[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 05 สิงหาคม 2559 17:06:09



หัวข้อ: โพธิสัตว์นิรมิต จาก บันทึกเรื่องมรรคผลอันเกี่ยวเนื่องกับ อวตังสกะสูตร
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 05 สิงหาคม 2559 17:06:09
(http://4.bp.blogspot.com/-rCMFWevUYlA/VL4NIH7OvyI/AAAAAAABboM/r-fioMEAamo/s1600/20121130143553.jpg)

โพธิสัตว์นิรมิต

ในสมัยราชวงศ์ถัง มีบรรพชิตรูปหนึ่งนามว่า พระฮุ่ยโย่ว (慧祐) อยู่ ณ อารามฉงฝู ในราชธานีฉางอัน มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดแข็งขัน ถวายตัวเป็นศิษย์พระจื้อเหยียนคอยรับใช้อุปัฏฐากท่าน ภาวนาตามแนวทางนิกายอวตังสกะ หรือนิกายฮว๋าเหยียน ท่านเฝ้าสวดภาวนาพระสูตรนี้ทุกวันนับแต่ทิวาจวบราตรี ท่านจะจุดธูปบูชาสาธยายพระสูตร ช่วงตถาคตนิรมิตปริวรรต (如來出現品) มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะสาธยายพระสูตรอยู่นั้นพระโพธิสัตว์ถึง 10 องค์ ปรากฏกายขึ้นจากผืนปฐพี ฉวีวรรณสีสุวรรณงามอร่าม ส่องแสงประกายเจิดจ้า แต่ละพระองค์ประทับอยู่บนดอกบัว พระโพธิสัตว์ล้วนประณมกรสดับพระสูตรบรรพนี้ด้วยจิตมั่นคงไม่วอกแวก เมื่อท่านธาธยายจบลง พระโพธิสัตว์ก็อันตรธานหายไป

เนื้อหา - จาก "บันทึกเรื่องมรรคผลอันเกี่ยวเนื่องกับอวตํสกสูตร" (華嚴經感應緣起傳)

ภาพ - ประติมากรรมไม้แกะสลักสมัยราชวงศ์เหลียว รูปคณะพระโพธิสัตว์ประดิษฐานอยู่ ณ วัดฮว๋าเหยียนเบื้องล่าง (เซี่ย ฮว๋าเหยียนซื่อ) เมืองต้าถง สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1038 นับเป็นกลุ่มประติมากรรมที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งของจีน

(http://www.btrts.org.sg/Images/temple/storeys/Avalokitesvara3.jpg)

นิกายอวตังสกะ

ความหมาย

คําว่า อวตังสกะ แปลว่า พวงดอกไม้ พวงมาลัย เป็นชื่อของพระสูตรหลักที่นิกายนี้ยอมรับ คือ อวตังสกสูตร จึงตั้งชื่อนิกายตามชื่อพระสูตรนี้ นิกายนี้เชื่อว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ภายหลังจากการตรัสรู้ใหม่ แต่เนื่องจากพระสูตรนี้ลึกซึ้ง และยากแก่การเข้าใจ คนที่ได้ฟังไม่สามารถจะเข้าใจทันที พระพุทธองค์จึงทรงเปลี่ยนวิธีใหม่ โดยแสดงพระสูตรแบบหินยาน

ประวัติการก่อตั้งนิกาย

พุทธศาสนานิกายอวตังสกะ มีชื่อในภาษาจีนว่า ฮัว-เหยน (Hua Yen) เป็นพุทธศาสนานิกายที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีนในราวคริสต์ศตวรรษที่ 7-8 ซึ่งตรงกับยุคสมัยของราชวงศ์ถัง และเป็นยุคทองของพุทธศาสนาในประเทศจีน คณาจารย์ที่สําคัญแห่งนิกายอวตังสกะ ดังต่อไปนี้ คือ

1) ท่านฟา-ชุน

ท่านฟา-ชุน (Fa-shun) (พ.ศ. 1100-1183) เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ตู-ชุน (Tu-shun) ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้งนิกายอวตังสกะเป็นครั้งแรก เมื่ออายุได้ 18 ปี ได้ออกบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ท่านมีชื่อเสียงในการรักษาโรคและสั่งสอนธรรมเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จนได้รับการสรรเสริญว่าเป็น “พระโพธิสัตว์ตุนฮวง”(Tun-huang Bodhisattva)

2) ท่านชิ-เยน

ท่านชิ-เยน (Chih-yen) (พ.ศ. 1145-1211) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยุน-หัว (Yun-hua) เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะท่านได้สาธยาย “อวตังสกสูตร” แก่สานุศิษย์ที่วัดยุน-หัว (Yun-hua Temple) เป็นประจํา นับเป็นอาจารย์แห่งนิกายอวตังสกะองค์ที่สองสืบต่อมาจากท่านฟา-ชุน

