[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 21 มิถุนายน 2553 21:02:33



หัวข้อ: บทสนทนาเรื่อง : ปัญญาแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร...สนทนาเกี่ยวกับศาสนาในศตวรรษที่ ๒๑
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 21 มิถุนายน 2553 21:02:33
บทสนทนาเรื่อง : ปัญญาแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร...สนทนาเกี่ยวกับศาสนาในศตวรรษที่ ๒๑
เรื่องจาก : วารสารสร้างคุณค่า ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๒๔๔ เดือนเมษายน อุปถัมภ์โดยสมาคมสร้าง
คุณค่าในประเทศไทย (พุทธศาสนานิกายนิชิเร็น สายฆราวาสเอสจีไอ)<?XML:NAMESPACE PREFIX = O />
หน้า : ๒๙-๔๑
lSSN : 0857-2763
ผู้พิมพ์เผยแพร่สู่อินเตอร์เนต : นายศุภโชค ตีรถะ พิมพ์เพื่ออุทิศแด่การศึกษาค้นคว้า
พระพุทธศาสนาและสรรพสัตว์ทั้งมวล

อนที่ ๔๙ กล่าวถึง พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเมตตากรุณาของพุทธธรรม และจิตใจที่จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายไปสู่การรู้แจ้ง สัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นคำสอนที่มีพลังชีวิตชีวาในการสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตของเราและสังคม ในการสนทนารอบสอง “ บทปรัชญาธรรมทั้งหมดของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” (บทที่ ๒๕) ในครั้งนี้ ผู้สนทนาได้กล่าวถึงเงื่อนไขสำคัญของศาสนาในศตวรรษที่ ๒๑ ที่จะสามารถช่วยให้ชีวิตของทุกคนดีขึ้น และสนทนาถึงความจริงที่ว่า ศาสนาที่ขาดพลังในการช่วยให้ผู้คนพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นนั้น มักตกเป็นทาสของอำนาจ นอกจากนี้ยังพูดถึงคำอธิษฐานบนปณิธานของการเผยแพร่ธรรมไพศาลให้สำเร็จด้วย

๔๙. การเผยแพร่ธรรมไพศาลคือเส้นทางชีวิตที่สูงส่งที่สุด
ในเวลานั้น พระอักษยมติโพธิสัตว์ได้ลุกขึ้นจากที่นั่ง ห่มผ้าจีวรเฉียงไหล่ขวา ประนมมือไปทางพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลด้วยถ้อยคำเหล่านี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นี้ทำไมท่านจึงได้สมญานามว่า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบพระอักษยมติโพธิสัตว์ว่า “สาธุชน สมมติว่ามีสรรพสัตว์มากมายหลายร้อยพันหมื่นล้าน กำลังตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ทรมาณต่างๆ ถ้าพวกเขาได้สดับฟังเรื่องของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นี้แล้ว ด้วยใจเดียวเรียกขานนามของเขา ในทันที เขาจะรับรู้เสียงเรียกนั้น และสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นจะได้รับการปลดปล่อยให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน (สัทธรรมปุณฑริกสูตร ฉบับภาษาไทย หน้า ๔๘๗-๔๘๘)

อ.อิเคดะ : พวกคุณคิดว่า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย
ซูดะ : ดูจากภายนอก ทุกรายละเอียดบ่งบอกว่า พระโพธิสัตว์องค์นี้เป็นผู้หญิงนะครับ ยังมีรูปปั้นของท่านที่อยู่ในท่าอุ้มเด็กทารกเลย
เอ็นโด : แต่ในพระสูตรไม่ค่อยกล่าวถึงพระพุทธะหรือพระโพธิสัตว์ที่เป็นผู้หญิงมากนัก ปกติจะพบว่าเป็นผู้ชายมากกว่าทั้งนี้เพราะว่าอินเดียโบราณเป็นสังคมที่ยกย่องผู้ชาย นอกจากนี้ ถ้าลองสังเกตรูปปั้นของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ให้ดี จะพบว่ามีหนวดอยู่เหนือริมฝีปาก นี่คือลักษณะของบุรุษ ยิ่งไปกว่านั้น ชื่อของท่านในภาษาสันสกฤต (อวโลกิเตศวร) ก็ยังเป็นชื่อของผู้ชายด้วย
ซูดะ : มีบางคนเถียงว่า การแสดงลักษณะของทั้งเพศชายและเพศหญิงนั้น ทำให้พระโพธิสัตว์พระองค์นี้อยู่เหนือข้อจำกัดเรื่องการแบ่งแยกเพศ
ไซโต้ : สำหรับ ดร. ยูทากะ อิวาโมโต นักพุทธวิทยา อาจารย์ผู้สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโซคา โตเกียว เห็นว่าพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ แม้เดิมจะเป็นเทพธิดาในตำนานโบราณของอินเดียก็ตามแต่เมื่อเข้าสู่พุทธศาสนา ท่านกลับมีรูปลักษณ์ของบุรษเพศ
อ.อิเคดะ : ผมคิดว่าน่าจะเป็นกรณีนี้มากกว่าครับ แรกเริ่มเดิมที เทพธิดาของอินเดียอาจพอนึกได้ว่าคือเทพที่ถูกเรียกขานกันว่ามารดาผู้ยิ่งใหญ่หรือพระแม่ธรณี
ไซโต้ : นั้นสิครับ
อ.อิเคดะ : พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ คือความเมตตาในการนำความสุขมาสู่ประชาชนทั้งหลาย ดุจเดียวกับ “พระแม่ธรณี” ที่ค้ำจุนหล่อเลี้ยง และยังความเจริญเติบโตแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง
ไซโต้ : ใช่แล้วครับ นักวิชาการที่ศึกษาที่มาของพระโพธิสัตว์องค์นี้ ก็ได้กล่าวถึงความเกี่ยวโยงกับเทพธิดาของเปอร์เซียที่มีชื่อว่า อนาหิตา และเทพแห่งน้ำ กับเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์
ซูดะ : กำเนิดของชีวิตอาจสืบเนื่องมาจากดินและน้ำ
เอ็นโด : เมื่อลองคิดดู ก็พบว่ามีรูปปั้นของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ที่ถือคนโทน้ำในมือ
อ.อิเคดะ : กล่าวกันว่า โพธิสัตว์องค์นี้สามารถปรากฏ “รูปลักษณ์ ๓๓ ชนิด” หรือปรากฏรูปร่างได้อย่างเสรี ทำนองเดียวกันกับน้ำ ที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ตามภาชนะที่บรรจุ น้ำกับชีวิต จึงมิใช่สิ่งที่อยู่คงที่ถาวร โดยธาตุแท้แล้วก็เป็น “สุญญะ”

