[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ตลาดสด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 12 กรกฎาคม 2559 15:13:16



หัวข้อ: อัศจรรย์ 'ไม้ล้มแบ่ง' ... มันแบ่งอะไรกันล่ะ?...เอ้า ตีวงกันเข้ามา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 กรกฎาคม 2559 15:13:16
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/79444385402732__3652_3617_3657_.gif)
สภาพของไม้ล้มแบ่ง สเก็ตจากของจริง จะเห็นได้จากการขึ้นเป็นแถวแนว ผ่านไปบนสันเขาถึงเจ็ดลูก
มันเป็นอาณาเขตแบ่งแผ่นดิน
ระหว่างต้นพระวงศ์ ราชวงศ์จักรี กับ 'องค์เชียงสือ' ต้นตระกูลเผ่านักรบญวน...ในกาลกระโน้น...

'ไม้ล้มแบ่ง'

ชีวิตคนเราบางทีมันก็ประสบกับสิ่งมหัศจรรย์เหลือเชื่อต่างๆ นานาจนบางครั้งเอามาเล่าให้ใครฟังก็ถูกกล่าวหาว่านำเรื่องไร้สาระโกหกพกลมมาพ่น ทั้งๆ ที่ความจริงทั้งสายตาและประสาทสัมผัสได้ลูบคลำสิ่งเหล่านั้นมาแล้ว

ผู้เขียน มีอดีตและประสบการณ์เหมือนฉากเขียนของจิตรกร มานั่งนึกภาพเหล่านั้นยังอดมหัศจรรย์ในชีวิตของตนเองไม่หาย พาชีวิตรอดตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ได้อย่างไรกันหนอ  อย่างเช่นในช่วงหนึ่งของชีวิตได้ตระเวนท่องเที่ยวไปจนสุดเขตแดนลาวด้านใต้   สุดอาณาเขตลาวภาคใต้ มีสิ่งมหัศจรรย์หลายอย่างแอบเร้นแฝงฝังในภูมิประเทศแถบนั้น อย่างเช่น “หลี่ผี” น้ำตกกั้นแม่น้ำโขงทั้งแม่น้ำ,  “ไม้ล้มแบ่ง” ต้นไม้ที่เกิดมาเรียงเป็นแถวแนวต้นหนึ่งเอนไปข้างทิศตะวันออก อีกต้นหนึ่งเอนไปทางทิศตะวันตก มีระยะยาวร่วมสามสิบกิโลเมตร ผ่านไปบนสันเขาติดต่อกันถึงเจ็ดลูก

ชาวบ้านแถบนั้นเล่าสืบเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน แม้ว่าจะมีสิ่งเหลือเชื่อฝอยมากับคำบอกเล่าเหล่านั้น แต่เมื่อเทียบดูกับพงศาวดารแล้ว มันก็ทำให้อดทึ่งและอดคล้อยตามไปในทางที่ค่อนข้างจะเชื่อเอามากๆ ไม่ได้   อย่างเช่น “หลี่ผี” น้ำตกกั้นแม่น้ำโขง เกิดขึ้นเพราะทหารเอกของพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพข้ามแม่น้ำโขงช่วงนั้นไปรบกับองเชียงสือ  นักรบคู่แผ่นดินญวนผู้มีฝีมือเกรียงไกรถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน  ทหารเอกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชย์คือ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกต้นปฐมวงศ์แห่งราชวงศ์จักรีนั่นเอง หรือ ที่เรียกกันในขณะที่ออกแผ่เดชานุภาพว่า เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงกรีฑาทัพไปถึงแม่น้ำโขงช่วงนั้น ก็เกณฑ์ไพร่พลรบขนเอาหินลงถมในลำน้ำโขงแล้วก็เดินทัพข้ามไป  ด้วยบุญญาธิการของพระองค์หินเหล่านั้นก็เลยคั่งค้างอยู่แถวนั้นจนกระทั่งกลายเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ที่เรียกว่า “หลี่ผี” ก็เพราะว่า หินเหล่านั้นเมื่อนานๆ เข้าก็หลุดลอยลงไปเรียงกันอยู่ในช่องหนึ่งที่เป็นช่องทางน้ำที่เชี่ยวจัดกว่าทุกช่อง เรียงสลับฟันปลาเหมือน “หลี” เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง ความแหลมคมของแง่หินที่ถูกน้ำเซาะผ่านอยู่ชั่วนาตาปี เป็นเหตุให้ถูกขนานนามว่า “หลีผี” อันน่าสยดสยอง เพราะว่าซุงทั้งต้นขนาดเจ็ดแปดคนโอบ หากว่าหลุดลอยลงไปยังช่องที่ว่านี้ มันจะแหลกละเอียดเหมือนกับเจ๊กเอามีดสับหมูบะช่อไม่มีผิด  ดังนั้น ไม่ว่าสิงสาราสัตว์หรือวัตถุอื่นใดก็ตามหากพลัดลงไปในช่อง “หลีผี” นี้แล้วเป็นอันไม่ต้องห่วงในการติดตามหาซาก...

