[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
10 พฤษภาคม 2567 05:42:58 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 157 158 [159] 160 161 ... 274
3161  สุขใจในธรรม / ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม / Re: ปฏิทินท่องเที่ยว-ประชาสัมพันธ์งานบุญ เมื่อ: 26 เมษายน 2559 16:46:18






ชวนสักการะธาตุก่องข้าวน้อย

พระธาตุก่องข้าวน้อย ต.ตาดทอง อ.เมือง จ.ยโสธร ตั้งอยู่ในทุ่งนา ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 (ยโสธร-อุบลราชธานี) กิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร

พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23-25 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเขตวัดพระธาตุก่องข้าวน้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงทุ่งนาในเขต ต.ตาดทอง พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือมีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุมีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้ง สี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ไปเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆ สอบเข้าหากัน ส่วนยอดรอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อยมีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด 5 x 5 เมตร นอกจากนี้ บริเวณด้านหลังพระธาตุมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และในเดือนห้าจะมีผู้คนนิยมมาสรงน้ำพระและปิดทอง
3162  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: รวมภาพโบสถ์-วิหาร-ศาลา เก่าๆ เมื่อ: 26 เมษายน 2559 16:22:26
.

แห่งที่ ๑๔ วิหาร-ศาลา
"พระอุโบสถ - อายุมากกว่า ๓๐๐ ปี" วัดหมื่นไวย
วัดหมื่นไวย ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ภาพถ่าย : กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖



อุโบสถเก่า วัดหมื่นไวย


ฐานอุโบสถก่อเป็นแนวโค้ง เรียกว่า"หย่อนท้องช้าง"


ภายในพระอุโบสถ



แห่งที่ ๑๕ วิหาร-ศาลา
"ศาลา" วัดนางพญา
วัดนางพญา อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก  

ภาพถ่าย : พ.ศ. ๒๕๕๘



ศาลา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก


แห่งที่ ๑๖ วิหาร-ศาลา
"วิหาร" วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมือง  จังหวัดลพบุรี

ภาพถ่าย : พ.ศ.๒๕๕๘



วิหาร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี
สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่มีการปรับปรุงซ่อมแซมหลายครั้ง
ทั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระราเมศวร และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ


แห่งที่ ๑๗ วิหาร-ศาลา
"พระอุโบสถ" วัดแม่นางปลื้ม
วัดแม่นางปลื้ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ภาพถ่าย : พ.ศ. ๒๕๕๘









"หน้าบัน" พระอุโบสถวัดแม่นางปลื้ม
รูปพระอุโบสถวัดแม่นางปลื้ม ถ่ายขณะกำลังทำการบูรณะ
ในเวลาปัจจุบัน สภาพคงเปลี่ยนแปลงไปมาก


แห่งที่ ๑๘ วิหาร-ศาลา
"ตำหนัก" วัดพุทไธสวรรย์
วัดพุทไธสวรรย์ ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

ภาพถ่าย : พ.ศ. ๒๕๕๘



ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ - ฝาผนังชั้นบนมีรูปเขียนสมัยโบราณ
ที่มีค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง


ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์


วิหารเขียน วัดพุทไธสวรรย์


วิหารเปลื้องเครื่อง วัดพุทไธสวรรย์


หน้าบันวิหารเปลื้องเครื่อง วัดพุทไธสวรรย์





แห่งที่ ๑๙ วิหาร-ศาลา
"พระอุโบสถ" วัดนครหลวง
วัดนครหลวง (ปราสาทนครหลวง) อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ภาพถ่าย : พ.ศ. ๒๕๕๘



พระอุโบสถ วัดนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา




* หมายเหตุ รูปที่โพสต์ ระบุวันถ่ายภาพไว้แล้ว
   ณ กาลปัจจุบัน ศาสนสถานดังกล่าวอาจมีการปรับปรุงซ่อมแซม
   รูปลักษณ์อาจเปลี่ยนไป


มีต่อ
3163  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดนิเวศธรรมประวัติ 'ประวัติวัด' พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ: 26 เมษายน 2559 15:09:14



พระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ

วัดนิเวศธรรมประวัติ
ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดนิเวศธรรมประวัติ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ในสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณท้ายเกาะลอย หน้าพระราชวังบางปะอิน  มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๓๘ ไร่ ๒ งาน ๔๙ ตารางวา  ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดใหม่”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๒๑ ใช้เวลาก่อสร้าง ๒ ปี ให้มีลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก (กอทิกเลียนแบบโบสถ์คริสต์) ทั้งพระอาราม


วัดนิเวศนธรรมประวัติ สร้างอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าพระราชวังบางปะอิน ซึ่งในอดีตเมื่อ ๑๓๐ ปีเศษที่ผ่านมา บริเวณแห่งนี้เป็นท้องถิ่นทุรกันดาร ไม่มีบ้านผู้คนอยู่อาศัย การคมนาคมติดต่อกับภายนอกลำบากมาก อาศัยแต่เรือเป็นพาหนะเท่านั้น ซึ่งนานๆ จะแล่นผ่านสักลำ ๑  แต่เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดในบริเวณเกาะกลางน้ำแห่งนี้  ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้ๆ กับพระราชวังบางปะอิน เพื่อสะดวกในการบำเพ็ญพระราชกุศลใกล้พระราชฐาน เมื่อเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้เริ่มก่อสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอิน ในปี พ.ศ.๒๔๑๙ ได้ตรัสปรารภแก่สมเด็จพระสังฆราช (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) มีพระราชประสงค์ขอพระสงฆ์ที่มีพรรษาอายุและคุณธรรมของวัดบวรนิเวศวิหาร อันเป็นสำนักพระราชอุปัธยาจารย์ไปครอง โดยจะทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ  สมเด็จพระสังฆราชทรงคัดเลือกคณะสงฆ์ ให้ 'พระครูปลัดฯ' ที่เห็นว่ามีความรู้สมควรพอที่จะเป็นเจ้าอาวาสไปครองวัดนิเวศธรรมประวัติได้ จึงนำความถวายพระพรทูลให้ทรงทราบ  แต่ยังมิทันได้ทรงแต่งตั้งพระครูปลัด ให้เป็นพระราชาคณะไปครองวัดนิเวศธรรมประวัติ พระครูปลัดรูปนั้นเกิดขัดข้อง กลับใจไปทูลขอตัวต่อสมเด็จพระสังฆราช ไม่ยอมออกไปอยู่หัวเมือง เพราะเกรงจะทนความลำบากไม่ไหว ถ้าขืนให้ไปจะสึก

ความเงียบสงัด ความเดือดร้อนลำบาก ในการที่จะต้องดำรงชีวิตอยู่ในท่ามกลางเกาะกลางแม่น้ำที่ห่างไกลละแวกบ้านผู้คนในสมัยนั้นเป็นอย่างไร ผู้โพสต์ได้คัดความตั้งแต่มูลเหตุของการก่อสร้างวัดนิเวศธรรมประวัติ ความลำบาก ความอดอยาก ความเงียบเหงา เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาต้องขาดแคลนทั้งยาและหมอรักษาไข้ ของพระสงฆ์ที่ขึ้นไปจำพรรษาอยู่บางปะอินในสมัยนั้น ซึ่งเป็นบทพระนิพนธ์ ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาเผยแพร่ เพราะเห็นเป็นความรู้อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจในเหตุการณ์ได้อย่างถ่องแท้ ให้ปรากฏอยู่ ไม่สูญหาย    

อนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่บวชแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ เรื่องที่พระองค์ทรงนิพนธ์ หรือ 'เล่า' ให้ฟัง จึงเป็นเรื่องราวที่ทรงรู้เห็นเอง ไม่ได้เอาความในหนังสือหรือได้ยินผู้อื่นบอกเล่ามากล่าว





สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

มูลเหตุอันมาเป็น “วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ”
บทพระนิพนธ์ ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
หมายเหตุ: ต้นฉบับเขียน "วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ" มี น.การันต์


เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอิน ตรัสปรารภแก่สมเด็จพระสังฆราช ว่า ครั้งทรงสร้างวัดเทพศิรินทราวาส ได้ขอพระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร สำนักของสมเด็จพระอุปัชฌาย์ไปครอง วัดที่ทรงสร้างใหม่นี้มีพระราชประสงค์จะใคร่ได้พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯ อันเป็นสำนักของสมเด็จพระกรรมวาจาจารย์ไปครอง แต่ไม่ใช่วัดใหญ่โต จะทรงตั้งสมณศักดิ์เจ้าอาวาสเป็นแต่พระครู สมเด็จพระสังฆราชถวายพระพร รับจะจัดคณะสงฆ์ถวายตามพระราชประสงค์

ก็วัดราชประดิษฐ์ฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง ด้วยเจตนาจะให้เป็นวัดขนาดย่อมสำหรับพระสงฆ์ธรรมยุติกาอยู่ใกล้ๆ พระราชฐานให้สะดวกในการบำเพ็ญพระราชกุศล  ทำนองเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอินนั้นเอง

จำนวนพระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯ จึงมีน้อย เวลาหาพระสงฆ์สำหรับวัดนิเวศน์ธรรมประวัตินั้น ที่ในวัดราชประดิษฐ์ฯ มีพระที่พรรษาอายุและเป็นเปรียญทรงคุณธรรมสมควรจะเป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ รูป คือ พระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ ชื่อเปีย เป็นเปรียญ ๕ ประโยคองค์ ๑ พระครูสัทวิมล ฐานานุกรมตำแหน่งคู่สวด ชื่อพุฒ พึ่งได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยค องค์ ๑  สมเด็จพระสังฆราชชวนพระครูสัทวิมลกับพระสงฆ์อันดับ ที่รับจะไปอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติได้แล้วให้นำความกราบบังคมทูล  สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงยินดีพระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระครูสัทวิมล (พุฒ) เป็นที่พระครูสถิตธรรมสโมธาน ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ แต่ในระหว่างเวลา ๒ ปีที่กำลังสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติอยู่นั้น เผอิญพระครูสถิตธรรมสโมธาน (พุฒ) อาพาธถึงมรณภาพ ยังเหลือแต่พระครูปลัด (เปีย) องค์เดียวที่พอจะไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติได้ สมเด็จพระสังฆราชตรัสชวน แต่แรกเธอก็รับจะไป สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบ มีพระราชดำรัสว่า พระครูปลัดเป็นตำแหน่งสูงอยู่แล้วจะทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ แต่ยังไม่ทันทรงตั้ง พระครูปลัด (เปีย) กลับใจไม่ยอมออกไปอยู่หัวเมือง จะเป็นเพราะเหตุใด ในใจจริงข้าพเจ้าไม่ทราบ ได้ยินแต่ว่าไปทูลขอตัวต่อสมเด็จพระสังฆราช โดยอ้างว่าไม่มีญาติโยม เกรงจะไปทนความลำบากที่บางปะอินไม่ไหว สมเด็จพระสังฆราชก็จนพระหฤทัย ได้แต่ถวายพระพรให้ทรงทราบเหตุที่เกิดขัดข้อง และทูลว่าในวัดราชประดิษฐ์ฯ ยังมีเปรียญแต่พระมหาอ่อน (ภายหลังต่อมาได้เป็นพระยาพฤฒาธิบดีศรีสัตยานุการ –อ่อน โกมลวรรธนะ) องค์เดียว แต่บวชยังไม่ถึง ๑๐ พรรษา ซึ่งเป็นเขตสมควรจะเป็นเจ้าอาวาส  

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงขัดเคืองในเรื่องที่พระครูปลัด (เปีย) กลับใจ ดำรัสสั่งให้ทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า ถ้าพระมหาอ่อนทรงคุณธรรม อย่างอื่นสมบูรณ์อยู่แล้ว ถึงพรรษาอายุยังไม่ถึงขนาด ก็ไม่ทรงรังเกียจ  สมเด็จพระสังฆราชตรัสถามพระมหาอ่อนว่า ถ้าโปรดฯ ให้เป็นพระครูเจ้าอาวาสจะไปอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอิน จะยอมไปหรือไม่ พระมหาอ่อนได้ทราบเรื่องมาแต่ต้น เห็นสมเด็จพระสังฆราชได้รับความเดือดร้อนรำคาญมากจึงทูลรับว่าถ้าโปรดฯ ให้ไป ถึงลำบากก็จะไปสนองพระเดชพระคุณให้สมพระราชประสงค์ สมเด็จพระสังฆราชก็สิ้นวิตก ให้นำความถวายพระพรทูลว่าพระมหาอ่อนเป็นผู้มีอัธยาศัยและความรู้สมควรเป็นเจ้าอาวาสได้ มีบกพร่องแต่ที่พรรษาอายุยังน้อยเท่านั้น และตัวก็เต็มใจรับจะไปโดยไม่รังเกียจ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงยินดี ดำรัสว่าได้ทรงเจตนาจะตั้งพระครูปลัด (เปีย) เป็นพระราชาคณะ ถึงพระมหาอ่อนพรรษาอายุยังน้อยก็เป็นเปรียญและมีความกตัญญูเป็นความชอบพิเศษ สมควรจะเป็นพระราชาคณะได้ จึงทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่พระอมราภิรักขิต (ตามนามฉายาของท่านว่า อมโร) และทรงพระราชปรารภจะมิให้มีความเดือดร้อน เมื่อขึ้นไปอยู่บางปะอิน โปรดฯ ให้ไต่ถามถึงญาติโยม ได้ความว่าโยมผู้ชายยังมีตัวอยู่ที่เมืองสมุทรสงคราม และหลวงญาณวิจิตร (จุ้ย ต้นสกุล ผลพันธิน) เปรียญในกรมราชบัณฑิต กับนางเพิ้งภรรยาเป็นโยมอุปัฏฐากอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้ง ๓ คนนั้นก็สมัครจะขึ้นไปอยู่ที่บางปะอินกับพระอมราภิรักขิต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบ้านเรือนพระราชทานที่ริมเขตวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ แล้วทรงตั้งหลวงญาณวิจิตรเป็นหลวงธรรมวงศประวัติตำแหน่งเจ้ากรมวัด  และให้เป็นอาจารย์บอกพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณรด้วย และทรงตั้งนายดี บิดาพระอมราภิรักขิต เป็นที่ขุนปฏิบัติชินบุตร ตำแหน่งปลัดกรมวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ  

อนึ่ง เมื่อกำลังสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติอยู่นั้น ทรงพระราชปรารภว่าควรจะมีตำหนักสักหลัง ๑ สำหรับเวลาสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ หรือสมเด็จพระสังฆราชเสด็จขึ้นไปจะได้พัก เหมือนอย่างตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างไว้ที่วัดเสนาสนาราม ณ พระนครศรีอยุธยา ทรงพระราชดำริว่ากุฏิที่สร้างสำหรับพระครูเจ้าอาวาสแต่เดิมอยู่ข้างเล็กไป จึงโปรดฯ ให้เปลี่ยนใช้เป็นตำหนักและให้สร้างกุฏิเจ้าอาวาสขึ้นใหม่อีกหลัง ๑ ให้ใหญ่โตสมศักดิ์พระราชาคณะ การอันนี้ก็เนื่องมาแต่ที่ทรงตั้งพระอมราภิรักขิตครั้งนั้น

การสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติทำอยู่ ๒ ปีสำเร็จบริบูรณ์ ใน พ.ศ.๒๔๒๑ มีการฉลองที่บางปะอินเป็นการใหญ่โต รายการจารึกไว้ในแผ่นศิลาที่พระอุโบสถ ดังนี้
“ครั้น ณ วันเสาร์เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก (พ.ศ.๒๔๒๑) ได้เชิญพระพุทธปฏิมากรพระพุทธนฤมลธรรโมภาสและพระคัมภีร์ไตรปิฎกและรูปพระมหาสาวก และพระราชาคณะฐานานุกรมอันดับ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ๘ รูป ลงเรือกลไฟแต่กรุงเทพฯ มาพักไว้ที่วัดเชิงเลนตรงบางไทรข้าม  ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิ์ศกได้ตั้งกระบวนแห่แต่วัดเชิงเลน เชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสตั้งบนบุษบก เรือพระที่นั่งชัยสุวรรณหงส์ พระธรรมพระคัมภีร์พระไตรปิฎกลงเรือเอกชัย หลังคาสี รูปพระมหาสาวกลงเรือเอกชัยหลังคาสีอีกลำหนึ่ง พระราชาคณะฐานานุกรมลงเรือกราบม่านทองแย่ง พระสงฆ์อันดับลงเรือกราบม่านมัสรู่แห่ขึ้นไปตามลำน้ำในระหว่างเกาะบางปะอินนี้ เลี้ยวศีรษะเกาะข้างเหนือ ล่องลงมาจอดที่สะพานฉนวน ฝั่งเกาะข้างตะวันตกริมลำน้ำใหญ่ แล้วตั้งกระบวนแห่บกเชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสขึ้นพระยานมาศ พระธรรมพระคัมภีร์ พระไตรปิฎกขึ้นเสลี่ยงแปลง รูปพระมหาสาวกขึ้นเสลี่ยงโถง พร้อมด้วยเครื่องสูง กลองชนะคู่แห่ แห่แต่ฉนวนน้ำไปโดยทางหน้าพระอุโบสถ เชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสขึ้นประดิษฐานเป็นประธานในพระอุโบสถ รูปพระมหาสาวก ๖ องค์ตั้งรายไว้...ฯ”

“ในเวลาบ่ายวันนั้น ได้ทรงถวายไตรจีวรบริขารแก่พระอมราภิรักขิต ราชาคณะกับฐานานุกรมและพระสงฆ์อันดับ ซึ่งมาอยู่ในพระอารามนี้ ๘ รูป นิมนต์ให้ขึ้นอยู่กุฏิที่ได้ทรงสร้างขึ้นไว้นั้น แล้วประชุมพระสงฆ์ราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญคณะธรรมยุตินิกาย ๕๘ รูป มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นประธาน ทั้งพระสงฆ์ซึ่งอยู่ในพระอารามนี้ ทรงถวายวิสุงคามสีมา กำหนดโดยยาวเส้น ๔ วา โดยกว้าง ๑๖ วา ๖ นิ้ว มีเสาศิลาแนวกำแพงแก้วในทิศทั้ง ๖ เป็นที่สังเกต และที่เขตขอบบริเวณพระอาราม ซึ่งเป็นที่พระสงฆ์ได้อาศัยนั้น กำหนดตั้งแต่กำแพงรั้วเหล็ก หน้าพระอารามด้านเหนือ ตลอดทั้งที่วิสุงคามสีมาจนถึงกำแพงสกัดท้ายโรงเรือ ยาว ๔ เส้น ๑๑ วา ๖ นิ้ว กว้างตกลำน้ำตามฝั่งเกาะทั้งสองด้านเป็นเขตพระอาราม แล้วทรงถวายผ้าไตรแด่พระสงฆ์ราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ คณะธรรมยุตินิกาย ๕๐ รูป สวดพระพุทธมนต์เวลาเย็น ตั้งแต่ ณ วันจันทร์เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก ๓ เวลา จนถึงวันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ๕๘ รูป ได้ทำสังฆกรรมผูกพัทธสีมาเสร็จแล้ว เวลาเช้าเสด็จพระราชดำเนินทรงเลี้ยงพระสงฆ์ทั้ง ๓ เวลา และทรงถวายเครื่องไทยธรรมต่างๆ แก่พระสงฆ์ ๕๘ รูป   ครั้น ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาบ่าย ทรงถวายผ้าไตรแก่พระสงฆ์ราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ คณะมหานิกาย ๕๘ รูป เวลาเย็นสวดพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ   รุ่งขึ้น ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ทรงเลี้ยงพระสงฆ์แล้วถวายเครื่องบริขารไทยธรรมต่างๆ และในวันศุกร์เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศกนั้น เวลาเช้าพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายรับพระราชทานฉัน ๓๐ รูป เวลาค่ำมีพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง เป็นพระราชกุศลส่วนมาฆบูชา ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ เวลาบ่าย มีพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถวันละกัณฑ์ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีเทศนาเป็นธรรมทานวันละ ๓ กัณฑ์ เจ้าพนักงานตั้งบายศรี ราษฎรพร้อมกันเวียนเทียนรอบพระอาราม ๓ วัน และมีการมหรสพสมโภช การเล่น (มีโขนชักรอกโรงใหญ่) เต้นรำครบทุกสิ่ง และตั้งต้นกัลปพฤกษ์ทิ้งทานและทรงโปรยผลกัลปพฤกษ์และฉลากต่างๆ เป็นมโหฬารบูชา ตั้งแต่ ณ วันพฤหัสบดีขึ้น ๑๔ ค่ำ จนถึงวันอาทิตย์แรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ รวมสี่วันสี่ราตรี เป็นเสร็จการพระราชกุศลมหกรรมพุทธาทิรัตนบูชา...ฯ”

พระอมราภิรักขิต ขึ้นไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เมื่ออายุ ๒๗ ปี บวชได้ ๖ พรรษา เวลานั้นมีพระสงฆ์เถรานุเถระกับทั้งเจ้านายขุนนาง ขึ้นไปช่วยงานฉลองวัดอยู่ที่บางปะอินเป็นอันมาก มิใคร่มีใครรู้จักพระอมราภิรักขิตมาแต่ก่อน  ทราบกันแต่ว่าได้เป็นพระราชาคณะไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เพราะมีความกตัญญู ยอมทนความลำบาก เพื่อจะเปลื้องความเดือดร้อนของสมเด็จพระสังฆราช ต่างก็พากันอยากเห็น ที่เป็นพระสงฆ์เถรานุเถระได้พบก็อวยชัยให้พร ที่เป็นคฤหัสถ์ก็พากันแสดงไมตรีจิตถึงถวายปวารณารับเป็นอุปัฏฐากก็มี







ซุ้มประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ หรือ พระขอฝน
พุทธลักษณะ ประทับยืน พระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงอาการกวักขอฝน

พระอมราภิรักขิตจึงมีฐานะพิเศษผิดกับพระราชาคณะองค์อื่นๆ ในชั้นเดียวกันมาแต่แรก ความลำบากที่ไปอยู่บางปะอินมีอย่างไรบ้าง บุคคลในสมัยนี้ยากที่จะเข้าใจได้ ที่พระครูปลัด (เปีย) กลัวนั้นที่จริงมีมูลอยู่บ้าง (จะพรรณนาถึงความลำบากในที่อื่นต่อไปข้างหน้า) แม้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงพระวิตก เกรงว่าพระสงฆ์ที่ขึ้นไปอยู่วัดนิเวศน์ฯ จะได้ความเดือดร้อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งระเบียบการ ถึงเดือนหนึ่งให้เรือไฟหลวงบรรทุกเสบียงอาหารพระราชทานสำหรับทำครัวเลี้ยงพระขึ้นไปส่งครั้งหนึ่ง และในการกฐิน พระราชทานผ้าไตรพระสงฆ์ทั้งวัดอีกส่วนหนึ่งนอกจากผ้าไตรปี เป็นนิจผิดกับวัดอื่นๆ แต่ส่วนตัวพระอมราภิรักขิตเองนั้น เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงคุ้นเคยมากขึ้น ก็ยิ่งทรงพระเมตตา ตรัสชมมารยาทและอัธยาศัยว่าสุภาพเรียบร้อย ถวายเทศนาก็โปรดปฏิภาณ ถึงคนทั้งหลายอื่น เมื่อท่านขึ้นไปอยู่วัดนิเวศน์ฯ ไม่ช้านานเท่าใด ก็พากันเลื่อมใสในคุณธรรมของท่านทั่วไป ในท้องถิ่นอำเภอบางปะอิน มีคนไปทำบุญถือศีลฟังธรรม และให้ลูกหลานไปบวชเรียนอยู่ที่วัดนิเวศน์ฯ มากขึ้น จนกุฏิไม่พอพระอยู่  จึงโปรดฯ ให้แก้ตึกแถวที่สร้างสำหรับเป็นที่อยู่ของลูกศิษย์วัด กั้นห้องเรียงกัน แปลงเป็นกุฏิสำหรับพระที่บวชใหม่  ต่อมาจำนวนพระสงฆ์ยังเพิ่มขึ้นอีก ต้องโปรดฯ ให้สร้างกุฏิคณะนอกเพิ่มขึ้นอีก ๒ แถว จึงพอพระสงฆ์อยู่ได้ไม่ยัดเยียด

.....ถึง พ.ศ.๒๔๒๒ ข้าพเจ้า (หมายถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ...ผู้โพสต์) ก็ได้เป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีหน้าที่ตามเสด็จไปไหนๆ ด้วยเสมอ    มักเสด็จไปประทับที่พระราชวังบางปะอินเนืองๆ จึงเป็นเหตุให้ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ตั้งแต่สร้างวัดแล้ว เสด็จขึ้นไปประทับพระราชวังบางปะอินครั้งใด ก็เสด็จไปที่วัดด้วยทุกครั้ง

ครั้งหนึ่ง ใน พ.ศ.๒๔๒๕ เสด็จไปวัดนิเวศน์ฯ ทรงบูชาพระในพระอุโบสถแล้ว ทรงพระราชดำเนินเที่ยวทอดพระเนตรการบำรุงรักษาในบริเวณวัด เมื่อเสด็จไปถึงตรงตำหนัก เห็นจะทรงรำลึกขึ้นว่าปีนั้นอายุข้าพเจ้าถึงกำหนดอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  มีพระราชดำรัสแก่ข้าพเจ้าว่า “วัดนิเวศน์ฯ นี้ ถ้าเจ้านายพวกเราบวชจะมาอยู่ก็ได้ ตำหนักรักษาก็มี ดูเหมือนจะสบายดี”  ข้าพเจ้าก็ทูลสนองในทันทีว่า เมื่อข้าพเจ้าบวช ถ้าโปรดให้อยู่วัดนิเวศน์ ก็จะยินดี  ตรัสถามซ้ำว่า “จริงๆ หรือ” ข้าพเจ้าทูลสนองซ้ำว่า จริงอย่างนั้น ก็ทรงยินดี ไปตรัสบอกสมเด็จพระสังฆราช แต่ท่านถวายพระพรว่าความขัดข้องมีอยู่ ด้วยในปีนั้น พระอมราภิรักขิตจะเป็นอาจารย์ให้นิสัยยังไม่ได้ เพราะบวชยังไม่ครบ ๑๐ พรรษาบริบูรณ์ หย่อนอัตราตามพระวินัยอยู่พรรษาหนึ่ง  ข้าพเจ้าจึงกราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นจะรอไปบวชต่อปีหน้า ก็เป็นการตกลง ข้าพเจ้าจึงเลื่อนเวลามาบวชต่อใน พ.ศ.๒๔๒๖ เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี  บวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามประเพณีเจ้านายทรงผนวช  สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราช ปุสสเทว (สา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระอมราภิรักขิตที่จะเป็นนิสยาจารย์ก็ลงมานั่งในคณะปรกด้วย  เมื่อบวชแล้วไปพักอยู่วัดราชประดิษฐ์  

วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงฟื้นประเพณีครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ดำรัสสั่งให้นิมนต์พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข กับทั้งพระอมราภิรักขิตและตัวข้าพเจ้า เข้าไปรับบิณฑบาตที่ชาลาต้นมิดตะวัน ในบริเวณพระอภิเนาวนิเวศน์ (อันอยู่ในสวนศิวาลัยบัดนี้)  เสด็จลงทรงบาตรพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน มีพระราชดำรัสแก่สมเด็จพระสังฆราชว่า ข้าพเจ้าจะไปจำพรรษาอยู่ไกล ญาติที่อยู่ในกรุงเทพฯ ไม่มีโอกาสทำบุญด้วย จึงให้ไปรับบาตรเสียก่อน  วันต่อนั้นมาจะขึ้นไปทูลลาเสด็จพระอุปัชฌาย์ไปอยู่วัดนิเวศน์ฯ  สมเด็จพระสังฆราชท่านทราบพระอัธยาศัยว่า สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ไม่พอพระหฤทัย ที่พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่วัดอื่น นอกจากวัดบวรนิเวศน์ จึงเรียกพระอมราภิรักขิตกับข้าพเจ้าขึ้นไปสั่งแต่กลางคืนว่าให้ขึ้นไปเฝ้าด้วยกัน เมื่อไปถึงวัดบวรนิเวศน์ฯ ให้พระอมราภิรักขิตเอาดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะส่วนของท่านขึ้นไปถวายก่อน  ให้ข้าพเจ้าคอยอยู่ข้างล่างสัก ๑๐ นาที แล้วจึงขึ้นไปเฝ้าถวายเครื่องสักการะทูลลา เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปเฝ้า ก็เห็นเสด็จพระอุปัชฌาย์ทรงเบิกบานดี ตรัสฝากข้าพเจ้าแก่พระอมราภิรักขิต แล้วประทานพระโอวาทกำชับข้าพเจ้า ให้เคารพนับถืออยู่ในถ้อยคำของท่านผู้เป็นอาจารย์ การทูลลาก็เป็นอันเรียบร้อยทุกสถาน สมเด็จพระสังฆราชท่านให้เจ้าคุณอมราฯ กลับขึ้นไปก่อนวันหนึ่ง   รุ่งขึ้นนับเป็นวันที่ ๔ ตั้งแต่ข้าพเจ้าบวช จึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชไปจากวัดราชประดิษฐ์ฯ ท่านอุตส่าห์ตามลงไปอำนวยพรถึงท่าราชวรดิษฐ์ เมื่อขึ้นไปถึงวัดนิเวศน์ฯ ไปบูชาพระพุทธเจ้าที่ในพระอุโบสถก่อน แล้วไปยังกุฏิเจ้าคุณอมราภิรักขิต ถวายเครื่องสักการะ ขอนิสัยท่านตามระเบียบพระวินัย

พิธีขอนิสัยนั้นก็คือ ไปถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ในสำนักของท่าน ขอให้ท่านเอาเป็นภาระปกครองเรา ฝ่ายเราก็รับจะเอาเป็นภาระปฏิบัติท่านตามสมควร เพราะฉะนั้น เมื่อท่านให้นิสัยรับเป็นอาจารย์แล้ว เราจึงมีหน้าที่จะต้องกระทำการปฏิบัติ การนั้นถ้าอยู่ในสำนักพระอุปัชฌาย์เรียกว่า “อุปัชฌายวัตร” ถ้าอยู่ในสำนักพระอาจารย์เช่นตัวข้าพเจ้าเรียกว่า “อาจาริยวัตร” แต่เป็นการอย่างเดียวกัน คือเวลาเช้าเมื่อท่านตื่นนอน ต้องเอาน้ำบ้วนปากล้างหน้ากับไม้สีฟันไปถวาย พอค่ำถึงเวลาที่ท่านกำหนด ต้องขึ้นไปฟังท่านสั่งสอน แต่ท่านให้ทำพอเป็นวินัยกรรม ไม่กี่วันก็อนุญาตให้หยุด เป็นเช่นนั้นเหมือนกันทุกวัน เมื่อทำพิธีขอนิสัยแล้ว ข้าพเจ้าไปอยู่ที่ตำหนักเจ้าคุณอมราฯ ท่านให้พระปลัดชื่อนากเป็นผู้อุปการะอย่างเป็นพี่เลี้ยงของข้าพเจ้าด้วย



3164  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา - ทริปดำน้ำทะเลอันดามัน เมื่อ: 24 เมษายน 2559 17:15:58



ไปด้วยกัน...ทริปดำน้ำทะเลอันดามัน
หมู่เกาะสิมิลัน  จ.พังงา
๑๕ เมษายน ๒๕๕๙

"หมู่เกาะสิมิลัน" คือสรวงสวรรค์ใต้สมุทรที่อุดมไปด้วยชีวิตน้อยใหญ่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปะการังและหมู่ฝูงปลา มีน้ำใสราวแผ่นกระจกและมีหาดทรายที่ขาวสะอาดงดงาม สิมิลันมีชื่อเสียงทางด้านมีแหล่งน้ำลึกที่สวยงาม ติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของโลก และภาพหินเรือใบเป็นภาพสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ซิ่งตั้งอยู่ที่เกาะ ๘ (สิมิลัน) ที่มีความงดงามมาก และถือเป็นจุดเด่นของสิมิลัน

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ประกอบด้วยพื้นดินที่เป็นเกาะต่างๆ เขาหินแกรนิตสูงชัน หาดทราย โขดหิน ลักษณะรูปร่างต่างๆ ชายฝั่งของเกาะต่างๆ มีลักษณะเว้าแหว่งไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากตั้งอยู่ในส่วนทะเลนอก ได้รับอิทธิพลจากการกัดเซาะของคลื่นทะเลโดยตรง เรียงตัวตามแนวทิศเหนือใต้ พื้นน้ำเป็นส่วนหนึ่งของทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียตะวันออก บริเวณไหล่ทวีปติดชายฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและประเทศพม่า คู่ขนานกับแนวเกาะนิโคบาร์ ที่เป็นไหล่ทวีปของประเทศอินเดีย ตามชายหาดหรือสันทรายจะไม่มีดินเลนให้เห็นจึงเป็นชายหาดที่ขาวสะอาด สวยงาม อนุภาคทรายมีขนาดเล็กละเอียด ส่วนที่เป็นยอดเขาจะเป็นเขาโดดสูงชัน ยอดเขาสูงสุดมีความสูง ๒๔๔ เมตร จากระดับน้ำทะเล บางเกาะมีลักษณะแบนราบล้อมรอบด้วยเนินทรายและแนวปะการัง

สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี ๒๗ องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูงเฉลี่ยตลอดปีประมาณ ๘๓% ปริมาณน้ำฝนแต่ละปีเฉลี่ย ๓,๕๖๐ มิลลิเมตร ปริมาณการระเหยของน้ำแต่ละปีเฉลี่ย ๑,๗๐๘ มิลลิเมตร ช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักแล้ว ท้องทะเลยังมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันในช่วงนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว จึงกำหนดปิด-เปิดฤดูการท่องเที่ยวประจำปี ดังนี้

ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม - ๓๑ ตุลาคม ของทุกปี

เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน - ๑๕ พฤษภาคม ของทุกปี



รอขึ้นเรือสปีดโบ๊ท สู่จุดหมายปลายทางที่หมู่เกาะสิมิลัน
สวรรค์ใต้สมุทร ฮอทฮิตติดอันดับโลก ที่ใช้เวลาเดินทางชั่วโมงเศษ...ไกลฝั่งมาก.ก.ก






หินเรือใบ สัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน




มันลำบากนะ กว่าจะตะกายไปถึงจุดชมวิว






หาดทรายสีขาวละเอียดงดงาม ตามแนวชายฝั่งเลียบหมู่เกาะ














ลมแรง...ลมทะเลพัดเอาระลอกคลื่นและเม็ดทรายม้วนตัวเข้าหาฝั่ง




แพคเกจทัวร์ อาหารกลางวัน ที่บวกราคาไว้เรียบร้อยแล้ว
(ประมาณ 2,500 บาท/ศีรษะ)


หมดสภาพ! หลังดำน้ำชมกุ้งหอยปูปลา

ไม่มีภาพดำน้ำมาให้ชม พากันโดดลงทะเล ไม่มีคนถ่ายรูปจ้ะ
3165  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: กระบี่ ที่อ่าวพระนาง ภูผาในฝันของนักปีนเขา และสัมผัสปรากฏการณ์ "ทะเลแหวก" เมื่อ: 24 เมษายน 2559 16:04:02

ทะเลแหวก จ.กระบี่
๑๕ เมษายน ๒๕๕๙





ทะเลแหวกเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากอิทธิพลของน้ำขึ้นและน้ำลง ทำให้สันทรายของเกาะทั้ง ๓ คือ เกาะทับ เกาะหม้อ และเกาะไก่ จังหวัดกระบี่ ปรากฏขึ้นเมื่อน้ำลด จนสามารถเดินไป-มาระหว่างเกาะได้ โดยบริเวณนี้น้ำทะเลใสมองเห็นฝูงปลาสวยงาม จึงเป็นอีกจุดยอดนิยมของนักท่องเที่ยวเพื่อชมปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำลดลงต่ำสุดในแต่ละวัน เหมือนทะเลแหวกออกจนกลายเป็นหาดทรายขาวสะอาดเชื่อมเกาะ โดยเฉพาะในวันก่อนและหลังวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ราว ๕ วัน

ทั้ง ๓ เกาะดังกล่าวรวมอยู่ในหมู่เกาะปอดะ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน มีสัณฐานติดกัน เมื่อคลื่นพัดทรายมาพบกันที่จุดนี้จึงทำให้เกิดเป็นแนวสันทรายเชื่อมเกาะทั้งสามเกาะให้ถึงกัน สันทรายจะจมหายไปเมื่อน้ำขึ้นสูง แต่เมื่อน้ำลดแนวสันทรายก็จะค่อยๆ โผล่ขึ้นมาเหมือนกับว่าแบ่งทะเลให้แยกออกจากกันเป็นสามส่วน สันทรายจะโผล่ในช่วงที่น้ำทะเลลดต่ำสุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสันทรายจะไม่โผล่ก็เดินเล่นได้เพราะหาดทรายของทะเลแหวกขาวสะอาด การท่องเที่ยวทะเลแหวกนิยมท่องเที่ยวทั้งหมด คือ เกาะไก่ เกาะทับ เกาะหม้อ เกาะ ปอดะ และเที่ยวได้ใน ๑ วัน ต่างจากในอดีตที่นักท่องเที่ยว มักเช่าเรือมาตกปลา กางเต็นท์นอนนับดาวในคืนเดือนแรม หรือชมแสงจันทร์ในคืนเดือนเพ็ญ โดยค้างคืนบนเกาะได้ แต่ปัจจุบันไม่อนุญาตให้ค้างแรมบนเกาะแล้ว

เกาะทับเป็นเกาะเล็กๆ มีหาดทรายเฉพาะด้านใต้ ยามน้ำลด หาดทรายทางด้านใต้จะเชื่อมต่อกับแนวสันทรายของเกาะปอดะนอก กลายเป็นสะพานธรรมชาติยาวประมาณ ๒๐๐ เมตร แม้จะเป็นหาดทรายเล็กๆ แต่เม็ดทรายละเอียดและขาวมาก น้ำทะเลใส ขณะที่เกาะหม้อเป็นโขดหิน ไม่มีชายหาดให้ขึ้นไปบนเกาะ น้ำทะเลใสสะอาด อยู่ห่างจากเกาะทับเพียง ๗๐ เมตร หากน้ำลดจะมีสันทรายเชื่อมต่อกัน เดินจากเกาะหนึ่งไปอีกเกาะหนึ่งได้

ส่วนเกาะปอดะนอก หรือเกาะไก่ หรือเกาะด้ามขวาน เกาะรูปร่างประหลาด ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อเกาะอันหลากหลาย เนื่องจากชะง่อนผาที่ยื่นออกมาทางด้านใต้ทำให้ผู้พบเห็น เกิดจินตนาการต่างๆ กันไป บ้างก็เห็นคล้ายกับส่วนหัวของไก่ บ้างก็เห็นเป็นด้ามขวานที่วางตั้งอยู่ ฝรั่งนักท่องเที่ยวมองเห็นเป็นป๊อปอาย ตัวการ์ตูนดัง หรือบางทีคนเห็นเป็นคนนอนคาบไปป์ ผู้ชมชอบการดำน้ำ ดำผิวน้ำชมปะการังน้ำตื้นหรือปะการังแข็งได้ที่เกาะไก่นี้ แต่ความสมบูรณ์ของปะการังไม่อาจเทียบเท่ากับท้องทะเลที่ห่างไกลจากผืนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็มีหาดทรายขาวทอดยาว น้ำทะเลสวยใส กับปลาลายเสือฝูงใหญ่ให้ชม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้รายละเอียดถึงการเดินทางไปยังทะเลแหวกซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดกระบี่ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ว่า ฤดูกาลท่องเที่ยวคือเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี เดินทางโดยจากจังหวัดกระบี่ใช้ทางหลวงหมายเลข ๔๐๓๔ แล้วเลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข ๔๒๐๒ ไปอ่าวพระนาง หรืออ่าวนาง เช่าเรือได้ที่นี่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒๕ นาที

ทั้งนี้ วิกิพีเดียอรรถาธิบายว่า สันดอนเชื่อมเกาะ (อังกฤษ : Tombolo) เป็นคำบัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ทะเลแหวก เป็นลักษณะทางธรณีสัณฐานวิทยาชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นสันทรายเชื่อมระหว่างชายฝั่งกับเกาะ โดยจะปรากฏขึ้นเมื่อระดับน้ำทะเลลดลง และจะชัดเจนมากในช่วงก่อนและหลังวันขึ้น ๑๕ ค่ำประมาณ ๕ วัน
...ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ภาพถ่ายทางอากาศ ทะเลแหวก
ภาพจาก: หนังสือพิมพ์ข่าวสด




ป้ายคำเตือน อันตราย! น้ำขึ้น ห้ามเดินข้าม
เมื่อสองปีที่ผ่านมา ผู้โพสท์ได้มีโอกาสลุยข้ามน้ำระหว่างเกาะ ๓ เกาะได้
แต่บ่ายของวันนี้ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๙ เดินข้ามได้เพียง ๒ เกาะเท่านั้น



















3166  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: สัมผัสความงามสงบที่เขื่อนรัชชประภา-เขื่อนเชี่ยวหลาน (กุ้ยหลินเมืองไทย) เมื่อ: 24 เมษายน 2559 15:13:58





๑๓ เมษา' ๒๕๕๙
การกลับมาเยือนเพื่อชมบรรยากาศ ความงดงามที่ยังไม่ลืมเลือน
...ณ เขื่อนเชี่ยวหลาน....