3) ท่านฟา-ฉ่าง

ท่านฟา-ฉ่าง (Fa-tsang) (พ.ศ. 1186-1255) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เสียน-โจว (Haien-shou) ท่านเป็นสานุศิษย์คนสําคัญของท่านชิ-เยน ท่านมีบทบาทสําคัญและได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในนิกายนี้เพราะท่านเป็นผู้วางระบบคําสอนในนิกายอวตังสกะให้เป็นระบบระเบียบเรียบร้อย ท่านฟาฉ่างพํานักอยู่ในวัดที่พระนางวูเซอเทียนหรือพระนางบูเช็กเทียนซึ่งเป็นจักรพรรดินีองค์แรกของประเทศจีนทรงสร้าง โดยท่านฟาฉ่างมีหน้าที่ถวายคําสอนในพระสูตรต่างๆ แก่พระนาง

4) ท่านเชง-กวน

ท่านเชง-กวน (Ch’eng-kuan) (พ.ศ. 1281-1381) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ชิง-เหลียง (Ch’ing-liang) ท่านศึกษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ได้บวชเณรตั้งแต่อายุ 11 ปี ครั้นอายุครบ 20 ปีก็ได้บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ท่านจาริกไปทั่วภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคเหนือของประเทศจีน ได้เยี่ยมเยียนศูนย์กลางพระพุทธศาสนาหลายแห่งและศึกษาคัมภีร์ต่างๆ จากอาจารย์หลายท่าน แต่ความสนใจ หลักของท่านอยู่ที่ อวตังสกสูตร ท่านมีผลงานที่เป็นอรรถาธิบายเกี่ยวกับ อวตฺสกสูตร มีมากกว่า 400 บท งานเขียนและคําสั่งสอนของท่านมีอิทธิพลต่อสานุศิษย์อย่างใหญ่หลวง คนรุ่นหลังสรรเสริญท่านว่าเป็น พระโพธิสัตว์ฮัว-เหยน

5) ท่านซุง-มี่

ท่านซุง-มี่ (Tsung-mi) (พ.ศ. 1323-1384) อาจารย์แห่งนิกายอวตังสกะองค์ที่ห้า แรกเริ่มทีเดียวนั้นท่านสนใจศึกษาคัมภีร์ของลัทธิขงจื้อ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 1350 เดิมทีท่านออกบวชเป็นพระภิกษุและปฏิบัติตามพุทธศาสนานิกายฌาน (เชน) ต่อมาภายหลังท่านได้อ่านอรรถาธิบายของเชง-กวนเกี่ยวกับอวตังสกสูตร ท่านจึงได้หันมาปฏิบัติตามแนวทางของนิกาย อวตังสกะ และมอบตัวเป็นสานุศิษย์ของเชง-กวน ภายหลังจากซุง-มี่มรณภาพไม่นาน ก็เกิดการกวาดล้างพุทธศาสนาอย่างขนานใหญ่ขึ้นในแผ่นดินจีน และติดตามด้วยความสับสนวุ่นวายทางการเมือง ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ไม่มีอาจารย์แห่งนิกายอวตังสกะเกิดขึ้นอีก นิกายนี้จึงค่อยๆ เสื่อมลงเป็นลําดับ

(http://www.fdz123.com/uploads/diy/wcbs1.jpg)

หลักคำสอนสำคัญ

นิกายอวตังสกะ มีหลักคําสอนที่สําคัญ ดังต่อไปนี้

1) แนวคิดเรื่องความจริงแท้สูงสุด

นิกายอวตังสกะมีแนวความคิดเช่นเดียวกับนิกายโยคาจารซึ่งมีทัศนะว่า สรรพสัตว์มีพุทธภาวะหรือพุทธจิตอันเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดํารงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง พุทธจิตนี้เป็นบ่อเกิดของสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏทั้งฝ่ายดีและชั่ว สรรพสิ่งมีแหล่งกําเนิดอันเดียวกัน คือ พุทธจิตหรือจิตหนึ่งเดียวนี้ การที่จิตหนึ่งเดียวนี้เป็นที่มาของสิ่งทั้งหลาย เป็นพุทธภาวะที่แผ่ไปอยู่ในปรากฏการณ์ทั้งหลาย เป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น จึงเรียกว่า เอกสัตย์ธรรมธาตุ

2) แนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความจริงแท้สูงสุดกับสิ่งที่ปรากฏ

เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เป็นความจริงสูงสุดกับปรากฏการณ์ทั้งหลายคณาจารย์ของนิกายนี้ จึงแบ่งธรรมชาติทั้งหลายที่มีอยู่ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

(1) ความจริงสูงสุด หรือ หลี่ (Li) คือ คุณสมบัติที่ปกแผ่ไปทั่วสากลจักรวาล เป็นความจริงของสิ่งทั้งหมด

