[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 26 มิถุนายน 2565 13:51:57



หัวข้อ: ตำนานความเชื่อเรื่อง “รอยสัก” มาจากอิทธิฤทธิ์ของพระพุทธเจ้า
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 26 มิถุนายน 2565 13:51:57
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/40743564193447__640x1024_Copy_.jpg)
ภาพลายเส้นฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 แสดงการสักของ "ลาวพุงดำ"
ที่นิยมสักตามร่างกายเป็นลายต่างๆ ตั้งแต่สะดือลงไปจนถึงหัวเข่า

ตำนานความเชื่อเรื่อง “รอยสัก” มาจากอิทธิฤทธิ์ของพระพุทธเจ้า

ผู้เขียน - เมฆา วิรุฬหก
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2565


“การสัก” เป็นที่แพร่หลายในอุษาคเนย์มาแต่โบราณ โดยเฉพาะกลุ่มชนที่อยู่ทางตอนเหนือขึ้นไปจากประเทศไทยซึ่งเดิมเคยเป็นอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง เข้าไปจนถึงรัฐฉานในพม่า รวมถึงสิบสองปันนาและสิบสองจุไทในประเทศจีน

ลวดลายการสักซึ่งเป็นที่นิยมของแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกันไป อย่างกลุ่มลาวพุงดำ (ที่คนไทยเรียก) ก็เป็นกลุ่มที่นิยมสักจนทั่วร่างกาย บางรายสักทั้งตัวเว้นไว้แต่เพียงหน้าผาก ส่วนกลุ่มลาวพุงขาวก็เป็นกลุ่มที่นิยมการสักตั้งแต่เข่าไปถึงต้นขาส่วนบน ไม่สักเลยขึ้นมาถึงเอวหรือพุงอย่างลาวพุงดำ

ประเพณีการสักยังได้รับความนิยมในหมู่ชาวไทในสิบสองปันนาและสิบสองจุไทในประเทศจีน ซึ่งพระอริยานุวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคามได้เล่าถึงตำนานอันเป็นที่มาของของประเพณีการสักของกลุ่มชนทั้งหลายบริเวณตอนเหนือของประเทศไทยขึ้นไปไว้ว่า

“ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน บรรดาหัวเมืองต่างๆ พากันยกทัพมาแย่งชิงองค์พระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มีเมืองจำปา เมืองสักกะ เมืองวิเทหะ กรุงราชคฤห์ มาแย่งชิงเอาไปหมด จนชั้นที่สุดก็เกิดการรบราฆ่าฟัน แต่อาศัยโฑณพราหมณ์ ผู้ที่แจกองค์พระสารีริกธาตุให้กับบรรดาหัวเมืองต่างๆ ได้ชี้แจงเพื่อให้เกิดความสามัคคีธรรม แล้วบรรดาหัวเมืองต่างๆ ต่างแยกย้ายกันกลับไปโดยไม่เกิดศึกสงครามต่อกัน

ครั้นต่อมาบังเอิญพวกยูนนาน หนองแส ไปเมืองกุฉินารายณ์ พบกษัตริย์วัลลิปาโมกข์ เพื่อขอองค์สารีริกธาตุ กษัตริย์วัลลิปาโมกข์ตลอดจนโฑณพราหมณ์ก็ชี้แจงให้ฟังว่าองค์พระสารีริกธาตุหมดแล้ว

บรรดาหัวเมืองที่ได้พระบรมสารีริกธาตุมากกว่าใครก็คือเมืองราชคฤห์ได้แล้วก็แจกจ่ายไปยังบรรดาเมืองเล็กเมืองน้อย เพื่อให้เจ้าเมืองซึ่งเป็นเมืองบริวารของเมืองใหญ่นั้นจัดทำสถูป เจดีย์ บรรจุองค์พระสารีริกธาตุ

ปัญหามีว่า เมื่อกษัตริย์เมืองยูนนาน หนองแส แคว้นสิบสองจุไทไม่ได้อะไร กษัตริย์วัลลิปาโมกข์ก็กล่าวว่า สิ่งที่ยังเหลืออยู่ก็เพียงแต่เถ้าถ่าน กษัตริย์เมืองยูนนาน เมืองหนองแสก็นำเถ้าถ่านนั้นกลับเมืองของตน แล้วพากันอธิษฐาน พระอังคารที่เกิดจากเถ้าถ่านก็แทรกซึมเข้าตามเนื้อ ตามตัว ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระพุทธเจ้า เป็นเหตุให้กษัตริย์ทั้งหลายคงกระพันชาตรีมีกำลังเหมือนช้างสารตลอดจนกระโดดสูงได้ถึง 100 องคาพยพ

สาเหตุนี้เอง ทำให้ชาวไทยยูนนาน แคว้นสิบสองจุไทและน่านเจ้าทั้งหลาย ตลอดพวกไทยใหญ่ พวกเงี้ยว ไทยเข ไทยยาง ไทยลื้อ ไทยเขิน นิยมการสักลายตามเนื้อตัวกลายเป็นเวทย์มนตร์คาถาและยันต์ต่างๆ”

พิจารณาแล้ว ตำนานดังกล่าวมีลักษณะประสานความเชื่อสองชุด ช่วยให้ความเชื่อท้องถิ่นอย่างการสักเพื่อความคงกระพันชาตรีสามารถอยู่ร่วมกับศาสนาพุทธได้อย่างกลมกลืน ด้วยการอ้างว่ารอยสักอักขระต่างๆ เกิดขึ้นได้ก็ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระพุทธองค์เอง