[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 25 มิถุนายน 2557 14:57:34



หัวข้อ: การเสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ปีนัง ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 มิถุนายน 2557 14:57:34
.

(http://www.bloggang.com/data/rattanakosin225/picture/1174637806.jpg)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
กับการเสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ปีนัง
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕


โดย ศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์  
นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มแปลและเรียบเรียง
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

ดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕  ถือเป็นการปฏิรูปทางการเมืองที่มีความสำคัญยิ่งครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พระมหากษัตริย์ทรงยอมรับการดำรงฐานะภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ชั้นสูง ภายหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ มีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ที่ทรงดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในบ้านเมืองขณะนั้นต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ต่างประเทศเนื่องจากทรงไม่มั่นพระทัยในความปลอดภัย และพระบรมวงศานุวงศ์หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีและนายกราชบัณฑิตยสภาได้เสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ปีนัง ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่เสด็จลี้ภัยไปในคราวเดียวกันได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์  และพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระชายา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร และพระองค์เจ้าประเวศวรสมัย พระเชษฐภคินี รวมถึงข้าราชการชั้นสูงที่รับราชการอยู่ในขณะนั้นได้แก่ หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล อดีตข้าราชเลขานุการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน  หุตะสิงห์) อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศในขณะนั้นทั้งสิ้น

สาเหตุที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการส่วนใหญ่เสด็จลี้ภัยไปประทับและพำนัก ณ ปีนัง ก็เนื่องมาจากปีนังมีทำเลที่ตั้งไม่ไกลจากภาคใต้ของไทย สามารถเดินทางไปมาได้โดยสะดวกทั้งทางรถยนต์และทางรถไฟ โดยในส่วนของทางรถไฟนั้น มีขบวนรถไฟสายใต้เชื่อมต่อกับระบบรถไฟของประเทศมาเลเซียตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๖๐ แล้ว



(http://cklanpratoom.files.wordpress.com/2013/12/e0b881e0b8a3e0b8a1e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a2e0b8b2e0b894e0b8b3e0b8a3e0b887e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b24.jpg?w=670)
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ (ซ้าย) และ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (กลาง)
ในงานพระราชพิธี ช่วงปลายยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์
(ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)
จากเว็บไซต์ cklanpratoom.wordpress.com

๙ ปีในปีนัง : ความหลังครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปประทับ
การเสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ปีนังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช ๒๔๗๕ นับเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากตลอดระยะเวลา ๙ ปีของการเสด็จลี้ภัยไปในครั้งนั้น พระองค์ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ติดต่อกับพระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลสำคัญๆ หลายท่าน อันเป็นที่มาของงานพระนิพนธ์ที่ทรงคุณค่า อาทิ “สาส์นสมเด็จ” ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ที่ทรงมีโต้ตอบกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อันนับเป็นพระนิพนธ์ที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี ศิลปะ และอักษรศาสตร์ นอกจากนี้ ก็ยังมี “จดหมายถึงหญิงใหญ่” ลายพระหัตถ์ที่ทรงติดต่อกับหม่อมเจ้าหญิง จงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดาองค์ใหญ่ที่ประสูติแต่หม่อมนวม โรจนดิศ และหนังสือชุดบันทึกความรู้ชื่อว่า “ให้พระยาอนุมาน” ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ที่ทรงติดต่อกับพระยาอนุมานราชธน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จออกจากประเทศไทยไปประทับ ณ ปีนังในราวปลายเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ โดยก่อนหน้านั้นพระองค์ได้เสด็จไปประทับอยู่ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์อยู่ก่อน แต่เนื่องจากในเวลานั้นสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีความแน่นอน มีข่าวลือตลอดจนเหตุการณ์หลายเหตุการณ์เกิดขึ้น จนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงไม่มั่นพระทัยในความปลอดภัย จึงได้ทรงตัดสินพระทัยเสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ปีนัง โดยการเสด็จออกจากประเทศไทยไปในครั้งนั้นเป็นการเสด็จไปอย่างเงียบๆ จนแม้แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ซึ่งประทับอยู่ด้วยกันที่หาดใหญ่ก็ยังไม่ทรงทราบ โดยแต่แรกนั้น ทรงตั้งพระทัยว่าจะประทับอยู่ที่ปีนังเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้วก็จะเสด็จกลับ ดังที่ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ทูลไปยังสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส ภายหลังจากที่เสด็จมาถึงปีนังได้เพียงไม่กี่วันว่า “หมายจะพักอยู่ที่เกาะหมาก สัก ๒-๓ เดือน ด้วยเป็นที่สงัด อากาศสบายดี”



