[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
11 พฤศจิกายน 2567 02:23:26 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวิตและเป้าหมายของชีวิต โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก  (อ่าน 3292 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 09 กุมภาพันธ์ 2561 14:45:35 »



ชีวิตและเป้าหมายของชีวิต (๒)

ชีวิตเกิดขึ้นมาอย่างไร

ถ้าคำถามนี้หมายเอาเพียงช่วงสั้นๆ ในชาตินี้ว่า คนเราเกิดมาได้อย่างไรก็มีคำตอบให้ทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางศาสนศาสตร์ วิทยาศาสตร์กับพระพุทธศาสนาให้คำตอบไม่แตกต่างกัน

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า คนเป็นผลโดยตรงของตัวสเปิร์มและไข่ซึ่งได้มาจากบิดาและมารดา นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าชีวิตทั้งหมดมาจากชีวิต

พระพุทธศาสนาก็กล่าวทำนองเดียวกัน แค่เพิ่มองค์ประกอบฝ่ายนามธรรม คือจิต หรือปฏิสนธิวิญญาณเข้ามาด้วยนอกเหนือจากองค์ประกอบฝ่ายรูปธรรม

แต่ถ้าคำถามนี้ย้อนไปถึงชีวิตแรกสุดหรือมนุษย์คนแรกสุดว่ามาจากไหน เริ่มต้นกันอย่างไร ทั้งวิทยาศาสตร์และพระพุทธศาสนามิได้ให้คำตอบไว้โดยเฉพาะพระพุทธศาสนานั้นไม่เอ่ยถึงแนวความคิดเรื่อง “ปฐมเหตุ” (The First Cause)

หากแต่สอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือกฎแห่งปัจจัยสัมพันธ์ ซึ่งแสดงว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีสิ่งใดอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่เป็นเหตุปัจจัยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งอื่น และไม่มีสิ่งใดเป็นเหตุโดยสิ้นเชิง เป็นผลโดยสิ้นเชิง

เพราะเท่าที่เห็นและเป็นอยู่ เหตุกลายเป็นผล ผลกลายเป็นเหตุตลอดเวลา ในวงเวียนแห่งเหตุและผลนั้น ย่อมไม่มีช่องที่จะเกิด “ปฐมเหตุ” หรือสิ่งแรกสุดได้

กระนั้นก็ตาม ศาสนาที่เชื่อเรื่องจุดเริ่มแรกสุดก็ได้บัญญัติปฐมเหตุของสรรพสิ่งไว้ และสืบทอดความเชื่อนี้กันต่อมา ปฐมเหตุของสรรพสิ่งก็คือ พระผู้เป็นเจ้า (God) หรืออัลเลาะฮ์ (Allah) ดังหลักฐานต่อไปนี้

มติศาสนาคริสต์กล่าวว่า “คนคือส่วนหนึ่งของสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงสร้างมา และเหมือนกับสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น คนไม่มี “ความเป็น” ที่เป็นของตัวเอง เขาเกิดมาจากความเปล่าได้รับชีวิตจากพระเจ้า เขาขึ้นอยู่กับพระผู้สร้าง ไม่มีอะไรเป็นของตนเองเลย ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดของปรัชญาศาสนา ที่ปิตาจารย์ และนักปรัชญาในสมัยกลางได้ใช้”

“คนและจักรวาลจึงมีความสัมพันธ์กันในฐานะที่เป็น “ฉายาของพระเจ้า” ด้วยกัน นักปราชญ์สมัยกลางได้พยายามอธิบายเรื่องนี้ โดยอาศัยประสบการณ์ของบรรดาผู้มีญาณล้ำลึก ซึ่งนิยมปรัชญาเพลโตใหม่ในการอธิบายความเชื่อ พวกเขาพูดถึงคนในลักษณะที่เป็น “จุลจักรวาล” (Microcosmos) หมายความว่า คนในธรรมชาติของกายและจิตเป็นที่รวมของแบบชีวิตทั้งหลายขององค์ประกอบต่างๆ ของพลังจักรวาล คนเป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างมาให้มีลักษณะซับซ้อนและสมบูรณ์ที่สุด ลำดับชั้นของความสมบูรณ์ของสิ่งทั้งหลายเป็นดังนี้คือ ขั้นพื้นฐานที่สุดคือ ดิน หิน แร่ธาตุทั้งหลายซึ่งไม่มีชีวิต สูงขึ้นมาคือพืช ต่อไปคือสัตว์และที่สุดคือคนเอง สิ่งที่เป็นลักษณะของแร่ธาตุ พืช สัตว์ ล้วนมีอยู่ในคนทั้งสิ้น ซึ่งขมวดเอาลักษณะเหล่านี้เข้าด้วยกัน พร้อมลักษณะพิเศษของตนเองหรือปัญญา จิตใจ อันเนื่องมาจากลมแห่งชีวิตที่พระเจ้าได้ให้แก่คนเท่านั้น”

มนุษย์คู่แรกสุด หรือบรรพบุรุษของมนุษยชาติก็คืออาดัมกับอีวา พระเจ้าสร้างอาดัมจากดิน และสร้างอีวาจากซี่โครงของอาดัม

ศาสนาอิสลามได้มีโองการเกี่ยวกับเรื่องนี้ดังต่อไปนี้
๔๐ : ๖๘ “พระองค์คือผู้ทรงให้เป็น และทรงให้ตาย ครั้นเมื่อพระองค์ทรงกำหนดกิจการใด ดังนั้น เพียงแต่พระองค์ตรัสแก่มันว่า จงเป็น แล้วมันก็เป็นขึ้นมา”

๓๘ : ๗๑-๗๒ “เมื่อพระอภิบาลของเจ้าตรัสแก่มลาอิกะฮ์ว่า แท้จริงฉันจะสร้างสามัญชนคนหนึ่งจากดิน ดังนั้น เมื่อฉันทำให้เขาสมบูรณ์แล้ว และฉันได้เป่ารุฮ์ของฉันสู่เขา พวกเขาก็ก้มลง นบนอบต่อเรา”

๖๔ : ๓ “พระองค์ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนี้ด้วยความจริง และทรงทำให้สูเจ้า (มนุษย์) เป็นรูปร่าง และทรงทำรูปร่างของสูเจ้าให้ดียิ่ง และยังพระองค์คือ การกลับไปในบั้นปลาย”

๖๔ : ๒๓ “จงกล่าวเถิด พระองค์ผู้ทรงบังเกิดสูเจ้าและทรงให้สูเจ้ามีหู มีตาและมีหัวใจส่วนน้อยเท่านั้น ที่สูเจ้าขอบคุณ”

จากโองการนี้ (และอื่นๆ อีก) แสดงว่าต้นกำเนิดชีวิตที่แท้จริงตามหลักคำสอนอิสลาม คือ อัลเลาะฮ์ (หรืออัลลอฮ์) อัลเลาะฮ์เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งและมนุษย์ขึ้นมา และมนุษย์ที่ทรงสร้างขึ้นมาอาจมีลักษณะร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น พืช และสัตว์ แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์พิเศษกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นที่อัลเลาะฮ์สร้างมาคือ การได้รับ “รุฮ์” จากอัลเลาะฮ์

รุฮ์ แปลกันว่า “วิญญาณ” ข้อความที่ว่า พระองค์ทรงเป่า “รุฮ์” เข้าสู่ร่างมนุษย์ บ่งชี้ว่าชีวิตของมนุษย์มีคุณภาพเหนือกว่าสัตว์โลกทั้งหลาย

อัล-กุรอาน มิได้ระบุว่า อาดัมกับเฮาวาฮ์ (อีวา) เป็นคนคู่แรกสุด

แต่นักการศาสนาชาวมุสลิมคนหนึ่งยืนยันว่า “อาดัมกับเฮาวาฮ์เป็นบรรพบุรุษของคนแน่นอน”