ความศรัทธาต่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์และการบูชาพระแม่มารี

อ.อิเคดะ : ด้วยเหตุนี้ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์จึงอาจมีรูปลักษณ์เป็นชายหรือหญิงก็ได้ นอนจากนี้ ความลับที่ทำให้ท่านเป็นที่เคารพเลื่อมใสก็คือ การคงคุณลักษณะดั้งเดิมของเทพธิดาไว้ ในตอนท้ายของเรื่องเฟาสต์ เกอเธ่กล่าวว่า “สตรี ชี้ทางแก่เรา ชั่วนิจนิรันดร์” เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงธรรมชาติมนุษย์ที่เหมือนกันทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก
ซูดะ : ผมคิดว่าการบูชาพระแม่มารีของชาวคริสต์ มีส่วนที่คล้ายคลึงกับความศรัทธาที่ผู้คนมีต่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
อ.อิเคดะ : ใช่ครับ ผู้คนพากันสวดอ้อนวอนพระแม่มารีเพื่อให้สมหวังและบรรลุความปรารถนาที่ใกล้ตัว
ซูดะ : ครับ พวกเขาสวดอธิษฐานเพื่อให้หายป่วย ให้คลอดลูกง่าย และเพื่อให้จบชีวิตโดยสงบ
เอ็นโด : แม้ว่าการเชื่อในพระเยชูจะเป็นความศรัทธาหลักของคริสตศาสนิกชนก็ตาม แต่ชาวคริสต์ไม่น้อยกลับพึ่งพาต่อพระแม่มารีมากกว่า
ซูดะ : บ้างก็บอกว่า พระแม่มารีเหมือนกับสะพานที่เชื่อม ระหว่างโลกที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ของพระผู้เป็นเจ้ากับโลกมนุษย์ซึ่งดูเหมือนจะเชื่อกันว่า ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะกระทำบาปหนักขนาดไหนก็ตาม ถ้าอธิษฐานต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยไม่ต้องมีการพิพากษา
ไซโต้ : พระนางเหมือนมารดาผู้อ่อนโยนซึ่งจะยืนอยู่เคียงข้างลูกเกเร ในขณะที่ลูกขอโทษต่อบิดาเนื่องจากประพฤติไม่ดี
อ.อิเคดะ : มารดาคือผู้ยิ่งใหญ่ ลูกๆย่อมรู้สึกอบอุ่นมั่นคงเมื่ออยู่ในอ้อมกอดของมารดา ส่วนบิดานั้นสู้ไม่ได้ เพราะอ้อมกอดของบิดาบางครั้งก็ทำให้น้ำตาร่วงเลยทีเดียว นักวิชาการศาสนาได้ให้ข้อคิดว่าความศรัทธาที่มีต่อพระแม่มารีสะท้อนถึงความเชื่อศรัทธาในพระแม่ธรณี แต่ทว่าสำหรับงานวิจัยของจังเกียนในเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาระดับลึก รวมถึงท่าทีในแง่สร้างสรรค์เกี่ยวกับการให้กำเนิดบุตร เลี้ยงดู และโอบอุ้มนั้น บางครั้งมารดาผู้ยิ่งใหญ่ก็อุ้มชูมากเสียจนกลายเป็นการทำลายพวกเขา ลักษณะในแบบหลังนี้อาจเปรียบเทียบได้กับการกระทำของนางยักษ์หาริตีในพุทธศาสนา ซึ่งฆ่าลูกของคนอื่นมาให้ลูกของตนกิน สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ความคิดเรื่อง “สตรีเพศตลอดกาล” ที่เกอเธ่ได้กล่าวเอาไว้นี้ บ่งบอกลักษณะที่แฝงความแตกต่างเอาไว้อย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า จะแสดงออกในลักษณะของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือลักษณะของนางยักษ์หาริตี
ซูดะ : เมื่อผู้ศรัทธาหันไปพึ่งพาวิธีศรัทธาที่สะดวกสบาย เราคงเรียกเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากจะเรียกว่าการถอยกลับไปเป็นเด็กทารก นักวิจัยผู้ศึกษาเรื่องความเลื่อมใสที่มีต่อพระแม่มารี ท่านหนึ่งกล่าวว่า ภาพลักษณ์ในอดีตของพระแม่มารีซึ่งเป็นดรุณีผู้บอบบาง ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยภาพลักษณ์ของสตรีที่มีความเชื่อมั่นในตนเองและดูภูมิฐาน ขณะเดียวกัน นักวิชาการก็กล่าวว่า ผู้ศรัทธาล้วนถอยกลับไปเป็นเด็ก เธอบันทึกไว้ว่า “พวกเขาพากันซุกตัวอยู่ในอ้อมแขนของพระแม่ผู้ศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับลูกไก่ และเพียงแค่เปล่งคำอธิฐานพร้อมสร้อยประคำในมือแล้วเฝ้ารอสิ่งมหัศจรรย์ เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่มีแต่อารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ”