เขื่อนรัชประภา สร้างปิดกั้นลำน้ำคลองแสง ที่บ้านเชี่ยวหลาน ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สูง ๙๔ เมตร ความยาวสันเขื่อน ๗๖๑ เมตร และมีเขื่อนปิดกั้นช่องเขาขาดอีก ๕ แห่ง มีความจุ ๕,๖๓๘.๘ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ ๑๘๕ ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ ๒,๕๙๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า เครื่องละ ๘๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ จำนวน ๓ เครื่อง

เขื่อนรัชประภา เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ ใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการชลประทานและการผลิตกระแสไฟฟ้า สร้างปิดกั้นลำน้ำคลองแสง ที่บ้านเชี่ยวหลาน ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชื่อเดิมเรียกว่า เขื่อนเชี่ยวหลาน เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ แล้วเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๓๐ เมื่อสร้างแล้วเสร็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “เขื่อนรัชประภา” มีความหมายว่า “แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนรัชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เมื่อวันพุธที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๐

ประโยชน์
ด้านพลังงานไฟฟ้า มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม ๒๔๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละประมาณ ๕๕๔ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ส่งพลังไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า ด้วยสายส่งไฟฟ้าขนาด ๒๓๐ กิโลโวลต์ วงจรคู่ไปยังสถานี ไฟฟ้าแรงสูงสุราษฎร์ธานี ระยะทาง ๕๐ กิโลเมตร และขนาด ๑๑๕ กิโลโวลต์ วงจรคู่ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงพังงา ระยะทาง ๘๒ กิโลเมตร

การชลประทานเพื่อการเพาะปลูก ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนให้ประโยชน์ต่อการเพาะปลูกพืชบริเวณสองฝั่งแม่น้ำในตอนล่าง เป็นผลให้พื้นที่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ ในเขตท้องที่ตำบลตาขุน อำเภอคีรีรัฐนิคม และอำเภอพุนพิน สามารถปลูกพืชในฤดูแล้งได้ผลดีบรรเทาอุทกภัย การกักเก็บน้ำของเขื่อนในฤดูฝน จะช่วยลดความรุนแรงของสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างดี

การประมง อ่างเก็บน้ำของเขื่อนรัชประภาเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญ สร้างรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง

การผลิตไฟฟ้า พลังน้ำจากเขื่อนสามารถนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึงปีละ ๕๕๔ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าในภาคใต้ให้มั่นคงยิ่งขึ้น แก้ไขน้ำเสียและผลักดันน้ำเค็ม ในฤดูแล้งลำน้ำตาปี-พุมดวงมีปริมาณน้ำลดลง ทำให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสียได้ง่าย ขณะเดียวกันบริเวณปากแม่น้ำจะมีน้ำเค็มหนุนขึ้นมา น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนรัชประภาจะช่วยเจือจางน้ำเสียในลำน้ำและผลักดันน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การท่องเที่ยว
รูปแบบการท่องเที่ยว ตัวเขื่อนเป็นการดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การท่องเที่ยวบริเวณเขื่อนอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติเขาสก ในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนรัชชประภาจะมีแพที่พักไว้บริการ เป็นแพของทางอุทยาน ๓ แพ แต่ละแพอยู่ในตำแหน่งที่มีทัศนียภาพสวยงาม และยังมีแพของเอกชนอีก ๓ แพ การเที่ยวเขื่อนรัชชประภาสำหรับคณะที่มีเวลาน้อยจะขับรถมาจอดที่จุดชมวิวบนสันเขื่อน ชมแบบแว๊บๆ แล้วก็กลับ บางคณะพอมีเวลาหน่อยก็จะเช่าเรือหางยาวนั่งชมทัศนียภาพในอ่างเก็บน้ำ เรือจะพาไปถึงแพของอุทยาน ขึ้นแพพักผ่อนอริยาบท ชมทัศนียภาพ ถ่ายรูปแล้วก็เดินทางกลับ แต่สำหรับคณะที่ต้องการพักผ่อนบนแพท่ามกลางธรรมชาติก็จะพักค้างคืนบนแพ กิจกรรมที่น่าสนใจระหว่างที่พักอยู่ที่แพคือ ชมวิว เล่นน้ำ พายเรือแคนู ตกปลา และอีกกิจกรรมที่น่าสนใจคือการไปเที่ยวถ้ำซึ่งจะต้องเดินป่าเข้าไป ระหว่างทางจะได้สัมผัสความสมบูรณ์ของป่าดิบของภาคใต้ เดินไม่ไกลพอได้บรรยากาศการเดินเที่ยวป่าสัมผัสธรรมชาติ และอีกกิจกรรมหนึ่งคือการนั่งเรือชมวิว

วิวในอ่างเก็บน้ำสวยเกินคำบรรยาย ไม่ใครสักคนที่จะบอกว่าไม่สวย ทัศนียภาพในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสวยงามมากจนได้ชื่อว่ากุ้ยหลินเมืองไทย บริเวณเกาะแก่งในเขื่อนยังมีแพพักของอุทยานฯ ไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้ไปท่องเที่ยวพักผ่อน ในแต่ละปีสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละกว่า ๗๐,๐๐๐ คน สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ทั้งคนขับเรือนำเที่ยว และการค้าขายบริเวณสันเขื่อน

การเดินทาง
เขื่อนรัชประภาตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ห่างจากกรุงเทพฯ ๖๙๘ กิโลเมตร การเดินทางโดยรถยนต์ใช้เส้นทางสายเพชรเกษมซึ่งมีอยู่สายเดียวมุ่งตรงสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อถึงสี่แยกที่จะเข้าตัวเมืองสุราษฎร์ให้เลี้ยวขวามาตามเส้นทางหมายเลข ๔๐๑ มุ่งสู่อำเภอบ้านตาขุน ขับตรงไปอีกประมาณ ๖๗ กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าเขื่อนรัชประภา มีป้ายเขื่อนรัชประภาบอกชัดเจน เลี้ยวขวาไปตามป้ายอีก ๑๒ กิโลเมตร ขับตามที่ป้ายบอก จนกระทั่งถึงสันเขื่อน ก็จะถึงจุดชมวิว







นั่งหัวฟูเหมือน 'นกปรอดหัวโขน' ทางท้ายเรือ ไม่ใช่ใครอื่นไกล นาย Mckaforce เจ้าของเว็บไซต์
















แพแคปซูล สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อนในท่ามกลางธรรมชาติของขุนเขาและห้วงน้ำ
ราคาย่อมยาว.ว.ว. "2,800 บาท/ศีรษะ"










ตี๋เล็ก น้องชายนาย Mckaforce ชาตินี้มีกันอยู่ 2 คนพี่น้อง




ลาก่อย..ย.ย!...เราจะมากลับเยือนอีก
3167  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องราว จากนอกโลก / Re: เรื่องนอกโลก "ปรากฏการณ์เกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาล" เมื่อ: 23 เมษายน 2559 18:05:40
.


(ภาพ : AFP)
ดาวเกิดใหม่
หอดูดาวแห่งยุโรปใต้ได้เปิดเผยภาพถ่ายของดาวฤกษ์ดวงใหม่ ที่ส่องแสงสุกสกาว
จนทำให้หมู่เมฆล้อมรอบสว่างไสวไปด้วย แม้ว่าอานุภาพฝุ่นละอองในกลุ่มเมฆใหญ่โต
ที่ล้อมอยู่จะทำให้แสงสลัวบ้าง แต่ก็ยังมองเห็นเหมือนกับแสงไฟหน้ารถที่ทะลุออกมา
เป็นที่น่าเสียดายว่า แม้การเกิดใหม่ของดาวจะน่าตื่นเต้น เป็นเพราะเมฆหมอก
อันหนาแน่นที่ล้อมรอบอยู่ ทำให้น่าดูน้อยลงไป.



(ภาพ : AFP)
ดาวควอซาร์
ช่างเขียนวาดภาพให้เห็นดาวควอซาร์ ซึ่งมีหน้าที่คอยป้อนอาหารให้กับหลุมดำ
ซึ่งเป็นตัวปล่อยคลื่นของแรงดึงดูดออกมาเป็นระยะทางไกลข้ามจักรวาล ดาวพวกนี้
อยู่ห่างไกลจากโลกเหลือคณานับ และเป็นแหล่งคลื่นวิทยุ.



(ภาพ : AFP)
ใกล้เข้ามาอีกนิด
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้ถ่ายภาพดาวอังคาร ขณะเข้ามาอยู่ใกล้โลกที่สุด
ในรอบระยะเวลาเกือบ 60,000 ปี



โลกมองจากอวกาศนอกโลก
ดาวเทียมหิมาวาริ 8 ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ของญี่ปุ่น รุ่นที่ 3 ถ่ายภาพบริเวณภูมิภาค
เอเชียแปซิฟิกบนโลก ด้วยกล้องถ่ายรังสีอินฟราเรด ช่วยให้มองเห็นพื้นเพของโลกแปลกไปอีกแบบหนึ่ง.



จอดบนดาวหาง
ภาพเมื่อครั้งยานอวกาศ โรเซตตาของสำนักอวกาศยุโรป ปล่อยยานลูกฟิเล บนดาวหาง
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 หลังจากนั้นไม่นาน การติดต่อได้ขาดหายไปเหมือนกับว่ามันจำศีลไป
และเพิ่งจะส่อท่าว่าจะกลับมาทำงานได้อีกเมื่อต้นๆ ปีนี้ (พ.ศ.2559) หลังจากเงียบหายไปนานถึง 15 เดือน
แต่ก็ปรากฏว่าคราวนี้เงียบหายไปจริงๆ จนเชื่อว่าคราวนี้มันคงจะเงียบไปตลอดกาลแล้ว.



(ภาพ : AFP)
กำเนิดดาว
หอดูดาวภาคใต้ยุโรป ได้แสดงภาพดาวฤกษ์ที่เพิ่งเกิดในแถบแหล่งกำเนิดของดาว อยู่ไกลจากโลก
ประมาณ 400 ปีแสง ห้อมล้อมไปด้วยวงแหวนของก๊าซและฝุ่นละออง จานวงแหวนนี้เป็นปรากฏการณ์ขั้นต้น
ของระบบการก่อกำเนิดดวงดาว ด้วยลักษณะเหมือนกับจานแบนๆ ทำให้มีฉายาอีกชื่อหนึ่งว่า “จานบิน”



พายุ 300 กม./ชม.
ดาวเทียมสหรัฐฯจับภาพพายุหมุนไซโคลน โหมกระหน่ำหมู่เกาะฟิจิ ด้วยความเร็วลม
ชั่วโมงละ 300 กม. จนบ้านเรือนบางแถบทลายราบเป็นหน้ากลอง.



องค์การโทรทรรศน์
สำนักดาราศาสตร์แห่งยุโรปใต้ ได้เปิดเผยภาพวาด แสดงให้เห็นดาวเคราะห์ ขนาดซุปเปอร์โลก
ชื่อแคนคริ อ. โคจรอยู่หน้าดาวฤกษ์ นักดาราศาสตร์ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยให้วิเคราะห์
องค์ประกอบของบรรยากาศ ตามดาวต่างๆ ได้ และได้ใช้วิเคราะห์ บรรยากาศของซุปเปอร์โลกดวงนี้
เป็นครั้งแรก ทั้งที่อยู่ไกลจากโลกมากถึง 40 ปีแสง พบว่าดาวฤกษ์มีขนาดเล็กกว่า อุณหภูมิน้อยกว่า
และความสว่างสู้ดวงอาทิตย์ของเราไม่ได้ ทั้งดาวเคราะห์บริวารโคจรอยู่ใกล้ชิดเกินไป
จนดาวเคราะห์มีเวลา 1 ปี เท่ากับ 18 ชั่วโมงของโลกเท่านั้น.



ดวงจันทร์ชารอน
องค์การอวกาศสหรัฐฯ อวดโฉมหน้าดวงจันทร์ชารอน ของดาวพลูโต ที่มีสีสวยงามด้วยสีต่างๆ
ยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ ได้ถ่ายภาพนี้ และยังพบข้อมูลว่า ครั้งหนึ่งเคยมีน้ำไหลอยู่ใต้ดิน
ทำให้พื้นผิวยืดขยายและแตกระแหง.



ยานสำรวจดาวอังคาร
องค์การอวกาศสหรัฐฯได้เปิดเผยรูปวาดของยานอินไซท์ แลนเดอร์ ที่จะส่งลงบนดาวอังคาร
ทันทีที่ลงถึงพื้นมันจะใช้แขนกลตั้งเครื่องวัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดิน และเครื่องวัดอุณหภูมิใต้พื้นผิว
องค์การต้องเลื่อนกำหนดการส่งยาน เนื่องจากอุปกรณ์บางอย่างเกิดขัดข้อง มันถูกออกแบบเพื่อหาความรู้
ว่าดาวเคราะห์ที่เป็นหินในสุริยจักรวาลรวมทั้งโลกเรานั้น ก่อตัวและวิวัฒนาการขึ้นมาอย่างไร.



ภาพอวกาศอันชัดเจน
องค์การอวกาศยุโรปได้เปิดเผยภาพวงแหวนฝุ่นละออง ที่อยู่รอบๆคู่ของดาวฤกษ์ชราคู่หนึ่ง
ซึ่งถ่ายได้อย่างชัดเจนที่สุด ด้วยกล้องโทรทรรศน์ยักษ์ของหอดูดาว ที่ประเทศชิลี.



ดาวแคระ“ซีเรส”
หอดูดาวยุโรปใต้ได้เผยแพร่ภาพวาดของดาวแคระ “ซีเรส” ที่ยานอวกาศ “ดอว์น”
ขององค์การอวกาศสหรัฐอเมริกา สังเกตพบอยู่ในหมู่ดาวที่อยู่ไกลโพ้นออกไปในอวกาศ



ยานสำรวจดาวอังคาร
องค์การอวกาศยุโรปเปิดเผยรูปวาดของยานสำรวจดาวอังคารที่ชื่อว่า
เอ็กโซมาร์ส 2016 ซึ่งมีกำหนดจะส่งออกเดินทางภายในเดือนนี้.



ภูมิประเทศดาวพลูโต
องค์การอวกาศสหรัฐฯได้แสดงภาพภูมิประเทศของดาวพลูโต เห็นภาพยอดเขา
ที่มีหิมะปกคลุม (ภาพซ้าย) ตั้งอยู่มุมตะวันออกเฉียงใต้ของเทือกเขาคธูลู รีจิโอ
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าหิมะที่เห็นคงจะเป็นแก๊สมีเทน ที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็งตกทับอยู่บนยอดเขา
ทิวเขาทิวนี้ทอดตัวเหยียดยาวเกือบครึ่งของเส้นศูนย์สูตร เป็นระยะทางยาวถึง 3,000 กิโลเมตร
และกว้าง 750 กิโลเมตร เป็นเนื้อที่ใหญ่โตกว่ารัฐอลาสกาของสหรัฐอเมริกาเสียอีก.



(ภาพ : AFP)
ดวงจันทร์เอียง
กลุ่มเผยแพร่เรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติเปิดเผยภาพวาดแสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลา
4.5 พันล้านปีที่ผ่านมา ดวงจันทร์ได้เปลี่ยนท่าทางที่หันมาทางโลก ทำให้เห็นดวงจันทร์เ
ปลี่ยนไปหลายหน้า เหตุที่แกนของดวงจันทร์เอียงไปนี้ เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ
ขนาดใหญ่อีกทางด้านหนึ่งของดวงจันทร์ (ภาพขวา) อีกภาพหนึ่งเป็นภาพละเอียด
แผนที่ของขั้วโลก ที่เต็มไปด้วยไฮโดรเจนของดวงจันทร์ ที่อยู่ในโลกของน้ำแข็ง
ชั้นเมฆหมอกของไฮโดรเจนได้บดบังพื้นที่บางส่วนของดวงจันทร์จากขั้วเหนือมายังขั้วใต้ไว้.



(ภาพ : AFP)
เมฆหมอกของดาวพลูโต
องค์การอวกาศสหรัฐฯได้แสดงภาพถ่ายจากยานอวกาศ “นิวฮอไรซันส์” ถ่ายภาพชั้นบรรยากาศ
ของดาวพลูโต ซึ่งซ้อนกันอยู่หนาถึง 20 ชั้น ทอดยาวเหยียดเป็นระยะทางไกลหลายร้อยกิโลเมตร
โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องลอยขนานกับพื้นผิวอย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์ได้พบชั้นหมอก
ที่ปกคลุมอยู่ มีความหนาถึง 5 กิโลเมตร.



ถึงที่หมายในอวกาศ


องค์การอวกาศสหรัฐฯ เปิดเผยภาพยานอวกาศลำเลียง “ออบิตัล เอทีเคเอส. ซิกนัส (เห็นลำเล็กด้านบน)
ถูกส่งขึ้นจากสนามจรวดแหลมคานาเวอรัล เมื่อวันอังคารที่แล้ว เพื่อขึ้นไปยังสถานีอวกาศสากล
ที่อยู่ในวงโคจรรอบโลก ยานได้เดินทางไปถึงและเข้าเทียบกับมือกลของสถานี เพื่อขนเสบียง
เครื่องมือวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สําหรับสร้างเครื่องมืออื่นๆ สำหรับมนุษย์อวกาศขึ้น.



ดาวเทียมเทอร์รา ขององค์การอวกาศสหรัฐฯ
ภาพถ่ายที่ราบสูงอินโดคงคา มองเห็นภาคเหนือของอินเดีย (ซ้าย) โอบล้อมทิวเขาหิมาลัย
ซึ่งทอดยาวไปจนถึงอ่าวเบงกอล (ขวา) ทุกปีอากาศทางตอนเหนือของอินเดีย เมื่อย่างเข้าหน้าหนาว
จะเลวร้ายลง ปกคลุมไปด้วยกระแสอากาศเย็นและหมอกมลพิษ เนื่องจากการจุดไฟเผาป่า
นักวิเคราะห์ขององค์การได้กล่าวว่า ดูจากภาพถ่ายแล้วอาจจะเป็นกลุ่มเมฆหมอกที่ประกอบด้วยมลพิษ
รวมทั้งจากการหุงต้มและเผาพืชพันธุ์ทางเกษตรประกอบกัน.



ดาวเทียมญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นส่งดาวเทียมดวงใหม่ของตน เป็นดาวเทียมถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ ขึ้นจากฐานยิงจรวดทาเนกาชิมา
ในเมืองคาโกชิมา ทางใต้ สำนักอวกาศญี่ปุ่นแจ้งว่าดาวเทียมถ่ายเอกซเรย์ดวงใหม่จะใช้เพื่อศึกษา
หลุมดำและพลิกเผยความลับต่างๆ ในอวกาศ.



กำเนิดดวงดาว
หอดูดาวยุโรปใต้ได้เผยภาพ ดวงแว่นกลมของดาวฤกษ์ คล้ายกับดวงอาทิตย์ที่เพิ่งกำเนิด
อย่างที่ (ภาพเล็กมุมบนขวา) ที่ได้ขยายขึ้นให้เห็นดาวที่ใกล้ที่สุด อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์
ขนาดเดียวกับโลกและดวงอาทิตย์ ซึ่งส่อให้รู้ว่าดวงอาทิตย์เมื่อตอนอายุยังน้อย ก็เกิดจาก
กลุ่มฝุ่นละอองและก๊าซเช่นเดียวกัน ส่วนที่เห็นเป็นวงแสงและวงมืดก็เป็นดาวเคราะห์ที่เพิ่งกำเนิดขึ้นเช่นกัน.



ทางช้างเผือก
ยานอวกาศกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลของสหรัฐอเมริกา ได้ถ่ายภาพของกลุ่มทางช้างเผือก
ซึ่งอยุู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 27,000 ปีแสง ภาพซึ่งถ่ายด้วยรังสีอินฟราเรดทำให้มองทะลุ
กลุ่มฝุ่นละออง ซึ่งมักจะปกคลุมแถวที่น่าสนใจบริเวณต่างๆ และที่เห็นบริเวณตรงใจกลางของภาพ
เป็นหลุมดำยักษ์อยู่กลางทางช้างเผือก



ดวงจันทร์นอกโลก
มนุษย์อวกาศทีมพีกชาวอังกฤษ ทีมมนุษย์อวกาศซึ่งประจำหน้าที่บนสถานีอวกาศสากลปัจจุบันนี้
ถ่ายภาพดวงจันทร์จากมุมที่เลือกคัดแล้ว




ดาวเทียมฝรั่งเศส
ศูนย์ศึกษาอวกาศแห่งชาติของฝรั่งเศส ได้แสดงภาพวาดของดาวเทียม กล้องจุลทรรศน์
ในอวกาศฝรั่งเศส ที่กำหนดจะส่งขึ้นวงโคจรปลายเดือนนี้ ดาวเทียมดวงนี้แม้จะมีขนาด
ไม่ใหญ่โตอะไรมาก แต่มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เพื่อจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงในทฤษฎีสัมพัทธภาพ
ที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้คิดขึ้นเมื่อ 100 ปีมาแล้ว.

ข้อมูล-ภาพ: ไทยรัฐออนไลน์
n-ap.23
3168  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ เต้าหู้ซอสมะขาม : เพิ่มพลังงานให้กับร่างกายด้วยโปรตีนจากถั่วเหลือง เมื่อ: 23 เมษายน 2559 16:22:10
.





เต้าหู้ซอสมะขาม

• เครื่องปรุง
- เต้าหู้ 400 กรัม
- กุ้งขาว 5-7 ตัว
- แป้งข้าวโพด
- หอมแดง 2-3 หัว
- น้ำตาลปีบ ¼ ถ้วย
- น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะขามเปียก
- เกลือ
- ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ


วิธีทำ
1.หั่นเต้าหู้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยม  คลุกกับแป้งข้าวโพดบางๆ ให้ทั่ว
    แล้วนำไปทอดด้วยไฟกลางจนสุกเหลืองทั่วชิ้น ตักใส่ตะแกรงพักให้สะเด็ดน้ำมัน
2.หั่นหอมแดงตามขวาง คลุกแป้งข้าวโพดให้ทั่ว นำไปทอดจนกรอบ ตักใส่ตะแกรงพักให้สะเด็ดน้ำมัน
3.คั่วกุ้งกับน้ำมันพืชเล็กน้อย พอสุกตักใส่จานพักไว้
4.ตั้งกระทะใส่น้ำมันที่ใช้เจียวหอม 1 ช้อนโต๊ะ ใส่น้ำตาลปีบ น้ำตาลทราย
   พอละลายดีแล้ว ใส่น้ำมะขามเปียก เกลือป่น และซอสหอยนางรม ชิมให้ได้สามรส
   (เปรี้ยว หวาน เค็ม) เคี่ยวให้ข้น เหนียว ใส
5.จัดเต้าหู้และกุ้งใส่จานเสิร์ฟ ราดด้วยซอสมะขามให้ทั่ว แล้วโรยหน้าด้วยหอมแดงทอดกรอบ.  




เต้าหู้ชิ้นนี้ น้ำหนัก 400 กรัม ผ่ากลางตามขวาง แล้วผ่าสี่ (ได้ 8 ชิ้น)


นำเต้าหู้คลุกกับแป้งข้าวโพดบางๆ (ไม่ต้องผสมน้ำ)


ทอดด้วยไฟกลางจนสุกเหลืองทั้งชิ้น ตักใส่ตะแกรงพักให้สะเด็ดน้ำมัน


หอมแดงคลุกแป้งข้าวโพด ทอดให้กรอบเหลือง ตักพักให้สะเด็ดน้ำมัน
(การนำหอมซอยคลุกแป้งข้าวโพด ช่วยให้หอมแดงกรอบได้นาน)


ทอดกุ้งกับน้ำมันเล็กน้อยพอสุก ตักพักไว้


ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันที่ใช้เจียวหอมแดง 1 ช้อนโต๊ะ  ใส่น้ำตาลปีบและน้ำตาลทราย
พอน้ำตาลละลายใส่น้ำมะขามเปียก เกลือป่น และซอสหอยนางรม ชิมให้ได้ 3 รส


เคี่ยวจนเหนียว ใส พักไว้


จัดเต้าหู้และกุ้งในจานเสิร์ฟ


ราดด้วยซอสมะขาม โรยหน้าด้วยหอมแดงเจียวกรอบ
รับประทานเป็นอาหารว่าง เพิ่มพลังงานให้กับร่างกายด้วยคุณค่าจากโปรตีนถั่วเหลือง
3169  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: เทพเจ้าจีน เมื่อ: 23 เมษายน 2559 15:40:27
.


ภาพจาก : : review.xn--l3cjf8d8bveb.com-
เทพเจ้า: ปุนเถ้ากง
เทพเจ้าองค์ประธาน: ตั่วเหล่าเอี้ย
ศรัทธาความเชื่อ: ความร่มเย็นเป็นสุข ป้องกันภัยต่างๆ การค้าเจริญรุ่งเรือง


๓.เทพปุนเถ่ากง

ปุนเถ่ากง เป็นชื่อเรียกตามภาษาจีนแต้จิ๋ว จีนกลางเรียกว่า เปิ่นโถวกง เป็นเทพเจ้าที่พบในเมืองไทย ฟิลิปปินส์ และที่ปีนัง เท่านั้น

ชื่อเทพองค์นี้ได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกสุดในหนังสือ J.D.Vaughan (๑๘๗๙) เขากล่าวว่า ชาวจีนแถบเอเชียใต้เคารพกราบไหว้ ต้าเป๋อกง (ตั่วแปะกง) และ เปิ่นโถวกง (ปุนเถ่ากง)

นักวิชาการชาวต่างชาติมีความเห็นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเทพสององค์นี้แตกต่างกันออกไป

หานหวยจุ่น กล่าวสรุปไว้ว่า เปิ่นโถวกง และต้าเป๋อกง เป็นเทพองค์เดียวกัน และเป็นเทพที่นักเดินเรือในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) กราบไหว้กัน โดยมีชื่อเดิมว่า โตงกง แต่ที่ปีนังชาวพื้นเมืองเรียกเทพองค์นี้ว่า เปิ่นโถวกง  ฟิลิปปินส์เรียกเทพองค์นี้ว่า เปิ่นโถวกัง

ซวื่อวิ๋นเฉียว มีความเห็นว่าเทพเปิ่นโถวกงเป็นองค์เดียวกันกับต้าเป๋อกง และชื่อดังกล่าวเป็นเพียงตำแหน่งเทพผู้ดำรงตำแหน่งนี้จะแตกต่างกันไปตามบุคคล เวลา และสถานที่ เทพองค์นี้เป็นเทพที่มีความสัมพันธ์กับเจ้าที่มากที่สุด เขากล่าวว่า เปิ่นโถวกง นั้น เป็นชื่อเรียกที่กลายเสียงมาจาก ถู่ตี้กง หรือ เจ้าที่ และมีฐานะทางเทพเท่ากับต้าเป๋อกง ผู้ดำรงตำแหน่งนี้จะเป็นใครไม่อาจจะทราบได้ หรืออาจจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของบรรพบุรุษของชาวจีนโพ้นทะเลเท่านั้นก็ได้

เทียนกวนซื่อ ก็มีความเห็นว่าเทพเปิ่นโถวกง และ ต้าเป๋อกง มีความสัมพันธ์กัน เขากล่าวว่า ต้าเป๋อกง ได้กลายมาจากเปิ่นโถวกง ชาวแต้จิ๋วเรียกเทพองค์นี้ว่า เปิ่นโถว ซึ่งหมายถึง เปิ่นตี้ หรือที่ดั้งเดิม หรือโถวมู่ ซึ่งแปลว่าหัวหน้าในสถานที่นั้นๆ จึงทำให้บางคนเรียกย่อๆ ว่า ตี้โถว และเมื่อผู้เป็นใหญ่ในเขตนั้นๆ หรือผู้นำในเขตนั้นๆ ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่เขตปกครองมากมาย เมื่อตายไปแล้วก็ถูกยกย่องให้เป็นเทพ จึงเรียกว่า เปิ่นโถวกง ซึ่งหมายความว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งเขต นั่นเอง

ชาวจีนในกรุงเทพฯ นับถือเปิ่นโถวกงมาก ศาลต่างๆ ที่เราพบอยู่ในตลาดหรือแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวจีนนั้น หากไม่ตั้งเปิ่นโถวกงไว้เป็นเทพประธานในศาล ก็ต้องตั้งเป็นเทพชั้นรอง ในตลาดสดทั้งหลายส่วนมากจะตั้งเทพเปิ่นโถวกงไว้เป็นเทพประธาน เพื่อจะได้ช่วยปกป้องความร่มเย็นและการค้าเจริญรุ่งเรือง ศาลเจ้าของเทพองค์นี้จะมีอาคารใหญ่แบบซื้อเหอเอี้ยน เช่น ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้าก๋งที่ถนนทรงวาด หรืออาคารที่เล็กขนาดกว้างเพียงห้องเดียว เช่น ศาลเจ้าปุนเถ่ากง ที่ซอยเสนานิคม ๑ เป็นต้น

รูปเคารพของเปิ่นโถวกงอาจจะเป็นไม้สลัก หรือเป็นแผ่นไม้ที่เขียนตัวอักษรจีนบอกความหมายว่าเป็นสถานที่สถิตของเทพปุนเถ่ากงก็ได้

สำหรับความเป็นมาของเทพปุนเถ่ากงนี้ ชาวจีนผู้สูงอายุทั้งหลายต่างมีความเห็นแตกต่างกันออกไป บ้างก็กล่าวว่าในมณฑลกวางตุ้งและฮกเกี้ยนนั้นต่างก็มีเทพประจำท้องที่อยู่ทุกแห่งเรียกว่า ตี้โถว หรือที่เรียกว่า ตี้โถวกง ชาวแต้จิ๋วเรียกกันโดยทั่วๆ ไปว่า ตี่เถ่าเล่าเอี้ย หรือเทพผู้เป็นใหญ่ในที่นั้นๆ หน้าที่ของเทพองค์นี้คือ ดูแลความทุกข์สุขของประชาชนในแต่ละเขต ชาวจีนแม้จะอพยพมาอยู่ยังที่อื่นก็ยังยึดมั่นในความเชื่อดั้งเดิมนี้อยู่ จึงได้ใช้ไม้สลักเป็นรูปเคารพมากราบไหว้บูชา ในความหมายว่าเป็นรูปเคารพของเทพผู้เป็นใหญ่แห่งเขตนั้นๆ แล้ว ต่อมาชื่อนี้ได้เรียกอย่างง่ายๆ ว่า เปิ่นโถวกง เทพองค์นี้มีผู้กราบไหว้กันทั่วไปในเมืองแต้จิ๋วและเรียกกันว่า ตี้โถวกง

จากคำกล่าวนี้ก็อาจทำให้เราสรุปได้ว่า เทพปุนเถ่ากงนั้นที่แท้เป็นเทพประจำท้องถิ่นนั่นเอง

ศาลเจ้าปุนเถ่ากงในกรุงเทพฯ ที่นับว่าเป็นศาลเจ้าที่รู้จักกันกว้างขวางและมีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ของชาวจีนแต้จิ๋ว ได้แก่ ศาลเจ้าเก่าหรือศาลเจ้าเล่าปุนเถ่ากง ที่ถนนทรงวาด รูปเคารพปุนเถ่ากงส่งตรงมาจากเมืองแต้จิ๋ว ซึ่งสิ่งนี้ย่อมเป็นหลักฐานแสดงให้รู้ว่าที่เมืองแต้จิ๋วมีการนับถือเทพองค์นี้ด้วย

เทพปุนเถ่ากงที่ชาวจีนกราบไหว้กันในกรุงเทพฯ มีทั้งที่ประดิษฐานไว้เป็นเทพประธานในศาลและเทพชั้นรอง ศาลเจ้าที่ประดิษฐานเทพปุนเถ่ากงเป็นเทพประธานในศาลนั้น ดูจะมีเพียงศาลของชาวจีนแต้จิ๋วและชาวจีนฮกเกี้ยน ดังนี้
     ๑.ศาลเจ้าจี้หนันเมี้ยว (ศาลเจ้าตึกดิน) (ค.ศ.๑๗๘๖) ประดิษฐานเทพปุนเถ่ากงอยู่บนแท่นบูชาเดียวกับเจ้าแม่กวนอิม เทพฟ้าดิน พระเจ้าตากสิน และเทพกวนอู (ฮกเกี้ยน)
     ๒.ศาลเจ้าเล่าปุนเถ่ากง ที่ซอยตากสิน ๑ (ค.ศ.๑๘๕๔) (ฮกเกี้ยน)
     ๓.ศาลเจ้าบ้านหม้อ (ค.ศ.๑๘๑๖) (แต้จิ๋ว)
     ๔.ศาลเจ้าสูง (ค.ศ.๑๘๕๑) (แต้จิ๋ว)
     ๕.ศาลเจ้าเก่าถนนทรงวาด (ค.ศ.๑๘๑๘) (แต้จิ๋ว)
     ๖.ศาลเจ้าบางกอกน้อย (ค.ศ.๑๙๑๗) (แต้จิ๋ว) (ศาลนี้มีประวัติมาว่าสร้างมากกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานในศาล ซ่อมต้นปี ค.ศ.๑๙๘๙ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นศาลเจ้าเล่าปุนเถ่ากง)
     ๗.ศาลเจ้าบ้านหม้อ (ค.ศ.๑๙๗๗ สร้างใหม่) (แต้จิ๋ว)

แต่ในศาลเจ้าของชาวจีนไหหลำและจีนแคะนั้น ยังไม่ปรากฏว่าได้มีการประดิษฐานเทพองค์นี้เป็นเทพประธานในศาลแต่อย่างใด  ดังนั้น จึงทำให้เราทราบว่าชาวแต้จิ๋วและชาวฮกเกี้ยนคงมีความเชื่อในเทพปุนเถ่ากงมากกว่าชาวจีนภาษาอื่นๆ เทพองค์นี้มีลักษณะของรูปเคารพที่ไม่เหมือนกันในทุกศาลเจ้า เช่น มีทั้งที่แต่งกายแบบขุนนางฝ่ายบุ๋น บ้างก็แต่งกายแบบขุนนางฝ่ายบู๊ มีหนวด มือขวาถือหยูอี้ ที่ศาลเจ้าสมัยเก่า เช่น ศาลเจ้าตึกดิน ศาลเจ้าสูง ศาลเจ้าบ้านหม้อ เป็นต้น

รูปเทพปุนเถ่ากงจะส่งตรงมาจากประเทศจีน และจะมีลักษณะดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ปัจจุบันที่พบในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นรูปเคารพที่ทำขึ้นใหม่นั้นก็มักจะเลียนแบบรูปเคารพเดิม แต่ลักษณะของเทพอาจจะเปลี่ยนไปจากท่ายืนเป็นท่านั่ง ในศาลเจ้าชาวจีนไหหลำมักจะไม่นิยมทำรูปเคารพปุนเถ่ากง แต่จะใช้แผ่นไม้มาเขียนเป็นชื่อเทพไว้เท่านั้น และปุนเถ่ากงที่ชาวไหหลำนับถือนั้นมีรวมทั้งสิ้น ๓ องค์

เทพองค์นี้มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนสมัยโบราณมาก เนื่องจากช่วยดูแลความทุกข์สุขของประชาชนในเขตหนึ่งๆ ดังนั้น ไม่ว่าครอบครัวใดจะมีใครคลอดบุตร หรือมีผู้ถึงแก่กรรม สมาชิกในบ้านนั้นๆ ก็ต้องมาจุดธูปบอกกล่าวเทพปูนเถ้าก๋งเสียก่อน

สำหรับชาวจีนในเมืองไทยที่อพยพเข้ามาในรุ่นแรกๆ นั้น มีความรักในประเทศจีนมาก แม้ว่าในช่วงที่พวกเขามีชีวิตอยู่ไม่มีโอกาสได้กลับไปประเทศจีน เมื่อตายแล้วก็หวังที่จะให้บุตรหลานนำศพกลับไปฝังยังเมืองจีน และก่อนที่จะเคลื่อนศพออกไปก็ต้องไปจุดธูปบอกกล่าวเทพปุนเถ่ากงเสียก่อน แล้วจึงจะไปบอกกล่าวเทพเฉิงหวง (เซียอึ้ง)

ในปัจจุบันนี้ แม้เทพปุนเถ่ากงจะมิได้มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนเหมือนสมัยก่อน แต่ความเคารพต่อเทพองค์นี้ของชาวจีนมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าสมัยแต่ก่อนเลย เทพปุนเถ่ากงได้วิวัฒนาการจากเทพประจำกลุ่มภาษาหนึ่งมาเป็นเทพที่ชาวจีนทุกกลุ่มภาษานิยมนับถือกราบไหว้ และเมื่อใดที่มีการสร้างศาลใหม่ในชุมชนของชาวจีนแต่ละเขต ก็มักจะตั้งปุนเถ่ากงไว้เป็นเทพประธานของศาลเสมอ ศาลเทพปุนเถ่ากงนี้พบในหลายจังหวัดในภาคกลาง


ข้อมูล: เทพปุนเถ่ากง หนังสือสารานุกรมไทย ภาคกลาง เล่ม ๖, มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์
3170  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท) เมื่อ: 21 เมษายน 2559 14:56:17

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๙
(พระวินัยข้อที่ ๓๘)
ภิกษุทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ คือของที่เขาใช้เป็นทองและเงิน
ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    พระฉัพพัคคีย์ถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ ชาวบ้านเพ่งโทษติเตียน  
     ภิกษุทั้งหลายได้ยิน...จึงกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

     -ที่ชื่อว่า มีประการต่างๆ คือ เป็นรูปพรรณบ้าง ไม่เป็นรูปพรรณบ้าง เป็นทั้งรูปพรรณ และมิใช่รูปพรรณบ้าง
     -ที่ชื่อว่า เป็นทั้งรูปพรรณ ได้แก่ เครื่องประดับต่างๆ ที่ชื่อว่า ไม่เป็นรูปพรรณ คือ ที่เรียกกันว่าเป็นแท่ง, ที่ชื่อว่า เป็นทั้งรูปพรรณและมิใช่รูปพรรณ ได้แก่ของ ๒ อย่างนั้น
     -ที่ชื่อว่า รูปิยะ ได้แก่ ทองคำ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยสิ่งต่างๆ ซึ่งใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้
     -ถึงความซื้อขาย คือ เอาของที่เป็นรูปพรรณซื้อของที่เป็นรูปพรรณ, เอาของที่ยังไม่เป็นรูปพรรณ ซื้อของที่เป็นรูปพรรณ เป็นต้น  การซื้อขายดังกล่าวมาล้วนเป็นนิสสัคคีย์ทั้งสิ้น ของที่ซื้อขายด้วยรูปิยะซึ่งเป็นนิสสัคคีย์นั้น ต้องเสียสละในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุพึงเสียสละของนั้นอย่างนี้

วิธีเสียสละของที่ซื้อขายด้วยรูปิยะ
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ ของสิ่งนี้ของข้าพเจ้า เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละของสิ่งนี้แก่สงฆ์”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ ถ้าคนทำการวัดหรืออุบาสกเดินมาในสถานที่เสียสละนั้น พึงบอกเขาว่า ท่านจงรู้ของสิ่งนี้ ถ้าเขาถามว่าจะให้นำของสิ่งนี้ไปหาอะไรมา อย่าบอกว่า จงนำของสิ่งนี้หรือของสิ่งนี้มา ควรบอกแต่ของที่เป็นกัปปิยะ เช่น เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย ถ้าเขานำเอาสิ่งนั้นไปแลกของที่เป็นกัปปิยะมาถวาย เว้นภิกษุผู้ซื้อขายด้วยรูปิยะ ภิกษุนอกนั้นฉันได้ทุกรูป ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้พึงบอกเขาว่า โปรดช่วยทิ้งของสิ่งนี้ ถ้าเขาทิ้งให้ นั้นเป็นการดี ถ้าไม่ทิ้งให้ พึงสมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ
     -องค์ ๕ ของภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ วิธีสมมติภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ และคำสมมติ พึงทราบตามสิกขาบทที่ ๘

อาบัติ
     ๑.รูปิยะ ภิกษุรู้ว่าเป็นรูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๒.รูปิยะ ภิกษุสงสัย ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.รูปยะ ภิกษุคิดว่า มิใช่รูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.มิใช่รูปิยะ ภิกษุคิดว่าเป็นรูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๕.มิใช่รูปิยะ ภิกษุสงสัย ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๖.มิใช่รูปิยะ ภิกษุรู้ว่ามิใช่รูปิยะ ซื้อขายรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๗.มิใช่รูปิยะ ภิกษุคิดว่าเป็นรูปิยะ ต้องทุกกฎ
     ๘.มิใช่รูปิยะ ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
     ๙.มิใช่รูปิยะ ภิกษุรู้ว่ามิใช่รูปิยะ ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุวิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๙๖๕-๙๗๐
     ๑.พวกภิกษุฉัพพัคคีย์มองไม่เห็นโทษในการแลกเปลี่ยนด้วยทองและเงินที่ตนรับไว้แล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามการรับอย่างเดียว จึงกระทำ (การแลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะ)
     ๒.บรรดาวัตถุที่กล่าวแล้วในสิกขาบทก่อน เมื่อภิกษุซื้อขายนิสสัคคิยวัตถุ (ของที่ใช้รูปิยะซื้อเป็นของที่พึงสละทิ้ง) ด้วยนิสสัคคิยวัตถุ (รูปิยะ) เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ด้วยสิกขาบทก่อน (สิกขาบทที่ ๘) ในเพราะการรับมูลค่า (รับรูปิยะ), ในเพราะการซื้อขายของอื่นๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยสิกขาบทนี้แล, แม้เมื่อซื้อขายทุกกฎวัตถุ หรือกัปปิยวัตถุ ด้วยนิสสัคคิยวัตถุ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน
         -ก็เมื่อภิกษุซื้อขายวัตถุแห่งนิสสัคคีย์ด้วยวัตถุแห่งทุกกฎ เป็นทุกกฎด้วยสิกขาบทก่อน ในเพราะการรับมูลค่านิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยสิกขาบทนี้ ในเพราะแลกเปลี่ยนในภายหลัง เพราะซื้อขายของหนัก เมื่อซื้อขายทุกกฎวัตถุนั้นแหละ (มิใช่รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าเป็นรูปิยะ เป็นทุกกฎเป็นต้น) หรือกัปปิยวัตถุด้วยวัตถุแห่งทุกกฎ เป็นทุกกฎด้วยสิกขาบทก่อนในเพราะการรับมูลค่า เป็นทุกกฎเช่นกันด้วยสิกขาบทนี้ แม้ในเพราะการแลกเปลี่ยนภายหลัง เพราะซื้อขายด้วยอกัปปิยวัตถุ
         -สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาการซื้อขายรูปิยะและสิ่งมิใช่รูปิยะ และสิ่งมิใช่รูปิยะด้วยรูปิยะ และการซื้อขายรูปิยะด้วยสิ่งมิใช่รูปิยะ ส่วนการซื้อขายวัตถุแห่งทุกกฎด้วยวัตถุแห่งทุกกฎ มิได้ตรัสไว้ในบาลีในสิกขาบทนี้ และมิได้ตรัสไว้ในกยวิกกยสิกขาบท (สิกขาบทที่ ๑๐ แห่งโกสิยวรรค) นั้นเลย ก็ในการซื้อขายวัตถุแห่งทุกกฎด้วยวัตถุแห่งทุกกฎนี้ ไม่ควรจะเป็นอนาบัติ, เพราะฉะนั้นพวกอาจารย์ผู้รู้พระประสงค์แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้กล่าวคำว่า ในเพราะรับวัตถุแห่งทุกกฎเป็นทุกกฎ ฉันใด  แม้ในเพราะซื้อขายวัตถุแห่งทุกกฎนั้นด้วยวัตถุแห่งทุกกฎนั้นนั่นแลเป็นทุกกฎ ก็ชอบแล้วฉันนั้นเหมือนกัน
         อนึ่ง เมื่อภิกษุซื้อขายวัตถุด้วยนิสสัคคีย์ ด้วยกัปปิยวัตถุ เป็นอาบัติด้วยสิกขาบทก่อน ในเพราะการรับมูลค่า, เป็นนิสสัคคีย์ด้วยสิกขาบทนี้ ในเพราะแลกเปลี่ยนภายหลัง สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุมีความสำคัญในสิ่งมิใช่รูปิยะ ว่าไม่ใช่รูปิยะ ซื้อขายรูปิยะเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์, เมื่อภิกษุซื้อขายวัตถุแห่งทุกกฎด้วยกัปปิยวัตถุนั่นแหละ ไม่เป็นอาบัติ เหมือนอย่างนั้นในเพราะการรับมูลค่า, เป็นทุกกฎด้วยสิกขาบทนี้ ในเพราะการแลกเปลี่ยนภายหลัง (จากรับรูปิยะแล้ว) เพราะเหตุไร? เพราะซื้อขายสิ่งเป็นอกัปปิยะ
         เมื่อภิกษุแลกเปลี่ยนกัปปิยวัตถุ นอกจากพวกสหธรรมิก ไม่เป็นอาบัติด้วยสิกขาบทก่อน ในเพราะการรับมูลค่า เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยกยวิกกยสิกขาบทที่จะปรากฏข้างหน้า เพราะการแลกเปลี่ยนภายหลัง, เมื่อภิกษุถือเอาการซื้อขายไป ไม่เป็นอาบัติ แม้โดยสิกขาบทข้างหน้า แต่เป็นทุกกฎแก่ภิกษุผู้ประการหาผลกำไร
     ๓.ภิกษุใด รับเอารูปิยะ แล้วจ้างให้เร่งขุดแร่เหล็กขึ้นด้วยรูปิยะนั้น ให้ช่างเหล็กถลุงแร่เหล็กนั้นแล้ว ให้ทำบาตรด้วยโลหะนั้น, บาตรนี้ชื่อว่า เป็นมหาอกัปปิยะ ภิกษุนั้นไม่อาจทำให้เป็นกัปปิยะได้ด้วยอุบายใดๆ ก็ถ้าว่าทำลายบาตรนั้นแล้ว ให้ช่างทำเป็นกระถาง แม้กระถางนั้นก็เป็นอกัปปิยะ ให้กระทำมีด แม้ไม้สีฟันที่ตัดด้วยมีดนั้น ก็เป็นอกัปปิยะ ให้กระทำเบ็ด แม้ปลาที่เขาทำให้ตายด้วยเบ็ดนั้นก็เป็นอกัปปิยะ, ภิกษุให้ช่างเผาตัวมีดให้ร้อน แช่น้ำหรือนมสดให้ร้อน แม้น้ำและนมสดนั้นก็เป็นอกัปปิยะเช่นกัน
         ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ก็ภิกษุใด รับรูปิยะแล้วซื้อบาตรด้วยรูปิยะนั้น แม้บาตรนี้ของภิกษุนั้นก็เป็นอกัปปิยะ ไม่สมควรแม้แก่สหธรรมมิกทั้ง ๕ แต่ภิกษุนั้นอาจทำบาตรนั้นให้เป็นกัปปิยะได้ ต่อเมื่อให้มูลค่าแก่เจ้าของมูลค่า และเมื่อให้บาตรแก่เจ้าของบาตร ภิกษุจะให้กัปปิยภัณฑ์แล้วรับเอาไปใช้สอย สมควรอยู่
     ๔.ฝ่ายภิกษุใด ให้รับเอารูปิยะไว้แล้ว ไปยังตระกูลช่างเหล็กกับด้วยกัปปิยการก เห็นบาตรแล้วพูดว่า บาตรนี้เราชอบใจ และกัปปิยการกให้รูปิยะนั้นแล้ว ให้ช่างเหล็กตกลง แม้บาตรใบนี้ อันภิกษุนั้นถือเอาโดยกัปปิยโวหาร เป็นเช่นกับบาตรใบที่ ๒ นั่นเอง จัดเป็นอกัปปิยะเหมือนกัน เพราะภิกษุรับมูลค่า
         ถามว่า เพราะเหตุไรจึงไม่สมควรแก่สหธรรมิกที่เหลือ? แก้ว่า เพราะไม่เสียสละมูลค่า
         อนึ่ง ภิกษุใดไม่รับรูปิยะ ไปยังตระกูลช่างเหล็กพร้อมกับกัปปิยการกที่ทายกส่งมาว่า ท่านจงซื้อบาตรถวาย พระเถระเมื่อเห็นบาตรนั้นแล้ว ให้กัปปิยการกจ่ายกหาปณะว่า เธอจงรับเอากหาปณะเหล่านี้แล้วให้บาตรนี้แล้วได้ถือเอาไป บาตรนี้ไม่ควรแก่ภิกษุรูปนี้เท่านั้น เพราะจัดการไม่ชอบ, แต่ควรแก่ภิกษุเหล่าอื่น เพราะไม่ได้รับมูลค่า
         ได้ทราบว่า อุปัชฌาย์ของพระมหาสุมเถระ มีชื่อ อนุรุทธเถระ ท่านบรรจุบาตรเห็นปานนี้ของตนให้เต็มด้วยเนยใสแล้วสละแก่สงฆ์ พวกสัทธิวิหาริกของพระจุลนาคเถระผู้ทรงไตรปิฎกก็ได้มีบาตรเช่นนั้นเหมือนกัน พระเถระสั่งให้บรรจุบาตรนั้นให้เต็มด้วยเนยใสแล้วให้เสียสละแก่สงฆ์ ดังนี้แล
         ก็ถ้าว่า ภิกษุไม่รับรูปิยะ ไปสู่ตระกูลช่างเหล็กพร้อมด้วยกัปปิยการกที่ทายกสั่งมาว่า เธอจงซื้อบาตรถวายพระเถระๆ เห็นบาตรแล้วกล่าวว่า บาตรนี้เราชอบใจ หรือว่าเราจักเอาบาตรนี้ และกัปปิยการกจ่ายรูปิยะนั้นไปแล้ว ให้ช่างเหล็กยินยอมตกลง บาตรนี้สมควรทุกอย่าง ควรแก่การบริโภคแห่งพระพุทธะทั้งหลาย
     ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓
         ๖.วิธีปฏิบัติในเรื่องเงินและทองที่มีผู้ถวาย
         ถ้าใครๆ นำเอาทองและเงินมากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายทองและเงินนี้แก่สงฆ์ ท่านทั้งหลายจงสร้างอาราม วิหาร เจดีย์ หรือหอฉัน เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ภิกษุจะรับทองและเงินแม้นี้ ไม่ควร,  ในมหาปัจจรีกล่าวว่าเป็นทุกกฏแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ถ้าเมื่อภิกษุปฏิเสธว่า ภิกษุทั้งหลายจะรับทองและเงินนี้ เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกช่างไม้หรือพวกกรรมการ ท่านทั้งหลายจงรับทราบการงานที่เขาทำดีและไม่ดีอย่างเดียว แล้วมอบไว้ในมือของพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกรเหล่านั้น แล้วหลีกไป จะรับก็ควร, ถ้าแม้นเขากล่าวว่าทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกคนของผมเอง หรือจักอยู่ในมือของผมเอง ท่านพึงส่งข่าวไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้ที่เราจะต้องให้ทองและเงินเขาอย่างเดียว แม้อย่างนี้ก็ควร ก็ถ้าว่าพวกเขาไม่ระบุสงฆ์ คณะ หรือบุคคล กล่าวว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายเงินและทองนี้แก่เจดีย์ ถวายแก่วิหาร ถวายเพื่อก่อสร้าง ดังนี้ จะปฏิเสธไม่สมควร พึงบอกแก่พวกกัปปิยการกว่า ชนพวกนี้กล่าวคำนี้ แต่เมื่อเขากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงรับเก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่เจดีย์เป็นต้นเถิด พึงปฏิเสธว่า การที่พวกเรารับไว้ ไม่สมควร
         แต่บางคนนำเอาเงินและทองมากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายเงินและทองนี้แกสงฆ์ ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิด ถ้าสงฆ์รับเงินและทองนั้น เป็นอาบัติ ทั้งเพราะรับ ทั้งเพราะบริโภค, ถ้าบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปหนึ่งปฏิเสธว่า สิ่งนี้ไม่ควร อุบาสกกล่าวว่า ถ้าไม่ควรจักเป็นของผมเสียเอง ดังนี้แล้วไป, ภิกษุนั้น อันภิกษุบางรูปไม่พึงกล่าวคำอะไรๆ ว่า เธอทำอันตรายลาภของสงฆ์ เพราะภิกษุใดโจทเธอ ภิกษุนั้นเองเป็นผู้มีอาบัติติดตัว เพราะเธอรูปเดียวกระทำภิกษุเป็นอันมากไม่ให้เป็นอาบัติ, ก็ถ้าว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายปฏิเสธว่า ไม่ควร เขากล่าวว่า จักอยู่ในมือของพวกกัปปิยการก หรือจักอยู่ในมือของพวกคนของผม หรือในมือของผม ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้น ดังนี้สมควรอยู่
         เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จตุปัจจัย พึงน้อมไปเพื่อปัจจัย ๔ ที่ต้องการ เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จีวร พึงน้อมไปในจีวรเท่านั้น ถ้าว่าไม่มีความต้องการจีวรนั้น หากสงฆ์ลำบากด้วยปัจจัย มีบิณฑบาตเป็นต้น พึงอปโลกน์เพื่อความเห็นดีแห่งสงฆ์แล้วน้อมไปเพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตเป็นต้น แม้ในอกัปปิยวัตถุที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตและคิลานปัจจัย ก็มีนัยนี้
         อนึ่ง อกัปปิยวัตถุที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ พึงน้อมไปในเสนาสนะเท่านั้น เพราะเสนาสนะเป็นครุภัณฑ์ ก็ถ้าว่า เมื่อพวกภิกษุทิ้งเสนาสนะไป เสนาสนะจะเสียหาย ในกาลเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย แม้จำหน่ายเสนาสนะแล้ว บริโภคปัจจัยได้
         เพราะฉะนั้น เพื่อรักษาเสนาสนะไว้ ภิกษุอย่ากระทำให้ขาดมูลค่า (ไม่มีราคา) พึงบริโภคพอยังอัตภาพให้เป็นไป และมิใช่แต่เงินทองอย่างเดียวเท่านั้น แม้อกัปปิยวัตถุอื่น มีนาและสวนเป็นต้น ภิกษุก็ไม่ควรรับ
     ๗.วิธีปฏิบัติในบึงและสระน้ำที่มีผู้ถวาย
         ถ้าใครๆ กล่าวว่า บึงใหญ่ให้สำเร็จข้าวกล้า ๓ ครั้ง ของข้าพเจ้ามีอยู่, ข้าพเจ้าขอถวายบึงใหญ่นั้นแก่สงฆ์, ถ้าสงฆ์รับบึงใหญ่นั้น เป็นอาบัติทั้งในการรับ ทั้งในการบริโภคเหมือนกัน, แต่ภิกษุใดปฏิเสธบึงใหญ่นั้น ภิกษุนั้นอันภิกษุบางรูปไม่ควรว่ากล่าวอะไรๆ โดยนัยก่อนเหมือนกัน เพราะว่าภิกษุใดโจทเธอ ภิกษุนั้นเองมีอาบัติติดตัว เพราะเธอรูปเดียวได้ทำให้ภิกษุมากรูปไม่ต้องอาบัติ
         ผู้ใดแม้กล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายบึงใหญ่เช่นนั้นเหมือนกัน ถูกพวกภิกษุปฏิเสธว่า ไม่ควร ถ้าเขายังกล่าวว่า บึงโน้นและบึงโน้นของสงฆ์ทำไมมีอยู่ล่ะ บึงนั้นสงฆ์มีได้อย่างไร? พึงบอกเขาว่า เขาจักทำให้เป็นกัปปิยะแล้วถวายกระมัง?  เขาถามว่า อย่างไรจึงจะเป็นกัปปิยะ? พึงกล่าวว่า เขากล่าวถวายว่า ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิด  ดังนี้ ถ้าเขากล่าวว่า ดีละ ขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิด ดังนี้ควรอยู่
         ถ้าแม้นเขากล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายจงรับบึงเถิด ถูกพวกภิกษุทั้งหลายห้ามว่า ไม่ควร แล้วถามว่า กัปปิยการกมีอยู่หรือ? เมื่อภิกษุตอบว่าไม่มี จึงกล่าวว่า คนชื่อโน้นจักจัดการบึงนี้ หรือว่าจักอยู่ในความดูแลของคนโน้น หรือในความดูแลของข้าพเจ้า ขอสงฆ์จงบริโภคกัปปิยภัณฑ์เถิด ดังนี้จะรับควรอยู่, ถ้าแม้นว่าทายกนั้นถูกปฏิเสธว่า ไม่ควร แล้วกล่าวว่า คนทั้งหลายจักบริโภคน้ำ จักซักล้างสิ่งของพวกเนื้อและนกจักดื่มกิน, การกล่าวอย่างนี้ก็สมควร
         ถ้าทายกถูกพวกภิกษุปฏิเสธว่า ไม่ควร แล้วยังกล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายจงรับโดยมุ่งถึงของสมควรเป็นใหญ่เถิด ภิกษุจะกล่าวว่า ดีละ อุบาสก สงฆ์จักดื่มน้ำ จักซักล้างสิ่งของ พวกเนื้อและนก จักดื่มกิน ดังนี้แล้วบริโภคอยู่ แม้หากว่าเมื่อทายกกล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายบึง หรือสระโบกขรณีแก่สงฆ์ ภิกษุจะกล่าวคำเป็นต้นว่า ดีละ อุบาสก สงฆ์จักดื่มน้ำ แล้วบริโภคใช้สอย สมควรเหมือนกัน
         ก็ถ้าพวกภิกษุขอหัตถกรรมและขุดกัปปิยปฐพีด้วยมือของตนเอง ให้สร้างสระน้ำเพื่อต้องการใช้น้ำ, ถ้าพวกชาวบ้านอาศัยสระน้ำนั้นทำข้าวกล้าให้สำเร็จแล้วถวายกัปปิยภัณฑ์ในวิหาร ควรอยู่, ถ้าแม้นว่าพวกชาวบ้านนั่นแหละ ขุดพื้นที่ของสงฆ์เพื่อต้องการอุปการะแก่สงฆ์ แล้วถวายกัปปิยภัณฑ์จากข้าวกล้าที่อาศัยสระน้ำนั้นสำเร็จแล้ว แม้นี้ก็สมควร, ก็เมื่อเขากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงตั้งกัปปิยการกให้พวกผมคนหนึ่ง แม้ภิกษุจะตั้งก็ได้
         อนึ่ง ถ้าพวกชาวบ้านนั้นถูกราชพลีรบกวนพากันหนีไป, ชาวบ้านพวกอื่นจักทำนาเป็นต้น แต่ไม่ถวายอะไรๆ แก่ภิกษุทั้งหลายเลย, พวกภิกษุจะหวงห้ามน้ำก็ได้ ก็แลการหวงน้ำนั้น ย่อมได้ในฤดูทำนาเท่านั้น ไม่ใช่ในฤดูข้าวกล้า (กำลังงอกงามแล้ว) ถ้าพวกชาวบ้านกล่าวว่า ท่านขอรับ แม้เมื่อก่อนพวกชาวบ้านได้อาศัยน้ำนี้ทำข้าวกล้ามิใช่หรือ? เมื่อนั้นพึงบอกพวกเขาว่า พวกนั้นเขาได้กระทำอุปการะอย่างนี้แก่สงฆ์ และได้ถวายแม้กัปปิยะภัณฑ์อย่างนี้, ถ้าพวกเขากล่าวว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็จักถวาย อย่างนี้ก็ควร
         ก็ถ้าว่า ภิกษุบางรูปไม่เข้าใจ รับสระน้ำหรือให้สร้างสระโดยอกัปปิยโวหาร (คำพูดที่ผิดพระวินัย), สระนั้นพวกภิกษุไม่ควรบริโภคใช้สอย, แม้กัปปิยภัณฑ์ที่อาศัยสระน้ำได้มา ก็เป็นอกัปปิยะเหมือนกัน ถ้าเจ้าของมีบุตรและธิดา หรือใครๆอื่นผู้เกิดในสกุลวงศ์ของเขา ทราบว่าภิกษุทั้งหลายสละแล้ว จึงถวายด้วยกัปปิยโวหารใหม่  สระนั้น ควร,  เมื่อสกุลวงศ์ของเขาขาดสูญ ผู้ใดเป็นเจ้าของชนบทนั้น ผู้นั้นริบเอาแล้วถวายคืน เหมือนพระราชมเหสีนามว่าอนุฬา ทรงริบเอาฝายน้ำที่ภิกษุในจิตตลดาบรรพตซักมาแล้วถวายคืนฉะนั้น แม้อย่างนี้ก็ควร
         จะทำการโกยดินขึ้น และกั้นคันสระใหม่ ในสระที่รับไว้ด้วยอำนาจแห่งน้ำ แม้เป็นกัปปิยโวหาร ย่อมควรแก่ภิกษุผู้มีจิตบริสุทธิ์ แต่การที่ภิกษุเห็นพวกชาวบ้านอาศัยสระน้ำกระทำข้าวกล้าอยู่ จะตั้งกัปปิยการก ไม่ควร,  ถ้าพวกเขาถวายกัปปิยภัณฑ์เสียเอง ควรรับ,  ถ้าพวกเขาไม่ถวาย ไม่ควรทวง ไม่ควรเตือน  การที่จะตั้งกัปปิยการกในสระที่รับไว้ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ควรอยู่, แต่จะทำการโกยดินขึ้นและกั้นคันสระเป็นต้น ไม่ควร, ถ้าพวกกัปปิยการกกระทำเองเท่านั้น จึงควร,  เมื่อลัชชีภิกษุผู้ฉลาดใช้พวกกัปปิยการกทำการโกยดินขึ้นเป็นต้น สระน้ำจะเป็นกัปปิยะในเพราะการรับ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็เป็นการบริโภคไม่ดี ดุจบิณฑบาตที่เจือยาพิษ และดุจโภชนะที่เจืออกัปปิยะมังสะฉะนั้น เพราะกัปปิยภัณฑ์ที่เจือด้วยสิ่งของอันเกิดจากประโยชน์ของภิกษุเป็นปัจจัย เป็นอกัปปิยะแก่พวกภิกษุทั่วไปเหมือนกัน
         แต่ยังมีโอกาสเพื่อน้ำ ภิกษุจะจัดการเฉพาะน้ำเท่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านจงทำโดยประการที่คันของสระจะมั่นคง จุน้ำได้มาก คือ จงทำให้น้ำเอ่อขึ้นปริ่มฝั่ง ดังนี้ควรอยู่
     ๘.วิธีปฏิบัติในทาส คนวัด และปศุสัตว์ที่มีผู้ถวาย
         หากทายกกล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายทาส การถวายนั้นไม่ควร, เมื่อเขากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายคนวัด ถวายไวยาวัจกร ถวายกัปปิยการก ดังนี้จึงควร, ถ้าอารามิกชนนั้นทำการงานของสงฆ์เท่านั้น ทั้งก่อนภัตและหลังภัต ภิกษุพึงกระทำแม้การพยาบาลด้วยยาทุกอย่างแก่เขาเหมือนกับสามเณร, หากเขาทำการงานของสงฆ์ก่อนภัตเวลาเดียว ภายหลังภัตไปกระทำการงานของตน ไม่พึงให้อาหารในเวลาเย็น, แม้ชนจำพวกใดกระทำงานของสงฆ์ตามวาระ ๕ วัน หรือตามวาระปักษ์ เวลาที่เหลือทำงานของตน พึงให้ภัตและอาหารแม้แก่บุคคลพวกนั้นในเวลากระทำเท่านั้น, ถ้าการงานของสงฆ์ไม่มี พวกเขากระทำงานของตนเองเลี้ยงชีพ, ถ้าพวกเขาเอามูลค่าหัตถกรรมมาถวายพึงรับ, ถ้าพวกเขาไม่ถวายก็อย่าพึงพูดอะไรเลย การรับทาสย้อมผ้าก็ดี ทาสช่างหูกก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยชื่อว่าอารามิกชน ควรอยู่
         หากพวกทายกกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าถวายโคทั้งหลาย ดังนี้ ภิกษุพึงห้ามพวกเขาว่า ไม่สมควร, เมื่อมีพวกชาวบ้านถามว่า โคเหล่านี้ท่านได้มาจากไหน? พึงบอกเขาว่า พวกบัณฑิตถวายเพื่อประโยชน์แก่การบริโภคปัญจโครส เมื่อพวกเขากล่าวว่า แม้พวกผมก็ถวายเพื่อประโยชน์บริโภคปัญจโครส ดังนี้ควรอยู่, แม้ในปศุสัตว์มีแม่แพะเป็นต้น ก็นัยนี้แหละ
         พวกชาวบ้านกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าถวายช้าง ถวายม้า กระบือ ไก่ สุกร ดังนี้จะรับ ไม่ควร ถ้าพวกชาวบ้านบางหมู่กล่าวว่า ท่านขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด พวกผมจะรับสัตว์เหล่านี้แล้วถวายกัปปิยภัณฑ์แก่ท่านทั้งหลาย แล้วรับไป ย่อมควร, จะปล่อยเสียในป่าด้วยกล่าวว่า ไก่และสุกรเหล่านี้ จงอยู่ตามสบายเถิด ดังนี้ก็ควร, เมื่อเขากล่าวว่า พวกข้าพเจ้าถวายสระนี้ นานี้ ไร่นี้ แก่วิหาร ภิกษุจะปฏิเสธไม่ได้ ฉะนี้แล



ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ   วุฎฺฐิ สมติวิชฺฌติ
เอวํ อภาวิคํ จิตฺตํ   ราโค สมติวิชฺฌติ ฯ ๑๓ ฯ

เรือนที่มุงไม่เรียบร้อย  ฝนย่อมไหลย้อยเข้าได้
ใจที่ไม่อบรมฝึกหัด  ราคะกำหนัดย่อมครอบงำ

Even as rain into an ill-thatched house,
Even so lust penetrates an undeveloped mind..
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)
[/center]
3171  นั่งเล่นหลังสวน / สยาม ในอดีต / Re: แฝดสยามอิน-จัน เมื่อ: 21 เมษายน 2559 14:03:36
.


• แฝดสยามไปสร้างทายาทราว ๑,๕๐๐ คน ในอเมริกา

ความเดิมจากตอนที่แล้ว พี่น้องสองสาว ซาร่าห์และแอดิเลดประกาศรักจริง-หวังแต่งกับแฝดตัวติดกันจากสยามแบบไม่แยแสต่อคำครหานินทาจากสังคมรอบด้าน วางแผนจะทำวิวาห์เหาะพากันหนีไปครองรักครองเรือนให้รู้แล้วรู้รอด หากพ่อแม่ไม่เห็นชอบ

โอกาสสุดท้ายริบหรี่ที่จะได้ไฟเขียวจากนายเดวิดและนางแนนซี่ เยทส์ ในที่สุดพี่น้องสองสาวได้ขอร้องให้บาทหลวงชื่อ คอลบี้ สปาร์ค (Colby Spark) ที่พึ่งสุดท้ายเป็นผู้ไปอ้อนวอนพ่อ-แม่เป็นครั้งสุดท้าย

บาทหลวงทำหน้าที่ได้ทะลุเป้า หลังเกลี้ยกล่อมพ่อและแม่อยู่พักใหญ่ให้เห็นใจในความรักที่อยู่เหนือเหตุผลทั้งปวง เดวิดและแนนซี่ยอมรับในความรักและการแต่งงานแบบพิสดารของหนุ่มสาวทั้ง ๔ คน

ในที่สุดชัยชนะเป็นของคนรักทั้ง ๔ เรื่องรักอมตะแบบนี้ก็ต้องใช้พระนำเฉกเช่นชาวสยาม

๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๓๘๖ คือวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ ๒ หนุ่มจากเมืองแม่กลอง แฝดหนุ่มได้เข้าพิธีแต่งงานกับ ๒ สาวพี่น้องอเมริกันที่บ้านของเจ้าสาว คู่รักทั้ง ๔ คนได้ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรค ขวากหนาม สร้างความรัก ความเข้าใจมานาน ๔ ปี เพื่อที่จะเป็นของกันและสมปรารถนาในที่สุด

ผู้เขียนไม่ทราบว่าใน พ.ศ.๒๓๘๖ มีประเพณีสงกรานต์ในสยามหรือไม่ แต่วันที่แฝดสยามแต่งงานตรงกับวันสงกรานต์

พิธีแต่งงานโดยบาทหลวงพ่อสื่อรักที่ชื่อ คอลบี้ สปาร์ค เป็นไปอย่างรวบรัด เป็นพิธีทางศาสนาแบบเรียบง่าย และเป็นไปตามตัวบทกฎหมายทุกประการ ความรักชนะทุกสิ่ง ในที่สุดโลกต้องจารึกว่าเป็นการแต่งงานระหว่าง นายเอ็ง บังเกอร์ กับ นางสาวซาร่าห์ แอน เยทส์ นายจัน บังเกอร์ กับ นางสาวแอดิเลด เยทส์

ในหนังสือของต่างประเทศ ที่บันทึกเรื่องราวของแฝดสยามจะเรียกว่า Eng (อิน) Chang (จัน) นะครับ

และคำว่าบังเกอร์ (Bunker) เป็นนามสกุลของแฝดที่ขอใช้นามสกุลเพื่อนรักชาวอเมริกันตอนที่ขอโอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันก่อนหน้านี้

มีแขกเหรื่อ เพื่อนที่เข้าใจ เห็นใจเพื่อนมาร่วมในพิธีแต่งงานพอสมควร ถือได้ว่าเวลาในอนาคตของคนรักทั้ง ๔ จะเป็นเครื่องพิสูจน์คำสบประมาท คำครหาทั้งหลาย

คำพูดใดๆ ก็ไม่มีความหมายเมื่อมีความรัก แฝดหนุ่มอิน-จัน ตัวติดกันจากสยามใช้ชีวิตในอเมริกามานาน ๑๔ ปี (มาถึงอเมริกา เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๒) เป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ทำไร่ยาสูบ โอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกัน มีบ้านหรู มีเงินจากการทำมาหาเลี้ยงชีพ วันนี้มีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นตัวเป็นตน เฉกเช่นคนอื่นๆ ได้เหมือนกัน ใครจะทำไม?

แฝดสยาม (Siamese Twins) ตัวติดกันผู้สร้างตำนานรักกึกก้องโลกแต่งงานเมื่ออายุ ๓๒ ปี

หนังสือพิมพ์ในท้องถิ่น รวมทั้งจากรัฐใกล้เคียง เมื่อทราบข่าวการแต่งงานที่เกิดขึ้นจริงท่ามกลางเสียงติเตียน ต่างก็พากันบรรเลงสีสันบรรยายข่าว เล่าข่าวกันแบบหลุดโลก สังคมอเมริกันติดตามข่าวการแต่งงานแฝดสยามอย่างหิวกระหาย

บ้านของแฝดอิน-จัน ที่สร้างขึ้นมาก่อนนั้น เป็นเรือนหอที่สร้างรอรักมานาน สื่อมวลชนทั้งหลายแย่งกันเล่นข่าวแบบเมามัน ถ้อยคำวาบหวามร้อนแรงเหมือนไปเห็นมากับตา ถึงขนาดบรรยายว่า

เตียงสำหรับ ๒ คู่ชู้ชื่น ที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน ๔ คนเสมอนั้น เป็นเตียงขนาดพิเศษที่เสริมความมั่นคงแล้ว (super-sized reinforced bed)

ท่านผู้อ่านที่เคารพคงไม่ปฏิเสธนะครับ ว่าเค้าต้องนอนรวมกัน ๔ คน เตียงมันก็ต้องแข็งแรง และใหญ่เป็นพิเศษหน่อย แล้วเค้าทั้ง ๔ คนเป็นสามีภรรยากัน ไม่ใช่ที่นอนทารกจะมานอนกินนม

ในที่สุดเมื่อบุคคลทั้ง ๔ ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว และทำตามกฎหมายทุกประการ เพื่อนบ้านชาวเมืองก็ทำได้แต่เพียงติฉินนินทา ซึ่งต้องขอใช้ศัพท์ว่ายังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาแบบด่าไม่เลิก แต่การวิพากษ์วิจารณ์จะออกไปในแนวของการล้อเลียน ติดตลก ขำขัน

คําว่า Siamese Twins เพิ่มน้ำหนักการรับรู้ให้กับสังคมในอเมริกาเป็นทวีคูณ หนังสือพิมพ์จากรัฐต่างๆ ในอเมริกา เดินทางมาสัมภาษณ์ มาทำสกู๊ปข่าวกันอย่างต่อเนื่องด้วยความรู้สึกว่า แฝดตัวติดกันคู่นี้มีหัวนอนปลายตีนเช่นไร และเหตุไฉนสองสาวน้อยแห่งแทรปฮิลจึงยินยอมที่จะใช้ชีวิตสมรสแบบพิสดารเยี่ยงนี้

ในมุมมองด้านลบต่อการสมรสของหนุ่มสาวทั้ง ๔ ก็ยังคงรบกวนจิตใจจิกกัดไม่เลิก หนังสือ The Two ของ Wallace เขียนไว้ชัดเจนว่า ความรู้สึกของเจ้าถิ่น คนขาวชาวอเมริกันตอนนั้นเห็นว่าการแต่งงานของบุคคลทั้ง ๔ คือการทำผิดจารีตประเพณีของสังคมอย่างร้ายแรง

จารีตที่กำหนดขึ้นมาในอเมริกายุคนั้น เพื่อกีดกันการสมรสระหว่างนิโกร ผิวดำ กับผู้หญิงผิวขาว และยังขัดขวางการสมรสระหว่างผู้ชายอินเดียนแดงกับผู้หญิงผิวขาวโดยเฉพาะ

ผู้เขียนค้นเอกสารหลายสำนักในอดีต โดยเฉพาะเอกสารเก่าของอเมริกาทั้งหลายที่บันทึกไว้แบบมีเหตุมีผล

สรุปได้ว่า การสมรสดังกล่าวเป็นสิ่งที่แหกกฎเกณฑ์เรื่องสีผิว เป็นการสมรสข้ามเผ่าพันธุ์ เป็นการสมรสกับบุคคลที่มีความผิดปกติของร่างกาย

สำหรับชาวเอเชียทั้งหลายไม่มีใครที่จะเดินทางเข้าไปตั้งหลักแหล่งตอนในของทวีปอเมริกาแบบอิน-จัน ชาวเอเชียโดยเฉพาะชาวจีนโดยมากจะปักหลักตามเมืองท่า เป็นผู้ใช้แรงงาน เป็นกรรมกร เป็นพลเมืองชั้นสอง แต่แฝดสยามจากแม่กลองคู่นี้ฉีกกฎเหล็กทุกข้อขึ้นมาเทียบชั้นกับเจ้าถิ่นคนขาวเจ้าของประเทศ

แฝดสยามคือคนต่างเผ่าพันธุ์ คือคนต่างถิ่น คือคนที่มีกายภาพไม่ปกติ มันก็ต้องรังเกียจเดียดฉันท์กันหน่อย

ถ้าจะต้องวาดภาพความเป็นอยู่ของแฝดอิน-จัน ต้องดูกันที่บ้านช่องห้องหอ บ้านที่แฝดช่วยกันสร้างขึ้นมาเป็นบ้านขนาดใหญ่ มีฉากหลังเป็นภูเขาสวยงามตามตำรา มีปล่องไฟ ๒ ปล่อง มีหน้าต่างกระจกรับแสงแดดขนาดใหญ่ รูปทรงบ้านไม่เป็นสองรองใครในชุมชน

ข้าวของเครื่องใช้ในครัว ของใช้ทั้งหลายเป็นของที่ไปซื้อมาจากนิวยอร์ก ช้อนส้อมเป็นเงิน แก้วน้ำ ถ้วยโถโอชามเป็นของดีมีราคา แฝดคู่นี้ชอบเลี้ยงเพื่อนฝูงผู้มาเยือนไม่ขาดสาย

แปลเป็นภาษาไทยว่า แฝดคู่นี้มีความเป็นอยู่แบบคนมีอันจะกิน เหนือชั้นกว่าเพื่อนบ้านทั้งหลายเลยทีเดียว

ก็นับว่าพี่น้องสองสาวได้สองคหบดีต่างสีผิว ต่างเผ่าพันธุ์ มาเป็นสามี ใช้ชีวิตมีระดับแนวหน้าในท้องถิ่น แฝดสยามมิได้รักกันหนาพากันหนีไปกัดก้อนกินเกลือให้ลำบากเหมือนความรักในหนังมนต์รักลูกทุ่งแต่อย่างใด

อันที่จริง ตอนต้นๆ ของบทความนี้ผู้เขียนเคยนำเสนอไปแล้วเรื่องที่แฝดไปแสดงตัวในอังกฤษ แล้วแฝดจันไปพบรักกับสาวอังกฤษที่ขอรวบหัวรวบหางกินกลางตลอดตัว แต่งงานด้วยแบบ ๑ รุม ๒ เป็นที่ฮือฮามาแล้วในลอนดอน แต่ครั้งกระนั้น อิน-จัน ยังไม่มีหลักแหล่ง ไม่มีเงิน ยังไม่หล่อ ยังไม่มีสถานะที่จะไปใช้ชีวิตร่วมกับใครได้เลย เป็นความรักแบบรักหมารักแมว

ย้อนเวลาไป ๑๗๓ ปีนะครับ ว่าคุณทวดอิน-จันของชาวสยามไปเลือกมีเมียฝรั่งหน้าตาแบบไหน หนังสือของ โจเซฟ เอ. ออเซอร์ บรรยายไว้ดังนี้

ซาร่าห์ เป็นคนเรียบง่าย ประหยัด อดออม ทำอาหารเก่ง ทำอาหารอร่อยมาก ผมสีน้ำตาล ฟันขาวเป็นระเบียบสวยงาม นัยน์ตาสีน้ำตาลอมแดง เธอไม่ได้รับการศึกษา รูปร่างเจ้าเนื้อ ค่อนข้างท้วม เมื่อแต่งงานแล้วเป็นคุณนายเอ็ง (Mrs. Eng)

แอดิเลด รูปร่างสูงกว่าพี่สาวเล็กน้อย ผอมเพรียว ฉลาดเฉลียว แต่งตัวดูประณีตสวยงาม งามสง่าและสวยกว่าพี่สาว ก่อนแต่งงานมีหนุ่มๆ คาวบอยมาขายขนมจีบมากหน้าหลายตา เมื่อแต่งงานแล้วเป็นคุณนายจัน (Mrs. Chang)

ท่านผู้อ่านกรุณาดูในภาพนะครับ

ในประเด็นของชีวิตส่วนตัว มีแต่การคาดเดาจากเพื่อนมนุษย์ในสังคมมะริกันว่าคงทำอย่างนั้น คงเป็นอย่างนี้ โดยเฉพาะเรื่องเพศรส ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าตัวแฝดติดกันมีท่อนเนื้อยาวประมาณ ๖นิ้ว เหมือนกระบอกข้าวหลามเชื่อมต่อ การขยับตัวของแต่ละคนคงทำได้ในลักษณะจำกัด ไม่มีความเป็นอิสระจากกันแน่นอน การแสดงความรัก การมีเพศสัมพันธ์ในแบบของมนุษย์ปกติทั่วไป คงทำไม่ถนัดถ้าขาดความร่วมมือ ร่วมแรง

นั่นย่อมหมายความว่า พี่น้องสองสาว ซาร่าห์และแอดิเลด อาจจะต้องยินยอมพร้อมใจด้วยเช่นกัน หมายความว่า น่าจะต้องเกิด ๔ ประสานเท่านั้น นี่แหละคือสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายกระหาย กระเหี้ยนกระหือรืออยากรู้ ใจจะขาด

๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๘๗ (ราว ๙ เดือนเศษถัดมา) สมาชิกใหม่ของครอบครัว ลูกครึ่งไทย-อเมริกันของแท้รุ่น ๑ ได้ออกมาลืมตาดูโลก เป็นลูกสาวของอิน-ซาร่าห์ ตั้งชื่อว่า แคเธอรีน มาร์เซลลัส (Catherine Marcellus) เธอได้รับการจารึกว่าเป็นลูกครึ่งสยาม-อเมริกัน คนแรกในประวัติศาสตร์

๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๘๗ สมาชิกใหม่คนที่ ๒ คลานตามออกมาลืมตาดูโลก เป็นลูกสาวของจัน-แอดิเลด ตั้งชื่อว่า โจเซฟฟิน เวอร์จิเนีย (Josephine Virginia)

วันที่คลอดออกมาห่างกัน ๖ วัน เป็นการบ่งบอกถึง การปฏิสนธิของชีวิตเด็กน้อยในครรภ์ของ ซาร่าห์ และแอดิเลดว่า เริ่มต้นใกล้เคียงกันมาก หรืออาจจะเริ่มพร้อมๆ กัน

คุณปู่ทวด อิน-จัน บรรพบุรุษ สุภาพบุรุษของชาวสยามท่านคำนวณแม่นมีโรดแมปชัดเจนจริงๆ

ความเหนื่อยยากผสมผสานกับความปลื้มปีติของครอบครัวบังเกอร์อีกประการหนึ่ง คือ การมีคนมาเยี่ยมเยือน โดยเฉพาะนักเขียน นักข่าว ที่ขอมาเป็นแขกทานอาหาร พูดคุย มาขอพักอยู่กับครอบครัวเพื่อเขียนเรื่องราวของครอบครัวนี้

และผ่านไป ๔ ปี อิน-จันและภรรยา ๒ พี่น้อง ให้กำเนิดลูกอีกฝ่ายละ ๔ คน สมาชิกในบ้านหลังนี้อุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งบ้านเต็มไปด้วยเด็กเล็กไล่เลี่ยกันแบบหัวปีท้ายปี

อิน-จันและภรรยา ๒ พี่น้องได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า นี่คือรักแท้ของคนธรรมดา ลูกที่เกิดมาทุกคนมีอวัยวะครบถ้วน ไม่มีใครพิกลพิการ หรือเป็นภูตผีปีศาจแต่อย่างใด

ผู้เขียนพยายามเสาะหา เรื่องส่วนตัวที่ทุกท่านต้องการความกระจ่างว่า ทั้ง ๔ คนมีรูปแบบความสัมพันธ์ทางเพศอย่างไร

ต้องย้อนกลับไปอ้างอิงข้อมูลของแพทย์ที่เคยตรวจและทดสอบความรู้สึกทางเพศของแฝดทั้งสองตอนที่มาถึงอเมริกาใหม่ๆ ว่า ความรู้สึกทางเพศของแฝดแยกออกจากกัน แฝดคนหนึ่งจุมพิตสาว แฝดอีกคนจะไม่ได้เสียวซ่านแต่อย่างใด