(http://cklanpratoom.files.wordpress.com/2013/12/e0b881e0b8a3e0b8a1e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a2e0b8b2e0b894e0b8b3e0b8a3e0b887e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b25.jpg?w=670)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระธิดา ๓ พระองค์ที่เสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ปีนัง
ได้แก่ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย หม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา และหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ดิศกุล
ภาพจากเว็บไซต์ cklanpratoom.wordpress.com

การเสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ปีนังในครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จโดยทางรถยนต์เนื่องจากสะดวกและเป็นการส่วนพระองค์กว่า โดยมีพระธิดาทั้ง ๓ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย (หญิงพูน) หม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา (หญิงพิไลย) และหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุคุณวรรณ หรือหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ (หญิงเหลือ) ตามเสด็จด้วย

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงบรรยายถึงความรู้สึกคับแค้นพระทัยที่ต้องทรงอพยพลี้ภัยออกจากบ้านเกิดเมืองนอนในครั้งนั้นไว้ในพระนิพนธ์ เรื่อง “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ว่า “...พอพ้นด่านสะเดาแล้วข้าพเจ้าจึงได้พูดออก หญิงเหลือหันไปโบกมือลากับหลักเขตแดนที่มีคำว่า Siam อยู่เด่นชัด เรารู้สึกเหมือนเห็นคนที่เรารักและแค้นเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเรายังมีแรงเหลืออยู่ในเวลานั้นก็คงจะร้องไห้แงอย่างยั้งไม่อยู่”

การเสด็จไปประทับ ณ ปีนังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในครั้งนั้น พระองค์ทรงได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างมากจากขุนนางและบุคคลในตระกูล ณ ระนอง หรือที่คนพื้นเมืองรู้จักกันในนาม Khaw  Family ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจการค้าและมีบ้านพำนักอาศัยอยู่ที่ปีนัง ไม่ว่าจะเป็นพระยารัตนเศรษฐี (คอยู่ต๊อก ณ ระนอง) ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่เดินทางมารับพระองค์ในทันทีที่เสด็จมาถึงปีนัง พระยารัษฎาธิราชภักดี (คอยู่จ๋าย ณ ระนอง) พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) ซึ่งธิดาของท่านคือ หม่อมเกื้อ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ชายาของหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล และพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซอมบี้ ณ ระนอง) บุคคลในตระกูล ณ ระนอง เหล่านี้ล้วนแต่มีความสนิทสนมคุ้ยเคยกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ และเมื่อเสด็จมาประทับอยู่ที่ปีนังก็ยังคอยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่มิได้ขาด หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าถึงความเอื้ออารีที่ทรงได้รับจากคนในตระกูล ณ ระนอง ไว้ในพระนิพนธ์เล่มเดียวกัน ดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า  “...พวก ณ ระนอง รู้จักกับเสด็จพ่อมาแต่ต้นสกุลและเกือบทุกคนในชั้นผู้นี้ไม่เคยลืมเสด็จพ่อ ทั้งในเวลาดีและเวลายาก ข้าพเจ้าคุ้นเคยมาแต่เด็ก ๆ จึงไม่รู้สึกว่าเป็นคนแปลกหน้า พอนั่งลงเล่าเรื่องของเรายังไม่ทันจบ พระยารัษฎา (ยู่จ๋าย) ก็มาหาและช่วยเหลือต่างๆ ด้วย...”

เมื่อแรกที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาถึงปีนังใหม่ๆ นั้น พระยารัตนเศรษฐี (คอยู่ต๊อก ณ ระนอง) ได้ทูลเชิญให้เสด็จไปประทับที่บ้านอัษฎางค์ก่อน จากนั้นจึงได้ทรงย้ายมาเช่าบ้านหลังหนึ่ง ที่บ้านเลขที่ ๒๐๖ ถนนเกลาไว ชื่อว่า บ้านซินนามอน หรือ Cinnamon Hall ซึ่งเป็นบ้านที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทับอยู่ตลอดระยะเวลาที่ทรงลี้ภัยอยู่ที่ปีนัง ชื่อ “บ้านซินนามอน” นี้อาจจะเป็นที่คุ้นหูของผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์อยู่บ้าง เนื่องจากชื่อดังกล่าวมักจะปรากฏอยู่ในหนังสือหลายเล่มที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่ปีนัง ซึ่งพระนิพนธ์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ในรูปของจดหมายหรือลายพระหัตถ์ซึ่งมักจะทรงเขียนที่หัวจดหมายทุกฉบับว่า บ้านซินนามอน ปีนังบ้าง Cinnamon Hall 206 Kelawai Road, Penang, S.S.๑๐ บ้าง

ในส่วนของพระจริยาวัตรประจำวันในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะประทับอยู่ที่ปีนังนั้น หลังจากตื่นบรรทมในตอนเช้าแล้วทุกพระองค์จะเสวยพระกระยาหารเช้าร่วมกัน จากนั้นก็จะแยกย้ายกันไปทรงงาน โดยส่วนใหญ่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มักจะทรงพระอักษรโดยมีหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ทรงช่วยค้นหาหนังสือถวาย ส่วนหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขามีหน้าที่ดูแลสวนและคนงานในบ้าน หม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุมีหน้าที่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายและซื้อข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน นอกจากพระจริยาวัตรที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำทุกวันแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดที่จะเสด็จไปห้องสมุด และเสด็จไปทรงกอล์ฟ ซึ่งเป็นกีฬาที่โปรดปราน ซึ่งส่งผลให้ทรงสามารถปรับพระองค์เข้ากับที่ประทับแห่งใหม่ได้ในเวลาไม่นาน ดังที่ได้ทรงมีลายพระหัตถ์กราบทูลมายังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ความว่า “...ที่ปีนังนี้แม้เป็นเกาะเล็กกว่าสิงคโปร์ ก็เป็นที่เงียบสงัดกว่า อากาศดีกว่า...ทั้งมีภูเขาสูงสำหรับขึ้นหาอากาศเย็น และที่สุดส่งของมาจากบ้านก็ใกล้...”

แม้แต่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาก็เริ่มที่จะทรงคุ้นชินกับการที่ต้องมาประทับอยู่ ณ ต่างบ้านต่างเมือง ดังที่ได้ตรัสเล่าไว้ในหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ความว่า “ในทางความสุขส่วนตัว ปีนังได้มีให้เราอย่างครบถ้วนบริบูรณ์...มีรถเมล์เรือติดต่อกับบ้านเราได้เสมอๆ สิ่งที่ดียิ่งสำหรับเราก็คือหอสมุดและเพื่อนฝูงของเรา เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราไม่เงียบเหงาเปล่าประโยชน์ แม้จะต้องเป็น Strangers in a strange land ก็ยังดีว่าเป็น Strangers in our own land!”