(2) ปรากฏการณ์ หรือ ชิ (Shih) คือรูปแบบที่ปรากฏออกมาทางวัตถุ อยู่ภายใต้ขอบเขตของเวลาและสถานที่ธรรมทั้งสองส่วนนี้ มีความสัมพันธ์กันในลักษณะ 2 ประการ ดังต่อไปนี้ (1) ความจริงสูงสุดและปรากฏการณ์เป็นสิ่งที่กลมกลืนกัน ไม่อาจแบ่งแยกกันได้ หมายความว่า ในสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์หรือสิ่งที่ปรากฏในโลกทั้งหลายนั้นมีคุณสมบัติของความจริงสูงสุดอยู่ด้วยเสมอ เปรียบเหมือนทองกับกําไลทอง กําไลทองจะมีอยู่โดยปราศจากธาตุทองไม่ได้ และธาตุทองก็ไม่ได้ดํารงอยู่ต่างหากจากกําไลทอง เมื่อมีกําไลทองย่อมมีธาตุทองเสมอ หรือเปรียบเหมือนสิงห์โตทองคําไม่อาจแยกจากทองคําได้เลย ทองคําเปรียบเหมือนความจริงสูงสุด สิงโตเปรียบเหมือนปรากฏการณ์ ความจริงสูงสุดนั้นไม่มีรูปร่างลักษณะ แต่มันปรากฏออกมาในรูปของปรากฏการณ์ทั้งหลาย

(2) ปรากฏการณ์แต่ละอย่างที่เห็นแตกต่างกัน โดยลักษณะที่แท้จริงย่อมมีเอกภาพเดียวกันทั้งนั้น หมายความว่า ปรากฏการณ์แต่ละอย่างไม่ว่าจะมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันเพียงใดก็ตามย่อมมีความจริงสูงสุดอยู่ด้วยทั้งนั้น และความจริงสูงสุดนี้ก็คือเอกภาพของปรากฏการณ์ ทั้งหมด โดยมีคําอธิบายโดยการเปรียบเทียบดังต่อไปนี้

เปรียบเหมือนเราเห็นกําไลทอง แหวนทอง สร้อยทอง เป็นต้น แม้จะมีรูปร่าง แตกต่างกัน แต่ธาตุทองย่อมไม่ต่างกัน ธาตุทองก็คือเอกภาพของกําไลทอง แหวนทอง สร้อยทอง ตุ้มหูทองและสิ่งที่ทําด้วยทองทั้งหมดนั่นเอง

เปรียบเหมือนอวัยวะทั้งหมดของสิงโตทองคํา ย่อมจะมีคุณสมบัติของทองคําเหมือนกันหมด ดังนั้น เมื่อเราชี้ไปที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของสิงห์โตทองคํา มันย่อมจะรวมเอาคุณสมบัติของอวัยวะส่วนอื่นๆ ไว้ด้วย

เปรียบเหมือนพระพุทธรูปในกระจก เมื่อนํากระจกมาสิบแผ่น ให้กระจกแปดแผ่นหันหน้าเข้าหากันเป็นรูปแปดเหลี่ยม แผ่นหนึ่งอยู่บนและอีกแผ่นหนึ่งอยู่ล่าง แล้วนําพระพุทธรูปไปตั้งอยู่ตรงกลาง พวกสานุศิษย์ไม่เพียงแต่เห็นกระจกสะท้อนภาพจากพระพุทธรูปเท่านั้น หากกระจกยังสะท้อนภาพจากภาพสะท้อนในกระจกอื่นๆ ด้วย และกระจกอื่นๆ ต่างก็สะท้อนภาพสะท้อนซึ่งกันและกัน ทําให้เห็นพระพุทธรูปมากมาย เหลือที่นับได้ พระพุทธรูปที่ตั้งอยู่ตรงกลางเปรียบเหมือนความจริงสูงสุด ส่วนภาพสะท้อนในกระจกเปรียบเหมือนปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์ย่อมสามารถสร้างปรากฏการณ์ขึ้นมาใหม่ได้ แต่ปรากฏการณ์ทั้งหมดย่อมมีคุณสมบัติของความจริงสูงสุดอยู่ด้วยอย่างครบถ้วนเสมอ ดังนั้น ปรากฏการณ์หนึ่งย่อมรวมเอาคุณสมบัติของ ปรากฏการณ์อื่นทั้งหมดไว้ด้วย


เปรียบเหมือนสะเก็ดทองชิ้นเล็กๆ ก็รวมเอาคุณสมบัติของความเป็นทองไว้ทั้งหมด ดังนั้น เมื่อไปพบทองที่ไหน ก็ไม่มีคุณสมบัติอะไรมากไปกว่าคุณสมบัติของสะเก็ดทองชิ้นเล็กๆ นั้น ฉะนั้น ไม่ว่าเราจะยกธรรมสิ่งไหนขึ้น ธรรมสิ่งนั้นย่อมรวมธรรมทั้งหมดลงไปด้วย ไม่ว่าเราจะยกปรากฏการณ์สิ่งไหนขึ้น ปรากฏการณ์สิ่งนั้นก็ย่อมรวมปรากฏการณ์ทั้งหมดลงไปด้วย แม้เพียงขนสักเส้นหนึ่ง ทรายสักเม็ดหนึ่ง ก็รวมเอาสิ่งทั้งหลายอยู่ภายในด้วย

จาก http://bubeeja.blogspot.com/2014/01/blog-post_10.html (http://bubeeja.blogspot.com/2014/01/blog-post_10.html)

http://prajnatara79.blogspot.com/ (http://prajnatara79.blogspot.com/)


