[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 05 สิงหาคม 2566 17:25:31



หัวข้อ: "จะปิ้ง" เครื่องปกปิดที่ลับสำหรับเด็ก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 สิงหาคม 2566 17:25:31
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/69421719883878_1111_Copy_.jpg)
จับปิ้งเงินอย่างอ่อนฝีมือประณีตของลูกผู้ดีมีฐานะ
ภาพจากหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม ๓
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ พิมพ์เผยแพร่


จะปิ้ง

จะปิ้ง หรือ “จับปิ้ง” “ตะปิ้ง” หรือ “กระจับปิ้ง”  สันนิษฐานว่ามีรากศัพท์มาจากคำว่า "Caping” ในภาษามลายู  เป็นเครื่องแต่งตัวสำหรับเด็กผู้หญิงในสมัยก่อน ใช้สวมใส่เพื่อปกปิดอวัยวะเพศของเด็กโดยใช้ผูกที่บั้นเอว พบทั่วไปในดินแดนอินเดียตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และทุกภาคของไทย

ในประเทศไทย เป็นปกติธรรมเนียมสำหรับทารกสมัยก่อนโดยเฉพาะผู้หญิง นับตั้งแต่โกนผสมไฟเป็นต้นไป ผู้ใหญ่มักจะหาเครื่องจะปิ้งเอามาผูกบั้นเอวปิดปังที่ลับหรืออวัยวะเพศของเด็กนั้น เพื่อประสงค์มิให้เป็นที่ประเจิดประเจ้อ  

จะปิ้งมีลักษณะเป็นแผ่น รูปร่างต่างๆ กัน เช่น รูปทรงทะนาน รูปกระเบื้องเกล็ดเต่า รูปหน้าแว่น เป็นต้น  ทำจากกะลา ทำด้วยเงิน นาค และทองคำ ก็มี  มักทำเป็นแผนรูปทรงทะนาน คือตอนบนกลมป้อม ตอนล่างเรียวแหลม

เด็กหญิงตามพื้นบ้านทั่วไปมักผูกจะปิ้งทำด้วยกะลา โดยฝานกะลาตอนข้างลูกขนาดครึ่งฝ่ามือ ตัดเจียนเป็นรูปอย่างทรงทะนานบ้าง รูปอย่างหน้าแว่นบ้าง เกลาผิวทั้งด้านหน้าและด้านหลังให้เรียบเกลี้ยง ขัดให้ขึ้นมัน เจาะรูเล็กๆ ที่ริมขอบตอนบนไว้ ๒ รูห่างกันพอสมควรไว้สำหรับร้อยเชือกผูกเอวเด็ก ปล่อยใช้ชิ้นจะปิ้งกะลาห้อยลงปิดบังที่ลับได้มิดชิดพอสมควร ขอบจะปิ้งมักเลี่ยมให้มนเพื่อกันขอบไว้มิให้บาดเนื้อเด็ก ที่ขอบนี้ถ้าเป็นจะปิ้งเงิน มักเลี่ยมด้วยนากและจะปิ้งนากมักเลี่ยมด้วยทองคำ ที่ขอบตอนบนของจะปิ้งทำเป็นหลอดคล้ายตะครุดติดไว้สำหรับร้อยสร้อยเงิน นากหรือทอง แขวนจะปิ้งผูกบั้นเอวเด็ก

เด็กหญิงลูกผู้มีฐานะดีมักใช้จะปิ้งเงิน จะปิ้งนาก ทำเป็นจะปิ้งอ่อนอย่างหนึ่งกับจะปิ้งแข็งอีกอย่าง  จะปิ้งอย่างอ่อนทำด้วยห่วงเล็กๆ ถักขึ้นเป็นแผ่นค่อนข้างโปร่งอย่างหนึ่ง กับถักเป็นแผ่นทึบอีกอย่างหนึ่ง จะปิ้งอย่างแข็ง มีรูปพรรณคล้ายกับจะปิ้งกะลา ทำด้วยเงิน นาก และทอง
 
