[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 22 มิถุนายน 2566 11:36:53



หัวข้อ: เทศกาลบ๊ะจ่าง ประวัติและความเชื่อเป็นอย่างไร
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 22 มิถุนายน 2566 11:36:53
(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/4/42/Zongzi.jpg/800px-Zongzi.jpg)

เทศกาลบ๊ะจ่าง 2566 มีวันไหน ประวัติและความเชื่อเป็นอย่างไร

เทศกาลบ๊ะจ่าง 2566 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน 2566 ซึ่งตามปฏิทินจีน (จันทรคติ) คือวันที่ 5 เดือน 5 ของทุกปี มีประวัติอย่างไรและมีกิจกรรมอะไรบ้าง

ประวัติเทศกาลบ๊ะจ่าง
ประวัติของเทศกาลบ๊ะจ่าง มาจากการระลึกถึงวันที่ชวียเหวียน กวีและขุนนางผู้ซื่อสัตย์แห่งรัฐฉู่ ถูกใส่ร้ายจนถูกปลดจากตำแหน่งและเนรเทศออกนอกเมือง ในเวลาต่อมารัฐฉู่ถูกโจมตีล่มสลายทำให้ ชวียเหวียนเสียใจมากจนกระโดดน้ำฆ่าตัวตายในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 เมื่อชาวบ้านทราบเรื่องเลยพากันออกเรือเพื่อตามหาร่างของ ชวียเหวียน มาประกอบพิธี ระหว่างทางก็ได้หย่อนอาหารลงในน้ำเพื่อไม่ให้สัตว์น้ำกัดกินร่าง
2 ปีต่อมา มีชาวบ้านฝันว่า ชวียเหวียน มาขอบคุณชาวบ้านที่นำอาหารมาเซ่นไหว้ตน แต่ทว่าอาหารเหล่านั้นกลับเป็นอาหารของบรรดาสัตว์น้ำ ชวียเหวียน จึงแนะนำให้ชาวบ้านห่ออาหารด้วยใบไผ่ก่อนโยนลงน้ำ

ในปีถัดมาชาวบ้านจึงทำตามคำแนะนำของ ชวียเหวียน แต่แล้ว ชวียเหวียน ก็ได้มาเข้าฝันชาวบ้านอีกครั้ง โดยบอกว่าได้รับเครื่องเซ่นมากกว่าเดิมแต่ก็ถูกสัตว์น้ำแย่งไปอยู่ดี จึงแนะนำให้ชาวบ้านห่ออาหารด้วยใบไผ่แล้วใส่ลงในเรือที่ตกแต่งเป็นรูปมังกรก่อนลอยลงในน้ำ บรรดาสัตว์น้ำจะได้เข้าใจว่าเป็นเครื่องเซ่นไหว้พญามังกรและไม่กล้ากิน จึงเป็นที่มาของ "เทศกาลบ๊ะจ่าง"หรือ "เทศกาลแข่งเรือมังกร" รวมทั้งประเพณีแข่งเรือมังกรที่มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทุกวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติของทุกปี


เทศกาลบ๊ะจ่าง 2566 กิจกรรมและความเชื่อของชาวจีน
ในเทศกาลบ๊ะจ่าง 2566 นอกจากมีกิจกรรมไหว้บ๊ะจ่างแล้ว ปัจจุบันในฮ่องกง เกาลูน และไต้หวันก็ยังมีการจัดประเพณีแข่งเรือมังกรอยู่ รวมทั้งในเทศกาลตวงโหงวนี้ คนจีนโบราณยังเชื่อว่าเป็นวันที่เหล่าปิศาจจะออกมาสำแดงเดช จึงต้องมีการป้องกันด้วยการปัดกวาดทำความสะอาดบ้าน และจุดเครื่องหอมรวมทั้งกำยานเพื่อให้บรรยากาศในบ้านดูสดชื่นขึ้น ภูตผีปิศาจจะได้ไม่กล้าเข้ามากล้ำกราย

ในวันนี้สัตว์มีพิษทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ แมงป่อง แมงมุม ตะขาบ และงู จะพากันหลบซ่อนตัว จึงเป็นโอกาสที่เจ้าบ้านจะต้องอบบ้านด้วยการจุดกำมะถัน เพื่อไม่ให้สัตว์มีพิษเหล่านี้กลับเข้ามาอาศัยได้อีก นอกจากนี้ยังมีการดื่มเหล้ายาที่ผสมด้วยผงกำมะถันด้วย โดยเชื่อกันว่าจะสามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี

ชาวจีนภาคใต้ (ตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี เช่น มณฑลเจ้อเจียง และเมืองเซี่ยงไฮ้) ใช้กิ่งเฮียเฮียะกับใบว่านน้ำ แขวนประตูในช่วงเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างเพื่อปัดเป่าวิญญาณร้าย

ขณะเดียวกัน เทศกาลบ๊ะจ่าง ยังนับว่าเป็น 1 ใน 3 เทศกาลสำคัญของชาวไต้หวัน ประกอบด้วย เทศกาลตรุษจีน เทศกาลไหว้พระจันทร์ และเทศกาลบะจ่าง ซึ่งนอกจากกิจกรรมแข่งเรือมังกรในเทศกาลนี้แล้ว ในไต้หวันยังมีกิจกรรมการตั้งไข่ และการแขวนถุงหอม ซึ่งตอบโจทย์ความสนุกได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปพร้อมกันในเทศกาลบ๊ะจ่าง และยังส่งเสริมการท่องเที่ยวในไต้หวันด้วย

กิจกรรมแข่งเรือมังกร: จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในทุกปี และยังเป็นหนึ่งในกิจกรรมตามปฏิทินการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดทั้งในและต่างประเทศ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม - มิถุนายนจะมีการจัดงานแข่งเรือมังกรในเกือบทุกพื้นที่ในไต้หวัน โดยหากจะให้พูดถึงการแข่งเรือมังกรที่ยิ่งใหญ่อลังการ ก็ต้องนึกถึงการแข่งเรือมังกรที่ลู่กั่ง (Lukang Dragon Boat Festival) นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแข่งเรือมังกรประจำเมืองไทเป (Taipei International Dragon Boat Championship) โดยเรือที่นำมาแข่งจะตกแต่งเป็นลวดลายมังกรอย่างสวยงามตลอดทั้งลำ เคล้าไปด้วยเสียงเชียร์สุดมันรอบด้าน โดยในช่วงกลางคืน เรือจะถูกประดับประดาด้วยแสงไฟอย่างสวยงาม ให้นักท่องเที่ยวได้มาชมแสงไฟอันตระการตาของเรือลวดลายมังกรได้อย่างใกล้ชิด

กิจกรรมตั้งไข่: เป็นกิจกรรมในเทศกาลบ๊ะจ่างที่ชื่นชอบของกลุ่มเด็กๆ วิธีเล่นคือต้องตั้งไข่ดิบให้ตรงและไม่ทำให้ไข่ล้ม หากใครตั้งไข่ได้ตรงก็จะถือว่าชนะ นอกจากนี้ชาวไต้หวันยังมีความเชื่อกันว่า หากใครสามารถตั้งไข่ให้ตรงได้ ในเวลาเที่ยงตรงพอดีของวันไหว้บ๊ะจ่าง โดยที่ไข่ไม่ล้มเลย คนนั้นจะโชคดีตลอดทั้งปี

กิจกรรมแขวนถุงหอม: ในช่วงเทศกาลบ๊ะจ่าง ยังมีธรรมเนียมการแขวนถุงหอมเพื่อป้องกันภัยร้ายมาแผ้วพาน เนื่องจากเทศกาลบ๊ะจ่างจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อนทำให้มีแมลงเป็นจำนวนมาก ผู้คนจึงนำสมุนไพรท้องถิ่นมาใส่ลงในถุง แขวนที่หน้าประตูบ้านเพื่อเป็นการไล่แมลงร้ายเหล่านั้น จึงกลายเป็นธรรมเนียมที่ผู้คนมักจะมอบถุงหอมนี้ให้กันในเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง แฝงความหมายการขจัดสิ่งไม่ดี และนำพาโชคดีมาให้แก่กัน


ข้อมูลอ้างอิง: สถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์, สำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ
บทความโดย  ไลฟ์สไตล์ ไทยรัฐออนไลน์
กองบรรณาธิการ ไลฟ์สไตล์-เทคโนโลยี ไทยรัฐออนไลน์
lifestyle.thairath@gmail.com