แม้ว่าการสร้างของอัลเลาะฮ์จะไม่เป็นขั้นตอนตามทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ มุสลิมเชื่อมั่นใน “คำสอน” ของเขาอธิบายว่า

“หากพิจารณาในแง่ศาสนาแล้ว แม้แต่เนรมิตคนขึ้นมาในลักษณะที่สมบูรณ์ในช่วงเวลาใด ให้เป็นต้นตระกูลของคนโดยไม่ต้องมีวิวัฒนาการจากชีวิตขั้นต่ำอื่นๆ ก็เป็นไปได้ด้วยอำนาจของอัลเลาะฮ์”

สําหรับพระพุทธศาสนา ถ้ากล่าวโดยรวบยอดว่า “คนเกิดจากกรรม” (กมฺมโยนิ) ก็จะทำให้เข้าใจถึงความเชื่อพื้นฐานว่า มนุษย์เราทุกคนเกิดมาด้วยอำนาจกรรมที่ตนได้กระทำไว้
 
กรรมที่ทำไว้ทั้งดีและชั่วจะเป็นตัวจัดสรรทำให้คนเกิดมาดีหรือชั่วเป็นสุขหรือเป็นทุกข์

กรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์ “เลือก” ทำขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้น ในเรื่องชะตาชีวิตของมนุษย์นี้ มนุษย์เป็นผู้กำหนดเอง ไม่ใช่พระเจ้าหรืออำนาจสูงสุดใดๆ กำหนดหรือจัดสรรให้

พูดง่ายๆ มนุษย์จะเกิดเป็นอะไร ก็เพราะตัวเองได้สร้างเหตุปัจจัยอันจะให้ผลเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว

แม้เกิดมาแล้วเขาจะเป็นคนเช่นไร เป็นคนดี คนชั่ว คนโกง คนฉลาด ฯลฯ เขาก็สามารถสร้างสรรค์ฝึกปรือเอาได้ด้วยตัวของเขาเอง

ถ้าจะกล่าวโดยละเอียด คนจะเกิดมาต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ
– บิดา-มารดาร่วมกัน
– มารดามีไข่สุกพร้อมจะผสม
– คันธัพพะก้าวลงสู่ครรภ์

คันธัพพะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณ หรือจิตหรือกลุ่มพลังงานจิต คันธัพพะมีปัจจัยประกอบ 3 คือ กรรมที่สัตว์ทำไว้เปรียบเหมือนที่นา วิญญาณเปรียบเหมือนเมล็ดพืช และตัณหาเปรียบเหมือนยางเหนียวในพืช

สรุปแล้วต้องมีองค์ประกอบทั้งฝ่ายรูปธรรมและฝ่ายนามธรรม การเกิดจึงมีได้ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ดังข้อความในมหานิทานสูตร ว่า
พ. “ดูกรอานนท์ ถ้าวิญญาณจักไม่หยั่งลงในครรภ์มารดา นามรูปจะพึงสถิตในครรภ์มารดาได้หรือไม่”

อ. “ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า”

พ. “อานนท์ ถ้าวิญญาณครั้นหยั่งลงสู่ครรภ์มารดาแล้ว จักออกไปเสีย นามรูปจักพึงบังเกิดขึ้นเพื่อความเป็นอย่างนี้ (จักเกิดและเจริญดังที่เห็นนี้) ได้หรือไม่”

อ. “ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า”

พ. “อานนท์ ถ้าวิญญาณของผู้เยาว์ ไม่ว่าชายหรือหญิง จักขาดตอนเสีย นามรูปจักพึงถึง ความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือไม่”.