ผู้เขียนค้นหาจากหนังสือ เอกสารทุกชิ้นในอดีตในภาษาอังกฤษ และภาษาไทยบางส่วน เพื่อตอบโจทย์ที่แฟนคลับเรียกร้องให้นำมาบอกเล่าให้หนำใจ ให้บรรยายภาพ กลิ่น รส และเสียง เหมือนกับได้ไปแอบอยู่ใต้เตียงนอนของแฝด ผู้เขียนก็จนใจจริงๆ ครับ ฝรั่งผู้เขียนหนังสือในอดีตก็มีเพียงข้อมูลจากการคาดเดา มีจินตนาการในลีลาหลากหลาย

มีข้อมูลบางเบาชิ้นหนึ่งระบุเพียงว่า ตอนอยู่บนเตียงแฝดทั้งสองน่าจะใช้ผ้ากั้นสายตาป้องกันการขวยเขิน

บ้างก็มโนไปทั้ง ๔ ไม่ได้ปิด ไม่ได้บังอะไรกันเลย เพราะทุกคนรับสภาพและทุกคนสนิทสนมกันเป็นอย่างดี ซึ่งก็อาจจะเป็นบรรยากาศของความรักสามัคคี ที่จับต้องได้

ลูกที่ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันข้างละ ๔ คน เป็นคำตอบทางวิทยาศาสตร์ว่า ก็ถ้าเริ่มมีเพศสัมพันธ์พร้อมๆ กันก็น่าจะคลอดออกมาไล่เลี่ยกัน

ไม่ใช่มีลูกแค่นี้นะครับ ในช่วงท้ายก่อนปิดโรงงานผลิตเด็ก คู่รักบันลือโลกคู่นี้มีลูกรวม ๒๑ คน ถ้าใช้ศัพท์การตลาด ต้องเรียกว่า แฝดสยามลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ จริงใจ แจกไม่อั้น ใจดีสุดสุด

ลูกดกถี่ยิบขนาดนี้ คงไม่ได้ใช้ผ้าบังกั้นฉากแน่นอน

เมื่อไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็นเรื่องแบบนี้ และคุณปู่ทวดอิน-จัน ของชาวสยามก็ไม่เคยมาเปิดใจ เราคงต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของท่านทั้งหลาย ที่จะไม่ก้าวล่วงบรรพบุรุษสยาม

มาถึง พ.ศ.๒๕๕๙ นี้ จากแฝดสยามจากแม่กลองคู่นี้ แต่งงานกับพี่น้องสองสาวอเมริกันในปี พ.ศ.๒๓๘๖ มาจนถึงปัจจุบันได้ขยายวงศ์ตระกูล แตกหน่อเป็นลูก หลาน เหลน โหลน นับได้ราว ๑,๕๐๐ คนอยู่ในอเมริกาครับ มีการเลี้ยงรวมญาติประกาศตัวกันชัดเจน

ผู้เขียนวิงวอนขอให้พี่น้องชาวเมืองสมุทรสงคราม ตามหาญาติพี่น้อง ของแฝดอิน-จัน ที่ต้องมีการสืบวงศ์ตระกูลต่อมาถึงปัจจุบันแน่นอน ถ้าเริ่มการสืบหาได้เค้าลาง เมืองสมุทรสงครามจะมีนักท่องเที่ยวทั้งต่างประเทศ และในประเทศอีกมหาศาล

กลับมาที่เรื่องของบรรพบุรุษสยามที่ดังสนั่นอเมริกาเมื่อราว ๑๗๓ ปีที่แล้วครับ

ในช่วงเวลาต่อมา ข่าวหนังสือพิมพ์ที่ถูกนำเสนอออกไปสู่สาธารณชน พลิกกลับเป็นกระแสยกย่องสรรเสริญความเป็นสุภาพบุรุษ ความมีน้ำใจ ความเป็นชาวเอเชียที่ขยันขันแข็ง ที่สำคัญที่สุดคือ แฝดสยามคู่นี้เป็นพลเมืองน้ำดีของสหรัฐอเมริกา

วันเวลาและพฤติกรรมดีที่ผ่านไปได้พิสูจน์ว่าแฝดอิน-จัน คือพลเมืองดีของชุมชน เป็นพลเมืองดีของสหรัฐ แฝดทั้งสองตามภรรยาไปเข้าโบสถ์สวดมนต์แบบคริสต์ มีน้ำใจ ช่วยเหลือสังคม ต้อนรับขับสู้ผู้คนทั้งหลายจนกระทั่งชนะใจชาวเมือง

ซาร่าห์และแอดิเลด สองศรีพี่น้องมีลูกคนละ ต้องทำงานหนัก เลี้ยงดูลูกทั้งสองฝ่าย ทำอาหาร ดูแลสามี แฝดสยามเคยได้รับของขวัญวันแต่งงานเป็นหญิงผิวดำชื่อ เกรซ เกทส์ (Grace Gates) มาเป็นทาสในบ้านเพื่อดูแลงานและช่วยเลี้ยงลูก นอกจากนั้นครอบครัวบังเกอร์ยังมีทาสผิวดำอีกจำนวนหนึ่งทำงานในไร่ดูแลพืชผลการเกษตร

บรรยากาศในบ้านดูเหมือนจะไม่ราบรื่น บ้านหลังใหญ่ที่อยู่ในปัจจุบันเริ่มกลายเป็นบ้านหลังเล็ก เพราะมีเด็กจาก ๒ ท้องเกิดเพิ่มมาไล่เลี่ยกันถึง ๘ คน แต่หลังจากคลอดลูกไล่เลี่ยกัน ๔ คู่ ครอบครัวบังเกอร์มีการจัดระเบียบ คุมกำเนิดให้ตั้งท้องสลับกัน เพื่อแบ่งเบาภาระการงานทั้งปวง ซึ่งการคลอดลูกคนต่อๆ มาก็เป็นไปตามแผนทุกประการ

ชีวิตต้องดำเนินต่อไป แต่ถ้าขืนอยู่กันแน่นในบ้านแบบปรากระป๋องเช่นนี้ เห็นจะต้องเกิดเรื่องทะเลาะกันเป็นแน่แท้ เพราะลูกๆ กำลังเข้าคิวกันมาเกิดอีกจำนวนมาก


ชีวิตครอบครัวบังเกอร์จะดำเนินไปอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ




• รวมกันตายหมู่-แยกกันอยู่บ้านละ ๓ วัน

แฝดสยามอิน-จันจากเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม แต่งงานกับพี่น้องสองสาวอเมริกัน ซาร่าห์และอาดีเลด ใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรในชนบท ณ เขตปกครองแทรปฮิลล์ รัฐนอร์ธแคโรไลนา อย่างสมบูรณ์พูนสุข วันเวลาผ่านไป เพื่อนใกล้ไกลในชุมชนส่งเสียงสรรเสริญความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นคนขยันทำมาหากิน เป็นพลเมืองต่างเผ่าพันธุ์ เป็นประชากรน้ำดีของสหรัฐอเมริกา เป็นสามีที่ดีของภรรยา เป็นพ่อที่ดีของลูกๆ ที่สร้างครอบครัว มีลูก ๒ ท้อง ๘ คน วิ่งเล่นในบ้าน

เหตุผลหลักที่อิน-จันโอนสัญชาติเป็นพลเมืองสหรัฐ ซื้อที่ดิน ปักหลักสร้างครอบครัวในชนบททางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐนอร์ธแคโรไลนาตรงนี้ เพราะต้องการปลีกตัวจากสังคมเมืองที่ทุกสายตาจ้องมองมาที่ร่างกายของแฝดที่ไม่เป็นปกติ ไปไหนก็มีแต่คนจ้อง (ตัวติดกัน) นอกจากนั้นแฝดสยามคู่นี้คงมีวิสัยทัศน์มองเห็นอนาคตตัวเองที่จะต้องมีครอบครัว มีลูก คงนึกเบื่อ สะอิดสะเอียนกับสายตาที่เยาะเย้ยแบบหมาหยอกไก่ เบื่อการตอบสารพัดคำถามจากผู้คนทั้งหลาย และคงนึกสงสารลูกมีพ่อที่ร่างกายแปลกไปจากมนุษย์ธรรมดา

ในหนังสือบันทึกตำนาน The Lives of Chang and Eng (ชีวิตอิน-จัน) ระบุว่าแฝดคู่นี้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นนักกีฬากลางแจ้ง ไม่ปรากฏว่าแฝดสยามคู่นี้เคยเจ็บป่วยแต่ประการใดในการใช้ชีวิตในอเมริกา อิน-จันเป็นเกษตรกรเต็มตัว ทุ่มเทการทำงานสร้างรายได้จากไร่ยาสูบ ข้าวสาลี ข้าวโพด เลี้ยงวัวเนื้อ วัวนม เลี้ยงแกะและหมู

ความเป็นเด็กสู้ชีวิตจากชนบทจากเมืองแม่กลอง ส่งผลให้แฝดทำงานในไร่ได้สารพัด เป็นที่ประหลาดใจของเพื่อนอเมริกันที่แวะมาเยี่ยมเยือน เพราะมีมโนภาพว่าอิน-จันคือคนพิการ ไร้ค่า

กิจกรรมที่ประทับใจมิตรสหายมะริกันคือ อิน-จันจะแบกขวานเข้าป่าแล้วใช้ขวานฟันต้นไม้ แบบสลับฟัน หรือฟันคู่ ทั้งสองคนจะใช้ขวานทั้งสองด้ามฟันลงไปยังต้นไม้ทั้งสองข้างซ้าย-ขวา ต้นไม้จะโค่นลงอย่างรวดเร็วเป็นสองเท่า แฝดจะกระหน่ำขวานแบบมีศิลปะ มีลีลาไม่ซ้ำแบบใครทั้งนั้น ผู้คนนำไปเล่าสู่กันฟังและต่างก็อยากมาดูด้วยตา นอกจากนั้น อิน-จันยังเป็นนักล่าสัตว์ ที่มีฝีมือไม่เป็นสองรองใคร

บ้านที่ปลูกขึ้นมาหลังแรกลุล่วงจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนคู่สู้ชีวิต แม้กระทั่งตอนขึ้นไปมุงหลังคาบ้าน คนตัวติดกัน ๒ คนปีนขึ้นที่สูงช่วยกันทำงานแบบสอดประสาน ผู้คนที่ผ่านไปมาชอบอกชอบใจ หัวเราะกันเป็นภาษาอังกฤษเอิ๊กอ๊ากที่เห็นการแสดงสดตัวเป็นๆ ของแฝดบนหลังคา

แฝดอิน-จัน และครอบครัวและลูกๆ ได้สร้างความรู้สึกด้านบวก เป็นมิตรกับเพื่อนอเมริกันในชุมชน

ในฤดูใบไม้ร่วงปี พ.ศ.๒๓๘๙ ความอุ่นหนาฝาคั่งของสมาชิกตัวน้อยๆ ในครอบครัวจำนวน ๑๒ คน เริ่มกลายเป็นความแออัดในบ้าน แฝดอิน-จันปรึกษาภรรยา ตกลงใจไปซื้อที่ดินอีกแปลงเพื่อปลูกบ้านที่ห่างออกไปราว ๔๐ ไมล์

ครอบครัวบังเกอร์สู้ชีวิตปลูกบ้านใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม เพราะยังต้องการมีลูกเพิ่มอีก (หลังจากมีลูกแล้วท้องละ ๔ คน) ที่ดินผืนใหม่อยู่ในย่านเซอร์รี่เคาน์ตี้ (Surry County) ใกล้เมืองเมาท์แอรี่ (Mt. Airy) ส่วนบ้านหลังเก่าที่แทรปฮิลล์ยังคงเก็บไว้ ครอบครัวบังเกอร์ปลื้มใจที่สุดคือ ลูกๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมาเหล่านี้จะได้ไปโรงเรียน อ่านออกเขียนได้

อิน-จัน คนคู่ แสดงฝีมือสร้างบ้านอีกครั้งด้วยแรงงานของตนเอง มีนักข่าวที่เกาะติดกับชีวิตครอบครัวบังเกอร์ตามมาเมียงมองการใช้ชีวิตทุกแง่มุม มีบ้างที่ขอสาระแนสอดรู้สอดเห็นเรื่องส่วนตัว แต่สิ่งที่ได้พบเห็นคือ อิน-จัน เป็นชาวเอเชียที่มีทักษะความเป็นช่าง โดยเฉพาะช่างไม้ งานก่อสร้างทั้งปวง

ในเรื่องการเกษตร ดูเหมือนจะไม่มีอุปสรรคใดๆ เลยสำหรับแฝดคู่นี้ในการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรในการทำงาน การติดต่อทางธุรกิจซื้อขายพืชผล แฝดทำได้กลมกลืนและมีรายได้พอเพียงเลี้ยงครอบครัว

แฝดสยามที่เป็นบรรพบุรุษของเราคู่นี้ ตั้งแต่เกิดจากท้องนางนากและพ่อตีอายที่เมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม ไม่เคยได้ไปโรงเรียนนะครับ แต่ตอนนี้อยู่อเมริกา ทำการเกษตรทำธุรกิจ มีเงินฝากธนาคารในนิวยอร์ก รวมทั้งภรรยาอเมริกันสองพี่น้องซาร่าห์และอาดีเลดก็แทบจะไม่ได้เรียนหนังสือ

แฝดเอาจริงเอาจังกับงานเพาะปลูก มีหลักฐานระบุว่าแฝดคู่นี้เป็นผู้ร่วมบุกเบิกปลูกใบยาสูบพันธุ์เขียวตองอ่อน (Bright Leaf) ที่นำใบยามามวนเป็นบุหรี่ได้เลย แถมยังต่อยอดซื้อเครื่องรีดใบยามาใช้ในไร่อีกต่างหาก

อิน-จัน บังเกอร์ ใช้ชีวิตแบบลงตัว ตามวิถีชีวิตชาวชนบทในรัฐนอร์ธแคโรไลนา อิน-จัน จะติดตามภรรยาไปโบสถ์เป็นบางครั้งในเช้าวันอาทิตย์ ชาวชนบทในอเมริกาในยุคนั้น ซึ่งตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓ แทบไม่ใคร่จะรู้จักคนเอเชีย หรือหน้าตาของพุทธศาสนาเท่าใดนัก ถ้าจะพูดกันแฟร์ๆ ต่างคนต่างก็ไม่รู้จักกัน

มีเกร็ดตำนานที่นักข่าวของหนังสือพิมพ์ The Southerner ไปคุยกับอิน-จัน ที่ตามภรรยาซาร่าห์และอาดีเลดไปโบสถ์ในเช้าวันหนึ่งแล้วตีพิมพ์ความว่า

“คุณมีความเข้าใจในศาสนาคริสต์แค่ไหน? คุณคิดว่าคุณเชื่อศาสนาของเรามั้ย?” นักข่าวยิงคำถาม

“ศาสนาเราไม่เหมือนของคุณ ของคุณทะเลาะกัน เรื่องใครถูก ใครผิด เราไม่เคยทะเลาะกันเรื่องศาสนา” อินตอบนักข่าว

นักข่าวถามต่อ “คุณคิดว่าตายแล้วจะไปไหน?”

“เราไปเกิดเป็นหมู เพราะเราทำบาปเอาไว้ในโลก ต่อไปอาจจะเกิดเป็นม้า หรือเป็นกวาง จนกว่าเราจะสำนึกได้ ก็จะเกิดเป็นสัตว์ที่ดีขึ้น” อินตอบนักข่าว

“ถ้าคุณทำบาป แล้วไปเกิดเป็นม้า แล้วคุณจะต้องไปลากเกวียน ไปไถไร่ข้าวโพด ทำงานหนักด้วยมั้ย?” นักข่าวยิงคำถามต่อ

“เราเชื่อว่าเป็นความจริง ศาสนาสอนเราเช่นนั้น รวมทั้งคนสยามก็เชื่อเช่นนั้น” อินตอบนักข่าวแบบมั่นใจ

“ตอนที่คุณไปโบสถ์ คุณเชื่อสิ่งที่บาทหลวงพูดมั้ย?” นี่เป็นคำถามตรงจากนักข่าวแบบไม่อ้อมค้อม

“บางครั้งบาทหลวงก็พูดไม่จริง” อินไม่ลังเลที่จะตอบนักข่าว

นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Southerner ที่ไปคุยกับแฝดตีพิมพ์เรื่องราวตรงนี้เป็นเรื่องเป็นราว โดยอาศัยมุมมองจากแฝดอิน-จัน ซึ่งถือเป็นคนนอกศาสนาคริสต์ ซึ่งในขณะนั้นมีความแตกแยก บาดหมางในหลักคิดของศาสนา ระหว่างนิกายแบพติสต์ และนิกายเมโธดิสต์ ในสังคมอเมริกายุคนั้น

ส่วนคำตอบของอิน-จันต่อนักข่าว ซึ่งเป็นความเชื่อคนสยามในยุคนั้น สะท้อนให้เห็นชุดความคิดในเรื่องเวรกรรม เรื่องการไม่ทำบาป เป็นเรื่องที่สอนลูกหลานชาวสยามแบบเปิดเผย ผู้ใหญ่สอนเด็ก ครูสอนนักเรียน พระสอนฆราวาสให้ละเว้นจากการทำบาปทั้งปวง แม้กระทั่งผู้เขียนเองก็เคยได้รับการบอกกล่าวเช่นนั้น

ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไป มีการพิสูจน์ตรวจสอบกันมากขึ้น ความเชื่อแนวนี้คงจะเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล เพราะผู้เขียนไม่เคยนำไปสั่งสอนผู้ใด และไม่เคยได้ยินใครมาสั่งสอนเช่นกัน

มีหลักฐานบันทึกว่า อิน-จัน ที่จากบ้านจากเมืองสยามไปอเมริกาเมื่ออายุราว ๑๘ ปีนั้น ได้นำหนังสือชื่อ เรื่องราวเอลียา ซึ่งเป็นผู้ทำนายแห่งพระเจ้า (History of Elijah พิมพ์ในปี พ.ศ.๒๓๙๑) ซึ่งเป็นหนังสือแนวทางคำสอนของศาสนาคริสต์ที่นำมาเผยแพร่ในสยามติดตัวไปด้วยเพียงเล่มเดียว

ในสมัยนั้นสยามเพิ่งเริ่มการพิมพ์หนังสือ และหนังสือที่แจกจ่ายฟรีแก่คนทั่วไปคือคำสอนของศาสนาคริสต์ที่มิชชันนารีลงทุนจัดทำและเผยแพร่ทั่วไป

ในชีวิตประจำวัน อินชอบอ่านบทกลอน บทกวีของอเล็กซานเดอร์ โป๊ป (Alexander Pope) กวีชาวอังกฤษให้ลูกๆ ฟังอย่างมีความสุขเสมอ ไม่ดื่มเหล้าและชอบอ่านข่าวการเมืองในสหรัฐอเมริกา ส่วนจันเริ่มดื่มสุรามากขึ้น และมากขึ้น กินอาหารรสจัด ชอบเล่นไพ่โป๊กเกอร์แบบดึกดื่นข้ามคืน ในขณะที่อินต้องหลับคาวงไพ่

ครอบครัวบังเกอร์ใช้ชีวิตแบบราบรื่นมาได้ยืนยาวราว ๑๐ ปี สภาพของคนตัวติดกันของพ่อ บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ไม่รื่นรมย์นัก ความหงุดหงิด การกระทบกระทั่ง การมีความเห็นต่าง การใช้ชีวิตที่แตกต่างเริ่มปรากฏ ซาร่าห์และอาดีเลดมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก ซาร่าห์ภรรยาของแฝดอินมีน้ำหนักตัวประมาณ ๑๑๕-๑๒๐ กิโลกรัม ส่วนอาดีเลดภรรยาของแฝดจันก็อวบท้วมขึ้นไล่เลี่ยกัน

ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนรักที่ชื่อชาร์ลส์ แฮริส ที่เป็นคนชักนำร่วมคณะการแสดงตัว นำพาแฝดมาถึงจุดนี้ได้เสียชีวิตลงก่อนวัยอันควร กัลยาณมิตรเพียงคนเดียวที่สนิทสนมมานาน ทิ้งให้แฝดและครอบครัวบังเกอร์รู้สึกใจหาย

ความคิดเรื่องการแยกกันอยู่เป็น ๒ บ้านเพื่อลดความแออัดของ ๒ ครอบครัว เป็นประเด็นที่เริ่มพูดคุยกันมากขึ้น

ในที่สุด เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายถ้วนหน้า แฝดอิน-จันและภรรยาแม่ลูกดกทั้งสองจึงตกลงจะแยกบ้าน แบ่งข้าวของเครื่องใช้ แบ่งทรัพย์สินกันเป็นเรื่องเป็นราว ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งแต่อย่างใด บ้านที่สร้างใหม่ขึ้นมา ห่างจากบ้านปัจจุบันราว ๑ ไมล์ (๑.๖ กิโลเมตร) ตั้งแต่แฝดเกิดมา นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่มีการแบ่งสมบัติ

ติดอยู่อย่างเดียว คือตัวพ่อที่ตัวติดกัน แยกไม่ได้ และกฎ ๓ วัน คือคำตอบที่ลงตัวที่สุด

บ้าน ๒ หลัง ๒ ครอบครัว ที่อยู่ห่างกันต้องการพ่อฝาแฝดตัวติดกันที่ไม่สามารถแยกร่างได้ อินและจันจึงตกลงกันว่า

วันจันทร์-อังคาร-พุธ ๓ วันเป็นตารางของแฝดอินที่ได้อยู่กับซาร่าห์และครอบครัวที่บ้านของอิน แฝดจันที่ตัวติดกันก็ต้องหุบปาก ไม่มีปากมีเสียง ไม่มีความเห็นใดๆ ทำตัวเหมือนไม่มีตัวตนในโลกนี้ กระเตงตัวเองให้ความร่วมมือกับอินทุกอย่างโดยไม่มีเงื่อนไข

พฤหัสฯ-ศุกร์-เสาร์ ๓ วันเป็นตารางของจันที่จะได้อยู่กับอาดีเลดและลูกๆ ที่บ้าน แฝดอินต้องทำเหมือนไม่มีตัวตนในโลกนี้ และให้ความร่วมมืออย่างไม่มีข้อแม้ทั้งสิ้นเช่นกัน

นี่คือข้อมูลที่เปิดเผยโดยนายแพทย์วิลเลียม เอช. แพนโคสต์ แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

เพื่อนสนิทของตระกูลบังเกอร์ โดยยอมรับว่าแฝดทั้งสองเคารพกฎ ๓ วันนี้อย่างเคร่งครัดตลอดมาแบบราบรื่นไร้กังวล

แม้กระทั่งเรื่องบนเตียง ยามมีเพศสัมพันธ์

น่าทึ่งมากนะครับ สำหรับตำนานชีวิตครอบครัวสุดแสนโรแมนติกแนวปรองดอง ที่ปู่ทวดอิน-จันของชาวสยามได้สร้างไว้ และทั้งหมดคือความจริงที่ประคับประคองชีวิตคู่ให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น

การแยกบ้านและกฎ ๓ วันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับลูกๆ ของครอบครัวแฝด เริ่มมีการทำบัญชีแบ่งเงินรายได้ แบ่งที่ดิน และทรัพย์สินอื่นๆ แฝดทั้งสองค้าขายกันเอง เช่นครั้งหนึ่ง แฝดจันเคยขายทาสสาวนิโกรให้อินในราคา ๘๐๐ เหรียญ

ถึงขนาดแยกกันอยู่ ๒ บ้าน แบบผลัดกันคนละ ๓ วัน ในที่สุดความรักที่ยิ่งใหญ่ได้สร้างทายาท

อินและซาร่าห์มีลูกด้วยกันทั้งสิ้น ๑๑ คน
จันและอาดีเลดมีลูกด้วยกันทั้งสิ้น ๑๐ คน

รวม ๒ ท้องพี่น้องไทย-อเมริกัน รุ่น ๑ ของแท้โดยแฝดเมืองแม่กลอง เมดอิน USA รวม ๒๑ คน

ลูกของจันกับอาดีเลด เสียชีวิต ๑ คน

ครอบครัวขนาดมหึมา บ้านช่อง ทรัพย์สินที่ดินทั้งหลายที่เป็นรูปธรรมหามาได้ในอเมริกา เป็นการตัดสินได้เลยว่า แฝดอิน-จันจากเมืองแม่กลองไม่มีโอกาสกลับไปหาแม่ที่เมืองแม่กลองแน่นอน

ความมีอันจะกินบวกกับความมีน้ำใจของแฝดสยามที่คนอเมริกันเองยังยกย่องชมเชยคือ แฝดอิน-จัน บังเกอร์ได้บริจาคที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อก่อสร้างโบสถ์ ชื่อ White Plains Baptist Church แถมยังเป็นช่างก่อสร้างให้ด้วย โบสถ์แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการรวมจิตใจของชุมชน ทั้งๆ ที่แฝดจากสยามคู่นี้ไม่เคยประกาศตนเป็นคริสต์ ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๙) โบสถ์แห่งนี้ยังคงความสวยงาม ยืนตระหง่านปรากฏต่อสายตาของลูก หลาน เหลน โหลน ตระกูลบังเกอร์และประชาชนทั่วไป

การเป็นเกษตรกรของแฝดที่ผ่านมา รวมถึงการเลี้ยงลูกทั้งสองครอบครัว แฝดชาวเอเชียคู่นี้มีทาสนิโกรผิวดำเป็นผู้ช่วยในไร่เสมอมา ในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดแฝดอิน-จันเป็นเจ้าของทาสนิโกร ๒๘ คน โดยปลูกกระท่อมให้พักอาศัย ๔ หลังในพื้นที่ใกล้เคียง

แน่นอนที่สุด ในความขัดแย้งของสังคมในอเมริการะหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้เรื่องทาสนั้น อิน-จัน บังเกอร์สนับสนุนการมีและการใช้ทาสนิโกรผิวดำสนิท ผมหยิกหยอยทั้งชายหญิง

การครอบครองทาสในรัฐทางใต้ของอเมริกาในยุคนั้น เป็นเรื่องของคนผิวขาวอเมริกันเท่านั้น

อิน คือ คนที่มีน้ำใจ เมตตาปรานีต่อทาส แต่จันเข้มงวดและโหดในการปฏิบัติต่อทาสทั้งปวงในเวลาทำงาน จนกลายเป็นประเด็นร้อนในอเมริกา…

3172  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / Re: พระปริตรธรรม ๑๒ ตำนาน เมื่อ: 19 เมษายน 2559 15:09:48


ภาพประกอบตำนานขันธปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานขันธปริตร

ขันธปริตร คือพระปริตรที่กล่าวถึงการเจริญเมตตาแก่พญางูทั้ง ๔ ตระกูล และเจริญเมตตาแก่สรรพสัตว์ มีประวัติว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี มีภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด เหล่าภิกษุได้กราบทูลความนี้แด่พระพุทธองค์ พระองค์ตรัสว่า ภิกษุนั้นถูกงูกัดเพราะไม่ได้แผ่เมตตาแก่พญางูทั้ง ๔ ตระกูล ผู้แผ่เมตตาแก่พญางูเหล่านั้นจะไม่ถูกงูกัด แล้วตรัสสอนให้แผ่เมตตาแก่พญางูทั้ง ๔ ตระกูล คือ งูตระกูลวิรูปักษ์ งูตระกูลเอราบถ งูตระกูลฉัพยาบุตร และงูตระกูลกัณหาโคดม

ในอรรถกถาชาดกมีประวัติดังนี้ เมื่อภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราเคยสอนขันธปริตรในขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ คือเมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นฤๅษีที่ป่าหิมพานต์ ได้พำนักอยู่ร่วมกับฤๅษีเป็นจำนวนมาก ในขณะนั้นมีฤๅษีตนหนึ่งถูกงูกัดเสียชีวิต จึงสอนขันธปริตรแก่พวกฤๅษีเพื่อป้องกันภัยจากอสรพิษ

ขันธปริตร
๑.วิรูปักเขหิ เม เมตตัง   เมตตัง เอราปะเถหิ เม
   ฉัพฺยาปุตเตหิ เม เมตตัง   เมตตัง กัณหาโคตะมะเกหิ จะ.

ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในงูตระกูลวิรูปักษ์  ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในงูตระกูลเอราบถ ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในงูตระกูลฉัพยาบุตร ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในงูตระกูลกัณหาโคดม

๒.อะปาทะเกหิ เม เมตตัง   เมตตัง ทฺวิปาทะเกหิ เม
   จะตุปปะเทหิ เม เมตตัง   เมตตัง พะหุปปะเทหิ เม.

ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในสัตว์ไม่มีเท้า ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในสัตว์สองเท้า  ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตใจสัตว์สี่เท้า ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในสัตว์ที่มีเท้ามาก

๓.มา มัง อะปาทะโก หิงสิ   มา มัง หิงสิ ทฺวิปาทะโก
   มา มัง จะตุปปะโท หิงสิ   มา มัง หิงสิ พะหุปปะโท.

สัตว์ที่ไม่มีเท้าอย่าได้เบียดเบียนข้าพเจ้า สัตว์ที่มีสองเท้าอย่าได้เบียดเบียนข้าพเจ้า  สัตว์ที่มีสี่เท้าอย่าได้เบียดเบียนข้าพเจ้า และสัตว์ที่มีเท้ามากอย่าได้เบียดเบียนข้าพเจ้า

๔.สัพเพ สัตตา สัพเพ ปาณา   สัพเพ ภูตา จะ เกวะลา
   สัพเพ ภัทฺรานิ ปัสสันตุ   มา กัญจิ ปาปะมาคะมา.

ขอสัตว์ทั้งปวง ปราณชาติทั้งปวง สัตว์ที่เกิดแล้วทั้งปวงทั้งหมด จงประสบความเจริญทุกผู้ ขอความทุกข์อย่าได้เข้าถึงใครๆ เลย

๕.อัปปะมาโณ พุทโธ,   อัปปะมาโณ ธัมโม,
   อัปปะมาโณ สังโฆ,   ปะมาณะวันตานิ สะรีสะปานิ,
   อะหิ วิจฉิกา สะตะปะที   อุณณะนาภิ สะระพู มูสิกา.

พระพุทธเจ้าทรงพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมทรงพระคุณหาประมาณมิได้ พระสงฆ์ทรงพระคุณหาประมาณมิได้ แต่สัตว์เลื้อยคลาน คือ งู แมงป่อง ตะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก และหนู เป็นสัตว์ที่ประมาณได้

๖.กะตา เม รักขา. กะตัง เม ปะริตตัง. ปะฏิกกะมันตุ ภูตานิ. โสหัง นะโม ภะคะวะโต, นะโม สัตตันนัง สัมมาสัมพุทธานัง.
ข้าพเจ้าได้คุ้มครองตนแล้ว ข้าพเจ้าได้ป้องกันตนแล้ว เหล่าสัตว์จงหลีกไป ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาค ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์.




ภาพประกอบตำนานโมรปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานโมรปริตร

โมรปริตร คือปริตรของนกยูง เป็นพระปริตรบทหนึ่งที่กล่าวถึงคุณของพระพุทธเจ้า แล้วน้อมพระพุทธคุณมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี มีประวัติว่า สมัยหนึ่ง ครั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกยูงทองอาศัยอยู่บนเขาทัณฑกหิรัญบรรพต ในป่าหิมพานต์ พระโพธิสัตว์ได้เพ่งดูพระอาทิตย์ในเวลาพระอาทิตย์อุทัย แล้วร่ายมนต์สาธยายสองคาถาแรกว่า อุเทตะยัง เป็นต้น แล้วจึงออกแสวงหาอาหาร ครั้นกลับจากการแสวงหาอาหารในเวลาพระอาทิตย์อัสดง ก็เพ่งดูพระอาทิตย์พร้อมกับร่ายมนต์สาธยายสองคาถาหลังว่า อะเปตะยัง เป็นต้น นกยูงทองจึงแคล้วคลาดจากอันตรายทุกอย่างด้วยมนต์บทนี้

วันหนึ่งพรานป่าจากหมู่บ้านใกล้เมืองพาราณสีได้พบนกยูงทองโดยบังเอิญ จึงบอกความนั้นแก่บุตรของตน ขณะนั้นพระนางเขมาเทวีมเหสีพระเจ้าพาราณสี ทรงพระสุบินว่า พระนางเห็นนกยูงทองแสดงธรรมอยู่ จึงกราบทูลพระสวามีว่าทรงประสงค์จะฟังธรรมของนกยูงทอง ท้าวเธอจึงรับสั่งให้พรานป่าสืบหา พรานป่าที่เคยได้ยินคำบอกเล่าของบิดาได้มากราบทูลว่า นกยูงทองมีอยู่จริงที่เขาทัณฑกหิรัญบรรพต ท้าวเธอจึงทรงมอบหมายให้เขาจับนกยูงทองมาถวาย

พรานป่าคนนั้นได้เดินทางไปป่าหิมพานต์ แล้ววางบ่วงดักนกยูงทองไว้ทุกแห่งในที่นกยูงหาอาหาร แม้เวลาผ่านไปถึง ๗ ปีเขาก็ยังจับไม่ได้ เพราะนกยูงทองแคล้วคลาดบ้าง บ่วงไม่แล่นบ้าง จนในที่สุดพรานป่าได้เสียชีวิตอยู่ในป่านั้น ฝ่ายพระนางเขมาเทวีก็ประชวรสิ้นพระชนม์ เพราะเสียพระทัยที่ไม่สมพระประสงค์ พระเจ้าพาราณสีจึงทรงพิโรธแล้วได้รับสั่งให้จารึกอักษรลงในแผ่นทองว่า ผู้กินเนื้อนกยูงทองที่เขาทัณฑกหิรัญบรรพต จะไม่แก่ไม่ตาย ต่อมาภายหลังไม่นานพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ พระราชาองค์อื่นที่ทรงครองราชย์สืบต่อมาทรงพบข้อความนั้น จึงทรงส่งพรานป่าไปจับนกยูงทอง แต่ไม่มีใครสามารถจับได้ กาลเวลาได้ล่วงเลยไปจนเปลี่ยนพระราชาถึง ๖ พระองค์

ครั้นถึงสมัยพระราชาองค์ที่ ๗ พระองค์ก็รับสั่งให้พรานป่าไปจับนกยูงทองนั้นอีก พรานคนนี้ฉลาดหลักแหลม สังเกตการณ์อยู่หลายวันก็รู้ว่า นกยูงทองไม่ติดบ่วงเพราะมีมนต์ขลัง ก่อนออกหาอาหารจะทำพิธีร่ายมนต์ จึงไม่มีใครสามารถจับได้ เขาคิดว่าจะต้องจับนกยูงทองก่อนที่จะร่ายมนต์ จึงได้นำนางยูงตัวหนึ่งมาเลี้ยงให้เชื่อง แล้วส่งเสียงร้อง นกยูงทองเมื่อได้ยินเสียงนางนกยูง ก็ลืมสาธยายมนต์คุ้มครองตน เผลอตัวบินไปหานางนกยูงโดยเร็ว จึงติดบ่วงที่ดักไว้ ครั้นแล้วพรานป่าได้นำนกยูงทองพระโพธิสัตว์ไปถวายพระเจ้าพาราณสี

เมื่อพระโพธิสัตว์เข้าเฝ้าพระเจ้าพาราณสีแล้ว ได้ทูลถามว่า “เพราะเหตุไรพระองค์จึงจับหม่อมฉันมา”
ท้าวเธอตรัสว่า “เพราะมีจารึกว่าผู้กินเนื้อนกยูงทอง จะไม่แก่ ไม่ตาย”
พระโพธิสัตว์ทูลว่า “ผู้กินเนื้อหม่อมฉันจะไม่ตาย แต่หม่อมฉันจะต้องตายมิใช่หรือ”
ท้าวเธอตรัสว่า “ถูกแล้ว เจ้าจะต้องตาย”
พระโพธิสัตว์ทูลว่า “เมื่อหม่อมฉันจะต้องตาย แล้วผู้กินเนื้อหม่อมฉัน จะไม่ตายได้อย่างไร”
ท้าวเธอตรัสว่า “เพราะเจ้ามีขนสีทอง จึงทำให้ผู้กินเนื้อเจ้าไม่ตาย”
พระโพธิสัตว์ทูลว่า “หม่อมฉันมีขนสีทองก็เพราะภพก่อนเคยเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในพระนครพาราณสีนี้ ได้รักษาเบญจศีลเป็นนิตย์และชักชวนให้ราษฎรรักษา”

หลังจากนั้นพระโพธิสัตว์ได้ทูลเรื่องที่พระองค์เคยฝังราชรถที่ประทับของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่สระมงคลโบกขรณี พระเจ้าพาราณสีได้รับสั่งให้ไขน้ำออกจากสระแล้วกู้ราชรถขึ้นมา จึงทรงเชื่อคำพระโพธิสัตว์ หลังจากนั้นพระโพธิสัตว์ได้ถวายโอวาทพระราชาให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แล้วเสด็จกลับไปยังป่าหิมพานต์ตามเดิม

โมรปริตร
๑.อุเทตะยัง จักขุมา เอกะราชา
   หะริสสะวัณโณ ปะถะวิปปะภาโส
   ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะถะวิปปะภาสัง
   ตะยาชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง.

พระอาทิตย์ผู้เป็นดวงตาของโลก ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้เสด็จอุทัยขึ้น ทรงพระรัศมีสีทองสาดส่องปฐพี ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าขอนมัสการพระอาทิตย์ผู้ทรงรัศมีสีทองสาดส่องปฐพีพระองค์นั้น พระองค์ได้คุ้มครองข้าพระองค์ในวันนี้แล้ว ขอให้ข้าพระองค์มีชีวิตยั่งยืนอยู่ตลอดวัน

๒.เย พฺราหฺมะณา เวทะคู สัพพะธัมเม
   เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
   นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
   นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
   อิมัง โส ปะริตตัง กัตฺวา โมโร จะระติ เอสะนา.

พระพุทธเจ้าเหล่าใด ทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ขอพระพุทธเจ้าเหล่านั้น จงคุ้มครองข้าพเจ้า ขอนับน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าผู้หลุดพ้นแล้ว ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรม เมื่อนกยูงนั้นสาธยายพระปริตรอย่างนี้แล้ว จึงออกแสวงหาอาหาร

๓.อะเปตะยัง จักขุมา เอกะราชา
   หะริสสะวัณโณ ปะถะวิปปะภาโส
   ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะถะวิปปะภาสัง
   ตะยาชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง.

พระอาทิตย์ผู้เป็นดวงตาของโลกผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้เสด็จอัสดงคต ทรงพระรัศมีสีทองสาดส่องปฐพี ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าขอนมัสการพระอาทิตย์ ผู้ทรงรัศมีสีทองสาดส่องปฐพีพระองค์นั้น พระองค์ได้คุ้มครองข้าพระองค์ในวันนี้แล้ว ขอให้ข้าพระองค์มีชีวิตยั่งยืนอยู่ตลอดราตรี

๔.เย พฺราหฺมะณา เวทะคู สัพพะธัมเม
   เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
   นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
   นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
   อิมัง โส ปะริตตัง กัตฺวา โมโร วาสะมะกัปปะยิ.

พระพุทธเจ้าเหล่าใดทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ขอพระพุทธเจ้าเหล่านั้นจงทรงคุ้มครองข้าพเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรม เมื่อนกยูงนั้นสาธยายพระปริตรอย่างนี้แล้วจึงนอน.





ภาพประกอบตำนานโมรปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานอาฏานาฏิยปริตร

อาฏานาฏิยปริตร คือปริตรของท้าวกุเวรผู้ครองนครอาฏานาฏา เพราะเป็นพระปริตรที่ท้าวกุเวรได้นำมากราบทูลพระพุทธเจ้า พระปริตรนี้กล่าวถึงพระนามพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ และทรงคุณพระพุทธเจ้าเหล่านั้น รวมทั้งอ้างอานุภาพพระพุทธเจ้าและเทวานุภาพมาพิทักษ์ให้มีความสวัสดี

มีประวัติว่า สมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ ท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ คือ ท้าวธตรฐ ท้าววุรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวกุเวร ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าในมัชฌิมยามแห่งราตรี ขณะนั้นท้าวกุเวรได้กราบทูลว่า อมนุษย์บางพวกเลื่อมใสพระองค์ บางพวกไม่เลื่อมใส แต่ส่วนใหญ่มักไม่เลื่อมใส เพราะพระองค์ตรัสสอนให้ละเว้นจากอกุศลกรรม มีปาณาติปาตเป็นต้น  แต่พวกเขาไม่สามารถละเว้นได้ จึงไม่พอใจคำสอนที่ขัดแย้งกับความประพฤติของตน  เมื่อภิกษุไปปฏิบัติธรรมในป่าเปลี่ยว อมนุษย์เหล่านั้นอาจจะรบกวนได้ จึงขอให้พระองค์ทรงรับเอาเครื่องคุ้มครอง คืออาฏานาฏิยปริตรไว้ แล้วประทานแก่พุทธบริษัทเพื่อสาธยายคุ้มครองตน และเพื่อให้อมนุษย์เกิดความเลื่อมใสพระศาสนา  หลังจากนั้นท้าวกุเวรได้กราบทูลคาถา เป็นต้นว่า วิปัสสิสสะ จะ นะมัตถุ เมื่อท้าวมหาราชเหล่านั้นเสด็จกลับแล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงนำมาตรัสแก่พุทธบริษัทในภายหลัง

อาฏานาฏิยปริตร
๑.วิปัสสิสสะ จะ นะมัตถุ      จักขุมันตัสสะ สิรีมะโต
   สิขิสสะปิ จะ นะมัตถุ     สัพพะภูตานุกัมปิโน.

ขอนอบน้อมพระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้ทรงพระจักษุ ทรงพระสิริ ขอนอบน้อมแด่พระสิขี พุทธเจ้า ผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวง

๒.เวสสะภุสสะ จะ นะมัตถุ     นฺหาตะกัสสะ ตะปัสสิโน
   นะมัตถุ กะกุสันธัสสะ    มาระเสนาปะมัททิโน.
ขอนอบน้อมพระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้ชำระกิเลสได้แล้ว มีตบะ ขอนอบน้อมพระกกุสันธ พุทธเจ้า ผู้ทรงเอาชนะมารและกองทัพได้

๓.โกณาคะมะนัสสะ นะมัตถุ     พฺราหฺมะณัสสะ วุสีมะโต
   กัสสะปัสสะ จะ นะมัตถุ      วิปปะมุตตัสสะ สัพพะธิ.
ขอนอบน้อมพระโกณาคมพุทธเจ้า ผู้ลอยบาปแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ขอนอบน้อมพระกัสสปพุทธเจ้า ผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง

๔.อังคีระสัสสะ นะมัตถุ     สักฺยะปุตตัสสะ สิรีมะโต
โย อิมัง ธัมมัง เทเสสิ     สัพพะทุกขะปะนูทะนัง.

ขอนอบน้อมพระศากยบุตรพุทธเจ้า ผู้ทรงพระฉัพพรรณรังสี ผู้ทรงสิริ ผู้ทรงแสดงธรรมขจัดทุกข์ทั้งปวง

๕.เย จาปิ นิพพุตา โลเก      ยะถาภูตัง วิปัสสิสุง
   เต ชะนา อะปิสุณาถะ      มะหันตา วีตะสาระทา.

อนึ่ง พระอรหันต์เหล่าใดในโลกดับกิเลสได้แล้ว รู้แจ้งตามความเป็นจริง พระอรหันต์เหล่านั้นปราศจากวาจามุ่งร้าย เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่สะทกสะท้าน

๖.หิตัง เทวะมะนุสสานัง     ยัง นะมัสสันติ โคตะมัง
   วิชชาจะระณะสัมปันนัง     มะหันตัง วีตะสาระทัง
.
ท่านเหล่านั้นย่อมนมัสการพระโคตมะ ผู้ทรงเกื้อกูลเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ไม่สะทกสะท้าน

๗.เอเต จัญเญ จะ สัมพุทธา     อะเนกะสะตะโกฏิโย
   สัพเพ พุทธาสะมะสะมา     สัพเพ พุทธา มะหิทธิกา.
พระสัมพุทธเจ้า ๗ พระองค์เหล่านั้น และพระสัมพุทธเจ้าหลายร้อยโกฏิเหล่าอื่น ทุกพระองค์เสมอด้วยพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเปรียบ ทุกพระองค์ล้วนทรงฤทธิ์ยิ่งใหญ่

๘.สัพเพ ทะสะพะลูเปตา     เวสารัชเชหุปาคะตา
   สัพเพ เต ปะฏิชานันติ     อาสะภัง ฐานะมุตตะมัง.

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงพระทศพลญาณและพระเวสารัชชญาณ ทรงยืนยันความตรัสรู้อันประเสริฐแกล้วกล้าของพระองค์

๙.สีหะนาทัง นะทันเตเต     ปะริสาสุ วิสาระทา
   พฺรหฺมะจักกัง ปะวัตเตนติ     โลเก อัปปะฏิวัตติยัง.
พระพุทธเจ้าเหล่านี้ ทรงปราศจากความครั่นคร้าม บันลือสีหนาทในท่ามกลางพุทธบริษัท ประกาศธรรมจักรอันประเสริฐในโลก ไม่มีผู้ใดจะคัดค้านได้

๑๐.อุเปตา พุทธะธัมเมหิ    อัฐฐาระสะหิ นายะกา
     พาตติงสะลักขะณูเปตา     สีตานุพฺยัญชะนาธะรา.

พระองค์ทรงเป็นผู้นำ ทรงคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ๑๘ ประการ ทรงประกอบด้วยพระพุทธลักษณะ ๓๒ และพระอนุลักษณะ ๘๐

๑๑.พฺยามัปปะภายะ สัปปะภา     สัพเพ เต มุนิกุญชะรา
      พุทธา สัพพัญญุโน เอเต     สัพเพ ขีณาสะวา ชินา.
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงพระฉัพพรรณรังสีโดยรอบหนึ่งวา ทรงเป็นมุนี ผู้ประเสริฐ รู้แจ้งธรรมทั้งปวง สิ้นอาสวะ และเป็นผู้ชนะ

๑๒.มะหัปปะภา มะหาเตชา     มะหาปัญญา มะหัพพะลา
     มะหาการุณิกา ธีรา     สัพเพสานัง สุขาวะหา
.
พระองค์ทรงมีพระรัศมีสว่างไสว มีเดชมาก มีปัญญามาก มีกำลังมาก มีความกรุณาใหญ่หลวงมั่นคง ประทานความสุขแก่ชนทั้งปวง

๑๓.ทีปา นาถา ปะติฏฐา จะ    ตาณา เลณา จะ ปาณินัง
     คะตี พันธู มะหัสสาสา     สะระณา จะ หิเตสิโน.

พระองค์ทรงเป็นที่พัก ที่พึ่ง ที่พำนัก คุ้มครอง ที่หลบภัยองเหล่าสัตว์ ทรงเป็นที่ไป เป็นญาติ เป็นผู้อุปถัมภ์ เป็นผู้ขจัดทุกข์ และกระทำประโยชน์

๑๔.สะเทวะกัสสะ โลกัสสะ      สัพเพ เอเต ปะรายะณา
     เตสาหัง สิระสา ปาเท     วันทามิ ปุริสุตตะเม.
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงเป็นที่พึ่งของชาวโลกและเทวดา ข้าพระองค์ขอน้อมไหว้พระบาทยุคลของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยเศียรเกล้า ขอน้อมไหว้พระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษประเสริฐ

๑๕.วะจะสา มะนะสา เจวะ     วันทาเมเต ตะถาคะเต
     สะยะเน อาสะเน ฐาเน     คะมะเน จาปิ สัพพะทา.

ข้าพระองค์ขอน้อมไหว้พระตถาคตเจ้าเหล่านั้นในเวลายืน เดิน นั่ง นอน ด้วยวาจา ด้วยใจเสมอ

๑๖.สะทา สุเขนะ รักขันตุ     พุทธา สันติกะรา ตุวัง
     เตหิ ตฺวัง รักขิโต สันโต     มุตโต สัพพะภะเยหิ จะ.

ขอพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ประทานพระนิพพาน จงคุ้มครองท่าน ให้มีความสุขเสมอ เมื่อพระองค์คุ้มครองท่านแล้ว ขอให้ท่านปลอดจากภัยทั้งปวงเถิด

๑๗.สัพพะโรคา วินิมุตโต     สัพพะสันตาปะวิชชิโต
     สัพพะเวระมะติกกันโต     นิพพุโต จะ ตุวัง ภะวะ.
ขอท่านจงปลอดจากโรคทั้งปลวง ปราศจากความเดือดร้อนทุกอย่าง ไม่มีใครๆ ปองร้าย เป็นผู้สงบ

๑๘.เตสัง สัจเจนะ สีเลนะ      ขันติเมตตาพะเลนะ จะ
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

ขอพระพุทธเจ้าเหล่านั้น จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ปราศจากโรค มีความสุข ด้วยพลานุภาพแห่งความสัตย์ ศีล ขันติ และเมตตาธรรม

๑๙.ปุรัตถิมัสฺมิง ทิสาภาเค     สันติ ภูตา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

เหล่าคนธรรพ์ผู้มีฤทธิ์มากในทิศบูรพา จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๐.ทักขิณัสฺมิง ทิสาภาเค    สันติ เทวา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

เหล่ากุมภัณฑ์ผู้มีฤทธิ์มากในทิศทักษิณ จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๑.ปัจฉิมัสฺมิง ทิสาภาเค     สันติ นาคา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

เหล่านาคผู้มีฤทธิ์มากในทิศประจิม จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข


๒๒.อุตตะรัสฺมิง ทิสาภาเค     สันติ ยักขา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

เหล่ายักษ์ผู้มีฤทธิ์มากในทิศอุดร จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๓.ปุรัตถิเมนะ ธะตะรัฏโฐ     ทักขิเณนะ วิรูฬหะโก
     ปัจฉิเมนะ วิรูปักโข     กุเวโร อุตตะรัง ทิสัง.

ท้าวธตรฐเป็นผู้รักษาโลกทิศบูรพา ท้าววิรุฬหกรักษาโลกทิศทักษิณ ท้าววิรูปักษ์รักษาโลกทิศประจิม ท้าวกุเวรรักษาโลกทิศอุดร

๒๔.จัตตาโต เต มะหาราชา    โลกะปาลา ยะสัสสิโน
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

     ขอมหาราชผู้รักษาโลกทั้งสี่พระองค์ ผู้มีบริวารมากดังกล่าว จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๕.อากาสัฏฐา จะ ภูมัฏฐา     เทวา นาคา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ      อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

ขอเหล่าเทวดาและนาคผู้มีฤทธิ์มาก สถิตอยู่ในอากาศและบนพื้นดิน จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๖.อิทธิมันโต จะ เย เทวา     วะสันตา อิธะ สาสะเน
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

ขอเทวดาผู้มีฤทธิ์มากอาศัยอยู่ในพระศาสนานี้ จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๗.สัพพีติโย วิวัชชันตุ      สัพพะโรโค วินัสสะตุ
     มา เต ภะวัตฺวันตะราโย      สุขี ทีฆายุโก ภะวะ.

ขอสิ่งร้ายทั้งปวงจงบำราศไป ขอโรคทั้งปวงจงพินาศไป ขอท่านอย่ามีอันตราย เป็นผู้มีความสุข มีอายุยืนยาว

๒๘.อะภิวาทะนะสีลิสสะ      นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
     จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ      อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง.

ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้นบไหว้และอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์ .





ภาพประกอบตำนานโพชฌังคปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานโพชฌังคปริตร
โพชฌังคปริตร คือปริตรกล่าวถึงโพชฌงค์ซึ่งเป็นองค์แห่งการรู้แจ้ง แล้วอ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครองผู้สวดให้มีความสวัสดี   มีประวัติว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปเถระได้อาพาธหนักที่ถ้ำปิปผลิคุหา พระพุทธเจ้าได้เสด็จเยี่ยมและแสดงโพชฌงค์เจ็ด เมื่อพระเถระสดับโพชฌงค์เหล่านี้ได้เกิดความปีติว่า โพชฌงค์เจ็ดเคยปรากฏแก่เราในขณะรู้แจ้งสัจธรรมหลังออกบวชแล้วเจ็ดวัน คำสอนของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นทางพ้นทุกข์โดยแท้ ครั้นดำริเช่นนี้พระเถระได้เกิดปีติอิ่มเอิบใจ ทำให้เลือดในกายและรูปธรรมอื่นผ่องใส โรคของพระเถระจึงอันตรธานไปเหมือนหยาดน้ำกลิ้งลงจากใบบัว นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ายังตรัสโพชฌงค์เจ็ดแก่พระมหาโมคคัลลานเถระผู้อาพาธที่ภูเขาคิชฌกูฏอีกด้วย ครั้นพระเถระสดับโพชฌงค์นี้แล้วก็หายจากอาพาธนั้นทันที  อนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวันนั้นได้ประชวรหนัก จึงรับสั่งให้พระจุนทเถระสาธยายโพชฌงค์เจ็ด ครั้นสดับแล้วพระองค์ทรงหายจากพระประชวรนั้น

โพชฌงค์เจ็ดมีดังต่อไปนี้ คือ
๑.สติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือสติ
๒.ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือการรู้เห็นธรรม
๓.วิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความเพียร
๔.ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความอิ่มใจ
๕.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความสงบ
๖.สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความตั้งมั่น
๗.อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรูแจ้ง คือความวางเฉย

โพชฌงคปริตร
๑.โพชฌังโค สะติสังขาโต    ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
   วีริยัง ปีติ ปัสสัทธิ      โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร.
๒.สะมาธุเปกขา โพชฌังคา      สัตเตเต สัพพะทัสสินา
   มุนินา สัมมะทักขาตา      ภาวิตา พะหุลีกะตา
๓.สังวัตตันติ อะภิญญายะ      นิพพานายะ จะ โพธิยา
   เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ      โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา.

โพชฌงค์เจ็ด  คือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์  วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์

พระมุนีผู้รู้แจ้งสภาวธรรมทั้งปวงตรัสว่า ผู้บำเพ็ญและกระทำโพชฌงค์ให้มาก ย่อมรู้แจ้ง บรรลุถึงพระนิพพานและความตรัสรู้  ด้วยสัจวาจานี้ ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ

๔.เอกัสฺมิง สะมะเย นาโถ      โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
    คิลาเน ทุกขิเต ทิสฺวา      โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ.

สมัยหนึ่ง พระโลกนาถทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะและพระมหากัสสปะอาพาธได้รับความทุกข์ จึงทรงแสดงโพชฌงค์เจ็ด

๕.เต จะ ตัง อะภินันทิตฺวา     โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
    เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ      โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา.

พระเถระทั้งสองยินดีรับโพชฌงค์นั้น หายจากโรคทันที ด้วยสัจวาจานี้ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ

๖.เอกะทา ธัมมะราชาปิ      เคลัญเญนาภิปีฬิโต
    จุนทัตเถเรนะ ตังเยวะ      ภะณาเปตฺวานะ สาทะรัง.

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระธรรมราชาทรงพระประชวรหนัก รับสั่งให้พระจุนทเถระสาธยายโพชฌงค์ถวายโดยเคารพ

๗.สัมโมทิตฺวา นะ อาพาธา      ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
   เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ     โสตถิ เม โหตุ สัพพะทาฯ

พระองค์ทรงแช่มชื่นพระทัย หายจากพระประชวรโดยพลัน ด้วยสัจวาจานี้ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ

๘.ปะหีนา เต จะ อาพาธา      ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
มัคคะหะตา กิเลสาวะ      ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ     โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา.

พระพุทธเจ้าและพระเถระผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งสาม ได้หายจากอาพาธแล้ว ดุจกิเลสที่ถูกอริยมรรคประหาร ไม่กำเริบอีก ด้วยสัจวาจานี้ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ.


3173  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ แกงคั่วขาหมู (ปักษ์ใต้) เมื่อ: 18 เมษายน 2559 17:48:32
.





แกงคั่วขาหมู (ปักษ์ใต้)

• เครื่องปรุง
- ขาหมู 250 กรัม
- ใบมะกรูดหั่นฝอย 3 ใบ
- เกลือ


เครื่องปรุงน้ำพริก
- พริกขี้หนูสด 20-25 เม็ด
- กระเทียมไทยแกะกลีบ ½ - 1 หัว
- พริกไทยดำ ¼ ช้อนชา
- ขมิ้นสด ยาวประมาณ ½-1 นิ้ว
- ตะไคร้ซอย 1 ช้อนโต๊ะ
- ผิวมะกรูดหั่นหยาบ ¼ ช้อนชา
- กะปิใต้ 2 ช้อนชา
- เกลือป่น ¼ ช้อนชา


วิธีทำ
1.โขกเครื่องแกงทั้งหมดให้ละเอียด ใส่กะปิโขลกพอเข้ากัน
2.ล้างขาหมูให้สะอาด หั่นพอดีคำ
3.ใส่ขาหมูในกระทะ ใส่พริกแกง รวนหรือผัดให้เข้ากัน
4.เติมน้ำสะอาดให้ท่วมหมู ปิดฝากระทะ เคี่ยวด้วยไฟกลางค่อนข้างอ่อน
   จนน้ำงวดขลุกขลิก ใส่ใบมะกรูดหั่นฝอย ปรุงรสด้วยเกลือ ชิมรสตามชอบ
5.ตักใส่จานเสิร์ฟ รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ  





ส่วนผสมน้ำพริกแกงคั่ว (ไม่ใส่ข่า)


ใส่หมูและพริกแกงในกระทะ (ไม่ต้องใส่น้ำ หรือน้ำมันพืช)


รวนหรือผัดให้เข้ากันด้วยไฟอ่อนๆ


เติมน้ำสะอาดให้ท่วมหมู (หาฝาหม้อปิดกระทะ) เคี่ยวด้วยไฟกลางค่อนข้างอ่อน


พอน้ำแกงงวด หมูสุกนิ่ม ใส่ใบมะกรูดหั่นฝอย ปรุงรสด้วยเกลือป่น
(ไม่ควรปรุงรสด้วยน้ำปลา จะมีกลิ่นคาว ความอร่อยจะลดลงไปมาก)


ตักใส่จาน รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ
3174  สุขใจในธรรม / ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน / ประวัติพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล วัดดอนธาตุ จ.อุบลราชธานี เมื่อ: 18 เมษายน 2559 17:17:53

ขอขอบคุณ คุณพิศิษฐ์ ไสยสมบัติ - ผู้ค้นคว้าเรียบเรียง ที่ได้กรุณาอนุญาตให้นำประวัติของท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล
ผลงานอันเกิดจากกุศลเจตนาของท่านที่ได้ศึกษา สืบเสาะ ค้นหา ติดตาม สอบถามข้อมูล ตลอดจนสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับประวัติ
ของท่านพระอาจารย์เสาร์ จากผู้ทราบเรื่องราว โดยใช้เวลากว่า ๒ ปี มาเรียบเรียงเป็นหนังสือ เพื่อรักษาและเผยแพร่เกียรติคุณ
ของท่านพระอาจารย์ พระสุปฏิปันโนผู้เป็นพระบูรพาจารย์ที่ก่อกำเนิดพระธุดงค์กรรมฐานของภาคอีสาน ที่หาได้ยากยิ่งรูปหนึ่ง 
มาเผยแพร่ในเว็บไซต์ sookjai.com แก่สมาชิกและประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นธรรมทาน ได้ตามความประสงค์  kimleng.
-----------------------------------------





พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
วัดดอนธาตุ  อำเภอพิบูลมังสาหาร  จังหวัดอุบลราชธานี
ชมรมพุทธศาสน์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย : พิมพ์เผยแพร่

เปิดปก
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ  ชาติภูมิของท่านเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี  ชาตะเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๓ มรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ ท่านเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ และเป็นพระวิปัสสนาธุระผู้เคร่งครัดในธรรมวินัยอย่างยอดเยี่ยม บุคลิกลักษณะสมบูรณ์ สง่าผ่าเผย เกรงขาม พูดน้อย แต่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดอะไรมักจะเป็นอย่างนั้น ดังสมัยหนึ่งท่านเดินธุดงค์ไปในท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นปฐมฤกษ์ที่พระกัมมัฏฐานรุ่นแรกเหยียบย่างเข้าไปสู่ถิ่นนั้น มีประชาชนแตกตื่นเลื่อมใสไปให้ทานทำบุญเป็นจำนวนมาก หลังจากให้ทานแล้วก็ใคร่อยากจะฟังธรรมเทศนาของท่าน ท่านจึงกล่าวธรรมเป็นคติแต่โดยย่อว่า “การให้ทานใครๆ ก็ให้ทานมามากแล้ว มีผลาอานิสงส์มากเหมือนกัน แค่สู้บวชเป็นขาวเป็นชีรักษาศีลอุโบสถไม่ได้ มีอานิสงส์มากกว่าให้ทานนั่นเสียอีก ถ้าใครอยากได้บุญมากขึ้นสวรรค์ไปนิพพานพ้นทุกข์ ก็ควรบวชเป็นขาวเป็นชีรักษาศีลอุโบสถเสียในวันนี้”  ปรากฏว่าในค่ำวันนั้นเอง มีญาติโยมชายหญิงบวชชีกันร่วมร้อย อย่างน่าอัศจรรย์

ประการหนึ่ง สถานที่แห่งใด ที่ท่านเที่ยวธุดงค์ไปพักชั่วคราว สถานที่แห่งนั้นมักจะกลายเป็นวัดถาวรและเจริญรุ่งเรืองตามมาภายหลัง เช่น พระธาตุนครพนม ซึ่งแต่ก่อนรกร้างเป็นดง เมื่อท่านเดินรุกขมูลเข้าไปพักอาศัยที่นั้นชั่วคราว ให้คนถากถางทำความสะอาดปัดกวาดอย่างดี ครั้นต่อมาภายหลัง ที่นั่นจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเจริญรุ่งเรืองเป็นที่เลื่อมใสของชาวพุทธทั่วประเทศ มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

และในทำนองเดียวกัน ก็ยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่ท่านธุดงค์ผ่านไปพักชั่วคราว แล้วกลายมาเป็นวัดได้รับความเจริญรุ่งเรืองเหลือเป็นอนุสรณ์สำหรับอนุชนจนกระทั่งทุกวันนี้
.....โดย พระครูสถิตบุญญารักษ์


ชาติภูมิ
ท่านเกิดที่บ้านข่าโคม
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล  ถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ เดือนสิบสอง ปีระกา เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๔ (ตามบันทึกของท่านพระครูพิบูลธรรมภาณ วัดภูเขาแก้ว) หรือ วันจันทร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๐๔ (ตามหนังสือที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพพระอาจารย์เสาร์ฯ โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สังฆนายก) ที่บ้านข่าโคม (ชื่อเดิม “บ้านท่าโคมคำ”) ต.หนองขอน อ.เมืองอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ ต.ปะอาว อ.เมือง จ.อุบลราชธานี)

นามเดิมของท่าน ชื่อเสาร์ นามสกุล สมัยนั้นยังไม่มี  ภายหลังมีญาติสืบสายกันมาในตระกูล อุปวัน* และพันธ์โสรี**

เป็นบุตรของ พ่อทา และแม่โม่ (ส่วนพ่อใหญ่คำดี ชารีนะ ชาวบ้านข่าโคม กล่าวไว้ว่า ชื่อบิดาของพระอาจารย์เสาร์นั้นไม่ทราบชื่อ มารดาชื่อแม่บัวศรี)

ท่านมีพี่น้องรวมกัน ๕ คน ตามลำดับดังนี้:-
๑.ท่านพระอาจารย์เสาร์
๒.นางสาวแบ (อยู่เป็นโสดตลอดชีวิต)
๓.แม่ดี
๔.แม่บุญ
๕.พ่อพา อุปวัน


*นามสกุล อุปวัน นี้ คุณตาบุญเพ็ง คำพิพาก หลานชายผู้เดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ (เป็นญาติทางฝ่ายบิดาของพระอาจารย์เสาร์) ให้ข้อมูลข้าพเจ้าไปสืบเสาะจากเครือญาติสายน้องชายพระอาจารย์เสาร์
**นามสกุล พันโสรี นี้ พบว่ามีใช้กันในบ้านข่าโคม พระครูพิบูลธรรมภาณ (โชติ อาภัคโค) เจ้าอาวาสวัดภูเขาแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร เป็นผู้ให้ข้อมูล




รูปนี้ถ่ายเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๔๘๐ ที่วัดป่าแสนสำราญ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
ตอนองค์พระอาจารย์เสาร์ เดินทางจากบ้านข่าโคม มาพักที่ศาลาหลังเล็กของวัดป่านี้
ก่อนที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ ทางรถไฟ (สถานีรถไฟอยู่ใกล้กับวัดนี้) ภาพนี้คณะลูกศิษย์
ได้อัดถวายให้พระอาจารย์เสาร์ แจกในคราวงานพิธีทอดผ้าป่าที่วัดป่าหนองอ้อ บ้านข่าโคม
โดยคณะตัวแทนเจ้าจอมมารดาทับทิม เป็นเจ้าศรัทธา เมื่อกลางปี พ.ศ.๒๔๘๐

ชีวิตเมื่อวัยเยาว์
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล มีรูปร่างสูงใหญ่ หน้าตา ผิวพรรณดีมาก สมัยเมื่อยังเป็นเด็ก ท่านมีความพึงพอใจ ศรัทธา เลื่อมใส ในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างสูงยิ่ง กอปรกับนิสัยสนใจใฝ่ศึกษาหาความรู้ของท่าน  ดังนั้น เมื่อท่านอายุได้ ๑๒ ปี จึงได้ตัดสินใจเข้าวัด โดยได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์วัด เพื่อเตรียมตัวบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดใต้ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี


เมืองนักปราชญ์
สำนักศึกษาในสมัยก่อนคือวัด ถือว่าวัดเป็นแหล่งรวมความรู้ เป็นที่ประสิทธิ์ประสาทวิทยาการด้านต่างๆ และเป็นแหล่งเนื้อนาบุญ เป็นที่อยู่ของคนดี คนมีบุญ พ่อแม่ผู้ปกครองในสมัยนั้นจึงนิยมส่งบุตรหลานอันเป็นที่รักของตนให้ “เข้าวัด” และ “บวชเรียน” เพื่อที่ว่าจะได้เป็น “คนสุก” ลบเสียซึ่งคราบของ “คนดิบ” แลยังเป็น “ญาคู” ผู้รู้ เป็น “มหาเปรียญ” ผู้ปราดเปรื่อง หรือสึกออกมาเป็น “ทิด” เป็น “นักปราชญ์” มีความรู้รับราชการ “ได้เป็นเจ้าเป็นนาย” ต่อไป

อุบลราชธานีในอดีตจึงเป็นแดน “ตักกศิลา” เป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษาของภาคอีสาน มีวัดวาอารามสวยงามตระการตา แพรวพราว หลากหลายเต็มไปหมดทุกแห่งแหล่งถนนในตัวเมืองอุบล ก่อให้เกิดพระเถรานุเถระ พระอุปัชฌายาจารย์ นักปราชญ์ราชบัณฑิต อย่างมากมาย อันเป็นค่านิยมของสังคมสมัยนั้น จนมีคำกล่าวว่า
     • อุบล เมืองนักปราชญ์
     • โคราช เมืองนักมวย
     • เชียงใหม่ เมืองคนบุญ
     • ลำพูน เมืองคนสวย


วัดใต้
วัดใต้ท่า และวัดใต้เทิง
“วัดใต้” หรือ “วัดใต้เทิง” เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนที่สูงริมฝั่งแม่น้ำมูลตอนใต้ ทางทิศตะวันออกของเมืองอุบลราชธานี เป็นบริเวณแถบที่อยู่ทางท้ายเมือง ด้วยแม่น้ำมูลไหลไปทางทิศตะวันออกผ่านอำเภอเมืองไปอำเภอพิบูลมังสาหาร แล้วไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่ตะวันออกสุดของประเทศไทย ที่อำเภอโขงเจียม

ตามประวัติวัดในเมืองอุบลราชธานี มีอยู่ว่าวัดใต้เทิงนี้ ญาท่านบุญศรี เป็นผู้สร้างเมื่อ จ.ศ.๑๑๗๖ ตรงกับ พ.ศ.๒๓๗๗ โดยครั้งนั้นเป็นวัดในคณะมหานิกาย

เดิมทีนั้นที่ริมฝั่งแม่น้ำมูลที่ลาดลงไปจนจรดแม่น้ำมูลนั้นเป็นที่ตั้งของวัดใต้เช่นกัน มีชื่อเรียกขานกันว่า วัดใต้ท่า เดิมพระมหาราชครูเจ้าท่านหอแก้ว ผู้เป็น “หลักคำเมืองอุบล” (หลักคำ คือตำแหน่งประมุขสงฆ์เดิมของทางอีสาน) หลบไปนั่งกรรมฐานที่ป่าบริเวณนี้ ครั้นมีพระสงฆ์ตามไปอยู่ปฏิบัติมากขึ้น จึงได้สร้างเพิ่มขึ้นเป็นวัด ชื่อว่าวัดใต้ท่า ต่อมาถูกยุบร้างไป เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙

ส่วนประวัติวัดใต้ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๕๒๙ กล่าวไว้ว่า “การริเริ่มก่อสร้างนั้น จะเป็นเมื่อไรไม่มีใครทราบ วัดใต้ได้จดทะเบียนเป็นทางการเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๒๒ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๑๗ ตรงกับ พ.ศ.๒๔๔๑ โดยมีท้าวสิทธิสารกับเพียเมืองแสนพร้อมราษฎรได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอเป็นที่วิสุงคามสีมา ตามหนังสือที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาที่ ๑๐๓/๓๗๘ อันเป็นวันที่ ๑๐๙๗๖” ในรัชกาลที่ ๕

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ก็ยังกล่าวถึงประวัติวัดใต้ไว้อีกว่า “เดิมทีนั้นวัดใต้มีอยู่ ๒ วัด คือวัดใต้ท่า กับวัดใต้เทิง เพราะเหตุที่วัดทั้งสองนั้นอยู่ติดกัน ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ซึ่งเป็นผู้ปกครองสังฆมณฑลในสมัยนั้น จึงได้ยุบวัดใต้ท่าที่ร้างไปให้รวมกับวัดใต้เทิง กลายเป็นวัดใต้วัดเดียวในปัจจุบัน แล้วโอนมอบที่ดินวัดใต้ท่าให้เป็นศาสนสมบัติกลางในกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาที่ดินบริเวณนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเป็นสำนักงานไฟฟ้าบริษัทส่วนบุคคล ทำการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง (เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ) โดยมีนายวิเชียร ศรีสมบูรณ์ เป็นเจ้าของผู้จัดการนับแต่นั้นเป็นต้นมา”

เรื่อง วัดใต้ นี้มีท่านผู้รู้อีกท่านหนึ่งของเมืองอุบลฯ คือ คุณตาบำเพ็ญ ณ อุบล กล่าวยืนยันว่า “วัดใต้นี้มี ๒ วัด คือ วัดใต้ท่า และ วัดใต้เทิง (เทิง แปลว่า ที่สูง, ข้างบน) ทั้งสองวัดนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกัน ต่อมาไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใดที่ทำให้วัดใต้ท่ากลายเป็นวัดร้างไป ซึ่งต่อมาที่ตรงนั้นได้เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าของเมืองอุบลฯ ใช้เครื่องจักรฉุดเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า จนต่อมาใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นน้ำจึงได้เลิกใช้เครื่องจักรปั่นไฟ เหลือเป็นที่ตั้งสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.อุบลราชธานี ส่วนวัดใต้เทิงนั้นยังคงอยู่และเจริญรุ่งเรืองมาจนกระทั่งบัดนี้เรียกขานกันว่า “วัดใต้”

ก่อนดำเนินเรื่องต่อไป ข้าพเจ้าขอแทรกเรื่องประเทืองความรู้จาก “ทำเนียบสมณศักดิ์ของชาวเมืองเวียงจันทน์โบราณ” โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ดังนี้
ธรรมเนียมการจัดสมณศักดิ์ของวัฒนธรรมล้านช้าง แบ่งออกเป็น ๘ ขั้น คือ สำเร็จ ซา คู ฝ่าย ด้าน หลักคำ ลูกแก้ว ยอดแก้ว

ธรรมเนียมการจัดสมณศักดิ์ของหัวเมืองอีสานโบราณ แบ่งออกเป็น ๖ ขั้น คือ สำเร็จ ซา คู ฝ่าย ด้าน หลักคำ สมณศักดิ์ชั้นลูกแก้ว ยอดแก้ว นั้นไม่มีในหัวเมืองอีสาน เพราะเป็นสมณศักดิ์เทียบเท่าชั้น สังฆราชา และ รองสังฆราชา



สมณศักดิ์ฝ่ายปริยัติ
สำเร็จ  เป็นครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการ
ซา
คู

สมณศักดิ์ฝ่ายปกครอง
ฝ่าย  - ปกครองในหมวด
ด้าน  - ปกครองในแขวง
หลักคำ  - ประมุขสงฆ์



บวชเณร
ท่านเป็นสามเณรที่ครูบาอาจารย์รักและไว้วางใจ
พระอาจารย์เสาร์ได้เข้าไปพำนักรับใช้เป็นศิษย์วัดใต้ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี จวบจนกระทั่งอายุ ๑๕ ปี ใน พ.ศ.๒๔๑๗ ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรโดยสมบูรณ์ในคณะมหานิกาย

ด้วยความยึดมั่นแน่วแน่ในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชเณรแล้ว ท่านมีความอุตสาหะขยันขันแข็ง พากเพียรเรียนศึกษา หมั่นท่องมนต์บทสวด เรียนมูลกัจจายนะ ศึกษาพระวินัยทั้งห้าคัมภีร์พระธรรมบท ทศชาติ มงคลทีปนี วิสุทธิมรรค อภิธัมมัตถสังคห อีกทั้งอักษรไทยน้อย ไทยใหญ่ “ตัวธรรม” อักษรขอม ก็ล้วนชำนาญการ แตกฉานไปทุกอย่าง

พระอาจารย์เสาร์เคยเล่าชีวประวัติเมื่อครั้งเป็นสามเณรให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังอยู่เสมอ ถึงการปฏิบัติครูบาอาจารย์ของท่านว่า...
“สมัยนั้นท่านเป็นสามเณรใหญ่ ถ้ามีกิจนิมนต์พระไปฉันภัตตาหารนอกวัดแล้ว ท่านจะต้องได้ไปช่วยรับใช้เสมอ เพราะเป็นสามเณรใหญ่ที่ครูบาอาจารย์รัก และไว้เนื้อเชื่อใจมาก ไปไหนจะต้องเอาท่านไปด้วยเสมอ เพื่อคอยปฏิบัติอุปัชฌาย์อาจารย์ กิจการทุกอย่างของครูบาอาจารย์นั้น ท่านรับหน้าที่ทำหมด โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าลำบากยากเข็ญใดๆ ทั้งสิ้น เป็นต้นว่า ตอนรับบาตร ท่านจะรับภาระองค์เดียวหมด หิ้วบาตรและสะพายบาตรรอบกายเลยทีเดียว”

ท่านเล่า “ในสมัยนั้นท่านฉันภัตตาหารได้มากนัก พอถึงเวลาไปติดตามฉันอยู่ในบ้านเหล่าญาติโยม เจ้าภาพจะต้องคอยดูแลภัตตาหารตักเติมให้ท่านเสมอ ท่านก็ยิ่งฉันฉลองศรัทธาเขาได้มากเท่านั้น บางคนสงสัยว่าท่านฉันได้จุมากกว่าพระอย่างนี้ ท่านเอาท้องที่ไหนมาใส่ไหว” และนี่ก็คือประวัติตอนที่ได้รับการถ่ายทอดจาก พระครูพิบูลธรรมภาณ (โชติ อาภัคโค) วัดภูเขาแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี



บวชพระ
ญาคูเสาร์
หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๕ ปี จวบจนอายุของท่านได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ครบเกณฑ์ที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้ตามพระวินัยบัญญัติ ในปี พ.ศ.๒๔๒๒ ท่านก็ได้ตัดสินใจอุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์ในคณะมหานิกาย

ท่านพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดใต้ ในเพศบรรพชิต ปฏิบัติกิจพระพุทธศาสนามาถึง ๑๐ พรรษาได้เป็น “ญาครู” เป็นครูผู้อรบรมหมู่คณะสืบต่อซึ่งชาวบ้านเรียกท่านว่า “ญาคูเสาร์”


เมื่อญาคูเสาร์จะสึก
ในสมัยที่ท่านบวชได้สิบกว่าพรรษา ณ วัดใต้นี้ เป็นช่วงเวลาที่ท่านมีความคิดอยากจะลาสิกขาเป็นกำลัง ท่านเตรียมสะสมเงินทอง อีกทั้งวัตถุข้าวของเป็นจำนวนมาก บนกุฏิของท่านเต็มไปด้วยสิ่งของเครื่องใช้ มีทั้งผ้าไหม แพรพรรณ ท่านเตรียมตัวที่จะเป็นพ่อค้าวานิชไปทางน้ำ เพราะท่านมีความชำนาญในการดำรงชีวิตตามลำน้ำตั้งแต่วัยเยาว์ สมัยอยู่ที่บ้านข่าโคม อันเป็นบ้านเกิดนั้นก็ใช้เส้นทางสัญจรทางลำน้ำเซบาย-ลำน้ำชี-ลำน้ำมูล เป็นสายใยเส้นทางชีวิต

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านข่าโคม ปรากฏว่ามีลุงของท่านทำการค้าประสบผลสำเร็จ มีกิจการเดินเรือใหญ่โต อันเป็นแนวทางแห่งจินตนาการของท่านที่วาดไว้ว่า เมื่อลาสิกขาแล้วจะใช้ชีวิตเป็นพ่อค้าขายเสื้อผ้า ของกินของใช้เบ็ดเตล็ด บรรทุกเรือล่องไปขายตามลำแม่น้ำชี ลัดเลาะออกลำน้ำแม่มูลเรื่อยไปจนจรดแม่น้ำโขง – จำปาศักดิ์ – เมืองโขง – สีทันดร ถึงบ้านไหนก็แวะบ้านนั้น ซื้อสินค้าบ้านนี้ไปขายบ้านนั้น เอาของบ้านนั้นไปขาย พอกะว่าค้าขายได้เงินพอสมควรแล้วจึงจะหวนกลับมาบ้านเกิด สร้างครอบครัว – แต่งงาน ตั้งหลักปักฐานทำไร่ทำนา ค้าขายหาเลี้ยงครอบครัวไปตามวิถีของชาวโลกต่อไป




รูปนี้ได้รับจากหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ซึ่งองค์ท่านเล่าว่า
มีญาติโยมทางแถบ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม นำมาถวายให้ท่านเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑

 

 
3175  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า / Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก เมื่อ: 18 เมษายน 2559 16:06:36
.