จะอย่างไรก็ตาม มันจะเกิดเองโดยธรรมชาติ หรือว่าเกิดเพราะบุญญาธิการ หรืออย่างไรก็แล้วแต่ แต่ว่าที่แน่ๆ ก็คือพงศาวดารระบุว่าพระองค์ท่านข้ามทัพในช่วงนั้นจริงๆ ระบุบ่งวันเดือนปีไว้แน่ชัดจะแจ้ง เมื่อข้ามทัพไปแล้ว อีกสองคืนก็ได้เปิดศึกกับองค์เชียงสืออย่างสมพระทัย

เล่ากันว่า เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับองค์เชียงสือ รบกันถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน ไม่แพ้ไม่ชนะกัน ทั้งสองฝ่ายตั้งทัพเผชิญหน้ากันคนละข้างของเขาลูกหนึ่ง ใช้สันเขาเป็นเวทีรบ รบกันไปรบกันมาจนเขาลูกนั้นราบเรียบเป็นลานกว้างขนาดบรรจุไพร่พลได้ประมาณสองพันคน จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีต้นไม้ต้นไร่อะไรงอกเงยขึ้น จะมีก็แต่ต้นสาบเสือและหญ้าคาเท่านั้นที่ขึ้นปกคลุมเขาลูกนั้นทั้งลูก ชาวบ้านเรียกเขาลูกนั้นว่า “ภูเสิก” (เสิก เป็นภาษาพื้นเมือง แปลตรงตัวว่า “ศึก” แปลโดยรวมแล้วก็หมายความว่าภูเขาที่เกิดการรบกันขึ้นนั่นเอง)

ต่อจากเขาที่เป็นเวทีรบระหว่างองค์เชียงสือกับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ไปอีกเพียงชั่วเขาอีกลูกหนึ่ง ก็เป็นที่ตั้งต้นของ “ไม้ล้มแบ่ง” ซึ่งมันได้เกิดและได้แบ่งกันเอนไปคนละด้านดังได้กล่าวยาวเหยียดพาดผ่านไปบนสันเขาติดต่อกันถึงเจ็ดลูก เขาจึงเรียกว่า “ไม้ล้มแบ่ง” แต่ว่ามันแบ่งอะไรกันล่ะ?...

สมัยนั้น ลาว เขมร มลายูเป็นขอบเขตขันฑสีมาของไทยเกือบหมดสิ้นทั้งแหลมทอง ด้วยเดชานุภาพอันอาจหาญเกรียงไกรของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นนักรบทหารเอกที่แกร่งกร้าวที่สุดของกรุงสยาม ซึ่งลาว เขมร และพม่ายังต้องยอมสยบ ทรงออกเผยแผ่เดชานุภาพไปแทบทุกสารทิศ แทบจะเรียกได้ว่าแว่นแคว้นแดนดินที่อยู่ใต้เบื้องบาทบารมีพระองค์ท่าน จักต้องย่ำทัพกรีฑาพลไปปกป้องผองภัยให้เขาเหล่านั้นอยู่ทุกกาลเวลา