หัวข้อ: Re: โพธิสัตว์นิรมิต จาก บันทึกเรื่องมรรคผลอันเกี่ยวเนื่องกับ อวตังสกะสูตร
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 05 สิงหาคม 2559 17:06:51
(http://mmbiz.qpic.cn/mmbiz/rfVJS6J7DPDgYJToB5Q2xtkC7ichaJQw6nZOIxL1mDdDIQAnhLNdgEcUppN9orsibRXNibYHDc6IsUnmPm4j6qZmw/0)

ว่าด้วยอัศจรรย์แห่งพระอวตังสกาจารย์ฝ่าจั้ง

ในปีแรกแห่งรัชศกจ่งจาง (สมัยพระเจ้าถังเกาจง เริ่มแต่วันที่ 22 เมษายน 668 - 5 กุมภาพันธ์ 669) ประเทศฝ่ายปัจจิมมีบรรพชิตชาวชมพูทวีปและตรีปิฏกาจารย์ท่านหนึ่งเดินทางมายังนครหลวง (ฉางอัน) พระเจ้าเกาจงบำเรอท่านเยี่ยงพระราชครู สมณะและฆราวาสต่างหลั่งไหลกันมาคารวะท่าน ครั้งนั้นพระอาจารย์ฝ่าจั้งแห่งสำนักฮวาเหยียนยังเป็นสามเณร เดินทางไปคารวะ ก้มกระหม่อมลงแทบเท้าของพระตรีปิฏกาจารย์แล้วอ้อนวอนให้พระอาจารย์บอกศีลโพธิสัตว์แก่ตัวท่าน ผู้คนเล่ากันว่าพระตรีปิฏกาจารย์ได้กล่าวด้วยความตื่นเต้น และยกย่องท่านฝ่าจั้ง ดังนี้

"สามเณรรูปนี้สามารถท่องมหาอวตังสกสูตรได้ และเข้าใจความหมายอีกด้วย เอกยานแห่งฮวาเหยียนเป็นทรัพย์อันลี้ลับแห่งพุทธะทั้งปวง และยากนักที่จะพบพาน แล้วไยจะกล่าวถึงการทำความเข้าใจอีกเล่า? หากมีผู้ใดสามารถสาธยาย "จิ่งสิง" (วิสุทธิจาริตร) ของพระสูตรฮวาเหยียนได้ คนผู้นั้นก้ได้เข้าถึงศีลโพธิสัตว์อันวิสุทธิ์โดยสมบูรณ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องรับศีลโพธิสัตว์อีก"

พระเถระยังเล่าว่า มีเรื่องเล่าในบันทึกประวัติในประเทศปัจจิม หรือ ซีหยูจ้วนจี้ (西域傳記) ว่า มีคนผู้หนึ่ง ก่อนจะสวดสาธยายพระสูตรฮวาเหยียน ได้ล้างมือเสียก่อน ปรากฎว่าหยดย้ำจากการล้างมือนั้นสัมผัสกับมดตัวหนึ่ง ครั้นมดตัวนั้นตายไป ก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต มิพักจะกล่าวถึงผู้ที่น้อมรับแล้วเข้าถึงพระสูตรเล่า? ควรจะทราบกันไว้ว่า สามเณรผู้นี้ในภายภาคหน้าจะสร้างคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ไพศาล แล้วจะเปิดเผยความลี้ลับแห่งการไม่เกิดดับแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย"

(http://www.hrblys.com/attached/20141219/20141219152200_14647.jpg)

อนึ่ง บันทึกประวัติพระอวตังสกาจารย์ฝ่าจั้ง บันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งท่านกำลังประกอบกิจทางศาสนา ในพลันได้ยินเสียงคนผู้หนึ่ง สาธยายอวตังสกสูตรในชั่วพริบตาเดียว ราวกับได้สดับจนจบทั้งพระสูตร นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ยิ่งเพราะพระสูตรนี้มีควยามยาวที่สุดในพระไตรปิฎกภาษาจีน มีรทั้งหมด 80 ผูก หรือ 80 บท วันหนึ่งสาธยายายอย่างมากได้เพียง 10 ผูก หากจะสวดจนจบต้องใช้เวลาถึง 8 วัด แต่นี้พระอาจารย์ได้ยินเพียงพริบตาเดียวก็จบพระสูตรแล้ว นับว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ยิ่ง สมกับที่ท่านได้รับการพยากรณ์ไว้จากพระเถระชาวชมพูทวีป