สามเณรกัณฏกะ

มีผู้ถามว่าคนจะบวชพระอายุต้องครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าจะบวชสามเณรจะต้องอายุเท่าไร มีกำหนดไว้แน่นอนหรือเปล่า

เคยได้ยินท่านผู้ใหญ่ตอบว่า ต้องอายุ ๗ ขวบขึ้นไป เมื่อซักว่าทำไมต้อง ๗ ขวบ ท่านก็บอกว่าไม่รู้สิ แต่เมื่อคราวราหุลกุมารบรรพชา ก็มีพระชนมายุ ๗ พรรษา ข้อนี้น่าจะเป็นเกณฑ์ปฏิบัติทั่วไป ท่านว่าอย่างนั้น

ถามอีกว่า ถ้าอายุเลย ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้ว สามเณรรูปนั้นไม่บวชพระเลยยังคงเป็นสามเณรอยู่อย่างนั้น จะได้ไหม ผิดกฎข้อไหนไหม ท่านผู้เฒ่า เอ๊ย ผู้ใหญ่ท่านเดิมตอบว่า ไม่ผิดกฎข้อใด เพราะไม่มีกฎไว้

แต่ไม่เหมาะสม

ลองเปิดพระวินัยปิฎกทบทวนดู ก็ปรากฏว่าข้อความน่าสนใจ คือเดิมที เหล่าภิกษุอุปสมบทให้แก่เด็กๆ จำนวน ๑๗ คน เรียกว่า “สัตตรสวัคคีย์” (พวก ๑๗ คน) เด็กเหล่านี้มีอุบาลีเป็นหัวหน้า เป็น “พระเด็ก” รุ่นแรกก็ว่าได้

พอบวชมาได้ไม่กี่วัน ก็ร้องไห้กระจองอแง หิวข้าวขึ้นมาก็ร้องจะกินข้าว กินขนม อุปัชฌาย์กับอาจารย์ก็ปลอบว่า ยังไม่ถึงเวลาฉัน รอให้รุ่งเช้าก่อนจึงจะฉันได้ ก็ไม่ยอม ร้องทั้งคืน บ้างก็อึรด ฉี่รดที่นอนเหม็นหึ่งไปหมด

พระพุทธเจ้าทรงสดับเสียงร้องของ “พระเด็ก” เหล่านี้ จึงตรัสถามทรงทราบความแล้วจึงตรัสห้ามว่าต่อไปห้ามทำการอุปสมบทแก่เด็กชายอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เพราะฉะนั้นเวลา “นาค” จะเข้ามาบวช พระกรรมวาจาจารย์จึงถามว่า “ปริปุณฺณวีสติวสฺโสสิ” ท่านอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์หรือเปล่า นาคต้องตอบยืนยันว่า “อาม ภนฺเต” ครบขอรับ (อ่าน “อามะ พันเต”) ท่านจึงจะอนุญาตให้บวช

ไม่ทราบว่า สัตตรสวัคคีย์ เหล่านี้มีอายุเท่าไรกันแน่

มีอีกคราวหนึ่ง ตระกูลหนึ่งป่วยด้วยอหิวาตกโรคตายกันหมด เหลือแต่พ่อกับลูกชายตัวเล็กๆ พ่อกับลูกชายจึงบวช เมื่อไปบิณฑบาตด้วยกัน เวลาพ่อได้อาหาร ลูกชายก็ร้องขอจากพ่อว่า พ่อให้ผมกินเถอะ อะไรทำนองนี้ ชาวบ้านเห็นแล้วก็ติเตียนว่า พระรูปนี้พาเด็กมาบิณฑบาต สงสัยเด็กคนนี้คงเป็นลูกนางภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งเป็นแน่ พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องจึงทรงบัญญัติห้ามว่า ต่อไปอย่าให้เด็กบวชพระ

เมื่อเด็กอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ถูกห้ามมิให้บวชเป็นพระภิกษุ พระสารีบุตรจึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้า (เมื่อคราวที่ตรัสสั่งให้พระสารีบุตรบวชให้ราหุลกุมาร) ว่า “จะให้บวชด้วยวิธีไหน พระเจ้าข้า” พระองค์จึงตรัสว่า “บวชด้วยการถึงสรณคมน์ก็แล้วกัน” ราหุลกุมารผู้มีพระชนมายุ ๗ พรรษาจึงได้บวชเป็นสามเณรรูปแรก

เมื่อสามเณรรูปแรกอายุ ๗ ขวบ ก็เลยถือเป็นประเพณีว่า ผู้จะบวชเณรควรอายุตั้งแต่ ๗ ขวบขึ้นไป

ในพระวินัยปิฎกอีกนั่นแหละ เล่าต่อว่าคนในตระกูลอุปัฏฐากพระอานนท์ ตายหมดเหลือแต่เด็กชายเล็กๆ ๒ คน พระอานนท์มีความสงสารก็คิดจะให้เด็กทั้งสองบวชสามเณร เข้าใจว่าอายุคงไม่ครบ ๗ ขวบ เหมือนสามเณรราหุล พระอานนท์จึงไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความประสงค์ของตน พระพุทธองค์ตรัสถามว่า เด็กทั้งสองนั้นโตพอไล่กาได้ไหมอานนท์

“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ถ้าเช่นนั้น เธอให้บรรพชาเป็นสามเณรได้”

อรรถกถาอธิบายว่า เด็กอายุเท่าไรไม่สำคัญ “เด็กใดถือก้อนดินด้วยมือซ้าย นั่งแล้ว อาจเพื่อจะไล่กาทั้งหลาย ซึ่งพากันมาให้บินหนีไปแล้วบริโภคอาหารซึ่งวางไว้ข้างหน้าได้ เด็กนี้จัดว่าผู้ไล่กาไป จะให้เด็กนั้นบวชก็ควร”

สรุปก็คือ เด็กพอรู้เดียงสา สามารถไล่กา (ไล่หมาด้วย) ที่จะมาแย่งอาหารจากจานข้าวได้ ก็บวชเป็นเณรได้

ที่จับบวชหน้าไฟ ส่วนมากก็อายุยังน้อยทั้งนั้น บวชให้แล้วดูแลดีๆ ก็คงไม่เป็นไร บางครั้งผมเห็นญาติโยม (ตัวดี) พาเณรน้อยไปเที่ยวที่ห้างสรรพสินค้าก็มี

สามเณรที่อายุน้อยๆ ถ้าซนก็คงซนตามประสาเด็กไม่ค่อยเดียงสา แต่ถ้าสามเณรโค่ง คือสามเณรวัยรุ่น ความซนอาจออกไปทางอนาจาร เสี่ยงต่อการละเมิดทางเพศ ดังในคัมภีร์บันทึกพฤติกรรมของสามเณรกัณฏกะ (สามเณรหนาม) ไว้เป็นนิทัศน์อุทาหรณ์

สามเณรหนาม มีประวัติเป็นมาอย่างไร ไม่แจ้งชัด รู้แต่ว่าเป็นศิษย์พระอุปนนท์ แห่งศากยวงศ์ ท่านอุปนนท์รูปนี้เป็นพระ “ดัง” (ในทางไม่ค่อยดี) รูปหนึ่ง ท่านเป็นพระนักเทศน์ รูปงาม เสียงจะดีด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ ชอบสอนให้ลูกศิษย์ออกไปนั่งกรรมฐานบ้าง เดินจงกรมบ้าง ตามลานวัด ตนเองก็เข้ากุฏิปิดประตูนอน

พอเหล่าศิษย์บำเพ็ญเพียรจนเหนื่อยแล้ว คิดจะกลับมาเอนหลังสักหน่อย ท่านอุปนนท์ก็ตื่นขึ้นมาพอดี ออกมาไล่ให้ไปจงกรม หรือนั่งสมาธิต่อจนกระทั่งพระลูกศิษย์ออกปากว่าอาจารย์เข้มงวดเหลือเกิน

บังเอิญศิษย์รูปหนึ่งแอบรู้พฤติกรรมของอาจารย์เข้า จึงกระซิบบอกต่อๆ กันไป จึงได้รู้ทั่วกันว่า อาจารย์ของพวกตนเป็นประเภท “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” เรื่องรู้ไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสสอนว่า  ควรปฏิบัติตนให้ดีก่อน แล้วค่อยสอนคนอื่น  ถ้าทำได้อย่างนี้ บัณฑิตจึงจะไม่มัวหมอง

แต่บัณฑิตอย่างอุปนนท์ ไม่สนใจ วันหนึ่งก็แสดงพฤติกรรมน่าเกลียดอีกจนได้ คราวนี้ท่านเดินทางไปยังวัดต่างๆ สามสี่แห่งก่อนวันเข้าพรรษา วางรองเท้าไว้ที่วัด ก. ร่มไว้ที่วัด ข. น้ำเต้าไว้ที่วัด ค. ตนเองไปจำพรรษาอยู่ที่วัด ง. พอออกพรรษาแล้วก็ไปทวง “ส่วนแบ่ง” ที่ผู้อยู่จำพรรษาพึงได้รับ ครั้นเขาแย้งว่า หลวงพ่อไม่ได้จำพรรษาวัดนี้นี่ครับ

“ใครว่า คุณ ผมเอารองเท้าจำพรรษาแทน แล้วไง คุณก็ต้องแบ่งให้ผมด้วย” เล่นกะหลวงพ่ออุปนนท์สิ

เมื่ออาจารย์เป็นอย่างไร ลูกศิษย์ก็คงไม่แตกต่างกัน กัณฏกะสามเณรอยู่ใกล้ชิดพระอุปนนท์ก็คงถอดแบบจากอาจารย์ สามเณรกัณฏกะจึงไม่ค่อยจะสำรวมสมเป็นเหล่ากอแห่งสมณะที่ดี ปากคอเราะร้าย พอเจอนางภิกษุณีก็มักจะ “ขายขนมจีบ” ไม่เลือกหน้า วันดีคืนดีก็ทำอนาจารกับภิกษุณีนามว่า กัณฏกี จนมีเรื่องฉาวโฉ่

พระบาลีใช้คำว่า ภิกฺขุนึ ทูเสสิ = ประทุษร้ายภิกษุณี  เครียด = ประพฤติอนาจาร ไม่ทราบว่าถึงขั้นไหน เพราะภาษากำกวม แม้ในภาษาปัจจุบันนี้ก็ใช้คำว่า กระทำอนาจารทางเพศเช่นกัน คือ กำกวมเช่นกัน

ความซุกซนของสามเณรกัณฏกะ ศิษย์หลวงพ่ออุปนนท์ เป็นที่รับรู้กันทั่วไป จนพระพุทธเจ้าทรงวางบทบัญญัติไว้เพื่อกวดขันสามเณรต่อไปคือ
๑.ให้ทำทัณฑกรรม (คาดโทษ) แก่สามเณรผู้มีพฤติกรรม ๕ ประการคือ
   ๑) ความพยายามเพื่อความเสื่อมลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย
   ๒) พยายามเพื่อความพินาศแห่งภิกษุทั้งหลาย
   ๓) พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
   ๔) ด่า บริภาษ ภิกษุทั้งหลาย
   ๕) ยุยงให้ภิกษุต่อภิกษุแตกกัน
๒.ให้นาสนะ (ให้ฉิบหาย, คือไล่ศึก) แก่สามเณรผู้มีพฤติกรรม ๑๐ ประการ คือ
   ๑)ทำลายสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป (ฆ่าสัตว์)
   ๒) ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้ (ลักทรัพย์)
   ๓) กระทำการอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ (เสพกาม)
   ๔) กล่าวเท็จ
   ๕) ดื่มสุราเมรัย
   ๖) กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
   ๗) กล่าวติเตียนพระธรรม
   ๘) กล่าวติเตียนพระสงฆ์
   ๙) มีความเห็นผิด
  ๑๐) ประทุษร้ายนางภิกษุณี

รวมถึงประทุษร้ายสามเณรด้วยแหละครับ แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายต่าง “ประทุษร้ายกันและกัน” ก็ต้องเฉดหัวออกไปทั้งสองแหละครับ ขืนปล่อยไว้เดี๋ยวจะ “ประทุษร้ายพระศาสนา”

ความซุกซนของสามเณรกัณฏกะ มองในแง่บวกก็เป็นผลดีแก่พระศาสนา คือ เป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์ทรงวางกฎเข้มงวดไม่ให้สามเณรทั้งหลายเอาเยี่ยงอย่างต่อไป

พระพุทธบัญญัติเรื่องนี้เรียกว่า “สามเณรสิกขา” = สิ่งที่สามเณรทั้งหลายพึงสำเหนียกปฏิบัติ ซึ่งสามเณรทั้งหลายในสยามประเทศสวดเตือนสติตัวเองทุกวัน หลังทำวัตรช้า ทำวัตรเย็น จนกระทั่งปัจจุบัน 


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรกัณฏกะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๑ ประจำวันที่ ๑๕-๒๑ เมษายน ๒๕๕๙
3176  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / รวม-ความรู้รอบตัว เมื่อ: 12 เมษายน 2559 16:09:49
.

ความรู้รอบตัว



โปปาแห่งพม่า

จากข้อมูลเผยแพร่ของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุถึง ภูเขาโปปา (Mount Popa) หรือ มหาคีรีนัต ว่า ตั้งอยู่ในเขตพุกาม มีความสูง ๑,๕๑๘ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ในอดีตเคยเป็นภูเขาไฟ แต่ปัจจุบันดับไปแล้ว (ปะทุครั้งสุดท้ายเมื่อเกือบ ๒,๕๐๐ ปีก่อน) อยู่ห่างจากเมืองพุกามราว ๕๐ กิโลเมตร ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

โปปา ชื่อนี้มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต แปลว่า ดอกจำปา เนื่องจากในอดีตบริเวณภูเขาลูกนี้เคยมีต้นจำปาขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกอีกชื่อตรงตัวว่า "ภูเขาดอกจำปา" ภูมิทัศน์โดยรอบภูเขาไฟลูกนี้เต็มไปด้วยบ่อน้ำพุและลำธารเล็กๆ ราว ๒๐๐ แห่ง ดั้งเดิมของชาวพม่าเชื่อกันว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นสถานที่สิงสถิตของบรรดาเทวดาและนัต ๓๗ ตน

ภูเขาโปปาถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์พม่าตั้งแต่ยุคการเลือกตำแหน่งสร้างอาณาจักรพุกาม โดยบันทึกว่า อดีตภูเขาไฟแห่งนี้เป็นเสมือนเขาพระสุเมรุศูนย์กลางแห่งจักรวาล และเชื่อว่าเป็นที่สถิตของเหล่านัต หรือที่พม่าเรียกว่า มินนัต

นัตคือวิญญาณ ภูตผี ของคนที่ตายเพราะถูกฆ่าหรือถูกทรมานด้วยวิธีต่างๆ ดวงวิญญาณจึงไม่ไปสู่สุคติ มีทั้งคนธรรมดาและผู้ที่มียศศักดิ์ไปจนถึงกษัตริย์ บ่อยครั้งปรากฏกายแสดงอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติ กลายเป็นที่เกรงกลัวของชาวบ้าน จึงมีการตั้งศาลและนำรูปปั้นเหมือนจริงไปตั้งไว้ให้คนกราบไหว้ และถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยปกป้องดูแลบ้านเมืองและยังสามารถให้ในสิ่งที่ต้องการได้ด้วย

รูปปั้นนัตแต่ละตนสวมเสื้อผ้าสวยงาม บางตนนั่งอยู่บนสัตว์ต่างๆ เช่น เสือ หงส์ ม้า บางตนถืออาวุธ แตกต่างกันไปตามเรื่องราวกล่าวขวัญกันมา ตัวอย่างนัตที่เป็นที่นิยมกราบไหว้ คือ นัตโบโบยี หรือเทพทันใจ สำหรับคนใจร้อนอยากได้โชคลาภแบบทันใจ

เมื่อพระเจ้าอโนรธามังช่อ แห่งราชวงศ์พุกาม นำศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจากมอญเข้าสู่พม่า ความเชื่อเรื่องนัตจึงถูกผสมผสานเข้ากับศาสนาพุทธ นัตถูกยกระดับให้เป็นนัตหลวง โดยพระองค์ตั้งศาลนัตหลวงขึ้นที่เขาโปปา หรือเรียกว่า มหาคีรีนัต มีทั้งหมด ๓๗ ตน ตนสำคัญคือ นัตตัจจาเมง (หรือนัตสักรา หรือพระอินทร์), นัตพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้, นัตโยนบะเยง (นัตพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์) เป็นต้น

ผู้ที่จะได้รับการนับถือเป็นนัตนั้น ต้องมาจากสาเหตุการตายที่ไม่ใช่การตายธรรมดา กล่าวโดยง่ายคือ ตายโหง เพราะเชื่อว่าจะมีฤทธานุภาพสูงกว่าผีทั่วๆ ไป กษัตริย์ในอดีตของพม่าจะต้องจัดพิธีเคารพบูชาผีนัตเป็นประจำทุกปี และชาวพม่าก็เชื่อว่าภูเขาโปปาแห่งนี้เป็นเสมือนบ้านของผีนัต

โดยจัดงานเฉลิมฉลองแสดงความเคารพกันประมาณเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน ช่วงเวลานั้นนักแสวงบุญจำนวนมากจะพากันเดินขึ้นไปบนภูเขาโปปาเพื่อไปสักการบูชาบรรดานัตทั้งหลายในคืนพระจันทร์เต็มดวง และช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

ภูเขาไฟโปปาและวัดตวงคาลัต จะมองเห็นได้แต่ไกล แม้จะยืนอยู่บริเวณแม่น้ำอิรวดีที่อยู่ห่างออกไป ๖๐ กิโลเมตร ก็ยังเห็นได้ ด้วยรูปพรรณสัณฐานตามธรรมชาติที่สะดุดตา ขณะที่เมื่อขึ้นบันได ๗๗๗ ขั้นเพื่อไปยังวัดตวงคาลัตซึ่งอยู่บนยอดสุดของโปปา ก็มองเห็นเมืองพุกามได้ทั้งเมืองเช่นกัน
....หนังสือพิมพ์ข่าวสด




กำเนิดฤดูกาล

ฤดูต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

คำตอบนำมาจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่า ความเชื่อที่ว่า ฤดูร้อนหรือฤดูหนาวถูกกำหนดจากระยะห่างของโลกกับดวงอาทิตย์ เมื่อโลกเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ก็จะเกิดฤดูร้อน แต่เมื่อโลกเคลื่อนออกไกลจากดวงอาทิตย์ก็จะเกิดฤดูหนาว เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง

เนื่องจากการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลกไม่ได้เป็นวงกลมสมมาตร และดวงอาทิตย์ไม่ได้อยู่ตรงกลางของวงโคจร แต่เป็นวงกลมรี และดวงอาทิตย์อยู่เยื้องไปทางขวาจากจุดกึ่งกลางวงโคจร ดังนั้นจึงเกิดระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมโลกจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด และในช่วงเดือนมกราคมโลกจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ซึ่งตามความเชื่อข้างต้น ในเดือนมกราคมโลกต้องมีอุณหภูมิสูงกว่าในเดือนกรกฎาคม แต่ในความเป็นจริงเดือนมกราคมคือฤดูหนาว และเดือนกรกฎาคมคือฤดูร้อน ดังนั้นความเชื่อเรื่องระยะห่างจากดวงอาทิตย์เป็นตัวกำหนดฤดูกาลจึงไม่เป็นความจริง

สิ่งที่เป็นตัวกำหนดฤดูกาลแท้จริงแล้วเกิดจากการที่แกนโลกเอียงไปจากแนวตั้งฉากเป็นมุม ๒๓.๕ องศา (ซึ่งเอียงคงที่ตลอดปี) แม้ซีกโลกด้านขวาจะหันเข้าหาดวงอาทิตย์ แต่เพราะแกนโลกเอียง ซีกโลกเหนือจึงเอนเข้าหาดวงอาทิตย์ในขณะที่ซีกโลกใต้เอียงออกจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นซีกโลกเหนือจึงเป็นฤดูร้อนและซีกโลกใต้จึงเป็นฤดูหนาว จนกระทั่งอีก ๖ เดือนเมื่อโลกโคจรไปอยู่อีกด้านหนึ่งของวงโคจร ในขณะที่แกนโลกยังเอียงด้วยมุมเท่าเดิม ซีกโลกใต้จึงเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์และซีกโลกเหนือเอียงออกจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นซีกโลกใต้จะเป็นฤดูร้อนและซีกโลกเหนือเป็นฤดูหนาว

วันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี หรือที่เรียกว่า วิษุวัต จริงๆ แล้วใน ๑ ปีมีเพียง ๒ วัน คือวันที่ ๒๑ มีนาคม เรียกว่า วสันตวิษุวัต ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิทางซีกโลกเหนือ (หรือฤดูใบไม้ร่วงทางซีกโลกใต้) กับวันที่ ๒๒ กันยายน เรียกว่า ศารทวิษุวัต ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วงทางซีกโลกเหนือ (หรือฤดูใบไม้ผลิทางซีกโลกใต้) ในทั้งสองวันนี้แกนโลกจะอยู่ในระนาบตั้งฉากกับรัศมีจากดวงอาทิตย์พอดี ทำให้กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน เรียกว่า มัธยมกาล โดยซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้จะได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์เท่ากันด้วย

หลังจาก ๒๑ มีนาคม โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ต่อไปเรื่อยๆ โดยหมุนแบบทวนเข็มนาฬิกา ทำให้แกนโลกชี้เข้าหาดวงอาทิตย์มากขึ้น ดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกไม่ตรงกับทิศตะวันออกและตะวันตกพอดี แต่จะค่อนไปทางเหนือมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงเวลานี้ซีกโลกเหนือจะหันเข้าหาดวงอาทิตย์มากขึ้น จนกระทั่ง ๒๑ มิถุนายน ดวงอาทิตย์ จะขึ้นและตกค่อนไปทางเหนือมากที่สุด เรียกว่า ครีษมายัน วันนี้ในซีกโลกเหนือกลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืนมากที่สุด ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูร้อน ส่วนในซีกโลกใต้ กลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวันมากที่สุด ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูหนาว




หลังจากวันนี้ โลกโคจรต่อไปจนเข้าสู่วันศารทวิษุวัต ซึ่งมีกลางวันยาวนานเท่ากลางคืนอีก และจากนั้นโลกจะโคจรรอบดวงอาทิตย์โดยแกนโลกชี้ออกจากดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งถึง ๒๒ ธันวาคม แกนโลกจะชี้ออกจากดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกค่อนไปทางใต้มากที่สุด เรียกว่า เหมายัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูร้อนในซีกโลกใต้ และเริ่มต้นฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ ทั้งวันครีษมายันและวันเหมายันเรียกรวมกันว่า อายัน จากนั้นโลกก็จะโคจรต่อไปจนเข้าสู่วันวสันตวิษุวัตอีกครั้ง เป็นการจบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ๑ รอบ และครบฤดูกาลทั้ง ๔ ฤดูกาล เท่ากับระยะเวลา ๑ ปี

สรุปหากพื้นผิวของโลกมีสภาพเป็นเนื้อเดียวเหมือนกันหมด คือเป็นลูกกลมเกลี้ยงที่สมบูรณ์ โลกจะมี ๔ ฤดูกาล สำหรับซีกโลกเหนือเป็นดังนี้ ฤดูร้อน ตั้งแต่ ๒๑ มิถุนายน-๒๑ กันยายน, ฤดูใบไม้ร่วง ตั้งแต่ ๒๒ กันยายน-๒๑ ธันวาคม, ฤดูหนาว ตั้งแต่ ๒๒ ธันวาคม-๒๐ มีนาคม และฤดูใบไม้ผลิ ตั้งแต่ ๒๑ มีนาคม-๒๐ มิถุนายน ส่วนซีกโลกใต้ก็จะเป็นในทางตรงกันข้ามตามที่อธิบายไปแล้ว

แต่เนื่องจากในความเป็นจริงพื้นผิวของโลกมีสภาพแตกต่างกันไป เช่น มีภูเขา ที่ราบ ทะเล กระแสลม กระแสน้ำ ซึ่งส่งอิทธิพลต่อสภาพลมฟ้าอากาศ โดยประเทศไทยตั้งอยู่บนแนวเส้นศูนย์สูตรและคาบสมุทรอินโดจีนระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ ทำให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม จึงมีฤดูกาลดังนี้ ฤดูร้อน มีนาคม-พฤษภาคม, ฤดูฝน มิถุนายน-ตุลาคม และฤดูหนาว พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
....หนังสือพิมพ์ข่าวสด




3177  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: พงศาวดารจีน เปาเล่งถูกงอัน 'เปาบุ้นจิ้น' เมื่อ: 11 เมษายน 2559 16:08:07
.


     พงศาวดารจีน
     เรื่อง
     เปาเล่งถูกงอั้น  เปาบุ้นจิ้น
     ราชวงศ์ซ้อง (พ.ศ. ๑๕๐๓-๑๘๑๙)

     เรื่องที่ ๘  โจรเรือจ้าง

มีความว่า ที่ตำบลงอกุ้ยแขวงเมืองโซวจิ๋ว ยังมีชายสองคน คนหนึ่งชื่อหอตั๋นกุ้ย คนหนึ่งชื่อฮวยซิน  หอตั๋นกุ้ยเป็นน้องเขยของฮวยซิน หอตั๋นกุ้ยคบคิดกันผู้ร้ายกระทำการเรือจ้างรับส่งคนโดยสารในลำน้ำ

ยังมีชายผู้หนึ่งชื่อเมงเหลง ตั้งบ้านเรือนอยู่แขวงเมืองเตงจิ๋ว  ครั้นอยู่มาเมงเหลงจัดหาเงินเป็นทุนรอนใส่ไถ้แล้ว เมงเหลงกับคนใช้คนหนึ่งชื่อหลีเฮ็ง ก็ออกจากเมืองเตงจิ๋วจะไปเมืองโซวจิ๋วจัดซื้อผ้าพา เพื่อจะมาขายที่เมืองตังไซ ครั้นซื้อได้ผ้าแพรเป็นสินค้าแล้ว จึงว่าจ้างเจ้าเรือจ้างบรรทุกแพรที่ซื้อมา

ฝ่ายหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซิน ซึ่งเป็นเจ้าของเรือจ้างก็รับบรรทุกแพรของเมงเหลง ในเรือหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินจึงจัดซื้อเครื่องกับแกล้มและสุราลงเรือคิดอ่านจะมอมเหล้าเมงเหลงกับหลีเฮ็ง แล้วจึงจะจับโยนน้ำให้ตาย จะได้เอาสินค้านั้นไปขายเป็นอาณาประโยชน์ คิดอ่านกันดังนั้นแล้ว ครั้นได้เวลาหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินก็ถอนหลักถอนเรือออกจากท่าแจวไปประมาณห้าวันถึงตำบลเจียงอ๋อง วันนั้นเป็นเวลาจวนค่ำ จึงจอดเรือเข้าที่ริมฝั่งหุงต้มหาอาหารกินพร้อมกันทั้งเมงเหลงกับหลีเฮ็งรวมทั้งเจ้าของเรือจ้างเป็น ๔ คน คนด้วยกัน หอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินผู้เจ้าของเรือจ้างจึงรินสุราส่งให้เมงเหลงกับหลีเฮ็งกินจนเมาไม่ได้สติอารมณ์ ครั้นเวลาดึกประมาณสองยาม หอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินเห็นได้ทีก็ถอยเรือออกจากท่าแจวออกไปกลางแม่น้ำ หอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินก็ช่วยกันหามเมงเหลงกับหลีเฮ็งโยนลงไปกลางแม่น้ำ

ฝ่ายเมงเหลงกับหลีเอ็งเมาสุรานอนหลับอยู่ ไม่รู้ตัว ครั้นอ้ายผู้ร้ายหามทิ้งลงไปในน้ำจึงตื่นรู้สึกตัว แต่หลีเฮ็งว่ายน้ำไม่เป็นก็จมน้ำตาย ฝ่ายเมงเหลงนั้นว่ายน้ำเป็นแต่ลำน้ำนั้นกว้างลึกว่ายน้ำไปจวนจะสิ้นกำลังอยู่แล้ว เผอิญมีขอนไม้ลอยมาหนึ่งขอน เมงเหลงก็เกาะขอนไม้ลอยไปตามน้ำไหลได้ถึงสามคุ้งน้ำ พบเรือใหญ่ลำหนึ่งแจวทวนน้ำขึ้นไปเมงเหลงเห็นเรือใหญ่ถ่อแจวขึ้นมาดังนั้นก็มีความยินดีร้องไห้ช่วยรับ

ฝ่ายเตียจิ้นผู้เจ้าของเรือกับเมงเหลงเป็นบุตรผู้พี่ผู้น้องกันข้างฝ่ายมารดา ครั้นได้ยินเสียงคนร้องไห้ช่วยดังนั้น เตียจิ้นก็เข็นเรือสำปั้นเล็กลงจากเรือใหญ่ รีบพายเข้าไปรับเมงเหลง ครั้นรับขึ้นมาบนเรือแล้วเตียจิ้นจึงถามเมงเหลงว่าเหตุการณ์อย่างไรจึงได้เป็นไปเช่นนี้ เมงเหลงจึงเล่าความว่าด้วยไปค้าผ้าแพรเป็นสินค้า หอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินเป็นเจ้าของเรือจ้าง รับบรรทุกสินค้าไปส่งตั้งแต่ต้นจนปลายให้เตียจิ้นฟังทุกประการ เตียจิ้นจึงถามว่าอ้ายผู้ร้ายสองคนหลักฐานบ้านเรือนมันมีหรือไม่   เมงเหลงบอกว่ามีบ้านเรือน เตียจิ้นได้ฟังดังนั้นจึงพูดว่า ถ้ากระนั้นเราต้องฟ้อง  เตียจิ้นว่าดังนั้นแล้วแลดูหน้าเมงเหลงเห็นหน้าตาไม่สบาย ด้วยได้ออกเงินลงทุนไปเป็นอันมาก เกิดวิบัติสูญหายไปด้วยโจรผู้ร้าย เมงเหลงนั่งเป็นทุกข์กอดเข่าอยู่ เตียจิ้นเห็นดังนั้นจึงรินสุราให้เมงเหลงกินเพื่อจะให้สร่างคลายความทุกข์ ครั้นเวลารุ่งเช้าเตียจิ้นก็เร่งให้ลูกจ้างรีบแจวเรือถึงเมืองโซวจิ๋ว จึงแต่งฟ้องไปยื่นต่อท่านเปาเล่งถูกใจความว่า ข้าพเจ้าเมงเหลงตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลแขวงเมืองเตงจิ๋ว มาซื้อผ้าแพร ณ เมืองโซวจิ๋วกับคนใช้ผู้หนึ่งชื่อหลีเฮ็ง ครั้นซื้อผ้าแพรได้แล้วจึงจ้างหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินผู้เป็นเจ้าของเรือจ้างรับบรรทุกสินค้าไปส่ง ครั้นถึงตำบลเจียงอ๋องแวะเข้าจอดที่ท่า หอตุ๋นกุ้ยกับฮวยซินเอาสุรามอมข้าพเจ้ากับหลีเอ็งจนเมาหมดสติหลับอยู่ไม่รู้ตัว  ครั้นเวลาดึกสองยามหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินก็ถอนเรือออกจากท่าถึงกลางแม่น้ำ หอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินก็ช่วยกันหามข้าพเจ้ากับหลีเฮ็งทิ้งลงในแม่น้ำ หลีเฮ็งว่ายน้ำไม่เป็นก็ถึงแก่ความตาย แต่ข้าพเจ้าว่ายน้ำเป็นจึงพบผู้มีชื่อช่วยรับขึ้นจากน้ำพ้นจากความตาย แต่ผ้าแพรที่เป็นสินค้านั้น หอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินซึ่งเป็นผู้ร้ายจะบรรทุกไปจำหน่ายขายตำบลใดหาแจ้งไม่ ขอท่านได้เรียกตัวหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซิน ซึ่งเป็นผู้ร้ายมาพิจารณาโดยยุติธรรมตามพระราชกำหนดกฎหมาย

เปาเล่งถูครั้นได้แจ้งความตามฟ้องแล้วนั้น จึงให้นักการสองคนเดินหมายไปเกาะตัวหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซิน ก็หาพบไม่ ด้วยหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินยังหากลับมาบ้านไม่ เปาเล่งถูได้ทราบดังนั้น จึงสั่งให้นักการไปเกาะเอาตัวบุตรภรรยาของหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินมาเป็นตัวจำนำขังไว้ก่อนกว่าจะได้ตัวหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินผู้ร้าย นักการก็กระทำตามคำสั่งของเปาเล่งถูทุกประการ แล้วเปาเล่งถูทำอุบายสั่งให้เอาตัวเมงเหลงไปจำไว้เสียด้วย เปาเล่งถูจึงให้เซี่ยน้งกับหลีกิวนักการทั้งสองนายกับพลตระเวนลงเรือคอยดักตามลำแม่น้ำ จับตัวหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินให้จงได้

ฝ่ายหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซิน ครั้นได้สินค้าของเมงเหลงแล้ว ในเวลากลางคืนวันนั้นก็แจวล่องตามน้ำลงไป ถึงตำบลเจียงอ๋องจึงเช่าเรือเล็กบรรทุกผ้าแพรทั้งสิ้น เรือเดิมของตนนั้นเอาไปจ้างผู้มีชื่อเฝ้าไว้ แล้วกระทำอุบายพูดว่า ถูกผู้ร้ายปล้นเก็บเอาสิ่งของไปทั้งสิ้น ครั้นจัดการจ้างผู้มีชื่อเฝ้าเรือนั้นเป็นปรกติแล้ว หอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินก็บรรทุกสินค้านั้นไปยังเมืองน่ำเกีย จำหน่ายสินค้าได้เงินพันสามร้อยตำลึง เงินนั้นก็แบ่งปันกัน แล้วกลับมายังตำบลเจียงอ๋องคิดเงินค่าเช่าให้แก่เจ้าของเรือ   หอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินก็ลงเรือเดิมของตนคิดจะกลับไปบ้าน

ฝ่ายเซี่ยน้งกับหลีกิวนักการของเปาเล่งถู ที่ไปคอยจับหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินอยู่นั้น จึงให้พลตระเวนเที่ยวตรวจทางเรือ ตัวเซี่ยน้งกับหลีกิวก็ขึ้นเดินทางบก ไปถึงตำบลเจียงอ๋องพบหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินเห็นเรือจอดอยู่ หอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินจึงถามว่า นายทั้งสองคนนี้ไปข้างไหน เซี่ยน้งหลีกิวจึงบอกว่า ข้าพเจ้าไปราชการกลับมาจากเมืองสงกัง บัดนี้ข้าพเจ้าจะหาเรือจ้างไปส่งข้าพเจ้ากลับบ้าน หอตั๋นกุ้ยว่าถ้ากระนั้นท่านจงไปกับเรือข้าพเจ้าเถิด เซี่ยน้งกับหลีกิวได้ฟังหอตั๋นกุ้ยว่าให้โดยสารไปดังนั้นก็กระทำเป็นยินดี เซี่ยน้งกับหลีกิวก็ลงเรือมาด้วยหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซิน

ครั้นมาถึงเมืองโซวจิ๋วเรือจอดเข้าที่ท่าแล้ว เซี่ยน้งกับหลีกิวก็จับตัวหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินจำโซ่ลั่นกุญแจ หอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินมีความตกใจจึงถามว่านายทั้งสองมากับข้าพเจ้าแล้ว เหตุใดกลับจับข้าพเจ้าทั้งสองดังนี้

เซี่ยน้งกับหลีกิวจึงบอกว่า ไปถึงศาลแล้วก็คงจะได้รู้เรื่อง ว่าแล้วก็คุมตัวหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินไปส่งยังเปาเล่งถูๆ จึงถามว่าไปได้ตัวอ้ายผู้ร้ายสองคนนี้มาจากตำบลใด เซี่ยน้ง หลีกิวจึงแจ้งความว่าข้าพเจ้าไปสืบถามทุกตำบลรายทางตลอดไป ถึงตำบลเจียงฮอ๋องได้ความว่าอ้ายผู้ร้ายทั้งสองคนนี้ไปเมืองน่ำเกีย ข้าพเจ้าหวังใจว่าจะตามไปให้ถึงเมืองน่ำเกียก็เผอิญไปประจวบพบเข้าที่ตำบลเจียงอ๋อง หอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินถามข้าพเจ้าๆ ลวงบอกว่าไปราชการกลับมาจากเมืองสงกังจะกลับบ้าน หอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินจึงให้ข้าพเจ้าโดยสารมา ครั้นถึงท่าข้าพเจ้าจึงจับตัวคุมมาส่งท่าน เปาเล่งถูได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี จึงสั่งนักการอีก ๔ คนให้ไปรักษาเรือของหอตั๋นกุ้ย และตรวจดูว่าในเรือจะมีสิ่งของอันใดบ้าง แล้วเปาเล่งถูจึงให้แยกกันถามว่า เจ้าสองคนนี้ฆ่าเมงเหลงตายแล้ว เก็บเอาทรัพย์สิ่งของเงินทองไปมากน้อยเท่าใด จงให้การรับเสียโดยดี อย่าต้องให้ผูกตีจะได้ความเจ็บป่วยมากไปเปล่าๆ

หอตั๋นกุ้ยให้การปฏิเสธว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้แจวเรือจ้างส่ง เมื่อไปนั้นพบพวกผู้ร้ายมาปล้น แต่ตัวข้าพเจ้าก็แทบจะไม่พ้นฝีมือโจรซึ่งข้าพเจ้าจะได้เป็นผู้ร้ายนั้นหามิได้

เปาเล่งถูมีความโกรธจึงว่า มึงเป็นผู้ร้ายคิดอุบายเอาสุรามอมเขาให้เมาแล้วจับเขาโยนลงในน้ำให้เขาถึงแก่ความตาย มึงเป็นผู้ร้ายปากกล้าใจแข็งไม่รับโดยดี จะยอมตายในอาญาได้ก็ตามแต่ใจเอง ว่าแล้วก็สั่งให้นักการตีหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินคนละ ๔๐ ที แล้วเปาเล่งถูให้นักการลงไปขนของในเรือของหอตั๋นกุ้ยขึ้นมาจนหมด แล้วให้ผู้คุมๆ ตัวเมงเหลงโจทก์มาดูสิ่งของ ถ้าสิ่งใดซึ่งเป็นของๆ เมงเหลงจำได้แน่นอนแล้วจะได้เป็นของกลางชำระต่อไป

ครั้นนักการขนสิ่งของต่างๆ ขึ้นมาจากเรือแล้ว เมงเหลงตรวจดูเห็นมีเงินตำลึงหนึ่งกับผ้าแพรผืนหนึ่ง หาใช่ของเมงเหลงไม่ เมงเหลงจึงพูดกับหอตั๋นกุ้ยและฮวยซินว่า ท่านนี้เอาสุรามอมข้าพเจ้าให้เมาแล้วจับตัวข้าพเจ้ากับคนใช้ของข้าพเจ้าโยนลงน้ำ แล้วเอาสิ่งของๆ ข้าพเจ้าไป ไม่ควรเลยที่จะมากระทำแก่ข้าพเจ้าถึงเช่นนี้

หอตั๋นกุ้ยว่าข้าพเจ้าเป็นลูกจ้างแจวเรือให้ท่านนั่งไป เมื่อผู้ร้ายมาตีเรือนั้น ข้าพเจ้าหนีเอาตัวรอดไปได้ ตัวท่านผู้ร้ายจับโยนลงน้ำ ผู้ร้ายเก็บเอาสินค้าของท่านไปสิ้น แล้วทิ้งเรือไว้ข้าพเจ้าจึงได้เรือคืนมา  ดังนั้น แล้วข้าพเจ้าก็ได้ไปทำคำกฎหมายตราสินไว้ต่อกำนันและอำเภอตามกฎหมายเป็นพยาน ส่วนตัวผู้ร้ายนั้นท่านไม่ฟ้องหากล่าวโทษ ท่านกลับมาฟ้องหากล่าวโทษข้าพเจ้าหาควรไม่

ในขณะเมื่อโจทก์และจำเลยทุ่มเถียงโต้ตอบกันอยู่นั้น เปาเล่งถูนั่งตรึกตรองอยู่ในใจว่า โจทก์หาสินค้าถึงพันตำลึง สิ่งของเหล่านี้จำหน่ายได้เงินแล้ว คงจะฝากฝังไว้กับผู้ใดหรือซ่อนไว้ในเรือแห่งหนึ่งแห่งใดเป็นแน่ จำจะคิดอุบายเอาของกลางมาให้จงได้ ครั้นคิดเห็นดังนั้นแล้ว เปาเล่งถูจึงให้ผู้คุมคุมตัวโจทก์และจำเลยไปขังไว้ตามเดิม

ครั้นรุ่งขึ้นจึงให้ผู้คุม คุมตัวโจทก์และจำเลยมาแยกกันถามแห่งละคน แล้วเปาเล่งถูจึงให้คุมตัวฮวยซินมาถามแต่ผู้เดียวก่อนว่า เรือจอดอยู่ตำบลท่าโหซิน หอตั๋นกุ้ย ฮวยซินผู้เจ้าของเรือจ้างกับเมงเหลง หลีเฮ็งรวมด้วยกันทั้งสี่คนว่านอนหลับอยู่  อ้ายผู้ร้ายตัดให้เชือกเรือขาดลอยออกกลางแม่น้ำนั้น ตัวอ้ายผู้ร้ายนั้นมีลักษณะรูปพรรณสูงต่ำดำขาวแลนุ่งห่มสีผ้าเสื้ออย่างไร และประมาณสักกี่คน เรือของอ้ายผู้ร้ายกี่ลำเล็กใหญ่สักเท่าใด

ฮวยซินให้การว่า เวลาดึกประมาณสองยามมีอ้ายผู้ร้ายคนหนึ่งขึ้นมาบนเรือ รูปร่างลักษณะใหญ่สูงแปดศอก สวมเสื้อสีเขียว เรือของอ้ายผู้ร้ายนั้น ๓ ลำล้อมเขามาทั้งสามด้าน เมงเหลงกับหลีเฮ็งตกใจกลัวโจนลงน้ำ พวกอ้ายผู้ร้ายจึงจับตัวข้าพเจ้า ๆ ร้องขอชีวิตไว้ว่าตัวข้าพเจ้าเป็นแต่ลูกจ้างหาใช่นายเรือไม่ อ้ายผู้ร้ายจึงปล่อยตัวข้าพเจ้า แล้วเก็บสินค้าซึ่งมีอยู่ในเรือไปหมดสิ้น สิ้นคำให้การฮวยซิน เปาเล่งถูจึงได้คุมตัวหอตั๋นกุ้ยมาถามว่า พวกผู้ร้ายมีมากน้อยสักกี่คน รูปร่างอ้ายผู้ร้ายสูงต่ำดำขาวอย่างไร นุ่งห่มสีเสื้อกางเกงอย่างไร พวกอ้ายผู้ร้ายมีเรือมากี่ลำ

หอตั๋นกุ้ยให้การว่า เมื่อเวลาดึกประมาณสองยาม พวกผู้ร้ายตัดเรือลอยออกมากลางแม่น้ำ เรือผู้ร้ายมีอยู่ประมาณเจ็ดแปดลำล้อมเข้ามา ตัวอ้ายผู้ร้ายเป็นเด็กหนุ่มสวมเสื้อแดงกระโจนขึ้นมาบนเรือ จับตัวเมงเหลงกับหลีเฮ็งโยนลงในน้ำ แล้วจับตัวข้าพเจ้ากับฮวยซินไป ข้าพเจ้าจึงร้องขอชีวิตต่อพวกผู้ร้ายว่า ตัวข้าพเจ้าเป็นแต่ลูกจ้างหาใช่นายเรือไม่ พวกผู้ร้ายจึงได้ปล่อยตัวข้าพเจ้า แล้วพวกอ้ายผู้ร้ายก็เก็บเอาผ้าแพรซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ในเรือทั้งสิ้น แล้วข้าพเจ้าได้ไปทำคำกฎหมายตราสินไว้ต่ออำเภอที่ตำบลเจียงอ๋อง แจ้งอยู่ในคำตราสินนั้นทุกประการแล้ว สิ้นคำให้การของหอตั๋นกุ้ยแต่เท่านี้

เปาเล่งถูจึงเอาคำให้การของหอตั๋นกุ้ย กับคำให้การของฮวยซินเข้าเทียบกันดูเห็นคำให้การแตกต่างกัน คดีเรื่องเดียวกันเวลาอันเดียวกัน สถานที่อันเดียวกันเป็นถ้อยคำอันมีพิรุธไม่ควรฟัง จึงว่ามึงสองคนนี้คบคิดกันเป็นผู้ร้ายแน่แล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย อันสิ่งของซึ่งเอาไปนั้นเอาไว้ที่ไหน จงนำไปเอาคืนมาให้แก่โจทก์เขาเสียโดยดีจึงจะพ้นอาญา ว่าดังนั้นแล้วเปาเล่งถูก็ขึ้นนั่งเกี้ยวให้ไพร่หามลงไปยังเรือหอตั๋นกุ้ยและฮวยซิน ตรวจดูในท้องเรือก็ไม่เห็นว่าจะมีสิ่งใด แล้วแลไปเห็นกระทงเรืออันหนึ่งหนาแน่น เปาเล่งถูจึงเดินเข้าไปใกล้พิจารณาดูเห็นมีรอยลิ้นชัก และมีช่องกุญแจ เปาเล่งถูจึงให้นักการเอาขวานงัดออกมา เห็นหีบมีลิ้นชักมีน้ำหนักใส่ของไว้ในนั้น เปาเล่งถูจึงให้นักการยกขึ้นมาไว้ยังศาลจึงสั่งให้ผู้คุม คุมตัวโจทก์และจำเลยมาพร้อมกัน เปาเล่งถูจึงถามหอตั๋นกุ้ยว่าหีบลิ้นชักนี้ใส่สิ่งใดไว้ข้างใน หอตั๋นกุ้ยบอกว่าเงินของผู้มีชื่อฝากไว้แก่ข้าพเจ้า เปาเล่งถูจึงให้เปิดหีบออกมาตรวจดู เห็นมีหีบหนังสองหีบอยู่ข้างใน เปาเล่งถูจึงถามเมงเหลงว่า เมื่อลงเรือไปนั้น นอกจากสินค้าแล้วมีสิ่งใดเป็นสำคัญบ้าง เมงเหลงบอกว่ามีหีบหนังสองหีบ มียี่ห้ออักษรตัวเต็งเป็นสำคัญอยู่ในหีบ

เปาเล่งถูจึงให้เปิดหีบหนังสองหีบนั้นออกดู มีอักษรตัวเต็งสมคำเมงเหลงบอก กับตรวจดูเงินในหีบๆ ละ ๖๕๐ ตำลึง เงินรวมเป็นเงิน ๑,๓๐๐ ตำลึง เปาเล่งถูมีความโกรธยิ่งนักจึงว่า เงินอยู่ในหีบสองหีบเป็นเงินแบ่งกันแล้ว มึงเป็นผู้ร้ายใจแข็งปากกล้า บัดนี้ได้ของกลางแล้วมึงก็ไม่รับ แล้วให้ตีถามต่อไปอีก

หอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินได้ความเจ็บปวดยิ่งนัก สุดที่จะปิดความจริงไว้ได้ ก็ให้การรับตามความจริงทุกประการ เปาเล่งถูก็เขียนชื่อประทับตราในคำพิพากษาตัดสิน ให้เอาตัวหอตั๋นกุ้ยกับฮวยซินไปตัดศีรษะเสียตามกฎหมาย และส่วนเมงเหลงซึ่งได้ลงทุนไปค้านั้น ทั้งทุนทั้งกำไร รวมเป็นเงิน ๑,๓๐๐ ตำลึงหักทุนออก แล้วกำไรนั้นยกให้แก่บุตรภรรยาของหลีเฮ็งที่ไปด้วยกับเมงเหลง จึงได้ตายด้วยฝีมืออ้ายผู้ร้าย เปาเล่งถูเมื่อชำระความเรื่องผู้ร้ายปล้นนั้นแล้ว ก็ออกจากเมืองโซวจิ๋วตรวจหัวเมืองอื่นต่อไป  

3178  นั่งเล่นหลังสวน / สยาม ในอดีต / Re: แฝดสยามอิน-จัน เมื่อ: 11 เมษายน 2559 15:52:13
.



