[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
08 พฤษภาคม 2567 02:33:34 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สมาธิ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อบลราชธานี  (อ่าน 162 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1022


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 123.0.0.0 Chrome 123.0.0.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 06 เมษายน 2567 17:18:56 »




ศาสนา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี

           ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลจงบังเกิดมีแก่เพื่อนสหธรรมิกตลอดถึงญาติโยมผู้ใฝ่ในบุญในกุศลทุกท่านทุกคน

            วันนี้อาตมภาพก็มีโอกาสได้มาบรรยายธรรมประกอบการประพฤติปฏิบัติ ก็ขอน้อมนำเอาเรื่องสมาธิมาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะว่าญาติโยมที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็มาปฏิบัติเป็นวันที่ ๔ เมื่อผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมถึงวันที่ ๔ ตามหลักการของวัดพิชโสภารามนั้น ท่านจะให้เราขึ้นระยะที่ ๒ เดินจงกรมว่า “ยกหนอ เหยียบหนอ” คือเราจะก้าวจากขั้นสมมุติบัญญัติ แต่ก่อนโน้นเราบริกรรมว่า “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหน”อ คำว่า “ขวา” ก็ดี คำว่า “ซ้าย” ก็ดี ถือว่าเป็นสมมุติ เป็นคำสมมุติว่าขวาหรือว่าซ้าย แต่เมื่อขึ้นระยะที่ ๒ แล้วก็ถือว่าสภาวะนั้นเป็นปรมัตถ์สภาวะ ไม่มีขวาไม่มีซ้าย มีแต่รูปกับนาม เรียกว่า “ยกหนอ เหยียบหนอๆ” อันนี้เป็นปรมัตถ์สภาวะ

            เมื่อเราขึ้นระยะที่ ๒ แล้ว เราก็เดิน ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมง คือเดินระยะที่ ๑  ๓๐ นาที ระยะที่ ๒  ก็ ๓๐ นาที รวมเป็น ๑ ชั่วโมง เพราะฉะนั้น การนั่งนั้นต้องใช้ความอดทนมาก ต้องใช้ความเพียรมาก ต้องใช้ขันติ ต้องใช้บารมีอย่างมาก ถ้าเราสามารถทำได้ก็แสดงว่าสมาธิของเราแก่กล้า บุญวาสนาบารมีที่เราทั้งหลายได้นั่งภาวนานั้นก็จะส่งให้เรานั้น เจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากภัยทั้งหลายทั้งปวง คำว่าสมาธินั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสไว้

            คำว่าสมาธินั้นแปลว่าตั้งใจมั่น คือมีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หวั่นไหว ดังที่มีบทวิเคราะห์ว่า ธรรมชาติใดย่อมไม่หวั่นไหว ธรรมชาติใดย่อมตั้งมั่น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าสมาธิ อันนี้เป็นบทวิเคราะห์ที่ท่านได้กล่าววิเคราะห์ไว้ในภาษาบาลี เมื่อเรามาพิจารณาว่าสมาธินี้เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ เมื่อเรามาพิจารณามรรคมีองค์ ๘ นับตั้งแต่สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมาวายาโม สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็มีสัมมาสมาธิ มรรค ๘ จะขาดสมาธิเสียไม่ได้

            มรรค ๘ ก็คือหนทางแห่งความพ้นทุกข์ เพราะฉะนั้น เรามาฝึกสมาธินี้ก็ถือว่าเพื่อเป็นการที่จะพัฒนาหนทางแห่งความพ้นทุกข์นั้นให้เกิดมีขึ้นในขันธสันดานของเรา แต่เมื่อเรามาพิจารณาพละ ๕ อย่างเช่นศรัทธา พละ ๕ ก็คือกำลัง กำลังคือศรัทธา กำลังคือความเพียร กำลังคือสติ กำลังคือสมาธิ กำลังคือปัญญา

            กำลังที่จะทำให้บุคคลได้บรรลุมรรคผลนิพพาน  ก็อาศัยกำลังของสมาธิ หรือเรามาพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านย่อไว้มี ๓ ประการ คือ ๑. ศีล ๒. สมาธิ ๓. ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา นี้แหละเป็นองค์แห่งตัวของพระศาสนา ถ้าบุคคลใดทำให้ดี ทำให้สมบูรณ์ ในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ก็แสดงว่าบุคคลนั้นรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระศาสนา ได้บรรลุมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ได้เข้าถึงธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

            เพราะฉะนั้น สมาธินั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าบุคคลใดยังไม่ทำให้เกิดต้องทำให้เกิด บุคคลใดทำให้เกิดแล้ว ต้องรักษา ต้องพัฒนา รักษาไว้ให้ดี ไม่ให้มันเสื่อม ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าเราจะบรรลุมรรคผลนิพพาน พ้นไปจากชาติกันดาร พยาธิกันดาร มรณะกันดาร ถึงฝั่งคือพระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุข นั่นแหละจึงจะถือว่าเรานั้นนิ่งนอนใจได้

            คำว่าสมาธินั้นเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเรารู้ว่าสมาธินั้นเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหนทางแห่งการตรัสรู้แล้ว ทำอย่างไรเราจึงจะได้สมาธิ บุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีความต่างกัน บางคนก็ได้สมาธิเร็ว บางคนก็ได้สมาธิช้า บางคนก็ได้สมาธิตื้น บางคนก็ได้สมาธิลึกๆ ก็มี อันนี้เป็นเพราะเหตุไร ? ถ้าเราจะสรุปใจความเหตุแห่งสมาธินั้นก็พอได้อยู่ ๒ ประการ คือ ๑ เหตุตั้งแต่อดีต เรียกว่า ปุพเพกตปุญญตา บุคคลนั้นสั่งสมอบรมในเรื่องสมาธินั้นมามาก

            ประการที่ ๒ เหตุปัจจุบัน ถ้าบุคคลใดไม่ได้สั่งสมอบรมบารมีมาตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อน ไม่เคยบำเพ็ญสมถะบารมีมาก่อน เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว เดินจงกรมนั่งภาวนา เดินอย่างไรจิตใจก็ไม่สงบเป็นสมาธิ เพราะอะไร เพราะว่าบุญตนเองไม่ได้สั่งสมอบรมไว้ ครูบาอาจารย์แนะอย่างโน้นแนะอย่างนี้ก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิได้ คิดว่าอาจารย์รูปโน้นสอนสมาธิดี อาจารย์รูปนี้ท่านมีคุณธรรม ท่านสอนสมาธิเก่ง เราก็ไปแสวงหาท่าน