ทั้งนี้ พระฝ่าจั้ง เป็นมหาปราชญ์ยุคราชวงศ์ถัง เป็นบูรพาจารย์นิกายฮวาเหยียน หรือนิกายอวตังสก ซึ่งศึกษาข้อธรรมในอวตังสกสูตรเป็นหลัก นิกายนี้เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยราชวงศ์ถัง โดยเฉพาะในรัชสมัยพระนางบูเช็กเทียน ทรงโปรดปรานนิกายนี้มาก นิมนต์พระฝ่าจั้งไปเทศนาธรรม สนทนาธรรมอยู่เสมอ ต่อมานิกายนี้เสื่อมความนิยมลง กระทั่งถูกทำลายย่อยยับในรัชสมัยพระเจ้าถังอู่จง ในยุคแห่งการกวาดล้างศาสนาพุทธ แต่ต่อมาไปเจริญที่เกาหลี และที่ญี่ปุ่น ภาพเหมือนของพระฝ่าจั้งภาพนี้ วาดขึ้นโดยจิตรกรญี่ปุ่น สมัยคะมะคุระ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดโทไดจิ เมืองนาระ อันเป็นศูนย์กลางของนิกายอวตังสกะ ในญี่ปุ่น

จาก http://prajnatara79.blogspot.com/ (http://prajnatara79.blogspot.com/)


(http://hk.plm.org.cn/UploadFile/s_200851374045.jpg)

หัวเหยียน

นิกายหัวเหยียน หรือฮวาเหยียน (華嚴宗) หรือนิกายวอตังสกะ เป็นหนึ่งในคณะนิกายของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ถือพุทธธรรมคำสั่งสอนในอวตังสกสูตร หรือพุทธาวตังสกมหาไวปุลยสูตร เป็นหลัก นิกายนี้ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์สุย รุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์ถัง

ประวัติ

ในราวพุทธศตวรรษที่ 9 ท่านพุทธภัทรได้แปลอวตังสกสูตรออกสู่พากย์จีน และต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง ท่านศึกษานันทะได้แปลอีกฉบับหนึ่ง ถือกันว่าเป็นฉบับที่สมบูรณ์ ตั้งแต่พระสูตรถูกแปลเป็นพากย์จีน ก็ถูกกับอุปนิสัยของชาวจีนมาก มีผู้ศึกษากันแพร่หลาย [1]

ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 คณาจารย์ตู้ซุ่น (杜順) ได้เขียนนิพนธ์เรื่อง "ธรรมธาตุวิปัสสนา" (華嚴法界觀門) และปัญจศาสน์สมถวิปัสสนา (華嚴五教止觀) ได้สถาปนารากฐานของนิกายหัวเหยียนขึ้น ต่อมามีคณาจารย์ฝ่าจั้ง (法藏) หรือเสียนโส่ว (贤首) ได้เขียนอรรถกถาหลักธรรมในอวตังสกสูตร นิกายหัวเหยียนจึงเจริญรุ่งเรือง บางทีนิกายนี้ก็ชื่อว่า "เสียนโส่ว" ตามนามของคณาจารย์เสียนโส่ว นิกายนี้มีอิทธิพลคู่เคียงกันนิกายเทียนไท้ตลอดมา [2]

ในช่วงปลายราชวงศ์ถัง นิกายหัวเหยียนเริ่มเสื่อมความนิยมลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการกวาดล้างพุทธศาสนาครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระเจ้าถังอู่จง (หรือ การกวาดล้างพุทธศาสนาเมื่อปีค.ศ. 854) จนกระทั่งสูญหายไปจากแผ่นดินจีนในที่สุด ปัจจุบันคำสอนของนิกายนี้ยังเหลือที่เกาหลียังสืบสานแนวทางปริยัติอยู่บ้าง และที่ญี่ปุ่นยังคงไว้ที่สำนักวัดโทไดจิ เมืองนาระ ซึ่งในญี่ปุ่นเรียกว่านิกายเคะงง ส่วนในเกาหลีเรียกว่านิกายฮวาออม

(http://www.cttbusa.org/avatamsaka_recitation/uw2.jpg)(http://www.cttbusa.org/avatamsaka_recitation/mb2.jpg)

คณาจารย์

นิกายหัวเหยียนมีคณาจารย์ หรือบูรพาจารย์ 5 ท่าน สืบทอดมาตั้งแต่เริ่มสถาปนานิกายจนถึงยุครุ่งเรืองสูงสุด เรียกในภาษาจีนว่า "ปัญจบูรพาจารย์" (五祖) มีดังนี้ [3] [4] [5]

บูรพาจารย์รุ่นที่ 1 พระเถระตู้ซุ่น (杜順) หรือ มีช่วงชีวิตอยู่ระหว่างปีค.ศ. 557-640 เป็นผู้ริเริ่มใช้พระสูตรอวตังสกะสอนพุทธธรรม พระเจ้าถังไท่จงมอบสมัญญานามให้แก่ท่านว่า ตี้ซิน (帝心) ผู้คนเรียกท่านว่าอารยะตี้ซิน (帝心尊者) ท่านมีฉายาทางธรรมว่า ตี้ซิน ตู้ซุ่น (帝心杜順) [6]

บูรพาจารย์รุ่นที่ 2 พระเถระจื้อเหยี่ยน (智儼) ได้วางรากฐานคำสอนของนิกายจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ผู้คนเรียกท่านว่า อารยะจื้อเซียง (至相尊者) อนึ่งคำว่า อารยะในฝ่ายมหายาน เทียบเท่ากับคำว่าอรหันต์ หรืออริยะบุคคลในฝ่ายเถรวาท [7] ท่านมีฉายาทางธรรมว่า หยุนหัว จื้อเหยียน (雲華智嚴) [8]

