายหลังบาตรนั้นมีช่องทะลุ หรือถูกหมุดและปมทำลาย ย่อมมีราคาน้อย พระวินัยธรไม่พึงตีราคาของด้วยราคาตามปกติเสมอไป
   

- “การใช้สอย” คือ การใช้สอยภัณฑะ ด้วยว่า ราคาของภัณฑะมีมีดเป็นต้น ย่อมละราคาลงเพราะการใช้สอย เพราะฉะนั้น พระวินัยธรควรพิจารณาอย่างนี้ คือ ถ้าภิกษุบางรูปลักมีดของใครๆ มา ซึ่งมีราคาได้บาทหนึ่ง พระวินัยธรพึงถามเจ้าของมีดว่า ท่านซื้อมาด้วยราคาเท่าไร? เจ้าของมีดเรียนว่า บาทหนึ่ง ขอรับ พระวินัยธรถามต่อว่า ท่านซื้อมาแล้วเก็บไว้ หรือใช้ไปบ้างแล้ว ถ้าเจ้าของมีดเรียนว่า ผมใช้ตัดไม้สีฟันบ้าง สะเก็ดน้ำย้อมบ้าง ตัดฟืนระบมบาตรบ้าง ดังนี้ พระวินัยธรพึงทราบว่าเป็นของเก่า มีราคาตกไป ฉันใด ยาหยอดตาก็ดี ไม้ป้ายยาหยอดตาก็ดี กุญแจก็ดี ย่อมมีราคาตกไป ฉันนั้น
    
แม้เพียง ถูขัด ทำให้สะอาดด้วยใบไม้ แกลบ หรือด้วยผงอิฐเพียงครั้งเดียว ก้อนดีบุกย่อมมีราคาตกไป เพราะการตัดฟันมังกรบ้าง เพราะเพียงขัดถูบ้าง, ผ้าอาบน้ำย่อมมีราคาตกไป เพราะการนุ่งห่มเพียงครั้งเดียวบ้าง เพราะเพียงพาดไว้บนจะงอยบ่า หรือบนศีรษะ โดยมุ่งถึงการใช้สอยบ้าง, วัตถุทั้งหลายมีข้าวสารเป็นต้น ย่อมมีราคาตกไป เพราะการฝัดบ้าง เพราะการคัดออกทีละเม็ดหรือสองเม็ดจากข้าวสารเป็นต้นนั้นบ้าง โดยที่สุดเพราะการเก็บก้อนหินและก้อนกรวดทิ้งทีละก้อนบ้าง, วัตถุทั้งหลายมีเนยใสและน้ำมันเป็นต้น ย่อมมีราคาตกไป เพราะการเปลี่ยนภาชนะอื่นบ้าง โดยที่สุด เพราะเพียงเก็บแมลงวันหรือมดแดงออกทิ้งจากเนยใสเป็นต้นบ้าง งบน้ำอ้อยย่อมมีราคาตกไป แม้เพราะเพียงเอาเล็บเจาะดูเพื่อรู้ความมีรสหวาน เพราะฉะนั้นสิ่งของชนิดใดชนิดหนึ่งมีราคาถึงบาท ซึ่งเจ้าของทำให้มีราคาหย่อนไปเพราะการใช้สอยโดยนัยดังกล่าวมา พระวินัยธรไม่ควรปรับภิกษุผู้ลักภัณฑะนั้นถึงปาราชิก พึงสอดส่องการใช้สอยอย่างนี้
    
พระวินัยธรผู้ฉลาด พึงสอบสวนฐานะ ๕ เหล่านี้อย่างนี้ แล้วพึงทรงไว้ซึ่งอรรถคดี คือ พึงตั้งไว้ซึ่งอาบัติ ครุกาบัติ หรือลหุกาบัติ ในสถานที่ควรแล

๑๖. “อธิบายอาบัติที่เป็นเบื้องต้นแห่งปาราชิก” (คือ ทุกกฎ กับ ถุลลัจจัย)
    
ภิกษุนั้นเมื่อลุกขึ้น เพื่อต้องการจะลักทรัพย์ ให้อวัยวะน้อยใหญ่ใดๆ เคลื่อนไหว ย่อมต้องทุกกฏในเพราะอวัยวะเคลื่อนไหวทุกครั้งไป จัดผ้านุ่งและผ้าห่มก็ต้องทุกกฎทุกๆ ครั้งที่มือเคลื่อนไหว เธอรูปเดียวไม่อาจนำทรัพย์ที่ฝังไว้ซึ่งมีจำนวนมากออกไปได้ จึงคิดว่าเราจักแสวงหาเพื่อน ดังนี้แล้วเดินไปยังสำนักของสหายบางรูป เปิดประตูก็ต้องทุกกฎทุกๆ ย่างก้าว และทุกๆ ครั้งที่มือเคลื่อนไหว แต่ไม่เป็นอาบัติเพราะปิดประตู เพราะเป็นกายกรรมและวจีกรรมที่ไม่อุดหนุนแก่การไปเอาทรัพย์
    
เธอเดินไปยังที่ภิกษุสหายนั้น แล้วเรียกแจ้งความประสงค์ให้ทราบ จึงกล่าวชักชวนว่าท่านไปกันเถิด ย่อมต้องอาบัติทุกๆ คำพูด ภิกษุรูปนั้นลุกขึ้นตามคำชักชวนของเธอ แม้เธอรูปนั้นก็เป็นทุกกฎ ครั้นเธอลุกขึ้นแล้ว ประสงค์จะเดินไปยังสำนักของภิกษุรูป (ต้นคิด) นั้น จัดผ้านุ่งและผ้าห่ม ปิดประตูแล้วเดินไปใกล้ภิกษุผู้ต้นคิด ก็ต้องทุกกฎทุกๆ ครั้งที่ขยับมือและย่างเท้าไป
    
เธอรูปนั้นถามภิกษุผู้ต้นคิดว่า ภิกษุชื่อโน้นและโน้นอยู่ที่ไหน? ท่านจงเรียกภิกษุชื่อโน้นและโน้นมาเถิด ดังนี้ต้องทุกกฏทุกๆ คำพูด ครั้นเห็นทุกๆ รูปมาพร้อมกันแล้ว ก็กล่าวชักชวนว่าผมพบขุมทรัพย์ เห็นปานนี้ อยู่ในสถานที่ชื่อโน้น พวกเราจงมา ไปเอาทรัพย์นั้น แล้วจักบำเพ็ญบุญและจักเป็นอยู่อย่างสบาย ดังนี้ก็ต้องทุกกฎทุกๆ คำพูดทีเดียว
    
เธอได้สหายแล้ว จึงแสวงหาจอบ ขณะเดินไปถือเอาและนำมาย่อมต้องทุกกฎ ถ้าจอบไม่มี ก็ไปขอภิกษุ หรือคฤหัสถ์คนอื่น และเมื่อขอก็พูดขอว่า จงให้จอบแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการจอบ ข้าพเจ้ามีกิจที่ต้องทำ ทำเสร็จแล้วจักนำมาคืน ดังนี้ต้องทุกกฎทุกๆ คำพูด ถ้าลำรางที่ต้องชำระให้สะอาดมีอยู่ เธอกลับพูดเท็จว่า งานดินในวัดที่จะต้องทำมีอยู่ คำพูดใดๆ ที่เป็นคำเท็จ ต้องเป็นอาบัติปาจิตตีย์
    
ถ้าจอบไม่มีด้าม ภิกษุพูดว่า จักทำด้าม แล้วลับมีดหรือขวานออกเดินไปเพื่อต้องการไม้ด้ามจอบ ครั้นไปแล้วก็ตัดไม้แห้ง ถาก ตอก ย่อมต้องทุกกฎทุกๆ ครั้งที่ขยับมือและเท้าออกไป หากเธอตัดไม้ที่สดต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถัดจากตัดไม้สดไปเป็นทุกกฎ
    
เมื่อได้จอบแล้วเดินไปยังขุมทรัพย์ย่อมทุกกฎทุกๆ ย่างก้าว ก็ถ้าว่า เมื่อเธอเดินไปเกิดกุศลจิตขึ้นว่า เราได้ขุมทรัพย์แล้ว จักทำพุทธบูชา ธรรมบูชา หรือสังฆภัต ดังนี้ไม่เป็นอาบัติ เพราะเป็นการเดินไปด้วยกุศลจิต ถามว่าเพราะเหตุไรจึงไม่เป็นอาบัติ ตอบว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุมีไถยจิต เที่ยวแสวงหาเพื่อนก็ตาม แสวงหาจอบหรือตะกร้าก็ตาม เดินไปก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฎ ดังนี้จึงไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่มีไถยจิตในที่ทั้งปวง
    
เธอช่วยกันขุดจนพบหม้อทรัพย์ เธอจับต้องหม้อนั้นต้องทุกกฎ ทำให้หม้อทรัพย์นั้นไหว ต้องถุลลัจจัย ทุกกฎเพราะการจับเป็นอันระงับไป เธอย่อมตั้งอยู่ในอาบัติถุลลัจจัย เธอช่วยกันยกขึ้น ต้องปาราชิกทุกรูป ถุลลัจจัยเป็นอันระงับไป ดังนี้ (หม้อทรัพย์เคลื่อนจากฐานเดิมแล้ว หรือหยิบทรัพย์ออกจากหม้อนั้น ต้องอาบัติปาราชิก)

๑๗. “อาบัติทุกกฎมี ๘ อย่าง” คือ
    
(๑) ทุกกฎที่ตรัสไว้ดังนี้ว่า ภิกษุมีไถยจิตเที่ยวแสวงหาเพื่อน จอบ หรือตะกร้าก็ตาม เดินไปก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฎ นี้ชื่อบุพปโยคทุกกฎ (ทุกกฎในเบื้องต้น)
    
(๒) ทุกกฎที่ตรัสว่า ภิกษุตัดไม้เถาวัลย์ที่เกิดอยู่บนพื้นดินนั้นต้องอาบัติทุกกฎ นี้ชื่อสหปโยคทุกกฎ (ต้องอาบัติทุกกฎเพราะมีความพยายาม)
    
(๓) ทุกกฎที่พระองค์ปรับไว้แก่ภิกษุผู้จับต้องรัตนะ ๑๐ อย่าง (แก้วมุกดาและแก้วมณี เป็นต้น) ข้าวเปลือก ๗ อย่าง (ข้าวสาลี, ข้าวเปลือก, ข้าวเหนียว, ข้าวฟ่าง, หญ้ากับแก้, ลูกเดือย, ข้าวละมาน) และเครื่องศัสตราวุธ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ชื่อ อนามาสทุกกฎ
    
(๔) ทุกกฎที่พระองค์ปรับไว้แก่ภิกษุผู้จับต้องบรรดาผลไม้ทั้งหลาย มีกล้วยและมะพร้าว เป็นต้น นี้ชื่อ ทุรุปจิณณทุกกฎ
    
(๕) ทุกกฎที่พระองค์ปรับไว้แก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ไม่รับประเคนหรือไม่ล้างบาตร ในเมื่อมีผงธุลีตกลงไปในบาตร ก็รับภิกษาในบาตร (ไม่ประเคนใหม่) นี้ชื่อว่า วินัยทุกกฎ
    
(๖) ทุกกฎที่ว่า พวกภิกษุได้ฟัง (เรื่องตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์) แล้วไม่พูดห้ามปราม ต้องอาบัติทุกกฎ นี้ชื่อ ญาตทุกกฎ (ทุกกฎเพราะรู้)
    
(๗) ทุกกฎที่ตรัสไว้ว่า เป็นทุกกฎเพราะญัตติในบรรดาสมนุภาสน์ ๑๑ อย่าง (มีในสังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑ เป็นต้น) นี้ชื่อ ญัตติทุกกฎ (ต้องทุกกฎเมื่อจบญัตติ)

(๘) ทุกกฎที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วันจำพรรษาต้นของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และเธอย่อมต้องอาบัติเพราะรับคำนี้ชื่อ ปฏิสสวทุกกฎ (ทุกกฎเพราะทำตามที่ตั้งใจ หรือทำตามคำพูดไม่ได้ เช่น อธิษฐานเข้าพรรษา ณ อาวาสนี้แล้ว แต่ไม่อาจอยู่ได้ ด้วยมีอันตราย ก็ย้ายไปจำพรรษาที่อื่นแทน)
    
- ทำความชั่ว คือ ทำให้ผิดจากกิจที่พระศาสดาตรัส เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ทุกกฎ หรือที่ชื่อว่าทุกกฎ เพราะเป็นการทำชั่ว มีกิริยาผิดรูป ย่อมไม่งามในท่ามกลางกิริยาของภิกษุ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า
    
“ก็โทษใดที่เรากล่าวว่าทุกกฎ (การทำชั่ว, การทำไม่ดี) ท่านจงฟังโทษนั้นตามที่กล่าว กรรมใดเป็นความผิดด้วย เป็นความเสียด้วย เป็นความพลาดด้วย เป็นความชั่วด้วย และมนุษย์ทั้งหลายพึงทำกรรมลามกใด ในที่แจ้งหรือว่าในที่ลับ บัณฑิตทั้งหลายย่อมประกาศโทษนั้นว่าทุกกฎ เพราะเหตุนั้นโทษนั้นเราจึงกล่าวอย่างนั้น”

๑๘. ชื่อว่า ถุลลัจจัย เพราะเป็นกรรมหยาบและความเป็นโทษ ก็ความประกอบกับในคำว่า ถุลลัจจัยนี้ ผู้ศึกษาควรทราบเหมือนในคำว่า ทุคติในสัมปรายภพ และกรรมนั้นเป็นของมีผลเผ็ดร้อน เป็นต้น จริงอยู่ บรรดาโทษที่จะพึงแสดงในสำนักของภิกษุรูปเดียว (บุคคล) โทษที่หยาบเสมอด้วยถุลลัจจัยนั้นย่อมไม่มี (ถุลลัจจัยเป็นอาบัติต่อจากปาราชิกและสังฆาทิเสส, สังฆาทิเสสต้องออกโดยสงฆ์ ส่วนถุลลัจจัยสามารถออกจากอาบัติได้ในสำนักภิกษุแม้รูปเดียว) เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้า (พระพุทธโฆษาจารย์) จึงกล่าวว่า ที่ชื่อว่าถุลลัจจัย เพราะเป็นกรรมหยาบ และเพราะความเป็นโทษ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า
    
“โทษใดที่เรากล่าวว่าถุลลัจจัย ท่านจงฟังโทษนั้นตามที่กล่าว ภิกษุใดยอมแสดงโทษนั้นในสำนักของภิกษุรูปเดียว และภิกษุใดยอมรับโทษนั้น โทษที่เสมอด้วยโทษนั้นของภิกษุนั้นย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น โทษนั้นเราจึงกล่าวอย่างนั้น”

๑๙. ภิกษุทำลายเสีย ทำให้หกล้น เผาเสีย ทำให้บริโภคไม่ได้ก็ดี ซึ่งเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ที่ควรแก่ ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก ในที่นั้นเองโดยไม่ทำให้เคลื่อนจากฐาน ต้องอาบัติทุกกฎ
    
- ทำลาย เช่น ทุบด้วยไม้ค้อน, เท คือ เทน้ำหรือทรายลงในน้ำมันจนล้นขึ้น, นำฟืนมาแล้วเผา, ทำให้บริโภคไม่ได้ เช่น ใส่อุจจาระ ปัสสาวะ หรือยาพิษลงไป ที่ต้องอาบัติทุกกฎเพราะไม่มีการให้เคลื่อนจากฐาน เมื่อเจ้าของให้นำมาให้ย่อมเป็นภัณฑไทย (ต้องชดใช้คืนแก่เจ้าของ)
    
- ได้ยินว่า ในอรรถกถา กล่าวว่า เป็นทุกกฎ เพราะไม่มีการให้เคลื่อนจากฐาน, ภิกษุไม่ทำให้เคลื่อนจากฐานเลย เผาเสียด้วยไฟบ้าง หรือทำให้บริโภคไม่ได้บ้างด้วยไถยจิต และด้วยต้องการให้เสียหาย ย่อมทุกกฎ
     ส่วนการทำลายและการเท ย่อมมีการเคลื่อนจากฐานได้ หากต้องการให้เสียหาย ทำลายเสียหรือเทเสีย เป็นภัณฑไทย เพราะใคร่จะให้เสียหาย, หากมีไถยจิตกระทำให้เคลื่อนด้วยการทำลายหรือเทย่อมเป็นปาราชิก (ดูตัวอย่าง ภิกษุเผาหญ้าประกอบ ที่นั่นท่านปรับทุกกฎ เพราะไม่มีการเคลื่อนจากฐาน)

๒๐. “อาการที่ต้องอาบัติปาราชิก” มี ๒ อย่าง คือ
    
(๑) อาการ ๕ คือ ทรัพย์อันผู้อื่นหวงแหน ๑ รู้ว่าทรัพย์นั้นผู้อื่นหวงแหน ๑ ความที่บริขารเป็นครุภัณฑ์ (๕ มาสก หรือเกิน ๕ มาสก) ๑ มีไถยจิต ๑ มีการทำเคลื่อนจากฐาน ๑
    
(๒) อาการ ๖ คือ มิได้มีความสำคัญว่าเป็นของตน ๑ มิได้ถือเอาด้วยวิสาสะ ๑ มิใช่ขอยืม ๑ ความเป็นบริขารครุภัณฑ์ (๕ มาสก หรือเกิน ๕ มาสก) ๑ มีไถยจิต ๑ มีการทำให้เคลื่อนจากฐาน ๑
๒๑ “อนาบัติ”
    
- ภิกษุผู้มีความสำคัญว่าเป็นของตน คือ มีความสำคัญว่า “ภัณฑะนี้เป็นของเรา” ภิกษุถือเอาแล้วซึ่งภัณฑะของผู้อื่นนั้นไม่เป็นอาบัติ แต่ควรให้ทรัพย์ที่ตนถือเอามานั้นคืนแก่เจ้าของในเมื่อเจ้าของทวง หากเธอไม่ยอมคืนให้ย่อมเป็นปาราชิก ในเมื่อเจ้าของทรัพย์เหล่านั้นทอดธุระ (คิดว่าไม่เอาก็ได้ เป็นต้น)
    
- ไม่เป็นอาบัติเพราะถือด้วยวิสาสะ แต่ควรรู้ลักษณะแห่งการถือเอาด้วยวิสาสะ ดังที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถือวิสาสะแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ เคยเห็นกันมา ๑ เคยคบกันมา ๑ เคยบอกอนุญาตไว้ ๑ ยังมีชีวิตอยู่ ๑ รู้ว่าเราถือเอาแล้ว เขาจักพอใจ ๑
    
เคยเห็นกันมา คือ เป็นเพียงเพื่อนเคยเห็นกัน, เคยคบกันมา คือ เป็นเพื่อนสนิท, เพื่อนสั่งไว้ว่าท่านต้องการสิ่งใดซึ่งเป็นของผม ท่านพึงถือเอาสิ่งนั้นเถิด ท่านไม่ต้องขออนุญาต, เพื่อนยังมีชีวิตอยู่, เมื่อเราถือเอาแล้วเขาจะพอใจจึงถือเอา ย่อมสมควร
    
การถือเอาด้วยวิสาสะ สรุปลงได้ ๓ องค์ ดังนี้ ๑. เคยเห็นกันมา ยังมีชีวิตอยู่ รู้ว่าเมื่อเราถือเอาแล้วเขาจักพอใจ  ๒. เคยคบกันมา ยังมีชีวิตอยู่ รู้ว่าเมื่อเราถือเอาแล้วเขาจักพอใจ  ๓. เคยบอกอนุญาตไว้ ยังมีชีวิตอยู่ รู้ว่าเมื่อเราถือเอาแล้วเขาจักพอใจ
    
ส่วนเพื่อนคนใดยังมีชีวิตแต่เมื่อถือเอาแล้วเขาไม่พอใจสิ่งของๆ เพื่อนคนนั้น แม้ภิกษุถือเอาแล้วด้วยวิสาสะ ก็ควรคืนให้แก่เจ้าของเดิม คือเพื่อนคนนั้น
    
ส่วนภิกษุใดพลอยยินดีตั้งแต่แรกทีเดียว ด้วยการเปล่งวาจาแก่เพื่อนว่า ท่านเมื่อถือเอาของๆ ผม ชื่อว่า ทำชอบแล้ว แต่ภายหลังโกรธด้วยเหตุบางอย่าง ภิกษุนั้นย่อมไม่ได้เพื่อจะให้นำมาคืน, ภิกษุรูปใดไม่ประสงค์จะให้ (เพื่อนเอาไป) แต่อนุญาตด้วยจิต ไม่พูดอะไรๆ เธอรูปนี้ก็ย่อมไม่ได้เพื่อให้นำมาคืน
    
ส่วนภิกษุรูปใด เมื่อเพื่อนภิกษุพูดว่า สิ่งของๆ ท่านผมถือเอาแล้ว หรือผมใช้สอยแล้ว จึงพูดว่า สิ่งของนั้นท่านจะถือเอาหรือใช้สอยแล้วก็ตาม แต่ว่าสิ่งของนั้นผมเก็บไว้ด้วยกรณีบางอย่างจริงๆ ท่านควรทำสิ่งของนั้นให้เป็นปกติเดิม ดังนี้ ภิกษุนี้ย่อมได้เพื่อให้นำมาคืน
    
- สำหรับภิกษุผู้ถือเอาด้วยคิดอย่างนี้ว่า เราจักให้คืน จักทำคืน ไม่เป็นอาบัติ เพราะการถือเอาเป็นของยืม แต่สิ่งของที่ภิกษุถือเอาแล้ว ถ้าบุคคลหรือคณะผู้เป็นเจ้าของๆ สิ่งนั้น อนุญาตให้ว่าของสิ่งนั้นจงเป็นของท่านเหมือนกัน ข้อนี้เป็นการดี ถ้าไม่อนุญาตไซร้ เมื่อให้นำมาคืน ควรคืนให้ ส่วนของๆ สงฆ์ควรให้คืนทีเดียว
    
 - บุคคลผู้เกิดในเปรตวิสัยก็ดี เปรตผู้ที่กาละแล้ว เกิดในอัตภาพเปรตอีกก็ดี เทวดาทั้งหลาย มีเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นต้นก็ดี ทั้งหมดนับว่าเป็น “เปรต” ในสิกขาบทนี้ ไม่เป็นอาบัติในทรัพย์ที่เปรตเหล่านั้นหวงแหน ถ้าแม้ท้าวสักกเทวราชออกร้านตลาดประทับนั่งอยู่ และภิกษุผู้ได้ทิพยจักษุรู้ว่าเป็นท้าวสักกะ ภิกษุถือเอาผ้าสาฎกแม้ราคาตั้งแสน เพื่อประโยชน์แก่จีวรของตนไป แม้ท้าวสักกะจะร้องห้ามก็ตาม การถือเอานั้นย่อมควร
    
- ไม่เป็นอาบัติในทรัพย์ที่พวกสัตว์ดิรัจฉานหวงแหน จริงอยู่ แม้พวกพญานาคหรือสุบรรณมาณพแปลงรูปเป็นมนุษย์ ออกร้านตลาดอยู่ และมีภิกษุบางรูปมาถือเอาสิ่งของๆ พญานาคหรือของสุบรรณมาณพนั้นไป การถือเอานั้นย่อมควร ราชสีห์หรือเสือโคร่งฆ่าสัตว์มีเนื้อและกระบือเป็นต้นแล้ว แต่ยังไม่เคี้ยวกิน ถูกความหิวเบียดเบียนอยู่ ภิกษุไม่พึงห้ามในตอนต้นทีเดียว เพราะว่ามันจะพึงทำความฉิบหายให้ แต่เมื่อมันเคี้ยวกินไปหน่อยหนึ่ง สามารถห้ามได้ จะห้ามแล้วถือเอาก็ควร แม้จำพวกนก มีเหยี่ยวเป็นต้น คาบเอาเหยื่อบินไปอยู่ จะไล่ให้มันทิ้งเหยื่อแล้วทิ้งเอา ก็ควร
    
- “สำคัญว่าเป็นของบังสุกุล” อย่างนี้ว่า สิ่งของนี้ไม่มีเจ้าของ เกลือกกลั้วไปด้วยฝุ่น ไม่เป็นอาบัติเพราะการถือเอา แต่สิ่งของนั้นมีเจ้าของไซร้ เมื่อเขาให้นำมาคืน ก็ควรคืนให้
    
- ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้เป็นบ้า, ไม่เป็นอาบัติแก่พระธนิยะผู้เป็นต้นบัญญัติ แต่สำหรับพระฉัพพัคคีย์เป็นต้น ผู้เป็นโจรลักห่อผ้าของช่างย้อมเป็นต้น ย่อมเป็นปาราชิก

๒๒. ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ นี้ มีนัยแห่งการวินิจฉัยมาก ละเอียดซ้ำซ้อนยิ่ง ซึ่งผู้เรียบเรียงไม่อาจนำแสดงทั้งหมดได้ เพราะจะมีความยาวมากเกินไป ซึ่งนัยที่นำมาแสดงนี้มีความครอบคลุมเพียงพอที่จะทำให้พระวินัยธรสามารถวินิจฉัยได้พอสมควร และเพียงพอที่จะทำให้ภิกษุดูแลศีลสังวรข้อนี้ให้บริสุทธิ์หมดจดได้ ท่านใดมีความต้องการศึกษาในรายละเอียดทั้งหมด พึงศึกษาในมหาวิภังค์ ปฐมภาค พร้อมอรรถกถาเถิด

๒๓. ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ นี้ มีสมุฏฐาน ๓ คือ เป็นสาหัตถิกะเกิดทางกายและทางจิต (คือมีไถยจิตลักเองด้วยกาย) เป็นอาณัตติกะ เกิดทางวาจาและจิต (มีไถยจิตสั่งให้ผู้อื่นลัก), เป็นสจิตตกะเพราะเป็นปาราชิก เพราะ “ทำ” หากไม่ทำก็ไม่เป็น, เป็นโลกวัชชะ, เป็นอกุศลจิต (โลภมูลจิต)

๒๔. ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้เรียบเรียงอรรถกถาทั้งหลาย รวมทั้งอรรถกถาของสิกขาบทนี้ กล่าวสรุปในการศึกษาสิกขาบทที่ ๒ นี้ไว้อย่างน่าศึกษาน่าสังวรยิ่ง ดังนี้
“ทุติยปาราชิกสิกขาบทนี้ใด อันพระชินเจ้าผู้ไม่เป็นที่ ๒ มี่กิเลสอันพ่ายแพ้แล้ว ทรงประกาศแล้วในพระศาสนานี้ สิกขาบทอื่นไรๆ ที่มีนัยอันซับซ้อนมากมาย มีเนื้อความและวินิจฉัยลึกซึ้ง เสมอด้วยทุติยปาราชิกสิกขาบทนี้ ย่อมไม่มี, เพราะเหตุนั้น เมื่อเรื่องหยั่งลงแล้ว (เกิดขึ้นแล้ว) ภิกษุผู้รู้ทั่วถึงพระวินัย จะกระทำการวินิจฉัยในเรื่องที่หยั่งลงแล้วนี้ ด้วยความอนุเคราะห์พระวินัย พึงพิจารณาพระบาลีและอรรถกถาพร้อมทั้งอธิบายโดยถ้วนถี่ อย่าเป็นผู้ประมาท ทำการวินิจฉัยเถิด
    
ในกาลไหนๆ ไม่พึงทำความอาจหาญในการชี้อาบัติ, ควรใส่ใจว่าเราจักเห็นอนาบัติ อนึ่ง แม้เห็นอาบัติแล้วอย่าเพ่อพูดเพรื่อไปก่อน พึงใคร่ครวญและหารือกับท่านผู้รู้ทั้งหลาย แล้วจึงปรับอาบัตินั้น อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นปุถุชนในศาสนานี้ ย่อมเคลื่อนจากคุณ คือความเป็นสมณะด้วยอำนาจแห่งจิตที่มักกลับกลอกเร็วในเพราะเรื่องแม้ที่ควร เพราะเหตุนั้นภิกษุผู้เฉลียวฉลาด พึงเล็งเห็นบริขารของผู้อื่นเป็นเหมือนงูมีพิษร้ายและเหมือนไฟเถิด”


• ศัพท์ที่ควรทราบจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
๑. อุปจาร – เฉียด, จวนเจียน, ที่ใกล้ชิด, ระยะใกล้เคียง, ชาน, บริเวณรอบๆ ดังตัวอย่างคำว่า อุปจารเรือน อุปจารบ้าน แสดงตามที่ท่านอธิบายในอรรถกถาพระวินัย ดังนี้
    
อาคารที่ปลูกขึ้นร่วมในแค่ระยะน้ำตกที่ชายคา เป็น “เรือน”, บริเวณรอบๆ เรือน ซึ่งกำหนดเอาที่แม่บ้านยืนอยู่ที่ประตูเรือน สาดน้ำล้างภาชนะออกไป หรือแม่บ้านยืนอยู่ภายในเรือน โยนกระด้งหรือไม้กวาดออกไปภายนอก ตกที่ใด ระยะรอบๆ กำหนดนั้น เป็น “อุปจารเรือน”
    
บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดี ยืนอยู่ที่เขตอุปจารเรือน ขว้างก้อนดินไป ก้อนดินที่ขว้างนั้นตกลงที่ใด ที่นั้นจากรอบๆ บริเวณอุปจารเรือนเป็นกำหนด “เขตบ้าน”, บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดีนั้นแหละยืนอยู่ที่เขตบ้าน โยนก้อนดินไปเต็มกำลัง ก้อนดินตก เป็นเขต “อุปจารบ้าน”
    
สีมาที่สมมติเป็นติจีวราวิปปวาสนั้น จะต้องเว้นบ้านและอุปจารบ้านดังกล่าวนี้เสีย จึงสมมติขึ้น คือ ใช้เป็นติจีวราวิปปวาสสีมาได้

๒. กหาปณะ – ชื่อมาตราเงินในสมัยโบราณ ๑ กหาปณะ เท่ากับ ๒๐ มาสก หรือ ๔ บาท (๕ มาสก เป็น ๑ บาท, ๔ บาท เป็น ๑ กหาปณะ)

๓. ภัณฑไทย – ของที่จะต้องให้ (คืน) แก่เขา, สินใช้, การที่จะต้องชดใช้ทรัพย์ที่เขาเสียไป



คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อกฺโกฉิ มํ อวธิ มํ    อชินิ มํ อหาสิ มํ
เข จ ตํ นูปนยฺหนฺติ    เวรํ เตสูปสมฺมติ ฯ ๔ ฯ
     ใครไม่คิดอาฆาตว่า "มันด่าเรา มันทำร้ายเรา
     มันเอาชนะเรา มันขโมยของเรา" เวรของเขาย่อมระงับ
     'Heabused me, he beat me, He defeated me, he robbed me'
     In those who harbour not such thoughts Hatred finds its end.

     ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก   (http://www.sookjai.com/Themes/default/images/post/xx.gif)



(http://www.sookjaipic.com/images/9454736192_123.gif)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 กรกฎาคม 2557 13:31:09
.

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)

ปาราชิก สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๓)
ภิกษุจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต ต้องปาราชิก

พระฉัพพัคคีย์ : ต้นบัญญัติปาราชิก สิกขาบทที่ ๓

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้นพระองค์ทรงแสดงอสุภกถา ทรงพรรณนาคุณแห่งอสุภกรรมฐาน และสรรเสริญคุณแห่งการเจริญอสุภกรรมฐาน แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน ใครๆ อย่าเข้าไปหาเรา นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปให้เพียงรูปเดียว

ภิกษุทั้งหลายพากันเจริญอสุภกรรมฐาน ภิกษุเหล่านั้นเกิดอึดอัด ระอา เกลียดชัง ร่างกายของตน ดุจสตรีรุ่นสาวหรือบุรุษหนุ่มผู้รักความสวยงาม มีซากงู ซากสุนัข ซากมนุษย์มาคล้องอยู่ที่คอ จึงอึดอัดสะอิดสะเอียน เกลียดชัง  ฉะนั้นจึงปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็เข้าไปหามิคลัณฑิกสมณกุตก์ กล่าวว่าจ้างขอให้ช่วยปลงชีวิตพวกตน ด้วยการให้บาตร จีวร เป็นค่าจ้าง มิคลัณฑิกสมณกุตก์จึงปลงชีวิตภิกษุเป็นอันมาก เขาถือดาบเปื้อนเลือดเดินทางไปยังแม่น้ำวัดคุมุทา ขณะที่กำลังล้างดาบเขามีความเดือดร้อนใจว่า เราได้ทำชั่วแล้ว เราไม่ได้ทำดีหนอ เราสร้างบาปไว้มากจริงหนอ เพราะเราได้ปลงชีวิตภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม

ขณะนั้น เทวดาตนหนึ่งที่นับเนื่องในหมู่มาร เดินมาบนน้ำซึ่งน้ำมิได้แตก แล้วกล่าวชมเขาว่า ดีแล้ว ดีแล้ว ท่านสัตบุรุษ เป็นลาภๆ ท่านได้ดีแล้ว ท่านได้สร้างสมบุญไว้มาก เพราะท่านได้ช่วยส่งคนที่ยังข้ามไม่พ้น ให้ข้ามพ้นได้

ครั้นเขาได้ทราบว่าเป็นลาภ เราได้สร้างสมบุญ จึงถือดาบเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย กล่าวว่า ใครยังข้ามไม่พ้นเราจักช่วย ดังนี้ แล้วได้ฆ่าภิกษุวันละ ๑ รูปบ้าง...๖๐ รูปบ้าง

ครั้นล่วงกึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่หลีกเร้น รับสั่งถามพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เหตุไฉนหนอ ภิกษุสงฆ์จึงดูเหมือนน้อยไป พระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องทั้งหมดนั้นแล้ว รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ในพระนครเวสาลี แล้วทรงแสดงอานาปานสติกรรมฐาน สรรเสริญคุณของอานาปานสติ

รับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ข่าวว่าพวกภิกษุปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็ไปหามิคลัณฑิกสมณกุตก์ให้เขาช่วยปลงชีวิตจริงหรือ ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีพระบัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต เป็นปาราชิก”

สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์เห็นภริยาของอุบาสกผู้เป็นไข้คนหนึ่ง เกิดมีจิตปฏิพัทธ์ในหญิงนั้น จึงกล่าวพรรณนาคุณแห่งความตายแก่อุบาสกนั้นอย่างนี้ว่า “ดูก่อนอุบาสก ท่านผู้ทำความดีไว้แล้ว ทำกุศลไว้แล้ว ทำความต้านทานต่อความขลาดไว้แล้ว มิได้ทำบาป มิได้ทำความชั่ว จะประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ตายจากโลกนี้แล้ว เบื้องหน้าท่านจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์...”

ครั้งนั้น อุบาสกเห็นจริงตามที่พระฉัพพัคคีย์กล่าว เขาจึงรับประทานโภชนะที่แสลง ดื่มกินของแสลง ความป่วยหนักก็เกิดขึ้น เขาถึงแก่กรรมเพราะความป่วยไข้นั้นเอง ภริยาของอุบาสกจึงเพ่งโทษว่า พระสมณะเหล่านี้ไม่ละอาย พูดเท็จ ปราศจากความเป็นสมณะ เพราะพรรณนาคุณแห่งความตายแก่สามีของเรา สามีของเราถูกสมณะเหล่านี้ทำให้ตายแล้ว

แม้คนเหล่าอื่นก็เพ่งโทษติเตียน...ภิกษุทั้งหลายได้ยินก็เพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล...ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีพระอนุบัญญัติว่า

“อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตาย ด้วยถ้อยคำว่า แน่ะ นายผู้เป็นชาย จะประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้ เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความหมายหลายอย่างอย่างนี้ พรรณนาคุณในความตายก็ดี ชักชวนเพื่ออันตสรายก็ดี โดยหลายนัย แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”


อรรถาธิบาย
- บทว่า จงใจ ความว่า ภิกษุใดรู้อยู่ รู้ดีอยู่ พรากกายมนุษย์จากชีวิต การกระทำของภิกษุนั้นเป็นความตั้งใจพยายามละเมิด, ที่ชื่อว่า กายมนุษย์ ได้แก่ จิตแรกเกิดขึ้น คือ ปฐมวิญญาณปรากฏขึ้นในท้องแห่งมารดา ตราบเท่าถึงกาลเป็นที่ตาย อัตภาพในระหว่างนี้ชื่อว่า กายมนุษย์
- บทว่า พรากจากชีวิต ความว่า ตัดทอน บั่นรอน ซึ่งอินทรีย์คือชีวิต ทำความสืบต่อให้กำเริบ
- บทว่า หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น ได้แก่ ดาบ หอก ฉมวก และหลาว เป็นต้น
- บทว่า หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย ได้แก่ แสดงโทษในความเป็นอยู่ พรรณนาคุณในความตาย
- บทว่า หรือชักชวนเพื่ออันตาย คือ ชักชวนว่า จงนำมีดมา จงกินยาพิษ หรือจงแขวนคอตายด้วยเชือก
- บทว่า แน่ะ นายผู้เป็นชาย นี้เป็นคำสำหรับเรียก คือคำทักทาย
- คำว่า จะประโยชน์อะไรแก่ท่าน...ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้ มีอธิบายว่า ชีวิตที่ชื่อว่ายากแค้น คือ เมื่อเทียบชีวิตของคนมั่งคั่ง ชีวิตของคนเข็ญใจ ก็ชื่อว่ายากแค้น, เทียบชีวิตของคนมีทรัพย์ ชีวิตของคนไร้ทรัพย์ ก็ชื่อว่ายากแค้น, เทียบชีวิตของเหล่าเทพเจ้า ชีวิตของพวกมนุษย์ก็ชื่อว่ายากแค้น, ชีวิตของคนมีมือขาด มีเท้าขาด มีทั้งมือและเท้าขาด มีหูขาด มีจมูกขาด มีทั้งหูทั้งจมูกขาด ชื่อว่าชีวิตอันแสนลำบาก จะประโยชน์อะไรด้วยชีวิตอันแสนลำบากและยากแค้นเช่นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้
- บทว่า มีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ ความว่า ธรรมชาติอันใดเป็นจิต ธรรมชาติอันนั้นชื่อว่าใจ ธรรมชาติอันใดเป็นใจ ธรรมชาติอันนั้นชื่อว่าจิต (จิตกับใจเป็นอย่างเดียวกัน คือ รู้อารมณ์)
- บทว่า มีความมุ่งหมายหลายอย่างอย่างนี้ คือ มีความหมายในอันตราย มีความจงใจในอันตราย มีความประสงค์ในอันตราย
- บทว่า โดยหลายนัย คือ โดยอาการมากมาย
- บทว่า พรรณนาคุณในความตายก็ดี ได้แก่ แสดงโทษในความเป็นอยู่ พรรณนาคุณในความตาย ว่า ท่านตายจากโลกนี้แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ จักได้บำเรอเพียบพร้อมอิ่มเอิบด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ ในสุคติโลกสวรรค์นั้น
- บทว่า ชักชวนเพื่ออันตรายก็ดี คือ ชักชวนว่า จงนำมีดมา จงกินยาพิษ จงแขวนคอตายด้วยเชือก หรือจงโจนลงในบ่อ ในเหว หรือในที่ชัน
- คำว่า แม้ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทียบเคียงกับภิกษุ ๒ รูปแรก (คือพระสุทินน์ และพระธนิยะ)
- คำว่า เป็นปาราชิก และหาสังวาสมิได้ พึงทราบคำอธิบายจากสิกขาบทก่อน
- ประโยค (ความพยายาม) ที่กระทำความจงใจพรากชีวิตมี ๒ คือ สาหัตถิกประโยค  ได้แก่ ทำเอง ฆ่าเอง และอาณัตติกประโยค ได้แก่ ให้ผู้อื่นทำ สั่งผู้อื่นฆ่า


อาบัติ
๑. ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุผู้รับคำสั่งเข้าใจว่าบุคคลนั้นแน่ จึงปลงชีวิตบุคคลนั้น ต้องปาราชิกทั้ง ๒ รูป
๒. ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุผู้รับคำสั่งเข้าใจว่าเป็นบุคคลอื่น และปลงชีวิตบุคคลอื่น ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่าต้องปาราชิก
๓. ภิกษุสั่งภิกษุว่า ท่านจงบอกแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า ภิกษุชื่อนี้จงไปบอกแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า ภิกษุชื่อนี้จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุผู้ฆ่ารับคำ ภิกษุสั่งเดิมต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุผู้ฆ่าปลงชีวิตบุคคลนั้นสำเร็จต้องปาราชิกทุกรูป
๔. ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ ครั้นภิกษุนั้นสั่งแล้วมีความร้อนใจ แต่ไม่พูดให้ได้ยินว่า อย่าฆ่า...ภิกษุผู้รับคำสั่งปลงชีวิตบุคคลนั้นสำเร็จ ต้องปาราชิก ๒ รูป
๕. ภิกษุสั่งว่า จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้... ครั้นสั่งแล้วมีความร้อนใจ พูดให้ได้ยินว่า อย่าฆ่าเลย ภิกษุผู้รับคำสั่งกลับพูดว่า ท่านสั่งผมแล้ว จงปลงชีวิตบุคคลชื่อนั้นเสีย ภิกษุผู้สั่งเดิมไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่าต้องอาบัติปาราชิก
๖. ที่ชื่อ พรรณนาด้วยกาย ได้แก่ ภิกษุทำกายวิการ (ทำท่าต่างๆ) ว่า ผู้ใดตายอย่างนี้ ผู้นั้นจะได้ทรัพย์ ได้ยศ หรือไปสวรรค์ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฎเพราะการพรรณนานั้น, ผู้ใดผู้หนึ่งคิดว่าเราพึงตายแล้วยังทุกขเวทนาให้เกิด (เพื่อให้ตาย) ภิกษุผู้พรรณนาต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ภิกษุผู้พรรณนาต้องอาบัติปาราชิก
๗. การพรรณนาด้วยวาจา การพรรณนาด้วยกายและวาจา การส่งทูตไปพรรณนาด้วยการเขียนเป็นตัวหนังสือ ก็ปรับอาบัติเช่นเดียวกับข้อ ๖
๘. ที่ชื่อว่า หลุมพราง ได้แก่ ภิกษุขุดหลุมพรางเจาะจงมนุษย์ไว้ว่า เขาจักตกตาย ดังนี้ต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งตกลงไปแล้วได้รับทุกขเวทนา ภิกษุผู้ขุดต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ภิกษุผู้ขุดต้องอาบัติปาราชิก
       ภิกษุขุดหลุมพรางไว้มิได้เจาะจงว่าผู้ใดผู้หนึ่งจักตกตาย (ใครตกก็ได้) ดังนี้ต้องอาบัติทุกกฎ มนุษย์ตกลงไปในหลุมพรางนั้น ภิกษุต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อเขาตกลงไปแล้วได้รับทุกขเวทนา ภิกษุนั้นต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิก
       ยักษ์ก็ดี เปรตก็ดี สัตว์ดิรัจฉานแปลงเพศเป็นมนุษย์ก็ดี ตกลงไปในหลุมพรางนั้น ภิกษุต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อมันตกลงไปแล้วได้รับทุกขเวทนา ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฎ มันตาย ภิกษุต้องอาบัติถุลลัจจัย
       สัตว์ดิรัจฉานตกลงไปในหลุมพรางนั้น ภิกษุต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อมันตกลงไปแล้วได้รับทุกขเวทนา ภิกษุต้องอาบัติทุกกฎ มันตาย ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์
๙. ที่ชื่อว่า วัตถุที่พิง ได้แก่ ภิกษุวางศัสตราไว้ในที่สำหรับพิงก็ดี ทายาพิษไว้ก็ดี ทำให้ชำรุดก็ดี วางไว้ริมบ่อ เหว หรือที่ชัน ด้วยหมายใจว่า บุคคลจักตกตายด้วยวิธีนี้ ดังนี้ต้องทุกกฎ เขาได้รับทุกขเวทนาเพราะต้องศัสตราถูกยาพิษหรือตกลงไป ต้องถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก
๑๐. ที่ชื่อว่า การลอบวาง ได้แก่ ภิกษุวางดาบ หอก ฉมวก หลาว ไม้ค้อน หิน มีด ยาพิษ หรือเชือกไว้ใกล้ ด้วยตั้งใจว่า บุคคลจักตายด้วยของสิ่งนี้ ดังนี้ต้องทุกกฎ คิดว่าเขาจักตายด้วยของสิ่งนั้น แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิด ภิกษุนั้นต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก
๑๑. ที่ชื่อว่า การนำรูปเข้าไป ได้แก่ ภิกษุนำรูปซึ่งไม่เป็นที่ชอบใจ น่ากลัว น่าหวาดเสียวเข้าไป ด้วยตั้งใจว่า เขาเห็นรูปนี้แล้วจักตกใจตาย ดังนี้ต้องทุกกฎ เขาเห็นรูปนั้นแล้วตกใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตายต้องอาบัติปาราชิก
       ภิกษุนำรูปซึ่งเป็นที่ชอบใจ น่ารัก น่าจับใจ เข้าไปด้วยตั้งใจว่า เขาเห็นรูปนี้แล้วจักซูบผอมตายเพราะหาไม่ได้ ดังนี้ต้องทุกกฎ เขาเห็นรูปนั้นแล้วซูบผอมเพราะหาไม่ได้ต้องถุลลัจจัย เขาตายต้องอาบัติปาราชิก
๑๒. การสำเสียงเข้าไป การนำกลิ่นเข้าไป การนำรสเข้าไป การนำโผฏฐัพพะเข้าไป พึงทราบคำอธิบายตามข้อ ๑๑
๑๓. ที่ชื่อว่า การนำธรรมารมณ์เข้าไป ได้แก่ ภิกษุแสดงเรื่องนรกแก่คนผู้ควรเกิดในนรก ด้วยตั้งใจว่า เขาฟังเรื่องนรกนี้แล้วจักตกใจตายดังนี้ต้องทุกกฎ เขาฟังเรื่องนรกนั้นแล้วตกใจต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตายต้องอาบัติปาราชิก
       ภิกษุแสดงเรื่องสวรรค์แก่คนผู้ทำความดี ด้วยตั้งใจว่าเขาฟังเรื่องสวรรค์นี้แล้วจักน้อมใจตาย ดังนี้ต้องทุกกฎ เขาฟังเรื่องสวรรค์แล้วคิดว่าเราจักตาย แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิดต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตายต้องอาบัติปาราชิก
๑๔. ที่ชื่อว่า การนัดมาย ได้แก่ ภิกษุทำการนัดหมายว่า จงปลงชีวิตเขาเสียตามคำนัดหมายนั้นในเวลาเช้าหรือเย็น ในเวลากลางคืนหรือกลางวัน ดังนี้ต้องทุกกฎเพราะการนัดหมายนั้น ภิกษุผู้รับคำสั่งปลงชีวิตเขาสำเร็จ ต้องปาราชิกทั้ง ๒ รูป ปลงชีวิตเขาได้ก่อนหรือหลังคำนัดหมาย ภิกษุผู้สั่งเดิมไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่าต้องอาบัติปาราชิก
๑๕. ที่ชื่อว่า การทำนิมิต ได้แก่ ภิกษุทำนิมิตว่า ผมจักขยิบตา ยักคิ้ว หรือผงกศีรษะ ท่านจงปลงชีวิตเขาตามนิมิตนั้น ดังนี้ต้องทุกกฎ ภิกษุผู้รับสั่งปลงชีวิตเขาสำเร็จตามนิมิตนั้นต้องปาราชิกทั้ง ๒ รูป ปลงชีวิตเขาก่อนหรือหลังนิมิตนั้น ภิกษุผู้สั่งเดิมไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่าต้องอาบัติปาราชิก


อนาบัติ
ภิกษุไม่จงใจ ๑  ภิกษุไม่รู้ ๑  ภิกษุไม่ประสงค์จะให้ตาย ๑  วิกลจริต ๑  มีจิตฟุ้งซ่าน ๑  กระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้า ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

ตัวอย่าง
๑. ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายได้พรรณนาคุณแห่งความตายแก่ภิกษุนั้นด้วยความกรุณา ภิกษุนั้นมรณภาพแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีความรังเกียจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมัง จึงกราบทูล... ตรัสว่า พวกเธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
๒. ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง นั่งทับเด็กชายที่เขาเอาผ้าเก่าคลุมไว้บนตั่งให้ตายแล้ว เธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากพวกเธอไม่พิจารณาก่อนแล้ว อย่าพึงนั่งบนอาสนะ รูปใดนั่ง ต้องอาบัติทุกกฏ
๓. บิดาและบุตรบวชอยู่ในสำนักภิกษุ... เมื่อเขาแจ้งว่าเป็นเวลาภัตแล้ว ภิกษุผู้เป็นบุตรได้กล่าวกับภิกษุบิดาว่า นิมนต์ไปเถิดขอรับ พระสงฆ์กำลังคอยท่านอยู่ ภิกษุผู้บุตรมีความประสงค์จะให้มรณภาพ จึงดุนผลักไป ภิกษุผู้บิดาได้ล้มลง แต่ไม่ถึงมรณภาพ ภิกษุผู้บุตรมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร ภิกษุ : ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
๔. ภิกษุชาวเมืองอาฬวี ช่วยกันก่อสร้าง ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ข้างล่างส่งมีดขึ้นไป มีดที่ภิกษุผู้อยู่ข้างบนรับไว้ไม่มั่น ได้ตกลงบนกระหม่อมภิกษุผู้อยู่ข้างล่างถึงมรณภาพ เธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร ภิกษุ : มิได้จงใจ พระพุทธเจ้าข้า ตรัสว่า ภิกษุไม่จงใจ ไม่ต้องอาบัติ
๕. พระฉัพพัคคีย์ขึ้นภูเขาคิชฌกูฏ แล้วพากันกลิ้งศิลาเล่น ศิลานั้นตกทับคนเลี้ยงโคคนหนึ่งตาย พวกเธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล...ตรัสว่า พวกเธอคิดอย่างไร ภิกษุ : พวกข้าพระองค์มิได้มีความประสงค์จะให้ตาย พระพุทธเจ้าข้า ตรัสว่า พวกเธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ภิกษุไม่ควรกลิ้งศิลาเล่น รูปใดกลิ้ง ต้องอาบัติทุกกฎ
๖. ภิกษุหมอผีรูปหนึ่งปลงชีวิตยักษ์แล้วมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
๗. ภิกษุรูปหนึ่งมีความประสงค์จะให้ตาย ได้ส่งภิกษุรูปหนึ่งไปสู่ทางกันดารที่มีโจร แต่โจรไม่ปลงชีวิตภิกษุรูปนั้น เธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร ภิกษุ : ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะให้ตายพระพุทธเจ้าข้า ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
๘. ภิกษุรูปหนึ่งถูกความกระสันบีบคั้น (คิดสึกแต่ยังรักศีลอยู่) จึงขึ้นภูเขาคิชฌกูฏแล้วโจนลงมาทับช่างสานตาย จึงทูลถาม... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร ทูลว่า มิได้มีความประสงค์จะให้ตายพระพุทธเจ้าข้า ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรยังตนให้ตก รูปใดให้ตก ต้องทุกกฎ
๙. หญิงหมันคนหนึ่งได้บอกเรื่องที่นางเป็นหมันกับภิกษุประจำตระกูลรูปหนึ่ง แล้วขอให้ท่านปรุงเภสัชที่จักทำให้นางคลอดบุตร (มีบุตร) ภิกษุนั้นรับคำแล้ว ได้ให้เภสัชแก่นางๆ ถึงแก่กรรม เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมัง จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
๑๐. ภิกษุรูปหนึ่งไปสู่ตะแลงแกง ได้พูดกับนายเพชฌฆาตว่า ท่านอย่าให้นักโทษคนนั้นลำบากเลย จงปลงชีวิตด้วยการฟันทีเดียวให้ตายเถิด เพชฌฆาตรับคำว่า ดีละ ขอรับ แล้วปลงชีวิตด้วยการฟันทีเดียว ภิกษุนั้นมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ปฐมภาค ๑/๒/๓๑๕-๔๔๖ อธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
๑. นครนั้นเรียกว่า เวสาลี เพราะเป็นเมืองที่กว้างขวางด้วยการขยายเครื่องล้อม คือ กำแพงถึง ๓ ครั้ง, บรรดาป่ามหาวัน และกูฏาคารศาลานั้น ป่าใหญ่มีโอกาสเป็นที่ตั้งที่กำหนดเกิดเอง ไม่ได้ปลูก ชื่อว่าป่ามหาวัน ส่วนป่ามหาวันใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ เนื่องเป็นอันเดียวกันกับป่าหิมพานต์ ไม่มีโอกาสเป็นที่กำหนดตั้งจรดมหาสมุทร, ป่ามหาวันในสิกขาบทนี้ไม่เป็นเช่นนั้น คือเป็นป่าใหญ่ มีโอกาสเป็นที่กำหนด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ป่ามหาวัน
        ส่วนกูฏาคารศาลาอันถึงพร้อมด้วยอาการทั้งปวง ซึ่งสร้างให้มีหลังคาคล้ายทรวดทรงแห่งหงส์ ทำเรือนยอดไว้ข้างใน ณ อารามที่สร้างไว้อาศัยในป่ามหาวัน พึงทราบว่า เป็นพระคันธกุฎีสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า (ที่จะทรงใช้หลีกเร้น)
๒. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอสุภกรรมฐาน ซึ่งเป็นกถาที่ตั้งแห่งความเบื่อหน่ายในกาย ซึ่งเป็นไปด้วยการเล็งเห็นอาการอันไม่งาม ด้วยเหตุผลมากมาย ทรงแสดงว่า ความไม่งามมีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน ฯลฯ มูตร มีคำอธิบายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อค้นหาดูด้วยความเอาใจใส่ทุกอย่าง กเลวระมีประมาณวาหนึ่ง จะไม่เห็นสิ่งอะไรๆ จะเป็นแก้วมุกดาหรือแก้วมณี แก้วไพฑูรย์หรือกฤษณา แก่จันทน์หรือกำยาน การบูร หรือบรรดาเครื่องหอมมีจุณสำหรับอบเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามที ซึ่งเป็นของสะอาด แม้ว่าเล็กน้อย โดยที่แท้จะเห็นแต่ของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีผมและขนเป็นต้นเท่านั้น ซึ่งมีกลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง น่าเกลียด มีการเห็นไม่เป็นมิ่งขวัญ เพราะเหตุนี้จึงไม่ควรทำความพอใจ หรือความรักใคร่ในกายนี้ อันที่จริง ขึ้นชื่อว่าผมเหล่าใด ซึ่งเกิดบนศีรษะอันเป็นอวัยวะสูงสุด แม้ผมเหล่านั้นก็เป็นของไม่งามเหมือนกัน ทั้งไม่สะอาด ทั้งเป็นของปฏิกูล ดังนี้ นี้เป็นความสังเขปที่แสดงในที่นี้ ท่านผู้ต้องการความพิสดาร พึงศึกษาจากวิสุทธิมรรคเถิด
๓. ถามว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอสุภภาวนาแก่ภิกษุเหล่านี้ ตอบว่า ได้ยินว่า ในอดีตกาลนายพรานเนื้อประมาณ ๕๐๐ คน เอาท่อนไม้และข่ายเครื่องจับสัตว์เป็นอันมากล้อมป่าไว้ แล้วพากนหัวเราะรื่นเริง สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์และนกจนตลอดชีวิต แล้วเกิดในนรก
       พรานเนื้อเหล่านั้นหมกไหม้ในนรกนั้นแล้ว เกิดในมนุษย์เพราะกุศลกรรมบางอย่างที่ตนทำไว้แล้วในหนก่อน จึงได้บรรพชาและอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยอุปนิสัยแห่งกรรมอันงาม และพระองค์ทรงรู้ว่าภายในกึ่งเดือนนี้บาปกรรมที่เคยกระทำกับเนื้อและนกที่ยังเหลืออยู่ จักเผล็ดผลกระทำให้ภิกษุเหล่านั้นต้องสิ้นชีวิตด้วยความพยายามของตนเองและด้วยความพยายามของผู้อื่น ทอดพระเนตร เห็นว่า ใครๆ ไม่อาจห้ามการให้ผลของอกุศลกรรมเหล่านั้นได้
       ในภิกษุเหล่านั้นมีทั้งภิกษุผู้เป็นปุถุชน ทั้งพระโสดาบัน ทั้งพระสกทาคามี ทั้งพระอนาคามี และพระอรหันตขีณาสพผู้ไม่มีการเกิดอีก พระอริยสาวก มีพระโสดาบัน พระสกทาคามี มีที่ไปที่แน่นอนแล้ว แต่ที่ไปของภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนไม่แน่นอน ย่อมเสี่ยงต่อการไปอบายภูมิ
       คราวนั้น พระองค์ทรงดำริว่า ภิกษุเหล่านี้ (ภิกษุที่เป็นปุถุชน) กลัวต่อมรณภัย เพราะความรักด้วยอำนาจพอใจในอัตภาพ จักไม่อาจชำระคติ (ที่ไป) ให้บริสุทธิ์ได้ เอาเถิด! เราจะแสดงอสุภกถาเพื่อละความรักด้วยอำนาจความพอใจแก่เธอเหล่านั้น พวกเธอได้ฟังแล้วจักทำการชำระคติให้บริสุทธิ์ได้ เพราะเป็นผู้ปราศจากความรัก ด้วยอำนาจความพอใจในอัตภาพ (สักกายทิฏฐิ) จักถือเอาปฏิสนธิในสวรรค์ การบรรพชาในสำนักของเราจักเป็นคุณชาติ มีประโยชน์แก่เธอเหล่านั้นด้วยอาการอย่างนี้ จึงทรงแสดงอสุภกถาเพื่ออนุเคราะห์พวกเธอ หาได้แสดงในการพรรณนาถึงคุณแห่งความตายไม่
       ครั้นทรงแสดงแล้ว ทรงดำริว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายพบเห็นเราตลอดกึ่งเดือนไซร้ เธอเหล่านั้นจักมาบอกว่า วันนี้ภิกษุมรณภาพไปรูปหนึ่ง วันนี้มรณภาพไป ๒ รูป ฯลฯ วันนี้มรณภาพไป ๑๐ รูป ดังนี้ ก็แลกรรมวิบากนี้ เราหรือใครคนอื่นก็ไม่สามารถจะห้ามได้ เรานั้นได้ฟังเหตุนั้นแล้วก็จักทำอะไรเล่า? จะมีประโยชน์อะไรแก่เราด้วยการฟังที่หาประโยชน์มิได้ มีแต่ความฉิบหายไร้ประโยชน์ เอาเถิด เราจะเข้าไปยังสถานที่ๆ ภิกษุทั้งหลายจะเห็นไม่ได้ เพราะเหตุนั้นจึงตรัสอย่างนี้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน...
       อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ทรงหลีกเร้นเพื่อจะเว้นความติเตียนจากผู้อื่น คือ หากพระองค์อยู่รับรู้ คนก็จักติเตียนว่า ทำไมพระองค์ไม่ทรงห้ามการฆ่ากัน ทั้งที่เป็นผู้รู้ทุกสิ่ง? แต่ในเมื่อพระองค์ไม่อยู่ บัณฑิตทั้งหลายก็จักกล่าวแก้ว่าพระองค์ทรงหลีกเร้นอยู่ หาได้ทรงทราบความเป็นไปไม่ คนที่จะทูลบอกก็ไม่มี หากพระองค์ทรงทราบก็จักตรัสห้ามแน่นอน
๔. บุรุษหนุ่มพึงอึดอัด สะอิดสะเอียด เกลียดชัง ด้วยซากงู ซากสุนัข หรือซากศพมนุษย์ อันคล้องอยู่ที่คอ คือ มีบุคคลผู้เป็นข้าศึกบางคนนั่นเองนำมาผูกไว้ที่คอ ฉันใด ภิกษุเหล่านั้นก็อึดอัด ระอา เกลียดชังร่างกายของตนฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ใคร่จะสละร่างกายของตนเสียเพราะเป็นผู้ปราศจากความรักด้วยอำนาจความพอใจ ดุจบุรุษคนนั้นใคร่จะสละทิ้งซากศพนั้นเสียฉะนั้น จึงถือเอาศัสตราแล้วปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง ด้วยพูดว่า ท่านจงปลงกระผมเสียจากชีวิต กระผมจะปลงท่านเสียจากชีวิต
๕. คำว่า มิคลัณฑิกะ ในสองบทว่า มิคลณฺฑกมฺปิ สมณกุตฺตกํ นี้เป็นชื่อของเขา บทว่า สมณกุตฺตโก ได้แก่ ทรงเพศสมณะ ได้ยินว่า มิคลัณฑิกะโกนศีรษะไว้เพียงจุก นุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งพาดไว้บนไหล่ เข้าอาศัยวิหารนั้นเป็นอยู่โดยความเป็นคนกินเดน (กินของเหลือจากผู้อื่น) ภิกษุทั้งหลายเข้าไปหาแล้วกล่าวขอให้ช่วยปลงชีวิต ซึ่งภิกษุที่เข้าไปนั้นเป็นภิกษุปุถุชนที่กระทำได้ทุกอย่าง ส่วนภิกษุผู้เป็นอริยะไม่กระทำปาณาติบาต ไม่ชักชวนบุคคลอื่น ทั้งไม่อนุญาตให้กระทำปาณาติบาตด้วย
- แม่น้ำที่เขาสมมติกันว่าเป็นบุญของชาวโลก จึงเรียกว่า วัคคุ
- มิคลัณฑิกะร้อนใจ เพราะเห็นว่าภิกษุทั้งหมดมีกายสงบ ไม่เปล่งวาจาเสียดายชีวิต นอนลงโดยตะแคงขวาอย่างมีสติให้ฆ่า เกิดร้อนใจว่าเราได้ทำไม่ดีแล้ว เราได้ปลงชีวิตภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
- ภุมเทวดาตนหนึ่งไม่ปรากฏชื่อ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นฝักฝ่ายแห่งมาร ประพฤติตามมาร คิดว่ามิคลัณฑิกะนี้จักไม่กล้าล่วงบ่วงของมารไปได้ เราจะทำให้เขาเห็น ดังนี้แล้วจึงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง แสดงอานุภาพของตนด้วยการเดินมาบนน้ำ น้ำไม่แตกแยก ดุจเดินไปมาอยู่บนพื้นดิน แล้วกล่าววาจาปลุกปลอบว่า ท่านช่วยส่งพวกคนที่ยังข้ามไม่พ้น ให้ข้ามพ้นจากสงสาร ด้วยการปลงเสียจากชีวิต ได้ยินว่าเทวดาพาลผู้นี้มีความเชื่อว่า “บุคคลทั้งหลายผู้ยังไม่ตาย ชื่อว่ายังไม่พ้นจากสงสาร”
       มัคลัณฑิกสมณกุตก์ครั้นเห็นอานุภาพของเทวดานั้น ก็ถึงความปลงใจเชื่อว่า เราได้ทำประโยชน์ นับว่าเป็นลาภของเรา จึงเข้าไปหาและกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า ใครยังข้ามไม่พ้น ข้าพเจ้าจะช่วยส่งให้ข้ามพ้น เขาได้ปลงชีวิตภิกษุมีประมาณ ๕๐๐  รูป รวมทั้งพระอรหันต์ขีณาสพด้วย
       พระพุทธเจ้าทรงทราบความที่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ มรณภาพแล้ว จึงเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เป็นเหมือนไม่ทรงทราบ ตรัสเรียกพระอานนท์เพื่อให้ตั้งเรื่องขึ้น ให้ประชุมสงฆ์ พระอานนท์ทูลให้ตรัสบอกกรรมฐานอย่างอื่นแก่ภิกษุ จึงทรงแสดงอาณาปานสติภาวนา
๖. ครั้นทรงปลอบภิกษุทั้งหลายให้เบาใจด้วยอานาปานสติสมาธิกถา แล้วตรัสให้ประชุมภิกษุสงฆ์ เพราะเกิดเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายปลงชีวิตกันและกัน ตรัสสอบถาม และทรงติเตียนในการปลงชีวิตนั้น, การปลงชีวิตตนเองและการใช้ให้มิคลัณฑิกสมณกุตก์ปลงชีวิตตน ย่อมไม่เป็นวัตถุแห่งปาราชิก ฉะนั้น จึงทรงเว้นการปลงชีวิต ๒ อย่างนั้นเสีย ทรงถือเอาการปลงชีวิตกันและกันเท่านั้นที่เป็นปาราชิก จึงทรงบัญญัติสิกขาบท “ภิกษุใด แกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิต” ภายหลังพระฉัพพัคคีย์พรรณนาคุณแห่งความตายจึงทรงมีอนุบัญญัติเกิดขึ้น
๗. สญฺจิจฺจ แปลว่า รู้อยู่ รู้พร้อมอยู่, แกล้ง คือ ฝ่าฝืนละเมิด, รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต มีความจงใจ ปักใจ ด้วยอำนาจเจตนาจะฆ่า
๘. “กายมนุษย์” เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิสนธิจิตดวงแรกที่ตั้งขึ้นในครรภ์มารดา ปฏิสนธิจิตนั้นอยู่ในกลลรูปอีกทีหนึ่ง กลลรูป (กายที่ตั้งขึ้นครั้งแรกในครรภ์มารดา) มีขนาดเท่าหยาดน้ำมันงาที่ช้อนขึ้นด้วยปลายข้างหนึ่งแห่งขนแกะแรกเกิด เป็นของใสกระจ่าง แล้วเติบโตขึ้นโดยลำดับตามปกติ คือ ตั้งต้นแต่เป็นวัตถุเล็กนิดอย่างนั้นจนถึงเวลาตาย นี้ชื่อว่า กายมนุษย์
- “ปลงเสียจากชีวิต” ความว่า พรากเสียจากชีวิตด้วยการนาบและรีด หรือด้วยการวางยาในกาลที่ยังเป็นกลละก็ดี หรือด้วยความพยายามที่เหมาะแก่รูปนั้นๆ ในกาลถัดจากเป็นกลละนั้นไปก็ดี ก็ชื่อว่าปลงเสียจากชีวิต โดยความก็คือการเข้าไปตัดอินทรีย์ คือชีวิต ทำความสืบต่อของชีวิตให้ขาดสาย
๙. “ประโยคแห่งการฆ่า ๖ อย่าง”
(๑) การประการด้วยกาย หรือของที่เนื่องด้วยกายแห่งบุคคลผู้ฆ่าให้ตายเอง ชื่อว่า สาหัตถิกประโยค
(๒) การสั่งบังคับว่า ท่านจงแทงหรือประหารให้ตายด้วยวิธีอย่างนี้ของบุคคลผู้ใช้คนอื่น ชื่อว่า อาณัตติกประโยค(๓) การซัดเครื่องประหาร มีลูกศร หอกยนต์และหิน เป็นต้น ไปด้วยกายหรือของที่เนื่องด้วยกายแห่งบุคคลผู้มุ่งหมายจะฆ่าบุคคลซึ่งอยู่ในที่ไกล ชื่อว่า นิสสัคคิยประโยค
(๔) การขุดหลุมพราง วางกระดานหก วางเครื่องประหารไว้ใกล้ และการจัดยาพิษ แห่งบุคคลผู้มุ่งหมายจะฆ่าด้วยเครื่องมืออันไม่เคลื่อนที่ ชื่อว่า ถาวรประโยค
(๕) การร่ายมนต์เพื่อจะให้เขาตาย ชื่อว่า วิชชามยประโยค แต่ในอรรถกถาทั้งหลายท่านแสดงวิชชามยประโยคไว้อย่างนี้ว่า วิชชามยประโยคเป็นไฉน? พวกหมออาถรรพ์ ย่อมประกอบอาถรรพ์ เมื่อเมืองถูกล้อมหรือเมื่อสงครามเข้าประชิดกัน ย่อมก่อความจัญไร ความอุบาทว์ โรค ความไข้ ให้เกิดขึ้นแก่พวกข้าศึก ย่อมทำให้เป็นโรคจุกเสียด เป็นต้น เพื่อจะป้องกันข้าศึก พวกหมออาถรรพ์ย่อมทำอย่างนี้ หรือพวกทรงวิชาคุณ ร่ายเวทกระทำให้ข้าศึกประสบโรคตาย ดังนี้ ชื่อว่า วิชชามยประโยค (ฆ่าด้วยวิชชา)
(๖) การประกอบฤทธิ์อันเกิดแต่ผลแห่งกรรม ชื่อว่า อิทธิมยประโยค ขึ้นชื่อว่า ฤทธิ์อันเกิดจากผลแห่งกรรมนี้มีมากอย่าง เป็นต้นว่า ฤทธิ์นาคของพวกนาค ฤทธิ์สุบรรณของพวกสุบรรณ ฤทธิ์ยักษ์ของพวกยักษ์ เทวฤทธิ์ของพวกเทพผู้ปกครองเหล่าเทวดา
       ฤทธิ์ของพวกนาคมีพิษในขณะเห็น ขบกัด และถูกต้อง ขณะทำการเบียดเบียนสัตว์อื่น เพราะเพียงขบกัดและถูกต้อง (ก็ทำให้สัตว์ตายลง) ฤทธิ์ของพวกสุบรรณ ในการฉุดนาคยาวประมาณ ๑๓๒ วา ขึ้นจากมหาสมุทร, ส่วนพวกยักษ์เมื่อมาไม่ปรากฏ เมื่อประหารก็ไม่ปรากฏ แต่สัตว์ที่พวกยักษ์เหล่านั้นประหารแล้ว ย่อมตายในที่นั้นเอง, ฤทธิ์ของเทวดาพึงเห็นในความตายของพวกกุมภัณฑ์ ที่ท้าวเวสสุวรรณ (ก่อนเป็นพระโสดาบัน) ใช้ตาเป็นอาวุธมองดูเท่านั้นพวกกุมภัณฑ์ก็ตาย, ราชฤทธิ์คือฤทธิ์ของพระเจ้าจักรพรรดิที่เหาะไปในอากาศเป็นต้น  อนึ่ง วิชชามยประโยคและอิทธิมยประโยคไม่ได้มาในพระบาลี แต่มาในอรรถกถา



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 กรกฎาคม 2557 14:06:13
.

๑๐. ในการพรรณนาคุณแห่งความตาย แยกเป็น ๒ คือ ชี้โทษในความเป็นอยู่ ๑ สรรเสริญคุณในความตาย ๑
๑๑. ภิกษุรูปใดสำรวจดูแพะซึ่งนอนอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ด้วยคิดในใจว่า เราจักมาฆ่าในเวลากลางคืน และมารดาหรือบิดาของภิกษุนั้นหรือพระอรหันต์ ห่มผ้ากาสาวะสีเหลืองแล้วนอนอยู่ในที่แพะนอน ภิกษุมาในเวลากลางคืนทำในใจว่า เราจะฆ่าแพะให้ตาย ดังนี้จึงฆ่ามารดาบิดาหรือพระอรหันต์ตาย เพราะมีเจตนาอยู่ว่าเราจะฆ่าวัตถุนี้ให้ตาย เธอจึงเป็นผู้ฆ่าด้วย ต้องอนันตริยกรรมด้วย ต้องปาราชิกด้วย
       หากมีอาคันตุกะอื่นบางคนนอนอยู่ เธอทำในใจว่า เราจะฆ่าแพะให้ตาย จึงฆ่าคนอาคันตุกะนั้นตาย จัดเป็นฆาตกรด้วย ต้องปาราชิกด้วย แต่ไม่เป็นอนันตริยกรรม, มียักษ์หรือเปรตนอนอยู่ เธอทำในใจว่า จักฆ่าแพะให้ตาย จึงฆ่ายักษ์หรือเปรตตนนั้นตาย เป็นฆาตกร ไม่เป็นอนันตริยกรม ไม่เป็นปาราชิก แต่เป็นถุลลัจจัย, ไม่มีใครๆ อยู่ มีแต่แพะเท่านั้น เธอฆ่าแพะตาย เป็นฆาตกรด้วย ต้องปาจิตตีย์ด้วย
๑๒. ภิกษุทำในใจว่า เราจักเช็ดดาบที่เปื้อนแล้วสอดดาบเข้าไปในกองฟาง โดยมารดาก็ดี บิดาก็ดี พระอรหันต์ก็ดี คนอาคันตุกะก็ดี ยักษ์ก็ดี เปรตก็ดี สัตว์ดิรัจฉานก็ดี ซึ่งนอนอยู่ในกองฟางนั้นตาย ภิกษุนั้นด้วยอำนาจแห่งโวหารเรียกว่าฆาตกรได้ แต่เพราะไม่มีวธกเจตนา (เจตนาฆ่า) เธอจึงไม่ถูกต้องกรรม (ปาณาติบาต) ทั้งไม่เป็นอาบัติ
     ส่วนภิกษุใด เมื่อกำลังสอด (ดาบหรือหอกนั้น) เข้าไปในกองฟาง กำหนดได้ว่าสัมผัสกับร่างกาย แล้วก็ยังสอดเข้าไปฆ่าให้ตาย ด้วยคิดว่าชะรอยจะมีสัตว์อยู่ภายใจ จงตายเสียเถอะ ย่อมเป็นปาณาติบาต เป็นปาราชิก และเป็นฆาตกร
๑๓. ในการสั่งฆ่าพึงศึกษาฐานะ ๖ อย่าง แล้วจึงวินิจฉัย ดังนี้
(๑) วัตถุ ได้แก่ สัตว์ที่จะพึงถูกฆ่าให้ตาย
(๒) กาล  ได้แก่ กาลที่มีกาลเช้าและเย็น เป็นต้น
      และกาลมีวัยเป็นหนุ่มสาว มีเรี่ยวแรงและมีความเพียร เป็นต้น
(๓) โอกาสได้แก่ สถานที่ มีอาทิอย่างนี้ คือ บ้าน ป่า ประตูเรือน  
      ท่ามกลางเรือน ถนน รถ หรือทาง ๓ แพ่ง
(๔) อาวุธ ได้แก่ อาวุธ มีอาทิอย่างนี้ คือ ดาบ ลูกศร หรือหอก
(๕) อิริยาบถ  ได้แก่ อิริยาบถ มีการเดินหรือนั่ง ของผู้ที่จะถูกฆ่าให้ตาย เป็นต้น
(๖) กิริยาพิเศษ ได้แก่ กิริยาที่ทำ  มีแทง ตัด ทำลาย ถลกหนังศีรษะ เป็นต้น
       พึงทราบอธิบายเป็นตัวอย่างอย่างนี้เป็นต้นว่า ภิกษุสั่งภิกษุว่าท่านจงฆ่าให้ตายในเวลาเช้า แต่ไม่ได้กำหนดว่าเป็นเช้าวันนี้หรือเช้าวันพรุ่งนี้ ภิกษุผู้รับคำสั่งฆ่าเขาตายในเวลาเช้าวันหนึ่ง ย่อมเป็นปาราชิกทั้ง ๒ รูป ส่วนภิกษุใดได้รับคำสั่งว่า ท่านจงฆ่าให้ตายในเวลาเช้าวันนี้ แต่ภิกษุผู้รับคำสั่งฆ่าเขาตายในเวลาเที่ยงวัน หรือเย็น หรือเวลาเช้าวันพรุ่งนี้ ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องปาราชิก ภิกษุผู้รับคำสั่งเท่านั้นเป็นปาราชิก
       นัยแห่งฐานะที่เหลือภิกษุพึงเข้าใจตามตัวอย่างนี้ เช่น สั่งให้ฆ่าคนนี้ ผู้ฆ่ากลับไปฆ่าอีกคน คนสั่งย่อมไม่เป็นปาณาติบาต ไม่เป็นปาราชิก เป็นต้น
๑๔. “การนำธรรมารมณ์เข้าไป” มีวินิจฉัยดังนี้ เทศนาธรรมพึงทราบว่าธรรม อีกอย่างหนึ่งธรรมารมณ์นั้นอันต่างด้วยความวิบัติในนรกและสมบัติในสวรรค์ ด้วยอำนาจแห่งเทศนา (คือ เทศนาเรื่อง นรก สวรรค์ ก็พึงทราบว่าชื่อว่า ธรรมารมณ์เหมือนกัน)
- ภิกษุกล่าวพรรณนาเรื่องนรกมีเครื่องจองจำ ๕ อย่าง และเครื่องกรรมกรณ์ เป็นต้น แก่สัตว์ผู้ไม่มีสังวร ทำบาปไว้ ซึ่งควรเกิดในนรก ถ้าเขาฟังนรกกถานั้นแล้วตกใจตาย เป็นปาราชิกแก่ภิกษุผู้กล่าว, ถ้าเขาฟังแล้วตายไปตามธรรมดาของตน ไม่เป็นอาบัติ, ภิกษุแสดงด้วยตั้งใจว่า ผู้นี้ได้ฟังแล้วจักไม่ทำกรรมเช่นนั้นอีก จักงด จักเว้น เขาฟังแล้วก็กลับตกใจตาย ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้กล่าว
- ภิกษุกล่าวพรรณนาเรื่องสวรรค์ มีการเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา หรือได้ชื่นชมสวนนันทวัน เป็นต้น เขาฟังแล้วน้อมใจไปในสวรรค์ ต้องการได้สมบัติเร็วๆ ยังทุกข์ให้เกิดด้วยการใช้ศัสตราประหาร กินยาพิษ อดอาหาร หรือกลั้นลมหายใจ เป็นต้น เป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้กล่าว เขาตายไปเป็นปาราชิก แต่ถ้าเขาฟังแล้วตั้งอยู่จนตลอดอายุแล้วตายตามธรรมดา ไม่เป็นอาบัติ ภิกษุกล่าวด้วยตั้งใจว่า ผู้นี้ได้ฟังแล้วจักทำบุญ แต่บุคคลอื่นที่ได้ฟังด้วยกลับกลั้นลมหายใจตายไป ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้กล่าว
๑๕. “อนาบัติ”
- ภิกษุไม่ได้คิดว่า เราจักฆ่าผู้นี้ด้วยความพยายามนี้ แต่เขาตายด้วยความพยายามที่ภิกษุไม่ได้คิด ทำอย่างนั้นไม่เป็นอาบัติ จึงตรัสว่า “ไม่เป็นอาบัติเพราะไม่แกล้ง ไม่จงใจ”
- ภิกษุไม่รู้ว่าผู้นี้จักตายด้วยความพยายามนี้ แต่เขากลับตายด้วยความพยายามนี้ ไม่เป็นอาบัติ ดังที่ตรัสในเรื่องบิณฑบาตเจือด้วยยาพิษว่า “ดูก่อนภิกษุ ไม่ต้องอาบัติแก่เธอผู้ไม่รู้”
- ภิกษุไม่ปรารถนาจะให้ตายแต่เขาตาย ไม่เป็นอาบัติ ดังที่ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ ไม่เป็นอาบัติแก่เธอผู้ไม่ประสงค์จะให้ตาย”
- ภิกษุผู้ฆ่ากันและกันผู้เป็นต้นบัญญัติในสิกขาบทนี้ ไม่เป็นอาบัติ แต่เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งหลายที่เหลือ มีภิกษุผู้พรรณนาคุณแห่งความตาย เป็นต้น
๑๖. ตัวอย่าง
- ภิกษุควรให้คำพร่ำสอนแก่ภิกษุผู้อาพาธโดยนัยนี้ว่า ความเกิดขึ้นแห่งมรรคและผลของท่านผู้มีศีลเป็นของไม่น่าอัศจรรย์เลย เพราะฉะนั้นท่านไม่ควรทำความห่วงใยในสถานที่มีวิหารเป็นต้น ควรตั้งสติไปในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และในกาย ด้วยความไม่ประมาทพิจารณาไปเถิด
- ถามว่า อาสนะเช่นไรต้องพิจารณา เช่นไรไม่ต้องพิจารณา?
       แก้ว่า อาสนะล้วนๆ ไม่มีเครื่องปูลาดข้างบน และอาสนะที่เขาปูลาดต่อหน้าพวกภิกษุผู้มายืนอยู่ ไม่ต้องพิจารณา ควรนั่งได้ แม้บนอาสนะที่ชาวบ้านเขาเอามือปรบๆ เอง แล้วถวายว่า นิมนต์นั่งบนอาสนะนี้เถิด ดังนี้ก็ควรนั่งได้ ถ้าแม้นว่าภิกษุหลายรูปมานั่งอยู่ก่อนแล้ว ภายหลังจึงขยับขึ้นไปข้างบนหรือถอยร่นลงมาข้างล่าง ไม่มีกิจที่จะต้องพิจารณา แม้บนอาสนะที่เขาเอาผ้าบางๆ คลุมไว้พอมองเห็นได้ก็ไม่มีกิจที่จะต้องพิจารณา, ส่วนอาสนะใดซึ่งเป็นของที่เขาเอาผ้าปูลาดไว้ก่อนแล้ว ภิกษุควรเอามือลูบคลำกำหนดดูอาสนะนั้นเสียก่อนจึงนั่ง แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า อาสนะใด แม้ที่เขาเอาผ้าสาฎกที่หนาปูลาดไว้ รอยย่นไม่ปรากฏ อาสนะนั้นไม่ต้องพิจารณา
- ภิกษุผู้บุตรถูกใครๆ เรียกว่า บุตรของพระเถระแก่ จึงอัดอัด คิดฆ่าภิกษุผู้เป็นบิดา
- ภิกษุผู้เป็นหมอผีขับไล่ภูตผี ต้องการจะช่วยเหลือบุคคลผู้ถูกยักษ์เข้าสิง จึงเรียกยักษ์ให้ออกมาแล้วพูดว่า จงปล่อย ถ้ายักษ์ไม่ปล่อย อาจารย์หมอผีก็เอาแป้งหรือดินเหนียวทำเป็นรูปหุ่น แล้วตัดอวัยวะ มีมือและเท้าเป็นต้นเสีย อวัยวะใดๆ ของรูปหุ่นนั้นขาดไป อวัยวะนั้นๆ ของยักษ์ย่อมชื่อว่าเป็นอันหมอผีตัดแล้วเช่นกัน เมื่อศีรษะของรูปหุ่นถูกตัดยักษ์ก็ตาย ภิกษุหมอผีได้ฆ่ายักษ์ตายด้วยวิธีนี้จึงทรงปรับเป็นถุลลัจจัย ภิกษุแม้ท้าวสักกเทวราชก็ต้องถุลลัจจัยเหมือนกัน
       อนึ่ง หากภิกษุถูกผีสิง ภิกษุไม่ควรให้การประหารแก่ภิกษุผู้ถูกผีสิง แต่พึงเอาใบตาลหรือเส้นด้วยพระปริตรผูกไว้ที่มือหรือเท้า พึงสวดพระปริตรทั้งหลายมีรัตนสูตรเป็นต้น พึงกล่าวธรรมว่า ท่านอย่าเบียดเบียนภิกษุผู้มีศีลเลย ดังนี้
- “หญิงหมัน” หญิงผู้ไม่ตั้งครรภ์ ชื่อว่า หญิงหมัน ธรรมดาหญิงไม่ตั้งครรภ์ย่อมไม่มี แต่ว่าครรภ์แม้ที่หญิงคนใดตั้งขึ้นแล้ว ไม่ดำรงอยู่ ข้อนี้ท่านกล่าวหมายเอาหญิงนั้น (ครรภ์ที่ไม่ดำรงอยู่) ได้ยินว่า ในคราวมีระดู หญิงทุกจำพวกย่อมตั้งครรภ์ แต่อกุศลวิบากมาประจวบเข้าแก่พวกสัตว์ผู้เกิดในท้องของหญิง ที่เรียกกันว่าเป็นหมันนี้ สัตว์เหล่านั้น (สัตว์ที่มาเกิดในครรภ) ถือปฏิสนธิมาด้วยกุศลวิบากเพียงเล็กน้อย ถูกอกุศลวิบากครอบงำจึงพินาศไป จริงอยู่ ในขณะปฏิสนธิใหม่ๆ นั่นเอง ครรภ์ตั้งอยู่ไม่ได้ด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ ด้วยลมและด้วยสัตว์เล็กๆ เพราะอานุภาพกรรม ลมพัด (ครรภ์) ให้แห้งแล้ว ทำให้อันตรธานไป หรือสัตว์เล็กๆ ทั้งหลายกัดกิน ทำให้ครรภ์อันตรธานไป เมื่อแพทย์ประกอบเภสัชเพื่อกำจัดลมและพวกสัตว์เล็กๆ นั้นแล้ว ครรภ์ก็พึงตั้งอยู่ได้ แต่ภิกษุนั้นไม่ได้ปรุงเภสัชขนานนั้น ได้ให้เภสัชที่ร้ายแรงขนานอื่น นางได้ตายไปเพราะเภสัชขนานนั้น พระองค์ทรงปรับอาบัติทุกกฎ เพราะภิกษุปรุงเภสัช

๑๗. “ภิกษุไม่ควรทำยาแก่คนอื่น แต่ควรทำให้สหธรรมิกทั้ง ๕”
ภิกษุไม่ควรทำเภสัชแก่คนอื่นๆ หากทำต้องทุกกฎ แต่ควรทำให้แก่สหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี เพราะทั้ง ๕ นี้ เป็นผู้มีศีล มีศรัทธาและปัญญาเสมอกัน ทั้งประกอบในไตรสิกขาด้วย ภิกษุจะไม่ทำเภสัชให้ย่อมไม่ได้ และเมื่อจะทำ ถ้าสิ่งของๆ สหธรรมิกเหล่านั้นมีอยู่ พึงถือเอาสิ่งของๆ สหธรรมิกเหล่านั้นปรุงให้ ถ้าไม่มีควรเอาของๆ ตนทำให้ ถ้าของตนก็ไม่มี พึงแสวงหาด้วยภิกขาจารวัตร หรือจากที่แห่งญาติและคนปวารณา, เมื่อไม่ได้ควรนำสิ่งของมาทำให้แม้ด้วยการไม่ทำวิญญัติ เพื่อประโยชน์แก่คนไข้
- และควรทำยาให้แก่คน ๕ จำพวกอื่นอีก คือ มารดา ๑ บิดา ๑ คนบำรุงมารดาบิดา ๑ ไวยาจักรของตน ๑ คนปัณฑุปลาส ๑
       คนผู้ที่ชื่อว่า ปัณฑุปลาส ได้แก่ คนผู้เพ่งบรรพชา ยังอยู่ในวิหารตลอดเวลาที่ยังตระเตรียมบาตรและจีวร บรรดาชน ๕ จำพวกเหล่านั้น ถ้ามารดาและบิดาเป็นใหญ่ ไม่หวังตอบแทนจากบุตรไซร้ ภิกษุผู้เป็นบุตรจะไม่ทำให้ก็ควร แต่ถ้าท่านทั้ง ๒ ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ยังหวังตอบแทนอยู่ จะไม่ทำ ไม่ควร เมื่อท่านทั้ง ๒ หวังเภสัช ควรให้เภสัช เมื่อท่านทั้งสองไม่รู้วิธีประกอบยา ควรประกอบยาให้ ควรแสวงหาเภสัชเพื่อประโยชน์แก่ชน ๕ จำพวก มีมารดาเป็นต้น แม้ทั้งหมดโดยนัยดังกล่าวในสหธรรมิก นั่นแล
       ก็ถ้าภิกษุนำมารดามาปรนนิบัติอยู่ในวิหารอย่างถูกต้อง พึงดูแลทุกอย่าง พึงให้ของเคี้ยวของบริโภคด้วยมือของตนเอง ส่วนบิดาพึงบำรุงทำกิจทั้งหลาย มีการให้อาบน้ำและการนวดเป็นต้น ด้วยมือตนเองเหมือนอย่างสามเณรฉะนั้น ชนเหล่าใดย่อมบำรุงดูแลมารดาและบิดาของภิกษุ ภิกษุควรทำเภสัชให้อย่างนั้นเหมือนกัน, คนผู้ที่ชื่อว่า ไวยาจักร ได้แก่ ผู้รับเอาค่าจ้างแล้ว ตัดฟืนในป่าหรือทำการงานอะไรๆ อย่างอื่น เมื่อเกิดเป็นโรคขึ้นแก่เขา ภิกษุควรทำเภสัชให้จนกว่าพวกญาติจะพบเห็น, ส่วนผู้ใดเป็นเพียงคนอาศัยภิกษุทำการงานทุกอย่าง ภิกษุควรทำเภสัชให้แก่คนคนนั้นเหมือนกัน พึงปฏิบัติแก่ปัณฑุปลาสเหมือนกับปฏิบัติต่อสามเณร
- ภิกษุควรทำยาให้แก่คนอีก ๑๐ จำพวก คือ พี่ชาย ๑ น้องชาย ๑ พี่หญิง ๑ น้องหญิง ๑ น้าหญิง ๑ ป้า ๑ อาชาย ๑ ลุง ๑ อาหญิง ๑ น้าชาย ๑
       ก็เมื่อจะทำให้แก่คน มีพี่ชายเป็นต้น ควรเอาเภสัชอันเป็นของคนเหล่านั้นปรุงให้ แต่ถ้าสิ่งของๆ คนเหล่านั้นไม่เพียงพอ และชนเหล่านั้นก็ขอร้องอยู่ว่า ท่านขอรับ โปรดให้พวกกระผมเถิด พวกกระผมจักถวายคืนแก่พระคุณท่าน ควรให้เป็นของยืม, หากพวกเขาไม่ขอร้อง ภิกษุควรพูดว่า อาตมามีเภสัชอยู่ พวกท่านจงถือเอาเป็นของยืมเถิด หรือควรทำความผูกใจไว้ว่า สิ่งของๆ คนเหล่านั้นจักมีเมื่อใด เขาจักให้เมื่อนั้น ดังนี้แล้วพึงให้ไป ถ้าเขาคืนให้ควรรับเอา ถ้าไม่คืน ไม่ควรทวง
       เว้นญาติ ๑๐ จำพวกเหล่านี้แล้ว ไม่ควรให้แก่คนเหล่าอื่น ก็เมื่อภิกษุใช้ให้ญาตินำจตุปัจจัยมาตราบเท่าจนถึง ๗ ชั่วเครือสกุลโดยสืบๆ กันมาแห่งบุตรของญาติ ๑๐ จำพวก มีพี่ชายเป็นต้น เหล่านั้น ไม่เป็นการทำวิญญัติ เมื่อเภสัชแก่ชนเหล่านั้นก็ไม่เป็นเวชกรรม หรือไม่เป็นอาบัติเพราะประทุษร้ายสกุล
       ถ้าพี่สะใภ้ น้องสะใภ้ หรือพี่เขย น้องเขย เป็นไข้ ถ้าเขาเป็นญาติ จะทำเภสัชให้ก็ควร ถ้าเขามิใช่ญาติพึงทำให้แก่พี่ชายและพี่หญิงด้วย สั่งว่า จงให้ในที่ปฏิบัติของพวกท่าน อีกอย่างหนึ่งพึงทำให้แก่บุตรของเขา ด้วยสั่งว่า จงให้แก่มารดาและบิดาของพวกเจ้าเถิด พึงทราบวินิจฉัยในบททั้งปวงโดยอุบายนี้
       อันภิกษุ เมื่อจะใช้สามเณรทั้งหลายให้นำเภสัชมาจากป่า เพื่อประโยชน์แก่พี่สะใภ้ น้องสะใภ้ เป็นต้น ควรใช้พวกสามเณรที่เป็นญาติให้นำมา หรือพึงให้นำมาเพื่อประโยชน์แก่ตนแล้วจึงให้ไป แม้สามเณรผู้มิใช่ญาติเหล่านั้นก็ควรนำมา ด้วยหัวข้อวัตรว่า พวกเราจะนำมาถวายพระอุปัชฌาย์
       หากโยมมารดาและบิดาของพระอุปัชฌาย์เป็นไข้ มายังวิหารในขณะที่พระอุปัชฌาย์ไม่อยู่ สัทธิวิหาริกควรให้เภสัชอันเป็นของๆ พระอุปัชฌาย์ ถ้าไม่มี ควรบริจาคเภสัชของตนถวายพระอุปัชฌาย์ให้ไป เมื่อของๆ ตนก็ไม่มี ควรแสวงหาทำให้เป็นของๆ พระอุปัชฌาย์แล้วให้ไป โดยนัยดังกล่าวแล้ว ในการปฏิบัติต่อโยมมารดาและบิดาของสัทธิวิหาริก แม้พระอุปัชฌาย์ก็ควรปฏิบัติเหมือนอย่างนั้นเหมือนกัน ในอาจารย์และอันเตวาสิกก็นัยนี้
- ภิกษุควรทำยาให้แก่คน ๕ จำพวก คือ คนจรมา ๑  โจร๑  นักรบแพ้ ๑   ผู้เป็นใหญ่ ๑  คนที่พวกญาติสละเตรียมจะไป ๑    
       เมื่อพวกเขาเป็นไข้เข้าไปสู่วิหาร ภิกษุไม่หวังตอบแทน ควรทำเภสัชให้แก่คนทั้งหมดนั้น มีคนบางคนเป็นไข้ คนทั้งหลายเรียนขอเพื่อประโยชน์แก่ผู้เป็นไข้นั้นว่า ท่านขอรับ ขอพระคุณเจ้านำเภสัชให้ด้วยความวิสาสะเถิด ภิกษุไม่ควรให้ ทั้งไม่ควรทำลาย, ก็ถ้าพวกเขารู้สิ่งที่ควร เรียนถามว่า ท่านขอรับ เขาปรุงเภสัชอะไรแก้โรคชื่อโน้น? ภิกษุจะตอบว่า เขาเอาส่วนและสิ่งนี้ทำ ดังนี้ก็ควร, ก็ภิกษุถูกคฤหัสถ์เรียนถามอย่างนี้ว่า ท่านขอรับ มารดาของกระผมเป็นไข้ ขอได้โปรดบอกเภสัชด้วยเถิด ดังนี้ไม่ควรบอก แต่ควรสนทนาถ้อยคำกันและกันว่า อาวุโส ในโรคชนิดนี้ของภิกษุชื่อโน้น เขาปรุงเภสัชอะไรแก้? ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า เขาเอาสิ่งนี้และนี้ปรุงเภสัช ขอรับ ฝ่ายชาวบ้านฟังคำสนทนานั้นแล้วย่อมปรุงเภสัช แก่มารดา ข้อที่ภิกษุสนทนา (กันเอง) นั้น ย่อมควร

๑๘. “ว่าด้วยอนามัฏฐบิณฑบาต” (อาหารที่ภิกษุบิณฑบาตได้มายังไม่ได้ฉัน จะให้แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่ภิกษุด้วยกันไม่ได้ นอกจากมารดาบิดา)
       ถามว่า อนามัฏฐบิณฑบาตควรให้แก่ใคร ไม่ควรให้แก่ใคร? แก้ว่า ควรให้แก่มารดาและบิดาก่อน, ก็หากว่าบิณฑบาตนั้นจะเป็นของมีราคาตั้งกหาปณะ ก็ไม่จัดว่าเป็นการยังศรัทธาไทยให้ตกไป, ควรให้แก่คนที่บำรุงดูแลบิดามารดา ไวยาจักร คนปัณฑุปลาส
     บรรดาคนทั้ง ๔ สำหรับคนปัณฑุปลาสจะใส่ในภาชนะให้ก็ควร เว้นคนปัณฑุปลาสนั้นเสีย จะใส่ในภาชนะให้แก่คฤหัสถ์เหล่าอื่น แม้เป็นมารดาบิดาก็ไม่ควร, เพราะว่าเครื่องบริโภคของบรรพชิตตั้งอยู่ในฐานเป็นเจดีย์ (ที่เคารพ) ของพวกคฤหัสถ์
       อีกอย่างหนึ่ง อนามัฏฐบิณฑบาตนี้พึงให้แก่โจรผู้ลือชื่อบ้าง ทั้งแก่อิสรชน (ผู้เป็นใหญ่) บ้าง ผู้มาถึงเข้า เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่าชนเหล่านั้น แม้เมื่อไม่ให้ก็โกรธว่าไม่ให้ แม้เมื่อต้องให้ก็โกรธว่าให้ ของเป็นเดน ชนเหล่านั้นโกรธแล้วย่อมปลงจากชีวิตบ้าง ย่อมทำให้อันตรายแก่พระศาสนาบ้าง

๑๙. ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ นี้ มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดแต่กายกับจิต ๑ เกิดแต่วาจากับจิต ๑ เกิดแต่กายวาจากับจิต ๑ (ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า พรรณนาคุณแห่งความตายด้วยกายและวาจา และจิตคิดฆ่าให้ตาย) เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ เป็นกายกรรม วจีกรรม เป็นอกุศลจิต เป็นทุกขเวทนา (โทสมูลจิต)


          คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
น หิ เวเรน เวรานิ    สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ    เอส ธมฺโม สนนฺตโน ฯ ๕ ฯ
     แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้  เวรไม่มีระงับด้วยการจองเวร
     มีแต่ระงับด้วยการไม่จองเวร  นี้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว
     At any time in this world, Hatred never ceases by haterd,
     But through non-hatred it ceases, This is an eternal law.

     ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก   (http://www.sookjai.com/Themes/default/images/post/xx.gif)

(http://www.sookjaipic.com/images/3584230658_11.gif)


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 สิงหาคม 2557 14:12:55
.
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)

ปาราชิก สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๔)
ภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน ต้องปาราชิก

เหล่าภิกษุอยู่จำพรรษาที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา : ต้นบัญญัติปาราชิก สิกขาบทที่ ๔

    ครั้งนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกันซึ่งเคยเป็นเพื่อนเห็นเพื่อนคบกันมา จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา สมัยนั้นวัชชีชนบทที่ภิกษุอาศัยอยู่เกิดอัตคัดอาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีข้าวขาย ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์เป็นอยู่อย่างลำบากด้วยบิณฑบาต
     ภิกษุเหล่านั้นปรึกษากันว่า ด้วยอุบายใด พวกเราจะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียง ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ต้องลำบากด้วยบิณฑบาต
     เกิดข้อเสนอหลายข้อ เช่น ไปช่วยคฤหัสถ์ทำกิจการต่างๆ เป็นทูตนำข่าวสาสน์ และวิธีกล่าวชมคุณวิเศษของกันและกัน
     ที่สุดตกลงใจร่วมกันว่า พวกเราจักกล่าวชมอุตริมนุสธรรมของกันและกันให้พวกคฤหัสถ์ได้ยิน เช่นภิกษุรูปนี้กล่าวชมภิกษุรูปโน้นว่าได้ปฐมฌาน รูปนี้ได้ทุติยฌาน...เป็นพระโสดาบัน... พระสกทาคามี... พระอนาคามี... เป็นพระอรหันต์...
     ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าชมกันและกันให้คฤหัสถ์ได้ยินแล้ว ประชาชนพากันยินดีว่าเป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้ดีแล้วหนอ ที่มีภิกษุผู้มีคุณวิเศษทั้งหลายจำพรรษาอยู่ที่นี้ จึงพากันถวายโภชนะของควรเคี้ยว ควรบริโภค ควรลิ้ม ควรดื่ม เป็นอันมาก ภิกษุเหล่านั้นถึงความเป็นผู้มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง อินทรีย์ผ่องใส ในขณะที่ภิกษุเหล่าอื่นซูบผอม เนื้อตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น
     เมื่อออกพรรษาภิกษุทุกสารทิศพากันเข้าเฝ้าที่ป่ามหาวัน พระนครเวสาลี พระศาสดาตรัสถามถึงความเป็นอยู่ของภิกษุทั้งหลาย จนมาถึงเหล่าภิกษุผู้จำพรรษาที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา


พุทธประเพณี
    พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสก็มี ทรงทราบอยู่ ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบแล้วไม่ตรัสถาม ย่อมตรัสถามสิ่งทีประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ จักทรงแสดงธรรม อย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลาย อย่างหนึ่ง (ครั้งนี้ตรัสถามเพื่อจะทรงบัญญัติสิกขาบท)
     ภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทากราบทูลถึงความเป็นอยู่ทั้งหมด ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คุณวิเศษของพวกเธอนั่นมีจริงหรือ ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ไม่มีจริง พระพุทธเจ้าข้า
     ทรงติเตียน เป็นต้นว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ ไฉนพวกเธอจึงได้กล่าวชมอุตริมนุสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งท้องเล่า ดูก่อนโมฆบุรุษทั้งหลาย ท้องอันพวกเธอคว้านแล้วด้วยมีดเชือดโคอันคมยังดีกว่าอันพวกเธอกล่าวชมอุตริมนุสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งท้องไม่ดีเลย เพราะเหตุไร? เพราะบุคคลผู้คว้านท้องด้วยมีดนั้น พึงถึงความตาย หรือความทุกข์เพียงแค่ความตาย แต่เบื้องหน้าหลังกายแตกตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้กล่าวชมกันและกัน ด้วยคุณอันไม่มีอยู่จริง พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก...


มหาโจร ๕ จำพวก
จากนั้น ทรงแสดงมหาโจร ๕ จำพวก คือ
๑. มหาโจรบางคนในโลกนี้ ย่อมปรารถนาให้บุรุษร้อยหนึ่งพันหนึ่งแวดล้อม แล้วเที่ยวเบียดเบียนคามนิยม ราชธานี ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยก็เป็นเช่นนี้ ย่อมปรารถนาว่าเมื่อไหร่หนอ เราจักมีภิกษุร้อยหนึ่งพันหนึ่งแวดล้อม เที่ยวจาริกไปให้คฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ  บูชาถวายปัจจัย มีประการต่างๆ
๒. ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมยกตนขึ้นว่า ตนรู้เอง ไม่มีศาสดาสอน นี้เป็นมหาโจรพวกที่ ๒
๓. ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อยู่ ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อันหามูลมิได้ (โจทว่าเป็นปาราชิกโดยไม่มีมูล) นี้เป็นมหาโจรพวกที่ ๓
๔. ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขารของสงฆ์ คือ อาราม พื้นที่อาราม วิหาร เตียง ตั่ง ฟูก โลหะ มีด เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกระต่าย หญ้าสามัญ ดินเหนียว...นี้เป็นมหาโจรพวกที่ ๔
๕. ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตริมนุสธรรมอันไม่มีอยู่จริง อันไม่เป็นจริง นี้จัดเป็นยอดมหาโจรในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นด้วยอาการแห่งคนขโมย
     จากนั้น ทรงมีพระบัญญัติว่า...(กล่าวอวดอุตริมนุสธรรม อันไม่มีอยู่จริง เป็นปาราชิก)
     สมัยต่อมา ภิกษุเป็นอันมากสำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้เห็นว่าได้เห็น สำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้บรรลุว่าได้บรรลุ จึงอวดอ้างมรรคผลตามที่เข้าใจว่าได้บรรลุ ครั้นต่อมาจิตของพวกเธอกลับน้อมไปเพื่อความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลงอีก จึงรังเกียจว่า พวกเธอต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูล...ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
     อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะกล่าวอวดอุตริมนุสธรรมอันเป็นความรู้ความเห็นอย่างประเสริฐอย่างสามารถน้อมเข้ามาใจตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้นผู้ใดผู้หนึ่งถือตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว เมื่อมุ่งความหมดจดจะถึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”


อรรถาธิบาย
    - บทว่า ไม่รู้เฉพาะ คือ ไม่รู้ ไม่เห็น กุศลธรรมในตน ซึ่งไม่มี ไม่เป็นจริง ไม่ปรากฏว่าข้าพเจ้ามีกุศลธรรม
     - บทว่า อุตริมนุสธรรม ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ มรรคภาวนา การทำให้แจ้งซึ่งผล การละกิเลส ความเปิดจิต ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า
     - บทว่า การอวด คือ บอกแก่สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต
     - บทว่า ความรู้ ได้แก่ วิชชา ๓, บทว่า ความเห็น อธิบายว่า อันใดเป็นความรู้ อันนั้นเป็นความเห็น อันใดเป็นความเห็น อันนั้นเป็นความรู้ (ความรู้ความเห็นเป็นอย่างเดียวกัน)
     - บทว่า น้อมเข้ามาในตน ได้แก่ น้อมกุศลธรรมเหล่านั้นเข้ามาในตน หรือน้อมตนเข้าไปในกุศลธรรมเหล่านั้น
     - คำว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ความว่า ข้าพเจ้ารู้ธรรมเหล่านี้ ข้าพเจ้าเห็นธรรมเหล่านี้ ข้าพเจ้ามีธรรมเหล่านี้ และข้าพเจ้าเห็นชัดในธรรมเหล่านี้
     - บทว่า ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น คือ เมื่อขณะคราวครู่หนึ่งที่ภิกษุกล่าวอวดนั้นผ่านไปแล้ว
     - บทว่า อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตาม คือ มีบุคคลเชื่อในสิ่งที่ภิกษุปฏิญาณแล้ว โดยถามว่า ท่านบรรลุอะไร ได้บรรลุด้วยวิธีใด เมื่อไร ที่ไหน ท่านละกิเลสเหล่าไหนได้ ท่านได้ธรรมหมวดไหน
     - บทว่า ไม่ถือเอาตาม คือ ไม่มีใครๆ พูดถึง
     - บทว่า ต้องอาบัติแล้ว ความว่า ภิกษุผู้มีความอยากอันลามก อันความอยากครอบงำแล้ว พูดอวดอุตริมนุสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง ย่อมเป็นผู้ต้องอาบัติปาราชิก
     - บทว่า  มุ่งความหมดจด คือ ประสงค์จะเป็นคฤหัสถ์ หรือประสงค์จะเป็นอุบาสก หรือประสงค์จะเป็นอารามิก หรือประสงค์จะเป็นสามเณร (คือ ไม่อาจดำรงอยู่ในภิกษุวาวะได้อีกต่อไป)
     - แม้ตอนหลังจะพูดว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้ ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นธรรมเหล่านั้น ได้กล่าวว่าเห็น ข้าพเจ้าพูดพล่อยๆ พูดเท็จ พูดไม่จริง พูดสิ่งที่ไม่มี ข้าพเจ้าไม่รู้ได้พูดแล้ว (ก็ไม่พ้นความเป็นปาราชิก) เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ คือยกเว้นภิกษุที่เข้าใจว่าตนได้บรรลุ
     -บทว่า แม้ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าตรัสเทียบถึงภิกษุรูปก่อนๆ (คือ พระสุทินน์ พระธนิยะ และภิกษุหลายรูปในสิกขาบทที่ ๑,๒,๓)
     - ที่ชื่อว่า อุตริมนุสธรรม ได้แก่ ธรรมอันยิ่งยวดของมนุษย์
       ๑. ที่ชื่อว่า ฌาน ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน (อรูปฌานจัดเป็นจตุตถฌาน)
       ๒. ที่ชื่อว่า วิโมกข์ ได้แก่ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์
       ๓. ที่ชื่อว่า สมาธิ ได้แก่ สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิ
       ๔. ที่ชื่อว่า สมาบัติ ได้แก่ สุญญตสมาบัติ อนิมิตตสมาบัติ อัปปหิตสมาบัติ
       ๕. ที่ชื่อว่า ณาณ ได้แก่ วิชชา ๓ (ปุพเพนิวาสานุสติญาณ, จุตูปปาตญาณ, อาสวักขยญาณ)
       ๖. ที่ชื่อว่า มรรคภาวนา ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
       ๗. ที่ชื่อว่า การทำให้แจ้งซึ่งผล ได้แก่ การทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล การทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล การทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล การทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผล
       ๘. ที่ชื่อว่า การละกิเลส ได้แก่ การละราคะ การละโทสะ การละโมหะ
       ๙. ที่ชื่อว่า ความเปิดจิต ได้แก่ ความเปิดจิตจากราคะ ความเปิดจิตจากโทสะ ความเปิดจิตจากโมหะ
     ๑๐. ที่ชื่อว่า ความยินดีในเรือนอันว่างเปล่า ได้แก่ ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยปฐมญาณ ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยทุติยฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยตติยฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยจตุตถฌาน


อาบัติ
    ๑. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ปฐมฌาน...ข้าพเจ้าเข้าปฐมญานแล้ว...เข้าปฐมฌานอยู่...ข้าพเจ้าเป็นผู้ชำนาญปฐมฌาน...ปฐมฌานข้าพเจ้าทำให้แจ้งแล้ว... ต้องอาบัติปาราชิก
     ๒. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ทุติยฌาน...ตติยฌาน...จตุตถฌาน...ต้องอาบัติปาราชิก
     ๓. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้สุญญตวิโมกข์...ข้าพเจ้าเข้าสุญญตวิโมกข์...ข้าพเจ้าเข้าสุญญตวิโมกข์อยู่...ต้องปาราชิก
     ๔. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้อนิมิตตวิโมกข์...อัปปณิหิตวิโมกข์...ต้องอาบัติปาราชิก
     ๕. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้สุญญตสมาธิ...อนิมิตตสมาธิ ...อัปปณิหิตสมาธิ...สุญญตสมาบัติ...อนิมิตตสมาบัติ...อัปปณิหิตสมาบัติ... ต้องอาบัติปาราชิก
     ๖. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้วิชชา ๓ (ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ๑ จุตูปปาตญาณ ๑ อาสวักขยญาณ๑) ข้าพเจ้าเข้าวิชชา ๓...ข้าพเจ้าทำให้แจ้งวิชชา ๓ แล้ว...ต้องอาบัติปาราชิก
     ๗. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้สติปัฏฐาน ๔...สัมมัปปธาน ๔...อิทธิบาท ๔...อินทรีย์ ๕...พละ ๕...โพชฌงค์ ๗...อริยมรรคมีองค์ ๘...ต้องอาบัติปาราชิก (ธรรมทั้ง ๗ นี้ ชื่อโพธิปักขิยธรรมซึ่งประกอบพร้อมในโลกุตตรมรรค)
     ๘. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้โสดาปัตติผล...สกทาคามิผล...อนาคามิผล...อรหัตผล... ต้องอาบัติปาราชิก
     ๙. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ราคะข้าพเจ้าละแล้ว...โทสะข้าพเจ้าละแล้ว...โมหะข้าพเจ้าละแล้ว...ต้องอาบัติปาราชิก
    ๑๐. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า จิตของข้าพเจ้าเปิดจากราคะ...เปิดจากโทสะ...เปิดจากโมหะ...ต้องอาบัติปาราชิก
    ๑๑. ภิกษุรู้อยู่ ประสงค์จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว ดังนี้ แต่กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเข้าทุติยฌาน... เมื่อเขาเข้าใจ ต้องอาบัติปาราชิก หากเขาไม่เข้าใจต้องอาบัติถุลลัจจัย
    ๑๒. ภิกษุรู้อยู่ประสงค์จะกล่าวอวดอย่างหนึ่ง แต่กลับกล่าวอวดอีกอย่างหนึ่ง หากผู้ฟังไม่เข้าใจต้องอาบัติปาราชิก หากเขาไม่เข้าใจต้องอาบัติถุลลัจจัย
    ๑๓. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ภิกษุใดอยู่ในวิหารของท่าน ภิกษุนั้นเข้าแล้ว เข้าอยู่ เข้าได้แล้ว ทำให้แจ้งซึ่งปฐมฌาน...เปิดจิตจากโมหะแล้ว...เขาเข้าใจต้องอาบัติถุลลัจจัย เมื่อเขาไม่เข้าใจต้องอาบัติทุกกฎ
    ๑๔. ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ภิกษุใดนุ่งห่มจีวรของท่าน...บริโภคบิณฑบาตของท่าน...ใช้สอยเสนาสนะของท่าน...บริโภคเครื่องยาอันเป็นปัจจัยของภิกษุไข้ของท่าน...ภิกษุนั้นทำให้แจ้งซึ่งปฐมฌาน...เปิดจิตจากโมหะแล้ว...เมื่อเขาเข้าใจต้องอาบัติถุลลัจจัย...เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฎ
    ๑๕. ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวเท็จว่า ท่านอาศัยภิกษุแล้ว ได้ถวายวิหาร...จีวร...บิณฑบาต...เภสัชบริขาร...ภิกษุนั้นทำให้แจ้งซึ่งปฐมฌาน...เปิดจิตจากโมหะแล้ว...เมื่อเขาเข้าใจต้องอาบัติถุลลัจจัย...เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฎ


อนาบัติ
ภิกษุสำคัญว่าได้บรรลุ ๑ ภิกษุไม่ประสงค์จะกล่าวอวด ๑ วิกลจริต ๑ มีจิตฟุ้งซ่าน ๑ กระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้า ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

ตัวอย่าง
    ๑. ภิกษุรูปหนึ่งอวดอ้างคุณวิเศษด้วยสำคัญว่าได้บรรลุแล้ว เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องปาราชิกแล้วกระมัง จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติ เพราะสำคัญได้บรรลุ
     ๒. ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ป่าด้วยตั้งใจว่า คนจักยกย่องเราด้วยวิธีนี้ คนได้ยกย่องเธอแล้ว เธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุไม่พึงอยู่ป่าด้วยตั้งใจเช่นนั้น ภิกษุใดอยู่ป่าด้วยตั้งใจเช่นนั้น ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๓. ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวกับภิกษุอีกรูปหนึ่งว่า อาวุโส พวกภิกษุสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์ของพวกเราล้วนเป็นพระอรหันต์ เธอมีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร ภิกษุกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าประสงค์จะพูดอวด ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
     ๔. ภิกษุรูปหนึ่งเดินจงกรมอยู่ด้วยตั้งใจว่า ด้วยวิธีนี้คนจักยกย่องเรา เธอมีความรังเกียจ...จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุไม่พึงเดินจงกรมด้วยตั้งใจเช่นนั้น ภิกษุใดเดินจงกรมด้วยตั้งใจเช่นนั้น ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๕. ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในที่ลับ พูดอวดอุตริมนุสธรรม ภิกษุผู้รู้จิตของบุคคลอื่นตักเตือนเธอว่า อาวุโส คุณอย่าได้พูดเช่นนั้น เพราะธรรมเช่นนั้นไม่มีแก่คุณ ภิกษุนั้นมีความรังเกียจจึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๖. ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายได้พากันถามว่า อุตริมนุสธรรมของคุณมีหรือ ภิกษุนั้นตอบรับว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย การทำให้แจ้งอรหัตตผล ไม่ใช่ของทำได้ยาก เธอมีความรังเกียจ...จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอคิดอย่างไร ภิกษุนั้นทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มีความประสงค์จะพูดอวด ตรัสว่า ภิกษุผู้ไม่มีความประสงค์จะพูดอวด ไม่ต้องอาบัติ
     ๗. พราหมณ์ผู้หนึ่งนิมนต์ภิกษุทั้งหลายมาแล้วได้กล่าวว่า นิมนต์พระอรหันต์ทั้งหลาย จงนั่งเถิดเจ้าข้า ภิกษุเหล่านั้นมีความรังเกียจว่า พวกเราหาได้เป็นพระอรหันต์ไม่ พวกเธอจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ จึงกราบทูล... ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่เป็นอาบัติเพราะเขากล่าวด้วยความเลื่อมใส
     ๘. ภิกษุรูปหนึ่งพูดอวดอุตริมนุสธรรมแก่ภิกษุอีกรูปหนึ่ง แม้ภิกษุรูปนั้นก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส แม้ผมก็ละอาสวะได้แล้ว มีความรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว


สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๒/๖๐๕/๖๖๔ อธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
๑. บทว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺมสฺส ได้แก่ ธรรมที่ล่วงเลยพวกมนุษย์ไป อธิบายว่า ธรรมที่ล่วงเลยพวกมนุษย์ไปให้ลุถึงความเป็นพรหมหรือพระนิพพาน อีกอย่างหนึ่งได้แก่ ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง คือ บุรุษผู้ประเสริฐสุด ซึ่งเป็นผู้ได้ฌานและเป็นพระอริยเจ้า, ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่งคือ ท่านผู้ได้ฌานและพระอริยเจ้าทั้งหลาย
๒. ภิกษุทั้งหลายปรึกษากันว่า เราควรช่วยอำนวยกิจการและการเป็นทูตนำข่าวสาสน์ให้แก่พวกคฤหัสถ์ แต่กิจทั้งสองนี้มีการแข่งดีกันมาก ทั้งเป็นของไม่สมควรแก่สมณะ ส่วนข้อที่พวกเราพากันกล่าวชมอุตริมนุสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์นี้แล เป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญกว่า คือ ยอดเยี่ยมกว่า ดีกว่ากิจทั้งสองนั้นเป็นไหนๆ พวกเราจักกล่าวชมกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ผู้ถามถึงหรือผู้มิได้ถามถึงอย่างนี้ว่า ภิกษุชื่อพุทธรักขิตได้ปฐมฌาน ท่านธรรมรักขิตได้ทุติยฌาน ดังนี้เป็นต้น
๓. โดยที่แท้ ภัณฑะที่จัดเป็นครุภัณฑ์ (ของสงฆ์) ก็เพราะเป็นของที่ไม่ควรจำหน่าย โดยมีพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัณฑะ ๕ หมวดนี้ ไม่ควรจำหน่าย, สงฆ์ หรือคณะ หรือบุคคล แม้จำหน่ายไปก็ไม่เป็นอันจำหน่าย ภิกษุใดจำหน่าย (ขาย, แจก, ให้) ปรับอาบัติถุลลัจจัยแก่ภิกษุนั้น ภัณฑะ ๕ หมวดคืออะไรบ้าง คือ อาราม อารามวัตถุ ฯลฯ ภัณฑะไม้ ภัณฑะดิน บริขารที่จัดเป็นครุบริขาร โดยความเป็นบริขารสาธารณะเพราะเป็นของไม่ควรแจก ดังนี้เป็นต้น (วินย.จุล.ข้อ ๒๙๒) ภิกษุให้ครุภัณฑ์ ครุบริขาร มีอารามเป็นต้นเหล่านั้นสงเคราะห์แก่คฤหัสถ์ จัดเป็นมหาโจรพวกที่ ๔ ก็แลภิกษุนั้น เมื่อจำหน่ายครุภัณฑ์นี้เพื่อสงเคราะห์สกุล ย่อมต้องอาบัติกุลทูสกทุกกฎด้วย (ดูสังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๓) ย่อมเป็นผู้ควรแก่ปัพพาชนีกรรมด้วย เมื่อจำหน่ายด้วยความเป็นผู้มีความเป็นใหญ่เหนือภิกษุสงฆ์ย่อมต้องถุลลัจจัย เมื่อจำหน่ายด้วยไถยจิตพึงให้ตีราคาสิ่งของปรับอาบัติแล
๔. ภิกษุที่ลักฉ้อโลกุตตรธรรมซึ่งสุขุมละเอียดนัก เป็นไปล่วงการถือเอาด้วยอินทรีย์ ๕ (มีตาและหู เป็นต้น) นี้จัดเป็นโจรใหญ่ที่สุดของมหาโจรเหล่านี้
       ถามว่า โลกุตตรธรรม บุคคลอาจลวงคือลักฉ้อเอาเหมือนมีทรัพย์มีเงินแลทองเป็นต้นได้หรือ? ตอบว่า ไม่อาจ ด้วยเหตุนั้นแลจึงตรัสว่า ภิกษุใดกล่าวอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีอยู่ ไม่เป็นจริง ภิกษุนี้ย่อมกล่าวอวดธรรมที่ไม่มีอยู่ในตนอย่างเดียวว่าธรรมนี้ของเรามีอยู่ แต่ไม่อาจให้อุตริมนุสธรรมนั้นเคลื่อนเข้ามาสู่ตนได้
       ถามว่า เมื่อเช่นนั้นเพราะเหตุไรจึงกล่าวว่าเป็นโจรเล่า? ตอบว่า เพราะว่าภิกษุนี้กล่าวอวดแล้วถือเอาปัจจัยที่เกิดขึ้นเพราะการอวดคุณที่ไม่มีอยู่ เพราะเหตุนั้น ปัจจัยเหล่านั้นย่อมเป็นอันเธอผู้ถือเอา (ด้วยการอวดธรรมที่ไม่มีอยู่) อย่างนั้น ล่อบวง คือ ลักฉ้อเอาด้วยอุบายอันสุขุม ด้วยเหตุนี้จึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นอันภิกษุนั้นฉันแล้วด้วยความเป็นขโมย”
       เมื่อภิกษุนั้นผู้ไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นต้นเลย กลับแสดงว่าเป็นพระอรหันต์เป็นต้น ฉันโภชนะที่ตนได้มา โภชนะที่ฉันแล้วนั้น เธอฉันแล้วด้วยความเป็นขโมย เพราะเธอฉันโภชนะที่ตนล่อลวงมนุษย์ทั้งหลายได้มา เปรียบเหมือนนายพรานนกผู้มีเครื่องปกปิด (ปลอมเป็นต้นไม้) ล่อ คือ ลวงจับนก ฉะนั้น ก็ภิกษุเหล่าใด เมื่อไม่รู้อำนาจแห่งประโยชน์นี้ ย่อมฉันด้วยอาการแห่งขโมยนั้น ย่อมเข้าถึงนรกเพราะกรรมทั้งหลายที่เลวทราม, อาชีพ (หลอกลวงอวดคุณ) นี้จัดเป็นมิจฉาชีพขั้นสุดยอดแล
๕. ก็ความสำคัญว่าได้บรรลุนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่ใคร? ไม่เกิดขึ้นแก่ใคร?
       ตอบว่า ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระอริยสาวก เพราะพระอริยสาวกนั้นมีโสมนัสเกิดขึ้นแล้วด้วยญาณ เป็นเครื่องพิจารณามรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ละได้แล้ว และกิเลสที่ยังเหลืออยู่ ไม่มีความสงสัยในการแทงตลอดอริยคุณ เพราะเหตุนั้นมานะ (ความถือตัวผิดๆ) จึงไม่เกิดขึ้นแก่พระอริยสาวก เป็นต้นว่า พระโสดาบัน ย่อมไม่ถือตนว่าเราเป็นพระสกทาคามีเป็นต้น ก็เพราะเป็นผู้มีปัญญาแทงตลอดสัจจรรมได้แล้ว, และไม่เกิดขึ้นแก่คนทุศีล ก็เพราะคนทุศีลย่อมเป็นผู้หมดหวังในการบรรลุอริยคุณสิ้นเชิง, ทั้งไม่เกิดแก่ผู้มีศีล ซึ่งสละกรรมฐานเสีย แล้วประกอบในความเกียจคร้าน ยินดีในความหลับนอน เป็นต้น, แต่จะกำหนดนามรูป จับปัจจัยแห่งนามรูปได้ ยกไตรลักษณ์ขึ้นพิจารณาสังขารทั้งหลายอยู่ ผู้ที่สำคัญว่าได้บรรลุย่อมพักวางสมถะหรือวิปัสสนาเสียกลางคัน เพราะคิดว่าเราได้บรรลุอริยคุณแล้ว เนื่องจากไม่เห็นความเกิดขึ้นแห่งกิเลสของตน ตลอด ๑๐ ปีบ้าง ๒๐-๓๐ ปีบ้าง ย่อมเข้าใจว่าเป็นพระโสดาบันหรือเราเป็นพระสกทาคามี เราเป็นพระอนาคามี หรือเราเป็นพระอรหันต์บ้าง
       สรุปว่า ความสำคัญว่าได้บรรลุย่อมเกิดแก่บุคคลผู้เจริญสมถะหรือวิปัสสนา ดังนี้
       - บทว่า อนภิชานํ ได้แก่ ไม่รู้เฉพาะ ไม่รู้จริง ไม่ได้ทำให้แจ้งด้วยญาณ กล่าวอวดอยู่
       - บทว่า อตฺตูปนายิกํ ได้แก่ การน้อมอุตริมนุสธรรมนั้นเข้ามาในตน เมื่ออวดว่า ข้าพเจ้าย่อมปรากฏในธรรมเหล่านี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าน้อมตนเข้าไปในธรรมเหล่านั้น มีฌานเป็นต้น
       - คำว่า อลมริยญาณทสฺสนํ พึงทราบอย่างนี้ คือ ปัญญาที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ ชื่อว่า ญาณ เพราะอรรถว่ารู้, ชื่อว่า ทัสสนะ เพราะอรรถว่าเห็น เพราะกระทำซึ่งธรรมให้เป็นประดุจเห็นด้วยจักษุ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ญาณทัสสนะ, ญาณทัสสนะอย่างประเสริฐ คือ อย่างบริสุทธิ์หมดจด เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า อริยญาณทัสสนะ, ญาณทัสสนะอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ คือ แกล้วกล้า สามารถกำจัดกิเลส มีอยู่ในอุตริมนุสธรรมต่างประเภท มีญาณเป็นต้นนี้, แต่ในบทว่า ญาณํ นี้ ปัญญาทั้งหมดที่เป็นมหัคคตะ (ญาณ) และโลกุตตระ (มีปัญญาในโสดาปัตติมรรค เป็นต้น) พึงทราบว่าชื่อ ญาณ
       - บทว่า สมุทาจเรยฺย ความว่า พึงอวดอุตริมนุสธรรมมีประการดังกล่าวแล้ว ทำให้น้อมเข้ามาในตน
       ภิกษุกล่าวอวดแก่สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ย่อมเป็นอันอวด, เมื่ออวดแก่เทวดา มาร พรหม หรือแม้แก่เปรต ยักษ์ และสัตว์ดิรัจฉาน หาเป็นอันอวดไม่
       คำว่า “ครั้นสมัยอื่นแต่สมัยนั้น” แสดงถึงสมัยที่ปฏิญญาว่าเป็นอาบัติ ภิกษุนี้ต้องปาราชิกในขณะที่อวดทีเดียว และเธอต้องอาบัติแล้ว ถูกภิกษุอื่นโจทก็ตาม ไม่ถูกโจทก็ตาม ย่อมปฏิญญา เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า เธออันผู้ใดผู้หนึ่งเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม
๖. “เหตุที่ให้เชื่อถือมีฐานะ ๖ อย่าง” พึงทราบข้อวินิจฉัยในความเชื่อก่อน คือ
       (๑) ข้อว่า ท่านได้บรรลุอะไร? เป็นคำถามถึงธรรมที่ได้บรรลุ อธิบายว่า บรรดาคุณธรรม มีฌานและวิโมกข์เป็นต้น หรือบรรดามรรคมีโสดปัตติมรรคเป็นต้น ท่านได้บรรลุอะไร?
       (๒) ข้อว่า ท่านได้บรรลุด้วยวิธีอะไร? เป็นคำถามถึงอุบาย มีอธิบายดังนี้ คือ ท่านทำอนิจจลักษณะให้เป็นธุระแล้ว จึงได้บรรลุ? หรือท่านทำบรรดาทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะ อย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นธุระแล้ว จึงได้บรรลุ? ท่านตั้งมั่นแล้วด้วยอำนาจสมาธิ หรือตั้งมั่นแล้วด้วยอำนาจวิปัสสนา จึงได้บรรลุ? ท่านตั้งมั่นแล้วในรูปธรรมหรือตั้งมั่นแล้วในอรูปธรรม จึงได้บรรลุ? ท่านตั้งมั่นแล้วในกายเป็นภายใน หรือตั้งมั่นแล้วในกายเป็นภายนอก จึงได้บรรลุ?
       (๓) ข้อว่า ท่านได้บรรลุเมื่อไร? เป็นคำถามถึงกาล อธิบายว่า ในบรรดากาลเช้าและเที่ยงเป็นต้น กาลใดกาลหนึ่ง
       (๔) ข้อว่า ท่านได้บรรลุที่ไหน? เป็นคำถามถึงโอกาส อธิบายว่า ในโอกาสไหน? คือในที่พักกลางคืน ในที่พักกลางวัน ที่โคนไม้ ที่มณฑป หรือในวิหารหลังไหน?
       (๕) ข้อว่า ท่านละกิเลสเหล่าใดได้? เป็นคำถามถึงกิเลสที่ละได้แล้ว อธิบายว่า กิเลสทั้งหลายที่มรรคจำพวกไหนฆ่า ท่านละได้แล้ว?
       (๖) ข้อว่า ท่านได้ธรรมเหล่าไหน? เป็นคำถามถึงธรรมที่ได้แล้ว อธิบายว่า บรรดามรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ท่านได้ธรรมเหล่าไหน?
       เพราะฉะนั้น ในบัดนี้ถ้าแม้ภิกษุรูปใดๆ พึงพยากรณ์การบรรลุอุตริมนุสธรรม เธออันใครๆ ไม่ควรสักการะด้วยคำพยากรณ์มีประมาณเพียงเท่านี้ก่อน แต่เธอควรถูกทักท้วง เพื่อสอบสวนให้ขาวสะอาดในฐานะทั้ง ๖ เหล่านี้ว่า ท่านได้บรรลุอะไร? คือว่าท่านได้บรรลุฌาน หรือได้บรรลุบรรดาวิโมกข์เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ? จริงอยู่ ธรรมที่บุคคลใดได้บรรลุแล้ว ย่อมปรากฏแก่บุคคลนั้น ถ้าเธอกล่าวว่าข้าพเจ้าได้บรรลุธรรมชื่อนี้ ลำดับนั้นควรสอบถามเธอว่า ท่านได้บรรลุด้วยวิธีอะไร? คือควรซักถามว่าท่านทำอะไร ในบรรดาไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น ให้เป็นธุระหรือตั้งมั่นอยู่ด้วยหัวข้อ (กรรมฐาน) อะไรจึงได้บรรลุ ถ้าภิกษุกล่าวว่า ความตั้งมั่นของข้าพเจ้ามีอยู่ ข้าพเจ้าได้บรรลุด้วยวิธีดังนี้ ลำดับนั้นควรสอบถามเธอดูว่า ท่านได้บรรลุเมื่อไร? คือควรซักถามเธอว่า ท่านได้บรรลุในเวลาเช้า หรือในเวลาเที่ยงเป็นต้น เวลาใดเวลาหนึ่งหรือ? ความจริงกาลที่ตนได้บรรลุย่อมเป็นของปรากฏแก่ชนทุกจำพวก (ที่ได้บรรลุจริง)
       ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุในกาลชื่อโน้น ลำดับนั้นควรสอบถามดูว่าท่านได้บรรลุที่ไหน? คือควรซักถามเธอว่า ท่านได้บรรลุในที่พักกลางวัน หรือในบรรดาที่พักกลางคืนเป็นต้น โอกาสใดโอกาสหนึ่งหรือ? ความจริงโอกาสที่ตนได้บรรลุย่อมปรากฏแก่ชนทุกจำพวก ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุในโอกาสชื่อนั้น ลำดับนั้นควรสอบถามเธอดูว่า ท่านละกิเลสเหล่าไหนได้ คือ ควรซักถามเธอว่า กิเลสทั้งหลายที่พระโสดาปัตติมรรคพึงฆ่า หรือที่สกทาคามิมรรคเป็นต้น พึงฆ่า ท่านละได้แล้ว? ถ้าภิกษุกล่าวว่ากิเลสชื่อเหล่านี้ข้าพเจ้าได้ละแล้ว ลำดับนั้นควรสอบถามเธอดูว่า ท่านได้ธรรมเหล่าไหน? คือ ควรซักถามเธอดูว่า ท่านได้โสดาปัตติมรรค หรือได้บรรดามรรค มีสกทาคามิมรรคเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ? ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ธรรมชื่อเหล่านี้ ไม่ควรเชื่อถือคำพูดของเธอ แม้ด้วยคำพยากรณ์มีประมาณเพียงเท่านี้ เพราะภิกษุที่เป็นพหูสูต เป็นผู้ฉลาดในการเรียนและการสอบถาม เธอย่อมสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้
๗. “สอบสวนดูที่ปฏิปทา”
       ควรสอบสวนภิกษุผู้อ้างว่าได้บรรลุที่อาคมนปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเป็นเหตุมาแห่งมรรค) ถ้าข้อปฏิบัติเป็นสิ่งไม่บริสุทธิ์ (ไม่สอดคล้องกับหลักที่ทรงสอน) ภิกษุทั้งหลายควรกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าโลกุตตรธรรม ท่านจะไม่ได้ด้วยปฏิปทานี้ แล้วนำเธอออกไปเสีย
       แต่ถ้าอาคมนปฏิปทาของภิกษุนั้นบริสุทธิ์ ถ้าภิกษุนั้นปรากฏในปฏิปทานั้นว่า เป็นผู้ไม่ประมาทในไตรสิกขา ทั้งหมั่นประกอบธรรมเป็นเครื่องตื่นอยู่ตลอดราตรีนาน ไม่ข้องอยู่ในปัจจัยทั้ง ๔ คำพยากรณ์ของภิกษุนั้นย่อมเทียบเคียงกับข้อปฏิบัติได้ คือ เป็นเช่นกับพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า นี้แม่น้ำคงคากับแม่น้ำยมุนา เทียบเคียงกันได้ เข้ากันได้ แม้ฉันใด ปฏิปทาที่ให้ถึงพระนิพพานอันพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงบัญญัติดีแล้วแก่สาวกทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทั้งพระนิพพานและปฏิปทาเทียบเคียงกันได้
       อีกอย่างหนึ่ง สักการะอันใครๆ ไม่ควรทำ แม้ด้วยคำพยากรณ์มีประมาณเพียงเท่านี้ เพราะว่าแม้ภิกษุผู้เป็นปุถุชนบางรูปก็มีปฏิปทาเป็นเหมือนข้อปฏิบัติของพระขีณาสพ เพราะฉะนั้นภิกษุรูปนั้นอันใครๆ พึงทำให้หวาดสะดุ้งได้ด้วยอุบายนั้นๆ เช่น พระขีณาสพ แม้เมื่ออสนีบาตผ่าลงบนกระหม่อมก็หามีความกลัว ความหวาดสะดุ้ง หรือขนพองสยองเกล้าไม่ ถ้าความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้สำคัญว่าได้บรรลุนั้น เธออันภิกษุทั้งหลายกล่าวเตือนว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ แล้วพึงนำออกเสีย (ให้ท่านรู้ว่าท่านเข้าใจผิด) แต่ถ้าภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่กลัว เป็นผู้ไม่หวาดเสียว เป็นผู้ไม่สะดุ้ง ย่อมนั่งนิ่งเหมือนราชสีห์ ฉะนั้น ภิกษุนี้ชื่อว่า เป็นผู้มีการพยากรณ์อย่างสมบูรณ์ ย่อมควรรับสักการะที่พระราชาและราชอำมาตย์เป็นต้น ส่งไปถวายโดยรอบ ฉะนี้แล


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 สิงหาคม 2557 14:20:38
.
๘. ภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว เป็นผู้ไม่ควรดำรงอยู่ในความเป็นภิกษุ เพราะหากยังดำรงอยู่ย่อมอันตรายต่อการบรรลุฌาน เป็นอันตรายต่อสวรรค์ เป็นอันตรายต่อมรรค สมดังที่ตรัสไว้ว่า “คุณเครื่องเป็นสมณะที่บุคคลจับต้องไม่ดี ย่อมฉุดคร่าเขาไปในนรก” หรือ “เพราะว่าสมณธรรมเครื่องละเว้นที่ย่อหย่อน ก็ยิ่งเกลี่ยธุลีลง” ดังนี้ ความเป็นภิกษุของเธอย่อมชื่อว่าเป็นของไม่บริสุทธิ์
       ภิกษุผู้ต้องปาราชิก (ควรลาสิกขา) เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นอุบาสก เป็นอารามิกะ หรือเป็นสามเณร ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อยังทางสวรรค์ให้สำเร็จ ด้วยคุณธรรมทั้งหลายมีทาน สรณะ ศีล และสังวรเป็นต้น หรือยังทางพระนิพพานให้สำเร็จ ด้วยคุณธรรมทั้งหลายมีฌานและวิโมกข์เป็นต้น เพราะเหตุนั้น ความเป็นคฤหัสถ์เป็นต้นของเธอ จึงชื่อว่าเป็นความบริสุทธิ์
๙. ในคำว่า ปฐมชฺฌานํ เป็นต้นนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ อัปปมัญญาฌาน มีเมตตาเป็นต้นก็ดี อสุภฌานเป็นต้นก็ดี อานาปานัสสติสมาธิฌานก็ดี โลกิยฌานก็ดี โลกุตตรฌานก็ดี สงเคราะห์เข้าในปฐมฌานเป็นต้นนั่นแล เพราะเหตุนั้นภิกษุอวดว่า ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้วก็ดี ข้าพเจ้าเข้าจตุถฌานแล้วก็ดี อวดว่า ข้าพเจ้าเข้าเมตตาฌานก็ดี ข้าพเจ้าเข้าอุเบกขาธานก็ดี ข้าพเจ้าเข้าอสุภฌานแล้วก็ดี ข้าพเจ้าเข้าอานาปานัสสติสมาธิฌานแล้วก็ดี ข้าพเจ้าเขาโลกียฌานแล้วก็ดี ข้าพเจ้าเข้าโลกุตตรฌานแล้วก็ดี พึงทราบว่าเป็นปาราชิกทั้งนั้น
       - อริยมรรคที่พ้นด้วยดีหรือที่พ้นจากกิเลสมีอย่างต่างๆ เพราะฉะนั้น อริยมรรคนั้นจึงชื่อว่าวิโมกข์ ก็วิโมกข์นี้นั้น ท่านเรียกว่า สุญญตวิโมกข์ เพราะว่างเปล่าจากราคะ โทสะ และโมหะ, ท่านเรียกว่าอนิมิตตวิโมกข์ เพราะไม่มีนิมิต ด้วยนิมิต คือ ราคะ โทสะ โมหะ, ท่านเรียกว่า อัปปณิหิตวิโมกข์เพราะไม่มีที่ตั้ง คือ ราคะ โทสะ โมหะ, ธรรมชาติที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่า ตั้งจิตไว้เสมอ คือ ตั้งจิตไว้ในอารมณ์, ที่ชื่อว่า สมาบัติ เพราะเป็นธรรมชาติที่พระอริยเจ้าทั้งหลายพึงเข้า, ภิกษุถือเอาบท บทหนึ่งบทเดียว กล่าวว่าข้าพเจ้ามีปกติได้... นี้ย่อมเป็นปาราชิกแท้
๑๐. “ภิกษุผู้มีความประสงค์จะกล่าว” ตรัสห้ามเพื่อกันโอกาสของปาปบุคคลผู้แสวงหาช่อง ปจฺจกฺขมิ เป็นต้น ย่อมเป็นผู้บอกลาสิกขาแล้ว เพราะบทเหล่านั้นหยั่งลงในเขตฉันใดแล ข้อนี้ก็ฉันนั้น ภิกษุผู้ใคร่จะกล่าวบทหนึ่งบทเดียวจากบรรดาบทอุตริมนุสธรรมมีปฐมฌานเป็นต้น แม้เมื่อกล่าวบทใดบทหนึ่งอย่างอื่นจากบทนั้น ย่อมเป็นปาริชิกทีเดียว เพราะบทนั้นหยั่งลงในเขตแห่งสิกขาบท แม้ถ้าเธอกล่าวแก่ผู้ใด ผู้นั้นย่อมรู้ความนั้นในขณะนั้นทันที
       ก็แลลักษณะแห่งการรู้ในการอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริง พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในการบอกลาสิกขานั้นแล แต่ความแปลกกันมีดังต่อไปนี้
      การบอกลาสิกขา ย่อมไม่ถึงความสำเร็จด้วยหัตถมุทธา (ไม่สำเร็จได้ด้วยการกระดิกหัวแม่มือ)  อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงนี้ ย่อมหยั่งลงสู่ความสำเร็จได้ด้วยหัตถมุธา คือ ภิกษุใดอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงด้วยความเคลื่อนไหวแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ มีหัตถวิการ (แกว่งมือ) เป็นต้น แก่บุคคลผู้ยืนอยู่ในคลองแห่งวิญญัติ (แก่คนที่จะรู้ จะเห็น จะเข้าใจ) และบุคคลนั้นรู้ในความนั้นได้ ภิกษุนั้นเป็นปาราชิกแท้, แต่ถ้าเธอบอกแก่ผู้ใด ผู้นั้นไม่เข้าใจหรือถึงความสงสัยว่าภิกษุนี้พูดอะไร? หรือพิจารณานานจึงรู้ในภายหลัง ย่อมถึงความนับว่าเป็นผู้ไม่เข้าใจทันทีเหมือนกัน เมื่อภิกษุบอกแก่บุคคลผู้ไม่เข้าใจทันทีอย่างนั้นเป็นถุลลัจจัย
       ส่วนบุคคลใดไม่รู้จักอุตริมนุสธรรมมีฌานเป็นต้นด้วยตนเอง ด้วยอำนาจการได้บรรลุ หรือด้วยอำนาจการเรียนและการสอบถามเป็นต้น ได้ยินแต่เพียงคำว่า ฌาน หรือวิโมกข์ อย่างเดียวเท่านั้น บุคคลเช่นนี้ เมื่อภิกษุนั้นบอกแล้ว ถ้ารู้ได้แม้เพียงว่า “ได้ยินว่า ภิกษุนี้กล่าวว่า เราเข้าฌานแล้ว” ดังนี้ ย่อมถึงความนับว่ารู้เหมือนกัน ภิกษุบอกแก่บุคคลเช่นนี้เป็นปาราชิกแท้
๑๑. "ว่าด้วยปัจจัยปฏิสังยุตต์” ภิกษุใดกล่าวโดยอ้อมอย่างนี้ว่า ภิกษุใดอยู่ในวิหารของท่าน, วิหารของท่านอันภิกษุใดอยู่แล้ว, ท่านอาศัยภิกษุใดจึงได้ถวายวิหาร; เพราะเธอไม่ได้กล่าวว่า “เรา” เมื่อภิกษุกล่าวอวดอุตริมนุสธรรมแก่บุคคลผู้เข้าใจทันทีจึงเป็นถุลลัจจัย กล่าวอวดแก่บุคคลผู้ไม่เข้าใจทันทีจึงเป็นทุกกฎ
       - ภิกษุใดอยู่ในวิหารของท่าน, บริโภคจีวรของท่าน, ฉันบิณฑบาตของท่าน, ใช้สอยเสนาสนะของท่าน, บริโภคคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของท่าน พึงทราบคำอธิบายอย่างนั้นเหมือนกัน
๑๒. “ว่าด้วยอนาบัติ”
      ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้อวดด้วยสำคัญว่าตนได้บรรลุ;  ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้มิได้ตั้งอยู่ในอิจฉาจาร (ความประพฤติลามกมากด้วยความปรารถนา) ความเป็นผู้หลอกลวง เพราะไม่ประสงค์จะอวด, ภิกษุเป็นบ้า และพวกภิกษุผู้จำพรรษาใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา (อาทิกัมมิกะ)
๑๓. “ตัวอย่าง”
       เมื่อภิกษุคิดว่า จักอยู่ในป่าเพื่อให้คนยกย่อง เดินไปด้วยตั้งใจอย่างนี้ว่า เราจักอยู่ในป่า เป็นทุกกฎในทุกๆ ย่างเท้า ในกิจทั้งปวงมีการสร้างกุฎี เดินจงกรม นั่ง และนุ่งห่มเป็นต้นในป่า เป็นทุกกฎทุกๆ กิจที่ทำ เพราะเหตุนั้นภิกษุไม่ควรอยู่ในป่าด้วยความตั้งใจอย่างนั้น เมื่ออยู่ด้วยความตั้งใจอย่างนั้นจะได้รับความยกย่องหรือไม่ก็ตาม ย่อมต้องทุกกฎ
       ส่วนภิกษุใด สมาทานธุดงค์แล้วคิดว่าจักรักษาธุดงค์ หรือว่าเมื่อเราพักอยู่ในแดนบ้านจิตย่อมฟุ้งซ่าน ป่าเป็นที่สบาย ดังนี้ จึงเป็นผู้มีความประสงค์จะอยู่ในป่าอันหาโทษมิได้ ด้วยทำความปรารถนาอย่างนี้ว่า เราจักบรรลุบรรดาวิเวกทั้ง ๓ อย่างใดอย่างหนึ่งในป่าแน่แท้ ดังนี้ก็ดี ว่าเราเข้าไปสู่ป่าหากยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วจักไม่ออกมา ดังนี้ก็ดี ชื่อว่าการอยู่ป่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญ และเมื่อเราพักอยู่ในป่า เพื่อนพรหมจารีมากหลาย จักละทิ้งแดนบ้านแล้วอยู่ป่าเป็นวัตร ดังนี้ก็ดี ภิกษุนั้นควรอยู่ในป่า
       - ภิกษุวางท่าเดินบิณฑบาตหมายให้คนยกย่อง เป็นทุกกฎทุกๆ    ครั้งที่เคลื่อนไหวไป ตั้งแต่การนุ่งห่ม เพราะตั้งใจว่า เราจักวางอิริยาบถ มีการก้าวเป็นต้น เที่ยวบิณฑบาต จนกระทั่งถึงการขบฉันเป็นที่สุด เธอจะได้รับการยกย่องหรือไม่ก็ตาม เป็นทุกกฏทั้งนั้น
       - แต่ภิกษุผู้เข้าไปบิณฑบาตด้วยอิริยาบถที่น่าเลื่อมใส มีการก้าวไปและถอยกลับ เป็นต้น เพื่อบำเพ็ญขันธกวัตรและเสขิยวัตรให้บริบูรณ์ หรือเพื่อเป็นทิฏฐานุคติแก่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย เป็นผู้อันวิญญูชนทั้งหลายไม่ถึงติเตียนแล
๑๔. ปาราชิก สิกขาบทที่ ๔ นี้ มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดจากกายกับจิตของภิกษุอวดอยู่ด้วยหัวแม่มือ ๑ เกิดแต่วาจากับจิตของภิกษุผู้อวดด้วยการเปล่งวาจา ๑ เกิดแต่กายวาจากับจิตของภิกษุผู้ทำอยู่ทั้ง ๒ อย่าง ๑ เป็นสจิตตกะ, เป็นโลกวัชชะ, เป็นกายกรรม วจีกรรม เป็นอกุศลจิต (โลภมูลจิต)
๑๕. พึงทราบว่า ปาราชิก (ผู้พ่ายแพ้) มีอยู่ ๒๔ อย่าง คือ
       ๑-๘ ได้แก่ ปาราชิกของภิกษุ ๔ ปาราชิกของภิกษุณี ๔
       ๙ บัณเฑาะก์  ๑๐. สัตว์ดิรัจฉาน  ๑๑. อุภโตพยัญชนก (คนสองเพศ)
       ทั้ง ๓ จำพวกนี้เป็นพวกอเหตุกปฏิสนธิ จัดเป็นพวกวัตถุวิบัติ ไม่ถูกห้ามสวรรค์ แต่ถูกห้ามมรรค (ไม่สามารถรู้แจ้งอริยมรรคได้) บัณเฑาะก์เป็นต้นนี้ จัดเป็นอภัพพบุคคล การบรรพชาของพวกเขาก็ทรงห้ามไว้ เพราะฉะนั้นจึงจัดเป็นผู้พ่ายแพ้ (ปาราชิก)
      ๑๒. คนลักเพศ  ๑๓. ภิกษุเข้ารีตเดียรถีย์  ๑๔. คนฆ่ามารดา  ๑๕. คนฆ่าบิดา
       ๑๖. คนฆ่าพระอรหันต์  ๑๗. สามเณรผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี  ๑๘. คนทำโลหิตุปบาท
       ๑๙. ภิกษุผู้ทำสังฆเภท
       ทั้งหมดนี้ ถึงความเป็นอภัพพบุคคล (บุคคลผู้ไม่อาจตรัสรู้ได้) เพราะเป็นผู้วิบัติด้วยการกระทำของตน, คนลักเพศ (ปลอมบวช) ภิกษุเข้ารีตเดียรถีย์ และสามเณรผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี ไม่ถูกห้ามสวรรค์ แต่ถูกห้ามมรรค, อีก ๕ จำพวก ถูกห้ามทั้งสวรรค์ ทั้งมรรค เพราะเป็นจำพวกที่จะต้องเกิดในนรกแน่นอน
       ๒๐. นางภิกษุณีผู้ยังความพอใจให้เกิดในเพศคฤหัสถ์ แล้วนุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์ แม้นางจะไม่ได้ทำการล่วงละเมิดด้วยความประพฤติที่เลว แต่ก็จัดว่าไม่เป็นสมณีได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
       ๒๑. ภิกษุผู้มีองค์กำเนิดยาว (ปรารถนาจะเสพเมถุนธรรม จึงสอดองค์กำเนิดเข้าไปทางวัจจมรรคของตน)
       ๒๒. ภิกษุผู้หลังอ่อน (ปรารถนาจะเสพเมถุน ก้มลงอมองค์กำเนิดของตน)
       ๒๓. ภิกษุเอาปากอมองค์กำเนิดผู้อื่น
       ๒๔. ภิกษุนั่งสวมองค์กำเนิดของผู้อื่น
       ก็เพราะเหตุที่ธรรมของคน ๒ คน ผู้เข้าถึงความเป็นเช่นเดียวกันด้วยอำนาจราคะ ตรัสเรียกว่าเมถุนธรรม ฉะนั้นปาราชิก ๔ อย่างท้ายนี้ (๒๑-๒๔) ชื่อว่า อนุโลมแก่เมถุนธรรมปาราชิกโดยปริยายนี้ เพราะภิกษุ ๔ จำพวกนี้ แม้จะไม่ได้เสพเมถุนธรรมเลย ก็พึงต้องอาบัติได้ ด้วยอำนาจการยังมรรคให้เข้าไปทางมรรคอย่างเดียว เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า อนุโลมปาราชิก พึงทราบว่า มี ๒๔ อย่าง ด้วยประการฉะนี้
๑๖. “ข้อสำเหนียกของพระวินัยธร ผู้ปรารถนาความเป็นผู้ฉลาดในสิกขาบท”
       พระวินัยธรผู้ปรารถนาความเป็นผู้ฉลาดในสิกขาบท วิภังค์แห่งสิกขาบทและวินิจฉัยทั้งสิ้น ควรทราบวินัย ๔ อย่าง คือ สูตร สุตตานุโลม อาจริวาท และอัตโนมัติ
       สูตร ได้แก่ บทดั้งเดิม คือ บาลีในวินัยปิฎกทั้งหมด
       สุตตานุโลม ได้แก่ มหาประเทศ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า (วิ.มหา.ข้อ ๙๒)
       (๑) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใด เรามิได้ห้ามไว้ว่า “สิ่งนี้ไม่ควร” ถ้าสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ (สิ่งที่ไม่ควร” ขัดกันกับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ (สิ่งที่ควร), สิ่งนั้นไม่ควรแก่ท่านทั้งหลาย
       (๒) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใด เรามิได้ห้ามไว้ว่า “สิ่งนี้ไม่ควร” ถ้าสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ ขัดกันกับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ, สิ่งนั้นควรแก่ท่านทั้งหลาย
       (๓) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใด เรามิได้อนุญาตไว้ว่า “สิ่งนี้ควร” ถ้าสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ ขัดกันกับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ, สิ่งนั้นไม่ควรแก่ท่านทั้งหลาย
       (๔) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใด เรามิได้อนุญาตไว้ว่า “สิ่งนี้ควร” ถ้าสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ ขัดกันกับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ, สิ่งนั้นควรแก่ท่านทั้งหลาย
       อาจริยวาท  ได้แก่ แบบอรรถกถา ซึ่งวินิจฉัยท้องเรื่องให้เป็นไปนอกจากบาลี ซึ่งพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ เป็นผู้ตั้งไว้
       อัตโนมัติ ได้แก่ คำที่พ้นจากสูตร สุตตานุโลม และอาจริยวาท กล่าวตามอาการที่ปรากฏด้วยอนุมาน คือ ด้วยความรู้ของตน ด้วยการถือเอานัย ด้วยการถือเอาใจความ
       อีกนัยหนึ่ง เถรวาทแม้ทั้งหมดที่มาในอรรถกถาแห่งพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัย ชื่อว่าอัตโนมัติ


วิธีการสอบสวนสูตร และสุตตานุโลม เป็นต้น
      กุลบุตรผู้กล่าวอ้างอัตโนมัติ ไม่ควรจะยึดถือให้แน่นแฟ้นกล่าว ควรกำหนดเหตุเทียบเคียงบาลีกับเนื้อความ และเนื้อความกับบาลีกล่าว, อัตโนมัติควรสอบสวนดูในอาจริยวาท ถ้าลงกันและสมกันในอาจาริยวาทนั้น จึงควรถือเอา ถ้าไม่ลงกัน ไม่สมกัน ไม่ควรถือเอา เพราะอัตโนมัติเป็นของทรามกำลังกว่าทุกอย่าง (เหตุผล ความหนักแน่น อ่อนกว่าสูตร สุตตานุโลม และอาจริยวาท)
       อาจริยวาทมีกำลังกว่าอัตโนมัติ แต่อาจริยวาทก็ควรสอบสวนดูในสุตตานุโลม เมื่อลงกันสมกันแท้กับสุตตานุโลม จึงควรถือเอา ถ้าไม่ลงกัน ไม่สมกัน ไม่ควรถือเอา เพราะว่าสุตตานุโลมเป็นของมีกำลังกว่าอาจริยวาท
       แม้สุตตานุโลมก็ควรสอบสวนดูในสูตร เมื่อลงกันสมกันแท้กับสูตรนั้น จึงควรถือเอา หากไม่ลงกน ไม่สมกัน ไม่ควรถือเอา เพราะว่าสูตรเหล่านั้นเป็นของมีกำลังกว่าสุตตานุโลม
       จริงอยู่ สูตรเป็นของอันใครๆ แต่งเทียมไม่ได้ เป็นเหมือนกาลที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังทรงพระชนม์อยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อใดภิกษุสองรูปสนทนากัน ฝ่ายหนึ่งอ้างสูตรกล่าว ฝ่ายหนึ่งอ้างสุตตานุโลมกล่าว เมื่อนั้นทั้งสองรูปไม่ควรทำการขัดแย้งหรือติเตียนกันและกัน ควรสอบสวนสุตตานุโลมในสูตร ถ้าลงกันควรถือเอา ถ้าไม่ลงกันไม่ควรถือเอา ควรตั้งอยู่ในสูตรเท่านั้น
       หรือหากรูปหนึ่งกล่าวอ้างว่า เป็นอกัปปิยะ รูปหนึ่งอ้างว่า เป็นกัปปิยะ ควรสอบสวนสิ่งนั้นๆ ในสูตรและสุตตานุโลม ถ้าสิ่งนั้นเป็นกัปปิยะควรตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นกัปปิยะ ถ้าสิ่งนั้นเป็นอกัปปิยะควรตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ ดังนี้เป็นต้น


พระวินัยธรประกอบด้วยลักษณะ ๓ อย่าง คือ
๑. สูตรของพระวินัยธร เป็นพุทธพจน์ที่มาถูกต้องคล่องแคล่วดี โดยสูตร โดยพยัญชนะ ความว่า วินัยปิฎกแม้ทั้งสิ้นชื่อว่า สูตร พระวินัยธรเรียนไว้ชำนาญ คล่องปาก ไม่มีความสงสัยทั้งในส่วนบาลีและอรรถกถา
๒. เป็นผู้มั่นคง ไม่ง่อนแง่นในวินัย ความว่า เป็นผู้ตั้งมั่นในวินัย เป็นลัชชีภิกษุ อลัชชีภิกษุ บางรูปแม้เป็นพหูสูต แต่เป็นผู้หนักในลาภ หวังลาภ ก็แกล้งกล่าวให้ผิดแบบแผน แสดงคำสอนนอกธรรมนอกวินัย ย่อมทำอุปัทวะมากมายให้เกิดในพระศาสนา คือ ก่อให้เกิดสังฆเภทบ้าง สังฆราชีบ้าง ส่วนภิกษุลัชชีเป็นผู้มักรังเกียจ ใคร่การศึกษา แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตก็ไม่แกล้งกล่าวให้ผิดแบบแผน ย่อมแสดงเฉพาะธรรมเฉพาะวินัยเท่านั้น คือ ทำคำสอนเป็นที่เคารพตั้งอยู่ พระมหาเถระทั้งหลายในปางก่อนเปล่งวาจา ๓ ครั้งว่า ในอนาคตกาล ภิกษุลัชชีจักรักษาไว้ ภิกษุลัชชีจักรักษาไว้ ภิกษุลัชชีจักรักษาไว้ ดังนี้เป็นต้น ก็ภิกษุรูปใดเป็นลัชชี ภิกษุรูปนั้นเมื่อไม่ละไม่ฝ่าฝืนวินัย เป็นผู้ตั้งมั่นในวินัยด้วยความเป็นลัชชีภิกษุเป็นต้น
       ภิกษุใดถูกผู้อื่นถามด้วยบาลี (พุทธพจน์) โดยเบื้องต่ำ หรือเบื้องสูง ด้วยลำดับบท หรืออรรถกถา ย่อมทุรนทุราย กระสับกระส่าย ไม่อาจตั้งมั่นอยู่ได้ ย่อมคล้อยตามคำที่ผู้อื่นกล่าว ทิ้งวาทะของตนเสีย ถือเอาวาทะของผู้อื่น นั้นชื่อว่า ผู้ง่อนแง่น ฝ่ายบุคคลใดถูกผู้อื่นถามด้วยบทเบื้องต่ำและสูงด้วยลำดับบทในบาลีก็ดี ในอรรถกถาก็ดี ย่อมไม่ทุรนทุราย ไม่กระสับกระส่าย ชี้แจงกับเขาว่า ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้ อาจารย์ทั้งหลายของข้าพเจ้าก็กล่าวอย่างนี้
       อนึ่ง บาลีและวินิจฉัยบาลี (สิกขาบทวิภังค์ ในเล่มนี้ใช้ว่า อรรถาธิบาย) ตั้งอยู่ในบุคคลใด ไม่ถึงความเสื่อมสิ้นหมดเปลืองไป เหมือนน้ำมันราชสีห์ที่ใส่ไว้ในภาชนะทองคำ ไม่ถึงความสิ้นไป ฉะนั้น บุคคลนี้ท่านเรียกว่า ผู้ไม่ง่อนแง่น
๓. เป็นผู้ลำดับอาจารย์ได้ถูกต้อง ความว่า ภิกษุละมติของตนแล้วเป็นผู้กล่าวลำดับอาจารย์ คือ “พระอาจารย์ของข้าพเจ้าเรียนเอาในสำนักของอาจารย์ชื่อโน้น อาจารย์นั้นเรียนเอาในสำนักอาจารย์ชื่อโน้น” ไปตั้งไว้จนให้ถึงคำว่า
       “พระอุบาลีเถระเรียนเอาในสำนักของพระพุทธเจ้า พระทาสกเถระเรียนมาในสำนักของพระอุบาลีเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์ของตน พระโสณกเถระเรียนมาในสำนักของพระทาสกเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์ของตน, พระสิคควเถระเรียนมาในสำนักของพระโสณกเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์ของตน, พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเรียนมาในสำนักของพระสิคควเถระและพระจัณฑวัชชีเถระ ผู้เป็นอุปัชฌาย์ของตน
       ลำดับแห่งอาจารย์อันพระวินัยธรเรียนเอาแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นข้ออันเธอจำได้ถูกต้อง แต่เมื่อไม่สามารถจะเรียนเอาอย่างนั้น ก็ควรเรียนเอาเพียง ๒-๓ ลำดับก็พอ อย่างน้อยที่สุดก็ควรทราบอาจารย์และอาจารย์ของอาจารย์ผู้กล่าวบาลีและปริปุจฉา ดังนี้


พระวินัยธรเมื่อวินิจฉันอธิกรณ์ควรตรวจดูฐานะ ๖ อย่าง ก่อน
      ฐานะ ๖ อย่าง คือ ควรตรวจดูเรื่อง ๑ ตรวจดูมาติกา ๑ ตรวจดูบทภาชนีย์ ๑ ตรวจดูติกปริจเฉท ๑ ตรวจดูอันตราบัติ ๑ ตรวจดูอนาบัติ ๑
       - พระวินัยธร เมื่อตรวจดูเรื่อง ย่อมเห็นอาบัติบางอย่าง อย่างนี้คือ “ภิกษุผู้มีจีวรหาย ควรเอาหญ้าหรือใบไม้ปกปิดกาย จึงมา แต่ไม่ควรเปลือยกายมาเลย ภิกษุใดเปลือยกายมา ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฎ” พระวินัยธรนั้น ครั้นนำสูตรนั้นมาอ้างแล้ว จักระงับอธิกรณ์นั้นได้
       - เมื่อตรวจดูมาติกา ย่อมเห็นบรรดาอาบัติ ๕ กอง กองใดกองหนึ่ง โดยนัยเป็นต้นว่า “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะสัมปชานมุสาวาท” เธอนำสูตรมาอ้างแล้ว จักระงับอธิกรณ์นั้นได้
       - เมื่อตรวจดูบทภาชนีย์ ย่อมเห็นบรรดาอาบัติ ๗ กอง กองใดกองหนึ่ง โดยนัยเป็นต้นว่า “ภิกษุเสพเมถุนธรรมในสรีระที่สัตว์ยังมิได้กัดกิน ต้องอาบัติปาราชิก”   “เสพเมถุนธรรมในสรีระที่สัตว์กัดกินแล้วโดยมาก ต้องอาบัติถุลลัจจัย” ย่อมระงับอธิกรณ์ได้
       - เมื่อตรวจดูติกปริจเฉท ย่อมเห็นการกำหนดติกสังฆาทิเสสบ้าง ติกปาจิตตีย์บ้าง ติกทุกกฎบ้าง อาบัติอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง ย่อมระงับอธิกรณ์ได้
       - เมื่อตรวจดูอันตราบัติ จะเห็นอันตราบัติซึ่งมีอยู่ในระหว่างแห่งสิกขาบทอย่างนี้ คือ “ภิกษุยักคิ้ว ต้องอาบัติทุกกฎ” ย่อมระงับอธิกรณ์ได้
       - เมื่อตรวจดูอนาบัติ จะเห็นอนาบัติที่ท่านแสดงไว้ในสิกขาบทนั้นๆ อย่างนี้ว่า “ดูก่อนภิกษุ ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่ยินดี ไม่มีไถยจิต ไม่มีความประสงค์จะให้ตาย ไม่มีความประสงค์จะอวด ไม่มีความประสงค์จะปล่อย ไม่แกล้ง ไม่รู้ ไม่มีสติ” ย่อมระงับอธิกรณ์ได้
       ภิกษุใดเป็นผู้ฉลาดในวินัย ๔ อย่าง สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ได้ตรวจดูฐานะ ๖ อย่างนี้แล้ว จักระงับอธิกรณ์ได้ การวินิจฉัยของภิกษุนั้น ใครๆ ให้เป็นไปทัดเทียมไม่ได้ ย่อมเป็นเช่นกับวินิจฉัยที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งวินิจฉัยเอง


วิธีวินิจฉัยอธิกรณ์ปาราชิก
      ถ้าภิกษุบางรูป ผู้ทำการล่วงละเมิดสิกขาบทแล้ว เข้าไปหาภิกษุผู้ฉลาดในการวินิจฉัยนั้น อย่างนั้นแล้ว พึงถามข้อรังเกียจสงสัยของตน, ภิกษุผู้ฉลาดในการวินิจฉัยควรกำหนดให้ดี, ถ้าเป็นอนาบัติ ก็ควรบอกว่าเป็นอนาบัติ, ถ้าเป็นอาบัติ ก็ควรบอกว่าเป็นอาบัติ, ถ้าอาบัตินั้นเป็นเทสนาคามินี ก็ควรบอกว่าเป็นเทสนาคามินี, ถ้าเป็นวุฏฐานคามินี ก็ควรบอกว่าเป็นวุฏฐานคามินี, ถ้าฉายา (เงาของ) ปาราชิกปรากฏแก่ภิกษุผู้ฉลาดในการวินิจฉัย ยังไม่ควรบอกว่าเป็นอาบัติปาราชิก เพราะเหตุไร?
       เพราะเหตุว่า การล่วงละเมิดเมถุนธรรม และการล่วงละเมิดอุตริมนุสธรรมเป็นของหยาบ, ส่วนการละเมิดอทินนาทาน และการฆ่ามนุษย์เป็นของสุขุม มีจิตเปลี่ยนแปลงเร็ว ภิกษุย่อมต้องวีติกกมะทั้งสองนั้น ด้วยอาการสุขุมทีเดียว และย่อมรักษาไว้ด้วยอาการสุขุม
       เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้ถูกถามความรังเกียจ สงสัยซึ่งมีความละเมิดนั้นเป็นที่ตั้งโดยพิเศษ ไม่ควรพูดว่าต้องอาบัติ ถ้าอาจารย์เธอยังมีชีวิตอยู่ไซร้ ภิกษุผู้ฉลาดควรส่งภิกษุนั้นไปว่า เธอจงถามอาจารย์ของข้าพเจ้าดูเถิด, ถ้าเธอกลับมาอีกบอกว่า อาจารย์ของท่านค้นดูจากพระสูตรและพระวินัยแล้ว บอกผมว่าเป็นสเตกิจฉา (ยังพอแก้ไขได้) ในกาลนั้นภิกษุผู้ฉลาดในการวินิจฉัยนั้นควรพูดกับเธอว่า ดีละๆ เธอจงทำอย่างที่อาจารย์พูด
       ก็ถ้าอาจารย์ของเธอไม่มี แต่พระเถระผู้เล่าเรียนร่วมกันมีตัวอยู่ พึงส่งเธอไปยังสำนักของพระเถระนั้น สั่งว่าพระเถระผู้เล่าเรียนร่วมกับข้าพเจ้าเป็นคณปาโมกข์ มีตัวอยู่ เธอจงไปถามท่านดูเถิด แม้เมื่อพระเถระนั้นวินิจฉัยว่าเป็นสเตกิจฉา ก็ควรพูดกับเธอว่า ดีละ เธอจงทำตามของพระเถระนั้นให้ดีทีเดียว
       ถ้าแม้พระเถระผู้เล่าเรียนร่วมกันของเธอไม่มีไซร้ มีแต่ภิกษุผู้เป็นอันเตวาสิก ซึ่งเป็นบัณฑิต พึงส่งเธอไปยังสำนักของภิกษุผู้เป็นอันเตวาสิก ด้วยสั่งว่า เธอจงไปถามภิกษุหนุ่มรูปโน้นดูเถิด แม้เมื่อภิกษุผู้เป็นอันเตวาสิกนั้นวินิจฉัยว่าเป็นสเตกิจฉา ก็ควรพูดกับเธอว่า ดีละ เธอจงทำตามคำของภิกษุรูปนั้นให้ดี, ถ้าฉายาปาราชิกนั่นแลปรากฏแม้แก่ภิกษุหนุ่มไซร้ แม้ภิกษุนั้นก็ไม่ควรบอกแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติว่า เธอเป็นอาบัติปาราชิก
       “เพราะความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าเป็นของได้ด้วยยาก, การบรรพชาและการอุปสมบทเป็นของได้ยากยิ่งกว่านั้น”


ภิกษุผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ กรรมฐานย่อมไม่เจริญ
      พระวินัยธรควรพูดอย่างนี้ว่า เธอจงปัดกวาดโอกาสที่เงียบสงัด แล้วนั่งพักกลางวันชำระศีลให้บริสุทธิ์ จงมนสิการอาการ ๓๒ ดูก่อน ถ้าศีลของภิกษุนั้นไม่ด่างพร้อย กรรมฐานย่อมสืบต่อ สังขารทั้งหลายก็เป็นของปรากฏชัดขึ้น จิตก็เป็นเอกัคคตา ดุจได้บรรลุอุปจาระและอัปปนาสมาธิฉะนั้น ถึงวันเวลาจะล่วงเลยไปแล้วก็ตาม เธอก็ไม่ทราบในเวลาที่ล่วงไป
       เมื่อเธอมาสู่ที่อุปัฏฐากแล้ว ควรพูดอย่างนี้ว่า ความเป็นไปแห่งจิตของเธอเป็นเช่นไร? เมื่อเธอบอกความเป็นไปแห่งจิตแล้ว ควรพูดว่า ขึ้นชื่อว่าบรรพชามีความบริสุทธิ์แห่งจิตเป็นประโยชน์ เธออย่าประมาทบำเพ็ญสมณธรรมเถิด
       ส่วนภิกษุใด มีศีลขาด กรรมฐานของภิกษุนั้นย่อมไม่สืบต่อ จิตย่อมปั่นป่วนด้วยไฟ คือ ความเดือดร้อนใจแผดเผาอยู่ ดุจถูกทิ่มแทงด้วยปฏักฉะนั้น ภิกษุนั้นย่อมลุกขึ้นในขณะนั้นทีเดียว เหมือนนั่งอยู่บนก้อนหินที่ร้อน ฉะนั้น
       เมื่อเธอมาแล้วถามว่า ความเป็นไปแห่งจิตของท่านเป็นอย่างไร? เมื่อเธอบอกความเป็นไปแห่งจิตแล้ว ควรพูดว่า ขึ้นชื่อว่าความลับของผู้กระทำกรรมชั่วย่อมไม่มีในโลก แท้จริง บุคคลผู้กระทำความชั่ว ย่อมรู้ด้วยตนเองก่อนคนอื่นทั้งหมด ต่อจากนั้นอารักขเทพดาทั้งหลาย สมณพราหมณ์ และเทพเจ้าเหล่าอื่น ผู้รู้จิตของบุคคลอื่น ย่อมรู้ความชั่วของเธอ บัดนี้เธอนั่นแลจงแสวงหาความสวัสดีแก่เธอเองเถิด


ศัพท์ที่ควรทราบจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
๑. กัปปิยะ – สมควร, ควรแก่สมณะบริโภค, ของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย คือ พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉันได้ เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดง เป็นกัปปิยะ แต่สุรา เสื้อ กางเกง หมวก น้ำอบ ไม่เป็นกัปปิยะ เรียกว่า อกัปปิยะ
๒. อกัปปิยะ – ไม่ควร ไม่สมควรแก่ภิกษุจะบริโภคใช้สอย คือ ต้องห้ามด้วยพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉัน, สิ่งที่ตรงกันข้ามกับกัปปิยะ
๓. อกัปปิยวัตถุ – สิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร คือ ภิกษุไม่ควรบริโภคใช้สอย
๔. กัปปิยการก – ผู้ทำของที่สมควรแก่สมณะ, ผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค, ผู้ปฏิบัติภิกษุ, ลูกศิษย์พระ


คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ   เยนตฺถฺ สหสา นเย
โย จ อตฺถํ อนตฺถญฺจ   อุโภ นิจฺเฉยฺย ปณฺฑิโต ฯ ๒๕๖ ฯ
       เรือนที่มุงไม่เรียบร้อย  ฝนย่อมไหลย้อยเข้าได้
       ใจที่ไม่อบรมฝึกหัด  ราคะกำหนัดย่อมครอบงำ
       He who hastily arbitrates.  Is not known as 'just'
        The wise investigating right and wrong  (Is known as such).

        "พุทธวจนในธรรมบท" โดย... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

(http://www.sookjaipic.com/images/9196549608__3619_3641_3611_1.gif)


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 ตุลาคม 2557 16:01:47
.

สังฆาทิเสส ๑๓ เป็นกฎหมายอันหนักรองลงมาจากปาราชิก
เมื่อต้องสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ ต้องอยู่ปริวาสกรรมตามจำนวนวันที่ปกปิดไว้
แล้วอยู่มานัตอีก ๖ ราตรี จากนั้นสงฆ์ ๒๐ รูป จึงนำสวดอัพภาณ (คล้ายกับการบวช) จึงจะพ้นโทษไปได้

ฉะนั้น ถ้าต้องสังฆาทิเสสแล้วอย่าปกปิดไว้ อย่าให้มันเศร้าหมองไปนาน เสียเวลา
ภาวนาจิตก็ไม่สงบ นี่ข้อสำคัญ



(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๕)
ภิกษุเสพเมถุน ต้องสังฆาทิเสส

    ท่านพระอุทายีเห็นพระเสยยสกะซูบผอมเศร้าหมอง ผิวพรรณคล้ำ มีร่างกายสะพรั่งด้วยเอ็น จึงถามว่า เหตุไรคุณจึงซูบผอม คุณคงจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์กระมังหนอ ท่านพระเสยยสกะรับสารภาพว่า “อย่างนั้นขอรับ”
       ท่านพระอุบาลีแนะนำว่า ดูก่อนท่านเสยยสกะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฉันอาหารให้พอแก่ความต้องการ จำวัดให้พอแก่ความต้องการ สรงน้ำให้พอแก่ความต้องการ ครั้นเมื่อท่านเกิดความกระสัน ราคะรบกวนจิต เมื่อนั้นท่านจงใช้มือพยายามปล่อยอสุจิ
       พระเสยยสกะถามว่า ทำเช่นนั้นควรหรือ ขอรับ
       พระอุทายี  ควรซิท่าน แม้ผมก็ทำเช่นนั้น
       ท่านพระเสยยสกะได้ใช้มือพยายามปล่อยอสุจิ เมื่อเกิดความกระสันขึ้น แล้วมีผิวพรรณผุดผ่องอิ่มเอิบ ภิกษุสหายได้สอบถามท่าน ท่านได้เล่าเรื่องการกระทำของท่านให้ฟัง ภิกษุนั้นเพ่งโทษติเตียนแล้วแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล...
 ทรงติเตียนเป็นอันมากถึงความไม่สมควรแก่ความเป็นสมณะนั้น แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า
       “ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เป็นสังฆาทิเสส”
       ต่อมา ภิกษุทั้งหลายฉันแล้ว จำวัดไม่มีสติสัมปชัญญะ อสุจิได้เคลื่อน... จึงกราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
       “ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน เป็นสังฆาทิเสส”


อรรถาธิบาย
       - คำว่า เป็นไปด้วยความจงใจ ได้แก่ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ตั้งใจละเมิด
       - บทว่า สุกกะ อธิบายว่า สุกกะมี ๑๐ อย่าง มีสุกกะสีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีขาว เป็นต้น (จะเป็นสีอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเคลื่อนด้วยความพยายามต้องสังฆาทิเสส)
       - การกระทำอสุจิให้เคลื่อนจากกรรมฐาน ตรัสเรียกว่า การปล่อย
       - บทว่า เว้นไว้แต่ฝัน คือ การเว้นความฝัน
       - บทว่า สังฆาทิเสส ได้แก่ สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้นได้ ชักเข้าหาอาบัติเดิมได้ให้มานัตได้ เรียกเข้าหมู่ได้ ไม่ใช่คณะมากรูป ไม่ใช่บุคคลรูปเดียว เพราะฉะนั้นจึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส, คำว่า สังฆาทิเสส เป็นการขนานนาม คือเป็นชื่อของหมวดอาบัตินั้นแล แม้เพราะเหตุนั้นจึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส


อาบัติ
๑. ภิกษุจงใจ (เพื่อระบายความกำหนดนั้นหรือเพื่อเหตุผลใดก็แล้วแต่) พยายาม สุกกะเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส
๒. ภิกษุจงใจ พยายาม (ด้วยอาการใช้มือหรือยังเอวให้ไหวในอากาศ เป็นต้น) สุกกะไม่เคลื่อนต้องถุลลัจจัย
๓. ภิกษุจงใจ ไม่พยายาม สุกกะเคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
๔. ภิกษุจงใจ ไม่พยายาม สุกกะไม่เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
๕. ภิกษุไม่จงใจ พยายาม สุกกะเคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
๖. ภิกษุไม่จงใจ พยายาม สุกกะไม่เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
๗. ภิกษุไม่จงใจ ไม่พยายาม สุกกะเคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
๘. ภิกษุไม่จงใจ ไม่พยายาม สุกกะไม่เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ


อนาบัติ
ภิกษุมีอสุจิเคลื่อนเพราะฝัน ๑ ภิกษุไม่ประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน ๑ วิกลจริต ๑ มีจิตฟุ้งซ่าน ๑ กระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้า ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

ตัวอย่าง
๑. ภิกษุรูปหนึ่งกำลังถ่ายอุจจาระอยู่ อสุจิเคลื่อนแล้ว เธอรังเกียจ...จึงกราบทูล ตรัสว่า ภิกษุไม่มีความประสงค์จะให้เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
๒. ภิกษุรูปหนึ่งกำลังตรึกถึงกามวิตกอยู่ อสุจิเคลื่อนแล้ว... ตรัสถามว่า เธอคิดอย่างไร,  ภิกษุ: ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีความประสงค์จะให้เคลื่อนเลย ตรัสว่า ภิกษุตรึกถึงกามวิตก ไม่ต้องอาบัติ
๓. ภิกษุรูปหนึ่ง มีความประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน กำลังอาบน้ำร้อน อสุจิเคลื่อน, ตรัสถามว่า เธอมีความคิดอย่างไร?  ภิกษุ: ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะให้เคลื่อน, ตรัสว่า เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส
๔. ภิกษุรูปหนึ่งมีความประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน กำลังอาบน้ำร้อนอยู่ แต่อสุจิไม่เคลื่อน..., ตรัสถามว่า เธอคิดอย่างไร?  ภิกษุ: ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะให้เคลื่อน, ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย
๕. ภิกษุรูปหนึ่งมีความประสงค์จะให้อสุจิเคลื่อน จึงสีองค์กำเนิดกับไม้ อสุจิเคลื่อน...,  ตรัสถามว่า เธอคิดอย่างไร?  ภิกษุ: ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะให้เคลื่อน, ตรัสว่า เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว
๖. ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัดเพ่งองค์กำเนิดของมาตุคาม อสุจิเคลื่อน จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส, อันภิกษุผู้มีความกำหนัดไม่ควรเพ่งองค์กำเนิดของมาตุคาม รูปใดเพ่ง  ต้องทุกกฎ


สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๑/๓/๙๖-๑๒๒ อธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
๑. ท่านพระเสยยสกะถูกความเร่าร้อน เพราะความกำหนัดในกายแผดเผาอยู่ แต่ไม่ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์
       - พระอุทายีมีชื่อเรียกเต็มว่า โลลุทายี เป็นอุปัชฌาย์ของพระเสยยสกะ  ท่านอุทายีเป็นภิกษุโลเล ตามประกอบเหตุแห่งความเกียจคร้าน ไม่ทำสมณธรรม มีความเป็นผู้ยินดีในการนอน ในการหลับ เป็นต้น ท่านสอนศิษย์ว่า เธอจงเอามือพยายามกระทำการปล่อยอสุจิ เพราะเมื่อปล่อยแล้ว เอกัคคตาจิต (จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง) จักมีแก่เธอ อุปัชฌาย์พร่ำสอนเธออย่างนี้ เช่นกับคนโง่สอนคนโง่ คนใบ้สอนคนใบ้ ฉะนั้น
๒. ภิกษุพึงมีสติสัมปชัญญะจำวัด โดยในเวลาจำวัดกลางวัน พึงจำวัดด้วยความอุตสาหะว่า เราจักจำวัดชั่วเวลาที่ผมของภิกษุผู้สรงน้ำยังไม่แห้ง แล้วจักลุกขึ้น เมื่อจำวัดในเวลากลางคืน พึงเป็นผู้มีความอุตสาหะจำวัดว่า (ทำไว้ในใจก่อนนอนหลับ) “เราจักหลับสิ้นส่วนแห่งราตรีเท่านี้ แล้วลุกขึ้นในเวลาที่ดวงจันทร์หรือดวงดาวโคจรมาถึงตรงนี้” ดังนี้
       อีกอย่างหนึ่ง กำหนดกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในกรรมฐานที่ชอบใจแล้วจึงจำวัด ก็เมื่อภิกษุทำเช่นนี้ ท่านเรียกว่า มีสติสัมปชัญญะ คือ ไม่ละสติและสัมปชัญญะจำวัด ความฝันอันเป็นเหตุให้อสุจิเคลื่อนย่อมไม่มี


เหตุให้เกิดความฝัน ๔ อย่าง
๑) เพราะธาตุกำเริบ ประกอบด้วยปัจจัยอันทำให้ดีเป็นต้น กำเริบ เมื่อฝันย่อมฝันต่างๆ เช่น เป็นเหมือนตกจากภูเขา เหมือนเหาะไปทางอากาศ และเหมือนถูกเนื้อร้าย ช้างร้าย และโจร เป็นต้น ไล่ติดตามมา
๒) เพราะจิตอาวรณ์ (เพราะเคยทราบมาก่อน) คือ ฝันถึงอารมณ์ที่ตนเคยผ่านมาแล้วในกาลก่อน
๓) เพราะเทพสังหรณ์ คือ พวกเทวดานำอารมณ์มีอย่างต่างๆ เข้าไป เพื่อความเจริญบ้าง เพื่อความเสื่อมบ้าง เพราะความเป็นผู้มุ่งความเจริญให้บ้าง ความมุ่งความเสื่อมให้บ้าง แก่บุคคลผู้อื่น ย่อมฝันเห็นอารมณ์ต่างๆ ด้วยอานุภาพของพวกเทวดา
๔) เพราะบุพนิมิต คือ เป็นฝันที่เกิดจากบุญและบาปที่เป็นนิมิตแห่งความเจริญบ้าง แห่งความเสื่อมบ้าง เหมือนมารดาของพระโพธิสัตว์ทรงพระสุบินนิมิตในการที่จะได้พระโอรส (ซึ่งเป็นฝันที่เกิดจากบุญ) ฉะนั้น

       บรรดาฝัน ๔ อย่างนี้ ความฝันที่ฝันเพราะธาตุกำเริบและจิตอาวรณ์ ไม่เป็นความจริง  ความฝันที่ฝันเพราะเทวดา จริงก็มี เหลวไหลก็มี เพราะว่าพวกเทวดาโกรธแล้วประสงค์จะให้พินาศ ออกอุบายให้ฝันก็มีอยู่, ส่วนความฝันที่ฝันเพราะบุพนิมิตเป็นจริงโดยส่วนเดียว (ไม่มีไม่จริงเลย)
       ความฝันทั้ง ๔ นี้ พระเสขะและปุถุชนเท่านั้นย่อมฝัน เพราะยังละวิปลาสไม่ได้ ส่วนพระอเสขะย่อมไม่ฝัน เพราะท่านละวิปลาสแล้ว
๓. เจตนาแห่งการปล่อยสุกกะนั้นมีอยู่ เหตุนั้นการปล่อยสุกกะนั้นจึงชื่อว่า สัญเจตนา (มีเจตนา) สัญเจตนานั่นแหละชื่อ สญฺเจตนิกา, หรือความจงใจของการปล่อยสุกกะนั้นมีอยู่ การปล่อยสุกกะนั้น จึงชื่อว่า สัญเจตนิกา (มีความจงใจ) การปล่อยสุกะมีความจงใจเป็นของภิกษุใด ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้สึกตัว และการปล่อยนั้นเป็นการแกล้ง คือ ฝ่าฝืนล่วงละเมิด
       - กิริยาที่ทำให้เคลื่อนจากฐาน ชื่อว่า การปล่อย, ท่านกำหนดฐานไว้ ๓ ส่วน คือ กระเพาะเบา ๑  สะเอว ๑  กาย ๑
       ในวาทะที่ ๑ เมื่อภิกษุพยายามที่นิมิตด้วยความยินดีจะให้เคลื่อน แมลงวันตัวน้อยตัวหนึ่ง พึงดื่มน้ำอสุจิอิ่ม เมื่ออสุจิมีประมาณเท่านั้น เคลื่อนจากกระเพาะเบา ไหลลงสู่คลองปัสสาวะ จะออกข้างนอกก็ตาม ไม่ออกก็ตาม ย่อมเป็นสังฆาทิเสส
        ในวาทะที่ ๒ เมื่ออสุจิเคลื่อนจากสะเอวไหลสู่คลองปัสสาวะ เป็นสังฆาทิเสส
        ในวาทะที่ ๓ เป็นวาทะที่กล่าวถูกที่สุด (คือ ครอบคลุมทั้งวาทะที่ ๒ และวาทะที่ ๒ ด้วย) เพราะว่าเว้นที่ซึ่งผม ขน เล็บ ฟัน พ้นจากเนื้อ อุจจาระ น้ำลาย น้ำมูก และหนังแห้งเสียแล้ว ที่เหลือคือกายที่มีเนื้อและโลหิตตลอด ย่อมเป็นฐานของกายประสาท ภาวะชีวิตินทรีย์ และดีไม่เป็นฝักเป็นฐานของน้ำสมภพด้วยเหมือนกัน ดังจะเห็นน้ำสมภพของช้างที่ไหลออกทางหมวกหูทั้งสอง ของทั้งหลายที่ถูกราคะครอบงำแล้ว และแม้พระเจ้ามหาเสนะผู้ทรงกลัดกลุ้มด้วยราคะ ไม่สามารถจะทนกำลังน้ำสมภพได้ จึงรับสั่งให้ผ่าต้นพระพาหุด้วยมีด ทรงแสดงน้ำสมภพซึ่งไหลออกทางปากแผล ฉะนั้น
         เมื่อภิกษุยังกายให้ไหว อสุจิเคลื่อนออกจากกกายนั้นไหลลงสู่คลองปัสสาวะ จะออกข้างนอกกก็ตาม ไม่ออกข้างนอกก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส
         ที่ท่านกล่าวว่า การไหลสู่คลองปัสสาวะ คือ การปล่อยสุกกะ ก็เพราะเป็นของที่ใครๆ จะพึงกลั้นห้ามเสียในระหว่างมิได้ เพราะเมื่อเคลื่อนจากฐานแล้ว ก็ย่อมสู่คลองปัสสาวะแน่นอน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกำหนดว่า “พยายาม อสุจิเคลื่อนจากฐาน เป็นสังฆาทิเสส” ดังนี้


๔. อธิบายคำว่าสังฆาทิเสส
      คำว่า สังฆาทิเสส เป็นชื่อของกองอาบัตินี้ เพราะเหตุนั้นผู้ศึกษาพึงทราบสัมพันธ์ในสิกขาบทนี้ อย่างนี้ว่า “การปล่อยสุกกะ มีความจงใจ เว้นความฝันอันใด” อันนี้เป็นกองแห่งอาบัติชื่อสังฆาทิเสส
       เมื่อภิกษุต้องสังฆาทิเสสแล้ว “สงฆ์อันภิกษุพึงปรารถนาในกรรมเบื้องต้น และในกรรมที่เหลือแห่งกองอาบัตินั้น เพราะฉะนั้นอาบัตินั้น จึงชื่อว่า “สังฆาทิเสส” มีคำอธิบายว่า ภิกษุต้องอาบัตินี้แล้ว พึงปรารถนาสงฆ์เพื่อประโยชน์แก่ปริวาส เป็นกรรมเบื้องต้นแห่งการออกจากอาบัติของผู้ใคร่จะออก และเพื่อประโยชน์แก่การให้มานัต หรือเพื่อประโยชน์แก่การให้มานัต รวมกับมูลายปฏิกัสสนาในกรรมอันเป็นท่ามกลาง, เพื่อประโยชน์แก่อัพภานในกรรมที่สุด ซึ่งเหลือจากกรรมเบื้องต้น (และท่ามกลาง) เพราะว่าบรรดากรรมเหล่านี้ (ปริวาส, มานัต, อัพภาน) กรรมแม้อันหนึ่งอันใดเว้นสงฆ์เสียแล้ว ใครๆ ไม่อาจทำได้ สงฆ์เท่านั้นอันภิกษุ (ผู้ต้องสังฆาทิเสส) พึงปรารถนาในกรรมเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด เพราะฉะนั้นกองอาบัตินี้จึงชื่อว่า สังฆาทิเสส
       - เมื่อแสดงแต่ใจความจะได้ว่า “สงฆ์แลย่อมให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้น ย่อมชักเข้าหาอาบัติเดิม ย่อมให้มานัต ย่อมอัพภาน ไม่ใช่ภิกษุมากรูป (๒-๓ รูป) ไม่ใช่ภิกษุรูปเดียว เพราะเหตุนั้นอาบัตินั้นท่านจึงเรียกว่า สังฆาทิเสส”
๕. ข้อสำเหนียกของพระวินัยธร
       เมื่อภิกษุมาหา อันพระวินัยธรพึงถามจนถึง ๓ ครั้งว่า ท่านต้องด้วยประโยคไหน? ด้วยกำหนัดไหน? ถ้าครั้งแรกเธอกล่าวอย่างหนึ่ง แล้วภายหลังกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ไม่กล่าวโดยทางเดียว พึงกล่าวตักเตือนเธอว่า ท่านไม่พูดทางเดียว พูดเลี่ยงไป เราไม่อาจทำวินัยกรรมแก่ท่านได้ ท่านจงไปแสวงหาความสวัสดีเถิด ถ้าเธอกล่าวยืนยันทางเดียวเท่านั้นถึง ๓ ครั้ง กระทำตนให้แจ้งตามความเป็นจริง ลำดับนั้น พระวินัยธรพึงพิจารณาประโยค ๑๑ ด้วยอำนาจแห่งราคะ ๑๑ อย่าง เพื่อวินิจฉัยอาบัติ อนาบัติ ครุกาบัติ และลหุกาบัติของเธอ


อธิบายราคะและประโยค ๑๑ อย่าง
บรรดาราคะและประโยค ๑๑ นั้น ราคะ ๑๑ เหล่านี้ คือ ความยินดีเพื่อจะให้เคลื่อน ๑ ความยินดีในขณะเคลื่อน ๑ ความยินดีในเมื่ออสุจิเคลื่อนแล้ว ๑ ความยินดีในเมถุน ๑ ความยินดีในผัสสะ ๑ ความยินดีในความคัน ๑ ความยินดีในการดู ๑ ความยินดีในกิริยานั่ง ๑ ความรักอาศัยเรือน ๑ ความยินดีด้วยของขวัญ ๑

ในราคะ ๑๑ อย่างนั้น มีวินิจฉัย ดังนี้
      ๑) เมื่อภิกษุจงใจและยินดีเพื่อให้สุกกะเคลื่อน พยายาม อสุจิเคลื่อน เป็นสังฆาทิเสส เมื่อภิกษุจงใจ และยินดีอยู่ด้วยเจตนาอย่างนั้น พยายาม แต่อสุจิไม่เคลื่อน เป็นถุลลัจจัย ถ้าว่าในเวลานอน ภิกษุเป็นผู้กลัดกลุ้มด้วยราคะ เอาขาอ่อนหรือกำมือบีบองคชาตให้แน่นแล้วหลับไปทั้งที่ยังมีความอุตสาหะ เพื่อต้องการจะปล่อย ก็เมื่อภิกษุนั้นหลับอยู่ อสุจิเคลื่อน เป็นสังฆาทิเสส ถ้าเธอยังมีความกลัดกลุ้มด้วยราคะให้สงบไปโดยมนสิการอสุภะ มีใจบริสุทธิ์หลับไป แม้อสุจิเคลื่อนขณะเธอหลับ ไม่เป็นอาบัติ
       ๒) ภิกษุยินดีในขณะที่อสุจิกำลังเคลื่อน แต่ไม่ได้พยายาม อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ ก็ถ้าหากว่าเธอยินดีอสุจิที่กำลังจะเคลื่อน พยายาม เมื่ออสุจิเคลื่อนแล้วด้วยความพยายามนั้น เป็นสังฆาทิเสส ในมหาปัจจรี กล่าวว่า เมื่ออสุจิเคลื่อนโดยธรรมดาของมัน เธอจับต้องด้วยองคชาตไว้ด้วยคิดว่า “อย่าเปื้อนผ้ากาสาวะ หรือเสนาสนะ” แล้วไปสู่ที่มีน้ำ เพื่อทำความสะอาด ย่อมควร
       ๓) ภิกษุยินดีภายหลังเมื่ออสุจิเคลื่อนแล้ว หากไม่ได้พยายาม เป็นอนาบัติ, ถ้าเธอยินดี พยายามที่นิมิต เพื่อต้องการให้เคลื่อนอีก แล้วให้เคลื่อน เป็นสังฆาทิเสส
       ๔) ความยินดีในเมถุน พึงทราบดังนี้ ภิกษุจับมาตุคามด้วยความกำหนัดในเมถุน อสุจิเคลื่อนเพราะประโยคนั้นเป็นอนาบัติ, แต่การจับต้องมาตุคามเช่นนั้นเป็นทุกกฎเพราะเป็นประโยคแห่งเมถุนธรรม เมื่อถึงที่สุด (เสพ) เป็นปาราชิก (จับเพื่อต้องการจะเสพเมถุน จับเป็นทุกกฎ เสพเป็นปาราชิก) ถ้าหากภิกษุกำหนัดด้วยความกำหนัดในเมถุน (ต้องการเสพ) กลับยินดี พยายามที่นิมิต เพื่อต้องการจะปล่อย (อสุจิ) แล้วปล่อยสุกกะ (ไม่ได้เสพ) เป็นสังฆาทิเสส
       ๕) ความยินดีในผัสสะภายใน พึงทราบดังนี้ ภิกษุเล่นนิมิตของตนโดยคิดว่า เราจักรู้ว่า ตึงหรือหย่อนก็ดี โดยความซุกซนก็ดี อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ, ถ้าเธอเล่นอยู่ ยินดี พยายามที่นิมิต เพื่อประสงค์จะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส
      ส่วนในผัสสะภายนอก พึงทราบดังนี้ เมื่อภิกษุลูบคลำอวัยวะน้อยใหญ่ของมาตุคาม และสวมกอดด้วยความกำหนัด ในการเคล้าคลึงกาย อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ แต่เธอต้องการสังสัคคะ (เคล้าคลึงกาย) เป็นสังฆาทิเสส, ถ้าว่าภิกษุกำหนัดด้วยความกำหนดในการเคล้าคลึงกาย กลับยินดี พยายามในนิมิต เพื่อต้องการจะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส เพราะการปล่อยสุกกะเป็นปัจจัย
      ๖) ความยินดีในความคัน พึงทราบดังนี้ เมื่อภิกษุเกานิมิต (อวัยวะเพศ) ที่กำลังคัน ด้วยอำนาจแห่งหิดด้านและหิดเปื่อย ผื่นคัน และสัตว์เล็ก เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยความยินดีในความคันเท่านั้น อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ, ภิกษุกำหนัดด้วยความยินดีในความคันเท่านั้น อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ, ภิกษุกำหนัดด้วยความยินดีในความคัน กลับยินดี พยายามในนิมิต เพื่อต้องการจะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส
       ๗) ความยินดีในการดู พึงทราบดังนี้ ภิกษุเพ่งดูโอกาสอันไม่สมควร (องค์กำเนิด) ของมาตุคามบ่อยๆ ด้วยอำนาจความยินดีในการดู อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ, แต่เป็นทุกกฎเพราะเพ่งดูที่ไม่ใช่โอกาสอันสมควรแห่งมาตุคาม, ถ้าภิกษุกำหนัดด้วยความยินดีในการดู กลับยินดี พยายามในนิมิต (ของตน) เพื่อต้องการจะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส
       ๘) ความยินดีในการนั่ง พึงทราบดังนี้ ภิกษุนั่งด้วยความกำหนัด ยินดีการนั่งในที่ลับกับมาตุคาม อสุเคลื่อนเป็นอนาบัติ แต่พระวินัยธรพึงปรับเธอด้วยอาบัติที่ต้องการเพราะการนั่งในที่ลับเป็นปัจจัย, ถ้าภิกษุกำหนัดด้วยความยินดีในการนั่งแล้ว กลับยินดี พยายามที่นิมิต (ของตน) เพื่อต้องการจะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส
       ๙) ความยินดีในการพูด พึงทราบดังนี้ ภิกษุพูดเกี้ยวมาตุคามด้วยคำพูดพาดพิงเมถุน ด้วยความกำหนัดยินดีในถ้อยคำ อสุจิเคลื่อนเป็นอนาบัติ แต่พระวินัยธรพึงปรับเธอด้วยอาบัติที่ต้องเพราะการนั่งในที่ลับเป็นปัจจัย, ถ้าภิกษุกำหนัดด้วยความยินดีในการนั่งแล้ว กลับยินดี พยายามที่นิมิต (ของตน) เพื่อต้องการจะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส
       ๑๐) ความรักอาศัยเรือน พึงทราบดังนี้ ภิกษุลูบคลำและสวมกอดบ่อยๆ กับมารดา ด้วยความรักฐานมารดาก็ดี ซึ่งพี่สาว น้องสาว ด้วยอาศัยความรักฉันพี่สาวน้องสาวก็ดี อสุจิเคลื่อน เป็นอนาบัติ แต่เป็นทุกกฎเพราะถูกต้องด้วยความรักอาศัยเรือนเป็นปัจจัย, หากว่าเธอกำหนัดด้วยความรักอาศัยเรือนแล้วกลับยินดี พยายามที่นิมิต (ของตน) เพื่อต้องการจะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส
       ๑๑) ความยินดีในของขวัญ พึงทราบดังนี้ หญิงกับชายย่อมส่งบรรณาการ (ของขวัญ) มีหมาก พลู ของหอม ดอกไม้ และเครื่องอบกลิ่นเป็นต้น ไปให้กันและกัน เพื่อต้องการไมตรีที่มั่นคง นี้ชื่อว่า วนภังคะ ถ้ามาตุคามส่งของขวัญเช่นนั้นไปให้แก่ภิกษุผู้เข้าสู่ตระกูลผู้ใกล้ชิดกันบางรูป และเมื่อเธอกำหนัดหนักว่า ของนี้ หญิงชื่อโน้นส่งมาให้ ดังนี้ เอามือลูบคลำของขวัญเล่นบ่อยๆ อสุจุเคลื่อน เป็นอนาบัติ ถ้าภิกษุกำหนัดในของขวัญแล้ว กลับยินดี พยายามที่นิมิต (ของตน) เพื่อประสงค์จะปล่อย แล้วปล่อย เป็นสังฆาทิเสส  ถ้าแม้ภิกษุพยายามแต่อสุจิไม่เคลื่อน เป็นถุลลัจจัย
       พระวินัยธรพึงพิจารณาประโยคเหล่านี้ ด้วยอำนาจแห่งราคะ ๑๑ เหล่านี้แล้ว กำหนดอาบัติ หรืออนาบัติ ด้วยประการอย่างนี้ ครั้นกำหนดดีแล้ว ถ้าเป็นครุกาบัติ พึงบอกว่าเป็นครุกาบัติ ถ้าเป็นลหุกาบัติ พึงบอกว่าเป็นลหุกาบัติ และพึงกระทำวินัยกรรมให้สมควรแก่อาบัตินั้นๆ, จริงอยู่ วินัยกรรมที่ทำแล้วอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นกรรมที่ทำดีแล้ว ดุจหมอรู้สมุฏฐานแห่งโรคแล้วปรุงยาฉะนั้น และย่อมเป็นไปเพื่อความสวัสดีแก่บุคคลผู้นั้น
      ๖. ภิกษุเมื่อสุกกะเคลื่อนเพราะความฝัน ถ้าความยินดีบังเกิดในความฝัน อย่าพึงเคลื่อนไหว ไม่พึงเอามือจับนิมิตเล่น แต่เพื่อจะรักษาผ้ากาสาวะและผ้าปูที่นอน จะเอาอุ้งมือจับไปสู่ที่มีน้ำเพื่อทำความสะอาด ควรอยู่
       - ภิกษุใด พอกนิมิตด้วยเภสัชก็ดี กระทำการถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็ดี ไม่มีความประสงค์ในการให้เคลื่อน อสุจิเคลื่อน ย่อมเป็นอนาบัติ, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งสองจำพวก (วิกลจริตและมีจิตฟุ้งซ่าน), ไม่เป็นอาบัติแก่พระเสยยสกะผู้เป็นต้นบัญญัติ
       ๗. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิกสิกขาบท ย่อมตั้งขึ้นทางกายกับจิต เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ กายกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)
 

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



(http://www.sookjaipic.com/images/5090280324__3586_1.gif)


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 ธันวาคม 2557 12:30:54
.
สังฆาทิเสส ๑๓ เป็นกฎหมายอันหนักรองลงมาจากปาราชิก
เมื่อต้องสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ ต้องอยู่ปริวาสกรรมตามจำนวนวันที่ปกปิดไว้
แล้วอยู่มานัตอีก ๖ ราตรี จากนั้นสงฆ์ ๒๐ รูป จึงนำสวดอัพภาณ (คล้ายกับการบวช) จึงจะพ้นโทษไปได้
ฉะนั้น ถ้าต้องสังฆาทิเสสแล้วอย่าปกปิดไว้ อย่าให้มันเศร้าหมองไปนาน เสียเวลา ภาวนาจิตก็ไม่สงบ นี่ข้อสำคัญ


(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๖)
ภิกษุมีความกำหนัดจับต้องกายหญิง ต้องสังฆาทิเสส

      พระอุทายีอยู่ในป่า วิหารของท่านงดงาม น่าดู น่าชม มีห้องกลาง มีระเบียงโดยรอบ เตียง ตั่ง ฟูก หมอน จัดไว้เรียบร้อย น้ำฉัน น้ำใช้ ตั้งไว้ดีแล้ว บริเวณเตียนสะอาด ประชาชนเป็นอันมากพากันมาชมวิหารของท่านพระอุทายี แม้พราหมณ์คนหนึ่งกับภรรยาก็พากันมาขอชม พระอุทายีพาชมวิหาร ท่านเดินไปเปิดบานหน้าต่างบางบาน ปิดหน้าต่างบางบานรอบห้อง แล้วย้อนมาทางด้านหลัง จับอวัยวะน้อยใหญ่ของนางพราหมณีนั้น
       ครั้นกลับไป พราหมณ์ได้กล่าวชมพระอุทายีว่ามีอัธยาศัยที่ดี นางพราหมณีกล่าวแย้งว่ามีอัธยาศัยดีแต่ที่ไหน เพราะพระอุทายีได้จับอวัยวะน้อยใหญ่ของดิฉัน เหมือนที่ท่านจับดิฉัน พอได้ทราบดังนี้พราหมณ์นั้นจึงได้เพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยินพากันเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนเป็นอันมากถึงความเป็นคนเลี้ยงยาก และความมักมากเป็นต้น แล้วมีพระบัญญัติว่า
       “อนึ่ง ภิกษุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว ถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม คือจับมือก็ตาม จับช้องผมก็ตาม ลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส”

อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า ภิกษุ ในที่นี้หมายเอา ภิกษุที่อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม จากสงฆ์ที่พร้อมเพรียง
       - ที่ชื่อว่า กำหนัดแล้ว คือ มีความยินดี มีความเพ่งเล็ง มีจิตปฏิพัทธ์
       - บทว่า แปรปรวนแล้ว ความว่า จิตที่ถูกราคะย้อมแล้วก็แปรปรวน ที่ถูกโทสะประทุษร้าย ที่ถูกโมหะให้ลุ่มหลง แล้วก็แปรปรวน แต่ที่ว่าแปรปรวนในอรรถนี้ทรงหมายถึงจิตที่ถูกราคะย้อมแล้ว
       - ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ โดยที่สุดแม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น
       - คำว่า ถึงความเคล้าคลึงด้วยกาย คือ ที่เรียกกันว่า ความประพฤติล่วงเกิน
       - ที่ชื่อว่า มือ หมายถึง ตั้งแต่ข้อศอกถึงปลายเล็บ
       - ที่ชื่อว่า ช้องผม  คือ เป็นผมล้วนก็ดี แซมด้วยด้ายก็ดี แซมด้วยดอกไม้ก็ดี แซมด้วยเงินก็ดี
       - ที่ชื่อว่า อวัยวะ คือ เว้นมือและช้องผมเสีย นอกนั้นชื่ออวัยวะ
       - ที่ชื่อว่า ลูบคลำ คือ ถูก คลำ ลูบลง ลูบขึ้น ทับ อุ้ม ฉุด ผลัก กด บีบกด จับต้อง

อาบัติ
        ๑. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัดและถูกคลำ ลูบลง ลูบขึ้น ทับ อุ้ม ฉุด ผลัก กด บีบ จับต้อง ซึ่งกายนั้นของสตรี ด้วยกายของตน ต้องสังฆาทิเสส
        ๒. สตรี ภิกษุสงสัย... ต้องถุลลัจจัย
        ๓. สตรี ภิกษุคิดว่าเป็นบัณเฑาะก์...ต้องถุลลัจจัย
        ๔. สตรี ภิกษุคิดว่าเป็นบุรุษ...ต้องถุลลัจจัย
        ๕. สตรี ภิกษุคิดว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องถุลลัจจัย
        ๖. บัณเฑาะก์ ภิกษุรู้ว่าเป็นบัณเฑาะก์...ต้องถุลลัจจัย
        ๗. บัณเฑาะก์ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
        ๘. บัณเฑาะก์ ภิกษุคิดว่าเป็นบุรุษ...ต้องทุกกฎ
        ๙. บัณเฑาะก์ ภิกษุคิดว่า (นึกว่า, เข้าใจว่า) เป็นสตรี...ต้องทุกกฎ
       ๑๐. บัณเฑาะก์ ภิกษุคิดว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องทุกกฎ
       ๑๑. บุรุษ ภิกษุรู้ว่าเป็นบุรุษ...ต้องทุกกฎ
       ๑๒. บุรุษ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
       ๑๓. บุรุษ ภิกษุคิดว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องทุกกฎ
       ๑๔. บุรุษ ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี...ต้องทุกกฎ
       ๑๕. บุรุษ ภิกษุคิดว่าเป็นบัณเฑาะก์...ต้องทุกกฎ
       ๑๖. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุรู้ว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องทุกกฎ
       ๑๗. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
       ๑๘. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี...ต้องทุกกฎ
       ๑๙. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่าเป็นบัณเฑาะก์...ต้องทุกกฎ
       ๒๐. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่าเป็นบุรุษ...ต้องทุกกฎ
       ๒๑. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัดและถูกต้อง คลำ ลูบลง ลูบขึ้น ทับ อุ้ม ฉุด ผลัก กอด จับต้อง ซึ่งของเนื่องด้วยกายของสตรีด้วยกาย ต้องถุลลัจจัย (เช่นจับถุงกระดาษที่สตรีถือ)
       ๒๒. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัด...จับต้องซึ่งกายนั้นของสตรีด้วยของเนื่องด้วยกาย ต้องถุลลัจจัย (เช่นเอาปากกาแตะที่กายสตรี)
       ๒๓. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัด...จับต้องซึ่งของเนื่องด้วยกายนั้นของสตรีด้วยของเนื่องด้วยกาย ต้องทุกกฎ (เช่นเอาปากกาแตะที่ถุงกระดาษที่สตรีจับอยู่)
       ๒๔. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัดและถูกต้องซึ่งกายนั้นของสตรีด้วยของที่โยนไป ต้องทุกกฎ (โยนของไปถูกกายสตรี)
       ๒๕. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัดและถูกต้องซึ่งของเนื่องด้วยกายนั้นของสตรีด้วยของที่โยนไป ต้องทุกกฎ (โยนของไปถูกสิ่งของที่สตรีถือหรือจับอยู่)
       ๒๖. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัดและถูกต้องซึ่งของที่โยนมานั้นของสตรี ด้วยของที่โยนไป (สตรีโยนของมา ภิกษุโยนของไปถูกของนั้น) ต้องทุกกฎ
       ๒๗. สตรีถูกต้องกายภิกษุ ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ พยายามด้วยกาย รู้ตอบผัสสะ ต้องสังฆาทิเสส
       ๒๘. สตรีใช้กายถูกต้องของเนื่องด้วยกาย (เช่นจีวร) ของภิกษุ ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ (เคลื่อนไหว รับรู้) พยายามด้วยกาย รู้ตอบผัสสะ (ยินดี) อยู่ ต้องถุลลัจจัย
       ๒๙. สตรีใช้ของเนื่องด้วยกายถูกต้องกายของภิกษุ ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ พยายามด้วยกาย รู้ตอบผัสสะอยู่ ต้องถุลลัจจัย
       ๓๐. สตรีใช้ของเนื่องด้วยกายถูกต้องของเนื่องด้วยกายของภิกษุ ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ พยายามด้วยกาย (จะตอบสนอง) รู้ตอบผัสสะอยู่ ต้องทุกกฎ
       ๓๑. สตรีโยนของถูกกายภิกษุ ภิกษุประสงค์จะเสพ พยายามด้วยกาย รู้ตอบผัสสะอยู่ ต้องทุกกฎ
       ๓๒. สตรีโยนของถูกของเนื่องด้วยกายของภิกษุ ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ พยายามด้วยกาย ต้องทุกกฎ
       ๓๓. สตรีโยนของไปถูกต้องของที่ภิกษุโยนมา ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ พยายามด้วยกาย รู้ตอบผัสสะ ต้องทุกกฎ
       ๓๔. (สรุป) ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ พยายามด้วย รู้ตอบผัสสะอยู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
       ๓๕. ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ พยายามด้วยกาย แต่ไม่รู้ตอบผัสสะ ต้องทุกกฎ
       ๓๖. ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ แต่ไม่พยายามด้วยกาย ทั้งไม่รู้ตอบผัสสะ ไม่ต้องอาบัติ
       ๓๗. ภิกษุมีความประสงค์จะเสพ แต่ไม่พยายามด้วยกาย และไม่รู้ตอบผัสสะ ไม่ต้องอาบัติ
       ๓๘. ภิกษุมีความประสงค์จะให้พ้น พยายามด้วยกาย รู้ตอบผัสสะอยู่ ไม่ต้องอาบัติ
       ๓๙. ภิกษุมีความประสงค์จะให้พ้น พยายามด้วยกาย แต่ไม่รู้ตอบผัสสะ ไม่ต้องอาบัติ
       ๔๐. ภิกษุมีความประสงค์จะให้พ้น แต่ไม่พยายามด้วยกาย รู้ตอบผัสสะอยู่ ไม่ต้องอาบัติ
       ๔๑. ภิกษุมีความประสงค์จะให้พ้น แต่ไม่พยายามด้วยกาย และไม่รู้ตอบผัสสะ ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุไม่จงใจถูกต้อง ๑  ถูกต้องด้วยไม่มีสติ ๑  ไม่รู้ ๑  ไม่ยินดี ๑  วิกลจริต ๑  กระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้า ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

ตัวอย่าง
       ๑. ภิกษุรูปหนึ่งจับต้องมารดาด้วยความรักฉันมารดา เธอมีความรังเกียจว่า เราต้องสังฆาทิเสสแล้วกระมัง จึงกราบทูล...ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องทุกกฎ (จับต้องกายธิดา พี่หญิง น้องหญิง ด้วยความรักอย่างบุตร อย่างน้อง เป็นต้น ก็ต้องทุกกฎเช่นเดียวกัน)
       ๒. ภิกษุรูปหนึ่งถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับสตรีที่ตายแล้ว เธอรังเกียจ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องถุลลัจจัย
       ๓. ภิกษุรูปหนึ่งถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย... ตรัสว่า เธอไม่ต้องสังฆาทิเสส แต่ต้องทุกกฎ
       ๔. ภิกษุรูปหนึ่งถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับตุ๊กตาไม้...ตรัสว่า เธอไม่ต้องสังฆาทิเสส แต่ต้องทุกกฎ
       ๕. สตรีจำนวนมากเอาแขนต่อๆ กัน โอบหาภิกษุรูปหนึ่งไป... ตรัสถามว่า เธอยินดีไหม, ทูลว่า ไม่ยินดี, ตรัสว่า ภิกษุผู้ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
       ๖. ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัด เขย่าสะพานที่สตรีขึ้นเดิน... ตรัสว่า เธอไม่ต้องสังฆาทิเสส แต่ต้องทุกกฎ
       ๗. ภิกษุรูปหนึ่งพบสตรีที่เดินสวนทางมามีความกำหนัด ได้กระทบไหล่... ตรัสว่า เธอต้องสังฆาทิเสสแล้ว
       ๘. ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัด กระตุกเชือกที่สตรีรับไว้... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องถุลลัจจัย
       ๙. ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัด ยกเท้าขึ้นถูกสตรีผู้กำลังไหว้... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว
       ๑๐. ภิกษุรูปหนึ่งพยายามว่าจะจับสตรี แต่สตรีมิให้จับต้อง... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฎ

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๑๕๕-๑๘๑ อธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
     ๑. วิหารของท่านอุทายีอยู่สุดแดนข้างหนึ่งแห่งพระวิหารเชตวัน, ตรงกลางวิหารมีห้อง, ได้ยินว่าห้องนั้นท่านพระอุทายีสร้างให้เป็นห้องสี่เหลี่ยมจตุรัสที่ตรงกลาง โดยมีโรงกลมเป็นระเบียบล้อมในภายนอกอย่างที่คนทั้งหลายอาจเพื่อจะเดินรอบภายในได้ทีเดียว
     ๒. เมื่อพราหมณ์กล่าวสรรเสริญอย่างนี้ นางพราหมณีนั้นเข้าใจว่าพราหมณ์นี้เลื่อมใสแล้วชะรอยอยากจะบวช เมื่อจะเปิดเผยอาการที่น่าบัดสีนั้นของตน แม้ควรปกปิดไว้ แต่นางมีความมุ่งหมายจะตัดรอนศรัทธาของพราหมณ์จึงได้กล่าวอย่างนั้น
     ๓. หญิงแม่เจ้าเรือนทั้งหลาย (แม่บ้าน) ชื่อว่า กุลสตรี, พวกลูกสาวของตระกูลผู้ไปกับบุรุษอื่น ได้ชื่อว่า กุลธิดา, พวกหญิงวัยรุ่นมีใจยังไม่หนักแน่น เรียกว่า กุลกุมารี, หญิงสาวที่เขานำมาจากตระกูลอื่น เพื่อเด็กหนุ่มในตระกูล เรียกชื่อว่า กุลสุณหา
       - เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น คือ สักว่าเกิดยังมีสีเป็นชิ้นเนื้อสด, ภิกษุเคล้าคลึงกายกับเด็กหญิงนั้นก็ย่อมเป็นสังฆาทิเสส, เมื่อก้าวล่วงด้วยเมถุน ย่อมเป็นปาราชิก, หากยินดีในที่ลับ (รโหนิสัชชะ) ย่อมเป็นปาจิตตีย์
     ๔. คำว่า “ช้อง” เป็นชื่อของมัดผมที่ถักด้วยผม ๓ เกลียว, แล้วแซมด้วยดอกมะลิบ้าง ด้วย ๕ สีบ้าง ระเบียบกหาปณะบ้าง สายสร้อยทองคำบ้าง เป็นต้น ภิกษุจับช้องชนิดใดชนิดหนึ่ง ช้องเหล่านี้เป็นสังฆาทิเสสทั้งสิ้น ไม่มีความพ้นแก่ภิกษุผู้แก้ตัวว่าข้าพเจ้าได้จับช้องที่เจือ
       - การจับมือ ชื่อว่า หัตถัคคาหะ, การจับช้องผมชื่อว่า เวณิคคาหะ, การลูบคลำศีรษะที่เหลือชื่อว่า การลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม ย่อมเป็นสังฆาทิเสส
      ๕. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงประเภทแห่งอาบัติโดยพิสดาร ด้วยสามารถแห่งบทเหล่านี้ของภิกษุผู้ถูกราคะครอบงำ แล้วมีจิตแปรปรวน ถึงความเคล้าคลึงกาย จึงตรัสคำเป็นต้นว่า หญิง ๑ ภิกษุมีความสำคัญว่าเป็นหญิง ๑ มีความกำหนัด ๑ เคล้าคลึงด้วยกายกับหญิงนั้น ๑ ดังนี้
       - ในการจับต้องเป็นต้นนั้น เมื่อภิกษุจับต้องคราวเดียวเป็นอาบัติตัวเดียว เมื่อจับต้องบ่อยๆ เป็นสังฆาทิเสสทุกๆ ประโยค, แม้เมื่อลูบคลำ หากว่าไม่ปล่อยให้พ้นจากกายเลย ส่าย ย้าย ไสมือก็ดี กายก็ดี ของตนไปข้างโน้นข้างนี้ เมื่อลูบคลำอยู่แม้ตลอดวัน ก็เป็นอาบัติตัวเดียวเท่านั้น, ถ้าปล่อยให้พ้นจากกายแล้วเล่าๆ ลูบคลำ เป็นอาบัติทุกประโยค, เมื่อลูบลง ถ้าไม่ให้พ้นจากกายเลย ลูบตั้งแต่กระหม่อมของหญิงลงไปจนถึงหลังเท้า ก็เป็นอาบัติเพียงตัวเดียว, ถ้าว่า ถึงที่นั้นๆ บรรดาที่ต่างๆ มีท้องเป็นต้น ปล่อยมือแล้วลูบลงไป เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค
       ๖. “ลูบขึ้น” คือ ลูบตั้งแต่เท้าไปจนถึงศีรษะ
          “ทับลง” เมื่อภิกษุจับมาตุคามที่ผมแล้วกดลง กระทำอัชฌาจารตามปรารถนา มีการจูบ เป็นต้น แล้วปล่อย เป็นอาบัติตัวเดียว เมื่อภิกษุกดหญิงที่เงยขึ้นแล้วให้ก้มลงบ่อยๆ เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค
          “อุ้ม” ภิกษุจับมาตุคามที่ผมก็ดี ที่มือทั้งสองก็ดี ให้ลุกขึ้น
          “ฉุด” ภิกษุฉุดมาตุคามให้หันหน้ามาหาตน ยังไม่ปล่อยมือเพียงใด เป็นอาบัติตัวเดียวเพียงนั้นแหละ เมื่อปล่อยแล้วกลับฉุดมาอีก เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค
          “ผลัก” ภิกษุจับที่หลังมาตุคามลับหลังแล้วผลักไป
           “กด” ภิกษุจับที่มือหรือที่แขนมาตุคามให้แน่นแล้ว เดินไปแม้สิ้นระยะโยชน์หนึ่ง เป็นอาบัติเพียงตัวเดียว เมื่อปล่อยจับๆ เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค
           “บีบ” ภิกษุบีบด้วยผ้าก็ดี เครื่องประดับก็ดี ไม่ถูกต้องตัว เป็นถุลลัจจัย, เมื่อถูกต้องตัวเป็นสังฆาทิเสส
     บรรดาอาการมีการจับต้องเป็นต้นนี้ เมื่อภิกษุมีความสำคัญในหญิงว่าเป็นหญิง ประพฤติล่วงละเมิดด้วยอาการแม้อย่างหนึ่งเป็นสังฆาทิเสส, เป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้มีความสงสัย, แม้ภิกษุสำคัญในหญิงว่าเป็นบัณเฑาะก์ เป็นบุรุษและเป็นดิรัจฉาน เป็นถุลลัจจัยเหมือนกัน เป็นต้น
      ๗. เหมือนอย่างว่า ในหญิง ๒ คน พึงทราบสังฆาทิเสส ๒ ตัวฉันใด ในหญิงมากคน พึงทราบสังฆาทิเสสมากตัวฉันนั้น, ภิกษุใดเอาแขนทั้งสองรวบจับหญิงมีจำนวนมากคนยืนรวมตัวกันอยู่ ภิกษุนั้นต้องสังฆาทิเสสมากตัว ด้วยการนับจำนวนหญิงที่ตนถูกต้อง, ต้องถุลลัจจัยด้วยการนับหญิงที่อยู่ตรงกลาง จริงอยู่หญิงเหล่านั้นย่อมเป็นอันภิกษุนั้นจับต้องด้วยของเนื่องด้วยกาย
         - ภิกษุใดจับนิ้วมือหรือผมของหญิงจำนวนมากรวมกัน, ภิกษุนั้นพระวินัยธรอย่านับนิ้วมือหรือเส้นผมปรับ พึงนับหญิงปรับด้วยสังฆาทิเสส และเธอย่อมต้องถุลลัจจัยด้วยการนับหญิงทั้งหลายผู้มีนิ้วมือและผมอยู่ตรงกลาง, จริงอยู่ หญิงเหล่านั้นย่อมเป็นผู้อันภิกษุนั้นจับต้องแล้วด้วยของที่เนื่องด้วยกาย แต่เมื่อภิกษุรวบจับหญิงเป็นอันมากด้วยของที่เนื่องด้วยกาย มีเชือกและผ้าเป็นต้น ย่อมต้องอาบัติถุลลัจจัยด้วยการนับหญิงทั้งหมดผู้อยู่ภายในวงล้อมนั้นแล
         - ก็ถ้าว่าหญิงเหล่านั้นยืนจับที่กันชายผ้า และภิกษุนี้จับหญิงคนแรกในบรรดาหญิงเหล่านั้นที่มือ เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส ด้วยอำนาจแห่งหญิงคนที่ตนจับ, ต้องทุกกฎหลายตัวตามจำนวนแห่งหญิง นอกนี้ ด้วยว่าของที่เนื่องด้วยกายกับของที่เนื่องด้วยกายของหญิงเหล่านั้นทั้งหมด เป็นอันภิกษุนั้นจับต้องแล้ว
         - ภิกษุใดเบียดผู้ใหญ่ที่นุ่งผ้าหนา ถูกผ้าด้วยกายสัคคราคะ ภิกษุนั้นต้องถุลลัจจัย เบียดผู้หญิงที่นุ่งผ้าบาง ถูกผ้า ถ้าว่าในที่ซึ่งถูกกันนั้น ขนของผู้หญิงที่ลอดออกจากรูผ้าถูกภิกษุ หรือขนของภิกษุแยงเข้าไปถูกหญิง หรือขนทั้งสองฝ่ายถูกกันเท่านั้น เป็นสังฆาทิเสส
         - ในมหาปัจจรีกล่าวว่า เมื่อหญิงดำห่มผ้าสีเขียวนอน ภิกษุคิดว่า จักเบียดกาย แล้วเบียดกาย เป็นสังฆาทิเสส, คิดว่าจักเบียดกายแล้วเบียดผ้าสีเขียว เป็นถุลลัจจัย, คิดว่าจักเบียดผ้าเขียวแล้วเบียดผ้าสีเขียว เป็นถุลลัจจัย
         - หญิงผู้มีกำหนัดจัดในภิกษุ จึงไปยังที่ภิกษุนั่งหรือนอน แล้วจับถูกกายของภิกษุนั้นด้วยกายของตน หากภิกษุนั้นเป็นผู้มีความประสงค์ในอันเสพ ถ้าขยับหรือไหวกายแม้น้อยหนึ่งเพื่อรับรู้ผัสสะ เธอต้องสังฆาทิเสส
          - ภิกษุเห็นผู้หญิงขว้างดอกไม้หรือผลไม้ที่ตนขว้างไป ด้วยดอกไม้หรือผลไม้สำหรับขว้างของแล้วจึงทำกายวิการ คือ กระดิกนิ้ว หรือยักคิ้ว หรือหลิ่วตา หรือทำอย่างอื่น ภิกษุนี้เรียกว่าพยายามด้วยกาย แต่ไม่รับรู้ผัสสะ ภิกษุนี้ชื่อว่าต้องทุกกฎ เพราะมีความพยายามด้วยกาย
      ๘. ภิกษุใดมีความประสงค์จะเสพแต่มีการนิ่ง รับรู้ คือ ยินดีผัสสะอย่างเดียว ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้น เพราะไม่มีอาบัติในอาการสักว่า จิตตุปบาท (จิตคิด)
          - ภิกษุใดถูกผู้หญิงจับ จะให้หญิงนั้นพ้นจากสรีระ จึงผลักหรือตี ภิกษุนี้ชื่อว่า พยายามด้วยกาย รับรู้ผัสสะ, ภิกษุใดเห็นผู้หญิงกำลังมา ใคร่จะพ้นจากหญิงนั้น จึงตวาดให้หนีไป ภิกษุนี้ชื่อว่าพยายามด้วยกาย แต่ไม่รับรู้ผัสสะ, ภิกษุใดเห็นทีฆชาติ (มีงูเป็นต้น) เช่นนั้น เลื้อยขึ้นบนกาย แต่ไม่สลัด ด้วยคิดว่ามันจงค่อยๆ ไป มันถูกเราสลัดเข้าจะพึงเป็นไปเพื่อความพินาศ หรือรู้ว่าหญิงถูกตัว แต่นิ่งเฉย ทำเป็นไม่รู้เสีย คิดว่าหญิงนี้รู้ว่าภิกษุนี้ไม่มีความต้องการเรา แล้วจักหลีกไปเองแหละ หรือภิกษุหนุ่มถูกผู้หญิงมีกำลังกอดไว้แน่น แม้อยากหนี แต่ต้องนิ่งเฉย เพราะถูกยึดไว้มั่น ภิกษุนี้ชื่อว่า ไม่ได้พยายามด้วยกายแต่รับรู้ผัสสะ ส่วนภิกษุใดเห็นผู้หญิงมาแล้ว เป็นผู้นิ่งเฉย คิดว่าหล่อนจงมาก่อน เราจักตีหรือผลักหล่อนแล้วหลีกไปเสียจากนั้น ภิกษุนี้พึงทราบว่า มีความประสงค์จะพ้นไป ไม่พยายามด้วยกาย ทั้งไม่รับรู้ผัสสะ
          - ภิกษุส่งใจไปในที่อื่น ไม่มีความคิดว่าเราจักถูกต้องมาตุคามเพราะไม่มีสติ อย่างนี้ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ถูกต้องในเวลาเหยียดมือและเท้าเป็นต้น
         - ภิกษุเห็นเด็กหญิงมีเพศคล้ายเด็กชาย ไม่รู้ว่าเป็นผู้หญิง จึงถูกต้องด้วยกิจบางอย่างไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้ว่าเป็นผู้หญิง และย่อมไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่ยินดีที่ถูกสตรีจับที่แขนหรือห้อมล้อมพาไป
      ๙. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิกสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายกับจิต (กำหนัดใช้กายถูกต้อง) เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ (เพราะเป็นอกุศล) กายกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)
     ๑๐. ภิกษุเมื่อระลึกถึงพระอาญาของพระผู้มีพระภาคเจ้า (ปรับทุกกฏแก่ภิกษุผู้ถูกต้องกายมารดาหรือธิดาด้วยความรักอาศัยเรือน) ถ้าแม้นว่าเห็นมารดาถูกกระแสน้ำพัดไป ไม่ควรจับต้องด้วยมือเลย แต่ภิกษุผู้ฉลาดพึงนำเรือ หรือแผ่นกระดาษ หรือท่อนกล้วย หรือท่อนไม้เข้าไปให้ เมื่อเรือเป็นต้นไม่มีอยู่ แม้ผ้ากาสาวะนำไปวางไว้ข้างหน้า แต่ไม่ควรกล่าวว่าจงจับที่นี้, เมื่อท่านจับแล้ว พึงสาวมาด้วยทำในใจว่า เราสาวบริขารมา, ก็ถ้ามารดากลัวพึงไปข้างหน้า แล้วปลอบโยนว่าอย่ากลัว, ถ้ามารดาถูกน้ำพัดไปรีบขึ้นคอหรือจับที่มือของภิกษุผู้เป็นบุตร ภิกษุอย่าพึงสลัดออก พึงส่งไปให้ถึงบก, เมื่อมารดาติดหล่มก็ดี ตกไปในบ่อก็ดี มีนัยนี้เหมือนกัน อธิบายว่า ภิกษุพึงฉุดขึ้น อย่าพึงจับต้องเลย
          - แม้ถ้าว่า ภิกษุถึงความเคล้าคลึงกายกับนางเทพีของท้าวปรนิมมิตวสวัตตี ก็ต้องถุลลัจจัยอย่างเดียว
          - เรื่องหญิงตายเป็นถุลลัจจัย ในเวลาพอจะเป็นปาราชิก (สัตว์ยังไม่กัดกินโดยมาก) นอกจากนั้นเป็นทุกกฎ
          - ภิกษุเคล้าคลึงกายกับนางนาคมาณวิกาก็ดี นางสุบรรณมาณวิกาก็ดี กับนางกินรีก็ดี กับแม่โคก็ดี เป็นทุกกฏทั้งนั้น
          - มิใช่กับไม้อย่างเดียวเท่านั้น โดยที่สุดแม้ในรูปหญิงที่เขาเขียนจิตรกรรมไว้ ภิกษุเคล้าคลึงก็เป็นทุกกฎ
      ๑๑. “วัตถุที่เป็นอนามาส” (วัตถุที่ภิกษุไม่ควรจับต้อง)
      ก็มิใช่แต่ร่างกายของมาตุคามอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นอนามาส แม้ผ้านุ่ง และผ้าห่ม สิ่งของเครื่องประดับ จนชั้นเสวียนหญ้าหรือแหวนใบตาลก็ตาม เป็นอนามาสทั้งนั้น, ก็แลผ้านุ่งและผ้าห่มนั้นตั้งไว้ เพื่อต้องการใช้เป็นเครื่องประดับเท่านั้น ก็หากว่ามาตุคามวางผ้านุ่งหรือผ้าห่มไว้ในที่ใกล้เท้า เพื่อต้องการให้เปลี่ยนเป็นจีวร ผ้านั้นสมควร, ก็บรรดาเครื่องประดับ ภัณฑะที่เป็นกัปปิยะ มีเครื่องประดับศีรษะเป็นต้น อันมาตุคามถวายว่า ท่านเจ้าคะ ขอพระคุณท่านโปรดรับสิ่งนี้เถิด ภิกษุควรรับไว้เพื่อเป็นเครื่องใช้มีฝักมีดโกนและเข็มเป็นต้น ส่วนภัณฑะที่ทำด้วยทอง เงิน และแก้วมุกดาเป็นต้น เป็นอนามาสแท้ ถึงแม้เขาถวายก็ไม่ควรรับ
      อนึ่ง มิใช่แต่เครื่องประดับที่สวมร่างกายของหญิงเหล่านั้นอย่างเดียวเท่านั้น จะเป็นอนามาสถึงรูปไม้ รูปงา รูปเหล็ก รูปดีบุก รูปเขียน รูปที่สำเร็จด้วยรัตนะทุกอย่าง ที่เขากระทำสัณฐานแห่งหญิงชั้นที่สุดแม้รูปที่ปั้นด้วยแป้งก็เป็นอนามาสทั้งนั้น แต่ได้ของที่เขาถวายว่าสิ่งนี้จงเป็นของท่าน เว้นของที่สำเร็จด้วยรัตนะทุกอย่าง ทำลายรูปที่เหลือ น้อมเอาสิ่งที่ควรเป็นเครื่องอุปกรณ์เข้าในเครื่องอุปกรณ์ และสิ่งที่ควรใช้สอยเข้าในของสำหรับใช้สอย เพื่อประโยชน์แก่การใช้สอย ควรอยู่
      อนึ่ง แม้ธัญชาติ (ข้าวชนิดต่างๆ, พืชจำพวกข้าว) ๗ ชนิด ก็เป็นอนามาสเช่นเดียวกับรูปสตรี เพราะฉะนั้น เมื่อเดินไปกลางทุ่งนา อย่าเดินจับต้องเมล็ดธัญชาติ แม้ที่เกิดอยู่ในทุ่งนานั้นไปพลาง, ถ้ามีธัญชาติที่เขาตากไว้ที่ประตูเรือน หรือที่หนทาง และด้านข้างมีทางเดิน อย่าเดินเหยียบย่ำไป เมื่อทางเดินไม่มี พึงอธิษฐานให้เป็นทางเดินแล้วเดินไปเถิด คนทั้งหลายปูลาดอาสนะถวายบนกองธัญชาติในละแวกบ้าน จะนั่งก็ควร, ชนบางพวกเทธัญชาติไว้ในโรงฉัน ถ้าอาจจะให้นำออกได้ ก็พึงให้นำออก  ถ้าไม่อาจ อย่าเหยียบย่ำธัญชาติ พึงตั้งตั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วนั่งเถิด, ถ้าไม่มีโอกาส พวกชาวบ้านปูลาดอาสนะถวายตรงท่ามกลางธัญชาตินั่นเอง พึงนั่งเถิด, แม้ในธัญชาติที่อยู่บนเรือก็มีนัยนี้, แม้อปรัณชาติ (ของที่ควรกินที่หลัง เช่น ถั่ว, งา) มีถั่วเขียวและถั่วเหลืองเป็นต้นก็ดี ผลไม่มีตาลและขนุนเป็นต้นก็ดี ที่เกิดในที่นั่น ภิกษุไม่ควรจับเล่น แม้ในอปรัณชาติและผลไม้ที่ชาวบ้านรวมกองไว้ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน, แต่การที่ภิกษุจะถือเอาผลไม้ที่หล่นจากต้นไม้ในป่า ด้วยตั้งใจว่าจะให้แก่พวกอนุปสัมบัน ควรอยู่
     ๑๒. ว่าด้วยรัตนะ ๑๐ ประการ
     บรรดารัตนะ ๑๐ ประการ คือ มุกดา มณี ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา ประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม บุษราคัม, มุกดาตามธรรมชาติยังไม่ได้เจียระไนและเจาะ ภิกษุจะจับต้องได้อยู่ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า รัตนะที่เหลือเป็นอนามาส, แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า มุกดาที่เจียระไนแล้วก็ดี ที่ยังไม่เจียระไนก็ดี เป็นอนามาส และภิกษุรับเพื่อประโยชน์เป็นมูลค่าแห่งสิ่งของ ย่อมไม่ควร แต่จะรับเพื่อเป็นยาแก่คนเป็นโรคเรื้อน ควรอยู่, มณีชนิดสีเขียวและเหลืองเป็นต้น แม้ทั้งหมดโดยที่สุดจนกระทั่งแก้วผลึกธรรมชาติที่เขาขัด เจียระไนและกลึงแล้ว เป็นอนามาส, แต่มณีตามธรรมชาติพ้นจากบ่อเกิด ท่านกล่าวว่า ภิกษุจะรับเอาไว้เพื่อเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของมีบาตรเป็นต้น ก็ควร, แม้มณีนั้น ท่านห้ามไว้ในมหาปัจจรี, กระจกแก้วที่เขาหุงทำไว้อย่างเดียวเท่านั้น ท่านกล่าวว่าควร แม้ในไพฑูรย์ก็มีวินิจฉัยเช่นเดียวกันกับแก้วมณี, สังข์จะเป็นสังข์สำหรับเป่า (แตรสังข์) ก็ดี ที่เขาขัดและเจียระไนแล้วก็ดี ประดับด้วยรัตนะ (ขลิบด้วยรัตนะ) ก็ดี เป็นอนามาส, สังข์สำหรับตักน้ำดื่มที่ขัดแล้วก็ดี ยังมิได้ขัดก็ดี เป็นของควรจับต้องได้แท้ อนึ่ง รัตนะที่เหลือ ภิกษุจะรับไว้เพื่อใช้เป็นยาหยอดตาเป็นต้นก็ดี เพื่อเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของก็ดี ควรอยู่
      ศิลาที่ขัดและเจียระไนแล้ว ประดับด้วยรัตนะมีสีเหมือนถั่วเขียวเท่านั้น เป็นอนามาส, ศิลาที่เหลือ ภิกษุจะถือเอามาเพื่อใช้เป็นหินลับมีดเป็นต้นก็ได้
      แล้วพวกประพาฬที่ขัดและเจียระไนแล้ว เป็นอนามาส, ประพาฬที่เหลือเป็นอามาส (ควรจับต้องได้) และภิกษุจะรับไว้เพื่อใช้จ่ายเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของ ควรอยู่ แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ประพาฬที่ขัดแล้วก็ตาม มิได้ขัดก็ตาม เป็นอนามาสทั้งนั้น และจะรับไว้ไม่สมควร
      เงินและทอง แม้เขาทำเป็นรูปพรรณทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอนามาส และเป็นของไม่ควรรับไว้ จำเดิมแต่ยังเป็นแร่, ได้ยินว่า อุดรราชโอรสให้สร้างพระเจดีย์ทองส่งไปถวายพระมหาปทุมเถระ, พระเถระห้ามว่าไม่ควร, ดอกปทุมทองและดาวทองเป็นต้น มีอยู่ที่เรือนพระเจดีย์ แม้สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอนามาส แต่พวกภิกษุผู้เฝ้าเรือนพระเจดีย์ตั้งอยู่ในฐานเป็นผู้ทิ้งรูปิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุเหล่านั้นจะลูบคลำดู ก็ควร, แต่คำนั้นท่านห้ามไว้ในกุรุนที ท่านอนุญาตเพียงเท่านี้ว่า จะชำระหยากเยื่อที่พระเจดีย์ทองควรอยู่
      ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งปวงว่า แม้โลหะที่กะไหล่ทอง (โลหะทำเทียม) ก็มีคติดุจทองคำเหมือนกัน จัดเป็นอนามาส, ส่วนเครื่องใช้สอยในเสนาสนะเป็นกัปปิยะทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเครื่องบริขารประจำเสนาสนะ แม้ทุกอย่างที่ทำด้วยทองและเงิน เป็นอามาส, พวกชาวบ้านสร้างมณฑปแก้วเป็นสถานที่แสดงพระธรรมวินัยแก่ภิกษุทั้งหลาย มีเสาแก้วผลึก ประดับประดาด้วยพวงแก้ว การที่ภิกษุทั้งหลายจะเก็บรักษาเครื่องอุปกรณ์ทั้งหมดในรัตมณฑปนั้น ควรอยู่
          - ทับทิมและบุษราคัมที่ขัดและเจียระไนแล้ว เป็นอนามาส, ที่ยังไม่ได้ขัดและเจียระไน นอกนี้ท่านกล่าวว่าเป็นอามาส ภิกษุจะรับไว้เพื่อใช้เป็นมูลค่าแห่งสิ่งของ ควรอยู่, แต่ในมหาปัจจรีว่า ทับทิมและบุษราคัมที่ขัดแล้วก็ดี ที่ยังมิได้ขัดก็ดี เป็นอนามาสโดยประการทุกอย่าง และภิกษุจะรับไว้ไม่ควร
          - เครื่องอาวุธทุกชนิด เป็นอนามาส แม้เขาถวายเพื่อประโยชน์จำหน่ายเป็นมูลค่าแห่งสิ่งของก็ไม่ควรรับไว้, ชื่อว่า การค้าขายศัสตรา ย่อมไม่ควร, แม้คันธนูล้วนๆ ก็ดี สายธนูก็ดี ประตักก็ดี ขอช้างก็ดี โดยที่สุดแม้มีดและขวานเป็นต้น ที่เขาทำโดยสังเขปเป็นอาวุธ ก็เป็นอนามาส, ถ้ามีใครๆ เอาหอกหรือโตมรมาวางไว้ในวิหาร เมื่อจะชำระวิหาร พึงส่งข่าวไปบอกแก่พวกเจ้าของว่า จงนำไปเสีย ถ้าพวกเขาไม่นำไป อย่าให้ของนั้นขยับเขยื้อน พึงชำระวิหารเถิด, ภิกษุพบเห็นดาบก็ดี หอกก็ดี โตมรก็ดี ตกอยู่ในสนามรบ พึงเอาหินหรือของอะไรๆ ทุบดาบเสียแล้วถือเอาไปเพื่อใช้เป็นมีด ควรอยู่, ภิกษุจะแยกแม้ของนอกนี้ออกแล้วถือเอาของบางอย่างเพื่อใช้เป็นมีด บางอย่างใช้เป็นไม้เท้าเป็นต้น ควรอยู่ ส่วนว่าเครื่องอาวุธที่เขาถวายว่าขอท่านจงรับอาวุธนี้ไว้ ภิกษุจะรับแม้ทั้งหมดด้วยตั้งใจว่า เราจักทำให้เสียหายแล้ว กระทำให้เป็นกัปปิยภัณฑ์ดังนี้ ควรอยู่
          - เครื่องจับสัตว์ มีแหทอดปลาและข่ายดักนกเป็นต้นก็ดี เครื่องป้องกันลูกศร มีโล่และตาข่ายเป็นต้นก็ดี เป็นอนามาสทุกอย่าง, ก็บรรดาเครื่องดักสัตว์ และเครื่องป้องกันลูกศรที่ได้มาเพื่อเป็นเครื่องใช้สอยทีแรก ตาข่าย ภิกษุจะถือเอาด้วยตั้งใจว่า เราจะผูกขึงไว้หรือพันเป็นฉัตรไว้เบื้องบนแห่งอาสนะหรือพระเจดีย์ ควรอยู่, เครื่องป้องกันลูกศรทั้งหมดแม้ภิกษุจะรับไว้เพื่อใช้เป็นมูลค่าแห่งของ ก็สมควร เพราะว่าเครื่องป้องกันลูกศรนั้น เป็นเครื่องกันการเบียดเบียนจากคนอื่น ไม่ใช่เครื่องทำการเบียดเบียน ฉะนี้แล, จะรับโล่ด้วยตั้งใจว่า เราจักทำเป็นภาชนะใส่ไม้สีฟัน ดังนี้ ก็ควร
          - เครื่องดนตรีมีพิณและกลองเป็นต้น ที่ขึงด้วยหนัง เป็นอนามาส, แต่ในกุรุนทีกล่าวว่าตัวกลอง (หนังชะเนาะขึ้นกลอง) ก็ดี ตัวพิณ (สายขึงพิณ) ก็ดี รางเปล่าก็ดี หนังที่เขาปิดไว้ที่ขอบปากก็ดี คันพิณก็ดี เป็นอนามาสแม้ทั้งสิ้น, จะขึงเองหรือให้คนอื่นเขาขึงก็ดี จะประโคมเองหรือให้คนอื่นเขาประโคมก็ดี ไม่ได้ทั้งนั้น, แม้เห็นเครื่องดนตรีที่พวกมนุษย์กระทำการบูชาแล้วทิ้งไว้ที่ลานพระเจดีย์ อย่าทำให้เคลื่อนที่เลย พึงกวาดไปในระหว่างๆ แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ในเวลาเทหยากเหยื่อ พึงทำไปโดยกำหนดว่าเป็นหยากเหยื่อ แล้ววางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ควรอยู่, แม้จะรับไว้เพื่อใช้เป็นมูลค่าแห่งสิ่งของก็ควร แต่ที่ได้มาเพื่อต้องการจะใช้สอย จะถือเอาเพื่อต้องการทำให้เป็นบริขารนั้นๆ โดยตั้งใจอย่างนี้ว่า เราจักทำรางพิณและหุ่นกลองให้เป็นภาชนะใส่ไม้สีฟัน หนังจักทำให้เป็นฝักมีดแล้ว กระทำตามที่ตั้งใจอย่างนั้นๆ ควรอยู่    
 

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
ปเร จ น วิชานนฺติ   มยเมตฺถ ยมามเส
เย จ ตตฺถ วิชานนฺติ   ตโต สมฺมนฺติ เมธคา ฯ ๖ ฯ
     คนทั่วไปมักนึกไม่ถึงว่า ตนกำลังพินาศ เพราะวิวาททุ่มเถึยงกัน
     ส่วนผู้รู้ความจริงเช่นนั้น ย่อมไม่ทะเลาะกันอีกต่อไป
     The common people know not That in this Quarrel they will perish,
     But those who realize this truth Have their Quarrels calmed thereby.
   