เป็นที่กล่าวกันว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้นทรงเป็นที่รู้จักคุ้นเคยในหมู่คนพื้นเมืองที่ปีนังถึงขนาดที่ว่าจดหมายที่มีมาถึงพระองค์นั้น แม้จะจ่าหน้าซองเพียง Prince Damrong, Penang จดหมายนั้นก็สามารถนำส่งถึงพระองค์ได้โดยไม่ยาก ทรงเป็นที่รู้จักในหมู่คนพื้นเมืองชาวมลายูว่า “รายาเซียม” ส่วนคนจีนเรียกว่า “เสียมอ๋อง

ด้วยเหตุที่ ปีนังในสมัยนั้นนับเป็นเมืองท่าเสรีและเป็นจุดแวะพักของเรือเมล์และเรือเดินทะเล ทั้งจากทวีปยุโรปและประเทศใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นเรือยุดแลนเดีย เรือวลัย และเรือกำปั่นยนต์ของบริษัทอิสต์เอเชียติกที่แล่นขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯ – ปีนัง เป็นประจำสามสัปดาห์หนึ่งครั้ง ด้วยเหตุนี้บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนพระโอรสและพระธิดาที่ประทับอยู่ทางกรุงเทพฯ จึงมักจะทรงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเสด็จมาเยี่ยมเยียน ตลอดจนทรงส่งเครื่องเสวยและของใช้มาถวายอยู่มิได้ขาด



(http://cklanpratoom.files.wordpress.com/2013/12/e0b881e0b8a3e0b8a1e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a2e0b8b2e0b894e0b8b3e0b8a3e0b887e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b26.jpg?w=670)
บ้านซินนามอนหรือบ้านอบเชย
ตำหนักที่ประทับของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในปีนัง
(ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)
จากเว็บไซต์ cklanpratoom.wordpress.com

อย่างไรก็ดี หลังจากที่เสด็จมาประทับอยู่ที่ปีนังได้เพียงปีเศษ รัฐบาลโดยกระทรวงวังก็ได้มีหนังสือกราบทูลมายังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ตัดเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ที่ประทับอยู่ ณ ต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ เงินปีที่ทรงเคยได้รับปีละ ๖,๐๐๐ บาท จึงต้องถูกตัดไป ส่งผลให้การดำเนินพระชนม์ชีพของทุกพระองค์อยู่ในฐานะที่ลำบากขึ้น หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงเล่าถึงความรู้สึกที่ต้องเผชิญกับการดูหมิ่นดูแคลนจากผู้คน ตลอดจนวิธีการจัดการกับช่วงเวลาอันยากลำบากนั้นไว้ดังความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อถูกตัดเงินปีที่ในหลวงพระราชทานไปแล้ว ๒-๓ วัน ก็มีคนออกมาปีนังจากกรุงเทพฯ เขาเล่าให้เราฟังว่า...พูดกับคนๆ หนึ่งว่า “ไม่ช้า (เรา) ก็ต้องซานกลับมา เพราะไม่มีจะกิน” คำว่า ซาน คำเดียวนี้เป็นยาฉีดบำรุงกำลังให้เราทุกคนเพิ่มกำลังน้ำใจที่จะไม่กลับเป็นอันขาด แล้วเราก็ตั้งต้นจัดชีวิตอันเริ่มทรุดของเราให้เข้าระเบียบ พอจะอยู่ได้ด้วยตัดรายจ่ายลงไปอีก ไม่มีการซื้อของ Luxury จะแวะดูก็แต่ที่มีลดราคา (sale price) ไว้หน้าร้าน การไปดูหนังก็แยกกันไปนั่งที่ละ ๕๐ เซ็นต์ ข้างล่าง ๒ คนไปเป็นเพื่อนเสด็จพ่อข้างบนคราวละคน เป็นอันดูหนังครั้งหนึ่ง ๔ คนก็เสียเพียง ๔ เหรียญ การเล่นเช่น golf เลิก เป็นเอารถไปจอด แล้วเดินเล่นไกลๆ แทน การออกไปกินอาหารแปลกๆ ตามโฮเต็ลก็ต้องงด เรานึกสงสารตัวเองในตอนแรกๆ เพราะทุกครั้งที่ผ่านสนาม golf หรือบ้านพวกเศรษฐีเจ๊ก เขามีไฟฟ้าจดว่า “wedding” และมีโต๊ะอาหารจีนเต็มสนามแล้ว เราทั้ง ๔ คนพ่อลูกในรถต้องเมินหน้าหนี พอพ้นไปแล้วก็หัวเราะกันว่า “แหมมัน tempt จริงๆ”