มันเป็นสมัยเดียวกับ “องค์เชียงสือ” ทหารเอกคู่บารมีของพระเจ้าแผ่นดินญวน ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในแว่นแคว้นแดนลาว รุกล้ำและถอยออกเป็นเชิงล่อเหมือนหมาหยอกไก่ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทนไม่ไหวเมื่อได้รับใบบอก จึงขอพระบรมราชานุญาตออกไปเผชิญหน้ากับสิงห์ผยองแห่งแคว้นญวน และก็เป็นเวลาเดียวกันกับเขมรชักทำท่ากระด้างกระเดื่องยโสขึ้นมาอีกทางหนึ่ง พระองค์ท่านเลยยกทัพไปเหยียบเสียราบเป็นการกำราบเอาฤกษ์ ต่อจากนั้นก็ยกทัพมุ่งหน้าเข้าไปพบกับองค์เชียงสือผู้ซึ่งร่ายเพลงดาบญวนท้าทายอยู่แถบริมรั้วบ้าน

อย่างว่า สมัยนั้นเป็นยุคที่องค์เชียงสือกำลังผยองเพราะฝีมือเป็นเลิศในแคว้นนั้น องค์เชียงสือได้แผ่เดชานุภาพเข้าไปในจีนจนกระทั่งได้ตังเกี๋ยเข้ามาอยู่ในบารมี แล้วก็เลยหันมาแหย่ทางลาวเพื่อจะอวดศักดาหาบริวารไปประดับบารมีเจ้านายแห่งตน

รายการเสือพบสิงห์จึงได้เปิดฉากขึ้นที่ “ภูเสิก” ดังได้กล่าวข้างต้น  สามวันแรกเป็นการยกพลเข้ารบตามแบบฉบับพิชัยสงครามของแต่ละฝ่าย ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ เสมอกันไปทั้งสองฝ่าย สามวันหลังเป็นการประลองฝีมือของแม่ทัพ ซึ่งเป็นทหารเอกของกรุงสยามและกรุงญวนเรียกว่า เดี่ยวกันตัวต่อตัว  ไพร่ราบพลเลวก็พากันนั่งดูเจ้านายฝ่ายใครฝ่ายมัน ทั้งสามวันสามคืน รับกันแต่เช้ายันเย็นอยู่อย่างนั้นไม่มีใครเหนือกว่าใคร เรียกว่ากินกันไม่ลง

พอตกเย็นของวันที่สาม ฝ่ายองค์เชียงสือก็ให้สัญญาณเลิกรบ ขอเป็นพันธมิตรและผูกน้ำมิตรกับทหารเอกกรุงสยาม  สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ไม่ทรงขัดข้อง วันรุ่งขึ้นพิธีกรรมให้สัตยปฏิญาณต่อกันก็เริ่มขึ้น ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนเครื่องบรรณาการ หลั่งอุทกให้สัตยปฏิญาณโอมอ่านพระเวทย์อัญเชิญเทพยดาฟ้าดิน ภูตผีปีศาจ เจ้าป่าเจ้าเขา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในบริเวณนั้นจงมาร่วมเป็นสักขีพยาน ว่าญวนและไทยจะไม่รุกรานซึ่งกันและกันสืบแต่มื้อนี้ตลอดไปจนมือหน้าชั่วกัลป์

แล้วทั้งสองฝ่ายก็ตั้งสัตย์อธิษฐาน ปลูกต้นไม้ลงบนผืนธรณี ชี้นิ้วไปเบื้องหน้าประกาศเป็นโองการว่า เราทั้งสองจะขอแบ่งแผ่นดินกัน ณ ที่ตรงนี้  ไม้ต้นใดที่โน้มยอดไปเบื้องบูรพาทิศให้ถือเป็นอาณาเขตของญวน  ต้นใดที่โน้มมาเบื้องอาคเนย์ให้ถือว่าเป็นอาณาเขตของสยามเทวาธิราช แม้นฝ่ายใดไม่ตั้งอยู่ในสัตย์อธิษฐาน ละเมิดล้ำล่วงทะลวงแดนซึ่งกันและกัน จบประสบแต่ความวิบัตินานัปการเทอญ....