     ...ศ.เสฐียรพงษ์ วรรษปก


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 มีนาคม 2558 13:56:17
.

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๗)
ภิกษุมีความกำหนัด พูดเกี้ยวหญิง ต้องสังฆาทิเสส

    พระอุทายีอยู่ในวิหารชายป่า สตรีเป็นอันมากมีความประสงค์จะชมพระวิหาร จึงเข้าไปยังอาราม เรียนพระอุทายีขอชมวิหาร พระอุทายีเชิญสตรีเหล่านั้นให้ชมวิหารแล้ว กล่าวมุ่งวัจจมรรค ปัสสาวมรรค ของสตรีเหล่านั้น ชมบ้าง ติบ้าง ขอบ้าง อ้อนวอนบ้าง ถามบ้าง บอกบ้าง สอนบ้าง ด่าบ้าง สตรีเหล่านั้นจำพวกที่หน้าด้าน ฐานนักเลง ไม่มียางอาย บ้างยิ้มแย้ม บ้างก็พูดยั่วซิกซี้ ส่วนพวกที่มีความละอายใจ ก็เลี่ยงออกไป แล้วโพนทะนาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า คำนี้ไม่เหมาะไม่ควร แม้สามีดิฉันพูดอย่างนี้ ดิฉันยังไม่ปรารถนา
     ภิกษุทั้งหลายต่างเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีพระบัญญัติว่า
    “อนึ่ง ภิกษุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว พูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบ เหมือนชายหนุ่มพูดเคาะหญิงสาวด้วยวาจาพาดพิงเมถุน เป็นสังฆาทิเสส”  
 

อรรถาธิบาย
-  ที่ชื่อว่า กำหนัดแล้ว คือ มีความยินดี มีความเพ่งเล็ง มีจิตปฏิพัทธ์
- บทว่า แปรปรวนแล้ว คือ มีจิตอันราคะย้อมแล้ว
- ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถรู้ถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต ทุพภาษิต หยาบ และสุภาพ
- วาจาที่ชื่อว่า ชั่วหยาบ ได้แก่ วาจาที่พาดพิงวัจจมรรค ปัสสาวมรรค และเมถุนธรรม
- บทว่า พูดเคาะ คือ ที่เรียกกันว่า ประพฤติล่วงเกิน พูดล่วงเกิน
- คำว่า เหมือนชายหนุ่มหญิงสาว ได้แก่ เด็กชายรุ่นกับเด็กหญิงรุ่น คือ หนุ่ม สาว ชายบริโภคกามกับหญิงบริโภคกาม
- บทว่า ด้วยวาจาพาดพิงเมถุน ได้แก่ ถ้อยคำที่เกี่ยวกับเมถุนธรรม
- มุ่งมรรคทั้งสอง ภิกษุจึงพูดชม พูดติ พูดขอ พูดอ้อนวอน ถาม ย้อนถาม บอก สอน ด่า
- ที่ชื่อว่า พูดชม คือ ชม สรรเสริญมรรคทั้งสอง, พูดติ คือ ติเตียนมรรคทั้งสอง, พูดขอ คือพูดว่า โปรดให้แก่เรา, พูดอ้อนวอน คือ พูดว่า เมื่อไรยามดีจักมีแก่เธอ เมื่อไรฉันจักได้เมถุนธรรมของเธอ, ถาม คือ ถามว่า เธอให้เมถุนธรรมแก่สามีอย่างไร แก่ชู้อย่างไร, ย้อนถาม คือ เธอให้เมถุนธรรมแก่สามีอย่างนี้หรือ หรือให้แก่ชู้อย่างนี้หรือ, บอก คือ ถูกเขาถามแล้วบอกว่าเธอจงให้อย่างนี้ เธอจักเป็นที่รักที่พอใจของสามี, สอน คือ เขาไม่ได้ถาม บอกเองว่าเธอจงให้อย่างนี้, ด่า คือ ด่าว่าเธอเป็นคนไม่มีโลหิต เธอเป็นคนช้ำรั่ว เธอเป็นคล้ายผู้ชาย เธอเป็นคนปราศจากนิมิต


อาบัติ
๑. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัด และพูดพาดพิงถึงทวารหนัก ทวารเบา ของสตรี ชมก็ดี ติก็ดี ขอก็ดี อ้อนวอนก็ดี ถามก็ดี ย้อนถามก็ดี บอกก็ดี สอนก็ดี ด่าก็ดี ต้องสังฆาทิเสส
๒. สตรี ภิกษุสงสัย...ต้องถุลลัจจัย
๓. สตรี ภิกษุคิดว่าเป็นบัณเฑาะว์...ต้องถุลลัจจัย
๔. สตรี ภิกษุคิดว่าเป็นบุรุษ...ต้องถุลลัจจัย
๕. สตรี ภิกษุคิดว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องถุลลัจจัย
๖. บัณเฑาะก์ ภิกษุรู้ว่าเป็นบัณเฑาะก์...ต้องถุลลัจจัย
๗. บัณเฑาะก์ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
๘. บัณเฑาะก์ ภิกษุคิดว่าเป็นบุรุษ หรือเป็นสตรี หรือเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องทุกกฎ
๙. บุรุษ ภิกษุรู้ว่าเป็นบุรุษ...ต้องทุกกฎ
๑๐. บุรุษ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
๑๑. บุรุษ ภิกษุคิดว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นสตรี หรือเป็นบัณเฑาะก์...ต้องทุกกฎ
๑๒. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุรู้ว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องทุกกฎ
๑๓. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
๑๔. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี หรือบุรุษ หรือบัณเฑาะก์...ต้องทุกกฎ
๑๕. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัดพูดพาดพิงถึงอวัยวะเบื้องบนใต้รากขวัญลง อวัยวะเบื้องต่ำเหนือเข่าขึ้นไป เว้นทวารหนัก ทวารเบา...ต้องถุลลัจจัย
๑๖. บัณเฑาะก์ ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี...ต้องทุกกฎ
๑๗. บุรุษ ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี...ต้องทุกกฎ
๑๘. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี...ต้องทุกกฎ
๑๙. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัด และพูดพาดพิงถึงอวัยวะเบื้องบนเหนือรากขวัญขึ้นไป อวัยวะเบื้องต่ำใต้เข่าลงมา...ต้องทุกกฎ
๒๐. บัณเฑาะก์ บุรุษ สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี...ต้องทุกกฎ
๒๑. สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัด และพูดพาดพิงถึงของที่เนื่องด้วยกายของสตรี...ต้องทุกกฎ
๒๒. บัณเฑาะก์ บุรุษ สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี...ต้องทุกกฎ


อนาบัติ
ภิกษุผู้มุ่งประโยชน์ ๑  ภิกษุผู้มุ่งธรรม ๑  ภิกษุผู้มุ่งสั่งสอน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมะ ๑

ตัวอย่าง
    ๑. สตรีผู้หนึ่งห่มผ้ากัมพลใหม่สีแดง ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัด พูดเคาะว่า น้องหญิง เธอมีสีแดงแท้ นางไม่เข้าใจความหมายตอบว่า เจ้าค่ะ ผ้ากัมพลใหม่สีแดงค่ะ ภิกษุรูปนั้นคิดว่าเราต้องสังฆาทิเสส แล้วทูลถาม  ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฎ (ภิกษุมุ่งโลหิตของนาง)
     ๒. ภิกษุรูปหนึ่งพบนางปริพาชิกาเดินสวนทางมา มีความกำหนัดพูดเคาะว่า น้องหญิง หนทางของเธอราบรื่นดอกหรือ นางไม่เข้าในความหมาย ตอบว่า เจ้าค่ะ ท่านจักเดินไปได้หนอ ภิกษุคิดว่าเราต้องสังฆาทิเสสแล้ว จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย (ภิกษุหมายถึง ทางแห่งองคชาต นางไม่เข้าใจ)
     ๓. ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนดพูดเคาะสตรีผู้หนึ่งว่า เธอเป็นคนมีศรัทธา จะถวายของที่เธอให้สามีแก่พวกฉันบ้างไม่ได้หรือ สตรีถามว่า ของอะไรเจ้าข้า ภิกษุตอบว่า เมถุนธรรมจ้ะ ภิกษุคิดว่าเราต้องสังฆาทิเสสแล้ว จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว


สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๒๐๙-๒๑๖
    ๑. ด้วยคำว่า เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถทราบถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต ทุพภาษิต วาจาชั่วหยาบและสุภาพได้นี้ ท่านพระอุบาลีแสดงว่า หญิงเป็นผู้ฉลาด สามารถเพื่อจะทราบถ้อยคำที่เป็นประโยชน์และไร้ประโยชน์ ถ้อยคำที่พาดพิงอสัทธรรมและสัทธรรม ทรงประสงค์เอาในสิกขาบทนี้ ส่วนหญิงที่โง่เขลาเบาปัญญาแม้เป็นผู้ใหญ่ ก็ไม่ทรงประสงค์เอาในสิกขาบทนี้
     ๒. ภิกษุพูดชมว่า “เธอเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยลักษณะของหญิง” อาบัติยังไม่ถึงที่สุด เมื่อพูดว่า “วัจจมรรคและปัสสาวมรรคของเธอเป็นเช่นนี้ เธอเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยลักษณะของสตรี” อาบัติย่อมถึงที่สุด คือเป็นสังฆาทิเสส
        - พูดว่า เธอจงให้แก่เรา อาบัติยังไม่ถึงที่สุด แต่เมื่อเชื่อมด้วยเมถุนธรรมแก่สามีอย่างนี้ว่า เธอจงให้เมถุนธรรมแก่เรา เป็นสังฆาทิเสส, เธอจงให้เมถุนธรรมแก่สามีอย่างนี้ๆ เป็นสังฆาทิเสส
        - ภิกษุด่าว่า เธอเป็นคนปราศจากนิมิต มีอธิบายว่า ช่องปัสสาวะของเธอมีประมาณเท่ารูกุญแจเท่านั้น, เธอเป็นคนไม่มีโลหิต คือ มีช่องคลอดแห้ง, เธอเป็นคนช้ำรั่ว คือ น้ำมูตรของเธอไหลออกอยู่เสมอ เมื่อเชื่อมกับเมถุนธรรมว่า เธอเป็นคนไม่มีนิมิต จงให้เมถุนธรรมแก่เรา ดังนี้ ย่อมเป็นสังฆาทิเสส
        - ภิกษุด่าว่า เธอมีเดือย (มีเนื้อเดือยยื่นออกมาข้างนอก), เธอเป็นคนผ่า, เธอเป็นคนสองเพศ (มีช่องทวารหนักและช่องทวารเบาปนกัน, มีเครื่องหมายเพศสตรีและเครื่องหมายเพศบุรุษอยู่ในตัว) ย่อมถึงที่สุดแห่งอาบัติ คือ เป็นสังฆาทิเสส
     ๓. ภิกษุกล่าวอรรถแห่งบท เป็นต้นว่า อนิมิตฺตาสิ หรือผู้ทำการสาธยายอรรถกถา เรียกว่า มุ่งอรรถ, ภิกษุบอกหรือสาธยายพระบาลีอยู่ เรียกว่า มุ่งธรรม ย่อมไม่เป็นอาบัติ
        - ภิกษุมุ่งสั่งสอนกล่าวอย่างนี้ว่า ถึงบัดนี้เธอก็เป็นคนไม่มีนิมิต เป็นคนสองเพศ เธอพึงทำความไม่ประมาทตั้งแต่บัดนี้ เธออย่าเป็นเหมือนอย่างนี้ต่อไปเลย ชื่อว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ผู้มุ่งคำสอน, ส่วนภิกษุใดเมื่อบอกบาลีแก่พวกนางภิกษุณี ละทำนองพูดตามปกติเสีย หัวเราะเยาะพูดย้ำๆ ว่า เธอเป็นคนมีเดือย เป็นคนผ่า เป็นคนสองเพศ ภิกษุนั้นเป็นอาบัติแท้
     ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)



(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๘)
ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อหญิงให้บำเรอตนด้วยกาม ต้องสังฆาทิเสส

    พระอุทายีเข้าไปสู่สกุลหญิงม่ายผู้หนึ่ง ผู้รูปงาม น่าดู น่าชม นั่งเหนืออาสนะที่เขาจัดถวาย หญิงม่ายเข้ามากราบแล้วนั่ง ณ ที่สมควร  ท่านอุทายีกล่าวธรรมยังหญิงนั้นให้แจ้ง สมาทาน อาจหาญ รู้แจ้ง นางปวารณาว่า โปรดบอกเถิดเจ้าข้า หากต้องการสิ่งใดซึ่งดิฉันสามารถจัดถวายพระคุณเจ้าได้ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช, พระอุทยีกล่าวว่า น้องหญิง ปัจจัยเหล่านี้ไม่เป็นของหายากสำหรับฉัน ขอจงให้ของที่หาได้ยากสำหรับฉันเถิด,  สตรี : ของอะไร เจ้าข้า,  อุ : เมถุนธรรมจ้ะ,  สตรี : พระคุณเจ้าต้องการหรือเจ้าคะ,  อุ : ต้องการจ้ะ
     สตรีม่ายกล่าวนิมนต์ แล้วเดินเข้าห้องเลิกผ้าสาฎกนอนหงายบนเตียง  พระอุทายีเข้ามาถึงเตียงแล้วถ่มน้ำลายรด  พูดว่า ใครจักถูกต้องหญิงถ่อยมีกลิ่นเหม็นนี้ได้ ดังนี้แล้วหลีกไป
     สตรีม่ายนั้นเพ่งโทษโพนทะนาว่า สมณะเชื้อสายศากยบุตร เป็นผู้ไม่ละอาย ทุศีล พูดเท็จ และไม่มีความเป็นสมณะ... แม้สตรีที่รู้ก็เพ่งโทษ ภิกษุทั้งหลายได้ยินก็เพ่งโทษ แล้วกราบทูล... ตรัสถามพระอุทายีว่า “เธอกล่าวคุณแห่งการบำเรอตนด้วยกาม ในสำนักมาตุคามจริงหรือ”  อุ : จริง พระพุทธเจ้าข้า  ทรงมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง ภิกษุใดกำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว กล่าวคุณแห่งการบำเรอกามของตน ในสำนักของมาตุคาม ด้วยถ้อยคำพาดพิงเมถุนว่า น้องหญิง สตรีใดบำเรอผู้ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล มีกัลยาณธรรมเช่นเราด้วยธรรมนั้น เป็นยอดแห่งการบำเรอทั้งหลาย เป็นสังฆาทิเสส”


อรรถาธิบาย
- ที่ชื่อว่า กำหนัดแล้ว คือ มีความยินดี มีจิตปฏิพัทธ์, แปรปรวนแล้ว คือ จิตถูกราคะย้อมแล้ว ควบคุมแล้ว
- ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถทราบถ้อยคำภาษิต ทุพภาษิต สุภาพและหยาบคาย
- บทว่า ในสำนักมาตุคาม คือ ในที่ใกล้มาตุคาม ในที่ไม่ห่างมาตุคาม
- บทว่า กามของตน ได้แก่ ความใคร่ของตน ความประสงค์ของตน การบำเรอของตน
- บทว่า นั่นเป็นยอด คือ นั่นเป็นเลิศ ประเสริฐ สูงสุด อุดม เยี่ยม
- บทว่า สตรีใด ได้แก่ นางกษัตริย์ พราหมณ์ หญิงแพศย์ หญิงศูทร
- บทว่า มีศีล คือ เว้นขาดจากปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาท
- บทว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ คือ ผู้เว้นขาดจากเมถุนธรรม
- ที่ชื่อว่า กัลยาณธรรม คือ เป็นผู้ชื่อว่ามีธรรมงาม เพราะศีลและพรหมจรรย์นั้น
- ที่ชื่อว่า ด้วยธรรมนั่น คือ ด้วยเมถุนธรรม, บำเรอ คือ อภิรมย์, ด้วยถ้อยคำเกี่ยวกับเมถุนธรรม


อาบัติ
๑.  สตรี ภิกษุรู้ว่าเป็นสตรี มีความกำหนัด กล่าวคุณแห่งการบำเรอกามของตนในสำนักสตรี ต้องสังฆาทิเสส
๒. สตรี ภิกษุสงสัย...ต้องถุลลัจจัย
๓. สตรี ภิกษุคิดว่าเป็นบัณเฑาะก์, บุรุษ, สัตว์ดิรัจฉาน....ต้องถุลลัจจัย
๔. บัณเฑาะก์ ภิกษุรู้ว่าเป็นบัณเฑาะก์...ต้องถุลลัจจัย
๕. บัณเฑาะก์ ภิกษุสงสัย...ต้องถุลลัจจัย
๖. บัณเฑาะก์ ภิกษุคิดว่าเป็นบุรุษ, สัตว์ดิรัจฉาน,  สตรี...ต้องทุกกฎ
๗. บุรุษ ภิกษุรู้ว่าเป็นบุรุษ...ต้องทุกกฎ
๘. บุรุษ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
๙. บุรุษ ภิกษุคิดว่าเป็นสตรี, บัณเฑาะก์, สัตว์ดิรัจฉาน...ต้องทุกกฎ
๑๐. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุรู้ว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน...ต้องทุกกฎ
๑๑. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุสงสัย,,,ต้องทุกกฎ
๑๒. สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุคิดว่า (เข้าใจว่า) เป็นสตรี, บุรุษ, บัณเฑาะก์ ต้องทุกกฎ


อนาบัติ
ภิกษุกล่าวว่า ขอท่านจงบำรุงด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขาร  ดังนี้ ๑  วิกลจริต๑  อาทิกัมมะ ๑


ตัวอย่าง
    สตรีผู้หนึ่งถามภิกษุรูปหนึ่งว่า ท่านเจ้าข้า ทำไฉนดิฉันจึงจะได้ไปสุคติ ภิกษุนั้นตอบว่า น้องหญิง ถ้าเช่นนั้นเธอจงถวายทานที่เลิศ,  สตรี : อะไรเจ้าคะ ชื่อว่าทานที่เลิศ,  ภิกษุ : เมถุนธรรมจ้ะ,  ภิกษุนั้นคิดว่า เราต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วกระมัง กราบทูล... ตรัสว่า เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๒๓๗-๒๔๑
    ๑. บทว่า อตฺตกามปาริจริยาย ได้แก่ การบำเรอด้วยกาม กล่าวคือ เมถุนธรรม ชื่อว่า กามปาริจริยา, การบำเรอด้วยกามเพื่อประโยชน์แก่ตน ชื่อว่า อัตตกามปาริจริยา, อีกอย่างหนึ่ง การบำเรอที่ตนใคร่ คือ ปรารถนา  เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อัตตกกามา อธิบายว่า อันภิกษุเองปรารถนาแล้วด้วยอำนาจแห่งความกำหนัดในเมถุน, การบำเรอนั้นด้วย อันตนให้ใคร่ด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อัตตกามปาริจริยา
     ๒. ภิกษุใดกล่าวคุณแห่งการบำเรอตนด้วยกามอย่างนั้น กล่าวด้วยคำพาดพิงเมถุนจังๆ คือ หมายเฉพาะเมถุนจังๆ เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุนั้น
       - ท่านปรับสังฆาทิเสสแก่ภิกษุผู้กล่าวคำพาดพิงเมถุนเท่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงไม่เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุผู้กล่าวคุณแห่งการบำเรอ ด้วยถ้อยคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ฉันก็เป็นกษัตริย์ หล่อนก็เป็นกษัตริย์ นางกษัตริย์สมควรให้แก่กษัตริย์ เพราะมีชาติเสมอกัน, แต่เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุผู้กล่าวปริยายแม้มาก มีคำว่า ฉันก็เป็นกษัตริย์ หล่อนก็เป็นกษัตริย์ เป็นต้น  แล้วกล่าวด้วยถ้อยคำพาดพิงเมถุนจังๆ อย่างนี้ว่า หล่อนสมควรให้เมถุนแก่ฉัน
     ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนทุฏฐุลลวาจาสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๓ ที่ผ่านมา)


คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
สุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ   อินฺทฺริเยสุ อสํวุตํ
โภชนมฺหิ อมตฺตญฺญู    กุสีตํ หีนวีริยํ
ตํ เว ปสหตี มาโร   วาโต รุกฺขํว ทุพฺพลํ ฯ ๗ ฯ
     มารย่อมสามารถทำลายบุคคลผู้ตกเป็นทาสของความสวยงาม
     ไม่ควบคุมการแสดงออก  ไม่รู้ประมาณในโภชนาหาร
     เกียจคร้านและอ่อนแอ เหมือนลมแรงพัดโค่นต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง
     As the wind overthrows a weak tree, So does Mara overpower him
     Who lives attached to sense pleasures  Who lives with his senses uncontrolled,
     Who knows not moderation in his food,  And who is indolent and inactive.

     ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 เมษายน 2558 13:55:22
.

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๙)
ภิกษุพูดชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส

    พระอุทายีทำตนเป็นพ่อสื่อ เมื่อเข้าสู่สกุลนี้ ก็พรรณนาคุณสมบัติของเด็กหนุ่มหรือสาวน้อยสกุลโน้นให้สกุลนี้ฟัง เมื่อเข้าสู่สกุลโน้นก็พรรณนาคุณสมบัติของเด็กหนุ่มหรือสาวน้อยของอีกสกุลหนึ่งให้ฟัง การอาวาหมงคล วิวาหมงคล เกิดขึ้นจากการกระทำของท่านอุทายีนี้แล้ว
     ต่อมา พวกสาวกของอาชีวกต้องการสู่ขอธิดาของสตรีม่ายคนหนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างงามน่าดู น่าชม แต่สตรีม่ายไม่ตกลง คนทั้งหลายจึงแนะนำให้พวกสาวกของอาชีวกไปขอความช่วยเหลือจากพระอุทายีๆ รับคำเข้าไปพูดสู่ขอให้เขายกให้ได้แล้ว
     ธิดาสตรีม่ายได้รับการยกย่องเป็นสะใภ้แค่เดือนเดียว ต่อนั้นก็เลี้ยงดูอย่างทาสี ธิดานั้นจึงได้ส่งข่าวให้มารดารับตัวกลับ แต่พวกสาวกของอาชีวกไม่ยอม อ้างว่าไม่ได้รับปากไว้กับนาง แต่รับปากไว้กับท่านอุทายี นางจึงไปหาท่านอุทายีให้ท่านช่วยเจรจา ท่านไปพบสาวกของอาชีวก แต่ก็ไม่สำเร็จ พวกเข้าอ้างว่าไม่ได้รับปากไว้กับท่าน แต่รับปากไว้กับสตรีม่ายนั้นต่างหาก
     ธิดาหญิงม่ายและหญิงม่ายต่างสาปแช่งพระอุทายี เพราะได้รับความทุกข์ ส่วนพวกที่ได้รับความสุขต่างพากันสรรเสริญพระอุทายี ภิกษุทั้งหลายได้ยินเสียงสาปแช่ง ต่างเพ่งโทษติเตียนพระอุทายี แล้วกราบทูล...ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีพระบัญญัติ...(ห้ามชักสื่อ)
     ต่อมา พวกนักเลงหญิงหลายคนพากันไปเที่ยวรื่นเริงในสวน แล้วให้คนไปนำหญิงแพศยามา แต่หญิงแพศยาไม่มา เพราะนางไม่รู้จักใครและกลัวว่าจักถูกชิงเครื่องประดับที่นางมีมาก พวกนักเลงหญิงจึงปรึกษากันขอให้พระอุทายีไปช่วยพูดแก่นาง นางได้รับคำรับรองจากพระอุทายีแล้วจึงได้มาที่สวนนั้น อุบาสกทั้งหลายจึงเพ่งโทษติเตียนว่า “ไฉน ท่านพระอุทายีจึงได้ถึงความเป็นผู้ชักสื่อ อันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะหนึ่งเล่า”  ภิกษุทั้งหลายได้ยินจึงติเตียน แล้วกราบทูล...ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
     “อนึ่ง ภิกษุใดถึงความเป็นผู้ชักสื่อ บอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรีก็ดี บอกความประสงค์ของสตรีแก่บุรุษก็ดี ในความเป็นเมียก็ตาม ในความเป็นชู้ก็ตาม โดยที่สุดบอกแม้แก่หญิงแพศยาอันจะพึงอยู่ร่วมกันชั่วขณะ เป็นสังฆาทิเสส”

อรรถาธิบาย     - คำว่า ถึงความเป็นผู้ชักสื่อ คือ ถูกสตรีวานไปในสำนักบุรุษ หรือถูกบุรุษวานไปในสำนักสตรี
     - คำว่า บอกความประสงค์ คือแจ้งความปรารถนาของชายแก่หญิง หรือแจ้งความปรารถนาของหญิงแก่ชาย บอกว่าเธอจักเป็นเมีย หรือบอกว่าเธอจักเป็นชู้  โดยที่สุดบอกกับหญิงแพศยาว่า เธอจักเป็นภรรยาชั่วคราว

อาบัติ
     ๑. ภิกษุรับคำ นำไปบอก กลับมาบอก ต้องสังฆาทิเสส
     ๒. ภิกษุรับคำ นำไปบอก ไม่กลับมาบอก ต้องถุลลัจจัย
     ๓. ภิกษุรับคำ ไม่นำไปบอก กลับมาบอก ต้องถุลลัจจัย
     ๔. ภิกษุรับคำ ไม่นำไปบอก ไม่กลับมาบอก ต้องทุกกฎ
     ๕. ภิกษุไม่รับคำ นำไปบอก กลับมาบอก ต้องถุลลัจจัย
     ๖. ภิกษุไม่รับคำ นำไปบอก ไม่กลับมาบอก ต้องทุกกฎ
     ๗. ภิกษุไม่รับคำ ไม่นำไปบอก กลับมาบอก ต้องทุกกฎ
     ๘. ภิกษุไม่รับคำ ไม่นำไปบอก ไม่กลับมาบอก ไม่ต้องอาบัติ
     ๙. ภิกษุไปจัดการสำเร็จ กลับมาบอกคลาดเคลื่อน ต้องถุลลัจจัย
    ๑๐. ภิกษุไปบอกคลาดเคลื่อน กลับมาจัดการสำเร็จ ต้องถุลลัจจัย
    ๑๑. ภิกษุไปจัดการสำเร็จ กลับมาจัดการสำเร็จ ต้องสังฆาทิเสส
    ๑๒. ภิกษุไปบอกคลาดเคลื่อน กลับมาบอกคลาดเคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุผู้ไปด้วยกรณียกิจของสงฆ์ ของเจดีย์ ของภิกษุผู้อาพาธก็ดี ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมะ ๑

ตัวอย่าง
     ๑. บุรุษคนหนึ่งสั่งภิกษุรูปหนึ่งไว้ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงไปบอกสตรีผู้มีชื่อนี้ ภิกษุนั้นไปถามคนทั้งหลายว่า สตรีผู้มีชื่อนี้ไปไหน เขาตอบว่า หลับ ขอรับ  เธอคิดว่าเราต้องสังฆาทิเสสแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูล... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๒. บุรุษคนหนึ่งสั่งภิกษุรูปหนึ่งไว้ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงไปบอกสตรีผู้มีชื่อนี้, ภิกษุนั้นไปถามคนทั้งหลายว่า สตรีผู้มีชื่อนี้ไปไหน เขาตอบว่า เป็นสตรีบัณเฑาะก์ ขอรับ เธอคิดว่าเราต้องสังฆาทิเสสแล้ว จึงกราบทูลถาม... ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๓. สตรีคนหนึ่งทะเลาะกับสามี แล้วหนีไปเรือนมารดา ภิกษุประจำตระกูลได้ชักจูงให้เขาคืนดีกันแล้ว เธอคิดว่า เราต้องสังฆาทิเสสแล้วกระมัง จึงกราบทูล...ตรัสถามว่า เขาหย่ากันหรือยัง ภิกษุตอบว่าเขายังไม่ได้หย่ากัน พระพุทธเจ้าข้า ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติ เพราะเขายังไม่ทันหย่ากัน
     ๔. ภิกษุรูปหนึ่งถึงการชักสื่อในบัณเฑาะก์แล้ว เธอคิดว่าเราต้องสังฆาทิเสสแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูล...ตรัสว่า เธอไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ ๑/๓/๓๓๘-๓๕๔
     ๑. ที่ชื่อว่า อาวาหะ ได้แก่ การนำเด็กสาวมาจากตระกูลอื่นเพื่อเด็กหนุ่ม, ที่ชื่อว่า วิวาหะ ได้แก่ การส่งเด็กสาวของตนไปสู่ตระกูลอื่น
         - ล่วงไปได้ ๑ เดือน พวกสาวกของอาชีวกเหล่านั้น ใช้สอยนางนั้นด้วยการใช้สอยอย่างที่คนทั้งหลายจะพึงใช้สอยทาสี มีการให้ทำนา เทหยากเยื่อ และตักน้ำ เป็นต้น
         - พวกสาวกของอาชีวกแสดงว่า การตกลงและรับรอง คือ การรับและการให้ พวกเราไม่ได้รับมา ไม่ได้มอบให้อะไรๆ, คือว่า พวกเราไม่มีการซื้อขาย คือ การค้าขายกับท่าน, ธรรมดาว่าสมณะต้องเป็นผู้ไม่ขวนขวาย ต้องไม่พยายามในการงานเช่นนี้ ด้วยว่าสมณะผู้เป็นอย่างนี้ พึงเป็นสมณะที่ดีไม่ได้, แล้วกล่าวว่า ไปเสียเถิดท่าน พวกเราไม่รู้จักท่าน พระอุทายีถูกพวกสาวกอาชีวกรุกรานอย่างนี้
     ๒. เมื่อจะทรงแสดงประโยชน์ คือ ความประสงค์ ความต้องการ อัธยาศัย ความพอใจ ความชอบใจของชายและหญิงเหล่านั้น ที่ภิกษุบอก จึงตรัสว่า ในความเป็นเมียก็ตาม ในความเป็นชู้ก็ตาม
         - เมื่อภิกษุบอกความประสงค์ของชายแก่หญิง ชื่อว่า ย่อมบอกในความเป็นเมีย
         - เมื่อภิกษุบอกความประสงค์ของหญิงแก่ชาย ชื่อว่า ย่อมบอกในความเป็นชู้
         - อีกนัยหนึ่ง... เมื่อบอกความประสงค์ของชายนั่นแหละแก่หญิง ชื่อว่า บอกในความเป็นเมีย คือ ในความเป็นภรรยาถูกต้องตามกฎหมายบ้าง ในความเป็นชู้ คือ ในความเป็นมิจฉาจารบ้าง, ก็เพราะว่า ภิกษุ เมื่อจะบอกความเป็นเมียและเป็นชู้นั้น จำจะต้องกล่าวคำมีอาทิว่า นัยว่า เธอจักต้องเป็นภรรยาของชายนั้น  ฉะนั้น เพื่อจะแสดงอาการแห่งความเป็นถ้อยคำ จำเป็นต้องกล่าวนั้น จึงตรัสบอกบทภาชนะแห่งบททั้งสองนั้นว่า คำว่า ในความเป็นเมีย คือ เธอจักเป็นภรรยาเขา คำว่า ในความเป็นชู้ คือ เธอจักเป็นชู้ ดังนี้
     แม้ในการบอกความประสงค์ของหญิงแก่ชาย ก็พึงทราบอาการที่ภิกษุจำเป็นต้องกล่าวว่า เธอจักเป็นผัว เธอจักเป็นสามี จักเป็นชู้
         - หญิงที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ตังขณิกา เพราะผู้ชายพึงอยู่ร่วมเฉพาะในขณะนั้น คือ ชั่วครู่ ความว่า เป็นเมียเพียงชั่วคราว โดยกำหนดอย่างต่ำที่สุดทั้งหมด เมื่อภิกษุบอกความประสงค์ของชายอย่างนี้ว่า เธอจักเป็นเมียชั่วคราวแก่หญิงนั้น ก็เป็นสังฆาทิเสส, แม้ภิกษุผู้บอกความประสงค์ของหญิงแก่ชายว่า เธอจักเป็นผัวชั่วคราว ก็ต้องสังฆาทิเสส
     ๓. ภิกษุรับคำที่ชายนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านโปรดไปพูดกะหญิงที่มารดาปกครองชื่อนี้ว่า หล่อนจงเป็นภรรยาสินไถ่ (สตรีที่บุรุษช่วยมาด้วยทรัพย์แล้วให้อยู่ร่วม) ของชายชื่อนี้ ภิกษุลั่นวาจาด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ดีละ อุบาสก หรือว่าจงสำเร็จ หรือว่าเราจักบอก หรือด้วยกายวิการ มีพยักศีรษะเป็นต้น ชื่อว่า รับ
     ครั้นรับอย่างนั้นแล้ว ไปยังสำนักหญิงนั้น บอกคำสั่งนั้น ชื่อว่า บอก
     เมื่อคำสั่งอันนั้นเธอบอกแล้ว หญิงนั้นรับว่า ดีละ หรือห้ามเสีย หรือนิ่งเสีย เพราะอายก็ตาม ภิกษุกลับมาบอกข่าวนั้นแก่ชายนั้น ชื่อว่า กลับมาบอก ด้วยอาการอย่างนี้เป็นสังฆาทิเสส เพราะครบองค์ ๓ คือ รับคำบอก กลับมาบอก ส่วนหญิงนั้นจะเป็นภรรยาของชายนั้นหรือไม่ ไม่ใช่เหตุ
         - ภิกษุรับ แต่ให้อันเตวาสิกบอก แล้วกลับมาบอกด้วยตนเอง ก็ต้องสังฆาทิเสส
         - ภิกษุจะพูดว่า หล่อนจงเป็นภรรยา ชายา ปชาบดี มารดาของบุตร แม่เรือน แม่เจ้าเรือน แม่ครัว นางบำเรอ หญิงบำเรอกาม ของชายชื่อนี้ ดังนี้เป็นอาบัติทั้งนั้น
         - แต่เมื่อภิกษุอันชายวานว่า โปรดบอกหญิงที่มารดาปกครอง ภิกษุไปบอกหญิงเหล่าอื่น มีหญิงที่มีบิดาปกครองเป็นต้น ชื่อว่าคลาดเคลื่อน
         - ภิกษุผู้อันชายวานว่า ท่านจงโปรดไปบอกหญิงชื่อนี้ รับคำของเขาว่า ได้ซี แล้วจะลืมเสียหรือไม่ลืมคำสั่งก็ตาม ไปสู่สำนักของหญิงนั้นด้วยกรณียกิจอื่น นั่งกล่าวคำบ้างเล็กน้อยด้วยอาการเพียงเท่านี้ ท่านเรียกว่า รับ แต่ไม่บอก
     ลำดับนั้น หญิงนั้นพูดกับภิกษุว่า ได้ยินว่าอุปัฏฐากของท่านอยากได้ดิฉัน ดังนี้ ดิฉันจักเป็นภรรยาของเขา หรือจักไม่เป็น ภิกษุนั้นไม่รับรอง ไม่คัดค้านคำของหญิงนั้นนิ่งเสียเฉย ลุกจากที่นั่งมายังสำนักของชายบอกข่าวนั้นด้วยอาการเท่านี้ ท่านเรียกว่า ชื่อว่า ไม่บอก แต่กลับมาบอก
     ชายบางคนกล่าวถ้อยคำเห็นปานนั้น ในที่ซึ่งภิกษุยืนอยู่หรือนั่งอยู่ ภิกษุอันเขาไม่ได้วานเลยแต่เป็นเหมือนถูกวาน จึงไปยังสำนักของหญิงแล้วบอกว่าหล่อนจงเป็นภรรยาของชายชื่อนี้ แล้วกลับมาบอกความชอบใจหรือไม่ชอบใจของหญิงนั้นแก่ชายนี้ ท่านเรียกว่า ไม่รับ แต่บอกและกลับมาบอก
         - ภิกษุทำการชักสื่อแก่บิดามารดาก็ดี แก่สหธรรมิกทั้ง ๕ ก็ดี เป็นอาบัติทั้งนั้น
     ๔. อาจารย์รับ แต่ให้อันเตวาสิกไปบอก อันเตวาสิกบอกแล้ว กลับมาบอกภายนอก”  ความว่า อันเตวาสิกกลับมาแล้วไม่บอกแก่อาจารย์ ไปเสียทางอื่นบอกแก่ชายผู้นั้น, เช่นนี้เป็นถุลลัจจัยแก่อันเตวาสิกด้วยองค์ ๒ คือ เพราะบอก ๑ เพราะกลับมาบอก ๑, เป็นถุลลัจจัยแก่อาจารย์ด้วยองค์ ๒ คือ เพราะรับคำ ๑ เพราะใช้ให้ไปบอก ๑
     ๕. อุบาสกวานภิกษุไปยังสำนักของอุบาสิกา หรืออุบาสิกาวานภิกษุไปยังสำนักของอุบาสก เพื่อต้องการอาหารและค่าแรงสำหรับพวกคนงานในการสร้างอุโบสถาคารเป็นต้นนั้น เมื่อภิกษุไปด้วยกรณียะของสงฆ์เช่นนี้ ไม่เป็นอาบัติ หรือถูกอุบาสกหรืออุบาสิกาวานแล้ว เพื่อต้องการยาสำหรับภิกษุอาพาธ ย่อมไม่เป็นอาบัติ
     ๖. ภิกษุชักสื่อในพวกนางยักขิณีและนางเปรต เป็นถุลลัจจัยเหมือนกันกับภิกษุเคล้าคลึงกายของพวกนางยักษ์หรือนางเปรต ก็เป็นถุลลัจจัย
     ๗. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ คือ เมื่อภิกษุรับข่าวสารด้วยกายวิการ มีผงกศีรษะเป็นต้น ไปบอกด้วยหัวแม่มือ แล้วกลับมาบอกด้วยหัวแม่มือ อาบัติย่อมเกิดโดยลำพังกาย ๑ เมื่อใครๆ กล่าวแก่ภิกษุผู้นั่งที่หอฉันว่า หญิงชื่อนี้จักมา ท่านพึงทราบจิตของนางแล้วรับว่า ดีละ บอกกะนางผู้มาหา เมื่อนางกลับไปแล้ว บอกในเมื่อชายนั้นกลับมาหา อาบัติย่อมเกิดโดยลำพังวาจา ๑, แม้เมื่อภิกษุรับคำสั่งด้วยวาจาว่า ได้สิ แล้วไปยังเรือนของหญิงนั้นด้วยกรณียะอื่น หรือพบหญิงนั้นในเวลาไปที่อื่น แล้วบอกด้วยเปล่งวาจานั่นแล ยังไม่หลีกไปจากที่นั่น ด้วยเหตุอื่นนั่นเอง บังเอิญพบชายคนนั้นเข้าอีก แล้วบอก อาบัติย่อมเกิดโดยลำพังวาจาอย่างเดียว
     แต่อาบัติย่อมเกิดโดยทางกายและวาจา ๑ แม้แก่พระขีณาสพผู้ไม่รู้พระบัญญัติเป็นอย่างไร? ก็ถ้าว่า มารดากับบิดาของภิกษุนั้นโกรธกัน เป็นผู้หย่าร้างขาดกันแล้ว ก็บิดาของพระเถระนั้นพูดกะภิกษุนั้นผู้มายังเรือนว่า แน่ะลูก โยมมารดาของท่านทิ้งโยมผู้แก่เฒ่าไปสู่ตระกูลของญาติเสียแล้ว ขอท่านไปส่งข่าวให้โยมมารดานั้นกลับมาเพื่อปรนนิบัติโยมเถิด ถ้าภิกษุนั้นไปพูดกะโยมมารดานั้นแล้ว กลับมาบอกข่าวการมาหรือไม่มาแห่งโยมมารดานั้นแก่โยมบิดา เป็นสังฆาทิเสส
     ๘. สมุฏฐานที่กล่าวมาเป็นอจิตตกมุฏฐาน (ไม่มีเจตนาล่วงละเมิดพระบัญญัติ ก็เป็นอาบัติ) แต่เมื่อภิกษุทราบพระบัญญัติแล้ว ถึงความชักสื่อโดยนัยทั้ง ๓ นี้แหละ อาบัติย่อมเกิดทางกายกับจิต (มีจิตคิดล่วงละเมิด) ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑  ๓ สมุฏฐานนี้เป็นสจิตตกสมุฏฐาน เพราะรู้พระบัญญัติห้ามแล้ว, เป็นปัณณัติติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ (กุศลจิต อกุศลจิต กิริยาจิต)



(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)

สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๑๐)
ภิกษุสร้างกุฎีเป็นของเฉพาะตนเกินประมาณด้วยอาการขอเอา
และไม่ให้สงฆ์แสดงที่ ต้องสังฆาทิเสส

    ภิกษุทั้งหลายชาวเมืองอาฬาวี สร้างกุฎีซึ่งมีเครื่องอุปกรณ์อันตนหามาเองอันหาเจ้าของมิได้ เป็นส่วนเฉพาะตนเอง ใหญ่ไม่มีกำหนด กุฎีเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จ พวกท่านต้องมีการวิงวอน มีการขอเขาอยู่ร่ำไป ท่านทั้งหลายจงให้บุรุษ จงให้แรงบุรุษ จงให้โค จงให้เกวียน จงให้ขวาน จงให้จอบ ประชาชนถูกเบียดเบียนจากการวิงวอนด้วยการขอ พอเห็นภิกษุทั้งหลายก็หวาดบ้าง สะดุ้งบ้าง หนีไปเสียบ้าง เดินเลี่ยงไปทางอื่นบ้าง เมินหน้าเสียบ้าง ปิดประตูเสียบ้าง แม้พบแม่โคก็พากันหนี ด้วยคิดว่าเป็นพวกภิกษุ
     ต่อมา พระมหากัสสปะเดินทางมายังเมืองอาฬาวี ท่านถือบาตรเข้าไปบิณฑบาต ท่านเห็นอาการของประชาชนแล้ว ได้สอบถามความจากพระภิกษุ ภิกษุเหล่านั้นกราบเรียนให้ท่านทราบ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงเมืองอาฬวี พระมหากัสสปะจึงเข้าเฝ้ากราบทูลเรื่องนั้น ทรงติเตียนแล้วตรัสเล่าเรื่องฤๅษีสองพี่น้อง, นกฝูงใหญ่ และเรื่องพระรัฐบาล ทรงมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยอาการขอเอาเอง พึงสร้างให้ได้ประมาณ ประมาณในการสร้างกุฎีนั้นดังนี้ โดยยาว ๑๒ คืบ  โดยกว้างในร่วมใน ๗ คืบ ด้วยคืบสุคต พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ หากภิกษุสร้างกุฎีด้วยอาการขอเอาเอง ในที่อันมีผู้จองไว้ อันหาชานมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ หรือสร้างให้ล่วงประมาณ เป็นสังฆาทิเสส”

อรรถาธิบาย
     - ที่ชื่อว่า อาการขอเอาเอง คือ ขอเองซึ่งคน แรงงาน โค เกวียน มีด...
     - ที่ชื่อว่า กุฎี ได้แก่ ที่อยู่ซึ่งโบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายในก็ตาม ซึ่งโบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายนอกก็ตาม ซึ่งโบกฉาบปูนไว้ทั้งภายในภายนอกก็ตาม
     - บทว่า สร้าง คือ ทำเองก็ดี ใช้ให้เขาทำก็ตาม
     - บทว่า อันหาเจ้าของมิได้ คือ ไม่มีใครอื่น ที่เป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม เป็นเจ้าของ
     - บทว่า เฉพาะตนเอง คือ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
     - คำว่า พึงสร้างให้ได้ประมาณ ยาว ๑๒ คืบ ด้วยคืบสุคต คือ วัดนอกฝาผนัง, คำว่า โดยกว้างในร่วมใน ๗ คืบ นั้นคือ วัดร่วมในฝาผนัง
     - คำว่า พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ มีอธิบายไว้ว่า ภิกษุผู้จะสร้างนั้น พึงให้แผ้วถางพื้นที่ที่จะสร้างกุฎีนั้นเสียก่อน แล้วเข้าไปหาสงฆ์ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุทั้งหลายผู้แก่พรรษากว่า แล้วกล่าวคำขออย่างนี้ว่า ท่านเจ้าขา ข้าพเจ้าใคร่จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้เฉพาะตนเอง ด้วยอาการขอเอาเอง ท่านเจ้าขา ข้าพเจ้าของสงฆ์ให้ตรวจดูพื้นที่ที่จะสร้างกุฎี จากนั้นพึงสมมติภิกษุให้ตรวจดูพื้นที่ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ภิกษุผู้ได้รับสมมติพึงไปตรวจสถานที่นั้น เช่น ตรวจว่าเป็นสถานที่มีผู้จองไว้หรือไม่มีผู้จองไว้ มีชานเดินได้รอบหรือไม่มีชานเดินได้ เป็นต้น แล้วพึงแจ้งแก่สงฆ์ว่า เป็นสถานที่ไม่มีผู้จองไว้ ทั้งมีชานเดินได้รอบ
     ภิกษุผู้จะสร้างกุฎี พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าเฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุทั้งหลายผู้แก่พรรษากว่า แล้วกล่าวคำขอให้สงฆ์แสดงพื้นที่ที่จะสร้างกุฎี
     ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา...แสดงพื้นที่แล้ว
     - ที่ชื่อว่า อันมีผู้จองไว้ คือ เป็นที่อาศัยของมด ปลวก หนู งู เสือ สุนัขป่า เป็นสถานที่ใกล้ที่นา ใกล้ที่ทรมานนักโทษ ใกล้สุสาน ใกล้โรงสุรา ที่ใกล้ถนน ที่ใกล้ชุมชน นี้ชื่อว่าสถานอันมีผู้จองไว้
     - ที่ชื่อว่า อันหาชานรอบมิได้ คือ เกวียนที่เขาเทียมวัวแล้วตามปกติ ไม่สามารถจะเวียนได้ บันไดหรือพะองไม่สามารถจะทอดเวียนไปได้โดยรอบ นี้ชื่อว่า สถานอันหาชานรอบมิได้
     - ที่ชื่อว่า อันไม่มีผู้จองไว้ คือ ไม่เป็นที่อาศัยของมด ปลวก หนู เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า อันมีชานรอบ คือ เกวียนที่เขาเทียมแล้วสามารถจะเวียนไปได้ เป็นต้น
     - บทว่า หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ หรือสร้างให้ล่วงประมาณ เป็นสังฆาทิเสส  ความว่า ไม่ขอให้สงฆ์แสดงสถานที่สร้างกุฎีด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาก็ตาม สร้างเองหรือใช้ให้เขาสร้างให้เกินกำหนดแม้เพียงเส้นผมเดียว  โดยส่วนยาวหรือโดยส่วนกว้างก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฎ ในขณะที่ทำเหลืออิฐก้อนหนึ่งก็จะเสร็จ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ก้อนสุดท้ายต้องอาบัติสังฆาทิเสส

อาบัติ
     ๑. สร้างเองหรือสั่งสร้าง พื้นที่อันสงฆ์มิได้แสดงให้ ต้องสังฆาทิเสส
     ๒. สร้างเองหรือสั่งสร้าง สร้างเกินประมาณ ต้องสังฆาทิเสส
     ๓. สร้างเองหรือสั่งสร้าง มีผู้จองไว้ ต้องทุกกฎ
     ๔. สร้างเองหรือสั่งสร้าง ไม่มีชานรอบ ต้องทุกกฎ
     ๕. ภิกษุสร้างกุฎี ซึ่งพื้นที่อันสงฆ์มิได้แสดงไว้ สร้างเกินประมาณ มีผู้จองไว้ ไม่มีชานรอบ ต้องอาบัติทุกกฎกับอาบัติสังฆาทิเสส ๒ ตัว
     ๖. ภิกษุสร้างกุฎี ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงให้ เท่าประมาณ มีผู้จอง ไม่มีชานรอบ ต้องทุกกฎ ๒ ตัว
     ๗. ภิกษุสร้างกุฎี ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงให้ เท่าประมาณ ไม่มีผู้จอง ไม่มีชานรอบ ต้องทุกกฎ ๑ ตัว
     ๘. ภิกษุสร้างกุฎี ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงไว้ เท่าประมาณ ไม่มีผู้จอง มีชานรอบ ไม่ต้องอาบัติ
     ๙. ภิกษุสั่งว่า จงช่วยสร้างกุฎีให้แก่ข้าพเจ้า แล้วหลีกไปเสีย แต่ได้สั่งไว้ว่า กุฎีนั้นต้องมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงให้ ต้องเท่าประมาณ ต้องไม่มีผู้จองไว้ และให้มีชานรอบด้วย ผู้รับคำสั่งสร้างกุฎีให้แก่เธอซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์มิได้แสดงให้เกินประมาณ มีผู้จองไว้ ไม่มีชานรอบ ภิกษุนั้นทราบข่าวดังกล่าว พึงไปเองหรือส่งทูตไปบอกว่า ต้องมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงให้ ต้องเท่าประมาณ ต้องไม่มีผู้จองไว้ และให้มีชานรอบด้วย ผู้ถ้าไม่ไปเองหรือไม่ส่งทูตไปบอก ต้องอาบัติทุกกฎ
    ๑๐. ภิกษุกล่าวสั่งว่า จงช่วยกันสร้างกุฎีให้แก่ข้าพเจ้า แล้วหลีกไปเสีย ผู้รับคำสั่งสร้างให้แก่เธอ ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงให้ มีผู้จองไว้ ไม่มีชานรอบ ถ้าเมื่อเขาทำค้างไว้ เธอกลับมา พึงให้กุฎีนั้นแก่ภิกษุรูปอื่น หรือพึงรื้อเสีย แล้วสร้างใหม่ ถ้าไม่ให้แก่ภิกษุรูปอื่น หรือไม่รื้อสร้างใหม่ ต้องอาบัติทุกกฎ ๒ ตัว
    ๑๑. กุฎีที่ตนสร้างค้างไว้ ภิกษุสร้างต่อจนเสร็จด้วยตนเอง ต้องสังฆาทิเสส
    ๑๒. กุฎีที่ตนสร้างค้างไว้ ภิกษุให้คนอื่นสร้างต่อจนเสร็จ ต้องสังฆาทิเสส
    ๑๓. กุฎีที่คนอื่นสร้างค้างไว้ ภิกษุสร้างต่อด้วยตนเองจนเสร็จ ต้องสังฆาทิเสส
    ๑๔. กุฎีที่คนอื่นสร้างค้างไว้ ภิกษุให้คนอื่นสร้างต่อจนเสร็จ ต้องสังฆาทิเสส
    ๑๕. วินิจฉัยในการสร้าง การสั่งให้สร้างกุฎีนี้มีมากมายหลายนัย ผู้ต้องการตัดความสงสัย พึงค้นหาในคัมภีร์เถิด เพราะเท่าที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีรายละเอียดอยู่ในคัมภีร์อีกมาก

อนาบัติ
     ภิกษุสร้างถ้ำ ๑  สร้างคูหา ๑  สร้างกุฎีหญ้า ๑  สร้างกุฎีเพื่อภิกษุอื่น ๑  เว้นอาคารอันเป็นที่อยู่เสีย ภิกษุสร้างนอกจากนั้น ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๔๐๑-๔๒๕
     ๑. ภิกษุชาวเมืองอาฬาวี ขออุปกรณ์มาเอง แล้วทำเองบ้าง ใช้ให้คนอื่นทำบ้าง จึงทอดทิ้งวิปัสสนาธุระและคันถธุระ ยกนวกรรม (การก่อสร้าง) ขึ้นเป็นธุระสำคัญ, โดยไม่มีผู้สร้างถวาย ขอเขามาสร้าง เพื่อประโยชน์แก่ตนโดยไม่มีประมาณ, เป็นผู้มากไปด้วยการขอ
     ๒. การขอ (วิญญัติ) นั้น ย่อมไม่ควรในปัจจัยทั้งสอง คือ จีวรและบิณฑบาต แต่ในเสนาสนะปัจจัย เพียงแต่ออกปากขอว่า ท่านจงนำมา จงให้ เท่านั้นไม่ควร, ปริกถา โอภาส และนิมิตกรรมย่อมควร
     บรรดาปริกถา โอภาส และนิมิตกรรมนั้น, คำพูดของภิกษุผู้ต้องการโรงอุโบสถ, หอฉัน หรือเสนาสนะอะไรๆ อื่น  โดยนัยเป็นต้นว่า การสร้างเสนาสนะเห็นปานนี้ในโอกาสนี้ ควรหนอหรือว่าชอบหนอ หรือสมควรหนอ  ดังนี้ ชื่อว่า ปริกถา (คำพูดหว่านล้อม, การพูดให้รู้โดยปริยาย),  ภิกษุถามว่า อุบาสก พวกท่านอยู่ที่ไหน?  พวกอุบาสกตอบว่า ที่ปราสาทขอรับ ภิกษุพูดต่อไปว่า ก็ปราสาทไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลายหรืออุบาสก คำพูดอย่างนี้ ชื่อว่า โอภาส (การพูดหรือแสดงออกที่เป็นเชิงเปิดช่องทางหรือให้โอกาส), ก็การกระทำมีอาทิอย่างนี้ว่า คือ เมื่อภิกษุเห็นชาวบ้านกำลังมา จึงขึงเชือกให้ตอกหลัก เมื่อพวกชาวบ้านถามว่า นี้กำลังทำอะไรกัน ขอรับ  ภิกษุตอบว่า พวกอาตมาจะสร้างที่อยู่อาศัยที่นี่ ชื่อว่า นิมิตกรรม (ทำอาการเป็นเชิงให้เขาถาม, ให้เขารู้)
     ส่วนในคิลานปัจจัย แม้วิญญัติ (ขอ) ก็ควร  จะป่วยกล่าวไปไยถึงปริกถาเป็นต้นเล่า
     ๓. ที่มีชื่อว่า คืบพระสุคต คือ ๓ คืบของบุรุษกลางคนในปัจจุบันนี้ เท่ากับศอกคืบ โดยศอกของช่างไม้
         - ยาว ๑๒ คืบ โดยวัดนอกฝาผนังแห่งกุฎี แต่เมื่อจะวัด ไม่พึงกำหนดเอาที่สุดก้อนดินผสมแกลบ (ก้อนอิฐ) การฉาบทาปูนขาวข้างบนแห่งก้อนดินผสมแกลบเป็นอัพโพหาริก (กล่าวไม่ได้ว่ามี, มีแต่ไม่ปรากฏ, มีเหมือนไม่มี) ถ้าภิกษุไม่มีความต้องการด้วยก้อนดินผสมแกลบ สร้างให้เสร็จด้วยก้อนดินเหนียวใหญ่เท่านั้น ดินเหนียวใหญ่นั่นแลเป็นเขตกำหนด
         - ส่วนกว้าง ๗ คืบพระสุคต โดยการวัดอันมีในร่วมใน  มีอธิบายว่า เมื่อไม่ถือเอาที่สุดด้านนอกฝา วัดเอาที่สุดโดยการวัดทางริมด้านใน ได้ประมาณด้านกว้าง ๗ คืบพระสุคต
     ส่วนภิกษุใดอ้างเลศว่า เราจักทำให้ได้ประมาณตามที่ตรัสไว้จริงๆ แต่ทำประมาณด้านยาว ๑๑ คืบ ด้านกว้าง ๘ คืบ หรือยาว ๑๓ คืบ กว้าง ๖ คืบ การทำนั้นไม่สมควรแก่ภิกษุนั้น,  จริงอยู่ ประมาณแม้ที่เกินไปทางด้านเดียว ก็จัดว่าเกินไปเหมือนกัน, คืบจงยกไว้ จะลดด้านยาวเพิ่มด้านกว้าง หรือลดด้านกว้าง เพิ่มด้านยาว แม้เพียงปลายเส้นผมเดียว ก็ไม่ควร
     ส่วนกุฎีใด ด้านยาวมีประมาณถึง ๖๐ ศอก ด้านกว้างมีประมาณ ๓ ศอก หรือหย่อน ๓ ศอก เป็นที่ซึ่งเตียงที่ได้ขนาดหมุนไปข้างโน้นข้างนี้ไม่ได้, กุฎีนี้ไม่ถึงการนับว่ากุฎี เพราะฉะนั้นกุฎีแม้นี้ก็สมควร, แต่ในมหาปัจจรีว่า กุฎีกว้าง ๔ ศอกไว้โดยกำหนดอย่างต่ำ, ต่ำกว่ากุฎีกว้าง ๔ ศอกนั้น ไม่จัดว่าเป็นกุฎี, ก็กุฎีถึงได้ประมาณ แต่สงฆ์ยังไม่ได้แสดงที่ให้ก็ดี มีผู้จองไว้ก็ดี ไม่มีชานเดินโดยรอบก็ดี ไม่ควร,  กุฎีได้ประมาณ สงฆ์แสดงที่ให้แล้ว ไม่มีผู้จองไว้ มีชานเดินได้รอบ จึงควร
         - “มีชานรอบ” เป็นที่อันเกวียนซึ่งเทียมด้วยโคถึก ๒ ตัว  ไม่อาจจะจอดล้อข้างหนึ่งไว้ในที่น้ำตกจากชายคา ล้อข้างหนึ่งไว้ข้างนอกแล้วเวียนไปได้, แต่ในกุรุนทีกล่าวว่าเทียมด้วยโคถึก ๔ ตัวก็ดี, หรือเป็นที่ซึ่งคนทั้งหลายผู้ยืนมุงเรือนอยู่ที่บันไดหรือพะอง ไม่อาจเวียนไปโดยรอบด้วยบันไดหรือพะองได้, ในที่มีผู้จองไว้และไม่มีชานรอบ ไม่ควรให้สร้างกุฎี แต่ควรให้สร้างในที่ไม่มีผู้จองไว้และมีชานรอบ
     ๔. ก็กุฎีอันตนเอง หรืออันคนเหล่าอื่น หรือว่าทั้งสองฝ่ายทำค้างไว้ก็ตามที ก็แล  ภิกษุยังกุฎีนั้นให้สำเร็จด้วยตนเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นทำให้สำเร็จก็ดี  ใช้คนที่รวมเป็นคู่ คือ ตนเองและคนเหล่าอื่นสร้างให้สำเร็จก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ตน เป็นสังฆาทิเสสทั้งนั้น แต่ในกุรุนทีท่านกล่าวว่า ภิกษุ ๒-๓ รูป ร่วมกันทำ กล่าวว่า พวกเราจักอยู่ ยังรักษาอยู่ก่อน ยังไม่เป็นอาบัติ เพราะยังไม่แจกกัน, แจกกันว่า ที่นี่ของท่านแล้ว ช่วยกันทำ เป็นอาบัติ,  สามเณรกับภิกษุร่วมกันทำ ยังรักษาอยู่ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้แบ่งกัน แจกกัน โดยนัยก่อนแล้ว ช่วยกันทำเป็นอาบัติแก่ภิกษุ ดังนี้
     ๕. ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้กระทำถ้ำแม้ให้ใหญ่ เพราะการฉาบในถ้ำนี้ไม่เชื่อมต่อกัน สำหรับภิกษุผู้กระทำแม้คูหา คือ คูหาก่ออิฐก็ดี คูหาศิลาก็ดี คูหาไม้ก็ดี คูหาดินก็ดี แม้ให้ใหญ่ก็ไม่เป็นอาบัติ
     ปราสาทแม้มีพื้น ๗ ชั้น แต่หลังคามุงด้วยหญ้าและใบไม้ ท่านเรียกว่ากุฎีหญ้า แต่ในอรรถกถาทั้งหลาย ท่านเรียกกุฎีที่เขาทำหลังคาให้ประสานกันดุจตาข่าย ด้ายไม้ระแนงทั้งหลาย แล้วมุงด้วยพวกหญ้าหรือใบไม้นั้นแล ว่า เรือนเล้าไก่ ไม่เป็นอาบัติในเพราะกุฎีที่เขามุงแล้วนั้น, จะกระทำเรือนหลังคามุงหญ้า แม้ให้ใหญ่ก็ควร, เพราะว่าภาวะมีการโบกฉาบปูนภายในเป็นต้น เป็นลักษณะแห่งกุฎี และภาวะมีโบกฉาบปูนภายใน เป็นต้นนั้น  พึงทราบว่า ตรัสหมายถึงหลังคาเท่านั้น
     ในกุฎีหญ้านี้ ไม่เป็นอาบัติในทุกๆ กรณี  แม้สงฆ์จะไม่ได้แสดงที่ให้เป็นต้นก็ตาม จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงกุฎีเช่นนี้ จึงตรัสไว้ในคัมภีร์ปริวารว่า
     “ภิกษุสร้างกุฎีซึ่งสงฆ์ไม่แสดงที่ให้ ล่วงประมาณ มีผู้จองไว้ ไม่มีชานรอบ ด้วยการขอเอาเอง ไม่เป็นอาบัติ ปัญหานี้ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว”
         - ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้สร้างกุฎี แม้ไม่ถูกลักษณะของกุฎี เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น คือ สร้างให้อุปัชฌาย์ก็ตาม อาจารย์ก็ตาม สงฆ์ก็ตาม
         - ภิกษุให้สร้างอาคารอื่น เว้นอาคารเพื่อประโยชน์เป็นที่อยู่ของตนเสีย ด้วยตั้งใจว่าจักเป็นโรงอุโบสถก็ตาม เป็นเรือนไฟก็ตาม เป็นหอฉันก็ตาม เป็นโรงไฟก็ตาม ไม่เป็นอาบัติในเพราะอาคารทั้งหมด มีโรงอุโบสถเป็นต้น, ถ้าแม้นภิกษุนั้นมีความรำพึงในใจว่า จักเป็นโรงอุโบสถด้วย เราจักอยู่ด้วย ดังนี้ก็ดี, ว่าจักเป็นเรือนไฟด้วย จักเป็นศาลาฉันด้วย เราจักอยู่ด้วย ดังนี้ก็ดี แล้วให้สร้าง เป็นอาบัติแท้, แต่ในมหาปัจจรีว่า ไม่เป็นอาบัติ  แล้วกล่าวอีกว่า เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้สร้างเพื่อประโยชน์แก่เรือนเป็นที่อยู่ของตนเท่านั้น
     ๖. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ (เทียบเคียงจากสิกขาบทที่ ๕)
     เป็นกิริยา แท้จริงสิกขาบทย่อมเกิดโดยการกระทำของภิกษุผู้ให้สงฆ์แสดงที่ให้แล้ว สร้างให้ล่วงประมาณไป, เกิดทั้งโดยการทำและไม่ทำของภิกษุผู้ไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้แล้วสร้าง, เป็นอจิตตกะ, ปัณณัติติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ (อกุศลจิต กุศลจิต กริยาจิต)
๗. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ (แสดงมาตราวัด) ดังนี้
     ๗ เมล็ดข้าว    เป็น ๑ นิ้ว          ๑๒ นิ้ว       เป็น ๑ คืบ
     ๒ คืบ           เป็น ๑ ศอก          ๔ ศอก     เป็น ๑ วา
     ๒๕ วา          เป็น ๑ อุสภะ       ๘๐ อุสภะ   เป็น ๑ คาวุต
     (หรือ)
     ๔ ศอก          เป็น ๑ ธนู        ๕๐๐ ธนู       เป็น ๑ โกสะ
     ๔ โกสะ         เป็น ๑ คาวุต        ๔ คาวุต     เป็น ๑ โยชน์

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา   มโนเสฎฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฎฺฌฐน   ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ   จกฺกํว วหโต ปทํ ฯ ๑ ฯ
     ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง  ใจเป็นใหญ่ (กว่าสรรพสิ่ง)
     สรรพสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ  ถ้าพูดหรือทำสิ่งใดด้วยใจชั่ว
     ความทุกข์ย่อมติดตามตัวเขา  เหมือนล้อหมุนเต้าตามเท้าโค
     Mind foreruns all mental conditions, Mind is chief, mind-made are they;
     If one speak or acts with a wicked mind, Then suffering follows him
     Even as the wheel the hoof of the ox.

     ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 เมษายน 2558 13:58:42
.

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๑)
ภิกษุสร้างกุฎี มีทายกเป็นเจ้าของ ทำให้เกินประมาณได้
แต่ต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่แสดงที่ให้ก่อน ต้องสังฆาทิเสส

    คหบดีอุปัฏฐากของพระฉันนะกล่าวกับพระฉันนะว่า ขอพระคุณเจ้าตรวจดูสถานที่สร้างวิหาร กระผมจักให้สร้างวิหารถวายพระคุณเจ้า พระฉันนะจึงให้คนแผ้วถางสถานที่สร้างวิหาร ให้โค่นต้นไม้อันเป็นเจดีย์ต้นหนึ่งที่ชาวบ้านชาวนครพากันบูชา  คนทั้งหลายจึงพากันเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉน สมณะเชื้อสายศากยบุตร จึงให้โค่นต้นไม้อันเป็นเจดีย์ที่คนทั้งหลายพากันบูชาเล่า พระสมณะเบียดเบียนอินทรีย์ชนิดหนึ่งซึ่งมีชีวิต
     ภิกษุทั้งหลายได้ยินจึงเพ่งโทษติเตียนพระฉันนะ แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง ภิกษุใดให้สร้างวิหารใหญ่ อันมีเจ้าของเฉพาะตนเอง พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ หากภิกษุให้สร้างวิหารใหญ่ ในที่อันมีผู้จองไว้ อันหาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ เป็นสังฆาทิเสส”

อรรถาธิบาย
     - วิหารที่ชื่อว่า ใหญ่ หมายถึง วิหารมีเจ้าของ
     - ที่ชื่อว่า วิหาร ได้แก่ ที่อยู่ซึ่งโบกฉาบไว้เฉพาะภายในก็ตาม โบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายนอกก็ตาม โบกฉาบปูนไว้ทั้งภายในภายนอกก็ตาม
     - บทว่า ให้สร้าง คือ ทำเองก็ตาม ใช้ให้เขาทำก็ตาม
     - บทว่า อันมีเจ้าของคือใครๆ คนอื่น ที่เป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม เป็นเจ้าของ
     - บทว่า เฉพาะตนเอง คือ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
     - คำว่า พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่นั้น มีวิธีปฏิบัติเหมือนการขอสร้างกุฎี คือ ต้องแผ้วถางสถานที่จะสร้างวิหารเสียก่อนแล้วเข้าไปหาสงฆ์ กล่าวคำขอ...สงฆ์ให้ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถสวดประกาศ สมมติภิกษุให้เป็นผู้ตรวจดูสถานที่จะต้องสร้างวิหารด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา...
     - ภิกษุผู้สงฆ์สมมติไปตรวจดูสถานที่แล้วกลับมาบอกแก่สงฆ์  สงฆ์ให้ภิกษุผู้สามารถสวดประกาศแสดงสถานที่จะสร้างวิหาร
     - ที่ชื่อว่า อันมีผู้จองไว้, อันหาชานรอบมิได้, อันไม่มีผู้จองไว้, อันมีชานรอบ พึงทราบคำอธิบายจากสิกขาบทที่ ๖
     - หากไม่ให้สงฆ์แสดงสถานที่จะสร้างวิหารด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาก่อนแล้ว ทำเองก็ตาม ใช้ให้เขาทำก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฎในขณะที่ทำ เหลืออิฐก้อนหนึ่ง จะเสร็จต้องอาบัติถุลลัจจัย พอเสร็จต้องอาบัติสังฆาทิเสส

อาบัติ
     ๑. ภิกษุสร้างวิหาร หรือสั่งสร้าง ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์มิได้แสดงให้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
     ๒. ภิกษุสร้างวิหารเอง หรือสั่งสร้าง ในสถานที่มีผู้จองไว้ ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๓. ภิกษุสร้างวิหารเอง หรือสั่งสร้าง ไม่มีชานรอบ ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๔. ภิกษุสร้างวิหารเอง หรือสั่งสร้าง ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์มิได้แสดงให้ มีผู้จองไว้ ไม่มีชานรอบ ต้องอาบัติทุกกฎ ๒ ตัว สังฆาทิเสส ๒ ตัว
     ๕. ภิกษุสั่งว่า จงช่วยกันสร้างวิหารให้แก่ข้าพเจ้า แล้วหลีกไปเสีย ผู้รับคำสั่งสร้างวิหารให้แก่เธอ ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงให้ มีผู้จองไว้ มีชานรอบ หากเขาสร้างค้างไว้ เธอกลับมาพึงให้วิหารนั้นแก่ภิกษุรูปอื่น หรือพึงรื้อเสียแล้วสร้างใหม่ หากไม่ให้แก่ภิกษุรูปอื่นหรือไม่รื้อแล้วสร้างใหม่ ต้องอาบัติทุกกฎ ๑ ตัว
     ๖. ภิกษุสร้างวิหารเองหรือสั่งสร้าง ซึ่งมีพื้นที่อันสงฆ์แสดงให้ ไม่มีผู้จองไว้ มีชานรอบ ไม่ต้องอาบัติ
     ๗. วิหารที่ตนสร้างค้างไว้ ภิกษุสร้างต่อจนเสร็จด้วยตนเอง ต้องสังฆาทิเสส
     ๘. วิหารที่ตนสร้างค้างไว้ ภิกษุให้คนอื่นสร้างต่อจนเสร็จ ต้องสังฆาทิเสส
     ๙. วิหารที่คนอื่นสร้างค้างไว้ ภิกษุสร้างต่อให้เสร็จด้วยตนเอง ต้องสังฆาทิเสส
   ๑๐. วิหารที่คนอื่นสร้างค้างไว้ ภิกษุให้คนอื่นสร้างต่อจนเสร็จ ต้องสังฆาทิเสส

อนาบัติ
     ภิกษุสร้างถ้ำ ๑  สร้างคูหา ๑  สร้างกุฎีหญ้า ๑  สร้างวิหารเพื่อภิกษุอื่น ๑  เว้นอาคารเป็นที่อยู่เสีย สร้างนอกจากนี้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๔๔๔-๔๔๕
     ๑. วิหารที่จะสร้างนั้นสถานที่เป็นของวัดโฆสิตาราม ที่ท่านโฆสิตเศรษฐีให้สร้าง  
          - พระฉันนะเคยเป็นมหาดเล็กในเวลาพระพุทธองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์
          - ในคำว่า วิหารนี้ ไม่ใช่วิหารทั้งหมด เป็นเพียงที่อยู่หลังหนึ่งที่คหบดีจักสร้างให้พระฉันนะ
     ๒. ที่ชื่อว่า เจดีย์ เพราะอรรถว่าอันปวงชนทำความเคารพ, เป็นชื่อเขาเทวสถานทั้งหลายที่ควรแก่การบูชา, ต้นไม้ที่ชาวโลกสมมติว่า เจดีย์ ชื่อว่า รุกขเจดีย์, ที่ชาวบ้านบูชาแล้ว หรือเป็นที่บูชาของชาวบ้าน  เพราะฉะนั้น ต้นไม้นั้นชื่อว่า คามปูชิตะ (ที่ชาวบ้านพากันบูชา)
        - ส่วนหนึ่งในรัชสีมาแห่งพระราชาพระองค์หนึ่ง พึงทราบว่า “ชนบท” แว่นแคว้นทั้งสิ้น พึงทราบว่า “รัฐ” ในกาลบางครั้ง แม้ชาวแว่นแคว้นทั้งสิ้นก็ทำการบูชาต้นไม้นั้น ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ที่ชาวแว่นแคว้นพากันบูชาแล้ว
        - พวกชาวบ้านกล่าวหมายเอากายินทรีย์ (อินทรีย์คือกาย)  ชีพ (ชีวะ) ชาวบ้านสำคัญว่าเป็นสัตว์
     ๓. ความที่วิหารใหญ่กว่ากุฎีที่ขอเอาเอง โดยความเป็นที่มีเจ้าของมีอยู่แก่วิหารนั้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า “มหัลลกะ”, อีกอย่างเพราะให้สงฆ์แสดงที่ให้แล้ว สร้างแม้ให้เกินประมาณก็ควร  ฉะนั้นวิหารนั้นจึงชื่อว่า “มหัลลกะ” เพราะเป็นของใหญ่กว่าประมาณบ้าง  ซึ่งวิหารใหญ่ก็เพราะวิหารนั้นมีความใหญ่กว่าประมาณนั้นได้ เพราะเป็นของมีเจ้าของนั่นเอง  ดังนั้นพระอุบาลีจึงกล่าวว่า วิหารมีเจ้าของเรียกชื่อว่า วิหารใหญ่
     ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนสิกขาบทที่ ๖ กุฎีการสิกขาบท, แปลกกันแต่ในสิกขาบทนี้เป็นของมีเจ้าของ, ความไม่มีสมุฏฐานจากการทำ (เป็นอกิริยา) และความไม่มีกำหนดประมาณเท่านั้น



(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๒)
ภิกษุโกรธเคือง แกล้งโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ต้องสังฆาทิเสส

    พระทัพพมัลลบุตรบรรลุพระอรหัตตั้งแต่อายุ ๗ ปี ต่อมาท่านคิดว่าจักช่วยอะไรสงฆ์ดีหนอ จึงกราบทูล ขอเป็นผู้จัดเสนาสนะและแจกภัตแก่สงฆ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดีละ ดีละ แล้วรับสั่งให้สงฆ์สมมติให้ท่านเป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหาร

วิธีสมมติภิกษุผู้จัดเสนาสนะและแจกภัต
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ เบื้องต้นพึงขอให้ทัพพะรับ ครั้นรับแล้วภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติท่านพระทัพพมัลลบุตร ให้เป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหาร นี้เป็นบัญญัติ
    ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า  สงฆ์สมมติท่านพระทัพพมัลลบุตรให้เป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะ และแจกอาหาร การสมมติท่านพระทัพพมัลลบุตรให้เป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหาร ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ท่านพระทัพพมัลลบุตรอันสงฆ์สมมติให้เป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกอาหารแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยประการนี้”
     ท่านพระทัพพะเป็นผู้ฉลาดผู้ยอดเยี่ยมในการแจกเสนาสนะและแจกภัต จนได้รับยกย่องว่าเป็น “เอตทัคคะ” เช่น ท่านจัดให้ภิกษุผู้เรียนวินัยอยู่กับพวกเรียนพระวินัย เพื่อพวกเธอจักสนทนากัน เป็นต้น  ในเวลากลางคืน ท่านเข้าจตุตถฌาน มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ ทำแสงสว่างให้เกิดนำทางแก่ภิกษุผู้มากลางคืน จนพวกภิกษุผู้ปรารถนาดูอิทธิฤทธิ์ของท่าน แกล้งพากันมาตอนกลางคืนเป็นต้น
     สมัยต่อมา พระเมตติยะและพระภุมมชกะ เป็นพระบวชใหม่และมีบุญน้อย (กระทำบุญมาน้อย) ท่านทั้งสองมักจะได้แต่ปลายข้าวกับน้ำส้มเป็นกับข้าว ครั้งหนึ่งคหบดีผู้ชอบถวายอาหารที่ดีแก่พระเมตติยะ และพระภุมมชกะเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น วันนั้นคหบดีเข้ามาสู่อารามด้วยกิจบางอย่าง แล้วได้เข้าไปหาท่านพระทัพพะ กล่าวถามว่า พรุ่งนี้ภิกษุรูปใดจักไปฉันที่เรือนของตน พระทัพพะแจ้งว่าเป็นพระเมตติยะและพระภุมมชกะ คหบดีน้อยใจว่า ไฉน ภิกษุผู้ลามกจักฉันภัตตาหารในเรือนของเรา กลับไปเรือนจึงสั่งหญิงคนใช้ว่า พรุ่งนี้เจ้าจงจัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู แล้วอังคาสภิกษุด้วยปลายข้าว มีน้ำส้มเป็นกับ เราจักไม่อังคาสเองเหมือนที่เคยทำ
     ครั้งนั้น พระเมตติยะและพระภุมมชกะรู้ว่าพรุ่งนี้จักได้ไปยังเรือนของคหบดี จักได้อาหารรสอร่อย ตกกลางคืนเธอทั้งสองจำวัดหลับไม่เต็มตื่น เวลาเช้าถือบาตรเดินเข้าไปยังนิเวศน์ของคหบดี
     หญิงคนใช้เห็นท่านมา ได้ปูอาสนะที่ซุ้มประตูแล้วนิมนต์นั่ง ท่านทั้งสองนึกว่าภัตตาหารยังไม่เสร็จ เขาจึงให้เรานั่งพักที่ซุ้มประตู
     หญิงคนใช้นำอาหารปลายข้าว มีผักดองเป็นกับ เข้าไปถวาย กล่าวอาราธนาว่า นิมนต์ฉันเถิด ทั้งสองแจ้งว่าตนเป็นพระรับนิจภัต หญิงคนใช้กล่าวว่า ท่านคหบดีสั่งให้จัดถวายอย่างนี้
     พระเมตติยะและพระภุมมชกะปรึกษากันว่า เมื่อวานนี้ ท่านคหบดีเข้าไปหาท่านพระทัพพมัลลบุตร เธอคงยุยงคหบดีแน่นอน เพราะความเสียใจ ท่านทั้งสองฉันไม่ได้ดังใจนึก กลับสู่อารามในเวลาหลังอาหาร เก็บบาตรและจีวรแล้ว นั่งรัดเข่าด้วยผ้าสังฆาฏิอยู่ภายนอกซุ้มพระอาราม เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่พูดจา
    ต่อมา ภิกษุณีเมตติยาเข้าไปหา ทั้งสองไม่ยอมปราศรัยด้วย นางได้สอบถามความนั้นแล้ว ถามว่า จักให้ช่วยเหลืออย่างไร ทั้งสองตอบว่า ถ้าเธอเต็มใจช่วย วันนี้แหละพระผู้มีพระภาคเจ้าต้องให้พระทัพพมัลลบุตรสึก แล้ววางแผนให้นางเข้าเฝ้า กล่าวใส่ความพระทัพพมัลลบุตรว่าประทุษร้ายนางแล้ว ภิกษุณีเมตติยาได้เข้าเฝ้าแล้วกราบทูลความนั้นแล้ว รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสถามพระทัพพมัลลบุตรว่ากระทำหรือไม่ พระทัพพะกราบทูลว่า “ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมา แม้โดยความฝันก็ยังไม่รู้จักเสพเมถุน จะกล่าวไปไยถึงเมื่อตอนตื่นอยู่เล่า”
     ลำดับนั้นมีรับสั่งว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอจงให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเสีย และสอบสวนภิกษุสองรูปนั่น”
     ภิกษุทั้งหลายให้นางภิกษุณีเมตติยาสึกแล้ว พระเมตติยะและพระภุมมชกะแถลงสารภาพว่า “ขออย่าให้นางสึกเลย นางไม่ผิดอะไร พวกกระผมแค้นเคือง ไม่พอใจ มีความประสงค์จะให้ท่านพระทัพพมัลลบุตรเคลื่อนจากพรหมจรรย์ จึงได้ให้นางใส่ไคล้” ภิกษุทั้งหลายถามว่า คุณโจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกอันหามูลมิได้หรือ ทั้งสองตอบว่า อย่างนั้น ขอรับ
     ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนแล้วกราบทูล... ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า
    “อนึ่ง ภิกษุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ตามกำจัดซึ่งภิกษุด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกอันหามูลมิได้ ด้วยหมายว่า แม้ไฉนเราจะยังให้เธอเคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้หนึ่งผู้ใดถือเอาก็ตาม ไม่ถือเอาก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้นเป็นเรื่องหามูลมิได้ และภิกษุยังอิงโทสะอยู่ เป็นสังฆาทิเสส”

อรรถาธิบาย
     - บทว่า ขัดใจ มีโทสะ คือ โกรธ ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ แค้นใจ เจ็บใจ
     - บทว่า ไม่แช่มชื่น คือ เป็นคนมีใจไม่แช่มชื่น เพราะมีความโกรธ ความไม่พอใจ
     - ที่ชื่อว่า อันหามูลมิได้ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้สงสัย
     - บทว่า ด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิก คือ ด้วยปาราชิกทั้ง ๔ สิกขาบท สิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่ง
     - บทว่า ตามกำจัด ได้แก่ โจทเอง หรือสั่งให้โจท, ว่าไฉนเราจะยังเธอให้เคลื่อนจากภิกษุภาพ เคลื่อนจากสมณธรรม เคลื่อนจากศีล เคลื่อนจากคุณคือตบะ (หรือเคลื่อนจากพรหมจรรย์)
     - คำว่า ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น ความว่า เมื่อขณะคราวครู่หนึ่งที่ภิกษุผู้ถูกตามกำจัดนั้นผ่านไปแล้ว
     - บทว่า อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาก็ตาม คือ ภิกษุเป็นผู้ถูกตามกำจัดด้วยเรื่องใด มีคนเชื่อในเพราะเรื่องนั้นก็ตาม, บทว่า ไม่ถือเอาก็ตาม คือ ไม่มีใครๆ พูดถึง
     - ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้อธิกรณ์ ๔ คือ วิวาทาธิกรณ์ ๑ อนุวาทาธิกรณ์ ๑ อาปัตตาธิกรณ์ ๑ กิจจาธิกรณ์ ๑
     - คำว่า แลภิกษุยังอิงโทสะอยู่ ความว่า ภิกษุกล่าวปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าพูดเปล่าๆ พูดเท็จ พูดไม่จริง ข้าพเจ้าไม่รู้ ได้พูดแล้ว (ก็ไม่พ้นอาบัติ)

อาบัติ
     ๑. ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้เห็นภิกษุผู้กำลังต้องปาราชิก ถ้าโจทเธอว่า ข้าพเจ้าได้เห็น ท่านเป็นผู้ต้องปาราชิก ท่านไม่เป็นสมณะ ท่านไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร อุโบสถก็ดี ปวารณาก็ดี สังฆกรรมก็ดี ไม่มีร่วมกับท่าน ดังนี้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
     ๒. ภิกษุไม่ได้ยิน โจทว่าได้ยิน, ไม่รังเกียจ โจทว่ารังเกียจ (ว่าท่านเป็นผู้ต้องปาราชิก) ต้องสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
     ๓. ภิกษุผู้โจทก์ได้เห็นภิกษุผู้กำลังต้องปาราชิก มีความสงสัยในสิ่งที่ได้เห็น คือ เห็นแล้ว กำหนดไม่ได้ ระลึกไม่ได้ ลืมเสีย ถ้าโจทเธอว่า ข้าพเจ้าได้เห็นและได้ยิน ท่านเป็นผู้ต้องปาราชิก ท่านไม่เป็นสมณะ ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
     ๔. ภิกษุมีความสงสัยในสิ่งที่ได้ยิน สงสัยในสิ่งที่รังเกียจแล้วกำหนดไม่ได้ ระลึกไม่ได้ ลืมเสีย โจท... ต้องสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
     ๕. ในกรณีที่สั่งให้โจทก็ไม่พ้นอาบัติสังฆาทิเสสนี้เช่นเดียวกัน
     ๖. ภิกษุจำเลยเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์มีความเห็นว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสเธอก่อน แล้วโจทเธอ หมายจะให้เคลื่อน ต้องอาบัติทุกกฎ (เพราะไม่ขอโอกาส) และต้องอาบัติสังฆาทิเสส
     ๗. ภิกษุจำเลยเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ภิกษุโจทก์มีความเห็นว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ ขอโอกาสต่อเธอก่อน แล้วโจท หมายจะให้เคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส
     ๘. ภิกษุต้องปาราชิกเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์เห็นว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสต่อเธอก่อน แล้วโจทเธอหมายจะด่า ต้องอาบัติทุกกฎ (ที่ไม่ขอโอกาสก่อน) กับอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะโอมสวาท
     ๙. จากข้อ ๘ หากขอโอกาสก่อนแล้วโจท ต้องปาจิตตีย์อย่างเดียว
    ๑๐. ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิก เป็นผู้บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์เห็นว่า เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสต่อเธอก่อน แล้วโจทเธอ หมายจะให้เคลื่อน ต้องอาบัติทุกกฎ
    ๑๑. ภิกษุไม่ต้องอาบัติปาราชิก เป็นผู้บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์เห็นว่า เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ขอโอกาสต่อเธอ แล้วโจทเธอ หมายจะให้เคลื่อน ไม่ต้องอาบัติ
    ๑๒. ภิกษุต้องปาราชิก เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์เห็นว่า เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาส หมายจะให้เคลื่อน ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๑๓. ภิกษุต้องปาราชิก เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ขอโอกาส หมายจะด่า ต้องปาจิตตีย์ในเพราะโอมสวาท
     ๑๔. ภิกษุไม่ต้องปาราชิก เป็นผู้บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์เห็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ขอโอกาสต่อเธอก่อน แล้วโจทเธอ หมายจะให้เคลื่อน ต้องทุกกฎกับสังฆาทิเสส
     ๑๕. ภิกษุไม่ต้องปาราชิก เป็นผู้บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์เห็นว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอโอกาสต่อเธอก่อน แล้วโจทเธอ หมายจะให้เคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส
  
อนาบัติ
     ภิกษุจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ๑  ภิกษุจำเลยเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ภิกษุผู้โจทก์มีความเห็นว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๒/๔๗๖-๕๑๗
     ๑. ได้ยินว่า พระเถระมีอายุเพียง ๗ ขวบเมื่อบรรพชา ได้ความสังเวชแล้วบรรลุพระอรหัตในขณะปลงผมเสร็จนั่นเทียว, พระเถระเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ โลกุตตรธรรม ๙
     - พระเถระเห็นว่า กิจของตนกระทำเสร็จแล้ว จึงดำริว่าเรายังทรงไว้ซึ่งสรีระสุดท้ายอันนี้ ก็แลสรีระสุดท้ายนั้นดำรงอยู่ในทางแห่งความไม่เที่ยง ไม่นานก็จะดับไปเป็นธรรมดา ดุจประทีปตั้งอยู่ทางลม ฉะนั้น เราควรจะกระทำการขวนขวายแก่สงฆ์ ตลอดเวลาที่ยังไม่ดับ อย่างไรหนอแล? พลางพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า เหล่ากุลบุตรเป็นอันมากในแคว้นนอกทั้งหลาย บวชไม่ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย ท่านเหล่านั้นย่อมพากันมาแม้จากที่ไกล ด้วยหวังใจว่า เราทั้งหลายจักเข้าเฝ้าถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า
     บรรดากุลบุตรนั้น เสนาสนะไม่เพียงพอแก่ท่านพวกใด ท่านพวกนั้นต้องนอนแม้บนแผ่นศิลา ก็แลเราย่อมอาจเพื่อนิรมิตเสนาสนะ มีปราสาท วิหาร เพิงพัก เป็นต้น พร้อมทั้งเตียง ตั่ง และเครื่องลาดให้ตามอำนาจความปรารถนาของกุลบุตรเป็นอันมากเหล่านั้นด้วยอานุภาพของเรา, และในวันรุ่งขึ้นบรรดากุลบุตรเหล่านั้น บางเหล่ามีกายเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน จะยืนข้างหน้าภิกษุทั้งหลายแล้วให้แจกแม้ซึ่งภัตตาหารด้วยคารวะ หาได้ไม่ ก็เราแลอาจแจกแม้ซึ่งภัตตาหารแก่กุลบุตรเหล่านั้นได้ ครั้งนั้นแล ท่านพระทัพพะได้มีความตกลงใจว่า เราควรแต่งตั้งเสนาสนะและแจกภัตตาหารแก่สงฆ์
     ถามว่า ก็ฐานะทั้ง ๒ ประการนี้ (แต่งตั้งเสนาสนะและแจกภัต) ควรแก่ภิกษุผู้ตามประกอบแต่ความยินดีในการพูดเป็นต้น มิใช่หรือ ส่วนท่านพระทัพพะเป็นพระขีณาสพ ไม่มีความยินดีในธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า เหตุไรฐานะ ๒ นี้ จึงปรากฏแจ้งแก่ท่านพระทัพพะเล่า?
     ตอบว่า เพราะความปรารถนาในปางก่อนกระตุ้นเตือน
     ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงมีเหล่าพระสาวกผู้บรรลุฐานันดรนี้เหมือนกัน และท่านพระทัพพะนี้ในชาติปางหลังเกิดในสกุลหนึ่ง ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า “ปทุมุตตระ” ได้เห็นอานุภาพของภิกษุผู้เป็นเลิศในการแต่งตั้งเสนาสนะและแจกภัต จึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๖๘๐,๐๐๐ รูป ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน แล้วหมอบลงแทบบาทมูลพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ กระทำความปรารถนาว่า ในกาลแห่งอนาคต ขอข้าพระองค์พึงเป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะและแจกภัตตาหารแก่สงฆ์เถิด
     พระพุทธเจ้าปทุมุตตระทรงสอดส่องอนาคตตังสญาณไปทอดพระเนตรเห็นแล้ว จึงได้พยากรณ์ว่า โดยกาลล่วงไปแห่งแสนกัปแต่กัปนี้ จักมีพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดมอุบัติขึ้น
     ในกาลนั้น ท่านจักเกิดเป็นบุตรของมัลลกษัตริย์ นามว่า ทัพพะ มีอายุ ๗ ขวบ จักออกบรรพชา และกระทำให้แจ้งพระอรหัตผล และจักได้ฐานันดรนี้ ดังนี้ เมื่อท่านอยู่ในที่สงัด จึงได้มีความดำริในฐานะ ๒ ประการ ฉะนี้แล
      - ก็การที่ทรงให้สงฆ์สมมติ ก็เพื่อจะป้องกันความครหานินทา เนื่องจากทรงเห็นว่า ในอนาคตอุปัทวะใหญ่จักบังเกิดแก่ทัพพะด้วยอำนาจแห่งภิกษุชื่อเมตติยะและภุมมชกะ เพราะเมื่อท่านทัพพะแต่งตั้งเสนาสนะและแจกภัตอยู่ ภิกษุบางพวกจักตำหนิว่าท่านทัพพะนี้เป็นผู้นิ่งเฉย ไม่ทำการงานของตน มาจัดการฐานะเช่นนี้เพราะเหตุไร?  ลำดับนั้น ภิกษุพวกอื่นก็จักกล่าวว่า ท่านผู้นี้ไม่มีโทษ เพราะท่านผู้นี้สงฆ์แต่งตั้งแล้ว เธอจักพ้นข้อครหาด้วยอาการอย่างนี้, และภิกษุกล่าวตู่ผู้ที่สงฆ์มิได้สมมติด้วยคำไม่จริง เป็นอาบัติเบาเพียงทุกกฎ, แต่ภิกษุกล่าวตู่ภิกษุที่สงฆ์ที่สมมติแล้ว เป็นอาบัติปาจิตตีย์ที่หนักกว่า, ภิกษุที่สงฆ์สมมติแล้วจะเป็นผู้ถูกพวกภิกษุแม้ผู้จองเวรก็กำจัดได้ยากยิ่ง เพราะเป็นอาบัติหนัก
     ถามว่า การให้สมมติ ๒ อย่าง แก่ภิกษุรูปเดียว ควรหรือ?  ตอบว่า มิใช่แต่เพียง ๒ อย่างเท่านั้น ถ้าเธอสามารถจะให้สมมติทั้ง ๑๓ อย่าง ก็ควร แต่หากไม่สามารถแม้สมมติอย่างเดียวก็ไม่สมควรให้แก่ภิกษุ ๒ หรือ ๓ รูป
     - ท่านพระทัพพะเข้าจตุตถฌานมีเตโชกสินเป็นอารมณ์ ออกแล้วอธิษฐานนิ้วมือให้สว่างด้วยอภิญญาญาณ
     ก็อานุภาพของท่านได้ปรากฏในสกุลชมพูทวีป ต่อกาลไม่นานนัก ชนทั้งหลายดังสดับข่าวนั้นอยากเห็นอิทธิปาฏิหาริย์ของท่าน ได้พากันมา พวกภิกษุแกล้งมาในเวลาวิกาลบ้างก็มี, เมื่อมาแล้วก็อ้างขอเสนาสนะไกลๆ
     ถ้าภิกษุมารูปเดียว ท่านก็ไปเอง หากมาหลายรูปท่านก็นิรมิตอัตภาพเป็นอันมากให้เป็นเช่นเดียวกับตัวท่าน, วิหารใด เตียง ตั่ง เป็นต้น ไม่สมบูรณ์ ท่านย่อมให้บริบูรณ์ด้วยอานุภาพของท่าน
     ๒. บทว่า เมตฺติยภุมฺมชกา ได้แก่ ภิกษุเหล่านี้ คือ ภิกษุชื่อเมตติยะ ๑  ภิกษุชื่อภุมมชกะ ๑  ทั้งสองเป็นบุรุษชั้นหัวหน้าของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ (ภิกษุพวก ๖), เสนาสนะอันเลวทรามถึงแก่พวกภิกษุใหม่ก่อน ไม่เป็นข้อที่น่าอัศจรรย์เลย แต่ภิกษุทั้งหลายใส่สลากไว้ในกระเช้าหรือขนดจีวรเคล้าคละกันแล้วจับขึ้นทีละอันๆ แจกภัตไป, ภัตที่เป็นของเลวด้อยกว่าเขาทั้งหมด ย่อมถึงแก่ภิกษุเมตติยะและภุมมชกะเพราะความที่เป็นผู้มีบุญน้อย
     ๓. ถามว่า ก็เพราะเหตุไร?  พระองค์แม้ทรงทราบอยู่ว่าพระทัพพะเป็นพระขีณาสพ แต่ไม่ตรัสว่าเรารู้อยู่ว่าเธอเป็นพระขีณาสพ โทษของเธอไม่มี – ภิกษุณีกล่าวเท็จ  แก้ว่า เพราะทรงมีความเอ็นดูผู้อื่น ก็ถ้าว่าพระองค์พึงตรัสทุกๆ เรื่องที่ทรงทราบ,  พระองค์ถูกผู้อื่นซึ่งต้องปาราชิกแล้วถาม จำต้องตรัสคำว่าเรารู้อยู่เธอเป็นปาราชิก แต่นั้นบุคคลนั้นจะผูกอาฆาตว่า เมื่อก่อนพระองค์ทรงทำให้พระทัพพมัลลบุตรบริสุทธิ์ได้ บัดนี้ทรงทำเราให้เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้, ต่อไปนี้เราจะพูดอะไรแก่ใครได้เล่า?  ในฐานะที่แม้พระศาสดายังทรงถึงความลำเอียงในหมู่สาวก,  ความเป็นพระสัพพัญญูของพระศาสดานี้จักมีแต่ที่ไหนเล่า ดังนี้ ต้องเป็นผู้เข้าถึงอบาย เพราะเหตุนี้ แม้ทรงทราบอยู่ก็ไม่ตรัส เพราะทรงมีความเอ็นดูและทรงหลีกเลี่ยงคำค่อนขอด
     ก็ถ้าพระองค์พึงตรัสอย่างนี้ จะพึงมีการกล่าวค่อนขอดอย่างนี้ว่า ชื่อว่า การออกจากอาบัติของพระทัพพมัลลบุตรหนัก แต่ได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสักขีพยานจึงออกได้, และบาปภิกษุเข้าใจลักษณะแห่งการออกจากอาบัตินี้ อย่างนี้ว่า ในครั้งพุทธกาลความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ย่อมมิได้ด้วยพยาน, พวกเรารู้อยู่ บุคคลนี้เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ดังนี้, จะพึงทำให้ภิกษุผู้มีความละอายให้พินาศ หรือแม้ในอนาคตพวกภิกษุเมื่อเรื่องวินิจฉัยแล้ว จักให้โจทก์  โจท และให้จำเลยให้การว่า ถ้าท่านทำจงกล่าวว่าข้าพเจ้าทำ แล้วถือเอาแต่ปฏิญญาของพวกลัชชีภิกษุ (พวกเดียว) กระทำกรรม,  เพราะเหตุนั้นพระองค์เมื่อจะตั้งแบบแผนในลักษณะแห่งวินัย จึงไม่ตรัสว่า เรารู้อยู่,  ตรัสว่า ถ้าเธอทำ จงกล่าวว่าข้าพเจ้าทำ ดังนี้
     ๔. รับสั่งให้นาสนะภิกษุณีเมตติยา, นาสนะ (การทำให้ฉิบหาย การลงโทษบุคคลผู้ไม่สมควรถือเพศ) มี ๓ อย่าง คือ ลิงคนาสนะ ๑  สังวาสนาสนะ ๑  ทัณฑกัมมนาสนะ ๑
     บรรดานาสนะเหล่านั้น นาสนะนี้ว่าสามเณรผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี สงฆ์พึงให้ฉิบหายเสีย ชื่อว่า ลิงคนาสนะ (ให้ฉิบหายจากเพศคือให้สึก), พวกภิกษุทำอุกเขปนียกรรม (กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุ อันจะพึงยกเสียไม่ให้ฉันร่วม ไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้สิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลายชั่วคราว) เพราะไม่เห็น หรือไม่ทำคืนอาบัติก็ดี เพราะไม่สละทิฏฐิลามกเสียก็ดี ชื่อว่า สังวาสนาสนะ (ให้ฉิบหายจากสังวาส), พวกภิกษุทำทัณฑกรรม (แก่สามเณร, สมณุเทศ) ว่า เจ้าคนเลว เจ้าจงไปเสีย จงฉิบหายเสีย นี้ชื่อ ทัณฑกัมมนาสนะ (ให้ฉิบหายด้วยการลงโทษ), แต่ในฐานะนี้ทรงหมายเอาลิงคนาสนะ  จึงตรัสว่า พวกเธอจงนาสนะภิกษุณีเมตติยาเสีย
     - นางภิกษุณีโจทนางภิกษุณีอันติมวัตถุ (วัตถุมีในที่สุด หมายถึงอาบัติปาราชิก มีโทษถึงที่สุด คือ ขาดจากภาวะของตน) อันหามูลมิได้ เป็นสังฆาทิเสส, (โจทภิกษุเป็นทุกกฎ), สังฆาทิเสสเป็นวุฏฐานคามี (ออกได้ด้วยการอยู่กรรม) ทุกกฏเป็นเทสนาคามี (ออกได้ด้วยการแสดง), การนาสนะภิกษุณี เพราะสังฆาทิเสสและทุกกฎเหล่านี้ จึงไม่มี,  นางภิกษุณีเมตติยายืนกล่าวเท็จต่อพระพักตร์ ด้วยเหตุนั้นนางจึงเป็นปาจิตตีย์ในเพราะสัมปชานมุสาวาท, เพราะปาจิตตีย์แม้นี้นาสนะก็ไม่มี (ทำไม่ได้), แต่เพราะนางภิกษุณีเมตติยาตามปกติเป็นภิกษุณีเลวทราม ทุศีล และเดี๋ยวนี้นางก็กล่าวด้วยความสำคัญว่า เราเองแลเป็นผู้ทุศีล เพราะเหตุนั้นจึงรับสั่งให้สึกนางภิกษุณีนั้นเสีย เพราะความเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์นั่นแล
     - เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงให้นางเมตติยาภิกษุณีสึกเสีย และจงสอบสวนภิกษุณีเหล่านี้ แล้วเสด็จลุกออกจากอาสนะเข้าสู่พระวิหาร ภิกษุณีเมตติยะและภุมมชกะเห็นการให้สึก จึงได้ประกาศความผิดของตน เพราะเป็นผู้มีความประสงค์จะช่วยนางภิกษุณีนั้นให้พ้นผิด
     ๕. ปาราชิกนั้นไม่มีมูล เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า อมูลกะ ก็ความที่ปาราชิกนั้นไม่มีมูลนั้น ทรงประสงค์เอาด้วยอำนาจแห่งโจทก์ ไม่ใช่ด้วยอำนาจแห่งจำเลย เพราะฉะนั้น เพื่อทรงแสดงเนื้อความนั้นในบทภาชนะท่านพระอุบาลีจึงกล่าวว่า ที่ชื่อว่าไม่มีมูล คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ
     - ปาราชิกที่โจทก์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ ในตัวบุคคลผู้เป็นจำเลย ชื่อว่า ไม่มีมูลเพราะไม่มีมูล กล่าวคือการเห็น การได้ยิน และการรังเกียจ ก็จำเลยนั้น จะต้องปาราชิกหรือไม่ต้อง ไม่เป็นประมาณในสิกขาบทนี้
     - ไม่ได้เห็นด้วยจักษุประสาท หรือด้วยทิพยจักษุของตน ชื่อว่า ไม่ได้เห็น, ไม่ได้ยินใครๆ เขาพูดกัน ชื่อว่า ไม่ได้ยิน, ไม่ได้รังเกียจด้วยจิต ชื่อว่า ไม่ได้รังเกียจ
    ที่ชื่อว่า ได้เห็น คือตนเองหรือคนอื่นได้เห็นด้วยจักษุประสาทหรือด้วยทิพยจักษุ, ที่ชื่อว่าได้ยิน คือ ได้ยินมาเหมือนอย่างที่ได้เห็นนั่นเอง, ที่ชื่อว่า ได้รังเกียจ คือ ตนเองหรือคนอื่นรังเกียจ
    ก็เรื่องที่รังเกียจมี ๓ อย่าง คือ รังเกียจด้วยอำนาจได้เห็น ๑  รังเกียจด้วยอำนาจได้ยิน ๑  รังเกียจด้วยอำนาจได้ทราบ ๑
     ที่ชื่อว่า รังเกียจด้วยอำนาจได้เห็น คือ ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปยังพุ่มไม้แห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้านด้วยการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ หญิงแม้คนใดคนหนึ่ง ก็เข้าไปยังพุ่มไม้นั้นด้วยกิจบางอย่างเหมือนกัน แล้วกลับไป,  ทั้งภิกษุก็ไม่ได้เห็นผู้หญิง ทั้งผู้หญิงก็ไม่ได้เห็นภิกษุ ทั้งสองคนต่างก็หลีกไปตามชอบใจ ไม่ได้เห็นกันเลย, ภิกษุอีกรูปหนึ่งกำหนดหมายเอาการที่คนทั้งสองออกไปจากพุ่มไม้นั้น จึงรังเกียจว่าชนเหล่านี้กระทำกรรมแล้ว หรือจักกระทำแน่แท้ นี้ชื่อว่า รังเกียจด้วยอำนาจได้เห็น
     ที่ชื่อว่า รังเกียจด้วยอำนาจได้ยิน คือ คนบางคนในโลกนี้ได้ยินคำปฏิสันถารเช่นนั้นของภิกษุกับมาตุคามในโอกาสที่มือ หรือกำบัง คนอื่นแม้มีอยู่ในที่ใกล้ก็ไม่ทราบว่ามีหรือไม่มี เขารังเกียจว่าชนเหล่านี้ทำกรรมแล้ว หรือว่าจักทำแน่นอน นี้ชื่อว่า รังเกียจด้วยอำนาจได้ยิน
     ที่ชื่อว่า รังเกียจด้วยอำนาจได้ทราบ คือ ตกกลางคืนพวกนักเลงเป็นอันมาก ถือเอาดอกไม้ ของหอม เนื้อและสุราเป็นต้นแล้ว ไปยังวิหารชายแดนแห่งหนึ่งพร้อมกับพวกสตรี เล่นกันตามสบายที่มณฑปหรือที่ศาลาฉันเป็นต้น ทิ้งดอกไม้เป็นต้นให้กระจัดกระจายแล้วพากันไป ในวันรุ่งขึ้น พวกภิกษุเห็นอาการแปลกนั้น แล้วพากันสืบหาว่านี้กรรมของใคร? ก็ในบรรดาภิกษุบางรูปลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ปฏิบัติมณฑปหรือศาลาฉันด้วยมุ่งวัตรเป็นใหญ่ จำเป็นต้องจับต้องดอกไม้เป็นต้น บางรูปต้องการบูชาด้วยดอกไม้เป็นต้น ที่ตนทำมาจากตระกูลอปัฏฐาก, บางรูปต้องดื่มยาดองชื่ออริฏฐะเพื่อเป็นยา ครั้งนั้นพวกภิกษุเหล่านั้นผู้สืบหาว่ากรรมนี้ของใคร? จึงดมกลิ่นมือและกลิ่นปาก แล้วรังเกียจภิกษุเหล่านั้น นี้ชื่อว่า รังเกียจด้วยอำนาจได้ทราบ  


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 พฤษภาคม 2558 13:03:42
.

     ๖. “การโจท” มี ๒ คือ โจทด้วยกาย ๑  โจทด้วยวาจา ๑
          การโจทมี ๓ อย่าง คือ โจทตามที่ได้เห็น ๑  โจทตามที่ได้ยิน ๑  โจทตามที่รังเกียจ ๑
          การโจทมี ๔ คือ โจทด้วยศีลวิบัติ ๑  โจทด้วยอาจารวิบัติ ๑  โจทด้วยทิฏฐิวิบัติ ๑  โจทด้วยอาชีววิบัติ ๑  การโจทด้วยศีลวิบัติ คือ โจทด้วยกองอาบัติหนัก ๒ กอง ได้แก่ ปาราชิกกับสังฆาทิเสส, โจทด้วยอาจารวิบัติ คือ ด้วยกองอาบัติ ๕ กองที่เหลือ,  โจทด้วยทิฏฐิวิบัติ คือ โจทด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิและอันตคาหิกทิฏฐิ (ความเห็นที่ยึดเอาที่สุด ๑๐ อย่าง มีโลกเที่ยงและโลกไม่เที่ยง เป็นต้น),  โจทด้วยอาชีววิบัติ คือโจทด้วยอำนาจสิกขาบท ๖ ที่ทรงบัญญัติเพราะอาชีพเป็นเหตุ (เช่นกล่าวอวดคุณที่ไม่มีอยู่ หรือถึงความเป็นพ่อสื่อเป็นต้น)
          การโจทยังมีอีก ๔ อย่าง คือ โจทระบุวัตถุ ๑  โจทระบุอาบัติ ๑  การห้ามสังวาส ๑  การห้ามสามีจิกรรม๑,  โจทที่เป็นไปอย่างนี้ว่า ท่านเสพเมถุนธรรม ท่านลักทรัพย์ เป็นต้น  ชื่อว่า โจทระบุวัตถุ, โจทที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านต้องเมถุนธรรมปาราชิกาบัติ ชื่อว่า โจทระบุอาบัติ, โจทที่เป็นไปอย่างนี้ว่า อุโบสถก็ดี สังฆกรรมก็ดี ปวารณาก็ดี ร่วมกับท่านไม่มี ชื่อว่า การห้ามสังวาส, แต่ด้วยอาการเพียงเท่านี้ การโจทยังไม่ถึงที่สุด แต่เมื่อพูดเชื่อมต่อกับคำเป็นต้นว่า ท่านไม่เป็นสมณะ ไม่ใช่เหล่ากอแห่งศากยบุตร จึงถึงที่สุด (เป็นอาบัติ) การไม่กระทำกรรมมีการกราบไหว้ ลุกรับ ประคองอัญชลีและพัดวีเป็นต้น ชื่อว่าการห้ามสามีจิกรรม 
     การไม่ทำสามีจิกรรมนั้น พึงทราบในเวลาที่ภิกษุผู้กำลังทำการกราบไหว้เป็นต้น ตามลำดับ ไม่กระทำแก่ภิกษุรูปหนึ่งกระทำแก่ภิกษุที่เหลือ ก็ด้วยอาการเพียงเท่านี้ชื่อว่า โจท, ส่วนอาบัติยังไม่ถึงที่สุด แต่เมื่อถูกถามว่า ทำไมท่านจึงไม่กระทำการกราบไหว้เป็นต้นแก่เราเล่า?  แล้วพูดเชื่อมต่อด้วยคำเป็นต้นว่า ท่านไม่ใช่สมณะ ท่านไม่ใช่เหล่ากอแห่งศากยบุตร นั่นแหละอาบัติจึงถึงที่สุด (เป็นสังฆาทิเสส)
     ๗. พระวินัยธรพึงทราบเพื่อวินิจฉัยดังนี้
          การขอโอกาสว่าข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวกะท่าน ขอท่านผู้มีอายุจงกระทำโอกาส (อนุญาต) ให้แก่ข้าพเจ้า ดังนี้ ชื่อว่า เบื้องต้นแห่งการโจท
          การโจทแล้วให้จำเลยให้การตามวัตถุที่ยกขึ้นบรรยายฟ้องแล้ววินิจฉัย ชื่อว่า ท่ามกลางแห่งการโจท
          การระงับด้วยให้จำเลยตั้งอยู่ในอาบัติ หรืออนาบัติ ชื่อว่า ที่สุดแห่งการโจท
          ส่วนบุคคลผู้โจทก์ก็ควรตั้งอยู่ในธรรมเหล่านี้คือ
          - การโจทมีมูล ๒ คือ มูลมีเหตุ (มูลมีมูล) ๑  มูลไม่มีเหตุ (มูลไม่มีมูล) ๑
          - มีวัตถุ ๓ คือ ได้เห็น ๑  ได้ยิน ๑  ได้รังเกียจ ๑
          - มีภูมิ ๕ คือ จักพูดตามกาล จักไม่พูดโดยกาลไม่ควร ๑  จักพูดความจริง จักไม่พูดคำไม่จริง ๑  จักพูดถ้อยคำอ่อนหวาน ๑  จักไม่พูดถ้อยคำหยาบคาย ๑  จักพูดถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่พูดคำที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
          จักมีจิตประกอบด้วยเมตตาพูด จักไม่เพ่งโทษพูด ๑
          ผู้เป็นจำเลยพึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ อย่าง คือ ในความจริง ๑ และในความไม่โกรธ ๑
     ๘. “อธิกรณ์” (เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ, เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ) มี ๔ อย่าง
     - วิวาทที่อาศัยเภทกรวัตถุ ๑๘ (เรื่องทำความแตกกัน; เรื่องที่จะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความแตกแยกในสงฆ์ เช่น แสดงสิ่งที่มิใช่ธรรมว่าเป็นธรรม แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่าวินัย หรือแสดงอาบัติว่ามิใช่อาบัติ เป็นต้น) เกิดขึ้นอย่างนี้ คือ พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ วิวาทกันว่าเป็นธรรมหรือไม่ใช่ธรรม เป็นต้น ชื่อว่า วิวาทาธิกรณ์
     - การกล่าวหากันด้วยวิบัติ ๔ มีศีลวิบัติเป็นต้น ชื่อว่า อนุวาทาธิกรณ์
     - เฉพาะอาบัติเท่านั้นชื่อว่า อาปัตตาธิกรณ์ อย่างนี้คือ กองอาบัติทั้ง ๗ ชื่อว่า อาปัตตาธิกรณ์ (การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการออกจากอาบัติ)
     - ความเป็นกิจของสงฆ์ คือ ความเป็นกิจอันสงฆ์ต้องทำ ได้แก่ สังฆกิจ ๔ อย่าง คือ อปโลกนกรรม (กรรม คือ การบอกเล่า, กรรมอันทำด้วยการบอกกันในที่ประชุมสงฆ์  ไม่ต้องตั้งญัตติ ไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น การประกาศลงพรหมทัณฑ์ การนาสนะสามเณรผู้กล่าวตู่พระพุทธเจ้า หรือ อปโลกน์แจกอาหารในโรงฉัน เป็นต้น) ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม และญัตติจตุตถกรรม พึงทราบว่าชื่อว่ากิจจาธิกรณ์
     ในสิกขาบทนี้ประสงค์เอาอาปัตตาธิกรณ์ กล่าวคือ อาบัติปาราชิกเท่านั้น
     ๙. เป็นทุกกฎแก่ภิกษุผู้ไม่ให้กระทำโอกาส, เป็นสังฆาทิเสสแม้แก่ผู้ให้กระทำโอกาส แล้วตามกำจัด (โจท) ด้วยปาราชิกอันไม่มีมูลซึ่งๆ หน้า, เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ตามกำจัดด้วยสังฆาทิเสสไม่มีมูล เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ตามกำจัดด้วยอาจารวิบัติ, เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้กล่าวด้วยประสงค์จะด่า, เป็นทุกกฎแก่ภิกษุผู้กล่าวด้วยกองอาบัติทั้ง ๗ กองในที่ลับหลัง
     - ในกุรุนทีกล่าวว่า กิจด้วยการขอโอกาส ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้กล่าวว่า ท่านต้องอาบัติชื่อนี้ จงกระทำคืนอาบัตินั้นเสีย โดยประสงค์จะให้ออกจากอาบัติ
     ๑๐. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
น เตน ภิกฺขุ โส โหติ      ยาวตา ภิกฺขเต ปเร
วิสฺสํ ธมฺมํ สมาทาย    ภิกฺขุ โหติ น ตาวตา ฯ ๒๖๖ ฯ
เพียงขอภิกษาจากผู้อื่น    ไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ
ถ้ายังประพฤติตนเหมือนชาวบ้านอยู่   ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ

A man is not a bhikkhu   Simply because he begs from others.
By adapting householder's manner,   One does not truly become a bhikkhu
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 มิถุนายน 2558 15:02:31
.

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๑๓)
ภิกษุโกรธเคือง แกล้งหาเลศโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสส

     พระเมตติยะและพระภุมมชกะ กำลังลงจากภูเขาคิชกูฏ ได้แลเห็นแพะตัวผู้กับแพะตัวเมียกำลังสมจรกัน  ครั้นแล้วได้พูดอย่างนี้ว่า พวกเราจะสมมติแพะตัวผู้นี้เป็นพระทัพพมัลลบุตร สมมติแพะตัวเมียเป็นภิกษุณีเมตติยา
     ทั้งสองรูปได้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสทั้งหลาย เมื่อก่อนพวกกระผมได้กล่าวหาพระทัพพมัลลบุตรด้วยได้ยิน แต่บัดนี้พวกกระผมได้เห็นพระทัพพมัลลบุตรปฏิบัติผิดในภิกษุณีเมตติยาด้วยตัวเอง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนี้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้า
     ทรงประชุมสงฆ์ สอบถามพระทัพพมัลลบุตร และให้สอบสวนพระเมตติยะและพระภุมมชกะ ทั้งสองสารภาพแล้ว ภิกษุทั้งหลายสอบถามว่า ก็พวกท่านถือเอาเอกเทศบางแห่ง แห่งอธิกรณ์อันเป็นเรื่องอื่นให้เป็นเพียงเลศ แล้วตามกำจัดท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยธรรมอันมีโทษถึงปาราชิกหรือ?  ทั้งสองรับว่า จริงอย่างนั้น ขอรับ  ภิกษุทั้งหลายติเตียน แล้วกราบทูล...ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ถือเอาเอกเทศบางแห่ง แห่งอธิกรณ์อันเป็นเรื่องอื่นให้เป็นเพียงเลศ ตามกำจัดซึ่งภิกษุด้วยธรรมอันมีโทษถึงปาราชิก ด้วยหมายว่า แม้ไฉนเราจักยังเธอให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาก็ตาม ไม่ถือเอาก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้นเป็นเรื่องอื่นแท้ เอกเทศบางแห่ง เธอถือเอาพอเป็นเลศ แลภิกษุยังอิงโทสะอยู่ เป็นสังฆาทิเสส”

อรรถาธิบาย
     - บทว่า ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น พึงทราบคำอธิบายจากสิกขาบทที่ ๘
     - บทว่า แห่งอธิกรณ์อันเป็นเรื่องอื่น คือ เป็นส่วนอื่นแห่งอาบัติ หรือเป็นส่วนอื่นแห่งอธิกรณ์
        (อธิกรณ์มีอยู่ ๔ คือ ๑. วิวาทาธิกรณ์ – การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย  ๒. อนุวาทาธิกรณ์ – การโจท หรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ  ๓. อาปัตตาธิกรณ์ – การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ  ๔. กิจจาธิกรณ์ – กิจธุระต่างๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ เช่นให้อุปสมบท เป็นต้น
          อธิกรณ์ทั้ง ๔ เป็นคนละส่วนกัน เช่น วิวาทาธิกรณ์ เป็นคนละส่วนกับอาปัตตาธิกรณ์ ที่เป็นส่วนเดียวกันก็คือวิวาทาธิกรณ์ เป็นส่วนเดียวกันกับวิวาทาธิกรณ์  อนุวาทาธิกรณ์เป็นส่วนเดียวกับอนุวาทาธิกรณ์  เมถุนธรรมปาราชิกาบัติเป็นคนละส่วนกับอทินนาทานปาราชิกาบัติ... เมถุนธรรมปาราชิกาบัติเป็นส่วนเดียวกับเมถุนธรรมปาราชิกาบัติ เป็นต้น)
     - ที่ชื่อว่า เลศ ในคำว่า ถือเอาเอกเทศบางแห่ง...เป็นเพียงเลศนั้นอธิบายว่า เลศมี ๑๐ อย่าง ได้แก่ เลศคือชาติ ๑  เลศคือชื่อ ๑  เลศคือวงศ์ ๑  เลศคือลักษณะ ๑  เลศคืออาบัติ ๑  เลศคือบาตร ๑  เลศคือจีวร ๑  เลศคืออุปัชฌายะ ๑  เลศคืออาจารย์ ๑  เลศคือเสนาสนะ ๑
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ ชาติ  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้เป็นกษัตริย์ต้องปาราชิก ครั้นเห็นภิกษุผู้เป็นกษัตริย์รูปอื่นโจทว่า ภิกษุผู้เป็นกษัตริย์ ข้าพเจ้าได้เห็นท่านเป็นผู้ต้องปาราชิก ท่านไม่เป็นสมณะ ท่านไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร อุโบสถก็ดี ปวารณาก็ดี สังฆกรรมก็ดี ไม่มีร่วมกับท่าน ดังนี้  ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ ชื่อ นั้น  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นพระพุทธรักขิตต้องปาราชิก ครั้นเห็นพระพุทธรักขิตรูปอื่น ก็โจทว่า พระพุทธรักขิต  ข้าพเจ้าได้เห็นท่านเป็นผู้ต้องปาราชิก...ต้องสังฆาทิเสส ทุกๆ คำพูด เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ วงศ์  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้วงศ์โคตมะต้องปาราชิก เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ ลักษณะ  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้สูงต้องปาราชิก เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ อาบัติ  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้ต้องลหุกาบัติ (อาบัติเบา) แต่โจทเขาด้วยปาราชิก (ครุกาบัติ – อาบัติหนัก)... เป็นต้น
     - ที่ชื่อ เลศ คือ บาตร  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้ใช้บาตรโลหะต้องปาราชิก ครั้นเห็นภิกษุรูปอื่นใช้บาตรโลหะจึงโจทว่า...เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ จีวร  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลต้องปาราชิก ครั้นเห็นภิกษุรูปอื่นทรงผ้าบังสุกุลแล้วโจทว่า...เป็นต้น
     - ที่ชื่อ เลศ คืออุปัชฌาย์  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้สัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์ผู้มีชื่อนี้ต้องปาราชิก  ครั้นเห็นภิกษุผู้สัทธิวาริหาริกรูปอื่นของพระอุปัชฌาย์ผู้มีชื่อนี้แล้วโจทว่า...เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ อาจารย์  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้อันเตวาสิกของพระอาจารย์ผู้มีชื่อนี้ต้องปาราชิก  ครั้นเห็นภิกษุผู้อันเตวาสิกรูปอื่นของพระอาจารย์ผู้มีชื่อนี้แล้วโจทว่า...เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า เลศ คือ เสนาสนะ  อธิบายว่า ภิกษุผู้โจทก์เป็นผู้ได้เห็นภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะของคหบดีผู้มีชื่อนี้ต้องปาราชิก ครั้นเห็นภิกษุรูปอื่นผู้อยู่ในเสนาสนะของคหบดีผู้มีชื่อนี้แล้วโจทว่า...เป็นต้น
     - บทว่า ด้วยธรรมอันมีโทษถึงปาราชิก คือ ด้วยปาราชิกธรรมทั้ง ๔ สิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่ง
     - บทว่า ตามกำจัด ได้แก่ โจทเองหรือสั่งให้โจท
     - “แม้ไฉนเราจะยังเธอให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้”  ความว่า ให้เคลื่อนจากภิกษุภาพ ให้เคลื่อนจากสมณธรรม ให้เคลื่อนจากศีลขันธ์ ให้เคลื่อนจากคุณคือตบะ
     - คำว่า ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น  ความว่า เมื่อขณะคราวครู่หนึ่งภิกษุผู้ถูกตามกำจัดนั้นผ่านไปแล้ว จะมีบุคคลเชื่อในเรื่องที่เป็นเหตุให้ตามกำจัดนั้น หรือไม่มีใครๆ พูดถึง
     - ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่ อธิกรณ์ ๔ อย่างนั้น
     - บทว่า เอกเทศบางแห่ง เธอถือเอาพอเป็นเลศ คือ ถือเอาเลศ ๑๐ อย่างนั้น อย่างใดอย่างหนึ่ง
     - บทว่า แลภิกษุยันอิงโทสะอยู่  ความว่า ภิกษุกล่าวปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าพูดเปล่าๆ พูดเท็จ พูดไม่จริง ข้าพเจ้าไม่รู้ ได้พูดแล้ว

อาบัติ
     ๑. ภิกษุผู้โจทก์เห็นภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสมีความเห็นในอาบัติสังฆาทิเสส ว่าเป็นอาบัติสังฆาทิเสส แต่เธอโจทด้วยอาบัติปาราชิก...ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
     ๒. ภิกษุผู้โจทก์เห็นภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส มีความเห็นในอาบัติสังฆาทิเสสว่าเป็นอาบัติถุลลัจจัย...ปาจิตตีย์...ปาฏิเทสนียะ...ทุกกฎ...ทุพภาสิต...แต่เธอโจทด้วยอาบัติปาราชิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
     ๓. ภิกษุผู้โจทก์เห็นภิกษุผู้ต้องอาบัติถุลลัจจัย...ปาจิตตีย์...ปาฏิเทสนียะ...ทุกกฎ...ทุพภาสิต...แต่เธอโจทด้วยอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสสทุกๆ คำพูด
     ๔. การสั่งให้โจท ก็เป็นอาบัติสังฆาทิเสสเช่นเดียวกับการโจทเอง

อนาบัติ
     ภิกษุผู้สำคัญเป็นอย่างนั้น โจทเองก็ดี สั่งให้ผู้อื่นโจทก็ดี ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๕๕๒-๕๖๐
     ๑. พระเมตติยะและภุมมชกะ ไม่อาจสมมโนรถในเรื่องแรก ได้รับการนิคคหะจึงถึงความแค้นเคือง กล่าวว่า เดี๋ยวเถอะ พวกเราจักรู้กัน จึงเที่ยวคอยแส่หาเรื่องราวเช่นนั้น
     ๒. พวกภิกษุเหล่านั้นสอบสวนอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านเห็นพระทัพพมัลลบุตรกับนางเมตติยาภิกษุณี ณ ที่ไหนกัน? พวกเธอตอบว่า ที่เชิงเขาคิชกูฏ, ในเวลาที่ไหน? ในเวลาไปภิกขาจาร, พวกภิกษุถามท่านพระทัพพะว่า ท่านทัพพะ พวกภิกษุเหล่านี้กล่าวอย่างนี้ ท่านอยู่ที่ไหนในเวลานั้น? ท่านพระทัพพะตอบว่า ข้าพเจ้าแจกภัตตาหารอยู่ในพระเวฬุวัน, ใครบ้างทราบว่าท่านอยู่ในเวฬุวันในเวลานั้น?  ภิกษุสงฆ์ ขอรับ,  พวกภิกษุเหล่านั้นจึงถามสงฆ์ว่า ท่านทั้งหลายทราบไหมว่า ท่านผู้มีอายุทัพพะนี้อยู่ที่เวฬุวันในเวลานั้น?  ภิกษุสงฆ์รับว่า ขอรับ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเรารู้ว่าพระเถระอยู่ที่เวฬุวันเท่านั้น ตั้งแต่วันที่ท่านได้รับสมมติแล้ว
     ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวกะพระเมตติยะและภุมมชกะว่า ท่านผู้มีอายุ ถ้อยคำของท่านทั้งสองไม่สมกัน พวกท่านอ้างเลศกล่าวกะพวกเรากระมัง?  พระเมตติยะและภุมมชกะถูกพวกภิกษุเหล่านั้นสอบสวน ได้กล่าวว่า ขอรับ ผู้มีอายุ แล้วจึงได้บอกเรื่องราวนั้น
     ๓. แพะนี้ (อธิกรณ์กล่าวคือแพะนี้) แห่งส่วนอื่น หรือส่วนอื่นแห่งแพะนั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น แพะนั้นจึงชื่อว่าอัญญภคิยะ (มีส่วนอื่น) สัตว์ที่รองรับพึงทราบว่า อธิกรณ์ คือ ที่ตั้งแห่งเรื่อง เพราะว่าแพะที่พวกภิกษุเมตติยะและภุมมชกะกล่าวว่า ชื่อว่า ทัพพมัลลบุตรนั้น เป็นกำเนิดดิรัจฉาน อันเป็นส่วนอื่นจากกำเนิดมนุษย์ และความเป็นภิกษุของท่านพระทัพพะ
     อีกอย่างหนึ่ง ส่วนอื่นนั้น มีอยู่แก่แพะนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้นแพะนั้นจึงได้การนับว่ามีส่วนอื่น ก็เพราะแพะนั้นเป็นที่รองรับ เป็นที่ตั้งแห่งเรื่องของสัญญา คือ การตั้งชื่อแห่งพวกภิกษุเมตติยะและภุมมชกะนั้น ผู้กล่าวอยู่ว่าพวกเราจะสมมติแพะนี้ให้ชื่อว่า ทัพพมัลลบุตร เพราะฉะนั้น แพะนั้นพึงทราบว่า “อธิกรณ์” อธิกรณ์จึงหมายถึงแพะ มิได้หมายถึงอธิกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มีวิวาทาธิกรณ์ เป็นต้น
     ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้นเหมือนสิกขาบทที่ ๘ ปฐมทุฏฐโทสสิกขาบท


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อสาเร สารมติโน   สาเร จ อสารททสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจํฉนฺติ   มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา ฯ ๑๑ ฯ
ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ
เห็นสิ่งที่เป็นสาระ ว่าไร้สาระ
ผู้นั้นมีความคิดผิดเสียแล้ว
ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ

In the unessential they imagine the essential,
In the essential they see the unessential;
They who feed on wrong thoughts as such
Never achieve the essential.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 มิถุนายน 2558 15:04:42
.
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๑๔)
ภิกษุโกรธเคือง แกล้งหาเลศโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสส

    พระเทวทัตได้กล่าวเชื้อเชิญพระโกกาลิกะ พระกฏโมรกติสสะ พระขัณฑเทวีบุตร พระสมุทททัต ว่า มาเถิดพวกเราจักกระทำสังฆเภท จักรเภท แก่พระสมณโคดม  พระโกกาลิกะกล่าวว่า อาวุโส พระสมณโคดมมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ไฉนเราจักทำสังฆเภท จักรเภท (ทำสงฆ์ให้แตก ทำลายความเป็นไปของสงฆ์) แก่พระสมณโคดม ได้เล่า?
      พระเทวทัตกล่าวว่า ก็เราจักเข้าเฝ้า ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ คือ ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต ภิกษุใดอาศัยบ้านอยู่ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น...๑  ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต...๑  ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต...๑ ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต...๑  ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต...๑  เรารู้ว่าพระสมณโคดมจักไม่ทรงอนุญาต  เมื่อนั้นเราจักโฆษณาให้ชุมชนเชื่อถือเรา เราก็สามารถทำสังฆเภท จักรเภท ได้
     ครั้งนั้น พระเทวทัตและบริษัทเข้าเฝ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควร ได้กราบทูลขอวัตถุ ๕ ประการแล้ว  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามว่า อย่าเลย เทวทัต ภิกษุใดปรารถนาก็จงอยู่ป่า ภิกษุใดปรารถนาก็จงอยู่บ้าน ภิกษุใดปรารถนาก็จงเที่ยวบิณฑบาต  ภิกษุใดปรารถนาก็จงยินดีการนิมนต์ ภิกษุใดปรารถนาก็จงถือผ้าบังสุกุล  ภิกษุใดปรารถนาก็จงยินดีผ้าคหบดี  ดูก่อนเทวทัต เราอนุญาตการอยู่โคนไม้ตลอด ๘ เดือนเท่านั้น เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ ไม่ได้เห็น ๑ ไม่ได้ยิน ๑ ไม่ได้รังเกียจ ๑
     พระเทวทัตและบริวารร่าเริงยินดีเป็นอย่างยิ่ง หลีกออกไปแล้วกล่าวโฆษณาความนั้น พวกที่ไม่มีความรู้ ไม่เลื่อมใส มีความรู้ทราม พากันกล่าวว่า พวกพระเทวทัตเป็นผู้กำจัด มีความประพฤติขัดเกลา ส่วนพระสมณโคดมเป็นผู้มีความมักมาก ดำริเพื่อความมักมาก
     ส่วนประชาชนที่มีศรัทธา เป็นบัณฑิตมีความรู้สูง พากันติเตียนว่า พระเทวทัตตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้ามในพุทธจักรของพระผู้มีพระภาคเจ้า
     ภิกษุทั้งหลายได้ยินพากันเพ่งโทษติเตียนพระเทวทัตและบริวาร แล้วกราบทูล... ทรงประชุมสงฆ์ สอบสวนพระเทวทัตๆ รับว่า ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายข้อห้ามในพุทธจักรจริง  ทรงติเตียนเป็นอันมากแล้วมีพระบัญญัติว่า
    “อนึ่ง ภิกษุใดตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง หรือถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกันยกย่องอยู่ ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน หรืออย่าได้ถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกันยกย่องยันอยู่ ขอท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน ย่อมอยู่ผาสุก และภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องยันอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสกว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสก่อนจะครบสามจบ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสียเป็นสังฆาทิเสส"

อรรถาธิบาย
     สงฆ์ที่ชื่อว่า ผู้พร้อมเพรียง คือ มีสังวาสเสมอกัน (ธรรมเครื่องอยู่ร่วมกันของสงฆ์ได้แก่ การทำสังฆกรรมร่วมกันของสงฆ์ เป็นต้น ชื่อว่า สังวาส) อยู่ในสีมาเดียวกัน (เขตกำหนดพร้อมเพรียงของสงฆ์)
     - คำว่า ตะเกียกตะกายเพื่อทำลาย คือ แสวงหาพวกรวมเป็นก๊ก ด้วยหมายมั่นว่า ไฉนภิกษุเหล่านี้พึงแตกกัน พึงแยกกัน พึงเป็นพรรคกัน
     - คำว่า หรือ...อธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกัน ได้แก่ วัตถุเป็นเหตุกระทำการแตกกัน ๑๘ อย่าง เช่น แสดงอธรรมว่าเป็นธรรม, แสดงธรรมเป็นอธรรม เป็นต้น
     - บทว่า ถือเอาคือยึดเอา, ยกย่องคือแสดง, ยันอยู่คือไม่กลับคำ
     - บทว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดได้เห็น ภิกษุเหล่าใดได้ยิน ภิกษุเหล่านั้นพึงว่ากล่าวภิกษุผู้ทำลายสงฆ์รูปนั้นว่า ท่านอย่าได้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง หรืออย่าได้ถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกันยกย่องยันอยู่ ขอท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน ย่อมอยู่ผาสุก พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม หากเธอสละเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุทั้งหลายทราบแล้วไม่ว่ากล่าวต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงนำตัวมาสู่ท่ามกลางสงฆ์แล้วพึงว่ากล่าวว่า ท่านอย่าได้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง... พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม หากเธอสละได้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละ ต้องอาบัติทุกกฏ

วิธีสวดสมนุภาส
     ภิกษุนั้นอังสงฆ์พึงสวดสมนุภาส ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสวดสมนุภาสอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้

กรรรมวาจาสวดสมนุภาส
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุผู้มีชื่อนี้ผู้นี้ ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง เธอไม่สละเรื่องนั้น ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวดสมนุภาสภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย นี่เป็นบัญญัติ
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุผู้มีชื่อผู้นี้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง เธอไม่สละเรื่องนั้น สงฆ์สวดสมนุภาสภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้น การสวดสมนุภาสภิกษุผู้มีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง... ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
     ภิกษุผู้มีชื่อนี้ สงฆ์สวดสมนุภาสแล้ว เพื่อให้สละเรื่องนั้น ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงทราบความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้
     จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฎ จบกรรมวาจาสองครั้ง ต้องอาบัติถุลลัจจัย จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
     เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฎเพราะญัตติ อาบัติถุลลัจจัยเพราะกรรมวาจาสองครั้ง ย่อมระงับ

อาบัติ
    ๑. กรรมเป็นธรรม (สงฆ์ทำถูกต้องชอบธรรมแล้ว) ภิกษุสำคัญว่า (รู้ว่า) กรรมเป็นธรรม ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
     ๒. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
     ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
     ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฎ

อนาบัติ
      ภิกษุยังไม่ถูกสวดสมนุภาส ๑  ภิกษุสละเสียได้ ๑ วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๕๗๑-๕๘๗
     ๑. ความพิสดารของเรื่องการบวชของพระเทวทัต และเหตุที่ไปหาพรรคพวกชักชวนกันทำสังฆเภทและวัตถุ ๕ พึงทราบในสังฆเภทขันธกะ
     ๒. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า พอทรงสดับคำของพระเทวทัตผู้ทูลขอวัตถุ ๕ ก็ทรงทราบได้ว่าเทวทัตมีความต้องการจะทำลายสงฆ์ หากพระองค์ทรงอนุญาตย่อมเป็นไปเพื่ออันตรายแก่มรรค (อริยมรรค) ของเหล่ากุลบุตรเป็นอันมาก จึงทรงปฏิเสธ เพราะเห็นแก่ภิกษุผู้มีกำลังน้อย อ่อนแอ ที่ไม่สามารถจะอยู่ในป่าได้
     - ภิกษุรูปหนึ่งมีอัธยาศัยใหญ่ มีอุตสาหะมาก ย่อมสามารถเพื่องดเสนาสนะใกล้แดนบ้านแล้ว อยู่ในป่าก็สามารถกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้, ส่วนภิกษุรูปหนึ่งมีกำลังอ่อนแอ มีเรี่ยวแรงน้อย ย่อมไม่สามารถอยู่ในป่า (เพื่อกระทำที่สุดทุกข์ได้) สามารถแต่ในเขตบ้านเท่านั้น, รูปหนึ่งมีกำลังมาก มีธาตุเป็นไปสม่ำเสมอ สมบูรณ์ด้วยอธิวาสนขันติ มีจิตคงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ย่อมสามารถทั้งในป่าทั้งในเขตบ้านได้ทั้งนั้น, รูปหนึ่งไม่อาจทั้งในเขตบ้าน ทั้งในป่า คือ เป็นปทปรมบุคคล
     บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุใดมีอัธยาศัยใหญ่ มีอุตสาหะมาก ย่อมสามารถเพื่องดเสนาสนะใกล้แดนบ้านเสียแล้ว อยู่ในป่ากระทำที่สุดทุกข์ได้ ภิกษุรูปนั้นจงอยู่ในป่าเท่านั้นเถิด การอยู่ในป่านี้สมควรแก่เธอ แม้พวกสัทธิวิหาริกเป็นต้นของเธอศึกษาตามอยู่จักสำคัญข้อที่ตนควรอยู่ในป่าด้วย,  อนึ่ง ภิกษุรูปใดมีกำลังอ่อนแอ มีเรี่ยวแรงน้อย ย่อมอาจจะกระทำที่สุดทุกข์ได้ในแดนบ้านเท่านั้น ในป่าไม่อาจ   ภิกษุนั้นจงอยู่ในเขตบ้านนั้นก็ได้
     ส่วนภิกษุรูปใด ซึ่งมีกำลังแข็งแรง มีธาตุเป็นไปสม่ำเสมอ สมบูรณ์ด้วยอธิวาสนขันติ มีจิตคงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ย่อมอาจทั้งในป่าทั้งในแดนบ้านทีเดียว  แม้รูปนี้ จงละเสนาสนะใกล้แดนบ้านเสียแล้วอยู่ในป่าเถิด การอยู่ในป่านี้สมควรแก่เธอ แม้พวกสัทธิวิหาริกเป็นต้นของเธอ ศึกษาตามอยู่ จักสำคัญข้อที่ตนควรอยู่ป่า
     ส่วนภิกษุใด ซึ่งไม่อาจทั้งในแดนบ้าน ไม่อาจทั้งในป่า เป็นปทปรมบุคคล แม้รูปนี้ก็จงอยู่ในป่านั้นเถิด เพราะว่าการเสพธุดงคคุณและเจริญกรรมฐานนี้ของเธอ จักเป็นอุปนิสัยเพื่อมรรคและผลต่อไปในอนาคต, แม้พวกสัทธิวิหาริกใดเป็นต้นของเธอเมื่อศึกษาตาม จักสำคัญข้อที่ตนควรอยู่ในป่าฉะนี้แล, ภิกษุนี้ใด ซึ่งเป็นผู้มีกำลังอ่อนแอ มีเรี่ยวแรงน้อยอย่างนี้ เมื่ออยู่ในแดนบ้านเท่านั้น จึงอาจเพื่อจะทำที่สุดทุกข์ได้ ในป่าไม่อาจ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงบุคคลเช่นนี้
     ก็ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสรับรองวาทะของพระเทวทัตไซร้ บุคคลซึ่งมีกำลังอ่อนแอเรี่ยวแรงน้อยสามารถอยู่ในป่าได้แต่ในเวลายังเป็นหนุ่ม ต่อในเวลาแก่ตัวลง หรือในเวลาเกิดธาตุกำเริบอยู่ป่าไม่ได้ แต่เมื่ออยู่ในแดนบ้านเท่านั้น จึงอาจกระทำที่สุดทุกข์ได้ บุคคลเหล่านี้จะพึงสูญเสียอริยมรรคไป ไม่พึงบรรลุอรหัตผลได้ หากอนุญาตสัตถุศาสน์จะพึงกลายเป็นนอกธรรมนอกวินัย ยุ่งเหยิง ไม่เป็นไปเพื่อนำออกจากทุกข์ และพระศาสดาจะพึงเป็นผู้มิใช่พระสัพพัญญูของบุคคลจำพวกนั้น ทั้งจะพึงถูกตำหนิติเตียนว่า ทรงทิ้งวาทะของพระองค์เสีย ไปตั้งอยู่ในวาทะของพระเทวทัต
     ๓. “ปลาเนื้อบริสุทธิ์โดยส่วน ๓
     มังสะที่ชื่อว่า ไม่ได้เห็น คือ ไม่เห็นชาวบ้านฆ่าเนื้อและปลา เอามาเพื่อประโยชน์แก่พวกภิกษุ, ที่ชื่อว่า ไม่ได้ยิน คือ ไม่ได้ยินว่าพวกชาวบ้านฆ่าเนื้อ ปลา เอามาเพื่อประโยชน์แก่พวกภิกษุ, ส่วนที่ไม่ได้รังเกียจ ผู้ศึกษาควรรู้จักมังสะที่รังเกียจด้วยการเห็น รังเกียจด้วยการได้ยิน และรังเกียจพ้นจากเหตุทั้งสองนั้นแล้ว พึงทราบโดยส่วนตรงกันข้ามจากสามอย่างนั้น
     คือว่า พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นพวกชาวบ้านถือแหและตาข่ายเป็นต้น กำลังออกจากบ้านไป หรือกำลังเที่ยวไปในป่า, และในวันรุ่งขึ้น พวกชาวบ้านนำบิณฑบาตมีปลาและเนื้อมาถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นรังเกียจด้วยการได้เห็นนั้นว่า พวกชาวบ้านทำเนื้อเพื่อพวกภิกษุหรือหนอ? จะรับมังสะผู้เข้าไปบิณฑบาตเช่นนั้นไม่ควร, มังสะที่ไม่ได้รังเกียจเช่นนั้นจะรับ ควรอยู่, ก็ถ้าชาวบ้านเหล่านั้นถามว่า ทำไมท่านจึงไม่รับ ขอรับ? เมื่อได้ฟังความจากพวกภิกษุพูดว่า มังสะนั้นพวกกระผมไม่ได้กระทำเพื่อภิกษุทั้งหลาย พวกกระผมทำเพื่อตนบ้าง เพื่อข้าราชการบ้าง ดังนี้ มังสะนั้นก็ควร
     - ภิกษุทั้งหลายหาเห็นไม่ แต่ได้ฟังว่า ได้ยินว่า พวกชาวบ้านมีมือถือแหและตาข่ายออกจากบ้าน หรือเที่ยวไปในป่า และในวันรุ่งขึ้น พวกชาวบ้านที่บิณฑบาตมีปลาและเนื้อมาถวาย พวกเธอสงสัยด้วยการได้ยินว่า เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย? จะรับมังสะนั้นไม่ควร, มังสะที่ไม่ได้สงสัยอย่างนี้จะรับ ควรอยู่...
     - ภิกษุทั้งหลายไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังมาเลย แต่เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปยังบ้านเพื่อบิณฑบาต ชาวบ้านรับบาตรไปแล้วจัดบิณฑบาต มีปลา เนื้อ นำมาถวาย พวกเธอรังเกียจว่า มังสะนี้เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย? มังสะเช่นนี้ไม่สมควรรับ, มังสะที่ไม่ได้รังเกียจอย่างนั้น จะรับควรอยู่, ถ้าพวกชาวบ้านถามว่า ทำไมพวกท่านจึงไม่รับ? แล้วได้ฟังความรังเกียจนั้น จึงพูดว่า มังสะนี้พวกกระผมไม่ได้กระทำเพื่อภิกษุทั้งหลาย แต่ทำเพื่อประโยชน์แต่ตนบ้าง แก่ข้าราชการ เป็นต้นบ้าง หรือว่าพวกกระผมได้ปวัตตมังสะ (เนื้อที่มีอยู่แล้ว, เนื้อที่เขาขายอยู่ตามปกติ ไม่ใช่ฆ่าเพื่อเอาเนื้อมาถวาย) เฉพาะที่เป็นกัปปิยะเท่านั้น จึงปรุงให้สำเร็จประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย มังสะนี้ควรอยู่, แม้ในมังสะที่เขาทำเพื่อประโยชน์แก่เปตกิจ แก่ผู้ตายไปแล้ว ก็เพื่อประโยชน์ก็ดี แก่งานมงคลเป็นต้นก็ดี ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน, จริงอยู่ มังสะใดๆ ที่เขาไม่ได้กระทำเพื่อภิกษุทั้งหลายเลย และภิกษุไม่มีความสงสัยในมังสะชนิดใดๆ มังสะนั้นๆ ควรทั้งนั้น
     - ก็มังสะที่เขาทำอุทิศพวกภิกษุในวิหารหนึ่ง และพวกเธอไม่ทราบว่าเขากระทำเพื่อประโยชน์ตน แต่ภิกษุพวกอื่นรู้, พวกใดรู้ ไม่ควรแก่พวกนั้น, พวกอื่นไม่รู้ แต่พวกเธอเท่านั้นที่รู้ ย่อมไม่ควรเฉพาะแก่พวกเธอนั้น แต่ควรสำหรับพวกอื่น, แม้พวกเธอรู้อยู่ว่าเขากระทำเพื่อประโยชน์แก่พวกเรา ถึงภิกษุพวกอื่นก็รู้ว่าเขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุพวกนี้ ไม่ควรแก่พวกเธอทั้งหมด, พวกภิกษุทั้งหมดไม่รู้ ย่อมควรแก่พวกเธอทั้งหมด, บรรดาสหธรรมิกทั้ง ๕ มังสะอันเขาทำเจาะจงเพื่อประโยชน์แก่สหธรรมิกรูปใดรูปหนึ่งก็ตาม แก่สหธรรมิกทั้งหมด (หากรู้ว่าเขาทำเจาะจง) ย่อมไม่สมควร
     ถามว่า ก็ถ้าว่า มีบุคคลบางคนฆ่าสัตว์ เจาะจงภิกษุรูปหนึ่ง บรรจุบาตรให้เต็มแล้วถวายแก่ภิกษุรูปนั้น และเธอรู้อยู่ด้วยว่ามังสะเขากระทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุ (คือตน) รับไปแล้วถวายแก่ภิกษุรูปอื่น ภิกษุรูปอื่นนั้นฉันด้วยเชื่อภิกษุนั้น (ว่าเขาไม่ได้ทำเพื่อภิกษุ) ใครต้องอาบัติเล่า? ตอบว่า ไม่ต้องอาบัติแม้ทั้งสองรูป
     ด้วยว่า มังสะที่เขาทำเฉพาะภิกษุใด ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้น เพราะเธอไม่ได้ฉัน, และไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนอกนี้ เพราะไม่รู้, แท้จริงในการรับกัปปิยะมังสะไม่เป็นอาบัติ, แต่ภิกษุไม่รู้ฉันมังสะที่เขากระทำเจาะจง ภายหลังรู้เข้า กิจด้วยการแสดงอาบัติไม่มี, ส่วนภิกษุไม่รู้ ฉันอกัปปิยะมังสะ (มีเนื้อเสือเป็นต้น) แม้ภายหลังรู้เข้า พึงแสดงอาบัติ (ทุกกฎ) เพราะเหตุนั้นภิกษุผู้เกรงกลัวต่ออาบัติ แม้เมื่อกำหนดรูปการณ์ พึงถามก่อนแล้วจึงรับประเคนมังสะ จะรับประเคนด้วยตั้งใจว่า ในเวลาฉันเราจักถามแล้วจึงจะฉัน ควรถามก่อนแล้วจึงฉัน
     ถามว่า เพราะเหตุไร?  ตอบว่า เพราะมังสะรู้ได้ยาก, ความจริงเนื้อหมีก็คล้ายเนื้อสุกร, เนื้อเสือเหลืองเป็นต้น ก็เหมือนกับเนื้อมฤคเป็นต้น เพราะเหตุนั้น พระอาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า การถามแล้วจึงรับประเคนนั่นแลเป็นธรรมเนียม
     ๔. พระเทวทัตคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาตวัตถุ ๕ เหล่านี้ บัดนี้เราจักอาจเพื่อทำสังฆเภท จึงได้แสดงอาการลิงโลดแก่พระโกกาลิกะ ไม่รู้ว่าทุกข์ที่ตนจะพึงบังเกิดในอเวจี แม้ซึ่งใกล้เข้ามาเพราะสังฆเภทเป็นปัจจัย ร่าเริงเบิกบานใจว่า บัดนี้ เราได้อุบายเพื่อทำลายสงฆ์ เหมือนดังบุรุษผู้ประสงค์จะกินยาพิษตาย หรือประสงค์จะเอาเชือกผูกคอตาย หรือประสงค์จะเอาศัสตรามาฆ่าตัวตาย ได้วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง มียาพิษเป็นต้น ไม่รู้จักทุกข์ คือ ความตาย แม้ใกล้เข้ามาเพราะการกินยาพิษเป็นต้นนั้น เป็นปัจจัยเป็นผู้ร่าเริงเบิกบานใจอยู่  ฉะนั้น จึงพร้อมด้วยบริวารลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยความคิดว่าสำเร็จแล้ว กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป, พระเทวทัตเป็นต้นบัญญัติ เพราะทรงปรารภท่านทำบัญญัติสิกขาบท, และพระเทวทัตมิได้ถูกสวดสมนุภาส ท่านจึงเป็นอาบัติ
     ๕. เป็นทุกกฎแก่พวกภิกษุผู้ได้ยินแล้วไม่ว่ากล่าว, ในที่ไกลเท่าไรจึงเป็นทุกกฎแก่พวกภิกษุ ผู้ได้ยินแล้วไม่ว่ากล่าว? ในวิหารเดียวกัน ไม่มีคำที่จะพึงกล่าวเลย, ส่วนในอรรถกถาท่านกล่าวว่า ในระยะทางกึ่งโยชน์โดยรอบ จัดเป็นภาระของภิกษุทั้งหลายพึงไปห้ามเอาเองทีเดียวว่า ท่านผู้มีอายุ การทำลายสงฆ์เป็นกรรมหนัก เธออย่าพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ แต่ภิกษุผู้สามารถแม้ไกลก็ควรไป  จริงอยู่ แม้ที่ไกลๆ จัดเป็นภาระของพวกภิกษุผู้ไม่อาพาธทีเดียว
      ๖. สิกขาบทนี้มีสมนุภาสนมุฏฐาน ย่อมตั้งขึ้นทางกายทางวาจาและทางจิต, แต่เป็นอกิริยาเพราะเมื่อภิกษุไม่ทำกายวิการหรือเปล่งวาจาเลยว่า “เราจะสละคืน” จึงต้องอาบัติ, เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสะมูลจิต)



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
โย จ วนฺตกสาวสฺส  สีเลสุ สุสมาหิโต
อุเปโต ทมสจฺเจน  ส เว กาสาวมรหติ ฯ ๑๐ ฯ  
ผู้หมดกิเลสแล้ว มั่นคงในศีล
รู้จักบังคับตนเอง และมีสัตย์
ควรครองผ้ากาสาวพัสตร์แท้จริง

But he who discared defilements,
Firmly established in moral precepts,
Possessed of self-control and truth,
Is indeed worthy of the yellow robe.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก



(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๕)
ภิกษุประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์ ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง
สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤติ ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส

    ครั้งนั้นพระเทวทัตตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้ามในพุทธจักรแล้ว ภิกษุทั้งหลายสนทนากันอยู่ว่า พระเทวทัตพูดไม่ถูกธรรม พูดไม่ถูกวินัย ไฉนพระเทวทัตจึงตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ ทำลายข้อห้ามในพุทธจักรเล่า (ทำลายความเป็นไปในวงการพระพุทธศาสนา)
     พระโกกาลิกะ พระกฏโมรกติสสกะ พระขัณฑเทวีบุตรและพระสมุทททัต กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น พระเทวทัตพูดถูกธรรม พูดถูกวินัย ก็พระเทวทัตกล่าวคล้อยตามความพอใจและความเห็นชอบของพวกเรา พระเทวทัตทราบความพอใจและความเห็นชอบของพวกเราจึงกล่าว คำนั้นย่อมควรแก่พวกเรา ภิกษุทั้งหลายพากันเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนภิกษุเหล่านี้ ประพฤติตามคำพูดของพระเทวทัต ผู้ตะเกียกตะกายทำลายสงฆ์เล่า  แล้วกราบทูล,,, ทรงมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง มีภิกษุผู้ประพฤติตาม ผู้พูดเข้ากันของภิกษุนั้นแล ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า ขอท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวคำอะไรๆ ต่อภิกษุนั้น ภิกษุนั่นกล่าวถูกธรรมด้วย ภิกษุนั้นกล่าวถูกวินัยด้วย ภิกษุนั่นถือเอาความพอใจและความชอบใจของพวกข้าพเจ้ากล่าวด้วย เธอทราบความพอใจและความชอบใจของพวกข้าพเจ้าจึงกล่าว คำที่เธอกล่าวนั่นย่อมควร แม้แก่พวกข้าพเจ้า”
     “ภิกษุเหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้ล่าวอย่างนั้น ภิกษุนั้นหาใช่ผู้กล่าวถูกธรรมไม่ด้วย ภิกษุนั้นหาใช่ผู้กล่าวถูกวินัยไม่ด้วย ความทำลายสงฆ์อย่าได้ชอบแม้แก่พวกท่าน ขอพวกท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน ย่อมผาสุก และภิกษุเหล่านั้นอันภิกษุทั้งหลายกล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสกว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอทั้งหลายถูกสวดสมนุภาสกว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสียได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอทั้งหลายไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส”

อรรถาธิบาย
     - บทว่า อนึ่ง...ของภิกษุนั้นแล คือ ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั้น
     - บทว่า ผู้ประพฤติตาม ความว่า ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์เห็นอย่างไร ชอบอย่างไร พอใจอย่างไร ภิกษุผู้ประพฤติตามก็เห็นอย่างนั้น ชอบอย่างนั้น พอใจอย่างนั้น
     - บทว่า ผู้พูดเข้ากัน คือ ผู้ดำรงอยู่ในพวกในฝ่ายของภิกษุผู้นั้น ๑ รูปบ้าง... ๓ รูปบ้าง
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดเห็นอยู่ ได้ยินอยู่ ภิกษุเหล่านั้นควรว่ากล่าวกับภิกษุผู้ประพฤติตามเหล่านี้ว่า พวกท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุนั่นกล่าวถูกธรรมก็หาไม่ กล่าวถูกวินัยก็หาไม่ ความทำลายสงฆ์อย่าได้ชอบใจแก่พวกท่าน ขอพวกท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์อยู่พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน...ย่อมอยู่ผาสุก, พึงกล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงกล่าวแม้ครั้งที่สาม หากภิกษุเหล่านั้นสละได้ย่อมเป็นการดี หากไม่สละเสียต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุทั้งหลายทราบแล้วไม่ว่ากล่าว ต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายถึงนำตัวมาสู่ท่ามกลางสงฆ์แล้วพึงกล่าวว่า พวกท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น...หากสละได้เป็นการดี หากไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาส...ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้

กรรมวาจาสวดสมนุภาส
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์ฟังข้าพเจ้า ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย เป็นผู้ประพฤติความเป็นผู้พูดเข้าด้วยกันของภิกษุผู้มีชื่อนี้ ซึ่งเป็นผู้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ ภิกษุเหล่านั้นยังไม่สละเรื่องนั้น ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวดสมนุภาสภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย นี่เป็นบัญญัติ
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย...เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
    ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง...
    ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
     ภิกษุทั้งหลายผู้มีชื่อนี้ด้วย ผู้มีชื่อนี้ด้วย สงฆ์สวดสมนุภาสแล้วเพื่อให้สละเรื่องนั้น ชอบแก่สงฆ์เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้”
      - จบญัตติต้องทุกกฎ จบกรรมวาจาสองครั้งต้องถุลลัจจัย จบกรรมวาจาครั้งสุดท้ายต้องสังฆาทิเสส
     - เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฎและถุลลัจจัยเป็นอันระงับ สงฆ์พึงสวดสมนุภาสคราวหนึ่ง ต่อภิกษุ ๒-๓ รูป ไม่ควรสวดสมนุภาสในคราวหนึ่งยิ่งกว่านั้น

อาบัติ
     ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๒. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องทุกกฎ
     ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
     ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     ภิกษุยังไม่ถูกสวดสมนุภาส ๑  ภิกษุสละเสียได้ ๑  วิกลจริต ๑  มีจิตฟุ้งซ่าน ๑  กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๕๙๕-๕๙๖
     ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนในสิกขาบทก่อน (สิกขาบทที่ ๑๐) ที่กล่าวแล้ว


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อนิกฺกสาโว กาสาวํ   โย วตฺถํ ปริทเหสฺสติ
อเปโต ทมสจฺเจน  น โส กาสาวมรหติ ฯ๙ฯ  
คนที่กิเลสครอบงำใจ  ไร้การบังคับตนเองและไร้สัตย์
ถึงจะครองผ้ากาสาวพัสตร์  ก็หาคู่ควรไม่

whosoever, not freed from defilements,
Without self-control and truthfulness,
Should put on the yellow robe-
He is not worthy of it.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 กรกฎาคม 2558 15:01:30
.
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๖)
ภิกษุว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง
สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละ ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส

    พระฉันนะประพฤติมารยาทอันไม่สมควร ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนอย่างนี้ว่า ดูก่อนฉันนะ ท่านอย่าได้กระทำอย่างนี้ ประพฤติอย่างนี้ไม่ควร
     พระฉันนะกล่าวตอบว่า ดูก่อนท่านทั้งหลาย พวกท่านสำคัญว่าเราเป็นผู้ที่ท่านควรว่ากล่าวกระนั้นหรือ เราต่างหากควรว่ากล่าวพวกท่าน เพราะพระพุทธเจ้าก็ของเรา พระธรรมก็ของเรา พระลูกเจ้าของเราตรัสรู้ธรรมแล้ว พวกท่านต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติ ต่างสกุลกัน บวชรวมกันอยู่ ดุจลมกล้าพัดหญ้าไม้และใบไม้แห้งให้อยู่ร่วมกัน หรือดุจแม่น้ำที่ไหลมาจากภูเขาพัดพวกสาหร่ายและแหนให้อยู่รวมกันฉะนั้น เราต่างหากควรว่ากล่าวท่าน
     ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนท่านพระฉันนะอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม จึงได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
    “อนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายาก อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกธรรมในสิกขาบททั้งหลายอันเนื่องในอุเทศ กลับทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ด้วยกล่าวโต้ว่า พวกท่านอย่าได้กล่าวอะไรต่อเรา เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม แม้เราก็จักไม่กล่าวอะไรๆ ต่อพวกท่านเหมือนกัน เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม ขอพวกท่านจงเว้นจากการว่ากล่าวเราเสีย
     ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ขอท่านจงทำตนให้เขาว่ากล่าวได้แล แม้ท่านก็จงว่ากล่าวภิกษุทั้งหลายโดยชอบธรรม แม้ภิกษุทั้งหลายก็จักว่ากล่าวท่านโดยชอบธรรม เพราะว่าบริษัทของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเจริญแล้วด้วยการอย่างนี้ คือ ด้วยการว่ากล่าวซึ่งกันและกัน ด้วยเตือนกันและกันให้ออกจากอาบัติ แลภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องยืนยันอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสกว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาส ก่อนจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสียเป็นสังฆาทิเสส”


อรรถาธิบาย
     - คำว่า ภิกษุเป็นผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายาก ความว่า เป็นผู้ว่าได้โดยยาก ประกอบด้วยธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกระทำความเป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับอนุสาสนี โดยเคารพ
     - คำว่า ในสิกขาบททั้งหลายอันเนื่องในอุเทศ ได้แก่ สิกขาบทอันนับเนื่องในพระปาติโมกข์
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ภิกษุเหล่าอื่น
     - ที่ชื่อว่า ถูกทางธรรม คือ สิกขาบทใดอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแล้ว สิกขาบทนั้นชื่อว่า ถูกทางธรรม ภิกษุนั้น ผู้อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยถูกทางธรรมนั้น ย่อมทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ด้วยกล่าวโต้ว่าพวกท่านอย่าได้กล่าวอะไรๆ ต่อเรา เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม แม้เราก็จักไม่กล่าวคำอะไรๆ ต่อพวกท่าน เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม ขอพวกท่านจงเว้นจากการว่ากล่าวเสีย
     - บทว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายากนั้น
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดเห็นอยู่ ได้ยินอยู่ ภิกษุเหล่านั้นควรว่ากล่าวภิกษุผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายากนั้นว่า ท่านอย่าได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ขอท่านจงทำตนให้เขาว่าได้, แม้ท่านก็จงว่ากล่าวภิกษุทั้งหลายโดยชอบธรรม แม้ภิกษุทั้งหลายก็จักว่ากล่าวท่านโดยชอบธรรม เพราะว่าบริษัทของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเจริญแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือ ด้วยว่ากล่าวซึ่งกันและกัน ด้วยเตือนกันและกันให้ออกจากอาบัติ ควรว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง ควรว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม หากเธอสละเสียได้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุทั้งหลายได้ยินแล้วไม่ว่ากล่าวต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงคุมตัวมาสู่ท่ามกลางสงฆ์แล้ว พึงกล่าวว่า ท่านอย่าได้ทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้...หากสละได้เป็นการดี หากเธอไม่สละ ต้องทุกกฎ
     ภิกษุนั้นอันสงฆ์พึงสวดสมนุภาส ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ว่าดังนี้
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อผู้นี้ อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม ย่อมทำตนให้เป็นผู้อันใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ภิกษุนั้นไม่สละเรื่องนั้น ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวดสมนุภาสภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อให้สละเรื่องนั้น นี่เป็นบัญญัติ
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรม ... เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด    
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง...
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
     ภิกษุมีชื่อนี้อันสงฆ์สวดสมนุภาสแล้ว เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่สงฆ์เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้
     จบญัตติต้องทุกกฎ  จบกรรมวาจาสองครั้งต้องถุลลัจจัย จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องสังฆาทิเสส
     เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฎและถุลลัจจัยเป็นอันระงับ

อาบัติ
     ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๒. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องทุกกฎ
     ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
     ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     ภิกษุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาส ๑  ภิกษุผู้สละเสียได้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๖๐๔-๖๐๘
      ๑. พระฉันนะกระทำการล่วงละเมิดทางกายทวารและวจีทวาร มีอเนกประการ
            พระฉันนะกล่าวหมายเอาความประสงค์อย่างนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกพร้อมกับเรา ทรงผนวชแล้ว, ครั้นกล่าวว่า พระธรรมของเราแล้ว เมื่อจะแสดงข้อยุติในความเป็นของตนอีก จึงกล่าวว่าพระธรรมนี้ พระลูกเจ้าของเราได้ตรัสรู้แล้ว อธิบายว่า เพราะว่าสัจธรรมอันพระลูกเจ้าของเราแทงตลอดแล้ว ฉะนั้นแม้พระธรรมก็เป็นของเรา, แต่พระฉันนะสำคัญพระสงฆ์ว่า ตั้งอยู่ในฝักฝ่ายแห่งคนคู่เวรของตน จึงไม่กล่าวว่าพระสงฆ์ของเรา, แต่ใคร่จะกล่าวเปรียบเปรย รุกรานสงฆ์ จึงกล่าวคำว่า พวกท่านต่างชื่อต่างโคตรกัน” ดังนี้เป็นต้น
     ๒. บทว่า ทุพฺพจชาติโก ได้แก่ มีภาวะแห่งบุคคลผู้ว่ายาก ผู้อันใครๆ ไม่อาจว่ากล่าวได้ ผู้อันใครๆ กล่าวสอนได้โดยลำบาก ไม่อาจว่ากล่าวได้โดยง่าย
          - ธรรมที่กระทำให้เป็นผู้ว่ายาก ๑๙ อย่าง ได้แก่ ความเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ๑  ความยกตนข่มผู้อื่น ๑  ความเป็นคนมักโกรธ ๑  ความผูกโกรธ ๑  ความเป็นผู้มักระแวงเพราะความโกรธเป็นเหตุ ๑  ความเป็นผู้เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ ๑  ความกลับเป็นผู้โต้เถียงโจทย์ ๑  ความเป็นผู้รุกรานโจทก์ ๑  ความเป็นผู้ปรักปรำโจทก์ ๑  ความกลบเรื่องอื่นด้วยเรื่องอื่น ๑  ความเป็นผู้ไม่พอใจตอบด้วยความประพฤติ ๑  ความเป็นผู้ลบหลู่ตีเสมอ ๑  ความเป็นคนริษยาเป็นคนตระหนี่ ๑  ความเป็นคนโอ้อวดเจ้ามายา ๑  ความเป็นคนกระด้างดูหมิ่นผู้อื่น ๑  ความเป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ๑  ความเป็นคนดื้อรั้น ๑  ความเป็นผู้สอนได้ยาก ๑  อันมีมาแล้วในอนุมานสูตร
          - ผู้ใด ไม่อดไม่ทนโอวาท เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า อักขมะ, ผู้ใดเมื่อปฏิบัติตามที่ท่านพร่ำสอน ไม่รับอนุสาสนีโดยเบื้องขวา เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า มีปกติไม่รับโดยเบื้องขวาซึ่งอนุสาสนี
            - ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ด้วยสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ อันได้นามว่า สหธรรมิก เพราะเป็นสิกขาอันสหธรรมิก ๕ พึงศึกษา หรือเพราะเป็นพระสหธรรมิก ๕ เหล่านั้น
     ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนปฐมสังฆเภทสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๑๐) ที่กล่าวมาแล้ว



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อสาเร สารมติโน   สาเร จ อสารททสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจํฉนฺติ   มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา ฯ ๑๑ ฯ
ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ    เห็นสิ่งที่เป็นสาระ ว่าไร้สาระ
ผู้นั้นมีความคิดผิดเสียแล้ว   ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ

In the unessential they imagine the essential,
In the essential they see the unessential;
They who feed on wrong thoughts as such
Never achieve the essential.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก


(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๗)
ภิกษุประทุษร้ายตระกูล สงฆ์ไล่เสียจากวัด กลับติเตียนสงฆ์
สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤติ ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส

    ภิกษุพวกพระอิสสชิและพระปุนัพพสุกะ เป็นเจ้าถิ่นในชนบทฏาคิรี เป็นภิกษุอลัชชี ชั่วช้า ภิกษุพวกนั้นประพฤติอนาจารเห็นปานนี้ คือ ปลูกต้นไม้ดอก...รดน้ำ...เก็บดอกไม้...ร้อยกรองดอกไม้...ทำมาลัยต่อก้าน...ทำมาลัยเรียงก้าน...ทำดอกไม้ช่อ...ทำดอกไม้พุ่ม...แล้วนำไปเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นนำไปบ้าง ซึ่งดอกไม้เพื่อให้กุลสตรี กุลธิดา กุลกุมารี สะใภ้แห่งสกุล กุลทาสี ฉันอาหารในภาชนะอันเดียวกัน...ดื่มน้ำในขันใบเดียวกันกับกุลสตรี กุลธิดา ฉันอาหารในเวลาวิกาล...ดื่มน้ำเมา...ทัดทรงดอกไม้... ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม ฯลฯ  
     ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาในแคว้นกาสี จะเดินทางไปพระนครสาวัตถี ถึงกิฏาคีรีชนบทแล้ว เวลาเช้าถือบาตรเข้าไปบิณฑบาต มีอาการเดินไปถอยกลับ แลเหลียว เหยียดแขน คู้แขน น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ
     คนทั้งหลายได้เห็นแล้ว พูดว่า ภิกษุรูปนี้เป็นใคร ดูคล้ายคนไม่ค่อยมีกำลัง เหมือนคนอ่อนแอมีหน้าสยิ้ว (เพราะท่านมีจักษุทอดลง ไม่สบตาใครๆ) ใครเล่าจักถวายแก่ท่าน ส่วนพระผู้เป็นเจ้า พระอิสสชิ และพระปุนัพพสุกะของพวกเรา เป็นผู้อ่อนโยน พูดไพเราะ อ่อนหวาน ยิ้มแย้มก่อน มีหน้าชื่นบาน มักพูดก่อน ใครๆ ก็ต้องถวายแก่ท่าน
     อุบาสกคนหนึ่งแลเห็นภิกษุรูปนั้น ได้กราบนิมนต์ถวายบิณฑบาต พอรู้ว่าท่านกำลังจะไปเข้าเฝ้า จึงขอให้ท่านช่วยกราบทูลถ้อยคำของท่านด้วยว่า...วัดในกิฏาคีรีชนบท โทรม พวกพระอิสสชิและพระปุนัพพะสุกะเป็นภิกษุเจ้าถิ่น เป็นอลัชชีเลวทราม พวกเธอประพฤติเลวทรามเป็นปานนี้ คือ...
     เมื่อถึงพระอารามเชตวัน ท่านเข้าเฝ้ากราบทูลถ้อยคำของอุบาสกนั้น ทรงให้ประชุม ทรงสอบถามแล้ว ตรัสให้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเดินทางไปชนบทกิฏาคีรี แล้วจงทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุ พวกพระอัสสชิและปุนัพพสุกะจากชนบทกิฏาคีรี เพราะภิกษุพวกนั้นเป็นสัทธิวิหาริกของเธอ
     พระเถระทั้งสองทูลถามถึงวิธีปฏิบัติ ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นพวกเธอจงไปพร้อมด้วยภิกษุหลายๆ รูป

• วิธีทำปัพพาชนียกรรม
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลวิธีปัพพาชนียกรรมพึงทำอย่างนี้ พึงโจทภิกษุพวกอัสสชิและปุนัพพสุกะก่อน ครั้นแล้วพึงให้พวกเธอให้การ ครั้นแล้วพึงยกอาบัติขึ้น ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาดพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุพวกพระอัสสชิและปุนัพพสุกะเหล่านี้ เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของภิกษุเหล่านี้ เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันภิกษุเหล่านี้ประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุ พวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะจากชนบทกิฏาคีรีว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ ไม่พึงอยู่ในชนบทกิฏาคีรี นี้เป็นบัญญัติ
     ท่านเจ้าข้า...ขอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง...
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
     ปัพพาชนียกรรม สงฆ์ทำแล้วแก่ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ จากชนบทกิฏาคีรี ว่า ภิกษุพวกพระอิสสชิและพระปุนัพพสุกะไม่พึงอยู่ในชนบทกิฏาคีรี ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้”
     ภิกษุสงฆ์มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ได้ไปสู่ชนบทกิฏาคีรี ทำปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุพวกนั้นแล้ว
     ภิกษุเหล่านั้นถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรม ไม่ประพฤติชอบ ไม่หายเย่อหยิ่ง ไม่ประพฤติแก้ตัว ไม่ขอขมาภิกษุทั้งหลาย ยังด่าบริภาษการกสงฆ์ ยังใส่ความว่าลำเอียง ด้วยความพอใจ...ขัดเคือง...หลง...กลัว หลีกไปเสียก็มี สึกไปเสียก็มี
     ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษติเตียนภิกษุผู้ไม่ประพฤติชอบเหล่านั้น แล้วกราบทูล...พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วมีพระบัญญัติว่า
    “อนึ่ง ภิกษุเข้าไปอาศัยบ้านก็ดี นิคมก็ดี แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของเธอ เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันเธอประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ และภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ พึงว่ากล่าวภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า พวกภิกษุถึงความพอใจด้วย ถึงความขัดเคืองด้วย ถึงความหลงด้วย ถึงความกลัวด้วย ย่อมขับภิกษุบางรูป ย่อมไม่ขับภิกษุบางรูป เพราะอาบัติเช่นเดียวกัน
     ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายหาได้ถึงความพอใจไม่ หาได้ถึงความขัดเคืองไม่ หาได้ถึงความหลงไม่ หาได้ถึงความกลัวไม่ ท่านเองแลเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปจากอาวาสนี้ ท่านอย่าได้อยู่ในที่นี้ และภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องยันอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลาย พึงสวดสมนุภาสก่อนจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสก่อนจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละ เป็นสังฆาทิเสส”


อรรถาธิบาย
     - คำว่า อนึ่ง ภิกษุ...บ้านก็ดี นิคมก็ดี แห่งใดแห่งหนึ่ง ความว่า บ้านก็ดี นครก็ดี มีชื่อว่า บ้านและนิคม
     - บทว่า เข้าไปอาศัย...อยู่ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัชบริขาร เป็นปัจจัยของภิกษุไข้ เป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องอยู่ในที่นั้น
     - ที่ชื่อว่า สกุล หมายถึง สกุล ๔ คือ สกุลกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
     - บทว่า เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล คือ ประจบสกุลด้วยดอกไม้ก็ดี ผลไม้ก็ดี แป้งก็ดี ดินก็ดี ไม้สีฟันก็ดี ไม้ไผ่ก็ดี การแพทย์ก็ดี การสื่อสารก็ดี
     - บทว่า มีความประพฤติเลวทราม คือ ปลูกไม้ดอกเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง ใช้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยกรองดอกไม้เองบ้าง ให้ผู้อื่นร้อยกรองบ้าง
     - บทว่า เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย คือ ชนเหล่าใดอยู่เฉพาะหน้า ชนเหล่านั้นชื่อว่า ได้เห็นอยู่ ชนเหล่าใดอยู่ลับหลัง ชนเหล่านั้นชื่อว่าได้ยินอยู่ บทว่า และสกุลทั้งหลาย อันเธอประทุษร้ายแล้ว คือ ชนทั้งหลายเมื่อก่อนมีศรัทธาอาศัยภิกษุนั้นกลับเป็นคนไม่มีศรัทธา เมื่อก่อนเป็นคนเลื่อมใสอาศัยภิกษุนั้น กลับเป็นคนไม่เลื่อมใส
     - บทว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลรูปนั้น
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น อันอธิบายว่า ภิกษุพวกที่ได้เห็นได้ยินเหล่านั้น พึงกล่าวกับภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลรูปนั้นว่า ท่านแล เป็นผู้ประทุษร้ายสกุลมีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่านนั้น เขาได้เห็นอยู่แล้ว เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ และภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ พึงว่าภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายถึงความพอใจด้วย ถึงความขัดเคืองด้วย ถึงความหลงด้วย ถึงความกลัวด้วย ย่อมขับภิกษุบางรูป ย่อมไม่ขับภิกษุบางรูป เพราะอาบัติเช่นเดียวกัน
     - บทว่า อันภิกษุทั้งหลายได้แก่ ภิกษุเหล่าอื่น  อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดได้เห็น ภิกษุเหล่าใดได้ยิน ภิกษุเหล่านั้น พึงว่ากล่าวภิกษุผู้ทำกรรมรูปนั้นว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายหาได้ถึงความพอใจไม่ หาได้ถึงความขัดเคืองไม่ หาได้ถึงความหลงไม่ และหาได้ถึงความกลัวไม่ ท่านแลเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่านแลเขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม หากเธอสละเสียได้นั้นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุทั้งหลายได้ยินอยู่ไม่ว่ากล่าว ต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงคุมตัวสู่ท่ามกลางสงฆ์ แล้วพึงว่ากล่าวว่าท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น...หากเธอสละได้นั้นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย ต้องอาบัติทุกกฎ
     ภิกษุนั้นอันสงฆ์พึงสวดสมนุภาส...ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว ใส่ความภิกษุทั้งหลายว่า ลำเอียงด้วยพอใจ ลำเอียงด้วยความขัดเคือง ลำเอียงด้วยความหลง ลำเอียงด้วยความกลัว เธอยังไม่สละเรื่องนั้น ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสวดสมนุภาสภิกษุผู้มีชื่อนี้เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย นี้เป็นญัตติ
    ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ ถูกสงฆ์ทำปัพพาชนียกรรมแล้ว...เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง...
     ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
     ภิกษุผู้มีชื่อนี้อันสงฆ์สวดสมนุภาสแล้ว เพื่อให้สละเรื่องนั้นเสีย ชอบแก่สงฆ์เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้”

     - จบญัตติต้องทุกกฎ จบกรรมวาจาสองครั้งต้องถุลลัจจัย จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องสังฆาทิเสส
     เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อาบัติทุกกฎและถุลลัจจัยเป็นอันระงับ

อาบัติ
     ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๒. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ไม่สละ ต้องสังฆาทิเสส
     ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม  ต้องทุกกฎ
     ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
     ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     ภิกษุผู้ยังไม่ถูกสวดสมนุภาส ๑  ภิกษุสละเสียได้ ๑  วิกลจริต ๑  มีจิตฟุ้งซ่าน ๑  กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๖๓๐-๖๖๑     ๑. อาวาสของภิกษุเหล่านี้มีอยู่ เหตุนั้นภิกษุเหล่านี้จึงชื่อว่า อาวาสิกะ (เจ้าอาวาส), วิหาร ท่านเรียกว่า อาวาส วิหารนั้นเกี่ยวเนื่องแก่ภิกษุเหล่าใด โดยความเป็นผู้ดำเนินหน้าที่ มีการก่อสร้างสิ่งใหม่ๆ และการซ่อมของเก่า เป็นต้น ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่า อาวาสิกะ (เจ้าอาวาส), แต่ภิกษุเหล่าใด เพียงแต่อยู่ในวิหารอย่างเดียว ภิกษุเหล่านั้นท่านเรียกว่า เนวาสิกะ (เจ้าถิ่น) ภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะนี้ได้เป็นเจ้าอาวาส, เป็นพวกภิกษุลามก ไม่มีความละอาย เพราะว่าภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะเหล่านั้น เป็นภิกษุฉัพพัคคีย์ชั้นหัวหน้าแห่งภิกษุฉัพพัคคีย์ทั้งหลาย

“ประวัติของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์”
     ได้ยินว่า ชน ๖ คน ในกรุงสาวัตถี เป็นสหายกัน (ปัณฑุกะ ๑  โลหิตกะ ๑  เมตติยะ ๑  ภุมมชกะ ๑  อัสสชิ ๑  ปุนัพพสุกะ ๑  เมื่อบวชแล้วเรียกว่า ภิกษุฉัพพัคคีย์  แปลว่า มีพวก ๖) ปรึกษากันว่า การกสิกรรมเป็นต้น เป็นการงานที่ลำบาก เอาเถิดสหายทั้งหลาย พวกเราจะพากันบวช แล้วได้บวชในสำนักของพระอัครสาวกทั้งสอง พวกเธอมีพรรษาครบ ๕ พรรษา ท่องมาติกา (แม่บท เช่นตัวสิกขาบท เรียกว่าเป็นมาติกา) คล่องแล้ว ปรึกษากันว่า ธรรมดาว่า ชนบทบางคราวมีภิกษาสมบูรณ์ บางคราวก็มีภิกษาฝืดเคือง พวกเราอย่าอยู่ร่วมในที่แห่งเดียวกันเลย จงแยกกันอยู่ในที่ ๓ แห่ง
     ลำดับนั้น พวกเธอจึงกล่าวกะภิกษุชื่อ ปัณฑุกะและโลหิตกะว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ชื่อว่ากรุงสาวัตถี มีตระกูลห้าล้านเจ็ดแสนตระกูล เป็นปากทางแห่งความเจริญของแคว้นกาสีและโกศล ทั้งสองแคว้นกว้างประมาณ ๓๐๐ โยชน์ ประดับด้วยหมู่บ้าน ๘ หมื่นตำบล  พวกท่านจงให้สร้างสำนักในสถานที่ใกล้ๆ กรุงสาวัตถีนั่นแล แล้วปลูกมะม่วง ขนุน และมะพร้าว เป็นต้น สงเคราะห์ตระกูลด้วยดอกและผลไม้เหล่านั้น ให้พวกเด็กหนุ่มของตระกูลบวชแล้วขยายบริษัทให้เจริญเถิด
     แล้วกล่าวกะภิกษุชื่อว่าเมตติยะและภุมมชกะว่า ท่านผู้มีอายุ ชื่อว่ากรุงราชคฤห์มีพวกมนุษย์ ๑๘ โกฏิ อยู่ครอบครอง เป็นปากทางแห่งความเจริญของแคว้นอังคะและมคธทั้งสองกว้าง ๓๐๐ โยชน์ ประดับด้วยหมู่บ้าน ๘ หมื่นตำบล พวกท่านจงให้สร้างสำนักใกล้ๆ กรุงราชคฤห์ แล้วปลูกมะม่วง ขนุน และมะพร้าว เป็นต้น สงเคราะห์ด้วยตระกูลด้วยดอกและผลไม้เหล่านั้น ให้พวกเด็กหนุ่มของตระกูลบวชแล้วขยายบริษัทให้เจริญเถิด
     แล้วกล่าวกะภิกษุชื่อว่าอัสสชิและปุนัพพสุกะว่า ท่านผู้มีอายุ ขึ้นชื่อว่ากิฏาคีรีชนบท อันเมฆฝน ๒ ฤดู อำนวยแล้ว ย่อมได้ข้าวกล้า ๓ คราว พวกท่านจงให้สร้างสำนักในที่ใกล้ๆ กิฏาคีรีชนบทนั้น ปลูกมะม่วง ขนุน และมะพร้าว เป็นต้น ไว้สงเคราะห์ตระกูลด้วยดอกและผลไม้เหล่านั้น ให้พวกเด็กหนุ่มของตระกูลบวชแล้วขยายบริษัทให้เจริญเถิด
     พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น ได้กระทำอย่างนั้น บรรดาภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น แต่ละฝ่ายมีภิกษุเป็นบริวารฝ่ายละ ๕๐๐ รูป รวมเป็นจำนวนภิกษุ ๑,๕๐๐ รูปกว่า ด้วยประการฉะนั้น
     ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุชื่อ ปัณฑุกะและโลหิตกะ พร้อมทั้งบริวารเป็นผู้มีศีล เที่ยวไปยังชนบท เที่ยวจาริกร่วมเสด็จกับพระผู้มีพระภาคเจ้า พวกเธอไม่ก่อให้เกิดเรื่องใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำ แต่ชอบย่ำยีสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแล้ว ส่วนพระภิกษุฉัพพัคคีย์พวกนี้ทั้งหมดเป็นอลัชชี ย่อมก่อให้เกิดเรื่องใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำด้วย ย่อมพากันย่ำยีสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้วด้วย
     ๒. พวกภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะ ประพฤติอนาจารมีประการต่างๆ เช่น ลุกขึ้นดุจลอยตัวอยู่เพราะปีติ แล้วให้นางระบำผู้ชำนาญเต้นรำ ร่ายระบำ รำฟ้อน คือให้จังหวะร่ายรำ, แล้วร่ายรำไปข้างหน้าและข้างหลังหญิงฟ้อนนั้น, ย่อมขับร้องคลอไปตามการฟ้อนรำด้วย, เล่นหมากรุก เล่นหมากเก็บ, ทำวงเวียนมีเส้นต่างๆ ลงบนพื้นดินแล่นวกวนไปตามเส้นวกวนในวงเวียนนั้น (เล่นชิงนาง) เล่นกีฬาหมากไหวบ้าง อธิบายว่า ตัวหมากรุกและหินกรวด เป็นต้น ที่ทอดไว้รวมกัน เอาเล็บเขี่ยออกและเขี่ยเข้าไม่ให้ไหว ถ้าว่า ลูกสกา ตัวหมากรุก หรือหินกรวดเหล่านั้น บางอย่างไหว เป็นแพ้, เล่นเอาพู่กันจุ่มน้ำครั่ง น้ำฝาง หรือน้ำผสมแป้ง แล้วถามว่าจะเป็นรูปอะไร? จึงแต้มพู่กันนั้นลงที่พื้นหรือที่ฝาผนัง แสดงรูปช้างและรูปม้าเป็นต้น, เล่นเป่าหลอดใบไม้, เล่นหกคะเมนตีลังกา, เล่นกีฬาทายความคิดทางใจ, เล่นแสดงประกอบท่าทางของคนพิการ มีคนตาบอด คนกระจอก  และคนค่อมเป็นต้น ท่านเรียกว่า เล่นเลียนแบบคนพิการ, เล่นปล้ำกัน เป็นต้น
     ๓. ควรทราบลักษณะ ๕ อย่างเหล่านี้คือ อกัปปิยโวหาร ๑  กัปปิยโวหาร ๑  ปริยาย ๑  โอภาส ๑  นิมิตกรรม ๑
     - ที่ชื่อว่า อกัปปิยโวหาร ได้แก่ การตัดเอง การใช้ให้ตัดจำพวกของสดเขียว การขุดเอง การใช้ให้ขุดหลุม, การปลูกเอง, การใช้ให้ปลูกกอไม้ดอก, การก่อเอง การใช้ให้ก่อคันกั้น, การรดน้ำเอง การใช้ให้รดน้ำ เป็นต้น (คือ ทำเอง และใช้ให้ทำ ด้วยถ้อยคำตรงๆ)
     - ที่ชื่อว่า กัปปิยโวหาร ได้แก่ คำว่า จงรู้ต้นไม้นี้, จงรู้หลุมนี้, จงรู้กอไม้ดอกนี้, จงรู้น้ำในที่นี้
     - ที่ชื่อว่า ปริยาย (นัยอ้อม) ได้แก่ คำมีอาทิว่า บัณฑิตควรให้ปลูกต้นไม้ทั้งหลาย มีต้นไม้ดอก เป็นต้น จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อกาลไม่นานนัก
     - ที่ชื่อว่า โอภาส (การพูดหรือแสดงออกที่เป็นเชิงเปิดช่องทางหรือให้โอกาส) ได้แก่ การยืนถือจอบและเสียมเป็นต้น และกอไม้ดอกทั้งหลายอยู่ จริงอยู่ พวกสามเณรเป็นต้น เห็นพระเถระยืนอยู่อย่างนั้น ย่อมรู้ว่าพระเถระประสงค์จะใช้ให้ทำ แล้วจะมาทำให้
     - ที่ชื่อว่า นิมิตกรรม (ทำอาการ) ได้แก่ การนำจอบ เสียม มีด ขวาน และภาชนะ น้ำ มาวางไว้ในที่ใกล้ๆ
     ลักษณะทั้ง ๕ ประการนี้ ย่อมไม่ควรในการปลูก เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์ตระกูล, แต่หากเพื่อประโยชน์แก่การบริโภคผล กิจ ๒ อย่าง คือ อกัปปิยโวหารและกัปปยโวหาร เท่านั้นไม่ควร, กิจ ๓ อย่างนอกนี้ควรอยู่, แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า แม้กัปปิยโวหารก็ควร (เพื่อประโยชน์แก่การบริโภคผล)
     และการปลูกใด ย่อมควรเพื่อประโยชน์แก่การบริโภคของตน การปลูกนั้นก็ควรเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น แก่สงฆ์ หรือแก่เจดีย์ด้วย แต่การใช้ให้ปลูกเพื่อต้องการอาราม เพื่อต้องการป่า และเพื่อต้องการร่มเงา อกัปปิยโวหารอย่างเดียวย่อมไม่สมควร, ที่เหลือควรอยู่, และมิใช่จะควรแต่กิจที่เหลืออย่างเดียว ก็หามิได้ แม้การทำเหมืองให้ตรงก็ดี การรดน้ำที่เป็นกัปปิยะก็ดี การทำห้องอาบน้ำแล้วอาบเองก็ดี และการเทน้ำล้างมือ ล้างเท้า และล้างหน้า ลงในที่ปลูกต้นไม้นั้นก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง สมควรอยู่, แต่ในมหาปัจจรีและในกุรุนทีท่านกล่าวว่า แม้จะปลูกเองในกัปปิยะปฐพี ก็ควร ถึงแม้จะบริ
โภคผลไม้ที่ปลูกเอง หรือใช้ปลูกเพื่อประโยชน์แก่อารามเป็นต้น ก็ควร (ปลูกขายนำรายได้ดูแลบำรุงอาราม), ในการเก็บเอง และในเพราะการใช้ให้เก็บผลไม้ แม้ตามปกติก็เป็นปาจิตตีย์ แต่ในการเก็บและในการใช้ให้เก็บ เพื่อต้องการประทุษร้ายตระกูล เป็นปาจิตตีย์ด้วย เป็นทุกกฎด้วย ในเพราะการร้อยดอกไม้ มีการร้อยตรึงเป็นต้น มีพวงดอกไม้สำหรับประดับประดาเป็นที่สุด เป็นทุกกฎอย่างเดียวแก่ภิกษุผู้ทำเพื่อต้องการประทุษร้ายตระกูลหรือเพื่อประการอื่น
     ถามว่า เพราะเหตุไร?  ตอบว่า เพราะเป็นอนาจารและเพราะเป็นบาปสมาจาร (ความประพฤติเหลวไหล เลวทราม)
     - ไม่เป็นอาบัติในการปลูกต้นไม้เพื่อประโยชน์แก่อาราม และเพื่อการบูชาพระรัตนตรัย เพราะปลูกด้วยกัปปิยโวหารและอาการมีปริยาย เป็นต้น
     - เป็นอาบัติในการร้อยดอกไม้เป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่กุลสตรีเป็นต้น, แต่ไม่เป็นอาบัติหากว่ามีการร้อยเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่การบูชาพระพุทธเจ้าเป็นต้น
 


