[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 16 เมษายน 2566 18:49:27



หัวข้อ: กบฏพระยายมราช (สังข์) (พ.ศ.๒๒๓๓-๒๒๓๕) ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 เมษายน 2566 18:49:27
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/89685503683156_PITERA_TJAY_Rex_Siam_by_Gaspar.jpg)

พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม (PITERA TJAY Rex Siam)
ฝีมือชาวตะวันตกโดย Gaspar Bouttats ช่างพิมพ์และช่างแกะสลักชาวเฟลมิชยุคบาโรก เมื่อ ค.ศ.๑๖๙๐

wikipedia.org (ที่มาภาพประกอบ)

กบฏพระยายมราช (สังข์) (พ.ศ.๒๒๓๓-๒๒๓๕)

กบฏพระยายมราช (สังข์) เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมากระด้างกระเดื่องไม่ยอมมาเฝ้าและถือน้ำพิพัฒน์สัตยา สมเด็จพระเพทราชาจึงทรงส่งกองทัพไปปราบ และใช้เวลาถึง ๒ ปีจึงปราบลงได้

พระยายมราช (สังข์) เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์สมบัติใหม่ๆ มีพระบรมราชโองการให้ขุนนางในหัวเมืองทั้งหลายมาเฝ้าและถือน้ำพิพัฒน์สัตยา แต่พระยายมราช (สังข์) และพระยารามเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช กระด้างกระเดื่องไม่ยอมมาเฝ้า เพราะถือว่าสมเด็จพระเพทราชาโค่นล้มราชวงศ์เก่า ครั้นปราบกบฏธรรมเถียรได้แล้ว สมเด็จพระเพทราชาจึงโปรดให้ปราบเมืองนครราชสีมาก่อนเพราะอยู่ใกล้ ทรงแต่งตั้งข้าหลวงเดิมคนหนึ่งเป็นพระยาสีหราชเดโชแทนคนเดิมที่ถึงแก่อนิจกรรม และให้เป็นแม่ทัพคุมพล ๑๐,๐๐๐ คนไปปราบ พร้อมกันนี้ ทรงแต่งตั้งข้าหลวงเดิมอีกคนหนึ่งเป็นพระยานครราชสีมา เมื่อปราบพระยายมราช (สังข์) ได้แล้ว ให้พระยานครราชสีมา (คนใหม่) อยู่ปกครองเมืองนครราชสีมาต่อไป

กองทัพพระยาสีหราชเดโชยกทัพไปปราบเมืองนครราชสีมา ใน พ.ศ.๒๒๓๓ กองทัพกรุงศรีอยุธยาได้ชัยชนะตามรายทางไปเรื่อยๆ พระยายมราช (สังข์) จึงตั้งมั่นอยู่แต่ในเมืองและป้องกันเมืองเต็มความสามารถ แม้ว่าพระยาสีหราชเดโชพยายามตีบุกเข้าเมืองหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงได้แต่ล้อมเมืองไว้จนเสบียงอาหารขาดแคลน และทหารบางส่วนก็หลบหนี พระยาสีหราชเดโชจึงบอกมายังเจ้าพระยาจักรี สมุหนายก ขอทหาร กระสุนดินดำ และเสบียงอาหารเพิ่มเติม ครั้นเจ้าพระยาจักรีกราบทูลสมเด็จพระเพทราชา ก็ทรงพระพิโรธถึงกับส่งข้าหลวงไปคุมตัวแม่ทัพนายกองที่ส่งไปปราบเมืองนครราชสีมาลงมากรุงศรีอยุธยา แล้วให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ริบทรัพย์ ตระเวนบก ๓ วัน ตระเวนเรือ ๓ วัน จากนั้นจึงให้ประหารชีวิต

สมเด็จพระเพทราชาโปรดให้แต่งกองทัพไปปราบเมืองนครราชสีมาอีก โดยมีเจ้าพระยาจักรีสมุหนายกเป็นแม่ทัพ ระหว่างการเบิกกระสุนดินดำ ได้เกิดระเบิดอย่างรุนแรง ทำให้คลังอาวุธเสียหายอย่างหนัก ส่งผลให้กองทัพที่ส่งไปปราบเมืองนครราชสีมาในครั้งนี้ต้องลดจำนวนลงเหลือเพียง ๕,๐๐๐ คน

พระยายมราช (สังข์) ยังคงสามารถป้องกันเมืองไว้ได้ กองทัพจากกรุงศรีอยุธยาพยายามตีหักเข้าเมือง แต่ก็ไม่สำเร็จจึงล้อมไว้ ทำให้ชาวเมืองอดอยากเป็นอันมาก เพราะทำการสู้รบและถูกปิดล้อมมานานกว่า ๒ ปี บางคนก็หลบหนี แต่ถึงกระนั้นกองทัพของสมเด็จพระเพทราชาก็ยังเอาชนะไม่ได้ จนกระทั่งแม่ทัพนายกองของกองทัพกรุงศรีอยุธยาต้องปรับแผนการรบใหม่ โดยการระดมยิงปืนธนูเพลิง ทำให้เกิดไฟไหม้เมืองนครราชสีมาเป็นอันมาก การป้องกันเมืองก็อ่อนแอลง กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงตีฝ่าเข้ายึดเมืองได้  อย่างไรก็ดี พระยายมราช (สังข์) พร้อมกับครอบครัวหลบหนีไปได้ และต่อมาได้ไปซ่องสุมกำลังทางภาคใต้บริเวณชายแดนเมืองไชยาต่อเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อสมเด็จพระเพทราชาทรงส่งกองทัพไปปราบกบฏเมืองนครศรีธรรมราช พระยายมราช (สังข์) ถูกปราบก่อนและเสียชีวิตในที่รบ

ครั้นสมเด็จพระเพทราชาทรงทราบถึงชัยชนะของกองทัพกรุงศรีอยุธยา จึงรับสั่งให้กองทัพจัดการแต่งตั้งขุนนางปกครองเมืองนครราชสีมาให้เรียบร้อย และให้ยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา.



ที่มา - กบฏพระยายมราช (สังข์) (พ.ศ.๒๒๓๓-๒๒๓๕) สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์เผยแพร่