[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 02 เมษายน 2566 18:27:57



หัวข้อ: กบฏญาณพิเชียร (พ.ศ.๒๑๒๔) - กบฏไพร่ สมัยกรุงศรีอยุธยา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 02 เมษายน 2566 18:27:57
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/63208314693636__Copy_.jpg)

กบฏญาณพิเชียร (พ.ศ.๒๑๒๔)

กบฏญาณพิเชียร เป็นกบฏที่เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้นำก่อการกบฏคือ ญาณพิเชียรหรือญาณประเชียร หรือพระยาวิเชียร ซึ่งเป็นสามัญชน และในที่สุดพวกกบฏก็ถูกปราบลงได้

หลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับได้บันทึกเหตุการณ์กบฏครั้งนี้ไว้ และระบุศักราชแตกต่างกัน แต่พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ระบุว่าเกิดใน พ.ศ.๒๑๒๔ ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และระบุว่า “ญาณประเชียรเรียนศาสตราคมและคิดเป็นขบถ” พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่า “ญาณพิเชียรเรียนคุณโกหก กระทำการอันพิปริตรสำแดงแก่ชาวชนบทประเทศ” ส่วนพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ระบุว่า “พระยาพิเชียรนั้นสำแดงคุณโกหกกระทำการอันพิปริตสำแดงแก่ชาวชนบทประเทศ” ซึ่งทำให้ญาณพิเชียรเป็นที่ยอมรับนับถือจากผู้คน และสามารถซ่องสุมผู้คนเอาไว้เป็นสมัครพรรคพวกได้เป็นจำนวนมาก

จากนั้นญาณพิเชียรได้ยกกำลังมาตั้งที่ตำบลบ้านยี่ล้น (ปัจจุบันเป็นตำบลอยู่ในอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง)  ขุนศรีมงคลได้ส่งข่าวกบฏเข้ามากราบบังคมทูลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ณ กรุงศรีอยุธยา จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรีและญาณพิเชียรปะทะกันที่ตำบลบ้านมหาดไทย (ปัจจุบันเป็นตำบลอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง) ชาวบ้านตำบลบ้านมหาดไทยจำนวนมากได้หันไปเข้ากับพวกกบฏ ในการรบครั้งนี้ เจ้าพระยาจักรีถูกพันไชยธุชฟันเสียชีวิตคาคอช้าง และบรรดาขุนหมื่นในกองทัพเสียชีวิตไปหลายคน ไพร่พลของเจ้าพระยาจักรีจึงแตกหนีไป

หลังจากเจ้าพระยาจักรีเสียชีวิตแล้ว พวกกบฏก็เข้มแข็งมากขึ้น เพราะผู้คนได้เข้ามาสมัครเป็นพรรคพวกเพิ่มขึ้น จนญาณพิเชียรสามารถรวบรวมชายฉกรรจ์ได้เป็นจำนวนมากถึง ๓,๐๐๐ คน และแต่งตั้งให้พันไชยธุชเป็นพระยาจักรี  จากนั้น ญาณพิเชียรก็ยกกำลังไปเมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาเพื่อยึดเป็นฐานที่มั่น

ขณะนั้น สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชโปรดให้พระยาสีหราชเดโช มาซ่อมกำแพงเมืองลพบุรี เมื่อพระยาสีหราชเดโชทราบข่าวกบฏว่ากำลังจะยกมาที่ลพบุรี จึงได้เตรียมการป้องกันเมือง เมื่อญาณพิเชียรยกกำลังมาถึงก็ขี่ช้างไปที่ตำบลหัวตรี แล้วสั่งให้พรรคพวกเข้าตีกองทัพของทางการ ซึ่งมีพระยาสีหราชเดโชออกมาบัญชาการอยู่ด้วย แต่ “ชาวประเทศ ชื่ออมรวดี” (อาจหมายถึงชาวต่างประเทศ) ได้แอบยิงญาณพิเชียรจากต้นโพธิ์จนเสียชีวิตซบลงกับคอช้าง ทำให้พวกกบฏแตกหนีและพ่ายแพ้ไปในที่สุด สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชจึงได้มีรับสั่งให้ข้าหลวงออกไปจับพวกกบฏที่หนีกระจัดกระจาย แล้วนำตัวมาสักหมายหมู่โดยมิได้ลงพระราชอาญา

ส่วนสาเหตุที่เกิดกบฏครั้งนั้น ไม่มีหลักฐานระบุไว้แน่ชัดว่าเกิดจากเหตุใด แต่อาจกล่าวได้ว่า บ้านเมืองในสมัยนั้นคงมีความสับสนวุ่นวายทั้งการเมืองภายในซึ่งเป็นช่วงหลังจากเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ และการเมืองภายนอกซึ่งกรุงศรีอยุธยาเพิ่งเสียแก่พม่าใน พ.ศ.๒๑๑๒ ขณะนั้น กรุงศรีอยุธยายังอยู่ในฐานะประเทศราชของพม่า  อนึ่ง กองทัพของเขมรก็เข้ามารุกรานไทยถึง ๓ ครั้งก่อนเกิดกบฏญาณพิเชียร คือ ใน พ.ศ.๒๑๑๓  พ.ศ.๒๑๑๘  และ พ.ศ.๒๑๒๑  ประชาชนคงได้รับความลำบากจากการดำรงชีพและการถูกเกณฑ์แรงงาน ทำให้ญาณพิเชียรสามารถรวบรวมสมัครพรรคพวกได้มาก แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถกระทำการได้สำเร็จ.



ที่มา - กบฏญาณพิเชียร (พ.ศ.๒๑๒๔) สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์เผยแพร่