แสงสว่างทางปฏิบัติ

<< < (2/26) > >>

Maintenence:
การเตรียมตัว ๕ ประการ (ต่อ)


๔. เตรียมแบงก์ก่อนไป แยกออกเป็น ๒ ประเภท
     ๑) แบงก์คือทรัพย์ภายนอก
     ๒) แบงก์คือทรัพย์ภายใน

ทรัพย์ภายนอกนั้น สำหรับผู้ที่เป็นฆราวาส เราก็ต้องเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติสมบูรณ์พอที่จะใช้จ่ายบำรุงตัวเองและครอบครัวได้ เราต้องเป็นผู้ไม่ประมาทในการแสวงหาทรัพย์สมบัติ เมื่อเรามีทรัพย์สมบัติแล้ว จะอยู่ที่บ้านหรือจะไปที่ไหนก็สบาย เมื่อเราทั้งหลายจะไปธุระต่างๆ ในตำบล อำเภอ จังหวัด หรือต่างประเทศอย่างนี้ เราต้องเตรียมเสบียงที่จำเป็น และขาดไม่ได้คือสตุ้งสตังค์ เราต้องเตรียมไป ถ้าไม่เตรียมไปแล้ว ก็ไม่มีใช้ ไม่มีของใช้ เราก็ได้รับความเดือดร้อนเท่านั้น ฉันใด

เราทั้งหลาย ที่ยังต้องเวียนว่ายไปในมหรรณพภพสงสารทั้งหลายทั้งปวงนั้น เราก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมแบงก์คือทรัพย์ภายในเหมือนกัน ฉันนั้น ทรัพย์ภายในนั้น ได้แก่ อริยทรัพย์ ๗ ประการ

พวกเราทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาแล้ว หากว่าเราทั้งหลายยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่สิ้นภพสิ้นชาติ ไม่ใช่ว่าจุติแล้วก็จะแล้วไปเพียงแค่นี้ เรายังจะไปสู่ภพต่างๆ ไม่รู้ว่ากี่กัปกี่กัลป์ เช่นว่า เราอาจจะไปสู่กามภพบ้าง รูปภพบ้าง อรูปภพบ้าง เมื่อเรายังมีทางที่จะไปสู่ภพต่างๆ อย่างนี้เราต้องเตรียมแบงก์คือบุญกุศลไว้ให้เพียบพูนสมบูรณ์เสียก่อน เราจึงไปสู่ภูมิต่างๆ ตามที่ต้องการได้

สำหรับแบงก์ที่เราจะต้องเตรียม ในการที่จะไปสู่ภพภูมิต่างๆ นั้น ก็ได้แก่ อริยทรัพย์ คือทรัพย์อันประเสริฐ หรือว่า ทรัพย์ของท่านผู้ประเสริฐ เป็นทรัพย์ที่ไกลจากข้าศึก พระราชาหรือโจรจะมายึดมาเอาไปก็ไม่ได้ น้ำก็ไม่ท่วม ไฟก็ไม่ไหม้ เป็นอมตะทรัพย์ คือเป็นทรัพย์ที่ไม่ตาย เป็นทรัพย์ที่ติดตามตัวไปทุกฝีก้าว ฉายา อิว ดุจเงาติดตามตัว เราจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า ก็ยังสามารถติดตามไปในภพที่ตนเกิด

เหตุนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณเต็มเปี่ยมในสรรพสัตว์ทั้งหลายซึ่งเร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลสและกองทุกข์ พระองค์ได้ตรัสสอนให้พวกเราได้สร้างสมอบรมอริยทรัพย์ภายในนี้ไว้ให้มาก เพื่อจะได้มีไว้ใช้จ่ายในการเดินทางไปในวัฏสงสาร คือให้สร้างสมอบรมอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ไว้ให้มาก คือ
     ๑. ศรัทธา ได้แก่ ความเชื่อ คือเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บาปมีจริง นรกมีจริง สวรรค์มีจริง มรรคผลพระนิพพานมีจริง แล้วก็ละชั่ว กระทำแต่คุณงามความดี
     ๒. ศีล ได้แก่ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย โดยเราแบ่งศีลออกเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ
        ๑) ปกติศีล ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีลอุโบสถ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ที่พวกเราพากันสมาทานรักษาอยู่ทุกวันนี้
        ๒) ปรมัตถศีล ได้แก่ ศีลที่มีรูปมีนามเป็นอารมณ์ เป็นศีลที่เกิดขึ้นจากการเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนา
๓. หิริ คือความละอายบาป มีความขยะแขยง ไม่กล้าทำบาป เหมือนกับชายหนุ่มหญิงสาวที่แต่งตัวดีแล้ว ประดับประดาร่างกายดีแล้ว ย่อมมีความขยะแขยง ไม่กล้าที่จะไปลุยโคลนลุยตม ฉันใด ผู้มีหิริก็มีความละอาย มีความขยะแขยงในการก่อกรรมทำบาปเหมือนกัน ฉันนั้น
๔.โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป กลัวต่อผลของบาป ไม่กล้าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง อุปมาเหมือนกันกับคนทั้งหลาย ที่กลัวต่ออสรพิษหรือสัตว์ร้ายต่างๆ มีหมี เสือ ช้างเป็นต้น ไม่กล้าเข้าไปในสถานที่ที่มีสัตว์ร้ายนั้น ฉันใด ผู้มีโอตตัปปะก็มีความสะดุ้งกลัวต่อบาป ไม่กล้าทำบาป ทั้งในที่ลับ ทั้งในที่แจ้งเหมือนกัน ฉันนั้น
๕.สุตะ ได้แก่ เป็นผู้ที่สดับตรับฟังมาก ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก ทั้งในทางโลก ทั้งในทางธรรม
๖.จาคะ จาคะ ได้แก่ การบริจาค แบ่งเป็น ๒ ประการ
         ประการที่ ๑ บริจาคภายนอก ได้แก่ บริจาคปัจจัย ๔ คือเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคเป็นต้น
       ประการที่ ๒ บริจาคภายใน ได้แก่ การที่เราทั้งหลายเสียสละความโลภ ความตระหนี่ เสียสละราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา อุปาทาน ให้หมดไปจากขันธสันดาน ตลอดถึงเสียสละอุปสรรค คือความขัดข้อง โกสัชชะคือความเกียจคร้านเป็นต้น ให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา
๗.ปัญญา คือความรอบรู้ ทั้งทางโลก ทั้งทางธรรม รอบรู้สิ่งที่ควรรู้ คือรอบรู้ว่าสิ่งใดที่เราประพฤติปฏิบัติแล้วจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ รอบรู้เหตุแห่งความทุกข์ ความเสื่อม และเหตุแห่งความสุข อย่างนี้เรียกว่า ปัญญา

อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ เป็นทรัพย์ที่สามารถใช้ได้ทั่วไป ไม่จำกัด ไม่เหมือนกับทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายนอกเป็นของที่ใช้ในวงจำกัด เช่นว่าทรัพย์ที่ใช้จ่ายในประเทศของเราทุกวันนี้ เช่น ธนบัตรใบละ ๑๐ บาท ๒๐ บาท ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาทก็ดี ก็ใช้จ่ายได้เฉพาะในประเทศของเราเท่านั้น หากว่าเราจะนำไปใช้ในประเทศอื่น ก็ต้องแลกต้องเปลี่ยนจึงจะนำไปใช้ได้ แต่สำหรับอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ เราใช้ได้ตลอดไป เราจะนำไปใช้ในที่ไหนก็ได้ไม่ต้องแลกต้องเปลี่ยน เหตุนั้น อริยทรัพย์นี้ จึงเป็นของใช้ได้ทั่วไป ไม่จำกัด อนึ่ง อริยทรัพย์เป็นของที่ใช้ไม่หมด คือยิ่งใช้เท่าไหร่ก็ยิ่งได้กำไรมาก

ดังที่มีท่านครูบาอาจารย์ พระสงฆ์ สามเณร ปะขาวแม่ชี และญาติโยม มาทั่วประเทศ ตลอดถึงต่างประเทศก็มี ซึ่งมารับเอาจากหลวงพ่อไป ยิ่งหลวงพ่อให้ไปมากเท่าไหร่ หลวงพ่อก็ยิ่งได้มาก ได้กำไรมาก เหตุนั้น อริยทรัพย์นี้จึงใช้ไม่หมด ไม่เหมือนกันกับทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายนอก สมมติว่าเรามีเงินสัก ๒๐ ล้าน เราก็สามารถใช้ให้หมดไปได้ แต่ว่าอริยทรัพย์ภายในนี้ ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด

อริยทรัพย์นี้เป็นอสาธารณะ คือเป็นสมบัติส่วนตัว ใครสร้างสมอบรมไว้ ก็เป็นสมบัติของผู้นั้น โจรจะมาลักเอาก็ไม่ได้ ไฟก็ไม่ไหม้ น้ำก็ไม่ท่วม เป็นของติดตามตัวไปได้ทุกฝีก้าวดุจเงาติดตามตัว ตายไปแล้ว ไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ยังสามารถติดตามตัวไปในภพที่เราเกิด แล้วก็เป็นทรัพย์ที่สามารถให้สำเร็จสมประสงค์ทุกอย่าง เทวดาและมนุษย์ปรารถนาสิ่งใดๆ สามารถได้สิ่งนั้นๆ สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกอย่าง ก็เพราะอาศัยอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้

ผู้ใดประพฤติอยู่ในอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ หรืออริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้มีแก่บุคคลใด มีในขันธสันดานของผู้ใดพอสมควร คือแม้มีไม่มาก บุคคลผู้นั้นก็สามารถที่จะได้รับความสุขความเจริญในขณะที่เรายังเป็นมนุษย์อยู่ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว ก็จะไปบังเกิดเป็นมนุษย์ และอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ ก็สามารถที่จะนำไปใช้ในภพที่เราเป็นมนุษย์อีกต่อไป

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติในอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ให้สูงขึ้นไป เมื่อจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว ก็สามารถไปเกิดในฉกามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น ตามกำลังของอริยทรัพย์นั้น

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติในอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการให้สูงขึ้นไปอีก เช่นเราเจริญสมถกัมมัฏฐานในส่วนที่เป็นรูปกัมมัฏฐาน บริกรรมจนได้สำเร็จฌาน ก็สามารถไปเกิดในรูปพรหม ๑๖ ชั้น ตามกำลังของฌาน ถ้าเราเจริญให้สูงขึ้นไปกว่านั้น โดยเอาอรูปกัมมัฏฐานมาบริกรรมจนได้สำเร็จอรูปฌาน เมื่อจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว ก็สามารถไปบังเกิดในอรูปภพ อรูปพรหม ตามกำลังของฌาน

ถ้าหากว่าเราบำเพ็ญให้สูงๆ ขึ้นไป โดยการที่มาเจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนดังพระสงฆ์ สามเณร ปะขาว แม่ชี และเราทั้งหลายเจริญกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ จนได้บรรลุถึงอริยมรรคอริยผล ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานของตนแล้ว ก็ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ สามารถที่จะนำไปใช้ให้ถึงพระนิพพานได้ หมายความว่า ทำให้กลายเป็นโลกุตตระสมบัติได้

ดังตัวอย่างเรื่องของ นายสุปปพุทธกุฏฐิ ถึงจะเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยการขอทาน มิหนำซ้ำ เป็นโรคเรื้อนในกาย วันหนึ่ง ได้ไปฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่งอยู่ที่ไกลๆ โน้น ไม่กล้าเข้ามาใกล้ กลัวคนอื่นเขาจะรังเกียจ เมื่อฟังไปๆ ก็ส่งจิตส่งใจไปตามพระธรรมเทศนา ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

เมื่อได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ก็อยากจะเข้าไปกราบทูลคุณสมบัติที่ตนได้นั้นในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่กล้าจะเข้าไป กลัวคนอื่นเขาจะรังเกียจ ในขณะนั้น พระอินทร์ทราบก่อนแล้ว ก็แปลงร่างมาทดลองว่าผู้นี้เขามีจิตใจถึงธรรมจริงหรือ

เมื่อมาแล้วก็บอกว่า ดูก่อนสุปปพุทธกุฏฐิ จนๆ อย่างท่าน ไหนลองพูดซิว่า พระพุทธไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่ของเรา ว่าซิ ถ้าท่านว่าได้ ฉันจะให้ทรัพย์สมบัติท่าน อยากได้เท่าไหร่ ฉันก็จะให้ถ้าท่านว่าได้

     สุปปพุทธกุฏฐิก็ตอบว่า เอ๊ นี่ท่านเป็นใครมาจากไหน
     ฉันเป็นพระอินทร์มาจากเทวโลก
     ไปๆ เทวดาขี้ชั่ว เทวดาอันธพาล อย่ามาพูดกับข้าพเจ้า ว่าข้าพเจ้าเป็นคนจน ข้าพเจ้าไม่จน ส่วนท่านเสียอีกที่เป็นคนจน

พระอินทร์หายวับไป เข้าไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า นิสัยของคนถึงธรรมนี้ ถึงจะจนแสนจน เราจะให้เงินสักเท่าไหร่ก็ไม่เอา เพียงแต่ให้กล่าวว่าพระพุทธไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่ของเรา เพียงแต่ให้ว่าเท่านี้ ก็ไม่เอา พระพุทธเจ้าข้า

พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ลูกของอาตมภาพไม่จน จนก็แต่ทรัพย์ภายนอกเท่านั้น ส่วนทรัพย์ภายในนั้นไม่จน [๒]
     ยสฺส เอตา ธนา อตฺถิ  อิตฺถิยา ปุริสสฺส วา อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ มีในผู้ใด จะเป็นผู้หญิงก็ตามผู้ชายก็ตาม
     อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ อโมฆํ ตสฺส ชีวิตํ ชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าจากประโยชน์เลย เป็นคนที่ร่ำรวยที่สุด คือร่ำรวยทรัพย์ภายใน เหตุนั้น อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการ จึงเป็นข้อปฏิบัติมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เราทั้งหลายพากันมาประพฤติปฏิบัติอยู่กันทุกเมื่อเชื่อวันนี้ หากผู้ใดเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการดังกล่าวมานี้เรียกว่า เตรียมแบงก์ก่อนไป คือเราเตรียมสร้างสมอบรมอริยทรัพย์ให้สมบูรณ์ในขันธสันดานของเรา เพื่อจะได้นำไปใช้ในวัฏสงสารต่อไป จนกว่าเราจะถึงฝั่ง คือพระอมตมหานฤพาน

แต่ถ้าท่านผู้ใดไม่ประมาท สามารถสั่งสมอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ให้สมบูรณ์ในขันธสันดาน ท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามีและพระอรหันต์ ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ในภพชาตินี้ จุติแล้วก็ไม่เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป ก็เข้าสู่พระนิพพาน พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดาร

เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่เราทั้งหลายได้โอกาสมาประพฤติปฏิบัติธรรมในขณะนี้ ก็ถือว่าเรามีบุญล้นฟ้าล้นดิน ที่มีโอกาสสั่งสมอบรมอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท พยายามสั่งสมอบรมอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ ให้สมบูรณ์ในขันธสันดาน เมื่อใดเราสั่งสมให้สมบูรณ์แล้ว ก็อาจจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในภพนี้ชาตินี้

เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นอันว่าเราพ้นแล้วจากสังสารวัฏ เราสามารถหักกงกรรมของสังสารวัฏได้สิ้นแล้ว สามารถตัดตัณหาอันเป็นตัวก่อภพก่อชาติได้แล้ว เราจะไม่เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป

๕. เตรียมใจก่อนสู้ ชีวิตนี้เต็มไปด้วยการต่อสู้ ชีวิตนี้เต็มไปด้วยการต่อสู้ คือ
     ๑) ต่อสู้กับความลำบาก ในเวลาประกอบการงาน เช่น เราทำนา ทำสวน ทำไร่อย่างนี้ ชีวิตคือความเป็นอยู่เต็มไปด้วยความลำบาก ต้องตรากตรำแดด ตรากตรำฝนหนาวร้อนก็ต้องสู้ทน การงานของเราจึงจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
     ๒) ต่อสู้กับทุกขเวทนา เช่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของเรานี้ ไม่ใช่ว่าเป็นของธรรมดา บางทีเหมือนกับว่าทุกขเวทนานี้จะปลิดชีวิตของเราไป บางทีต้องร้องครวญครางเพราะอำนาจของทุกขเวทนาเข้าครอบงำ จนขาดสติขาดสัมปชัญญะไปก็มี

บางที เป็นพระเจ้าพระสงฆ์ เป็นสามเณร เป็นแม่ชี เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมายังพากันร้องครวญครางเป็นที่อับอายขายหน้า อย่าลืมนะท่านทั้งหลาย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมานี้ถ้าว่าชาวบ้านเขาพากันร้องครวญครางเพราะอำนาจทุกขเวทนานั้น ก็ค่อยยังชั่ว ยังพอมองดูได้  แต่ถ้าเป็นพวกนักบวชเป็นพระ เป็นเณร เป็นปะขาว แม่ชี เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมา ร้องครวญครางนั้น เป็นที่อับอายขายหน้ายิ่งนัก อับอายขายหน้าญาติโยมชาวบ้าน อับอายขายหน้าทวยเทพนิกรเจ้าทั้งหลาย ไม่เป็นที่น่าเลื่อมใส เพราะว่าผู้ที่เป็นนักบวช ผู้บำเพ็ญเพียรนี้ ต้องเป็นผู้มีอธิวาสนขันติ ความอดกลั้นอย่างแรงกล้า อะไรๆ เกิดขึ้นมาแล้ว ต้องเป็นคนที่มีจิตใจหนักแน่น ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ยอมสู้ตาย เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่ทำอะไรให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน เรื่องนี้ในอดีตกาลมีมาแล้ว

มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ตั้งตัวเป็นคณาจารย์ เป็นอาจารย์ใหญ่ สอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย แต่วันหนึ่ง ขณะที่เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา พระอาจารย์องค์นั้นก็ร้องครวญครางด้วยอำนาจของทุกขเวทนา ในขณะนั้นมีพระราชาองค์หนึ่ง ซึ่งทรงมีปสาทะศรัธาอย่างแรงกล้า เพราะทราบถึงกิตติศัพท์ของพระอาจารย์องค์นี้ ว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านได้บรรลุธรรมเบื้องสูงแล้ว ก็มีพระราชหฤทัยเลื่อมใส จึงพร้อมด้วยข้าราชบริวารทั้งหลาย มากราบนมัสการพระเถระรูปนั้น

แต่เมื่อมา ยังไม่ถึงเลย เพียงแต่เข้ามาภายในวัดได้ยินเสียงร้องครวญครางของพระภิกษุผู้เป็นพระอาจารย์ใหญ่ จึงตรัสถามพระภิกษุทั้งหลายว่า นี้เป็นเสียงของใคร ใครร้องครวญคราง เพราะเหตุไร พระสงฆ์ทั้งหลายจึงถวายพระพรให้ทรงทราบ พระราชาจึงตรัสว่า ที่ไหนว่าตนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานแล้ว มีทุกขเวทนาเพียงแค่นี้ ยังจะมาร้องครวญครางอยู่อีกหรือ ข้าพเจ้าตั้งใจจะมานมัสการท่าน บัดนี้ ข้าพเจ้าขอลาก่อนละ

นี่แหละท่านทั้งหลาย การที่นักบวชของเรานี้ เมื่อความเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดขึ้นมาแล้ว ยังมาร้องครวญครางเพราะทุกขเวทนาอยู่นั้น ทำให้ต้องอับอายขายหน้า ให้ผู้อื่นหมดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใส ยิ่งมีผู้ใดผู้หนึ่งล้มหายตายไป เช่น พ่อแม่ตายจากไป หรือว่าลูกๆ หลานๆ พี่น้องตายจากไป อย่างนี้เรามาร้องห่มร้องไห้ ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าอับอายขายหน้ายิ่งนัก เหตุนั้น ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องเตรียมใจก่อนสู้ คือต้องสู้กับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำขันธสันดานของตนให้ได้

   ๓) ต่อสู้กับการล่วงเกินของผู้อื่น เราทั้งหลายที่อยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ว่าเราทั้งหลายจะประพฤติปฏิบัติอะไรๆ ถูกจิตถูกใจกันไปทั้งหมดนั้นหามิได้ เราต้องมีการล่วงเกินกันบ้าง บางครั้งบางคราวล่วงเกินทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ เราต้องมีอธิวาสนขันติความอดกลั้นอย่างแรงกล้า ไม่ทำการโต้ตอบผู้ที่ล่วงเกินตน เขาจะทำอย่างไร เราก็ต้องอดกลั้นได้ ไม่ทำการล่วงเกินซึ่งเป็นการตอบโต้ ทำเหมือนกับว่าไม่มีอะไรๆ เกิดขึ้นแก่ตัวเราเลยดังตัวอย่างพระสารีบุตร

ท่านพระสารีบุตรนี้ มีกิตติศัพท์ว่าเป็นผู้มีความอดกลั้นอย่างแรงกล้า จนเป็นที่สรรเสริญเยินยอของบรรดาพระสงฆ์ สามเณร ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายว่าพระคุณเจ้าของเรานี้เป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่งนัก ไม่มีความโกรธเลย อะไรๆ ก็ไม่โกรธ

วันนั้น มีพราหมณ์คนหนึ่ง คิดขึ้นมาว่าพระสารีบุตรนี้เป็นผู้ไม่โกรธจริงหรือ อดทนต่อความโกรธได้จริงหรือ เป็นผู้ดับความโกรธได้จริงหรือ คิดอยากจะทดลองดู เมื่อเห็นพระสารีบุตรเดินไปบิณฑบาต พราหมณ์คนนั้นก็เดินไปข้างหลัง พอไปถึงก็เอากำปั้นทุบหลังท่าน แต่ท่านพระสารีบุตรไม่สะทกสะท้าน ไม่หันกลับมามองดูเลย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเดินบิณฑบาตไปเรื่อยๆ ตามธรรมดาของตน ผลสุดท้ายพราหมณ์คนนั้นก็เกิดความเดือดร้อนอย่างแรงต้องขอขมาโทษ

นี้แลท่านทั้งหลาย การที่อดทนได้ ไม่ทำการโต้ตอบผู้ที่ล่วงเกินตน เรียกว่า เตรียมใจก่อนสู้ ประการหนึ่ง

     ๔) ต่อสู้กับอำนาจของกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น  เราทั้งหลายที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ส่วนมากตกอยู่ภายใต้อำนาจกิเลส ตกอยู่ในอำนาจของความโลภ ต้องลักต้องขโมย หาเอาทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตนในทางที่ไม่ชอบธรรม บางครั้งก็ตกอยู่ในอำนาจของความโกรธ ต้องด่า ต้องฆ่า ต้องเฆี่ยนต้องตี ต้องประหัตประหาร ต้องผูกพยาบาท ต้องอาฆาตจองล้างจองผลาญกัน

บางครั้ง ก็ต้องอยู่ใต้อำนาจของโมหะ ทำอะไรๆ ก็ทำไปตามอำนาจของโมหะ ไม่รู้จักผิดชอบ ชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ จะทำมาค้าขายก็ค้าขายด้วยการโกง มีการโกงตาชั่งเป็นต้น บางครั้งเราก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของราคะ ประพฤติปฏิบัติไปตามอำนาจของราคะ มีการข่มขืนชำเรา เป็นต้น บางครั้งก็ตกอยู่ใต้อำนาจของตัณหา คือความทะยานอยากอย่างแรงกล้า บางครั้งก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอุปาทาน เหตุนั้น เมื่อกิเลสมีโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทานเกิดขึ้น เราต้องไม่ทำอะไรไปตามอำนาจกิเลสตัณหานั้น เราอดได้ทนได้ จึงเรียกว่า เราเตรียมใจก่อนสู้

เมื่อชีวิตคือความหวัง ชีวิตคือการต่อสู้อย่างนี้ ทำอย่างไรเราจึงจะมีกำลังใจในการต่อสู้ เราต้องมีคุณธรรมเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ต้องมีคุณธรรมประจำใจ เพราะว่าเราขาดคุณธรรมประจำใจแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะต่อสู้ได้

สำหรับคุณธรรมประจำใจ ที่ทำให้จิตใจของเรากล้าหาญนั้น เรียกว่า เวสารัชชกรณธรรม คือธรรมอันทำใจให้กล้าหาญ มีอยู่ ๕ ประการ คือ
๑.สัทธา (ศรัทธา) ความเชื่อมี ๔ อย่าง คือ
        ๑) กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว
     ๒) วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม คือเชื่อว่าผลที่ได้รับ มีความสุขความเจริญ ความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่าผลของความดีความชั่วที่เราทำไว้
     ๓) กัมมัสสกตาสัทธา ความเชื่อที่ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตัว คือสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่เหมือนกัน บางคนก็ยากจนข้นแค้นอนาถา บางคนก็มั่งมีศรีสุข บางคนมีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงามมีจิตใจสมบูรณ์ มีปัญญาดี มีไหวพริบดี มีความฉลาดดี บางคนก็เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา คนทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดมา ไม่เหมือนกันเช่นนี้ เพราะกรรมจำแนกให้เป็นไปต่างกัน ดังวจนะประพันธ์พุทธภาษิตว่า
กมฺมํ สตฺเต วิภชติ  ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย กรรมแล ย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย ให้เป็นไปต่างๆ กัน คือให้เลวและประณีต (ม. อุ. ๑๔/๕๙๖/๓๘๕)
     ๔) ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า คือเราเชื่อว่าพระองค์นั้น เป็นพระสยัมภูผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ พระองค์ทรงสอนธรรมะที่ทำผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น ให้ได้ผลตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ
๒.ศีล คือความรักษากายวาจาให้เรียบร้อย
๓.พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ที่ศึกษามามากได้สดับตรับฟังมามาก เมื่อศึกษามาก ความรู้มาก ก็ทำให้จิตใจกล้าหาญ
๔.วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร หมายความว่า เราจะทำการงานอะไรก็ตาม เราก็แข็งใจทำจนสามารถทำงานนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เช่น เราจะทำไร่ทำนา เราจะท่องหนังสือ อ่านหนังสือ ดูหนังสือ เราจะเจริญสมถกัมมัฏฐานก็ตาม วิปัสสนากัมมัฏฐานก็ตาม เราต้องแข็งใจทำ ถ้าไม่แข็งใจทำแล้ว ใจของเราก็จะเป็นจิตใจที่อ่อนแอ ไม่มีสมรรถภาพ ไม่มีความเข้มแข็ง แต่เมื่อใดเราประกอบด้วยวิริยารัมภะคือปรารภความเพียร ในการประพฤติปฏิบัติธรรม โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ตายเป็นตาย แข็งใจทำ ก็ทำให้จิตใจของเรามีกำลัง มีอำนาจ มีความกล้าหาญขึ้นมา
๕.ปัญญา คือรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และรอบรู้สิ่งที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ความเสื่อม

เมื่อใด บุคคลทั้งหลายเป็นผู้ประกอบไปด้วยศรัทธา ศีล พาหุสัจจะ วิริยารัมภะ และปัญญา ตั้งมั่นอยู่ในอิทธิบาท ๔ คือมีฉันทะพอใจในการปฏิบัติ มีวิริยะแข็งใจในการปฏิบัติ มีจิตตะตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติ มีวิมังสาฉลาดในการปฏิบัติแล้ว เมื่อนั้น จิตใจของเราย่อมเป็นจิตใจที่เข้มแข็ง เป็นจิตที่กล้าหาญ เป็นจิตที่มีกำลัง สามารถที่จะต่อสู้กับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นได้โดยสะดวกสบาย คือสามารถที่จะต่อสู้กับการงาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยความลำบากตรากตรำ มีตรากตรำแดดฝนเป็นต้น และสามารถที่จะอดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อการล่วงเกินของผู้อื่น อดทนต่อกิเลสตัณหาได้ มีจิตใจเข้มแข็ง เรียกว่า เราเตรียมใจก่อนสู้ เป็นประการที่ ๕

สรุปว่า เมื่อเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามธรรมะดังกล่าวมาแล้ว ทั้ง ๕ ประการ คือ ๑) เตรียมตัวก่อนตาย ๒) เตรียมกายก่อนแต่ง ๓) เตรียมน้ำก่อนแล้ง ๔) เตรียมแบงก์ก่อนไป ๕) เตรียมใจก่อนสู้ ทั้ง ๕ ประการนี้แล้วเรียกว่าเราทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์

ต่อไป ก็ขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติทั้งหลายว่า พระนิพพานนั้นไม่เหมือนกันกับที่เราคิดไว้ เราคิดไว้ว่าพระนิพพานจะเป็นอย่างโน้น พระนิพพานจะเป็นอย่างนี้ เปล่าเลย ไม่เหมือนกันกับที่เราคิดไว้ ฟ้ากับดินถึงแม้จะไกลแสนไกลกัน เราก็ยังมองเห็นได้ แต่สำหรับพระนิพพานนั้น แม้ว่าจะมีอยู่ภายในกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ ก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นได้

เหตุนั้น พระนิพพานนี้ จึงไม่เหมือนกันกับที่เราคิดไว้ เราจะเอาความรู้ขั้นปริยัติมาพิสูจน์ธรรมะขั้นปฏิบัตินั้นไม่ได้ คือเราจะมาพิสูจน์ว่าพระนิพพานนั้นเป็นอย่างไร การบรรลุอริยมรรคอริยผลเป็นอย่างไร การบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เป็นอย่างไร เราพิสูจน์ไม่ได้ เราจะพิสูจน์อย่างไรๆ ก็ไม่ได้

เรามีความรู้ขั้นปริญญาตรี-โท-เอก จะเอาความรู้ขั้นปริญญานี้มาพิสูจน์ก็ไม่ได้ หรือว่าเราเรียนจบนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก เรียนจบพระอภิธรรม จบเปรียญ ๙ จบพระไตรปิฎกก็ตาม เราจะเอาความรู้ด้านปริยัติมาพิสูจน์ขั้นปฏิบัตินั้นไม่ได้ หากว่าท่านทั้งหลายอยากรู้จริงๆ แล้ว ก็ให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนหรือชี้แจงให้ฟังทุกเมื่อเชื่อวัน ให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติตามหลักวิชาการนั้น เมื่อใดท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักวิชาการดังกล่าวมาแล้ว เราก็สามารถที่จะรู้ได้

ดังมีอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งมาประพฤติปฏิบัติ ท่านเรียนจบขั้นปริญญา ก็เอาความรู้ขั้นปริญญามาพิสูจน์อย่างโน้นอย่างนี้ พิสูจน์อย่างไรๆ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ จนหลวงพ่อได้เตือนว่า คุณๆ จะเอาความรู้ขั้นปริยัติมาพิสูจน์ขั้นปฏิบัตินั้นไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ หากว่าคุณอยากรู้จริงๆ แล้วก็ขอให้ปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนทุกวันๆ นี้เถอะ ไม่ช้าไม่นานหรอก เราก็จะสามารถรู้ได้เห็นได้ แกก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตาม ผลสุดท้ายก็หายจากความข้องใจสงสัย

เอาละท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะ เรื่อง เตรียมตัว ๕ ประการ มา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

     เมื่อชำระร่างกาย อย่าลืมชำระล้างใจ
     เมื่อให้อาหารทางกาย อย่าลืมให้อาหารทางใจ
     เมื่อศึกษาทางร่างกาย อย่าลืมศึกษาทางจิตใจ
     เมื่อทำสิ่งต่างๆ ภายนอก อย่าลืมทำความรู้สึกตัวภายใน.
    [๑] สํ.ส. ๑๕/๘๔๕/๓๑๖
     [๒](๒๓/๖/๔-๗ ธมฺมปทฏฺฐกถา ตติโย ภาโค หน้า ๑๒๙)


ลพ.บุญเรือง สารโท

Maintenence:


ความมุ่งหมายของการฟังธรรม

วันนี้ หลวงพ่อจะนำเรื่อง ความมุ่งหมายของการฟังธรรม มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จำเป็นหรือที่พวกเราทั้งหลายจะต้องฟังธรรมะประกอบการปฏิบัติทุกๆ วัน บางท่านก็เห็นว่าไม่จำเป็น เพราะว่าการฟังธรรมะนั้น อาจจะเป็นอุปาทาน ทำให้ติดในทางปริยัติมากเกินไป ทำให้การปฏิบัตินี้ลดหย่อนผ่อนลงไปเช่นนี้ก็มี

แต่บางท่านก็เห็นว่า ควรที่จะฟังทุกวัน ถ้าวันไหนไม่ได้ฟังธรรม วันนั้นจะรู้สึกว่าหมดกำลังใจ หรือทำให้การปฏิบัตินี้กร่อยลงไป ไม่กระฉับกระเฉง อาจจะคิดอย่างนี้ก็มี

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็มีทั้งดีและไม่ดีรวมกัน คือการฟังทุกวัน ถ้าเราฟังให้เป็นก็เกิดประโยชน์เหมือนกัน ถ้าเราฟังไม่เป็นก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าไม่มีการฟังการบรรยายธรรมะเลย แต่เราตั้งอกตั้งใจรู้หลักการรู้วิธีการ ได้ศึกษาปริยัติมามากพอสมควร ทำให้การปฏิบัติของเรานี้ได้ผลเหมือนกัน ขอทำความเข้าใจเพียงเท่านี้

สำหรับความมุ่งหมายของการฟังธรรมนั้น มีอยู่หลายสิ่งหลายประการ แต่จะนำมาบรรยายประกอบการปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายในวันนี้ เพียง ๔ ประการ คือ ๑.ฟังเพื่อเอาความรู้ ๒.ฟังเพื่อเอาบุญ ๓.ฟังเพื่อเป็นอุปนิสัย ๔.ฟังเพื่อนำไปปฏิบัติ มีอธิบายดังนี้

๑.ฟังเพื่อเอาความรู้ คือการฟังนี้ทำให้เกิดความรู้เกิดความฉลาดขึ้นมา ความรู้จะเกิดขึ้นแก่เรานั้นมีอยู่ ๓ ทางคือ
     ๑) สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการฟัง เรียกว่า สุตาญาณ คือความรู้ที่เกิดขึ้นทางหู เราได้ยินทางหู เมื่อได้ยินได้ฟังก็เกิดความรู้ขึ้นมา เกิดความจำได้ขึ้นมา ความรู้ขั้นนี้ ยังอยู่ในขั้นสัญญา คือเป็นแต่เพียงจำได้
     ๒) จินตมยปัญญา ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการคิด คือเราฟังแล้วนำมาคิดอีกทอดหนึ่ง สมมติว่าเราได้ยินท่านเทศน์ว่า รูปนามขันธ์ ๕ นี้เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงต้องดับไป เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ต้องดับไป

เราฟังแล้ว ก็นำมาคิดต่ออีกว่า รูปนามนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จริงหรือ เราคิดไปๆ ก็เกิดความรู้ขึ้นมา ความรู้อย่างนี้เรียกว่า จินตมยปัญญา หรือจินตาญาณ

ความรู้ขั้นนี้ เป็นความรู้ที่กระตุ้นเตือนจิตของเราให้มีอุตสาหะในการที่จะประพฤติปฏิบัติต่อไป เช่น เราได้ฟังธรรมว่า ถ้าหากว่าผู้ใดเป็นผู้มีความโกรธเป็นเรือนใจ หรือว่าเป็นผู้มากไปด้วยความโกรธ อยู่ในโลกนี้ก็ตกนรกแล้ว ถ้าตายจากโลกนี้ไปก็ไปตกนรกอีก เพราะว่า นรก แปลว่าผู้มีความร้อนใจเหมือนไฟเผา ถ้าผู้ใดมีความร้อนใจเหมือนไฟเผา หรือว่ามีความร้อนใจด้วยอำนาจของโทสะ อยู่ในมนุษย์นี้ก็ตกนรกแล้ว ตายแล้วก็ไปตกนรกจริงๆ

ผู้ใดมีความโลภประจำขันธสันดาน เป็นผู้มากไปด้วยโลภะคือความโลภ ไม่รู้จักพอ อยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตนในทางทุจริต ผู้มีจิตคิดเช่นนี้ อยู่ในโลกนี้ก็เป็นเปรตแล้ว ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นเปรต

ถ้าผู้ใดมีความกลัว หมายความว่า มีความโลภแล้วยังไม่พอ ก็เกิดความกลัวขึ้นมา เช่นว่า เราไปโกหกพกลม ต้มตุ๋นเขาไม่สำเร็จ กลัวจะประพฤติทุจริตไม่สำเร็จ กลัวขโมยของเขาไม่สำเร็จ หรือทำอะไรในทางทุจริตมาแล้ว ก็กลัวว่าจะถูกปรับไหมใส่โทษ จองจำพันธนาการติดคุกติดตะราง ผู้ที่มีความกลัวเป็นเรือนใจอย่างนี้ หรือฝังอยู่ในจิตใจเช่นนี้ อยู่ในโลกนี้ก็เป็นอสุรกายแล้ว ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นอสุรกาย