“ไม้ล้มแบ่ง” เกิดขึ้นที่ตรงนี้ ด้วยเหตุนี้   ท่านอาจพึมพำหัวเราะว่า ฮีโธ่...เท่านี้ก็เห็นเป็นของอัศจรรย์ไปได้ ก็เมื่อทั้งสองฝ่ายได้เกณฑ์ไพร่พลปลูกมันลงไปเป็นแถวเป็นแนวทำไมมันจะเป็นไปไม่ได้ล่ะ  แต่ถ้าท่านรู้ว่าโดยหลักของพฤกษศาสตร์นั้น  ไฉน “ไม้ล้มแบ่ง” จึงโน้มยอดของมันโดยผิดธรรมชาติเป็นแถวเป็นแนวยาวไกลถึงร่วมๆ สามสิบกิโลเมตรอย่างนั้นล่ะ หากว่า...ไม่เป็นเพราะบุญญาธิการ...

ชะรอยกาลเวลาอันเนิ่นนาน แรงสาปที่สยามเทวาธิราชได้อ่านโองการประกาศเหนือ “ไม้ล้มแบ่ง” แต่ครั้งกระโน้นจะสร่างคลายหายจางไปตามสายเลือดขององค์เชียงสือกระมัง ญวนเหนือจึงได้ล้ำล่วงทะลวงแดนเข้ามาในราชอาณาจักรลาว เลยเส้นประกาศโองการ “ไม้ล้มแบ่ง” เข้ามา เขาเหล่านั้นจึงได้รับภัยพิบัติอยู่ในขณะนี้

ที่อัศจรรย์เหนือไปยิ่งกว่านั้นก็คือ “ไม้ล้มแบ่ง” ทุกต้นที่เกิดบนสันเขาเจ็ดลูกดังกล่าวนั้นทุกต้นเป็นสมุนไพร หรือเป็นยาที่วิเศษที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา เกี่ยวกับโรคท้องร่วง เป็นบิด ถ่ายเป็นมูกเลือด และเป็นโรคผิวหนังทุกชนิด โดยที่ชาวบ้านไปถากเอาเปลือกมันมาต้มกินและอาบ  แต่ทว่า...มันมีเคล็ดนิดเดียวในขณะไปเอา ราวกับว่ามันได้เป็นเครื่องเตือนสติของมนุษยชาติเผ่าพันธุ์ให้รักใคร่ผูกพันซึ่งกันและกันสืบไป ตามเจตนารมณ์ของผู้อ่านโองการแผ่บารมีฝากไว้

นั่นคือ หากเป็นชาวบ้านที่อยู่ในอาณาเขตแห่งสยามเทวาธิราช จะต้องไปถากเปลือกต้นที่โน้มกิ่งไปทางทิศตะวันออกมาต้มกิน ต้มอาบ  โรคจะหายดังปลิดทิ้งภายในสองวัน  และทำนองเดียวกัน ชาวบ้านที่อยู่ในดินแดนญวนจะต้องมาถากเอาเปลือกต้นที่โน้มกิ่งมาทางทิศตะวันตก ซึ่งอยู่ในอาณาเขตสยามเทวาธิราช ความเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษยชาติเผ่าพันธุ์ ไม่ว่าชาติใดเผ่าใดย่อมเป็นทุกข์อันมหัศจรรย์ของชีวิตด้วยกันทั้งนั้น  ดังนั้น “ไม้ล้มแบ่ง” จึงเหมือนกับสิ่งเตือนอนุสติทุกชีวิตให้อยู่ใกล้เคียงกันให้โอบอ้อมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดีกว่าที่จะมุ่งหน้าเป็นศัตรูกันไม่รู้สร่างซา มันจึงเป็นต้นไม้อัศจรรย์ด้วยประการฉะนี้

ไม้ล้มแบ่งอยู่ห่างนครจำปาศักดิ์ออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๘๐ กิโลเมตร แต่มันห่างจากนครหลวงกรุงเทพ ประเทศไทยออกไปนับเป็นพันๆ ไมล์ขึ้นไป แม้ว่าปัจจุบันนี้จะมีการคมนาคมย่นแผ่นดินดีสักปานใดก็ตาม เส้นทางที่จะไปดู “ไม้ล้มแบ่ง” นั้นยังมองไม่เห็นทางที่จะไปได้เลย

“สิงห์โห”


(http://tourlaotai.com/DSCN1704_resize.JPG)

(http://tourlaotai.com/DSCN1711_resize.JPG)
น้ำตก "หลี่ผี"
ภาพจาก tourlaotai.com