[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
10 พฤษภาคม 2567 05:56:58 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 158 159 [160] 161 162 ... 274
3181  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า / Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก เมื่อ: 04 เมษายน 2559 19:54:44



สามเณรปาลิต

เล่าเรื่องสามเณรอรหันต์มามากแล้ว คราวนี้ขอเล่าเรื่องสามเณรปุถุชนบ้าง แถมยังเป็นปุถุชนสมนามเสียด้วย (ปุถุชน=คนมีกิเลสหนาแน่น)

สามเณรรูปนี้นามว่า ปาลิต หลานชายพระอรหันต์จักษุบอดรูปหนึ่งนามว่า จักขุปาละ (จักษุบาล)

ความเป็นมาของสองลุงหลานนี้ค่อนข้างยาว เริ่มตั้งแต่มหากุฎุมพีคนหนึ่งนามว่า มหาสุวรรณ แห่งเมืองสาวัตถี ไม่มีบุตรสืบสกุล ไปบนขอบุตรจากรุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ว่าถ้าได้บุตรหรือธิดาจะทำพิธีกรรมถวายคือแก้บนนั่นเอง ไม่บอกว่าแก้บนด้วยอะไร แต่คงไม่แก้ผ้าฟ้อนรอบต้นไม้เหมือนบางคนที่บนพระพรหมกระมัง  

และคงไม่บนพิเรนทร์เหมือนเด็กสาวคนหนึ่งบนจะทำกับหลวงพ่อวัดฉลอง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ว่า เมื่อครั้งท่านเสด็จไปตรวจราชการที่ปักษ์ใต้ พระเถระรูปหนึ่งมาต้อนรับ แข็งท่านเต็มไปด้วยทองเหลืองอร่าม ได้ทราบว่าชาวบ้านเอามาปิดแก้บน ท่านรีบมาต้อนรับไม่ทันได้ล้างออก ทรงเล่าว่าแปลกที่คนเขาปิดทองพระเป็นๆ ไม่ยักปิดทองพระพุทธรูป

ได้ทราบว่าท่านเป็นพระขลัง

มีครั้งหนึ่งสาวคนหนึ่งบนว่าถ้าสิ่งที่ต้องการสำเร็จ จะปิดทอง “ปลัดขิก” หลวงพ่อ บังเอิญสำเร็จตามปรารถนา แต่นางไม่กล้าแก้บน จึงปล่อยให้กาลเวลาผ่านเลยไป  ปรากฏว่านางเจ็บป่วยรักษาไม่หายขาดสักที จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่านางอาจผิดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่าง พ่อแม่จึงถามเอาความจริง ถูกซักมากเข้านางจึงบอกความจริง  พ่อแม่พานางไปขอขมาหลวงพ่อ เล่าการบนอันพิเรนทร์ของลูกสาวของตนให้ท่านทราบ หลวงพ่อท่านบ่นคำเดียวว่า “บนอะไรบ้าๆ” ว่าแล้วก็เปิดสบงขึ้นบอกว่าเอ้าอยากปิดก็ปิด (หมายถึงปิดทองที่ปลัดขิก)

หญิงสาวหลับหูหลับตายื่นมือเอาทองไปปิด...ว่ากันว่าหลังจากนั้น หายป่วยสนิท

นัยว่าหลวงพ่อท่านเอาไม้เท้าสอดเข้าหว่างขาแทน “ของจริง” ว่ากันอย่างนั้น

กล่าวถึงกุฎุมพีคนนั้น หลังจากบนต้นไม้แล้ว ไม่นานภรรยาก็ตั้งครรภ์ได้บุตรชายมาคนหนึ่งตั้งชื่อว่าปาละ จากนั้นไม่นานก็ได้มาอีกคนหนึ่งชื่อปาละเหมือนกัน เลยต้องตั้งคนโตว่ามหาปาละ คนเล็กว่า จุลปาละ

มหาปาละ ได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเลื่อมใสใคร่จะบวชจึงไปขออนุญาตน้องชายไปบวช

หลังจากบวชแล้ว ได้ขอกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าเพื่อนำไปปฏิบัติ พร้อมภิกษุจำนวน ๖๐ รูป เดือนทางออกจากพระเชตวันไปยังราวป่าแห่งหนึ่ง ที่มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ๆ พำนักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นั้น โดยมีญาติโยมในหมู่บ้านนั้นปวารณารับใช้และอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับปัจจัยสี่อันสมควรแก่สมณะบริโภค

จวนเข้าพรรษา ท่านมหาปาละเรียกประชุมสงฆ์ถามว่า ในพรรษานี้พวกท่านทั้งปวง จะยังกาลเวลาให้ล่วงไปด้วยอิริยาบถเท่าไร (เป็นภาษาพระ หมายถึงว่า จะอยู่ด้วยอาการอย่างไร ยืน เดิน นั่ง นอน ครบสี่อิริยาบถหรือจะเอาเท่าไหร่)

พระทั้งปวงก็เรียนท่านว่า ก็ต้องสี่อยู่แล้ว พระเถระตำหนิว่าพวกท่านรับกรรมฐานมาจากพระพุทธองค์ ยังมัวประมาทหรือตามใจพวกท่านเถิด แต่ผมจะอยู่ด้วยอิริยาบถสามเท่านั้น ตลอดพรรษานี้จะไม่เอนหลังนอนเป็นอันขาด

พระเถระเอาจริง ไม่ยอมนอนเลย นั่งกรรมฐานทั้งวันทั้งคืน เมื่อยท่านั่งก็ลุกเดินจงกรม จนกระทั่งมีน้ำตาไหลจากเบ้าตา มีอาการเสียดแทงตา ชาวบ้านเห็นอาการของท่านไปตามหมอให้ไปรักษาท่าน  หมอผสมยาหยอดตาส่งไปถวาย สั่งว่าให้ท่านหยอดทางจมูก ครั้งสองครั้งก็จะหาย ท่านนั่งหยอดจมูกมันจะเข้าอย่างไรเล่าครับ ยาก็ไหลลงเปรอะจีวรเท่านั้นเอง โรคก็ไม่ทุเลา เมื่อไปบิณฑบาตหมอถามว่าท่านหยอดยาตาหรือยัง ท่านบอกว่าหยอดแล้ว หมอถามท่านว่าอาการเป็นอย่างไร

“ยังเสียดแทงอยู่ อุบาสก” พระเถระตอบ

หมอคิดว่า ไม่น่าเป็นไปได้ ยาที่ตนให้เป็นยาชั้นดี หยอดเพียงครั้งเดียวก็ทุเลาแล้ว จึงเรียนถามท่านว่าท่านนั่งหยอดหรือนอนหยอด พระเถระก็นิ่งเสีย หมอจึงตามไปดูที่วัด ไม่เห็นที่นอนเห็นแต่ที่นั่งและที่เดินจงกรม จึงขอร้องให้ท่านนอนหยอด พระเถระก็ไม่ยอม เมื่อคนไข้ดื้อ หมอก็ระอา กล่าวว่า ท่านท่านอยากหายท่านต้องทำตามหมอสั่ง ไม่อย่างนั้นช่วยไม่ได้นะขอรับ ต่อไปนี้ถ้าเกิดอะไรขึ้น ท่านอย่าได้บอกว่าผมเป็นหมอรักษาท่าน ผมก็จะไม่แพร่งพรายให้ใครทราบ

แน่ะ กลัวเสียชื่อว่ารักษาโรคไม่หาย จะหมดทางทำมาหากิน อะไรจะปานนั้น

เมื่อหมอไปแล้ว ท่านมหาปาละก็นั่งปรึกษากับ “กรัชกาย” (หมายถึงร่างกายตัวเองนั่นแหละ) พูดกับตัวเองว่า จะเห็นแก่จักษุหรือแก่พระศาสนา ในสังสารวัฏนี้คนตาบอดก็มีนับไม่ถ้วน แต่คนที่พบพระพุทธองค์แล้วมีโอกาสดีๆ อย่างนี้หายาก ตามันจะบอดก็ช่างมันเถอะ เราจะพยายามเพื่อบรรลุธรรมให้ได้

ท่านกล่าวเป็นโศลกมีเนื้อหากินใจมาก เสียดายหน้ากระดาษไม่พอจะนำมาลงให้อ่าน ขอผ่านไปก็แล้วกันครับ

จากนั้นท่านก็คร่ำเคร่งนั่งกรรมฐาน เดินจงกรม ตาของท่านก็ปะทุมืดสนิทพร้อมๆ กับบรรลุพระอรหัตในขณะเดียวกัน เป็นพระอรหันต์อันมีนามว่า “สุขวิปัสสกะ” (คือหมดกิเลสด้วยวิปัสสนาล้วนๆ ไม่มีอภิญญา=ความสามารถเหนือสามัญวิสัยอย่างอื่น=เป็นของแถมเลย)

ออกพรรษาแล้วเหล่าภิกษุศิษย์ท่านพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวัน ท่านมหาปาละขออยู่เพียงผู้เดียว เพราะไม่อยากไปเป็นภาระแก่ท่านเหล่านั้น สั่งว่าไปถึงเมืองสาวัตถีแล้วให้แจ้งความแก่น้องชายท่านก็พอ

น้องชายทราบว่าพระพี่ชายตาพิการ จะส่งหลานของตนชื่อปาลิตให้ไปพาท่านกลับ ภิกษุทั้งหลายให้ปาลิตบวชสามเณรก่อนเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางซึ่งจะต้องผ่านดง อันเต็มไปด้วยอันตรายนานาชนิด  

สามเณรปาลิต อายุอานามอยู่ในวัยรุ่น เดินทางผ่านดงไปยังที่พำนักของพระเถระ เรียนท่านว่า ลุง (จุลปาละ) สั่งให้ผมมาพาหลวงลุงกลับเมืองสาวัตถีเพื่อจะได้ดูแลใกล้ชิด

พระเถระกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นเธอจงจับไม้เท้าพาเราไปลาญาติโยมที่หมู่บ้านก่อน ว่าแล้วท่านก็เดินเข้าหมู่บ้าน โดยมีสามเณรหลานชายจูงไปอำลาญาติโยมทั้งปวงแล้ว เดินทางมุ่งตรงไปยังเมืองสาวัตถี

ขณะที่มาถึงกลางดง พลันเสียงเพลงขับของหญิงสาวก็แว่วมา ไม่บอกว่าเพลงอะไร เนื้อหาคงชวนฝันไม่น้อยทีเดียว ผู้แต่งตำรายังยกเอาพระพุทธวจนะมาสอดแทรกตรงนี้เลยว่า

ไม่มีเสียงอื่นใดจะสามารถแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ชำแรกเข้าไปถึงเยื่อในกระดูกของบุรุษได้เท่ากับเสียงสตรี สมดังพุทธวจนะว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นเสียงแม้เสียงเดียวที่จับจิตจับใจบุรุษเหมือนเสียงสตรีเลย

สามเณรหนุ่มบอกหลวงลุงว่า หลวงลุงครับ พักตรงนี้ประเดี๋ยว ผมจะไปทำ “สรีรกิจ” (หมายถึงไปอึ) แล้วก็หายไปครู่ใหญ่

พระเถระนั่งรออยู่ตั้งนาน รำพึงว่า ทำไมมันถ่ายอุจจาระนานนักหว่า นี่ก็ล่วงไปเกือบชั่วโมงแล้ว หรือว่า...พลันพระผู้เฒ่าก็นึกขึ้นมาได้

เมื่อกี้นี้แว่วเสียงเด็กหญิงร้องเพลง แล้วบัดนี้เสียงก็เงียบไป เห็นทีสามเณรปาลิตหลานเราจะทำอะไรมิบังควรเสียแล้ว

หลานชายหลับมากล่าวกับหลวงลุงว่า เรามาไปกันต่อเถอะจะจับไม้เท้าหลวงลุงจูง พระเถระไม่ให้จับ ถามว่า “ปาลิต เธอกลายเป็นคนชั่วแล้วหรือ” สามเณรไม่ตอบ พูดบ่ายเบี่ยงว่า เรามาไปกันต่อเถอะครับ เดี๋ยวจะมืดค่ำ พระเถระยังถามคำถามเดิม สามเณรก็ได้แต่นิ่ง  

นิ่งคือการยอมรับ พระเถระจึงกล่าวว่า ไม่ต้องจับไม้เท้าเราดอกคนชั่วคนพาล ไม่ควรจะจับไม้เท้าเรา ปล่อยเราไว้ตรงนี้เถอะ เราไม่ปรารถนาจะเดินทางร่วมกับคนชั่ว

สามเณรอ้อนวอนว่า หลวงลุง ท่านจะอยู่ที่นี่ได้อย่างไร อันตรายมากมาย มาไปกันเถอะ พระเถระก็ยืนกรานไม่ไปท่าเดียว

สามเณรเปลื้องจีวรออก แต่งตัวอย่างคฤหัสถ์แล้วกล่าวกับพระเถระว่า บัดนี้ผมได้สึกแล้ว เป็นคฤหัสถ์แล้ว และผมก็มิได้บวชด้วยศรัทธา บวชเพราะต้องการความปลอดภัยในการเดินทางเท่านั้น

คำพูดของพระเถระเจ็บแสบมาก จนทำให้ “น้อยปาลิต” (ภาษากลางเรียกพระเณรที่สึกว่า “ทิด” เหมือนกันหมด ภาคเหนือพระสึกเรียก “หนาน” เณรเรียกว่า “น้อย” ภาคอีสานพระสึกเรียก “ทิด” เณรเรียกว่า “เซียง”) กอดแขนร้องไห้วิ่งเข้าป่าหายไปเลย

คำพูดนั้นมีว่า “อาวุโส คิหิปาโปปิ สมณปาโปปิ ปาโปเยว ตฺวํ สมณภาเว ฐตฺวา สีลมตฺตํ ปูเรตุ นาสกฺขิ คิหี หุตฺวา กินฺนาม กลฺยาณํ กริสฺสสิ=พ่อหนุ่มเอ๋ย คฤหัสถ์ชั่ว หรือสมณะชั่ว  มันก็คนชั่วเหมือนกัน เธอบวชแล้วแม้เพียงศีลก็รักษาไม่ได้ สึกไปเป็นคฤหัสถ์จักทำความดีงามอะไรได้”

“เซียงปาลิต” จะวิ่งกลับไปหาอีหนูกลางดงหรือว่าไปไหน ผู้แต่งตำราไม่ได้บอกไว้ แต่ก็ดีที่รู้ว่าตนประพฤติไม่สมควรแล้วสึกไปเสีย.


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรปาลิต โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๘ ประจำวันที่ ๒๕-๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙




สามเณรปิโลติกะ

วันนี้ขอนำเอาสามเณรอดีตเด็กสลัม ขอประทานโทษ เด็กชุมชนแออัดมาเล่าสู่กันฟัง เด็กคนนั้นชื่อเสียงเรียงไรไม่แจ้ง แต่ชาวบ้านเขาเรียก “ไอ้ผ้าเก่าขาด” หรือ “ไอ้ตูดขาด” เพราะแกนุ่งผ้าเก่าขาดวิ่นอยู่ผืนเดียว ก็มีอยู่แค่นี้นี่ครับ

วันๆ ก็ถือกะลาขอทานยังชีพ ได้อาหารการกินบ้าง อดบ้าง (อดเสียแหละส่วนมาก) ท่านพระอานนทเถระ ไปบิณฑบาต พบเด็กคนนี้เข้าก็เกิดความสงสารตามประสาพระชอบเลี้ยงเด็ก

พระอานนท์เป็นคนรักเด็ก เห็นเด็กเร่รอนก็นึกสงสารแล้วเขาจะอดตาย จึงจับมาบวชและให้การศึกษาอบรมเป็นจำนวนมาก จนพระมหากัสสปะเถระ ท่านพูดกระเซ้าเวลาพบกัน ด้วยวาทะว่า “เจ้าเด็กน้อย”

พระอานนท์ถามเด็กมอมแมมคนนี้ว่า เจ้าอยู่อย่างนี้ลำบากเหลือเกิน เจ้าบวชจะไม่ดีกว่าหรือ

เด็กน้อยถามว่า “ใครจะบวชให้ผมเล่าครับ”
“ฉันเอง” พระเถระพูด แล้วนำเขาไปวิหารอาบน้ำให้ด้วยมือท่านเอง ขัดคราบไคลออกหมดจนสะอาดสะอ้าน แล้วให้กรรมฐาน แล้วให้บวชเป็นสามเณร

พระเถระจับกางเกงขึ้นมาคลี่ดู ไม่เห็นว่าจะนำไปใช้อะไรได้ จึงเอาพาดกิ่งไม้ไว้

สามเณรน้อยได้รับการฝึกฝนอบรมจากพระอานนท์ เมื่ออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทจากภิกษุสงฆ์ มีปัจจัยสี่ใช้สอยไม่ขาดแคลน เมื่ออยู่ดีกินดีขึ้น ฉวีวรรณก็ผุดผ่องอ้วนท้วน มีน้ำมีนวลขึ้น

แล้วก็ “กระสัน” ขึ้นมา

คำนี้ (กระสัน) เป็นภาษาพระ หมายถึงอยากสึกครับ ศัพท์บาลีว่า อุกฺกณฺฐิโต แปลตามศัพท์ว่า “ชูคอ”

อาจารย์สอนบาลีท่านอธิบายว่า มีความรู้สึกว่า ผ้าเหลืองร้อน นั่งไม่เป็นสุข วันๆ ก็นั่ง “ชูคอ” หรือชะเง้อคอมองออกนอกกำแพงวัดว่า เมื่อไรฉันจะได้ออกไปสักทีหนา อะไรทำนองนี้

ผมเคยเล่าเรื่องคนหนีเมียไปบวชเป็นหลวงตาไว้ใน “สองทศวรรษในดงขมิ้น” อ่านแล้วเห็นภาพพระที่เกิดอาการ “ชูคอ” นี้เป็นอย่างดี นายคนหนึ่งทะเลาะกับเมียแล้วหนีไปบวช บวชเพราะต้องการประชดเมียมากกว่า ถือหนังสือปาติโมกข์เดินไปท่องอยู่ที่กำแพงวัด ตาก็ชำเลืองไปยังหลังคาบ้าน ท่อง “โย ปะนะภิกขุ โย ปะนะภิกขุ”

ข้างฝ่ายภรรยา ทีแรกนึกว่าสามีคงบวชไม่นาน เดี๋ยวก็สึก แต่ผ่านไปห้าวันแล้วยังไม่สึก จึงสั่งลูกชายไปบอกพ่อว่า จะขายควาย เมื่อลูกชายไปบอกหลวงพ่อ “หลวงพ่อ แม่บอกว่าจะขายควาย” หลวงพ่อก็ตอบทันทีว่า “ขายก็ขายไป ไม่ใช่ควายของกู โยปะนะภิกขุ”

วันหลังลูกชายมาบอกตามคำของแม่อีก “หลวงพ่อ แม่ว่าขายนา” “ขายก็ขายไป ไม่ใช่นาของกู โย ปะนะภิกขุ...ไอ้แดงมึงอย่ามากวนใจกู กูจะท่องหนังสือ”

ไอ้แดงกลับไปรายงานแม่ คราวนี้แม่ปล่อยทีเด็ดกระซิบข้างหูลูกชาย ทันทีที่ลูกชายบอกว่า “หลวงพ่อ แม่ว่าจะเอาผัวใหม่ (คือแต่งงานใหม่นะครับ)” เท่านั้นแหละหลวงพ่อโยนหนังสือปาติโมกข์ทันที

“ไปบอกแม่มึง กูจะสึกวันนี้”

นี่แหละครับ ที่ท่านว่า “อุกฺกณฺฐิโต” แปลตามศัพท์ว่า “ชูคอ” หมายถึงอยากสึก

เมื่อพระปิโลติกะเธอเกิดความคิดอยากสึก เธอจึงกลับไปยังต้นไม้ต้นนั้น กางเกงตูดขาดยังอยู่ เธอจึงหยิบมันขึ้นมาตั้งใจจะนุ่งแล้วถือกะลาไปขอทานตามเดิม

ทันใดนั้นเธอก็ชะงัก กล่าวสอนตนเองว่า “ไอ้โง่เอ๊ย เอ็งชักไม่มียางอายเสียเลย เอ็งบวชมาแล้ว มีเครื่องนุ่งห่มอย่างดี มีอาหารอย่างดีกิน แล้วยังอยากจะกลับมานุ่งผ้าเก่าขาดเที่ยวขอทานอีกหรือ”

ให้โอวาทตนเองเสร็จ ก็นึกละอายใจ ตัดสินใจไม่สึก จะขอบวชอยู่ในพระศาสนาต่อไป จึงเอากางเกงตูดขาดแขวนกิ่งไม้ไว้เช่นเดิม

ว่ากันว่าพระคุณเจ้า “กางเกงตูดขาด” เทียวไล้เทียวขื่อไปยังต้นไม้นั้นจับกางเกงตูดขาดลูบคลำไปมา พลางให้โอวาทเตือนสติตนเองแล้วก็ตัดสินใจไม่สึก ทำอย่างนี้ถึงสามครั้งสามครา เวลาพระอื่นถามว่าไปไหนก็บอกว่า “ผมจะไปสำนักอาจารย์”

สามสี่วันต่อมา เธอก็ได้บรรลุพระอรหัต ไม่ไปๆ มาๆ อีกต่อไป ภิกษุทั้งหลายจึงถามท่านว่า “ผู้มีอายุ เดี๋ยวนี้ท่านไม่ไปสำนักอาจารย์หรือ ทางนี้เป็นทางเที่ยวไปของท่านมิใช่หรือ”

เธอตอบว่า “ท่านทั้งหลาย เมื่อมีความเกี่ยวพันอยู่กับอาจารย์ ผมจึงไป แต่บัดนี้ผมตัดความเกี่ยวข้องกับอาจารย์หมดสิ้นแล้ว” เท่ากับบอกนัยว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว

เหล่าภิกษุไม่พอใจ หาว่าท่านปิโลติกะ (พระกางเกงตูดขาด) อวดอ้างว่า บรรลุพระอรหัต จึงพากันไปกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงสดับคำกล่าวหาของภิกษุทั้งหลายแล้วจึงตรัสว่าถูกแล้ว ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรา เมื่อมีความเกี่ยวข้องอยู่ จึงไปสำนักอาจารย์ บัดนี้เธอได้ตัดความเกี่ยวข้องนั้นแล้ว เธอได้บรรลุพระอรหัตแล้ว

จากนั้นพระพุทธองค์ ได้ตรัสคาถาดังต่อไปนี้
“คนที่หักห้ามใจจากความคิดอกุศลด้วยหิริ มีน้อยคนในโลก ผู้ที่ไม่เห็นแก่นอน ตื่นอยู่เสมอเหมือนมีม้าดีคอยหลบแส้ของสารถีหาได้ยาก

เธอทั้งหลายจงพากเพียร มีความสังเวช (สลดใจในความบกพร่องของตนเองแล้วเร่งพัฒนาตน) เหมือนม้าดี ถูกเขาหวดด้วยแส้ แล้วเร่งฝีเท้าขึ้นฉะนั้น

เธอทั้งหลายจงศรัทธา (เชื่อมั่นในสิ่งที่ดี) มีศีล (ประพฤติดีงาม) มีวิริยะ (ความบกพร่อง) มีสมาธิ (ความตั้งใจมั่น) และพรั่งพร้อมด้วยการวินิจฉัยธรรม มีความรู้และความประพฤติดี มีสติมั่นคงปฏิบัติตนได้ดังนี้ จักละทุกข์ได้ไม่น้อยเลย”


“พระกางเกงตูดขาด” อดีตเด็กสลัมมีหิริหักห้ามความคิดอกุศลมีความเพียร พยายามแก้ไขตนเอง สอนตนเองอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งพรหมจรรย์

กางเกงตูดขาดตัวนั้น ได้เป็น “อาจารย์” ของท่านคือเป็นเครื่องเตือนสติให้ท่านมีฉันทะอยู่ในพระศาสนาจนได้เป็นพระอรหันต์ด้วยประการนี้


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรปิโลติกะ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๕๙ ประจำวันที่ ๑-๗ เมษายน ๒๕๕๙

.



สามเณรสังฆรักขิต
วันนี้ขอนำเด็กที่ถูกจับบวชเป็นสามเณรแล้วก็อยู่ต่อจนเป็นพระ เป็นพระแล้วก็ “กระสัน” อยากสึก มาเล่าให้ฟัง

เด็กน้อยชื่อ สังฆรักขิต ชื่อเดิมจะว่าอย่างไรไม่ทราบ หลังจากบวชแล้ว เขาเรียกท่านว่า สังฆรักขิต หรือ ภาคิไนยสังฆรักขิต = สังฆรักขิตผู้เป็นหลาน

ท่านเป็นหลานของพระเถระนามว่า สังฆรักขิต พระเถระรูปนี้เป็นพระอรหันต์ ทรงอภิญญา ไปเยี่ยมครอบครัวญาติพี่น้องของตน เห็นหลานชาย (บุตรน้องชาย) หน่วยก้านดีจึงพาไปบวชเป็นสามเณร สามเณรสังฆรักขิตปรนนิบัติหลวงลุง ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของตนด้วยอย่างดีเสมอมา เมื่ออายุครบบวชหลวงลุงก็เป็นอุปัชฌาย์บวชให้

วันหนึ่งท่านสังฆรักขิตผู้หลาน กลับไปเยี่ยมโยมบิดามารดา โยมถวายผ้ากัมพลเนื้อดีมาสองผืน ตั้งใจว่ากลับไปถึงวัด จะถวายผืนใหญ่แก่อุปัชฌาย์จึงนำไปถวาย ขณะบอกถวายผ้าแก่อุปัชฌาย์ ท่านสังฆรักขิตกำลังนวดเท้าอาจารย์ เสร็จแล้วนั่งพัดวีให้ท่านอยู่ อุปัชฌาย์ปฏิเสธบอกให้หลานชายเก็บไว้ใช้เองเถิด เพราะท่านมีจีวรมากพออยู่แล้ว อ้อนวอนอย่างไรหลวงลุงก็ไม่ยอมรับท่าเดียว

สังฆรักขิต จึงน้อยใจ คิดว่าเมื่อหลวงลุงไม่ยินดีรับผ้าที่เราถวาย เราจะบวชอยู่ต่อไปทำไม สึกไปครองเรือนดีกว่า

และแล้วความคิดของเธอก็เตลิดไปไกล

ข้าสึกไปแล้ว เอาผ้าสองผืนนี้ไปขายเอาเงิน ได้เงินจำนวนหนึ่งแล้ว ก็จะไปซื้อแม่แพะมาสักตัว

ธรรมดาแม่แพะย่อมตกลูกเร็ว เมื่อมีลูกแพะหลายๆ ตัว ข้าก็จะขายได้เงินมาจำนวนหนึ่ง จะใช้จ่ายสร้างบ้าน (เรือน) งามๆ สักหลัง   ซื้อที่นาสักแปลง พอที่จะปลูกข้าวไว้กิน ซื้อโคเทียมเกวียนสักคู่ สำหรับช่วยไถนาและขนทัพสัมภาระ

เมื่อมีทุกอย่างแล้วข้าก็จะแต่งงานกับหญิงสาวที่สวยงามสักคนหนึ่ง เราทั้งสองก็จะอยู่ครองเรือนกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือสร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา  จากนั้นไม่นาน เราก็จะมีลูกชายน่าเกลียดน่าชังมาสักคนหนึ่ง เราจะตั้งชื่อลูกชายว่าอย่างไรหนอ (อีตาเสฐียรพงษ์ แกก็ยังเป็นวุ้นอยู่ที่ไหนไม่ทราบ ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร แต่ช่างเถิด ตั้งเองก็แล้วกัน) เอาชื่อหลวงลุงนี่แหละมาเป็นชื่อลูกชาย

เมื่อลูกชายโตมาอีกหน่อย เราสองคนสามีภรรยา ก็จะพาลูกชายมานมัสการหลวงลุง โดยข้าจะขับยาน ภรรยานั่งอุ้มลูกอยู่ภายในประทุน

ขณะขับเกวียนไประหว่างทาง ข้าอยากอุ้มลูก อยากหอมแก้มลูกสักฟอด (คนมีลูกใหม่ๆ มักจะเป็นอย่างนี้แหละ) เมียข้าไม่ยอม บอกว่าพี่ขับเกวียนไปสิ ฉันจะอุ้มเอง ไปได้สักระยะหนึ่ง เมียข้าอุ้มลูกจนเมื่อย จึงวางลูกบนพื้นเกวียน เกวียนมันกระแทกเหวี่ยงไปมาเพราะหนทางมันขรุขระ ลูกก็ร้องจ้าด้วยความตกใจและเจ็บปวด

ข้าโมโหเมียที่ทำให้ลูกร้อง จึงเอาปฏักเคาะหัวเมียดังโป๊ก ขณะที่ฟุ้งซ่านมาถึงนี่ มือก็กำลังพัดวีหลวงลุงอยู่ก็จับด้ามพัดฟาดลงบนศีรษะหลวงลุงพอดี

เธอรู้ตัว ตกใจแถมหลวงลุงยังพูดว่า “สังฆรักขิต เธอโกรธมาตุคาม (สตรี) แล้วทำไมมาตีหัวเรา พระแก่อย่างเรามีความผิดอะไรด้วยเล่า”

เธอนึกว่าที่เธอคิดฟุ้งซ่านมาทั้งหมดนี้หลวงลุงรู้หมดแล้ว มีความละอายจึงรีบลงกุฏิหนีไป

พระหนุ่มเณรน้อยวิ่งตามจับมาหาหลวงลุง

หลวงลุงพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสถามเธอว่า
“สังฆรักขิต ทำไมเธอถึงหนีอุปัชฌาย์ไป”
“ข้าพระองค์ละอายใจที่คิดฟุ้งซ่าน จนหลวงลุงทราบหมด พระเจ้าข้า”
“แล้วเธอจะหนีไปไหน”
“สึกไปเป็นคฤหัสถ์ พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสปลอบใจเธอว่า
สังฆรักขิต ปุถุชนก็อย่างนี้แหละ คิดโน่นคิดนี่ สร้างวิมานในอากาศไปเรื่อย จิตใจตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาไม่รู้จบสิ้น เธอไม่ต้องละอายดอก ใครๆ เขาก็เป็นอย่างนี้ แต่ขอให้พยายามบังคับจิตมิให้มันวิ่งวุ่นไปโน่นไปนี่ พยายามเข้าไว้ ไม่นานก็จะสามารถทำได้เอง ของอย่างนี้มันต้องค่อยฝึกค่อยทำ ว่าแล้วพระองค์ก็ตรัสโศลกบทหนึ่ง สอนภิกษุหนุ่มว่า
     ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ
     เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา
     จิตนี้เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในถ้ำ (ร่างกาย)
     ชนเหล่าใดสำรวมระวังจิตไว้ เขาเหล่านั้นก็จักพ้นบ่วงมาร


ว่ากันว่า พอทรงเทศน์จบ สังฆรักขิต ก็บรรลุเป็นพระโสดาบันกลับใจไม่ยอมสึก พากเพียรพยามปฏิบัติธรรมอยู่ในร่มเงาพระพุทธศาสนาต่อไป

ข้อมูลไม่บอกเราว่า ท่านได้บรรลุพระอรหัตผลในการต่อมาหรือไม่ แต่เชื่อว่าคงได้เป็นพระอรหันต์แน่นอน

ขอแถมนิด สมัยผมเป็นพระหนุ่ม เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) วัดสะเกศ ทูลถามว่า พระองค์เคยสึกบ้างไหม (จำได้ว่า อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ไปเฝ้าด้วย)

สมเด็จฯ รับสั่งว่า “เคยมีคนเอากางเกงมาให้แล้วด้วย เราลองเอามานุ่งดู มองตัวเองแล้วรู้สึกว่าน่าสังเวชเลยตัดใจไม่สึก”

เมื่อทูลถามว่า “ทำไมตัดใจได้ง่ายปานนั้น”  รับสั่งว่า “นึกถึงพระพุทธวจนะที่ตรัสสอนพระอยากสึกในคัมภีร์ เลยเกิดอุตสาหะอยากอยู่ต่อไป”

เรียกสั้นๆ ว่า ทรงได้พระพุทธวจนะเป็น “กัลยาณมิตร” ว่าอย่างนั้นเถอะ  พระผู้ใหญ่บางรูปได้เด็กวัดเป็นผู้เตือนสติ พระมหาทองสุก แห่งวัดชนะสงคราม อยากสึก หันมาถาม ส.ธรรมยศ ซึ่งตอนนั้นเป็นเด็กวัด “ถ้าหลวงพี่จะสึก เธอจะว่าอย่างไร”

ส.ธรรมยศ ตอบว่า “อย่าสึกเลย หลวงพี่ หลวงพี่มีความเป็นคนน้อย สึกไปก็เอาตัวไม่รอด”

ได้ยินคำตอบ หลวงพี่ฉุนกึก นึกว่าลูกศิษย์ด่า แต่ลูกศิษย์อธิบายว่า หลวงพี่มีความเป็นพระมาก มีความเป็นคนครองเรือนน้อย พูดง่ายๆ ว่าปรับตัวเข้ากับโลกของคนไม่ได้ อยู่เป็นพระนี่แหละ เจริญก้าวหน้าในพระศาสนาแน่นอน

จริงอย่างที่ลูกศิษย์ว่า ท่านบวชอยู่ต่อมาจนได้เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ เป็นสังฆมนตรี (ตามพระราชบัญญัติปกครองสงฆ์สมัยนั้น) นี้ เพราะอานิสงส์คำเตือนของเด็กวัดนักปราชญ์แท้ๆ 


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรสังฆรักขิต โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๖๗ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๐ ประจำวันที่ ๘-๑๔ เมษายน ๒๕๕๙
3182  นั่งเล่นหลังสวน / สยาม ในอดีต / Re: แฝดสยามอิน-จัน เมื่อ: 04 เมษายน 2559 19:41:46
.



• ลีลา-ลูกเล่นแฝดหนุ่มจีบสาว..อิน-จันจะมีเมียฝรั่ง

ผู้เขียนเรียบเรียงบทความเรื่องแฝดสยามอิน-จัน ตำนานระดับโลกมา ๑๔ ตอน พี่น้องผองเพื่อนทั้งหลายที่ติดตาม มีความสนใจที่แน่วแน่อย่างเดียวคือ อยากทราบว่ามนุษย์ประหลาดบรรพบุรุษสยามคู่นี้จะมีชีวิตรัก ใช้ชีวิตแต่งงานกันอีท่าไหน ให้รีบบรรยายด่วนที่สุด เรื่องสัพเพเหระอื่นๆ ให้ทิ้งไว้ก่อน ไม่อยากรู้เว้ย ไม่ต้องบรรยาย

ผู้เขียนยินดีจัดให้ครับ

แฝดตัวติดกันจากเมืองแม่กลองร่อนเร่ไปเหมือนในเทพนิยาย จากเด็กเลี้ยงเป็ดปากน้ำแม่กลอง ไปท่องโลกในอเมริกา ไปยุโรปแล้ว กลับมาอเมริกาอีก ถ้าฝรั่งไม่บันทึกไว้เป็นหนังสือขายดี ผู้เขียนจะไม่มีวันเชื่อเด็ดขาด

อายุอานามของแฝดราว ๒๘ ปี เป็นหนุ่มฉกรรจ์ มีเงิน มีแรงเป็น ๒ เท่าเพราะตัวติดกัน และมีเวลา ที่ผ่านมามีรักแรกเป็นสาวลอนดอน ถัดมาเป็นสาวอเมริกัน (จะเปิดเผยภายหลัง) แบบรักเค้าข้างเดียว ซื้อของขวัญเพื่อร้อยรัดดวงใจ เขียนจดหมายไปจีบสาวเล่าเรื่อง ที่จีบมาทั้งหมดเพราะแพ้ความขาว เลยจีบแต่คนผิวขาว

ไปแสดงตัวที่บ้านไหน เมืองไหน มีแต่คนนินทาซุบซิบว่ามันมีลูกมีเมียรึยัง ถ้ายังไม่มี แล้วไอ้แฝดประหลาดตัวติดกันนี้ มันจะมีเมียกันอีท่าไหนวะ?

ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่า อิน-จันคุยกันเรื่องนี้รึเปล่า ที่ผ่านมาฝรั่งที่ทำหน้าที่ผู้จัดการส่วนตัวบันทึกว่า ทั้ง ๒ คนไม่ค่อยได้พูดจากันให้เห็น แต่อาจจะแอบคุยกันตอนกลางคืน เรื่องจะมีเมียกันยังไงดี ฝรั่งเลยไม่ได้ยิน หรืออาจจะคุยภาษาไทยแล้วฝรั่งไม่เข้าใจ

แฝดจากเมืองแม่กลองผู้โด่งดังในอเมริกา ใช้ชีวิตพเนจรแสดงตัวเก็บเงินมาราว ๘ ปี มีเงินถุงเงินถัง มีหน้ามีตาในสังคม มีเพื่อนอเมริกันหลากหลายอาชีพ เห็นบ้านเมืองตั้งแต่นิวยอร์กไปจนถึงชนบท ไม่ว่าจะร่อนเร่พเนจรไปเมืองไหน แฝดหนุ่มก็เลือกที่จะกลับมาตั้งหลักที่นิวยอร์กเสมอ เพื่อนสนิททั้งหลายที่เป็นหมอเป็นผู้พิพากษาล้วนเป็นชาวนิวยอร์ก

ชีวิตแฝดสยามมั่นคง มีเงินฝากในบัญชีธนาคาร และจากความหวังดีของเพื่อนฝูงที่แสนดีในนิวยอร์ก แฝดคู่นี้ได้รับการเชื้อเชิญให้เซ็นสัญญาแสดงตัวกับพิพิธภัณฑ์พีลส์ (Peale’s New York Museum) มีกำหนด ๓ ปี ในระหว่าง พ.ศ.๒๓๗๗-๒๓๘๐ ชีวิตมีแต่งานและเงินที่ไหลมาเทมาไม่หยุด

หลังจากการแสดงคืนวันหนึ่ง นายแพทย์เจมส์ คัลโลเวย์ (James Calloway) หนึ่งในผู้มาชมการแสดงทนไม่ไหว ขอเข้าไปคุยส่วนตัวกับแฝดหลังเวที การพูดคุยเปี่ยมล้นไปด้วยมิตรภาพ หมอเจมส์เอ่ยปากชวนแฝดไปพักผ่อนที่นอร์ธแคโรไลนา บทสนทนาในคืนนั้นคือจุดพลิกผันชีวิตของแฝดหนุ่มที่เป็นตำนานระดับโลกมาจนถึงทุกวันนี้

ขอเรียนอีกครั้งว่า อิน-จัน ฟัง พูด อ่านเขียนภาษาอังกฤษได้ดี บุคลิกลักษณะดี เท่ ฝรั่งช่างสังเกตบันทึกไว้ว่า แฝดสยามมีลีลาท่าทางแบบนักธุรกิจเต็มตัว มีไลฟ์สไตล์แบบอเมริกัน มีวิสัยทัศน์ในแบบทุนนิยมเต็มพิกัด คิดอ่านอะไรเป็นเงินเป็นทองไปหมด

สังคมอเมริกันในตอนนั้นรู้จักแฝดสยามจากการซื้อตั๋วราคา ๒๕ เซ็นต์เข้าไปดูการโชว์ตัว หนังสือเล่มเล็กๆ ที่วางขายหน้างานที่เรียกว่าสูจิบัตรเป็นสื่อที่แพร่กระจายประวัติ นิสัยใจคอ ความลึกลับมหัศจรรย์ของแฝดคู่นี้อย่างได้ผล เป็นหนังสือที่มีลิขสิทธิ์ทำเงินได้อีกไม่น้อย

โลกนี้มีมืดและมีสว่าง ข่าวความเคลื่อนไหวในหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องคนประหลาดจากสยามในอเมริกาขายได้เสมอ ข่าวที่ขายได้มักจะมีมุมมองแบบเสียดสีแบบเลือดซิบๆ ในลักษณะการกีดกัน รังเกียจเชื้อชาติเผ่าพันธุ์

สังคมคนผิวขาวในอเมริกาจัดวางระดับให้อิน-จัน เป็นบุคคลที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้วในอเมริกา แต่จะไม่มีวันเท่าเทียมกับคนขาวแน่นอน

กัปตันคอฟฟิน (Abel Coffin) อดีตผู้จัดการด้านธุรกิจการแสดงของแฝดหนุ่ม ยังรังควาน ผูกใจเจ็บไม่เลิกไม่รา คอฟฟิน เจ้าคิดเจ้าแค้นที่แฝดคู่นี้ไม่ยอมกลับมาร่วมธุรกิจ เลยปล่อยข่าวในทำนองว่า เขาคือผู้แทนการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐที่เข้าไปเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสยาม และเขาคือคนที่ไปซื้อตัวไอ้เด็กแฝดคู่นี้มากับมือ ให้เงินแม่ของแฝดไปหมดแล้ว ไปซื้อมันมาเลี้ยงแบบทาส

คำกล่าวอ้างในทำนองนี้เจือปนด้วยแค้น กัปตันคอฟฟินต้องการลดทอนสถานะในความเป็นมนุษย์ของแฝดสยามให้ลงไปอยู่ในระดับเดียวกับทาสผิวดำ

กัปตันคอฟฟินยังเล่นข่าวเหน็บแนมอีกว่า ไอ้แฝดคู่นี้ทำเงินในอเมริกาได้มหาศาลถึง ๑ แสนเหรียญ จากการเป็นมนุษย์ร่างกายประหลาด แต่มันไม่เคยส่งเงินกลับไปให้แม่ที่แสนยากจนในสยามเลยแม้แต่น้อย

เกร็ดตำนานของนักสู้ชีวิตแฝดเพื่อเรียกคนซื้อตั๋วเข้ามาดูการแสดงที่ต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง มีการตีฆ้องร้องป่าวถึงขนาดว่า ไอ้คนประหลาดคู่นี้ มันคือลิงอุรังอุตังชนิดหนึ่งที่ไปจับตัวมาได้จากป่าลึก บางที่ก็โฆษณาว่า คนแฝดคู่นี้คือบรรพบุรุษของคนอเมริกันที่อยู่ในอเมริกามาก่อนคนขาวจะอพยพเข้ามา

บ้างก็เลยเถิดแหกตาชาวบ้านว่า ไอ้คนประหลาดคู่นี้เป็นนางเจน เมียของทาร์ซาน ที่ไปจับมาได้จากป่า

โฆษณาแนวนี้ โดนใจมะริกันชนนักแล

นับเป็นโฆษณาที่เร้าใจแบบไม่ดูไม่ได้เด็ดขาด ไม่ว่ากันนะครับ เทคนิคการขายของที่ไหนในโลกก็ใช้ลูกเล่นแบบนี้ ในเวลาเดียวกันข้อมูลภาพลักษณ์ในด้านลบเหล่านี้ก็เป็นเสมือนดาบที่กลับมาฟันคอแฝดหนุ่มในเรื่องของสตรีเพศที่ผูกสมัครรักใคร่ไม่น้อย

สาวสวยอเมริกันที่อิน-จันรักจริงหวังแต่งย่อมต้องลังเลคิดหนักที่จะคบหาแบบคนรักเพราะดูเหมือนแฝดจะไม่ใช่คน

วันหนึ่ง..ความจำเจที่แฝดมีอาชีพต้องเป็นผู้ให้ความบันเทิง (Entertainer) กับมะริกันชนมาต่อเนื่อง ใช้ชีวิตในป่าคอนกรีตยาวนาน ทำให้แฝดปรึกษานายแฮริสเพื่อนร่วมงานที่จะต้องเดินทางไปเยี่ยมนายแพทย์คัลโลเวย์ ที่รัฐนอร์ธแคโรไลนาตามที่รับปากกันไว้ เพื่อการพักผ่อนยิงนกตกปลาที่แฝดจากแม่กลองชอบที่สุด

ในราวต้นปี พ.ศ.๒๓๘๒ คณะแสดงของแฝดก็เดินทางมาพบกับทิวทัศน์แบบป่าเขาลำเนาไพร และสัตว์ป่าในเมืองเล็กๆ ที่เรียกว่าวิลส์เคาน์ตี้ (Wilkes county) มันคือดินแดนในจินตนาการที่แฝดอิน-จันเคยฝันถึง นายแพทย์คัลโลเวย์ เจ้าถิ่นจัดเต็มให้แฝดได้ยิงนก ตกปลา แบบส่วนตั๊วส่วนตัว แถมยังแนะนำให้ผู้คนในชุมชนแห่งนี้ได้ผูกมิตรเฮฮาป่าลั่นกับคู่แฝดแบบสนิทใจ แฝดสยามใช้เวลาส่วนใหญ่ในลำธารเพื่อตกปลาที่ชำนิชำนาญมาตั้งแต่เกิดที่เมืองแม่กลอง สลับด้วยการล่ากวางที่เกะกะชุกชุมในป่าแถวนั้น เพื่อนๆ ฝรั่งต่างชมว่าแฝดใช้ชีวิตในป่าได้อย่างกลมกลืน รวมทั้งใช้อาวุธปืนได้คล่อง

หมอคัลโลเวย์กัลยาณมิตรของแฝด จบแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มาฝึกงานด้านการแพทย์ในหลายเมืองในรัฐนอร์ธแคโรไลนา ซึ่งในเวลานั้นชุมชนที่แฝดเข้าไปพักผ่อนอยู่ด้วยนั้นยังเป็นบ้านนอกของอเมริกา ก็ไม่แตกต่างจากบ้านนอกของสยาม ผู้คนยากจน น้ำ ไฟ การรักษาพยาบาล โรงเรียน คือสิ่งที่ไม่มีทั้งสิ้น มีแต่เสน่ห์อันตรึงใจจากธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องและความสงบ

คู่แฝดเช่าบ้านพักผ่อนใช้ชีวิตแบบสบายๆ เนิบนาบ วันคืนผ่านไป จิตใจแฝดเริ่มถูกสะกดด้วยมนตราของผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ ความอ่อนช้อยของแม่น้ำลำธารแบบถอนตัวไม่ขึ้นซะแล้ว ดินแดนที่ดาษดื่นไปด้วยพืชผลการเกษตร ฝ้าย ยาสูบ ข้าวสาลี มีคนงานเป็นทาสผิวดำเต็มท้องทุ่ง ภายใต้การกำกับของคนอเมริกันผิวขาวที่เป็นนาย

เมื่อแฝดทั้งคู่ยืนยันว่า “ตรงนี้แหละ ใช่เลย” จึงเจรจาขอซื้อที่ดินตรงที่ใช่ เนื้อที่ ๑๕๐ เอเคอร์ (ประมาณ ๓๗๕ ไร่) ในราคา ๓๐๐ เหรียญ มีการลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินถูกต้องตามกฎหมายของรัฐ เป็นที่ฮือฮาบอกเล่ากันไปหลายคุ้งน้ำ ที่มีคนประหลาดตัวติดกันจากเมืองสยามมาลงปักหลักตั้งถิ่นฐานในชุมชนของคนขาว

ที่ดินขนาดนี้ถือว่าไม่เล็กนะครับ อิน-จัน เด็กเลี้ยงเป็ดจากสยามใจถึงจริงๆ

ผู้เขียนคิดว่า บุคคลจากสยามคู่นี้คือบรรพบุรุษสยามคู่แรกที่ประทับตราเป็นเจ้าของแผ่นดินในอเมริกาอย่างเป็นทางการที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ ผืนดินตรงนั้นมีลำธารใสเย็นเห็นตัวปลาชื่อแซนดี้น้อย (Little Sandy Creek) หมู่บ้าน (หรืออาจจะเป็นตำบล) แทร็ปฮิล (Trap Hill) รัฐนอร์ธแคโรไลนา

ชีวิตของแฝดนักผจญภัยต้องเดินต่อไปแบบมีทิศทาง เหมือนเรือต้องมีหางเสือ เมื่อมีที่ดินแล้ว บ้านในฝันของคนจากแดนสยามจึงเกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรง หยาดเหงื่อ และเงินทองของแฝด เป็นบ้านขนาด ๔ ห้องนอน ใช้เวลาไม่นานนักบ้านหลังแรกของชีวิตในอเมริกาก็แล้วเสร็จ

ส่วนที่สำคัญที่สุดคือข้าวของเครื่องใช้สำหรับสุภาพบุรุษตัวติดกันคู่นี้ที่จะต้องสั่งทำพิเศษ เตียงนอนต้องแบบนอนคู่ เก้าอี้ต้องมี ๒ ก้นใน ๑ ตัว ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะใช้ในบ้านนายแฮริส ผู้จัดการส่วนตัวไปสั่งซื้อสั่งทำพิเศษจากนิวยอร์ก

ชีวิตลงตัวในอเมริกา มีเงิน มีบ้าน มีแรง อายุยังไม่ถึง ๓๐ ปี พระเจ้าช่างเมตตาแฝดอิน-จันเสียนี่กระไร

ไหนๆ ก็ไหนๆ ชีวิตเดินทางมาไกล เกินกว่าจะย้อนกลับ ไม่มีใครทราบว่า แฝดอิน-จัน คิดจะกลับไปหาแม่ที่แม่กลองหรือไม่ แต่เมื่อมาถึงตรงนี้ ขนาดซื้อที่ดินปลูกบ้านทำการเกษตรแล้ว เรื่องกลับไปใช้ชีวิตที่แม่กลอง คงเป็นเรื่องที่เลื่อนลอยซะแล้ว

ก้าวย่างต่อไปที่จะเป็นส่วนหนึ่งในสังคมอเมริกันคือการแปลงสัญชาติ ที่จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบ มีเรื่องเฮฮาประสาชาวสยามคือ อิน-จัน ประชาชนชาวสยามในยุคนั้น ไม่มีนามสกุลที่จะใช้จดทะเบียน ในเมืองสยามในรัชสมัยในหลวง ร.๓ ยังไม่มีการใช้นามสกุลกันนะครับ มีเพียงชื่อไอ้ดำ อีแดง ไอ้อ้วน นางเตี้ย อีหมวย แค่นี้ก็ทราบดีว่าหมายถึงใคร ตอนลงเรือออกมาจากสยามเมื่อ ๘ ปีที่แล้ว นางนากผู้เป็นแม่ก็ไม่ได้บอกว่านามสกุลอะไร เทือกเถาเหล่ากอก็สืบค้นไม่ได้

ข้อมูลจากหนังสือของ Kay Hunter (หลานของนายฮันเตอร์) ระบุว่าความคิดที่ตกผลึกของแฝดสยามแบบไม่ต้องคิด คือการนึกถึง วิลเลียม บาร์ทูเอล และเฟรดเดอริก เพื่อนรัก ๓ พี่น้องชาวอเมริกันในนิวยอร์กที่ช่วยเหลือเจือจุนกันมานานที่นามสกุลบังเกอร์ (Bunker) มีการติดต่อเพื่อขอใช้นามสกุลบังเกอร์ร่วมด้วย เพื่อนอเมริกันทั้ง ๓ ชอบใจ มีคนมาขอใช้นามสกุลเลยจัดให้ทันที

และแล้วประชากรอเมริกาก็ปรากฏชื่อของ Eng Bunker และ Chang Bunker ในประวัติศาสตร์อเมริกา

อิน-จัน จากสยามผ่านกระบวนการทางกฎหมายของอเมริกาแบบม้วนเดียวจบ ตบท้ายด้วยการสาบานตนเป็นพลเมืองอเมริกัน ตัดขาดจากความเป็นพลเมืองสยามโดยสมบูรณ์

ต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์ตรงนี้ว่า บรรพบุรุษสยาม ๒ ท่านนี้คือชาวสยามคู่แรกที่เข้าสู่กระบวนการโอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๒

และจากข้อมูลของโจเซฟ แอนดรู ออเซอร์ ในหนังสือ The Lives of Chang and Eng ระบุว่า นายแฮริสที่ร่วมงานกันมานานก็ถือโอกาสแปลงสัญชาติจากไอร์แลนด์ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ เป็นพลเมืองอเมริกันพร้อมกันไปด้วย

ผู้คน สูง ต่ำ ดำ เตี้ย แขก ฝรั่ง จีน คนดำจากแอฟริกา มืดฟ้ามัวดิน ทุกชาติพันธุ์กำลังหลั่งไหลเข้าไปแสวงโชคเริ่มต้นชีวิตในอเมริกาที่เรียกว่าโลกใหม่ (New World) ในจำนวนนั้นมีชาวสยามเข้าไปร่วมกะเค้าด้วย ๒ คน มาแบบพิเศษกว่าทุกคนในโลกคือเป็นแฝดตัวติดกัน (Conjoined Twins)

แฝดสยามใช้ชีวิตกับการเกษตรปลูกข้าวโพดในที่ดินที่ซื้อมาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน สุขกายสบายใจกับธรรมชาติในชนบท ไม่ต้องออกไปร่อนเร่แสดงตัวหาเงินนานพักใหญ่ นายแฮริสเพื่อนรักก็พลอยปักหลักเช่าบ้านอยู่ไม่ไกลกันนักแวะเวียนไปมาหาสู่กันตลอด

และแล้ว นายแฮริสหนุ่มใหญ่เพื่อนรักของแฝดที่อ้างว้างว้าเหว่มานาน ๓๘ ปี ประกาศแต่งงานกับสาวแสนสวยที่มีนามว่าแฟนนี่ บอเกส (Fannie Bauguess) ลูกสาวเจ้าของบ้านเช่าซึ่งเฝ้ามานาน

งานฉลองแต่งงานในคืนนั้นเป็นไปตามแบบชนบทในอเมริกา ผู้คนมากหน้าหลายตาในแทร็ปฮิลมาร่วมงานเกือบทั้งตำบล อาหาร เครื่องดื่ม ดนตรี เต้นรำ

แน่นอนที่สุดแฝดสยามสุดหล่อคือแขกคนสำคัญของงาน

แฝดหนุ่มทั้งสองไม่ใช่คนแปลกหน้าในงานฉลองแต่งงาน ทุกคนล้วนคุ้นเคย เป็นกันเองแบบคนบ้านเดียวกัน

ในงานคืนนั้น จันคือคนที่คึกคักมีรักในหัวใจ กระฉับกระเฉง สอดส่ายสายตามองหารักจากสาวอเมริกันที่มาอวดโฉมในงาน ส่วนอินก็จนปัญญา ชีวิตไม่มีทางให้เลือกมาตั้งแต่เกิด ไปไหนก็ต้องกระเตงกันไป ในระหว่างสรวลเสเฮฮากับเพื่อนๆ ในงาน แฝดจันเกิดไปประสานสายตากับสาวน้อยนามว่าซาราห์ แอน เยทส์ (Sarah Ann Yates) ลูกสาวสวยสะพรั่งอายุ ๑๘ ปีของเดวิด และแนนซี่ เยทส์ (David-Nancy Yates) คหบดีผู้มีอันจะกินในเมืองใกล้ๆ ที่มาร่วมงานเลี้ยง

จันเหมือนถูกมนต์สะกด ยิ้มแย้มเดินปรี่ตรงเข้าไปแบบช้างก็ฉุดไม่อยู่ แต่ก็ต้องลากเอาตัวแฝดอินเข้าไปด้วย พระผู้เป็นเจ้ากำลังเมตตาสงสารแฝดหนุ่มที่อาภัพรัก

ซาราห์ แอน ไม่ได้มากับพ่อเท่านั้น แต่เธอควงคู่มากับน้องสาวที่สวยไม่แพ้กันที่ชื่ออาดิเลด (Adelaide) อายุ ๑๗ ปีมาด้วย แฝดหนุ่มคุ้นเคยกับเดวิด เคยพบกันมาบ้าง แต่ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าอีตาเดวิดมีลูกสาวสวยขนาดนางฟ้าทั้ง ๒ คน

ในหนังสือ The Romance of the Siamese Twins โดยเชพเพิร์ด มอนโร ดักเกอร์ (Shepherd Monroe Dugger) บรรยายความสำนวน ลีลา ลูกเล่นแพรวพราวของแฝดแม่กลอง ที่พี่น้องสองสาวต้องเคลิ้ม

แฝดอินเอ่ยปากทักทายสาวด้วยคำหวาน “น้องชายของผมต้องการแต่งงาน ถ้าใครซักคนสนใจ เค้าก็จะขอแต่งในคืนนี้ซะเลย”

พี่น้องสองสาวถึงกับตกตะลึง ถอยไปตั้งหลัก

“เขาต่างหากที่อยากแต่งงาน แต่มาอ้างผม ผมเดินมานี่ก็แค่อยากคุยกับคุณเท่านั้นเอง” จันรีบรับลูก

พี่น้องสองสาวเริ่มตั้งหลักได้จึงยิ้มแย้มตอบรับไมตรีของแฝดสยามสัญชาติอเมริกัน

จันรุกต่อว่า “เหตุที่ผมยังไม่แต่งงาน ก็เพราะตัวติดอยู่กะเค้านี่แหละ”

สาวน้อยซาราห์ตัดสินใจเอ่ยประโยคแรก “เห็นจะจริง มีโอกาสที่คุณ ๒ คนจะแยกตัวออกจากกันมั้ย ?”

แฝดอินรับลูกต่อว่า “หมอบอกว่า ไม่มีทางแน่นอน เราเองทั้ง ๒ คนตัดสินใจกันแล้วว่า เราคงจะใช้ชีวิตได้แค่มองสาวสวย แล้วก็พร้อมจะไปนอนในหลุมศพ”

“น่าสงสารที่สุด ที่คุณมีความรักต่อหญิงสาว แต่คุณก็แต่งงานด้วยไม่ได้” แอดดี้กล่าวด้วยความเห็นใจเชิงหยอกล้อ

“ผมจะหาโอกาสไปเยี่ยมคุณที่บ้านให้ได้ แต่ผมจะไม่พาอินไปด้วย เพราะเค้าชอบแย่งสาวที่ผมชอบเสมอ” จันสานต่อแบบไม่ขาดตอน

อินรีบสวน “ผมเป็นคนยุติธรรมนะ เอาอย่างนี้ ผมขอให้คุณเลือกก่อนเลยว่า คุณชอบใคร?”

จันไม่รอช้า “ผมเลือกแอดดี้” แล้วหนุ่มสาว ๒ คู่ ๔ คน ก็พร้อมใจกันหัวเราะลั่นทุ่งท่ามกลางงานเลี้ยงแต่งงานของเพื่อนแฮริส

การสนทนาแรกพบของ ๔ สหายในคืนนั้นเป็นไปตามคำพังเพยไทยที่เรียกว่าหมาหยอกไก่ แฝดอินทราบดีว่างานนี้แฝดจันเอาจริง ส่วนพี่น้องสองสาว ซาราห์และแอดดี้ก็มีไมตรีที่แสนอบอุ่นแต่ต้องคิดหนัก เพราะนึกภาพไม่ออกเลยว่ามันจะรักกันได้ยังไง?

สองสาวยังคิดไปไม่ถึง แต่แฝดมโนไปไกลสุดขอบฟ้าซะแล้ว

ที่ผ่านมาตลอดชีวิต แฝดทั้งสองมีความคิดเหมือนกันต่างกันบ้างไม่มาก แต่ครั้งนี้แฝด ๒ แรงม้าเดินหน้าเต็มตัว

เวลาช่างเนิ่นนานสำหรับคนรอคอย แฝดหนุ่มทำงานในไร่ยาสูบและไร่ข้าวโพดดูแลพืชทุกชนิดที่ลงทุนเพาะปลูกแบบชาวไร่ชาวสวนที่ทำเป็นมาตั้งแต่เป็นเด็กที่แม่กลอง

วันที่พระเจ้าประทานพรให้ก็มาถึงอีกครั้ง แฝดหนุ่มแต่งตัวสุดหล่อตัดสินใจเดินทางด้วยรถม้ามุ่งตรงไปที่บ้านของสองสาวที่เคยผูกไมตรีไว้เพื่อขอพิสูจน์พรหมลิขิต ชะตาชีวิตตนเอง เดินทางไปถึงบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ระหว่างแทร็ปฮิลกับวิลส์โบโร ตามที่ได้เคยสอบถามกันมา

บ้านหลังนี้ต้องเป็นบ้านของสาวน้อยแอดดี้ และซาราห์แน่นอน แฝดจึงตัดสินใจเคาะประตู

แฝดแม่กลองถึงกับผงะ เพราะสุภาพสตรีที่มาเปิดประตูเธอคือสาวอเมริกันในชนบทที่สูงราว ๑๖๘ เซนติเมตร คะเนดูจากรูปร่างน้ำหนักเธอน่าจะประมาณมากกว่า ๒๐๐ กิโลกรัมแน่นอน

เธอแนะนำตัวว่าเธอคือแนนซี่ เยทส์ เป็นแม่ของแอดดี้และซาราห์

เป็นไงเป็นกัน อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด และจะเกิดอะไรกับชีวิตที่สุดแสนพิสดารของแฝดคู่นี้


โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
3183  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ ผัดกระเพราหมูหมัก-ไข่เยี่ยวม้า เมื่อ: 03 เมษายน 2559 16:41:25

 
ผัดกระเพราหมูหมัก-ไข่เยี่ยวม้า

• เดรื่องปรุง
- เนื้อหมูสะโพก หรือสันคอ 150 กรัม
- ไข่เยี่ยวม้า 2 ฟอง
- กระเพรา 
- พริกขี้หนู 20-30 เม็ด
- กระเทียมไทย ½ หัว
- ซอสหอยนางรม
- ซีอิ๊วขาว
- น้ำมันงา
- น้ำตาลทราย
- แป้งมัน
- ผงปรุงรส (รสดี คนอร์ ฟ้าไทย ฯลฯ)


วิธีหมักหมู
- ล้างเนื้อหมูให้สะอาด หั่นชิ้นขนาดพอคำ ใส่ส่วนผสม ได้แก่ ซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย ผงปรุงรส ซอสหอยนางรม แป้งมัน และน้ำมันงา อย่างละเล็กน้อย หรือประมาณ ¼ ช้อนชา หมักทิ้งไว้อย่างน้อย 15 นาที

วิธีทำ
1.โขลกกระเทียมกับพริกขี้หนูสด พอหยาบๆ
2.ทอดใบกระเพราให้กรอบ ตักใส่ตะแกรงพักให้สะเด็ดน้ำมัน
3.ตั้งกระทะใส่น้ำมันเล็กน้อย ใส่พริกกับกระเทียมที่โขลก ผัดให้หอม
4.ใส่ซอสหอยนางรม ตามด้วยหมูหมัก
5.ใส่ไข่เยี่ยวม้าผ่า 4 ส่วน
6.ปรุงรสตามชอบ ตักใส่จาน โรยหน้าด้วยใบกระเพราทอดกรอบ





ทอดใบกระเพราให้กรอบ ตักใส่ตะแกรงพักให้สะเด็ดน้ำมัน


ผัดพริกกระเทียมให้หอมเหลือง ใส่ซอสหอยนางรม


ใส่หมูหมัก ผัดให้เข้ากัน


ใส่ไข่เยี่ยวม้า ผ่า 4 ส่วน ปรุงรสตามชอบ


ตักใส่จาน โรยหน้าด้วยใบกระเพราทอดกรอบ
3184  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / Re: จากเมล็ดโกโก้-cacao กว่าจะเป็นช็อกโกแล็ต เมื่อ: 03 เมษายน 2559 16:40:26
.



ประโยชน์ของ 'โกโก้'

โกโก้ ชื่อสามัญ โกโก้-Cocoa หรือ กากาโอ-Cacao หรือ ช็อกโกแล็ต นัต ทรี-Chocolate Nut Tree ชื่อวิทยาศาสตร์ Theobroma cacao L. เป็นไม้ต้นพื้นเมืองของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ มีศูนย์กลางเริ่มแรกอยู่ในแถบลุ่มน้ำอเมซอนตอนบน และแหล่งต้นน้ำในเปรู เอกวาดอร์ โคลัมเบีย บราซิล และในป่าฝนเขตร้อนในลุ่มน้ำ อเมซอนตอนล่าง รวมทั้งสองฝั่งลำน้ำโอริโนโคในเวเนซุเอลาและในกิอานา จากหลักฐานทางโบราณคดีพบมีการปลูกโกโก้มาตั้งแต่สมัยโบราณโดยชนเผ่ามายาและชนพื้นเมืองเผ่าอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในอเมริกากลาง ในปัจจุบันพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาตะวันตก ประเทศในเขตร้อนของทวีปอเมริกาและเอเชีย สำหรับประเทศไทยมีแหล่งปลูกในหลายจังหวัด เช่น ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา สมุทรสงคราม

โกโก้เป็นไม้ต้นไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน โคนใบกลมมน ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยักเป็นคลื่น มีขนตามเส้นใบ รวมลักษณะเป็นรูปใบหอก ใบอ่อนสีแดง ห้อยลง ดอกเดี่ยวออกเป็นกระจุกตามลำต้นหรือกิ่งก้านแก่ กลีบเลี้ยงสีชมพู รูปใบหอก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน สั้นกว่ากลีบเลี้ยง ผลรูปรี โคนกลม ปลายแหลม ผิวแข็งขรุขระ มีร่องตามยาวประมาณ 10 ร่อง และมีสันเป็นปุ่มป่ำ ผลเป็นสีเขียว สีเหลือง เมื่อแก่จัดจะเป็นสีแดงอมเหลืองหรือสีแดงอมม่วง ภายในผลมีเมล็ด 20-60 เมล็ด เรียงเป็นแถว 5 แถวยาวตามแกนกลางของผล ฝังอยู่ในเนื้อนุ่มเป็นเมือก และส่วนของโกโก้ที่นำมาใช้ประโยชน์ก็คือใบเลี้ยงภายในเมล็ดนี่เอง

ผลิตภัณฑ์โดดเด่นที่ได้จากการแปรรูปใบเลี้ยงของโกโก้ คือ ช็อกโกแลต เพราะใบเลี้ยงนั้นมีไขมันสูง และมีสารประกอบหลายตัวที่ทำให้เกิดกลิ่นหอมเฉพาะตัวเมื่อผ่านกรรมวิธี ผลิตภัณฑ์อีกประเภทหนึ่งซึ่งได้จากการสกัดใบเลี้ยงโกโก้ที่คั่วแล้วด้วยตัวทำละลาย เรียกว่า โกโก้สกัด ใช้ผสมในเครื่องดื่มผงรสช็อกโกแลต เช่น โอวัลติน ไมโล ขนมอบ ไอศกรีม ลูกกวาด ทอฟฟี่ ส่วนเปลือกเมล็ดที่กะเทาะแยกออกจากใบเลี้ยง อาจนำไปบีบเอาเนยโกโก้ (โกโก้ บัตเตอร์) ใช้เป็นส่วนผสมในครีมและโลชั่นบำรุงผิว ตัวยาพื้นของยาเหน็บ ขี้ผึ้ง หรือนำมาสกัดทีโอโบรมีน (theobromine) ซึ่งใช้เป็นสารกระตุ้นเช่นเดียวกับกาเฟอีนที่ได้จากกาแฟและชา


    โดยสรุปแล้วผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเมล็ดโกโก้ คือ เนื้อโกโก้, เนยโกโก้, โกโก้ผง และช็อกโก แลต เมล็ดโกโก้นำมาคั่วเอาเปลือกหุ้มเมล็ดออก บดให้ละเอียด บีบเอาน้ำมันออก เนื้อโกโก้จะเกาะกันเป็นแท่งๆ แล้วนำมาบดให้แตกเป็นผงอีกครั้ง ใส่รวมกับแป้ง นำไปแต่งรสแต่งสีอาหาร ส่วนโกโก้ผงที่ชงกับเครื่องดื่มจะนำมาผสมกับแป้งทำขนม นอกจากนี้เมล็ดโกโก้ยังถูกนำมาใช้เป็นอาหารเสริมที่ชื่อว่า "Food of the god" โดยนำผลโกโก้มาหมักแล้วแยกเอาเมล็ดออก ทำความสะอาดแล้วนำไปย่างไฟ เสร็จแล้วกะเทาะเปลือกออก จะได้เนื้อในเมล็ดที่นำไปใช้ได้

นอกจากเป็นแหล่งสำคัญของกลุ่มสารโพลีฟีนอล (polyphenol) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยกวาดล้างสารพิษออกจากร่างกาย โกโก้ยังอุดมด้วยสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ที่มีการศึกษาพบว่าเป็นสารที่มีความเชื่อมโยงโดยตรงต่อระบบหัวใจ มีประสิทธิภาพในการขยายเส้นเลือด จึงสามารถลดความดันเลือดและปรับปรุงการไหลเวียนของเลือดได้ ลดน้ำตาลในเลือด ลดระดับไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงโดยรวมของโรคหัวใจ ทั้งยังมีทีโอโบรมีน สารที่มีโครงสร้างคล้ายกับกาเฟอีน (caffeine) มาก แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่ากาเฟอีน เป็นสารอัลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นหัวใจ ขยายหลอดเลือด และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ สารในเมล็ดโกโก้ยังช่วยทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว แก้หอบหืด บรรเทาอาการอักเสบ ป้องกันฟันผุ บรรเทาภาวะของโรคเครียด โรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม ถ้ากินเมล็ดมากๆ ก็อาจทำให้เสพติดได้
3185  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / พิพิธภัณฑ์ 'ผีตาโขน' วัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เมื่อ: 01 เมษายน 2559 14:22:07




พิพิธภัณฑ์ 'ผีตาโขน' วัดโพนชัย
ถนนแก้วอาสา หมู่ที่ ๓ บ้านเดิ่น อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  

วัดโพนชัยหรือวัดโพน อยู่ในท้องที่บ้านเดิ่น อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๘ ไร่ ๑ งาน ๕๔ ตารางวา (น.ส.๓ ก.เลขที่ ๑๔๔๑) อาณาเขตทิศเหนือประมาณ ๑๖๐ เมตร จดร่องน้ำสาธารณะ ทิศใต้ประมาณ ๒๒๒ เมตร จดร่องนาคำ ทิศตะวันออกประมาณ ๑๔๕ เมตร จดร่องนาคำ ทิศตะวันตกประมาณ ๑๐๐ เมตร จดถนนแก้วอาสา มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๔ แปลง เนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๓๓ ตารางวา (น.ส.๓ ก.เลขที่ ๑๔๔๒, ๒๗๘, ๑๔๔๓ และ ๑๔๔๕)

อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๐ ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร  ศาสนสมบัติของวัด มี พระประธานสร้างด้วยปูนขนาดใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ เมตร สูง ๓ เมตร  เจดีย์พระธาตุศรีสองรักจำลอง ก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้างประมาณ ๓.๗๕ เมตร สูงประมาณ ๑๕ เมตร  

วัดโพนชัย สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.๒๑๐๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๐ มีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร  ชาวบ้านช่วยกันปรับพื้นที่ซึ่งเป็นรูปเนินคล้ายจอมปลวก มีเรื่องราวเล่าว่าเป็น ขุยของพญานาค จึงตั้งชื่อว่าวัดโพนชัย ชาวบ้านเรียกว่าวัดโพน เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอด่านซ้าย คู่กับวัดพระธาตุศรีสองรัก  



พระประธานประจำอุโบสถ สร้างด้วยปูนขนาดใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ เมตร สูง ๓ เมตร  


อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๐ ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร  


วัดโพนชัยและวัดพระธาตุศรีสองรัก เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองด่านซ้าย จ.เลย
วัดสองแห่งนี้อยู่ใกล้กัน และมีการสร้างเจดีย์พระธาตุศรีสองรักจำลอง
ขนาดกว้างประมาณ ๓.๗๕ เมตร สูงประมาณ ๑๕ เมตร ไว้ที่วัดโพนชัยอีกแห่งหนึ่งดุ้วย


เทศกาลงานบุญผีตาโขน
วัดโพนชัยแห่งนี้ นอกจากเป็นวัดสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของคณะสงฆ์และเจ้านายแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมในการทำพิธีงานบุญประเพณีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีสางเทวดาของผู้คนในท้องถิ่นอำเภอด่านซ้าย ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมาแต่เดิมและยังคงปฏิบัติสืบทอดมาตราบจนปัจจุบัน คือ งานบุญหลวง

งาน “บุญหลวง” ถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่น เป็นการจัดงานบุญที่รวมเอาบุญประเพณีสองอย่างใน “ฮีตสิบสอง” (ฮีตสิบสอง หมายถึงประเพณีที่ประชาชนในภาคอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้ง ๑๒ เดือนของแต่ละปี)  โดยรวมเอา บุญพระเวส หรือบุญพระเวสสันดร (ฮีตเดือนสี่) ซึ่งนิยมทำกันในเดือนสี่ และงาน “บุญบั้งไฟ” (ฮีตเดือนหก) ที่นิยมทำในเดือนหก มาจัดรวมเข้าด้วยกันเป็นงานบุญเดียวกัน  

“บุญพระเวสสันดร” ภาคกลางเรียก เทศน์มหาชาติ หรือเทศนาเวสสันดรชาดก เป็นบุญพิธีที่ปฏิบัติสืบทอดให้มีกันมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย จัดขึ้นเพื่อฟังเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ แต่ภาคอีกสานจะเทศน์กัณฑ์อื่นๆ ประกอบด้วย คือ พระมาลัยหมื่นมาลัยแสน เทศน์สังกาส   ชาวบ้านเชื่อกันว่าใครได้ฟังเทศน์ดังกล่าวจบในวันเดียว จะได้รับอานิสงส์แรงกล้าบันดาลให้เกิดผล ๕ ประการ คือ ๑.จะได้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอริเมตไตรยซึ่งจะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต  ๒.จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์  ๓.จะไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต  ๔.จะเป็นผู้มีลาภ ยศ และความสุข  ๕.จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา  

ส่วนงานบุญบั้งไฟ เป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อบูชาอารักษ์หลักเมือง ถือเป็นงานประเพณีการแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล

งาน “บุญหลวง” หรือ “บุญผะเหวด” ของวัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย นิยมทำกันในเดือนแปดข้างขึ้น ภายหลังการทำพิธีบวงสรวงอารักษ์หลักเมือง หรือผีปู่ตา ซึ่งเรียกว่า “หอหลวง” และ “หอน้อย” ในเดือนเจ็ดข้างขึ้นของแต่ละปี เสร็จแล้ว  

“หอหลวง” เป็นศาลเจ้าที่ ตั้งอยู่ในป่าใกล้พระธาตุศรีสองรัก ห่างจากพระธาตุศรีสองรักไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๐๐ เมตร มีพระเสื้อเมือง เรียกว่า “เจ้าองค์หลวงและเจ้าองค์ไทย” สถิตอยู่     ส่วน “หอน้อย” ตั้งอยู่ในป่าริมห้วยน้ำศอก ถัดจากหมู่บ้านเดิ่น ตำบลด่านซ้าย ไปทางทิศตะวันตก  มีพระเสื้อเมือง เรียกว่า “เจ้าแสนเมือง” สถิตอยู่

เมื่อทำพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าที่ประจำปีดังกล่าวแล้ว จะมีพิธีทรงเจ้า รวม ๒ วัน โดยทำพิธีบวงสรวงที่หอหลวงเป็นวันแรกก่อน เสร็จแล้วจึงทำพิธีบวงสรวงที่หอน้อยในวันถัดมา  

ผู้ทำพิธีเข้าทรง ฝ่ายชายเรียกเจ้ากวน หรือกวนจ้ำ ฝ่ายหญิงเรียกนางเทียม

ผู้เข้าทรงที่หอหลวงมีทั้งเจ้ากวนและนางเทียม โดย “เจ้ากวน” จะเข้าทรงก่อน “นางเทียม”  จึงเข้าทรงต่อจนเสร็จพิธี  ส่วนที่หอน้อยซึ่งทำพิธีในวันที่สอง มีการเข้าทรงเฉพาะเจ้ากวนเท่านั้น  และในขณะที่ “เจ้ากวน” เข้าทรงที่ “หอน้อย”  เจ้ากวนจะสั่งอนุญาตให้จัดงานบุญหลวง โดยมีกำหนดจัดงาน ๓ วัน  ภายในงานให้มีการแสดงผีตาโขน ซึ่งมีทั้งผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก  ส่วนวัดอื่นๆ ในท้องที่อำเภอด่านซ้าย หากจะจัดให้มีงานบุญเช่นนี้ขึ้นก็ทำได้ แต่ต้องทำภายหลังงานบุญหลวงของวัดโพนชัย








ผีตาโขน เป็นชื่อการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมอันดีงามน่าภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งยึดถือสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล เป็นพิธีปฏิบัติที่มีรากฐานความเชื่อในเรื่องภูติผีวิญญาณ มีการอัญเชิญดวงวิญญาณเจ้าในอดีตเข้าร่างทรง มีการขออนุญาตก่อนจัดงาน และมีการแห่ขบวนผีตาโขนไปคารวะผู้เข้าทรง "เจ้า" ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ให้ดวงวิญญาณเจ้าในอดีตเข้าทรง

การจัดงาน "บุญหลวง" แต่ละครั้ง จึงต้องมีการละเล่นผีตาโขนควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้งานสมบูรณ์ตามที่เคยปฏิบัติกันมา และยังเชื่อว่า 'การเล่นผีตาโขน' จะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวบ้านในการประกอบอาชีพ ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืชผลทางการเกษตร

เทศกาลงานบุญผีตาโขน จะมีบรรดาผู้เล่นเป็นผีตาโขน ครอบศีรษะด้วยหน้ากากคละลวดลายต่างสีสัน ลักษณะน่าเกลียดน่ากลัว ออกมาเต้นแสดงท่าทางต่างๆ เพิ่มความสนุกสนานครื้นเครง แก่ผู้เข้าร่วมขบวนแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง โดยสมมติให้สถานที่นอกวัดโพนชัย ได้แก่ บริเวณหมู่บ้านเดิ่น ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย เป็นที่ที่พระเวสสันดรและนางมัทรีประทับอยู่  มีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวสสันดรและนางมัทรี เสร็จแล้วอัญเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีแห่เข้าวัด ซึ่งสมมติให้วัดโพนชัยเป็น “เมือง” สีพีราษฎร์  

การแห่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมืองนี้ เข้าใจว่าคงได้เค้าเรื่องมาจาก เมื่อครั้งพระเวสสันดรประทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ อันเป็นช้างมงคลสำคัญของนครสีพี ให้แก่ชาวเมืองกลิงคราษฎร์ ชาวเมืองสีพีไม่พอใจจึงขอให้พระเจ้ากรุงสญชัย พระราชบิดา ขับไล่พระเวสสันดรออกจากเมือง

พระนางมัทรี และพระโอรส-พระธิดา (ชาลี-กัณหา) ได้ตามเสด็จไปอยู่ด้วย  ณ เขาวงกต  ภายหลังต่อมาชาวเมืองกลิงคราษฎร์นำช้างปัจจัยนาเคนทร์มาคืนและชาวเมืองสีพีหายโกรธ  พระเจ้ากรุงสญชัยและพระนางผุสดี ผู้เป็นพระราชบิดาและมารดา จึงเสด็จไปเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับเข้าเมืองสีพี




ผีตาโขนใหญ่ ส่วนศีรษะและลำตัว ทำจากไม้ไผ่สาน ส่วนหน้าจะใช้กระด้ง
และนำวัสดุธรรมชาติมาตกแต่งเป็นตา จมูก ปาก  ส่วนลำตัวเป็นผ้าเก่าหรือมุ้งเก่าขาด
ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่ จะมีเฉพาะกลุ่มครอบครัวเท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำ
การทำก็ต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน ถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำทุกปี
หรือทำติดต่อกันอย่างน้อย ๓ ปี

ผีตาโขน
ผีตาโขน มี ๒ จำพวก ได้แก่ ผีตาโขนใหญ่ และผีตาโขนเล็ก หรือผีตาโขนทั่วไป

๑.ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นรูปผู้ชายตนหนึ่งและผู้หญิงตนหนึ่ง ช่างผู้จัดทำอยู่ในหมู่บ้านด่านซ้าย เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน ช่างตระกูลนี้ถือเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องทำ เพราะถ้าปีใดไม่ทำ เชื่อว่าอาจทำให้คนในตระกูลนั้นเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น เจ็บป่วยไข้ เกิดเภทภัยบางอย่าง เป็นต้น

การละเล่นผีตาโขนใหญ่  เนื่องจากผีตาโขนใหญ่ มีขนาดใหญ่โตมาก  เคลื่อนไหวไปมาได้โดยให้คนเข้าไปอยู่ในตัวหุ่น ชาวด่านซ้ายมีความเชื่อกันว่าการทำผีตาโขนใหญ่ในเทศกาลงานบุญหลวงแต่ละปีนั้น จะทำผีตาโขนใหญ่มากกว่า ๒ ตัวใน ๑ ขบวนไม่ได้  ผีตาโขนใหญ่จะทำเป็นคู่ คือ ผีตาโขนชาย ๑ ตัว และผีตาโขนหญิง ๑ ตัว  ผู้เล่นผีตาโขนใหญ่จะต้องเข้าไปอยู่ข้างในหุ่น ดังนั้นผู้เล่นต้องเป็นผู้ที่มีรูปร่างสูงใหญ่ และสุขภาพแข็งแรง เพราะต้องแสดงลีลาท่าทางในการเคลื่อนไหวตัวให้มีศิลปะ  เพื่อให้ผู้ชมเกิดความสนุกสนานและประทับใจ

การทำรูปผีตาโขนใหญ่เชื่อกันว่า จำลองมาจากร่างของคนแปดศอก (คนในสมัยโบราณมีขนาดความสูงถึงแปดศอก) ก่อนทำโครงร่างของผีตาโขนใหญ่ ผู้ทำจะต้องทำพิธีกรรมไหว้ครู โดยจัดดอกไม้และเทียนอย่างละ ๕ คู่ และ ๘ คู่ ใส่พานหรือขัน กล่าวคำขอขมาและขออนุญาตต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน จึงลงมือทำ การทำโครงผีตาโขนใหญ่ ใช้ตอกไม้ไผ่สานปื้นแผ่นใหญ่ทั้งลำตัว แขน และศีรษะ ส่วนศีรษะสานเป็นทรงกลม หาผ้าผืนใหญ่มาหุ้ม แล้วหาวัตถุเป็นเส้นๆ เช่น เส้นใยของทางมะพร้าวหรือเส้นด้ายมาทำเป็นผม ทุบเอาเนื้อออกแล้ว หรือใช้เศษผ้าตัดเป็นริ้วยาวๆ เป็นต้น มาติดที่บนศีรษะ สมมติให้เป็นผม โดยให้ผมผู้หญิงยาวกว่าผมผู้ชาย ส่วนของใบหน้าสานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นวงกลมคล้ายกระด้งฝัดข้าว นำมาผูกติดกับส่วนศีรษะ ตกแต่งปาก จมูก ตา คิ้ว หู และแต้มสีสันฉูดฉาดให้ดูน่าเกลียดน่ากลัว  ใบหน้าของผีตาโขนผู้ชายจะเพิ่มหนวดเคราด้วย ส่วนลำตัวและแขนหุ้มด้วยผ้าผืนใหญ่ เช่น ผ้ามุ้ง ผ้าห่ม ฯลฯ ใช้ไม้หรือวัสดุอื่นทำอวัยวะเพศชาย ตอนปลายอวัยวะนิยมแต้มด้วยสีแดง แล้วนำผูกติดกับบั้นเอว ใต้สะดือ  ส่วนผีตาโขนเพศหญิง ก็ทำอวัยวะเพศหญิงใส่ ขนาดใหญ่ให้สมส่วนกับลำตัว อาจทำด้วยกาบกล้วย และตรงหน้าอกสองข้าง นำกะลามะพร้าว ลูกบอลผ่ากลาง หรือวัสดุอื่นที่มีลักษณะกลมๆ มาทำเป็นรูปนมติดไว้ ภายในลำตัวผีตาโขน เอาไม้ไผ่เป็นลำมามัดไขว้ผูกติดไว้ สำหรับให้คนยืนข้างในจับยกร่างผีตาโขนเคลื่อนไปได้ และด้านหน้าลำตัว เจาะรู ๒ รู ให้คนถือผีตาโขนมองเห็นได้ และใต้ช่องที่ตามองลอด เจาะรูขนาดแขนสอดเข้าออกได้ ๑ รู สำหรับสอดขวดเหล้าหรือสิ่งของเข้าไปได้ เมื่อมีคนให้เหล้าหรือสิ่งของแก่ผู้เชิดผีตาโขนใหญ่




๒.ผีตาโขนเล็ก หรือผีตาโขนทั่วไป คือการเล่นผีตาโขนแบบใส่หน้ากาก และใช้ผ้าคลุมร่างกายให้มิดชิด เนื่องจากการทำหน้ากากผีตาโขนเล็กไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขเหมือนกับการทำผีตาโขนใหญ่ จึงทำให้เป็นที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย ผู้เล่นผีตาโขนเล็กใช้ “กะแหล่ง” ผูกบั้นเอว เวลาคนเดินจะมีเสียงดัง “กะแหล่ง ๆ ๆ” กะแหล่งบางทีใช้เขย่าเวลาแสดงการละเล่น เพื่อประกอบท่าทางของผู้แสดง

ชาวบ้านในละแวกบ้านที่จัดงานบุญและหมู่บ้านใกล้เคียงร่วมกันจัดทำผีตาโขนเล็กมาสมทบในงาน คือ นำมารวมกัน ณ บริเวณวัดที่จัดงานตั้งแต่วันเริ่มงาน โดยแบ่งออกเป็นคณะตามคุ้มหรือหมู่บ้าน สมัยก่อนนิยมทำหน้ากากด้วยโคนก้านทางมะพร้าวแห้ง โดยตัดเอาเฉพาะโคนก้าน และจัดตัดแต่งเจาะช่องตา จมูก ปาก และใบหู แล้วเอาหวดนึ่งข้าวซึ่งไม่ใช้แล้ว มาเย็บติดกับหน้ากากดังกล่าว โดยหงายปากหวดขึ้นข้างบน ให้หูของหวดอยู่ทางซ้ายและขวาของศีรษะ ตรงก้นหวดกดให้เป็นรอยบุ๋มกลมๆ ขึ้นไป ให้มีขนาดพอที่จะสวมลงบนศีรษะ แล้วนำเอาผ้าเป็นผืนซึ่งส่วนมากเป็นผ้าเก่าที่ไม่ใช้แล้ว มาเย็บต่อหน้ากากลงมา ให้ผ้าคลุมรอบตัวอย่างมิดชิด ส่วนแขนจะทำเป็นรูปแขนเสื้อยาว เมื่อจะนำไปเล่นหรือแสดงก็เอาเครื่องแต่งกายผีตาโขนดังกล่าวสวมคลุมเข้ากับลำตัว สวมหน้ากากผีตาโขน เมื่อทำหน้ากากและเครื่องแต่งกายผีตาโขนเสร็จแล้วก็แต้มสีหน้ากากให้ดูน่าเกลียดน่ากลัวด้วย




อาจมีคนบางกลุ่มแต่งตัวแบบชาวป่า เปลือยกายท่อนบน ทาส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วยดินหม้อหรือสีดำ และนำกระบอกไม้ไผ่ชนิดปล้องยาวๆ ชาวบ้านเรียกว่า “ไม้เฮี้ย” มาถือกระแทกกับพื้นเป็นจังหวะ ขณะเดินเป็นขบวนไปตามถนนหนทางก็มี การเล่นชนิดนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “ทั่งบั้ง” (ทั่ง-กระทุ้ง, กระแทก, บั้ง-กระบอกไม้) และมีอุปกรณ์อื่นๆ เช่น สร้อยประคำสำหรับห้อยคอ ทำจากไม้เป็นท่อนขนาดเล็ก โตราวเท่าหัวแม่มือ ยาวประมาณ ๑ คืบ เอามาทำรูปอวัยเพศชาย แล้วร้อยเป็นพวงยาว คล้องคอบ้าง ผูกรอบติดบั้นเอวบ้าง และบางคนอาจนำวัตถุบางอย่างมาทำรูปอวัยวะเพศหญิง นำมาใช้ประกอบการละเล่นด้วย การทำเช่นนี้ คงมุ่งให้เป็นการสนุกสนานและขบขันเท่านั้น มิได้ถือเป็นเรื่องอุจาดลามกหรือหยาบคายเลย

นอกจากนี้ บางคนจะนำตอกไม้ไผ่มาสานเป็นรูปม้า หุ้มด้วยผ้าเก่าที่ไม่ใช้แล้ว โดยสานเว้นช่องตรงกลางลำตัวม้าไว้ สำหรับให้คนเอาลำตัวสอดเข้าไปถือม้า เมื่อนำม้ามาเข้าขบวนแห่หรือขณะนำม้าไปแสดงการละเล่น พร้อมกับมีดาบหรือง้าวดังกล่าวเป็นอาวุธ คนขี่ม้าจำลองนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ม้าตาโขน” สำหรับวิ่งไล่หยอกล้อผู้หญิงและเด็ก คนขี่ม้าปกติจะไม่สวมหัวผีตาโขน แต่จะทาหน้าและลำตัวด้วยสีต่างๆ ให้น่าเกลียดน่ากลัว มีสัตว์อีกสองชนิดที่นิยมนำตอกไม้ไผ่มาสานและหุ้มด้วยผ้าเก่า คือ รูปควายและช้าง โดยเฉพาะควายทำเป็นรูปหัวควายทุย มีผ้าเย็บต่อออกมา เวลาเล่นก็สอดศีรษะเข้าไปข้างในหัวควาย แล้ววิ่งไล่หยอกล้อผู้หญิงและเด็กเช่นกัน ส่วนรูปช้างไม่นิยมนำไปแสดงการละเล่น คงใช้ถือเข้าขบวนแห่ ขณะแห่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมืองเท่านั้น

การประดิษฐ์อวัยวะเพศชายหญิงมาใช้ประกอบการละเล่นผีตาโขนด้วยนั้น เชื่อกันว่าไล่ภูตผีเพราะภูตผีกลัวอวัยวะเพศ และในชุมชนกสิกรรมยอมรับว่าอวัยวะเพศเป็นสัญลักษณ์ของความงอกงาม นอกจากนี้ ผู้คิดอุบายให้สร้างและนำอวัยวะเพศมาประกอบการเล่น ก็เพื่อให้พวกมารหลงระเริงกับอวัยวะเพศฯ และหลงชมการละเล่นแปลกๆเหล่านั้น จนลืมขัดขวางการจัดงานบุญ เป็นการช่วยให้การจัดงานดำเนินไปด้วยความราบรื่น

สิ่งประกอบการแสดงของผีตาโขนเล็ก ที่สำคัญมี ๒ อย่างคือ
๑.อาวุธ ผีตาโขนเล็กทุกตัวจะต้องมีอาวุธประจำกายคือ “ดาบ” หรือ “ง้าว” ที่ทำจากไม้เนื้ออ่อน เป็นลำขนาดโตประมาณเท่าหัวแม่เท้า เช่น ไม้งิ้ว  ตรงด้ามจับหรือโคนด้ามดาบหรือง้าวแกะสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชาย และนิยมทาสีแดงตรงปลายดาบ
๒.เครื่องดนตรี ที่ทำให้เกิดเสียงดังเป็นจังหวะประกอบท่าเดิน หรือ ท่าเต้น ได้แก่ “กะแหล่ง” ชาวบ้านมักเรียกว่า “หมากกะแหล่ง” (กะแหล่ง เป็นวัตถุคล้ายกระดิ่ง ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบน ใช้แขวนคอวัว ควาย)





ความเชื่อและความศรัทธา
ชาวบ้านมีต่อประเพณี ผีตาโขน
ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด ฉบับประจำวันพุธที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ 

จากวิทยานิพนธ์สาขาวิชาทัศนศิลปศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง ผีตามคนเข้าเมือง ของ ธัญญ บัวระภา นำเสนอเรื่องความเชื่อและความศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อประเพณี ผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ว่า ผีตาโขน เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นในอําเภอด่านซ้าย เกิดขึ้นในเดือน ๗ ของทุกปี (เดือนมิถุนายน นับเดือนแบบไทย) จัดในวันที่ได้รับเลือกให้จัดขึ้นในแต่ละปีโดยคนทรงประจําเมือง งานบุญประเพณีพื้นบ้านนี้มีชื่อเรียกว่า "บุญหลวง" แบ่งออกเป็นเทศกาล ผีตาโขน ประเพณีบุญบั้งไฟ และ งานบุญหลวง (บุญผะเหวด)

ผีตาโขนเดิมชื่อเรียกว่า "ผีตามคน" หรือบ้างเรียก "ผีตาขน" จนเพี้ยนมาเป็น ผีตาโขน เป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจากมหาเวสสันดรชาดก คู่ไปกับความเชื่อในการนับถือผี โดยเฉพาะผีเจ้านายที่ยังไม่ถูกทอดทิ้งไป ยังคงมีการเซ่นไหว้สักการะควบคู่ไปกับการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เล่ากันมาว่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรัก จึงพากันแห่แหนแฝงตัวแฝงตนมากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์ กลายเป็นผีตามคน หรือผีตาขน จนมาเป็นผีตาโขน ด้วยประการฉะนี้ แต่จะให้นับจริงๆ ก็ไม่มีผู้ใดจะบอกได้ถึงช่วงเวลากําเนิดพิธีกรรมนี้ อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบว่า การละเล่นผีตาโขนของชาวด่านซ้ายเริ่มต้นจากประเพณีพื้นบ้านก่อน ต่อมาได้รับความสนใจจนกลายเป็นงานระดับประเทศที่ชาวไทยและชาวต่างชาติรู้จัก จัดในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี และมีมานานกว่า ๔๐๐ ปีแล้ว

ทั้งพบว่า ความเชื่อที่ว่าด่านซ้ายเป็นที่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีประทับอยู่ นำสู่การมีพิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวสสันดรกับพระนางมัทรี และการอัญเชิญเสด็จที่มีขบวนแห่ คือแห่เข้าวัด สมมติว่าเป็นเมือง โดยอัญเชิญพระพุทธรูปนําหน้า มีพระสงฆ์ ๔ รูป นั่งบนแคร่ตามหลัง ต่อจากนั้นเป็นขบวนแห่บั้งไฟ โดยเอาบั้งไฟมามัดรวมกันบนแคร่ และมี "เจ้ากวน" นั่งบนบั้งไฟ ตามด้วยขบวนผีตาโขน และการละเล่นอื่นๆ ขบวนนี้แห่รอบวัด ๓ รอบ ก่อนอัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐาน ณ ที่เดิม นิมนต์พระสงฆ์ลงจากแคร่ และเชิญเจ้ากวนลงจากบั้งไฟ เป็นเสร็จพิธีแห่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง ตอนเย็นมีการจุดบั้งไฟ (เจ้ากวน คือผู้ชายที่ทําหน้าที่ให้ดวงวิญญาณเจ้าในอดีตเข้าทรง ชาวบ้านเรียกว่า เจ้าพ่อกวน) สำหรับผีตาโขนก็นับเป็นการละเล่นชนิดหนึ่ง ผู้เล่นต้องสวมหน้ากากที่วาดหรือแต้มให้น่ากลัว ชุดแต่งผีตาโขนใช้ผ้าเก่า ผ้ามุ้ง หรือใช้เศษผ้านํามาห่อหุ้มร่างกายให้มิดชิด เข้าขบวนแห่พร้อมไปกับการแสดงท่าทางต่างๆ

ผีตาโขน ความหมายเดิมไม่แน่ชัด เท่าที่สืบศึกษาพบแต่เพียงว่า เป็นผีที่มีลักษณะรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว จากการสอบถามร่างทรง หรือเจ้ากวน ได้ความว่า ผีตาโขนมาจากคําว่าผีตามคน เข้ามาขออาหาร ขอส่วนบุญในเมืองมนุษย์ เล่นหยอกล้อผู้คน และเมื่อได้ข้าวปลาอาหารแล้วก็จะพากันกลับยังถิ่นที่อาศัยของตน

สำหรับชาวด่านซ้าย มีความเชื่อในการเล่นผีตาโขน ประการแรกเป็นการละเล่นเพื่อถวายดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่มีอํานาจการปกครองสูงสุดในเมืองด่านซ้าย ประการที่สอง เล่นเพื่อร่วมขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง อันเป็นความเชื่อทางพุทธศาสนา ประการที่สาม เล่นเพื่อร่วมขบวนในการแห่บุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) และแห่ขอฝน ประการที่สี่ เล่นเพื่อความสนุกสนาน และประการสุดท้าย เล่นเพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีที่เคยกระทําด้วยกาย วาจา ใจ รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ติดไปกับผีตาโขน โดยการนําไปล่องลําน้ำหมัน เป็นการเสร็จสิ้นพิธีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน

ยังมีข้อมูลจากวิกิพีเดียว่า เกี่ยวกับประเพณีส่งเสด็จพระเวสสันดรและพระนางมัทรีจากป่าสู่เมือง วันแรกจะเป็นเทศกาลผีตาโขน เรียกว่า วันรวม (วันโฮม) มีพิธีเบิกพระอุปคุตจากบริเวณระหว่างลำน้ำหมันกับลำน้ำศอก วันที่สองมีพิธีจุดบั้งไฟบูชา พร้อมด้วยเครื่องแต่งกายหลากหลาย การเต้นรำ และขบวนพาเหรด ส่วนในวันสุดท้ายจะได้ฟังเทศน์ และยังมีความเชื่อด้วยว่า คนที่เล่นหรือแต่งตัวเป็นผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีออกให้หมด นำไปทิ้งในลำน้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป รอจนถึงปีหน้าจึงค่อยทำเล่นกันใหม่




พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ผีตาโขน) วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย จ.เลย
เดิมเป็นศาลาหอฉัน ปรับปรุงเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์เมื่อปี ๒๕๔๗
ใช้งบประมาณจากที่ทำการปกครองอำเภอ เริ่มต้นดำเนินการ จำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท
เป็นสถานจัดแสดงน้ากากผีตาโขนชนิดต่างๆ และนิทรรศการการจัดทำหน้ากากผีตาโขน


















วัสดุอุปกรณ์ของการทำหุ่นผีตาโขน


วัสดุอุปกรณ์ของการทำหุ่นผีตาโขน


ร้านจำหน่ายของที่ระลึกของวัดโพนชัย สินค้าที่วางจำหน่ายประดิษฐ์หรือมีรูปผีตาโขน
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของประเพณีท้องถิ่นของชาวอำเภอด่านซ้าย





3186  นั่งเล่นหลังสวน / สยาม ในอดีต / Re: แฝดสยามอิน-จัน เมื่อ: 31 มีนาคม 2559 15:22:34
.



• แฝดสยาม อิน-จัน ไม่มีสถานะทาสในอเมริกา

หลังจากแยกตัวออกมาจากนายจ้างฝรั่ง อิน-จันตระเวนรอนแรมด้วยรถม้าขึ้นไปรัฐทางเหนือของอเมริกาทะลุเข้าไปในแคนาดา แล้วลงใต้ไปถึงมิสซิสซิปปี อิน-จัน ได้พิสูจน์แล้วว่าความอดทน ความตั้งใจทำธุรกิจในอเมริกา คือปัจจัยที่ทำให้เงินทองไหลมาไม่หยุด ชื่อเสียงของแฝดหนุ่มจากเมืองแม่กลองโด่งดังในอเมริกาในนามของ Siamese Twins (แฝดสยาม)

ส่วนการเดินสายไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกา นายแฮริส ที่ทำหน้าที่เลขาคณะละครเร่ พาอิน-จัน ข้ามทะเลออกจากอเมริกาไปแสดงตัวหาเงินถึงเกาะคิวบา

แฝดอิน-จัน จากสยาม จากเด็กประหลาดตัวติดกัน เลี้ยงเป็ดแถวเมืองแม่กลอง วันนี้กลายเป็นนักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ท่องโลก

ในช่วงเวลาตรงนี้ ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยังไม่มีการแต่งตั้งทูตแลกเปลี่ยนกันระหว่างสยาม-สหปาลีรัฐอเมริกา แต่มีมิชชันนารีและแพทย์จากอเมริกาเดินทางเข้ามาตรวจรักษาชาวสยาม และช่วยวางรากฐานทางการแพทย์สมัยใหม่ให้กับสยาม กิจการด้านต่างประเทศของสยามกับประเทศทางตะวันตกเริ่มมีชีวิต พลิกฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากขับไล่เตะฝรั่งออกนอกสยามจนเกลี้ยงนานหลายปี  ชีวิตของแฝดสยามในอเมริกาเริ่มมั่นคงมีรากฐาน แฝดนักธุรกิจคู่นี้ที่ตระเวนไปทั่ว เห็นสรรพสิ่งทั้งหลายด้วยตัวเอง แผ่นดินในอเมริกาที่แสนกว้างใหญ่ ผู้คนจากทั่วโลกเรียกอเมริกาว่า New World (โลกใหม่) ชาวยุโรปโดยเฉพาะคนผิวขาว แห่กันเข้าไปจับจองที่ดินสร้างชีวิต สร้างครอบครัว มีบาดเจ็บล้มตาย แย่งชิงที่ดิน ตัดสินปัญหากันด้วยปืน บ้างก็เฮง บ้างก็ซวย ใครดีใครอยู่

หนังอเมริกันคาวบอยที่พระเอกคาดเข็มขัดเอียงๆ ขี่ม้ายิงปืน ปล้นธนาคาร ยิงกับอินเดียนแดง ควบม้าปล้นเงินสดจากรถไฟ ความยุติธรรมและความเป็นลูกผู้ชาย ตัดสินกันด้วยการดวลปืนนัดเดียวบนลานกว้าง โดยมีผู้คนทั้งหลายยืนดูในฐานะพยาน ใครชักปืนลูกโม่ขึ้นมาจากเอวเร็วที่สุด แล้วลั่นไกใส่ฝ่ายตรงข้ามแม่นที่สุด คนนั้นชนะ และอยู่รอด ภาพเหล่านี้คือวิถีชีวิตส่วนหนึ่งในแผ่นดินอเมริกา

ม้ากับปืน คือ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของชีวิตคนอเมริกัน แม้กระทั่งปัจจุบัน เรื่องซื้อปืน ซื้อกระสุน เป็นเรื่องง่ายพอๆ กับการเดินไปหาซื้อบัตรเติมเงินมือถือ ปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๙ การพกปืนยังคงเป็นสิ่งที่คนอเมริกัน (ในบางรัฐ) ต้องการ เพราะมันคือสิทธิขั้นพื้นฐาน

เวลาเปลี่ยน แฝดสยามเปลี่ยน คนคู่ตัวติดกันทั้งสองมีบุคลิกภาพดีขึ้นมาก เสื้อผ้า หน้า และผมเปีย ฝาแฝดมีกำหนดตรวจรักษาฟัน ใช้หวี ใช้แปรงสีฟัน เสื้อผ้า รองเท้า แบบของดีมีคุณภาพ ปรับตัวเข้ากับสังคมอเมริกันได้อย่างดี น้ำหนักตัวทั้งสองเพิ่มมากขึ้น

บุคลิกด้านบวก ของแฝดทำให้คนอเมริกันที่จับตาดู เกิดการยอมรับในทีว่าแฝดตัวติดกันคู่นี้ มีเพียงร่างกายเท่านั้นที่ประหลาด ส่วนจิตใจใสประเสริฐ ไม่ใช่สัตว์ประหลาด ไม่ใช่อสุรกาย

ค่านิยมในโลกตะวันตกยุคนั้นทั้งในยุโรปและอเมริกา คือการเหยียดสีผิว ด้วยความเชื่อที่ว่า คนขาวมีสติปัญญา มีความคิด มีคุณธรรมเลอเลิศประเสริฐกว่าคนผิวสีอื่น คนดำไม่มีสิทธิเรียนหนังสือในโรงเรียนคนขาว ไม่มีสิทธิดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำของคนขาว คนขาวต้องได้รับสิทธิก่อนเสมอ ในยุคต่อมาแบ่งแยกถึงขนาดขึ้นรถรางคนขาวต้องนั่งตอนหน้าของรถ ส่วนคนดำต้องไปนั่งตอนหลัง

สิ่งที่ฝรั่งทั้งหลายชื่นชม คือ ความมีน้ำใจของแฝดหนุ่ม ที่มีนิสัยการแบ่งปัน ชอบหยิบยื่นเงินเล็กๆ น้อยๆ ให้กับผู้ที่ยากไร้ที่พบเห็นในอเมริกา สิ่งเหล่านี้คือการบ่งบอกว่าสถานะทางสังคมของแฝดสยามว่า ฉันไม่ใช่คนยากไร้ตามท้องถนน ไม่ใช่คนสิ้นหวังเร่ร่อนขอทาน ฉันประกอบอาชีพมีรายได้ ซึ่งการวางตัววางระดับ เช่นนี้ ทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะดูแคลนแฝดสยาม

เหตุผลที่ผู้เขียนยกประเด็นนี้ขึ้นมา เนื่องจากในเวลานั้น มีกิจการค้าทาสผิวดำที่คนขาวไปซื้อตัวชาย หญิงผิวดำ ตัวเป็นๆ จับล่ามโซ่ลงเรือมาจากแอฟริกา เพื่อนำมาเป็นแรงงานหลักด้านการเกษตรในภาคใต้ของอเมริกา สถานะของทาสผิวดำในเวลานั้นแทบไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงของคนขาว มีการแบ่งสีผิวอย่างชัดเจนแบบที่มนุษย์พึงแยกจากสัตว์ป่า

ชาวเอเชีย ผิวเหลืองแบบอิน-จัน ที่ไปจากสยามไม่อยู่ในสถานะที่โดนรังเกียจ โดนรังแก เช่นทาสคนดำ

ผู้เขียนต้องขอยกย่อง การวางตัวของบรรพบุรุษสยาม ๒ ท่านนี้ที่มีความรอบรู้ มีภูมิปัญญาที่จะเอาตัวรอด วางตัวให้อยู่เหนือระดับจากการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ของสังคมในอเมริกาในยุคนั้นได้อย่างสง่างาม

ต้องเน้นย้ำกับท่านผู้อ่านนะครับว่า สังคมในอเมริกายุคนั้น คนผิวขาวด้วยกันเอง เห็นต่างกันสุดลิ่มทิ่มประตูครับ พวกทางเหนือไม่กีดกันคนผิวดำ แต่รัฐทางใต้ที่ครอบครองทาสจำนวนมากใช้ทำการเกษตรไม่ยอมรับในสถานะความเป็นมนุษย์ ต้องการมีทาส (และต่อมาจึงเกิดสงครามกลางเมืองรบกันที่เองเรียกว่า Civil War ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้นาน ๔ ปี ตายไปราว ๖ แสนคน)

ผู้เขียนเองก็อยากทราบเช่นกันว่าไอ้เรื่องการเกลียด กีดกันคนผิวสีมีสาเหตุมาจากอะไร

คำตอบที่ค้นมาได้แบบบ้านๆ คือ คนผิวขาวแท้ๆ ที่อพยพมาจากยุโรปรวมถึงคนผิวขาวที่มาเกิดในอเมริกา กลัวการสูญเสียสถานะทางสังคมของตนเอง กลัวการโดนตีเสมอเทียบเท่า เพราะมีการปลูกฝังกันมาว่าธรรมชาติได้สร้างให้คนขาวเหนือกว่าคนดำในทุกเรื่อง

กระแสความชิงชังจึงพุ่งไปที่คนผิวดำ คนขาวต่อต้านการอพยพเข้ามาใหม่ กีดกันลัทธิทางศาสนาบางกลุ่ม ในบางพื้นที่บางชุมชนถึงขนาดที่ประกาศว่า คนดำอยู่ไม่ได้ ทำให้เกิดคำว่า Negrophobia ที่หมายถึง ความรู้สึกเกลียด-กลัวคนผิวดำ ซึ่งโชคดีที่อิน-จัน จากสยามไม่ใช่คนผิวดำ

ซึ่งเมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบันก็นับว่าคลายตัวไปมาก

อยู่มาราว ๔ ปี อิน-จัน วางตัวได้สง่างาม แฝดหนุ่มเคยได้ขอร้องผู้คนทั้งหลาย อย่าเรียกพวกเขาว่า Siamese Boys เนื่องจากทั้งสองมีอายุ ๒๑ ปี และพ้นจากความเป็น boy แล้ว การเรียกว่า boy มีภาพราวกับว่าเขาทั้งสองยังเป็นเด็กที่วิ่งเล่น แล้วมีคนไปซื้อตัวมาสงเคราะห์เลี้ยงดู โดยขอให้เรียกว่า Gentlemen ที่แปลว่า ท่านสุภาพบุรุษ หรือคุณผู้ชายที่ดูโก้หรูทีเดียว  แม้กระทั่งเมื่อไปรับประทานอาหารในร้าน อิน-จัน จะมีความสุขมากเมื่อได้ยินพนักงานเสิร์ฟเรียกแฝดว่า Gentlemen

เรื่องราวตรงนี้โดยเฉพาะการเป็นคนมีจิตใจเมตตา ช่วยเหลือผู้อื่น มีน้ำใจต่อผู้คนที่ด้อยโอกาสเป็นอาจิณ หนังสือพิมพ์ในอเมริกา นำไปเป็นประเด็นบอกเล่า ซึ่งได้ผลออกมาเป็นบวกมีภาพพจน์ที่ดี เมื่อมีคนชอบ ก็ต้องมีคนชัง มีคนหมั่นไส้ เป็นธรรมดาครับ ความยากลำบากในการใช้ชีวิตประการหนึ่งในอเมริกา คือ ความเป็นส่วนตัว ที่หาได้ยากมาก ไม่ว่าจะไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร จะตกเป็นเป้าสายตาของผู้คนไปซะหมด ไม่เห็นก็ต้องสาระแน สอดรู้สอดเห็นชีวิตของแฝดให้จงได้ โดยเฉพาะชีวิตส่วนตัวที่ไม่เปิดเผย เรื่องเร้นลับทั้งหลายที่คนทั่วไปทำ

ในยุคสมัยนั้น วิธีการสื่อสารของอเมริกันชน คือการเขียนจดหมายไปถึงหนังสือพิมพ์ บอกเล่าเรื่องราวสารพัด เรื่องดี เรื่องร้าย เรื่องซุบซิบนินทา ปัญหาหัวใจ เรื่องที่โดดเด่นจะถูกตีพิมพ์ พร้อมด้วยคำตอบหรือคำแนะนำ เรื่องของแฝดอิน-จัน ก็เป็นข่าวที่ขายได้ในทุกโอกาสในอเมริกา มีทั้งด้านดีและด้านร้าย

ความบาดหมางกับกัปตันคอฟฟิน เป็นเหตุให้ต้องเลิกราทำธุรกิจร่วมกัน เนื่องจากกัปตันต้องไปเดินเรือตามตารางกำหนด คราวนี้คอฟฟินต้องออกเรือจากบอสตันไปไกลถึงอินเดีย และชวา

ท่ามกลางการใช้ชีวิตแบบนักสู้ชีวิตในอเมริกามาเกือบ ๔ ปี ความปลื้มปีติอย่างที่สุด คือ ข่าวจากนางนาก แม่บังเกิดเกล้าที่เมืองแม่กลอง ที่รอแล้วรอเล่า

และอยู่มาวันหนึ่ง นายเจมส์ เฮล (ที่เคยทำหน้าที่เหมือนผู้จัดการให้แฝดในช่วงที่ไปแสดงในอังกฤษ) ได้เขียนจดหมายมาบอกอิน-จัน ว่า นางนากผู้เป็นมารดา อยู่ที่เมืองแม่กลองสบายดี นางนากได้นายเซ็นเป็นสามีคนใหม่ พี่ชาย-พี่สาวของอิน-จัน สบายดี ทุกคนที่บ้านเมืองสยามอยากให้อิน-จัน กลับมาให้แม่เห็นหน้ากันหน่อย

นายเฮลแยกตัวไปจากแฝดก่อนหน้านี้ เพื่อไปเดินเรือเช่นกัน ช่วงที่ห่างไปแฝดและนายเฮล ยังคงติดต่อกันทางจดหมาย รักษาความเป็นเพื่อนและมีน้ำใจต่อกันเสมอ

(บิดาของแฝดอิน-จัน ชื่อนายทีอาย เสียชีวิตเมื่อตอนแฝดอายุ ๘ ขวบ จากโรคห่าระบาดครั้งใหญ่ในเมืองสยาม มีคนตายจำนวนมาก)

จดหมายจากนายเฮล ยังบรรยายต่อว่า นายฮันเตอร์พ่อค้าอังกฤษเชื้อสายสก๊อต ประกอบความชอบในแผ่นดินสยาม เป็นที่โปรดปรานจนในหลวง ร.๓ พระราชทานบรรดาศักดิ์แต่งตั้งเป็นหลวงอาวุธวิเศษ มีหน้ามีตาโก้หรู มีแฟนตรึมในบางกอกไปแล้ว

ท่านผู้อ่านที่เคารพ คงเห็นความเชื่อมโยงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ที่แฝดอิน-จัน เข้าไปเป็นตัวละครที่สำคัญในตำนานแห่งประวัติศาสตร์ของสยามกับอเมริกาตรงนี้

ความดีความชอบของนายฮันเตอร์ คือเขาเป็นพ่อค้าที่นำอาวุธปืนคาบศิลาที่เรียกว่า ปืนมัสเก็ต พร้อมกระสุนดินดำ เข้ามาขายและมอบให้รัฐบาลสยามจำนวนหนึ่ง นายฮันเตอร์ มีความคุ้นเคยกับราชสำนักสยาม ขุนนางสยามและเพื่อนฝูงเรียกชื่อแบบสะดวกปากว่า นายหันแตร

สยามได้ใช้งานปืนมัสเก็ต (Musket) ที่ทันสมัย ทำศึกทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และทำศึกด้านตะวันออกอย่างได้ผล นอกจากนั้น นายหันแตรพ่อค้าคนเก่งยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งห้างสรรพสินค้าจากต่างประเทศแห่งแรกในสยามตรงบริเวณหน้าวัดประยูรวงศาวาส (เชิงสะพานพุทธ ฝั่งธนบุรี) อีกต่างหาก ซึ่งต่อมาเกิดน้ำท่วมเมืองสยามครั้งใหญ่ ทำเอานายหันแตรขาดทุนแทบหมดตัว

อิน-จัน คิดหนัก เพราะแม่ร้องขอให้กลับไปเยี่ยมบ้านที่แม่กลอง เมืองสยามแต่ทั้งสองก็ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้

ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป หลังจากตระเวนแสดงตัวในอเมริกาแล้ว ๑๙ รัฐ ในขณะนั้นอเมริกามีเพียง ๒๔ รัฐ (ปัจจุบันมี ๕๐ รัฐ)

นายแฮริส จุดประกายความคิดขึ้นมาอีก คราวนี้คิดที่จะพาแฝดไปแสดงตัวที่ปารีสและตระเวนไปในอีกหลายประเทศในยุโรป ที่ผ่านมาทางการฝรั่งเศสเคยปฏิเสธไม่ให้อิน-จันเข้าประเทศมาแล้ว เพราะมีข้อมูลว่าแฝดคู่นี้เปรียบเหมือนอสุรกาย จะทำให้สตรีฝรั่งเศสที่กำลังมีครรภ์เกิดปัญหาต่อเด็กในท้อง

ในที่สุดการเดินทางเข้าปารีส ก็ได้รับการอนุมัติ นายแฮริส พาแฝดลงเรือชื่อ Resolution เดินทาง ๕ สัปดาห์จากนิวยอร์กไปขึ้นฝั่งที่เมืองโดเวอร์ (Dover) การโฆษณามนุษย์ประหลาดจากสยามกระหึ่มอีกครั้งในปารีส

เมื่อเข้าไปเหยียบแผ่นดินฝรั่งเศสเมืองน้ำหอม ท่อนเนื้อทรงกระบอกยาว ๖ นิ้วที่เชื่อมตรงหน้าอกของหนุ่มสยาม ยังคงเป็นจุดรวมความสนใจของชาวปารีสเช่นเคย ชาวปารีสสนใจมาดูการแสดงพอสมควร แต่เมื่อแสดงตัวไปนานราว ๓ เดือน กลับพบว่าค่าใช้จ่ายทุกอย่างสูงลิ่ว ธุรกิจขาดทุน เพราะปารีสเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเมืองหนึ่งของโลก