บูรพาจารย์รุ่นที่ 3 พระเถระฝ่าจั้ง (法藏) นิกายหัวเหยียน ได้รับความนิยมแพร่หลายในหมู่ชน ได้รับพระบรมราชานุเคราะห์จากพระนางบูเช็กเทียน บางครั้งเรียกขานท่านว่า เสียนโส่ว ฝ่าจั้ง (賢首法藏) ตามฉายาทางธรรมของท่าน [9]

บูรพาจารย์รุ่นที่ 4 พระเถระเฉิงกวน (澄觀) สืบต่อคำสอนจากรุ่นที่แล้ว เป็นพระราชครูของฮ่องเต้หลาย พระองค์ มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับราชสำนักและวงการเมือง ได้รับสมัญญาว่าเป็นโพธิสัตว์หัวเหยียน ท่านมีฉายาทางธรรมว่า ชิงเหลียง เฉิงกวน (淸涼澄觀) [10]

บูรพาจารย์รุ่นที่ 5 พระเถระจงมี่ (宗密) นำคำสอนของนิกายไปผสานเข้ากับการวิปัสนาทำสมาธิของนิกายฉาน ท่านมีฉายาทางธรรมว่า กุยเฟิง จงมี่ (圭峯宗密)[11]

อย่างไรก็ตาม ยังมีการจัดคณาจารย์ของนิกายนี้ออกเป็น 7 ท่าน หรือ สัปตบูรพาจารย์ (七祖) โดยรวมเอาพระอัศวโฆษ (馬鳴) และพระนาคารชุนะ (龍樹) เป็นต้นนิกายลำดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ทำให้พระเถระตู้ซุ่นเลื่อนมาเป็นลำดับที่ 3 ส่วนพระเถรจงมี่เป็นลำดับที่ 7 โดยการจัดลำดับเป็น 7 ท่านนี้เป็นผลงานของปราชญ์ยุคหลังนามว่า หลี่ถงเสวียน (李通玄)

(http://www.cttbusa.org/avatamsaka/1universalworthybodhisattva900.jpg)

หลักคำสอน

นิกายนี้สอนว่า สรรพสัตว์มีสภาวะเป็นเอกีภาพเรียกว่า "เอกสัตยธรรมธาตุ" ในอวตังสกสูตรมีพระพุทธพจน์ตรัสว่า "น่าอัศจรรย์หนอ ! สรรพสัตว์ทั้งหลาย ไฉนจึงบริบูรณ์ด้วยฌานปัญญาแห่งพระตถาคต เต็มเปี่ยมอยู่แล้วในตัวของเขาเอง" นอกจากนี้ คณาจารย์พระเถระเฉิงกวน แห่งนิกายนี้ยังกล่าวว่า "มหึมาจริงหนอ ! สัตยธาตุนี้ เป็นสมุฏฐานแห่งสิ่งทั้งปวง"[12]

หากจะสรุป คำสอนอันเป็นเอกลักษณ์ของนิกายนี้คือ ทุกสรรพสิ่งล้วนแต่มีพุทธภาวะ นับแต่ปรมาณูจนถึงสากลจักรวาล โดยมีวาทะว่า "เอกะคือสรรพสิ่ง สรรพสิ่งคือเอกะ" นี่คือคำสอนอย่างรวบรับที่สุดของนิกายนี้ ดังปรากฏในพุทธาวตํสกะสูตร ความว่า

"ในทุกอณูฝุ่นผงของสากลโลก

ปรากฏสรรพโลกและสรรพุทธะ

ณ ปลายหนึ่งเกศาพระพุทธองค์

ปรากฏพุทธเกษตรแดนทิพย์มิถ้วน

ในพุทธเกษตรแดนทิพย์มิถ้วน

อยู่ ณ ปลายหนึ่งเกศาพระพุทธองค์"

การแบ่งหลักคำสอน

นิกายนี้แบ่งระยะกาลแห่งพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ออกเป็น 3 กาล เรียกว่า "ตรีการศาสน์" ได้แก่

1.ปฐมกาล ทรงแสดงอวตังสกสูตร เปรียบด้วยพระอาทิตย์ในอรุณสมัยเริ่มแรกขึ้ต้องยอดเขาหลวง
2.มัธยมกาล ทรงแสดงพระธรรมเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไปอุปมาดั่งแสงสุริยะในเวลาเที่ยง
3.ปัจฉิมกาล ทรงแสดงธรรม ในการสรุปหลักธรรมในยานทั้งสามเป็นยานเดียว อุปมาดังพระอาทิตย์อัสดง ย่อมส่องแสงสู่ยอดเขาอีกวาระหนึ่ง