อ.อิเคดะ : ชื่อที่รวมเข้าด้วยกันเป็น “พระแม่มารีอวโลกิเตศวร” (มาเรีย คันนน) แสดงถึงความคล้ายคลึงที่ชัดเจนระหว่างความเชื่อศรัทธาต่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ กับการบูชาพระแม่มารี ในสมัยที่ชาวคริสต์ในประเทศญี่ปุ่นถูกบังคับให้ปฏิบัติศรัทธาลับ ๆ (โดยเฉพาะในระหว่างช่วงศตวรรษที่ ๑๗ ศตวรรษที่ ๑๘ และศตวรรษที่ ๑๙) กล่าวกันว่า พวกเขาต้องแอบศรัทธาต่อพระแม่มารีด้วยการสวดอธิษฐานต่อหน้าพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์แทน ทว่า ประวัติศาสตร์ดูเหมือนจะแสดงให้เห็นว่า ความศรัทธาที่มีต่อทั้งพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์และพระแม่มารี ซึ่งพัฒนาและเผยแพร่ของนักบวช หากแต่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากความปรารถนาของประชนชนเอง
ไซโต้ : ผมคิดว่า เหตุผลหนึ่งที่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มีกล่าวอยู่ในสัทธรรมปุณฑริกสูตรด้วย ก็เพราะได้มีเทพธิดาของอินเดียผู้มีลักษณะตรงกับรูปลักษณ์เดิมของโพธิสัตว์องค์นี้อยู่แล้ว และเป็นที่นิยมแพร่หลายอยู่ในเวลานั้น
อ.อิเคดะ: ที่น่าสนใจก็คือ เทพธิดาที่ผู้คนในสมัยนั้นศรัทธาและให้ความเคารพถูกนำมากล่าวไว้อย่างมีชีวิตชีวาในสัทธรรมปุณฑริกสูตร ซึ่งสิ่งนี้โดยตัวของมันก็คือการแสดงความเมตตาของ “พระผู้รับรู้เสียงของโลก” พุทธธรรมนั้นมิได้แยกออกห่างจากความเป็นจริงของยุคสมัยและประชาชน
ไซโต้ : ผมคิดว่าคำมั่นสัญญาที่ชัดเจนเกี่ยวกับการได้รับบุญกุศลในชาตินี้ที่กล่าวอยู่ใน “บทปรัชญาธรรมทั้งหมดของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” ได้สื่อถึงเจตนารมณ์เดียวกันนี้
อ.อิเคดะ : ความเป็นจริงก็คือความเป็นจริง ทฤษฏีก็คือทฤษฏี ชีวิตก็คือความเป็นจริง พุทธธรรมเน้นถึงที่นี่ และขณะนี้ พวกเราปฏิบัติศรัทธาเพื่อให้ได้รับชัยชนะในขณะปัจจุบัน สหาโลกก็คือ ดินแดนแห่งแสงสว่างและสันติ การหนีจากความเป็นจริงจึงไม่ใช่เจตนารมณ์ของสัทธรรมปุณฑริกสูตรเพราะสัทธรรมปุณฑริกสูตร เป็นคำสอนเกี่ยวกับวิธีที่จะทำให้อุดมคติสามารถเป็นความจริง ดังที่พระนิชิเรนไดโชนินกล่าวว่าพุทธธรรม “ก็คือชนะหรือแพ้เป็นหลัก” บางคนอาจคิดว่า การพูดถึงการได้รับ “บุญกุศลในชาตินี้” เป็นสิ่งที่ตื้นเขินแต่ผมเชื่อว่า ศาสนาที่ไม่สามารถช่วยให้ประชาชนเปลี่ยงแปลงชีวิตได้ เป็นศาสนาที่ขาดพลัง ธรรมมหัศจรรย์นั้นมีอยู่เพื่อให้เรา “มีความราบรื่นปลอดภัยในชาตินี้” รวมถึง “เกิดในสถานที่ที่ดีในชาติหน้า” ดังนั้น การสร้างคุณค่าในชีวิตประจำวันจึงเป็นจิตวิญญาณของสัทธรรมปุณฑริกสูตร

ศาสนาโลกต้องช่วยให้ประชาชนได้รับบุญกุศลในชาตินี้

เอ็นโด : อาจารย์ครับ ท่านเคยกล่าวเช่นนี้ในสุททรพจน์ครั้งหนึ่ง ซึ่ง ศาสตราจารย์ แจน แวน แบรกท์ แห่งมหาวิทยาลัยนันซัน ของญี่ปุ่นกล่าวว่า ศาสนาโลกที่แท้จริงจะต้องตอบสนองความต้องการของสังคม สามารถที่จะส่งผมกระทบถึงสังคมและอุทิศเพื่อสันติภาพโลก อีกทั้งจะต้องมีพร้อมมนุษยนิยมและตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการรับบุญกุศลในชาตินี้


หัวข้อ: Re: บทสนทนาเรื่อง : ปัญญาแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร...สนทนาเกี่ยวกับศาสนาในศตวรรษที่ ๒๑
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 21 มิถุนายน 2553 21:03:28
อ.อิเคดะ : ความเป็นจริงคือสิ่งสำคัญสูงสุด ท่านมหาตมะ คานธีกล่าวว่า “ศาสนาที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติที่เป็นจริง และไม่ได้ช่วยประชาชนแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ศาสนา” ท่านประกาศว่า ศาสนาที่ไม่สามารถตอบปัญหาและคลายความวิตกกังวลต่อเรื่องประชาชนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เป็นศาสนาก็แต่เพียงในนามเท่านั้น
เราจึงค้นพบความจริงว่า หลายศาสนาที่แสวงหาประโยชน์จากประชาชนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับศาสนา ได้ทำการชวนเชื่ออย่างแนบเนียนถึงบุญกุศลในชาตินี้ เหมือนกับเอาลูกกวาดหลอกเด็ก นับตั้งแต่ยุคเริ่มแรก สมาคมโซคามักถูกวิพากย์วิจารณ์ว่า สอนถึงบุญกุศลในชาตินี้ เหมือนกับนิกายอื่นๆ เหล่านี้ไม่มีผิดแต่สัทธรรมปุณฑริกสูตรซึ่งเป็นมรดกทางจิตใจที่มีค่าสูงสุดของมนุษยชาติ ก็ได้เทศนาถึงการได้รับบุญกุศลในชาตินี้ไว้อย่างจริงจัง ทั้งนี้เพราะว่า บทบาทหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของศาสนาก็คือ การช่วยให้ผู้คนได้รับความสุขอย่างแท้จริง
สมาคมโซคาได้รณรงค์ต่อสู้กับความทุกข์ทุกรูปแบบของมนุษย์ โดยได้มอบความหวังแก่ผู้คนที่กำลังต่อสู้กับความเจ็บป่วย ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาในครอบครัว และอื่นๆ สิ่งนี้นี่เองคือเจตนารมณ์ของสัทธรรมปุณฑริกสูตร พวกเราเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นที่สุดกับคนที่มีความทุกข์และคนยากจน ผมรู้สึกภาคภูมิใจในเรื่องนี้มาก
ศาสนาจะไม่มีความหมาย ถ้าเลี่ยงปัญหาหนักในการส่งเสริมกำลังใจแก่ผู้คนที่มีความทุกข์ และไม่หาวิธีช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากปัญหานั้นๆ ผมพูดถึงเรื่องนี้ในหลายๆ แง่มุมกับดร. ไปรอัน วิลสัน แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (ดร.วิลสัน คือ ประธานคนแรกของสมาคมสังคมศาสนาสากล ซึ่งบทสนทนาของท่านกับอาจารย์อิเคดะ ได้รวมเล่มเป็นหนังสือชื่อ ค่าของคน)

การอธิษฐานคือข้อพิสูจน์ถึงความสูงส่งของมนุษย์

ไซโต้ : สมมติว่าลูกของเราป่วยหนักมากจนอาจตายได้ นอกจากการหวังพึ่งความช่วยเหลือของหมอแล้ว พ่อแม่คงจะต้องอธิษฐานอย่างเต็มที่เพื่อให้ลูกหายป่วยผมมั่นใจว่าถึงพ่อแม่จะไม่ได้นับถือศาสนาอะไร แต่พวกเขาก็ยังคงต้องมีการอธิษฐานต่อบางสิ่งบางอย่าง คำอธิษฐานไม่ใช่เรื่องไร้สาระ เพราะเป็นการตอบสนองต่อสัญชาตญาณของมนุษย์
ซูดะ : ผมคิดว่าการปฏิเสธพฤติกรรมตามธรรมชาติเช่นนี้ เป็นความเย็นชาและไม่ใช่ลักษณะของมนุษย์
อ.อิเคดะ : การอธิษฐานเป็นเรื่องพิเศษที่มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ สัตว์ไม่สามารถทำได้แบบนี้ ดังนั้น การอธิษฐานจึงเป็นข้อพิสูจน์ถึงความสูงส่งของมนุษย์ ในสมัยโบราณ ผู้คนมักเกรงกลัวต่อธรรมชาติที่กว้างขวางไร้ขอบเขต พวกเขาจึงเคารพในความยิ่งใหญ่ที่อยู่เหนือปัญญาของมนุษย์จะหยั่งถึงได้ จากสิ่งนี้เองจิตใจของการอธิษฐานจึงเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ
เมื่อเราเผชิญกับวิกฤต อย่างพิบัติ ๗ ชนิดที่มีกล่าวอยู่ใน “บทปรัชญาธรรมทั้งหมดของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” เราย่อมมีความหวังอย่างเปี่ยมล้นว่า จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง การอธิษฐานคือการกลั่นเอาความรู้สึกที่มุ่งมั่นที่สุดออกมา ศาสนาก็เกิดจากการอธิษฐานเช่นนี้นั่นเอง
เอ็นโด : ศาสนาไม่ได้เกิดก่อนการอธิษฐาน แต่การอธิษฐานต่างหากที่เกิดขึ้นมาก่อน
อ.อิเคดะ : ทำอย่างไรคำอธิษฐานของเราจึงจะได้รับคำตอบ พุทธธรรมอธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดแจ่มชัดด้วยเรื่องกฏของชีวิต โดยการเทศนาธรรมมหัศจรรย์ซึ่งเป็นเคล็ดลับของการทำให้เฟืองแห่งจักรวาลเล็กและจักรวาลใหญ่ประสานเข้ากันได้อย่างสมบูรณ์