แฝดคู่นี้ ต้องย้ายวิกหากินใหม่อีกและที่หมายต่อไปคือ เดินทางต่อเข้าไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม แสดงตัวที่นั่นนาน ๓๐ วัน เดินทางต่อไปเมืองแอนทเวอร์ป (Antwerp) นาน ๒ สัปดาห์ ทุกอย่างราบรื่น คณะละครเร่เดินทางต่อไปอีก จัดการแสดงที่เมืองรอตเตอร์ดัม (Rotterdam) ยาวต่อไปถึงกรุงเฮก (Hague) นานอีก ๒ สัปดาห์ ลากต่อไปที่เมืองอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ นาน ๑ เดือน

ที่เนเธอร์แลนด์ แฝดสยามได้รับเกียรติสูงสุด คือการได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ วิลเลียม ถึงในพระบรมมหาราชวัง

ตำนานที่ตระเวนยุโรปช่วงนี้ ค่อนข้างรางเลือน แต่ชัดเจนว่า แฝดทั้งสองจากสยามจากเมืองแม่กลอง ชอบกินหอยนางรมเป็นชีวิตจิตใจ แต่คงไม่มีใบกระถินให้เคี้ยวด้วยแน่นอน

เรือชื่อ ฟรานซิส นำคณะของแฝดกลับจากยุโรปไปถึงอเมริกา ใน ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๙

นี่คือตำนานการเดินทางท่องโลกอันเหลือเชื่อของเด็กแฝดตัวติดกัน (Conjoined Twins) จากเมืองแม่กลอง ประเทศสยาม ที่เกิดมาใหม่ๆ มีคนชิงชัง แอบนินทาว่าเป็นกาลกิณีกับบ้านเมือง

ในที่สุด คนสู้ชีวิตตัวติดกันจากสยามคู่นี้ได้พิสูจน์แล้วว่า ในชีวิตจริงทั้งคู่ได้ท่องเที่ยวไปในโลกใบนี้แบบมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่เกินคำบรรยาย

โชคชะตาฟ้าลิขิตให้แฝดอิน-จัน จำต้องพบรัก มีเมียอเมริกันซะแล้ว แล้วมันจะไปกันต่อยังไง? แล้วแบบสบายใจสุด มันอยู่ตรงไหน? มีคำถามร้อยแปด


โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
3187  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / Re: วัฒนธรรมชาวจีน เรื่อง อาหาร เมื่อ: 30 มีนาคม 2559 16:38:18

วัฒธรรมจีน
เรื่อง 'อาหาร'



ป๋าซือ.....ชื่อขนมแปลกของจีน

เหนียวหนึบ แต่กรุบกรอบ ซ่อนความฉ่ำหวาน สามลักษณะนี้ ดูไม่น่าจะนำมาใช้บรรยายของสิ่งเดียวกันได้

แต่ที่จีน กลับมีขนมหวานประเภทหนึ่งที่สามารถรวมเอาทั้งสามความรู้สึกนี้เข้าไว้ด้วยกัน จนเป็นขนมที่มีคุณลักษณะเฉพาะตัว ภายใต้ชื่อที่เรียกขานกันว่า ป๋าซือ

ป๋าซือเป็นขนมที่พบเจอได้มากในบริเวณค่อนไปทางตอนเหนือของจีน มีถิ่นที่มา จากมณฑลชานตง จึงเป็นของหวานที่ผู้คนในแถบนั้นคุ้นเคย เรื่อยเลยไปจนถึงเมืองหลวงอย่างกรุงปักกิ่ง ก็ยังพบเจอได้ว่า ขนมหวานที่ต้องทานตอนร้อนๆ เช่นป๋าซือ ก็มีให้เลือกรับประทานในร้านอาหารตามสั่งทั่วไป

ป๋าซือจึงเป็นขนมท้องถิ่นที่จัดว่าแพร่หลายอยู่ไม่น้อย และได้รับการสืบทอดต่อกันมานาน นัยว่าน่าจะเริ่มมีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิงแล้ว

และในบางช่วงบางตอน ยังแพร่ขยายขอบเขตความหวานไปทั่วทั้งประเทศอีกด้วย 

โดยปกติแล้ว ตามร้านอาหารจีนทางตอนเหนือนั้น จะไม่นิยมการจัดหาขนมหวานมาบริการหลังมื้ออาหารมากนัก  ส่วนใหญ่จะใช้วิธีเสิร์ฟผลไม้สดตามฤดูกาล ไม่ว่าจะด้วยวิธีการสั่งหรือวิธีการแถมมากกว่า

การจะหาขนมหวานตบท้ายให้เป็นเรื่องเป็นราวจึงใช่ว่าจะหาเจอได้ในทุกร้าน  แต่ในจำนวนร้านที่มีขนมหวานปิดท้ายเมนูนี้ ก็มักจะมีป๋าซือเป็นหนึ่งในตัวเลือก หรือในหลายๆ ร้านก็มีให้เลือกแค่ขนมป๋าซือกับผลไม้สดเพียงเท่านั้น

เป็นการการันตีความนิยมของป๋าซือทางแถบนี้ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนทุกมื้อจะต้องมีป๋าซืออย่างขาดไม่ได้

ป๋าซือเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมาก ต้องทานในเวลาที่ยังร้อนอยู่เท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้สืบเนื่องมากจากเรื่องของอรรถรสเพียงประการเดียว แต่ยังรวมไปถึงคุณสมบัติทางกายภาพที่ไม่อาจรับประทานเมื่อเย็นลงแล้วได้ด้วย  เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะป๋าซือเป็นของทอดชนิดหนึ่ง ที่ไม่ได้ทอดแบบธรรมดา แต่เป็นการทอดแบบเคลือบน้ำตาลหนึบหนับ ต้องคีบในเวลาที่ยังร้อน จึงจะจับแยกจากกันเป็นชิ้นๆ ได้

สำหรับชื่อเรียกป๋าซือนี้ คำว่า ป๋า มาจากกิริยาการดึงสิ่งของ 

ส่วนคำว่า ซือ นั้น หมายถึง เส้น เส้นใย หรือเส้นที่มีความละเอียด 

เข้าใจว่า เหตุที่ป๋าซือมีชื่อเรียกรวมกันหมายถึงการดึงเส้น เช่นนี้ คงเป็นเพราะลักษณะของขนมชนิดนี้นั่นเอง  ป๋าซือส่วนใหญ่ทำมาจากผลไม้หรือผักที่ใช้ทานเป็นของหวานได้ เลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นได้หลายประเภท ที่พบเจอได้มากก็มีทั้งแอปเปิ้ล สับปะรด กล้วยหอม พุทรา เชอร์รี่ ส้ม แตงโม องุ่น แปะก๊วย มันหวาน และเผือก เป็นอาทิ หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เกือบพอดีคำ

จากนั้น นำไปผ่านกรรมวิธีการคลุกเคล้ากับน้ำตาลที่ผัดหรือทอดกับน้ำมันจนเป็นคาราเมลข้นสีเหลืองทองออกแดง

การทำป๋าซือนี้ ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ ต้องใช้ฝีมืออยู่พอตัวเหมือนกัน เพราะมีวิธีการทำอยู่หลายแบบ แต่ว่าแต่ละแบบก็ต้องใช้ความพิถีพิถันและความคล่องแคล่วอยู่ไม่น้อย ทั้งการเลือกผลไม้ที่มีรสชาติเหมาะเจาะ บางชนิดต้องหวาน ในขณะที่บางชนิดต้องหวานอมเปรี้ยว เพื่อตัดรสกับน้ำตาลที่เคลือบไว้  นอกจากนี้ยังมีเทคนิคที่ต่างกันไป เช่นว่า ผลไม้บางชนิดต้องชุบแป้งหรือแป้งผสมกับไข่ก่อน จึงจะนำไปทำป๋าซือต่อได้ ในขณะที่ผักหรือผลไม้บางอย่าง ก็ไม่ควรผ่านขั้นตอนนี้ เพราะกลับจะทำให้เคลือบผิวได้ไม่ทั่ว

แม้แต่การเลือกน้ำตาล หากเลือกใช้ได้ลงตัว ก็จะยิ่งทวีความกลมกล่อมให้กับป๋าซือ และขั้นตอนที่สำคัญต่อมา คือการทอดน้ำตาลในน้ำมันในขณะที่มีอุณหภูมิกำลังพอเหมาะ ร้อนกำลังดี ไม่มากไปหรือน้อยไป ซึ่งการกะอุณหภูมิให้พอดีนั้น น่าจะถือเป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยความชำนาญพอควร และต้องทอดในระยะเวลาที่กำลังดีอีกเช่นกัน

บางสูตรยังต้องผสมน้ำลงไปในสัดส่วนที่ต้องกะให้ดี จึงจะได้เป็นคาราเมลที่เหนียวแต่ไม่ข้นจนเกินไป และต้องคอยจับตาดูการเปลี่ยนสีของน้ำตาลตลอดเวลา จึงจะรู้ว่าเมื่อไรที่ทอดได้พอดี พร้อมจะออกมาเป็นป๋าซือที่ประสบความสำเร็จได้แล้ว

เวลาที่ป๋าซือผ่านขั้นตอนจนครบถ้วนกระบวนความแล้ว จะออกมาเป็นชิ้นสีเหลืองอร่าม มันวาวล้อแสงไฟ จับกันไว้เป็นกลุ่มก้อน ส่วนมากจะเสิร์ฟกันเช่นนี้เลย  แต่ก็มีบางร้าน ที่โรยงาขาวงาดำเป็นลูกเล่นเพิ่มเสริมเติมเข้าไปอีกสักนิด

ส่วนการนำเสนอมาบนโต๊ะ ก็จะควงคู่มากับชามใบเล็กอีกใบที่ใส่น้ำเปล่าสะอาดไว้  น้ำเปล่าที่นำเสนอมาพร้อมกันนี้ ถือเป็นผู้ช่วยชั้นเอกในการรับประทานป๋าซือที่จะละเลยไปไม่ได้เลย เพราะด้วยความที่ป๋าซือมีความเหนียวหนึบของน้ำตาล เกาะกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน เวลาดึงแต่ละชิ้นออกมา จะเกิดเป็นใยน้ำตาลเส้นบางบ้างหนาบ้าง แต่มีความเหนียวสูงตามติดออกมาด้วย เหตุนี้จึงเรียกขนมชนิดนี้ว่า การดึงเส้น ที่หมายถึงเส้นของน้ำตาลเหล่านี้นั่นเอง  พอดึงแต่ละชิ้นออกมาจากกันแล้ว วิธีที่จะหยุดเส้นเหล่านี้ไม่ให้โยงใยต่อไปได้ ก็คือการจุ่มลงไปในน้ำให้ทันท่วงที เพื่อให้เส้นใยน้ำตาลกลายเป็นเกล็ดแข็ง และแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

ตามติดด้วยขั้นตอนสำคัญที่สุด คือการลองลิ้มชิมรส กัดให้ถึงเนื้อในที่เป็นผลไม้ ผสมผสานกับความหวานแบบกรุบกรอบที่เคลือบอยู่ภายนอก เพื่อสัมผัสรสชาติความหวานแบบเฉพาะของป๋าซือ

และด้วยความที่น้ำตาลที่เคลือบไว้นี้ มีความเข้มข้นสูงมาก การทานป๋าซือจึงต้องทานตอนร้อนๆ ด้วยความเร็วสูง เพราะหากวางทิ้งไว้สักพัก พอน้ำตาลปะทะกับอากาศนานเข้า จะผูกสมัครรักใคร่เกาะเกี่ยวตัวเข้าด้วยกันอย่างเหนียวแน่น จนกลายเป็นก้อนน้ำตาลแข็งขนาดใหญ่ ที่แยกแต่ละชิ้นออกจากกันได้ยาก และเสียรสชาติที่ป๋าซือควรมีไปอย่างไม่สามารถเรียกให้หวนกลับคืนได้

แม้ว่าป๋าซือจะเป็นขนมหวานที่มีระดับความหวานจัดจ้านอย่างมาก แต่ในหลากหลายโอกาส ก็เป็นของหวานส่งท้ายมื้ออาหารที่ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ยังไม่นับรวมถึงเรื่องของความแปลกตา ที่ชวนให้ชาวต่างชาติสนอกสนใจลองชิมกันได้ไม่มากก็น้อย ล้อมวงร่วมกันดึงคนละชิ้นสองชิ้นให้หนุบหนับสนุกสนาน

ของหวานแบบป๋าซือ จึงเป็นหนึ่งในของหวานที่มีเอกลักษณ์น่าลิ้มลองบนโต๊ะอาหารของจีนในหลายต่อหลายที่มานานวันแล้วด้วยประการฉะนี้


ที่มา : คอลัมน์ "จากเมืองจีน" โดย จีระพร จีระนันทกิจ  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์
3188  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / Re: วัฒนธรรมชาวจีน เรื่อง อาหาร เมื่อ: 30 มีนาคม 2559 16:37:59

วัฒธรรมจีน
เรื่อง 'อาหาร'


เส้นหมี่   เส้นนี้มีดีที่ความขาวอร่อย

เรื่องของอาหารจานเส้น มีให้เห็นอยู่ในหลากหลายประเทศ ได้รับความนิยมมากบ้างน้อยบ้างว่ากันไป และส่วนใหญ่ก็จะมีสมาชิกในครอบครัวชาวเส้นมากหน้าหลายตา ให้ได้เลือกหาเลือกทานแม้ในประเทศเดียวกัน

อย่างที่ไทยเรา ก็มีทั้งก๋วยจั๊บ ก๋วยเตี๋ยว เส้นเล็ก เส้นใหญ่ ไปจนถึงสารพัดหมี่ละลานตา และเมื่อเอ่ยถึงบรรดาสมาชิกชาวเส้นเช่นนี้ หลายครั้งหลายครา เราก็อาจจะงุนงงได้เล็กๆ น้อยๆ อยู่บ้างว่าเส้นไหนมีชื่อเรียงเสียงเรียกว่าอย่างไรกันแน่

ทำให้ในบางครั้ง ถึงกับต้องมีการใส่รูปพรรณสัณฐานเติมเข้าไปให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่นว่า บะหมี่เหลือง หรือเส้นหมี่ขาว เพื่อให้เป็นหลักประกันว่า เวลาสั่งอาหารแล้ว จะได้มาตามที่ต้องการ

ซึ่งพอพูดถึงเรื่องเส้นหมี่ ที่ส่วนใหญ่เราเรียกรวมๆ กันถึงเส้นยาวๆ ขนาดเส้นค่อนข้างละเอียด มีสีขาวขุ่น คุ้นหน้าคุ้นตานั้น อันที่จริงแล้วก็ถือเป็นสมาชิกชาวเส้นรายหนึ่งของตระกูลอาหารจานเส้นของจีนเช่นกัน

เส้นหมี่ชนิดนี้มีชื่อจริงในภาษาจีนกลางว่า หมีเฝิ่น แต่ด้วยความที่สมาชิกชาวเส้นของจีนเอง ก็มีมากหน้าหลายตา เลยชวนให้สลับสับสนกับเส้นอีกชนิดที่มีสีขาวเฉกเช่นเดียวกัน ที่เรียกว่า หมี่เซี่ยน ซึ่งชาวไทยส่วนใหญ่ที่ได้พบปะเจอะเจอกับเมนูที่ทำมาจากเส้นทั้งสองแบบนี้ ก็มักจะเรียกเป็นชื่อไทยๆ รวมกันไปว่าเส้นหมี่ทั้งคู่

คำว่า หมี ของหมีเฝิ่น กับคำว่า หมี่ ของหมี่เชี่ยน นั้น เป็นอักษรตัวเดียวกัน หมายถึง ข้าว เพียงแต่ด้วยหลักภาษา เมื่อประกบคู่กับคำหลัง จึงออกเสียงต่างกันไป ส่วนคำว่า เฝิ่น นั้นหมายถึงแป้ง ในขณะที่ เซี่ยน หมายถึง สิ่งที่เป็นเส้นยาวๆ ฟังจากชื่อแล้วจะว่าต่างก็ใช่ จะว่าคล้ายก็ไม่เชิง

เริ่มกันที่เส้นหมี่ขาว ที่ชาวเราเคยคุ้ยในไทยนั้นเป็นของที่ได้รับความนิยมทางตอนใต้ของจีนเป็นอย่างมาก เช่นที่กุ้ยหลินในกวางสี รวมไปถึงกวางตุ้งถิ่นที่มาของชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว พบเห็นเป็นได้ทั้งของว่างและอาหารอยู่ท้อง นำมาปรุงแต่งรสชาติได้หลายแบบ ทั้งแบบร้อนและแบบเย็น

และด้วยความที่คะแนนนิยมสูงลิ่ว ทำให้เป็นมรดกด้านอาหารอีกหนึ่งอย่างที่ชาวจีนภาคนี้พกใส่กระเป๋าตระเวนไปในประเทศอื่น ยามโยกย้ายถิ่นฐานด้วย

นอกจากจะพบได้ในไทยแล้ว ในสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือเวียดนาม รวมไปถึงไชน่าทาวน์ในหลายประเทศ จึงมีให้ได้เห็นเป็นประจำเช่นกัน

ลักษณะเด่นของเส้นแบบนี้ อยู่ตรงที่แม้ว่าตัวเส้นจะบาง แต่มีความเหนียว หรือความยืดหยุ่นสูง ไม่ขาดง่าย และแม้แต่เส้นที่ผ่านการแปรรูปให้เป็นเส้นแบบแห้ง เพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษาที่นานขึ้น ก็ยังคงคุณสมบัติดังกล่าวไว้ได้มากอยู่

ดังนั้น ไม่ว่าจะนำมาต้ม ผัด หรือ ทอด ก็ทำได้โดยไม่ขาดหรือเปื่อยง่าย คงรูปคงทรงได้ดี

หลายประเทศที่ได้รับถ่ายทอดวิธีการทำเส้นหมี่ไปด้วย ยังนำไปประยุกต์ดัดแปลง กลายเป็นของแต่งหรือของหลักในจาน จนหลายเมนูกลายเป็นเมนูท้องถิ่นไปเลยก็มี

นอกจากแบบละเอียดยิบแล้ว หมีเฝิ่นยังมีพี่น้องที่เป็นเส้นหนาขึ้นมาบ้างด้วย แต่ที่แพร่ออกนอกประเทศไปในแถบเอเชียส่วนมาก มักจะเป็นแบบเส้นถี่ละเอียด

สำหรับที่มาที่ไปของเส้นหมี่ขาวแบบนี้ แม้จะไม่มีประวัติที่ชัดเจนนัก แต่ก็เล่ากันว่า น่าจะมีมานานแสนนานแล้ว ตั้งแต่สองพันกว่าปีก่อน โดยเป็นผลผลิตการคิดค้นของชาวจีนทางเหนือ ที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ทางตอนใต้  เนื่องจากชาวจีนทางเหนือไม่คุ้นเคยกับการรับประทานข้าวเป็นอาหารหลักแบบชาวจีนทางตอนใต้ แทนที่จะรับประทานข้าวตามธรรมดาเลยนำเอาข้าวมาผ่านกระบวนการ ทำให้กลายเป็นเส้นออกมาไว้ทานแทน นานวันเข้า แม้แต่ชาวจีนทางใต้เองก็ยังติดใจ

ส่วนหมี่เซี่ยน ซึ่งเป็นเส้นหมี่อีกแบบที่มีสีขาวเหมือนกัน แต่ต่างสายพันธุ์นั้น ก็เป็นหมี่ที่มีชื่อเสียงมาจากทางตอนใต้ด้วยเช่นเดียวกัน แต่เขยิบเข้าไปทางฝั่งตะวันตกอีกนิด ชิดมาทางฝั่งยูนนาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชื่นชมเส้นหมี่แบบนี้มาก มีให้ทานได้แทบจะทั่วทุกมุม  แม้แต่อาหารขึ้นชื่อของมณฑล อย่างก๋วยเตี๋ยวที่ปรุงด้วยน้ำต้มกระดูกไก่ที่เดือดจัด จนเป็นเอกลักษณ์ที่ใครมาเยือนยูนนานจะต้องหาชิม ก็ยังใช้เส้นประเภทนี้ ซึ่งชาวไทยก็แปลชื่อกันออกมาได้ว่า เส้นหมี่ข้ามสะพาน จนนักท่องเที่ยวไทยรู้จักกันไปทั่ว

ลักษณะของเส้นหมี่เซี่ยนนี้ จะมีความหนาของตัวเส้นมากกว่าเส้นหมี่แบบแรกอยู่บ้าง เป็นเส้นกลมๆ สีขาวหรือขาวออกเหลืองนวลอ่อนๆ ตัวเส้นเหนียวนุ่มกำลังดี และก็มีพื้นเพที่ยาวนานเช่นเดียวกัน

ความต่างที่แบ่งแยกสายพันธุ์ของเส้นหมี่ทั้งสองประเภทได้ชัดเจนนั้น จะดูกันตรงที่ส่วนประกอบโดยหมี่เซี่ยนแบบหลังที่มีขนาดของเส้นใหญ่กว่านี้ จะมีส่วนผสมของปริมาณข้าวมากกว่า

ส่วนเส้นหมีเฝิ่น ที่เป็นเส้นถี่แบบแรก จะมีส่วนผสมของวัตถุดิบอื่นรวมอยู่ด้วยในปริมาณที่ไม่น้อย เช่น มันฝรั่ง

ด้วยความที่ส่วนประกอบต่างกัน รสสัมผัสของตัวเส้นจึงต่างกันไปด้วย โดยแม้ว่าต่างจะมีความเหนียวและนุ่ม แต่หมี่เซี่ยนจะให้ความรู้สึกได้ถึงตัวแป้งที่มีเนื้อมีหนัง ในขณะที่หมีเฝิ่นจะอ่อนนุ่มละมุนลิ้นมากกว่า

อย่างไรก็ดี ยังมีจุดที่น่าสังเกตอีกประการ ก็คือด้วยความที่เส้นหมี่ทั้งสองชนิดนี้คล้ายคลึงกันมาก ในหลายพื้นที่ของจีนเอง ที่เรียกปะปนกันไปก็มี

โดยนอกจากที่ยูนนานแล้ว บางที่ก็เรียกหมี่เซี่ยนว่าหมีเฝิ่นปนๆ กันไป  

หากจะว่าไปแล้ว แม้ว่าเส้นหมี่ของจีนจะแพร่หลายกระจายตัวออกสู่นอกประเทศอย่างค่อนข้างจะเงียบเชียบกว่าเมนูอื่นๆ แต่ก็บุกยึดพื้นที่ความอร่อยไว้ได้ไม่น้อย
อีกทั้งยังมีพัฒนาการที่ต่างกันไปในแต่ละที่

จึงกล่าวได้ว่า ถึงแม้จะเป็นแค่เส้นบางๆ แต่คุณค่าต่างๆ  รวมทั้งความอร่อยและความเป็นมานั้น ไม่ได้บางตามเส้นไปด้วยเลย


ที่มา : คอลัมน์ "จากเมืองจีน" โดย จีระพร จีระนันทกิจ  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์
3189  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 29 มีนาคม 2559 12:45:12



ปางโปรดนางกีสาโคตมี (๑)

พระมหากรุณาแผ่ไปยังเวไนยสัตว์หาประมาณมิได้ ตลอดเวลา ๔๕ พรรษาหลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปสั่งสอนประชาชนให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามขีดความสามารถของแต่ละคน ผู้ที่ไม่ได้บรรลุมรรคผลใดๆ ก็ได้รับประโยชน์ อย่างน้อยก็ละมิจฉาทิฐิที่เคยยึดมั่น หันมารับเอาไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต

พระพุทธรูปปางที่จะกล่าวถึงนี้ ถ้าเป็นหนังก็เป็นหนังชีวิตที่เศร้าสลด ดูไปน้ำตาไหลไป พอถึงตอนจบก็จะเช็ดน้ำตายิ้มด้วยความสุขกับตัวละครด้วย เพราะเป็นหนังแฮปปี้เอนดิ้งตามฟอร์มขอรับ เรื่องนั้นคือเรื่องนางกีสาโคตมี หรือ "กีสาเดอะสเลนเดอร์" ปานนั้นเชียว

นางเป็นกุลธิดาที่มีฐานะค่อนข้างยากจนแห่งเมืองสาวัตถี รูปร่างผอมบาง จึงได้นามว่า กีสาโคตมี (โคตมีผู้ผอมบาง) วันหนึ่งนางไปเดินเที่ยวในตลาด คล้ายตลาดนัดอะไรทำนองนั้น เห็นชายวัยกลางคนคนหนึ่งแต่งตัวภูมิฐานแต่ใบหน้าหม่นหมอง นั่งเฝ้ากองถ่านไฟกองใหญ่อยู่ในตลาดที่มีคนพลุกพล่าน

นางจึงเอ่ยถามว่า "คุณพ่อ คนอื่นเขาขายเสื้อผ้าบ้าง ผลไม้บ้าง ขนมบ้าง แต่คุณพ่อนั่งเฝ้ากองทองคำกองใหญ่ ทำท่ายังกับจะขายทองหรืออย่างไร"

ชายวัยกลางคนร้องขึ้นด้วยความดีใจว่า "หนูว่าอะไรนะ" เมื่อหญิงสาวทบทวนคำเดิม จึงร้องถามว่า "ทองอยู่ไหน หนู"

"อ้าว ก็ที่คุณพ่อนั่งเฝ้าอยู่นั่นไง" หญิงสาวร้องขึ้นบ้าง ด้วยความสงสัยเป็นกำลัง เกิดอะไรขึ้น อีตาคนนี้นั่งเฝ้าทองอยู่แท้ๆ ยังถามว่าทองอยู่ไหน นางจึงเข้าไปจับก้อนถ่านที่นางมองเห็นเป็นทองยกขึ้นให้ชายวัยกลางคนดู

ทันใดนั้น กองถ่านทั้งหมดได้กลับกลายเป็นทองดังเดิม ที่เรียกว่า "ดังเดิม" ก็เพราะแต่เดิมเป็นทองอยู่แล้ว ต่อมากลายเป็นถ่านดำมิดหมี

เรื่องราวมันมีอยู่ว่า เกิดเหตุการณ์ประหลาดกับเศรษฐีเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ทองคำทั้งหมดที่แกมีกลายเป็นถ่านหมด ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่เศรษฐีเป็นอย่างมาก ไม่รู้ว่าเป็นกรรมเป็นเวรอะไรแต่ชาติปางก่อน เพื่อนๆ ได้ปลอบใจว่า อย่าได้เศร้าโศกเสียใจเลย นึกเสียว่าเป็นคราวเคราะห์ของเรา ขอให้ทำใจและอดทนไว้ บางทีเมื่อสิ้นเวรสิ้นกรรมแล้ว ทุกอย่างอาจกลับเหมือนเดิมก็ได้

เพื่อนคนหนึ่งเสนอว่า ลองเอาถ่านทั้งหมดนี้ไปกองไว้ที่ตลาด ทำท่าขายเหมือนขายของอื่น คอยดูซิว่าจะมีใครสักคนทักเป็นอย่างอื่นไหม ถ้าใครทักว่าเป็นทอง ก็ให้คนคนนั้นจับขึ้นมาดู เผื่อว่าถ่านเหล่านี้จะกลับกลายเป็นทองดังเดิม

เศรษฐีผู้ตกยากก็ทำตาม เพราะไม่มีทางเลือกอื่นดีกว่านี้แล้ว เขาขนถ่านไปกองไว้ที่ตลาด นั่งทำท่าเป็นพ่อค้าขายถ่านอยู่ดังได้กล่าวแล้ว เมื่อได้ยินหญิงสาวรูปร่างผอมบางเดินเข้ามาทักและเอามือหยิบถ่านขึ้นมา ถ่านนั้นได้กลับกลายเป็นทองเหมือนเดิมก็ดีใจปานได้แก้ว

เศรษฐีจึงถามไถ่ว่านางชื่อเสียงเรียงไร ลูกเต้าเหล่าใคร ครั้นแล้วก็ออกปากรับนางไปอยู่ด้วย ให้แต่งงานกับบุตรชายของตน ยกทรัพย์นั้นให้ทั้งหมด



ปางโปรดนางกีสาโคตมี (จบ)
เป็นอันว่านางกีสาโคตมี ได้กลายเป็นเถ้าแก่เนี้ยในที่สุด อยู่กับครอบครัวเศรษฐีอย่างผาสุก จนได้บุตรชายมาคนหนึ่ง น่าเกลียดน่าชัง ยังความปลาบปลื้มแก่นางและสามี แต่ความปลาบปลื้มก็อยู่ไม่ได้นาน บุตรชายผู้น่ารักของนางก็ป่วยและสิ้นชีวิตกะทันหัน

นางเศร้าโศกเสียใจอย่างมาก มิไยเหล่าญาติมิตรจะปลอบโยนอย่างไรก็ไม่หาย ไม่กินไม่นอน นั่งซึมทั้งวัน ปากก็พร่ำว่า ลูกแม่เจ้าต้องไม่ตาย เจ้าหลับใช่ไหม เมื่อไหร่ลูกแม่จะตื่นไปแล้วครับ สติสตังไปแล้ว ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ยอมให้เขาเอาศพไปฝังหรือเผาตามประเพณี ยังคงอุ้มลูกน้อยเดินไปบ้านโน้นบ้านนี้ ถามว่าใครมียารักษาให้ลูกของนางฟื้นบ้างไหม

เมื่อคนเขาบอกว่าลูกของนางตายแล้วไม่มีทางฟื้นดอก นางจงเอาไปเผาหรือฝังตามประเพณีเถิด นางก็ตวาดเอา หาว่าสาปแช่งลูกของนาง ลูกของนางยังไม่ตาย เพียงสลบไปเท่านั้น ใครๆ ก็หาว่านางเป็นบ้าไปแล้ว จึงไม่ใส่ใจอีกต่อไป

วันหนึ่งอุบาสกคนหนึ่งเห็นนางอุ้มลูกพลางเอ่ยปากขอยารักษาพลาง ก็เกิดความสงสารกล่าวกับนางว่า "แม่หนู ไปที่พระ เชตวันสิจ๊ะ มีหมอยาที่เก่งอยู่ท่านหนึ่ง บางทีท่านอาจรักษาลูกแม่นางได้" แล้วก็บอกนามท่านไป

นางกีสาโคตมีดีใจ รีบอุ้มศพลูกชายตรงไปยังพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ แล้ววางศพลูกชายแทบพระยุคลบาท กราบทูลว่า "ได้ข่าวว่า พระองค์ทรงรู้ยารักษาลูกชายของหม่อมฉัน ได้โปรดบอกด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

พระพุทธองค์ตรัสว่า "เราตถาคตรู้จัก เธอจงไปเอาเมล็ดพรรณผักกาดมาสักกำมือหนึ่ง เราตถาคตจะทำยาให้" นางดีใจ รีบอุ้มศพลูกจะไปหาเมล็ดพรรณผักกาด พระพุทธองค์ตรัสว่า "เมล็ดพันธุ์ผักกาดนี้ จะต้องเอาจากเรือนที่ไม่มีคนตายเท่านั้น จึงจะทำยาได้"

นางเข้าไปยังหมู่บ้าน ถามหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่เรือนแรก คนในเรือนก็หยิบมาให้ นางถามว่า "ที่บ้านนี้ เคยมีคนตายไหม ป้า"

คุณป้าทำหน้างง "ถามอะไรบ้าๆ ที่ไหนบ้าง ที่ไม่มีคนตาย สามีของป้าเพิ่งตายไปเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง" "ถ้าอย่างนั้นไม่เอา" นางกล่าวแล้วก็อุ้มลูกไปขอยังเรือนที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า...จนกระทั่งหมดทั้งหมู่บ้าน

ปรากฏว่านางไม่ได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแม้แต่เมล็ดเดียว เพราะทุกหลังคาเรือนที่นางไปขอมีคนตายมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีหลังไหนที่ไม่เคยมีคนตายเลย นางจึง "ได้คิด" และ "คิดได้"

ได้คิดและคิดได้ว่า สรรพสัตว์ที่เกิดมาแล้ว ล้วนต้องตาย อย่าว่าแต่ลูกชายของนางเลย นางเองก็ต้องตาย สรรพสัตว์ทั้งหลายก็ต้องตาย ไม่มีใครอยูู่ค้ำฟ้า

ครับ หูตาสว่างขึ้นแล้ว เมื่อเกิดความรู้แจ้งด้วยตัวเองอย่างนี้ ทุกข์หนักอึ้งที่แบกอยู่ก็เบาอย่างน่าประหลาด นางฝังศพลูกชายแล้วเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยใบหน้าของผู้ปลงตก

"ได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดไหม" พระสุรเสียง ตรัสถามด้วยพระมหากรุณา

"ไม่ได้พระเจ้าข้า บัดนี้หม่อมฉันทราบแล้ว สรรพสัตว์ล้วนต้องตาย ไม่มีใครล่วงพ้นความตายไปได้"

พระพุทธเจ้าประทานสาธุุการ แล้วตรัสพระธรรมเทศนาย่อๆ ให้เธอสดับ จบพระธรรมเทศนา กีสาโคตมี ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วขอบวชเป็นภิกษุณีในสำนักภิกษุณีสงฆ์






ปางทรมานอุบาลีอุบาสก (๑)

บอกไว้ก่อน "ทรมาน" มาจาก ทมน=การข่ม, การฝึก "ทรมาน อุบาลีอุบาสก" ก็คือ ข่มให้อุบาลีรู้สำนึกและฝึกจิตใจอุบาลี หรือกลับใจอุบาลีนั้นเอง เห็นจะตรงกับคำ "ปะกิต" ว่า convert กระมัง อย่าได้เข้าใจไปว่า พระพุทธเจ้าทรงทรมานทรกรรมใครเป็นอันขาด

อุบาลี เป็นคหบดีผู้มั่งคั่ง เทียบสมัยนี้ก็เศรษฐีพันล้าน มีคฤหาสน์สามหลัง สามฤดูเชียวแหละครับ (อาจมากกว่านั้นก็ได้) อุบาลีเป็นสาวกคนสำคัญของศาสดามหาวีระ หรือที่ชาวพุทธเรียก "นิครนถ์ นาฏบุตร" ท่านมหาวีระ ถือเคร่งครัดไม่นุ่งห่มจีวร นุ่งลมห่มฟ้า ตามคติ "อัตตกิลมถานุโยค" (ประกอบเนืองๆ ซึ่งการทรมานกาย) เป็นศาสดาศาสนาเชน (หรือ ไชนะ)

แปลกแต่จริงก็คือ พวกเศรษฐีเงินหนามักจะ "ขึ้น" วัดพระเชน พระคุณเจ้าท่านไม่เอาเสื้อผ้าก็จริง แต่วัดท่านเอา ญาติโยมสร้างวัดให้อย่างหรูหราสวยงามมาก พวกเศรษฐีก็คงสบายใจที่ขึ้นวัดเชน เพราะไม่ต้องหาอะไรมาถวายพระ ลงทุนสร้างวัดงามๆ สักครั้งเดียวก็พอ (ไม่ต้องสะดุ้งว่าจะมีโทรศัพท์มาทวง "งวดบุญ" เมื่อใด ฮิฮิ)

แปลกแต่จริงอีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าของเรากับพระมหาวีระไม่ค่อยมีข่าวว่าได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหรือโต้แย้งกันตรงๆ มีแต่ศิษย์ชั้นเอกของมหาวีระ หาญมาเชิญกับพระพุทธองค์ มากี่รายๆ ก็ถูกพระพุทธองค์ "ปราบ" เรียบ ดังกรณีอุบาลีนี้ก็เช่นกัน

อุบาลี หมายมั่นปั้นมือจะหักล้างพระพุทธองค์ ซึ่งก็ได้รับอนุมัติจากมหาวีระ แต่มีสาวกผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งนามว่า ทีฆตปัสสี ห้ามไว้ เตือนว่า "พระสมณะโคดมนั้นมี "อาวัฏฏนีมนต์" (มนต์กลับใจ) ใครได้พูดคุยด้วย ถูกสมณะโคดมครอบหมด ท่านอย่าไปเลย เดี๋ยวก็ถูก "ดูด" เป็นสาวกเขา"

แต่อุบาลีก็ไม่ฟัง ทั้งมหาวีระก็สนับสนุน อุบาลีไปหาพระพุทธเจ้า โต้วาทะกันนานพอสมควร เรื่องโต้กันเกี่ยวกับ "หลักกรรม" (ซึ่งทางเชนใช้ศัพท์ว่า ทัณฑ์) อุบาลียืนยันว่า กายทัณฑ์ (กรรมทางกาย) สำคัญกว่า มโนทัณฑ์ (กรรมทางใจ) พระพุทธองค์ตรัสว่า มโนกรรมสำคัญกว่า

ในที่สุดอุบาลียอมจำนนด้วยเหตุผล จึงประกาศละทิ้งศาสนาเดิม ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ พระพุทธเจ้าตรัสปรามว่า "คหบดี คนที่มีชื่อเสียงอย่างท่าน จะทำอะไรขอให้คิดให้ดีก่อน"

"คิดดีแล้วพระเจ้าข้า ข้าพระองค์ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ" อุบาลียืนยัน มิไยพระพุทธองค์จะตรัสถึงสามครั้ง ให้เขาคิดให้ดีก่อน เขาก็ยืนยันเจตนาเดิม

พระพุทธองค์จึงทรงรับเขาเป็นสาวก แล้วตรัสต่อไปว่า "อุบาลี บ้านเธอเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพวกนิครนถ์ ถึงเธอจะเป็นสาวกของเราแล้ว เธอก็จงสำคัญข้าวน้ำที่เคยถวายแก่พวกนิครนถ์เหมือนเดิมเถิด"

ความหมายของประโยคหลังนี้ก็คือ เคยถวายข้าวน้ำแก่พวกเขาอย่างไร ก็จงถวายเหมือนเดิมเถิด แต่อุบาลีไม่ทำ รู้สึกจะเป็นธรรมดาของคนที่เปลี่ยนศาสนาใหม่นะครับ มักจะเคร่งครัดกว่าศาสนาเดิม อุบาลีนี้ก็เช่นกัน กลับถึงบ้าน สั่งคนเฝ้าคฤหาสน์เลยว่า "ห้ามพวกนิครนถ์ ไม่ว่าใครทั้งนั้น เข้ามาเป็นอันขาด"



ปางทรมานอุบาลีอุบาสก (จบ)
ทีฆตปัสสี ได้ข่าวว่าอุบาลีถูกพระพุทธเจ้าล้างสมองแล้ว ก็ตรงดิ่งไปหาศาสดามหาวีระต่อว่าต่อขาน "ข้าพเจ้าบอกแล้วว่า สมณโคดมมีมนต์กลับใจ ไม่ให้ส่งอุบาลีไปท่านก็ดื้อส่งไป ตอนนี้เป็นไง เขากลายเป็นสาวกของสมณโคดมไปแล้ว"