• มารผจญคนสร้างตำนานรักสะท้านโลก

ความเดิมจากตอนที่แล้ว แฝดอิน-จันตัวติดกันจากเมืองแม่กลองไปใช้ชีวิตแสดงตัวในยุโรปและอเมริกานานเกือบ ๑๐ ปี เก็บเงินได้ก้อนใหญ่แปลงสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกัน ซื้อที่ดิน ๑๕๐ เอเคอร์ (ประมาณ ๓๘๐ ไร่) ปลูกข้าวโพด ยาสูบ สร้างบ้านที่โอบล้อมด้วยขุนเขา ลำธารที่แสนจะสวยงาม สงบร่มรื่นของ แทรปฮิล เมาธ์แอรี่ รัฐนอร์ธแคโรไลนา

แฝดหนุ่มผ่านร้อนผ่านหนาวมาราว ๓๐ ปีเศษ เคยติดตาต้องใจพี่น้องสาวสวย แอดิเลดและซาร่าห์ ที่มาร่วมงานเลี้ยงฉลองแต่งงานของนายแฮริส ทั้งแฝดและสองสาว เคยโอภาปราศรัยหยอดคำหวานเป็นสะพานเชื่อมไมตรีกันไว้แบบลืมไม่ลง

แรงคิดถึงผลักดันให้แฝดตัดสินใจเดินทางด้วยรถม้า มุ่งตรงไปที่บ้านของสองสาวที่ห่างออกไปราว ๑๖ ไมล์ ถามไถ่ไปตามทางจนกระทั่งไปเคาะประตูบ้านของตระกูลเยทส์ (Yates)

สุภาพสตรีที่มาเปิดประตูบ้านต้อนรับแนะนำตัวเองว่า เธอคือ แนนซี่ เยทส์ เป็นแม่ของแอดิเลดและซาร่าห์นั่นเอง แฝดหนุ่มถึงกับผงะ เมื่อเห็นเธอสูงราว ๑๖๕ เซนติเมตร คำนวณด้วยสายตาแล้วน้ำหนักน่าเธอจะมากกว่า ๒๐๐ กิโลกรัมแน่นอน

แนนซี่เองก็ลมจับล้มทั้งยืนเมื่อเปิดประตูมาพบกับคนประหลาดตัวติดกันที่มาเคาะประตูบ้าน ต่างคนต่างมีของแปลกมาประชันกัน แนนซี่ให้การต้อนรับอิน-จันแบบอบอุ่น การบุกไปบ้านของสองสาวครั้งแรกได้พบมารดาของเธอทั้งสองเป็นการปูทางสร้างกำลังใจที่จะให้หนุ่มใหญ่ไขว่คว้าหารักให้สำเร็จ

การทำไร่ข้าวโพด ข้าวสาลี และร้านค้าของชำโดยแฝดสยามเป็นไปด้วยดี นับว่าแฝดคู่นี้เป็นผู้อพยพเข้ามาตั้งรกรากแบบคนหน้าใหม่ที่เปิดตัวแรงเต็มพิกัด

ไม่ว่าจะทำมาหากินเหนื่อยยากแค่ไหน หัวใจก็ไม่เคยหยุดเรียกร้องสองสาวตระกูลเยทส์ ทุกครั้งที่แฝดต้องเดินทางเข้าเมือง ก็จะต้องหาเรื่องแวะ มีส้มสุกลูกไม้ติดไม้ติดมือไปฝากครอบครัวนี้เสมอ สมาชิกในครอบครัวก็มีน้ำใจเชิญทานอาหารแทบทุกครั้ง โดยเฉพาะอาหารค่ำที่จะมีเรื่องพูดคุยที่แสนจะตื่นเต้น

ทุกคนในครอบครัวตระกูลเยทส์ชอบที่จะฟังเรื่องราวของเมืองแม่กลอง ราชอาณาจักรสยาม (ซึ่งตอนนั้นตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓) เรื่องราวการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากสยามมาอเมริกา การพเนจรไปหลายประเทศในยุโรป ในอเมริกา เรื่องราวเหล่านี้จะมีกี่คนในโลกนี้ที่เคยประสบพบเจอ สาวน้อยแอดิเลด (เรียกง่ายๆ ว่า แอ้ดดี้) และซาร่าห์ (เรียกง่ายๆ ว่า แซลลี่) เคลิบเคลิ้มไปกับสองผู้ยิ่งใหญ่จากสยาม

ความรักที่แอบรักเค้าข้างเดียว มันอึดอัดคับอกต้องยกออก แฝดหนุ่มคิดหนัก คงต้องใช้บริการของเพื่อนรัก นายแฮริสที่เป็นเพื่อนร่วมงานมาหลายปี แฮริสเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะขผ่านประตูเหล็กบานใหญ่ผ่านไปให้จงได้




นายแฮริส ชาวอังกฤษเชื้อสายไอริชที่มาแต่งงานกับลูกสาวเจ้าของบ้านเช่าในแทรปฮิล หลังจากได้รับฟังเรื่องความรักที่หนักปานภูผา ถึงกับมึนตึ้บ

แฮริสทราบดีว่าความรักของแฝดยิ่งใหญ่ หนักแน่นเกินบรรยาย แต่ความไม่ปกติของร่างกายอิน-จัน คือกำแพงเหล็กที่สูงตระหง่านขวางกั้นความรักจากฝ่ายหญิง

สามัญสำนึกของแฮริสบอกได้ทันทีว่าเรื่องพิสดารแบบนี้ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ เรื่องการสมรสข้ามสีผิว การสมรสข้ามเผ่าพันธุ์เป็นเรื่องที่สังคมอเมริกันในยุคนั้นถือว่าร้ายแรงมาก ถ้าผู้ชายผิวขาวไปสมรสกับหญิงสีผิวอื่นถือเป็นเรื่องยอมรับได้ แต่ถ้าผู้หญิงผิวขาวไปสมรสกับชายสีผิวอื่นเป็นเรื่องที่ต้องห้าม

อเมริกาในยุคสมัยนั้น มีการแบ่งแยกสีผิวชัดเจนแบบปะปนกันไม่ได้เลย พ่อค้าคนขาวจะไปซื้อคนดำที่เรียกว่านิโกร จากทวีปแอฟริกาใส่เรือมาอเมริกา เพื่อมาทำงานหนักมีสถานะเป็นทาส

บรรทัดฐานสังคมที่เข้มงวด รวมถึงจารีตประเพณีของคนอเมริกันผิวขาวในยุคนั้น เป็นอุปสรรคขวากหนามที่แหลมคมสำหรับอิน-จัน รวมทั้ง แอ้ดดี้และแซลลี่ เรื่องจริยธรรม ค่านิยมในสังคมของหญิงสาวในยุคเหยียดสีผิวมีผลในทางปฏิบัติเข้มงวด ทั้งๆ ที่กฎหมายก็มิได้ระบุไว้

ประการสำคัญที่สุด ความรู้สึกของพี่น้อง ๒ สาว ที่ลังเลใจต่อความรัก เพราะเธอมีความฝันว่าถ้าได้แต่งงาน เธอคงฝันอยากมีชีวิตส่วนตัวกับคนรัก แต่ชายหนุ่มคู่นี้ตัวมันติดกันมาตั้งแต่เกิด มันจะไปเป็นส่วนตั๊วส่วนตัวกันตอนไหนได้ ชีวิตที่เรียกว่าร่วมเรียงเคียงหมอน มนุษย์ทั่วไปทำกันแค่ ๒ คนเท่านั้น นี่กำลังจะเล่นเป็นหมู่ ๔ คน

เธอคงอยากได้สามีคนเดียว ไม่อยากได้ของแถม

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพนะครับ ตำนานรักบันลือโลกของชาวสยามคู่นี้ คือความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของแฝดสยาม ที่ฝรั่งเรียกว่า Siamese Twins ที่สร้างความเป็นอมตะระดับโลกทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

มีคนแฝดตัวติดกันที่เรียกว่า Conjoined Twins ในโลกนี้อีกหลายคู่ ศีรษะติดกัน ก้นติดกัน แต่แฝดเหล่านั้นอายุไม่ยืนยาวเหมือนแฝดสยาม แฝดสยามมีทุกอย่างปกติเหมือนคนทั่วไป ใช้ชีวิตเช่นผู้คนทั้งหลาย แต่มีท่อนเนื้อเหมือนกระบอกข้าวหลามยาวประมาณ ๖ นิ้ว เชื่อมติดกันบริเวณหน้าอก (กรุณาดูภาพอย่างละเอียด) ที่สำคัญที่สุดคือ แฝดสยามตัวติดกันที่มีอายุยืนยาวที่สุดและเป็นผู้แหกกฎเกณฑ์ทั้งปวง

ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ และมีพลังไปกว่าความรัก แฝดทั้งสองดั้นด้นเทียวไปเทียวมา กระเตงกันไปแบบคนคู่สู้ชีวิต หาเรื่องเข้าบ้านฝ่ายหญิงไม่ขาดตอน มีบันทึกว่าหลังอาหารเย็นที่บ้านของสองสาว แฝดหนุ่มจะโชว์เสียงเพลงรักจากขลุ่ยอันโหยหวนที่มนต์สะกด เดวิด แนนซี่และ สมาชิกในครอบครัวเยทส์อย่างได้ผลชะงักนักแล

รักพิสดารกระฉ่อนโลกของ ๔ คนนี้ มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย

ข่าวดีคือ แอดิเลดยอมรับและเห็นใจแฝดจัน

ข่าวร้ายคือ ซาร่าห์ไม่เล่นด้วย แฝดอินจึงเป็นส่วนเกิน

น่าสนใจมากนะครับ บรรพบุรุษของชาวสยามคู่นี้เค้าไปจีบกันยังไง ในขณะที่แฝดจันพร่ำคำหวานต่อแอ้ดดี้ แฝดอินก็ต้องฟังอยู่ด้วย กี่ครั้งกี่หนก็ต้องฝืนทนอยู่กะเค้า หลับๆ ตื่นๆ ง่วงเหงาหาวนอน จะขอตัวไปนอนก่อนก็ไปไม่ได้ หรือจะไปฉี่ ก็ไปไม่ได้

มาร์ค เทวน (Mark Twain) นักประพันธ์ ศิลปินที่มีชื่อระดับโลกได้รับทราบข่าวว่ามีแฝดตัวติดกันในอเมริกา จึงประพันธ์บทบรรยายแนวบันเทิงเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์แสนมหัศจรรย์คู่นี้ และได้เขียนภาพการ์ตูนล้อเลียนในช่วงที่จันกำลังมีความสุขคุยกับแอดิเลดในยามดึกดื่นเที่ยงคืน แต่อินต้องเหงาเงิบง่วงนอน

ข้อมูลเด็ดเรื่องเด็กแฝดในโลกนี้ที่นึกไม่ถึงแต่มีบันทึกไว้ใน Encyclopedia of Multiple Birth records ปี ๒๐๐๘ ระบุว่า ในปี พ.ศ.๒๒๔๓ คุณแม่ชาวรัสเซียที่แสนจะมีบุญ ได้คลอดแฝด ๓ คน จำนวน ๗ ครั้ง ตามด้วยการคลอดแฝด ๔ คนอีก ๔ ครั้ง รวมแล้วคุณแม่คนนี้ให้กำเนิดลูก ๓๗ คน ผู้เขียนขอสงวนความคิดเห็นครับ เพราะนึกภาพไม่ออกเรื่องการกินนม

ผู้เขียนขอสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ของสยามในห้วงเวลาตรงกับที่แฝดสยามไปตั้งรกรากสร้างชีวิตในอเมริกา

ในช่วงเวลานั้น สยามไม่มีศึกสงครามกับพม่าแล้ว เนื่องจากพม่ากำลังสู้รบ ชาวพม่าบาดเจ็บล้มตายทำสงครามต่อต้านอังกฤษที่ส่งกำลังเข้ายึดครองพม่า ในหลวง ร.๓ ที่ทรงพระปรีชาสามารถจึงทุ่มเทสรรพสิ่งทั้งปวงไปกับการพัฒนา มีการขุดคลองบางขนาก ขุดคลองหมาหอน ขุดคลองบางขุนเทียนเพื่อการขนส่งทางน้ำ

ด้านการสาธารณสุข ในยุคนั้นนายแพทย์บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley M.D.) แพทย์ชาวอเมริกันที่ชาวสยามเรียกปลัดเล ได้เข้ามารักษาพยาบาลชาวสยามด้วยวิชาการแพทย์สมัยใหม่ ผสมผสานกับการเผยแพร่ศาสนา หมอริเริ่มให้มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเป็นครั้งแรกในสยาม มีการฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค หมอปลัดเลแสดงวิธีการการผ่าตัดคนไข้รายแรกของสยามให้ได้เห็นกันจะจะ

ปลัดเลคนนี้ยังขยันไม่หยุด แกไปประดิษฐ์ตัวพิมพ์อักษรไทยเพื่อทำแท่นพิมพ์ สร้างโรงพิมพ์เป็นครั้งแรก แถววัดประยูรวงศาวาส แถมยังกล้าออกหนังสือพิมพ์ภาษาไทยรายปักษ์ ชื่อ แบงคอก รีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) ให้ชาวสยามได้อ่าน หมอออกแบบทำปฏิทินให้ชาวสยามได้ใช้เป็นปฐมบท

กลับมาเรื่องของความรัก ของหนุ่มสยามที่กำลังกลัดกลุ้ม รักไม่ลงตัว ที่สาวน้อยซาร่าห์ ยังคิดไม่ตกที่จะใช้ชีวิตครอบครัวร่วมกันแบบ ๔ คน ความหมองคล้ำปรากฏบนใบหน้าของแฝดอิน ถึงขนาดกินไม่ได้นอนไม่หลับ

เสียงซุบซิบนินทาเริ่มเล็ดลอดออกมา กระจายไปในชุมชนแทรปฮิลว่า ไอ้แฝดประหลาดคู่นี้มันกำลังหลงรักสาวอเมริกันผิวขาว

แฝดอิน ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากแฝดจัน จึงหาทางออกโดยประกาศจัดงานเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ ซึ่งก็เป็นกิจกรรมธรรมดาที่แฝงด้วยความไม่ธรรมดา เพื่อนบ้านในบริเวณใกล้-ไกล ต่างได้รับเชิญมาร่วมงานที่บ้าน

แน่นอนที่สุด เป้าหมายคือการได้พบแอดิเลดและซาร่าห์

เธอทั้งสองเป็นแขกคนสำคัญสำหรับเจ้าของบ้านชายโสดฝาแฝดที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี เฟอร์นิเจอร์เกือบทุกชิ้น ถ้วยชาม แก้วน้ำ ช้อนส้อม ล้วนเป็นของที่ไปซื้อมาจากนิวยอร์ก

เมื่องานดำเนินไปจนดึกดื่นเพื่อนบ้านทั้งหลายทยอยกลับไปจนคนสุดท้าย แต่ยังคงมีแอดิเลดและซาร่าห์ เป็นเพื่อนคุยกับแฝด

การเจรจาเพื่อยืนยันในรักแท้ คือประเด็นหลักในการสนทนาที่ต่อเนื่องข้ามคืนเข้าสู่เช้าวันใหม่ แอดิเลดที่ยอมรับรักจากแฝดจันมาก่อนแล้ว ได้ช่วยพูดอ้อนวอนพี่สาว สร้างสะพานเชื่อมนำความรัก ความเข้าใจแบบหมดจด เธออ้อนวอนให้ซาร่าห์ตอบรับความรักของแฝดอิน

พระเจ้าที่อยู่บนสรวงสวรรค์ ท่านคงได้ยลยินกับเสน่หา ความรักของ ๒ หนุ่ม ๒ สาวมาทั้งคืน พระผู้เป็นเจ้าจึงดลบันดาลให้ซาร่าห์เอ่ยปากยอมรับในความรักของแฝดอินในที่สุด

รุ่งสางของวันนั้น โลกทั้งใบเป็นของแฝดสยาม ความรักคือการให้ เมื่อรักมาบรรจบครบ ๔ คนความสุขก็เริ่มปรากฏ แต่ทุกอย่างยังคงเป็นความลับที่มิได้แพร่งพรายต่อผู้ใด

อิน-จัน ยังคงทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย แวะไปเยี่ยมบ้านของสองสาวตามปกติวิสัยทุกครั้งที่เดินทางเข้า-ออกจากเมือง

ความสนิทสนมที่ก่อตัวมานาน สร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ๒ คู่ชายหญิงจากแทรปฮิล นั่งรถม้าเปิดประทุนออกไปเที่ยวเล่นด้วยกันตามประสาหนุ่มสาว ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดตัวแสดงตนต่อสาธารณชนว่าเป็นคู่รักที่ลงตัวแล้ว

การปรากฏตัวครั้งนั้น เป็นการเฉลยคำตอบอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่า สองสาวผิวขาว ซาร่าห์และแอดิเลด ลูกสาวอีตาเดวิดกับนางแนนซี่เป็นคนรักของไอ้แฝดตัวติดกันอย่างไม่ต้องสงสัย ไฟลามท้องทุ่งยังเคลื่อนตัวช้ากว่าเสียงติฉินนินทา ที่พุ่งออกไปทั่วสารทิศเร็วปานจรวดในชุมชนวิลส์คโบโร

ค่านิยม จารีตและความคิดและจิตใจของคนผิวขาวในยุคสมัยนั้น มีกรอบว่าถ้าหญิงสาวคนขาวจะมีความรักกับบุรุษต่างสีผิว มันคือหายนะ มันคือความสำส่อนโสมมที่รับไม่ได้เด็ดขาด

หนุ่มสาวทั้ง ๔ คนที่ต่างมีโลกเป็นสีชมพูไม่สามารถแพร่งพรายได้ เรื่องความรักที่ลงตัวของ ๒ หนุ่ม ๒ สาว ยังไม่ระแคะระคายกับเสียงก่นด่าที่ตลบอบอวลท้องทุ่ง มาทราบอีกครั้งเมื่อบ้านของเธอโดนขว้างด้วยก้อนหินกระจกแตกกระจายในคืนวันถัดมา

มันคือสัญญาณจากปรปักษ์รอบข้างที่ออกอาการชัดเจนว่ารังเกียจการคบหาของหนุ่มที่มีร่างกายวิปริตกับสาวเจ้าถิ่น

ความชิงชังยังก่อกวนจิตประสาทของครอบครัวตระกูลเยทส์ โดยมีจดหมายมาข่มขู่ให้ควบคุมลูกสาวมิให้คบหากับไอ้แฝดสยามคู่นี้ ถ้าไม่หยุดการคบหาแบบคนรัก ชาวบ้านจะไปเผาพืชไร่ของเดวิดให้พินาศหมดตัว

หนังสือ The Lives of Chang and Eng โดย Joseph Andrew Orser สร้างความกระจ่างเกี่ยวกับตระกูลเยทส์ ที่ต้องแบกรับการติเตียนแสนสาหัสจากสังคมรอบด้านในอเมริกายุคนั้น โดยระบุว่าในช่วงนั้นมีคดีความฟ้องร้องกันในศาลเกี่ยวกับเรื่องการอยู่กินกันของชายหญิงโดยไม่แต่งงาน การคบชู้สู่ชาย คดีเรื่องลูกนอกสมรส หลากหลายในสังคมชนบทอเมริกา ทางการมีความพยายามที่จะออกกฎหมายป้องปรามและกำหนดบทลงโทษ

เดวิดและแนนซี่ เยทส์ พ่อแม่ของแซลลี่และแอ้ดดี้ ครอบครองที่ดิน ๕๐๐ เอเคอร์ มีทาสทำงานในไร่ ๗ คน นับว่าเป็นครอบครัวที่มีหน้ามีตา ได้รับการยอมรับนับถือจากชุมชนวิลส์คโบโร ในเมื่อลูกสาว ๒ คนกำลังจะไปออกเรือนกับชายรูปร่างพิสดารตัวติดกันเช่นนั้น แกจึงต้องปกป้อง กีดกันทุกวิถีทาง

ชีวิตของแฝดหนุ่มจากสยาม ช่างรันทด อาภัพรักเสียนี่กระไร อันที่จริงชาวชุมชนเมืองวิลคส์ ก็ต้อนรับนับแฝดคู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโดยมิได้ตั้งแง่รังเกียจอะไร แต่พอมาทราบว่าแฝดพิสดารคู่นี้เกิดไปรักใคร่ชอบพอกับสาวสวยในชุมชนตัวเอง มันเสียเหลี่ยมคนขาว ก็ต้องหมั่นไส้ไล่ส่งเป็นธรรมดา

มารผจญ คนหลอกหลอนไม่หยุด สื่อท้องถิ่น คาโรไลนา วอทช์แมน (Carolina Watchman) และอีกหลายฉบับชิงเปิดพื้นที่ข่าวหน้า ๑ ละเลงสีสันแบบเมามัน วาดภาพการแต่งงานที่จะมีขึ้นโดยใช้คำว่าสมรสหมู่ ๔ การแต่งงานของสัตว์ป่า สัตว์ป่าบ้าตัณหากำลังเข้าพิธีสมรส

การเย้ยหยัน เสียดสีในหน้าหนังสือพิมพ์เลยเถิดไปไกล ในทำนองว่าจะเป็นการสมรสระหว่างคนกับสัตว์ คนสมรสกับอสุรกาย





ซาร่าห์ แอน เยทส์ เกิดเมื่อ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๖๕ พบหน้าแฝดครั้งแรกในงานเลี้ยงเมื่ออายุ ๑๘ ปี

แอดิเลด เยทส์ เกิดเมื่อ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๖๖ พบหน้าแฝดครั้งแรกในงานเลี้ยงเมื่ออายุ ๑๗ ปี

ทั้งสองสาวเกิดในชนบทรัฐนอร์ธ แคโรไลนา มีพี่น้องท้องเดียวกันทั้งสิ้น ๖ คน เป็นชาย ๒ หญิง ๔

เมื่อชาวบ้านรุมด่ากันทั้งบ้านทั้งเมือง แฝดหนุ่มจากแม่กลองที่โอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกัน หาได้หยุดความพยายามไม่ โดยถือคติว่ามารไม่มีบารมีไม่เกิด ยังอดทนวาดฝัน ฟันฝ่าตามหารักแท้

เดวิดและแนนซี่คิดหนัก เพราะโดนขู่จากสังคมรอบด้าน ส่วนพี่น้องสองสาวที่กลายเป็นจำเลยสังคม เป็นขี้ปากชาวบ้านกลับมีความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว ไม่แยแสต่อเสียงเห่าหอนของภูตผีปีศาจทั้งหลาย

สองนารีพี่น้องแห่งเมืองวิลส์คกลับเป็นฝ่ายรุก แอบนัดพบกับแฝดหนุ่มเป็นผลสำเร็จ ทั้ง ๔ คน ได้พบกันในสถานที่ลับเฉพาะหลายครั้ง เพื่อปรึกษาหาทางออกให้กับชีวิตที่จะต้องก้าวข้ามจารีตคตินิยมให้ได้

คำตอบที่สรุปออกมาได้จากการลักลอบพบกันคือ แฝดทั้งสองจะเดินทางไปฟิลาเดลเฟียพบศัลยแพทย์เพื่อผ่าตัดแยกร่างให้จงได้

ความรักมีพลังแสนจะยิ่งใหญ่

เมื่อแฝดไปถึงฟิลาเดลเฟีย จึงไปพบศัลยแพทย์เพื่อขอร้องให้ผ่าตัดแยกร่างที่ใช้ชีวิตตัวติดกันมาราว ๓๐ ปี เพื่อจะแยกกันไปแต่งงานและใช้ชีวิตครอบครัวเยี่ยงปุถุชนทั้งหลาย

แพทย์ทั้งหมดในฟิลาเดลเฟียทุกสำนัก ยืนยันว่าจะไม่มีวันลงมือผ่าแยกร่างให้เป็นอันขาด เพราะผลที่จะได้รับคือการสูญเสียทั้งอินและจัน

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ในยุคสมัยนั้นยังมีแฝดตัวติดกันที่เรียกว่า Conjoined Twins อีกหลายคู่นะครับ แต่ไม่มีใครสร้างตำนานระดับโลกทิ้งไว้ ทั้งเป็นนักสู้ บู๊ ดุเดือดเลือดพล่าน รัก หวานชื่น ขื่นขม แบบนี้เลย

เมื่อการผ่าตัดแยกร่างเป็นไปไม่ได้ บรรยากาศแห่งความรักของเทพบุตรสยามกับนางฟ้าพลอยมืดมิดไร้ทางออกโดยสิ้นเชิง

การเดินทางไปฟิลาเดลเฟีย ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความเสียสละของแฝดที่มีต่อพี่น้องทั้งสองสาวเป็นร้อยเท่าพันทวี

พี่น้องสองสาวฮึดสู้แบบหัวชนฝา เธอทั้งสองจะขอเป็นฝ่ายฉีกกฎเหล็กของสังคม สองสาวแอบลักลอบนัดพบกับแฝดอีกครั้ง เธอทั้งสองประกาศจะวิวาห์เหาะพากันหนีทั้ง ๔ คน แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น เธอจะไปขอให้บาทหลวงชื่อ คอลบี้ สปาร์ค (Collby Spark) ไปช่วยพูดกับพ่อแม่ของเธออีกครั้ง และครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย

สองสาวพี่น้องและแฝดหนุ่มต่างเจ็บปวด ทุกข์ระทมกับความไม่สมบูรณ์ของชีวิต

ผู้เขียนคิดด้วยใจเป็นธรรม คิดถึงใจเขา-ใจเรา ถ้าวันนี้เราเป็นพ่อ-แม่ของสองสาว ก็ต้องห่วงหวงและกังวลกับชีวิตของลูกสาวไม่น้อยว่าถ้าได้สามีเป็นคนต่างชาติต่างผิวพรรณ ไม่รู้เทือกเถาเหล่ากอ ความไม่เป็นปกติของร่างกาย ที่ไม่ทราบว่าแฝดคู่นี้มีอาการป่วยซ่อนอยู่ข้างใน หรือไม่ หรือเมื่อมีลูกมีหลานแล้วมันจะออกมาเป็นมนุษย์หรือไม่ หรือจะออกลูกมาเป็นหอยสังข์ เงาะป่า หรือจะออกลูกมาเป็นนางเงือก?

สามีภรรยาคู่นี้คิดไปได้ร้อยแปด น่าเห็นใจนายเดวิดและนางแนนซี่นะครับ

คำตอบสุดท้ายจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา


โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
3179  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท) เมื่อ: 08 เมษายน 2559 15:39:35

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๖
(พระวินัยข้อที่ ๓๕)
ภิกษุนำขนเจียมที่มิได้มีใครถวายติดตัวไปเกินกว่า ๓ โยชน์
ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไปสู่พระนครสาวัตถีแถบโกศลชนบท ขนเจียมเกิดขึ้นแก่เธอในระหว่างทาง ท่านจึงเอาจีวรห่อขนเจียม ชาวบ้านเห็นจึงพูดสัพยอกว่า ท่านซื้อขนเจียมมาด้วยราคาเท่าไร? จักมีกำไรเท่าไร?
     ท่านเป็นผู้เก้อเขิน ถึงนครสาวัตถีจึงโยนจนเจียมเหล่านั้นลง ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโส ท่านนำขนเจียมเหล่านี้มาไกลเท่าไร? ภิกษุรูปนั้นตอบว่า เกินกว่า ๓ โยชน์ ขอรับ
     ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล... ทรงมีพระบัญญัติว่า “หนึ่ง ขนเจียมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เดินทางไกล ภิกษุต้องการพึงรับได้ ครั้นรับแล้ว เมื่อคนถือไม่มี พึงถือไปด้วยมือของตนเองตลอดระยะทาง ๓ โยชน์ เป็นอย่างมาก ถ้าเธอถือเอาไปยิ่งกว่านั้น แม้คนถือไม่มี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

     -บทว่า แก่ภิกษุผู้เดินทางไกล ได้แก่ ภิกษุเดินทาง
     -ขนเจียมเกิดขึ้น คือ เกิดขึ้นจากสงฆ์ก็ตาม จากคณะก็ตาม จากญาติก็ตาม มิตรก็ตาม จากที่บังสุกุลก็ตาม จากทรัพย์ของตนก็ตาม
     -ต้องการ คือ เมื่อปรารถนาก็พึงรับได้
     -คำว่า ครั้นรับแล้ว พึงถือไปด้วยมือของตนเอง ตลอดระยะทาง ๓ โยชน์ เป็นอย่างมาก คือนำไปด้วยมือของตนเองได้ชั่วระยะทาง ๓ โยชน์ เป็นอย่างไกล
     -บทว่า เมื่อคนถือไม่มี ความว่า คนถือคือสตรี หรือบุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตสักคนหนึ่ง เป็นผู้ช่วยถือไป ไม่มี
     -คำว่า ถ้าเธอถือเอาไปยิ่งกว่านั้น แม้คนถือไม่มี อธิบายว่า เธอก้าวเกิน ๓ โยชน์ เท้าแรกต้องอาบัติทุกกฎ เท้าที่สองขนเจียมเหล่านั้นเป็นนิสสัคคีย์, เธอยืนอยู่ภายในระยะ ๓ โยชน์ โยนขนเจียมลงนอกระยะ ๓ โยชน์ ก็เป็นนิสสัคคีย์ ซ่อนไว้ในยานพาหนะก็ตาม ในห่อถุงของคนอื่นก็ตาม ซึ่งเขาไม่รู้ ให้ล่วง ๓ โยชน์ไป ก็เป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล...

วิธีเสียสละแก่บุคคล
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง... กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ขนเจียมเหล่านี้ของข้าพเจ้าให้ล่วงเลย ๓ โยชน์ เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละขนเจียมเหล่านี้แก่ท่าน”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับเสียสละพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนให้คำว่า “ข้าพเจ้าให้ขนเจียมเหล่านี้แก่ท่าน” ดังนี้

อาบัติ
     ๑.เกิน ๓ โยชน์ ภิกษุรู้ว่าเกิน เดินเลย ๓ โยชน์ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๒.เกิน ๓ โยชน์ ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.เกิน ๓ โยชน์ ภิกษุคิดว่ายังไม่ถึง เดินเลย ๓ โยชน์ไป เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.หย่อน ๓ โยชน์ ภิกษุคิดว่าเกิน... ต้องทุกกฎ
     ๕.หย่อน ๓ โยชน์ ภิกษุสงสัย... ต้องทุกกฎ
     ๖.หย่อน ๓ โยชน์ ภิกษุรู้ว่าหย่อน... ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ภิกษุถือไปเพียงระยะ ๓ โยชน์ ๑ ภิกษุถือไปหย่อนระยะ ๓ โยชน์ ๑ ภิกษุถือไปก็ดี ถือกลับมาก็ดี เพียงระยะ ๓ โยชน์ ๑  ภิกษุถือไปเพียง ๓ โยชน์ แล้วพักแรมเสีย รุ่งขึ้นถือต่อจากนั้นไปอีก ๑ ขนเจียม ถูกโจรชิงไปแล้ว ภิกษุได้คืนมา ถือไปอีก ๑  ขนเจียมที่สละแล้ว (ตามวินัยกรรม) ภิกษุได้คืนมา ถือไปอีก ๑ ภิกษุให้คนอื่นช่วยถือไป ๑  ขนเจียมที่ทำเป็นสิ่งของแล้ว ภิกษุถือไป ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๙๒๓-๙๒๖
     ๑.ภิกษุโยนออกไปภายนอก ๓ โยชน์ เมื่อขนเจียมจะตกไปโดยไม่มีอันตราย พอพ้นจากมือเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์มากตัวตามจำนวนเส้นขน, ถ้าขนเจียมที่โยนไปนั้นกระทบที่ต้นไม้หรือเสาในภายนอก ๓ โยชน์ แล้วตกลงภายใน (๓ โยชน์) อีก ยังไม่ต้องอาบัติ, ถ้าห่อขนเจียมตกลงพื้น หยุดแล้วกลิ้งไป กลับเข้ามาภายในอีก เป็นอาบัติแท้
     ภิกษุยืนข้างใน เอามือ หรือเท้า หรือไม้เท้ากลิ้งไป ห่อขนเจียมจะหยุดหรือไม่หยุดก็ตามกลิ้งออกไป เป็นอาบัติเหมือนกัน ภิกษุวางไว้ด้วยตั้งใจว่า คนอื่นจักนำไป แม้เมื่อคนนั้นนำขนเจียมไปเป็นอาบัติเหมือนกัน, ขนเจียมที่ภิกษุวางไว้ด้วยจิตบริสุทธิ์ ลมพัดไปหรือคนอื่นให้ตกไปในภายนอกโดยธรรมดาของตนเป็นอาบัติเหมือนกัน เพราะภิกษุมีอุตสาหะ และเพราะสิกขาบทเป็นอจิตตกะ
     -ภิกษุวางขนเจียมไว้บนยานหรือบนหลังช้างเป็นต้น ซึ่งกำลังไป ด้วยตั้งใจว่า เมื่อเจ้าของเขาไม่รู้เลย มันจักนำไปเอง เมื่อยานนั้นล่วงเลย ๓ โยชน์ไป เป็นอาบัติทันที แม้ในยานที่จอดอยู่ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน, ก็ถ้าว่า ภิกษุวางขนเจียมไว้บนยาน หรือบนหลังช้าง เป็นต้น ที่ไม่ไป และขึ้นขับขี่ไป หรือไปเตือนให้ไป หรือเรียกให้ (จอดอยู่) ติดตามไป ไม่เป็นอาบัติ เพราะมีพระบาลีว่า ภิกษุให้คืนอื่นช่วยนำไป (อาบัติเรื่องตะบัดภาษีในปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ เป็นอนาบัติในสิกขาบทนี้, ส่วนอาบัติในสิกขาบทนี้เป็นอนาบัติในอทินนาทานนั้น)
     ภิกษุไปถึงสถานที่ (๓ โยชน์) นั้น ส่งใจไปอื่น หรือถูกพวกโจรเป็นต้น รบกวน เลยไปเสียก็ดี เป็นอาบัติเหมือนกัน, พึงทราบจำนวนอาบัติตามจำนวนเส้นขนในฐานะทั้งปวง
     ๒.ขนเจียมที่ทำเป็นสิ่งของ มีผ้ากัมพล พรม และสันถัต เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดแม้เพียงมัดด้วยเส้นด้าย
     อนึ่ง ภิกษุใด สอดขนเจียมลงในระหว่างถลกบาตรบางๆ ก็ดี ในหลืบผ้ารัดเข่า ผ้าอังสะ และประคดเอว เป็นต้นก็ดี ในฝักมีด เพื่อป้องกันสนิมกรรไกรเป็นต้นก็ดี โดยที่สุดอาพาธเป็นลม ยอนขนเจียมไว้ไม้ในช่องหูแล้วเดินไป เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้นเหมือนกัน แต่ขนเจียมที่มัดด้วยเส้นด้ายใส่ไว้ในระหว่างรองเท้าและถลกบาตรเป็นต้น ย่อมตั้งอยู่ในฐานะแห่งขนเจียมที่ทำเป็นสิ่งของ, ภิกษุทำให้เป็นช้องผมแล้วนำไป นี้ชื่อว่าทางเลี่ยงเก็บ เป็นอาบัติเหมือนกัน
     ๓.สิกขาบทนี้มีขนเจียมเป็นสมุฏฐาน ย่อมเกิดขึ้นทางกาย ๑  ทางกายกับจิต ๑  เป็นกิริยา ๑  เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม มีจิต ๓ (อกุศลจิต กุศลจิต กิริยาจิต)    


นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๗
(พระวินัยข้อที่ ๓๖)
ภิกษุใช้ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ซัก ย้อม สาง ซึ่งขนเจียม
ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    พระฉัพพัคคีย์ใช้ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ซัก ย้อม สางขนเจียม  ภิกษุณีทั้งหลายมัวสาละวนซัก ย้อม สาง จึงละเลยอุเทศ ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา  พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีเสด็จเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า...แล้วกราบทูล...ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ยังภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ให้ซักก็ดี ให้สางก็ดี ซึ่งขนเจียม เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

     -ผู้มิใช่ญาติ คือ ไม่ใช่คนที่เนื่องถึงกันทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี ตลอด ๗ ชั่วอายุบุรุพชนก
     -ที่ชื่อว่า ภิกษุณี ได้แก่ สตรีผู้อุปสมบทแล้วในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)
     -ภิกษุสั่งว่า จงซัก หรือจงย้อม หรือจงสาง ต้องทุกกฎ ขนเจียมที่ซักแล้วเป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล...

