[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 05 มิถุนายน 2561 15:07:20



หัวข้อ: หลวงปู่ชาย อินทวัณโณ วัดปัจฉิมทัศน์ อ.เมือง จ.มหาสารคาม
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 05 มิถุนายน 2561 15:07:20

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57738161832094_5.jpg)
หลวงปู่ชาย อินทวัณโณ (พระครูสิริปัจฉิมทัศน์)
วัดปัจฉิมทัศน์ อ.เมือง จ.มหาสารคาม

“พระครูสิริปัจฉิมทัศน์” หรือ “หลวงปู่ชาย อินทวัณโณ” พระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมที่มีชื่อเสียงโด่งดังในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม สืบทอดปฏิปทาและวิทยาคมจากพระครูสุนทรสาธุกิจ หรือหลวงปู่ซุน วัดบ้านเสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

เกิดในสกุล แสนศรี พ.ศ.2464 ณ บ้านเสือโก้ก ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนในหมู่บ้าน ได้ออกมาช่วยครอบครัวทำไร่ทำนา

จนกระทั่งเมื่ออายุครบ 20 ปี พ.ศ.2485 เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดติกขมณีวรรณ ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม มีพระครูสุนทรสาธุกิจ หรือหลวงปู่ซุน เจ้าอาวาสวัดบ้านเสือโก้ก เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิจิตรธรรมนิเทศ วัดกู่สนาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดบุญพุทธสโร วัดเทพศิริหนองกุง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังอุปสมบท เดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่สำนักเรียนวัดสุปัฏฐนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก

จากนั้นเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านเสือโก้ก สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค จากสำนักเรียนวัดเหนือแวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม

นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจด้านวิทยาคม ในยุคนั้นชื่อเสียงของหลวงปู่ซุน วัดบ้านเสือโก้ก พระอุปัชฌาย์ของท่าน มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมแห่งภาคอีสาน จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิทยาคม

หลวงปู่ซุน เมตตาถ่ายทอดวิทยาคมให้จนหมดสิ้น รวมทั้งยังสอนด้านการอ่านเขียนอักษรลาว ขอม และไทยน้อย ท่านจึงมีความรู้ด้านอักขระโบราณอีกแขนงหนึ่งอย่างแตกฉาน

พ.ศ.2498 วัดปัจฉิมทัศน์ อ.เมือง จ.มหาสารคาม ขาดแคลนพระเถระผู้ใหญ่ บรรดาญาติโยมได้นิมนต์ให้ท่านมาอยู่จำพรรษาที่วัดปัจฉิมทัศน์ และได้จำพรรษาอยู่วัดแห่งนี้ตราบจนวาระสุดท้าย

หลวงปู่ชายทุ่มเทแรงกายแรงใจพัฒนาวัดในทุกด้านอย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะด้านการศึกษา ท่านให้ความสำคัญมาก ด้วยผู้บวชเรียนส่วนใหญ่ล้วนมาจากครอบครัวที่ยากจน โดยให้ความอุปถัมภ์จัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ ให้กับสำนักเรียนวัดปัจฉิมทัศน์ รวมทั้งให้ทุนการศึกษากับพระภิกษุสามเณรที่เรียนดี เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีเมตตาธรรมสูง มุ่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน ครองตนอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์อย่างสมถะเสมอต้นเสมอปลาย ทำให้มีชื่อเสียงอยู่ในศรัทธาชาวมหาสารคามอย่างรวดเร็ว

ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา จะมีผู้เดินทางมากราบนมัสการรับฟังธรรมจากหลวงปู่ชายอย่างล้นหลาม เพื่อขอประพรมน้ำพระพุทธมนต์

สำหรับปัจจัยที่ได้รับการบริจาคนำไปพัฒนาสร้างความเจริญให้กับวัดแห่งนี้อย่างรวดเร็ว อาทิ ประตูโขง กำแพงแก้ว กุฏิ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น พร่ำสอนญาติโยมให้ยึดคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อขณะยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ขอให้ทุกคนหมั่นประกอบแต่กรรมดี รักษาศีล 5 ให้ได้ และอย่าดำรงชีวิตอยู่ด้วยความประมาท พึงสำนึกอยู่เสมอว่าความตายนั้นแขวนคออยู่ทุกย่างก้าว

พ.ศ.2518 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปัจฉิมทัศน์ พ.ศ.2535 เป็นพระอุปัชฌาย์

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2527 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ พระครูสิริปัจฉิมทัศน์ และได้ชั้นเอกในราชทินนามเดิม

ในช่วงบั้นปลายชีวิต หลวงปู่ชาย อาพาธบ่อยครั้ง แต่ท่านไม่เคยปริปากให้ศิษยานุศิษย์รวมทั้งญาติโยมทราบ สุดท้ายถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ พ.ศ.2542

สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58

อริยะโลกที่ 6
ข่าวสดออนไลน์