[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
13 พฤษภาคม 2567 12:16:56 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี "เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล" อนุสรณ์แห่งชัยชนะศึกยุทธหัตถี.  (อ่าน 4673 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 07 พฤษภาคม 2556 16:11:32 »

.




เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล
อนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะศึกยุทธหัตถี
ตำบลคลองสวนพลู  อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดใหญ่ชัยมงคล  เป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าอยู่ทอง เมื่อ พ.ศ.๑๙๐๐  เพื่อถวายแด่พระสงฆ์ที่ไปศึกษาพระธรรมวินัยมาจากสำนักพระวันรัตมหาเถรในลังกาทวีป และถวายนามว่า “วัดป่าแก้ว” ส่วนคณะสงฆ์ที่ไปศึกษาพระธรรมวินัยนั้น เรียกเป็นนิกายว่า “คณะป่าแก้ว”

พระสงฆ์ “คณะป่าแก้ว”  มุ่งปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนาเป็นสำคัญ ได้รับความนิยมศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนในเวลานั้นมาก พระเจ้าอู่ทองจึงทรงแต่งตั้งอธิบดีสงฆ์คณะนี้เป็นสมเด็จพระวันรัตน มีตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายขวาทางด้านวิปัสสนาธุระ  คู่กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อธิบดีสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายซ้าย

และเนื่องจากวัดนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชจึงได้ชื่อว่า “วัดเจ้าพระยาไทย”  ซึ่งหมายถึงวัดพระสังฆราช และเรียกพระสงฆ์ว่า “เจ้งไทย”  และชื่อวัดเจ้าพระยาไทยก็ยังปรากฏในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายแก้วตอนหนึ่งว่า


                  “ปีขาลวันอังคารเดือนหน้า ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย
                 เจ้ากรุงจีนเอาแก้วอันแพรวพราย มาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา
                 ให้ใส่ไว้ในยอดเจดีย์ใหญ่ สร้างไว้ตั้งแต่ครั้งกรุงหงษา
                 เรียกวัดเจ้าพระยาไทยแต่ไรมา      ให้ชื่อว่าพลายแก้วอันแววไว...”
                 ...สร้างไว้แต่ครั้งกรุงหงษา คงหมายถึง สมัยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา


วัดใหญ่ชัยมงคล มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาอยู่หลายสมัย กล่าวคือในสมัยสมเด็จพระไชราชาธิราชทรงครองราชสมบัติ  ในระยะเวลานั้นพระองค์เกือบจะมิได้ทรงสถิตอยู่ในพระนครศรีอยุธยาเลย พระองค์เสด็จไปในราชการสงครามเสียเกือบตลอดมิได้ทรงมีพระราชโอรสโดยพระมเหสี ทรงมีพระราชโอรสองค์เล็กๆ องค์หนึ่ง พระนามว่า พระยอดฟ้า  ประสูติแต่พระสนมคนโปรดชื่อท้าวศรีสุดาจันทร์

ท้าวศรีสุดาจันทร์นั้นได้ลอบมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับขุนวรวงศาซึ่งเป็นญาติ ครั้งสุดท้ายที่พระไชยราชาเสด็จกลับราชการสงครามทางเมืองเหนือ พระองค์ก็ล้มประชวรและในไม่ช้าก็สวรรคตอย่างลึกลับ บันทึกประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ได้ลอบวางยาพิษพระไชยราชาธิราช  

เมื่อพระไชยราชาธิราชสิ้นพระชนม์ ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้สมคบกับขุนวรวงศาครอบครองแผ่นดินอย่างไม่ชอบธรรม พระเฑียรราชาซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช และเวลานั้นกำลังผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐานจึงคิดก่อกบฏได้เสด็จพร้อมขุนอินทรเทพหมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศ และเหล่าขุนนาง มาเสี่ยงเทียนอธิษฐานบารมี ณ พระอุโบสถวัดป่าแก้ว เพื่อจะเป็นนิมิตหมายในการปราบขุนวรวงศาและท้าวศรีสุดาจันทร์

มาในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยแก่พระมหาอุปราชา เมื่อ พ.ศ.๒๑๓๕ ภายหลังทรงให้ก่อพระเจดีย์ฐานสวมศพพระมหาอุปราชาไว้ ณ ตะพังตรุ  หนองสาหร่าย  

สมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว ได้กราบบังคมทูลแนะนำให้ทรงสร้างพระเจดีย์เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศแห่งชัยชนะครั้งนี้ เหมือนดังเช่นพระเจ้าทุฏฐคามณี วีรมหาราชของชาวลังกาได้สร้างมหาสถูปมริวิวัตรเจดีย์ที่เมืองอนุราชบุรี เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ทรงชนช้างชนะพระยาเอฬารทมิฬ ดังนั้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ก่ออิฐถือปูน ทรงลังกา ขึ้นที่วัดป่าแก้ว เรียกว่า "เจดีย์ชัยมงคล" แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “พระเจดีย์ใหญ่”

นอกจากนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยังทรงตั้งพระทัยที่จะให้เป็นพระเจดีย์คู่กันกับเจดีย์องค์ใหญ่ที่วัดภูเขาทอง ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองสร้างเป็นอนุสรณ์ไว้เมื่อคราวทรงตีกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ.๒๑๑๒  และด้วยเหตุที่วัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าพระยาไทยมีเจดีย์องค์ใหญ่ ชาวบ้านโดยทั่วไปจึงนิยมเรียกวัดนี้ว่า “วัดใหญ่ชัยมงคล” มาจนตราบปัจจุบัน





กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี
การที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต้องเสด็จไปเป็นเชลยที่กรุงหงสาวดี ทรงประทับอยู่ในราชสำนักพม่า และได้รับการศึกษาเล่าเรียนวิชาทหารของพม่าซึ่งในขณะนั้นน่าจะรุ่งเรืองที่สุดในแหลมนี้ จึงน่าจะทรงได้รับความรู้อันเป็นประโยชน์ไว้มาก เมื่อเสด็จกลับเมืองไทย ใน พ.ศ. ๒๑๑๔  ขณะนั้น พระองค์มีพระชนม์ ๑๖ พรรษา สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงสถาปนาให้เป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองพิษณุโลก  

และนับแต่เสด็จกลับเมืองไทย พระองค์ก็มีพระประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะให้ไทยได้อิสรภาพสมบูรณ์กลับคืนมาจากพม่า จึงทรงรวบรวมกองทัพขนาดย่อมจากคนอาสาสมัคร ทรงฝึกหัดสอนวิธีรบแบบใหม่ คือ การดักซุ่มและการโจมตีโดยกองเล็กๆ ซึ่งคล่องแคล่วและเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว อันได้รับนามว่ากองเสือป่าแมวมอง

เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. ๒๑๒๔  (ค.ศ.๑๕๘๑) สิบปีภายหลังที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จกลับเมืองไทย  พระโอรสพระเจ้าบุเรงนองทรงพระนามว่าพระเจ้านันทบุเรง ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อ และพระโอรสของพระเจ้านันทบุเรง ซึ่งเป็นเคยเป็นเพื่อนเล่นของสมเด็จพระนเรศวร ได้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชา

พระเจ้านันทบุเรง ไม่ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถเหมือนพระราชบิดา ฉะนั้น เมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินไปได้ไม่นานพม่าก็เริ่มแตกแยก  

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระเจ้านันทบุเรงจะเสด็จไปปราบหัวเมืองที่แข็งข้อเป็นกบฏ ได้ทรงเรียกกองทัพจากประเทศราชต่างๆ ไปช่วย  

สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงนำทัพไปช่วยแทนพระองค์พระราชบิดา การออกทัพครั้งนั้นพม่าคิดจะแกล้งสมเด็จพระนเรศวร จึงสั่งให้ยกกองทัพเข้าตีเมืองคังอันตั้งอยู่ในที่สูงและเลือกให้กองทัพไทยเข้าตีในด้านที่ยากที่สุด  ถึงแม้สมเด็จพระนเรศวรจะโจมตีได้สำเร็จก็ตามแต่พระองค์ก็ทรงสงสัยว่าพม่าคงหวังว่าจะทรงทำไม่สำเร็จ หรืออาจจะอยากให้พระองค์เสียพระชนม์ชีพในการรบเสียด้วยซ้ำ จึงทรงระแวงว่าพม่าอาจจะเดาได้หรือทราบจุดประสงค์ในอนาคตของพระองค์ว่าเมื่อพระองค์ไม่เป็นมิตรของพม่า ทางเขาก็ไม่เป็นมิตรของพระองค์

ครั้นถึง พ.ศ.๒๑๒๗ (ค.ศ.๑๕๘๔)  ทรงแน่พระทัยว่า กองทัพขนาดเล็กของพระองค์มีความสามารถพร้อม จึงทูลขอพระบรมราชานุญาตสมเด็จพระมหาธรรมราชา เสด็จไปที่เมืองแครง ใกล้ๆ ชายแดนทรงหลั่งอุทกธาราลงเหนือพื้นพสุธาดล ตรัสประกาศอิสรภาพขาดจากเมืองหงสาวดี  

มีความปรากฏว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปประกาศอิสรภาพคราวนั้น ขณะเสด็จพยุหยาตราทัพออกจากเมืองแครง พระมหาเถรคันฉ่อง พระยาพระราม พระยาเกียรติ์ และญาติโยมก็มาโดยเสด็จ มีนายทหารชาวมอญซึ่งไม่พอใจในการเป็นนายทหารพม่า ได้ละทิ้งกองทัพพม่ามาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวรเป็นอันมาก  

ขณะเดินทัพกลับก็แยกย้ายกันตีครัว ต้อนครัวตามรายทางมาได้หมื่นเศษ  ครั้นถึงแม่น้ำสโตงก็ให้เที่ยวเก็บเรือผูกแพข้ามฟาก ถึงฟากแล้วก็ให้เผาเรือทำลายแพเสีย  

พอพระเจ้าหงสาวดีแจ้งก็ให้พระมหาอุปราชาถือพลแสนหนึ่ง สุรกำมาเป็นกองหน้า ตามมาถึงแม่น้ำสโตงฟากหนึ่ง  

สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นสุรกำมา กองหน้าใส่เสื้อแดงยืนช้างอยู่ริมฝั่ง จึงทรงพระแสงปืนสับนกยาวเก้าคืบยิงไปต้องสุรกำมาตายตกจากคอช้าง รี้พลมอญเห็นดังนั้นก็กลัวพระเดชานุภาพ และพระมหาอุปราชายังตามมาไม่ถึงก็เลิกทัพกลับไป พระแสงปืนที่ใช้ยิงสุรกำมาตายบนคอช้างนี้ได้นามปรากฏต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธ อันเป็นเครื่องราชูปโภค ยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้



พระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชา
ณ หนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี พ.ศ.๒๑๓๕
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก

คำประกาศยกเลิกการยอมเป็นประเทศราชและกลับเป็นอิสระนั้น พระเจ้านันทบุเรงย่อมทรงฟังไม่ได้ มิฉะนั้นชาวพม่าผู้กล้าหาญเป็นนักรบย่อมจะดูหมิ่นพระเจ้าแผ่นดินของตนเอง
 
ฉะนั้น ในเดือนธันวาคมปีนั้นเอง พระเจ้านันทบุเรงก็ยกทัพมาสองทาง  มีทางด่านตะวันตกผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์ และทางตะวันตกเฉียงเหนือผ่านเชียงใหม่  (ซึ่งขณะนั้นเมืองเชียงใหม่และเมืองลาวเป็นเมืองขึ้นของพม่า)  

พระเจ้าเชียงใหม่ทรงช่วยพม่าในการลำเลียงสรรพภาระหนักต่างๆ โดยทางเรือล่องมาตามลำน้ำ  สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้กองทัพแบบใหม่ของพระองค์ซึ่งส่วนมากเป็นทหารม้า จึงเคลื่อนที่ได้รวดเร็วให้เข้าโจมตีพม่าซึ่งเดินมาเป็นขบวนยาวในที่ที่พม่าไม่คิดว่าจะมีใครมารบกวน  กว่ากองทัพอันใหญ่ของพม่าสองกองทัพจะพบกันและรวมกำลังกันได้  ก็ถูกกองโจรของไทยเข้าโจมตีที่โน่นที่นี่ จนต้องได้รับความอิดโรย ลดกำลังรวมไปเสียมาก  ต้องเลิกทัพกลับไป