คัมภีร์สำคัญ

ฝอซัวโตวซาจิง (佛說兜沙經) จำนวน 1 ผูก แปลโดยพระโลกเกษม สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก
เหวินซูซือลี่เหวินผู่ซ่าซู่จิง (文殊師利問菩薩署經) จำนวน 1 ผูก แปลโดยพระโลกเกษม สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก
ฝอซัวผู่ซ่าเปิ่นเย่จิง (佛說菩薩本業經) จำนวน 1 ผูก แปลโดยจือเชียน สมัยอาณาจักรง่อก๊ก
จูผู่ซ่าฉิวฝูเปิ่นเย่จิง (諸菩薩求佛本業經) จำนวน 1 ผูก แปลโดยเนี่ยต้าวเจิน สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก
ผู่ซ่าสือจู้สิงต้าวผิ่น (菩薩十住行道品) จำนวน 1 ผูก แปลโดยพระธรรมรักษะ สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก
เจี้ยนเป่ยอิเชี้ยจื้อเต๋อจิง (漸備一切智德經) จำนวน 5 ผูก แปลโดยพระธรรมรักษะ สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก
เติ่งมู่ผูซ่าสั่วเหวินซานเม่ยจิง (等目菩薩所問三昧經) จำนวน 3 ผูก แปลโดยพระธรรมรักษะ สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก
ฝอซัวหรูไหลซิ่งเซี่ยนจิง (佛說如來興顯經) จำนวน 4 ผูก แปลโดยพระธรรมรักษะ สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก
ตู้ซื่อผิ่นจิง (度世品經) จำนวน 6 ผูก แปลโดยพระธรรมรักษะ สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก
พุทธาวตังสกมหาไพบูลสูตร หรือ ต้าฟางกว่างฝอหัวเหยียนจิง (大方廣佛華嚴經) จำนวน 60 ผูก แปลโดยพระพุทธภัทระ สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก

คัมภีร์รอง

หัวเหยียนฝ่าเจี้ยกวนเหมิน (華嚴法界觀門) หรือ "อวตังสกธรรมธาตุพิจารณ์ทวารบท"

ปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

ต้าฟางกว่างฝอหัวเหยียนจิงก่านอิ้งจ้วน (大方廣佛華嚴經感應傳) ปกรณ์ว่าด้วยอานิสงส์เกี่ยวกับพุทธาวตังสกสูตร

หัวเหยียนจิงก่านอิ้งลวื่อจี้ (華嚴經感應略記) หรือ บันทึกสังเขปว่าด้วยอานิสงส์เกี่ยวกับอวตังสกสูตร

หัวเหยียนจิงก่านอิ้งหยวนชี่จ้วน (華嚴經感應緣起傳) หรือ ปกรณ์ว่าด้วยมูลเหตุแห่งอานิสงส์เกี่ยวกับอวตังสกสูตร

จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ (https://th.wikipedia.org/wiki/)

(http://www.dhmoore.ca/wp-content/uploads/2011/09/flower-garland-sutra1.jpg)

พรหมชาลสูตร (ธรรมทานตัวบท)

พรหมชาลสูตรของฝ่ายมหายาน เรียกว่า ฟั่นวั่งจิง (梵網經) ในสารบบพระไตรปิฎกภาษาจีนฉบับไทโช อยู่ในลำดับที่ 1418 หรือ CBETA T24 No. 1484 ส่วนในสารบบพระไตรปิฎกภาษาจีนฉบับเกาหลี อยู่ในลำดับที่ K 527พระสูตรนี้ได้รับการแปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนโดยพระกุมารชีพ โดยท่านแปลเมื่อวันที่ 12 เดือน 6 ปีที่ 7 แห่งรัชสมัยจักรพรรดิฉินเหวินหวน หรือ พ.ศ. 949 มีชื่อเต็มในภาษาจีนว่า 梵網經廬舍那佛說菩薩心地戒品第十 แต่มักเรียกโดยสังเขปว่า 梵網經 หรือ ฟั่นวั่งจิง คำว่า ฟั่น แปลง พรหม วั่ง แปลว่า ข่าย หรือ ชาละ ส่วน จิง แปลว่า พระสูตร

พรหมชาล หมายถึงข่ายมณีอันวิจิตรในวิมานพรหม หมายถึงสรรพสิ่งทั้งหวงในหมื่นโลกธาตุล้วนสะท้อนสัมพันธ์กัน ประหนึ่งแสงระยิบระยับจากมณีอันร้อยเป็นข่ายงามประดับวิมานพระพรหม เป็นแสงสะท้อนต้องมณีนับไม่ถ้วน แตกออกเป็นรัศมีแสงประมาณมิได้ โดยนัยแล้วหมายถึงหลักปฏิจจสมุปบาท

(http://img1.gtimg.com/rushidao/pics/hv1/156/29/2040/132658551.png)

