[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 28 กันยายน 2556 14:47:19



หัวข้อ: ที่มาของชื่อ "ขนมจีน" (ที่คนจีนไม่รู้จัก)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 กันยายน 2556 14:47:19
.
(http://www.sookjaipic.com/images/8397978084_1.jpg)

ที่มาของชื่อ ขนมจีน
(ที่คนจีนไม่รู้จัก)

ที่มาของชื่อ "ขนมจีน"  คุณครูพิศาล บุญผูก ครูภูมิปัญหาไทยผู้มีเชื้อสายมอญ เจ้าของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ้านเกาะเกร็ด อ.เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี สืบค้นได้ความมาเป็นข้อสันนิษฐานว่า คำ "ขนมจีน" น่าจะมาจากภาษามอญ จากที่ชาวมอญหรือรามัญเรียกขนมจีนซึ่งเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่กินเป็นประจำ ว่า "คนอมจิน" ทั้งนี้ คนอม แปลว่าจับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ส่วน จิน แปลว่าทำให้สุก

นอกจากนี้ คำว่า คนอม ยังใกล้เคียงกับคำไทยว่า "เข้าหนม" คือข้าวที่นำมานวดให้เป็นแป้งเสียก่อน ซึ่งภายหลังกร่อนเป็น ขนม โดยที่จริงๆ แล้ว ขนม ในความหมายดั้งเดิมมิใช่ของหวานอย่างที่เข้าใจในปัจจุบัน ขนม หรือหนมในภาษาเขมร หรือคนอมในภาษามอญ หมายถึงอาหารที่ทำจากแป้ง ขนม จีนจึงน่าจะเพี้ยนมาจาก คนอมจิน และนั่นทำให้เกิดสมมติฐานอีกว่า เดิมทีเดียวขนมจีนเป็นอาหารมอญ ก่อนแพร่หลายสู่ชนชาติอื่นๆ ในสุวรรณภูมิ และด้วยเป็นอาหารที่ทำง่าย หารับประทานได้ทั่วไป จึงได้รับความนิยมสูง

สำหรับเมืองไทย เรากินขนมจีนอันประกอบด้วยเส้นเรียกว่าเส้นขนมจีน กับน้ำยาหรือน้ำแกง (รุ่นเด็กอาจกินขนมจีนคลุกน้ำปลา) และสารพัดผัก เป็นสูตรสำเร็จที่นิยมทุกท้องถิ่น แตกต่างกันก็ตรงที่แต่ละท้องถิ่นก็มีการปรุงน้ำยาต่างกัน เช่นเดียวกับภาษาที่ใช้เรียกขนมจีน อย่างภาษาเหนือเรียกขนมเส้น ภาษาอีสานเรียกข้าวปุ้น ส่วนแป้งขนมจีนที่ใช้ทำเส้นขนมจีนแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ 1.ขนมจีนแป้งหมัก คือการหมักแป้งข้าวเจ้า โดยนำข้าวเจ้ามาแช่น้ำให้นิ่ม จากนั้นนำไปโม่ แล้วหมักประมาณ 7 วัน เมื่อหมักแล้วจึงนำมานวดในเครื่องนวดแป้ง 2.ขนมจีนแป้งสด ใช้วิธีการผสมแป้งข้าวเจ้าแต่ไม่ต้องหมักทิ้งไว้ นำมานวดในเครื่องนวดแป้ง

นวดแป้งแล้ว เทแป้งใส่กระบอกทองเหลืองที่ปลายด้านหนึ่งเจาะเป็นรูๆ ไว้ กดแป้งเข้าไปในกระบอก เมื่อผ่านรู แป้งจะถูกบีบเป็นเส้น แล้วเส้นขนมจีนก็จะไหลออกจากปลายกระบอก เป็นเส้นกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ลงสู่น้ำร้อน ก่อนราดด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง เส้นขนมจีนที่ได้จะจัดเรียงเอาไว้เป็นกลุ่มๆ ขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือ เรียกว่า 1 จับ หรือบางถิ่นเรียกหัว เมื่อเรียงในจานสำหรับรับประทาน จะใส่ 3-4 จับ


(http://www.sookjaipic.com/images/9953847320_3.jpg)
ขนมจีนของคนอีสาน จังหวัดอุดรธานี
มีทั้งเส้นเล็กยาวๆ จัดเรียงเป็น"จับ" และชนิดตัวแป้งคล้ายขนมลอดช่อง

ขนมจีนภาคกลางนิยมกินกับน้ำพริก น้ำยา และแกงเผ็ดชนิดต่างๆ น้ำยาเป็นน้ำยากะทิ มีกระชายเป็นส่วนผสมหลัก ส่วนน้ำพริก น้ำแกงปนด้วยถั่วเขียว ถั่วลิสง นอกจากนี้ ยังมีขนมจีนซาวน้ำที่กินกับสับปะรด ขิง พริกขี้หนู กระเทียม มะนาว ราดด้วยหัวกะทิเคี่ยว ด้านภาคเหนือนิยมขนมจีนน้ำเงี้ยวที่มีดอกงิ้วเป็นองค์ประกอบสำคัญ กินกับแคบหมูเป็นเครื่องเคียง ส่วนอีสานกินกับน้ำยาใส่กระชายเหมือนน้ำยาภาคกลาง แต่เติมน้ำปลาร้า หรือกินกับน้ำต้มกระดูก ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ไม่ใส่เนื้อปลา หรือนำขนมจีนไปปรุงแบบส้มตำ เรียกตำซั่ว สำหรับภาคใต้ ขนมจีนเป็นอาหารเช้าเมนูหลักเมนูหนึ่ง น้ำยาขนมจีนภาคใต้ใส่ขมิ้น แต่ไม่ใส่กระชาย หรืออาจเป็นขนมจีนราดแกงไตปลา ขนมจีนน้ำยาปู ขนมจีนกับน้ำชุบ หยำ หรือน้ำพริกที่ปรุงด้วยการขยำเครื่องปรุงเข้าด้วยกัน ไม่ได้โขลกให้เข้ากันในครก

ขนมจีนมีกินกันทั่วในแถบอินโดจีน กัมพูชาเรียกว่านมปันเจ๊าะ นิยมกินกับน้ำยาปลาร้า พม่าก็มีอาหารประจำชาติเรียกหม่อนี่งา คล้ายขนมจีนน้ำยาปลา แต่ใส่หยวกกล้วย ไม่มีกะทิและกระชาย เวียดนามมีเส้นคล้ายขนมจีนเรียกบุ๋น นิยมกินกับน้ำซุปหมูและเนื้อ ส่วนลาวนิยมกินกับน้ำยาปลาหรือน้ำยาเป็ด


(http://www.sookjaipic.com/images/8616195399_SAM_7695.jpg)
"น้ำพริก" ขนมจีน

(http://www.sookjai.com/external/namyatuna/DSC00932.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images/1485098538_2.jpg)


ข้อมูล : หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด