[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 18 ธันวาคม 2556 15:37:12



หัวข้อ: พระราชวังจันทน์ ราชสำนักเมืองพิษณุโลกในครั้งอดีต
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 ธันวาคม 2556 15:37:12
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/56931676425867_1.JPG)
พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐานที่พระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/21921753469440_6.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/50905406930380_4.JPG)
แนวฐานรากกลุ่มอาคารหลักของพระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก

พระราชวังจันทน์ ราชสำนักเมืองพิษณุโลก
Chandra Palace : Royal Residence in Phitsanulok

ในบรรดาชุมชนเมืองโบราณ  พิษณุโลกจัดเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากตำแหน่งที่ตั้งของเมืองจะอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์ริมแม่น้ำน่านแล้ว เมืองพิษณุโลกยังเป็นชุมทางการคมนาคมที่เชื่อมโยงติดต่อระหว่างอาณาจักรโบราณหลายแห่ง ได้แก่ ล้านนาที่อยู่ทางเหนือ  ล้านช้างอยู่ทางตะวันออก สุโขทัยและพุกามอยู่ทางตะวันตก และกรุงศรีอยุธยาอยู่ทางใต้

เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองเก่าสมัยขอม  โดยมีชื่อเรียกต่างๆ กันในศิลาจารึก ตำนาน นิทาน และพงศาวดาร เช่น สองแคว สระหลวง สองแควทวิ สาขะ ไทยวนที

ที่เรียกว่า “เมืองสองแคว” เพราะตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสายคือ แม่น้ำน่านกับแม่น้ำแควน้อย แต่ปัจจุบันแม่น้ำแควน้อยเปลี่ยนทิศทางน้ำออกห่างจากตัวเมืองไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ที่ตั้งเมืองเก่าในปัจจุบันคือบริเวณวัดจุฬามณี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองพิษณุโลก และเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จมาประทับจำพรรษาเมื่อคราวทรงผนวช เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๘

จนเมื่อประมาณพุทธศักราช ๑๙๐๐ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) ได้โปรดฯ ให้ย้ายเมืองสองแคว มาตั้งอยู่ ณ บริเวณตัวเมืองในปัจจุบัน และยังคงเรียกกันติดปากกว่า เมืองสองแคว เรื่อยมา

เมืองพิษณุโลก เป็นเมืองมีลำน้ำน่านไหลผ่านตัวเมือง ทำให้เมืองถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ฝั่งตะวันออกมีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดใหญ่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก วัดนี้เป็นวัดสำคัญในฐานะที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย  ขณะที่ฝั่งตะวันตกมีพระราชวังจันทน์ที่สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงอยุธยา

เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ใน พ.ศ. ๒๐๐๖ ทรงประทับที่พระราชวังจันทน์เป็นระยะเวลายาวนานถึง ๒๕ ปี  จนถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ทรงโปรดให้สมเด็จพระธรรมราชาธิราช พระมหาอุปราช กับพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยเป็นพระชายา ไปครองเมืองพิษณุโลก ครอบครองหัวเมืองภาคเหนือ

ระหว่างนี้พระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตรีมีโอรสด้วยกันสองพระองค์ คือ พระนเรศวรและพระเอกาทศรถ ซึ่งพระราชบุตรองค์หนึ่งเป็นมหาวีรบุรุษของปวงชนชาวไทย



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/82965812583764_2.JPG)
พระราชวังจันทน์ สถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ
เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก
ปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้้งศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช


พระราชวังจันทน์

พระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำน่าน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ไม่ไกลจากค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองทัพภาคที่ ๓ ในอดีตเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม

สันนิษฐานว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) พระราชโอรสใน พระยาเลอไท พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๔ แห่งราชวงศ์พระร่วงของอาณาจักรสุโขทัย ทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๖ ของราชวงศ์พระร่วง ครองราชสมบัติกรุงสุโขทัยและครองเมืองพิษณุโลก ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๐๕ - พ.ศ. ๑๙๑๒ ทรงสร้างพระราชวังจันทน์บนเนินดินบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน และใช้เป็นที่ประทับระหว่างเสด็จว่าราชการหรือครองเมืองพิษณุโลกของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้พระราชวังจันทน์ยังเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ


• รื้อทำลายพระราชวังจันทน์
ในต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ พม่ายังคงรุกรานไทย ได้ส่งกองทัพใหญ่มาตีกรุงรัตนโกสินทร์หลายครั้ง บ้านเมืองยังไม่มีความเข้มแข็งพอ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชดำริว่า ไม่มีกำลังทหารพอที่จะป้องกันเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ จึงทรงรวบรวมกำลังพลเพื่อทำสงครามที่กรุงรัตนโกสินทร์เพียงที่เดียว  จึงโปรดให้รื้อทำลายป้อมปราการ กำแพงเมือง และปราสาทราชมณเฑียรในพระราชวังจันทน์เสียสิ้น เพื่อมิให้พม่าข้าศึกใช้เป็นฐานที่มั่นส้องสุมกำลังผู้คนและตระเตรียมเสบียงอาหาร เพื่อที่จะทำสงครามกับกรุงรัตนโกสินทร์ได้อีก  พระราชวังจันทน์จึงถูกทำลายได้รับความเสียหายอย่างหนัก และได้ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง เหลือแต่เพียงชื่อ และไม่มีใครสนใจอีก

• การค้นพบ
จนกระทั่งปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จตรวจราชการเมืองพิษณุโลก และหล่อพระพุทธชินราชจำลอง ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงรับสั่งให้ขุนศรเทพบาล สำรวจรังวัด จัดทำผังพระราชวังจันทน์ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จสังเวยเทพารักษ์ในวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จทอดพระเนตรพระราชวังจันทน์ด้วย และมีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า มีซากพระราชวังก่อด้วยอิฐ สูงพ้นดิน ๒-๓ ศอกเศษ มีพระที่นั่งคล้ายพระที่นั่งจันทรพิศาล ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี  มีกำแพงวัง ๒ ชั้น มีสระสองพี่น้องอยู่นอกกำแพงวัง ภายหลังปรักหักพังเป็นป่ารกในสงครามอะแซหวุ่นกี้ตีเมืองพิษณุโลก


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/78598407821522_1.JPG)

พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/42797363756431_2.png)
ทิมดาบเป็นที่พักของทหารรักษาการณ์ถวายความปลอดภัยแก่พระมหากษัตริย์  
ภาพจาก : พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี  [/color]


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/99402632688482_3.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/82965812583764_2.JPG)
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในพระราชวังจันทน์


• สร้างโรงเรียนในพระราชวังจันทน์
ถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๕ (รัชกาลที่ ๗) ได้มีการย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมจากวัดนางพญา มาสร้างที่พระราชวังจันทน์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลพิษณุโลก เพื่อให้นักเรียนดูแลรักษาพระราชวังจันทน์ ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม  มีการปรับพื้นที่ก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ มาเป็นลำดับ

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน ๔ ชั้น ที่บริเวณสนามบาสเกตบอลใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ ขณะคนงานก่อสร้างขุดหลุมเสาฐานราก จึงได้พบซากอิฐเป็นแนวกำแพง  

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลก ได้แจ้งมายังหน่วยศิลปากรที่ ๓ สุโขทัย ว่ามีการขุดพบซากอิฐเก่าในโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม

• พระราชวังจันทน์จากหลักฐานโบราณคดี
หน่วยศิลปากรที่ ๓ สุโขทัย จึงมอบหมายให้ นายเอิบเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดีเข้าไปตรวจสอบ  การดำเนินงานทางโบราณคดีที่พระราชวังจันทน์ จึงเริ่มขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๕
  
การขุดตรวจสอบเบื้องต้น พบกำแพงพระราชวังจันทน์ชั้นนอก ประตูพระราชวังจันทน์ และทิมดาบ พบกำแพงพระราชวังจันทร์ชั้นใน ประตูประราชวังจันทน์ และเนินฐานพระราชวังจันทน์ในบริเวณสนามโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม  และสรุปผลจากหลักฐานโบราณคดีว่า พระราชวังจันทน์มีการซ่อมสร้างโดยการรื้อแล้วสร้างใหม่อย่างน้อยหนึ่งครั้ง การก่อสร้างครั้งแรกน่าจะไม่ช้าไปกว่ารัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ทรงประทับอยู่ที่พิษณุโลกเป็นเวลานานถึง ๒๕ ปี  การสร้างวังครั้งที่สอง น่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่เมืองพิษณุโลกร้างไป ๘ ปีระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๑๒๗-๒๑๓๓ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง  จากนั้นทรงโปรดฯ ให้อพยพครัวเรือนชาวพิษณุโลกไปรวมอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นเป็นต้นมาคงไม่มีการรื้อสร้างวังใหม่ แต่น่าจะเป็นการซ่อมแซมพระราชวังเดิมเท่านั้น เพราะหลังจากสมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๔๘ นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยาทรงโปรดฯ ให้อุปราชมาครองเมืองพิษณุโลกอีกเลย

จนกระทั่งในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองพิษณุโลกได้รับการปรับปรุงพัฒนาในฐานะเมืองสำคัญ ซึ่งรวมถึงการซ่อมแซมป้อมค่ายคูเมือง การประดิษฐานรอยพระพุทธบาทและการสร้างมณฑปครอบที่วัดจุฬามณี ในปี พ.ศ. ๒๒๒๔

• การขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
หลังจากการดำเนินการขุดตรวจสอบเมื่อ ปี พ.ศ.  ๒๕๓๕ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชวังจันทน์เป็นโบราณสถาน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ และกำหนดขอบเขตพระราชวังจันทน์ ให้ครอบคลุมพื้นที่พระราชวังจันทน์และวัดสำคัญอีกสามแห่ง คือ วัดวิหารทอง วัดศรีสุคต และวัดโพธิ์ทอง รวมเนื้อที่ ๑๒๘ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา  และได้ข้อสรุปว่า ควรมีการโยกย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมไปยังสถานที่แห่งใหม่ที่เหมาะสม เพื่อดำเนินการขุดค้น ขุดแต่ง บูรณะ และอนุรักษ์พระราชวังจันทน์ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน โดยจัดทำเป็นแผนงานโครงการบูรณะพระราชวังจันทน์และย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕

เมื่อมีการย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมออกไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ตำบลท่าทองแล้ว กรมศิลปากรจึงดำเนินงานทางโบราณคดีตามมติคณะรัฐมนตรี เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยขุดค้น ขุดแต่งพื้นที่พระราชวังจันทน์ได้ครบทั้งหมด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ และดำเนินการบูรณะ อนุรักษ์ ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน


*เกี่ยวกับชื่อ “พระราชวังจันทน์” นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในสาสน์สมเด็จ ดังนี้
“...คำ “วังจันทน์” นั้น เอาชื่อของ ๒ อย่างมาเรียกรวมกันตามสะดวกปาก คำ “วัง” หมายความว่าที่บ้านของเจ้าทั้งบริเวณตลอดจนรั้วเขตเป็นมูลของคำที่พูดกันว่า “รั้ววัง”  ส่วนคำว่า “จันทน์” นั้นหมายความว่าเป็นคฤหที่เจ้าอยู่คือ “ตำหนักจันทน์” หรือ “เรือนจันทน์” ด้วยแต่โบราณเรือนอยู่ทำด้วยไม้ทั้งนั้น เรือนคนชั้นต่ำลงมาใช้ไม้สามัญ แต่เรือนพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายที่ศักดิ์สูง เช่น พระมเหสี หาไม้อย่างวิเศษเช่นไม่จันทน์อันมีกลิ่นหอมมาทำ ผิดกับของคนอื่น จึงเรียกกันว่า ตำหนักจันทน์...”


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/88323356873459_5.JPG)


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/86844699871208_1.JPG)
พระปรางค์ศิลปะขอม วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/75967659635676_4.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/67735376126236_7.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/44801344391372_8.JPG)
ปูนปั้นประดับปรางค์องค์นี้ ได้รับอิทธิพลจากจีนและขอม
ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบศิลปลายไทย

วัดจุฬามณี เป็นวัดที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
เสด็จมาประทับจำพรรษา เมื่อคราวทรงผนวช เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๘ ละละแวกวัดแห่งนี้เป็นที่ตั้งเมืองเก่าพิษณุโลก


หัวข้อ: Re: พระราชวังจันทน์ ราชสำนักเมืองพิษณุโลกในครั้งอดีต
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 ธันวาคม 2556 16:34:06
.

ชาวมลายูเรียกพระนเรศวรเป็นเจ้าว่าพระอัคนิราช
หมายถึงไฟ อันไฟนั้นย่อมมีทั้งความร้อน มีพลังงาน และมีแสงสว่าง
พระบรมราชกฤษฎาภินิหารของพระนเรศวรก็เป็นดังนั้น
แสงสว่างอันเจิดจ้านั้นก็ยังส่องออกมาให้เห็น ปรากฏแก่ตาแก่ใจคนจนได้...
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/56931676425867_1.JPG)
พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ในพระราชอิริยาบถประทับนั่ง พระหัตถ์ขวาทรงสุวรรณภิงคาร
หลั่งน้ำทักษิโณทกลงเหนือพื้นพสุธาดล ประกาศอิสรภาพจากพม่า  
ประดิษฐานที่ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในพระราชวังจันทน์

พระราชวังจันทน์  เป็นที่ตั้งศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย พระองค์ได้กอบกู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล  ตลอดพระชนมชีพได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมือง รักษาแผ่นดินจนตกมาถึงพวกเราในปัจจุบัน

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒) พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๘ (พ.ศ. ๒๑๓๓-๒๑๔๘) แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา และองค์ที่ ๒ ของราชวงศ์สุโขทัย ที่ได้ครองกรุงศรีอยุธยา (พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระมหาธรรมราชา) ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและสมเด็จพระวิสุทธิกษัตริย์ ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ  ประสูติที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๐๙๘  ชาวเมืองพิษณุโลกและชาวต่างประเทศเรียกพระนามพระองค์อย่างสามัญว่า พระองค์ดำ ส่วนสมเด็จพระอนุชาเรียกว่า พระองค์ขาว  ในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าถูกต้องที่สุดนั้น เรียกพระนามของพระองค์ว่า “สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า”

ขณะทรงพระเยาว์ ประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก จนถึงปี พ.ศ.๒๑๐๗ พระชนมายุ ๙ พรรษา พระเจ้าหงสาวดีมีพระราชสาส์นทูลขอช้างเผือกจากกรุงศรีอยุธยา ๒ ช้าง (ขณะนั้นมีช้างเผือกอยู่ทั้งหมด ๗ ช้าง)  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกทรงมีพระบรมราชโองการไม่ประทานช้างเผือก  พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงถือเป็นเหตุยกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา (เรียกกันว่า สงครามช้างเผือก) โดยยกทัพผ่านมาทางสุโขทัย แล้วเลยมาล้อมเมืองพิษณุโลกเอาไว้ พระมหาธรรมราชาซึ่งครองเมืองพิษณุโลกเห็นจะสู้พม่าซึ่งมีกำลังพลมหาศาลไม่ได้จึงยอมอ่อนน้อมต่อพม่า



พระเจ้าบุเรงนองได้ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชายกกองทัพลงไปตีกรุงศรีอยุธยาด้วย ผลของสงคราม ทำให้ไทยต้องยอมเป็นไมตรี และยอมถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทรงนำไปเป็นตัวประกัน ณ กรุงหงสาวดี  ตามประเพณีการปกครองเมืองขึ้นของไทยและของพม่ามาแต่โบราณ
 
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่องนี้ไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปเป็นตัวประกันที่กรุงหงสาวดีจนพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชจึงได้ถวายพระสุพรรณกัลยาไปแลกเปลี่ยน และเมื่อเสด็จกลับมาถึงเมืองไทยแล้ว พระราชบิดาจึงแต่งตั้งให้ขึ้นมาครองเมืองพิษณุโลก
 
เรื่องการเสด็จกลับเมืองไทยของสมเด็จพระนเรศวรนี้ หลักฐานทางพงศาวดารไทยไม่ชัดเจน มีปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าและหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด* (* สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระนามเดิมเจ้าฟ้าดอกเดื่อ) ซึ่งเป็นพงศาวดารที่ไทยแปลมาจากภาษารามัญ กล่าวว่า...เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชสวรรคตนั้น สมเด็จพระนเรศวรยังประทับอยู่ที่กรุงหงสาวดี ขุนนางเชื้อพระวงศ์ได้อัญเชิญสมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นครองราชย์สมบัติ แต่พระองค์ไม่ทรงยินยอม ทรงพอพระทัยที่จะดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชอยู่อย่างเดิม แต่ปกครองบ้านเมืองด้วยสิทธิขาดของพระองค์เอง

และในเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด ได้กล่าวถึงเรื่องสมเด็จพระนเรศวรชนไก่กับพระมหาอุปราชา ทำให้มีความอาฆาตพระมหาอุปราชา ต่อมาจึงทรงดำริว่า “เราจะมานั่งลอยหน้าอยู่ในเมืองให้เขาดูหมิ่นอย่างนี้ไม่ควร” จึงจะคิดอุบายหนีไปให้จงได้  ต่อมาจึงได้เสด็จเข้าไปชวนพระสุพรรณกัลยาหนีกลับกรุงศรีอยุธยา แต่พระพี่นางตรัสตอบว่า พระองค์ท่านมีบุตรด้วยพระเจ้าหงสาวดีแล้วจะหนีไปอย่างไรได้ สมเด็จพระนเรศวรจึงรวบรวมไพร่พลจำนวน ๖๐ คน หนีออกจากกรุงหงสาวดี ผ่านมาทางด่านเจดีย์ ๓ องค์ ฝ่ายพม่าให้พระมหาอุปราชายกกองทัพติดตาม เกิดการสู้รบตั้งแต่บริเวณพระเจดีย์ ๓ องค์ สมเด็จพระนเรศวรสู้ไม่ไหวจึงถอยไปตั้งที่เมืองสุพรรณบุรี

ที่สุพรรณบุรีนี้เอง สมเด็จพระเอกาทศรถทราบข่าว ได้ยกกองทัพไปช่วยจนสามารถเอาชนะพม่าได้ จากนั้นพระองค์จึงเสด็จหนีไปตั้งมั่นที่เมืองพิษณุโลก โดยมิได้เข้าไปกราบถวายบังคมพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา


เรื่องที่สมเด็จพระนเรศวรหนีพม่ามาน่าเชื่อถือมาก ในจดหมายเหตุของวัน วลิต กล่าวว่า “เมื่อพระนเรศร์เสด็จหนีจากกรุงหงสาวดีมาเข้าเฝ้าพระราชบิดา ณ กรุงศรีอยุธยานั้น พระราชบิดาทรงตกพระทัยและโศกาดูร ทรงห่วงใยศึกพม่าเพราะบ้านเมืองยังขาดแคลน ราษฎรก็อดอยากยากแค้น รี้พลก็มีน้อย จึงอยากจะรักษาพระราชไมตรีกับพม่าต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อการเป็นไปแล้วก็ต้องปล่อยไป จึงส่งสมเด็จพระนเรศวรขึ้นมาครองเมืองพิษณุโลกใน ปี พ.ศ. ๒๑๑๔ ขณะนั้นพระชนม์ได้ ๑๗ พรรษา

ขณะที่พระองค์ประทับที่เมืองพิษณุโลกได้สะสมฝึกปรือพละกำลังพล เช่นเดียวกับทางกรุงศรีอยุธยาก็บำรุงไพร่พลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะมีกองทัพของกัมพูชายกเข้ามารุกรานหลายครั้ง บางครั้งเป็นเวลาที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงไปเฝ้าสมเด็จพระราชบิดาก็ได้ร่วมกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ทำสงครามขับไล่กองทัพกัมพูชาให้ถอยกลับไป ส่วนกองทัพเมืองพิษณุโลกนั้นได้แสดงความสามารถในสงครามปราบเมืองรุมเมืองคังเมืองของไทยใหญ่ ซึ่งแข็งข้อกับพม่า สงครามครั้งนั้นทำให้สมเด็จพระนเรศวรมีพระเกียรติยศเกรียงไกร เป็นที่เกรงขามต่อพม่าอันเป็นสาเหตุนำไปสู่การวางแผนลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ โดยจะลงมือขณะที่สมเด็จพระนเรศวรยกไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีปราบเมืองอังวะที่แข็งเมือง

เมื่อเสด็จไปถึงเมืองแครงก็ทรงทราบแผนร้ายของพม่า จึงทรงหลั่งอุทกธาราลงเหนือพื้นพสุธาดล ออกพระโอษฐ์ตรัสประกาศเอกราชจากพม่า


หลังประกาศเอกราชแล้ว พม่าก็ได้ยกกองทัพมาโจมตีไทยอีกหลายครั้ง ทำให้สมเด็จพระนเรศวรต้องถ่ายเทผู้คนจากหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ๑๗ หัวเมือง ลงไปรวมกำลังต้านทานพม่าที่กรุงศรีอยุธยา

จนถึงเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๑๓๔ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต  สมเด็จพระนเรศวรซึ่งที่จริงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยการปกครองมาแล้วจึงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติอย่างสมบูรณ์ ขณะนั้นมีพระชนมายุ ๓๖ พรรษา  

ความที่พระองค์โปรดพระอนุชา เพียงจะทรงตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช ไม่เพียงพอพระราชหฤทัย จึงทรงสถาปนาพระเอกาทศรถ พระอนุชาที่ตามเสด็จเข้าร่วมศึกสงครามเคียงบ่าเคียงไหล่สมเด็จพระบรมเชษฐา เป็นสมเด็จพระมหาอุปราช ถวายพระราชอิสริยยศเยี่ยงพระเจ้าแผ่นดินคู่กัน นับว่าในแผ่นดินนี้มีพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ (Second King) และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย

และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงเอาเป็นแบบอย่าง ทรงแต่งตั้งพระอนุชาเป็นพระมหาอุปราชและถวายพระเกียรติยศเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดิน เรียก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว


หลังจากครองราชย์ไม่นาน พม่าได้แต่งตั้งให้พระมหาอุปราชยกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ สงครามคราวนี้สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถยกกองทัพไปต่อสู้นอกกรุงศรีอยุธยาถึงสุพรรณบุรี นับเป็นสงครามครั้งยิ่งใหญ่ของชนชาติไทย ศึกครั้งนี้ได้กระทำยุทธหัตถี ทรงสามารถเอาชนะสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔  ตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕  

การยุทธหัตถีครั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเลื่องลือไปไกลถึงกรุงปักกิ่งและนานาประเทศทางยุโรป ทรงเป็นมหาราชที่ชาวต่างประเทศรู้จักและยกย่องมากที่สุด

หลังจากนั้นมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าไม่มีข้าศึกใดกล้ายกทัพมารุกรานสยามประเทศเป็นเวลาถึง ๑๕๐ ปี


วัน วลิต พ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยาหลังจากสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตไปเพียง ๒๐ ปีเศษ ได้บันทึกเรื่องราวยุทธหัตถีที่ชาวกรุงศรีอยุธยาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดและยกย่องชื่นชมยิ่งว่า “พระนเรศร์ประสบชัยชนะครั้งนี้ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๒ พรรษา พระองค์สามารถปกป้องพระราชอาณาจักรของพระราชบิดาไว้ไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นได้ และนับแต่นั้นมาพระเจ้าแผ่นดินสยามก็ไม่ขึ้นกับพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดในโลกนี้อีกเลย”

นอกจากนี้ วัน วลิต ยังได้บรรยายถึงเหตุการณ์ตอนจะกระทำยุทธหัตถี ว่า ช้างของสมเด็จพระนเรศวร เจ้าพระยาไชยานุภาพนั้น รูปร่างเล็กกว่าพลายพัธกอช้างทรงของพระมหาอุปราชมากนัก เมื่อประจันหน้ากัน ช้างเล็กกว่าก็ตกใจกลัวถึงกับเบนหัวจะถอยกลับ สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสปลุกปลอบพระยาช้างต้น ซึ่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมช ได้แปลออกมาเป็นภาษาไทยที่ไพเราะกินใจไว้ในหนังสือกฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้ มีความว่า...พระเจ้าหงสาวดียกทัพอันมีกำลังใหญ่หลวงมายังกรุงศรีอยุธยา พระนเรศวร์ยกทัพมาถึงวัดร้างแห่งหนึ่ง (ซากวัดร้างนั้นยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้) เรียกว่าเครงหรือหนองสาหร่าย เพื่อปะทะทัพมอญ เมื่อกองทัพทั้งสองมาประจัญกันเข้า พระนเรศวร์และพระมหาอุปราชา (ต่างองค์ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ และประทับบนพระคชาธาร) ต่างทอดพระเนตรเห็นกันเข้า ต่างองค์ก็มีพระทัยฮึกเหิม เสด็จออกจากกองทัพ ขับพระคชาธารโดยปราศจากรี้พลเข้าหากันประดุจว่าเสียพระจริต แต่พระคชาธารที่พระนเรศวร์ทรงอยู่นั้นเล็กกว่าพระมหาอุปราชามากนัก เมื่อกษัตริย์ทั้งสองพระองค์มุ่งเข้าหากัน ช้างที่เล็กกว่าก็ตกใจกลัวช้างที่ใหญ่กว่า ถึงกับเบนหัวจะถอยกลับอยู่ท่าเดียว พระนเรศวร์ก็ตกพระทัยจึงตรัสกับเจ้าพระยาช้างต้นว่า
 
 “พ่อเมืองเอย  ถ้าท่านละทิ้งเรา ณ บัดนี้ ก็เท่ากับว่าท่านละทิ้งตัวท่านเองและลาภยศของท่านทั้งปวง เราเกรงว่าแต่บัดนี้เป็นต้นไป ท่านจะไร้ยศศักดิ์ หากษัตริย์มาทรงท่านมิได้ ขอให้คิดดูเถิดว่าขณะนี้พระชาตาของกษัตริย์สองพระองค์ขึ้นอยู่กับท่าน และท่านสามารถจะสู้ให้เราชนะศึกได้ ขอให้ท่านดูราษฎรผู้ยากไร้ของเรา คิดดูเถิดว่าเขาจะต้องพ่ายแพ้และกระจัดพลัดพรากถึงปานไฉน ถ้าหากว่าเราทั้งสองหนีสมรภูมิ แต่ถ้าหากเราทั้งสองยืนหยัดอยู่ไซร้ ด้วยความกล้าหาญของท่านและกำลังของเรา เราก็อาจเอาชนะข้าศึกได้ และเมื่อได้ชัยชนะแล้วเราก็จะได้เกียรติยศร่วมกันสืบไป"

"ขณะที่พระองค์ตรัสแก่พระยาช้างต้นนั้น ก็ทรงพรมน้ำเทพมนต์ซึ่งพราหมณ์ได้ทำถวายสำหรับโอกาสนี้ลงบนศีรษะช้างสามครั้ง  ขณะนั้นน้ำพระอสุชลก็ไหลลงตกต้องงวงพระคชาธาร  พระยาช้างผู้ชาญฉลาดนั้น เมื่อได้รับน้ำเทพมนต์และน้ำพระอสุชล และได้ยินพระราชดำรัสของวีรกษัตริย์ก็มีใจฮึกเหิม ชูงวงขึ้นประณตแล้วเบนหัวสู่ข้าศึก พลันวิ่งสู่กษัตริย์มอญดุจเสียสติ อำนาจของพระยาช้างต้นในการสู้รบครั้งนี้แลดูน่ากลัวและน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

สงครามยุทธหัตถีครั้งนั้น คงเป็นเรื่องที่ชาวกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงด้วยความปราบปลื้มภาคภูมิใจมิรู้ลืมเลือน แม้ วัน วลิต จะเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาหลังจากนั้นหลายปี ก็ยังสามารถเล่าให้ชาวต่างประเทศฟังอย่างละเอียดลออ

พระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรอีกประเด็นที่มีคนสนใจกล่าวถึงคือ พระมเหสีของพระองค์

สมเด็จพระนเรศวรเป็นพระเจ้าแผ่นดินไทยพระองค์หนึ่งซึ่งไม่มีพระราชโอรสธิดา ในพระราชพงศาวดารไทยฉบับต่างๆ ไม่มีกล่าวถึง มีเฉพาะในหนังสือคำให้การของขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า เมื่อทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเศกนั้น “อัครมหาเสนาบดีและมหาปุโรหิตทั้งปวงจึงถวายอาณาจักรเวนพิภพ จึงถวายเครื่องเบญจกกุธภัณฑ์ทั้งห้า แล้วฝ่ายกรมในจึงถวายพระมเหสีพระนามชื่อนั้นพระมณีรัตนา แล้วถวายพระสนมกำนัลทั้งสิ้น”
 
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงพระมเหสีของสมเด็จพระนเรศวรเอาไว้ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖ ว่า พระมเหสีมณีรัตนา ทรงมีพระชนม์ยืนยาวมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ มีครั้งหนึ่งจมื่นศรีสรรักษ์มหาดเล็กมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับพระยาแรกนา เรื่องนี้ทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพิโรธมากถึงกับให้จับตัวไปลงโทษขังคุก จมื่นศรีสรรักษ์ถูกจองจำอยู่ ๕ เดือน  เจ้าขรัวมณีจันทร์ หรือพระมเหสีมณีรัตนา มีพระทัยเมตตาจึงเสด็จเข้ามาทูลขอโทษ สมเด็จพระเอกาทศรถ ก็ทรงพระราชทานอภัยโทษให้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระมเหสีมณีรัตนานั้นจะต้องเป็นบุคคลที่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงเคารพรัก จึงทรงกล้าหาญที่จะเสด็จเข้าไปขอพระราชทานอภัยโทษให้ใครได้ ด้วยพระเมตตาในครั้งนี้จมื่นศรีสรรักษ์ในกาลต่อมาจึงได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

สมเด็จพระนเรศวรทรงครองราชย์สมบัติจนถึงปี พ.ศ. ๒๑๔๘  เสด็จยกทัพข้ามแม่น้ำสาละวินไปตีเมืองตองอูของพม่า เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘ เมื่อข้ามแม่น้ำแล้ว เดินทางไปได้ไม่ไกล ก็ล้มประชวรไข้อย่างหนักเพราะมีพระยอด (ฝี) ที่พระศอ  

คราวนั้น พระเอกาทศรถมิได้ตามเสด็จไปด้วย เมื่อม้าใช้มากราบทูลก็รีบเสด็จไปเฝ้าพระเชษฐา เสด็จไปถึงไม่กี่วันสมเด็จพระนเรศวรก็สวรรคต เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๑๔๘ พระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี
 
พระเอกาทศรถเชิญเสด็จพระบรมศพพระมหาวีรราชเจ้ากลับกรุง และได้ทรงครองราชย์สมบัติแทน

พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนเรศวรนั้น ได้รับการกล่าวถึงอย่างละเอียดพิสดาร เพราะชาวไทยใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาเรื่องราวของพระองค์ด้วยความสนใจและชื่นชม พระราชกรณียกิจทั้งปวงล้วนเกี่ยวกับการทำสงคราม

นับแต่การประกาศเอกราชที่เมืองแครง สงครามชิงเมืองรุม เมืองคัง สงครามคราวพระแสงดาบคาบค่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามครั้งยุทธหัตถี นอกจากนั้นก็เป็นสงครามปราบปรามข้าศึกให้เกรงพระบรมเดชานุภาพ ปราบพระยาละแวกของกัมพูชา โจมตีพม่า ขยายอำนาจเข้าปกครองอาณาจักรล้านนาไทย เป็นต้น

แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงกันไม่มากนัก คือ เรื่องการเสด็จชายทะเลเมืองราชบุรี เพชรบุรี เพื่อสร้างกองทัพเรือให้เข้มแข็งเกรียงไกร ในพระราชพงศาวดารกล่าวเพียงว่าเสด็จประพาสทางทะเลเท่านั้น แต่ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕ ได้กล่าวถึงจดหมายเหตุของจีนในสมัยราชวงศ์เหม็ง แผ่นดินพระเจ้าสินจงฮ่องเต้ ในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ ญี่ปุ่นได้ยกกองทัพเรือไปตีดินแดนเกาหลีของจีน ในปีนั้นเอง สมเด็จพระนเรศวรกษัตริย์เสียมหลอก๊ก ได้ให้ราชทูตนำสิ่งของในพื้นประเทศมาถวาย กับมีพระราชสาส์นกำกับมาด้วยว่าจะยกกองทัพเรือลอบไปตีญี่ปุ่นเพื่อตัดกำลัง แต่เมื่อทางจีนปรึกษาหารือกันแล้ว ผู้สำเร็จราชการเมืองกวางตุ้งคัดค้าน ขออย่ายอมให้ชาวเสียมหลอก๊กยกทัพไปตีญี่ปุ่น พระเจ้าสินจงฮ่องเต้ก็ทรงเห็นด้วย จากบันทึกของจีน ซึ่งเป็นหลักฐานที่หนักแน่นชัดเจนนี้ แสดงว่า พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ มิได้เสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลธรรมดา แต่เสด็จเพื่อทอดพระเนตรการฝึกกองทัพเรือให้เข้มแข็งเกรียงไกรเป็นที่ทราบกันในนานาประเทศ ถึงขั้นฮ่องเต้ของจีนไม่กล้าให้ยกกองทัพไปทำสงครามกับญี่ปุ่น ซึ่งบางทีอาจจะเป็นอันตรายต่อจีนในโอกาสต่อไป



ข้อมูล :
- หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพิษณุโลก,
   กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
- หนังสือเจ้าชีวิต, พระนิพนธ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- หนังสือกฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แปลจากบันทึกของฝรั่งชาวฮอลันดา
   ชื่อ Jeremial Van Vliet (วัน วลิต) ผู้ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง
- นิตยสารศิลปากร, ปีที่ ๕๕ ฉบับที่ ๓ และ ฉบับที่ ๔, สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
- หนังสือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช โดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ราชบัณฑิตประเภทประวัติศาสตร์
- คู่มือท่องเที่ยวพิษณุโลก องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก จัดพิมพ์เผยแพร่
- ข้อมูลจากเว็บไซต์ วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี
  


ภาพพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/41631539828247_3.JPG)
สมเด็จพระนเรศวร (King Naresuan) )ทรงพระราชสมภพและทรงพระเจริญวัย
ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก พ.ศ.๒๐๙๘-๒๑๐๖

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/50771223795082_6.JPG)
พระเจ้าบุเรงนอง (King Bu-reng-nong) ทรงขอสมเด็จพระนเรศวร
เป็นพระราชบุตรบุญธรรม (องค์ประกัน) และเสด็จไปกรุงหงสาวดี พ.ศ.๒๑๐๖

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/33613445278670_5.JPG)
สมเด็จพระนเรศวรทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก พ.ศ.๒๑๑๔

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/76563422423269_4.JPG)
สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นแม่กองงาน
ในการบูรณะพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก พ.ศ.๒๑๑๔-๒๑๑๘

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/72918490651580_8.JPG)
สมเด็จพระนเรศวรทรงคัดเลือกบุตรหลานข้าราชการมาฝึกทำการรบสมัยใหม่ด้วยพระองค์เอง
นับเป็นกำลังสำคัญในการกอบกู้อิสรภาพของชาติในเวลาต่อมา

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/42475119150347_9.JPG)
สมเด็จพระนเรศวรทรงนำทหารมานมัสการพระพุทธชินราช และสวดชยมงคลคาถาก่อนการรบ
และภายหลังการรบได้นำศัตราวุธมาถวายเป็นพุทธบูชาทุกครั้ง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/83562278747558_7.JPG)
สมเด็จพระนเรศวรทรงนำทัพไทยเข้าตีเมืองคัง
และสามารถจับกุมตัวเจ้าฟ้าเมืองคังได้ พ.ศ.๒๑๒๑

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/56965341046452_10.JPG)
สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิศรภาพ โดยหลังทักษิโณทกเหนือแผ่นพสุธา
ด้วยพระสุวรรณภิงคาร ณ เมืองแครง พ.ศ.๒๑๒๗

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/47054401412606_2.JPG)
สมเด็จพระนเรศวรทรงสังหารลักไวทำมู แม่ทัพพม่าด้วยพระแสงทวน
ที่ทุ่งลุมพลี พ.ศ.๒๑๒๙

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/49882464069459_1.JPG)
สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชา
ณ หนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี พ.ศ.๒๑๓๕

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/90100694737500_1q.JPG)
สมเด็จพระนเรศวรทรงขอให้สมเด็จพระเอกาทศรถนำทัพไปตีเมืองอังวะ
โดยไม่ต้องห่วงพระองค์ที่ทรงประชวรหนัก ณ เมืองหาง พ.ศ.๒๑๔๘

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/41631539828247_3.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/94886422943737_11.JPG)
หลวงพ่อโต พระประธานพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/25093453004956_12.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/61007604996363_13.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/87186646544271_14.JPG)


ความรู้เพิ่มเติม
กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี "เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล" อนุสรณ์แห่งชัยชนะศึกยุทธหัตถี
กดดูที่ตัวอักษรภาษาอังกฤษสีเทาด้านล่างนี้ค่ะ
http://www.sookjai.com/index.php?topic=64059.0 (http://www.sookjai.com/index.php?topic=64059.0)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/74262197895182_a2.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/18139153263635_a3.jpg)
เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล  พระนครศรีอยุธยา