นัยยะภาพพระพุทธเจ้าผจญมาร(บางส่วน)
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการบัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การได้ปัญญาในธรรมนั้นก็เป็นการได้ปัญญาในธรรมตามพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าแสดงตามพุทธประวัติ พระองค์ทรงได้ปัญญาในธรรมด้วยพระองค์เอง ดั่งที่เรียกว่าได้ตรัสรู้พระธรรม จึงได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ดังที่มีแสดงไว้ในพุทธประวัติว่า ในราตรีที่พระโพธิสัตว์ คือพระสิทธัตถะราชกุมาร ซึ่งได้เสด็จออกทรงผนวช และจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้านั้น ได้ทรงชนะมารพร้อมทั้งเสนามาร ตั้งแต่ในเวลาก่อนพระอาทิตย์ตกหรืออัสดง
ดังที่เราทั้งหลายคงจะได้เคยเห็นภาพพระพุทธเจ้าผจญมาร ที่เขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้า ประทับอยู่บนที่ประทับตรงกลาง และเป็นภาพ
มารบนช้างคิริเมขละพร้อมทั้งเสนามาร ยกเข้ามาผจญพระพุทธเจ้า ด้วยศัตราวุธเป็นอันมากด้านหนึ่ง และเป็นภาพแม่ธรณีบิดมวยผมน้ำท่วมพระยามารและเสนา ต้องจมน้ำพ่ายแพ้ไปอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพแสดงพระพุทธเจ้าผจญมารเป็นรูปธรรม
พระอาจารย์ได้แสดงโดยเป็นธรรมาธิษฐาน คือยกธรรมะขึ้นเป็นที่ตั้ง ว่าพระองค์ทรงผจญกิเลสมาร มารคือกิเลสในพระทัยของพระองค์เอง ด้วยพระบารมีทั้ง ๑๐ ที่ทรงได้บำเพ็ญมาแล้ว คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อฐิษฐานะ เมตตา อุเบกขา พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีเหล่านี้มา เป็นพระบารมีธรรมดา เป็นพระอุปบารมี คือบารมีที่มากยิ่งขึ้นจนใกล้จะสมบูรณ์ และปรมัตถบารมี พระบารมีที่สมบูรณ์ ทรงเสี่ยงพระบารมีทั้ง ๑๐ ที่ทรงบำเพ็ญมาอย่างสมบูรณ์นี้สู้กับกิเลสมารในพระทัย
ส่วนที่แสดงเป็นแม่ธรณีบิดมวยผมนั้น ก็แสดงโดยปุคลาธิษฐาน ยกบุคคลเป็นที่ตั้งเป็นรูปธรรมดังกล่าว แต่ก็มีนัยยะที่ท่านชี้แจงว่า พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้ง ๑๐ นี้มานานนักหนา โดยเฉพาะข้อหนึ่งคือทานบารมีนั้น น้ำที่หลั่งลงจากพระเต้าทักษิโณทก ในขณะที่บริจาคทาน อันแสดงถึงการให้ เช่น เมื่อทรงเป็นพระเวสสันดรได้ประทานช้างแก่พราหมณ์ที่มาขอ ด้วยทรงหลั่งน้ำลงบนแผ่นดินแสดงว่าประทานให้ เพราะว่าช้างเป็นสัตว์ใหญ่โต จะยกให้ด้วยมือไม่ได้ ก็ต้องเทน้ำให้ คือแสดงว่าให้ด้วยการเทน้ำลงบนแผ่นดิน หรือแม้การให้ส่วนกุศลที่ไม่ใช่เป็นวัตถุ ก็มีธรรมเนียมเทน้ำลงเหมือนกัน
ดังที่เราทั้งหลายเมื่อบำเพ็ญกุศลแล้ว ก็กรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลดังที่ปฏิบัติกันอยู่ น้ำที่พระโพธิสัตว์เทลงบนแผ่นดินในการให้ทานนั้นมากมาย เพราะได้ทรงให้ทานมากับนับครั้งไม่ถ้วน ก็ตั้งเป็นข้อแสดงขึ้นว่า น้ำเหล่านั้นเองที่ตกลงบนแผ่นดิน ก็เหมือนตกลงบนมวยผมของแม่ธรณี ซึ่งหมายถึงแผ่นดิน เมื่อทรงเสี่ยงบารมี น้ำที่หลั่งลงบนแผ่นดิน เหมือนอย่างหลั่งลงบนมวยผมของแม่ธรณีนี้เอง จึงไหลมาท่วมมาร พร้อมทั้งเสนาให้พ่ายแพ้ไป ก็พึงอาศัยพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมา ตั้งอยู่ในพระทัย จึงทรงชนะกิเลสมารทั้งหมด ตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ตกคืออัสดง
............................................................
จาก Blog ของคุณ ใจพรานธรรม