อ. “ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า”

องค์ประกอบทางรูปธรรมนั้น บิดา-มารดาเป็นผู้เตรียมไว้โดยกรรมวิธีร่วมเพศ บิดาจะปล่อยเชื้อชีวิตชายเข้าไปผสมกับไข่ของหญิง เชื้อชีวิตชายเป็นเพียงชีวิตรูปหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีองค์ประกอบทางวิญญาณเลย ยังไม่ถึงขั้นจะเรียกว่า “สัตว์” หรือ being เสียด้วยซ้ำ

เพราะถ้าเป็นสัตว์ที่มีทั้งรูปและนามแล้ว ถูกความเย็นจัดหรือร้อนจัดจะถึงแก่ความตาย

แต่เราอาจเอาตัวเชื้อชายแช่ไว้ในอุณหภูมิต่ำ ลบหลายๆ ร้อยองศาเซลเซียส แล้วเก็บไว้เป็นเวลาหลายๆ ปีได้ เมื่อนำออกมาเพิ่มอุณหภูมิให้ถึงขั้นปกติ ตัวเชื้อชายจะกลับมีชีวิตขึ้นมาแหวกว่ายไปมาได้อย่างเดิม

ในพระสูตรต่างๆ พูดถึงลักษณะต่างๆ ของรูป มักมีศัพท์ว่า มาตาเปติกสมฺภโว (เกิดแต่มารดา-บิดา) อยู่ด้วยเสมอ แสดงว่าบิดา-มารดาเป็นผู้เตรียมรูปกายไว้

เมื่อผสมกันแล้ว รูปกายขั้นต้นที่เรียกว่ากลละ ก็เกิดขึ้น และพัฒนาต่อไปตามกลไกของมัน

ในด้านนามธรรม หรือด้านจิตวิญญาณนั้น เมื่อจุติจิตดับลง (คือเมื่อคนตายลง) ปฏิสนธิวิญญาณก็เกิดขึ้นทันที

เกิดขึ้นด้วยการสร้างสรรค์ของพลังกรรม ปฏิสนธิวิญญาณนั้น จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันตามกรรมที่ทำไว้

มันจะเข้าสู่ร่างกายที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับมัน การเข้าสู่รูปกายในครรภ์มารดานั้น จะไม่มีการเลือกสรรใดๆ ทั้งสิ้น จะเป็นไปเองตามหลักแห่ง “สิ่งคล้ายกันจะดึงดูดกัน” คือปฏิสนธิวิญญาณเข้าผสมกับองค์ประกอบทางรูปธรรม สัตว์ในครรภ์จะเกิดขึ้นและพัฒนาไปตามลำดับ

ถ้าหากปฏิสนธิวิญญาณมีอันต้องจุติไปในระหว่าง สัตว์ในครรภ์จะหยุดเติบโตโดยอัตโนมัติแล้วหลุดออกจากครรภ์ ซึ่งเรียกว่า “แท้ง”

ดังพุทธวจนะที่ตรัสแก่พระอานนท์ข้างต้นนั้น


ที่มา : ชีวิตและเป้าหมายของชีวิต (๑) โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๕๔ ประจำวันที่ ๒-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑




ชีวิตและเป้าหมายของชีวิต (๑)

เป้าหมายสูงสุดของชีวิต

ชีวิตมีเป้าหมายหรือไม่ เป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์คืออะไร

คำตอบต่อปัญหานี้แน่นอนย่อมมีแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับคนตอบว่าสังกัดตนอยู่ในระบบความคิดความเชื่อแบบใด

นักวัตถุนิยมโบราณซึ่งคัมภีร์ พระไตรปิฎกเรียกว่า พวก “โลกายตะ” เชื่อเฉพาะสิ่งที่รู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสเท่านั้น ได้ประกาศว่าชีวิตไม่มีเป้าหมายแต่ประการใด

“คนประกอบด้วยธาตุ ๔ เมื่อตายลง ธาตุดินก็จะกลับคืนสู่ดิน ธาตุน้ำก็กลับคืนสู่น้ำ ธาตุไฟก็กลับคืนสู่ไฟ ธาตุลมก็กลับคืนสู่ลม ความรู้สึกทั้งหลายหายไปในอวกาศ คนเราไม่ว่าโง่หรือฉลาด เมื่อกายแตกสลาย ก็แตกดับหายสูญไม่คงอยู่อีกต่อไป ไม่มีโลกหน้า ความตายคือที่สุดของทุกสิ่งโลก ปัจจุบันนี้เท่านั้นเป็นความจริงสิ่งที่เรียกกันว่านรกและสวรรค์เป็นเพียงจินตนาการของคนโกง”

พวกโลกายตะมีปรัชญาที่สวนทางกับจริยธรรมของสังคมยุคสมัยนั้นชัดแจ้ง เชื่อว่าไม่เป็นที่พึงปรารถนาของบรรดาเจ้าลัทธิและนักสอนศาสนานัก พระพุทธศาสนาเองได้ตำหนิลัทธิเสพสุขทางเนื้อหนัง (โดยใช้ชื่อว่า “กามสุขัลลิกานุโยค”) ว่าเป็น “หนทางตัน” ที่ไม่สามารถนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้

ศาสนาเทวนิยมทั้งหลายเชื่อกันว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตมีมาตั้งแต่เกิดมีมนุษย์ขึ้นในโลกและถูกกำหนดไว้ให้โดยพระผู้สร้างว่าจะให้ชีวิตของเขาไปสู่จุดหมายใดอย่างไร

ตามหลักศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จุดหมายสูงสุดของชีวิตคือความเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมันหรือการถูกดูดหายเข้าไปในทิพยภาวระ ซึ่งเป็นที่มาของวิญญาณแต่ละดวง

ศาสนาคริสต์ ศาสนายิว และศาสนาอิสลามมีความเชื่อไม่แตกต่างกันนักคือเชื่อว่าจุดหมายสูงสุดของชีวิตคือ การรับใช้พระเจ้าและได้รับความสุขนิรันดรจากพระองค์

ส่วนพระพระพุทธศาสนาปฏิเสธการมีอยู่ของพระผู้สร้างและหน้าที่และเป้าหมายใดๆ ที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าโดยพระผู้สร้าง และพระพุทธศาสนามิได้เชื่อในลัทธิชะตากรรมหรือพรหมลิขิตซึ่งควบคุมอนาคตของมนุษย์โดยไม่ขึ้นอยู่กับการกระทำอย่างอิสระของเขา

พระพุทธศาสนาเน้นว่ามนุษย์เป็นผู้กำหนดเป้าหมายชีวิตด้วยตัวเขาเองและเขาสามารถลุถึงเป้าหมายนั้นด้วยสติปัญญาด้วยความพากเพียรอันเป็นของมนุษย์เอง มิได้ขึ้นอยู่กับอำนาจภายนอกใดๆ

พูดอีกนัยหนึ่งว่า เขาจะบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิตได้เพราะ “กรรม” (การกระทำ) ของเขาเอง และความเชื่อในพลังแห่งกรรมนี้ ก็มิใช่ในแง่ “กรรมลิขิต” ซึ่งวิถีชีวิตได้ถูกกำหนดให้เดินไว้ตายตัว ด้วยกรรมเก่า  หากแต่เชื่อในแง่ “อัตตลิขิต” (กำหนดวิธีชีวิตด้วยตนเอง) มากกว่า

ขอให้พิจารณาพุทธวจนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ดังต่อไปนี้
ภิกษุทั้งหลาย ลัทธิเดียรถีย์ ๓ ลัทธิเหล่านี้ถูกบัณฑิตไต่ถาม ซักไซ้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างการถือสืบๆ กันมา จัดเข้าในฝ่ายอกิริยทิฐิคือ

(๑) สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ ทิฐิอย่างนี้ว่าสุขหรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดล้วนเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน (ปุพฺเพกตเหตุ)

(๒) สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่าสุขหรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า (อิสฺสรนิมฺมานเหตุ)
 
(๓) สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้ว่าสุขหรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดล้วนหาเหตุหาปัจจัยมิได้ (อเหตุอปจฺจย)

ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ ๓ จำพวกนี้ เราเข้าไปหาพวกที่ ๑ ถามว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้… จริงหรือ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วรับว่าจริง

เรากล่าวกะเขาว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจักต้องฆ่าสัตว์เพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นเหตุ จักต้องลักทรัพย์เพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อน เป็นเหตุ… เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ เพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อนเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ก็ย่อมไม่มี เมื่อไม่กำหนดถือเอาสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำโดยจริงจังมั่นคงดังนี้ สมณพราหมณ์พวกนี้ก็เท่ากับอยู่อย่างหลงสติ ไร้เครื่องรักษา จะมีวาทะที่ชอบธรรม เฉพาะตนไม่ได้

นี้แลเป็นนิคคหะอันชอบธรรมอย่างแรกของเราต่อสมณพราหมณ์ ผู้มีวาทะ มีทิฐิอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลายบรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น เราเข้าไปหาพวกที่ ๒… กล่าวกะเขาว่าท่านจักฆ่าสัตว์ เพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุ… เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุน่ะสิ

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อยึดเอาการดลบันดาล ของพระผู้เป็นเจ้าเป็นสาระฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำก็ย่อมไม่มี

ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น เราเข้าไปหาพวกที่ ๓… กล่าวกะเขาว่า ท่านจักฆ่าสัตว์โดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย… เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิโดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยน่ะสิ

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อนึกเอาความไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ย่อมไม่มี…

เฉพาะลัทธิที่หนึ่ง น่าจะเป็นแนวความเชื่อของชาวพุทธเพราะถือว่าคนเราจะได้รับสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรมที่ทำมาเป็นเหตุ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ ก็แสดงว่าแม้ลัทธินี้จะเชื่อกรรม แต่เป็นความเชื่อแบบ “กฎตายตัว” ว่าชาติก่อนทำกรรมอย่างนั้นไว้ มาชาตินี้จึงต้องได้รับผลอย่างนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเชื่อแบบนี้ไม่เปิดช่องให้มีอิสระเคลื่อนไหวในปัจจุบันแม้แต่น้อย

มนุษย์ที่เชื่ออย่างนี้ จะไม่คิดว่าตนเองแก้ไขปรับปรุงอะไรได้ มองเห็นกรรมแต่ในแง่กรรมเก่า กลายเป็นคนนั่งรอนอนรอผลกรรมเก่า สุดแต่จะบันดาลให้เป็นไป ไม่คิดแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ทั้งๆ ที่มีความสามารถจะทำได้ก็จะไม่คิดทำเพราะเข้าใจว่าทุกอย่างถูกกรรมเก่ากำหนดไว้อย่างนั้น

พระพุทธศาสนามิได้ปฏิเสธกรรมเก่า แต่ปฏิเสธท่าทีที่ผิดพลาดที่บุคคลมีต่อกรรมเก่า

ถ้าเชื่อว่าทุกอย่างเป็นผลของกรรมเก่าอย่างเดียวแก้ไขไม่ได้แล้ว ก็ย่อมท้อถอย งอมือ งอเท้า ไม่คิดทำอะไรอีกต่อไป ก็เป็นท่าทีที่ไม่ถูกต้อง

พระพุทธศาสนาถือกรรมเก่าว่าเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่ง และย่อมมีผลต่อปัจจุบันสมกับชื่อที่ว่าเป็นเหตุปัจจัยด้วยเหมือนกัน แต่มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยอยู่นั้นเอง ไม่ใช่อำนาจนอกเหนือธรรมชาติอะไรที่จะไปยึดไปถือมั่น ฝากโชคชะตาไว้เพียงอย่างเดียว

ผู้ที่เข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาท รู้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยดีย่อมถือกรรมเก่าเป็นเพียงเหตุปัจจัยหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยสัมพันธ์ ถือกรรมเก่าในแง่เป็นบทเรียน เป็นความหนักแน่นในเหตุผล เป็นความเข้าใจตนเองและสถานการณ์ และที่สำคัญเป็นพื้นฐานและกำลังใจเพื่อประกอบการวางแผนทำกรรมปัจจุบัน และหาทางแก้ไขปรับปรุงต่อไป

สรุปในตอนนี้คือ มนุษย์เป็นผู้กำหนดเป้าหมายแห่งชีวิตของตนเอง เป็นผู้กำหนดทางเดินของตนเอง และสามารถบรรลุถึงจุดหมายปลายทางที่กำหนด ด้วยความพากเพียรพยายาม และด้วยสติปัญญาของตนเอง ผู้อื่นทำแทนให้ไม่ได้

แม้แต่พระบรมศาสดาก็เป็นเพียงผู้คอยชี้แนะแนวทางให้เท่านั้น หาใช้ผู้ดลบันดาลหรือ “ช่วยให้รอด” ดังในศาสนาเทวนิยมไม่


ที่มา : ชีวิตและเป้าหมายของชีวิต (๒) โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๕๖ ประจำวันที่ ๙-๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 มีนาคม 2561 14:59:31 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5746


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 06 มีนาคม 2561 14:56:49 »



ชีวิตและเป้าหมายของชีวิต (จบ)

เป้าหมายสูงสุดของชีวิต (๓)

ย้อนอ่าน เป้าหมายสูงสุดของชีวิต (ตอนแรก)

มีพระพุทธวจนะมากมายสนับสนุนข้อสรุปมนุษย์เป็นผู้กำหนดเป้าหมายแห่งชีวิตของตนเอง อาทิ

(๑) “เราต้องพึ่งตัวเราเอง คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้ว ย่อมเป็นที่พึ่งที่ได้แสนยาก”

(๒) “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนมีทางเดินเป็นของตน เพราะฉะนั้น ความคุมตน เหมือนพ่อค้าม้าทะนุถนอมม้าดี”

(๓) “ตนทำบาปเอง ตนก็เศร้าหมองเอง ตนไม่ทำบาปเอง ตนก็บริสุทธิ์เอง เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์แทนไม่ได้”

(๔) “มีทางนี้ (มรรคมีองค์ ๘) เท่านั้นไม่มีทางอื่นเพื่อความบริสุทธิ์แห่งทรรศนะ พวกเธอจงเดินตามทางนี้เถิด ทางสายนี้พญามารมักเดินหลงเสมอ เมื่อเดินตามทางนี้พวกเธอจักหมดทุกข์ ทางสายนี้เราตถาคตได้ชี้บอกไว้ หลังจากได้รู้วิธีถอนลูกศรคือกิเลส พวกเธอจงพยายามทำความเพียรเถิด ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้บอกทางเท่านั้น ชนทั้งหลายผู้เดินทางสายนี้โดยปฏิบัติภาวนา จักพ้นเครื่องผูกของพญามาร”

(๕) “คนฉลาด เมื่อรู้ความจริงว่า บุตร บิดา มารดา หมู่ญาติก็ช่วยไม่ได้ ควรสำรวมในศีล ไม่ควรชักช้าในการตระเตรียมทางไปสู่นิพพาน”

(๖) “ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษผู้ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์พึงมายังสำนักของท่าน เขาเข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า

“มาเถิด พ่อมหาจำเริญ ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่ง ท่านจักเห็นบ้านชื่อโน้น… จักเห็นนิคมชื่อโน้น… จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์… จักเห็นป่าที่น่ารื่นรมย์… จักเห็นภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์… จักเห็นสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์”

บุรุษนั้นถูกท่านแนะนำชี้แจงอย่างนี้ จำทางผิด กลับเดินไปเสียตรงกันข้าม ต่อมาบุรุษคนที่สอง ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ พึงมายังสำนักของท่าน แล้วพูดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าเถิด” ท่านพึงบอกอย่างนี้ว่า “มาเถิดพ่อมหาจำเริญ ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์”… บุรุษนั้นถูกแนะนำชี้แจงอย่างนี้แล้ว พึงไปเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี

ดูก่อนพราหมณ์ อะไรหนอแลเป็นเหตุปัจจัย ในเมื่อเมืองราชคฤห์ดำรงอยู่ ทางไปเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่ ท่านผู้ชี้ทางก็ดำรงอยู่ แต่บุรุษที่ท่านชี้ทางคนหนึ่งจำทางผิดกลับไปทางตรงข้าม แต่อีกคนหนึ่งเดินไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี

คณะโมคคัลลานะทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้บอกทาง” พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ดูกรพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ในเมื่อนิพพานก็ดำรงอยู่ เราผู้ชักชวนก็ดำรงอยู่ แต่สาวกของเราที่ถูกโอวาทสั่งสอนอย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อยนิดยินดีนิพพานอันสูงสุด บางพวกก็ไม่ยินดี ดูก่อนพราหมณ์ในเรื่องนี้เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตเป็นผู้บอกหนทางให้…”

พระไตรปิฎก (ขุททกนิกาย จูพนิเทศ ๓๐/๗๕๕/๓๘๙) กล่าวถึง เป้าหมายของชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงระดับสุดท้ายไว้ ๓ ระดับคือ

(๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะ “เป้าหมายปัจจุบัน” หมายถึง เป้าหมายในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นขั้นต้นคือธรรมดาสามัญ ที่มุ่งหมายกันในโลกนี้ มีทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี ชีวิตคู่ครองที่เป็นสุข เป็นต้น อันเกิดขึ้นด้วยกำลังความเพียร สติปัญญาของตนโดยชอบธรรมและรู้จักปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น ในทางที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขโดยชอบทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

(๒) สัมปรายิกัตถะ “เป้าหมายอนาคต” หมายถึง เป้าหมายด้านคุณค่าของชีวิตซึ่งเป็นขั้นล้ำลึกสำหรับชีวิตด้านใน เป็นหลักประกันในอนาคตและภพหน้า คือความเจริญงอกงามแห่งชีวิตจิตใจที่ก้าวหน้าเติบโตใหญ่ขึ้นด้วยคุณธรรม มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ใช้ทิฏฐธัมมิกัตถะในทางที่ชอบธรรม เป็นคุณประโยชน์จนเป็นผู้มีความมั่นใจในความดีของตน ไม่กังวลทุรนทุรายหรือหวาดกลัวภัยในโลกหน้า

(๓) ปรมัตถะ “เป้าหมายสูงสุด” หมายถึงเป้าหมายที่เป็นสาระแท้ของชีวิตซึ่งเป็นเป้าหมายขั้นสุดท้ายที่ชีวิตควรเข้าถึง คือ การรู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันคติธรรมดาของสังขารธรรม ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต ไม่ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจความยืดติดถือมั่นสามารถทำจิตให้เป็นอิสระ ปลอดโปร่งผ่องใสสะอาดสว่าง สงบ มีความสุข ประณีตภายใน เรียกสั้นๆ ว่านิพพาน

คือดับกิเลสและกองทุกข์ได้


ที่มา : ชีวิตและเป้าหมายของชีวิต (จบ) โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๕๗ ประจำวันที่ ๑๖-๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระพุทธศาสนา เวอร์ชั่น เสฐียรพงษ์ วรรณปก
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
sometime 5 10513 กระทู้ล่าสุด 12 กันยายน 2553 09:47:38
โดย เงาฝัน
พุทธวจนะในธรรมบท โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
Kimleng 4 6378 กระทู้ล่าสุด 26 พฤศจิกายน 2561 14:29:41
โดย Kimleng
พระมหากรุณาของพระพุทธองค์ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
Kimleng 0 2124 กระทู้ล่าสุด 20 ธันวาคม 2560 15:42:07
โดย Kimleng
พระไตรปิฎกนานาภาษา/พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร? โดย ศจ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เกร็ดศาสนา
Kimleng 4 3213 กระทู้ล่าสุด 09 พฤษภาคม 2561 15:00:36
โดย Kimleng
วิบากแห่งกรรม โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
Kimleng 7 8275 กระทู้ล่าสุด 10 กันยายน 2561 17:35:09
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.62 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 03 พฤศจิกายน 2567 22:03:17