ความทุกข์เรื่องบุตร

ไซโต้ : ใน “บทปรัชญาธรรมทั้งหมดของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” กล่าวว่า “ถ้าสตรีใดมีความปรารถนาที่จะได้บุตรชาย เธอควรถวายความเคารพและถวายทานแด่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์แล้วเธอจะให้กำเนิดบุตรชายที่มีความสุขด้วยคุณความดีและปัญญา และถ้าเธอปรารถนาที่จะได้บุตรสาว เธอก็จะให้กำเนิดบุตรสาวที่เพียบพร้อมด้วยลักษณะแห่งความงามทุกอย่าง อันเป็นผู้ที่ในอดีตได้ปลูกฝังรากเหง้าแห่งความดีไว้แล้ว ได้รับความรักและความนับถือจากคนจำนวนมาก (สัทธรรมปุณฑริกสูตรฉบับภาษาไทยหน้า ๔๙๐)
อ.อิเคดะ : ก็หมายความว่า คำอธิษฐานของบิดามารดาย่อมส่งผลถึงบุตรที่จะเกิดมาได้อย่างแน่นอน ดังนั้น ด้วยความศรัทธาของบิดามารดา เด็กๆ ก็จะสามารถพัฒนาคุณลักษณะที่ดีเลิศเหล่านี้ แน่นอนว่า เราไม่อาจทราบจำนวนบิดามารดาที่มีความทุกข์ใจเรื่องบุตรว่า มีมากน้อยเพียงใด อันที่จริง พระนิชิเร็นไดโชนินสอนว่า บุตรอาจเป็นได้ทั้งผู้ที่นำความสุขและความทุกข์มาให้ ท่านบอกว่า “มีข้อความหนึ่งของพระสูตรกล่าวว่า บุตรคือศัตรู” (ธรรมนิพนธ์หน้า ๑๓๒๐) และ “มีข้อความของพระสูตรที่กล่าวด้วยว่า บุตรคือทรัพย์สมบัติ” (ธรรมนิพนธ์หน้า ๑๓๒๑)
แม้ว่าคนที่ไม่มีบุตร อาจปรารถนาอยากจะมีบุตร ผมก็หวังให้พวกเขาคิดว่าถ้ามีบุตรที่ไม่ดี ก็รังแต่จะทำให้เรามีความทุกข์ และขอย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติต่อเพื่อนสมาชิก ด้วยความเอาใจใส่เช่นเดียวกับที่มีต่อบุตรของเราเอง ทั้งนี้ก็เพราะว่า ความผูกผันระหว่างผู้คนที่มาอยู่ร่วมกันในอุดมการณ์ที่สูงส่ง และการสร้างอบรมผู้สืบทอดเจตนารมณ์นั้น สูงส่งกว่าความผูกพันทางสายเลือด
คนที่มีความทุกข์เรื่องบุตร สามารถนำอุปสรรคเหล่านั้นมาทำให้ความศรัทธาเข้มแข็งขึ้น โดยใช้เหตุผลที่ว่า ลูกๆ คือเหตุที่ทำให้บิดามารดากลุ้มใจ ดังนั้น เมื่อบิดามารดาบรรลุพุทธภาวะได้แล้ว ลูกๆ ก็ต้องมีความสุขได้แน่นอน
ซูดะ : เข้าใจดีครับ
อ.อิเคดะ : แม้ว่า “บทปรัชญาธรรมทั้งหมดของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” จะกล่าวถึงบุญกุศลของการ “ถวายความเคารพและถวายทานต่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” จึงแน่นอนทีเดียวว่า สิ่งนี้หมายถึงการอธิษฐานและทำบุญถวายต่อโงะฮนซน ซึ่งเราจะเห็นได้จากการที่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ได้ถวายสิ่งที่ได้รับการทำบุญจากผู้คน แด่พระศากยมุนีพุทธะและพระประภูตรัตนพุทธะ
เอ็นโด : พระอักษยมติโพธิสัตว์ได้ถวายสร้อยคออัญมณีที่มีค่ามาก แด่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ แต่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ก็ปฏิเสธไม่รับขอกำนัลนั้น
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสขอให้พระอวโลกิเตศวรฯ รับของกำนัลนั้นไว้ ท่านจึงยอมรับสร้อยคอไว้แล้วแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งถวายแก่พระศากยมุนีพุทธะและอีกส่วนหนึ่งถวายแด่หอรัตนะของพระภูตรัตนพุทธะ (สัทธรรมปุณฑริกสูตรฉบับภาษาไทยหน้า ๔๙๔)
ซูดะ : ในแง่ของความหมายใต้ตัวอักษรแล้ว “พระศากยมุนีพุทธะกับหอรัตนะของพระประภูตรัตนพุทธะ” ก็หมายถึงธรรมมหัศจรรย์หรือโงะฮนซน กล่าวคือ เรื่องนี้สอนว่า เราควรยึดธรรมมหัศจรรย์เป็นหลัก มิใช่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
เอ็นโด : ผมอยากให้ผู้คนมากมายที่เลื่อมใสศรัทธาต่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หันมาใส่ใจกับข้อความนี้เหลือเกิน
ไซโต้ : ใน “ธรรมนิพนธ์เรื่องการตอบแทนบุญคุณ” พระนิชิเร็นไดโชนินกล่าวว่า “เมื่อสวดนัมเมียวโฮเร็งเงเคียวแล้วพลังของคำสวด นามุอมิตาภพุทธะก็ดี พลังมนตราที่สวดต่อพระมหาไวโรจนะก็ดี พลังของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ก็ดี ตลอดจนพลังของพระพุทธะทั้งหลาย พระสูตรทั้งหลายและโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดจะมลายหายไปสิ้น ด้วยพลังของเมียงโฮเร็งเงเคียว โดยไม่มียกเว้นเลย ถ้าพระสูตรอื่นทั้งหลายเหล่านี้มิได้รับพลังจากเมียวโฮเร็งเงเคียวแล้วทั้งหมดย่อมกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่า”
พลังบุญกุศลของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้น แท้จริงก็คือพลังของนัมเมียวโฮเร็งเงเคียวนั่นเอง
อ.อิเคดะ : การยึดถือโงะฮนซนก็คือการยึดถือต่อสกลจักรวาล เป็นการรับเอาพลังจากบ่อเกิดของจักรวาล ผู้ที่กระทำได้เช่นนี้จึงสมควรได้รับการเคารพอย่างสูงสุด และบุคคลผู้นี้ย่อมสูงส่งกว่าบรรดาผู้ก่อตั้งคำสอนนิกายต่างๆ ซึ่งได้รับการเคารพยกย่องดุจเทพเจ้าและพระพุทธะเป็นร้อยเท่า พันเท่า หมื่นเท่า หรือแสนเท่าแต่ประชาชนก็ไม่ได้เข้าใจในเรื่องนี้
สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องปฏิบัติต่อเพื่อนสมาชิกผู้ซึ่งพากเพียรเพื่อการเผยแผ่ธรรมไพศาล ด้วยความเคารพและให้เกียรติอย่างสูงสุด นี่คือเจตนารมณ์พื้นฐานของเอสจีไอ ตราบใดที่พวกเรายังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์นี้ เราย่อมไม่มีวันอับจนหนทาง