ถ้าผู้ใดมีใจมากไปด้วยโมหะ มืดมนอนธการ ไม่รู้จักผิดชอบ ชั่วดี บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้จักประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้จักประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ลืมคุณท่านผู้มีพระคุณ ไม่รู้จักคุณพ่อคุณแม่เป็นต้น ผู้มีจิตประกอบไปด้วยโมหะเช่นนี้ อยู่ในโลกนี้ก็เป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว ใจเกิดในภูมิของสัตว์เดรัจฉานแล้ว เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็ไปบังเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ฟังเช่นนี้แล้วก็นำมาคิดอีกทอดหนึ่ง เมื่อมาคิดไปๆ ก็เกิดความรู้ขึ้นมาว่าเป็นจริง ตามที่ท่านเทศน์จริงๆ เกิดความรู้ขึ้นมาเช่นนี้ ฉุกคิดขึ้นมาเช่นนี้ ความรู้ขั้นนี้แหละเป็นแรงกระตุ้นเตือนใจของเรา ให้เรานั้นมีความอุตสาหะในการที่จะประพฤติปฏิบัติ มีความอุตสาหะที่จะละความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา นี้เรียกว่า จินตมยปัญญา

     ๓) ภาวนามยปัญญา หรือภาวนาญาณ เป็นความรู้ที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อเราเจริญวิปัสสนา มีสติสัมปชัญญะ มีความเพียร พร้อมด้วยองค์คุณทั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาถึง ๑๖ ประการคือ
        (๑) นามรูปปริเฉทญาณ ปัญญาที่พิจารณาแยกรูปแยกนามออกจากกันได้
        (๒) ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปนาม
        (๓) สัมมสนญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยจินตาญาณ
        (๔) อุทยัพพยญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม
        (๕) ภังคญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม
        (๖) ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว
        (๗) อาทีนวญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม
        (๘) นิพพิทาญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้วเกิดความเบื่อหน่าย
        (๙) มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่าย อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากรูปนาม
        (๑๐) ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่พิจารณาหาทางหลุดพ้นไปจากรูปจากนาม จิตใจเข้มแข้ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอามรรคผลพระนิพพานให้ได้
        (๑๑) สังขารุเปกขาญาณ ปัญญาที่วางเฉยต่อรูปนาม
        (๑๒) สัจจานุโลมิกญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เตรียมตัวเข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน โดยอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง
        (๑๓) โคตรภูญาณ ปัญญาที่ตัดขาดจากโคตรปุถุชนเข้าสู่โคตรของพระอริยเจ้า คือพระโสดาบัน หน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์
        (๑๔) มัคคญาณ ปัญญาที่ตัดกิเลสขาดเป็นสมุจเฉทปหาน
        (๑๕) ผลญาณ ปัญญาที่สืบเนื่องมาจากมรรค เสวยผลกำไรที่มรรคปหานกิเลสไว้แล้ว
        (๑๖) ปัจจเวกขณญาณ ปัญญาพิจารณามรรค ผล พระนิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และยังเหลืออยู่

ปัญญาทั้ง ๑๖ ขั้นนี้ จะเกิดเฉพาะผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น เมื่อใดเราเจริญวิปัสสนาภาวนา ทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ก็จะเกิดปัญญาทั้ง ๑๖ ขั้นนี้ขึ้นมาทันที เมื่อปัญญาทั้ง ๑๖ ขั้นเกิดขึ้นมาครั้งที่หนึ่ง เราก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ดังตัวอย่างพระสารีบุตร

ท่านพระสารีบุตร เมื่อครั้งยังเป็นอุปติสสะมาณพ ไปพบกับพระอัสสชิ เห็นอิริยาบถของพระอัสสชิเรียบร้อยน่าเลื่อมใส ใคร่จะถามถึงครูอาจารย์ที่เป็นผู้สอน แต่ไม่กล้าที่จะถามในขณะที่ท่านกำลังเดินเที่ยวภิกขาจารอยู่

เมื่อท่าน (พระเถระ) กลับ จึงเดินสะกดรอยตามไป หลังจาก (พระเถระ) เสร็จจากฉันบิณฑบาตแล้ว ท่านอุปติสสะหรือพระสารีบุตรนี้ก็เข้าไปถามว่า ท่านขอรับ อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ท่านบวชจำเพาะใคร ใครเป็นศาสดาเป็นครูสอนของท่าน ศาสดาของท่านสอนอย่างไร

พระอัสสชิเถระก็ตอบว่า ผู้มีอายุ ก็เราบวชเฉพาะพระสมณะโคดม ซึ่งออกบวชจากศากยสกุล ท่านนั้นแลเป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมะของท่าน

แล้วท่านอุปติสสะก็ถามว่า ครูของท่านสอนว่าอย่างไร

ท่านผู้มีอายุ เราเพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยใหม่ๆ ไม่สามารถที่จะแสดงพระสัทธรรมเทศนาให้ท่านฟังโดยพิสดารได้ เราจะกล่าวแต่หัวข้อ

ท่านผู้เจริญ ท่านไม่จำเป็นต้องกล่าวให้มากเลย ท่านกล่าวเฉพาะหัวข้อเถิด ข้าพเจ้าต้องการเฉพาะหัวข้อ

ท่านพระอัสสชิก็แสดงธรรมให้อุปติสสะมาณพฟังว่า

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา  เตสํ เหตุํ ตถาคโต
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับไปแห่งธรรมเหล่านั้น
(วิ.๔/๖๕/๗๔)

อุปติสสะมาณพก็ได้ดวงตาเห็นธรรมทันที ได้เกิดปัญญาขึ้นมาทันทีว่า ในพระศาสนานี้สอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อจะเกิดก็เพราะมีเหตุเกิดก่อน เมื่อจะดับก็เพราะเหตุดับก่อน ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็มีความดับไปเป็นธรรมดา ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

นี้แลท่านทั้งหลาย ความรู้ที่กล่าวมานี้ จะเกิดขึ้นเฉพาะผู้เจริญวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น และก็ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ความรู้ที่เกิดขึ้นแก่เรานั้น เป็นความรู้ชนิดไหนเกิดขึ้นจึงถือว่าได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

คือถ้ามีความรู้เกิดขึ้นเพราะการฟัง เป็นสุตาญาณนี้ก็จัดว่ายังไม่เป็นการบรรลุ แต่ถ้าความรู้ประเภทใดเกิดขึ้นแก่เราแล้วสามารถที่จะเปลี่ยนจิตใจของเราได้ คือความรู้ประเภทนี้ เมื่อเกิดขึ้นมา ความโลภ ความโกรธ ความหลงหมดไป จิตใจก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน เหมือนกลับหน้ามือเป็นหลังมือ

เมื่อก่อนนั้นเป็นปุถุชนอยู่ แต่ถ้าความรู้ประเภทนี้เกิดขึ้นมาแล้วความเป็นปุถุชนนั้นหมดไปสูญไป ความเป็นอริยบุคคลนั้นเกิดขึ้นมาทันที

สรุปเอาสั้นๆ ว่า ความรู้ที่เกิดขึ้นแก่เรา ที่ท่านว่าบรรลุๆ นั้น ก็คือเมื่อความรู้ประเภทนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลงหมดไป นิสัยก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน เหมือนกลับหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้าความรู้ประเภทนี้เกิดขึ้นมาเมื่อใด ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้จำไว้เถิดว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว อันนี้เป็นประเภทที่ ๑

๒.ฟังเพื่อเอาบุญ การฟังธรรมนี้ได้บุญอย่างไร ได้บุญอย่างนี้คือ ในขณะที่เราฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่นี้ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ของเราบริสุทธิ์ดี เป็นศีลแล้ว ศีลนี้เป็นศีลในองค์มรรค เป็นศีลที่จะทำให้เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

แต่ศีลที่พากันสมาทานอยู่ทุกวันนี้ ยังไม่ได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเลย เรียกว่าเป็นปกติศีล มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เช่น เราไม่ฆ่าไก่ ก็มีไก่เป็นอารมณ์ ไม่ฆ่าปลา ก็มีปลาเป็นอารมณ์ ไม่ดื่มสุราเมรัย ก็มีสุราเมรัยเป็นอารมณ์ นั้นยังเป็นปกติศีลอยู่ ยังไม่สามารถที่จะทำให้ได้บรรลุมรรคผล

แต่ศีลที่เกิดขึ้นแก่เราในขณะที่เจริญกัมมัฏฐาน สมมติว่าท่านทั้งหลายนั่งฟังการบรรยายธรรมอยู่ในขณะนี้ ก็กำหนดไปด้วยว่า ได้ยินหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ หรือว่า รู้หนอๆ คำใดคำหนึ่ง กำหนดตามไปอย่างนี้ ศีลที่เกิดขึ้นแก่เราในขณะนี้ เป็นปรมัตถศีล มีรูปนามเป็นอารมณ์ เป็นศีลในองค์มรรค เป็นศีลที่จะให้เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

ในขณะที่เราฟังการบรรยายธรรมอยู่นั้น จิตใจของเราจดจ่อ ไม่เผลอจากธรรมะที่บรรยายนั้น เป็นสมาธิ คือเป็นขณิกสมาธิ สมาธิขั้นนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว สามารถที่จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่เราฟังธรรมอยู่นั้น ถ้าเกิดความรู้ขึ้นมา หมดความสงสัย มีความเข้าใจ จิตใจของเราเกิดปีติ มีความผ่องใส มีความเห็นถูกนั้นเป็นปัญญา การฟังเทศน์ฟังธรรมได้บุญอย่างไร มีอุทาหรณ์ที่ท่านกล่าวไว้ในมงคลทีปนีว่า

มีแม่ไก่ตัวหนึ่ง ได้ฟังพระท่านสอนธรรมะอยู่ที่โรงธรรมสภาศาลา ในขณะที่พระสอนธรรมนั้น แม่ไก่ตัวนั้นก็เงี่ยหูฟังธรรมไปด้วยความดีใจ เพลิดเพลินไปกับเสียงพระสอนธรรม บังเอิญในขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งบินผ่านมาเห็นแม่ไก่ตัวนั้นแล้วก็บินโฉบลงมาฉวยเอาคอไก่ตัวนั้นตายไป และในขณะที่แม่ไก่ตัวนั้นจะตาย เผอิญได้เห็นพระธิดาของพระราชากำลังเสด็จเลียบพระนคร

เมื่อจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ก็ไปบังเกิดเป็นพระธิดาของกษัตริย์ในพระนครนั้น เพราะเหตุไร แม่ไก่แท้ๆ จึงสามารถไปเกิดเป็นคน เป็นธิดาพระมหากษัตริย์ได้ ก็เพราะค่าที่แม่ไก่ตัวนั้นมีความปลื้มปีติใจในการที่พระท่านสอนธรรมะ และมีความดีใจที่ได้ฟังพระท่านสอนธรรมะนั้น ค่าที่มีความดีใจในธรรมะที่ตนฟังอยู่นั้นแหละ เป็นกรรม เป็นกรรมนิมิต เป็นคตินิมิต เกิดเป็นธิดาของพระมหากษัตริย์

เมื่อเกิดเป็นธิดาพระมหากษัตริย์แล้ว เจริญวัยขึ้นมา ออกบวชเจริญสมถกัมมัฏฐาน ได้ฌานโลกีย์ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลก จุติจากพรหมโลกมาเป็นลูกเศรษฐี จุติจากลูกเศรษฐีมาเกิดเป็นลูกสุกรบ้าน

เห็นพระพุทธเจ้าแล้วมีความยินดี ด้วยความยินดีที่เห็นพระพุทธเจ้านั้น จุติจากลูกสุกรบ้านนั้นจึงไปบังเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์ จุติจากธิดาของกษัตริย์มาเกิดในบ้านคามวาสี จุติจากบ้านคามวาสีมาเกิดเป็นลูกพ่อค้า จุติจากความเป็นลูกพ่อค้ามาเกิดเป็นลูกนายสำเภา จุติจากความเป็นลูกของนายสำเภามาเกิดที่เมืองอนุราธบุรี เป็นธิดาของกุฎุมพีในเมืองอนุราธบุรีชื่อว่า สุมนา เมื่อนางเจริญวัยขึ้นมาได้เป็นภรรยาของอำมาตย์ในเมืองอนุราธบุรีนั้น

วันหนึ่ง ท่านอุตตระเถระพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ไปบิณฑบาตด้วยกัน เห็นนางจึงกล่าวกะภิกษุรูปหนึ่งว่า ท่านขอรับ ลูกสุกรบ้านมาเกิดที่นี้อีกแล้ว พอนางได้ฟังท่านพระเถระกล่าวว่าตนนั้นเป็นลูกสุกรบ้าน ก็เกิดความสังเวชสลดใจจึงไปลาสามีออกบวช เมื่อสามีอนุญาตแล้วก็ออกบวช ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน

นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นได้บุญได้อานิสงส์ ดังกล่าวมาแล้วนี้

นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องกบฟังธรรม มีกบตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ที่ริมสระโบกขรณี วันหนึ่ง ในขณะที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่เหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย กบตัวนั้นพอได้ยินเสียงแสดงธรรมของพระพุทธองค์ก็เกิดความดีใจเงี่ยหูฟังธรรมไปๆ

ในขณะนั้น มีคนเลี้ยงโคผ่านมาโดยที่ไม่ได้พิจารณา ไม้เท้าที่ถืออยู่ก็ไปถูกกบตัวนั้นตาย เมื่อกบตัวนั้นตายไปแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก ชื่อว่า มัณฑุกเทพบุตร แปลว่า เทพบุตรกบ เทพบุตรนั้นก็พิจารณาว่า สมบัติอันเป็นทิพย์ทั้งปวงนี้ เราได้เพราะบุญอะไรหนอแล อนุสรณ์ย้อนระลึกถึงหนหลังถึงอดีตกาลที่ผ่านมาก็ทราบได้ว่า ไม่ได้ทำบุญทำทานอะไรไว้เลย เพียงแต่ว่าเมื่อครู่นี้ได้ฟังเทศน์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดง ด้วยความดีใจ แต่บังเอิญถูกคนเลี้ยงโคฆ่าตาย จึงได้มาเกิดเป็นเทพบุตรในที่นี้ ด้วยบุญเพราะความเลื่อมใสในพระสัทธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแท้ๆ

นึกถึงพระคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ลงมาเฝ้ากราบแทบเบื้องยุคลบาทขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถอยู่ พระองค์ได้ตรัสว่า โก เม วนฺทติ ปาทานิ ใครหนอไหว้เท้าเราอยู่เดี๋ยวนี้

พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เมื่อครู่นี้ เป็นกบอยู่ริมสระโบกขรณี ได้ฟังสมเด็จพ่อเทศน์ด้วยความดีใจ แต่บังเอิญถูกพวกคนเลี้ยงโคฆ่าตาย จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรนึกถึงพระคุณของสมเด็จพ่อ จึงได้ลงมาเฝ้า เพื่อสมเด็จพ่อจะได้เทศน์โปรด

พระองค์ก็ทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาให้ฟัง เทพบุตรนั้นก็ส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนา ที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมได้ผลได้อานิสงส์ ดังกล่าวมาแล้ว นี้เป็นประการที่ ๒

๓.ฟังเพื่อเป็นอุปนิสัย การฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นอุปนิสัยได้อย่างนี้ คือ สมมติว่าท่านทั้งหลาย นับตั้งแต่วันแรกที่เราได้เข้าปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เราได้ฟังธรรมไปหลายเรื่องแล้ว เมื่อฟังแล้วเราก็จำได้ การจำได้นั่นแหละเป็นอุปนิสัยแล้ว

ถ้าวันหน้า เดือนหน้า ปีหน้า เราบังเอิญได้ไปฟังธรรมะเรื่องนั้นๆ อีก เราก็จำได้ทันทีว่า ธรรมะเรื่องนี้มีความหมายอย่างนี้ๆ เหตุนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนา พระองค์ต้องตรวจดูอุปนิสัยของผู้ฟังก่อนว่า ผู้นี้บุคคลนี้ เมื่อก่อนโน้นเขาได้ทำบุญทำทานไว้อย่างไร จะแสดงพระสัทธรรมเทศนาเรื่องอะไรจึงจะเกิดประโยชน์โสตถิผลแก่เขา

เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้วจึงทรงได้นำเอาธรรมะเรื่องนั้นมาเทศน์มาแสดงให้ฟัง เมื่อฟังแล้วก็ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลทันที เพราะเหตุไรจึงได้บรรลุ ก็เพราะว่าธรรมะเรื่องนั้น ได้เคยฟังมาแล้วแต่ภพก่อนชาติก่อน ได้บำเพ็ญไว้เป็นอุปนิสัยปัจจัยแล้ว

การฟังเทศน์จะเป็นอุปนิสัยปัจจัยอย่างไรนั้น จะยกเรื่องที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมบท ขุททกนิกาย มาเป็นอุทาหรณ์ มีเรื่องเล่าไว้ว่า

ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า มีงูเหลือมใหญ่ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในโพรงไม้ใกล้โรงธรรมสภาศาลา วันหนึ่ง ได้ฟังพระท่านได้สาธยายธรรมะเรื่อง อายตนกถา งูเหลือมใหญ่ตัวนั้น ก็เงี่ยหูฟังด้วยความดีอกดีใจ ค่าที่ฟังธรรมะด้วยความดีอกดีใจนั่นแล จุติจากอัตภาพนั้นแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก

สํสรนฺโต ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ เมื่อถึงศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ จุติลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ ในตระกูลพราหมณ์ในเมืองปาฏลีบุตร เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ได้ออกบวชเป็นนักบวชนอกศาสนาชื่อโสณาชีวก เจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้อภิญญาโลกีย์ พระเจ้าวินทุสารผู้ครองราชสมบัติได้ถวายพระองค์เป็นตระกูลอุปัฏฐาก

วันหนึ่ง พระมเหสีของพระองค์ทรงครรภ์ เกิดอาการแพ้ท้องขึ้นมา คือพระนางอยากเหยียบพระจันทร์ด้วยพระบาทเบื้องหนึ่ง อยากเหยียบพระอาทิตย์ด้วยพระบาทอีกเบื้องหนึ่ง อยากเสวยหมู่ดาวนักขัตฤกษ์ รากดิน ไม้ใหญ่ พอดีพระเจ้าวินทุสารทรงทราบเช่นนั้นก็ทรงดีพระทัย จัดทำพิธีกรรมเพื่อให้พระนางหายแพ้ท้อง คือทรงตรัสสั่งให้คนทั้งหลายทำขนมเบื้องเป็น ๒ แผ่นใหญ่