การกระทำอย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญบากบั่นต่ออันตรายเอาชีวิตเข้าแลก ทำให้สมเด็จพระนเรศวรเป็นวีรบุรุษ มีข่าวลือถึงทั่วไป จนทำให้ทหารมอญของพระองค์หมดความกลัวและกล้าหาญยิ่งขึ้น

ข่าวลือนั้นตกไปถึงพระกรรณพระราชบิดา จนพระมหาธรรมราชาต้องส่งราชสาส์นไปตักเตือน ทรงขอร้องให้สมเด็จพระนเรศวรระวังพระองค์เสียบ้าง  ราชสาส์นนี้ทรงส่งไปเมื่อได้รับข่าวว่า ครั้งหนึ่งขณะที่ไทยจะเข้าตีค่ายพม่า สมเด็จพระนเรศวรทรงคาบดาบและนำทหารปีนกำแพงค่ายโดยพระองค์เอง แต่ถูกพม่าใช้หอกแทงตกลงมาข้างล่างหลายครั้งจึงเสด็จกลับพระนคร พระแสงดาบนี้มีนามว่าพระแสงดาบคาบค่าย

พม่ายกมาตีไทยอีกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๑๒๙ และพยายามจะล้อมกรุงใน พ.ศ. ๒๑๓๐  แต่ไม่สามารถจะมาถึงใกล้ชานพระนครได้ เพราะทหารม้าของสมเด็จพระนเรศวรจะไปตัดทางลำเลียงเสบียงอาหารของพม่าได้เสมอ  ในขณะนั้น ทุกๆ คราวที่พม่าล้อมเข้ามาทางทิศตะวันตก เขมรทราบดีว่าไทยไม่มีกำลังจะมาป้องกันตนเองทางทิศตะวันออกได้ เขมรจึงยกกองทัพเข้ามากวาดต้อนบังคับเอาครอบครัวไทยไปอยู่เนืองนิตย์และให้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแดนเขมรใกล้ศรีโสภณ เสียมราฐ และพระตะบอง  

การที่เขมรทำเช่นนี้เป็นที่เจ็บแค้นในพระทัยสมเด็จพระนเรศวรเป็นที่สุด และมีพระดำริจะแก้แค้นเอาโลหิตนักพระสัฏฐา หรือพระยาละแวก แห่งกรุงกัมพูชา ล้างบาทาเสียให้จงได้

เดือนกรกฏาคม พ.ศ.๒๑๓๓  สมเด็จพระมหาธรรมราชาสวรรคต เมื่อพระชนมพรรษา ๗๕  สมเด็จพระนเรศวรก็ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติอย่างสมบูรณ์ ขณะพระชนมพรรษา ๓๕  

ทั้งฝ่ายพม่าและฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรต่างก็ทราบว่าถ้าจะเอาชนะและยึดเมืองไทยเป็นเมืองขึ้นแล้ว พม่าจะต้องสามารถตีกรุงศรีอยุธยาให้แตกหัก  

สงครามใหญ่จึงเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๑๓๕  พม่าเคลื่อนทัพใหญ่สองทัพมุ่งมายังกรุงศรีอยุธยา  พระสหายครั้งสมัยพระองค์ประทับอยู่ที่พม่าเมื่อทรงเป็นเชลยคือ พระมหาอุปราชา ทรงคุมทัพมาทางสั้นโดยผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์




สมเด็จพระนเรศวรทรงคุมกองทัพรีบเร่งมุ่งไปยังกองทัพพม่าทันที เมื่อกองสอดแนมและลาดตระเวนเริ่มปะทะกัน สมเด็จพระนเรศวรทรงคิดอุบายกลศึกอันเป็นของแปลกใหม่ในสมัยนั้น แกล้งทำเป็นล่าถอยเคลื่อนกลับมายังทัพหลวงซึ่งทรงกำกับอยู่เอง  

ทางพม่าคิดผิดไปว่าไทยพ่ายแพ้ก็ดีใจ ไล่ติดตามมาอย่างรวดเร็ว พอทหารพม่าจำนวนมากเข้ามาเบียดแออัดในช่องทางอันแคบ สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงให้สัญญาณเข้าตีกระหนาบกองทัพพม่าทั้งสองด้าน ทำลายพลพม่าเสียมาก จนเกือบจะมีกำลังพอเท่าๆ กันที่จะทำการรบให้แตกหักได้