การไม่มีสมาธิในขณะสวดมนต์

เอ็นโด : พูดถึงเรื่องการอธิษฐาน ผู้คนมักมีคำถามเกี่ยวกับ เรื่องที่มักเกิดความคิดฟุ้งซ่านขึ้นมาในขณะสวดมนต์
อ.อิเคดะ : ไม่มีอะไรผิดครับ หากสวดมนต์ด้วยจิตใจที่คิดเรื่องต่างๆ นานา เรื่องนี้ปกติมากสำหรับมนุษย์เรา สิ่งสำคัญคือการนั่งต่อหน้าโงะฮนซนในสภาพที่เราเป็น ไม่จำเป็นต้องฝืนหรือเสแสร้ง
การมีความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ นานาก็เป็นสภาพภายในชีวิตของเรา ซึ่งเป็นตัวตนของหลักธรรมแห่งหนึ่งขณะจิตสามพัน เพราะฉะนั้น ด้วยพลังของไดโมขุแล้วแม้แต่ความคิดเหล่านั้น ก็ยังสามารถเปลี่ยนเป็นบุญกุศลได้เลย
ไม่มีกฏเกณฑ์ว่าจะต้องอธิษฐานอย่างไร ไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งที่มิใช่ตัวเราการอธิษฐานที่ฝืนโดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติย่อมไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ และเมื่อเรามีความศรัทธาที่ลึกซึ้งขึ้นแล้ว สมาธิในการสวดมนต์ก็จะแน่วแน่ขึ้นได้
ความจริง เนื่องจากความนึกคิดที่ผุดขึ้นมาในขณะที่เราสวดมนต์อยู่นั้น เป็นปัญหาที่เรากำลังวิตกกังวลอยู่ ดังนั้นแทนที่จะคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เราก็ควรจะอธิษฐานอย่างจริงใจในเรื่องเหล่านั้นทีละเรื่องๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ เราไม่ควรสวดเฉพาะปัญหาใหญ่ๆ แต่ควรจะอธิษฐานได้ทุกปัญหา ให้ชนะไปทีละเรื่องๆ พร้อมกับทำให้ความศรัทธาเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป และแน่นอนทีเดียวว่า เวลาที่สวดมนต์ ไม่จำเป็นต้องตึงเครียดเกินไปสิ่งสำคัญก็คือลักษณะที่จริงจังของเรา
เอ็นโด : มักมีคนสงสัยว่า จะถูกต้องหรือไม่ หากสวดมนต์เพื่อหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน หรือควรจะสวดอย่างจริงจังไปทีละเรื่องดีกว่า
อ.อิเคดะ : ไม่มีข้อจำกัดว่าจะสวดได้ทีละกี่เรื่อง มีแต่ว่ายิ่งมีสิ่งที่ปรารถนามากเท่าใด ก็ควรจะสวดอธิษฐานให้จริงจังและมากขึ้นเท่านั้น เหมือนการที่คุณอยากซื้อของจำนวนมาก คุณก็ต้องมีเงินมากพอด้วย พุทธธรรมเป็นเรื่องของเหตุผลครับ
ไซโต้ : ผมว่า คำถามแบบนี้อาจเกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดที่ว่า โงะฮนซน “รับรู้” คำอธิษฐานของเราแล้วจะแก้ไขให้เองอย่างปาฏิหาริย์
อ.อิเคดะ : ใครล่ะทำให้คำอธิษฐานของเราบรรลุผล ตัวเรานั่นเอง ซึ่งจะเกิดจากความศรัทธาและความพากเพียร ไม่มีใครทำให้เราหรอก ลองกลับไปเปรียบเทียบกับการจับจ่ายซื้อของ ซึ่งก็เหมือนกับการที่เราใช้เงินของเราเองเวลาที่ไปซื้อของ เราต้องมีเงินเองก่อนสิ “เงินตรา” ของคำอธิษฐานก็มิใช่สิ่งอื่นใด นอกจากการลงมือปฏิบัติศรัทธาของเราเอง

คำอธิษฐานที่ยังไม่บรรลุผล

ซูดะ : บางคนก็แสดงความกังวลใจว่าคำอธิษฐานของตนยังไม่บรรลุผล
อ.อิเคดะ : เรากำลังปฏิบัติศรัทธาที่ “ไม่มีคำอธิษฐานใดไม่บรรลุผล” ก่อนอื่นอันดับแรกสุดเราต้องเชื่อมั่นในเรื่องนี้ แต่คำอธิษฐานของเราบางครั้งก็บรรลุผล บางครั้งก็ยังไม่บรรลุผล แต่ตราบใดที่เรายังคงสวดไดโมขุต่อไป สุดท้ายแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะดำเนินไปในทิศทางที่ดีที่สุดซึ่งเราจะเข้าใจได้ชัดเจนเมื่อมองย้อนกลับมาในภายหลัง
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การที่เราพยายามต่อสู้จนทำให้คำอธิษฐานประสบผลสำเร็จ จะยิ่งทำให้เราเข้มแข็งขึ้น แต่ถ้าเราได้รับทุกสิ่งทุกอย่างตามที่อธิษฐานในทันทีแล้ว เราอาจจะเสียคน และกลายเป็นคนเฉื่อยชาที่ปราศจากความพากเพียรและไม่ยอมทำงานหนัก ทำให้กลายเป็นคนที่ตื้นเขิน ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว จะมีความศรัทธาไปเพื่ออะไร
ชีวิต คือเรื่องราวของเหตุการณ์ต่างๆ เราเผชิญกับความยากลำบากทุกรูปแบบ นี่แหละคือชีวิต และเนื่องจากมีความหลากหลายเช่นนี้ เราจึงสามารถดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์และสนุกสนานได้ทำให้เราเติบโตขึ้น และมีสภาพชีวิตที่เข้มแข็งและกว้างใหญ่ไพศาลได้
เอ็นโด : แน่นอนทีเดียวว่า ถ้าสมาชิกเอสจีไอทุกคนอธิษฐานของให้ถูกล็อตเตอรรี่ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่คำอธิษฐานของทุกคนจะสมหวังนะครับ
อ.อิเคดะ : หากทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอธิษฐานได้รับผลทันที ก็คงไม่ต่างกับเวทมนต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับเหตุผลคุณไม่อาจหุงข้าวได้โดยเพียงแค่เปิดสวิทซ์หม้อหุงข้าว แต่ไม่ได้ใส่ข้าวลงไป
พุทธธรรมเป็นเรื่องของสามัญสำนึกและสอนเกี่ยวกับวิถีทางการศรัทธาที่ถูกต้องซึ่งจะปรากฏออกมาในชีวิตประจำวัน ไม่มีความศรัทธาที่ละเลยต่อความเป็นจริง ความปรารถนาของเราจะไม่มีวันสัมฤทธิ์ผล หากเราไม่มีความเพียรพยายามใดๆ ในความเป็นจริง

ศาสนาที่ไม่สามารถตอบสนองคำอธิษฐานของประชาชนย่อมไร้ประโยชน์

เอ็นโด : ศาสนาที่ให้สัญญาว่าจะได้รับบุญกุศลทันที มักถูกวิจารณ์ว่าเป็นคำสอนที่ต่ำ ผมรู้สึกว่าศาสนาที่สอนให้ประชาชนต้องคอยพึ่งพา สมควรต้องถูกปฏิเสธ
ซูดะ : ความศรัทธาเช่นนั้น ซึ่งทำให้ผู้นับถือตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาประโยชน์อย่างเห็นแก่ตัว ด้วยการวิงวอนต่อพลังลึกลับบางอย่างนั้น ควรจะถูกเรียกว่า “ไสยศาสตร์”
ไซโต้ : ในด้านหนึ่ง ก็มีศาสนาที่สอนแต่เรื่องความสุขสมหวังภายในใจเท่านั้นส่วนอีกด้านหนึ่งก็มีศาสนาที่ให้คำมั่นสัญญาว่า จะได้รับบุญกุศลอย่างปาฏิหาริย์ในชาตินี้ แต่ทั้งสองคำสอนล้วนแยกออกจากความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ หรือความเป็นจริงของกายกับใจไม่เป็นสอง จึงอยู่ในระดับที่พอๆ กันนะครับ
เอ็นโด : ซึ่งประเภทหนึ่งก็เป็นทางด้านนามธรรม ส่วนอีกประเภทหนึ่งก็ไร้เหตุผล
ซูดะ : ผมคิดว่า เราอาจกล่าวได้ว่าประเภทแรกนั้นขาดความเมตตา ส่วนอีกประเภทก็ขาดปัญญา
อ.อิเคดะ : ศาสนาที่แท้จริงมิใช่แนวคิดทั้งสองแบบนี้ ศาสนาที่แท้จริงต้องสอนกฏพื้นฐานที่สามารถช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ในความเป็นจริง ซึ่งอาจารย์จึแนะ ซาบุโร มาคิงุจิ นายกสมาคมโซคาท่านแรกเรียกสิ่งนี้ว่า “การสร้างคุณค่า” ท่านปฏิเสธทัศนะของศาสนาที่คิดขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในสมัยนั้น (ดร.จุน อิชิฮาระ – ศาสตราจารย์ประจำวิชาฟิสิกข์แห่งมหาวิทยาลัยโทโฮขุ) ว่า “ศาสนาที่ไม่ก่อเกิดคุณค่าที่ตอบรับกับคำอธิษฐานนั้นไร้ประโยชน์” นักวิชาการท่านนี้มีความเห็นว่าขณะที่ผู้คน “รับรู้ได้ถึงพลังของเทพเจ้าในท่ามกลางความเป็นไปของธรรมชาติอันมหัศจรรย์” เป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยวิทยาศาสตร์ จึงควรปล่อยไว้อย่างนั้นและยังยืนยันอีกว่า ขอ “ท้าพิสูจน์ในการอธิษฐานเรื่องราวส่วนตัวต่อพระเจ้า”
ซูดะ : นั่นเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนึ่ง
อ.อิเคดะ : ในทางตรงกันข้าม อาจารย์มาคิงุจิ ยืนยันว่า ศาสนาที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างคุณค่าต่อชีวิตมนุษย์นั้น ไม่มีประโยชน์ การเพิกเฉยต่อความเป็นจริงของชีวิต ก็คือการเพิกเฉยต่อมนุษย์นั่นเอง
ปรากฏการณ์อัศจรรย์มิได้จำกัดอยู่แต่ในเรื่องของธรรมชาติ อาจารย์มาคิงุจิเชื่อว่า ชีวิตมนุษย์กับเหตุการณ์ประจำวันก็มีความอัศจรรย์ และว่าอำนาจที่เหลือเชื่อของพลังชีวิต ที่ทำให้ผู้คนสามารถสร้างคุณค่าและได้รับชัยชนะในทุกสถานการณ์ ควรเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาท่านกล่าวว่า ลำพังวิทยาศาสตร์ไม่สามารถนำความสุขมาให้ประชาชนได้ สิ่งที่ต้องมีคือ “ศาสตร์แห่งคุณค่า” วิสัยทัศน์ของท่านแทงทะลุข้อบกพร่องพื้นฐานของอารยธรรมสมัยใหมเลยทีเดียว
ไซโต้ : อาจารย์มาคิงุจิยังต่อต้านคำกล่าวขาน ซึ่งเป็นที่นิยมกันทั่วไปว่า “ความศักดิ์สิทธิ์” เป็นเรื่องเฉพาะของศาสนา ท่านแย้งว่า ศาสนาที่มีไว้เพื่อศาสนานั้นไม่มีความหมาย
ในแง่ของบุคคล “ความศักดิ์สิทธิ์” หรือ “สภาพจิตใจที่สงบและรู้แจ้ง” คือ “คุณค่าแห่งประโยชน์” ที่ขยายสภาพชีวิตของคนเรา ส่วนในแง่ของสังคม ก็คือ “คุณค่าแห่งความดี” อาจารย์มาคิงุจิบอกว่า “ศาสนาจะมีความหมายใด หากไม่อาจช่วนให้ประชาชนมีความสุขและทำให้โลกนี้ดีขึ้น การช่วยให้ประชาชนมีความสุขมิใช่ “คุณค่าแห่งประโยชน์” ดอกหรือ หรือการทำให้โลกนี้ดีขึ้น มิใช่ “คุณค่าแห่งความดี” หรืออย่างไร
อ.อิเคดะ : โดยสรุปแล้ว การหลีกเลี่ยงที่จะต่อสู้ในความเป็นจริง เพื่อช่วยให้ประชาชนมีความสุขและทำให้โลกนี้ดีขึ้นแต่กลับสอนอะไรบางอย่างที่ “ศักดิ์สิทธิ์” ราวกับเป็นคุณค่าสูงสุดในมิติอื่นนั้น คือการหลอกลวง
การช่วยให้ผู้คนมีความสุขและทำให้โลกนี้ดีขึ้น – นี่คือ การเผยแผ่ธรรมไพศาล การต่อสู้อันยิ่งใหญ่โดยยึดความจริงข้อนี้เป็นหลัก ก็คือการสร้างคุณค่าและอาจเรียกได้ว่า ศาสนาที่แท้จริง “ความศักดิ์สิทธิ์” มีอยู่เฉพาะในท่ามกลางการต่อสู้ดังกล่าวเท่านั้น และสันติภาพจะมีความหมายใด ถ้ามิใช่คุณประโยชน์สำหรับชีวิตชาตินี้
คำว่า “โลก” ของ “พระโพธิสัตว์ผู้รับฟังเสียงร้องของโลก” (พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์) มีความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก เราไม่อาจแยกตัวเองออกจาความเป็นจริง “โลก” ก็คือสังคม เราจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่มีความสุขในทางกลับบ้าน คำว่า “เสียง” หมายถึงเสียงร้องของสรรพสัตว์แต่ชีวิต ซึ่งมีความปรารถนาส่วนตัวที่อยากจะมีความสุขมีเพียงพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์กับสัทธรรมปุณฑริกสูตรเท่านั้น ที่รวบรวมเอาเป้าหมายของสองสิ่งแห่งความเจริญรุ่งโรจน์ของสังคมกับความสุขของแต่ละบุคคล เข้าไว้ด้วยกันได้
เอ็นโด : แน่นอนเลยครับว่า คนที่นึกถึงแต่ความสุขของตัวเอง คือคนที่เห็นแก่ตัวที่สุด ส่วนผู้ที่ห่วงแต่ความต้องการของสังคมซึ่งใช้คนเป็นเครื่องมือ ก็พร้อมที่จะกระโจนลงไปสู่ระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จและชาตินิยม การจะทำให้สองขั้วนี้สมดุลได้ เป็นเรื่องที่ยากที่สุด


.................................................
<!-- google_ad_section_end -->


หัวข้อ: Re: บทสนทนาเรื่อง : ปัญญาแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร...สนทนาเกี่ยวกับศาสนาในศตวรรษที่ ๒๑
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 22 มิถุนายน 2553 11:05:11





(:-_-:)   อ่านไม่ทัน เก็บลิ้งค์ค่ะ ขอบพระคุณนะคะ
คุณมด


หัวข้อ: Re: บทสนทนาเรื่อง : ปัญญาแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร...สนทนาเกี่ยวกับศาสนาในศตวรรษที่ ๒๑
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 12 สิงหาคม 2553 12:40:04




                         (:88:)  ค่อยมาอ่านต่อค่ะ...