ธรรมเนียมเด็กผู้หญิงผูกจะปิ้ง มีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน จากการขุดค้นทางโบราณคดี มีการค้นพบจับปิ้งสำริด สลักเป็นภาพนางรำ เป็นศิลปะสมัยลพบุรี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๘ สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากคาบสมุทรมลายู ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานการจำหน่ายจับปิ้ง ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ดังมีความตอนหนึ่งในเอกสารจากหอหลวงเรื่อง คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม พรรณนาว่าด้วยย่านทำสินค้าประเภทเครื่องเงิน ได้อ้างถึงจะปิ้งหรือกระจับปิ้งที่เรียกกันสมัยนั้น ดังต่อไปนี้ “ถนนย่านป่าขันเงิน มีร้านขายขัน ขายผอบตลับซอง เครื่องเงินแลถมยาดำ กำไลมือแลท้าว ปิ่นซ่นปิ่นเขม กระจับปิ้ง พริกเทศ ขุนเพ็ด สายสะอิ้ง สังวาลทองคำขี้รักแลสายลวด ชื่อตลาดขันเงิน”

นอกจากนี้ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งเป็นเหมือนกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนสภาพสังคมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตอนพลายแก้วแต่งงานกับนางพิม ได้กล่าวถึงนางพิมได้ผูกจับปิ้งเมื่อครั้งเป็นเด็ก ไว้ดังนี้


              สมภารได้ฟังตอบไป   มันมีผัวได้แล้วฤๅหวา
              เมื่อปีกลายกูได้เห็นมันมา       ยังอาบน้ำแก้ผ้าตาแดงแดง
              ผูกจับปิ้งเที่ยววิ่งอยู่ในวัด    มันหักตัดต้นไม้ไล่ยื้อแย่ง
              กูเอาไม้เท้าง่ามไล่ตามแทง    เกลียดน้ำหน้าตาแช่งอยู่ทุกวัน

ธรรมเนียมผูกจะปิ้งแก่เด็กหญิงที่เป็นมาแต่กาลก่อนนั้น บิดามารดา หรือน้าป้า ย่ายายผู้ใดผู้หนึ่ง จะหาจะปิ้งมาผูกให้นั้น ก็ใช่ว่าจะผูกจะปิ้งที่เป็นของมีราคาได้ตามความพอใจได้เสมอไป ทั้งนี้เนื่องด้วยสังคมแต่ก่อนมีแบบแผนกำหนดศักดินาและฐานะผู้คนไว้โดยระเบียบแห่งศักดินา   ในสังคมธรรมเนียมและความเป็นไปของการใช้เครื่องทองเงินรูปพรรณสำหรับแต่งตัวแต่กาลก่อนนี้ พึงทราบได้จากพระราชบัญญัติ ซึ่งตราขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๔๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่าด้วยธรรมเนียมการแต่งตัว ความตอนหนึ่งดังนี้ “จะแต่งบุตรหลานก็ให้ใส่ได้แต่ จี้ เสมา ภัควจั่น จำหลักประดับพลอยแดงเขียวแต่เท่านี้อย่าให้ประดับเพชรถมญาราชาวะดี ลูกปะวะหล่ำเล่า ก็ให้ใส่แต่ลายแทง แลเกลี้ยง เกี้ยวอย่าให้มีกระจังประจำยาม ๔ ทิศ แลอย่าให้ใส่ กระจับปิ้ง พริกเทศทองคำ กำลังทองคำใส่เท้า อย่าให้ข้าราชการผู้น้อยแลราษฎรกั้นร่มผ้าศรีผึ้ง แลกระทำให้ผิดด้วยอย่างทำเนียมเกินบันดาศักดิเปนอันขาดทีเดียว แลห้ามอย่าให้ช่างทองทังปวงรับจ้างแลทำจี้ เสมา ภัควจั่น ประดับเพชร ถมญาราชาวะดี แลกระจับปิ้ง พริกเทศ กำไลเท้าทองคำ แลแหวนถมญาราชาวะดี ประดับพลอย ห้ามมิให้ซื้อขายเปนอันขาดทีเดียว ถ้าข้าราชการผู้น้อยแลอนาประชาราษฎร ช่างทอง กระทำให้ผิดด้วยอย่างทำเนียมแต่ก่อน จะเอาตัวเปนโทษจงหนัก”


อนึ่ง การที่มีพระราชบัญญัติห้ามการแต่งตัวด้วยเครื่องทองเงินเกินฐานะเช่นนี้ ก็เนื่องด้วยทางราชการเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสมด้วยฐานะและวัยแห่งตน ประกอบกับไม่มีพี่เลี้ยงหรือแม่นมคอยพิทักษ์รักษา และบุตรหลานที่ยังเยาว์วัยนั้น ยังรักษาตัวเองไม่ได้ ย่อมเป็นการนำภัยมาสู่ตน ถ้าไม่ถึงแก่สิ้นชีวิตก็พิการ

ธรรมเนียมการผูกจะปิ้งสำหรับเด็กหญิงทั่วไปสมัยก่อน ผูกมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งจะเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น คือเมื่อเข้าพิธีตัดจุกแล้วจึงเลิกผูกจะปิ้ง ซึ่งทำพร้อมกับการถอดกำไลข้อเท้าที่สวมมาตั้งแต่เด็กๆ   ปัจจุบัน ยังคงพอมีให้เห็นเด็กหญิงที่ผูกจะปิ้งบ้างตามชนบทที่ยังรักษาธรรมเนียมเช่นนี้ไว้


ข้อมูลอ้างอิง
- “จะปิ้ง” บทความจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม ๓ หน้า ๑๓๘๐-๑๓๘๒ มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ พิมพ์เผยแพร่
- จับปิ้ง : อาภรณ์ของเยาวสตรีในอดีต  บทความจากเว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ กรมธนารักษ์
- “จะปิ้ง” บทความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(http://coinmuseum.treasury.go.th/images/1210.jpg)
จับปิ้งเงินถมตะทอง เป็นจับปิ้งรูปใบโพ ทำด้วยเงินถมตะทอง ตรงกลางนูน
สลักดุนลายตรงกลางเป็นลายดอกใบเทศ ขอบด้านข้างเป็นลายใบเทศ มุม
ด้านบนประดับด้วยดอกไม้สี่กลีบ มุมด้านล่างประดับด้วยกระจังใบเทศ ด้าน
บนมีห่วงสำหรับร้อยสายสร้อย
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ กรมธนารักษ์

(http://coinmuseum.treasury.go.th/images/1211.jpg)
จับปิ้งเงินถมตะทอง เป็นจับปิ้งรูปใบโพ ทำด้วยเงินถมตะทอง ตรงกลางนูน
สลักดุนลายรักร้อยใบเทศและลายก้านต่อดอกใบเทศโดยรอบ   มุมด้านบน
ประดับด้วยดอกลำดวน มุมด้านล่างประดับด้วยกระจัง ใบเทศ  ด้านบนทำ
เป็นหลอดสำหรับร้อยสายสร้อย
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ กรมธนารักษ์

(http://coinmuseum.treasury.go.th/images/123.jpg)
จับปิ้งสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์พบในเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย
จากหนังสือ Ethnic Jewellery from Indonesia
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ กรมธนารักษ์

(http://coinmuseum.treasury.go.th/images/124new.jpg)
ภาพเด็กผู้หญิงสวมจับปิ้ง จากหนังสือการแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ กรมธนารักษ์

(http://coinmuseum.treasury.go.th/images/125.jpg)
ภาพเด็กผู้หญิงสวมจับปิ้ง
จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาสถาบันทักษิณคดีศึกษาจังหวัดสงขลา
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ กรมธนารักษ์

(http://coinmuseum.treasury.go.th/images/127.jpg)
จับปิ้งเงินทรงร่างแห
จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาสถาบันทักษิณคดีศึกษาจังหวัดสงขลา
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ กรมธนารักษ์

(http://coinmuseum.treasury.go.th/images/126.jpg)
จับปิ้งทรงทะนานหรือรูปใบโพ
จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาสถาบันทักษิณคดีศึกษาจังหวัดสงขลา
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ กรมธนารักษ์