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 กรกฎาคม 2558 15:06:02
.
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๓ (ต่อ)
(พระวินัยข้อที่ ๑๗)
ภิกษุประทุษร้ายตระกูล สงฆ์ไล่เสียจากวัด กลับติเตียนสงฆ์
สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤติ ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส

    ๔. เป็นอาบัติปาจิตตีย์กับทุกกฎแก่ภิกษุผู้ปลูกกอไม้ดอกเองในอกัปปิยปฐพี เพื่อประโยชน์แก่การประทุษร้ายสกุล, ภิกษุใช้ให้ปลูกด้วยอกัปปิยโวหารก็เป็นอาบัติเหมือนกัน, ในการปลูกเองก็ดี ใช้ให้ปลูกก็ดีในกัปปิยปฐพี เป็นทุกกฎอย่างเดียว, ในปฐพีแม้ทั้งสอง ในเพราะใช้ให้ปลูกกอไม้ดอกแม้มาก ด้วยการสั่งครั้งเดียว เป็นปาจิตตีย์กับทุกกฎ หรือเป็นทุกกฎล้วนแก่ภิกษุผู้นั้นครั้งเดียวเท่านั้น
     ไม่เป็นอาบัติในเพราะใช้ให้ปลูกด้วยกัปปิยโวหาร ในพื้นที่ที่เป็นกัปปิยะ หรือพื้นที่ที่เป็นอกัปปิยะ เพื่อประโยชน์แก่การบริโภค, แม้ปลูกเพื่อประโยชน์แก่อารามเป็นต้นในอกัปปิยปฐพี ก็คงเป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ปลูกเอง หรือใช้ให้ปลูกด้วยถ้อยคำที่เป็นอกัปปิยะ
     - ในการรดเองและใช้ให้รด มีวินิจฉัยดังนี้, เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ แห่งด้วยน้ำที่เป็นอกัปปิยะ เพื่อประโยชน์แก่การประทุษร้ายตระกูลและการบริโภค แต่เพื่อประโยชน์แก่การทั้งสองนั้นเท่านั้น เป็นทุกกฎด้วยน้ำที่เป็นกัปปิยะ, ก็ในการประทุษร้ายตระกูลและการบริโภคนี้ เพื่อต้องการบริโภคไม่เป็นอาบัติในการใช้ให้รดน้ำด้วยกัปปิยโวหาร แต่ในฐานะแห่งอาบัติผู้ศึกษาพึงทราบความเป็นอาบัติมาก เพราะมีประโยคมากด้วยอำนาจสายน้ำขาด
     ในการเก็บเองเพื่อประโยชน์แก่การประทุษร้ายตระกูล เป็นทุกกฎกับปาจิตตีย์ตามจำนวนดอกไม้, ในการบูชาพระรัตนตรัยเป็นต้น เป็นปาจิตตีย์อย่างเดียว (พรากของเขียว), แต่ภิกษุผู้เก็บดอกไม้เป็นจำนวนมาก ด้วยประโยคอันเดียว พระวินัยธรพึงปรับด้วยอำนาจแห่งประโยคในการใช้ให้เก็บ เพื่อประโยชน์แก่การประทุษร้ายตระกูล คนที่ภิกษุใช้ครั้งเดียวเก็บแม้มากครั้ง ก็เป็นปาจิตตีย์กับทุกกฎแก่ภิกษุนั้นครั้งเดียวเท่านั้น, ในการเก็บเพื่อบูชาพระรัตนตรัยเป็นต้น เป็นปาจิตตีย์อย่างเดียว
     ๕. การลงปัพพาชนียกรรมนั้น สงฆ์พึงให้ทำโอกาสว่าพวกผมต้องการจะพูดกะพวกท่าน แล้วพึงโจทด้วยวัตถุและอาบัติ ครั้นโจทแล้วพึงให้ระลึกถึงอาบัติที่พวกเธอยังระลึกไม่ได้ ถ้าพวกเธอปฏิญญาวัตถุและอาบัติ หรือปฏิญญาเฉพาะอาบัติไม่ปฏิญญาวัตถุ พึงยกอาบัติขึ้นปรับ, ถ้าปริญญาเฉพาะวัตถุไม่ปฏิญญาอาบัติ ก็พึงยกอาบัติขึ้นปรับว่า เป็นอาบัติชื่อนี้ในเพราะวัตถุนี้, ถ้าพวกเธอไม่ปฏิญญาทั้งวัตถุ ไม่ปฏิญญาทั้งอาบัติ ไม่พึงยกอาบัติขึ้นปรับ
     - ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมแล้ว ไม่ควรอยู่ในวัดที่ตนเองอยู่ หรือในบ้านที่ตนประทุษร้าย, เมื่อจะอยู่ในวัดนั้น ไม่พึงเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านใกล้เคียง แม้จะอยู่ในวัดใกล้เคียงก็ไม่ควรเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านนั้น
     - ถามว่า สงฆ์ได้กระทำแก่พวกภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะอย่างไร?  ตอบว่า สงฆ์ไม่ได้ไปข่มขี่กระทำเลย โดยที่แท้ เมื่อพวกตระกูลอาราธนานิมนต์แล้ว กระทำภัตตาหารเพื่อสงฆ์, พระเถระทั้งหลายที่มาในที่นิมนต์นั้นจะแสดงข้อปฏิบัติของสมณะให้พวกมนุษย์เข้าใจว่า นี้เป็นสมณะ นี้ไม่ใช่สมณะ แล้วให้ภิกษุ ๑ รูป ๒ รูป เข้าสู่สีมาแล้ว ได้กระทำปัพพาชนียกรรมแก่พวกภิกษุนั้น โดยอุบายนี้แล
    ก็เมื่อภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงปัพพาชนียกรรมอย่างนี้แล้ว บำเพ็ญวัตร ๑๘ ประการ ให้บริบูรณ์ขออยู่กรรมอันสงฆ์พึงระงับ, และภิกษุผู้มีกรรมระงับแล้ว (สงฆ์รับเข้าหมู่อีกครั้งแล้ว) ตนทำกุลทูสกกรรมไว้ในตระกูลใดในครั้งก่อน ไม่ควรรับปัจจัยจากตระกูลเหล่านั้น แม้จะบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะแล้ว (เป็นพระอรหันต์) ก็ไม่ควรรับปัจจัยเหล่านั้น จัดเป็นของไม่สมควรแท้
     แม้ถูกทายกถามว่า ทำไมท่านจึงไม่รับ? ตอบว่า เพราะได้กระทำไว้อย่างนี้ เมื่อครั้งก่อนดังนี้ ถ้าพวกชาวบ้านกล่าวว่า พวกกระผมไม่ถวายด้วยเหตุอย่างนั้น ถวายเพราะท่านมีศีลในบัดนี้ต่างหาก ดังนี้ควรรับได้, กุลทูสกกรรมเป็นกรรมอันภิกษุผู้กระทำเฉพาะในสถานที่ให้ทานตามปกติ จะรับทานตามปกติจากสถานที่นั่นแล ควรอยู่, ทานที่ทายกถวายเพิ่มเติม ไม่ควรรับ
     ๖. พวกภิกษุอัสสชิและปุนัพพสุกะเหล่านั้น กลับไม่ยอมประพฤติชอบในวัตร ๑๘ ประการ หลังจากสงฆ์ลงปัพพาชียกรรมแล้ว, เป็นผู้ไม่หายเย่อหยิ่ง ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควร, ไม่กระทำให้ภิกษุทั้งหลายอดโทษอย่างนี้ว่า “พวกกระผมกระทำผิด ขอรับ พวกกระผมจะไม่กระทำเช่นนี้อีก ขอท่านทั้งหลายจงยกโทษแก่พวกผมเถิด,” ย่อมด่าการกสงฆ์ด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐, กล่าวสงฆ์ลำเอียงบ้าง, บรรดาสมณะ ๕๐๐ ซึ่งเป็นบริวารของพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะบางพวกหลีกไปสู่ทิศอื่น บางพวกก็สึกเป็นคฤหัสถ์, ท่านเรียกภิกษุแม้ทั้งหมดว่า อัสสชิและปุนัพพสุกะ เพราะภิกษุทั้งสองรูปนั้นเป็นหัวหน้า
     ๗. บ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ชื่อว่าคามและนิคม, บรรดาบ้านเป็นต้นนั้น หมู่บ้านที่ไม่มีกำแพงเป็นเครื่องล้อม มีร้านตลาด พึงทราบว่า “นิคม”
     ภิกษุใดประทุษร้ายซึ่งตระกูลทั้งหลาย เหตุนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า กุลทูสกะ, และเมื่อประทุษร้ายด้วยของเสีย มีของไม่สะอาดเป็นต้น โดยที่แท้ย่อมทำความเลื่อมใสของตระกูลทั้งหลายให้พินาศไปด้วยข้อปฏิบัติชั่วของตน
     ๘. ภิกษุใดนำไปให้เองก็ดี ให้นำไปให้ก็ดี เรียกมาให้ก็ดี ให้เรียกมาให้ก็ดี หรือว่าให้ดอกไม้ที่เป็นของตน อย่างใดอย่างหนึ่ง แก่บุคคลทั้งหลายที่เข้าไปหาเอง เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์ตระกูล ภิกษุนั้นต้องทุกกฎ, ให้ดอกไม้ของคนอื่นเป็นทุกกฏเหมือนกัน, ถ้าให้ด้วยไถยจิต พระวินัยธรพึงปรับตามราคาสิ่งของ, แม้ในของสงฆ์ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน, ส่วนความแปลกมีดังนี้ เป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุผู้ให้ดอกไม้ที่เขากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ โดยถือว่าตนเป็นใหญ่ (ในอาวาส)
     ถามว่า ดอกไม้ควรให้แก่ใคร ไม่ควรให้แก่ใคร?  ตอบว่า เมื่อจะให้แก่มารดาบิดาก่อน นำไปให้เองก็ดี ให้นำไปให้ก็ดี เรียกมาให้เองก็ดี ให้เรียกมาให้ก็ดี ควรทั้งนั้น,  สำหรับญาติที่เหลือ ให้เรียกมาให้เท่านั้น จึงควร,  ก็แลการให้ดอกไม้นั้นเพื่อประโยชน์แก่การบูชาพระรัตนตรัย จึงควร, แต่จะให้ดอกไม้แก่ใคร, เพื่อประโยชน์แก่การประดับ หรือเพื่อประโยชน์แก่การบูชาศิวลึงค์เป็นต้น ไม่ควร, และเมื่อจะให้นำไปให้แก่มารดาบิดา ควรใช้สามเณรผู้เป็นญาติเท่านั้นให้นำไปให้, สามเณรผู้มิใช่ญาตินอกนั้น ถ้าปรารถนาจะนำไปเองเท่านั้น จึงควรให้นำไป, ภิกษุผู้แจกดอกไม้ที่ได้รับสมมติ จะให้ส่วนกึ่งหนึ่งแก่พวกสามเณรผู้มาถึงในเวลาแจก ก็ควร
     ในกุรุนทีกล่าวว่า ควรให้ครึ่งส่วนแก่คฤหัสถ์ที่มาถึง, ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ควรให้แต่น้อย, ภิกษุผู้ไม่ได้รับสมมติควรอปโลกน์ให้, พวกสามเณรผู้มีความเคารพในอาจารย์และอุปัชฌาย์ได้นำดอกไม้เป็นอันมากมากองไว้ พระเถระทั้งหลายให้แก่พวกสัทธิวาริกเป็นต้น หรือแก่พวกอุบาสกผู้มาถึงแต่เช้าตรู่ ด้วยกล่าวว่า เธอจงถือเอาดอกไม้นี้ ไม่จัดว่าเป็นการให้ดอกไม้, พวกภิกษุผู้ถือเอาไปด้วยคิดว่า พวกเราจักบูชาพระเจดีย์ก็ดี กำลังทำการบูชาก็ดี ให้แก่พวกคฤหัสถ์ผู้มาถึงในที่นั่น, เพื่อประโยชน์แก่การบูชาพระเจดีย์ แม้การให้นี้ก็ไม่จัดว่าเป็นการให้ดอกไม้, เมื่อเห็นพวกอุบาสกกำลังบูชาด้วยดอกรักเป็นต้น แล้วกล่าวว่าอุบาสกทั้งหลาย ดอกกรรณิการ์เป็นต้น ที่วัดมี พวกท่านจงไปเก็บดอกกรรณิการ์เป็นต้น มาบูชาเถิด ดังนี้ ก็ควร
     - แม้ผลไม้ที่เป็นของของตน จะให้แก่มารดาบิดาและพวกญาติที่เหลือย่อมควร โดยนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล แต่เมื่อภิกษุผู้ให้เพื่อประโยชน์การการสงเคราะห์ตระกูล พึงทราบว่าเป็นทุกกฎเป็นต้น ในเพราะผลไม้ของตน ของคนอื่น ของสงฆ์ และของที่เขากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ โดยนัยดังกล่าวแล้ว, เฉพาะผลไม้ที่เป็นของตน จะให้แก่พวกคนไข้ หรือแก่พวกอิสรชนผู้มาถึงซึ่งหมดเสบียงลง ก็ควร, แม้ภิกษุผู้แจกผลไม้ที่สงฆ์สมมติ จะให้กึ่งส่วนแก่พวกชาวบ้านผู้มาถึงในเวลาแจกผลไม้แก่สงฆ์ ก็ควร, ผู้ไม่ได้รับสมมติควรอปโลกน์ให้
     แม้ในสังฆาราม สงฆ์ก็ควรทำกติกาไว้ ด้วยการกำหนดผลไม้หรือด้วยการกำหนดต้นไม้ เมื่อพวกคนไข้ หรือพวกคนอื่นขอผลไม้ จากผลหรือจากต้นไม้ที่กำหนดไว้ พึงให้ผลไม้ ๔-๕ ผล หรือพึงแสดงต้นไม้ตามที่กำหนดไว้ว่า พวกเธอถือเอาจากต้นนี้ได้ แต่ไม่ควรพูดว่าผลไม้ที่ต้นนี้ดี พวกเธอจงถือเอาจากต้นนี้
     - ภิกษุให้จุรณสน หรือน้ำฝาดอย่างอื่นของตน เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์ตระกูล เป็นทุกกฎ แม้ในของของคนอื่นเป็นต้น ก็พึงทราบวินิจฉัยตามที่กล่าวแล้ว ส่วนความแปลกมีดังนี้ ในจุรณวิสัยนี้เปลือกไม้แม้ที่สงฆ์รักษาและสงวนไว้ ก็จัดเป็นครุภัณฑ์แท้
     - กรรม คือ การงานของทูต และการส่งข่าวของพวกคฤหัสถ์ ท่านเรียกว่า ชังฆเปสนียะ อันภิกษุไม่ควรกระทำ ด้วยว่าเมื่อภิกษุรับข่าวสาสน์ของพวกคฤหัสถ์แล้วเดินไป เป็นทุกกฎทุกๆ ย่างก้าว แม้เมื่อฉันโภชะที่อาศัยกรรมนับได้มาก็เป็นทุกกฎทุกๆ คำกลืน, แม้เมื่อไม่รับข่าวสาสน์แต่แรก ภายหลังตกลงใจว่า บัดนี้คือบ้านนั้น เอาละ เราจักแจ้งข่าวสาสน์นั้นแล้วแวะออกจากทาง ก็เป็นทุกกฎทุกๆ ย่างก้าว, เมื่อฉันโภชะที่บอกข่าวสาสน์ได้มา เป็นทุกกฎโดยนัยก่อนเหมือนกัน, แต่ภิกษุไม่รับข่าวสาสน์มา เมื่อถูกคฤหัสถ์ถามว่า ท่านขอรับ อันผู้มีชื่อนั้นในบ้านนี้ มีข่าวคราวเป็นอย่างไร? จะบอกก็ควร
     แต่จะส่งข่าวสาสน์ของพวกสหธรรมิก ๕ ของมารดาบิดา คนปัณฑุปลาส และไวยาวัจกรของตน ควรอยู่ และภิกษุจะส่งข่าวสาสน์ที่สมควร (อย่างเช่นที่อุบาสกในเรื่องนี้ฝากกราบทูลความประพฤติของพวกอัสสชิและปุนัพพสุกะ) ของพวกคฤหัสถ์ ควรอยู่ เพราะข่าวสาสน์ที่สมควรนี้ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นกรรม คือ การเดินข่าว, ก็แลปัจจัยก็เกิดขึ้นจากกุลทูสกรรม ๘ อย่างนี้ (มีการปลูกดอกไม้เป็นต้น) ย่อมไม่สมควรแก่สหธรรมิกทั้ง ๕ เป็นเช่นกับปัจจัยที่เกิดขึ้นจากอวดอุตริมนุสธรรมอันไม่เป็นจริง และการซื้อขายด้วยรูปิยะทีเดียว
    ๙. พึงเห็นความอย่างนี้ว่า เป็นทุกกฎอย่างเดียว เพราะกุลทูสกกรรม, แต่ภิกษุนั้นหลีกเลี่ยงกล่าวคำใดกะสงฆ์ว่า เป็นผู้มีความลำเอียงเพราะชอบพอกันเป็นต้น สงฆ์พึงกระทำสมนุภาสนกรรม เพื่อสละคืนซึ่งคำว่าเป็นผู้ลำเอียงเพราะชอบพอกันเป็นต้นนั้นเสีย
     ๑๐. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนปฐมสังฆเภทสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๑๐)
     ๑๑. สังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบทนี้ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ มีการต้องแต่แรก ๙ สิกขาบท เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ปฐมปัตติกะ (เช่น สิกขาบทที่ ๑ เป็นต้น) และชื่อว่า ยาวตติกะ ๔ สิกขาบท เพราะต้องในสมนุภาสนกรรมครั้งที่ ๓ (มีสิกขาบทที่ ๑๐ เป็นต้น)
     - เมื่อต้องอาบัติแล้ว รู้อยู่แต่ปกปิดไว้ ไม่บอกแก่เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้ สิ้นวันประมาณเท่านี้, ปิดเท่าใด ต้องอยู่ปริวาสสิ้นวันมีประมาณเท่านั้น, จากนั้นแล้วมาอยู่นัตสิ้น ๖ ราตรี เพื่อประโยชน์ เพื่อความยอมรับของภิกษุทั้งหลาย, ภิกษุประพฤติมานัตแล้ว ภิกษุสงฆ์อย่างต่ำ ๒๐ รูป (วีสติคณะ) อยู่ในสีมาใด พึงเรียกภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นเข้าหมู่ (อัพภาน) ในสีมานั้น ถ้าภิกษุสงฆ์หย่อน ๒๐ รูปแม้รูปหนึ่ง การเรียกเข้าหมู่นั้นไม่เป็นการเรียกเข้าหมู่แล้ว (ยังไม่เป็นการอัพภาน) และภิกษุเหล่านั้นควรถูกตำหนิ นี้เป็นสามีจิกรรมในกรรมนั้น


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
สารญฺจ สารโต ญตฺวา   อาสารญฺจ อสารโต
เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ   สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา ฯ ๑๒ ฯ  
ผู้ที่เข้าใจสิ่งที่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ  และสิ่งที่ไร้สาระว่าไร้สาระ
มีความคิดเห็นชอบ  ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ

Knowing the essential as the essential,
And the unessential as the unessential,
They who feed on right thoughts as such
Achieve the essential
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 สิงหาคม 2558 14:54:37
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/75421465105480__3586_3640_.gif)
อนิตย ๒ สิกขาบท
อนิยต ๒ นี้ ปรับโทษตามธรรม ๓ อย่าง ที่ผู้ควรเชื่อนำมาแสดงในท่ามกลางสงฆ์
คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ถ้าเป็นปาจิตตีย์ ก็แสดงอาบัติตกไปได้ ถ้าเป็นสังฆาทิเสส ก็ต้องอยู่ปริวาสกรรม จึงจะพ้นโทษได้
แต่ถ้าเป็นปาราชิกแล้ว ก็ขาดจากความเป็นภิกษุเลยทีเดียว


(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)
อนิยต สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๘)
ภิกษุนั่งในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง
คนที่เชื่อได้พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ อย่าง ภิกษุรับอย่างใด ปรับอย่างนั้น

    ครั้งนั้น พระอุทายีเข้าไปยังสกุลหนึ่ง ซึ่งสาวน้อยแห่งสกุลนั้นเป็นสตรีที่มารดาบิดายกให้แก่หนุ่มน้อยของสกุลหนึ่ง ท่านอุทายีถามหาสาวน้อยคนนั้นแล้ว เข้าไปหา สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังซึ่งพอจะทำการได้กับสาวน้อยนั้นหนึ่งต่อหนึ่ง เจรจากล่าวธรรมอยู่
     ขณะนั้น นางวิสาขามิคารมาตาไปสู่สกุลนั้นเพราะชาวบ้านเชิญนางไปร่วม เพราะถือว่าเป็นมงคล เพราะนางเป็นสตรีมีบุตรมาก มีนัดดามาก มีบุตรไม่มีโรค นัดดาไม่มีโรค (คนเช่นนี้) โลกสมมติว่าเป็นมิ่งมลคล นางได้แลเห็นพระอุทายีนั่งในที่ลับ จึงได้กล่าวว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า การที่พระคุณเจ้านั่งในที่ลับนี้ไม่เหมาะไม่ควร แม้พระคุณเจ้าจะไม่คิดอะไร แต่พวกชาวบ้านที่ไม่เลื่อมใส จะบอกให้เขาเชื่อ มิใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย แต่พระอุทายีหาสนใจไม่
     นางวิสาขากลับไปแล้วได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ เพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง ภิกษุรูปเดียว สำเร็จนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบัง พอจะทำการได้กับมาตุคามผู้เดียว อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้เห็นภิกษุกับมาตุคามนั้นแล้ว พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือด้วยปาราชิกก็ดี ด้วยสังฆาทิเสสก็ดี ด้วยปาจิตตีย์ก็ดี  ภิกษุปฏิญาณซึ่งการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยปาราชิกบ้าง ด้วยสังฆาทิเสสบ้าง ด้วยปาจิตตีย์บ้าง อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้นั้น กล่าวด้วยธรรมใด ภิกษุนั้นพึงถูกปรับด้วยธรรมนั้น ธรรมนี้ชื่อ อนิยต”

อรรถาธิบาย
     - ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ โดยที่สุดแม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น ไม่ต้องพูดถึงสตรีผู้ใหญ่
     - คำว่า รูปเดียว...ผู้เดียว ได้แก่ ภิกษุ๑ มาตุคาม๑
     - ที่ชื่อว่า ในที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตา๑ ที่ลับหู๑
     - ที่ลับตา ได้แก่ ที่ซึ่งเมื่อภิกษุหรือมาตุคามขยิบตา ยักคิ้ว หรือชูศีรษะ ไม่มีใครสามารถจะแลเห็นได้, ที่ลับหู ได้แก่ ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่พูดตามปกติได้ (ในสิกขาบทนี้มุ่งที่ลับตา)
     - อาสนะที่ชื่อว่า กำบัง คือ เป็นอาสนะที่เขากำบังด้วยฝา บานประตู เสื่อลำแพน ม่านบังต้นไม้ เสา หรือฉาง อย่างใดอย่างหนึ่ง
     - บทว่า พอจะทำการได้ คือ อาจเพื่อจะเสพเมถุนได้
     - คำว่า สำเร็จการนั่ง หมายความว่า เมื่อมาตุคามนั่งแล้ว ภิกษุนั่งใกล้หรือนอนใกล้ก็ดี เมื่อภิกษุนั่งแล้ว มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ก็ดี นั่งทั้งสองคนหรือนอนทั้งสองคนก็ดี
     - อุบาสิกาที่ชื่อว่า มีวาจาที่เชื่อได้ คือ เป็นสตรีผู้บรรลุผล ผู้ตรัสรู้ธรรม ผู้เข้าใจศาสนาดี
     - ที่ชื่อว่า อุบาสิกา ได้แก่ สตรีผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
     - บทว่า เห็น คือ พบ
     - อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้นั้น พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยปาราชิก หรือสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์
     - บทว่า อนิยต แปลว่า ไม่แน่นอน คือ  เป็นปาราชิกก็ได้ สังฆาทิเสสก็ได้ ปาจิตตีย์ก็ได้

อาบัติ
     ๑.หากอุบาสิกานั้นพูดขึ้นอย่างนี้ว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังเสพเมถุนธรรมในมาตุคาม ถ้าภิกษุนั้นปฏิญาณ (แสดงความยืนยัน, ให้การยอมรับ) การนั่งนั้นพึงปรับอาบัติ (ปาราชิก)
     ๒.อุบาสิกาพูดว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังเสพเมถุนธรรมในมาตุคาม ภิกษุกล่าวว่าข้าพเจ้านั่งจริง แต่ไม่ได้เสพเมถุนธรรม พึงปรับเพราะการนั่ง (นั่งในที่ลับเป็นปาจิตตีย์)
     ๓.อุบาสิกาพูดว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังเสพเมถุนธรรมในมาตุคาม ภิกษุกล่าวว่าข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้านอนต่างหาก พึงปรับเพราะการนอน (ปาจิตตีย์)
     ๔.หากอุบาสิกาพูดว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังเสพเมถุนธรรมในมาตุคาม ภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้ายืนอยู่ต่างหาก ไม่พึงปรับ (ปรับปาจิตตีย์ไม่ได้เพราะยืนอยู่ ดูปาจิตตีย์อเจลกวรรค ข้อ ๔)
     ๕.หากอุบาสิกาพูดว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านอน กำลังเสพเมถุนธรรมในมาตุคาม... มีคำอธิบายการปรับเช่นเดียวกับอิริยาบถนั่งข้อ ๑-๔ ที่กล่าวแล้ว
     ๖.หากอุบาสิกาพูดว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม ถ้าภิกษุปฏิญาณการนั่งนั้น พึงปรับตามอาบัติ (สังฆาทิเสส)
     ๗. ...ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม ภิกษุกล่าวว่าข้าพเจ้านั่งจริง แต่ไม่ได้ถึงความเคล้าคลึงด้วยกาย หรือข้าพเจ้านอนอยู่ต่างหาก พึงปรับเพราะการนั่ง, การนอน (ปาจิตตีย์)
     ๘. ...ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม ภิกษุกล่าวว่าข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้ายืนต่างหาก ไม่พึงปรับ
     ๙.ในอิริยาบถนอน ถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม ก็มีคำอธิบายเช่นเดียวกับอิริยาบถนั่งเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคามข้อที่ ๗-๘ ข้างต้น
    ๑๐. ...ดิฉันเห็นพระคุณเจ้ารูปเดียวนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังพอจะทำการได้กับมาตุคามผู้เดียว ถ้าภิกษุนั้นปฏิญาณการนั่งนั้น พึงปรับเพราะการนั่ง (ปาราชิก), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้านอนต่างหาก พึงปรับเพราะการนอน (ปาจิตตีย์), หากภิกษุกล่าวว่าข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้ายืนอยู่ต่างหาก ไม่พึงปรับ
    ๑๑. ...ดิฉันเห็นพระคุณเจ้ารูปเดียวนอนในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังพอจะทำการได้กับมาตุคามผู้เดียว พึงทราบการปรับ-ไม่ปรับ ดังข้อ ๑๐
    ๑๒.ภิกษุปฏิญาณการไป ปฏิญาณการนั่ง ปฏิญาณอาบัติ พึงปรับอาบัติ
    ๑๓.ภิกษุปฏิญาณการไป ไม่ปฏิญาณการนั่ง ปฏิญาณอาบัติ พึงปรับตามอาบัติ
    ๑๔.ภิกษุปฏิญาณการไป ปฏิญาณการนั่ง ไม่ปฏิญาณอาบัติ พึงปรับเพราะการนั่ง
    ๑๕.ภิกษุปฏิญาณการไป ไม่ปฏิญาณการนั่ง ไม่ปฏิญาณอาบัติ ไม่พึงปรับ
    ๑๖.ภิกษุไม่ปฏิญาณการไป ปฏิญาณการนั่ง ปฏิญาณอาบัติ พึงปรับตามอาบัติ
    ๑๗.ภิกษุไม่ปฏิญาณการไป ไม่ปฏิญาณการนั่ง ปฏิญาณอาบัติ พึงปรับตามอาบัติ
    ๑๘.ภิกษุไม่ปฏิญาณการไป ปฏิญาณการนั่ง ไม่ปฏิญาณอาบัติ พึงปรับเพราะการนั่ง
    ๑๙.ภิกษุไม่ปฏิญาณการไป ไม่ปฏิญาณการนั่ง ไม่ปฏิญาณอาบัติ ไม่พึงปรับ

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๑/๓/๖๗๓-๖๗๙
     ๑.นางวิสาขานั้นชื่อว่ามีบุตรมาก เพราะนางมีธิดาและบุตรมาก ได้ยินว่า นางมีบุตรชาย ๑๐ คน และบุตรหญิง ๑๐ คน,  ชื่อว่า มีนัดดามาก เพราะนางมีหลานมาก เพราะบุตรชายหญิงของนางมีบุตรธิดาคนละ ๒๐ คน นางจึงได้ชื่อว่า มีลูกและหลานเป็นบริวาร ๔๒๐ คน
       นางเป็นที่นับถือของชนเป็นอันมาก ถือว่านางเป็นอุดมมงคล มักจะเชิญนางไปในโอกาสต่างๆ มีอาวาหมงคลและวิวาหมงคลเป็นต้น,  เชิญนางไปรับประทานอาหารต่อจากภิกษุสงฆ์ และขอพรจากนางว่า เด็กแม้เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่มีโรค มีอายุยืน เหมือนกับท่านเถิด
     ๒.ในสิกขาบทนี้ คำว่า ที่ลับหู ไม่ได้มาในพระบาลีก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้นก็พึงทราบการกำหนดอาบัติด้วยที่ลับเตาเท่านั้น, หากว่ามีบุรุษรู้เดียงสานั่งอยู่ใกล้ประตูห้องซึ่งปิดบานประตูไว้ก็คุ้มอาบัติไม่ได้เลย แต่ถ้านั่งใกล้ประตูห้องที่ไม่ได้ปิดบานประตู คุ้มอาบัติได้, และใช่แต่ที่ใกล้ประตูอย่างเดียวหามิได้ แม้นั่งในโอกาส ภายใน ๑๒ ศอก ถ้าเป็นคนตาดี มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง เคลิ้มไปบ้าง ก็คุ้มอาบัติได้, คนตาบอด แม้ยืนอยู่ในที่ใกล้ ก็คุ้มอาบัติไม่ได้, ถึงคนตาดี นอนหลับเสีย ก็คุ้มอาบัติไม่ได้, ส่วนสตรีแม้ตั้ง ๑๐๐ คน ก็คุ้มอาบัติไม่ได้เลย
     ๓.อุบาสิกาที่มีวาจาเชื่อถือได้, อุบาสิกานั้น ชื่อว่า อาคตผลา เพราะว่า มีผลมาแล้ว คือ ผู้ได้โสดาปัตติผลแล้ว, ผู้ได้ตรัสรู้สัจจะ ๔ เข้าใจศาสนา คือ ไตรสิกขาก็ดี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้เข้าใจศาสนาดี
     ๔.กิเลสที่อาศัยเมถุนธรรม ตรัสเรียกว่า ความยินดีในการนั่งในที่ลับ ภิกษุใดใคร่จะไปยังสำนักแห่งมาตุคามด้วยความยินดีนั้น หยอดนัยน์ตาต้องทุกกฎ, นุ่งผ้านุ่ง คาดประคดเอว ห่มจีวร เป็นทุกกฎทุกๆ ประโยค
       เมื่อเดินไปเป็นทุกกฎทุกๆ ย่างก้าว เดินไปแล้วนั่งเป็นทุกกฎอย่างเดียว เมื่อมาตุคามมานั่งเป็นปาจิตตีย์ ถ้าหญิงนั้นผุดลุกผุดนั่งด้วยกรณียกิจบางอย่าง เป็นปาจิตตีย์ในการนั่งทุกๆ ครั้ง, ภิกษุมุ่งหมายไปหาหญิงใด ไม่พบหญิงนั้น หญิงอื่นมานั่ง เมื่อเกิดความยินดีก็เป็นปาจิตตีย์  ในมหาปัจจรีท่านกล่าวว่าเพราะมีจิตไม่บริสุทธิ์ตั้งแต่เวลามา เป็นอาบัติเหมือนกัน, ถ้าหญิงมามากคนด้วยกันเป็นปาจิตตีย์ตามจำนวนผู้หญิง ถ้าพวกผู้หญิงเหล่านั้นผุดลุกผุดนั่งบ่อยๆ เป็นปาจิตตีย์หลายตัวตามจำนวนกับกิริยาที่นั่ง
     แม้เมื่อภิกษุไม่ได้กำหนดไว้ ไปนั่งด้วยตั้งใจว่า เราจักสำเร็จความยินดีในที่ลับกับหญิงที่เราพบแล้วๆ ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบอาบัติหลายตัวตามจำนวนหญิงทั้งหลายผู้มาแล้ว และด้วยอำนาจการนั่งบ่อยครั้ง, ถ้าแม้นว่าภิกษุไปนั่งด้วยจิตบริสุทธิ์ แต่เกิดความยินดีในที่ลับกับหญิงผู้มานั่งทีหลัง ก็ไม่เป็นอาบัติ
     ๕.สิกขาบทมีสมุฏฐานเป็นต้น เป็นเช่นเดียวกับปฐมปาราชิกสิกขาบท


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
ปเร จ น วิชานนฺติ  มยเมตฺถ ยมามเส
เย จ ตตฺถ วิชานนฺติ   ตโต สมฺมนฺติ เมธคา ฯ ๖ ฯ  
คนทั่วไปมักนึกไม่ถึงว่า ตนกำลังพินาศ เพราะวิวาททุ่มเถียงกัน
ส่วนผู้รู้ความจริงเช่นนั้น ย่อมไม่ทะเลาะกันอีกต่อไป

Knowing the essential as the essential, And the unessential as the unessential,
They who feed on right thoughts as such Achieve the essential
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก


(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)
อนิยต สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๙)
ภิกษุนั่งในที่ลับหูกับหญิงสองต่อสอง
คนที่เชื่อได้พูดขึ้นด้วยธรรม ๒ อย่าง ภิกษุรับอย่างใด ปรับอย่างนั้น

    พระอุทายีดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามการสำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังพอจะทำการได้กับมาตุคามจึงสำเร็จการนั่งในที่ลับหูลับตากับสาวน้อยคนนั้นแล หนึ่งต่อหนึ่ง เจรจากล่าวธรรมอยู่
     นางวิสาขามิคารมาตาก็ได้ถูกเชิญมา และเห็นพระอุทายีนั่งในที่ลับ นางได้กล่าวเหมือนในสิกขาบทที่ ๑ นั่นแหละ ซึ่งพระอุทายีก็มิได้เชื่อฟังดุจเดิม...ทรงมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง สถานหาเป็นอาสนะกำบังไม่เลยทีเดียว หาเป็นที่พอจะทำการได้ไม่ แต่เป็นที่พอจะพูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบได้อยู่ และภิกษุใดรูปเดียวสำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามผู้เดียว ในอาสนะมีรูปอย่างนั้น อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อถือได้ เห็นภิกษุกับมาตุคามนั้นแล้วพูดขึ้นด้วยธรรม ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยสังฆาทิเสสก็ดี ด้วยปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุปฏิญาณซึ่งการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธรรม ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยสังฆาทิเสสบ้าง ด้วยปาจิตตีย์บ้าง อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกาผู้มีวาจาที่เชื่อได้นั้น กล่าวด้วยธรรมใด ภิกษุผู้นั้นพึงถูกปรับด้วยธรรมนั้น แม้ธรรมนี้ก็ชื่อ อนิยต”

อรรถาธิบาย
     - คำว่า อนึ่ง สถานหาเป็นอาสนะกำบังไม่เลยทีเดียว อธิบายว่า อาสนะเป็นที่เปิดเผย คือเป็นสถานที่มิได้กำบังด้วยฝา บานประตู เสื่อลำแพน เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง
     - บทว่า หาเป็นที่พอจะทำการได้ไม่ คือ ไม่อาจเสพเมถุนธรรมได้ แต่เป็นที่พอจะพูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบได้
     - ในอาสนะมีรูปอย่างนั้น คือ ในอาสนะที่เปิดเผยมิได้กำบังด้วยฝา เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ เป็นสตรีผู้รู้เดียงสา สามารถฟังถ้อยคำวาจาสุภาษิต ทุพภาษิต วาจาชั่วหยาบและสุภาพได้
     - ที่ชื่อว่า ในที่ลับ ในสิกขาบทนี้หมายเอาที่ลับหู
     - สำเร็จการนั่ง หมายความว่า เมื่อมาตุคามนั่งแล้ว ภิกษุนั่งใกล้หรือนอนใกล้ก็ดี เมื่อภิกษุนั่งแล้ว มาตุคามนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ก็ดี นั่งทั้งสองหรือนอนทั้งสองก็ดี
     - อุบาสิกาที่ชื่อว่ามีวาจาเชื่อถือได้ พึงทราบตามอนิยต สิกขาบทที่ ๑ พูดขึ้นด้วยธรรม ๒ คือ สังฆาทิเสสและปาจิตตีย์

อาบัติ
     ๑.หากอุบาสิกานั้นพูดขึ้นว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่ง กำลังถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม ถ้าภิกษุนั้นปฏิญาณการนั่ง พึงปรับตามอาบัติ (สังฆาทิเสส), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้านั่งจริงแต่มิได้เคล้าคลึงด้วยกาย พึงปรับเพราะการนั่ง (ปาจิตตีย์), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้านอนต่างหาก พึงปรับเพราะการนอน (ปาจิตตีย์), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้ายืนต่างหาก ไม่พึงปรับ
     ๒. ...ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านอน กำลังเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม มีอธิบายเหมือนข้อที่ ๑
     ๓. ...ดิฉันเห็นพระคุณเจ้าผู้นั่งอยู่ กำลังพูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบ ถ้าภิกษุปฏิญาณการนั่งนั้น พึงปรับตามอาบัติ (สังฆาทิเสส), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้านั่งจริง แต่ไม่ได้พูดเคาะด้วยวาจาชั่วหยาบ พึงปรับเพราะการนั่ง (ปาจิตตีย์), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้านอนอยู่ต่างหาก พึงปรับเพราะการนอน (ปาจิตตีย์), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้ายืนอยู่ต่างหาก ไม่พึงปรับ
     ๔. ...ดิฉันได้ยินพระคุณเจ้าผู้นอนอยู่ กำลังพูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบ มีอธิบายเหมือนข้อ ๓
     ๕. ..ดิฉันเห็นพระคุณเจ้ารูปเดียว นั่งในที่ลับกับมาตุคามผู้เดียว ถ้าภิกษุนั้นปฏิญาณการนั่งนั้น พึงปรับเพราะการนั่ง (ปาจิตตีย์), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้านอนอยู่ต่างหาก พึงปรับเพราะการนอน (ปาจิตตีย์), ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้ายืนอยู่ต่างหาก ไม่พึงปรับ
     ๖. การปรับด้วยการปฏิญาณการไป ปฏิญาณการนั่ง ปฏิญาณอาบัติ เป็นต้น พึงทราบตามอนิยต สิกขาบทที่ ๑ ที่แสดงแล้ว (ดู อนิยตสิกขาบทที่ ๑ ข้อ ๑๒-๑๙)

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ ๑/๓/๖๙๐-๖๙๒
     ๑.สถานที่ล้อมในภายนอก ภายในเปิดเผย มีบริเวณสนามเป็นต้น ก็พึงทราบว่ารวมเข้าในภายใน (นับเนื่องในสถานที่ไม่กำบัง), คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยแห่งสิกขาบทที่ ๑ นั้นแล
       ก็ในสิกขาบทนี้มีความแปลกกันเพียงอย่างเดียวว่า คนรู้เดียงสาผู้หนึ่งผู้ใด เป็นผู้หญิงก็ตาม ชายก็ตาม ไม่เป็นคนตาบอดและหูหนวก ยืนหรือนั่งอยู่ในโอกาสภายใน ๑๒ ศอก มีจิตฟุ้งซ่านไปบ้าง เคลิ้มบ้าง ก็คุ้มอาบัติได้, ส่วนคนหูหนวก แม้มีตาดี หรือคนตาบอด แม้หูไม่หนวก ก็คุ้มไม่ได้ และพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลดอาบัติปาราชิกลงมาปรับอาบัติเพราะวาจาชั่วหยาบ, คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับสิกขาบทก่อน, และในสิกขาบททั้งสอง ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุบ้า และภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ
     ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดทางกายกับจิต ๑  วาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
สุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ  อินฺทฺริเยสุ อสํวุตํ
โภชนมฺหิ อมตฺตญฺญู  กุสีตํ หีนวีริยํ
ตํ เว ปสหตี มาโร วาโต รุกฺขํว ทุพฺพลํ ฯ ๗ ฯ  
มารย่อมสามารถทำลายบุคคล ผู้ตกเป็นทาสของความสวยงาม
ไม่ควบคุมการแสดงออก ไม่รู้ประมาณในโภชนาหาร
เกียจคร้านและอ่อนแอ เหมือนลมแรงพัดโค่นต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง

As the wind overthrows a weak tree, So does Mara overpower him
Who lives attached to sense pleasures Who lives with his senses uncontrolled,
Who knows not moderation in his food, And who is indolent and inactive.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 พฤศจิกายน 2558 16:52:22
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/76939434433976__ko1.gif)
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ มี ๓ วรรค วรรคละ ๑๐ สิกขาบท ว่าด้วย
วรรคที่ ๑ จีวรวรรค   วรรคที่ ๒ โกสิยวรรค  วรรคที่ ๓ ปัตตวรรค
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ เป็นอาบัติปาจิตตีย์อันทำให้ต้องสละสิ่งของ
ภิกษุใดซึ่งต้องอาบัติประเภทนี้ จะต้องสละสิ่งของที่ทำให้ต้องอาบัติก่อน
จึงจะปลงอาบัติตก


นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๒๐)
ภิกษุเก็บจีวรที่ไม่ได้ทำเป็นสองเจ้าไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน
ถ้าเกินกว่ากำหนดนั้น ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไตรจีวรแล้ว จึงครองไตรจีวรเข้าบ้านสำรับหนึ่ง อยู่ในอารามอีกสำรับหนึ่ง สรงน้ำอีกสำรับหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษติเตียนว่า ใช้จีวรเกินหนึ่งสำรับ แล้วกราบทูล...ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดทรงอดิเรกจีวร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
     สมัยต่อมา อดิเรกจีวรเกิดแก่พระอานนท์ ท่านต้องการจะถวายแก่พระสารีบุตร แต่พระสารีบุตรอยู่ถึงเมืองสาเกต ท่านจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า...ตรัสถามว่า อีกนานเท่าไร พระสารีบุตรจึงจักกลับมา พระอานนท์ทูลว่าจักกลับมาในวันที่ ๙ หรือวันที่ ๑๐ พระพุทธเจ้าข้า แล้วทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
     “จีวรสำเร็จแล้ว กฐินอันภิกษุเดาะเสียแล้ว พึงทรงอดิเรกจีวรได้ ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
     -บทว่า จีวรสำเร็จแล้ว ความว่า จีวรของภิกษุทำสำเร็จแล้วก็ดี หายเสียก็ดี ฉิบหายเสียก็ดี ถูกไฟไหม้เสียก็ดี หมดหวังว่าจะได้ทำจีวรก็ดี
     -คำว่า กฐินอันภิกษุเดาะเสียแล้ว คือ เดาะเสียแล้วด้วยมาติกาอันใดอันหนึ่งในมาติกา ๘ อันสงฆ์เดาะเสียในระหว่าง
     -บทว่า ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง คือ ทรงไว้ได้ ๑๐วันเป็นอย่างมาก
     -ที่ชื่อว่า อดิเรกจีวร ได้แก่ จีวรที่ยังไม่ได้อธิษฐาน ยังไม่ได้วิกัป
     -ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ ผ้า ๖ ชนิด ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเข้าองค์กำหนดแห่งผ้าวิกัปเป็นอย่างต่ำ จีวร ๖ ชนิด ได้แก่ ผ้าที่ทอด้วยเปลือกไม้, ผ้าฝ้าย, ผ้าไหม, ผ้าขนสัตว์ (ยกเว้นผมมนุษย์), ผ้าป่าน, ผ้าผสมกันด้วยของ ๕ อย่างข้างต้น
     -คำว่า ให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคีย์ คือ เมื่ออรุณที่ ๑๑ ขึ้นมา จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีสละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรที่เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้...เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ ( ๒-๓ รูป)
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือกล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
     “ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อว่า...เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่บุคคล
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งประนมมือกล่าวว่า “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับสละนั้น พึงรับอาบัติแล้วพึงคืนจีวรที่เสียสละให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้
     สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ ไม่ให้คืนจีวรที่ภิกษุเสียสละ ภิกษุทั้งหลายต่างพากันติเตียนแล้วกราบทูล ทรงติเตียน แล้วรับสั่งว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จีวรที่ภิกษุเสียสละแล้ว สงฆ์ คณะ หรือบุคคล จะไม่คืนให้ไม่ได้ ภิกษุใดไม่คืนให้ ต้องอาบัติทุกกฎ”

อาบัติ
     ๑.จีวรล่วง ๑๐ วันแล้ว ภิกษุรู้ว่าล่วงแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๒.จีวรล่วงแล้ว ๑๐ วัน ภิกษุสงสัย เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๓.จีวรล่วง ๑๐ วันแล้ว ภิกษุเข้าใจว่ายังไม่ล่วง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๔.จีวรยังไม่ได้อธิษฐาน ภิกษุเข้าใจว่าอธิษฐานแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๕.จีวรยังไม่ได้วิกัป ภิกษุเข้าใจว่าวิกัปแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๖.จีวรยังไม่ได้สละ ภิกษุเข้าใจว่าสละแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๗.จีวรยังไม่หาย ภิกษุคิดว่าหายแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๘.จีวรยังไม่ฉิบหาย ภิกษุเข้าใจว่าฉิบหายแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๙.จีวรยังไม่ถูกไฟไหม้ ภิกษุคิดว่าถูกไฟไหม้แล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
    ๑๐.จีวรยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุคิดว่าถูกชิงไปแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
    ๑๑.จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุยังไม่ได้เสียสละ บริโภค (นุ่งห่มเป็นต้น) ต้องทุกกฎ
    ๑๒.จีวรยังไม่ล่วง ๑๐ วัน ภิกษุเข้าใจว่าล่วงแล้ว บริโภค ต้องทุกกฎ
    ๑๓. จีวรยังไม่ล่วง ๑๐ วัน ภิกษุสงสัย บริโภค ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     จีวรยังไม่ล่วง ๑๐ วัน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ล่วง บริโภค ไม่ต้องอาบัติ ๑  ในภายใน ๑๐ วัน ภิกษุอธิษฐาน ๑  ภิกษุวิกัปไว้ ๑  ภิกษุสละให้ไป ๑  จีวรหาย ๑  จีวรฉิบหาย ๑  จีวรถูกไฟไหม้ ๑  โจรชิงเอาไป ๑  ภิกษุถือวิสาสะ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนตฺปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๗๐๒-๗๒๙
     ๑.พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต จีวร ๓ ผืน คือ อันตรวาสก ๑  อุตราสงค์ ๑  สังฆาฏิ ๑ ไว้ในเรื่องหมอชีวกโกมารภัทท์ในจีวรขันธกะ
     -พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ครองไตรจีวรเข้าบ้านสำรับหนึ่ง ต่างหากจากสำรับที่ใช้ครองอยู่ในวัด และสำรับที่ใช้ครองสรงน้ำ ใช้จีวรวันละ ๙ ผืน ทุกวัน ด้วยอาการอย่างนี้
     ๒.ได้ยินว่า ท่านพระอานนท์นับถือท่านพระสารีบุตร โดยนับถือความมีคุณของท่านว่า เว้นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว บุคคลอื่นที่มีคุณวิเศษเห็นปานนี้ ไม่มีเลย เมื่อท่านได้จีวรที่ชอบใจมา จึงซักแล้วกระทำพินทุกัปปะแล้ว ถวายแก่พระสารีบุตรทุกคราว, ในเวลาก่อนฉันได้ยาคูและของเคี้ยวหรือบิณฑบาตอันประณีตแล้ว ย่อมถวายแก่พระเถระเหมือนกัน, ในเวลาหลังฉัน แม้ได้เภสัช มีน้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น ก็ถวายแก่พระเถระนั่นเอง, เมื่อพาเด็กทั้งหลายออกจากตระกูลอุปัฏฐากก็ให้บรรพชา ให้ถืออุปัชฌายะในสำนักพระเถระแล้ว กระทำอนุสาวนากรรมเอง, ฝ่ายท่านพระสารีบุตรนับถือพระอานนท์เหลือเกิน ด้วยทำในใจว่า ธรรมดาว่ากิจที่บุตรจะพึงกระทำแก่บิดา เป็นภาระของบุตรคนโต  เพราะฉะนั้น กิจใจที่เราจะพึงกระทำแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า กิจนั้นทั้งหมดพระอานนท์กระทำอยู่ เราอาศัยพระอานนท์ จึงได้เพื่อเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย แม้พระเถระได้จีวรที่ชอบใจแล้ว ก็ถวายแก่พระอานนท์เหมือนกันเป็นต้น พระอานนท์นับถือมากเช่นนี้ จึงเป็นผู้มีความประสงค์จะถวายจีวรนั้นแม้ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้แก่ท่านพระสารีบุตร
     ๓.ท่านพระอานนท์ทราบการมาของพระสารีบุตรได้ ก็เพราะได้ยินว่า พระสารีบุตรเถระเมื่อจะหลีกจาริกไปในชนบท มักบอกลาพระอานนท์เถระแล้วจึงหลีกไปว่า ผมจักมาโดยกาลเช่นนี้ ประมาณเท่านี้ ในระหว่างนี้ท่านอย่าละเลยพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้, ถ้าแม้นว่าท่านไม่บอกลาในที่ต่อหน้า ก็ต้องส่งภิกษุไปบอกลาก่อนจึงไป, ถ้าว่าท่านอยู่จำพรรษาในอาวาสอื่น และภิกษุเหล่าใดมาก่อน ท่านก็สั่งภิกษุเหล่านี้ว่า พวกท่านจงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา และจงเรียนถามถึงความไม่มีโรคของพระอานนท์ แล้วบอกว่า เราจักมาในวันโน้น และพระเถระย่อมมาในวันที่ท่านกำหนดไว้แล้วเสมอๆ
     อีกอย่างหนึ่ง ท่านพระอานนท์ย่อมทราบได้ด้วยการอนุมานบ้าง ย่อมทราบได้โดยนัยว่าท่านพระสารีบุตรเมื่อทนอดกลั้นความวิโยค (พลัดพราก) จากพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่สิ้นวันมีประมาณเท่านี้ บัดนี้นับแต่นี้ไป จักไม่เลยวันชื่อโน้น ท่านจักมาแน่นอน, เพราะชนทั้งหลายผู้ซึ่งมีปัญญามาก ย่อมมีความรักและความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้ามาก, พระเถระย่อมทราบได้ด้วยเหตุหลายอย่างด้วยประการเหล่านี้ เพราะเหตุนั้นท่านจึงกราบทูลว่า จักมาในวันที่ ๙ หรือวันที่ ๑๐ พระพุทธเจ้าข้า
     เมื่อพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว เพราะสิกขาบทมีโทษทางพระบัญญัติ มิใช่โทษทางโลก เพราะเหตุนั้นเมื่อจะทรงทำวันที่ท่านพระอานนท์กราบทูลนั้นให้เป็นกำหนด จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทรงอดิเรกจีวรไว้ ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง ดังนี้, ถ้าหากว่า พระเถระนี้จะพึงทูลแสดงขึ้นกึ่งเดือนหรือเดือนหนึ่ง แม้กึ่งเดือน หรือเดือนหนึ่งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จะพึงทรงอนุญาต
     ๔.บทว่า นิฏฺฐิตวีวรสฺมึ ได้แก่ เมื่อจีวรสำเร็จแล้ว โดยการสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่งถึงเพราะจีวรนี้ ย่อมเป็นอันสำเร็จแล้วด้วยการกระทำบ้าง ด้วยเหตุมีการเสียหายเป็นต้นบ้าง
     -กรรมมีสูจิกรรมเป็นที่สุด ได้แก่ การทำกรรมที่ควรทำด้วยเข็มอย่างใดอย่างหนึ่ง มีการติดรังดุมและลูกดุมเป็นที่สุด แล้วเก็บเข็มไว้ (ในกล่องเข็ม)
     -จีวรถูกพวกโจรเป็นต้นลักเอาไป ท่านเรียกว่า สำเร็จแล้ว ก็เพราะความกังวลด้วยการกระทำนั่นเองสำเร็จลงแล้ว (ไม่มีกิจต้องทำอีก)
     -หมดความหวังในจีวรซึ่งบังเกิดขึ้นว่า เราจักได้จีวรในตระกูลชื่อโน้นก็ดี อันที่จริงควรทราบด้วยความที่จีวรแม้เหล่านี้สำเร็จแล้ว เพราะความกังวลด้วยการกระทำนั่นแลสำเร็จลงแล้ว
     -สองบทว่า อพฺภตสฺมํ กฐิเน คือ (เมื่อจีวรสำเร็จแล้ว) และเมื่อกฐินเดาะเสียแล้ว, ด้วยบทว่า อุพฺภตสฺมึ กฐิเน นี้ ทรงแสดงความไม่มีแห่งปลิโพธิที่ ๒, ก็กฐินนั้นอันภิกษุทั้งหลายย่อมเดาะด้วยมาติกาอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดามาติกา (หัวข้อแห่งการเดาะกฐิน) ๘ หรือด้วยการเดาะในระหว่าง
     -วินยฺ มหา.ข้อ ๙๙ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาติกาเพื่อเดาะกฐิน ๘ ข้อนี้ คือกำหนดด้วยหลีกไป ๑ กำหนดด้วยจีวรทำเสร็จ ๑ กำหนดด้วยตกลงใจ ๑ กำหนดด้วยผ้าเสียหาย ๑ กำหนดด้วยได้ยินข่าว ๑ กำหนดด้วยสิ้นหวัง ๑ กำหนดด้วยล่วงเขต ๑ กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน ๑
     ๕.จีวรที่ชื่อว่า อดิเรก เพราะไม่นับเข้าในจำพวกจีวรที่อธิษฐานและวิกัปไว้
     -จีวร ๖ ชนิด มีจีวรที่เกิดจากผ้าเปลือกไม้ เป็นต้น เพื่อจะทรงแสดงขนาดแห่งจีวร จึงตรัสว่า จีวรอย่างต่ำควรจะวิกัปได้ขนาดแห่งจีวรนั้น ด้านยาว ๒ คืบ ด้านกว้างคืบหนึ่ง ในขนาดแห่งจีวรนั้น มีพระบาลีดังนี้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปจีวรอย่างต่ำ ด้านยาว ๘ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว โดยนิ้วพระสุคต”
     -เมื่อภิกษุยังจีวรมีกำเนิดและประมาณตามที่กล่าวแล้วนั้น ให้ล่วงกาลมี ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง คือ เมื่อไม่ทำโดยวิธีที่จะไม่เป็นอดิเรกจีวรเสียในระหว่างกาลมี ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่งนี้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์  อธิบายว่า จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ด้วย เป็นอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง การเสียสละชื่อว่านิสสัคคีย์  คำว่า นิสสัคคีย์ เป็นชื่อของวินัยกรรมอันภิกษุพึงกระทำในกาลเป็นส่วนเบื้องต้น, การเสียสละมีอยู่แก่ธรรมชาติใด เหตุนั้นธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า นิสสัคคีย์,  นิสสัคคีย์นั้นคืออะไร? คือปาจิตตีย์ “เป็นปาจิตตีย์ มีการเสียสละเป็นวินัยกรรม แก่ภิกษุผู้ให้ล่วงกาลนั้นไป”
     ๖.อธิบายวิธีเสียสละและวิธีแสดงอาบัติ
     พึงแสดงเหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในขันธกะ ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ กระทำอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าภิกษุผู้แก่ทั้งหลายแล้ว นั่งกระโหย่ง ประนมมือ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อหํ ภนฺเต อิตฺถนฺนามํ อาปตฺตึ อาปนฺโน ตํ ปฏิเทเสมิ (ท่านเจ้าข้า กระผมต้องอาบัติมีชื่ออย่างนี้ ขอแสดงคืนอาบัตินั้น)
     ถ้าจีวรมีผืนเดียว พึงกล่าวว่า เอกํ นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ...(ต้องแล้ว)  ซึ่งนิสสัคคิยปาจิตตีย์ตัวหนึ่ง ถ้าจีวร ๒ ผืน พึงกล่าวว่า เทฺว...ซึ่งอาบัติ ๒ ตัว, ถ้าจีวรมากผืนพึงกล่าวว่า สมฺพหุลา...ซึ่งอาบัติหลายตัว
     แม้ในการเสียสละ ถ้าว่าจีวรมีผืนเดียว พึงกล่าวตามสมควรแก่บาลีนั่นแลว่า อิทํ เม ภนฺเต จีวรํ ท่านเจ้าขา จีวรของกระผมผืนนี้ เป็นต้น, ถ้าหากว่าจีวร ๒ ผืนหรือมากผืน พึงกล่าวว่า อิมานิ เม ภนฺเต จีวรานิ ทสาหาติกฺกนฺตานิ นิสฺสคฺคิยานิ อิมานาหํ สงฺฆสฺส นิสฺสชฺชามิ (ท่านเจ้าข้า จีวรของกระผมเหล่านี้ ล่วง ๑๐ วัน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมเสียสละจีวรเหล่านี้แก่สงฆ์, เมื่อไม่สามารถจะกล่าวบาลีได้ พึงกล่าวโดยภาษาอื่นก็ได้, ภิกษุพึงรับอาบัติโดยนัยดังกล่าวไว้ในขันธกะนั่นแลว่า ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงเผดียงสงฆ์ว่า ท่านเจ้าขา ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้ ระลึกได้ เปิดเผย กระทำให้ตื้น ย่อมแสดงซึ่งอาบัติ ถ้าความพรั่งพร้อมแห่งสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงรับอาบัติของภิกษุมีชื่ออย่างนี้ ดังนี้
     ภิกษุผู้แสดง  อันภิกษุรับอาบัตินั้น พึงกล่าวว่า ปสฺสสิ (เธอเห็นหรือ)
     ผู้แสดง  อาม ปสฺสามิ (ขอรับ ผมเห็น)
     ผู้รับ  อายตึ สํวเรยฺยาสิ (เธอพึงสำรวมต่อไป)    
     ผู้แสดง  สาธุ สุฏฺฐุ สํวริสฺสามิ (ดีละ ผมจะสำรวมให้ดี)
     -ก็ในอาบัติ ๒ ตัว หรือหลายตัวด้วยกัน ผู้ศึกษาพึงทราบความต่างแห่งวจนะโดยนัยก่อนนั่นแล แม้ในการให้จีวรคืน ก็พึงทราบความแตกต่างแห่งวจนะด้วยอำนาจแห่งจำนวน คือ สงฺโฆ อิมํ จีวรํ อิมานิ จีวรานิ...สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้...พึงให้จีวรทั้งหลายเหล่านี้...ถึงในการเสียสละแก่คณะและแก่บุคคลก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน
     -ในการแสดงและการรับอาบัติ (แก่คณะ) มีบาลีดังต่อไปนี้, เตน ภิกฺขเว ภิกฺขุนา ฯเปฯ เอวมสฺสุ วจนียา อหํ ภนฺเต อิตฺถนฺนามํ อาปาตฺตึ อาปนฺโน ตํ ปฏิเทเสมิ  แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุมากรูป กระทำผ้าอุตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าทั้งหลายแห่งภิกษุแก่ทั้งหลาย แล้วนั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้ ขอแสดงคืนซึ่งอาบัตินั้น
     อันภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถ พึงเผดียงสงฆ์ให้ทราบว่า สุณาตุ เม ภนฺเต อายสฺมนฺตา อยํ อิตฺถนฺนาโม ภิกฺขุ อาปตฺตึ สรติ วิวรติ อุตฺตานี กโรติ เทเสติ ยทายสฺมนฺตานํ ปตฺตกลฺลํ อหํ อิตฺถนฺนามสฺส ภิกฺขุโน อาปตฺตึ ปฏิคฺคณฺเหยฺยํ แปลว่า ท่านเจ้าข้า! ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่ออย่างนี้ รูปนี้ ย่อมระลึก ย่อมเปิดเผย ย่อมกระทำให้ตื้น ย่อมแสดงอาบัติ ถ้าว่าความพรั่งพร้อมแห่งท่านผู้มีอายุทั้งหลายถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงรับอาบัติของภิกษุชื่อนี้
     ภิกษุผู้แสดง  อันภิกษุผู้รับอาบัตินั้น พึงกล่าวว่า ปสฺสสิ (ท่านเห็นหรือ)
     ผู้แสดง  อาม ปสฺสามิ (ขอรับ ผมเห็น)  
     ผู้รับ  อายตึ สํวเรยฺยาสิ (ท่านพึงสำรวมระวังต่อไป)
     -ภิกษุ (ผู้ต้องเสียสละ) พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง (บุคคล) ทำอุตราสงค์เฉวียงบ่า แล้วนั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโส ข้าพเจ้าต้องอาบัติมีชื่ออย่างนี้แล้ว จะแสดงคืนอาบัติภิกษุผู้แสดง อันภิกษุผู้รับอาบัตินั้นพึงกล่าวว่า ปสฺสสิ (ท่านเห็นหรือ)
     ผู้แสดง  อาม ปสฺสามิ (ขอรับ ผมเห็น)
     ผู้รับ  อายตึ สํวเรยฺยาสิ (ท่านพึงสำรวมระวังต่อไป)
     -ในการแสดงและรับอาบัติ พึงทราบการระบุชื่ออาบัติและความต่างแห่งวจนะ โดยนัยก่อนนั่นแหละ และพึงทราบบาลีแม้ในการสละแก่ภิกษุ ๒ รูป เหมือนการสละแก่คณะฉะนั้น เพราะถ้าจะมีความแปลกกัน, พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จะพึงตรัสบาลีไว้แผนกหนึ่ง เหมือนอย่างที่พระองค์ตรัสปาริสุทธิอุโบสถแก่ภิกษุ ๓ รูป โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๓ รูป ทำปาริสุทธิอุโบสถ ภิกษุทั้งหลายก็แลภิกษุเหล่านั้น พึงทำอุโบสถเหล่านั้นอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงเผดียงให้ภิกษุเหล่านั้นทราบ แล้วตรัสปาริสุทธิอุโบสถแก่ภิกษุ ๒ รูปอีกแผนกหนึ่งต่างหาก โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๒ รูป ทำปาริสุทธิอุโบสถ ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุเหล่านั้นพึงทำอุโบสถนั้นอย่างนี้ ภิกษุเถระพึงทำอุตราสงค์เฉวียงบ่า ดังนี้  ฉะนั้น ก็เพราะไม่มีความแปลกกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมิได้ตรัสไว้ เพราะฉะนั้นบาลีในการสละแก่ภิกษุ ๒ รูปนี้ เป็นบาลีที่ตรัสไว้แก่คณะเหมือนกัน
     -ส่วนในการรับอาบัติมีความแปลกกัน ดังนี้ บรรดาภิกษุ ๒ รูป ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง อย่าตั้งญัตติเหมือนภิกษุผู้รับอาบัติตั้งญัตติ ในเมื่อภิกษุผู้ต้องอาบัติสละแก่คณะแล้วแสดงอาบัติ พึงรับอาบัติเหมือนบุคคลคนเดียวรับฉะนั้น, แท้จริง ชื่อว่าการตั้งญัตติสำหรับภิกษุ ๒ รูป ย่อมไม่มี, ก็ถ้าหากจะพึงมีจะไม่พึงตรัสปาริสุทธิอุโบสถไว้แผนกหนึ่ง
     สำหรับภิกษุ ๒ รูป แม้ในการให้จีวรที่เสียสละแล้วคืน จะกล่าวว่า อิมํ จีวรํ อายสฺมโต เทม พวกเราให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน, เหมือนภิกษุรูปเดียวกล่าวว่า อิมํ จีวรํ อายสฺมโต ทมฺมิ ผมให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้ก็ควร, จริงอยู่ แม้ญัตติทุติยกรรมซึ่งหนักกว่านี้ ตรัสว่า ควรอปโลกน์ทำก็มี, วินัยกรรมมีการสละนี้สมควรแก่ญัตติทุติยกรรมเหล่านั้น แต่จีวรที่สละแล้ว ควรให้คืนทีเดียว จะไม่ให้คืนไม่ได้ ก็การให้คืนจีวรที่สละเสียแล้วนี้ เป็นเพียงวินัยกรรม จีวรนั้นจะเป็นอันภิกษุนั้นให้แก่สงฆ์ หรือแก่คณะ หรือแก่บุคคลหามิได้ทั้งนั้นแล
     ๗.จีวรที่ควรอธิษฐานและวิกัป มีพระบาลี (วิ.มหา.) ดังต่อไปนี้
     ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายได้มีความรำพึงอย่างนี้ว่า จีวรทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ คือ ไตรจีวรก็ดี คือ วัสสิกสาฎกก็ดี นิสีทนะก็ดี คือปัจจัตถรณะ (ผ้าปูนอน) ก็ดี คือ ภัณฑุปฏิจฉาทิ (ผ้าปิดแผล) ก็ดี คือ มุขปุญฺฉนโจลก (ผ้าเช็ดหน้า) ก็ดี ปริขารโจลกะ (ท่อนผ้าใช้เป็นบริขารเช่นผ้ากรองนี้ ถุงบาตร ย่าม ผ้าห่มของ) ควรอธิษฐานทั้งหมดหรือว่าควรจะวิกัปหนอแล? ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุญาตว่า ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้อธิษฐานไตรจีวร ไม่อนุญาตให้วิกัป, อนุญาตให้อธิษฐานวัสสิกสาฎก ตลอด ๔ เดือนแห่งฤดูฝน พ้นจากฤดูฝนนั้นอนุญาตให้วิกัปไว้ อนุญาตให้อธิษฐานนิสีทนะ ไม่ใช่ให้วิกัป, อนุญาตให้อธิษฐานผ้าปูนอน ไม่ใช่ให้วิกัป, อนุญาตให้อธิษฐานกัณฑุปฏิจฉาทิชั่วเวลาอาพาธ พ้นจากกาลอาพาธนั้น อนุญาตให้วิกัป, อนุญาตให้อธิษบานมุขปุญฺฉนโจล (ผ้าเช็ดหน้า) ไม่อนุญาตให้วิกัป อนุญาตให้อธิษฐานบริขารโจล ไม่อนุญาตให้วิกัป ดังนี้
     ๘.การอธิษฐานไตรจีวร เป็นต้น
     บรรดาจีวรเป็นต้นเหล่านั้น อันภิกษุเมื่อจะอธิษฐานไตรจีวรย้อมแล้ว ให้กัปปะพินทุ พึงอธิษฐานจีวรที่ได้ประมาณเท่านั้น, ประมาณแห่งจีวรนั้น โดยกำหนดอย่างสูง หย่อนกว่าสุคตจีวร (จีวรของพระสุคต) จึงควร, และโดยกำหนดอย่างต่ำ ประมาณแห่งสังฆาฏิและอุตราสงค์ ด้านยาว ๕ ศอกกำ ด้านกว้าง ๓ ศอกกำ จึงควร, อันตรวาสก ด้านยาว ๕ ศอกกำ ด้านกว้างแม้ ๒ ศอก ก็ควร เพราะอาจเพื่อจะปกปิดสะดือ ด้วยผ้านุ่งบ้าง ผ้าห่มบ้างแล ก็จีวรที่เกินและหย่อนกว่าประมาณดังกล่าวแล้ว พึงอธิษฐานว่าบริขารโจล
     การอธิษฐานจีวรมี ๒ อย่าง คือ อธิษฐานด้วยกายอย่างหนึ่ง อธิษฐานด้วยวาจาอย่างหนึ่ง ฉะนั้นภิกษุพึงถอนสังฆาฏิผืนเก่าว่า อิมํ สงฺฆาฏึ ปจฺจุทฺธรามิ (เราถอนสังฆาฏิผืนนี้) แล้วเอามือจับสังฆาฏิใหม่ หรือพาดบนส่วนแห่งร่างกาย กระทำการผูกใจว่า อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฐามิ (เราอธิษฐานสังฆาฏินี้) แล้วพึงทำกายวิการ (มีการเอามือจับจีวรเป็นต้น) อธิษฐานด้วยกายนี้ ชื่อว่า การอธิษฐานด้วยกาย, เมื่อไม่ถูกต้องจีวรนั่นด้วยส่วนแห่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง การอธิษฐานนั้นไม่ควร
     ส่วนในการอธิษฐานด้วยวาจา พึงเปล่งวาจาแล้วอธิษฐานด้วยวาจา มีการอธิษฐาน ๒ วิธี, ถ้าผ้าสังฆาฏิอยู่ในหัตถบาส พึงเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าอธิฐานสังฆาฏิผืนนี้, ถ้าอยู่ภายในห้องในปราสาทชั้นบน หรือในวัดใกล้เคียง พึงกำหนดที่เก็บสังฆาฏิไว้แล้วเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าอธิฐานสังฆาฏินั่น, ในอุตราสงค์ และอันตรวาสก ก็มีนัยอย่างนี้, พึงอธิษฐานจีวรทั้งหมดโดยชื่อของตนเท่านั้น อย่างนี้ว่า สงฺฆาฏึ อุตฺตราสงฺคํ อนฺตรวาสกํ ดังนี้
     ถ้าภิกษุกระทำจีวรสังฆาฏิเป็นต้น ด้วยผ้าที่อธิษฐานเก็บไว้ เมื่อย้อมและกัปปะเสร็จแล้ว พึงถอนว่า ข้าพเจ้าถอนผ้านี้ แล้วอธิษฐานใหม่ แต่เมื่อเย็บแผ่นผ้าใหม่หรือขัณฑ์ใหม่ เฉพาะที่ใหญ่กว่าเข้ากับจีวรที่อธิษฐานแล้ว ควรอธิษฐานใหม่, ในแผ่นผ้าที่เท่ากันหรือเล็กกว่า ไม่มีกิจด้วยการอธิษฐานใหม่
     -ผ้าอาบน้ำฝนที่ไม่เกินประมาณ อันภิกษุพึงระบุชื่อแล้วอธิษฐานสิ้น ๔ เดือนแห่งฤดูฝน โดยนัยดังกล่าวแล้ว ต่อจากนั้นพึงถอนแล้ววิกัปไว้, ผ้าอาบน้ำฝนนี้ แม้ย้อมพอทำให้เสียสี ก็ควร, แต่สองผืนไม่ควร
     -ผ้านิสีทนะพึงอธิษฐานโดยนัยดังกล่าวแล้ว ก็แลผ้านิสีทนะมีได้เพียงผืนเดียวเท่านั้น สองผืนไม่ควร
     -แม้ผ้าปูนอนก็ควรอธิษฐานเหมือนกัน; ผ้าปูนอนนี้ถึงใหญ่ก็ควร แม้ผืนเดียวก็ควร แม้มากผืนก็ควร มีลักษณะเป็นต้นว่าสีเขียวก็ดี สีเหลืองก็ดี มีชายก็ดี มีชายเป็นลายดอกไม้ก็ดี ย่อมควรทุกประการ ภิกษุอธิษฐานคราวเดียว ย่อมเป็นอันอธิษฐานแล้วทีเดียว
     -ผ้าปิดฝีที่ได้ประมาณพึงอธิษฐานชั่วเวลาที่ยังมีอาพาธอยู่ เมื่ออาพาธหายแล้ว พึงถอนแล้ววิกัปเก็บไว้ผืนเดียวเท่านั้น จึงควร
     -ผ้าเช็ดหน้าพึงอธิษฐานเหมือนกัน ภิกษุจำต้องปรารถนาผืนอื่น เมื่อต้องการใช้ในเวลาที่ยังซักอีกผืนหนึ่งอยู่ เพราะฉะนั้น สองผืนก็ควร
     -ในบริขารโจล ชื่อว่าการนับจำนวนไม่มี พึงอธิษฐานได้เท่าจำนวนที่ต้องการนั่นเทียว, ถุงย่ามก็ดี ผ้ากรองน้ำก็ดี มีประมาณเท่าจีวรที่ควรวิกัปเป็นอย่างต่ำ พึงอธิษฐานว่าบริขารโจลเหมือนกัน แม้จะรวมจีวรมากผืนเข้าด้วยกันแล้วอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าอธิษฐานจีวรเหล่านี้เป็นบริขารโจร ดังนี้ก็สมควรเหมือนกัน แม้ภิกษุจะเก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่เภสัช นวกรรมและมารดา เป็นต้น ก็จำต้องอธิษฐาน แต่ในมหาปัจจรีว่า ไม่เป็นอาบัติ
     -ส่วนในเสนาสนบริขารเหล่านี้คือ ฟูกเตียง ๑ ฟูกตั่ง ๑ หมอน ๑ ผ้าปาวาร ๑ ผ้าโกเชาว์ ๑  และในเครื่องปูลาดที่เขาถวายไว้เพื่อประโยชน์แก่เสนาสนบริขาร ไม่มีกิจที่ต้องอธิษฐานเลย
     ๙.เหตุให้ขาดอธิษฐาน
     ถามว่า จีวรอธิษฐานแล้ว เมื่อภิกษุใช้สอยอยู่ จะละอธิษฐานไปด้วยเหตุอย่างไร? ตอบว่า ย่อมละด้วยเหตุ ๙ อย่างนี้ คือ ด้วยให้บุคคลอื่น ๑ ด้วยถูกชิงไป ๑ ด้วยถือเอาโดยวิสาสะ ๑ ด้วยหันไปเป็นคนเลว (เข้ารีตเดียรถีย์) ๑ ด้วยลาสิกขา ๑ ด้วยกาลกิริยา (ตาย) ๑ ด้วยเพศกลับ ๑ ด้วยถอนอธิษฐาน ๑ ด้วยความเป็นช่องทะลุ ๑
     บรรดาเหตุ ๙ อย่างนั้น จีวรทุกชนิดย่อมละอธิษฐานด้วยเหตุ ๘ อย่างข้างต้น, แต่เฉพาะไตรจีวรละอธิษฐานด้วยความเป็นช่องทะลุ อรรถกถาทุกแห่งกล่าวว่า ช่องทะลุประมาณเท่าหลังเล็บแห่งนิ้วก้อย และช่องทะลุเป็นช่องโหว่ทีเดียว ถ้าภายในช่องทะลุมีเส้นด้ายเส้นหนึ่งยังไม่ขาด ก็ยังไม่ละอธิษฐาน
     “บรรดาไตรจีวรนั้น สำหรับสังฆาฏิและอุตราสงค์ ช่องทะลุจากด้านในแห่งเนื้อที่มีประมาณเพียง ๑ คืบ จากชายด้านยาว, มีประมาณ ๘ นิ้ว จากชายด้านกว้าง ย่อมทำให้ขาดอธิษฐาน แต่สำหรับอันตรวาสก ช่องทะลุจากด้านในแห่งเนื้อที่ มีประมาณเพียง ๑ คืบ จากชายด้านยาว, มีประมาณ ๔ นิ้ว จากชายด้านกว้าง ย่อมทำให้ขาดอธิษฐาน ช่องทะลุเล็กลงมาไม่ทำให้ขาดอธิษฐาน....เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดเป็นช่องทะลุ จีวรนั้นย่อมตั้งอยู่ในฐานแห่งอดิเรกจีวร, ควรกระทำสูจิกรรมแล้ว อธิษฐานใหม่”. (สูจิกรรม-การเย็บ)
     ก็ภิกษุใดดามผ้าปะลงในที่ชำรุดก่อนแล้ว เลาะที่ชำรุดในภายหลัง การอธิษฐานของภิกษุนั้นยังไม่ขาดไป, แม้ในการเปลี่ยนแปลงกระทงจีวรก็มีนัยนี้เหมือนกัน สำหรับจีวร ๒ ชิ้น เมื่อชิ้นหนึ่งเกิดเป็นช่องทะลุหรือขาดไป อธิษฐานยังไม่ขาด, ภิกษุกระทำจีวรผืนเล็กให้เป็นผืนใหญ่ หรือกระทำผืนใหญ่ให้เป็นผืนเล็ก อธิษฐานยังไม่ขาด เมื่อจะต่อริมสองข้างเข้าที่ตรงกลาง ถ้าว่าตัดออกก่อนแล้วภายหลังเย็บติดกัน อธิษฐานย่อมขาด ถ้าเย็บต่อกันแล้วภายหลังจึงตัด อธิษฐานยังไม่ขาด, แม้เมื่อใช้พวกช่างย้อมซักให้เป็นผ้าขาว อธิษฐานก็ยังคงเป็นอธิษฐานอยู่ทีเดียว



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 พฤศจิกายน 2558 16:58:08
.
     (ต่อ)

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๒๐)
ภิกษุเก็บจีวรที่ไม่ได้ทำเป็นสองเจ้าไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน
ถ้าเกินกว่ากำหนดนั้น ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์


    ๑๐.อธิบายการวิกัปจีวร
     วิกัปมี ๒ อย่าง คือ วิกัปต่อหน้า ๑ วิกัปลับหลัง ๑
     ภิกษุพึงทราบว่า จีวรมีผืนเดียวหรือมากผืน และจีวรนั้นอยู่ใกล้หรือมิได้อยู่ใกล้ (อยู่ในหัตถบาส หรือนอกหัตถบาส) แล้วกล่าวว่า อิมํ จีวรํ-จีวรผืนนี้บ้าง ว่า อิมานิ จีวรานิ-จีวรเหล่านี้บ้าง ว่า เอตํ จีวรํ-จีวรนั่นบ้าง ว่า เอตานิ จีวรานิ-จีวรเหล่านั้นบ้าง แล้วพึงกล่าวว่า ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ-ข้าพเจ้าวิกัปแก่ท่าน ดังนี้
     วิกัปต่อหน้านี้มีอยู่อย่างเดียว วิกัปแล้วจะเก็บไว้สมควรอยู่, จะใช้สอย จะสละหรืออธิษฐาน ไม่ควร, แต่หากภิกษุผู้รับวิกัป กล่าวคำว่า มยฺหํ สนฺตกํ สนฺตกานิ ปริภุญฺช วา วิสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ-จีวรนี้หรือจีวรเหล่านี้ เป็นของข้าพเจ้า ท่านจงใช้สอย จงจำหน่าย จงกระทำตามสมควรแก่ปัจจัยเถิด ดังนี้ชื่อว่า ปัจจุทธรณ์ (ถอนวิกัป) จำเดิมจากนี้ แม้จะบริโภคเป็นต้น ย่อมสมควร
     อีกนัยหนึ่ง ภิกษุพึงรู้ว่าจีวรผืนเดียว หรือมากผืน อยู่ใกล้หรือมิได้อยู่ใกล้ แล้วกล่าวว่า อิมํ จีวรํ, อิมานิ จีวรานิ, เอตํ จีวรํ, เอตานิ จีวรานิ ดังนี้ ในสำนักของภิกษุนั้นนั่นแหละ ระบุชื่อสหธรรมิก ๕ รูปใดรูปหนึ่งที่ตนชอบใจแล้ว พึงกล่าวว่า ติสฺสสฺส ภิกฺขุโน วิกปฺเปมิ-เข้าพเจ้าวิกัปแก่ภิกษุติสสะ หรือว่า ติสฺสาย ภิกฺขุนิยา, ติสฺสาย สิกฺขมานาย, ติสฺสสฺส สามเณริยา วิกปฺเปมิ-ข้าพเจ้าวิกัปแล้วแก่ติสสาภิกษุณี แก่ติสสาสิกขมานา แก่ติสสสามเณร ติสสสามเณรี ดังนี้ นี้เป็นวิกัปต่อหน้า, วิกัปแล้วจะเก็บไว้สมควรอยู่ แต่ในการใช้สอยเป็นต้น ย่อมไม่ควร แต่เมื่อภิกษุนั่นกล่าวคำว่า จีวรนี้ของภิกษุชื่อติสสะ...ท่านจงบริโภคก็ตาม จงจำหน่ายก็ตาม ชื่อว่าเป็นอันถอน, จำเดิมแต่นี้ไปแม้การใช้สอยเป็นต้น ก็สมควร
     -ภิกษุพึงทราบว่า จีวรผืนเดียวหรือมากผืน อยู่ใกล้หรือมิได้อยู่ใกล้ กล่าวว่า อิมํ จีวรํ-ซึ่งจีวรนี้ หรือว่า อิมานิ จีวรานิ-ซึ่งจีวรทั้งหลายนี้ว่า เอตํ จีวรํ-ซึ่งจีวรนั่น หรือว่า เอตานิ จีวรานิ-ซึ่งจีวรทั้งหลายนั้น ดังนี้ แล้วกล่าวว่า ตุยฺหํ วิกปฺปนตุ ถาย ทมฺมิ-ข้าพเจ้าให้แก่ท่าน เพื่อประโยชน์แก่การวิกัป
     ภิกษุผู้รับวิกัปนั้น พึงกล่าวว่า ใครเป็นมิตร หรือเป็นเพื่อนเห็น หรือเป็นเพื่อนคบกันของท่าน ภิกษุผู้วิกัปกล่าวว่าภิกษุชื่อติสสะ หรือว่า ฯลฯ สามเณรชื่อติสสา โดยนัยที่กล่าวแล้ว ภิกษุนั้นพึงกล่าวอีกว่า อหํ ติสฺสสฺส ภิกขุโน ทมฺมิ-ข้าพเจ้าให้แก่ภิกษุชื่อติสสะ ฯลฯ หรือว่า อหํ ติสฺสาย สามเณริยา ทมฺม ข้าพเจ้าให้แก่สามเณรีชื่อติสสา ดังนี้ อย่างนี้ชื่อว่าวิกัปลับหลังด้วยการวิกัปเพียงเท่านี้ การเก็บไว้สมควรอยู่, ส่วนในการใช้สอยเป็นต้น กิจแม้อย่างเดียวก็ไม่สมควร, แต่หากภิกษุ (ผู้วิกัป) กล่าวคำว่า อิตฺถนฺนามสฺส ภิกฺขุโน สนฺตกํ ปริภุญฺช วา วิสฺสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ-(จีวร) ของภิกษุชื่อนี้ ท่านจงใช้สอยก็ได้ จงจำหน่ายก็ได้ จงกระทำตามสมควรแก่ปัจจัยก็ได้ โดยนัยดังกล่าวแล้วในวิกัปต่อหน้าอย่างที่สองนั้นแล, ชื่อว่าเป็นอันถอนจำเดิมแต่นั้น กิจทั้งหลายมีการใช้สอยเป็นต้น ย่อมควร
     ถามว่า การวิกัปทั้ง ๒ อย่างต่างกันอย่างไร?
     ตอบว่า ในการวิกัปต่อหน้า ภิกษุวิกัปเองแล้วให้ผู้อื่นถอนได้, ในวิกัปลับหลัง ภิกษุให้คนอื่นวิกัปแล้วให้คนอื่นนั่นเองถอน นี้เป็นความต่างกัน, ในเรื่องวิกัปทั้ง ๒ นี้ ก็ถ้าวิกัปแก่ผู้ใด ผู้นั้นไม่ฉลาดในพระบัญญัติ ไม่รู้จะถอน พึงถือจีวรนั้นไปยังสำนักสหธรรมิกอื่นผู้ฉลาด วิกัปใหม่แล้วพึงให้ถอน นี้ชื่อว่าการวิกัปบริขาร ที่วิกัปไปแล้ว ควรอยู่
     ๑๑.เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไม่คืนให้ ด้วยสำคัญว่า ภิกษุนี้ให้แล้วแก่เรา แต่ภิกษุผู้รู้ว่าเป็นของภิกษุนั้นต้องการชิงเอาด้วยเลศ พระวินัยธรพึงให้ตีราคาสิ่งของปรับอาบัติ
     ๑๒.สิกขาบทนี้ชื่อว่า มีกฐินเป็นสมุฏฐาน เกิดทางกายกับวาจา และทางกายวาจากับจิต, เป็นอกิริยา เพราะต้องด้วยการไม่อธิษฐานและไม่วิกัป, เป็นอจิตตกะ (แม้ไม่รู้ก็ต้องอาบัติ) ปัณณัติติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ (อกุศลจิต กุศลจิต กิริยาจิต, พระอรหันต์ก็ต้องได้)
     ๑๓.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
     กฐิน
-ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร, ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตราสงค์ หรือสังฆาฏิ ก็ได้ และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ) ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์ คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔),  ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน,  สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป, ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
     ภิกษุผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ ๑) เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา  ๒) จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ  ๓) ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้  ๔) เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา  ๕) จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ
     อานิสงส์ ๕ นี้ หากจำพรรษาแล้ว ย่อมได้ชั่วเวลาเดือนหนึ่งนับแต่ออกพรรษาแล้ว คือ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒, เมื่อกรานกฐินแล้วย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ นี้ ออกไปอีก ๔ เดือน (ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๔) และได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลออกไปตลอด ๔ เดือนนั้น
     เดาะ-(ในคำว่าการเดาะกฐิน) เสียหาย คือ กฐินใช้ไม่ได้ หมดประโยชน์ หมดอานิสงส์ ออกมาจากคำว่า อุพฺภาโร. อุทฺธาโร แปลว่า ยกขึ้น หรือรื้อ เข้ากับศัพท์กฐิน แปลว่า รื้อไม้สะดึง คือ หมดโอกาสได้ประโยชน์จากกฐิน


.
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๒๑)
ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง
ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้สมมติ

    ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายฝากผ้าสังฆาฏิไว้กับภิกษุทั้งหลายแล้ว มีแต่ผ้าอุตราสงค์และผ้าอันตรวาสก หลีกไปจาริกในชนบท ผ้าสังฆาฏิเหล่านั้นถูกเก็บไว้นานก็ขึ้นรา ภิกษุทั้งหลายจึงผึ่งผ้าสังฆาฏิเหล่านั้น พระอานนท์เที่ยวตรวจดูเสนาสนะ พบเข้า จึงถามว่าจีวรที่ขึ้นราเหล่านี้ของใคร ภิกษุเหล่านั้นแจ้งแก่ท่านพระอานนท์แล้ว พระอานนท์เพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล...
     ทรงมีพระบัญญัติว่า “จีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว กฐินเดาะเสียแล้ว ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวร แม้สิ้นราตรีหนึ่ง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
     สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธอยู่ในพระนครโกสัมพี พวกญาติส่งทูตไปนิมนต์ให้ท่านไปยังบ้านญาติเพื่อพยาบาล แต่ภิกษุรูปนั้นกล่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลายไว้ว่า ภิกษุไม่พึงอยู่ปราศจากไตรจีวร ผมกำลังอาพาธ ไม่สามารถจะนำไตรีจีวรไปด้วยได้ ผมจักไม่ไป”
     ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... รับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เราอนุญาตให้สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุผู้อาพาธ ก็สงฆ์พึงให้สมมติอย่างนี้ว่า

วิธีสมมติจีวราวิปวาส
     ภิกษุผู้อาพาธพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอาพาธไม่สามารถจะนำไตรจีวรไปด้วยได้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอสมมติ เพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรต่อสงฆ์ ดังนี้ พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓
     จากนั้น ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อผู้นี้อาพาธ ไม่สามารถจะนำไตรจีวรไปด้วยได้ เธอขอสมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรต่อสงฆ์ ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุมีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อผู้นี้อาพาธ ไม่สามารถจะนำไตรจีวรไปด้วยได้ เธอขอสมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรต่อสงฆ์ สงฆ์ให้สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุมีชื่อนี้ การให้สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ควรแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
     การสมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวร อันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้” แล้วทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
    “จีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว กฐินเดาะเสียแล้ว ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวร แม้สิ้นราตรีหนึ่ง เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

     -บทว่า จีวร...สำเร็จแล้ว และคำว่า กฐินเดาะเสียแล้ว พึงทราบคำอธิบายจากสิกขาบทที่ ๑ ที่ผ่านมา
     -คำว่า ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวร แม้สิ้นราตรีหนึ่ง ได้แก่ ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวร คือ ผ้าสังฆาฏิก็ดี ผ้าอุตราสงค์ก็ดี ผ้าอันตรวาสกก็ดี แม้คืนเดียว
     -บทว่า เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ คือ ภิกษุผู้ได้รับสมมติสามารถอยู่ปราศจากได้
     -บทว่า เป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำจะสละ พร้อมกับเวลาอรุณขึ้น ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้าอยู่ปราศจากและล่วงราตรี เป็นของจำจะสละ เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ ข้าพเจ้าสละจีวรนี้แก่สงฆ์”
     ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรนั้นด้วยญัตติกรรมวาจาว่า “ท่านเจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป กล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้าปราศจากแล้วล่วงราตรี เป็นของจำจะสละ เว้นแต่ได้รับสมมติ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรนั้นด้วยญัตติกรรมวาจาว่า “ท่านเจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่บุคคล
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง กล่าวว่า... ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ พึงคืนให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้
     -เขตที่กำหนดไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร มีอยู่มากมาย เช่น บ้าน เรือน โรงเก็บของ ป้อม เป็นต้น,  “บ้าน” ที่ชื่อว่ามีอุปจารเดียว คือ เป็นบ้านของสกุลเดียวและมีเครื่องล้อม ภิกษุเก็บจีวรไว้ภายในบ้าน ต้องอยู่ภายในบ้าน; บ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม ภิกษุเก็บจีวรไว้ในเรือนใด ต้องอยู่ในเรือนนั้น หรือไม่ละจากหัตถบาส
     -ที่ชื่อว่า อุปจารต่าง คือ เป็นบ้านของต่างสกุล และมีเครื่องล้อม ภิกษุเก็บจีวรไว้ในเรือนใด ต้องอยู่ในเรือนนั้น หรือในห้องโถง หรือที่ริมประตู หรือไม่ละจากหัตถบาส เมื่อจะไปสู่ห้องโถงต้องเก็บจีวรไว้ในหัตถบาส แล้วอยู่ในห้องโถง หรืออยู่ที่ริมประตู หรือไม่ละจากหัตถบาส, บ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม เก็บจีวรไว้ในเรือนใด ต้องอยู่ในเรือนนั้น หรือไม่ละจากหัตถบาส,  “เรือ” ของสกุลเดียว ภิกษุเก็บจีวรไว้ภายในเรือ ต้องอยู่ภายในเรือ เรือของต่างสกุล มีห้องเล็กห้องน้อยต่างๆ เก็บจีวรไว้ในห้องใด ต้องอยู่ในห้องนั้น หรือที่ริมประตู หรือไม่ละจากหัตถบาส
     “โคนไม้” ของสกุลเดียว กำหนดเอาเขตที่เงาแผ่ไปโดยรอบในเวลาเที่ยง ภิกษุเก็บจีวรไว้ภายในเขตเงา ต้องอยู่ภายในเขตเงา, โคนไม้ต่างสกุลไม่พึงละจากหัตถบาส
     “ที่แจ้ง” ที่ชื่อว่า อุปจารเดียว, มีอุปจารต่าง คือ ในป่าหาบ้านมิได้ กำหนด ๗ อัพภันดร โดยรอบจัดเป็นอุปจารเดียว, พ้นนั้นไป จัดเป็นอุปจารต่าง
     คำอธิบายเขตไม่อยู่ปราศจากของเรือน วิหาร โรงเก็บของ ป้อม เป็นต้น พึงทราบทำนองเดียวกับบ้านและเรือ เป็นต้น
    
อาบัติ
     ๑.จีวรอยู่ปราศจาก ภิกษุรู้ว่าอยู่ปราศจาก เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๒.จีวรอยู่ปราศจาก ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.จีวรอยู่ปราศจาก ภิกษุคิดว่าไม่อยู่ปราศจาก... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.จีวรยังไม่ได้ถอน ภิกษุสำคัญว่าถอนแล้ว... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๕.จีวรยังไม่ได้สละให้ไป ภิกษุคิดว่าสละให้ไปแล้ว... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๖.จีวรยังไม่หาย ภิกษุคิดว่าหายไปแล้ว... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๗.จีวรยังไม่ฉิบหาย ภิกษุสำคัญว่าฉิบหายแล้ว... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๘.จีวรยังไม่ถูกไฟไหม้ ภิกษุคิดว่าถูกไฟไหม้แล้ว... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๙.จีวรยังไม่ถูกโจรชิงไป ภิกษุคิดว่าโจรชิงไปแล้ว... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
    ๑๐.ภิกษุไม่สละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์ บริโภค ต้องทุกกฎ
    ๑๑.จีวรไม่อยู่ปราศจาก ภิกษุคิดว่าอยู่ปราศจาก บริโภค (ใช้สอย) ต้องทุกกฎ
    ๑๒.จีวรไม่อยู่ปราศจาก ภิกษุสงสัย บริโภค ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     จีวรไม่อยู่ปราศจาก ภิกษุรู้ว่าไม่อยู่ปราศจาก บริโภค ไม่ต้องอาบัติ ๑  ภิกษุสละให้ไป ๑  ในภายในอรุณ ภิกษุถอนเสีย ๑  จีวรหาย ๑  ฉิบหาย ๑  ถูกไฟไหม้ ๑  โจรชิงเอาไป ๑  ภิกษุถือวิสาสะ ๑  ภิกษุได้รับสมมติ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๗๔๒-๗๕๓
     ๑.อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) ตรัสเรียกว่า อันตระ, อุตราสงค์ (ผ้าห่ม) ตรัสเรียกว่า อุตตระ, ผ้าห่มกับผ้านุ่ง ชื่อว่า สันตรุตตระ
     ๒.ภิกษุอาพาธผู้ได้รับสมมติ
       สมมติในการไม่อยู่ปราศจาก (ไตรจีวร) ชื่อว่า อวิปปวาสสมมติ, ก็อวิปปวาสสมมตินี้ มีอานิสงส์อย่างไร?  ตอบว่า ภิกษุผู้อยู่ปราศจากจีวรผืนใด จีวรผืนนั้นย่อมไม่เป็นนิสสัคคีย์ และภิกษุผู้อยู่ปราศจาก ไม่ต้องอาบัติ, อยู่ปราศจากได้สิ้นเวลาเท่าไร? พระมหาสุมเถระกล่าวว่า ชั่วเวลาที่โรคยังไม่หาย แต่เมื่อโรคหายแล้ว ภิกษุพึงรีบกลับมาสู่สถานที่เก็บจีวร, ก็ภิกษุยังแสวงหาพวกเกวียน หรือว่าทำความผูกใจอยู่ว่า เราจะไป จำเดิมแต่กาลนั้นจะอยู่ปราศจาก ก็ควร,  แต่เมื่อภิกษุทำการทอดธุระว่า เราจักยังไม่ไปในเวลานี้ พึงถอนเสีย ไตรจีวรที่ถอนแล้วจักอยู่ในฐานะเป็นอดิเรกจีวร ดังนี้
     ถ้าว่าโรคของเธอกลับกำเริบขึ้น เธอจะทำอย่างไร?  ตอบว่า พระปุสสเทวเถระกล่าวว่า ถ้าโรคนั้นนั่นเองกลับกำเริบขึ้น อวิปปวาสสมมตินั้นนั่นแล ยังคงเป็นสมมติอยู่ ไม่มีกิจที่จะต้องสมมติใหม่, ถ้าโรคอื่นกำเริบ พึงให้สมมติใหม่ ดังนี้, พระอุปติสสะเถระกล่าวว่า โรคนั้นหรือโรคอื่นก็ตาม จงยกไว้ ไม่มีกิจที่จะต้องให้สมมติใหม่ ดังนี้
     ๓.พระราชวังของพระราชาพระองค์หนึ่ง หรือบ้านของนายบ้านคนหนึ่งชื่อว่า บ้านของตระกูลเดียว, ล้อมแล้วด้วยกำแพง ด้วยรั้ว หรือด้วยคูน้ำ อย่างใดอย่างหนึ่ง
     ภิกษุอยู่ ณ ที่ใด ไม่พึงละที่นั้น จากหัตถบาสโดยรอบ ไม่พึงละให้ห่างจากที่นั่นประมาณ ๒ ศอกคืบไป; ก็การอยู่ใน ๒ ศอกคืบ ย่อมสมควร, ล่วงเลยประมาณนั้นไป ถ้าแม้นภิกษุมีฤทธิ์ยังอรุณให้ตั้งขึ้นในอากาศ ก็เป็นนิสสัคคีย์เหมือนกัน
     -ที่ชื่อว่า โรงเก็บของ ได้แก่ โรงเก็บสิ่งของ มียวดยาน เป็นต้น
     -ที่ชื่อว่า ป้อม ได้แก่ ที่อาศัยพิเศษ ซึ่งเขาก่อด้วยอิฐ เพื่อป้องกันพระราชาจากข้าศึกเป็นต้น มีฝาผนังหนา มีพื้น ๔-๕ ขั้น
     -ปราสาท ๔ เหลี่ยมจัตุรัส อันสงเคราะห์เข้าด้วยยอดเดียวกัน ชื่อว่า เรือนยอดเดียว, ปราสาทยาวชื่อว่า ปราสาท, ปราสาทที่มีหลังคาตัด (ปราสาทโล้น) ชื่อว่า ทิมแถว, อัพภันดรท่านกล่าวไว้ในคำว่า ๗ อัพภันดรนี้มีประมาณ ๒๘ ศอก
     -ถ้าหมู่เกวียนไปหยุดพักโอบหมู่บ้านหรือไม่น้ำ เนื่องเป็นอันเดียวกันกับหมู่เกวียนที่เข้าไป ภายในกระจายอยู่ตลอดไปทั้งฝั่งในฝั่งนอก ย่อมได้บริหารว่า หมู่เกวียนแท้, ถ้าหมู่เกวียนยังเนืองกันอยู่ที่บ้านหรือว่าที่แม่น้ำ, หมู่เกวียนที่เข้าไปภายในแล้ว ย่อมได้บริหารว่าบ้าน และบริหารว่าแม่น้ำ, ถ้าหมู่เกวียนหยุดพักอยู่เลยวิหารสีมาไป จีวรอยู่ภายในสีมา พึงไปยังวิหารแล้วอยู่ภายในสีมานั้น, ถ้าจีวรอยู่ในภายนอกสีมา พึงอยู่ในที่ใกล้หมู่เกวียนนั่นแล, ถ้าหมู่เกวียนกำลังเดินทาง เมื่อเกวียนหักหรือโคหาย ย่อมขาดกันในระหว่าง จีวรที่เก็บไว้ในส่วนไหนพึงอยู่ในส่วนนั้น, หัตถบาสแห่งจีวรนั่นแล ชื่อว่า หัตถบาสในไร่นาของตระกูลเดียว, หัตถบาสแห่งประตูไร่นา ชื่อว่า หัตถบาสในไร่นาของตระกูลต่างกัน, หัตถบาสแห่งจีวรเท่านั้น ชื่อว่าหัตถบาสในไร่นาที่ไม่ได้ล้อม
     -โคนไม้ เก็บจีวรไว้เฉพาะภายในโอกาสที่เงาแผ่ไปถึง แต่จีวรที่ภิกษุเก็บไว้ในโอกาสที่แดดถูกต้นไม้มีกิ่งโปร่ง เป็นนิสสัคคีย์แท้ เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงเก็บจีวรไว้ที่เงาแห่งกิ่งไม้ หรือที่เงาแห่งลำต้นของต้นไม้เช่นนั้น ถ้าจะเก็บไว้บนกิ่งหรือบนคาคบ พึงวางไว้ในโอกาสที่เงาแห่งต้นไม้ต้นอื่นข้างบนแผ่ไปถึงเท่านั้น เงาของต้นไม้เตี้ยย่อมแผ่ทอดไปไกล พึงเก็บไว้ในโอกาสที่เงาแผ่ไปถูก ควรจะเก็บไว้ในที่เงาทึบเท่านั้น, หัตถบาสแห่งโคนไม้นี้ ก็คือ หัตถบาสแห่งจีวรนั่นเอง
     -ลาน ท่านเรียกว่า ธัญญกรณ์ (ลานนวดข้าวเปลือก), ส่วนดอกไม้หรือสวนผลไม้ท่านเรียกว่า สวนในลานนวดข้าว และสวนดอกไม้ สวนผลไม้ มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับที่กล่าวในไร่นา, บทว่า วิหาร ก็มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับเรือนพักนั่นเอง
     ๔.อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ถ้าภิกษุผู้ประกอบความเพียร บำเพ็ญเพียรตลอดคืนยันรุ่งใฝ่ใจว่า เราจักสรงน้ำในเวลาใกล้รุ่ง แล้วออกไป วางจีวรทั้ง ๓ ผืนไว้ที่ฝั่งแม่น้ำ ลงสู่แม่น้ำ เมื่อเธออาบอยู่นั่นเอง อรุณขึ้น เธอพึงกระทำอย่างไร? ด้วยว่า ถ้าขึ้นมาแล้วนุ่งห่มจีวร ย่อมต้องทุกกฎเพราะไม่เสียสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์แล้วใช้สอยเป็นปัจจัย ถ้าเธอเปลือยกายไป แม้ด้วยการเปลือยกายไปอย่างนั้นก็ต้องทุกกฎ
     ตอบว่า เธอไม่ต้อง เพราะว่าเธอตั้งอยู่ในฐานแห่งภิกษุผู้มีจีวรหาย เพราะจีวรเหล่านั้นเป็นของไม่ควรบริโภค ตราบเท่าที่ยังไม่พบภิกษุรูปอื่นแล้วกระทำวินัยกรรม, และชื่อว่าสิ่งที่ไม่สมควรแก่ภิกษุผู้มีจีวรหาย ไม่มี เพราะฉะนั้นเธอพึงนุ่งผืนหนึ่ง เอามือถือสองผืน ไปสู่วิหารแล้วกระทำวินัยกรรม, ถ้าว่าวิหารอยู่ไกล ในระหว่างทางมีพวกชาวบ้านสัญจรไปมา เธอพบชาวบ้านเหล่านั้น พึงนุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง วางผืนหนึ่งไว้บนจะงอยบ่า แล้วพึงเดินไป, ถ้าหากไม่พบภิกษุที่ชอบพอกันในวิหาร ภิกษุทั้งหลายไปเที่ยวภิกษาจารเสีย เธอพึงวางผ้าสังฆาฏิไว้ภายนอกบ้าน ไปสู่โรงฉันด้วยผ้าอุตราสงค์กับอันตรวาสกแล้วกระทำวินัยกรรม, ถ้าในภายนอกบ้านมีโจรภัยพึงห่มสังฆาฏิไปด้วย ถ้าโรงฉันคับแคบ มีคนพลุกพล่าน เธอไม่อาจเปลื้องจีวรออกทำวินัยกรรมในด้านหนึ่งได้ พึงพาภิกษุรูปหนึ่งไปนอกบ้านกระทำวินัยกรรม แล้วใช้สอยจีวรทั้งหลายเถิด
     -ถ้าภิกษุทั้งหลายให้บาตรและจีวรไว้ในมือแห่งภิกษุหนุ่มทั้งหลายผู้กำลังเดินทางไป มีความประสงค์จะนอนพักในปัจฉิมยาม พึงกระทำจีวรของตนๆ ไว้ในหัตถบาสก่อนแล้วจึงนอน, ถ้าเมื่อภิกษุหนุ่มมาไม่ทัน อรุณขึ้นไปแก่พระเถระทั้งหลายผู้กำลังเดินไปนั่นแล จีวรทั้งหลายย่อมเป็นนิสสัคคีย์ ส่วนนิสัยไม่ระงับ, เมื่อพวกภิกษุหนุ่มเดินล่วงไปก่อนก็ดี พระเถระทั้งหลายเดินตามไม่ทันก็ดี มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน
     เมื่อภิกษุทั้งหลายพลัดทางไม่เห็นกันและกันในป่าก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน, ก็ถ้าพวกภิกษุนุ่มเรียกว่า ท่านขอรับ พวกกระผมจักนอนพักสักครู่หนึ่ง จักตามไปทันพวกท่านในที่โน้น ดังนี้ แล้วนอนอยู่จนอรุณขึ้น จีวรเป็นนิสสัคคีย์ด้วย นิสัยก็ระงับด้วย, แม้เมื่อพระเถระทั้งหลายส่งพวกภิกษุหนุ่มไปก่อนแล้วนอน ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน พบทางสองแพร่ง พระเถระทั้งหลายบอกว่า ทางนี้ พวกภิกษุหนุ่มเรียนว่าทางนี้ ไม่เชื่อถือถ้อยคำของกันและกันไปเสีย (แยกทางกันไป) พร้อมกับอรุณขึ้น จีวรทั้งหลายเป็นนิสสัคคีย์ และนิสัยย่อมระงับ
     ถ้าพวกภิกษุหนุ่มแวะออกจากทางกล่าวว่า พวกเราจักกลับมาให้ทันภายในอรุณ แล้วเข้าไปยังบ้านเพื่อต้องการเภสัช เมื่อกำลังเดินมาและอรุณขึ้นก่อนพวกเธอผู้กลับมายังไม่ถึงนั่นเอง จีวรทั้งหลายเป็นนิสสัคคีย์ แต่นิสัยไม่ระงับ, ก็ถ้าว่าพวกเธอกล่าวว่า พวกเรายืนอยู่สักครู่หนึ่งแล้วจักไป แล้วยืนหรือนั่ง เพราะกลัวแม่โคนม (โคแม่ลูกอ่อน) หรือเพราะกลัวสุนัข แล้วจึงเดินไป เมื่ออรุณขึ้นในระหว่างทาง จีวรทั้งหลายเป็นนิสสัคคีย์ด้วย นิสัยก็ระงับด้วย, เมื่อภิกษุทั้งหลาย (เมื่ออาจารย์และอันเตวาสิก) เข้าไปสู่บ้านภายในสีมาด้วยใส่ใจว่า เราจักมาในภายในอรุณขึ้นนั่นเทียว อรุณขึ้นในระหว่าง จีวรทั้งหลายไม่เป็นนิสสัคคีย์ นิสัยก็ไม่ระงับ, ก็ถ้าว่าภิกษุทั้งหลายนั่งอยู่ด้วยไม่ใส่ใจว่า ราตรีจะสว่างหรือไม่ก็ตามที แม้เมื่ออรุณขึ้นแล้ว จีวรไม่เป็นนิสสัคคีย์ แต่นิสัยย่อมระงับ
     ก็ภิกษุเหล่าใดเข้าไปสู่โรงในภายนอกอุปจารสีมาด้วยทั้งที่ยังมีอุตสาหะว่า เราจักมาในภายในอรุณนั่นแล เพื่อประโยชน์แก่กรรมมีอุปสมบทกรรมเป็นต้น อรุณตั้งขึ้นที่โรงนั้นแก่พวกเธอ จีวรเป็นนิสสัคคีย์แต่นิสัยไม่ระงับ, ภิกษุทั้งหลายเข้าไปสู่โรงนั้นนั่นแลภายในอุปจารสีมา เมื่ออรุณตั้งขึ้น จีวรไม่เป็นนิสสัคคีย์ นิสัยไม่ระงับ, แต่ภิกษุเหล่าใดยังมีอุตสาหะไปยังวิหารใกล้เคียง เพื่อประสงค์จะฟังธรรม ตั้งใจว่าจักมาให้ทันภายในอรุณ แต่อรุณขึ้นในระหว่างทางนั่นเอง จีวรทั้งหลายเป็นนิสสัคคีย์ แต่นิสัยยังไม่ระงับ. ถ้าพวกเธอนั่งอยู่ด้วยเคารพในธรรมว่า พวกเราฟังจนจบแล้วจึงจักไป พร้อมกับอรุณขึ้นนั้น จีวรทั้งหลายก็เป็นนิสสัคคีย์ ทั้งนิสัยก็ระงับ
     พระเถระ เมื่อจะส่งภิกษุหนุ่มไปสู่ละแวกบ้าน เพื่อต้องการซักจีวร พึงปัจจุทธรณ์จีวรของตนก่อน แล้วจึงให้ไป แม้จีวรของภิกษุหนุ่มก็พึงให้ปัจจุทธรณ์แล้วเก็บไว้ ถ้าภิกษุหนุ่มไปด้วยไม่มีสติ พระเถระพึงถอนจีวรของตนแล้วถือเอาจีวรของภิกษุหนุ่มด้วยวิสาสะ พึงเก็บไว้, ถ้าพระเถระระลึกไม่ได้ แต่ภิกษุหนุ่มระลึกได้ ภิกษุหนุ่มพึงถอนจีวรของตน แล้วถือเอาจีวรของพระเถระด้วยวิสาสะ แล้วไปเรียนว่า ท่านขอรับ ท่านจงอธิษฐานจีวรของท่านเสียแล้วใช้สอยเถิด จีวรของตนเธอก็พึงอธิษฐาน, แม้ด้วยความระลึกได้ของภิกษุรูปหนึ่งอย่างนี้ ก็ย่อมพ้นอาบัติได้แล
     ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนสิกขาบทที่ ๑ แห่งจีวรวรรค, แปลกกันแต่สิกขาบทนี้เป็นอกิริยา คือ ไม่ปัจจุทธรณ์ (จึงต้องอาบัติ)



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อนิกฺกสาโว กาสาวํ   โย วตฺถํ ปริทเหสฺสติ
อเปโต ทมสจฺเจน   น โส กาสาวมรหติ ฯ ๙ ฯ
คนที่กิเลสครอบงำใจ  ไร้การบังคับตนเองและไร้สัตย์
ถึงจะครองผ้ากาสาวพัสตร์ ก็หาคู่ควรไม่

whosoever, not freed from defilements, Without self-control and truthfulness,
Should put on the yellow robe- He is not worthy of it.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 มกราคม 2559 14:19:08
.

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๒๒)
ภิกษุประสงค์จะทำจีวร แต่ผ้ายังไม่พอ พึงเก็บไว้ได้เพียงเดือนหนึ่ง
ถ้าเก็บไว้เกินกว่าเดือนหนึ่ง ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

   ครั้งนั้น อกาลจีวรเกิดแก่ภิกษุรูปหนึ่ง เธอจะทำจีวรก็ไม่พอ (ผ้าที่ได้มาไม่พอแก่การที่จะตัด เย็บ ย้อม เป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง) จึงเอาจีวรจุ่มน้ำตากแล้วดึงอยู่หลายครั้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาพบ ตรัสถามว่า เธอทำเช่นนี้เพื่อประสงค์อะไร? ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า อกาลจีวรผืนนี้เกิดแก่ข้าพระพุทธเจ้า จะทำจีวรก็ไม่พอ จึงได้จุ่มจีวรนี้ตากแล้วดึงหลายๆ ครั้ง พระพุทธเจ้าข้า
     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า เธอยังมีหวังจะได้จีวรมาอีกหรือ (ความหวังที่จะได้ผ้ามาตัดเย็บเข้าด้วยกันให้เพียงพอ) ภิกษุกราบทูลว่า มี พระพุทธเจ้าข้า
     รับสั่งว่า เราอนุญาตให้รับอกาลจีวรแล้วเก็บไว้ให้ดี โดยมีหวังว่าจะได้จีวรมาเพิ่มเติม
     สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายจึงรับอกาลจีวรเก็บไว้เกิน ๑ เดือน โดยห่อแขวนไว้ที่สายระเดียง พระอานนท์มาพบเห็น ท่านถามภิกษุทั้งหลายว่า เก็บไว้นานเท่าไรแล้ว ภิกษุตอบว่า นานกว่าหนึ่งเดือน ขอรับ พระอานนท์จึงเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
     “จีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว กฐินเดาะเสียแล้ว อกาลจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุหวังอยู่ก็พึงรับ ครั้นรับแล้ว พึงรีบให้ทำ ถ้าผ้านั้นมีไม่พอ เมื่อความหวังจะได้มีอยู่ ภิกษุนั้นพึงเก็บจีวรนั้นไว้ได้เดือนหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจีวรที่ยังบกพร่องจะได้พอกัน ถ้าเก็บไว้ยิ่งกว่ากำหนดนั้น แม้ความหวังว่าจะได้มีอยู่ ก็เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
     -จีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว และคำว่ากฐินเดาะเสียแล้ว พึงทราบคำอธิบายจากสิกขาบทที่ ๑
     -ที่ชื่อว่า อกาลจีวร ได้แก่ ผ้าที่เมื่อไม่ได้กรานกฐินเกิดได้ตลอด ๑๑ เดือน เมื่อได้กรานกฐินแล้วเกิดได้ตลอด ๗ เดือน แม้ผ้าที่เขาเจาะจงให้เป็นอกาลจีวรถวายในกาลนี้ก็ชื่อว่า อกาลจีวร
     -บทว่า เกิดขึ้น คือ เกิดจากสงฆ์ก็ตาม (อุทิศถวายแก่สงฆ์) คณะก็ตาม (ถวายแก่ภิกษุผู้เรียนพระสูตรเป็นต้น) จากญาติมิตรก็ตาม จากที่บังสุกุลก็ตาม จากทรัพย์ของตนก็ตาม, หากหวังอยู่ คือ เมื่อต้องการก็พึงรับไว้, ครั้นรับแล้วพึงทำให้เสร็จภายใน ๑๐ วัน
      -ถ้าผ้านั้นมีไม่พอที่จะทำไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง พึงเก็บผ้านั้นไว้ได้เดือนหนึ่งเป็นอย่างมาก
     -คำว่า เพื่อจีวรที่ยังบกพร่องจะได้พอกัน คือ เพื่อประสงค์จะยังจีวรที่บกพร่องให้บริบูรณ์ หากเก็บไว้เกินเดือนหนึ่งแล้ว แม้ว่าจะยังมีความหวังว่าจะได้ผ้ามาเพิ่มอีกก็ตาม (จะได้จากสงฆ์หรือญาติ เป็นต้น)
     “ถ้าเก็บไว้ยิ่งกว่ากำหนดนั้น แม้ความหวังจะได้มีอยู่” อธิบายว่า จีวรเดิมเกิดในวันนั้น จีวรที่หวังก็เกิดขึ้นในวันนั้น พึงทำให้เสร็จใน ๑๐ วัน (ตามพระบัญญัติสิกขาบทที่ ๑)
     จีวรเดิมเกิดได้ ๒ วัน  จีวรที่หวังจึงเกิด พึงทำให้เสร็จใน ๑๐ วัน
     จีวรเดิมเกิดได้ ๓ วัน  จีวรที่หวังจึงเกิด พึงทำให้เสร็จใน ๑๐ วัน
     จีวรเดิมเกิดได้ ๒๑ วัน  จีวรที่หวังจึงเกิด พึงทำให้เสร็จใน ๙ วัน
     จีวรเดิมเกิดได้ ๒๒ วัน  จีวรที่หวังจึงเกิด พึงทำให้เสร็จใน ๘ วัน
     จีวรเดิมเกิดได้ ๒๙ วัน  จีวรที่หวังจึงเกิด พึงทำให้เสร็จใน ๑ วัน
     จีวรเดิมเกิดได้ ๓๐ วัน  จีวรที่หวังจึงเกิด พึงอธิษฐาน พึงวิกัปไว้ หรือพึงสละให้ผู้อื่นไปในวันนั่นแหละ ถ้าไม่อธิษฐาน ไม่วิกัปไว้ หรือไม่สละให้ผู้อื่นไป เมื่ออรุณที่ ๓๑ ขึ้นมา จีวรนั้นเป็นนิคสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล
     วิธีเสียสละแก่สงฆ์... วิธีเสียสละแก่คณะ..
     วิธีเสียสละแก่บุคคล
     ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง กล่าวว่า “ท่าน อกาลจีวรผืนนี้ของข้าพเจ้าล่วงเดือนหนึ่งเป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละอกาลจีวรผืนนี้แก่ท่าน”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละ พึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรที่สละนั้นว่า “ข้าพเจ้าให้อกาลจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้
     เมื่อจีวรเดิมเกิดขึ้น (ได้คืนมา) แล้ว จีวรที่หวังจึงเกิดขึ้น เนื้อผ้าไม่เหมือนกัน และราตรียังเหลืออยู่ ภิกษุไม่ต้องการ ก็ไม่พึงทำ

อาบัติ
     ๑.จีวรล่วงเดือนหนึ่งแล้ว ภิกษุรู้ว่าล่วงแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๒.จีวรล่วงเดือนหนึ่งแล้ว ภิกษุสงสัย เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๓.จีวรล่วงเดือนหนึ่งแล้ว ภิกษุคิดว่ายังไม่ล่วงแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๔.จีวรยังไม่ได้อธิษฐาน, ยังไม่ได้วิกัป, ยังไม่ได้สละให้ไป ภิกษุสำคัญว่าอธิษฐานแล้ว, วิกัปแล้ว, สละให้ไปแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๕.จีวรยังไม่หาย, ยังไม่ฉิบหาย, ยังไม่ถูกไฟไหม้, ยังไม่ถูกโจรชิงไป ภิกษุสำคัญว่าหายแล้ว, ฉิบหายแล้ว, ถูกไฟไหม้แล้ว, โจรชิงไปแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๖.จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุไม่เสียสละ บริโภค ต้องทุกกฎ
     ๗.จีวรยังไม่ล่วงเดือนหนึ่ง ภิกษุคิดว่าล่วงแล้ว บริโภค ต้องทุกกฎ
     ๘.จีวรยังไม่ล่วงเดือนหนึ่ง ภิกษุสงสัย บริโภค ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     จีวรยังไม่ล่วงเดือนหนึ่ง ภิกษุรู้ว่ายังไม่ล่วง บริโภค ไม่ต้องอาบัติ ๑ ในภายในหนึ่งเดือน ภิกษุอธิษฐาน ๑ วิกัปไว้ ๑ สละให้ไป ๑ จีวรหาย ๑ จีวรฉิบหาย ๑ ถูกไฟไหม้ ๑ โจรชิงไป ๑ ภิกษุถือวิสาสะ ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๗๖๔-๗๖๗
     ๑.มีความหวังจากสงฆ์ หรือจากคณะ อย่างนี้ว่า ณ วันชื่อโน้น สงฆ์จักได้จีวร คณะจักได้จีวร จีวรจักเกิดขึ้นแก่เรา จากสงฆ์หรือจากคณะนั้นๆ หรือมีความหวังจากญาติหรือจากมิตร อย่างนี้ว่า ผ้าพวกญาติส่งมาแล้ว พวกมิตรส่งมาแล้วแก่เรา เพื่อประโยชน์แก่จีวร ชนเหล่านั้นมาแล้วจักถวายจีวร, หรือหวังจะได้จากผ้าบังสุกุล
     -เมื่อภิกษุไม่ปรารถนาก็ไม่พึงให้ทำจีวร ได้จีวรที่หวังจะได้มาแล้วเท่านั้น พึงกระทำในภายในกาล แม้จีวรที่หวังจะได้มา พึงอธิษฐานเป็นบริขารโจล
     ถ้าจีวรเดิมเป็นผ้าเนื้อหยาบ จีวรที่หวังจะได้มาเป็นเนื้อละเอียด พึงอธิษฐานจีวรเดิมให้เป็นบริขารโจล และเก็บจีวรที่หวังจะได้มานั่นแลให้เป็นจีวรเดิม, จีวรนั้นย่อมได้บริหารอีกเดือนหนึ่ง ภิกษุย่อมได้เพื่อผลัดเปลี่ยนกันและกันไว้เป็นจีวรเดิม จนตราบเท่าที่ตนปรารถนา โดยอุบายนี้แล
     ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เป็นเช่นเดียวกับปฐมกฐินสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๑) ที่กล่าวแล้ว  



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่๔
(พระวินัยข้อที่ ๒๓)
ภิกษุใช้นางภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ให้ซักก็ดี ให้ย้อมก็ดี ให้ทุบก็ดี ซึ่งจีวรเก่า
ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    อดีตภรรยาของพระอุทายี บวชในสำนักภิกษุณี นางมายังสำนักของพระอุทายีเสมอ ท่านอุทายีก็ไปยังสำนักภิกษุณีนั้นเสมอ
     เช้าวันหนึ่ง ท่านอุทายีเข้าไปยังสำนักภิกษุณีนั้น นั่งบนอาสนะเปิดองค์กำเนิดเบื้องหน้าภิกษุณีนั้น แม้ภิกษุณีนั้นก็นั่งบนอาสนะ เปิดองค์กำเนิดเบื้องหน้าท่านพระอุทายีๆ มีความกำหนัดเพ่งดูองค์กำเนิดของนาง อสุจิได้เคลื่อนจากองค์กำเนิดของท่านพระอุทายีๆ พูดว่า น้องหญิง เธอจงไปหาน้ำมา ฉันจักซักผ้าอันตรวาสก
     นางบอกว่า ส่งมาเถิด ดิฉันจักซักถวาย ครั้นแล้วนางได้นำอสุจิส่วนหนึ่งสอดเข้าไปในองค์กำเนิด ต่อมานางได้ตั้งครรภ์เพราะเหตุนั้นแล้ว  ภิกษุณีทั้งหลายได้พูดกันว่า ภิกษุณีรูปนี้มิใช่พรหมจารี นางจึงมีครรภ์ นางพูดว่า แม่เจ้า ดิฉันมิใช่พรหมจารีก็หาไม่ ครั้นแล้วนางได้แจ้งความนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลายๆ เพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนพระอุทายีจึงได้ให้ภิกษุณีซักจีวรเก่า แล้วแจ้งกับภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล... ตรัสถามพระอุทายีว่า ภิกษุณีเป็นญาติหรือไม่ พระอุทายีทูลว่า มิใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า... แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ยังภิกษุณีผู้มิใช่ญาติให้ซักก็ดี ให้ทุบก็ดี ซึ่งจีวรเก่า เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถธิบาย

     -ผู้มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนเนื่องถึงกัน ทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี ตลอด ๗ ชั่วอายุของบุรุพชนก
     -ภิกษุณี ได้แก่ สตรีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)
     -จีวรเก่า ได้แก่ ผ้านุ่งแล้วหนหนึ่งก็ดี ห่มแล้วหนหนึ่งก็ดี
     ภิกษุสั่งว่า จงซัก ต้องอาบัติทุกกฎ จีวรที่ภิกษุณีซักแล้วเป็นนิสสัคคีย์
     ภิกษุสั่งว่า จงย้อม ต้องอาบัติทุกกฎ จีวรที่ภิกษุณีย้อมแล้วเป็นนิสสัคคีย์
     ภิกษุสั่งว่า จงทุบ ต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อจีวรที่ภิกษุณีทุบด้วยมือก็ตาม ด้วยตะลุมพุกก็ตามเพียงทีเดียว จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ จำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล
     วิธีเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล ไม่ขอแสดงไว้ เนื่องจากปัจจุบันภิกษุณีในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทถือว่าขาดสูญไปแล้ว

อาบัติ
     ไม่ขอแสดงไว้ เนื่องจากปัจจุบันภิกษุณีในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทถือว่าขาดสูญไปแล้ว

อนาบัติ
     ภิกษุณีเป็นญาติซักให้เอง ๑ ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติเป็นผู้ช่วยเหลือ ๑ ภิกษุไม่ได้บอกใช้ ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติซักให้เอง ๑ ภิกษุใช้ให้ซักจีวรที่ยังไม่ได้บริโภค ๑ ภิกษุใช้ให้ซักบริขารอย่างอื่น เว้นจีวร ๑ ใช้สามเณรให้ซัก ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๗๗๘-๗๘๓
     ๑.ภิกษุณีไม่ใช่คนเนื่องถึงกันด้วยความเกี่ยวเนื่องทางมารดา ไม่ใช่คนเนื่องถึงกันด้วยความเกี่ยวเนื่องทางบิดา ตลอด ๗ ชั่วอายุของบุรุพชนก อย่างนี้คือ บิดา, บิดาของบิดา (ปู่) บิดาของบิดา (ปู่ทวด), บิดาของปู่ทวดนั้น (ปู่ชวด)
     ตลอด ๗ ชั่วยุค ทั้งข้างสูงและข้างต่ำ อย่างนี้คือ บิดา ๑ มารดาของบิดา (ย่า) ๑, บิดาและมารดาของมารดา (ตา ยาย) ๑ พี่น้องชาย ๑ พี่น้องหญิง ๑ บุตร ๑ ธิดา ๑
     ตลอด ๗ ชั่วยุค อย่างนี้คือ บิดา, พี่น้องชายของบิดา, พี่น้องหญิงของบิดา, ลูกชายของบิดา, ลูกหญิงของบิดา, เชื้อสายของบุตรธิดาของชนเหล่านั้น
       ตลอด ๗ ชั่วยุค อย่างนี้คือ มารดา, มารดาของมารดา (ยาย), มารดาของยาย (ยายทวด), มารดาของยายทวด (ยายชวด) นั้น ๑
     ตลอด ๗ ชั่วยุค ทั้งข้างสูงและข้างต่ำ อย่างนี้คือ มารดา ๑ บิดาของมารดา (ตา) ๑ บิดาและมารดาของบิดานั้น (ทวดชายหญิง) ๑ พี่น้องชาย ๑ พี่น้องหญิง ๑ บุตร ๑ ธิดา ๑
     ตลอด ๗ ชั่วยุค อย่างนี้คือ มารดา, พี่น้องชายของมารดา (ลุง น้าชาย), พี่น้องหญิงของมารดา (ป้า น้าหญิง), ลูกชายของมารดา, ลูกหญิงของมารดา เชื้อสายบุตรธิดาของคนเหล่านี้ นี้ชื่อว่าผู้มิใช่ญาติ
     ๒.เป็นทุกกฎเมื่อใช้นางภิกษุณีผู้อุปสมบทแล้วในสำนักของภิกษุณีทั้งหลายให้ซัก (ยังไม่ได้อุปสมบทในภิกษุสงฆ์)
     ๓.สิกขาบทนี้สมุฏฐาน ๖ (ดูเทียบเคียงสิกขาบทที่ ๕ แห่งสังฆาทิเสส) เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ (ไม่รู้ว่าเป็นญาติก็เป็นอาบัติ) ปัณณัติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ (อกุศลจิต กุศลจิต กิริยาจิต)  



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๒๔)
ภิกษุรับจีวรจากมือนางภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน

    ภิกษุณีอุบลวัณณา นำเนื้อไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าที่เวฬุวันวิหาร ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน เหลือแต่ท่านพระอุทายีอยู่เฝ้าพระวิหาร ภิกษุณีอุบลวัณณา จึงฝากให้ท่านถวายเนื้อแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
     ท่านพระอุทายีได้กล่าวขออันตรวาสกจากนาง นางกล่าวว่า พวกดิฉันเป็นมาตุคาม มีลาภน้อย ทั้งผ้าผืนนี้ก็เป็นจีวรผืนสุดท้ายที่ครบ ๕ ของดิฉันๆ ถวายไม่ได้ พระอุทายีพูดว่า น้องหญิง เปรียบเสมือนบุรุษให้ช้างแล้วก็ควรสละสัปคับสำหรับช้างด้วย ฉันใด  เธอก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ถวายเนื้อแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็จงสละผ้าอันตรวาสกถวายแด่อาตมา
     ครั้นนางถูกท่านพระอุทายีวิงวอน จึงได้ถวายผ้านั้นแก่ท่านอุทายีแล้วกลับสู่สำนัก ภิกษุณีทั้งหลายที่คอยรับบาตรจีวรของภิกษุณีอุบลวัณณาได้ถามว่า แม่เจ้า ผ้าอันตรวาสกของคุณแม่อยู่ที่ไหน นางได้เล่าเรื่องนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลายๆ พากันเพ่งโทษติเตียน แล้วแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงสอบถามพระอุทายีว่า นางเป็นญาติหรือมิใช่ญาติ, อุ.มิใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า, ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ได้รับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
     ต่อมา ภิกษุรังเกียจ ไม่รับแลกเปลี่ยนจีวรกับภิกษุณีทั้งหลายๆ จึงกราบทูล...รับสั่งว่า “เราอนุญาตให้รับจีวรแลกเปลี่ยนกันของสหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี เราอนุญาตให้รับจีวรแลกเปลี่ยนกันของสหธรรมิกทั้ง ๕ นี้” แล้วมีพระอนุบัญญัติว่า “ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
     -ที่ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ และภิกษุณี พึงทราบคำอธิบายจากสิกขาบทที่ ๔
     -ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด (จะเห็นว่า จีวรนี้มิได้หมายเฉพาะผ้าห่มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผ้านุ่ง (อันตรวาสก) และผ้าสังฆาฏิด้วย ตามเรื่องท่านอุทายีรับอันตรวาสกจากภิกษุณี อันตรวาสก (สบง) นี้ เรียกว่าจีวรด้วย)
     -บทว่า เว้นไว้แต่ของแลกเปลี่ยน คือ ยกเว้นแต่จีวรที่แลกเปลี่ยนกัน สามารถแลกเปลี่ยนกันได้
     -ภิกษุรับเป็นทุกกฎในขณะที่รับ เมื่อได้จีวรมาเป็นนิสสัคคีย์ ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

อนาบัติ
     ภิกษุรับจีวรของภิกษุณีผู้เป็นญาติ ๑ แลกเปลี่ยนกันคือ แลกเปลี่ยนจีวรดีกับจีวรเลว หรือจีวรเลวกับจีวรดี ๑ ภิกษุถือวิสาสะ ๑ ภิกษุขอยืมไป ๑ ภิกษุรับบริขารอื่นนอกจากจีวร ๑ ภิกษุรับจีวรของสิกขมานา ๑ ภิกษุรับจีวรของสามเณรี ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๗๙๒-๗๙๖
     ๑.ถ้าภิกษุณีให้ที่มือด้วยมือก็ตาม วางไว้ที่ใกล้เท้าก็ตาม โยนไปเบื้องบนก็ตาม ถ้าภิกษุยินดี จีวรย่อมเป็นอันถือว่าภิกษุนั้นรับแล้ว, ถ้าว่าภิกษุรับเอาจีวรที่ภิกษุณีฝากไปในมือของนางสิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสกและอุบาสิกา เป็นต้น ไม่เป็นอาบัติ
     บริษัททั้ง ๔ นำจีวรและผ้าสีต่างๆ มาวางไว้ใกล้เท้าแห่งภิกษุผู้กล่าวอรรถกถา หรือยืนในอุปจาร หรือละอุปจาร โยนให้ บรรดาผ้าเหล่านั้น จีวรใดเป็นของภิกษุณีย่อมเป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้รับจีวรนั้นเหมือนกัน, นอกจากแลกเปลี่ยนกัน
     -หากภิกษุณีอุปสมบทแล้วในสงฆ์ฝ่ายเดียว เป็นทุกกฎ
     ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ (ดูเทียบเคียงจากสิกขาบทที่ ๕ แห่งสังฆาทิเสส) เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ (อกุศลจิต กุศลจิต กิริยาจิต)  



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๒๕)
ภิกษุขอจีวรต่อคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ ไม่ได้ปวารณา
ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีสมัยที่จะขอจีวรได้

    ท่านพระอุปนันทศากยบุตร เป็นผู้เชี่ยวชาญการแสดงธรรมกถา มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งฟังแล้วเลื่อมใสได้เข้าไปหาท่านอุปนันทศากยบุตร กล่าวว่า ขอพระคุณเจ้าพึงบอกสิ่งที่ต้องประสงค์ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ซึ่งข้าพเจ้าสามารถจะจัดถวายแด่พระคุณเจ้าได้
     พระอุปนันทศากยบุตรกล่าวว่า ถ้าประสงค์จะถวายแก่อาตมา ก็จงถวายผ้าสาฎกผืนหนึ่งจากผ้าที่ท่านนุ่งห่มเหล่านี้ เศรษฐีบุตรกล่าวขอผัดว่า ท่านเจ้าข้า กระผมเป็นกุลบุตร จะมีผ้าผืนเดียวเดินไปดูกระไรอยู่ โปรดรอก่อน ผมกลับไปบ้านแล้ว จักส่งผ้าสาฎกผืนหนึ่งจากผ้าเหล่านี้มาถวาย
     แต่ท่านอุปนันท์ก็ไม่ยอม กล่าวว่า ท่านไม่ประสงค์จะถวายแล้วจะปวารณาทำไม ท่านปวารณาแล้วไม่ถวายจะมีประโยชน์อะไร บุตรเศรษฐีนั้นจึงได้ถวายผ้าสาฎกผืนหนึ่งแล้วกลับไป ระหว่างทางชาวบ้านถามเศษฐบุตรจึงเล่าเรื่องนั้นให้ฟัง ชาวบ้านเพ่งโทษติเตียนท่านอุปนันทศากยบุตร ภิกษุทั้งหลายได้ยิน พากันติเตียน แล้วกราบทูล...ทรงสอบถามว่า เขาเป็นญาติหรือมิใช่ญาติ พระอุปนันท์กราบทูลว่า มิใช่ญาติพระพุทธเจ้าข้า แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดขอต่อพ่อเจ้าเรือนก็ดี ต่อแม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

สมัยต่อมา ภิกษุหลายรูปเดินทางจากเมืองสาเกตสู่พระนครสาวัตถี พวกเธอถูกพวกโจรแย่งชิงจีวร พวกเธอรังเกียจ จึงไม่กล้าขอจีวร พากันเปลือยกายเดินไปถึงพระนครสาวัตถี แล้วกราบไหว้ภิกษุทั้งหลายๆ รังเกียจพูดกันว่านี้เป็นพวกอาชีวก ภิกษุผู้เปลือยกายตอบว่า พวกกระผมไม่ใช่พวกอาชีวก พวกกระผมเป็นภิกษุ ภิกษุทั้งหลายได้เรียนท่านพระอุบาลีให้สอบสวนภิกษุเหล่านี้ ท่านพระอุบาลีสอบสวนแล้วจึงแจ้งให้ภิกษุทั้งหลายให้จีวร แล้วกราบทูล,,,ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ขอจีวรต่อพ่อเจ้าเรือนก็ดี ต่อแม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ นอกจากสมัย เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ สมัยในคำนั้นดังนี้คือ ภิกษุเป็นผู้มีจีวรถูกชิงเอาไปก็ดี จีวรฉิบหายก็ดี นี้สมัยในคำนั้น”

อรรถาธิบาย

     -ที่ชื่อว่า พ่อเจ้าเรือน ได้แก่ บุรุษผู้ครอบครองเรือน, แม่เจ้าเรือน ได้แก่ สตรีผู้ครอบครองเรือน
     -บทว่า นอกจากสมัย คือสามารถขอได้ในคราวที่จีวรถูกพวกราชา พวกโจร พวกนักเลง หรือพวกใดพวกหนึ่งชิงเอาจีวรไป, หรือคราวมีจีวรฉิบหาย คือ ถูกไฟไหม้ก็ดี ถูกน้ำพัดไป ถูกหนูหรือปลวกกัดก็ดี หรือเก่าเพราะใช้สอยก็ดี
     ภิกษุขอนอกจากสมัยเป็นทุกกฎในขณะที่ขอ เป็นนิสสัคคีย์เมื่อได้จีวรมา ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์...กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอแล้วต่อพ่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ นอกจากสมัย เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์”
     ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ดังนี้
     “ท่านเจ้าข้า ของสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป...

วิธีเสียสละแก่บุคคล
     ภิกษุรูปนั้นพอเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอแล้วต่อพ่อเจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติ นอกจากสมัย เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”
      ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติแล้ว พึงคืนจีวรด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
    ๑.พ่อเจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติ ภิกษุรู้ว่ามิใช่ญาติ ขอจีวร นอกจากสมัย เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๒.พ่อเจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย...เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.พ่อเจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติ ภิกษุคิดว่าเป็นญาติ...เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.พ่อเจ้าเรือน ผู้เป็นญาติ ภิกษุคิดว่ามิใช่ญาติ ขอจีวร...ต้องทุกกฏ
     ๕.พ่อเจ้าเรือน ผู้เป็นญาติ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
     ๖.พ่อเจ้าเรือน ผู้เป็นญาติ ภิกษุรู้ว่าเป็นญาติ...ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุขอในสมัย ๑ ขอต่อญาติ ๑ ขอต่อคนปวารณา ๑ ขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑ จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๘๐๗-๘๑๓
     ๑.บรรดาภิกษุผู้บวชจากศากยตระกูลประมาณแปดหมื่นรูป พระอุปนันทศากยบุตรเป็นภิกษุเลวทราม มีชาติโลเล, แต่เป็นผู้สามารถฉลาดถึงพร้อมด้วยเสียง คือ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีลูกคอไพเราะ
     ๒.ถ้าพวกภิกษุหนุ่มเห็นพวกโจรแล้วถือบาตรและจีวรหนีไป, พวกโจรชิงเอาเพียงผ้านุ่ง และผ้าห่มของพระเถระทั้งหลายนั้นไป พระเถระทั้งหลายยังไม่ควรให้ขอจีวร ยังไม่ควรหักกิ่งไม้และเด็ดใบไม้; ถ้าพวกภิกษุหนุ่มทิ้งห่อของทั้งหมดหนีไป พวกโจรชิงเอาผ้านุ่งและผ้าห่มของพระเถระและห่อสิ่งของนั้นไป, พวกภิกษุหนุ่มมาแล้ว ยังไม่ควรให้ผ้านุ่งและผ้าห่มของตนแก่พระเถระทั้งหลาย เพราะว่าพวกภิกษุผู้มิได้ถูกโจรชิงเอาจีวรไป จักไม่ได้เพื่อจะหักกิ่งไม้และใบไม้เพื่อประโยชน์แก่ตน, แต่ย่อมได้เพื่อจะหักกิ่งไม้และใบไม้เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุณีถูกโจรชิงจีวรไป และพวกภิกษุผู้ถูกโจรชิงเอาจีวรไปย่อมได้ เพื่อจะหักกิ่งไม้และใบไม้เพื่อประโยชน์แก่ตนทั้งแก่คนอื่น, เพราะฉะนั้นพระเถระทั้งหลายพึงหักกิ่งไม้และใบไม้เอาปอเป็นต้น ถักแล้วพึงให้แก่พวกภิกษุหนุ่ม หรือพวกภิกษุหนุ่มหักเพื่อประโยชน์แก่พวกพระเถระทั้งหลาย ถักแล้วพึงให้แก่พวกภิกษุหนุ่ม หรือพวกภิกษุหนุ่มหักเพื่อประโยชน์แก่พวกพระเถระทั้งหลาย ถักแล้วให้แก่พระเถระเหล่านั้นที่มือ หรือไม่ให้ โดยตนนุ่งเสียเอง แล้วให้ผ้านุ่งห่มของตนแก่พระเถระทั้งหลาย ไม่เป็นเป็นปาจิตตีย์ เพราะพรากภูตคามเลย และไม่เป็นทุกกฎเพราะทรงผ้าธงชัยของพวกเดียรถีย์
     ถ้าในระหว่างทางมีลานของพวกช่างย้อม หรือพบเห็นชาวบ้าน พึงให้ขอจีวร และพวกชาวบ้านที่ถูกขอ หรือชาวบ้านพวกอื่นที่เห็นพวกภิกษุนุ่งกิ่งไม้และใบไม้แล้ว เกิดความอุตสาหะถวายผ้าเหล่าใดแก่ภิกษุเหล่านั้น, ผ้าเหล่านั้นจะมีชายหรือไม่มีชายก็ตาม มีสีต่างๆ เช่น สีเขียวเป็นต้นก็ตาม เป็นกัปปิยะบ้าง เป็นอกัปปิยะบ้าง ทั้งหมด ภิกษุเหล่านั้นควรนุ่งควรห่มได้ทั้งนั้น เพราะพวกเธอตั้งอยู่ในฐานผู้ถูกโจรชิงจีวร
๓.ภิกษุ (ผู้ถูกโจรชิงจีวร) เดินไปถึงวัดใดก่อน ถ้าจีวรสำหรับวิหาร หรือของสงฆ์ในวัดนั้นมีอยู่ เป็นต้นว่า
 -จีวรสำหรับวิหาร คือ จีวรที่พวกชาวบ้านให้สร้างวัดแล้ว เตรียมจีวรไว้ถวายด้วย
      -เครื่องปูลาดบนเตียง คือ ท่านเรียกว่า เครื่องลาดข้างบน
     -เครื่องปูลาดที่ทำด้วยเศษหญ้า เพื่อต้องการจะรักษาพื้นที่ทำกสิกรรม ท่านเรียกว่า ผ้าลาดพื้น
     -เหลือก (ปลอก) ฟูกรองเตียง หรือฟูกรองตั่ง ชื่อว่า เปลือกฟูก ถ้าเปลือกฟูกเขายัดไว้เต็ม แม้จะรื้อออกแล้วถือเอา (คลุมกาย) ก็ควร
     บรรดาผ้าที่กล่าวมานี้ จีวรที่มีอยู่ในวัดนั้น พวกภิกษุที่ถูกโจรชิงเอาไป แม้ไม่ขออนุญาต จะถือเอานุ่งหรือห่มก็ได้, โดยตั้งไว้ในใจว่า เราได้ผ้านุ่งผ้าห่มเมื่อใด จักนำมาไว้ยังที่เดิม โดยย่อมไม่ได้การถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์, เมื่อได้จีวรพึงกระทำกลับให้เป็นปกติทีเดียว, ถ้าภิกษุไปยังต่างถิ่นแล้ว พึงเก็บไว้ในอาวาสของสงฆ์แห่งหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่การใช้สอย โดยใช้สอยอย่างเป็นของสงฆ์, ถ้าผ้าที่นำไปชำรุดหรือหายไป โดยการใช้สอยของภิกษุนั้น ไม่เป็นสิ้นใช้ (ไม่ต้องหามาคืน) แต่ถ้าว่าภิกษุไม่ได้ผ้าอะไรเลยตามกล่าวมา เธอพึงเอาหญ้าหรือใบไม้ปกปิดแล้วมาเถิด
     ในปัจจัยทั้งหลายที่เขาปวารณาไว้ด้วยอำนาจสงฆ์ (ให้สงฆ์) ควรขอแต่พอประมาณเท่านั้น, ในการปวารณาเฉพาะบุคคล ควรขอแต่เฉพาะสิ่งของที่เขาปวารณาเหมือนกัน (ไม่พึงขอที่เขาไม่ได้ปวารณา) แท้จริงคนใดปวารณาด้วยจตุปัจจัยกำหนดไว้เองทีเดียว แต่ถวายสิ่งของที่ต้องการโดยอาการอย่างนี้ คือ ย่อมถวายจีวรตามสมควรแก่กาล ย่อมถวายอาหารมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นทุกวัน กิจที่จะต้องออกปากขอกะคนเช่นนี้ไม่มี, ส่วนบุคคลใดปวารณาแล้ว ย่อมไม่ได้ (เมื่อภิกษุออกปาก) เพราะเป็นผู้เขลา หรือเพราะหลงลืมสติ บุคคลนั้นอันภิกษุควรขอ, บุคคลกล่าวว่า ผมปวารณาเรือนของผม ภิกษุไปสู่เรือนของบุคคลนั้นแล้ว พึงนั่งนอนตามสบาย แต่ไม่พึงรับเอาอะไรๆ ส่วนบุคคลใดกล่าวว่า ผมขอปวารณาสิ่งของที่มีอยู่ในเรือนของผม ดังนี้ ภิกษุพึงขอสิ่งของที่เป็นกัปปิยะซึ่งมีอยู่ในเรือนของบุคคลนั้น ในกุรุนทีกล่าวว่า แต่ภิกษุจะนั่งหรือจะนอนในเรือนไม่ได้
     ๔.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ (ดูเทียบเคียงสิกขาบทที่ ๕ แห่งสังฆาทิเสส) เป็นกิริยา เป็น อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ (อกุศลจิต กุศลจิต กิริยาจิต)



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อกฺโกฉิ มํ อวธิ มํ   อชินิ มํ อหาสิ เม
เข จ ตํ อุปนยฺหนฺติ เวรํ เตสํ น สมฺมติ ฯ ๓ ฯ  
ใครมัวคิดอาฆาตว่า "มันด่าเรา มันทำร้ายเรา
มันเอาชนะเรา มันขโมยของเรา" เวรของเขาไม่มีทางระงับ

'He abused me, he beat me, He defeated me, he robbed me'
In those who harbour such thoughts Hatred never ceases
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 มีนาคม 2559 13:25:28
.

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๒๖)
ภิกษุขอได้เพียงสบง จีวร หรือสังฆาฏิเท่านั้น
ถ้าขอเกินกว่านั้น ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    พระฉัพพัคคีย์เข้าไปหาภิกษุผู้ถูกชิงจีวรไปแล้ว กล่าวให้พวกท่านขอจีวร ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า พอแล้ว ขอรับ พวกผมได้จีวรมาแล้ว พระฉัพพัคคีย์กล่าวว่า งั้นพวกผมจะขอเพื่อประโยชน์ของพวกท่าน, ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า จงขอเถิด ขอรับ
     พระฉัพพัคคีย์เข้าไปหาพวกพ่อเจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติ แล้วกล่าวขอว่า ท่านทั้งหลาย พวกภิกษุที่มีจีวรถูกชิงไปมาแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงถวายจีวรแก่พวกเธอ แล้วขอจีวรได้มาเป็นอันมาก
     ต่อมา พ่อเจ้าเรือนเหล่านั้นมาพบกันต่างพูดกันว่า ตนเองได้ถวายจีวรแก่ภิกษุผู้ถูกโจรชิงไปแล้ว จึงรู้ว่าภิกษุไม่รู้จักประมาณ พากันเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยิน ต่างเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล...พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
     “ถ้าพ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ ปวารณาต่อภิกษุนั้นด้วยจีวรเป็นอันมาก เพื่อนำไปได้ตามใจ ภิกษุนั้นพึงยินดีจีวร มีอุตราสงค์กับอันตรวาสกเป็นอย่างมากจากจีวรเหล่านั้น ถ้ายินดียิ่งกว่านั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
     -ที่ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ, พ่อเจ้าเรือน, แม่เจ้าเรือน พึงทราบคำอธิบายจากสิกขาบทก่อนๆ
     -บทว่า ปวารณา...เพื่อนำไปได้ตามใจ คือปวารณาว่า ท่านต้องการจีวรเท่าใด ก็จงรับไปเท่านั้นเถิด
     -คำว่า ภิกษุนั้นพึงยินดี จีวรมีอุตราสงค์กับอันตรวาสกเป็นอย่างมากจากจีวรเหล่านั้น คือถ้าจีวรหาย ๓ ผืน เธอพึงยินดีเพียง ๒ ผืน, หาย ๒ ผืน พึงยินดีผืนเดียว, หายผืนเดียว ไม่พึงยินดีเลย
     -คำว่า ถ้ายินดียิ่งกว่านั้น คือ ขอมาได้มากกว่านั้นเป็นทุกกฏ ในขณะที่ยินดีที่ได้เกินกำหนดเป็นนิสสัคคีย์ เมื่อได้จีวรมาต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์...กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอแล้วเกินกำหนดต่อเจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติ เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่า
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป...กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า...ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่า
     “ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่บุคคล
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง...”ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า...ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”
     ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรนั้นด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
     ๑.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุรู้ว่ามิใช่ญาติ ขอจีวรเกินกำหนด เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๒.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย...เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุคิดว่าเป็นญาติ...เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุคิดว่ามิใช่ญาติ...ต้องทุกกฎ
     ๕.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
     ๖.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุรู้ว่าเป็นญาติ...ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุนำเอาไปด้วยคิดว่า จักนำจีวรที่เหลือมาคืน ๑  เจ้าเรือนบอกว่า จีวรที่เหลือจงเป็นของท่านรูปเดียว ๑  เจ้าเรือนมิได้ถวายเพราะเหตุจีวรถูกชิงไป ๑  ไม่ได้ถวายเพราะเหตุจีวรหาย ๑  ภิกษุขอต่อญาติ ๑  ขอต่อคนปวารณา ๑  จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๘๒๐-๘๒๒
     ๑.ถ้าภิกษุใดมีจีวรหาย ๓ ผืน ภิกษุนั้นพึงยินดี ๒ ผืน คือ จักนุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง แล้วแสวงหาอีกผืนหนึ่งจากภิกษุผู้เป็นสภาค (มีส่วนเสมอกัน), ภิกษุใดมีจีวรหาย ๒ ผืน ภิกษุนั่นพึงยินดีผืนเดียว, ถ้าภิกษุเที่ยวไปโดยปกติด้วยอุตราสงค์กับอันตรวาสก พึงยินดี ๒ ผืนนั้น เมื่อยินดีเช่นนั้น ก็จักเป็นผู้เสมอกับภิกษุผู้ยินดีผืนเดียวนั่นเอง, หายผืนเดียว ไม่พึงยินดี, ภิกษุใดมีจีวรหายไปผืนเดียวในบรรดาจีวร ๓ ผืน ภิกษุนั้นไม่ควรยินดี
     แต่บรรดาจีวร ๒ ผืน ของภิกษุใด หายผืนเดียว เธอพึงยินดีผืนเดียว, แต่ของภิกษุใดมีผืนเดียว และจีวรผืนนั้นหาย ภิกษุนั้นพึงยินดี ๒ ผืน, แต่สำหรับภิกษุที่หายไปทั้ง ๕ ผืน พึงยินดี ๒ ผืน, เมื่อหาย ๔ ผืน พึงยินดีผืนเดียว เมื่อหาย ๓ ผืน ไม่พึงยินดีอะไรๆ เลย
     -ไม่ได้ถวายเพราะเหตุจีวรหาย ได้แก่ การที่พวกทายกถวายด้วยเห็นว่าเป็นพหูสูตเป็นต้น
     ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ (อกุศลจิต กุศลจิต กิริยาจิต)



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๒๗)
ภิกษุแนะนำให้เขาซื้อจีวรที่ดีกว่าที่เขาตั้งใจจะให้
ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง เข้าไปบิณฑบาตในบ้าน ได้ยินบุรุษผู้หนึ่งกล่าวกับภรรยาว่า จักให้พระอุปนันทศากยบุตรครองจีวร เมื่อกลับมาถึงวิหาร จึงเข้าไปหาพระอุปนันทะ บอกความที่ได้ยินมานั้น
     พระอุปนันทศากยบุตรได้เข้าไปหาบุรุษที่จะถวายจีวรนั้น กล่าวถามเขาว่า จักให้อาตมาครองจีวรหรือ บุรุษนั้นกล่าวว่าเป็นความจริง ผมตั้งใจไว้อย่างนี้ว่า จักให้ท่านพระอุปนันท์ครองจีวร
     พระอุปนันท์กล่าวว่า ถ้าท่านประสงค์จะให้อาตมาครองจีวร ก็จงให้ครองจีวรชนิดนี้เถิด เพราะจีวรที่อาตมาไม่ใช้ แม้ครองแล้วจักทำอะไรได้
     บุรุษนั้นจึงเพ่งโทษติเตียนว่า พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้เป็นคนมักมาก ไม่สันโดษ จะให้ครองจีวรก็ทำได้ไม่ง่าย ไฉนพระคุณเจ้าอุปนันท์อันเราไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน จึงได้เข้ามาหาแล้วถึงการกำหนดในจีวรเล่า
     ภิกษุทั้งหลายได้ยินต่างเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล...ทรงมีพระบัญญัติว่า
    “อนึ่ง มีพ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ ตระเตรียมทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะภิกษุไว้ว่า เราจักจ่ายจีวรด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้ แล้วยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร ถ้าภิกษุนั้นเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อนเข้าไปหา แล้วถึงการกำหนดในจีวรในสำนักของเขาว่า ดีละ ท่านจงจ่ายจีวรเช่นนั้นหรือเช่นนี้ ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้ แล้วยังรูป (อาตมา) ให้ครองเถิด เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ด้วยถือเอาความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี”

อรรถาธิบาย
     -ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร ได้แก่ เงิน ทอง แก้วมณี แก้วมุกดา แก้วลาย แก้วผลึก ผ้า ด้าย หรือฝ้าย คือด้วยทรัพย์ที่เขาจัดหาไว้เฉพาะ
     -จ่าย คือ แลกเปลี่ยน, ให้ครอง คือ จักถวาย
     -คำว่า ถ้าภิกษุนั้น...ในสำนักของเขา ได้แก่ ภิกษุที่เขาตระเตรียมทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไว้ถวายเฉพาะ
     -เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน คือ เขาไม่ได้บอกไว้ก่อนว่า ท่านเจ้าข้า ท่านจะต้องการจีวรเช่นไร ผมจักจ่ายจีวรเช่นไรถวายท่าน
     -ถึงการกำหนดในจีวร คือ กำหนดว่า ขอให้ยาว ขอให้กว้าง ขอให้เนื้อแน่น หรือขอให้เนื้อละเอียด
     -บทว่า ถือเอาความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี คือ มีความประสงค์ผ้าที่ดี ต้องการผ้าที่มีราคาแพง
     หากเขาจ่ายจีวรยาวก็ดี กว้างก็ดี เนื้อแน่นก็ดี เนื้อละเอียดก็ดี ตามคำของเธอ เป็นทุกกฎ ในขณะที่เขาจ่าย เป็นนิสสัคคีย์เมื่อได้จีวรมาต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
     ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์...”ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ข้าพเจ้าเข้าไปหาเจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติ ถึงการกำหนดในจีวร เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าจะสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์”
     ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่า
    “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป... “ท่านเจ้าขา จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า... ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย”
     แล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
     “ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้...เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่บุคคล
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง... “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า... ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”
     ครั้นสละแล้วแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
     ๑.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุรู้ว่ามิใช่ญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาเจ้าเรือน แล้วถึงการกำหนดในจีวร เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๒.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุคิดว่าเป็นญาติ... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุคิดว่ามิใช่ญาติ... ต้องทุกกฎ
     ๕.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฎ
     ๖.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุรู้ว่าเป็นญาติ... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุขอต่อเจ้าเรือนผู้เป็นญาติ ๑  ขอต่อเจ้าเรือนผู้ปวารณาไว้ ๑  ขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑  ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  เจ้าเรือนใคร่จะจ่ายจีวรมีราคาแพง ภิกษุให้เขาจ่ายจีวรมีราคาถูก ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๘๓๐-๘๓๕
     ๑.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนสิกขาบทที่ ๗ ที่กล่าวมาแล้ว (ตทุตตริสิกขาบท)  



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๒๘)
ภิกษุแนะนำให้เขารวบรวมทรัพย์ซื้อจีวรอย่างดีเพื่อตนผู้เดียว
ซึ่งแต่เดิมเขาตั้งใจจะซื้ออย่างถูก ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่งได้กล่าวคำนี้กับบุรุษผู้หนึ่งว่า ผมจักให้ท่านพระอุปนันทะครองจีวร แม้บุรุษอีกผู้หนึ่งนั้นก็กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ผมก็จักให้ท่านพระอุปนันทะครองจีวร
     ภิกษุรูปหนึ่งถือการเที่ยวบิณฑบาต ได้ยินการสนทนานั้น กลับมาท่านจึงเข้าไปพระอุปนันทะ กล่าวชมว่า “อาวุโสอุปนันทะ ท่านเป็นผู้มีบุญมาก” แล้วบอกความที่ได้ยินมานั้น
     พระอุปนันทะได้เข้าไปหาบุรุษทั้งสองนั้น ถามถึงการจะถวายจีวร บุรุษทั้งสองตอบว่า จริง พวกเราตั้งใจจักให้ท่านครองจีวร ท่านอุปนันทะกล่าวว่า ถ้าท่านทั้งสองประสงค์จะให้อาตมาครองจีวร ก็จงให้ครองจีวรชนิดนี้เถิด เพราะจีวรทั้งหลายที่อาตมาไม่ใช้ แม้ครองแล้วจักทำอะไรได้
     บุรุษทั้งสองจึงเพ่งโทษติเตียนว่า ท่านอุปนันทะมักมาก จะให้ครองจีวรก็ทำได้ไม่ง่าย ภิกษุทั้งหลายได้ยินต่างเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
    “อนึ่ง มีพ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติสองคน ตระเตรียมทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะผืนๆ ไว้เฉพาะภิกษุว่า เราทั้งหลายจักจ่ายจีวรเฉพาะผืนๆ ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะผืนๆ เหล่านี้แล้ว ยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวรหลายผืนด้วยกัน ถ้าภิกษุนั้นเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาแล้วถึงการกำหนดในจีวรในสำนักของเขาว่า ดีละ ขอท่านทั้งหลายจงจ่ายจีวรเช่นนั้นหรือเช่นนี้ ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะผืนๆ เหล่านี้แล้ว ทั้งสองคนรวมกัน ยังรูปให้ครองจีวรผืนเดียวเถิด เป็นนิสสัคคีย์ ด้วยถือเอาความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี”

อรรถาธิบาย
     -ทั้งสองคนรวมกัน คือ รวมทรัพย์ทั้งสองเข้าเป็นรายเดียว
     -ถือเอาความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี คือ มีความประสงค์ผ้าที่ดี ต้องการผ้าที่ดี ต้องการผ้าที่มีราคาแพง
     ถ้าเขาจ่ายจีวรยาวก็ดี กว้างก็ดี เนื้อแน่นก็ดี เนื้อละเอียดก็ดี ตามคำของเธอเป็นทุกกฎในขณะที่เขาจ่าย เป็นนิสสัคคีย์เมื่อได้จีวรมา ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ข้าพเจ้าเข้าไปหาเจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติทั้งหลาย ถึงการกำหนดในจีวร เป็นของจำต้องสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้ให้แก่สงฆ์”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยญัตติกรรมวาจาดังนี้ “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป... ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า... ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
     “ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้... ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่บุคคล
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง... “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า... ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”  ครั้นสละแล้ว พึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
     ๑.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุรู้ว่ามิใช่ญาติ เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาเจ้าเรือนทั้งหลายแล้ว ถึงการกำหนดในจีวร เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๒.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุคิดว่าเป็นญาติ... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุคิดว่ามิใช่ญาติ... ต้องทุกกฎ
     ๕.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฎ
     ๖.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุรู้ว่าเป็นญาติ... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุขอต่อเจ้าเรือนผู้เป็นญาติ ๑  ขอต่อเจ้าเรือนผู้ปวารณาไว้ ๑  ขอเพื่อประโยชน์ของภิกษุอื่น ๑  ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  เจ้าเรือนใคร่จะจ่ายจีวรมีราคาแพง ภิกษุให้เขาจ่ายจีวรมีราคาถูก ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๘๔๓
     ๑.สิกขาบทนี้เป็นเช่นเดียวกับสิกขาบทที่ ๘ ที่กล่าวแล้ว, ต่างแต่ในสิกขาบทก่อน ภิกษุทำความเบียดเบียนแก่คนๆ เดียวเท่านั้น ส่วนในสิกขาบทนี้กระทำการเบียดเบียนแก่คน ๒ คน และผู้ศึกษาพึงทราบว่าเป็นอาบัติ หากภิกษุผู้กระทำความเบียดเบียนแก่คนมากคน ก็เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์เช่นเดียวกัน
  



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๒๙)
ภิกษุทวงเอาจีวรจากผู้เก็บเงินที่ผู้อื่นฝากไว้เป็นค่าจีวร เกิน ๓ ครั้ง
หรือไปยืนให้เขาเห็นเกิน ๖ ครั้ง ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    มหาอำมาตย์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอุปนันทศากยบุตร ให้ทรัพย์สำหรับซื้อจีวรไปกับคนของตน สั่งว่า เจ้าจงซื้อจีวรด้วยทรัพย์นี้ แล้วให้ท่านอุปนันท์ครองจีวร บุรุษนั้นเข้าไปหาท่านอุปนันท์กล่าวว่า กระผมนำทรัพย์ซื้อจีวรนี้มาเฉพาะพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงรับทรัพย์สำหรับซื้อจีวร
      ท่านอุปนันท์ตอบว่า พวกเรารับทรัพย์สำหรับซื้อจีวรไม่ได้ รับได้แต่จีวรอันเป็นของควรโดยกาลเท่านั้น บุรุษนั้นถามว่า ก็ใครๆ ผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านมีหรือ?
     ขณะนั้น อุบาสกผู้หนึ่งเดินมาสู่อารามด้วยกรณียะบางอย่าง ท่านอุปนันท์จึงกล่าวว่า อุบาสกนั้นแลเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นจึงเข้าไปหาสั่งให้เข้าใจแล้วกลับมาบอกท่านอุปนันท์ว่า อุบาสก ที่พระคุณเจ้าแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้น กระผมสั่งให้เขาเข้าใจแล้ว ขอพระคุณเจ้าจงเข้าไปหา เขาจักให้ท่านครองจีวรตามกาล
     สมัยต่อมา เป็นคราวประชุมของชาวนิคม และชาวนิคมได้ตั้งกติกากันไว้ว่า ผู้ใดมาภายหลังต้องถูกปรับ ๕๐ กหาปณะ คราวนั้นท่านอุปนันท์เข้าไปหาอุบาสกนั้นกล่าวว่า อาตมาต้องการจีวร
     อุบาสกขอผลัดว่า โปรดรอสักวันหนึ่งก่อน วันนี้เป็นวันประชุมของชาวนิคม ผู้ใดเข้าประชุมภายหลังจักถูกปรับ ๕๐ กหาปณะ
     ท่านอุปนันท์ได้กล่าวคาดคั้นว่า ท่านต้องให้จีวรในวันนี้แหละ แล้วยึดชายพกไว้ อุบาสกถูกคาดคั้นจึงซื้อจีวรถวายท่าน แล้วได้ไปถึงภายหลัง คนทั้งหลายพากันถามอุบาสกว่า เหตุใดจึงมาภายหลัง ท่านต้องเสียเงิน ๕๐ กหาปณะ อุบาสกได้แจ้งเรื่องนั้นแล้ว คนทั้งหลายเพ่งโทษติเตียน ภิกษุได้ยิน กราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง พระราชาก็ดี ราชอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คหบดีก็ดี ส่งทรัพย์สำหรับซื้อจีวรไปด้วยทูตเฉพาะภิกษุว่า เจ้าจงซื้อจีวรด้วยทรัพย์สำหรับซื้อจีวรนี้ แล้วยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร ถ้าทูตนั้นเข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ทรัพย์สำหรับซื้อจีวรนี้นำมาเฉพาะท่าน ขอท่านจงรับทรัพย์สำหรับซื้อจีวร ภิกษุนั้นพึงกล่าวต่อทูตอย่างนี้ว่า พวกเราหาได้รับทรัพย์สำหรับซื้อจีวรไม่  พวกเรารับแต่จีวรอันเป็นของควรโดยกาล ถ้าทูตนั้นกล่าวต่อภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็ใครๆ ผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านมีหรือ หากภิกษุต้องการจีวรพึงแสดงชนผู้ทำการในอารามหรืออุบาสกให้เป็นไวยาวัจกร ด้วยคำว่าคนนั้นแลเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ถ้าทูตนั้นสั่งไวยาวัจกรนั้นให้เข้าใจแล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า คนที่ท่านแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้น ข้าพเจ้าสั่งให้เข้าใจแล้ว ท่านจงเข้าไปหา เขาจักให้ท่านครองจีวรตามกาล
     ภิกษุผู้ต้องการจีวรเข้าไปหาไวยาวัจกรแล้ว พึงทวงพึงเตือน ๒-๓ ครั้ง ว่า รูปต้องการจีวร ภิกษุทวงอยู่ เตือนอยู่ ๒-๓ ครั้ง ยังไวยาวัจกรนั้นให้จัดจีวรสำเร็จได้ การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ พึงยืนนิ่งต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก เธอยืนนิ่ง ๔-๖ครั้งเป็นอย่างมาก ยังไวยาวัจกรนั้นให้จัดจีวรสำเร็จได้ การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ ถ้าเธอพยายามให้ยิ่งกว่านั้น ยังจีวรนั้นให้สำเร็จ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
     ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ พึงไปเองก็ได้ ส่งทูตไปก็ได้ ในสำนักที่ส่งทรัพย์สำหรับซื้อจีวรมาเพื่อเธอบอกว่า ท่านส่งทรัพย์สำหรับซื้อจีวรไปเฉพาะภิกษุใด ทรัพย์นั้นหาสำเร็จประโยชน์น้อยหนึ่งแก่ภิกษุนั้นไม่ ท่านจงทวงเอาทรัพย์ของท่านคืน ทรัพย์ของท่านอย่าได้ฉิบหายเสียเลย นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น

อรรถาธิบาย
     -ที่ชื่อว่า พระราชา ได้แก่ ผู้ทรงราชย์, ราชอำมาตย์ ได้แก่ ข้าราชการผู้ได้รับความชุบเลี้ยงจากพระราชา, พราหมณ์ ได้แก่ พวกพราหมณ์โดยกำเนิด, คหบดี ได้แก่ เจ้าเรือน ยกเว้นพระราชา ราชอำมาตย์ และพราหมณ์ นอกนั้นชื่อว่าคหบดี
     -ภิกษุเมื่อจะแสดงไวยาวัจกร ไม่ควรกล่าวว่าจงให้แก่คนนั้น หรือว่าคนนั้นจักเก็บไว้ หรือว่าคนนั้นจักแลก หรือจักซื้อ
     -เมื่อภิกษุต้องการจีวร เข้าไปหาไวยาวัจกรแล้ว พึงทวงพึงเตือน ๒-๓ ครั้ง ว่า รูป (อาตมา) ต้องการจีวร อย่าพูดว่า จงให้จีวรแก่รูป จงนำจีวรมาให้รูป จงแลกจีวรให้รูป จงซื้อจีวรให้รูป
     -หากเขายังไม่จัดการ, พึงไปยืนนิ่งต่อหน้า ไม่พึงนั่งบนอาสนะ ไม่พึงรับอามิส ไม่พึงกล่าวธรรม เมื่อเขาถามว่า มาธุระอะไร พึงกล่าวว่า รู้เอาเองเถิด
     ถ้านั่งบนอาสนะก็ดี รับอามิสก็ดี กล่าวธรรมก็ดี ชื่อว่าหักการยืนเสีย พึงยืนได้ครั้งที่สอง พึงยืนได้แม้ครั้งที่สาม ทั้ง ๔ ครั้งแล้ว พึงยืนได้ ๔ ครั้ง, ทวง ๕ ครั้งแล้ว พึงยืนได้ ๒ ครั้ง, ทวง ๖ ครั้งแล้ว จะพึงยืนไม่ได้ ถ้าเธอพยายามให้ยิ่งกว่านั้นยังจีวรให้สำเร็จ เป็นทุกกฎในขณะที่พยายาม เป็นนิสสัคคีย์ เมื่อได้จีวรมา ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล
     -ในประโยคที่ว่า “ถ้าให้สำเร็จไม่ได้...นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น” คือ นี้เป็นความถูกต้องในเรื่องนั้น

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์...กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ให้สำเร็จด้วยทวงเกิน ๓ ครั้ง ด้วยยืนเกิน ๖ ครั้ง เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์”
     ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุผู้มีชื่อนี้เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป...”ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า...ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า “ท่านเจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า...ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่บุคคล
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง...”ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้...ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติแล้วพึงคืนให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
     ๑.ทวงเกิน ๓ ครั้ง ยืนเกิน ๖ ครั้ง ภิกษุรู้ว่าเกิน ยังจีวรนั้นให้สำเร็จ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติอาจิตตีย์
     ๒.ทวงเกิน ๓ ครั้ง ยืนเกิน ๖ ครั้ง ภิกษุสงสัย...เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.ทวงเกิน ๓ ครั้ง ยืนเกิน ๖ ครั้ง ภิกษุเข้าใจว่าไม่ถึง...เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.ทวงไม่ถึง ๓ ครั้ง ยืนไม่ถึง ๖ ครั้ง ภิกษุเข้าใจว่าเกิน...ต้องทุกกฏ
     ๕.ทวงไม่ถึง ๓ ครั้ง ยืนไม่ถึง ๖ ครั้ง ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฎ
     ๖.ทวงไม่ถึง ๓ ครั้ง ยืนไม่ถึง ๖ ครั้ง ภิกษุรู้ว่าไม่ถึง...ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุทวง ๓ ครั้ง ยืน ๖ ครั้ง ๑  ภิกษุทวงไม่ถึง ๓ ครั้ง ยืนไม่ถึง ๖ ครั้ง ๑  ภิกษุไม่ได้ทวง ไวยาวัจกรถวายเอง ๑  เจ้าของทวงเอามาถวาย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๑/๓/๘๕๕-๘๗๔
     ๑.ภิกษุพึงยืนนิ่งเฉพาะจีวร ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก ไม่พึงกระทำกิจอะไรๆ อื่น  นี้เป็นลักษณะแห่งการยืน เพื่อจะทรงแสดงความเป็นผู้นิ่ง
        -แม้ไวยาวัจกรกล่าวว่า โปรดนั่งที่นี่เถิดขอรับ ก็ไม่ควรนั่ง, แม้เขาอ้อนวอนอยู่ว่า โปรดรับยาคูและของเคี้ยวเป็นต้น สักเล็กน้อยขอรับ ก็ไม่ควรรับ, แม้ถูกเขาอ้อนวอนอยู่ว่า โปรดกล่าวมงคลหรืออนุโมทนาเถิด ก็ไม่ควรกล่าวอะไรเลย เมื่อถูกเขาถามอย่างเดียวว่า ท่านมาเพราะเหตุไร? พึงบอกเขาว่าจงรู้เอาเองเถิด
        -ในพระบาลีนี้ตรัสให้ลดการยืน ๒ ครั้ง โดยเพิ่มการทวงครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันทรงแสดงลักษณะว่า การทวงหนึ่งครั้งเท่ากับการยืนสองครั้ง, ภิกษุทวง ๓ ครั้ง พึงยืนได้ ๖ ครั้ง, ทวง ๒ ครั้ง พึงยืนได้ ๘ ครั้ง, ทวงครั้งเดียว พึงยืนได้ ๑๐ ครั้ง, เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ทวง ๖ ครั้งแล้วไม่พึงยืน ฉันใด ยืน ๑๒ ครั้งแล้วก็ไม่พึงทวงฉันนั้น ดังนี้ก็มีเหมือนกัน
     เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในการทวงและการยืนทั้งสองนั่นอย่างนี้ว่า ถ้าภิกษุทวงอย่างเดียว ไม่ยืน ย่อมได้การทวง ๖ ครั้ง, ถ้ายืนอย่างเดียว ไม่ทวง ย่อมได้การยืน ๑๒ ครั้ง ถ้าทวงบ้าง ยืนบ้าง พึงลดการยืน ๒ ครั้ง ต่อการทวงครั้งหนึ่ง, บรรดาการทวงและการยืนนั้น ภิกษุใดไปทวงบ่อยๆ วันเดียวเท่านั้นถึง ๖ ครั้ง หรือว่าไปเพียงครั้งเดียว แต่พูด ๖ ครั้งว่า ผู้มีอายุ รูปต้องการจีวร,  อนึ่ง ไปยืนบ่อยๆ วันเดียวเท่านั้นถึง ๑๒ ครั้ง หรือว่าไปเพียงครั้งเดียว แต่ยืนในที่นั้นๆ ๑๒ ครั้ง  ภิกษุแม้นั้นย่อมหักการทวงทั้งหมดและการยืนทั้งหมด
        -เมื่อไม่ได้ ภิกษุพึงไปเอง หรือส่งทูตไป หากไม่กระทำเช่นนั้นต้องทุกกฎ เพราะละเลยวัตร
      ๒.ถามว่า ก็ในกัปปิยการกทั้งปวง จะพึงปฏิบัติอย่างนี้หรือ? แก้ว่า ไม่ต้องปฏิบัติอย่างนี้เสมอไป
      แท้จริง ชื่อว่า กัปปยการกนี้ โดยสังเขปมี ๒ อย่าง คือ ผู้ที่ถูกแสดง ๑  ผู้ที่มิได้ถูกแสดง ๑  ใน ๒ พวกนั้น กัปปิยการกผู้ที่ถูกแสดงมี ๒ คือ ผู้ที่ภิกษุแสดงอย่างหนึ่ง ผู้ที่ทูตแสดงอย่างนึ่ง, แม้กัปปิยการกที่ไม่ถูกแสดงก็มี ๒ อย่าง คือ กัปปิยการกผู้ออกปากเป็นเองต่อหน้า ๑  กัปปิยการกลับหลัง ๑  บรรดากัปปิยการกที่ภิกษุแสดงเป็นต้นนั้น กัปปิยการกที่ภิกษุแสดงมี ๔ อย่าง ด้วยอำนาจต่อหน้าและลับหลังกัปปิยการกที่ทูตแสดงก็เช่นเดียวกันแล
     อย่างไร?  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมส่งอกัปปิยวัตถุ (วัตถุที่ไม่สมควรแก่สมณะ) ไปด้วยทูตเพื่อประโยชน์แก่จีวรสำหรับภิกษุ ทูตเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น กล่าวว่า ท่านขอรับ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ ส่งอกัปปิยวัตถุนี้มาเพื่อประโยชน์แก่จีวรสำหรับท่าน ขอท่านจงรับอกัปปิยวัตถุนั้น ภิกษุห้ามว่า อกัปปิยวัตถุนี้ไม่สมควร ทูตถามว่า ท่านขอรับ ก็ไวยาวัจกรของท่านมีอยู่หรือ และไวยาวัจกรทั้งหลายที่พวกอุบาสกผู้ต้องการบุญสั่งไว้ว่า พวกท่านจงทำการรับใช้ภิกษุทั้งหลาย หรือไวยาวัจกรบางพวก เป็นเพื่อนเคยเห็นเคยคบกันมาของภิกษุทั้งหลายมีอยู่ บรรดาไวยาวัจกรเหล่านั้น คนใดคนหนึ่งนั่งอยู่ในสำนักของภิกษุในขณะนั้น ภิกษุแสดงแก่เขาว่า ผู้นี้เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ดังนี้, ทูตมอบอกัปปิยวัตถุไว้ในมือของไวยาวัจกรนั้น สั่งว่า ท่านจงซื้อจีวรถวายพระเถระ ดังนี้ แล้วไป นี้ชื่อว่า ไวยาวัจกรที่ภิกษุแสดงต่อหน้า
     ถ้าไวยาวัจกรมิได้นั่งอยู่ในที่นั้น ภิกษุย่อมแสดงขึ้นว่า คนชื่อนี้ ในบ้านชื่อโน้น เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ทูตนั้นไปมอบอกัปปิยวัตถุไว้ในมือไวยาวัจกรนั้นสั่งว่า ท่านพึงซื้อจีวรถวายพระเถระ มาบอกแก่ภิกษุแล้วจึงไป, ไวยาวัจกรชื่อว่า ผู้อันภิกษุแสดงไม่พร้อมหน้า อย่างที่หนึ่ง, ก็แลทูตนั้นมิได้มาบอกด้วยตนเองเลย แต่กลับวานผู้อื่นไปบอกว่า ท่านขอรับ! ทรัพย์สำหรับจ่ายค่าจีวร ผมได้มอบไว้ในมือผู้นั้น ขอท่านพึงรับเอาจีวรเถิด ไวยาวัจกรนี้ชื่อว่า ผู้อันภิกษุแสดงไม่พร้อมหน้า อย่างที่สอง
     ทูตนั้นมิได้วานคนอื่นไปเลย แต่ไปบอกภิกษุเสียเองแลว่า ผมจักมอบทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไว้ในมือแห่งผู้นั้น ขอท่านพึงรับเอาจีวรเถิด ผู้นี้ชื่อว่า ไวยาวัจกรที่ภิกษุแสดงไม่พร้อมหน้า อย่างที่สาม
     ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ไวยาวัจกร ๔ จำพวกนี้ คือ ผู้ที่ภิกษุแสดงต่อหน้าพวกหนึ่ง ผู้ที่ภิกษุแสดงไม่พร้อมหน้า ๓ จำพวก ชื่อว่าไวยาวัจกรที่ภิกษุแสดง, ในไวยาวัจกร ๔ จำพวกนี้ ภิกษุพึงปฏิบัติโดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว (ดูในตัวสิกขาบทและอรรถาธิบาย)
 


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 มีนาคม 2559 13:27:45
.

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๑/๓/๘๕๕-๘๗๔ (ต่อ)

    ภิกษุอีกรูปหนึ่งถูกทูตถามแล้วโดยนัยก่อนนั่นแล เพราะไวยาวัจกรไม่มี หรือเพราะไม่อยากจะจัดการ จึงกล่าวว่า พวกเราไม่มีกัปปิยการก และในขณะนั้นมีคนบางคนผ่านมา ทูตจึงมอบอกัปปิยวัตถุไว้ในมือของเขา แล้วกล่าวว่า ท่านพึงรับเอาจีวรจากมือของผู้นี้เถิด แล้วไปเสีย ไวยาวัจกรนี้ชื่อว่า ผู้อันทูตแสดงต่อหน้า
     -ยังมีทูตอื่นอีกเข้าไปยังบ้าน แล้วมอบอกัปปิยวัตถุไว้ในมือของผู้ใดผู้หนึ่ง ที่ชอบพอกับตน แล้วมาบอก หรือวานผู้อื่นไปบอกโดยนัยก่อนนั่นแล หรือกล่าวว่า ผมจักให้ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไว้ในมือของคนชื่อโน้น ท่านพึงรับเอาจีวรเถิด ดังนี้ แล้วไปเสีย,  ไวยาวัจกรที่ ๓ นี้ ชื่อว่า ผู้ที่ทูตแสดงไม่พร้อมหน้า
     ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ไวยาวัจกร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ ไวยาวัจกรที่ทูตแสดงต่อหน้าจำพวกหนึ่ง ไวยาวัจกรที่ทูตแสดงไม่พร้อมหน้า ๓ จำพวก ชื่อว่า ไวยาวัจกรที่ทูตแสดง, ในไวยาวัจกร ๔ จำพวกเหล่านี้ ภิกษุพึงปฏิบัติโดยนัยที่ตรัสไว้ในเมณฑกสิกขาบท
     จริงดังที่ตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ พวกมนุษย์ที่มีศรัทธาเลื่อมใส มนุษย์เหล่านั้นย่อมมอบหมายเงินและทองไว้ในมือแห่งกัปปิยการกทั้งหลาย แล้วสั่งว่า พวกท่านจงจัดของที่ควรถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าด้วยเงินและทองนี้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีสิ่งของซึ่งเป็นกัปปิยะจากเงินและทองนั้น ภิกษุทั้งหลาย แต่เราหากล่าวไม่เลยว่า ภิกษุพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายไรๆ”
     ในอธิการแห่งไวยาวัจกร ๔ จำพวกที่ทูตแสดงนี้ ไม่มีกำหนดการทวง การที่ภิกษุผู้ไม่ยินดีมูลค่า ยินดีแต่กัปปิยภัณฑ์โดยการทวงหรือการยืน แม้ตั้งพันครั้ง ก็ควร ถ้าไวยาวัจกรนั้นไม่ให้ แม้จะพึงตั้งกัปปิยการกอื่นให้นำมาก็ได้ ถ้ากัปปิยการกอื่นปรารถนาจะนำมา ภิกษุพึงบอกแม้แก่เจ้าของเดิม ถ้าไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องบอก
     ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ถูกทูตถามโดยนัยก่อน กล่าวว่า พวกเราไม่มีกัปปิยการก (ผู้ทำของที่สมควรแก่สมณะ) คนอื่นนอกจากทูตนั้นยืนอยู่ใกล้ๆ ได้ยิน  จึงกล่าวว่า ผู้เจริญ โปรดนำมาเถิด ผมจักจ่ายจีวรถวายพระคุณเจ้า  ดังนี้ ทูตกล่าวว่า เชิญเถิด ท่านผู้เจริญ ท่านพึงถวายแล้วมอบไว้ในมือของผู้นั้น ไม่บอกแก่ภิกษุเลย ไปเสีย นี้ชื่อว่า กัปปิยการก ผู้ออกปากเป็นเองต่อหน้า
     ทูตอีกคนหนึ่งมอบอกัปปิยวัตถุไว้ในมืออุปัฏฐากของภิกษุ หรือคนอื่น สั่งว่า ท่านพึงถวายจีวรแก่พระเถระ แล้วหลีกไปจากที่นั่นทีเดียว นี้ชื่อว่า กัปปิยการกลับหลัง
     ฉะนั้น กัปปยการกทั้งสองชื่อว่า กัปปิยการกที่ทูตไม่ได้แสดง ในกัปปิยการกทั้งสองนี้ พึงปฏิบัติเหมือนในอัญญาตกสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๖ แห่งจีวรวรรค) และอัปปวาริตสิกขาบท, ถ้ากัปปิยการกที่ทูตมิได้แสดงทั้งหลายนำจีวรมาถวายเอง ภิกษุพึงรับ ถ้าไม่ได้นำมาถวาย อย่าพึงพูดคำอะไรๆ สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ กิริยา อจิตตกะ ปัณณัติวัชชะ



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๓๐)
ภิกษุหล่อสันถัต ด้วยขนเจียมเจือไหม ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    พระฉัพพัคคีย์เข้าไปหาพวกช่างไหม กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย พวกท่านต้มตัวไหมไว้เป็นอันมาก จงให้พวกอาตมาบ้าง พวกอาตมาก็ปรารถนาจะทำสันถัตเจือด้วยไหม
     ช่างไหมเหล่านั้นเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนสมณะพวกนี้จึงมาขอตัวไหมต้ม แม้พวกเราผู้ทำสัตว์เล็กๆ มากมายให้วอดวาย เพราะเหตุแห่งอาชีพ เพราะเหตุแห่งบุตรและภริยา พวกเราชื่อว่าไม่ได้ลาภ หาได้สุจริตไม่
     ภิกษุทั้งหลายได้ยิน จึงกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำสันถัตเจือด้วยไหม เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
     -สันถัต ได้แก่ ผ้ารองนั่งที่เขาหล่อ ไม่ใช่ทอ (หล่อด้วยขนเจียม)
     -บทว่า ให้ทำ คือ ทำเองก็ดี ใช้ให้ทำก็ดี เจือด้วยไหมแม้เส้นเดียวเป็นทุกกฎ ในขณะที่ทำเป็นนิสสัคคีย์ เมื่อได้สันถัตมาต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า สันถัตเจือด้วยไหมผืนนี้ของข้าพเจ้าได้ทำแล้ว เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละสันถัตผืนนี้แก่สงฆ์”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สันถัตผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้สันถัตผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ
     ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป...

วิธีเสียสละแก่บุคคล
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง... “ท่านเจ้าข้า สันถัตเจือด้วยไหมนี้... ข้าพเจ้าสละสันถัตผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้สันถัตผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
     ๑.สันถัตตนทำค้างไว้ ภิกษุทำต่อให้เสร็จเอง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๒.สันถัตตนทำค้างไว้ ภิกษุใช้ให้ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.สันถัตคนอื่นทำค้างไว้ ภิกษุทำต่อจนเสร็จเอง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.สันถัตคนอื่นทำค้างไว้ ภิกษุใช้ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๕.ภิกษุทำเองก็ดี ใช้ผู้อื่นทำก็ดี เพื่อใช้เป็นของอื่น ต้องทุกกฎ
     ๖.ภิกษุได้สันถัตที่คนอื่นทำไว้แล้ว ใช้สอย ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     ภิกษุทำเป็นเพดาน เป็นเครื่องลาดพื้น เป็นม่าน เป็นเปลือกฟูก เป็นปลอกหมอน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๑/๓/๘๘๐-๘๘๑
     ๑.”สันถัต” หมายถึง สันถัตที่ลาดเส้นไหมซ้อนๆ กัน บนภาคพื้นที่เสมอแล้ว เอาน้ำข้าวต้ม เป็นต้น เทราดลงไปแล้วหล่อ
     ๒.พึงทราบว่า สันถัตที่เจือไหม ด้วยอำนาจแห่งความพอใจของตน จงยกไว้, ถ้าแม้นว่า ลมพัดเอาเส้นไหมเส้นเดียวไปตกลงในที่หล่อสันถัตนั้น แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่า หล่อสันถัตเจือด้วยไหมเหมือนกัน
    ๓.สิกขาบทนี้ มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ (อกุศลจิต กุศลจิต กิริยาจิต)    




นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๓๑)
ภิกษุหล่อสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    พระฉัพพัคคีย์ให้เขาทำสันถัตขนเจียมดำล้วน ชาวบ้านที่มาเที่ยวชมวิหารแลเห็นแล้ว จึงเพ่งโทษติเตียนว่า พระสมณะเหล่านี้ ทำไมจึงให้เขาสันถัตขนเจียมดำล้วน เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า
     ภิกษุทั้งหลายได้ยิน... จึงกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำสันถัตขนเจียมดำล้วน เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
     -ที่ชื่อว่า ดำ มี ๒ อย่าง คือ ดำเองโดยกำเนิดอย่างหนึ่ง ดำโดยย้อมอย่างหนึ่ง
     -ที่ชื่อว่า สันถัต ได้แก่ ผ้ารองนั่งที่เขาหล่อ ไม่ใช่ทอ
     -บทว่า ให้ทำ คือ ทำเองก็ดี ใช้ให้เขาทำก็ดีเป็นทุกกฎ ในขณะที่ทำเป็นนิสสัคคีย์ เมื่อได้สันถัตมาต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ แก่บุคคล เป็นเช่นเดียวกับสิกขาบทที่ ๑

อาบัติ
     ๑.สันถัตตนทำค้างไว้ ภิกษุทำต่อจนเสร็จเอง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๒.สันถัตตนทำค้างไว้ ภิกษุใช้ผู้อื่นทำจนเสร็จ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.สันถัตคนอื่นทำค้างไว้ ภิกษุทำต่อจนเสร็จเอง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.สันถัตคนอื่นทำค้างไว้ ภิกษุใช้ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๕.ภิกษุทำเองก็ดี ใช้ผู้อื่นทำก็ดี เพื่อใช้เป็นของอื่น ต้องทุกกฎ
     ๖.ภิกษุได้สันถัตที่คนอื่นทำไว้แล้ว ใช้สอย ต้องทุกกฎ


อนาบัติ
     ภิกษุทำเป็นเพดานก็ดี เป็นเครื่องลาดพื้น เป็นม่าน เป็นเปลือกฟูก เป็นปลอกหมอน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๘๘๗
     ๑.บทว่า สุทฺธกาฬกานํ แปลว่า ดำล้วน คือ ดำไม่เจือด้วยขนเจียมอย่างอื่น
     ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนกับสิกขาบทที่ ๑ (โกสิยสิกขาบท) แห่งโกสิยวรรค ที่กล่าวแล้ว    




นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๓๓)
ภิกษุหล่อสันถัตใหม่ ใช้ขนเจียมดำเกิน ๒ ส่วนขึ้นไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า ทรงห้ามการกระทำสันถัตแห่งขนเจียมดำล้วน จึงถือเอาขนเจียมขาวหน่อยหนึ่งปนไว้ที่ชายสันถัต แล้วให้ทำสันถัตแห่งขนเจียมดำล้วนเหมือนอย่างเดิมนั้นแหละ
     ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ เพ่งโทษติเตียน... จึงกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำสันถัตใหม่ พึงถือเอาขนเจียมดำล้วน ๒ ส่วน ขนเจียมขาวเป็นส่วนที่ ๓ ขนเจียมแดงเป็นส่วนที่ ๔ ถ้าภิกษุไม่ถือเอาขนเจียมดำล้วน ๒ ส่วน ขนเจียมขาวเป็นส่วนที่ ๓ ขนเจียมสีแดงเป็นส่วนที่ ๔ ให้ทำสันถัตใหม่ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
     -ที่ชื่อว่า ใหม่ ตรัสหมายถึง การทำขึ้น
     -บทว่า ผู้ให้ทำ คือ ทำเองก็ตาม ใช้ให้เขาทำก็ตาม
     -คำว่า พึงถือขนเจียมดำล้วน ๒ ส่วน ความว่า พึงชั่งถือเอาขนเจียมดำล้วนน้ำหนัก ๒ ชั่ง
     -ขนเจียมขาวเป็นส่วนที่ ๓ คือ ขนเจียมขาวน้ำหนัก ๑ ชั่ง, ขนเจียมแดงเป็นส่วนที่ ๔ คือ ขนเจียมแดงน้ำหนัก ๑ ชั่ง
     ถ้าภิกษุไม่ถือเอาขนเจียมขาว ๑ ชั่ง ขนเจียมแดง ๑ ชั่ง ทำเองก็ดี ให้เขาทำก็ดี ซึ่งสันถัตใหม่เป็นทุกกฎ ในขณะที่ทำเป็นนิสสัคคีย์ เมื่อได้มาต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล
     -วิธีการเสียสละพึงทราบทำนองเดียวกับสิกขาบทที่ ๑

อาบัติ
     ๑.สันถัตทำค้างไว้ ภิกษุทำต่อจนเสร็จเอง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๒.สันถัตทำค้างไว้ ภิกษุใช้ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.สันถัตคนอื่นทำค้างไว้ ภิกษุทำต่อจนเสร็จเอง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.สันถัตคนอื่นทำค้างไว้ ภิกษุใช้ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๕.ภิกษุทำเองก็ดี ใช้ผู้อื่นทำก็ดี เพื่อใช้เป็นของคนอื่น ต้องทุกกฎ
     ๖.ภิกษุได้สันถัตที่คนอื่นทำไว้แล้ว ใช้สอย ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     ภิกษุถือเอาขนเจียมขาว ๑ ชั่ง ขนเจียมแดง ๑ ชั่ง แล้วทำ ๑  ภิกษุถือเอาขนเจียมขาวมากกว่า ขนเจียมแดงมากกว่า แล้วทำ ๑  ภิกษุถือเอาขนเจียมขาวล้วน ขมเจียมแดงล้วน แล้วทำ ๑ ภิกษุทำเป็นเพดาน เป็นเครื่องลาด เป็นม่าน เป็นปลอกหมอน ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๘๙๔
     ๑.พึงทราบโดยใจความว่า ภิกษุมีความประสงค์จะทำด้วยขนเจียมมีประมาณเท่าใดในขนเจียมมีประมาณเท่านั้น ขนเจียมดำ ๒ ส่วน ขนเจียมขาว ๑ ส่วน ขนเจียมแดง ๑ ส่วน
     ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนกับสิกขาบทที่ ๑ (โกสิยสิกขาบท) แห่งโกสิยวรรค, ต่างแต่สิกขาบทนี้เป็นทั้งกิริยาและอกิริยา เพราะถือเอา (ทำดำล้วน) ก็เป็นอาบัติ และไม่ถือเอา ทำ (ไม่ปนกัน, ก็เป็นอาบัติ)    




นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๓๓)
ภิกษุหล่อสันถัต พึงใช้สันถัตให้ได้ ๖ ปี
ถ้ายังไม่ถึงหกปี หล่อใหม่ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายให้เขาทำสันถัตใช้ทุกๆ ปี พวกเธออ้อนวอนเขาอยู่ร่ำไปว่า ท่านทั้งหลาย จงให้ขนเจียม อาตมาต้องการขนเจียม ชาวบ้านเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ จึงได้ขอให้ทำสันถัตใช้ทุกๆ ปี วอนขอเขาอยู่ร่ำไป ส่วนสันถัตของพวกเราทำคราวเดียว ถูกเด็กๆ ถ่ายอุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง หนูกัดเสียบ้าง ก็ยังอยู่ได้ถึง ๕-๖ ปี
     ภิกษุทั้งหลายได้ยิน... จึงกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า... (ให้ทรงไว้ได้ ๖ ฝน ถ้าไม่ถึง ๖ ฝน ให้ทำสันถัตใหม่ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์)
     สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธอยู่ในพระนครโกสัมพี ญาติต้องการให้ท่านกลับไปเพื่อพยาบาล ท่านรังเกียจเพราะอาพาธอยู่ ไม่อาจนำสันถัตไปด้วยได้ เนื่องจากมีพระบัญญัติว่า ภิกษุให้ทำสันถัตใหม่ พึงทรงไว้ให้ได้ ๖ ฝน
     ทรงอนุญาตให้สงฆ์สมมติสันถัตแก่ภิกษุผู้อาพาธ โดยให้ภิกษุรูปนั้นเข้าไปหาสงฆ์ ห่ามผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่กว่า นั่งกระโหย่งเท้าประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอาพาธ ไม่สามารถจะนำสันถัตไปด้วยได้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นขอสมมติสันถัตต่อสงฆ์ พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ พึงขอแม้ครั้งที่ ๓...”
     จากนั้นภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่าดังนี้...แล้วทรงมีพระอนุบัญญัติว่า “ภิกษุให้ทำสันถัตใหม่แล้ว พึงทรงไว้ให้ได้ ๖ ฝน ถ้ายังหย่อนกว่า ๖ ฝน เธอสละเสียแล้วก็ดี ยังไม่สละแล้วก็ดี ซึ่งสันถัตนั้น ให้ทำสันถัตอื่นใหม่ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
    -ให้ทำแล้ว คือ ทำเองก็ตาม ใช้ให้เขาทำก็ตาม
     -พึงทรงไว้ให้ได้ ๖ ฝน คือ พึงทรงไว้ให้ได้ ๖ ฝน เป็นอย่างเร็ว
     -ถ้ายังหย่อนกว่า ๖ ฝน คือ ยังไม่ถึง ๖ ฝน
     -สละเสียแล้วก็ดี... ซึ่งสันถัตนั้น คือ ให้แก่คนอื่นไป
     -ยังไม่สละแล้วก็ดี คือ ยังไม่ได้ให้แก่ใครๆ
     -เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ คือ ยกเว้นภิกษุผู้ได้รับสมมติ
     ภิกษุทำเองก็ตาม ใช้ให้เขาทำก็ตาม ซึ่งสันถัตอื่นใหม่ เป็นทุกกฎ ในขณะที่ทำเป็นนิสสัคคีย์ เมื่อได้สันถัตมาต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล
     -วิธีการเสียสละ พึงทราบทำนองเดียวกับสิกขาบทที่ ๑

อาบัติ
     ๑.สันถัตทำค้างไว้ ภิกษุทำต่อจนเสร็จเอง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๒.สันถัตตนทำค้างไว้ ภิกษุใช้ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.สันถัตคนอื่นทำค้างไว้ ภิกษุทำต่อจนเสร็จเอง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.สันถัตคนอื่นทำค้างไว้ ภิกษุใช้ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์

อนาบัติ
     ครบ ๖ ฝนแล้ว ภิกษุทำใหม่ ๑ เกิน ๖ ฝนแล้ว ภิกษุทำใหม่ ๑ ภิกษุทำเองก็ดี ใช้ผู้อื่นทำก็ดี เพื่อใช้เป็นของอื่น ๑ ภิกษุได้สันถัตที่คนอื่นทำไว้แล้ว ใช้สอย ๑ ภิกษุทำเป็นเพดาน เป็นเครื่องลาดพื้น เป็นม่าน เป็นเปลือกฟูก เป็นปลอกหมอน ๑ ภิกษุได้สมมติ ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๙๐๓-๙๐๔
     ๑.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนกับสิกขาบทที่ ๑ (โกสิยสิกขาบท) แห่งโกสิยวรรค, ต่างแต่สิกขาบทนี้เป็นทั้งกิริยาและอกิริยา    




นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๓๔)
ภิกษุจะหล่อสันถัตใหม่ ไม่ปนขนเจียมที่ตัดโดยรอบ ๑ คืบ จากสันถัตเก่า
ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย เขตพระนครสาวัตถีว่า พระองค์ปรารถนาการอยู่ผู้เดียวตลอดไตรมาส ใครๆ อย่าเข้าไปหาเรา นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียว
     ภิกษุทั้งหลายรับพระพุทธาณัติแล้วตั้งกติกากันว่า ใครๆ ไม่พึงเข้าเฝ้า นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปถวายรูปเดียว ภิกษุใดเข้าเฝ้า ต้องให้แสดงอาบัติปาจิตตีย์
     ครั้งนั้น ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกับภิกษุบริษัทเข้าไปเฝ้าสนทนากับพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงยกย่องว่า ท่านอุปเสนวังคันตบุตรแนะนำบริษัทได้ดียิ่ง และบริษัทก็ประพฤติตามพระอุปเสนวังคันตบุตรผู้เป็นอุปัชฌาย์ เช่น สมาทานการอยู่ป่าเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นวัตร และทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นต้น
     ตรัสถามท่านอุปเสนะว่า เธอไม่ทราบหรือว่าสงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถีตั้งกติกา และจักปรับอาบัติแก่ภิกษุผู้เข้าเฝ้าเรา ท่านอุปเสนะกราบทูลว่า ไม่ทราบ พระพุทธเจ้าข้า แต่พวกข้าพระองค์จักไม่แต่งตั้งสิกขาบทที่พระองค์มิได้ทรงบัญญัติ และจักไม่เพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ จักสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้
     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดีแล้ว ดีแล้ว อุปเสน ไม่ควรแต่งตั้งสิกขาบทที่เรายังมิได้บัญญัติ หรือไม่ควรเพิกถอนสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ ควรสมาทานประพฤติในสิกขาบท ตามที่เราได้บัญญัติไว้...เราอนุญาตให้พวกภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เข้าหาเราได้ตามสะดวก
     เมื่อพระอุปเสนวังคันตบุตรและภิกษุบริษัทออกจากการเฝ้า ภิกษุหลายรูปที่อยู่ข้างนอกได้กล่าวแจ้งให้พวกท่านทราบแล้ว ขอให้แสดงอาบัติปาจิตตีย์ ท่านพระอุปเสนะได้เล่าถึงคำสนทนาระหว่างท่านกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงกติกาของภิกษุเขตนครสาวัตถีแก่ภิกษุพวกนั้น
     ภิกษุเหล่านั้นเห็นจริงว่า ท่านพระอุปเสนพูดถูกต้องจริงแท้ แล้วพากันสมาทานการอยู่ป่า บิณฑบาตและการถือผ้าบังสุกุล หมายได้เข้าเฝ้า ต่างละทิ้งสันถัตไว้มากมาย
     หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวประพาสตามเสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นสันถัตซึ่งถูกทอดทิ้งไว้ในที่นั้นๆ ตรัสถามว่า สันถัตเหล่านี้เป็นของใคร แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำสันถัตสำหรับนั่ง พึงถือเอาคืบสุคตโดยรอบแห่งสันถัตเก่า เพื่อทำให้เสียสี ถ้าภิกษุไม่ถือเอาคืบสุคตโดยรอบแห่งสันถัตเก่า ให้ทำสันถัตสำหรับนั่งใหม่ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

     -ที่ชื่อว่า สำหรับนั่ง ตรัสหมายผ้ามีชาย
     -บทว่า ผู้ให้ทำ คือ ทำเองก็ตาม ให้เขาทำก็ตาม
     -ที่ชื่อว่า สันถัตเก่า คือ ที่แม้นั่งแล้วคราวเดียว แม้นอนแล้วคราวเดียว
     -คำว่า พึงถือเอาคืบสุคตโดยรอบ... เพื่อทำให้เสียสี คือ ตัดกลมๆ หรือสี่เหลี่ยมแล้วลาดในส่วนหนึ่ง หรือฉีกออกปนแล้วหล่อ เพื่อความทน
     -คำว่า ถ้าภิกษุไม่ถือเอาคืบสุคตโดยรอบแห่งสันถัตเก่า ความว่า ไม่ถือเอาสันถัตเก่า ๑ คืบสุคตโดยรอบแล้ว ทำเองก็ตาม ใช้ให้เขาทำก็ตาม ซึ่งสันถัตสำหรับนั่งใหม่ เป็นทุกกฎ ในขณะที่ทำเป็นนิสสัคคีย์ เมื่อได้สันถัตมาต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่บุคคล
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน สันถัตสำหรับนั่งผืนนี้ของข้าพเจ้า ไม่ได้ถือเอาคืบสุคตโดยรอบแห่งสันถัตเก่า ให้ทำแล้ว เป็นของจำสละ ข้าพเจ้าสละสันถัตสำหรับนั่งผืนนี้แก่ท่าน”  ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละนั้นพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้สันถัตสำหรับนั่งผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
     ๑.สันถัตสำหรับนั่ง ตนทำค้างไว้ ภิกษุทำต่อจนเสร็จเอง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๒.สันถัตสำหรับนั่ง ตนทำค้างไว้ ภิกษุใช้ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.สันถัตสำหรับนั่ง คนอื่นทำค้างไว้ ภิกษุทำต่อจนเสร็จเอง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.สันถัตสำหรับนั่ง คนอื่นทำค้างไว้ ภิกษุใช้ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๕.ภิกษุทำเองก็ดี ใช้ผู้อื่นทำก็ดี เพื่อใช้เป็นของคนอื่น ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     ภิกษุถือเอาสันถัตเก่าหนึ่งคืบสุคตโดยรอบแล้วทำ ๑  ภิกษุไม่ได้ถือเอาแต่น้อยแล้วทำ (ถือเอาของเก่ามากแล้วทำ) ๑  ภิกษุหาไม่ได้ ไม่ถือเอาเลยแล้วทำ ๑  ภิกษุได้สันถัตที่คนอื่นทำไว้แล้วใช้สอย ๑ ภิกษุทำเป็นเพดาน เป็นเครื่องลาดพื้น เป็นม่าน เป็นเปลือกฟูก เป็นปลอกหมอน ๑  ภิกษุวิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ ๑/๓/๙๑๓-๙๑๖
     ๑.ได้ยินว่า พรรษานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทอดพระเนตรเห็นสัตว์ที่ควรให้ตรัสรู้ไรๆ เลย ตลอดภายในไตรมาสนั้น เพราะเหตุนั้นจึงตรัสอย่างนี้, แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น พระองค์ ก็จะต้องทรงกระทำพระธรรมเทศนาด้วยสามารถแห่งตันติ (แบบแผน) ประเพณี
     อนึ่ง เพราะพระองค์ได้ทรงมีรำพึงอย่างนี้ว่า เมื่อเราให้ทำโอกาสหลีกเร้นอยู่ ภิกษุทั้งหลายจักกระทำกติกาวัตรอันไม่เป็นธรรม, แล้วอุปเสนะจักทำลายกติกาวัตรอันไม่เป็นธรรมนั้น เราจักเลื่อมใสเธอ แล้วอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายเฝ้า แต่นั้นพวกภิกษุผู้ประสงค์จะเยี่ยมเรา จักสมาทานธุดงค์ทั้งหลาย และเราจักบัญญัติสิกขาบทเพราะสันถัตที่ภิกษุเหล่านั้นละทิ้งเป็นปัจจัย  ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสอย่างนั้น ก็ในการหลีกเร้นนี้มีอานิสงส์มากอย่างนี้แล
     ๒.พระอุปเสนเถระนี้ เคยได้รับการตำหนิจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ในคราวที่ท่านให้การอุปสมบทกุลบุตร เพราะตัวท่านเองมีพรรษายังไม่ถึง ๑๐ พรรษา, คราวนี้ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว คิดว่าพระศาสดาทรงอาศัยบริษัทของเรา ได้ทรงประทานการตำหนิแก่เรา บัดนี้ เราจักยังพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เปล่งพระสุรเสียงดุจพรหม ด้วยพระพักตร์อันบริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง มีสิริดังพระจันทร์เพ็ญนั้นนั่นแล แล้วจักให้ประทานสาธุการ เพราะอาศัยบริษัทนั่นแหละ ท่านเป็นกุลบุตรผู้มีหทัยงามเดินทางล่วงไปได้ ๑๐๐ กว่าโยชน์ ท่านได้แนะนำบริษัทเป็นผู้อันภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป แวดล้อมแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก, จริงอยู่ ใครๆ ไม่อาจจะให้พระพุทธเจ้าทั้งหลายโปรดปรานได้โดยประการอื่นนอกจากความถึงพร้อมด้วยวัตร
     ๓.พระเถระกราบทูลว่า เราทั้งหลายชื่อว่า เป็นสาวก จักไม่บัญญัติข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงบัญญัติไว้, จริงอยู่ วิสัย คือ การบัญญัติสิกขาบทที่มิได้ทรงบัญญัติ หรือการถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว โดยนัยว่าปาจิตตีย์หรือทุกกฏเป็นต้นนี้เป็นพุทธวิสัย
      ๔.ภิกษุทั้งหลายละทิ้งสันถัตทั้งปวงแล้ว เพราะเป็นผู้มีความสำคัญในสันถัตว่า เป็นจีวรผืนที่ ๕
     -พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นสันถัตทั้งหลายเกลื่อนกลาด แล้วทรงดำริว่า ไม่มีเหตุในการที่จะยังศรัทธาไทยให้ตกไป เราจักแสดงอุบายในการใช้สอยแก่ภิกษุเหล่านั้น แล้วทรงกระทำธรรมีกถาตรัสเตือนภิกษุทั้งหลาย
     -พึงถือเอาโดยประการที่ตนตัดเอาเป็นวงกลม หรือเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสจากชายข้างหนึ่ง จะมีประมาณคืบหนึ่ง แล้วลาดลงในส่วนหนึ่ง หรือฉีกออกแล้วลาดให้ผสมกัน, สันถัตที่ภิกษุหล่อแล้วอย่างนี้จะเป็นของมั่นคงยิ่งขึ้น
     ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เป็นเช่นเดียวกับสิกขาบทที่ ๓ (เทวภาคสิกขาบท) แห่งโกสิยวรรคที่กล่าวมาแล้ว เพราะเป็นทั้งกิริยาและอกิริยาฉะนี้แล
     ๖.ในเรื่องสันถัตที่กล่าวมา ๕ สิกขาบทนี้  ๓ สิกขาบทข้างต้น (๑-๓) พึงทราบว่า กระทำวินัยกรรมแล้วได้มา ไม่ควรใช้สอย (แม้สละได้คืนมาก็ไม่ควรใช้สอย), ส่วน ๒ สิกขาบทหลัง (๔-๕) ทำวินัยกรรมแล้วได้มา จะใช้สอยควรอยู่
     ๗.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
     คืบพระสุคต – ชื่อมาตราวัด ตามอรรถกถานัยว่าเท่ากับ ๓ คืบของคนปานกลาง คือเท่ากับศอกคืบช่างไม้ แต่มตินี้ไม่สมจริง ปัจจุบันยุติกันว่าให้ถือตามไม้เมตร คือ เท่ากับ ๒๕ เซนติเมตร ประมาณกันกับคืบช่างไม้ ซึ่งเป็นการสะดวก และถ้าหากจะสั้นกว่าขนาดจริงก็ไม่เสีย เพราะจะไม่เกิดกำหนด ไม่เสียทางวินัย    



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อกฺโกฉิ มํ อวธิ มํ    อชินิ มํ อหาสิ มํ
เข จ ตํ นูปนยฺหนฺติ    เวรํ เตสูปสมฺมติ ฯ ๔ ฯ   
ใครไม่คิดอาฆาตว่า  "มันด่าเรา มันทำร้ายเรา
มันเอาชนะเรา มันขโมยของเรา"   เวรของเขาย่อมระงับ

'Heabused me, he beat me, He defeated me, he robbed me'
In those who harbour not such thoughts Hatred finds its end.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)





หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 เมษายน 2559 15:39:35

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๓๕)
ภิกษุนำขนเจียมที่มิได้มีใครถวายติดตัวไปเกินกว่า ๓ โยชน์
ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไปสู่พระนครสาวัตถีแถบโกศลชนบท ขนเจียมเกิดขึ้นแก่เธอในระหว่างทาง ท่านจึงเอาจีวรห่อขนเจียม ชาวบ้านเห็นจึงพูดสัพยอกว่า ท่านซื้อขนเจียมมาด้วยราคาเท่าไร? จักมีกำไรเท่าไร?
     ท่านเป็นผู้เก้อเขิน ถึงนครสาวัตถีจึงโยนจนเจียมเหล่านั้นลง ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโส ท่านนำขนเจียมเหล่านี้มาไกลเท่าไร? ภิกษุรูปนั้นตอบว่า เกินกว่า ๓ โยชน์ ขอรับ
     ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “หนึ่ง ขนเจียมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เดินทางไกล ภิกษุต้องการพึงรับได้ ครั้นรับแล้ว เมื่อคนถือไม่มี พึงถือไปด้วยมือของตนเองตลอดระยะทาง ๓ โยชน์ เป็นอย่างมาก ถ้าเธอถือเอาไปยิ่งกว่านั้น แม้คนถือไม่มี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

     -บทว่า แก่ภิกษุผู้เดินทางไกล ได้แก่ ภิกษุเดินทาง
     -ขนเจียมเกิดขึ้น คือ เกิดขึ้นจากสงฆ์ก็ตาม จากคณะก็ตาม จากญาติก็ตาม มิตรก็ตาม จากที่บังสุกุลก็ตาม จากทรัพย์ของตนก็ตาม
     -ต้องการ คือ เมื่อปรารถนาก็พึงรับได้
     -คำว่า ครั้นรับแล้ว พึงถือไปด้วยมือของตนเอง ตลอดระยะทาง ๓ โยชน์ เป็นอย่างมาก คือนำไปด้วยมือของตนเองได้ชั่วระยะทาง ๓ โยชน์ เป็นอย่างไกล
     -บทว่า เมื่อคนถือไม่มี ความว่า คนถือคือสตรี หรือบุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตสักคนหนึ่ง เป็นผู้ช่วยถือไป ไม่มี
     -คำว่า ถ้าเธอถือเอาไปยิ่งกว่านั้น แม้คนถือไม่มี อธิบายว่า เธอก้าวเกิน ๓ โยชน์ เท้าแรกต้องอาบัติทุกกฎ เท้าที่สองขนเจียมเหล่านั้นเป็นนิสสัคคีย์, เธอยืนอยู่ภายในระยะ ๓ โยชน์ โยนขนเจียมลงนอกระยะ ๓ โยชน์ ก็เป็นนิสสัคคีย์ ซ่อนไว้ในยานพาหนะก็ตาม ในห่อถุงของคนอื่นก็ตาม ซึ่งเขาไม่รู้ ให้ล่วง ๓ โยชน์ไป ก็เป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล...