เมื่อทำเสร็จแล้วก็นำไปถวายพระนางแล้วบอกว่า นี้เป็นพระอาทิตย์ นี้เป็นพระจันทร์ เสร็จแล้วก็ให้คนทั้งหลายทำขนมต้มที่มีสีดังดาว และทำขนมแดกงาซึ่งมีลักษณะเหมือนเหง้าไม้และรากดินที่จะเสวย เมื่อทำเสร็จแล้วก็ให้คนทั้งหลายกวาดหน้าพระลานหลวง แล้วเอาเสื่อลำแพนมาเจาะเป็นรูๆ แล้วเอาขนมยัดใส่ตามช่องนั้นๆ นำถวายพระนางให้ทรงเสวย เมื่อเสวยแล้ว อาการแพ้ท้องนั้นก็หายไป

วันหนึ่ง พระเจ้าวินทุสารมีพระประสงค์อยากทราบว่า เพราะเหตุไร พระมเหสีจึงมีอาการแพ้ท้องอย่างนี้ จึงตรัสถามโสณาชีวก โสณาชีวกก็ถวายพระพรแก่พระราชาว่า พระราชกุมาร ที่อยู่ในพระครรภ์ของพระมเหสีนี้ จะเป็นผู้มีบุญญาวาสนาบารมี เมื่อเจริญวัยขึ้นมาแล้ว จะขึ้นครองราชสมบัติ จะครอบงำพระยาทั้งหลายทั้ง ๑๐๑ พระองค์ จะมีอำนาจแผ่ไปทั้งเบื้องบนและท่ามกลางได้ถึง ๑ โยชน์

เมื่อโสณาชีวกพยากรณ์แล้ว ก็ออกจากเมืองปาฏลีบุตรไปไกลถึง ๑ โยชน์ เพื่อให้พ้นจากอำนาจของพระราชกุมาร เมื่อถ้วนทศมาสแล้ว พระนางก็ประสูติพระราชโอรส ได้ทรงขนานพระนามโอรสว่า อโศกราชกุมาร เมื่อพระกุมารเจริญวัยขึ้นมา ได้ครองราชย์สมบัติแทนพระราชบิดา

อยู่มาวันหนึ่ง พระมารดาได้เล่าเรื่องทั้งหมดนั้นให้พระกุมารฟัง อโศกราชกุมารมีความประสงค์อยากจะทำการบูชาโสณาชีวก จึงสั่งให้คนทั้งหลายเอาคานทองไปเชิญเอาโสณาชีวกมาสู่พระราชวัง เมื่อโสณาชีวกรับแล้วก็ขึ้นสู่คานทอง คนทั้งหลายก็หามมาตามมรรคา แต่บังเอิญหนทางที่มานั้นต้องผ่านวัดแห่งหนึ่งของท่านพระอัสสคุตต์เถระ พระอัสสคุตต์เถระนั้นเป็นพระอรหันต์อภิญญาที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม

บรรดาสัตว์ป่าทั้งหลายจึงมาอาศัยวัดท่านอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อโสณาชีวกไปถึงวัดของท่านแล้วก็ลงจากคานหามเดินเข้าไปภายในวัด แล้วก็เกิดความฉงนสนเท่ห์ว่า สัตว์เหล่านี้มาอยู่รวมกันที่นี้ได้อย่างไรเป็นจำนวนมากมายถึงขนาดนี้ แล้วต่างตัวต่างก็เป็นมิตรกัน เช่น พวกสุนัขจิ้งจอก ราชสีห์ พวกเสือ อย่างนี้ ตามปกติมันจะเป็นศัตรูกัน แต่ในที่นี้เป็นมิตรกันได้อย่างไร มีความสงสัย แล้วก็เข้าไปถามท่านพระอัสสคุตต์เถระว่า

ท่านขอรับ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ชื่ออะไร มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร

แทนที่ท่านพระอัสสคุตต์เถระจะตอบในทันทีก็หาไม่ ท่านได้ใช้ปัญญาของท่านที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว ระลึกถึงอดีตกาลที่ผ่านมา ว่าเมื่อก่อนโน้น โสณาชีวกนี้ได้เคยทำบุญทำทานไว้อย่างไร ให้คำตอบอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์แก่ชีวกนี้

เมื่อระลึกไปๆ ท่านก็ทราบด้วยปัญญาญาณของท่านว่า เมื่อครั้งศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ชีวกนี้ได้เป็นงูเหลือมใหญ่อยู่ในโพรงไม้ ได้ฟังพระท่านสาธยายซึ่ง อายตนกถา หากว่าเราพูดเรื่องอายตนะแล้ว โสณาชีวกนี้จะเกิดหิริโอตตัปปะ เกิดความเลื่อมใส และจะบรรลุคุณอันใหญ่หลวง

เมื่อท่านทราบเช่นนี้แล้วก็ตอบโสณาชีวกว่า ดูก่อนโสณาชีวก สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ชื่อ อายตนะ พอโสณาชีวกได้ฟังว่า สัตว์เหล่านี้ชื่อ อายตนะ เท่านั้น ก็เกิดหิริโอตตัปปะ มีความละอายบาป มีความสะดุ้งกลัวต่อบาปขึ้นมาทันที นั่งยองๆ จะกราบพระเถระ ท่านก็โยนผ้าอาบน้ำให้ แล้วก็กราบท่านขอบวชในสำนักของท่าน เมื่อบวชแล้วก็ได้เจริญวิปัสสนา สำเร็จเป็นพระอรหันต์

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นเป็นอุปนิสัยปัจจัยดังกล่าวมา เหตุนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมหรือว่าการทำบุญทำทานต่างๆ นั้น พวกเราจึงนิยมการฟังธรรม เช่นทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรือว่าจัดงานมงคลที่ไหนขึ้นมา หากว่างานมงคลนั้นๆ ไม่มีการเทศน์ ไม่มีการบรรยายธรรมะ งานจะกร่อยขึ้นมาทันที จืดชืดไม่มีรสไม่มีชาดขึ้นมา

พวกเราทั้งหลายจึงได้ถือเป็นประเพณี คือเมื่อมีงานมงคลที่ไหน ตลอดถึงงานศพก็ตาม จึงมีการฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัย ส่งต่อกันไปตามลำดับๆ จนกว่าจะได้บรรลุอมตธรรม การฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัยดังกล่าวมานี้เป็นประการที่ ๓

Maintenence:


ความมุ่งหมายของการฟังธรรม (ต่อ)


๔.ฟังเพื่อนำไปปฏิบัติ โดยจำแนกออกเป็น ๒ คือ
     ๑) ฟังแล้วจำไว้ เมื่อมีโอกาสจะได้นำมาปฏิบัติ
     ๒) ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมชั้นสูง เราฟังในขณะนี้แล้วก็ปฏิบัติในขณะนี้ทันที เหมือนดังท่านทั้งหลายที่นั่งฟังการบรรยายธรรมอยู่ในขณะนี้

ท่านทั้งหลายที่นั่งฟังการบรรยายธรรมอยู่ในขณะนี้ ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูง คือเจริญวิปัสสนาภาวนา เมื่อเป็นเช่นนี้ ในขณะที่เราฟังธรรมอยู่นี้ ก็ปฏิบัติในขณะนี้ได้เลยทันที เพราะเหตุไรจึงว่าอย่างนี้ เพราะว่าการปฏิบัติพระวิปัสสนากรรมฐานนั้น เราเอารูป เอานามเป็นอารมณ์

ในขณะที่ฟังการบรรยายธรรมะอยู่ในขณะนี้ รูปนามเกิดพร้อมหมดแล้ว คือเสียงที่หลวงพ่อบรรยายธรรมะอยู่นี้ก็เป็นรูป หูของท่านทั้งหลายเป็นรูป ใจของท่านทั้งหลายที่รู้ธรรมะนี้ก็เป็นนาม รูปนามเกิดขึ้นพร้อมกันหมดแล้ว เหตุนั้นเมื่อท่านทั้งหลายฟังไปๆ กำหนดไปๆ ว่าได้ยินหนอๆ หรือว่ารู้หนอๆ หรือว่าพุทโธๆ ตามไป ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย เมื่อเราฟังไป หากว่ามัคคจิตผลจิตเกิดขึ้นก็ได้บรรลุ หากว่าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับฌานวิถี ก็เป็นสมาบัติไปทันที

การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้น เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลอย่างไร เราทั้งหลายได้ศึกษามาแล้ว เช่นว่า เราได้ศึกษามาในเรื่องพุทธประวัติ เราก็จะเห็นว่าพวกปัญจวัคคีย์ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันก็ดี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ดี ก็เพราะการฟังธรรม

พระยสะพร้อมทั้งบิดามารดา และสหายทั้ง ๕๕ คน ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันหรือพระอรหันต์ ก็เพราะการฟังธรรม พระเจ้าพิมพิสารกับทั้งบริวารจำนวน ๑๑ หมื่น (๑๑ นหุต) ได้บรรลุธรรมาภิสมัย ก็เพราะการฟังธรรมทั้งนั้น

ข้อนี้เพื่อเป็นตัวอย่างอุทาหรณ์ให้เด่นชัดขึ้น จึงจะได้นำเรื่องของ พาหิยทารุจีริยะ มาแสดง

มีเรื่องเล่าไว้ว่า มีตระกูลอยู่ตระกูลหนึ่งมีบุตรชายอยู่คนหนึ่งชื่อว่า พาหิยะ เมื่อเขาเจริญวัยขึ้นมา บิดาก็ได้ตายไป พาหิยะนั้นอยู่กับมารดาเรื่อยมา วันหนึ่งเขาอยากไปกับพวกพ่อค้าสำเภาจึงไปลามารดา แต่มารดาไม่อนุญาต ถึงมารดาไม่อนุญาตเขาก็หาฟังไม่ ได้ไปกับพวกพ่อค้าสำเภาทั้งหลาย

เมื่อเรือสำเภาแล่นไปกลางทะเลเป็นเวลา ๗ วัน เรือก็ได้อับปางจมลงในมหาสมุทร บรรดาคนทั้งหลายที่อยู่ในเรือนั้นก็ต่างว่ายน้ำเอาตัวรอด บางคนก็เป็นอาหารของพวกปลาพวกเต่าไป บ้างก็จมน้ำตาย แต่บังเอิญพาหิยะนี้ได้กระดานแผ่นหนึ่ง อาศัยแหวกว่ายไปในมหาสมุทรนั้น เครื่องนุ่งห่มก็หลุดลุ่ยไปหมด

เขาได้ล่องลอยตามกระแสน้ำได้ ๗ วันก็ถึงฝั่ง ขึ้นไปบนบ้านแห่งหนึ่ง และบ้านที่เขาขึ้นไปนั้นเป็นบ้านที่นับถือผู้ที่ไม่นุ่งไม่ห่มว่าเป็นพระอรหันต์ พอพาหิยะเข้าไปเท่านั้น ประชาชนทั้งหลายก็พากันมากราบไหว้ว่า พระคุณเจ้าของเรามาแล้ว พระอรหันต์ของพวกเรามาแล้ว ต่างก็พากันมากราบไหว้สักการะบูชา นำจตุปัจจัยไทยธรรมมาถวาย

พาหิยะก็คิดว่า การไม่นุ่งไม่ห่มนี้ เขาถือว่าเป็นพระอรหันต์ อย่ากระนั้นเลย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะไม่นุ่งไม่ห่มละ ก็เที่ยวเตร่ไปๆ มาๆ แสดงตนเป็นอรหันต์

ร้อนถึงพระพรหมบนพรหมโลก ซึ่งเมื่อก่อนได้เคยปฏิบัติธรรมร่วมกัน ได้เป็นพระอนาคามีแล้วไปบังเกิดอยู่ในพรหมโลก ลงมาบอกว่า ดูก่อนพาหิยะทารุจีริยะ เพศที่เธอถืออยู่นี้ ไม่ใช่เพศของพระอรหันต์ เป็นอเจลกะเปลือย เป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา โน้นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นแล้วในโลก อยู่ที่เมืองสาวัตถี

พอพาหิยะได้ฟังดังนั้นก็เกิดความละอายขึ้นมาในจิตใจ เกิดความสลดสังเวชในจิตใจ จึงได้ออกวิ่งทันที วิ่งตลอดทั้งคืน พอดีรุ่งเช้าก็ไปถึงกรุงสาวัตถี ซึ่งเป็นเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกเที่ยวภิกขาจาร

พาหิยะนั้น กำลังเหนื่อยกระหืดกระหอบอยู่นั้นเอง ก็เข้าไปกราบแทบพระยุคลบาทของพระพุทธองค์แล้วกราบทูลว่า ขอพระองค์จงได้ทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาให้ข้าพระองค์ได้ฟังด้วยเถิด

พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนพาหิยะ ขณะนี้เราตถาคตกำลังเที่ยวบิณฑบาต เมื่อตถาคตกลับจากบิณฑบาตเสียก่อนแล้วจึงค่อยฟัง

พระพุทธเจ้าข้า ถ้าอย่างนั้น ข้าพระองค์อาจจะตายก่อน หรือมิฉะนั้น พระองค์อาจจะปรินิพพานเสียก่อนก็ได้

พระองค์จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เธอจงตั้งใจฟังให้ดี แล้วพระองค์จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่า “ดูก่อนพาหิยะทารุจีริยะ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน” พาหิยะก็ได้กำหนดตามไปว่า เห็นหนอๆ ได้ยินหนอๆ สองคำเท่านั้นแหละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายพาหิยะก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระองค์ทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทาง ขิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้เร็ว

นี้แลท่านทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นได้บรรลุอริยมรรคอริยผลอย่างนี้ เมื่อพาหิยะได้ฟังธรรมได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ไปแสวงหาผ้าเพื่อจะมาขอบวช ขณะนั้น นางยักษิณีซึ่งเป็นเจ้ากรรมนายเวร ได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้แก่กันในปางก่อน ได้ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรกันไว้ ได้แปลงร่างเป็นแม่โคมาคอยอยู่ก่อนแล้ว พอพาหิยะเดินผ่านมา ก็กระโดดเข้าขวิดทันที พาหิยะก็ปรินิพพานในที่นั้น

และในวันนั้นเอง พวกภิกษุก็ได้สนทนากันในโรงธรรมสภาศาลาว่า ท่านทั้งหลาย พาหิยะได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ได้เที่ยวแสวงหาผ้าเพื่อจะมาบวช แต่ได้ถูกแม่โคขวิดตาย เมื่อตายแล้วเขาจะไปเกิดในที่ไหน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบแล้ว จึงได้เสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายได้สนทนากันด้วยเรื่องอะไร

พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์สนทนากันด้วยเรื่องของพาหิยะว่า เขาตายแล้วจะไปเกิดในที่ไหน

พระองค์ได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราปรินิพพานแล้ว อันนี้เป็นเรื่องในอดีต

ต่อไปนี้ เราวกเข้ามาในเรื่องปัจจุบันกัน คือในปัจจุบันนี้ ผู้ที่ได้สมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานในขณะฟังนี้ ก็มีเป็นจำนวนมากเหมือนกัน จะขอยกเอาบุคคลแรกที่หลวงพ่อได้ประสบการณ์มา

คือมีโยมคนหนึ่งมาถามหลวงพ่อว่า ท่านอาจารย์ เมื่อก่อนนั้นการฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นท่านฟังกันอย่างไรจึงได้บรรลุอริยมรรคอริยผล หลวงพ่อก็ได้เล่าให้ฟังเหมือนกับที่บรรยายให้ท่านฟังนี้แหละ พอดีโยมคนนั้นกลับไปบ้าน

วันนั้น เป็นเดือนสิบเพ็งบุญสลากภัต พระท่านเทศน์เรื่องปฐมสมโพธิกถา โยมคนนั้นก็สมาทานอุโบสถศีล รับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้วก็นั่งฟังธรรม กำหนดไปๆ ไม่ช้าไม่นานก็ได้สมาธิ นั่งสงบจิตใจขาดความรู้สึกอยู่นั้น พอดีออกจากสมาธิมา พระสงฆ์สามเณรตลอดถึงผู้รักษาอุโบสถศีลด้วยกันก็ฉันภัตตาหาร รับประทานอาหาร ให้พรเสร็จแล้ว เป็นเวลาตั้ง ๓ ชั่วโมงเศษๆ ถ้าเราฟังเป็นก็ได้อย่างนี้

และก็มีโยมคนหนึ่งชื่อว่า โยมแดง วันนั้นไปฟังเทศน์ตอน ๔ โมงเย็น ตามปกติในพรรษาได้ตีระฆังสัญญาณเพื่อฟังธรรมตอนค่ำ โยมแดงนั้นก็มาฟังธรรม ประนมมือฟังธรรมไปๆ เกิดปีติ มีอาการสั่นๆ ขึ้นมา พระผู้เทศน์ก็บอกว่าเอามือลงๆ เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรงดำรงสติให้มั่น ตั้งสติไว้ที่หู กำหนดว่า พุทโธๆ ตามไป โยมคนนั้นก็กำหนดตามไปๆ ไม่ช้าไม่นานจิตก็สงบเป็นสมาธิ นั่งสมาธิขาดความรู้สึกอยู่นั้นเป็นเวลา ๓ ชั่วโมง ออกจากสมาธิแล้ว พระสงฆ์สามเณรต้องไปส่งที่บ้าน

นี้แลท่านทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้น ถ้าว่าเราฟังเป็นก็สามารถที่จะได้สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานในขณะนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ในสำนักนี้ก็เหมือนกัน ทุกปีๆ ที่มีการจัดปริวาสปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ผู้ที่ได้สมาธิ หรือบรรลุอริยมรรคอริยผลในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมนี้มีเป็นจำนวนมาก แต่มีพิเศษอยู่ปีหนึ่ง คือปี พ.ศ. ๒๕๒๔

วันนั้น ก่อนจะบรรยายธรรมก็เตือนสติให้กำหนดในเวลาฟังเทศน์ และธรรมะที่บรรยายก็กัณฑ์เดียวกันนี้ พอดีบรรยายธรรมจบ พระสงฆ์ทั้งหลายที่ไม่ได้สมาธิ ที่คลายจากสมาธิ ก็พากันกราบพระแล้วลุกไป ทางคณะปะขาวแม่ชีก็เหมือนกัน ผู้ที่นั่งอยู่ก็มีเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ลุกไปแล้วก็มี แต่ทางบรรดาลูกเณรทั้งหลาย เห็นนั่งกันเต็มเพียบ ไม่กระดุกกระดิก ไม่ไหวติง

ก็นึกในใจว่า เอ วันนี้เป็นอะไรหนอ บรรดาลูกเณรทั้งหลายจึงน่ารักเหลือเกิน ทุกวัน เวลาฟังเทศน์นั้นต้องคุยกัน กระดุกกระดิก คนนั้นผลักคนนี้ คนนี้หยิกคนนั้น แต่วันนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อหลวงพ่อบรรยายเสร็จกราบพระแล้วก็เดินไปสำรวจลูกเณร ที่ไหนได้ท่านทั้งหลาย บรรดาลูกเณรจำนวน ๓๕ รูปนั้น เข้าสมาธิไปหมดแล้ว จนครูบาอาจารย์พระเจ้าพระสงฆ์ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โอ้โฮ มันเป็นไปได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ

แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันก็เป็นไปแล้ว แม้จะไปสอนกัมมัฏฐานที่ไหนก็ดี ทุกปีๆ ที่สอนกัมมัฏฐานนั้นจะมีผู้ได้สมาธิเวลาฟังนี้เป็นจำนวนมาก เช่น ปีที่กลับมาจากบ้านนาตาลใต้ มีเวลาว่างอยู่ ๑๐ กว่าวันก็มาจัดที่วัด

บรรดาลูกสาวน้อยทั้งหลายที่พากันมาปฏิบัติธรรมมาฟังการบรรยายธรรมตอนค่ำ ก็พากันนั่งข้างหน้าหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่า ให้ตั้งอกตั้งใจนั่งสมาธิฟังให้ดี วันนั้นเป็นวันแรก บรรยายธรรมประมาณ ๔๕ นาที ท่านทั้งหลายเพียง ๔๕ นาทีเท่านั้น บรรดาลูกสาวน้อยทั้งหลายอายุ ๙ ปีก็มี ๑๐ ปี ๑๑ ปี ๑๒ ปี ๑๓ ปีก็มี ได้สมาธิไปตั้ง ๑๒ คน ไม่ถึงชั่วโมงเลย ๔๕ นาทีเท่านั้น ได้สมาธิถึง ๑๒ คน

นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้น ได้บุญได้อานิสงส์ เป็นอุปนิสัยปัจจัย สามารถที่จะได้สมาธิ ได้สมาบัติ หรือบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ในขณะที่เราฟังอยู่นี้ถ้าเราฟังเป็น

แต่มีข้อแม้อยู่ว่า สมาธิที่เกิดขึ้นนั้น เราจะจัดเป็นการบรรลุหรือไม่ได้บรรลุ เราแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ

ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดในลำดับของฌานชวนะวิถี สมาธินั้นก็เป็นฌาน เป็นสมาบัติไป ยังเป็นโลกิยสมาบัติอยู่

แต่หากว่าอัปปนาสมาธิที่เกิดขึ้นแก่เราในขณะนั่งฟังนั้นเกิดขั้นในลำดับมัคควิถี อัปปนาสมาธิที่ได้นั้นก็เป็นอริยมรรคอริยผล

เมื่ออัปปนาสมาธิเกิดในลำดับของมัคควิถีครั้งที่ ๑ ก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว

เราฟังธรรมต่อไปๆ อีก อัปปนาสมาธิเกิดขึ้นมาในลำดับของมัคควิถีครั้งที่ ๒ ก็ได้เป็นพระสกทาคามีแล้ว

เราฟังไปๆ ฟังต่อไปอีก อัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของมัคควิถีอีกครั้งที่ ๓ ก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว

เราก็ฟังไปๆ อีก อัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของมัคควิถีอีกครั้งที่ ๔ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว

การบรรลุเป็นพระอรหันต์ อาจใช้เวลาไม่ถึง ๕ นาที หรือเพียง ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปฏิปทาและชวนวิถี จึงเป็นอันว่าการฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นได้บุญได้อานิสงส์ ดังที่ได้บรรยายมาฉะนี้

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะเรื่อง ความมุ่งหมายของการฟังธรรมมา ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

ลพ.บุญเรือง สารโท

Maintenence:


ชีวิตเป็นของน้อย รีบทำความเพียรเถิด

วันนี้ หลวงพ่อจะได้นำธรรมะ เรื่อง ชีวิตเป็นของน้อย รีบทำความเพียรเถิด มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า ชีวิต ได้แก่ สันตติ ความสืบต่อ ระบายลมหายใจเข้าออก

ชีวิตนี้ท่านจัดเป็นของน้อยเพราะว่ากำหนดประมาณไม่ได้ กำหนดไม่ได้ว่าเราจะตายวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น กำหนดไม่ได้เลย จะกำหนดได้เฉพาะวันเกิด เดือนเกิด ปีเกิดเท่านั้น สำหรับวันตาย เดือนตาย ปีตาย เรากำหนดไม่ได้ เว้นไว้แต่ผู้ได้อภิญญาจิตเท่านั้นจึงจะกำหนดได้

เพราะว่าความตายนี้ ไม่เลือกหน้าว่าเป็นพระภิกษุสามเณรหรือชาวบ้าน อยู่ในวัยใดก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น ดังวจนะประพันธ์ภาษิตที่กล่าวไว้ว่า
อฑฺฒา เจว ทลิทฺทา จ      สพฺเพ มจฺจุปรายนา
สพฺพํ เภทปริยนฺตํ    เอวํ มจฺจาน ชีวิตํ
   
   
ทั้งคนมั่งมีทั้งคนจน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้าด้วยกันทั้งนั้น ภาชนะดินมีอันแตกสลายไปเป็นที่สุดฉันใด ชีวิตของพวกสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น

ถ้าจะเปรียบชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น ท่านอุปมาไว้เหมือนกันกับน้ำค้างที่ติดอยู่บนปลายหญ้า เมื่อถูกแสงพระอาทิตย์ ก็จะเหือดแห้งไปโดยฉับพลันฉันใดชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกันฉันนั้น

อีกอย่างหนึ่ง ท่านอุปมาเหมือนกันกับแสงหิ่งห้อยซึ่งคอยวับๆ แวบๆ ในเวลากลางคืน ชั่วขณะหนึ่งๆ เท่านั้นก็ดับไปฉันใดชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วพลันแต่ที่จะดับไปเหมือนกัน ฉันนั้น

หรืออุปมาเหมือนกันกับบุรุษผู้มีกำลังกล้าสามารถที่จะบ้วนเขฬะให้พ้นไปจากปากได้โดยไม่ยากฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็พลันแต่จะดับไปโดยไม่ยาก ฉันนั้น

หรืออีกอย่างหนึ่งชีวิตของสรรพสัตว์นี้ านอุปมาเหมือนกับชิ้นเนื้อซึ่งย่างด้วยไฟอันร้อนโชนก็จะถูกไหม้เป็นเถ้าถ่านโดยไม่ยากฉันใดชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วจะต้องถูกความแก่ ความเจ็บ ความตาย ถูกไฟกิเลส ไฟทุกข์ทั้งหลาย เผาลนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็พลันแต่จะดับไปโดยไม่ยาก เหมือนกันฉันนั้น

หรือจะเปรียบให้เห็นง่ายๆ ก็อุปมาได้เหมือนกันกับสตรีทอหูก (หลอดหูก) ข้างหน้าน้อยเข้าไปทุกทีฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ใกล้เข้าไปต่อความตายทุกวันเหมือนกันฉันนั้น วันคืนเดือนปีล่วงไปแต่ละวันนี้ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็เคลื่อนคล้อยใกล้เข้าไปสู่ความตายฉันนั้น

เหตุนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลายนั้นจึงทรงตรัสว่า ชีวิตนั้นเป็นของน้อย คือเกิดขึ้นมาแล้ว เราคิดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงปัจฉิมวัย บางทีอาจตายเสียแต่ปฐมวัยหรือมัชฌิมวัยก็ได้ เพราะว่าความตายนี้ เราไม่มีอำนาจอะไรที่จะมาขัดขวางได้

แม้เราจะมีเวทมนต์กลคาถามาต่อสู้กับมัจจุราชผู้ที่มีเสนาใหญ่ย่อมปราชัยพ่ายแพ้ หรือเราจะมีเวทมนต์กลคาถาศักดิ์สิทธิ์สักปานใดมาเป็นเครื่องป้องกันความตายนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าความตายนั้นไม่เลือกว่าไพร่ฟ้า พระมหากษัตริย์ สมณะชีพราหมณ์ คนยากจน คนมั่งมี ก็ล้วนแต่มีความตายด้วยกัน ฉันนั้น เมื่อมีชาติคือความเกิดในเบื้องต้น ก็ต้องมีความตายเป็นที่สุด

ดังนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระบวรสันดานเต็มเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงในมวลสัตว์ทั้งหลายผู้ที่เร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลสและกองทุกข์จึงได้ทรงนำเอาพระธรรมที่พระองค์ทรงค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา ๖ พรรษา ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ รู้จักมรรคปฏิปทาอันเป็นหนทางที่จะให้พ้นจากความทุกข์ ถึงฝั่งคืออมตะมหานฤพานมาชี้แจงแสดงไขให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทพยดาและมนุษย์ ตลอดถึงพรหม ให้ได้รู้ได้ประพฤติได้ทราบได้ปฏิบัติตาม เพื่อที่จะดับเพลิงกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้น

ธรรมะที่พระองค์ได้ทรงแนะนำพร่ำสอน เพื่อที่จะให้เราทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อที่จะดับเพลิงกิเลสและกองทุกข์นั้น โดยย่อมีอยู่ ๔ ประการ

๑.สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดานของตน เช่นว่าเวลาเดินจงกรม ใจของเราอยู่กับรูปกับนาม อยู่กับอาการขวาย่าง ซ้ายย่าง เวลาที่เรานั่ง ใจของเราอยู่ที่อาการพองอาการยุบ เมื่อได้ปัจจุบันทันรูปนามดีแล้ว โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทาน ก็เกิดขึ้นไม่ได้ นั่นแหละชื่อว่า ระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในขันธสันดาน

ตัวบาปนั้น เมื่อกล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ แล้วก็ได้แก่ความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ที่ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่ทำบาปตายแล้วตกนรก จะเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน อันนั้นเป็นผลพลอยได้ เป็นผลซึ่งเกิดจาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ต่างหาก

แต่เมื่อกล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ แล้ว ความโลภโกรธหลงนั่นแหละที่เป็นตัวบาป เมื่อใดเรายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ ก็แสดงว่าเรายังมีบาปที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเรา เมื่อใดความโลภความโกรธความหลง ไม่มีอยู่ในสันดานของเรา ก็แสดงว่าเมื่อนั้น บาปไม่มี มีแต่กุศลนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเรา

เหตุนั้นแหละ เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในขณะที่เราเดินจงกรม นั่งสมาธิ เรากำหนดอาการยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ เราก็กำหนดอยู่ทุกอิริยาบถ นี้เรียกว่า สังวรปธาน เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตนเอง

๒.ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมไป และเพียรไม่ให้บาปใหม่เกิดในขันธสันดานอีกต่อไป ได้แก่ เพียรในการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เหมือนดังที่พวกเราทั้งหลายกำลังเจริญกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ เช่น เราภาวนาว่า พุทโธๆ หรือพองหนอยุบหนอ ใจของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบนั้นตลอดไปมีเผลอน้อย

ขณะนั้น กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ และมโนกรรม ๓ ของเราบริสุทธิ์ดี นั่นแหละจัดว่าเป็นศีล ใจของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบ อยู่กับอาการขวาย่าง ซ้ายย่าง ไม่เผลอไปจากรูปนามชั่วขณะหนึ่งๆ เป็นสมาธิ คือขณิกสมาธิ สมาธิขั้นนี้ จะเห็นรูปเห็นนาม เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อใดเราเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อนั้นชื่อว่าปัญญาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว กิเลสคือบาปทั้งหลาย อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็เป็นอันว่าละได้แล้ว โดยตทังคปหานบ้าง ละได้โดยสมุจเฉทปหานบ้าง

เมื่อใดเราได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน นับตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปตามลำดับๆ จนได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่ฆ่ากิเลสตาย คลายกิเลสออก สำรอกกิเลสหลุด ผุดเป็นวิสุทธิสงฆ์ สำเร็จเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ จึงจะได้ชื่อว่าละบาปได้หมดสิ้น ไม่มีอยู่ในขันธสันดานอีกต่อไป

ดังตัวอย่างของพระอังคุลิมาล มีเรื่องที่เล่าไว้ในอังคุลิมาลสูตรในโลกวรรค ธรรมบท ท่านกล่าวไว้ว่า

พระอังคุลิมาลนั้น เป็นบุตรของพราหมณ์ผู้ซึ่งเป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ในเมืองสาวัตถี มารดาชื่อว่า มันตานีพราหมณี ในวันที่ออกจากครรภ์ของมารดานั้น ก็เกิดเหตุอาเพศขึ้นมา คืออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือพระขรรค์ ซึ่งอยู่ในคลังอาวุธก็ดี ที่อยู่ตามบ้านของชนทั้งหลายก็ดี ก็เกิดแสงสว่างไสวรุ่งโรจน์โชติช่วงดังเปลวเพลิงขึ้นมา เกิดเหตุอาเพศอันน่าอัศจรรย์

สำหรับปุโรหิตผู้เป็นบิดาก็คิดว่า นี่มันเรื่องอะไรกันหนอ จึงเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นมา จึงออกไปข้างนอก แหงนดูดาวนักขัตฤกษ์ทั้งปวง ก็ทราบได้ทันทีว่า ฤกษ์นี้เป็น ฤกษ์แห่งมหาโจร ถ้าผู้ใดเกิดในฤกษ์นี้ ผู้นั้นเจริญวัยขึ้นมาจะเป็นมหาโจร แม้บุตรของเราก็เกิดในฤกษ์นี้เหมือนกัน บุตรของเรานี้เกิดขึ้นมาและเจริญวัยขึ้นมาแล้วจะเป็นมหาโจร อย่ากระนั้นเลย เราหาวิธี หาอุบาย เพื่อที่จะตัดไฟตั้งแต่ต้นลมดีกว่า จะปล่อยให้บุตรของเรากลายเป็นมหาโจรไม่ได้

เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาก็เข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้พระองค์ทรงทราบแล้วกราบทูลให้พระองค์นำบุตรของตนไปประหารชีวิตเสีย แต่ว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ได้ทรงกระทำตาม ตรัสสั่งให้เลี้ยงไว้ต่อไป และก็ทรงตั้งชื่อว่า อหิงสกะกุมาร แปลว่ากุมารผู้ไม่เบียดเบียน ที่ตั้งชื่อเช่นนี้ เพื่อว่าเป็นการแก้เคล็ด โดยที่คิดว่าเมื่อเจริญวัยขึ้นมาแล้ว อาจจะไม่เป็นมหาโจรก็ได้

ในเมื่ออหิงสกะกุมารนั้นเจริญวัยขึ้นมา สมควรที่จะศึกษาศิลปะวิทยาแล้ว บิดามารดาก็ได้นำไปมอบให้แก่ทิศาปาโมกข์อาจารย์ อังคุลิมาลนั้นเป็นคนที่มีสติปัญญามาก มันสมองดี สามารถที่จะศึกษาศิลปะวิทยาได้คล่องแคล่ว สำเร็จก่อนศิษย์ทั้งหลายที่ร่วมอาจารย์เดียวกัน

บรรดาศิษย์ทั้งหลายก็เกิดความอิจฉาตาร้อนขึ้นมาหาทางที่จะกำจัดอหิงสกะกุมาร ก็ปรึกษาหารือกันว่าพวกเราจะทำอย่างไรดี อหิงสกะกุมารนี้เกินหน้าพวกเรา ล้ำหน้าพวกเรา เราควรที่จะกำจัดเขาเสียดีกว่า เมื่อปรึกษาหารือกันแล้วก็แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม แล้วให้กลุ่มที่ ๑ เข้าไปหาอาจารย์ และก็ยุยงอาจารย์ว่าอหิงสกะกุมารนี้คิดไม่ดีต่อท่านอาจารย์ หาทางที่จะทำร้ายอาจารย์ หาทางที่จะฆ่าอาจารย์

สำหรับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมื่อได้ฟังดังนั้นก็คิดว่าจะเป็นไปได้หรือ อหิงสกะกุมารนี้ ไม่เห็นเขามีอากัปกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องส่อพิรุธว่าเขาจะทำร้ายเรา หรือคิดมิดีมิร้ายต่อเรา แล้วก็ไล่ตะเพิดศิษย์กลุ่มนั้นออกไป เมื่อศิษย์กลุ่มที่ ๑ ออกไปแล้ว กลุ่มที่ ๒ ก็เข้ามายุยงอีกว่า อหิงสกะกุมารนี้ คิดมิดีมิร้ายต่อท่านอาจารย์

ขณะนั้น อาจารย์ก็มีจิตใจไขว้เขวว่า เป็นอย่างไรหนอเรื่องนี้ หากว่าอหิงสกะนี้ไม่คิดมิดีมิร้ายอย่างนั้นจริง ไฉนลูกศิษย์จึงจะบอกเช่นนี้ ตอนนี้จิตใจก็ชักจะลังเล แต่ก็ไม่เชื่อโดยสนิทใจ และก็ไล่ลูกศิษย์กลุ่มที่ ๒ นั้นออกไป แล้วกลุ่มที่ ๓ ก็เข้ามาอีก เข้าไปยุยงอีกว่า อาจารย์อหิงสกะกุมารนี้ คิดมิดีมิร้ายต่ออาจารย์อย่างนั้นอย่างนี้ สรรหาถ้อยคำมายุยงให้อาจารย์เชื่อ

ตอนนั้นอาจารย์ปลงใจเชื่อสนิท ถ้าว่าไม่จริงแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาคงจะไม่มาบอกเราถึง ๓ ครั้ง เราจะทำอย่างไรดีหนอ ถ้าเราทำเองคนทั้งหลายก็จะหาว่าทิศาปาโมกข์อาจารย์นี้เป็นคนที่ใจร้าย ฆ่าลูกศิษย์ที่ไปศึกษาศิลปวิทยา ต่อมาคนทั้งหลายก็จะไม่มาศึกษาเล่าเรียน ลาภสักการะก็จะเสื่อมไป อย่ากระนั้นเลย เราปล่อยมือให้คนอื่นดีกว่า

เมื่อคิดหาอุบายวิธีได้อย่างนั้นแล้ว จึงเรียกอหิงสกะกุมารเข้ามาหาบอกว่า อหิงสกะกุมาร อาจารย์มีมนต์วิเศษอยู่บทหนึ่ง ชื่อว่าวิษณุมนต์ มนต์นี้ใครเรียนสำเร็จจะสำเร็จความประสงค์ทุกอย่าง แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ผู้ที่เรียนวิษณุมนต์ จะต้องฆ่าคนถึงพันคนจึงจะเรียนได้ เพราะฉะนั้น หากว่าเธอต้องการที่จะเรียนวิษณุมนต์ ต้องการที่จะสำเร็จในวิชามนต์แล้ว เธอต้องเข้าป่าหาฆ่าคนถึงพันคนแล้วจึงจะเรียนได้

ครั้งแรก อหิงสกะกุมารก็ไม่กล้าที่จะฆ่า เพราะว่าตนนั้นเกิดในตระกูลพราหมณ์ ไม่ฆ่าสัตว์มาตั้งแต่เล็กตั้งแต่น้อย แต่เพราะต้องการที่จะสำเร็จในวิชามนต์ จึงจำเป็นที่ต้องทำ เสร็จแล้วก็ได้ถือเอาอาวุธเข้าป่าหาฆ่าคนไปตามลำดับๆ ครั้งแรกก็ไม่ตัดเอานิ้วมือ เป็นแต่เพียงนับว่า ๑, ๒, ๓ ไปเท่านั้น ผลสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าฆ่าไปเท่าไหร่ เป็นเพราะโทษที่ฆ่าคน ทำให้สติฟั่นเฟือน จำไม่ได้ ภายหลังฆ่าแล้วก็ตัดเอานิ้วมือไว้คนละนิ้วๆ ร้อยเอาไว้ เขาจึงให้ชื่อใหม่ว่า อังคุลิมาล แปลว่า โจรผู้มีนิ้วมือเป็นพวงมาลัย

ตั้งแต่อังคุลิมาลเที่ยวฆ่าคนอยู่นั้น ฆ่าไปแล้ว ๙๙๙ คน ยังเหลืออยู่อีกคนเดียวเท่านั้นก็จะครบ ๑,๐๐๐ คน จึงจะได้เรียนมนต์

โวโลเกตฺวา วันนั้น จวนจะสว่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แผ่พระญาณตรวจดูสรรพสัตว์ทั้งหลายว่า วันนี้เราสมควรที่จะไปโปรดใคร ใครหนอจะได้บรรลุคุณวิเศษ อังคุลิมาลโจรก็ปรากฏในข่ายพระญาณของพระองค์ และทรงพิจารณาเห็นว่า อังคุลิมาลโจรนี้ได้อบรมบารมีมาพอสมควรพอที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ถ้าเขาไปฆ่ามารดาของเขาเสีย เขาจะไม่สามารถที่จะได้บรรลุคุณอันใหญ่หลวง อย่ากระนั้นเลยเราจะไปโปรดอังคุลิมาลโจรให้ได้

ซึ่งในขณะนั้น คนทั้งหลายได้ไปกราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า มีโจรเที่ยวฆ่าคนในชนบท พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสสั่งเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งมหาชนทั้งหลายให้ตามล่าอังคุลิมาลโจรนั้นมาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง

ฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตกับภรรยาได้ปรึกษากันว่า ได้เกิดมหาโจรขึ้นมาแล้ว มหาโจรนี้ไม่ใช่ใครอื่นเลยต้องเป็นบุตรของเราแน่ๆ ปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรดี ภรรยาก็ให้สามีของตนไปตามบุตรมาไว้ในบ้าน เพื่อจะไม่ให้คนทั้งหลายจับตัวได้ แต่ว่าสามีไม่กล้าออกไป ด้วยเกรงว่าบุตรของตนจะจำไม่ได้แล้วฆ่าเสีย

ธรรมดาหัวอกของมารดานั้นย่อมมีความรักความผูกพันในลูก ถึงว่าลูกของตนนั้น จะชั่วช้าสารเลวเพียงใด ก็ตามก็ยังรักอยู่ เมื่อสามีไม่ไป นางจึงจำเป็นต้องไปเอง เมื่อนางมันตานีพราหมณีออกไปสู่ป่าเพื่อจะพาบุตรของตนเข้ามาไว้ในบ้าน พออังคุลิมาลมองเห็นมารดาเท่านั้น ก็ปรี่เข้าจับมารดาเพื่อจะนำไปฆ่าเอานิ้วมือ

ขณะนั้น เป็นเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงพอดี เมื่ออังคุลิมาลโจรเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เปลี่ยนใจว่า เราจะไม่ฆ่ามารดา เราจะฆ่าสมณะนี้ดีกว่า แล้วจึงปล่อยมารดา วิ่งตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป

พระพุทธองค์ได้ทรงบันดาลด้วยพุทธาภิสังขาร ให้อังคุลิมาลนั้นตามไม่ทัน ในขณะที่พระองค์ทรงพระดำเนินไปตามปกติ แต่อังคุลิมาลวิ่งจนสุดแรงเกิด ก็ไม่สามารถวิ่งตามทันพระองค์ได้ จึงคิดว่า เมื่อก่อนนั้นเราสามารถที่จะวิ่งผลัดช้างผลัดม้าผลัดรถได้ แต่บัดนี้ เหตุไฉนหนอ สมณะนี้เดินไปตามปกติ แต่ว่าเราวิ่งจนสุดแรงเกิด ก็ไม่สามารถวิ่งตามทันได้ นี่มันเรื่องอะไรกันหนอ เมื่อคิดได้เช่นนี้ จึงร้องเรียกขึ้นอีกว่า สมณะ หยุดก่อนๆ

พระองค์จึงตรัสว่า เราหยุดแล้วๆ ทั้งที่พระองค์ยังทรงพระราชดำเนินไปอยู่ เมื่ออังคุลิมาลตามไม่ทัน ก็ร้องเรียกขึ้นอีกว่า สมณะหยุดก่อนๆ พระองค์ก็ตรัสว่า เราหยุดแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น อังคุลิมาลโจรจึงพูดขึ้นมาว่า สมณะนี้พูดโกหก กล่าวว่าหยุดแล้ว แต่ยังเดินไปอยู่

พระองค์จึงทรงมีพระดำรัสขึ้นว่า ดูก่อนอังคุลิมาล เราหยุดแล้ว หยุดจากการทำบาปอกุศล เราหยุดแล้ว หยุดจากการฆ่า แต่เธอต่างหาก ยังไม่หยุด ยังตามฆ่าเราอยู่

ธรรมดาผู้ที่มีสติปัญญา ได้ฟังพระวาจาที่พระองค์ตรัสเพียงแค่นี้ ก็ได้สติสัมปชัญญะขึ้นมาทันทีว่า โอ เป็นความจริง เพราะว่าพระองค์หยุดแล้ว หยุดจากการทำบาปทำอกุศล แต่เรานี่ซิยังไม่หยุด ยังตามฆ่าพระองค์อยู่ เมื่อคิดได้เช่นนี้ก็จึงทิ้งอาวุธ เข้าไปกราบแทบเบื้องพระยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบทูลขึ้นว่า โอ นานเหลือเกิน นานเหลือเกิน พระพุทธเจ้าข้า กว่าพระองค์จะเสด็จมาโปรดข้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรมให้ฟัง เมื่ออังคุลิมาลฟังพระธรรมเทศนาจบแล้ว มีความเลื่อมใส ขอบวชในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงบวชให้ เมื่อบวชแล้ว ได้เรียนวิธีเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หลีกออกจากหมู่ไปเจริญสมณธรรม ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วหลีกไปอยู่ที่สงัด หลบเร้นเสวยวิมุตติสุขอยู่

เมื่อจะปรินิพพาน ท่านได้เปล่งอุทานว่า คนที่ประมาทมาก่อน แต่ภายหลังไม่ประมาท ย่อมยังโลกให้สว่างไสวได้ เหมือนดวงจันทร์ที่โคจรออกจากกลุ่มเมฆหมอก ฉะนั้น เมื่อเปล่งอุทานเช่นนี้แล้ว ก็ดับขันธ์ปรินิพพาน

อยู่มาวันหนึ่ง พวกภิกษุทั้งหลาย สนทนากันในโรงธรรมสภาศาลาว่า พระอังคุลิมาลนี้ เขาฆ่าคนมาตั้ง ๙๙๙ คน บัดนี้ ได้มาบวชในพระพุทธศาสนา และก็ได้มรณภาพไปแล้ว เมื่อท่านตายแล้วไปเกิดที่ไหนหนอ

องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงได้สดับความนั้นแล้ว จึงเสด็จไปสู่โรงธรรมสภาศาลา ตรัสถามซึ่งภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายสนทนากันด้วยเรื่องอะไร

พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์สนทนากันในเรื่องของพระอังคุลิมาล ว่าท่านตายแล้วไปเกิดในที่ไหน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรานิพพานแล้วเมื่อพระองค์ตรัสดังนั้น ภิกษุทั้งหลายก็งงขึ้นมาทันที แล้วกราบทูลว่า พระองค์ตรัสเรื่องอะไร เป็นไปได้หรือ พระอังคุลิมาลนี้ฆ่าคนมาตั้ง ๙๙๙ คน จะนิพพานได้อย่างไรพระพุทธเจ้าข้า หรือว่าผลของบุญบาปไม่มี

พระองค์จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้กล่าวเช่นนี้เลย ข้อนี้เป็นความจริง เพราะเมื่อก่อนนั้น บุตรของเราไม่ได้กัลยาณมิตรสักคนเลย จึงได้ทำความชั่วมีประมาณเท่านั้นๆ แต่ภายหลังได้กัลยาณมิตรเป็นปัจจัย ไม่ประมาทแล้ว เพราะค่าที่เธอไม่ประมาทนั้นแหละ จึงละชั่วนั้นเสียได้ด้วยความดี ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วนิพพาน แล้วจึงตรัสพระคาถาว่า

ผู้ที่ละความชั่วที่ตนทำเสียได้ด้วยความดี ย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสวได้ เหมือนพระจันทร์โคจรออกจากกลุ่มเมฆหมอก ฉะนั้น

คติจากเรื่องนี้ ได้ความว่า พึงชำระล้างความชั่วด้วยความดี พึงไถ่ถอนตนจากความชั่ว ด้วยการทำความดีให้ยิ่งกว่าความชั่วที่ตนทำแล้ว

ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ เรียกว่า ปหานปธาน คือเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป และหนทางที่เราทั้งหลายจะปิดประตูอบายภูมิได้นั้น มีหนทางเดียวเท่านี้ คือการเจริญวิปัสสนา เมื่อใดเราได้เจริญวิปัสสนา จนบรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ขั้นปฐมมรรคไปแล้ว ก็เป็นอันว่าปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วไม่ต้องตกนรก ไม่ต้องเกิดเป็นเปรต ไม่ต้องเกิดเป็นอสุรกาย ไม่ต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ท่านทั้งหลายลองพินิจพิจารณาดูเรื่องพระอังคุลิมาลนี้ ว่าฆ่าคนมาตั้ง ๙๙๙ คน ตามปกติการฆ่าคนนั้น เพียงแต่ฆ่าคนเดียวเท่านั้น ตายไปแล้วต้องไปตกอเวจีมหานรก แต่พระอังคุลิมาลนั้นทำไมจึงไม่ไปตกนรก เพราะว่าท่านได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว เมื่อบรรลุแล้ว ก็มีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับ มีพระนิพพานเป็นเครื่องปิดกั้นประตูอบายภูมิ

ถ้าเราทั้งหลายไม่เจริญวิปัสสนาภาวนา ถึงแม้ว่าจะทำบุญให้ทานรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ เจริญสมถภาวนา จนได้ฌานได้อภิญญา เหาะเหินเดินอากาศได้ ก็ยังไม่สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ แต่เมื่อใดเรามาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตนแล้ว จึงจะได้ชื่อว่าปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด

๓.ภาวนาปธาน เพียรบำเพ็ญกุศลให้เกิดมีขึ้นในขันธสันดานของตน ได้ให้ความหมายว่า ปุนปฺปุนํ ภาเวตพฺพา วชฺเชตพฺพาติ ภาวนา การยังศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้นมีขึ้นบ่อยๆ คือหมั่นเจริญบ่อยๆ เรียกว่า ภาวนา คือให้นึกในใจตามไปกับอาการที่ท้องพองท้องยุบ อาการขวาย่าง ซ้ายย่าง เวลาเจ็บ เวลาปวด เวลาเมื่อย เวลาคัน เวลาคิด ก็ให้ภาวนาไปตามอาการนั้นๆ ว่า พุทโธๆ หรือเจ็บหนอๆ คันหนอๆ คิดหนอๆ หรือรู้หนอๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามไปไม่หยุด

แม้เวลานอน ก็กำหนดอาการพองอาการยุบว่าพุทโธๆ หรือว่า พองหนอ ยุบหนอ คำใดคำหนึ่งตามไปจนกว่าจะหลับ พยายามจำให้ได้ว่า จะหลับไปตอนไหน หลับไปตอนหายใจเข้าหรือหายใจออก ก็พยายามจำให้ได้ การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่า ภาวนาปธาน คือเพียรพยายามให้บุญกุศลเกิดขึ้นในขันธสันดาน

๔.อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่ตนได้บำเพ็ญมาแล้วนั้นให้คงอยู่และยิ่งๆ ขึ้นไป คือรักษาศีล สมาธิ ปัญญา ให้อยู่กับรูปนาม ไม่ให้เผลอมาก จนกว่าจะถึงมรรคผลนิพพาน สิ้นอาสวะกิเลส จึงจะนอนใจได้ ถ้ายังไม่สิ้นอาสวะกิเลส ก็อย่าเพิ่งนอนใจ

ดังที่องค์สมเด็จพระจอมไตรพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  ภิกขุ วิสฺสาสมาปาทิ  อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ  ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เมื่อตนยังไม่ถึงมรรคผลนิพพาน ยังไม่สิ้นอาสวะกิเลส อย่าเพิ่งนอนใจ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ มาเพื่อฝึกฝนอบรมตนให้คล่องแคล่ว ให้ชำนาญ เพื่อจะได้มีกำลังใจต้านทานต่ออารมณ์ดีอารมณ์ชั่วอันจะเกิดขึ้นแก่ตนในอนาคตกาลข้างหน้า

เมื่อเราออกจากห้องกัมมัฏฐานนี้ หรือว่ายังอยู่ในห้องกรรมฐานนี้ก็ดี เราก็จะได้มีสติสัมปชัญญะมั่นคงต่อสู้กับอารมณ์ดีอารมณ์ชั่วทั้งหลายทั้งปวงที่จะมาแผ้วพาน และการฝึกนั้นมีอยู่ ๒ อย่างคือ
๑) ฝึกด้วยบุพพภาคมรรค ได้แก่ การลงมือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
๒) ฝึกด้วยอริยมรรค ได้แก่ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น พยายามเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปจนได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามีแล้วก็ไม่หยุดเพียงแค่นั้น พยายามเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปจนได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้วก็พยายามเจริญต่อไป จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เรียกว่า ฝึกด้วยอำนาจอริยมรรค

ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย การที่คนทั้งหลายเขาฝึกม้าก็ดี ฝึกช้างก็ดี เขาฝึกไว้ทำไม เขาฝึกไว้เพื่อให้ชำนาญ ให้เชื่อง เมื่อฝึกจนชำนาญจนเชื่องแล้วก็สามารถที่จะนำไปใช้งานได้ตามความต้องการ สมมติว่า เขาฝึกช้างจนชำนาญแล้ว สามารถที่จะนำไปลากซุง ไปใช้ในราชการสงครามได้ เขาฝึกม้าให้ชำนิชำนาญแล้วเขาจะเอาไปเป็นม้าแข่งก็ได้ เขาจะเอาไปใช้ในราชการสงครามก็ได้ฉันใด พวกเราทั้งหลายฝึกตนเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพื่อให้บรรลุสุขอันไพบูลย์ตามประสงค์เหมือนกันฉันนั้น

อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายทั้งปวงที่เขาพากันฝนพร้าฝนมีดหรือลับพร้าลับมีดนั้น โดยมีความประสงค์ ๒ อย่างคือ
๑) ต้องการให้สนิมหมดไป
๒) ต้องการให้มันคมดี

เมื่อพร้าหรือมีดของเราหมดสนิมหรือคมดีแล้ว ก็สามารถที่จะนำไปใช้ในกิจการต่างๆ เช่น ใช้ตัดโน้นฟันนี้เป็นต้น ฉันใด เราทั้งหลายซึ่งมากำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่ทุกวันนี้ ก็ชื่อว่าเราทั้งหลาย มาฝนหรือมาลับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา ให้หมดสนิม ให้คมดี

อะไรเป็นสนิมของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ?

สนิมของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น ก็คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมทั้งหลายทั้งปวง

เมื่อใดเราใช้สติสัมปชัญญะระลึกรู้ กำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในเมื่อได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ นั้นแหละเรียกว่า เราฝนหรือลับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ให้หมดสนิมหรือให้คมดี เมื่อหมดสนิมหรือคมดีแล้ว ก็สามารถที่จะนำไปตัดกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ให้หมดไปจากขันธสันดานได้

อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายเขาพากันอบผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มด้วยของหอมมีแก่นจันทน์เป็นต้น ก็เพื่อว่าให้กลิ่นหอมเหล่านั้นติดอยู่กับเครื่องนุ่งห่มของเขา ฉันใด พวกเราทั้งหลายมาอบกาย อบวาจา อบใจ ด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อต้องการที่จะให้กลิ่นศีล กลิ่นสมาธิ กลิ่นปัญญา เกลือกกลั้วติดอยู่ในตัวของเรา หรือเพื่อจะให้ตัวของเราหอมไปด้วยกลิ่นศีล หอมไปด้วยกลิ่นสมาธิ หอมไปด้วยกลิ่นปัญญาเมื่อใด ตัวของเราหอมไปด้วยกลิ่นศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว กิเลสทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็ไม่สามารถจะมาจับกาย จับวาจา จับใจ หรือไม่สามารถที่จะมานอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเราได้อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายเขาพากันรมตัวของเขาก็ดี หรือเครื่องนุ่งห่มของเขาก็ดี ด้วยควันไฟหรือด้วยความร้อนแห่งไฟ เขารมเพื่อต้องการให้ควันไฟ หรือไอของไฟ หรือว่าความร้อนของไฟนั้นเกลือกกลั้วติดอยู่ที่ตัวของเขาฉันใด การที่พวกเราทั้งหลายมารมตา รมหู รมจมูก รมลิ้น รมกาย รมใจ ด้วยการตั้งสติสัมปชัญญะกำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ และกำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพื่อต้องการให้ตัวของเรานี้เกลือกกลั้วติดไปด้วยมรรคผลนิพพาน หรือเพื่อให้ตัวของเรานี้ติดอยู่ในโลกุตรธรรมเหมือนกันฉันนั้น

สรุปความแล้วว่า การที่เรามาฝึกฝนอบรมตนนี้ ด้วยการบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็เพื่อต้องการให้ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล พระนิพพาน เกิดมีขึ้นที่ตัวของเรา หรือให้ตัวของเรานี้เกลือกกลั้วไปด้วยศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล พระนิพพาน เหตุนั้น องค์ภควันตบพิตรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า การฝึกฝนอบรมตน การฝึกจิตของตนเป็นการดีแล้ว เป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งความเจริญ ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ (ในคาถาธัมมบท ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๑๓ หน้า ๑๙ ) ว่า  จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ  จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ  การฝึกฝนจิต เป็นความดีแท้ จิตที่ฝึกฝนดีแล้ว นำแต่ความสุขมาให้ ดังนี้เป็นต้น

ก็สกนธ์ร่างกายนี้ เมื่อรวมลงแล้วมีอยู่ ๒ ประการคือ กายกับใจ ถ้าใจดี เวลาจะทำ จะพูด จะคิด ก็ดีตามไปหมด แต่ถ้าจิตใจชั่ว การทำ การพูด การคิด ก็ชั่วไปหมด

เพราะฉะนั้น นักปราชญ์นักพรตทั้งหลายจึงนิยมการฝึกฝนตนอบรมตนคือกายใจนี้ให้ดี ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้รับความสุขความเจริญทั้งแก่ตัวเองและสังคม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ชีวิตเป็นของน้อยควรรีบทำความเพียร มาบรรยาย เพื่อประกอบการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
ที. มหาวคฺค. ๑๐ / ๑๐๘ / ๑๔๑
(ขุ. ขุทฺทก-ธมฺมปทคาถา ๒๕/๒๙/๕๑)

ลพ.บุญเรือง สารโท

Maintenence:


บาป ~ บุญ

เป็นวันสอบสนามหลวงหรือสอบไล่ ไม่เหมือนกับวันก่อนๆที่ผ่านมา อันนั้นเป็นการสอบซ้อม วันนี้สอบจริง การสอบจริงนี้ก็เพื่อจะวัดผลของการปฏิบัติ ว่าเราเดินทางมาค่อนๆ พรรษานี่ หรือว่าครึ่งพรรษากว่าๆ นี้ ได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร คุ้มการสอนหรือไม่

การเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างที่เสียสละลงไป จตุปัจจัยไทยธรรม ตลอดถึงสติปัญญาอะไรนานาประการ ที่เสียสละลงไป มันคุ้มค่าเสียสละไหม การประพฤติปฏิบัติของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายนั้น คุ้มค่าที่ญาติโยมได้เสียสละลงไปหรือไม่ คุ้มค่ากับคณะครูบาอาจารย์เสียสละไปหรือไม่ ก็อยากดูในวันนี้

เพราะฉะนั้น ในวันนี้ถือว่าเป็นวันวัดผล ทั้งเป็นการวัดผลครั้งแรกในหน้าพรรษา เหตุนั้น ก็ขอให้บรรดาลูกเณรทั้งหลาย ตลอดถึงบรรดาลูกพระ ลูกชี ทั้งหลาย ได้นั่งสมาธิ เข้าสมาธิให้หลวงพ่อได้ดูได้ชมสักครั้งหนึ่ง พอเป็นเครื่องชื่นใจจะได้หายเหน็ดหายเหนื่อย จะได้หายเจ็บไข้ได้ป่วย โรคภัยไข้เจ็บที่เป็นมากระปอดกระแปดตลอด ตั้งแต่เข้าพรรษามาถึงวันนี้จะได้ชื่นอกชื่นใจหายเจ็บ หายไข้ หายป่วย หายสภาวะความอ่อนแอลงไปบ้าง

ขอให้ตั้งใจอธิษฐานสมาธินะ หลวงพ่อจะเป็นผู้จับเวลาเตรียมแล้วนะ ๑ ๒ ๓ พยายามทำใจดีๆ ทำใจให้สบายๆ อย่าคิดว่าเราจะทำไม่ได้และอย่าคิดว่า เราก็หนึ่งละสามารถทำสมาธิได้ ที่ปฏิบัติมาด้วยกันจนครึ่งพรรษานี้ เราสามารถทำสมาธิได้ทุกวัน หาใครสู้มิได้

ถ้าเราคิดอย่างนี้ ก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิได้ เพราะจิตใจของเรากระเพื่อมแล้ว หรือว่าผู้ใดเกิดความหวังว่า เรานี้ทำไม่ได้แล้ว คงจะเป็นผู้ไม่มีบุญวาสนาบารมี หรือว่าบุญวาสนาของเราคงมีเพียงเท่านี้ คงไม่สามารถทำสมาธิได้ คงจะเป็นที่อับอายขายหน้าครูบาอาจารย์ ตลอดถึงเพื่อนฝูงและญาติโยม ตลอดถึงปะขาว แม่ชีที่มารักษาอุโบสถศีลด้วยกัน หากเผื่อว่าเราทำไม่ได้ จะเอาหน้าไปไว้ไหนหนอ ถ้ามัวแต่คิดอย่างนี้ ก็ไม่สามารถทำสมาธิได้

เหตุนั้น ขอให้ทำจิตใจเป็นกลางๆ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานที่เราได้ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ ตลอดครึ่งพรรษาเศษๆ นี้ กำหนดไป ทำจิตใจให้สบายๆ ขณะที่กำลังทำสมาธิอยู่นี้ หลวงพ่อก็จะบรรยายธรรมควบคู่กันไปพอคร่าวๆ เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่การทำสมาธิของบรรดาท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย นับตั้งแต่เราได้เริ่มปฏิบัติมานี้ ทุกเช้า ทุกเพล ทุกเย็น จะได้ยินแต่เรื่อง บาปๆ บุญๆ อยู่ตลอดเวลา เช้าก็พูด เรื่องบาป เรื่องบุญ เพลก็พูดเรื่องบาป เรื่องบุญ ค่ำก็พูด เรื่องบาป เรื่องบุญ สนทนาปราศรัยกัน ก็สนทนาปราศรัยกันแต่ เรื่องบาป เรื่องบุญ

เราได้เคยสำเหนียกกันหรือไม่ว่า คำว่า บาป คืออะไร คำว่า บุญ คืออะไร

คำว่า บาป นี่พูดเอาภาษาบ้านเรา หมายถึง ความชั่ว การคิดชั่ว การทำชั่ว การพูดชั่ว นั้น ถือว่าเป็นบาป ส่วนคำว่า บุญ ก็หมายความว่า สภาวธรรมที่ทรงไว้ซึ่งคุณความดี คือการคิดดี การทำดี การพูดดี ถือว่าเป็นบุญ สภาวธรรมเหล่าใดที่ คิดแล้ว ทำแล้ว พูดแล้ว ทำให้เราต้องเดือดร้อน และคนอื่นเดือดร้อนด้วย ก็ถือว่าเป็นบาป แต่สภาวธรรมเหล่าใดที่ คิดแล้ว ทำแล้ว พูดแล้ว เราเองก็มีความสุขใจ คนอื่นก็พลอยมีความสุขไปด้วย ถือว่าสภาวธรรมนั้นๆ เป็นบุญ เป็นกุศล

แต่คนส่วนมาก ถ้าพูดเรื่องบุญเรื่องบาปนี้ ถือว่าบุญบาปนี้ไม่มี เพราะว่าเราไม่เข้าใจว่า บาปคืออะไร บุญคืออะไร ถ้าเราเข้าใจแต่เพียงย่อๆ ว่า บาปคือความชั่ว บุญคือความดี ทีนี้เราก็มาย้อนลงไปว่า คนในโลกนี้ ความดียังมีอยู่หรือ ความชั่วยังมีอยู่หรือ ผลของความดียังมีอยู่หรือ ผลของความชั่วยังมีอยู่หรือ ถ้ายังมีอยู่ ก็ถือว่าบุญก็มี บาปก็มี

บาปนี้ ถ้ากล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ ได้แก่ โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง นี้ล่ะเป็นตัวบาป ขอย้ำอีกครั้ง ตัวบาปนั้น เมื่อกล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ ก็ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ ตัวนี้ เป็นตัวบาป ทีนี้ เราลองคิดดูว่า ขณะนี้ โลภะ โทสะ โมหะ ของเรายังมีอยู่หรือ ถ้ายังมีอยู่ ก็แสดงว่า บาปยังมีอยู่

สำหรับตัวบุญ กล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ ก็ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ คือความ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง หรือพูดให้เข้าใจชัดลงไป ก็ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้เป็นตัวบุญ

สำหรับคนที่ว่าบาปไม่มี ถ้าพูดถึงเรื่องบาปก็จะคัดค้านขึ้นมาทันทีว่า บาปไม่มี ถ้าบาปไม่มี ตำรวจเขาจะมีไว้ทำไม ตำรวจนี้เขามีไว้เพื่อปราบคนทำบาป ถ้าคนทำบาปไม่มี ตำรวจก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมี เพราะเหตุไร จึงมีตำรวจ เพราะว่ายังมีคนทำบาปอยู่ ยังมีคนบาปอยู่ เมื่อยังมีคนทำบาปและก็ยังมีบาปอยู่ ก็จำเป็นที่จะต้องมีตำรวจสำหรับปราบปรามคนที่ทำบาป

อีกอย่างหนึ่ง พวกศาลยุติธรรมก็ดี ศาลฎีกาก็ดี อนุฎีกาก็ดี เขามีไว้ทำไม เขามีไว้เพื่อไต่สวนหรือพิจารณาโทษของคนผู้ทำบาปว่า ผู้นี้เขาได้ทำบาปมากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือว่าเขาไม่ได้ทำบาป แต่ถูกใส่ความ ถูกกล่าวหา ผู้พิพากษาก็จะได้พิจารณาโทษ พิจารณาค้นหาความจริงว่า มันเป็นความจริงหรือที่เขากล่าวมานี้ ผู้พิพากษาหรือศาลต่างๆ ที่เขาตั้งไว้ก็เพื่อพิจารณาโทษของผู้ทำบาป ถ้าคนทำบาปไม่มี ก็ไม่จำเป็นต้องมีศาลยุติธรรม มีศาลฎีกา ศาล อนุฎีกา อะไรทำนองนี้ ก็ไม่ต้องมี

อีกอย่างหนึ่ง เรือนจำนี้ เขามีไว้ทำไม เรือนจำเขามีไว้สำหรับทรมานหรือกักขังบุคคลผู้ทำบาป ถ้าหากว่าคนทำบาปไม่มีหรือว่าบาปไม่มี ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีคุกมีตะราง ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเรือนจำ แต่เพราะว่ายังมีคนทำบาปอยู่ จึงจำเป็นต้องมีเรือนจำ หรือว่ามีคุกมีตะรางสำหรับลงโทษผู้ที่ทำบาป นี่สำหรับเรื่องบุญเรื่องบาป มันเป็นอย่างนี้

ทีนี้ หากว่าพูดไปหนักกว่านี้ คนทั้งหลายก็ยิ่งคัดค้านใหญ่ ถ้าพูดถึงเรื่องนรกก็ดี สวรรค์ก็ดี พรหมโลกก็ดี มรรค ผล พระนิพพานก็ดี คนส่วนมากก็ยิ่งมีความคิดไขว้เขวใหญ่ ก็คิดว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี พรหมโลกก็ไม่มี เทพบุตร เทพธิดา เปรต อสุรกาย อะไรทำนองนี้ก็ไม่มี ส่วนมากคนทั้งหลายคิดอย่างนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ลึกลับมองไม่เห็น

ข้อนี้ ขอย้อนถามท่านอีกครั้งหนึ่งว่า เรารู้ไหมว่า เราเกิดวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น เช่นว่า เราเกิดวันอาทิตย์ เดือน ๕ ปีมะโรง อะไรทำนองนี้ หรือรู้ตั้งแต่เราออกจากครรภ์ คลอดจากครรภ์ของมารดา หรือว่าเมื่อโตแล้วจึงรู้ รู้เมื่อโตแล้ว เมื่อเข้าโรงเรียนแล้วจึงรู้ ใครบอกหรือว่ารู้เอง

พ่อแม่ของเราเป็นผู้บอกเราก็รู้ และเชื่อไหมล่ะว่า เราเกิดวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น ตามที่พ่อแม่บอก เราเชื่อ เพราะเหตุไรเราจึงเชื่อ เพราะว่าท่านเป็นพ่อเป็นแม่ของเรา ถ้าเราไม่เชื่อพ่อเชื่อแม่ของเราแล้ว เราจะไปเชื่อใคร และเราก็เชื่อว่า พ่อแม่นี้คงจะไม่โกหกเรา ข้อนี้ฉันใด

เราก็เหมือนกัน เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ถึงแม้ว่าเรายังไม่ได้เห็นนรก ยังไม่ได้เห็นเปรต ยังไม่ได้เห็นอสุรกาย ยังไม่ได้เห็นเทพบุตร เทพธิดา อินทร์พรหม แต่ท่านกล่าวไว้ในตำรับตำรา เราก็เชื่อ

เพราะเหตุไร เราจึงเชื่อ เพราะว่าสมเด็จพ่อ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของเราเป็นผู้บอก เราก็เชื่อ ถ้าเราไม่เชื่อสมเด็จพ่อของเรา เราจะไปเชื่อใคร ข้อนี้ ฉันใด เรื่องนรก สวรรค์ มรรค ผล พระนิพพาน ก็เหมือนกัน

ทีนี้ ถ้าหากว่า นรกมีจริง เปรต อสุรกายมีจริงสวรรค์ และพรหมโลกมีจริง ทำไมไม่เห็น ทำไมเราไม่สามารถที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่า และจะทำอย่างไร เราจึงจะเห็น ทำอย่างไร เราจึงจะทราบว่า มันมีของเหล่านี้ ข้อนี้ มันเป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขา

ส่วนมาก สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดก็จะมองไม่เห็น ตัวอย่าง ขนตาของเรานี้ล่ะ ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วมีขนตาด้วยกันทั้งนั้น แต่ท่านทั้งหลายเห็นไหม สามารถมองผ่านออกมาแล้วเห็นขนตาของตัวเองไหม ไม่เห็น ใครก็ตามไม่สามารถที่จะมองเห็นขนตาตัวเองได้ เพราะอะไร เพราะไม่มีกระจกเงามาส่องดูก็มองไม่เห็น ข้อนี้ ฉันใด พวกนรก พวกเปรต พวกอสุรกาย พวกเทวดา พวกพรหมเหล่านี้ก็เหมือนกัน เพราะว่าเราไม่มีเครื่องรับ ก็มองไม่เห็น เมื่อใดเรามีเครื่องรับ เราก็สามารถจะมองเห็นสิ่งเหล่านี้

อุปมาเหมือนกันกับสถานที่ที่เรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ล่ะ มีใครบ้างสามารถปฏิเสธได้ว่า ไม่มีคลื่นวิทยุ ไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้ว่า สถานที่นี้ ไม่มีคลื่นวิทยุ แต่ทำไมเราถึงไม่เห็น ไม่สามารถที่จะฟังเสียงวิทยุได้ ก็เพราะว่าเราไม่มีเครื่องรับ

ทีนี้ เราจะทำอย่างไร จึงจะรู้ว่ามันมีคลื่นวิทยุ เราก็เอาวิทยุมาเปิดฟัง เราเปิดวิทยุให้ตรงกับไซเกิล (Cycle) ของสถานีที่ส่งมา เช่นว่า สถานี ป.ส.ส. อุบลราชธานีก็ดี กรมประชาสัมพันธ์ก็ดี ที่ส่งมานั้น ว่าระยะที่ส่งมานั้นเท่าไรไซเกิล (cycle) เท่าไร เมกะเฮิร์ตซ์ (megahertz) เท่าไรเมตร เราก็เปิดวิทยุของเราให้มันตรงกับไซเกิลที่สถานีส่งมา ก็ฟังเสียงได้ทันที

หรือว่าในสถานที่เรานั่งฟังอยู่นี้ ท่านทั้งหลายสามารถปฏิเสธได้ไหมว่า ไม่มีคลื่นทีวี ปฏิเสธไม่ได้ มีครบไปหมด สถานีที่เขาส่งอยู่ในประเทศไทยของเราทุกวันนี้ เช่นว่า ช่อง ๓ ช่อง ๕ ช่อง ๗ ช่อง ๙ ช่อง ๑๑ ก็ดี มีครบหมด เต็มไปหมด ไม่มีที่ว่าง

แต่เพราะเหตุไร เราจึงมองไม่เห็น เพราะไม่มีเครื่องรับ ถ้าเรามีเครื่องรับ เราก็มองเห็นทันที ทีนี้เราจะทำอย่างไรจึงจะดูได้ จึงจะรู้ได้ว่ามันมีคลื่นทีวี เราก็เอาทีวีมาเปิดดู เปิดให้ตรงกับช่องที่เขาส่งมา เราต้องการช่อง ๓ มันมีไหม ช่อง ๕ มันมีไหม ช่อง ๗ มีไหม ช่อง ๙ มีไหม ช่อง ๑๑ มีไหม เมื่อเราเปิดให้ตรงกับช่องที่เขาส่งมา ก็จะเห็นภาพ เห็นทั้งภาพ ทั้งได้ยินเสียง ทันที ข้อนี้ ฉันใด

หากว่าพวกเราทั้งหลายต้องการที่จะทราบว่า สวรรค์ก็ดี นรกก็ดี เปรตก็ดี อสุรกายก็ดี เทวดาก็ดี พระพรหมก็ดี มีจริงไหม เราก็ต้องสร้างเครื่องรับขึ้นมา อะไรเป็นเครื่องรับ อภิญญาจิต เรียกว่า อภิญญาจิตเป็นเครื่องรับขึ้นมา

สมมติว่า เราอยากจะเห็น เราก็ต้องสร้างทิพยจักษุอภิญญาขึ้นมา เมื่อใดเราสร้างทิพยจักษุอภิญญาขึ้นมาได้ มีตาล่วงสามัญชนธรรมดา มีตาทิพย์แล้ว ก็สามารถที่จะมองเห็นสิ่งลึกลับ ซึ่งชาวโลกทั้งหลายมองไม่เห็น หรือว่า คนธรรมดาๆ มองไม่เห็น เราก็สามารถมองเห็นได้ เช่นว่าภายในวัดของเรา วันนี้มันเป็นบุญสลากภัต มีพวกสัตว์นรกประเภทไหนบ้าง มารับไทยธรรมจากญาติโยม

วันนี้ญาติของเรามาไหม ญาติของผู้นั้นมาไหม และผู้ที่รับไทยธรรมในวันนี้ มีมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เราสามารถมองเห็นได้เลย สัตว์นรกเราก็สามารถเห็นได้ พวกเปรต พวกอสุรกาย ก็สามารถมองเห็นได้ เทพบุตร เทพธิดา อินทร์ พรหม ก็สามารถที่จะมองเห็นได้

ทีนี้เรามองเห็นเฉยๆ แต่ว่าไม่รู้ความหมาย คือฟังเสียงของเขาไม่รู้ เห็นแต่ภาพ แต่ไม่ได้ยินเสียง เราก็ต้องสร้างเครื่องรับขึ้นมาอีกนั่นแหละ เราต้องสร้างเครื่องรับคือ โสตอภิญญา คือหูทิพย์ เมื่อใดเราได้ทิพยโสตอภิญญา คือหูทิพย์แล้ว เราก็ได้ยินเสียงเขาด้วย เขาพูดเราก็ได้ยินคือตาก็เห็น หูก็ได้ยินเสียงด้วย

เมื่อใดเราได้เพียงแค่ทิพยโสตอภิญญาและทิพยจักษุอภิญญานี้ ก็เป็นอันว่าหมดความสงสัยแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องไต่ถามครูบาอาจารย์รูปโน้นรูปนี้ แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแสวงหา หรือไปปฏิบัติสำนักโน้นสำนักนี้ เพราะอะไร เพราะมารู้เฉพาะตนเสียแล้ว หมดความสงสัยเสียแล้ว

นี้ล่ะท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติธรรม จะหมดความสงสัยได้ เรื่องบาป เรื่องบุญนี่ เรื่องนรก เรื่องเปรต เรื่องอสุรกาย เรื่องเทวโลก เรื่องพรหมโลกนี้ ก็ต่อเมื่อเราได้อภิญญาจิต ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อใดเราได้อภิญญาจิตแล้ว ก็หมดความเคลือบแคลงสงสัย เราสามารถที่จะรู้ได้ เช่นว่า ทุกวันๆ เวลาเราตีระฆังทำวัตรก็ดี หรือว่า เวลาเรา ยะถา สัพพี ให้พรญาติโยมก็ดี หมามันเห่า มันหอนขึ้นมา หอนขึ้นมาจนผิดปกติ

เราจะรู้ทันทีว่า เสียงหอนของมันนั้น ถ้าแปลออกมาเป็นภาษามนุษย์เราแล้วมันว่าอย่างไร ความหมายของมัน มันว่าอย่างไร เรารู้ได้ทันที หรือบางทีเรานั่งไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ เจริญเมตตา แผ่เมตตาอยู่ มีตุ๊กแกมันทักขึ้นมา ร้องขึ้นมา หรือว่ามีจิ้งจกมันร้องขึ้นมา แจ๊บๆ ขึ้นมา จนขนหนังหัวพองสยองเกล้าก็มี

เพราะเหตุไร ในเมื่อมันเป็นอย่างนี้ เราก็รู้ทันทีว่า จิ้งจกนี้มันร้องว่าอย่างไร ความหมายของมันถ้าแปลเป็นภาษาคนแล้ว มันหมายความว่าอย่างไร ตุ๊กแกที่มาร้องนี้ ในขณะอย่างนี้ มันทักอย่างนี้ มันหมายความว่าอย่างไร รู้ได้ทันที

บางทีเราไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์เสร็จแล้ว ก็แผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ในขณะที่เรากำลังส่งจิต ส่งใจแผ่บุญแผ่กุศลให้บรรดาสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นล่ะ บรรดาสุนัขที่อยู่ภายในวัดก็ดี ในบ้านก็ดีก็เห่าหอน เสียงโหยหวนเย็นเข้าไปในจิตใจของเรา คนที่ไม่รู้ก็นึกว่าภูตผีปีศาจมันมาเที่ยวตามบ้านตามช่องของเรา

แต่ถ้าผู้มีอภิญญาจิต จะรู้ทันทีว่า สุนัขมันเห่ามันหอน มีเสียงอันโหยหวนเยือกเย็น ทำให้หนังหัวพองสยองเกล้า เกิดความกลัวในขณะนี้ มันหมายความว่า อย่างนี้ๆ ถ้าแปลเป็นภาษาคน เราจะรู้ทันที

บางที เรานั่งอยู่ เสียงไก่มันร้อง เสียงไก่ตัวผู้มันขันอย่างนี้ เวลาเสียงไก่ตัวผู้มันขัน เสียงไก่ตัวผู้นี่มันขัน มันหมายความว่าอย่างไร ถ้าเราได้อภิญญาจิต พวกนี้จะรู้ทันทีว่า ไก่ที่มันขันนี้ มันขันว่าอย่างนี้ๆ มันไม่เป็นเสียงไก่เลยมันเป็นเสียงคน ถ้าเราได้อภิญญาจิต เรารู้ว่ามันขันแล้วมันเป็นเสียงคนขึ้นมา

นี้ล่ะท่านทั้งหลาย เมื่อใดเราได้อภิญญาจิตดังที่หลวงพ่อกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็หมดความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องนรก เปรต อสุรกาย เทวโลก พรหมโลก หมดความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องวิญญาณ ในเรื่องโลกนี้ โลกหน้า เช่น บางทีในที่ที่เรานั่งอยู่นี้ อาจจะมีวิญญาณเป็นพันๆ ดวงมาเพื่อแสวงหาที่เกิด มาเพื่อคอยรับอนุโมทนาส่วนบุญส่วนกุศลที่เราทั้งหลายทำอยู่ก็เป็นได้

ทีนี้ ถ้าหากว่า เราไม่เห็น เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องหาเอาหลักฐานเข้าวัดเอา เช่นว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ เรื่องสมาธิ เรื่องฌาน เรื่องสมาบัติ เราเห็นกันอยู่นี้ว่า ผู้นั่งได้ ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ก็มีอยู่

เมื่อของลึกลับซึ่งเป็นของที่ไม่สามารถทำได้ คนทั้งหลายก็ยังทำได้อยู่ พระสงฆ์สามเณรก็ยังทำได้อยู่ ไฉนเลยเรื่องอื่นนั้นจะไม่มี เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จะไม่มี เมื่อของจริงของที่ลึกลับ หรือเมื่อของสูงๆ ที่ลึกซึ้งไม่น่าจะมี มันก็มีได้ ของเล็กๆ น้อยๆ ไฉนเลยจะไม่มี เราก็จะเกิดความเชื่อ เกิดศรัทธาขึ้นมา

บัดนี้ ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอนิมนต์ครูบาอาจารย์ ที่อยู่ทางห้องกัมมัฏฐาน ได้เข้ามาดูมาชมบรรดาลูกน้อยทั้งหลายที่นั่งสมาธิ และสาธิตสมาธิในวันนี้ให้ดูว่า เราฟังเทศน์กันมาตลอดทั้งเกือบพรรษานี้ มีผู้ทำได้ไหม เพียงแต่นั่งสมาธิฟังเทศน์วันละ ๓๐ นาที ๓๐ กว่านาทีเศษๆ สามารถเข้าสมาธิได้

การเข้าสมาธินี้ หากว่าปัสสัทธิสูง ตัวจะแข็งมาก แข็งจนสามารถหามไปยกไปไหนต่อไหนก็ได้ สมมุติว่าเข้าในอิริยาบถนอนอย่างนี้ เราเอาศีรษะนี้พาดโต๊ะอีกอันหนึ่ง แล้วก็เอาเท้าพาดโต๊ะอีกอันหนึ่งเหมือนกับท่อนไม้ นี่ถ้าปัสสัทธิสูง แต่ถ้าสมาธิสูง ปัสสัทธิหย่อน ก็ธรรมดาๆ แต่ถ้าสมาธิกับปัสสัทธิเท่าๆ กัน ก็ระหว่างกึ่งกลางไม่แข็งจนเกินไป และไม่อ่อนจนเกินไป ก็ขอให้เข้าใจตามนี้ด้วย

ครูบาอาจารย์ก็ฟังไป หลวงพ่อก็จะพูดเรื่อยๆ ไป ดังที่หลวงพ่อได้เคยบรรยายธรรมะให้ฟังแล้วว่า เรื่องสมาธิ เรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ถ้าว่าเราฟังเป็น ฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นนะ ได้สมาธิในขณะที่เราฟังอยู่นี้ล่ะ

ในขณะที่ฟังการบรรยายธรรมวันละ ๓๐ นาที ๔๐ นาที ๔๕ นาที ๑ ชั่วโมงนี้ สามารถได้สมาธิในขณะที่ฟัง บางทีเราฟังเพียง ๑๕ นาทีได้สมาธิแล้ว ดังหนูน้อยๆ คนหนึ่ง ไม่เคยมาประพฤติปฏิบัติสักทีเลย เวลามาฟังเทศน์ฟังการบรรยายธรรม วันนั้น ๑๕ นาที ก็ได้สมาธิสามารถเข้า สมาธิได้เป็นชั่วโมง เทศน์สั้นๆ เท่านั้น ก็สามารถที่จะทำได้

จิตที่จะได้สมาธินี้ เวลาเป็นมหัคคตจิต จิตที่มีอำนาจมาก มีพลังมาก มีอานุภาพมาก สามารถที่จะทำสิ่งอะไรๆ ที่คนธรรมดาทำไม่ได้ สามารถทำได้ แต่หลวงพ่อไม่สอน ยกเว้นผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ผ่านการปฏิบัติไปพอสมควรแล้ว หลวงพ่อจึงจะสอน เพราะว่าพวกนั้นมีจิตใจที่มีกิเลสตัณหาเบาบางลงไปแล้ว จะไม่ไปทำบาปอีก

ถ้าผู้ที่ยังไม่ผ่านวิปัสสนาญาณเลยนี่ จิตใจมันก็ยังมีกิเลสตัณหาอยู่ เมื่อกิเลสตัณหาเกิดขึ้นมา อาจจะทำบาปทำกรรม ใช้สมาธิจิตนี้ไปทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามได้ สมาธิที่เข้าอย่างนี้ ที่ทำได้อย่างนี้ สามารถที่จะนั่งหลับตาแล้วพับผ้าขาว ๖–๗ ชั้นนี่มัดตาไว้ เอาหนังสือมาอ่าน ก็สามารถอ่านได้ แต่ปีนี้ หลวงพ่อไม่ได้สาธิต เพราะคิดว่าสาธิตมาหลายปีแล้ว ก็สาธิตแต่สมาธิ และสมาธิที่สาธิตในปีนี้ เป็นสมาธิที่ไม่ได้ฝึกเลย เอากันเลย สอบกันเลย

ตามปกติทุกปีนั้น ก็ต้องเอาไปฝึกเสียก่อน ๕ วันเป็นอย่างน้อย แล้วจึงจะเอามาสาธิตให้ท่านครูบาอาจารย์ได้ดูได้ชม แต่ปีนี้ว่าเอากันสดๆ ไปเลย ไม่ต้องฝึกล่ะ เทศน์ให้ฟังทุกวันๆ ว่า การเทศน์ให้ฟังทุกวันๆ นี้ ผลของการเทศน์มีไหม ที่หลวงพ่อว่าให้นั่งสมาธิฟัง ขอให้ได้สมาธิในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมนี้เถอะจะดีที่สุด เพราะเราจะได้ไม่ทรมานในการประพฤติปฏิบัติ

ทีนี้ ก็เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า มันได้ตามที่หลวงพ่อพูดหรือไม่ หรือหลวงพ่อนี้พูดโกหกเรา หรือว่าพูดเพื่ออวดดีอวดเด่น อะไรทำนองนี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้พิสูจน์เอาเอง สมาธินี้มันเป็นขั้นๆ อยู่ มันมีขั้นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓

แต่หลวงพ่อจะยังไม่เทศน์ โน้นใกล้ๆ จะจบแล้วจึงจะเทศน์ว่า ขั้นที่ ๑ เป็นอย่างไร ขั้นที่ ๒ เป็นอย่างไร ขั้นที่ ๓ เป็นอย่างไร ขั้นที่ ๔ เป็นอย่างไร ขั้นที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ นั้นเป็นอย่างไร นั้นยังไม่ได้เทศน์ตอนนี้ ให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติไปก่อน สมาธินั้นเราจะเทศน์เพื่อสรุปทีหลัง เมื่อสรุปเรื่องการทำสมาธิเสร็จแล้ว หมายความว่า สรุปสายสมถะเสร็จแล้ว ก็สรุปสายวิปัสสนา เมื่อสรุปทั้งสายสมถะและสายวิปัสสนาเสร็จแล้ว ก็ถือว่าปิดรายการการปฏิบัติภาคหน้าพรรษา แต่เดี๋ยวนี้ยังไม่สรุป อยากให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติไปพลางๆ ก่อน

เวลาของเรายังมีอีกมาก อันนี้ก็เป็นเพียงเครื่องยืนยันเท่านั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ว่าผลของการปฏิบัตินั้นมีไหม การฟังเทศน์ฟังธรรมนี้สามารถได้สมาธิไหม หลวงพ่อก็เป็นเพียงทำให้ดูให้ชม แต่ไม่ใช่อวดอุตริมนุสสธรรม ก็ขอให้ลูกศิษย์ลูกหาเข้าใจตามนี้ด้วย และการปฏิบัติในหน้าพรรษานี้ จะหนักไปทางวิปัสสนา

หากว่าท่านทั้งหลายอยากปลูกลูกศิษย์ลูกหา เพื่อจะเป็นคู่มือในการสอนในสำนักของท่าน เมื่อท่านออกไปแล้ว ในหน้าฤดูหนาว ขอให้ส่งบรรดาลูกเณร และก็พวกโยมผู้หญิงมาฝึก

เพราะในหน้าหนาวนี้ เช่นว่า เดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ นี้ การปฏิบัติภาคหน้าหนาวนี้ ไม่ได้ปฏิบัติเหมือนที่พวกเราปฏิบัติอยู่นี้ ไม่เหมือนหน้าพรรษา ต้องพาเดินจงกรม พานั่งสมาธิ ทีนี้เวลามาประพฤติปฏิบัติ สมมติว่ามีสามเณร ๖๐ รูปอย่างนี้ ก็สามารถเข้าสมาธิได้ทั้ง ๖๐ รูป มีชีเป็น ๓๐๐ - ๔๐๐ อย่างนี้ ไปยางกระเดา ชีตั้ง ๓๐๐ เศษๆ ก็สามารถเข้าสมาธิได้ทั้ง ๓๐๐ เศษๆ

ทีนี้ ที่ว่าเข้าสมาธิได้นี้ ไม่ใช่ว่าเข้าได้ตามปรัมปรา ต้องเข้าได้ออกได้ตามความประสงค์ อยากเข้าสมาธิเวลาใด ก็เข้าได้ อยากออกเวลาไหนก็ออกได้ เข้าได้ตามกำหนด อยากเข้าอยู่ ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง ก็สามารถที่จะทำได้ตามความต้องการ เรียกว่าทำได้

เมื่อได้สมาธิแล้ว ก็เอาไปฝึกให้ชำนิชำนาญในวสี เมื่อชำนาญในวสีทั้ง ๕ แล้ว ก็สามารถเข้าได้ออกได้ตามความประสงค์ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สมาธิที่ได้นี้เป็นของที่มีประโยชน์มาก ดังที่เคยกล่าวเคยเล่าให้ฟังแล้ว เหตุนั้น จึงไม่พูดถึง พูดเอาเฉพาะที่

สมมติว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่นี้ หากว่ามีสมาธิอย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีกำลังใจดี โรคภัยไข้เจ็บก็หายเร็ว หรือบางทีเราเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาเป็นโรคอะไรอย่างนี้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปหาหมอ เราใช้สมาธิเราดูก็รู้ว่า เราเป็นโรคอะไร หรือบางทีจะมีการผ่าตัดอย่างนี้ ถามหมอว่าจะใช้เวลาผ่าตัดนี้เท่าไร หมอบอกว่า ๒ ชั่วโมง

เราก็อธิษฐานจิตเข้าสมาธิ ๓ ชั่วโมง เราขอร้องหมอว่า ไม่ต้องฉีดยาชา ไม่ต้องวางยาสลบ ให้ผ่าเลย อาตมารับรองว่าไม่เป็นไร ให้เขาผ่าเลยได้อย่างสบาย เราไม่รู้สึกตัวเลย ถ้าสมาธิมันถึงที่แล้ว พอดีหมอทำบาดแผลผ่าตัดเสร็จแล้ว ๓ ชั่วโมง เราฟื้นมาเลย ไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต นี่มันได้ประโยชน์หลายสิ่งหลายประการ ทำให้มีอายุมั่นขวัญยืน แล้วก็ไม่หวั่นไม่พรั่นพรึงต่อความตาย ตายเวลาไหนเราก็ยอมตาย เพราะเรามีสมาธิจิตอยู่แล้ว

สมาธิจิตที่เราได้นี้ ก็เป็นเครื่องประกันแล้วว่า เมื่อเราตายในสมาธิ สมาธิไม่เสื่อม ตายในสมาธิ เราก็ไปบังเกิดในพรหมโลกแล้ว คนเราเมื่อมีเครื่องยืนยัน มีใบประกันชีวิตเช่นนี้แล้ว ก็ไม่หวั่นต่อความตาย จะตายวินาทีนี้ หรือนาทีนี้ ชั่วโมงนี้ก็ยอม ไม่เป็นไร สบายใจไม่ต้องสะทกสะท้าน ไม่ต้องเศร้าโศกวิโยคศัลย์ บ่นพิไรรำพึงรำพันต่างๆ นานาประการ

ท่านครูบาอาจารย์ ตลอดถึงปะขาวแม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ที่พร้อมเพรียงกันมาประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้ทำพิธีสอบภาคปฏิบัติก่อนที่จะออกพรรษา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ผลอันใดที่เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติ ท่านทั้งหลายก็เห็นเป็นสักขีพยานแล้ว และก็เวลาของเรายังมีอยู่อีกกว่าจะออกพรรษาก็ยังอีกหลายวัน

หากว่ามรรคใด ผลใดหรือสามัญผลใดๆ ที่เรายังไม่ได้ไม่ถึง ก็ยังไม่สายเกินแก้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้อุตสาหะพยายามประพฤติปฏิบัติร่ำไป จนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้าย หากว่าท่านทั้งหลายตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ไม่ชะล่าใจ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา หลวงพ่อขอรับรองว่า ท่านทั้งหลายจะไม่พลาดจากผลอันจะพึงได้พึงถึง

เอาล่ะ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมมา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาจึงขอยุติ ในท้ายที่สุดนี้ ขออานุภาพคุณพระพุทธเจ้า ขออานุภาพคุณพระธรรมเจ้า ขออานุภาพคุณพระสงฆเจ้า ขออานุภาพบารมีธรรมที่ท่านทั้งหลายได้สั่งสมอบรมมา พร้อมทั้งอำนาจบารมีธรรมที่หลวงพ่อได้สั่งสมอบรมมา ตั้งแต่ปุเรกชาติจนถึงปัจจุบันชาตินี้ ขอจงได้เป็นตบะเดชะเป็นพลวะปัจจัยให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ได้เป็นผู้เพียบพูนสมบูรณ์ ไปด้วยสติสัมปชัญญะ ความเพียร สมาธิ ศรัทธา และปัญญา ได้บรรลุ สมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ตามบุญญาธิการที่ท่านทั้งหลายได้สร้างสมอบรมมา ก่อนท่านทั้งหลายจะออกจากห้องกรรมฐานแห่งนี้ไป จงทุกท่านๆ เทอญ.

[ลพ.บุญเรือง สารโท

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว