[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 19 เมษายน 2566 20:37:02



หัวข้อ: กบฏสาเกียดโง้ง (พ.ศ.๒๓๖๒)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 19 เมษายน 2566 20:37:02

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/31064607741104_11391362_1591168384482466_2258.jpg)

กบฏสาเกียดโง้ง (พ.ศ.๒๓๖๒)

กบฏสาเกียดโง้ง เป็นกบฏที่เกิดขึ้นที่เมืองจำปาศักดิ์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๒ โดยหัวหน้ากบฏคือ สาเกียดโง้ง ได้ตั้งตนเป็นผู้วิเศษหรือผู้มีบุญ นำพวกข่าโจมตีและยึดเมืองจำปาศักดิ์ได้ แต่ถูกปราบลงได้ในปีเดียวกันนั้น

ชื่อ สาเกียดโง้ง หรือสาเก็ดโง้ง มาจาก สา ซึ่งเป็นชื่อตัว เกียดโง้ง อาจเพี้ยนจากคำว่า เขียดโง้ง ซึ่งแปลว่า ขายาวเหมือนเขียด หรืออาจเพี้ยนจากคำว่า เก็ดโง้ง ซึ่งเป็นชื่อภูเขาที่เมืองจำปาศักดิ์ หรือ ภูเก็ดโง้ง ซึ่งสาไปสร้างวัดอยู่  ดังนั้น สาเกียดโง้ง จึงมีความหมายว่า สาผู้มีขายาวเหมือนเขียด และสาเก็ดโง้งก็มีความหมายว่าสาแห่งภูเก็ดโง้ง    สาบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ต่อมาออกธุดงค์และพบสถานที่ดีบนภูเก็ดโง้ง จึงสร้างวัดและจำวัดอยู่ที่นั่น พระสามีความรู้ทั้งทางพระธรรมวินัย ไสยศาสตร์ คาถาอาคม ประกอบกับได้สร้างพระพุทธบาทจำลองไว้ที่วัด และอ้างว่าเป็นขุนเจื๋อง (วีรกษัตริย์ในตำนานของลาว) กลับชาติมาเกิด จึงเป็นที่นับถือศรัทธาของชาวบ้านมาก แม้ว่าภายหลังจะประพฤติตนผิดธรรมวินัย เช่น มีเมียถึง ๓ คน แต่ศรัทธาของชาวบ้านก็ยังไม่ลด

การก่อการกบฏของสาเกียดโง้งมีสาเหตุสำคัญคือ

ประการที่ ๑ มีการตั้งเมืองใหม่ๆ มากขึ้นทางภาคอีสาน โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้ง ๑๗ เมือง  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตั้ง ๖ เมือง  การตั้งเมืองใหม่ดังกล่าวนี้เป็นทั้งการจูงใจให้ผู้คนมาอยู่ในเมือง ขณะเดียวกันก็เป็นการสำรวจขึ้นบัญชีจำนวนประชากรโดยกองลักเลกที่ส่งไปจากกรุงเทพฯ เป็นผู้ดำเนินการ กองลักเลกที่ส่งออกไปอาจก่อให้เกิดทั้งความพึงพอใจและความเดือดร้อนแก่ผู้คนทางภาคอีสาน

ประการที่ ๒ ความคิดที่จะแยกเป็นอิสระและเป็นใหญ่ของสาเกียดโง้ง ซึ่งเห็นได้จากการที่อ้างตนเป็นขุนเจื๋องกลับชาติมาเกิด การสร้างศรัทธาแก่ชาวบ้านด้วยวิธีการหลายอย่างดังกล่าวมาแล้ว ทำให้พวกข่ามาสวามิภักดิ์ด้วยเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเมื่อเห็นไทยอ่อนแอลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนเขมรหันไปฝักฝ่ายกับญวน และต่อมาใน พ.ศ.๒๓๕๘ เขมรโดยการสนับสนุนของญวนได้โจมตีเมืองพระตะบองซึ่งยังเป็นของไทยอยู่ในขณะนั้น การที่เห็นไทยดูเสมือนว่าอ่อนแอและความทะเยอทะยานของสาเกียดโง้ง จึงทำให้สาเกียดโง้งก่อการกบฏขึ้น

ประการที่ ๓ ความมักใหญ่ใฝ่สูงของพระยาพรหมภักดี (ทองอิน) ว่าที่เจ้าเมืองนครราชสีมา (เจ้าเมืองนครราชสีมาในเวลานั้น คือพระยาบุญจันทร์ ชราภาพมาก) ผู้เฉลียวฉลาด กล้าหาญ มีฝีมือในการรบ แต่ทะเยอทะยาน ประจบสอพลอ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน  พระยาพรหมภักดีเคยเป็นยกกระบัตรเมืองนครราชสีมาและเคยไปเกลี้ยกล่อมชาวพื้นเมืองทางฝั่งโขง ทำให้เกิดความเดือดร้อนโดยทั่วไป จนถูกฟ้องร้อง แต่เอาตัวรอดมาได้โดยถวายบรรณาการ  พระยาพรหมภักดีได้ยินกิตติศัพท์ของสาเกียดโง้ง จึงไปฝากตัวเป็นศิษย์และเรียนคาถาอาคม เมื่อมีความสนิทสนมกันมากขึ้น จึงเล่าแผนการให้สาเกียดโง้งฟังและชักชวนให้ร่วมมือโจมตีเมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งจะทำให้สาเกียดโง้งได้ทั้งทรัพย์สิน อำนาจ และได้เป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ต่อไป

สาเกียดโง้งได้เกลี้ยกล่อมพวกข่าทั้งหลายเป็นบริวาร โดยบอกว่าพวกข่าเคยเป็นบริวารขุนเจื๋องในชาติก่อน พร้อมทั้งให้คำมั่นสัญญาแบบผู้มีบุญทั้งหลายว่า จะมีชีวิตที่ดีขึ้น สุขสบายขึ้น “เอกสารพื้นเวียง” ระบุว่ามีพวกข่าเป็นบริวารสาเกียดโง้งถึง ๓๐๐,๐๐๐ คน

แผนการของสาเกียดโง้งคือ โจมตีจำปาศักดิ์โดยไม่ให้รู้ตัว ยึดทรัพย์สิน เผาเมือง แล้วจึงสร้างเมืองใหม่โดยมีสาเกียดโง้งเป็นเจ้าเมือง  ส่วนพระยาพรหมภักดีได้ยกกำลังไปปราบพวกข่าในบริเวณใกล้เคียง เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือหรืออาจเพื่อตระหลบหลังสาเกียดโง้งก็ได้

สาเกียดโง้งได้นำไพร่พลประมาณ ๘,๐๐๐ คนเข้าโจมตีเมืองจำปาศักดิ์ในปลายเดือนมกราคม พ.ศ.๒๓๖๒ โดยที่นครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) ไม่สามารถต้านทานได้ จึงอพยพผู้คนออกจากเมือง  สาเกียดโง้งกับไพร่พลเมื่อเข้าเมืองได้ ต่างค้นหาทรัพย์สินและเผาผลาญบ้านเรือน เมืองจำปาศักดิ์จึงถูกไฟไหม้ไปทั้งเมือง

เจ้านครจำปาศักดิ์กับชาวเมืองที่หลบหนีได้พบพระยาพรหมภักดีในระหว่างทาง จึงเล่าเรื่องให้ฟัง แต่พระยาพรหมภักดีกลับไม่เชื่อและยังกล่าวหาว่า อาจเป็นแผนการของเจ้านครจำปาศักดิ์เองก็ได้ ท่าทีของพระยาพรหมภักดีก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่เจ้านครจำปาศักดิ์อย่างยิ่ง เมื่อเห็นว่าไม่สามารถพึ่งพาพระยาพรหมภักดีได้แล้ว จึงนำชาวเมืองเดินทางต่อไปอุบล มุกดาหาร และนครพนม

เมื่อเจ้าเมืองจำปาศักดิ์หลบหนีไปแล้ว พระยาพรหมภักดีจึงยกกำลังโจมตีสาเกียดโง้งโดยไม่ให้รู้ตัว  สาเกียดโง้งเป็นฝ่ายเสียเปรียบ จึงนำไพร่พลหลบหนีไปยังภูย่าปุที่อุดมสมบูรณ์และสูงชันยากแก่การติดตาม สาเกียดโง้งจึงรอดตัวไปได้

นครจำปาศักดิ์ได้รายงานเรื่องเมืองจำปาศักดิ์ถูกสาเกียดโง้งโจมตีให้ทางกรุงเทพฯ ทราบ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (บุญจันทร์) และเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศราชของไทยช่วยกับปราบ   ผู้ที่แสดงความสามารถในการปราบและจับสาเกียดโง้งกับไพร่พลได้ในครั้งนี้คือ เจ้าราชบุตร (โย่) โอรสของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์  กบฏจึงสิ้นสุดในเวลาเพียงเดือนเศษ

เจ้าอนุวงศ์ได้สอบสวนสาเกียดโง้งว่า เหตุใดจึงก่อการกบฏ ได้ความว่า เพราะถูกพระยาพรหมภักดีบังคับ และถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็จะต้องเดือดร้อน ครั้นสอบถามพระยาพรหมภักดี ก็แก้ตัวว่าไม่จริง  ดังนั้น เจ้าอนุวงศ์จึงส่งผู้เกี่ยวข้องกับการกบฏคราวนี้ คือ สาเกียดโง้ง พระยาพรหมภักดี และเจ้านครจำปาศักดิ์ลงมาที่กรุงเทพฯ

หลังการสอบสวน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงตัดสินให้จำคุกสาเกียดโง้ง เพราะถ้าประหารชีวิตจะทำให้เกิดบาปกรรม ไพร่พลของสาเกียดโง้งให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางบอน (ในเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร)  พระยาพรหมภักดีไม่ถูกลงโทษเพราะ “ความดีมันมีมาก” ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาด้วย  ส่วนเจ้านครจำปาศักดิ์ โปรดเกล้าฯ ให้ปลดออกจากตำแหน่ง เพราะไม่สนใจป้องกันบ้านเมือง หนีเอาตัวรอด  ในการนี้ เจ้าอนุวงศ์ได้กราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งเจ้าราชบุตรดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองจำปาศักดิ์แทนได้เป็นผลสำเร็จ.



ที่มา - กบฏสาเกียดโง้ง (พ.ศ.๒๓๖๒)สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์เผยแพร่