นอกจากนี้ การดำเนินพระชนม์ชีพในต่างแดนในขณะที่ต้องทรงแบกรับภาระเลี้ยงดูบ่าวไพร่ในครัวเรือนที่ติดตามมาจากกรุงเทพฯ ด้วยนั้นนับว่ามิใช่เรื่องง่ายเลย หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าว่าบางครั้งต้องทรงนำข้าวของมีค่าที่ติดตัวไปด้วยจากกรุงเทพฯ ออกขายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว แม้แต่การเสด็จไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ ต่างประเทศที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงปฏิบัติเป็นประจำ ก็ยังต้องเปลี่ยนมาเป็นการเสด็จไปประทับพักผ่อน ณ บ้านบนยอดเขาปีนังฮิลล์ของพระยารัตนเศรษฐี (คอยู่ต๊อก ณ ระนอง) บ้างเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย ในโอกาสสำคัญๆ อาทิ เทศกาลปีใหม่ ซึ่งถ้าหากประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็จะต้องมีพระโอรส พระธิดา ตลอดจนพระนัดดา มาเฝ้ากันอย่างพร้อมเพรียง แต่เมื่อต้องมาประทับอยู่ห่างไกลในต่างแดนและในสภาพเศรษฐกิจที่ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันมัธยัสถ์เช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกสะเทือนพระทัยมิใช่น้อย ดังที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงบรรยายถึงช่วงเวลานั้นไว้ ดังความตอนหนึ่งว่า

“ถึงวันที่ ๑ เมษายน ปีใหม่อย่างเก่าของเราๆ เคยมีงานสนุกสนานแต่เช้าจนถึงค่ำเพราะเพื่อนฝูงพี่น้องมาก ก็มีทั้งให้ของให้พรเลี้ยงดูกันไม่รู้จักจบ ครั้นมาอยู่ในปีนังนี้ พอลืมตาเช้าขึ้นก็เงียบเหงา เดินออกไปกินอาหารเช้าก็อย่างซึมๆ พอเสด็จพ่อออกมาจากห้อง ท่านก็ทรงยิ้มแต่อ้าพระกรตรงมายังเราและตรัสว่า “มา มาจูบพ่อเสีย ปีนี้เราไม่มีอะไรจะให้กันได้นอกจากอย่างนี้” แล้วเราก็จูบท่าน ท่านก็จูบเราด้วย ต่างคนต่างน้ำตาเต็มตา”

ตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่ที่ปีนัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอยู่ในฐานะพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นหลักพึ่งพิงให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการระดับสูงที่ลี้ภัยมาในคราวเดียวกัน ทรงติดต่อไปมาหาสู่และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้งที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระชายาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ เสด็จกลับจากประพาสยุโรปในพุทธศักราช ๒๔๘๐ ได้ทรงเล่าถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตรัสชมว่า “พวกเจ้านายที่มาอยู่ปีนังนี้อย่างไร ดูกลมเกลียวกันดีกว่าที่อื่นๆ หมด”



(http://cklanpratoom.files.wordpress.com/2013/12/e0b881e0b8a3e0b8a1e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a2e0b8b2e0b894e0b8b3e0b8a3e0b887e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b29.jpg?w=670)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เสด็จเยี่ยมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ปีนัง
(ภาพ : หอสมุดดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร)
จากเว็บไซต์ cklanpratoom.wordpress.com

แม้ในคราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ซึ่งเสด็จลี้ภัยไปในคราวเดียวกันสิ้นพระชนม์ที่ปีนัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ประทับอยู่ที่นั่น ก็ได้ทรงเป็นธุระจัดการพระศพให้ตามโบราณราชประเพณีและทรงเป็นประธานในพิธีถวายพระเพลิงพระศพ ณ วัดปิ่นบังอร๑๑ด้วย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น แม้จะเสด็จมาประทับอยู่ห่างไกลในต่างแดน แต่ก็ทรงมีน้ำพระทัยห่วงใยและทรงคอยไต่ถามทุกข์สุขของบุคคลที่ทรงรู้จักผ่านทางลายพระหัตถ์ที่มีมาถึงบุคคลต่างๆ อยู่มิได้ขาด นอกจากนี้ข้อความที่ปรากฏในลายพระหัตถ์หลายๆ ฉบับก็แสดงให้เห็นประจักษ์ในน้ำพระทัยที่ทรงมีต่อบุคคลที่ทรงรู้จักคุ้นเคยแม้จะเป็นในเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม ดังเช่น ในลายพระหัตถ์ที่มีมายังหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ทรงเล่าว่าส่งลูกแปร์ ๑๕ ใบมาถวายสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ๕ ใบ พระองค์หญิงขาว๑๒ ๕ ใบ และหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ๕ ใบ และอีกคราวหนึ่งเมื่อทรงทราบว่าพระธิดาโปรดเสวยองุ่นก็ทรงซื้อฝากส่งมาให้ดังที่ทรงมีลายพระหัตถ์ประทานมาเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ความว่า

“พ่อรู้ว่าเธอชอบกินลูกองุ่นและไม่แสลง ได้สั่งให้คอยเสาะหา แต่เผอิญมีแต่ลูกเล็กๆ ไม่น่ากิน จึงมิได้ซื้อส่งมา พึ่งมีองุ่นลูกใหญ่มาถึงเมื่อสองวันนี้ จึงซื้อฝากมาให้พร้อมกับจดหมายฉบับนี้ หวังใจว่าจะไม่มีใครลักกินเสียกลางทาง”

และในอีกคราวหนึ่งที่หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม พระธิดาประชวรอยู่ทางกรุงเทพฯ เมื่อทรงทราบว่าหายจากพระอาการประชวรก็ได้ทรงส่งของใช้มาประทาน ดังความปรากฏในลายพระหัตถ์ ฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ความว่า
“พ่อมีโอกาสจะฝากของด้วย Mrs. Atkins จะกลับกรุงเทพฯ พ่อจึงส่งน้ำอบโอเดอโคโลน (eau de cologne) ซึ่งทราบว่าเธอชอบใช้ลูบตัว มาให้ ๒ ขวด กับเสื้อแพรตัว ๑ ให้เป็นบำเหน็จสนองแก่คุณหญิงนิล ที่ได้รักษาพยาบาลเธอมาช้านานด้วยน้ำใจอันดี พ่อหวังใจว่าอาการของเธอจะค่อยคลายขึ้นเป็นลำดับมา”

โดยพระอุปนิสัยส่วนพระองค์แล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้ที่ยึดมั่นในพระจริยาวัตรที่แสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและพระบรมราชจักรีวงศ์อย่างเปี่ยมล้น แม้กระทั่งเมื่อเสด็จมาประทับที่ปีนัง ก็ยังทรงพยายามรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีทุกอย่างที่เคยปฏิบัติเหมือนเช่นเมื่อครั้งที่ประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ ไว้ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ดังจะเห็นได้จากในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ก็จะทรงส่งโทรเลขมาถวายพระพรเป็นประจำทุกปี และเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ ประเทศอังกฤษ ในพุทธศักราช ๒๔๘๔ ก็ได้ทรงมีรับสั่งให้อัญเชิญพระบรมรูปขึ้นตั้งและทำบุญอุทิศถวายพระราชกุศลที่บ้านซินนามอนด้วย




