[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 22 กันยายน 2557 15:12:45



หัวข้อ: พิธีศพของชาวทิเบต แปลกแต่จริง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 22 กันยายน 2557 15:12:45
.

(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2014/09/you02220957p1.jpg&width=360&height=360)

พิธีศพแบบทิเบต

ถาม : เกี่ยวกับทิเบต เรื่องศพที่เอาไปไว้บนที่สูง เขาหั่นศพหรือครับ อยากทราบ

ตอบ : ได้ข้อมูลมาเป็นคำตอบจากเอกสารของวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปความได้ว่า

พิธีศพในทิเบตมีต้นกำเนิดตามความเชื่อทางศาสนาและตำนานเก่าแก่เป็นสำคัญ และครั้นศาสนาพุทธเผยแผ่เข้าไปในดินแดนนั้นแล้ว พิธีศพก็มักดำเนินไปตามพระธรรมทางพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ พิธีศพของชาวทิเบตมีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบนี้ขึ้นอยู่กับสถานภาพทางการเงินและสถานภาพทางสังคมของผู้ตายหรือครอบครัวของผู้ตาย ดังนี้

๑. พิธีศพบนที่สูง ใช้กันทั่วไป เพราะถือว่าวิญญาณจะไปสู่สวรรค์ พิธีศพรูปแบบนี้เริ่มโดยนำศพห่อหุ้มด้วยผ้าขาวและเก็บไว้ที่มุมห้องภายในบ้านเป็นเวลา ๓-๕ วัน มีพระมาสวดเพื่อปล่อยวิญญาณออกจากร่าง ขณะที่ญาติมิตรและแขกที่มาร่วมงานจะนำขวดเบียร์ คะตะ (ผ้าพันคอสีขาว) เนยแผ่น ธูปหอม และห่อเงินเขียนคำอาลัยไปมอบให้

เมื่อถึงเวลาที่กำหนดนำศพออกจากบ้าน โดยปกติมักจะเริ่มพิธีก่อนรุ่งอรุณ ศพจะถูกเปลื้องผ้าออกและมัดตราสังใหม่ แล้วใช้ผ้าห่มขนสัตว์ห่อแทน จากนั้นสัปเหร่อจะแบกศพออกจากบ้านไปยังสถานที่ที่จะทำพิธีศพ สมาชิกครอบครัวเดินตามไป แต่เมื่อถึงเวลาชำระศพจริงๆ มีเพียงคนใดคนหนึ่งเป็นผู้แทนของครอบครัวเท่านั้นที่จะอยู่ร่วมจนพิธีชำระเสร็จสิ้น สัปเหร่อจะนำศพขึ้นไปบนภูเขาสูง วางศพลงบนลานหิน ก่อกองไฟขึ้น โดยใช้กิ่งไม้สนเป็นเชื้อเพลิง แล้วโปรยเศษขนมซัมปะลงบนกองเพลิง

สัปเหร่อจะเปลื้องผ้าคลุมศพออก ผ่าศพด้วยมีดหรือขวาน ตัดออกเป็นชิ้นเล็กๆ คลุกกับเศษผงขนมซัมปะ แล้วก็รอให้ฝูงอีแร้งมากินซากศพ หลังจากอีแร้งกินและบินจากไปแล้วสัปเหร่อจะเข้าไปนำเศษชิ้นส่วนศพที่เหลืออยู่เผาอีกจนกลายเป็นขี้เถ้า ก่อนตักขี้เถ้าโปรยให้กระจัดกระจายไปในทิศต่างๆ ด้วยการเผาศพอย่างนี้ถือว่าจะต้องไม่ให้มีสิ่งใดเหลืออยู่ หรือหากเหลือก็ให้เหลือเพียงแต่น้อย เพื่อจะทำให้วิญญาณออกจากร่างไปได้อย่างอิสระ ไม่หวนกลับมาสู่ร่างเดิมอีก เมื่อพิธีเสร็จสิ้นตัวแทนของครอบครัวผู้ตายจะนำอาหารและเบียร์ที่เตรียมไว้ พร้อมทั้งค่าจ้างจ่ายให้กับสัปเหร่อเป็นอันจบสิ้น

๒. การชำระศพในน้ำ จัดว่าเป็นพิธีที่ทุ่นค่าใช้จ่าย โดยศพของผู้ตายจะถูกนำไปยังบึง จากนั้นสัปเหร่อจะผ่าหรือตัดศพออกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ โยนลงไปในแม่น้ำ หรือหากศพนั้นเน่าเปื่อยมากก็ไม่ต้องผ่า แต่จะห่อด้วยผ้าขาวแล้วโยนลงในน้ำทันที หากศพนั้นเป็นทารกจะนิยมใส่ในโถลายครามปิดด้วยผ้าหรือหนังสัตว์ โยนลงไปในแม่น้ำ

๓. การฝังศพใต้ดิน แยกเป็นสำหรับบุคคล ๒ ประเภท ดังนี้
        ๑.ใช้กับผู้ที่ตายด้วยโรคติดต่อร้ายแรง หรือใช้กับโจรหรืออาชญากรของสังคม
            ชาวทิเบตเชื่อว่าการฝังศพใต้พื้นดินจะทำให้วิญญาณของผู้ตายดับสิ้นไม่มีวันกลับมาได้อีก
            และถือว่าการฝังศพใต้ดินเป็นการทำลายชื่อเสียงของผู้ตาย นำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูลของผู้ตาย และ
        ๒. ใช้สำหรับบุคคลสำคัญ ได้แก่ กษัตริย์ โดยจะนำศพกษัตริย์ไปฝังบริเวณเชิงเขาศักดิ์สิทธิ์ที่มีเทพเจ้าอารักษ์อยู่

๔. การเผาศพ ใช้กับผู้ตายที่มีเกียรติ นักปราชญ์ พระผู้ทรงศีล และบรรดาขุนนาง หรือคหบดีผู้มั่งคั่ง เริ่มโดยเผาศพของผู้ตายแล้วนำกระดูกเก็บในสถูป หรือนำขี้เถ้าที่เหลือเก็บในสถูป หรือนำไปโปรยให้กระจายไปกับสายลม หรือไหลไปตามน้ำ

๕. การบรรจุศพในสถูปหรือเจดีย์ ใช้กับลามะชั้นสูง เช่น ทะไลลามะ เป็นต้น เมื่อลามะชั้นสูงหรือลามะที่มีชื่อเสียงมรณภาพ ศพของท่านจะถูกล้างให้สะอาดด้วยน้ำเกลือ แล้วปล่อยให้แห้ง จากนั้นใช้น้ำหอมและเครื่องเทศทาไปตามร่างกาย ก่อนนำไปบรรจุในสถูปหรือเจดีย์ ที่เรียกว่า "เชอร์เตน" แต่ในระยะหลังมักใช้วิธีเผาก่อน แล้วจึงนำกระดูกหรือขี้เถ้าบรรจุภาชนะนำไปเก็บไว้ในสถูปและเจดีย์


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับประจำวันจันทร์ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๗