[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 22 เมษายน 2566 16:13:06



หัวข้อ: มวยไทย : ศิลปะการต่อสู้ที่มีมาอย่างยาวนาน
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 22 เมษายน 2566 16:13:06
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/42460535508063_1_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/52690715135799_2_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/91519817420177_3_Copy_.jpg)

มวยไทย


มวยไทย เป็นการต่อสู้ป้องกันตัวอย่างหนึ่งของไทยที่มีมานานแล้ว เป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่า โดยใช้อวัยวะต่างๆ คือ มือ เท้า แข้ง เข่า ศอก และแขนท่อนล่างแทนอาวุธ การต่อสู้แบบนี้ได้พัฒนาท่าทางและกลวิธีจนมีลักษณะเป็นศิลปะแบบหนึ่ง  ในสมัยก่อน คนหนุ่มนิยมฝึกหัดชกมวย และมีสำนักต่างๆ สำหรับฝึกสอน  นอกจากนี้ มวยไทยยังเป็นส่วนหนึ่งของการละเล่นพื้นบ้านที่มักจัดขึ้นในงานฉลองหรืองานประเพณีในเทศกาลต่างๆ ปัจจุบัน มวยไทยจัดเป็นอาชีพอย่างหนึ่งและมีการจัดเวทีแข่งขันการชกมวยเป็นรายการประจำ

มวยไทยมีมาตั้งแต่เมื่อใดยังไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน ในพระอัยการเบ็ดเสร็จกล่าวถึงการวินิจฉัยคดีที่มีคนชกมวยกันแล้วฝ่ายหนึ่งเจ็บป่วยหรือล้มตาย ดังนี้  “๑๑๗ มาตราหนึ่ง ชนทังสองเป็นเอกจิตรเอกฉันท ตีมวยด้วยกันก็ดี แลปล้ำกันก็ดี แลผู้หนึ่งต้องเจบปวดก็ดี ค่นหักถึงแก่มรณภาพก็ดี ท่านว่าหาโทษมิได้  อนึ่งมีผู้ยุะยงตกรางวัลก็ดีให้ปล้ำตีนั้น ผู้ยุะโทษมิได้ เพราะเหตุผู้ยุะนั้นจะได้มีจิตรเจตนาที่จะใคร่ให้สิ้นชีวิตรหามิได้ แต่จะใคร่ดูเล่นเป็นผาสุกภาพ เป็นกำมแก่ผู้ถึงมรณภาพเองแล” (หนังสือชุดภาษาไทยของคุรุสภา กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๓ หน้า ๑๖๐)

ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการตั้งกรมทนายเลือก มีการคัดเลือกผู้มีฝีมือในการชกมวยเข้ามาต่อสู้กันหน้าพระที่นั่ง แล้วคัดเลือกเอาผู้มีฝีมือเลิศไว้เป็นผู้อารักขา เป็นทหารสนิทและทหารรักษาพระองค์ บรรดาเจ้านายชั้นสูงก็มีทนายเลือกไว้ประจำตัว กรมทนายเลือกนี้ทำหน้าที่หลายอย่าง บางทีเรียกว่าตำรวจหลวง ทนายตำรวจหรือกรมนักมวย ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในพระราชวัง พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีความสามารถในการชกมวยเป็นที่เลื่องลือ คือสมเด็จพระเจ้าเสือหรือขุนหลวงสรศักดิ์  นักมวยไทยที่มีชื่อเสียงมากในอดีตคือนายขนมต้ม เชลยไทยที่พระเจ้าอังวะโปรดให้ชกกับนักมวยพม่าหน้าพระที่นั่งในงานพิธีสมโภชมหาเจดีย์ ผลปรากฏว่านายขนมต้มชกชนะนักมวยพม่าหลายคน จนพระเจ้าอังวะตรัสสรรเสริญ  การชกมวยในสังคมไทยสมัยก่อนโดยทั่วไปไม่มีการจัดเป็นประจำ มักจัดในโอกาสที่มีงานฉลอง งานประเพณีตามเทศกาลต่างๆ เท่านั้น  อย่างไรก็ดี ในจดหมายเหตุของลาลูแบร์กล่าวถึงความนิยมในการชกมวยในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า มีผู้นิยมมากจนบางคนยึดเป็นอาชีพ  ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์บางครั้งมีการจัดแข่งขันมวยผู้หญิงเพื่อเพิ่มความสนุกสนานด้วย ดังจะเห็นได้จากวรรณคดีคำกลอน เรื่อง พระอภัยมณีของสุนทรภู่ กล่าวถึงการจัดมหรสพในงานศพ นอกจากมีโขนหนังแล้ว ยังจัดให้มีมวยผู้หญิงด้วยดังความว่า


            “แล้วพระองค์ทรงสั่งให้ตั้งแต่ง       ศพตำแหน่งน้องพระมเหสี
            มีโขนหนังตั้งสมโภชโปรดเต็มที        แล้วให้มีมวยผู้หญิงทั้งทิ้งทาน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีตำรามวยไทยที่เขียนขึ้นเป็นภาพท่ามวยลงในสมุดข่อย รวมทั้งหมด ๔๖ ภาพ ประกอบด้วยภาพการตั้งท่าชกมวย ๒ ภาพ ภาพชุดแม่ไม้มวยไทย ๒๓ ภาพ และภาพชุดลูกไม้มวยไทย ๒๑ ภาพ ตำรามวยไทยเล่มนี้ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ จัดอยู่ในหมวดตำราภาพ เลขที่ ๔๐/ก มัดที่ ๓  ตู้ที่ ๑๑๗

ในรัชกาลที่ ๕ การฝึกหัดมวยได้แพร่หลายไปตามหัวเมืองต่างๆ มีการแข่งขันชกมวยหน้าที่นั่งในงานศพกรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ บริเวณด้านใต้ของทุ่งพระเมรุ เจ้าเมืองต่างๆ นำนักมวยฝีมือดีมาแข่งขัน มีนักมวยที่ชกชนะคู่แข่งขันและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์หลายคน เช่น


            หมื่นมือแม่นหมัด      นักมวยจากลพบุรี
            หมื่นชงัดเชิงชก     นักมวยจากเมืองโคราช
            หมื่นมวยมีชื่อ       นักมวยจากเมืองไชยา

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จัดการแข่งขันชกมวยไทยการกุศลเพื่อเก็บเงินบำรุงกองเสือป่าขึ้นที่เวทีมวย ณ สนามหน้าสามัคยาจารย์สมาคม ในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ โดยให้สมุหเทศาภิบาลและข้าหลวงจัดหานักมวยฝีมือดีจากต่างจังหวัดเข้ามาชกกัน นักมวยทุกคนได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ ๑ บาท การแข่งขันชกมวยครั้งนั้นมีส่วนส่งเสริมให้เกิดการชกมวยอาชีพขึ้น

ในช่วงประมาณ พ.ศ.๒๔๖๖-๒๔๗๒ สนามมวยหลักเมืองท่าช้างได้จัดการแข่งขันชกมวย โดยมีพลโทพระยาเทพหัสดินทร์เป็นนายสนาม ทำหน้าที่บริหารและจัดการแข่งขัน มีการปรับปรุงเวทีมวยให้แข็งแรงแน่นหนากว่าเดิม มีเชือกกั้นเวทีมวยเส้นใหญ่ขึ้น เสาเชือกแข็งแรงมั่นคงยิ่งขึ้น เนื่องจาก เคยมีนักมวยตกเวทีตรงช่องขึ้นลง เวทีใหม่นี้จึงไม่มีทางขึ้นลงของนักมวย  ในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากการคาดเชือกมาเป็นแบบสวมนวม ทั้งนี้ เนื่องจากมีนักมวยชกกันตาย คณะกรรมการและทางการตำรวจจึงตกลงกันให้มีการสวมนวมและให้สวมถุงเท้าแทนรองเท้า แต่เนื่องจากนักมวยที่สวมถุงเท้าชกกันไม่ถนัด ต่อมาจึงยกเลิกการสวมถุงเท้า

การฝึกหัดมวยไทยได้พัฒนาขึ้นตามลำดับ มีการนำเอาวิชาการทางพลศึกษามาใช้ในการฝึกหัดด้วย การแข่งขันชกมวยได้รับความนิยมมากขึ้น มีค่ายมวยและเวทีแข่งขันเกิดขึ้นหลายแห่ง มีรายการชกเป็นประจำ การฝึกหัดมวยอย่างจริงจังต้องมีวิธีการและขบวนการต่างๆ เช่น การขึ้นครู ไหว้ครู และร่ายรำ การกำหมัด การตั้งท่ามวยหรือการคุมมวย การฝึกชกมวยย่างสามขุม การฝึกแม่ไม้และลูกไม้ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมครอบครูเป็นการมอบบทบาทการสอนให้แก่ผู้ที่สมควรเป็นครูมวย เพื่อสืบทอดวิชาการต่อสู้ที่เป็นศิลปะเชนนี้ให้คงอยู่ในสังคมต่อไป


ที่มา (เรื่อง) มวยไทย สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