วิธีเสียสละแก่บุคคล
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ขนเจียมเหล่านี้ของข้าพเจ้าให้ล่วงเลย ๓ โยชน์ เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละขนเจียมเหล่านี้แก่ท่าน”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้คำว่า “ข้าพเจ้าให้ขนเจียมเหล่านี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
     ๑.เกิน ๓ โยชน์ ภิกษุรู้ว่าเกิน เดินเลย ๓ โยชน์ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๒.เกิน ๓ โยชน์ ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.เกิน ๓ โยชน์ ภิกษุคิดว่ายังไม่ถึง เดินเลย ๓ โยชน์ไป เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.หย่อน ๓ โยชน์ ภิกษุคิดว่าเกิน... ต้องทุกกฎ
     ๕.หย่อน ๓ โยชน์ ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฎ
     ๖.หย่อน ๓ โยชน์ ภิกษุรู้ว่าหย่อน... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุถือไปเพียงระยะ ๓ โยชน์ ๑ ภิกษุถือไปหย่อนระยะ ๓ โยชน์ ๑ ภิกษุถือไปก็ดี ถือกลับมาก็ดี เพียงระยะ ๓ โยชน์ ๑  ภิกษุถือไปเพียง ๓ โยชน์ แล้วพักแรมเสีย รุ่งขึ้นถือต่อจากนั้นไปอีก ๑ ขนเจียม ถูกโจรชิงไปแล้ว ภิกษุได้คืนมา ถือไปอีก ๑  ขนเจียมที่สละแล้ว (ตามวินัยกรรม) ภิกษุได้คืนมา ถือไปอีก ๑ ภิกษุให้คนอื่นช่วยถือไป ๑  ขนเจียมที่ทำเป็นสิ่งของแล้ว ภิกษุถือไป ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๙๒๓-๙๒๖
     ๑.ภิกษุโยนออกไปภายนอก ๓ โยชน์ เมื่อขนเจียมจะตกไปโดยไม่มีอันตราย พอพ้นจากมือเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์มากตัวตามจำนวนเส้นขน, ถ้าขนเจียมที่โยนไปนั้นกระทบที่ต้นไม้หรือเสาในภายนอก ๓ โยชน์ แล้วตกลงภายใน (๓ โยชน์) อีก ยังไม่ต้องอาบัติ, ถ้าห่อขนเจียมตกลงพื้น หยุดแล้วกลิ้งไป กลับเข้ามาภายในอีก เป็นอาบัติแท้
     ภิกษุยืนข้างใน เอามือ หรือเท้า หรือไม้เท้ากลิ้งไป ห่อขนเจียมจะหยุดหรือไม่หยุดก็ตามกลิ้งออกไป เป็นอาบัติเหมือนกัน ภิกษุวางไว้ด้วยตั้งใจว่า คนอื่นจักนำไป แม้เมื่อคนนั้นนำขนเจียมไปเป็นอาบัติเหมือนกัน, ขนเจียมที่ภิกษุวางไว้ด้วยจิตบริสุทธิ์ ลมพัดไปหรือคนอื่นให้ตกไปในภายนอกโดยธรรมดาของตนเป็นอาบัติเหมือนกัน เพราะภิกษุมีอุตสาหะ และเพราะสิกขาบทเป็นอจิตตกะ
     -ภิกษุวางขนเจียมไว้บนยานหรือบนหลังช้างเป็นต้น ซึ่งกำลังไป ด้วยตั้งใจว่า เมื่อเจ้าของเขาไม่รู้เลย มันจักนำไปเอง เมื่อยานนั้นล่วงเลย ๓ โยชน์ไป เป็นอาบัติทันที แม้ในยานที่จอดอยู่ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน, ก็ถ้าว่า ภิกษุวางขนเจียมไว้บนยาน หรือบนหลังช้าง เป็นต้น ที่ไม่ไป และขึ้นขับขี่ไป หรือไปเตือนให้ไป หรือเรียกให้ (จอดอยู่) ติดตามไป ไม่เป็นอาบัติ เพราะมีพระบาลีว่า ภิกษุให้คืนอื่นช่วยนำไป (อาบัติเรื่องตะบัดภาษีในปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ เป็นอนาบัติในสิกขาบทนี้, ส่วนอาบัติในสิกขาบทนี้เป็นอนาบัติในอทินนาทานนั้น)
     ภิกษุไปถึงสถานที่ (๓ โยชน์) นั้น ส่งใจไปอื่น หรือถูกพวกโจรเป็นต้น รบกวน เลยไปเสียก็ดี เป็นอาบัติเหมือนกัน, พึงทราบจำนวนอาบัติตามจำนวนเส้นขนในฐานะทั้งปวง
     ๒.ขนเจียมที่ทำเป็นสิ่งของ มีผ้ากัมพล พรม และสันถัต เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดแม้เพียงมัดด้วยเส้นด้าย
     อนึ่ง ภิกษุใด สอดขนเจียมลงในระหว่างถลกบาตรบางๆ ก็ดี ในหลืบผ้ารัดเข่า ผ้าอังสะ และประคดเอว เป็นต้นก็ดี ในฝักมีด เพื่อป้องกันสนิมกรรไกรเป็นต้นก็ดี โดยที่สุดอาพาธเป็นลม ยอนขนเจียมไว้ไม้ในช่องหูแล้วเดินไป เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้นเหมือนกัน แต่ขนเจียมที่มัดด้วยเส้นด้ายใส่ไว้ในระหว่างรองเท้าและถลกบาตรเป็นต้น ย่อมตั้งอยู่ในฐานะแห่งขนเจียมที่ทำเป็นสิ่งของ, ภิกษุทำให้เป็นช้องผมแล้วนำไป นี้ชื่อว่าทางเลี่ยงเก็บ เป็นอาบัติเหมือนกัน
     ๓.สิกขาบทนี้มีขนเจียมเป็นสมุฏฐาน ย่อมเกิดขึ้นทางกาย ๑  ทางกายกับจิต ๑  เป็นกิริยา ๑  เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓ (อกุศลจิต กุศลจิต กิริยาจิต)    


นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๓๖)
ภิกษุใช้ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ซัก ย้อม สาง ซึ่งขนเจียม
ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    พระฉัพพัคคีย์ใช้ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ซัก ย้อม สางขนเจียม  ภิกษุณีทั้งหลายมัวสาละวนซัก ย้อม สาง จึงละเลยอุเทศ ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา  พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีเสด็จเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า...แล้วกราบทูล...ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ยังภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ให้ซักก็ดี ให้สางก็ดี ซึ่งขนเจียม เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

     -ผู้มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เนื่องถึงกันทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี ตลอด ๗ ชั่วอายุบุรุพชนก
     -ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ สตรีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)
     -ภิกษุสั่งว่า จงซัก หรือจงย้อม หรือจงสาง ต้องทุกกฎ ขนเจียมที่ซักแล้วเป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล...

อนาบัติ
     ภิกษุณีผู้เป็นญาติซักให้เอง ๑ ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติเป็นผู้ช่วยเหลือ ๑ ภิกษุไม่ได้ใช้ แต่ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติซักให้เอง ๑ ภิกษุใช้ให้ซักขนเจียมที่จำเป็นสิ่งของแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้ ๑ ใช้สิกขมานาซัก ๑ ใช้สามเณรีซัก ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๙๓๗
     ๑.สิกขาบทนี้มีเนื้อความพร้อมทั้งสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนปุราณจีวร สิกขาบทที่ ๔ แห่งจีวรวรรค      




นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๓๗)
ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งทองและเงิน
หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    ครั้งนั้น สกุลหนึ่งได้ถวายภัตแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตรเป็นประจำ  เย็นวันหนึ่ง สกุลนั้นได้แบ่งเนื้อเป็น ๒ ส่วน คือ ของครอบครัวส่วนหนึ่ง เตรียมทำถวายท่านพระอุปนันทะส่วนหนึ่ง
     รุ่งเช้า เด็กในสกุลตื่นแต่เช้ามืด ร้องไห้ขอให้ให้เนื้อ สามีจึงให้ภรรยาให้เนื้อส่วนนั้นแก่เด็ก แล้วพูดว่าเราจักซื้อของอื่นถวายท่านอุปนันทะ  ในเวลาเช้าท่านอุปนันทะถือบิณฑบาตเข้าสู่สกุลนั้น สามีได้กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อเย็นวานนี้มีเนื้อเกิดขึ้น ผมได้เก็บไว้ถวายพระคุณเจ้า แต่ว่าได้ให้เด็กที่ร้องไปในตอนเช้ามืด พระคุณเจ้าจะให้ผมจัดหาอะไรมาถวายด้วยทรัพย์กหาปณะหนึ่ง ขอรับ
     ท่านพระอุปนันทะกล่าวว่า ท่านจงให้กหาปณะนั้นแหละแก่เรา
     บุรุษนั้นได้ถวายกหาปณะ แล้วเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนจึงรับรูปิยะเหมือนพวกเรา
     ภิกษุทั้งหลายได้ยิน...จึงกราบทูล...ทรงมีพระบัญญัติว่า  “อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

     -ที่ชื่อว่า ทอง ตรัสหมายถึง ทองคำ
     -ที่ชื่อว่า เงิน ได้แก่ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะ มาสกที่ทำด้วยไม้ มาสกที่ทำด้วยครั่ง ซึ่งใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้
     -บทว่า รับ คือ รับเอง เป็นนิสสัคคีย์, ให้รับ คือ ให้คนอื่นรับแทน เป็นนิสสัคคีย์
     -บทว่า หรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้ มีความว่า หรือยินดีทองเงินที่เขาเก็บไว้ให้ ด้วยบอกว่า ของนี้จงเป็นของพระคุณเจ้า ดังนี้เป็นต้น เป็นนิสสัคคีย์, ทองเงินที่เป็นนิสสัคคีย์ ต้องเสียสละในท่ามกลางสงฆ์

วิธีเสียสละรูปิยะ
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่งเท้า ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้ารับรูปิยะไว้แล้ว ของนี้ของข้าพเจ้าเป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละรูปิยะนี้แก่สงฆ์”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ ถ้าคนผู้ทำการวัดหรืออุบาสกเดินมาในสถานที่เสียสละนั้น พึงบอกเขาว่า ท่านจงรู้ของสิ่งนี้ ถ้าเขาถามว่าจะให้ผมนำของสิ่งนี้ไปหาอะไรมา อย่าบอกว่า จงนำของสิ่งนี้หรือของสิ่งนี้มา ควรบอกแต่ของที่เป็นกัปปิยะ เช่น เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย ถ้าเขานำรูปิยะนั้นไปแลกของที่เป็นกัปปิยะมาถวาย เว้นภิกษุผู้รับรูปิยะ ภิกษุนอกนั้นฉันได้ทุกรูป ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้พึงบอกเขาว่า โปรดช่วยทิ้งของนี้ ถ้าเขาทิ้งให้นั่นเป็นการดี ถ้าเขาไม่ทิ้งให้ พึงสมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ

องค์ ๕ ของภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ
     ๑.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ
     ๒.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะเกลียดชัง
     ๓.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะงมงาย
     ๔.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะกลัว
     ๕.รู้จักว่าทำอย่างไรเป็นอันทิ้งหรือไม่เป็นอันทิ้ง

วิธีสมมติภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ
     พึงขอภิกษุให้ตกลงรับก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่าดังนี้

คำสมมติ
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ นี่เป็นญัตติ
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
     ภิกษุมีชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้อย่างนี้”
     ภิกษุผู้รับสมมติแล้วนั้น (เวลาที่ทิ้ง) พึงทิ้งอย่าจำหมายที่ตก ถ้าทิ้งจำหมายที่ตกต้องอาบัติทุกกฎ

อาบัติ
     ๑.รูปิยะ ภิกษุรู้ว่าเป็นรูปิยะ รับรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๒.รูปิยะ ภิกษุสงสัย รับรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.รูปิยะ ภิกษุคิดว่ามิใช่รูปิยะ รับรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.ไม่ใช่รูปิยะ ภิกษุคิดว่าเป็นรูปิยะ ต้องทุกกฎ
     ๕.ไม่ใช่รูปิยะ ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
     ๖.ไม่ใช่รูปิยะ ภิกษุว่าไม่ใช่รูปิยะ ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ทองหรือเงินตกอยู่ภายในวัดก็ดี หรือภายในที่อยู่ก็ดี ภิกษุหยิบยกเองก็ดี ใช้ให้หยิบยกก็ดี แล้วเก็บไว้ด้วยตั้งใจว่า เป็นของผู้ใด ผู้นั้นจักนำไป ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๙๔๕/๙๕๗
     ๑.กหาปณะและมาสกชนิดต่างๆ ท่านสงเคราะห์เอามาสกทั้งหมดที่ใช้เป็นมาตราซื้อขายในชนบท ในเวลาซื้อขายกัน โดยที่สุดทำด้วยกระดูกบ้าง ทำด้วยหนังบ้าง ทำด้วยเมล็ดผลไม้บ้าง ดุนให้เป็นรูปบ้าง มิได้ดุนให้เป็นรูปบ้าง;  วัตถุทั้ง ๔ อย่าง คือ เงิน ทอง ทั้งหมดนี้อย่างนี้ และมาสกทอง มาสกเงิน มีประเภทดังกล่าวแล้ว แม้ทั้งหมดจัดเป็นวัตถุแห่งนิสสัคคีย์, วัตถุนี้คือ มุกดา มณี ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา ประพาฬ ทับทิม บุษราคัม ธัญชาติ ๗ ชนิด ทาสหญิง ทาสชาย นา ไร่ สวนดอกไม้ สวนผลไม้ เป็นต้น จัดเป็นวัตถุแห่งทุกกฎ, วัตถุนี้ คือ ด้าย ผาลไถ ผืนผ้า ฝ้ายอปรัณชาติ มีอเนกประการ และเภสัช มีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยงบ เป็นต้น จัดเป็นกัปปิยวัตถุ
     -บรรดานิสสัคคิยวัตถุและทุกกฎวัตถุนั้น ภิกษุจะรับนิสสัคคียวัตถุ เพื่อประโยชน์ตนเองหรือเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ คณะ บุคคลและเจดีย์ เป็นต้น ย่อมไม่ควร, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง, เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้รับเพื่อประโยชน์แก่สิ่งที่เหลือ, มีรับเพื่อสงฆ์เป็นต้น เป็นทุกกฎอย่างเดียวแก่ภิกษุผู้รับทุกกฎวัตถุ เพื่อประโยชน์ทุกอย่าง, ไม่เป็นอาบัติในกัปปิยวัตถุ, เป็นปาจิตตีย์ด้วยอำนาจที่มาในรัตนะสิกขาบทข้างหน้าแก่ภิกษุผู้รับวัตถุมีเงิน เป็นต้น แม้ทั้งหมดด้วยหน้าที่แห่งภัณฑาคาริก เพื่อต้องการจะเก็บไว้
     ๒.ในการรับเองและใช้ให้รับนั้น มีวินิจฉัยดังนี้
         เป็นอาบัติตัวเดียวแก่ภิกษุผู้รับเอง หรือใช้ให้รับวัตถุสิ่งเดียว ในบรรดาภัณฑะ คือ ทอง เงิน ทั้งกหาปณะ และมาสก ถ้าแม้นว่าภิกษุรับเองหรือใช้ให้รับตั้งพันอย่างรวมกัน เป็นอาบัติมากตามจำนวนวัตถุ แต่ในมหาปัจจรีและกุรุนทีกล่าวรวมกันว่า เป็นอาบัติโดยนับรูปิยะในถุงที่ผูกไว้หย่อนๆ หรือในภาชนะที่บรรจุไว้หลวมๆ ส่วนในถุงที่ผูกไว้แน่น หรือในภาชนะที่บรรจุแน่น เป็นอาบัติตัวเดียวเท่านั้น
     ๓.ส่วนในการยินดีเงินทองที่เขาเก็บไว้ มีวินิจฉัยดังนี้
         เมื่อเขากล่าวว่า นี้เป็นของพระผู้เป็นเจ้า ถ้าแม้นภิกษุยินดีด้วยจิต เป็นผู้ใคร่เพื่อจะรับเอาด้วยกายหรือวาจา แต่ปฏิเสธว่า นี้ไม่ควร ไม่เป็นอาบัติ, แม้ไม่ห้ามด้วยกายและวาจา เป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ ไม่ยินดีด้วยคิดว่า นี้ไม่ควรแก่เรา ไม่เป็นอาบัติเหมือนกัน จริงอยู่ บรรดาไตรทวาร (มีกายเป็นต้น) อันภิกษุห้ามแล้วด้วยไตรทวารใดทวารหนึ่ง ย่อมเป็นอันห้ามแล้วแท้ แต่ถ้าไม่ห้ามด้วยกายและวาจา รับอยู่ด้วยจิต ย่อมต้องอาบัติ, ในกายทวารและวจีทวาร มีการไม่กระทำเป็นสมุฏฐาน เพราะไม่กระทำการห้ามที่ตนพึงกระทำด้วยกายและวาจา, แต่ชื่อว่าอาบัติทางมโนทวาร ไม่มี,
        บุคคลคนเดียวกันนั้น วางเงินทองตั้งร้อยพันไว้ใกล้เท้า แล้วกล่าวว่า นี้จงเป็นของท่าน ภิกษุห้ามว่า นี้ไม่ควร อุบาสกพูดว่า กระผมสละถวายท่าน แล้วก็ไป, เมื่อมีคนอื่นมาที่นั้น แล้วถามว่านี้อะไรขอรับ ภิกษุพึงบอกคำที่อุบาสกและตนพูดกัน, ถ้าเขาพูดว่า ผมจักเก็บให้ ขอรับ ท่านจงแสดงที่เก็บ, ภิกษุพึงขึ้นไปยังปราสาทถึงชั้น ๗ แล้วพึงบอกว่า นี้ที่เก็บ, แต่อย่าพึงบอกว่า จงเก็บไว้ในที่นี้, อกัปปิยวัตถุ (มีทองและเงินเป็นต้น) ย่อมเป็นอันอาศัยวัตถุที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ ตั้งอยู่ด้วยคำบอกมีประมาณเท่านี้, พึงปิดประตูแล้วอยู่รักษา
         ถ้าว่า อุบาสกถือเอาบาตรและจีวร ซึ่งเป็นของจะขายบางอย่างมา, เมื่อเขากล่าวว่า ท่านจักรับสิ่งนี้ไหม? พึงกล่าวว่า อุบาสก พวกเรามีความต้องการสิ่งนี้ และวัตถุชื่อเห็นปานนี้ก็มีอยู่ แต่ไม่มีกัปปิยการก, ถ้าเขาพูดว่า ผมจักเป็นกัปปิยการก ขอท่านโปรดเปิดประตูให้เถิด, พึงเปิดประตูแล้วกล่าวว่า ตั้งอยู่ในที่โน้น และอย่ากล่าวว่าท่านจงถือเอาสิ่งนี้,  อกัปปิยวัตถุก็เป็นอันอาศัยวัตถุที่เป็นกัปปิยะตั้งอยู่เหมือนกัน ถ้าเขาถือเอากหาปณะนั้นแล้ว ถวายกัปปิยภัณฑ์ (สิ่งของที่ควรแก่สมณะ) แก่เธอ ควรอยู่, ถ้าเขาถือเอาเกินไป พึงบอกเขาว่า พวกเราจักไม่เอาภัณฑะของท่าน จงเก็บเสีย
     ๔.พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสว่า พึงสละแก่สงฆ์ หรือแก่คณะ หรือแก่บุคคล ก็เพราะธรรมดาว่า รูปิยะเป็นอกัปปิยะ (เป็นของไม่สมควร)  อนึ่ง เพราะรูปิยะนั้น เป็นเพียงแต่ภิกษุรับไว้เท่านั้น เธอไม่ได้จ่ายหากัปปิยภัณฑ์อะไรด้วยรูปิยะนั้น  ฉะนั้น เพื่อทรงแสดงการใช้สอยโดยอุบาย จึงตรัสว่า พึงสละในท่ามกลางแห่งสงฆ์
     ๕.”ปัจจัยที่ได้จากรูปิยะที่ภิกษุรับ ไม่ควรแก่เธอผู้รับ” ความว่า ภิกษุผู้รับรูปิยะไม่พึงรับส่วนแบ่ง, แม้ได้ส่วนที่ถึงแก่พวกภิกษุอื่น หรืออารามิกชนแล้ว จะบริโภคก็ไม่ควร, โดยที่สุด เนยใสหรือน้ำมันมั้น อันดิรัจฉานมีลิงเป็นต้น ลักเอาไปจากส่วนแบ่งนั้น วางไว้ในป่า หรือที่หล่นจากมือของสัตว์เหล่านั้น ยังเป็นของอันดิรัจฉานหวงแหนก็ดี เป็นของบังสุกุลก็ดี ไม่สมควรทั้งนั้น, แม้จะอบเสนาสนะด้วยน้ำอ้อยที่นำมาจากส่วนแบ่งนั้น ก็ไม่ควร; จะตามประทีปด้วยเนยใสหรือน้ำมันแล้วนอนก็ดี กระทำกสิณบริกรรมก็ดี สอนหนังสือก็ดี ด้วยแสงสว่างแห่งประทีปนั้นก็ไม่ควร, จะทาแผลที่ร่างกายด้วยน้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้นจากส่วนแบ่งนั้น ก็ไม่ควรเหมือนกัน
         ชนทั้งหลายเอาวัตถุนั้นจ่ายหาเตียงและตั่งเป็นต้นก็ดี สร้างอุโบสถาคารก็ดี สร้างโรงฉันก็ดี จะบริโภคใช้สอยก็ไม่ควร, แม้ร่มเงาของโรงฉันเป็นต้น แผ่ไปอยู่ตามเขตของเรือน ก็ไม่ควร, ร่วมเงาที่เลยเขตไป ควรอยู่ เพราะเป็นของจรมา, จะเดินไปตามทางก็ดี สะพานก็ดี เรือก็ดี แพก็ดี ที่เขาจำหน่ายวัตถุนั้นสร้างไว้ ไม่ควร, จะดื่มหรือใช้สอยน้ำที่เอ่อขึ้นเต็มปริ่ม สระโบกขรณีซึ่งเขาให้ขุดด้วยวัตถุนั้น ก็ไม่ควร, แต่ว่าเมื่อน้ำภายในสระนั้นไม่มี น้ำใหม่ไหลเข้ามา หรือน้ำฝนไหลเข้าไป สมควรอยู่ แม้น้ำที่มาใหม่ ซึ่งซื้อมาพร้อมกับสระโบกขรณี ที่ซื้อมาด้วยวัตถุนั้น (วัตถุที่ภิกษุใช้รูปิยะซื้อมา) ก็ไม่ควร
         สงฆ์ตั้งวัตถุนั้นเป็นของฝาก (เพื่อเก็บดอกผล) บริโภคปัจจัย, แม้ปัจจัยเหล่านั้นก็ไม่ควรแก่เธอ แม้อารามซึ่งเป็นที่อันสงฆ์รับไว้ (ด้วยวัตถุนั้น) ก็ไม่ควรเพื่อบริโภคใช้สอย, ถ้าพื้นดินก็ดี พืชก็ดี เป็นอกัปปิยะ จะใช้สอยพื้นดิน จะบริโภคผลไม้ ไม่ควรทั้งนั้น ถ้าภิกษุซื้อพื้นดินอย่างเดียว เพาะปลูกพืชอื่น จะบริโภคผล ควรอยู่, ถ้าภิกษุซื้อพืชมาปลูกลงในพื้นดินอันเป็นกัปปิยะ จะบริโภคผล ไม่ควร, จะนั่งหรือนอนบนพื้นดิน ควรอยู่
     ๖.ถ้าอุบาสกเป็นต้น โยนทิ้งไป ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือแม้เขาไม่ทิ้ง ถือเอาไปเสียเอง ก็ไม่พึงห้ามเขา, ถ้าเขาไม่ถือเอาไป และไม่ทิ้งให้ หลีกไปตามความปรารถนา ด้วยใส่ใจว่า ประโยชน์อะไรของเราด้วยการขวนขวายนี้,  ลำดับนั้นสงฆ์พึงสมมติภิกษุผู้มีลักษณะตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ
         -ภิกษุผู้กระทำวัตถุนั้น เพื่อตนหรือยกตนขึ้นอ้าง ด้วยอำนาจแห่งความโลภ ชื่อว่า ย่อมถึงความลำเอียงเพราะชอบกัน, เมื่อรุกรานผู้อื่นด้วยอำนาจแห่งโทสะว่า ภิกษุนี้ไม่รู้บทเลย ไม่รู้วินัย ชื่อว่าย่อมถึงความลำเอียงเพราะโทสะ, เมื่อถึงความเป็นผู้พลั้งเผลอและหลงลืมสติด้วยอำนาจโมหะ ชื่อว่า ย่อมถึงความลำเอียงเพราะหลง, เมื่อไม่อาจจะทิ้งเพราะกลัวภิกษุผู้รับรูปิยะ ชื่อว่า ย่อมถึงความลำเอียงเพราะกลัว, ภิกษุผู้ไม่ทำอย่างนี้ บัณฑิตพึงทราบว่าย่อมไม่ถึงความลำเอียง
     ๗.ทองและเงินแม้ทั้งหมด พึงทราบว่า ถึงการสงเคราะห์ว่า รูปิยะทั้งนั้น
         -ภิกษุสงสัยว่า โดยนัยเป็นต้นว่า เป็นทองคำ หรือทองเหลืองหนอ
         -มีความสำคัญในทองคำเป็นต้นว่า เป็นทองเหลืองเป็นต้น
        อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ใคร่ในบุญทั้งหลาย มีนางสนมของพระราชาเป็นต้น ถวายเงินและทองใส่ไว้ในภัตของควรเคี้ยว ของหอม และกำยาน เป็นต้น, ถวายแผ่นผ้าเล็กๆ รวมกับกหาปณะที่ขอดไว้ที่ชายผ้าเป็นต้นนั่นแหละ แก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาตผ้า ภิกษุทั้งหลายรับเอาด้วยเข้าใจว่า เป็นภัตตาหารเป็นต้น หรือสำคัญว่าเป็นผ้า ภิกษุนี้พึงทราบว่า ผู้มีความสำคัญในรูปิยะว่า มิใช่รูปิยะ รับเอารูปิยะด้วยอาการอย่างนี้
         แต่ภิกษุผู้รับ พึงกำหนดให้ดีว่า วัตถุนี้เราได้ในเรือนหลังนี้ เพราะว่าผู้ที่ถวายของด้วยไม่มีสติ เมื่อได้สติแล้วจะกลับมาทวงถาม ภิกษุพึงบอกเขาว่า ท่านจงตรวจดูห่อผ้าของท่าน ดังนี้
     ๘.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖  บางคราวเป็นกิริยา เพราะต้องอาบัติด้วยการรับ บางคราวเป็นอกิริยา เพราะไม่ทำการห้าม, รูปิยสิกขาบท อัญญาวาทกสิกขาบท และอุปัสสุติสิกขาบท ทั้ง ๓ มีกำหนดอย่างเดียวกัน เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓
     ๙. พระพุทธเจ้าอนุญาตพระภิกษุรับเงินและทองคำด้วยไวยาวัจกรหรือกัปปิยการกไว้ ๒ แห่ง คือ
          (๑) นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปฐมวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ ชื่อ ราชสิกขาบท
          (๒) วินัย มหาวรรค เภสัชชขันธก เมณฑกสิกขาบท
         พระภิกษุรับเงินและทองคำตามวิธีปฏิบัติในเมณฑกสิกขาบทดีที่สุด ดั่งสาธกนี้ว่า
         สนฺติ ภิกฺขเว มนุสฺสา สทฺธา ปสนฺนา, เต กปฺปิยการกานํ หตฺเถ หิรญฺญสุวณฺณํ อุปนิกฺขิปนฺติ “อิมินา อยฺยสฺส ยํ กปฺปิยํ, ตํ เทถา” ติ, อนุชานามิ ภิกฺขเว ยํ ตโต กปฺปิยํ, ตํ สาทิตุํ.  
         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านที่มีศรัทธาเลื่อมใส เขามอบเงินทองไว้ในมือกัปปิยการก สั่งว่า สิ่งใดควรแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงถวายสิ่งนั้นด้วยกัปปิยภัณฑ์นี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีของกัปปิยะจากกัปปิยะภัณฑ์นั้นได้
     ทายกควรกล่าวคำถวายเงินและทองด้วยคำที่สมควรตามเมณฑกสิกขาบท ดังนี้คือ
     ขอถวายปัจจัยอันสมควรแก่สมณบริโภค เป็นมูลค่าเท่าราคา.........บาท........สตางค์  ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่ากำหนดนี้ โปรดเรียกจากกัปปิยการกผู้รับมอบนั้นเทอญ
     คำถวายนี้แก้ไขนิดหน่อยจากใบปวารณาของกรมการศาสนา คือ ตัดคำว่า ปัจจัย ๔ ออก เหลือเพียงคำว่าปัจจัยเท่านั้น เพราะว่าเมื่อกล่าวคำถวายว่า ขอถวายปัจจัย ๔ แล้ว ก็จะขอสิ่งของที่สมควรกับสมณะได้เพียง ๔ อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค เท่านั้น เพราะจำกัดความด้วยคำว่า ปัจจัย ๔ หากต้องการสมุดและดินสอเป็นต้น ก็ขอไม่ได้ ตามพระบาลีว่า ยถา ทายกา วทนฺติ, ตถา ปฏิปชฺชิตพฺพํ (ทายก ทายิกา กล่าวคำถวายไว้อย่างไร ภิกษุก็ควรปฏิบัติอย่างนั้น) เนื่องจากพระวินัยเปรียบเหมือนกฎหมาย บัญญัติพระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างไร ภิกษุทั้งหลายจึงควรประพฤติปฏิบัติตามอย่างนั้นโดยแท้  ฉะนั้น ถ้าใช้คำว่า ขอถวายปัจจัยอย่างเดียว โดยไม่เติมจำนวนคำว่า ๔ ลงไปด้วย จะเหมาะสมกว่า เนื่องจากสามารถขอปัจจัยที่สมควรกับสมณบริโภคทุกอย่างโดยไม่ผิดพระวินัย
     คำถวายว่า “อิมานิ มยํ ภนฺเต จตุปจฺจยานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต ภิกฺขุสงฺโฆ อิมานิ จตุปจฺจยานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย”
นี้ เป็นคำถวายที่ไม่สมควรในกรณีที่ถวายเงินและทอง (สตางค์) เพราะเป็นการแสวงหาเงินและทองโดยปริยาย แต่ถ้าถวายเป็นจีวรเป็นต้น ดังที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นแล้ว ไม่เป็นไร
     ในเมณฑกสิขาบทนั้น ทายกเป็นผู้แสดงกัปปิยการกเอง เพราะฉะนั้น พระภิกษุขอกี่ครั้งก็ได้ ส่วนในราชสิกขาบทนั้น พระภิกษุเป็นผู้แสดงกัปปิยการก มีกำหนดขอได้ ๓ ครั้ง ไม่เกิน ๖ครั้ง
     สมัยนี้ บางวัดปฏิบัติเคร่งครัดในพระวินัย ต้องสั่งสอนเด็กวัดหรือกัปปิยการก เมื่อมีผู้มาถวายเงิน โดยให้กัปปิยการกว่าดังนี้
     ขอถวายปัจจัยอันสมควรแก่สมณบริโภค เป็นมูลค่าเท่าราคา..........บาท.......สตางค์  ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่าในกำหนดนี้ โปรดเรียกจากข้าพเจ้าผู้รับมอบตามประสงค์เทอญ พระคุณเจ้ากรุณาบอกที่เก็บรักษาเงินแก่กระผมด้วย (จาก นานาวินิจฉัย/๒๗๕-๗)



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
น หิ เวเรน เวรานิ   สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ   เอส ธมฺโม สนนฺตโน ฯ ๕ ฯ  
แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้   เวรไม่มีระงับด้วยการจองเวร
มีแต่ระงับด้วยการไม่จองเวร  นี้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว

At any time in this world, Hatred never ceases by haterd,
But through non-hatred it ceases, This is an eternal law.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)




หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 เมษายน 2559 14:56:17

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๓๘)
ภิกษุทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ คือของที่เขาใช้เป็นทองและเงิน
ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    พระฉัพพัคคีย์ถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ ชาวบ้านเพ่งโทษติเตียน  
     ภิกษุทั้งหลายได้ยิน...จึงกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

     -ที่ชื่อว่า มีประการต่างๆ คือ เป็นรูปพรรณบ้าง ไม่เป็นรูปพรรณบ้าง เป็นทั้งรูปพรรณ และมิใช่รูปพรรณบ้าง
     -ที่ชื่อว่า เป็นทั้งรูปพรรณ ได้แก่ เครื่องประดับต่างๆ ที่ชื่อว่า ไม่เป็นรูปพรรณ คือ ที่เรียกกันว่าเป็นแท่ง, ที่ชื่อว่า เป็นทั้งรูปพรรณและมิใช่รูปพรรณ ได้แก่ของ ๒ อย่างนั้น
     -ที่ชื่อว่า รูปิยะ ได้แก่ ทองคำ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยสิ่งต่างๆ ซึ่งใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้
     -ถึงความซื้อขาย คือ เอาของที่เป็นรูปพรรณซื้อของที่เป็นรูปพรรณ, เอาของที่ยังไม่เป็นรูปพรรณ ซื้อของที่เป็นรูปพรรณ เป็นต้น  การซื้อขายดังกล่าวมาล้วนเป็นนิสสัคคีย์ทั้งสิ้น ของที่ซื้อขายด้วยรูปิยะซึ่งเป็นนิสสัคคีย์นั้น ต้องเสียสละในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุพึงเสียสละของนั้นอย่างนี้

วิธีเสียสละของที่ซื้อขายด้วยรูปิยะ
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ ของสิ่งนี้ของข้าพเจ้า เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่สงฆ์”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ ถ้าคนทำการวัดหรืออุบาสกเดินมาในสถานที่เสียสละนั้น พึงบอกเขาว่า ท่านจงรู้ของสิ่งนี้ ถ้าเขาถามว่าจะให้นำของสิ่งนี้ไปหาอะไรมา อย่าบอกว่า จงนำของสิ่งนี้หรือของสิ่งนี้มา ควรบอกแต่ของที่เป็นกัปปิยะ เช่น เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย ถ้าเขานำเอาสิ่งนั้นไปแลกของที่เป็นกัปปิยะมาถวาย เว้นภิกษุผู้ซื้อขายด้วยรูปิยะ ภิกษุนอกนั้นฉันได้ทุกรูป ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้พึงบอกเขาว่า โปรดช่วยทิ้งของสิ่งนี้ ถ้าเขาทิ้งให้ นั้นเป็นการดี ถ้าไม่ทิ้งให้ พึงสมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ
     -องค์ ๕ ของภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ วิธีสมมติภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ และคำสมมติ พึงทราบตามสิกขาบทที่ ๘

อาบัติ
     ๑.รูปิยะ ภิกษุรู้ว่าเป็นรูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๒.รูปิยะ ภิกษุสงสัย ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.รูปยะ ภิกษุคิดว่า มิใช่รูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.มิใช่รูปิยะ ภิกษุคิดว่าเป็นรูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๕.มิใช่รูปิยะ ภิกษุสงสัย ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๖.มิใช่รูปิยะ ภิกษุรู้ว่ามิใช่รูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๗.มิใช่รูปิยะ ภิกษุคิดว่าเป็นรูปิยะ ต้องทุกกฎ
     ๘.มิใช่รูปิยะ ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
     ๙.มิใช่รูปิยะ ภิกษุรู้ว่ามิใช่รูปิยะ ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุวิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๙๖๕-๙๗๐
     ๑.พวกภิกษุฉัพพัคคีย์มองไม่เห็นโทษในการแลกเปลี่ยนด้วยทองและเงินที่ตนรับไว้แล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามการรับอย่างเดียว จึงกระทำ (การแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะ)
     ๒.บรรดาวัตถุที่กล่าวแล้วในสิกขาบทก่อน เมื่อภิกษุซื้อขายนิสสัคคิยวัตถุ (ของที่ใช้รูปิยะซื้อเป็นของที่พึงสละทิ้ง) ด้วยนิสสัคคิยวัตถุ (รูปิยะ) เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ด้วยสิกขาบทก่อน (สิกขาบทที่ ๘) ในเพราะการรับมูลค่า (รับรูปิยะ), ในเพราะการซื้อขายของอื่นๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยสิกขาบทนี้แล, แม้เมื่อซื้อขายทุกกฎวัตถุ หรือกัปปิยวัตถุ ด้วยนิสสัคคิยวัตถุ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน
         -ก็เมื่อภิกษุซื้อขายวัตถุแห่งนิสสัคคีย์ด้วยวัตถุแห่งทุกกฎ เป็นทุกกฎด้วยสิกขาบทก่อน ในเพราะการรับมูลค่านิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยสิกขาบทนี้ ในเพราะแลกเปลี่ยนในภายหลัง เพราะซื้อขายของหนัก เมื่อซื้อขายทุกกฎวัตถุนั้นแหละ (มิใช่รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าเป็นรูปิยะ เป็นทุกกฎเป็นต้น) หรือกัปปิยวัตถุด้วยวัตถุแห่งทุกกฎ เป็นทุกกฎด้วยสิกขาบทก่อนในเพราะการรับมูลค่า เป็นทุกกฎเช่นกันด้วยสิกขาบทนี้ แม้ในเพราะการแลกเปลี่ยนภายหลัง เพราะซื้อขายด้วยอกัปปิยวัตถุ
         -สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาการซื้อขายรูปิยะและสิ่งมิใช่รูปิยะ และสิ่งมิใช่รูปิยะด้วยรูปิยะ และการซื้อขายรูปิยะด้วยสิ่งมิใช่รูปิยะ ส่วนการซื้อขายวัตถุแห่งทุกกฎด้วยวัตถุแห่งทุกกฎ มิได้ตรัสไว้ในบาลีในสิกขาบทนี้ และมิได้ตรัสไว้ในกยวิกกยสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๑๐ แห่งโกสิยวรรค) นั้นเลย ก็ในการซื้อขายวัตถุแห่งทุกกฎด้วยวัตถุแห่งทุกกฎนี้ ไม่ควรจะเป็นอนาบัติ, เพราะฉะนั้นพวกอาจารย์ผู้รู้พระประสงค์แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้กล่าวคำว่า ในเพราะรับวัตถุแห่งทุกกฎเป็นทุกกฎ ฉันใด  แม้ในเพราะซื้อขายวัตถุแห่งทุกกฎนั้นด้วยวัตถุแห่งทุกกฎนั้นนั่นแลเป็นทุกกฎ ก็ชอบแล้วฉันนั้นเหมือนกัน
         อนึ่ง เมื่อภิกษุซื้อขายวัตถุด้วยนิสสัคคีย์ ด้วยกัปปิยวัตถุ เป็นอาบัติด้วยสิกขาบทก่อน ในเพราะการรับมูลค่า, เป็นนิสสัคคีย์ด้วยสิกขาบทนี้ ในเพราะแลกเปลี่ยนภายหลัง สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุมีความสำคัญในสิ่งมิใช่รูปิยะ ว่าไม่ใช่รูปิยะ ซื้อขายรูปิยะเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์, เมื่อภิกษุซื้อขายวัตถุแห่งทุกกฎด้วยกัปปิยวัตถุนั่นแหละ ไม่เป็นอาบัติ เหมือนอย่างนั้นในเพราะการรับมูลค่า, เป็นทุกกฎด้วยสิกขาบทนี้ ในเพราะการแลกเปลี่ยนภายหลัง (จากรับรูปิยะแล้ว) เพราะเหตุไร? เพราะซื้อขายสิ่งเป็นอกัปปิยะ
         เมื่อภิกษุแลกเปลี่ยนกัปปิยวัตถุ นอกจากพวกสหธรรมิก ไม่เป็นอาบัติด้วยสิกขาบทก่อน ในเพราะการรับมูลค่า เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยกยวิกกยสิกขาบทที่จะปรากฏข้างหน้า เพราะการแลกเปลี่ยนภายหลัง, เมื่อภิกษุถือเอาการซื้อขายไป ไม่เป็นอาบัติ แม้โดยสิกขาบทข้างหน้า แต่เป็นทุกกฎแก่ภิกษุผู้ประการหาผลกำไร
     ๓.ภิกษุใด รับเอารูปิยะ แล้วจ้างให้เร่งขุดแร่เหล็กขึ้นด้วยรูปิยะนั้น ให้ช่างเหล็กถลุงแร่เหล็กนั้นแล้ว ให้ทำบาตรด้วยโลหะนั้น, บาตรนี้ชื่อว่า เป็นมหาอกัปปิยะ ภิกษุนั้นไม่อาจทำให้เป็นกัปปิยะได้ด้วยอุบายใดๆ ก็ถ้าว่าทำลายบาตรนั้นแล้ว ให้ช่างทำเป็นกระถาง แม้กระถางนั้นก็เป็นอกัปปิยะ ให้กระทำมีด แม้ไม้สีฟันที่ตัดด้วยมีดนั้น ก็เป็นอกัปปิยะ ให้กระทำเบ็ด แม้ปลาที่เขาทำให้ตายด้วยเบ็ดนั้นก็เป็นอกัปปิยะ, ภิกษุให้ช่างเผาตัวมีดให้ร้อน แช่น้ำหรือนมสดให้ร้อน แม้น้ำและนมสดนั้นก็เป็นอกัปปิยะเช่นกัน
         ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ก็ภิกษุใด รับรูปิยะแล้วซื้อบาตรด้วยรูปิยะนั้น แม้บาตรนี้ของภิกษุนั้นก็เป็นอกัปปิยะ ไม่สมควรแม้แก่สหธรรมมิกทั้ง ๕ แต่ภิกษุนั้นอาจทำบาตรนั้นให้เป็นกัปปิยะได้ ต่อเมื่อให้มูลค่าแก่เจ้าของมูลค่า และเมื่อให้บาตรแก่เจ้าของบาตร ภิกษุจะให้กัปปิยภัณฑ์แล้วรับเอาไปใช้สอย สมควรอยู่
     ๔.ฝ่ายภิกษุใด ให้รับเอารูปิยะไว้แล้ว ไปยังตระกูลช่างเหล็กกับด้วยกัปปิยการก เห็นบาตรแล้วพูดว่า บาตรนี้เราชอบใจ และกัปปิยการกให้รูปิยะนั้นแล้ว ให้ช่างเหล็กตกลง แม้บาตรใบนี้ อันภิกษุนั้นถือเอาโดยกัปปิยโวหาร เป็นเช่นกับบาตรใบที่ ๒ นั่นเอง จัดเป็นอกัปปิยะเหมือนกัน เพราะภิกษุรับมูลค่า
         ถามว่า เพราะเหตุไรจึงไม่สมควรแก่สหธรรมิกที่เหลือ? แก้ว่า เพราะไม่เสียสละมูลค่า
         อนึ่ง ภิกษุใดไม่รับรูปิยะ ไปยังตระกูลช่างเหล็กพร้อมกับกัปปิยการกที่ทายกส่งมาว่า ท่านจงซื้อบาตรถวาย พระเถระเมื่อเห็นบาตรนั้นแล้ว ให้กัปปิยการกจ่ายกหาปณะว่า เธอจงรับเอากหาปณะเหล่านี้แล้วให้บาตรนี้แล้วได้ถือเอาไป บาตรนี้ไม่ควรแก่ภิกษุรูปนี้เท่านั้น เพราะจัดการไม่ชอบ, แต่ควรแก่ภิกษุเหล่าอื่น เพราะไม่ได้รับมูลค่า
         ได้ทราบว่า อุปัชฌาย์ของพระมหาสุมเถระ มีชื่อ อนุรุทธเถระ ท่านบรรจุบาตรเห็นปานนี้ของตนให้เต็มด้วยเนยใสแล้วสละแก่สงฆ์ พวกสัทธิวิหาริกของพระจุลนาคเถระผู้ทรงไตรปิฎกก็ได้มีบาตรเช่นนั้นเหมือนกัน พระเถระสั่งให้บรรจุบาตรนั้นให้เต็มด้วยเนยใสแล้วให้เสียสละแก่สงฆ์ ดังนี้แล
         ก็ถ้าว่า ภิกษุไม่รับรูปิยะ ไปสู่ตระกูลช่างเหล็กพร้อมด้วยกัปปิยการกที่ทายกสั่งมาว่า เธอจงซื้อบาตรถวายพระเถระๆ เห็นบาตรแล้วกล่าวว่า บาตรนี้เราชอบใจ หรือว่าเราจักเอาบาตรนี้ และกัปปิยการกจ่ายรูปิยะนั้นไปแล้ว ให้ช่างเหล็กยินยอมตกลง บาตรนี้สมควรทุกอย่าง ควรแก่การบริโภคแห่งพระพุทธะทั้งหลาย
     ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓
         ๖.วิธีปฏิบัติในเรื่องเงินและทองที่มีผู้ถวาย
         ถ้าใครๆ นำเอาทองและเงินมากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายทองและเงินนี้แก่สงฆ์ ท่านทั้งหลายจงสร้างอาราม วิหาร เจดีย์ หรือหอฉัน เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ภิกษุจะรับทองและเงินแม้นี้ ไม่ควร,  ในมหาปัจจรีกล่าวว่าเป็นทุกกฏแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ถ้าเมื่อภิกษุปฏิเสธว่า ภิกษุทั้งหลายจะรับทองและเงินนี้ เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกช่างไม้หรือพวกกรรมการ ท่านทั้งหลายจงรับทราบการงานที่เขาทำดีและไม่ดีอย่างเดียว แล้วมอบไว้ในมือของพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกรเหล่านั้น แล้วหลีกไป จะรับก็ควร, ถ้าแม้นเขากล่าวว่าทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกคนของผมเอง หรือจักอยู่ในมือของผมเอง ท่านพึงส่งข่าวไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้ที่เราจะต้องให้ทองและเงินเขาอย่างเดียว แม้อย่างนี้ก็ควร ก็ถ้าว่าพวกเขาไม่ระบุสงฆ์ คณะ หรือบุคคล กล่าวว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายเงินและทองนี้แก่เจดีย์ ถวายแก่วิหาร ถวายเพื่อก่อสร้าง ดังนี้ จะปฏิเสธไม่สมควร พึงบอกแก่พวกกัปปิยการกว่า ชนพวกนี้กล่าวคำนี้ แต่เมื่อเขากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงรับเก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่เจดีย์เป็นต้นเถิด พึงปฏิเสธว่า การที่พวกเรารับไว้ ไม่สมควร
         แต่บางคนนำเอาเงินและทองมากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายเงินและทองนี้แกสงฆ์ ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิด ถ้าสงฆ์รับเงินและทองนั้น เป็นอาบัติ ทั้งเพราะรับ ทั้งเพราะบริโภค, ถ้าบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปหนึ่งปฏิเสธว่า สิ่งนี้ไม่ควร อุบาสกกล่าวว่า ถ้าไม่ควรจักเป็นของผมเสียเอง ดังนี้แล้วไป, ภิกษุนั้น อันภิกษุบางรูปไม่พึงกล่าวคำอะไรๆ ว่า เธอทำอันตรายลาภของสงฆ์ เพราะภิกษุใดโจทเธอ ภิกษุนั้นเองเป็นผู้มีอาบัติติดตัว เพราะเธอรูปเดียวกระทำภิกษุเป็นอันมากไม่ให้เป็นอาบัติ, ก็ถ้าว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายปฏิเสธว่า ไม่ควร เขากล่าวว่า จักอยู่ในมือของพวกกัปปิยการก หรือจักอยู่ในมือของพวกคนของผม หรือในมือของผม ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้น ดังนี้สมควรอยู่
         เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จตุปัจจัย พึงน้อมไปเพื่อปัจจัย ๔ ที่ต้องการ เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จีวร พึงน้อมไปในจีวรเท่านั้น ถ้าว่าไม่มีความต้องการจีวรนั้น หากสงฆ์ลำบากด้วยปัจจัย มีบิณฑบาตเป็นต้น พึงอปโลกน์เพื่อความเห็นดีแห่งสงฆ์แล้วน้อมไปเพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตเป็นต้น แม้ในอกัปปิยวัตถุที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตและคิลานปัจจัย ก็มีนัยนี้
         อนึ่ง อกัปปิยวัตถุที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ พึงน้อมไปในเสนาสนะเท่านั้น เพราะเสนาสนะเป็นครุภัณฑ์ ก็ถ้าว่า เมื่อพวกภิกษุทิ้งเสนาสนะไป เสนาสนะจะเสียหาย ในกาลเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย แม้จำหน่ายเสนาสนะแล้ว บริโภคปัจจัยได้
         เพราะฉะนั้น เพื่อรักษาเสนาสนะไว้ ภิกษุอย่ากระทำให้ขาดมูลค่า (ไม่มีราคา) พึงบริโภคพอยังอัตภาพให้เป็นไป และมิใช่แต่เงินทองอย่างเดียวเท่านั้น แม้อกัปปิยวัตถุอื่น มีนาและสวนเป็นต้น ภิกษุก็ไม่ควรรับ
     ๗.วิธีปฏิบัติในบึงและสระน้ำที่มีผู้ถวาย
         ถ้าใครๆ กล่าวว่า บึงใหญ่ให้สำเร็จข้าวกล้า ๓ ครั้ง ของข้าพเจ้ามีอยู่, ข้าพเจ้าขอถวายบึงใหญ่นั้นแก่สงฆ์, ถ้าสงฆ์รับบึงใหญ่นั้น เป็นอาบัติทั้งในการรับ ทั้งในการบริโภคเหมือนกัน, แต่ภิกษุใดปฏิเสธบึงใหญ่นั้น ภิกษุนั้นอันภิกษุบางรูปไม่ควรว่ากล่าวอะไรๆ โดยนัยก่อนเหมือนกัน เพราะว่าภิกษุใดโจทเธอ ภิกษุนั้นเองมีอาบัติติดตัว เพราะเธอรูปเดียวได้ทำให้ภิกษุมากรูปไม่ต้องอาบัติ
         ผู้ใดแม้กล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายบึงใหญ่เช่นนั้นเหมือนกัน ถูกพวกภิกษุปฏิเสธว่า ไม่ควร ถ้าเขายังกล่าวว่า บึงโน้นและบึงโน้นของสงฆ์ทำไมมีอยู่ล่ะ บึงนั้นสงฆ์มีได้อย่างไร? พึงบอกเขาว่า เขาจักทำให้เป็นกัปปิยะแล้วถวายกระมัง?  เขาถามว่า อย่างไรจึงจะเป็นกัปปิยะ? พึงกล่าวว่า เขากล่าวถวายว่า ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิด  ดังนี้ ถ้าเขากล่าวว่า ดีละ ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิด ดังนี้ควรอยู่
         ถ้าแม้นเขากล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายจงรับบึงเถิด ถูกพวกภิกษุทั้งหลายห้ามว่า ไม่ควร แล้วถามว่า กัปปิยการกมีอยู่หรือ? เมื่อภิกษุตอบว่าไม่มี จึงกล่าวว่า คนชื่อโน้นจักจัดการบึงนี้ หรือว่าจักอยู่ในความดูแลของคนโน้น หรือในความดูแลของข้าพเจ้า ขอสงฆ์จงบริโภคกัปปิยภัณฑ์เถิด ดังนี้จะรับควรอยู่, ถ้าแม้นว่าทายกนั้นถูกปฏิเสธว่า ไม่ควร แล้วกล่าวว่า คนทั้งหลายจักบริโภคน้ำ จักซักล้างสิ่งของพวกเนื้อและนกจักดื่มกิน, การกล่าวอย่างนี้ก็สมควร
         ถ้าทายกถูกพวกภิกษุปฏิเสธว่า ไม่ควร แล้วยังกล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายจงรับโดยมุ่งถึงของสมควรเป็นใหญ่เถิด ภิกษุจะกล่าวว่า ดีละ อุบาสก สงฆ์จักดื่มน้ำ จักซักล้างสิ่งของ พวกเนื้อและนก จักดื่มกิน ดังนี้แล้วบริโภคอยู่ แม้หากว่าเมื่อทายกกล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายบึง หรือสระโบกขรณีแก่สงฆ์ ภิกษุจะกล่าวคำเป็นต้นว่า ดีละ อุบาสก สงฆ์จักดื่มน้ำ แล้วบริโภคใช้สอย สมควรเหมือนกัน
         ก็ถ้าพวกภิกษุขอหัตถกรรมและขุดกัปปิยปฐพีด้วยมือของตนเอง ให้สร้างสระน้ำเพื่อต้องการใช้น้ำ, ถ้าพวกชาวบ้านอาศัยสระน้ำนั้นทำข้าวกล้าให้สำเร็จแล้วถวายกัปปิยภัณฑ์ในวิหาร ควรอยู่, ถ้าแม้นว่าพวกชาวบ้านนั่นแหละ ขุดพื้นที่ของสงฆ์เพื่อต้องการอุปการะแก่สงฆ์ แล้วถวายกัปปิยภัณฑ์จากข้าวกล้าที่อาศัยสระน้ำนั้นสำเร็จแล้ว แม้นี้ก็สมควร, ก็เมื่อเขากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงตั้งกัปปิยการกให้พวกผมคนหนึ่ง แม้ภิกษุจะตั้งก็ได้
         อนึ่ง ถ้าพวกชาวบ้านนั้นถูกราชพลีรบกวนพากันหนีไป, ชาวบ้านพวกอื่นจักทำนาเป็นต้น แต่ไม่ถวายอะไรๆ แก่ภิกษุทั้งหลายเลย, พวกภิกษุจะหวงห้ามน้ำก็ได้ ก็แลการหวงน้ำนั้น ย่อมได้ในฤดูทำนาเท่านั้น ไม่ใช่ในฤดูข้าวกล้า (กำลังงอกงามแล้ว) ถ้าพวกชาวบ้านกล่าวว่า ท่านขอรับ แม้เมื่อก่อนพวกชาวบ้านได้อาศัยน้ำนี้ทำข้าวกล้ามิใช่หรือ? เมื่อนั้นพึงบอกพวกเขาว่า พวกนั้นเขาได้กระทำอุปการะอย่างนี้แก่สงฆ์ และได้ถวายแม้กัปปิยะภัณฑ์อย่างนี้, ถ้าพวกเขากล่าวว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็จักถวาย อย่างนี้ก็ควร
         ก็ถ้าว่า ภิกษุบางรูปไม่เข้าใจ รับสระน้ำหรือให้สร้างสระโดยอกัปปิยโวหาร (คำพูดที่ผิดพระวินัย), สระนั้นพวกภิกษุไม่ควรบริโภคใช้สอย, แม้กัปปิยภัณฑ์ที่อาศัยสระน้ำได้มา ก็เป็นอกัปปิยะเหมือนกัน ถ้าเจ้าของมีบุตรและธิดา หรือใครๆอื่นผู้เกิดในสกุลวงศ์ของเขา ทราบว่าภิกษุทั้งหลายสละแล้ว จึงถวายด้วยกัปปิยโวหารใหม่  สระนั้น ควร,  เมื่อสกุลวงศ์ของเขาขาดสูญ ผู้ใดเป็นเจ้าของชนบทนั้น ผู้นั้นริบเอาแล้วถวายคืน เหมือนพระราชมเหสีนามว่าอนุฬา ทรงริบเอาฝายน้ำที่ภิกษุในจิตตลดาบรรพตซักมาแล้วถวายคืนฉะนั้น แม้อย่างนี้ก็ควร
         จะทำการโกยดินขึ้น และกั้นคันสระใหม่ ในสระที่รับไว้ด้วยอำนาจแห่งน้ำ แม้เป็นกัปปิยโวหาร ย่อมควรแก่ภิกษุผู้มีจิตบริสุทธิ์ แต่การที่ภิกษุเห็นพวกชาวบ้านอาศัยสระน้ำกระทำข้าวกล้าอยู่ จะตั้งกัปปิยการก ไม่ควร,  ถ้าพวกเขาถวายกัปปิยภัณฑ์เสียเอง ควรรับ,  ถ้าพวกเขาไม่ถวาย ไม่ควรทวง ไม่ควรเตือน  การที่จะตั้งกัปปิยการกในสระที่รับไว้ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ควรอยู่, แต่จะทำการโกยดินขึ้นและกั้นคันสระเป็นต้น ไม่ควร, ถ้าพวกกัปปิยการกกระทำเองเท่านั้น จึงควร,  เมื่อลัชชีภิกษุผู้ฉลาดใช้พวกกัปปิยการกทำการโกยดินขึ้นเป็นต้น สระน้ำจะเป็นกัปปิยะในเพราะการรับ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็เป็นการบริโภคไม่ดี ดุจบิณฑบาตที่เจือยาพิษ และดุจโภชนะที่เจืออกัปปิยะมังสะฉะนั้น เพราะกัปปิยภัณฑ์ที่เจือด้วยสิ่งของอันเกิดจากประโยชน์ของภิกษุเป็นปัจจัย เป็นอกัปปิยะแก่พวกภิกษุทั่วไปเหมือนกัน
         แต่ยังมีโอกาสเพื่อน้ำ ภิกษุจะจัดการเฉพาะน้ำเท่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านจงทำโดยประการที่คันของสระจะมั่นคง จุน้ำได้มาก คือ จงทำให้น้ำเอ่อขึ้นปริ่มฝั่ง ดังนี้ควรอยู่
     ๘.วิธีปฏิบัติในทาส คนวัด และปศุสัตว์ที่มีผู้ถวาย
         หากทายกกล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายทาส การถวายนั้นไม่ควร, เมื่อเขากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายคนวัด ถวายไวยาวัจกร ถวายกัปปิยการก ดังนี้จึงควร, ถ้าอารามิกชนนั้นทำการงานของสงฆ์เท่านั้น ทั้งก่อนภัตและหลังภัต ภิกษุพึงกระทำแม้การพยาบาลด้วยยาทุกอย่างแก่เขาเหมือนกับสามเณร, หากเขาทำการงานของสงฆ์ก่อนภัตเวลาเดียว ภายหลังภัตไปกระทำการงานของตน ไม่พึงให้อาหารในเวลาเย็น, แม้ชนจำพวกใดกระทำงานของสงฆ์ตามวาระ ๕ วัน หรือตามวาระปักษ์ เวลาที่เหลือทำงานของตน พึงให้ภัตและอาหารแม้แก่บุคคลพวกนั้นในเวลากระทำเท่านั้น, ถ้าการงานของสงฆ์ไม่มี พวกเขากระทำงานของตนเองเลี้ยงชีพ, ถ้าพวกเขาเอามูลค่าหัตถกรรมมาถวายพึงรับ, ถ้าพวกเขาไม่ถวายก็อย่าพึงพูดอะไรเลย การรับทาสย้อมผ้าก็ดี ทาสช่างหูกก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยชื่อว่าอารามิกชน ควรอยู่
         หากพวกทายกกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าถวายโคทั้งหลาย ดังนี้ ภิกษุพึงห้ามพวกเขาว่า ไม่สมควร, เมื่อมีพวกชาวบ้านถามว่า โคเหล่านี้ท่านได้มาจากไหน? พึงบอกเขาว่า พวกบัณฑิตถวายเพื่อประโยชน์แก่การบริโภคปัญจโครส เมื่อพวกเขากล่าวว่า แม้พวกผมก็ถวายเพื่อประโยชน์บริโภคปัญจโครส ดังนี้ควรอยู่, แม้ในปศุสัตว์มีแม่แพะเป็นต้น ก็นัยนี้แหละ
         พวกชาวบ้านกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าถวายช้าง ถวายม้า กระบือ ไก่ สุกร ดังนี้จะรับ ไม่ควร ถ้าพวกชาวบ้านบางหมู่กล่าวว่า ท่านขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด พวกผมจะรับสัตว์เหล่านี้แล้วถวายกัปปิยภัณฑ์แก่ท่านทั้งหลาย แล้วรับไป ย่อมควร, จะปล่อยเสียในป่าด้วยกล่าวว่า ไก่และสุกรเหล่านี้ จงอยู่ตามสบายเถิด ดังนี้ก็ควร, เมื่อเขากล่าวว่า พวกข้าพเจ้าถวายสระนี้ นานี้ ไร่นี้ แก่วิหาร ภิกษุจะปฏิเสธไม่ได้ ฉะนี้แล


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ   วุฎฺฐิ สมติวิชฺฌติ
เอวํ อภาวิคํ จิตฺตํ   ราโค สมติวิชฺฌติ ฯ ๑๓ ฯ  
เรือนที่มุงไม่เรียบร้อย  ฝนย่อมไหลย้อยเข้าได้
ใจที่ไม่อบรมฝึกหัด  ราคะกำหนัดย่อมครอบงำ

Even as rain into an ill-thatched house,
Even so lust penetrates an undeveloped mind..
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)
[/center]


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 มิถุนายน 2559 15:40:11

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๓๙)
ภิกษุแลกเปลี่ยนสิ่งของมีประการต่างๆ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรเป็นผู้ชำนาญการทำจีวร เธอเอาผ้าเก่าๆ ทำผ้าสังฆาฏิย้อมแต่งดีแล้วห่ม  ขณะนั้นปริพาชกผู้หนึ่งห่มผ้ามีราคามาก เห็นผ้าของพระอุปนันทะแล้วเกิดชอบใจ ชักชวนกันแลก
       ปริพาชกห่มผ้าผืนของท่านอุปนันท์ไปอาราม พวกปริพาชกพูดว่า ผ้าผืนนี้จักอยู่ได้กี่วัน ปริพาชกเห็นจริงตามนั้น จึงกลับไปหาท่านอุปนันท์ขอแลกกลับคืน แต่ท่านอุปนันท์ไม่ยอม ปริพาชกได้เพ่งโทษติเตียนว่า คฤหัสถ์เขายังคืนให้กัน นี่บรรพชิตต่อบรรพชิตไฉนจึงไม่ยอมคืน ภิกษุทั้งหลายได้ยิน ได้ติเตียนที่เธอแลกเปลี่ยนกับปริพาชก กราบทูล...ทรงมีพระบัญญัติว่า "อนึ่ง ภิกษุใด ถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์"

อรรถาธิบาย
       -ที่ชื่อว่า มีประการต่างๆ ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยของภิกษใช้ โดยที่สุดแม้ก้อนฝุ่น ไม้ชำระฟัน ด้ายชายผ้า
       -ถึงการแลกเปลี่ยน คือภิกษุพูดเป็นเชิงบังคับว่า จงให้ของสิ่งนี้มาด้วยของสิ่งนี้ จงนำของสิ่งนี้ จงแลกเปลี่ยนของสิ่งนี้ด้วยของสิ่งนี้ จงจ่ายของสิ่งนี้ด้วยของสิ่งนี้ ดังนี้เป็นต้น ต้องอาบัติทุกกฏในเวลาที่แลกแล้ว ของๆ ตนไปอยู่ในมือของคนอื่น และเปลี่ยนแล้ว คือของๆ คนอื่นมาอยู่ในมือของตน เป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า "ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้ถึงการแลกเปลี่ยน มีประการต่างๆ ของสิ่งนี้ของข้าพเจ้าเป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่สงฆ์"
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ พึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า "ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ของสิ่งนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ของสิ่งนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้"

วิธีเสียสละแก่คณะ
       ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป...กล่าวอย่างนี้ว่า "ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้ถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ...ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่ท่านทั้งหลาย" ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่าดังนี้ "ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า...ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้ของสิ่งนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้"

วิธีเสียสละแก่บุคคล
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง..."ท่าน ข้าพเจ้าได้ถึงการแลกเปลี่ยน มีประการต่างๆ...ของสิ่งนี้ของข้าพเจ้า เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่ท่าน"
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยคำว่า "ข้าพเจ้าให้ของสิ่งนี้แก่ท่าน" ดังนี้

อาบัติ
       ๑.แลกเปลี่ยน ภิกษุรู้ว่าแลกเปลี่ยน เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.แลกเปลี่ยน ภิกษุสงสัย เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.แลกเปลี่ยน ภิกษุคิดว่าไม่ได้แลกเปลี่ยน เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.ไม่ได้แลกเปลี่ยน ภิกษุคิดว่าแลกเปลี่ยน ต้องทุกกฏ
       ๕.ไม่ได้แลกเปลี่ยน ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฏ
       ๖.ไม่ได้แลกเปลี่ยน ภิกษุรู้ว่าไม่ได้แลกเปลี่ยน ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุถามราคา ๑  ภิกษุบอกแก่กัปปิยการว่าของสิ่งนี้เรามีอยู่ แต่เราต้องการของสิ่งนี้และของสิ่งนี้ ดังนี้ ๑  ภิกษุวิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๑/๓/๙๗๘-๙๘๓
      ๑.ทรงแสดงเฉพาะกัปปิยภัณฑ์ตั้งต้นแต่จีวร มีด้ายชายผ้าเป็นที่สุด เพราะการแลกเปลี่ยนด้วยอกัปปิยภัณฑ์ ย่อมไม่ถึงการสงเคราะห์เข้าในการซื้อขาย
         -ในเวลาทำภัณฑะของผู้อื่นให้อยู่ในมือของตน ชื่อว่าซื้อ และในเวลาทำภัณฑะของตนให้อยู่ในมือของผู้อื่น ชื่อว่าขาย
         -พึงสละกัปปิยภัณฑ์ ที่รับเอาจากมือของคนอื่น ด้วยอำนาจแห่งการซื้อขายอย่างนี้; ก็การซื้อขายอย่างนี้กับพวกคฤหัสถ์และนักบวชที่เหลือ เว้นสหธรรมิกทั้ง ๕ โดยที่สุดแม้กับมารดาบิดา ก็ไม่ควรซื้อขาย
       ๒.วินิจฉัยในการซื้อขายนั้นดังต่อไปนี้.
         -ผ้ากับผ้าก็ตาม อาหารกับอาหารก็ตาม จงยกไว้, ภิกษุกล่าวถึงกัปปิยภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ เป็นทุกกฏ, ภิกษุกล่าวอย่างนั้น แล้วให้ภัณฑะของตนแม้แก่มารดาก็เป็นทุกกฏ, ภิกษุอันมารดากล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ หรือกล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ฉันจักให้สิ่งนี้แก่ท่าน แล้วถือเอาภัณฑะของมารดาเพื่อตน ก็เป็นทุกกฏ, เมื่อภัณฑะของตนถึงมือของคนอื่น และเมื่อภัณฑะของคนอื่นถึงมือของตน เป็นนิสสัคคีย์
       แต่เมื่อภิกษุกล่าวกะมารดาหรือบิดาว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ ไม่เป็นการออกปากขอ, เมื่อภิกษุกล่าวว่า ท่านจงถือเอาสิ่งนี้ ไม่เป็นการยังศรัทธาไทยให้ตกไป, เมื่อภิกษุพูดกะผู้มิใช่ญาติว่า ท่านจงให้สิ่งนี้เป็นการออกปากขอ, เมื่อพูดว่า ท่านจงถือเอาสิ่งนี้ เป็นการยังศรัทธาไทยให้ตกไป; เมื่อภิกษุถึงการซื้อขายว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ เป็นนิสสัคคีย์ เพราะฉะนั้นภิกษุผู้จะแลกเปลี่ยนกัปปิยภัณฑ์ พึงแลกเปลี่ยนกับมารดาบิดาให้พ้นการซื้อขายกับพวกคนผู้มิใช่ญาติให้พ้นอาบัติ ๓ ตัว
       ๓.อธิบายวิธีการแลกเปลี่ยนกัปปิยภัณฑ์ ดังนี้
         ภิกษุมีข้าวสารเป็นเสบียงเดินทาง เธอเห็นบุรุษถือข้าวสุกในระหว่างทางแล้ว พูดว่า เรามีข้าวสารและเราไม่มีความต้องการด้วยข้าวสารนี้ แต่มีความต้องการด้วยข้าวสุก บุรุษรับเอาข้าวสารแล้วถวายข้าวสุก ควรอยู่ ไม่เป็นอาบัติทั้ง ๓ ตัว, ชั้นที่สุดแม้เพียงสักว่านิมิตกรรมก็ไม่เป็น เพราะเหตุไร? เพราะมีมูลเหตุ และพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ข้างหน้านั่นแลว่า ภิกษุพูดว่า เรามีสิ่งนี้ แต่มีความต้องการด้วยสิ่งนี้และสิ่งนี้ ดังนี้
         อนึ่ง ภิกษุใด ไม่กระทำอย่างนี้ แลกเปลี่ยนว่า ท่านจงให้สิ่งนี้ด้วยสิ่งนี้ เป็นอาบัติตามวัตถุแท้, ภิกษุเห็นคนกินเดน กล่าวว่า เธอจงกินข้าวสุกนี้ แล้วนำน้ำย้อมหรือฟืนมาให้เรา แล้วให้ข้าวสุกนั้น เป็นนิสสัคคีย์หลายตัว ตามจำนวนสะเก็ดน้ำย้อมและจำนวนฟืน, ภิกษุกล่าวว่า พวกท่านบริโภคข้าวสุกนี้แล้ว จงทำกิจชื่อนี้ แล้วใช้พวกช่างศิลป์ มีช่างแกะสลักงาเป็นต้น ให้ทำบริขารนั้นๆ บรรดาบริขารมีธมกรก เป็นต้น  หรือใช้พวกช่างย้อมให้ซักผ้า เป็นอาบัติตามวัตถุทีเดียว
         ภิกษุให้พวกช่างกัลบกปลงผม ให้พวกกรรมกรทำนวกรรม เป็นอาบัติตามวัตถุเหมือนกัน, ก็ถ้าภิกษุไม่กล่าวว่า พวกท่านบริโภคอาหารนี้แล้ว จงทำกิจนี้ กล่าวว่า เธอจงบริโภคอาหารนี้ เธอบริโภคแล้ว หรือจักบริโภค จงช่วยทำกิจชื่อนี้ ย่อมสมควร, ก็ในการให้ทำบริขารเป็นต้นนี้ ภัณฑะของผู้อื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ชื่อว่า อันภิกษุพึงสละย่อมไม่มี ในการซักผ้า หรือในการปลงผม หรือในนวกรรม มีการถางพื้นที่เป็นต้น แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นเพราะท่านกล่าวไว้หนักแน่นในมหาอรรถกถา ซึ่งใครๆ ไม่อาจคัดค้านคำนั้นได้ เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงแสดงปาจิตตีย์ในเพราะการจ้างซักผ้าเป็นต้นนี้ เหมือนแสดงปาจิตตีย์ในเพราะนิสสัคคิยวัตถุที่ตนใช้สอยแล้ว หรือเสียหายแล้ว ฉะนั้น
       ๔.ภิกษุใดถึงการซื้อขาย ภิกษุนั้นจงเป็นผู้มีความสำคัญในการซื้อขายนั้นว่า เป็นการซื้อขายหรือมีความสงสัย หรือมีความสำคัญว่า ไม่ใช่การซื้อขายก็ตามที เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ทั้งนั้น
         -ภิกษุถามว่า บาตรของท่านนี้ราคาเท่าไร? แต่เมื่อเจ้าของบาตรกล่าวว่า ราคาเท่านี้ ถ้ากัปปิยภัณฑ์ของภิกษุนั้นมีราคามาก และภิกษุตอบอุบาสกนั้นไปอย่างนี้ว่า อุบาสก วัตถุของเรานี้มีราคามาก ท่านจงให้บาตรของท่านแก่คนอื่นเถิด ฝ่ายอุบาสกได้ยินคำนั้น กล่าวว่า ผมจะแถมกระถางอื่นให้อีก จะรับเอาไว้ก็ควร, ของนั้นตกไปในลักษณะที่ตรัสไว้ว่า เรามีสิ่งนี้เป็นต้น, ถ้าบาตรนั้นมีราคาแพง สิ่งของของภิกษุมีราคาถูก และเจ้าของบาตรไม่รู้ว่าของนั้นราคาถูก ภิกษุอย่าพึงรับเอาบาตร พึงบอกว่า ของของเรามีราคาถูก, เมื่อภิกษุกล่าวหลอกลวงว่า มีราคามาก แล้วรับเอาบาตรไป จะถึงความเป็นผู้อันพระวินัยธรพึงให้ตีราคาสิ่งของแล้วปรับอาบัติ, ถ้าเจ้าของบาตรกล่าวว่า ช่างเถอะ ขอรับ ที่เหลือจักเป็นบุญแก่ผม แล้วถวาย ควรอยู่
         -ภิกษุทำคนอื่นเว้นคนที่ตนรับภัณฑะจากมือ โดยที่สุดแม้เป็นบุตรหรือพี่น้องชายของเขาให้เป็นกัปปิยการก แล้วบอกว่า เธอจงเอาสิ่งนี้ด้วย สิ่งนี้ให้ด้วย ถ้าบุตรหรือพี่น้องชายนั้นเป็นคนฉลาด คัดเลือกต่อรองซ้ำๆ ซากๆ แล้วจึงรับเอง, ภิกษุพึงยืนนิ่งอยู่ ถ้าเขาเป็นคนไม่ฉลาด ไม่รู้จักจะถือเอา พ่อค้าจะลวงเขา ภิกษุพึงบอกเขาว่า เธออย่าเอา ดังนี้
         -ในคำว่า เรามีสิ่งนี้ เป็นต้น  มีวินิจฉัยว่า ภิกษุกล่าวว่าน้ำมันหรือเนยใสที่รับประเคนแล้วนี้ ของเรามีอยู่ แต่เราต้องการของอื่นที่ยังไม่ได้ประเคน ถ้าเขารับเอาน้ำมันหรือเนยใสนั้น ให้น้ำมันหรือเนยใสอื่น อย่าพึงให้ตวงน้ำมันของตนก่อน เพราะเหตุไร? เพราะยังมีน้ำมันที่เหลืออยู่ในทะนานน้ำมัน น้ำมันที่เหลือนั้นจะพึงทำน้ำมันที่ยังไม่ได้รับประเคนของภิกษุผู้ตวงในภายหลังให้เสียไป
       ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓




นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๔๐)
ภิกษุเก็บอดิเรกบาตรได้เพียง ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง
ถ้าให้ล่วง ๑๐ วันไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์สั่งสมบาตรไว้เป็นอันมาก ชาบ้านพบเข้าติเตียนว่า ท่านคงจักตั้งร้านขายบาตรหรือร้านขายดินเผา
       ภิกษุทั้งหลายได้ยิน...จึงกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า "อนึ่ง ภิกษุใด ทรงอดิเรกบาตร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์"
       สมัยต่อมา บาตรเกิดแก่พระอานนท์ ท่านประสงค์จะถวายพระสารีบุตร จึงกราบทูล...ตรัสถามว่า พระสารีบุตรจะกลับมาเมื่อไร ทูลว่า อีก ๙ หรือ ๑๐ วัน จึงทรงมีพระอนุบัญญัติว่า "พึงทรงอดิเรกบาตรไว้ได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์"
       สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ไม่คืนบาตรที่เสียสละ ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บาตรที่ภิกษุเสียสละแล้ว สงฆ์ คณะ หรือบุคคล จะไม่คืนให้ไม่ได้ ภิกษุรูปใดไม่คืนให้ ต้องอาบัติทุกกฏ"

อรรถาธิบาย
       -บทว่า ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง คือ ทรง (เก็บ) ไว้ได้ ๑๐ วัน เป็นอย่างมาก
       -ที่ชื่อว่า อดิเรกบาตร ได้แก่ บาตรที่ยังมิได้อธิษฐาน ยังไม่ได้วิกัป
       -ที่ชื่อว่า บาตร มี ๒ อย่าง คือ บาตรเล็ก ๑  บาตรดินเผา ๑
       บาตร มี ขนาด คือ บาตรขนาดใหญ่ ๑  ขนาดกลาง ๑  ขนาดเล็ก ๑
       บาตรขนาดใหญ่ จุข้าวสุกแห่งข้าวสารกึ่งอาฬหก ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔ กับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น
       บาตรขนาดกลาง จุข้าวสุกแห่งข้าวสาร ๑ นาฬี ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔ กับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น
       บาตรขนาดเล็ก จุข้าวสุกแห่งข้าวสาร ๑ ปัตถะ ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔ กับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น ใหญ่กว่านั้นเป็นบาตรที่ใช้ไม่ได้
       -คำว่า ให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคีย์ คือ เมื่ออรุณที่ ๑๑ ขึ้นมา บาตรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
       ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า
       "ท่านเจ้าข้า บาตรใบนี้ของข้าพเจ้าล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะสละ  ข้าพเจ้าสละบาตรใบนี้แก่สงฆ์"  ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนบาตรให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า "ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า บาตรใบนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้บาตรใบนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้"

วิธีเสียสละแก่คณะ
       ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป... "ท่านเจ้าข้า...ข้าพเจ้าสละบาตรนี้ให้แก่ท่านทั้งหลาย" ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า "ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า... ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้บาตรใบนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้"

วิธีเสียสละแก่บุคคล
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง... กล่าวอย่างนี้ว่า "ท่านเจ้าข้า... ข้าพเจ้าสละบาตรใบนี้แก่ท่าน"  ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วคืนให้ด้วยคำว่า "ข้าพเจ้าให้บาตรใบนี้แก่ท่าน" ดังนี้

อาบัติ
       ๑.บาตรล่วง ๑๐ วันแล้ว ภิกษุรู้ว่าล่วงแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.บาตรล่วง ๑๐ วันแล้ว ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.บาตรล่วง ๑๐ วันแล้ว ภิกษุคิดว่ายังไม่ล่วง... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.บาตรยังไม่ได้อธิษฐาน ยังไม่ได้วิกัป ยังไม่ได้สละ ภิกษุสำคัญว่าอธิษฐานแล้ว วิกัปแล้ว สละแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ทั้งสิ้น
       ๕.บาตรยังไม่หาย ยังไม่ฉิบหาย ยังไม่แตก ยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุสำคัญว่าหายแล้ว ฉิบหายแล้ว แตกแล้ว ถูกชิงไปแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ทั้งสิ้น
       ๖.บาตรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุยังไม่เสียสละ บริโภค ต้องทุกกฏ
       ๗.บาตรยังไม่ล่วง ๑๐ วัน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ล่วง บริโภค ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ๑.ภิกษุอธิษฐาน ๑  วิกัปไว้ ๑  สละให้ไป ๑  บาตรหายไป ๑  บาตรฉิบหาย ๑  บาตรแตก ๑  โจรชิงเอาไป ๑  ภิกษุถือวิสาสะ ๑  ในภายใน ๑๐ วัน วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๙๙๒-๑๐๐๑
       ๑.ในบาตรนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
          พึงเอาข้าวสารแห่งข้าวสาลีเก่า (ซึ่งเก็บไว้แรมปี) ที่ไม่หัก ซึ่งซ้อมบริสุทธิ์ดีแล้ว ๒ ทะนานมคธ หุงให้เป็นข้าวสุกด้วยข้าวสารเหล่านั้นไม่เช็ดน้ำ ไม่เป็นข้าวท้องเล็น ไม่แฉะ ไม่เป็นก้อน สละสลวยดี เช่นกับกองดอกมะลิตูมในหม้อ แล้วบรรจุลงในบาตรไม่ให้เหลือ เพิ่มแกงถั่วที่ปรุงด้วยเครื่องปรุงทุกอย่าง ไม่ข้นนัก ไม่เหลวนัก พอมือหยิบได้ ลงไปปริมาณเท่าส่วนที่ ๔ แห่งข้าวสุกนั้น แต่นั้นจึงเพิ่มกับข้าวมีปลา และเนื้อเป็นต้น ลงไปสมควรแก่คำข้าวเป็นคำๆ จนเพียงพอกับคำข้าวเป็นอย่างยิ่ง, ส่วนเนยใส น้ำมัน รสเปรี้ยว และน้ำข้าวเป็นต้น ไม่ควรนับ, เพราะของเหล่านั้นมีคติอย่างข้าวสุกนั่นเทียว ไม่อาจเพื่อจะลดลง และไม่อาจจะเพิ่มขึ้นได้ อาหารที่บรรจุลงอย่างนี้แม้ทั้งหมดนั่น ถ้าตั้งอยู่เสมอแนวล่างแห่งขอบปากบาตร, เมื่อเอาเส้นด้ายหรือไม้ซีก (เสี้ยนตาล) ปาดไป (ของในบาตรนี้) ถูกที่สุดภายใต้เส้นด้าย หรือไม้ซีกนั้น (คือ ของในบาตรมีข้าวสุกทะนานหนึ่ง เป็นต้นนี้ ถูกที่สุดเบื้องล่างแห่งด้ายหรือเสี้ยนตาลของบุคคลผู้ตัดด้วยด้าย หรือเสี้ยนตาล), บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดใหญ่ (อย่างกลาง), ถ้าของในบาตรนั้นพูนเป็นจอมเลยแนว (ขอบปากบาตร) นั้นขึ้นมา  บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดใหญ่อย่างเล็ก, ถ้าของในบาตรนั้นไม่ถึงแนวขอบ (ปากบาตร) พร่องอยู่ภายในเท่านั้น บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดใหญ่อย่างใหญ่
       -ถ้าของมีข้าวสุก ๑ ทะนาน เป็นต้น แม้ทั้งหมดที่บรรจุแล้ว อยู่เสมอแนวขอบล่าง โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นเอง บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดกลาง (อย่างกลาง), ถ้าของพูนเป็นจอมเลยแนวขอบนั้นขึ้นมา บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดลางอย่างเล็ก, ถ้าไม่ถึงแนวขอบนั้น พร่องอยู่เพียงภายในเท่านั้น บาตรนี้ชื่อว่าบาตรขนาดกลางอย่างใหญ่
       -ถ้าของทั้งหมดมีข้าวสุกประมาณกึ่งทะนานเป็นต้น ที่บรรจุลงแล้วอยู่เสมอแนวล่าง (แห่งขอบปากบาตร) บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดกลาง (อย่างกลาง), ถ้าของพูนเป็นจอมเลยแนวขอบนั้นขึ้นมา บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดกลางอย่างเล็ก, ถ้าของไม่ถึงแนวขอบนั้นพร่องอยู่ภายในเท่านั้น บาตรนี้ชื่อว่า บาตรขนาดเล็กอย่างใหญ่ ผู้ศึกษาพึงทราบ บาตร ๙ ชนิดเหล่านี้โดยประการดังกล่าวมาฉะนี้แล
       -บรรดาบาตร ๙ ชนิดนั้น บาตร ๒ ชนิด คือ บาตรขนาดใหญ่อย่างใหญ่ ๑ บาตรเล็กอย่างเล็ก ๑ ไม่จัดเป็นบาตร (เป็นบาตรใช้ไม่ได้), จริงอยู่ คำว่า ใหญ่กว่านั้นไม่ใช่บาตร เล็กกว่านั้นไม่ใช่บาตรนี้ตรัสหมายเอาบาตร ๒ ชนิดนั่น, แท้จริงบรรดาบาตร ๒ ชนิด บาตรขนาดใหญ่อย่างใหญ่ คือ ใหญ่กว่านั้น ตรัสว่าไม่ใช่บาตร เพราะใหญ่กว่าขนาดใหญ่, และบาตรขนาดเล็กอย่างเล็ก คือ เล็กกว่านั้น ตรัสว่าไม่ใช่บาตร เพราะเล็กกว่าขนาดเล็ก เพราะฉะนั้น บาตรเหล่านี้ ควรใช้สอยอย่างใช้สอยภาชนะ ไม่ควรอธิษฐาน ไม่ควรวิกัป ส่วนบาตร ๗ ชนิดนอกนี้ พึงอธิษฐานหรือวิกัปไว้ใช้เถิด
       เมื่อภิกษุไม่กระทำอย่างนี้ ให้บาตรนั้นล่วง ๑๐ วันไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ คือ เมื่อภิกษุให้บาตรแม้ทั้ง ๗ ชนิด ล่วงกาลมี ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

       ๒.อธิบายบาตรที่ควรอธิษฐานและวิกัป
            บาตรเหล็กระบมแล้วด้วยการระบม ๕ ไฟ บาตรดินระบมแล้วด้วยการระบม ๒ ไฟ จึงควรอธิษฐาน, บาตรทั้ง ๒ ชนิด เมื่อให้มูลค่าที่ควรให้แล้วนั่นแล ถ้าระบมยังหย่อนอยู่แม้เพียงหนึ่งไฟ หรือยังไม่ได้ให้มูลค่าแม้เพียงกากกณิกหนึ่ง ไม่ควรอธิษฐาน, ถ้าเจ้าของบาตรกล่าวว่า ท่านจงให้ในเวลาที่ท่านมีมูลค่า ท่านจงอธิษฐานใช้สอยเถิด ดังนี้ก็ยังไม่ควรอธิษฐานแท้ เพราะว่ายังไม่ถึงการนับว่าเป็นบาตร เพราะการระบมยังหย่อนอยู่ ยังไม่ถึงความเป็นบาตรของตน ยังเป็นของผู้อื่นอยู่ทีเดียว เพราะมูลค่าทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้ให้ เพราะฉะนั้น เมื่อระบมและเมื่อให้มูลค่าเสร็จแล้วนั่นแล จึงเป็นบาตรควรอธิษฐาน บาตรใบที่ควรอธิษฐานเท่านั้นจึงควรวิกัป บาตรนั้นจะมาถึงมือแล้วก็ตาม ยังไม่มาถึงก็ตาม ควรอธิษฐานหรือควรวิกัปไว้เสีย

       ๓.อธิบายการอธิษฐานบาตร
           บรรดาการอธิฐานและวิกัปนั้น อธิฐานบาตรมี ๒ คือ อธิษฐานด้วยกายอย่าง ๑ อธิษฐานด้วยวาจาอย่าง ๑  ภิกษุเมื่อจะอธิษฐานด้วยอำนาจแห่งการอธิษฐาน ๒ อย่างนั้น พึงปัจจุทธรณ์ (ถอน) บาตรเก่าที่ตั้งอยู่ต่อหน้าหรือในที่ลับ อย่างนี้ว่า อิมํ ปตฺตํ ปจฺจุทฺธรามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถอนบาตรใบนี้  หรือว่า เอตํ ปตฺตํ ปจฺจุทฺธรามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถอนบาตรใบนั้น หรือให้แก่ภิกษุอื่นแล้ว เอามือลูบคลำบาตรใหม่ที่ตั้งอยู่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว ทำความคำนึงด้วยใจ และทำกายวิการอธิษฐานด้วยกายหรือเปล่งวาจาแล้วอธิษฐานด้วยวาจาว่า อิมํ ปตฺตํ อธิฏฺฐามิ แปลว่า ข้าพเจ้าอธิษฐานบาตรใบนี้
          ในอธิษฐาน ๒ อย่าง ถ้าบาตรอยู่ในหัตถบาส พึงเปล่งวาจาว่า อิมํ ปตฺตํ อธิฏฺฐามิ แปลว่า ข้าพเจ้าอธิษฐานบาตรใบนี้, ถ้าบาตรนั้นอยู่ภายในห้องก็ดี ที่ปราสาทชั้นบนก็ดี ในวิหารใกล้เคียงก็ดี ภิกษุพึงกำหนดสถานที่บาตรตั้งอยู่ แล้วพึงเปล่งวาจาว่า เอตํ ปตฺตํ อธิฏฺฐามิ แปลว่า ข้าพเจ้าอธิษฐานบาตรใบนั้น, ก็ภิกษุผู้อธิษฐาน แม้อธิษฐานรูปเดียว ก็ควร แม้จะอธิษฐานในสำนักของภิกษุอื่นก็ควร การอธิษฐานในสำนักของภิกษุอื่น มีอานิสงส์ดังต่อไปนี้, ถ้าเธอเกิดความเคลือบแคลงว่าบาตรเราอธิษฐานแล้วหรือไม่หนอ. ดังนี้อีกรูปหนึ่งจักเตือนให้นึกได้ ตัดความสงสัยเสีย, ถ้าภิกษุบางรูปได้บาตรมา ๑๐ ใบ ตนเองประสงค์จะใช้สอยทั้งหมดทีเดียว, อย่าพึงอธิษฐานทั้งหมด, อธิษฐานบาตรใบหนึ่งแล้ววันรุ่งขึ้น ปัจจุทธณ์บาตรนั้นแล้ว พึงอธิษฐานใบใหม่ โดยอุบายนี้อาจจะได้บริหาร (การคุ้มครอง) ตั้ง ๑๐๐ ปี

       ๔.การขาดอธิฐานของบาตร
          ถามว่า การขาดอธิษฐาน พึงมีแก่ภิกษุผู้ไม่ประมาทอย่างนี้ได้หรือ? ตอบว่า พึงมีได้, หากว่าภิกษุนี้ให้บาตรแก่ภิกษุอื่นก็ดี หมุนไปผิดก็ดี บอกลาสิกขาก็ดี กระทำกาละเสียก็ดี เพศของเธอกลับก็ดี ปัจจุทธรณ์เสียก็ดี บาตรมีช่องทะลุก็ดี บาตรย่อมขาดอธิษฐาน และคำนี้แม้พระอาจารย์ทั้งหลายก็ได้กล่าวไว้ว่า
          การขาดอธิษฐานย่อมมีได้ด้วยการให้ ๑ หมุนไปผิด ๑ ลาสิกขา ๑ กระทำกาลกิริยา ๑ เพศกลับ ๑ ปัจจุทธณ์ ๑ เป็นที่ ๗ กับช่องทะลุ ๑ ดังนี้
         แม้เพราะโจรลักและการถือเอาโดยวิสาสะ บาตรก็ขาดอธิษฐานเหมือนกัน บาตรจะขาดอธิษฐานด้วยช่องทะลุประมาณเท่าไร? จะขาดอธิษฐานด้วยช่องทะลุพอเมล็ดข้าวฟ่างลอดออกและลอดเข้าไปได้
          บรรดาธัญชาติ ๗ ชนิด เมล็ดข้าวฟ่างนี้เป็นเมล็ดธัญชาติอย่างเล็ก เมื่อช่องนั้นอุดให้กลับเป็นปกติด้วยผงเหล็ก หรือด้วยหมุด แล้วพึงอธิษฐานบาตรนั้นใหม่ภายใน ๑๐ วัน

       ๕.การวิกัปบาตร
         วิกัปมี ๒ อย่าง คือ วิกัปต่อหน้าอย่าง ๑ วิกัปลับหลังอย่าง ๑, วิกัปต่อหน้าคือภิกษุพึงรู้ว่าบาตรมีใบเดียวหรือหลายใบ และวางใกล้หรือมิได้วางไว้ใกล้ แล้วกล่าวว่า อิมํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนี้หรือว่า อิเม ปตฺเต ซึ่งบาตรเหล่านี้ก็ดี, ว่า เอตํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนั่น หรือว่า เอเต ปตฺเต ซึ่งบาตรเหล่านั้นก็ดี, แล้วกล่าวว่า ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ ข้าพเจ้าวิกัปแก่ท่าน นี้ชื่อว่า วิกัปต่อหน้า ด้วยวิธีวิกัปเพียงเท่านี้ จะเก็บไว้ ควรอยู่ แต่จะใช้สอย จะจำหน่าย หรือจะอธิษฐาน ไม่สมควร, แต่เมื่อภิกษุผู้รับวิกัปกล่าวอย่างนี้ว่า มยฺหํ สนฺตกํ ปริภุญฺช วา วิสฺสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ บาตรนี้ของข้าพเจ้า ท่านจงใช้สอย จงจำหน่าย หรือจงกระทำตามปัจจัยก็ตาม ดังนี้ชื่อว่า ถอน, จำเดิมแต่นั้นแม้การใช้สอยเป็นต้น ควรอยู่
       อีกนัยหนึ่ง ภิกษุทราบว่า บาตรมีใบเดียวหรือหลายใบ และวางไว้ใกล้หรือมิได้วางไว้ใกล้อย่างนั้นเหมือนกัน แล้วกล่าวว่า อิมํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนี้ หรือว่า อิเม ปตฺเต ซึ่งบาตรทั้งหลายเหล่านี้ ก็ดี, ว่า เอตํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรทั้งหลายเหล่านั้นก็ดี ในสำนักของภิกษุนั้นนั่นแหละ แล้วระบุชื่อแห่งบรรดาสหธรรมิกทั้ง ๕ รูปใดรูปหนึ่ง คือ ท่านใดท่านหนึ่งที่ตนชอบใจ แล้วพึงกล่าวว่า ติสฺสสฺส ภิกขุโน วิกฺปเปมิ ข้าพเจ้าวิกัปแก่ภิกษุ ชื่อว่า ติสสะ ดังนี้ก็ดี, ว่า ติสฺสาย ภิกฺขุนิยา...ติสฺสาย สิกฺขมานาย... ติสฺสสฺส สามเณรสฺส...ติสสาย สามเณริยา วิกปฺเปมิ ข้าพเจ้าวิกัปแก่ภิกษุณีชื่อติสสา...แก่สิกขมานาชื่อติสสา...แก่สามเณรชื่อติสสะ...แก่สามเณรีชื่อติสสา ดังนี้ก็ดี นี้ชื่อว่าวิกัปต่อหน้า, ด้วยคำเพียงเท่านี้ จะเก็บไว้สมควรอยู่ แต่บรรดากิจมีการบริโภคเป็นต้น แม้กิจอย่างหนึ่ง ก็ไม่ควร
          แต่เมื่อภิกษุผู้รับวิกัปนั้นกล่าวว่า ติสฺสสฺส ภิกขุโน สนฺตกํ ฯลฯ ติสฺสาย สามเณริยา สนฺตกํ ปริภุญฺช วา วิสฺสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ บาตรนี้ ของภิกษุชื่อติสสะ ฯลฯ ของสามเณรชื่อติสสา ท่านจงใช้สอยก็ตาม จงจำหน่ายก็ตาม จงกระทำตามปัจจัยก็ตาม ดังนี้แล้วชื่อว่า ถอน, จำเดิมแต่นั้น แม้จะบริโภคเป็นต้น ก็สมควร
          -วิกัปลับหลังเป็นอย่างไร? คือ ภิกษุทราบว่า บาตรมีใบเดียวหรือหลายใบ และวางไว้ใกล้หรือมิได้วางไว้ใกล้อย่างนั้นนั่นแล แล้วกล่าวว่า อิมํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนี้ หรือ อิเมฺ ปตฺเต ซึ่งบาตรเหล่านี้ก็ดี ว่า เอตํ ปตฺตํ ซึ่งบาตรนั่น หรือว่า เอเต ปตฺเต ซึ่งบาตรเหล่านั้นก็ดี แล้วกล่าวว่า ตุยฺหํ วิกปฺปนตฺถาย ทมฺมิ ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อต้องการวิกัป ดังนี้
          ภิกษุผู้รับวิกัปนั้นพึงถามเธอว่า ใครเป็นมิตรหรือเป็นเพื่อนเห็นกันของท่าน ลำดับนั้น ภิกษุผู้วิกัปนอกนี้ พึงกล่าวว่า ติสฺโส ภิกฺขุ ภิกษุชื่อว่า ติสฺส ฯลฯ หรือว่า ติสฺสา สามเณรี สามเณรีชื่อว่าติสสา โดยนัยก่อนนั่นแหละ ภิกษุนั้นพึงกล่าวอีกว่า อหํ ติสฺสสฺส ภิกฺขุโน ทมฺมิ ฯลฯ หรือว่า ติสสาย สามเณริยา ทมฺมิ ข้าพเจ้าให้แก่ภิกษุชื่อติสสะ ฯลฯ หรือว่าข้าพเจ้าให้แก่สามเณรีชื่อติสสา นี้ชื่อว่าวิกัปลับหลัง, ด้วยการวิกัปเพียงเท่านี้ จะเก็บไว้ ควรอยู่, แต่กิจมีการบริโภคเป็นต้น ไม่ควร แต่เมื่อภิกษุนั้นกล่าวว่า อิตฺถนฺนามสฺส สนฺตกํ ปริภุญช วา วิสฺสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ บาตรนี้...ในวิกัปต่อหน้าอย่างที่สองนั่นแล ย่อมชื่อว่า ถอนจำเดิมแต่นั้น แม้การจะใช้สอยเป็นต้น ก็ควร

        ๖.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนปฐมสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๑ แห่งจีวรวรรค)

         ๗.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์/๒๓๐

                                 มาตราตวง
          ๑ มุฏฐิ (กำมือ)    เป็น ๑ กุฑวะ (ฝายมือ)
          ๒ กุฑวะ             เป็น ๑ ปัตถะ (กอบ)
          ๓ ปัตถะ             เป็น ๑ นาฬี (ทะนาน)
          ๔ นาฬี              เป็น ๑ อาฬหกะ



(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS19RdP-d7QwXMir38U3_QcYrzcfBOlbSJwwN_oeTtRDdrgkZRLlQ)
อิธ โสจติ เปจฺจ โสจติ   ปาปการี อุภยตฺถ โสจติ
โส โสจติ โส วิหญฺญติ    ทิสิวา กมฺมกิลิฎฺฐมตฺตโน ฯ ๑๕ ฯ 
คนทำชั่วย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ คนทำชั่วย่อมเศร้าโศกในโลกหน้า
คนทำชั่วย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง คนทำชั่วย่อมเศร้าโศกเดือดร้อนยิ่งนัก
เมื่อมองเห็นแต่กรรมชั่วของตน

Here he grieves, hereaafter he grieves, In both worlds the evil-doer grieves;
He mourns, he is afflicted, Beholding his own impure deeds. .
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 กรกฎาคม 2559 16:04:59

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๔๑)
ภิกษุมีบาตรมีแผลน้อยกว่า ๕ แผล ขอบาตรใหม่จากคฤหัสถ์
ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      นายช่างหม้อในนครกบิลพัสดุ์ผู้หนึ่ง กล่าวปวารณาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า พระคุณเจ้าเหล่าใดต้องการบาตร กระผมจักถวายแก่พระคุณเจ้านั้น
       ภิกษุทั้งหลายไม่รู้จักประมาณ ขอบาตรเขาเป็นอันมาก ที่มีบาตรเล็กก็ขอบาตรใหญ่ ที่มีบาตรใหญ่ก็ขอบาตรเล็ก เขาหมดเวลาไปกับการทำบาตร ครอบครัวเดือดร้อน เป็นอยู่ลำบาก
       ชาวบ้านเพ่งโทษติเตียน...ภิกษุผู้มักน้อยทั้งหลายเพ่งโทษติเตียน... แล้วกราบทูล... รับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุไม่ควรขอบาตร ภิกษุใดขอ ต้องอาบัติทุกกฎ”
       สมัยต่อมา บาตรของภิกษุรูปหนึ่งแตก เธอรังเกียจที่จะขอบาตร เพราะมีบัญญัติห้าม จึงได้ใช้มือทั้งสองเที่ยวบิณฑบาต ชาวบ้านติเตียนว่าเหมือนพวกเดียรถีย์ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล ทรงมีพระพุทธานุญาตว่า “เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มีบาตรหาย หรือบาตรแตก ขอบาตรเขาได้”
       พระฉัพพัคคีย์มีบาตรแตกเพียงเล็กน้อย ทะลุเพียงเล็กน้อย กะเทาะเพียงเล็กน้อย มีรอยขัดเพียงเล็กน้อย ไม่รู้จักประมาณ พากันขอบาตรมาไว้เป็นอันมาก นายช่างหม้อเป็นอยู่ลำบาก ชาวบ้านเพ่งโทษติเตียน... ภิกษุได้ยิน... จึงกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
       “อนึ่ง ภิกษุใด มีบาตรมีแผลหย่อนห้า ให้จ่ายบาตรอื่นใหม่ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ภิกษุนั้นพึงสละบาตรใบนั้นให้ในภิกษุบริษัท บาตรใบสุดแห่งภิกษุบริษัทนั้น พึงมอบให้แก่ภิกษุนั้นสั่งว่า ภิกษุนี้บาตรของท่าน พึงทรงไว้จนกว่าจะแตก นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น”

อรรถาธิบาย
       -บาตร ที่ชื่อว่า มีแผลหย่อนห้า คือ ไม่มีแผล มีแผล ๑ หรือมีแผล ๔
       -บาตร ที่ชื่อว่า ไม่มีแผล ได้แก่ บาตรที่มีรอยร้าวยาวไม่ถึงสององคุลี, บาตรที่มีแผล ได้แก่ บาตรที่มีรอยร้าวถึงสององคุลี
       -บาตร ที่ชื่อว่า ใหม่ ตรัสหมายเอาบาตรที่ขอเขามา
       -ให้จ่าย คือ ขอเขา เป็นทุกกฎในขณะขอ เป็นนิสสัคคีย์เมื่อได้บาตรมา จำต้องเสียสละในท่ามกลางสงฆ์
       ภิกษุทุกรูปพึงถือบาตรที่อธิษฐานแล้วไปประชุม อย่าอธิษฐานบาตรเลวด้วยหมายจะได้บาตรที่มีราคามาก ถ้าอธิษฐานบาตรเลวด้วยหมายจะได้บาตรที่มีราคามาก ต้องอาบัติทุกกฎ

วิธีเสียสละบาตร
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า บาตรใบนี้ของข้าพเจ้ามีแผลหย่อนห้า ให้จ่ายมาแล้ว เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละบาตรใบนี้แก่สงฆ์”
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วสงฆ์พึงสมมติผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร
       องค์ ๕ คือ ๑.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะชอบพอ  ๒. ...เพราะเกลียดชัง  ๓. ...เพราะงมงาย  ๔. ...เพราะกลัว  ๕.รู้จักว่าทำอย่างไร เป็นอันเปลี่ยนหรือไม่เป็นอันเปลี่ยน จากนั้นสงฆ์พึงสมมติภิกษุผู้เปลี่ยนบาตร โดยขอภิกษุให้รับตกลงก่อนแล้ว ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า

คำสมมติ
       “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร นี้เป็นญัตติ
       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ภิกษุมีชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตรแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความไว้อย่างนี้”
       ภิกษุผู้รับสมมติแล้ว พึงให้เปลี่ยนบาตร พึงกราบเรียนพระเถระว่า ท่านเจ้าข้า ขอพระเถระจงเปลี่ยนบาตร ถ้าพระเถระเปลี่ยนพึงถวายบาตรพระเถระ ให้พระทุติยเถระเปลี่ยน อันภิกษุจะไม่เปลี่ยน เพราะความสงสารภิกษุนั้นไม่ได้ ภิกษุใดไม่ยอมเปลี่ยน ต้องอาบัติทุกกฎ ไม่พึงให้ภิกษุผู้ไม่มีบาตรเปลี่ยน พึงให้เปลี่ยนเลื่อนลงมา โดยอุบายนี้แลตลอดจนถึงพระสังฆนวกะ ก็แลบาตรใดเป็นใบสุดท้ายแห่งภิกษุบริษัทนั้น พึงมอบบาตรนั้นแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ แล้วสั่งกำชับว่า ดูก่อนภิกษุ นี้บาตรของเธอ พึงใช้ไปจนกว่าจะแตก  ดังนี้ ภิกษุนั้นอย่าเก็บบาตรใบนั้นไว้ในที่อันไม่ควร อย่าใช้โดยอาการอันไม่ควร อย่าทอดธุระว่าบาตรใบนี้จะเป็นอย่างไรก็ตาม คือ จะหายก็ช่าง จะฉิบหายก็ช่าง จะแตกก็ช่าง ถ้าเก็บไว้ในที่ๆ ไม่ควรก็ดี ใช้อย่างที่เขาไม่ใช้กันก็ดี ปล่อยทิ้งเสียก็ดี ต้องอาบัติทุกกฎ
      นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น คือ นี้เป็นความถูกต้องในเรื่องนั้น

อาบัติ
       ๑.ภิกษุมีบาตรไม่มีแผล ขอบาตรที่ไม่มีแผล เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.ภิกษุมีบาตรไม่มีแผล ขอบาตรที่มีแผล ๑ ถึง ๔ แห่ง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.ภิกษุมีบาตรมีแผล ๑ ขอบาตรที่ไม่มีแผล เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.ภิกษุมีบาตรมีแผล ๑ แห่ง ขอบาตรที่มีแผล ๑ ถึง ๔ แห่ง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๕.ภิกษุมีบาตรมีแผล ๒ ถึง ๔ แห่ง ขอบาตรที่มีแผล ๒ ถึง ๔ แห่ง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๖.ภิกษุมีบาตรไม่มีแผล ขอบาตรไม่มีท่าจะมีแผล เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๗.ภิกษุมีบาตรไม่มีแผล ขอบาตรที่ท่าจะมีแผล ๑ ถึง ๔ แห่ง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๘.ภิกษุมีบาตรมีแผล ๑ ถึง ๔ แห่ง ขอบาตรที่มีท่าจะมีแผล ๑ ถึง ๔ แห่ง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๙.ภิกษุมีบาตรมีแผล ๑ ถึง ๔ แห่ง ขอบาตรที่ไม่มีท่าจะมีแผล เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
      ๑๐.ภิกษุมีบาตรมีท่าจะมีแผล ๑ ถึง ๔ แห่งขอบาตรที่ไม่มีท่าจะมีแผล เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
      ๑๑.ภิกษุมีบาตรมีท่าจะมีแผล ๑ ถึง ๔ แห่ง ขอบาตรที่มีท่าจะมีแผล ๑ ถึง ๔ แห่ง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์

อนาบัติ
       ภิกษุมีบาตรหลาย ๑  ภิกษุมีบาตรแตก ๑  ขอต่อญาติ ๑  ขอต่อคนปวารณา ๑  ขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑  จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๑๐๒๑-๑๐๒๕
       ๑.ช่างหม้อนั้นเป็นพระอริยสาวกโสดาบัน ถึงแม้ถูกรบกวนเป็นอันมาก ก็หาเสียใจไม่
       ๒.ภิกษุใดมีบาตรมีแผลครบ ๕ แห่ง บาตรของภิกษุนั้นไม่จัดเป็นบาตร เพราะฉะนั้นจึงควรขอบาตรใหม่ได้
          -บาตรที่มีรอยร้าวรอยเดียว พึงเอาเหล็กเจาะบาตร เจาะที่สุดริมล่างของรอยร้าวนั้น ระบมแล้วผูกรัดด้วยเชือกด้ายและเชือกปอเป็นต้น หรือด้วยลวดดีบุก พึงอุดแผลนั้นด้วยแผ่นดีบุก หรือด้ายยาว สำหรับติดบางอย่างเพื่อกันอามิส (มีข้าวเป็นต้น) ติด และพึงอธิษฐานไว้ใช้เถิด,  อนึ่ง พึงผูกทำช่องให้เล็ก; แต่จะยาด้วยขี้ผึ้ง ครั่ง และยางสนเป็นต้นล้วนๆ ไม่ควร, จะเคี่ยวน้ำอ้อยด้วยผงหิน ควรอยู่
       แต่บาตรที่ภิกษุเอาเหล็กเจาะบาตร เจาะในที่ใกล้ขอบปากบาตรจะแตก เพราะแผ่นเหล็กหนา เพราะฉะนั้นจึงควรเจาะข้างล่าง, สำหรับบาตรที่มีรอยร้าว ๒ แห่ง หรือเพียงแห่งเดียวแต่ยาวถึง ๔ องคุลี ควรให้เครื่องผูก ๒ แห่ง, พึงให้เครื่องผูก ๓ แห่ง แก่บาตรที่มีรอยร้าว ๓ แห่ง หรือมีเพียงแห่งเดียว แต่ยาวถึง ๖ องคุลี, พึงให้เครื่องผูก ๔ แห่ง แก่บาตรที่มีรอยร้าว ๔ แห่ง หรือเพียงแห่งเดียวแต่ยาวถึง ๘ องคุลี บาตรที่มีรอยร้าว ๕ แห่ง หรือมีเพียงแห่งเดียวแต่ยาวถึง ๑๐ องคุลี จะผูกก็ตาม ไม่ผูกก็ตาม ไม่จัดเป็นบาตรเลย ควรขอบาตรใหม่ ที่วินิจฉัยมานี้เป็นบาตรที่ทำด้วยหิน
       ๓.ส่วนวินิจฉัยในบาตรเหล็ก มีดังนี้
          ถ้าแม้มีช่องทะลุ ๕ แห่งหรือเกินกว่า และช่องทะลุเหล่านั้นอุดด้วยผงเหล็ก ด้วยหมุด หรือด้วยก้อนเหล็กกลม, เป็นของเกลี้ยงเกลา ควรใช้สอยบาตรนั้นนั่นแล ไม่ควรขอบาตรใหม่, แต่ถ้ามีช่องทะลุแม้ช่องเดียว แต่เป็นช่องใหญ่ แม้อุดด้วยก้อนเหล็กกลมก็ไม่เกลี้ยงเกลา, อามิสติดที่บาตรได้ เป็นอกัปปิยะ บาตรนี้ไม่ใช่บาตร ควรขอบาตรใหม่ได้
       ๔.ภิกษุผู้ได้สมมติ พึงเรียนถามพระเถระว่า ท่านขอรับ บาตรใบนี้มีขนาดถูกต้อง สวยดี สมควรแก่พระเถระ ขอท่านโปรดรับบาตรนั้นไว้เถิด, เมื่อพระเถระไม่รับไว้เพื่ออนุเคราะห์เป็นทุกกฎ แต่เพราะความสันโดษไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รับ ด้วยคิดว่าจะมีประโยชน์อะไรแก่เราด้วยบาตรใบอื่น
     ๕.ผู้ได้บาตรใบสุดท้ายมาไม่พึงเก็บบาตรใบนั้นไว้ มีบนเตียง ตั่ง ร่ม หรือไม้ฟันนาค เป็นต้น  พึงเก็บไว้ในที่ที่ตนเก็บบาตรดีใบก่อนไว้นั้นแล หรือเก็บตามที่ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชิงรองบาตร” ดังนี้
         -ไม่พึงใช้บาตรโดยการใช้ไม่สมควร มีการต้มข้าวหรือต้มน้ำย่อมอยู่เป็นต้น แต่เมื่อเกิดอาพาธในระหว่างทาง เมื่อภาชนะอื่นไม่มี จะเอาดินเหนียวพอกแล้วต้มข้าวต้ม หรือต้มน้ำร้อน ควรอยู่
         -ไม่ควรให้แก่คนอื่น แต่ถ้าว่าสัทธิวิหาริกหรืออันเตวาสิกวางบาตรที่ดีใบอื่นไว้แทน ถือเอาไปด้วยคิดว่าบาตรนี้ควรแก่เรา บาตรนี้ควรแก่พระเถระ ดังนั้นควรอยู่, หรือภิกษุอื่นถือเอาบาตรใบนั้นแล้วถวายบาตรของตน ก็ควร
       ๖.ในกุรุนทีกล่าวว่า ภิกษุมีบาตรเป็นแผลเพียง ๕ แห่ง จะขอบาตรใหม่ในที่ที่เขาปวารณาไว้ ด้วยอำนาจแห่งสงฆ์ ควรอยู่ ถึงมีบาตรเป็นแผลหย่อน ๕ แห่ง จะขอในที่ที่เขาปวารณาไว้ด้วยอำนาจแห่งบุคคล ก็ควร
        ๗.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓      



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๔๒)
ภิกษุเก็บเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ไว้ได้ ๗ วัน
เกินกว่านั้น ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      ท่านพระปิลันทวัจฉะให้คนชำระเงื้อมเขาในเขตพระนครราชคฤห์ ประสงค์จะทำเป็นสถานที่หลีกเร้น พระเจ้าพิมพิสารเสด็จมาพบเข้า รับสั่งถามว่า พระคุณเจ้าต้องการคนทำการวัดบ้างไหม? พระปิลันทวัจฉะทูลว่า โปรดทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วบอกให้ข้าพเจ้าทราบ
       พระราชาเข้าเฝ้าทูลถาม พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มีคนทำการวัด” พระราชาจึงเสด็จไปบอกท่านปิลันทวัจฉะ ตรัสว่า จักถวายคนทำการวัด, แล้วทรงลืม
       วันหนึ่งพระองค์ทรงระลึกได้ ตรัสถามอำมาตย์ว่า เวลาผ่านมากี่ราตรีแล้ว อำมาตย์ทูลว่า ๕๐๐ ราตรีพระพุทธเจ้าข้า รับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้นจงถวายไป ๕๐๐ คน
       คน ๕๐๐ คน เดินทางไปดูแลทำความสะอาดประจำแก่ท่านพระปิลันทวัจฉะ หมู่บ้านที่คน ๕๐๐ คนอยู่นั้น คนทั้งหลายเรียกว่า ตำบลบ้านอารามิกบ้าง ตำบลบ้านปิลันทวัจฉะบ้าง
       ครั้งหนึ่ง ท่านปิลันทวัจฉะเข้าไปบิณฑบาต ขณะนั้นหมู่บ้านมีมหรสพ พวกเด็กๆ ตกแต่งกายประดับดอกไม้ ธิดาของสตรีผู้ทำการวัดคนหนึ่งร้องขอดอกไม้ เครื่องตกแต่งกาย พระเถระถามมารดาเด็กนั้นว่า เด็กร้องอยากได้อะไร นางตอบว่า อยากได้ดอกไม้ เครื่องตกแต่งกาย ดิฉันบอกว่า เราเป็นคนจน จักได้มาแต่ที่ไหน
       พระเถระจึงนิรมิตหมวกฟางให้เป็นระเบียงดอกไม้ทองคำ มอบให้เด็กนั้น ชาวบ้านกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่า บ้านโน้นคงโจรกรรมมา รับสั่งให้จองจำตระกูลคนทำการวัดนั้น พระปิลันทวัจฉะทราบแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร ถามสาเหตุที่ตระกูลนั้นถูกจองจำ พระราชาตรัสว่า เพราะที่เรือนของเขามีระเบียงดอกไม้ทองคำน่าดูน่าชม แม้ในวังก็ยังไม่มี เขาเป็นคนจน ต้องได้มาด้วยโจรกรรมแน่นอน
       ขณะนั้น พระปิลันทวัจฉะอธิษฐานให้ปราสาทของพระราชาเป็นทองทั้งหมด ทูลถามว่า นี่ทองมากมาย มหาบพิตรได้มาแต่ไหน
       พระราชาทราบว่าเป็นอิทธานุภาพของพระเถระ รับสั่งให้ปล่อยตระกูลนั้น
       คนทั้งหลายทราบข่าวว่าท่านแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ต่างเลื่อมใส ได้นำเภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย มาถวายท่านพระเถระ ท่านได้แบ่งให้ภิกษุบริษัท แต่ภิกษุบริษัทมักมาก เก็บเภสัชไว้มากมาย เก็บไว้ในกระถางบ้าง หม้อน้ำบ้าง ถุงย่ามบ้าง แขวนไว้ที่หน้าต่างบ้าง เภสัชเหล่านั้นเยิ้มซึม พวกหนูพากันมาเกลื่อนกล่นทั่ววิหาร ชาวบ้านติเตียน ภิกษุผู้มักน้อยพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า  “อนึ่ง มีเภสัชอันควรลิ้มของภิกษุผู้อาพาธ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ภิกษุรับประเคนของนั้นแล้ว พึงเก็บไว้ฉันได้ ๗ วันเป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

       -ที่ชื่อว่า เนยใส ได้แก่ เนยใสที่ทำจากน้ำนมโคบ้าง น้ำนมแพะบ้าง น้ำนมกระบือบ้าง มังสะของสัตว์เหล่าใดเป็นของควร เนยใสที่ทำจากน้ำนมสัตว์เหล่านั้นก็ใช้ได้
       -ที่ชื่อว่า เนยข้น ได้แก่ เนยข้นที่ทำจากน้ำนมสัตว์เหล่านั้น
       -ที่ชื่อว่า น้ำมัน ได้แก่ น้ำมันอันสกัดออกจากเมล็ดงาบ้าง เมล็ดพันธุ์ผักบ้าง เมล็ดมะซางบ้าง เมล็ดละหุ่งบ้าง จากเปลวสัตว์บ้าง
       -ที่ชื่อว่า น้ำผึ้ง ได้แก่ รสหวานที่แมลงผึ้งทำ
       -ที่ชื่อว่า น้ำอ้อย ได้แก่ รสหวานที่เกิดจากอ้อย
       -ภิกษุรับประเคนของเหล่านั้นแล้ว พึงเก็บไว้ฉันได้ ๗ วันเป็นอย่างมาก ภิกษุให้ล่วงกำหนดเมื่ออรุณที่ ๘ ขึ้นมา เภสัชนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า เภสัชนี้ของข้าพเจ้าล่วง ๗ วัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละเภสัชนี้แก่สงฆ์”  ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนเภสัชให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ดังนี้ “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เภสัชนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้เภสัชนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป... “ท่านเจ้าข้า... ข้าพเจ้าสละเภสัชนี้แก่ท่านทั้งหลาย”  ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า “ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า เภสัชนี้... ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้เภสัชนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่บุคคล
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง... “ท่านเจ้าข้า เภสัชนี้... ข้าพเจ้าสละเภสัชนี้แก่ท่าน”  ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้เภสัชนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
       ๑.เภสัชล่วง ๗ วันแล้ว ภิกษุรู้ว่าล่วงแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.เภสัชล่วง ๗ วันแล้ว ภิกษุสงสัย เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.เภสัชล่วง ๗ วันแล้ว ภิกษุคิดว่ายังไม่ล่วง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.เภสัชยังไม่ได้ผูกใจ ภิกษุสำคัญว่าผูกใจแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๕.เภสัชยังไม่ได้แจกจ่ายไป ภิกษุคิดว่าแจกจ่ายไปแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๖.เภสัชยังไม่สูญหายไป ยังไม่เสีย ยังไม่ถูกไฟไหม้ ยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุคิดว่าสูญหายแล้ว เสียแล้ว ถูกไฟไหม้แล้ว ถูกชิงไปแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ทั้งสิ้น
       ๗.เภสัชยังไม่ล่วง ๗ วัน ภิกษุคิดว่าล่วงแล้ว บริโภค ต้องทุกกฎ
       ๘.เภสัชยังไม่ล่วง ๗ วัน ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
       ๙.เภสัชยังไม่ล่วง ๗ วัน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ล่วง ๗ วัน บริโภค ไม่ต้องอาบัติ
          เภสัชที่เสียสละแล้ว ภิกษุนั้นได้คืนมา ไม่พึงใช้ด้วยกิจที่เกี่ยวกับกาย และไม่ควรฉัน พึงน้อมเข้าไปในการตามประทีปหรือในการผสมสี ภิกษุอื่นจะใช้ด้วยกิจที่เกี่ยวกับกายได้อยู่ แต่ไม่ควรฉัน

อนาบัติ
       ภิกษุผูกใจไว้ว่า จะไม่บริโภค ๑  ภิกษุแจกจ่ายให้ไป ๑  เภสัชนั้นสูญหาย ๑  เภสัชนั้นเสีย ๑  ถูกไฟไหม้ ๑  ถูกโจรชิงเอาไป ๑   ภิกษุถือวิสาสะ ๑  ในภายในเจ็ดวัน ภิกษุให้แก่อนุปสัมบันด้วยจิตคิดสละแล้ว ทิ้งแล้ว ปล่อยแล้ว ไม่ห่วงใย กลับได้คืนมา ฉันได้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๑๐๓๖-๑๐๕๔
       ๑.อธิบายวิธีปฏิบัติในการรับประเคนเภสัชต่างๆ
          จะกล่าวถึงเนยใสก่อน ที่ภิกษุรับประเคนก่อนฉัน ควรจะฉันเจืออามิส (ภัตตาหาร) ก็ได้ ปราศจากอามิสก็ได้ ตั้งแต่ภายหลังฉัน (ภัต) ไป พึงฉันปราศจากอามิสในวันนั้นได้ตลอด ๗ วัน, แม้เพราะล่วง ๗ วันไป ถ้าภิกษุเก็บไว้ในภาชนะเดียว เป็นนิสสัคคีย์ตัวเดียว ถ้าเก็บไว้ในภาชนะมากหลาย เป็นนิสสัคคีย์หลายตัวตามจำนวนวัตถุ
          เนยใสที่ภิกษุรับประเคนภายหลังฉัน ควรฉันได้ไม่เจืออามิสเลยตลอด ๗ วัน ภิกษุจะกลืนกินเนยใสที่ตนทำให้เป็นอุคคหิตถ์ (ภิกษุจับต้องของนั้นก่อนที่ทายกจะประเคน) จะเก็บไว้ในเวลาก่อนฉัน หรือหลังฉัน ย่อมไม่ควร, พึงน้อมไปใช้ในกิจอื่น มีการใช้ทาเป็นต้น แม้เพราะล่วง ๗ วันไป ก็ไม่เป็นอาบัติ เพราะถึงความเป็นของไม่ควรกลืนกิน
          -ถ้าอนุปสัมบันทำเนยใสด้วยเนยข้นที่รับประเคนไว้ในเวลาก่อนฉันถวาย จะฉันกับอามิสในเวลาก่อนฉัน ควรอยู่ ถ้าภิกษุทำเอง ฉันไม่เจืออามิสเลย ย่อมควรแม้ตลอด ๗ วัน แต่เนยใสที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งทำด้วยเนยข้นที่รับประเคนในเวลาหลังฉัน ควรฉันได้ไม่เจืออามิสตลอด ๗ วันเหมือนกัน
       ๒.อธิบายวิธีปฏิบัติในเนยใสและเนยข้น
          เนยใสทำด้วยนมสดที่ภิกษุรับประเคนไว้ก่อนฉันก็ดี ด้วยนมส้มก็ดี ที่อนุปสัมบันทำ ควรฉันได้ แม้เจืออามิสในเวลาก่อนฉันวันนั้น ที่ภิกษุทำเอง ควรฉันปราศจากอามิสอย่างเดียว ในภายหลังฉันไม่ควร, ตั้งแต่หลังฉันไปก็ไม่ควรเหมือนกัน ไม่เป็นอาบัติแม้ในเพราะล่วง ๗ วันไป เพราะรับประเคนในเวลาฉัน ควรน้อมไปใช้ในกิจ มีการทาตัวเป็นต้น, เนยใสที่ทำด้วยนมสด นมส้ม ซึ่งเป็นอุคคหิตถ์ แม้ในเวลาก่อนฉัน (ก็ควรน้อมเข้าไปใช้ในกิจ มีการทาตัวเป็นต้น) ไม่เป็นอาบัติ แม้เนยใสทั้งสองจะล่วง ๗ วัน ในเนยใสของพวกสัตว์ที่มีมังสะเป็นอกัปปิยะ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน
       ๓.อธิบายวิธีปฏิบัติในเภสัช คือ น้ำมัน
          บรรดาจำพวกน้ำมัน จะว่าถึงน้ำมันงาก่อน ที่รับประเคนก่อนฉัน แม้เจืออามิส ย่อมควรในเวลาก่อนฉัน, ตั้งแต่หลังฉันไป ปราศจากอามิสเท่านั้น จึงควร, ผู้ศึกษาพึงทราบความที่น้ำมันงานั้นเป็นนิสสัคคีย์ด้วยจำนวนภาชนะ เพราะล่วง ๗ วันไป, น้ำมันงาที่รับประเคนภายหลัง ฉันปราศจากอามิสเท่านั้น จึงควร ตลอด ๗ วันไป ไม่เป็นอาบัติ, น้ำมันงาที่ภิกษุรับประเคนเมล็ดงาในเวลาก่อนภัต เจืออามิสย่อมควรในก่อนภัต, ตั้งแต่หลังภัตไป เป็นของไม่ควรกลืนกิน พึงน้อมไปในกิจมีการทาศีรษะ เป็นต้น แม้เกิน ๗ วัน ก็ไม่เป็นอาบัติ, น้ำมันที่ภิกษุรับประเคนเมล็ดงาในเวลาหลังภัตแล้วทำ เป็นของไม่ควรกลืนกินเหมือนกัน เพราะรับประเคนทั้งวัตถุ (รับประเคนพร้อมอาหาร) พึงน้อมไปในการทาเป็นต้น, แม้ในน้ำมันที่ทำด้วยเมล็ดงาที่ภิกษุจับต้องในก่อนภัตหรือหลังภัต ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน
         น้ำมันที่คั่วเมล็ดงา ซึ่งภิกษุรับประเคนในเวลาก่อนภัต แล้วนึ่งแป้งงา หรือให้ชุ่มด้วยน้ำอุ่นทำ ถ้าอนุปสัมบันทำ แม้เจืออามิสย่อมควรในก่อนภัต, ที่ตนทำเอง เพราะปล้อนวัตถุออกแล้ว ไม่มีอามิสเลย (แยกน้ำมันออกจากอาหาร) จึงควรในก่อนภัต เพราะเป็นน้ำมันที่เจียวเองเจืออามิส จึงไม่ควร, ก็เพราะเป็นของที่รับประเคนพร้อมวัตถุ แม้ทั้งสองอย่าง จึงไม่ควรกลืนกิน จำเดิมแต่หลังภัตไป พึงน้อมไปในการทาศีรษะเป็นต้น แม้จะล่วง ๗ วันไปก็ไม่เป็นอาบัติ, แต่ถ้าว่า น้ำอุ่นมีน้อย น้ำนั้นเพียงแต่ว่าพรมลงเท่านั้น เป็นอัพโพหาริก (มีแต่ไม่ปรากฏ, ก็เหมือนไม่มี) ย่อมไม่ถึงการนับว่าเป็นสามปักกะ, แม้ในน้ำมันเมล็ดพันธุ์ผักกาดเป็นต้น ที่ภิกษุรับประเคนพร้อมทั้งวัตถุ ก็มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในน้ำมันงาที่ไม่มีวัตถุนั่นแล
          ก็ถ้าว่า ภิกษุอาจเผื่อทำน้ำมันจากผงแห่งเมล็ดพันธุ์ผักกาดเป็นต้น ที่รับประเคนไว้เวลาก่อนภัต โดยเจียวด้วยแสงแดด, น้ำมันนั้นแม้เจือด้วยอามิส ย่อมควรในก่อนภัต ตั้งแต่หลังภัตไปไม่เจืออามิสเลย จึงควร, ล่วง ๗ วันไป เป็นนิสสัคคีย์
          อนึ่ง เพราะภิกษุทั้งหลาย นึ่งผงเมล็ดพันธุ์ผักกาดและมะซางเป็นต้น และคั่วเมล็ดละหุ่ง แล้วกระทำน้ำมันอย่างนี้, ฉะนั้น น้ำมันของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นที่พวกอนุปสัมบันทำ แม้เจืออามิสก็ควรในเวลาก่อนฉัน ก็เพราะวัตถุเป็นยาวชีวิก จึงไม่มีโทษ, ในการรับประเคนพร้อมทั้งวัตถุ ฉะนี้แล, น้ำมันเมล็ดพันธุ์ผักกาดเป็นต้นที่ตนเองทำ พึงบริโภคโดยการบริโภคปราศจากอามิสอย่างเดียวตลอด ๗  วัน น้ำมันที่ทำด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาดเป็นต้น ที่เป็นอุคคหิตถ์ ไม่ควรกลืนกิน ควรแก่การใช้สอยภายนอก, แม้ล่วง ๗ วันไป ก็ไม่เป็นอาบัติ
          น้ำมันที่ภิกษุรับประเคนเมล็ดพันธุ์ผักกาด มะซาง และเมล็ดละหุ่ง เพื่อต้องการจะทำน้ำมัน แล้วทำในวันนั้นนั่นเอง เป็นสัตตาหกาลิก, ทำในวันรุ่งขึ้นควรบริโภคได้ ๖ วัน, ทำในวันที่ ๓ ควรบริโภคได้ ๕ วัน แต่ที่ทำในวันที่ ๔ ควร ๓ วัน  ในวันที่ ๕ ควร ๒ วัน  ในวันที่ ๖ ควร ๑ วัน  ในวันที่ ๗ ควรในวันนั้นเท่านั้น, ถ้ายังคงอยู่จนถึงอรุณขึ้นเป็นนิสสัคคีย์, ที่ทำในวันที่ ๘ ไม่ควรกลืนกินเลย แต่ควรใช้ภายนอกเพราะเป็นของยังไม่เสียสละ, แม้ถ้าว่าไม่ทำ ในเมื่อเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่ตนรับไว้เพื่อประโยชน์แก่น้ำมันเป็นต้น ล่วงกาล ๗ วันไป ก็เป็นทุกกฎอย่างเดียว
          อนึ่ง น้ำมันผลไม้มะพร้าว เมล็ดสะเดา สะคร้อ เล็บเหยี่ยว และสำโรง (บางแห่งว่าเมล็ดฝ้าย) แม้เหล่าอื่นที่ไม่ได้มาในพระบาลี ก็ยังมี  เมื่อภิกษุรับประเคนน้ำมันเหล่านั้นแล้วให้ล่วง ๗ วันไป เป็นทุกกฎในมะพร้าวเป็นต้นเหล่านี้ มีความแปลกกัน ดังนี้  พึงกำหนดวัตถุแห่งยาวกาลิกที่เหลือแล้ว ทราบวิธีการแห่งสามปักกะ (ให้สุกเอง) สวัตถุ (ของที่รับทั้งวัตถุ) ของที่รับประเคนในก่อนภัต ประเคนในหลังภัต และอุคคหิตวัตถุ (ของที่ยังไม่ได้รับประเคนภิกษุจับต้อง) ทั้งหมด ตามนัยที่กล่าวแล้ว
       ๗.อธิบายน้ำมันที่ทำจากเปลวสัตว์ต่างๆ
          ที่ทรงอนุญาตไว้ใน วินย.มหาวิ. ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเปลวมัน ๕ ชนิด คือ เปลวหมี เปลวปลา เปลวปลาฉลาม เปลวสุกร เปลวลา
          ก็บรรดาเปลวมัน ๕ ชนิดนี้ ด้วยคำว่า เปลวหมี  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตเปลวมันแห่งสัตว์ที่มีมังสะเป็นอกัปปิยะทั้งหมด เว้นเปลวมันแห่งมนุษย์เสีย,  อนึ่ง แม้ปลาฉลาม ก็เป็นอันพระองค์ทรงถือเอาแล้วด้วยศัพท์ว่า ปลา แต่เพราะปลาฉลามเป็นปลาร้าย พระองค์จึงตรัสแยกไว้ต่างหาก ในบาลีนี้ทรงอนุญาตเปลวมันแห่งสัตว์มีมังสะเป็นกัปปิยะทั้งหมด ด้วยศัพท์ว่า ปลา เป็นต้น
          ในจำพวก (เนื้อ) มังสะแห่งมนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู สีหะ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว รวม ๑๐ ชนิด เป็นอกัปปิยะ, บรรดาเปลวมัน เปลวมันของมนุษย์อย่างเดียวเป็นอกัปปิยะ, บรรดาอวัยวะอย่างอื่นมีน้ำนมเป็นต้น ชื่อว่าเป็นอกัปปิยะ ไม่มี, น้ำมันเปลวที่พวกอนุปสัมบันทำและกรองแล้ว ภิกษุรับประเคนก่อนฉัน แม้เจืออามิส ก็ควรก่อนฉัน  ตั้งแต่หลังฉันไปไม่เจืออามิสเลว จึงควรตลอด ๗ วัน, วัตถุใดที่คล้ายกับธุลีอันละเอียด เป็นมังสะก็ดี เอ็นก็ดี กระดูกก็ดี เลือดก็ดี ปนอยู่ในเปลวมันนั้น วัตถุนั้นจัดเป็นอัพโพหาริก
       ก็ถ้าว่า ภิกษุรับประเคนเปลวมัน กระทำน้ำมันเอง รับประเคนแล้วเจียว กรองเสร็จในเวลาก่อนภัต พึงบริโภคโดยบริโภคปราศจากอามิสตลอด ๗ วัน, แท้จริงทรงหมายถึงการบริโภคปราศจากอามิส จึงตรัสคำนี้ว่า รับประเคนในกาล เจียวเสร็จในกาล กรองในกาล ควรเพื่อบริโภคอย่างบริโภคน้ำมันมังสะที่ละเอียดเป็นต้น แม้ในน้ำมันที่รับประเคนเปลวมัน แล้วเจียวกรองนั้น ก็เป็นอัพโพหาริก, แต่จะรับประเคนหรือเจียวในหลังภัต ไม่ควรเลย สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนเปลวมันในเวลาวิกาล เจียวในเวลาวิกาล กรองในวิกาล ถ้าภิกษุบริโภคน้ำมันนั้น ต้องทุกกฎ ๓ ตัว, ถ้าภิกษุรับประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในวิกาล ถ้าบริโภคน้ำมันนั้นต้องทุกกฎ ๒ ตัว, ถ้าภิกษุรับประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในวิกาล ถ้าบริโภคน้ำมันนั้นต้องทุกกฎ ๑ ตัว, ถ้ารับประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในกาล ถ้าบริโภคน้ำมันนั้น ไม่เป็นอาบัติ ดังนี้
       ๕.อธิบายเภสัชว่าด้วยน้ำผึ้ง
          น้ำหวานที่พวกผึ้งใหญ่ แมลงผึ้งตัวเล็ก และจำพวกแมลงภู่ ซึ่งมีชื่อว่า แมลงทำน้ำหวาน (น้ำผึ้ง) ทำแล้ว, น้ำผึ้งนั้น ภิกษุรับประเคนก่อนฉัน แม้จะบริโภคเจืออามิสในก่อนภัตก็ควร แต่หลังภัตไปควรบริโภคปราศจากอามิสอย่างเดียวตลอด ๗ วัน, ล่วง ๗ วันไป ถ้าน้ำผึ้งชนิดหนามากเป็นเช่นกับยาง (เคี่ยวให้ข้น) ทำเป็นชิ้นเล็กชิ้นใหญ่เก็บไว้ หรือน้ำผึ้งชนิดบาง นอกนี้เก็บไว้ในภาชนะต่างๆ กัน เป็นนิสสัคคีย์มากตามจำนวนวัตถุ มีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น หรือน้ำผึ้งบางนอกนี้ก็เก็บรวมไว้ในภาชนะเดียว เป็นนิสสัคคีย์เพียงตัวเดียว น้ำผึ้งที่เป็นอุคคหิตถ์พึงทราบตามที่กล่าวแล้ว  พึงน้อมไปในกิจมีทาแผลเป็นต้น รังผึ้งหรือขี้ผึ้ง ถ้าน้ำผึ้งไม่ติด บริสุทธิ์ เป็นยาวชีวิก, แต่ที่มีน้ำผึ้งติดอยู่เป็นดังน้ำผึ้ง, ในรังของแมลงผึ้ง มีน้ำผึ้งคล้ายยาง น้ำผึ้งนั้นเป็นยาวชีวิก
 


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 กรกฎาคม 2559 16:07:27

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๔๒)
ภิกษุเก็บเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ไว้ได้ ๗ วัน
เกินกว่านั้น ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (ต่อ)

      ๖.อธิบายเภสัชว่าด้วยน้ำอ้อย
          น้ำอ้อยชนิดที่ยังไม่ได้เคี่ยว หรือที่เคี่ยวแล้วไม่มีกาก หรือที่ไม่มีกากแม้ทั้งหมด จนกระทั่งน้ำอ้อยสด พึงทราบว่า “น้ำอ้อย”, น้ำอ้อยที่ภิกษุรับประเคนก่อนฉัน แม้เจืออามิสก็ควรในเวลาก่อนภัต แต่หลังภัตไปไม่เจืออามิสเลย จึงควรตลอด ๗ วัน, ล่วง ๗ วันไป เป็นนิสสัคคีย์ตามจำนวนวัตถุ, ก้อนน้ำอ้อยแม้มาก ภิกษุย่อยให้แหลกแล้วใส่ไว้ในภาชนะเดียวกัน ย่อมจับรวมกันแน่น เป็นนิสสัคคีย์ตัวเดียว, น้ำอ้อยที่เป็นอุคคหิตถ์ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้ว พึงน้อมไปในกิจมีการอบเรือนเป็นต้น
          น้ำอ้อยที่เขาทำด้วยน้ำอ้อยสดที่ยังไม่ได้กรอง ภิกษุรับประเคนในเวลาก่อนฉัน ถ้าอนุปสัมบันทำ แม้เจืออามิสก็ควร, ถ้าภิกษุทำเอง ไม่เจืออามิสเลย จึงควร, จำเดิมแต่หลังภัตไป ไม่ควรกลืนกิน เพราะเป็นการรับประเคนทั้งวัตถุ, แม้ล่วง ๗ วันไป ก็ไม่เป็นอาบัติ, แม้ที่เขาทำด้วยน้ำอ้อยสด ที่ภิกษุรับประเคน ทั้งที่ยังไม่ได้กรองในเวลาหลังภัต ก็ไม่ควรกลืนกินเหมือนกัน แม้ล่วง ๗ วันไป ก็ไม่เป็นอาบัติ แม้ในผาณิต (น้ำอ้อย) ที่ภิกษุรับประเคนอ้อยเป็นลำทำ ก็มีนัยนี้
          ก็ผาณิตที่ทำด้วยน้ำอ้อยสด ที่กรองและรับประเคนไว้ในกาลก่อนฉัน ถ้าอนุปสัมบันทำ แม้เจืออามิสก็ควรในเวลาก็ภัต แต่หลังภัตไป ไม่เจืออามิสเลย จึงควรตลอด ๗ วัน, ที่ทำเองไม่เจืออามิสเลยย่อมควรแม้ในก่อนภัต แต่หลังภัตไปไม่เจืออามิส ควรตลอด ๗ วัน,  แต่ผาณิตทำด้วยน้ำอ้อยสด ที่กรองและประเคนแล้วในหลังภัตปราศจากอามิสเท่านั้น จึงควรตลอด ๗ วัน ผาณิตที่เป็นอุคคหิตถ์มีดังกล่าวแล้วเช่นกัน
          -ผาณิต (รสหวาน) ของดอกมะซางที่เขาทำด้วยน้ำเย็น แม้เจืออามิสก็ควรในเวลาก่อนภัต หลังภัตไปไม่เจืออามิส จึงควรตลอด ๗ วัน ล่วง ๗ วันไป เป็นทุกกฎตามจำนวนวัตถุ, ส่วนผาณิตมะซางที่เขาเติมนมสดทำเป็นยาวกาลิก แต่ชนทั้งหลายตักเอาฝ้า (ฟอง) นมสดออกแล้วๆ ชำระขัณฑสกรให้สะอาด เพราะฉะนั้นขัณฑสกรนั้นก็ควร, ส่วนดอกมะซางสดย่อมควรแม้ในเวลาก่อนภัต คั่วแล้วก็ควร, คั่วแล้วตำผสมด้วยของอื่น มีเมล็ดงาเป็นต้น หรือไม่ผสม ก็ควร
          แต่ถ้าว่า ชนทั้งหลายถือเอามะซางนั้นประกอบกันเข้า (ปรุง) เพื่อต้องการเมรัย ดอกมะซางที่ปรุงแล้วนั้นย่อมไม่ควรตั้งแต่พืช, ผาณิต (รสหวาน) แห่งผลไม้ที่เป็นยาวกาลิกทั้งหมด มีกล้วย ผลอินทผลัม (เป้งก็ว่า) มะม่วง ลิเก ขนุน และมะขาม เป็นต้น เป็นยาวกาลิกเหมือนกัน
          ถ้าภิกษุรับประเคนเภสัช ๕ อย่าง มีเนยเป็นต้นแม้ทั้งหมด เก็บไว้ไม่แยกกันในหม้อเดียว ล่วง ๗ วันไป เป็นนิสสัคคีย์เพียงตัวเดียว, เมื่อแยกเก็บเป็นนิสสัคคีย์ ๕ ตัว
       ๗.อธิบายข้อที่ทรงอนุญาตไว้เฉพาะ ๗ อย่าง
          (๑) ทรงอนุญาตเฉพาะอาพาธ ได้แก่ ข้อที่ทรงอนุญาตเฉพาะอาพาธอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเนื้อสด เลือดสด ในเพราะอาพาธอันเกิดจากอมนุษย์ เนื้อสดและเลือดสดนั้นควรแก่ภิกษุผู้อาพาธทั้งหลาย ไม่ควรแก่ภิกษุอื่น ก็แลเนื้อสดและเลือดสดนั้นเป็นกัปปิยะก็ดี เป็นอกัปปิยะก็ดี ย่อมควรทั้งนั้น ทั้งในกาลและทั้งในวิกาล
          (๒) ทรงอนุญาตเฉพาะบุคคล ได้แก่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการเรออวก แก่ภิกษุผู้มักเรออวก  ภิกษุทั้งหลาย แต่ที่เรออวกออกมานอกทวารปากแล้ว ไม่ควรกลืนกิน การเรออวกนั้นควรแก่ภิกษุผู้มักเรออวกนั้นเท่านั้น ไม่ควรแก่ภิกษุอื่น
          (๓) ทรงอนุญาตเฉพาะกาลที่ภิกษุถูกงูกัด ได้แก่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยามหาวิกัฏ ๔ คือ คูถ มูตร เถ้า ดิน ยามมหาวิกัฎนั่น เฉพาะในกาลนั้นแม้ไม่รับประเคนก็ควร ในกาลอื่นหาควรไม่
          (๔) ทรงอนุญาตเฉพาะสมัย ได้แก่ อนาบัติทั้งหลายที่ทรงอนุญาตไว้เฉพาะสมัยนั้นๆ โดยมีนัยว่า (เป็นปาจิตตีย์) ในเพราะคณโภชนะ เว้นแต่สมัย ดังนี้เป็นต้น
          (๕) ทรงอนุญาตเฉพาะประเทศ ได้แก่ สังฆกรรมมีการอุปสมบทเป็นต้น ที่ทรงอนุญาตเฉพาะในปัจจันตประเทศ อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะมีพระวินัยธรเป็นที่ ๕ ในปัจจันตชนบทเห็นปานนี้ สังฆกรรมมีอุปสมบทเป็นต้นนั้น ย่อมควรเฉพาะในปัจจันตชนบทเท่านั้น ในมัชฌิมประเทศหาควรไม่
          (๖) ทรงอนุญาตเฉพาะมันเปลว ได้แก่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเปลวมันเป็นเภสัช เปลวมันเภสัชนั้นของจำพวกสัตว์ มีเปลวมันเป็นกัปปิยะและอกัปปิยะทั้งหลาย เว้นเปลวมันของมนุษย์เสีย ย่อมควรเพื่อบริโภคอย่างบริโภคน้ำมัน แก่ภิกษุผู้มีความต้องการด้วยน้ำมันนั้น
          (๗) ทรงอนุญาตเฉพาะเภสัช ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ที่สามารถแผ่ไปเพื่อให้สำเร็จกิจ คือ อาพาธ ซึ่งทรงอนุญาตไว้โดยชื่อแห่งเภสัชอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเภสัช ๕ เภสัช  เภสัช ๕ เหล่านั้น ภิกษุรับประเคนแล้ว พึงบริโภคได้ตามสบายในปุเรภัตในวันนั้น ตั้งแต่ปัจฉาภัตไป เมื่อมีเหตุพึงบริโภคได้ตลอด ๗ วัน
       ๘.ภิกษุอย่าพึงเอาเภสัชที่เป็นนิสสัคคีย์ทาร่างกาย หรือทาแผลที่ร่างกาย แม้บริขารมีผ้ากาสาวะ ไม้เท้า รองเท้า เขียงเช็ดเท้า เตียงและตั่ง เป็นต้น หากถูกเภสัชนั้นแล้ว เป็นของไม่ควรบริโภคใช้สอย, แม้จะทาที่จับมือแห่งบานประตูและหน้าต่าง ก็ไม่ควรทา
          -ในภายใน ๗ วัน ภิกษุอธิษฐานเนยใส น้ำมัน และเปลวมัน ไว้เป็นน้ำมันทาศีรษะ หรือเป็นน้ำมันสำหรับหยอด, อธิษฐานน้ำผึ้งไว้เป็นยาทาแผล น้ำอ้อยเป็นเครื่องอบเรือน ย่อมไม่เป็นอาบัติ
          -ถ้าเภสัชนั้นเป็นของ ๒ เจ้าของ ภิกษุรูปหนึ่งรับประเคนไว้ แต่ยังไม่ได้แบ่งกัน เมื่อล่วง ๗ วันไป ไม่เป็นอาบัติทั้ง ๒ รูป แต่ไม่ควรบริโภค, ถ้ารูปใดรับประเคนไว้ รูปนั้นกล่าวกะอีกรูปหนึ่งว่า ท่านผู้มีอายุ น้ำมันนี้ถึง ๗ วันแล้ว ท่านจงบริโภคน้ำมันนั้นเสีย ดังนี้  และเธอก็ไม่ทำการบริโภค จะเป็นอาบัติแก่ใคร?  ตอบว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ใครๆ ทั้งนั้น  เพราะเหตุไร? เพราะรูปที่รับประเคนก็สละแล้ว อีกรูปหนึ่งก็ไม่ได้รับประเคน (นี้เป็นคำอธิบายอนาบัติว่าด้วยถือวิสาสะ)
          -เภสัชอันภิกษุสละแล้ว ไม่มีความห่วงใย ให้แล้วแก่สามเณร, ท่านพระมหาสุมเถระกล่าวว่า ตรัสไว้เพื่อแสดงว่าไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ให้แล้วในภายใน ๗ วัน ภายหลังได้คืนมาแล้วฉัน
          ส่วนท่านพระมหาปทุมเถระกล่าวว่า น้ำมัน (ที่สละแล้ว) นี้ ภิกษุไม่ควรขอ ด้วยว่าในเพราะการบริโภคใหม่ซึ่งน้ำมันที่ให้ไปแล้วในภายใน ๗ วัน ไม่มีอาบัติเลย  แต่ตรัสคำนี้ก็เพื่อแสดงว่าไม่เป็นอาบัติในเพราะการบริโภคน้ำมันที่ล่วง ๗ วันไป เพราะเหตุนั้นเภสัชที่เขาถวายแล้วอย่างนี้ ถ้าสามเณรปรุงแล้ว หรือไม่ได้ปรุงถวายแก่ภิกษุนั้น เพื่อกระทำการนัตถุ์, ถ้าสามเณรเป็นผู้เขลา ไม่รู้เพื่อจะถวาย ภิกษุอื่นพึงบอกเธอว่า แน่ะสามเณร เธอมีน้ำมันหรือ เธอรับว่า ขอรับ มีอยู่  ภิกษุพึงบอกเธอว่า นำมาเถิด เราจักทำยาถวายพระเถระ น้ำมันย่อมควรแม้ด้วยการถือเอาอย่างนี้
       ๙.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๒ คือ กายวาจา ๑ กายวาจากับจิต ๑ เป็นอกิริยา อจิตตกะปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓      



(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS19RdP-d7QwXMir38U3_QcYrzcfBOlbSJwwN_oeTtRDdrgkZRLlQ)
อิธ โมทติ เปจฺจ โมทติ  กตปุญฺโญ อุภยตฺถ โมทติ
โส โมทติ ดส ปโมทติ  ทิสฺวา กมฺมวิสุทฺธิมตฺตโน ฯ ๑๖ ฯ  
คนทำดีย่อมร่าเริงในโลกนี้ คนทำดีย่อมร่าเริงในโลกหน้า
คนทำดีย่อมร่าเริงในโลกทั้งสอง คนทำดีย่อมร่าเริง เบิกบานใจยิ่งนัก
เมื่อมองเห็นแต่กรรมบริสุทธิ์ของตน 

Here he rejoices, hereafter he rejoices, In both worlds the well-doer rejoices;
He rejoices, exceedingly rejoices, Seeing his own pure deeds.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)




หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 กรกฎาคม 2559 16:14:08

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๔๓)
ภิกษุแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนเกิน ๑ เดือน
และทำผ้านุ่งเกิน ๑๕ วันก่อนวันเข้าพรรษา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตผ้าอาบน้ำฝนแล้ว จึงแสวงหาจีวร คือผ้าอาบน้ำฝนเสียก่อนบ้าง ทำแล้วนุ่งเสียก่อนบ้าง ครั้นผ้าอาบน้ำฝนเก่าแล้วก็เปลือยกายอาบน้ำฝน
       ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า "ภิกษุรู้ว่าฤดูร้อนยังเหลืออีก ๑ เดือน พึงแสวงหาจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝน รู้ว่าฤดูร้อนยังเหลืออีกกึ่งเดือน พึงทำนุ่งได้ ถ้าเธอรู้ว่าฤดูร้อนเหลือล้ำกว่า ๑ เดือน แสวงหาจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝน รู้ว่าฤดูร้อนเหลือล้ำกว่ากึ่งเดือน ทำนุ่ง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์"

อรรถาธิบาย
       -คำว่า ภิกษุรู้ว่า ฤดูร้อนยังเหลืออีก ๑ เดือน พึงแสวงหาจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนได้ อธิบายว่า ภิกษุพึงเข้าไปหาชาวบ้านที่เคยถวายจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนมาก่อน แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า "ถึงกาลแห่งผ้าอาบน้ำฝนแล้ว ถึงสมัยแห่งผ้าอาบน้ำฝนแล้ว แม้ชาวบ้านเหล่าอื่นก็ถวายจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝน" ดังนี้ แต่อย่าพูดว่า จงให้จีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนแก่อาตมา จงหาจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนมาให้อาตมา จงแลกเปลี่ยน จงจ่ายจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนมาให้อาตมา ดังนี้เป็นต้น
       -เมื่อฤดูร้อนยังเหลืออยู่กึ่งเดือน พึงทำนุ่งได้ เมื่อฤดูร้อนยังเหลือเกินกว่า ๑ เดือน แสวงหาจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝน ทำนุ่ง เป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า "ท่านเจ้าข้า จีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้ของข้าพเจ้า แสวงหาได้มาในฤดูร้อนซึ่งยังเหลือเกินกว่า ๑ เดือน ทำนุ่งในฤดูร้อนซึ่งยังเหลืออยู่เกินกว่ากึ่งเดือน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้แก่สงฆ์"
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่าดังนี้ "ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวร คือผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้ของภิกษุ มีชื่อว่า เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่งสงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวร คือผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้

วิธีเสียสละแก่คณะ
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป..."ท่านเจ้าข้า จีวร คือผ้าอาบน้ำฝน... ข้าพเจ้าสละจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย"
       ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า "ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า... ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้จีวร คือผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้"

วิธีเสียสละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง... "ท่าน จีวรคือผ้าอาบน้ำฝน... ข้าพเจ้าสละจีวร คือผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้แก่ท่าน" ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยคำว่า "ข้าพเจ้าให้จีวร คือผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้แก่ท่าน" ดังนี้

อาบัติ
       ๑.ฤดูร้อนยังเหลือเกินกว่า ๑ เดือน ภิกษุรู้ว่าเกิน แสวงหาจีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝน เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.ฤดูร้อนยังเหลือเกินกว่า ๑ เดือน ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.ฤดูร้อนยังเหลือเกินว่า ๑ เดือน ภิกษุคิดว่ายังไม่ถึง...เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.ฤดูร้อนยังเหลือเกินกว่ากึ่งเดือน ภิกษุรู้ว่าเกิน ทำนุ่ง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๕.ฤดูร้อนยังเหลือเกินกว่ากึ่งเดือน ภิกษุสงสัย ทำนุ่ง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๖.ฤดูร้อนยังเหลือเกินกว่ากึ่งเดือน ภิกษุคิดว่ายังไม่ถึง ทำนุ่ง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๗.เมื่อผ้าอาบน้ำฝนมี ภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝน ต้องทุกกฏ
       ๘.ฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึง ๑ เดือน ภิกษุคิดว่าเกิน แสวงหา ต้องทุกกฏ
       ๙.ฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึง ๑ เดือน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๑๐.ฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึง ๑ เดือน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ถึง... ไม่ต้องอาบัติ
       ๑๑.ฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึงกึ่งเดือน ภิกษุคิดว่าเกิน... ต้องทุกกฏ
       ๑๒.ฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึงกึ่งเดือน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๑๓.ฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึงกึ่งเดือน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ถึงกึ่งเดือน ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุรู้ว่าฤดูร้อนยังเหลืออีกกึ่งเดือน แสวงหา, ภิกษุรู้ว่าฤดูร้อนยังเหลืออีกกึ่งเดือน ทำนุ่ง ๑  ภิกษุรู้ว่าฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึงกึ่งเดือน แสวงหา ๑  ภิกษุรู้ว่าฤดูร้อนยังเหลือไม่ถึงกึ่งเดือน ทำนุ่ง ๑ เมื่อผ้าอาบน้ำฝน ภิกษุแสวงหาได้แล้ว ฝนแล้ง  เมื่อผ้าอาบน้ำฝน ภิกษุทำนุ่งแล้ว เมื่อฝนแล้ง ซักเก็บไว้ ๑  ภิกษุนุ่งในสมัย ๑  ภิกษุมีจีวรถูกโจรชิงไป ๑  จีวรหาย ๑  มีอันตราย ๑  โจรชิงผ้ามีราคาที่ภิกษุนุ่งอาบน้ำฝน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๑๐๖๒-๑๐๖๗
       ๑.ผ้าอาบน้ำฝน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ในเรื่องนางวิสาขา ในจีวรขันธกะ
          - ภิกษุทำให้สำเร็จลงด้วยการเย็บ ย้อม และกัปปะเป็นที่สุด และภิกษุเมื่อจะทำ พึงกระทำผืนเดียวเท่านั้น แล้วอธิษฐานในสมัย จะอธิษฐาน ๒ ผืน ไม่ควร
       ๒.ตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่ง หลังจากวันเพ็ญของเดือน ๗ ไปจนถึงวันอุโบสถในกาฬปักษ์ข้างแรมนี้ เป็นเขตแห่งการแสวงหาและเขตแห่งการกระทำ แท้จริงในระหว่างนี้ ภิกษุจะแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนที่ยังไม่ได้ และจะทำผ้าอาบน้ำฝนที่ได้แล้ว ควรอยู่ จะนุ่งห่มและจะอธิษฐาน ไม่ควร
          กึ่งเดือนหนึ่ง ตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่ง หลังวันอุโบสถในกาฬปักษ์ไปจนถึงวันเพ็ญเดือน ๘ นี้ เป็นเขตแห่งการแสวงหา การกระทำ และการนุ่งห่ม  ในระหว่างนี้จะแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนซึ่งยังไม่ได้กระทำ ผ้าที่ได้แล้วจะนุ่งห่ม ควรอยู่ จะอธิษฐานอย่างเดียว ไม่ควร
          ตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่ง หลังวันเพ็ญเดือน ๘ ไปจนถึงวันเพ็ญเดือนกัตติกา (เดือน ๑๒) ๔ เดือนนี้ เป็นเขตแห่งการแสวงหา การกระทำ การนุ่งห่ม และการอธิษฐาน  ในระหว่างนี้จะแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนที่ยังไม่ได้ หรือจะกระทำผ้าที่ได้แล้ว จะนุ่งห่มและจะอธิษฐาน ควรอยู่
         อนึ่ง ตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่ง หลังวันเพ็ญเดือน ๑๒ ไปจนถึงวันเพ็ญแห่งเดือน ๘ ต้น ๗ เดือนนี้ ชื่อว่า ปัฏฐิสมัย (หลังสมัย) ในระหว่างนี้เมื่อภิกษุทำการเตือนสติ โดยนัยเป็นต้นว่า กาลแห่งผ้าอาบน้ำฝนแล้วให้จีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝน สำเร็จจากที่ของคนผู้ไม่ใช่ญาติและไม่ใช่ปวารณา เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยสิกขาบทนี้  เมื่อกระทำวิญญัติโดยนัยเป็นต้นว่า ท่านจงให้จีวรคือผ้าอาบน้ำฝนแก่เรา แล้วให้สำเร็จเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ด้วยอัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๖ แห่งจีวรวรรค) เมื่อกระทำการเตือนสติโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ ให้สำเร็จจากที่แห่งญาติและคนปวารณา เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยสิกขาบทนี้แล (สิกขาบทนี้แม้ขอจากญาติและคนปวารณามาทำ ก็ไม่พ้นอาบัติ)
           อนึ่ง ตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่ง หลังวันเพ็ญแห่งเดือน ๗ ต้น ไปจนถึงวันเพ็ญเดือนกัตติกา (เดือน ๑๒ ตกในราวปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน)  ๕ เดือนนี้ชื่อว่า กุจฉิสมัย (ท้องสมัย) ในระหว่างนี้เมื่อภิกษุทำการเตือนสติโดยนัยที่กล่าวแล้ว ให้จีวร คือผ้าอาบน้ำฝนสำเร็จจากที่แห่งคนผู้มิใช่ญาติมิได้ปวารณา เป็นทุกกฏ เพราะเสียธรรมเนียม  แต่พวกชาวบ้านซึ่งเคยถวายจีวร คือผ้าอาบน้ำฝน แม้ในกาลก่อน ถึงหากว่าจะเป็นผู้มิใช่ญาติและมิใช่ผู้ปวารณาของตน ก็ไม่มีการเสียธรรมเนียมเพราะทำการเตือนสติ ในชนเหล่านั้นทรงอนุญาตไว้ เมื่อภิกษุกระทำวิญญัติให้สำเร็จเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยอัญญาตกวิญญัติสิกขาบท เพราะเหตุไร?  เพราะตรัสไว้ว่า ภิกษุเข้าไปหาพวกชาวบ้านผู้เคยถวายจีวร คือผ้าอาบน้ำฝนเสียก่อน แล้วพึงกล่าวอย่างนี้ ดังนี้เป็นต้น      
          ก็จีวร คือผ้าอาบน้ำฝนนี้ ตามปกติย่อมมีแม้ในหมู่ทายกผู้ถวายผ้าอาบน้ำฝนนั่นแล  เมื่อภิกษุเตือนให้เกิดสติโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นเอง แล้วให้สำเร็จจากที่แห่งคนผู้เป็นญาติและคนปวารณาไม่เป็นอาบัติด้วยสิกขาบทนี้  เมื่อกระทำวิญญัติให้สำเร็จมา ไม่เป็นอาบัติด้วยอัญญาตกวิญญัติสิกขาบท คำว่า ไม่พึงบอกเขาว่า จงถวายแก่เรา นี้ตรัสหมายถึงคนผู้มิใช่ญาติและมิใช่ปวารณานั่นเอง
       ๓.ภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝนนั้น พระวินัยธรอย่าปรับตามจำนวนเมล็ดฝน พึงปรับด้วยทุกกฏทุกๆ ประโยค ด้วยอำนาจเสร็จการอาบน้ำ ก็ภิกษุนั้นอาบน้ำที่ตกลงมาจากอากาศอยู่ในลานที่เปิดเผย (กลางแจ้ง) เท่านั้น (จึงต้องทุกกฏ) เมื่ออาบอยู่ในซุ้มอาบน้ำและในบึงเป็นต้น หรือด้วยน้ำที่ใช้หม้อตักรด (ตักอาบ) ไม่เป็นอาบัติ
       ๔.ถ้าเมื่อผ้าอาบน้ำฝนทำเสร็จแล้ว พวกภิกษุให้เดือนท้ายฤดูสิ้นไปแล้ว เดือนต้นฤดูฝนนั่นแหละขึ้นมาเป็นเดือนท้ายฤดูร้อนอีก พึงซักผ้าอาบน้ำฝนเก็บไว้ ไม่ต้องอธิษฐาน ไม่ต้องวิกัป ได้บริหารตลอด ๒ เดือน พึงอธิษฐานในวันวัสสูปนายิกา (วันเข้าพรรษา) ถ้าว่าผ้าอาบน้ำฝนภิกษุมิได้ทำเพราะหลงลืมสติ หรือเพราะผ้าไม่พอก็ดี ย่อมได้บริหารตลอด ๖ เดือน คือ ๒ เดือนนั้นด้วย ๔ เดือนฤดูฝนด้วย  แต่ถ้าภิกษุกรานกฐินในเดือนกัตติกา ย่อมได้บริหารอีก ๔ เดือน รวมเป็น ๑๐ เดือน ด้วยประการอย่างนี้ แม้ต่อจาก ๑๐ เดือนนั้นไป เมื่อมีความหวังจะได้ผ้าอาบน้ำฝนของภิกษุผู้ทำให้เป็นจีวรเดิมเก็บไว้ ได้บริหารอีกเดือนหนึ่ง ดังนั้นจึงได้บริหารตลอด ๑๑ เดือน อย่างนี้
          ในกุรุนทีกล่าวถึงที่สุดแห่งนิสสัคคีย์ว่า ผ้าอาบน้ำฝนควรอธิษฐานเมื่อไร? ก็แลผ้าอาบน้ำฝนที่สำเร็จแล้วภายใน ๑๐ วัน ตั้งแต่วันที่ได้มา ควรอธิษฐานภายใน ๑๐ วันนั้นนั่นแหละ ถ้าผ้าไม่พอย่อมได้บริหารไปจนถึงเพ็ญเดือน ๑๒
       ๕.สิกขาบททนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓
       ๖.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
          ผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฎิกา) - ผ้าสำหรับอธิษฐานไว้ใช้นุ่งอาบน้ำฝนตลอด ๔ เดือนแห่งฤดูฝน ซึ่งพระภิกษุจะแสวงหาได้ในระยะ ๑ เดือน ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ และทำให้นุ่งได้ในเวลากึ่งเดือน ตั้งแต่ขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปัจจุบันมีประเพณีทายกทายิกาทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝนตามวัดต่างๆ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘      



(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS19RdP-d7QwXMir38U3_QcYrzcfBOlbSJwwN_oeTtRDdrgkZRLlQ)
น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ เยนตฺถฺ สหสา นเย
โย จ อตฺถํ อนตฺถญฺจ อุโภ นิจฺเฉยฺย ปณฺฑิโต ฯ ๒๕๖ ฯ  
ผู้ที่ตัดสินความโดยหุนหันพลันแล่น ไม่จัดเป็นผู้เที่ยงธรรม
ส่วนผู้ที่ฉลาด วินิจฉัยรอบคอบ ทั้งฝ่ายถูก และฝ่ายผิด
(จึงจัดเป็นผู้เที่ยงธรรม).  

He who hastily arbitrates Is not known as 'just'
The wise investigating right and wrong
(Is known as such). .
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 กันยายน 2559 17:09:23

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๔๔)
ภิกษุให้จีวรแก่ภิกษุอื่น โกรธแล้วชิงเอาคืนมาก็ดี
ใช้ให้ผู้อื่นชิงคืนมาก็ดี ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      พระอุปนันทศากยบุตร กล่าวชวนภิกษุผู้เป็นสัทธิวิหาริกของภิกษุผู้เป็นพี่น้องกันว่า จงมา เราจะพากันเที่ยวไปตามชนบท ภิกษุนั้นตอบว่า ผมไม่ไปขอรับ เพราะมีจีวรเก่า  ท่านอุปนันทะกล่าวว่า ไปเถิด ผมจักให้จีวรแก่ท่าน แล้วได้ให้จีวรแก่ภิกษุรูปนั้น
       ภิกษุรูปนั้นได้ทราบข่าวการเสด็จของพระศาสดา คิดว่าเราจักไม่ไปกับท่านอุปนันทะ จักตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปตามชนบท
       ครั้นถึงกำหนดเดินทาง เธอแจ้งแก่ท่านอุปนันทะๆ โกรธ น้อยใจ ได้ชิงจีวรที่ให้นั้นคืนมา ภิกษุนั้นแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ เพ่งโทษติเตียน... แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดให้จีวรแก่ภิกษุเองแล้ว โกรธ น้อยใจ ชิงเอามาก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
       -โกรธ น้อยใจ คือ ไม่ชอบ มีใจฉุนเฉียว เกิดมีใจกระด้าง
       -ชิงเอามา คือ ยื้อแย่งเอามาเอง จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์
       -ให้ชิงเอามา คือ ใช้คนอื่น ต้องอาบัติทุกกฎ
       -ภิกษุรับคำสั่งครั้งคราวเดียว ชิงเอามาแม้หลายคราว ก็เป็นนิสสัคคีย์ คือเป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล
       -วิธีเสียสละแก่สงฆ์และแก่คณะ พึงทราบโดยทำนองก่อน

วิธีเสียสละแก่บุคคล
       ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้าให้แก่ภิกษุเอง แล้วชิงเอามา เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยดีว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
       ๑.อุปสัมบัน (ภิกษุ, ภิกษุณี) ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน ให้จีวรเองแล้ว โกรธ น้อยใจ ชิงเอามาก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.ภิกษุให้บริขารอย่างอื่นแล้ว โกรธ น้อยใจ ชิงเอามาก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี ต้องทุกกฎ
       ๕.ภิกษุให้จีวรก็ดี บริขารอย่างอื่นก็ดี แก่อนุปสัมบันแล้ว โกรธ น้อยใจ... ต้องทุกกฎ
       ๖.อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน... ต้องทุกกฎ
       ๗.อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฎ
       ๘.อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
       ภิกษุผู้ได้รับไปนั้นให้คืนเองก็ดี ภิกษุเจ้าของเดิมถือวิสาสะแก่ผู้ได้รับไปนั้นก็ดี ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๑๐๗๔-๑๐๗๗
       ๑.ท่านอุปนันท์ชิงคืน เพราะสำคัญว่าของตน จึงไม่เป็นปาราชิก
       ๒.สำหรับผู้ชิงเอาจีวรผืนเดียวหรือมากผืน ซึ่งเนื่องเป็นอันเดียวกัน เป็นอาบัติตัวเดียว, เมื่อชิงเอาจีวรมากผืน ซึ่งไม่เนื่องเป็นอันเดียวกัน และตั้งอยู่แยกกัน และเมื่อใช้ให้ผู้อื่นนำมาให้โดยสั่งว่า เธอจงนำสังฆาฏิมา จงนำผ้าอุตราสงค์มา เป็นอาบัติมากตัวตามจำนวนวัตถุ, แม้เมื่อกล่าวว่า เธอจงนำจีวรทั้งหมดที่เราให้แล้วคืนมา ก็เป็นอาบัติจำนวนมากเพราะคำพูดคำเดียวนั้นแล
       ๓.ภิกษุหนุ่มถูกพระเถระกล่าวด้วยคำมีอาทิอย่างนี้ว่า คุณ! เราให้จีวรแก่เธอด้วยหวังว่า คุณจะทำวัตรและปฏิวัตร จักถืออุปัชฌาย์ จักเรียนซึ่งธรรมในสำนักของเรา  มาบัดนี้ เธอนั้นไม่กระทำวัตร ไม่ถืออุปัชฌาย์ ไม่เรียนธรรม ดังนี้ จึงให้คืนว่า ท่านขอรับ ดูเหมือนท่านพูดเพื่อต้องการจีวรๆ นี้ จึงเป็นของท่าน  ภิกษุผู้รับไปนั้นให้คืนด้วยอาการอย่างนี้ก็ดี, ก็หากว่าพระเถระกล่าวถึงภิกษุหนุ่มผู้หลีกไปสู่ทิศอื่นว่า พวกท่านจงให้เธอกลับ, เธอไม่กลับ, พระเถระสั่งว่า พวกท่านจงยึดจีวรกันไว้, ถ้าอย่างนี้ เธอกลับเป็นการดี ถ้าเธอกล่าวว่า พวกท่านดูเหมือนพูดเพื่อต้องการบาตรและจีวร พวกท่านจงรับเอามันไปเถิด แล้วให้คืน, แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าภิกษุผู้รับไปนั้นให้คืนเองก็ดี
       อนึ่ง พระเถระเห็นเธอสึกแล้วกล่าวว่า เราได้ให้บาตรและจีวรแก่เธอ ด้วยหวังว่าจะกระทำวัตร บัดนี้เธอก็สึกไปแล้ว, ฝ่ายภิกษุหนุ่มที่สึกไปพูดว่า ขอท่านโปรดรับเอาบาตรและจีวรของท่านไปเถิด แล้วให้คืน, แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่า ภิกษุผู้รับไปให้คืนเอง, แต่จะให้ด้วยกล่าวอย่างนี้ว่า เราให้แก่เธอผู้ถืออุปัชฌาย์ในสำนักของเราเท่านั้น เราไม่ให้แก่ผู้ถืออุปัชฌาย์ในที่อื่น เราให้เฉพาะแก่ผู้กระทำวัตร ไม่ให้แก่ผู้ไม่กระทำวัตร เราให้แก่ผู้เรียนธรรมเท่านั้น ไม่ให้แก่ผู้ไม่เรียน เราให้แก่ผู้ไม่สึกเท่านั้น ไม่ให้แก่ผู้สึก   ดังนี้ ไม่ควร เป็นทุกกฎแก่ผู้ให้ แต่จะใช้ให้นำมาคืน ควรอยู่,  ภิกษุผู้ชิงเอาจีวรที่ตนสละให้แล้วคืนมา พระวินัยธรพึงปรับตามราคาสิ่งของ
       ๔.สิกขาบทมี ๓ สมุฏฐาน คือ เกิดทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม, วจีกรรม, อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๔๕)
ภิกษุขอด้ายต่อคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา
เอามาให้ช่างหูกทอเป็นจีวร ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      ครั้งนั้นเป็นคราวทำจีวร พระฉัพพัคคีย์ขอด้ายเขามาเป็นอันมาก แม้ทำจีวรเสร็จแล้ว ด้ายก็ยังเหลืออยู่เป็นอันมาก พระฉัพพัคคีย์ปรึกษากันว่า พวกเราควรไปหาด้ายอื่นๆ มาให้ช่างหูกทอจีวรเถิด ครั้นไปขอด้ายมาแล้ว ให้ช่างหูกทอ ด้ายก็ยังเหลืออีกมากมาย จึงไปขอมาให้ช่างหูกทอ แม้ครั้งที่สอง... แม้ครั้งที่สาม...
       ชาวบ้านเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนพระสมณะเหล่านี้จึงได้ขอด้ายเขามาเองแล้ว ยังช่างหูกให้ทอจีวรเล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยิน... จึงกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดขอด้ายมาเองแล้ว ยังช่างหูกให้ทอจีวร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
       -บทว่า เอง คือ ขอเขามาเอง
       -ด้าย มี ๖ อย่าง คือ ทำด้วยเปลือกไม้ ๑ ทำด้วยฝ้าย ๑ ทำด้วยไหม ๑ ทำด้วยขนสัตว์ ๑ ทำด้วยป่าน ๑ ทำด้วยสัมภาระเจือกันใน ๕ อย่างนั้น ๑
       -ยังช่างหูก คือ ให้ช่างหูกทอ เป็นทุกกฎในขณะที่ช่างหูกทอจัดทำอยู่ เป็นนิสสัคคีย์เมื่อได้จีวรมา จำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล
       -วิธีเสียสละแก่สงฆ์และคณะ พึงทราบตามทำนองก่อน

วิธีเสียสละแก่บุคคล
      ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง...กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน จีวรผืนนี้เป็นของข้าพเจ้า ขอด้ายมาเองแล้วยังให้ช่างหูกให้ทอ เป็นของจำจะสละ... ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
       ๑.ให้เขาทอ ภิกษุรู้ว่าให้เขาทอ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.ให้เขาทอ ภิกษุสงสัย เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.ให้เขาทอ ภิกษุคิดว่าไม่ได้ให้เขาทอ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.ไม่ได้ให้เขาทอ ภิกษุคิดว่าให้เขาทอ ต้องทุกกฎ
       ๕.ไม่ได้ให้เขาทอ ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
       ๖.ไม่ได้ให้เขาทอ ภิกษุรู้ว่าไม่ได้ให้เขาทอ ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุขอด้ายมาเพื่อเย็บจีวร ๑  ขอด้ายมาทำผ้ารัดเข่า ๑  ขอด้ายมาทำประคดเอว ๑  ทำผ้าอังสะ ๑  ทำถุงบาตร ๑  ทำผ้ากรองน้ำ ๑  ขอต่อญาติ ๑  ขอต่อปวารณา ๑  ขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑  จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๑๐๘๓-๑๐๘๘
      ๑.ด้ายที่ภิกษุขอเองเป็นอกัปปิยะ ด้ายที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งญาติเป็นต้น เป็นกัปปิยะ แม้ช่างหูกก็ไม่ใช่ญาติและไม่ใช่คนปวารณา ภิกษุได้มาด้วยการขอ เป็นอกัปปิยะ, ช่างหูกที่เป็นญาติและคนปวารณาเป็นกัปปิยะ, บรรดาด้ายและช่างหูกเหล่านั้น ด้ายที่เป็นอกัปปิยะเป็นนิสสัคคีย์แก่ภิกษุผู้ให้ช่างหูกผู้เป็นอกัปปิยะทอ
           อนึ่ง เมื่อภิกษุให้ช่างหูกที่เป็นอกัปปิยะนั้นแล ทอด้วยด้ายที่เป็นกัปปิยะ เป็นทุกกฎเหมือนนิสสัคคีย์ในเบื้องต้นนั้นแล เมื่อภิกษุให้ช่างหูกอกัปปิยะนั้นแล ทอด้วยกัปปิยะและอกัปปิยะ ถ้าจีวรเป็นดุจกระทงเนื่องกันเท่าประมาณแห่งจีวรขนาดเล็ก อย่างนี้คือ ตอนหนึ่งสำเร็จด้วยด้ายที่เป็นกัปปิยะล้วนๆ ตอนหนึ่งสำเร็จด้วยด้ายอกัปปิยะ เป็นปาจิตตีย์ในทุกๆ ตอนที่สำเร็จด้วยด้ายอกัปปิยะ, เป็นทุกกฏในตอนที่สำเร็จด้วยด้ายเป็นกัปปิยะนอกนี้อย่างนั้นเหมือนกัน ถ้ามีหลายตอนหย่อนกว่าขนาดจีวรที่ควรวิกัปอย่างนั้น ในที่สุดแม้ขนาดเท่าดวงไฟก็เป็นทุกกฏตามจำนวนตอนในทุกๆ ตอน ถ้าจีวรทอด้วยด้ายที่คั่นลำดับกันทีละเส้นก็ดี ทอให้ด้ายกัปปิยะอยู่ทางด้านยาว (ด้านยืน) ให้ด้ายอกัปปิยะอยู่ทางด้านขวาง (ด้านพุ่ง) ก็ดี เป็นทุกกฎทุกๆ ผัง
       ๒.สิกขาบทนี้เป็นสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓  



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๔๖)
ภิกษุไปกำหนดให้ช่างหูกทำให้ดีขึ้น ซึ่งจีวรที่คฤหัสถ์ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา
สั่งให้ช่างหูกทอถวายแก่ภิกษุ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      บุรุษผู้หนึ่งเมื่อจะไปค้างแรมต่างถิ่น ได้กล่าวกับภรรยาว่า จงกะด้ายให้ช่างหูกคนโน้น ให้ทอจีวรเพิ่มเก็บไว้ เมื่อฉันกลับมาแล้วจักนิมนต์พระคุณเจ้าอุปนันท์ให้ครองจีวร
       ภิกษุผู้ซึ่งเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรได้ยิน ได้ไปบอกแก่ท่านอุปนันท์ๆ ได้เข้าไปหาช่างหูก กล่าวว่า จีวรผืนนี้ เขาให้ท่านทอเฉพาะเรา ท่านจงทำให้ยาว ให้กว้าง ให้แน่น ให้เป็นของขึงดี ทอดี ให้เป็นของที่สางดี และให้เป็นของที่กรีดดี
       ช่างหูกแจ้งว่า เขากะด้ายส่งมาเท่านี้ ด้ายมีไม่มีที่จะทำอย่างที่ท่านต้องการให้ทำได้ พระอุปนันท์กล่าวว่า เอาเถิดความขัดข้องด้วยด้ายจักไม่มี ช่างหูกได้ด้ายมาใส่ในหูกแล้วไม่พอ จึงไปหาภรรยาบุรุษนั้น สตรีนั้นแย้งว่า สั่งแล้วมิใช่หรือว่าจงทอด้วยด้ายเท่านี้ ช่างหูกได้แจ้งการมาของท่านอุปนันท์ ให้นางทราบแล้ว นางได้เพิ่มด้ายให้จนพอ
       บุรุษนั้นกลับมา นิมนต์ท่านอุปนันท์มาแล้ว ให้ภรรยาหยิบจีวรมา นางหยิบมาแล้ว เล่าเรื่องนั้นให้สามีทราบ บุรุษนั้นถวายจีวรแล้วเพ่งโทษติเตียนว่า พระสมณะนี้มักมาก จะให้ครองจีวรก็ทำไม่ได้ง่าย ไฉนเราไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน จึงเข้าไปหาช่างหูกแล้วถึงการกำหนดในจีวรเล่า
       ภิกษุทั้งหลายได้ยิน... กราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง พ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ สั่งช่างทอหูกให้ทอจีวรเฉพาะภิกษุ ถ้าภิกษุนั้นเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาช่างหูกแล้ว ถึงความกำหนดในจีวรในสำนักของเขานั้นว่าจีวรผืนนี้ทอเฉพาะรูป ขอท่านจงทำให้ยาว ให้กว้าง ให้แน่น ให้เป็นของที่ขึงดี ให้เป็นของที่ทอดี ให้เป็นของที่สางดี ให้เป็นของที่กรีดดี แม้ไฉนรูปจะให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลแก่ท่าน ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลโดยที่สุดแม้สักว่าบิณฑบาต เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

       -บทว่า อนึ่ง...เฉพาะภิกษุ ความว่า เพื่อประโยชน์ของภิกษุ ทำภิกษุให้เป็นอารมณ์แล้วใคร่จะให้ครองจีวร
       -ช่างหูก ได้แก่ คนทำการทอ
       -เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน คือ เป็นผู้อันเขาไม่ได้บอกไว้ก่อนว่า ท่านเจ้าข้า ท่านจะต้องการจีวรเช่นไร ผมจักทอจีวรเช่นไรถวาย
       -คำว่า ถึงความกำหนดในจีวรนั้น คือ กำหนดว่า ขอท่านจงทำให้ยาว ให้กว้าง ให้แน่น ให้เป็นของที่ขึงดี ให้เป็นของที่ทอดี ให้เป็นของที่สางดี ให้เป็นของที่กรีดดี แม้ไฉนรูปจะให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลแก่ท่าน
       -คำว่า ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัล โดยที่สุดแม้สักว่าบิณฑบาต อธิบายว่า ยาคูก็ดี ข้าวสารก็ดี ของเคี้ยว ก้อนจุรณ ไม้ชำระฟัน หรือด้ายเชิงชายก็ดี โดยที่สุดแม้กล่าวธรรม ก็ชื่อว่าบิณฑบาต
       -เขาทำให้ยาวก็ดี กว้างก็ดี แน่นก็ดี ตามคำของเธอ เป็นทุกกฎในขณะที่เขาทำ เป็นนิสสัคคีย์เมื่อได้จีวรมา ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล
       -วิธีเสียสละแก่สงฆ์และแก่คณะ พึงทราบโดยทำนองก่อนๆ

วิธีเสียสละแก่บุคคล
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ข้าพเจ้าไปหาช่างหูกของเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ถึงความกำหนดในจีวร เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
       ๑.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุรู้ว่ามิใช่ญาติ เขาไม่ได้ปวารณา เข้าไปหาช่างหูกของเจ้าเรือน แล้วถึงความกำหนดในจีวร เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.เจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ ภิกษุคิดว่าเป็นญาติ... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุคิดว่ามิใช่ญาติ... ต้องทุกกฎ
       ๕.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฎ
       ๖.เจ้าเรือนเป็นญาติ ภิกษุรู้ว่าเป็นญาติ... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุขอต่อญาติ ๑  ขอต่อคนปวารณา ๑  ขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่นๆ ๑  จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  เจ้าเรือนใคร่จะให้ทอจีวรมีราคามาก ภิกษุให้ทอจีวรมีราคาน้อย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๑๐๙๗-๑๐๙๘
       สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓  



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๔๗)
ภิกษุเก็บผ้าจำนำพรรษาไว้เกินกาลจีวร ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      มหาอำมาตย์ผู้หนึ่งเมื่อจะไปค้างแรมต่างถิ่น ได้ส่งคนไปนิมนต์ภิกษุทั้งหลายว่า จักถวายผ้าจำนำพรรษา ภิกษุทั้งหลายไม่ไป เพราะรังเกียจว่าทรงอนุญาตผ้าจำนำพรรษาแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ออกพรรษาแล้วเท่านั้น
       มหาอำมาตย์ผู้นั้นได้เพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนจึงไม่มา เราจะไปกองทัพ จะเป็นหรือจะตายก็ยากที่จะรู้ได้ ภิกษุทั้งหลายได้ยิน จึงกราบทูล...ทรงอนุญาตอัจเจกจีวร
       รับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อรับอัจเจกจีวร แล้วเก็บไว้ได้”
      ภิกษุทั้งหลายทราบพระพุทธานุญาตนั้นแล้ว รับอัจเจกจีวรเก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล จีวรเหล่านั้นภิกษุห่อแขวนไว้ที่สายระเดียง พระอานนท์จาริกไปตามเสนาสนะพบเข้า ถามภิกษุว่าเก็บไว้นานเท่าไรแล้ว ภิกษุเหล่านั้นแจ้งความที่ตนเก็บไว้ พระอานนท์เพ่งโทษ ติเตียนว่า ไฉนจึงรับอัจเจกจีวรแล้วเก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาลเล่า แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “วันปรุณมีที่ครบ ๓ เดือนแห่งเดือนกัตติกา ยังไม่มาอีก ๑๐ วัน อัจเจกจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุรู้ว่าเป็นอัจเจกจีวร พึงรับไว้ได้ ครั้นรับแล้วพึงเก็บไว้ได้ตลอดสมัยที่เป็นจีวรกาล ถ้าเธอเก็บไว้ยิ่งกว่านั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

       -บทว่า ยังไม่มาอีก ๑๐ วัน คือ ก่อนวันปวารณา ๑๐ วัน
       -บทว่า วันปุรณมีที่ครบ ๓ เดือนแห่งเดือนกัตติกา นั่นคือ วันปวารณา ท่านกล่าวว่าวันเพ็ญเดือนกัตติตกา
       -ที่ชื่อว่า อัจเจกจีวร อธิบายว่า บุคคลประสงค์จะไปในกองทัพก็ดี ประสงค์ไปแรมคืนต่างถิ่นก็ดี บุคคลเจ็บไข้ก็ดี สตรีมีครรภ์ก็ดี บุคคลยังไม่ศรัทธา มามีศรัทธาเกิดขึ้นก็ดี บุคคลที่ยังไม่เลื่อมใส มามีความเลื่อมใสเกิดขึ้นก็ดี ถ้าเขาส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า นิมนต์ท่านผู้เจริญมา ข้าพเจ้าจักถวายผ้าจำนำพรรษา ผ้าเช่นนี้ชื่อว่า อัจเจกจีวร
       -คำว่า ภิกษุรู้ว่าเป็นอัจเจกจีวร พึงรับไว้ได้... คือ พึงทำเครื่องหมายว่า นี้อัจเจกจีวร แล้วเก็บไว้
       -ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นจีวรกาล คือ เมื่อไม่ได้กรานกฐิน ได้ท้ายฤดูฝน ๑ เดือน เมื่อกรานกฐินแล้วได้ขยายออกไปเป็น ๕ เดือน
       -คำว่า ถ้าเธอเก็บไว้ยิ่งกว่านั้น คือ เมื่อไม่ได้กรานกฐิน เก็บไว้ล่วงเลยวันสุดท้ายแห่งฤดูฝนเป็นนิสสัคคิยะ เมื่อได้กรานกฐินแล้ว เก็บไว้ล่วงเลยวันกฐินเดาะ เป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า ”ท่านเจ้าข้า ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เก็บไว้ล่วงเลยสมัยจีวรกาล เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้แก่สงฆ์”
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า อัจเจกจีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ
       (พึงทราบทำนองเดียวกับการเสียสละแก่สงฆ์ เพียงเปลี่ยนจากสงฆ์เป็นท่านทั้งหลาย)

วิธีเสียสละแก่บุคคล
       ภิกษุรูปนั้นrพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งเท้าประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เก็บไว้ล่วงเลยสมัยจีวรกาล เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้แก่ท่าน”
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วคืนให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
       ๑.อัจเจกจีวร ภิกษุรู้ว่าเป็นอัจเจกจีวร เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.อัจเจกจีวร ภิกษุสงสัย...เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.อัจเจกจีวร ภิกษุคิดว่ามิใช่อัจเจกจีวร...เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.จีวรยังไม่ได้อธิษฐาน ยังไม่ได้วิกัป ยังไม่ได้สละ ภิกษุคิดว่า อธิษฐานแล้ว วิกัปแล้ว สละแล้ว เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ทั้งสิ้น
       ๕.จีวรยังไม่หาย ยังไม่ฉิบหาย ยังไม่ถูกไฟไหม้ ยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุเข้าใจว่าหายแล้ว ฉิบหายแล้ว ถูกไฟไหม้แล้ว ถูกชิงไปแล้ว เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ทั้งสิ้น
       ๖.จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุยังไม่สละ บริโภค ต้องทุกกฎ
       ๗.ไม่ใช่อัจเจกจีวร ภิกษุคิดว่าเป็นอัจเจกจีวร เก็บไว้ล่วงสมัยจีวรกาล ต้องทุกกฎ
       ๘.ไม่ใช่อัจเจกจีวร ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฎ
       ๙.ไม่ใช่อัจเจกจีวร ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่อัจเจกจีวร ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุอธิษฐาน ๑  ภิกษุวิกัป ๑  ภิกษุสละให้ไป ๑  จีวรหาย ๑  จีวรฉิบหาย ๑  ถูกไฟไหม้ ๑  ถูกชิงเอาไป ๑  ภิกษุถือวิสาสะ ๑  ในภายในสมัย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๑๑๐๖-๑๑๐๙
       ๑.บทว่า ทสาหานาคตํ มีความว่า วันทั้งหลาย ๑๐ ชื่อว่า ทสาหะ (วันปุรณมีที่ครบ ๓ เดือนแห่งเดือนกัตติกา), ยังไม่มาโดยวัน ๑๐ นั้นชื่อว่า ทสาหานาคตะ, วันมหาปวารณาแรกตรัสรู้ เรียกว่า ทสาหานาคตา ตั้งแต่กาลใดไป ถ้าแม้นว่าอัจเจกจีวรพึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุแน่นอนตลอดวันเหล่านั้นทีเดียว (ใน ๑๐ วันนั้น) ภิกษุรู้ว่านี้เป็นอัจเจกจีวร (จีวรรีบด่วน) พึงรับไว้ได้แม้ทั้งหมด, จีวรรีบด่วน ตรัสเรียกว่า อัจเจกจีวร ก็เพื่อแสดงจีวรนั้นเป็นผ้ารีบด่วน
       -คำว่า พึงทำเครื่องหมายแล้วเก็บไว้ ตรัสเพราะว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายแจกอัจเจกจีวรนั้นก่อนวันปวารณา ภิกษุที่ได้ผ้าอัจเจกจีวรนั้นไป ต้องไม่เป็นผู้ขาดพรรษา แต่ถ้าเป็นผู้ขาดพรรษา จีวรจะกลายเป็นของสงฆ์ไปเสีย เพราะฉะนั้นจักต้องกำหนดแจกให้ดี เหตุนั้นจึงได้ตรัสคำนี้ไว้
       ๒.พึงทราบว่า จีวร คือ ผ้าอาบน้ำฝนที่ยังไม่ได้ทำ เมื่อไม่ได้กรานกฐิน ได้บริหาร ๕ เดือน เมื่อเพิ่มฤดูฝน (เพิ่มอธิกมาส) ได้บริหาร ๖ เดือน เมื่อได้กรานกฐินได้บริหารอีก ๔ เดือน, ได้บริหารอีก ๑ เดือน ด้วยอำนาจการอธิษฐานให้เป็นจีวรเดิม เมื่อมีความหวังจะได้ผ้าในวันสุดท้ายแห่งฤดูหนาว รวมเป็นได้บริหาร ๑๑ เดือน อย่างนี้, อัจเจกจีวรเมื่อไม่ได้กรานกฐิน ได้บริหาร ๑ เดือน กับ ๑๑ วัน  เมื่อได้กรานกฐินได้บริหาร ๕ เดือน กับ ๑๑ วัน ต่อจากนั้นไปไม่ได้บริหารแม้วันเดียว
       ๓.สิกขาบทนี้มีกฐินเป็นสมุฏฐาน เป็นอกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓
       ๔.การถวายอัจเจกจีวร (ผ้ารีบด่วน) เขตในกาลถวายอัจเจกจีวรเริ่มตั้งแต่ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ รวม ๑๐ วัน ด้วยกัน (คือ ถวายก่อนเขตกฐินได้ ๑๐ วัน)

ผู้ถวายอัจเจกจีวร มี ๔ จำพวก คือ
       (๑)บุคคลประสงค์จะไปในกองทัพ (ไปรบ)
       (๒)บุคคลเจ็บไข้
       (๓)สตรีมีครรภ์
       (๔)บุคคลยังไม่มีศรัทธา แต่มามีศรัทธาเกิดขึ้นในภายหลัง

คำถวายอัจเจกจีวร
       วสฺสาวาสิกํ ทมฺมิ  ข้าพเจ้า ขอถวายผ้าสำหรับภิกษุผู้อยู่จำพรรษา
 
       การถวายอัจเจกจีวรนี้ มีอานิสงส์ดุจเดียวกับการถวายกฐิน เพราะถวายพระสงฆ์เหมือนกัน แต่มีผู้รู้เรื่องการถวายอัจเจกจีวรนี้น้อยมาก และก็ยังมีข้อแตกต่างกันเกี่ยวกับการถวาย คือ กฐินนั้นไม่จำกัดบุคคลผู้ถวาย จะเป็นพระภิกษุ สามเณร หรือเทวดา เป็นต้น ก็ถวายได้ ส่วนอัจเจกจีวรมีบุคคล ๔ จำพวก ตามที่กล่าวแล้วเท่านั้นที่ถวายได้

อัจเจกจีวรถวายสงฆ์
       มยํ ภนฺเต อิมสฺมึ อาราเม อสฺสาวาสิกานิ อจฺเจกจีวรานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส เทม.  อิทํ โน ปุญฺญํ สพฺพมงฺคลตฺถาย จ สพฺพทุกฺขนิโรธาย จ โหตุ. อิมํ ปุญฺญปตฺตึ สภฺเพสํ สตฺตานํ เทม.  สพฺเพ สตฺตา สุขิตา โหนตุ.
       ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถวายผ้าจำนำพรรษาแก่ภิกษุสงฆ์ในอารามนี้ ขอให้บุญกุศลจากการถวายทานนี้ จงเป็นปัจจัยเพื่อก่อให้เกิดสิริมงคลทั้งปวง และเพื่อความดับทุกข์ในสังสารวัฏ ข้าพเจ้าทั้งหลายขออุทิศส่วนบุญนี้ให้แก่สรรพสัตว์ มีบิดามารดาเป็นต้น ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงมีความสุขกายสุขใจด้วยเถิด.