 พระสูตรเริ่มบทด้วยการปรารภถึงพระไวโรจนพุทธะ จากนั้นในตอนต่อมาจึงกล่าวถึงพระศากยมุนีพุทธเจ้า ซึ่งปรากฏพระองค์ที่ กุสุมาตลครรภวยุหาลังกรโลกธาตุสมุทร (蓮華蔵世界) หรือปัทมะครรภะโลกธาตุ (華蔵世界) เป็นโลกธาตุอันเป็นที่ประทับของพระไวโรจนพุทธเจ้า โดยพระไวโรจนพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์จำแลงธรรมกายของพระองค์เป็นพระพุทธเจ้านับประมาณมิได้ และพระพุทธเจ้าเหล่านั้นได้ทรงออกจากปัทมครรภโลกธาตุมายังแต่ละจักรวาล แต่ละจักรวาลล้วนมีชมพูทวีปของตน ประทับยังใต้ร่มมหาโพธิ์ จากน้นพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ในโลกธาตุนับมิถ้วน เสด็จไปแสดงพระธรรมเทศนายังสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ จนถึงวิมานชั้นพรหม

ฝ่ายพระศากยมุนีพุทธเจ้า หลังจากทรงออกจากปัทมะครรภะโลกธาตุแล้วเสด็จไปแสดงพระสูตรยังสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ จนถึงวิมานชั้นพรหมจึงทรงเสนด็จมายังชมพูทวีป แล้วเสด็จสู่พระครรภ์ของพุทธมารดาในกรุงกบิลพัสดุ์ แล้วเจริญพระชนม์ เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ แล้วตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พระแท่นวัชรอาสน์ ซึ่งทรงแสดงพรหมชาลสูตรนี้ โดยทรงมีมนสิการถึงพรหมชาล หรือข่ายมณีอันวิจิตรในวิมานพรหม อันเป็นสถานที่ซึ่งทรงแสดงพระธรรมเทศนา นอกจากนี้ ข่ายอันวิจิตรของพรหม อันแสงสะท้อนต้องมณีนับไม่ถ้วน แตกออกเป็นรัศมีแสงประมาณมิได้ ซึ่งโดยนัยแล้วหมายถึงหลักปฏิจจสมุปบาท ยังสะท้อนถึงพระธรรมขันธ์ หรือวิถีทางการบรรลุธรรมอันหาประมาณมิได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งหนึ่งแสนโกฏิทรงตรัสไว้

จากนั้นพระองค์ทรงตรัสโพธิสัตว์ศีล หรือโพธิสัตว์ปราติโมกษ์ อันเป็นต้นเค้าของพระธรรมวินัยทั้ปวงในพระศาสนา และเป็นศีลที่พระไวโรจนพุทธเจ้าทรงสาธยายไว้โดยปกติ โดยที่พระไวโรจนพุทธเจ้าทรงเป็นต้นเค้าแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหนึ่งแสนโกฏิพระองค์ พระศากยมุนีพุทธเจ้าจึงดังทรงตรัสว่า โพธิสัตว์ปราติโมกษ์นี้ "เป็นต้นเค้าแห่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งปวง แลเป็นหน่อเนื้อแห่งพุทธะธาตุ"

จากนั้นทรงตรัสและแจกแจงรายละเอียดของโพธิสัตว์ศีล หรือโพธิสัตว์ปราติโมกษ์ โดยสังเขปแบ่งออกเป็นมหาโพธิสัตว์ศีล 10 และจุลโพธิสัตว์ศีล 48 โดยทรงบรรยายข้อศีล และแนวทางการปฏิบัติอย่างละเอียด ทั้งนี้ มหาโพธิสัตว์ศีล 10 เรียกว่า ปราติโมกษ์ ในภาษาสันสกฤต หรือปาติโมกข์ในภาษาบาลี

หมายเหตุ - บทความนี้ข้าพเจ้าเขียนไว้ในวิกิพีเดีย นำมาปรับปรุงในฐานะบทความ เพื่อเผยแพร่พระสูตรนี้ ในตัวบทภาษาจีนและคำอ่านภาษาจีนอักษรเกาหลี เพื่อประกาศพระศาสนาให้สถาพร ไพบูลย์ เป็นกุศลแก่ข้าพเจ้าและสรรพสัตว์ทั้งหลาย

จาก http://prajnatara79.blogspot.com/ (http://prajnatara79.blogspot.com/)

(http://pic.nen.com.cn/0/11/96/21/11962145_999105.jpg)

Ling เพิ่มเติม เนื้อหา ที่ เกี่ยวเนื่องกัน

จักรวาลทัศน์ ใน อวตังกะสูตร ว่าด้วยเรื่อง ปุณฑริกครรภ์โลกธาตุ และ ตรีกาย http://www.tairomdham.net/index.php/topic,4638.0.html (http://www.tairomdham.net/index.php/topic,4638.0.html)

พระสูตรพวงดอกไม้ ข่ายใยรัตนะ อิทัปปัจจยตา ( หนึ่งคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่ง ) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,2593.0.html (http://www.tairomdham.net/index.php/topic,2593.0.html)

ทศมหาปณิธาน ของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ จริยาวัตรแม่บทของโพธิสัตว์ในยุคปัจจุบัน http://www.tairomdham.net/index.php/topic,955.0.html (http://www.tairomdham.net/index.php/topic,955.0.html)

พระมหาไวปุลยสมปูรณโพธิอรรถสูตร http://www.tairomdham.net/index.php/topic,3190.0.html (http://www.tairomdham.net/index.php/topic,3190.0.html)