(http://www.sookjaipic.com/images_upload/90154721215367_2.png)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/67605208274390_1.png)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ในคราวเสด็จประพาสปีนัง พุทธศักราช ๒๔๘๑

นอกจากนี้ ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินปีนัง ในพุทธศักราช ๒๔๘๑ และเสด็จพระราชดำเนินมาที่ซินนามอนฮอลล์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้ทรงจัดการรับเสด็จฯ ด้วยการนำพระบรมวงศานุวงศ์ที่ประทับอยู่ที่ปีนัง ถวายพานดอกไม้ธูปเทียนตามแบบแผนธรรมเนียมโบราณ ดังที่ทรงมีลายพระหัตถ์เล่าประทานมายังหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑ ความว่า

“เวลาเช้า ๔ โมงเศษ เสด็จมาถึงซินนามอนฮอลล์ พ่อไปรับถึงรถ ทูลเชิญเสด็จมาประทับในห้องรับแขก พ่อทูลว่าพ่อเป็นคนสมัยเก่า ขอพระราชทานอนุญาตทำพิธีอย่างเก่ารับเสด็จด้วย ทูลแล้ว พ่อก็ไปยกพานดอกไม้ธูปเทียนที่เตรียมไว้ และเรียกลูกหลานทุกคนมาเฝ้าด้วยกัน พ่อคุกเข่าถือพานดอกไม้ธูปเทียน ทูลว่าทั้งตัวพ่อกับครอบครัวขอถวายความภักดีด้วยดอกไม้ธูปเทียนนี้เป็นเครื่องหมาย เมื่อทรงรับพานดอกไม้ธูปเทียนไว้ในพระหัตถ์ พ่อถวายบังคมกราบ พอพ่อกลับลุกขึ้นยืน พระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงกราบตอบ พ่อจะทูลห้ามก็ไม่ทัน...”

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปีนังซึ่งขณะนั้นยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการโจมตีของกองทัพญี่ปุ่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระธิดาต้องทรงย้ายที่ประทับจากซินนามอนฮอลล์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เขตเมืองหลวงจอร์จทาวน์มาประทับที่บ้านของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาซึ่งอยู่นอกเมืองเป็นการชั่วคราว หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าถึงการดำเนินพระชนม์ชีพในปีนังในภาวะสงครามว่าต้องทรงใช้จ่ายกันอย่างมัธยัสถ์ เนื่องจากเงินสดและทรัพย์สินที่ทรงฝากไว้ในธนาคารต่างชาติถูกอายัด อาหารและสินค้าต่างๆ ขาดแคลน ภายในสวนของบ้านซินนามอนซึ่งเคยปลูกไม้ดอกสวยงามก็ต้องเปลี่ยนมาปลูกพืชผักสวนครัวแทน เมื่อต้องทรงอยู่ในสถานการณ์อันยากลำบากเช่นนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงมีพระดำริที่จะเสด็จกลับประเทศไทย แต่ทว่าข่าวลือที่ทรงมีมาถึงพระกรรณอยู่เนืองๆ ว่า เจ้าพนักงานศุลกากรที่ปาดังเบซาร์มักจะพูดเสมอๆ ว่า “ใครจะเข้าจะออกก็ได้ทั้งนั้น เว้นแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และพระยามโนฯ” จึงทำให้ต้องทรงล้มเลิกแผนการและประทับอยู่ที่ปีนังต่อไป

จนกระทั่งในเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ หม่อมเจ้าพิสิษฐ์ดิศพงษ์ ดิศกุล พระโอรสซึ่งรับราชการเป็นนายทหารยศพันเอกในขณะนั้น และได้ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล ได้ทรงเจรจาขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จกลับประเทศไทย นับรวมระยะเวลาที่ประทับอยู่ที่ปีนังทั้งสิ้น ๙ ปี แต่ด้วยพระพลานามัยที่อ่อนแอลงประกอบกับพระชนมายุที่มากขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๖ ขณะพระชนมายุ ๘๑ พรรษา หลังจากที่เสด็จกลับมาประทับ ณ วังวรดิศได้เพียงปีเศษ.