มหาวีระกล่าวว่า "เป็นไปไม่ได้"
"เป็นไปไม่ได้ ก็ไปดูให้เห็นกะตาสิ" ทีฆตปัสสีกล่าว

มหาวีระจึงนุ่งสบงทรงจีวร เอ๊ย ประทานโทษ แก้ผ้าอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเวลานุ่งห่มผ้า รีบไปคฤหาสน์ของอุบาลี นายทวารไม่ยอมให้เข้า จึงร้องบอกว่า "นี่ข้ามหาวีระ อาจารย์ของอุบาลีเจ้านายเอ็ง ไปบอกว่าอาจารย์มาหา"

นายทวารหายไปพักหนึ่ง กลับมาเชิญมหาวีระเข้าไป พาไปนั่งที่ศาลากลางลานบ้าน ไม่พาขึ้นไปคฤหาสน์เหมือนทุกครั้ง มหาวีระรออยู่ด้วยความกระวนกระวายใจ สักครู่อุบาลีก็เดินลงมาขึ้นไปบนศาลา ไม่ยกมือไหว้ดังเคย ขึ้นไปนั่งบนอาสนะสูงกว่า แล้วกล่าวขึ้นดุจคนไม่คุ้นเคยว่า "พระคุณเจ้า มีความประสงค์สิ่งใด"

"อุบาลี อย่าพูดอย่างนั้น นี่ศาสดาเจ้านะ"

"ท่านไม่ใช่ศาสดาของข้าพเจ้า ศาสดาของข้าพระเจ้าคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" อุบาลีพูดเสียงดังฟังชัด

ทำเอามหาวีระแทบกระอัก ร้องขึ้นเสียงดังว่า "เราน่าจะเชื่อ ทีฆตปัสสี ที่ไม่ให้ส่งเจ้าไปแต่แรก เจ้าถูกมนต์กลับใจของสมณโคดมจนได้"

"หามิได้ ท่านนิครนถ์ ข้าพเจ้ามิได้ถูกมนต์อะไรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รู้แจ้งจริงด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงแนวทางดับทุกข์ได้จริง ต่างจากนักบวชอื่นๆ ที่มีแต่ราคาคุย"

"อุบาลี สมณโคดมมันมีดีอะไร เจ้าจึงไปหลงใหลปานนี้" อาจารย์ตัดพ้อ

"ฟังนะ ข้าพเจ้าจะกล่าวพระคุณของพระพุทธองค์ให้ท่านฟัง" อุบาลีกล่าว แล้วก็สวดสรรเสริญพระพุทธคุณ ๑๐๐ บท ทีละบท ทีละบท ด้วยเสียงก้องกังวาน

สวดไปได้ไม่ถึงครึ่ง มหาวีระก็ยกมือห้าม พอแล้วๆ แล้วก็กระอักโลหิตอุ่นๆ ออกจากปาก สานุศิษย์ต้องหามกลับวัด ว่ากันว่ามหาวีระได้ป่วยกระเสาะกระแสะตั้งแต่นั้น จนสิ้นชีวิตในเวลาต่อมาไม่นาน

อุบาลีอุบาสก เป็นคนมีความรู้ เมื่อมาเป็นพุทธศาสนิกแล้ว ก็ได้นำความรู้ของตนมารับใช้งานพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดีตลอดอายุของท่าน

ข้อที่พึงสังเกตก็คือ พระพุทธเจ้ามิได้เป็น "ศาสดากระหายสาวก" คนมีชื่อเสียงขนาดอุบาลีมานับถือ ถ้าเป็นอาจารย์อื่นก็รีบรับแล้ว แต่พระองค์ตรัสเตือนให้คิดให้ดีก่อนจะทำอะไร นี้คือสปิริตที่น่าภูมิใจของพระพุทธศาสนา

ข้อสังเกตประการที่สอง พระพุทธคุณเท่าที่เราสวดกันมีอยู่ ๙ ประการ พระพุทธคุณ ๑๐๐ บท มีในที่นี้แห่งเดียว (เคยเขียนถึงในที่อื่นแล้ว ผู้สนใจพึงหาอ่านเอาเองเทอญ)  





ปางปราบจิญจมาณวิกา (๑)

เรื่องราวของพระพุทธรูปปางนี้ มีใน ชยมังคลอัฏฐกคาถา (คาถาว่าด้วยชัยมงคล ๘ ประการ ของพระพุทธเจ้า) ที่ท่านรวมไว้เป็นหนึ่งใน ๘ เหตุการณ์ คงเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ ก่อผลกระเทือนแก่วงการพระศาสนา มิใช่เฉพาะพระพุทธศาสนา หากรวมถึงศาสนาเดียรถีย์ที่เป็นตัวการวางแผนทำลายอันชั่วร้ายนี้ด้วย

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาแพร่หลายในชมพูทวีป ประชาชนจากทุกชั้นวรรณะได้หลั่งไหลเข้ามาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์มากขึ้นตามลำดับ พระราชามหากษัตริย์ อาทิ พระเจ้าพิมพิสารแห่งมคธรัฐ พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งโกศลรัฐ ต่างก็ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน

เหล่าเดียรถีย์ คือนักบวชนอกพระพุทธศาสนาซึ่งมีจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาเชนก็ชักหวั่นไหว ศาสนาเชนที่ว่านี้คือพวกที่ถือเคร่งครัดถึงขนาดเปลือยกายเลยแหละ ขอรับ อ้างว่าเสื้อผ้าเป็นเครื่องหมายแห่งการยึดมั่นถือมั่น ผู้ไม่มีกิเลสต้องไม่นุ่งห่มผ้า (ถ้าถืออย่างนี้ พวกนู้ด พวกสายเดี่ยว ก็เฉียดๆ อรหันต์แล้วสิ ขอรับ) ศาสนาพิลึกๆ อย่างนี้ก็มีผู้เคารพนับถือนะครับ มีมากเสียด้วย

พวกเขาประชุมลับกันว่า จะทำอย่างไรดีศาสนาพระสมณะโคดมกำลังรุ่งเรืองได้รับอุปถัมภ์อย่างดีจากพระเจ้าปเสนทิโกศล ลาภ สักการะของพวกเรากำลังเสื่อมถอย รายได้เดือนละหลายหมื่นก็หดหายไปทุกที สาวกที่เข้าวัดเป็นแสนๆ ก็ลดน้อยลงทุกที ในที่สุดก็วางแผนลับกัน ให้สาวิกานามว่าจิญจมาณวิกา เป็นผู้ดำเนินการทำลายพระพุทธเจ้าของชาวพุทธ

จิญจมาณวิกา หรือเรียกสั้นๆ ว่า จิญจา เธอเป็นหญิงฉลาด รับแผนจากพระคุณเจ้าที่ตนเคารพมา ก็เริ่มสร้างความแคลงใจในหมู่สาวกของพระพุทธเจ้าทันที เวลาคนเขาออกนอกเมืองตอนเเช้า อีก็เดินเข้าเมือง เวลาคนเขาเข้าเมืองตอนเย็น อีก็เดินออกนอกเมือง

เมื่อคนเขาถามว่า เจ้าไปไหน ก็จะตอบว่า "เรื่องของข้า" เมื่อถูกถามบ่อยเข้า ก็ค่อยแย้มทีละนิดว่า "ข้าก็มาจากบ้านข้าน่ะสิ"
"บ้านเจ้าอยู่ที่ไหน ทำไมเดินออกนอกเมือง"
"ก็บ้านข้าอยู่นอกเมืองนี่จ๊ะ"
"นอกเมืองน่ะ อยู่ที่ไหน"
"พระศาสดาของท่านอยู่ที่ไหนล่ะ" นางจิญจาย้อนถาม
"อยู่พระเชตวัน นอกเมือง เกี่ยวอะไรกับเจ้าด้วย"

"ไม่เกี่ยวดอก เห็นพวกท่านถามว่าข้าอยู่ที่ไหน ก็เลยถามพวกท่านว่าพระศาสดาของพวกท่านอยู่ที่ไหน" จิญจาตอบกวนๆ พลาง หัวร่อกิ๊กๆ

"หรือว่า เจ้าอยู่ที่พระเชตวัน" ใครคนหนึ่งโพล่งขึ้น



ปางปราบจิญจมาณวิกา (จบ)

"แม่นแล้ว ข้าอยู่กับศาสดาของพวกเจ้า" จิญจารับสมอ้าง สร้างความมึนงงสงสัยแก่ประชาชน เป็นจำนวนมาก

กาลเวลาผ่านไปตามลำดับ นางใจบาปก็เอาท่อนไม้มาผูกท้องเอาผ้าพันทำทีว่าตั้งครรภ์ ท้องก็ค่อยโตขึ้นตามกาลเวลา ถึงตอนนี้เสียงลือในทางอกุศลก็แพร่ไปไกล พวกที่เป็นพาลโง่เขลาก็พากันเชื่อ ยกเว้นเหล่าบัณฑิตผู้ตั้งอยู่ในธรรมเท่านั้นที่ไม่เชื่อและไม่หวั่นไหวไปตามกระแส

วันหนึ่ง ขณะพระพุทธองค์ประทับแสดงพระธรรมเทศนาท่ามกลางพุทธบริษัทหมู่ใหญ่ที่พระเชตวันมหาวิหาร นางจิญจาอุ้มท้องเดินอุ้ยอ้ายเข้าไป กล่าวเสียงดังฟังชัดว่า "เสด็จพี่ มัวแต่แสดงธรรมอยู่นั่นแหละ ภริยาท้องแก่จวนคลอดแล้ว ไม่ฝากให้ลูกศิษย์ดูแลบ้าง จะฝากนางวิสาขาหรืออนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็รีบๆ จัดการเสียเถอะค่ะ"

ประชาชนส่งเสียงฮือยังกับผึ้งแตกรัง พระพุทธองค์ประทับนิ่งเฉย หันไปตรัสกับนางได้ยินไปทั่วว่า

"น้องหญิง คำที่เจ้าพูด จริงหรือเท็จ เรากับเจ้าเท่านั้นที่รู้"
"ก็ใช่สิเจ้าคะ เรื่องในมุ้ง ใครเขาจะมารู้ด้วยเล่า" นางรับสมอ้างทันที

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาต่อ ไม่สนพระทัยนางอีกต่อไป ทำให้นางโกรธหนักขึ้น เต้นดุจเจ้าเข้า ส่งเสียงโหวกเหวกๆ ทำลายสมาธิของผู้ฟัง จะเต้นแรงไปหรือเปล่าไม่ทราบ ท่อนไม้ที่ผูกกับพุงหลุดลงมา (ในตำราว่า พระอินทร์ทนเห็นนางทำชั่วต่อไปไม่ไหว จึงแปลงเป็นหนูไต่ขึ้นไปกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้หลุดลงมา ว่าอย่างนั้น) แผนการเลยแตก ประชาชนจึงฮือไล่

นางวิ่งหนีตายออกจากพระเชตวัน พอออกมานอกประตูวัด แผ่นดินก็แยกเป็นช่องใหญ่สูบนางหายไปต่อหน้าต่อตาประชาชนเป็นที่สยดสยอง จิญจมาณวิกาผู้ใจบาปหยาบช้าก็จบชีวิตลงด้วยประการฉะนี้

พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งให้สืบหาต้นตอผู้วางแผนทำลายอันชั่วร้ายนี้ ผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าตัวการก็คือนักบวชแห่งศาสนาแก้ผ้าจำนวนหนึ่ง จึงสั่งจับมาลงโทษตามกระบิลเมืองในที่สุด





ปางปราบเดียรถีย์ (๑)

เดียรถีย์สำนักเดิมครับ หลังจากเหตุการณ์นางจิญจมาณวิกาถูกส่งไปทำลายชื่อเสียงพระพุทธองค์แพ้ภัยตนเอง ถูกแผ่นดินสูบตายอย่างอนาถผ่านไปนานพอสมควรจนคนเกือบลืมกันหมดแล้ว เหล่าเดียรถีย์ก็ยังไม่เข็ด วางแผนทำลายอีก คราวนี้คิดว่าเป็นแผนเด็ด

พวกเขาได้ฆ่าสาวิกานางหนึ่งนามว่า สุนทรี แล้วลากศพไปทิ้งไว้ข้างพระเชตวันมหาวิหาร จากการตรวจสอบในเบื้องต้น ผู้ร้ายมิได้ทิ้งร่องรอยอะไรไว้เลย คดีทำท่าจะมืดมนจับฆาตกรไม่ได้

เหล่าเดียรถีย์ตัวการก็ตายใจ ยิ้มย่องผ่องใส เพราะมีเสียงลือว่าสมณะศากยบุตรลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งฆ่านางสุนทรี จึงพากันไปร้องทุกข์ต่อพระเจ้าปเสนทิโกศล ว่า สาวิกาของพวกตนถูกฆ่าหน้าพระเชตวันของสมณะศากยบุตรหลายวันแล้ว ขอได้โปรดรีบเร่งดำเนินการเอาตัวฆาตกรมาลงโทษให้ทีเถอะ

"ที่ล่าช้าอยู่ เพราะเกรงใจพระสมณโคดมหรืออย่างไร" เสียงเดียรถีย์ดังออกมาอย่างนี้

ประชาชนที่โง่เขลาขาดวิจารณญาณจำนวนมากเชื่อว่าการตายของนางสุนทรีเกี่ยวพันกับพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแน่นอน อาจมาจากความแค้นครั้งก่อนก็ได้ แค้นที่พระศาสดาของพวกตนถูกนางจิญจมาณวิกาใส่ร้าย คราวนี้จึงเล่นงานสาวิกาของศาสดามหาวีระ (นริครน์ นาฏบุตร)

"พวกสมณะศากยบุตรนี่อาฆาตมาดร้ายเหลือเกิน คราวก่อนโน้น จิญจาเธอมีความแค้นส่วนตัวกับพระสมณะโคดม พวกเราไม่เกี่ยวเลย บ้านเมืองก็มิได้สอบสวนอย่างยุติธรรม จับพระเราไปฆ่าตั้งหลายองค์ เรายังไม่โกรธเลย แต่สมณะศากยบุตร ลูกศิษย์พระสมณะโคดมกลับไม่หายแค้น คราวนี้เล่นงานสีกาของพวกเราถึงตายเลย ช่างทารุณแท้" เหล่าเดียรถีย์ปล่อยข่าวเช่นนี้ล่องลอยไปไกล

พระสาวกทั้งหลายได้ยินข่าวลือนั้น จึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลให้ทรงทราบพระองค์ตรัสพระคาถาว่า

"คนพูดเท็จเสมอ หนึ่ง คนที่ทำแล้วพูดว่า "ฉันไม่ได้ทำ" หนึ่ง
สองคนนี้ ตกนรกเหมือนกัน
สองคนนี้ ชั่วพอๆ กัน
มีคติเสมอกัน ในโลกหน้า"

สรุปก็คือ คนพูดเท็จประจำ คนที่ทำแล้วพูดหน้าตาเฉยว่าฉันเปล่า ชั่วพอกัน ตายไปแล้วตกนรกเหมือนกัน



ปางปราบเดียรถีย์ (จบ)

พระพุทธองค์ตรัสเป็นนัยว่า พวกเดียรถีย์นั้นสั่งฆ่าสาวิกาตนเองแล้ว พูดว่าตนมิได้ทำแต่ป้ายความผิดให้คนอื่นที่ไม่รู้เห็นด้วย แถมยังพูดเท็จ เที่ยวใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นอีก ตกนรกแน่นอน

เรื่องใหญ่ถึงปานนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้ปล่อยปละละเลยเป็นอันขาด ทรงถือเอาเป็นพระราชภารกิจสำคัญที่จะสร้าง ความกระจ่างโปร่งใสให้เกิดแก่พสกนิกรของพระองค์ มิปล่อยให้ลัทธิศาสนาใดในพระราชอาณาจักรของพระองค์ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม ไม่เฉพาะกับพระพุทธศาสนา กับศาสนาอื่นพระองค์ก็ทรงให้ความเป็นธรรมเหมือนกัน แม้ว่าพระองค์จะเป็นพุทธศาสนิกก็ตาม นี้คือแบบอย่างของผู้ปกครองที่ดีครับ

พระองค์รับสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปสืบหาความจริงให้ได้ เจ้าหน้าที่ใช้เวลาอยู่พักใหญ่ก็จับนักเลงสุราจำนวนหนึ่งได้ นักเลงสุราเหล่านี้รับค่าจ้างหลังจากทำงานเสร็จก็ไปเลี้ยงฉลองกันอย่างสนุกสนาน สนุกเกินไปหรืออย่างไรไม่ทราบเกิดทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นลงมือตบต่อยทุบตีกันต้องห้ามกันพัลวัน

"เอ็งรู้ไหม อีนางสุนทรีถูกกูทุบทีเดียวม่อยกระรอกเลย" คนหนึ่งคุยโม้ ลิ้นไก่ เริ่มสั้น
"ใครว่า กูต่างหากที่ตีมันก่อน" อีกคนเถียง ลิ้นไก่พอๆ กัน
"ไอ้สองคนนี่ อย่างนี้ทุกที พองานเสร็จมักรับสมอ้างเป็นของตัว ข้าต่างหากเว้นที่ตีอีนังหนูนั่น ทีเดียวดับ"

เจ้าหน้าที่แอบฟังอยู่แล้ว ก็กรูกันออกมาจับนักเลงสุราสามสี่คนนั้นไปหาพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาทรงสอบปากคำด้วยพระองค์เอง พวกนั้นรับเป็นสัตย์ว่าพวกตนเป็นคนฆ่าสุนทรี (ใครลงมือก่อนหลัง ก็มีโทษพอกัน) แถมซัดผู้บงการอีกด้วย นักโทษเหล่านั้นถูกประหารชีวิตตามระเบียบ

ส่วนเหล่าเดียรถีย์ผู้บงการจำนวนหนึ่งถูกจับ มีพระบรมราชโองการให้แห่ประจานทัณฑ์รอบพระนคร ให้ประกาศว่า "พวกข้าพเจ้าเป็นคนสั่งฆ่านางสุนทรีเอง แล้วเอาศพไปโยนข้างพระเชตวัน ใส่ร้ายพระสมณะศากยบุตร"

ในตำรามิได้บอกว่า เดียรถีย์พวกนี้ถูกประหารชีวิต แต่วิธีสั่งให้เดินประจานตัวเองว่า "พวกข้าเลวๆ" ก็เป็นการทำโทษที่หนักหนาสาหัสทีเดียว ไม่ถูกฆ่า แต่ก็ตายทั้งเป็น ชื่อเน่าเหม็นเป็นที่ "ขี้เดียด" ของประชาชนตลอดไป ปานนั้นเชียว



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
3190  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดเนรมิตวิปัสสนา อ.ด่านซ้าย จ.เลย เมื่อ: 28 มีนาคม 2559 15:10:54




สถาปัตยกรรมที่มีความวิจิตรตระการตา ของวัดเนรมิตวิปัสสนา

วัดเนรมิตวิปัสสนา
บ้านนายูง ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย


วัดเนรมิตวิปัสสนา เดิมชื่อ วัดหัวนายูง  ตั้งอยู่ห่างจากเทศบาลตำบลศรีสองรัก ประมาณ 800 เมตร  บนเนินเขาในท้องที่บ้านนายูง ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
 
ในอดีตบริเวณบ้านหัวนายูงเป็นป่าไม้ทึบ และมีหนองน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า “หนองใหญ่” มีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิดอยู่อาศัย เช่น เก้ง กวาง รวมถึง ‘นกยูง’ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก   ป่าบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับเป็นพื้นที่ราบ ทำให้มีผู้คนอพยพเข้ามาทำนาและตั้งถิ่นฐานทำมาหากินจนถึงปัจจุบัน  

คำว่า หัวนายูง มาจากการผสมกันของคำว่า หัวนา หมายถึง ที่ตั้งต้นของทุ่งนา และยูง หมายถึง นกยูง ดังนั้น บ้านหัวนายูง หมายถึง หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณที่นกยูงลงมากินข้าวในนา

วัดเนรมิตวิปัสสนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2521 โดยพระครูภาวนาวิสุทธิญาน (หลวงพ่อมหาพันธ์ สีลวิสุมโธ)

ขณะหลวงพ่อมหาพันธ์ สิลวิสุทโธ พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดจำปา จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นบ้านเกิด ท่านได้ปรารภในที่ประชุมสงฆ์ว่า ท่านจะออกธุดงค์เดินทางไปเรื่อยไม่พำนักเป็นหลักแหล่งถาวรแต่ที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่า หลวงพ่อมีอายุมากเกรงว่าจะได้รับความลำบาก อยากให้ท่านมีที่พำนักถาวร จะได้เป็นที่อาศัยเป็นเนื้อนาบุญแก่ญาติโยมทั้งหลายซึ่งหลวงพ่อเองก็เห็นชอบด้วย ในเดือนมกราคม พ.ศ.2522 หลวงพ่อเป็นประธานออกเดินธุดงค์ พร้อมด้วยคณะสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ระหว่างนั้นหลวงพ่อได้ตัดสินใจหาสถานที่เป็นหลักแหล่งมั่นคงถาวร โดยเลือกเอาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติซึ่งถูกชาวบ้านบุกรุกเพื่อทำไร่เผาถ่านจนมีลักษณะเป็นที่โล่งเตียนเหมือนภูเขาหัวโล้น ที่เรียกว่า ภูเปือย ซึ่งทางวัดได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยได้เมื่อตั้งวัดขึ้นจึงได้ปลูกป่าอนุรักษ์ให้คงสภาพเดิมมากที่สุด เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2522 หลวงพ่อและคณะได้ปักกลดอยู่ ณ ที่ตั้งวัด พร้อมกับเร่งดำเนินการปลูกสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวขึ้น จากนั้นจึงทำการปรับพื้นที่ปลูกสร้างถาวรวัตถุและในปีพ.ศ. 2529

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2540 หลวงพ่อท่านได้ มรณภาพภาพลง แต่ร่างของท่านไม่เน่าเปื่อย ปัจจุบันถูกเก็บอยู่ในมณฑปด้านหลังอุโบสถ หลังจากที่หลวงพ่อมรณภาพลง พระครูภาวนาวิสุทธาภรณ์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้รับเป็นประธานดำเนินการก่อสร้างต่อ พร้อมด้วยบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ พระภิกษุสามเณร ข้าราชการ ทหารตำรวจ พ่อค้าและประชาชนชาวอำเภอด่านซ้าย ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 197 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 14 ปี จึงแล้วเสร็จต่อมาในปีพ.ศ. 2549 วัดหัวนายูง เปลี่ยนชื่อเป็น วัดเนรมิตวิปัสสนา







พระครูภาวนาวิสุทธิญาณ (หลวงพ่อมหาพันธ์ สีลวิสุมโธ)

พระครูภาวนาวิสุทธิญาณ (หลวงพ่อมหาพันธ์ สีลวิสุมโธ) เดิมชื่อ "พันธ์" เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2464 ณ บ้านหนองเหล็ก อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ มีชาติกำเนิดในสกุล "สุขเป็ง" เป็นครอบครัวชาวนา

อุปสมบทเมื่อ ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2487 ที่วัดเหนือ บ้านรัตนบุรี ได้ฉายา "สีลวิสุทโธ" แล้วจึงมาจำพรรษาอยู่ที่วัดจำปา บ้านหนองเหล็ก ตำบลหนองบัวทอง อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ แม้จะไม่ได้เรียนหนังสือ ท่านยังสามารถใช้ภาษาลาว ส่วย เขมร ขอม ได้ดีอีกด้วย ครูคนแรกที่สอนท่านคือ พระอาจารย์อ่อนศรี เจ้าอาวาสวัดจำปานั่นเอง ท่านเป็นคนที่มีจิตใจเด็ดเดี่ยว ทำอะไรทำจริง มิได้ย่อท้อต่อความยากลำบาก มีลักษณะเป็นผู้นำมาตั้งแต่อายุยังน้อย ชอบเอาชนะคำดูหมิ่น ท่านสอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม 4 ประโยค ตั้งแต่พรรษายังน้อย แต่สุดท้ายท่านตัดสินใจเบนเข็มมุ่งสู่การปฏิบัติธรรมวิปัสสนากัมมัฎฐานเพื่อความหลุดพ้นแต่เพียงอย่างเดียว ท่านพยายามเสาะหาอาจารย์ที่มีความสามารถ จนสุดท้ายได้มาฝากตัวเป็นศิษย์ท่านพระครูสังวรสมาธิวัตร (ประเดิม โกมโล) เจ้าอาวาสวัดเพลิงวิปัสสนา กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2506 จนได้เป็นศิษย์เอกของท่านพระครู

หลวงพ่อธุดงค์ไปยังที่ต่างๆ เป็นเวลาร่วม 20 ปี ท่านเคยธุดงค์ไปที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี เพชรบูรณ์ ฯลฯ  ท่านกลับมาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดเพลิงวิปัสสนาอยู่สองปีจนได้เป็นพระวิปัสสนาจารย์  ทางมหาเถระสมาคมแต่งตั้งให้ท่านเป็นกรรมการสายวิปัสสนากัมมัฎฐาน จนมีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั่วประเทศ

เมื่อท่านจาริกธุดงค์มาที่จังหวัดเลย เมื่อ พ.ศ.2521 ท่านได้สร้างวัดเนรมิตวิปัสสนา อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นงดงาม มีศาลาการเปรียญและอุโบสถขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงถึง 200 ล้านบาทจนเป็นศาสนสถานที่สวยงามและมีชื่อเสียงของจังหวัด
 
ในด้านปฏิบัติท่านเป็นพระวิปัสสนาจารย์ ท่านสามารถบรรยายธรรมชั้นสูงให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ไม่ผิดจากหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์หลวงพ่อพระมหาพันธ์มรณะภาพด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2541 รวมอายุได้ 76 ปี






พระอุโบสถขนาดใหญ่ กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร
ผนังโดยรอบพระอุโบสถก่อสร้างจากศิลาแลง




ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง เป็นพระประธานประจำอุโบสถ


ภาพจิตรกรรมที่สวยงามภายในพระอุโบสถ 1


ภาพจิตรกรรมที่สวยงามภายในพระอุโบสถ 2


ภาพจิตรกรรมที่สวยงามภายในพระอุโบสถ 3


ภาพจิตรกรรมที่สวยงามภายในพระอุโบสถ 4


ภาพจิตรกรรมที่สวยงามภายในพระอุโบสถ 5




พื้นที่โดยรอบอารามแห่งนี้ มีการจัดแต่งสวนและปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่
ให้ความร่มรื่นสวยงามแก่ผู้มาเยือน

3191  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ มัลเบอร์รี่เค็ก...หอมนุ่มนวล เมื่อ: 27 มีนาคม 2559 17:53:06





มัลเบอร์รี่เค้ก

• ส่วนผสม
- แป้งเค้ก 200 กรัม
- ไข่ไก่ (เบอร์ 1)  6 ฟอง
- ผงฟู 2 ช้อนชา
- เกลือป่น ¼  ช้อนชา
- เนยสดละลาย 80 กรัม
- นมสด ¼ ถ้วย
- sp 1 ช้อนโต๊ะ
- กลิ่นวานิลลา 1 ช้อนชา
- มัลเบอร์รี่ท๊อปปิ้ง (แยมมัลเบอร์รี่) 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทรายละเอียด 1 ถ้วยตวง (ตักออก 1 ช้อนโต๊ะ)  


• วิธีทำ
1. ร่อนแป้งเค้ก ผงฟู เกลือป่น เข้าด้วยกัน
2. นำแป้งเค้กร่อนแล้วใส่โถปั่น ใส่น้ำตาลทราย ไข่ไก่ นมสด sp และกลิ่นวานิลลา
    ตีด้วยความเร็วต่ำสุดเพื่อไม่ให้แป้งฟุ้งกระจาย แล้วค่อย ๆ เร่งความเร็วจนถึงระดับสูงสุดของเครื่อง
    ตีนาน 3 นาที ปิดเครื่อง แล้วปาดเค้กจากด้านล่างของโถปั่นขึ้นมาด้านบน  
3. ตีต่อด้วยความเร็วสูงสุด 2 นาที  ปิดเครื่อง
4. ใส่มัลเบอร์ท็อปปิ้ง (ใช้ช้อนยีให้ผลมัลเบอร์รี่แตกเป็นชิ้นเล็กๆ เสียก่อน) ตีด้วยความเร็วต่ำสุดพอเข้ากัน
5. ค่อยๆ ใส่เนยสดละลาย ตีด้วยความเร็วต่ำสุดพอเข้ากัน
6. ตักส่วนผสมแป้งใส่ถาดอบ รองด้วยกระดาษไข  
7. นำไปอบจนสุก แกะออกจากพิมพ์ พักไว้ให้เย็นสนิท จึงแต่งหน้าด้วยครีมนมสดและมัลเบอร์รี่ท๊อปปิ้ง
* สูตรส่วนผสมนี้ทำเค็กได้ 4 ปอนด์


• วิธีตีครีมนมสด
- ผสมครีมนมสดแช่เย็นจัด 400 กรัม กับน้ำตาลไอซิ่งร่อนแล้ว 1 ช้อนโต๊ะ ตีด้วยความเร็วปานกลางจนขึ้นฟูขาวเต็มที่
นำไปแต่งหน้าเค็ก





ส่วนผสมของ แป้งเค้กร่อนแล้ว น้ำตาลทราย ไข่ไก่ นมสด sp และกลิ่นวานิลลา


ตีด้วยความเร็วต่ำสุดเพื่อไม่ให้แป้งฟุ้งกระจาย แล้วค่อย ๆ เร่งความเร็วจนถึงระดับสูงสุดของเครื่อง
ตีนาน 3 นาที ปิดเครื่อง


ใช้พายยางปาดเนื้อเค้กจากด้านล่างของโถปั่นขึ้นมาด้านบน เพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน  
แล้วตีต่อด้วยความเร็วสูงสุดของเครื่อง อีก 2 นาที


ตักแยมมัลเบอร์รี่ 2 ช้อนโต๊ะ ใช้ช้อนกดให้ผลมัลเบอร์รี่้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ


ตักแยมมัลเบอร์รี่ใส่ในโถปั่น


ตีด้วยความเร็วต่ำสุดพอเข้ากัน


ตามด้วยเนยสดละลาย ตีด้วยความเร็วต่ำสุดพอเข้ากัน


ตักใส่พิมพ์ (ที่รองกระดาษไข ทาเนยขาว ใส่แป้งเค็ก แล้วเคาะให้นวลแป้งติดทั่วถาด)
ใช้ไม้เสียบลูกชิ้นเกลี่ยเนื้อเค็กวนไปมาให้เสมอกัน


นำเข้าเตาอบจนสุก


แกะออกจากพิมพ์ โดยคว่ำหน้าเค็กลงไปที่ตะแกรงโปร่ง
ลอกกระดาษไขรองเค็กทิ้ง


แล้วหงายชิ้นเค็กขึ้น...พักไว้ให้เย็นสนิท


สไลด์เค้กแบ่งเป็น 2 ชิ้น




ตักบลูเบอร์รี่ฟิลลิ่งใส่ลงไป แล้วเกลี่ยให้ทั่ว


นำเค้กอีกชิ้นมาประกอบให้สนิท






ด้านข้างและด้านบนตกแต่งด้วยครีมนมสด ปาดให้เรียบ


ราดทับด้านบนด้วยมัลเบอร์รี่ท๊อปปิ้ง...เป็นอันเสร็จเรียบร้อย





3192  นั่งเล่นหลังสวน / ลานกว้าง (มุมดูคลิป) / เปิดโปง!! ความลับของน้องลิง เมื่อ: 26 มีนาคม 2559 13:37:20

เปิดโปง!! ความลับของน้องลิง


เปิดโปง!! ความลับของน้องลิง
3193  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / พระปริตรธรรม ๑๒ ตำนาน เมื่อ: 25 มีนาคม 2559 16:08:26


พระปริตรธรรม ๑๒ ตำนาน
พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง
แปล

คำบาลีในบทสวดมนต์นี้แตกต่างจากหนังสือบทสวดมนต์ทั่วไปในบางแห่ง เนื่องจากผู้แปลได้นำพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ มาเทียบเคียงกัน มีฉบับไทย ฉบับสิงหล และฉบับฉัฏฐสังคีติ (ฉบับสังคายนาครั้งที่ ๖) ที่พระเถระนิกายเถรวาท ๕ ประเทศ คือ ไทย พม่า ลังกา ลาว และเขมร ได้ร่วมกันสังคายนาที่ประเทศสหภาพพม่าในพุทธศักราช ๒๕๐๐ แล้วเลือกใช้คำบาลีที่ผู้แปลเห็นว่าถูกต้องตามหลักภาษา

คัมภีร์แปลและคำอธิบายที่ผู้แปลใช้เทียบเคียงในการแปล คือ
๑.คัมภีร์อรรถกถา ในส่วนที่อธิบายพระปริตรนั้นๆ
๒.ปริตตฎีกา พระเตโชทีปะ แต่งในสมัยอังวะ พุทธศักราช ๒๑๕๓
๓.พระปริตรแปลภาษาพม่า ฉบับแปลใหม่ พระวาเสฏฐาภิวงศ์ แต่งในพุทธศักราช ๒๕๐๕
๔.ธรรมจักรเทศนา พระโสภณมหาเถระ (มหาสียสาดอ) แต่งในพุทธศักราช ๒๕๐๕
๕.สวดมนต์เจ็ดตำนาน ฉบับกองทัพอากาศ นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพัฒน์ทอง แต่งในพุทธศักราช ๒๕๓๘
๖.อานุภาพพระปริตต์ อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ แต่งในพุทธศักราช ๒๕๑๗

นอกจากคำแปลพระปริตรแล้วผู้แปลยังได้เขียนประวัติความเป็นมาของพระปริตรนั้นๆ โดยนำข้อความมาจากคัมภีร์อรรถกถาตามสมควร และในบทสุดท้ายมีบทสวดธรรมจักร และคำแปลพร้อมทั้งประวัติความเป็นมาด้วย และขอขอบคุณอาจารย์สันติ เมตตาประเสริฐ ที่ช่วยขัดเกลาคำแปลให้สละสลวย


ประวัติพระปริตร
พระปริตร แปลว่าเครื่องคุ้มครอง คือป้องกันอันตรายภายนอก มีโจร ยักษ์ สัตว์เดรัจฉาน และป้องกันอันตรายภายใน มีโรคภัยไข้เจ็บเป็นต้น อานิสงส์ที่ได้รับจากการสวดพระปริตรนี้ บังเกิดขึ้นจากอานุภาพของพระรัตนตรัยและเป็นผลของการเจริญเมตตาภาวนา เพราะพระปริตรกล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัยและการเจริญเมตตาเป็นหลัก  ดังนั้น ผู้หมั่นสาธยายพระปริตรจึงได้รับผลานิสงส์ต่างๆ เช่น ประสบความสวัสดี ความเจริญรุ่งเรือง ได้รับชัยชนะ แคล้วคลาดจากอุปสรรคอันตราย มีสุขภาพอนามัยดี และมีอายุยืน ดังพระพุทธดำรัสว่า

“เธอจงเจริญพุทธานุสสติภาวนาที่ยอดเยี่ยมในภาวนาธรรม เพราะผู้เจริญภาวนานี้จะสมหวังดังมโนรถ”

“อมนุษย์ที่ต้องการจะทำร้ายผู้เจริญเมตตา ย่อมประสบภัยพิบัติเอง เหมือนคนที่ใช้มือจับหอกคม ย่อมได้รับอันตรายจากการจับหอกนั้น”


ประโยชน์ในปัจจุบัน
ในคัมภีร์อรรถกถาพบเรื่องอานุภาพพระปริตรสามารถคุ้มครองผู้สวดได้ เช่นเรื่องพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกยูงทอง พระองค์ได้หมั่นสาธยายโมรปริตรที่กล่าวถึงคุณของพระพุทธเจ้า ทำให้แคล้วคลาดจากบ่วงที่นายพรานดักไว้ และเรื่องในสมัยพุทธกาล มีภิกษุห้าร้อยรูปไปเจริญภาวนาในป่า ได้ถูกเทวดารบกวนจนกระทั่งปฏิบัติธรรมไม่ได้ ต้องเดินทางกลับเมืองสาวัตถี ในขณะนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเมตตปริตร ที่กล่าวถึงการเจริญเมตตา ครั้นภิกษุเหล่านั้นหมั่นเจริญเมตตาภาวนา เทวดาจึงมีไมตรีจิตตอบด้วยและช่วยพิทักษ์คุ้มครองให้ภิกษุเหล่านั้นปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก

นอกจากนี้แล้ว อานุภาพพระปริตรยังสามารถคุ้มครองผู้ฟังได้อีกด้วย ดังพบเรื่องในคัมภีร์อรรถกถาว่า ในสมัยพุทธกาล เมื่อเมืองเวสาลีประสบภัย ๓ อย่าง คือ ความอดอยากแร้นแค้น การเบียดเบียนจากอมนุษย์ และการแพร่ของโรคระบาด พระพุทธเจ้าได้รับนิมนต์เสด็จไปโปรด พระองค์รับสั่งให้พระอานนท์สวดรัตนปริตรที่กล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัย ภัยดังกล่าวในเมืองนั้นจึงสงบลง ในอรรถกถาอีกคัมภีร์หนึ่งมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล เด็กคนหนึ่งจะถูกยักษ์จับกินภายใน ๗ วัน พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ภิกษุสวดพระปริตรตลอดเจ็ดคืน และพระองค์ได้เสด็จไปสวดด้วยพระองค์เองในคืนที่แปด เด็กนั้นก็สามารถรอดพ้นจากภัยพิบัติของอมนุษย์นั้นได้ มีอายุยืน ๑๒๐ ปี บิดามารดาจึงตั้งชื่อเด็กว่า อายุวัฑฒนกุมาร แปลว่า “เด็กผู้มีอายุยืน” เพราะรอดพ้นจากอันตรายดังกล่าว


ประโยชน์ในอนาคต
เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระเสด็จไปโปรดโกสิยชฎิล ณ ภูเขานิสภะ ขฎิลตนนั้นได้พบพระองค์แล้วเกิดโสมนัสปราโมทย์ นำดอกไม้มาประดับเป็นอาสนะที่ประทับ พระพุทธเจ้าได้ประทับนั่งเข้าผลสมาบัติในที่นั้นตลอดเจ็ดวัน โกสิยชฎิลได้ยืนประนมมือระลึกถึงพระพุทธคุณตลอดเจ็ดวันเช่นกัน  กุศลที่เกิดจากการระลึกถึงพระพุทธคุณนี้ ทำให้โกสิยชฎิลเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ๓ หมื่นกัป เป็นท้าวสักกะจอมเทพ ๘๐ ชาติ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ เป็นพระราชานับชาติไม่ถ้วน ในระหว่างนี้เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นเศรษฐีมีทรัพย์ และไม่เคยไปเกิดในอบายภูมิเลย ในภาพสุดท้ายได้ออกบวชเป็นพระภิกษุ ท่านปรากฏพระนามว่าพระสุภูติเถระ ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะผู้เป็นเลิศในการเจริญฌาน ประกอบด้วยเมตตาและเป็นทักขิไณยบุคคล