อนาบัติ
     ภิกษุณีผู้เป็นญาติซักให้เอง ๑ ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติเป็นผู้ช่วยเหลือ ๑ ภิกษุไม่ได้ใช้ แต่ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติซักให้เอง ๑ ภิกษุใช้ให้ซักขนเจียมที่จำเป็นสิ่งของแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้ ๑ ใช้สิกขมานาซัก ๑ ใช้สามเณรีซัก ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๙๓๗
     ๑.สิกขาบทนี้มีเนื้อความพร้อมทั้งสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนปุราณจีวร สิกขาบทที่ ๔ แห่งจีวรวรรค      




นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๘
(พระวินัยข้อที่ ๓๗)
ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งทองและเงิน
หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    ครั้งนั้น สกุลหนึ่งได้ถวายภัตแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตรเป็นประจำ  เย็นวันหนึ่ง สกุลนั้นได้แบ่งเนื้อเป็น ๒ ส่วน คือ ของครอบครัวส่วนหนึ่ง เตรียมทำถวายท่านพระอุปนันทะส่วนหนึ่ง
     รุ่งเช้า เด็กในสกุลตื่นแต่เช้ามืด ร้องไห้ขอให้ให้เนื้อ สามีจึงให้ภรรยาให้เนื้อส่วนนั้นแก่เด็ก แล้วพูดว่าเราจักซื้อของอื่นถวายท่านอุปนันทะ  ในเวลาเช้าท่านอุปนันทะถือบิณฑบาตเข้าสู่สกุลนั้น สามีได้กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อเย็นวานนี้มีเนื้อเกิดขึ้น ผมได้เก็บไว้ถวายพระคุณเจ้า แต่ว่าได้ให้เด็กที่ร้องไปในตอนเช้ามืด พระคุณเจ้าจะให้ผมจัดหาอะไรมาถวายด้วยทรัพย์กหาปณะหนึ่ง ขอรับ
     ท่านพระอุปนันทะกล่าวว่า ท่านจงให้กหาปณะนั้นแหละแก่เรา
     บุรุษนั้นได้ถวายกหาปณะ แล้วเพ่งโทษติเตียนว่า ไฉนจึงรับรูปิยะเหมือนพวกเรา
     ภิกษุทั้งหลายได้ยิน...จึงกราบทูล...ทรงมีพระบัญญัติว่า  “อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

     -ที่ชื่อว่า ทอง ตรัสหมายถึง ทองคำ
     -ที่ชื่อว่า เงิน ได้แก่ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะ มาสกที่ทำด้วยไม้ มาสกที่ทำด้วยครั่ง ซึ่งใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้
     -บทว่า รับ คือ รับเอง เป็นนิสสัคคีย์, ให้รับ คือ ให้คนอื่นรับแทน เป็นนิสสัคคีย์
     -บทว่า หรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้ มีความว่า หรือยินดีทองเงินที่เขาเก็บไว้ให้ ด้วยบอกว่า ของนี้จงเป็นของพระคุณเจ้า ดังนี้เป็นต้น เป็นนิสสัคคีย์, ทองเงินที่เป็นนิสสัคคีย์ ต้องเสียสละในท่ามกลางสงฆ์

วิธีเสียสละรูปิยะ
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่งเท้า ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้ารับรูปิยะไว้แล้ว ของนี้ของข้าพเจ้าเป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละรูปิยะนี้แก่สงฆ์”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ ถ้าคนผู้ทำการวัดหรืออุบาสกเดินมาในสถานที่เสียสละนั้น พึงบอกเขาว่า ท่านจงรู้ของสิ่งนี้ ถ้าเขาถามว่าจะให้ผมนำของสิ่งนี้ไปหาอะไรมา อย่าบอกว่า จงนำของสิ่งนี้หรือของสิ่งนี้มา ควรบอกแต่ของที่เป็นกัปปิยะ เช่น เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย ถ้าเขานำรูปิยะนั้นไปแลกของที่เป็นกัปปิยะมาถวาย เว้นภิกษุผู้รับรูปิยะ ภิกษุนอกนั้นฉันได้ทุกรูป ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้พึงบอกเขาว่า โปรดช่วยทิ้งของนี้ ถ้าเขาทิ้งให้นั่นเป็นการดี ถ้าเขาไม่ทิ้งให้ พึงสมมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ

องค์ ๕ ของภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ
     ๑.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ
     ๒.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะเกลียดชัง
     ๓.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะงมงาย
     ๔.ไม่ถึงความลำเอียงเพราะกลัว
     ๕.รู้จักว่าทำอย่างไรเป็นอันทิ้งหรือไม่เป็นอันทิ้ง

วิธีสมมติภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ
     พึงขอภิกษุให้ตกลงรับก่อน ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่าดังนี้

คำสมมติ
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ นี่เป็นญัตติ
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ การสมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
     ภิกษุมีชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้อย่างนี้”
     ภิกษุผู้รับสมมติแล้วนั้น (เวลาที่ทิ้ง) พึงทิ้งอย่าจำหมายที่ตก ถ้าทิ้งจำหมายที่ตกต้องอาบัติทุกกฎ

อาบัติ
     ๑.รูปิยะ ภิกษุรู้ว่าเป็นรูปิยะ รับรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๒.รูปิยะ ภิกษุสงสัย รับรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.รูปิยะ ภิกษุคิดว่ามิใช่รูปิยะ รับรูปิยะ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.ไม่ใช่รูปิยะ ภิกษุคิดว่าเป็นรูปิยะ ต้องทุกกฎ
     ๕.ไม่ใช่รูปิยะ ภิกษุสงสัย ต้องทุกกฎ
     ๖.ไม่ใช่รูปิยะ ภิกษุว่าไม่ใช่รูปิยะ ไม่ต้องอาบัติ

อนาบัติ
     ทองหรือเงินตกอยู่ภายในวัดก็ดี หรือภายในที่อยู่ก็ดี ภิกษุหยิบยกเองก็ดี ใช้ให้หยิบยกก็ดี แล้วเก็บไว้ด้วยตั้งใจว่า เป็นของผู้ใด ผู้นั้นจักนำไป ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๙๔๕/๙๕๗
     ๑.กหาปณะและมาสกชนิดต่างๆ ท่านสงเคราะห์เอามาสกทั้งหมดที่ใช้เป็นมาตราซื้อขายในชนบท ในเวลาซื้อขายกัน โดยที่สุดทำด้วยกระดูกบ้าง ทำด้วยหนังบ้าง ทำด้วยเมล็ดผลไม้บ้าง ดุนให้เป็นรูปบ้าง มิได้ดุนให้เป็นรูปบ้าง;  วัตถุทั้ง ๔ อย่าง คือ เงิน ทอง ทั้งหมดนี้อย่างนี้ และมาสกทอง มาสกเงิน มีประเภทดังกล่าวแล้ว แม้ทั้งหมดจัดเป็นวัตถุแห่งนิสสัคคีย์, วัตถุนี้คือ มุกดา มณี ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา ประพาฬ ทับทิม บุษราคัม ธัญชาติ ๗ ชนิด ทาสหญิง ทาสชาย นา ไร่ สวนดอกไม้ สวนผลไม้ เป็นต้น จัดเป็นวัตถุแห่งทุกกฎ, วัตถุนี้ คือ ด้าย ผาลไถ ผืนผ้า ฝ้ายอปรัณชาติ มีอเนกประการ และเภสัช มีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยงบ เป็นต้น จัดเป็นกัปปิยวัตถุ
     -บรรดานิสสัคคิยวัตถุและทุกกฎวัตถุนั้น ภิกษุจะรับนิสสัคคียวัตถุ เพื่อประโยชน์ตนเองหรือเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ คณะ บุคคลและเจดีย์ เป็นต้น ย่อมไม่ควร, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง, เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้รับเพื่อประโยชน์แก่สิ่งที่เหลือ, มีรับเพื่อสงฆ์เป็นต้น เป็นทุกกฎอย่างเดียวแก่ภิกษุผู้รับทุกกฎวัตถุ เพื่อประโยชน์ทุกอย่าง, ไม่เป็นอาบัติในกัปปิยวัตถุ, เป็นปาจิตตีย์ด้วยอำนาจที่มาในรัตนะสิกขาบทข้างหน้าแก่ภิกษุผู้รับวัตถุมีเงิน เป็นต้น แม้ทั้งหมดด้วยหน้าที่แห่งภัณฑาคาริก เพื่อต้องการจะเก็บไว้
     ๒.ในการรับเองและใช้ให้รับนั้น มีวินิจฉัยดังนี้
         เป็นอาบัติตัวเดียวแก่ภิกษุผู้รับเอง หรือใช้ให้รับวัตถุสิ่งเดียว ในบรรดาภัณฑะ คือ ทอง เงิน ทั้งกหาปณะ และมาสก ถ้าแม้นว่าภิกษุรับเองหรือใช้ให้รับตั้งพันอย่างรวมกัน เป็นอาบัติมากตามจำนวนวัตถุ แต่ในมหาปัจจรีและกุรุนทีกล่าวรวมกันว่า เป็นอาบัติโดยนับรูปิยะในถุงที่ผูกไว้หย่อนๆ หรือในภาชนะที่บรรจุไว้หลวมๆ ส่วนในถุงที่ผูกไว้แน่น หรือในภาชนะที่บรรจุแน่น เป็นอาบัติตัวเดียวเท่านั้น
     ๓.ส่วนในการยินดีเงินทองที่เขาเก็บไว้ มีวินิจฉัยดังนี้
         เมื่อเขากล่าวว่า นี้เป็นของพระผู้เป็นเจ้า ถ้าแม้นภิกษุยินดีด้วยจิต เป็นผู้ใคร่เพื่อจะรับเอาด้วยกายหรือวาจา แต่ปฏิเสธว่า นี้ไม่ควร ไม่เป็นอาบัติ, แม้ไม่ห้ามด้วยกายและวาจา เป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ ไม่ยินดีด้วยคิดว่า นี้ไม่ควรแก่เรา ไม่เป็นอาบัติเหมือนกัน จริงอยู่ บรรดาไตรทวาร (มีกายเป็นต้น) อันภิกษุห้ามแล้วด้วยไตรทวารใดทวารหนึ่ง ย่อมเป็นอันห้ามแล้วแท้ แต่ถ้าไม่ห้ามด้วยกายและวาจา รับอยู่ด้วยจิต ย่อมต้องอาบัติ, ในกายทวารและวจีทวาร มีการไม่กระทำเป็นสมุฏฐาน เพราะไม่กระทำการห้ามที่ตนพึงกระทำด้วยกายและวาจา, แต่ชื่อว่าอาบัติทางมโนทวาร ไม่มี,
        บุคคลคนเดียวกันนั้น วางเงินทองตั้งร้อยพันไว้ใกล้เท้า แล้วกล่าวว่า นี้จงเป็นของท่าน ภิกษุห้ามว่า นี้ไม่ควร อุบาสกพูดว่า กระผมสละถวายท่าน แล้วก็ไป, เมื่อมีคนอื่นมาที่นั้น แล้วถามว่านี้อะไรขอรับ ภิกษุพึงบอกคำที่อุบาสกและตนพูดกัน, ถ้าเขาพูดว่า ผมจักเก็บให้ ขอรับ ท่านจงแสดงที่เก็บ, ภิกษุพึงขึ้นไปยังปราสาทถึงชั้น ๗ แล้วพึงบอกว่า นี้ที่เก็บ, แต่อย่าพึงบอกว่า จงเก็บไว้ในที่นี้, อกัปปิยวัตถุ (มีทองและเงินเป็นต้น) ย่อมเป็นอันอาศัยวัตถุที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ ตั้งอยู่ด้วยคำบอกมีประมาณเท่านี้, พึงปิดประตูแล้วอยู่รักษา
         ถ้าว่า อุบาสกถือเอาบาตรและจีวร ซึ่งเป็นของจะขายบางอย่างมา, เมื่อเขากล่าวว่า ท่านจักรับสิ่งนี้ไหม? พึงกล่าวว่า อุบาสก พวกเรามีความต้องการสิ่งนี้ และวัตถุชื่อเห็นปานนี้ก็มีอยู่ แต่ไม่มีกัปปิยการก, ถ้าเขาพูดว่า ผมจักเป็นกัปปิยการก ขอท่านโปรดเปิดประตูให้เถิด, พึงเปิดประตูแล้วกล่าวว่า ตั้งอยู่ในที่โน้น และอย่ากล่าวว่าท่านจงถือเอาสิ่งนี้,  อกัปปิยวัตถุก็เป็นอันอาศัยวัตถุที่เป็นกัปปิยะตั้งอยู่เหมือนกัน ถ้าเขาถือเอากหาปณะนั้นแล้ว ถวายกัปปิยภัณฑ์ (สิ่งของที่ควรแก่สมณะ) แก่เธอ ควรอยู่, ถ้าเขาถือเอาเกินไป พึงบอกเขาว่า พวกเราจักไม่เอาภัณฑะของท่าน จงเก็บเสีย
     ๔.พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสว่า พึงสละแก่สงฆ์ หรือแก่คณะ หรือแก่บุคคล ก็เพราะธรรมดาว่า รูปิยะเป็นอกัปปิยะ (เป็นของไม่สมควร)  อนึ่ง เพราะรูปิยะนั้น เป็นเพียงแต่ภิกษุรับไว้เท่านั้น เธอไม่ได้จ่ายหากัปปิยภัณฑ์อะไรด้วยรูปิยะนั้น  ฉะนั้น เพื่อทรงแสดงการใช้สอยโดยอุบาย จึงตรัสว่า พึงสละในท่ามกลางแห่งสงฆ์
     ๕.”ปัจจัยที่ได้จากรูปิยะที่ภิกษุรับ ไม่ควรแก่เธอผู้รับ” ความว่า ภิกษุผู้รับรูปิยะไม่พึงรับส่วนแบ่ง, แม้ได้ส่วนที่ถึงแก่พวกภิกษุอื่น หรืออารามิกชนแล้ว จะบริโภคก็ไม่ควร, โดยที่สุด เนยใสหรือน้ำมันมั้น อันดิรัจฉานมีลิงเป็นต้น ลักเอาไปจากส่วนแบ่งนั้น วางไว้ในป่า หรือที่หล่นจากมือของสัตว์เหล่านั้น ยังเป็นของอันดิรัจฉานหวงแหนก็ดี เป็นของบังสุกุลก็ดี ไม่สมควรทั้งนั้น, แม้จะอบเสนาสนะด้วยน้ำอ้อยที่นำมาจากส่วนแบ่งนั้น ก็ไม่ควร; จะตามประทีปด้วยเนยใสหรือน้ำมันแล้วนอนก็ดี กระทำกสิณบริกรรมก็ดี สอนหนังสือก็ดี ด้วยแสงสว่างแห่งประทีปนั้นก็ไม่ควร, จะทาแผลที่ร่างกายด้วยน้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้นจากส่วนแบ่งนั้น ก็ไม่ควรเหมือนกัน
         ชนทั้งหลายเอาวัตถุนั้นจ่ายหาเตียงและตั่งเป็นต้นก็ดี สร้างอุโบสถาคารก็ดี สร้างโรงฉันก็ดี จะบริโภคใช้สอยก็ไม่ควร, แม้ร่มเงาของโรงฉันเป็นต้น แผ่ไปอยู่ตามเขตของเรือน ก็ไม่ควร, ร่วมเงาที่เลยเขตไป ควรอยู่ เพราะเป็นของจรมา, จะเดินไปตามทางก็ดี สะพานก็ดี เรือก็ดี แพก็ดี ที่เขาจำหน่ายวัตถุนั้นสร้างไว้ ไม่ควร, จะดื่มหรือใช้สอยน้ำที่เอ่อขึ้นเต็มปริ่ม สระโบกขรณีซึ่งเขาให้ขุดด้วยวัตถุนั้น ก็ไม่ควร, แต่ว่าเมื่อน้ำภายในสระนั้นไม่มี น้ำใหม่ไหลเข้ามา หรือน้ำฝนไหลเข้าไป สมควรอยู่ แม้น้ำที่มาใหม่ ซึ่งซื้อมาพร้อมกับสระโบกขรณี ที่ซื้อมาด้วยวัตถุนั้น (วัตถุที่ภิกษุใช้รูปิยะซื้อมา) ก็ไม่ควร
         สงฆ์ตั้งวัตถุนั้นเป็นของฝาก (เพื่อเก็บดอกผล) บริโภคปัจจัย, แม้ปัจจัยเหล่านั้นก็ไม่ควรแก่เธอ แม้อารามซึ่งเป็นที่อันสงฆ์รับไว้ (ด้วยวัตถุนั้น) ก็ไม่ควรเพื่อบริโภคใช้สอย, ถ้าพื้นดินก็ดี พืชก็ดี เป็นอกัปปิยะ จะใช้สอยพื้นดิน จะบริโภคผลไม้ ไม่ควรทั้งนั้น ถ้าภิกษุซื้อพื้นดินอย่างเดียว เพาะปลูกพืชอื่น จะบริโภคผล ควรอยู่, ถ้าภิกษุซื้อพืชมาปลูกลงในพื้นดินอันเป็นกัปปิยะ จะบริโภคผล ไม่ควร, จะนั่งหรือนอนบนพื้นดิน ควรอยู่
     ๖.ถ้าอุบาสกเป็นต้น โยนทิ้งไป ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือแม้เขาไม่ทิ้ง ถือเอาไปเสียเอง ก็ไม่พึงห้ามเขา, ถ้าเขาไม่ถือเอาไป และไม่ทิ้งให้ หลีกไปตามความปรารถนา ด้วยใส่ใจว่า ประโยชน์อะไรของเราด้วยการขวนขวายนี้,  ลำดับนั้นสงฆ์พึงสมมติภิกษุผู้มีลักษณะตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ
         -ภิกษุผู้กระทำวัตถุนั้น เพื่อตนหรือยกตนขึ้นอ้าง ด้วยอำนาจแห่งความโลภ ชื่อว่า ย่อมถึงความลำเอียงเพราะชอบกัน, เมื่อรุกรานผู้อื่นด้วยอำนาจแห่งโทสะว่า ภิกษุนี้ไม่รู้บทเลย ไม่รู้วินัย ชื่อว่าย่อมถึงความลำเอียงเพราะโทสะ, เมื่อถึงความเป็นผู้พลั้งเผลอและหลงลืมสติด้วยอำนาจโมหะ ชื่อว่า ย่อมถึงความลำเอียงเพราะหลง, เมื่อไม่อาจจะทิ้งเพราะกลัวภิกษุผู้รับรูปิยะ ชื่อว่า ย่อมถึงความลำเอียงเพราะกลัว, ภิกษุผู้ไม่ทำอย่างนี้ บัณฑิตพึงทราบว่าย่อมไม่ถึงความลำเอียง
     ๗.ทองและเงินแม้ทั้งหมด พึงทราบว่า ถึงการสงเคราะห์ว่า รูปิยะทั้งนั้น
         -ภิกษุสงสัยว่า โดยนัยเป็นต้นว่า เป็นทองคำ หรือทองเหลืองหนอ
         -มีความสำคัญในทองคำเป็นต้นว่า เป็นทองเหลืองเป็นต้น
        อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ใคร่ในบุญทั้งหลาย มีนางสนมของพระราชาเป็นต้น ถวายเงินและทองใส่ไว้ในภัตของควรเคี้ยว ของหอม และกำยาน เป็นต้น, ถวายแผ่นผ้าเล็กๆ รวมกับกหาปณะที่ขอดไว้ที่ชายผ้าเป็นต้นนั่นแหละ แก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาตผ้า ภิกษุทั้งหลายรับเอาด้วยเข้าใจว่า เป็นภัตตาหารเป็นต้น หรือสำคัญว่าเป็นผ้า ภิกษุนี้พึงทราบว่า ผู้มีความสำคัญในรูปิยะว่า มิใช่รูปิยะ รับเอารูปิยะด้วยอาการอย่างนี้
         แต่ภิกษุผู้รับ พึงกำหนดให้ดีว่า วัตถุนี้เราได้ในเรือนหลังนี้ เพราะว่าผู้ที่ถวายของด้วยไม่มีสติ เมื่อได้สติแล้วจะกลับมาทวงถาม ภิกษุพึงบอกเขาว่า ท่านจงตรวจดูห่อผ้าของท่าน ดังนี้
     ๘.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖  บางคราวเป็นกิริยา เพราะต้องอาบัติด้วยการรับ บางคราวเป็นอกิริยา เพราะไม่ทำการห้าม, รูปิยสิกขาบท อัญญาวาทกสิกขาบท และอุปัสสุติสิกขาบท ทั้ง ๓ มีกำหนดอย่างเดียวกัน เป็นอจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓
     ๙. พระพุทธเจ้าอนุญาตพระภิกษุรับเงินและทองคำด้วยไวยาวัจกรหรือกัปปิยการกไว้ ๒ แห่ง คือ
          (๑) นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปฐมวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ ชื่อ ราชสิกขาบท
          (๒) วินัย มหาวรรค เภสัชชขันธก เมณฑกสิกขาบท
         พระภิกษุรับเงินและทองคำตามวิธีปฏิบัติในเมณฑกสิกขาบทดีที่สุด ดั่งสาธกนี้ว่า
         สนฺติ ภิกฺขเว มนุสฺสา สทฺธา ปสนฺนา, เต กปฺปิยการกานํ หตฺเถ หิรญฺญสุวณฺณํ อุปนิกฺขิปนฺติ “อิมินา อยฺยสฺส ยํ กปฺปิยํ, ตํ เทถา” ติ, อนุชานามิ ภิกฺขเว ยํ ตโต กปฺปิยํ, ตํ สาทิตุํ.  
         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านที่มีศรัทธาเลื่อมใส เขามอบเงินทองไว้ในมือกัปปิยการก สั่งว่า สิ่งใดควรแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอท่านจงถวายสิ่งนั้นด้วยกัปปิยภัณฑ์นี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ยินดีของกัปปิยะจากกัปปิยะภัณฑ์นั้นได้
     ทายกควรกล่าวคำถวายเงินและทองด้วยคำที่สมควรตามเมณฑกสิกขาบท ดังนี้คือ
     ขอถวายปัจจัยอันสมควรแก่สมณบริโภค เป็นมูลค่าเท่าราคา.........บาท........สตางค์  ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่ากำหนดนี้ โปรดเรียกจากกัปปิยการกผู้รับมอบนั้นเทอญ
     คำถวายนี้แก้ไขนิดหน่อยจากใบปวารณาของกรมการศาสนา คือ ตัดคำว่า ปัจจัย ๔ ออก เหลือเพียงคำว่าปัจจัยเท่านั้น เพราะว่าเมื่อกล่าวคำถวายว่า ขอถวายปัจจัย ๔ แล้ว ก็จะขอสิ่งของที่สมควรกับสมณะได้เพียง ๔ อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค เท่านั้น เพราะจำกัดความด้วยคำว่า ปัจจัย ๔ หากต้องการสมุดและดินสอเป็นต้น ก็ขอไม่ได้ ตามพระบาลีว่า ยถา ทายกา วทนฺติ, ตถา ปฏิปชฺชิตพฺพํ (ทายก ทายิกา กล่าวคำถวายไว้อย่างไร ภิกษุก็ควรปฏิบัติอย่างนั้น) เนื่องจากพระวินัยเปรียบเหมือนกฎหมาย บัญญัติพระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างไร ภิกษุทั้งหลายจึงควรประพฤติปฏิบัติตามอย่างนั้นโดยแท้  ฉะนั้น ถ้าใช้คำว่า ขอถวายปัจจัยอย่างเดียว โดยไม่เติมจำนวนคำว่า ๔ ลงไปด้วย จะเหมาะสมกว่า เนื่องจากสามารถขอปัจจัยที่สมควรกับสมณบริโภคทุกอย่างโดยไม่ผิดพระวินัย
     คำถวายว่า “อิมานิ มยํ ภนฺเต จตุปจฺจยานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต ภิกฺขุสงฺโฆ อิมานิ จตุปจฺจยานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย”
นี้ เป็นคำถวายที่ไม่สมควรในกรณีที่ถวายเงินและทอง (สตางค์) เพราะเป็นการแสวงหาเงินและทองโดยปริยาย แต่ถ้าถวายเป็นจีวรเป็นต้น ดังที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นแล้ว ไม่เป็นไร
     ในเมณฑกสิขาบทนั้น ทายกเป็นผู้แสดงกัปปิยการกเอง เพราะฉะนั้น พระภิกษุขอกี่ครั้งก็ได้ ส่วนในราชสิกขาบทนั้น พระภิกษุเป็นผู้แสดงกัปปิยการก มีกำหนดขอได้ ๓ ครั้ง ไม่เกิน ๖ครั้ง
     สมัยนี้ บางวัดปฏิบัติเคร่งครัดในพระวินัย ต้องสั่งสอนเด็กวัดหรือกัปปิยการก เมื่อมีผู้มาถวายเงิน โดยให้กัปปิยการกว่าดังนี้
     ขอถวายปัจจัยอันสมควรแก่สมณบริโภค เป็นมูลค่าเท่าราคา..........บาท.......สตางค์  ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่าในกำหนดนี้ โปรดเรียกจากข้าพเจ้าผู้รับมอบตามประสงค์เทอญ พระคุณเจ้ากรุณาบอกที่เก็บรักษาเงินแก่กระผมด้วย (จาก นานาวินิจฉัย/๒๗๕-๗)




น หิ เวเรน เวรานิ   สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ   เอส ธมฺโม สนนฺตโน ฯ ๕ ฯ

แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้   เวรไม่มีระงับด้วยการจองเวร
มีแต่ระงับด้วยการไม่จองเวร  นี้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว

At any time in this world, Hatred never ceases by haterd,
But through non-hatred it ceases, This is an eternal law.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)


3180  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / ป่าศักดิ์สิทธิ์ "คำชะโนด" อ.บ้านดุง จ.อุบลราชธานี เมื่อ: 05 เมษายน 2559 16:47:26






ป่าศักดิ์สิทธิ์ "คำชะโนด"
ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุบลราชธานี

ป่าคำชะโนด คือป่าอาถรรภ์ลี้ลับ เป็นเมืองลับแลของพวก "บังบด" เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับประเทศในอดีตเมื่อราว ๒๐ ปีที่ผ่านมา ก็เพราะเรื่องเล่า “ผีจ้างหนัง”

ลักษณะพื้นที่โดยรอบเป็นเกาะ มีต้นชะโนด พืชจำพวกปาล์มชนิดหนึ่งที่หายากมากในประเทศไทย เกิดขึ้นรวมกันอยู่เป็นกลุ่มหนาแน่นเป็นบริเวณกว้างประมาณ ๒๐ไร่ ภายในป่าชะโนดยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธ์อยู่ตรงกลางเกาะ เรียกว่า บ่อคำชะโนด เป็นสระกว้างยาวด้านละประมาณ ๔ เมตร มีน้ำใต้ดินพุ่งไหลซึมตลอดเวลา และน้ำจะเต็มระดับปากบ่อเสมอ

บ่อคำชะโนด (ชาวบ้านเรียกว่า บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คำชะโนด) ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายได้ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยจะมาทำพิธีขอน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก เจ้าพ่อศรีสุทโธ ก่อนที่จะนำไปดื่มและอาบ เพื่อขจัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ

นอกจากนี้ ในป่าคำชะโนดยังมีศาลเจ้าพ่อพระยาศรีสุทโธที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง และยังมีเรื่องราวของความศักดิ์สิทธิ์น่าอัศจรรย์ของสถานที่นี้ให้เป็นที่เล่าขานแก่ชาวเมืองคำชะโนด




ตำนานเจ้าพ่อศรีสุทโธ

ตามเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นพญานาคราชที่อาศัยอยู่ในเมืองบาดาล และใช้เมืองคำชะโนดแห่งนี้เป็นที่ขึ้นลงติดต่อระหว่างเมืองบาดาลกับเมืองมนุษย์ได้ ๒ เส้นทาง คือเส้นทางสายอุดร-หนองคาย เลี้ยวขวาตรงทางแยกบ้านนาข่า ตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๕๕ ถึงสามแยกบ้านสุมเส้าแล้วเลี้ยวขวาไปอำเภอบ้านดุง ต่อไปหมู่บ้านสันติสุข ถึงวัดศิริสุทโธ อีกประมาณ ๑๒ กม. หรือใช้เส้นทางอุดร-สกลนคร ประมาน ๔๕ กม. แล้วเลี้ยวซ้ายแยกบ้านหนองแม็ก ไปอำเภอบ้านดุง อีกประมาณ ๔๐ กม . แล้วไปหมู่บ้านสันติสุขถึงวัด ศิริสุทโธอีกประมาณ ๑๒ กม.

และยังมีเรื่องราวของความศักดิ์สิทธิ์น่าอัศจรรย์ของสถานที่นี้ให้เป็นที่เล่าขานแก่ชาวเมืองคำชะโนด วังนาคินทร์คำชะโนด หรือชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า เมืองชะโนด สถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อของตำบลวังทอง ตำบลบ้านม่วงและตำบลบ้านจันทร์ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี  วังนาคินทร์คำชะโนด หรือเมืองคำชะโนดมีเรื่องเล่ากันมาว่า เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธเป็นพญานาค ครองเมืองหนองกระแสครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งเป็นพญานาคเช่นเดียวกันปกครองมีชื่อว่าสุวรรณนาค และมีบริวารฝ่ายละ ๕,๐๐๐ เช่นเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมีอาหารการกินก็แบ่งกันกิน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นเพื่อนตายกันตลอดมา แต่มีข้อตกลงกันอยู่ข้อหนึ่งว่าถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดออกไปหากินล่าเนื้อหาอาหารอีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องออกไปล่าเนื้อหาอาหาร เพราะเกรงว่าบริวารไพร่พลจะกระทบกระทั่งกัน และอาจจะเกิดรบรากันขึ้น แต่ให้ฝ่ายที่ออกไปล่าเนื้อหาอาหารนำอาหารที่หามาได้แบ่งกันกินฝ่ายละครึ่ง การกระทำโดยวิธีนี้อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขตลอดมา

อยู่มาวันหนึ่งสุวรรณนาคพาบริวารไพร่พลออกไปล่าเนื้อหาอาหารได้ช้างมาเป็นอาหาร ได้แบ่งให้สุทโธนาคครึ่งหนึ่งพร้อมกับนำขนของช้างไปให้ดูเพื่อเป็นหลักฐานต่างฝ่ายต่างกินเนื้ออย่างอิ่มหนำสำราญด้วยกันทั้งสองฝ่าย และวันต่อมาอีกวันหนึ่งสุวรรณนาคได้พาบริวารไพร่พลออกไปล่าเนื้อหาอาหารได้เม่นมา สุวรรณนาคได้แบ่งให้สุทโธนาคครึ่งหนึ่งเหมือนเดิม พร้อมทั้งนำขนของเม่นไปให้ดู ปรากฏว่าเม่นตัวเล็กนิดเดียวแต่ขนของเม่นใหญ่ เม่นตัวเล็กเมื่อแบ่งเนื้อเม่นให้สุทโธนาคจึงต้องแบ่งให้น้อย  สุทโธนาคได้พิจารณาดูขนเม่นเห็นว่าขนาดขนช้างเล็กนิดเดียวตัวยังใหญ่โตขนาดนี้แต่นี้ขนใหญ่ขนาดนี้ตัวจะใหญ่โตขนาดไหน ถึงอย่างไรตัวเม่นจะต้องใหญ่กว่าช้างอย่างแน่นอน คิดได้อย่างนี้จึงให้เสนาอำมาตย์นำเนื้อเม่นที่ได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งไปคืนให้สุวรรณนาคพร้อมกับฝากบอกไปว่า "ไม่ขอรับอาหารส่วนแบ่งที่ไม่เป็นธรรมจากเพื่อนที่ไม่ซื่อสัตย์"

ฝ่ายสุวรรณนาคเมื่อได้ยินดังนั้น จึงได้รีบเดินทางไปพบสุทโธนาคเพื่อชี้แจงให้ทราบว่าเม่นถึงแม้ขนมันจะใหญ่โตแต่ตัวเล็กนิดเดียว ขอให้เพื่อนรับเนื้อเม่นไว้เป็นอาหารเสียเถิด สุวรรณนาคพูดเท่าไรสุทโธนาคก็ไม่เชื่อผลสุดท้ายทั้งสองฝ่ายจึงประกาศสงครามกัน ฝ่ายสุทโธนาคซึ่งมีความโกรธเป็นทุนอยู่ตั้งแต่เห็นเนื้อเม่นอยู่แล้วจึงสั่งบริวาร ไพร่พลทหารรุกรบทันที ฝ่ายสุวรรณนาคจึงรีบเรียกระดมบริวารไพร่พลต่อสู้ทันทีเช่นเดียวกัน ตามการบอกเล่าสู่กันฟังมาว่า
พญานาค ทั้งสองรบกันอยู่ถึง ๗ ปีต่างฝ่ายต่างเมื่อยล้า เพราะต่างฝ่ายต่างหวังจะเอาชนะกันให้ได้ เพื่อจะครองความเป็นใหญ่ในหนองกระแสเพียงผู้เดียว จนทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บริเวณหนองกระแสและบริเวณรอบๆ หนองกระแสเกิดความเสียหายเดือดร้อนไปตามกัน

เมื่อเกิดรบกันรุนแรงที่สุดจนทำให้พื้นโลกสะเทือนเกิดแผ่นดินไหวทั้งหมด เทวดาน้อยใหญ่ทั้งหลายเกิดความเดือดร้อนไปทั้งสามภพ ความเดือดร้อนทั้งหลายได้ทราบไปถึง พระอินทราธิราชผู้เป็นใหญ่ เทวดาน้อยใหญ่ทั้งหลายไปเข้าเฝ้าพระอินทร์เพื่อร้องทุกข์และเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้ฟัง  เมื่อพระอินทร์ได้ทราบเรื่องตลอดแล้ว จะต้องหาวิธีการให้พญานาคทั้งสองหยุดรบกันเพื่อความสงบสุขของไตรภพ จึงได้เสด็จจากดาวดึงส์ลงมายังเมืองมนุษย์โลกที่หนองกระแส แล้วพระอินทร์ตรัสเป็นเทวราชโองการว่า "ให้ท่านทั้งสองหยุดรบกันเดี๋ยวนี้" การทำสงครามครั้งนี้ถือว่าทุกฝ่ายเสมอกัน และหนองกระแสให้ถือว่าเป็นเขตปลอดสงคราม ให้พญานาคทั้งสองพากันสร้างแม่น้ำคนละสายออกจากหนองกระแส ใครสร้างถึงทะเลก่อนจะให้ปลาบึกขึ้นอยู่ในแม่น้ำแห่งนั้น และให้ถือว่าการทำสงครามครั้งนี้มีความเสมอกัน เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทของพญานาคทั้งสอง ให้เอาภูเขาพญาไฟเป็นเขตกั้นคนละฝ่าย ใครข้ามไปราวีรุกรานกัน ขอให้ไฟจากภูเขาดงพญาไฟไหม้ฝ่ายนั้นเป็นจุลมหาจุล

เมื่อพระอินทร์ตรัสเป็นเทวราชโองการดังกล่าวแล้ว สุทโธนาคจึงพาบริวารไพร่พลอพยพออกจากหนองกระแสสร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศตะวันออกของหนองกระแส เมื่อถึงตรงไหนเป็นภูเขาก็คดโค้งไปตามภูเขาหรืออาจจะลอดภูเขาบ้างตามความยากง่ายในการสร้าง เพราะสุทโธนาคเป็นคนใจร้อน แม่น้ำนี้เรียกชื่อว่า "แม่น้ำโขง"

คำว่า "โขง" จึงมาจาคำว่า "โค้ง" ซึ่งหมายถึงไม่ตรง ส่วนทางฝั่งลาว เรียกว่า แม่น้ำของ ด้านสุวรรณนาค เมื่อได้รับเทวราชโองการดังกล่าวจึงพาบริวารไพร่พลอพยพออกจากหนองกระแส สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศใต้ของหนองกระแส สุวรรณนาคเป็นคนตรงพิถีพิถันและเป็นผู้มีใจเย็น การสร้างแม่น้ำจึงต้องทำให้ตรงและคิดว่าตรง ๆ จะทำให้ถึงจุดหมายปลายทางก่อน ตนจะได้เป็นผู้ชนะ แม่น้ำนี้เรียกชื่อว่า "แม่น้ำน่าน"  

แม่น้ำน่าน จึงเป็นแม่น้ำที่มีความตรงกว่าแม่น้ำทุกสายในประเทศไทย

การสร้างแม่น้ำแข่งกันในครั้งนั้น ปรากฏว่าสุทโธนาคสร้างแม่น้ำโขงเสร็จก่อนตามสัญญาของพระอินทร์ สุทโธนาคเป็นผู้ชนะและปลาบึกจึงต้องขึ้นอยู่แม่น้ำโขงแห่งเดียวในโลกตามการบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า น้ำในแม่น้ำโขงและแม่น้ำในแม่น้ำน่านจะนำมาผสมกันไม่ได้ ถ้าผสมใส่ขวดเดียวกันขวดจะแตกทันที ในกรณีนี้ยังไม่เคยเห็นท่านผู้ใดนำน้ำทั้งสองแห่งนี้มาผสมกันสักที

สุทโธนาคเมื่อสร้างแม่น้ำโขงเสร็จแล้ว ปลาบึกขึ้นอยู่แม่น้ำโขงและเป็นผู้ชนะตามสัญญาแล้ว จึงได้แผลงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ณ ดาวดึงส์ ทูลถามพระอินทร์ว่า "ตัวข้าเป็นชาติเชื้อพญานาคถ้าจะอยู่บนโลกมนุษย์นานเกินไปก็ไม่ได้ จึงขอทางขึ้นลงระหว่างบาดาลและโลกมนุษย์เอาไว้ ๓ แห่ง และทูลถามว่าจะให้ครอบครองอยู่ตรงแห่งไหนแน่นอน พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่จึงอนุญาตให้มีรูพญานาคเอาไว้ ๓ แห่ง คือ
๑. ที่ธาตุหลวงนครเวียงจันทน์
๒. ที่หนองคันแท
๓. ที่พรหมประกายโลก (ที่คำชะโนด)

ส่วนที่ ๑-๒ เป็นทางขึ้นลงสู่เมืองบาดาลของพญานาคเท่านั้น ส่วนสถานที่ ๓ ที่พรหมประกายโลกคือที่พรหมได้กลิ่นไอดิน (ตามตำนานพรหมสร้างโลก) แล้วพรหมเทวดาลงมากินดินจนหมดฤทธิ์กลายเป็นมนุษย์หรือผู้ให้กำเนิดมนุษย์ให้สุทโธนาคไปตั้งบ้านเมืองครอบครองเฝ้าอยู่ที่นั้น ซึ่งมีต้นชะโนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ลักษณะต้นชะโนดให้เอาต้นมะพร้าว ต้นหมากและต้นตาลมาผสมกัน อย่างละเท่าๆ กันและให้ถือเป็นต้นไม้บรรพกาลให้สุทโธนาค มีลักษณะ ๓๑ วันข้างขึ้น ๑๕ วัน ให้สุทโธนาคและบริวารกลายร่างเป็นมนุษย์เรียกชื่อว่า "เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ" มีวังนาคินทร์คำชะโนดเป็นถิ่น และอีก ๑๕ วัน ในข้างแรมให้สุทโธนาคและบริวารกลายร่างเป็นนาค เรียกชื่อว่า "พญานาคราชศรีสุทโธ" ให้อาศัยอยู่เมืองบาดาล





ตั้งแต่บัดนั้นมาถึงกึ่งพุทธกาล นับแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๐ ถอยหลังไป พี่น้องชาวบ้านม่วง บ้านเมืองไพร บ้านวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี จะไปพบเห็นชาวเมืองชะโนดไปเที่ยวงานบุญประจำปีหรือบุญมหาชาติที่ชาวบ้านเรียกว่าบุญพระเวท ทั้งผู้หญิงและผู้ชายอยู่บ่อยครั้ง และบางทีจะเป็นผู้หญิงไปยืมเครื่องมือทอหูก (ฟืม) ไปทอผ้าอยู่เป็นประจำและปาฏิหาริย์ครั้งล่าสุดคือ ปี พ.ศ.๒๕๑๙ เกิดน้ำท่วมใหญ่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง (รวมทั้งท้องที่อำเภอบ้านดุง) แต่น้ำไม่ท่วมคำชะโนด

เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธได้จัดมีการแข่งเรือและประกวดชายงามที่เมืองชะโนด นายคำตา ทองสีเหลือง ซึ่งเป็นชาวบ้านวังทอง ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุงได้บวชอยู่ที่วัดศิริสุทโธ (วัดโนนตูม และได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓) ติดกับเมืองชะโนดได้เป็นผู้ได้รับคัดเลือกจากเจ้าพ่อพญาศรีสุทโธให้ไปประกวดชายงาม และบุคคลดังกล่าวเกิดความคลุ้มคลั่งอยู่ประมาณ ๑ อาทิตย์ ญาติพี่น้องได้ทำการรักษาโดยใช้หมอเวทมนต์ (อีสานเรียกว่าหมอทำ) จัดเวรยามอยู่เฝ้ารักษาและในที่สุดได้หายไปนาน ประมาณ ๖ ชั่วโมง แล้วได้กลับมาและได้เล่าเรื่องเมืองชะโนดให้พ่อแม่พี่น้องทั้งหลายฟังถึงความงามความวิจิตรพิสดารต่างๆ ของเมืองบาดาลให้ผู้สนใจฟัง




ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐) คณะกรรมการจังหวัดอุดรธานีได้ทำพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากบ่อน้ำคำชะโนด และน้ำพุบ่อเสวย อำเภอหนองหาน ไปทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ที่อุโบสถวัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นวัดสำคัญของจังหวัดอุดรธานี สร้างสมัยพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร (พ.ศ.๒๔๔๘-๒๔๔๙)  สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประทานนามวัดว่า วัดโพธิสมภรณ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์) ผู้สร้างวัด  วัดโพธิสมภรณ์ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัย เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๗  เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นน้ำมุรธาภิเษกในพระราชพิธีดังกล่าว และได้นำน้ำจากบ่อนี้ไปร่วมในพิธีสำคัญเสมอๆ




















เรือตรี อนิวรรตน์ พะโยมเยี่ยม อดีตนายอำเภอบ้านดุง ได้ชักพ่อค้าประชาชน
สร้างสะพานทางเข้าเมืองชะโนด ตลอดทั้งปรับปรุงบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
เพื่อให้เป็นสถานที่เคารพสักการะของชาวอำเภอบ้านดุง และจังหวัดอื่น


และในปี พ.ศ.๒๕๓๓ นายมังกร มาเวียง ปลัดอำเภอบ้านดุง
ได้ชักชวนข้าราชการ พ่อค้าประชาชน ผู้มีจิตศรัทธา
ร่วมกันจัดทำบุญทอดผ้าป่าสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก
เพื่อความมั่นคงแข็งแรงเข้าไปเมืองชะโนด

หน้า:  1 ... 157 158 [159] 160 161 ... 274
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.795 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 01 เมษายน 2567 14:48:09