[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 16 มีนาคม 2560 15:37:43



หัวข้อ: ตำแหน่งพระญาณสังวร
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 มีนาคม 2560 15:37:43

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/72947427713208__3626_3617_3648_3604_3655_3592.gif)
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตำแหน่งพระญาณสังวร

ชื่อตำแหน่งพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี ปรากฏนามตำแหน่งในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระนามของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตำแหน่งพระญาณสังวร สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ปรากฏให้เห็นความสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งทรงฟื้นฟูราชอาณาจักรในทุกๆ ด้าน ในด้านศาสนจักรทรงพยายามจัดระเบียบให้คงเป็นอย่างเดิมเหมือนครั้งสมัยกรุงเก่า ทรงทำนุบำรุงสงฆมณฑลให้มั่นคงขึ้น โปรดให้ชำระรวบรวมกฎพระสงฆ์ สถาปนาพระอารามต่างๆ สังคายนาพระไตรปิฎก ส่วนการจัดการคณะสงฆ์นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานคณะสงฆ์ว่า  โปรดให้จัดตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า ทรงเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพียงเล็กน้อย เช่น เปลี่ยนพระนามธรรมโคดม เจ้าคณะรองคามวาสีฝ่ายขวาเป็นพระธรรมอุดม เพื่อมิให้พ้องกับพระนามพระพุทธเจ้า เปลี่ยนนามพระราชาคณะตำแหน่งพระอุบาฬี เป็นพระวินัยรักขิต เพื่อมิให้พ้องกับนามพระอรหันต์ แต่พระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีมีน้อยไม่พอตั้งเป็นคณะหนึ่งต่างหากได้ จึงคงไว้แต่ตำแหน่งพระพุฒาจารย์เจ้าคณะใหญ่ ด้วยมีหน้าที่ต้องตามเสด็จ และเปลี่ยนตำแหน่งพระญาณสังวรเป็นเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญวาสี เพราะทรงเลื่อมใสในพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย กรุงเก่า ซึ่งโปรดให้นิมนต์มาทรงสถาปนาเป็นที่พระญาณสังวร อยู่วัดราชสิทธาราม ด้วยมีเกียรติคุณในทางวิปัสสนาธุระมาก ตำแหน่งพระญาณไตรโลกซึ่งเป็นเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญวาสีเดิม จึงเป็นตำแหน่งพระราชาคณะสามัญแต่นั้นมา

ดังนั้น ตำแหน่งพระญาณสังวรที่ปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงเป็นนามตำแหน่งเดิมของสมเด็จพระอริยวงษญาณ ปริยัติวรสังฆราชาธิบดี ศรีสมณุตมาปรินายก ติปิฎกธราจารย์ สฤทธิขัติยสารสุนทร มหาคณฤศรวรทักษิณา สฤทธิสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี (สุก ไก่เถื่อน) สมเด็จพระสังฆราชลำดับที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และมาปรากฏอีกครั้งหนึ่งเป็นนามของสมเด็จพระสังฆราช (เจริญ คชวัตร) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปเมื่อวันที  ๒๔ ตุลาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๕๖

ส่วนพระประวัติสังเขปของสมเด็จพระสังฆราช (เจริญ คชวัตร) มีฉายาว่า สุวฑฺฒโน  มีความหมายว่า “ผู้เจริญดี” เป็นสมเด็จพระสังฆราชลำดับที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระนามตามพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุทธ ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลศีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัณยวาสี สมเด็จพระสังฆราช  นามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติที่ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๖ โยมบิดาชื่อ นายน้อย คชวัตร  โยมมารดาชื่อ นางกิมน้อย คชวัตร

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี จนจบชั้นประถมปีที่ ๕ จากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) ใน พ.ศ.๒๔๖๙ และทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ใน พ.ศ.๒๔๗๖ จำพรรษาอยู่ที่วัดเทวสังฆารามอีก ๑ พรรษา เมื่อออกพรรษาแล้ว ทรงอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุตที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เรียนพระปริยัติธรรมและสอบไล่ได้ชั้นต่างๆ เป็นลำดับในสำนักเรียน วัดบวรนิเวศวิหาร จนสอบได้เปรียญ ๙ ประโยค ใน พ.ศ.๒๔๘๔