อานิสงส์พระปริตร
โบราณาจารย์ได้รวบรวมอานิสงส์ของพระปริตรไว้ดังนี้ คือ
    ๑.เมตตปริตร ทำให้หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย เทพพิทักษ์รักษา ไม่มีภยันตราย จิตเกิดสมาธิง่าย ใบหน้าผ่องใส มีสิริมงคล ไม่หลงสติในเวลาเสียชีวิต และเกิดเป็นพรหมเมื่อบรรลุเมตตาฌาน
    ๒.ขันธปริตร  ป้องกันภัยจากอสรพิษและสัตว์ร้ายอื่นๆ
    ๓.โมรปริตร  ป้องกันภัยจากผู้คิดร้าย
    ๔.อาฏานาฏิยปริตร  ป้องกันภัยจากอมนุษย์ ทำให้มีสุขภาพดี และมีความสุข
    ๕.โพชฌังคปริตร  ทำให้มีสุขภาพดี มีอายุยืน และพ้นจากอุปสรรคทั้งปวง
    ๖.ชัยปริตร  ทำให้ประสบชัยชนะและมีความสุขสวัสดี
    ๗.รัตนปริตร  ทำให้ได้รับความสวัสดี พ้นจากอุปสรรค และอันตราย
    ๘.วัฏฏกปริตร  ทำให้พ้นจากอัคคีภัย
    ๙.มังคลปริตร  ทำให้เกิดสิริมงคลและปราศจากอันตราย
  ๑๐.ธชัคคปริตร  ทำให้พ้นจากอุปสรรคอันตราย และการตกจากที่สูง
  ๑๑.อังคุลิมาลปริตร  ทำให้คลอดบุตรง่าย ป้องกันอุปสรรค และอันตราย
  ๑๒.อภยปริตร  ทำให้พ้นจากภัยพิบัติและไม่ฝันร้าย


ทรงแนะนำให้สวดพระปริตร
พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้พุทธบริษัทสวดพระปริตรเพื่อคุ้มครองตน เช่นในอาฏานาฏิยสูตร มีพระพุทธดำรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเรียนมนต์คุ้มครองคืออาฏานาฏิยปริตร พวกเธอจงศึกษามนต์คุ้มครองคืออาฏานาฏิยปริตร  พวกเธอจงทรงจำมนต์คุ้มครองคืออาฏานาฏิยปริตร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนต์คุ้มครองคืออาฏานาฏิยปริตร ประกอบด้วยประโยชน์ ย่อมเป็นไปเพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อความไม่เบียดเบียน เพื่อความอยู่เป็นสุขของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา”

อนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระสูตรอื่นว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตการแผ่เมตตาแก่พญางูทั้งสี่ตระกูลเพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อกระทำการป้องกันตน”


องค์ของผู้สวดและผู้ฟัง
พระปริตรจะมีอานุภาพมาก เมื่อผู้สวดพระปริตรเพียบพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ มีเมตตาจิตมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง สวดถูกอักษร ไม่มีบทพยัญชนะที่ผิดพลาด และรู้ความหมายของบทสวด แม้ผู้ฟังพระปริตรก็ต้องมีองค์ ๓ คือ ไม่เคยทำอนันตริยกรรม ๕ (ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป และทำสังฆเภท) ไม่มีมิจฉาทิฏฐิที่เห็นผิดว่ากรรมและผลกรรมไม่มี และเชื่อมั่นอานุภาพพระปริตรว่ามีจริง สามารถคุ้มครองผู้ฟังได้

จำนวนพระปริตร
โบราณาจารย์ได้จำแนกพระปริตรออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑.จุลราชปริตร (เจ็ดตำนาน) มี ๗ ปริตร คือ
     ๑.มังคลปริตร
     ๒.รัตนปริตร
     ๓.เมตตปริตร
     ๔.ขันธปริตร
     ๕.โมรปริตร
     ๖.ธชัคคปริตร
     ๗.อาฏานาฏิยปริตร
๒.มหาราชปริตร (สิบสองตำนาน) มี ๑๒ ปริตร คือ
     ๑.มังคลปริตร
     ๒.รัตนปริตร
     ๓.เมตตปริตร
     ๔.ขันธปริตร
     ๕.โมรปริตร
     ๖.วัฏฏกปริตร
     ๗.ธชัคคปริตร
     ๘.อาฏานาฏิยปริตร
     ๙.อังคุลิมาลปริตร
   ๑๐.โพชฌังคปริตร
   ๑๑.อภยปริตร
   ๑๒.ชัยปริตร


ลำดับพระปริตร
ลำดับพระปริตรในมิลินทปัญหาและคัมภีร์อรรถกถาต่างๆ แตกต่างกัน  ส่วนลำดับพระปริตรในบทสวดมนต์ไทยและพม่าเหมือนกัน ในพระปริตรฉบับนี้ ผู้แปลได้เรียงลำดับพระปริตรใหม่ เริ่มจากเมตตปริตร ขันธปริตร โมรปริตร อาฏานาฏิยปริตร และโพชฌังคปริตร ฯลฯ  โดยเน้นพระปริตรที่กล่าวถึงเมตตาภาวนาและคุณของพระรัตนตรัยเป็นหลัก

พระปริตรที่ควรสวดเสมอ
ผู้ที่มีเวลาน้อยควรสวดพระปริตรที่สั้นและสำคัญ จึงควรสวดพระปริตร ๔ บทแรกคือ เมตตปริตร ขันธปริตร โมรปริตร และอาฏานาฏิยปริตร เมตตปริตรและขันธปริตร เน้นการเจริญเมตตาภาวนา โมรปริตรและอาฏานาฏิยปริตร เน้นการเจริญพระพุทธคุณ ผู้ที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ควรสวดโพชฌังคปริตรอีกด้วย พระเถระชาวพม่าผู้ทรงพระไตรปิฎก คือท่านอาจารย์สิรินทาภิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดวิสุทธาราม จังหวัดย่างกุ้ง ประเทศสหภาพพม่า ก็มีความเห็นว่าควรสวดพระปริตร ๔ บทนั้นเสมอ

ก่อนจะสวดพระปริตรทุกครั้ง ผู้สวดควรสวดบทมหานมัสการแล้วสมาทานศีลห้า หลังจากนั้น ให้สวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ แล้วจึงสวดพระปริตรหรือคาถาอื่นๆ ต่อไป บทมหานมัสการนั้นเป็นคำแสดงความนอบน้อมคุณทั้ง ๓ ของพระพุทธเจ้า คือ พระกรุณาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ จึงเป็นบทที่ชาวพุทธนิยมสวดก่อนจะสวดมนต์ การสมาทานศีลทุกวันเป็นการรักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่เป็นนิตย์ การสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ก็เป็นการเจริญกรรมฐาน คือ พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ และสังฆานุสสติ บุคคลผู้หมั่นระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยจะเพิ่มพูนศรัทธาในพระศาสนาเป็นอย่างดี

นอกจากนั้นชาวพุทธควรสวดบทธรรมจักรทุกวันพระ จะส่งผลให้ป้องกันภัยอันตรายและทำให้ผู้สวดประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิต เพราะธรรมจักรเป็นพระธรรมเทศนาแรกที่กล่าวถึงอริยสัจสี่ จึงเป็นบทที่เทวดาเคารพบูชายิ่งนัก คนไทยในสมัยก่อนเชื่อว่าบุคคลที่สวดธรรมจักรนี้ทุกวันพระ แล้วอธิษฐานให้ครอบครัวหรือญาติพี่น้องมีความสวัสดี จะมีผลานิสงส์ทำให้ผู้สวดและผู้ที่ตนแผ่ไปถึงมีความสวัสดี แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุ ทุกอย่างได้

อานุภาพของพระปริตรที่สวดด้วยจิตที่มีสมาธิแน่วแน่ จะแผ่ไปถึงแสนโกฏิจักรวาล ทำให้ผู้สวดได้รับผลานิสงส์มหาศาลหาประมาณมิได้ คนที่ไม่สวดพระปริตรจะไม่สามารถรับรู้อานิสงส์ได้เลย เหมือนคนที่ไม่ได้รับประทานอาหารย่อมไม่อาจรับรู้รสอาหารและผลของการรับประทานได้ ดังนั้นขอให้พุทธบริษัทเชื่อมั่นอานุภาพพระปริตร หมั่นสวดพระปริตรอยู่เนืองนิตย์ และได้รับประโยชน์สุขทั่วกันทุกท่าน


พระปริตรธรรม
มหานมัสการ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง พระองค์นั้น
            [๓ ครั้ง]
โบราณาจารย์เรียกบทนี้ว่า มหานมัสการ คือ บทนอบน้อมที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นบทแรกที่ชาวพุทธนิยมสวดนอบน้อมพระพุทธเจ้า ความจริงแล้วบทนี้เป็นคำอุทานที่เปล่งออกด้วยความปีติยินดีที่ซาบซึ้งในพระพุทธคุณ ในสมัยพุทธกาลมีบุคคลหลายคนที่เปล่งอุทานคำนี้เพื่อนอบน้อมพระพุทธเจ้า เช่น ท้าวสักกะ พราหมณ์พรหมายุ พราหมณ์อารามทัณฑะ และนางธนัญชานี เป็นต้น ดังปรากฏในพระสูตรนั้นๆ


ไตรสรณคมน์
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.  ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.  ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.  ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ทุติยัมปิ ธัมมัง  สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
ทุติยัมปิ สังฆัง  สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
ตะติยัมปิ  สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ. แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง


สมาทานศีล ๕
ปาณาติปาณา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
อะทินนาทานา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ที่งดเว้นจากการลักทรัพย์
กาเมสุมิฉาจารา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทาน สิกขาบท ที่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
มุสาวาทา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ที่งดเว้นจากการพูดเท็จ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ที่งดเว้นจากการดื่มของเมา คือสุราเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาท


พระพุทธคุณ
อิติปิโส ภะคะวา แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
อะระหัง,  เป็นผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทโธ,  ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
วิชชาจะระณะสัมปันโน,  ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ
สุคะโต,  เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว
โลกะวิทู,  ทรงรู้แจ้งโลก
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ,  ทรงเป็นสารถีฝึกบุคคลที่ควรฝึก ไม่มีใครยิ่งกว่า
สัตถา เทวะมะนุสสานัง,  ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พุทโธ,  ทรงเป็นผู้รู้แจ้ง
ภะคะวา,  ทรงเป็นผู้อธิบายธรรม

พระผู้มีพระภาค คือพระผู้มีภคธรรมหรือบุญญาภินิหาร ๖ อย่าง อันได้แก่ อิสสริยะ คือการควบคุมจิต, ธัมมะ คือโลกุตรธรรม ๙,  ยสะ คือเกียรติยศ,  สิริ คือสิริมงคลทางพระวรกาย,  กามะ คือความสำเร็จสมประสงค์ และปยัตตะ คือความอุตสาหะ


พระธรรมคุณ
สฺวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม. พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว
สันทิฏฐิโก,  เป็นธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง
อะกาลิโก,  ไม่ขึ้นกับกาล
เอหิปัสสิโก,  เป็นธรรมที่ควรมาดู
โอปะนะยิโก,  ควรน้อมมาปฏิบัติ
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ.  เป็นธรรมที่วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน


พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ และปริยัติธรรม ๑ เป็นธรรมที่ไพเราะโดยอรรถและพยัญชนะ  ในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พระธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง คือโลกุตรธรรม ๙ อันได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ พระธรรมที่ไม่ขึ้นกับกาล คือมรรค ๔ ที่ส่งผลทันที พระธรรมที่ควรมาดู ควรน้อมมาปฏิบัติ และวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน คือโลกุตรธรรม ๙

พระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี
            [ตามพระพุทธพจน์]
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติตรง
            [ตามมัชฌิมาปฏิปทา]
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติที่ควรนับถือ
ยะทิทัง จิตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา,
ท่านเหล่านั้น คือบุรุษ ๔ คู่ กล่าวคือพระอริยบุคคล ๘ จำพวก
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.  นี้แหละพระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
อาหุเนยโย,  ผู้ควรรับสักการะ
ปาหุเนยโย,  ผู้ควรแก่ของต้อนรับ
ทักขิเนยโย,  ผู้ควรรับทักษิณาทาน
อัญชะลิกะระณีโย,  ผู้ควรอัญชลีกรรม
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ.  เป็นนาบุญอันประเสริฐของโลก



 


ภาพประกอบตำนานเมตตปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานเมตตปริตร

เมตตปริตร คือปริตรที่กล่าวถึงการเจริญเมตตา มีประวัติว่า สมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี มีภิกษุ ๕๐๐ รูปเรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์ แล้วเดินทางไปแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม พวกท่านได้ไปถึงไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ปรึกษากันว่าสถานที่นี้เหมาะสมแก่การเจริญสมณธรรม จึงตกลงใจอยู่จำพรรษาในที่นั้น ชาวบ้านก็มีจิตศรัทธา สร้างกุฏิถวายให้พำนักรูปละหนึ่งหลังและอุปัฏฐากด้วยปัจจัยสี่มิให้ขาดแคลน

เมื่อฝนตกพวกท่านจะเจริญกรรมฐานที่กุฏิ ครั้นฝนไม่ตกก็จะมาปฏิบัติที่โคนไม้ รุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ไม่อาจอยู่ในวิมานได้ เพราะผู้ทรงศีลมาอยู่ใต้วิมานของตน จึงต้องพากันลงมาอยู่บนพื้น เบื้องแรกคิดว่า พวกภิกษุคงจะอยู่ชั่วคราว ก็ทนรอดูอยู่ชั่วคราว แต่เมื่อรู้ว่ามาจำพรรษาตลอดไตรมาส เกิดความไม่พอใจ คิดจะขับไล่ ให้กลับไปในระหว่างพรรษา ฉะนั้นจึงพยายามหลอกหลอนด้วยวิธีต่างๆ เช่น สำแดงรูปร่างที่น่ากลัว ร้องเสียงโหยหวน ทำให้ได้รับกลิ่นเหม็นต่างๆ

ฝ่ายภิกษุพากันหวาดหวั่นตกใจต่ออารมณ์ที่น่ากลัวเหล่านั้น ไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก จึงปรึกษากันว่าพวกเราไม่ควรจะอยู่ในสถานที่นี้ แต่ควรจะกลับไปจำพรรษาหลังในสถานที่อื่น และได้เดินทางกลับโดยไม่บอกลาชาวบ้าน เมื่อมาถึงวัดพระเชตวันได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลเรื่องนี้ แต่พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นว่าสถานที่เดิมเหมาะสมกับภิกษุเหล่านี้มากกว่าที่อื่น จึงทรงแนะนำให้พวกท่านกลับไปสถานที่นั้น พร้อมกับตรัสสอนเมตตปริตรเพื่อเจริญเมตตาแก่รุกขเทวดา

เมื่อพวกภิกษุได้เรียนเมตตปริตรจากพระพุทธเจ้าแล้ว จึงเดินทางกลับไปยังสถานที่เดิม ก่อนจะเข้าสู่ราวป่า ก็ได้เจริญเมตตาภาวนาโดยสาธยายพระปริตรนี้ อานุภาพแห่งเมตตาทำให้รุกขเทวดามีจิตอ่อนโยน มีไมตรี จึงไม่เบียดเบียนเหมือนก่อน ทั้งยังช่วยปรนนิบัติและคุ้มครองภัยอื่นๆ อีกด้วย ภิกษุเหล่านั้นได้พากเพียรเจริญเมตตาภาวนาแล้วเจริญวิปัสสนาภาวนาต่อมา โดยใช้เมตตาเป็นบาทแห่งวิปัสสนา ทุกรูปได้บรรลุอรหัตผลภายในพรรษานั้น

เมตตปริตร
๑.กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ
   ยันตะ สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ
   สักโก อุชู จะ สุหุชู จะ
   สูวะโจ จัสสะ มุทุ อะนะติมานี
.
ภิกษุผู้ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ประสงค์จะบรรลุแดนสงบ พึงอบรมสิกขาสาม ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นคนตรง แน่วแน่ ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่ถือตัว

๒.สันตุสสะโก จะ สุภะโร จะ
   อัปปะกิจโจ จะ สัลละหุกะวุตติ
   สันตินทฺริโย จะ นิปะโก จะ
   อัปปะคัพโภ กุเลสฺวะนะนุคิทโธ.

พึงเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจธุระน้อย ดำเนินชีวิตเรียบง่าย มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน มีการสำรวมกายวาจาใจ ไม่พัวพันกับสกุลทั้งหลาย

๓.นะ จะ ขุททะมาจะเร กิญจิ
   เยนะ วิญญู ปะเร อุปะวะเทยยุง
   สุขิโน วะ เขมิโน โหนตุ
   สัพพะสัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
.
ไม่พึงประพฤติสิ่งเล็กน้อยอะไรๆ ที่จะเป็นเหตุให้ผู้รู้ตำหนิ [พึงแผ่เมตตาว่า] ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีความสุขกาย สุขใจ ปลอดจากภัยทั้งปวงเถิด

๔.เย เกจิ ปาณะภูตัตถิ
   ตะสา วา ถาวะรา วะนะวะเสสา
   ทีฆา วา เย วะ มะหันตา
   มัชฌิมา รัสสะกา อะณุกะถูลา
,
สัตว์ทั้งหลายที่มีความหวาดกลัวก็ดี ที่มั่นคงก็ดี ทั้งหมด ทั้งที่มีกายยาว ใหญ่ ปานกลาง สั้น ละเอียด หรือหยาบ

๕.ทิฏฐา วา เย วะ อะทิฏฐา
   เย วะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเร
   ภูตา วะ สัมภะเวสี วะ
   สัพพะสัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา.

ทั้งที่เคยเห็นหรือไม่เคยเห็น อยู่ไกลหรือใกล้ ที่เกิดแล้วหรือที่กำลังแสวงหาที่เกิด สัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น จงมีความสุขกาย สุขใจเถิด

๖.นะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ
   นาติมัญเญถะ กัตถะจิ นะ กัญจิ
   พฺยาโรสะนา ปะฏิฆะสัญญะ
   นาญญะมัญญัสสะ ทุกขะมิจเฉยยะ.

บุคคลไม่พึงหลอกลวงกัน ไม่พึงดูหมิ่นใครในที่ไหน ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกันด้วยการเบียดเบียนหรือด้วยใจมุ่งร้าย

๗.มาตา ยะถา นิยัง ปุตตะ
   มายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข
   เอวัมปิ สัพพะภูเตสุ
   มานะสัง ภาวะเย อะปะริมาณัง.

มารดาถนอมบุตรคนเดียวของตนด้วยชีวิตฉันใด บุคคลพึงเจริญเมตตาจิต ไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวงฉันนั้น

๘.เมตตัญจะ สัพพะโลกัสฺมิ
   มานะสัง ภาวะเย อะปะริมาณัง
   อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ
   อะสัมพาธัง อะเวระมะสะปัตตัง.

บุคคลพึงเจริญเมตตาจิต อันไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู ในสัตว์โลกทั้งหมด ทั้งในอรูปภูมิเบื้องบน รูปภูมิเบื้องกลาง และกามาวจรภูมิเบื้องต่ำ

๙.ติฏฐัง จะรัง นิสินโน วะ
   สะยาโน ยาวะตาสสะ วิตะมิทโธ
   เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ
   พฺรหฺมะเมตัง วิหาระมิธะ มาหุ.

เมื่อยืน เดิน นั่ง หรือนอน พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วง ตั้งสติอย่างนี้ไว้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสการปฏิบัติเช่นนี้ว่า เป็นความประพฤติอันประเสริฐในพระศาสนานี้

๑๐.ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ
   สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน
   กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง
   นะ หิ ชาตุคคัพภะเสยยะ ปุนะเรติ.

บุคคลผู้นั้นจะไม่กล้ำกรายความเห็นผิด เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยความเห็นชอบ เมื่อขจัดความยินดีในกามได้แล้ว ย่อมไม่เข้าถึงการเกิดในครรภ์อีกอย่างแน่แท้.


3194  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เมื่อ: 25 มีนาคม 2559 15:43:41


ภาพจาก: wikimedia.org

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ พระมหากษัตริย์พม่าในราชวงศ์ตองอู ครองราชย์ประมาณ พ.ศ.๒๐๗๔-๒๐๙๔ ทรงยกกองทัพเข้ามาทำสงครามกับไทยในศึกเชียงกราน อันถือเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่า และเป็นมูลเหตุให้เสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.๒๑๑๒

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ตามความหมายแปลว่าสุวรรณเอกฉัตร เป็นพระราชโอรสพระเจ้าเมงคยินโย หรือพระเจ้ามหาสิริไชยสุระ กษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์ตองอู

มีเรื่องกล่าวกันว่าพระองค์ประสูติก่อนรุ่งอรุณขณะบรรยากาศยังมืดอยู่ แต่พระแสงดาบและหอกในห้องสรรพาวุธกลับส่งประกายแวววาว ถือเป็นนิมิตว่าพระองค์จะทรงเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ พระบิดาจึงขนานพระนามว่าตะเบ็งชะเวตี้  พระองค์ทรงมีพระเกียรติคุณแผ่ไพศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความกล้าหาญ เมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระมหาอุปราชทรงเลือกทำพิธีเจาะพระกรรณตามพระราชประเพณีที่วัดมหาธาตุมุเตาหรือวัดชเวมาวดอ ซึ่งอยู่ที่เมืองหงสาวดีหรือพะโค เมืองศูนย์กลางของมอญ ขณะนั้นยังเป็นอิสระอยู่ โดยทรงนำกำลังทหารพม่าไปด้วย ๕๐๐ คน ขณะกำลังทำพิธีอยู่ในวัด ทหารมอญเมื่อทราบข่าวก็เข้ามาล้อมจับ พระองค์ทรงนำกำลังทหารพม่าตีฝ่าวงล้อมของทหารมอญออกไปได้ กิตติศัพท์ความกล้าหาญของพระองค์ครั้งนี้ปรากฏไปทั่ว เป็นการสร้างเสริมพระบารมี

สภาพการเมืองในพม่านั้นประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ เข้ามาตั้งที่ทำกินอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน เริ่มต้นเมื่อพวกพยูซึ่งเป็นเชื้อสายต้นตระกูลพม่าตั้งเมืองหลวงชื่อว่าศรีเกษตร อยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดีในพม่าตอนกลาง พวกมอญตั้งอาณาจักรอยู่ในพม่าตอนล่าง ต่อมาพม่าตั้งอาณาจักรพุกามในพม่าตอนบนริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี  อาณาจักรนี้รุ่งเรืองมาก ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ สามารถขยายลงมายึดครองอาณาจักรมอญที่เมืองสะเทิม อาณาจักรรุ่งเรืองอยู่เป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปี ก็ถูกกองทัพมองโกลสมัยจักรพรรดิกุบไลข่านตีย่อยยับไปใน พ.ศ.๑๘๓๐ พุกามถูกยึดครองระยะหนึ่ง

ดินแดนพม่าจึงแตกแยกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ ทางเหนือมีศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองอังวะ ตอนกลางมีศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองตองอู ทางด้านตะวันตกของภาคกลางมีแคว้นยะไข่ ทางใต้มีเมืองหงสาวดีของมอญ  ระหว่างนี้อาณาจักรตองอูได้สะสมกำลังมีอำนาจขึ้นจนกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ พวกพม่าที่อังวะก็เข้ามาร่วมด้วย  ในที่สุด พระเจ้าเมงคยินโยก็สามารถก่อตั้งราชวงศ์ตองอูขึ้นใน พ.ศ.๒๐๒๙

ราชวงศ์ตองอูพยายามขยายอาณาจักรลงทางใต้ โดยเฉพาะเมืองหงสาวดีในอาณาจักรมอญเพื่อใช้เป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายกับฝรั่งชาติตะวันตกซึ่งเดินทางมาหาสินค้าประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ไหม เพชร พลอย และของป่าจากเอเชียส่งไปขายที่ยุโรป ขณะเดียวกันฝรั่งก็ได้นำอาวุธปืนและสินค้าฟุ่มเฟือยจากยุโรปเข้ามาขายในดินแดนเอเชียด้วย  เนื่องจากหงสาวดีอยู่ในเส้นทางการเดินเรือจากอินเดียผ่านมาเพื่ออ้อมแหลมมลายูไปยังอินโดจีน จีน ญี่ปุ่น ต่อไป

เมื่อพระเจ้าเมงคยินโยสวรรคต พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ขึ้นครองราชย์สมบัติเมืองตองอูสืบต่อมา พระองค์ทรงมีนายทหารคนสนิทนายหนึ่งมีนามว่าชินเยทูต มีอายุมากกว่าพระองค์เล็กน้อย เป็นนายทหารที่มีความสามารถ กล้าหาญ เข้มแข็ง มีประสบการณ์ รับใช้ใกล้ชิดและเป็นที่ปรึกษาของพระองค์ ปรากฏว่านายทหารผู้นี้ผูกสมัครรักใคร่กับพระเชษฐภคินีของพระองค์ ตามกฎมณเฑียรบาลของพม่าถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นกบฏซึ่งมีโทษประหาร แต่พระองค์ทรงตัดสินพระทัยให้พระเชษฐภคินีสมรสด้วย และทรงแต่งตั้งให้ชินเยทูตเป็นเจ้า มีตำแหน่งเป็นกยอดินนรธา การตัดสินพระทัยดังกล่าวทำให้พสกนิกรชื่นชมในพระเมตตามาก และทำให้กยอดินนรธาจงรักภักดีอย่างยิ่งยวด เป็นกำลังสำคัญทำการรบได้ชัยชนะหลายครั้ง ทำความดีความชอบให้มาก จึงทรงแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงขึ้นเป็นบุเรงนอง หรือ พระเชษฐาธิราช

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทรงขยายพระราชอาณาจักร โดยการปราบปรามเมืองต่างๆ พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะปราบปรามมอญโดยเร็วที่สุดเพื่อจะยึดเมืองท่ามอญเป็นเส้นทางการค้า เป็นแหล่งซื้อปืนคาบศิลา ปืนใหญ่จากโปรตุเกส ตลอดจนจ้างทหารชาวโปรตุเกสเพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการเข้ายึดเมืองหงสาวดี พระองค์ตีได้เมืองพะสิม จากนั้นทรงเข้าตีได้เมืองหงสาวดี แปร และอังวะ นับได้ว่าพระองค์ทรงรวบรวมมอญและพม่าให้เป็นชาติเดียวกันได้สำเร็จ จากนั้นได้ยกกองทัพไปตีเมืองเมาะตะมะ ซึ่งมีทหารจ้างชาวโปรตุเกสเช่นกัน ทำให้การสู้รบค่อนข้างยาก แต่ทรงได้ชัยชนะในที่สุด พวกมอญที่เมาะลำเลิงและบริเวณใกล้เคียงต่างเกรงกลัวพระบารมี จึงยอมอ่อนน้อมต่อพม่าทั้งสิ้น จากนั้นทรงปราบปรามไทยใหญ่แล้วเสด็จไปยังเมืองพุกามกระทำพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับกษัตริย์พุกามทุกประการ เมื่อย้อนกลับมาเมืองหงสาวดีก็ทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบกษัตริย์มอญ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจที่ทรงมีครอบคลุมทั้งพม่าและมอญ

ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทรงไปโจมตียะไข่ ยังตีไม่สำเร็จก็มีข่าวทัพไทยยกมาบริเวณตะนาวศรี จึงรีบเสด็จกลับเมืองหงสาวดี

เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงปราบปรามอาณาจักรต่างๆ ได้แล้ว ทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองหงสาวดี แทนที่จะย้อนกลับไปตั้งราชธานีที่พุกามหรืออังวะเหมือนในอดีต ความพยายามขยายอาณาเขตลงทางใต้ทำให้พรมแดนพม่าเข้ามาประชิดกับดินแดนของกรุงศรีอยุธยาจนเป็นสาเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น

ตามพระราชพงศาวดารกรุงสยามกล่าวว่า ใน พ.ศ.๒๐๘๑ เกิดสงครามขึ้นที่ชายแดนที่เมืองเชียงกราน นับเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่า กล่าวกันว่าในกองทัพไทยมีทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสช่วยรบอยู่ประมาณ ๑๒๐ คน  พม่าก็มีทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสช่วยรบอยู่ด้วย สงครามเมืองเชียงกรานเป็นสงครามแรกที่มีการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ในประวัติศาสตร์ไทย ปืนและปืนใหญ่เป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นเครื่องช่วยเสริมอำนาจได้เป็นอย่างดี

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายในไทยรบพม่าว่า เมืองเชียงกรานเป็นหัวเมืองปลายแดนไทย มอญเรียกว่าเดิงกรายน์ อังกฤษเรียกว่าเมืองอัตรัน อยู่ต่อแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงทราบข่าวศึก จึงเสด็จยกทัพไปรบพม่า ตามความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่า “เถิงเดือน ๑๑ เสด็จไปเชียงไกร เชียงกราน” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายต่อไปว่า จดหมายเหตุของปินโตโปรตุเกสบันทึกว่าครั้งนั้นมีพวกโปรตุเกสเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ๑๓๐ คน สมเด็จพระไชยราชาธิราช เกณฑ์โปรตุเกสเข้ากองทัพไปด้วย ๑๒๐ คน ได้รบพุ่งกันกับพม่าที่เมืองเชียงกรานเป็นสามารถ ไทยตีกองทัพพม่าพ่ายไป ได้เมืองเชียงกรานคืนมาเป็นของไทยดังแต่ก่อน เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราช เสด็จกลับมาถึงพระนครทรงยกย่องความชอบพวกโปรตุเกสที่ได้ช่วยรบพม่าคราวนั้น จึงพระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนที่แถวบ้านดินเหนือคลองตะเคียนแล้วพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พวกโปรตุเกสสร้างวัดสอนศาสนาตามความพอใจ จึงเป็นเหตุให้มีวัดคริสตังและบาทหลวงมาตั้งในเมืองไทยแต่นั้นมา

เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตใน พ.ศ.๒๐๘๙ เกิดเหตุจลาจลเมื่อพระแก้วฟ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อมาถูกขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ปลงพระชนม์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงขจัดเหตุวุ่นวายทั้งปวงและขึ้นครองราชสมบัติ ใน พ.ศ.๒๐๙๑

เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงทราบข่าวจลาจลในกรุงศรีอยุธยา ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะขยายพระราชอาณาเขตมาทางกรุงศรีอยุธยา จึงทรงสั่งให้เกณฑ์ทัพมาตั้งชุมนุมที่เมืองเมาะตะมะ แล้วเสด็จยกทัพเข้ามาทางกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้กองทัพไปตั้งรับทัพอยู่ที่สุพรรณบุรี และเตรียมกรุงศรีอยุธยาเป็นที่รับศึก พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ยกทัพเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรีไม่มีผู้ใดต่อต้าน ก็ยกต่อมาถึงสุพรรณบุรี กองทัพไทยทานกำลังไม่ได้ถอยกลับมากรุงศรีอยุธยา พม่ายกทัพตามมาจนถึงชานพระนครทางทุ่งลุมพลีข้างด้านเหนือ

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีพระราชประสงค์จะดูกำลังข้าศึก พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระสุริโยทัยพระอัครมเหสีซึ่งทรงแต่งพระองค์เป็นชายอย่างพระมหาอุปราชา พระราเมศวร และพระมหินทรพระราชโอรสทรงพระคชาธารตามเสด็จ กองทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยกไปปะทะกองทัพพระเจ้าแปรซึ่งเป็นทัพหน้าของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที พระเจ้าแปรขับช้างไล่มา สมเด็จพระสุริโยทัยเกรงพระสวามีจะเป็นอันตรายจึงขับช้างเข้าขวางช้างข้าศึกไว้ พระเจ้าแปรได้ทีฟันสมเด็จพระสุริโยทัยด้วยสำคัญว่าเป็นชายสิ้นพระชนม์ซบลงกับคอช้าง พระราเมศวร และพระมหินทร ทรงขับช้างเข้าต่อสู้ พระเจ้าแปรถอยไป จึงกันพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยกลับพระนคร เมื่อเสร็จสงครามแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงศพที่สวนหลวงตรงต่อเขตวัดสบสวรรค์แล้วสร้างพระอารามขึ้นตรงพระเมรุ มีพระเจดีย์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ภายในวัด เรียกว่า วัดสวนหลวงสบสวรรค์

ส่วนกองทัพพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไม่สามารถตีหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ ตั้งล้อมอยู่จนเสบียงอาหารหมด จึงยกทัพกลับขึ้นไปทางเหนือออกไปทางด่านแม่ละเมา

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กลับจากกรุงศรีอยุธยาได้ไม่นาน ก็ถูกเจ้าเมืองสะโตงลอบปลงพระชนม์ ใน พ.ศ.๒๐๙๔ ประกาศให้หงสาวดีเป็นเอกราช เจ้าเมืองสะโตงตั้งตนเป็นกษัตริย์ แต่ชาวมอญไม่ยอมรับ ก่อกบฏขึ้น เมืองแปรและเมืองตองอูก็ตั้งตนเป็นอิสระ บุเรงนองต้องกลับมาปราบปราม และตั้งตนเป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทำพิธีบรมราชาภิเษกใน พ.ศ.๒๐๙๖
ส.ข.




พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย
ทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา  
3195  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดอโศการาม (ท่านพ่อลี ธมมฺธโร) จ.สมุทรปราการ เมื่อ: 24 มีนาคม 2559 13:46:35


ธุตังคเจดีย์ วัดอโศการาม เป็นเจดีย์หมู่ ๑๓ องค์



วัดอโศการาม
ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ


วัดอโศการาม ตั้งอยู่บนพื้นที่ "นาแม่ขาว" เจ้าของที่ดิน ชื่อ นางกิงหงษ์ และนายสุเมธ ไกรกาญจน์ ได้ถวายที่ดินสร้างวัดประมาณ ๕๓ ไร่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๙๘ จึงได้เริ่มตั้งสำนักขึ้นเป็นครั้งแรก โดยให้พระลูกศิษย์ คือพระครูใบฎีกาทัศน์ มาเฝ้าสำนักแทน พร้อมกับลูกศิษย์อีก ๕ รูป รวมมีพระที่สำนักนี้ในครั้งเริ่มตั้ง จำนวน ๖ รูป"

ท่านพ่อลีได้เริ่มก่อตั้งสำนักสงฆ์เน้นวัตรปฏิบัติในทางธุดงควัตรอันสืบเนื่องจากท่านได้มีนิมิตว่าเป็นบริเวณที่บรรจุพระบรมธาตุ 

การที่วัดนี้ได้ชื่อว่าวัดอโศการาม เพราะท่านพ่อลีประสงค์จะให้เป็นอนุสรณ์ระลึกถึงคุณพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ของอินเดียที่ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนามายังแถบเอเชียโดยเฉพาะประเทศไทยท่านพ่อลีได้คิดตั้งชื่อวัดนี้ไว้ตั้งแต่ครั้งที่ท่านจำพรรษาอยู่ในตำบลสารนาถ เมืองพาราณสี เมื่อออกพรรษาและได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จฯ เรียบร้อยแล้ว เป็นปี พ.ศ.๒๔๙๘ ท่านพ่อลี จึงได้ออกไปจำพรรษาที่วัดอโศการาม ในระหว่างนี้ได้เริ่มคิดดำริจัดงานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ การดำริในเรื่องนี้ ท่านได้ดำริมานานปีแล้ว คือเริ่มดำริตั้งแต่ปีที่ได้เดินทาง ออกมาจากดงบ้านผาแด่นแสนกันดาร( เชียงใหม่) วัดอโศการาม ได้รับการพัฒนาสืบเนืองมาโดยลำดับ แม้หลังท่านพ่อลีได้มรณภาพไปแล้ว (ปี พ.ศ.๒๕๐๔) ได้มีการขยายพื้นที่ออกไปทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของวิหารสุทธิธรรมรังสีในปัจจุบัน พร้อมกันนั้นก็ได้ทำการสร้างพระธุตังคเจดีย์ ที่ท่านพ่อได้วางแบบเอาไว้ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เป็นปูชนียสถานประดิษฐานพระบรมสารีริธาตุ ไว้เป็นที่สักการะของเหล่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายชื่อว่า "ธุตังคเจดีย์" เป็นเจดีย์หมู่ ๑๓ องค์ วัดอโศการามเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานภาวนาที่ท่านพ่อลี ได้วางรากฐานไว้ เหล่าศิษยานุศิษย์ได้ปฏิบัติสืบๆ กันมาตราบเท่าทุกวันนี้ โดยเฉพาะหลักอานาปานสติกัมมัฏฐานะ เป็นหลักฐานให้แก่ผู้สนใจได้ศึกษาทดลองปฏิบัติ จนเป็นที่น่าพอใจสมควรแก่การปฏิบัติของแต่ท่าน จวบจนปัจจุบัน

ชื่่ออโศการาม
จากหมายเหตุที่ท่านพ่อได้ปรารภไว้ใน หนังสือชีวประวัติของท่าน ความว่า การตั้งชื่อวัดอโศการามนี้ มิใช่ได้คิดขึ้น ในคราวที่ตั้งได้คิดชื่อนี้ขึ้น ตั้งแต่ปีจำพรรษาอยู่ที่ตำบลสารนารถ เมืองพาราณสี ได้เอานามของท่านผู้มีคุณวุฒิ เป็นฉายาลักษณ์ของผู้ทรงคุณ ฉะนั้นจึงได้สร้างพระรูปนี้ขึ้นประกอบในนามของวัด เพื่อเป็นสวัสดิมงคลสืบต่อไป แต่ที่จริงชื่อวัดอันนี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์เคยรับสั่งเล่าให้ฟัง อันเป็นสิ่งที่น่ากลัวจะไม่สำเร็จในงานอันนั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ได้ทำรายงานยืนไปตามระเบียบการคณะสงฆ์ ก็ไม่มีท่านสังฆมนตรีองค์ใดองค์หนึ่งคัดค้าน ว่าไม่เหมาะสม เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็พอใจ
   ที่มาข้อมูล : เว็บไซต์ วัดอโศการามดอทคอม
























ไม่อยากให้พลาด...มีโอกาสเชิญแวะมาชมให้เป็นบุญตา
กุฏิพระ สร้างอย่างหรูหรา มีรั้วรอบขอบชิด นับสิบหลัง 
(บ้านจัดสรรราคาแพงอย่างไรอย่างนั้น)





กดอ่านประวัติท่านพ่อลี ธมมฺธโรที่ตัวอักษรสีเทาด้านล่างนี้ค่ะ
http://www.sookjai.com/index.php?topic=171220.msg201393;topicseen#msg201393
3196  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ: 24 มีนาคม 2559 13:44:15





พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒๔ แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พุทธศักราช ๒๑๗๒-๒๑๙๙) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังบางปะอินในบริเวณที่ร่มรื่นบนเกาะบางปะอิน กลางแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นพระราชเคหสถานเดิมของพระองค์

พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ในสมัยอยุธยาได้ประพาสพระราชวังบางปะอินเสมอมา จวบจนสิ้นกรุงศรีอยุธยาพระราชวังแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้างไป

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังพระราชวังบางปะอิน ทรงมีพระราชดำริให้รื้อฟื้นความงดงามของพระราชวังบางปะอินให้ปรากฏอีกครั้งหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระราชวังเดิมและวัดชุมพลนิกายาราม และให้สร้างพระที่นั่งขึ้นกลางสระน้ำ พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์”

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยในพระราชวังบางปะอินเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความร่มรื่นด้วยสวนมะม่วง เงียบสงบ และอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ แล้วสร้างพระตำหนักและพระที่นั่งเพิ่มขึ้นอีกหลายองค์ โดยเสด็จพระราชดำเนินมาประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถส่วนพระองค์และรับรองพระราชอาคันตุกะอยู่เสมอตลอดรัชกาล

พระราชวังบางปะอินมีศิลปะสถาปัตยกรรมที่งดงามแปลกตาน่าชม เนื่องจากแสดงถึงลักษณะของศิลปะสถาปัตยกรรมนานาชาติ ตั้งแต่ไทย ยุโรป จีน และเขมรโบราณ  ภายในพระราชวังยังประกอบด้วยพระนั่งและอาคารสำคัญซึ่งมีนามคล้องจองกัน ๕ องค์ ได้แก่ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพอาสน์ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ หอวิฑูรทัศนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับพระราชวังบางปะอินหลายครั้ง ทรงใช้เป็นสถานที่รับรองพระราชอาคันตุกะระดับประมุขของประเทศหลายพระองค์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระนั่งและอาคารต่างๆ ในพระราชวังบางปะอินให้มีสภาพสวยงามมั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะในพุทธศักราช ๒๕๓๗ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรขึ้นใหม่โดยใช้วัสดุคอนกรีตตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกของพระที่นั่งองค์เดิมซึ่งทำด้วยไม้แต่ถูกเพลิงไหม้เสียหายไปแล้ว เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๑
...ที่มา - นิตยสารศิลปากร









 เหมมณเฑียรเทวราช
เป็นศาลประดิษฐานเทวรูป รัชกาลที่ ๕โปรดให้สร้างขึ้นตรงศาลเดิม
ที่ชาวบ้านสร้าง อุทิศถวายสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

--------------------




พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า




พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี




พระตำหนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์


เรือนเจ้าจอม เอี่ยม เอิบ อาบ เอื้อน
เจ้าจอมมารดาอ่อน


เรือนเจ้าจอมมารดาแส

หมู่พระตำหนักและเรือนพัก
ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นในของพระราชวังบางปะอิน
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น
สำหรับเป็นที่ประทับและพำนักของเจ้านายฝ่ายในเมื่อเสด็จแปรพระราชฐาน
ณ พระราชวังแห่งนี้

3197  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / ประวัติท่านพ่อลี ธมมฺธโร วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ เมื่อ: 24 มีนาคม 2559 13:40:25



ประวัติท่านพ่อลี ธมมฺธโร
วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ


ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
พระอาจารย์ ลี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เวลา ๒๑.๐๐ น. เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๔๙ บ้านเกิดคือบ้านหนองสองห้อง ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านนี้มีบ้านประมาณ ๘๐ หลังคาเรือน แบ่งออกเป็น ๓ คุ้ม คือหมู่บ้านน้อยหนึ่ง หมู่บ้านในหนึ่ง และหมู่บ้านนอกหนึ่ง ที่หมู่บ้านนอกนี้มีวัดตั้งอยู่   พระอาจารย์ลีได้เกิดในหมู่บ้านที่มีวัดตั้งอยู่ บ้านทั้ง ๓ คุ้มนี้มีหนองน้ำอยู่ตรงกลาง ๓ หนองบริเวณรอบๆ หมู่บ้านมีต้นยางใหญ่ขึ้นอยู่ล้อมรอบนับเป็นสิบๆ ต้น ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านมีเนินบ้านเก่า 

นามเดิมของพระอาจารย์ลี คือ นายชาลี เป็นบุตรของนายปาว นางพ่วย นารีวงศ์ ปู่ชื่อจันทารี ย่าชื่อนางสีดา ตาชื่อนันทะเสย ยายชื่อนางดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๙ คน เป็นชาย ๕ คน เป็นหญิง ๔ คน เมื่อเกิดมาได้ ๙ วัน มีอาการรบกวนพ่อแม่เป็นการใหญ่ เช่น ร้องไห้เสมอๆ ถึงกับโยมทั้งสองได้แตกจากกันไปหลายวัน เมื่อโยมผู้หญิงออกไฟได้ ๓ วัน ตัวเองเกิดโรคป่วยไม่กินไม่นอนเป็นเวลาหลายวัน เลี้ยงยากที่สุด พ่อกับแม่ไม่มีใครสามารถจะเลี้ยงให้ถูกใจได้

ต่อมาอายุได้ ๑๑ ปี มารดาถึงแก่กรรม ยังมีน้องเล็กๆ คนหนึ่งเป็นผู้หญิงได้เลี้ยงดูกันมาส่วนคนอื่นๆ เขาโตแล้วต่างพากันไปทำมาหากิน ยังเหลืออีก ๒-๓ คน พ่อลูกพากันทำนาเป็นอาชีพ พออายุได้ราว ๑๒ ปี ได้เรียนหนังสือไทยพออ่านออกเขียนได้ สอบชั้นประถมก็ตกเสียอีก ช่างมันแต่จะเรียนไปจนหมดเวลา พอดีอายุ ๑๗ ปี จึงได้ออกจากโรงเรียน ต่อจากนั้นมาก็คิดหาแต่เงินกันเท่านั้นในระหว่างนี้เกิดมีการขัดอกขัดใจกับโยมผู้ชายบ่อยๆ คือโยมต้องการให้ทำการค้าขายของที่ไม่ชอบ เช่น ไปหาซื้อหมูมาขาย ซื้อวัวมาขาย เป็นต้น ถึงเวลาอยากจะไปทำบุญก็คอยขัด การงานก็คอยขัดคอเสมอ บางทีต้องการไปทำบุญกับเขา ก็หายอมให้ไปไม่ กลับบอกให้ไปทำไร่ทำนาเสีย บางวันน้อยใจนั่งร้องไห้อยู่คนเดียวกลางทุ่งนา นึกแต่ในใจว่าเราจักไม่อยู่ในหมู่บ้านนี้ แต่ก็ต้องอดทนอยู่ไปก่อน ต่อมาบิดาได้ภรรยาใหม่คนหนึ่งชื่อ แม่ทิพย์ ตอนนี้ค่อยสบายใจขึ้นหน่อย



ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
พอดีอายุครบ ๒๐ ปี ตรงกับ พ.ศ.๒๔๖๘ โยมมารดาเลี้ยงถึงแก่ความตาย ขณะนั้นได้ไปอยู่กับญาติที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม พอปลายเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้กลับขึ้นไปบ้าน โยมบิดาก็แนะนำให้บวช วันนั้นมีเงินติดตัวอยู่ประมาณ ๑๖๐ บาท เมื่อไปถึงบ้านใหม่ๆ พี่ชาย พี่เขย พี่สาว ฯลฯ ก็พากันมากลุ้มรุมเยี่ยมเยือนถามข่าวคราวต่างๆ แล้วขอกู้เงินยืมเงินไปซื้อควายบ้าง ซื้อนาบ้าง ค้าขายบ้าง ก็ยินยอมให้เงินเขาไปตามที่ต้องการ เพราะตัวเองคิดจะบวช ตกลงเงิน ๑๖๐ บาท ที่มีอยู่คงเหลือเพียง ๔๐ บาท ถึงเวลาเทศกาลบวชนาค โยมบิดาก็จัดแจงให้บวชจนสำเร็จ ได้ทำการบวชเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ มีเพื่อนบวชด้วยกันในวันนั้นรวม ๙ รูป พอล่วงถึงพรรษาที่ ๒ จึงตั้งใจอธิษฐานว่า "เวลานี้ข้าพเจ้ายังมุ่งดีหวังดีต่อพระศาสนาอยู่ในกาลต่อไปนี้ ขอจงให้พบครูบาอาจารย์ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบภายใน ๓ เดือน" 

ต่อมาเดือนพฤศจิกายนข้างแรม ได้ไปเทศน์มหาชาติที่วัดบ้านโนนรังใหญ่ ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ พอดีไปพบพระกรรมฐานรูปหนึ่งกำลังเทศน์อยู่บนธรรมาสน์รู้สึกเกิดแปลกประหลาดในจิตขึ้นโดยโวหารของธรรมะน่าเลื่อมใส จึงได้ไต่ถามญาติโยมว่าท่านองค์นั้นคือใคร มาจากไหน ได้รับตอบว่า "เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ชื่ออาจารย์บท" ท่านได้พักอยู่ในป่ายางใหญ่ใกล้บ้านราว ๒๐ เส้น พองานมาหาชาติเสร็จก็ได้ติดตามไปดู ได้เห็นปฏิปทาความประพฤติของท่านเป็นที่พอใจ จึงถามท่านว่าใครเป็นอาจารย์ของท่าน ท่านตอบว่า "พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ เวลานี้พระอาจารย์มั่นได้ออกเดินทางจากจังหวัดสกลนครไปพักอยู่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี" พอได้ความเช่นนั้นก็รีบเดินทางกลับบ้าน นึกแต่ในใจว่า "เราคงสมหวังแน่"  อยู่มาไม่กี่วันจึงได้ลาโยมผู้ชาย ลาพระอุปัชฌาย์ ท่านทั้งสองนี้ก็พูดจาขัดขวางทุกด้านทุกมุม แต่ได้ตัดสินใจเด็ดขาดว่า "เราต้องไปจากบ้านนี้โดยเด็ดขาด จะให้สึกก็ต้องไป จะให้อยู่เป็นพระก็ต้องไป พระอุปัชฌาย์ และโยมผู้ชายไม่มีสิทธิ์ใดๆ ทั้งหมด ถ้าขืนก้าวก่ายสิทธิ์ในตัวเรานาทีใด ต้องลุกหนีไปนาทีนั้น" ได้พูดกับโยมผู้ชายอย่างนี้ ในที่สุดโยมผู้ชายและพระอุปัชฌาย์ก็ยอม

เดือนอ้ายข้างแรม เวลาเพลแล้ว ประมาณ ๑๓.๐๐ น. ได้ออกเดินทางพร้อมด้วยบริขารโดยลำพังรูปเดียว โยมผู้ชายได้ติดตามออกไปส่งถึงกลางทุ่งนา เมื่อได้ร่ำลากันแล้วต่างคนก็ต่างไป วันนั้นเดินทางผ่านอำเภอม่วงสามสิบมุ่งไปสู่จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ ๑๐ กิโลเมตรเศษ  พอดีพระบริคุตฯ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายอำเภอม่วงสามสิบถูกปลดออกจากราชการขี่รถยนต์ผ่านมาพบเรากำลังเดินทางอยู่คนเดียว ท่านผู้นี้ได้นิมนต์ขึ้นรถขนย้ายครอบครัวของท่าน ไปส่งถึงสนามบินจังหวัดอุบลฯ ทางไปบ้านกุดลาด บัดนี้ก็ยังระลึกถึงบุญคุณของท่านผู้นี้อยู่ ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันเลยประมาณ ๕ โมงเย็นเดินทางถึงสำนักวัดป่าบ้านกุดลาด แต่ได้ทราบว่าพระอาจารย์มั่นกลับมาพักอยู่วัดบูรพา รุ่งเช้าเมื่อฉันอาหารแล้วได้เดินเท้ากลับมาจังหวัดอุบลฯ ได้ไปนมัสการกราบเรียนความประสงค์ของตนต่อพระอาจารย์มั่น ท่านก็ได้ช่วยแนะนำสงเคราะห์เป็นที่พอใจสอนคำภาวนาให้ว่า "พุทโธ" เพียงคำเดียวเท่านี้  พอดีท่านกำลังอาพาธ ท่านได้แนะนำให้ไปพักอยู่บ้านท่าวังหิน ซึ่งเป็นสถานที่เงียบสงัดวิเวกดี ที่นั่นมีพระอาจารย์สิงห์ พระมหาปิ่น มีพระภิกษุสามเณรราว ๔๐ กว่ารูปพักอยู่ ได้เข้าไปฟังธรรมเทศนาของท่านทุกคืนรู้สึกว่ามีผลเกิดขึ้นในใจ ๒ อย่างคือ เมื่อนึกถึงเรื่องเก่าๆ ของตนที่เป็นมาก็ร้อนใจ เมื่อนึกถึงเรื่องใหม่ๆ ที่กำลังประสบอยู่ก็เย็นใจ ทั้ง ๒ อารมณ์นี้ติดตนอยู่เสมอ พอดีได้พบเพื่อนที่หวังดี ๒ รูป ได้ร่วมอยู่ ร่วมฉัน ร่วมศึกษาสนทนากันตลอดมา เพื่อน ๒ รูปนั้นคือพระอาจารย์กงมาและพระอาจารย์สาม ได้พากเพียรพยายามภาวนาอยู่เสมอทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อได้พักอยู่พอสมควรแล้ว ก็ได้ชวนพระอาจารย์กงมาออกเดินทางไปเรื่อยๆ ไปพักตามศาลเจ้าผีปู่ตาของหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ แล้วได้เดินทางกลับไปถึงบ้านเดิม เพื่อบอกข่าวกุศลให้โยมผู้ชายทราบว่าได้พบพระอาจารย์มั่นเป็นที่พอใจในชีวิตแล้ว อาตมาจักไม่กลับมาตายบ้านนี้ต่อไป คือได้นึกเป็นคติในใจอยู่ว่า "เราเกิดมาเป็นคน ต้องพยายามไต่ขึ้นอยู่บนหัวคน เราบวชเป็นพระ ต้องพยายามให้อยู่บนหัวพระที่เราเคยพบผ่านมา ตอนนี้รู้สึกว่าเกิดสมหวังในความคิด ฉะนั้น จึงกลับบอกเล่าให้โยมฟังว่า "ฉันลาไม่กลับ เงินทองข้าวของใช้ส่วนตัวมอบเสร็จ ทรัพย์สินเงินทองของโยม จักไม่เกี่ยวข้องตลอดชีวิต" โยมป้าได้ทราบเรื่องก็มาพูดต่อว่า ว่า "ท่านจะเกินไปละกระมัง"  จึงได้ตอบไปว่า "ถ้าฉันสึกมา ถ้าฉันมาขอข้าวป้ากินขอให้ป้าเรียกฉันว่าสุนัขก็แล้วกัน"

เมื่อได้ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วเช่นนี้ก็ได้สั่งกับโยมผู้ชายว่า "โยมอย่าเป็นห่วงอาตมาจะบวชอยู่ได้ก็ตาม จะสึกออกมาก็ช่าง อาตมาพอใจแล้วที่ได้สมบัติจากโยม ได้ทรัพย์วิเศษจากโยม คือ ตา ๒ ข้าง หู ๒ ข้าง จมูก ปาก ครบอาการ ๓๒ จัดเป็นก้อนทรัพย์อย่างสำคัญแม้โยมจะให้ทรัพย์อย่างอื่น อาตมาก็ไม่อิ่มใจ" เมื่อได้สั่งโยมผู้ชายเสร็จแล้ว ก็ลาโยมผู้ชายเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี เดินทางไปถึงหมู่บ้านวังถ้ำ ก็ได้พบพระอาจารย์มั่นพักอยู่ในป่าจึงได้เข้าไปพักอาศัยอบรมอยู่กับท่านเป็นเวลาหลายวัน

เที่ยวจาริกสัญจรไปในระหว่างเวลาออกพรรษาทุกปี การทำเช่นนี้ก็เพราะได้คิดเห็นว่าการที่จะอยู่ประจำวัดเฉยๆ ก็เปรียบเหมือนรถไฟที่จอดนิ่งอยู่ที่สถานีหัวลำโพงประโยชน์ของรถไฟที่จอดอยู่กับที่มีอะไรบ้าง ทุกคนคงตอบได้ ฉะนั้น ตัวเราเองจะมานั่งอยู่ที่เดียวนั้น เป็นไปไม่ได้จำเป็นจะต้องออกสัญจรอยู่อย่างนี้ตลอดชาติในภาวะที่ยังบวชอยู่

ต่อจากนั้นก็ได้ดำริว่า "เราต้องสวดญัตติใหม่ ล้างบาปเก่าเสียที" เมื่อได้หารือพระอาจารย์มั่นแล้วท่านเห็นดีเห็นชอบด้วย จึงได้ทำการหัดขานนาค เมื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้ติดตามท่านไปเที่ยวในตำบลต่างๆ ได้รู้สึกมีความเลื่อมใสท่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้รับความอัศจรรย์จากท่านหลายอย่าง อาทิเช่น บางเรื่องคิดอยู่ในใจของเราไม่เคยแสดงให้ท่านทราบเลย ท่านกลับทักทายถูกต้อง ก็ยิ่งเพิ่มความเคารพเลื่อมใสยิ่งขึ้นทุกที การทำสมาธิก็หนักแน่นหมดความห่วงในอะไรต่ออะไรหลายๆ อย่างได้อบรมอยู่กับท่านเป็นเวลา ๔ เดือน ท่านก็ได้นัดหมายให้ไปสวดญัตติใหม่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลฯ มีพระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) วัดสระปทุม จังหวัดพระนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เพ็ง วัดใต้ จังหวัดอุบลฯ เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มั่นเป็นผู้บรรพชาให้เป็นสามเณร ได้อุปสมบทใหม่ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๐ อุปสมบทเสร็จแล้ว ๑ วัน ก็ได้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัดคือฉันมื้อเดียว ได้พักอยู่วัดบูรพาคืนเดียวก็ได้ออกไปอยู่ป่าบ้านท่าวังหินตามเคย

การประพฤติเช่นนี้ บางครั้งหมู่คณะก็ตำหนิโทษ บางคราวก็ได้รับคำชมเชย แต่ตนเองเห็นว่าได้ผลทั้งนั้น เพราะได้รู้จักภูมิประเทศเหตุการณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีของพระศาสนาในที่ต่างๆ บางอย่างเราอาจโง่กว่าเขา บางอย่าง บางหมู่คณะ บางสถานที่เขาอาจดีกว่าเรา ฉะนั้น การสัญจรไปจึงไม่ขาดทุน นั่งอยู่นิ่งๆ ในป่าก็ได้ประโยชน์ ถ้าถิ่นไหนเขาโง่กว่าเรา เราก็เป็นอาจารย์ให้เขา หมู่ไหนฉลาดกว่าเรา เราก็ยอมตนเป็นศิษย์เขา ฉะนั้น การสัญจรไปมาจึงไม่เสียประโยชน์ อีกประการหนึ่งที่เราชอบไปอยู่ตามป่าดงนั้น ได้เกิดความคิดหลายอย่าง คือ
     ๑. ให้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร แสดงตนเป็นผู้ขอ แต่พระองค์ไม่ให้แสดงตนเป็นคนยากจน เช่น เขาให้เท่าไร ก็ยินดีเท่านั้น
     ๒. พระองค์ทรงสอนให้ไปอยู่ในที่สงัด ที่เรียกว่า "รุกขมูลเสนาสนะ"  มีบ้านร้าง สัญญาคาร หิมมิยัง เงื้อมผา คูหาถ้ำ สถานที่ต่างๆ เหล่านี้ มีปัญหาว่าพระองค์ทรงเห็นประโยชน์อะไรหรือ จึงได้สอนเช่นนั้น แต่ตัวเองก็นึกเชื่ออยู่ในใจว่า ถ้าเรื่องเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ พระองค์คงไม่สอน ถึงกระนั้นก็ยังมีความรู้สึกลังเลใจอยู่ จนเป็นเหตุให้สนใจในเรื่องนี้
     ๓. พระองค์สอนให้ถือผ้าบังสุกุลเป็นเครื่องใช้สอย ตลอดจนให้ถือเอาผ้าพันผีตายมาใช้นุ่งห่ม ก็เป็นเหตุให้ตัวเองนึกถึงเรื่องตายว่าการนุ่งห่มผ้าพันผีตายมีประโยชน์อะไรบ้าง ข้อนี้พอได้ความง่ายๆ คิดดูโดยหลักธรรมดาก็จะเห็นได้ว่า ของตายนั้นไม่มีใครต้องการอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือของตายเป็นของไม่มีพิษไม่มีโทษในข้อนี้พอจะน้อมนึกตรึกตรองได้อยู่บ้าง ว่าพระองค์ได้สอนไม่ให้เป็นผู้ทะนงตัวในปัจจัยลาภ
     ๔. พระองค์สอนให้บริโภคยารักษาโรคที่หาได้อย่างง่ายๆ เช่น ให้ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า คำสอนต่างๆ ของพระองค์ดังกล่าวมาข้างต้นนี้ เมื่อเราได้รับฟังเข้าแล้วเป็นเหตุให้เกิดความสนใจ แต่เมื่อสรุปแล้วจะได้รับผลหรือไม่ได้รับผลก็ตาม แต่เรามีความเชื่อมั่นอยู่อย่างหนึ่งว่าพระองค์ไม่ใช่บุคคลที่งมงาย เรื่องใดที่ไม่มีเหตุผลพระองค์คงไม่ทรงสั่งสอนเป็นอันขาด

ฉะนั้น จึงได้มาระลึกนึกคิดว่า ถ้าเราไม่เชื่อในคำสอนของพระองค์ เราก็ควรยอมรับถือตามโอวาท หรือถ้าเราไม่เชื่อความสามารถของผู้สอนเรา เราก็ควรทำตามไปก่อนโดยฐานะที่ทดลองดูเพื่อเป็นการรักษาสังฆประเพณี ระเบียบแบบแผนของผู้ที่เราเคารพนับถือกราบไหว้เอาไว้ก่อนอีกประการหนึ่ง ได้ระลึกถึงคำพูดของพระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นผู้ถือเคร่งครัดในธุดงค์ เช่น ถือการอยู่ป่า ฉันอาหารแต่มื้อเดียว ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ท่านได้ขอปฏิบัติตัวของท่านอย่างนี้ตลอดชีพ ในเรื่องนี้พระองค์ได้ทรงซักถามพระมหากัสสปะว่า "ท่านเป็นผู้สิ้นอาสวะแล้ว ท่านขวนขวายเพื่อเหตุอะไร"  พระมหากัสสปะตอบว่า "ข้าพระองค์มุ่งประโยชน์ของกุลบุตรผู้จะเกิดตามสุดท้ายภายหลังไม่ได้มุ่งประโยชน์ส่วนตัว เมื่อข้าพระองค์ไม่ทำ จะเอาใครเป็นตัวอย่าง เพราะการสอนคนนั้นถ้ามีตัวอย่างสอนได้ง่าย เปรียบเสมือนการสอนภาษาหนังสือเขาทำแบบหรือรูปภาพประกอบการสอน เป็นเหตุให้ผู้เรียนเรียนได้สะดวกขึ้นอีกมาก ข้าพระองค์ประพฤติเช่นนี้ฉันใดก็ฉันนั้น"

เมื่อได้ระลึกถึงคำพูดของพระมหากัสสปะ ซึ่งได้ทูลตอบพระบรมศาสดาเช่นนี้ ก็สงสารพระมหากัสสปะ ท่านอุตส่าห์ตรากตรำทรมาน ถ้าเปรียบในทางโลกท่านก็เป็นถึงมหาเศรษฐีควรได้นอนที่นอนที่ดีๆ กินอาหารที่ประณีต ตรงกันข้าม ท่านกลับสู้อุตส่าห์มาทนลำบากนอนกลางดินกินกลางหญ้า ฉันอาหารก็ไม่ประณีต เปรียบเทียบตัวเราเสมอเพียงแค่นี้ จะมาหาแต่ความสุขใส่ตัวแค่อามิส ก็บังเกิดความละอายใจ สำหรับพระมหากัสสปะ เวลานั้นท่านจะบริโภคอาหาร นั่ง นอน ในที่สวยงามเท่าไรก็ตาม ย่อมไม่มีปัญหาใดๆ ที่จะเป็นไปเพื่ออาสวะกิเลสเสียแล้ว แต่ว่าเป็นของไม่แปลก ท่านกลับเห็นประโยชน์ที่จะเกิดแก่บรรดาสานุศิษย์

ฉะนั้น เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นข้อสะกิดใจเรามานับตั้งแต่เริ่มบวชในครั้งแรก



วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ


พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าอโศกมหาราช วัดอโศการาม 

เมื่อพูดถึงเรื่องการอยู่ป่า ก็เป็นของแปลกประหลาดเตือนใจเราอยู่มาก เช่น บางคราวได้มองเห็นความตายอย่างใกล้ชิด และได้รับคำเตือนใจหลายอย่าง บางคราวก็เกิดจากคนในป่า บางคราวก็เห็นพฤติการณ์ของสัตว์ในป่า สมัยหนึ่ง มีตาแก่ยายแก่สองคนผัวเมียพากันไปตักน้ำมันยางในกลางดงใหญ่ เผอิญไปพบหมีใหญ่ตัวหนึ่ง ได้เกิดการต่อสู้กันขึ้น เมียหนีขึ้นต้นไม่ทัน แล้วร้องตะโกนบอกผัวว่า "ถ้าสู้มันไม่ไหว ให้ลงนอนหงายนิ่งๆ ทำเหมือนคนตายอย่ากระดุกกระดิกฝ่ายผัวพอ ได้ยินเมียร้องบอกดังนั้นก็ได้สติ แกจึงแกล้งล้มนอนแผ่ลงกลางพื้นดิน และนอนนิ่งๆ ไม่ไหวตัว เมื่อหมีเห็นดังนั้นก็ขึ้นคร่อมตัวตาแก่ไว้ ปล่อยมือปล่อยตีน ไม่ตะปบตาแก่อีกเป็นแต่มองดูตาแก่ที่กำลังนอนหงายอยู่นั้น ตาแก่ก็ได้แต่นอนบริกรรมภาวนาได้คำเดียวว่า "พุทโธ พุทโธ" พร้อมทั้งนึกในใจว่า "เราไม่ตาย" หมีก็ดึงขา ดึงศีรษะแก แล้วใช้ปากดันตัวแกทางซ้ายทางขวา แกก็ทำเป็นนอนตัวอ่อนไปอ่อนมาไม่ยอมฟื้น หมีเห็นดังนั้นก็คิดว่าตาแก่คงตายแล้ว มันจึงหนีไป ต่อจากนั้นสักครู่หนึ่งแกก็ลุกขึ้น เดินกลับบ้านกับเมีย บาดแผลที่แกได้รับคือหัวถลอกปอกเปิกแต่ไม่ตาย แกก็สรุปให้ฟังว่า "สัตว์ป่าต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเราเห็นว่าจะสู้ไม่ไหว ต้องทำตัวเหมือนคนตาย"

เมื่อเราได้ฟังแกเล่าแล้ว ก็ได้ความรู้ขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า คนตายไม่มีใครต้องการเราอยู่ในป่าเราก็ควรทำตนเหมือนคนตาย ฉะนั้นใครจะว่าดีหรือชั่วประการใด เราต้องนิ่ง สงบกาย วาจา ใจ จึงจะรอดตาย เป็นอุทาหรณ์เตือนใจได้อีกอย่างหนึ่งในทางธรรมะว่า "คนที่จะพ้นตาย ต้องทำตนเหมือนคนตาย" ก็เป็นมรณัสสติเตือนใจได้เป็นอย่างดี

อีกครั้งหนึ่ง ได้ไปพักอยู่ในดงใหญ่แห่งหนึ่ง วันหนึ่งเวลาเช้าสายๆ ได้พาลูกศิษย์ออกบิณฑบาต พอเดินผ่านดงไป ได้ยินเสียงแม่ไก่ร้อง "กะต๊ากๆ" ฟังเสียงดูเป็นเสียงไก่แม่ลูกอ่อน เพราะเมื่อส่งเสียงร้องแล้ว ไม่ยอมบิน จึงให้ลูกศิษย์วิ่งไปดูแม่ไก่ตกใจก็บินข้ามต้นไม้สูงหนีไป เห็นลูกไก่วิ่งอยู่หลายตัว มันพากันวิ่งหนีเข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในกองใบไม้ร่วง แล้วทุกตัวก็นิ่งเงียบ ไม่ยอมไหวตัวไม่ยอมกระดุกกระดิก แม้จะเอาไม้คุ้ยเขี่ยดู ก็ไม่ยอมกระดุกกระดิก เด็กลูกศิษย์ไปหาอยู่พักหนึ่ง ไม่ได้พบลูกไก่เลยแม้แต่ตัวเดียว แต่เรานึกในใจว่ามันไม่ได้หนีไปไหนแต่มันทำตัวเหมือนใบไม้ร่วง ในที่สุดลูกไก่ตัวนิดๆ จับไม่ได้สักตัวเดียว เรื่องนี้ก็เป็นเหตุให้นึกถึงสัญชาติญาณการป้องกันภัยของสัตว์ ว่ามันก็มีวิธีการที่ฉลาด มันทำตัวของมันให้สงบ ไม่มีเสียงในกองใบไม้ร่วง จึงได้เกิดการนึกเปรียบเทียบขึ้นในใจตนเองว่า "ถ้าเราอยู่ในป่า ทำจิตให้สงบไม่ไหวตัวเช่นเดียวกับลูกไก่ เราก็ต้องได้รับความปลอดภัย พ้นความตายแน่นอน" ก็เป็นคติเตือนใจได้อีกเรื่องหนึ่ง

นอกจากนี้ เมื่อนึกถึงธรรมชาติอื่นๆ เช่น ต้นไม้ เถาวัลย์ สัตว์ป่า แต่ละอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องปลุกใจได้เป็นอย่างดี เช่น เถาวัลย์บางชนิดพันต้นไม้ไม่มีเลี้ยวไปทางทิศทางอื่น ต้องพันเลี้ยวไปทางทักษิณาวัตรเสมอ สังเกตเห็นเช่นนี้ก็มาระลึกถึงตัว หากเราจะทำจิตให้ก้าวไปสู่ความดีอันยิ่งยวด เราต้องเอาอย่างเถาวัลย์คือเดินทางทักษิณาวัตร เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า "กายกมฺม วจีกมฺมํ มโนกมฺมํ ปทกฺขิณ" ฉะนั้น เราต้องทักษิณาวัตร คือเวียนไปทางทักษิณเสมอ นั่นคือเราต้องทำตนให้เหนือกิเลสที่จะลุกลามใจ มิฉะนั้นเราก็สู้เถาวัลย์ไม่ได้ ต้นไม้บางชนิดแสดงความสงบให้เราเห็นด้วยตา ที่เราเรียกกันว่า "ต้นไม้นอน" ถึงเวลากลางคืนมันหุบใบ หุบก้าน เมื่อเราไปนอนอยู่ใต้ร่มไม้ต้นนั้น จะมองเห็นดาวเดือนอย่างถนัดในเวลากลางคืน แต่พอถึงเวลากลางวันแผ่ก้านแผ่ใบมืดทึบอย่างนี้ก็มี เรื่องเหล่านี้ก็ล้วนเป็นคติเตือนใจว่า ขณะเรานั่งสมาธิหลับตาภาวนานั่นก็ให้หลับตา ส่วนใจเราต้องให้สว่างไสว เหมือนต้นไม้นอนในเวลากลางคืน ซึ่งใบไม้ปิดตาเรา เมื่อระลึกนึกคิดได้อย่างนี้ ก็ได้แลเห็นประโยชน์ของการอยู่ป่า จิตใจก็เกิดความห้าวหาญธรรมะธรรมโมที่ได้เรียนมาหรือที่ยังไม่ได้เรียนรู้ ก็ได้ผุดมีขึ้น เพราะธรรมชาติเป็นผู้สอน จึงได้มานึกถึงหลักวิทยาศาสตร์ของโลกที่ทุกประเทศพากันทำฤทธิ์ทำเดชต่างๆ นานา และทำได้อย่างสูงๆ น่ามหัศจรรย์ ล้วนแต่ไม่ปรากฏว่ามีตำราในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมาแต่ก่อน นักวิทยาศาสตร์พากันคิดได้จากหลักธรรมชาติ ซึ่งปรากฏมีอยู่ในโลกนี้ทั้งสิ้น เรามาหวนคิดถึงธรรมะก็มีอยู่ตามธรรมชาติเหมือนวิทยาศาสตร์นั่นเอง เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็หมดห่วงในเรื่องการเรียนแล้วมาระลึกถึงพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ล้วนแต่ได้เรียนสำเร็จจากหลักธรรมชาติทั้งนั้นไม่ปรากฏว่าเคยมีตำรับตำรามาแต่ก่อน

ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ตัวเราจึงยอมโง่ทางแบบและตำราต้นไม้บางชนิดมันนอนกลางคืนแต่ตื่นกลางวัน บางชนิดก็นอนกลางวันแต่ตื่นกลางคืน สัตว์ป่าก็เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังได้ความรู้จากพฤกษชาติ ซึ่งมันคลายรสในตัวของมันออก บางชนิดก็เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย บางชนิดก็เป็นโทษแก่ร่างกาย อาทิเช่น บางคราวเราเป็นไข้เมื่อเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิดอาการไข้ก็หายไป บางคราวเราสบายดี แต่พอเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด ธาตุก็เกิดแปรปรวน บางคราวเราหิวข้าวหิวน้ำ แต่พอเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด อาการหิวเหล่านั้นก็หายไป การได้ความรู้ต่างๆ จากพฤกษชาติเช่นนี้ เป็นเหตุให้นึกถึงแพทย์แผนโบราณ ซึ่งนิยมสร้างรูปฤๅษีไว้เป็นที่เคารพบูชา ฤๅษีนั้นไม่เคยได้เรียนตำรายามาแต่ก่อน แต่มีความสามารถสอนแพทย์แผนโบราณให้รู้จักยารักษาโรคได้ โดยวิธีการเรียนธรรมชาติโดยทางจิตเหมือนอย่างตัวเรานี้เอง น้ำ พื้นแผ่นดินหรืออากาศธาตุก็เช่นเดียวกัน

ฉะนั้น เมื่อทราบเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ เราก็ไม่ค่อยจะสนใจในเรื่องยารักษาโรค คือเห็นว่ามันมีอยู่ทั่วไป ส่วนที่ว่าเรารู้หรือไม่รู้ อันนี้เป็นเรื่องของตัวเราเอง นอกจากนั้นยังมีคุณความดีอย่างอื่นที่จะต้องบริหารตัวเอง นั่นคืออำนาจแห่งดวงจิตที่สามารถทำให้สงบระงับลงได้เท่าไร ก็ยิ่งมีคุณภาพสูงขึ้นไปยิ่งกว่านี้อีกหลายสิบเท่า ซึ่งเรียกว่า "ธรรมโอสถ"

สรุปแล้ว คุณประโยชน์ที่ได้รับในเรื่องการอยู่ป่าที่สงัดเพื่อปฏิบัติทางจิตนี้ เห็นจริงตัดข้อสงสัยในคำสอนของพระตถาคตได้เป็นข้อๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงยอมปฏิบัติตนเพื่อ "วิปัสสนาธุระ" ตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเนื่องในการได้ปฏิบัติทางจิตนี้ ถ้าจะนำมาพรรณนาก็มีอยู่มากมายแต่จะขอกล่าวแต่เพียงสั้นๆ เสมอเพียงเท่านี้


ธรรมโอวาท
     คนที่จะพ้นตาย ต้องทำตนเหมือนคนตาย
     คนกลัวตายจะต้องตายอีก
     ผู้ที่จะพ้นจากภพก็ต้องเข้าไปอยู่ในภพ ผู้ที่จะพ้นจากชาติต้องรู้เรื่องของตัว จึงจะเป็นไปได้
     ถ้าทุกคนมีความคิดเห็นถูกต้อง การปฏิบัตินั้นเป็นเหตุไม่เหลือวิสัย
     ถ้าทุกคนมีความคิดเห็นถูกต้อง การปฏิบัตินั้นเป็นเหตุไม่เหลือวิสัย

ผู้จะต้องถึงมรรคผลนิพพานได้นั้น จะต้องทำทางใจ ถ้าไม่ทำทางนี้แล้ว จะทำการกุศลสักเท่าไร ก็ถึงมรรคผลนิพพานไม่ได้ นิพพานนี้จะต้องถึงด้วยข้อปฏิบัติทางใจเท่านั้น ที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นเหตุแห่งสมาธิ สมาธิเป็นเหตุแห่งปัญญา ปัญญาเป็นเหตุแห่งวิมุตติ สมาธิเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นที่ตั้งแห่งปัญญาและญาณ อันเป็นองค์สำคัญของมรรค แต่จะขาดสมาธิไม่ได้ถ้าขาดแล้วก็ได้แต่จะคิดๆ นึกๆ เอา ฟุ้งซ่านไปต่างๆ ปราศจากหลักฐานสำคัญ

ผู้จะต้องถึงมรรคผลนิพพานได้นั้น จะต้องทำทางใจ ถ้าไม่ทำทางนี้แล้ว จะทำการกุศลสักเท่าไร ก็ถึงมรรคผลนิพพานไม่ได้ นิพพานนี้จะต้องถึงด้วยข้อปฏิบัติทางใจเท่านั้น ที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นเหตุแห่งสมาธิ สมาธิเป็นเหตุแห่งปัญญา ปัญญาเป็นเหตุแห่งวิมุตติ สมาธิเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นที่ตั้งแห่งปัญญาและญาณ อันเป็นองค์สำคัญของมรรค แต่จะขาดสมาธิไม่ได้ถ้าขาดแล้วก็ได้แต่จะคิดๆ นึกๆ เอา ฟุ้งซ่านไปต่างๆ ปราศจากหลักฐานสำคัญ