ขณะที่กองทัพทั้งสองฝ่ายกำลังประจัญบานกันอยู่ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรศทรงคอช้างบงการทัพอยู่  บังเอิญช้างรบพระที่นั่งทั้งสองเชือกกำลังคลั่งน้ำมัน ทำให้ดุผิดประหลาดยิ่งกว่าธรรมดา ได้ยินเสียงทหารทั้งสองฝ่ายโห่ร้องอึงมี่ ทั้งเสียงหอกดาบฟันกันอยู่ ช้างทั้งสองก็ตื่นและวิ่งตรงไปยังกองทัพหลวงของพม่า

ขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง เมื่อช้างวิ่งไปนั้น ก็บังเกิดมีฝุ่นขึ้นบังอย่างหนาจนฝ่ายกองทัพไทยแลไม่เห็นว่าช้างนั้นวิ่งตะบึงไปทางไหน มีแต่ทหารรักษาพระองค์สวมเสื้อแดงไม่กี่คนวิ่งติดตามเสด็จไปด้วยจนได้ ทั้งสองพระองค์และทหารที่ติดตามเสด็จไปตกอยู่ในท่ามกลางอันตรายอย่างยิ่ง  

พอฝุ่นค่อยจางลงและช้างทั้งสองวิ่งไปจนหยุดเองแล้ว สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาประทับอยู่กับคอช้างภายในร่มต้นไม้ใหญ่ ก็ทรงตะโกนไปด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า

“เจ้าพี่ เหตุไฉนจึงยังทรงช้างอยู่ใต้ร่มไม้เช่นนั้นเล่า เชิญเสด็จขับช้างออกมาสิ มาสู้กันตัวต่อตัว ดังเราได้เคยฝึกหัดทดลองมาแล้วในยามศึกษาให้ทหารของเราได้ดู แลเห็นเป็นขวัญตา ให้เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่ากษัตริย์ยังมีความกล้าหาญอยู่เช่นกาลก่อน และยังมีความชำนาญในการรบตัวต่อตัว และยังกระทำยุทธหัตถีได้”


                 ๏  พระพี่พระผู้ผ่าน ภพอุตดมเอย
                 ไป่ชอบเชษฐ์ยืนหยุด ร่มไม้
                 เชิญการร่วมคชยุทธ์         เผยอเกียรติ ไว้แฮ
                 สืบว่าสองเราไซร้ สุดสิ้นฤามี
                 จาก "ลิลิตตะเลงพ่าย" พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

พระมหาอุปราชาไม่จำเป็นจะต้องทำยุทธหัตถี พระองค์จะสั่งทหารพม่าให้จับหรือทำร้ายสมเด็จพระนเรศวรได้อย่างง่ายดายเพราะมีทหารไทยตามเสด็จไปเพียงกำมือเดียว แต่พระองค์ก็ทรงเป็นเชื้อกษัตริย์พม่านักรบ จึงทรงขับช้างพระที่นั่งมากลางแปลง

ในการยุทธหัตถี ช้างรบทั้งสองได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ต่างก็เร่งเข้าชนกัน ผู้นั่งคอช้างจะต้องใช้ขอให้เหมาะเวลาและใช้งาอันยาวดันช้างข้าศึกให้ขึ้นสูง ผู้นั่งคอช้างข้าศึกก็จะลอยสูงไม่มีที่กำบัง ทั้งฟันอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งอยู่เบื้องล่างไม่ได้

ในการรบอันเรืองนามยิ่งครั้งนั้น เมื่อชนกันครั้งแรก พระมหาอุปราชาทรงใช้ขอได้อย่างดี ช้างพม่าดันช้างทรงขึ้นอยู่สูง สมเด็จพระนเรศวรทรงตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง พระมหาอุปราชาทรงฟันด้วยง้าว สมเด็จพระนเรศวรทรงหลบทัน ง้าวจึงฟันถูกพระมาลาหนังขาดไปส่วนหนึ่ง  (เรียกกันต่อมาว่าพระมาลาเบี่ยง)  

เมื่อช้างแยกตัวออกจากกันแล้วก็รี่เข้าชนใหม่อีก ครั้งที่สองสมเด็จพระนเรศวรทรงใช้ขอได้เหมาะเจาะ ช้างของพระมหาอุปราชาถูกดันลอยขึ้นอย่างทรงทำอะไรไม่ได้  สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันถูกพระองค์สมเด็จพระมหาอุปราชาต้องพระอังสาเบื้องขวามหาอุปราชาตลอดมาลงมาจนปัจฉิมุราประเทศ (ขาดตั้งแต่ไหล่จนถึงบั้นเอว) ซบลงกับคอช้าง พระแสงของ้าวนั้นได้รับการขนานนามในภายหลังว่า พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพล  

ในขณะนั้น ทัพไทยส่วนใหญ่ก็มาถึง จึงเกิดมีการรบกันอย่างอลหม่าน  

สมเด็จพระนเรศวรทรงให้ทหารไทยหยุดรบ ปล่อยให้พม่าเชิญพระศพพระมหาอุปราชากลับเข้าค่าย เมื่อพระมหาอุปราชาปราชัยแล้ว กองทัพพม่าก็ใจเสียโทมนัสไม่มีใจจะทำสงครามต่อไป จึงถอยทัพกลับพม่า

การรบยุทธหัตถีของสองราวนั้น ปรากฏว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์


เมื่อได้ชัยชนะพระมหาอุปราชา สมเด็จพระนเรศวรมีพระราชดำรัสโปรดให้ก่อพระเจดีย์ฐานสวมศพพระมหาอุปราชาไว้ตำบลตะพังตรุ เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ของวีรกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ต่อไป แล้วเสด็จคืนมายังพลับพลา พระราชทานชื่อช้างทรงเจ้าพระยาไชยานุภาพ เป็นเจ้าพระยาปราบหงสา

เมื่อเสด็จกลับถึงพระนคร ทรงพระพิโรธแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จพระองค์ไม่ทัน ปล่อยให้พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เข้าอยู่ในท่ามกลางศึกจนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา มีชัยชนะแล้วจึงได้เห็นหน้า โทษผู้นั้นเป็นอุกฤษฏ์ มีพระราชดำรัสให้ประหารชีวิตเสีย แต่ทว่าบัดนี้จวนวันจาตุททสีบัณณรสี (วันพระ)  จึงให้เอานายทัพนายกองจำเรือนตรุไว้ก่อนสามวัน พ้นแล้วจึงให้สำเร็จโทษโดยพระอัยการศึก

ครั้น ณ วันอาทิตย์ แรม ๓ ค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว และพระราชาคณะยี่สิบห้ารูปก็เข้ามาถวายพระพรถามข่าวซึ่งเสด็จงานพระราชสงคราม  สมเด็จพระนเรศวรก็แถลงซึ่งการปราบปัจจามิตรให้ฟังทุกประการ  

สมเด็จพระพนรัตนได้ขอพระราชทานบิณฑบาตโทษแม่ทัพนายกองเหล่านั้นไว้ให้ได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป แล้วได้กราบบังคมทูลแนะนำให้ทรงสร้างพระเจดีย์เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศแห่งชัยชนะครั้งนี้ที่วัดป่า เรียกว่า พระเจดีย์ “ชัยมงคล




พระเจดีย์ชัยมงคล

พระเจดีย์ชัยมงคลเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงลังกา ถือเป็นสถูปหลักของพระอารามซึ่งเป็นคตินิยมของการสร้างวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนล่างของพระเจดีย์เป็นฐาน ๘ เหลี่ยม สูงประมาณ ๖๐ เมตร  มีลานทักษิณเดินได้รอบพระเจดีย์  บนลานทักษิณด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นลง ด้านข้างของบันไดมีซุ้มพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ข้างละหนึ่งองค์ เรียกว่า เจ้าแก้ว-เจ้าไทย  

ตามมุมของลานทักษิณมีพระเจดีย์บริวารทั้ง ๔ มุม รวมเป็นเจดีย์แบบ ๕ องค์ก่ออิฐไม่ถือปูนล้อมรอบองค์พระเจดีย์มีระเบียงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดเป็นส่วนใหญ่


คำว่า "พระเจดีย์" นั้น รองศาสตราจารย์ สมคิด  จิระทัศนกุล  ให้ความหมายไว้ในหนังสือ "รู้เรื่อง วัด วิหาร โบสถ์ เจดีย์ พุทธสถาปัตยกรรมไทย" ว่า มีที่มาจากคำว่า "เจติยะ"  ในภาษาบาลี หรือ "ไจตย" ในภาษาสันสกฤต  หมายถึงสิ่งที่สร้างขึ้นเป็นที่รำลึกหรือใช้เป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึง มีรูปทรงสัณฐานคล้ายรูปกรวยแหลม นิยมใช้เป็นหลักฐานของวัด ในฐานะสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าหรือในฐานะสื่อสัญลักษณ์แทนพระสัพพัญญูเจ้า




วิหารพระพุทธไสยาสน์


วิหารพระพุทธไสยาสน์  มีขนาดกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๔ เมตร  ปลูกขวางอยู่ในแนวทิศเหนือกับทิศใต้  หน้ามุขด้านใต้ยื่นออกมาเหลือแต่เสา  ตัววิหารเหลือแต่ผนังก่ออิฐถือปูนเป็นบางส่วน เสาของวิหารมีลักษณะกลม  ยังปรากฏร่องรอยบัวหัวเสาประดับปลายยอด  

ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ซึ่งสร้างขึ้นในแผ่นดินของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เพื่อเป็นที่สักการบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน  พระพุทธรูปองค์เดิมชำรุดทรุดโทรม  ที่เห็นในปัจจุบันนี้ ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘  








พระอุโบสถ วัดใหญ่ชัยมงคล

พระอุโบสถ เดิมสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง  ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติกรรมฐานรวมทั้งประกอบพระราชพิธีกรรมต่างๆ  พระอุโบสถหลังนี้ เคยถูกใช้เป็นสถานนัดพบของเหล่าขุนนาง นำโดยขุนพิเรนทรเทพและพรรคพวก ซึ่งมาเสี่ยงเทียนเพื่อจะเป็นนิมิตหมายในการปราบขุนวรวงศาและท้าวศรีสุดาจันทร์

ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์  ส่วนที่เป็นองค์ประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ปั้นด้วยหินทรายตลอดทั้งองค์ ส่วนที่เป็นจีวรถูกลงรักปิดทองประดับแก้ว ส่วนที่ไม่ใช่จีวรนั้นว่างเว้นเห็นเป็นเนื้อหินทรายที่สวยงาม



ข้อมูลเรียบเรียงจาก :-
๑. หนังสือ พงศาวดาร ๙ รัชกาล แห่งราชวงศ์จักรี  พระนิพนธ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
๒. หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง  จัดพิมพ์เผยแพร่โดยมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
๓. หนังสือพระวิสุทธิ์กษัตรี พระชนนีสมเด็จพระนเรศวร  โดย แสงเทียน  ศรัทธาไทย
๔. หนังสือ อนุสาวรีย์ วัด สะพาน คลอง ถนน  เรียบเรียงโดย อุดม  เลขกีวงศ์  
๕. วรรณกรรมสดุดีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เรื่อง “ลิลิตตะเลงพ่าย”  
    พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
๖. จุลสาร “วัดใหญ่ชัยมงคล”  จัดพิมพ์เผยแพร่โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๗. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”


หมายเหตุ พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย และพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสโตง ราชศาสตราวุธของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั้น ทรงใช้เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (การมอบสิทธิในการครองราชบัลลังก์) ของพระมหากษัตริย์สืบเนื่องตลอดมา

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพินัยราชกิจ (นนท์ บุณยรัตพันธุ์  ภายหลังได้เลื่อนเป็น พระยามหามนตรี) เป็นผู้อัญเชิญพระแสงของ้าวแสนพลพ่าย และให้นายพลพ่าย(ม.ร.ว.เล็ก  นพวงศ์ ณ อยุธยา  ภายหลังได้เลื่อนเป็นพระยาพิบูลย์ไอสวรรย์) เป็นผู้อัญเชิญพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสโตอ้างอิง "รายนามผู้เข้าขบวนในวันบรมราชาภิเษก"  หนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)...














ความรู้เพิ่มเติม
พระราชวังจันทน์ ราชสำนักเมืองพิษณุโลกในครั้งอดีต
พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และภาพจิตรกรรมพระราชประวัติฯ
กดอ่านที่ตัวอักษรภาษาอังกฤษสีเทาด้านล่าง
 http://www.sookjai.com/index.php?topic=89842.msg119039#msg119039

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ธันวาคม 2560 14:28:55 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.164 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 19 เมษายน 2567 01:35:38