            ขณะที่เราไปเราก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิได้ เพราะอะไร เพราะว่าบารมีแต่ภพก่อนชาติก่อนของเรามันน้อย อันนี้เป็นประเภทหนึ่งที่ทำสมาธิได้ยาก ประเภทที่ ๒ บุญแต่ชาติก่อนนั้นได้ทำไว้เยอะอยู่ แต่ในปัจจุบันนี้เป็นผู้ที่ขาดความเฉลียวฉลาด หรือไปอยู่ในสำนักที่ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ฝึกหรือว่าปฏิบัติผิดหลักผิดวิธี บางครั้งก็ไม่ได้ แต่บางครั้งฝึกถูกต้องเข้าไปหาครูบาอาจารย์ที่เป็นสัปปายะ มีการฝึกสมาธิที่ถูกต้อง แต่ว่าสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เช่นห่วงการงานเกินไป ห่วงทรัพย์สมบัติ ห่วงการค้าการขาย หรือก่อนที่จะมาประพฤติปฏิบัติธรรมสามีก็ไม่อนุญาต หรือว่าผู้ที่เป็นสามีมาภรรยาก็ไม่อนุญาต หรือผู้เป็นลูกมาประพฤติปฏิบัติธรรมพ่อแม่ก็ไม่อนุญาต ถ้าเป็นในลักษณะอย่างนี้แล้ว เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม การเดินจงกรมนั่งสมาธินั้น ก็ถือว่าเป็นการยาก

            บางคนบางท่านสามีมาประพฤติปฏิบัติธรรม ขณะที่นั่งภาวนาไป พองหนอ ยุบหนอไป อารมณ์ดิ่งลงไปสู่สมาธิ มือมันแน่นเข้า ตัวมันรัดเข้า ดิ่งลงไป อารมณ์มันดิ่งลงไป ปรากฏเสียงดังขึ้นมาว่า พี่ๆๆ อย่าเพิ่งไปรอหนูด้วย อย่างนี้ก็มี อันนี้สามีมาประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอย่างนั้นก็มี พอได้ยินเสียงจิตมันยึดเสียง เมื่อจิตยึดเสียง จิตมันก็คลายออกจากสมาธิ เมื่อคลายออกจากสมาธิอารมณ์มันก็เข้ามาสู่ปกติ เวลามันจะดิ่งลงไปอีกๆๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เสียงนั้นมันดังมาอีก อันนี้เรียกว่าจิตมันพ่วงกัน

            บางคนเคยทำให้พ่อแม่เสียอกเสียใจ เวลามันดิ่งลงไปๆๆ รูปภาพตัวนั้นมันก็ปรากฏขึ้นมา จิตมันก็ถอนออกจากสมาธิเหมือนกัน หรือบางคนบารมีไปทางวิปัสสนาญาณ ขณะที่สมาธิมันดิ่งลงไปๆๆ นั้นแหละ ขณะที่มันดิ่งลงไปมันจะเข้าไป มันจะแน่นเข้าๆๆ แล้วก็คลายออกหายไปเหมือนกับเราเทน้ำลงทะเลทราย บางคนก็ไปนอน นอนแล้วก็เห็นเจดีย์ขาวสูงขึ้นเสียดฟ้า เจดีย์นั้นมันพังลงมา ไม่สามารถที่จะทำสมาธิได้ในขณะนั้นเพราะว่าจิตใจมันไปสู่อารมณ์ของวิปัสสนาญาณอย่างนี้ก็มี

            เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าบุคคลใดเคยสั่งสมอบรมบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน เดินจงกรมนั่งภาวนาก็สามารถที่จะทำได้ เหมือนกับสามเณรรูปหนึ่งในสมัยก่อนโน้น พรรษา ๓ พรรษา ๔ ได้ไปช่วยสอนกรรมฐาน ไปพาสามเณรเดินจงกรม ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ เป็นผู้กำหนดอยู่ที่บ้านอีเติ่ง สามเณรนั้นเดินจงกรมก็เข้าสมาธิท่าเดิน นั่งก็เข้าสมาธิท่านั่ง เวลาไปฉันภัตตาหารเช้าก็ดี ภัตตาหารเพลก็ดีต้องเดินคุมไป

            ถ้าปล่อยให้เขาเดินเขาก็เข้าสมาธิอยู่กลางทาง เวลาฉันภัตตาหารบอกว่าอย่ากำหนด สามเณร ให้ฉันภัตตาหาร มันจะเหนื่อย ขณะที่ฉันภัตตาหารกำหนดก็เข้าสมาธิในขณะฉัน นี่เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ เวลาอาบน้ำไปแปรงฟันก็เข้าสมาธิในขณะที่แปรงฟัน นี้เกิดความอัศจรรย์ใจขึ้นมา เวลานั้นก็ให้สามเณรหลายๆ รูปนั้นนั่งล้อม ล้อมสามเณรรูปนั้น เมื่อนั่งล้อมแล้วก็คนที่ไม่ได้สมาธิก็ได้สมาธิ เรียกว่าเป็นดาวล้อมเดือน เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิเหมือนกัน อันนี้ก็เป็นบุคคลผู้มีบุญ

            ที่วัดพิชโสภารามในสมัยโน้น มาปฏิบัติที่วัดพิชฯ พรรษาแรกมีพระอาจารย์รูปหนึ่งเป็นคนดำแล้วก็เป็นคนผอม เขาจะเข้าสมาธิได้ดี เวลาเดินมาทำวัตรจะเข้าสมาธิกลางทาง เวลากราบแล้วก็จะไม่เงยอะไรทำนองนี้ เวลาฉันก็ถือช้อนค้างไว้ เขาก็เลยให้ฉายาว่าอาจารย์ดำ เพราะว่าท่านเข้าสมาธิเก่งมาก ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนทั้งหลายทั้งปวงเห็นแล้วเกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใส อยากเข้าไปใกล้ อยากสนทนา อยากนั่งใกล้ อยากขอสมาธิด้วย อันนี้ก็ถือว่าเป็นบุคคลผู้บำเพ็ญบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน

            แต่บางรูปบางท่านก็ไม่มีบารมี บำเพ็ญบารมีมาน้อย บางครั้งก็ไม่ยังสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้นมาก็มี เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมไป เราจะมีบารมีน้อย หรือมีบารมีมากเราก็เริ่มตั้งแต่วันนี้แหละ เป็นต้นไป ถ้าเราแยกสมาธิออกก็จะได้เป็นสมาธิ ๓ ประเภท คือ

            ๑. ขณิกสมาธิ

            ๒. อุปจารสมาธิ

            ๓. อัปปนาสมาธิ

            ประการที่ ๑ ขณิกสมาธิ ก็คือ สมาธิชั่วขณะ เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายเดินจงกรมนี้แหละ ถ้าเรามีสติกำหนด “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” นี้ก็ถือว่าเป็นขณิกสมาธิแล้ว แต่ถ้าเรามีสติกำหนด “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” “พองหนอ ยุบหนอ” นี่ก็ถือว่าเป็นขณิกสมาธิแล้ว ขณิกสมาธินี้ก็ถือว่าเป็นบาทของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้เราเห็นรูปเห็นนามชัดเจน ทำให้เราเห็นพระไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง เห็นทุกขัง เห็นอนัตตา เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา ได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็อาศัยขณิกสมาธิ

            ประการที่ ๒ คือ อุปจารสมาธิ อุปจารสมาธินั้นมีอยู่ ๒ วิถี คือวิถีที่ ๑ เป็นอุปจารในวิถีของฌาน อุปจารประเภทที่ ๒ นั้นเป็นอุปจารที่อยู่ในวิถีของวิปัสสนา อุปจารในวิถีของฌานเป็นอย่างไร คือขณะที่เรานั่งไป ตัวของเรามันเย็นเข้า แข็งเข้า มือของเรามันบีบรัดเข้า ความรู้สึกของเรามันเล็กลงๆๆ อยู่ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า เป็นอุปจารในฌานแล้ว แต่ถ้าจิตใจของเรามันนิ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งก็เป็นปฐมฌานแล้ว เพราะว่าปฐมฌานนั้นก็ยังบริกรรมอยู่ เรียกว่ายังมีวิตกวิจารณ์ มีปีติ มีสุข มีเอกัคคตาอยู่

            แต่ถ้าเราบริกรรมไปๆ พองหนอยุบหนอไปๆ เราบริกรรมไปดีๆ คำบริกรรมมันหมดไปเฉยๆ คำบริกรรมมันหยุดไปเฉยๆ แต่ความรู้ตัวทั่วพร้อมมันยังมีอยู่อันนั้นเรียกว่าเราเข้าถึงทุติยฌานแล้ว เราข้ามปฐมฌานไปแล้ว เรายังรู้สึกตัวอยู่แต่ว่าคำบริกรรมมันหมดไป ก็พยากรณ์ได้ว่าเรานั้นเข้าถึงทุติยฌานแล้ว แต่ในขณะนั้นเรายังไม่ทิ้งคำบริกรรม ยังไม่ทิ้งภาวะที่กำหนด เรามีสติจี้ลงไป ดูอารมณ์นั้นให้ละเอียดเข้าๆๆ ไม่ให้เผลอ

            เมื่อเราจี้สภาวะนั้น จี้สภาวะนั้นให้ละเอียดเข้าๆๆ มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ร่างกายของเรามันแข็ง ปลาที่ถูกเสียบที่เขาปิ้งแล้วความรู้สึกมันก็น้อยลงไปเบาลงไป ร่างกายของเราแข็งเหมือนกับตะคริวกิน บางคนก็แข็งถึงหัวเข่า บางคนก็แข็งถึงเอว บางคนก็แข็งถึงไหล่ บางคนก็แข็งหมดตัวเหมือนกับถูกสาปอะไรทำนองนี้ มันก็แข็งอยู่อย่างนั้น อันนี้เรียกว่าเราเข้าถึงตติยฌานแล้ว แต่ถ้าเราบริกรรมไปเราไม่ได้บริกรรมแต่เรานึกอารมณ์นั้นให้ละเอียดเข้าจี้เข้าไม่ให้มันเผลอ ไม่ให้อารมณ์อื่นมันมารบกวน ไม่ให้เรายินดีในอารมณ์อื่น

            จี้ลงไปๆๆๆ บางครั้งก็ดับ เรียกว่ามันเป็นเอง มาถึงนี้มันเป็นเองของมันโดยอัตโนมัติมันก็ดับลงไป ถ้าดับลงไปได้เมื่อไหร่ก็เป็นจตุตถฌาน เรียกว่าเข้าถึงจตุตถฌานนี้เป็นลักษณะของสมาธิในวิถีของฌาน แต่อุปจารสมาธิ ในวิถีของวิปัสสนาญาณนั้นคือขณะที่เรา บริกรรมไปๆ อุปจารในวิถีของวิปัสสนาญาณนั้นจะเกิดขึ้นแก่ติกขบุคคล มันทบุคคลนั้นจะเกิดไม่ค่อยชัดเจน ไม่เหมือนติกขบุคคล เพราะว่าติกขวิถีจิตของติกขบุคคลนั้นจะไม่มีบริกรรม จะมีอุปจารเลยทันที เมื่ออุปจาระแล้วก็อนุโลมญาณ โคตรภูญาณทันที เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมอาการพองอาการยุบมันจะเร็วขึ้นๆๆ มือมันจะแน่นเข้าๆ บีบเข้าๆ อันนี้เรียกว่า อุปจารในวิถีของวิปัสสนาญาน

            ทำไมจึงรู้ว่าเป็นอุปจารในวิถีของวิปัสสนาญาณ ก็เพราะว่าพระไตรลักษณ์มันเกิดร่วม เร็วขึ้นๆๆ มือมันแน่นเข้าๆ บีบเข้าตัวมันรู้สึกรัดเข้าๆๆ ดับพึบลงไป นี่ลักษณะของอำนาจของวิปัสสนาญาณ บางคนบางท่านก็แน่นเข้าๆๆๆ มือมันก็บีบเข้ารัดเข้าแน่นเข้าบีบเข้าแล้วก็ความรู้สึกเล็กลงๆ ดับลงไป อันนี้เป็นวิถีจิตของติกขบุคคลในทุกขาปฏิปทา เรียกว่าเป็นบุคคลผู้บำเพ็ญสมถะมามาก แต่วิถีจิตของบุคคลผู้เจริญอนัตตามาก่อน เวลาบริกรรมไปอาการพอง อาการยุบมันแผ่วเบาเข้าๆ มือมันก็แน่นเข้าๆๆ ความรู้สึกมันก็ ละเอียดลงๆๆ แล้วก็ดับลงไป อันนี้เป็นวิถีจิตของวิปัสสนาญาณผู้เคยบำเพ็ญทานมามาก อาการพองอาการยุบมันเป็นเร็วขึ้นๆๆ เรียกว่าอนิจจัง

            แต่ถ้าบุคคลใดเคยบำเพ็ญสมถะมามากเวลาบริกรรมไปท้องพองท้องยุบมันจะแน่นเข้าๆๆ แล้วก็จะดับลงไป แต่ถ้าบุคคลใดเคยเจริญวิปัสสนากรรมฐานมาก่อน อาการพอง อาการยุบมันจะแผ่วเบาลงๆๆ แล้วก็จะดับไป อันนี้เป็นลักษณะของบุญที่คนเราต้องเกิดอย่างใดอย่างหนึ่ง บางครั้งก็เกิด ๒ อย่าง ๓ อย่างก็มีแล้วแต่บุญวาสนาบารมี อันนี้เป็นลักษณะของสมาธิ

            ต่อไปก็จะพูดเรื่องสมาธิ การฝึกสมาธินั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ การฝึกสมาธินั้นก็คือการรวมความคิด การฝึกสมาธินั้นก็คือการรวมกระแสจิต การรวมกระแสจิตก็คือการรวมกระแสของความคิด การรวมกระแสของความคิดนั้นก็คือการรวมกระแสของอารมณ์ การรวมกระแสของอารมณ์ก็คือการตัดทอนอารมณ์ให้มันสั้นลงไปๆๆ นี่การทำสมาธิไม่มีอะไรมาก เราตัดอารมณ์ให้มันสั้นลงไปๆ น้อยลงไปๆ นี้มันก็เป็นสมาธิของมันเองโดยธรรมชาติของมัน

            เมื่อเราไม่คิดแล้วก็เป็นสมาธิของมันเอง ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับการที่เขาปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ถ้าเขาปล่อยให้น้ำนั้นไหลไปทางโน้นบ้างไหลไปทางนี้บ้าง น้ำนั้นก็ไม่มีพลัง แต่ปล่อยน้ำไหลไปทางเดียวกันน้ำนั้นก็มีพลังสามารถที่จะปั่นเป็นพลังงานกระแสไฟฟ้าเอาไปใช้ได้ ปั่นกระแสไฟฟ้าได้ เรียกว่าหาประโยชน์จากการปล่อยน้ำก็ได้ เหมือนกับกระแสจิตของเราถ้าปล่อยคิดอย่างโน้นคิดอย่างนี้คิดอย่างนั้น บางครั้งมันก็ไม่มีพลัง

            แต่ถ้าจิตของเรามีสมาธิแล้วมีพลัง สมัยหนึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดพิชโสภาราม ท่านลองฝึกกระแสจิตขณะที่ท่านฝึกสมาธินั้นว่าสมาธินั้นจะมีพลังหรือไม่ เวลาไปฉันเช้าก็ดี ฉันเพลก็ดี ก็ได้อธิษฐานว่า สาธุข้าพเจ้าฉันข้าวคำเดียวให้โยมที่นั่งอยู่ข้างหน้านั้นอิ่ม ๒ คำ ข้าพเจ้าฉันข้าว ๒ คำ ให้โยมที่อยู่ข้างหน้านั้นอิ่ม ๔ คำ ข้าพเจ้าฉัน ๓ คำ ให้โยมอยู่ข้างหน้านั้นอิ่ม ๖ คำ ข้าพเจ้าฉัน ๔ คำ ให้โยมที่อยู่ข้างหน้านั้นอิ่ม ๘ คำ ทวีคูนขึ้นไปเรื่อยๆ

            ขณะที่ท่านฉันไปด้วยกำหนดสมาธิไปด้วยๆ โยมที่อยู่ข้างหน้ากุมท้องร้องขึ้นมา มันแน่นท้องขึ้นมา แล้วก็ทดลองว่าสามเณรนี้ขี้เกียจ เวลามาทำวัตรไม่อยากมาทำ เวลาเพื่อนทำงานก็ไม่อยากช่วยทำงาน มีแต่หลบนอนหลบหลีกหลบลี้ ในสมัยก่อนโน้น เวลาเรียกทำงานก็มาพร้อมกันหมด ไม่มีใครหลบไม่มีใครซ่อน แต่สามเณรนั้นหลบ หลวงพ่อก็อธิษฐานจิตถ้าให้นอนก็นอนอยู่อย่างนั้น ก็นอนอยู่อย่างนั้นลุกไม่ได้ ลืมตา ขยับเขยื้อนไม่ได้ อันนี้เป็นเพราะอะไร เพราะอำนาจของจิต

            วันหนึ่งท่านทดลองสมาธิครั้งสุดท้าย ท่านทดลองสมาธิว่าอำนาจจิตมันมีจริงมั้ย ท่านทดลองในสมัยหนึ่งนั้นท่านไม่มีเงินที่จะไปบวชพระ พอดีมีสามเณรโตอยากบวชไม่มีเงินที่จะบวชพระก็อธิษฐานจิตก็หยิบเอาวัตถุมงคลมา แล้วก็มาวางลงต่อหน้าโยม แล้วก็อธิษฐานว่าขอให้โยมคนนี้จงบูชาวัตถุมงคลนี้ ๕๐๐ บาท โยมเขาก็บูชา ๕๐๐ บาท แล้วก็อธิษฐานว่าโยมคนนี้จงร้องไห้ โยมคนนั้นก็ร้องไห้ อธิษฐานว่าโยมคนนี้จงหัวเราะ โยมคนนั้นก็หัวเราะ หลังจากนั้นท่านก็เอาปัจจัยไปบวช ซื้อกองบวชสมัยนั้นมันถูก หลังจากนั้น

            ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ท่านไม่เคยทำในลักษณะอย่างนั้นอีก เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย แต่ทดลองสมาธิว่าสมาธินั้นจะมีผลจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้น อำนาจของจิตถ้าบุคคลใดฝึกสมาธิดีแล้ว ทำให้จิตมีพลังแล้ว บุคคลนั้นก็จะได้รับอานิสงส์ของการฝึกสมาธินั้นด้วย แล้วก็สมาธินั้นถ้าบุคคลใดฝึกดีแล้วสามารถที่จะช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมบางคนก็เป็นโรคมะเร็งอะไรทำนองนี้

            มีโยมคนหนึ่งซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากที่วัดพิชฯในปัจจุบันนี้แหละ สมัยก่อนโน้นเขาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เป็นครูสอนปริญญาโท ขณะที่สอนหนังสือนั้นแหละ ก็มีความรู้มีความสามารถ เป็นหัวกะทิของโรงเรียน ขณะนั้นก็เป็นที่จับจ้องหมายปองว่าจะได้เป็นหัวหน้าฝ่ายอะไรทำนองนี้ แต่สอนอยู่ดีๆ นั้นแหละเกิดไปตรวจว่าเป็นโรคมะเร็ง ว่าเป็นขั้นสุดท้ายจะต้องตายภายใน ๓ เดือน ๕ เดือน ๖ เดือน จะอยู่ไม่เกินนี้ก็ลาออกจากครู ก็ไปบวชในฝ่ายของธรรมยุติ

            เมื่อบวชแล้วก็ถือว่าไปตายเอาดาบหน้ายังไงก็ต้องตายอยู่แล้วก็ให้ตายอยู่ในศีลในธรรม ก็เข้าป่าไปเจริญสมาธิ เมื่อเจริญสมาธิค่ำคืนเดินไม่ได้นอน นั่งภาวนาทำความเพียรเต็มที่ ในที่สุดโรคมะเร็งนั้นไม่รู้หายไปไหน ๓ เดือนแล้วก็ไม่ตาย ๔ เดือนก็ไม่ตาย ๕ เดือนก็ไม่ตาย ๖ เดือนก็ไม่ตายร่างกายก็แข็งแรงเหมือนเดิมก็มาตรวจหมอก็ว่าเป็นอัศจรรย์ ไม่รู้ว่าเชื้อมันหายไปไหน อันนี้ก็ด้วยอำนาจของสมาธิ

            ในสมัยหนึ่งที่ท่านกล่าวไว้อย่างเช่น อาจารย์จำลองที่อยู่ถ้ำเสือน้อยแต่ก่อนโน้น รุ่นฑิตปางแก้วที่มาฟังเทศน์ร่วมกัน ฑิตปางแก้วในสมัยนั้นก็บวช อาจารย์จำลองนี้ก็เข้าสมาธิเก่ง เวลาไปผ่าไส้ติ่งที่โรงพยาบาลเขมราฐ ถามหมอว่าจะผ่าใช้เวลาผ่ากี่ชั่วโมง หมอก็ว่า ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ก็เข้าสมาธิไปประมาณนั้น เรียกว่าเข้าสมาธิเหนือไปกว่าหน่อยนึงบอกหมอไม่ใช้ยาสลบหรือยาชา ก็เข้าสมาธิ หมอเขาก็ทำการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดเรียบร้อยแล้วก็เกิดความโกลาหลกัน ผู้อำนวยการก็ดี พยาบาลก็ดี พากันมาทำบุญที่วัดพิชโสภารามเป็นจำนวนมาก นี่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านกล่าวในสมัยนั้นว่า ทำให้ศรัทธาในโรงพยาบาลเขมราฐทั้งหมดนั้นศรัทธาด้วยอำนาจของสมาธิ

            หรือบางคนหรือบางรูปที่มีสมาธิดี เวลามาฝึกสมาธิรวมกระแสจิตได้ดี จิตใจเป็นสมาธิบางรูปบางท่านมาภาวนา พองหนอยุบหนอไป ขณะที่บริกรรมพองหนอยุบหนอไป อาการพองมันก็พองขึ้นเต็มที่แล้วก็ยุบลงเต็มที่ พอมันพองขึ้นมาท้องพองนั้นเปิดออกไปเลย เมื่อท้องพองนั้นเปิดออกไปเลยก็เห็นวิมานของเทวดา เห็นเครื่องทรงของเทวดา เห็นสวนดอกไม้อันเป็นทิพย์น่ารื่นรมย์น่าชมชื่น ก็เพลินไปกับสิ่งเหล่านั้นก็มี นี้เป็นลักษณะของสมาธิ บางรูปบางท่านนั่งภาวนาพองหนอ ยุบหนอไป อาการพองยุบมันดิ่งลงๆๆๆ ปรากฏเป็นรูปเปรตเห็นเปรตร้องโหยหวนเสียงหวีดหวิวน่าพิลึกสะพรึงกลัวก็มี

            บางครั้งก็เห็นคล้ายๆ กับหมาใหญ่หมาดำมาร้องเหมือนกันกับพวกเปรตอันนี้เป็นในลักษณะอสุรกายร้องครวญครางขึ้นมา เกิดความกลัวแล้วก็มาส่งอารมณ์แล้วก็มาอย่างนี้ก็มี นี่ลักษณะของสมาธิมันปรากฏขึ้นมา จะเห็นของอะไรแปลกๆ เรียกว่าเป็นอจินไตย เป็นสิ่งที่บุคคลผู้ไม่ได้ไม่เห็นนั้นไม่ควรคิด ว่ามันจริงหรือเปล่า มันเห็นจริงหรือเปล่า ถ้าบุคคลใดคิด ตนเองไม่ได้สมาธิ ตนเองคิดก็มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เพราะว่ามันไม่สามารถที่จะคิดได้ ปกติสามัญธรรมดาถ้าจิตไม่ได้สมาธิ

            เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ความตั้งมั่นในพระศาสนามันยิ่งตื้น บางรูปบางท่านมาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภาราม ขณะที่เดินจงกรมไปนั่นแหละ ยืนหนอๆ เข้าสมาธิแพ๊บไป พอเข้าสมาธิแพ๊บไป ที่ไหนได้อยู่ข้างๆ นั้นมีแต่ผีหัวขาดเต็มไปหมดก็เกิดความกลัวขึ้นมา เมื่อเกิดความกลัวทำยังไงได้ ก็ตั้งสติ ดึงสติ ความกลัวนี้เราแก้ง่ายนิดเดียว เมื่อเกิดความกลัว เมื่อได้ยินเสียงผีก็ดีเห็นผีเห็นอะไรก็ดีในนิมิตก็ดี หรือเราเห็นปรากฏในขณะที่เราลืมตาก็ดี ถ้ามันกลัวขึ้นมา เราดึงจิตเข้ามาในร่างกายของเรา กำหนดที่จิตใจของเราก็ได้ “กลัวหนอ” เท่านั้นแหละความกลัวหายแว๊บไป หายไปแป๊บเดียว ถ้าเรามีสติมันจะเป็นอย่างนั้น

            ถ้าเราไม่เคยไปประสบกับความกลัวจริงๆ แล้วเราจะไม่รู้สภาวะเช่นนี้ แต่ถ้าเราเคยไปแล้วเราดึงจิตมากำหนด “กลัวหนอ” หรือเราดึงจิตเข้ามาในกายความกลัวก็หมดไปแล้ว อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีสมาธิ บางรูปบางท่านมาประพฤติปฏิบัติธรรมไปมีปีติสูงมาก มีสมาธิสูงมาก เวลานั่งภาวนาไปแสงสว่างขึ้นมา เมื่อเกิดแสงสว่างขึ้นมาก็กำหนดแสงสว่าง เมื่อกำหนดแสงสว่างแล้วก็ไปเห็นว่ากำลังนั่งอยู่ที่โน้นในห้องกรรมฐาน แต่มองมาที่ศาลาที่เขากำลังจัดฉัน เห็นพระเณรเห็นญาติเห็นโยมกำลังขวักไขว่กันไปมา ยกอาหารคนโน้นก็ยกคนนี้ก็ยก ไปมองดูที่พาข้าวที่ตนเองจะฉันว่ามันมีอะไรบ้าง ก็มองเห็นส้มตำ มะละกอ ปิ้งปลา ปิ้งกบอะไรสมัยเข้าพรรษานั้นมีอาหารประเภทปิ้งกบอะไรนี้ด้วย แล้วก็มาดูก็เห็นอย่างนั้นจริงๆ อันนี้เป็นลักษณะอำนาจของสมาธิ

            เมื่อสมาธิมันสูงแล้วมันจะเป็นไปได้ บางรูปบางท่านก็นั่งไปตัวเบา ตัวเบาก็ไม่ใช่ตัวเบาเฉยๆ คล้ายๆ กับว่าลอย แต่ว่าลืมตาแล้วก็อยู่ที่เดิม ภิกษุรูปนั้นก็เกิดความสงสัยว่ามันลอยจริงหรือเปล่าหนอ ก็หลับตาไม่ลืมตาปล่อยให้มัน ลอยไปๆ ลอยไปดูสิ กุฏิอาจารย์มหาชอบนี้ทำอะไรอยู่ก็ไปดูอาจารย์กำลังดูอย่างนั้นทำอย่างนั้น ก็ลืมตาขึ้นก็นั่งอยู่ที่เดิม พอนั่งอยู่ที่เดิมก็รีบมาหาเลย ภิกษุรูปนั้นรีบมาหา มาแล้วก็มาทักขึ้นทันทีเลยว่า อาจารย์ทำอะไรอยู่ ทำอย่างโน้นใช่มั้ย ทำอย่างนี้ใช่มั้ยก็บอก ครับ ทำอย่างนั้นๆ ผมเห็นอย่างนั้นจริงๆ นี่ในลักษณะที่มันเกิดโอภาส เกิดแสงสว่าง เกิดปีติ เกิดรวมกันขึ้นมามันจะเกิดความอัศจรรย์ใจ นี้แหละสมาธิมันเป็นในลักษณะอย่างนั้น

            บางคนบางท่านเป็นโรค เป็นโรคปอดก็ดี โรคอะไรก็ดี เวลานั้นเขาให้อธิษฐาน ใช้สมาธิอธิษฐานว่า สาธุๆ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑ ชั่วโมง พร้อมกันนี้ขอให้โรคมะเร็งของข้าพเจ้าจงเบาลงไป จงหายไป จงหมดไป จากขันธสันดานของข้าพเจ้า หรือว่าโรคตับก็ดี โรคดีซ่านก็ดี โรคหืดโรคหอบก็ดีอะไรทำนองนี้ให้หมดไปจากขันธสันดานของข้าพเจ้า อันนี้เรียกว่า ธรรมโอสถใช้สมาธินั้นแหละเป็นตบะแผดเผารักษาโรคนี้ให้หายไปได้ อันนี้เป็นลักษณะอานิสงส์ของการเจริญสมาธิ เพราะฉะนั้น เราต้องควรทำสมาธิให้ได้ เป็นการรวมกระแสจิตเหมือนกับการรวมกระแสน้ำ

            เหมือนกับเราปักกรวยไฟฉาย เวลาเราทำสมาธินี่ ไฟฉายแต่ก่อนโน้นถ้าเราไม่ปรับกรวยมันก็จะแผ่กว้างไป แต่ถ้าเราปรับกรวยแล้วมันจะบีบเข้าๆ เราจะส่องไปให้ไกลๆ มีพลังที่จะส่องไปไกล หรือเหมือนกับการฝังเสาเข็มก็ดี ตึกสูงๆ ประมาณ ๗ ชั้น ๘ ชั้น ๙ ชั้น ๑๐ ชั้น ถ้าเราฝังเสาเข็มไม่ดีมันก็โค่นมันก็พัง แต่ถ้าเราฝังเสาเข็มลึกๆ เสาเข็มได้เต็มที่ตึกนั้นก็ตั้งอยู่ได้ ลมพายุ ลมอะไรมามันก็สามารถที่จะต้านทานได้มั่นคงไม่หวั่นไหว ลักษณะของสมาธิก็เหมือนกัน

            การฝึกสมาธินั้นเป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสสรรเสริญ ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเจริญสมาธิเถิด เพราะว่าบุคคลเจริญสมาธิแล้วจิตของบุคคลนั้นจะตั้งมั่น เมื่อจิตของบุคคลนั้นตั้งมั่นแล้วก็เหมือนกับบุคคลผู้มีตาดียืนอยู่ฝั่งน้ำที่ใสสะอาด ย่อมมองเห็นก้อนหินบ้าง ก้อนกรวดบ้าง ย่อมมองเห็นหอยโข่งบ้าง หอยกาบบ้าง ย่อมมองเห็นฝูงปลาที่แหวกว่ายไปมาบ้าง ย่อมมองเห็นฝูงปลาที่หยุดอยู่บ้าง

            บุคคลผู้เจริญสมาธิจนจิตได้สมาธิดีแล้วย่อมเห็นอารมณ์นั้นชัดเจน คืออารมณ์วิปัสสนากรรมฐานที่เกิดขึ้นมากับเรามันก็ปรากฏชัดเจนขึ้นมา อารมณ์ อาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการถูก อาการเดิน ทุกสิ่งทุกอย่างสภาวะมันปรากฏชัดเจนขึ้นมา ถ้าเป็นปีติ ปีติก็ชัดเจนเหลือเกิน ตัวโยกตัวโคลง อย่างเช่น เมื่อเช้านี้โยมเข้ามาหา ตัวโยกตัวโคลงตัวไหวตัวโอนตัวเอนเหมือนกับเราไกวเปลก็มี นี้ในลักษณะของโอกกันติกาปีติปรากฏขึ้นมา บางครั้งมันเป็นแรง เรานั่งขาขวาทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้ายตั้งกายให้ตรง

            เราบริกรรมพองหนอยุบหนอนี่ตัวของเราหมุนเหมือนกับลูกข่าง แต่มันไม่หมุนเร็ว หมุนไปๆๆ อันนี้มันเป็นลักษณะของปีติ มันเป็นไปได้อย่างไร ขาของเราก็ขัดกันอยู่มือของเราก็เข้ากันอยู่ แต่มันหมุนเหมือนกับลูกข่างนี่ด้วยอำนาจของปีติ มันจะเหาะขึ้นไปข้างบนก็ไม่ได้ มันจะดำลงไปในดินก็ไม่ได้ มันจะไปข้างซ้ายข้างขวาก็ไม่ได้ก็หมุนเลยคราวนี้ นี่มันหมุน ลักษณะของปีติ แต่มันหมุน มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดความสบาย เกิดความแช่มชื่นไม่ใช่เหนื่อย บางครั้งมันก็สัปหงกไปข้างหน้า สัปหงกไปข้างหลัง

            บางครั้งหัวก็โขกกับพื้นกระดาน บางครั้งก็หงายมา บางครั้งก็คว่ำไปข้างหน้า ข้างซ้ายข้างขวา คว่ำอยู่อย่างนั้นทั้งชั่วโมง แทนที่มันจะเหน็ดมันจะเหนื่อย แต่ขณะที่ออกจากอาการปีตินั้นแหละเหมือนกับหมอนวดชั้นดี นวดจับถูกเส้นเอ็นถูกข้อ ทำให้เรานั้นกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง ไม่มีอาการเมื่อยล้าแม้แต่นิดหนึ่ง มีจิตใจอิ่มเอิบดูหน้าดูตาก็เบิกบาน นี่ลักษณะของปีติมันเกิดขึ้นมาเป็นในลักษณะอย่างนี้

            สิ่งเหล่านี้มันเป็นไปไม่นานมันก็หาย เรากำหนดรู้เฉยๆ มันหมดกำลังมันก็หายแล้ว ถ้าเราอยากให้มันหยุดเราก็กำหนดว่า “หยุดหนอๆ” ถ้ามันไม่หายเราก็ “หยุดหนอๆ หยุด!” อะไรทำนองนี้มันก็หายไป อันนี้เป็นลักษณะของการแก้สภาวะ สิ่งสำคัญเราอย่าไปตามมัน ถ้าเราตามมันแล้วมันจะไม่หยุด นั่งครั้งไหนมันก็เป็น แต่ถ้าเราไม่ตามมัน มันก็หาย

            สิ่งเหล่านี้เป็นสภาวะของสิ่งที่เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของสมาธิ แล้วก็สมาธินั้นมีอานิสงส์อยู่ ๕ ประการ ๑ ท่านกล่าวไว้ว่า ทิฏฐสุขวิหารธรรม คือบุคคลใดที่ประพฤติปฏิบัติได้สมาธิแล้วจะมีความสุขมาก ท่านกล่าวว่าความสุขอันสุดยอดของโลกิยะนั้นคือความสุขในตติยฌาน ถ้าใครสามารถเข้าตติยฌานได้ บุคคลนั้นก็จะได้รับความสุข ตติยฌานก็คือตัวที่มันแข็งเข้าๆๆ ความรู้สึกมันละเอียดเข้าๆๆ เกือบจะดับ แต่มันไม่ดับ

            ถ้าบุคคลใดเข้าได้อย่างนี้ พอออกจากตติยฌานแล้วจะมีความรู้สึกแช่มชื่นเบิกบาน เย็น ทั่วทุกเส้นขน เหมือนกับเย็นเข้าไปในกระดองใจหรือว่ากระดูกของเรา เรามีความสุขมีความเยือกเย็น มีความละเอียดอ่อนมาก ความสุขในตติยฌานท่านกล่าวว่าเป็นความสุขสุดยอดของโลกีย์  ถ้าบุคคลใดทำได้ บุคคลนั้นก็จะมีความสุขมาก เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ทิฏฐสุขวิหารธรรม เป็นความสุขที่มีอยู่ในปัจจุบันธรรมนี้ ไม่ต้องรอให้เราเข้าถึงพระนิพพาน ไม่ต้องรอให้ตาย พระพุทธศาสนาถ้าเราปฏิบัติได้เราก็จะได้รับความสุขในปัจจุบันชาตินี้ ไม่ต้องรอไปถึงภพหน้าชาติหน้า ท่านกล่าวว่า แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องอาศัยเรือนแก้ว คือสมาธินั้นพักผ่อนเวลาพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย แม้แต่พระอรหันต์พระอริยบุคคลทั้งหลายทั้งปวง เวลาเหนื่อย ก็ต้องอธิษฐานเข้าสมาธิ เป็นอาหารใจ เป็นที่หลบภัย หลบแดด หลบฝน หลบอารมณ์ต่างๆ ออกมาแล้วก็มีกำลังมีความสดชื่นแล้วก็ทำงานพระศาสนาต่อไป เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าเป็น ทิฏฐสุขวิหารธรรม

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 เมษายน 2567 17:20:34 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1022


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 123.0.0.0 Chrome 123.0.0.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 06 เมษายน 2567 17:20:10 »


ศาสนา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี


            ประการที่ ๒ ท่านกล่าวว่า เป็นบาทแห่งวิปัสสนา การเจริญวิปัสสนากรรมฐานถ้ามีสมาธินั้น สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ไวมาก ไวอย่างไร ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมไป เราเดินจงกรมไปเราก็สามารถที่จะเข้าสมาธิ ขณะที่เรา “ยืนหนอ” มันเข้าสมาธิเราก็พยายามจำว่ามันเข้าสมาธิไปตอนไหน เข้าสมาธิไปตอนเรายก ตอนเราย่าง ตอนเราเหยียบ หรือว่าตอนเรายืน

            หรือขณะที่เรายืนกำหนดจิตตอนไหนมันดับลงไป ร่างกายส่วนไหนมันดับลงไป นี้เราต้องพยายามจำให้ได้ บุคคลผู้ได้สมาธิเวลานั่งภาวนา “พองหนอ ยุบหนอๆ” ถ้าสมาธิมันรวมจริงๆ บางครั้งอาการพองหนอยุบหนอไม่ถึง ๓ ครั้ง มันดับลงไป ขณะที่มันดับพรึบลงไป สมาธิมันนิ่งลงไป ๕ นาที ๑๐ นาที รู้สึกตัวขึ้นมา ขณะที่เรารู้สึกตัวขึ้นมาบางครั้งมันก็ปรากฏนิมิตขึ้นมา นิมิตเห็นครูบาอาจารย์ เห็นพระธาตุพนม องค์พระปฐมเจดีย์ นิมิตมันดับลงไป

            เมื่อนิมิตมันดับลงไปแล้วปีติมันก็ปรากฏขึ้นมา ขณะปีติมันปรากฏขึ้นมานั้นแหละ ใจของเราความรู้สึกของเรามันก็จะเริ่มปรากฏขึ้นมา เรากำลังจะกำหนดว่า “พอง” หรือกำลังจะกำหนดว่า “ยุบ” มันก็ดับพรึบลงไปอีก นี่ในลักษณะของการเข้าสมาธิ บางคนที่มาถามในวันนี้ว่ามันดับลงไป บางครั้งมันดับลงไปจนเราตั้งตัวไม่ทัน เรารู้สึกตัวเรากำลังจะหายใจออกมันดับพรึบลงไปอีก เรายังไม่หายใจออกเลย บางครั้งเรากำลังจะหายใจเข้าเรายังไม่หายใจเข้ามันดับพรึบลงไปอีก อันนี้เป็นลักษณะของสมาธิ เวลาสมาธิมันรวมเราก็ปล่อยให้มันรวมไป แต่ให้เราจำให้ได้ว่ามันจะเข้าสมาธิไปตอนเราหายใจเข้าหรือหายใจออก เราบริกรรมว่า “พอง” หรือว่า “ยุบ” นี้เป็นบาทแห่งวิปัสสนา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานไว

            ข้อที่ ๓ อานิสงส์ของสมาธิ ท่านกล่าวว่าทำให้บุคคลนั้นได้อภิญญา คือได้อภิญญา ๖ ได้ฤทธิ์ได้เดช อภิญญา ๖ มีอะไรบ้าง อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ มีทิพพจักขุ มีตาทิพย์ เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตของผู้อื่น ทิพพโสต มีหูทิพย์  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้ อาสวักขยญาณ การรู้จักทำอาสวะให้สิ้น นี้เป็นลักษณะของอภิญญา ๖ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะว่าบุคคลนั้นได้จตุตถฌาน แล้วก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี หรือเป็นพระอรหันต์

            สิ่งสำคัญก็คือ บุคคลนั้นได้จตุตถฌาน จึงสามารถยังอภิญญา ๖ ให้เกิดขึ้นมาได้ วิชชา ๓ ก็เหมือนกัน ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ก็ต้องได้อรูปฌาน ต้องได้อากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน   เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ต้องได้ตัวนี้ด้วย จึงจะได้ปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ เพราะฉะนั้นความอัศจรรย์ใจในพระศาสนา สรุปประมวลลงที่สมาธิ ถ้าไม่ได้สมาธิแล้ว ความอัศจรรย์ใจน้อยมาก เหมือนกับโยมนี้แหละถามกัน ถามว่า “ทำไมผมไม่เห็นสักที อาจารย์ เขาว่าเห็นอย่างโน้นอย่างนี้ทำไมผมไม่เห็น” อาตมาก็เลยว่า “เออ อันนั้นบารมีมันไม่เหมือนกันคุณโยม” โยมก็เลยเข้าใจ เพราะฉะนั้นบารมีไม่เหมือนกัน ถ้าบุคคลใดไม่ได้สมาธิ ความอัศจรรย์ใจนั้นก็น้อยลงไป แต่ก็สามารถที่จะหมดกิเลส ทำให้ราคะมันสิ้นไป โทสะมันสิ้นไป โมหะมันสิ้นไป เมื่อได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

            ประการที่ ๔ บุคคลใดเจริญสมาธิแล้วบุคคลนั้นไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ตายแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลก เหมือนกับอาฬารดาบสและอุทกดาบสตายไปแล้วก็ไปเกิดในรูปพรหม อรูปพรหม ตามบุญญาธิการของตนเองที่ได้สั่งสมอบรมมา

            ประการที่ ๕ คือประการสุดท้าย บุคคลผู้ได้สมาธิแล้วยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน หรือได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ก็ดี เป็นพระอนาคามีก็ดี ถ้าบุคคลใดได้รูปฌาน อรูปฌานแล้วบรรลุเป็นพระอนาคามี ส่วนมากจะเข้านิโรธสมาบัติได้ ผู้ใดได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ได้รูปฌาน อรูปฌานด้วยจะเข้านิโรธสมาบัติได้ แต่ถ้าบุคคลใดไม่ได้อรูปฌาน ถึงจะบรรลุเป็นพระอนาคามีก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ ถึงจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้

            เพราะฉะนั้น ฌานหรือว่าสมาธินั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าบุคคลใดทำ บุคคลนั้นก็จะได้รับความสุข ทั้งในปัจจุบัน ทั้งรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หรือเราจะอธิษฐานอย่างไรก็ได้ อย่างเช่นภิกษุที่ไปอยู่ป่า จะอธิษฐานว่า “สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑ ชั่วโมง พร้อมกันนี้ขออย่าให้ไฟที่มันไหม้ ไม่สามารถที่จะไหม้กุฏิของข้าพเจ้าได้ ไม่สามารถที่จะไหม้บริขารของข้าพเจ้าได้ หรือว่าเสือก็ดี ช้างก็ดี ขณะที่ข้าพเจ้านั่งเข้าสมาธิอยู่นี้ ขออย่าได้มาทำอันตรายแก่ข้าพเจ้า อย่าให้เป็นอันตรายแก่บริขาร ร่างกายและชีวิตของข้าพเจ้าได้ นี่เราอธิษฐานอย่างนั้น บางครั้งพระธุดงค์ไปธุดงค์ ไฟป่ามันไหม้มา ไหม้ไปๆๆ แล้วไม่ไหม้กุฏิท่านก็มี ไม่ร้อนกุฏิท่าน อันนี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ โยมที่เขากำลังไปมอดไปดับไฟ ไปเห็นแล้วก็เกิดความอัศจรรย์ก็มี นี้ในลักษณะของคุณงามความดี ในลักษณะของสมาธิ อำนาจของคุณธรรมมันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลถ้ามีสมาธิแล้วจะเป็นที่พึ่งของลูกของหลาน เป็นที่พึ่งของญาติของโยม เป็นที่พึ่งของพระศาสนาได้

เท่าที่อาตมภาพได้กล่าวเรื่องสมาธิโดยย่อ ก็เห็นว่าพอสมควรแล้ว ในท้ายที่สุดนี้ ด้วยอำนาจของพระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยอำนาจของพระธรรมทั้งปวง ด้วยอำนาจของพระสงฆ์ทั้งปวง ด้วยอำนาจของคุณงามความดีของพระอาจารย์ที่มาสอนกัมมัฏฐาน ทั้งหมด ด้วยอำนาจของคุณงามความดีของโยมทั้งหลายที่มาร่วมกันบำเพ็ญบารมี รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนาทั้งหมดนี้ ขอให้บารมีทั้งหลายทั้งปวงที่เอ่ยนามมาแล้วนั้น จงได้มารวมกัน เป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัยส่งเสริมให้ญาติโยมทั้งหลายจงเป็นผู้มีอายุ มีวรรณะ มีความสุข มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เงินไหลนองขอให้ทองไหลมา ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอุปสรรคอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ขอให้มีโอกาสรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระอริยสัจจธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลอันไม่ช้าไม่นานนี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ศีล สมาธิ ปัญญา โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 925 กระทู้ล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2563 10:03:25
โดย Maintenence
นรก ๑๐ ขุม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 851 กระทู้ล่าสุด 22 กรกฎาคม 2565 16:04:06
โดย Maintenence
ลำดับญาณ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)วัดพิชโสภาราม
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 2 285 กระทู้ล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2566 12:49:24
โดย Maintenence
ปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 1 96 กระทู้ล่าสุด 12 มกราคม 2567 15:57:57
โดย Maintenence
วันเทโวโรหณะ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อบลราชธานี
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 1 207 กระทู้ล่าสุด 10 มีนาคม 2567 10:20:10
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.714 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 23 ชั่วโมงที่แล้ว