ปัจฉิมบท
ฉะนั้น ชีวิตความเป็นมาของตน ก็ได้คิดมุ่งอยู่อย่างนี้เรื่อยมา นับตั้งแต่ได้ออกปฏิบัติในทางวิปัสสนากรรมฐานมาแต่ พ.ศ.๒๔๖๙ จนถึง พ.ศ.๒๕๐๒ นี้ได้อบรมสั่งสอนหมู่คณะสานุศิษย์ในจังหวัดต่างๆ ได้สร้างสำนักให้ความสะดวกแก่พุทธบริษัท เช่น จังหวัดจันทบุรี ๑๑ สำนัก การสร้างสำนักนี้มีอยู่ ๒ ทาง คือ

๑.เมื่อลูกศิษย์ได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้น ยังไม่สมบูรณ์ก็ช่วยเป็นกำลังสนับสนุน
๒.เมื่อเพื่อนฝูงได้ดำริสร้างขึ้นยังไม่สำเร็จ บางแห่งก็ขาดพระ ก็ได้ส่งพระที่เป็นศิษย์ไปอยู่ประจำต่อไป มีบางสำนักครูบาอาจารย์ได้ไปผ่านและสร้างขึ้นไว้แต่กาลก่อน ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมและอบรมหมู่คณะเรื่อยมา จนบัดนี้ จังหวัดจันทบุรีมี ๑๑ แห่ง นครราชสีมามีสำนักปฏิบัติ ๒-๓ แห่ง ศรีสะเกษ ๑ แห่ง สุรินทร์ก็มีเพื่อนกรรมฐานทั้งนั้น อุบลราชธานีมีหลายแห่ง นครพนม สกลนคร อุดรธานี ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี ระยอง ตราด ลพบุรี ชัยนาท ตาก นครสวรรค์ พิษณุโลก เป็นวัดที่ผ่านไปอบรมชั่วคราว ไม่มีสำนัก สระบุรีมี ๑ แห่ง อุตรดิตถ์ก็เป็นจุดผ่านไปอบรม ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ นครนายก นครปฐม ได้ผ่านไปอบรมชั่วคราวยังไม่มีสำนัก ราชบุรีได้ผ่านไปอบรมยังไม่มีสำนัก เพชรบุรี มีพระเณรเพื่อนฝูงตั้งสำนักไว้บ้าง ที่ประจวบคีรีขันธ์ได้เริ่มสร้างสำนักที่อำเภอหัวหิน ชุมพรมีสำนักอยู่ ๒-๓ แห่ง สุราษฎร์ธานี ผ่านไปอบรมชั่วคราวไม่มีสำนัก นครศรีธรรมราช ก็ผ่านไปอบรมมีสำนักขึ้นก็รกร้างไป พัทลุง มีศิษย์ผ่านไปอบรมยังไม่มีสำนัก สงขลามีสำนักที่วิเวกหลายแห่ง ยะลา มีศิษย์ไปเริ่มอบรมไว้เป็นพื้น และได้เคยไปอบรม ๒ ครั้ง

ระหว่างออกพรรษาได้สัญจรไปเยี่ยมศิษย์เก่าๆ ของครูบาอาจารย์ที่เคยไปพักผ่อนมาแล้วก็ได้ไปอยู่เสมอมิได้ขาด บางคราวก็ได้หลบหลีกไปบำเพ็ญประโยชน์ส่วนตัวบ้าง นับตั้งแต่ได้อุปสมบทมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๘ แต่มาสวดญัตติใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ จำเดิมแต่นั้นมาปีแรกที่ได้สวดญัตติแล้วได้อยู่จำพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี ๖ พรรษา มาจำพรรษาวัดสระปทุมพระนคร ๓ พรรษา ไปจำพรรษาอยู่ที่เชียงใหม่ ๒ พรรษา จำพรรษาที่จังหวัดนครราชสีมา ๒ พรรษา จังหวัดปราจีนบุรี ๑ พรรษา มาสร้างสำนักที่จันทบุรี จำพรรษาอยู่ ๑๔ พรรษา ต่อจากประเทศอินเดียผ่านประเทศพม่า ไปจำพรรษาที่วัดควนมีด จังหวัดสงขลา ๑ พรรษา จากนั้นได้จำพรรษาที่วัดบรมนิวาส ๓ พรรษา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) มรณภาพแล้วได้ออกไปจำพรรษาอยู่วัดอโศการาม ๔ พรรษา พรรษาที่ ๔ นี้ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๐๒ หลวงพ่อเริ่มอาพาธหนัก ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๒ กระทั่ง พ.ศ.๒๕๐๔ ท่านจึงถึงแก่มรณภาพในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๐๔ รวมอายุ ๕๔ ปี ๓ เดือน
  ที่มาข้อมูล : เว็บไซต์ วัดอโศการามดอทคอม


3198  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / กบฎญวนไกเซิน เมื่อ: 23 มีนาคม 2559 14:56:57


ภาพจาก : iseehistory.socita.com

กบฏญวนไกเซิน

ญวนไกเซิน หรือ ญวนไตเซิน (Try Son) ชื่อกบฏในเมืองญวน  เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ถูกปราบปรามราบคาบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑)

หัวหน้ากบฏญวนไกเซิน คือ พี่น้องสามคน ชื่ออ้ายหยาก อ้ายบาย และอ้ายดาม ตามลำดับ เดิมเป็นโจรป่าอาศัยอยู่เมืองกุยเยิน ซึ่งราชวงศ์เลปกครอง  ขณะนั้น เมืองเว้เกิดจลาจลเนื่องจากราษฎรไม่พอใจการปกครองของเจ้าเมืองและผู้สำเร็จราชการ สามคนพี่น้องได้เกลี้ยกล่อมผู้คน รวบรวมสมัครพรรคพวกได้จำนวนมาก โดยปรึกษากันว่าจะตีเมืองเว้ แต่ก่อนเข้าตีเมือง ทั้งสามพากันไปสามิภักดิ์เจ้าเมืองกวางหนำ และทำราชการอยู่กับเจ้าเมืองกวางหนำเป็นเวลานาน  เจ้าเมืองกวางหนำเห็นว่าอ้ายบาย น้องคนที่สองมีสติปัญญาอุตสาหะ จึงแต่ตั้งเป็นขุนนางมีสิทธิว่าราชการแทนตน ตั้งแต่นั้นมาทั้งสามคนก็ได้รับการเรียกขานว่า องหยาก องบาย และองดาม  

องบายเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าเป็นสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก ส่วนพี่น้องทั้งสองคุมไพร่พลอยู่ในป่า องบายร่วมมือกับเจ้าเมืองตังเกี๋ย ตีเมืองเว้ไว้ในอำนาจ เจ้าเมืองเว้พาองเชียงชุนน้องชายและหลานๆ มีองเชียงสือ เป็นต้น หนีไปอยู่เมืองไซ่ง่อน ต่อมาพี่น้องทั้งสามยกทัพตีเมืองไซ่ง่อนได้เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๙ องเชียงชุนหนีไปอยู่เมืองบันทายมาศ บางแห่งเรียกว่าพุทไธมาส หรือเมืองฮาเตียน ในพงศาวดารญวนกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกกองทัพไปตีเมืองบันทายมาศ แล้วโปรดให้รับองเชียงชุนกับครอบครัวเข้ามาอุปการะที่กรุงธนบุรี แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า องเชียงชุนพาบุตรภรรยาและสมัครพรรคพวกลงเรือเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานบ้านเรือนให้อาศัยอยู่ที่พระนครฝั่งตะวันออก

องหยาก องบาย และองดาม เมื่อปราบเมืองไซ่ง่อนเรียบร้อยแล้วก็ตั้งตนเป็นเจ้า องหยากพี่ชายใหญ่เป็นพระเจ้าแผ่นดินชื่อว่า “ไกเซิน” ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองกุยเยิน องบายชื่อ “บากบินเยือง” บางแห่งเรียกว่า “องติงเวือง” ครองเมืองไซ่ง่อน และองดามน้องสุดท้องชื่อ “องลองเยือง” ครองเมืองเว้ หลังจากตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว เมืองตังเกี๋ยไม่ยอมอ่อนน้อม องลองเยืองจึงยกทัพไปปราบริบทรัพย์สมบัติพร้อมอาวุธมาไว้ที่เมืองเว้ หลานเจ้าเมืองตังเกี๋ย ชื่อ องเจียวทง คุมแค้นไปขอกำลังจากจีนมาช่วยแต่สู้ไม่ได้ จากนั้นองลองเยืองจึงแต่งตั้งองกะวีบุตรชายให้ครองเมืองตังเกี๋ย เมืององลองเยืองเสียชีวิต เหล่าขุนนางจึงยกองกลัก บุตรคนที่สองขององลองเยืองขึ้นเป็นเจ้าเมืองเว้ต่อไป

ต่อมาองเชียงสือตีเมืองไซ่ง่อนคืนจากพวกไกเซิน และได้เป็นเจ้าเมือง ภายหลังพวกไกเซินตีคืน องเชียงสือจึงต้องลงเรือหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ระหว่างที่พำนักอยู่ที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้ยกกองทัพออกไปช่วยปราบปรามพวกไกเซินถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกโปรดให้พระยานครสวรรค์เกณฑ์กองทัพเขมรเข้าร่วมด้วย แล้วยกทัพเรือไปที่เมืองญวน บากบินเยือง หรือองติงเวือง เจ้าเมืองไซ่ง่อนจัดทัพเรือออกรบกองทัพไทยฝีมือเข้มแข็ง สามารถตีกองทัพญวนแตกพ่ายหลายครั้ง ต่อมาพระยานครสวรรค์เป็นกบฏจึงโปรดให้ยกทัพกลับแล้วประหารชีวิตเสีย

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพเรือไปตีเมืองไซ่ง่อน ครั้งนี้องเชียงสือไปในกองทัพด้วย ให้พระยาวิชิตณรงค์ ยกทัพบกไปทางเขมร เกณฑ์กองทัพเขมรเข้าร่วม เมืองไซ่ง่อนจัดกองทัพออกสู้รบจนถึงเทศกาลเดือนสิบสอง มีน้ำหลาก ประกอบกับไทยกำลังมีศึกติดพันกับพม่าจึงมิได้จัดกองทัพใหญ่ไปช่วย กองทัพญวนไกเซินจึงได้รับชัยชนะ

แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จะได้โปรดให้ยกทัพไทยไปช่วยรบกับญวนไกเซินถึง ๒ ครั้ง ก็ยังไม่สำเร็จ องเชียงสือจึงคิดว่าจำต้องหนีออกไปหากำลังที่อื่น โดยขอให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ แห่งฝรั่งเศสส่งกองทหารมาช่วยกู้บ้านเมือง ผ่านสังฆราชแห่งเมืองอาดรัง ฝรั่งเศสรับว่าจะช่วยเหลือ แต่ยังไม่ทันได้ส่งกองทหารมา พอดีมีข่าวว่าไกเซินซึ่งปกครองแผ่นดินญวนเกือบ ๓๐ ปี บาดหมางกัน ราษฎรได้รับความลำบากยากแค้น ส่วนฝรั่งเศสก็เกิดการจลาจล พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ และพระราชวงศ์ถูกปลงพระชนม์ องเชียงสือจึงถือเป็นโอกาสลอบหนีออกไปจากกรุงเทพมหานคร โดยมิได้กราบทูล หวังจะตีเมืองไซ่ง่อนคืนจากพวกไกเซิน และมีหนังสือมากราบทูลขอความช่วยเหลืออีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พระราชทานเรือและปืนพร้อมกระสุนดินดำส่งไปให้หลายครั้ง ขณะนั้นพวกไกเซินมีความบาดหมางกันมากขึ้น ต่างลอบหนีมาเป็นพวกองเชียงสือ ซึ่งเกลี้ยกล่อมญวนและเขมรได้มากพอ จึงยกทัพเรือไปรบไกเซิน องดกเซม เจ้าเมืองสู้ไม่ได้ องเชียงสือจึงตีเมืองบันทายมาศ และไซ่ง่อนได้ในที่สุด

พ.ศ.๒๓๓๓ องเชียงสือตั้งตนเป็นเจ้าอนัมก๊ก และถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พร้อมทั้งขอพระราชทานพาหนะและสิ่งของต่างๆ อยู่เนืองๆ เชื้อสายไกเซินที่เมืองตังเกี๋ย ชื่อ องกันถิน บุตรชายยองลองเยืองได้ส่งทูต ๖ คน ถือราชสาสน์พร้อมบรรทุกขนจามรีแดง ๕๐๐ พู่ เข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับไทย ในราชสาส์นระบุว่าถ้าองเชียงสือหนีเข้ามายังกรุงเทพมหานครอีก ขอให้ฝ่ายไทยจับตัวส่งให้

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้จัดกองทัพเขมรไปช่วยเจ้าอนัมก๊กปราบไกเซินที่เมืองกุยเยิน เมืองเว้ และเมืองตังเกี๋ย แล้วเจ้าอนัมก๊กก็สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระนามว่า “พระเจ้าเกียลอง” หรือ “พระเจ้ากรุงเวียดนามยาลอง” ในที่สุดพวกไกเซินก็ถูกปราบปรามได้สำเร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช


ที่มา : หนังสืออักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย - กรมศิลปากรจัดพิมพ์
3199  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต เมื่อ: 23 มีนาคม 2559 14:29:12


ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จ.นครปฐม

ประเพณีเลี้ยงลูก
พระยาราชวรานุกูล (อ่วม) เรียบเรียง
กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่

ธรรมดาบิดามารดากับบุตร ก็เป็นธรรมเสียมของปุถุชนทั่วโลก ย่อมมีความกรุณาอุปถัมภ์และสั่งสอนจะให้เป็นคุณประโยชน์แก่บุตรของตนนั้น สืบมาทุกรูปทุกนาม จะพรรณนาให้กว้างขวางโดยละเอียดก็จะยืดยาวไป ทราบแก่ใจของปุถุชนทั้งปวงอยู่แล้ว

จะขอกล่าวความโดยโวหาร และไต่ถามท่านผู้รู้พระบรมพุทโธวาทมาเรียบเรียงลงไว้พอเป็นสังเขป

ตามบาลีอังคุตตรนิกายติกนิบาตรว่า ตโยเม ภิกฺขเว ปุตฺตา สํวิชฺชมานา โลกสฺมึ กตเม ตโย อภิชาโต อนุชาโต อวชาโต จาติ  ความว่าบุตรมี ๓ จำพวก คือ อภิชาตบุตาจำพวก ๑  อนุชาตบุตรจำพวก ๑  อวชาตบุตรจำพวก ๑  เป็น ๓ จำพวกดังนี้  

อภิชาตบุตรนั้น คือ บุตรชายบุตรหญิงก็ดี มีน้ำใจตั้งอยู่ในถ้อยคำบิดามารดาสั่งสอน และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด จะร่ำเรียนวิชาการต่างๆ หรือคิดทำการสิ่งใดก็ว่องไวเฉียบแหลมยิ่งเกินบิดามารดา จะมียศศักดานุภาพทรัพย์สมบัติก็ยิ่งกว่าบิดามารดา บุตรจำพวกนี้ได้ชื่อว่า อภิชาตบุตร

อนุชาตบุตรนั้น มีน้ำใจตั้งอยู่ในถ้อยคำบิดามารดาสั่งสอนบ้าง ประพฤติการที่ชอบประกอบคำบิดามารดาสั่งสอนบ้าง มีสติปัญญาเล่าเรียนวิชาทำการสิ่งต่างๆ หรือประกอบไปด้วยยศและสมบัติ ก็ไม่ยิ่งไม่ต่ำกว่าบิดามารดานัก พอเสมอตามตระกูลบิดามารดา บุตรดังนี้ได้ชื่อว่าอนุชาตบุตร

อวชาตบุตรนั้น มิได้ตั้งอยู่ในถ้อยคำบิดามารดาสั่งสอน ประพฤติการสิ่งซึ่งมิชอบ คบเพื่อนเสพสุราประกอบการทุจริตต่างๆ มีความประพฤติต่ำเลวทรามกว่าบิดามารดา  จะคิดทำการสิ่งใดก็ไม่เป็นคุณประโยชน์ ไม่เป็นที่ชอบใจแห่งบิดามารดาและวงศาคณาญาติ ชักให้ตระกูลบิดามารดาต่ำถอยลงด้วย บุตรอย่างนี้ได้ชื่อว่าอวชาตบุตร

ก็แลบุตรทั้ง ๓ จำพวกดังกล่าวมานี้ จะมาบังเกิดในสำนักบิดามารดาตระกูลใด บิดามารดาก็ย่อมมีความสิเนหาอุปถัมภ์สั่งสอนบุตรทั้ง ๓ จำพวก ให้ประพฤติการตามตระกูลเสมอกัน หากอุปนิสัยของบุตรผิดกัน จึงแตกต่างไปเป็น ๓ จำพวกดังกล่าวมา

เมื่อบิดามารดาทราบว่าบุตรมาปฏิสนธิในครรภ์มารดาแล้วก็มีความยินดี ตั้งใจทำนุบำรุงรักษาบุตรในครรภ์ตามสมควรแก่ความสามารถของบิดามารดา มารดานั้นแม้อยากจะบริโภคอาหารที่เผ็ดร้อนเป็นของที่ชอบใจก็สู้อดงดเว้นไม่บริโภค เมื่อจะนั่งนอนเดินไปมาก็ระวังรักษากาย เพื่อจะมิให้บุตรในครรภ์ป่วยเจ็บเป็นอันตรายด้วยเหตุต่างๆ ฝ่ายบิดาก็หาหมอยามาประกอบยาให้มารดาบุตรนั้นรับประทานเพื่อจะได้รักษาบุตรในครรภ์ให้มีความสุขสบายเจริญวัยวัฒนาขึ้น จนครรภ์มารดาถ้วนกำหนดจวนจะคลอดบุตรแล้ว จึงหาหมอพยุงครรภ์ หมอยาหมอนวดมาประจำรักษาครรภ์มารดาอยู่ เผื่อจะเจ็บครรภ์หรือจะขัดขวางประการใด จะได้แก้ไขให้ทันท่วงที มารดาต้องทนทุกขเวทนา รักษาครรภ์บุตรนั้นมาได้ความลำบากถึง ๙ เดือน ๑๐ เดือน

ครั้นถึงฤกษ์งามยามดี บุตรคลอดพ้นจากครรภ์มารดา บางทีขัดขวางทนทุกขเวทนาต่างๆ กัน บางทีจนถึงมารดานั้นตายก็มี ถ้าบุตรคลอดจากครรภ์มารดาโดยสะดวกแล้วบิดามารดาก็มีความโสมนัส จัดการเลี้ยงดูโดยประเพณีที่นับถือเป็นคติสืบกันมา ตั้งต้นแต่หาสมุดดินสอมาจดหมายฤกษ์ยามวันคืนเดือนปีบุตรไว้ เพื่อจะได้ให้โหรดูชะตาราศีบุตรให้ถูกต้องตามตำรา ส่วนหมอพยุงครรภ์ก็รับเอาบุตรมาเอานิ้วมือควักโลหิตในปากบุตรนั้นออก แล้วเอาน้ำผึ้งทองคำเปลวกวาดที่ต้นลิ้น เพื่อจะมิให้ทารกนั้นมีโรคป่วยเจ็บตานซางต่างๆ ถ้าหมอพยุงครรภ์ควักโลหิตในปากทารกนั้นออกไม่หมด หรือไม่ได้ควักออกแล้ว ก็ถือว่าทารกนั้นมักจะมีโรคป่วยเจ็บตานซางต่างๆ และน้ำผึ้งทองคำเปลวนั้น บิดามารดาหาเตรียมไว้ก็ได้กวาด ถ้าไม่มีก็หาได้กวาดไม่ หมอก็เอาบุตรนั้นมาตัดสายอุทรที่ติดอยู่กับรก วิธีที่ตัดสายอุทรนั้นต้องไว้สายยาวเสมอกับเข่าทารกนั้น แล้วเอาด้ายดิบที่ย้อมครามผูกคาดสายอุทรที่จะตัดให้แน่น ปรารถนาจะไม่ให้เลือดลมเดินได้เมื่อจะตัดสายอุทรนั้น เอาก้อนดินที่แข็งรองสายอุทรไว้จำเพาะให้เอาผิวไม้รวกตัดสายอุทรนอกกายที่ผูกคาดไว้ และรกที่ตัดขาดออกแล้วต้องล้างน้ำให้หมดจด ใส่หม้อตาลเอาเกลือใส่ทับรกไว้บนปากหม้อ ซึ่งเอารกล้างน้ำให้หมดจดนั้น เพราะปรารถนาจะกันไม่ให้บุตรป่วยเจ็บเป็นพุพองเปื่อยพังได้ แล้วหมอพยุงครรภ์จึงได้รับเอาบุตรไปอาบน้ำชะระกายให้หมดมลทิน ปูเบาะและผ้าในกระด้ง ยกบุตรลงวาง ถ้าบุตรเป็นชายบิดาและญาติก็เอาสมุดดินสอวางไว้ในกระด้งข้างเบาะ  ถ้าบุตรเป็นหญิงก็เอาเข็มด้ายใส่ลงไว้ ความประสงค์ของบิดามารดาเพื่อจะให้บุตรชายบุตรหญิงรู้วิชาในการหนังสือและการเย็บปักถักร้อย แล้วหมอพยุงครรภ์มีลัทธิยกกระด้งที่รองบุตรนั้นขึ้นร่อน ออกวาจาว่า ๓ วันลูกผี ๔ วันลูกคน ลูกของใครๆ มารับเอาเน้อ แล้วทิ้งกระด้งลงกับพื้นเรือนเบาๆ พอให้บุตรที่นอนในกระด้งตกใจสะดุ้งร้องดังขึ้น แต่หมอยกกระด้งรองบุตรขึ้นร่อนแล้วทิ้งลง ออกวาจาดังกล่าวมาแล้วนั้นถึง ๓ ครั้ง บางทีบิดาบ้าง ญาติผู้ใหญ่ซึ่งมีอายุบ้าง ออกวาจาว่า “ลูกของข้าเอง” หมอจึงได้ส่งกระด้งรองทารกนั้นให้ ท่านผู้รับก็วางลงไว้ในที่สมควรใกล้มารดา ฝ่ายข้างมารดานั้น บุตรคลอดออกจากครรภ์แล้วก็รับประทานน้ำส้มมะขามเปียกกับเกลือก่อน นอนไฟอยู่ด้วยเตาเชิงกรานมีฟืน ๓ ดุ้น อยู่ ๓ วัน แล้วบิดาและญาติจึงหาวันดีทอดเตาไฟใหญ่ เมื่อจะทอดเตาไฟนั้น มีหมอทำน้ำมนต์ธรณีสารประพรมเตาไฟ เสกข้าวสารกับเกลือเคี้ยวพ่นหลังพ่นท้องผู้ที่จะอยู่ไฟ และพ่นเตาไฟด้วยเรียกว่าดับพิษไฟ มีธูปเทียนข้าวตอกดอกไม้หมากพลูกระทงเล็กๆ ใส่กุ้งพล่าปลายำวาง ๔ มุมเตาไฟ แล้วมารดาต้องกราบไหว้เตาไฟ ระลึกถึงคุณพระเพลิง พระพาย พระธรณี พระคงคา เป็นที่พึ่ง หมอเสกขมิ้นกะปูนทาหลังทาท้องแล้วจึงขึ้นอยู่บนกระดาน รับประทานยาแก้โลหิตเช้าเย็นกว่าจะออกไฟ แต่การที่นอนไฟนั้น ลางที่นอนอยู่ครบเดือนบ้าง ไม่ครบเดือนบ้าง สุดแต่จะอยู่ได้ไม่ได้ หม้อตาลที่ใส่รกนั้นต้องวางไว้ริมเตาไฟด้วย เพราะจะให้สายอุทรบุตรแห้งเร็ว ครั้นสายอุทรบุตรนั้นหลุดแล้ว หมอจึงเอาใบพลูสดลนควันไฟใต้เสม็ดให้ร้อนพอประมาณ มาทาบกับสะดือบุตร โรยผงดินสอพองบ้าง พิมเสนบ้าง แล้วเอาผลมะกรูดลนควันไฟใต้เสม็ดมาคลึงท้อง ปรารถนาจะให้สะดือแห้งเร็ว และให้เนื้อที่ท้องทารกนั้นหนา จะได้ไม่ปวดท้อง

เมื่อบุตรนอนอยู่ในกระด้งครบ ๓ วันนั้น บิดามารดาให้ญาติและคนใช้ทำบายศรีปากชาม ทำขวัญแล้วยกบุตรขึ้นจากกระด้งขึ้นนอนเปลตามธรรมเนียมมา ที่บิดามารดาบริบูรณ์ก็จัดหาพี่เลี้ยงแม่นมเลี้ยงดูรักษาบุตรตามสมควร ที่บิดามารดาขัดสนยากจนก็อุปถัมภ์เลี้ยงดูบุตรไปตามลำพัง ครั้นบุตรมีอายุครบเดือนกำหนดจะโกนผมไฟแล้ว บิดามารดาจึงได้บอกกล่าวญาติพี่น้องมาช่วยในการมงคลโกนผมไฟ มีบายศรี ทำขวัญ เลี้ยงดูกันตามประเพณี ผู้ที่มาช่วยมีเงินและสิ่งของมาทำขวัญให้บุตรนั้นตามวงศ์ตระกูลมากและน้อย ที่เป็นคนขัดสนอนาถา ก็เอาแต่ด้ายดิบมาผูกข้อมือบุตรเรียกมิ่งขวัญโกนผมไฟบุตรไปตามจน เมื่อมารดาออกจากนอนไฟแล้ว ก็หาผู้รู้ตำราวิธีที่จะฝังรกบุตรนั้นที่ต้นไม้ใหญ่ที่ทิศใดทิศหนึ่ง มีกำหนดหลุมลึกและตื้นเป็นสำคัญ เพื่อจะให้บุตรนั้นมีความเจริญสืบไป บางคนก็หาได้ทำตามตำราไม่ ทิ้งหม้อรกผุพังไปก็มีโดยมาก



ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จ.นครปฐม

เมื่อบุตรมีอายุเจริญขึ้นสมควรที่จะไว้ผมจุกผมเปียอย่างไร บิดามารดาก็หาวันดีไว้ผมจุกผมเปียให้บุตรตามประเพณี หรือมิได้ไว้ผมจุกผมเปียให้แก่บุตร ให้โกนผมเสียทีเดียว ประสงค์จะให้สะอาดก็มีบ้าง ถ้าบุตรเจ็บป่วยลงประการใด บิดามารดามีความร้อนใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่เป็นอันที่จะนอนที่จะบริโภคอาหาร หาหมอมารักษาพยาบาลกว่าบุตรจะหายป่วย ต้องเสียเงินขวัญข้าวค่ายาอยู่เนืองๆ ครั้นบุตรมีอายุเจริญขึ้นไปโดยสมควรที่จะหาเครื่องตกแต่งต่างๆ ให้แก่บุตรแล้วบิดามารดาก็หาทองคำทำรูปพรรณประดับเพชรพลอยต่างๆ เป็นเครื่องแต่งตัวให้แก่บุตรตามสมควร ถ้าบุตรชายมีอายุสมควรที่จะสั่งสอนให้ประพฤติที่ชอบด้วยประเทศบ้านเมืองประการใด บิดามารดาก็ควรจะตั้งใจสั่งสอนบุตรนั้นให้อยู่ในอำนาจของบิดามารดา เป็นต้นว่าให้บุตรเล่าเรียนรู้ธรรมวินัยพุทโธวาท บวชเป็นสามเณรภิกขุปฏิบัติตามวินัยสิกขาบท ฝ่ายคันถธุระวิปัสสนาธุระดังนี้เป็นที่ประเสริฐอย่างยิ่ง ถ้าจะประกอบการตามโลกีย์แล้ว ก็ให้เล่าเรียนรู้หนังสือเลขลูกคิดประกอบกัน ศึกษาในทางเสมียนแบบอย่างทางราชการฝ่ายทหารพลเรือน หรือเป็นเสมียนตระลาการ ดูพระราชกำหนดกฏหมายทางพิจารณาตัดสินคดีความ ฝึกหัดการช่างต่างๆ ให้ชำนาญรู้ได้จริงๆ ถ้าเป็นบุตรหญิง บิดามารดาก็ตั้งใจสั่งสอนบุตรให้รู้หนังสือ แล้วประกอบการให้ดูแลรวบรวมทรัพย์สมบัติในบ้านเรือนโดยละเอียดทั่วไป ฝึกหัดเป็นช่างปัก ช่างเย็บ ช่างร้อย ช่างทำเครื่องคาวหวาน หรือให้บุตรชายบุตรหญิงประพฤติการทำมาหาเลี้ยงชีพตามเพศตระกูลบิดามารดาในประเทศนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยประสงค์จะให้เป็นคุณประโยชน์แก่บุตรและธิดา

ปุถุชนที่มักประพฤติการเป็นพาลทุจริต เช่นคบเพื่อนเป็นพาลกินสุราสูบยาฝิ่นเล่นเบี้ยโปการพนันต่างๆ และฉกลักตีชิงวิ่งราวปล้นสะดมทรัพย์สมบัติของท่านผู้อื่นนั้น เพราะไม่ประพฤติการตามความประสงค์ของบิดามารดาที่เลี้ยงดูมา ที่จะเป็นเพราะบิดามารดาไม่ปรารถนาจะให้ลูกดีนั้นหาไม่ แต่บางทีก็เป็นเพราะบิดามารดาเลินเล่อ ไม่ระวังดูแลตามสมควร บุตรจึงได้พากันเป็นพาลทุจริตไปต่างๆ ถ้าบิดามารดามีความอุตสาหะกดขี่สั่งสอนบุตรให้อยู่ในอำนาจบิดามารดา ให้บุตรชายหญิงเล่าเรียนรู้วิชาประพฤติการทำมาหากินที่ชอบตามประเทศบ้านเมืองดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว บุตรนั้นก็คงจะไม่ใคร่ประพฤติการเป็นพาลทุจริตได้ ถ้าจะเป็นไปบ้างก็คงจะเบาบางน้อยลง การที่จะป้องกันมิให้บุตรชายบุตรหญิงประพฤติการเป็นพาลทุจริตไปโดยมาก จะเอาสิ่งอันใดมาแก้ไขกดขี่ให้บุตรประพฤติการแต่ที่ชอบได้ก็ต้องอาศัยอำนาจแห่งบิดามารดา หรืออาจารย์ที่สั่งสอนนั้นข่มขืนน้ำใจบุตรไว้ตั้งแต่เมื่อเจริญวัยขึ้นมาได้ ๕ ปี ๖ ปี ๗ ปี ตลอดไปอย่าให้บุตรประพฤติในทางพาลทุจริตได้ ถ้าบิดามารดาละเลยตามใจให้บุตรนั้นประพฤติการทุจริตซึ่งไม่เป็นประโยชน์แล้ว ภายหลังบุตรนั้นมีความเจริญเกินที่บิดามารดาจะสั่งสอนแล้ว บิดามารดาจะกลับมากดขี่สั่งสอนให้บุตรกลับมาประพฤติการสิ่งที่ชอบนั้นได้โดยยาก จะต้องถึงอำนาจบ้านเมืองบังคับกดขี่ไปตามกฎหมาย บิดามารดาก็คงจะได้ความเดือดร้อน แม้อย่างต่ำก็ได้ความโทมนัสแก่บิดามารดาญาตินั้นโดยมาก

เมื่ออายุบุตรเจริญได้ ๑๑ ปี ๑๓ ปีบ้าง บิดามารดาจึงทำการตัดจุกบุตรเป็นการมงคลใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แต่บุตรหญิงนั้นมักทำการมงคลตัดจุกเสียแต่ในอายุ ๑๑ ปี โดยมากหาเหมือนบุตรชายไม่ เพราะหญิงมีลักษณะร่างกายเจริญวัฒนาเร็วกว่าบุตรชาย ถ้าบุตรชายเมื่ออายุได้ ๗-๘ ปี ๙-๑๐ ปีขึ้นไป สมควรที่จะศึกษาเล่าเรียนศิลปศาสตร์วิชาการใด บิดามารดาก็ส่งบุตรไปอยู่วัดบวชเป็นสามเณรบ้างเป็นลูกศิษย์วัดบ้าง หรือส่งโรงเรียนที่มีอาจารย์สั่งสอน ให้บุตรนั้นเล่าเรียนหนังสือ หัดวิชาตามสติปัญญาจนอายุนับปีเดือนบริบูรณ์เต็ม ๒๐ ปีแล้ว บิดามารดาก็จัดหาผ้าไตรเครื่องอัฐบริขารและสิ่งของไทยทาน ซึ่งจะถวายพระอุปัชฌาย์ คู่สวด อันดับ กำหนดวันคืน มีธูปเทียนไปลาท่านผู้ใหญ่ในวงศ์ญาติพี่น้อง มาประชุม ณ บ้านเรือนทำขวัญเวียนเทียนให้บุตรซึ่งจะบวช เรียกว่าเจ้านาค ครั้นเวลาเช้าบิดามารดาวงศาคณาญาติพร้อมกันแห่นาคไปวัด แต่บิดามารดานั้นต้องจูงมือบุตรเข้าไปในพระอุโบสถเป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณ เพราะเป็นการศรัทธาเชื่อถือคุณพระรัตนตรัย ให้บุตรอุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนาเป็นการกุศลอย่างอุกฤษฏ์

ครั้นบุตรอุปสมบทเป็นภิกษุอยู่วัดตลอดไป บิดามารดาก็เป็นธุระจัดสำรับคาวหวานติดตามไปส่งเช้าส่งเพล ไม่ให้บุตรอดอยากได้ ครั้นบุตรนั้นละเพศบรรพชิตเป็นฆราวาสแล้ว สมควรจะตกแต่งให้มีภรรยา หรือบุตรหญิงอายุได้ ๑๕ ปี ๑๖ ปี ๑๗ ปี ขึ้นไป มีผู้มากล่าวสู่ขอไปเป็นภริยาก็ดี บิดามารดาเห็นดีสมควรที่จะให้บุตรมีสามีภริยาได้ ก็ประชุมปรึกษาญาติทำการมงคลใหญ่ ให้บุตรชายบุตรหญิงมีสามีภริยา แบ่งปันเงินทองทรัพย์สิ่งของต่างๆ แก่บุตรตามมากและน้อย มีแจ้งอยู่ในเรื่องทำการวิวาหมงคลซึ่งจะมีต่อไปภายหลังนั้นแล้ว ถ้าบุตรชายหญิงซึ่งบิดามารดาตกแต่งให้มีสามีภริยา ออกจากบิดามารดาไปทำมาหาบริโภคตามกำลังตนเองแล้ว ถ้ามีความเจริญประกอบด้วยยศศักดิ์ทรัพย์สินบริบูรณ์ บิดามารดาก็มีความความยินดีชื่นชมโสมนัสในบุตรนั้นเป็นอันมาก ถ้าบุตรมีความทุกข์ร้อน คับแค้นอนาถาลงด้วยเหตุต่างๆ บิดามารดาก็มีความโทมนัสเสียใจด้วย ถึงโดยบุตรจะชั่วช้าประพฤติแต่การทุจริต ไม่อยู่ในถ้อยคำสั่งสอนเป็นที่โกรธเคืองของบิดามารดาก็ดี บิดามารดาก็เสียไม่ได้ ต้องเกื้อหนุนสั่งสอนสงเคราะห์แก่บุตรต่อไปตามกำลัง ซึ่งบิดามารดามีความเตตากรุณาอุปถัมภ์สั่งสอนบุตรชายบุตรหญิงนั้น เป็นการไม่รู้สิ้นสุดลงได้ ต่อเมื่อใดบิดามารดาหรือบุตรดับขันธ์ไปสู่ปรโลกฝ่ายหนึ่งแล้ว การอุปถัมภ์และการสงเคราะห์สั่งสอนบุตรนั้นจึงจะขาดไม่มีต่อไปได้ ถึงดังนั้นก็ยังมีความกรุณาเมตตาระลึกถึงบุตรด้วยความอาลัยอยู่เนืองๆ ถ้าบุตรนั้นได้ชื่อว่าอภิชาตบุตร อนุชาตบุตรแล้ว บิดามารดาก็มีความเสน่หารักใคร่มาก จะมีทรัพย์สมบัติศฤงคารบริวารมากน้อยเท่าใดก็เต็มใจที่จะยกให้แก่บุตรไม่มีความรังเกียจทุกประการ

เรียบเรียงความเรื่องบิดามารดากับบุตรมีความอุปถัมภ์บำรุงรักษาสั่งสอนกันมาพอเป็นสังเขปเพียงนี้ ฯ.
3200  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ ปลากระพงทอดน้ำปลา เมื่อ: 18 มีนาคม 2559 16:09:09
.


 
ปลากระพงทอดน้ำปลา

• เดรื่องปรุง
- ปลากระพง 1 ตัว
- แป้งทอดกรอบ 1-2 ช้อนโต๊ะ (แล้วแต่ขนาดปลา)
- น้ำเชื่อม
- น้ำปลาดี
- น้ำสุก (ทิ้งไว้ให้เย็น)



วิธีทำ
1.ขอดเกล็ด ควักไส้และเหงือกปลาทิ้ง ล้างให้สะอาด
2.ทาหนังปลาด้วยแป้งทอดกรอบ (ไม่ต้องผสมน้ำ) ให้ทั่วส่วนที่เป็นหนังปลา
3.นำไปทอดด้วยไฟปานกลาง จนปลาสุกเหลืองทั้งสองด้าน จัดใส่จาน
  แล้วราดด้วยน้ำปลาปรุงรสขณะปลายังร้อนๆ เสิร์ฟทันที
4.วิธีทำน้ำปลาปรุงรส ผสมน้ำเชื่อม น้ำปลา และน้ำสุก กะปริมาณให้ราดปลาได้ทั่วทั้งตัว
   คนให้เข้ากัน ชิมให้ได้รสเค็มและหวานเท่าๆ กัน    




ปลากระพงขาว น้ำหนักประมาณ 800 กรัม




ขอดเกล็ดปลาให้เรียบร้อย ตัดเหงือกทิ้ง
ใช้มีดกรีดส่วนหลัง แล่เนื้อไล่เลาะไปจนถึงส่วนท้อง แล้วแล่ก้างกลางออกไป


ล้างให้สะอาด...ใช้แป้งทอดกรอบ (ไม่ต้องผสมน้ำ) ทาส่วนของหนังปลาให้ทั่ว
(จะทำให้หนังปลากรอบ อร่อย)


ทอดค่อนข้างยาก...บ้านเราอยู่กัน 2-3 คน จึงใช้กระทะขนาดย่อมๆ
พอมาเจอปลาน้ำหนัก 8 ขีด กระทะจึงดูเล็กถนัดตา


ปลาสุกเหลืองทั้งตัวแล้ว ตักใส่จานเสิร์ฟ
แล้วราดด้วยน้ำปลาปรุงรสให้ทั่วทั้งตัวในขณะปลายังร้อนๆ
(จานนี้ )
หน้า:  1 ... 158 159 [160] 161 162 ... 274
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.755 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 05 พฤษภาคม 2567 10:00:23