อัจเจกจีวรถวายบุคคล
       อหํ ภนฺเต อิมสฺมึ อาราเม วสฺสาวาสิกํ อจฺเจกจีวรํ อายสฺมโต ทมุมิ.  อิทํ โน ปุญฺญํ สพฺพมงฺคลตฺถาย จ โหตุ.  อิมํ ปุญฺญปตฺตึ สพฺเพสํ สตฺตานํ ทมฺมิ.  สพฺเพ สตฺตา สุขิตา โหนฺตุ.
       ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถวายผ้าจำนำพรรษาแต่ท่านที่พำนักอยู่ในอารามนี้ ขอให้บุญกุศลจากการถวายทานนี้ จงเป็นปัจจัยเพื่อก่อให้เกิดสิริมงคลทั้งปวง และเพื่อความดับทุกข์ในสังสารวัฏ ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนบุญนี้ให้แก่สรรพสัตว์ มีบิดามารดาเป็นต้น ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงมีความสุขกาย สุขใจด้วยเถิด (นานาวินิจฉัย/๑๘๒-๔)    



นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๔๘)
ภิกษุจำพรรษาในเสนาสนะป่า ออกพรรษาแล้วเก็บจีวรได้เพียง ๖ คืน
ถ้าเก็บไว้เกินกว่านั้น ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้สมมติ

      ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายออกพรรษาแล้วยับยั้งอยู่ในเสนาสนะป่า พวกโจรเดือน ๑๒ เข้าใจว่า ภิกษุทั้งหลายได้ลาภแล้ว จึงพากันเที่ยวปล้น ภิกษุทั้งหลายกราบทูล...
       รับสั่งว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะป่า เก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้”
       ภิกษุทั้งหลายทราบว่า ทรงอนุญาตให้เก็บไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้ จึงเก็บไว้แล้วอยู่ปราศจาก ๖ คืนบ้าง จีวรเหล่านั้นหายบ้าง ฉิบหายบ้าง ถูกไฟไหม้บ้าง หนูกัดบ้าง ภิกษุทั้งหลายมีแต่ผ้าไม่ดี มีแต่จีวรปอน
       “หนึ่ง ภิกษุจำพรรษาแล้ว จะอยู่ในเสนาสนะป่า ที่รู้กันว่าเป็นที่รังเกียจ มีภัยจำเพาะหน้า ตลอดวันเพ็ญเดือน ๑๒ เมื่อปรารถนาอยู่ พึงเก็บจีวร ๓ ผืนๆ ใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้ และปัจจัยอะไรๆ เพื่อจะอยู่ปราศจากจีวรนั้น จะพึงมีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นพึงอยู่ปราศจากจีวรนั้นได้ ๖ คืนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเธออยู่ปราศจากยิ่งกว่านั้น เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

       -บทว่า อนึ่ง จำพรรษาแล้ว คือ ภิกษุออกพรรษาแล้ว วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ตรงกับวันปุรณมีดิถี เป็นที่เต็ม ๔ เดือน ในกัตติกมาส (เดือน ๑๒, ได้อานิสงส์จำพรรษา)
       -คำว่า เสนาสนะป่า เป็นต้น คือ เสนาสนะที่ชื่อว่าป่านั้นมีระยะไกล ๕๐๐ ชั่วธนู เป็นอย่างน้อย
       -ที่ชื่อว่า เป็นที่รังเกียจ คือ ในอาราม อุปจารแห่งอาราม มีสถานที่อยู่ ที่กิน ที่ยืน ที่นั่ง นอน ของพวกโจรปรากฏอยู่
       -ที่ชื่อว่า มีภัยเฉพาะหน้า คือ ในอาราม อุปจารแห่งอาราม มีมนุษย์ถูกพวกโจรฆ่า ปล้น ทุบตี ปรากฏอยู่
       -บทว่า ปรารถนา คือ ภิกษุจะยับยั้งอยู่ หรือพอใจอยู่ในเสนาสนะเช่นนั้น
       -คำว่า และปัจจัยอะไรๆ เพื่อจะอยู่ปราศจากจีวรนั้น จะพึงมีแก่ภิกษุนั้น คือ มีเหตุมีกิจจำเป็น ก็พึงอยู่ปราศจากได้เพียง ๖ คืน เป็นอย่างมาก
       -บทว่า เว้นไว้แต่ได้สมมติ คือ ยกเว้นภิกษุผู้ได้รับสมมติ ถ้าเธออยู่ปราศยิ่งกว่านั้น เมื่ออรุณที่ ๗ ขึ้นมา จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ จำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
       ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้าอยู่ปราศแล้วเกิน ๖ คืน เป็นของจำจะสละ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ ข้าพเจ้าสละจีวรนี้แก่สงฆ์”
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ
       (พึงทราบทำนองเดียวกับการเสียสละแก่สงฆ์ เปลี่ยนเพียงสงฆ์เป็นท่านทั้งหลาย)

วิธีเสียสละแก่บุคคล
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าหาภิกษุรูปหนึ่ง... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน จีวรผืนนี้... ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน” ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
       ๑.จีวรเกิน ๖ คืน ภิกษุรู้ว่าเกิน อยู่ปราศ เว้นไว้แก่ภิกษุได้สมมติ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.จีวรเกิน ๖ คืน ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๓.จีวรเกิน ๖ คืน ภิกษุคิดว่ายังไม่เกิน... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๔.จีวรยังไม่ได้ถอน ยังไม่ได้สละ ภิกษุคิดว่าถอนแล้ว สละแล้ว...เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ทั้งสิ้น
       ๕.จีวรยังไม่หาย ยังไม่ฉิบหาย ยังไม่ถูกไฟไหม้ ยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุคิดว่า หายแล้ว ฉิบหายแล้ว ไฟไหม้แล้ว ถูกชิงไปแล้ว... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์ทั้งสิ้น
       ๖.จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุไม่ได้สละ บริโภค ต้องทุกกฎ
       ๗.จีวรยังไม่ถึง ๖ คืน ภิกษุคิดว่าเกิน... ต้องทุกกฎ
       ๘.จีวรยังไม่ถึง ๖ คืน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฎ
       ๙.จีวรยังไม่ถึง ๖ คืน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ถึง ๖ ราตรี บริโภค ไม่ต้องอาบัติ



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 กันยายน 2559 17:12:05
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๔๘) (ต่อ)

อนาบัติ
      ภิกษุอยู่ปราศ ๖ คืน ๑  อยู่ปราศไม่ถึง ๖ คืน ๑  ภิกษุอยู่ปราศ ๖ คืน แล้วกลับมายังคามสีมา อยู่แล้วหลีกไป ๑  ภิกษุถอนเสียภายใน ๖ คืน ๑  สละให้ไป ๑  จีวรหาย ๑  ฉิบหาย ๑  ถูกไฟไหม้ ๑  ถูกชิงเอาไป ๑  ภิกษุถือวิสาสะ ๑  ภิกษุได้สมมติ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๑/๓/๑๑๑๗-๑๑๒๑
       ๑.ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น แม้ในกาลก่อนก็อยู่ในป่าเหมือนกัน แต่ภิกษุเหล่านั้นอยู่จำพรรษาในเสนาสนะใกล้แดนบ้าน ด้วยสามารถแห่งปัจจัย(หาปัจจัย ๔ ได้สะดวก) เพราะเป็นผู้มีจีวรคร่ำคร่า เป็นผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว ปรึกษากันว่า บัดนี้พวกเราหมดกังวลแล้ว จักกระทำสมณธรรม จึงพากันอยู่ในเสนาสนะป่า
       ๒.ทรงอนุญาตให้เก็บไว้ในละแวกบ้านเพื่อสงวนจีวรไว้ เพราะธรรมดาว่า ปัจจัยทั้งหลายโดยชอบธรรมเป็นของหาได้ยาก, จริงอยู่ ภิกษุผู้มีความขัดเกลา ไม่อาจเพื่อจะขอจีวร แม้กะมารดา, แต่พระองค์ไม่ทรงห้ามการอยู่ป่า เพราะเป็นการสมควรแก่ภิกษุทั้งหลาย
       ๓.ลักษณะแห่งป่ากล่าวแล้วในปาราชิกอทินนาทาน, ส่วนที่แปลกกันมีดังนี้ ถ้าว่าวัดมีเครื่องล้อม พึงวัดระยะตั้งแต่เสาเรือนแห่งบ้านซึ่งมีเครื่องล้อม และจากสถานที่ควรล้อมแห่งบ้านที่ไม่ได้ล้อมไปจนถึงเครื่องล้อมวัด ถ้าเป็นวัดที่ไม่ได้ล้อม สถานที่ใดเป็นแห่งแรกของทั้งหมด จะเป็นเสนาสนะก็ดี โรงอาหารก็ดี สถานที่ประชุมประจำก็ดี ต้นโพธิ์ก็ดี เจดีย์ก็ดี ถ้าแม้มีอยู่ห่างไกลจากเสนาสนะ พึงวัดเอาที่นั้นให้เป็นเขตกำหนด
          ถ้าแม้นว่า มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ พวกภิกษุอยู่ที่วัดย่อมได้ยินเสียงของพวกชาวบ้าน แต่ไม่อาจจะไปทางตรงได้ เพราะมีภูเขาและแม่น้ำเป็นต้น กั้นอยู่ และทางใดเป็นทางตามปกติของบ้านนั้น ถ้าแม้นจะต้องโดยสารไปทางเรือ ก็พึงกำหนดเอาที่ห้าร้อยชั่วธนูจากบ้านโดยทางนั้น แต่ภิกษุใดปิดกั้นหนทางในที่นั้น เพื่อทำให้ใกล้บ้าน ภิกษุนี้พึงทราบว่าเป็นผู้ขโมยธุดงค์
       ๔.ในเสนาสนะป่า มีองค์สมบัติดังต่อไปนี้ ภิกษุเข้าจำพรรษาในวันเข้าพรรษาแรก ปวารณาในวันมหาปวารณา นี้เป็นองค์หนึ่ง, ถ้าภิกษุเข้าพรรษาในวันเข้าพรรษาหลังก็ดี มีพรรษาขาดก็ดี ย่อมไม่ได้เพื่อจะเก็บไว้, เป็นเดือน ๑๒ เท่านั้น นี้เป็นองค์ที่ ๒,  นอกจากเดือน ๑๒ ไป ย่อมไม่ได้เพื่อจะเก็บ เป็นเสนาสนะที่ประกอบด้วยประมาณอย่างต่ำ ๕๐๐ ชั่วธนูเท่านั้น นี้เป็นองค์ที่ ๓,  ในเสนาสนะที่มีขนาดหย่อนหรือมีขนาดเกินคาวุตไป ย่อมไม่ได้เพื่อจะเก็บไว้,  จริงอยู่ ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตแล้วอาจเพื่อกลับมาสู่วัดทันเวลาฉันในเสนาสนะใด เสนาสนะนั้นทรงประสงค์เอาในสิกขาบทนี้
       แต่ภิกษุผู้รับนิมนต์ไว้ไปสิ้นทางกึ่งโยชน์บ้าง โยชน์หนึ่งบ้าง แล้วกลับมาเพื่อจะอยู่ ที่นี้ไม่ใช่ประมาณ, เป็นเสนาสนะมีความรังเกียจ และมีภัยเฉพาะหน้าเท่านั้น นี้เป็นองค์ที่ ๔, จริงอยู่ ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะไม่มีความรังเกียจ ไม่มีภัยเฉพาะหน้า แม้จะประกอบด้วยองค์ก็ไม่ได้เพื่อจะเก็บไว้
       -เว้นไว้แต่โกสัมพิกสมบัติที่ทรงอนุญาตไว้ในอุทโทสติสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๒ แห่งจีวรวรรค) ก็ถ้าว่ามีภิกษุได้สมมตินั้นไซร้ จะอยู่ปราศจากเกิน ๖ ราตรีไปก็ได้
       -ถ้ามีเสนาสนะอยู่ทางทิศตะวันออกจากโคจรคาม และภิกษุนี้จะไปยังทิศตะวันตก เธอไม่อาจจะมายังเสนาสนะให้ทันอรุณที่ ๗ ขึ้น จึงแวะลงสู่ตามสีมา พักอยู่ในสภา หรือในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง (ที่ไม่ใช่ป่า) ทราบข่าวคราวแห่งจีวรแล้วจึงหลีกไป ควรอยู่
       -ภิกษุผู้ไม่อาจกลับไปทัน พึงยืนอยู่ในที่ที่ตนไปแล้วนั้นนั่น แล้วปัจจุทธรณ์ (ถอน) เสีย  จีวรจักตั้งอยู่ในฐานแห่งอดิเรกจีวร ฉะนี้แล
       ๕.สิกขาบทนี้มีกฐินเป็นสมุฏฐาน เกิดขึ้นทางกายกับวาจา ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นอกิริยา อจิตตกะ ปัณณัติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓
       ๖.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
          จำพรรษา – อยู่ประจำสามเดือนในฤดูฝน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (อย่างนี้เรียกปุริมพรรษา แปลว่า พรรษาต้น)  หรือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (อย่างนี้เรียกว่า ปัจฉิมพรรษา แปลว่า พรรษาหลัง), วันเข้าพรรษาต้น คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่า ปุริมิกา วัสสูปนายิกา, วันเข้าพรรษาหลัง คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ เรียกว่า ปัจฉิมิกา วัสสูปนายิกา,  อานิสงส์การจำพรรษา มี ๕ อย่าง คือ ๑.เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา  ๒.จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ  ๓.ฉันฉคโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้  ๔.เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปวารณา  ๕.จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ,  อานิสงส์ทั้ง ๕ นี้ ได้ชั่วเวลาเดือนหนึ่ง นับแต่ออกพรรษาแล้ว คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒    



(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS19RdP-d7QwXMir38U3_QcYrzcfBOlbSJwwN_oeTtRDdrgkZRLlQ)
อิธ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ   กตปุญฺโญ อุภยตฺถ นนฺทติ
ปุญฺญํ เม กตนฺติ นนิทติ   ภิยฺโย นนฺทติ สุคตึ คโต ฯ ๑๘ ฯ  
คนทำดีย่อมสุขใจในโลกนี้ คนทำดีย่อมสุขใจในโลกหน้า
คนทำดีย่อมสุขใจในโลกทั้งสอง เมื่อคิดว่าตนได้ทำแต่บุญกุศล ย่อมสุขใจ
ตายไปเกิดในสุคติ ยิ่งสุขใจยิ่งขึ้น

Here he is happy, hereafter he is happy,
In both worlds the well-doer is happy;
Thinking; 'Good have I done', thus he is happy,
When gone to the state of bliss.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 พฤศจิกายน 2559 16:05:24


นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๔๙)
ภิกษุรู้อยู่ และน้อมลาภที่เขาจะถวายสงฆ์มาเพื่อตน
ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

      ครั้งนั้น ชาวบ้านหมู่หนึ่งในกรุงสาวัตถี จัดภัตตาหารพร้อมทั้งจีวรไว้ถวายสงฆ์ ตั้งใจว่าจักให้ฉันแล้วให้ครองจีวร ขณะนั้นพระฉัพพัคคีย์เข้าไปหาชาวบ้านหมู่นั้น กล่าวว่า ขอพวกท่านจงให้จีวรเหล่านี้แก่พวกอาตมา ชาวบ้านชี้แจงว่าถวายไม่ได้ เพราะเราจักถวายแก่สงฆ์ทุกปี แต่พระฉัพพัคคีย์ไม่ลดละ กล่าวว่าดูก่อนท่านทั้งหลาย ทายกของสงฆ์มีมาก ภัตตาหารของสงฆ์มีมาก พวกอาตมาอาศัยพวกท่าน เห็นอยู่แต่พวกท่าน จึงอยู่ในที่นี้ ถ้าท่านไม่ให้ ใครเล่าจักให้แก่พวกอาตมา
       ชาวบ้านหมู่นั้นถูกพระฉัพพัคคีย์แค่นได้ จึงได้ถวายจีวรไป แล้วอังคาสพระสงฆ์เฉพาะภัตตาหาร บรรดาภิกษุที่ทราบว่าเขาจัดภัตตาหารพร้อมทั้งจีวรไว้ถวายสงฆ์ทุกปี ได้ถามชาวบ้านหมู่นั้นๆ เรียนให้สงฆ์ทราบแล้ว
       ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเพ่งโทษติเตียนพระฉัพพัคคีย์ว่า ไฉนรู้อยู่ จึงได้น้อมลาภที่เขาน้อมไว้เป็นของจะถวายสงฆ์มาเพื่อตนเล่า แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
       “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไว้เป็นของจะถวายสงฆ์มาเพื่อตน เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
       -ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือคนอื่นบอกให้รู้ หรือเจ้าตัวบอก (ผู้จะถวายบอก)
       -ที่ชื่อว่า เป็นของจะถวายสงฆ์ ได้แก่ ของที่ถวายแล้ว บริจาคแล้ว แก่สงฆ์
       -ที่ชื่อว่า ลาภ ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยของภิกษุไข้, โดยที่สุดแม้ก้อนจุรณ ไม้ชำระฟัน ด้ายชายผ้า
       -ที่ชื่อว่า ที่เขาน้อมไว้ คือ เขาได้เปล่งวาจาว่า จักถวาย จักกระทำ ภิกษุน้อมมาเพื่อตนเป็นทุกกฎ ในขณะที่น้อมได้มาเป็นนิสสัคคีย์ จำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหางสงฆ์... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า ลาภนี้เขาน้อมไปเป็นของถวายสงฆ์ ข้าพเจ้ารู้อยู่ น้อมมาเพื่อตน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละลาภนี้แก่สงฆ์”
       ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ลาภนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ลาภนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ
       (พึงทราบทำนองเดียวกับการเสียสละแก่สงฆ์)

วิธีเสียสละแก่บุคคล
       ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ลาภนี้... ข้าพเจ้าสละลาภนี้แก่ท่าน”  ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้ลาภนี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
       ๑.ลาภที่เขาน้อมไว้ ภิกษุรู้ว่าเขาน้อมไว้ น้อมมาเพื่อตน เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
       ๒.ลาภที่เขาน้อมไว้ ภิกษุสงสัย น้อมมาเพื่อตน ต้องทุกกฎ
       ๓.ลาภที่เขาน้อมไว้ ภิกษุคิดว่าเขาไม่ได้น้อมไว้ น้อมมาเพื่อตน ไม่ต้องอาบัติ
       ๔.ลาภที่เขาน้อมไว้เพื่อสงฆ์ ภิกษุน้อมมาเพื่อสงฆ์หมู่อื่นก็ดี เพื่อเจดีย์ก็ดี ต้องทุกกฎ
       ๕.ลาภที่เขาน้อมไว้เพื่อเจดีย์ ภิกษุน้อมมาเพื่อเจดีย์อื่นก็ดี เพื่อสงฆ์ก็ดี เพื่อคณะก็ดี เพื่อบุคคลก็ดี ต้องทุกกฎ
       ๖.ลาภที่เขาน้อมไว้เพื่อบุคคล ภิกษุน้อมมาเพื่อบุคคลอื่นก็ดี เพื่อสงฆ์ก็ดี เพื่อคณะก็ดี เพื่อเจดีย์ก็ดี ต้องทุกกฎ
       ๗.ลาภที่เขาไม่ได้น้อมไว้ ภิกษุคิดว่าเขาน้อมไว้ น้อมมาเพื่อตน ต้องทุกกฎ
       ๘.ลาภที่เขาไม่ได้น้อมไว้ ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฎ
       ๙.ลาภที่เขาไม่ได้น้อมไว้ ภิกษุรู้ว่าเขาไม่ได้น้อมไว้ น้อมมาเพื่อตน ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุอันพวกทายกถามว่า จะถวายที่ไหน ดังนี้ จึงบอกแนะนำว่า โดยธรรมของพวกท่าน พึงได้รับการใช้สอย ได้รับการปฏิสังขรณ์ หรือพึงตั้งอยู่ได้นานในที่ใด ก็หรือจิตของพวกท่านเลื่อมใสในภิกษุรูปใด ก็จงถวายในที่นั้น หรือภิกษุรูปนั้นเถิด ดังนี้ ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๑๑๒๙-๑๑๓๓
       ๑.ลาภนั้นแม้ยังไม่ถึงมือสงฆ์ ก็จัดเป็นของสงฆ์โดยปริยายหนึ่ง เพราะเขาน้อมไปเพื่อสงฆ์แล้ว
       ๒.เป็นทุกกฎทุกประโยคที่น้อมลาภที่เขาน้อมไปเพื่อสงฆ์มาเพื่อตน เมื่อได้มาเป็นนิสสัคคีย์ ก็ภิกษุใดพลอยกิน (ของที่เขาถวายสงฆ์แล้วน้อมมาเพื่อตน) กับพวกคนวัด สงฆ์พึงให้ตีราคาภัณฑะนั้น ปรับอาบัติแก่ภิกษุนั้น, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์เมื่อน้อมลาภที่เขาน้อมไปแล้ว เพื่อสหธรรมิกก็ดี ของพวกคฤหัสถ์ก็ดี โดยที่สุดแม้ของมารดา มาเพื่อตนว่า ท่านจงให้สิ่งนี้แก่เรา แล้วถือเอา, เป็นปาจิตตีย์ล้วนๆ เมื่อน้อมไปเพื่อคนอื่นอย่างนี้ว่า ท่านจงให้แก่ภิกษุนี้, ภิกษุน้อมบาตรใบหนึ่งหรือจีวรผืนหนึ่งมาเพื่อตน น้อมไปเพื่อคนอื่นใบหนึ่งหรือผืนหนึ่ง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ทั้งสุทธิกปาจิตตีย์ (ปาจิตตีย์ล้วนๆ)
          -ถ้าแม้นภิกษุอาพาธรู้ว่า เขาน้อมไปเพื่อถวายสงฆ์แล้ว ยังขออะไรๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์เหมือนกัน, ก็ถ้าภิกษุอาพาธนั้นถามว่า เนยใสเป็นต้น ของพวกท่านที่นำมามีอยู่หรือ? เมื่อพวกเขาตอบว่ามีอยู่ ขอรับ  แล้วกล่าวว่า พวกท่านจงให้แก่เราบ้าง ดังนี้สมควร, ถ้าแม้นพวกอุบาสกรังเกียจภิกษุอาพาธนั้น พูดว่า แม้สงฆ์ย่อมได้เนยใสเป็นต้น ที่พวกเราถวายนี้แหละ นิมนต์ท่านรับเถิดขอรับ แม้อย่างนี้ก็ควร
       ๓.แม้จะบูชาด้วยดอกไม้ที่เจดีย์อื่น จากต้นไม้ดอกที่เขากำหนดปลูกไว้เพื่อประโยชน์แก่เจดีย์อื่น ก็ไม่ควร, แต่เห็นฉัตรหรือธงแผ่นผ้าที่เขาบูชาไว้แก่เจดีย์หนึ่ง แล้วให้ถวายของที่เหลือแก่เจดีย์อื่นสมควรอยู่
          -ชั้นที่สุด แม้อาหารที่เขาน้อมไปเพื่อสุนัข ภิกษุน้อมไปเพื่อตัวอื่นอย่างนี้ว่า ท่านอย่าให้แก่สุนัขตัวนี้ ดังนี้ก็เป็นทุกกฎ, แต่ถ้าพวกทายกกล่าวว่า พวกเราอยากจะถวายภัตแก่สงฆ์ อยากจะบูชาพระเจดีย์ อยากจะถวายบริขารแก่ภิกษุรูปหนึ่ง จักถวายตามความพอใจของพวกท่าน ขอท่านได้โปรดบอกว่า พวกเราจะถวายในที่ไหน? เมื่อพวกทายกกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นพึงบอกพวกเขาว่า พวกท่านจงถวายในที่ซึ่งพวกท่านปรารถนา แต่ถ้าพวกทายกถามอีกว่า พวกข้าพเจ้าจะถวาย ณ ที่ไหน ภิกษุพึงกล่าวตามนัยที่กล่าวแล้วในอาบัตินั่นแล
       ๔.สิกขาบทนี้มี ๓ สมุฏฐาน เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา สจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต โทสมูลจิต)


คำเสียสละของเป็นนิสสัคคีย์
จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๑
คำเสียสละแก่สงฆ์ (จีวรผืนเดียว, อยู่ในหัตถบาส)

      “อิทํ เม ภนฺเต จีวรํ ทสาหาติกฺกนฺตํ นิสฺสคฺคิยํ; อิมาหํ สํฆสฺส นิสฺสชฺชามิ” (วิ.มหา.๒/๔๖๓/๓)
       แปลว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้าล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์

คำคืนจีวรที่เสียสละแก่สงฆ์
       “สุณาตุ เม ภนฺเต สํโฆ, อิทํ จีวรํ อิตฺถนฺนามสฺส ภิกฺขุโน นิสฺสคฺคิยํ สํฆสฺส สิสฺสฏฺฐํ; ยทิ สํฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สํโฆ อิมํ จีวรํ อิตฺถนฺนามสฺส ภิกฺขุโน ทเทยฺย”
       แปลว่า “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

คำเสียสละแก่สงฆ์ (จีวร ๒ ผืน หรือมากผืน)
       “อิมานิ เม ภนฺเต จีวรานิ ทสาหาติกฺกนฺตานิ นิสฺสคฺคิยานิ; อิมานาหํ สํฆสฺส นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรของกระผมเหล่านี้ ล่วง ๑๐ วัน เป็นนิสสัคคย์, กระผมเสียสละจีวรเหล่านี้แก่สงฆ์”

คำเสียสละแก่คณะ
       “อิทํ เม ภนฺเต จีวรํ ทสาหาติกฺกนตํ นิสฺสคฺคิยํ; อิมาหํ อายสฺมนฺตานํ นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรของกระผมเหล่านี้ ล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย”

คำคืนจีวรที่เสียสละแก่คณะ
       “สุณนฺตุ เม อายสฺมนฺตา, อิทํ จีวรํ อิตฺถนฺนามสฺส ภิกฺขุโน นิสฺสคฺคิยํ อายสฺมนฺตานํ นิสฺสฏฺฐํ; ยทายสฺ มนฺตานํ ปตฺตกลฺลํ, อายสฺมนฺตา อิมํ จีวรํ อิตฺถนฺนามสฺส ภิกฺขุโน ทเทยฺยุํ”
       แปลว่า “ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม อาวุโส จีวรํ ทสาหาติกฺกนฺตํ นิสฺสคฺคิยํ; อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้าล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”

คำคืนจีวรที่เสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ จีวรํ อายสฺมโต ทมฺมิ”
       แปลว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน”


ตั้งแต่ จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๒ เป็นต้นไป จะตัดคำเสียสละแก่บุคคลมาลงเท่านั้น
ถ้าต้องการดูคำเสียสละแก่สงฆ์ หรือแก่คณะ พึงดูได้จากที่มาดังกล่าวแล้ว



จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๒
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต (อาวุโส) จีวรํ (ทฺวิจีวรํ, ติจีวรํ) รตฺติวิปฺปวุตฺถํ อญฺญตฺร ภิกฺขุสมฺมติยา นิสฺสคฺคิยํ; อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “จีวรผืนนี้ (๒ ผืนนี้, ๓ ผืนนี้) ของข้าพเจ้า อยู่ปราศแล้วล่วงราตรี เป็นของจำจะสละ เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”



จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๓
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต (อาวุโส) อกาลจีวรํ มาสาติกฺกนฺตํ นิสฺสคฺคิยํ อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “อกาลจีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ล่วงเดือนหนึ่ง เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละอกาลจีวรผืนนี้แก่ท่าน”



จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๖
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต (อาวุโส) จีวรํ อญฺญาตกํ คหปติกํ อญฺญตฺร สมยา วิญฺญาปิตํ นิสฺสคฺคิยํ; อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอแล้วต่อพ่อเจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติ นอกจากสมัย เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน



จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๗
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต (อาวุโส) จีวรํ อญฺญาตกํ คหปติกํ อุปสงฺกมิตฺวา ตตุตฺตรึ วิญฺญาปิตํ นิสฺสคฺคิยํ; อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอแล้วเกินกำหนดต่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”



จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๘
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต (อาวุโส) จีวรํ ปุพฺเพ อปฺปาวาริโต อญฺญาตกํ คหปติกํ อุปสงฺกมิตฺวา จีวเร วิกปฺปํ อาปนฺนํ นิสฺสคฺคิยํ; อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ข้าพเจ้าเข้าไปหาเจ้าเรือน ผู้มิใช่ญาติ ถึงการกำหนดในจีวร เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”



จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๙
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต (อาวุโส) จีวรํ ปุพฺเพ อปฺปวาริโต อญฺญาตเก คหปติกํ อุปสงฺกมิตฺวา จีวเร วิกปฺปํ อาปนฺนํ นิสฺสคฺคิยํ; อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ข้าพเจ้าเข้าไปหาเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติทั้งหลาย ถึงการกำหนดในจีวร เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”



จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต (อาวุโส) จีวรํ อติเรกติกฺขตฺตุํ, โจทนาย, อติเรกฉกฺขตฺตุํ อภินิปฺผาทิตํ นิสฺสคฺคิยํ; อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ให้สำเร็จด้วยทวงเกิน ๓ ครั้ง ด้วยยืนเกิน ๖ ครั้ง เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”



โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘
คำเสียสละแก่สงฆ์
       “อิทํ ภนฺเต รูปิยํ ปฏิคฺคเหสึ, อิทํ เม นิสฺสคฺคิยํ; อิมาหํ สํฆสฺส นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้ารับรูปิยะไว้แล้ว ของนี้ของข้าพเจ้า เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละรูปิยะนี้แก่สงฆ์”
       ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ ถ้าคนผู้ทำการวัดหรืออุบาสกเดินมาในสถานที่เสียสละนั้น พึงบอกเขาว่า “ท่านจงรู้ของสิ่งนี้” ถ้าเขาถามว่า “จะให้ผมนำของสิ่งนี้ไปหาอะไรมา” อย่าบอกว่า “จงนำของสิ่งนี้หรือของสิ่งนี้มา” ควรบอกแต่ของที่เป็นกัปปิยะ เช่น เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย ถ้าเขานำรูปิยะนั้นไปแลกของที่เป็นกัปปิยะมาถวาย เว้นแต่ภิกษุผู้รับรูปิยะ ภิกษุนอกนั้นฉันได้ทุกรูป ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ พึงบอกเขาว่า “โปรดช่วยทิ้งของนี้” ถ้าเขาทิ้ง นั่นเป็นการดี ถ้าเขาไม่ทิ้งให้ พึงสมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ

คำสมมติภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ (ญัตติทุติยกรรมวาจา)
       “สุณาตุ เม ภนฺเต สํโฆ, ยทิ สํฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สํโฆ อิตฺถนฺนามํ ภิกขฺํ รูปิยฉฑฺฑกํ สมฺมนฺเนยฺย; เอสา ญตฺติ, สุณาตุ เม ภนฺเต สํโฆ อิตฺถนฺนามํ ภิกฺขุํ รูปิยฉฑฺฑกํ สมฺมนฺนติ; ยสฺสายสมฺโต ขมติ อิตฺถฺนนามฺสส ภิกฺขุโน รูปิยฉฑฺฑกสฺส สมฺมติ, โส ตุณฺหสฺส; ยสฺส นกฺขมติ, โสภาเสยฺย สมฺมโต สํเฆยน อิตฺถนฺนาโม ภิกฺขุ รูปิยฉฑฺฑโก ขมติ สํฆสฺส; ตสฺมา ตุณฺหี เอวเมตํ ธารยามิ”
       “ท่านเจ้าข้า ของสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ นี่เป็นญัตติ”
       “ท่านเจ้าข้า ของสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ภิกษุมีชื่อนี้ ขอสงฆ์สมมติให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้”



โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๙
คำเสียสละของที่ซื้อขายด้วยรูปิยะแก่สงฆ์
       “อหํ ภนฺเต นานปฺปาการกํ รูปิยสํโวหารํ, อิทํ เม นิสฺสคฺคิยํ; อิมาหํ สํฆสฺส นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ ของสิ่งนี้ของข้าพเจ้า เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่สงฆ์

โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
คำเสียสละของที่แลกเปลี่ยนกับบุคคล
       “อหํ ภนฺเต (อาวุโส) นานปฺปการกํ กยวิกฺกยํ สมาปชฺชึ, อิทํ เม นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่าน ข้าพเจ้าได้ถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ ของสิ่งนี้ของข้าพเจ้า เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่ท่าน”



ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อยํ เม อาวุโส ปตฺโต ทสาหาติกฺกนฺโต นิสฺสคฺคิโย, อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า ท่านเจ้าข้า บาตรใบนี้ของข้าพเจ้า ล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละบาตรใบนี้แก่ท่าน”



ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๒
คำเสียสละแก่สงฆ์
       “อยํ เม ภนฺเต ปตฺโต อูนปญฺจพนฺธเนน ปตฺเตน เจตาปิโต นิสฺสคฺคิโย, อิมาหํ สํฆสฺส นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่านเจ้าข้า บาตรใบนี้ของข้าพเจ้า เป็นบาตรมีแผลหย่อนห้า ให้จ่ายมาแล้ว เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละบาตรใบนี้แก่สงฆ์”
ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ จากนั้นสงฆ์พึงสมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร

คำสมมติภิกษุผู้เปลี่ยนบาตร
       “สุณาตุ เม ภนฺเต สํโฆ, ยทิ สํฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สํโฆ อิตฺถนฺนามํ ภิกฺขุํ ปุตฺตคฺคาหาปกํ สมฺมนฺเนยฺย; เอสา ญตฺติ
       สุณาตุ เม ภนฺเต สํโฆ, สํโฆ อิตฺถนฺนามํ ภิกฺขุํ ปตฺตคฺคาหาปกํ สมฺมนฺนติ; ยสฺสายสฺมโต ขมติ อิตฺถนฺนามสฺส ภิกฺขุโน ปตฺตคฺคาหาปกสฺส สมฺมติ, โส ตุณฺหสฺส; ยสฺส นกฺขมติ, โส ภาเสยฺย
       สมฺมโต สํเฆน อิตฺถนฺนาโม ภิกฺขุ ปตฺตคฺคาหาปโก; ขมติ สํฆสฺส; ตสฺมา ตุณฺหี เอวเมตํ ธารยามิ”
       แปลว่า “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร นี้เป็นญัตติ
       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตร ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
       “ภิกษุมีชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นผู้เปลี่ยนบาตรแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้อย่างนี้”



ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต เภสชฺชํ สตฺตาหาติกฺกนฺตํ นิสฺสคฺคิยํ; อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่านเจ้าข้า เภสัชนี้ของข้าพเจ้าล่วง ๗ วัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละเภสัชนี้แก่ท่าน”

คำคืนเภสัชที่เสียสละแก่บุคคล
       “อิมํ เภสชฺชํ อายสฺมโต ทมฺมิ”
       แปลว่า “ข้าพเจ้าให้เภสัชนี้แก่ท่าน”



ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๔
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต (อาวุโส) วสฺสิกสาฏิกจีวรํ  อติเรกมาเส เสเส คิมฺหาเน ปริยิฏฺฐํ อติเรกฑฺฒมาเส เสเส คิมฺหาเน กตฺวา นิวตฺถํ นิสฺสคฺคิยํ: อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่าน จีวรคือผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้ของข้าพเจ้า แสวงหาได้มาในฤดูร้อน ซึ่งยังเหลืออยู่เกินกว่า ๑ เดือน ทำนุ่งในฤดูร้อนซึ่งยังเหลืออยู่เกินกว่ากึ่งเดือน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวร คือผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้แก่ท่าน”



ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๕
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต (อาวุโส) จีวรํ ภิกฺขุสฺส สามํ ทตฺวา อจฺฉินฺนํ นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ให้แก่ภิกษุเองแล้วชิงเอามา เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”



ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๖
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต (อาวุโส) จีวรํ สามํ สุตฺตํ วิญฺญาเปตฺวา ตนฺตวาเยหิ วายาปิตํ นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอด้ายมาเอง แล้วยังช่างหูกให้ทอ เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน



ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๗
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต (อาวุโส) จีวรํ ปุพฺเพ อปฺปวาริโต อญฺญาตกสฺส คหปติกสฺส ตนฺตวาเย อุปสงฺกมิตฺวา จีวเร วิกปฺปํ อาปนฺนํ นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ข้าพเจ้าเข้าไปหาช่างหูกของเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ แล้วถึงความกำหนดในจีวร เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”



ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๘
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต (อาวุโส) อจฺเจกจีวรํ จีวรกาลสมยํ อติกฺกามิตํ นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ อายสฺมชโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่านเจ้าข้า ผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า เก็บไว้ล่วงเลยสมัยจีวรกาล เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละผ้าอัจเจกจีวรผืนนี้แก่ท่าน”



ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๙
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต (อาวุโส) จีวรํ อติกเรกฉารตฺตํ วิปฺปวุตฺถํ อญฺญตฺร ภิกฺขุสมฺมติยา นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า อยู่ปราศเกิน ๖ คืน เป็นของจำจะสละ เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน



ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
คำเสียสละแก่บุคคล
       “อิทํ เม ภนฺเต (อาวุโส) ชานํ สํฆิกํ ลาภํ ปริณตํ อตฺตโน ปริณามิตํ นิสฺสคฺคิยํ, อิมาหํ อายสฺมโต นิสฺสชฺชามิ”
       แปลว่า “ท่าน ลาภนี้เขาน้อมไปเป็นของจะถวายสงฆ์ ข้าพเจ้ารู้อยู่ น้อมมาเพื่อตน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละลาภนี้แก่ท่าน”




คำพินทุ
“อิมํ พินฺทุกปฺปํ กโรมิ”
แปลว่า เราทำหมายด้วยจุดนี้



คำอธิษฐาน
ผ้าสังฆาฏิว่า “อิมํ สงฺฆาฏิ อธิฏฺฐามิ”
แปลว่า เราอธิษฐานผ้าสังฆาฏินี้
ผ้าอุตราสงค์ว่า “อิมํ อุตฺตราสงฺคํ อธิฏฺฐามิ”
แปลว่า เราอธิษฐานผ้าอุตราสงค์นี้
ผ้าอันตรวาสกว่า “อิมํ อนฺตรวาสกํ อธิฏฺฐามิ”
แปลว่า เราอธิษฐานผ้าอันตรวาสกนี้
ผ้านิสีทนะว่า “อิมํ นิสีทนํ อธิฏฺฐามิ”
แปลว่า เราอธิษฐานผ้านิสีทนะนี้
ผ้าปิดฝีว่า “อิมํ กณฺฑุปฏิจฺฉาทึ อธิฏฺฐามิ”
แปลว่า เราอธิษฐานผ้าปิดฝีนี้
ผ้าอาบน้ำฝนว่า “อิมํ วสฺสิกาสาฏิกํ อธิฏฺฐามิ”
แปลว่า เราอธิษฐานผ้าอาบน้ำฝนนี้
ผ้าเช็ดหน้าเช็ดปากว่า “อิมํ มุขปุญฺฉนโจลํ อธิฏฺฐามิ”
แปลว่า เราอธิษฐานผ้าเช็ดหน้าเช็ดปากนี้
ผ้าปูนอนว่า “อิมํ ปจฺจตฺถรณํ อธิฏฺฐามิ”
แปลว่า เราอธิษฐานผ้าปูนอนนี้
ผ้าบริขารโจลว่า “อิมํ ปริขาลโจลํ อธิฏฺฐามิ”
แปลว่า เราอธิษฐานผ้าบริขารโจลนี้
บาตรว่า “อิมํ ปตฺตํ อธิฏฺฐามิ”
แปลว่า เราอธิษฐานบาตรนี้


คำถอนอธิษฐาน
ผ้าสังฆาฏิว่า “อิมํ (เอตํ) สงฺฆาฏิ ปจฺจุทฺธรามิ”
แปลว่า เรายกเลิกผ้าสังฆาฏิผืนนี้ (นั้น)
ผ้าอุตราสงค์ว่า “อิมํ อุตฺตราสงฺคํ ปจฺจุทฺธรามิ”
แปลว่า เรายกเลิกผ้าอุตราสงค์ผืนนี้
ผ้าอันตรวาสกว่า “อิมํ อนฺตรวาสกํ ปจฺจุทฺธรามิ”
แปลว่า เรายกเลิกผ้าอันตรวาสกผืนนี้
ผ้านิสีทนะว่า “อิมํ นิสีทนํ ปจฺจุทฺธรามิ”
แปลว่า เรายกเลิกผ้านิสีทนะผืนนี้
ผ้าปิดฝีว่า “อิมํ กณฺฑุปฏิจฺฉาทึ ปจฺจุทฺธรามิ”
แปลว่า เยกเลิกผ้าปิดฝีผืนนี้
ผ้าอาบน้ำฝนว่า “อิมํ วสฺสิกาสาฏิกํ ปจฺจุทฺธรามิ”
แปลว่า เรายกเลิกผ้าอาบน้ำฝนผืนนี้
ผ้าเช็ดหน้าเช็ดปากว่า “อิมํ มุขปุญฺฉนโจลํ ปจฺจุทฺธรามิ”
แปลว่า เรายกเลิกเช็ดหน้าเช็ดปากผืนนี้
ผ้าปูนอนว่า “อิมํ ปจฺจตฺถรณํ ปจฺจุทฺธรามิ”
แปลว่า เรายกเลิกผ้าปูนอนผืนนี้
ผ้าบริขารโจลว่า “อิมํ ปริขาลโจลํ ปจฺจุทฺธรามิ”
แปลว่า เรายกเลิกผ้าบริขารผืนนี้


วิธีแสดงอาบัติ
๑.พระนวกะ : อหํ ภนฺเต สพฺพา อาปตฺติโย อาวิกโรมิ.
   พระเถระ  : สาธุ สาธุ.
   พระนวกะ : อหํ ภนฺเต สมฺพหุลา นานาวตฺถุกา สพฺพา อาปตฺติโย อาปชฺชึ, ตา ตุมฺหมูเล ปฏิเทเสมิ
   พระเถระ  : ปสฺสสิ อาวุโส ตา อาปตฺติโย.
   พระนวกะ : อาม ภนฺเต ปสฺสามิ.
   พระเถระ  : อายตึ อาวุโส สํวเรยฺยาสิ.
   พระนวกะ : สาธุ, สุฏฺฐุ ภนฺเต สํวริสฺสามิ.
   พระเถระ  : สาธุ สาธุ

๒.พระเถระ  : อหํ อาวุโส สพฺพา อาปตฺติโย อาวิกโรมิ.
   พระนวกะ : สาธุ สาธุ.
   พระเถระ  : อหํ อาวุโส สมฺพหุลา นานาวตฺถุกา สพฺพา อาปตฺติโย อาปชฺชึ, ตา ตุยฺหมูเล ปฏิเทเสมิ.
   พระนวกะ : ปสฺสถ ภนฺเต ตา อาปตฺติโย.
   พระเถระ  : อาม อาวุโส ปสฺสามิ.
   พระนวกะ : อายตึ ภนฺเต สํวเรยฺยาถ.
   พระเถระ  : สาธุ, สุฏฺฐุ อาวุโส สํวริสฺสามิ.
   พระนวกะ : สาธุ ภนฺเต สาธุ.

๓.พระนวกะ : อหํ ภนฺเต สมฺพหุลา นานาวตฺถุกา สพฺพา อาปตฺติโย อาปชฺชึ, ตา ตุมหมูเล ปฏิเทเสมิ.
   พระเถระ  : ปสฺสสิ อาวุโส ตา อาปตฺติโย.
   พระนวกะ : อาม ภนฺเต ปสฺสามิ.
   พระเถระ  : อายตึ อาวุโส สํวเรยฺยาสิ.
   พระนวกะ : สาธุ, สุฏฺฐุ ภนฺเต สํวริสฺสามิ.
   พระเถระ  : สาธุ สาธุ (จากนานาวินิจฉัย/๒๒๖-๗)

*คำแสดงอาบัตินี้ เป็นคำกล่าวรวมๆ หากศึกษาสิกขาบทดีแล้ว อรรถกถากล่าวว่า ให้ระบุวัตถุ หรือระบุชื่ออาบัติ
หรือระบุทั้งวัตถุ ทั้งอาบัติ เช่น ระบุว่าล่วงละเมิดวัตถุ คือกล่าวเท็จ เป็นอาบัติปาจิตตีย์เป็นต้น ซึ่งจักเป็นปัจจัย
ให้ทรงจำพระวินัยและเกิดความสำรวมระวัง ไม่ล่วงสิกขาบทบ่อยๆ ด้วยละอายใจ ยามต้องแสดงแก่เพื่อนภิกษุ



(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSQsjV7B7hth6fSfn9jFtjLBpqq18ovVaFxaD2--zzcwksMyJrp9g)
พหุมฺปิ เจ สํหิตํ ภาสมาโน   น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต
โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ   น ภาควา สามญฺญสฺส โหติ ฯ ๑๙ * ฯ  
คนที่ท่องจำตำราได้มาก แต่มัวประมาทเสีย ไม่ทำตามคำสอน
ย่อมไม่ได้รับผลที่พึงได้จากการบวช เหมือนเด็กเลี้ยงโค นับโคให้คนอื่นเขา

Though much he recites the Sacred Texts,
But acts not accordingly, the heedless man
is like the cowherd who counts others'kine;
He has no share in religious life.

 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



ต่อไป
ปาจิตตีย์ ๙๒ สิกขาบท


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 มกราคม 2560 16:27:14

ปาจิตตีย์ ๙๒ สิกขาบท
ปาจิตตีย์ ๙๒ มี ๙ วรรค วรรคละ ๑๐ สิกขาบท ยกเว้น สหธรรมิกวรรค
มี ๑๒ สิกขาบท ว่าด้วย
มุสาวาทวรรคที่ ๑


มุสาวาทวรรคที่ ๑ ภูตคามวรรคที่ ๒ โอวาทวรรคที่ ๓
โภชนวรรคที่ ๔ อเจลกวรรคที่ ๕ สุราปานวรรคที่ ๖
สัปปาณวรรคที่ ๗ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ รตนวรรคที่ ๙
ปาจิตตีย์ แปลตามตัวอักษรว่า การละเมิดอันยังกุศลให้ตก,
เป็นชื่ออาบัติจำพวกหนึ่ง จัดไว้ในจำพวกอาบัติเบา เรียก ลหุกาบัติ พ้นได้ด้วยการแสดง


ปาจิตตีย์ มุสาวาทวรรควรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๕๐)
ภิกษุพูดปด ต้องปาจิตตีย์

พระหัตถกศากยบุตรเป็นคนพูดสับปลับ ท่านเจรจาอยู่กับพวกเดียรถีย์ กล่าวปฏิเสธแล้วรับ กล่าวรับแล้วปฏิเสธ เอาเรื่องอื่นกลบเกลื่อนเรื่องอื่น ท่านกล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้อยู่ พูดนัดหมายไว้แล้ว ทำให้คลาดเคลื่อน พวกเดียรถีย์พากันเพ่งโทษติเตียน... ภิกษุทั้งหลายสอบถาม พระหัตถกะตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าพวกเดียถีย์เหล่านี้ เราต้องเอาชนะด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เราไม่ควรให้ความชนะเกิดแก่พวกนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงเพ่งโทษติเตียน กราบทูลให้ทรงทราบ... พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียน แล้วบัญญัติว่า “เป็นปาจิตตีย์ในเพราะสัมปชานมุสาวาท”

อรรถาธิบาย
-ที่ชื่อว่า สัมปชานมุสาวาท ได้แก่ วาจา เสียงที่เปล่งถ้อยคำเป็นแนวทาง เจตนาที่ให้ผู้อื่นเข้าใจทางวาจาของบุคคลผู้จงใจจะพูดให้คลาดเคลื่อนจากความจริง ได้แก่ คำพูดของอนารยชน ๘ อย่าง คือ ไม่เห็น พูดว่าข้าพเจ้าเห็น ๑ ไม่ได้ยิน  พูดว่าข้าพเจ้าได้ยิน ๑ ไม่ทราบ พูดว่าข้าพเจ้าทราบ ๑ ไม่รู้ พูดว่าข้าพเจ้ารู้ ๑ เห็น พูดว่าข้าพเจ้าไม่เห็น ๑ ได้ยิน พูดว่าข้าพเจ้าไม่ได้ยิน ๑ ทราบ พูดว่าข้าพเจ้าไม่ทราบ ๑ รู้ พูดว่าข้าพเจ้าไม่รู้ ๑
-ที่ชื่อว่า ไม่เห็น คือ ไม่เห็นด้วยตา, ไม่ได้ยิน คือ คือ ไม่ได้ยินด้วยหู, ไม่ทราบ คือ ไม่ได้สูดดมด้วยจมูก ไม่ได้ลิ้มด้วยลิ้น ไม่ได้สัมผัสด้วยกาย, ไม่รู้ คือ ไม่รู้ด้วยใจ
-ที่ชื่อว่า เห็น คือ เห็นด้วยตา, ได้ยิน คือ ได้ยินด้วยหู, ทราบ คือ ได้สูดดมด้วยจมูก ได้ลิ้มด้วยลิ้น ได้สัมผัสด้วยกาย, รู้ คือ รู้ด้วยใจ

อาบัติ
๑.อาการของการกล่าวเท็จ ๓ เบื้องต้น เธอรู้ว่าจักกล่าวเท็จ ๑ กำลังกล่าวก็รู้ว่ากล่าวเท็จ ๑ ครั้นกล่าวแล้วก็รู้ว่ากล่าวเท็จแล้ว เป็นปาจิตตีย์
๒.อาการ ๔ เบื้องต้นรู้ว่า จักกล่าวเท็จ ๑ กำลังกล่าวรู้ว่ากล่าวเท็จ ๑ ครั้นกล่าวแล้วก็รู้ว่ากล่าวเท็จแล้ว ๑ อำพรางการกล่าวเท็จนั้น (ว่าไม่ได้พูดเป็นต้น) ๑ เป็นปาจิตตีย์
(อธิบาย...ภิกษุผู้กล่าวเท็จ ย่อมรู้ว่าในขณะที่กล่าวนั้น ตนเองมีความเห็นอยู่ในใจจริงๆ ว่าเรื่องเท็จ. มีความพอใจ ชอบใจ, สภาพความเป็นจริง (ที่เป็นความเท็จ), เมื่อใคร่จะกล่าวเท็จ ในกาลนั้นเขาต้องทิ้งหรือปิดบังความเห็น (ที่เป็นเรื่องเท็จ) นั้น และกล่าวทำให้เป็นเท็จ

อนาบัติ
๑.ภิกษุพูดพลั้ง ๑  พูดพลาด ๑ (ชื่อว่าพูดพลั้งเพราะพูดเร็วไป ชื่อว่าพูดพลาดเพราะตั้งใจจักพูดคำหนึ่ง แต่กลับพูดไปอีกคำหนึ่ง) วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนุตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๒/๒๐-๒๕
๑.คำว่า หตฺถโก เป็นชื่อของพระเถระนั้น ท่านเป็นบุตรของพวกเจ้าศากยะ ออกบวชในครั้งที่คนของศากยะตระกูลแปดหมื่นคนพากันออกบวช ท่านเป็นหนึ่งในแปดหมื่นคนนั้น
-ท่านนัดหมายพวกเดียรถีย์ว่า จักทำการโต้วาทะกัน ณ ที่โน้น ในเวลาก่อนภัตเป็นต้น แล้วท่านก็ไปก่อนนัดหมายบ้าง หลังนัดหมายบ้าง แล้วกล่าวว่า จงดูเอาเถิดผู้เจริญ เดียรถีย์ไม่มาแล้ว แพ้แล้ว ดังนี้แล้ว หลีกไปเสีย
๒.บทว่า สมฺปชานมุสาวาเท ได้แก่ ในเพราะการพูดเท็จทั้งที่รู้แล้วและกำลังรู้
บทว่า วิสํวาทนปุเรกฺขารสฺส ได้แก่ ผู้พูดทำจิตที่คิดว่าจะพูดให้คลาดเคลื่อนไว้เป็นเบื้องหน้า
-โวหาร (คำพูด) ของเหล่าชนผู้ไม่ใช่พระอริยเจ้า คือ เหล่าพาลปุถุชน ชื่อว่า อนริยโวหาร (อนารยชน)
๓.พูดพลั้ง คือ ภิกษุไม่ได้ไตร่ตรอง ไม่ได้ใคร่ครวญ พูดโดยเร็วถึงสิ่งที่ไม่เห็นว่า ข้าพเจ้าเห็น เป็นต้น
-พูดพลาด คือ เมื่อตนควรจะกล่าวคำว่า จีวรํ (จีวร) ไพล่ไปกล่าวว่า จีรํ (นาน) ดังนี้เป็นต้น เพราะความเป็นผู้อ่อนความคิด เพราะเป็นผู้เซอะ
-แต่ภิกษุใด ผู้อันสามเณรเรียนถามว่า “ท่านขอรับ เห็นอุปัชฌาย์ของกระผมบ้างไหม?” เธอกระทำการล้อเลียนสามเณร กล่าวว่า “อุปัชฌาย์ของเธอคงจักเทียมเกวียนบรรทุกฟืนไปแล้วกระมัง” หรือเมื่อสามเณรได้ยินเสียงสุนัขจิ้งจอกแล้วถามว่า “นี้เสียงอะไร ขอรับ?” ภิกษุกล่าวว่า “เสียงของคนผู้ช่วยกันยกล้อที่ติดหล่มของมารดาเธอ ผู้กำลังไปด้วยยาน” คำกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพราะพลั้ง ไม่ใช่เพราะพลาด ย่อมต้องอาบัติ
๔.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นสจิตตกะ, โลกวัชชะ,  กายกรรม วจีกรรม  อกุศลจิต (โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต)



ปาจิตตีย์ มุสาวาทวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๕๑)
ภิกษุด่าภิกษุอื่นด้วยวาจาหยาบคาย ต้องปาจิตตีย์

พระฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ใช้วาจากล่าวเสียดแทงพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก คือ ด่าว่า สบประมาท กระทบกำเนิดบ้าง ชื่อบ้าง วงศ์ตระกูลบ้าง การงานบ้าง ศิลปะบ้าง โรคบ้าง รูปพรรณบ้าง กิเลสบ้าง อาบัติบ้าง คำด่าที่ทรามบ้าง

บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย ต่างพากันติเตียน แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ... ทรงเล่าเรื่องโคนันทิวิสาลให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า โคนันทิวิสาลกล่าวกับพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าของว่า ท่านจงไปพนันกับเศรษฐีด้วยทรัพย์ ๑,๐๐๐ กษาปณ์ ว่า โคถึกของข้าพเจ้า ลากเกวียน ๑๐๐ เล่ม ที่ผูกเนื่องกันไปได้ พราหมณ์นั้นได้ทำตามที่โคบอกแล้ว เมื่อผูกเกวียนแล้วพราหมณ์ได้กล่าวว่า จงฉุดไป เจ้าโคโกง จงลากไปเจ้าโคโกง ครั้งนั้นโคถึกนันทิวิสาลได้ยืนอยู่ที่เดิม พราหมณ์นั้นแพ้พนันแล้ว

ต่อมาโคถึกนันทิวิสาลถามพราหมณ์ว่าเหตุใดจึงซบเซา  พราหมณ์ : ก็เพราะเจ้าทำให้เราต้องแพ้เสียพนันไป ๑,๐๐๐ กษาปณ์ ละซิ เจ้าตัวดี  โคนันทิวิสาลจึงบอกให้พราหมณ์ไปพนันใหม่ด้วยทรัพย์ ๒,๐๐๐ กษาปณ์ว่า โคถึกของเราจักลากเกวียน ๑๐๐ เล่ม ที่ผูกเนื่องกันไปได้ แต่ท่านอย่าเรียกข้าพเจ้าผู้ไม่โกง ด้วยถ้อยคำว่า “โกง”

พราหมณ์นั้นได้พนันกับเศรษฐีแล้ว พูดกับโคถึกว่า “เข็นฉุดไปเถิด พ่อรูปงาม เชิญลากไปเถิด พ่อรูปงาม” พราหมณ์ได้ชนะพนันแล้ว จากนั้นทรงตำหนิการกระทำของพระฉัพพัคคีย์ และบัญญัติว่า “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะโอมสวาท”

อรรถาธิบาย
-ที่ชื่อว่า โอมสวาท ได้แก่ คำพูดเสียดแทงให้เจ็บใจด้วยอาการ ๑๐ อย่าง คือ ชาติ ๑  ชื่อ ๑  โคตร ๑  การงาน ๑  ศิลปะ ๑  โรค ๑  รูปพรรณ ๑  กิเลส ๑  อาบัติ ๑  คำด่า ๑
-ด่าเรื่องชาติ เช่น คนชาติจัณฑาล, ชื่อ เช่น อวกณฺณกา (ชื่อของพวกทาส) หรือชื่อที่คนเขาเย้ยหยันอื่นๆ,  โคตร เช่น ตระกูลภารทวาชะ หรือวงศ์สกุลที่คนเขาเย้ยหยัน, การงาน เช่น กรรมกร, ศิลปะ เช่น วิชาการช่างหม้อ, โรค เช่น โรคเรื้อน, รูปพรรณ เช่น ดำ สูง ต่ำ,  กิเลส เช่น คนโลภ คนหลง.  อาบัติ เช่น สังฆาทิเสส,  คำด่า เช่น อูฐ แพะ โค ลา สัตว์นรก เหล่านี้เป็นคำด่าที่เลว, ส่วนคำด่าที่ดี เช่น คนชาติกษัตริย์,  พุทธะ ธัมมะ สังฆะ โคตมะโคตร, บัณฑิต นักปราชญ์ หรือคนฉลาด เป็นต้น

อาบัติ
๑.อุปสัมบัน (พระภิกษุ) ปรารถนาจะด่า ปรารถนาจะสบประมาท ปรารถนาจะทำให้อัปยศ แล้วพูดกับอุปสัมบัน (พระภิกษุ) นั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำพูด
๒.อุปสัมบันพูดเปรยแก่อุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฎทุกๆ คำพูด (เช่นพูดเปรยอ้อมๆ ว่า ภิกษุบางคนเป็นคนชาติจัณฑาล บางคนต้องอาบัติสังฆาทิเสส หรือพวกเราไม่ใช่คนดำเกินไป เป็นต้น)
๓.อุปสัมบันพูดล้ออุปสัมบัน ต้องอาบัติทุพภาสิตทุกๆ คำพูด (ไม่ปรารถนาจะด่า ไม่ปรารถนาจะสบประมาท ไม่ปรารถนาจะทำให้อัปยศ แต่มีความประสงค์จะล้อเล่น เช่น ท่านทำงานเหมือนพวกกรรมกรใช้แรงงานเลยนะ)
๔.อุปสัมบันปรารถนาจะด่า ปรารถนาจะสบประมาท ปรารถนาจะทำให้อัปยศ (ให้เจ็บใจอับอาย) แล้วพูดกับอนุปสัมบัน (ผู้ที่มิใช่ภิกษุ) ต้องอาบัติทุกกฎทุกๆ คำพูด
๕.อุปสัมบันพูดล้อแก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุพภาษิตทุกๆ คำพูด (เช่นพูดว่า ทานของท่านจะทำให้คนทั่วโลกอิ่ม เป็นต้น)

อนาบัติ
ภิกษุมุ่งอรรถ ๑  มุ่งธรรม ๑  มุ่งสั่งสอน ๑  วิกลจริต ๑  มีจิตฟุ้งซ่าน ๑  กระสับกระส่ายเพราะเวทนากล้า ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๒/๑๒๘-๑๓๑
๑.โคถึกนั้นมีเขายาวใหญ่ เพราะเหตุนั้นเจ้าของจึงตั้งชื่อว่า นันทิวิสาล, สมัยนั้นพระโพธิสัตว์เกิดเป็นโคถึกชื่อนันทิวิสาล พราหมณ์เลี้ยงดูอย่างดีเหลือเกินด้วยอาหาร มียาคูและข้าวสวยเป็นต้น โคถึกนั้นต้องการจะอนุเคราะห์พราหมณ์ จึงกล่าวคำว่า เชิญท่านไปเถิด ดังนี้เป็นต้น
-ทรงชี้ให้เห็นว่า แม้โคถึกซึ่งเกิดจากอเหตุกปฏิสนธิ ก็ย่อมไม่ชอบคำกล่าวเสียดแทงของผู้อื่น
-โคถึกนั้นได้ลากเกวียนไปตลอดชั่ว ๑๐๐ เล่มเกวียน เพื่อให้เกวียนเล่มหลังจอดในที่เกวียนเล่มหน้าจอดอยู่
-คำด่า ทรงจำแนกมีอยู่ ๒ คำ คือ คำด่าที่เลว ๑ คำด่าที่ดี ๑
๒.ภิกษุเมื่อกล่าวให้เลวด้วยถ้อยคำอันเลว ถึงจะกล่าวคำจริงก็ตาม ถึงอย่างนั้น เธอก็ต้องปาจิตตีย์ทุกๆ คำพูด เพราะเป็นผู้ประสงค์จะกล่าวเสียดแทง, และเมื่อกล่าวให้เป็นคนเลวด้วยคำที่ดี แม้จะกล่าวคำไม่จริงก็ตาม (เช่นเขาไม่ได้เป็นกษัตริย์ ด่าว่าเป็นกษัตริย์) ถึงอย่างนั้นก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ด้วยสิกขาบทนี้ เพราะเป็นผู้ประสงค์จะกล่าวเสียดสี ไม่ใช่ด้วยสิกขาบทก่อน (มุสาวาท)
ฝ่ายภิกษุใดกล่าวคำ (ที่จริง) เป็นต้นว่า เจ้าเป็นจัณฑาลก็ดี เจ้าเป็นพราหมณ์ดี เจ้าเป็นจัณฑาลชั่ว เจ้าเป็นพราหมณ์ชั่ว ดังนี้ แม้ภิกษุนี้พระวินัยธรก็พึงปรับด้วยอาบัตินี้เหมือนกัน (เพราะประสงค์กล่าวเสียดแทง)
๓.ในสิกขาบทนี้ เว้นภิกษุเสีย สัตว์อื่นทั้งหมดมีนางภิกษุณีเป็นต้น พึงทราบว่าตั้งอยู่ในฐานะอนุปสัมบัน
๔.ภิกษุผู้กล่าวอรรถ (เนื้อความ, ใจความ) พระบาลี ชื่อว่า อัตถปุเรกขาระ (ผู้มุ่งอรรถ), ผู้บอกสอนพระบาลีชื่อว่า ธัมมปุเรกขาระ (ผู้มุ่งธรรม), ผู้ตั้งอยู่ในการพร่ำสอนกล่าวโดยนัยเป็นต้นว่า ถึงบัดนี้ เจ้าเป็นคนจัณฑาล, เจ้าก็อย่าทำบาป อย่าได้เป็นคนมืดมามืดไปเป็นเบื้องหน้า ดังนี้ชื่อว่า อนุสาสนีปุเรกขาระ (ผู้มุ่งสอน)
๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)
-แต่ในอาบัติทุพภาสิตมีสมุฏฐานเดียว คือ เกิดทางวาจากับจิต, เป็นสจิตตกะ, อกุศลจิต (โลภมูลจิตและโมหมูลจิต)
๖.มุสาวาท และโอมสวาทสิกขาบท ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ แปลสิกขาบท “สมฺปชานมุสาวาเท ปาจิตฺติยํ” ว่า “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะสัมปชามุสาวาท” และ “โอมสวาเท ปาจิตฺติยํ” ว่า “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะโอมสวาท
การแปลทับศัพท์เช่นนี้เป็นการง่ายสำหรับบุคคลผู้แปล แต่ยากสำหรับผู้ศึกษาค้นคว้าในอันที่จะทำความเข้าใจ ควรแปลให้เข้าใจง่ายว่า ”เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะพูดเท็จทั้งที่รู้อยู่” และ “เป็นปาจิตตีย์ในเพราะพูดเสียดแทง” (นานาวินิจฉัย/๙๘)


ปาจิตตีย์ มุสาวาทวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๕๒)
ภิกษุพูดส่อเสียดภิกษุ ต้องปาจิตตีย์

      พระฉัพพัคคีย์เก็บเอาคำส่อเสียดของภิกษุผู้มีความบาดหมาง เกิดทะเลาะวิวาทกัน เมื่อฟังความแล้วเก็บไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ ฟังคำจากฝ่ายโน้นแล้วบอกแก่ฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น ด้วยเหตุนี้ความบาดหมางที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็รุนแรงมากขึ้น

       ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียน แล้วกราบทูล... พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตำหนิแล้วมีพระบัญญัติว่า “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะส่อเสียดภิกษุ

อรรถาธิบาย
       -ที่ชื่อว่า ส่อเสียด อธิบายว่า วัตถุสำหรับเก็บมาส่อเสียด มีได้ด้วยอาการ ๒ คือ ของคนผู้ต้องการจะให้เขาชอบ ๑ ของคนผู้ประสงค์จะให้เขาแตกกัน ๑
       ภิกษุเก็บเอาวัตถุสำหรับส่อเสียดมากล่าวโดยอาการ ๑๐ อย่าง คือ ชาติ ๑ ชื่อ ๑ โคตร ๑ การงาน ๑ ศิลปะ ๑ โรค ๑ รูปพรรณ ๑ กิเลส ๑ อาบัติ ๑ คำด่า ๑

อาบัติ
       ๑.อุปสัมบันได้ยินถ้อยคำของอุปสัมบันแล้ว (ปรารถนาจะให้เขาชอบตน หรือปรารถนาจะให้เขาแตกกัน) เก็บเอาคำส่อเสียด (คำต่อว่า) ไปบอกแก่อุปสัมบันว่า ภิกษุชื่อนี้พูดเหน็บแนมท่านว่าเป็นชาติคนจัณฑาล ดังนี้เป็นต้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำพูด
       ๒.อุปสัมบันได้ยินถ้อยคำของอุปสัมบันแล้ว เก็บเอาคำส่อเสียดไปบอกแก่อุปสัมบันว่า ภิกษุชื่อนี้ พูดเปรยเหน็บแนมว่าภิกษุบางคนเป็นชาติคนจัณฑาล ดังนี้เป็นต้น ต้องอาบัติทุกกฎทุกๆ คำพูด
       ๓.อุปสัมบันได้ยินถ้อยคำของอุปสัมบันแล้ว เก็บเอาคำส่อเสียดไปบอกแก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๔.อุปสัมบันได้ยินถ้อยคำของอนุปสัมบันแล้ว เก็บเอาไปบอกแก่อุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕.อุปสัมบันได้ยินถ้อยคำของอนุปสัมบันแล้ว เก็บเอาไปบอกแก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฎ

อนาบัติ
       ภิกษุไม่ต้องการจะให้เขาชอบ ๑  ไม่ประสงค์จะให้เขาแตกกัน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๑๕๓-๑๕๔
       ๑.บทว่า ภณฺฑนชาตานํ  ได้แก่ ผู้เกิดความบาดหมางกันแล้ว, ส่วนเบื้องต้นแห่งความทะเลาะกันชื่อว่า ภัณฑนะ (ความบาดหมาง), การล่วงละเมิดทางกายและวาจาให้ถึงอาบัติ ชื่อว่า กลหะ (การทะเลาะ), การกล่าวขัดแย้งกัน ชื่อว่า วิวาทะ, พวกภิกษุผู้ถึงความวิวาทกันนั้น ชื่อว่า วิวาทาปันนะ
          -บทว่า เปสุญฺญํ ได้แก่ ซึ่งวาจาส่อเสียด อธิบายว่า วาจาทำให้สูญเสียความเป็นที่รักกัน, บทว่า ภิกฺขุเปสุญฺเญ ได้แก่ ในเพราะคำส่อเสียดภิกษุทั้งหลาย อธิบายว่า ในเพราะคำส่อเสียดที่ภิกษุฟังจากภิกษุ แล้วนำเข้าไปบอกแก่ภิกษุ
       ๒.ชนทั้งหลายแม้พระทั่งภิกษุณี ชื่อว่า อนุปสัมบัน
       ๓.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  วาจากับจิต ๑  กายวาจากับจิต ๑  เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ,  กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต, โทสมูลจิต, โมหมูลจิต)



ปาจิตตีย์ มุสาวาทวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๕๓)
ภิกษุสอนธรรมแก่อนุปสัมบัน ถ้าว่าพร้อมกัน ต้องปาจิตตีย์

     พระฉัพพัคคีย์ให้เหล่าอุบาสกกล่าวธรรมโดยบท พวกอุบาสกจึงไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ไม่ประพฤติให้ถูกอัธยาศัยในหมู่ภิกษุอยู่ ภิกษุทั้งหลายติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดยังอนุปสัมบันให้กล่าวธรรมโดยบท เป็นปาจิตตีย์

อรรถาธิบาย
       -ที่ชื่อว่า อนุปสัมบัน คือ ยกเว้นภิกษุ ภิกษุณี นอกนั้นชื่อว่าอนุปสัมบัน
       -ที่ชื่อว่า โดยบท ได้แก่ บท อนุบท อนุอักขระ อนุพยัญชนะ
       -ที่ชื่อว่า บท คือ ขึ้นต้นพร้อมกัน ให้จบลงพร้อมกัน
       -ที่ชื่อว่า อนุบท คือ ขึ้นต้นต่างกัน ให้จบลงพร้อมกัน
       -ที่ชื่อว่า อนุอักขระ คือ ภิกษุสอนว่า รูปํ อนิจฺจํ  อนุปสัมบันกล่าวพร้อมกันว่า รู ดังนี้ แล้วหยุด
       -ที่ชื่อว่า อนุพยัญชนะ คือ ภิกษุสอนว่า รูปํ อนิจฺจํ อนุปสัมบันเปล่งเสียงรับว่า เวทนา อนิจจา
       -บทว่า อนุบทก็ดี อนุอักขระก็ดี อนุพยัญชนะก็ดี ทั้งหมดนั้นชื่อว่า ธรรมโดยบท
      -ที่ชื่อว่า ธรรม ได้แก่ บาลีที่เป็นพุทธภาษิต สาวกภาษิต อิสิภาษิต เทวตาภาษิต ซึ่งประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม
       - ให้กล่าว คือ ให้กล่าวโดยบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ บท ให้กล่าวโดยอักขระ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ อักขระ

อาบัติ
       ๑.อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน ให้กล่าวธรรมโดยบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒.อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย (ว่าเป็นหรือไม่เป็นหนอ) ให้กล่าวธรรมโดยบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓.อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน ให้กล่าวธรรมโดยบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔.อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน ให้กล่าว...ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕.อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน ให้กล่าว... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖.อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน ให้กล่าว... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุให้สวดพร้อมกัน ๑  ท่องพร้อมกัน ๑  อนุปสัมบันผู้กล่าวอยู่ สวดอยู่ ซึ่งคัมภีร์ที่คล่องแคล่วโดยมาก ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินยะ. มหาวิ.๒/๑๕๘-๑๖๓
       ๑.บทว่า อปฺปติสสา  ได้แก่ ไม่ยำเกรง อธิบายว่า เมื่อพวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า ดูก่อน อุบาสกทั้งหลาย แม้ถ้อยคำก็ไม่อยากฟัง คือ ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่ประพฤติอ่อนน้อม เหมือนอย่างที่พวกอุบาสกควรประพฤติต่อภิกษุ
       ๒.คำว่า ปทโส ธมมํ วาเจยฺย  ความว่า ให้กล่าวธรรมเป็นบทๆ รวมกัน (กับอนุปสัมบัน) อธิบายว่า ให้กล่าวธรรมเป็นส่วนๆ ก็เพราะบทที่มีชื่อว่าเป็นส่วนๆ (โกฏฐาส) นั้นมีอยู่ ๔ อย่าง คือ บท อนุบท อนุอักขระ อนุพยัญชนะ
         บท หมายเอาคาถาบาทหนึ่ง, อนุบท หมายเอาบาทที่สอง, อนุอักขระ หมายเอาอักขระตัวหนึ่ง (หมายเอาอักขระแต่ละตัว), อนุพยัญชนะ หมายเอาพยัญชนะตัวท้ายคล้ายกับพยัญชนะตัวต้น ผู้ศึกษาพึงทราบความต่างกัน ดังนี้คือ อักขระตัวชนิดใดชนิดหนึ่ง ชื่อว่า อนุอักขระ, ประชุมอักขระ ชื่อว่า อนุพยัญชนะ, ประชุมอักขระและอนุพยัญชนะ ชื่อว่า บท และบทแรก ชื่อว่าบทเหมือนกัน, บทที่สองชื่อว่า อนุบท
       ๓.เมื่อภิกษุให้กล่าวธรรมเนื่องด้วยคาถา เริ่มบทแต่ละบทนี้ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา พร้อมกันกับอนุปสัมบัน แล้วให้จบลงพร้อมกัน ภิกษุผู้ให้กล่าวอย่างนี้พึงปรับอาบัติปาจิตตีย์หลายตัวตามจำนวนบท
       -เมื่อพระเถระกล่าวว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ดังนี้  สามเณรกล่าวบทนั้นไม่ทัน จึงกล่าวบทที่สองพร้อมกันว่า มโนเสฏฺฐา มโนมยา.  ภิกษุและสามเณรทั้งสองรูปนี้ ชื่อว่าขึ้นต้นต่างกัน ให้จบลงพร้อมกัน ภิกษุให้กล่าวอย่างนี้ พึงปรับอาบัติปาจิตตีย์หลายตัวตามจำนวนอนุบท
       -ภิกษุสอนสามเณรว่า เธอจงว่า รูปํ อนิจฺจํ กล่าวพร้อมกันเพียงรูปอักษรเท่านั้น แล้วหยุดอยู่ แม้ภิกษุให้กล่าวอย่างนี้ ก็พึงปรับปาจิตตีย์หลายตัวตามจำนวนอนุอักขระ, และคาถาประพันธ์ บัณฑิตก็ย่อมได้นับเช่นนี้เหมือนกันแท้ทีเดียว
       -สามเณรให้บอกสูตรนี้ว่า รูปํ ภิกฺขเว อนิจฺจํ เวทนา อนิจฺจา เป็นต้น พระเถระบอกว่า รูปํ อนิจฺจํ ดังนี้  สามเณรเปล่งวาจากล่าวว่า เวทนา อนิจจา พร้อมกับ รูปํ อนิจฺจํ ของพระเถระนั้น เพราะความที่เธอมีปัญญาว่องไว ภิกษุผู้ให้กล่าวอย่างนี้ พระวินัยธรพึงปรับปาจิตตีย์หลายตัวตามจำนวนอนุพยัญชนะ, ส่วนความสังเขปในบทเหล่านี้มีดังนี้ว่า บรรดา “บท” เป็นต้นนี้ ภิกษุกล่าวบทใดๆ พร้อมกัน ย่อมต้องอาบัติด้วยบทนั้นๆ
       ๔.”ภาษิต ๔ อย่าง”
      -วินัยปิฎกทั้งสิ้น อภิธรรมปิฎก ธรรมบท จริยปิฎก อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ สุตตนิบาต วิมานวัตถุ เปตวัตถุ และพระสูตรทั้งหลาย มีพรหมชาลสูตรเป็นต้น ชื่อว่า พุทธภาษิต
       -ธรรมที่พวกสาวกผู้นับเนื่องในบริษัท ๔ ภาษิตไว้มี อนังคณสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร อนุมานสูตร จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร เป็นต้น ชื่อว่า สาวกภาษิต
       -ธรรมที่พวกปริพาชกภายนอกกล่าวไว้ มีอาทิอย่างนี้คือ ปริพาชกวรรคทั้งหมด คำปุจฉาของพราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็นอันเตวาสกของพราหมณ์ ชื่อว่า พาวรี ชื่อว่า อิสิภาษิต
      -ธรรมที่พวกเทวดากล่าวไว้ มีเทวตาสังยุตต์ เทวปุตตสังยุตต์ มารสังยุตต์ พรหมสังยุตต์ และสักกสังยุตต์ เป็นต้น ชื่อว่า เทวตาภาษิต
       ภาษิตทั้ง ๔ ประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม (ธรรมที่อาศัยอรรถกถา ชื่อว่า อรรถ, ธรรมที่อาศัยพระบาลี ชื่อว่าธรรม) ด้วยบทว่า “ประกอบด้วยอรรถ และประกอบด้วยธรรมนี้” พระอุบาลีเถระกล่าวหมายถึงธรรมที่อาศัยนิพพานซึ่งปราศจากวัฏฏะนั่นเอง, ภิกษุให้กล่าวย่อมเป็นอาบัติเหมือนกัน
       -เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ให้กล่าวธรรมที่ขึ้นสู่สังคีติทั้ง ๓ คราว (สังคายนาครั้งที่ ๑-๓) โดยบทเหมือนกัน, ไม่เป็นอาบัติแม้ในคำที่อาศัยพระนิพพาน ซึ่งท่านรจนาโดยผูกเป็นคาถาโศลกไว้เป็นต้น ด้วยอำนาจภาษาต่างๆ
       -แม้ในพระสูตรที่ไม่ได้ยกขึ้นสู่สังคีติ ๓ คราว เช่น กุลุมพสูตร ราโชวาทสูตร ติกขินทริยสูตร จตุปริวัตตสูตร และนันโทปนันทสูตร ก็เป็นอาบัติเหมือนกัน, ถึงการทรมานพญานาคชื่อว่า อปลาละ อาจารย์ก็กล่าวว่าเป็นอาบัติ แต่ในมหาปัจจรีท่านว่าไม่เป็น
       -ในปฏิภาณส่วนตัวของพระเถระ ในเมณฑกมิลินฑปัญหา ไม่เป็นอาบัติ, แต่เป็นอาบัติในถ้อยคำที่พระเถระนำมากล่าว เพื่อให้พระราชามิลินฑ์ยินยอม
       -อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ธรรมชื่อว่า สีลูปเทส ซึ่งพระสารีบุตรกล่าวไว้ เป็นอาบัติเหมือนกัน, ยังมีปกรณ์แม้อื่น เช่น มัคคกถา อารัมมณกถา วุฑฒิกรันฑกญาณวัตถุ และอสุภกถา เป็นต้น ในปกรณ์เหล่านี้ ท่านจำแนกโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ไว้, ในธุดงคปัญหาท่านจำแนกปฏิปทาไว้ เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่าเป็นอาบัติในปกรณ์เหล่านั้น
       -แต่ในอรรถกถามหาปัจจรีเป็นต้น ท่านกล่าวอนาบัติไว้ในจำพวกราโชวาทสูตร ติกขินทริยสูตร จตุปริวัตตสูตร นันโทปนันทสูตร กุลุมพสูตร (ทั้งหมดเป็นพระสูตรของฝ่ายมหายาน) นั้นแล ซึ่งไม่ขึ้นสู่สังคีติ (การสังคายนา) แล้วกำหนดอรรถไว้ดังนี้ว่า บรรดาคำในสูตรเหล่านั้น เฉพาะคำที่ท่านนำมาจากพุทธพจน์กล่าวไว้เท่านั้น เป็นวัตถุแห่งอาบัติ นอกจากนี้หาเป็นไม่
       ๕.อุปสัมบันกับอนุปสัมบันนั่งแล้ว ขอให้อาจารย์สวด อาจารย์คิดว่าเราจะสวดแก่อุปสัมบันและอนุปสัมบันทั้งสองผู้นั่งแล้ว จึงสวดพร้อมกันกับเธอเหล่านั้น เป็นอาบัติแก่อาจารย์ เป็นอนาบัติแก่ภิกษุผู้เรียนเอาพร้อมกับอนุปสัมบัน, แม้อุปสัมบันกับอนุปสัมบันทั้งสองยืนเรียนอยู่ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน
       -ภิกษุหนุ่มนั่ง สามเณรยืน ไม่เป็นอาบัติแก่อาจารย์ผู้บอก ด้วยคิดว่าเราจะกล่าวแก่ภิกษุผู้นั่ง, ถ้าภิกษุหนุ่มยืน สามเณรนั่ง ก็ไม่เป็นอาบัติแก่อาจารย์ผู้กล่าวอยู่ ด้วยคิดว่าเราจะกล่าวแก่ภิกษุผู้ยืน
       -ถ้าสามเณรรูปหนึ่งนั่งอยู่ระหว่างภิกษุมากรูป เป็นอจิตตกาบัติแก่อาจารย์ผู้ให้กล่าวธรรมโดยบท ในเฉพาะสามเณรนั่งอยู่ด้วย
       -ถ้าสามเณรยืนหรือนั่งละอุปจารเสีย เพราะสามเณรไม่นับเนื่องอยู่ในพวกภิกษุที่อาจารย์ให้กล่าว (ธรรมโดยบท) เธอจึงถึงการนับว่า เรียนเอาคัมภีร์เล็ดลอดออกไปโดยทิศหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นอาบัติแก่อาจารย์
       ๖.อุปสัมบันเมื่อกระทำการสาธยายร่วมกันกับอนุปสัมบัน สวดพร้อมกันกับอนุปสัมบันนั้นแล ไม่เป็นอาบัติ แม้ภิกษุเรียนอุเทศในสำนักแห่งอนุปสัมบัน สวดร่วมกับอนุปสัมบันนั้นก็ไม่เป็นอาบัติ เพราะว่าแม้อุปสัมบันนี้ก็ถึงอันนับว่ากระทำสาธยายพร้อมกันแท้
       -ถ้าในคาถาเดียวกัน บาทหนึ่งๆ ยังจำไม่ได้ ที่เหลือจำได้ นี้ชื่อว่าคัมภีร์ที่คล่องแคล่วโดยมาก, แม้ในพระสูตรผู้ศึกษาก็พึงทราบโดยนัยนี้, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ทักให้คัณฐะ (คัมภีร์) นั้นค้างอยู่ จึงสวดพร้อมกัน
       ๗.สิกขาบทนี้มีธรรมโดยบทเป็นสมุฏฐาน เกิดทางวาจา ๑  วาจากับจิต ๑  เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ วจีกรรม มีจิต ๓ (อกุศลจิต (โลภมูลจิต), กุศลจิต, กิริยาจิต)
       ๘.ในพระไตรปิฎกฯ เล่มเดียวกัน แปลสิกขาบท “โย ปน ภิกฺขุ อนุปสมฺปนฺนํ ปทโส ธมฺมํ วาเจยฺย ปาจิตฺติย” ว่า “อนึ่ง ภิกษุใดยังอนุปสัมบันให้กล่าวธรรมโดยบท เป็นปาจิตตีย์” แปลเช่นนี้นอกจากจะไม่เข้าใจแล้ว ยังทำให้สงสัยได้อีกด้วยว่า เมื่อไม่กล่าวโดยบทแล้ว จะให้กล่าวทีละอักษรหรืออย่างไร
       บทว่า “ปทโส” ในสิกขาบทนี้ไม่ควรแปลว่า “โดยบท” เพราะโส ปัจจัยในที่นี้ไม่ได้ลงใจอรรถตติยาวิภัตติ แต่ลงในอรรถวิจฉา (คำซ้ำ) ลง ทุติยาวิภัตติ หลัง ปทโส แต่ลงแล้วลบไป  ฉะนั้น ปทโส จึงเท่ากับ ปทํ ปทํ (ทุกๆ บท) นั่นเอง
       “ปท” ศัพท์ในบทว่า “ปทโส” นี้มีอรรถเป็นโกฏฐาส (ส่วน) ดังที่อรรถกถาพรรณนาไว้ว่า “ปทโส ธมฺมํ วาเจยฺยาติ เอกโต ปทํ ปทํ ธมฺมํ วาเจยฺย โกฏฺฐาสํ โกฏฺฐาสํ วาเจยฺยาติ อตฺโถ
       คำว่า “ปทโส ธมฺมํ วาเจยฺยํ” หมายความว่า ให้กล่าว (สวด) ธรรมทุกๆ บท คือ ทุกๆ ส่วนพร้อมกัน (กับตน)

ปทศัพท์ มีอรรถ ๙ อย่าง คือ

ปทํ ฐาเน ปริตฺตาเณ       นิพฺพานมฺหิ จ การเณ
สทฺเท วตฺถุมฺหิ โกฏฺฐาเส     ปาเท ตลฺลญฺฉเน มตํ.
     
      พึงทราบว่า บทว่า ปท มีอรรถ ๙ อย่าง คือ ฐาน ที่ตั้ง, ปริตฺตาณ ป้องกัน, นิพฺพาน พระนิพพาน, การณ เหตุ, สทฺท เสียง, วตฺถุ พัสดุ, โกฏฺฐาส ส่วน, ปาท เท้า, ตลฺลญฺฉน รอยเท้า
       ปท ศัพท์ในสิกขาบทนี้หมายเอาอรรถ “โกฏฺฐาส” เท่านั้น  ฉะนั้น จึงควรแปลว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ยังอนุปสัมบันให้กล่าวธรรมทุกๆ บทพร้อมกัน (กับตน) เป็นอาบัติปาจิตตีย์
       โดยมาก ในครั้งโบราณสอนธรรมกันด้วยปาก แล้วให้ลูกศิษย์ว่าตามจนกว่าจะจำได้ ในกรณีนี้ ถ้าภิกษุใดให้ลูกศิษย์เป็นอนุปสัมบันว่าตามไปพร้อมกันกับตน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ แต่สมัยนี้เรียนกันด้วยตัวหนังสือ จึงไม่เป็นอาบัติเพราะสิกขาบทนี้ (นานาวินิจฉัย/๙๘-๙)



คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
           ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
           (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 เมษายน 2560 18:20:14

ปาจิตตีย์ มุสาวาทวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๕๔)
ภิกษุนอนในที่มุงที่บังอันเดียวกันกับอนุปสัมบัน เกิน ๓ คืนขึ้นไป ต้องปาจิตตีย์

       พวกอุบาสกพากันมาสู่อารามในเมืองอาฬวี เพื่อฟังธรรม  เมื่อพระธรรมถึกแสดงธรรมจบแล้ว ภิกษุชั้นเถระกลับไปยังที่อยู่ ภิกษุชั้นนวกะสำเร็จการนอนร่วมกับพวกอุบาสกอยู่ในศาลาที่ฟังธรรมนั่นเอง ภิกษุนวกะเหล่านั้นได้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัว เป็นผู้เปลือยกายละเมออยู่
       พวกอุบาสกพากันกล่าวโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยินคำติเตียน จึงพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมกับอนุปสัมบัน เป็นปาจิตตีย์”
       กาลต่อมาที่เมืองโกสัมพี ภิกษุทั้งหลายได้ห้ามท่านสามเณรราหุลมิให้เข้านอน  วันนั้น สามเณรราหุลได้นอนในวัจจกุฏี ตอนเช้ามืด พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปพบท่านสามเณราหุล ทรงทราบความนั้น จึงทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมกับอนุปสัมบันยิ่งกว่า ๒-๓ คืน เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
       -ที่ชื่อว่า อนุปสัมบัน คือ ยกเว้นภิกษุ นอกนั้นชื่อว่า อนุปสัมบัน
       -บทว่า ยิ่งกว่า ๒-๓ คืน คือ เกินกว่า ๒-๓ คืน
       -บทว่า ร่วม คือ ด้วยกัน
       -ที่ชื่อว่า การนอน ได้แก่ ภูมิสถานเป็นที่นอนอันเขามุงทั้งหมด บังทั้งหมด มุงโดยมาก บังโดยมาก
       -คำว่า สำเร็จการนอน ได้แก่ ในวันที่ ๔ เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว อนุปสัมบันนอนแล้ว ภิกษุนอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์, ภิกษุนอนแล้ว อนุปสัมบันนอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์, หรือนอนทั้งสอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์, ลุกขึ้นแล้ว กลับนอนอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
       ๑.อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน สำเร็จการนอนร่วมยิ่งกว่า ๒-๓ คืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒.อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย สำเร็จการนอนร่วมยิ่งกว่า ๒-๓ คืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓.อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่า (สำคัญว่า) เป็นอุปสัมบัน สำเร็จการนอนร่วมยิ่งกว่า ๒-๓ คืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔.ในสถานที่มุงกึ่ง บังกึ่ง ภิกษุสำเร็จการนอนร่วมยิ่งกว่า ๒-๓ คืน ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕.อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖.อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย สำเร็จการนอนร่วม... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๗.อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน...ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุอยู่ ๒-๓ คืน ๑  อยู่ไม่ถึง ๒-๓ คืน ๑  ภิกษุอยู่ ๒ คืน แล้วคืนที่ ๓ ออกไปก่อนอรุณ แล้วอยู่ใหม่ ๑  อยู่ในสถานที่มุงทั้งหมด ไม่บังทั้งหมด ๑  อยู่ในสถานที่บังทั้งหมด ไม่มุงทั้งหมด ๑  อยู่ในสถานที่ไม่มุงโดยมาก ไม่บังโดยมาก ๑  อนุปสัมบันนอน ภิกษุนั่ง ๑  ภิกษุนอน อนุปสัมบันนั่ง ๑ หรือนั่งทั้งสอง ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๒/๑๖๙-๑๗๘
       ๑.ภิกษุทั้งหลายกล่าวกับท่านราหุลว่า “ท่านราหุล สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว” ดังนี้ ด้วยความเคารพในสิกขาบทนั่นเทียว, แต่โดยปกติ เพราะความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้าและเพราะท่านเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ยามที่ท่านราหุลมายังที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้นๆ จึงปูลาดเตียงเล็กๆ หรือพนักพิงอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีอยู่แล้ว ถวายจีวร (สังฆาฏิ) หรืออุตราสงค์ เพื่อต้องการให้ท่านราหุลทำเป็นเครื่องหนุนศีรษะ

       ข้อที่กล่าวว่า ท่านราหุลเป็นผู้ใคร่ศึกษา มีตัวอย่างดังนี้
       ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายเห็นท่านราหุลนั้นกำลังมาแต่ไกลเทียว ก็พากันวางไม้กวาดหรือกระเช้าเทขยะไว้ข้างนอก เมื่อภิกษุพวกอื่นมากล่าวถามว่า ท่านผู้มีอายุ นี้ใครเอามาวางทิ้งไว้ ดังนี้ ภิกษุอีกพวกหนึ่งจะกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านราหุลเที่ยวมาแถวนี้ ชะรอยเธอคงวางทิ้งไว้กระมัง ส่วนท่านราหุลนั้น ไม่ค่อยปริปากพูดเลยว่า นี้ไม่ใช่การกระทำของผมขอรับ ได้เก็บงำไม้กวาดเป็นต้นนั้นแล้ว ขอขมาภิกษุทั้งหลายก่อนแล้วจึงไป
       -ท่านราหุลนั้นเพิ่มพูนอยู่ซึ่งความเป็นผู้ใคร่ในสิกขาบทนั้นนั่นเอง จึงไม่ไปสู่สำนักแห่งพระธรรมเสนาบดี พระมหาโมคคัลลานะและพระอานนท์ เป็นต้น จึงสำเร็จการนอนในเวจกุฎีที่บังคนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ยินว่า กูฎีนั้นเขาติดบานประตูไว้ ทำการประพรมด้วยของหอม มีพวงดอกไม้แขวนไว้เต็ม ตั้งอยู่ดุจเจติยสถาน ไม่ควรแก่การบริโภคใช้สอยของคนเหล่าอื่น
       ๒.พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประทานบริหารสิ้น ๓ ราตรี เพื่อต้องการสงเคราะห์แก่พวกสามเณร จริงอยู่ การที่ภิกษุให้พวกเด็กในสกุลบวชแล้วไม่อนุเคราะห์ ย่อมไม่สมควร
       -บทว่า สหเสยฺยํ คือ การนอนร่วมกัน, แม้การนอน กล่าวคือการทอดกาย ท่านเรียกว่า ไสย, ภิกษุทั้งหลายนอนในเสนาสนะใด แม้เสนาสนะนั้นท่านก็เรียกว่าไสย (ที่นอน)
       -ก็เสนาสนะใดที่เขากั้นตั้งแต่พื้นดินจนจรดหลังคา ด้วยกำแพง หรือด้วยวัตถุอะไรๆ อื่นก็ตาม โดยที่สุดแม้ด้วยผ้า ที่นอนนี้พึงทราบว่า ชื่อว่า บังทั้งหมด
       -ในอรรถกถากุรุนทีกล่าวว่า ที่นอนแม้ที่เขากั้นด้วยเครื่องกั้น มีกำแพงเป็นต้น อย่างต่ำสูงศอกคืบ ไม่จรดหลังคา จัดว่าบังทั้งหมดเหมือนกัน ก็เพราะที่ที่มุงข้างบนมากกว่าที่ไม่ได้มุงน้อย หรือว่าที่เขากั้นโดยรอบมากกว่าที่ไม่ได้กั้นน้อย ฉะนั้นที่นอนนี้จึงชื่อว่า มุงโดยมาก บังโดยมาก
       ๓.อธิบายลักษณะแห่งที่นอนคือเสนาสนะต่างๆ กัน
       ก็ด้วยบทว่า สพฺพจฺฉนฺนา เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสลักษณะแห่งที่นอน กล่าวคือเสนาสนะนั้น เพราะเหตุนั้น เสนาสนะใดมุงทั้งหมดทีเดียวในเบื้องต้น ด้วยเครื่องมุง ๕ ชนิด หรือด้วยวัตถุอะไรๆ อื่นก็ตาม, ที่นอนนี้ชื่อว่า มุงทั้งหมด
       แต่ในอรรถกถาทั้งหลาย ท่านถือเอาโวหารที่ปรากฏกล่าวด้วยอำนาจคำคล่องปากว่า ที่นอนอันมุงด้วยเครื่องมุง ๕ ชนิด ชื่อว่ามุงทั้งหมด ดังนี้ แม้ท่านกล่าวคำนั้นไว้แล้วก็จริง, ถึงกระนั้นก็ไม่อาจทำให้ไม่เป็นอาบัติ แม้แก่ภิกษุผู้อยู่ในกุฏีผ้าได้,  เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบเครื่องมุงและเครื่องบังในสิกขาบทนี้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถปิดบังได้
       จริงอยู่ เมื่อถือเอาเครื่องมุง ๕ ชนิดเท่านั้น การนอนร่วมในกุฎีแม้ที่มุงด้วยไม้กระดาน ก็ไม่พึงมีได้ ก็เสนาสนะใดที่เขากั้นตั้งแต่พื้นดินจนจรดหลังคาด้วยกำแพง หรือด้วยวัตถุอะไรๆ อื่นก็ตาม โดยที่สุดแม้ด้วยผ้า, ที่นอนนี้ พึงทราบว่าชื่อว่า บังทั้งหมด
       ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถากุรุนทีว่า ที่นอนแม้เขากั้นด้วยเครื่องกั้นมีกำแพงเป็นต้น สูงศอกคืบโดยปริยาย อย่างต่ำสุดไม่จรดหลังคา จัดว่าบังทั้งหมดเหมือนกัน ก็เพราะที่ที่มุงข้างบนมากกว่าที่ไม่ได้มุงน้อย หรือว่าที่ที่เขากั้นโดยรอบมากกว่าที่ไม่ได้กั้นน้อย ฉะนั้นที่นอนนี้จึงชื่อว่า มุงโดยมาก บังโดยมาก
       ก็ปราสาทที่ประกอบด้วยลักษณะอย่างนี้ ถ้าแม้นมีถึง ๗ ชั้น มีอุปจารเดียวกัน หรือว่าศาลา ๔ มุข มีห้องตั้งร้อย ก็ถึงอันนับว่าที่นอนอันเดียวกันแท้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงที่นอนนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า ในวันที่ ๔ เมื่อดวงอาทิตย์อัสดงคตแล้ว อนุปสัมบันนอน ภิกษุก็นอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ดังนี้ และเป็นปาจิตตีย์โดยเพียงแต่นอนบนที่นอนนั้นเท่านั้น
       ก็ถ้าว่า มีสามเณรมากรูป ภิกษุรูปเดียว เป็นปาจิตตีย์หลายตัวตามจำนวนสามเณร ถ้าหากว่าสามเณรเหล่านั้นผุดลุกผุดนอน ภิกษุต้องอาบัติทุกๆ ประโยคของสามเณรเหล่านั้น ก็ด้วยการผุดลุกผุดนอนของภิกษุ เป็นอาบัติแก่ภิกษุเพราะประโยคของภิกษุนั้นเอง
       ถ้าภิกษุมากรูป สามเณรรูปเดียว, แม้สามเณรรูปเดียวก็ทำให้เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งหมด แม้ด้วยการผุดลุกผุดนอนของสามเณรนั้น ก็เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งหลายเหมือนกัน ถึงในความที่ภิกษุและสามเณรมากรูปด้วยกันทั้งสองฝ่าย ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน
       ๔.ลักษณะแห่งอาวาสอื่นๆ
       อีกนัยหนึ่ง ในสิกขาบทนี้ พึงทราบหมวด ๔ แม้มีอาวาสแห่งเดียวเป็นต้น ความพิสดารว่า ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมกันกับอนุปสัมบันเพียงคนเดียว ในอาวาสแห่งเดียวกัน สิ้น ๓ ราตรี เป็นอาบัติทุกวัน จำเดิมแต่วันที่ ๔ แก่ภิกษุแม้นั้น, ฝ่ายภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมสิ้น ๓ ราตรี กับอนุปสัมบันต่างกันหลายคน ในอาวาสแห่งเดียวนั่นเอง เป็นอาบัติทุกวันแก่ภิกษุแม้นั้น (จำเดิมแต่วันที่ ๔) แม้ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วม สิ้น ๓ ราตรี กับอนุปสัมบันเพียงคนเดียวเท่านั้น ในอาวาสต่างๆ กัน เป็นอาบัติทุกๆ วัน แม้แก่ภิกษุนั้น (จำเดิมแต่วันที่ ๔) แม้ภิกษุใดเดินทางสิ้นระยะตั้ง ๑๐๐ โยชน์ สำเร็จการนอนร่วม (สิ้น ๓ ราตรี ) กับอนุปสัมบันต่างกันหลายคน ในอาวาสต่างๆ กัน เป็นอาบัติแม้แก่ภิกษุนั้นทุกๆ วัน นับแต่วันที่ ๔ ไป
       ก็ชื่อว่า สหเสยยาบัติ นี้ ย่อมเป็นแม้กับสัตว์ดิรัจฉาน เพราะพระบาลีว่า ที่เหลือ เว้นภิกษุ ชื่อว่าอนุปสัมบัน ในสหเสยยาบัตินั้นการกำหนดสัตว์ดิรัจฉาน พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในเมถุนธรรมาบัตินั่นแล เพราะเหตุนั้น ถ้าแม้นว่าบรรดาสัตว์ดิรัจฉานชนิด ๔ เท้า มีเหี้ย แมว และตะกวด เป็นต้น ดิรัจฉานบางชนิดเข้าไปนอนอยู่ในที่มีอุปจารอันเดียวกันในเสนาสนะเป็นที่อยู่ของภิกษุ จัดเป็นการนอนร่วมเหมือนกัน ถ้าว่ามันเข้าไปทางโพรงของหัวไม้ขื่อ (คาน) มีโพรงที่ตั้งอยู่ข้างฝาแห่งปราสาทที่เขาสร้างไว้เบื้องบนเสาทั้งหลาย ซึ่งมีฝาไม่เชื่อมต่อกันกับพื้นชั้นบน แล้วนอนอยู่ภายในไม้ขื่อ ออกไปทางโพรงนั้นนั่นเอง ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้นอนร่วมภายใต้ปราสาท
       ถ้ามีช่องบนหลังคา มันเข้าไปตามช่องนั้น อยู่ภายในหลังคาแล้วออกไปทางช่องเดิมนั้นแล, เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้นอนร่วมภายในหลังคาที่พื้นชั้นบนซึ่งมีอุปจารต่างกัน, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้นอนที่พื้นชั้นล่าง ถ้าพวกภิกษุขึ้นทางด้านในปราสาททั้งนั้น ใช้สอยพื้นที่ทั้งหมด, พื้นที่ทั้งหมดมีอุปจารเดียวกัน, เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้นอนบนพื้นใดพื้นหนึ่งในบรรดาพื้นทั้งหมดนั้น
       ภิกษุผู้นอนในเสนาสนะที่มีฝาเป็นเพิง ซึ่งสร้างโดยอาการคล้ายกับสภา มีนกพิราบเป็นต้น เข้าไปนอนอยู่ในที่ทั้งหลาย มีเต้าที่ทำเป็นรูปสัตว์ร้ายเป็นต้น เป็นอาบัติเหมือนกัน นกพิราบเป็นต้น นอนในภายในชายคาที่ยื่นออกไปภายนอกเครื่องล้อม (ฝาผนังกั้น) ไม่เป็นอาบัติ ถ้าแม้นเสนาสนะกลมหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีห้องตั้ง ๑๐๐ ห้องด้วยแถวห้องที่มีหลังคาเดียวกัน ถ้าพวกภิกษุเข้าไปในเสนาสนะนั้น ทางประตูสาธารณะประตูหนึ่งแล้ว เลยเข้าไปในห้องทั้งหมด ซึ่งมีอุปจารห้องที่มิได้กั้นด้วยกำแพงต่างหาก. เมื่ออนุปสัมบันนอนแล้ว แม้ในห้องหนึ่ง ก็เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งหลายผู้นอนในทุกๆ ห้อง
       ถ้าห้องทั้งหลายมีหน้ามุข, และหน้ามุขไม่ได้มุงข้างบน, ถ้าแม้นเป็นที่มีพื้นที่สูง, อนุปสัมบันนอนที่หน้ามุข ไม่ทำให้เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งหลายผู้นอนในห้อง แต่ถ้าว่า หน้ามุขมีหลังคาต่อเนื่องกันกับหลังคาแห่งห้องทีเดียว อนุปสัมบันนอนที่หน้ามุขนั้นทำให้เป็นอาบัติแก่ภิกษุทุกรูป, เพราะเหตุไร? เพราะเป็นห้องมุงทั้งหมดและบังทั้งหมด จริงอยู่ เครื่องกั้นห้องนั้นแหละเป็นเครื่องกั้นหน้ามุขนั้นด้วยแล สมจริงโดยนัยนี้แหละ ในอรรถกถาทั้งหลายท่านอาจารย์จึงปรับอาบัติไว้ในซุ้มประตูทั้ง ๔ แห่งเครื่องกั้น (ฝาผนัง) โลหปราสาท แต่คำใดที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาอันธกะว่า คำว่า ในหน้ามุขที่ไม่ได้กั้น เป็นอนาบัติ ท่านกล่าวหมายเอาหน้ามุขบนพื้นนอกจากพื้นดิน ดังนี้, คำว่า ท่านกล่าวหมายเอาห้องแถวที่มีหลังคาอันเดียวกัน ซึ่งสร้างไว้เป็นสัดส่วนต่างหากในแคว้นอันธกะ ก็คำที่ท่านกล่าวไว้ว่า บนพื้นนอกจากพื้นดินในอรรถกถาอันธกะนั้น ไม่มีในอรรถกถาทั้งหลายเลย ทั้งไม่สมด้วยพระบาลี ความจริงพื้นดินแม้สูงถึง ๑๐ ศอก ก็ไม่ถึง การนับว่าเป็นเครื่องกั้นได้ เพราะฉะนั้น แม้คำใดที่ท่านกล่าวประมาณแห่งพื้นดินไว้ในสิกขาบทที่ ๒ ในอันธกอรรถกถานั้น แล้วกล่าวว่า ฐาน  กล่าวคือพื้นดินนั้นชื่อว่า กั้นด้วยอุปจารเดียวกัน ดังนี้, คำนั้นบัณฑิตไม่ควรถือเอา
       มหาปราสาทแม้เหล่าใด ที่มีทรวดทรงเป็นศาลาหลังเดียว ๒ หลัง ๓ หลัง และ ๔ หลัง ภิกษุล้างเท้าในโอกาสหนึ่งแล้วเข้าไป อาจเดินเวียนรอบไปได้ในทุกที่ทุกแห่ง แม้ในมหาปราสาทเหล่านั้น ภิกษุย่อมไม่พ้นจากสหเสยยาบัติ ถ้าว่ามหาปราสาทเป็นที่อันเขาสร้างกำหนดอุปจารไว้ในที่นั้นๆ เป็นอาบัติเฉพาะในที่มีอุปจารเดียวกันเท่านั้น
       พวกช่างทำกำแพงกั้นในท่ามกลางแห่งมณฑปซึ่งมีหลังคาฉาบปูนขาวประกอบด้วยประตู ๒ ช่อง อนุปสัมบันเข้าไปทางประตูหนึ่ง นอนอยู่ในเขตหนึ่ง และภิกษุนอนอยู่ในเขตหนึ่ง ไม่เป็นอาบัติ ที่กำแพงมีช่อง แม้พอสัตว์ดิรัจฉานมีเหี้ยเป็นต้น เข้าไปได้, พวกเหี้ยนอนอยู่ในเขตหนึ่ง, ไม่เป็นอาบัติเหมือนกัน เพราะเรือนไม่ชื่อว่ามีอุปจารเดียวกับด้วยช่อง, ถ้าว่าพวกช่างเจาะตรงกลางกำแพง แล้วประกอบประตูไว้ เป็นอาบัติเพราะเป็นที่มีอุปจารเดียวกัน, ภิกษุทั้งหลายปิดบานประตูนั้นแล้วนอน เป็นอาบัติเหมือนกัน เพราะการปิดประตูเรือนจะชื่อว่ามีอุปจารต่างกัน หรือประตูจะชื่อว่าไม่ใช่ประตูหามิได้เลย เพราะบานประตูเขากระทำไว้เพื่อประโยชน์สำหรับใช้สอยด้วยการปิดเปิดได้ตามสบาย ไม่ใช่เพื่อต้องการจะตัดการใช้สอย ก็ถ้าว่าภิกษุทั้งหลายเอาพวกอิฐปิดประตูนั้นซ้ำอีก ไม่จัดว่าเป็นประตู ย่อมตั้งอยู่ในภาวะที่มีอุปจารต่างๆ กันตามเดิมนั้นแล
       เรือนเจดีย์มีหน้ามุขยาว บานประตูบานหนึ่งอยู่ด้านใน บานหนึ่งอยู่ด้านนอก อนุปสัมบันนอนในระหว่างประตูทั้ง ๒ ย่อมทำให้เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้นอนภายในเรือนเจดีย์ เพราะมีอุปจารเดียวกัน
       มีคำทักท้วงว่า ในคำว่า ทีฆมุขํ เป็นต้นนั้น อาจารย์ผู้ทักท้วงท่านใดพึงมีความประสงค์ดั่งนี้ว่า ชื่อว่า ความเป็นที่มีอุปจารเดียวกัน และมีอุปจารต่างกันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในอุทโทสิตสิกขาบท, แต่ในสิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำเพียงเท่านี้ว่า ที่ชื่อว่า ที่นอน ได้แก่ ที่นอนอันเขามุงทั้งหมด บังทั้งหมด มุงโดยมาก บังโดยมาก ดังนี้เท่านั้น, และห้องที่ปิดประตูแล้ว จัดว่าบังทั้งหมดเหมือนกัน;  เพราะเหตุนั้น ในเรือนแห่งเจดีย์นั้นจึงเป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้นอนร่วมกับอนุปสัมบันผู้นอนภายในเท่านั้น ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้นอนร่วมกับอนุปสัมบันผู้นอนภายนอก
       อาจารย์ผู้ท้วงนั้น อันสกวาทีพึงกล่าวค้านอย่างนี้ว่า ก็ในเรือนแห่งเจดีย์ที่ไม่ปิดประตู เหตุไรจึงเป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้นอนร่วมกับอนุปสัมบันผู้นอนในภายนอกเล่า?
       อาจารย์ผู้ท้วงจะพึงเฉลยว่า เพราะหน้ามุขกับห้องเป็นที่มุงทั้งหมด
       สกวาทีถามว่า ก็เมื่อปิดห้องแล้ว หลังคารื้อออกได้หรือ?
       อาจารย์ผู้โจทก์เฉลยว่า รื้อออกไม่ได้, เพราะหน้ามุขกับห้องบังทั้งหมดจึงรื้อไม่ได้
       สกวาทีถามว่า ผนังกั้น (หน้ามุข) รื้อออกได้หรือ?
       อาจารย์ผู้โจทก็จักกล่าวแน่นอนว่า รื้อออกไม่ได้ (เพราะ) อุปจารกั้นไว้ด้วยบานประตู อาจารย์ผู้โจทก์จักดำเนินไปไกลแสนไกล โดยนัยอย่างนี้ แล้วจักวกกลับมาหาความมีอุปจารเดียวกัน และอุปจารต่างกันนั่นแหละอีก
       อีกนัยหนึ่ง ถ้าหากว่า เนื้อความจะพึงเป็นอันเข้าใจได้ง่ายด้วยเหตุว่าสักว่าพยัญชนะอย่างเดียวไซร้, ที่นอนมุงด้วยเครื่องมุง ๕ ชนิด ชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น จึงจะจัดเป็นที่นอนได้ ตามพระบาลีที่ว่ามุงทั้งหมด, ที่นอนมุงด้วยเครื่องมุงอย่างอื่นไม่ใช่, และเมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ไม่พึงเป็นอาบัติในที่นอนซึ่งมุงด้วยไม้กระดานเป็นต้น เพราะไม่มีความเป็นอาบัตินั้น สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้นแหละจะเสียประโยชน์อันนั้นไปหรือไม่ก็ตามที : ทำไมจะไปถือเอาคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไว้เล่า? หรือว่าใครเล่ากล่าวว่า ควรเชื่อถือถ้อยคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไว้ จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในอนิยตสิกขาบททั้งสองว่า อาสนะ ที่ชื่อว่ากำบัง คือ เป็นอาสนะที่เขากำบังด้วยฝา บานประตู เสื่อลำแพน ม่านบัง ต้นไม้ หรือฉาง อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
       เพราะฉะนั้น ในอนิยตสิกขาบทนั้น ท่านถือเอาอาสนะที่เขากำบังด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉันใด, ถึงสิกขาบทนี้ บัณฑิตก็พึงถือเอาเสนาสนะนั้นฉันนั้น เพราะเหตุนั้น เสนาสนะใดๆ จะเล็กหรือใหญ่ก็ตามที เกี่ยวเนื่องหรือไม่เกี่ยวเนื่องด้วยวัตถุอื่น ยาวหรือกลม หรือ ๔ เหลี่ยมจัตุรัสก็ตาม มีพื้นชั้นเดียวหรือมีพื้นมากชั้นก็ตาม ซึ่งมีอุปจารเดียวกัน, เป็นสหเสยยาบัติในเสนาสนะนั้นๆ ทั้งหมด ซึ่งมุงทั้งหมด หรือมุงโดยมาก ด้วยเครื่องกำบังอย่างใดอย่างหนึ่งแล
       ในคำว่า มุงกึ่งหนึ่ง บังกึ่งหนึ่ง ต้องทุกกฎนี้ ในมหาปัจจรีก็กล่าวว่าเป็นทุกกฎเหมือนกัน แม้ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า มุงทั้งหมด บังกึ่งหนึ่ง แต่ในมหาอรรถกถากล่าวว่า ในเสนาสนะที่มุงทั้งหมด บังโดยมาก เป็นปาจิตตีย์, ในเสนาสนะมุงทั้งหมด บังกึ่งหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์, มุงโดยมาก บังกึ่งหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์, บังทั้งหมด มุงโดยมาก เป็นปาจิตตีย์, บังทั้งหมด มุงกึ่งหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์, บังโดยมาก มุงกึ่งหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์, เป็นปาจิตตีย์ ๗ ตัว รวมกับปาจิตตีย์ที่ตรัสไว้ในบาลี (ในมหาอรรถกถา) กล่าวว่า ในเสนาสนะ มุงทั้งหมด บังเล็กน้อย เป็นทุกกฎ, มุงโดยมาก บังเล็กน้อย เป็นทุกกฎ, บังทั้งหมด มุงเล็กน้อย เป็นทุกกฎ, บังโดยมาก มุงเล็กน้อย เป็นทุกกฎ, เป็นทุกกฎ ๕ ตัว รวมกับทุกกฎในบาลี ในเสนาสนะที่มุงกึ่งหนึ่ง บังเล็กน้อย เป็นอนาบัติ, บังกึ่งหนึ่ง มุงเล็กน้อย เป็นอนาบัติ, มุงเล็กน้อย บังเล็กน้อย เป็นอนาบัติ
       ก็ในคำว่า ในสถานที่มุงทั้งหมด ไม่บังทั้งหมด นี้  ท่านกล่าวว่า มีความประสงค์เอาเปนัมพมณฑปวรรณ พื้นดินย่อมไม่ถึงอันนับว่าเป็นผนังกั้นได้ ฉันใด, แม้ด้วยคำว่า ในที่มุงทั้งหมด ไม่บังทั้งหมดนี้ บัณฑิตก็พึงทราบคำว่า พื้นดินไม่ถึงอันนับว่าเป็นผนังกั้นได้นี้ ฉันนั้น บทที่เหลือมีอรรถตื้นทั้งนั้นแล
       ๓.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เกิดขึ้นทางกาย ๑  ทางกายกับจิต ๑  เป็น กิริยา อจิตตกะ ปัณณัติติวัชชะ กายกรรม มีจิต ๓


คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
           ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
           (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 มิถุนายน 2560 16:32:04

ปาจิตตีย์ มุสาวาทวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๕๕)
ภิกษุนอนในที่มุงบังอันเดียวกันกับผู้หญิง แม้คืนแรก ต้องปาจิตตีย์

      พระอนุรุทธะเดินทางไปพระนครสาวัตถี ในเวลาเย็นท่านเข้าไปในหมู่บ้าน มีสตรีผู้หนึ่งจัดบ้านพักไว้สำหรับอาคันตุกะ ท่านเข้าไปหาสตรีนั้นกล่าวว่า ถ้าเธอไม่หนักใจ อาตมาขอพักแรมในเรือนพักสักคืนหนึ่ง สตรีนั้นกล่าวว่านิมนต์พักเถิดเจ้าข้า ต่อมาพวกคนเดินทางได้เข้ามาขอพักด้วย นางบอกให้พวกเขาไปขอพระอนุรุทธะพัก ท่านได้อนุญาตแล้ว
       นางมีจิตปฏิพัทธ์ในพระอนุรุทธะ จึงเข้าไปหาพระอนุรุทธะเรียนว่า ในที่นี้ปะปนกัน จักพักผ่อนไม่สบาย ขอให้ไปพักที่ใหม่ที่นางจัดให้ เมื่อพระอนุรุทธะเข้าไปในห้องที่นางจัดให้ นางได้เข้าไปหาพูดคุยชักชวนให้พระอนุรุทธะชมรูปร่างของนาง และขอเป็นภรรยาของพระอนุรุทธะ ท่านได้นั่งสำรวมอินทรีย์ไม่แลดู แม้นางจะเปลื้องผ้าทั้งหมดก็ตาม นางได้เห็นถึงความอัศจรรย์ สำนึกผิดขอขมาโทษต่อพระอนุรุทธะ ขอให้ท่านอภัยให้ พระอนุรุทธะได้ให้อภัยนาง
       รุ่งขึ้น นางได้ถวายภัตตาหารเช้าแก่พระอนุรุทธะ ท่านได้แสดงธรรมแก่นาง นางได้ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดชีวิต  เมื่อท่านไปถึงนครสาวัตถีได้แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นแก่พวกภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้ตำหนิติเตียนท่านว่า นอนร่วมกับมาตุคาม... กราบทูลพระศาสดา... ทรงมีพระบัญญัติว่า...
       “อนึ่ง ภิกษุใด สำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคาม เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      -ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ โดยที่สุดแม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น
      -บทว่า ร่วม คือ ด้วยกัน
      -ที่ชื่อว่า การนอน ได้แก่ ภูมิสถานอันเป็นที่นอน อันเขามุงทั้งหมด บังทั้งหมด มุงโดยมาก บังโดยมาก
      -คำว่า สำเร็จการนอน ความว่า เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว มาตุคามนอนแล้ว ภิกษุนอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ภิกษุนอนแล้ว มาตุคามนอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ หรือนอนทั้งสอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ลุกขึ้นแล้ว กลับนอนอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
       ๑.มาตุคาม  ภิกษุรู้ว่าเป็นมาตุคาม สำเร็จการนอนร่วม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒.มาตุคาม ภิกษุสงสัย แล้วสำเร็จการนอนร่วม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓.มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่ามิใช่มาตุคาม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔.ในสถานที่มุงกึ่ง บังกึ่ง ภิกษุสำเร็จการนอนร่วม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๕.ภิกษุสำเร็จการนอนร่วมกับหญิงยักษ์ หญิงเปรต บัณเฑาะก์ก็ดี สัตว์ดิรัจฉานตัวเมียก็ดี ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖.มิใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่ามาตุคาม... ต้องอาบัติทุกกฏ
       ๗.มิใช่มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๘.มิใช่มาตุคาม ภิกษุรู้ว่ามิใช่มาตุคาม... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ในสถานที่มุงทั้งหมด ไม่บังทั้งหมด ๑  ในสถานที่บังทั้งหมด ไม่มุงทั้งหมด ๑  ไม่มุงโดยมาก ไม่บังโดยมาก ๑  มาตุคามนอน ภิกษุนั่ง ๑  ภิกษุนอน มาตุคามนั่ง ๑  นั่งทั้งสอง ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ.๒/๑๘๔-๑๘๕
       ๑.สตรีนางนั้นจัดสร้างสถานที่นั้นเพราะความเป็นผู้ประสงค์บุญ
       ๒.นางได้ประดับประพรมของหอม คิดว่า ไฉนหนอ เมื่อพระผู้เป็นเจ้านั้นเห็นเรา จะพึงเกิดความกำหนัด
       -กลิ่นของหอมนั้นมีแก่หญิง เหตุนั้น หญิงนั้นจึงชื่อว่า คันธคันธินี ผู้มีกลิ่นหอม
       ๓.ความผิดพลาด ชื่อว่าโทษล่วงเกิน
       สิกขาบทนี้มีความต่างจากสิกขาบทก่อน (สิกขาบทที่ ๕) คือ ในสิกขาบทก่อนเป็นอาบัติในวันที่ ๔,  ในสิกขาบทนี้เป็นอาบัติแม้ในวันแรก,  เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้สำเร็จการนอนร่วมกับนางยักษ์และนางเปรตผู้มีรูปปรากฏ (ให้เห็น) และสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เฉพาะที่เป็นวัตถุแห่งเมถุนธรรม (เฉพาะที่พอจะเสพเมถุนได้) สัตว์ดิรัจฉานตัวเมียที่เหลือเป็นอนาบัติ, แม้สมุฏฐานเป็นต้นก็เป็นเช่นเดียวกับสิกขาบทก่อนนั่นเอง      



ปาจิตตีย์ มุสาวาทวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๕๖)
ภิกษุแสดงธรรมแก่ผู้หญิงเกินกว่า ๖ คำขึ้นไป ต้องปาจิตตีย์

      ครั้งนั้นเวลาเช้า พระอุทายีเข้าไปสู่สกุลแห่งหนึ่ง เวลานั้นหญิงแม่เรือนนั่งที่ประตูเรือน หญิงสะใภ้นั่งอยู่ที่ประตูห้องนอน ท่านอุทายีเดินเข้าไปทางหญิงแม่เรือน แล้วแสดงธรรมในที่ใกล้หูหญิงแม่เรือน หญิงสะใภ้สงสัยว่าพระสมณะนี้คงเป็นชายชู้ของแม่ผัว หรือพูดเกี้ยว  จากนั้นพระอุทายีเดินเข้าไปหาหญิงสะใภ้แล้วแสดงธรรมในที่ใกล้หูอีก ฝ่ายหญิงแม่เรือนมีความสงสัยว่า พระสมณะนี้คงเป็นชายชู้ของหญิงสะใภ้ หรือคงพูดเกี้ยว เมื่อท่านอุทายีกลับไปแล้ว หญิงทั้งสองนั้นได้สอบถามกันและกันต่างทราบว่าท่านอุทายีแสดงธรรม
       สตรีทั้งสองจึงเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉน พระคุณเจ้าอุทายีจึงแสดงธรรมในที่ใกล้หูมาตุคามเล่า ธรรมดาของผู้แสดงธรรมควรจะแสดงด้วยเสียงชัดเจน เปิดเผย มิใช่หรือ?  ภิกษุทั้งหลายได้ยิน ต่างก็เพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด แสดงธรรมแก่มาตุคาม เป็นปาจิตตีย์”
       สมัยต่อมา พวกอุบาสิกาพบภิกษุทั้งหลายแล้ว อาราธนาให้แสดงธรรมเพียง ๕-๖ คำ เพราะพวกข้าพเจ้าก็สามารถจะรู้ทั่วถึงธรรม แม้ด้วยถ้อยคำเพียงเท่านี้ แต่ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ ด้วยมีพระบัญญัติห้ามไว้ พวกอุบาสิกาจึงเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล,,, ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดแสดงธรรมแก่มาตุคามยิ่งกว่า ๕-๖ คำ เป็นปาจิตตีย์”
       พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า ทรงอนุญาตให้แสดงธรรมแก่มาตุคามได้เพียง ๕-๖ คำ จึงให้บุรุษผู้ไม่รู้เดียงสานั่งใกล้ๆ แล้วแสดงธรรมเกิน ๕-๖ คำ ภิกษุทั้งหลายต่างเพ่งโทษติเตียน... แล้วกราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติ ว่า
       "อนึ่ง ภิกษุใดแสดงธรรมแก่มาตุคามยิ่งกว่า ๕-๖ คำ เว้นไว้แต่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
       -ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่หญิงยักษ์ ไม่ใช่หญิงเปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นผู้รู้เดียงสา สามารถทรายถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต ทุพภาษิต
       -บทว่า ยิ่งกว่า ๕-๖ คำ คือ เกินกว่า ๕-๖ คำ
       -ที่ชื่อว่า ธรรม ได้แก่ ถ้อยคำที่เป็นพุทธภาษิต สาวกภาษิต อิสิภาษิต เทวตาภาษิต ซึ่งประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม
       -บทว่า แสดง คือ แสดงโดยบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ บท แสดงโดยอักขระ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ อักขระ, ยกไว้แต่มีบุรุษผู้รู้ความอยู่ด้วย
       -บุรุษผู้รู้เดียงสา คือ ผู้สามารถทราบถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต ทุพภาษิต ชั่วหยาบและสุภาพ

อาบัติ
       ๑.มาตุคาม ภิกษุรู้ว่าเป็นมาตุคาม แสดงธรรมยิ่งกว่า ๕-๖ คำ เว้นไว้แต่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒.มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
       ๓.มาตุคาม ภิกษุคิดว่าไม่ใช่มาตุคาม...ต้องปาจิตตีย์
       ๔.ภิกษุแสดงธรรมแก่หญิงยักษ์ หญิงเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย มีกายคล้ายมนุษย์ ยิ่งกว่า ๕-๖ คำ เว้นไว้แต่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕.มิใช่มาตุคาม ภิกษุคิดว่าเป็นมาตุคาม... ต้องทุกกฎ
       ๖.มิใช่มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
       มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ด้วย ๑  ภิกษุแสดงเพียง ๕-๖ คำ ๑  แสดงหย่อนกว่า ๕-๖ คำ ๑  ภิกษุลุกขึ้น แล้วนั่งแสดงธรรมต่อไป ๑  มาตุคามลุกขึ้นแล้วนั่งลงอีก ภิกษุแสดงแก่มาตุคามนั้น ๑  ภิกษุแสดงแก่มาตุคามอื่น ๑  มาตุคามถามปัญหา ภิกษุกล่าวแก้ปัญหา ๑  ภิกษุแสดงเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น มาตุคามฟังอยู่ด้วย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๑๙๒-๑๙๔
       ๑.หญิงแม่เจ้าเรือน ชื่อว่า ฆรณี, หญิงสะใภ้ในเรือนนั้น ชื่อว่า ฆรสุณหา
       ๒.ในคำว่า ฉปฺปญฺจวาจาหิ พึงทราบอย่างนี้ คือ คาถาบทหนึ่ง ชื่อว่า วาจาคำหนึ่ง หากว่าภิกษุเป็นผู้ประสงค์จะกล่าวอรรถกถา หรือว่าเรื่อง มีธรรมบทและชาดกเป็นต้น จะกล่าวเพียง ๕-๖ บทเท่านั้น ควรอยู่, เมื่อจะกล่าวพร้อมด้วยบาลี พึงกล่าวธรรมอย่าให้เกิน ๖ บท อย่างนี้คือ จากพระบาลีบทหนึ่ง จากอรรถกถา ๕ บท จริงอยู่ ธรรมมีประการดังกล่าว ในปทโสธรรมจัดเป็นธรรมเหมือนกันหมด แม้ในสิกขาบทนี้
       ๓.ภิกษุนั่งบนอาสนะเดียวแสดงธรรม แม้แก่มาตุคามตั้ง ๑๐๐ คน อย่างนี้คือ แสดงแก่หญิงคนหนึ่งแล้ว แสดงแม้แก่หญิงผู้มาแล้วๆ อีก  ในอรรถกามหาปัจจรีกล่าวว่า ภิกษุกล่าวว่า อาตมาจะแสดงคาถาแก่พวกท่านคนละคาถา พวกท่านจงฟังคาถานั้น ดังนี้แล้วแสดงธรรมแก่พวกมาตุคามผู้นั่งประชุมกันอยู่ ไม่เป็นอาบัติ, ภิกษุทำความใฝ่ใจตั้งแต่แรกว่า เราจักกล่าวคาถาแก่หญิงคนละคาถา ดังนี้แล้วบอกให้รู้ก่อนแสดง สมควรอยู่
       -มาตุคามถามว่า ท่านเจ้าคะ ชื่อว่า ทีฆนิกายแสดงอรรถอะไร? ภิกษุถูกถามปัญหาอย่างนี้ แม้จะกล่าวแก้ทีฆนิกายทั้งหมด ก็ไม่เป็นอาบัติ
       ๔.สิกขาบทนี้มีธรรมโดยบทเป็นสมุฏฐาน เกิดขึ้นทางวาจา ๑  วาจากับจิต ๑  เป็นทั้งกิริยาทั้งอกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ วจีกรรม มีจิต ๓      



ปาจิตตีย์ มุสาวาทวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๕๗)
ภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมที่มีจริงแก่อนุปสัมบัน ต้องปาจิตตีย์

      ภิกษุมากรูปด้วยกัน ซึ่งเคยพบเห็นร่วมคบกันมา พากันจำพรรษาที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา  สมัยนั้นที่นั่นเกิดอัตคัดอาหาร ประชาชนหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง ต้องแจกสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์เป็นอยู่อย่างยากลำบาก ท่านพากันคิดว่า จะทำอย่างไรจึงจักเป็นผู้พร้อมเพรียง ไม่วิวาท ร่วมใจกันจำพรรษาอย่างผาสุกและไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต ภิกษุหลายรูปพากันเสนอความเห็น
       ภิกษุรูปหนึ่งเสนอว่า พวกเราจักกล่าวชมอุตริมนุสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ เช่นว่า ภิกษุรูปโน้นได้ปฐมญาน รูปโน้นได้ทุติยญาน รูปโน้นเป็นพระโสดาบัน รูปโน้นเป็นพระอรหันต์   รูปโน้นได้วิชชา ๓  รูปโน้นได้อภิญญา ๖  เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเขาจักพากันมุ่งถวายบิณฑบาต
       ที่สุดทั้งหมดได้ตกลงตามนั้น ต่างพากันกล่าวชมอุตริมนุสธรรมต่างๆ ให้คฤหัสถ์ฟัง ประชาชนพากันยินดี พากันถวายบิณฑบาตเป็นอันมาก พวกท่านมีน้ำมีนวล มีสีหน้าสดชื่น ผิวพรรณผุดผ่อง ออกพรรษาแล้วได้พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
       สมัยนั้น ในที่ประชุมมีภิกษุที่จำพรรษายังทิศต่างๆ เข้าเฝ้าด้วย ต่างมีผิวพรรณสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น ส่วนภิกษุวัดคุมุทาเป็นผู้มีน้ำมีนวล ผิวพรรณผุดผ่อง  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามกับภิกษุทั้งหลายถึงความเป็นอยู่ในพรรษาที่ผ่านมา  ภิกษุวัดคุมุทาได้กราบทูลเรื่องให้ทรงทราบ ทรงตำหนิ แล้วบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด บอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน เป็นปาจิตตีย์ เพราะมีจริง”

อรรถาธิบาย

       -ที่ชื่อว่า อนุปสัมบัน ความว่า ยกเว้นภิกษุ ภิกษุณี นอกนั้นชื่อว่า อนุปสัมบัน
       -ที่ชื่อว่า อุตริมนุสธรรม ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ การทำมรรคให้เกิด การทำผลให้แจ้ง การละกิเลส ความเปิดจิต ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า
       -ที่ชื่อว่า ฌาน ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
       -ที่ชื่อว่า วิโมกข์ ได้แก่ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์
       -ที่ชื่อว่า สมาธิ ได้แก่ สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิ
       -ที่ชื่อว่า สมาบัติ ได้แก่ สุญญตสมาบัติ อนิมิตตสมาบัติ อัปปณิหิตสมาบัติ
       -ที่ชื่อว่า ฌาณ ได้แก่ วิชชา ๓
       -ที่ชื่อว่า การทำมรรคให้เกิด ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
       - ที่ชื่อว่า การทำผลให้แจ้ง ได้แก่ การทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล
       -ที่ชื่อว่า การละกิเลส ได้แก่ การละราคะ โทสะ โมหะ
       -ที่ชื่อว่า ความเปิดจิต ได้แก่ ความเปิดจิตจากราคะ โทสะ โมหะ
       -ที่ชื่อว่า ความยินดียิ่งในเรือนว่างเปล่า ได้แก่ ความยินดีในเรือนอันว่างเปล่าด้วยปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

อาบัติ
       ๑.บอกแก่อนุปสัมบัน เช่นว่า ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานอยู่ เป็นต้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒ประสงค์จะบอกแก่อนุปสัมบันอย่างหนึ่ง ไพล่ไปบอกอีกอย่างหนึ่ง หากเขาเข้าใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ หากเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฎ (เช่น ภิกษุประสงค์จะบอกว่า ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว แต่กลับบอกว่า ข้าพเจ้าเข้าทุตยิฌานแล้ว ดังนี้เป็นต้น)
       ๓.บอกโดยไม่ตรง (บอกอ้อม, บอกเป็นนัยๆ) แก่อนุปสัมบัน เช่นว่า ภิกษุใดอยู่ในวิหารของท่าน ภิกษุนั้นเข้าแล้ว เข้าอยู่ เข้าได้แล้ว เป็นผู้ได้ เป็นผู้ชำนาญ เป็นผู้ทำให้แจ้งซึ่งปฐมฌานเป็นต้น ต้องอาบัติทุกกฎ

อนาบัติ
       ภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมที่มีจริงแก่อุปสัมบัน ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ ๒/๒๔๔-๒๔๖
       ๑.จักกล่าวส่วนที่แปลกไปจากปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ เท่านั้น
       -ในปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ พวกภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมอันไม่มีจริง, ในสิกขาบทนี้บอกอุตริมนุสธรรมที่มีอยู่จริง, ปุถุชนทั้งหลายบอกอุตริมนุสธรรมแม้จะมีจริง แต่พระอริยเจ้าทั้งหลายไม่บอกเลย เพราะปยุตตวาจา (วาจาที่เปล่งเพราะเหตุแห่งปากท้อง) ไม่มีแก่พระอริยเจ้าทั้งหลาย แต่เมื่อผู้อื่นบอกคุณของตน ท่านก็ไม่ได้ห้าม, และท่านก็ยินดีในปัจจัยที่ได้มา เพราะยังไม่มีสิกขาบทนี้ในขณะนั้น
       -พระองค์ไม่ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นว่า โมฆปุริสา (โมฆบุรุษ – บุรุษเปล่า) เพราะว่ามีภิกษุอริยะปนอยู่ด้วยในการกล่าวคุณวิเศษนี้
       -พระอริยเจ้าทั้งหลายที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ถูกพวกชาวบ้านเลื่อมใส เพราะภิกษุปุถุชนพากันไปบอกว่าท่านได้คุณวิเศษต่างๆ เช่น ท่านรูปโน้นได้ปฐมฌานเป็นต้น, พวกชาวบ้านจึงมากล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นโสดาบันหรือ ดังนี้, ท่านมีปกติเห็นว่าไม่มีโทษ ในเมื่อสิกขาบทนี้พระองค์ยังไมได้ทรงบัญญัติ จึงปฏิญาณการบรรลุคุณวิเศษของตนและของภิกษุปุถุชนเหล่อื่นด้วยจิตที่บริสุทธิ์
       และท่านเหล่านั้น เมื่อปฏิญาณอย่างนี้ แม้ยินดีอยู่ซึ่งบิณฑบาตที่ภิกษุปุถุชนเหล่าอื่นกล่าวคุณแห่งอุตริมนุสธรรม เพราะเหตุแห่งท้องเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แม้ว่าจะเป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ แต่ก็เป็นเหมือนไม่บริสุทธิ์ เพราะยินดีในปัจจัยที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงตำหนิรวมกันไปว่า ไฉน? พวกเธอจึงได้กล่าวชมอุตริมนุสธรรมของกันและกัน แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งท้องเล่า ดังนี้
       ๒.ในปาราชิกข้อที่ ๔ เป็นปาราชิกกับถุลลัจจัย, ในสิกขาบทนี้เป็นปาจิตตีย์และทุกกฎ เพราะมีคุณอยู่จริง
       -ภิกษุผู้ถูกรบเร้าถามถึงคุณวิเศษ ในเวลาจะปรินิพพาน ในกาลอื่น จะบอกคุณที่มีจริงแก่อุปสัมบัน ก็ควร,  อนึ่ง จะบอกคุณ คือ สุตะ ปริยัติ และศีล แม้แก่อนุปสัมบัน ก็ควร
       -ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ
       -สิกขาบทนี้ อนาบัติไม่มีคนวิกลจริต (คนบ้า) เพราะผู้ทีมีคุณวิเศษจริง ย่อมไม่เป็นบ้า
       ๓.สิกขาบทนี้เกิดโดยสมุฏฐาน ๓ คือ ทางกาย ๑ ทางวาจา ๑ ทางกายกับวาจา ๑ (ไม่มีจิต เพราะจิตที่ท่านคิดจะล่วงละเมิดย่อมไม่มี เพราะท่านเหล่านี้ย่อมเป็นผู้มีความเคารพในสิกขาบทยิ่ง) เป็นอจิตตกะ, ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๒ คือ โดยเป็นกุศลจิต และอัพยากตจิต (มหากิริยา)


ปาจิตตีย์ มุสาวาทวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๕๘)
ภิกษุบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่นแก่อนุปสัมบัน ต้องปาจิตตีย์

พระอุปนันทศากยบุตรได้ทะเบาะกับพระฉัพพัคคีย์แล้ว  ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทะต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิ (ทำสุกกะเคลื่อน) ท่านได้ขอปริวาสเพื่อให้สงฆ์ให้ปริวาส ขณะที่ทานอยู่ปริวาสจึงต้องนั่งท้ายอาสนะในโรงภัต พระฉัพพัคคีย์ได้กล่าวกับอุบาสกทั้งหลายว่า “ท่านพระอุปนันทศากยบุตร พระประจำตระกูลของพวกท่าน ที่พวกท่านสรรเสริญ ได้พยายามปล่อยอสุจิด้วยมือ ท่านต้องอาบัติ ท่านจึงต้องอยู่ปริวาส จึงนั่งท้ายอาสนะ"
       บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย ต่างพากันเพ่งโทษรังเกียจ ได้กราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด บอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบัน เว้นไว้แต่ภิกษุผู้ได้รับสมมติ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
       -บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่าภิกษุเพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ
       -บทว่า ของภิกษุ คือ ของภิกษุรูปอื่น
       -อาบัติที่ชื่อว่า ชั่วหยาบ ได้แก่ ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓
       -ที่ชื่อว่า อนุปสัมบัน คือ เว้นภิกษุและภิกษุณี นอกนั้นชื่อว่า อนุปสัมบัน
       -บทว่า บอก คือ บอกแก่สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต (มีสามเณรเป็นต้น)
       -บทว่า เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ คือ ยกเว้นแต่ภิกษุผู้ที่สงฆ์สมมติ (ให้เป็นผู้บอกได้)
       ภิกษุผู้ได้รับสมมติพึงบอกตามที่สงฆ์กำหนด คือ กำหนดอาบัติและกำหนดสกุล สงฆ์กำหนดอาบัติว่า พึงบอกตามจำนวนอาบัติเท่านี้ ภิกษุนั้นบอกอาบัติอื่นนอกจากที่สงฆ์กำหนด เป็นอาบัติปาจิตตีย์, สงฆ์กำหนดว่า พึงบอกในสกุลมีจำนวนเท่านี้ ภิกษุนั้นบอกในสกุลอื่นนอกจากที่สงฆ์กำหนด ต้องอาบัติปาจิตตีย์, สงฆ์กำหนดอาบัติและกำหนดสกุลไว้ว่า พึงบอกตามจำนวนอาบัติเท่านี้ ในสกุลมีจำนวนเท่านี้ ภิกษุนั้นบอกอาบัติและสกุลนอกจากที่สงฆ์กำหนดให้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์, หากสงฆ์ไม่ได้กำหนดอาบัติและไม่ได้สกุล ภิกษุนั้นบอก ไม่ต้องอาบัติ

อาบัติ
       ๑.อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุรู้ว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ บอกแก่อนุปสัมบัน เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒.อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓.อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุคิดว่ามิใช่อาบัติชั่วหยาบ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔.ภิกษุบอกอาบัติไม่ชั่วหยาบ ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕.ภิกษุบอกอัชฌาจารที่ชั่วหยาบก็ตาม ไม่ชั่วหยาบก็ตาม แก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖.อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุคิดว่าชั่วหยาบ... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๗.อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๘.อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุรู้ว่าอาบัติไม่ชั่วหยาบ... ต้องอาบัติทุกกฎ

อนาบัติ
       ภิกษุบอกวัตถุ ไม่บอกอาบัติ ๑ ภิกษุบอกอาบัติ ไม่บอกวัตถุ ๑ ภิกษุได้รับสมมติ ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ ๒/๒๕๑-๒๕๓
       ๑.อาบัติที่ชั่วหยาบ ได้แก่ ปาราชิก ๔ และสังฆาทิเสส ๑๓ แต่ในสิกขาบทนี้ทรงประสงค์เอาสังฆาทิเสส
       ๒.ในการสมมติภิกษุนั้น สงฆ์ทำด้วยต้องการอนุเคราะห์ เมื่อเห็นภิกษุผู้ต้องอาบัติเนืองๆ แล้ว อปโลกน์ ๓ ครั้ง ทำด้วยความเป็นผู้เสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่ภิกษุนั้นว่า ภิกษุ (ผู้ต้องสังฆาทิเสส) นี้ จักถึงความสังวรต่อไป แม้ด้วยความละอายและความเกรงกลัวในคนเหล่าอื่นอย่างนี้
       ๓.อาบัติไม่ชั่วหยาบ ได้แก่ ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต (กองอาบัติ ๕) ภิกษุบอกเป็นทุกกฎ
       ๔.สังฆาทิเสส ๕ สิกขาบทต้น ชื่อว่า อัชฌาจารชั่วหยาบ ที่เหลือชื่อ อัชฌาจารไม่ชั่วหยาบ
       ๕.ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้บอกอย่างนี้ว่า “ภิกษุนี้ต้องสุกกวิสัฏฐิ (จงใจให้อสุจิเคลื่อน) ต้องกายสังสัคคะ ต้องทุฏฐุลละ ต้องอัตตกามะ” เพราะบอกวัตถุ แต่ไม่บอกอาบัติ
        และไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้บอกอย่างนี้ว่า “ภิกษุนี้ต้องปาราชิก ต้องสังฆาทิเสส ต้องถุลลัจจัย ต้องปาจิตตีย์” เป็นต้น เพราะบอกอาบัติแต่ไม่บอกวัตถุ
       แต่เมื่อภิกษุบอกเชื่อมต่ออาบัติกับวัตถุโดยนัยเป็นต้น “ภิกษุนี้ปล่อยอสุจิ ต้องสังฆาทิเสส” ดังนี้เท่านั้น จึงเป็นอาบัติ
       ๖.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นจิตตกะ โลกวัชชะ กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)          



คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
           ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
           (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 กันยายน 2560 11:57:45

ปาจิตตีย์ มุสาวาทวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๕๙)
ภิกษุขุดเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นขุดก็ดี ซึ่งแผ่นดิน
ต้องปาจิตตีย์

      พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวี ช่วยกันทำนวกรรม (ก่อสร้าง) ขุดเองบ้าง ให้คนอื่นขุดบ้าง ซึ่งปฐพี คนทั้งหลายพากันเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ขุดก็ดี ให้ขุดก็ดี ซึ่งปฐพี เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
       -บทว่า อนึ่ง...ใด ความว่า ผู้ใดคือผู้เช่นใด...
       -ที่ชื่อว่า ปฐพี ได้แก่ ปฐพี ๒ อย่าง คือ ปฐพีแท้ และปฐพีไม่แท้
       -ที่ชื่อว่า ปฐพีแท้ คือ มีดินร่วนล้วน มีดินเหนียวล้วน มีหินน้อย มีกรวดน้อย กระเบื้อง แร่ ทรายน้อย มีดินร่วนมาก มีดินเหนียวมาก แม้ดินที่ยังไม่ได้เผาไฟก็เรียกว่า ปฐพีแท้
       กองดินร่วนก็ดี กองดินเหนียวก็ดี ที่ฝนตกรดเกิน ๔ เดือนมาแล้ว แม้นี้ก็เรียกว่า ปฐพีแท้
       -ที่ชื่อว่า ปฐพีไม่แท้ คือ เป็นหินล้วน กรวดล้วน กระเบื้องล้วน แร่ล้วน ทรายล้วน มีดินร่วนน้อย มีดินเหนียวน้อย มีหินมาก มีกรวด กระเบื้อง แร่ ทรายมาก แม้ดินที่เผาไปแล้วก็เรียกว่า ปฐพีไม่แท้
       กองดินร่วนก็ดี กองดินเหนียวก็ดี ที่ฝนตกรดยังหย่อนกว่า ๔ เดือน แม้นี้ก็เรียกว่า ปฐพีไม่แท้
       -บทว่า ขุด คือขุดเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์, ให้ผู้อื่นขุดต้องอาบัติปาจิตตีย์, สั่งครั้งเดียว เขาขุดแม้หลายครั้ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
       ๑.ปฐพี ภิกษุรู้ว่าเป็นปฐพี ขุดเองก็ดี ใช้ให้เขาขุดก็ดี ทำลายเองก็ดี ให้เขาทำลายก็ดี เอาไฟเผาก็ดี ใช้ให้เขาเผาไฟก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒.ปฐพี ภิกษุสงสัย ขุดเองก็ดี...ต้องทุกกฏ
       ๓.ปฐพี ภิกษุคิดว่ามิใช่ปฐพี ขุดเองก็ดี...ไม่ต้องอาบัติ
       ๔.มิใช่ปฐพี ภิกษุสงสัย...ต้องอาบัติทุกกฏ
       ๕.มิใช่ปฐพี ภิกษุรู้ว่ามิใช่ปฐพี...ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุกล่าวว่า ท่านจงรู้ดินนี้ ท่านจงให้ดินนี้ ท่านจงนำดินนี้มา เรามีความต้องการด้วยดินนี้ ท่านจงทำดินนี้ให้เป็นกัปปิยะ ดังนี้ ๑    ภิกษุไม่ได้แกล้ง ๑  ไม่มีสติ ๑  ไม่รู้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๒/๒๕๘-๒๖๕
       ๑.ปฐพีแท้มีหินน้อย คือ มีหินเกินกว่าขนาดกำมือหนึ่ง, กรวดก็มีขนาดกำมือหนึ่ง, ใน ๓ ส่วน ๒ ส่วน เป็นดินร่วนเสีย ส่วนหนึ่งเป็นหิน เป็นต้น
       - ปฐพีแท้มีก้อนกรวดเป็นต้นมากกว่า ได้ยินว่า ในหัตถิกุจฉิประเทศ พวกภิกษุให้ขนดินมาเต็มกระบุงหนึ่ง แล้วล้างในลำธาร รู้ว่าเป็นปฐพีที่มีกรวดโดยมาก จึงขุดสระโบกขรณีเสียเอง
       ๒.เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ครั้งที่ขุด, ถึงแม้ว่าผู้รับสั่งขุดตลอดวันก็เป็นปาจิตตีย์ตัวเดียวเท่านั้นแก่ผู้สั่ง, แต่ถ้าผู้รับสั่งเป็นคนเกียจคร้าน ผู้สั่งต้องสั่งบ่อยๆ เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้สั่งให้เขาขุดทุกๆ คำ
       ๓.ภิกษุกล่าวว่า เธอจงขุดสระโบกขรณี ดังนี้ ควรอยู่ เพราะว่าสระที่ขุดแล้วเท่านั้นจึงชื่อว่าเป็นสระโบกขรณี  ฉะนั้นโวหารนี้เป็นกัปปิยโวหาร, แม้ในคำเป็นต้นว่า จงขุดบึง บ่อ หลุม ดังนี้ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน แต่จะกล่าวว่า จงขุดโอกาสนี้ จงขุดสระโบกขรณีในโอกาสดังนี้ ไม่ควร, จะกล่าวไม่กำหนดแน่นอนลงไปว่า จงขุดเหง้า จงขุดราก ดังนี้ ควรอยู่ จะกล่าวว่า จงขุดเถาวัลย์นี้ จงขุดเหง้า หรือรากในโอกาสนี้ ดังนี้ ไม่สมควร, เมื่อชำระสระโบกขรณี อาจจะเอาหม้อวิดเปือกตมเหลวๆ ออก ควรอยู่, จะนำเปือกตมที่ข้นออก ไม่ควร, เปือกตมแห้งเพราะแสงแดด แตกระแหง ในเปือกตมแห้งนั้น ส่วนใดไม่เนื่องกับแผ่นดินในเบื้องล่าง จะนำออกก็ควรอยู่, ชื่อว่าระแหง (แผ่นคราบน้ำเพราะน้ำแห้ง) มีอยู่ในที่น้ำไหลไป ย่อมไหว้เพราะถูกลมพัด จะนำเอาระแหงนั้นออก ควรอยู่, ฝั่ง (ตลิ่ง) แห่งสระโบกขรณีเป็นต้น พังตกลงไปริมน้ำ ถ้าถูกฝนตกรดต่ำกว่า ๔ เดือน จะฟันออก หรือทุบออก ก็ควร, ถ้าเกิน ๔ เดือน ไม่ควร, แต่ถ้าตกลงในน้ำเลย แม้เมื่อฝนตกรดเกิน ๔ เดือนแล้ว ก็ควร เพราะน้ำ (ฝน) ตกลงไปในน้ำเท่านั้น
       -ภิกษุทั้งหลายขุด (เจาะ) สะพังน้ำ (ตะพังหิน) บนหินดาด, ถ้าแม้นว่าผงละเอียดตกลงไปในตะพังหินนั้นตั้งแต่แรกทีเดียว ผงละเอียดนั้นถูกฝนตกรด ต่อล่วงไปได้ ๔ เดือน จึงถึงอันนับว่าเป็นอกัปปิยปฐพี, เมื่อน้ำงวดแล้ว (แห้ง) พวกภิกษุชำระตะพังหิน จะแยกผงละเอียดนั้นออก ไม่ควร, ถ้าเต็มด้วยน้ำอยู่ก่อน ผงละอองตกลงไปภายหลัง จะแยกผงละอองนั้นออก ควรอยู่, แท้จริง แม้เมื่อฝนตกในตะพังหินนั้น น้ำย่อมตกลงในน้ำเท่านั้น ผงละเอียดมีอยู่บนพวกหินดาด ผงละเอียดนั้นเมื่อถูกฝนชะอยู่ก็ติดกันเข้าอีก จะแยกผงละอองแม้นั้นออกโดยล่วง ๔ เดือนไป ไม่ควร
       -จอมปลวกเกิดขึ้นที่เงื้อม เป็นเอง ไม่มีคนสร้าง จะแยกออกตามสะดวก ควรอยู่, ถ้าจอมปลวกเกิดขึ้นในที่แจ้ง ถูกฝนตกรดต่ำกว่า ๔ เดือนเท่านั้น จึงควร, แม้ในดินเหนียวของตัวปลวกที่ขึ้นไปบนต้นไม้เป็นต้น ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน, แม้ในขุยไส้เดือน ขุยหนู และระแหงกีบโคเป็นต้น ก็เช่นเดียวกัน, เปือกตมที่ถูกตัดด้วยกีบฝูงโค (โคลนรอยกีบฝูงโค) เรียกว่า ระแหงกีบโค, ก็คำว่า ระแหงกีบโคนั้นติดกับแผ่นดินพื้นล่าง แม้ในวันเดียว จะแยกออก ก็ไม่ควร, ภิกษุถือเอาก้อนดินเหนียวที่ถูกไถตัด แม้ในที่ที่ชาวนาไถไว้ก็มีนัยอย่างนี้
       -เสนาสนะเก่า ไม่มีหลังคา หรือมีหลังคาพังก็ตาม ถูกฝนรดเกิน ๔ เดือน ย่อมถึงซึ่งอันนับว่าปฐพีแท้เหมือนกัน ภิกษุจะถือเอากระเบื้องมุงหลังคา หรือเครื่องอุปกรณ์ มีกลอนเป็นต้น ที่เหลือจากเสนาสนะเก่านั้น ด้วยสำคัญว่าเราจะเอาอิฐ จะเอากลอน จะเอาเชิงฝา จะเอากระดานปูพื้น จะเอาเสาหิน ดังนี้ ควรอยู่, ดินเหนียวตกลงติดกับกระเบื้องหลังคาเป็นต้นนั้น ไม่เป็นอาบัติ, แต่เป็นอาบัติแก่ภิกษุเอาดินเหนียวที่ฉาบฝา ถ้าดินก้อนใดๆ ไม่เปียกชุ่ม ภิกษุถือเอาดินก้อนนั้นๆ ไม่เป็นอาบัติ
       -ภายในเรือนมีกองดิน เมื่อกองดินนั้นถูกฝนตกรดเสียวันหนึ่ง ชนทั้งหลายจึงมุงเรือน, ถ้ากองดินเปียกหมดต่อล่วงไปได้ ๔ เดือน กลายเป็นปฐพีแท้เหมือนกัน, ถ้าส่วนเบื้องบนแห่งกองดินเท่านั้นเปียก ภายในไม่เปียก จะใช้ให้พวกอกัปปิยการกคุ้ยเอาดินเท่าจำนวนที่เปียกออกเสีย ด้วยกัปปิยโวหาร แล้วใช้สอยดินส่วนที่เหลือตามสะดวก ก็ควร, จริงอยู่ ดินที่เปียกน้ำแล้วจับติดเนื่องเป็นอันเดียวกันนั่นแล จัดเป็นปฐพีแท้ นอกนี้ไม่ใช่
       -กำแพงดินเหนียวอยู่ในที่แจ้ง ถ้าถูกฝนตกรดเกิน ๔ เดือน ย่อมถึงอันนับว่าปฐพีแท้ แต่ภิกษุจะเอามือเปียกจับต้องดินร่วนอันติดอยู่ที่ปฐพีแท้นั้น ควรอยู่, ถ้าหากว่าเป็นกำแพงอิฐตั้งอยู่ในฐานเป็นเศษกระเบื้องอิฐเสียโดยมาก จะคุ้ยเขี่ยออกตามสบายก็ได้
       -ภิกษุจะโยกเอาเสามณฑปที่ตั้งอยู่ในที่แจ้งไปทางโน้นทางนี้ ทำให้ดินแยกออก ไม่ควร, ยกขึ้นตรงๆ เท่านั้น จึงควร, สำหรับภิกษุผู้จะถือเอาต้นไม้แห้งหรือตอไม้แห้ง แม้อย่างอื่นก็นัยนี้แล, ภิกษุทั้งหลายเอาพวกไม้ท่อนงัดหิน หรือต้นไม้ กลิ้งไปเพื่อก่อสร้าง แผ่นดินในที่กลิ้งไปแตกเป็นรอย ถ้าภิกษุทั้งหลายมีจิตบริสุทธิ์กลิ้งไป ไม่เป็นอาบัติ, แต่หากภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ใคร่จะทำลายแผ่นดินด้วยเลศนั้น เป็นอาบัติ, พวกภิกษุผู้ลากกิ่งไม้เป็นต้นไปก็ดี ผ่าฟืนบนแผ่นดินก็ดี ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน, จะตอกหรือจะเสียบวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง มีกระดูก เข็ม และหนาม เป็นต้น ลงไปในแผ่นดิน ก็ไม่ควร, แม้จะถ่ายปัสสาวะด้วยคิดว่า เราจะพังแผ่นดินด้วยกำลังแห่งสายปัสสาวะ ก็ไม่ควร, เมื่อภิกษุถ่าย ดินพัง เป็นอาบัติ, แม้จะเอาไม้กวาดครูดถู ด้วยคิดว่าเราจักทำพื้นดินที่ไม่เสมอ ดังนี้ ก็ไม่ควร, ความจริงควรจะกวาดด้วยหัวข้อแห่งวัตรเท่านั้น
       -ภิกษุบางพวก กระทุ้งแผ่นดินด้วยปลายไม้เท้า เอาหลายนิ้วหัวแม่เท้าขีดเขียน (แผ่นดิน), เดินจงกรมทำลายแผ่นดินคราแล้วคราเล่า ด้วยคิดว่า เราจักแสดงสถานที่ที่เราจงกรม ดังนี้, การกระทำเช่นนั้นไม่ควรทุกอย่าง, แต่ภิกษุผู้กระทำสมณธรรมเพื่อยกย่องความเพียร มีจิตบริสุทธิ์ จงกรม สมควรอยู่, เมื่อกระทำ (การเดินจงกรมอยู่แผ่นดิน) จะแตก ก็ไม่เป็นอาบัติ, ภิกษุทั้งหลายครูดสีที่แผ่นดิน ด้วยคิดว่าจักล้างมือ ไม่ควร, ส่วนภิกษุผู้ไม่ครูดสี แต่วางมือเปียกลงบนแผ่นดิน แล้วแตะเอาละอองไปได้อยู่, ภิกษุบางพวกอาพาธด้วยโรคคันและหิดเป็นต้น จึงครูดสีอวัยวะใหญ่น้อยลงบนที่มีตลิ่งชันเป็นต้น การทำนั้นก็ไม่สมควร
       ๔.ภิกษุขุดเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นขุดก็ดี (ซึ่งแผ่นดิน) ชั้นที่สุดด้วยปลายนิ้วเท้าบ้าง ด้วยซี่ไม้กวาดบ้าง, ภิกษุทำลายเองก็ดี ใช้ผู้อื่นทำลายก็ดี (ซึ่งแผ่นดิน) ชั้นที่สุด แม้จะเทน้ำ
       -ภิกษุเผาเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นเผาก็ดี ชั้นที่สุดแม้จะระบมบาตร, ภิกษุจุดไฟเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นจุด
       -ในที่มีประมาณเท่าใด เป็นปาจิตตีย์มีประมาณเท่านั้นตัว, ภิกษุแม้เมื่อจะระบมบาตร พึงระบมในที่เคยระบมแล้วนั่นแหละ, จะวางไฟลงบนแผ่นดินที่ไฟยังไม่ไหม้ ไม่ควร แต่จะวางไฟลงบนกระเบื้องสำหรับระบมบาตร ควรอยู่, วางไฟลงบนกองฟืน ไฟนั้นไหม้พื้นเหล่านั้น แล้วจะลุกลามเลยไปไหม้ดิน ไม่ควร, แม้ในที่มีอิฐและหินเป็นต้น ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน, จริงอยู่ ในที่แม้นั้น จะวางไฟลงบนกองอิฐเป็นต้นนั้นแล ควรอยู่, เพราะเหตุไร? เพราะอิฐเป็นต้นนั้นมิใช่เชื้อไฟ, จริงอยู่ อิฐเป็นต้นนั้นไม่ถึงอันนับว่าเป็นเชื้อแห่งไฟ จะติดไฟแม้ที่ตอไม้แห้งและต้นไม้แห้งเป็นต้น ก็ไม่ควร
       แต่ถ้าว่า ภิกษุจะติดไฟด้วยคิดว่า เราจักดับไฟที่ยังไม่ทันถึงแผ่นดินเสียก่อน แล้วจึงจักไป ดังนี้ควรอยู่, ภายหลังไม่อาจเพื่อจะดับได้ ไม่เป็นอาบัติ เพราะไม่ใช่วิสัย, ภิกษุถือคบเพลิงเดินไป เมื่อมือถูกไฟไหม้จึงทิ้งลงที่พื้น ไม่เป็นอาบัติ, ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า จะเติมเชื้อก่อไฟในทีคบเพลิงตกนั่นแหละ ควรอยู่, ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า ก็ที่มีประมาณเท่าใดในแผ่นดินซึ่งถูกไฟไหม้ ไอร้อนระอุไปถึง จะโกยที่ทั้งหมดนั้นออก ควรอยู่
       ก็ภิกษุใด ยังไม่รู้จะสีให้ไฟเกิดด้วยไม่สีไฟ เอามือหยิบขึ้นแล้วกล่าวว่า ผมจะทำอย่างไร? ภิกษุอื่นบอกว่า จงทำให้ลุกโพลงขึ้น เธอกล่าวว่า มันจะไหม้มือผม จึงบอกว่า จงทำอย่างที่มันจะไม่ไหม้, แต่ไม่พึงบอกว่า จงทิ้งลงพื้น, ถ้าว่า เมื่อไฟไหม้มือ เธอทิ้งลง ไม่เป็นอาบัติ เพราะเธอไม่ได้ทิ้งลงด้วยตั้งใจว่าเราจักเผาแผ่นดิน, ในกุรุนทีว่า ถึงจะก่อไฟในที่ไฟตกลง ก็ควร
       ๕.ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้กล่าวว่า เธอจงรู้หลุมสำหรับเสานี้, จงรู้ดินเหนียวก้อนใหญ่, จงรู้ดินปนแกลบ, จงให้ดินเหนียวก้อนใหญ่, จงให้ดินปนแกลบ, จงนำดินเหนียวมา, จงนำดินร่วนมา, ต้องการดินเหนียว, ต้องการดินร่วน, จงทำหลุมให้เป็นกัปปิยะสำหรับเสานี้, จงทำดินเหนียวนี้ให้เป็นกัปปิยะ, จงทำดินร่วนนี้ให้เป็นกัปปิยะ
       -เมื่อภิกษุกลิ้งหินและต้นไม้เป็นต้นไป หรือเดินเอาไม้เท้ายันไป แผ่นดินแตก, แผ่นดินนั้นชื่อว่า อันภิกษุไม่ได้แกล้งทำแตก เพราะเธอไม่ได้จงใจทำลายอย่างนี้ว่า เราจักทำลาย (แผ่นดิน) ด้วยไม้เท้านี้ ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่แกล้งทำลาย
       -ภิกษุส่งใจไปทางอื่น ยืนพูดอะไรกับคนบางคน เอานิ้วหัวแม่เท้าหรือไม้เท้าขีดเขียนแผ่นดินไปพลาง, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ขีดเขียนหรือทำลาย (ดิน) ด้วยไม่มีสติอย่างนี้
       -ภิกษุไม่รู้แผ่นดินที่ฝนตกรดภายในเรือนซึ่งมุงหลังคาปิดแล้ว เป็นอกัปปิยปฐพี จึงโกยออกด้วยสำคัญว่าเป็นกัปปิยปฐพีก็ดี ไม่รู้ว่าเราขุด เราทำลาย เราเผาไฟก็ดี เก็บเสียมเป็นต้น เพื่อต้องการรักษาไว้อย่างเดียวก็ดี มือถูกไฟไหม้ ทิ้งไฟลงก็ดี ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รูอย่างนี้
       ๖.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา สจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 ตุลาคม 2560 16:11:34

ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๖๐)
ภิกษุพรากของเขียวซึ่งเกิดอยู่กับที่ให้หลุดจากที่ ต้องปาจิตตีย์

       พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีทำการก่อสร้าง จึงตัดต้นไม้เองบ้าง ให้คนอื่นตัดบ้าง ภิกษุรูปหนึ่งตัดต้นไม้ เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้นั้นได้กล่าวกับภิกษุนั้นว่า ท่านเจ้าข้า ท่านประสงค์จะทำที่อยู่ของท่าน โปรดอย่าตัดต้นไม้อันเป็นที่อยู่ของข้าพเจ้าเลย ภิกษุรูปนั้นไม่เชื่อฟังได้ตัดลงจนได้ และฟันถูกแขนทารกลูกเทวดานั้น เทวดาคิดว่า เราจะปลงชีวิตภิกษุรูปนี้เสีย แต่ก็ไม่สมควร เราควรกราบทูลเรื่องนี้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้เข้าเฝ้า กราบทูลความนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดีแล้วเทวดา ที่ท่านไม่ปลงชีวิตภิกษุรูปนั้น ถ้าท่านปลงจะได้รับบาปเป็นอันมาก ไปเถิด ต้นไม้ในที่โน้นว่างแล้ว ท่านจงเข้าไปอยู่ที่ต้นไม้นั้น” แล้วทรงติเตียน และทรงพระบัญญัติว่า เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะพรากภูตคาม

อรรถาธิบาย
      -ที่ชื่อว่า ภูตคาม ได้แก่ พืช ๕ ชนิด คือ พืชเกิดจากเหง้า ๑  เกิดจากต้น ๑  เกิดจากข้อ ๑  เกิดจากยอด ๑  เกิดจากเมล็ด ๑
      -พืชเกิดจากเหง้า ได้แก่ ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ อุตพิด ข่า แฝก แห้วหมู เป็นต้น
      -พืชเกิดจากต้น ได้แก่ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นมะเขือ ต้นมะขวิด เป็นต้น
      -พืชเกิดจากข้อ ได้แก่ อ้อย ไม้ไผ่ ไม้อ้อ เป็นต้น
      -พืชเกิดจากยอด ได้แก่ ผักบุ้งล้อม แมงลัก เถาหญ้านาง เป็นต้น
      -พืชเกิดจากเมล็ด ได้แก่ ข้าว ถั่ว งา เป็นต้น

อาบัติ
      ๑.พืช ภิกษุรู้ว่าเป็นพืช ตัดเองก็ดี ให้คนอื่นตัดก็ดี ทำลายเองก็ดี ให้คนอื่นทำลายก็ดี ต้มเองก็ดี ให้คนอื่นต้มก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒.พืช ภิกษุสงสัย...ต้องอาบัติทุกกฏ
      ๓.พืช ภิกษุคิดว่าไม่ใช่พืช...ไม่ต้องอาบัติ
      ๔.ไม่ใช่พืช ภิกษุคิดว่าเป็นพืช...ต้องอาบัติทุกกฏ
      ๕.ไม่ใช่พืช ภิกษุสงสัย...ต้องอาบัติทุกกฏ
      ๖.ไม่ใช่พืช ภิกษุคิดว่าไม่ใช่พืช...ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุกล่าวว่า ท่านจงรู้พืชนี้ ท่านจงให้พืชนี้ ท่านจงนำพืชนี้มา เรามีความต้องการพืชนี้ ท่านจงทำพืชนี้ให้เป็นกัปปิยะดังนี้ ๑  ภิกษุไม่แกล้งพราก ๑  ไม่มีสติ ๑  ไม่รู้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๒๖๙-๒๘๕
      ๑.ภิกษุนั้นไม่อาจยั้งขวานที่เงื้อขึ้น จึงตัดเอาแขนตรงที่ใกล้ราวนมของทารกผู้นอนอยู่บนวิมานทิพย์ ซึ่งตั้งอยู่บนต้นไม้
      ได้ยินว่า ในป่าหิมพานต์มีการประชุมเทวดาทุกๆวันปักษ์, ในป่าหิมพานต์นั้นพวกเทวดาย่อมถามถึงรุกขธรรมว่า ท่านตั้งอยู่หรือไม่ได้ตั้งอยู่ในรุกขธรรม, ชื่อว่า รุกขธรรม ได้แก่ การที่รุกขเทวดาไม่ทำความประทุษร้ายทางใจ ในเมื่อต้นไม้ถูกตัด, บรรดาเทวดาเหล่านั้น เทวดาองค์ใดไม่ตั้งอยู่ในรุกขธรรม เทวดาองค์นั้นย่อมไม่ได้เพื่อจะเข้าสู่ที่ประชุม, เทวดาองค์นั้นได้มองเห็นโทษ มีการไม่ตั้งอยู่ในรุกขธรรมเป็นปัจจัยนี้ ด้วยประการดังนี้, และระลึกถึงบุรพจรรยาในปางที่พระตถาคตเจ้าเสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์ เป็นต้น  โดยกระแสแห่งพระธรรมเทศนาที่ตนเคยสดับมาเฉพาะพระพักตร์แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเหตุนั้น เทวดานั้นจึงได้มีความรำพึงว่า ก็การที่เราจะปลงชีวิตภิกษุรูปนี้เสีย ณ ที่นี้นั้นไม่สมควรเลย เกิดความรำพึงว่า ถ้ากระไร เราควรกราบทูลเรื่องนี้แด่พระศาสดา  ดังนี้ เทวดานั้นฉุกคิดว่า ภิกษุนี้เป็นบุตรมีบิดา, พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับอัชฌาจารนี้ของภิกษุนี้แล้ว จักทรงป้องกันมารยาท จักทรงบัญญัติสิกขาบทแน่นอน
      -ทรงแสดงพระคาถานี้แก่เทวดา ”บุคคลใดแล ข่มความโกรธที่เกิดขึ้นได้แล้ว เหมือนสารถีหยุดรถซึ่งกำลังแล่นอยู่ได้ เราตถาคตเรียกบุคคลนั้นว่าเป็นสารถี ชนนอกจากนี้เป็นแต่คนถือบังเหียน”  ในเวลาจบพระคาถา เทวดานั้นได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
      -จากนั้น ทรงตรวจดูสถานที่อยู่ของเทวดานั้น ทอดพระเนตรเห็นสถานที่อันสมควรแล้ว จึงตรัสว่า ไปเถิดเทวดา! ณ ที่โอกาสโน้นมีต้นไม้ว่างอยู่ เธอจงเข้าไปอยู่ที่ต้นไม้นั้น, ได้ยินว่า ต้นไม้นั้นไม่มีในแคว้นอาฬวี มีอยู่ภายในกำแพงเครื่องล้อมแห่งพระเชตวัน ซึ่งมีเทวบุตรผู้เป็นเจ้าของได้จุติไปแล้ว เพราะเหตุนั้น ต้นไม้นั้นจึงตรัสว่า ว่างแล้ว, ก็แลจำเดิมนั้นมา เทวดานั้นได้ความคุ้มครองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เป็นพุทธอุปัฏฐายิกา, ในคราวมีเทวสมาคม เมื่อเทวดาผู้ศักดิ์ใหญ่ทั้งหลายมาอยู่ เทวดาเหล่าอื่นผู้มีศักดิ์น้อย ย่อมถอยร่นไปจนจรดมหาสมุทรและภูเขาจักรวาล  ส่วนเทวดานี้ นั่งฟังธรรมอยู่ในที่อยู่ของตนนั่นแหละ เทวดานั้นนั่งฟังปัญหาทั้งหมด แม้ที่พวกภิกษุถามในปฐมยาม (และ) ที่พวกเทวดาถามในมัชฌิมยาม บนวิมานนั้นนั่นแหละ แม้ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มาสู่ที่บำรุงของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะไปก็เยี่ยมเทวดานั้นก่อน แล้วจึงไป
      ๒.ที่ชื่อว่า ภูตะ เพราะอรรถว่า เกิดอยู่ด้วย เติบโตอยู่ด้วย  อธิบายว่า ย่อมเกิด ย่อมเจริญ หรือว่าเกิดแล้ว เจริญแล้ว,  บทว่า คาโม แปลว่า กอง, กองแห่งภูตทั้งหลาย,  เหตุนั้นจึงชื่อว่า ภูตคาม, อีกอย่างหนึ่ง กอง คือ ภูต ชื่อภูตคาม, คำว่า ภูตคาม นั่นเป็นชื่อแห่งหญ้าและต้นไม้เขียวสดที่ยืนต้นแล้วเป็นต้น
      ภาวะแห่งการพราก ชื่อ ปาตัพยตา (ความเป็นแห่งการพราก) อธิบายว่า ภาวะอันบุคคลพึงบริโภคใช้สอยตามความพอใจ ด้วยการตัดและการทุบ เป็นต้น, เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุเพราะการตัดภูตคาม เป็นต้น เป็นปัจจัย
      ๓.ภิกษุพรากภูตคาม เป็นปาจิตตีย์, พรากพืชคามแม้ทั้ง ๕ อย่าง อันนอกจากภูตคาม เป็นทุกกฏ (ภูตคาม-ของเขียวหรือพืชพรรณอันเป็นอยู่กับที่ มี ๕ ชนิด มีพืชเกิดจากเหง้าเป็นต้น, พืชคาม-พืชพันธุ์ อันถูกพรากจากที่แล้ว แต่ยังจะเป็นได้อีก)
      ชื่อว่า พืชคามและภูตคามนี้ อยู่ในน้ำก็มี อยู่บนบกก็มี, พืชคามและภูตคามที่อยู่ในน้ำคือเสวาลชาติ (สาหร่าย) ทั้งที่มีใบและไม่มีใบ ทั้งหมดมีชนิดเช่นแหนและจอกเป็นต้น โดยมีสุดกระทั่งฝ้าน้ำ (ตระไคร้น้ำ) พึงทราบว่า ภูตคาม
      บรรดาสาหร่ายนั้น ซากของสาหร่ายใดหยั่งลงไปอยู่ในแผ่นดิน, แผ่นดินเป็นฐานของสาหร่ายนั้น น้ำเป็นฐานของสาหร่ายที่ลอยไปมาบนน้ำ เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้พรากภูตคามที่อยู่ในแผ่นดินในที่ใดที่หนึ่งก็ดี, ยกขึ้นย้ายไปสู่ที่อื่นก็ดี เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้พรากภูตคามที่ลอยไปมาบนน้ำเหมือนกัน, แต่จะเอามือทั้งสองแหวกทางโน้นทางนี้แล้วอาบน้ำ ควรอยู่
      -น้ำทั้งสิ้น เป็นฐานของสาหร่ายที่อยู่ในน้ำ เพราะเหตุนั้น สาหร่ายนั้นยังไม่จัดว่าเป็นอันภิกษุย้ายไปสู่ที่อื่น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ แต่จะแกล้งยกขึ้นจากน้ำโดยเว้นน้ำเสีย ไม่ควร ยกขึ้นพร้อมน้ำ แล้ววางลงในน้ำอีก ควรอยู่  สาหร่ายออกมาทางช่องผ้ากรองน้ำ, ควรให้ทำกัปปิยะก่อน จึงบริโภคน้ำ ภิกษุถอนเถาวัลย์และหญ้าที่เกิดในน้ำ มีกออุบลและกอปทุมเป็นต้น ที่คนอื่นถอนขึ้นไว้แล้ว เป็นทุกกฏ, กออุบล เป็นต้น ที่คนอื่นถอนขึ้นไว้นั้น ย่อมถึงความสงเคราะห์เข้าในพืชคาม แม้สาหร่ายคือจอกและแหนที่เขายกขึ้นจากน้ำแล้ว ยังไม่เหี่ยว ย่อมถึงซึ่งอันสงเคราะห์เข้าในพืชที่เกิดจากยอด
      ๔.ส่วนที่เหลือของจำพวกต้นไม้ที่ถูกตัด จัดว่าเป็นตอไม้ที่เขียวสด ในตอไม้เขียวสดนั้น ตอแห่งไม้กุ่ม ไม้กระถินพิมาน ไม้ประยงค์ และไม้ขนุนเป็นต้น ย่อมงอกขึ้นได้ ตอไม้นั้นท่านสงเคราะห์เข้าด้วยภูตคาม ตอแห่งต้นตาลและมะพร้าวเป็นต้น ย่อมไม่งอกขึ้นได้ ตอแห่งต้นตาลเป็นต้นนั้น ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยพืชคาม
      ส่วนดอกกล้วยที่ยังไม่ตกเครือ ท่านสงเคราะห์ด้วยภูตคาม ตอกล้วยที่ตกเครือแล้ว ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยพืชคาม แต่ต้นกล้วยที่ตกเครือแล้วท่านสงเคราะห์เข้าด้วยภูตคามเหมือนกัน ตลอดเวลาที่ยังมีใบเขียวอยู่ ไม้ไผ่ที่ตกขุยแล้วก็อย่างนั้น แต่ไม้ไผ่ในเวลาแห้งลงมาตั้งแต่ยอด จึงถึงอันสงเคราะห์ด้วยพืชคาม สงเคราะห์ด้วยพืชคามชนิดไหน? ด้วยพืชคามชนิดเกิดจากข้อ อะไรเกิดจากต้นไผ่นั้น จริงอยู่ ถ้าหากว่าอะไรๆไม่พึงเกิด (ต้นไผ่ตกขุย) พึงถึงการสงเคราะห์เข้าในภูตคาม
      ชนทั้งหลายตัดไม้ช้างน้าวเป็นต้น รวมเป็นกองไว้ กิ่งทั้งหลายแม้ประมาณศอกหนึ่งงอกจากท่อนไม้ที่รวมเป็นกองไว้ ย่อมถึงการสงเคราะห์เข้าด้วยพืชคามเหมือนกัน ชนทั้งหลายปักลงในพื้นดิน เพื่อประโยชน์เป็นมณฑปก็ดี เพื่อประโยชน์เป็นรั้วก็ดี เพื่อประสงค์จะปลูกเถาวัลย์ก็ดี เมื่อจำพวกรากและใบงอกออกแล้ว ย่อมถึงอันนับเข้าเป็นภูตคามอีกแม้โดยแท้, ถึงอย่างนั้นเมื่องอกเพียงตุ่มรากหรือเพียงตุ่มใบก็สงเคราะห์เข้าเป็นพืชคามเท่านั้น
      เมล็ดจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ที่ชนทั้งหลายเอาน้ำรดชำไว้ในแผ่นดิน หรือชนทั้งหลายใส่ดินเปียกลงในกระถางเป็นต้น เพาะไว้ เมล็ดทั้งหมดนั้นแม้เมื่องอกเพียงตุ่มราก หรือเพียงตุ่มใบ ก็จัดเป็นเพียงพืชเท่านั้น ถ้าแม้ว่ารากทั้งหลายและหน่อข้างบนงอกออก ก็ยังจัดเป็นพืชนั่นแล ตลอดเวลาที่หน่อยังไม่เขียว ก็เมื่อใบแห่งถั่วเขียวเป็นต้นงอกขึ้น หรือเมื่อหน่อแห่งข้าวเปลือกเป็นต้นสดเขียว เกิดใบมีสีเขียวแล้วย่อมถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นภูตคาม
      รากแห่งเมล็ดตาลทั้งหลายงอกออกทีแรก เหมือนเขี้ยวสุกร แม้เมื่องอกออกแล้ว ก็จัดเป็นพืชคามเหมือนกัน ตลอดเวลาที่ม้วนกลีบ ใบข้างบนยังไม่คลี่ออก หน่องอกทะลุเปลือกมะพร้าวออกเหมือนไม้สลัก ก็จัดเป็นพืชคามอยู่นั่นเอง ตลอดเวลาที่ม้วนกลีบใบเขียวคล้ายกับเขามฤคยังไม่มี แม้เมื่อรากยังไม่ออก กลีบใบเช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว ก็ถึงการสงเคราะห์เข้าในภูตคามที่ไม่มีราก
      จำพวกเมล็ดมีเมล็ดมะม่วงเป็นต้น พระวินัยธรพึงตัดสินด้วยจำพวกข้าวเปลือกเป็นต้น ก้านหรือรุกชาติอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี เกิดที่ต้นไม้แคล้วคลุมโอบต้นไม้ ต้นไม้นั่นแหละเป็นฐานของก้านเป็นต้นนั้น ภิกษุพรากก้านเป็นต้นนั้นก็ดี ถอนขึ้นจากต้นไม้นั้นก็ดี เป็นปาจิตตีย์
      เถาวัลย์ชนิดหนึ่งไม่มีราก ย่อมพันพุ่มไม้ป่าและท่อนไม้ดุจวงแหวน (ฝอยทอง), แม้เถาวัลย์นั้นก็มีวินิจฉัยอย่างนี้เหมือนกัน ที่หน้ามุขเรือนกำแพงชุกชีและเจดีย์เป็นต้น มีตะไคร้น้ำสีเขียว ตลอดเวลาที่ยังไม่เกิดใบ ๒-๓ ใบ ย่อมถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นพืชเกิดจากยอด เมื่อใบทั้งหลายเกิดแล้วเป็นวัตถุแห่งปาจิตตีย์ เพราะเหตุนั้น จะให้การฉาบปูนขาวในฐานะเช่นนั้น ไม่ควร จะให้การฉาบน้ำปูนขาวที่ละเอียดบนที่อันอนุปสัมบันฉาบแล้ว ควรอยู่
      ถ้าในฤดูร้อนตะไคร้น้ำแห้งติดอยู่ จะเอาไม้กวาดเป็นต้น ขูดตะไคร้น้ำนั้นออกเสีย ควรอยู่ ตะไคร้น้ำข้างนอกหม้อน้ำดื่มเป็นต้น เป็นวัตถุแห่งทุกกฏ อยู่ภายในเป็นอัพโพหาริก แม้เห็ดราที่ไม้ชำระฟันและขนมเป็นต้น เป็นอัพโพหาริกเหมือนกัน สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ถ้าฝาที่เขากระทำบริกรรมด้วยยางไม้เกิดเป็นเห็ดรา ภิกษุพึงชุบผ้าให้เปียก บีบแล้ว เช็ดเถิด
      ปาสาณชาติ ปาสาณทัททุ เสวาละ เสเลยยกะ (ราหิน ตะไคร้หิน สาหร่าย และเอื้องหิน หรือเอื้องผา) เป็นต้น ยังไม่มีสีเขียวสด และไม่มีใบเป็นวัตถุแห่งทุกกฏ เห็ดเป็นวัตถุแห่งทุกกฏตลอดเวลาที่ยังตูมอยู่ จำเดิมแต่บานแล้วเป็นอัพโพหาริก ก็ภิกษุเก็บเห็ดจากต้นไม้สดแกะเอาเปลือกต้นไม้ออก เพราะเหตุนั้นจึงเป็นปาจิตตีย์ในเพราะการแกะเปลือกไม้นั้น แม้ในสะเก็ดไม้ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน สะเก็ดแห่งต้นช้างน้าวและต้นกุ่มเป็นต้น หลุดจากต้นแล้ว ยังเกาะอยู่ เมื่อภิกษุถือเอาสะเก็ดนั้น ไม่เป็นอาบัติ แม้ยางไม้ไหลออกจากต้นไม้แล้ว ยังติดอยู่ก็ดี ติดอยู่ที่ต้นไม้แห้งก็ดี จะถือเอา ควรอยู่ จะถือเอาต้นที่ยังสด ไม่ควร แม้ในครั่งก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน เมื่อภิกษุเขย่าต้นไม้ให้ใบไม้เหลืองหล่นก็ดี ทำให้ดอกหล่นก็ดี เป็นปาจิตตีย์ทั้งนั้น แม้ภิกษุจารึกตัวอักษรลงบนต้นไม้ มีต้นช้างน้าวและต้นสลัดไดเป็นต้น ตรงที่ยังอ่อนก็ดี ที่ใบตาลซึ่งเกิดอยู่บนต้นตาลเป็นต้นนั้นก็ดี ด้วยความคะนองมือ ก็มีนัยนี้นั่นแล
      ๕.เมื่อพวกสามเณรเลือกเก็บดอกไม้อยู่ ภิกษุจะเหนี่ยวกิ่งลงให้ก็ควร แต่ภิกษุอย่าพึงอบน้ำดื่มด้วยดอกไม้เหล่านั้น ภิกษุต้องการอบกลิ่นน้ำดื่ม พึงอุ้มสามเณรขึ้นแล้วให้เก็บดอกไม้ให้ แม้กิ่งไม้ที่มีผล ตนเองต้องการจะขบฉัน พึงอุ้มสามเณรขึ้นแล้วให้เก็บผลไม้ จะจับฉุดมาร่วมกับสามเณรทั้งหลายผู้กำลังถอนไม้กอหรือเถาวัลย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ควร แต่เพื่อให้เกิดความอุตสาหะแก่สามเณรเหล่านั้น จะจับที่ปลายแสดงท่าทีฉุดดุจกำลังลากมา ควรอยู่
      ภิกษุกรีดกิ่งต้นไม้ที่มีกิ่งงอกขึ้น อันตนมิได้ให้อุปสัมบันทำให้เป็นกัปปิยะ ถือเอาเพื่อประโยชน์แก่พัดไล่แมลงวันเป็นต้น ที่เปลือกหรือที่ใบโดยที่สุดแม้ด้วยเล็บมือ เป็นทุกกฎ แม้ในขิงสดเป็นต้นก็นัยนี้แล ก็ถ้าหากว่ารากแห่งขิงสดที่ภิกษุให้กระทำให้เป็นกัปปิยะแล้ว เก็บไว้ในพื้นที่เย็นงอกขึ้น จะตัดที่ส่วนเบื้องบน ควรอยู่ ถ้าเกิดหน่อจะตัดที่ส่วนล่าง ก็ควร เมื่อรากกับหน่อเขียวเกิดแล้ว จะตัดไม่ควร
      ๖.ภิกษุเมื่อจะกวาดพื้นดิน ด้วยคิดว่า เราจักตัดหญ้า ตัดเองก็ดี ใช้คนอื่นตัดก็ดี โดยที่สุดแม้ด้วยซี่ไม้กวาด โดยที่สุดแม้เมื่อจะเดินจงกรมแล้วเอาเท้าทั้งสองเหยียบไป ด้วยคิดว่าสิ่งที่จะขาด จงขาดไป, สิ่งที่จะแตก จงแตกไป, เราจักแสดงที่ที่เราจงกรม ดังนี้ย่อมทำลายเองก็ดี ใช้คนอื่นทำลายก็ดี ซึ่งหญ้าและเถาวัลย์เป็นต้น ถ้าแม้นว่าเมื่อภิกษุทำหญ้าและเถาวัลย์ให้เป็นขมวด หญ้าและเถาวัลย์จะขาด แม้จะทำให้เป็นขมวด ก็ไม่ควร
      ก็ชนทั้งหลาย ย่อมตอกไม้แมลงมุม (หุ่นยนต์แมลงมุม) ผูกหนามที่ต้นตาลเป็นต้น เพื่อต้องการไม่ให้พวกโจรขึ้นลัก การกระทำอย่างนั้นไม่ควรแก่ภิกษุ ก็ถ้าว่าหุ่นยนต์แมลงมุมเป็นแต่เพียงติดอยู่ที่ต้นไม้เท่านั้น ไม่บีบรัดต้นไม้ ควรอยู่ แม้จะกล่าวว่า เธอจงตัดต้นไม้, จงตัดเถาวัลย์, จงถอนเหง้าหรือราก ดังนี้ ก็ควรอยู่ เพราะเป็นคำพูดไม่กำหนดลงแน่นอน แต่จะกำหนดลงไป พูดคำเป็นต้นว่า จงตัดต้นไม้นี้ไม่ควร ถึงแม้การระบุชื่อ กล่าวคำเป็นต้นว่า จงตัด จงทุบ จงถอน ต้นมะม่วง เถาสี่เหลี่ยม หัวเผือกมัน หญ้ามุงกระต่าย สะเก็ดต้นไม้โน้น ดังนี้ก็เป็นคำที่ไม่กำหนดแน่นอนเหมือนกัน คำเป็นต้นว่า ต้นมะม่วงนี้เท่านั้น ชื่อว่าเป็นคำกำหนดแน่นอน คำนั้นไม่ควร
      ๗.”การเผา” บัณฑิตพึงทราบคำทั้งปวงโดยนัยดังได้กล่าวแล้วในปฐวีขนนสิกขาบทนั้นแลว่า ชั้นที่สุดแม้ประสงค์จะระบมบาตร แกล้งก่อไฟข้างบนกองหญ้าเป็นต้น เผาเองก็ดี ใช้คนอื่นเผาให้ก็ดี ดังนี้ แต่จะกล่าวไม่กำหนดแน่นอนว่า จงต้มถั่วเขียว จงต้มถั่วเหลือง เป็นต้น ควรอยู่ จะกล่าวอย่างนี้ว่า จงต้มถั่วเขียวเหล่านี้, จงต้มถั่วเหลืองเหล่านี้ ไม่ควร
      บัณฑิตพึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า เธอจงรู้มูลเภสัชนี้ จงให้รากไม้ หรือใบไม้นี้ก็ดี จงนำต้นไม้หรือเถาวัลย์นี้มาก็ดี ต้องการดอกไม้ หรือผลไม้ หรือใบไม้นี้ก็ดี จงกระทำต้นไม้ หรือเถาวัลย์ หรือว่าผลไม้นี้ ให้เป็นกัปปิยะก็ดี ด้วยคำเพียงเท่านี้ย่อมเป็นอันภิกษุกระทำการปลดเปลื้องภูตคาม แต่ภิกษุผู้จะบริโภค พึงให้อนุปสัมบันทำให้เป็นกัปปิยะซ้ำอีก เพื่อปลดเปลื้องพืชคาม
      ๘.อธิบายการทำกัปปิยะและวัตถุที่ใช้ทำกัปปิยะ
      ก็การกระทำกัปปิยะในสิกขาบทนี้ บัณฑิตพึงทราบโดยกระแสแห่งสูตรนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตเพื่อบริโภคผลไม้ ด้วยสมณกัปปะ (สมณโวหาร) ๕ คือ ผลที่จี้ด้วยไฟ ที่แทงด้วยมีด ที่จิกด้วยเล็บ ผลที่ไม่มีเมล็ด ที่ปล้อนเม็ดออกแล้ว เป็นคำรบ ๕
      บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคฺคิปริจิตํ มีอรรถว่า ฉาบ คือ ลวก เผา จี้แล้วด้วยไฟ
      บทว่า สตฺถกปริจิรํ มีอรรถว่า จด คือ ฝาน ตัด หรือแทง แล้วด้วยมีดเล็กๆ  ในข้อว่า จิกด้วยเล็บก็นัยนี้นั่นแล ผลไม้ที่ไม่มีเมล็ดและผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออกแล้ว เป็นกัปปิยะด้วยตัวมันเองแท้
      ภิกษุเมื่อจะทำกัปปิยะด้วยไฟ พึงทำกัปปิยะด้วยบรรดาไฟฟืนและไฟโคมัย เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง พึงกล่าวคำว่า กัปปิยัง แล้วทำเถิด (อุปสัมบันผู้ให้ทำกล่าวว่า “กปฺปิยํ กโรหิ” อนุปสัมบันผู้ทำกัปปิยะเอามือหนึ่งจับสิ่งของที่จะทำกัปปิยะ มือหนึ่งจับวัตถุที่จะใช้ทำกัปปิยะ มีมีดเป็นต้น แล้วตัดหรือผ่า หรือจี้ลงไปที่สิ่งของนั้น พร้อมกับกล่าวว่า “กปฺปิยํ ภนฺเต”)
      เมื่อจะทำด้วยมีด แสดงรอยตัด รอยผ่า ด้วยปลายหรือด้วยคมแห่งมีดที่ทำด้วยโลหะอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดแม้แห่งเข็มและมีดตัดเล็บเป็นต้น พึงกล่าวว่า กัปปิยัง แล้วทำเถิด
      เมื่อจะทำกัปปิยังด้วยเล็บ อย่าพึงทำด้วยเล็บเน่า ก็เล็บของพวกมนุษย์ สัตว์ ๔ เท้า มีสีหะ เสือโคร่ง เสือเหลือง และลิง เป็นต้น และแห่งนกทั้งหลาย เป็นของแหลมคม, พึงทำด้วยเล็บเหล่านั้น กีบแห่งสัตว์ มีม้า กระบือ สุกร เนื้อ และโค เป็นต้น ไม่คม, อย่าพึงทำด้วยกีบเหล่านั้น แม้ทำแล้วก็ไม่เป็นอันทำ ส่วนเล็บช้างไม่เป็นกีบ จะทำกัปปิยะด้วยเล็บช้างเหล่านั้น ควรอยู่  แต่การทำกัปปิยะด้วยเล็บเหล่าใด สมควร, พึงแสดงการตัด การจิกด้วยเล็บเหล่านั้น ก็เกิดอยู่ในที่นั้นก็ดี กล่าวว่า กัปปิยัง แล้วกระทำเถิด
      บรรดาพืชเป็นต้นเหล่านั้น ถ้าแม้นว่าพืชกองเท่าภูเขาก็ดี ต้นไม้จำนวนพันที่เขาตัดแล้วทำให้เนื่องเป็นอันเดียวกัน กองไว้ก็ดี อ้อยมัดใหญ่ที่เขามัดรวมไว้ก็ดี, เมื่อทำพืชเมล็ดหนึ่ง กิ่งไม้กิ่งหนึ่ง หรืออ้อยลำหนึ่ง ให้เป็นกัปปิยะแล้ว ย่อมเป็นทำให้เป็นกัปปิยะแล้วทั้งหมด อ้อยลำและไม้ฟืนเป็นของอันเขามัดรวมกันไว้ อนุปสัมบันจะแทงไม้ฟืนด้วยตั้งใจว่าเราจักกระทำอ้อยให้เป็นกัปปิยะ ดังนี้ก็ควรเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นของที่เขาผูกมัดด้วยเชือกหรือด้วยเถาวัลย์ใด จะแทงเชือกหรือเถาวัลย์นั้น ไม่ควร ชนทั้งหลายบรรจุกระเช้าให้เต็มด้วยลำอ้อยท่อน แล้วนำมา เมื่อทำอ้อยท่อนลำหนึ่งให้เป็นกัปปิยะแล้ว อ้อยท่อนทั้งหมดย่อมเป็นอันทำให้กัปปิยะแล้วเหมือนกัน
      ก็ถ้าว่า พวกทายกนำภัตปนกับพริกสุกเป็นต้นมา, เมื่อภิกษุกล่าวว่าจงกระทำกัปปิยะ ถ้าแม้ว่าอนุปสัมบันแทงที่เมล็ดข้าวสวย ก็สมควรเหมือนกัน แม้ในเมล็ดงาและข้าวสารเป็นต้น ก็นัยนี้นั่นแล แต่พริกสุกเป็นต้นนั้น ที่เขาใส่ลงในข้าวต้ม ไม่ตั้งอยู่ติดเนื่องเป็นอันเดียวกัน บรรดาพริกสุกเป็นต้นนั้น พึงทำกัปปิยะแทงทีละเมล็ดนั่นเทียว เยื่อในแห่งผลมะขวิดเป็นต้น ร่อนเปลือกแล้วคลอนอยู่ (หลุดจากกะลา คลอนอยู่ข้างใน) ภิกษุพึงให้ทุบแล้วให้ทำกัปปิยะ (ถ้า) ยังติดเนื่องเป็นอันเดียวกัน (กับเปลือก), จะทำ (กัปปิยะ) แม้ทั้งเปลือก (ทั้งกะลา) ก็สมควร
      ๙.อธิบายอนาบัติ
      -บทว่า อสญฺจิจฺจ มีความว่า เมื่อภิกษุกลิ้งหินและต้นไม้เป็นต้นก็ดี ฉุดลากกิ่งไม้ก็ดี เอาไม้เท้ายันพื้นดินเดินไปก็ดี หญ้าเป็นต้น ขาดไป  หญ้าเหล่านั้นย่อมชื่อว่าเป็นอันภิกษุไม่ได้จงใจทำให้ขาด เพราะไม่ได้จงใจตัดอย่างนี้ว่า เราจักตัดหญ้าด้วยการกลิ้งเป็นต้นนั้น ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่แกล้งตัด อย่างนี้
      -บทว่า อสติยา มีความว่า ส่งใจไปทางอื่น ยืนพูดอะไรๆกับใครๆ เอาหัวแม่เท้า หรือมือเด็ดหญ้าหรือเถาวัลย์อยู่ ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ตัดเพราะไม่มีสติอย่างนี้
      -บทว่า อาชานนฺตสฺส มีความว่า ภิกษุไม่รู้ว่า พืชคาม หรือว่าภูตคาม มีอยู่ในภายในนี้ ทั้งไม่รู้ว่า เรากำลังตัด วางสิ่ว เสียม และจอบ ที่รั้วหรือที่กองฟาง เพื่อต้องการเก็บรักษาอย่างเดียว หรือว่ามือถูกไฟไหม้ทิ้งไฟลงก็ดี, ถ้าว่าในที่นั้น หญ้าเป็นต้น ขาดก็ดี ถูกไฟไหม้ก็ดี ไม่เป็นอาบัติ
      ๑๐.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา สจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ ดังนี้แล

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อสุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ  อินฺทฺริเยสุ สุสํวุตํ
โภชนมฺหิ จ มตฺตญฺญู  สทฺธํ อารทฺธวีริยํ
ตํ เว นปฺปสหตี มาโร วาโต เสสํว ปพฺพตํ ฯ ๘ ฯ   
มารย่อมไม่สามารถทำลายบุคคล ผู้ไม่ตกเป็นทาสของความสวยงาม
รู้จักควบคุมการแสดงออก รู้ประมาณในโภชนาหาร
มีศรัทธา และมีความขยันหมั่นเพียร เหมือนลมไม่สามารถพัดโค่นภูเขา

As the wind does not overthrow a rocky mount, So Mara indeed does not overpower him
Who lives unattached to sense pleasures, Who lives with his senses well-controlled,
Who knows moderation in his food, And who is full of faith and high vitality.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2561 16:16:35

ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๒

(พระวินัยข้อที่ ๖๑)
ภิกษุประพฤติอนาจาร พูดกลบเกลื่อนหรือนิ่ง เมื่อถูกสอบสวนความผิด ต้องปาจิตตีย์

      พระฉันนะประพฤติอนาจารเพราะต้องอาบัติ แล้วถูกไต่สวนในท่ามกลางสงฆ์ กลับเอาเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนว่า ใครต้อง? ต้องอย่างไร? ท่านทั้งหลายว่าใคร? ว่าเรื่องอะไร?  ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วรับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้ากระนั้นสงฆ์จงยกอัญญวาทกกรรมแก่ภิกษุฉันนะ พึงยกอย่างนี้ว่า
กรรมวาจาลงอัญญวาทกกรรม
      ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุกติยกรรมวาจา ว่าดังนี้   ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุฉันนะนี้ถูกไต่สวนด้วยอาบัติในท่ามกลางสงฆ์ กลับเอาเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อน ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงยกอัญญวาทกกรรมแก่ภิกษุฉันนะ นี้เป็นญัตติ
      ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุฉันนะนี้...การยกอัญญวาทกกรรมแก่ภิกษุฉันนะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
      อัญญวาทกกรรมอันสงฆ์ยกแล้วแก่ภิกษุฉันนะ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้อย่างนี้

      แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า เป็นปาจิตตีย์ ในความเป็นผู้กล่าวคำอื่น”
      สมัยต่อมา พระฉันนะถูกไต่สวนอีก คิดว่า ครั้งก่อนเราพูดกลบเกลื่อน ครั้งนี้เราจะนิ่ง จึงทำให้สงฆ์ลำบาก พากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงให้สงฆ์ยกวิเหสกกรรมอย่างนี้ว่า

กรรมวาจาลงวิเหสกกรรม
      ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ดังนี้
      ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุฉันนะนี้ถูกไต่สวนด้วยอาบัติในท่ามกลางสงฆ์ ได้นิ่งเสีย ทำให้สงฆ์ลำบาก ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงยกวิเหสกกรรมแก่ภิกษุฉันนะ นี้เป็นญัตติ
      ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุฉันนะนี้ถูกไต่สวน... การยกวิเหสกกรรมแก่ภิกษุฉันนะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
      วิเหสกกรรมอันสงฆ์ยกแล้วแก่ภิกษุฉันนะ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้อย่างนี้

      แล้วทรงมีพระอนุบัญญัติว่า ”เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความเป็นผู้กล่าวคำอื่น ในเพราะความเป็นผู้ให้ลำบาก”
 
อรรถาธิบาย
      - เป็นผู้กล่าวคำอื่น คือ ภิกษุเมื่อถูกไต่สวนในเพราะวัตถุหรืออาบัติ ณ ท่ามกลางสงฆ์ ไม่ปรารถนาจะบอกเรื่องนั้น ไม่ปรารถนาจะเปิดเผยเรื่องนั้น จึงเอาเรื่องอื่นมาพูกลบเกลื่อนว่า ใครต้อง? ต้องอะไร? ต้องในเพราะเรื่องอะไร? ต้องอย่างไร? ท่านทั้งหลายว่าใคร? ว่าเรื่องอะไร?  ดังนี้ นี้ชื่อว่าเป็นผู้กล่าวคำอื่น
      - เป็นผู้ให้ลำบาก คือ ภิกษุเมื่อถูกไต่สวนในท่ามกลางสงฆ์ ไม่ปรารถนาจะเปิดเผยเรื่อง จึงนิ่งเสีย ทำให้สงฆ์ลำบาก นี้ชื่อว่า เป็นผู้ให้ลำบาก

อาบัติ
      ๑.เมื่อสงฆ์ยังไม่ยกอัญญวาทกกรรม ภิกษุผู้ไต่สวนในเพราะวัตถุหรืออาบัติ ณ ท่ามกลางสงฆ์ ไม่ปรารถนาจะบอกเรื่องนั้น ไม่ปรารถนาจะเปิดเผยเรื่องนั้น จึงเอาเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนว่า ใครต้อง ต้องอะไร ต้องด้วยเรื่องอะไร ต้องอย่างไร ท่านทั้งหลายว่าใคร ดังนี้ต้องอาบัติทุกกฎ
      เมื่อสงฆ์ยังไม่ยกวิเหสกกรรม ภิกษุถูกไต่สวนในเพราะวัตถุหรือาบัติ ณ ท่ามกลางสงฆ์ ไม่ปรารถนาจะบอกเรื่องนั้น ไม่ปรารถนาจะเปิดเผยเรื่องนั้น จึงนิ่งเสีย ทำให้สงฆ์ลำบาก ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๒.เมื่อสงฆ์ยกอัญญวาทกกรรมแล้ว ภิกษุถูกไต่สวนในเพราะวัตถุหรืออาบัติ ณ ท่ามกลางสงฆ์ ไม่ปรารถนาจะบอกเรื่องนั้น ไม่ปรารถนาจะเปิดเผยเรื่องนั้น จึงเอาเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนว่า ใครต้อง...ว่าเรื่องอะไร ดังนี้ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓.กรรมเป็นธรรม (คือสงฆ์ทำถูกต้องแล้ว) ภิกษุรู้ว่ากรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะความเป็นผู้กล่าวคำอื่น ในเพราะความเป็นผู้ให้ลำบาก
      ๔.กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๕.กรรมเป็นธรรม ภิกษุคิดว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๖.กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุคิดว่า กรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗.กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องอาบัติทุกกฎ
      เมื่อสงฆ์ยกวิเหสกกรรมแล้ว ภิกษุถูกไต่สวนในเพราะวัตถุหรืออาบัติ ณ ท่ามกลางสงฆ์ ไม่ปรารถนาจะบอกเรื่องนั้น ไม่ปรารถนาจะเปิดเผยเรื่องนั้น จึงนิ่งเสีย ทำให้สงฆ์ลำบาก ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อนาบัติ
      ภิกษุไม่เข้าใจจึงถาม ๑  ภิกษุอาพาธให้การไม่ได้ ๑  ภิกษุไม่ให้การด้วยคิดว่าความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง หรือความวิวาท อาจมีแก่สงฆ์ ๑  ภิกษุไม่ให้การด้วยคิดว่าจักเป็นสังฆเภทหรือสังฆราชี ๑  ภิกษุไม่ให้การด้วยคิดว่า สงฆ์จักทำกรรมโดยไม่ชอบธรรมโดยเป็นวรรค หรือจักไม่ทำกรรมแก่ภิกษุผู้ควรแก่กรรม ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๒๙๒-๒๙๕
      ๑.พระฉันนะกระทำสิ่งที่ไม่ควรทำ คือ ต้องอาบัติในทางกายทวาร วจีทวาร, เมื่อถูกติเตียนก็เป็นผู้กล่าวกลบเกลื่อน ปกปิด ทับถมคำอื่นด้วยคำอื่น
      ภิกษุทั้งหลายสอบถามด้วยอาบัติในท่ามกลางสงฆ์ว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านเป็นผู้ต้องอาบัติใช่ไหม? ก็กล่าวว่าใครต้อง? ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ท่าน จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติอะไร? ที่นั้นเมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ปาจิตตีย์ หรือทุกกฎ เมื่อจะถามวัตถุ จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าต้องในเพราะวัตถุอะไร? ลำดับนั้นเมื่อพวกภิกษุกล่าวว่า ในเพราะวัตถุชื่อโน้น จึงถามว่า ข้าพเจ้าต้องอย่างไร? และข้าพเจ้าทำอะไรจึงต้อง? ดังนี้
      ครั้งนั้น เมื่อพวกภิกษุกล่าวว่า ทำการละเมิดชื่อนี้ จึงต้อง? ดังนี้ ก็กล่าวว่า พวกท่านพูดกะใครกัน? เมื่อภิกษุกล่าวว่า พวกเราพูดกะท่าน จึงกล่าวว่า พวกท่านพูดเรื่องอะไร?
      พึงทราบวิธีกลบเกลื่อนคำอื่นด้วยคำอื่น แม้นอกพระบาลีดังต่อไปนี้
      ภิกษุถูกพวกภิกษุกล่าวว่า 1พวกเราเห็นกหาปณะในถุงของท่าน ท่านทำกรรมไม่สมควรอย่างนี้ เพื่ออะไร” ก็กล่าวว่า ที่พวกท่านเห็นถูกแล้ว ขอรับ แต่นั่นไม่ใช่กหาปณะ มันเป็นก้อนดีบุก” ดังนี้ก็ดี, ถูกพวกภิกษุกล่าวว่า พวกเราเห็นท่านดื่มสุรา ท่านทำกรรมไม่สมควรอย่างนี้ เพื่ออะไร? แล้วกล่าวว่า ที่พวกท่านเห็นถูกแล้ว ขอรับ แต่นั่นไม่ใช่สุรา เป็นยาดอง ชื่อ อริฏฐะ เขาปรุงขึ้นเพื่อต้องการเป็นยา” ดังนี้ก็ดี
      ถูกพวกภิกษุกล่าวว่า ”พวกเราเห็นท่านนั่งในอาสนะกำบังกับมาตุคาม” ก็กล่าวว่า ”ท่านที่เห็นนับว่าเห็นถูกต้องแล้ว แต่ในที่นั่นมีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน เพราะเหตุไรท่านจึงไม่เห็นเขา?” ถูกพวกภิกษุถามว่า ท่านเห็นการละเมิดเช่นนี้บางอย่างไหม?” ก็ตะแคงหูเข้าไปพูดว่า ”ไม่ได้ยิน” หรือจ้องตาเข้าไปหาพวกภิกษุ พูดกระซิบถามในที่ใกล้หูก็ดี บัณฑิตพึงทราบว่าย่อมกลบเกลื่อนถ้อยคำ
      ๒.พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อญฺญวาทเก วิเหสเก ปาจิตฺติยํ คำใด ย่อมกล่าวความอื่นจากที่ถาม เพราะฉะนั้นชื่อว่า อัญญวาทกะ เป็นชื่อแห่งความกลบเกลื่อนถ้อยคำ
      ความเป็นผู้นิ่งใด ย่อมทำสงฆ์ให้ลำบาก เพราะฉะนั้นความเป็นผู้นิ่งนั้น ชื่อว่า วิเหสกะ เป็นชื่อแห่งความเป็นผู้นิ่งในเพราะความเป็นผู้กล่าวคำอื่น ในเพราะความเป็นผู้ให้ลำบากนั้น, พระผู้มีพระภาคเจ้าปรับปาจิตตีย์ ๒ ตัว ใน ๒ วัตถุ คือ กล่าวถ้อยคำกลบเกลื่อน ๑  เป็นผู้นิ่ง ๑
      ๓.อัญญวาทวิเหสกโรปนกรรม อันสงฆ์กระทำแล้ว ถ้ากรรมนั้นเป็นกรรมชอบธรรม และภิกษุนั้นมีความสำคัญในกรรมนั้นว่า เป็นกรรมชอบธรรม ยังทำความเป็นผู้กล่าวคำอื่น และความเป็นผู้ให้ลำบาก, เมื่อนั้น ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะความเป็นผู้กล่าวคำอื่น และในเพราะความเป็นผู้ให้ลำบากนั้น
      ๔.ภิกษุเมื่อไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าตนต้องอาบัติเลย จึงถามว่า ”ท่านทั้งหลายพูดอะไร? ข้าพเจ้าไม่รู้เลย” ย่อมไม่เป็นอาบัติ
      - ภิกษุมีพยาธิที่ปาก เช่น พยาธิที่เป็นเหตุให้ไม่สามารถจะพูดได้ หรืออาพาธอื่นๆ ที่ไม่อาจพูดได้ ย่อมไม่เป็นอาบัติ
      ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ ทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายกับจิต ๑ เป็นสจิตตกะ, เป็นโลกวัชชะ กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต), (มีความไม่ชอบใจเป็นเหตุให้พูดกลบเกลื่อนหรือนิ่ง โดยใช้กายและวาจาพูดกลบเกลื่อน หรือนิ่งกระทำให้ลำบาก)
ศัพท์ที่ควรทราบจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
      ๑.สังฆเภท – ความแตกแห่งสงฆ์, การทำสงฆ์ให้แตกจากกัน (ข้อ ๕ ในอนันตริยกรรม ๕), กำหนดด้วยการไม่ทำอุโบสถ ปวารณา และสังฆกรรมร่วมกัน
      ๒.สังฆราชี – ความร้าวรานแห่งสงฆ์ คือ จะแตกแยกกัน แต่ยังไม่ถึงกับแยกทำอุโบสถปวารณา และสังฆกรรมต่างหากกัน



ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๖๒)
ภิกษุติเตียนภิกษุผู้สงฆ์สมมติให้เป็นผู้ทำการสงฆ์
ถ้าเธอทำโดยชอบ ติเตียนเปล่าๆ ต้องปาจิตตีย์

      ท่านพระทัพพมัลลบุตรจัดแจงเสนาสนะและแจกภัตแก่สงฆ์ สมัยนั้นพระเมตติยะและพระภุมมชกะ เป็นผู้บวชใหม่ และมีบุญน้อย เสนาสนะของสงฆ์ที่เลวและอาหารที่ทราม ย่อมตกมาถึงเธอทั้งสอง, จึงให้ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษท่านพระทัพพมัลลบุตรว่าจัดเสนาสนะตามความพอใจ และแจกภัตตามความพอใจ
      บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย ต่างพากันเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า ”เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความเป็นผู้ให้โพนทะนา” ต่อมาพระเมตติยะและภุมมชกะคิดว่าทรงห้ามโพนทะนา จึงบ่นว่าท่านพระทัพพมัลลบุตรใกล้ๆ ว่า จัดเสนาสนะและแจกภัตตามความพอใจ ภิกษุทั้งหลายติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า ”เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความเป็นผู้ให้โพนทะนา ในเพราะความเป็นผู้บ่นว่า”  

อรรถาธิบาย
      -ที่ชื่อว่า ความเป็นผู้ให้โพนทะนา คือ อุปสัมบันผู้อันสงฆ์สมมติแล้วให้เป็นผู้จัดเสนาสนะ เป็นผู้แจกอาหาร แจกยาคู แจกผลไม้ แจกของเคี้ยว หรือแจกของเล็กน้อยก็ตาม ภิกษุประสงค์จะใส่โทษให้อัปยศ ให้เก้อเขิน จึงให้โพนทะนาก็ดี บ่นว่าก็ดี ซึ่งอุปสัมบัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์      

อาบัติ
      ๑.กรรมเป็นธรรม (คือสงฆ์กระทำถูกต้องแล้ว) ภิกษุรู้ว่ากรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ในเพราะความเป็นผู้ให้โพนทะนา ในเพราะความเป็นผู้บ่นว่า
      ๒.กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓.กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔.ภิกษุให้โพนทะนา หรือบ่นว่าอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕.อุปสัมบันผู้อันสงฆ์มิได้สมมติให้เป็นผู้จัดเสนาสนะ และแจกอาหาร แจกยาคู แจกผลไม้ แจกของเคี้ยว หรือของเล็กน้อยก็ตาม ภิกษุประสงค์จะใส่โทษ ทำให้อัปยศ ทำให้เก้อเขิน จึงโพนทะนาก็ดี บ่นว่าก็ดี ซึ่งอุปสัมบันนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ
      ๖.อนุปสัมบันผู้อันสงฆ์สมมติก็ดี มิได้สมมติก็ดี แจกยาคู แจกผลไม้ ภิกษุประสงค์จะใส่โทษ จึงโพนทะนาก็ดี บ่นว่าก็ดี ซึ่งอนุปสัมบันนั้น ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗.กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมเป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๘.กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๙.กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่า กรรมไม่เป็นธรรม ต้องอาบัติทุกกฎ

อนาบัติ
      ภิกษุผู้ให้โพนทะนาหรือบ่นว่า ภิกษุผู้มีปกติทำเพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ (เพราะการกระทำของภิกษุนั้นไม่เป็นธรรม) ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๓๐๐-๓๐๒
      ๑.พวกภิกษุเมตติยะและภุมมชกะ กล่าวคำเป็นต้นว่า พระทัพพมัลลบุตรจัดเสนาสนะโดยฉันทาคติเป็นต้น ยังภิกษุทั้งหลายให้ดูหมิ่นท่านพระทัพพะ
      - เมื่อภิกษุเมตติยะและภุมมชกะ กล่าวคำว่า ท่านทัพพะถึงความลำเอียงด้วยฉันทาคติ เป็นต้น ชื่อว่า ย่อมประกาศ
      - พวกภิกษุเมตติยะและภุมมชกะ ย่อมให้โพนทะนาด้วยคำใด คำนั้นชื่อว่า อุชฌาปนกะ และบ่นว่าด้วยคำใด คำนั้นชื่อว่า ขิยฺยนกะ ในเพราะความเป็นผู้ให้โพนทะนา ๑  ในเพราะความเป็นผู้บ่นว่า ๑, พระผู้มีพระภาคเจ้าปรับปาจิตตีย์ ๑ ตัว ใน ๒ วัตถุ
      ๒.”สมมติกรรมใด สงฆ์ทำแล้วเพื่ออุปสัมบันนั้น” ถ้ากรรมนั้นเป็นกรรมชอบธรรม และภิกษุมีความสำคัญกรรมนั้นว่า ”กรรมชอบธรรม” ย่อมทำการโพนทะนา และบ่นว่า ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะความเป็นผู้โพนทะนา และบ่นว่านั้น
      - ภิกษุยังอนุปสัมบันให้โพนทะนาอุปสัมบันผู้อันสงฆ์สมมติแล้ว หรือให้ดูหมิ่นก็ดี หรือบ่นว่าเธอในสำนักแห่งอนุปสัมบันนั้นก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓.”ผู้มิได้สมมติ” ก็คือ ผู้อันสงฆ์มิได้สมมติด้วยกรรมวาจา
      ๔.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๖๓)
ภิกษุเอาเตียง ตั่ง ฟูก เก้าอี้ของสงฆ์ ไว้กลางแจ้ง
เมื่อหลีกไปจากที่นั้น ไม่เก็บเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บ ต้องปาจิตตีย์

      ครั้งนั้นเป็นฤดูหนาว ภิกษุทั้งหลายจัดตั้งเสนาสนะในที่กลางแจ้ง ผิงกายอยู่ ครั้นในเวลาภัตกาล เมื่อจะไป ภิกษุไม่เก็บเอง ไม่ให้คนอื่นเก็บซึ่งเสนาสนะนั้น ทั้งไม่บอกมอบหมาย แล้วหลีกไป เสนาสนะถูกน้ำค้างและฝนตกชะเสียหาย ภิกษุทั้งหลายต่างเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูลเนื้อความนั้น... ทรงตำหนิแล้วมีพระบัญญัติว่า
”อนึ่ง ภิกษุใดวางไว้แล้วก็ดี ให้วางไว้แล้วก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ตั่งก็ดี ฟูกก็ดี เก้าอี้ก็ดี อันเป็นของสงฆ์ในที่แจ้ง เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ใช่ให้เก็บก็ดี ซึ่งเสนาสนะที่วางไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย เป็นปาจิตตีย์”
      สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายรีบเก็บเสนาสนะก่อนกาลอันสมควร พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็น จึงทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ”ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บเสนาสนะไว้ในปะรำ หรือที่โคนไม้ หรือในที่ซึ่งนกกาหรือนกเหยี่ยวจะไม่ถ่ายมูลรดได้ตลอด ๘ เดือน (หนาว ๔ ร้อน ๔) ซึ่งกำหนดว่ามิใช่ฤดูฝน”

อรรถาธิบาย

      - ที่ชื่อว่า อันเป็นของสงฆ์ ได้แก่ ของที่ถวายแล้ว สละแล้วแก่สงฆ์
      - วางไว้แล้ว คือ วางไว้เอง, ให้วางไว้แล้ว คือคนอื่นวางไว้ เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเองซึ่งเสนาสนะที่วางไว้นั้น ไม่ให้คนอื่นเก็บ ไม่บอกไม่มอบหมายแก่ภิกษุ สามเณร หรือคนทำการวัด แล้วเดินล่วงเลฑฑุบาตรของมัชฌิมบุรุษไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์      

อาบัติ
      ๑.เสนาสนะของสงฆ์ ภิกษุรู้ว่าเป็นของสงฆ์... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒.เสนาสนะของสงฆ์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติอาจิตตีย์
      ๓.เสนาสนะของสงฆ์ ภิกษุคิดว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔.ภิกษุวางไว้เองก็ดี ให้คนอื่นวางไว้ก็ดี ซึ่งเครื่องลาดรักษาผิวพื้นก็ดี เครื่องลาดเตียง ลาดพื้น เสื่ออ่อนก็ดี ท่อนหนัง เครื่องเช็ดเท้าก็ดี ตั่งกระดานก็ดี ในที่แจ้ง เมื่อหลีกไปไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้คนอื่นเก็บก็ดี... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕.เสนาสนะของบุคคล ภิกษุคิดว่าเป็นของสงฆ์... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖.เสนาสนะของบุคคล ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗.เสนาสนะของบุคคล ภิกษุรู้ว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๘.เสนาสนะส่วนตัวของตน... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุเก็บเองแล้วไป ๑  ให้คนอื่นเก็บแล้วไป ๑  บอกมอบหมายแล้วไป ๑  ภิกษุเอาออกผึ่งแดดไว้ ไปด้วยตั้งใจจักกลับมาเก็บ ๑  เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ๑  ภิกษุมีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๓๐๘-๓๑๖
      ๑.นกกาและนกตะกรุม หรือนกอื่นทำรังอยู่ ด้วยการอยู่ประจำในต้นไม้ใด มันจะไม่ถ่ายมูลรดเสนาสนะนั้น เราอนุญาตให้เก็บไว้ที่โคนไม้เช่นนั้น, นกทั้งหลายเสาะแสวงหาเหยื่อ พักผ่อนที่ต้นไม้ใดแล้วบินไป จะเก็บไว้ที่โคนแห่งต้นนั้น ก็ควร, แต่ว่านกทั้งหลายทำรังอยู่ด้วยการอยู่เป็นประจำที่ต้นไม้ใด อย่าพึงเก็บไว้ที่โคนต้นไม้นั้น
      - ชนบทใดฝนไม่ตกในฤดูฝน ชนบทเหล่านั้นจะเก็บไว้ตลอด ๔ เดือนแห่งฤดูฝน ก็ไม่ควรเหมือนกัน
      - ชนบทเหล่าใดฝนตกในฤดูเหมันต์ (หนาว) ในชนบทเหล่านั้น จะเก็บไว้ในที่แจ้ง แม้ในฤดูเหมันต์ก็ไม่ควร, ส่วนในฤดูคิมหันต์ ท้องฟ้าบริสุทธิ์ปราศจากเมฆในที่ทั่วไป ในเวลาเช่นนี้จะเก็บเตียงและตั่งไว้ในที่แจ้งด้วยกรณีจำเป็นบางอย่าง ย่อมควร
      - แม้ภิกษุผู้ถืออัพโภกาสิกธุดงค์ (อยู่ที่แจ้ง) ก็ควรรู้วัตร, ถ้าเธอมีเตียงส่วนบุคคล ก็พึงนอนบนเตียงส่วนบุคคลนั่นแล เมื่อจะถือเอาเตียงของสงฆ์ พึงถือเอาเตียงที่ถักด้วยหวายหรือด้วยปอ, เมื่อเตียงถักด้วยหวายหรือด้วยปอนั่นไม่มี พึงถือเอาเตียงเก่า, เมื่อเตียงเก่านั้นไม่มี พึงถือเอาเตียงที่ถักใหม่ๆ หรือที่บุด้วยหนัง, ก็แลครั้นถือเอาแล้ว คิดว่า เราจะถือรุกขมูล (อยู่โคนไม้) อย่างเคร่ง ถืออัพโภกาสอย่างเคร่ง ดังนี้ แล้วไม่ทำแม้ซึ่งกุฎีจีวร (เพดานทำด้วยจีวร) จักตั้งเตียงตั่งนั้นในที่แจ้งหรือที่โคนไม้ แล้วนอนในคราวที่มิใช่สมัย ย่อมไม่ควร, ก็ถ้าว่า ภิกษุไม่อาจเพื่อจะรักษากุฎีที่ทำด้วยจีวรแม้ตั้ง ๔ ชั้น ไม่ให้เปียกได้ มีฝนตกพรำตลอด ๗ วัน (จะจัดตั้งเตียงน้อยนอน) ก็ควร เพราะเตียงนอนเป็นไปตามร่างกายของภิกษุ
      พวกมนุษย์มีจิตเลื่อมใสในสีลสัมปทาของภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในกระท่อมใบไม้ในป่า จึงถวายเตียงและตั่งใหม่ กล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายจงใช้สอย โดยใช้สอยเป็นของสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่แล้วจะไป พึงส่งข่าวไปบอกแก่ภิกษุผู้ชอบพอกันในวิหารที่ใกล้เคียง แล้วจึงไป เมื่อไม่มีพวกภิกษุผู้ชอบกัน พึงเก็บไว้ในที่ที่ฝนจะไม่รั่วรด แล้วจึงไป เมื่อไม่มีที่ที่ฝนไม่รั่วรด พึงแขวนไว้ที่ต้นไม้ แล้วจึงไป
      ๒.ภิกษุถือเอาไม้กวาดที่ลานพระเจดีย์ไปกวาดลานหอฉันก็ดี ลานโรงอุโบสถก็ดี ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง มีบริเวณที่พักกลางวันและโรงไฟเป็นต้น ล้าง เคาะ (ไม้กวาดนั้น) แล้ว พึงเก็บไม้กวาดไว้ในโรงนั้นแหละ, ส่วนภิกษุผู้ถือเอาไม้กวาดในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง มีโรงอุโบสถเป็นต้น ไปกวาดบริเวณที่เหลือ ก็มีนัยนี้แหละ, ส่วนภิกษุใดกวาดทางเที่ยวภิกขาจารประสงค์จะไปบิณฑบาตเลย ภิกษุนั้นกวาดแล้วพึงเก็บไว้ที่ศาลาซึ่งมีอยู่ในระหว่างทาง, ถ้าศาลาไม่มี กำหนดว่าเมฆฝนยังไม่ตั้งเค้าขึ้น รู้ว่าฝนจักยังไม่ตกจนกว่าเราจะออกมาจากบ้าน เก็บไว้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วกลับมาพึงนำเก็บไว้ในที่เดิม
      มหาปัจจรีกล่าวว่า ถ้าภิกษุรู้อยู่ว่าฝนจักตก วางไว้ในกลางแจ้ง เป็นทุกกฎ ดังนี้ แต่ถ้าว่าไม้กวาดเป็นของอันเขาเก็บไว้เพื่อประโยชน์สำหรับกวาดในที่นั้นๆ นั่นเอง ภิกษุจะกวาดที่นั้นๆ แล้ว เก็บไว้ในที่นั้นๆ แล สมควรอยู่
      ภิกษุจะกวาดโรงฉัน ควรรู้จักวัตร ดังนี้ พึงกวาดทรายตั้งแต่ท่ามกลาง ตะล่อมมาไว้ตรงหน้าที่เท้ายืน พึงเอามือทั้งสองกอบอยากเยื่อออกไปทิ้งข้างนอก
      ๓.เตียงที่เขาทำเจาะที่เท้าเตียง สอดแม่แคร่ทั้งหลายเข้าไปในเท้าเตียงนั้น ชื่อว่า มสารกะ (เตียงมีแม่แคร่สอดเข้าในขา), เตียงที่เขาทำให้แม่แคร่คาบเท้าเตียง โดยลักษณะคล้ายบัลลังก์ ชื่อว่า พุนธิกาพัทธ์ (เตียงมีแม่แคร่เนื่องเป็นอันเดียวกันกับขา), เตียงที่เขาด้วยเท้าเช่นกับเท้าแห่งสัตว์ มีม้าและแพะเป็นต้น ชื่อว่า กุลีรปาท (เตียงมีขาดังก้ามปู) ก็หรือว่าเตียงที่มีเท้างออย่างใดอย่างหนึ่ง นี้ท่านเรียกว่า เตียงมีขาดังก้ามปู เตียงที่ทำเจาะตัวเตียงทำ ชื่อว่า อาหัจจปาทกะ (เตียงมีขาจรดแม่แคร่) เพราะเหตุนั้น เตียงที่ทำเจาะแม่แคร่ทั้งหลาย แล้วสอดปลายขาเข้าไปในแม่แคร่นั้น สลักลิ่มในเบื้องบน พึงทราบว่า เตียงมีขาจรดแม่แคร่, แม้ในตั่งก็มีนัยนี้เหมือนกัน
      ๔.พระเถระกระทำภัตกิจในโรงฉันแล้ว สั่งภิกษุหนุ่มว่า เธอจงไปแต่งตั้งเตียง ตั่ง ในที่พักกลางวัน, ภิกษุหนุ่มนั่นกระทำตามสั่งแล้วนั่ง พระเถระเที่ยวไปตามความพอใจแล้วจึงไปในที่พักกลางวันนั้น วางถุงย่ามและอุตราสงค์ไว้ จำเดิมแต่นั้นไปเป็นธุระของพระเถระ  พระเถระนั่งแล้ว เมื่อจะไปไม่เก็บเอง ไม่สั่งให้เก็บ เป็นปาจิตตีย์เมื่อเดินเลยเลฑฑุบาตรไป
      - ก็ถ้าพระเถระไม่วางถุงย่ามและอุตราสงค์ไว้บนเตียงและตั่งนั้น จงกรมพลางสั่งภิกษุหนุ่มว่า เธอไปได้, เธอพึงบอกว่า นี้เตียง ตั่ง ขอรับ! ถ้าพระเถระรู้จักธรรมเนียม พึงกล่าวว่า เธอไปเถิด เราจักทำให้เป็นปกติเดิม; แต่ถ้าภิกษุผู้เถระเป็นคนเขลา ไม่ได้ศึกษาธรรมเนียม กลับขู่ตะคอกภิกษุหนุ่มว่า ไปเถิด อย่ามายืนในที่นี้ เราจะไม่ให้ใครนั่ง ไม่ให้ใครนอน, ภิกษุหนุ่มเรียนว่า ท่านนอนตามสบายเถิดขอรับ! ได้ข้ออ้างไว้แล้ว พึงไปเถิด, เมื่อภิกษุหนุ่มไปแล้วเป็นธุระของพระเถระท่านนั้น และเป็นอาบัติตามนัยก่อนนั่นเทียว (หากไม่เก็บ ไม่ใช้ให้เก็บ)
      - ธรรมดาการฟังธรรมครั้งใหญ่ ย่อมจะมี, ภิกษุทั้งหลายนำเอาเตียงและตั่งมาจากโรงอุโบสถบ้าง จากโรงฉันบ้าง จัดตั้งไว้ในสถานที่ฟังธรรมนั้น เป็นภารธุระของพระภิกษุเจ้าถิ่นเท่านั้น, ถ้าพวกภิกษุอาคันตุกะถือเอาไปสำหรับอุปัชฌาย์ สำหรับอาจารย์ของตน ดังนี้ แต่นั้นไปเป็นภารธุระของพวกภิกษุอาคันตุกะเท่านั้น, ในเวลาไป เมื่อไม่กระทำไว้ตามเดิม เดินเลยเลฑฑุบาตรไป เป็นอาบัติ
      ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ชั่วเวลาที่ภิกษุพวกอื่นยังไม่มา หรือเป็นภาระของพวกภิกษุผู้จัดตั้ง เมื่อพวกภิกษุเหล่าอื่นมานั่งเป็นภาระของพวกภิกษุผู้นั่ง ถ้าพวกภิกษุผู้นั่งเหล่านั้นไม่เก็บเองก็ดี ไม่ใช้ให้เก็บก็ดี ไปเสีย เป็นทุกกฎ เพราะจัดตั้งโดยไม่ได้สั่ง
      -เมื่อแต่งตั้งธรรมาสน์แล้ว ภิกษุผู้สวดหรือผู้แสดงธรรมยังไม่เพียงใด เป็นภารธุระของพวกภิกษุผู้แต่งตั้งเพียงนั้น เมื่อภิกษุผู้สวดหรือผู้แสดงธรรมมานั่งแล้ว เป็นภารธุระของภิกษุนั้น, มีการฟังธรรมตลอดวันและตลอดคืน ภิกษุผู้สวดหรือผู้แสดงธรรมอื่นลุกไป ภิกษุอื่นมานั่ง ภิกษุใดๆ มานั่งเป็นภาระของภิกษุนั้นๆ แต่เมื่อลุกขึ้น พึงกล่าวว่า อาสนะนี้เป็นภาระของท่าน แล้วจึงไป, ถ้าแม้นว่า เมื่อภิกษุผู้สวดผู้แสดงธรรมนอกนี้ยังไม่มานั่นแหละ ภิกษุผู้นั่งอยู่ก่อนลุกไป และภิกษุผู้นั่งก่อนนี้มานั่งอยู่ภายใน อุปจารสถานที่นั่นเอง พระวินัยธรไม่พึงปรับเธอผู้ลุกไปด้วยอาบัติ, ถ้าว่า เมื่อภิกษุผู้สวดและผู้แสดงธรรม นอกนี้ยังไม่มานั่งนั่นแหละ
      ภิกษุนั่งอยู่ก่อนลุกจากอาสนะ เดินเลยเลฑฑุบาตรไป พระวินัยธรพึงปรับเธอด้วยอาบัติ, แต่ในมหาปัจจรีกล่าวนัยนี้ไว้ว่า ทุกๆ แห่งในเมื่อเดินเลฑฑุบาตรไป เป็นทุกกฎในย่างเท้าที่ ๑, เป็นปาจิตตีย์ในย่างเท้าที่ ๒
      ๕.เครื่องลาดที่เขาทำไว้ เมื่อรักษาผิวของพื้นที่ทำบริกรรมด้วยปูนขาวเป็นต้น ชื่อว่า จิมิลิกา, ชนทั้งหลายปูเครื่องลาดนั้นไว้ข้างล่าง แล้วปูเสื่อลำแพนทับไว้ข้างบน
      เครื่องลาดที่ควรปูลาดไว้บนเตียงและตั่ง ชื่อว่า เครื่องลาดเตียง ชนิดแห่งเครื่องปูลาดมีเสื่อลำแพนเป็นต้น ที่ควรลาดไว้บนพื้น ชื่อว่า เครื่องลาดพื้น, เสื่ออ่อนที่เขาทำด้วยใบตาลก็ดี ด้วยเปลือกปอก็ดี ชื่อว่า เสื่ออ่อน, แม้บรรดาหนังสัตว์มีสีหะ เสือโคร่ง เสือเหลือง เสือดาว และหมีเป็นต้น; หนังชนิดใดชนิดหนึ่ง ชื่อว่า แผ่นหนัง, จริงอยู่ ชื่อว่าหนังที่ท่านห้ามในการบริโภคเสนาสนะไม่ปรากฏในอรรถกถาทั้งหลาย เพราะฉะนั้นบัณฑิตพึงทราบว่า ห้ามเฉพาะในการบริหาร (จัดทำ, ใช้สอย) หนังสีหะ เป็นต้น
      เครื่องเช็ดที่ทำด้วยเชือกเล็กๆ ก็ดี ด้วยผ้าเก่าก็ดี เพื่อเช็ดเท้า ชื่อว่า เครื่องเช็ดเท้า, ตั่งที่เขาด้วยแผ่นกระดาน ชื่อว่า ตั่งแผ่นกระดาน อีกอย่างหนึ่งได้แก่ แผ่นกระดานและตั่งที่ทำด้วยไม้ แม้เครื่องไม้เป็นต้นทั้งหมด ท่านสงเคราะห์ด้วยตั่งแผ่นกระดานนั้นๆ แต่ในมหาปัจจรีท่านกล่าวไว้โดยพิสดารทีเดียวว่า ภิกษุวางเชิงรองบาตร ฝาบาตร กระเบื้องเช็ดเท้า พัดใบตาล พัดใบไม้ เครื่องไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ชั้นที่สุดกระบวยตักน้ำ สังข์ตักน้ำดื่ม ไว้ในที่แจ้ง แล้วไปเสีย เป็นทุกกฏ, แต่ในมหาอรรถกถานัยนี้ท่านแสดงไว้ในสิกขาบทที่ ๒ (สิกขาบทที่ ๕) ภิกษุต้มน้ำย้อมในที่แจ้ง แล้วพึงเก็บเครื่องใช้ทั้งปวง คือ ภาชนะน้ำย้อม กระบวยตักน้ำย้อม ราวน้ำย้อม เป็นต้น ไว้ในโรงไฟ, ถ้าโรงไฟไม่มี พึงเก็บไว้ในเงื้อมที่น้ำฝนจะไม่รั่วรด, แม้เมื่อเงื้อมนั้นไม่มี ถึงจะวางไว้ในที่ซึ่งมีพวกภิกษุคอยดูแลอยู่แล้วจึงไป ก็ควร
      ๖.เสนาสนะถูกรบกวนด้วยอันตรายบางอย่าง (ฉุกเฉิน), ก็ถ้าภิกษุผู้แก่กว่าให้ย้ายออกแล้วถือเอาเสนาสนะนั้นก็ดี ถ้าว่ายักษ์หรือเปรตมานั่งอยู่ก็ดี หรือว่าอิสรชนบางคนมายึดเอาก็ดี เสนาสนะนั้นจัดว่าถูกหวงแหง (กางกั้น) ก็หรือว่าเหล่าสัตว์ร้ายมีสีหะและเสือโคร่งเป็นต้น มาสู่ที่นั้นแล้วพักอยู่ จัดว่าถูกรบกวนเหมือนกัน ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่เก็บ ไปเสีย เพราะเสนาสนะถูกอันตรายบางอย่างรบกวนอย่างนี้
      - หรือไม่เก็บในเพราะอันตรายแห่งชีวิตและอันตรายแห่งพรหมจรรย์
      ๗.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๑ จีวรวรรค นิสัคคิยปาจิตตีย์) เกิดขึ้นทางกายกับวาจา ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นทั้งกิริยา (วาง, ให้วาง) ทั้งอกิริยา (ไม่เก็บ ไม่ใช้ให้เก็บ) อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อปฺปมฺปิ เจ สํหิตํ ภาสมาโน ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต
อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติ ฯ ๒๐ ฯ    
ถึงจะท่องจำตำราได้น้อย แต่ประพฤติชอบธรรม
ละราคะ โทสะ และโมหะได้ รู้แจ้งเห็นจริง มีจิตหลุดพ้น
ไม่ยึดมั่น ถือมั่น ทั้งปัจจุบันและอนาคต เขาย่อมได้รับผลที่พึงได้จากการบวช  

Though little he recites the Sacred Texts, But puts the precepts into practice,
Forsaking lust, hatred and delusion, With rigth knowledge, with mind well freed,
Cling to nothing here or hereafter, He has a share in religious life.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 15:02:18

ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๖๔)
ภิกษุเอาที่นอนของสงฆ์ปูนอนในกุฏิสงฆ์แล้ว
เมื่อหลีกไปจากที่นั้น ไม่เก็บเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บ ต้องปาจิตตีย์

       พระสัตตรสวัคคีย์ (มีพวก ๑๗ รูป) เป็นสหายกัน เมื่ออยู่ก็อยู่พร้อมกัน เมื่อหลีกไปก็ไปพร้อมกัน พวกเธอปูที่นอนไว้ในวิหารของสงฆ์แห่งหนึ่งแล้ว เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเอง ไม่ให้คนอื่นเก็บ ไม่ได้บอกมอบหมาย หลีกไป เสนาสนะถูกปลวกกัดเสียหาย…..
     ภิกษุผู้มักน้อยต่างพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      อนึ่ง ภิกษุใด ปูแล้วก็ดี ให้ปูแล้วก็ดี ซึ่งที่นอนในวิหารเป็นของสงฆ์ เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้ผู้อื่นเก็บก็ดี ซึ่งที่นอนอันปูไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย เป็นปาจิตตีย์”
     
 
อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า เป็นของสงฆ์ ได้แก่ วิหารที่เขาถวายแล้ว สละแล้ว แก่สงฆ์
     - ที่ชื่อว่า ที่นอน ได้แก่ ฟูก เครื่องลาดรักษาผิวพื้น เครื่องลาดเตียง เครื่องลาดพื้น เสื่ออ่อน ท่อนหนัง ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน เครื่องลาดทำด้วยหญ้า เครื่องลาดทำด้วยใบไม้
     - ไม่เก็บเอง ไม่ให้คนอื่นเก็บ ไม่มอบหมายแก่ภิกษุสามเณร หรือคนทำการวัด เดินเลยเครื่องล้อมแห่งอารามที่เขาล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เดินเลยอุปจารแห่งอารามที่เขาไม่ได้ล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑.วิหารเป็นของสงฆ์ ภิกษุรู้ว่าเป็นของสงฆ์ ปูเองก็ดี ให้คนอื่นปูก็ดี ซึ่งที่นอน เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้คนอื่นเก็บก็ดี ซึ่งที่นอนอันปูไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๒.วิหารเป็นของสงฆ์ ภิกษุสงสัย...ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๓.วิหารเป็นของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๔.ภิกษุปูเองก็ดี ให้คนอื่นปูก็ดี ซึ่งที่นอน ในอุปจารวิหารก็ดี ในโรงฉัน ในมณฑปก็ดี...ต้องอาบัติทุกกฏ
     ๕.ภิกษุตั้งไว้เองก็ดี ให้คนอื่นตั้งไว้ก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ตั่งก็ดี ในวิหารก็ดี ในอุปจารวิหาร ในโรงฉันก็ดี...ต้องอาบัติทุกกฏ
     ๖.วิหารของบุคคล ภิกษุสำคัญว่าเป็นของสงฆ์...ต้องอาบัติทุกกฏ
     ๗.วิหารของบุคคล ภิกษุสงสัย...ต้องอาบัติทุกกฏ
     ๘.วิหารของบุคคล ภิกษุรู้ว่าเป็นของบุคคล...ต้องอาบัติทุกกฏ
     ๙.วิหารเป็นของส่วนตัวของตน...ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุเก็บเองแล้วไป ๑  ภิกษุให้คนอื่นเก็บแล้วไป ๑  ภิกษุมอบหมายแล้วไป ๑  เสนาสนะมีเหตุบางอย่างขัดขวาง ๑  ภิกษุยังห่วงอยู่ไปถึงยังที่ใดแล้วมอบหมายมา ๑  ภิกษุมีเหตุบางอย่างขัดขวาง ๑  ภิกษุมีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๓๒๑-๓๒๕
      ๑.เมื่อภิกษุจะไปจากเสนาสนะพึงบอกลาภิกษุ เมื่อภิกษุนั้นไม่มี พึงบอกลาสามเณร เมื่อสามเณรไม่มี พึงบอกลาคนทำการวัด เมื่อคนทำการวัดไม่มี พึงบอกลาเจ้าของวิหาร ผู้สร้างวัด หรือผู้ใดผู้หนึ่งในวงศ์ตระกูลของเขา แม้เมื่อเจ้าของวิหารหรือผู้เกิดในวงศ์ตระกูลของเขาไม่มี ภิกษุพึงวางเตียงลงบนหิน ๔ ก้อน และยกเตียง ตั่ง ที่เหลือวางบนเตียงนั้นรวมที่นอนทั้ง ๑๐ อย่าง มีฟูกเป็นต้น กองไว้ข้างบน แล้วเก็บงำภัณฑะไม้ ภัณฑะดิน ปิดประตูและหน้าต่าง บำเพ็ญคมิยวัตร (วัตรของผู้จะไป) แล้วจึงไป
      - ก็ถ้าเสนาสนะฝนรั่วได้ และหญ้า หรืออิฐที่เขานำมาเพื่อมุงหลังคาก็มีอยู่, ถ้าอาจก็พึงมุง, ถ้าไม่อาจพึงเก็บเตียงและตั่งไว้ในที่ฝนจะไม่รั่วรดแล้วจึงไป, ถ้าเสนาสนะฝนรั่วทั้งหมด เมื่อสามารถพึงเก็บไว้ในเรือนของพวกอุบาสก ถ้าแม้พวกอุบาสกเหล่านั้นไม่ยอมรับ กล่าวว่า ท่านขอรับ! ธรรมดาของสงฆ์เป็นของหนัก พวกกระผมกลัวภัย มีไฟไหม้เป็นต้น ดังนี้ ภิกษุจะวางเตียงลงบนหิน แม้ในที่กลางแจ้ง แล้วเก็บเตียงตั่งเป็นต้นที่เหลือโดยนัยดังกล่าวแล้ว เอาหญ้าและใบไม้ปิดแล้วจึงไป ก็ควร, ของเหล่านี้จักเป็นอุปการะแก่ภิกษุเหล่าอื่นผู้มาในที่นี้
      ๒.บริเวณ ชื่อว่า อุปจารแห่งวิหาร, โรงฉันที่เขาสร้างไว้ในบริเวณ ชื่อว่า อุปัฏฐานศาลา, ปะรำที่เขาสร้างไว้ในบริเวณ ชื่อว่ามณฑป, โคนไม้ในบริเวณ ชื่อว่า รุกขมูล, ห้องภายในก็ดี เสนาสนะที่คุ้มกันได้ บังทั้งหมด อย่างอื่นก็ดี พึงทราบว่าเป็นวิหาร
      -เมื่อภิกษุปูลาดที่นอน ๑๐ อย่าง ดังกล่าวแล้วในภายในห้องเป็นต้น และในที่คุ้มกัน (แดดฝน) ได้ แล้วไปเสีย ที่นอนก็ดี เสนาสนะก็ดี ย่อมเสียหายเพราะปลวกเป็นต้น จะกลายเป็นจอมปลวกไปทีเดียว ฉะนั้นท่านจึงปรับเป็นปาจิตตีย์, แต่สำหรับภิกษุผู้ปูไว้ในที่มีอุปัฏฐากศาลาเป็นต้น ในภายนอกแล้วไป เพียงแต่ที่นอนเท่านั้นเสียหายไป เพราะสถานที่คุ้มกันไม่ได้ เสนาสนะไม่เสียหาย เพราะฉะนั้นท่านจึงปรับเป็นทุกกฎในอุปัฏฐากศาลาเป็นต้น
      -ก็เพราะตัวปลวกทั้งหลายไม่อาจเพื่อจะกัดเตียงและตั่งทันที  ฉะนั้นภิกษุวางเตียงตั่งนั้นไว้ แม้ในวิหาร แล้วไป ท่านก็ปรับเป็นทุกกฎ, ส่วนในอุปจารแห่งวิหาร พวกภิกษุแม้เมื่อเที่ยวตรวจดูวิหาร เห็นเตียงและตั่งนั้นแล้ว จักเก็บ
      -ภิกษุเมื่อจะเก็บเอาแล้วไป พึงรื้อเอาเครื่องถักร้อยเตียงและตั่งออกหมดแล้ว ม้วนแขวนไว้ที่วางจีวรแล้ว จึงไป ถึงภิกษุผู้มาอยู่ภายหลัง ถักเตียงและตั่งใหม่ เมื่อจะไปก็พึงกระทำอย่างนั้นเหมือนกัน, ภิกษุผู้ปูที่นอนจากภายในฝาไปถึงภายนอกฝาแล้วอยู่ ในเวลาจะไปพึงเก็บไว้ในที่ที่ตนถือเอามาแล้วๆ นั่นเทียว, แม้ภิกษุผู้ยกลงมาจากชั้นบนแห่งปราสาทแล้วอยู่ภายใต้ปราสาท ก็นัยนี้นั่นแล, แม้ภิกษุจะตั้งเตียงและตั่งไว้ในที่พักกลางวัน และที่พักกลางคืนแล้ว ในเวลาจะไปพึงเก็บไว้ตามเดิม ในที่ซึ่งตนถือเอามานั่นแล
      ๓.”สถานที่ควรบอกลา และไม่ควรบอกลา ศาลาใด เป็นศาลายาวก็ดี เป็นศาลาใบไม้ก็ดี อยู่บนพื้นดิน หรือว่าเรือนที่เขาสร้างบนเสาไม้ทั้งหลาย หลังใดเป็นที่ปลวกขึ้นได้ก่อน ภิกษุเมื่อจะหลีกไปจากศาลายาวเป็นต้นนั้น พึงบอกลาก่อน แล้วจึงหลีกไป เพราะว่าเมื่อสถานที่นั้นไม่มีใครปฏิบัติเพียง ๒-๓ วัน ตัวปลวกทั้งหลายย่อมตั้งขึ้น
      ส่วนเสนาสนะใด เป็นเสนาสนะที่เขาสร้างไว้บนหินดาด หรือบนเสาก็ดี ถ้ำที่ภูเขาหินก็ดี เสนาสนะที่ฉาบโบกปูนขาวก็ดี ในเสนาสนะใดไม่มีความสงสัยในเรื่องปลวก (จะขึ้น); เมื่อภิกษุจะหลีกไปจากที่นั่น จะบอกลาก็ตาม ไม่บอกลาก็ตาม ไปเสีย ก็ควร, แต่การบอกลาก่อนเป็นธรรมเนียม (ของผู้เตรียมจะไป) ถ้าตัวปลวกทั้งหลายจะขึ้นทางข้างหนึ่งในเสนาสนะ แม้เช่นนั้น ควรบอกลาก่อนแล้วจึงไป
      ฝ่ายภิกษุอาคันตุกะใดประพฤติตามภิกษุผู้ถือเสนาสนะของสงฆ์อยู่ ไม่ถือเสนาสนะสำหรับตนอยู่ เสนาสนะนั้นเป็นธุระของภิกษุรูปก่อน นั้นแล ตราบเท่าที่ภิกษุนั้นยังไม่ถือ (เสนาสนะสำหรับตน) ก็จำเดิมแต่ภิกษุนั้นถือเอาเสนาสนะ แล้วอยู่โดยอิสระของตน เป็นธุระของภิกษุอาคันตุกะนั่นเอง ถ้าแม้ทั้ง ๒ รูป แจกกันแล้วถือเอา เป็นธุระของท่านทั้ง ๒ รูป
      แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ถ้าภิกษุ ๒-๓ รูป ร่วมกันจัดตั้ง ในเวลาจะไปควรบอกลาทุกรูป ถ้าบรรดาภิกษุเหล่านั้น รูปหนึ่งไปก่อน ทำความผูกใจว่ารูปหลังจักปฏิบัติ แล้วไป ย่อมสมควร, ความพ้น (จากอาบัติ) ย่อมไม่มีแก่รูปหลัง เพราะความผูกใจ, ภิกษุมากรูปส่งภิกษุรูปหนึ่งให้ไปปู ในเวลาจะไปภิกษุทั้งหลายพึงบอกลา หรือพึงส่งภิกษุรูปหนึ่งไปบอกลา, ภิกษุนำเอาเตียงและตั่งเป็นต้นมาจากที่อื่น แม้อยู่ในที่อื่น ในเวลาจะไปพึงนำไปไว้ในที่เดิมนั้นนั่นแหละ ถ้าเมื่อภิกษุนำมาจากที่อื่นแล้วใช้อยู่ ภิกษุอื่นผู้แก่กว่ามา อย่าพึงห้ามท่าน พึงเรียนว่า ท่านขอรับ เตียง ตั่ง กระผมนำมาจากอาวาสอื่น ท่านพึงทำให้เป็นปกติเดิม เมื่อภิกษุผู้แก่กว่านั้นรับรองว่า เราจักทำอย่างนั้น ดังนี้ ภิกษุนอกนี้จะไป ก็ควร, จริงอยู่ เมื่อภิกษุแม้นำไปในที่อื่นอย่างนี้ ใช้สอยอย่างใช้สอยเป็นของสงฆ์ เตียงและตั่งนั่นจะเสียหายไปก็ตาม เก่าชำรุดไปก็ตาม ถูกพวกโจรลักไปก็ตาม ไม่เป็นสินใช้, แต่เมื่อภิกษุใช้สอยอย่างใช้สอยเป็นของบุคคล ย่อมเป็นสินใช้,  อนึ่ง ภิกษุใช้สอยเตียงตั่งของผู้อื่น อย่างใช้สอยเป็นของสงฆ์ก็ตาม อย่างใช้สอยเป็นของบุคคลก็ตาม เตียงตั่งเสียหายไป เป็นสินใช้เหมือนกัน
      ๔. เสนาสนะมีเหตุบางอย่างขัดขวาง มีภิกษุผู้แก่กว่า อิสรชน (ชนผู้เป็นใหญ่) ยักษ์ สีหะ เนื้อร้ายและงูเห่าเป็นต้นขัดขวาง
-ภิกษุยังมีห่วงใยอย่างนี้ว่า เราจักกลับมาปฏิบัติในวันนี้นั่นแหละ แล้วไปยังฝั่งแม่น้ำ หรือละแวกบ้าน ยืนอยู่ในที่ที่เธอเกิดความคิดที่จะไปนั้นนั่นเอง ส่งใครๆ ไปบอกลา หรือมีเหตุบางอย่าง บรรดาเหตุมีแม่น้ำเต็มฝั่ง พระราชาและโจรเป็นต้น ขัดขวาง, ภิกษุถูกอันตรายขัดขวาง ไม่อาจจะกลับมาได้ ย่อมไม่เป็นอาบัติ ดังนี้
      ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนสิกขาบทที่ ๔ (ปรมเสนาสนะ...) ที่กล่าวแล้ว 




ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๖๕)
ภิกษุแกล้งนอนเบียดภิกษุอื่นผู้นอนในกุฏิอยู่ก่อน
ด้วยหวังจะให้หลีกไป ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์กีดกันที่นอนดีๆ ไว้ ทำให้พระเถระทั้งหลายต้องย้ายไปเสีย พวกท่านคิดว่าพวกเราจักอยู่จำพรรษาที่นี้แหละ แล้วเข้าไปนอนแทรกแซงพระเถระทั้งหลาย ด้วยหมายใจว่า ผู้ใดมีความคับใจผู้นั้นจักหลีกไปเอง ภิกษุผู้มักน้อยทั้งหลายพากันตำหนิติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
       ”อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ สำเร็จการนอนแทรกแซงภิกษุผู้เข้าไปก่อนในวิหารของสงฆ์ ด้วยหมายว่าผู้ใดมีความคับใจ ผู้นั้นจักหลีกไปเอง ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์ 

อรรถาธิบาย
      -วิหารที่ชื่อว่าของสงฆ์ ได้แก่ วิหารที่เขาถวายแล้ว สละแล้วแก่สงฆ์
      -ที่ชื่อว่า รู้ คือ รู้ว่าเป็นพระผู้เฒ่า เป็นพระอาพาธ รู้ว่าเป็นพระสงฆ์ที่มอบวิหารให้
      -บทว่า แทรกแซง คือ เข้าไปเบียดเสียด
      -บทว่า สำเร็จการนอน ความว่า ภิกษุปูไว้เองก็ดี ให้คนอื่นปูไว้ก็ดี ซึ่งที่นอน ในสถานที่ใกล้เตียงก็ดี ตั่งก็ดี ทางเข้าออกก็ดี ต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อนั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      -คำว่า ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ ความว่า ไม่มีอะไรอื่นเป็นปัจจัยเพื่อสำเร็จการนอนแทรกแซง (ด้วยหมายว่า ผู้ใดมีความคับใจ จักหลีกไปเอง)

อาบัติ
       ๑.วิหารของสงฆ์ ภิกษุรู้ว่าเป็นของสงฆ์ สำเร็จการนอนแทรกแซง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒.วิหารของสงฆ์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓.วิหารของสงฆ์ ภิกษุคิดว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔.เว้นอุปจาร เตียง ตั่ง หรือทางเข้าออกไว้ ภิกษุปูเอง ให้คนอื่นปู ซึ่งที่นอน ต้องอาบัติทุกกฎ นั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕.ภิกษุปูเอง ให้คนอื่นปูก็ดี ซึ่งที่นอน ในอุปจารวิหารก็ดี ในโรงฉันก็ดี ในมณฑปก็ดี ใต้ต้นไม้ก็ดี ในที่แจ้งก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ นั่งทับ นอนทับ ต้องอาบัติทุกกฏ
๖.วิหารของบุคคล ภิกษุคิดว่าเป็นของสงฆ์...ต้องอาบัติทุกกฎ
๗.วิหารของบุคคล ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
๘.วิหารของบุคคล ภิกษุรู้ว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติทุกกฎ
๙.วิหารเป็นส่วนตัวของตน... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุอาพาธเข้าอยู่ ๑ ภิกษุถูกความหนาวหรือความร้อนเบียดเบียนแล้วเข้าไปอยู่ ๑  ภิกษุมีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๓๒๙-๓๓๑
      ๑.พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าไปถึงก่อน ขนบาตรและจีวรไปยืนกั้นอยู่ แล้วกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ที่นี่ถึงแก่พวกเรา ดังนี้แล้ว ให้ย้ายออกไป, กล่าวกับภิกษุเถระว่า ท่านขอรับ เฉพาะที่เตียงเท่านั้นถึงแก่พวกท่าน ไม่ใช่วิหารทั้งหมด  บัดนี้ ที่นี้ถึงแก่พวกกระผม แล้วจัดแจงวางเตียงและตั่ง แล้วนั่งบ้าง นอนบ้าง กระทำการสาธยายบ้าง
      ๒.ภิกษุที่ไม่ควรให้ย้ายออกไป ได้แก่ ภิกษุผู้เฒ่า, ภิกษุผู้อาพาธ, ภิกษุที่สงฆ์กำหนดว่าเป็นผู้ที่มีอุปการะ และความเป็นผู้มีคุณพิเศษ เช่น ภิกษุภัณฑาคาริก (ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ แต่งตั้งจากสงฆ์ให้เป็นผู้มีหน้าที่รักษาเรือนคลัง เก็บพัสดุของสงฆ์, ผู้รักษาคลังสิ่งของ) ภิกษุผู้เป็นธรรมกถึกและพระวินัยธร เป็นต้น ภิกษุผู้เป็นอาจารย์สอนคณะก็ดี สงฆ์จึงสมมติวิหารให้เพื่อให้อยู่เป็นประจำ เพราะเหตุนั้นสงฆ์ให้วิหารแก่ภิกษุใด ภิกษุแม้นั้นชื่อว่า เป็นผู้ไม่ควรให้ย้าย
      ๓.ในคำว่า อุปจาร พึงทราบวินิจฉัยดังนี้
      -หนึ่งศอกคืบโดยรอบในวิหารใหญ่ ชื่ออุปจารแห่งเตียงและตั่งก่อน, ในวิหารเล็กหนึ่งศอกคืบจากที่พอจะตั้งเตียง ตั่ง ได้ (ชื่อว่า อุปจารแห่งเตียง ตั่ง), ทางกว้างศอกคืบชั่วระยะถึงเตียงและตั่ง จากที่วางก้อนหินสำหรับล้างเท้า ซึ่งวางไว้ที่ประตูและที่ถ่ายปัสสาวะ สำหรับภิกษุผู้ล้างเท้าแล้วเข้าไป และภิกษุผู้ออกไปเพื่อต้องการถ่ายปัสสาวะ ชื่อ อุปจาร, ภิกษุใดใคร่จะสำเร็จการนอนแทรกแซง ปูลาดเองก็ดี ให้ปูลาดก็ดี ซึ่งที่นอน ในอุปจารแห่งภิกษุผู้ยืนอยู่ที่อุปจารแห่งเตียงหรือตั่งนั้นก็ดี ผู้เข้าหรือออกอยู่ก็ดี ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฎ
      -เป็นปาจิตตีย์เพราะเหตุสักว่านั่งทับบ้าง เพราะเหตุสักว่านอนทับบ้าง, แต่ถ้าภิกษุทำการนั่งและทำการนอน ทั้ง ๒ อย่าง เป็นปาจิตตีย์ ๒ ตัว เมื่อผุดลุกผุดนั่ง หรือผุดลุกผุดนอน เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ประโยค
      ๔.เสนาสนะส่วนตัวของบุคคลผู้คุ้นเคยกัน เช่นเดียวกับของส่วนตัวของตนเหมือนกัน ไม่เป็นอาบัติในเสนาสนะส่วนตัวบุคคลของผู้คุ้นเคยกันนั้น, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้เข้าไปในเพราะมีอันตรายแห่งชีวิตและพรหมจรรย์, และภิกษุผู้หลบหนาวร้อนเข้าไป
      ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุปฐมปาราชิก เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต, มีจิตที่ประกอบด้วยความโกรธ ความไม่ชอบใจ จึงใช้กายเบียดเบียนแทรกแซง)



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อปฺปมฺปิ เจ สํหิตํ ภาสมาโน   ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ    สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต
อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา    ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติ ฯ ๒๐ ฯ   
ถึงจะท่องจำตำราได้น้อย แต่ประพฤติชอบธรรม
ละราคะ โทสะ และโมหะได้ รู้แจ้งเห็นจริง มีจิตหลุดพ้น
ไม่ยึดมั่น ถือมั่น ทั้งปัจจุบันและอนาคต เขาย่อมได้รับผลที่พึงได้จากการบวช

Though little he recites the Sacred Texts, But puts the precepts into practice,
Forsaking lust, hatred and delusion, With rigth knowledge, with mind well freed,
Cling to nothing here or hereafter, He has a share in religious life.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 เมษายน 2561 15:51:41
ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๖๖)
ภิกษุโกรธเคืองภิกษุอื่น ฉุดคร่าไล่ออกจากวิหารของสงฆ์ ต้องปาจิตตีย์

       พระสัตตรสวัคคีย์ช่วยปฏิสังขรณ์วิหารใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่สุดเขตวัด ด้วยหมายใจว่าจักอยู่จำพรรษาที่นั่น พระฉัพพัคคีย์ได้เห็นแล้วพูดกันว่า พวกเราจักไล่พวกเธอไปเสีย เมื่อพวกเธอปฏิสังขรณ์เสร็จ
      ครั้นพระสัตตรสวัคคีย์ปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว พระฉัพพัคคีย์ได้กล่าวว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านจงย้ายออกไป วิหารนี้ถึงแก่พวกเรา  ตอบว่า พวกท่านควรจะบอกล่วงหน้ามิใช่หรือ พวกผมจะได้ปฏิสังขรณ์วิหารหลังอื่น,  ฉ.วิหารเป็นของสงฆ์มิใช่หรือ,  ส.ขอรับ วิหารเป็นของสงฆ์,  ฉ.พวกท่านจงย้ายออกไป วิหารถึงแก่พวกเรา,  ส.วิหารหลังใหญ่พวกท่านอยู่ได้ พวกผมก็จักอยู่,  ฉ.พวกท่านจงย้ายออกไป วิหารถึงแก่พวกเรา ดังนี้แล้ว ทำเป็นโกรธ ขัดใจ จับคอ ฉุดคร่าออกไป  พระสัตตรสวัคคีย์ถูกฉุดคร่าออกไปก็ร้องไห้ ภิกษุทั้งหลายถามว่าร้องไห้ทำไม พระสัตตรวัคคีย์แจ้งถึงเรื่องนั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายพากันเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า ”อนึ่ง ภิกษุใด โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี ซึ่งภิกษุ จากวิหารของสงฆ์ เป็นปาจิตตีย์”
     
 
อรรถาธิบาย
      - บทว่า โกรธ ขัดใจ คือ ไม่พอใจ แค้นใจ เจ็บใจ
      - วิหารของสงฆ์ คือ วิหารที่เขาถวายแล้ว สละแล้วแก่สงฆ์
      - บทว่า ฉุดคร่า คือ จับในห้องฉุดคร่าออกไปหน้ามุข ต้องอาบัติปาจิตตีย์ จับที่หน้ามุข ฉุดคร่าออกไปข้างนอก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ให้ก้าวพ้นประตูแม้หลายแห่ง ด้วยประโยคเดียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      - บทว่า ให้ฉุดคร่า ความว่า ใช้ผู้อื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ใช้ครั้งเดียว ให้ก้าวพ้นประตู แม้หลายแห่ง ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑.วิหารของสงฆ์ ภิกษุรู้ว่าเป็นของสงฆ์ โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่า ให้ฉุดคร่า ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒.วิหารของสงฆ์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓.วิหารของสงฆ์ ภิกษุคิดว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔.ภิกษุขนก็ดี ให้ขนก็ดี ซึ่งบริขารของภิกษุนั้น (ภิกษุข้อ ๑,๒,๓) ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕.ภิกษุฉุดคร่า ให้ฉุดคร่า ออกไปจากอุปจารวิหาร จากโรงฉัน จากปะรำ จากใต้ต้นไม้จากที่แจ้ง ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖.ภิกษุขน ให้ขน ซึ่งบริขารของภิกษุนั้น (ภิกษุข้อ ๕) ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗.ภิกษุฉุดคร่า ให้ฉุดคร่า ซึ่งอนุปสัมบัน... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๘.ภิกษุขน ให้ขน ซึ่งบริขารของอนุปสัมบัน... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๙.วิหารของบุคคล ภิกษุสำคัญว่าของสงฆ์... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๑๐.วิหารของบุคคล ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๑๑.วิหารของบุคคล ภิกษุรู้ว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๑๒.วิหารเป็นของส่วนตัวของตน... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุฉุดคร่า ให้ฉุดคร่า ซึ่งภิกษุอลัชชี ๑  ภิกษุขน ให้ขน ซึ่งบริขารของภิกษุอลัชชี ๑  ฉุดคร่า ให้ฉุดคร่าซึ่งภิกษุวิกลจริต ๑  ขน ให้ขน ซึ่งบริขารของภิกษุวิกลจริต ๑  ฉุดคร่า ให้ฉุดคร่า ซึ่งภิกษุผู้ก่อการบาดหมาง ก่อการทะเลาะวิวาท ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ๑  ขน ให้ขน ซึ่งของภิกษุผู้ก่อการบาดหมางนั้น ๑  ฉุดคร่า ให้ฉุดคร่า ซึ่งอันเตวาสิก หรือสัทธิวิหาริกผู้ประพฤติไม่เรียบร้อย ๑  ขน ให้ขน ซึ่งบริขารของอันเตวาสิก หรือสัทธิวิหาริกนั้น ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๓๓๖-๓๓๗
      ๑.ในเสนาสนะทั้งหลาย เช่น ปราสาท ๔ ชั้น ๕ ชั้น ก็ดี  ศาลา ๔ เหลี่ยมจัตุรัส มีซุ้มประตู ๖-๗-๘ ซุ้มก็ดี ภิกษุจับที่แขนทั้งสอง หรือที่คอให้ก้าวออกไปด้วยประโยคเดียว ไม่พักในระหว่าง เป็นปาจิตตีย์เพียงตัวเดียวเท่านั้น เมื่อหยุดเป็นพักๆ ให้ก้าวออกไปด้วยประโยคต่างๆ เป็นปาจิตตีย์หลายตัวตามจำนวนประตู แม้เมื่อไม่เอามือจับต้อง ฉุดออกไปด้วยวาจา กล่าวว่า จงออกไป ก็มีนัยนี้นั่นแล
      ๒.ภิกษุเพียงแต่สั่งว่า จงฉุดภิกษุนี้ออกไป เป็นทุกกฎ ถ้าภิกษุผู้ได้รับสั่งคราวเดียวนั้นให้ก้าวพ้นประตู แม้หลายแห่ง ก็ต้องปาจิตตีย์ตัวเดียว แต่ถ้าว่า เธอได้รับคำสั่งกำหนดอย่างนี้ว่า จงฉุดผ่านประตูเท่านี้ออกไปก็ดี ว่า จงฉุดไปจนถึงประตูใหญ่ ดังนี้ก็ดี เป็นปาจิตตีย์ตามจำนวนประตู
      ๓.ภิกษุใด ขนออกเองก็ดี ใช้ให้ขนออกก็ดี ซึ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นของส่วนตัวของภิกษุนั้น เช่น บาตร จีวร ธมกรกกรองน้ำ เตียง ตั่ง ฟูก และหมอน เป็นต้น โดยที่สุดแม้สะเก็ดน้ำย้อม เป็นทุกกฎแก่ภิกษุนั้นหลายตัวตามจำนวนแห่งวัตถุ, ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ในสิ่งของเหล่านั้น หากเจ้าของผูกมัดให้แน่น เป็นอาบัติตัวเดียวเท่านั้น
      ๔.ภิกษุย่อมได้เพื่อจะขับไล่ภิกษุผู้ทำความบาดหมาง และผู้ทำความทะเลาะกันเท่านั้นออกจากสังฆารามทั้งสิ้น เพราะว่าหากเธอได้พรรคพวกแล้ว จะพึงทำลายสงฆ์ก็ดี, ส่วนพวกภิกษุอลัชชี เป็นต้น ภิกษุพึงฉุดออกจากที่อยู่ของตนเท่านั้น จะขับเธอเหล่านั้นออกจากสังฆารามทั่วไป ไม่ควร
      ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๖๗)
ภิกษุนั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี บนเตียง ตั่ง อันมีเท้าไม่ได้ตรึงให้แน่น
ซึ่งเขาวางไว้บนร่างร้านที่เขาเก็บของในกุฏิ ต้องปาจิตตีย์

       ภิกษุ ๒ รูป อยู่บนร้านในวิหารเป็นของสงฆ์ รูปหนึ่งอยู่ชั้นล่าง รูปหนึ่งอยู่ชั้นบน ภิกษุผู้อยู่ชั้นบนนั่งทับโดยแรง ซึ่งเตียงอันมีเท้าเสียบ เท้าเตียงตกโดนศีรษะของภิกษุผู้อยู่ชั้นล่าง ภิกษุนั้นส่งเสียงร้องลั่น ภิกษุทั้งหลายพากันสอบถาม แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า 
        ”อนึ่ง ภิกษุใด นั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ตั่งก็ดี อันมีเท้าเสียบบนร้านในวิหารเป็นของสงฆ์ เป็นปาจิตตีย์”
     
 
อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า ร้าน ได้แก่ ร้านที่ไม่กระทบศีรษะของมัชฌิมบุรุษ (บุรุษไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป)
       -เตียงที่ชื่อว่า มีเท้าเสียบ คือ เขาสอดเท้าเสียบไว้ในตัวเตียง,  ตั่งที่ชื่อว่า มีเท้าเสียบ คือ เขาสอดเท้าเสียบเข้าไว้ในตัวตั่ง
       -บทว่า นั่งทับ คือ นั่งทับบนเตียง ตั่ง นั้น  ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       -บทว่า นอนทับ คือ นอนทับบนเตียง ตั่ง นั้น  ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
       ๑.วิหารของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าของสงฆ์ นั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ซึ่งตั่งก็ดี อันมีเท้าเสียบบนร้าน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒.วิหารของสงฆ์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓.วิหารของสงฆ์ ภิกษุคิดว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔.วิหารของบุคคล ภิกษุรู้ว่าเป็นของสงฆ์... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕.วิหารของบุคคล ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖.วิหารของบุคคล ภิกษุรู้ว่าเป็นของบุคคล... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๗.วิหารเป็นส่วนตัวของตน... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ไม่ใช่ร้าน ๑  ร้านสูงพอกระทบศีรษะ ๑  ข้างล่างไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่ ๑  ข้างบนปูพื้นไว้ ๑  เท้า เตียง ตั่ง ได้ตรึงสลักกับตัว ๑  ภิกษุยืนบนเตียงตั่งนั้นหยิบจีวรหรือพาดจีวร ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๓๔๑-๓๔๒
      ๑.บทว่า อุปริเวหาสกุฏิยา ได้แก่ บนกุฎี ๒ ชั้นก็ดี  ๓ ชั้นก็ดี ที่ข้างบนไม่ได้ปูพื้นไว้
      - ภิกษุนั่งทับเตียงโดยแรง เท้าเตียงที่ไม่ได้ใส่สลักจึงหลุดลง
กุฎีใดไม่กระทบศีรษะแห่งบุรุษผู้มีขนาดปานกลาง ด้วยขื่อที่ต่ำกว่าเขาทั้งหมด (กุฎีนั้นชื่อว่า เวหาสกุฎี)  ด้วยคำนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเวหาสกุฎีที่ทรงประสงค์แล้วในสิกขาบทนี้, แต่มิได้ทรงแสดงเวหาสกุฎีไว้ไม่,  จริงอยู่ กุฎีมี ๒ ชั้นก็ดี  ๓ ชั้นเป็นต้นก็ดี  ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเบื้องบนไม่ได้ปูพื้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า เวหาสกุฎี,  แต่ในสิกขาบทนี้ประสงค์เอาเวหาสกุฎีที่ไม่กระทบศีรษะ, พึงทราบความแตกต่างกันแห่งอาบัติ มีการนั่งทับเป็นต้น โดยนัยที่กล่าวแล้วในสิกขาบทก่อน (สิกขาบทที่ ๗)
      ๒.ไม่เป็นอาบัติในศาลาใบไม้ที่เขาสร้างไว้บนพื้นดินเป็นต้น เพราะว่าไม่อาจเพื่อจะทำความเบียดเบียนแก่คนอื่นในกุฎีบรรณศาลา (ศาลาใบไม้) เป็นต้นนั้น
      -กุฎีใดกระทบศีรษะได้ ไม่เป็นอาบัติในกุฎีแม้นั้น เพราะว่าใครๆ ไม่ก้มตัวลง ย่อมไม่อาจเพื่อจะเที่ยวไปในปราสาทชั้นล่าง (พื้นชั้นล่าง) ในกุฎีนั้นได้  ฉะนั้น จักไม่มีความเบียดเบียนแก่ผู้อื่นเพราะไม่ใช่สถานสัญจร
      -ภายใต้เป็นที่ใช้สอยไม่ได้ เพราะเก็บทัพสัมภาระเป็นต้น กุฎีเช่นนี้ก็ไม่เป็นอาบัติ
      -พื้นข้างบนกุฎีใดเขาปูแน่นทึบด้วยแผ่นกระดานไม้ก็ดี ทำการบริกรรมด้วยปูนขาวเป็นต้นก็ดี กุฎีเช่นนี้ก็ไม่เป็นอาบัติ
      -ได้ตรึงสลักไว้ที่ปลายเท้าเตียงและตั่งเป็นต้น แม้เมื่อภิกษุนั่งบนเตียงและตั่งใดๆ (เท้า) ไม่ตกลงมา ภิกษุผู้นั่งบนเตียงและตั่งเช่นนี้ ก็ไม่เป็นอาบัติ, ตั่ง ได้แก่ ม้าสี่เหลี่ยมรี นั่งได้ ๒ คนก็มี
      -ภิกษุยืนบนเตียงและตั่งที่มีเท้าเสียบเข้าไว้ในตัวเตียง ตั่ง หยิบจีวรหรือวัตถุอะไรๆ ที่แขวนไว้บนไม้ฟันมังกรเป็นต้นข้างบน หรือว่าจะแขวนวัตถุอื่น ก็ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้น
      ๓.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๖ แห่งโกสิยวรรค) เกิดขึ้นทางกาย ๑  ทางกายกับจิต ๑  เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๖๘)
ภิกษุจะเอาดินหรือปูนโบกหลังกุฏิ พึงโบกได้เพียง ๓ ชั้น
ถ้าโบกเกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์

       มหาอำมาตย์อุปัฏฐากของท่านพระฉันนะสร้างวิหารถวายพระฉันนะ แต่ท่านพระฉันนะสั่งให้มุงให้โบกฉาบพระวิหารที่ทำสำเร็จแล้วบ่อยครั้ง หลายชั้น วิหารหนักเกินไป ได้ทลายลงมา ท่านพระฉันนะมัวสาละวนเก็บรวบรวมหญ้าและไม้ ได้ทำนาข้าวเหนียวของพราหมณ์คนหนึ่งเสียหาย พราหมณ์นั้นได้เพ่งโทษตำหนิ ภิกษุทั้งหลายได้ยินการเพ่งโทษนั้น ได้พากันติเตียนพระฉันนะ แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า
        "อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำซึ่งวิหารใหญ่ จะวางเช็ดหน้าเพียงไรแต่กรอบแห่งประตู จะบริกรรมช่องหน้าต่าง พึงยืนในที่ปราศจากของสดเขียว อำนวยให้พอกได้ ๒-๓ ชั้น ถ้าอำนวยยิ่งกว่านั้น แม้ยืนในที่ปราศจากของเขียว ก็เป็นปาจิตตีย์"
     
 
อรรถาธิบาย
       - วิหารที่ชื่อว่า ใหญ่ ท่านว่าเป็นวิหารมีเจ้าของ
       - ที่ชื่อว่า วิหาร ได้แก่ ตึกที่เขาโบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายในก็ตาม ที่เขาโบกฉาบปูนไว้เฉพาะภายนอกก็ตาม หรือเขาโบกปูนไว้ทั้งภายในภายนอกด้วย
       - ผู้ให้ทำ คือ สร้างเองก็ดี ให้ผู้อื่นสร้างก็ดี
       - บทว่า เพียงไรแต่กรอบแห่งประตู คือ ชั่วหัตถบาส โดยรอบแห่งบานประตู
       - จะบริกรรมช่องหน้าต่าง คือ จะบริกรรม (ตบแต่ง) หน้าต่าง ให้มีสีเขียว ดำ สียางไม้ ลายดอกไม้ เป็นต้น
       - คำว่า พึงยืนในที่ปราศจากของสดเขียว อำนวยให้พอก (ด้วยปูนขาว, ดิน เป็นต้น) ๒-๓ ชั้น ความว่า ที่ชื่อว่า ของสดเขียว ได้แก่ บุพพัณชาติ (ข้าวกล้าต่างๆ ) และอปรัณชาติ (ถั่ว, งา)
       - ให้มุงตามทางแถว พึงมุงเอง ๒ แถวๆ ที่ ๓ สั่งให้มุงแล้ว พึงหลีกไป
       - ให้มุงเป็นชั้น พึงมุงเอง ๒ ชั้นๆ ที่ ๓ สั่งให้มุงแล้ว พึงหลีกไป


อาบัติ
      ๑.คำว่า ถ้าเธออำนวยให้ยิ่งกว่านั้น แม้ยืนในที่ปราศจากของสดเขียว ความว่า มุงด้วยอิฐ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ แผ่นอิฐ
      ๒.ถ้าภิกษุยืนสั่งการอยู่ในที่มีของสดเขียว ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๓.มุงด้วยแผ่นศิลา, ด้วยปูนขาว, ด้วยหญ้า, ด้วยใบไม้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ แผ่นศิลา ทุกๆ ก้อนปูนขาว ทุกๆ กำหญ้าทุกๆ ใบไม้
      ๔.เกิน ๒-๓ ชั้น ภิกษุรู้ว่า เกิน อำนวยการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๕.เกิน ๒-๓ ชั้น ภิกษุสงสัย อำนวยการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๖.เกิน ๒-๓ ชั้น  ภิกษุคิดว่ายังไม่ถึง อำนวยการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๗.หย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ภิกษุคิดว่าเกิน (เข้าใจว่าเกิน)... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๘.หย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๙.หย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ภิกษุรู้ว่ายังไม่ถึง... ไม่ต้องอาบัติ


อนาบัติ
      ภิกษุมุง ๒-๓ ชั้น ๑  มุงหย่อนกว่า ๒-๓ ชั้น ๑  สร้างถ้ำ ๑  คูหา ๑  กุฎีมุงหญ้า ๑  สร้างกุฎีเพื่อภิกษุอื่น ๑  สร้างด้วยทรัพย์ของตน ๑  ยกอาคารอันเป็นที่อยู่เสีย ภิกษุสร้างทุกอย่าง ไม่ต้องอาบัติ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๓๔๖-๓๕๐
      ๑.สิกขาบทนนี้มีสมุฏฐาน ๖  เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๖๙)
ภิกษุรู้อยู่ว่า น้ำมีตัวสัตว์ เอารดหญ้าหรือดิน ต้องปาจิตตีย์

       พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวี กำลังทำนวกรรม (ก่อสร้าง) เธอรู้ว่าน้ำมีตัวสัตว์ ยังรดเองบ้าง ให้คนอื่นรดบ้าง ซึ่งหญ้าบ้าง ดินบ้าง ภิกษุผู้มักน้อยสันโดษ ต่างเพ่งโทษ ติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า
       ”อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ว่าน้ำมีตัวสัตว์ รดก็ดี ให้รดก็ดี ซึ่งหญ้าก็ดี ดินก็ดี เป็นปาจิตตีย์”
     
 
อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า รู้อยู่ ได้แก่ รู้เอง หรือคนอื่นบอกเธอ
      - รด คือ รดเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์, ให้คนอื่นรด ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ให้เขารดครั้งเดียว แต่เขารดหลายครั้ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑.น้ำมีตัวสัตว์ ภิกษุรู้ว่า น้ำมีตัวสัตว์ รดเองก็ดี ให้คนอื่นรดก็ดี ซึ่งหญ้าก็ดี ดินก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒.น้ำมีตัวสัตว์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๓.น้ำมีตัวสัตว์ ภิกษุเข้าใจว่าไม่มีตัวสัตว์ รดเองก็ดี... ไม่ต้องอาบัติ
      ๔.น้ำไม่มีตัวสัตว์ ภิกษุคิดว่ามีตัวสัตว์ รดเองก็ดี... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕.น้ำไม่มีตัวสัตว์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖.น้ำไม่มีตัวสัตว์ ภิกษุรู้ว่าไม่มีตัวสัตว์... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่แกล้ง ๑  ไม่มีสติ ๑  ไม่รู้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๓๕๓-๓๕๔
      ๑.สองบทว่า ชานํ สปฺปาณกํ ได้แก่ รู้อยู่โดยประการใดประการหนึ่งว่า น้ำนี้มีตัวสัตว์เล็กๆ
      - เมื่อภิกษุรดไม่ทำให้สายน้ำขาด เป็นอาบัติเพียงตัวเดียวในหม้อน้ำหม้อเดียว, แต่เป็นอาบัติทุกๆ ขณะแก่ภิกษุผู้รดทำให้สายน้ำขาด, ภิกษุทำเหมืองให้เป็นทางตรง น้ำจะไหลทั้งวันก็ตาม เป็นอาบัติตัวเดียว, ถ้าภิกษุกั้นในที่นั้นๆ แล้ว ไขน้ำไปทางอื่นๆ เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค
      ถ้าแม้นบรรทุกหญ้าเต็มเล่มเกวียน ภิกษุใส่ลงในน้ำด้วยประโยคเดียว ก็เป็นอาบัติตัวเดียว, ภิกษุทิ้งหญ้าหรือใบไม้ (ลงไปในแหล่งน้ำที่มีตัวสัตว์) ลงทีละเส้น ทีละใบ เป็นอาบัติทุกๆ ประโยค, ในดินเหนียวก็ดี ในวัตถุอื่นมีไม้ โคลน และโคมัย เป็นต้น ก็มีนัยนี้
      ก็วิธีทิ้งหญ้าและดินลงในน้ำนี้ มิได้ตรัสหมายถึงน้ำมาก, น้ำใด เมื่อทิ้งหญ้าและดินลงไปจะถึงความแห้งไป หรือจะเป็นน้ำขุ่น ในน้ำใด จำพวกสัตว์เล็กๆ จะตายเสีย บัณฑิตพึงทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงน้ำเช่นนั้น
      ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เกิดขึ้น คือ ทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓ (อกุศลจิต, กุศลจิต, กิริยาจิต)


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อปฺปมาโท อมตํปทํ    ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
อปฺปมตฺตา น มียนฺติ   เย ปมตฺตา ยถา มตา ฯ ๒๑ ฯ  
ความไม่ประมาท เป็นทางอมตะ     ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
ผู้ไม่ประมาท ไม่มีวันตาย      ผู้ประมาท ถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว

Heedfulness is the way to the Deathless; Heedlessness is the way to death.
The heedful do not die; The heedless are like unto the dead. 
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 เมษายน 2561 15:33:19

ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๗๐)
ภิกษุที่ไม่ได้รับสมมติจากสงฆ์ สั่งสอนนางภิกษุณี ต้องปาจิตตีย์

      พระฉัพพัคคีย์เห็นภิกษุชั้นเถระทั้งหลายกล่าวสอนพวกภิกษุณี แล้วได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงปรึกษากันที่หาลาภบ้าง แล้วได้เข้าไปหาพวกภิกษุณี บอกว่าจักกล่าวสอน ขอพวกน้องหญิงจงไปหาพวกเราบ้าง
      เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นเข้าไปหา พระฉัพพัคคีย์กลับกล่าวธรรมเพียงเล็กน้อย แล้วชวนพูดเรื่องไร้สาระให้เวลาล่วงเลยไป ภิกษุณีเหล่านั้นได้เข้าเฝ้า ถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถาม ได้กราบทูลถึงความนั้น ทรงติเตียนพระฉัพพัคคีย์แล้วรับสั่งว่า ” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติภิกษุ เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณี” โดยให้ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้
       “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณี นี้เป็นญัตติ

      ท่านเจ้าข้า ของสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณี การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้กล่าวสอนภิกษุณีชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
      ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สอง...
      ข้าพเจ้ากล่าวความนี้เป็นครั้งที่สาม...

      แล้วมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ไม่ได้รับสมมติ กล่าวสอนพวกภิกษุณี เป็นปาจิตตีย์

      ต่อมาพระฉัพพัคคีย์ได้สมมติกันและกันเอง แล้วสอนภิกษุณีดังเดิมด้วยเรื่องไร้สาระ จึงทรงมีรับสั่งถึงภิกษุผู้จะกล่าวสอนภิกษุณีก็ได้ ต้องประกอบด้วยองค์คุณ ๘ ประการ คือ
      ๑.เป็นผู้มีศีล คือ สำรวมในปาติโมกข์ สมบูรณ์ด้วยอาจาระ (ความประพฤติ) และโคจระ (ที่เที่ยวไป มีเว้นการเที่ยวไปในสำนักของหญิงแพศยา เป็นต้น)...
      ๒.เป็นพหูสูต คือ ทรงสุตะ เป็นผู้สั่งสมสุตะ...
      ๓.รู้ทั้งภิกขุปาติโมกข์และภิกขุณีปาติโมกข์ด้วยดี...
      ๔.เป็นผู้มีวาจาสละสลวยชัดเจน
      ๕.เป็นผู้ที่นิยมชมชอบของภิกษุณีโดยมาก
      ๖.เป็นผู้สามารถกล่าวสอนภิกษุณีได้
      ๗.ไม่เคยล่วงครุธรรมกับสตรีผู้ครองผ้ากาสายะบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์นี้
      ๘.มีพรรษาได้ ๒๐ หรือเกิน ๒๐   
   
อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า ไม่ได้รับสมมติ คือ สงฆ์ยังไม่ได้สมมติด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา
      -ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ สตรีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์สองฝ่าย (คือทั้งภิกษุและภิกษุณี)
      -บทว่า กล่าวสอน ได้แก่ ภิกษุ (ผู้ไม่ได้รับสมมติ) กล่าวสอนด้วยครุธรรม ๘ ประการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์, กล่าวสอนด้วยธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติทุกกฎ, กล่าวสอนภิกษุณีผู้อุปสมบทในภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเดียว ต้องอาบัติทุกกฎ
      -ภิกษุผู้ได้สมมติแล้วนั้น พึงกวาดบริเวณ ตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ ปูอาสนะไว้ แล้วชวนเพื่อนภิกษุไปนั่งอยู่ด้วย ภิกษุณีทั้งหลายพึงไป ณ ที่นั้น อภิวาทภิกษุนั้นแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
      ภิกษุผู้ได้รับสมมติแล้วนั้นพึงถามว่า พวกเธอพร้อมเพรียงกันแล้วหรือ ถ้าพวกนางตอบว่า พวกดิฉันพร้อมเพรียงกันแล้วเจ้าข้า พึงถามว่า ครุธรรม ๘ ประการ ยังประพฤติกันอยู่หรือ ถ้าพวกนางตอบว่า ยังประพฤติกันอยู่เจ้าข้า พึงสั่งว่า นี่เป็นโอวาท น้องหญิงทั้งหลาย ถ้าพวกนางตอบว่า ไม่ได้ประพฤติกันเจ้าข้า พึงตักเตือนดังนี้

ครุธรรม ๘ ประการ
      ๑.ภิกษุณีอุปสมบทแล้วได้ ๑๐๐ พรรษา ต้องทำการกราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุผู้อุสมบทแล้วแม้ในวันนั้น ธรรมนี้อันภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ๒.ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมนี้...ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ๓.ภิกษุณีพึงหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามอุโบสถ ๑  ไปรับโอวาท ๑  จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้... ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ๔.ภิกษุณีผู้จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายโดยสถาน ๓ คือ ด้วยได้เห็น ๑  ด้วยได้ฟัง ๑  ด้วยรังเกียจ ๑  ธรรมแม้นี้... ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ๕.ภิกษุณีล่วงละเมิดครุธรรมแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์สองฝ่าย ธรรมแม้นี้...ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ๖.ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทา ในสงฆ์สองฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้ศึกษาสิกขาบทในธรรม ๖ ประการ ครบ ๒ ปี ธรรมแม้นี้...ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ๗.ภิกษุณีไม่พึงด่างบริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรมแม้นี้...ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ๘.ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณีได้ ธรรมแม้นี้...ไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต
      ถ้าพวกนางตอบว่า พวกดิฉันพร้อมเพรียงกันแล้ว, ภิกษุผู้ได้รับสมมติกลับสั่งสอนธรรมอย่างอื่น (ไม่สอนครุธรรม ๘) ต้องอาบัติทุกกฎ ถ้าพวกนางตอบว่ายังไม่พร้อมเพรียง ภิกษุผู้ได้รับสมมติกล่าวสอนครุธรรม ๘ ต้องอาบัติทุกกฎ, ไม่ให้โอวาท แต่สั่งสอนธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ

อาบัติ
      เนื่องจากขณะนี้ไม่มีภิกษุณี จึงขอไม่แสดงการวินิจฉัยอาบัติต่างๆ

อนาบัติ
      กรรมเป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมเป็นธรรม (สงฆ์ได้รับสมมติถูกต้อง ลำดับก่อนการแสดงครุธรรม ๘ ถูกต้อง) ภิกษุณีสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ภิกษุรู้ว่าพร้อมเพรียงกัน กล่าวสอน ไม่ต้องอาบัติ ๑  ภิกษุให้อุเทศ (หัวข้อ) ๑  ให้ปริปุจฉา ๑  ภิกษุอันภิกษุณีกล่าวว่า นิมนต์สวดเถิดเจ้าข้า ดังนี้  สวดอยู่ ๑  ภิกษุถามปัญหา ๑  ภิกษุกล่าวสอนคนอื่นอยู่ แต่พวกภิกษุณีฟังอยู่ด้วย ๑  กล่าวสอนสิกขมานา ๑  สอนสามเณรี ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๓๖๙-๓๙๓
      ๑.ภิกษุณีเหล่านั้นไม่ได้ถวายลาภแก่พระเถระเหล่านั้นด้วยตนเอง แต่พวกนางเมื่อได้รับการกล่าวสอนจากพระอสีติมหาสาวกแล้ว มีความเลื่อมใส ย่อมบอกกล่าวแก่เหล่าญาติของตน เมื่อถูกเหล่าญาติถาม จึงกล่าวสรรเสริญคุณของบรรดาพระเถระ เช่น สรรเสริญศีล สุตะ อาจาระ ชาติ และโคตร เป็นต้น  พวกมนุษย์ที่เป็นญาติเกิดจิตเลื่อมใส จึงได้นำเอาลาภและสักการะเป็นอันมาก เช่นจีวรเป็นต้นไปถวายแก่พระเถระทั้งหลาย
      -ส่วนสำนักของภิกษุฉัพภัคคีย์ แม้ภิกษุณีรูปหนึ่งก็ไม่มีมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ผู้มีใจอันตัณหาในลาภฉุดลากไปเนืองๆ ได้ไปสู่สำนักแห่งภิกษุณีเหล่านั้น
      ๒.ทรงเห็นว่าหากตรัสห้ามว่า พวกเธออย่ากล่าวสอนภิกษุณีทั้งหลายเลย ดังนี้ เหล่าภิกษุฉัพพัคคีย์ก็จะพึงผูกอาฆาต จักเป็นผู้เข้าถึงอบาย เพราะเป็นผู้ยังไม่เห็นสัจจะ ทรงหลีกเลี่ยงการเข้าถึงอบายของภิกษุเหล่านั้น ทรงประสงค์จะกันภิกษุฉัพพัคคีย์ไว้ภายนอกจากการกล่าวสอนภิกษุณี จึงทรงอนุญาตภิกขุโนวาทสมมติขึ้น เพราะองค์ ๘ เหล่านี้ ยังไม่เคยมีแก่พวกภิกษุฉัพพัคคีย์แม้แต่ความฝันแล
      -บทว่า ครุธรรม คือ ด้วยธรรมอันหนัก, ธรรมเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าครุธรรม เพราะเป็นธรรมอันภิกษุณีทั้งหลายพึงกระทำความเคารพรับรอง
      ๓.ถ้าบริเวณไม่เตียนหรือแม้เตียนแล้วในเวลาเช้า กลับรกเพราะหญ้าและใบไม้เป็นต้น และเกิดมีทรายกระจุยกระจายเพราะถูกเท้าเหยียบย่ำ ภิกษุผู้ได้รับสมมติพึงกวาด เพราะภิกษุณีทั้งหลายเหล่านั้น เห็นบริเวณนั้นไม่สะอาด พึงเป็นเหมือนผู้ไม่อยากฟัง ด้วยคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่ชักนำแม้พวกภิกษุหนุ่มผู้เป็นศิษย์ของตนในวัตรปฏิบัติ ดีแต่แสดงธรรมอย่างเดียว
      -ภิกษุณีทั้งหลาย เดินมาจากภายในบ้าน ย่อมกระหายน้ำและเหน็ดเหนื่อย ภิกษุณีเหล่านั้นจึงหวังเฉพาะน้ำดื่ม และการกระทำให้มือเท้าและหน้าเย็น, และเมื่อน้ำนั้นไม่มี ภิกษุณีเหล่านั้นจักเกิดความไม่เคารพโดยนัยก่อน แล้วเป็นผู้ไม่ประสงค์จะฟังธรรม
      -ก็ภิกษุผู้ได้รับสมมติพึงจัดตั่งที่นั่ง มีชนิดตั่งเล็ก ตั่งแผ่นกระดาน เสื่ออ่อน และเสื่อลำแพน เป็นต้น โดยที่สุดแม้กิ่งไม้ที่พอจะหักได้ ด้วยคิดว่า นี้จักเป็นที่นั่งของภิกษุณีเหล่านั้น แล้วพึงปรารถนาบุรุษผู้รู้เดียงสาเป็นเพื่อน เพื่อเปลื้องอาบัติในเพราะการแสดงธรรม ไม่พึงนั่งในที่สุดแดนวิหาร โดยที่แท้พึงนั่งในสถานชุมชนแห่งคนทั่วไป ใกล้ประตูแห่งโรงอุโบสถ หรือโรงฉันในท่ามกลางวิหาร
      ๔.บทว่า สามีจิกมฺมํ ได้แก่ วัตรอันสมควร มีการหลีกทางให้ พัดวี และถามโดยเอื้อเฟื้อด้วยน้ำดื่มที่มีเป็นต้น, ก็บรรดาวัตรมีการอภิวาทเป็นต้นนี้ ชื่อว่าการกราบไหว้ภิกษุอันภิกษุณีพึงกระทำแท้ภายในบ้านก็ดี นอกบ้านก็ดี ภายในวิหารก็ดี ภายนอกวิหารก็ดี ในละแวกบ้านก็ดี ในตรอกก็ดี โดยที่สุด แม้เมื่อการขับไล่เพราะเหตุพระราชาเสด็จมาเป็นไปอยู่ก็ดี เมื่อฝนกำลังตกก็ดี ในพื้นดินมีโคลนตมเป็นต้นก็ดี มีร่มและบาตรอยู่ในมือก็ดี ถูกช้างและม้าเป็นต้นไล่ติดตามก็ดี, ภิกษุณีเห็นพวกภิกษุเข้าสู่ที่ภิกขาจาร เดินเป็นแถวเนื่องกันเป็นแถวเดียว จะไหว้ที่แห่งเดียวด้วยกล่าวว่า ดิฉันไหว้พระคุณเจ้า ดังนี้ ก็ควร, ถ้าภิกษุทั้งหลายเดินเว้นระยะในระหว่างห่างกัน ๑๒ ศอก พึงแยกไหว้, จะไหว้ภิกษุทั้งหลายผู้นั่งอยู่ในที่ประชุมใหญ่ในที่แห่งเดียวเท่านั้นก็ได้, แม้ในอัญชลีกรรมก็นัยนี้, ก็ภิกษุณีนั่งแล้วในที่ใดที่หนึ่ง พึงกระทำการลุกรับ พึงกระทำกรรมนั้นๆ ในที่นั้น และเวลาอันสมควรแก่สามีจิกรรมนั้นๆ
      ๕.อุเทศ ได้แก่ ผู้แสดงบาลีแห่งครุธรรม ๘, ปริปุจฉา ได้แก่ ผู้กล่าวอรรถกถาแห่งบาลีครุธรรมที่คล่องแคล่วนั้นนั่นแล
      ภิกษุผู้อันภิกษุณีทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ (พร้อมเพรียงแล้ว) ย่อมสวดบาลีครุธรรม ๘  ภิกษุผู้ให้อุเทศ ผู้ให้ปริปุจฉาอย่างนี้ และภิกษุผู้อันภิกษุณีกล่าวว่า นิมนต์สวดเถิด สวดครุธรรม ๘ ไม่เป็นอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุนั้น, และไม่เป็นอาบัติทุกกฎแก่ภิกษุผู้กล่าวธรรมอื่น
      -ภิกษุณีย่อมถามปัญหาอิงครุธรรม หรืออิงธรรม มีขันธ์เป็นต้น ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้กล่าวแก้ปัญหานั้น
      ๖.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเหมือนปทโสธรรมสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๔ แห่งมุสาวาทวรรค) เกิดขึ้นทางวาจา ๑  ทางวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, วจีกรรม มีจิต ๓


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
เอตํ วิเสสโต ญตฺวา   อปฺปมาทมฺหิ ปณฺฑิตา
อปฺปมาเท ปโมทนฺติ   อริยานํ โคจเร รตา ฯ ๒๒ ฯ   
บัณฑิตรู้ข้อแตกต่าง ระหว่างความประมาทกับความไม่ประมาท
จึงยินดีในความไม่ประมาท อันเป็นแนวทางของพระอริยะ

Realzing this distinction,
The wise rejoice in heedfulness,
Which is the way of the Noble. 
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 มิถุนายน 2561 15:01:11

ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๗๑)
แม้ภิกษุที่สงฆ์สมมติแล้ว ตั้งแต่อาทิตย์ตกไป ไปสอนนางภิกษุณี ต้องปาจิตตีย์

      ท่านพระจูฬปันถกถึงวาระเป็นผู้กล่าวสอนพวกภิกษุณี พวกภิกษุณีกล่าวกันว่า พระคุณเจ้าจูฬปันถกะกล่าวโอวาทไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะมักกล่าวอุทานซ้ำๆ ซากๆ เมื่อพวกภิกษุณีมา ท่านถามว่า เธอพร้อมเพรียงกันแล้วหรือ, ภิกษุณี, พวกดิฉันพร้อมเพรียงกันแล้ว เจ้าข้า, จูฬ.ครุธรรม ๘ ประการ ยังเป็นไปดีอยู่หรือ, ภิกษุณี. ยังเป็นไปดีอยู่เจ้าข้า, พระจูฬปันถกะสั่งว่า นี้เป็นโอวาท แล้วกล่าวอุทานนี้ซ้ำอีกว่า “ความโศก ย่อมไม่มีแก่มุนีผู้มีจิตตั้งมั่น ไม่ประมาท ศึกษาอยู่ในโมเนยยปฏิปทา ผู้คงที่ ผู้สงบระงับ มีสติทุกเมื่อ”
       พวกภิกษุณีได้สนทนากันว่า โอวาทไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะซ้ำๆ ซากๆ ท่านพระจูฬปันถกะได้ยินแล้ว ครั้นแล้วได้เหาะขึ้นสู่อากาศ จงกรมบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง... กล่าวอุทานอย่างเดิม พร้อมทั้งแสดงพุทธพจน์ต่างๆ มากมาย  ภิกษุณีทั้งหลายพากันกล่าวชม จนพลบค่ำท่านจึงสั่งพวกภิกษุณีกลับ ภิกษุณีเข้าเมืองไม่ได้ พักแรมนอกเมือง ประชาชนต่างเพ่งโทษติเตียนว่า ไม่ใช่สตรีผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ภิกษุทั้งหลายได้ยินต่างติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงตำหนิพระจูฬปันถกะ แล้วมีพระบัญญัติว่า
        “ถ้าภิกษุ แม้ได้รับสมมติแล้ว เมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้วกล่าวสอนภิกษุณี เป็นปาจิตตีย์”      
 
อรรถาธิบาย
      - ได้รับสมมติแล้วจากสงฆ์ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา, เมื่อพระอาทิตย์อัสดง คือ พระอาทิตย์ตกแล้ว
      - บทว่า กล่าวสอน ความว่า กล่าวสอนด้วยครุธรรม ๘ ประการ หรือด้วยธรรมอย่างอื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติและอนาบัติ
      เนื่องจากขณะนี้ไม่มีภิกษุณีแล้ว จึงขอไม่แสดงวินิจฉัยอาบัติและอนาบัติ

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๓๙๘-๔๐๐
      ๑.”อธิบายคาถาของพระจูฬปันถกะ”
      - ผู้มีอธิจิต คือ ประกอบด้วยจิตที่ยิ่งกว่าจิตทั้งหมด ได้แก่ อรหัตตผลจิต, เป็นผู้ไม่ประมาท คือ ประกอบด้วยการบำเพ็ญกุศลธรรมติดต่อกันด้วยความไม่ประมาท, บทว่า มุนิโน มีความว่า ญาณ ตรัสเรียกว่า โมนะ เพราะรู้โลกทั้งสองอย่างนี้ว่า ผู้ใดย่อมรู้โลกทั้งสอง ผู้นั้นเราเรียกว่า มุนี เพราะเหตุนั้น, หรือพระขีณาสพ ตรัสเรียกว่า มุนี เพราะประกอบด้วยญาณนั้นแก่มุนีนั้น (รู้แจ้งโลกนี้และโลกหน้า)
      - ผู้ศึกษาอยู่ในทางแห่งญาณชื่อโมนะ กล่าวคือ อรหัตตมรรคญาณ คือ ในโพธิปักขิยธรรม๓๗ หรือในไตรสิกขา ก็คำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาปฏิปทาเป็นส่วนเบื้องต้น เพราะฉะนั้นผู้ศึกษาพึงเห็นใจความอย่างนี้ว่า แก่มุนีผู้ศึกษาอยู่ในธรรมเป็นส่วนเบื้องต้นอย่างนี้ บรรลุความเป็นมุนีด้วยการศึกษานี้
      - ความโศกทั้งหลายเกิดเพราะมีการพลัดพรากจากอิฏฐารมณ์เป็นต้น ในภายใน ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพผู้คงที่, ความโศกทั้งหลาย่อมไม่มีแก่มุนีผู้ประกอบด้วยลักษณะคงที่เห็นปานนี้, เพราะสงบระงับกิเลส มีราคะเป็นต้นได้, และเป็นผู้ไม่เว้นจากสติตลอดกาลเป็นนิตย์ เพราะเป็นผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติ
      ๒.พระจูฬปันถกเถระได้ฟังถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้น คิดว่า ภิกษุณีเหล่านี้ดูหมิ่นเราว่าพระเถระรูปนี้รู้ธรรมเพียงเท่านี้แหละ เอาล่ะ! บัดนี้ เราจะแสดงอานุภาพของตนแก่ภิกษุณีเหล่านี้ จึงยังความเคารพในธรรมให้เกิด แล้วเข้าจตุตถฌาน มีอภิญญาเป็นบาท ออกแล้วได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์เห็นปานนี้ คือ เดินจงกรมในอากาศกลางหาวบ้าง ฯลฯ หายตัวไปในระหว่างบ้าง
      ๓.ได้ยินว่า พระเถระนี้ถูกให้เรียนคาถานี้ในสำนักของพระเถระผู้เป็นพี่ชายของตนว่า “ดอกบัวชื่อโกกนุท มีกลิ่นหอม พึงบานแต่เช้า ยังไม่วายกลิ่น ฉันใด, ท่านจงดูพระอังคีรสยังรุ่งโรจน์เหมือนดวงอาทิตย์แผดรัศมีรุ่งโรจน์อยู่ในท่ามกลางหาว ฉันนั้น” ท่านสาธยายอยู่ถึง ๔ เดือน ก็ไม่อาจทำให้คล่องแคล่วได้
      ครั้งนั้น พระเถระ (มหาปันถกะผู้พี่ชาย) จึงขับไล่ท่านไปจากวิหารว่า เธอเป็นคนอาภัพในพระศาสนานี้ ท่านได้ยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตู คราวนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูพุทธเวไนยสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นแล้วจึงเสด็จไปใกล้ๆ ตรัสว่า จูฬปันถกะ เธอร้องไห้ทำไม? ท่านได้กราบทูลเรื่องทั้งหมดนั้น ลำดับนั้นจึงทรงประทานท่อนผ้าอันสะอาดแก่ท่าน  ตรัสว่า เธอจงลูบคลำผ้านี้ว่า ผ้าเช็ดธุลี ท่านรับว่า สาธุ แล้วนั่งในที่อยู่ของตน ลูบคลำที่สุดด้านหนึ่งแห่งผ้านั้น, ที่ที่ถูกลูบคลำนั้นได้กลายเป็นสีดำ ท่านกลับได้ความสลดใจว่า ผ้าชื่อว่าแม้บริสุทธิ์อย่างนี้ อาศัยอัตภาพนี้ กลับกลายเป็นสีดำ ดังนี้ แล้วจึงปรารภวิปัสสนา, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ท่านปรารภจากความเพียร ได้ทรงภาษิตโอวาทคาถานี้ว่า อธิเจตโส เป็นต้น พระเถระบรรลุพระอรหัตตผลในเวลาจบคาถา เพราะเหตุนั้นท่านจึงเคารพรักคาถานี้มาก, ท่านกล่าวคาถานั้นนั่นแล เพื่อให้ทราบความเคารพรักคาถานี้
      ๔.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนกับปทโสธรรมสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๘ แห่งมุสาวาทวรรค)



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๗๒)
ภิกษุเข้าไปสอนนางภิกษุณีถึงในที่อยู่ ต้องปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่นางภิกษุณีเจ็บป่วย

      พระฉัพพัคคีย์เข้าไปสอนภิกษุณีฉัพพัคคีย์ถึงในที่อยู่ของภิกษุณี ภิกษุณีทั้งหลายต่างเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยินพากันติเตียน แล้วกราบทูล,,, ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
       “อนึ่ง ภิกษุใดเข้าไปสู่ที่อาศัยของภิกษุณี แล้วสั่งสอนพวกภิกษุณี เป็นปาจิตตีย์”
       ต่อมา พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี อาพาธ พระเถระทั้งหลายพากันเข้าไปเยี่ยม นางได้ขอให้พระเถระทั้งหลายแสดงธรรม แต่พระเถระทั้งหลายไม่แสดงธรรม เพราะมีพระบัญญัติห้ามอยู่
       พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเยี่ยมพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ทรงทราบความนั้น จึงมีพระอนุบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด เข้าไปสู่ที่อาศัยของภิกษุณีแล้ว สั่งสอนพวกภิกษุณี เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ สมัยในเรื่องนั้นดังนี้ คือ ภิกษุณีอาพาธ นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น  
 
อรรถาธิบาย
      - ภิกษุผู้ได้รับสมมติพึงเข้าไปแสดงครุธรรม ๘ ประการ ยังที่อยู่ของพวกภิกษุณีได้ หากภิกษุณีนั้นเป็นผู้อาพาธ ไม่อาจจะไปรับโอวาท หรือไปร่วมประชุมได้

อาบัติและอนาบัติ
      เนื่องจากขณะนี้ไม่มีภิกษุณี (ตามพุทธศาสนานิกายเถรวาทไม่มีแล้ว) จึงไม่ขอแสดงไว้

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๒๐๖-๒๐๗
      ๑.เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้กล่าวสอนด้วยครุธรรม ๘ เท่านั้น, กล่าวสอนด้วยธรรมอื่นเป็นทุกกฎ
       - ภิกษุกล่าวสอนแก่ภิกษุณีผู้บวชในสงฆ์ฝ่ายเดียว คือ ภิกษุณีสงฆ์ เป็นอาบัติทุกกฎ, หากบวชแล้วในสงฆ์ทั้งสองฝายเป็นปาจิตตีย์
      ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเหมือนกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายกับวาจา ๑ ทางวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๗๓)
ภิกษุติเตียนภิกษุอื่นว่า สอนนางภิกษุณีเพราะเห็นแก่ลาภ ต้องปาจิตตีย์

      พระฉัพพคคีย์เห็นว่าบรรดาพระเถระทั้งหลายที่สั่งสอนภิกษุณีได้ปัจจัย ๔ จึงพากันพูดว่า พระเถระทั้งหลายเหล่านั้นสั่งสอนภิกษุณีเพราะเห็นแก่อามิส... ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเพ่งโทษติเตียน... แล้วกราบทูล.. ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
         “อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุสั่งสอนพวกภิกษุณีเพราะเหตุแห่งอามิส เป็นปาจิตตีย์”  
      
อรรถาธิบาย
       - บทว่า เพราะเหตุแห่งอามิส คือ เพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ การบูชา
       - คำว่า กล่าวอย่างนี้ ความว่า ภิกษุประสงค์จะใส่โทษ ประสงค์จะทำให้อัปยศ ประสงค์จะทำให้เก้อเขิน กล่าวกับอุปสัมบันเป็นผู้ที่สงฆ์สมมติให้เป็นผู้สั่งสอนภิกษุณีอย่างนี้ว่า เธอสั่งสอนเพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ... ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติและอนาบัติ
       พึงทราบเหตุผลตามสิกขาบทที่ ๓

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๑๑
      ๑.พระฉัพพัคคีย์กล่าวหาพระเถระทั้งหลายว่า ไม่ทำความตั้งใจ ไม่ทำความเคารพในธรรม กล่าวสอน
      ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๗๔)
ภิกษุให้จีวรแก่ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน

      ภิกษุรูปหนึ่งได้เป็นเพื่อนพบเห็นกันกับภิกษุณีรูปหนึ่ง ทั้งสองท่านเป็นผู้มีจีวรเก่า วันหนึ่งภิกษุรูปนั้นได้ไปรับแจกจีวรจากสงฆ์มา แล้วนำมาให้ภิกษุณีรูปนั้นเปลี่ยน ภิกษุทั้งหลายได้บอกให้ภิกษุรูปนั้นเปลี่ยนจีวรเป็นจีวรใหม่เสีย เธอได้แจ้งว่าได้ให้แก่ภิกษุณีไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายพากันเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงสอบถามภิกษุรูปนั้นว่า ภิกษุณีเป็นญาติหรือไม่ ภิกษุตอบว่า มิใช่ญาติ พระพุทธเจ้าข้า ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
         “อนึ่ง ภิกษุใด ให้จีวรแก่ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นปาจิตตีย์  
 
อรรถาธิบาย
        - ที่ชื่อว่า มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนเนื่องถึงกันทางมารดาบิดา ตลอด ๗ ชั่วบุรพชนก
        - ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ จีวร ๖ ชนิดๆ ใด ชนิดหนึ่ง ซึ่งเข้าองค์กำหนดแห่งผ้า ต้องวิกัปเป็นอย่างต่ำ
        - คำว่า เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยน ความว่า ภิกษุให้ เว้นการแลกเปลี่ยน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติและอนาบัติ
       พึงทราบเหตุผลตามสิกขาบทที่ ๓

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๑๖
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนในจีวรปฏิคคหณสิกขาบท, ต่างกันแต่ในจีวรปฏิคคหณสิกขาบท ภิกษุเป็นผู้รับ ในสิกขาบทนี้ภิกษุณีเป็นผู้รับ



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๗๕)
ภิกษุเย็บจีวรให้ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ใช้ให้ผู้อื่นเย็บก็ดี ต้องปาจิตตีย์

      พระอุทายีเป็นผู้มีความสามารถทำจีวรกรรม (มีการตัด เย็บ ย้อม เป็นต้น) มีภิกษุณีรูปหนึ่งเข้าไปหาท่าน พูดขอให้ท่านช่วยเย็บจีวรให้
       พระอุทายีช่วยเย็บย้อมตกแต่งอย่างดี แล้วเขียนรูปอันวิจิตรตามความคิดของท่านไว้กลางผ้า พับเก็บไว้ (รูปหญิงชายกำลังทำเมถุนกัน) ภิกษุณีรูปนั้นมารับจีวร แล้วนำมาห่มในวันรับโอวาท นางเดินตามหลังภิกษุณีทั้งหลายไป ประชาชนเห็นรูปนั้นต่างพากันตำหนิติเตียน... ภิกษุณีทั้งหลายได้ถามว่า ใครทำ  ตอบว่า พระคุณเจ้าอุทายี  ภิกษุณีทั้งหลายตำหนิติเตียนพระอุทายี แล้วกราบทูล... ทรงสอบถามพระอุทายีว่าภิกษุณีนั้นเป็นญาติหรือไม่ พระอุทายีตอบว่า ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าข้า  จึงทรงมีพระบัญญัติว่า
        “อนึ่ง ภิกษุใด เย็บก็ดี ให้เย็บก็ดี ซึ่งจีวร เพื่อภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นปาจิตตีย์”      
 
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนเนื่องถึงกันทางมารดาก็ดี บิดาก็ดี ตลอด ๗ ชั่วบุรพชนก
       - เย็บ ก็คือ เย็บเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ รอยเข็ม
       - ให้เย็บ คือ ใช้ผู้อื่นเย็บ ต้องอาบัติปาจิตตีย์, ใช้หนเดียว แต่เย็บแม้หลายหน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติและอนาบัติ
       พึงทราบเหตุผลตามสิกขาบทที่ ๓

 สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๒๐-๔๒๒
      ๑.คำว่า อุทายี ได้แก่พระโลฬุทายี, ภิกษุณีรูปนี้เป็นภรรยาเก่าของท่าน
      ๒.ภิกษุเย็บเองก็ดี ให้เย็บก็ดี ซึ่งบริขารอื่นเว้นจีวร ไม่เป็นอาบัติ
      ๓.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๗๖)
ภิกษุชวนภิกษุณีเดินทางด้วยกัน แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่ทางเปลี่ยว

      พระฉัพพัคคีย์ชักชวนกันเดินทางไกลร่วมกับพวกภิกษุณี คนทั้งหลายพากันติเตียนว่าเหมือนสามีภรรยาเดินเที่ยวกันไป ภิกษุผู้มักน้อยทั้งหลายได้ยิน จึงพากันเพ่งโทษติเตียนพระฉัพพัคคีย์ แล้วกราบทูล...ทรงมีพระบัญญัติว่า
       “อนึ่ง ภิกษุใด ชักชวนกันแล้ว เดินทางไกลด้วยกันกับภิกษุณี โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์”
       สมัยต่อมา ภิกษุและภิกษุณีหลายรูปด้วยกันจะพากันเดินทางไกลจากเมืองสาเกต ไปพระนครสาวัตถี ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจที่จะเดินทางร่วมไปกับภิกษุณี จึงขอให้ภิกษุณีออกเดินทางไปก่อน แต่ภิกษุณีขอให้ภิกษุทั้งหลายออกเดินทางก่อน
       เมื่อภิกษุณีพวกนั้นเดินทางไปภายหลัง ถูกพวกโจรแย่งชิงและประทุษร้าย ถึงเมืองสาวัตถีแล้ว ภิกษุณีพวกนั้นได้แจ้งแก่ภิกษุณีทั้งหลายๆ ได้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ได้กราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
        “อนึ่ง ภิกษุใด ชักชวนกันแล้วเดินทางไกลด้วยกันกับภิกษุณี โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์  นี้สมัยในเรื่องนั้น (คือ) ทางเป็นที่จะต้องไปด้วยพวกเกวียน รู้กันอยู่ว่าเป็นที่น่ารังเกียจ มีภัยเฉพาะหน้า นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”      
 
อรรถาธิบาย
       - ชักชวนกันแล้ว คือ ชักชวนกันว่า ไปกันเถิดน้องหญิง ไปกันเถิดพระคุณเจ้า พวกเราไปกันในวันนี้ ไปกันในวันพรุ่งนี้ หรือไปกันในวันมะรืนนี้ ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ
       - โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง คือ ในหมู่บ้านกำหนดชั่วไก่บินตก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ระยะบ้าน ในป่าหาบ้านมิได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ กึ่งโยชน์
       - เว้นไว้แต่สมัย คือ ยกเว้นในคราว
       - หนทางที่ชื่อว่า จะต้องไปด้วยพวกเกวียน คือ เว้นพวกเกวียนแล้วไม่สามารถจะไปได้
       - ที่ชื่อว่า เป็นที่น่ารังเกียจ คือ ในหนทางนั้นมีสถานที่พวกโจรซ่องสุมปรากฏอยู่
       - ที่ชื่อว่า มีภัยเฉพาะหน้า คือ ในหนทางนั้นมีมนุษย์พวกโจรฆ่าปล้นทุบตีปรากฏอยู่
       ภิกษุพาไปตลอดทางที่มีภัยเฉพาะหน้า ถึงทางที่ปลอดภัยแล้ว พึงสั่งพวกภิกษุณีไปด้วย คำว่า ไปเถิดน้องหญิงทั้งหลาย

อาบัติและอนาบัติ
       ๑. พวกโจรประทุษร้ายภิกษุณีเหล่านั้น อธิบายว่า ให้ถึงความเสียศีล
       ๒. ไก่ออกจากบ้านใดแล้วเดินไปยังบ้านอื่น บ้านนี้ท่านเรียกว่า ชั่วไก่ไปถึง, ไก่บินโผขึ้นจากหลังคาเรือนแห่งบ้านใด แล้วไปตกที่หลังคาเรือนบ้านอื่น บ้านนี้ท่านเรียกว่า ชั่วไก่บินถึง
       ๓. “ไม่เป็นอาบัติ” หากภิกษุไม่ได้ชักชวน, ต่างคนต่างไม่ได้ชักชวน, ไปผิดนัด, มีอันตราย, ในสมัย, วิกลจริต, อาทิกัมมิกะ
       ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๔ คือ เกิดขึ้นทางกาย ๑ ทางกายกับวาจา ๑ ทางกายกับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา, เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๗๗)
ภิกษุชวนภิกษุณีลงเรือลำเดียวกัน ขึ้นน้ำก็ดี ล่องน้ำก็ดี ต้องปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่ข้ามฟาก

      พระฉัพพัคคีย์ชักชวนกันแล้ว โดยสารเรือลำเดียวกับพวกภิกษุณี ประชาชนเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยินการติเตียนนั้น ต่างพากันติเตียน... แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
        “อนึ่ง ภิกษุใด ชักชวนกันแล้ว โดยสารเรือลำเดียวกับภิกษุณี ขึ้นน้ำไปก็ดี ล่องน้ำไปก็ดี เป็นปาจิตตีย์”
        สมัยต่อมา ภิกษุและภิกษุณีหลายรูปเดินทางไกล ระหว่างทางจะต้องข้ามแม่น้ำ ภิกษุรังเกียจที่จะโดยสารเรือลำเดียวกัน ภิกษุณีได้ให้ภิกษุข้ามไปก่อน ภิกษุณีข้ามไปภายหลังได้ถูกโจรแย่งชิงประทุษร้ายแล้ว เมื่อถึงได้แจ้งแก่ภิกษุณีทั้งหลายๆ แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
        “อนึ่ง ภิกษุใด ชักชวนกันแล้ว โดยสารเรือลำเดียวกับภิกษุณี ขึ้นน้ำไปก็ดี ล่องน้ำไปก็ดี เว้นไว้แต่ข้ามฟาก เป็นปาจิตตีย์”      
 
อรรถาธิบาย
      - ชักชวนแล้ว คือ ชักชวนกันว่า ไปโดยสารเรือกันเถิดน้องหญิง ไปโดยสารเรือกันเถิดพระคุณเจ้า พวกเราไปโดยสารเรือในวันนี้... ต้องอาบัติทุกกฎ
        เมื่อภิกษุณีโดยสารแล้ว ภิกษุจึงโดยสาร ต้องอาบัติปาจิตตีย์, เมื่อภิกษุโดยสารแล้ว ภิกษุณีจึงโดยสาร ต้องอาบัติปาจิตตีย์, หรือโดยสารทั้งสองต้องอาบัติปาจิตตีย์
       - ขึ้นน้ำไป คือแล่นขึ้นทวนน้ำ, ล่องน้ำไป คือ แล่นลงตามน้ำ
       - เว้นไว้แต่ข้ามฟาก คือ ยกเว้นแต่ข้ามฟาก
       ในหมู่บ้านกำหนดชั่วระยะไก่บินตก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ระยะบ้าน, ในป่าหาบ้านมิได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ กึ่งโยชน์
 
อาบัติ
      พึงทราบเหตุผลตามสิกขาบทที่ ๓

อนาบัติ
       ข้ามฟาก ๑  ไม่ได้ชักชวนกันโดยสาร ๑  ภิกษุณีชักชวน ภิกษุไม่ได้ชักชวน ๑  โดยสารเรือผิดนัด ๑  มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๓๕-๔๓๖
       ๑.ไม่เป็นอาบัติ แม้แก่ภิกษุใดผู้ออกจากท่าชื่อมหาดิษฐ์ไปสู่ท่าชื่อตาพลิตติก็ดี ชื่อสุวรรณภูมิก็ดี ไม่เป็นอาบัติแม้แก่ภิกษุนั้น เพราะในทุกๆ อรรถกถา ท่านวิจารณ์อาบัติไว้ในแม่น้ำเท่านั้น ไม่ใช่ในทะเล
       -ไม่เป็นอาบัติ เพราะผิดนัดเวลาเท่านั้น, แต่เมื่อไปโดยผิดนัดท่าเรือ โดยผิดนัดเรือ เป็นอาบัติทีเดียว
       ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนกับปฐมปาราชิก



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่๗๘)
ภิกษุฉันของเคี้ยวของฉันที่ภิกษุณีแนะนำให้คฤหัสถ์ถวาย ต้องปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่คฤหัสถ์เขาปรารภไว้ก่อน

      ภิกษุณีถุลลนันทาเข้าไปรับภัตตาหารยังบ้านของคหบดี รับภัตตาหารแล้วแลเห็นคหบดีจัดของเคี้ยวของฉันไว้มากมาย จึงถามว่า จัดไว้ให้ใคร คหบดีตอบว่า จัดไว้เพื่อพระเถระทั้งหลาย มีพระคุณเจ้าสารีบุตร พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะ พระคุณเจ้ามหากัจจานะ เป็นต้น  ถุลลนันทาภิกษุณีกล่าวว่า ก็เมื่อพระเถระผู้ใหญ่มีอยู่ ทำไมจึงนิมนต์พระเล็กๆ เล่า  คหบดี, พระเถระผู้ใหญ่เหล่านั้นคือใครบ้าง ขอรับ  ถุล. คือ พระคุณเจ้าเทวทัต พระคุณเจ้าโกกาลิกะ พระคุณเจ้ากฏโมรกติสสกะ เป็นต้น
        ขณะนั้น พระเถระทั้งหลายมาพอดี นางกลับพูดว่า ดูก่อนคหบดี ถูกแล้ว พระเถระชั้นผู้ใหญ่ทั้งนั้น ท่านนิมนต์ถูกแล้ว คหบดีตำหนินางว่า เมื่อกี้พูดว่าท่านเหล่านี้เป็นพระเล็กๆ เดี๋ยวนี้พูดว่าเป็นพระเถระผู้ใหญ่ แล้วได้ขับนางออกจากเรือน และงดอาหารที่ถวายประจำ
        ภิกษุผู้มักน้อย... พากันเพ่งโทษติเตียนพระเทวทัตว่า ไฉนพระเทวทัตรู้อยู่ จึงยังฉันบิณฑบาตที่ภิกษุณีแนะนำให้ถวาย แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนพระเทวทัต แล้วมีพระบัญญัติว่า
        “อนึ่ง ภิกษุรู้อยู่ ฉันบิณฑบาตอันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย เป็นปาจิตตีย์”
        สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางกลับไปยังตระกูลญาติ ญาติทั้งหลายดีใจ ตั้งใจถวายภัตตาหาร ขณะนั้นมีภิกษุณีรูปหนึ่งบอกแนะนำให้คนทั้งหลายว่า ขอพวกท่านจงถวายภัตตาหารแก่พระคุณเจ้าเถิด ภิกษุนั้นรังเกียจ ไม่รับประเคน และไม่สามารถจะเที่ยวบิณฑบาตได้ เธอได้ขาดภัตแล้ว กลับไปอาราม ท่านจึงแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
        “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ฉันบิณฑบาตอันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย เว้นแต่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน เป็นปาจิตตีย์”  
 
อรรถาธิบาย
        - ที่ชื่อว่า รู้ คือรู้เอง หรือคนอื่นบอกเธอ หรือภิกษุณีนั้นบอก
        - ที่ชื่อว่า แนะนำให้ถวาย คือ ภิกษุณีบอกแก่ผู้ไม่ประสงค์จะถวายทาน ไม่ประสงค์จะทำบุญไว้แต่แรกว่า ท่านเป็นนักสวด ท่านเป็นผู้คงแก่เรียน ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญพระสุตตันตปิฎก ท่านเป็นพระวินัยธร ท่านเป็นพระธรรมกถึก ขอท่านทั้งหลายจงถวายแก่ท่านเถิด ขอท่านทั้งหลายจงทำบุญแก่ท่านเถิด นี้ชื่อว่า แนะนำให้ถวาย
        - เว้นไว้แต่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน คือ เขาเป็นญาติ เป็นผู้ปวารณา หรือเขาจัดแจงไว้ตามปกติ เว้นจากบิณฑบาตที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจว่าจักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ ฉันต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
        พึงทราบเหตุผลตามสิกขาบทที่ ๓

อนาบัติ
        ภิกษุฉันบิณฑบาตที่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน ๑  ภิกษุฉันบิณฑบาตอันสิกขมานาแนะนำให้ถวาย ๑  ภิกษุฉันบิณฑบาตอันสามเณรแนะนำให้ถวาย ๑  ภิกษุฉันอาหารทุกชนิด เว้นโภชนะห้า ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๔๒-๔๔๓
        ๑. ไม่เป็นอาบัติ ในยาคู ของควรเคี้ยว และผลไม้น้อยใหญ่ทั้งหมด แม้ที่นางภิกษุณีแนะนำให้ถวาย
        ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิก เกิดขึ้นทางกายกับจิต เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๗๙)
ภิกษุนั่งก็ดี นอนก็ดี ในที่ลับสองต่อสองกับนางภิกษุณี ต้องปาจิตตีย์

      เมื่ออดีตภรรยาของท่านพระอุทายีได้บวชเป็นภิกษุณี นางได้มายังสำนักของท่านพระอุทายีเนืองๆ แม้ท่านอุทายีก็ยังไปยังสำนักของนางเนืองๆ ท่านอุทายีสำเร็จการนั่งในที่ลับกับภิกษุณีนั้นหนึ่งต่อหนึ่ง
        ภิกษุทั้งหลายทราบความได้พากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
        “อนึ่ง ภิกษุใด ผู้เดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับภิกษุณีผู้เดียว เป็นปาจิตตีย์
     
อรรถาธิบาย
       - ผู้เดียว คือ มีเฉพาะภิกษุและภิกษุณี
       - ที่ชื่อว่า ที่ลับ คือ ที่ลับตา ๑  ที่ลับหู ๑, ที่ลับตา ได้แก่ สถานที่ซึ่งไม่สามารถแลเห็นภิกษุกับภิกษุณีขยิบตากัน ยักคิ้วกัน หรือชะเง้อศีรษะกัน, ที่ลับหู ได้แก่ สถานที่ซึ่งไม่สามารถได้ยินถ้อยคำที่พูดกันตามปกติ
       - บทว่า สำเร็จการนั่ง ความว่า เมื่อภิกษุณีนั่ง ภิกษุนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุนั่ง ภิกษุณีนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ นั่งทั้งสองก็ดี นอนทั้งสองก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
       พึงทราบเหตุผลตามสิกขาบทที่ ๓

อนาบัติ
       ภิกษุมีบุรุษผู้รู้เดียงสาคนใดคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน ๑  ภิกษุยืนมิได้นั่ง ๑  ภิกษุมิได้มุ่งที่ลับ ๑  ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๔๗
       ๑. อรรถแห่งบาลีและวินิจฉัยทั้งหมด ผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยดังกล่าวไว้ในอนิยต สิกขาบทที่ ๒ และปาจิตตีย์ “อเจลกวรรค” สิกขาบทที่ ๔


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
เต ฌายิโน สาตติกา   นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา
ผุสนฺติ ธีรา นิพฺพานํ    โยคกฺเขมํ อนุตฺตรํ ฯ ๒๓ ฯ
ท่านผู้ฉลาดเหล่านั้น หมั่นเจริญกรรมฐาน  มีความเพียรมั่นอยู่เป็นนิจศีล
บรรลุพระนิพพานอันเป็นสภาวะที่สูงส่ง  อิสระจากกิเลสเครื่องผูกมัด

These wise, constantly meditative,
Ever earnestly persevering,
Attain the bond-free, supreme Nibbana.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 สิงหาคม 2561 16:57:48

ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๘๐)
ภิกษุไม่ใช่ผู้อาพาธ ฉันอาหารในโรงทานได้เพียง ๑ ครั้ง
ถ้าฉันติดๆ กันสองครั้ง ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์พากันอยู่ในโรงทาน ฉันอาหารในโรงทานเป็นประจำ ไม่ยอมเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต แม้แต่พวกเดียรถีย์ยังพากันหลีกไป ประชาชนพากันเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า “ภิกษุพึงฉันอาหารในโรงทานได้ครั้งหนึ่ง ถ้าฉันยิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์”
       สมัยต่อมา พระสารีบุตรอาพาธในโรงทาน หลังจากฉันอาหารในโรงทานนั้น ไม่สมารถหลีกไปจากโรงทานได้ วันที่ ๒ ประชาชนนำภัตมานิมนต์ให้ท่านฉัน แต่ท่านไม่ฉัน เพราะเห็นว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าห้ามแล้ว จึงยอมอดอาหารแล้ว ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า “ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ พึงฉันอาหารในโรงทานได้ครั้งหนึ่ง ถ้าฉันยิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์”       
     
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า มิใช่ผู้อาพาธ คือ สามารถจะหลีกไปจากโรงทานได้, ผู้อาพาธ คือ ไม่สามารถจะหลีกไปจากโรงทานนั้นได้
       - ที่ชื่อว่า อาหารในโรงทาน ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง (ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ) อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เขาจัดตั้งไว้ ณ ศาลา ปะรำ หรือที่กลางแจ้ง มิได้เฉพาะใคร มีพอแก่ความต้องการ
       ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธฉันได้ครั้งหนึ่ง หากฉันเกินกว่านั้น รับประเคนด้วยตั้งใจว่าจักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ กลืนกินต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆคำกลืน

อาบัติ
       ๑. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุรู้ว่ามิใช่ผู้อาพาธ ฉันอาหารในโรงทานยิ่งกว่านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุคิดว่าเป็นผู้อาพาธ... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. ผู้อาพาธ ภิกษุคิดว่ามิใช่ผู้อาพาธ... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕.ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖. ผู้อาพาธ ภิกษุรู้ว่าเป็นผู้อาพาธ... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุอาพาธ ๑  ภิกษุไม่อาพาธฉันครั้งเดียว ๑  ภิกษุเดินทางไปแล้วเดินทางกลับมาแวะฉัน ๑  เจ้าของนิมนต์ให้ฉัน ๑  ภิกษุฉันอาหารที่เขาจัดไว้จำเพาะ ๑  ภิกษุฉันอาหารที่เขามิได้จัดไว้มากมาย ๑  ภิกษุฉันอาหารทุกชนิด เว้นโภชนะห้า ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๕๓-๔๕๖
       ๑. ก้อนข้าวในโรงทาน ชื่อว่า อาวสถปิณฑะ  อธิบายว่า อาหารที่เขาสร้างโรงทานกั้นรั้วโดยรอบ มีกำหนดห้องและหน้ามุขไว้มากมาย จัดตั้งเตียงและตั่งไว้ตามสมควร แก่พวกคนเดินทาง คนไข้ หญิงมีครรภ์ และบรรพชิต แล้วจัดแจงไว้ในโรงทานนั้น เพราะเป็นผู้มีความต้องการบุญ คือ วัตถุทุกอย่าง มีข้าวต้ม ข้าวสวย และเภสัช เป็นต้น เป็นของที่เขาจัดตั้งไว้เพื่อต้องการให้ทานแก่พวกคนเดินทางเป็นต้นนั้นๆ โดยไม่เจาะจงว่าแก่เจ้าลัทธิพวกนี้เท่านั้น หรือว่าแก่พวกนักบวชมีประมาณเท่านี้เท่านั้น
       - พวกชาวบ้านไม่เห็นพวกเดียรถีย์ จึงถามว่า พวกเดียรถีย์ไปไหน? ได้ฟังว่าพวกเดียรถีย์เห็นภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านี้แล้ว จึงพากันหลีกไป ชาวบ้านจึงพากันยกโทษ
       ๒. โภชนะที่ตระกูลเดียวหรือตระกูลต่างๆ รวมกันจัดไว้ ในสถานที่แห่งเดียว หรือในสถานที่ต่างๆ กันก็ดี ในสถานที่ไม่แน่นอนอย่างนี้ คือ วันนี้ที่ ๑ พรุ่งนี้ที่ ๑ ก็ดี  ภิกษุฉันวันหนึ่งในที่แห่งหนึ่งแล้ว ในวันที่ ๒ จะฉันในที่นั้น หรือในที่อื่น ไม่ควร, แต่โภชนะที่ตระกูลต่างๆ จัดไว้ในที่ต่างๆ กัน ภิกษุฉันวันหนึ่งในที่แห่งหนึ่งแล้ว ในวันที่ ๒ จะฉันที่อื่น ควรอยู่
       ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ก็ภิกษุฉันหมดลำดับแล้วจะเริ่มตั้งต้นไปใหม่ ไม่ควร ดังนี้, แม้ในคณะเดียวกัน ต่างคณะกัน บ้านเดียวกัน และต่างบ้านกัน ก็มีนัยนี้
       ส่วนภัตตาหารใด ที่ตระกูลเดียวจัด หรือตระกูลต่างๆรวมกันจัดไว้ ขาดระยะไปในระหว่างเพราะไม่มีข้าวสารเป็นต้น แม้ภัตตาหารนั้นก็ไม่ควรฉัน, ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า ก็ถ้าว่าตระกูลทั้งหลายตัดขาดว่า พวกเราจักไม่อาจให้ เมื่อเกิดน้ำใจงามขึ้น จึงเริ่มให้ใหม่ จะกลับฉันอีกวันหนึ่ง ๑ ครั้งก็ได้
       ๓. ที่เขาจัดไว้จำเพาะ... คือ เป็นของที่เขาจัดไว้จำเพาะ เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายเท่านั้น, เขามิได้จัดไว้มากมาย คือ มิใช่เป็นของที่เขาจัดไว้เพียงพอแก่ความต้องการ คือ มีเพียงเล็กๆ น้อยๆ จะฉันโภชนะเช่นนี้เป็นนิตย์ ก็ควร
       - ไม่เป็นอาบัติในของทุกชนิด เช่น ยาคู ของควรเคี้ยว และผลไม้น้อยใหญ่ เป็นต้น จริงอยู่ ภิกษุจะฉันโภชนะมียาคูเป็นต้น แม้เป็นนิตย์ ก็ควร
       ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เกิดทางกาย ๑ ทางกายกับจิต ๑ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ กายกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๘๑)
ภิกษุร่วมกันขออาหารจากชาวบ้าน แล้วร่วมกันฉัน
ของ ๕ อย่าง ได้แก่ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา และเนื้อ ต้องปาจิตตีย์

       พระเทวทัตเสื่อมจากลาภสักการะ จึงพร้อมด้วยบริวารเที่ยวขออาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉัน ประชาชนเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
        “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่”
       สมัยต่อมา ภิกษุผู้อาพาธรังเกียจ ด้วยอ้างว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าห้ามการฉันเป็นหมู่แล้ว ไม่รับนิมนต์จากประชาชน... ฤดูถวายจีวร ประชาชนนิมนต์ให้ฉันภัตแล้วครองจีวร  ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจ... ประชาชนนิมนต์ภิกษุทั้งหลายผู้ช่วยทำจีวรฉันภัตตาหาร ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ... ภิกษุเดินทางไกล ประชาชนนิมนต์... ภิกษุรังเกียจ... ภิกษุทั้งหลายโดยสารเรือไปกับประชาชนๆ นิมนต์ให้ฉัน ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ... ภิกษุทั้งหลายออกพรรษาพากันมาเฝ้า ประชาชนนิมนต์ให้ฉัน ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ... อาชีวกต้องการถวายภัตตาหาร นิมนต์ภิกษุทั้งหลายๆ รังเกียจ... ด้วยเหตุต่างๆตามที่เกิดขึ้น จึงทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
        “เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่ สมัยในเรื่องนั้น คือ คราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวที่ทำจีวร คราวที่เดินทางไกล คราวที่โดยสารเรือไป คราวที่ประชุมใหญ่ คราวภัตของสมณะ นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”
     
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า ฉันเป็นหมู่ คือ คราวที่มีภิกษุ ๔ รูป อันเขานิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วฉัน นี้ชื่อว่าฉันเป็นหมู่
       - เว้นไว้แต่สมัย คือ ยกเว้นในคราว
       - ที่ชื่อว่า คราวอาพาธ คือ โดยที่สุดแม้เท้าแตก ภิกษุคิดว่าเป็นคราวอาพาธแล้ว ฉันได้
       - ที่ชื่อว่า คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คือ เมื่อกฐินยังไม่ได้กรานกำหนดท้ายฤดูฝน ๑ เดือน เมื่อกรานกฐินแล้ว ๕ เดือน ภิกษุคิดว่าเป็นคราวที่เป็นฤดูถวายจีวร แล้วฉันได้
       - ที่ชื่อว่า คราวที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวรกันอยู่ ภิกษุคิดว่า เป็นคราวที่ทำจีวรแล้ว ฉันได้
       - ที่ชื่อว่า คราวเดินทางไกล คือ ภิกษุคิดว่า จักเดินทาง ไปถึงกึ่งโยชน์แล้วฉันได้ เมื่อจะไปก็ฉันได้ มาถึงแล้วก็ฉันได้
       - ที่ชื่อว่า คราวโดยสารเรือ คือ ภิกษุคิดว่า เราจักโดยสารเรือไป แล้วฉันได้ เมื่อจะโดยสารไปก็ฉันได้ โดยสารกลับมาแล้วก็ฉันได้
       - ที่ชื่อว่า คราวประชุมใหญ่ คือ คราวที่มีภิกษุ ๒-๓ รูป เที่ยวบิณฑบาตพอเลี้ยงกัน แต่เมื่อมีรูปที่ ๔ มารวมด้วย ไม่พอเลี้ยงกัน ถ้าภิกษุคิดว่าเป็นคราวประชุมใหญ่แล้ว ฉันได้
       - ที่ชื่อว่า คราวภัตของสมณะ คือ คราวที่มีผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งนับเนื่องว่าเป็นพวกนักบวช ทำภัตตาหารถวาย ภิกษุคิดว่าเป็นคราวภัตของสมณะแล้วฉันได้
       - นอกจากสมัยเหล่านี้ ภิกษุรับว่าจักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ กลืนกินต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. ฉันเป็นหมู่ ภิกษุรู้ว่าเป็นการฉันเป็นหมู่ เว้นไว้แต่สมัยฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓. ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสำคัญว่ามิได้ฉันเป็นหมู่... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. มิใช่ฉันเป็นหมู่ ภิกษุคิดว่าฉันเป็นหมู่... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕. มิใช่ฉันเป็นหมู่ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖. มิใช่ฉันเป็นหมู่ ภิกษุรู้ว่ามิได้ฉันเป็นหมู่... ไม่ต้องอาบัติ
                             

อนาบัติ
       ภิกษุฉันในสมัย ๑  ภิกษุ ๒-๓ รูป ฉันรวมกัน ๑  ภิกษุหลายรูปเที่ยวบิณฑบาต แล้วประชุมฉันแห่งเดียวกัน ๑  ภัตเขาถวายเป็นนิตย์ ๑  ภัตเขาถวายตามสลาก ๑  ภัตเขาถวายในปักษ์ ๑  ภัตเขาถวายในวันอุโบสถ ๑  ภัตเขาถวายในวันปาฏิบท ๑  ภิกษุฉันอาหารทุกชนิด ยกเว้นโภชนะห้า ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๔๖๗-๔๗๖
       ๑. ได้ยินว่า พระเทวทัตนั้นแนะนำให้พระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระราชาก็ดี สั่งนายขมังธนูไป (เพื่อปลงพระชนม์พระตถาคต) ก็ดี ทำโลหิตุปบาทก็ดี ได้เป็นเรื่องลี้ลับปกปิด, แต่ในเวลาปล่อยช้างธนบาลไปในกลางวันแสกๆนั่นแล ได้เกิดเปิดเผยขึ้น
       เพราะว่า เมื่อเกิดพูดกันขึ้นว่า พระเทวทัตปล่อยช้างไป (เพื่อปลงพระชนม์พระตถาคต) ก็ได้เป็นผู้ปรากฏชัดว่าใช่แต่ปล่อยช้างอย่างเดียว แม้พระราชา (พิมพิสาร) พระเทวทัตก็ให้ปลงพระชนม์ ถึงพวกนายขมังธนูก็ส่งไป แม้ศิลาก็กลิ้ง, พระเทวทัตเป็นคนลามก, และเมื่อมีผู้ถามว่า พระเทวทัตได้ทำกรรมนี้ร่วมกับใคร?  ชาวเมืองกล่าวว่า กับพระเจ้าอชาตศัตรู,  ในลำดับนั้นชาวเมืองก็ลุกฮือขึ้น พูดว่า ไฉนหนอ! พระราชาจึงเที่ยวสมคบโจรผู้เป็นเสี้ยนหนามต่อพระศาสนาเห็นปานนี้ล่า?  พระราชาทรงทราบความกำเริบของชาวเมือง จึงทรงขับไล่ไสส่งพระเทวทัตไปเสีย และตั้งแต่นั้นมาก็ทรงตัดสำรับ ๕๐๐ สำรับของพระเทวทัตนั้นเสีย แม้ที่บำรุงพระเทวทัตก็มิได้เสด็จไป, ถึงชาวบ้านพวกอื่นก็ไม่สำคัญ ของอะไรๆที่จะพึงถวาย หรือพึงทำแก่พระเทวทัต
       - พระเทวทัตนั้นดำริว่า คณะของเราอย่าได้แตกกันเลย เมื่อจะเลี้ยงบริษัทจึงได้พร้อมด้วยบริษัทเที่ยวขออาหารฉันอยู่ในตระกูลทั้งหลาย อย่างนี้ว่า ท่านจงถวายภัตแก่ภิกษุ ๑  ท่านจงถวายแก่ภิกษุ ๒ รูป ดังนี้
       ๒. บทว่า คณโภชเน คือ ในเพราะการฉันเป็นหมู่, ก็ในสิกขาบทนี้ ทรงประสงค์เอาภิกษุ ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ชื่อว่า คณะ (หมู่)
ก็คณโภชนะนี้นั่น ย่อมเป็นไปโดยอาการ ๒ อย่าง คือ โดยการนิมนต์ ๑  โดยวิญญัติ ๑  ย่อมเป็นไปโดยการนิมนต์อย่างไร? คือ ทายกเข้าไปหาภิกษุ ๔ รูป แล้วนิมนต์ระบุชื่อโภชนะทั้ง ๕ โดยไวพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือโดยภาษาอื่น อย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ผมนิมนต์ท่านด้วยข้าวสุก ขอท่านจงถือเอาข้าวสุกของผม, จงหวัง จงตรวจดู จงต้อนรับ ซึ่งข้าวสุกของผม ดังนี้,  ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป รับนิมนต์รวมกันอย่างนี้ ไปพร้อมกันเพื่อฉันในวันนี้ หรือเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ ด้วยอำนาจแห่งเวลาที่เขากำหนดไว้ รับรวมกัน ฉันรวมกัน จัดเป็นคณโภชนะ, เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งหมด
       ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์รวมกัน ต่างคนต่างฉัน ก็เป็นอาบัติเหมือนกัน, จริงอยู่ การรับประเคนนั้นแหละเป็นประมาณในสิกขาบทนี้, ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์รวมกัน จะไปพร้อมกันหรือไปต่างกันก็ตาม, รับประเคนต่างกัน จะฉันรวมกันหรือฉันต่างกันก็ตาม ไม่เป็นอาบัติ
ภิกษุทั้งหลายไปยังบริเวณ หรือวิหาร ๔ แห่ง รับนิมนต์ต่างกัน หรือบรรดาภิกษุผู้ยืนอยู่ในที่แห่งเดียวกันนั่นแหละ รับนิมนต์ต่างกัน แม้อย่างนี้คือ ลูกชายนิมนต์ ๑ รูป บิดานิมนต์ ๑ รูป จะไปพร้อมกันหรือไปต่างกันก็ตาม, จะฉันพร้อมกัน หรือฉันต่างกันก็ตาม ถ้ารับประเคนรวมกันจัดเป็นคณโภชนะ, เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งหมด, ย่อมเป็นไปโดยการนิมนต์อย่างนี้ก่อน
       - ย่อมเป็นไปโดยวิญญัติอย่างไร? คือ ภิกษุ ๔ รูป ยืนหรือนั่งอยู่ด้วยกัน เห็นอุบาสกแล้วออกปากขอว่า ท่านจงถวายภัตตาหารแก่พวกเราทั้ง ๔ รูป ดังนี้ ก็ดี  ต่างคนต่างเห็นแล้วออกปากขอรวมกันหรือขอต่างกันอย่างนี้ว่า ท่านจงถวายแก่เรา, ท่านจงถวายแก่เรา ดังนี้ก็ดี จะไปพร้อมกันหรือไปต่างกันก็ตาม, แม้รับประเคนภัตแล้ว จะฉันร่วมกันหรือฉันต่างกันก็ตาม, ถ้ารับประเคนรวมกัน, จัดเป็นคณโภชนะ, เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งหมด ย่อมเป็นไปโดยวิญญัติอย่างนี้
       ๓. เท้าทั้งสองแตกโดยอาการที่เนื้อปรากฏให้เห็นข้างหน้าหนังใหญ่ เพียงถูกทรายหรือกรวดกระทบก็ก่อให้เกิดทุกข์ขึ้น ไม่สามารถจะไปเที่ยวรับบิณฑบาตภายในบ้านได้ ในอาพาธเช่นนี้ ควรฉันได้ ด้วยคิดว่าเป็นคราวอาพาธ แต่ไม่ควรทำให้เป็นกัปปิยะด้วยเลศ
       - ในคราวที่พวกภิกษุได้ผ้าและด้าย และกระทำจีวร เพราะเหตุนั้น ภิกษุใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ควรทำในจีวรนั้น สมดังที่ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรี ชั้นที่สุดภิกษุผู้ร้อยเข็ม (สนเข็ม) ดังนี้ก็ดี ภิกษุนั้นควรฉันได้ด้วยคิดว่าเป็นจีวรสมัย
       ในกุรุนทีกล่าวไว้โดยพิสดารทีเดียวว่า ภิกษุใด กะจีวร ตัดจีวร ด้นด้ายเนา ทาบผ้าเพาะ เย็บริมตะเข็บ ติดผ้าดาม ตัดอนุวาต ฟั่นด้าย เย็บสอยตะเข็บในจีวรนั้น กรอด้าย ม้วนด้าย ลับมีเล็ก ทำเครื่องปั่นด้าย, ภิกษุทั้งหมดนี้ท่านเรียกว่าทำจีวรทั้งนั้น, แต่ภิกษุใดนั่งใกล้ๆ กล่าวชาดกก็ดี ธรรมบทก็ดี ภิกษุนี้ไม่ใช่ผู้ทำจีวร, ยกเว้นภิกษุนี้เสีย ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุที่เหลือเพราะคณโภชนะ
       - ภิกษุผู้เดินทางไกล จะฉันแม้ในคาวุตหนึ่งภายในกึ่งโยชน์ ก็ควร
       - แม้เมื่อภิกษุรูปที่ ๔ มา ภิกษุทั้งหลายมีภัตไม่พอเลี้ยงกันในสมัยใด, สมัยนั้นจัดเป็นคราวประชุมใหญ่ได้, ก็ในคราวที่ภิกษุประชุมกันตั้ง ๑๐๐ รูป หรือ ๑,๐๐๐ รูป ไม่มีคำที่จะต้องกล่าวเลย เพราะฉะนั้นในกาลเช่นนั้นภิกษุพึงอธิษฐานว่า เป็นคราวที่ประชุมใหญ่ แล้วฉันเถิด
       - บรรดาพวกสหธรรมิกก็ดี พวกเดียรถีย์ก็ดี นักบวชพวกใดพวกหนึ่ง ก็เมื่อนักบวช มีสหธรรมิกเป็นต้นเหล่านี้ รูปใดรูปหนึ่งทำภัตตาหารแล้ว ภิกษุพึงอธิษฐานว่าเป็นคราวภัตของสมณะแล้วฉันเถิด
       ๔. วินิจฉัย ๕ หมวด
               ๔.๑ คนบางคนในโลกนี้ นิมนต์ภิกษุ ๔ รูปว่า นิมนต์ท่านรับภัต, ในภิกษุ ๔ รูปนั้น ไป ๓ รูป ไม่ไป ๑ รูป  อุบาสกถามว่า ท่านขอรับ พระเถระรูปหนึ่งหายไปไหน? ภิกษุตอบว่า ไม่มา  อุบาสกนั้นนิมนต์ภิกษุอื่นบางรูป ซึ่งมาถึงเข้าในขณะนั้น ให้เข้านั่งร่วมว่า นิมนต์ท่านมาเถิด ขอรับ! แล้วถวายภัตแก่ภิกษุ ๔ รูป, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุแม้ทั้งหมด,  เพราะเหตุไร? เพราะภิกษุคณปูรกะ (รูปที่ครบคณะ) เขาไม่ได้นิมนต์,  จริงอยู่ ในภิกษุ ๔ รูปนั้น ภิกษุ ๓ รูปเท่านั้น เขานิมนต์ ได้รับประเคนแล้ว, คณะยังไม่ครบถ้วยภิกษุ ๓ รูปนั้น, และรูปที่ครบคณะเขาไม่ได้นิมนต์, คณะจึงแยกเพราะภิกษุนั้น ชื่อว่า อนิมันติตจตุตถะ (มีภิกษุไม่ได้นิมนต์เป็นที่ ๔)
               ๔.๒ ในเวลานิมนต์ มีภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง, เธอจึงไม่รับ, แต่ในเวลาจะไป เมื่อพวกภิกษุรับนิมนต์ กล่าวว่า นิมนต์ท่านมาเถิด ขอรับ แล้วพาเอาภิกษุนั้นแม้ผู้ไม่ต้องการไป เพราะไม่ได้รับนิมนต์ ไปด้วยกล่าวว่ามาเถิด ท่านจักได้ภิกษา, ภิกษุนั้นทำคณะนั้นให้แยกกัน, เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งหมด นี้ชื่อว่า ปิณฑปาติกจตุตถะ (มีภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นที่ ๔)
               ๔.๓ พวกภิกษุรับนิมนต์พร้อมกับสามเณร, แม้สามเณรนั้น ก็ทำคณะให้แยกกันได้ นี้ชื่อว่า อนุปสัมบันจตุตถะ (มีอนุปสัมบันเป็นที่ ๔)
               ๔.๔ ภิกษุรูปหนึ่งไม่ไปเอง ส่งบาตรไป แม้ด้วยอาการอย่างนี้ คณะก็แยก เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุทุกรูป นี้ชื่อว่า ปัตตจตุตถะ (มีบาตรเป็นที่ ๔)
               ๔.๕ พวกภิกษุรับนิมนต์รวมกับภิกษุอาพาธ, ในภิกษุ ๔ รูปนั้น ภิกษุอาพาธเท่านั้นไม่เป็นอาบัติ เธอเป็นคณปูรกะของภิกษุนอกนี้ได้, คณะจึงไม่แยกเพราะภิกษุอาพาธเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นอาบัติแก่ภิกษุเหล่านั้นแท้ นี้ชื่อว่า คิลานจตุตถะ (มีภิกษุอาพาธเป็นที่ ๔)
       - ก็ถ้าว่า ภิกษุผู้ฉลาดรูปหนึ่งในภิกษุ ๔ รูป แม้รับนิมนต์แล้วไปกล่าวว่า ผมจักแยกคณะของพวกท่าน ขอพวกท่านจงรับการนิมนต์ เมื่อพวกชาวบ้านจะรับบาตรเพื่อประโยชน์แก่ภัต ในที่สุดแห่งยาคูและของควรเคี้ยวก็ไม่ให้บาตร กล่าวว่า พวกท่านให้ภิกษุเหล่านี้ฉัน แล้วส่งกลับไปก่อน, อาตมาทำอนุโมทนาแล้วจักไปตามหลัง แล้วนั่งอยู่, ครั้นภิกษุเหล่านั้นฉันเสร็จแล้วไป เมื่ออุบาสกกล่าวว่า โปรดให้บาตรเถิด ขอรับ! รับบาตรไปถวายภัต ฉันเสร็จ ทำอนุโมทนาแล้วจึงไป, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุทุกรูป
       จริงอยู่ ความผิดสังเกตในคณโภชนะ ย่อมไม่มีด้วยอำนาจแห่งโภชนะ ๕ อย่างเลย พวกภิกษุผู้รับนิมนต์ด้วยข้าวสุก แม้รับขนมกุมมาสก็ต้องอาบัติ แลโภชนะเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้รับรวมกัน แต่มีความผิดสังเกตด้วยอาหารมียาคูเป็นต้น ยาคูเป็นต้นเหล่านั้นภิกษุเหล่านั้นรับรวมกันได้แล ภิกษุผู้ฉลาดรูปหนึ่ง ย่อมทำไม่ให้เป็นอาบัติแม้ภิกษุเหล่าอื่น ด้วยประการอย่างนี้
       ๕. “วิธีนิมนต์พระรับภิกษา”
       ถ้าคนบางคนถูกผู้ประสงค์จะทำสังฆภัต วานไปเพื่อต้องการให้นิมนต์ (พระ) มายังวิหาร ไม่กล่าวว่า ท่านขอรับ! พรุ่งนี้นิมนต์รับภิกษาในเรือนของพวกกระผม  กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับภัตก็ดี ว่านิมนต์ท่านรับสังฆภัตก็ดี ว่าขอสงฆ์จงรับภัตก็ดี, พระภัตตุทเทสก์พึงเป็นผู้ฉลาด, พึงเปลื้องพวกภิกษุผู้รับนิมนต์จากคณโภชนะ, พึงเปลื้องภิกษุผู้ถือปิณฑิปาติกธุดงค์จากความแตกแห่งธุดงค์
       คืออย่างไร? คือ พระภัตตุทเทศก์พึงกล่าวว่า พรุ่งนี้ไม่อาจรับหรอก อุบาสก! เมื่ออุบาสกกล่าวว่า มะรืนนี้ ขอรับ!  พึงกล่าวว่า มะรืนนี้ก็ไม่อาจรับได้ อุบาสกถูกเลื่อนไปอย่างนี้ แม้จนถึงกึ่งเดือน พระภัตตุทเทสก์พึงพูดอีกว่า ท่านพูดอะไร? ถ้าแม้นอุบาสกพูดย้ำอีกว่า นิมนต์ท่านรับสังฆภัต  ลำดับนั้นพระภัตตุทเทสก์พึงทำไขว้เขวไปอย่างนี้ว่า อุบาสก จงทำดอกไม้นี้ จงทำหญ้านี้ ให้เป็นกัปปิยะก่อน แล้วย้อนถามอีกว่า ท่านพูดอะไร? ถ้าแม้เขายังพูดซ้ำแม้อย่างนั้นนั่นแหละ พึงกล่าวว่า ผู้มีอายุ! ท่านจักไม่ได้พระมหาเถระผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร, ท่านจักได้พวกสามเณร และเมื่อเขาถามว่า ท่านขอรับ! พวกคนในบ้านโน้นและบ้านโน้น นิมนต์ให้พระคุณเจ้าผู้เจริญฉัน มิใช่หรือ  ผมจะไม่ได้เพราะเหตุไร? พึงกล่าวว่า พวกเขารู้จักนิมนต์ ส่วนท่านไม่รู้จักนิมนต์,  เขาถามว่า ท่านขอรับ พวกเขานิมนต์อย่างไร? พึงกล่าวว่า พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า นิมนต์รับภิกษาของพวกกระผม ขอรับ! ถ้าแม้นเขากล่าวเหมือนอย่างที่พูดนั้นแล, การรับนิมนต์นั้นสมควร
       ถ้าเขายังกล่าวซ้ำอีกทีว่า นิมนต์รับภัต พึงกล่าวว่า ผู้มีอายุ! คราวนี้ท่านจักไม่ได้ภิกษุมาก, จักได้เพียง ๓ รูปเท่านั้น ถ้าเขาถามว่า ท่านขอรับ พวกชาวบ้านในบ้านโน้นและบ้านโน้น นิมนต์ภิกษุทั้งหมดให้ฉันมิใช่หรือ? ผมจะไม่ได้เพราะเหตุไรเล่า? พึงกล่าวว่า ท่านไม่รู้จักนิมนต์  ถ้าเขาถามว่า ท่านขอรับ! พวกเขานิมนต์อย่างไร? พึงกล่าวว่า พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านขอรับ! นิมนต์รับภิกษุของพวกกระผม ถ้าแม้เขากล่าวเหมือนอย่างที่พูดนั้นแหละ, การนิมนต์นั่นสมควร
       ถ้าเขาพูดว่า ภัตเท่านั้นอีกทีนั้น พระภัตตุทเทศก์พึงกล่าวว่า ไปเสียเถิดท่าน พวกเราไม่มีความต้องการภัตของท่าน บ้านนี้เป็นที่เที่ยวไปบิณฑบาตประจำของพวกเรา พวกเราจักเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านนี้, เขากล่าวว่า นิมนต์ท่านเที่ยวไปยังบ้านนั้นเถิด ขอรับ! แล้วกลับมา ชาวบ้านถามว่า ผู้เจริญ! ท่านได้พระแล้วหรือ? เขาพูดว่า ในเรื่องนิมนต์นี้มีคำจะต้องพูดมาก จะมีประโยชน์อะไรด้วยคำพูดที่จะพึงกล่าวให้มากนี้, พระเถระทั้งหลายพูดว่า พวกเราจักเที่ยวไปบิณฑบาตพรุ่งนี้, คราวนี้พวกท่านอย่าประมาท
       ในวันรุ่งขึ้น พระสังฆเถระพึงบอกภิกษุทั้งหลายผู้ทำเจติยวัตร แล้วยืนอยู่ว่า คุณ! ที่บ้านใกล้มีสังฆภัต, แต่คนไม่ฉลาดได้ไปแล้ว ไปเถิดพวกเราจักเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านใกล้, พวกภิกษุพึงทำตามคำสอนของพระเถระ ไม่พึงเป็นผู้ว่ายาก พึงเที่ยวไปบิณฑบาต อย่ายืนอยู่ที่ประตูบ้านเลย, เมื่อชาวบ้านเหล่านั้นรับบาตรนิมนต์ให้นั่งฉัน พึงฉันเถิด, ถ้าเขาจัดวางภัตไว้ที่หอฉันแล้ว เที่ยวไปบอกในถนนว่า นิมนต์รับภัตที่หอฉัน ขอรับ! ไม่สมควร, แต่ถ้าเขาถือเอาภัตไปในที่นั่นๆ เรียกว่า นิมนต์รับภัตเถิด หรือรับนำไปยังวิหารทีเดียว วางไว้ในที่อันสมควรแล้ว ถวายแก่พวกภิกษุผู้มาถึงแล้วๆ ภิกษานี้ชื่อว่า ภิกษุที่เขานำมาจำเพาะ ย่อมสมควร
       แต่ถ้าเขาเตรียมทานไว้ที่โรงครัว แล้วเที่ยวไปยังบริเวณนั้นๆ เรียกว่า นิมนต์รับภัตที่โรงครัว ไม่สมควร, แต่พวกชาวบ้านใด พอเห็นพวกภิกษุผู้เข้าไปบิณฑบาต ก็ช่วยกันกวาดหอฉัน นิมนต์ให้นั่งฉันที่หอฉัน ไม่พึงปฏิเสธชนเหล่านั้น แต่ชนเหล่าใด เห็นพวกภิกษุผู้ไม่ได้ภิกษาในบ้านนั้น กำลังออกจากบ้านไป เรียนว่า นิมนต์รับภัตเถิด ขอรับ! ไม่พึงปฏิเสธคนเหล่านั้น หรือว่าพึงกลับ ถ้าเขาพูดว่านิมนต์กลับเถิดขอรับ! ขอนิมนต์รับภัต จะกลับไปในบทที่เขากล่าวว่า นิมนต์กลับเถิดก็ได้
       ชาวบ้านกล่าวว่า นิมนต์กลับเถิดขอรับ! ภัตในเรือนทำเสร็จแล้ว ภัตในบ้านทำเสร็จแล้ว จะกลับไปด้วยคิดว่าภัตในเรือนและในบ้าน ย่อมมีเพื่อใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ สมควรอยู่, เขากล่าวให้สัมพันธ์กันด้วยคำว่า นิมนต์กลับไปรับภัตเถิด ดังนี้จะกลับไป ไม่ควร, แม้ในคำที่ชาวบ้านเห็นพวกภิกษุผู้กำลังออกจากโรงฉันไปเพื่อเที่ยวบิณฑบาต แล้วกล่าวว่า นิมนต์นั่งเถิด ขอรับ! ขอนิมนต์รับภัต ดังนี้ ก็นัยนี้แหละ
       ภัตประจำเรียกว่า นิตยภัต ชาวบ้านพูดว่า นิมนต์รับนิตยภัต จะรับร่วมกันมากรูป ก็ควร แม้ในสลากภัต เป็นต้น ก็มีนัยนี้แหละ
       ๖. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเหมือนเอฬกโลมสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๗ แห่งนิสสัคคีย์ โกสิยวรรค) เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
 อปฺปมฺปิ เจ สํหิตํ ภาสมาโน   ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ    สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต
อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา    ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติ ฯ ๒๐ ฯ  
ถึงจะท่องจำตำราได้น้อย แต่ประพฤติชอบธรรม
ละราคะ โทสะ และโมหะได้ รู้แจ้งเห็นจริง มีจิตหลุดพ้น
ไม่ยึดมั่น ถือมั่น ทั้งปัจจุบันและอนาคต  เขาย่อมได้รับผลที่พึงได้จากการบวช

Though little he recites the Sacred Texts, But puts the precepts into practice,
Forsaking lust, hatred and delusion, With rigth knowledge, with mind well freed,
Cling to nothing here or hereafter, He has a share in religious life
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 พฤศจิกายน 2561 11:41:03

ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๘๒)
ภิกษุรับนิมนต์แห่งหนึ่ง แล้วไม่ไปฉันในที่นิมนต์นั้น
ไปฉันเสียที่อื่น ต้องปาจิตตีย์

      กรรมกรเข็ญใจคนหนึ่ง เห็นประชาชนถวายภัตแด่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ เขามีความปรารถนาจักทำกุศลบ้าง จึงไปขอค่าจ้างจากนายจ้างๆ ได้ให้ค่าจ้างมากกว่าปกติ เขาเข้าเฝ้า กราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เพื่อฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว
      ชาวบ้านทราบข่าวการถวายของเขา ต่างพากันนำของเคี้ยวของฉันมาร่วมเป็นอันมาก คนเข็ญใจได้จัดเตรียมเครื่องดื่มเจือด้วยผลพุทราไว้จำนวนมาก ภิกษุทั้งหลายทราบข่าวว่า วันพรุ่งนี้กรรมกรเข็ญใจผู้หนึ่งจักถวายภัต เกรงว่าอาหารจักไม่พอเพียงแก่ภิกษุ... พวกเธอจึงได้เที่ยวบิณฑบาตฉันเสียแต่เช้าเทียว
      เวลาเช้า พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังที่อยู่ของคนเข็ญใจ เขาได้อังคาสพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า จงถวายแต่น้อยเถิด จงถวายแต่น้อยเถิด เขาแจ้งว่าอาหารมีมาก ขอให้พระคุณเจ้ารับมากๆ ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า พวกเรารับน้อยๆ มิใช่เพราะกลัวของหมด แต่พวกเราบิณฑบาตฉันมาแล้วแต่เช้า กรรมการเข็ญใจจึงเพ่งโทษติเตียนว่า ข้าพเจ้านิมนต์ไว้แล้ว ทำไมจึงฉันเสียในที่อื่นเล่า ข้าพเจ้าไม่สามารถจะถวายให้เพียงพอแก่ความต้องการพวกท่านหรือ?... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “เป็นปาจิตตีย์ เพราะโภชนทีหลัง”
      สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุรูปหนึ่งนำภัตเข้าไป เธอกล่าวปฏิเสธว่าไม่ต้อง ความหวังจะได้ภัตตาหารของผมมีอยู่ เวลาสายทายกนำบิณฑบาตมาถวาย เธอกลับฉันไม่ได้ตามต้องการ (ผิดเวลาอาหารมาก ฉันไม่ได้)...
      คราวที่ถวายจีวร ประชาชนนำภัตตาหารมาถวาย เพื่อให้ฉันแล้วจักถวายจีวร ภิกษุรังเกียจอ้างว่าโภชนะทีหลังพระผู้มีพระภาคเจ้าห้ามแล้ว จีวรจึงเกิดขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น...
      ประชาชนนิมนต์ภิกษุทั้งหลายผู้ทำจีวรอยู่ ฉันภัตตาหาร ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ...
      ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จึงทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
      “เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ เพราะโภชนะทีหลัง สมัยในเรื่องนั้น คือ คราวเป็นไข้ คราวที่ถวายจีวร คราวที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”
      เวลาเช้าต่อมา พระพุทธเจ้าทรงบาตรจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จเข้าสู่ตระกูลแห่งหนึ่ง ชาวบ้านได้ถวายโภชนาหารแด่พระองค์และพระอานนท์ แต่ท่านพระอานนท์รังเกียจ ไม่รับประเคน พระองค์รับสั่งว่า รับเถิดอานนท์, กราบทูลว่า ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า  เพราะความหวังจะได้ภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า มีอยู่  รับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงวิกัปแล้วรับเถิด ก็แลพึงวิกัปอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าให้ภัตตาหารที่หวังว่าจะได้ของข้าพเจ้าแก่ท่านผู้มีชื่อนี้” ดังนี้      
      
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า โภชนะทีหลัง (ปรัมปรโภชน์) ความว่า ภิกษุรับนิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง เว้นโภชนะนั้น ฉันโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง (ที่มาภายหลังจากที่รับนิมนต์ไว้) ชื่อว่าโภชนะทีหลัง
      - ยกเว้นไว้แต่ในคราว, เป็นไข้ คือ ไม่สามารถจะเป็นผู้นั่งบนอาสนะอันเดียวฉันจนอิ่มได้ ภิกษุคิดว่า เป็นคราวอาพาธ แล้วฉันได้
      - ที่ชื่อว่า คราวที่ถวายจีวร คือ เมื่อกฐินยังไม่ได้กราน ได้ท้ายฤดูฝน ๑ เดือน เมื่อกฐินกรานแล้วเป็น ๕ เดือน ภิกษุคิดว่าเป็นคราวที่ถวายจีวรแล้ว ฉันได้
      - ที่ชื่อว่า คราวทำจีวร คือ เมื่อภิกษุทั้งหลายกำลังทำจีวรกันอยู่ ภิกษุคิดว่าเป็นคราวทำจีวรฉันได้
      เว้นไว้แต่สมัย ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจว่า จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ  ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. โภชนะทีหลัง ภิกษุรู้ว่าเป็นโภชนทีหลัง เว้นไว้แต่สมัย  ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. โภชนะทีหลัง ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. โภชนะทีหลัง ภิกษุคิดว่ามิใช่โภชนะทีหลัง... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ไม่ใช่โภชนะทีหลัง ภิกษุเข้าใจว่าเป็นโภชนะทีหลัง... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ไม่ใช่โภชนะทีหลัง ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ไม่ใช่โภชนะทีหลัง ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่โภชนะทีหลัง... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุฉันในสมัย ๑  ภิกษุวิกัปแล้วฉัน ๑  ภิกษุฉันบิณฑบาตที่รับนิมนต์ไว้ ๒-๓ แห่งรวมกัน ๑  ภิกษุฉันตามลำดับที่รับนิมนต์ ๑  ภิกษุรับนิมนต์ชาวบ้านทั้งมวลแล้วฉัน ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในตำบลบ้านนั้น ๑  ภิกษุรับนิมนต์หมู่ประชาชนทุกเหล่าแล้วฉัน ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในประชาชนหมู่นั้น ๑  ภิกษุถูกเขานิมนต์ แต่บอกว่า จักรับภิกษา ๑  ภัตตาหารที่เขาถวายเป็นนิตย์ ๑  ภัตตาหารที่เขาถวายด้วยสลาก ๑  ภัตตาหารที่เขาถวายในปักษ์ ๑  ถวายในวันอุโบสถ ๑  วันปาฏิบท ๑  ภิกษุฉันอาหารทุกชนิด ยกเว้นโภชนะห้า ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๔๘๕-๔๘๘
     ๑. การวิกัปนี้ว่า “ข้าพเจ้าให้ภัตตาหารที่หวังจะได้ของข้าพเจ้าแก่ท่านผู้มีชื่อนี้” ชื่อว่าการวิกัปภัตตาหาร,  การวิกัปภัตตาหารควรทั้งต่อหน้าและลับหลัง, เห็นภิกษุต่อหน้าพึงกล่าวว่า ผมวิกัปแก่ท่านแล้วฉันเถิด, หากไม่เห็น พึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าวิกัปแก่สหธรรมิก ๕ ผู้มีชื่อนี้ แล้วฉันเถิด
      แต่ในอรรถกถาทั้งหลายมีมหาปัจจรีเป็นต้น ท่านกล่าวไว้แต่วิกัปลับหลังเท่านั้น ก็เพราะการวิกัปภัตตาหารนี้นั้น ท่านสงเคราะห์ด้วยวินัยกรรม, ฉะนั้นจึงไม่ควรวิกัปแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า, จริงอยู่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในเพราะพระคันธกุฎีก็ดี ประทับนั่งในท่ามกลางสงฆ์ก็ดี กรรมนั้นๆ ที่สงฆ์รวมภิกษุครบคณะแล้วทำ เป็นอันกระทำดีแล้วแล, พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทำให้เสียกรรม ไม่ทรงทำให้กรรมสมบูรณ์ ไม่ทรงทำให้เสียกรรม เพราะพระองค์มีความเป็นใหญ่โดยธรรม ไม่ทรงทำให้กรรมสมบูรณ์ก็เพราะพระองค์มิได้เป็นคณปูรกะ (ผู้ทำคณะให้ครบจำนวน)
      ๒. ภิกษุรวมนิมันตนภัต (ภัตที่ทายกนิมนต์ภิกษุเพื่อไปฉันที่บ้านเรือนของเขา, อาหารที่ได้ในที่นิมนต์) ๒-๓ ที่ บาตรใบเดียว คือ ทำให้เป็นอันเดียวกันแล้วฉัน, ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า ตระกูล ๒-๓ ตระกูล นิมนต์ภิกษุให้นั่งในที่แห่งเดียว แล้วนำ (ภัตตาหาร) มาจากที่นี้และที่นั่น แล้วเทข้าวสวย แกง และกับข้าวลงไป, ภัตเป็นของสำรวมเป็นอันเดียว ไม่เป็นอาบัติในภัตสำรวมนี้
      ก็ถ้าว่า นิมันตนภัตคำแรกอยู่ข้างล่าง นิมันตนภัตทีหลังอยู่ข้างบน เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ฉันนิมันตนภัตทีหลังนั้นตั้งแต่ข้างบนลงไป แต่ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ฉันโดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง จำเดิมตั้งแต่เวลาที่เธอเอามือล้วงลงไปภายใน แล้วควักคำข้าวคำหนึ่งจากนิมันตนภัตครั้งแรกขึ้นมาฉันแล้ว, มหาปัจจรีกล่าวว่า แม้ว่าถ้าตระกูลทั้งหลายราดนมสดหรือรสลงไปในภัตนั้น, ภัตที่ถูกนมสดและรสใดราดทับ มีรสเป็นอันเดียวกันกับนมสดและรสนั้น ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ฉันตั้งแต่ยอดลงไป.
      - ในมหาอรรถกถากล่าวว่า ภิกษุได้ขีรภัต (ภัตเจือนมสด) หรือรสภัต (ภัตที่มีรสแกง) นั่งแล้ว แม้ชาวบ้านพวกอื่นเทขีรภัตหรือรสภัต (อื่น) ลงไปบนขีรภัตและรสภัตนั้นนั่นแหละ (อีก) ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ดื่มนมสด หรือรส, แต่ภิกษุผู้กำลังฉันอยู่จะเปิบชิ้นเนื้อหรือก้อนข้าวที่ได้ก่อนเข้าปาก แล้วฉันตั้งแต่ยอดลงไป ควรอยู่ แม้ในข้าวปายาสเนือเนยใสก็มีนัยนี้เหมือนกัน
      - ในมหาอรรถกถากล่าวว่า อุบาสกผู้ใหญ่นิมนต์ภิกษุไว้ เมื่อไปสู่ตระกูลแล้ว อุบาสกก็ดี บุตร ภรรยา และพี่น้องชายพี่น้องหญิงของอุบาสกนั้นก็ดี นำเอาภัตส่วนของตนๆ มาใส่ในบาตร เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่ฉันภัตส่วนที่อุบาสกถวายก่อน ฉันส่วนที่ได้ทีหลัง, ในอรรถกถากุรุนทีกล่าวว่า ควร, ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ถ้าพวกเขาแยกกันหุงต้ม นำมาถวายจากภัตที่หุงต้มรวมกัน, ไม่เป็นปรัมปรโภชนะ
      - อุบาสกผู้ใหญ่นิมนต์ภิกษุให้นั่งคอย ชาวบ้านอื่นจะรับเอาบาตร ภิกษุอย่าพึงให้ เขาถามว่า ทำไมขอรับ! ท่านจึงไม่ให้ พึงกล่าวว่า อุบาสก ท่านนิมนต์พวกเราไว้มิใช่หรือ? เขากล่าวว่า ช่างเขาเถอะขอรับ! นิมนต์ท่านฉันของที่ท่านได้แล้วๆ เถิด จะฉันก็ควร, ในกุรุนทีกล่าวว่า เมื่อคนอื่นนำภัตมาถวาย ภิกษุแม้บอกกล่าวแล้วฉัน ก็ควร พวกชาวบ้านทั้งหมดอยากฟังธรรมจึงนิมนต์ภิกษุผู้ทำอนุโมทนาแล้วจะไปว่า ท่านขอรับ แม้พรุ่งนี้ก็นิมนต์ท่านมาอีก ในวันรุ่งขึ้น ภิกษุจะมาฉันภัตที่ได้แล้วๆ ควรอยู่ เพราะเหตุไร? เพราะชาวบ้านทั้งหมดนิมนต์ไว้
      - ภิกษุรูปหนึ่งไปเที่ยวบิณฑบาตได้ภัตตาหารมา อุบาสกอื่นนิมนต์ภิกษุรูปนั้นให้นั่งคอยอยู่ในเรือนก่อน เพราะภัตยังไม่เสร็จ ถ้าภิกษุนั้นฉันภัตที่ตนเที่ยวบิณฑบาตได้มา เป็นอาบัติ, เมื่อเธอไม่ฉัน นั่งคอย อุบาสกถามว่า ทำไมขอรับ ท่านจึงไม่ฉัน? เธอกล่าวว่าเพราะท่านนิมนต์ไว้ แล้วเขาเรียนว่า นิมนต์ท่านฉันภัตที่ท่านได้แล้วๆ เถิดขอรับ! ดังนี้ จะฉันก็ได้
      ๓. ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้อันชาวบ้านทั้งมวลรวมกันนิมนต์ไว้เท่านั้น ซึ่งฉันอยู่ในที่แห่งหนึ่งแห่งใด แม้ในหมู่คณะ ก็นัยนี้แล
      - ภิกษุผู้ถูกเขานิมนต์ว่า นิมนต์ท่านรับภัตตาหาร กล่าวว่า รูปไม่มีความต้องการภัตของท่าน รูปจักรับภิกษา
      ๔.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายและวาจา ๑ ทางกายวาจาและจิต ๑ เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา การฉันเป็นกิริยา การไม่วิกัปเป็นอกิริยา อจิตตกะ, ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๘๓)
ภิกษุเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน จะรับได้อย่างมากเพียง ๓ บาตรเท่านั้น
ถ้ารับเกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์

      อุบาสิกาชื่อกาณมาตา เป็นสตรีที่มีศรัทธาเลื่อมใส ได้ยกบุตรีชื่อกาณาให้แก่ชายผู้หนึ่งในตำบลบ้านหมู่หนึ่ง ต่อมานางกาณาได้ไปยังเรือนมารดาด้วยธุระบางอย่าง ฝ่ายสามีส่งข่าวให้นางกลับ เพราะเห็นว่ามาหลายวันแล้ว เมื่อนางจะกลับ มารดาคิดว่าการที่ลูกจะกลับไปมือเปล่านั้นดูกระไรอยู่ จึงได้ทอดขนม เมื่อขนมสุกแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้ามาถึง นางจึงสั่งให้ลูกถวายขนม ภิกษุรูปนั้นออกไป และได้บอกแก่ภิกษุรูปอื่นๆ ให้เข้าไป ขนมได้หมดสิ้นแล้ว อีกทั้งเวลาแห่งการเดินทางก็สิ้นลง
      ครั้งที่ ๒ เมื่อนางจะกลับก็เกิดเหตุการณ์ดังเดิม แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุทั้งหลายก็เข้าไปรับขนมนั้นจนหมด ทำเวลาที่จะกลับของนางให้หมดไปด้วย สามีของนางได้นำหญิงอื่นมาเป็นภรรยาแล้ว นางยืนร้องไห้อยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปถึง ได้ตรัสถาม และทรงชี้แจงให้อุบาสิกากาณมาตาและบุตรี สมาทานอาจหาญรื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จกลับ
      สมัยต่อมา พ่อค้าเกวียนพวกหนึ่งประสงค์จะเดินทางจากนครราชคฤห์ไปยังถิ่นตะวันตก ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปบิณฑบาต อุบาสกคนหนึ่งได้สั่งให้ถวายข้าวสัตตุแก่ภิกษุนั้นๆ ออกไปแล้วบอกแก่ภิกษุรูปอื่นๆ อุบาสกก็ได้สั่งให้จัดถวายจนเสบียงที่เตรียมไว้สำหรับเดินทางได้หมดลง เขาขอร้องให้คนร่วมทางรอก่อนเพราะเสบียงหมด ต้องจัดเตรียมเสบียงใหม่ แต่พวกเขาไม่รอ ได้พากันไป
      เมื่ออุบาสกนั้นตระเตรียมเสบียงเสร็จแล้ว เดินไปในภายหลัง ถูกพวกโจรปล้นแย่งชิง ประชาชนต่างพากันติเตียนว่า สมณะเชื้อสายศากยบุตรรับอย่างไม่รู้ประมาณ ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง เขาปวารณาเฉพาะภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูลด้วยขนมก็ดี ด้วยสัตตุผงก็ดี เพื่อนำไปได้ตามปรารถนา ภิกษุผู้ต้องการพึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร ถ้ารับยิ่งกว่านั้นเป็นปาจิตตีย์ ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว นำออกจากที่นั้นแล้ว พึงแบ่งปันกับภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น”
    
อรรถาธิบาย
       - คำว่า อนึ่ง...เฉพาะภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล คือ ตระกูลกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
      - ที่ชื่อว่า ขนม ได้แก่ ของกินชนิดใดชนิดหนึ่งที่เขาจัดเตรียมไว้เพื่อเป็นของกำนัล
      - ที่ชื่อว่า สัตตุผง ได้แก่ ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาจัดเตรียมไว้ เพื่อต้องการเป็นเสบียง
      - คำว่า เขาปวารณา... เพื่อนำไปได้ตามปรารถนา คือ เขาปวารณาไว้ว่า ท่านประสงค์เท่าใด จงรับไปเท่านั้น
      - คำว่า ถ้ารับยิ่งกว่านั้น ความว่า รับเกินกว่ากำหนดนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว ออกจากที่นั้นไปพบภิกษุแล้วพึงบอกว่า ณ สถานที่โน้น กระผมรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว ท่านอย่ารับ ณ ที่นั้นเลย ถ้าพบแล้ว ไม่บอก ต้องอาบัติทุกกฎ ถ้าเมื่อบอกแล้ว ภิกษุผู้รับบอกยังขืนรับต้องอาบัติทุกกฎ
      - คำว่า นำออกจากที่นั้นแล้ว... คือนำไปสู่โรงฉันแล้ว พึงแบ่งปันกัน
      - บทว่า นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น หมายความว่า นี้เป็นการถูกต้องตามธรรมเนียมในเรื่องนั้น

อาบัติ
      ๑. ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุรู้ว่าเกิน รับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุสงสัย รับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุคิดว่ายังไม่เกิน รับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ของหย่อนกว่า ๒-๓ บาตร ภิกษุคิดว่าเกิน รับ ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ของหย่อนกว่า ๒-๓ บาตร ภิกษุสงสัย รับ ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ของหย่อนกว่า ๒-๓ บาตร ภิกษุรู้ว่าหย่อน รับ ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุรับเต็ม ๒-๓ บาตร ๑  รับหย่อนกว่า ๒-๓ บาตร ๑  เขาไม่ได้ถวายของที่เตรียมไว้ เพื่อต้องการเป็นของกำนัล ๑  เขาได้ถวายของที่เตรียมไว้เพื่อต้องการเป็นเสบียง ๑  เขาถวายของที่เหลือจากของกำนัล และของที่เหลือจากความเป็นเสบียง ๑  เมื่อเขาระงับการไปแล้วถวาย ๑  รับของพวกญาติ ๑  รับของคนปวารณา ๑  รับเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑   จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑  

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๔๙๑-๔๙๗
      ๑. ได้ยินว่า นางกาณานั้นเป็นธิดารูปงามน่าชมของนางผู้เป็นมารดานั้น อธิบายว่า ชนพวกใดๆ เห็นนาง ชนพวกนั้นจะกลายเป็นคนตาบอด เพราะความกำหนัด คือ เป็นผู้มืด เพราะราคะครอบงำ นางจึงได้ชื่อว่า กาณา เพราะกระทำชนเหล่านั้นให้เป็นผู้บอด แม้มารดาของนางก็พลอยชื่อว่า กาณมาตา ด้วยสามารถแห่งนาง
      - อุบาสิกากาณมาตา เป็นพระอริยสาวิกา เมื่อนางเห็นภิกษุทั้งหลายแล้ว ไม่อาจที่จะไม่ถวายของที่มีอยู่ได้, ส่วนนางกาณาได้ฟังธรรม ชอบที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่มารดานั้น นางก็ได้เป็นโสดาบัน ในเวลาจบเทศนา
      - บุรุษผู้สามีนางกาณาได้สดับว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปบ้านของมารดานางกาณา จึงนำนางมาตั้งไว้ในตำแหน่งเดิม เมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้น พระองค์มิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทเลย มาบัญญัติในเมื่อเรื่องเสบียงทางเกิดขึ้น
      - อุบาสกที่เตรียมเดินทางก็เป็นอริยสาวกเหมือนกัน
      ๒. อาหารวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งมีขนมต้ม และขนมคลุกน้ำอ้อยเป็นต้น สัตตุผงที่มีรสเลิศ อันเขาเตรียมไว้เพื่อต้องการเป็นของกำนัล ถึงการนับว่าขนมทั้งนั้นในสิกขาบทนี้ อาหารวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง มีสัตตุก้อน งา และข้าวสาร เป็นต้น ทั้งหมด ที่พวกคนจะเดินทางจัดเตรียมไว้ เพื่อต้องการเป็นเสบียงในระหว่างทาง ถึงการนับว่า “สัตตุผง” ทั้งนั้น ในสิกขาบทนี้
      ๓. ถ้าภิกษุรับเอาบาตรที่ ๓ ให้พูนขึ้นมา (ให้เป็นยอดขึ้นมาดุจสถูป) เป็นปาจิตตีย์ด้วยการนับขนม
      - ถ้าภิกษุรับบาตรเต็มแล้ว พึงเหลือไว้เพื่อตนบาตรหนึ่ง แล้วถวายเต็ม ๒ บาตร แก่ภิกษุสงฆ์, ถ้ารับ ๒ บาตร พึงเหลือไว้เพื่อตนบาตรหนึ่ง แล้วถวายบาตรหนึ่งแก่สงฆ์ แต่ย่อมไม่ได้ เพื่อจะให้มิตรสหาย, ภิกษุผู้รับบาตรเดียว ไม่ประสงค์จะให้อะไร ก็ไม่พึงให้ คือ พึงทำความชอบใจ
      ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๘๔)
ภิกษุฉันอาหารที่เขาถวายเพิ่มเติม เมื่อกล่าวว่าพอแล้วหรือลุกจากที่แล้ว
ต้องปาจิตตีย์ เว้นแต่อาหารที่เป็นเดน

      พราหมณ์คนหนึ่งนิมนต์ให้ภิกษุทั้งหลายฉันภัตตาหาร ภิกษุทั้งหลายฉันเสร็จแล้วได้ไปสู่ตระกูลญาติ บางพวกก็ฉันอีก บางพวกก็รับบิณฑบาตไป หลังจากถวายภัตแล้ว พราหมณ์ได้เชิญชวนพวกเพื่อนบ้านว่า ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าเลี้ยงภิกษุให้อิ่มหนำแล้ว มาเถิด ข้าพเจ้าจักเลี้ยงท่านทั้งหลายให้อิ่มหนำบ้าง
      พวกเพื่อนบ้านได้กล่าวแย้งว่า ท่านจักเลี้ยงพวกข้าพเจ้าได้อย่างไร แม้ภิกษุทั้งหลายที่ท่านเลี้ยง ยังต้องไปฉันที่เรือนของข้าพเจ้าอีก
      พราหมณ์นั้นได้เพิ่งโทษติเตียนว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย ฉันที่เรือนของเราแล้ว ไฉนจึงได้ไปฉันในที่อื่นอีกเล่า ภิกษุทั้งหลายได้พากันติเตียน แล้วกราบทูล... จึงทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี เป็นปาจิตตีย์”
      สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายนำบิณฑบาตอันประณีตไปถวายพวกภิกษุอาพาธๆ ฉันไม่ได้ดังประสงค์ ภิกษุทั้งหลายจึงทิ้งบิณฑบาตเหล่านั้นเสีย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความนั้น ทรงมีรับสั่งว่า “เราอนุญาตให้ฉันอาหารอันเป็นเดนของภิกษุผู้อาพาธ และมิใช่ผู้อาพาธได้ แต่พึงทำให้เป็นเดนอย่างนี้ว่า ทั้งหมดนั่นพอแล้ว” แล้วทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี อันมิใช่เดน เป็นปาจิตตีย์”      
      
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า ฉันเสร็จ คือ ฉันโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดแม้ด้วยปลายหญ้าคา
      - ที่ชื่อว่า ห้ามภัตแล้ว คือ กำลังฉันอาหารอยู่ ๑ ทายกนำโภชนะมาถวายอีก ๑ ทายกอยู่ในหัตถบาส ๑  ทายกน้อมถวาย ๑  ภิกษุห้ามเสีย ๑
      - ที่ชื่อว่า มิใช่เดน คือ ของที่ยังมิได้ทำให้เป็นกัปปิยะ ๑  ภิกษุมิได้รับประเคน ๑  ภิกษุมิได้ยกขึ้นส่งให้ ๑  ทำนอกหัตถบาส ๑  ภิกษุฉันยังไม่เสร็จ ทำ ๑  ภิกษุฉันแล้ว ห้ามภัตแล้ว ลุกจากอาสนะแล้ว ทำ ๑  ภิกษุมิได้พูดว่า ทั้งหมดนั้นพอแล้ว ๑  ของนั้นมิใช่เป็นเดนภิกษุอาพาธ ๑  นี้ชื่อว่ามิใช่เดน
      - ที่ชื่อว่า เป็นเดน คือ ของที่ทำให้เป็นกัปปิยะแล้ว ๑  ภิกษุรับประเคนแล้ว ๑  ภิกษุยกขึ้นส่งให้ ๑  ทำในหัตถบาส ๑  ภิกษุฉันแล้ว ทำ ๑  ฉันเสร็จห้ามภัตแล้ว ยังไม่ลุกจากอาสนะ ทำ ๑  ภิกษุพูดว่าทั้งหมดนั่นพอแล้ว ๑  เป็นเดนภิกษุอาพาธ ๑ นี้ชื่อว่าเป็นเดน
      - ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ เว้นโภชนะห้า ๑  ของที่เป็นยามกาลิก ๑  สัตตาหกาลิก ๑  ยาวชีวิก ๑  นอกนั้นชื่อว่า ของเคี้ยว
      - ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ๑  ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑  ปลา ๑  เนื้อ ๑
      ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ ขณะกลืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. ของไม่เดน ภิกษุสำคัญว่า ไม่เป็นเดน เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. ของไม่เป็นเดน ภิกษุสงสัย เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. ภิกษุรับประเคนของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อประสงค์เป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๔. ขณะกลืน ต้องอาบัติทุกกฎทุกๆ คำกลืน
      ๕. ของเป็นเดน ภิกษุคิดว่า มิใช่เดน... ต้องอาบัติทุกก
      ๖. ของเป็นเดน ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗. ของเป็นเดน ภิกษุรู้ว่าของเป็นเดน... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุทำให้เป็นเดนแล้วฉัน ๑  ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจว่า จักให้ทำเป็นเดนแล้วจึงฉัน ๑  ภิกษุรับไปเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑  ฉันอาหารที่เหลือของภิกษุอาพาธ ๑  ฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ในเมื่อมีเหตุอันสมควร ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๕๐๓-๕๒๐
      ๑. การห้ามภัตสำเร็จด้วยองค์ ๕
      การฉันค้างปรากฏ อธิบายว่า ถ้าบุคคลผู้กำลังฉันอยู่, โภชนะเพียงพอแก่การห้ามปรากฏอยู่ อธิบายว่า ถ้าโภชนะมีข้าวสุกเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะพึงห้ามมีอยู่, หากทายกถือเอาโภชนะเพียงพอแก่การห้ามอยู่ในโอกาสประมาณ ๒ ศอกคืบ, ถ้าทายกนั้นน้อมภัตนั้นถวายแก่ภิกษุนั้นด้วยกาย, การห้ามปรากฏ อธิบายว่า ถ้าภิกษุนั้นปฏิเสธโภชนะที่เขาน้อมถวายนั้น ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ภิกษุย่อมเป็นผู้ชื่อว่า ห้ามภัตแล้ว ด้วยอำนาจแห่งองค์ ๕ ด้วยประการอย่างนี้แล
      ๒. ว่าด้วยโภชนะและธัญชาติ ๗ ชนิด
      ภิกษุฉันโภชนะใดและห้ามโภชนะใดที่ทายกอยู่ในหัตถบาสน้อมถวาย, โภชนะนั้นบัณฑิตพึงทราบว่าเป็นโภชนะเหล่านี้ คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ อย่างใดอย่างหนึ่งแล
      ที่ชื่อว่า ข้าวสุก ได้แก่ ข้าวสุกที่เกิดจากธัญชาติ ๗ ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย หญ้ากับแก้
      ๓ .ว่าด้วยโภชนะต่างๆ เป็นเหตุห้ามและไม่ห้ามภัต
      ในนิมันตนภัต ไม่มีข้าวยาคู ชาวบ้านเทน้ำข้าวและนมสดไปในภัต ด้วยตั้งใจว่า จักถวายยาคู แล้วถวายว่านิมนต์ท่านรับยาคู ถึงข้าวยาคูจะเป็นของเหลวก็จริง แต่ก็ก่อให้เกิดการห้ามภัตเหมือนกัน, ก็ถ้าว่าพวกเขาใส่ (ข้าวสุก) ลงในน้ำที่เดือดพล่านเป็นต้น ต้มถวาย โภชนะนั้นก็ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นข้าวยาคูเหมือนกัน, เขาใส่ปลาและเนื้อลงในภัตแม้ที่ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นยาคูนั้น หรือในยาคูนั้นหรือในยาคูอื่นใด, ถ้าชิ้นปลาและเนื้อหรือเอ็นปรากฏ แม้ประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด, ยาคูนั้น ก่อให้เกิดการห้ามภัตด้วย, อาหารมีรสล้วนๆ หรือยาคูมีรส ไม่ให้เกิดการห้ามภัตแม้ภัตที่ชนพวกใดพวกหนึ่ง ทำด้วยวัตถุมีผลขุยไผ่เป็นต้นอย่างอื่น ยกเว้นข้าวสารแห่งธัญชาติที่กล่าวแล้วเสีย หรือด้วยเหง้ามันและผลไม้ ย่อมไม่ก่อให้เกิดการห้ามภัต จะป่วยกล่าวไปไยถึงยาคูแข้น (แห่งผลขุยไผ่เป็นต้น) แต่ถ้าเขาใส่ปลาและเนื้อลงในยาคูแข้นนี้ ทำให้เกิดการห้ามภัตได้
      - ขนมกุมมาสที่เขาทำจากจำพวกข้าวเหนียว ชื่อว่า ขนมสด, ขนมกุมมาสที่เขาทำจากวัตถุอื่น มีถั่วเขียวเป็นต้น ไม่ให้เกิดการห้ามภัต
      ขนมแห้งที่เขาทำจากจำพวกข้าวสาลี ข้าวจ้าว และข้าวเหนียว ชื่อว่า สัตตุ, ชนทั้งหลายคั่วเมล็ดข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้ แล้วตำเบาะๆ โปรยฝัดแกลบออกแล้วตำใหม่ให้ละเอียดเข้าทำให้เป็นแป้ง, ถ้าแม้นวัตถุนั้นยังติดกันอยู่เพราะยังสด ก็ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นขนมแป้งทีเดียว เขาบดข้าวสารจ้าวที่คั่วให้สุกกรอบ ถวาย, แป้งแม้นั้นก็ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นสัตตุ (ขนมแห้ง) เหมือนกัน
      - ภิกษุกำลังฉันกัปปิยะมังสะ ห้ามกัปปิยมังสะ ชื่อว่า ห้ามภัต, กำลังฉันกัปปิยะมังสะ ห้ามอกัปปิยมังสะ ไม่ชื่อว่าห้ามภัต, เพราะเหตุไร? เพราะไม่ใช่วัตถุ จริงอยู่ มังสะที่ภิกษุควรฉันได้เท่านั้น จึงเป็นเหตุห้ามภัตแก่ภิกษุผู้ห้ามอยู่ แต่เมื่อภิกษุรู้อกัปปิยมังสะนี้ จึงห้ามเสีย เพราะเป็นของไม่ควร, ถึงไม่รู้ก็ชื่อว่า ห้ามสิ่งที่ตั้งอยู่ในฐานะที่ควรห้ามทีเดียว เพราะเหตุนั้นจึงไม่ชื่อว่าห้ามภัต
      แต่ถ้าภิกษุฉันอกัปปิยมังสะ ห้ามกัปปิยะมังสะ ชื่อว่า ห้ามภัต เพราะเหตุไร? เพราะเป็นวัตถุแห่งการห้าม, จริงอยู่ มังสะที่ภิกษุห้ามนั่นแหละ เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งการห้ามภัต, ส่วนอกัปปิยมังสะที่ภิกษุฉัน ตั้งอยู่ในฐานที่ควรห้าม แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น มังสะที่กำลังฉันก็ยังไม่ละภาวะแห่งมังสะ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าห้ามภัต, ฉันอกัปปิยมังสะ ห้ามอกัปปิยมังสะ ไม่ชื่อว่าห้ามภัต โดยนัยก่อนนั่นแหละ
      ฉันกัปปิยมังสะก็ดี อกัปปิยมังสะก็ดี ห้ามโภชนะทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นกัปปิยโภชนะ ชื่อว่า ห้ามภัต, ห้ามอกัปปิยโภชนะ ซึ่งเกิดจากมิจฉาชีพ มีกุลทูสกกรรม เวชกรรม การอวดอุตริมนุสธรรม และการยินดีรูปิยะ เป็นต้น และที่เกิดจากการแสวงหาอันไม่สมควรที่พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจ ไม่ชื่อว่า ห้ามภัต
      ๔. ว่าด้วยการฉันและการห้ามโภชนะ
ครั้นทราบโภชนะที่ภิกษุฉัน และโภชนะที่ทายกอยู่ในหัตถบาสน้อมถวาย จึงถึงการห้าม, บัดนี้เพื่อทราบอาการที่เป็นเหตุให้ถึงการห้ามภัต พึงทราบวินิจฉัยดังนี้
      ภิกษุใดกลืนกินภัตเข้าไปแม้เมล็ดเดียว ภิกษุนั้น เมื่อบรรดาโภชนะทั้ง ๕ โภชนะ แม้อย่างหนึ่ง มีอยู่ในบาตร ปากและมือ ที่ใดที่หนึ่ง ห้ามโภชนะทั้ง ๕ แม้อย่างหนึ่งอื่นก็ชื่อว่า ห้ามภัต, ไม่มีโภชนะที่ไหนๆ มีบาตรเป็นต้น ปรากฏแต่เพียงกลิ่นอามิส ไม่ชื่อว่าห้ามภัต, ไม่มีโภชนะในปากและในมือแต่มีอยู่ในบาตร ฝ่ายภิกษุไม่ประสงค์จะฉันที่อาสนะนั้น ประสงค์จะเข้าไปยังวิหารแล้วฉัน หรือประสงค์ถวายแก่ภิกษุอื่น ถ้าปฏิเสธโภชนะอย่างใดอย่างหนึ่งในระหว่างนั้น ยังไม่จัดว่าห้าม เพราะเหตุไร? เพราะความเป็นโภชนะที่ฉันค้างอยู่ขาดไป
      - ในมหาปัจจรีกล่าวว่า แม้ภิกษุใดประสงค์จะไปฉันในที่อื่น กลืนภัตในปากแล้ว ถือเอาภัตส่วนที่เหลือเดินไปอยู่ ห้ามโภชนะอื่นในระหว่างทาง การห้ามของภิกษุนั้นก็ไม่มี
      ก็ถ้าว่า ภิกษุไม่ประสงค์จะกลืนกินโภชนะที่มีอยู่ แม้ในมือหรือแม้ในปากเหมือนในบาตรและห้ามโภชนะอื่นในขณะนั้น ไม่ชื่อว่าห้าม
      - ในกุรุนทีกล่าวว่า ภิกษุกลืนภัตในปากแล้ว ประสงค์จะให้ภัตในมือแก่คนกินเดน ประสงค์จะให้ภัตในบาตรแก่ภิกษุ ถ้าห้าม (โภชนะอื่น) ในขณะนั้น ไม่ชื่อว่าห้าม


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 พฤศจิกายน 2561 11:48:14
ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๘๔)
ภิกษุฉันอาหารที่เขาถวายเพิ่มเติม เมื่อกล่าวว่าพอแล้วหรือลุกจากที่แล้ว
ต้องปาจิตตีย์ เว้นแต่อาหารที่เป็นเดน
(ต่อ)

     ๕. ว่าด้วยทายกอยู่ในหัตถบาสน้อมถวาย
      ๒ ศอกคืบ พึงทราบว่า หัตถบาส, ถ้าภิกษุนั่ง กำหนดตั้งแต่ริมสุดด้านหลังของอาสนะไป, ถ้ายืน กำหนดตั้งแต่ที่สุดส้นเท้าไป, ถ้านอน กำหนดตั้งแต่ที่สุดด้านนอกแห่งสีข้างที่นอนไป ด้วยที่สุดด้านในแห่งอวัยวะที่ใกล้กว่า เว้นมือที่เหยียดออกของทายกผู้นั่งอยู่ก็ตาม ยืนอยู่ก็ตาม นอนอยู่ก็ตาม, การห้ามภัตย่อมมีแก่ภิกษุผู้ห้ามโภชนะที่ทายกอยู่ในหัตถบาสนั้นน้อมถวายเท่านั้น นอกจากนั้นไป หามีไม่
      - ทายกอยู่ในภายในหัตถบาส น้อมไปเพื่อรับ (ประเคน) ก็ถ้าว่าภิกษุผู้นั่งถัดไป ไม่นำบาตรที่อยู่ในมือ หรือที่วางอยู่บนตัก หรือบนเชิงรอง ออกไปเลย กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับภัตตาหาร เมื่อภิกษุปฏิเสธภัตนั้น ไม่เป็นการห้าม, แม้ในทายกผู้นำกระเช้าภัตมาวางไว้บนพื้นข้างหน้า แล้วกล่าวว่านิมนต์ท่านรับเถิด ก็นัยนี้เหมือนกัน
      แต่เมื่อเขาขยับยกขึ้นหรือน้อมเข้าไป กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับเถิด เมื่อภิกษุปฏิเสธจัดเป็นการห้าม พระเถระนั่งอยู่บนเถระอาสน์ ส่งบาตรไปให้แก่ภิกษุหนุ่มผู้นั่งอยู่ในที่ไกลกล่าวว่า จงรับเอาข้าวสุกจากบาตรนี้ ภิกษุหนุ่มห้ามว่า ผมพอแล้ว ไม่ชื่อว่าห้าม, เพราะเหตุไร? เพราะพระเถระอยู่ไกล และเพราะทูตไม่นำไปให้แล, ถ้าภิกษุผู้รับมากล่าวว่า ท่านจงรับภัตนี้ เมื่อภิกษุหนุ่มปฏิเสธภัตนั้น จัดเป็นการห้าม
      - ในสถานที่อังคาส ทายกคนเดียวอังคาสภิกษุหลายรูป มือข้างหนึ่งถือกระเช้าข้าวสุก อีกข้างหนึ่งถือทัพพี, ถ้าในสถานที่อังคาสนั้นมีคนอื่นมาพูดว่า ข้าพเจ้าจักช่วยถือกระเช้า ท่านจงถวายข้าวสุกแล้วทำกิจเพียงจับเท่านั้น, ก็ทายกผู้อังคาสนั่นเองยกกระเช้าข้าวสุกนั้น เพราะฉะนั้น กระเช้านั้นจัดว่า อันเขานำมาจำเพาะแท้, จัดเป็นการห้ามแก่ภิกษุผู้ห้ามคนอังคาส ผู้ถือ (ภัต) จากกระเช้านั้น ด้วยเป็นผู้มีความต้องการจะถวาย, แต่ถ้าผู้อังคาสเพียงแตะต้อง (กระเช้า) เท่านั้น คนนอกนี้แหละช่วยยกกระเช้าขึ้น ไม่จัดว่าเป็นการห้ามแก่ภิกษุผู้ห้ามคนอังคาสซึ่งถือภัตจากกระเช้านั้น ด้วยเป็นผู้มีความต้องการจะถวาย แต่พอเขาเอาทัพพีตักภัต (การห้ามภัต) ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ห้าม, แท้จริง การน้อมเข้ามาโดยตรงด้วยทัพพีนั่นแหละจัดเป็นการน้อมถวายภัตนั้น
      - ในมหาปัจจรีกล่าวว่า แม้ในภัตที่คน ๒ คน ช่วยกันยกเมื่อภิกษุปฏิเสธ ย่อมชื่อว่าห้ามภัตเหมือนกัน
      - เมื่อทายกถวายภัตแก่ภิกษุผู้นั่งถัดไป ภิกษุอีกรูปหนึ่งเอามือปิดบาตร ไม่เป็นการห้าม, เพราะเหตุไร? เพราะห้ามภัตที่เขาน้อมถวายภิกษุรูปอื่น
      ๖. ว่าด้วยการห้ามภัต
      ภิกษุปฏิเสธที่เขาบอกถวายด้วยวาจา ไม่จัดเป็นการห้าม, แต่เมื่อภิกษุปฏิเสธด้วยกายหรือวาจา ซึ่งภัตที่เขาน้อมถวายด้วยกาย จึงเป็นการห้ามภัต
      ในการห้ามด้วยกายและวาจานั้น ที่ชื่อว่า การห้ามด้วยกาย คือ ภิกษุสั่นนิ้วมือหรือมือพัดไล่แมลงหวี่ หรือชายจีวร กระทำอาการด้วยคิ้วหรือโกรธ แลดู, ที่ชื่อว่า การห้ามด้วยวาจา คือ ภิกษุกล่าวว่า พอแล้ว หรือว่า ฉันไม่รับ, ว่า อย่าเทลง หรือว่า จงถอยไป, เมื่อภิกษุห้ามภัตด้วยกายหรือด้วยวาจา โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างนี้ชื่อว่า เป็นการห้าม
      - ฝ่ายภิกษุใด เดินห้ามภัต, ภิกษุนั้นย่อมได้เพื่อจะฉันทั้งเดินนั่นแหละ, เดินไปถึงที่มีโคลนตมหรือแม่น้ำ หยุดยืนอยู่แล้ว พึงทำได้เป็นเดน, ถ้าแม่น้ำในระหว่างขึ้นเต็มฝั่ง พึงเดินเวียนรอบพุ่มไม้ที่ฝั่งแม่น้ำ ฉันเถิด, ถ้ามีเรือหรือสะพาน พึงเดินไปมา ฉันเถิด, ไม่พึงตัดการเดินให้ขาดตอน, ภิกษุนั่งห้ามภัตบนยานก็ดี บนหลังช้างและม้าก็ดี บนดวงจันทร์ก็ดี บนดวงอาทิตย์ก็ดี พึงฉันทั้งที่นั่งอยู่บนยานเป็นต้นเหล่านั้น, แม้ซึ่งกำลังเคลื่อนไปจนถึงเวลาเที่ยงวัน
      ภิกษุใดยืนห้ามภัต ภิกษุนั้นพึงฉันทั้งยืนเหมือนกัน, ภิกษุใดนั่งห้ามภัต ภิกษุนั้นพึงฉันทั้งที่นั่งอย่างนั้นแหละ, เมื่อทำอิริยาบถนั้นให้เสีย พึงทำให้เป็นเดน
      ภิกษุใดนั่งกระโหย่งห้ามภัต ภิกษุนั้นพึงฉันทั้งที่นั่งกระโหย่งนั้นแหละ แต่พึงให้ตั่งฟางหรือที่รองนั่งบางอย่างในภายใต้แก่ภิกษุผู้นั่งกระโหย่งนั้น, ภิกษุผู้นั่งห้ามภัต ย่อมได้เพื่อจะหมุนไปรอบทั้ง ๔ ทิศ ไม่ทำให้อาสนะเคลื่อนที่ ภิกษุนั่งบนเตียงห้ามภัต ย่อมไม่ได้เพื่อจะเลื่อนไปทางโน้นหรือทางนี้, แต่ถ้าชนทั้งหลายยกเธอขึ้นพร้อมทั้งเตียง หามไปในที่อื่น ควรอยู่, ภิกษุผู้นอนห้ามภัต พึงฉันทั้งๆ ที่นอนนั่นแหละ เมื่อจะพลิกตัว อย่าพึงให้เลยฐานแห่งสีข้างที่ตนนอนไป
      ๗. ว่าด้วยลักษณะของเป็นเดนเป็นต้น
      บทว่า อนติริตฺตํ คือ ไม่เป็นเดน ความว่า ไม่เหลือเฟือ, แต่ของไม่เป็นเดนนั้น เป็นเพราะไม่ทำให้เป็นเดน โดยอาการแห่งวินัยกรรม ๗ อย่าง มีของไม่ได้ทำให้เป็นกัปปิยะเป็นต้น หรือไม่เป็นเดนของภิกษุอาพาธ
      - ในผลไม้เป็นต้น ผลไม้หรือรากเหง้ามันเป็นต้นใด ยังไม่ได้ทำให้เป็นกัปปิยะด้วยสมณโวหารทั้ง ๕ และอกัปปิยมังสะ หรืออกัปปิยโภชนะอันใดบรรดามี, ผลไม้เป็นต้น ที่ยังไม่ได้ทำกัปปิยะและอกัปปิยะมังสะ  อกัปปิยโภชนะนี้ ชื่อว่า ของเป็นอกัปปิยะ, ของเป็นอกัปปิยะนั้น ภิกษุทำให้เป็นเดนอย่างนี้ว่า “ทั้งหมดนั่นพอแล้ว”
      เมื่อไม่เปล่งวาจาพูดอย่างนั้น ของเป็นเดนอันใดยังไม่ได้ทำให้เป็นกัปปิยะ โดยอาการแห่งวินัยกรรมทั้ง ๗ อย่างนี้ (มีภิกษุมิได้รับประเคนเป็นต้น) และของใดไม่เป็นเดนแห่งภิกษุอาพาธ ของแม้ทั้ง ๒ อย่างนั้น พึงทราบว่าของไม่เป็นเดนด้วยประการฉะนี้ ส่วนของเดนก็พึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม
      อีกอย่างหนึ่ง ยังมีคำอื่นที่จะพึงกล่าวอยู่ในของเป็นเดนนี้, ถึงโภชนะที่ภิกษุฉันข้าวสุกแม้เมล็ดเดียว หรือเคี้ยวเนื้อแม้ชิ้นเดียว จากบาตรของภิกษุผู้เป็นสภาคกันซึ่งนั่งถัดไปทำแล้ว ก็พึงทราบว่าเป็นภิกษุผู้ฉันเสร็จแล้วทำ มีตัวอย่างดังนี้
      ภิกษุ ๒ รูป ฉันแต่เช้ามืด เป็นผู้ห้ามภัตเสียแล้ว, ภิกษุรูปหนึ่งพึงนั่งในที่ห้ามภัตนั่นแหละ, อีกรูปหนึ่งนำนิตยภัตหรือสลากภัตมา แล้วเทลงในบาตรของภิกษุนั้นครึ่งหนึ่ง ล้างมือแล้วให้ภิกษุนั้นทำส่วนที่เหลือให้เป็นกัปปิยะแล้ว ฉันเถิด, เพราะเหตุไร? เพราะว่าภัตที่ติดอยู่ในมือของภิกษุผู้นำภัตมานั้นเป็นอกัปปิยะ แต่ถ้าภิกษุผู้นั่งอยู่แต่แรกเอามือรับบาตรของภิกษุผู้นำภัตมานั้นด้วยตนเอง นั่นแหละไม่มีกิจจำต้องล้างมือ แต่ถ้าเมื่อภิกษุให้ทำเป็นกัปปิยะอย่างนั้นแล้วฉัน พวกทายกใส่แกงหรือของเคี้ยวบางอย่างลงในบาตรอีก, ภิกษุผู้ทำให้เป็นกัปปิยะคราวก่อนย่อมไม่ได้เพื่อจะทำอีก, ภิกษุผู้ยังไม่ได้ทำ (ให้เป็นกัปปิยะ) พึงทำ, และพึงทำสิ่งที่ยังไม่ได้ทำเท่านั้น (ให้เป็นกัปปิยะ)
      - ของที่ยังไม่ได้ทำ (ให้เป็นกัปปิยะ) แม้ภิกษุผู้ซึ่งได้ทำกัปปิยะคราวแรก ก็ควรทำ (ให้เป็นกัปปิยะ) แต่ย่อมไม่ได้ เพื่อจะทำในภาชนะแรก อธิบายว่า เพราะว่าของที่ภิกษุทำอยู่ในภาชนะแรกนั้น ย่อมเป็นอันทำรวมกันกับของที่ทำไว้คราวแรก เพราะฉะนั้น จึงควรทำในภาชนะอื่น แต่ของที่ทำแล้วอย่างนี้ ภิกษุนั้นจะฉันรวมกับของทำไว้คราวแรก ควรอยู่, และเมื่อจะทำกัปปิยะ พึงทำในบาตรอย่างเดียวเท่านั้น หามิได้ พึงวางไว้ในหม้อข้าว ในกระเช้าข้าว ในที่ใดที่หนึ่งข้างหนึ่งแล้ว พึงกระทะในภาชนะที่เขาน้อมเข้ามาเถิด, ถ้าแม้นภิกษุตั้ง ๑๐๐ รูป ห้ามภัต ทุกรูปจะฉันภัตที่ทำกัปปิยะแล้วนั้นก็ควร แม้พวกภิกษุผู้ไม่ห้ามภัตก็ควรฉัน, แต่ไม่ควรแก่ภิกษุผู้ให้ทำกัปปิยะ
      - ถ้าแม้นชาวบ้านเห็นภิกษุผู้ห้ามภัตเข้าไปบิณฑบาต รับบาตรแล้วให้นั่งในสถานที่นิมนต์เพื่อต้องการมงคล ซึ่งจะต้องมีการฉันแน่นอน พึงให้ทำให้เป็นเดนก่อนแล้ว ฉันเถิด ถ้าในสถานที่นิมนต์นั้นไม่มีภิกษุอื่น พึงส่งบาตรไปยังหอฉันหรือวิหารแล้วให้ทำ (ให้เป็นเดน), แต่เมื่อจะทำกัปปิยะ ไม่ควรทำของที่อยู่ในมืออนุปสัมบัน, ถ้าในหอฉันมีภิกษุไม่ฉลาด พึงไปให้ทำกัปปิยะเอง แล้วนำมาฉัน
      - ภัตที่ภิกษุอาพาธฉันเหลืออย่างเดียว จึงชื่อว่า ภัตเป็นเดนของภิกษุอาพาธหามิได้, โดยที่แท้วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เขานำมาเฉพาะภิกษุอาพาธ ด้วยใส่ใจว่าท่านจักฉันในวันนี้หรือในวันพรุ่งนี้ หรือในเวลาที่ท่านต้องการ, วัตถุทั้งหมดนั้นพึงทราบว่า เดนของภิกษุอาพาธ
      ๘. เป็นทุกกฎทุกๆ คำกลืน ในกาลิกทั้งหลายมียามกาลิกเป็นต้น (ดูสิกขาบทที่ ๗ กาลิกข้างหน้า) ท่านปรับด้วยอำนาจกาลิกไม่ระคนกัน, แต่ถ้าว่าเป็นกาลิกระคนกันกับอามิส เป็นปาจิตตีย์ทั้งนั้นแก่ภิกษุรับประเคน เพื่อประโยชน์แก่อาหารก็ดี เพื่อประโยชน์มิใช่อาหารก็ดี กลืนกิน
      ๙. สิกขาบทนี้ มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายและวาจา ๑  ทางกาย วาจาและจิต ๑ เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓
      ๑๐. นานาวินิจฉัย หน้า ๙๐ ตั้งข้อสังเกตว่า โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๕ นี้ ควรแปลบทว่า “ภุตฺตาวี” ว่า “กำลังฉันอยู่” เพราะที่แปลว่า “ฉันเสร็จ” นั้น ไม่ตรงกับความมุ่งหมาย เนื่องจากผู้ฉันเสร็จแล้วไม่เป็นอาบัติเพราะสิกขาบทนี้ จริงอยู่ ตาวี ปัจจัย เป็นอดีตกาล แต่ก็สามารถแบ่งเป็นปัจจุบันกาลได้ เพราะในวิธีไวยากรณ์เป็นเยภุยยนัย อีกอย่างหนึ่ง การแปลควรถือเอาแต่ใจความเท่านั้น โดยไม่ต้องเพ่งบทพยัญชนะมากเกินไป ดังที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า
      พฺยญฺชเน อาทรํ อกตฺวา อธิปฺเปตเมว คเหตพฺพํ
      “ไม่ต้องเอื้อเฟื้อในพยัญชนะพึงถือเอาแต่ใจความเท่านั้น
      โปรดดูอรรถกถาของสิกขาบทนี้ด้วย”



ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๘๕)
ภิกษุแกล้งลวงภิกษุผู้ห้ามภัตแล้ว ให้ฉันอาหารที่ไม่ได้เป็นเดน
เพื่อจะเพ่งหาโทษให้ ต้องปาจิตตีย์

      ภิกษุรูปหนึ่งประพฤติอนาจาร ภิกษุผู้เป็นเพื่อนจึงเตือนเธอว่า อาวุโส ท่านอย่าได้ทำอย่างนั้น เพราะมันไม่สมควร เธอได้ผูกใจเจ็บในภิกษุนั้น ครั้นไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ประชาชนได้ถวายภัตแก่สงฆ์ ภิกษุผู้เป็นเพื่อนฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ภิกษุรูปที่ผูกใจเจ็บไปสู่ตระกูลญาติรับบิณฑบาตมาแล้ว นำเข้าไปให้ภิกษุผู้เป็นเพื่อนนั้น แล้วกล่าวว่า อาวุโส นิมนต์ฉัน ภิกษุผู้เป็นเพื่อนปฏิเสธ เธอก็ยังแค่นให้ฉัน ภิกษุผู้เป็นเพื่อนจึงได้ฉันบิณฑบาตนั้น
      ภิกษุผู้ผูกใจเจ็บจึงพูดต่อว่าภิกษุผู้เป็นเพื่อนว่า อาวุโส ท่านสำคัญว่าผมเป็นผู้ควรว่ากล่าวหรือ ท่านเองฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ยังฉันโภชนะอันมิใช่เดนได้, ภิกษุผู้เป็นเพื่อนกล่าวว่า อาวุโส ท่านควรบอกมิใช่หรือ, รูปที่ผูกใจเจ็บ : อาวุโสท่านต้องถามมิใช่หรือ
      ภิกษุผู้เป็นเพื่อนได้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ เพ่งโทษติเตียนภิกษุผู้ผูกใจเจ็บ แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ เพ่งจะหาโทษให้ นำไปปวารณาภิกษุผู้ฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว ด้วยของเคี้ยวก็ดี ด้วยของฉันก็ดี อินมิใช่เดน บอกว่า นิมนต์เถิด ภิกษุเคี้ยวก็ตาม ฉันก็ตาม พอเธอฉันแล้ว เป็นปาจิตตีย์      
      
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า “ฉันเสร็จ”, “ห้ามภัตแล้ว”, “มิใช่เดน”, “ของฉัน” พึงทราบตามสิกขาบทที่ ๕
      - นำไปปวารณา คือ บอกว่า จงรับของตามที่ต้องการ
      - ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือรูปอื่นบอก หรือภิกษุนั้นบอก
      - ที่ชื่อว่า เพ่งจะหาโทษให้ คือ เพ่งเล็งว่า จักท้วง จักเตือน ซึ่งภิกษุนี้ จักทำให้เป็นผู้เก้อด้วยโทษข้อนี้

อาบัติ
       ๑. ภิกษุนำไป (ให้) ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุผู้รับไว้ตามคำของเธอด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ภิกษุผู้นำไปต้องอาบัติทุกกฎขณะกลืน ภิกษุผู้นำไปต้องอาบัติทุกกฎทุกๆ คำกลืน เมื่อภิกษุนั้นฉันเสร็จแล้ว ภิกษุผู้นำไปต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. ห้ามภัตแล้ว ภิกษุรู้ว่าห้ามภัตแล้ว นำไปปวารณาด้วยของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี อันมิใช่เดน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. ห้ามภัตแล้ว ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๔. ห้ามภัตแล้ว ภิกษุคิดว่ายังไม่ได้ห้ามภัต... ไม่ต้องอาบัติ
      ๕. ภิกษุนำยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ไปเพื่อประสงค์เป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ยังมิได้ห้ามภัต ภิกษุคิดว่าห้ามแล้ว... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗. ยังมิได้ห้ามภัต ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๘. ยังมิได้ห้ามภัต ภิกษุรู้ว่ายังมิได้ห้ามภัต... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุให้ทำเป็นเดนแล้วให้ ๑  ให้ด้วยบอกว่า จงทำให้เป็นเดนแล้วจึงฉันเถิด ๑  ให้ด้วยบอกว่า จงนำไปเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑  ให้อาหารที่เหลือจากภิกษุอาพาธ ๑  ให้ด้วยบอกว่า ในเมื่อมีเหตุสมควร จงฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๕๒๕-๕๒๖
      ๑. เมื่อภิกษุผู้ที่ตนน้อมถวายภัตรับเอา เป็นทุกกฎแก่ภิกษุผู้น้อมถวาย, ส่วนความแตกต่างแห่งอาบัติทุกอย่างของภิกษุผู้รับนอกนี้ กล่าวไว้แล้วในปฐมปวารณาสิกขาบทที่ ๕, แต่ในสิกขาบทนี้ พระวินัยธรพึงปรับอาบัติทั้งหมดแก่ภิกษุน้อมถวายภัตเท่านั้น
      ๒.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา สจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๘๖)
ภิกษุฉันอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงวันใหม่ เป็นปาจิตตีย์

      ในพระนครราชคฤห์ มีมหรสพบนยอดเขา พระสัตตรสวัคคีย์ได้ไปดู ประชาชนเห็นจึงนิมนต์ให้สรงน้ำ ให้ลูบไล้ของหอม ให้ฉันอาหารแล้ว ได้ถวายของเคี้ยวไปด้วย พวกท่านได้นำของเคี้ยวไปยังอารามแล้วกล่าวเชิญให้พระฉัพพัคคีย์นำไปขบฉันบ้าง
      พระฉัพพัคคีย์สอบถาม ทราบความ ได้เพ่งโทษติเตียน แล้วแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ในเวลาวิกาล เป็นปาจิตตีย์”      
      
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า เวลาวิกาล หมายตั้งแต่เวลาเที่ยงวันแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น
      - ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว, ของฉัน พึงทราบตามสิกขาบทที่ ๕
      ภิกษุรับไว้ด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ ขณะกลืนต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. เวลาวิกาล ภิกษุรู้ว่าเวลาวิกาล เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. เวลาวิกาล ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. เวลาวิกาล ภิกษุคิดว่าเป็นในกาล... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุรับยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อประสงค์เป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ขณะกลืน ต้องอาบัติทุกกฎทุกๆ คำกลืน
      ๖. ในกาล ภิกษุคิดว่าเป็นวิกาล... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗. ในกาล ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๘. ในกาล ภิกษุรู้ว่าในกาล... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุฉันยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาชีวิก เมื่อมีเหตุสมควร ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๕๓๐-๕๓๙
      ๑. บทว่า คิรคฺคสมชฺโช คือ มหรสพชั้นเยี่ยมบนภูเขา, อีกอย่างหนึ่งได้แก่ มหรสพ (ที่แสดง) บนยอดเขาแห่งภูเขา, ทางนครทำการโฆษณาในเมืองว่า นัยว่ามหรสพนั้นจักมีกันในวันที่ ๗ ฝูงชนเป็นอันมากได้ชุมนุมกันที่ร่มเงาแห่งบรรพตบนภูมิภาคที่ราบเรียบภายนอกเมือง การฟ้อนรำของพวกนักฟ้อนมีประการมากมายหลายอย่างเป็นไปอยู่, ชนทั้งหลายได้ผูกเตียงซ้อนเตียง เพื่อดูการฟ้อนรำของพวกนักฟ้อนเหล่านั้น, พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์อุปสมบทแต่ยังเด็กๆ ในเมื่อสิกขาบทยังมิได้บัญญัติ ภิกษุเหล่านั้นชักชวนกันว่า ผู้มีอายุ พวกเราจักไปดูฟ้อนรำกัน แล้วได้ไปในที่นั้น, ครั้งนี้ เหล่าญาติของพวกเธอมีจิตยินดีว่า พระผู้เป็นเจ้าของพวกเราก็มาด้วย จึงให้อาบน้ำ ลูบไล้ ให้ฉันแล้วได้ถวายแม้ของอื่น มีขนมและของควรเคี้ยวเป็นต้น ติดมือไปด้วย
      ๒. บทว่า วิกาเล คือ ในเมื่อกาลผ่านไปแล้ว กาลแห่งโภชนะของภิกษุทั้งหลาย ท่านประสงค์เอาว่ากาล, ก็กาลแห่งโภชนะนั้น โดยกำหนดอย่างต่ำว่า คือ เที่ยงวัน,  อธิบายว่า เมื่อกาล (เวลา) เที่ยงวันนั้นล่วงเลยไปแล้ว จนถึงอรุณขึ้นชื่อว่า วิกาล, แม้เวลาเที่ยงตรงก็ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นกาล, จำเดิมแต่เวลาเที่ยงตรงไป ภิกษุไม่อาจเพื่อจะเคี้ยว หรือฉันได้ แต่ยังอาจเพื่อจะรีบดื่มได้, ส่วนภิกษุผู้มีความรังเกียจไม่พึงทำ และเพื่อรู้กำหนดเวลาควรปักเสาเครื่องหมายกาลเวลาไว้ ดังนั้นพึงทำภัตกิจภายในกาล
      ๓.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๖ แห่งนิสสัคคีย์ โกสิยวรรค) เกิดขึ้นทางกาย ๑  ทางกายกับจิต ๑  เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓
      ๔.ศัพท์ที่ควรทราบจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ หน้า ๑๖
           ๔.๑ กาลิก เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของฉันอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไป ซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้ และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง
           ๔.๒ ยาวกาลิก (ของที่อนุญาตให้ฉันได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน) รับประเคนไว้ และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ
           ๔.๓ ยามกาลิก (ของที่ฉันได้ชั่วระยะวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง) รับประเคนไว้แล้วฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือ ก่อนอรุณของวันใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาตไว้ ๘ อย่าง คือ น้ำมะม่วง น้ำชมพู่ หรือน้ำหว้า น้ำกล้วยมีเมล็ด น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด น้ำมะซาง (ต้องเจือด้วยน้ำจึงจะควร) น้ำลูกจันทน์ หรือองุ่น น้ำเหง้าอุบล น้ำมะปราง หรือลิ้นจี่ นิยมเรียกว่า น้ำอัฎฐบาน
           ๔.๔ สัตตาหกาลิก รับประเทคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
           ๔.๕ ยาวชีวิก (ของที่ให้ฉันได้ไม่จำกัดเวลาตลอดชีวิต) รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไป ไม่จำกัดกาล ได้แก่ ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้างต้น (ความจริงยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยายเพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน)
      ๕.นมเป็นปณีตโภชนะ ไม่ควรดื่มในเวลาวิกาล
      ยานิโข ปน ตานิ ปณีตโภชนานิ. เสยฺยถิทํ, สปฺปิ นวนิตํ เตลํ มธุ ผาณิตํ มจฺโฉ มํสํ ขีรํ ทธิ... ปาจิตฺติยํ

ภิกษุใด ขอโภชนะอันประณีตเป็นปานนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม... ต้องอาบัติปาจิตตีย์

เภสัช ๕ ฉันในเวลาวิกาลได้
      ครั้งหนึ่ง ในฤดูสารท (ฤดูอับลม) ภิกษุเป็นอันมากเกิดเจ็บไข้ไม่สบาย ฉันอาหารไม่ค่อยได้ ฉันแล้วอาเจียน เป็นโรคผอมแห้งแรงน้อย สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเหตุนั้นแล้ว จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นยาได้ เพราะฉะนั้นเภสัชเหล่านี้จึงจัดเป็นยาก็ได้ เป็นอาหารก็ได้ ดังมีพระบาลีว่า
      อิมานิ โข ปน เภสชฺชานิ. เสยฺยถิทํ, สปฺปิ นวนีตํ เตลํ มธุ ผาณิตฺํ เภสชฺชานิ เจว เภสชฺชสมฺมตานิ จ โลกสฺส, อาหารตฺถญฺจ ผรนฺติ, น โอฬาริโก อาหาโร ปญฺญายติ...อนุชานามิ ภิกฺขเว ตานิ ปญฺจ เภสชฺชานิ ปฏิคฺคเหตฺวา กาเลปิ วิกาเลปิ ปริภุญฺชิตุํ.
      เภสัช ๕ เหล่านี้คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชอยู่ในตัว และเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตว์และไม่ปรากฏเป็นอาหารหยาบ... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเภสัช ๕ นั้น แล้วบริโภคได้ทั้งในกาล ทั้งในเวลาวิกาล
      สำหรับ ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม ๔ อย่างนี้ ไม่จัดเป็นเภสัช ๕ ดังกล่าว ทั้งไม่จัดเข้าในยาวชีวิก และน้ำปานะอันเป็นยามกาลิกด้วย จึงเป็นปณีตโภชนาหารเท่านั้น เพราะฉะนั้นภิกษุสามเณรจึงไม่ควรดื่มนมในเวลาวิกาล แม้เครื่องดื่มต่างๆ เมื่อผสมกับนมแล้วก็ไม่ควรเช่นกัน

เครื่องดื่มที่ทำจากถั่ว ไม่ควรฉันในเวลาวิกาล
      ในสมัยต้นกัป ข้าวชนิดต่างๆ เกิดขึ้นก่อน ภายหลังถั่วชนิดต่างๆ มีถั่วเขียว ถั่วเหลือง เป็นต้น จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นข้าวจึงได้ชื่อว่า “ปุพฺพณฺณ” ส่วนถั่วเรียกว่า “อปรณฺณ” ทั้ง ๒ อย่างนี้ในพระบาลีและอรรถกถาจัดเป็นยาวกาลิก ภิกษุสามเณรไม่ควรฉันในเวลาวิกาล แม้ที่ต้ม กรอง หรือที่เขาทำเป็นเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ก็ไม่ควร
      นอกจากนั้น น้ำแห่งผลไม้ใหญ่ ๙ ชนิด คือ ตาล, มะพร้าว, ขนุน, สาเก, น้ำเต้า, ฟักเขียว, แตงไท, แตงโม และฟักทอง ก็ไม่ควรฉันในเวลาวิกาลเช่นเดียวกัน

ปานอนุโลม
      ปานอนุโลม (เครื่องดื่มที่อนุโลมตามน้ำปานะ) มี ๒ อย่าง คือ
      ๑.อกปฺปิยปานอนุโลม (ภิกษุไม่ควรฉันในเวลาวิกาล) ได้แก่ มหาผล (น้ำแห่งผลไม้ใหญ่) ๙ ชนิด มี ตาล มะพร้าว เป็นต้น ซึ่งอนุโลมตามข้าวสาร ข้าวเปลือก และถั่วชนิดต่างๆ
      ๒.กปฺปิยปานอนุโลม (ภิกษุฉันในเวลาวิกาลได้) ได้แก่ น้ำแห่งผลไม้ ใบไม้ ดอกไม้ทั้งหมด (ไม่สามารถนับจำนวนได้) ที่นอกจากข้าวสาร ข้าวเปลือก ถั่วต่างๆ และมหาผล ๙ ชนิด น้ำต้มผัก และดอกมะซาง

      หมายเหตุ อาจารย์ทั้งหลายไม่ฉันน้ำส้มเป็นต้น ที่ทำสุกด้วยไฟ โดยความเป็นยามกาลิก สำหรับเครื่องดื่มที่เขาเอาน้ำปานะเหล่านั้นเล็กน้อยผสมน้ำตาล แล้วเคี่ยวให้เข้มข้น จัดเป็นอัพโพหาริก เช่น น้ำอัดลมในสมัยนี้ (ยกเว้นจำพวกที่ทำจากนมและถั่ว), (นานาวินิจฉัย/๑๓๙-๑๔๒)


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อุฎฺฐานวโต สติมโต สุจิกมฺมสฺส นิสสมฺมการิโน
สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ ฯ ๒๔ ฯ  
ยศย่อมเจริญแก่ผู้ขยัน มีสติ มีการงานสะอาด
ทำงานด้วยความรอบคอบระมัดระวัง เป็นอยู่โดยชอบธรรม ไม่ประมาท

Of him who is energetic, mindeful, Pure in deed, considerate, self-restrained,
Who lives the Dhamma and who is heedful, Reputation steadily increases.  
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
no.24



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 มกราคม 2562 15:51:10
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSAAOanx2S2qnxKxO22zRcC9-pY8ho5tMdSghw_p9YWGq2RFUDJ)

ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๘๗)
ภิกษุฉันของเคี้ยวของฉันที่เป็นอาหาร ซึ่งรับประเคนไว้ค้างคืน ต้องปาจิตตีย์

      ท่านพระเวฬฏฐสีสะ พระอุปัชฌายะของท่านพระอานนท์ อยู่ในอาวาสป่า ท่านเที่ยวบิณฑบาต ได้บิณฑบาตเป็นอันมาก แล้วเลือกนำแต่ข้าวสุกล้วนๆ ไปสู่อาราม ตากให้แห้งแล้วเก็บไว้ เมื่อใดต้องการอาหารก็แช่น้ำฉัน นานๆ จึงเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาตเสียที ภิกษุทั้งหลายสงสัยจึงสอบถามท่าน รู้ว่าท่านสั่งสมไว้ ต่างพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า  ”อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ที่ทำการสั่งสม เป็นปาจิตตีย์”      
      
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า ทำการสั่งสม คือรับประเคนในวันนี้ ขบฉันในวันอื่น
       - ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว ของฉัน พึงทราบตามสิกขาบทที่ ๕
       - ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎขณะกลืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. ของทำการสั่งสม ภิกษุรู้ว่าทำการสั่งสม เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. ของทำการสั่งสม ภิกษุสงสัย...ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๓. ของทำการสั่งสม ภิกษุคิดว่ามิได้ทำการสั่งสม... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. ภิกษุรับประเคนของเป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อประสงค์เป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฎ       ขณะกลืน ต้องอาบัติทุกกฎทุกๆ คำกลืน
       ๕. ของมิได้ทำการสั่งสม ภิกษุคิดว่าทำการสั่งสม... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖. ของมิได้ทำการสั่งสม ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๗. ของมิได้ทำการสั่งสม ภิกษุรู้ว่ามิได้ทำการสั่งสม... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุเก็บของเป็นยาวกาลิกไว้ฉันชั่วกาล ๑  ภิกษุเก็บของเป็นยามกาลิกไว้ฉันชั่วยาม ๑  ภิกษุเก็บของเป็นสัตตาหกาลิกไว้ฉันชั่วสัปดาห์ ๑  ภิกษุฉันของเป็นยาวชีวิกในเมื่อมีเหตุสมควร ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๕๔๓-๕๔๖
      ๑. พระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งรวมอยู่ภายในแห่งภิกษุชฏิลพันรูป ชื่อว่า เวฬฏฐสีละ
ได้ยินว่า พระเถระนั้นฉันภายในบ้านแล้ว ภายหลังเที่ยวบิณฑบาต นำเอาข้าวสุกเช่นนั้นมา, ก็แลพระเถระนำเอาข้าวสุกนั้นมา เพราะความเป็นผู้มักน้อย ไม่ใช่เพราะความเป็นผู้ติดในปัจจัย, ได้ยินว่า พระเถระยับยั้งอยู่ด้วยนิโรธสมาบัติ ตลอด ๗ วัน ออกจากสมาบัติแล้ว เอาบิณฑบาตนั้นชุบน้ำฉัน ย่อมนั่งเข้าสมาบัติ ต่อจาก ๗ วันนั้นไปอีก ๗ วัน, ท่านยับยั้งอยู่ตลอด ๒ สัปดาห์บ้าง ๓ สัปดาห์บ้าง ๔ สัปดาห์บ้าง แล้วนานๆ จึงเข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต
      ๒. คำว่า การ การณ์ กิริยา (ทั้ง ๓ นี้) โดยอรรถเป็นอันเดียวกัน, การทำความสะสมมีอยู่แก่ขาทนียะ และโภชนียะนั้น,  ฉะนั้น จึงชื่อว่า สันนิธิการ, สันนิธิการนั่นแหละชื่อว่า สันนิธิการก, ความว่า สันนิธิกิริยา (ความทำการสะสม), คำว่า สันนิธิการกนั้น เป็นชื่อ (แห่งขาทนียะ โภชนียะ) ที่ภิกษุรับประเคนไว้ให้ค้างคืน, ของที่ภิกษุรับประเคนในวันนี้ ขบฉันในวันอื่น ชื่อว่า สันนิธิการก
      ๓. เมื่อภิกษุรับยาวกาลิก หรือยามกาลิกอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่กระทำสันนิธิอย่างนี้ด้วยความประสงค์จะกลืนกิน ต้องทุกกฎในเพราะรับประเคนก่อน, แต่เมื่อกลืนกินเป็นปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน, ถ้าแม้นว่าบาตรล้างไม่สะอาด ซึ่งเมื่อลูบด้วยนิ้วมือ รอยปรากฏ, เมือกซึมเข้าไปในระหว่างหมุดแห่งบาตรที่มีหมุด เมือกนั้นเมื่ออังที่ความร้อนให้ร้อนย่อมซึมออก หรือว่า รับข้าวยาคูร้อน จะปรากฏ, เป็นปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ฉันแม้ในบาตรเช่นนั้นในวันรุ่งขึ้น เพราะฉะนั้นภิกษุพึงล้างบาตรแล้วเทน้ำใส่ลงไปในบาตรนั้น หรือลูบด้วยนิ้วมือ จึงจะรู้ได้ว่า ไม่มีเมือก, ถ้าแม้นว่ามีเมือกบนน้ำก็ดี รอยนิ้วมือปรากฏในบาตรก็ดี, บาตรย่อมเป็นอันล้างไม่สะอาด, แต่ในบาตรมีสีน้ำมัน รอยนิ้วมือย่อมปรากฏ รอยนิ้วมือนั้นเป็นอัพโพหาริก
      ภิกษุทั้งหลายไม่เสียดาย สละโภชนะใดให้แก่สามเณร, ถ้าสามเณรเก็บโภชนะนั้นไว้ถวายแก่ภิกษุ ควรทุกอย่าง แต่ที่ตนเองรับประเคนแล้วไม่สละเสียก่อน ย่อมไม่ควรในวันรุ่งขึ้น, จริงอยู่ เมื่อภิกษุกลืนกินข้าวสุกแม้เมล็ดเดียวจากโภชนะที่ไม่สละนั้น เป็นปาจิตตีย์เหมือนกัน
      บรรดาเนื้อที่เป็นอกัปปิยะ ในเนื้อมนุษย์เป็นปาจิตตีย์กับถุลลัจจัย, ในเนื้อที่เหลือเป็นปาจิตตีย์กับทุกกฎ, เมื่อกลืนกินยามกาลิกเพื่อประโยชน์เป็นอาหาร เป็นปาจิตตีย์กับทุกกฎ, ถ้าภิกษุเป็นผู้ห้ามภัต กลืนกินโภชนะที่ไม่ได้ทำให้เป็นเดนในอามิสตามปกติ เป็นปาจิตตีย์ ๒ ตัว, ในเนื้อมนุษย์เป็นปาจิตตีย์ ๒ ตัว กับถุลลัจจัย, ในอกัปปิยมังสะที่เหลือ เป็นปาจิตตีย์กับทุกกฎ, เมื่อกลืนกินยามกาลิกทางปากที่มีอามิส เมื่อมีเหตุ เป็นปาจิตตีย์ ๒ ตัว, ทางปากไม่มีอามิส เป็นปาจิตตีย์ตัวเดียวเท่านั้น, เมื่อกลืนกินเพื่อประโยชน์เป็นอาหาร ทุกกฎเพิ่มขึ้นแม้ในวิกัปทั้ง ๒ ถ้าภิกษุกลืนกินในเวลาวิกาล, ในโภชนะตามปกติ เป็นปาจิตตีย์ ๒ ตัว เพราะการสันนิธิเป็นปัจจัย ๑ เพราะฉันในเวลาวิกาล เป็นปัจจัย ๑, ในอกัปปิยะมังสะเป็นถุลลัจจัยและทุกกฎเพิ่มขึ้น, ในเพราะยามกาลิกไม่เป็นอาบัติ เพราะฉันในวิกาลเป็นปัจจัย, แต่ไม่เป็นอาบัติในวิกัปทุกอย่างในเวลาวิกาล เพราะความไม่เป็นเดนในยามกาลิกเป็นปัจจัย
      - เมื่อภิกษุรับประเคนเพื่อประโยชน์เป็นอาหาร เป็นทุกกฎ เพราะการรับประเคนเป็นปัจจัยก่อน, แต่เมื่อกลืนกิน ถ้าเป็นของไม่มีอามิสเป็นทุกกฎทุกๆ คำกลืน, ถ้าสัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ระคนด้วยอามิส เป็นของที่ภิกษุรับประเคนเก็บไว้ เป็นปาจิตตีย์ตามวัตถุแท้
      ๔. ขาทนียะ โภชนียะ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงขยายไว้แล้วในวิกาลโภชนะสิกขาบท เรียกว่า ยาวกาลิก เพราะเป็นของอันภิกษุพึงฉันได้ชั่วเวลา คือ เที่ยงวัน, ปานะ ๘ อย่าง กับพวกอนุโลมปานะ เรียกว่า ยามกาลิก  ด้วยอรรถว่า มีเวลาเป็นครู่ยาม เพราะเป็นของที่ภิกษุพึงฉันได้ตลอดชั่วยาม คือ ปัจฉิมยามแห่งราตรี, เภสัช ๕ อย่าง มีสัปปิ เป็นต้น เรียกว่า สัตตาหกาลิก  ด้วยอรรถว่า มีเวลา ๗ วัน เพราะเป็นของที่ภิกษุพึงเก็บไว้ได้ถึง ๗ วัน,  กาลิกที่เหลือแม้ทั้งหมด เว้นน้ำเสีย เรียกว่า ยาวชีวิก เพราะเป็นของที่ภิกษุพึงรักษาไว้ฉันได้ตลอดชีวิต เมื่อมีเหตุ
      บรรดากาลิกเหล่านั้น ภิกษุเก็บยาวกาลิกที่รับประเคนในเวลารุ่งอรุณไว้ ฉันได้ตั้งร้อยครั้ง ตราบเท่าที่กาลเวลายังไม่ล่วงเลยไป, ฉันยามกาลิกได้ตลอด ๑ วัน กับ คืน ๑,  ฉันสัตตาหกาลิกได้ ๗ คืน,  ฉันยาวชีวิตนอกนี้ได้แม้ตลอดชีวิต เมื่อมีเหตุ ไม่เป็นอาบัติ
      ๕. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกาโลมสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๗ แห่งนิสสัคคีย์โกสิยวรรค) เกิดขึ้นทางกาย ๑ ทางกายกับจิต ๑ เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๘๘)
ภิกษุไม่อาพาธ ขออาหารอย่างดีเพื่อตน แล้วฉัน ต้องปาจิตตีย์

      พระฉัพพัคคีย์ขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน ประชาชนพากันเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยินต่างติเตียน แล้วกราบทูล... จึงทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติห้าม...
สมัยต่อมา ภิกษุอาพาธทั้งหลายอยู่ไม่ผาสุก เพราะไม่ได้โภชนะอันประณีต เนื่องจากมีพระบัญญัติห้ามขอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความนั้น จึงทรงมีพระอนุบัญญัติว่า อนึ่ง ภิกษุใด มิใช่ผู้อาพาธ ขอโภชนะอันประณีตเห็นปานนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม เพื่อประโยชน์แก่ตน แล้วฉัน เป็นปาจิตตีย์      
      
อรรถาธิบาย
       - โภชนะอันประณีต ได้แก่ เนยใส, เนยข้น, น้ำมัน, น้ำผึ้ง, น้ำอ้อย พึงทราบคำอธิบายจากนิสสัคีย์ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓
       - ที่ชื่อว่า ปลา ได้แก่ สัตว์ที่เที่ยวไปในน้ำ, เนื้อ ได้แก่ เนื้อของสัตว์บกที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ
       - ที่ชื่อว่า นมสด ได้แก่ น้ำนมโค น้ำนมแพะ น้ำนมกระเบือ หรือน้ำนมของสัตว์ที่มีมังสะเป็นกัปปิยะ
       - ที่ชื่อว่า นมส้ม ได้แก่ นมส้มที่ทำจากน้ำนมของสัตว์เหล่านั้นนั่นแหละ
       - ที่ชื่อว่า มิใช่ผู้อาพาธ คือ ผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีต ก็ยังอยู่โดยผาสุกได้
       - ที่ชื่อว่า ผู้อาพาธ คือ ผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีต ไม่อาจอยู่โดยผาสุกได้
       ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธขอเพื่อประโยชน์แก่ตน เป็นทุกกฎในประโยคที่ขอ, ได้ของนั้นมารับประเคนด้วยตั้งใจว่า จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ, ขณะกลืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุรู้ว่ามิใช่ผู้อาพาธ ขอโภชนะอันประณีต เพื่อประโยชน์แก่ตน แล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุคิดว่าเป็นผู้อาพาธ... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. ผู้อาพาธ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ผู้อาพาธ... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕. ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖. ผู้อาพาธ ภิกษุรู้ว่าอาพาธ... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุอาพาธ ๑  ภิกษุขอขมาตอนอาพาธ หายอาพาธแล้วฉัน ๑  ฉันโภชนะที่เหลือของภิกษุอาพาธ ๑  ขอต่อญาติ ๑  ขอต่อคนปวารณา ๑  ขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑  จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๕๕๑-๕๕๔
      ๑. ภิกษุขอโภชนะที่ดีล้วนๆ มีสัปปิ (เนยใส) เป็นต้น มาฉัน ไม่ต้องปาจิตตีย์, ต้องทุกกฎเพราะขอแกงและข้าวสุกในพวกเสขิยวัตร (ดูเสขิยวัตร สิกขาบทที่ ๗ แห่งสักกัจจวรรค) แต่ภิกษุผู้ขอโภชนะดี ที่ระคนกับข้าวสุกมาฉัน พึงทราบว่าต้องปาจิตตีย์
         - เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสว่า ปณีตานิ  ตรัสในสูตรว่า ปณีตโภชนานิ, เมื่อพระองค์ตรัสว่า ปณีตานิ ย่อมรวมเอาสัปปิเป็นต้นเข้าด้วย แต่เมื่อตรัสว่า ปณีตโภชนานิ เนื้อความย่อมปรากฏดังนี้ว่า โภชนะที่เกิดจากธัญชาติ ๗ ชนิด ระคนด้วยของประณีต ชื่อว่า โภชนะประณีต
      ๒. เมื่อภิกษุขอว่า ท่านจงให้ภัตกับเนยใส, จงราดเนยใสให้, จงทำให้ระคนกับเนยใสแล้วให้, จงให้เนยใส, จงให้เนยใสและภัต  ดังนี้ เป็นทุกกฎเพราะการออกปากขอ, เป็นทุกกฎเพราะการรับประเคน, เป็นปาจิตตีย์เพราะกลืนกิน, แต่เมื่อภิกษุกล่าวว่า ท่านจงให้สัปปิภัต เพราะธรรมดาว่าสัปปิภัตดุจสาลีภัต ไม่มี  ฉะนั้น พึงทราบว่า เป็นทุกกฎเพราะออกปากขอแกงและข้าวสุกอย่างเดียว
         - ก็ถ้าภิกษุกล่าวว่า จงให้ภัตกับเนยใส แต่ทายกถวายภัตแล้ว ถวายเนยข้น นมสดหรือนมส้ม ด้วยกล่าวว่า นิมนต์ท่านทำเนยใสฉันเถิด ก็หรือถวายมูลค่ากล่าวว่า นิมนต์ท่านรับเอาเนยใสด้วยมูลค่านี้ฉันเถิด (เป็นปาจิตตีย์) ตามวัตถุทีเดียว
          - แต่เมื่อภิกษุกล่าวว่า จงให้ภัตกับเนยใสโค ทายกจงถวายด้วยเนยใสโค หรือเมื่อเนยใสโคไม่มี จงถวายเนยข้นโคเป็นต้น โดยนัยก่อนนั่นแล หรือจงถวายแม่โคทีเดียวก็ตาม  กล่าวว่า นิมนต์ท่านฉันด้วยเนยใสจากแม่โคนี้ (เป็นปาจิตตีย์) ตามวัตถุเหมือนกัน
         - แต่ถ้าทายกถูกภิกษุขอด้วยเนยใสโค ถวายด้วยเนยใสของแพะ เป็นต้น เป็นอันผิดสังเกต, จริงอยู่ เมื่อมีการถวายอย่างนี้ จึงเป็นทายกถูกภิกษุขออย่างหนึ่ง ถวายไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นอาบัติ
         - เมื่อภิกษุกล่าวว่า จงให้ด้วยกัปปิยะเนยใส ทายกถวายด้วยอกัปปิยะเนยใส เป็นอันผิดสังเกตเหมือนกัน เมื่อภิกษุกล่าวว่า จงให้ด้วยอกัปปิยะเนยใส ทายกถวายด้วยกัปปิยะเนยใส เป็นทุกกฎเหมือนกัน ทั้งในการรับ ทั้งในการบริโภค เมื่ออกัปปิยะเนยใสไม่มี เขาถวายด้วยอกัปปิยะเนยข้นเป็นต้น โดยนัยก่อนนั่นแล ด้วยกล่าวว่า นิมนต์ท่านทำเนยใสฉันเถิด เป็นอันเขาถวายด้วยอกัปปิยะเนยใสแท้
         เมื่อภิกษุกล่าวว่า ด้วยอกัปปิยะเนยใส เขาถวายด้วยกัปปิยะเนยใส เป็นอันผิดสังเกตเหมือนกัน เมื่อกล่าวว่าด้วยเนยใส เขาถวายด้วยของอย่างใดอย่างหนึ่ง มีเนยข้นเป็นต้นที่เหลือ เป็นอันผิดสังเกตเหมือนกัน แม้ในคำว่า จงถวายด้วยเนยข้นเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน
         - เมื่อมีการออกปากขอด้วยวัตถุใดๆ เมื่อภิกษุได้วัตถุนั้น หรือมูลค่าแห่งวัตถุนั้นแล้ว จัดว่าเป็นอันได้วัตถุนั้นๆ แล้วเหมือนกัน, แต่ถ้าเขาถวายของอื่นที่มาในพระบาลี หรือมิได้มาก็ตาม เป็นผิดสังเกต, เมื่อภิกษุออกปากขอด้วยเนยข้นเป็นต้นอย่างอื่น ยกเว้นเนยข้นที่มาในพระบาลีเป็นต้นเสีย เป็นทุกกฏ, เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อภิกษุกล่าวว่า จงให้สัปปิภัต การออกปากขอแกงและข้าวสุกเป็นทุกกฏเท่านั้น เพราะสัปปิภัตไม่เหมือนสาลีภัต ฉันใด  แม้ในคำว่า จงให้นวนีตภัตเป็นต้น ก็ฉันนั้น (คือเป็นเพียงทุกกฎฉันนั้น)
         - แต่ถ้าภิกษุออกปากขอในที่เดียวกัน หรือในที่ต่างกันด้วยวัตถุ มีเนยใส เนยส้ม แม้ทั้งหมด เทของที่ได้แล้วลงในภาชนะเดียวกัน ทำให้เป็นรสเดียวกัน แม้เอาปลายหญ้าคาแตะหยดลงที่ปลายลิ้นหยดเดียว จากรสนั้นแล้วกลืนกิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ๙ ตัว
      ๓. ถ้าภิกษุแม้เป็นผู้มีความสำคัญว่า อาพาธ ออกปากขอเภสัช ๕ เพื่อประโยชน์แก่เภสัช, พระวินัยธรพึงปรับเธอด้วยมหานามสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๗ แห่งอเจลกวรรค), แต่เมื่อออกปากขอโภชนะประณีต ๙ อย่าง พึงปรับด้วยสิกขาบทนี้, แต่โภชนะประณีต ๙ อย่างนี้ เป็นปาฏิเทสนียวัตถุ สำหรับพวกภิกษุณี, ในเพราะการออกปากขอแกงและข้าวสุกเป็นทุกกฏที่ตรัสไว้ในเสขิยบัญญัติเท่านั้น แก่ภิกษุและภิกษุณี แม้ทั้ง ๒ พวก
      ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๔ เกิดขึ้นทางกาย ๑ ทางกายกับวาจา ๑ ทางกายกับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ (กุศลจิต อกุศลจิต กิริยาจิต)


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อุฎฺฐาเนนปฺปมาเทน  สญฺญเมน ทเมน จ
ทีปํ กยิราถ เมธาวี ยํ โอโฆ นาภิกีรติ ฯ ๒๕ ฯ  
ด้วยความขยัน ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความสำรวมระวัง และด้วยการข่มใจตนเอง
ผู้มีปัญญาควรสร้างเกาะ (ที่พึ่ง) แก่ตนเอง ที่ห้วงน้ำ (กิเลส) ไม่สามารถท่วมได้

By diligence, vigilance, Restraint and self-mastery,
Let the wise make for himself an island That no flood can overwhelm.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
no.25



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 มกราคม 2562 15:53:10

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSAAOanx2S2qnxKxO22zRcC9-pY8ho5tMdSghw_p9YWGq2RFUDJ)

ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๘๙)
ภิกษุฉันอาหารที่ไม่ได้รับประเคน ให้ล่วงทวารปากเข้าไป ต้องปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่น้ำและไม้สีฟัน

      ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้มีปกติถือของทุกอย่างเป็นบังสุกุล ท่านพักอยู่ในสุสาน ท่านไม่ปรารถนาจะรับอาหารที่ประชาชนถวาย เที่ยวถือเอาอาหารเครื่องเซ่นเจ้าตามป่าช้าบ้าง ตามโคนไม้บ้าง ตามธรณีประตูบ้าง มาฉัน  ประชาชนต่างเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนภิกษุนี้จึงได้ถือเอาอาหารเครื่องเซ่นเจ้าของพวกเราไปฉันเองเล่า ภิกษุนี้อ้วน บางทีคงจะฉันเนื้อมนุษย์
       ภิกษุทั้งหลายต่างพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดกลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ ล่วงช่องปาก เป็นปาจิตตีย์”
       สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายพากันรังเกียจน้ำและไม้ชำระฟัน จึงทรงมีพระอนุบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดกลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ล่วงช่องปาก เว้นไว้แต่น้ำและไม้ชำระฟัน เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า ที่เขายังไม่ได้ให้ หมายเอาของที่ยังไม่ได้ประเคน
       - ที่ชื่อว่า เขาให้ (ลักษณะการประเคน) คือ เมื่อเขาให้ด้วยกาย ด้วยของเนื่องด้วยกายหรือโยนให้ ๑ เขาอยู่ในหัตถบาส ๑ ภิกษุรับประเคนด้วยกายหรือด้วยของเนื่องด้วยกาย ๑ นี้ชื่อว่า เขาให้
       - ที่ชื่อว่า อาหาร ได้แก่ ของที่กลืนกินได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ยกเว้นน้ำและไม้ชำระฟัน นี้ชื่อว่า อาหาร
ภิกษุถือเอาด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ ขณะกลืนต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน
 
อาบัติ
       ๑. อาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุสำคัญว่ายังมิได้รับประเคน กลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ล่วงช่องปาก เว้นไว้แต่น้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. อาหารที่ยังไม่ได้ประเคน ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓. อาหารที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุคิดว่าได้รับประเคนไว้แล้ว... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. อาหารที่รับประเคนไว้แล้ว ภิกษุคิดว่ายังไม่ได้รับประเคน... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕. อาหารที่รับประเคนไว้แล้ว ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖. อาหารรับประเคนไว้แล้ว ภิกษุรู้ว่ารับประเคนไว้แล้ว... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       กลืนน้ำและไม้ชำระฟัน ๑  ฉันยามหาวิกัติ ๔  ในเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เมื่อกัปปิยการกไม่มี ภิกษุถือเอาเองแล้ว ฉันได้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๕๕๙-๕๗๘
       ๑. ภิกษุนั้น ชื่อว่า สรรพบังกุสุลิกะ (ผู้มีปกติถือบังสุกุลทุกอย่าง) เพราะอรรถว่า ภิกษุนั้นมีบรรดาปัจจัย ๔ ทุกอย่าง โดยที่สุด แม้ไม้ชำระฟันก็เป็นบังสุกุลทั้งนั้น ได้ยินว่าภิกษุนั้นทำภาชนะที่เขาทิ้งในป่าช้านั่นเองให้เป็นบาตร ทำจีวรด้วยท่อนผ้าที่เขาทิ้งในป่าช้านั้นนั่นแหละ ถือเอาเตียงและตั่งที่เขาทิ้งในป่าช้านั้นเหมือนกัน ใช้สอย
       ปู่และตาของบิดาผู้ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่า อัยยะ ในคำว่า อยฺยโวสาฏิตกานิ นี้  ขาทนียะและโภชนียะที่เขาเซ่นทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นต้น  เพื่อประโยชน์แก่บรรพบุรุษเหล่านั้น เรียกว่า โวสาฏิตกะ (เครื่องเซ่น) ได้ยินว่า พวกมนุษย์ได้ทำของอันเป็นที่รักแห่งพวกญาติเหล่านั้นในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้เป็นก้อนข้าวบิณฑ์ อุทิศพวกญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว เซ่นวางไว้ในที่ทั้งหลายมีป่าช้าเป็นต้น ด้วยตั้งใจว่า ขอเหล่าญาติของพวกเราจงบริโภคเถิด
       ๒. บทว่า เถโร แปลว่า แข็งแรง คือ ล่ำสัน
       - บทว่า วทฺธโร แปลว่า อ้วนล่ำ มีคำอธิบายว่า ภิกษุนี้ทั้งอ้วน ทั้งมีร่างกายล่ำสัน
       - สามบทว่า มนุสฺสมํสํ มญฺเญ ขาทติ มีความว่า พวกเราเข้าใจภิกษุนั้นว่า บางทีจะฉันเนื้อมนุษย์ ประชาชนเหล่านั้นมีความเข้าใจดังนี้ว่า ความจริงพวกคนกินเนื้อมนุษย์ย่อมเป็นผู้เช่นนี้
       - บทว่า อทินฺนํ มีความว่า เขาไม่ได้ให้ด้วยกาย ของเนื่องด้วยกาย และการโยนให้อย่างใดอย่างหนึ่ง แก่ภิกษุผู้รับด้วยกายหรือด้วยของเนื่องด้วยกาย  จริงอยู่ พระอุบาลีหมายเอาของที่เขาไม่ได้ให้นี้แหละจึงกล่าวไว้ในบทภาชนะว่า ชื่อว่าของที่เขายังไม่ได้ให้ ท่านเรียกของที่ยังไม่ได้รับประเคน แต่ในทุติยปาราชิกตรัสว่า ชื่อว่า ของที่เขาไม่ได้ให้ ท่านเรียกทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน
       ๓. ว่าด้วยการประเคนและรับประเคน
       - ข้อว่า กาเยน วา กายปฏิพทฺเธน วา นิสฺสคฺคิเยน วา เทนฺเต  ได้แก่ เมื่อคนอื่นเขาให้อยู่อย่างนี้ (คือ ให้อยู่ด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย โยนให้)
       - บทว่า กาเยน มีความว่า ที่เขาให้ด้วยบรรดาอวัยวะมีมือเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ชั้นที่สุดแม้ด้วยนิ้วเท้า ก็เป็นอันชื่อว่าให้แล้วด้วยกาย แม้ในการรับประเคนก็นัยนี้นั่นแล แท้จริงที่สุด ภิกษุรับประเคนด้วยสรีราวัยวะ (ส่วนแห่งร่างกาย) ส่วนใดส่วนหนึ่ง จัดว่ารับประเคนแล้วด้วยกายเหมือนกัน ถ้าแม้นเขาให้ของที่ต้องทำด้วยการนัตถุ์ ภิกษุอาพาธไม่อาจนัตถุ์เข้าทางช่องจมูกได้เลย รับเข้าทางปากได้ (รับประเคนทางปากได้)  ความจริง เพียงความใส่ใจเท่านั้นเป็นประมาณในการรับประเคนนี้ นัยนี้ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรี
       - บทว่า กายปฏิพทฺเธน  มีความว่า ของที่เขาให้ด้วยอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาอุปกรณ์มีทัพพีเป็นต้น เป็นอันชื่อว่าเขาให้ของเนื่องด้วยกาย แม้ในการรับประเคนก็นัยนี้เหมือนกัน ของที่ภิกษุรับด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งที่เนื่องด้วยร่างกาย มีบาตรและถาดเป็นต้น จัดว่ารับประเคนด้วยของเนื่องด้วยกายเหมือนกัน
       - บทว่า นิสฺสคฺคิเยน มีความว่า ก็ของที่เขาโยนถวายให้พ้นจากกาย และจากของเนื่องด้วยกายแก่ภิกษุผู้อยู่ในหัตถบาสด้วยกายหรือของเนื่องด้วยกาย เป็นอันชื่อว่าเขาถวายด้วยประโยคที่โยนให้
       ๔. การรับประเคนมีองค์ ๕ อย่าง
       การรับประเคน ย่อมขึ้นด้วยองค์ ๕ คือ ของพอบุรุษผู้มีกำลังปานกลางยกได้ ๑  หัตถบาสปรากฎ (เขาอยู่ในหัตถบาส) ๑  การน้อมถวายปรากฏ (เขาน้อมถวาย) ๑  เทวดาก็ตาม มนุษย์ก็ตาม ดิรัจฉานก็ตาม  ถวาย (ประเคน ) ๑  และภิกษุรับประเคนของนั้นด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย ๑  การรับประเคนย่อมขึ้นด้วยองค์ ๕ ด้วยประการอย่างนี้  ในองค์ ๕ นั้น หัตถบาสแห่งภิกษุผู้ยืน นั่ง และนอน บัณฑิตพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในปวารณาสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๕ แห่งโภชนวรรค)
       ก็ถ้าบรรดาผู้ให้และผู้รับประเคน ฝ่ายหนึ่งอยู่บนอากาศ ฝ่ายหนึ่งอยู่บนพื้น พึงกำหนดหัตถบาสทางศีรษะของผู้ยืนอยู่บนพื้นและทางริมด้านในแห่งอวัยวะที่ใกล้กว่าของผู้ยืนอยู่บนอากาศ ยกเว้นมือที่เหยียดออกเพื่อให้หรือเพื่อรับเสีย  ถ้าแม้นฝ่ายหนึ่งอยู่ในหลุม (บ่อ) อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ริมหลุม หรือฝ่ายหนึ่งอยู่บนต้นไม้ อีกฝ่ายหนึ่งอยู่บนแผ่นดิน ก็พึงกำหนดหัตถบาสโดยนัยดังกล่าวนั่นแหละ
       ถ้าแม้นนกเอาจะงอยปากคาบดอกไม้หรือผลไม้ถวาย หรือช้างเอางวงจับดอกไม้หรือผลไม้ถวาย อยู่ในหัตถบาสเห็นปานนี้ การรับประเคนย่อมขึ้น (ใช้ได้) ก็ถ้าภิกษุนั่งอยู่บนคอช้างแม้สูง ๗ ศอกคืบ จะรับของที่ช้างนั้นถวายด้วยงวงก็ควรเหมือนกัน ทายกคนหนึ่งทูนภาชนะข้าวสวยและกับข้าวเป็นอันมากไว้บนศีรษะมายังสำนักภิกษุ พูดทั้งยืนว่า นิมนต์ การน้อมถวายยังไม่ปรากฏก่อน เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรรับ แต่ถ้าเขาน้อมลงมาแม้เพียงเล็กน้อย ภิกษุพึงเหยียดแขนออกรับภาชนะอันล่าง แม้โดยเอกเทศ ด้วยการรับเพียงเท่านี้ภาชนะทั้งหมดเป็นอันรับประเคนแล้ว ตั้งแต่รับประเคนนั้นไป จะยกลงหรือเลื่อนออก แล้วหยิบของที่ตนต้องการ สมควรอยู่ ส่วนในภาชนะเดียวกัน มีกระบุง ซึ่งมีข้าวสวยเป็นต้น ไม่มีคำที่จะพึงกล่าวเลย
       แม้ทายกผู้หาบภัตตาหารไป ถ้าน้อมถวาย สมควรอยู่ ถ้าแม้นมีไม้ไผ่ยาว ๓๐ ศอก ที่ปลายข้างหนึ่งผูกหม้อน้ำอ้อยแขวนไว้ ที่ปลายข้างหนึ่งผูกหม้อเนยใสแขวนไว้ ถ้าภิกษุรับประเคนลำไม้ไผ่นั้นเป็นอันรับประเคนของทั้งหมดเหมือนกัน
       ถ้าทายกกล่าวว่า นิมนต์ท่านรับน้ำอ้อยสดซึ่งกำลังไหลออกจากรางหีบอ้อย การน้อมเข้ามาถวายยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจึงไม่สมควรรับ แต่ถ้าเขาเอากากทิ้งแล้วเอามือวักขึ้นถวายๆ ควรอยู่
       บาตรมากใบ เขาวางไว้บนเตียงก็ดี บนตั่งก็ดี บนเสื่อลำแพนก็ดี บนรางไม้ก็ดี บนแผ่นกระดานก็ดี ทายก (ผู้ให้) อยู่ในหัตถบาสแห่งภิกษุผู้อยู่ในที่ใด ของที่เขาให้ในบาตรเหล่านั้น อันภิกษุผู้อยู่ในที่นั้น แม้เอานิ้วแตะเตียงเป็นต้น ด้วยความหมายว่ารับประเคน จะยืนอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม นอนอยู่ก็ตาม เป็นอันรับประเคนแล้วทั้งหมด ถ้าแม้นภิกษุขึ้นนั่งเตียงเป็นต้น ด้วยหมายใจว่าเราจักรับประเคนก็ควรเหมือนกัน
       ถ้าแม้นเขาวางบาตรทั้งหลายไว้บนแผ่นดิน เอากระพุ้งกับกระพุ้งจรดกัน ของที่เขาถวายในบาตรใบที่ภิกษุนั่งเอานิ้วมือหรือเข็มแตะไว้เท่านั้น เป็นอันรับประเคนแล้ว ท่านกล่าวไว้ในที่บางแห่งว่า การรับประเคนในบาตรที่เขาตั้งไว้บนเสื่อลำแพนผืนใหญ่ และเครื่องลาดหลังช้างเป็นต้น ย่อมไม่ขึ้น คำนั้นพึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายเอาการล่วงเลยหัตถบาสไป แต่เมื่อมีหัตถบาสในที่ใดที่หนึ่ง ก็ควร นอกจากของซึ่งเกิดอยู่กับที่นั้น
       การรับประเคนบนใบปทุม หรือบนใบทองกวาวเป็นต้นนั้น ซึ่งเกิดอยู่กับที่นั้น ย่อมไม่ควร เพราะใบปทุมเป็นต้นนั้นไม่ถึงการนับว่าของเนื่องด้วยกาย เหมือนอย่างว่าในของเกิดกับที่นั้น การรับประเคนไม่ขึ้นฉันใด ในเตียงที่ตั้งตรึงไว้ที่ตอเป็นต้น ในแผ่นกระดาน หรือในหินที่เป็นอสังหาริมะ การรับประเคนก็ไม่ขึ้นเหมือนกัน ฉันนั้น  จริงอยู่ เตียงที่ตั้งตรึงไว้ที่ตอเป็นต้น แม้นั้นเป็นของควรสงเคราะห์เข้ากับของที่เกิดกับที่นั้น
       แม้บนใบมะขามเป็นต้น ซึ่งเป็นใบเล็กๆ ดาดไว้บนพื้น การรับประเคนก็ไม่ขึ้น เพราะว่าใบมะขามเป็นต้นเหล่านั้นไม่สามารถจะตั้งไว้ด้วยดี แต่บนใบที่ใหญ่มีปทุมเป็นต้น (รับประเคน) ขึ้น
       ถ้าทายก (ผู้ให้) ยืนเลยหัตถบาสในที่นั้น เอากระบวยคันยาวตักถวาย ภิกษุพึงบอกเขาว่า เข้ามาถวายใกล้ๆ เขาไม่ได้ยินคำพูดหรือไม่เอื้อเฟื้อ เทลงไปในบาตรทีเดียว ภิกษุพึงรับประเคนใหม่ แม้ในบุคคลผู้ยืนอยู่ห่างโยนก้อนข้าวไปถวายก็นัยนี้เหมือนกัน ถ้าในบาตรที่นำออกมาจากถุงบาตรมีผงน้ำย้อม เมื่อมีน้ำ พึงล้างเสียก่อน เมื่อไม่มี พึงเช็ดผงน้ำย้อม หรือรับประเคนแล้วจึงเที่ยวไปบิณฑบาต ถ้าเมื่อเที่ยวไปบิณฑบาต ผงตกลงในบาตร พึงรับประเคนก่อนรับภิกษา แต่เมื่อไม่รับประเคน  รับ (ภิกษา) เป็นวินัยทุกกฎ แต่ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุรับประเคนธุลีที่ตกนั้นใหม่แล้ว ก็ถ้าเมื่อภิกษุกล่าวว่า รับประเคนก่อนจงถวาย พวกเขาไม่ได้ยินคำพูด หรือไม่เอื้อเฟื้อ ถวายภิกษุเลยทีเดียว ไม่เป็นวินัยทุกกฏ ภิกษุรับประเคนใหม่แล้วพึงรับภิกษาอื่นเถิด
       ๕. การประเคน
       คนส่วนมากรวมทั้งภิกษุบางรูปด้วย มักเข้าใจกันว่าสิ่งของที่ภิกษุรับประเคนแล้ว อนุปสัมบัน (คือสามเณรและคฤหัสถ์) จะถูกต้องไม่ได้ หากไปถูกต้องเข้า จะโดยตั้งใจก็ตาม หรือโดยไม่ตั้งใจก็ตามของนั้นจะต้องประเคนใหม่ พระจึงจะฉันได้ ถ้าไม่ประเคนใหม่พระจะฉันไม่ได้ หากฉันจะต้องอาบัติ เพราะฉันของที่เขาไม่ได้ให้ บางครั้งมีคฤหัสถ์ประเคนแล้ว อยากจะจัดสิ่งของให้เข้าที่ พระต้องวุ่นวายห้ามปรามกันเป็นการใหญ่ และต้องให้ประเคนใหม่ เป็นการเสียเวลา ทั้งอาจจะเป็นการทำให้ทายกพลอยไม่สบายใจไปด้วยที่ต้องทำให้พระขัดเคือง   อันที่จริงแล้ว ถ้าคฤหัสถ์หรือสามเณรก็ตาม มาถูกต้องอาหารที่พระภิกษุรับประเคนไว้แล้ว จะโดยตั้งใจหรือโดยบังเอิญก็ตาม ของที่พระรับประเคนไว้นั้นไม่ถือว่าเสียการประเคน แม้ไม่ต้องประเคนใหม่ พระก็ยังฉันอาหารนั้นได้โดยไม่มีอาบัติ ดังที่พระอรรถกถาจารย์และฎีกาจารย์แสดงไว้ว่า
        สาเปกฺโข อาราธเก ปตฺตํ ฐเปตฺวา “เอตฺโต ปูวํ ภตฺตํ วา คณฺหา” ติ สามเณรํ วทติ.  สามเณโร หตฺถํ โธวิตฺวา สเจปิ สตกฺขตฺตุํ คเหตฺวา อตฺตโน ปตฺตคตํ อผุสนฺโตว อตฺตโน ปตฺเต ปกฺขิปิ.  ปุนปฏิคฺคหณกิจฺจํ นตฺถิ.
        (แปลว่า) ถ้าหากพระภิกษุผู้ยังมีความเยื่อใยในอาหารบิณฑบาตอยู่ แต่วางบาตรไว้ที่เชิงบาตร และบอกสามเณรว่า  เธอจะเอาขนมหรือข้าวจากบาตรนี้มาฉันก็ได้ และถ้าสามเณรล้างมือของตนให้สะอาด หยิบเอาขนมหรือข้าวจากบาตรสักร้อยครั้ง โดยไม่ถูกต้องอาหารในบาตรของตน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ต้องรับประเคนอีก
       การที่ต้องให้สามเณรล้างมือให้สะอาด ก็เพื่อมิให้ฝุ่นเป็นต้นจากมือของตน ตกลงไปในบาตรของภิกษุ ถ้ามีฝุ่นเป็นต้นจากมือสามเณรตกไปในบาตรของภิกษุ ก็ต้องประเคนใหม่
       การที่ของที่พระภิกษุรับประเคนไว้แล้ว จะเสียประเคนหรือไม่ ไม่ใช่เพราะเหตุที่คฤหัสถ์หรือสามเณรมาถูกต้อง แต่เสียด้วยองค์ ๗ ประการ ตามที่มีแสดงไว้ในอรรถกถาพระวินัยว่า


องค์ของการเสียประเคน ๗ ประการ คือ
       ปฏิคฺคหณํ นาม ลิงฺคปริวาตฺตเนน, กาลกิริยาย, สิกฺขาปจฺจกฺขาเนน, หีนายาวตฺตเนน, อนุปสมฺปนฺนสฺส ทาเนน, อนเปกฺขวิสฺสชฺชเนน, อจฺฉินฺทิตฺวา คหเณน จ วิชหติ,
       ชื่อว่า การรับประเคนย่อมสละเสียไป (ด้วยองค์ ๗) เพราะการกลับเพศ (เพศชายกลับเป็นเพศหญิง) ของภิกษุผู้รับประเคน ๑,  เพราะการมรณภาพของภิกษุผู้รับประเคน ๑,  เพราะการลาสิกขาของภิกษุผู้รับประเคน ๑,  เพราะการหันไปเป็นคนเลว (คือ ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกหลังจากรับประเคนแล้ว) ๑,  เพราะให้แก่อนุปสัมบัน ๑,  เพราะการสละไปโดยไม่มีความเยื่อใยแล้ว ๑,  เพราะการถูกคนอื่นแย่งชิงไป ๑
       แต่ในบางที่ท่านก็กล่าวว่า มีองค์ ๖ คือ เอาข้อ หีนายาวตฺตเนน (การเวียนไปเป็นคนเลว) กับข้อ สิกฺขาปจฺจกฺขาน (การบอกลาสิกขา) มารวมเป็นข้อเดียวกัน โดยถือเอาความหมายว่า ผู้ที่ต้องอาบัติปาราชิกกับผู้ที่บอกลาสิกขาก็ขาดจากความเป็นพระ ถึงความเป็นคฤหัสถ์เหมือนกัน ดังที่ท่านกล่าวไว้ในสารัตถทีปนีฎีกาว่า  
       กตฺถจิ สิกฺขาปจฺจกฺขาเนน สมานคติกตฺตา หีนายาวตฺตนํ วิสุํ น คณฺหนฺติ
       ในบางแห่งท่านก็เอาข้อ หีนายาวตฺตน กับข้อ สิกฺขาปจฺจกฺขาเนน รวมเป็นข้อเดียวกัน เพราะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน
       การเสียประเคนของพระภิกษุเพราะการจับต้องของคฤหัสถ์หรือสามเณรก็ตาม ไม่มีแสดงไว้ในพระวินัย ดังที่ท่านกล่าวมาแล้ว  ดังนั้น เมื่อคฤหัสถ์หรือสามเณรก็ตาม กระทบถูกอาหารวัตถุที่ได้รับประเคนไว้แล้ว จึงไม่ควรห้ามปรามหรือให้ประเคนใหม่

การรับประเคนด้วยผ้าผืนยาวและใหญ่ สมควรได้อย่างไร
       ในที่ทำบุญบางที่ มีการวางภัตตาหารบนผ้าผืนยาวและใหญ่ พระภิกษุรับประเคนด้วยผ้า สำเร็จได้เฉพาะภัตตาหารที่อยู่ในหัตถบาสเท่านั้น ภัตตาหารที่วางอยู่นอกหัตถบาส ถือว่ายังไม่ได้รับประเคน ถ้าฉันก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ด้วยทันตโปนสิกขาบท ในโภชนวรรค
       การประเคนอาหารด้วยโต๊ะใหญ่และโต๊ะยาว รวมทั้งอาหารนั้น บุรุษผู้มีกำลังปานกลาง ต้องสามารถยกขึ้นได้เพียงคนเดียว โต๊ะรวมทั้งภัตตาหารนั้นจึงยกประเคนพร้อมกันได้หลายคนอีกด้วย ถ้าโต๊ะใหญ่จนบุรุษผู้มีกำลังปานกลางยกขึ้นไม่ไหว ถึงบุคคลหลายคนยกขึ้นประเคน การประเคนนั้นถือว่าใช้ไม่ได้ ดูหลักฐานต่อไปนี้
        ยตฺถ กตฺถจิ มหากฏสารหตฺถตฺถรณาทีสุ ฐปิตปตฺเต ปฏิคฺคหณํ น รุหตีติ วุตฺตํ,  ตํ หตฺถปาสาติกฺกมํ สนฺธาย วุตฺตนฺติ เวทิตพฺพํ,  หตฺถปาเส ปน สติ ยตฺถ กตฺถจิ วฏฺฏติ อญฺญตฺรตตฺถ ชาตกา.
        ท่านกล่าวไว้ในที่บางแห่งว่า การรับประเคนในบาตรที่เขาตั้งไว้บนเสื่อลำแพนผืนใหญ่และเครื่องลาดหลังช้างเป็นต้น ย่อมไม่ขึ้น คำนั้นพึงทราบว่าท่านกล่าวหมายเอาการล่วงเลยหัตถบาสไป แต่เมื่อมีหัตถบาสในที่ใดที่หนึ่ง ก็ควร  นอกจากของซึ่งเกิดอยู่กับที่นั้น
        ปญฺจหงฺเคหิ ปฏิคฺคหณํ รุหติ ถามมชฺฌิมสฺส ปุริสสฺส อุจฺจารณมตฺตํโหติ, หตฺถปาโส ปญฺญายติ, อภิหาโร ปญฺญายติ, เทโว วา มนุสฺโส วา ติรจฺฉาคโต วา กาเยน วา กายปฏิพทฺเธน วา นิสฺสคฺคิเยน วา เทติ, ตญฺเจ ภิกฺขุ กาเยน วา กายปฏิพทฺเธน วา ปฏิคฺคหาติ, เอวํ ปญฺจหงฺเคหิ ปฏิคฺครณํ รุหติ.
       การรับประเคนย่อมขึ้นด้วยองค์ ๕ คือ ของพอบุรุษมีกำลังปานกลางยกได้ ๑  หัตถบาสปรากฎ (เข้าอยู่ในหัตถบาส) ๑  การน้อมถวายปรากฏ (เขาน้อมถวาย) ๑  เทวดาก็ตาม มนุษย์ก็ตาม  ดิรัจฉานก็ตาม ถวาย (ประเคน) ๑  และภิกษุรับประเคนของนั้นด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย ๑  การรับประเคนย่อมขึ้นด้วยองค์ ๕ ด้วยประการอย่างนี้ (นานาวินิจฉัย/๑๘๔-๘)
       ๕. วิธีปฏิบัติเมื่อมีของตกในบาตรในเวลาต่างๆ
       ถ้าลมแรงพัดธุลีให้ลอยไปตกจากที่นั้นๆ ภิกษุไม่อาจรับภิกษาได้ จะผูกใจรับด้วยจิตบริสุทธิ์ ว่าเราจะให้แก่อนุปสัมบัน ควรอยู่ เที่ยวไปบิณฑบาตอย่างนั้นแล้วกลับไปยังวิหาร หรืออาสนศาลาให้ภิกษานั้นแก่อนุปสัมบันแล้ว จะเอาภิกษาที่อนุปสัมบันนั้นถวายใหม่ หรือจะถือเอาของอนุปสัมบันนั้นด้วยวิสาสะฉัน ก็ได้
       ถ้าภิกษุให้บาตรที่มีธุลีแก่ภิกษุในเวลาเที่ยวภิกษาจาร, พึงบอกภิกษุเจ้าของบาตรนั้นว่า ท่านรับประเคนบาตรนี้แล้ว พึงรับภิกษาหรือพึงฉัน ภิกษุเจ้าของบาตรนั้น พึงทำอย่างนั้น ถ้าธุลีลอยอยู่ข้างบน, พึงรินน้ำข้าวออกแล้วฉันส่วนที่เหลือเถิด, ถ้าธุลีจมแทรกลงข้างในพึงประเคนใหม่.  เมื่อไม่มีอนุปสัมบัน อย่าปล่อย (บาตร) จากมือเลย พึงนำไปในที่ซึ่งมีอนุปสัมบัน แล้วรับประเคนใหม่, จะนำธุลีที่ตกลงในข้าวแห้งออกแล้วฉัน ก็ควร, แต่ถ้าเป็นธุลีละเอียดมาก พึงนำออกมาพร้อมกับข้าวสวยส่วนข้างบน หรือพึงรับประเคนใหม่แล้วฉันเถิด
       เมื่อชาวบ้านวางข้าวยาคูหรือแกงไว้ข้างหน้า แล้วคน หยดแกงกระเซ็นขึ้นจากภาชนะตกลงในบาตร, ภิกษุพึงรับประเคนใหม่, เมื่อพวกเขาเอากระบวยตักมาถวาย หยาดสูปะเป็นต้น หยดออกจากกระบวยตกลงไปในบาตรก่อน เป็นอันตกลงไปด้วยดี ไม่มีโทษ เพราะเขาน้อมเข้ามาถวาย
       ถ้าแม้นเมื่อเขาเอาจอกน้ำเกลี่ยข้าวสุกลงอยู่ เขม่าหรือเถ้าตกลงไปจากจอกน้ำ ไม่มีโทษเหมือนกัน เพราะเขาน้อมเข้ามาถวาย ของที่เขากำลังถวายแก่ภิกษุรูปถัดไป กระเด็นออกจากบาตรไปตกในบาตรของภิกษุอีกรูปหนึ่ง เป็นอันตกไปดี จัดว่ารับประเคนแล้วเหมือนกัน,
       เมื่อเขาจัดผักปลัง (ผักไห่) ดอง เป็นต้น ถวายแก่ภิกษุรูปหนึ่ง  หยดน้ำ (ผักดอก) จากผักดองตกลงไปในบาตรของภิกษุอื่น เธอพึงรับประเคนบาตรใหม่ พวกเขากำลังจับข้างบนบาตรของภิกษุใด เมื่อหยดน้ำผักดองตกลงไปในบาตรของภิกษุนั้น ไม่มีโทษ เพราะเขาน้อมเข้ามาด้วยความเป็นผู้ประสงค์ถวาย
       พวกชาวบ้านถวายบาตรเต็มด้วยข้าวปายาส ภิกษุไม่อาจจับข้างล่างได้ เพราะมันจะร้อน จะจับแม้ที่ขอบปากก็ควรเหมือนกัน ถ้าแม้อย่างนั้นก็ไม่อาจ (จับได้) พึงรับด้วยเชิงรองบาตร( (ตีนบาตร)
       ภิกษุที่นั่งถือบาตรหลับอยู่ที่หอฉัน เธอไม่รู้ว่าเขากำลังนำโภชนะมาเลย เขาถวายอยู่ก็ไม่รู้โภชนะ จัดว่ายังไม่ได้รับประเคน แต่ถ้าเธอเป็นผู้นั่งใส่ใจไว้ (แต่ต้น) ควรอยู่ ถ้าแม้เธอวางมือจากเชิงบาตร แล้วเอาเท้าหนีบไว้ ม่อยหลับไป สมควรเหมือนกัน  แต่เมื่อเธอเอาเท้าเหยียบเชิงบาตรไว้รับประเคนโดยไม่เอื้อเฟื้อ  ฉะนั้น จึงไม่ควรทำเหมือนกัน แต่เมื่อเธอเอาเท้าเหยียบเชิงบาตรไว้รับประเคน ถึงจะตื่นอยู่ ก็เป็นการรับประเคนโดยไม่เอื้อเฟื้อ ฉะนั้นจึงไม่ควรทำ
       ในการหยิบเอาของตกขึ้นมาฉันนั้น มีพระสูตรเป็นเครื่องสาธกดังต่อไปนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เราอนุญาตให้ภิกษุหยิบเอาของที่ตกที่เขาถวายฉันเองได้, ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร?  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ของพวกนั้นพวกทายกเขาสละถวายแล้วก็แล พระสูตรนี้มีอรรถควรอธิบาย  ฉะนั้นในพระสูตรนี้พึงทราบอธิบายอย่างนี้; ของใดที่เขากำลังถวายพลัดหลุดจากมือของผู้ถวาย ตกลงไปบนพื้นที่สะอาด หรือบนใบบัว ผ้า เสื่อลำแพน เป็นต้น  ของนั้นจะหยิบขึ้นมาฉันเองก็ควร แต่ของใดตกลงไปบนพื้นที่มีฝุ่นละออง ของนั้นพึงเช็ดหรือล้างฝุ่นละอองออกแล้ว หรือรับประเคนแล้วฉันเถิด ถ้าของกลิ้งไปยังสำนักของภิกษุอื่น แม้ภิกษุเจ้าของๆ นั้นจะให้นำมาคืน ก็ควร ถ้าเธอกล่าวกะภิกษุนั้นว่า นิมนต์ท่านนั่นแหละฉันเถิด แม้ภิกษุนั้นจะฉัน ก็ควร แต่ภิกษุนั้นอันภิกษุเจ้าของสิ่งของไม่ได้สั่ง ไม่ควรรับ
              ในกุรุนทีกล่าวว่า แม้จะไม่ได้รับคำสั่ง จะรับด้วยตั้งใจว่า จักถวายภิกษุเจ้าของสิ่งของ ก็ควร
              ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ของนั้นจึงไม่ควรที่ภิกษุนอกนี้จะรับ?
              แก้ว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงอนุญาตไว้
              จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสว่า เราอนุญาตให้ภิกษุหยิบของฉันเองได้ ดังนี้ ก็ทรงอนุญาตแก่ภิกษุผู้ซึ่งเขากำลังถวายของที่พลัดตกไปนั้นเท่านั้น ให้หยิบเอาของนั้นแม้ไม่ได้รับประเคน ฉันได้ แต่ด้วยคำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะของนั้นพวกทายกสละให้แล้ว จึงเป็นอันทรงแสดงความไม่เป็นของคนอื่น ในพระดำรัสนี้;  เพราะฉะนั้นภิกษุอื่นหยิบฉันเอง จึงไม่ควร แต่สมควรเพราะการสั่งของภิกษุผู้เป็นเจ้าของแห่งสิ่งของนั้น
       - ก็เพราะของที่พลัดตกนั้น ทรงอนุญาตไว้ เพราะเป็นของยังไม่ได้รับประเคน  ฉะนั้น ภิกษุไม่จับต้องของตามที่ตั้งอยู่นั่นแหละ เอาของบางอย่างจัดไว้แล้วฉันแม้ในวันรุ่งขึ้น ก็ควร, ไม่เป็นอาบัติ, เพราะสันนิธิเป็นปัจจัย แต่ควรรับประเคนก่อนแล้วจึงฉัน  จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตการหยิบฉันเองแก่ภิกษุนั้นเฉพาะในวันนั้น นอกจากวันนั้นไปไม่ทรงอนุญาต
       ๗. ว่าด้วยอัพโพหาริก นัยโดยทั่วๆ ไป
       เมื่อภิกษุทั้งหลายฉันอยู่ ฟันทั้งหลายย่อมสึกหรอ, เล็บทั้งหลายย่อมสึกกร่อน สีผิวบาตรย่อมลอก, ทั้งหมดเป็นอัพโพหาริก เมื่อภิกษุปอกอ้อยเป็นต้นด้วยมีดสนิม ย่อมปรากฏสนิมนั้นธรรมดา เป็นของเกิดขึ้นใหม่ ควรรับประเคนก่อนจึงฉัน เมื่อภิกษุล้างมีดแล้วจึงปอก สนิมไม่ปรากฏ, มีแต่สักว่ากลิ่นโลหะ เพียงกลิ่นโลหะนั่นเป็นอัพโพหาริก ถึงแม้ในจำพวกของที่ผ่าด้วยมีดเล็กที่พวกภิกษุเก็บรักษาไว้ ก็นัยนี้นั่นแล  จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลายจะเก็บมีดนั้นไว้เพื่อต้องการใช้สอย ก็หามิได้แล
       เมื่อภิกษุทั้งหลายบดหรือตำอยู่ซึ่งเครื่องยา มีรากยาเป็นต้น ตัวหินบด ลูกหินบด ครกและสากเป็นต้น ย่อมสึกกร่อนไป ภิกษุทั้งหลายจะเผามีดที่เก็บรักษาไว้ แล้วใส่ลงในเปรียง หรือนมสดนั้น มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในมีดเล็กนั่นแหละ ส่วนในเปรียงดิบเป็นต้น ไม่ควรจุ่มมีดที่เก็บไว้ลงไปด้วยตนเอง หากว่าภิกษุจุ่มลงไป ย่อมไม่พ้นสามปักกะ
       เมื่อภิกษุเที่ยวบิณฑบาตในเมื่อฝนตก น้ำสกปรกหยดจากตัวหรือจากจีวรลงในบาตร พึงรับประเคนบาตรนั้นใหม่ แม้ในหยาดน้ำที่ตกลงเมื่อภิกษุกำลังฉันอยู่ที่โคนไม้เป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน ก็ถ้าว่าเมื่อฝนตกตลอด ๗ วัน เป็นน้ำบริสุทธิ์ หรือน้ำฝนที่ตกลงกลางแจ้ง ควรอยู่
       ภิกษุเมื่อจะให้ข้าวสุกแก่สามเณร พึงให้อย่าถูกต้องข้าวสุกที่อยู่ในบาตรของสามเณรนั้นเลย, หรือว่า พึงรับประเคนบาตรของสามเณรนั้น เมื่อภิกษุถูกต้องข้าวสุกในบาตรที่ไม่ได้รับประเคนแล้วจับข้าวสุกในบาตรของตนอีก ข้าวสุกเป็นอุคคหิตก์ (ของฉันทุกอย่างที่ยังไม่ได้รับประเคน ภิกษุถูกต้องเรียกว่าของเป็นอุคคหิตก์) แต่ถ้าว่าเป็นผู้มีความประสงค์จะให้ กล่าวว่า แน่ะ สามเณร! เธอจงนำบาตรมา, จงรับเอาข้าวสุก ดังนี้, แต่สามเณรนั้นปฏิเสธว่า กระผมพอแล้ว, และแม้เมื่อภิกษุกล่าวอีกว่า ข้าวสุกนั่นเราสละแก่เธอแล้ว สามเณรยังกล่าวว่า กระผมไม่ต้องการข้าวสุกนั่น ดังนี้, ถึงจะสละทั้งร้อยครั้งก็ตามที ตลอดเวลาที่ข้าวสุกยังอยู่ในมือของตน จัดว่าเป็นของรับประเคนแล้วแล แต่ถ้าว่าข้าวสุกตั้งอยู่แม้บนเชิงรองบาตรแล้วกล่าวกะสามเณรว่า เธอจงรับเอาขนมหรือข้าวสวยจากบาตรนี้ ดังนี้, สามเณรล้างมือแล้ว ถ้าแม้นว่าถือเอาไปตั้งร้อยครั้ง ไม่ถูกต้องของที่อยู่ในบาตรของตนเองเลย ใส่ลงในบาตรของตนเอง ไม่มีกิจที่จะต้องรับประเคนใหม่ แต่ถ้าสามเณรถูกต้องของที่อยู่ในบาตรของตน หยิบเอาออกจากบาตรนั้น, ของนั้นย่อมระคนกับของๆ สามเณร พึงรับประเคนใหม่  คำนั้นบัณฑิตพึงทราบในก้อนข้าวสุกเป็นต้น ที่ภิกษุกล่าวจำกัดไว้อย่างนี้ว่า เธอจงหยิบเอาก้อนข้าวก้อนหนึ่ง, จงหยิบขนมชิ้นหนึ่ง, จงหยิบเอาส่วนเท่านี้แห่งก้อนน้ำอ้อยนี้ ส่วนในคำนี้ว่า เธอจงหยิบเอาขนมหรือข้าวสวยจากบาตรนี้ ไม่มีการจำกัด; เพราะฉะนั้น ของที่ตกลงในบาตรของสามเณรเท่านั้นจึงจะขาดประเคน ส่วนข้าวสวยที่อยู่ในมือของสามเณร ยังเป็นของภิกษุนั้นเอง ตลอดเวลาที่สามเณรยังไม่บอกงด หรือถ้ายังไม่ห้ามว่า พอละ, เพราะฉะนั้นจึงยังไม่ขาดประเคน
       ถ้าภิกษุใส่ข้าวสวยลงในภาชนะสำหรับต้มข้าวของตน หรือของภิกษุทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุสามเณรบางพวก พึงกล่าวว่า แน่ะ สามเณร เธอจงวางมือไว้ข้างบนภาชนะ แล้วตักลงที่มือของสามเณรนั้น ของตกจากมือของสามเณรลงในภาชนะ ของที่ตกนั้นย่อมไม่ทำให้ภาชนะเป็นอกัปปิยะในวันรุ่งขึ้น เพราะข้าวสุกนั้นภิกษุสละแล้ว ถ้าว่าภิกษุไม่ทำอย่างนั้น ตักลงไป พึงทำภาชนะให้ปราศจากอามิสเหมือนบาตร แล้วฉันเถิด
       พวกทายกวางหม้อข้าวต้มไว้แล้วไปเสีย สามเณรเล็กไม่อาจให้ภิกษุรับประเคนหม้อข้าวต้มนั้นได้, ภิกษุเอียงบาตรเข้าไป สามเณรวางคอหม้อบนขอบบาตรแล้วเอียงลง ข้าวต้มที่ไหลไปในบาตรเป็นอันประเคนแล้วแล  อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุวางมือลงบนพื้น สามเณรหมุนไปวางลงบนมือของภิกษุนั้น ควรอยู่ แม้ในกระเช้าขนมกระเช้าข้าวสาร (กระบุงขนมและกระบุงข้าวสาร) และมัดอ้อยเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน  ถ้าสามเณร ๒-๓ รูป จะช่วยกันถวายภาระ (ของหนัก) ที่ควรประเคนได้, หรือภิกษุ ๒-๓ รูป จะช่วยกันรับของที่คนมีกำลังแข็งแรงคนเดียวยกขึ้นถวาย ควรอยู่


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 มกราคม 2562 15:55:49

ปาจิตตีย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๘๙)
ภิกษุฉันอาหารที่ไม่ได้รับประเคน ให้ล่วงทวารปากเข้าไป ต้องปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่น้ำและไม้สีฟัน
(ต่อ)


       ๘. ว่าด้วยของเป็นอุคคหิตก์และไม่เป็น
       ชนทั้งหลายแขวนหม้อน้ำมันหรือหม้อน้ำอ้อยไว้ที่เท้าเตียงหรือตั่ง ภิกษุจะนั่งบนเตียงก็ดี บนตั่งก็ดี ควรอยู่ น้ำมันเป็นต้นนั้นจะชื่อว่าเป็นอุคคหิตก์ หามิได้ หม้อน้ำมัน ๒ หม้อ เป็นของที่เขาแขวนไว้บนไม้ฟันนาคหรือบนขอ หม้อบนรับประเคนแล้ว หม้อล่างยังไม่ได้รับประเคน จะจับหม้อบน ควรอยู่ หม้อล่างรับประเคนแล้ว หม้อบนยังไม่ได้รับประเคน เมื่อภิกษุจับหม้อบนแล้วจับหม้อล่าง หม้อบนเป็นอุคคหิตก์  ภายใต้เตียงมีถ้วยน้ำมันยังไม่ได้รับประเคน ถ้าภิกษุกวาดเอาไม้กวาดกระทบถ้วยน้ำมัน น้ำมันนั้นยังไม่เป็นอุคคหิตก์
       ภิกษุตั้งใจว่า เราจะหยิบของที่ประเคนไว้แล้ว ไพล่ไปหยิบของที่ไม่ได้รับประเคน รู้แล้วกลับวางไว้ในที่ที่ตนหยิบมา, ของนั้นไม่เป็นอุคคหิตก์นำออกมาภายนอกแล้วจึงรู้ อย่าตั้งไว้ข้างนอกพึงนำกลับเข้าไปตั้งในที่เดิมนั่นเอง ไม่มีโทษ ก็ถ้าว่าถ้วยน้ำมันนั้นเมื่อก่อนวางเปิดไว้ ไม่ควรปิด พึงวางไว้ตามเคยเหมือนที่วางอยู่ก่อน ถ้าวางไว้ข้างนอก อย่าไปแตะต้องอีก ถ้าภิกษุกำลังลงมายังปราสาทชั้นล่าง รู้เอาในท่ามกลางบันได เพราะไม่มีโอกาส พึงนำไปวางข้างบนหรือข้างล่างก็ได้
       ราขึ้นในน้ำมันที่รับประเคนแล้ว, ผงราขึ้นที่แง่งขิงเป็นต้น ราหรือผงรานั่นธรรมดาเกิดในน้ำมันและขิงนั้นนั่นเอง, ไม่มีกิจที่จะต้องรับประเคนใหม่ คนขึ้นต้นตาลหรือต้นมะพร้าว เอาเชือกโรยทะลายผลตาลลงมา ยังคงอยู่ข้างบน  กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับเถิด อย่าพึงรับ ถ้าคนอื่นยืนอยู่บนพื้นดินจับที่ห่วงเชือกยกถวาย จะรับ ควรอยู่ ภิกษุทำให้กิ่งไม้ใหญ่ที่มีผลให้เป็นกัปปิยะแล้วรับประเคน ผลทั้งหลายเป็นอันภิกษุรับประเคนแล้วเหมือนกัน ควรบริโภคได้ตามสบาย
       ชนทั้งหลายยืนอยู่ภายในรั้ว แหวกรั้ว (ลอดรั้ว) ถวายอ้อยลำหรือผลมะพลับ เมื่อได้หัตถบาส ควรรับ เมื่อภิกษุรับอ้อยลำหรือผลมะพลับนั้นลอดออกมา ไม่ถูกบนคร่าวรั้ว (ไม่พาดบนคร่าวรั้ว) จึงควรในอ้อยลำและผลมะพลับที่ลอดออกมาถูก (บนคร่าวรั้ว) ท่านไม่ได้แสดงโทษไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย แต่พวกเราเข้าใจว่า จากฐานที่ลำอ้อยเป็นต้น ถูกเป็นเหมือนหยิบของตกขึ้นเอง แม้คำนั้นย่อมใช้ได้ในเมื่อของออกไปไม่หยุด เหมือนภัณฑะที่โยนให้ตกกลิ้งลงไปภายนอกด่านภาษี ฉะนั้น
       พวกชนโยนของข้ามรั้วหรือกำแพงถวาย แต่ถ้ากำแพงไม่หนา หัตถบาสย่อมเพียงพอแก่ผู้ยืนอยู่ภายในกำแพงและภายนอกกำแพง, ภิกษุจะรับของที่สะท้อนขึ้นสูงแม้ตั้งร้อยศอก แล้วลอยมาถึง ควรอยู่
       ภิกษุเอาคอแบกสามเณรอาพาธไป (ให้สามเณรอาพาธขี่คอไป) เธอเห็นผลไม้น้อยใหญ่เก็บถวาย ทั้งที่นั่งอยู่บนคอ        ภิกษุควรรับ  บุคคลอื่นแบกภิกษุไป ถวายผลไม้แก่ภิกษุผู้นั่งอยู่บนคอ สมควรรับเหมือนกัน, ภิกษุถือกิ่งไม้ที่มีผล เพื่อต้องการร่มเดินไป เมื่อเกิดความอยากจะฉันผลไม้ จะให้อนุปสัมบันประเคนแล้ว ควรอยู่  ภิกษุให้ทำกัปปิยะกิ่งไม้เพื่อไล่แมลงหวี่ แล้วรับประเคนไว้ หากว่ามีความประสงค์จะฉัน การรับประเคนไว้เดิมนั้นแหละยังใช้ได้อยู่ ไม่มีโทษแก่ภิกษุผู้ขบฉัน
       ภิกษุวางภัณฑะที่ควรรับประเคนไว้บนยานของพวกชาวบ้านเดินทางไป ยานติดหล่ม ภิกษุหนุ่มจับล้อดันขึ้น ควรอยู่ สิ่งของไม่ชื่อว่าเป็นอุคคหิตก์ ภิกษุวางของที่ควรประเคนไว้ในเรือ เอาแจวๆ เรือไป หรือเอามือพุ้ยไป ควรอยู่ แม้ในพ่วง (แพ) ก็นัยนี้เหมือนกัน ภิกษุแม้วางภัณฑะไว้ในถาดก็ดี ในคนโท (ตุ่ม) ก็ดี ในหม้อก็ดี แล้วใช้ให้อนุปสัมบันถือภัณฑะนั้น จับแขนอนุปสัมบันข้าม (น้ำ) ไป ควรอยู่ แม้เมื่อถาดเป็นต้นไม่มี ให้อนุปสัมบันถือแล้วจับอนุปสัมบันนั้นที่แขนข้ามไป ก็ควร
       พวกอุบาสกถวายข้าวสารเป็นเสบียงทางแก่พวกภิกษุผู้เตรียมตัวจะเดินทาง พวกสามเณรช่วยถือข้าวสารของภิกษุทั้งหลายแล้วไม่อาจเพื่อจะถือข้าวสารส่วนของตนเอง พวกภิกษุจึงช่วยถือข้าวสารของสามเณรเหล่านั้น สามเณรทั้งหลายเมื่อข้าวสารที่ตนถือหมดแล้ว เอาข้าวสารนอกนี้ต้มข้าวต้ม ตั้งบาตรของภิกษุสามเณรทั้งหมดไว้ตามลำดับแล้วเทข้าวต้มลง  สามเณรผู้ฉลาดเอาบาตรของพวกตนถวายแก่พระเถระ ถวายบาตรของพระเถระแก่พระเถระรูปที่ ๒ เปลี่ยนบาตรกันทั้งหมด อย่างนี้เป็นต้นจนทั่วถึงกัน เป็นอันภิกษุทั้งหมดฉันข้าวต้มของสามเณร ควรอยู่ ถ้าแม้นว่าสามเณรเป็นผู้ไม่ฉลาด เริ่มจะดื่มข้าวต้มในบาตรของตนด้วยตัวเองเท่านั้น พวกพระเถระควรจะขอดื่มไปตามลำดับอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ! จงให้ข้าวต้มของเธอแก่เรา ดังนี้ เป็นอันภิกษุทั้งหมดไม่ต้องโทษเพราะอุคคหิตก์เป็นปัจจัย ไม่ต้องโทษเพราะสันนิธิเป็นปัจจัย แต่ในการเปลี่ยนบาตรกันนี้ ความแปลกกันของภิกษุทั้งหลาย ผู้นำน้ำมันเป็นต้นไปเพื่อมารดาบิดา และนำกิ่งไม้เป็นต้นไปเพื่อต้องการร่มเป็นต้น กับภิกษุผู้แลกเปลี่ยนบาตรกันเหล่านี้ ไม่ปรากฏ;  เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรใคร่ครวญหาเหตุ
       ๙. เมื่อไม่มีกัปปิยการก จะถือเอายามหาวิกัติฉันเอง ก็ควร  หากกัปปิยการกเป็นคนว่ายาก หรือเป็นผู้ไม่สามารถ ให้ถือว่าไม่มีกัปปิยการก, เมื่อเถ้าไม่มี ภิกษุพึงเผาไม้แห้งเอาเถ้า เมื่อไม้ฟืนแห้งไม่มี แม้จะตัดฟืนสดจากต้นไม้ทำเถ้า ก็ควร ก็ยามหาวิกัติทั้ง ๔ อย่างนี้ ชื่อว่า อนุญาตเฉพาะกาล แต่ควรเฉพาะในเวลาถูกงูกัดเท่านั้น
       ๑๐. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เกิดจากทางกาย ๑ ทางกายกับจิต ๑ เป็นกิริยา อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ มีจิต ๓



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
ปมาทมนุยุญฺชนติ  พาลา ทุมฺเมธิโน ชนา
อปฺปมาทญฺจ เมธาวี  ธนํ เสฎฺฐํว รกฺขติ ฯ ๒๖ ฯ  
คนพาล ทรามปัญญา มักมัวประมาทเสีย
ส่วนคนฉลาด ย่อมรักษาความไม่ประมาท เหมือนรักษาทรัพย์อันประเสริฐ

The ignorant, foolish folk Induge in heedlessness,
But the wise preserve heedfulness As their greatest treasure.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
no.26





หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 มิถุนายน 2562 15:52:52


ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๙๐)
ภิกษุให้ของเคี้ยวของฉันแก่นักบวชนอกศาสนา ด้วยมือตน ต้องปาจิตตีย์

      ครั้งนั้น มีขนมของขบฉันเกิดขึ้นแก่สงฆ์เป็นอันมาก พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งพระอานนท์ให้นำไปให้ทานแก่พวกคนกินเดน ท่านนำไปแจกให้คนกินเดนที่นั่งตามลำดับคนละชิ้น แต่ขนม ๒ ชิ้น ตกแก่ปริพาชิกาผู้หนึ่ง เพราะท่านไม่รู้ว่าขนมติดเป็น ๒ ชิ้นอยู่ พวกปริพาชิกาได้ถามนางว่า สมณะนั้นเป็นคู่รักของเธอหรือ ถึงได้ให้ ๒ ชิ้น นางตอบว่า ท่านไม่ใช่คู่รัก ท่านให้ ๒ ชิ้น เพราะคิดว่าเป็นชิ้นเดียว แม้ครั้งที่สอง...แม้ครั้งที่สาม... ขนมก็ยังบังเอิญติดเป็น ๒ ชิ้นอีก พวกปริพาชิกาจึงล้อเลียนกัน...
      อาชีวกคนหนึ่งได้ไปสู่ที่อังคาส ภิกษุรูปหนึ่งคลุกข้าวกับเนยใสเป็นอันมากแล้วให้แก่ชีวกนั้น เขาได้ถือก้อนข้าวนั้นไป อาชีวกคนหนึ่งได้ถามว่า ท่านได้ก้อนข้าวมาจากไหน เขาตอบว่า ได้มาจากที่อังคาสของสมณโคดม คหบดีโล้นนั้น
      อุบาสกทั้งหลายได้ยินสองอาชีวกปราศรัยกัน จึงพากันเข้าเฝ้ากราบทูลขอว่า “ขออย่าให้พระคุณเจ้าทั้งหลายให้ของแก่พวกเดียรถีย์ด้วยมือของตนเลย...” จึงทรงมีพระบัญญัติว่า
     “อนึ่ง ภิกษุใด ให้ของเคี้ยวก็ดี ของกินก็ดี แก่อเจลกก็ดี แก่ปริพาชกก็ดี แก่ปริพาชิกาก็ดี ด้วยมือของตน เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า อเจลก ได้แก่ ชีเปลือยคนใดคนหนึ่งที่จัดเข้าในจำพวกนักบวช
      - ที่ชื่อว่า ปริพาชก ได้แก่ บุรุษคนใดคนหนึ่งที่จัดเข้าในจำพวกนักบวช เว้นภิกษุและสามเณร
      - ที่ชื่อว่า ปริพาชิกา ได้แก่ สตรีคนใดคนหนึ่งที่จัดเข้าในจำพวกนักบวช เว้นภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี
      - ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว คือ เว้นโภชนะ ๕ อย่าง น้ำและไม้ชำระฟัน นอกนั้นชื่อว่า ของเคี้ยว
      - ที่ชื่อว่า ของกิน ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ
      - บทว่า ให้ คือ ให้ด้วยกายก็ดี ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ดี ด้วยโยนให้ก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. เดียรถีย์ ภิกษุรู้ว่าเป็นเดียรถีย์ ให้ของเคี้ยวก็ดี ของกินก็ดี ด้วยมือของตน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. เดียรถีย์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. เดียรถีย์ ภิกษุคิดว่า (เข้าใจว่า) ไม่ใช่เดียรถีย์... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ให้น้ำและไม้ชำระฟัน ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุคิดว่าเป็นเดียรถีย์... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗. ไม่ใช่เดียรถีย์ ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่เดียรถีย์... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุสั่งให้ ไม่ได้ให้เอง ๑  วางให้ ๑  ให้ของไล้ทาภายนอก ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๕๘๓  
      ๑. มารดาก็ดี บิดาก็ดี (ของภิกษุ) บวชในหมู่เดียรถีย์ แม้ภิกษุ (ผู้เป็นบุตร) เมื่อให้แก่เดียรถีย์เหล่านั้น ด้วยสำคัญว่ามารดาและบิดา เป็นปาจิตตีย์เหมือนกัน
      ๒. ภิกษุให้โดยวางบนภาชนะ แล้ววางภาชนะให้บนพื้นดิน ใกล้เดียรถีย์เหล่านั้น หรือว่าใช้ให้วางภาชนะของเดียรถีย์เหล่านั้นลงแล้ว ในบนภาชนะนั้นแม้จะตั้งบาตรไว้บนเชิงรองหรือบนพื้นดิน แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจนถือเอาจากบาตรนี้ ก็ควร
      ก็ถ้าว่าเดียรถีย์พูดว่าของสิ่งนี้เป็นของส่วนตัวของเราแท้ ขอท่านโปรดใส่ให้อามิสนั้นลงในภาชนะนี้ พึงใส่ลงไปเพราะเป็นของส่วนตัวของเดียรถีย์นั้น จึงไม่ชื่อว่าเป็นการให้ด้วยมือตนเอง
      ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ (แม้ไม่มีจิตคิดล่วงละเมิด ก็ย่อมต้องอาบัติข้อนี้) เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓  



ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๙๑)
ภิกษุไล่ภิกษุอื่นที่ตนบวชไปบิณฑบาตด้วยกัน ให้กลับก่อน ต้องปาจิตตีย์

      พระอุปนันทศากยบุตรได้กล่าวเชิญชวนภิกษุผู้เป็นสัทธิวิหาริกของพระพี่ชายว่า มาเถิดอาวุโส เราจักเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตด้วยกัน เมื่อเข้าไปในบ้านแล้วเธอกลับสั่งไม่ให้เขาถวายอะไรๆ แก่เธอเลย ซ้ำออกปากว่า กลับไปเถิด อาวุโส การที่คุณอยู่ด้วยเราไม่สำราญเลย  ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้เที่ยง ภิกษุนั้นจึงไม่สามารถหาบิณฑบาตได้ทัน เธอจำต้องอดภัตตาหารแล้ว
      เธอได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      ”อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวต่อภิกษุอย่างนี้ว่า ท่านจงมาเข้าไปสู่บ้าน หรือสู่นิคม เพื่อบิณฑบาตด้วยกัน เธอยังเขาให้ถวายแล้วก็ดี ไม่ให้ถวายแล้วก็ดี แก่เธอ แล้วส่งไปด้วยคำว่า ท่านจงไปเถิด การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเรากับท่านไม่เป็นผาสุกเลย การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเราคนเดียว ย่อมเป็นผาสุก ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - บทว่า ต่อภิกษุ หมายถึง ภิกษุรูปอื่น
      - คำว่า ท่านจงมา... สู่บ้านหรือสู่นิคม  ความว่า บ้านก็ดี นิคมก็ดี เมืองก็ดี ชื่อว่า บ้านและนิคม
      - บทว่า ส่งไป ความว่า ปรารถนาจะกระเซ้ากระซี้ ปรารถนาจะนั่งเล่น ปรารถนาจะนั่งในที่ลับ ปรารถนาจะประพฤติอนาจารกับมาตุคาม  พูดอย่างนี้ว่า กลับเถิด อาวุโส การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเรากับท่านไม่เป็นผาสุก การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเราคนเดียว ย่อมเป็นผาสุก ดังนี้ ให้กลับ ต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อเธอจะละอุปจารแห่งการเห็น หรืออุปจารแห่งการฟัง ต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อละแล้วต้องอาบัติปาจิตตีย์
      - คำว่า ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ ความว่า ไม่มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นเพื่อจะส่งไป

อาบัติ
      ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน ส่งกลับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย ส่งกลับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน ส่งกลับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ทำเป็นโกรธ ส่งกลับ ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ส่งอนุปสัมบันกลับ ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๘. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องอาบัติทุกกฎ

อนาบัติ
      ภิกษุส่งกลับไปด้วยคิดว่า เรา ๒ รูป รวมกัน จักไม่พอฉัน ๑  ส่งกลับด้วยคิดว่า รูปนั้นเห็นสิ่งของมีค่ามีราคามากแล้วจักเกิดความโลภ ๑  ส่งกลับด้วยคิดว่า รูปนั้นถ้าเห็นมาตุคามแล้วจักเกิดความกำหนัด ๑  ส่งกลับด้วยสั่งว่า จงนำข้าวต้มหรือข้าวสวย ของเคี้ยวหรือของฉัน ไปให้แก่ภิกษุผู้อาพาธ แก่ภิกษุผู้ตกค้างอยู่ หรือแก่ภิกษุผู้เฝ้าวิหาร ๑  ไม่มีความประสงค์จะประพฤติอนาจาร แต่เมื่อมีกิจจำเป็นจึงส่งกลับไป ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๕๘๗-๕๘๘  
      ๑. ภิกษุผู้ขับไล่เท่านั้นเป็นอาบัตินี้ บรรดาอาบัติเหล่านั้น ถ้าว่าเท้าข้างหนึ่งยังอยู่ภายในอุปจารเป็นทุกกฎ ในขณะล่วงเขตแดนไปเป็นปาจิตตีย์
      ก็บรรดาอุปจารการเห็นและอุปจารการได้ยินนี้ ประมาณ ๑๒ ศอก  ในโอกาสกลางแจ้งเป็นประมาณแห่งอุปจารการเห็น,  อุปจารการได้ยินก็มีประมาณเท่ากัน  ก็ถ้าว่ามีฝาประตูและกำแพงเป็นต้นคั่นอยู่,  ภาวะที่ฝาประตูและกำแพงเป็นต้นนั้นคั่นไว้นั่นแหละ เป็นการล่วงเลยทัสสนูปจาร (อุปจารแห่งการเห็น)  บัณฑิตพึงทราบอาบัติ ด้วยอำนาจการล่วงเลยที่ทัสสนูปจารนั้น (ภิกษุถูกขับไล่พ้นวิหารประตูหรือกำแพงเป็นต้นไป เป็นปาจิตตีย์)
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ,  กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต โทสมูลจิต)  



ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๙๒)
ภิกษุสำเร็จในการนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒ คน เป็นปาจิตตีย์

      พระอุปนันทศากยบุตร เข้าไปสู่เรือนของสหายเก่า แล้วสำเร็จการนั่งในเรือนนอนกับภรรยาของเขา บุรุษสหายมาแล้วสั่งให้ภรรยาถวายภิกษา แล้วนิมนต์ให้ท่านกลับเพราะเขาเกิดราคะ ภรรยารู้ว่าเขาเกิดราคะจึงนิมนต์ให้อยู่ต่อ บุรุษสามีเดินออกไปกล่าวโทษเธอต่อภิกษุทั้งหลายว่า พระคุณเจ้าอุปนันทศากยบุตร นั่งในห้องกับภรรยาของกระผม นิมนต์ให้กลับก็ไม่ยอมกลับ ภิกษุทั้งหลายต่างเพ่งโทษ ติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด สำเร็จการนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒ คน เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ตระกูลที่ชื่อว่า มี ๒ คน มีเฉพาะสตรี ๑  บุรุษ ๑  ทั้งสองคนยังไม่ออกจากกัน ทั้งสองคนหาใช่ผู้ปราศจากราคะไม่
      - บทว่า แทรกแซง คือ กีดขวาง
      - บทว่า สำเร็จการนั่ง คือ ในเรือนใหญ่ ภิกษุนั่งละหัตถบาสแห่งประตูเรือน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ในเรือนเล็ก นั่งล้ำท่ามกลางห้องเรือน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. ห้องนอน ภิกษุรู้ว่าเป็นห้องนอน สำเร็จการนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มี ๒ คน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. ห้องนอน ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. ห้องนอน ภิกษุคิดว่าไม่ใช่ห้องนอน... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ไม่ใช่ห้องนอน ภิกษุคิดว่าเป็นห้องนอน... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ไม่ใช่ห้องนอน ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ไม่ใช่ห้องนอน ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่ห้องนอน... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุนั่งในเรือนใหญ่ ไม่ล่วงล้ำหัตถบาสแห่งบานประตู ๑  ภิกษุนั่งในเรือนเล็ก ไม่เลยท่ามกลางห้อง ๑  ภิกษุมีเพื่อนอยู่ด้วย ๑ คน ทั้งสองออกจากกันแล้ว  ทั้งสองปราศจากราคะแล้ว ๑  ภิกษุนั่งในสถานที่อันไม่ใช่ห้องนอน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๕๙๒    
      ๑. บทว่า สโภชเน ได้แก่ สกุลที่เป็นไปกับคน ๒ คน ชื่อว่า สโภชนะ ในสกุลมีคน ๒ คน นั้นคือบุรุษผู้อันราคะกลุ้มรุมแล้วกับสตรี, อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สโภชเน คือ ในสกุลมีโภคะ เพราะว่าสตรีเป็นโภคะของบุรุษ ผู้อันราคะกลุ้มรุมแล้ว และบุรุษก็เป็นโภคะของสตรี ด้วยเหตุนั้นบทว่า สโภชเน นั้น จึงตรัสว่า มีสตรีกับบุรุษเป็นต้น
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิก เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)


ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๙๓)
ภิกษุนั่งในห้องกับผู้หญิง ไม่มีผู้ชายอยู่เป็นเพื่อน ต้องปาจิตตีย์

      พระอุปนันทศากยบุตรเข้าไปสู่เรือนของสหายแล้ว สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังกับภรรยาของเขา บุรุษสหายจึงเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยิน จึงติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้ว มีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังกับมาตุคาม เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ โดยที่สุดแม้เด็กที่เกิดในวันนั้น
      - บทว่า กับ คือ ร่วมกัน
      - ที่ชื่อว่า ที่ลับ มี ๒ คือ ลับตา ๑  ลับหู ๑
      - ที่ชื่อว่า ในที่ลับตา ได้แก่ ที่ซึ่งเมื่อภิกษุหรือมาตุคามขยิบตา ยักคิ้ว หรือชะเง้อศีรษะ ไม่มีใครสามารถจะแลเห็นได้
      - ที่ชื่อว่า ที่ลับหู ได้แก่ ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่สนทนากันตามปกติได้
      - อาสนะที่ชื่อว่า กำบัง คือ เป็นอาสนะที่เขากำบังด้วยฝา บานประตู ลำแพน ม่านบัง ต้นไม้ เสา หรือฉางข้าว อย่างใดอย่างหนึ่ง
      - คำว่า สำเร็จการนั่ง คือ เมื่อมาตุคามนั่งแล้ว ภิกษุนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุนั่งแล้ว มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทั้งสองนั่งก็ดี ทั้งสองนอนก็ดี ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. มาตุคาม ภิกษุรู้ว่าเป็นมาตุคาม สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบัง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. มาตุคาม ภิกษุคิดว่าไม่ใช่มาตุคาม... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุสำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังกับหญิงยักษ์ หญิงเปรต บัณเฑาะก์ หรือ สัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมีกายดังมนุษย์ ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุคิดว่าเป็นมาตุคาม... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุรู้ว่า ไม่ใช่มาตุคาม... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุมีบุรุษรู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน ๑  ภิกษุยืนมิได้นั่ง ๑  ภิกษุมิได้มุ่งที่ลับ ๑  ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๕๙๖  
      ๑. คำที่จะพึงกล่าวในสิกขาบทที่ ๔ และที่ ๕ ทั้งหมด มีนัยดังกล่าวแล้วในอนิยตสิกขาบททั้ง ๒ นั่นแล,  และสิกขาบทที่ ๔ และที่ ๕ (ข้อถัดไป) มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิกสิกขาบท  



ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๙๔)
ภิกษุสำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามผู้เดียว ต้องปาจิตตีย์

      พระอุปนันทศากยบุตรเข้าไปยังเรือนของสหาย แล้วสำเร็จการนั่งในที่ลับกับภรรยาของเขาหนึ่งต่อหนึ่ง บุรุษสหายจึงเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยิน... แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ผู้เดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามผู้เดียว ต้องปาจิตตีย์

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถรับถ้อยคำที่เป็นสุภาษิตและทุพภาษิตที่ชั่วหยาบและไม่ชั่วหยาบ
      - บทว่า ผู้เดียว... ผู้เดียว คือ มีภิกษุ ๑  มาตุคาม ๑
      - ที่ชื่อว่า ที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตา ๑  ที่ลับหู ๑  (ดูคำอธิบายที่ลับในสิกขาบทที่ ๔)
      - คำว่า สำเร็จการนั่ง ความว่า เมื่อมาตุคามนั่งแล้ว ภิกษุนั่งหรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุนั่งแล้ว มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทั้งสองนั่งก็ดี ทั้งสองนอนก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. มาตุคาม ภิกษุรู้ว่าเป็นมาตุคาม สำเร็จการนั่งในที่ลับหนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. มาตุคาม ภิกษุคิดว่าไม่ใช่มาตุคาม... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุสำเร็จการนั่งในที่ลับกับหญิงยักษ์ หญิงเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมีกายดังมนุษย์หนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุคิดว่าเป็นมาตุคาม... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๗. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่มาตุคาม ไม่ต้องอาบัติทุกกฎ

อนาบัติ
      ภิกษุมีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน ๑  ภิกษุยืนไม่ได้นั่ง ๑  ภิกษุไม่ได้มุ่งที่ลับ ๑  ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
มา ปมาทมนุยุญฺเชถ    มา กามรติสนฺถวํ
อปฺปมตฺโต หิ ฌายนฺโต    ปปฺโปติ วิปุลํ สุขํ ฯ ๒๗ ฯ  
พวกเธออย่ามัวประมาท อย่ามัวเอาแต่สนุกยินดีในกามคุณอยู่เลย
ผู้ไม่ประมาท เพ่งพินิจตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงจะบรรลุถึงความสุขอันไพบูลย์ได้

Devote not yourselves to negligence; Have no intimacy with sensuous delights.
The vigilant, meditative person Attains sublime bliss ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ....  
no.27


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 สิงหาคม 2562 19:08:01

ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๙๕)
ภิกษุรับนิมนต์แล้วไปที่อื่น โดยไม่บอกลา ต้องปาจิตตีย์

      ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระอุปนันทศากยบุตร นิมนต์ท่านพร้อมทั้งภิกษุทั้งหลายเพื่อให้ฉัน แต่ในเวลาก่อนภัต ท่านอุปนันท์ยังอยู่ในตระกูลทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายที่ไปถึงก่อน บอกทายกให้ถวายภัต แต่ทายกกล่าวว่า รอก่อน จนกว่าพระคุณเจ้าอุปนันท์จะมา ขอรับ แม้ครั้งที่สอง... แม้ครั้งที่สาม... ทายกก็กล่าวอย่างนั้น
       พระอุปนันท์มาถึงตระกูลที่นิมนต์ในเวลาบ่าย ภิกษุทั้งหลายไม่ได้ฉันภัตแล้ว ภิกษุทั้งหลายได้เพ่งโทษติเตียนท่าน... แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า...
       สมัยต่อมาตระกูลอุปัฏฐากของท่านอุปนันทศากยบุตร ได้ส่งของเคี้ยวไปให้สงฆ์ สั่งว่า ต้องมอบให้ท่านอุปนันท์เป็นผู้ถวายแก่สงฆ์  ขณะนั้นท่านอุปนันท์กำลังบิณฑบาตอยู่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านที่นำมาได้ถามภิกษุทั้งหลาย รู้ว่าท่านกำลังอยู่ในหมู่บ้าน รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายรับประเคนไว้ จนกว่าท่านอุปนันท์จะกลับมา ท่านอุปนันท์คิดว่า การเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลายก่อนเวลาฉัน ทรงห้ามแล้ว จึงเข้าไปยังตระกูลทั้งหลายหลังเวลาฉัน บ่ายจึงกลับมา, ของเคี้ยวได้ถูกส่งกลับไปแล้ว
       ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษติเตียนท่าน... แล้วกราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า...
       ภิกษุทั้งหลายรังเกียจไม่เข้าไปสู่ตระกูลในคราวถวายจีวรบ้าง จีวรจึงเกิดแก่งสงฆ์เพียงเล็กน้อย...
       ภิกษุทั้งหลายทำจีวร ต้องการเข็มบ้าง ด้ายบ้าง มีดบ้าง แต่รังเกียจ ไม่เข้าไปสู่ตระกูล...
       ภิกษุทั้งหลายอาพาธ มีความต้องการเภสัช แต่รังเกียจไม่เข้าไปสู่ตระกูล จึงกราบทูล... ตรัสว่า “เราอนุญาตให้บอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่แล้วเข้าไปตระกูลได้”  แล้วทรงพระอนุบัญญัติว่า
       “อนึ่ง ภิกษุใด รับนิมนต์แล้ว มีภัตอยู่แล้ว ไม่บอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่ ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ก่อนฉันก็ดี ทีหลังฉันก็ดี เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ สมัยในเรื่องนั้น คือ คราวที่ถวายจีวร คราวที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”      
      
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า รับนิมนต์แล้ว คือ รับนิมนต์ฉันโภชนะ ๕ อย่างๆ ใดอย่างหนึ่ง
       - ที่ชื่อว่า มีภัตอยู่แล้ว คือ มีอาหารที่รับนิมนต์เขาไว้แล้ว
       - ภิกษุที่ชื่อว่า ซึ่งมีอยู่ คือ อาจที่จะบอกลาภิกษุก่อนเข้าไป
       - ภิกษุที่ชื่อว่า ซึ่งไม่มีอยู่ คือ ไม่อาจที่จะบอกลาก่อนเข้าไป
       - ที่ชื่อว่า ก่อนฉัน คือ ภิกษุยังไม่ได้ฉันอาหารที่รับนิมนต์เขาไว้
       - ที่ชื่อว่า ทีหลังฉัน คือ ภิกษุฉันอาหารที่รับนิมนต์เขาไว้แล้ว โดยที่สุดแม้ด้วยปลายหญ้าคา
       - ที่ชื่อว่า ตระกูล ได้แก่ ตระกูล ๔ คือ ตระกูลกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร (หรือบ้านของผู้มีศรัทธาทั้งหลาย)
       - คำว่า ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ความว่า ภิกษุก้าวล่วงสู่อุปจารเรือนของผู้อื่นต้องอาบัติทุกกฎ ก้าวเท้าที่ ๑ ล่วงธรณีประตู ต้องอาบัติทุกกฎ  ก้าวเท้าที่ ๒ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       - เว้นไว้แต่สมัย คือ ในคราวที่ถวายจีวร คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน ๑ เดือน  ท้ายฤดูฝน เมื่อกรานกฐินแล้ว ๕ เดือน,  ในคราวที่ทำจีวร คือ เมื่อคราวกำลังทำจีวรอยู่

อาบัติ
       ๑. รับนิมนต์แล้ว ภิกษุรู้ว่า รับนิมนต์แล้วไม่บอกลาภิกษุ ซึ่งมีอยู่ ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลายก่อนฉันก็ดี ทีหลังฉันก็ดี เว้นไว้แต่สมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. รับนิมนต์แล้ว ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓. รับนิมนต์แล้ว ภิกษุคิดว่ายังไม่ได้รับนิมนต์... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. ไม่ได้รับนิมนต์ ภิกษุคิดว่ายังไม่ได้รับนิมนต์... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๕. ไม่ได้รับนิมนต์ ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖. ไม่ได้รับนิมนต์ ภิกษุรู้ว่าไม่ได้รับนิมนต์... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุฉันในสมัย ๑  บอกลาภิกษุซึ่งมีอยู่แล้ว จึงเข้าไป ๑  ไม่ได้บอกลา เพราะไม่มีภิกษุอยู่แล้วเข้าไป ๑  เดินทางผ่านเรือนผู้อื่น ๑  เดินผ่านอุปจารเรือน ๑  ไปอารามอื่น ๑  ไปสู่สำนักภิกษุณี ๑  ไปสู่สำนักเดียรถีย์ ๑  ไปโรงฉัน ๑  ไปเรือนที่เขานิมนต์ฉัน ๑  ไปเพราะมีอันตราย (แห่งชีวิตและพรหมจรรย์) ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๐๗-๖๐๘
      ๑. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นพวกเธอจงรับประเคนแล้วเก็บไว้ดังนี้ เพื่อต้องการรักษาศรัทธาของตระกูล ก็ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสว่า พวกเธอจงแบ่งกันฉันเถิด พวกชาวบ้านจะพึงคลายความเลื่อมใส
      ๒. ภิกษุชื่อว่า มีอยู่ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร?  ชื่อว่า ไม่มีด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร?  คือ ภิกษุผู้อยู่ในสถานแห่งใดภายในวิหาร เกิดมีความคิดว่าจะเข้าไปเยี่ยมตระกูล จำเดิมแต่นั้น เห็นภิกษุใดที่ข้างๆ หรือตรงหน้า หรือภิกษุใดที่ตนอาจจะบอกด้วยคำพูดตามปกติได้ ภิกษุนี้ชื่อว่ามีอยู่ แต่ไม่มีกิจที่จะต้องเที่ยวไปบอกทางโน้นและทางนี้,  จริงอยู่ ภิกษุที่ตนต้องเที่ยวหาบอกลา อย่างนี้ชื่อว่าไม่มีนั่นเอง
      อีกนัยหนึ่ง ภิกษุไปด้วยทำในใจว่า เราพบภิกษุภายในอุปจารสีมาแล้วจักบอกลา พึงบอกลาภิกษุที่ตนเห็นภายในอุปจารสีมานั้น ถ้าไม่พบภิกษุ ชื่อว่าเป็นผู้เข้าไปไม่บอกลาภิกษุที่ไม่มี
      ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเหมือนกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายกับวาจา ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๙๖)
ภิกษุพึงยินดีปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔ เดือน ยินดียิ่งกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์

      เจ้ามหานามศากยะกล่าวปวารณาต่อสงฆ์ด้วยปัจจัยเภสัชตลอดชีวิต  วันหนึ่ง ท่านไปตำหนิพระฉัพพัคคีย์ว่า นุ่งห่มผ้าไม่เรียบร้อย  พระฉัพพัคคีย์โกรธ ปรึกษากันแล้วขอเนยใส ๑ ทะนาน  เจ้ามหานามะรับสั่งว่า พระคุณเจ้ารอก่อน คนกำลังไปยังคอกโคเพื่อนำเนยใสมา แต่พระฉัพพัคคีย์ก็ไม่ฟัง กล่าวขอถึง ๓ ครั้ง แล้วกล่าวว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยเนยใสที่ท่านไม่ประสงค์จะถวาย แต่ได้ปวารณาไว้ เพราะท่านปวารณาแล้วไม่ถวาย เจ้ามหานามะรับสั่งว่า ก็หม่อมฉันขอร้องว่า วันนี้โปรดคอยก่อน ทำไมพระคุณเจ้าจึงไม่คอยเล่า? แล้วเพ่งโทษติเตียนพระฉัพพัคคีย์  ภิกษุทั้งหลายได้ยิน จึงเพ่งโทษติเตียนพระฉัพพัคคีย์ แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน... แล้วมีพระบัญญัติว่า  “ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ พึงยินดีปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔ เดือน เว้นไว้แต่ปวารณาอีก เว้นไว้แต่ปวารณาเป็นนิตย์ ถ้าเธอยินดียิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์”      
      
อรรถาธิบาย
       - คำว่า ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ พึงยินดีปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔ เดือนนั้น ความว่า พึงยินดีปวารณาเฉพาะปัจจัยของภิกษุไว้ แม้เขาปวารณาอีก ก็พึงยินดีว่า เราจักขอชั่วเวลาที่ยังอาพาธอยู่ แม้เขาปวารณาเป็นนิตย์ พึงยินดีว่า เราจักขอชั่วเวลาที่ยังอาพาธอยู่
       - บทว่า ถ้าเธอยินดียิ่งกว่านั้น คือ การปวารณากำหนดเภสัชแต่ไม่กำหนดกาลก็มี กำหนดกาลแต่ไม่กำหนดเภสัชก็มี กำหนดทั้งเภสัชทั้งกาลก็มี ไม่กำหนดเภสัชไม่กำหนดกาลก็มี
       - ที่ชื่อว่า กำหนดเภสัช คือ เขากำหนดเภสัชไว้ว่า ข้าพเจ้าขอปวารณาด้วยเภสัชประมาณเท่านี้
       - ที่ชื่อว่า กำหนดกาล คือ เขากำหนดกาลไว้ว่า ข้าพเจ้าขอปวารณาในระยะกาลเท่านี้
       - ที่ชื่อว่า กำหนดทั้งเภสัชและกาลนั้น คือ เขากำหนดเภสัชและกาลไว้ว่า ข้าพเจ้าขอปวารณาด้วยเภสัชมีประมาณเท่านี้ ในระยะกาลเพียงเท่านี้
       - ที่ชื่อว่า ไม่กำหนดเภสัชไม่กำหนดกาล คือ เขาไม่ได้กำหนดเภสัชและกาลไว้ว่า ข้าพเจ้าขอปวารณาด้วยเภสัชมีประมาณเท่านี้ ในระยะกาลเพียงเท่านี้

อาบัติ
       ๑. ในการกำหนดเภสัช ภิกษุขอเภสัชอย่างอื่นนอกจากเภสัชที่เขาปวารณา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. ในการกำหนดกาล ภิกษุขอในกาลอื่นนอกจากกาลที่เขาปวารณา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓. ในการกำหนดทั้งเภสัช กำหนดทั้งกาล ภิกษุขอเภสัชอย่างอื่น นอกจากเภสัชที่เขาปวารณา และในกาลอื่นนอกจากกาลที่เขาปวารณา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. ในการไม่กำหนดเภสัช ไม่กำหนดกาล... ไม่ต้องอาบัติ
       ๕. ในเมื่อต้องการของที่มิใช่เภสัช ภิกษุขอเภสัช ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๖. ในเมื่อต้องการใช้เภสัชอย่างหนึ่ง ขอเภสัชอย่างหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๗. ยิ่งกว่านั้น ภิกษุรู้ว่ายิ่งกว่านั้น ขอเภสัช ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๘. ยิ่งกว่านั้น ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๙. ยิ่งกว่านั้น ภิกษุคิดว่าไม่ยิ่งกว่านั้น ขอเภสัช ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๑๐. ไม่ยิ่งกว่านั้น ภิกษุคิดว่ายิ่งกว่านั้น... ต้องอาบัติทุกกฎ
     ๑๑. ไม่ยิ่งกว่านั้น ภิกษุรู้ว่าไม่ยิ่งกว่านั้น... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุขอเภสัชตามที่เขาปวารณาไว้ ๑  ขอในระยะกาลตามที่เขาปวารณาไว้ ๑  บอกขอว่าท่านปวารณาพวกข้าพเจ้าด้วยเภสัชเหล่านี้ แต่พวกข้าพเจ้าต้องการเภสัชชนิดนี้และชนิดนี้ ๑  บอกเขาว่า ระยะกาลที่ท่านได้ปวารณาได้พ้นไปแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังต้องการเภสัช ๑  ขอต่อญาติ ๑  ขอต่อคนปวารณา ๑  ขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุรูปอื่น ๑  จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๑๕
       ๑. ท้าวมหานามะ เป็นพระโอรสแห่งพระเจ้าอาของพระผู้มีพระภาคเจ้า แก่กว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพียงเดือนเดียว เป็นพระอริยสาวก ดำรงอยู่ในผลทั้ง ๒ (เป็นพระสกทาคามี)
       ๒. “กำหนดเภสัช” เขาปวารณาด้วยอำนาจชื่อ คือ ด้วยเภสัช ๒-๓ อย่าง มีเนยใส และน้ำมัน เป็นต้น หรือด้วยอำนาจจำนวน คือ ด้วยกอบ ๑ ทะนาน ๑ อาฬหกะ ๑ เป็นต้น
       ๓. ไม่เป็นอาบัติแก่พวกภิกษุที่ขอต่อผู้ปวารณาไว้ ด้วยการปวารณาเป็นส่วนบุคคล เพราะการออกปากขอตามสมควรแก่เภสัชที่ปวารณาไว้, แต่ในเภสัชที่เขาปวารณาด้วยอำนาจแห่งสงฆ์ ควรกำหนดรู้ประมาณทีเดียวแล
       ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกริยา เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๙๗)
ภิกษุไปดูกระบวนทัพที่เขายกไปเพื่อจะรบกัน ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุ

      พระฉัพพัคคีย์ได้พากันไปดูกองทัพที่พระเจ้าปเสนทิโกศลยกออกแล้ว เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็น ได้ตรัสถามว่า มาเพื่อประโยชน์อะไร พระฉัพพัคคีย์ถวายพระพรว่า อาตมภาพประสงค์จะเฝ้ามหาบพิตรรับสั่งว่า จะได้ประโยชน์อะไรด้วยการดูหม่อมฉันผู้เพลิดเพลินในการรบ พระคุณเจ้าควรเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ามิใช่หรือ
       ประชาชนพากันเพ่งโทษติเตียนพระฉัพพัคคีย์ ภิกษุได้ยินต่างติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ไปเพื่อจะดูเสนาอันยกออกแล้ว เป็นปาจิตตีย์”
       สมัยต่อมา ลุงของภิกษุรูปหนึ่งป่วยอยู่ในกองทัพ เธอแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า“อนึ่ง ภิกษุใด ไปเพื่อจะดูเสนาอันยกออกแล้ว เว้นไว้แต่ปัจจัยมีอย่างนั้นเป็นรูป เป็นปาจิตตีย์”      
      
อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า อันยกออกแล้ว ได้แก่ กองทัพซึ่งยกออกจากหมู่บ้านแล้ว ยังพักอยู่หรือเคลื่อนขบวนต่อไปแล้ว
       - ที่ชื่อว่า เสนา ได้แก่ กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองพลเดินเท้า ช้าง ๑ เชือก มีทหารประจำ ๑๒ คน, ม้า ๑ ม้า มีทหารประจำ ๓ คน, รถ ๑ คัน มีทหารประจำ ๔ คน กองพลเดินเท้า มีทหารถือปืน ๔ คน
       ภิกษุไปเพื่อจะดู ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุละทัศนูปจารแล้วยังมองดูอยู่อีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       - บทว่า เว้นไว้แต่ปัจจัยมีอย่างนั้นเป็นรูป คือ ยกเว้นมีเหตุจำเป็น

อาบัติ
       ๑. กองทัพยกออกไปแล้ว ภิกษุรู้ว่า ยกออกไปแล้ว ไปเพื่อจะดู เว้นไว้แต่ปัจจัยเห็นปานนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๒. กองทัพยกออกไปแล้ว ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๓. กองทัพยกออกไปแล้ว ภิกษุคิดว่า ยังไม่ได้ยกออกไป... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       ๔. ไปเพื่อจะดูกองทัพแต่ละกอง ต้องอาบัติทุกกฏ
       ๕. ยืนดูอยู่ในที่ใดมองเห็นได้ ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๖. ละสายตาแล้วยังมองดูอยู่อีก ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๗. กองทัพยังไม่ได้ยกออกไป ภิกษุคิดว่า ยกออกไปแล้ว... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๘. กองทัพยังไม่ได้ยกออกไป ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
       ๙. กองทัพยังไม่ได้ยกออกไป ภิกษุรู้ว่ายังไม่ได้ยกออกไป... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุอยู่ในอารามมองเห็น ๑  กองทัพยกผ่านมายังสถานที่ภิกษุยืน นั่ง หรือนอน เธอมองเห็น ๑ ภิกษุเดินสวนทางไปพบเข้า ๑ มีเหตุจำเป็น ๑ มีอันตราย ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๒๐-๖๒๑
       ๑. ช้าง ๑ เชือก มีทหารประจำ ๑๒ คน ดังนี้คือ พลขับขี่ ๔ คน พลรักษาประจำเท้าช้างเท้าละ ๒ คน = ๘ คน
       - ม้า ๑ ม้า มีทหารประจำ ๓ คน คือ พลขับขี่ ๑ คน พลรักษาประจำเท้า ๒ คน
       - รถ ๑ คัน มีทหารประจำ ๔ คน คือ สารถี (คนขับ) ๑ คน นักรบ (นายทหาร) ๑ คน พลรักษาสลักเพลา ๒ คน
       - พลเดินเท้า มีพลอย่างนี้ คือ ทหารถืออาวุธครบมือ ๔ คน
       กองทัพประกอบด้วยองค์ ๔ นี้ โดยกำหนดอย่างต่ำชื่อว่า เสนา เมื่อไปดูเสนาเช่นนี้เป็นทุกกฎทุกๆ ย่างเท้า
       - กองทัพถูกอะไรๆ บังไว้ หรือว่าลงสู่ที่ลุ่ม มองไม่เห็น คือ ภิกษุยืนในที่นี้แล้วไม่อาจมองเห็น เพราะเหตุนั้นเมื่อภิกษุไปยังสถานที่อื่นเพื่อดู เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ประโยค
       - บรรดาองค์ ๔ มีช้างเป็นต้น แต่ละองค์ๆ ชั้นที่สุดช้าง ๑ เชือก มีพลขับ ๑ คนก็ดี พลเดินเท้าอาวุธ ๑ คนก็ดี พระราชาชื่อว่าไม่ได้เสด็จยกกองทัพ (ยังไม่ครบองค์เสนา), เสด็จไปประพาสพระราชอุทยานหรือแม่น้ำ อย่างนี้ชื่อว่า ไม่ได้ทรงยาตราทัพ
       ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเหมือนเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
ปมาทํ อปฺปมาเทน    ยถา นุทติ ปณฺฑิโต
ปญฺญาปาสาทมารุยฺห    อโสโก โสกินี ปชํ
ปพฺพตฎฺโฐว ภุมฺมฎฺเฐ    ธีโร พาเล อเวกฺขติ ฯ ๒๘ ฯ

เมื่อใดบัณฑิตกำจัดความประมาทด้วยความไม่ประมาท เมื่อนั้นเขานับว่า ได้ขึ้นสู่
ปราสาทคือปัญญา ไร้ความเศร้าโศก สามารถมองเห็นประชาชนผู้โง่เขลา ผู้ยัง
ต้องเศร้าโศกอยู่ เหมือนคนยืนบนยอดภูเขา มองลงมาเห็นฝูงชนที่ยืนอยู่บนพื้นดิน ฉะนั้น

When banishing carelessness by carefulness,
The sorrowless, wise one ascends the terrace of wisdom
And surveys the ignorant, sorrowing folk
As one standing on a mountain the groundlings.  
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

no.28


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 พฤศจิกายน 2562 15:51:08

ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๙๘)
ภิกษุพึงอยู่ในกองทัพเพียง ๓ วัน เป็นอย่างยิ่ง ถ้าเหตุที่ต้องไปมีอยู่
ถ้าอยู่เกินกว่ากำหนดนั้น ต้องปาจิตตีย์
(ต่อ)

       พระฉัพพัคคีย์ มีกิจจำเป็นต้องเดินผ่านกองทัพไป แล้วอยู่พักแรมในกองทัพ ๓ คืน ประชาชนเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงได้พักแรมอยู่ในกองทัพเล่า มิใช้ลาภของพวกเรา แม้พวกเราที่มาอยู่ในกองทัพ เพราะเหตุแห่งอาชีพ เพราะเหตุแห่งบุตรภรรยา
      ภิกษุทั้งหลายได้ยินต่างพากันเพ่งโทษ แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ปัจจัยบางอย่างเพื่อไปสู่เสนา มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นพึงอยู่ในเสนาได้เพียง ๒-๓ คืน ถ้าอยู่ยิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
        - คำว่า ถ้าอยู่ยิ่งกว่านั้น คือ เมื่ออาทิตย์อัสดงในวันที่ ๔ แล้ว ภิกษุยังอยู่ในกองทัพ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. เกิน ๓ คืน ภิกษุรู้ว่าเกิน อยู่ในกองทัพ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. เกิน ๓ คืน ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. เกิน ๓ คืน ภิกษุคิดว่ายังไม่เกิน... ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ยังไม่ถึง ๓ คืน ภิกษุคิดว่าเกิน... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ถ้ายังไม่ถึง ๓ คืน ภิกษุสงสัย... ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ยังไม่ถึง ๓ คืน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ถึง... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุอยู่ ๒-๓ คืน ๑  ภิกษุอยู่ไม่ถึง ๒-๓ คืน ๑  ภิกษุอยู่ ๒ คืน แล้วออกไปก่อนอรุณของคืนที่ ๓ ขึ้น แล้วกลับอยู่ใหม่ ๑  ภิกษุอาพาธพักแรมอยู่ ๑  อยู่ด้วยกิจธุระของภิกษุอาพาธ ๑  ตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึก ๑  มีเหตุบางอย่างขัดขวางไว้ ๑ มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๒๔ 
      ๑. ถ้าแม้นภิกษุสำเร็จอิริยาบถบางอิริยาบถบนอากาศด้วยฤทธิ์ จะยืนหรือนั่งหรือนอนก็ตามที เป็นปาจิตตีย์ทั้งนั้น
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓   




ปาจิตตีย์ อเจลกวรรคที่ ๕ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๙๙)
ภิกษุอยู่ในกองทัพตามกำหนด ถ้าไปดูเขารบกัน ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์อยู่ในกองทัพ ๒-๓ คืน เธอไปสู่สนามรบบ้าง ไปสู่ที่พักพลบ้าง ไปสู่ที่จัดขบวนทัพบ้าง ไปดูกองทัพที่จัดเป็นขบวนแล้วบ้าง  พระฉัพพัคคีย์รูปหนึ่งไปสู่สนามรบแล้วถูกยิงด้วยลูกปืน คนทั้งหลายจึงล้อเธอว่า พระคุณเจ้าคงรบเก่งมาแล้วกระมัง พระคุณเจ้าได้คะแนนเท่าไร เธอถูกเขาล้อได้เก้อเขินแล้ว ชาวบ้านจึงพากันติเตียน... ภิกษุทั้งหลายได้ยินพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “ถ้าภิกษุอยู่ในเสนา ๒-๓ คืน ไปสู่สนามรบก็ดี ไปสู่ที่พักพลก็ดี ไปสู่ที่จัดขบวนทัพก็ดี ไปดูกองทัพที่จัดเป็นขบวนแล้วก็ดี เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า สนามรบ ได้แก่ สถานที่ที่มีการรบพุ่งกันอยู่
      - ที่ชื่อว่า ที่พักพล ได้แก่ สถานที่พักกองช้าง กองม้า กองรถ กองพลเดินเท้า
      - ที่ชื่อว่า ที่จัดขบวนทัพ ได้แก่ สถานที่ซึ่งเขาจัดว่า กองช้างจงอยู่ทางนี้ กองม้าจงอยู่ทางนี้ เป็นต้น
      - ที่ชื่อว่า กองทัพที่จัดเป็นขบวนแล้ว ได้แก่ กองทัพช้าง ๑  กองทัพม้า ๑  กองทัพเดินเท้า ๑  กองทัพช้างอย่างต่ำมี ๓ เชือก  กองทัพม้าอย่างต่ำมี ๓ ม้า  กองทัพรถอย่างต่ำมี ๓  คัน  กองพลเดินเท้าอย่างต่ำมีทหารถือปืน ๔ คน

อาบัติ
      ๑. ภิกษุไปเพื่อจะดู ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๒. ภิกษุยืนอยู่ในสถานที่เช่นไรมองเห็น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. ภิกษุละทัศนูปจารแล้ว ยังมองดูอยู่อีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุไปเพื่อจะดูกองทัพแต่ละกอง ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๕. ภิกษุยืนดูอยู่ในที่ใดมองเห็น ต้องอาบัติทุกกฎ
      ๖. ภิกษุละทัศนูปจารแล้วยังมองดูอีก ต้องอาบัติทุกกฎ

อนาบัติ
      ภิกษุอยู่ในอารามมองเห็น ๑  การรบพุ่งมายังสถานที่ที่ภิกษุยืน นั่ง หรือนอน  เธอมองเห็น ๑  ภิกษุเดินทางไกลสวนไปพบเข้า ๑  มีกิจจำเป็นต้องเดินไปพบเข้า ๑  มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๒๘ 
      ๑. ชนทั้งหลายยกพวกไปรบกัน ณ ที่นี้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า สนามรบ,  คำว่า อุยโยธิกะนี้ เป็นชื่อแห่งที่สัมปหารกัน (ยุทธภูมิหรือสมรภูมิ)
      พวกชนย่อมรู้จักที่พักของพลรบ ณ ที่นี้  ที่นั้นจึงชื่อว่า ที่พักพล ได้ความว่า สถานที่ตรวจพล
      - การจัดขบวนทัพ ชื่อว่า เสนาพยูหะ,  คำว่า เสนาพยูหะ นี้เป็นชื่อแห่งการจัดขบวนทัพ
      ๒. สิกขาบทนี้พึงทราบสมุฏฐานเป็นต้นโดยนัยที่กล่าวแล้วในอุยยุตตสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๘) ที่กล่าวแล้ว



ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๐)
ภิกษุดื่มสุราและเมรัย ต้องปาจิตตีย์

       พระสาคตะปราบพญานาคได้ พวกอุบาสกชาวเมืองโกสัมพีทราบข่าว จึงเข้าไปหาท่านถามว่า ท่านขอรับ อะไรเป็นของหายาก และเป็นของชอบของพระคุณเจ้า พวกกระผมจะจัดของอะไรถวายดี พระฉัพพัคคีย์ตอบว่า มีอยู่  ท่านทั้งหลาย สุราใสสีแดงดังเท้านกพิราบ เป็นของหายาก ทั้งเป็นของชอบของพวกพระ ท่านทั้งหลายจงนำมาถวายเถิด
      พวกอุบาสกจัดเตรียมไว้ทุกครัวเรือน เมื่อพระสาคตะเดินมาบิณฑบาต จึงถวายให้ดื่ม ท่านดื่มจนล้มกลิ้งอยู่ที่ประตูเมือง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา รับสั่งให้หามพระสาคตะไป แล้วจัดให้นอนหันศีรษะไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่พระสาคตะได้พลิกกลับ หันเท้าทั้งสองไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้าๆ รับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า สาคตะเคยมีความเคารพตถาคต เคยต่อสู้กับพญานาคมิใช่หรือ? ภิกษุกราบทูลว่า เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า รับสั่งว่า เดี๋ยวนี้สาคตะสามารถจะต่อสู้แม้กับงูน้ำได้หรือ?  ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า
      ทรงติเตียนพระสาคตะ แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะดื่มสุราและเมรัย”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า สุรา ได้แก่ สุราที่ทำด้วยแป้ง ทำด้วยขนม ทำด้วยข้าวสุก หมักด้วยส่าเหล้าที่ผสมด้วยเครื่องปรุง
      - ที่ชื่อว่า เมรัย ได้แก่ น้ำดองดอกไม้ น้ำดองผลไม้ น้ำดองน้ำผึ้ง น้ำดองน้ำอ้อยงบ น้ำดองที่ผสมด้วยเครื่องปรุง
      - ดื่ม คือ ดื่มโดยที่สุดแม้ปลายหญ้าคา ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. น้ำเมา (สุราและเมรัย) ภิกษุรู้ว่าเป็นน้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. น้ำเมา ภิกษุสงสัย ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๓. น้ำเมา ภิกษุคิดว่าไม่ใช่น้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๔. ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุคิดว่าเป็นน้ำเมา ดื่ม ต้องอาบัติทุกกฏ
      ๕. ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุสงสัย ดื่ม ต้องอาบัติทุกกฏ
      ๖. ไม่ใช่น้ำเมา ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่น้ำเมา ดื่ม ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ดื่มน้ำที่มีกลิ่นรสเหมือนน้ำเมา แต่ไม่ใช่น้ำเมา ๑  ดื่มน้ำเมาที่เจือในแกง ๑  ที่เจือลงในเนื้อ ๑  ที่เจือลงในน้ำมัน ๑  น้ำเมาในน้ำอ้อยที่ดองมะขามป้อม ๑  ดื่มยาดองอริฏฐะซึ่งไม่ใช่ของเมา ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๓๕-๖๓๖ 
      ๑. เมรัยที่เขาทำด้วยรสแห่งดอกมะซางเป็นต้น ชื่อว่า ปุปผาสวะ,  เมรัยที่เขาคั้นผลลูกจันทน์ เป็นต้น แล้วทำด้วยรสแห่งผลลูกจันทน์เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ผลาสวะ,  เมรัยที่เขาทำด้วยรสชาติแห่งผลลูกจันทน์ (หรือองุ่น) เป็นต้น ชื่อว่า มัธวาสวะ,  อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เขาทำด้วยน้ำผึ้งก็มี,  เมรัยที่ชื่อว่า คุฬาสวะ เพราะเขาทำด้วยน้ำอ้อยสด เป็นต้น
      ธรรมดาสุราที่เขาใส่เชื้อแป้ง กระทำด้วยรสแม้แห่งจั่นมะพร้าวเป็นต้น ย่อมถึงการนับว่าสุราทั้งนั้น อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เมื่อตักเอาน้ำใสแห่งสุราใส่เชื้อแล้วนั่นแล ที่เหลือย่อมถึงการนับว่าเมรัยทั้งนั้น
      ๒. ภิกษุดื่มสุราหรือเมรัยนั่นตั้งแต่เชื้อ แม้ด้วยปลายหญ้าคา เป็นปาจิตตีย์ แต่เมื่อดื่มแม้มากด้วยประโยคเดียว เป็นอาบัติเพียงตัวเดียว เมื่อดื่มขาดเป็นระยะๆ เป็นอาบัติมากตัวโดยนัยประโยค
      ๓. ชนทั้งหลายใส่น้ำเมาลงนิดหน่อยเพื่ออบกลิ่นแล้วต้มแกง ไม่เป็นอาบัติในเพราะแกงใส่น้ำเมาเล็กน้อยนั้น แม้ในต้มเนื้อก็นัยนี้เหมือนกัน
      ก็ชนทั้งหลายย่อมเจียวน้ำมันกับน้ำเมา แม้เพื่อเป็นยาระงับลม ไม่เป็นอาบัติในน้ำมันแม้นั้นที่ไม่ได้เจือน้ำเมาจนเกินไปเท่านั้น, ในน้ำมันที่เจือน้ำเมาจัดไปจนมีสีกลิ่นและรสแห่งน้ำเมาปรากฏ เป็นอาบัติแท้
      - ในยาดองชื่อ อริฏฐะ ซึ่งไม่ใช่น้ำเมา ไม่เป็นอาบัติ, ได้ยินว่าชนทั้งหลายทำยาดอง ชื่อ อริฏฐะ ด้วยรสแห่งมะขามป้อมเป็นต้นนั้นแหละ ยาดองนั้นมีสี กลิ่น และรส คล้ายน้ำเมา แต่ไม่เมา ทรงหมายเอายาดองชื่ออริฏฐะนั้น แต่ยาดองอริฏฐะที่เขาปรุงด้วยเครื่องปรุง จัดเป็นน้ำเมา ไม่ควรตั้งแต่เชื้อ
      ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ (แม้ไม่มีเจตนาล่วงละเมิด หากกลืนกินเข้าไปก็ไม่พ้นอาบัติ) เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต), พึงทราบว่า เป็นอจิตตกะ เพราะไม่รู้วัตถุ (ไม่รู้ว่าเป็นน้ำเมา),  โลกวัชชะ เพราะพึงดื่มด้วยอกุศลจิตเท่านั้น 



ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๑)
ภิกษุจี้ให้ภิกษุอื่นหัวเราะ ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์ได้จี้ภิกษุรูปหนึ่งด้วยนิ้วมือให้หัวเราะ เธอหัวเราะ เหนื่อย หายใจไม่ทัน ได้มรณภาพลง บรรดาภิกษุต่างเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะจี้ด้วยนิ้วมือ”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า จี้ด้วยนิ้วมือ คือ ใช้นิ้วจี้อุปสัมบัน มีความประสงค์จะยังอุปสัมบันให้หัวเราะ ถูกต้องกายด้วยกาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อาบัติ
      ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรูว่าเป็นอุปสัมบัน ใช้นิ้วมือจี้ให้หัวเราะ ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุเอากายถูกต้องของเนื่องด้วยกาย หมายให้หัวเราะ ต้องทุกกฏ
      ๕. ภิกษุเอาของเนื่องด้วยกายถูกต้องกาย.. ต้องทุกกฏ
      ๖. ภิกษุเอาของเนื่องด้วยกายถูกต้องของเนื่องด้วยกาย... ต้องทุกกฏ
      ๗. ภิกษุเอาของโยนถูกต้องกาย ต้องทุกกฏ
      ๘. ภิกษุเอาของโยนถูกต้องของโยน... ต้องทุกกฏ
      ๙. ภิกษุเอาของโยนถูกต้องอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
      ๑๐. ภิกษุเอากายถูกต้องกายอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
      ๑๑. ภิกษุเอากายถูกต้องของเนื่องด้วยกายอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
      ๑๒. ภิกษุเอาของเนื่องด้วยกายถูกต้องกาย... ต้องทุกกฏ
      ๑๓. ภิกษุเอาของเนื่องด้วยกายถูกต้องของเนื่องด้วยกาย... ต้องทุกกฏ
      ๑๔. ภิกษุเอาของโยนถูกต้องกาย... ต้องทุกกฏ
      ๑๕. ภิกษุเอาของโยนถูกต้องของเนื่องด้วยกาย... ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่ประสงค์จะให้หัวเราะ เมื่อมีกิจจำเป็น ถูกต้องเข้า ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๔๐
      ๑. ตรัสหมายเอานิ้วจี้รักแร้เป็นต้น, นางภิกษุณีก็ตั้งอยู่ในฐานแห่งอนุปสัมบันในสิกขาบทนี้ เมื่อภิกษุถูกต้องนางภิกษุณีด้วยประสงค์จะเล่น ก็เป็นทุกกฏ
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิกสิกขาบท เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)   



ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๒)
ภิกษุเล่นน้ำ ต้องปาจิตตีย์

       พระสัตตรสวัคคีย์ เล่นน้ำในแม่น้ำอจิรวดี ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะธรรม คือ เล่นน้ำ”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า ธรรม คือ เล่นน้ำ ความว่า ในน้ำลึกพ้นข้อเท้าขึ้นไป ภิกษุมีความประสงค์จะรื่นเริง ดำลงก็ดี ผุดขึ้นก็ดี ว่ายไปก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. เล่นน้ำ ภิกษุรู้ว่าเล่น ต้องปาจิตตีย์
      ๒. เล่นน้ำ ภิกษุสงสัย ต้องปาจิตตีย์
      ๓. เล่นน้ำ ภิกษุคิดว่ามิได้เล่น ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุเล่นน้ำตื้นใต้ข้อเท้า ต้องทุกกฏ
      ๕. ภิกษุเล่นเรือ ต้องทุกกฏ
      ๖. ภิกษุเอามือวักน้ำก็ดี เอาเท้าแกว่งน้ำก็ดี เอาไม้ขีดน้ำก็ดี เอากระเบื้องปาน้ำเล่นก็ดี ต้องทุกกฏ
      ๗. น้ำ น้ำส้ม น้ำนมเปรี้ยว น้ำย้อม น้ำปัสสาวะ หรือน้ำโคลน ซึ่งขังอยู่ในภาชนะ ภิกษุเล่น ต้องทุกกฏ
      ๘. ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุสำคัญว่าเล่น ต้องทุกกฏ
      ๙. ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฏ
      ๑๐. ไม่ได้เล่นน้ำ ภิกษุรู้ว่าไม่ได้เล่น ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่ประสงค์จะเล่น แต่เมื่อมีกิจจำเป็นเป็นลงน้ำแล้ว ดำลงก็ดี ผุดขึ้นก็ดี ว่ายไปก็ดี ๑  ภิกษุจะข้ามฟาก ดำลงก็ดี ผุดขึ้นก็ดี ว่ายไปก็ดี ๑  มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๔๔-๖๔๕ 
      ๑. “ประสงค์จะเล่น” เมื่อหยั่งลงเพื่อต้องการจะดำลง เป็นทุกกฏทุกๆ ย่างเท้า, ในการดำลงและผุดขึ้นเป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ประโยค, ภิกษุดำลงว่ายไปภายในน้ำนั่นเอง เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ครั้งที่ขยับเท้าในที่ทั้งปวง
      - เมื่อใช้มือทั้ง ๒ ว่ายข้ามไป เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ครั้งที่ขยับมือ แม้ในเท้าทั้ง ๒ ก็นัยนี้นั่นแล ภิกษุว่ายข้ามไปด้วยอวัยวะใดๆ เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ประโยคแห่งอวัยวะนั้นๆ ภิกษุกระโดดลงในน้ำ จากฝั่งก็ดี จากต้นไม้ก็ดี เป็นปาจิตตีย์เหมือนกัน
      - ภิกษุเล่นเรือด้วยพายและถ่อเป็นต้น หรือเข็นเรือขึ้นบนตลิ่ง ชื่อว่า เล่นเรือ เป็นทุกกฏ
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเหมือนปฐมปาราชิก เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)   



ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๓)
ภิกษุแสดงความไม่เอื้อเฟื้อในบุคคลและในธรรม ต้องปาจิตตีย์

       พระฉันนะประพฤติอนาจาร ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านอย่าได้ทำเช่นนั้น การกระทำเช่นนั้นไม่ควร แต่พระฉันนะไม่เอื้อเฟื้อ ยังคงทำอยู่อย่างเดิม ภิกษุทั้งหลายติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความไม่เอื้อเฟื้อ”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า ความไม่เอื้อเฟื้อ ได้แก่ ความไม่เอื้อเฟื้อ ๒ อย่างคือ
      ๑. ความไม่เอื้อเฟื้อในบุคคล ได้แก่ ภิกษุผู้อันอุปสัมบันว่ากล่าวอยู่ด้วยพระบัญญัติ แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ โดยอ้างว่า ท่านผู้ที่เตือนเรานี้ ถูกยกวัตร ถูกดูหมิ่น หรือถูกติเตียน เราจักไม่ทำตามถ้อยคำของท่านผู้นี้ ดังนี้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. ความไม่เอื้อเฟื้อในธรรม ได้แก่ ภิกษุผู้อันอุปสัมบันว่ากล่าวอยู่ด้วยพระบัญญัติ แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ โดยอ้างว่า ไฉนหนอ ธรรมข้อนี้จะพึงเสื่อม สูญหาย หรืออันตรธานเสีย ดังนี้ก็ดี ไม่ประสงค์จะศึกษาพระบัญญัตินั้น จึงแสดงความไม่เอื้อเฟื้อก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุอันอุปสัมบันว่ากล่าวอยู่ ด้วยข้อธรรมอันมิใช่พระบัญญัติ แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ โดยอ้างว่า ข้อนี้ไม่เป็นไปเพื่อขัดเกลา ไม่เป็นไปเพื่อกำจัด ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้ที่น่าเลื่อมใส ไม่เป็นไปเพื่อความไม่สะสม ไม่เป็นเป็นไปเพื่อความปรารภความเพียร ต้องทุกกฏ
      ๕. ภิกษุถูกอนุปสัมบันว่ากล่าวอยู่ด้วยพระบัญญัติก็ดี ด้วยข้อธรรมอันมิใช่พระบัญญัติก็ดี แสดงความไม่เอื้อเฟื้อ... ต้องทุกกฏ
      ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
      ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๘. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุกล่าวชี้เหตุว่า อาจารย์ทั้งหลายของพวกข้าพเจ้าเรียนมาอย่างนี้ สอบถามมาอย่างนี้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๔๙ 
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ,  กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)   



ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๔)
ภิกษุหลอนผู้อื่น ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์หลอนพระสัตตรสวัคคีย์ พวกเธอถูกหลอนจึงร้องไห้ ภิกษุทั้งหลายสอบถามทราบความ พากันเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด หลอนซึ่งภิกษุ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - บทว่า หลอน (หลอก) ความว่า อุปสัมบันมุ่งจะหลอนอุปสัมบัน แสดงรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี เธอผู้ถูกหลอนนั้นตกใจก็ตาม ไม่ตกใจก็ตาม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
อุ       ปสัมบันมุ่งจะหลอนอุปสัมบัน บอกเล่าทางกันดารเพราะโจรก็ดี ทางกันดารเพราะสัตว์ร้ายก็ดี ทางกันดารเพราะปีศาจก็ดี เธอจะตกใจก็ตาม ไม่ตกใจก็ตาม ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน หลอน ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย หลอน ต้องปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน หลอน ต้องปาจิตตีย์
      ๔. อุปสัมบันมุ่งจะหลอนอนุปสัมบัน แสดงรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี เขาจะตกใจก็ตาม ไม่ตกใจก็ตาม ต้องทุกกฏ
      ๕. อุปสัมบันมุ่งจะหลอนอนุปสัมบัน บอกเล่าทางกันดาร... ต้องทุกกฏ
      ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน หลอน ต้องทุกกฏ
      ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย หลอน ต้องทุกกฏ
      ๘. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน หลอน ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่ประสงค์จะหลอน แต่แสดงรูปก็ดี เรื่องก็ดี เป็นต้น ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๕๒ 
      ๑. การนำรูปเข้าไปแสดงเป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้ว ในมนุสสวิคคหสิกขาบท (ปาราชิก สิกขาบทที่ ๓)
      - ส่วนสมุฏฐานเป็นต้น เป็นเช่นเดียวกับอนาทริยสิกขาบท ว่าด้วยความไม่เอื้อเฟื้อ (สิกขาบทที่ ๔ ข้อก่อน) ที่กล่าวแล้ว 


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ   สุตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสํว สีฆสฺโส   หิตฺวา ยาติ สุเมธโส ฯ ๒๙ ฯ   
ผู้มีปัญญามักไม่ประมาท เมื่อคนอื่นพากันประมาท และตื่น เมื่อคนอื่นหลับอยู่
เขาจึงละทิ้งคนเหล่านั้นไปไกล เหมือนม้าฝีเท้าเร็ว วิ่งเลยม้าแกลบ ฉะนั้น 

Heedful among the heedless, Wide-awake among those asleep,
The wise man advances As a swift horse leaving a weak nag behind.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
nc.30




หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 14:45:14

ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๕)
ภิกษุไม่เป็นไข้ ติดไฟเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นติดก็ดี เพื่อจะผิง ต้องปาจิตตีย์

       เมื่อฤดูหนาว ภิกษุทั้งหลายได้ก่อไฟที่ขอนไม้มีโพรงท่อนหนึ่ง แล้วผิง  งูเห่าที่นอนอยู่ในโพรงได้เลื้อยออกมาไล่พวกภิกษุๆ ได้วิ่งหนีไปที่อื่น บรรดาภิกษุผู้มักน้อยต่างติเตียน แล้วกราบทูล... จึงทรงมีพระบัญญัติ (ห้ามติดไฟ)...   
       สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายอาพาธ... กราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า…
      “อนึ่ง ภิกษุใด มิใช่ผู้อาพาธ มุ่งการผิง ติดก็ดี ให้ติดก็ดี ซึ่งไฟ เว้นไว้แต่ปัจจัยมีอย่างนั้น เป็นรูป เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
        - มิใช่ผู้อาพาธ คือ เว้นไฟก็ยังมีความผาสุก, ผู้อาพาธ คือ ผู้เว้นไฟแล้วไม่มีความผาสุก
       - มุ่งการผิง คือ ประสงค์จะให้ร่างกายอบอุ่น, ไฟท่านเรียกว่า อัคคี
       - ติดเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์, ให้ผู้อื่นติด ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุสั่งหนเดียว แต่เขาติดแม้หลายหน ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       - เว้นไว้แต่ปัจจัยมีอย่างนั้นเป็นรูป คือ ยกเว้นในคราวอาพาธ และยกเว้นการจุดตามประทีป เป็นต้น

อาบัติ
      ๑. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุรู้ว่ามิใช่ผู้อาพาธ มุ่งการผิง ติดก็ดี ให้ติดก็ดี ซึ่งไฟ เว้นไว้แต่มีปัจจัยเห็นปานนั้น ต้องปาจิตตีย์
      ๒. มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
       ๓ มิใช่ผู้อาพาธ ภิกษุคิดว่าเป็นผู้อาพาธ... ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ภิกษุยกฟืนที่ติดไฟไว้ในที่เดิม... ต้องทุกกฏ
       ๕. ผู้อาพาธ ภิกษุคิดว่ามิใช่ผู้อาพาธ... ต้องทุกกฏ
       ๖. ผู้อาพาธ ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๗. ผู้อาพาธ ภิกษุรู้ว่าเป็นผู้อาพาธ... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
       ภิกษุอาพาธ ๑  ผิงไฟที่ผู้อื่นติดไว้ ผิงถ่านไฟที่ปราศจากเปลวไฟ ๑  ตามประทีป ก่อไฟใช้อย่างอื่น ติดไฟในเรือนไฟ ๑  มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๕๗-๖๕๘
      ๑. ภิกษุยกดุ้นฟืนที่กำลังติดไฟ ซึ่งตกลงไปขึ้นมา อธิบายว่า ยกวางไว้ในที่เดิมอีก เมื่อภิกษุหยิบดุ้นฟืนที่ไฟยังไม่ดับอย่างนี้ ใส่ลงไปเท่านั้น เป็นทุกกฏ แต่เป็นปาจิตตีย์แท้แก่ภิกษุผู้ก่อไฟฟืนที่ไฟดับแล้วให้ลุกอีก
       ๒. ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ก่อไฟเพราะมีอันตรายเพราะถูกงูกัด ถูกโจรล้อม เนื้อร้าย และอมนุษย์ขัดขวาง เป็นต้น
       ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ 




ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๖)
ภิกษุอยู่ในมัชฌิมประเทศ ๑๕ วันจึงอาบน้ำได้หนหนึ่ง
ถ้ายังไม่ถึง ๑๕ วันอาบน้ำ ต้องปาจิตตีย์ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น

       ภิกษุทั้งหลายพากันสรงน้ำในแม่น้ำตโปทา ขณะนั้นพระเจ้าพิมพิสารมีพระราชประสงค์จะทรงสรงสนานพระเศียรเกล้า จึงเสด็จประทับรอ ตั้งพระทัยว่าจักรอจนกว่าพระคุณเจ้าสรงน้ำเสร็จ เวลาได้ล่วงจนถึงพลบค่ำ ภิกษุทั้งหลายจึงสรงเสร็จ พระราชาจึงทรงสรงสนานพระเศียรเกล้า ประตูพระนครปิด ท้าวเธอต้องประทับแรมนอกพระนคร รุ่งเช้าจึงเสด็จเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบ จึงทรงมีพระบัญญัติว่า…“อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำ เป็นปาจิตตีย์”
      สมัยต่อมาเป็นฤดูร้อน ภิกษุทั้งหลายมีกายชุ่มด้วยเหงื่อ กระวนกระวาย กราบทูล... จึงทรงมีพระอนุบัญญัติอนุญาตให้อาบน้ำได้...
      ต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำได้
      ภิกษุทำนวกรรม (ทำการงาน) ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำได้
      ภิกษุเดินทางไกล ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำได้
      ภิกษุทำจีวร กายถูกต้องลมผสมธุลี ทั้งฝนก็ตกโปรยปราย จึงกราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย เป็นปาจิตตีย์ สมัยในเรื่องนั้น คือ เดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน เดือนต้นแห่งฤดูฝน สองเดือนกึ่งนี้เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย คราวเจ็บไข้ คราวทำการงาน คราวไปทางไกล คราวฝนมากับพายุ นี้เป็นสมัยในเรื่องนั้น”

อรรถาธิบาย
        - ยังหย่อนกึ่งเดือน คือ ยังไม่ถึงครึ่งเดือน
       -  บทว่า อาบน้ำ ได้แก่ อาบน้ำด้วยจุรณหรือดินเหนียว เป็นทุกกฏในประโยค (ในการอาบ) เมื่ออาบเสร็จต้องอาบัติปาจิตตีย์
       - ที่ชื่อว่า คราวร้อน คือ เดือนกึ่งท้ายร้อน
      - คราวกระวนกระวาย คือ เดือนต้นแห่งฤดูฝน ภิกษุอาบน้ำได้ เพราะถือว่าสองเดือนกึ่งนี้เป็นคราวร้อน เป็นคราวกระวนกระวาย
      - คราวเจ็บไข้ คือ เว้นอาบน้ำย่อมไม่สบาย
      - คราวทำการงาน คือ โดยที่สุดแม้กวาดบริเวณ ก็ชื่อว่า คราวทำการงาน
      - คราวเดินทางไกล คือ ภิกษุตั้งใจว่า จักเดินทางกึ่งโยชน์ อาบน้ำได้ คือ ตอนจะไปอาบน้ำได้ ไปถึงแล้วก็อาบได้
      - คราวฝนมากับพายุ คือ ภิกษุทั้งหลายถูกต้องผสมฝุ่น หยาดฝนตกถูกต้องกาย ๒-๓ หยาด ก็อาบได้
       
อาบัติ
      ๑. หย่อนกึ่งเดือน ภิกษุรู้ว่าหย่อน อาบน้ำ เว้นไว้แต่สมัย ต้องปาจิตตีย์
      ๒. หย่อนกึ่งเดือน ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
      ๓. หย่อนกึ่งเดือน ภิกษุคิดว่าเกิน... ต้องปาจิตตีย์
      ๔. เกินกึ่งเดือน ภิกษุคิดว่าหย่อน... ต้องทุกกฏ
      ๕. เกินกึ่งเดือน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๖. เกินกึ่งเดือน ภิกษุรู้ว่าเกิน... ไม่ต้องอาบัติ     

อนาบัติ
       อาบในสมัย ๑  อาบในเวลากึ่งเดือน ๑  อาบในเวลาเกินกึ่งเดือน ๑  ข้ามฟาก ๑  ภิกษุอาบน้ำในปัจจันตชนบททุกๆ แห่ง ๑  อาบเพราะมีอันตราย (ถูกแมลงภู่เป็นต้นไล่ต่อย จะดำลงในน้ำก็ควร) ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๖๖
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓ 



ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๗)
ภิกษุได้จีวรใหม่ ต้องพินทุด้วยสี ๓ อย่าง จึงนุ่งห่มได้
ถ้าไม่ทำพินทุก่อนแล้วนุ่งห่ม ต้องปาจิตตีย์ ต้องปาจิตตีย์

       พวกภิกษุกับปริพาชกต่างพากันเดินทางจากเมืองสาเกตไปยังพระนครสาวัตถี ในระหว่างทางถูกพวกโจรแย่งชิงจีวร พวกเจ้าหน้าที่จับโจรเหล่านั้นได้พร้อมทั้งของกลาง แล้วสั่งทูตแจ้งให้ภิกษุเดินทางมารับจีวรของตนๆ ภิกษุทั้งหลายจำจีวรของตนๆ ไม่ได้ พวกชาวบ้านพากันเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยิน... กราบทูล...  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระบัญญัติว่า…
      “อนึ่ง ภิกษุได้จีวรมาใหม่ พึงถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ของเขียวครามก็ได้ตมก็ได้ ของดำคล้ำก็ได้ ถ้าภิกษุไม่ถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้จีวรใหม่ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
        - ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ ผ้า ๖ ชนิด ชนิดใดชนิดหนึ่ง
       - พึงถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง นั้นคือพึงถือที่สุดแม้ด้วยปลายหญ้าคา
       - ที่ชื่อว่า ของเขียวคราม ได้แก่ ของเขียวคราม ๒ อย่าง คือ ของเขียวครามเหมือนสำริดอย่าง ๑ ของเขียวครามเหมือนน้ำใบไม้เขียวอย่าง ๑
       - ที่ชื่อว่า สีตม ตรัสว่า สีน้ำตม
       - ที่ชื่อว่า สีดำคล้ำ ได้แก่ สีดำคล้ำชนิดใดชนิดหนึ่ง
       - ถ้าภิกษุไม่ถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น โดยที่สุดแม้ปลายหญ้าคา แล้วใช้จีวรใหม่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. มิได้ถือเอา (มิได้ทำให้เสียสี) ภิกษุรู้ว่ามิได้ถือเอา ใช้นุ่งห่ม ต้องปาจิตตีย์
      ๒. มิได้ถือเอา ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
       ๓ มิได้ถือเอา ภิกษุคิดว่าถือเอาแล้ว... ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ถือเอาแล้ว (ทำให้เสียสีแล้ว) ภิกษุคิดว่ามิได้ถือเอา... ต้องทุกกฏ
       ๕. ถือเอาแล้ว ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๖. ถือเอาแล้ว ภิกษุรู้ว่าถือเอาแล้ว... ไม่ต้องอาบัติ
     
อนาบัติ
       ภิกษุถือเอาแล้วนุ่งห่ม ๑  ภิกษุนุ่งห่มจีวรที่มีเครื่องหมายหายสูญไป ๑  ภิกษุนุ่งห่มจีวรที่มีโอกาสทำเครื่องหมายไว้ แต่จางไป ๑  ภิกษุนุ่งห่มจีวรที่ยังมิได้ทำเครื่องหมาย แต่เย็บติดกับจีวรที่ทำเครื่องหมายแล้ว ๑  นุ่งห่มผ้าปะ ๑  นุ่งห่มผ้าทาบ ๑  ใช้ผ้าดาม ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๗๐-๖๗๑
      ๑. บทว่า กํสนีลํ คือสีเขียวของช่างหนัง แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า สนิมเหล็ก สนิมโลหะนั้น ชื่อว่า สีเขียวเหมือนสำริด
          - บทว่า ปลาสนีลํ ได้แก่น้ำใบไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสีเขียวคราม 
          - พระผู้มีพระภาคเจ้า หมายเอากัปปพินทุ (จุดเครื่องหมาย) มิได้ตรัสหมายถึงการกระทำจีวรทั้งผืนให้เสียสี ด้วยสีเขียวเป็นต้น  ก็แล เมื่อภิกษุเมื่อจะถือเอากัปปะนั้นย้อมจีวรแล้ว พึงถือเอาจุดเครื่องหมายเท่าแววตาขนนกยูง หรือว่าหลังตัวเรือด ที่มุมทั้ง ๔ หรือที่มุมทั้ง ๓ ทั้ง ๒ หรือมุมทั้ง ๓ ทั้ง ๒ หรือมุมเดียวก็ได้
           แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า จะถือเอาพินทุกัปปะที่ผืนผ้า หรือลูกดุม ไม่ควร  แต่ในมหาอรรถกถากล่าวว่า ควรแท้  ก็กัปปะที่เป็นแนว และกัปปะที่เป็นช่อ เป็นต้น ท่านห้ามไว้ในทุกๆ อรรถกถา เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรทำกัปปะโดยวิการ แม้อะไรอย่างอื่น เว้นจุดกลมจุดเดียว         
      ๒. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
           พินทุกัปปะ
– การทำพินทุ,  การทำจุดเป็นวงกลม อย่างใหญ่เท่าแววตาขนนกยูง อย่างเล็กเท่าหลังตัวเรือดที่มุมจีวร ด้วยสีเขียวคราม โคลน หรือดำคล้ำ เพื่อทำจีวรให้เสียสีหรือมีตำหนิ ตามวินัยบัญญัติ และเป็นเครื่องหมายช่วยให้จำได้ด้วย
      ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา เป็นอจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อปฺปมาเทน มฆวา เทวานํ เสฎฺฐตํ คโต
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ ปมาโท ครหิดต สทา ฯ ๓๐ ฯ   
ท้าวมฆวานได้เป็นใหญ่กว่าทวยเทพ เพราะผลของความไม่ประมาท
บัณฑิตจึงสรรเสริญความไม่ประมาทและติเตียนความประมาททุกเมื่อ

By vigilance it was that Indra attained the lordship of the gods.
Earnestness is ever praised, Carelessness is ever despised. .
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
nc.31



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 มีนาคม 2563 16:25:12

ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๘)
ภิกษุวิกัปจีวรแก่ภิกษุอื่นแล้วผู้รับยังไม่ได้ถอน นุ่งผ้าจีวรนั้น ต้องปาจิตตีย์

       ท่านพระอุปนันทศากยบุตรวิกัปจีวรเองแก่ภิกษุสัทธิวิหาริกของภิกษุผู้เป็นพี่น้องกัน แล้วใช้สอยจีวรที่ยังไม่ได้ถอนนั้น ภิกษุนั้นเล่าเรื่องนั้นให้แก่ภิกษุทั้งหลายฟัง ต่างพากันตำหนิ แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด วิกัปจีวรเอง แก่ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี สิกขมานาก็ดี สามเณรก็ดี สามเณรีก็ดี แล้วใช้สอยจีวรนั้น ซึ่งไม่ให้เขาถอนก่อน เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า สิกขมานา ได้แก่ สามเณรีผู้มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการ ตลอด ๒ ปี
      - สามเณร ได้แก่ บุรุษผู้ถือสิกขาบท ๑๐, สามเณรี ได้แก่ สตรีผู้ถือสิกขาบท ๑๐
      - ที่ชื่อว่า วิกัป มี ๒ อย่าง คือ วิกัปต่อหน้า ๑ วิกัปลับหลัง ๑
        ที่ชื่อว่า วิกัปต่อหน้า คือ กล่าวคำว่า ข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่ท่าน หรือว่าข้าพเจ้าวิกัปจีวรผืนนี้แก่สหธรรมิกผู้มีชื่อนี้
        ที่ชื่อว่า วิกัปลับหลัง คือ กล่าวคำว่า ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่านเพื่อช่วยวิกัป ภิกษุผู้รับวิกัปนั้นพึงถามว่า ใครเป็นมิตรหรือเป็นผู้เคยเห็นของท่าน พึงตอบว่า ท่านผู้มีชื่อนี้และท่านผู้มีชื่อนี้ ภิกษุผู้วิกัปพึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าให้แก่ภิกษุมีชื่อนั้น และภิกษุมีชื่อนั้น จีวรผืนนี้เป็นของภิกษุเหล่านั้น ท่านจะใช้สอยก็ตาม จะสละก็ตาม จะทำตามปัจจัยก็ตาม
     - ที่ชื่อว่า ซึ่งไม่ให้เขาถอนก่อน คือ ภิกษุใช้สอยจีวรที่ผู้รับวิกัปนั้นยังมิได้คืนให้ หรือไม่วิสาสะแก่ภิกษุผู้รับวิกัปนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. จีวรยังมิได้ถอน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ได้ถอน ใช้สอย ต้องปาจิตตีย์
      ๒. จีวรยังมิได้ถอน ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
      ๓. จีวรยังมิได้ถอน ภิกษุคิดว่าถอนแล้ว... ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุอธิษฐานก็ดี สละให้ไปก็ดี ใช้สอย ต้องทุกกฏ
      ๕. จีวรที่ถอนแล้ว ภิกษุคิดว่ายังไม่ได้ถอน ใช้สอย ต้องทุกกฏ
      ๖. จีวรที่ถอนแล้ว ภิกษุสงสัย ใช้สอย ต้องทุกกฏ
      ๗. จีวรที่ถอนแล้ว ภิกษุรู้ว่าถอนแล้ว ใช้สอย ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุใช้สอยจีวรที่ภิกษุผู้รับวิกัปคืนให้หรือวิสาสะแก่ภิกษุผู้รับวิกัป ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๗๕
      ๑. จีวรที่ยังไม่ได้ถอนวิกัป ได้แก่ จีวรที่ภิกษุผู้รับวิกัปยังไม่กล่าวให้แก่ภิกษุเจ้าของจีวรอย่างนี้ว่า “ท่าจะใช้สอยก็ตาม จะสละก็ตาม จะทำตามปัจจัยก็ตาม”
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายกับวาจา ๑  ทางวาจากับจิต ๑  เป็นทั้งกิริยาและอกิริยา  เป็นอจิตตกะ  เป็นปัณณัติวัชชะ,  กายกรรม  วจีกรรม  มีจิต ๓
      ๓. วิกัป,  วิกัปป์  ได้แก่ ทำให้เป็นของสองเจ้าของ คือ ขอให้ภิกษุสามเณรอื่นร่วมเป็นเจ้าของบาตรหรือจีวรนั้นๆ ด้วย ทำให้ไม่ต้องอาบัติเพราะเก็บอดิเรกบาตรหรืออดิเรกจีวรไว้เกินกำหนด



ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๑๐๙)
ภิกษุซ่อนบริขารของภิกษุอื่น ด้วยคิดว่าจะล้อเล่น ต้องปาจิตตีย์

       พระสัตตรสวัคคีย์เป็นผู้ไม่เก็บงำบริขาร พระฉัพพัคคีย์จึงซ่อนบาตรบ้าง จีวรบ้าง ของพระสัตตรสวัคคีย์ๆ จึงขอร้องว่า อาวุโสทั้งหลาย ขอท่านจงคืนบาตรให้แก่พวกผม จงคืนจีวรให้แก่พวกผม พระฉัพพัคคีย์พากันหัวเราะ ไม่คืน พระสัตตรสวัคคีย์จึงร้องไห้ไปแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ซ่อนก็ดี ให้ซ่อนก็ดี ซึ่งบาตรก็ดี จีวรก็ดี ผ้าปูนั่งก็ดี กล่องเข็มก็ดี ประคดเอวก็ดี ของภิกษุ โดยที่สุดแม้หมายจะหัวเราะ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ผ้าปูนั่ง ตรัสหมายเอาผ้าปูนั่งที่มีชาย
      - ที่ชื่อว่า กล่องเข็ม ได้แก่ กล่องที่เข็มก็ตาม ไม่มีเข็มก็ตาม
      - ที่ชื่อว่า ประคดเอว ได้แก่ ประคดเอว ๒ ชนิด คือ ประคดผ้าชนิดหนึ่ง ประคดไส้สุกรชนิดหนึ่ง, บทว่า ซ่อน คือ ซ่อนเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์, ให้ซ่อน คือ ให้ผู้อื่นซ่อน ต้องปาจิตตีย์, ใช้หนเดียว เขาซ่อนแม้หลายครั้ง ก็ต้องปาจิตตีย์, บทว่า โดยที่สุดหมายจะหัวเราะ คือ มุ่งจะล้อเล่น

อาบัติ
      ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน ซ่อนก็ดี ให้ซ่อนก็ดี ซึ่งบาตรก็ดี จีวรก็ดี ผ้าปูนั่งก็ดี กล่องเข็มก็ดี ประคดเอวก็ดี โดยที่สุดแม้หมายจะหัวเราะ ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุซ่อนก็ดี ให้ซ่อนก็ดี ซึ่งบริขารอย่างอื่น โดยที่สุดแม้หมายจะหัวเราะ ต้องทุกกฏ
      ๕. ภิกษุซ่อนก็ดี ให้ซ่อนก็ดี ซึ่งบาตร จีวร บริขาร อย่างอื่นก็ดี ของอนุปสัมบัน โดยที่สุดแม้หมายจะหัวเราะ ต้องทุกกฏ
      ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
      ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๘. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่มีความประสงค์จะหัวเราะ ๑  ภิกษุเก็บบริขารที่ผู้อื่นวางไว้ไม่ดี ๑  ภิกษุเก็บไว้ด้วยหวังสั่งสอนแล้ว จึงคืนให้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๘๐
      ๑. “บริขารอื่น” มีถุงบาตรเป็นต้น ซึ่งมิได้มาในพระบาลี
          - “หวังสั่งสอน” เช่นว่า เราจักกล่าวธรรมกถาอย่างนี้ว่า ชื่อว่า สมณะเป็นผู้ไม่เก็บงำบริขาร ไม่ควร แล้วจึงจักให้ ดังนี้ไม่เป็นอาบัติ
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  วาจากับจิต ๑  กายวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา  เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ,  กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๐ )
ภิกษุแกล้งฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน ต้องปาจิตตีย์

       ท่านพระอุทายีเป็นผู้ชำนาญในการยิงธนู ท่านไม่ชอบใจนกกาทั้งหลาย จึงได้ยิงมัน แล้วตัดศีรษะนกเสียบหลาวเรียงไว้เป็นลำดับ ภิกษุทั้งหลายสอบถาม ทราบความนั้นจึงพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด แกล้วพรากสัตว์จากชีวิต เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - บทว่า แกล้ง คือ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ ตั้งใจ พยายาม ละเมิด
      - ที่ชื่อว่า สัตว์ ตรัสหมายเอาสัตว์ดิรัจฉาน
      - บทว่า พราก... จากชีวิต ความว่า ตัดทอน บั่นทอน ซึ่งอินทรีย์มีชีวิต ตัดความสืบต่อนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
   
อาบัติ
      ๑. สัตว์มีชีวิต ภิกษุรู้ว่าเป็นสัตว์มีชีวิต พรากชีวิต ต้องปาจิตตีย์
      ๒. สัตว์มีชีวิต ภิกษุสงสัย พรากจากชีวิต ต้องทุกกฏ
      ๓. สัตว์มีชีวิต ภิกษุคิดว่าไม่ใช่สัตว์มีชีวิต... ไม่ต้องอาบัติ
      ๔. ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุคิดว่าเป็นสัตว์มีชีวิต... ต้องทุกกฏ
      ๕. ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๖. ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่สัตว์มีชีวิต... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่แกล้งพราก ๑  ภิกษุพรากด้วยไม่มีสติ ๑  ภิกษุไม่รู้ ๑  ภิกษุไม่ประสงค์จะให้ตาย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๖๘๓-๖๘๔
      ๑. ในคราวเป็นคฤหัสถ์ พระอุทายีเคยเป็นอาจารย์ของพวกนายขมังธนู
           - ในสิกขาบทนี้ จำเพาะสัตว์ดิรัจฉานเท่านั้น
           - ภิกษุฆ่าสัตว์ดิรัจฉานนั้น เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เป็นอาบัติเท่ากัน ไม่มีความต่างกัน แต่ในสัตว์ใหญ่เป็นอกุศลมาก เพราะมีความพยายามมาก
           - ชั้นที่สุด ภิกษุจะทำความสะเอียดเตียงและตั่ง มีความสำคัญแม้ในไข่เรือดว่า เป็นสัตว์เล็ก บี้ไข่เรือดนั้นให้แตกออกเพราะขาดความกรุณา เป็นปาจิตตีย์ เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงตั้งความกรุณาไว้ในฐานะเช่นนั้น เป็นผู้ไม่ประมาททำวัตรเถิด
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้นเหมือน “มนุสสวิคคหสิกขาบท (ปาราชิกข้อที่ ๓)” นั่นแล


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ    ปมาเท ภยทสิสิ วา
สญฺโญชนํ อณุ ถูลํ   ฑหํ อคฺคีว คจฺฉติ ฯ ๓๑ * ฯ   
ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท  เห็นภัยในความประมาท
ย่อมเผากิเลสเครื่องผูกมัดได้ เหมือนไฟเผาเชื้อทุกชนิด

The bhikkhu who delights in earnesstness And discerns dangers in negligence,
Advances, consuming all fetters, Like fire burning fuel, both small and great.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
nc.32



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 พฤษภาคม 2563 15:59:47

ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๑)
ภิกษุรู้อยู่ว่าน้ำนั้นมีสัตว์ บริโภคน้ำนั้น ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์รู้อยู่ว่าน้ำมีตัวสัตว์อยู่ แต่ก็ยังบริโภคน้ำมีตัวสัตว์นั้น ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ บริโภคน้ำมีตัวสัตว์ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือคนอื่นๆ บอกแก่เธอ
      - บทว่า มีตัวสัตว์ ความว่า ภิกษุรู้อยู่ คือ รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายจักตายเพราะการบริโภค ดังนี้ บริโภคต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. น้ำมีตัวสัตว์ ภิกษุรู้ว่ามีตัวสัตว์ บริโภค ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. น้ำมีตัวสัตว์ ภิกษุสงสัย บริโภค ต้องทุกกฏ
      ๓. น้ำมีตัวสัตว์ ภิกษุคิดว่าไม่มีตัวสัตว์  บริโภค ไม่ต้องอาบัติ
      ๔. น้ำไม่มีตัวสัตว์ ภิกษุคิดว่ามีตัวสัตว์... ต้องทุกกฏ
      ๕. น้ำไม่มีตัวสัตว์ ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๖. น้ำไม่มีตัวสัตว์ ภิกษุรู้ว่าไม่มีตัวสัตว์... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่รู้ว่าน้ำมีตัวสัตว์ ๑  ภิกษุรู้ว่าน้ำไม่มีตัวสัตว์ คือ รู้ว่าสัตว์จักไม่ตาย เพราะการบริโภค ดังนี้ บริโภค ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๘๗-๖๘๘ 
      ๑. น้ำมีตัวสัตว์ คือ จำพวกสัตว์เล็กๆ ซึ่งจะตายเพราะการบริโภค ภิกษุรู้อยู่ก็ยังบริโภค ต้องปาจิตตีย์ทุกๆ ประโยค, เมื่อภิกษุดื่มน้ำแม้เต็มบาตรโดยประโยคเดียว ไม่ขาดตอน ก็เป็นอาบัติตัวเดียว ภิกษุเอาน้ำเช่นนั้นแกว่งล้างบาตรมีอามิสก็ดี นำบาตรข้าวต้มร้อนให้เย็นในน้ำเช่นนั้นก็ดี เอามือวักหรือเอากระบวยตักน้ำนั้นอาบก็ดี เป็นปาจิตตีย์ทุกๆ ประโยค
      แม้ภิกษุเข้าไปสู่ตระพังน้ำก็ดี สระโบกขรณีก็ดี ทำให้คลื่นเกิดขึ้น เพื่อต้องการให้น้ำทะลักออกภายนอก (เป็นปาจิตตีย์), พวกภิกษุเมื่อชำระตระพังน้ำหรือสระโบกขรณี พึงถ่ายเทน้ำที่ตักจากตระพังหรือจากสระโบกขรณีนั้นลงในน้ำเท่านั้น เมื่อในที่ใกล้ไม่มีน้ำ พึงเทน้ำที่เป็นกัปปิยะ ๘ หม้อ หรือ ๑๐ หม้อ ลงในที่ขังน้ำได้ แล้วพึงเทลงในน้ำที่เป็นกัปปิยะซึ่งเทไว้นั้น, อย่าเทลงบนหินอันร้อน ด้วยคิดว่าจักไหลกลับลงไปในน้ำ แต่จะรดให้หินเย็นด้วยน้ำที่เป็นกัปปิยะ (ไม่มีตัวสัตว์) ควรอยู่
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ คือ เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ เพราะภิกษุแม้รู้ว่าน้ำมีตัวสัตว์ แล้วบริโภคด้วยสำคัญว่าเป็นน้ำ ดุจในการที่แม้รู้ว่ามีตั๊กแตนและสัตว์เล็กจะตกลงไป แล้วตามประทีปด้วยจิตบริสุทธิ์ ฉะนั้น, กายกรรม วจีกรรม มีจิต๓   



ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๒)
ภิกษุรู้อยู่ว่าอธิกรณ์นี้สงฆ์ทำแล้วโดยชอบ
เลิกถอนเสีย กลับทำใหม่ ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์...รู้อยู่ ฟื้นอธิกรณ์ที่ทำเสร็จแล้วตามธรรมเพื่อทำอีก กล่าวหาว่า กรรมไม่เป็นอันทำแล้ว กรรมที่ทำแล้วไม่ดี กรรมต้องทำใหม่ กรรมไม่เป็นอันทำเสร็จแล้ว กรรมที่ทำเสร็จแล้วไม่ดี ต้องทำให้เสร็จใหม่ บรรดาภิกษุทั้งหลายต่างพากันเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ฟื้นอธิกรณ์ที่ทำเสร็จแล้วตามธรรม เพื่อทำอีก เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เองหรือคนอื่นๆ บอกแก่เธอ
      - ที่ชื่อว่า ตามธรรม คือ ที่สงฆ์ก็ดี บุคคลก็ดี ทำแล้วตามธรรม ตามสัตถุศาสน์ นี้ชื่อว่าตามธรรม
      - ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ มี ๔ คือ วิวาทาธิกรณ์ ๑ อนุวาทาธิกรณ์ ๑ อาปัตตาธิกรณ์ ๑ กิจจาธิกรณ์ ๑
      - บทว่า ฟื้น...เพื่อทำอีก คือ ภิกษุฟื้นขึ้นด้วยกล่าวหาว่า กรรมไม่เป็นอันทำแล้ว กรรมที่ทำแล้วไม่ดี กรรมต้องทำใหม่ กรรมไม่เป็นอันทำเสร็จแล้ว กรรมที่ทำเสร็จแล้วไม่ดี สงฆ์ต้องทำให้เสร็จใหม่ ดังนี้ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุรู้ว่า กรรมเป็นธรรม ฟื้น ต้องปาจิตตีย์
      ๒. กรรมเป็นธรรม ภิกษุมีความสงสัย ฟื้น ต้องทุกกฏ
      ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุคิดว่า กรรมไม่เป็นธรรม ฟื้น ไม่ต้องอาบัติ
      ๔. กรรมเป็นธรรม ภิกษุคิดว่า กรรมเป็นธรรม ฟื้น ต้องทุกกฏ
      ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุมีความสงสัย ฟื้น ต้องทุกกฏ
      ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุคิดว่า กรรมไม่เป็นธรรม ฟื้น ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุรู้อยู่ว่าทำกรรมโดยไม่เป็นธรรม โดยเป็นวรรค หรือทำแก่บุคคลผู้ไม่ควรแก่ธรรม ดังนี้ ฟื้น ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๙๑-๖๙๒   
      ๑. พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไปยังสำนักของภิกษุนั้นๆ แล้วพูดคำโยกโย้ไปมา มีอาทิว่า ธรรมไม่เป็นอันทำ คือ ไม่ให้การยืนยันโดยความเป็นเรื่องควรยืนยัน
          - ซึ่งอธิกรณ์นั้น สงฆ์วินิจฉัยระงับแล้วโดยธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพื่อเป็นเครื่องระงับอธิกรณ์
          - อธิกรณ์นั้น สงฆ์ระงับแล้วด้วยกรรมใด ถ้ากรรมนั้นเป็นกรรมชอบธรรม แม้ภิกษุนี้ก็เป็นผู้มีความสำคัญในกรรมที่เป็นธรรมนั้นว่า เป็นกรรมชอบธรรม ถ้ารื้อฟื้นอธิกรณ์นั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๓)
ภิกษุรู้อยู่ แล้งปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น ต้องปาจิตตีย์

       ท่านพระอุปนันทศากยบุตร ต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิแล้ว ท่านบอกแก่ภิกษุสัทธิวิหาริกของภิกษุผู้เป็นพี่น้องกันว่า อาวุโส ผมต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิแล้ว คุณอย่าได้บอกแก่ใครๆ เลย
      ครั้นต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิแล้ว เธอขอปริวาสเพื่ออาบัตินั้นต่อสงฆ์ สงฆ์ได้ให้ปริวาสแก่เธอ เธอกำลังอยู่ปริวาสอยู่ ได้พบภิกษุรูปนั้นแล้วได้บอกว่า อาวุโส ผมต้องอาบัติชื่อสัญเจตนิกาสุกกวิสัฏฐิแล้ว ได้ขอปริวาสเพื่ออาบัตินั้นต่อสงฆ์ สงฆ์ได้ให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้นแก่ผม แล้วผมกำลังอยู่ปริวาส ผมขอบอกให้ท่านทราบ ขอท่านจงจำผมว่าผมบอกให้ทราบ ดังนี้
      ภิกษุนั้นถามว่า แม้ภิกษุรูปอื่นใดต้องอาบัตินี้ ก็ต้องทำอย่างนี้หรือ ภิกษุผู้อยู่ปริวาสตอบว่า ทำอย่างนี้ ภิกษุนั้นพูดว่า ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้บอกผมแล้ว สั่งไม่ให้ผมบอกแก่ใครเลย ภิกษุผู้อยู่ปริวาสถามว่า อาวุโส ก็ท่านปกปิดอาบัตินั้นหรือ ภิกษุนั้นตอบว่า เป็นเช่นนั้นขอรับ
ภิกษุผู้อยู่ปริวาสได้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือคนอื่นๆ บอกแก่เธอ หรือเจ้าตัวบอก
      - ที่ชื่อว่า อาบัติชั่วหยาบ ได้แก่ ปาราชิก ๔ และสังฆาทิเสส ๑๓
      - บทว่า ปิด คือ เมื่อภิกษุคิดว่าคนทั้งหลายรู้อาบัตินี้แล้วจักโจท จักบังคับให้การ จักด่าว่า จักติเตียน เราจักไม่บอกละ ดังนี้ พอทอดธุระแล้วต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
      ๑. อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุรู้ว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ ปิด ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุสงสัย ปิด ต้องทุกกฏ
      ๓. อาบัติชั่วหยาบ ภิกษุคิดว่าไม่ใช่อาบัติชั่วหยาบ ปิด ต้องทุกกฏ
      ๔. ภิกษุปิดอาบัติไม่ชั่วหยาบ ต้องทุกกฏ
      ๕. ภิกษุปิดอัชฌาจารอันชั่วหยาบก็ดี ไม่ชั่วหยาบก็ดี ของอนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
      ๖. อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุคิดว่าเป็นอาบัติชั่วหยาบ ปิด ต้องทุกกฏ
      ๗. อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุสงสัย ปิด ต้องทุกกฏ
      ๘. อาบัติไม่ชั่วหยาบ ภิกษุรู้ว่าไม่ชั่วหยาบ ปิด ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
        ภิกษุคิดเห็นว่า ความบาดหมางก็ดี ความทะเลาะก็ดี ความแก่งแย่งก็ดี ความวิวาทก็ดี จักมีแก่สงฆ์ แล้วไม่บอก ๑  ไม่บอกด้วยเห็นว่าสงฆ์จักแตกแยกกัน หรือจักร้าวรานกัน ๑  ไม่บอกด้วยเห็นว่า ภิกษุรูปนี้เป็นผู้โหดร้ายหยาบคาย จักทำอันตรายชีวิตหรืออันตรายต่อพรหมจรรย์ ๑  ไม่พบภิกษุอื่นที่สมควรจึงไม่บอก ๑  ไม่ตั้งใจจะปิด แต่ยังไม่ได้บอก ๑  ไม่บอกด้วยคิดว่ากรรมนั้นจักปรากฏเอง ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๖๙๖-๖๙๗ 
        ๑. “อาบัติชั่วหยาบ” ในสิกขาบทนี้ ทรงแสดงปาราชิก ๔ ไว้ด้วยอำนาจแห่งการขยายความ แต่ทรงประสงค์อาบัติสังฆาทิเสส, เมื่อภิกษุปกปิดอาบัติสังฆาทิเสส เป็นปาจิตตีย์
        ๒. หากภิกษุคิดว่าจักไม่บอกใคร พอทอดธุระเสร็จเท่านั้นก็เป็นปาจิตตีย์, แต่ถ้าว่าภิกษุทอดธุระแล้วอย่างนั้น บอกแก่ภิกษุอื่นเพื่อปกปิดไว้นั่นเอง แม้ภิกษุผู้รับบอกนั้นเล่า ก็บอกภิกษุอื่นโดยอุบายดังกล่าวมานี้ (บอกจริง แต่ก็บอกให้ช่วยปกปิดไว้ด้วย) สมณะตั้งร้อยก็ดี ตั้งพันก็ดี ย่อมต้องอาบัติทั้งนั้น ตราบเท่าที่สุดยังไม่ขาดลง ถามว่า ที่สุดจะขาดเมื่อไร?
        ตอบว่า ท่านมหาสุมเถระกล่าวไว้ก่อนว่า ภิกษุต้องอาบัติแล้วบอกแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุผู้รับบอกนั้นกลับมาบอกแก่เธอผู้ต้องอาบัตินั้นอีก ที่สุดย่อมขาดลง, ส่วนพระมหาปทุมเถระกล่าว่า เพราะว่าภิกษุนี้เป็นวัตถุบุคคลทีเดียว (บุคคลผู้ต้องอาบัติ) แต่ต้องอาบัติแล้วก็บอกแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุรูปที่ ๒ นี้ ก็บอกแก่ภิกษุรูปต่อไป ภิกษุรูปที่ ๓ นั้นกลับมาบอกเรื่องที่ภิกษุรูปที่ ๒ บอกแก่ภิกษุรูปที่ ๒ นั้นแล, เมื่อบุคคลที่ ๓ กลับมาบอกแก่บุคคลที่ ๒ อย่างนี้ ที่สุดย่อมขาดตอนลง
        ๓. อาบัติไม่ชั่วหยาบ ได้แก่ อาบัติ ๕ กองที่เหลือ มีถุลลัจจัย เป็นต้น
            - อัชฌาจารที่ชั่วหยาบของอนุปสัมบัน ได้แก่ การทำอสุจิให้เคลื่อน และการเคล้าคลึงด้วยกาย
        ๔. สิกขาบทนี้มีการทอดธุระเป็นสมุฏฐาน (เป็นอาบัติเพราะทอดธุระ ไม่บอกแก่ภิกษุ) เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจากับจิต ๑ เป็นอกิริยา (ต้องเพราะไม่ทำ, ไม่บอก) เป็นสจิตตกะ (มีเจตนาปกปิด) เป็นโลกวัชชะ (จิตเป็นอกุศลเพราะกลัวคนอื่นรู้ กลัวถูกตำหนิ), กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต โทสมูลจิต) 



ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๔)
ภิกษุรู้อยู่ เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบทกุลบุตรผู้มีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ต้องปาจิตตีย์

       มีเด็กๆ ๑๗ คน มีเด็กชายอุบาลีเป็นหัวหน้า วิ่งเล่นอยู่ในนครราชคฤห์ บิดามารดาของเด็กชายอุบาลีเป็นห่วงเกรงว่าลูกชายจะลำบาก เห็นว่าพวกสมณะเป็นอยู่สบายดี ประพฤติเรียบร้อย บริโภคอาหารที่ดี นอนในห้องอันมิดชิด จึงปรึกษากันจะให้ลูกบวช
      เด็กชายอุบาลีได้ยินถึงคำสนทนานั้น จึงไปชักชวนเพื่อนๆ ทั้งหมด แล้วขออนุญาตต่อบิดามารดาบวช แล้วตกกลางคืน ภิกษุใหม่เหล่านี้ก็ลุกขึ้นร้องไห้ ขอข้าวต้มข้าวสวยจากภิกษุทั้งหลาย ทั้งปัสสาวะ อุจจาระ รดเสนาสนะ
      พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตื่นบรรทม สดับเสียงเหล่านั้นแล้วให้พระอานนท์ไปดูเหตุการณ์ กลับมากราบทูล ทรงติเตียนภิกษุผู้ให้บวชว่า ไฉน โมฆะบุรุษเหล่านั้นรู้อยู่ จึงได้ยังบุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ให้อุปสมบทเล่า เพราะบุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี เป็นผู้ไม่อดทนต่อเย็น ร้อน หิวกระหาย... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ยังบุคคลมีปีหย่อน ๒๐ ให้อุปสมบท บุคคลนั้นไม่เป็นอุปสัมบันด้วย ภิกษุทั้งหลายนั้นถูกติเตียนด้วย นี้เป็นปาจิตตีย์ในเรื่องนั้น”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือคนอื่นบอก หรือเจ้าตัวบอก
      - ที่ชื่อว่า มีปีหย่อน ๒๐ คือ มีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปี
      ภิกษุตั้งใจว่าจักให้อุปสมบท แล้วแสวงหาคณะก็ดี พระอาจารย์ก็ดี บาตรก็ดี จีวรก็ดี สมมติสีมาก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ, จบญัตติต้องอาบัติทุกกฏ, จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว, จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย พระอุปัชฌายะต้องอาบัติปาจิตตีย์ คณะและพระอาจารย์ต้องอาบัติทุกกฏ

อาบัติ
      ๑. บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุรู้ว่าหย่อน ให้อุปสมบท ต้องปาจิตตีย์
      ๒. บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๓. บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุคิดว่ามีอายุครบ ๒๐ ปี ไม่ต้องอาบัติ
      ๔. บุคคลมีอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุคิดว่ายังไม่ครบ ๒๐ ปี... ต้องทุกกฏ
      ๕. บุคคลมีอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๖. บุคคลมีอายุครบ ๒๐ ปี ภิกษุรู้ว่ามีอายุครบ ๒๐ ปี... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      บุคคลมีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี ภิกษุสำคัญว่ามีอายุครบ ๒๐ ปี ให้อุปสมบท ๑ บุคคลมีอายุ ๒๐ ปี ภิกษุรู้ว่ามีอายุครบ ๒๐ ปี ให้อุปสมบท ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๗๐๒-๗๐๕ 
      ๑. ความจริงแม้ผู้มีอายุครบ ๒๐ ปีทั้งอยู่ในครรภ์ ก็ถึงการนับว่าผู้มีอายุครบ ๒๐ ปีเหมือนกัน เหมือนอย่างที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระกุมารกัสสปะเป็นผู้มีอายุครบ ๒๐ ปี ทั้งอยู่ในครรภ์ จึงอุปสมบท, ครั้งนั้นแล ท่านพระกุมารกัสสปะได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติว่า บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุไม่พึงอุปสมบทให้ ก็เรามีอายุครบ ๒๐ ปีทั้งอยู่ในครรภ์ จึงได้อุปสมบท เราจะเป็นอุปสัมบันหรือไม่เป็นอุปสัมบันหนอ
      พวกภิกษุได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าๆ ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตดวงแรกได้เกิดแล้วในท้องของมารดา วิญญาณดวงแรกปรากฏแล้ว วิญญาณดวงแรกนั้นนั่นแหละเป็นความบังเกิดของสัตว์นั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทกุลบุตรมีอายุครบ ๒๐ ปีทั้งอยู่ในครรภ์
      ๒. ผู้ใดอยู่ในท้องมารดาถึง ๑๒ เดือน เกิด (คลอด) ในวันมหาปวารณา ตั้งแต่วันมหาปวารณานั้นไปจนถึงวันมหาปวารณาในปีที่ ๑๙ พึงให้ผู้นั้นอุปสมบทในวันปาฏิบท (แรม ๑ ค่ำ) เลยวันมหาปวารณานั้นไป พึงทราบการลดลงและเพิ่มขึ้นโดยอุบายนั้น
      แต่พวกพระเถระทั้งหลายให้สามเณรอายุ ๑๙ ปี อุปสมบทในวันปาฏิบท (วันแรมค่ำ ๑) เลยวันเพ็ญเดือน ๙ ไป
      ถามว่า การอุปสมบทนั้นมีได้เพราะเหตุไร?
      เฉลยว่า ในปีหนึ่ง มีจาตุทสีอุโบสถ (อุโบสถวัน ๑๔ ค่ำ) ๖ วัน, เพราะฉะนั้นใน ๒๐ ปี จะมีเดือนขาดไป ๔ เดือน, เจ้าผู้ครองบ้านเมืองจะเลื่อนกาลฝนออกไปทุกๆ ๓ ปี (เพิ่มอธิกมาสทุกๆ ๓ ปี) ฉะนั้น ใน ๑๘ ปี จะเพิ่มเดือนขึ้น ๖ เดือน (เพิ่มอธิกมาส ๖ เดือน), นำ ๔ เดือนที่ขาดไปด้วยอำนาจอุโบสถออกไปจาก ๖ เดือนที่เพิ่มเข้ามาใน ๑๘ ปีนั้น ยังคงเหลือ ๒ เดือน เอา ๒ เดือนนั้นเพิ่มเข้ามาจึงเป็น ๒๐ ปีบริบูรณ์ ด้วยประการอย่างนี้ พระเถระทั้งหลายจึงหมดความสงสัย อุปสมบทให้ (สามเณรอายุ ๑๙ ปี) ในวันปาฏิบท เลยวันเพ็ญเดือน ๙ ไป
      ก็ในคำว่า สามเณรมีอายุ ๑๙ ปีเป็นต้นนี้ ท่านกล่าวคำว่ามีอายุ ๑๙ ปี หมายเอาสามเณรผู้ซึ่งปวารณาแล้วจักมีอายุครบ ๒๐ ปี เพราะฉะนั้นผู้ที่อยู่ในท้องมารดาถึง ๑๒ เดือน จะเป็นผู้มีอายุครบ ๒๑ ปี ผู้ซึ่งอยู่ (ในท้องมารดา) ๗ เดือน จะเป็นผู้มีอายุ ๒๐ ปี กับ ๗ เดือน, แต่ผู้ (อยู่ในท้องมารดา) ๖ เดือน คลอด จะไม่รอด
      ๓. ไม่เป็นอาบัติแก่อุปัชฌาย์ผู้ให้การอุปสมบทกุลบุตรที่อายุหย่อน ๒๐ ปี ด้วยเข้าใจว่าครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แต่ถึงอย่างนั้นบุคคลนั้นก็ไม่เป็นอันอุปสมบทเลย, แต่ถ้าบุคคลนั้นให้ผู้อื่นอุปสมบทโดยล่วงไป ๑๐ พรรษา (บุคคลผู้มีอายุหย่อนบวชได้ ๑๐ พรรษาแล้วไปบวชกุลบุตรอื่น) หากว่า เว้นบุคคลนั้นเสีย คณะครบ (สงฆ์ครบองค์อุปสมบท แม้จะไม่นับอุปัชฌาย์) บุคคลนั้นเป็นอันอุปสมบทดีแล้ว และแม้บุคคลผู้ไม่ใช่อุปสัมบันนั้น (ผู้บวชทั้งที่มีอายุหย่อน) ยังไม่รู้เพียงใด ยังไม่เป็นอันตรายต่อสวรรค์ และไม่เป็นอันตรายต่อพระนิพพานของเขาเพียงนั้น แต่ครั้นรู้แล้วพึงอุปสมบทใหม่
      ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ เป็นปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓   



ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๕)
ภิกษุรู้อยู่ ชวนพ่อค้าผู้เป็นโจร เดินทางด้วยกัน
แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์

       ภิกษุรูปหนึ่งรู้อยู่ว่าพ่อค้าเกวียนขนของหลบเลี่ยงภาษี แม้พ่อค้าเกวียนจะบอกถึงการเลี่ยงภาษีก็ตาม เธอก็ยังขอเดินทางร่วมไปด้วย จึงถูกเจ้าพนักงานศุลกากรจับได้ทั้งหมด ริบของต้องห้าม และจับพ่อค้าไว้ แต่เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยภิกษุรูปนั้น
      เธอกลับไปพระนครสาวัตถี แล้วเล่าเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบๆ แล้วติเตียน กราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ชักชวนแล้ว เดินทางไกลร่วมกันกับพ่อค้าผู้เป็นโจร โดยที่สุด แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า พวกพ่อค้าเกวียนผู้เป็นโจร ได้แก่ พวกโจรผู้ทำโจรกรรมมาก็ดี ไม่ได้ทำมาก็ดี ผู้ที่ลักของหลวงก็ดี ผู้ที่หลบซ่อนของเสียภาษีก็ดี
      - บทว่า ชักชวนแล้ว คือ ชักชวนกันว่า ท่านทั้งหลายพวกเราไปกันเถิด ไปซิขอรับ พวกเราไปกันวันนี้ ไปกันพรุ่งนี้ ดังนี้เป็นต้น ต้องอาบัติทุกกฏ
      - บทว่า โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง คือ ในตำบลบ้าน กำหนดชั่วไก่บินถึง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ระยะบ้าน ในป่าหาบ้านไม่ได้ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ระยะกึ่งโยชน์

อาบัติ
      ๑. พวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร ภิกษุรู้ว่าพวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร ชักชวนแล้วเดินทางไกลสายเดียวกัน โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์
      ๒. พวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๓. พวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร ภิกษุคิดว่า (ภิกษุไม่รู้) ไม่ใช่... ไม่ต้องอาบัติ
      ๔. ภิกษุชักชวน คนทั้งหลายมิได้ชักชวน... ต้องทุกกฏ
      ๕. มิใช่พวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร ภิกษุคิดว่าพวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร... ต้องทุกกฏ
      ๖. มิใช่พวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร ภิกษุมีความสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๗. มิใช่พวกเกวียนพวกต่างผู้เป็นโจร ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่ได้ชักชวนกันไป ๑  คนทั้งหลายชักชวน ภิกษุมิได้ชักชวน ๑  ไปผิดวันผิดเวลา ๑  มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๗๐๙ 
      ๑. สิกขาบทนี้ มีพวกพ่อค้าเกวียนพ่อค้าต่างผู้เป็นโจร สมุฏฐานเกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑   ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นกิริยา  เป็นสจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ,  กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓   


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ  ปมาเท ภยทสฺสิ วา
อภพฺโพ ปริหานาย  นิพฺพานสฺเสว สนฺติเก ฯ ๓๒ ฯ     
ภิกษุผู้ไม่ประมาท เห็นภัยในความประมาท
ไม่มีทางเสื่อม ย่อมอยู่ใกล้นิพพานเป็นแน่แท้

The bhikkhu who delights in earnestness, And discerns dangers in negligence,
Is not lisble to fall away; He is certainly in the presence of Nibbana.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
nc.33




หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 มิถุนายน 2563 16:30:21

ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๖)
ภิกษุชวนผู้หญิงเดินทางด้วยกัน แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์

       ภิกษุรูปหนึ่งกำลังเดินทางไปพระนครสาวัตถี ผ่านบ้านหลังหนึ่งที่สตรีทะเลาะกับสามีแล้ว นางเดินออกมาพบท่านเข้า จึงถามว่า ท่านจักไปไหน ภิกษุตอบว่า ไปพระนครสาวัตถี นางขอไปด้วย ภิกษุตอบว่า ไปเถิด
      สามีของนางออกมาจากบ้าน ถามคนทั้งหลายรู้ว่าเดินไปกับพระ เขาจึงติดตามไปจับภิกษุนั้นทุบตีแล้วปล่อยไป ภรรยาบอกความจริงแก่เขา ขอให้ไปขอขมาโทษท่านเสีย สามีได้ติดตามไปขอขมาโทษแล้ว
      เมื่อถึงนครสาวัตถี ภิกษุนั้นได้เล่าเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ต่างติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ชักชวนแล้ว เดินทางไกลสายเดียวกันกับมาตุคาม โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ เป็นสตรีผู้รู้เดียงสา สามารถทราบถ้อยคำเป็นสุภาษิต ทุพภาษิต วาจาชั่วหยาบ และวาจาสุภาพได้
      - บทว่า ชักชวนแล้ว คือ ชักชวนว่า เราไปกันเถิดจ้ะ เราไปกันเถิดน้องหญิง เราไปกันวันนี้ เป็นต้น ต้องอาบัติทุกกฏ
- บทว่า โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง คือ ในตำบลบ้าน กำหนดชั่วไก่บินถึง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ระยะบ้าน ในป่าหาบ้านมิได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ ระยะกึ่งโยชน์

อาบัติ
      ๑. มาตุคาม ภิกษุรู้ว่า มาตุคาม ชักชวนกันแล้วเดินทางไกลสายเดียวกัน โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์
      ๒. มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
      ๓. มาตุคาม ภิกษุคิดว่า ไม่ใช่มาตุคาม (หรือไม่รู้ว่าเป็นมาตุคาม)... ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุชักชวน มาตุคามมิได้ชักชวน... ต้องทุกกฏ
      ๕. ภิกษุชักชวนแล้วเดินทางไกลสายเดียวกันกับหญิงยักษ์ หญิงเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมีกายคล้ายมนุษย์ โดยที่สุดแม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง ต้องทุกกฏ
      ๖. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุคิดว่าเป็นมาตุคาม... ต้องทุกกฏ
      ๗. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
      ๘. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่มาตุคาม... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่ได้ชักชวนกันไป ๑  มาตุคามชักชวน ภิกษุไม่ได้ชักชวน ๑  ภิกษุไปผิดวันผิดเวลา ๑  มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๗๑๓ 
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนในสิกขาบทที่ว่าด้วยการชักชวนเดินทางไกลร่วมกันกับนางภิกษุณี


ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๗)
ภิกษุคัดค้านธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง
สงฆ์สวดประกาศข้อความนั้นจบ ต้องปาจิตตีย์

       พระอริฏฐะผู้เกิดในตระกูลพรานแร้ง เธอมีความเห็นว่า “ตนเองรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว เช่น ข้อที่ตรัสว่า ธรรมเหล่านี้ (เช่นกาม) เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่”
      ภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าวความคิดของพระอริฏฐะ ได้พากันไปเพื่อปลดเปลื้องความเห็นผิดของพระอริฏฐะนั้น แต่ไม่อาจทำสำเร็จ จึงกราบทูล ทรงติเตียนความคิดนั้นเป็นอันมาก (เช่น กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก) โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนร่าง กระดูก...ชิ้นเนื้อ เป็นต้น) แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว โดยประการว่าเป็นธรรมทำอันตรายได้อย่างไร ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ท่าอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดีดอก พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย แน่ะเธอ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมทำอันตรายไว้โดยปริยายเป็นอันมาก ธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง เมื่อภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนั้น ขืนถือ (ความเห็น) อยู่อย่างนั้นแล ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดประกาศห้ามจนหนที่ ๓ เพื่อสละการนั้นเสีย ถ้าเธอถูกสวดประกาศห้ามอยู่จนหนที่ ๒ สละการนั้นเสียได้ ย่อมเป็นการดี ถ้าไม่สละ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุพวกอื่น คือ พวกที่ได้เห็น ได้ยิน พึงว่ากล่าวว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ท่านอย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า การกล่าวตู่ไม่ดีแน่ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้น แน่ะเธอ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมทำอันตรายไว้โดยปริยายเป็นอันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้น อาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง พึงว่ากล่าว แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ ถ้าเธอสละได้เป็นการดี ถ้าเธอสละไม่ได้ต้องอาบัติทุกกฏ
      ภิกษุทั้งหลายผู้ทราบเรื่องแล้วไม่ว่ากล่าว ต้องอาบัติทุกกฏ, พึงนำตัวภิกษุนั้นมาท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้
      “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ทิฏฐิอันเป็นบาปมีอย่างนี้เป็นรูป บังเกิดแก่ภิกษุมีชื่อนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว...”

อาบัติ
      ๑. จบญัตติ ต้องอาบัติทุกกฏ, จบกรรมวาจา ๒ ครั้ง ต้องทุกกฏ ๒ ตัว, จบกรรมวาจาครั้งสุดท้าย ต้องปาจิตตีย์
      ๒. กรรมเป็นธรรม (สงฆ์ทำถูกต้องแล้ว) ภิกษุรู้ว่ากรรมเป็นธรรม ไม่ยอมสละ ต้องปาจิตตีย์
      ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่ยอมสละ ต้องปาจิตตีย์
      ๔. กรรมเป็นธรรม ภิกษุคิดว่ากรรมไม่เป็นธรรม ไม่ยอมสละ ต้องปาจิตตีย์
      ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุคิดว่ากรรมเป็นธรรม ไม่ยอมสละ ต้องทุกกฏ
      ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย ไม่ยอมสละ ต้องทุกกฏ
      ๗. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุรู้ว่า ไม่เป็นธรรม ไม่ยอมสละ ต้องทุกกฏ
   
อนาบัติ
      ภิกษุผู้ไม่ถูกสวดประกาศห้าม ๑  ภิกษุผู้ยอมสละ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๗๒๑-๗๒๓ 
      ๑. พวกชนที่ชื่อว่า พรานแร้ง เพราะอรรถว่าได้ฆ่าแร้งทั้งหลาย,  พระอริฏฐะชื่อว่า ผู้เคยเป็นพรานแร้ง เพราะอรรถว่าท่านมีบรรพบุรุษเป็นพรานแร้ง ได้ความว่า เป็นบุตรของตระกูลเคยเป็นพรานแร้ง คือ เกิดจากตระกูลพรานแร้งนั้น
      ๒. ธรรมเหล่าใด ย่อมทำอันตรายแก่สวรรค์และนิพพาน เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นชื่อว่าอันตรายิกธรรม, อันตรายิกธรรมเหล่านั้นมี ๕ อย่าง ด้วยอำนาจกรรม ๑  กิเลส ๑  วิบาก ๑  อุปวาท และ อาณาวีติกกมะ ๑  บรรดาอันตรายิกธรรมมีกรรมเป็นต้นนั้น ธรรมคืออนันตริยกรรม ๕ อย่าง ชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ “กรรม”,  ภิกขุนีทูสกกรรม (การประทุษร้ายภิกษุณี) ก็อย่างนั้น แต่ภิกษุณีทูสกกรรมย่อมทำอันตรายแก่พระนิพพานเท่านั้น หาทำอันตรายแก่สวรรค์ไม่ (ภิกษุณีทูสกกรรมก็เป็น “กรรม”)
      ธรรม คือ นิยตมิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ “กิเลส”,  ธรรม คือปฏิสนธิของพวกบัณเฑาะก์ ดิรัจฉานและอุภโตพยัญชนก ชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ “วิบาก” (กั้นนิพพาน ไม่กั้นสวรรค์), การเข้าไปว่าร้ายพระอริยเจ้า ชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ “อุปวาทะ” แต่อุปวาทันตรายิกธรรมเหล่านั้น เป็นอันตรายตลอดเวลาที่ยังไม่ให้พระอริยเจ้าทั้งหลายอดโทษเหล่านั้น หลังจากให้ท่านอดโทษ (ยกโทษ) แล้วหาเป็นอันตรายไม่, อาบัติที่แกล้งต้องชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ “อาณาวีติกกมะ” อาบัติที่แกล้งต้องเหล่านั้น เป็นอันตรายตลอดเวลาที่ภิกษุผู้ต้องยังปฏิญญาความเป็นภิกษุ หรือยังไม่ออก (กรณีสังฆาทิเสส) หรือยังไม่แสดง (อาบัติ) เท่านั้น ต่อจากทำคืนตามกรณีนั้นๆ แล้ว หาเป็นอันตรายไม่
      บรรดาอันตรายิกธรรมตามที่กล่าวแล้วนั้น ภิกษุนี้ (พระอริฏฐะ) เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก รู้จักอันตรายิกธรรมที่เหลือได้ แต่เพราะไม่ฉลาดในพระวินัย (อธิศีลสิกขา) จึงไม่รู้อันตรายิกธรรม คือ การล่วงละเมิดพระบัญญัติ เพราะฉะนั้นเธอไปอยู่ในที่ลับได้คิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ครองเรือนเหล่านี้ยังบริโภคกามคุณ ๕ เป็นพระโสดาบันก็มี เป็นพระสกทาคาก็มี เป็นพระอนาคาก็มี แม้ภิกษุทั้งหลายก็เห็นรูปที่ชอบใจ (กามคุณ) พึงรู้ได้ทางจักษุ ฯลฯ ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะอันน่าชอบใจ พึงรู้ได้ทางกาย บริโภคเครื่องลาดและเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น แม้อันอ่อนนุ่ม ข้อนั้นควรทุกอย่าง เพราะเหตุไร? รูปสตรีทั้งหลาย ฯลฯ  โผฏฐัพพะ คือ สตรีทั้งหลาย จึงไม่ควรอย่างนี้เล่า? แม้สตรีเป็นต้น เหล่านี้ก็ควร
      เธอเทียบเคียงรสกับรสอย่างนี้แล้ว ทำการบริโภคกามคุณที่เป็นไปกับด้วยฉันทราคะ กับการบริโภคกามคุณที่ไม่มีฉันทราคะ ให้เป็นอันเดียวกัน ยังทิฏฐิอันลามกให้เกิดขึ้น ดุจบุคคลต่อด้ายละเอียดยิ่งกับเส้นปออันหยาบ ดุจเอาเขาสิเนรุเทียบกับเมล็ดผักกาด ฉะนั้น จึงขัดแย้งกับสัพพัญญุตญาณว่า ไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติปฐมปาราชิกด้วยความอุตสาหะมากดุจทรงกั้นมหาสมุทร เพราะโทษในกามเหล่านี้ไม่มี ดังนี้
      ๓. กามทั้งหลายเปรียบเหมือนโครงกระดูก ด้วยอรรถว่า มีรสอร่อยน้อย (มีความยินดีน้อย) เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ด้วยอรรถว่า เป็นกายทั่วไปแก่สัตว์มาก, เปรียบเหมือนคบหญ้า ด้วยอรรถว่า เผาลน, เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ด้วยอรรถว่า เร่าร้อนยิ่งนัก, เหมือนความฝัน เพราะปรากฏชั่วเวลานิดหน่อย, เหมือนของยืม เพราะเป็นไปชั่วคราว, เหมือนผลไม้ เพราะบั่นทอนอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งปวง (คนต้องการผลไม้ ไม่สนในความบอบช้ำของต้นไม้ กามเป็นเหตุบั่นทอนอวัยวะน้อยใหญ่เช่นกัน), เหมือนเขียงสำหรับสับเนื้อ เพราะเป็นที่รองรับการสับโขก, เหมือนแหลนหลาว เพราะทิ่มแทง, เหมือนศีรษะงู เพราะน่าระแวงและมีภัยจำเพาะหน้า
      ๔. สิกขาบทนี้มีการสวดสมนุภาสเป็นสมุฏฐาน เกิดทางกายวาจาและจิต เป็นอกิริยา (เพราะไม่สละ) เป็นสจิตตกะ เป็นโลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต – หัวดื้อ)


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ   ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ
อุชุ กโรติ เมธาวี อุชุกาโรว เตชนํ ฯ ๓๓ ฯ
จิตดิ้นรน กลับกลอก ป้องกันยาก ห้ามยาก
คนมีปัญญาสามารถดีดให้ตรงได้ เหมือนช่างศรดัดลูกศร

The flickering , fickle mind, Difficult to guard, difficult to control,
The wise man straightens, As a fletcher straightens an arrow. .
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
no.๓๔




หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 02 กรกฎาคม 2563 16:14:39

ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๘)
ภิกษุคบหาภิกษุผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์รู้ว่าพระอริฏฐะถูกสงฆ์สวดประกาศ และยังไม่ยอมสละความคิดเห็นนั้น แต่พวกเธอกินร่วมบ้าง อยู่ร่วมบ้าง สำเร็จการนอนด้วยกันบ้างกับพระอริฏฐะนั้น ภิกษุทั้งหลายต่างติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ กินร่วมก็ดี อยู่ร่วมก็ดี สำเร็จการนอนด้วยกันก็ดี กับภิกษุผู้กล่าวอย่างนั้น ยังไม่ได้ทำกรรมอันสมควร ยังไม่สละทิฏฐินั้น เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - บทว่า ผู้กล่าวอย่างนั้น คือผู้กล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว...เป็นต้น
      - ที่ชื่อว่า ยังไม่ได้ทำกรรมอันสมควร คือ เป็นผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร แล้วสงฆ์ยังไม่ได้เรียกเข้าหมู่ในทางอามิส คือ ให้อามิสก็ดี รับอามิสก็ดี ต้องปาจิตตีย์, คบหากันในทางธรรม คือ บอกธรรมให้ หรือขอเรียนธรรม ภิกษุบอกธรรมให้ หรือขอเรียนธรรม โดยบท ต้องปาจิตตีย์ทุกๆ บท, ภิกษุบอกธรรมให้ หรือขอเรียนธรรม โดยอักขระ ต้องปาจิตตีย์ทุกๆ อักขระ
     - บทว่า อยู่ร่วมก็ดี ความว่า ทำอุโบสถก็ดี ปวารณาก็ดี สังฆกรรมก็ดี ร่วมกับภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตรแล้ว ต้องปาจิตตีย์
     - คำว่า สำเร็จการนอนด้วยกันก็ดี อธิบายว่า ในที่มีหลังคาเดียวกัน เมื่อภิกษุผู้ถูกยกวัตรนอนแล้ว ภิกษุจึงนอน ต้องปาจิตตีย์, เมื่อภิกษุนอนแล้ว ภิกษุผู้ถูกยกวัตรจึงนอน ต้องปาจิตตีย์, หรือนอนทั้งสอง ต้องปาจิตตีย์, ลุกขึ้นแล้วนอนซ้ำอีก ต้องปาจิตตีย์

อาบัติ
       ๑. ภิกษุถูกสงฆ์ยกวัตรแล้ว ภิกษุรู้ว่าถูกยกวัตรแล้ว กินร่วม อยู่ร่วม สำเร็จการนอนด้วยกัน ต้องปาจิตตีย์
      ๒. ภิกษุถูกสงฆ์ยกวัตรแล้ว ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
      ๓. ภิกษุถูกสงฆ์ยกวัตรแล้ว ภิกษุคิดว่ามิใช่ผู้ถูกยกวัตร...ไม่ต้องอาบัติ
      ๔. ไม่ใช่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร ภิกษุคิดว่าใช่...ต้องทุกกฏ
       ๕. ไม่ใช่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๖. ไม่ใช่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่ผู้ถูกยกวัตร...ไม่ต้องอาบัติ
     
อนาบัติ
      ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร ๑  ภิกษุรู้ว่าภิกษุนั้นถูกสงฆ์ยกวัตร แต่สงฆ์เรียกเข้าหมู่แล้ว ๑  ภิกษุรู้ว่าภิกษุนั้นถูกสงฆ์ยกวัตร แต่สละทิฏฐินั้นแล้ว ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๒๗-๗๒๘
      ๑. โอสารณา (การเรียกเข้าหมู่) ที่สงฆ์เห็นวัตรอันสมควรกระทำแล้วแก่ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร ในเพราะไม่เห็นอาบัติก็ดี ในเพราะไม่กระทำคืนอาบัติก็ดี ในเพราะไม่สละทิฏฐิลากมกก็ดี โดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ตามธรรม
           กล่าวคือ โอสารณานั้นสงฆ์ไม่ได้ทำแก่ภิกษุใด ภิกษุนี้ชื่อว่าผู้อันสงฆ์มิได้กระทำตามธรรม ความว่า (ยังไม่ได้ทำ) กับภิกษุเช่นนั้น ด้วยเหตุนั้นแล ในบทภาชนะแห่งบทว่า อกฏานุธมฺเมน นั้นจึงตรัสว่า ที่ชื่อว่า ยังไม่ได้ทำตามธรรม คือ เป็นผู้สงฆ์ยกวัตรแล้ว สงฆ์ยังไม่ได้เรียกเข้าหมู่
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ 




ปาจิตตีย์ สัปปาณวรรคที่ ๗ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๑๑๙)
ภิกษุคบหากับสามเณรผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย ต้องปาจิตตีย์

       สามเณรชื่อกัณฑกะ เกิดทิฏฐิเหมือนพระอริฏฐะ ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวให้เธอสละความเห็นนั้น แต่ไม่สำเร็จ ได้กราบทูล... ทรงโปรดให้สงฆ์นาสนะสามเณรนั้นว่า ดังนี้
      “เจ้ากัณฑกะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เจ้าอย่าอ้างพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเป็นศาสดาของเจ้า และสมณุทเทสอื่นๆ ย่อมได้การนอนด้วยกันเพียง ๒-๓ คืน กับภิกษุทั้งหลาย ฉันใด แม้กิริยานี้คือการนอนร่วมนั้น ไม่มีแก่เจ้า เจ้าคนเสีย เจ้าจงไป เจ้าจงฉิบหายเสีย”
      ต่อมาพระฉัพพัคคีย์แม้รู้ว่ากัณฑกะถูกนาสนะแล้ว ก็ยังเกลี้ยกล่อมให้สมณุทเทสกัณฑกะอุปัฏฐากพวกตน กินร่วมบ้าง สำเร็จการนอนด้วยกันบ้าง ภิกษุทั้งหลายติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      ถ้าแม้สมณุทเทสกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่า เป็นธรรมทำอันตรายได้อย่างไร ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงหรือไม่ สมณุทเทสนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสสมณุทเทส เธออย่าได้พูดอย่างนั้น เธออย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดีดอก พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย
      อาวุโสสมณุทเทส พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมทำอันตรายไว้โดยปริยายเป็นอันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้น อาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง และสมณุทเทสนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนั้น ขืนถืออยู่อย่างนั้น สมณุทเทสนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะ อาวุโสสมณุทเทส เธออย่าอ้างพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นว่าเป็นศาสดาของเธอตั้งแต่วันนี้ไป และพวกสมณุทเทสอื่นย่อมได้การนอนร่วมเพียง ๒-๓ คืน กับภิกษุทั้งหลาย ฉันใด แม้กิริยาที่ได้การนอนร่วมนั้น ไม่มีแก่เธอ เจ้าคนเสีย เจ้าจงไป เจ้าจงฉิบหายเสีย
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ เกลี้ยกล่อมสมณุทเทสผู้ถูกให้ฉิบหายเสียอย่างนั้นแล้วก็ดี ให้อุปัฏฐากก็ดี กินร่วมก็ดี สำเร็จการนอนร่วมก็ดี เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า สมณุทเทส ได้แก่ บุคคลที่เรียกกันว่า สามเณร
      - ผู้ถูกให้ฉิบหายเสียอย่างนั้นแล้ว คือ ผู้ถูกสงฆ์นาสนะอย่างนั้นแล้ว
     - เกลี้ยกล่อมก็ดี คือ เกลี้ยกล่อมว่า เราจักให้บาตร จีวร อุเทศ หรือปริปุจฉาแก่เธอ ต้องปาจิตตีย์
     - ให้อุปัฏฐากก็ดี คือ ยินดีจรุณ ดินเหนียว ไม้ชำระฟันหรือน้ำบ้วนปากของเธอ ต้องปาจิตตีย์
     - คำว่า สำเร็จการนอนร่วมก็ดี อธิบายว่า ในที่มุงบังอันเดียวกัน เมื่อสมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์นาสนะ นอนแล้ว ภิกษุจึงนอน ต้องปาจิตตีย์, เมื่อภิกษุนอนแล้ว สมณุทเทสจึงนอน ต้องปาจิตตีย์, หรือนอนทั้งสอง ต้องปาจิตตีย์, ลุกขึ้นแล้วนอนต่อไปอีก ต้องปาจิตตีย์

อาบัติ
       ๑. สมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุรู้ว่าถูกนาสนะแล้ว เกลี้ยกล่อมก็ดี ให้อุปัฏฐากก็ดี กินร่วมก็ดี สำเร็จการนอนร่วมก็ดี ต้องปาจิตตีย์
      ๒. สมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
      ๓. สมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุคิดว่าไม่ใช่ผู้ถูกนาสนะ...ไม่ต้องอาบัติ
      ๔. สมณุทเทสผู้ไม่ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุคิดว่าเป็นผู้ถูกนาสนะ...ต้องทุกกฏ
       ๕. สมณุทเทสผู้ไม่ถูกสงฆ์นาสนะ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๖. สมณุทเทสผู้ไม่ถูกสงฆ์นาสนะ ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่ผู้ถูกนาสนะ...ไม่ต้องอาบัติ
       
อนาบัติ
      ภิกษุรู้อยู่ว่าสมณุทเทสไม่ใช่ผู้ถูกสงฆ์นาสนะ๑  ภิกษุรู้อยู่ว่าสมณุทเทสยอมสละทิฏฐินั้นแล้ว ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๓๗-๗๓๘
      ๑. สมณุทเทสนี้คิดถลำลงไปโดยไม่แยบคายก็เกิดความเห็นผิดขึ้นมาเหมือนอริฏฐะภิกษุ ฉะนั้น
      ๒. “นาสนะ” มี ๓ อย่าง คือ สังวาสนาสนะ ๑  ลิงคนาสนะ ๑  ทัณฑกรรมนาสนะ ๑
           การยกวัตรในเพราะไม่เห็นอาบัติเป็นต้น ชื่อว่า สังวาสนาสนะ
           นาสนะนี้ว่า “สามเณรผู้ประทุษร้ายภิกษุณี สงฆ์พึงให้นาสนะเสีย”, “เธอทั้งหลายพึงให้นาสนะเมตติยาภิกษุณีเสีย” ชื่อว่า ลิงคนาสนะ
           นาสนะนี้ว่า แน่ะ อาวุโสสมณุทเทส เธออย่าอ้างพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเป็นศาสดาของเธอตั้งแต่วันนี้ไป ชื่อว่า ทัณฑกรรมนาสนะ นี้ ทรงประสงค์เอาในสิกขาบทนี้
      ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนอริฏฐสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๘) ที่กล่าวมาแล้ว 

 

ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๐)
ภิกษุประพฤติอนาจาร ภิกษุอื่นตักเตือน
กลบเกลื่อนความผิดว่าไม่รู้สิกขาบทนี้ ต้องปาจิตตีย์

       พระฉันนะประพฤติอนาจาร ภิกษุทั้งหลายพากันกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโสฉันนะ ท่านอย่าได้ทำเช่นนั้น การทำอย่างนั้นไม่ควร พระฉันนะกล่าวว่า อาวุโส ผมจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้สอบถามภิกษุอื่นผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย
      บรรดาภิกษุต่างเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม (เธอกลับ) กล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเธอ ฉันจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้สอบถามภิกษุอื่นผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย เป็นปาจิตตีย์
      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ศึกษาอยู่ ควรรู้ทั่วถึง ควรสอบถาม ควรตริตรอง นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น”


อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า ชอบธรรม คือ สิกขาบทใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้นั้น ชื่อว่า ชอบธรรม
      - ภิกษุผู้อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม (กลับ) กล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเธอ ฉันจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้สอบถามภิกษุอื่นผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย เป็นบัณฑิต มีปัญญา เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก ดังนี้ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     - บทว่า ผู้ศึกษาอยู่ คือ ผู้ใคร่สำเหนียก, บทว่า ควรรู้ทั่วถึง คือ ควรทราบไว้
     - บทว่า ควรสอบถาม คือ ควรไต่ถามดูว่าสิกขาบทนี้เป็นอย่างไร สิกขาบทนี้มีเนื้อความเป็นอย่างไร
     - บทว่า ควรตริตรอง คือ ควรคิด ควรพินิจ
     - คำว่า นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น ความว่า นี้เป็นความถูกต้องยิ่งในเรื่องนั้น
   
อาบัติ
       ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน กล่าวอย่างนั้น ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...ต้องปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน...ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ถูกอุปสัมบันว่ากล่าวด้วยสิกขาบทที่มิได้ทรงบัญญัติไว้ กล่าวอย่างนั้น ต้องทุกกฏ
       ๕. ถูกอนุปสัมบันว่ากล่าวด้วยสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ และมิได้ทรงบัญญัติไว้ กล่าวอย่างนั้น ต้องทุกกฏ
       ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน กล่าวอย่างนั้น ต้องทุกกฏ
       ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๘. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน กล่าวอย่างนั้น ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุกล่าวว่า จักรู้ จักสำเหนียก ดังนี้ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๔๓
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา  เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ,  กายกรรม วจีกรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต) 



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๑)
ภิกษุแกล้งภิกษุอื่นผู้ท่องปาติโมกข์อยู่ ให้คลายอุตสาหะ ต้องปาจิตตีย์

       ภิกษุทั้งหลายพากันเรียนพระวินัยในสำนักของท่านพระอุบาลีเถระ พระฉัพพัคคีย์เห็นดังนั้นจึงปรึกษากันว่า “อาวุโสทั้งหลาย บัดนี้ภิกษุเป็นอันมาก ทั้งเถระ นวกะ และมัชฌิมะ พากันเล่าเรียนพระวินัยในสำนักของท่านพระอุบาลี ถ้าภิกษุเหล่านี้รู้พระบัญญัติในพระวินัย ท่านจักฉุดกระชากผลักไสพวกเราได้ตามใจชอบ อย่ากระนั้นเลย พวกเราจงช่วยก่นพระวินัยเถิด” เมื่อตกลงกันแล้วจึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย กล่าวว่า “จะประโยชน์อะไรด้วยสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ที่ยกขึ้นแสดงแล้ว ช่างเป็นไปเพื่อความสำราญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งเหยิงเสียนี่กระไร”
      ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อใครสวดปาติโมกข์อยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า ประโยชน์อะไรด้วยสิกขาบทเล็กน้อยเหล่านี้ที่แสดงขึ้นแล้ว ช่างเป็นไปเพื่อความสำราญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งเหยิงเสียนี่กระไร เป็นปาจิตตีย์เพราะก่นสิกขาบท”

อรรถาธิบาย
      - คำว่า เมื่อมีใครสวดปาติโมกข์อยู่ คือ มีผู้ใดผู้หนึ่งยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงอยู่ก็ดี ให้ผู้อื่นยกขึ้นแสดงอยู่ก็ดี ท่องบนอยู่ก็ดี
      - คำว่า กล่าวอย่างนี้ คือ ก่นพระวินัยแก่อุปสัมบันว่า ก็จะเป็นประโยชน์ด้วยสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ช่างเป็นไปเพื่อความรำคาญ ลำบาก ยุ่งเหยิง แก่ภิกษุผู้เล่าเรียนพระวินัย ความรำคาญ ลำบากยุ่งเหยิง ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เรียน สิกขาบทนี้พวกท่านอย่ายกขึ้นแสดงดีกว่า ไม่สำเหนียกดีกว่า ไม่เรียนดีกว่า ไม่ทรงจำดีกว่า พระวินัยจะได้สาบสูญ หรือภิกษุพวกหลังจะได้ไม่รู้พระบัญญัติ ดังนี้เป็นต้น เป็นปาจิตตีย์
   
อาบัติ
       ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน ก่นพระวินัย ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...  ต้องปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุก่นธรรมอย่างอื่น (ที่ไม่ใช่พระวินัย) ต้องทุกกฏ
       ๕. ภิกษุก่อนพระวินัยหรือพระธรรมอย่างอื่นแก่อนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
       ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน ก่นพระวินัย ต้องทุกกฏ
       ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๘. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่ประสงค์จะก่น พูดตามเหตุว่า นิมนต์ท่านเรียนพระสูตร พระคาถา หรือพระอภิธรรมไปก่อนเถิด ภายหลังจึงค่อยเรียนพระวินัย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๔๗-๗๕๖
      ๑. พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสสรรเสริญคุณแห่งการเรียนพระวินัยว่า มีอานิสงส์ ๕ อานิสงส์ ๖... ๗... ๘...  ๙... ๑๐... อานิสงส์ ๑๑ ที่พระวินัยธรจะได้รับ
          ถามว่า พระวินัยธรย่อมได้อานิสงส์ ๕ เหล่าไหน?
          ตอบว่า ย่อมได้อานิสงส์ ๕ มีการคุ้มครองสีลขันธ์เป็นต้นของตน สมดังที่ตรัสไว้ว่า (วินย.ปริวาร ข้อ ๑๑๖๘) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในวินัยธรบุคคล (บุคคลผู้ทรงวินัย) มี ๕ เหล่านี้ คือ สีลขันธ์ของตนเป็นอันคุ้มครองรักษาดีแล้ว ๑  เป็นที่พึ่งของพวกภิกษุผู้มักระแวงสงสัย ๑  เป็นผู้แกล้วกล้า พูดในท่ามกลางสงฆ์ ๑  ข่มเหล่าชนผู้เป็นข้าศึกราบคาบดีโดยสหธรรม ๑  เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑                             
      ๒. ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อต้องอาบัติย่อมต้องด้วยอาการ ๖ อย่าง คือ ด้วยความไม่ละอาย ๑  ด้วยความไม่รู้ ๑  ด้วยความสงสัยแล้วขืนทำ ๑  ด้วยความสำคัญในของไม่ควรว่าควร ๑ ด้วยความสำคัญในของควรว่าไม่ควร ๑ ด้วยความหลงลืมสติ ๑
          - ภิกษุย่อมต้องอาบัติด้วยความไม่ละอายอย่างไร? คือ ภิกษุรู้อยู่ทีเดียวว่า เป็นอกัปปิยะ แต่ก็ยังฝ่าฝืนทำการล่วงละเมิด สมจริงดังคำที่ตรัสไว้ว่า “ภิกษุแกล้งต้องอาบัติ ปกปิดอาบัติ และถึงความลำเอียงด้วยอคติ ภิกษุเช่นนี้เราเรียกว่า อลัชชีบุคคล”
          - เพราะว่าบุคคลผู้ไม่มีความรู้ เป็นผู้เขลา เป็นผู้งมงาย ไม่รู้สิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ ย่อมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ เขาทำสิ่งที่ควรทำให้ผิดพลาดด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่า ต้องด้วยความไม่รู้
          - เมื่อเกิดความสงสัยขึ้น เพราะอาศัยของที่ควรและไม่ควร ฝ่าฝืนล่วงละเมิดทีเดียวด้วยสำคัญว่าถามพระวินัยธรแล้ว ถ้าเป็นกัปปิยะ เป็นสิ่งที่ควรทำ ถ้าเป็นอกัปปิยะ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่อันนี้สมควรอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่า ต้องด้วยความสงสัยแล้วขืนทำ
          - ภิกษุฉันเนื้อหมีด้วยสำคัญว่าเนื้อสุกร ฉันเนื้อเสือเหลืองด้วยสำคัญว่าเนื้อมฤค ฉันโภชนะที่เป็นอกัปปิยะด้วยสำคัญว่าโภชนะเป็นกัปปิยะ, ฉันในเวลาวิกาลด้วยสำคัญว่าเป็นกาล, ดื่มน้ำปานะที่เป็นอกัปปิยะด้วยสำคัญว่าปานะเป็นกัปปิยะ ด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่า ต้องด้วยความสำคัญในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร
          - ภิกษุฉันเนื้อสุกรด้วยสำคัญว่าเนื้อหมี, ฉันเนื้อมฤคด้วยสำคัญว่าเนื้อเสือเหลือง, ฉันโภชนะที่เป็นกัปปิยยะด้วยสำคัญว่าโภชนะที่เป็นอกัปปิยะ, ฉันในเวลาวิกาลด้วยสำคัญว่าเป็นกาล, ดื่มน้ำปานะที่เป็นอกัปปิยะด้วยสำคัญว่าปานะเป็นกัปปิยะ ด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่า ต้องด้วยความเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควร
          - ภิกษุต้องอาบัติเพราะการนอนร่วม การอยู่ปราศจากไตรจีวร และเภสัชกับจีวรล่วงกาลเวลา เป็นปัจจัยแล ชื่อว่า ต้องด้วยความหลงลืมสติ, ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ย่อมต้องอาบัติด้วยอาการ ๖ อย่างเหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้
      ๓. แต่พระวินัยธรไม่ต้องอาบัติด้วยอาการ ๖ อย่างเหล่านี้,
          - เพราะแม้เมื่อเธอรักษาการตำหนิค่อนขอดของผู้อื่นนี้ว่า เชิญท่านดูเถิดผู้เจริญ ภิกษุนี้รู้สิ่งที่ควรและไม่ควรอยู่แท้ๆ ยังทำการล่วงละเมิดพระบัญญัติดังนี้ได้ ก็ชื่อว่าไม่ต้อง, ด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่าไม่ต้องด้วยความเป็นผู้ไม่ละอาย, แสดงอาบัติเป็นเทสนาคามินีแม้ที่เผลอต้องเข้า ออกแล้วจากอาบัติที่เป็นที่วุฏฐานคามินี ตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ จำเดิมแต่นั้นย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเป็นลัชชีบุคคลนี้ทีเดียวว่า “ภิกษุไม่แกล้งต้องอาบัติ ไม่ปิดบังอาบัติ และไม่ถึงความลำเอียงด้วยอคติ ภิกษุเช่นนี้เราเรียกว่า ลัชชีบุคคล” เพราะเธอรู้อยู่ซึ่งสิ่งอันควรและไม่ควร และย่อมทำแต่สิ่งที่ควร ไม่ทำสิ่งไม่ควร ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าไม่ต้องเพราะความไม่รู้
          - เพราะเธอเมื่อเกิดความรังเกียจสงสัย เพราะอาศัยสิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ ตรวจดูวัตถุ ตรวจดูมาติกา บทภาชนะ อันตราบัติ อนาบัติ ถ้าเป็นกัปปิยะจึงทำ ถ้าเป็นอกัปปิยะไม่ทำ, ด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่า ไม่ต้องด้วยความเป็นผู้สงสัยแล้วขืนทำ
          - เพราะเธอรู้อยู่ซึ่งสิ่งที่ควรและไม่ควร ฉะนั้นจึงไม่เป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควร ไม่เป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร และเธอมีสติตั้งมั่นด้วยดี อธิษฐานผ้าจีวรที่ควรอธิษฐาน, วิกัปจีวรที่ควรวิกัป, วินัยธรบุคคลชื่อว่าไม่ต้องอาบัติด้วยอาการ ๖ อย่างนี้ ด้วยประการอย่างนี้ เธอเมื่อไม่ต้องอาบัติ ย่อมเป็นผู้มีศีลไม่ขาด มีศีลบริสุทธิ์ ด้วยอาการอย่างนี้ สีลขันธ์ของตนย่อมเป็นอันเธอคุ้มครองรักษาดีแล้ว
      ๔. ถามว่า วินัยธรบุคคล ย่อมเป็นที่พึ่งของพวกภิกษุผู้ถูกความสงสัยครอบงำอย่างไร?
          แก้ว่า ได้ยินว่า ภิกษุทั้งหลายในรัฐนอกและในชนบทนอก เกิดมีความรังเกียจสงสัยขึ้น ทราบว่า ได้ยินว่า พระวินัยธรอยู่ที่วิหารโน้น แล้วมาสู่สำนักของเธอ แม้จากที่ไกล ถามถึงข้อรังเกียจสงสัย เธอสอบสวนดูวัตถุแห่งกรรมที่ภิกษุพวกนั้นทำแล้ว กำหนดชนิดมีอาบัติ อนาบัติ ครุกาบัติและลหุกาบัติ เป็นต้น จึงให้แสดงอาบัติที่เป็นเทศนาคามินี ให้ออกจากอาบัติเป็นวุฏฐานคามินี ให้ตั้งอยู่ในนความบริสุทธิ์ ด้วยอาการอย่างนี้ชื่อว่า เป็นที่พึ่งของพวกภิกษุผู้ถูกความสงสัยครอบงำ
      ๕. พระวินัยธรเป็นผู้แกล้วกล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์ มีความว่า จริงอยู่ ผู้มิใช่วินัยธรพูดในท่ามกลางสงฆ์ ความกลัว คือความประหม่าย่อมครอบงำ ความกลัวนั้นจะไม่มีแก่พระวินัยธรบุคคล เพราะเหตุไร? เพราะรู้ว่า เมื่อพูดอย่างนี้มีโทษ พูดอย่างนี้ไม่มีโทษ แล้วจึงพูด
      ๖. พระวินัยธรย่อมข่มเหล่าชนผู้เป็นข้าศึกได้ราบคาบดีโดยสหธรรม
          ในผู้เป็นข้าศึกมี ๒ จำพวก คือ ผู้เป็นข้าศึกแก่ตนเอง จำพวก ๑  ผู้เป็นข้าศึกแก่พระศาสนา จำพวก ๑,  บรรดาชนผู้เป็นข้าศึก ๒ จำพวกนั้น พวกภิกษุชื่อเมตติยะและภุมมชกะกับเจ้าลิจฉวี ชื่อวัฑฒะ โจทด้วยอันติมวัตถุอันไม่มีมูล ชนพวกนี้ชื่อว่าผู้เป็นข้าศึกแก่ตนเอง ก็หรือชนผู้ทุศีลแม้เหล่าอื่นซึ่งเป็นผู้มีธรรมอันลามกทั้งหมด ชื่อว่า ผู้เป็นข้าศึกแก่ตนเอง
         ส่วนอริฏฐภิกษุ กัณฑกสามเณร ภิกษุวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี ผู้มีความเห็นวิปริต และพวกภิกษุฝ่ายมหายาน นิกายมหาสังฆิกะ เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้มีลัทธิปรูปหาร อัญญาณ กังขา และปริวิตรณา (มีความเห็นว่า พระอรหันต์ยังมีอสุจิ, พระอรหันต์ยังมีความไม่รู้, ยังมีความสงสัย, หายสงสัยเพราะผู้อื่น) ทำการยกย่อง กล่าวอ้างคำสอนมิใช่พุทธศาสนาว่าพุทธศาสนา ชื่อว่า ผู้เป็นข้าศึกแก่ศาสนา, พระวินัยธรจะข่มขี่ชนผู้เป็นข้าศึกเหล่านั้นแม้ทั้งหมดให้ราบคาบ โดยประการที่พวกเขาไม่สามารถประดิษฐานอสัทธรรมนั้นได้โดยสหธรรม คือโดยคำเป็นเหตุร่วมกัน
      ๗. พระวินัยธรเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
          สัทธรรม มี ๓ ด้วยสามารถแห่งปริยัติ ปฏิบัติ และอธิคม, บรรดาสัทธรรมทั้งสามนั้น, พุทธพจน์ คือ ปิฎก ๓ ชื่อว่าปริยัติสัทธรรม,  ธรรมนี้ คือ ธุดงคคุณ ๑๓  ขันธกวัตร ๑๔  มหาวัตร ๘๒ ชื่อว่าปฏิปัตติสัทธรรม, มรรค ๔  ผล ๔ นี้ชื่อว่า อธิคมสัทธรรม
          บรรดาสัทธรรมมีปริยัติธรรมเป็นต้นนั้น พระเถระทั้งหลายบางพวกกล่าวว่า ปริยัติเป็นมูลรากของศาสนา โดยพระสูตรนี้ “ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา” ดังนี้
          พระเถระบางพวกกล่าวว่า ปฏิบัติเป็นมูลของศาสนา โดยสูตรนี้ “ดูก่อนสุภัททะ ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้แลพึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย” แล้วกล่าวว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติโดยชอบยังมีอยู่เพียงใด ศาสนาจัดว่ายังตั้งอยู่เพียงนั้น” ดังนี้
          ส่วนพรเถระอีกพวกหนึ่งกล่าวว่า เมื่อปริยัติอันตรธานแล้ว แม้บุคคลผู้ปฏิบัติดีก็ไม่มีการบรรลุธรรม แล้วกล่าวว่า ถ้าแม้นภิกษุ ๕ รูป จะเป็นผู้รักษาปาราชิกไว้ได้ ภิกษุเหล่านั้นให้กุลบุตรทั้งหลายผู้มีศรัทธาบรรพชาแล้วให้อุปสมบท แม้ในปัจจันตประเทศ ให้ครบคณะทสวรรค แล้วจักทำการอุปสมบท แม้ในมัธยมประเทศ, ให้ภิกษุสงฆ์ครบวีสติวรรคแล้ว จักทำอัพภานกรรมเพื่อตน ยังศาสนาให้ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ โดยอุบายอย่างนี้
          พระวินัยธรนี้เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรมทั้ง ๓ ด้วยประการอย่างนี้แล พึงทราบว่า พระวินัยธรนี้ย่อมได้อานิสงส์ ๕ อย่างเหล่านี้ก่อน ด้วยประการฉะนี้
      ๘. ถามว่า พระวินัยธรย่อมได้อานิสงส์ ๖ เหล่าไหน?
          แก้ว่า อุโบสถ ๑  ปวารณา ๑  สังฆกรรม ๑  บรรพชา ๑  อุปสมบท ๑  เป็นหน้าที่ของพระวินัยธรนั้น เธอย่อมให้นิสัยและให้สามเณรอุปัฏฐาก ๑ (=๖)
          จริงอยู่ อุโบสถ ๙ เหล่านี้ คือ จาตุทสีอุโบสถ  ปัณณรสีอุโบสถ  สามัคคีอุโบสถ  สังฆอุโบสถ  คณอุโบสถ  ปุคคลอุโบสถ  สุตตุทเทสอุโบสถ  ปาริสุทธิอุโบสถ  อธิษฐานอุโบสถ  ทั้งหมดนี้เนื่องด้วยพระวินัยธร และถึงแม้ปวารณา ๙ เหล่านี้ คือ จาตุทสีปวารณา  ปัณณรสีปวารณา  สามัคคีปวารณา  สังฆปวารณา  คณปวารณา  ปุคคลปวารณา  เตวาจิกาปวารณา  เทววาจิกาปวารณา  สนานวัสสิกาปวารณา  ก็เนื่องด้วยพระวินัยธร เธอเป็นใหญ่แห่งปวารณา ๙ นั้น เพราะเป็นหน้าที่ของเธอ
          ถึงสังฆกรรมทั้ง ๔ คือ อปโลกนกรรม  ญัตติกรรม  ญัตติทุติยกรรม  ญัตติจตุตถกรรมก็ดี ทั้งบรรพชาและอุปสมบทแห่งกุลบุตรทั้งหลาย อันเธอเป็นอุปัชฌาย์ทำนี้ก็ดี ก็เนื่องด้วยพระวินัยธรทั้งนั้น ผู้อื่นถึงทรงปิฎก ๒ (พระสูตรกับพระอภิธรรมปิฎก) ก็ไม่ได้เพื่อทำกรรมนี้เลย เธอเท่านั้นให้นิสัย ให้สามเณรอุปัฏฐาก ผู้อื่นย่อมไม่ได้เพื่อให้นิสัย ไม่ได้ให้สามเณรอุปัฏฐากเลย, แต่เมื่อหวังเฉพาะการอุปัฏฐากของสามเณร ย่อมได้เพื่อจะให้ถืออุปัชฌาย์ ในสำนักของพระวินัยก่อนแล้ว จึงยินดีข้อวัตรปฏิบัติอานิสงส์ ๖ ข้อนี้ รวมกับอานิสงส์ ๕ ข้างต้น จึงเท่ากับ ๑๑
      ๙. เมื่ออาจารย์สวดแก่อันเตวาสิกก็ดี, อาจารย์สวดตามความพอใจของตนก็ดี, อันเตวาสิกขอร้องอาจารย์นั้นให้สวดก็ดี เมื่อภิกษุทรงจำปาติโมกข์ กำลังทำการสาธยายก็ดี ชื่อว่า มีใครยกปาติโมกข์ขึ้นสวดอยู่
      ๑๐. พระฉัพพัคคีย์เห็นว่า ภิกษุเหล่าใด สวดก็ดี ให้สวดก็ดี สาธยายก็ดี ซึ่งสิกขาบทเล็กน้อยนั้น  สิกขาบทเล็กน้อยนั่นย่อมเป็นไปจนถึงเกิดความเดือดร้อน คือ ความลำบาก ที่เรียกว่า ความรังเกียจสงสัยและอาศัยความยุ่งยากใจที่เรียกว่า วิจิกิจฉา แก่ภิกษุเหล่านั้นทีเดียวว่า ควรหรือไม่ควรหนอ. ช่างเป็นไปเพื่อความรำคาญ ความลำบาก ความยุ่งยากเหลือเกิน, พระฉัพพัคคีย์ต้องการจะให้เกิดความเคลือบแคลงในวินัยนั้นแก่อุปสัมบันนั้น จึงก่น คือ ตำหนิติเตียนพระวินัยในสำนักแห่งอุปสัมบัน
      ๑๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา สจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อุกุศลจิต (โทสมูลจิต)


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
วาริโชว ถเล ขิตฺโต  โอกโมกต อุพฺภโต
ปริผนํทติทํ จิตฺตํ  มารเธยฺยํ ปหาตเว ฯ ๓๔ ฯ  
มัสยาถูกเขาจับโยนไปบนบก ย่อมดิ้นรน เพื่อจะกลับไปยังแหล่งน้ำที่เคยอาศัย
จิตใจเราก็เช่นเดียวกัน ดิ้นรนไปหากามคุณ เพราะฉะนั้น จึงควรละเว้นกามคุณเสีย

Like a fish drawn its watery abode And thrown upon land,
Even so does the mind flutter, Hence should the realm of passions be shunned.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
no.๓๕




หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 กรกฎาคม 2563 15:33:47


ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๒)
ภิกษุต้องอาบัติ พูดแก้ตัวว่าเพิ่งรู้ว่ามีในปาติโมกข์
เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้ว แกล้งทำไม่รู้อีก ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์ประพฤติอนาจาร แล้วตั้งใจอยู่ว่า “ขอภิกษุทั้งหลายจงทราบว่า พวกเราเป็นผู้ต้องอาบัติด้วยอาการที่ไม่รู้ แล้วเมื่อพระวินัยธรยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง พวกเราพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พวกผมเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองว่า ธรรมแม้นี้ก็มาในพระสูตร เนื่องในพระสูตร มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน”
      พระฉัพพัคคีย์ได้กล่าวอย่างนั้นแล้ว ขณะพระวินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อพระวินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ทุกกึ่งเดือน กล่าวอย่างนี้ว่า ฉันเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า ธรรมแม้นี้ก็มาแล้วในสูตร เนื่องแล้วในสูตร มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ถ้าภิกษุทั้งหลายอื่นรู้จักภิกษุนั้นว่า ภิกษุนี้เคยนั่งฟังเมื่อปาติโมกข์กำลังสวดอยู่ ๒-๓ คราวมาแล้ว กล่าวอะไรอีก อันความพ้นด้วยอาการที่ไม่รู้ หามีแก่ภิกษุนั้นไม่ พึงปรับเธอตามธรรม ด้วยอาบัติที่ต้องในเรื่องนั้น และพึงยกความหลงขึ้นแก่เธออีกว่า แน่ะเธอ ไม่ใช่ลาภของเธอ เธอได้ไม่ดีแล้ว ด้วยเหตุว่า เมื่อปาติโมกข์กำลังสวดอยู่ เธอหาทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ดีไม่ นี้เป็นปาจิตตีย์ในความเป็นผู้แสร้งทำหลงนั้น”

อรรถาธิบาย
      - บทว่า ทุกกึ่งเดือน คือ ทุกวันอุโบสถ
      - บทว่า เมื่อพระวินัยธรกำลังสวดปาติโมกข์อยู่ คือ เมื่อภิกษุกำลังยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงอยู่
     - บทว่า กล่าวอย่างนี้ คือ ภิกษุประพฤติอนาจารมาแล้ว ตั้งใจอยู่ว่า ขอภิกษุทั้งหลายจงรู้ว่า เราเป็นผู้ตั้งอาบัติด้วยอาการที่ไม่รู้ เมื่อภิกษุกำลังสวดปาติโมกข์อยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า ผมเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองว่า ธรรมแม้นี้ก็มาแล้วในพระสูตร เนื่องแล้วในพระสูตร มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ดังนี้ต้องอาบัติทุกกฏ
     - คำว่า ถ้า...นั้น  อธิบายว่า ภิกษุเหล่าอื่นรู้จักภิกษุผู้ปรารถนาแสร้งทำหลงว่า ภิกษุนี้เคย นั่ง เมื่อพระวินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ ๒-๓ คราวมาแล้ว พูดมากไปทำไมอีก อันความพ้นจากอาบัติด้วยอาการที่ไม่รู้ หากมีแก่ภิกษุนั้นไม่ พึงปรับเธอตามธรรมด้วยอาบัติที่ต้องประพฤติอนาจารนั้น และพึงยกความหลงขึ้นแก่เธอเพิ่มอีก พึงยกขึ้นอย่างนี้ คือ ให้ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ดังนี้

กรรมวาจาลงโมหาโรปนกรรม
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุผู้มีชื่อนี้ เมื่อพระวินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ หาทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ด้วยดีไม่ ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงยกความหลงขึ้นแก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
     ท่านเจ้าข้า ของสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุผู้มีชื่อนี้ เมื่อพระวินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ หาทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ด้วยดีไม่ สงฆ์ยกความหลงขึ้นแก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ การยกความหลงขึ้นแก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ความหลงอันสงฆ์ยกขึ้นแก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้แล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้”

อาบัติ
       ๑. เมื่อสงฆ์ยังไม่ยกความหลงขึ้น ภิกษุแสร้งทำหลงอยู่ ต้องทุกกฏ
       ๒. เมื่อสงฆ์ยกความหลงขึ้นแล้ว ภิกษุยังแสร้งทำหลงอยู่ ต้องปาจิตตีย์
       ๓. กรรมเป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมเป็นธรรม แสร้งทำหลงอยู่...ต้องปาจิตตีย์
       ๔. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสงสัย...ต้องปาจิตตีย์
       ๕. กรรมเป็นธรรม ภิกษุคิดว่าไม่เป็นธรรม...ต้องปาจิตตีย์
       ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๗. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมไม่เป็นธรรม แสร้งทำหลงอยู่ ต้องทุกกฏ
อนาบัติ
      ภิกษุยังไม่ได้ฟังโดยพิสดาร ๑  ภิกษุฟังโดยพิสดาร ไม่ถึง ๒-๓ คราว ๑  ภิกษุผู้ไม่ปรารถนาจะแสร้งทำหลง ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๓๖๑-๓๖๒
      ๑. เมื่อปาติโมกข์กำลังสวดอยู่ (สวดทุกๆ กึ่งเดือน, ทุกวันอุโบสถ) กำลังยกขึ้นแสดง ชื่อว่า กำลังสวดอยู่
          - เพราะเป็นผู้ต้องอาบัติด้วยไม่รู้ เธอจึงไม่มีความพ้นจากอาบัติ ก็แลสงฆ์พึงปรับเธอตามธรรมและวินัยที่วางไว้  อธิบายว่า เธอต้องอาบัติเทศนาคามินี  สงฆ์พึงให้แสดง (อาบัตินั้น) และต้องอาบัติวุฏฐานคามินี พึงให้ประพฤติวุฏฐานวิธี (มีปริวาสเป็นต้น)
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต)



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๓)
ภิกษุโกรธ น้อยใจ ให้ประหารภิกษุอื่น ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์โกรธ น้อยใจ ให้ประหารพระสัตตรสวัคคีย์ๆ ร้องไห้ ภิกษุทั้งหลายสอบถาม ทราบความแล้วพากันติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด โกรธ น้อยใจ ให้ประหารแก่ภิกษุ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - คำว่า โกรธ น้อยใจ คือ ไม่พอใจ แค้นใจ เจ็บใจ
      - คำว่า ให้ประหาร ความว่า ให้ประหารด้วยกายก็ดี ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ดี ด้วยของที่โยนไปก็ดี โดยที่สุดแม้ด้วยกลีบอุบล ต้องอาบัติปาจิตตีย์     

อาบัติ
       ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าอุปสัมบัน โกรธ น้อยใจ ให้ประหาร ต้องปาจิตตีย์
       ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย... เป็นปาจิตตีย์
       ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน...เป็นปาจิตตีย์
       ๔. ภิกษุโกรธ น้อยใจ ให้ประหารแก่อนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
       ๕. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าอุปสัมบัน...ต้องทุกกฏ
       ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าอนุปสัมบัน...ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุถูกใครๆ เบียดเบียน ประสงค์จะป้องกันตัว ให้ประหาร ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๖๕-๗๖๖
      ๑. พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวคำเป็นต้นว่า ผู้มีอายุ พวกท่านจงตั้งตั่งเล็ก จงตักน้ำล้างเท้ามาไว้ แล้วให้ประหาร (ทุบตีเป็นต้น แก่ภิกษุพวกสัตตรสวัคคีย์ ( ผู้ไม่กระทำตาม)
      ๒. เมื่อภิกษุให้ประหารด้วยความเป็นผู้ประสงค์จะประหาร หากผู้ถูกประหารตายก็เป็นเพียงปาจิตตีย์เพราะการประหารนั้น หากมือหรือเท้าหัก หรือศีรษะกระแทก ก็เป็นปาจิตตีย์เท่านั้นๆ ตัดหูหรือตัดจมูก ด้วยความประสงค์จะให้เสียโฉม อย่างนี้ว่า เราจะทำให้เธอหมดสง่าในท่ามกลางสงฆ์ ก็เป็นทุกกฎ
          - ภิกษุให้ประหารแก่คฤหัสถ์หรือบรรพชิต แก่สตรีหรือบุรุษ โดยที่สุดแม้แก่สัตว์ดิรัจฉาน เป็นทุกกฏ  แต่ถ้าว่ามีจิตกำหนดประหารหญิง เป็นสังฆาทิเสส
      ๓. ภิกษุปรารถนาความพ้นจากมนุษย์หรือสัตว์ (ต้องการเพียงขับไล่) ให้ประหารด้วยกาย ของเนื่องด้วยกาย และของที่ขว้างไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เป็นอาบัติ, ถ้าแม้นภิกษุเห็นโจรก็ดี ข้าศึกก็ดี มุ่งจะเบียดเบียนในระหว่างทาง  กล่าวว่า แน่ะอุบาสก เธอจงหยุดอยู่ในที่นั้นนั่นแหละ อย่าเข้ามา แล้วประหารผู้ไม่เชื่อฟังคำที่กำลังเดินเข้ามา ด้วยไม้ค้อนหรือด้วยศัสตรา พร้อมกับพูดว่า ไปโว้ย แล้วไปเสีย ถ้าเขาตายเพราะการประหารนั้น ไม่เป็นอาบัติเหมือนกัน (หากมีจิตคิดฆ่า เป็นปาราชิก)
      ๔. สิกขาบทนี้สมุฏฐานเป็นต้นดุจเดียวกับปฐมปาราชิกสิกขาบท แต่สิกขาบทนี้เป็นอกุศลจิต (โทสมูลจิต)

 

ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๔)
ภิกษุโกรธ น้อยใจ เงื้อมือดุจให้ประหารแก่ภิกษุอื่น ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์โกรธ น้อยใจ เงื้อหอก คือ ฝ่ามือขึ้นแก่พระสัตตรสวัคคีย์ๆ หลบการประหาร แล้วร้องไห้ ภิกษุทั้งหลาบสอบถาม...ติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด โกรธ น้อยใจ เงื้อหอก คือ ฝ่ามือขึ้นแก่ภิกษุ เป็นปาจิตตีย์
     
อรรถาธิบาย
      - คำว่า โกรธ น้อยใจ คือ ไม่พอใจ แค้นใจ เจ็บใจ
      - คำว่า เงื้อหอก คือ ฝ่ามือขึ้น คือ เงื้อกายก็ดี ของเนื่องด้วยกายก็ดี โดยที่สุดแม้กลีบอุบล ต้องอาบัติปาจิตตีย์
   
อาบัติ
       ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน โกรธ น้อยใจ เงื้อหอกคือฝ่ามือขึ้น ต้องปาจิตตีย์
       ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...ต้องปาจิตตีย์
       ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าอนุปสัมบัน...ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ภิกษุโกรธ น้อยใจ เงื้อหอกคือฝ่ามือขึ้นแก่อนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
       ๕. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
       ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุถูกใครๆ เบียดเบียน ประสงค์จะป้องกันตัว เงื้อหอกคือฝ่ามือขึ้น ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๖๙-๗๗๐
      ๑. พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์เหล่านั้นคุ้นเคยต่อการประหารแล้ว รู้ว่าภิกษุเหล่านี้จักให้ประหาร เพราะเป็นผู้ได้รับการประหารมาแม้ในกาลก่อน จึงร้องไห้ กลัวการประหาร
      ๒. ถ้าภิกษุเงื้อพลั้งให้ประหารลงไป เมื่อภิกษุไม่อาจจะยับยั้งไว้ได้แน่นอน จึงประหารลงไปโดยเร็ว เป็นทุกกฏเพราะเธอให้ประหาร โดยไม่มีประสงค์จะประหาร, เพราะการประหารนั้นอวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งมีมือเป็นต้น หักไป ก็เป็นเพียงทุกกฏ, ภิกษุผู้ประสงค์จะประหาร แต่การประหารด้วยของอย่างใดอย่างหนึ่งมีต้นไม้เป็นต้น พลาดเลยไป หรือตนกลับได้สติแล้วไม่ประหาร เป็นทุกกฏ, หรือเมื่อประหาร ถูกใครๆ กันมือไว้ ก็เป็นทุกกฏ
       ๓. สิกขาบทนี่มีสมุฏฐานเป็นต้น เช่นเดียวกับสิกขาบทก่อน (สิกขาบทที่ ๔)



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๕)
ภิกษุแกล้งโจทฟ้องภิกษุอื่น ด้วยอาบัติสังฆาทิเสส ไม่มีมูล ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์โจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูล ภิกษุทั้งหลายติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด กำจัดซึ่งภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสส หามูลมิได้ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า หามูลมิได้ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ
      - บทว่า ด้วยอาบัติสังฆาทิเสส คือ ด้วยอาบัติสังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบท สิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่ง
      - บทว่า กำจัด คือ โจทเองก็ดี ให้ผู้อื่นโจทก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์
   
อาบัติ
       ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน โจทด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูล ต้องปาจิตตีย์
       ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...  ต้องปาจิตตีย์
       ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ภิกษุโจทด้วยอาจารวิบัติก็ดี ด้วยทิฏฐิวิบัติก็ดี ต้องทุกกฏ
       ๕. ภิกษุโจทอนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
       ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน โจท ต้องทุกกฏ
       ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย โจท ต้องทุกกฏ
       ๘. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน โจท ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุเห็นว่ามีมูล โจทเองก็ดี ให้ผู้อื่นโจทก็ดี ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๗๓
      ๑. พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้น เพราะความที่ตนเองเป็นผู้มีโทษเกลื่อนกล่น เมื่อจะทำการป้องกันว่า ภิกษุทั้งหลายจักไม่โจท จักไม่ยังพวกเราให้ให้การด้วยอาการอย่างนี้ จึงรีบชิงโจทภิกษุทั้งหลายด้วยสังฆาทิเสสไม่มีมูลเสียก่อน
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อุกุศลจิต (โทสมูลจิต), ดู อมูลกสิกขาบท สังฆาทิเสส ประกอบด้วย (สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๘)



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๖)
ภิกษุแกล้งก่อความรำคาญให้เกิดแก่ภิกษุอื่น ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์แกล้งก่อความรำคาญให้แก่พระสัตตรสวัคคีย์ ด้วยคำพูดว่า อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า สงฆ์ไม่พึงอุปสมบทบุคคลผู้มีอายุหย่อน ๒๐ ปี ก็พวกท่านมีอายุหย่อน ๒๐ ปี พวกท่านเป็นอนุปสัมบันของพวกเรากระมัง พระสัตตรสวัคคีย์เหล่านั้นพากันร้องไห้
      ภิกษุทั้งหลายสอบถาม ติเตียน และกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใดแกล้งก่อความรำคาญแก่ภิกษุ ด้วยหมายว่า ด้วยเหตุนี้ความไม่ผาสุกจักมีแก่เธอแม้ครู่หนึ่ง ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - บทว่า แกล้ง คือ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ตั้งใจ ละเมิด
      - บทว่า ก่อความรำคาญ เป็นต้นว่า ชะรอยท่านคงมีอายุหย่อน ๒๐ อ่อนบวชแล้ว ชะรอยท่านบริโภคอาหารในเวลาวิกาลกระมัง ชะรอยท่านดื่มน้ำเมาแล้ว ชะรอยท่านนั่งในที่ลับกับมาตุคามแล้ว ดังนี้เป็นต้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     - คำว่า ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแล ให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ คือ ไม่มีเหตุอะไรอื่นที่จะก่อความรำคาญให้ นอกจากจะแกล้ง
     
อาบัติ
      ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน แกล้งก่อความรำคาญให้ ต้องปาจิตตีย์
      ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...  ต้องปาจิตตีย์
      ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องปาจิตตีย์
      ๔. ภิกษุแกล้งก่อความรำคาญให้แก่อนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
       ๕. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
       ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องทุกกฏ
       ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
      ภิกษุไม่ประสงค์จะก่อความรำคาญ แต่พูดแนะนำว่า ชะรอยท่านจะมีอายุไม่ครบ ๒๐ ฝน หรือท่านคงจะบริโภคอาหารในเวลาวิกาลแล้วกระมัง เป็นต้น ท่านจงรู้ไว้เถิดว่า ความรำคาญใจในภายหลังอย่าได้มีแก่ท่าน ดังนี้ ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๗๗
      ๑. ภิกษุก่อความรำคาญแก่สามเณร โดยนัยเป็นต้นว่า ชะรอยเธอจะนั่ง นอน กิน ดื่ม ในที่ลับร่วมกับมาตุคาม และเธอกระทำอย่างนี้และอย่างนี้และอย่างนี้ในท่ามกลางสงฆ์ เป็นทุกกฏทุกๆ คำพูด
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนอมูลกสิกขาบท (โจทด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล สิกขาบทที่ ๘ แห่งสังฆาทิเสส) 





(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน   ยตฺถกามนิปาติโน
จิติตสิส ทมโถ สาธุ   จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ ฯ ๓๕ ฯ  
จิตควบคุมยาก เปลี่ยนแปลงเร็ว  ใฝ่ในอารมณ์ตามที่ใคร่
ฝึกจิตเช่นนั้นได้เป็นการดี  เพราะจิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้ 

Good is it to control the mind  Which is hard to check and swift
And flits wherever it desires.  A subdued mind is conducive to happiness.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
no.๓๖


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 กรกฎาคม 2563 15:37:06

ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๗)
ภิกษุอื่นวิวาทกันอยู่ ภิกษุไปแอบฟังความ ต้องปาจิตตีย์

       พระฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับพวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักสนทนากันว่า อาวุโสทั้งหลาย พระฉัพพัคคีย์พวกนี้เป็นอลัชชี พวกเราไม่อาจทะเลาะกับพระพวกนี้ได้ พระฉัพพัคคีย์เข้ามาแล้วกล่าวว่า ทำไมพวกท่านจึงได้เรียกพวกเราว่า พวกอลัชชี
      ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักถามว่า พวกท่านได้ยินมาแต่ที่ไหน พระฉัพพัคคีย์ตอบว่า พวกเรายืนแอบฟังพวกท่านอยู่
      ภิกษุทั้งหลายต่างพากันตำหนิพระฉัพพัคคีย์ว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายเกิดบาดหมางกัน เกิดทะเลาะวิวาทกัน ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้ยืนแอบฟังอยู่เล่า แล้วกราบทูล...ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อภิกษุทั้งหลายเกิดหมางกัน เกิดทะเลาะกัน ถึงการวิวาทกัน ยืนแอบฟังด้วยหมายว่าจักได้ฟังคำที่เธอพูดกัน ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - คำว่า เกิดหมางกัน เกิดทะเลาะกัน ถึงการวิวาทกัน คือ เกิดอธิกรณ์ขึ้น
      - คำว่า ยืนแอบฟัง คือ เดินไปด้วยความตั้งใจว่า เราจักฟังถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้น แล้วจักท้วง จักฟ้อง จักให้สำนึก จักทำให้เก้อเขิน ดังนี้ต้องอาบัติทุกกฏ  ยืนอยู่ในที่ใด ได้ยิน ต้องอาบัติปาจิตตีย์, เมื่อเดินไปข้างหลัง รีบเดินให้ทัน ด้วยตั้งใจว่าจักฟัง ต้องทุกกฏ    ยืนอยู่ในที่ใด ได้ยิน ต้องปาจิตตีย์,  เมื่อเดินไปข้างหน้า ลดการเดินให้ช้าลง หมายฟัง ต้องทุกกฏ,  ยืนอยู่ในที่ใด ได้ยิน ต้องปาจิตตีย์,  บังเอิญเดินผ่านมาถึงสถานที่ที่ภิกษุยืนก็ดี นั่งก็ดี เมื่อเขาพูดงุบงิบอยู่ ต้องกระแอมไอให้เขารู้ตัว  ถ้าไม่กระแอมไอ หรือไม่ให้เขารู้ตัว ต้องปาจิตตีย์
      - คำว่า ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ ความว่า ไม่มีเหตุอื่น นอกจากจะแอบฟัง
    
อาบัติ
       ๑. อุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอุปสัมบัน ยืนแอบฟัง ต้องปาจิตตีย์
       ๒. อุปสัมบัน ภิกษุสงสัย...  ต้องปาจิตตีย์
       ๓. อุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ภิกษุยืนแอบฟังถ้อยคำของอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
       ๕. อนุปสัมบัน ภิกษุคิดว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฏ
       ๖. อนุปสัมบัน ภิกษุภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๗. อนุปสัมบัน ภิกษุรู้ว่าเป็นอนุปสัมบัน... ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
      ภิกษุเดินไปหมายว่าจักฟังถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว จักงด จักเว้น จักระงับ จักเปลื้องตน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๘๑-๗๘๒
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเถยยสัตถสิกขาบท (สัปปาณวรรค สิกขาบทที่ ๖)
          เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑  ทางวาจากับจิต ๑  บางคราวเป็นกิริยาด้วยอำนาจแห่งการไปเพราะความอยากฟัง,  บางคราวเป็นอกิริยาด้วยอำนาจแห่งการไม่ยังผู้บาดหมางกันซึ่งมาสู่ที่ตนยืนอยู่แล้วปรึกษากันอยู่ ให้รู้ตัว (คู่กรณีของตนเดินคุยกันมา ไม่ส่งเสียงให้เขารู้ว่าตนยืนอยู่) เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต, โทสมูลจิต),  สิกขาบททั้ง ๓ คือ รูปิยสิกขาบท (นิสสัคคีย์) อัญญวาทสิกขาบท (กล่าวคำอื่น) และสิกขาบทนี้ต่างมีสมุฏฐานเป็นต้นที่เหมือนกัน  



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๑๒๘)
ภิกษุให้ฉันทะแล้ว ต่อมาติเตียนสงฆ์ผู้ได้รับฉันทะให้ทำสังฆกรรม ต้องปาจิตตีย์

     พระฉัพพัคคีย์ประพฤติอนาจารแล้ว เมื่อการกสงฆ์ทำกรรมแก่ภิกษุแต่ละรูปอยู่ พระฉัพพัคคีย์พากันคัดค้าน ต่อมาสงฆ์ประชุมกันด้วยกรรมบางอย่าง พวกพระฉัพพัคคีย์สาละวนทำจีวรอยู่ พวกเธอจึงได้ให้ฉันทะแก่ภิกษุรูปหนึ่งของกลุ่มให้เข้าประชุม สงฆ์เห็นว่าเธอมารูปเดียว จึงได้ทำกรรม (ตำหนิที่ประพฤติอนาจาร) แก่เธอ ดังนี้  ภิกษุรูปนั้นกลับไปบอกพวกพระฉัพพัคคีย์ พวกเธอพูดว่า เราไม่ได้ให้ฉันทะไปเพื่อให้ทำกรรมแก่ท่าน ถ้าพวกเธอทราบว่า สงฆ์จักทำกรรมแก่ท่าน เราจะไม่พึงให้ฉันทะไป
      ภิกษุทั้งหลายทราบ ติเตียนพระฉัพพัคคีย์ว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์ให้ฉันทะเพื่อกรรมอันเป็นธรรมแล้ว จึงได้ถึงความบ่นว่าในภายหลังเล่า แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ให้ฉันทะเพื่อกรรมอันเป็นธรรมแล้ว ถึงธรรม คือ ความบ่นว่าในภายหลัง เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า กรรมอันเป็นธรรม ได้แก่ อปโลกนกรรม ๑ ญัตติกรรม ๑  ญัตติทุติยกรรม ๑  ญัตติจตุตถกรรม ๑  ที่สงฆ์ทำแล้วตามธรรม ตามวินัย ตามสัตถุศาสน์ นี้ชื่อว่า กรรมอันเป็นธรรม
          ภิกษุให้ฉันทะไปแล้ว บ่นว่า ต้องปาจิตตีย์

อาบัติ
       ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมเป็นธรรม ให้ฉันทะไป แล้วบ่นว่า ต้องปาจิตตีย์
       ๒. กรรมเป็นธรรม  ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๓. กรรมเป็นธรรม  ภิกษุคิดว่าไม่เป็นธรรม... ไม่ต้องอาบัติ
       ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุคิดว่ากรรมเป็นธรรม... ต้องทุกกฏ
       ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมไม่เป็นธรรม... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุรู้อยู่ว่า สงฆ์ทำกรรมโดยไม่ถูกธรรม เป็นพวก หรือทำแก่ภิกษุผู้มิใช่ผู้ควรแก่กรรม จึงบ่นว่า ๑ วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๘๕-๗๘๖
      ๑. บทว่า ธมฺมิกานํ มีวิเคราะห์ว่า ธรรมมีอยู่ในกรรมเหล่านั้น เพราะสงฆ์ทำโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ เพราะเหตุนั้น กรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่าธรรมิกะ (กรรมอันเป็นธรรม) เพื่อสังฆกรรม ๔ อันเป็นธรรมเหล่านั้น
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)    



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่๑๒๙)
ภิกษุออกจากที่ประชุมสงฆ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องปาจิตตีย์

       ครั้งนั้น สงฆ์ประชุมกันด้วยกรรมบางอย่างที่สงฆ์จะต้องทำ  พระฉัพพัคคีย์สาละวนอยู่กับการทำจีวรกรรม ได้ให้ฉันทะแก่ภิกษุรูปหนึ่งไป เธอมาถึงพอดีกับที่สงฆ์ตั้งญัตติแล้วว่า สงฆ์ประชุมกันเพื่อประสงค์ทำกรรมใด พวกเราจักทำกรรมนั้น ดังนี้
      ภิกษุรูปนั้นจึงพูดขึ้นว่า ภิกษุเหล่านี้ทำกรรมแก่ภิกษุแต่ละรูปอย่างนี้ พวกท่านจักทำกรรมแก่ใครกัน แล้วไม่ให้ฉันทะ ลุกจากอาสนะ หลีกไป
      ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนว่า ไฉน ภิกษุเมื่อเรื่องอันจะพึงวินิจฉัยยังเป็นไปอยู่ในสงฆ์ จึงไม่ให้ฉันทะ ลุกจากอาสนะหลีกไปเล่า...แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อเรื่องอันจะพึงวินิจฉัยยังเป็นไปอยู่ในสงฆ์ ไม่ให้ฉันทะแล้วลุกจากอาสนะ หลีกไปเสีย เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า เรื่องอันจะพึงวินิจฉัยในสงฆ์ ได้แก่ เรื่องที่โจทก์และจำเลยแจ้งไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้วินิจฉัย ๑  ตั้งญัตติแล้ว ๑  กรรมวาจายังสวดค้างอยู่ ๑
      - คำว่า ไม่ให้ฉันทะแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปเสีย คือ ตั้งใจว่า กรรมนี้พึงกำเริบ พึงเป็นวรรค พึงทำไม่ได้ ดังนี้ แล้วลุกเดินไป ต้องอาบัติทุกกฏ  กำลังละหัตถบาสแห่งที่ชุมนุมสงฆ์ ต้องทุกกฏ ละหัตถบาสไปแล้ว ต้องปาจิตตีย์
    
อาบัติ
       ๑. กรรมเป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมเป็นธรรม ไม่ให้ฉันทะแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ต้องปาจิตตีย์
       ๒. กรรมเป็นธรรม  ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๓. กรรมเป็นธรรม  ภิกษุคิดว่าไม่เป็นธรรม... ไม่ต้องอาบัติ
       ๔. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุคิดว่ากรรมเป็นธรรม... ต้องทุกกฏ
       ๕. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๖. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมไม่เป็นธรรม... ไม่ต้องอาบัติ
 อนาบัติ
      ภิกษุเห็นว่า ความบาดหมาง ความทะเลาะวิวาท จักเกิดแก่สงฆ์ ดังนี้ แล้วหลีกไป ๑  ภิกษุเห็นว่า สงฆ์จะแตกแยก จักร้าวรานกัน ดังนี้ แล้วหลีกไป ๑  ภิกษุเห็นว่าสงฆ์ทำกรรมแก่ภิกษุมิใช่ผู้ควรแก่กรรม ดังนี้ แล้วหลีกไป ๑  ภิกษุเกิดอาพาธ หลีกไป ๑  ภิกษุหลีกไปด้วยธุระอันจะทำแก่ภิกษุอาพาธ ๑  ปวดอุจจาระ  ปัสสาวะ แล้วหลีกไป ๑  ภิกษุไม่ตั้งใจจะทำให้กรรมเสีย หลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับมาอีก ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๙๐
      ๑. สิกขาบทนี้ มีการทอดธุระเป็นสมุฏฐาน เกิดขึ้นทางกายวาจากับจิต เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ,  กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๑๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๓๐)
ภิกษุพร้อมใจกันให้จีวรแก่ภิกษุรูปหนึ่งแล้ว ภายหลังกลับติเตียน ต้องปาจิตตีย์

       พระทัพพมัลลบุตรจัดเสนาสนะและแจกภัตแก่สงฆ์ แต่ท่านเป็นผู้มีจีวรเก่า   สมัยนั้น มีจีวรผืนหนึ่งเกิดขึ้นแก่สงฆ์ สงฆ์จึงได้ถวายจีวรผืนนั้นแก่ท่านพระทัพพมัลลบุตร แต่พวกพระฉัพพัคคีย์พากันเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ภิกษุทั้งหลายน้อมลาภของสงฆ์ไปตามชอบใจ
      ภิกษุทั้งหลายต่างติเตียนพระฉัพพัคคีย์ว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์กับสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันให้จีวรไปแล้ว ภายหลังจึงได้ถึงธรรม คือ บ่น แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด กับสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง ให้จีวรแก่ภิกษุแล้ว ภายหลังถึงธรรม คือ บ่น ว่าภิกษุทั้งหลายน้อมลาภของสงฆ์ไปตามชอบใจ เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - สงฆ์ที่ชื่อว่า พร้อมเพรียงกัน คือ มีสังวาสเสมอกัน อยู่ในสีมาเดียวกัน
      - บทว่า ให้ คือ ตนเองก็ให้
      - ที่ชื่อว่า ตามชอบใจ คือ ตามความที่เป็นไมตรีกัน ตามความที่เคยเห็นเคยคบกัน เคยร่วมอุปัชฌาย์อาจารย์เดียวกัน
      - ที่ชื่อว่า ของสงฆ์ คือ ที่เขาถวายแล้ว สละแล้วแก่สงฆ์
      - ที่ชื่อว่า ลาภ ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยของภิกษุไข้ โดยที่สุดแม้ก้อนจุรณ ไม้ชำระฟัน ด้ายชายผ้า
      - คำว่า ภายหลังถึงธรรม คือ บ่น ความว่า เมื่อให้จีวรแก่อุปสัมบันที่สงฆ์สมมติให้เป็นผู้จัดเสนาสนะก็ดี ให้เป็นผู้แจกอาหารก็ดี ให้เป็นผู้แจกยาคูก็ดี ให้เป็นผู้แจกผลไม้ก็ดี ให้เป็นผู้แจกของเคี้ยวก็ดี ให้เป็นผู้แจกของเล็กน้อยก็ดี แล้วบ่น ต้องปาจิตตีย์


อาบัติ
       ๑. กรรมเป็นธรรม (คือ สงฆ์ปฏิบัติถูกต้องแล้ว) ภิกษุรู้ว่ากรรมเป็นธรรม เมื่อให้จีวรแล้วบ่น ต้องปาจิตตีย์
       ๒.กรรมเป็นธรรม  ภิกษุสงสัย...ต้องปาจิตตีย์
       ๓. กรรมเป็นธรรม  ภิกษุคิดว่ากรรมไม่เป็นธรรม... ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ให้บริขารอย่างอื่นแล้วบ่น... ต้องทุกกฏ
       ๕. ให้จีวรหรือบริขารอย่างอื่นแก่อุปสัมบันผู้ที่สงฆ์ไม่ได้สมมติให้เป็นผู้จัดเสนาสนะ เป็นต้น แล้วบ่น ต้องทุกกฏ
       ๖. ให้จีวรหรือบริขารอย่างอื่นแก่อุปสัมบันผู้ที่สงฆ์สมมติก็ดี ไม่ได้สมมติก็ดี แล้วบ่น ต้องทุกกฏ
       ๗. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุคิดว่ากรรมเป็นธรรม..ต้องทุกกฏ
       ๘. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุมีความสงสัย..ต้องทุกกฎ
       ๙. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุรู้ว่ากรรมไม่เป็นธรรม..ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ภิกษุบ่นว่าสงฆ์ที่ทำหน้าที่แจกจีวรเป็นต้น ที่มีปกติทำโดยฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ว่าจะประโยชน์อะไรด้วยจีวรที่ให้แล้วแก่ภิกษุนั้น แม้เธอได้ไปแล้วก็จักทิ้ง จักไม่ใช้สอยโดยชอบธรรม ๑ วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๙๔
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓  เป็นกิริยา สจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โทสมูลจิต)



ปาจิตตีย์ สหธรรมิกวรรคที่ ๘ สิกขาบทที่ ๑๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๓๑)
ภิกษุรู้อยู่ น้อมลาภที่ทายกตั้งใจถวายสงฆ์มาเพื่อบุคคล ต้องปาจิตตีย์

      ชาวบ้านหมู่หนึ่งได้จัดเตรียมอาหารพร้อมทั้งจีวร ด้วยหมายว่าจักให้สงฆ์ฉันแล้วครองจีวร ครั้งนั้นพระฉัพพัคคีย์เข้าไปหาชาวบ้านหมู่นั้น พูดขอให้เขาถวายจีวรแก่พวกตน ด้วยเหตุผลว่า สงฆ์มีมากแล้วขณะที่พวกท่านไม่มี ชาวบ้านที่ถูกพระฉัพพัคคีย์แค่นขอจึงถวายจีวรแก่พวกท่านไป
      ในเวลานั้น พวกเขาจึงได้ถวายเฉพาะภัตอย่างเดียว บรรดาภิกษุที่มาฉันทราบว่าเขาจักให้ฉันพร้อมถวายจีวร เมื่อฉันเสร็จจึงได้สอบถามการถวายจีวร ชาวบ้านหมู่นั้นได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว
      ภิกษุทั้งหลายได้ติเตียนว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์ รู้อยู่ จึงได้น้อมลาภที่เขาน้อมไปจะถวายสงฆ์มาเพื่อบุคคลเล่า แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไปจะถวายสงฆ์มาเพื่อบุคคล เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า  รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือคนอื่นบอกให้รู้ หรือเจ้าตัวบอก
      - ที่ชื่อว่า จะถวายสงฆ์ คือ เขาจะให้อยู่แล้ว จะบริจาคแก่สงฆ์อยู่แล้ว
      - ที่ชื่อว่า ลาภ ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยของภิกษุไข้ โดยที่สุดแม้ก้อนจรุณ ไม้ชำระฟัน ด้ายชายผ้า
      - ที่ชื่อว่า เขาน้อมไป คือ ได้เปล่งวาจาไว้ว่า จักถวาย จักทำ ภิกษุน้อมมาเพื่อบุคคล ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
       ๑. ลาภที่เขาน้อมไปแล้ว ภิกษุรู้ว่าเขาน้อมไปแล้ว (เพื่อสงฆ์) น้อมมาเพื่อบุคคล ต้องปาจิตตีย์
       ๒. ลาภที่เขาน้อมไปแล้ว ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๓. ลาภที่เขาน้อมไปแล้ว ภิกษุสำคัญว่าเขายังไม่ได้น้อมไป ไม่ต้องอาบัติ
       ๔. ลาภที่เขาน้อมไปแล้ว ภิกษุน้อมมาเพื่อสงฆ์หมู่อื่นก็ดี เพื่อเจดีย์ก็ดี ต้องทุกกฏ
       ๕. ลาภที่เขาน้อมไปเพื่อเจดีย์ ภิกษุน้อมมาเพื่อเจดีย์อื่น หรือเพื่อสงฆ์ หรือเพื่อบุคคล ต้องทุกกฏ
       ๖. ลาภที่เขาน้อมไปเพื่อบุคคล ภิกษุน้อมมาเพื่อบุคคลอื่นก็ดี เพื่อสงฆ์ หรือเพื่อเจดีย์ ต้องทุกกฏ
       ๗. ลาภที่เขายังไม่ได้น้อมไป ภิกษุคิดว่าเขาน้อมไปแล้ว ต้องทุกกฎ
       ๘. ลาภที่เขายังไม่ได้น้อมไป ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๗. ลาภที่เขายังไม่ได้น้อมไป ภิกษุรู้ว่าเขายังไม่ได้น้อมไป ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุเมื่อทายกถามว่า จะถวายที่ไหน  ตอบว่า ไทยธรรมของพวกท่าน พึงได้รับการใช้สอย ถึงได้รับการปรับปรุง หรือพึงตั้งอยู่ได้นานในที่ใด ก็หรือจิตของพวกท่านเลื่อมใสในที่ใด ก็จงถวายในที่นั้นเถิด ดังนี้ ๑ วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๗๙๙
      ๑. คำใดที่ควรทำความเข้าใจให้ดูในนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ข้อที่ ๑๐ ปัตตวรรค, ในนิสสัคคีย์นั้น น้อมมาเพื่อตน แต่ในสิกขาบทนี้เป็นปาจิตตีย์ล้วน เพราะน้อมไปเพื่อบุคคล (อื่น)
      ๒. สิกขาบทนี้ มีสมุฏฐาน ๓ เป็นกิริยา  เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต (โลภมูลจิต โทสมูลจิต)    


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
สุทุทฺทส สุนิปุณํ   ยตฺถกามนิปาตินํ
จิตฺตํ รกิเขถ เมธาวี   จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ ฯ ๓๖ ฯ  
จิตเห็นได้ยาก ละเอียดยิ่งนัก  มักใฝ่ในอารมณ์ตามที่ใคร่
ผู้มีปัญญาจึงควรควบคุมจิตไว้ให้ดี  เพราะจิตที่ควบคุมได้แล้ว นำสุขมาให้

Hard to perceive and extremely subtle is this mind, It roams wherever it desires.
Let the wise man guard it; A guarded mind is conducive to happiness..
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ....  


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 สิงหาคม 2563 16:23:06

ปาจิตตีย์ รตนวรรคที่ ๙ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๓๒)
ภิกษุเข้าไปในห้องที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จอยู่กับพระมเหสี
ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้รับอนุญาตก่อน

       พระเจ้าปเสนทิโกศล เลื่อมใสอุบาสกคนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสเชิญให้อุบาสกกล่าวธรรมในฝ่ายในของพระองค์ แต่อุบาสกปฏิเสธว่า ตนเองรู้ธรรมจากพระคุณเจ้าทั้งหลาย ขอให้พระราชานิมนต์พระคุณเจ้าเถิด พระราชาจึงเข้าเฝ้ากราบทูลให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทานภิกษุรูปหนึ่งเพื่อสอนธรรม
      พระองค์ทรงแต่งตั้งพระอานนท์ให้เข้าไปสอนธรรม วันหนึ่งเวลาเช้า พระอานนท์เข้าสู่พระราชนิเวศน์เร็วไป ขณะนั้นพระราชาและพระนางมัลลิกาเทวียังบรรทมอยู่ พระนางทอดพระเนตรเห็นพระอานนท์มาแต่ไกล จึงผลีผลามลุกขึ้น พระภูษาทรงสีเหลืองได้เลื่อนหลุด พระอานนท์กลับจากที่นั้นทันที ถึงอารามได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ติเตียนว่า ไฉน ท่านพระอานนท์ยังไม่ได้รับบอกก่อน จึงได้เข้าไปสู่พระราชฐานชั้นในเล่า...แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วแสดงโทษ ๑๐ อย่าง ในการเข้าสู่พระราชฐานชั้นใน มีความระแวงจากพระราชาเมื่อเห็นภิกษุและพระมเหสียิ้มให้กันเป็นต้น แล้วทรงบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ไม่ได้รับบอกก่อน ก้าวล่วงธรณีเข้าไปในห้องของพระราชาผู้กษัตริย์ ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว ที่พระราชายังไม่ได้เสด็จออก ที่รัตนะยังไม่ออก เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า ผู้กษัตริย์ คือ เป็นผู้เกิดดีแล้วทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งฝ่ายพระราชมารดาและพระราชบิดา เป็นผู้มีพระครรภ์เป็นที่ปฏิสนธิหมดจดดีแล้ว ตลอด ๗ ชั่วบุรพชนก ไม่มีใครคัดค้าน ติเตียน โดยกล่าวถึงชาติกำเนิดได้
      - ที่ชื่อว่า ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว คือ ได้รับอภิเษกโดยสรงสนานให้เป็นกษัตริย์แล้ว
      - บทว่า ที่พระราชายังไม่เสด็จออก คือ พระเจ้าแผ่นดินยังไม่เสด็จออกจากตำหนักที่บรรทม
      - บทว่า ที่รัตนะยังไม่ออก คือ พระมเหสียังไม่เสด็จออกจากตำหนักที่บรรทม หรือทั้งสองยังไม่ได้เสด็จออก
      - บทว่า ยังไม่ได้รับบอกก่อน คือ ไม่มีใครนิมนต์ไว้ก่อน
      - ที่ชื่อว่า ธรณี ได้แก่ สถานที่ซึ่งเขาเรียกกันว่า ธรณีแห่งตำหนักที่บรรทม
      - ที่ชื่อว่า ตำหนักที่บรรทม ได้แก่ ที่บรรทมของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเจ้าพนักงานจัดแต่งไว้ในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยที่สุดแม้วงด้วยพระสูตร (ม่าน)
      - คำว่า ก้าวล่วงธรณีเข้าไป คือ ยกเท้าที่ ๑ ก้าวล่วงธรณีเข้าไป ต้องทุกกฏ ยกเท้าที่ ๒ ก้าวล่วงธรณีเข้าไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาบัติ
       ๑. ยังไม่ได้รับบอก ภิกษุรู้ว่ายังไม่ได้รับบอก ก้าวล่วงธรณีเข้าไป ต้องปาจิตตีย์
       ๒. ยังไม่ได้รับบอก ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
       ๓. ยังไม่ได้รับบอก ภิกษุคิดว่าได้รับบอกแล้ว... ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ได้รับบอกแล้ว ภิกษุคิดว่ายังไม่ได้รับบอก... ต้องทุกกฏ
       ๕. ได้รับบอกแล้ว ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๖. ได้รับบอกแล้ว ภิกษุรู้ว่าได้รับแล้ว... ไม่ต้องอาบัติ
     
อนาบัติ
      ได้บอกแล้ว ๑  ไม่ใช่กษัตริย์ ๑  ไม่ได้รับอภิเษกโดยสรงสนานให้เป็นกษัตริย์ ๑  พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกแล้ว ๑  พระมเหสีเสด็จออกแล้ว ๑  ทั้งสองพระองค์เสด็จออกแล้ว ๑  ไม่ใช่ตำหนักที่บรรทม ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๘๐๘-๘๐๙
      ๑. พระมเหสี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า รัตนะ
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายกับวาจา ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา  เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ,  กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓   



ปาจิตตีย์ รตนวรรคที่ ๙ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่๑๓๓)
ภิกษุเก็บของมีค่าที่ตกอยู่ ถือเอาเป็นของเก็บได้เอง ใช้ผู้อื่นเก็บก็ดี ต้องปาจิตตีย์
เว้นไว้แต่ตกอยู่ในวัด ต้องเก็บไว้ให้เจ้าของ

       พราหมณ์คนหนึ่งวางถุงเงินประมาณ ๕๐๐ กษาปณ์ ไว้บนบก แล้วลงอาบน้ำในแม่น้ำอจิรวดี เสร็จแล้วได้ลืมถุงทรัพย์นั้นไว้ ภิกษุรูปหนึ่งสรงน้ำขึ้นมาพบเข้า คิดว่านี้คงเป็นถุงทรัพย์ของพราหมณ์นั้น อย่าได้เสียหายเลย จึงได้เก็บไว้
      ฝ่ายพราหมณ์นึกขึ้นได้ รีบวิ่งมาถามภิกษุ ภิกษุนั้นคืนให้แล้ว พราหมณ์ฉุกคิดขึ้นว่าจะทำอย่างไรหนอ เราจึงจะไม่ต้องให้ค่าไถ่ร้อยละ ๕ แก่ภิกษุนี้ จึงพูดเชิงขู่ว่า ทรัพย์ของข้าพเจ้าไม่ใช่ ๕๐๐ กษาปณ์ แต่มี ๑,๐๐๐ กษาปณ์  ดังนั้น แล้วปล่อยภิกษุไป
      ภิกษุนั้นถึงอาราม ได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ ติเตียนว่า ไฉน จึงได้เก็บเอารัตนะเล่า แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด เก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี เป็นปาจิตตีย์”
      ต่อมา นางทาสีของนางวิสาขามิคารมาตา ได้ลืมเครื่องประดับของนางวิสาขาไว้ในอาราม ภิกษุกราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า...
      ต่อมา คนสนิทของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีถอดแหวนแล้ว อังคาสภิกษุทั้งหลายที่เข้าไปฉันยังโรงงานของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่กาสีชนบท คนสนิทนั้นได้ลืมแหวนไว้แล้วออกไปข้างนอก ภิกษุทั้งหลายกลัวหายจึงนั่งดูให้อยู่ จนคนสนิทกลับมา ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด เก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี เว้นไว้แต่ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี เป็นปาจิตตีย์ และภิกษุเก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี พึงเก็บไว้ด้วยหมายว่าของผู้ใด ผู้นั้นจะได้นำไป นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า รัตนะ ได้แก่ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง แก้ว ทับทิม แก้วลาย นี้ชื่อว่ารัตนะ
      - ที่ชื่อว่า ของที่สมมติว่ารัตนะ ได้แก่ เครื่องอุปโภค เครื่องบริโภค ของมวลมนุษย์ นี้ชื่อว่า ของที่สมมติว่ารัตนะ
      - คำว่า เว้นไว้แต่ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี
      - ที่ชื่อว่า ภายในวัดที่อยู่ คือ สำหรับวัดที่มีเครื่องล้อม กำหนดภายในวัด, สำหรับที่ไม่มีเครื่องล้อม กำหนดอุปจารวัด
      - ที่ชื่อว่า ภายในที่อยู่พัก คือ สำหรับที่อยู่พักที่มีเครื่องล้อม ได้แก่ ภายในที่อยู่พัก, สำหรับที่อยู่พักที่ไม่มีเครื่องล้อม ได้แก่ อุปจารที่อยู่พัก
      - บทว่า เก็บเอา คือ ถือเอาเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์, บทว่า ให้เก็บเอา คือ ให้คนอื่นถือเอา ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      - คำว่า และภิกษุเก็บเอาก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี พึงเก็บไว้นั้น ความว่า ภิกษุพึงทำเครื่องหมายตามรูป หรือตามนิมิต เก็บไว้ แล้วพึงประกาศว่า สิ่งของผู้ใดหาย ผู้นั้นจงมารับไป ถ้าเขามารับ พึงสอบถามเขาว่า สิ่งของของท่านเป็นเช่นไร ถ้าเขาบอกรูปพรรณหรือตำหนิถูกต้อง พึงให้ไป ถ้าบอกไม่ถูกต้อง พึงบอกเขาว่า จงค้นหาเอาเอง เมื่อจะหลีกไปจากอาวาสนี้พึงมอบไว้ในมือของภิกษุผู้สมควรที่อยู่ในวัดนั้น แล้วจึงหลีกไป ถ้าภิกษุผู้สมควรไม่มี พึงมอบไว้ในมือของคหบดีผู้สมควรที่อยู่ในตำบลนั้น แล้วจึงหลีกไป
      - คำว่า นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น ความว่า นี้เป็นมารยาทที่ดียิ่งในเรื่องนี้

 อนาบัติ
      ภิกษุเก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่าเป็นรัตนะก็ดี ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี แล้วเก็บไว้ด้วยหมายว่า ของผู้ใดผู้นั้นจะได้นำไป ดังนี้ ๑  ภิกษุถือวิสาสะของที่สมมติว่ารัตนะ ๑  ภิกษุถือเป็นของขอยืม ๑  ภิกษุเข้าใจว่าเป็นของบังสุกุล ๑ วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๘๑๖-๘๑๘
      ๑. ๒ ชั่วขว้างก้อนดินตกแห่งวัดที่อยู่ ชื่อว่า อุปจาร, แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า สำหรับที่อยู่พักชั่วเหวี่ยงกระด้งตก หรือชั่วเหวี่ยงสากตก (ชื่อว่าอุปจาร)
      ๒. ภิกษุรับเอาก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองและเงิน เพื่อประโยชน์แก่ตน เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์, รับเอาก็ดี ให้รับเอาก็ดี เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ คณะ บุคคล เจดีย์ และนวกรรม เป็นทุกกฏ, ภิกษุรับเอาก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งรัตนะมีมุกดาเป็นต้นที่เหลือ เพื่อประโยชน์แก่ตนหรือสงฆ์เป็นต้น เป็นทุกกฏ
      สิ่งที่เป็นกัปปิยวัตถุก็ดี เป็นอกัปปิยวัตถุก็ดี อันเป็นของคฤหัสถ์ ชั้นที่สุดแม้ใบตาล อันเป็นเครื่องประดับหูอันเป็นของมารดา เมื่อภิกษุรับเก็บโดยมุ่งวัตรแห่งภัณฑาคาริก (ผู้รักษาคลังสิ่งของ) เป็นใหญ่ เป็นปาจิตตีย์เหมือนกัน, แต่ถ้าของของมารดาบิดาเป็นกัปปิยภัณฑ์อันควรที่ภิกษุจะเก็บไว้ได้แน่นอน พึงรับเก็บไว้เพื่อประโยชน์ตน, แต่เมื่อเขากล่าวว่า ท่านโปรดเก็บของนี้ไว้ให้ด้วย พึงห้ามว่า ไม่ควร
      ถ้าพวกคฤหัสถ์โยนของทิ้งไว้กล่าวว่า นิมนต์ท่านเก็บไว้ให้ด้วย แล้วไปเสีย จัดว่าเป็นธุระ สมควรจะเก็บไว้, พวกคนงาน มีช่างไม้เป็นต้น ผู้กระทำการงานในวิหารก็ดี พวกราชวัลลภก็ดี ขอร้องให้ช่วยเก็บเครื่องมือ หรือเครื่องนอนของตนว่า นิมนต์ท่านช่วยเก็บไว้ให้ด้วย อย่าพึงกระทำเพราะชอบกันบ้าง เพราะกลัวบ้าง แต่จะแสดงที่เก็บให้ ควรอยู่,  ส่วนในเหล่าชนผู้โยนของทิ้งไว้โดยพลการ แล้วไปเสีย จะเก็บไว้ให้ก็ควร
      ๓. ถ้าอารามใหญ่เช่นกับมหาวิหาร, ภิกษุเก็บเองก็ดี ใช้ให้เก็บก็ดี ซึ่งของคฤหัสถ์ที่ตกในสถานที่ เช่นกับที่ซึ่งจะเกิดมีความระแวงสงสัยว่าจักถูกพวกภิกษุและสามเณรฉวยเอาไป แล้วพึงเก็บไว้ในบริเวณที่มีกำแพงกั้นในอารามใหญ่นั้น, แต่ที่ตกในสถานที่สัญจรของมหาชน เช่น ที่ซุ้มประตูแห่งมหาโพธิ์และสวนมะม่วง ไม่ควรเก็บ ไม่ใช่หน้าที่ของภิกษุ, แต่ในกุรุนทีกล่าวว่า ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไปเห็นภัณฑะบางอย่างในสถานที่ไม่มีคน แม้เมื่อเกิดมีคนพลุกพล่าน พวกชาวบ้านก็จะสงสัยภิกษุนั้นทีเดียว เพราะฉะนั้น พึงแวะออกจากทางแล้วนั่งพัก เมื่อพวกเจ้าของมา พึงบอกทรัพย์นั้น ถ้าไม่ทราบเจ้าของ เธอจักต้องทำให้เป็นของสมควร (มีการถือเอาเป็นของบังสุกุลเป็นต้น)
      ๔. เมื่อไม่พบเจ้าของ เมื่อจะหลีกไป ไม่ควรมอบไว้ในมือของพวกคนผู้มีนิสัยโลเล อย่าพึงทำให้เป็นมูลค่าแห่งจีวรเป็นต้น เพื่อตนเอง แต่พึงให้สร้างเสนาสนะ หรือเจดีย์ หรือสระโบกขรณี ที่เป็นของถาวร ถ้าว่าล่วงกาลไปนาน เจ้าของจึงมาทวง พึงบอกเขาว่า อุบาสก ของชื่อนี้เขาสร้างด้วยทรัพย์ของท่าน จงอนุโมทนาเถิด ถ้าว่าเขาอนุโมทนาด้วย ข้อนั้นเป็นการดี ถ้าเขาไม่อนุโมทนา กลับทวงว่า ขอทรัพย์ผมคืน พึงชักชวนคนอื่นคืนทรัพย์ให้เขาไป
      ๕. ในการถือวิสาสะ ตรัสหมายเอาอามาสวัตถุ (ของควรจับต้องได้) เท่านั้น ของอนามาส ไม่ควรเลย
      ๖.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ,  กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
ทูรงฺคมํ เอกจรํ   อสรีรํ คุหาสยํ
เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ   โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา ฯ ๓๗ ฯ   
จิตท่องเที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในร่างกายนี้
ใครควบคุมจิตนี้ได้  ย่อมพ้นจากบ่วงมาร

Faring afar, solitary, incorporeal  Lying in the body, is the mind.
Those who subdue it are freed  From the bond od Mara.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ....




หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 ตุลาคม 2563 16:37:05

ปาจิตตีย์ รตนวรรคที่ ๙ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๓๔)
ภิกษุเข้าบ้านในเวลาวิกาล โดยไม่บอกลาภิกษุอื่นที่มีอยู่ในวัดก่อน
ต้องปาจิตตีย์ เว้นแต่มีกิจรีบด่วน

     พระฉัพพัคคีย์เข้าบ้านในเวลาวิกาลแล้ว นั่งในชุมนุมกล่าวเรื่องดิรัจฉานกถา มีเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เป็นต้น  ชาวบ้านต่างเพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยินต่างติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติ... (ห้ามเข้าสู่บ้านในเวลาวิกาล)
      ต่อมา ภิกษุหลายรูปเดินทางมาถึงหมู่บ้านหนึ่งในเวลาเย็น ชาวบ้านอาราธนาให้เข้าพัก เธอทั้งหลายรังเกียจเพราะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงห้ามแล้ว จึงไม่ได้เข้าไป จึงถูกพวกโจรแย่งชิงแล้ว ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ทรงอนุญาตให้อำลาแล้วเข้าสู่บ้านในเวลาวิกาลได้ แล้วทรงมีพระอนุบัญญัติ...
      ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางมาถึงหมู่บ้านในเวลาเย็น  ชาวบ้านนิมนต์ให้เข้าพัก เธอรังเกียจเพราะมารูปเดียว ไม่มีภิกษุอื่นเพื่ออำลา ได้ถูกโจรแย่งชิงแล้ว ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติให้อำลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าไปสู่บ้านในเวลาวิกาลได้
      ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด ภิกษุอีกรูปจะเข้าบ้านเพื่อหาไฟมา แต่เธอรังเกียจจึงไม่ได้เข้าไป ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ไม่อำลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าไปอยู่ในบ้านในเวลาวิกาล เว้นไว้แต่กิจรีบด่วน มีอย่างนั้นเป็นรูป เป็นปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
      - ภิกษุที่ชื่อว่า มีอยู่ คือ มีภิกษุที่ตนสามารถจะอำลาแล้วเข้าไปสู่บ้านได้, ภิกษุที่ชื่อว่า ไม่มีอยู่ คือ ไม่มีภิกษุที่ตนสามารถจะอำลาแล้วเข้าไปสู่บ้านได้
      - ที่ชื่อว่า เวลาวิกาล ได้แก่ เวลาเที่ยงวันไปแล้ว ตราบจนถึงอรุณขึ้นมาใหม่
      - คำว่า เข้าไปสู่บ้าน ความว่า เมื่อเดินล่วงเครื่องล้อมของบ้านที่มีเครื่องล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์,  เดินล่วงอุปจารบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม ต้องอาบัติปาจิตตีย์
      - คำว่า เว้นไว้แต่กิจรีบด่วน มีอย่างนั้นเป็นรูป คือ เว้นไว้แต่มีกิจรีบด่วน มีอาพาธเป็นต้น
    
อาบัติ
       ๑. เวลาวิกาล ภิกษุรู้ว่าเป็นเวลาวิกาล ไม่อำลาภิกษุที่มีอยู่แล้ว เข้าไปสู่บ้าน เว้นไว้แต่มีกิจรีบด่วน เห็นปานนั้น ต้องปาจิตตีย์
       ๒. เวลาวิกาล ภิกษุสงสัย... ต้องปาจิตตีย์
       ๓. เวลาวิกาล ภิกษุคิดว่าเป็นในกาล... ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ในกาล ภิกษุคิดว่าเป็นเวลาวิกาล... ต้องทุกกฏ
       ๕. ในกาล ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฏ
       ๖. ในกาล ภิกษุรู้ว่าในกาล... ไม่ต้องอาบัติ
      
อนาบัติ
      เข้าไปสู่บ้าน เพราะมีกิจรีบด่วนเห็นปานนั้น ๑  อำลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าไป ๑  ภิกษุไม่มี ไม่อำลาเข้าไป ๑  ไปสู่อารามอื่น ๑  ไปสู่สำนักภิกษุณี ๑  ไปสู่สำนักเดียรถีย์ ๑  ไปสู่โรงฉัน ๑  เดินไปตามทางผ่านบ้าน ๑  มีอันตราย ๑ วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๘๒๕-๘๒๖
      ๑. บทว่า ติรจฺฉานากถํ ได้แก่ ถ้อยคำเป็นเหตุขัดขวางต่ออริยมรรค
      ๒. ถ้าว่า ภิกษุมากรูปด้วยกัน จะเข้าไปยังบ้านด้วยการงานบางอย่าง เธอทุกรูปพึงบอกลากันและกันว่า วิกาเล คามปฺปเวสนํ แปลว่ พวกเราบอกลาการเข้าบ้านในเวลาวิกาล, การงานนั้นในบ้านนั้นยังไม่เสร็จ เหตุนั้นภิกษุจะไปสู่บ้านอื่น แม้ตั้งร้อยบ้านก็ตามที ไม่มีกิจจะต้องบอกลาอีก
           ก็ถ้าว่า ภิกษุระงับความตั้งใจแล้ว กำลังกลับไปวิหาร ใคร่จะไปสู่บ้านอื่นในระหว่างทาง ต้องบอกลาเหมือนกัน ทำภัตกิจในเรือนแห่งสกุลก็ดี โรงฉันก็ดี แล้วใคร่จะเที่ยวภิกษาน้ำมัน หรือภิกษาเนยใส ก็ถ้ามีภิกษุอยู่ใกล้ๆ พึงบอกลาก่อนแล้วจึงไป, เมื่อไม่พึงไปด้วยใส่ใจว่า ภิกษุไม่มี ย่างลงสู่ทางแล้ว จึงเห็นภิกษุ ไม่มีกิจจะต้องบอกลา, แม้ไม่บอกลาก็ควรเที่ยวไปได้เหมือนกัน
           มีทางผ่านไปท่ามกลางบ้าน เมื่อภิกษุเดินไปตามทางนั้นเกิดมีความคิดขึ้นว่า เราจักเที่ยวภิกษาน้ำมันเป็นต้น ถ้ามีภิกษุอยู่ใกล้ๆ พึงบอกลาก่อนจึงไป แต่เมื่อไม่แวะออกจากทางเดินไป ไม่มีกิจจำเป็นต้องบอกลา
      ๓. สีหะก็ดี เสือก็ดี กำลังมา เมฆตั้งเค้าขึ้นก็ดี อุปัทวะอย่างอื่นเกิดขึ้นก็ดี ไม่เป็นอาบัติในอันตรายเห็นปานนี้ จะไปยังภายในบ้านจากภายนอกบ้าน ควรอยู่
      ๔. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายกับวาจา ๑  ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา เป็นอจิตตกะ  ปัณณัตติวัชชะ,  กายกรรม วจีกรรม  มีจิต ๓  



ปาจิตตีย์ รตนวรรคที่ ๙ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๑๓๕)
ภิกษุทำกล่องเข็มด้วยกระดูก งา เขาสัตว์ ต้องปาจิตตีย์

      ครั้งนั้น ช่างงาคนหนึ่งปวารณาต่อภิกษุทั้งหลายไว้ว่า พระคุณเจ้าเหล่าใด ต้องการกล่องเข็ม กระผมจะจัดกล่องเข็มมาถวาย ภิกษุทั้งหลายจึงขอกล่องเข็มเขาเป็นจำนวนมาก ภิกษุที่มีกล่องเข็มขนาดย่อมก็ขอขนาดเขื่อง ที่มีขนาดเขื่องก็ขอขนาดย่อม  ช่างงามัวทำกล่องเข็มเป็นจำนวนมากถวายอยู่ ไม่สามารถทำของอย่างอื่นไว้สำหรับขายได้ แม้ตนเองจะประกอบอาชีพก็ไม่สะดวก แม้บุตรภรรยาของเขาก็ลำบาก
      ชาวบ้านเพ่งโทษติเตียน ภิกษุได้ยินต่างติเตียน แล้วกราบทูล,,, ทรงติเตียนความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณของภิกษุเหล่านั้น แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำกล่องเข็มแล้ว ด้วยกระดูกก็ดี ด้วยงาก็ดี ด้วยเขาก็ดี เป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ต่อยเสีย”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า กระดูก ได้แก่ กระดูกสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง
      - ที่ชื่อว่า งา ได้แก่ สิ่งที่เรียกกันว่างาช้าง
      - ที่ชื่อว่า เขา ได้แก่ เขาสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง
      - บทว่า ให้ทำ คือ ทำเองก็ดี ใช้ผู้อื่นให้ทำก็ดี เป็นทุกกฏในขณะทำ, เป็นปาจิตตีย์เมื่อได้กล่องเข็มมา ต้องต่อยให้แตกก่อนจึงแสดงอาบัติตก

อาบัติ
     - กล่องเข็ม ตนทำค้างไว้ แล้วทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
     - กล่องเข็ม ตนทำค้างไว้ แล้วใช้ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
     - กล่องเข็ม ผู้อื่นทำค้างไว้ ใช้ผู้อื่นให้ทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
     - ภิกษุทำเองก็ดี ใช้ผู้อื่นทำก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ต้องทุกกฏ
     - ภิกษุได้กล่องเข็มอันคนอื่นทำไว้มาใช้สอย ต้องทุกกฏ
 
อนาบัติ
      ทำลูกดุม ๑  ทำตะบันไฟ ๑  ทำถูกถวิล ๑  ทำกลักยาตา ๑  ทำไม้ป้ายยาตา ๑  ทำฝักมีด ๑  ทำธมกรก ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๘๓๐
      ๑. การทำต่อยนั่นแหละ ชื่อ เภทนกะ,  เภทนกะนั้นมีอยู่แก่ปาจิตตีย์นั้น เพราะเหตุนั้นปาจิตตีย์นั้นจึงชื่อว่า เภทนกะ
      ๒.  สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ (ดูเทียบเคียงจากสังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๕)  เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ  ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม  มีจิต ๓  



ปาจิตตีย์ รตนวรรคที่ ๙ สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๑๓๖)
ภิกษุทำเตียง ตั่ง มีเท้าสูงกว่า ๘ นิ้วพระสุคต ต้องปาจิตตีย์

      ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกำลังนอนอยู่บนเตียงนอนอันสูง พอดีกับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาตามเสนาสนะ พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก ผ่านมาทางที่อยู่ของท่านอุปนันท์ๆ แลเห็น ได้กราบทูลให้พระองค์ทอดพระเนตรเตียงนอนของตน
      พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จกลับจากที่นั่น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า พวกเธอพึงทราบ โมฆบุรุษเพราะที่อยู่อาศัย ทรงติเตียนพระอุปนันท์เป็นอย่างมาก แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุผู้ทำให้เตียงก็ดี ตั่งก็ดี ใหม่  พึงทำให้เท้าเพียง ๘ นิ้ว ด้วยนิ้วสุคต เว้นไว้แต่แม่แคร่เบื้องต่ำ เธอทำให้ล่วงประมาณนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย”

อรรถาธิบาย
       - ที่ชื่อว่า ใหม่ ตรัสหมายถึงการทำขึ้น
       - ที่ชื่อว่า เตียง ได้แก่ เตียง ๔ ชนิด คือ เตียงมีแม่แคร่สอดเข้าในขา ๑  เตียงมีแม่แคร่ติดเนื่องเป็นอันเดียวกันกับขา ๑  เตียงมีขาดังก้ามปู ๑  เตียงมีขาจรดแม่แคร่ ๑
       - บทว่า ผู้ให้ทำ คือ ทำเองก็ดี ใช้คนอื่นทำก็ดี
       - คำว่า พึงทำให้มีเท้าเพียง ๘ นิ้ว ด้วยนิ้วพระสุคต คือ ยกเว้นแม่แคร่เบื้องต่ำ
       - ทำเองก็ดี ใช้คนอื่นทำก็ดี เกินประมาณนั้น เป็นทุกกฏในทุกขณะกำลังทำ, เป็นปาจิตตีย์ เมื่อได้เตียง ตั่ง นั้นมา  ต้องตัดให้ได้ประมาณก่อนจึงแสดงอาบัติตก
      

อาบัติ
       ๑. เตียง ตั่ง ตนทำค้างไว้ แล้วทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๒. เตียง ตั่ง ตนทำค้างไว้ แล้วใช้ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๓. เตียง ตั่ง ผู้อื่นทำค้างไว้ ตนทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๔. เตียง ตั่ง ผู้อื่นทำค้างไว้ ใช้คนอื่นทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๕. ทำเองก็ดี ใช้คนอื่นทำก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ต้องทุกกฏ
       ๖. ได้เตียง ตั่ง ที่คนอื่นทำเสร็จแล้วมาใช้สอย  ต้องทุกกฏ

อนาบัติ
      ทำสายรัดเข่า ๑  ทำประคดเอว ๑  ทำสายโยกบาตร ๑  ทำถุงบาตร ๑  ทำผ้ากรอง ๑  ทำหมอน ๑  ได้เตียง ตั่ง ที่ผู้อื่นทำเสร็จแล้วมาทำลายก่อนใช้สอย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๘๓๖
      ๑. เตียงและตั่งที่ชื่อว่า หุ้มนุ่น เพราะความว่าเป็นที่มีนุ่นถูกหุ้มไว้,  ภิกษุยัดนุ่นแล้วหุ้มด้วยผ้าลาดพื้นข้างบน
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ (เหมือนสิกขาบทก่อน)



ปาจิตตีย์ รตนวรรคที่ ๙ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๓๘)
ภิกษุพึงทำผ้าปูนั่งให้ได้ประมาณ ยาว ๒ คืบพระสุคต กว้างคืบหนึ่ง ชายคืบหนึ่ง
ถ้าทำให้เกินกว่ากำหนดนี้ ต้องปาจิตตีย์

      พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตผ้าสำหรับนั่งแล้ว จึงใช้ผ้าสำหรับนั่งไม่มีประมาณให้ห้อยลงข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง แห่งเตียงบ้าง แห่งตั่งบ้าง ภิกษุทั้งหลายต่างเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล...ทรงมีพระบัญญัติว่า (ให้ทำได้โดยยาว ๒ คืบ กว้างคืบครึ่ง ด้วยคืบสุคต)
      ต่อมา พระอุทายีเป็นผู้มีร่างกายใหญ่ ท่านปูผ้าสำหรับนั่งลงตรงเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่งดึงออกอยู่โดยรอบ  ตรัสถาม... พระอุทายีกราบทูลว่า ทรงอนุญาตผ้าสำหรับนั่งแก่ภิกษุทั้งหลายเล็กเกินไป  ตรัสว่า เราอนุญาตชายแห่งผ้าสำหรับนั่งเพิ่มอีกคืบหนึ่ง แล้วมีพระอนุบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำผ้าสำหรับนั่ง พึงทำให้ได้ประมาณ นี้ประมาณในคำนั้นโดยยาว ๒ คืบ  โดยกว้างคืบครึ่ง  ชายคืบหนึ่ง ด้วยคืบสุคต เธอทำให้ล่วงประมาณนั้นไปเป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า ผ้าสำหรับนั่ง ได้แก่ ผ้าที่เขาเรียกกันว่า ผ้ามีชาย
      - บทว่า ผู้ให้ทำ คือ ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดี ต้องทำให้ได้ประมาณ นี้ประมาณในคำนั้นคือ โดยยาว ๒ คืบ กว้างคืบครึ่ง ชายคืบหนึ่ง ด้วยคืบสุคต  ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดี ให้เกินประมาณนั้นไปเป็นทุกกฏในขณะที่ทำ, เป็นปาจิตตีย์เมื่อได้ผ้าสำหรับนั่งมา พึงตัดก่อนจึงแสดงอาบัติตก
    
อาบัติ
       ๑. ผ้าสำหรับนั่ง ตนทำค้างไว้ ตนทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๒. ผ้าสำหรับนั่ง ตนทำค้างไว้ ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๓. ผ้าสำหรับนั่ง ผู้อื่นทำค้างไว้ ตนทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ผ้าสำหรับนั่ง ผู้อื่นทำค้างไว้ ให้ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๕. ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ต้องทุกกฏ
       ๖. ได้ผ้าสำหรับนั่งที่ผู้อื่นทำเสร็จแล้วมาใช้สอย ต้องทุกกฏ
      
อนาบัติ
      ภิกษุทำผ้าสำหรับนั่งได้ประมาณ ๑  ทำผ้าสำหรับนั่งหย่อนกว่าประมาณ ๑  ได้ผ้าสำหรับนั่งที่ผู้อื่นทำเสร็จแล้วเกินประมาณมาตัดเสีย แล้วใช้สอย ๑  ทำเป็นผ้าขึงเพดานก็ดี ทำเป็นผ้าปูพื้นก็ดี ทำเป็นม่านก็ดี ทำเป็นปลอกหมอนก็ดี ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๘๔๐-๘๔๑
      ๑. ผ้านิสีทนะนี้ ทรงอนุญาตไว้ในเรื่องปณีตโภชนะ ในจีวรขันธกะ สมจริงดังที่ตรัสไว้ (ใน วินย. มหาวคฺค) ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้านิสีทนะ เพื่อรักษากาย เพื่อรักษาจีวร เพื่อรักษาเสนาสนะ” ดังนี้
      ๒. ภิกษุปูผ้าเช่นกับสันถัตลงแล้ว ผ่าที่ ๒ แห่ง ในเนื้อที่ประมาณคืบ ๑  โดยคืบพระสุคต ที่ชายด้านหนึ่งให้เป็น ๓ ชาย นิสีทนะนั้นเรียกว่า ผ้ามีชายด้วยชายเหล่านั้น
      ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ (เหมือนสิกขาบทก่อน)  



ปาจิตตีย์ รตนวรรคที่ ๙ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๑๓๙)
ภิกษุพึงทำผ้าปูนั่งให้ได้ประมาณ ยาว ๔ คืบพระสุคต กว้าง ๒ คืบพระสุคต
ถ้าทำให้เกินกว่ากำหนด ต้องปาจิตตีย์

      พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตผ้าปิดฝีแล้ว จึงใช้ผ้าปิดฝีไม่มีประมาณ ปล่อยเลื้อยไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง เที่ยวไป ภิกษุทั้งหลายติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำผ้าปิดฝี พึงทำให้ได้ประมาณ ประมาณในคำนั้น โดยยาว ๔ คืบ โดยกว้าง ๒ คืบ ด้วยคืบสุคต เธอให้ล่วงประมาณนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า ผ้าปิดฝี ได้แก่ ผ้าที่ทรงอนุญาตแก่ภิกษุอาพาธ เป็นฝี เป็นสุกใส เป็นโรคอันมีน้ำหนอง น้ำเหลือง เปรอะเปื้อน หรือเป็นฝีดาษ ที่ใต้สะดือลงไปเหนือหัวเข่าขึ้นมา เพื่อจะได้ใช้ปิดแผล
      - บทว่า ผู้ให้ทำ คือ ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดี ต้องให้ทำให้ได้ประมาณ นี้ประมาณในคำนั้น คือ โดยยาว ๔ คืบ โดยกว้าง ๒ คืบ ด้วยคืบสุคต
      - ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดี ล่วงประมาณนั้นไป เป็นทุกกฎในขณะที่ทำ, เป็นปาจิตตีย์เมื่อได้ผ้านั้นมา พึงตัดเสียแล้วจึงแสดงอาบัติตก

อาบัติ
        ๑. ผ้าปิดฝี ตนทำค้างไว้ แล้วทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
        ๒. ผ้าปิดฝี ตนทำค้างไว้ แล้วใช้ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
        ๓. ผ้าปิดฝี ผู้อื่นทำค้างไว้ ตนทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
        ๔. ผ้าปิดฝี ผู้อื่นทำค้างไว้ ภิกษุใช้คนอื่นทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
        ๕. ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ต้องทุกกฏ
        ๖. ภิกษุได้ผ้าปิดฝีที่ผู้อื่นทำไว้มาใช้สอย ต้องทุกกฏ
  
อนาบัติ
       ทำผ้าปิดฝีได้ประมาณ ๑  ทำผ้าปิดฝีให้หย่อนกว่าประมาณ ๑  ได้ผ้าปิดฝีที่ผู้อื่นทำไว้เกินประมาณมาตัด แล้วใช้สอย ๑  ทำเป็นผ้าขึงเพดานก็ดี ทำเป็นผ้าปูพื้นก็ดี ทำเป็นผ้าม่านก็ดี ทำเป็นเปลือกฟูกก็ดี ทำเป็นปลอกหมอนก็ดี ๑ วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๘๔๔-๘๔๕
      ๑. ผ้าปิดฝีทรงอนุญาตไว้ในเรื่องพระเวฬฏฐสีสะ จีวรขันธกะ สมจริงดังนี้ ตรัสไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปิดฝีแก่ภิกษุมีอาพาธ เป็นฝีก็ดี เป็นสุกใสก็ดี เป็นโรคอันน้ำหนอง น้ำเหลืองเปรอะเปื้อนก็ดี เป็นลำลาบเพลิงก็ดี” ดังนี้
          ผ้าที่ทรงอนุญาตแก่ภิกษุผู้อาพาธที่ภายใต้สะดือลงไป เหนือมณฑลเข่าทั้ง ๒ ขึ้นมา, หิดเปื่อย ชื่อว่า กัณฑุ, ต่อมเล็กๆ มีเมล็ดโลหิต ชื่อว่า ปีฬกา,  น้ำเหลืองไม่สะอาดไหลออกด้วยอำนาจริดสีดวงทวารบานทะโรค และเบาหวานเป็นต้น ชื่อว่า โรคน้ำเหลืองเสีย, อาพาธเป็นเม็ดยอดใหญ่ ท่านเรียกว่า เป็นลำลาบเพลิง
       ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ (เหมือนสิกขาบทก่อน)



ปาจิตตีย์ รตนวรรคที่ ๙ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๑๔๐)
ภิกษุพึงทำผ้าอาบน้ำฝนให้ได้ประมาณ ยาว ๖ คืบพระสุคต กว้าง ๒ คืบครึ่ง
ถ้าทำเกินกว่ากำหนด ต้องปาจิตตีย์

      พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตผ้าอาบน้ำฝนแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว จึงใช้ผ้าอาบน้ำฝนไม่มีประมาณ ปล่อยเลื้อยลงข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง เที่ยวไป ภิกษุทั้งหลายติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำผ้าอาบน้ำฝน พึงให้ทำได้ประมาณ ประมาณในคำนั้น โดยยาว ๖ คืบ โดยกว้าง ๒ คืบครึ่ง ด้วยคืบสุคต เธอทำให้ล่วงประมาณนั้น เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสีย”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า ผ้าอาบน้ำฝน ได้แก่ ผ้าที่ทรงอนุญาตให้ใช้ได้สี่เดือนแห่งฤดูฝน
      - บทว่า ผู้ให้ทำ คือ ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดี ต้องให้ทำให้ได้ประมาณ คือ ยาว ๖ คืบ กว้าง ๒ คืบครึ่ง ด้วยคืบสุคต
      - ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดี ให้ล่วงประมาณนั้นไป เป็นทุกกฎในขณะที่ทำ, เป็นปาจิตตีย์เมื่อได้ผ้านั้นมา พึงตัดเสียแล้วจึงแสดงอาบัติตก

อาบัติ
       ๑. ผ้าอาบน้ำฝน ตนทำค้างไว้ แล้วทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๒. ผ้าอาบน้ำฝน ผู้อื่นทำค้างไว้ ตนทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๓. ผ้าอาบน้ำฝน ผู้อื่นทำค้างไว้ ใช้คนอื่นทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๔. ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ต้องทุกกฏ
       ๕. ภิกษุได้ผ้าอาบน้ำฝนที่ผู้อื่นทำไว้มาใช้สอย ต้องทุกกฏ
      
อนาบัติ
      ทำผ้าอาบน้ำฝนได้ประมาณ ๑  ทำผ้าอาบน้ำฝนหย่อนกว่าประมาณ ๑  ได้ผ้าอาบน้ำฝนที่ผู้อื่นทำเกินประมาณมาตัด แล้วใช้สอย ๑ ทำเป็นผ้าขึงเพดานก็ดี ทำเป็นผ้าปูที่นอนก็ดี ทำเป็นผ้าม่านก็ดี ทำเป็นเปลือกฟูกก็ดี ทำเป็นปลอกหมอนก็ดี ๑ วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๘๔๘
      ๑. ผ้าอาบน้ำฝนทรงอนุญาตไว้ในเรื่องนางวิสาขา ในจีวรขันธกะ
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ (เหมือนสิกขาบทก่อน)  



ปาจิตตีย์ รตนวรรคที่ ๙ สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๑๔๑)
ภิกษุทำจีวรเท่าพระสุคต หรือเกินกว่าก็ดี ต้องปาจิตตีย์

      ครั้งนั้น พระนันทะโอรสพระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาคเจ้า (โอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางปชาบดี ศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้า) เป็นผู้ทรงโฉม เป็นที่ต้องตาต้องใจ มีความสูงต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ๔ องคุลี ท่านทรงจีวรพระสุคต ภิกษุเถระได้เห็นพระนันทะมาแต่ไกล ครั้นแล้วลุกจากอาสนะ สำคัญว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมา ท่านพระนันทะเข้ามาใกล้จึงจำได้ ได้เพ่งโทษติเตียนว่า ไฉน ท่านพระนันทะจึงได้ทรงจีวรเท่าพระสุคตเล่า แล้วกราบทูล... ทรงติเตียน แล้วมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำจีวรมีประมาณเท่าสุคตจีวร หรือยิ่งกว่า เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสีย นี้ประมาณแห่งสุคตจีวรของพระสุคตในคำนั้น โดยยาว ๙ คืบ โดยกว้าง ๖ คืบ ด้วยคืบสุคต นี้ประมาณแห่งพระสุคตจีวรของพระสุคต”

อรรถาธิบาย
      - ที่ชื่อว่า มีประมาณเท่าสุคตจีวร คือ ยาว ๙ คืบ กว้าง ๖ คืบ ด้วยคืบสุคต   
      - บทว่า ให้ทำ คือ ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดี เป็นทุกกฏในขณะที่ทำ, เป็นปาจิตตีย์เมื่อได้จีวรมา พึงตัดเสีย แล้วจึงแสดงอาบัติ    

อาบัติ
       ๑. จีวรตนทำค้างไว้ แล้วทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๒. จีวรตนทำค้างไว้ แล้วใช้ผู้อื่นทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๓. จีวรผู้อื่นทำค้างไว้ ตนทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๔. จีวรผู้อื่นทำค้างไว้ ใช้คนอื่นทำต่อจนเสร็จ ต้องปาจิตตีย์
       ๕. ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ต้องทุกกฏ
       ๖. ได้จีวรผู้อื่นที่ทำเสร็จแล้วมาใช้สอย ต้องทุกกฏ
      
อนาบัติ
      ทำจีวรหย่อนกว่าประมาณ ๑  ได้จีวรที่ผู้อื่นทำเสร็จแล้วมาตัดเสียแล้วใช้สอย ๑  ทำเป็นผ้าขึงเพดานก็ดี ทำเป็นผ้าม่านก็ดี  ทำเป็นเปลือกฟูกก็ดี ทำเป็นปลอกหมอนก็ดี ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๘๕๒
      ๑. บทว่า จตุรงฺคุโลมโก คือ มีขนาดต่ำกว่า ๔ นิ้ว (พระนันทะมีขนาดต่ำกว่าพระศาสดา ๔ นิ้ว)
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ (เหมือนสิกขาบทก่อน)  



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
ทูรงฺคมํ เอกจรํ   อสรีรํ คุหาสยํ
เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ   โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา ฯ ๓๗ ฯ  
Faring afar, solitary, incorporeal   Lying in the body, is the mind.
Those who subdue it are freed   From the bond od Mara.

... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ....


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 ตุลาคม 2563 16:19:05

ปาฏิเทสนียะ ๔ สิกขาบท
ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๔๒ )
ภิกษุรับของเคี้ยวของฉันจากมือภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ด้วยมือตน
แล้วบริโภค ต้องปาฏิเทสนียะ

      ภิกษุรูปหนึ่งเที่ยวไปเพื่อภิกษา ท่านพบภิกษุณีรูปหนึ่ง นางกล่าวนิมนต์ให้ภิกษุรับภิกษาจากนาง ภิกษุนั้นรับเอาจนหมด นางได้อดอาหาร แม้วันที่ ๒ ภิกษุนั้นก็ได้รับเอาจนหมด  แม้วันที่ ๓, นางอดอาหารเป็นวันที่ ๓ หมดแรงล้มลงหน้ารถของเศรษฐีๆ ขอขมานางให้นางอดโทษ นางกล่าวว่าเศรษฐีไม่มีโทษ เพราะนางมีกำลังน้อย เศรษฐีได้ถามถึงเหตุที่มีกำลังน้อย ภิกษุณีนั้นได้แจ้งเรื่องแก่เศรษฐีๆ เพ่งโทษติเตียน ภิกษุทั้งหลายได้ยินจึงพากันเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล...  ทรงติเตียน แล้วทรงบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตน จากมือของภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ผู้เข้าไปแล้วสูละแวกบ้าน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี อันภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น”

อรรถาธิบาย
     - ที่ชื่อว่า ละแวกบ้าน ได้แก่ ถนน ตรอกตัน ทางสามแยก เรือน ตระกูล
     - ที่ชื่อว่า ผู้มิใช่ญาติ, ของเคี้ยว, ของฉัน พึงทราบคำอธิบายจากสิกขาบทก่อนๆ
     - ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยหมายใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ, กลืน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุรู้ว่ามิใช่ญาติ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตน จากมือของภิกษุณีผู้มิใช่ญาติผู้เข้าไปสู่ละแวกบ้าน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องปาฏิเทสนียะ
       ๒. ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุสงสัย ต้องปาฏิเทสนียะ
       ๓. ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ภิกษุคิดว่าเป็นญาติ ต้องปาฏิเทสนียะ
       ๔. ภิกษุรับของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อทำเป็นอาหาร ต้องทุกกฏ, กลืนต้องทุกฏทุกๆ คำกลืน
       ๕. ภิกษุรับยามกาลิกจากมือของภิกษุณีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์ฝ่ายเดียว ด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องทุกกฎ กลืนต้องทุกฏทุกๆ คำกลืน
       ๖.ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุคิดว่าไม่ใช่ญาติ ต้องทุกกฏ
       ๗. ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุสงสัย.. ต้องทุกกฏ
       ๘. ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ภิกษุรู้ว่าเป็นญาติ ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุณีผู้เป็นญาติ ๑  ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติสั่งให้ถวาย มิได้ถวายเอง ๑  เก็บวางไว้ถวาย ๑  ถวายในอาราม ๑  ในสำนักภิกษุณี ๑  ในสำนักเดียรถีย์ ๑  ในโรงฉัน ๑  นำออกจากบ้านแล้วถวาย ๑  ถวายยามกาลิก สัตตาหกาลิก  ยาวชีวิก ด้วยคำว่า เมื่อปัจจัยมีอยู่นิมนต์ฉันได้ ๑  สิกขมานาถวาย ๑  สามเณรีถวาย ๑ วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๘๕๗-๘๕๙
      ๑. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓    



ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๔๓)
ภิกษุฉันอยู่ ภิกษุณีบงการให้ทายกถวายโภชนะชนิดนี้ๆ แก่ภิกษุรูปนี้ๆ
พึงห้ามภิกษุณีนั้นให้ถอยไปเสีย ถ้าไม่ห้าม ต้องปาฏิเทสนียะ

      ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์ฉันในสกุล มีภิกษุณีเหล่าฉัพพัคคีย์มายืนบงการให้เขาถวายของแก่พระฉัพพัคคีย์ จงถวายแกงแก่องค์นี้ จงถวายข้าวแก่องค์นี้ พวกพระฉัพพัคคีย์ได้ฉันตามความต้องการ ภิกษุพวกอื่นฉันไม่ได้ดังความประสงค์ ภิกษุทั้งหลายต่างเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์ฉันในสกุล ถ้าภิกษุณีมายืนสั่งเสียอยู่ในที่นั้นว่า จงถวายแกงในองค์นี้ จงถวายข้าวในองค์นี้ ภิกษุทั้งหลายนั้นพึงรุกรานภิกษุณีนั้นว่า น้องหญิงเธอจงหลีกไปเสีย ตลอดเวลาที่ภิกษุอยู่ ถ้าภิกษุแม้รูปหนึ่งไม่กล่าวออกไป เพื่อจะรุกรานภิกษุณีว่า น้องหญิง เธอจงหลีกไปเสีย ตลอดเวลาที่ภิกษุฉันอยู่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ พวกฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน พวกฉันแสดงคืนธรรมนั้น”

อรรถาธิบาย
     - คำว่า รับนิมนต์ฉันอยู่ คือ รับนิมนต์ฉันโภชนะทั้งห้า อย่างใดอย่างหนึ่ง
     - ที่ชื่อว่า ผู้สั่งเสียอยู่ คือ บงการว่า จงถวายแกงในองค์นี้ จงถวายข้าวในองค์นี้ ดังนี้ ตามความที่เป็นมิตรกัน เป็นเพื่อนร่วมเห็นกัน เป็นเพื่อนร่วมคบกัน เป็นผู้ร่วมอุปัชฌาย์กัน เป็นผู้ร่วมอาจารย์กัน นี้ชื่อว่า ผู้สั่งเสียอยู่
     - คำว่า อันภิกษุทั้งหลายนั้น ได้แก่ ภิกษุที่ฉันอยู่, คำว่า ภิกษุณีนั้น ได้แก่ ภิกษุณีผู้สั่งเสียนั้น
        ภิกษุทั้งหลายนั้นพึงรุกรานภิกษุณีนั้นว่า น้องหญิงเธอจงหลีกไปจนกว่าภิกษุทั้งหลายจะฉันเสร็จ ถ้าภิกษุแม้รูปหนึ่งไม่รุกราน รับด้วยหวังว่าจักเคี้ยว จักฉัน ต้องทุกกฏ, กลืน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. ภิกษุณีผู้อุปสัมบันสั่งเสียอยู่ ภิกษุรู้ว่าเป็นภิกษุณีผู้อุปสัมบัน (บวชในสงฆ์ ๒ ฝ่ายแล้ว) ไม่ห้ามปราม ต้องปาฏิเทสนียะ
       ๒. ภิกษุณีผู้อุปสัมบันสั่งเสีย ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏต้องปาฏิเทสนียะ
       ๓. ภิกษุณีผู้อุปสัมบันสั่งเสียอยู่ ภิกษุคิดว่าเป็นภิกษุณีผู้อนุปสัมบัน (บวชในสงฆ์เพียงฝ่ายเดียว) ต้องปาฏิเทสนียะ
       ๔. ภิกษุณีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์ฝ่ายเดียวสั่งเสียอยู่ ภิกษุไม่ห้ามปราม ต้องทุกกฏ
       ๕. ภิกษุณีผู้อนุปสัมบันสั่งเสียอยู่ ภิกษุคิดว่าเป็นภิกษุผู้อุปสัมบัน ไม่ห้ามปราม ต้องทุกกฏ
       ๖. ภิกษุณีผู้เป็นอนุปสัมบันสั่งเสียอยู่ ภิกษุสงสัย ไม่ห้ามปราม ต้องทุกกฏ
       ๗. ภิกษุณีผู้เป็นอนุปสัมบันสั่งเสียอยู่ ภิกษุรู้ว่าเป็นภิกษุณีผู้อนุปสัมบัน ไม่ห้ามปราม ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุณีสั่งให้ถวายภัตตาหารของตน มิได้ถวายเอง ๑  ถวายภัตตาหารของผู้อื่น มิได้สั่งให้ถวาย ๑  สั่งให้ถวายภัตตาหารที่เขาไม่ได้ถวาย ๑  สั่งให้เขาถวายในภิกษุที่เขาไม่ได้ถวาย ๑  สั่งให้ถวายเท่าๆ กันแก่ภิกษุทุกรูป ๑  สิกขมานาสั่งเสีย ๑  สามเณรีสั่งเสีย ๑  เว้นโภชนะห้า  อาหารทุกอย่างไม่เป็นอาบัติ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๘๖๒
      ๑. ถ้าแม้นว่า ภิกษุณีถวายภัตของตนเอง ไม่เป็นอาบัติโดยสิกขาบทนี้เลย เป็นอาบัติโดยสิกขาบทก่อน, ถ้าภิกษุณีใช้ให้ถวาย พึงเป็นอาบัติโดยสิกขาบทนี้, แต่เมื่อภิกษุณีถวายเองไม่เป็นอาบัติโดยสิกขาบทนี้ และไม่เป็นโดยสิกขาบทก่อน
      ๒. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓



ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๔๔)
ภิกษุไม่อาพาธ รับอาหารในสกุลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ
โดยที่เขาไม่ได้นิมนต์ ต้องปาฏิเทสนียะ

      ครั้งนั้นในพระนครสาวัตถี มีตระกูลหนึ่งเป็นตระกูลที่เลื่อมใส สองสามีภรรยาเจริญด้วยศรัทธา แต่หย่อนด้วยโภคทรัพย์ เขาได้สละของเคี้ยวของฉันอันเป็นอาหารมื้อเช้านั้นทั้งหมดแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว บางคราวถึงกับอดอาหารอยู่ ชาวบ้านพากันเพ่งโทษติเตียนว่า สมณะเชื้อสายศากยบุตรรับอาหารไม่รู้จักประมาณ ภิกษุทั้งหลายได้ยิน...กราบทูล...ทรงมีพระพุทธานุญาตพิเศษว่า ตระกูลใดเจริญด้วยศรัทธาแต่หย่อนด้วยโภคทรัพย์ เราอนุญาตให้สมมติว่าเป็นเสกขะแก่ตระกูล เห็นปานนั้น ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ดังนี้
      “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ตระกูลมีชื่อนี้เจริญด้วยศรัทธา แต่หย่อนด้วยโภคทรัพย์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้สมมติว่าเป็นเสกขะแก่ตระกูลมีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
      ท่านเจ้าข้า ของสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า...การให้สมมติว่าเป็นเสกขะแก่ตระกูลมีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
      การให้สมมติว่าเป็นเสกขะ สงฆ์ให้แล้วแก่ตระกูลมีชื่อนี้ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้”
      แล้วทรงมีพระบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใดรับของเคี้ยวก็ดี ในสกุลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ เห็นปานนั้น ด้วยมือของตน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น”
      ต่อมา ตระกูลที่ได้รับสมมติว่าเป็นเสกขะ ได้นิมนต์ภิกษุให้ฉัน ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ ไม่รับนิมนต์สองสามีภรรยากล่าวว่า พวกเราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... ทรงอนุญาตว่า “เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อันทายกนิมนต์แล้ว รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ในตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ด้วยมือของตนแล้วเคี้ยวฉันได้”
      ต่อมา ภิกษุประจำตระกูลนั้นผ่านไปยังตระกูลนั้นแล้วเกิดอาพาธ เขานิมนต์ให้ฉัน เธอรังเกียจ เพราะเขาไม่ได้นิมนต์ไว้ก่อน เธอได้อดอาหารในวันนั้นแล้ว เธอถึงอารามได้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูล ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด ไม่ได้รับนิมนต์ก่อน มิใช่ผู้อาพาธ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ในตระกูลทั้งหลายที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ เห็นปานนั้น ด้วยมือของตน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น”

อรรถาธิบาย
     - คำว่า ตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ความว่า ตระกูลที่ชื่อว่าอันสงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ได้แก่ตระกูลที่เจริญด้วยศรัทธา แต่หย่อนด้วยโภคสมบัติ ได้รับสมมติด้วยญัตติทุติยกรรมว่าเป็นเสกขะ
     - บทว่า ในตระกูลทั้งหลายที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ได้แก่ ตระกูลทั้งหลายที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ
     - ที่ชื่อว่า ไม่ได้รับนิมนต์ไว้ คือ เขาไม่ได้รับนิมนต์เพื่อฉันในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ไว้ ภิกษุเดินผ่านอุปจารเรือนเข้าไป เขาจึงนิมนต์ นี้ชื่อว่า ไม่ได้รับนิมนต์
     - ที่ชื่อว่า ได้รับนิมนต์ คือ เขานิมนต์เพื่อฉันในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ไว้ ภิกษุมิได้เดินผ่านอุปจารเรือนเข้าไป เขานิมนต์ นี้ชื่อว่า ได้รับนิมนต์
     - ที่ชื่อว่า มิใช่ผู้อาพาธ คือ สามารถไปบิณฑบาตได้, ที่ชื่อว่า ผู้อาพาธ คือ ไม่สามารถไปบิณฑบาตได้
     - ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว ของฉัน พึงทราบคำอธิบายตามสิกขาบทก่อนๆ
        ภิกษุไม่ได้รับนิมนต์ มิใช่ผู้อาพาธ รับของเคี้ยวของฉันไว้ด้วยหมายใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ, ต้องปาฏิเทสนียะทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. ตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ภิกษุรู้ว่าเป็นตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ไม่ได้รับนิมนต์ไว้ ไม่ใช่ผู้อาพาธ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตนแล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องปาฏิเทสนียะ
       ๒. ตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ภิกษุสงสัย...ต้องปาฏิเทสนียะ
       ๓. ตระกูลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ ภิกษุคิดว่าไม่ใช่...ต้องปาฏิเทสนียะ
       ๔. ภิกษุรับของเป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อทำให้เป็นอาหาร ต้องทุกกฎ, ฉันต้องอาบัติทุกกฏทุกๆ คำกลืน
       ๕. มิใช่ตระกูลที่สงฆ์สมมติเป็นเสกขะ ภิกษุคิดว่าใช่...ต้องทุกกฏ
       ๖. มิใช่ตระกูลที่สงฆ์สมมติเป็นเสกขะ ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๗. มิใช่ตระกูลที่สงฆ์สมมติเป็นเสกขะ ภิกษุรู้ว่าไม่ใช่ ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      ภิกษุได้รับนิมนต์ไว้ ๑  ภิกษุอาพาธ ๑  ภิกษุฉันของเป็นเดนของภิกษุผู้ได้รับนิมนต์ไว้ หรือของภิกษุอาพาธ ๑  ภิกษุฉันภิกษาที่เขาจัดไว้ในที่นั้นเพื่อภิกษุอื่นๆ ๑  ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขานำออกจากเรือนไปถวาย ๑  ภิกษุฉันนิตยภัต ๑  ภิกษุฉันสลากภัต ๑  ฉันปักขิกภัต ๑  ฉันอุโบสถิกภัต ๑  ฉันปาฏิปทิกภัต ๑  ฉันยามกาลิก  สัตตาหกาลิก  ยาวชีวิก ที่เขาบอกถวายว่า เมื่อปัจจัยมีก็นิมนต์ฉัน ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๘๗๑
      ๑. ได้ยินว่า อุบาสกอุบาสิกาคู่นั้นเป็นพระโสดาบันเหมือนกัน,  ตระกูลเช่นนี้ ถ้าแม้นมีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ ก็ย่อมร่อยหรอจากโภคทรัพย์ เพราะเหตุไร?  เพราะทั้งอุบาสกอุบาสิกาในตระกูลนั้นไม่สงวนโภคทรัพย์
      ๒. อุบาสกอุบาสิกานั้นนำภัตไปยังโรงฉันหรือวิหารแล้วถวาย ถ้าแม้นเมื่อภิกษุยังไม่มา พวกเขานำออกก่อนทีเดียว วางไว้ที่ประตูแล้ว ถวายแก่ภิกษุผู้มาถึงภายหลัง ควรอยู่, ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า ก็ภัตที่ตระกูลนั้นเห็นภิกษุแล้วนำออกมาถวายจากภายในเรือน ควรอยู่
      ๓. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓  



ปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๑๔๕)
ภิกษุอยู่ในเสนาสนะป่า รับของเคี้ยวของฉัน ด้วยมือตนเอง
โดยที่เขาไม่ได้บอกให้รู้ก่อนมาฉัน ต้องปาฏิเทสนียะ

      ครั้งนั้น พวกบ่าวของเจ้าศากยะทั้งหลายก่อการร้าย นางสากิยานีทั้งหลายปรารถนาจะทำภัตตาหารถวายภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในเสนาสนะป่า บรรดาบ่าวของเจ้าศากยะได้ทราบข่าว จึงไปซุ่มอยู่ที่หนทาง ได้ออกมาแย่งชิงพวกนางสากิยานีและประทุษร้าย พวกเจ้าศากยะออกไปจับผู้ร้ายพวกนั้นได้ พร้อมด้วยของกลาง แล้วพากันเพ่งโทษติเตียนว่า เมื่อพวกผู้ร้ายอยู่ในอาราม ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลายจึงไม่แจ้งความเล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยิน จึงกราบทูล ทรงมีพระบัญญัติ (ห้ามรับของเคี้ยวของฉันอันเขาไม่ได้บอกให้รู้ไว้ก่อน)
      ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธอยู่ในเสนาสนะป่า มีชาวบ้านนำของเคี้ยวของฉันไปเสนาสนะป่า นิมนต์ให้รับ เธอรังเกียจ ได้อดอาหารแล้ว เธอได้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลาย... กราบทูล... ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อาพาธรับได้ แล้วมีพระอนุบัญญัติว่า
      “อนึ่ง ภิกษุใด อยู่ในเสนาสนะป่า ที่รู้กันว่าเป็นที่น่ารังเกียจ มีภัยเฉพาะหน้า รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี อันเขาไม่ได้บอกให้รู้ไว้ก่อน ด้วยมือของตน ในวัดที่อยู่ ไม่ใช่ผู้อาพาธ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น”

อรรถาธิบาย
     - คำว่า เสนาสนะป่า ความว่า เสนาสนะที่ชื่อว่าป่า มีกำหนดเขต ๕๐๐ ชั่วธนูเป็นอย่างต่ำ
     - ที่ชื่อว่า เป็นที่น่ารังเกียจ คือ ในอาราม ในอุปจารแห่งอาราม มีสถานที่พวกโจรซ่องสุมบริโภค ยืน นั่ง นอน ปรากฏอยู่
     - บทที่ว่า  ในเสนาสนะเห็นปานนั้น คือ ในเสนาสนะมีร่องรอยเช่นนั้นปรากฏ
     - ที่ชื่อว่า อันเขาไม่ได้บอกให้รู้ คือ เขาส่งสหธรรมิก ๕ ไปบอก นี้ชื่อว่า ไม่เป็นอันเขาได้บอกให้รู้ เขาบอกนอกอาราม นอกอุปจารแห่งอาราม นี่ก็ชื่อว่า ไม่เป็นอันเขาได้บอกให้รู้
     - ที่ชื่อว่า บอกให้รู้ คือ ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม มาสู่อาราม หรืออุปจารแห่งอาราม แล้วบอกว่า ท่านเจ้าข้า สตรีหรือบุรุษชื่อโน้น จักนำของเคี้ยวหรือของฉันมาถวายภิกษุมีชื่อนี้
        ถ้าที่นั้นเป็นสถานที่น่ารังเกียจ ภิกษุพึงบอกเขาว่า เป็นสถานน่ารังเกียจ ถ้าที่นั้นเป็นสถานมีภัยเฉพาะหน้า พึงบอกเขาว่า เป็นสถานมีภัยเฉพาะหน้า ถ้าเขากล่าวว่า ไม่เป็นไรเจ้าข้า เขาจักนำมาเอง ภิกษุพึงบอกพวกโจรว่า ชาวบ้านจักเข้ามาในที่นี้ พวกท่านจงหลีกไปเสีย
        เมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะยาคู แล้วเขานำบริวารแห่งยาคูมาด้วย นี้ชื่อว่า อันเขาบอกให้รู้
        หรือเมื่อเขาบอกให้รู้เฉพาะตระกูล คนในตระกูลนั้นนำของเคี้ยวหรือของฉันมาถวาย นี้ชื่อว่า อันเขาบอกให้รู้ เป็นต้น
     - ที่ชื่อว่า ของเคี้ยว ของฉัน พึงทราบคำอธิบายจากสิกขาบทก่อน
     - ที่ชื่อว่า วัดที่อยู่ สำหรับอารามที่มีเครื่องล้อม ได้แก่ ภายในอาราม อารามที่ไม่มีเครื่องล้อม ได้แก่ อุปจาร
     - ที่ชื่อว่า ไม่ใช่ผู้อาพาธ คือ ผู้สามารถไปเที่ยวบิณฑบาตได้,  ผู้อาพาธ คือ ผู้ไม่สามารถไปเที่ยวบิณฑบาตได้
        ภิกษุไม่ใช่ผู้อาพาธ รับประเคนของที่เขาไม่ได้บอกให้รู้ ด้วยหมายว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ, ฉัน ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะทุกๆ คำกลืน

อาบัติ
       ๑. เขาไม่ได้บอกให้รู้ ภิกษุรู้ว่าเขาไม่ได้บอกให้รู้ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตน ในวัดที่อยู่ ไม่ใช่ผู้อาพาธ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ต้องปาฏิเทสนียะ
       ๒. เขาไม่ได้บอกให้รู้ ภิกษุสงสัย...ต้องปาฏิเทสนียะ
       ๓. เขาไม่ได้บอกให้รู้ ภิกษุคิดว่าเขาบอกให้รู้แล้ว...ต้องปาฏิเทสนียะ
       ๔. ภิกษุรับประเคนของที่เป็นยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก เพื่อทำเป็นอาหาร ต้องทุกกฏ, ฉัน ต้องทุกกฏทุกๆ คำกลืน
       ๕. เขาบอกให้รู้ ภิกษุคิดว่าเขาไม่ได้บอกให้รู้...ต้องทุกกฏ
       ๖. เขาบอกให้รู้แล้ว ภิกษุสงสัย...ต้องทุกกฏ
       ๗. เขาบอกให้รู้ ภิกษุรู้ว่าเขาบอกให้รู้แล้ว ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
      เขาบอกให้รู้ ๑ ภิกษุอาพาธ ๑  ภิกษุฉันของเป็นเดนของภิกษุผู้ได้รับนิมนต์ไว้ หรือของภิกษุอาพาธ ๑  ภิกษุรับนอกวัด แล้วมาฉันในวัด ๑  ภิกษุฉันรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ หรือผลไม้ ซึ่งเกิดขึ้นในวัดนั้น ๑  ภิกษุฉันของเป็นยามกาลิก  สัตตาหกาลิก  ยาวชีวิก ในเมื่อมีเหตุจำเป็น ๑ วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๘๗๘-๘๘๐
      ๑. แม้ขาทนียะ (ของเคี้ยว) โภชนียะ (ของฉัน) ที่เขาส่งสหธรรมิก ๕ คนใดคนหนึ่งไปบอกให้รู้ว่า พวกเราจักนำขาทนียะ โภชนียะ มาถวาย ดังนี้ ก็ไม่ชื่อว่า เป็นอันเขาบอกให้รู้เลย
          ถึงขาทนียะ โภชนียะ ที่เขาพบภิกษุผู้ออกไปจากอุปจารในระหว่างทาง บอกให้รู้ก็ดี บอกแก่ภิกษุผู้มายังบ้านให้รู้ก็ดี ยกเว้นอาราม คือเสนาสนะป่า และอุปจารแห่งอาราม คือ เสนาสนะป่านั้นเสีย ก็พึงทราบว่า ไม่เป็นอันเขาบอกให้รู้ เหมือนกัน
      ๒. ภิกษุพึงบอกพวกชาวบ้านให้รู้ เพื่อเปลื้องคำว่า มีพวกโจรอยู่ในวัด แต่ภิกษุทั้งหลายไม่บอกให้พวกเราทราบ ภิกษุทั้งหลายพึงบอกแก่พวกโจรด้วย เพื่อเปลื้องคำว่า ภิกษุทั้งหลายใช้พวกอุปัฏฐากของตนมาจับพวกเรา
      ๓. พวกตระกูลอื่นได้ยินว่า ตระกูลชื่อโน้น ทำการบอกให้รู้แล้ว กำลังถือเอาขาทนียะเป็นต้นมา จึงนำเอาไทยธรรมของตนมาสมทบมากับตระกูลนั้น สมควรอยู่,  ในกุรุนทีกล่าวว่า ตระกูลทั้งหลายบอกให้รู้เฉพาะยาคู แล้วนำขนมหรือข้าวสวยมาถวาย แม้ขนมและข้าวสวยนั้น ก็ควร
      ๔. ขาทนียะ โภชนียะ ที่เขาบอกให้รู้แล้วนำมาถวาย เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุรูปหนึ่ง แม้ภิกษุอื่นจะฉันของเป็นเดนแห่งภิกษุนั้น ควรอยู่, ขาทนียะ โภชนียะ เป็นของที่เขาบอกให้รู้แล้วนำมาถวายเป็นอันมากแก่ภิกษุ ๔ รูป หรือ ๕ รูป พวกเธอปรารถนาจะถวายแม้แก่ภิกษุพวกอื่น,  ขาทนียะ โภชนียะ แม้นั่นก็เป็นเดนของภิกษุผู้ได้รับนิมนต์ไว้เหมือนกัน จึงสมควรแม้แก่ภิกษุทุกรูป ถ้าของนั่นเหลือเฟือทีเดียว เก็บไว้ให้พ้นสันนิธิแล้ว ย่อมควรแม้ในวันรุ่งขึ้น แม้ในของเป็นเดนที่เขานำมาถวายแก่ภิกษุอาพาธ ก็นัยนี้เหมือนกัน
          ส่วนขาทนียะ โภชนียะ ที่เขาไม่ได้บอกให้รู้เลย นำมาถวาย ภิกษุพึงส่งไปยังภายนอกวัด แล้วให้ทำเป็นของบอกให้รู้ก่อนแล้วจึงให้นำกลับมา หรือพวกภิกษุพึงไปรับเอาในระหว่างทางก็ได้ แม้ของใด พวกชาวบ้านเดินผ่านท่ามกลางวัด นำมาถวาย หรือพวกพรานป่าเป็นต้น นำมาถวายจากป่า ของนั้นภิกษุพึงให้เขาทำให้เป็นของอันเขาบอกให้รู้โดยนัยก่อนนั่นแล
      ๕. ภิกษุฉันของที่เกิดขึ้นในวัดนั่นเอง มีมูลขาทนียะเป็นต้น ที่ผู้อื่นทำให้เป็นกัปปิยะแล้วถวาย ไม่เป็นอาบัติ ก็ถ้าว่าพวกชาวบ้านนำเอาของนั้นไปยังบ้าน ต้มแกงแล้วนำมาถวาย ไม่ควร, ภิกษุพึงให้เขาทำเป็นของบอกให้รู้ก่อน
      ๖. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท เป็นกิริยา ทั้งอกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรม มีจิต ๓  



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อนวฎฺฐิตจิตฺตสิส   สทฺธมฺมํ อวิชานโต
ปริปุลวปสาทสฺส   ปญฺญา น ปริปูรติ ฯ ๓๘ ฯ  
ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์ แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง
ไม่รู้พระสัทธรรม มีความเลื่อมใสไม่จริงจัง

He whose mind is inconstant, He who knows not the true doctrine,
He whose confidence wavers The wisdom of such a one is never fulfilled.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ....  
no.๓๙



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 พฤศจิกายน 2563 16:16:15

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57769373804330__640x480_.jpg)

เสขิยวัตร ๗๕ สิกขาบท
เสขิยวัตร เป็นหมวดที่ ๗ ในบรรดาสิกขาบท ๒๒๗ ของพระภิกษุ
เป็นวัตรที่ภิกษุจะต้องศึกษา,  เป็นธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาท
ที่ภิกษุพึงสำเหนียก หรือพึงฝึกปฏิบัติ มี ๗๕ สิกขาบท ว่าด้วย

๑. สารูป ๒๖ สิกขาบท
๒. โภชนปฏิสังยุต ๓๐ สิกขาบท
๓. ธรรมเทศนาปฏิสังยุต ๑๖ สิกขาบท
๔. ปกิณณกะ ๓ สิกขาบท
-------------------------

เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๔๖)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักนุ่งให้เรียบร้อย

       พระฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าเลื้อยหน้าบ้าง เลื้อยหลังบ้าง ชาวบ้านพากันเพ่งโทษติเตียน...ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจะนุ่งเป็นปริมณฑล”

อาบัติ
      ภิกษุนุ่งปิดมณฑลสะดือ  มณฑลเข่า ชื่อว่า นุ่งเป็นปริมณฑล
      ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ นุ่งผ้าเลื้อยหน้าหรือเลื้อยหลัง ต้องทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  ไม่มีสติ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๔๗)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักห่มให้เรียบร้อย

       พระฉัพพัคคีย์ห่มผ้าเลื้อยหน้าบ้าง เลื้อยหลังบ้าง... ทรงมีพระบัญญัติว่า
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักห่มเป็นปริมณฑล”

อาบัติ
      อันภิกษุห่มทำมุมทั้งสองให้เสมอกัน ชื่อว่า ห่มเป็นปริมณฑล, ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ห่มผ้าเลื้อยหน้า เลื้อยหลัง ต้องอาบัติทุกกฏ   
 
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  ไม่มีสติ (เผลอ) ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑.... 

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๙๔๙-๙๕๐
      ๑. บทว่า ปริมณฺฑลํ แปลว่า เป็นมณฑลโดยรอบ, ภิกษุนั่งปิดเหนือมณฑลสะดือ ใต้มณฑลเข่า ให้ผ้านุ่งห้อยลงภายใต้มณฑลเข่าตั้งแต่กระดูกแข้งไปประมาณ ๘ นิ้ว ท่านปรับเอาเป็นทุกกฎแก่ภิกษุผู้นุ่งให้ห้อยล้ำลงมากว่านั้น,  ในมหาปัจจรีย กล่าวว่า สำหรับภิกษุผู้นุ่งจะปกปิดภายใต้มณฑลเข่าประมาณ ๔ องคุลี แต่ผ้านุ่งของภิกษุอย่างนี้ได้ประมาณ จึงควร
      ผ้านุ่งมีประมาณยาว ๕ ศอกกำ กว้าง ๒ ศอกคืบ หากไม่ได้ผ้าเช่นนี้ แม้ผ้านุ่งขนาดกว้าง ๒ ศอก ก็ควร เพื่อจะปิดมณฑลเข่าได้ โดยปิดมณฑลสะดือด้วยจีวร
      แม้ภิกษุผู้นุ่ง เช่น พระฉัพพัคคีย์นุ่งอย่างคฤหัสถ์ เช่น นุ่งมีชายดุจงวงช้าง ดุจหางปลา นุ่งผ้าไว้ ๔ มุมแฉก นุ่งผ้ามีกลีบตั้งร้อย ก็ต้องทุกกฎเหมือนกัน
      ภิกษุไม่รู้ธรรมเนียมการนุ่ง ก็ไม่พ้นอาบัติ อันที่จริงภิกษุพึงเรียนธรรมเนียมการนุ่งให้ดี การไม่เรียนเอาธรรมเนียมการนุ่งนั้นนั่นเอง จัดเป็นความไม่เอื้อเฟื้อ, ส่วนภิกษุใดเรียนธรรมเนียมการนุ่งแล้ว ก็ยังไม่รู้จักว่า ผ้านุ่งเลื้อยลงเป็นเช่นไร ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้น, ในกุรุนทีว่า ภิกษุผู้มีแข้งลีบก็ดี มีปั้นเนื้อปลีแข้งใหญ่ก็ดี จะนุ่งให้เลื้อยลงจากมณฑลเข่าเกินกว่า ๘ องคุลี เพื่อต้องการให้เหมาะสม ควรอยู่
      ภิกษุมีแผลเป็นที่แข้งหรือที่เท้า จะนุ่งให้เลื้อยขึ้นหรือลง ก็ควร
      เนื้อร้ายก็ดี พวกโจรก็ดี ไล่ติดตามมา ผ้าจะเลื้อยขึ้น-ลง ไม่เป็นอาบัติ
      ภิกษุพึงห่มกลัดลูกดุมแล้ว เอาชายอนุวาตทั้ง ๒ ข้าง ปิดคอจัดมุมทั้ง ๒ แห่งจีวรให้เสมอกัน ม้วนเข้ามาปิดจนถึงข้อมือแล้วจึงไปในละแวกบ้าน
      ๒. สิกขาบทที่ ๑-๒ นี้ มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิก เป็นกิริยา เป็นสจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม อกุศลจิต, พระปุสสเทวเถระ กล่าวว่า เป็นสจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ ฝ่ายพระอุปติสสะกล่าวว่า เป็นโลกวัชชะ อกุศลจิต เพราะความไม่เอื้อเฟื้อ



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๔๘)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักปิดกายด้วยดีไปในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์เดินเปิดกายไปในละแวกบ้าน...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักปกปิดกายดี ไปในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุพึงปิดกายด้วยดีไปในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อเดินเปิดกายไปในละแวกบ้าน ต้องอาบัติทุกกฏ       

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ 



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๑๔๙)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักปิดกายด้วยดีนั่งในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์นั่งเปิดกายไปในละแวกบ้าน
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักปกปิดกายดี นั่งในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุพึงปิดกายด้วยดี นั่งในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ นั่งเปิดกายในละแวกบ้าน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  อยูในที่พัก ๑  มีอันตราย ๑ .....
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๙๕๒
      ๑. ภิกษุพึงนุ่งห่มปกปิดกายดังนี้ คือ เปิดศีรษะตั้งแต่หลุมคอ เปิดมือทั้ง ๒ ข้าง ตั้งแต่ข้อมือ เปิดหน้าแข้งทั้ง ๒ ตั้งแต่เนื้อปลีแข้ง ภิกษุผู้เข้าไปเพื่อต้องการอยู่พัก ถึงจะนั่งเปิดกายในกลางวันหรือกลางคืน ก็ไม่เป็นอาบัติ



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๑๕๐)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักระวังมือ เท้า ด้วยดี ไปในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์เดินคะนองมือบ้าง คะนองเท้าบ้าน เข้าไปในละแวกบ้าน...
       “ภิกษุใดพึงทำความศึกษาว่า เราจักสำรวมดีไปในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุพึงสำรวมด้วยดีไปในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ คะนองมือก็ดี คะนองเท้าก็ดี ไปในละแวกบ้าน   ต้องอาบัติทุกกฏ     

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๑๕๑)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักระวังมือ เท้า ด้วยดี นั่งในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์คะนองมือบ้าง คะนองเท้าบ้าง นั่งในละแวกบ้าน
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักสำรวมดี นั่งในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุพึงสำรวมดีนั่งในละแวกบ้าน  ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ คะนองมือก็ดี คะนองเท้าก็ดี นั่งในละแวกบ้าน ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๕๒)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีตาอันทอดลง ไปในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์เดินไปในละแวกบ้าน พลางแลดูในที่นั้นๆ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีตาทอดลงไปในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุพึงมีนัยน์ตาทอดลง เดินไปในละแวกบ้าน พึงแลประมาณชั่วแอกหนึ่ง ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อไปในละแวกบ้าน พลางแลดูในที่นั้นๆ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๑๕๓)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีตาอันทอดลง นั่งในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์นั่งไปในละแวกบ้าน พลางแลดูในที่นั้นๆ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีตาทอดลงนั่งในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุพึงมีนัยน์ตาทอดลง นั่งในละแวกบ้าน พึงแลดูประมาณชั่วแอกหนึ่ง ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อนั่งในละแวกบ้าน พลางแลดูในที่นั้นๆ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๙๕๒-๙๕๓
      ๑. ม้าอาชาไนยตัวฝึกหัดแล้ว อันเขาเทียมไว้ที่แอก ย่อมมองดูชั่วแอก คือ แลดูภาคพื้นไปข้างหน้าประมาณ ๔ ศอก ภิกษุก็พึงแลดูชั่วระยะประมาณเท่านี้
      ภิกษุใดเดินแลดูทิศาภาค ปราสาท เรือนยอด หรือถนนนั้นๆ ไปพลาง ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏ จะหยุดยืนในที่แห่งหนึ่งตรวจดูว่า ไม่มีอันตรายจากช้าง ม้า เป็นต้น ควรอยู่, แม้ภิกษุผู้จะนั่งก็ควรนั่ง มีจักษุทอดลงเหมือนกัน 



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๑๕๔)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เวิกผ้า ไปในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์เดินเวิกผ้า ไปในละแวกบ้าน...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ไปในละแวกบ้านด้วยทั้งเวิกผ้า”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงเวิกผ้าไปในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ เวิกผ้าขึ้นข้างเดียวก็ดี ทั้งสองข้างก็ดี ไปในละแวกบ้าน ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  อาพาธ ๑  อยู่ในที่พัก ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๑๕๕)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เวิกผ้า นั่งในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์เวิกผ้านั่งในละแวกบ้าน...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งในละแวกบ้าน ด้วยทั้งเวิกผ้า”

อาบัติ
      ภิกษุพึงไม่พึงเวิกผ้า นั่งในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ เวิกผ้าขึ้นข้างเดียวก็ดี ทั้งสองข้างก็ดี นั่งในละแวกบ้าน ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๙๕๓
      ๑. อันภิกษุอย่าพึงเดินมีจีวรเวิกขึ้นข้างเดียว หรือสองข้าง ไปตั้งแต่ภายในเสาเขื่อน (ภายในธรณีประตู) ในเวลานั่งแล้ว เมื่อจะนำธมกรกออก อย่าเวิกจีวรขึ้นก่อนแล้วจึงนำออก



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๑๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๕๖)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่หัวเราะ ไปในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์เดินหัวเราะลั่นไปในละแวกบ้าน...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีไม่ไปในละแวกบ้าน ด้วยทั้งความหัวเราะลั่น”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงเดินหัวเราะไปในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  ทำอาการเพียงยิ้มแย้มในเมื่อมีเรื่องที่น่าขัน ๑ ...



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๑๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๕๗)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่หัวเราะ นั่งในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์เดินนั่งหัวเราะลั่นอยู่ในละแวกบ้าน...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งในละแวกบ้าน ด้วยความหัวเราะลั่น”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงนั่งหัวเราะในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  ทำอาการเพียงยิ้มแย้มในเมื่อมีเรื่องขัน ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๑๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๕๘)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่พูดเสียงดัง ไปในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์เดินส่งเสียงตะบึง เสียงตะโกน ไปในละแวกบ้าน...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีเสียงน้อยไปในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุพึงมีเสียงเบาเดินไปในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๑๔
(พระวินัยข้อที่ ๑๕๙)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่พูดเสียงดัง นั่งในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์นั่งส่งเสียงตะเบ็ง เสียงตะโกนลั่น อยู่ในละแวกบ้าน...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีเสียงน้อย นั่งในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุพึงมีเสียงเบานั่งในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๙๕๔
      ๑. จัดว่าเป็นผู้มีเสียงน้อยโดยประมาณขนาดไหน?
      บรรดาพระเถระทั้งหลายผู้นั่งในเรือนขนาด ๑๒ ศอกอย่างนี้ คือ พระสังฆเถระนั่งข้างต้น พระเถระรูปที่๒ นั่งท่ามกลาง  พระเถระรูปที่ ๓ นั่งข้างท้าย,  พระสังฆเถระปรึกษากับพระเถระรูปที่๒,  พระเถระรูปที่ ๒ ฟังเสียงและกำหนดถ้อยคำของพระสังฆเถระนั้นได้ ส่วนพระเถระรูปที่๓ ได้ยินเสียง แต่กำหนดถ้อยคำไม่ได้, ด้วยขนาดเพียงเท่านี้จัดเป็นผู้มีเสียงน้อย, แต่ถ้าว่าพระเถระรูปที่ ๓ กำหนดถ้อยคำได้ชื่อว่าเป็นผู้มีเสียงดังแล



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๑๕
(พระวินัยข้อที่ ๑๖๐)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่โคลงกาย ไปในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์เดินโคลงกายไปในละแวกบ้าน วางท่าภาคภูมิ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เดินโยกกายไปในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงเดินโคลงกายไปในละแวกบ้าน พึงประคองกายเดินไป ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ .....



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๑๖
(พระวินัยข้อที่ ๑๖๑)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่โคลงกาย นั่งในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์นั่งโคลงกายอยู่ในละแวกบ้าน วางท่าภาคภูมิ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งโยกกายในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงนั่งโคลงกายในละแวกบ้าน พึงนั่งประคองกาย ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๑๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๖๒)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่ไกวแขน ไปในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์เดินไกวแขนไปในละแวกบ้าน แสดงท่ากรีดกราย...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ไกวแขวนไปในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงเดินแกว่งแขนไปในละแวกบ้าน พึงประคองแขน (ทำแขนให้นิ่งๆ เดินไป) ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๑๘
(พระวินัยข้อที่ ๑๖๓)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่ไกวแขน นั่งในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์นั่งไกวแขน แสดงท่ากรีดกรายในละแวกบ้าน
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ไกวแขวนนั่งในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงนั่งไกวแขนในละแวกบ้าน พึงนั่งประคองแขน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๑๙
(พระวินัยข้อที่ ๑๖๔)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่สั่นศีรษะ นั่งในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์เดินโคลงศีรษะไปในละแวกบ้าน ทำท่าคอพับ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่โคลงศีรษะไปในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงเดินโคลงศีรษะไปในละแวกบ้าน พึงเดินประคองศีรษะไป (ตั้งศีรษะตรง ไม่เอียงไปเอียงมา) ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๒๐
(พระวินัยข้อที่ ๑๖๕)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่สั่นศีรษะ นั่งในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์นั่งโคลงศีรษะในละแวกบ้าน ทำท่าคอพับ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่โคลงศีรษะนั่งในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงนั่งโคลงศีรษะในละแวกบ้าน พึงนั่งประคองศีรษะ ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  อยู่ในที่พัก ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๒๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๖๖)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอามือค้ำกาย ไปในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์เดินค้ำกายไปในละแวกบ้าน...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ทำความค้ำกาย ไปในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงเดินค้ำกาย (ข้างเดียวก็ตาม สองข้างก็ตาม) ไปในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ... 



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๒๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๖๗)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอามือค้ำกาย นั่งในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์นั่งค้ำกายในละแวกบ้าน...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ทำความค้ำกายนั่งในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงนั่งค้ำกายในละแวกบ้าน (จะข้างเดียวหรือสองข้างก็ตาม) ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  อยู่ในที่พัก ๑  มีอันตราย ๑... 
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๙๕๕
      ๑. การยกมือวางบนสะเอวทำความค้ำ ชื่อว่า ทำความค้ำ



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๒๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๖๘)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอาผ้าคลุมศีรษะ ไปในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์เดินคลุมศีรษะไปในละแวกบ้าน ทำท่าคอพับ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่คลุมศีรษะ ไปในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงคลุมศีรษะเดินไปในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑... 



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๒๔
(พระวินัยข้อที่ ๑๖๙)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอาผ้าคลุมศีรษะ นั่งในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์นั่งคลุมศีรษะในละแวกบ้าน...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่คลุมศีรษะนั่งในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงคลุมศีรษะนั่งในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  อยู่ในที่พัก ๑  มีอันตราย ๑...   



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๒๕
(พระวินัยข้อที่ ๑๗๐)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เดินกระโหย่งเท้าเข้าไปในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์กระโหย่งเท้าเดินไปในละแวกบ้าน...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ไปในละแวกบ้านด้วยทั้งความกระโหย่ง”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงมีการกระโหย่งเท้าเดินไปในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  อยู่ในที่พัก ๑  มีอันตราย ๑...   



เสขิยวัตร สารูป สิกขาบทที่ ๒๖
(พระวินัยข้อที่ ๑๗๑)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งรัดเข่าในบ้าน

       พระฉัพพัคคีย์นั่งรัดเข่าในละแวกบ้าน...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งในละแวกบ้านด้วยทั้งความรัด”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงมีการรัดเข่าในละแวกบ้าน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ นั่งรัดเข่าด้วยมือก็ดี ด้วยผ้าก็ดี (ด้วยสายโยกก็ดี) ในละแวกบ้าน ต้องอาบัติทุกกฏ
       
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  อยู่ในที่พัก ๑  มีอันตราย ๑... 
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๙๕๕
      ๑. กิริยาที่ภิกษุยกส้นเท้าทั้ง ๒ จรดพื้นดินด้วยเพียงปลายเท้าทั้ง ๒ หรือเขย่งปลายเท้าทั้ง ๒ จรดพื้นดินด้วยเพียงส้นเท้าทั้ง ๒ เดินไป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เดินกระโหย่งเท้า



(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อนวสฺสุตจิตฺตสฺส   อนนุวาหตเจตโส
ปุญฺญปาปปหีนสฺส  นตฺถิ ชาครโต ภยํ ฯ ๓๙ ฯ   
ผู้มีสติตื่นตัวอยู่เนืองนิตย์  มีจิตเป็นอิสระจากราคะและโทสะ
ละบุญและบาปได้  ย่อมไม่กลัวอะไร

He who is vigilant,  He whose mind is not overcome by lust and hatred,
He who has discarded both good and evil-  For such a one there is no fear.

 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
no.๔๐



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 พฤศจิกายน 2563 16:22:13


เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๗๒)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเคารพ

       พระฉัพพัคคีย์เดินรับบิณฑบาตโดยไม่เอาใจใส่ ทำอาการดุจทิ้งเสีย…     
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเอื้อเฟื้อ”
     
อาบัติ
       ภิกษุพึงรับบิณฑบาตโดยเคารพ ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ทำอาการดุจทิ้งเสีย  ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
       ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑...



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๗๓)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อรับบิณฑบาต เราจักแลดูแต่ในบาตร

       พระฉัพพัคคีย์เดินรับบิณฑบาตพลางแลไปในที่นั้นๆ เมื่อเขากำลังเกลี่ยบิณฑบาตลงก็ดี เมื่อเกลี่ยเสร็จแล้วก็ดี หารู้สึกตัวไม่       
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักจ้องในบาตรรับบิณฑบาต”
     
อาบัติ
       ภิกษุพึงดูแลบาตรรับบิณฑบาต (ตั้งสติไว้) ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ รับบิณฑบาตพลางเหลียวแลไปในที่นั้นๆ  ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
       ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑...


เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๗๔)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับแกงพอสมควรแก่ข้าวสุก

       พระฉัพพัคคีย์รับบิณฑบาต รับแต่สูปะเป็นส่วนมาก...       
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตมีสูปะเสมอกัน”
     
อาบัติ
       ที่ชื่อว่า สูปะ มีสองชนิด คือ สูปะทำด้วยถั่วเขียว ๑  สูปะทำด้วยถั่วเหลือง ๑  ที่จับได้ด้วยมือ
      ภิกษุพึงรับบิณฑบาตมีสูปะเสมอกัน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ รับแต่สูปะอย่างเดียวเป็นส่วนมาก ต้องทุกกฏ 

อนาบัติ
       ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  รับกับข้าวต่างอย่าง ๑  รับของญาติ ๑  รับของผู้ปวารณา ๑  รับเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑  จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑ มีอันตราย ๑...


เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๑๗๕)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตแต่พอเสมอขอบปากบาตร

       พระฉัพพัคคีย์รับบิณฑบาตรถึงล้นบาตร       
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตจรดเสมอขอบบาตร”
     
อาบัติ
       ภิกษุพึงรับบิณฑบาตเสมอขอบปากบาตร ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ รับบิณฑบาตรจนล้น  ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
       ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  มีอันตราย ๑...

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๙๕๕
      ๑. บิณฑบาตซึ่งมีกับข้าวประมาณเท่าส่วนที่ ๔ แห่งข้าวสวย ชื่อว่า บิณฑบาตมีสูปะเสมอกัน
          ในมหาปัจจรีท่านกล่าวไว้ว่า แม้แกงที่ปรุงขึ้นด้วยถั่วพูเป็นต้น ก็ถึงการสงเคราะห์เข้าในคำว่า มุคฺคสูโป  มาสสูโป นี้,  กับข้าวมีรสชวนให้ยินดี แกงผักดอง รสปลาและรสเนื้อเป็นต้น ที่เหลือ เว้นกับข้าว ๒ อย่างเสีย (สูปะทำด้วยถั่วเขียว  สูปะทำด้วยถั่วเหลือง) พึงทราบว่า รสรเส (กับข้าวต่างอย่าง) ในคำว่า รสรเส นี้ ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้รับกับข้าวต่างอย่างนั้น แม้มาก
      ๒. บิณฑบาตที่ภิกษุทำให้ล้นรอยขอบภายในปากบาตรขึ้นมา ชื่อว่า ทำให้พูนล้นบาตร คือเพิ่มเติมแต่งเสริมให้เต็มแปล้ในบาตร,  ภิกษุไม่รับบิณฑบาตที่ทำอย่างนั้น พึงรับพอประมาณเสมอรอยภายในขอบปากบาตร
      ๓. บิณฑบาตล้นบาตรกำหนดด้วยอะไร?  พระจูฬสุมนเถระกล่าวว่า กำหนดด้วยยาวกาลิก เพราะฉะนั้น ยาคูก็ดี ภัตก็ดี ผลาผลก็ดี ที่เป็นอามิสอย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุพึงรับเสมอขอบบาตรเท่านั้น,  ก็แลยาคูและภัตหรือผลาผลนั้น พึงรับเสมอขอบบาตรด้วยบาตรที่ควรอธิษฐาน,  แต่ด้วยบาตรนอกนี้รับให้ล้นขึ้นมา แม้เป็นเหมือนยอดสถูป ก็ควร, ส่วนยามกาลิก สัตตาหกาลิก และยาวชีวิก รับให้ล้นเหมือนยอดสถูป แม้ด้วยบาตรควรอธิษฐานก็ได้,  ภิกษุรับภัตตาหารด้วยบาตร ๒ ใบ บรรจุให้เต็มใบหนึ่งแล้วส่งไปยังวิหาร ควรอยู่,  แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ของกินมีขนม ลำอ้อย ผลไม้น้อยใหญ่ เป็นต้น ที่เขาบรรจุลงในบาตร พร่องอยู่แต่ข้างล่าง ไม่ชื่อว่า ทำให้ล้นบาตร
          พวกชาวบ้านถวายบิณฑบาต วางกระทงขนมไว้ข้างบน จัดว่ารับล้นบาตรเหมือนกัน แต่พวงดอกไม้และพวงผลกระวาน ผลเผ็ดร้อน (พริกไทย) เป็นต้น ที่เขาถวายวางไว้ข้างบน ไม่จัดว่ารับล้นบาตร ภิกษุรับเต็มแล้ววางถาดหรือใบไม้ข้างบนข้าวสวย ไม่ชื่อว่า รับล้นบาตร, แม้ในกุรุนทีก็กล่าวไว้ว่า พวกทายกใส่ข้าวสวยลงบนถาดหรือบนใบไม้แล้ว วางถวายถาดหรือใบไม้แล้ว วางถวายถาดหรือใบไม้นั้นบนสุดบาตร (บนฝาบาตร), ภาชนะแยกกัน ควรอยู่,  ภิกษุอาพาธไม่มีมาในอนาบัติในสิกขาบทนี้ เพราะฉะนั้น โภชนะที่ทำให้เป็นยอดดุจสถูป (ที่รับล้นบาตร) ไม่ควรแม้แก่ภิกษุผู้อาพาธ จะรับประเคนพร่ำเพรื่อในภาชนะทั่วไปก็ไม่ควร, แต่โภชนะที่รับประเคนไว้แล้ว จะรับประเคนใหม่ให้เรียบร้อยก่อนแล้วจึงฉัน ควรอยู่ ฉะนี้แล


เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๑๗๖)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตโดยเคารพ

       พระฉัพพัคคีย์ฉันบิณฑบาตโดยไม่เอาใจใส่ ทำอาการดุจไม่อยากฉัน...       
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตโดยเอื้อเฟื้อ”
     
อาบัติ
       ภิกษุพึงฉันบิณฑบาตโดยไม่รังเกียจ ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ฉันบิณฑบาตโดยรังเกียจ ทำอาการดุจไม่อยากฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
       ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑...


เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๑๗๗)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อฉันบิณฑบาต เราจักแลดูแต่ในบาตร

       พระฉัพพัคคีย์ฉันบิณฑบาตพลางเหลียวแลไปในที่นั้นๆ เมื่อเขาเกลี่ยบิณฑบาตลงก็ดี เกลี่ยเสร็จแล้วก็ดี หารู้สึกตัวไม่       
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักจ้องดูอยู่ในบาตร ฉันบิณฑบาต”
     
อาบัติ
       ภิกษุผู้ฉันอาหารพึงแลดูในบาตร ฉันบิณฑบาต ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ฉันบิณฑบาตพลางแลดูไปในที่นั้นๆ  ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
       ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑...


เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๗๘)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ขุดข้าวสุกให้แหว่ง

       พระฉัพพัคคีย์ฉันบิณฑบาตเจาะลงในที่นั้นๆ...     
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตไม่แหว่ง”
     
อาบัติ
       ภิกษุพึงฉันบิณฑบาตเกลี่ยให้เสมอ ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ฉันบิณฑบาตเจาะลงในที่นั้นๆ  ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
       ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  ตักให้ภิกษุอื่นเว้าแหว่ง ๑  ตักเกลี่ยลงในภาชนะอื่นแหว่ง ๑  ตักสูปะแหว่งเว้า ๑  มีอันตราย ๑...


เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๑๗๙)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันแกงพอสมควรแก่ข้าวสุก

       พระฉัพพัคคีย์ฉันบิณฑบาต ฉันแต่กับข้าวอย่างเดียวมาก       
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตมีสูปะเสมอกัน”
     
อาบัติ
       ที่ชื่อว่าสูปะ มี ๒ ชนิด คือ สูปะทำด้วยถั่วเขียว ๑  สูปะทำด้วยถั่วเหลือง ๑  ที่จับได้ด้วยมือ
       ภิกษุพึงฉันบิณฑบาตมีสูปะพอดีกัน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ฉันแต่สูปะอย่างเดียว  ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
       ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  ฉันกับข้าวอย่างอื่นๆ ๑  ฉันของญาติ ๑  ฉันของคนปวารณา ๑  ฉันเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑ จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑ มีอันตราย ๑...


เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๑๘๐)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ขยุ้มข้าวสุกแต่ยอดลงไป

       พระฉัพพัคคีย์ฉันบิณฑบาตขยุ้มลงแต่ยอด...       
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ขยุ้มลงแต่ยอด ฉันบิณฑบาต”
     
อาบัติ
       ภิกษุไม่พึงขยุ้มลงแต่ยอดฉันบิณฑบาต ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ขยุ้มลงแต่ยอด  ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
       ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  กวาดตะล่อมข้าวที่เหลือเล็กน้อยรวมเป็นคำแล้วเปิบฉัน ๑  มีอันตราย ๑...


เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๑๘๑)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่กลบแกงหรือกับข้าวด้วยข้าวสุก

       พระฉัพพัคคีย์อาศัยความอยากได้มาก จึงกลบแกงบ้าง กับข้าวบ้าง ด้วยข้าวสุก...       
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่กลบแกงก็ดี กับข้าวก็ดี ด้วยข้าวสุก เพราะอาศัยความอยากได้มาก”
     
อาบัติ
       ภิกษุผู้ฉันอาหาร ไม่พึงกลบแกงหรือกับข้าวด้วยข้าวสุก เพราะอยากจะได้มาก ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ  ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
       ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  เจ้าของกลบถวาย ๑  ไม่ได้มุ่งอยากได้มาก ๑  มีอันตราย ๑...

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๙๕๘
       ๑. บทว่า ถูปโต คือ แต่ยอด ความว่า แต่ท่ามกลาง


เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๘๒)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่เจ็บไข้ จักไม่ขอแกงหรือข้าวสุก มาเพื่อตน

       พระฉัพพัคคีย์ขอกับข้าวบ้าง ข้าวสุกบ้าง มาฉันเพื่อประโยชน์แก่ตน (ทรงมีพระบัญญัติไม่ให้ขอ) ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ เธอรังเกียจที่จะขอ จึงไม่มีความผาสุก ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า       
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่อาพาธจักไม่ขอสูปะก็ดี ข้าวสุกก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ตน ฉัน”
     
อาบัติ
       ภิกษุผู้ไม่อาพาธไม่พึงขอสูปะหรือข้าวสุกมาฉัน เพื่อประโยชน์ตน ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
       ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  ขอต่อญาติ ๑  ขอต่อคนปวารณา ๑  ขอเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑  จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑  มีอันตราย ๑...



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 ธันวาคม 2563 15:18:03


เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๘๓)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ดูบาตรของผู้อื่น ด้วยคิดว่าจะเพ่งโทษ

       พระฉัพพัคคีย์มีความมุ่งหมายจะเพ่งโทษ จึงแลดูบาตรของภิกษุเหล่าอื่น...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจะไม่เพ่งโพนทะนา แลดูบาตรของผู้อื่น”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงมุ่งหมายจะเพ่งโทษ แลดูบาตรของภิกษุอื่น ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ มีความมุ่งหมายจะเพ่งโทษ แลดูบาตรของภิกษุอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ     
   
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  แลดูด้วยคิดว่าจักเติมของฉันให้ หรือจักสั่งให้เขาเติมถวาย ๑ มิได้ความมุ่งหมายจะเพ่งโทษ ๑ มีอันตราย ๑ (ในสิกขาบทนี้ ภิกษุอาพาธก็ไม่พ้นจากอาบัติ) วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๘๔)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก

       พระฉัพพัคคีย์ทำคำข้าวใหญ่...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก”

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหารไม่พึงทำคำข้าวให้ใหญ่เกินไป ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ฉัน ทำคำข้าวให้ใหญ่ ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  ฉันของเคี้ยว ๑  ฉันผลไม้น้อยใหญ่ ๑ ฉันกับแกง ๑ มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๔
(พระวินัยข้อที่ ๑๘๕)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักทำคำข้าวให้กลมกล่อม

       พระฉัพพัคคีย์ฉันข้าวทำคำข้าวยาว...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักทำคำข้าวให้กลมกล่อม”

อาบัติ
      ภิกษุพึงฉันอาหาร พึงทำคำข้าวให้กลมกล่อม ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ทำคำข้าวยาว ต้องอาบัติทุกกฏ     
   
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  ฉันของเคี้ยว ๑  ฉันผลไม้ ๑  ฉันกับแกง ๑ มีอันตราย ๑ ...
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๙๕๘
      ๑. ฟองไข่นกยูงใหญ่เกินไป ฟองไข่ไก่ก็เล็กเกินไป, คำข้าวมีประมาณขนาดกลางระหว่างฟองไข่นกยูงและไข่ไก่นั้น (ชื่อว่าคำข้าวไม่ใหญ่เกินไป)



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๕
(พระวินัยข้อที่ ๑๘๖)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อคำข้าวยังไม่ถึงปาก เราจะไม่อ้าปากไว้คอยท่า

       พระฉัพพัคคีย์เมื่อคำข้าวยังไม่มาถึงปาก ย่อมอ้าช่องปากไว้คอยท่า...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อคำข้าวยังไม่นำมาถึง เราจักไม่อ้าช่องปาก”

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหาร เมื่อคำข้าวยังไม่ถึงปาก ไม่พึงอ้าช่องปากไว้ ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ อ้าช่องปากไว้คอยท่า ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย … 



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๖
(พระวินัยข้อที่ ๑๘๗)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อฉันอยู่ เราจักไม่เอานิ้วมือสอดเข้าปาก

       พระฉัพพัคคีย์กำลังฉันอยู่ สอดนิ้วมือทั้งหมดเข้าไปในปาก...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อฉันอยู่ จักไม่สอดมือทั้งนั้นเข้าไปในปาก”

อาบัติ
      ภิกษุผู้กำลังฉันอาหารอยู่ ไม่พึงสอดนิ้วมือทั้งหมดเข้าปาก ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ สอดนิ้วมือเข้าไปในปาก ต้องอาบัติทุกกฏ     
   
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๘๘)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อข้าวอยู่ในปาก เราจักไม่พูด

       พระฉัพพัคคีย์เจรจาทั้งๆที่ในปากยังมีคำข้าว...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า ปากยังมีคำข้าว เราจักไม่พูด”

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหารไม่พึงพูดด้วยทั้งปากยังมีคำข้าว...พูดด้วยทั้งปากยังมีคำข้าว ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๘
(พระวินัยข้อที่ ๑๘๙)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจะไม่โยนคำข้าวเข้าปาก

       พระฉัพพัคคีย์ฉันอาหารโยนคำข้าว...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเดาะคำข้าว

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหาร ไม่พึงฉันเดาะคำข้าว... ฉันเดาะคำข้าว ต้องอาบัติทุกกฏ     
   
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  ฉันอาหารที่แข้น (แข็ง) ๑  ฉันผลไม้น้อยใหญ่ ๑ มีอันตราย ๑ ...

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๒/๙๕๙
      ๑. ภิกษุกำลังแสดงธรรม ใส่สมอหรือชะเอมเครือเข้าปาก แสดงธรรมไปพลางๆ คำพูดจะไม่ขาดหายไป ด้วยชิ้นสมอเป็นต้นเท่าใด เมื่อชิ้นสมอเป็นต้นเท่านั้น ยังมีอยู่ในปาก จะพูดก็ควร



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๙
(พระวินัยข้อที่ ๑๙๐)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันกัดคำข้าว

       พระฉัพพัคคีย์ฉันอาหารกัดคำข้าว...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันกัดคำข้าว”

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหาร ไม่พึงฉันกัดคำข้าว... ฉันกัดคำข้าว ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  ฉันขนมที่แข้นแข็ง ๑  ฉันผลไม้ ๑  ฉันกับแกง ๑  มีอันตราย ๑   



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๒๐
(พระวินัยข้อที่ ๑๙๑)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย

       พระฉัพพัคคีย์ฉันอาหารทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย”

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหาร ไม่พึงฉันทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย... ฉันอาหารทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ยข้างเดียวก็ดี ทั้งสองข้างก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ     
   
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  ฉันผลไม้ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๒๑
(พระวินัยข้อที่ ๑๙๒)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันพลาง สะบัดมือพลาง

       พระฉัพพัคคีย์ฉันอาหาร สลัดมือ
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันสลัดมือ”

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหาร ไม่พึงฉันสลัดมือ... ฉันอาหารสลัดมือ ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  ไม่รู้ตัว ๑  สลัดมือทิ้งเศษอาหาร ๑  มีอันตราย ๑ ...   



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๒๒
(พระวินัยข้อที่ ๑๙๓)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าวให้ตก

       พระฉัพพัคคีย์ฉันอาหารโปรยเมล็ดข้าว...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำเมล็ดข้าวตก”

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหาร ไม่พึงฉันทำเมล็ดข้าวตก... ฉันทำเมล็ดข้าวตก ต้องอาบัติทุกกฏ     
   
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  ทิ้งผงข้าว แต่เมล็ดข้าวติดไปด้วย ๑ มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๒๓
(พระวินัยข้อที่ ๑๙๔)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันแลบลิ้น

       พระฉัพพัคคีย์ฉันอาหารแลบลิ้น...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันแลบลิ้น”

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหาร ไม่พึงแลบลิ้น... ฉันอาหารแลบลิ้น ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๒๔
(พระวินัยข้อที่ ๑๙๕)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันดัง จับๆ

       พระฉัพพัคคีย์ฉันอาหารดังจับๆ
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่าเราจักไม่ฉันทำเสียงจับๆ”

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหาร ไม่พึงฉันทำเสียงดังจับๆ...  ฉันอาหารดังจับๆ ต้องอาบัติทุกกฏ     
   
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑   



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๒๕   
(พระวินัยข้อที่ ๑๙๖)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันดัง ซูด ๆ

       พราหมณ์คนหนึ่ง ปรุงน้ำปานะน้ำนมถวายพระสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายซดน้ำนมดังซูดๆ ภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเคยเป็นนักฟ้อนรำกล่าวขึ้นอย่างนี้ว่า ชะรอยพระสงฆ์ทั้งปวงนี้ถูกความเย็นรบกวนแล้ว ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงสอบถามภิกษุรูปนั้นว่า “ข่าวว่าเธอได้พูดปรารภพระสงฆ์เล่น จริงหรือ” “จริงพระพุทธเจ้าข้า”  ภิกษุรูปนั้นทูลรับ ทรงติเตียนแล้วมีพระบัญญัติว่า “ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุทั้งหลายไม่พึงพูดปรารภพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เล่น รูปใดฝ่าฝืนต้องอาบัติทุกกฏ แล้วมีพระบัญญัติอีกว่า
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำเสียงซูดๆ”

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหาร ไม่พึงฉันดังซูดๆ... ฉันอาหารทำเสียงดังซูดๆ ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๒๖
(พระวินัยข้อที่ ๑๙๗)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียมือ

       พระฉัพพัคคีย์ฉันเลียมือ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียมือ”

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหารไม่พึงฉันเลียมือ... ฉันเลียมือ ต้องอาบัติทุกกฏ     
   
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ 

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๙๖๐
      ๑. ภิกษุผู้กำลังฉันจะเลียมือแม้เพียงนิ้วมือ ก็ไม่ควร, แต่ภิกษุจะเอานิ้วมือทั้งหลาย หยิบยาคูแข้นน้ำอ้อยงบ และข้าวปายาสเป็นต้น แล้วสอดนิ้วมือเข้าในปากฉัน ควรอยู่, แม้ในการฉันขอดบาตร เลียริมฝีปาก เป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ภิกษุไม่ควรเอานิ้วมือ แม้นิ้วเดียว ขอดบาตร, แม้ริมฝีปากข้างหนึ่ง ก็ไม่ควรเอาลิ้นเลีย แต่จะเอาเฉพาะเนื้อริมฝีปากทั้ง ๒ ข้าง คาบแล้วขยับให้เข้าไปภายในปาก ควรอยู่



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๒๗
(พระวินัยข้อที่ ๑๙๘)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันขอดบาตร

       พระฉัพพัคคีย์ฉันอาหารขอดบาตร
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันอาหารขอดบาตร”

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหาร ไม่พึงฉันขอดบาตร... ฉันอาหารขอดบาตร ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  ข้าวสุกเหลือน้อย กวาดขอดรวมกันแล้วฉัน ๑  มีอันตราย ๑



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๒๘
(พระวินัยข้อที่ ๑๙๙)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียริมฝีปาก

       พระฉัพพัคคีย์ฉันอาหารเลียริมฝีปาก
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียริมฝีปาก”

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหาร ไม่พึงฉันเลียริมฝีปาก... ฉันอาหารเลียริมฝีปาก ต้องอาบัติทุกกฏ     
   
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑  



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๒๙
(พระวินัยข้อที่๒๐๐)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ

       ภิกษุทั้งหลายรับประเคนโอน้ำด้วยมือข้างที่เปื้อนอามิส ในโกกนุทปราสาท...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่รับโอน้ำด้วยมือเปื้อนอามิส”

อาบัติ
      ภิกษุผู้ฉันอาหาร ไม่พึงรับประเคนโอน้ำด้วยมือข้างที่เปื้อนอามิส... รับประเคนโอน้ำด้วยมือข้างที่เปื้อนอามิส ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  รับประเคนด้วยหมายว่า จักล้างเอง หรือให้ผู้อื่นล้าง มีอันตราย ๑ ... 



เสขิยวัตร โภชนปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๓๐
(พระวินัยข้อที่ ๒๐๑)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอาน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวเทในบ้าน

       ภิกษุทั้งหลายเทน้ำล้างบาตรซึ่งมีเมล็ดข้าวในละแวกบ้าน ใกล้โกกนุทปราสาท...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เทน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวในละแวกบ้าน”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงเทน้ำล้างบาตร ซึ่งยังมีเมล็ดข้าวลงในละแวกบ้าน... เทน้ำล้างบาตรที่มีเมล็ดข้าวลงในละแวกบ้าน  ต้องอาบัติทุกกฏ     
   
อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑ เก็บเมล็ดข้าวออกแล้ว จึงเทน้ำล้างบาตรหรือขยี้เมล็ดข้าวให้ละลาย แล้วเท หรือเทน้ำล้างบาตรลงในกระโถน แล้วจึงนำไปเทข้างนอก ๑ มีอันตราย ๑ ... 
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๙๖๐
      ๑. พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสห้ามการรับโอน้ำด้วยมือเปื้อนอามิส ด้วยอำนาจแห่งความน่าเกลียด เพราะฉะนั้น สังข์ก็ดี ขันก็ดี ภาชนะก็ดี เป็นของสงฆ์ก็ตาม เป็นของบุคคลก็ตาม เป็นของคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นของส่วนตัวก็ตาม ไม่ควรเอามือเปื้อนอามิสจับทั้งนั้น, เมื่อจับเป็นทุกกฎ แต่ถ้าว่าบางส่วนของมือไม่ได้เปื้อนอามิส จะจับโดยส่วนนั้น ควรอยู่
      ๒. ภิกษุควรซาวเมล็ดข้าวสุกขึ้นจากน้ำ แล้วกองไว้ในที่แห่งหนึ่ง จึงเทน้ำทิ้ง, หรือขยี้เมล็ดข้าวสุกให้มีคติเหมือนน้ำ แล้วเททิ้งไป โดยเทลงในกระโถนแล้วนำไปเทข้างนอก


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
กุมภูปมํ กายมิมํ วิทิตฺวา   นครูปมํ จิตฺตมิทํ ถเกตฺวา
โยเชถ มารํ ปญฺญาวุเธน   ชิตญฺจ รกฺเข อนิเวสโน สิยา ฯ ๔๐ ฯ
เมื่อรู้ว่าร่างกายนี้แตกดับง่ายเหมือนหม้อน้ำ  พึงป้องกันจิตให้มั่นเหมือนป้องกันเมืองหลวง
แล้วพึงรบกับพญามารด้วยอาวุธคือปัญญา  เมื่อรบชนะแล้วพึงรักษาชัยชนะนั้นไว้ ระวังอย่าตกอยู่ในอำนาจมารอีก

Realizing that body is fragile as a pot,   Establishing one's mind as firm as a fortified city,
Let one attack let one guard one's conqust  And afford no rest to Mara.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
no.๔๑


หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 ธันวาคม 2563 16:28:57

เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่๒๐๒)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ มีร่มในมือ

       พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม (ทรงมีพระบัญญัติมิให้แสดงธรรมแก่คนกั้นร่ม) ต่อมาภิกษุทั้งหลายรังเกียจ เพื่อจะแสดงธรรมแก่คนเป็นไข้มีร่มในมือ... ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ มีร่มในมือ”

อธิบายและอาบัติ
      - ที่ชื่อว่า ร่ม ได้แก่ ร่ม ๓ ชนิด คือ ร่มผ้าขาว ๑  ร่มลำแพน ๑ (ร่มสานด้วยตอกไม้ไผ่)  ร่มใบไม้ ๑  ที่เย็บเป็นวงกลมผูกติดกับซี่
      - ที่ชื่อ ธรรม ได้แก่ ถ้อยคำที่อิงอรรถอิงธรรม เป็นพุทธภาษิต สาวกภาษิต อิสิภาษิต เทวตาภาษิต
      - บทว่า แสดง คือ โดยบท ต้องอาบัติทุกฏ ทุกๆ อักขระ
      ภิกษุไม่พึงแสดงธรรมแก่บุคคลไม่เป็นไข้ผู้กั้นร่ม... แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้กั้นร่ม ต้องอาบัติทุกฏ

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑  …



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๒๐๓)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ มีไม้พลองในมือ

       พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้ถือไม้พลอง...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ มีไม้พลองในมือ”

อธิบายและอาบัติ
     - ที่ชื่อว่า ไม้พลอง ได้แก่ ไม้พลองยาว ๔ ศอก ของมัชฌิมบุรุษ ยาวกว่านั้นไม่ใช่ไม้พลอง สั้นกว่านั้นก็ไม่ใช่ไม้พลอง
      ภิกษุไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้ถือไม้พลอง... แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้ถือไม้พลอง ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑  ...
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๙๖๑
      ๑. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อทรงแสดงโครงร่มทั้ง ๓ ชนิด, ก็ร่มทั้ง ๓ ชนิดนั้น เป็นร่มที่เย็บเป็นวงกลมและผูกติดกับซี่ ถึงแม้ร่มใบไม้ใบเดียว อันเขาทำด้วยคันซึ่งเกิดที่ต้นตาลเป็นต้น ก็ชื่อว่าร่มเหมือนกัน, บรรดาร่มเหล่านี้ ร่มชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในมือของบุคคลนั้น เหตุนั้นบุคคลนั้นชื่อว่ามีร่มในมือ
      บุคคลนั้นกั้นร่มอยู่ก็ดี แบกไว้บนบ่าก็ดี วางไว้บนตักก็ดี ยังไม่ปล่อยมือตราบใด จะแสดงธรรมแก่เขาไม่ควรตราบนั้น เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้แสดง โดยนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแล, แต่ถ้าว่าผู้อื่นกางร่มให้เขา หรือร่มนั้นตั้งอยู่บนที่รองร่ม พอแต่ร่มพ้นจากมือ ก็ไม่ชื่อว่า ผู้มีร่มในมือ, จะแสดงธรรมแก่บุคคลนั้นควรอยู่, ก็การกำหนดธรรมในสิกขาบทนี้ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในปทโสธรรมสิกขาบท (ว่าด้วยการแสดงธรรมเกิน ๖ คำ) นั่นแล
      ๒. ไม้พลองยาว ๔ ศอก ของมัชฌิมบุรุษ ชื่อว่า ไม้พลอง พึงทราบความที่บุคคลนั้นมีไม้พลองในมือ โดยนัยที่กล่าวแล้วในบุคคลผู้มีร่มในมือนั่นแล แม้ในบุคคลผู้มีศัสตราในมือก็นัยนี้เหมือนกัน เพราะว่าแม้บุคคลยืนผูกสอดดาบ ยังไม่ถึงการนับว่าเป็นผู้มีศัสตราในมือ



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๒๐๔)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ มีศัตราในมือ

       พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้ถือศัตรา...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ มีศัตราในมือ”

อธิบายและอาบัติ
      - ที่ชื่อ ศัตรา ได้แก่ วัตถุเครื่องประหารมีคมข้างเดียว และมีคมสองข้าง
ภิกษุไม่พึงแสดงธรรมแก่บุคคลผู้ไม่เป็นไข้ผู้ถือศัตรา... แสดงธรรมแก่บุคคลผู้ไม่เป็นไข้ผู้ถือศัตรา ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่ ๒๐๕)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ มีอาวุธในมือ

       พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้ถืออาวุธ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ มีอาวุธในมือ”

อธิบายและอาบัติ
      - ที่ชื่อว่า อาวุธ ได้แก่ ปืน เกาทัณฑ์
      ภิกษุไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้ถืออาวุธ... แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ มีมือถืออาวุธ ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...
 
สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ. ๒/๙๖๒
      ๑. ที่ชื่อว่า อาวุธ ได้แก่ ปืน เกาทัณฑ์ ดังนี้ ถึงอย่างนั้นธนูแม้ทุกชนิดพร้อมด้วยลูกศรชนิดแปลกๆ ก็พึงทราบว่า “อาวุธ” เพราะฉะนั้น ภิกษุจะแสดงธรรมแก่บุคคลผู้ไม่เจ็บไข้ ซึ่งยืนหรือนั่งถือธนูกับลูกศรก็ดี ถือแต่ลูกศรล้วนก็ดี ถือแต่ธนูมีสายก็ดี ถือแต่ธนูไม่มีสายก็ดี ย่อมไม่สมควร, แต่ถ้าธนูสวมคล้องไว้แม้ที่คอของเขา ภิกษุจะแสดงธรรมแก่เขาตลอดเวลาที่เขายังไม่เอามือจับ (ธนู) ควรทีเดียวแล



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๒๐๖)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ สวมเขียงเท้า

       พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้สวมเขียงเท้า...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ สวมเขียงเท้า”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้สวมเขียงเท้า... แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้เหยียบเขียงเท้าก็ดี ผู้สวมเขียงเท้าก็ดี ผู้สวมเขียงเท้าหุ้มส้นก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๒๐๗)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ สวมรองเท้า

       พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้สวมรองเท้า
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ ผู้สวมรองเท้า”

อาบัติ
      ภิกษุไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้สวมรองเท้า... แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้เหยียบรองเท้าก็ดี ผู้สวมรองเท้าก็ดี ผู้สวมรองเท้าหุ้มส้นก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๒๐๘)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ไปในยาน

       พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้นั่งในยาน...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ ผู้ไปในยาน”

อธิบายและอาบัติ
      - ที่ชื่อว่า ยาน ได้แก่ คานหาม รถ เกวียน เตียงหาม วอ เปลหาม
      ภิกษุไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งไปในยาน... แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งไปในยาน ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๒๐๙)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ อยู่บนที่นอน

       พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้อยู่บนที่นอน...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ ผู้อยู่บนที่นอน”

อาบัติ
      -  ภิกษุไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้อยู่บนที่นอน... แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นอนอยู่โดยที่สุดแม้บนพื้นดิน ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๒/๙๖๓
      ๑. คนที่ถูกชน ๒ คน หามไปด้วยมือประสานกันก็ดี, คนที่เขาวางไว้บนผ้า แล้วใช้บ่าแบกไปก็ดี, คนผู้นั่งบนยานที่ไม่ได้เทียม มีคานหามเป็นต้นก็ดี ผู้นั่งบนยานที่เขารื้อออกวางไว้ แม้มีแต่เพียงล้อก็ดี ย่อมถึงการนับว่า ผู้ไปในยานทั้งนั้น, แต่ถ้าคนแม้ทั้งสองฝ่าย นั่งไปบนยานเดียวกัน จะแสดงธรรมแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ควรอยู่
      ๒. ภิกษุยืนหรือนั่งบนเตียงก็ดี บนตั่งก็ดี บนภูมิประเทศก็ดี แม้สูง จะแสดงธรรมแก่ (คนไม่เป็นไข้) ผู้นอนอยู่ ชั้นที่สุดบนเสื้อลำแพนก็ดี บนพื้นตามปกติก็ดี ไม่ควร, แต่ภิกษุผู้อยู่บนที่นอน จะนอนบนที่นอนสูงกว่า หรือมีประมาณเสมอกัน แสดงธรรมแก่ผู้ไม่เป็นไข้อยู่บนที่นอน ควรอยู่, ภิกษุผู้นอนจะแสดงธรรมแก่คนผู้ไม่เป็นไข้ ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี ควรอยู่, แม้ภิกษุนั่งจะแสดงธรรมแก่คนผู้ยืน หรือว่านั่งก็ควร, ภิกษุยืนจะแสดงธรรมแก่ผู้ยืนเหมือนกันก็ได้



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๒๑๐)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ นั่งรัดเข่า

       พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้นั่งรัดเข่า...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ ผู้นั่งรัดเข่า”

อาบัติ
      - ภิกษุไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งรัดเข่า... ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งรัดเข่าด้วยมือก็ดี ผู้นั่งรัดเข่าด้วยผ้าก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๒๑๑)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ พันศีรษะ

       พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้โพกผ้าพันศีรษะ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ ผู้พันศีรษะ”

อาบัติ
      - ที่ชื่อว่า พันศีรษะ คือ พันไม่ให้เห็นปลายผม (หรือโพกศีรษะด้วยผ้าสำหรับโพก หรือด้วยพวงดอกไม้ เป็นต้น มัดจนริมผมไม่ปรากฏให้เห็น)
      ภิกษุไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้โพกผ้าพันศีรษะ... แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้โพกผ้าพันศีรษะ ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  ให้เขาเปิดปลายผมจุกแล้วแสดง ๑ มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๐
(พระวินัยข้อที่ ๒๑๒)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ คลุมศีรษะ

       พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้มีผ้าคลุมศีรษะ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ ผู้คลุมศีรษะ”

อธิบายและอาบัติ
      -  ที่ชื่อว่า คลุมศีรษะ คือ ที่เขาเรียกกันว่า คลุมตลอดศีรษะ
      ภิกษุไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้คลุมศีรษะ... แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้คลุมศีรษะ ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑ ให้เขาเปิดผ้าคลุมศีรษะแล้วแสดง ๑ มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๒
(พระวินัยข้อที่ ๒๑๓)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ นั่งบนอาสนะ

       พระฉัพพัคคีย์นั่งอยู่บนพื้นดินแสดงธรรมแก่บุคคลผู้นั่งอยู่บนอาสนะ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งอยู่ที่พื้นดิน จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งบนอาสนะ”

อาบัติ
      - ภิกษุนั่งอยู่บนพื้น ไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งอยู่บนอาสนะ (ชั้นที่สุด ได้แก่ ผู้ปูผ้าหรือหญ้านั่ง) ...นั่งอยู่ที่พื้นดินแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งอยู่บนอาสนะ ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๓
(พระวินัยข้อที่ ๒๑๔)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ นั่งบนอาสนะสูง

       พระฉัพพัคคีย์นั่งอยู่บนอาสนะต่ำ แสดงธรรมแก่บุคคลผู้นั่งอยู่บนอาสนะสูง ทรงเล่าเรื่องบุรุษจัณฑาลคนหนึ่งเข้าไปขโมยมะม่วงในอุทยานหลวง เขาเห็นพราหมณ์ปุโรหิตกำลังสอนมนต์แก่พระเจ้าแผ่นดิน โดยพราหมณ์นั่งอยู่บนอาสนะต่ำ พระราชาประทับอยู่พระราชอาสน์สูง คนจัณฑาลทนไม่ได้ เพราะเห็นว่าไม่เคารพธรรม จึงลงมาจากต้นมะม่วง กล่าวตำหนิการไม่เคารพธรรม
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งบนอาสนะต่ำ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งบนอาสนะสูง”

อาบัติ
      -  ภิกษุผู้นั่งบนอาสนะต่ำ ไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งอยู่บนอาสนะสูง... นั่งบนอาสนะต่ำ แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งบนอาสนะสูง ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๔
(พระวินัยข้อที่ ๒๑๕)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งอยู่

       พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้นั่งอยู่...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ ผู้นั่งอยู่”

อาบัติ
      - ภิกษุผู้ยืนอยู่ไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่... ยืนแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๒/๙๖๖-๙๖๗
      ๑. บุรุษจัณฑาลกล่าวเตือนพวกพราหมณ์ว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ท่านจงรีบออกไปเถิด, แม้สัตว์เหล่าอื่นก็ยังหุงต้มหากินอยู่, ความอธรรมที่ท่านได้ประพฤติมาแล้ว อย่าได้ทำลายท่าน ดุจก้อนหินทำลายหม้อน้ำ ฉะนั้น
      ๒. ภิกษุจะแสดงธรรมแก่ผู้ไม่เจ็บไข้ ซึ่งนั่งอยู่บนอาสนะชั้นที่สุด แม้บนภูมิประเทศที่สูงกว่า ก็ไม่ควร
      ๓. ถ้าแม้นว่า พระมหาเถระนั่งบนอาสนะ ถามปัญหากับภิกษุหนุ่มผู้มายังที่บำรุงของพระเถระแล้วยืนอยู่ เธอไม่ควรกล่าว แต่ด้วยความเคารพ เธอไม่อาจกล่าวกับพระเถระว่า นิมนต์ท่านลุกขึ้นถามเถิด จะกล่าวด้วยตั้งใจว่า เราจักกล่าวแก่ภิกษุผู้ยืนอยู่ข้างๆ ควรอยู่



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๕
(พระวินัยข้อที่ ๒๑๖)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ที่เดินไปข้างหน้า...

       พระฉัพพัคคีย์เดินไปข้างหลัง แสดงธรรมแก่บุคคลผู้เดินไปข้างหน้า...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปข้างหลัง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้เดินไปข้าหน้า”

อาบัติ
      -  ภิกษุผู้เดินไปข้างหลัง ไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้เดินไปข้างหน้า... แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้เดินไปข้างหน้า ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร ธรรมเทศนาปฏิสังยุต สิกขาบทที่ ๑๖
(พระวินัยข้อที่ ๒๑๗)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้ไปในทาง

       พระฉัพพัคคีย์เดินไปนอกทาง แสดงธรรมแก่บุคคลผู้เดินไปในทาง...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปนอกทาง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้เดินไปในทาง”

อาบัติ
      - ภิกษุผู้เดินไปนอกทาง ไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้เดินไปในทาง... แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้เดินไปในทาง ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๒/๙๖๗
      ๑. ถ้าคนผู้เดินไปข้างหน้า ถามปัญหากับภิกษุผู้เดินไปข้างหลัง เธอไม่ควรตอบ แต่จะกล่าวด้วยใส่ใจว่า เราจะกล่าวแก่ภิกษุผู้อยู่ข้างหลัง ย่อมควร, จะสาธยายธรรมที่ตนเรียนร่วมกัน ควรอยู่, จะกล่าวแก่บุคคลผู้เดินเคียงคู่กันไป ก็ควร
      ๒. แม้ชนทั้งสองเดินคู่เคียงกันไปในทางเกวียน ตามทางล้อเกวียนคนละข้าง หรือออกนอกทางไป จะกล่าวก็ควร



เสขิยวัตร ปกิณณกะ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๒๑๘)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่เป็นไข้ จักไม่ยืนถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ”

       พระฉัพพัคคีย์ยืนถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่อาพาธ จักไม่ยืนถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ”

อาบัติ
      - ภิกษุผู้ยืนอยู่ มิใช่ผู้อาพาธ ไม่พึงถ่ายอุจจาระหรือถ่ายปัสสาวะ... มิใช่ผู้อาพาธ ยืนถ่ายอุจจาระก็ดี ยืนถ่ายปัสสาวะก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร ปกิณณกะ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๒๑๙)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่เป็นไข้ จักไม่ยืนถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
บ้วนเขฬะลงบนของสดเขียว

       พระฉัพพัคคีย์ยืนถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง บ้วนเขฬะบ้าง ลงบนของสดเขียว ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่อาพาธ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนเขฬะ บนของสดเขียว”

อาบัติ
      - ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ ไม่พึงถ่ายอุจจาระลงบนของสดเขียว... มิใช่ผู้อาพาธ ถ่ายอุจจาระก็ดี ถ่ายปัสสาวะก็ดี บ้วนเขฬะก็ดี ลงบนของสดเขียว  ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑ ของที่ถ่ายลงในที่ปราศจากของสดเขียว แล้วไหลไปรดของสดเขียว ๑  มีอันตราย ๑ ...



เสขิยวัตร ปกิณณกะ สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๒๒๐)
ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่เป็นไข้ จักไม่ยืนถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนเขฬะ ลงในน้ำ

       พระฉัพพัคคีย์ ยืนถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง  บ้วนเขฬะลงในน้ำ ...
      “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่อาพาธ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนเขฬะ ในน้ำ”

อาบัติ
      - ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ ไม่พึงถ่ายอุจจาระ... มิใช่ผู้อาพาธ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนเขฬะ ลงในน้ำ ต้องอาบัติทุกกฏ 

อนาบัติ
      ไม่แกล้ง ๑  เผลอ ๑ ไม่รู้ตัว ๑  อาพาธ ๑  ของที่ถ่ายไว้บนบกแล้วไหลลงสู่น้ำ ๑  มีอันตราย ๑ ...

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. มหาวิ. ๒/๙๖๗-๙๖๘
      ๑. เมื่อภิกษุกำลังไปยังที่กำบัง อุจจาระหรือปัสสาวะพลันเล็ดออก ชื่อว่า ไม่แกล้งถ่าย ไม่เป็นอาบัติ
      ๒. แม้รากของต้นไม้ที่ยังเป็น (ยังไม่ตาย) ชอนไปบนพื้นดิน ปรากฏให้เห็นก็ดี กิ่งไม้เลื้อยระไปบนพื้นดินก็ดี ทั้งหมดเรียกว่าของสดเขียวทั้งนั้น ภิกษุจะนั่งบนขอนไม้ ถ่ายให้ตกลงไปในปราศจากของเขียวสด ควรอยู่, เมื่อยังกำลังมองหาที่ปราศจากของสดเขียวอยู่นั่นแหละ อุจจาระหรือปัสสาวะพลันทะลักออกมา จัดว่าตั้งอยู่ในฐานะเป็นผู้อาพาธ ควรอยู่ 
      เมื่อภิกษุไม่ได้ที่ปราศจากของสดเขียว แม้วางเทริดบนหญ้าหรือเทริดฟางไว้บนของสดเขียว ทำการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ก็ควรเหมือนกัน, ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ถึงแม้น้ำมูกก็สงเคราะห์เข้ากับน้ำลายในสิกขาบทนี้
      ๓. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงน้ำบริโภคเท่านั้น แต่ในน้ำที่วัจจกุฎีและในน้ำทะเลเป็นต้น ไม่ใช่ของบริโภค ไม่เป็นอาบัติ, เมื่อฝนตก ห้วงน้ำมีอยู่ทั่วไป เมื่อภิกษุกำลังมองหาที่ไม่มีน้ำอยู่นั่นแหละ อุจจาระหรือปัสสาวะเล็ดออกมา ควรอยู่, ในมหาปัจจรีท่านกล่าวว่า ในเวลาเช่นนั้น ภิกษุไม่ได้ที่ไม่มีน้ำ จะทำการถ่าย ควรอยู่

เสขิยวัตร มีสมุฏฐานเป็นต้นดังนี้
      ๑. สิกขาบท ๑๐ สิกขาบท ๑๕๖ (ดูในวงเล็บ หน้าสิกขาบท), ๑๕๗, ๑๕๙, ๑๘๘, ๒๑๓, ๒๑๔, ๒๑๕, ๒๑๖, ๒๑๗ มีสมนุภาสนสิกขาบท (ดูสังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑ : และสิกขาบทที่ ๘ สัปปาณวรรคแห่งปาจิตตีย์) เกิดขึ้นทางกาย วาจา และจิต เป็นกิริยา สจิตตกะ โลกวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต
      ๒. สูโปทนวิญญัตติสิกขาบท (ดู ๑๘๒) มีสมุฏฐานดุจไถยสัตถสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๖ สัปปาณวรรค แห่งปาจิตตีย์) เกิดขึ้นทางกายกับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑  เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา สจิตตกะ โลกวัชชะ, วจีกรรม อกุศลจิต
      ๓. สิกขาบท ๑๑ สิกขาบท คือ ๒๐๒, ๒๐๓, ๒๐๔, ๒๐๕, ๒๐๖, ๒๐๗, ๒๐๘, ๒๐๙,  ๒๑๐, ๒๑๑, ๒๑๒ มีสมุฏฐานดุจธรรมเทสนาสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๗ มุสาวาทวรรคแห่งปาจิตตีย์) เกิดขึ้นทางวาจากับจิต เป็นทั้งกิริยา ทั้งอกิริยา สจิตตกะ โลกวัชชะ, วจีกรรม อกุศลจิต
      ๔. ที่เหลืออีก ๕๓ สิกขาบท มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิก
      ๕. ในเสขิยสิกขาบททั้งหมด แม้อาพาธก็ไม้พ้นจากอาบัติได้ มี ๓ สิกขาบท คือ ๑๗๕, ๑๘๑, ๑๘๓


(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
อจิรํ วตยํ กาโย  ปฐวึ อธิเสสฺสติ
ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ ฯ ๔๑ ฯ   
อีกไม่นาน ร่างกายนี้จักปราศจากวิญญาณ
ถูกทอดทิ้ง ทับถมแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้อันหาประโยชน์มิได้

Soon, alas! will this body lie  Upon the ground, unheeded,
Devoid of consciousness, Even as useless log.
... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ....
42



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 ธันวาคม 2563 13:44:57
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSgkoPt3x5iP5wdcBNVvR6qOLDcwDQNBgqPARcfR1OVmou-9SY8)

อธิกรณสมถะ ๗ สิกขาบท
อธิกรณสมถะ ๗ สิกขาบท เป็นเครื่องระงับอธิกรณ์ เป็นวิธีการเพื่อระงับอธิกรณ์
เป็นเรื่องราวของพระวินัยธรและสงฆ์  จะชำระอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าสงฆ์ก็ดี
ต่อหน้าบุคคลก็ดี ให้เสร็จสิ้นทุกอย่าง ในสีลขันธวรรคอรรถกถา ฉบับลังกา ไม่นับ
อธิกรณ์สมถะ ๗ ข้อ นี้ว่าเป็นสิกขาบท จึงคงมี ๒๒๐ สิกขาบท แต่ในฉบับไทย
พม่า และยุโรป นับจำนวนสิกขาบทของภิกษุ ว่ามี ๒๒๗ สิกขาบท สำหรับใน
หนังสือนี้ การนับจำนวนสิกขาบทของภิกษุ ยึดถือจากสีลขันธวรรคอรรถกถา
ฉบับไทย จึงมี ๒๒๗ สิกขาบท.


อธิกรณสมถะ ๗ สิกขาบท
ธรรม คือ อธิกรณสมถะ
ธรรมเป็นเครื่องระงับอธิกรณ์, วิธีดำเนินการเพื่อระงับอธิกรณ์
(๒๒๑)  ๑.สัมมุขาวินัย วิธีระงับในที่พร้อมหน้า
(๒๒๒)  ๒.สติวินัย วิธีระงับโดยถือสติเป็นหลัก
(๒๒๓)  ๓.อมูฬหวินัย วิธีระงับสำหรับผู้หายจากเป็นบ้า
(๒๒๔)  ๔.ปฏิญญาตกรณะ การทำตามที่รับ
(๒๒๕)  ๕.เยภุยยสิกา การตัดสินตามคำของคนข้างมาก
(๒๒๖)  ๖. ตัสสปาปิยสิกา การตัดสินลงโทษแก่ผู้ผิด (ที่ไม่รับ)
(๒๒๗)  ๗. ติณวัตถารกวินัย วิธีดุจกลบไว้ด้วยหญ้า (ประนีประนอม)
วินย.มหาวิ. ข้อ ๘๘๐

วินิย.ปริ. ข้อ ๑,๐๖๔-๑,๐๖๗
แสดงอธิกรณ์ (เรื่องที่เกิดขึ้นที่สงฆ์ต้องดำเนินการ) ๔ อย่าง

       ๑. วิวาทาธิกรณ์        -  ภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้ วิวาทกันว่า
.   นี้เป็นธรรม นี้ไม่ใช่ธรรม, นี้เป็นวินัย นี้ไม่ใช่วินัย
.  นี้พระตถาคตตรัสไว้,   นี้พระตถาคตไม่ได้ตรัสไว้
.   นี้พระตถาคตทรงประพฤติมา, นี้พระตถาคตไม่ได้ทรงประพฤติมา
.  นี้พระตถาคตทรงบัญญัติไว้,  นี้พระตถาคตไม่ได้ทรงบัญญัติไว้
.   นี้เป็นอาบัติ, นี้ไม่เป็นอาบัติ
.  นี้เป็นอาบัติเบา,  นี้เป็นอาบัติหนัก
.   นี้เป็นอาบัติมีส่วนเหลือ,  นี้เป็นอาบัติหาส่วนเหลือมิได้
.  นี้เป็นอาบัติชั่วหยาบ, นี้เป็นอาบัติไม่ชั่วหยาบ
   

       ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท การกล่าวต่างกัน การกล่าวโดยประการอื่น การพูดเพื่อความกลัดกลุ้มใจ ความหมายมั่นในเรื่องนั้น อันใด นี้วิวาทเป็นวิวาทาธิกรณ์

       ๒. อนุวาทาธิกรณ์ – ภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมโจทภิกษุด้วยศีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ หรืออาชีววิบัติ การโจท การกล่าวหา การฟ้องร้อง การประท้วง ความเป็นผู้คล้อยตาม การทำความอุตสาหะโจท การตามเพิ่มกำลังในเรื่องนั้น อันใด นี้การโจทเป็นอนุวาทาธิกรณ์

       ๓. อาปัตตาธิกรณ์ – กองอาบัติทั้ง ๕ เป็นอาปัตตาธิกรณ์ กองอาบัติทั้ง ๗ เป็นอาปัตตาธิกรณ์ นี้อาบัติเป็นอาปัตตาธิกรณ์ (รวมการปรับอาบัติและการออกจากอาบัติด้วย)
       ๔. กิจจาธิกรณ์ – ความมีแห่งกรณียะของสงฆ์อันใด คือ อปโลกนกรรม ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม ญัตติจตุตถกรรม เป็นกิจจาธิกรณ์
       สงฆ์วิวาทกันในวิวาทาธิกรณ์ อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์ กิจจาธิกรณ์ จัดเป็นวิวาทาธิกรณ์, เมื่อวิวาทกันย่อมโจท จัดเป็นอนุวาทาธิกรณ์, เมื่อโจทย่อมต้องอาบัติ จัดเป็นอาปัตตาธิกรณ์, สงฆ์ทำกรรมตามอาบัตินั้น จัดเป็นกิจจาธิกรณ์



อธิกรณสมถะ สัมมุขาวินัย สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่๒๒๑)
ระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้า

       พระฉัพพัคคีย์กระทำกรรม คือ แก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ลับหลัง
        ดัชชนียกรรม (กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงอยู่, สังฆกรรมประเภทนิคหกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งสงฆ์ทำการตำหนิโทษภิกษุผู้ก่อความทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์ เป็นผู้มีอาบัติมาก และคลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร) บ้าง,

        นิสยกรรม (กรรมอันสงฆ์พึงทำให้เป็นผู้ไร้ยศ ได้แก่ การถอดยศ, เป็นชื่อนิคหกรรมที่สงฆ์ทำแก่ผู้มีอาบัติมาก หรือคลุกคลีกับคฤหัสถ์ด้วยการคลุกคลีอันไม่สมควร โดยปรับให้ถือนิสัยใหม่อีก) บ้าง,

        ปัพพาชนียกรรม (กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันพึงจะไล่เสีย, การขับออกจากหมู่, การไล่ออกจากวัด, กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุล และประพฤติเลวทรามเป็นข่าวเซ็งแซ่ หรือแก่ภิกษุผู้เล่นคะนอง ๑  อนาจาร ๑  ลบล้างพระบัญญัติ ๑  มิจฉาชีพ ๑) บ้าง,

        ปฏิสารนียกรรม (กรรมอันสงฆ์จะพึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงให้กลับไป หมายถึง การที่สงฆ์ลงโทษให้ภิกษุไปขอขมาคฤหัสถ์ กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุปากกล้า ด่าว่าคฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธศาสนา เป็นทายกอุปัฏฐากสงฆ์ด้วยปัจจัย ๔ เป็นทางจะยังผู้คนยังไม่เลื่อมใสมิให้เลื่อมใส จะยังผู้เลื่อมใสอยู่แล้วให้เป็นอย่างอื่น)

        อุกเขปนียกรรม (กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย หมายถึง วิธีลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติ หรือไม่ยอมทำคืนอาบัติ หรือมีความเห็นชั่วร้าย (ทิฏฐิบาป) ไม่ยอมสละ ซึ่งเป็นทางเสียสีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา โดยยกเธอเสียจากการสมโภคกับสงฆ์ คือไม่ให้ฉันร่วม ไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้มีสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลาย พูดง่ายๆ ว่า ถูกตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว) บ้าง

       บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย... ต่างก็เพ่งโทษติเตียนโพนทะนา... แล้วกราบทูล... รับสั่งให้ตามภิกษุฉัพพัคคีย์... ทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วรับสั่งว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรม คือ ดัชชนียกรรมก็ดี นิสยกรรมก็ดี ปัพพาชนียกรรมก็ดี ปฏิสารนียกรรมก็ดี อุกเขปนียกรรมก็ดี อันภิกษุไม่พึงทำแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ลับหลัง ภิกษุใดทำ ต้องอาบัติทุกกฎ”

โดยมีวิธีระงับที่ถูกต้อง ดังนี้
       ๑. ธรรมวาทีบุคคล (ผู้มีปกติกล่าวธรรม, ผู้พูดตรงตามธรรม หรือพูดถูกต้องตามหลัก ไม่พูดผิดธรรม ไม่พูดนอกหลักธรรม) ยังธรรมวาทีบุคคลให้ยินยอม ให้พินิจ ให้เพ่ง ให้ใคร่ครวญ ให้เห็น ให้เห็นตามว่า นี้ธรรม นี้วินัย นี้สัตถุศาสน์ ท่านจงถืออย่างนี้ จงชอบอย่างนี้ ถ้าอธิกรณ์นั้นระงับอย่างนี้ ชื่อว่าระงับโดยธรรม เป็นสัมมุขาวินัย
       ๒. ธรรมวาทีบุคคล ยังภิกษุอธรรมวาทีมากรูปให้ยินยอม... เป็นสัมมุขาวินัย
       ๓. ธรรมวาทีบุคคล ยังสงฆ์อธรรมวาทีให้ยินยอม... เป็นสัมมุขาวินัย
       ๔. ธรรมวาทีมากรูป ยังอธรรมวาทีบุคคลให้ยินยอม... เป็นสัมมุขาวินัย
       ๕. ภิกษุธรรมวาทีมากรูป ยังภิกษุอธรรมวาทีมากรูปให้ยินยอม... เป็นสัมมุขาวินัย
       ๖. ภิกษุธรรมวาทีมากรูป ยังสงฆ์อธรรมวาทีให้ยินยอม... เป็นสัมมุขาวินัย
       ๗. สงฆ์ธรรมวาที ยังอธรรมวาทีบุคคลให้ยินยอม... เป็นสัมมุขาวินัย
       ๘. สงฆ์ธรรมวาที ยังภิกษุอธรรมวาทีมากรูปให้ยินยอม... เป็นสัมมุขาวินัย
       ๙. สงฆ์ธรรมวาที ยังสงฆ์อธรรมวาทีให้ยินยอม... เป็นสัมมุขาวินัย

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTG1Q3Cm8PQlnWy34H_njyD0A3d93wDiMti7LFXZT8wPub_Zm-2)
ทิโส ทิสํ ยนฺตํ กยิรา  เวรี วา ปน เวรินํ
มิจฺฉาปณิหิตํ จิตฺตํ  ปาปิดย น ตโต กเร ฯ ๔๒ ฯ  
จิตที่ฝึกฝนผิดทาง ย่อมทำความเสียหายได้
ยิ่งกว่าศัตรูทำต่อศัตรู หรือคนจองเวรทำต่อคนจองเวร 

Whatever harm a foe may do to a foe, Or a hater to a hater,
An ill-directed mind  Can harm one even more. 
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก .... 
no.๔๓



หัวข้อ: Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 มิถุนายน 2564 19:20:43

อธิกรณสมถะ สติวินัย สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๒๒๒)
ระงับอธิกรณ์ด้วยยกว่าพระอรหันต์ ย่อมเป็นผู้มีสติเสมอ

      เรื่องพระทัพพมัลลบุตรถูกพระเมตติยะกับพระภุมมชกะวางแผนให้นางภิกษุณีเมตติยาโจทท่านพระทัพพะ (ดูเรื่องจากสิกขาบทที่ ๘ แห่งสังฆาทิเสส) ภายหลังพระเมตติยะและภุมมชกะสารภาพแล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงให้สติวินัยแก่ทัพพมัลลบุตร ผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว”
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงให้อย่างนี้ ทัพพมัลลบุตรนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าไหว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวคำขอว่า
       “ท่านเจ้าข้า ภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะนี้ โจทข้าพเจ้าด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล ข้าพเจ้านั้นถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ขอสติวินัยกะสงฆ์
       พึงขอแม้ครั้งที่สอง... พึงขอแม้ครั้งที่สาม...”
       ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้
       “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะนี้ โจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล ท่านทัพพมัลลบุตรเป็นผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ขอสติวินัยแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้สติวินัยแก่ท่านทัพพมัลลบุตร ผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว นี้เป็นญัตติ
       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุเมตติยะและภุมมชกะนี้... ผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
       ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ แม้ครั้งที่สอง...
       ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ แม้ครั้งที่สาม...
       สติวินัยอันสงฆ์ให้แล้วแก่ท่านพระทัพพมัลลบุตร ผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้อย่างนี้”
       - การให้สติวินัยที่เป็นธรรม มี ๕ อย่าง คือ ภิกษุเป็นผู้หมดจด ไม่ต้องอาบัติ ๑  ผู้อื่นโจทเธอ ๑  เธอขอ ๑  สงฆ์ให้สติวินัยแก่เธอ ๑  สงฆ์พร้อมเพรียงกันโดยธรรมให้ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย. จุล. ๖/๖๐๘
       กล่าวว่า สติวินัยนี้ พึงให้แก่พระขีณาสพผู้ถูกภิกษุอื่นโจทเท่านั้น ไม่พึงให้แก่ภิกษุอื่น โดยที่สุดแม้เป็นพระอนาคามี ก็ไม่ควรให้


อธิกรณสมถะ อมูฬหวินัย สิกขาบทที่ ๓
(พระวินัยข้อที่ ๒๒๓)
ระงับอธิกรณ์ด้วยยกประโยชน์ให้เพราะเกิดขึ้นในขณะบ้า

      พระคัดคะเกิดวิกลจริต มีจิตแปรปรวน ประพฤติละเมิดกิจอันไม่ควรแก่สมณะเป็นอันมาก ทั้งที่กล่าววาจาและพยายามทำด้วยกาย ภิกษุทั้งหลายโจทพระคัคคะด้วยอาบัติที่เธอวิกลจริต มีจิตแปรปรวน ประพฤติล่วงละเมิดแล้ว ว่าท่านต้องอาบัติแล้ว จงระลึกอาบัติเห็นปานนี้ เธอกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าวิกลจริต มีจิตแปรปรวนเสียแล้ว... ข้าพเจ้าระลึกอาบัตินั้นไม่ได้ ข้าพเจ้าหลง ได้ทำสิ่งนี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายผู้อันเธอกล่าวอยู่อย่างนั้น ก็ยังโจทเธออยู่ตามเดิม... ภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย... ต่างเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุทั้งหลายจึงได้โจทพระคัคคะ... แล้วกราบทูล... ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงให้อมูฬหวินัย”
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงให้อย่างนี้ คัคคะภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า... กล่าวคำขอว่าดังนี้
       “ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าวิกลจริต มีจิตแปรปรวนเสียแล้ว ข้าพเจ้านั้นวิกลจริต มีจิตแปรปรวน ได้ประพฤติละเมิดกิจอันไม่ควรแก่สมณะเป็นอันมาก ทั้งที่กล่าวด้วยวาจาและพยายามทำด้วยกาย ภิกษุทั้งหลายโจทข้าพเจ้าด้วยอาบัติที่ข้าพเจ้าวิกลจริต มีจิตแปรปรวน ประพฤติล่วงละเมิดแล้วว่า ท่านต้องอาบัติแล้ว จงระลึกอาบัติเห็นปานนี้ ข้าพเจ้ากล่าวกะภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าวิกลจริต มีจิตแปรปรวนเสียแล้ว ข้าพเจ้านั้นวิกลจริต มีจิตแปรปรวน ได้ประพฤติล่วงละเมิดกิจอันไม่ควรแก่สมณะเป็นอันมาก ทั้งที่กล่าวด้วยวาจาและพยายามทำด้วยกาย ข้าพเจ้าระลึกอาบัตินั้นไม่ได้ ข้าพเจ้าหลง ได้ทำสิ่งนี้แล้ว  ภิกษุทั้งหลายผู้อันข้าพเจ้ากล่าวอยู่แม้อย่างนั้น ก็ยังโจทข้าพเจ้าอยู่ตามเดิมว่า ท่านต้องอาบัติแล้ว จงระลึกอาบัติเห็นปานนี้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นหายวิกลจริตแล้ว ขออมูฬหวินัยกะสงฆ์
       พึงขอแม้ครั้งที่สอง...
       พึงขอแม้ครั้งที่สาม...”
       ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้
       “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า คัคคะภิกษุนี้วิกลจริต มีจิตแปรปรวน เธอวิกลจริต มีจิตแปรปรวน... ได้ประพฤติละเมิดกิจอันไม่ควร... นี้เป็นญัตติ
       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า...
       ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง...  ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
       อมูฬหวินัยอันสงฆ์ให้แล้วแก่คัคคะภิกษุผู้หายวิกลจริตแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้อย่างนี้”
อมูฬหวินัยที่เป็นธรรม ๓ คือ

       ๑. ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ วิกลจริต มีจิตแปรปรวน ได้ประพฤติละเมิดกิจอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ทั้งที่กล่าวด้วยวาจาและพยายามทำด้วยกาย สงฆ์หรือภิกษุ ๒-๓ รูป หรือภิกษุรูปเดียวโจทเธอว่า ท่านต้องอาบัติแล้ว จงระลึกอาบัติเห็นปานนี้ เธอระลึกไม่ได้ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติแล้ว แต่ระลึกอาบัติเห็นปานนี้ไม่ได้ สงฆ์ให้อมูฬหวินัยแก่เธอ การให้อมูลหวินัยเป็นธรรม
       ๒.ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้... เธอระลึกไม่ได้ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่าน ข้าพเจ้าระลึกได้คล้ายความฝัน สงฆ์ให้อมูฬหวินัยแก่เธอ การให้อมูฬหวินัยเป็นธรรม
       ๓. ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้... เธอวิกลจริต ทำอาการวิกลจริตว่า ข้าพเจ้าก็ทำอย่างนี้ แม้ท่านทั้งหลายก็ทำอย่างนี้ สิ่งนี้ควรแม้แก่ข้าพเจ้า สิ่งนี้ควรแม้แก่ท่านทั้งหลาย สงฆ์ให้อมูฬหวัยแก่เธอ การให้อมูฬหวินัยเป็นธรรม


อธิกรณสมถะ ปฏิญญาตกรณะ  สิกขาบทที่ ๔
(พระวินัยข้อที่๒๒๔)
ระงับอธิกรณ์ด้วยถือตามคำสารภาพของจำเลย

      พระฉัพพัคคีย์ทำกรรม คือ ดัชนีกรรมบ้าง นิยสกรรมบ้าง ปัพพาชนียกรรมบ้าง ปฏิสารนียกรรมบ้าง อุกเขปนียกรรมบ้าง แก่ภิกษุทั้งหลาย ไม่ตามปฏิญญาณ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย...ต่างเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์...แล้วกราบทูล...ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลาย...ทรงติเตียน ครั้นแล้วมีรับสั่งว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรม คือ ดัชชนียกรรมก็ดี นิยสกรรมก็ดี ปัพพาชนียกรรมก็ดี ปฏิสารนียกรรมก็ดี อุกเขปนียกรรมก็ดี อันภิกษุไม่พึงทำแก่ภิกษุทั้งหลาย ไม่ตามปฏิญญาณ รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ”

       - “ทำตามปฏิญาณไม่เป็นธรรม” เช่น ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก  สงฆ์หรือภิกษุ ๒-๓ รูป หรือรูปเดียว โจทเธอว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิก เธอกล่าวอย่างนี้ว่า ท่าน ข้าพเจ้ามิได้ต้องอาบัติปาราชิก  ข้าพเจ้าต้องสังฆาทิเสส สงฆ์ปรับเธอด้วยอาบัติสังฆาทิเสส การปรับอย่างนี้ชื่อว่า ทำตามปฏิญญาณ ไม่เป็นธรรม หรือภิกษุต้องอาบัติทุพภาษิต สงฆ์หรือภิกษุ ๒-๓ รูป หรือรูปเดียว โจทเธอว่า ท่านต้องอาบัติทุพภาษิต เธอกล่าวว่า ท่าน ข้าพเจ้ามิได้ต้องอาบัติทุพภาษิต ข้าพเจ้าต้องทุกกฏ สงฆ์ปรับเธอด้วยอาบัติทุกกฎ การปรับอย่างนี้ชื่อว่า ทำตามปฏิญญาณไม่เป็นธรรม เป็นต้น
       - “ทำตามปฏิญาณเป็นธรรม” คือ
ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก สงฆ์หรือภิกษุ ๒-๓ รูป หรือรูปเดียว โจทเธอว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิก เธอกล่าวว่า ถูกละท่าน ข้าพเจ้าต้องอาบัติปาราชิก สงฆ์ปรับเธอด้วยอาบัติปาราชิก การปรับอย่างนี้ชื่อว่า ทำตามปฏิญญาณเป็นธรรม
                     ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส...
                     ภิกษุต้องอาบัติถุลลัจจัย...
                     ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์...
                     ภิกษุต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ...
                     ภิกษุต้องอาบัติทุกกฏ...
                     ภิกษุต้องอาบัติทุพภาษิต สงฆ์หรือภิกษุ ๒-๓ รูป หรือรูปเดียว โจทเธอว่า ท่านต้องอาบัติทุพภาษิต เธอกล่าวอย่างนี้ว่า ถูกละท่าน ข้าพเจ้าต้องอาบัติทุพภาษิต สงฆ์ปรับเธอด้วยอาบัติทุพภาษิต การปรับอย่างนี้ชื่อว่า ทำตามปฏิญญาณเป็นธรรม


อธิกรณสมถะ เยภุยยสิกาสิกขาบทที่ ๕
(พระวินัยข้อที่ ๒๒๕)
ระงับอธิกรณ์ด้วยเสียงข้างมาก

      (กิริยาเป็นไปตามข้างมาก ได้แก่  วิธีตัดสินอธิกรณ์โดยถือเอาตามคำของคนข้างมาก เช่น วิธีจับสลากเพื่อชี้ข้อผิดถูก ข้างไหนมีภิกษุร่วมพิจารณาลงความเห็นมากกว่า ก็ถือเอาพวกท่านนั้น เป็นวิธีอย่างเดียวกับการโหวตคะแนนเสียง ใช้สำหรับระงับวิวาทาธิกรณ์)
       สมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะวิวาทกันในท่ามกลางสงฆ์ กล่าวทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ ไม่อาจจะระงับอธิกรณ์นั้นได้ จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าๆ ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ระงับอธิกรณ์เห็นปานนี้ด้วยเยภุยยสิกา พึงสมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้จับสลาก คือ ๑. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะชอบพอ  ๒. เพราะความเกลียดชัง  ๓. เพราะความงมงาย  ๔. เพราะความกลัว  ๕. รู้จักฉลากที่จับแล้วและยังไม่จับ
       ก็แลสงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ พึงขอร้องภิกษุก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
       “ท่านเจ้าข้า ของสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้จับสลาก นี้เป็นญัตติ
       ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นผู้จับสลาก การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้จับสลาก ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
       ภิกษุมีชื่อนี้ อันสงฆ์สมมติแล้วให้เป็นผู้จับสลาก ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้อย่างนี้”

       - การจับสลากเป็นธรรม ๑๐ อย่าง คือ
       อธิกรณ์ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๑   ลุกลามไปไกล ๑  ภิกษุพวกนั้นระลึกได้และพวกอื่นก็ให้ระลึกได้ ๑  รู้ว่าธรรมวาทีมากกว่า ๑  รู้ว่า ไฉนธรรมวาทีพึงมีมากกว่า ๑  รู้ว่า สงฆ์จักไม่แตกกัน ๑  รู้ว่า ไฉนสงฆ์ไม่พึงแตกกัน ๑  ธรรมวาทีภิกษุจับโดยธรรม ๑  ธรรมวาทีภิกษุพร้อมเพรียงกันจับ ๑  จับตามความเห็น ๑  


อธิกรณสมถะ ตัสสปาปิยสิกา สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่๒๒๖)
ระงับอธิกรณ์ด้วยการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด

      พระอุปวาฬถูกซักถามถึงอาบัติในท่ามกลางสงฆ์ ท่านปฏิเสธแล้วปฏิญาณ ปฏิญาณแล้วปฏิเสธ ให้การกลับไปกลับมา  กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ บรรดาภิกษุผู้มักน้อย...ต่างเพ่งโทษติเตียนโพนทะนา...กราบทูล...ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลาย แล้วมีรับสั่งว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงทำตัสสปาปิยสิกากรรม (กรรมอันสงฆ์พึงทำเพราะความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้เลวทราม,  กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้เป็นจำเลยในอนุวาทาธิกรณ์ ให้การกลับไปกลับมา เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวสารภาพ พูดถลากไถล พูดกลบเกลื่อนข้อที่ถูกซัก พูดมุสาซึ่งหน้า สงฆ์ทำกรรมนี้แก่เธอเป็นการลงโทษตามความผิด แม้ว่าเธอจะไม่รับ หรือเพื่อเพิ่มโทษจากอาบัติที่ต้อง) แก่ภิกษุอุปวาฬ”
       ก็แล สงฆ์พึ่งทำอย่างนี้ พึงโจทภิกษุอุปวาฬก่อน แล้วให้เธอให้การ แล้วพึงปรับอาบัติ ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้
        “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุอุปวาฬนี้ ถูกซักถามถึงอาบัติในท่ามกลางสงฆ์ ปฏิเสธแล้ว ปฏิญาณ ปฏิญาณแล้วปฏิเสธ ให้การกลับไปกลับมา กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงทำตัสสปาปิยสิกากรรมแก่ภิกษุอุปวาฬ นี้เป็นญัตติ
       ท่านเจ้าข้า ของสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุอุปวาฬนี้... การทำตัสสปาปิยสิกากรรมแก่ภิกษุอุปวาฬ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
       ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สอง...
       ข้าพเจ้ากล่าวความนี้แม้ครั้งที่สาม...
       ตัสสปาปิยสิกากรรมอันสงฆ์ทำแล้วแก่ภิกษุอุปวาฬ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้อย่างนี้”

       - การทำตัสสปาปิยกิกากรรมที่เป็นธรรม ๕ อย่าง คือ
       ภิกษุเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ (จากอาบัติ) ๑  เป็นอลัชชี ๑  เป็นผู้ถูกโจท ๑  สงฆ์ทำตัสสปาปิยสิกากรรมแก่เธอ ๑  สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำโดยธรรม ๑
       - ลักษณะกรรมเป็นธรรม
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตัสสปาปิยสิกากรรมที่ประกอบด้วยองค์๓ เป็นกรรมเป็นธรรม  เป็นวินัยและระงับดีแล้ว คือ ทำต่อหน้า ๑  สอบถามก่อนแล้วทำ ๑  ทำตามปฏิญาณ ๑  นี้แลเป็นกรรมเป็นธรรมเป็นวินัย และระงับดีแล้ว
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... คือ ทำเพราะต้องอาบัติ ๑  ทำเพราะอาบัติเป็นเทสนาคามินี (อาบัตินั้นออกได้เพราะแสดง มีปาจิตตีย์เป็นต้น) ๑  ทำเพราะอาบัติยังมิได้แสดง ๑
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... คือ โจทก่อนแล้วทำ ๑ ให้จำเลยให้การก่อนแล้วทำ ๑ ปรับอาบัติแล้วทำ ๑
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... คือ ทำต่อหน้า ๑  ทำโดยธรรม ๑  สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... คือ สอบถามก่อนแล้วทำ ๑  ทำโดยธรรม ๑  สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... คือ ทำตามปฏิญาณ ๑ ทำโดยธรรม ๑สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... คือ ทำพระต้องอาบัติ ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... คือ ทำเพราะอาบัติเป็นเทสนาคามินี ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... คือ ทำเพราะอาบัติยังมิได้แสดง ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... คือ  โจทก่อนทำ ๑  ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... คือ จำเลยให้การก่อนแล้วทำ ๑  ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... คือ ปรับอาบัติก่อนแล้วทำ ๑ ทำโดยธรรม ๑ สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำ ๑
       - ภิกษุสงฆ์จำนงที่จะทำตัสสปาปิยสิกากรรม ดังนี้
        ๑. เป็นผู้ก่อความบาดหมาง การทะเลาะวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์
        ๒. เป็นพาล ไม่ฉลาด มีอาบัติมาก มีมารยาทไม่สมควร
        ๓. เป็นผู้คลุกคลีกับคฤหัสถ์ ด้วยการคลุกคลีอันไม่สมควร
        ๔. เป็นผู้มีศีลวิบัติ
        ๕. เป็นผู้มีอาจารวิบัติ
        ๖. เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติ
        ๗. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
        ๘. กล่าวติเตียนพระธรรม
        ๙. กล่าวติเตียนพระสงฆ์
       - ภิกษุที่ถูกสงฆ์ทำตัสสปาปิยสิกากรรมแล้ว ต้องประพฤติชอบ ดังนี้
        ๑. ไม่พึงให้อุปสมบท
        ๒. ไม่พึงให้นิสัย
        ๓. ไม่พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก
        ๔. ไม่พึงรับสมมติเป็นผู้สั่งสอนภิกษุณี
        ๕. แม้ได้รับสมมติแล้ว ก็ไม่พึงสั่งสอนภิกษุณี
        ๖. สงฆ์ทำตัสสปาปิยสิกากรรมเพราะอาบัติใด ไม่พึงต้องอาบัตินั้น
        ๗.ไม่พึงต้องอาบัติอันเลวทรามกว่านั้น
        ๘. ไม่พึงติกรรม (วัตร, วิธีลงโทษ)
        ๙. ไม่พึงติภิกษุทั้งหลายผู้ทำกรรม
       ๑๐. ไม่ถึงห้ามอุโบสถแก่ปกตัตตะภิกษุ (ภิกษุปกติ)
       ๑๑. ไม่พึงห้ามปวารณาแก่ปกตัตตะภิกษุ
       ๑๒. ไม่พึงทำการไต่สวน
       ๑๓. ไม่พึงเริ่มอนุวาทาธิกรณ์
       ๑๔. ไม่พึงให้ภิกษุอื่นทำโอกาส (อนุญาตให้เธอโจท)
       ๑๕. ไม่ถึงโจทภิกษุอื่น
       ๑๖. ไม่พึงให้ภิกษุอื่นให้การ
       ๑๗. ไม่พึงช่วยภิกษุกับภิกษุให้สู้กันในอธิกรณ์
  

อธิกรณสมถะ ติณวัตถารกะ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่๒๒๗)
ระงับอธิกรณ์ด้วยการประนีประนอม หรือให้เลิกแล้วกันไป

      (ระเบียบดังกลบไว้ด้วยหญ้า ได้แก่ กิริยาที่ให้ประนีประนอมกันทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องชำระสะสางหาความเดิม เป็นวิธีระงับอาปัตตาธิกรณ์ที่ใช้ในเมื่อจะระงับลหุกาบัติที่เกี่ยวกับภิกษุจำนวนมาก ต่างก็ประพฤติไม่สมควรและซัดทอดกัน ชวนให้ทะเลาะวิวาท จะระงับด้วยวิธีอื่นก็จะเป็นเรื่องลุกลามไป เพราะถ้าจะสืบสวนสอบสวน ปรับให้กันและกันแสดงอาบัติ ก็จะมีแต่ทำให้อธิกรณ์รุนแรงยิ่งขึ้น จึงระงับด้วยวิธีนี้ ต้องยกเลิกเสีย ไม่ต้องสะสางความหลังกันอีก)
       สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเกิดความบาดหมาง เกิดความทะเลาะถึงความวิวาทอยู่ ได้ประพฤติละเมิดกิจอันไม่ควรแก่สมณะเป็นอันมาก ทั้งที่กล่าวด้วยวาจาและพยายามด้วยกาย ครั้งนั้นพวกเธอคิดว่าพวกเราเกิดความบาดหมาง เกิดความทะเลาะถึงความวิวาทอยู่ ได้ประพฤติละเมิดกิจอันไม่ควรแก่สมณะเป็นอันมาก ทั้งที่กล่าวด้วยวาจาและพยายามทำด้วยกาย ถ้าพวกเราจักปรับกันด้วยอาบัติเหล่านี้ บางทีอธิกรณ์นั้นจะพึงเป็นไปเพื่อความรุนแรง เพื่อความร้ายกาจ เพื่อความแตกกันก็ได้ พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ จึงกราบทูล...มีรับสั่งว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ระงับอธิกรณ์เห็นปานนี้ ด้วยติณวัตถารกะ”
       ภิกษุทุกๆ รูปพึงประชุมในที่แห่งเดียวกัน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
       “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า พวกเราเกิดความบาดหมาง เกิดความทะเลาะถึงความวิวาทอยู่ ได้ประพฤติละเมิดกิจอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ทั้งที่กล่าวด้วยวาจาและพยายามทำด้วยกาย ถ้าพวกเราให้ปรับกันด้วยอาบัติเหล่านี้ บางทีอธิกรณ์นั้นจะพึงเป็นไปเพื่อความรุนแรง เพื่อความร้ายกาจ เพื่อความแตกกันก็ได้ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงระงับอธิกรณ์นี้ด้วยติณวัตถารกะ เว้นอาบัติที่มีโทษหนัก เว้นอาบัติเนื่องด้วยคฤหัสถ์
        บรรดาภิกษุฝ่ายเดียวกัน ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้ฝ่ายของตนทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
        ขอท่านทั้งหลาย จงฟังข้าพเจ้า พวกเราเกิดความบาดหมาง... เว้นอาบัติเนื่องด้วยคฤหัสถ์ เพื่อประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย และเพื่อประโยชน์แก่ตน
        ลำดับนั้นบรรดาภิกษุฝ่ายเดียวกันอีกพวกหนึ่ง ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้ฝ่ายของตนทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
        “ขอท่านทั้งหลาย จงฟังข้าพเจ้า พวกเราเกิดความบาดหมาง...เพื่อประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย และเพื่อประโยชน์แก่ตน”
        บรรดาภิกษุฝ่ายเดียวกันอีกพวกหนึ่ง ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
        ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า พวกเราเกิดความบาดหมาง เกิดความทะเลาะถึงความวิวาทอยู่ ได้ประพฤติกิจอันไม่ควรแก่สมณะเป็นอันมาก... เว้นอาบัติที่มีโทษหนัก เว้นอาบัติที่เนื่องด้วยคฤหัสถ์ เพื่อประโยชน์แก่ท่านเหล่านี้ และเพื่อประโยชน์แก่ตน นี้เป็นญัตติ
        ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า... ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
        อาบัติเหล่านี้ของพวกเรา เว้นอาบัติที่มีโทษหนัก เว้นอาบัติที่เนื่องด้วยคฤหัสถ์ ข้าพเจ้าแสดงแล้วในท่ามกลางสงฆ์ ด้วยติณวัตถารกะ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้อย่างนี้”

        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ออกแล้วจากอาบัติเหล่านั้น เว้นอาบัติที่มีโทษหนัก เว้นอาบัติที่เนื่องด้วยคฤหัสถ์ เว้นผู้แสดงความเห็นแย้ง เว้นผู้ไม่ได้อยู่ในที่นั้น ดังนี้
        - อาบัติที่มีโทษหนัก คือ ปาราชิกและสังฆาทิเสส
        - อาบัติที่เนื่องด้วยคฤหัสถ์ คือ อาบัติที่ด่าว่าคฤหัสถ์ด้วยคำเลว และรับแล้วไม่ทำตามรับที่เป็นธรรม
        - วินย.จุล.ข้อ ๖๗๒-๖๙๔ แสดงการรับงับของอธิกรณ์ ๔ ด้วยสมถะ ๗ ดังนี้
        ๑. วิวาทาธิกรณ์ ระงับด้วยสัมมุขาวินัย ๑ และเยภุยยสิกา ๑
             ๑.๑ โดยมีความพร้อมหน้าสงฆ์ ๑  ความพร้อมหน้าธรรม ๑  ความพร้อมหน้าวินัย ๑  ความพร้อมหน้าบุคคล ๑
                    - ภิกษุผู้เข้ากรรมมีจำนวนเท่าไร? ภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกัน นำฉันทะของผู้ควรฉันทะมา ผู้อยู่พร้อมหน้ากันไม่คัดค้าน นี้ชื่อว่า ความพร้อมหน้าสงฆ์
                    - อธิกรณ์นั้นระงับโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ใด นี้ชื่อว่า ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย
                    - โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นคู่ต่อสู้ในคดีอยู่พร้อมหน้า นี้ชื่อว่า ความพร้อมหน้าบุคคล
                    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากอธิกรณ์ระงับอย่างนี้ ผู้ทำรื้อฟื้นย่อมเป็นปาจิตตีย์ที่รื้อฟื้น ผู้ให้ฉันทะแล้วติเตียน ย่อมเป็นปาจิตตีย์ที่ติเตียน
                    ๑.๒ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวิธีจับสลาก ๓ อย่าง คือ ปกปิด ๑  กระซิบบอก ๑  เปิดเผย ๑
                     ก็วิธีจับสลากปกปิดเป็นไฉน? ภิกษุผู้ให้จับสลากนั้น พึงทำสลากให้มีสีและไม่มีสี แล้วเข้าไปหาภิกษุที่ละรูปๆ แล้วแนะนำอย่างนี้ว่า นี้สลากของผู้กล่าวอย่างนี้ นี้สลากของผู้กล่าวอย่างนี้ ท่านจงจับสลากที่ชอบใจ เมื่อภิกษุนั้นจับแล้ว พึงแนะนำว่า ท่านอย่าแสดงแก่ใครๆ ถ้ารู้ว่าอธรรมวาทีมากกว่า พึงบอกว่า สลากจับไม่ดี แล้วให้จับใหม่ ถ้ารู้ว่าธรรมวาทีมากกว่า พึงประกาศว่า สลากจับดีแล้ว ดังนี้
                     ก็วิธีจับสลากกระซิบบอกเป็นไฉน? ภิกษุผู้ให้จับสลากนั้น พึงกระซิบบอกที่ใกล้หูของภิกษุแต่ละรูปๆ ว่า นี้สลากของผู้กล่าวอย่างนี้ นี้สลากของผู้กล่าวอย่างนี้ ท่านจงจับสลากที่ชอบใจ เมื่อภิกษุนั้นจับแล้ว พึงแนะนำว่า ท่านอย่าบอกแก่ใครๆ ถ้ารู้ว่าอธรรมวาทีมากกว่า พึงบอกว่า สลากจับไม่ดี แล้วให้จับใหม่ ถ้ารู้ว่าธรรมวาทีมากกว่า พึงประกาศว่า สลากจับดีแล้ว ดังนี้
                     ก็วิธีจับสลากเปิดเผยเป็นไฉน? ถ้ารู้ว่าธรรมวาทีมากกว่า พึงให้จับสลากเปิดเผยอย่างแจ่มแจ้ง วิธีจับสลากเปิดเผยเป็นอย่างนี้แหละ
        ๒. อนุวาทาธิกรณ์ระงับด้วยสมถะ ๔ คือ สัมมุขาวินัย ๑  สติวินัย ๑  อมูฬหวินัย ๑  ตัสสปาปิยสิกา ๑
        ๓. อาปัตตาธิกรณ์ระงับด้วยสมถะ ๓ คือ สัมมุขาวินัย ๑  ปฏิญญาตกรณะ ๑  ติณวัตถารกะ ๑
        ๔. กิจจาธิกรณ์ระงับด้วยสมถะอย่างเดียว คือ สัมมุขาวินัย

        
การนับจำนวนสิกขาบทของภิกษุ
      ในสีลขันธวรรคอรรถกถา
       ฉบับภาษาไทย มีคำว่า (สตฺต) วีสาธิกานิ เทฺว สิกฺขาปทสตานิ.
       ฉบับพม่า มีคำว่า สตฺตวีสาธิกานิ เทฺว สิกฺขาปทสตานิ.
       ฉบับยุโรป มีคำว่า สตฺตวีสาธิกานิ เทฺว สิกฺขาปทสตานิ.
       ฉบับลังกา มีคำว่า  วีสาธิกานิ เทฺว สิกฺขาปทสตานิ.

       ฉบับไทย พม่า ยุโรป นับจำนวนสิกขาบทของภิกษุว่ามี ๒๒๗ ส่วนฉบับลังกามี ๒๒๐ ฉบับ ที่นับ ๒๒๗ นั้น เห็นว่ายังไม่ถูกต้อง เพราะอธิกรณสมถะ ๗ ข้อ เป็นข้อระงับอธิกรณ์ ไม่ใช่สิกขาบท  ฉะนั้น จึงไม่ควรนับรวมเข้าในสิกขาบท เข้าใจว่าเป็นความผิดพลาดของอาจารย์ผู้ตรวจชำระพระบาลีที่เพิ่มบทว่า “สตฺต” เข้ามา ตามความเห็นของตน ซึ่งเคยได้ยินได้ฟังสืบๆ กันมาอย่างนั้น (นานาวินิจฉัย/๑๗๑)
 

(https://images-se-ed.com/ws/Storage/Originals/978616/030/9786160305223L.jpg?h=6d70dbc4ffff9145afe25bb5d4ccaf37)

พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท)
จบบริบูรณ์