-------------------------------------------------

๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระนามเดิม พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม พุทธศักราช ๒๔๒๙ รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  พุทธศักราช ๒๔๓๔ เป็นราชทูตพิเศษเสด็จยุโรป  พุทธศักราช ๒๔๓๕ เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พุ ทธศักราช ๒๔๖๖ เป็นเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ถึงรัชกาลที่ ๗  พุทธศักราช ๒๔๖๘ เป็นอภิรัฐมนตรี  พุทธศักราช ๒๔๖๙ เป็นนายกราชบัณฑิตยสภา  พุทธศักราช ๒๔๗๒ เลื่อนเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๘  พุทธศักราช ๒๔๘๖ พระชันษา ๘๑ ปี เป็นต้นราชสกุล ดิศกุล.

๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์  พระนามเดิม พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เสด็จลี้ภัยไปประทับอยู่ที่ปีนัง จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๘ พุทธศักราช ๒๔๗๘ พระชันษา ๗๐ ปี เป็นต้นราชสกุล สวัสดิวัตน์

๓ พระราชชนนีในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

๔ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร พระนามเดิม พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ พระราชโอรสลำดับที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาทับทิม ขณะเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช ๒๔๗๕ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๙ พุทธศักราช ๒๔๙๐ เป็นต้นราชสกุล วุฒิชัย

๕ หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธ์ฯ กับหม่อมเพิ่ม สวัสดิกุล ณ อยุธยา ทรงเสกสมรสกับหม่อมเกื้อ สวัสดิกุล ณ อยุธยา บุตรีของพระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล) ในรัชกาลที่ ๗ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชเลขานุการในพระองค์ฯ เสด็จไปประทับ ณ ปีนังจนกระทั่งสิ้นชีพิตักษัยในพุทธศักราช ๒๔๘๓

๖ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระนามเดิมพระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๒ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช ๒๔๗๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่วันที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ จนถึงวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ สิ้นพระชนม์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๐ พระชันษา ๘๔ ปี เป็นต้นราชสกุล จิตรพงศ์ ณ อยุธยา

๗ ปีนัง เป็นภาษาท้องถิ่น แปลว่า ต้นหมาก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นต้นไม้ที่พบมากที่บนเกาะนี้ ปีนังจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เกาะหมาก

๘ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัยและหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ประสูติแต่หม่อมเฉื่อย ยมาภัย ส่วนหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ดิศกุล เป็นพระธิดาที่ประสูติแต่หม่อมนวม โรจนดิศ

๙ บ้านอัษฎางค์ หรือที่ชาวพื้นเมืองรู้จักกันในชื่อ Asdang House เป็นบ้านของพระยารัตนเศรษฐี (คอยู่ต๊อก ณ ระนอง) เมื่อแรกสร้างให้ชื่อว่า บ้านโนวา สโกเทีย (Nova Scotia) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ได้เสด็จมาประทับ ณ บ้านหลังนี้ พระยารัตนเศรษฐีจึงได้ขอพระราชทานนามใหม่ จึงโปรดฯ พระราชทานนามว่า บ้านอัษฎางค์

๑๐ S.S. ย่อมาจาก Straits Settlements ดินแดนอาณานิคมของอังกฤษในช่องแคบมะละกา ประกอบด้วยปีนัง มะละกา และสิงคโปร์

๑๑ วัดปิ่นบังอร ตั้งอยู่ที่ถนน Green Lane เดิมชื่อวัดบาตู ลันจัง เป็นวัดไทยที่มีความสำคัญอีกวัดหนึ่งของรัฐปีนังนอกจากวัดไชยมังคลาราม ในภายหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดปิ่นบังอร

๑๒ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาแส